แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นักศึกษาผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายแก่ท่านทั้งหลายเป็นครั้งที่ ๓ ในวันนี้ จะกล่าว
โดยหัวข้อว่า การประสบความสำเร็จในการมีธรรมะ ประสบความสำเร็จในการมีธรรมะนี่ เราจะต้องรู้ว่าธรรมะชนิดไหน ประเภทไหนในความหมายอย่างไร ดังที่ได้ขอร้องให้ถือเป็นหลักทั่วไป ก็มีอยู่ว่า ธรรมะนั้นมี ๔ ความหมาย
ธรรมะคือตัวธรรมชาติ ธรรมะคือตัวกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือผลที่ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ คำว่าประสบความสำเร็จในการมีธรรมะก็หมายถึงธรรมะ
ในความหมายที่ ๔ คือ ผลของการปฏิบัติ ซึ่งมีการปฏิบัติถูกต้องจนได้รับผลของธรรมะ การหวังผลในธรรมะนี้
เป็นสิ่งที่จะต้องทราบกันให้แน่ชัดลงไปว่า เป็นสิ่งที่ปรารถนา
ในครั้งพุทธกาล เขาใช้คำว่าธรรมะ แทนคำว่าศาสนา หรือคำอะไรทำนองนั้น เช่นทักกันไม่ได้ทักกันว่า
ถือศาสนาอะไร แต่ทักกันว่า ชอบธรรมะของใคร ธรรมะของพระสมณโคดมหรือว่า ธรรมะของนิครนถ์นาฏบุตร หรือว่า ธรรมะของใครอะไรต่อๆ กันไป ทำไมประชาชนจึงมีธรรมะหรือต้องการธรรมะ เพราะว่ามันเป็นขนบธรรมเนียม เป็นประเพณี เป็นสิ่งที่รู้กันทั่วไปว่า ธรรมะนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องมี ก็ดูเหมือนเขาจะรู้กันอยู่โดยทั่วไปแล้วว่า จุดสูงสุด มันอยู่ที่นิพพาน เขาจะรู้นิพพานโดยถูกต้องหรือไม่นั้น ไม่สำคัญ แต่เขารู้จักใช้คำนี้ในฐานะเป็นสิ่งสูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญามีความรู้ เมื่อมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็จะขอร้องลงไปตรงๆ ว่า ขอพระองค์จงทรงแสดงนิพพานของพระองค์แก่ข้าพระองค์ ก็หมายถึงระบบปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพานอย่างไร ที่พระองค์มีอยู่สำหรับสั่งสอน จงแสดงแก่ข้าพเจ้า เขาใช้คำว่า นิพพาน ในฐานะเป็นคำกลาง ก็อย่างเดียวกับเดี๋ยวนี้ คนก็พูดถึงนิพพานได้ ต้องการนิพพานได้ ตามธรรมเนียม ตามขนบธรรมเนียมประเพณี โดยที่ไม่ได้รู้โดยชัดแจ้งว่า นิพพานนั้นคืออะไร และนิพพานก็เป็นสิ่งที่รู้ไม่ได้ด้วยการบอกๆ กัน หรืออธิบายกัน จะรู้จักนิพพานได้ก็ต่อเมื่อทำนิพพานนั้นให้มีขึ้นแล้วในตน แล้วก็รู้จักนิพพานที่กำลังมีอยู่ รู้สึกอยู่อย่างนี้ อย่างนั้น แต่มันเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีว่า นิพพานนั้นเป็นสิ่งสูงสุด ลัทธินิกายไหนในประเทศอินเดีย ก็ดูจะใช้คำๆ นี้กันทั้งนั้นว่า นิพพานเป็นสิ่งสูงสุด จึงมีว่านิพพานตามแบบของคนนั้น นิพพานตามแบบของคนนี้ หรือจงทรงแสดงนิพพานตามแบบของพระองค์แก่ข้าพระองค์ อย่างนี้เป็นต้น ทำไมประชาชนจึงหวังนิพพาน ก็ตอบอยู่ในตัวแล้วว่า หวังตามขนบธรรมเนียมประเพณี คือหวังตามๆ กันไป รู้จักพูด รู้จักหวังตามๆ กันไป แม้เดี๋ยวนี้ ก็มีบทเพลงของเด็กๆ ตัวเล็กๆ สำหรับร้องในบ้านเรานี้ว่า เป็นสุขใจเพราะมีนิพพานอยู่คู่กับฉัน เด็กๆ ก็ยังรู้จักร้องเพลงอย่างนี้ เป็นสุขใจเพราะมีนิพพานอยู่คู่กับฉัน นี่คนแก่ๆ นี้รู้จักความหมายนี้หรือไม่ ถ้านิพพานมาอยู่คู่กับฉัน แล้วมันก็สุขใจจริงๆ ด้วย นั่นแหละความหมายของนิพพานโดยวงกว้างๆ ที่ใครก็ควรจะรู้ แล้วก็รู้จักพูด รู้จักปรารถนากัน นี่ก็จะบอกให้รู้เสียเลยว่า คำว่านิพพานนั้น มันแปลว่าเย็น แต่เขาเอาไปใช้เป็นชื่อเรียกของบรมสุข ของโลกอื่น ของอะไรก็ตามใจเขาเถอะ นั่นมันเป็นเรื่องสับสนทีหลัง
นิพพานคำนี้แปลว่า เย็น ภาษาชาวบ้านก็ใช้ พูดกันอยู่ ถ้าอะไรๆ ที่มันร้อนแล้วมันเย็นลงๆ ก็ใช้คำว่า นิพพานแก่สิ่งนั้น ตัวอย่างเช่นว่า ข้าวมันร้อนกินไม่ได้ โดยเฉพาะข้าวต้ม พอข้าวต้มมันเย็นลงๆ เด็กในครัวก็ร้องบอก
ออกมาว่า เดี๋ยวนี้ข้าวต้มนิพพานแล้ว กินได้แล้ว พร้อมที่จะกินแล้ว นี่เขาใช้กันอย่างนี้ หรือว่า ถ่านไฟแดงๆ เย็นลง
จนดำอย่างนี้ ก็เรียกว่า ถ่านไฟมันนิพพานแล้ว คำว่านิพพานใช้ในภาษาชาวบ้านก็คือมัน ความเย็นลงแห่งของร้อน
เมื่อพระศาสดาบางองค์ได้ประสบความสำเร็จในการค้นพบเรื่องทำจิตให้หมดกิเลส ได้รับความสุข ความเย็น ก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร ก็ขอยืมคำชาวบ้านคือ นิพพานที่แปลว่าเย็นนั้นนะไปใช้ ก็เป็นเรื่องเย็นทางวิญญาณ ในระดับวิญญาณเย็น ทีนี้ระดับวัตถุเย็น ก็เรียกว่าวัตถุนิพพาน จิตใจเย็น วิญญาณเย็น ก็เรียกว่าวิญญาณมันนิพพาน จิตมันเข้าถึงนิพพาน มันจึงเป็นคำกลางๆ ที่ใช้เป็นชื่อของสิ่งที่ทุกคนต้องการ เป็นสุขใจเพราะมีนิพพานอยู่คู่กับฉัน
แม้จะเป็นเพลงร้องของเด็กๆ ก็มีความหมายมาก
เมื่อใดจิตนี้มันไม่มีกิเลสเกิดขึ้น คือมันไม่ได้ปรุงเป็นกิเลสเกิดขึ้น เมื่อนั้นมีนิพพานอยู่คู่กับฉัน จนกว่าเมื่อใดกิเลสจะมาปรากฏขึ้นในใจอีก เมื่อนั้นแหละสังสารวัฏหรือของร้อนก็มาอยู่คู่กับฉัน เพราะฉะนั้น จิตนี้ เดี๋ยวอยู่กับสังสารวัฏ เดี๋ยวอยู่กับนิพพาน เมื่อใดมันยังว่างจากกิเลสโดยบังเอิญก็ตาม เมื่อนั้น มันอยู่กับนิพพานในระดับหนึ่ง ชนิดหนึ่ง แม้จะเป็นชนิดน้อยๆ และไม่ถาวร มันก็ยังเป็นนิพพานอยู่ดี เพราะว่ามันเย็น มันไม่ร้อน จนกว่าเมื่อใด
มันมีอะไรเข้ามา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น เป็นต้น ปรุงไปตามแบบของปฏิจจสมุปบาทจนเกิดความทุกข์ ความร้อน เมื่อนั้นก็มีสังสารวัฏเสียแล้ว นิพพานหายไปเสียแล้ว ถ้ามีนิพพานอยู่คู่กับฉัน มันก็คือเย็นตลอดเวลา คนโบราณเขาจึงต้องการนิพพาน จึงถามว่า นิพพานของท่านเป็นอย่างไร มีวิธีปฏิบัติอย่างไร นิพพานในกรณีอย่างนี้ก็คือเป็นผลของการปฏิบัติ คือ การทำหน้าที่ ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติแล้ว
หลังจากที่เรารู้จักตัวธรรมชาติ รู้จักตัวกฎของธรรมชาติ รู้จักตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เราก็ได้ประสบผลในเมื่อปฏิบัติถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ นั่นแหละคือนิพพาน อ้าว, ก็คิดดูทุกคน ว่าใครบ้างไม่ต้องการนิพพานหรือใครบ้างต้องการนิพพาน ที่แล้วมาก็ต้องการนิพพาน เห่อๆแต่ปากว่า ตามๆ กันมา
ถ้ามารู้จริงลงไปว่า นิพพานคือความเย็นแห่งจิตใจเพราะไม่มีกิเลสเกิดขึ้น ลองคิดดูใหม่ว่าใครต้องการบ้าง หรือใครที่ไม่เคยต้องการมาแต่ก่อน จะเกิดความต้องการขึ้นมา คือจิตใจที่มันเย็น เพราะปราศจากไฟ คือกิเลส ไฟนั้นมีอยู่ ๒ ชนิด คือไฟกิเลส กับไฟทุกข์ ถ้าเราเกิดกิเลส โลภะก็ตาม โทสะก็ตาม โมหะก็ตาม มันก็ร้อนด้วยอำนาจของกิเลส อย่างนี้เรียกว่าไฟกิเลส เป็นความรักเกิดขึ้น ความโกรธเกิดขึ้น ความโง่หรือความกลัวเกิดขึ้น ก็ร้อนไปตามแบบของกิเลส ทีนี้ ความทุกข์อีกชนิดหนึ่ง มันไม่ได้เล็งถึงเรื่องของกิเลส มันเล็งถึงเรื่องของการกระทบกระทั่งจากภายนอก เช่น ความเจ็บ ความไข้ ความเปื่อย พัง ถูกตี ถูกเอาไฟจี้ หรือแล้วแต่จะมีอะไร คือไม่ได้เกี่ยวกับกิเลส เกี่ยวกับความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เหล่านี้ มันก็มีอยู่พวกหนึ่ง เป็นความทุกข์ เรียกง่ายๆ ว่า ไฟทุกข์ เราก็จะจับไฟไว้ ๒ ไฟ คือ ไฟกิเลส ร้อนตามแบบของไฟกิเลส ไฟทุกข์ ก็ร้อนตามแบบของไฟทุกข์ ถ้าเราสามารถทำให้มันไม่ร้อนได้ มันก็เย็น มันก็เรียกว่า อยู่กับนิพพาน ปัญหามันก็ต่างกัน การจะดับไฟกิเลสมันก็มีวิธีที่จะทำให้กิเลสเกิดขึ้น ไม่เกิดไฟในจิต ก็ไม่ทุกข์ แต่ที่จะทำให้ไม่เกิดไฟทุกข์ เพราะความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย นี่มันอีกวิธีหนึ่ง มันก็ต้องมีปัญญา มีความรู้ มีความคิดชนิดที่จะกำจัดความรู้สึกเจ็บปวดนั้นออกไป ลดให้น้อยลง โดยทำให้เป็นของธรรมดาไปเสีย ความเจ็บปวดเกิดขึ้น จิตที่อบรมไว้ดี มันจะรู้สึกแต่เพียงว่า สักว่าความเจ็บเท่านั้นหนอ นี่มันเจ็บน้อยลงไป มันไม่ถือว่า ความเจ็บของกู กูจะตายนี่ มันไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น มันสักว่าความเจ็บเท่านั้นหนอ ไม่ยึดถือเอาความเจ็บเป็นตัวเป็นตน ไม่ยึดถือเอาความเจ็บเป็นของๆ ตน ที่มันเก่งกว่านั้นอีก มันก็จะมีความรู้สึกถึงกับว่า ไอ้ความเจ็บนี้มันเป็นสักว่าความรู้สึกเท่านั้นหนอ มันเหลืออยู่แต่ความรู้สึกของระบบประสาทเท่านั้นหนอ
ในการเจริญสมาธิวิปัสสนาก็มีวิธีปฏิบัติอย่างนี้ คือปฏิบัติให้เกิดความรู้ความจริงขึ้นมาว่า ไอ้เวทนานี้
มันสักว่าเวทนาเท่านั้นหนอ ความที่เรารู้สึกอยู่นี้ มันสักว่าความรู้สึกเท่านั้นหนอ แล้วมันก็เป็นธรรมชาติ
ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้ ความเจ็บนั้นมันจะบรรเทาลงไปมาก คือถึงกับไม่รู้สึกเลยก็ได้ ถ้าเขามีสติปัญญาเข้มแข็ง มีความรู้เข้มแข็ง พอที่จะเห็นชัดลงไปว่า ความเจ็บนี้เป็นสักแต่ว่าความรู้สึกของระบบประสาทเท่านั้นหนอ มันเลยเจ็บนิดเดียว หรือเป็นของธรรมดาไปได้ แต่ถ้าไม่สามารถทำให้เกิดความรู้สึกอย่างนี้ได้ มันก็เจ็บมาก ยิ่งคนโง่ ปุถุชนคนธรรมดามันก็ยึดมั่นถือมั่นในความเจ็บนั้นมาก ในฐานะเป็นเทวทูตของความตาย มันยึดเป็นความเจ็บของชีวิตนี้ ชีวิตนี้จะต้องตาย คือมีตัวกู ของกู เป็นเจ้าของความเจ็บ เป็นเจ้าของชีวิตที่จะต้องตายเพราะความเจ็บ ส่วนนี้สิมันเป็นความโง่ มันเป็นอวิชชา มันทำให้เจ็บมากกว่าธรรมดาอีกร้อยเท่า พันเท่า
จึงอยากจะให้ท่านทั้งหลายจดจำไว้ให้แม่นยำในข้อที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า อย่าได้ถูกลูกศรดอกที่สองเลย เพียงความเจ็บเกิดขึ้นด้วยเหตุอะไรก็ตาม ที่เนื้อ ที่หนังนี่ มันก็เป็นลูกศรดอกที่หนึ่ง แล้วพอความโง่เข้าไปจับฉวยเอาความเจ็บนั้น เป็นความเจ็บของกู เป็นนิมิตแห่งความตาย เป็นความสิ้นสุดแห่งชีวิต มันก็กลัวมาก มันก็ทุกข์มาก นี่มันเป็นดอกศรแล่นมาอีกดอกหนึ่ง เป็นดอกที่ใหญ่โตและอาบยาพิษด้วย ดอกศรดอกแรกนั้นเป็นเพียงดอกศรเล็กๆ แล้วก็ไม่ได้ชุบยาพิษอะไร เหมือนกับไม้แหลมๆ อันหนึ่งเท่านั้นมาตำที่เนื้อ แต่พอเสร็จแล้วมันมีดอกศรใหญ่อาบยาพิษมาเสียบเข้าไปอีก ทีนี้ก็เลยเจ็บเหมือนจะขาดใจตาย เหมือนมันไม่มีที่อยู่ ทีนี้ถ้าไม่รู้จักแยก ก็คงจะไม่เข้าใจว่า สิ่งที่เราได้รับอยู่นั้นนะ มันก็เป็นตามธรรมชาติ ตามธรรมดา เป็นความรู้สึกของระบบประสาทในตามธรรมดา แต่พอเราไปหมายมั่น เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา มันก็เจ็บปวด มีปัญหาใหญ่โตขึ้นมา นี่เขาเรียกว่า ความทุกข์ตามธรรมดา ที่เราไม่ควรจะไปทำให้มันมีค่า หรือมีความหมายมากขึ้นมา คือ อย่าทำให้เป็นลูกศรดอกที่สองขึ้นมา เป็นลูกศรเล็กๆ ดอกหนึ่งไปตามธรรมดา แล้วประเดี๋ยวมันก็หายไป นี่คือ ความยึดมั่นถือมั่น พอไปยึดมั่นถือมั่นเข้าที่อะไร เรื่องนั้น มันก็เป็นใหญ่เป็นโต ยึดมั่นเป็นตัวกู เจ็บ ตัวกูจะตาย ความตายของกูอะไรขึ้นมา มันก็เลยเป็นเรื่องใหญ่โต นี่เราจะต้องเอาชนะความทุกข์ที่เรียกว่าไฟทุกข์ ตามธรรมชาติ ตามธรรมดาสามัญนี้ด้วย คือ เอาชนะไฟกิเลส ที่เผาใจอยู่ตามแบบของกิเลส เป็นความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอิจฉาริษยา ความหึง ความหวงความอะไรต่างๆ นั้นมันเป็นไฟกิเลส ก็รู้จักทำให้มันเย็นด้วย
เดี๋ยวนี้ในเรื่องของไฟทุกข์ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความเจ็บ ความปวดนี่ ก็ต้องรู้จักเอาชนะด้วย แล้วมันก็เย็น เรียกว่ามีนิพพานอยู่คู่กับฉัน เด็กๆ เอามาจากไหนก็ไม่ทราบ เอามาร้องกันอยู่ สุขใจเพราะมีนิพพานอยู่คู่กับฉัน ก็ไม่ได้ถามดูว่า เอามาจากไหน แต่มันเข้ารูป เข้าเรื่องกัน เราจะเป็นสุข ต่อเมื่อมีนิพพานอยู่คู่กับจิตเท่านั้น
พอสังสารวัฏเข้ามา นิพพานก็หายไป มันก็เป็นสุขอยู่ไม่ได้ คือมันไม่เย็น ถ้าชอบคำว่านิพพานก็ให้รู้ว่า
มันเป็นเรื่องเย็น เย็นเพราะไม่มีร้อน ร้อนมันคือไฟกิเลส หรือไฟทุกข์ มันควรจะมุ่งหมายกันที่ตรงนี้ว่า
สิ่งที่เราต้องการกันนั้น มันควรจะเป็นภาวะของจิตที่ไม่มีกิเลส ที่ไม่มีไฟกิเลสและไฟทุกข์มาแผดเผาอยู่
มนุษย์ทุกคนมีชีวิตอยู่ในโลกควรจะต้องการอะไรเป็นสิ่งสูงสุด ยึดถือตามหลักพุทธศาสนาก็คือ อยู่โดยไม่มี
ไฟกิเลส และไฟทุกข์มาแผดเผาเลย จะเกี่ยวข้องกับกามารมณ์ ก็ต้องไม่สร้างให้เกิดไฟกิเลสหรือไฟทุกข์ขึ้นมา หรือ
ไม่เกี่ยวข้องเสียเลย มันก็ยิ่งไม่มีปัญหา จะเกี่ยวข้องกับทรัพย์สมบัติ ข้าวของ เงินทอง บุตร ภรรยา สามีอะไรก็ตาม
อย่าทำให้มันเกิดไฟกิเลสหรือไฟทุกข์ขึ้นมา นี่คือเคล็ดหรืออุบาย หรือศิลปะ แล้วแต่จะเรียก ซึ่งในที่นี้เราเรียกว่าธรรมะ ซึ่งเราจะต้องรู้อย่างทั่วถึง แล้วประพฤติกระทำอยู่ให้ถูกต้อง แล้วไฟกิเลสหรือไฟทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น เราควรจะต้องการกันแต่เพียงเท่านี้กระมัง อย่าบ้าให้มันมากไปนักเลยกระมัง ว่าอยู่กันแต่เพียงว่า ในโลกนี้ อยู่มีชีวิตมีลมหายใจอยู่ โดยที่ไม่มีไฟกิเลสและไฟทุกข์เผารน เรื่อยๆไปจนกว่าจะตายนะ เอานั่นนะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์ เรียกว่านิพพานในปัจจุบัน คำนี้มีเรียกอยู่ในพระบาลีทั่วไปหมด นิพพานในทิฏฐธรรม คือนิพพานที่เรารู้สึกอยู่ได้ในชีวิตนี้ ไม่ต้องข้ามให้มันมากไปกว่านี้ นั่นนะมันจะตรงตามหลักของพระธรรมในพระพุทธศาสนา คือต้องการความเย็นแห่งจิตใจ เดี๋ยวนี้คนทั่วไปเขาต้องการเงิน พอมีเงินมากเขาไปซื้อหาอะไรมา ก็ลองคิดดู เขาไปซื้อหาสิ่งที่จะทำให้เกิดความร้อนแก่จิตใจ แล้วก็มันร้อนก็เพราะความโง่ของเขา เช่น เขามีเงินมาก แล้วเขาไปซื้อหาปัจจัยแห่งกามารมณ์มา แล้วเอามาทำไม ก็เอามาทำให้ร้อน เพราะเขาโง่ จนไม่สามารถจะควบคุมสิ่งนี้อย่าให้มันร้อนขึ้นมาได้ มันก็ร้อน มันก็หาเงินมาสำหรับไปซื้อไอ้สิ่งที่เป็นความร้อนมา รู้จักตัวเองให้ดีว่า เราเป็นนักศึกษาอยู่ เรากำลังจะเรียนให้ประสบความสำเร็จ แล้วเราก็จะไปทำงาน แล้วก็จะได้เงินเดือนมากๆ แล้วก็ไปซื้อหาอะไร ไปซื้อหาไฟให้มาสุมอย่างนั้นเหรอ มันจะบ้าหรือดี ก็ลองคิดดูให้ดีกันตอนนี้ แล้วอีกอย่างหนึ่งในขอบเขตแห่งการศึกษาของพวกนักศึกษา มันก็ไม่มีเรื่องพระนิพพาน ไม่มีเรื่องความเย็นแห่งจิตใจ มันมีแต่เรื่องวิชาความรู้และก็อาชีพ แล้วก็ประกอบอาชีพ แล้วก็ได้เงินมา แล้วก็ซื้อหาสิ่งที่ตัวรัก ตัวชอบ ตัวในที่นี้ มันกิเลสทั้งนั้น นี่ให้กิเลสเป็นผู้ซื้อหามา มันก็ซื้อหาแต่เหยื่อของกิเลสมา มันก็เอามาสุมไฟ เป็นไฟกิเลส แล้วก็พอใจ ยินดีหลงใหลในไฟกิเลส ร้อนอยู่ก็ยิ่งชอบใจ นี่แหละปัญหามันลำบากอยู่ตรงที่เห็นกงจักรเป็นดอกบัว พอมันเกิดเห็นถูกต้อง ปัญหามันก็จะหมดไป เอาเป็นว่า เราต้องการจะมีชีวิตที่เยือกเย็นไป เรื่อยๆไปจนกว่าจะตาย นี่มันควรจะพอใจแล้วในส่วนตัวเรา ทีนี้ ถ้าชีวิตนี้มันควรจะทำอะไรได้มากกว่านั้นตามที่ธรรมชาติกำหนดให้ ก็หมายความว่า มันควรจะทำประโยชน์ผู้อื่นได้ด้วย เราจึงใช้ปัจจัยที่เหลือ กำลังที่เหลือ ไอ้ความคิด กำลังงานอะไรที่เหลือ เวลาที่เหลือช่วยผู้อื่นให้เป็นอย่างเราด้วย มันก็จบเท่านั้นแหละ ทำประโยชน์ตนเอง ทำประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงที่สุด เรื่องของมนุษย์มันก็จบ แล้วข้อนั้น มันจะสำเร็จได้ด้วยสิ่งที่เรียกว่าธรรมหรือพระธรรม
ถ้าเราประสบความสำเร็จในการมีพระธรรมก็หมายความว่า เรามีความเย็นส่วนตัวเราตลอดเวลา เรายังมี
ส่วนเหลือหรือส่วนเกินที่จะไปช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความเย็นอย่างเราด้วย เรื่องมันหมดเท่านี้ คุณจะเอาหรือไม่เอาก็ตามใจ อาตมากล้ายืนยันว่า พระพุทธศาสนาจะมีให้เพียงเท่านี้ จะไม่มีอะไรมาหลอกให้หลง ให้มากเรื่องมากราวมากไปกว่านี้ ให้เราเย็นอยู่ตลอดเวลา และเราสามารถช่วยผู้อื่นเย็น เป็นเพื่อนเย็นกันด้วยในโลกนี้ ก็มันมีเท่านี้ ถ้าใครจะเห็นว่ามันจืดชืด ไม่มีความหมายอะไรก็ตามใจ เพราะพูดกันไม่ถูกแล้ว เพราะธรรมะมันมีเพียงเท่านี้
นี่อุตส่าห์มาทั้งที่มาถึงสวนโมกข์ ลงทุนมา เหนื่อยลำบาก เสียเวลานี้มา จะมาต้องการอะไร จะมาหาอะไร
อาตมาก็บอกได้แต่เพียงว่า ธรรมะมันสูงสุดอยู่เพียงเท่านี้ คือชีวิตที่มีแต่ความเยือกเย็นตลอดไป จนกว่าจะเน่าเข้าโรง แล้วพร้อมกันนั้น มันสามารถจะช่วยผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้น พร้อมๆ กันไปทำไมเราจะต้องช่วยผู้อื่น ดูกันง่ายๆ ก็เพราะว่า เรามันไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก มันมีความสัมพันธ์กันอยู่ ถ้าคนอื่นร้อนเป็นไฟ เราอยู่ร่วมกับเขายาก อย่างนั้นทำให้คนอื่นเย็น เหมือนเราเสียด้วย เราก็อยู่ร่วมกันง่าย นี่จึงว่าต้องนึกถึงผู้อื่น
ทีนี้ ความเห็นแก่ตัวนั่นแหละ ก็เป็นไฟชนิดหนึ่งเหมือนกัน ความเห็นแก่ตัวนั้นเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง ถ้ามีความเห็นแก่ตัว มันก็เป็นไฟชนิดหนึ่ง เราก็ดับไฟนี้เสีย ด้วยการเห็นแก่ผู้อื่น ฉะนั้นธรรมะในศาสนาทุกศาสนาจึงได้เน้นถึงความรักผู้อื่น ถ้าไม่อย่างนั้น ไม่สมบูรณ์ คนจะเห็นแต่ตัวกู ของกู คนนี้จะไม่ประสบความสำเร็จในการแสวงหาความเย็น เพราะว่าไอ้ความยึดมั่นเป็นตัวกู ของกู นี่มันเป็นไฟกิเลสเสียแล้ว ก็จะต้องดับไอ้ไฟที่เห็นแต่ตัวกู ของกู นี้ให้ลงไปด้วย แล้วมันจึงจะเย็น แล้วมันก็จะนึกถึงผู้อื่นโดยอัตโนมัติ
ฉะนั้นพอเราไม่เห็นแก่ตัว มันก็รักผู้อื่นแหละ ช่วยจำคำว่ารักผู้อื่นไว้ด้วย ในฐานะเป็นหัวใจของศาสนาทุกศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาคริสเตียนก็เน้นคำนี้มากที่สุด เกือบจะทุกหน้าแห่งพระคัมภีร์ไอ้เรื่อง
รักผู้อื่น ศาสนาพุทธก็ไม่หยอก เป็นอุดมคติที่จะต้องรักผู้อื่น เป็นบุคคลสูงสุด เป็นโพธิสัตว์มุ่งหมายแต่จะช่วยผู้อื่น
ศาสนาไหนก็ตาม ถ้ามันเป็นศาสนาที่ดีที่แท้แล้ว มันจะเน้นถึงข้อที่รักผู้อื่น แม้ศาสนาอิสลามที่ว่าถือดาบ เป็นศาสนาถือดาบ มันก็ต้องถือดาบเพื่อบังคับให้มีการรักผู้อื่น เพื่อจะใช้อำนาจของดาบนี่กำจัดความเห็นแก่ตัวของคน เพื่อให้เกิดความรักผู้อื่น เพราะศาสนามันมุ่งหมายที่ความรักผู้อื่น เราจงจำคำนี้ไว้ให้ดีๆ ในฐานะเป็นคำสำคัญที่สุดในสากลจักรวาลดีกว่า คือในหมู่สิ่งที่มีชีวิต รู้สึกอะไรได้ มันมีข้อสำคัญอยู่ข้อหนึ่งคือ ต้องรักผู้อื่น มันไม่ยากหรอกที่จะมอง เมื่อรักผู้อื่น มันก็ฆ่าใครไม่ได้ ศีลปาณาติบาตมันก็ไม่ขาด มันก็สมบูรณ์ เมื่อรักผู้อื่น มันก็ลักขโมยไม่ได้ ศีลข้ออทินนาทานก็สมบูรณ์ เมื่อรักผู้อื่น ก็ล่วงละเมิดของรัก ของใคร่ของผู้อื่นไม่ได้ ศีลข้อกาเมมันก็สมบูรณ์ เมื่อรักผู้อื่น ก็หลอก โกหกใครไม่ได้ เพราะเรารักเขา เราจะไปหลอกเขาได้อย่างไร นี่ศีลข้อมุสามันก็ไม่ขาดและสมบูรณ์ เมื่อรักผู้อื่น ก็ไม่อยากจะไปทำตัวให้เป็นคนบ้า คนเมา ด้วยน้ำเมา ซึ่งมันกระทบกระทั่งผู้อื่น เราก็เลยมีศีลห้าสมบูรณ์โดยแท้จริง เพราะมีความรักผู้อื่น นักศึกษาที่ชอบเป็นซ้าย เป็นขวา เป็นอะไรยุ่งไปหมดนั้น ไปคิดดูใหม่เถอะ ไอ้โลกนี้มันแก้ปัญหาได้ด้วยการที่รักผู้อื่นนั้นนะ แล้วก็ไม่มีซ้าย มีขวา พอรักผู้อื่น มันก็เกิดลัทธิที่เอาเปรียบ ขูดรีดกันไม่ได้ มันก็ไม่มีนายทุน ไม่มีชนกรรมาชีพ ไม่มีอะไรที่เป็นปัญหา มันมีแต่มนุษย์ที่รักกัน ในศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรย ปัญหาเรื่องคอมมิวนิสต์หรือต้องปราบคอมมิวนิสต์นี้มันไม่มี เพราะความรักผู้อื่นมันป้องกัน มันป้องกันไว้อย่างเฉียบขาด อย่างเด็ดขาด
เพราะฉะนั้นทางออกของมนุษย์ในโลกปัจจุบันก็คือ ความรักผู้อื่นให้ศาสนากลับมา มันก็เกิดการรักผู้อื่น
แต่ว่าคำว่ารักผู้อื่นนี่ต้องทำความหมายให้ถูกต้อง ผู้อื่นนั้นต้องเป็นผู้อื่นจริงๆ ไม่ใช่รักลูก รักเมียแล้วจะเรียกว่ารักผู้อื่น นี่กิเลสมันรัก แล้วมันไม่ใช่ผู้อื่น มันเป็นของกูนี่ มันไม่ใช่ผู้อื่น หรือว่ารักเพื่อนที่กินเหล้า เมายา สรวลเสเฮฮา เล่นหัวกัน นี่ไม่ใช่รักผู้อื่น อย่างนี้ มันเป็นเรื่องของกิเลสที่มันรู้สึกของมันอย่างนั้นเอง เพราะฉะนั้น การรักคนที่มีอะไรสนุกสนานร่วมกันนี่ไม่ใช่รักผู้อื่น มันต้องรักผู้อื่นอย่างแท้จริง คือเป็นผู้อื่นอย่างแท้จริง ที่เราเรียกกันว่าผู้อื่นนะ จะใช้คำในศาสนาคริสเตียนก็ดูจะฟังง่ายและปลอดภัย คือ เขาใช้คำว่ารักเพื่อนบ้าน Neighbor ความรักเพื่อนบ้านนั่นแหละมันจริง หรือมันบริสุทธิ์ เพื่อนบ้านคือคนที่นอกครอบครัวของเราออกไป ไม่ใช่บุตร ภรรยา สามี ไม่ใช่คนวงใน ถ้ารักเขาได้ ก็หมายความว่า มันไม่มีความเห็นแก่ตัว มันก็จะมีศีลห้าครบบริบูรณ์อย่างที่ว่า แล้วก็มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่โดยบริสุทธิ์ใจ ถ้าศาสนากลับมาโดยแท้จริง ก็จะเกิดความรักผู้อื่นขึ้นเต็มไปหมดในโลกนี้ ถ้าอันนี้ยังไม่มีมา ก็เรียกว่าศาสนายังไม่กลับมา ธรรมะยังไม่กลับมา เมื่อใดธรรมะกลับมา ศาสนากลับมา พระเจ้ากลับมา เมื่อนั้นจะมีการรักผู้อื่น เพราะมันหมดความเห็นแก่ตัว มันก็รักผู้อื่นโดยอัตโนมัติ ช่วยสังเกตและทำความเข้าใจคำว่า โดยอัตโนมัติไว้ด้วย เพียงหมดความเห็นแก่ตัวเท่านั้นแหละ มันจะรักผู้อื่นโดยอัตโนมัติขึ้นมาทันที คือเมื่อไม่เห็นแก่ตัว มันก็ไม่มีทางที่จะเกิดไฟกิเลส ความโลภเกิดเพราะเห็นแก่ตัว ความโกรธเกิดเพราะเหตุแก่ตัว ความหลงเกิดเพราะเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวเกินไปมันก็โลภ เมื่อไม่ได้ตามที่ตัวต้องการมันก็โกรธ มันก็มีมูลมาจากความเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้น มันก็เป็นความหลงอยู่แล้ว หลงเรื่องตัว เรื่องของตัว เรื่องนี้มันก็เป็นกิเลสอยู่ด้วยกัน ความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้น ไปพิจารณาดูให้ดีๆ จะเห็นว่า มันมาจากความเห็นแก่ตัว
ความเห็นแก่ตัวนี้ มันเป็นความรู้สึก สัญชาตญาณชั้นรากฐาน เป็นสัญชาตญาณตามธรรมชาติ เมื่อไม่ได้รับการควบคุม มันก็ขยายตัวเป็นความเห็นแก่ตัวชนิดที่เป็นอันตราย ตามธรรมดาสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายต้องมีความเห็นแก่ตัว
อยู่ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าไม่ถูกควบคุมแล้ว มันจะใหญ่โตจนเป็นกิเลสและเป็นอันตราย เป็นความทุกข์ ฉะนั้น
เราอย่าให้ความเห็นแก่ตัวนี่ มันงอกงามไปตามวิถีทางของกิเลส เอาเพียงรักตัว แล้วก็ต้องการให้ตัวได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ นี่เรียกว่า พูดกันอย่างสมมุติ ภาษาสมมุติ โวหารสมมุติ ไม่ใช่โวหารศาสนา ซึ่งเขาชี้ไปยังความไม่มีตัว หรือความไม่เห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้เรามีความเห็นแก่ตัวโดยพื้นฐาน โดยสัญชาตญาณ เราพยายามที่จะรู้จักมันแล้วก็ควบคุม
มันให้ได้ อย่าให้มันกลายเป็นกิเลส ให้มันกลายเป็นเพียงว่าความต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ นี่ก็เรียกว่าเห็นแก่ตัวได้เหมือนกัน แต่มันชั้นที่ไม่ใช่กิเลส และไม่เป็นอันตราย ต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ เพื่อได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ นั่นคือธรรมะนั่นเอง มีธรรมะแล้ว หมดปัญหาของตัว ไม่มีความทุกข์แล้ว ก็ช่วยผู้อื่น อย่าให้ต้องมีความทุกข์ด้วย สูงสุดอยู่เท่านั้นแหละ ที่ดีที่สุดของมนุษย์มันมีอยู่เพียงเท่านั้น มันเป็นสันติภาพ สันติสุขของบุคคลนั้นอย่างเต็มที่ แล้วมันเป็นสันติภาพ หรือสันติสุขของสังคมของส่วนรวม ของทั้งโลกด้วยอย่างเต็มที่ มันดีเท่านี้ มันดีมากกว่านี้ไปไม่ได้แล้ว ถ้าพูดกันว่าดีๆๆ ถ้ามันเลยนี้ไปอีกมันก็เหนือดี พ้นดี มันก็เป็นนิพพานไป ไม่เรียกว่าดี หรือจะพูดอย่างชาวบ้าน เอานิพพานมาเป็นความดี มันก็ดีได้เพียงเท่านี้ คือ เราก็ไม่มีความทุกข์ ผู้อื่นก็ไม่มีความทุกข์ อยู่กันอย่างไม่มีความทุกข์โดยอาศัยธรรมะ ความทุกข์ทางกายก็ขจัดไปด้วยวิชาความรู้ หรือธรรมะ หรือจิตที่ประกอบไปด้วยธรรมะ จะไม่รู้สึกเป็นทุกข์แม้ในความเจ็บและความตาย แล้วก็รู้จักทำให้เกิดกิเลส โลภะ โทสะ โมหะขึ้นมา นี่ก็เพราะมีสติ มีปัญญาสมบูรณ์ตามหลักธรรมะในพระศาสนา ก็ไม่เกิดกิเลสขึ้นมา อนุสัยแห่งกิเลสมันก็ไม่ก่อขึ้น มันไม่เพิ่มขึ้น มันมีแต่ลดลงๆ ไม่เท่าไรมันก็หมดไป มันก็หมดอาสวะ ไม่มีอาสวะที่จะไหลออกมาเป็นความทุกข์
เคยพูดแล้ว แต่กลัวว่าจะลืมเสียก็ต้องพูดอีกว่า ระวังเกิดกิเลสตัวไหนก็ได้ กิเลสข้อไหนตัวไหนก็ได้
ครั้งหนึ่งนั่น มันจะเพิ่มอนุสัย ไว้หน่วยหนึ่ง อนุสัยคือความเคยชินที่จะเกิดกิเลส ถ้าเราเกิดกิเลสทีหนึ่ง มันก็เพิ่มอนุสัยคือความเคยชินที่จะเกิดกิเลสไว้ทีหนึ่ง ที่เราก็เกิดกิเลสหลายครั้ง หลายสิบครั้ง หลายร้อยครั้ง หลายพันครั้ง อนุสัยมันก็หนาขึ้นๆ คือมีจำนวนเท่าจำนวนที่เกิดกิเลส อย่างนี้เราเรียกว่าอนุสัยเพิ่มพูนขึ้นในสันดาน กิเลสรักหรือชอบนี่ก็เรียกว่า ราคานุสัยเกิดขึ้น ถ้าเกิดกิเลสโกรธหรือเกลียดนี่ก็ ปฏิฆานุสัย มันก็สะสมขึ้น โง่หลงไปมันก็อวิชชานุสัย มันก็สะสมขึ้น เรามีราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัยพอกพูนมากขึ้นในสันดานนั้น ถ้าว่ามันไปในทางที่ตรงกันข้าม มันไม่เกิดกิเลส ในกรณีที่ควรเกิดรัก มันไม่รัก ในกรณีที่ควรจะโกรธ มันไม่โกรธ ในกรณีที่ควรจะโง่ มันไม่โง่ นี้เรียกว่า ไม่เกิดกิเลส พอไม่เกิดกิเลสเท่านั้นแหละ อนุสัยที่เคยสะสมไว้มันจะลด มันจะลด ลดลงไปหนึ่ง ถ้าเราป้องกันบังคับไม่ให้เกิดกิเลสได้ อนุสัยนั้นมันจะลดลงไปหนึ่ง ทุกคราวที่บังคับไม่ให้เกิดกิเลสได้ อนุสัยมันลดๆๆๆ จนเหลือน้อย จนหมด เพราะฉะนั้น เราอยู่กันอย่างที่เรียกว่า ไม่เกิดกิเลส ก็ต้องเป็นพระอรหันต์แน่ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ถ้าอยู่กันโดยชอบไซร้ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ เราอยู่กันโดยชอบ นี่หมายความว่า ระวังไม่ให้เกิดกิเลสได้ แล้วการสะสมกิเลสคืออนุสัยมันก็ลดลงๆๆ นี่หมายความว่า ตั้งแต่เราเกิดมาจากท้องมารดา เราเคยมีกิเลสเรื่อยๆ มา เรื่อยๆ มา มันก็สะสมอนุสัยไว้มากเรื่อยๆ มาเลยมาก เดี๋ยวนี้เรามาศึกษาธรรมะเรารู้เรื่องนี้ เราก็ระวังไม่ให้เกิดกิเลสเกิดขึ้น มันก็ไปลดอนุสัยที่เราเคยสะสมไว้ลดลงไปๆๆ
ถ้าเรายังทำอย่างนี้อยู่เรื่อย สักวันหนึ่ง ก็ต้องเป็นพระอรหันต์ คือหมดอนุสัย แล้วก็ไม่มีอาสวะอะไรที่จะออกมาเป็นกิเลสภายนอกอีก นี่สิ้นกิเลส สิ้นอาสวะ สิ้นอนุสัย หมายความว่าอย่างนี้ คือเราต้องเป็นอยู่อย่างถูกต้อง
จนกิเลสเกิดไม่ได้ และลดอนุสัยและลดอาสวะ นี่คือการประสบความสำเร็จในการมีธรรมะ ซึ่งเป็นหัวข้อของ
การบรรยายในครั้งนี้ ในวันนี้ โดยหวังจะให้ทุกคนประสบความสำเร็จในการมีธรรมะ คือมีธรรมะอยู่ได้ แล้วก็ไม่เกิดกิเลส ไม่เกิดไฟกิเลส ไม่เกิดไฟทุกข์ ก็มีแต่ความเย็นซึ่งเป็นนิพพาน เป็นสุขใจเพราะมีนิพพานอยู่คู่กับฉันตลอดเวลา ตลอดเวลาไม่มีกิเลส ว่างจากกิเลส ความว่างจากกิเลสนั้นเป็นนิพพานในระดับใด ระดับหนึ่งอยู่ตลอดเวลา นี่มันจะเป็นอย่างไร จะดีมากหรือดีน้อย วิเศษหรือไม่วิเศษก็ไปลองคิดดู
และทางฝ่ายศาสนา ฝ่ายธรรมะนี่ไม่มีอะไรให้มากกว่านี้ นี่พูดตามจริงเลย ไม่กลัวว่าใครจะเลิกหรือใครจะเกลียด จะถอยหลังก็ตามใจ บอกว่า เราไม่มีอะไรให้มากไปกว่าที่ว่า จะมีชีวิตอยู่อย่างเยือกเย็น เพราะไม่มีไฟกิเลส ไม่มีไฟทุกข์ที่เผาลน แล้วเรายังสามารถจะแผ่ความเย็นนี้ออกไปถึงผู้อื่นด้วย จนอยู่เย็นกันทั้งโลกหรือทั้งสังคม ขอให้นักศึกษาทั้งหลายมองดูเห็นแล้วเข้าใจว่า นี่มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก จากเรื่องที่พวกคุณศึกษากันอยู่อย่างเป็นบ้าเป็นหลังในมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่เคยพูดเรื่องธรรมะ เรื่องกำจัดกิเลสและความทุกข์ พูดกันแต่เรื่องให้ฉลาดและให้สามารถ
ในการประกอบอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่งในอนาคต และก็ไม่ได้บอกว่า ประกอบอาชีพได้เงินมาแล้ว ควรจะใช้มันอย่างไร พวกคุณก็เลยใช้ตามพอใจของกิเลส นี่ ตอนนี้มันจะเผาแล้ว เรามีความรู้เรื่องอาชีพ เรื่องโลกๆ มากเท่าใด
ก็ควรจะมีความรู้เรื่องของธรรมะที่จะควบคุมไฟกิเลสและไฟทุกข์เอาไว้ให้ได้เท่านั้น
อย่างที่ได้กล่าวแล้วแต่วันแรกของการบรรยายนั้นว่า ธรรมะนี้มีไว้สำหรับให้คนอยู่ในโลกโดยมีชัยชนะ
อย่าไปโง่ตามคนบางพวกว่า ธรรมะมีไว้สำหรับดึงคนออกไปอยู่ป่า ไปทิ้งจากโลกไปอยู่ในป่า นั่นมันว่าเอาเอง ธรรมะนั้นมันมีไว้สำหรับให้คนอยู่ในโลกนี่ แต่อยู่โดยมีชัยชนะเหนือโลก อย่าให้โลกครอบงำจนเกิดกิเลส แล้วก็มีกิเลส
และมีความทุกข์ ฉะนั้นให้ความยุติธรรมแก่ธรรมะบ้าง ธรรมะได้รับความอยุติธรรมมากเหลือเกิน โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ ไม่มีใครรู้จักธรรมะและให้คุณค่าแก่ธรรมะอย่างถูกต้อง ไม่มองเห็นส่วนดีของธรรมะคือ ความจำเป็นที่จะต้องมีอยู่ในโลกนี้ เขาไม่ให้ความสนใจ ไม่มองเห็น แล้วก็ไม่หวังว่าจะให้ธรรมะนี้มาคุ้มครองโลก โดยที่แท้นั้น ธรรมะนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ จะคุ้มครองมนุษย์ เราก็ควรจะรู้จักค่าของธรรมะ ให้จำคำสั้นๆ ที่ว่า เพื่อให้อยู่ในโลกด้วยชัยชนะ เหนือโลก โลกคือสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกที่จะเข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ แล้วให้เกิดกิเลสและความทุกข์ นั่นคือโลก ทีนี้ธรรมะมีสำหรับให้มีสติปัญญา เอาชนะไอ้สิ่งเหล่านี้ให้ได้ เอาชนะทุกสิ่งในโลกให้ได้ อย่าให้สิ่งเหล่านี้มาครอบงำเรา อย่ามาเป็นนายเรา อย่ามาทำเราให้เป็นทาสของสิ่งเหล่านี้ แต่ทำให้เราเป็นนายเหนือสิ่งเหล่านี้ทุกอย่างในโลก ฉะนั้นเราจะมีอะไรก็ได้ ไม่มีใครว่า จะมีทรัพย์สมบัติ เงินทองข้าวของ เกียรติยศ บุตรภรรยาสามีอะไรก็ได้ มีได้ แต่อย่าให้มันเป็นความทุกข์ขึ้นมา
นี่ถ้าใครต้องการจะไม่มี ต้องการจะเป็นอิสระมากกว่านั้น ก็ทำได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว คนมันต้องมี คนมันต้องอยู่ในโลก ต้องเป็นผู้ที่มีเจ้าเรือน ต้องมีครอบครัว มีทรัพย์สมบัติ มีเกียรติยศชื่อเสียง มันต้องมี นี้เขาจะต้องรู้จักมีสิ่งเหล่านี้ให้ถูกต้อง อย่าให้มันเกิดเป็นพิษ เป็นโทษ เป็นไฟกิเลสหรือไฟทุกข์ขึ้นมานั่นเอง พระพุทธเจ้าเป็นผู้ดับไฟกิเลสและไฟทุกข์ได้ด้วยพระองค์เอง แล้วก็สอนผู้อื่นให้รู้จักดับไฟกิเลสและก็ไฟทุกข์ได้ด้วย นี่ความหมายของพระพุทธคุณ มันมีอยู่อย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ธรรมะ ค้นพบธรรมะ ค้นพบกฎของธรรมชาติเกี่ยวกับความทุกข์และความดับทุกข์ ท่านสอนให้ทุกคนปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎอันนี้ แล้วก็กำจัดความทุกข์เสียได้ เราเป็นสาวกของพระองค์ รู้เรื่องนี้แล้วก็ปฏิบัติข้อนี้อยู่ ขอให้เราประสบความสำเร็จในการปฏิบัตินี้ มีธรรมะที่เป็นผลของการปฏิบัติ คือดับไฟกิเลสและไฟทุกข์ได้ แล้วเราก็เย็น เย็นแล้วก็ช่วยผู้อื่น ทุกคนเย็นด้วยกัน นี่เรื่องมันมีเท่านี้ การประสบความสำเร็จในการมีธรรมะมันมีเพียงเท่านี้ จะชอบหรือไม่ชอบก็ตามใจ มันได้แต่ต้องพูดอย่างนี้ จะชอบหรือไม่ชอบก็ตามใจ
ถ้าเห็นว่ามันเป็นสิ่งสูงสุดสำหรับมนุษย์ แล้วก็พยายามที่จะศึกษาให้เข้าใจยิ่งๆ ขึ้นไป แล้วก็ปฏิบัติให้ยิ่งๆ ขึ้นไป จนดับไฟกิเลสและไฟทุกข์ได้จริง อย่างนักศึกษาจบการศึกษาก็จะออกไปเป็นผู้ประกอบการงาน มีอาชีพ ปฏิบัติอาชีพแล้วก็มีผลของอาชีพ แล้วจะทำอะไรต่อไป จะมีบุตรภรรยา สามีอะไรต่อไป หรือจะทำหน้าที่ที่สำคัญๆ
ในประเทศชาติต่อไป ก็ขอให้มันเย็นอยู่ตลอดเวลา บางคนนะเขาโง่ ถึงขนาดว่าอยู่ในโลกมันเย็นไม่ได้ เดี๋ยวนี้เรามาบอกว่า ถ้าทำให้ถูกวิธี มันก็เย็นอยู่ในโลกได้ ถ้ามันเย็นอยู่ในโลกไม่ได้ แล้วธรรมะจะมีประโยชน์อะไร ถ้าธรรมะทำให้ต้องหนีโลกไป ทิ้งโลกไป มันจะมีประโยชน์อะไรแก่โลก ธรรมะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ แม้ในโลก เพราะฉะนั้น เราอย่าท้อถอย มีธรรมะให้พอ เมื่อศึกษาเล่าเรียนก็อย่าให้มีความทุกข์เลย ดำรงจิตไว้อย่างถูกต้อง ไม่ต้องมีความทุกข์ ความร้อนเพราะการเล่าเรียน หลังจากนั้นไปประกอบอาชีพก็อย่าต้องมีความทุกข์ความร้อน เพราะการประกอบอาชีพ แล้วต่อไปก็จะรับผิดชอบกว้างขวางยิ่งขึ้นไปเป็นบิดา มารดา เป็นผู้บังคับบัญชา เป็นคุณพ่อ เป็นคุณปู่ เป็นคุณตาที่สามารถจะชี้แจงอบรมสั่งสอนลูกหลานให้ประสบแต่ความสุข ความเจริญยิ่งๆขึ้นไป ภาระหน้าที่มันยังมีอยู่ข้างหน้า ล้วนแต่จะต้องทำให้ได้ ทำให้สำเร็จอย่าให้มีความร้อนเกิดขึ้นเลย ให้มีนิพพานในทิฏฐธรรมเหมือนกับบทเพลงของลูก เด็กๆ ที่ร้องอยู่แถวๆนี้ทุกวันว่า เป็นสุขใจเพราะมีนิพพานอยู่คู่กับฉัน มันก็ร้องไปอย่างนั้น มันคงไม่รู้เรื่องอะไรนัก แต่ความจริงมันมีอยู่อย่างนี้ มันมีความหมายมาก ขอให้ทุกคนมีชีวิตชนิดที่มีนิพพานอยู่คู่กับฉัน คือความเย็น เพราะความว่างไปจากกิเลสและความทุกข์ อันนี้เป็นความเย็น ในตัวชีวิตนั้นมันจะไม่มีความทุกข์ มันจะเป็นความดับทุกข์ได้ในตัวมันเอง ฉะนั้นต้องศึกษาธรรมะถึงขนาดที่จะไม่ยึดถือเอาชีวิตนั้นเป็นตัวตน เป็นของตน จึงจะไม่มีกิเลสและความทุกข์ เราจึงศึกษากันให้เพียงพอในเรื่องของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในเรื่องของอริยสัจทั้งสี่ และในเรื่องของ ปฏิจจสมุปบาท จนสามารถควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทให้เป็นไปแต่ในทางที่ไม่เกิดความทุกข์ สามารถหยุดตัณหา หยุดอุปาทานเสียได้ ก่อนที่มันจะเกิด และปฏิบัติ ปฏิจจสมุปบาทนี้ก็จะเป็นไปเพื่อดับทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อเกิดทุกข์ เราควบคุมกิเลสและความทุกข์ได้ เพราะอาศัยพระธรรมที่รู้อย่างเพียงพอ ปฏิบัติได้อย่างเพียงพอ
เราในที่นี้ก็คือร่างกายกับจิตใจที่ประกอบอยู่ด้วยสติปัญญา อย่าให้ถึงกับเป็นตัวกู เป็นของกู เป็นตัวเป็นตนขึ้นมานั้น มันเป็นกิเลสนะ ความรู้สึกว่าตัวกู ของกูเกิดเมื่อไร มันจะเห็นแก่ตัวตนเมื่อนั้น และมันก็เป็นกิเลสเมื่อนั้น ไม่ต้องมีความรู้สึกเป็นตัวกู ของกูชนิดนั้น มีแต่จิตใจที่สว่างไสว ที่สงบเย็นและมันรู้อะไรของมันเอง มันก็ทำอะไรถูกต้องเอง ขอให้มันมีสว่างไสว สงบเย็น คือธรรมะนั่นแหละ นี้เรียกว่า ประสบความสำเร็จในการมีธรรมะ เกิดมาชาติหนึ่ง ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา เพราะว่าประสบความสำเร็จในการเกิดมา และมีธรรมะ ถ้าจะมีตัวตนก็มีธรรมะเป็นตัวตน ไม่มีกิเลสเป็นตัวตน นั่นนะเรียกว่าชนะกิเลสหรือประสบความสำเร็จ เป็นผู้ชนะกิเลสเหมือนพระพุทธเจ้าชนะมาร คำว่ามารคือกิเลส พระพุทธเจ้าชนะกิเลส คือชนะมารอย่างไร เราเป็นลูกศิษย์ของท่าน ก็ชนะกิเลสและชนะมารอย่างนั้น นี่เรียกว่าประสบความสำเร็จในการเกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา
ในการบรรยายโดยหัวข้อสั้นๆว่า การประสบความสำเร็จในการมีธรรมะ มันก็มีอยู่เพียงเท่านี้ อาตมาขอยุติ
การบรรยายและจะให้เป็นโอกาสสำหรับถามปัญหา ฉะนั้นถ้าใครต้องการจะถามปัญหาก็ถามได้ เพื่อให้เข้าใจแจ่ม แจ้งถึงที่สุดในเรื่องนี้ หรือที่มันเกี่ยวกันกับเรื่องนี้
ถาม: ท่านอาจารย์ครับ คือปรกตินะครับ คนเราก็มีความอยากจะได้นิพพาน อยากได้ความร่มเย็น อยากเป็นสุข
แต่ว่ามันเป็นอนุสัยที่เราสะสมมาค่อนข้างมาก การที่เราจะระวังไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น เราจะตั้งต้นได้อย่างไรครับ
ตอบ: ฟังไม่รู้เรื่อง และไม่ค่อยได้ยินด้วย แล้วฟังไม่รู้เรื่อง
ถาม: แต่เนื่องจากกระแสแห่งการเกิดของความทุกข์นี่มันเกิดรวดเร็วมาก การที่เราจะระวังไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นนี่ เราจะเริ่มต้นอย่างไรบ้างครับ
ตอบ: จะเริ่มต้นอย่างไรบ้าง นั่นนะมันเป็น เอ่อ มันมีระบบของการศึกษาและการปฏิบัติอยู่แล้ว ก็ต้องศึกษาให้รู้ว่ากิเลสมันจะเกิดขึ้นอย่างไร โดยวิธีใด คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท ถ้าศึกษาแล้วมันก็รู้ ก็จะไม่ต้องถาม มันก็มีสติปัญญาพอที่จะควบคุมกระแสการปรุงแต่งในจิต ที่เรียกว่ากระแสปฏิจจสมุปบาทนั้น ตัวอย่างเมื่อตาเห็นรูป เกิดการเห็นทางตา ตากับรูป เกิดการเห็นทางตา ทำงานร่วมกัน เรียกว่าสัมผัส ในขณะสัมผัส มันไม่มีปัญญา ไม่มีวิชา ไม่มีสติ สัมผัสชนิดโง่ นี่มันก็ให้เกิดเวทนา ชนิดโง่ สำหรับจะไปจูงจิตให้โง่ เพื่อต้องการอย่างโง่ๆ มันก็เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง คือตัณหา เขาเรียกว่าตัณหา คือความต้องการ เมื่อเกิดเวทนาอย่างไร สุขหรือทุกข์ก็ตาม มันก็เกิดตัณหาคือความอยากโดยสมควรแก่ความรู้สึก ว่าสุขหรือว่าทุกข์ นี่เขาเรียกว่าความอยาก นี่คือตัวกิเลส แต่เขากล่าวกันอย่างชั้นละเอียด เรียกว่า ความอยากด้วยอำนาจอวิชชา ความอยากด้วยอำนาจความโง่จึงจะเรียกว่า ตัณหา ถ้ามันอยากหรือต้องการด้วยสติปัญญา อย่าไปเรียกมันว่าตัณหาเลย อย่าเอาไปปนกันให้ยุ่ง เหมือนที่เขาสอนๆ กันอยู่ ว่าถ้าขึ้นชื่อว่าอยากหรือต้องการ แล้วเป็นตัณหาหมด เราที่นี่ไม่บอกอย่างนั้น มันต้องเป็นความอยากด้วยอำนาจของความโง่ จึงจะเรียกว่าตัณหาหรือความโลภ ถ้ามันอยากหรือประสงค์หรือต้องการด้วยสติปัญญาอันแจ่มใส ไอ้ความอยากนี้ไม่เรียกว่าตัณหา ไม่เรียกว่าความโลภ เรียกว่าความต้องการอย่างถูกต้อง นี่เราต้องควบคุมความอยาก อย่าให้มันเป็นไปด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา ให้มันรู้จักสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง และมันอยากแต่ในทางที่จะดับทุกข์ อยากที่จะอยู่เหนือสิ่งทั้งปวง เพราะฉะนั้น ตอนที่เกิดเวทนาแล้วก็ระวังให้ดี อย่าให้เกิดตัณหาด้วยอำนาจอวิชชา ถ้ามันควบคุมไว้ไม่ได้ มันมีอวิชชาเข้ามาปนตั้งแต่สัมผัส แล้วเวทนามันก็มีอวิชชา ตัณหามันก็มีอวิชชา มันก็จะเกิดอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น หลังจากนั้นจะต้องเป็นทุกข์โดยแน่นอน เวทนาทำให้เกิดความอยาก เป็นความรู้สึกที่เป็นความอยาก เรียกว่าตัณหา พอความอยากเกิดแล้ว มันจะทำให้เกิดความรู้สึกต่อมาว่า ตัวกู กูอยาก กูเป็นผู้ต้องการ ความอยากเกิดก่อนบุคคล ตัวกูผู้อยาก นี่ มันผิด Logic อยู่บ้าง แต่ความจริงมันเป็นอย่างนั้น เพราะว่ามันไม่มีตัวตนอันแท้จริง มันเป็นเพียงความรู้สึกเท่านั้น คือความรู้สึกอยากมาก่อน และความรู้สึกว่าเป็นตัวกูผู้อยาก มันก็ตามมา นี่เรียกว่าเกิดกิเลส เกิดตัณหา เกิดตัวตน ก็ต้องเป็นทุกข์ เพราะยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตน หรือของตน
ถ้าเราควบคุมกระแสการปรุงแต่งแห่งจิตนี้ได้ โดยเฉพาะในขณะแห่งผัสสะ อย่าให้มีอวิชชาหรือ
ความโง่เข้ามาปน ให้มันมีสติสัมปชัญญะในขณะแห่งสัมผัส แล้วเวทนานั้นมันก็จะไม่เป็นเวทนาที่หลอกลวง มันเป็นความรู้สึกที่ชัดเจน เปิดเผย แจ่มแจ้งว่าเป็นอะไร จิตใจมันก็ไม่หลงอยาก คือไม่เกิดตัณหา และก็ไม่เกิดความรู้สึกว่า
กูผู้อยาก คือไม่เกิดอุปาทาน นี่มันเลี้ยวมาเสียในทางที่จะไม่เกิดความทุกข์ ถ้าปล่อยไปตรงๆ ตามอำนาจอวิชชา ความโง่
มันก็ไปจนถึงความทุกข์ ตัณหา และอุปาทาน และก็ภพ และก็ชาติ มีตัวกูโดยสมบูรณ์ ยึดถือเป็นความเกิดของกู ความเจ็บของกู ความแก่ของกู และอะไรๆทั้งหมดก็ล้วนเป็นของกู มันก็เป็นทุกข์ทันที
นี่โดยใจความเป็นอย่างนี้ โดยรายละเอียดมีมาก เมื่อถามว่าจะตั้งต้นปฏิบัติเพื่อปิดกั้นกิเลสอย่างไร
มันก็คืออย่างนี้ เมื่อตาเห็นรูป ก็มีสติสัมปชัญญะที่จะไม่ให้เกิดกิเลสตัณหา เราพูดกันง่ายๆ สั้นๆ ตามภาษาชาวบ้าน
ธรรมดาว่า เมื่อได้เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสผิวหนังหรือความคิดในจิตใจก็ตาม ให้ระวังให้มันมีแต่
ความถูกต้อง อย่าได้เกิดกิเลส ตัณหา ความโลภ ความโกรธ ความหลงเลย พูดภาษาชาวบ้านไม่รู้อะไรกันก็แล้วกัน ว่า เมื่อตา เห็นรูป ก็อย่าได้เกิดยินดี ยินร้ายเลย พอหูได้ฟังเสียง ก็อย่าได้เกิดยินดี ยินร้ายเลย เพราะว่าเกิดยินดี ยินร้ายทีไร มันก็เป็นทุกข์ทุกที ให้รู้จักเข็ดหลาบกันเสียบ้าง เอาความรู้สึกสามัญสำนึกนี่เป็นหลักปฏิบัติก็ได้เหมือนกัน แล้วมันก็ไปเข้ากับหลักธรรมะโดยละเอียดประณีต เป็นหลักเทคนิคทางธรรมะอย่างเดียวกัน เดี๋ยวจะไม่เข้าใจ ว่าพูดให้มันละเอียดนัก ก็พูดอย่างหยาบๆ ว่าคนธรรมดาสามัญ เมื่อเห็นรูป ก็รู้สึกตัวที่จะไม่หลงรัก หลงชัง เมื่อได้ฟังเสียง ก็รู้สึกตัวที่จะไม่หลงรัก หลงชัง เมื่อได้กลิ่นก็รู้สึกตัวไม่หลงรัก หลงชัง เมื่อได้ลิ้มรสทางลิ้น ก็รู้สึกตัว ไม่หลงรัก หลงชัง สัมผัสผิวหนังก็รู้สึกตัว ไม่หลงรัก หลงชัง เกิดความคิดในจิตก็อย่าให้มันเกิดความหลงรัก หลงชัง เรื่องมีเท่านี้ มันพูดง่าย แต่มันทำยาก แล้วมันเร็วยิ่งกว่าอะไรๆ ซึ่งเราควบคุมมันไม่ค่อยทัน เพราะฉะนั้น เราจึงต้องฉลาด ฝึกฝนอบรมให้มันทันกัน ที่จะควบคุมหรือป้องกันไอ้ความเร็ว เพราะจิตใจที่มันจะปรุงแต่งกันไป จนเกิดกิเลสและความทุกข์ ต้องพูดว่าเร็วยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ ฟังดูแล้วแทบจะหมดศรัทธา แต่ว่ายังมีวิธีปฏิบัติที่จะช่วยให้เกิดสติสัมปชัญญะ ไว้มากพอสำหรับสกัดกั้นไอ้กระแสอันเร็วนี้ได้ เรียกว่าไปฝึกสติ เรียกเต็มที่ ก็ว่าฝึกสติปัฏฐานทั้ง ๔ แบบที่รัดกุมที่สุด ก็คือ อานาปานสติภาวนา ๑๖ ขั้น ถ้าปฏิบัติได้สำเร็จจริง มันจะสมบูรณ์ด้วยสติและปัญญา ที่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มาแล้วอย่างเพียงพอ เป็นทุนสำรองอยู่ในจิตที่จะมองเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ทันที เมื่ออะไรเข้ามาทางตา เข้ามาทางหู เข้ามาทางจมูก เข้ามาทางลิ้นนี่ ในปัญญาเรียกอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันจะเร็วเท่าสายฟ้าแลบเหมือนกัน แต่ออกมาโดยอำนาจของสติ และควบคุมไว้ได้ ปิดกั้นไว้ได้ ไม่ให้จิตปรุงไปตามอวิชชา ตามแบบของอวิชชาที่จะเกิดความทุกข์ มันก็ต้องลงทุนบ้าง คือฝึกตนให้เป็นผู้มีสติอันเพียงพอ รวดเร็วพอ แล้วก็มีปัญญารู้แจ้งความจริงเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างเพียงพอ แล้วสติกับปัญญานี้มันก็ทำงานกันเป็นคู่ เป็นคู่แฝด ปัญญาเป็นความรู้ สติเป็นผู้นำมาซึ่งความรู้ แล้วก็มาทันท่วงทีที่ตาเห็นรูป หรือหูได้ยินเสียงหรือจมูกได้กลิ่น ถ้าฝึกไม่พอ มันก็มีไม่พอ หรือมันไม่เร็วพอ ไม่คล่องแคล่วพอ มันมาไม่ทัน เราจะต้องฝึกสติให้พอ ให้เร็วพอ ฝึกปัญญาเห็นแจ้งพอ ไม่ต้องคิดพิจารณาอะไรกันให้มากมายนัก ก็มีไอ้ความเห็นแจ้งที่เราได้ปฏิบัติอยู่ตลอดเวลานั้นนะพอ ที่จะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในสิ่งที่เข้ามากระทบ แล้วยังมีอะไรที่ลึกกว่านั้นอีก ก็คือว่า เมื่อเราปฏิบัติอย่างนี้อยู่ ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ อยู่ มีสติมากขึ้น มีปัญญามากขึ้นนั้น มันลดกิเลสและอนุสัยอยู่ในตัวโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นความรุนแรงของอนุสัย ของอาสวะนี่ มันก็ลดลง มันจึงทำให้เป็นไปได้หรือมีหวังที่จะควบคุมได้ จะควบคุมมันได้ เพราะวิปัสสนานั้นย่อมทำลายกำลังของกิเลส และอนุสัยอยู่ตลอดเวลา นั่นนะคือระบบการฝึก ให้มีสติและมีปัญญา สติอันเป็นสมาธิ สมาธิมีอยู่ในสติ ปัญญาก็มาผสมกันเป็นธรรมะและป้องกันการเกิดแห่งกิเลส หรือว่าอาจจะทำลายกิเลสที่ที่เกิดขึ้นมา แล้วแต่กรณี ไปอ่าน ไปศึกษาดูเรื่องอานาปานสติทั้ง ๑๖ ขั้น แล้วก็ลองปฏิบัติดูเถอะ มันจะบอกให้เอง มันจะตอบคำถามให้เองว่า มันเป็นอย่างไร จะทำได้โดยวิธีใด จะมาพูดกันด้วยปากอย่างนี้ มันก็พูดยาก เพราะมันจะพูดไม่ได้ มันก็จะต้องทำให้มีขึ้น แล้วมันจะทำให้มองเห็นเอง มันจะแสดงอยู่ในตัวมันเอง ว่ามันจะควบคุมไม่ให้เกิดกิเลสตัณหาได้อย่างไร มันยังมีปัญหาอะไรอีก จะพูดเรื่องนี้ก็ได้ถ้ายังไม่เพียงพอ ไม่ชัดเจน ก็ถามอีกก็ได้
ถาม : อาจารย์ครับ คือ อย่างที่อาจารย์พูดเมื่อสักครู่นี้ที่ว่า เมื่อเราปฏิบัติลงไปแล้วจริงๆนี่ สิ่งที่เราปฏิบัตินี่ มันจะแสดงออกมาเองนี้ แล้วเราจะสรุปได้อย่างไรว่า สิ่งนั้นถูกต้องหรือว่าผิดพลาดอย่างไร เราจะเอาอะไรเป็นมาตรฐานหรือว่าไม่มีมาตรฐานอะไร
ตอบ : นี่ คือปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ คนสมัยนี้ มันติดเฮโรอีนปรัชญา มันเอาปรัชญามาทำเป็นเฮโรอีน จนติดแน่น อะไรก็จะถามด้วยคำตอบในรูปแบบของปรัชญาว่าอย่างไรถูก อย่างไรผิด อย่างไรถูก อย่างไรผิด ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าทำตามทางของธรรมะ เขาจะไม่มีปัญหาอย่างนี้ ที่มันดับทุกข์ได้ นั่นมันถูก ที่มันดับทุกข์ไม่ได้ นั่นคือมันยังไม่ถูก เอาที่มันดับทุกข์ได้ แล้วเรารู้สึกอยู่ว่าทุกข์มันดับลงไปนั้นนะคือถูก อย่าใช้วิถีทาง คำนวณหรือวัดกันโดยทางปรัชญา ซึ่งมันเพ้อเจ้อ จนไม่มีประโยชน์อะไรในโลกนี้ ไอ้ผิดหรือถูกตามหลักเกณฑ์ทางปรัชญานั้นนะ ไม่จริง บ้าๆ บอๆ อย่างไรก็ไม่รู้ มันดับทุกข์ไม่ได้ๆ ในทางธรรมะ ทางศาสนาก็เห็นอยู่ว่า มันดับทุกข์ได้ คือมันหยุดกระแสความทุกข์นี้ได้ นี่คือถูก จะพูดให้ต่ำกว่านี้ก็ได้ คือว่าถ้าถูกแล้วก็มีประโยชน์ ถ้าไม่ถูก แล้วก็ไม่มีประโยชน์ ถ้ามันพิสูจน์
ความมีประโยชน์อย่างนั้นนะ คือถูก เพราะฉะนั้นถือหลักตามทางศาสนากันไว้ มันพิสูจน์ความมีประโยชน์คือ
ดับทุกข์ได้ เพราะฉะนั้น ถือว่าสิ่งนั้นถูก ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น ถือว่ายังผิดอยู่ แต่พวกปรัชญาเขามีระบบคิดนึก วินิจฉัยตัดสินของเขาอย่างอื่นจนเฟ้อไปจนหาอะไรไม่ได้ จนหาประโยชน์ไม่ได้ ตั้งแต่วินาทีที่เรากำหนดลมหายใจแรกนะ เราจะรู้ว่ามันสงบลง สบายลง สงบลงแน่วแน่ขึ้น มันก็พิสูจน์ความถูกอยู่ในตัวแล้ว ตั้งแต่วินาทีแรกที่เริ่มทำสมาธิ ไปลองดู มันจะบอกให้เองว่าผิดหรือถูก ถ้ามันสงบระงับลงไป มันก็ถูก อย่างน้อยมันก็ถูกส่วนหนึ่ง ถูกน้อยๆ ถ้ามันไม่มีประโยชน์อะไรเลย มันก็พิสูจน์ความผิด ไม่มีประโยชน์ อ้าว มีปัญหาอะไรอีก
ถาม : อันนี้เป็นคำถามที่ต่อเนื่องจากคำถามข้อหนึ่งนะคะ คือ การที่เราจะถอนความยึดมั่นจากตัวตน
ลงได้นี่นะคะ พระคุณเจ้า คือหมายความว่า การกำหนดรอบรู้ในประเด็นปฏิจจสมุปบาทธรรมนั้น จะต้องมีสมาธิเป็นเบื้องต้นใช่ไหมคะถึงจะกำหนด ถอนความยึดมั่นจากตัวตนลงได้
ตอบ : นั่นแหละ มันต้องมีความถูกต้องทางกาย ทางวาจาที่เรียกว่า ศีล มีความถูกต้องทางจิตที่เรียกว่าสมาธิ ปัญญาที่เห็นปฏิจจสมุปบาทจึงจะเกิดขึ้น หรือว่า เมื่อเรากำลังพิจารณากันจริงๆ ลงไปที่เรื่องของปฏิจจสมุปบาท ที่มันมีกระแสของมันกำลังดำเนินอยู่ เมื่อนั้น มันจะมีทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญาฟั่นเกลียวกันอยู่เลย ไม่ต้องแยก ความที่สำรวมระวังให้ทำอะไรนั่นเขาเรียกว่า ศีล ความที่จิตใจมันแน่วแน่ลงไปเรียกว่า สมาธิ และความรู้ที่ค่อยๆเกิดขึ้นมานี่เราเรียกว่า ปัญญา ถ้าเราปฏิบัติ พิจารณาปฏิจจสมุปบาทอยู่ มันจะมีทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ไม่มีปัญหาเรื่องนี้ เขามักจะสอนให้ทำศีลเต็มที่ ทำสมาธิเต็มที่ แล้วจึงไปทำปัญญา นี่มันทำไม่ได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่มันต้องทำพร้อมกันไปเป็นเกลียวกันไป บางทีปัญญาจะต้องมาก่อนอื่นด้วยซ้ำไป ก็ต้องรู้เค้า รู้เหตุผล รู้แนวที่จะต้องทำ อันนี้เป็นปัญญาแล้ว แล้วจึงทำให้มันถูก มันก็มีศีล มีสมาธิ แล้วก็มีปัญญาต่อไปอีก มันจะทำงานร่วมกันทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ไม่อย่างนั้น ทำไม่ได้ เขาเปรียบเหมือนกับว่า มีดนั้นมันจะคมอย่างไร มันต้องมีน้ำหนักด้วย น้ำหนักที่จะฟันลงไป มันต้องมีด้วย ถ้ามันไม่มีน้ำหนัก ที่จะฟันลงไป ความคมก็ไม่สำเร็จประโยชน์
นี่สมาธิมันต้องช่วยปัญญา และปัญญามันต้องมีสมาธิด้วย แล้วก็มีความถูกต้อง ความตั้งใจหรือ
ความแน่วแน่ในการที่จะฟันด้วย เรียกว่ายืนอยู่อย่างถูกต้อง แล้วก็ฟันลงไป คือมีศีล สมาธิ ปัญญาทำงานร่วมกัน ถ้าเพื่อจะพูดให้สั้น เราตั้งใจทำปัญญา แล้วศีล สมาธิ มันถูกลากมาเอง เหมือนเราจะคิดเลข ขอให้ตั้งใจคิดเลข
เป็นเรื่องของปัญญา แล้วสมาธิมันจะเกิดโดยธรรมชาติ แล้วมีการควบคุมให้คิดอยู่อย่างถูกต้องเรื่อยไป นี่มันมีศีลขึ้นมาโดยธรรมชาติ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ ต้องครบ ๘ นั่นนะแล้วก็ไปด้วยกัน
จะทำทีละอย่างไม่ได้ ธรรมะที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องครบถ้วน แล้วรวมกันเป็นสิ่งเดียว แล้วก็ทำหน้าที่อันนั้น
นั่นเขาเรียกว่า ธัมมสมังคี มีองค์ประกอบ มีส่วนประกอบเสมอตามหน้าที่ของตน แล้วก็ทำงานอันใดอันหนึ่ง เช่น
จะตัดกิเลสหรือว่าจะทำอะไรก็ตาม ธรรมะหลายๆอย่างมีหน้าที่ร่วมกัน มีส่วนประกอบของตนถูกต้อง เช่น โพชฌงค์ ๗ อย่างนี้ ก็ต้องมีทั้ง ๗ แล้วก็พอสมสัดสมส่วนของทั้ง ๗ แล้วก็ทำหน้าที่ได้ในที่สุด หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราพูดกันมากที่สุด ไปทบทวนดูใหม่ต้องมีครบ ๘ แล้วก็ทำงานพร้อมกัน
ถาม : ผมจะถามเรื่องการฝึกอานาปานสติและสติปัฏฐาน ๔ เมื่อผมเริ่มต้นการฝึกอยู่ บางครั้ง
มันจะมีลักษณะอาการที่ว่า อาการเบื่อ หรืออาการง่วงเหงาหาวนอน หรือความไม่เข้าใจนี่ เราจะมีวิธีแก้ไขสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร ถ้าเราลองทำดูแล้วมีอาการอย่างนี้
ตอบ : ว่าใหม่สิ ฟังไม่ถูกเลย ที่พูดนี่ ขอว่าใหม่ ให้ช้าๆ ชัดๆหน่อย ใกล้ๆ หน่อย
ถาม : ผมจะถามเกี่ยวกับเรื่องการฝึกอานาปานสติ เกี่ยวกับสติปัฏฐาน ๔ เมื่อลองฝึกดูตามขั้นตอนทั้งหมดมี ๑๖ ขั้นนะครับ แล้วผมฟังดูก็รู้สึกว่ามันค่อนข้างยากมากๆ ทีเดียว แต่ก็จะลองเริ่มต้นขั้นที่หนึ่งก่อนที่ท่าน ฟังจากเทปที่ท่านเปิดให้ฟัง ก็บอกว่ากำหนดลมหายใจยาวให้รู้ว่า เข้าก็หายใจยาว ออกก็หายใจยาวนะครับ บางครั้งเราจะมีความรู้สึกในการที่ว่า มันเบื่อแล้วมันก็วอกแว่ก หรือมันง่วงนอน เราจะแก้ไขสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไรครับ
ตอบ : นี่ ไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาตอบอย่างนี้ได้ ไปฝึกให้มันจริง ให้มันแรงกว่านั้น แล้วมันก็จะค่อยๆ สอนให้เอง ทำอย่างไรง่วง ทำอย่างไรไม่ง่วง ทำให้มันจริงขึ้นมา มีความพอใจที่จะกระทำ ทำให้มันพอ
แล้วมันก็ไม่ง่วง
ถาม : แล้วจำเป็นไหมครับ ที่เราจะต้องทำนานๆ หรือทำบ่อยๆ มันอย่างไร
ตอบ : โอย ยิ่งเกินกว่าจำเป็นเสียอีก ทำให้มาก ทำให้ชำนาญ
ถาม : ครับ แค่นี้ครับ
ตอบ : คุณคงจะเคยขี่รถจักรยาน หัดขี่จักรยานและขี่ได้ เอานั้นแหละ เป็นอุทาหรณ์ คนอื่น
มันสอนไม่ได้ ต้องให้รถจักรยานมันสอน หรือการหกล้มมันสอน เดี๋ยวนี้มันเหมือนกับขี่ ขี่จิต ขี่รถจักรยานจิต แล้วมันก็จะต้องล้ม เหมือนกับที่เราขี่รถจักรยานจริง แล้วการล้มนั้นจะสอน คนอื่นสอนไม่ได้ อย่าพูดให้มันผิดที่ว่า คนอื่นจะมาสอนให้คนขี่รถจักรยานเป็นนี่ มันไม่ได้ ต้องให้รถจักรยานมันสอนเอง ให้การล้มมันสอนเอง เดี๋ยวมันก็ไม่ล้ม แล้วมันก็ดีขึ้นๆ ๆจนแน่วแน่ไปเลย เพราะฉะนั้นอย่ายอมแพ้ เหมือนกับคนขี่จักรยานล้ม หัวเข่าถลอก แล้วมันเลิก แล้วมันก็ไม่ต้องๆเป็นกันล่ะ ก็ทำอีกๆ ทำอีก แล้วก็จะค่อยๆ ได้ขึ้นมา ขี่ก๊อกแก๊กๆ ได้ ไม่ล้ม ต่อไปมันก็ไม่ก๊อกแก๊กๆ มันเรียบเลย แล้วต่อไปมันถึงขนาดที่เรียกว่า ปล่อยมือก็ได้ ขี่รถจักรยานปล่อยมือก็ได้ เลี้ยวก็ได้ อะไรก็ได้โดยปล่อยมือ มันต้องถึงขนาดนั้น ฝึกจิตก็เหมือนกัน ต้องถึงขนาดนั้น ไอ้ล้มนั่นมันสอน เจ็บปวดนั่นมันสอน เลือกเวลาให้เหมาะๆ ไปกำหนดลมหายใจ แล้วมันก็ไม่ง่วงหรอก ไม่ง่วงเพราะเรากำหนดลมหายใจ
ถาม : มีผู้ส่งปัญหามานะครับ เป็นกระดาษเขียนว่า การวางอุเบกขาบางอย่าง เมื่อทำแล้ว ทำไมเกิดทุกข์ การวางอุเบกขาที่ถูกต้อง คือการที่เราคิดว่า เราทำความดีในเรื่องนั้นๆ อย่างดีที่สุดแล้ว แต่ไม่สำเร็จ เราจึง
วางอุเบกขา อย่างนั้นถูกต้องหรือไม่ แต่ทำไมจึงเกิดทุกข์
ตอบ : มันตอบอยู่ในตัว ถ้าเกิดทุกข์ ไม่มีอุเบกขาหรอก อุเบกขามันเฉยได้ เพราะรู้จริง ไม่ใช่อุเบกขาเพราะมันทำไม่ได้ นั่นก็ เรียกว่า เฉย มันไม่รู้จริง มันทำไม่ได้ อุเบกขามันหลังจากทุกๆอย่างมันถูกต้องแล้ว แล้วก็อุเบกขาเพื่อรอเวลาเท่านั้นเอง
ถาม : มีคนฝากถามครับว่า นิวรณ์ทั้ง ๕ เป็นกิเลสหรือไม่
ตอบ : บางคนเขาเรียกว่า กิเลส กิเลสอย่างอ่อน ถ้าจะเอาความหมาย กิเลสคือสิ่งเศร้าหมองจิต
ก็ได้ นิวรณ์ก็เป็นกิเลสประเภทหนึ่ง ทำให้จิตเศร้าหมอง ทีนี้ เราจะมองดูว่า นิวรณ์นี้เป็นของธรรมดาที่ต้องเกิดแก่คนธรรมดา เป็นสมบัติของคนธรรมดา ถ้าเราจะทำสมาธิหรือทำอะไรทางจิต ทางใจ มันเข้ามาขวาง เข้ามาขัดคอ เขาจึงเรียกนิวรณ์ว่าเครื่องกั้น เครื่องกั้นการกระทำ ทำให้เราทำไม่ได้ กิเลสแปลว่าเครื่องเศร้าหมอง ก็ถูกแล้ว นิวรณ์มันก็ทำให้เกิดความเศร้าหมองจิต อย่าไปชอบคำ คำบาลี หรือคำอะไรนัก มองดูไปที่ตัวจริงว่ามันเป็นอะไร เราต้องเรียนนิวรณ์ เรียนเรื่องนิวรณ์ที่นิวรณ์ที่เกิดอยู่จริง รู้จักตัว กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา เมื่อมันเกิดขึ้นจริง เราก็ดูเองเถอะว่าเป็นกิเลสหรือไม่ อย่างนี้ต้องเรียนจากตัวจริง จึงจะได้ผล ไม่ใช่เรียนจากหนังสือ ไม่ใช่เรียนจากที่ท่องไว้หรือจดไว้ อันนั้นมันเป็นแต่เพียงชื่อ ไม่ใช่ตัวจริง ต้องให้นิวรณ์มันเกิดขึ้นจริง แล้วก็จับให้ได้จริงๆ แล้วก็ปราบมันให้ได้จริงๆ เป็นครั้งๆ ไป จิตไม่ผ่องแผ้ว เมื่อมีนิวรณ์ เมื่อจะเรียนหนังสือก็ดี เมื่อจะทำอะไรนิดหน่อยก็ดี แม้แต่จะเขียนจดหมายสักฉบับ ถ้านิวรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเข้ามา เราทำไม่ได้ดี รู้จักต่อสู้กับนิวรณ์ให้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปเลย
ถาม : ท่านอาจารย์ครับจะใช้อะไรจับนิวรณ์
ตอบ : ถ้าตอบอย่างกำปั้นทุบดินก็ตอบว่า สมาธิเป็นเครื่องกำจัดนิวรณ์ ถ้ามีสมาธิ นิวรณ์ก็ไม่มี ถ้ามีนิวรณ์ สมาธิก็ไม่มี ทำจิตให้มันสูงขึ้น ให้มันแข็งแรงขึ้นในการที่จะทำสมาธิ นิวรณ์ก็หายๆ ไป สลายๆไป
จะใช้วิธีของปัญญามาฆ่านิวรณ์เป็นรายตัว รายนั้น มันก็มีอยู่เหมือนกัน วิธีอย่างนั้นก็มีอยู่เหมือนกัน แต่มันยังผิวเผินมาก ก็จะใช้ร่วมกันก็ได้ ทั้งสมาธิและทั้งวิธีของปัญญา พิจารณานิวรณ์เป็นรายตัวไป แต่โดยฉบับ แบบฉบับที่แท้จริงเขาให้ทำสมาธิให้มันจริงเข้า ให้มันแรงเข้า ให้มันมากพอ นิวรณ์ก็จะจางไปเอง จะหายไปเอง ก็ไปดูเอาเองบ้างก็ได้ เมื่อง่วงนอนขึ้นมาจะทำอย่างไร ง่วงนอนนั่นคือนิวรณ์ แล้วทำอย่างไรจะขจัดอาการง่วงนอนออกไป จะให้จิตมันผ่องใส แจ่มใส ไปๆนั่งดูเอง แล้วตอบได้เอง
ถาม : ท่านอาจารย์ครับ การที่บอกว่า เราจะศึกษาธรรมะนั้นเราจะต้องเข้าถึงธรรมชาตินั้น คำว่าธรรมชาติในที่นี้มีความหมายว่าอย่างไรครับ
ตอบ : ก็คือธรรม ธรรมชาติในที่นี้ก็หมายถึง ความเป็น หรือความมีแห่งธรรมที่มีอยู่
อย่างนั้นๆ ๆ นั่นนะคือธรรมชาติ คือความที่สิ่งนี้ต้องเป็นอย่างนี้คือธรรมชาติ เป็นทุกข์ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นอะไรคือเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง หรือความที่มันต้องเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง คือความเป็นหรือความมีอยู่แห่งธรรม ตามธรรมดา ก็เรียกว่าธรรมชาติ มันเป็นกฎแห่งธรรมมากกว่า เพราะมีอยู่อย่างที่อะไรๆ มาเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้ ธรรมชาติที่สำคัญที่สุดก็คือกฎอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท แต่ว่าในนั้นมันก็มีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รวมอยู่ด้วย เห็นได้ด้วยเหมือนกัน
ถาม : อาจารย์ครับผมต้องขออภัยที่จะต้องกลับไปถึงปัญหาเรื่องนิวรณ์อีกครั้งหนึ่งนะครับ คืออยากจะถามคำถามว่า คำว่าถีนมิทธะกับ ความง่วงนอนนี่มีความหมายอันเดียวกันหรือไม่ หากเป็นความหมาย
อันเดียวกันแล้วนี่ อย่างสมมุติว่าคนเรา อันนี้ๆ เป็น ไม่ได้สมมุตินะครับ คนเราง่วงนอนจริงๆ นี่ ก็หมายความว่า เรามีกิเลสอย่างนั้นหรือเปล่าครับ
ตอบ : ถ้าง่วงนอนตามธรรมชาตินั้น ไม่ใช่นิวรณ์ เมื่อเราตั้งใจจะทำอะไร จิตไม่ผ่องใส
จิตมันซึมเซาลงไปในทางต่ำนั้น มันเป็นนิวรณ์ พวกถีนมิทธะ คือถ้ามันตรงกันข้าม มันเป็นเรื่องฟุ้งไปมันก็เป็นเรื่องอุทธัจจกุกกุจจะ เอาแต่ใจความๆ ดีกว่า เมื่อความคิดมันตกไปในทางกาม ทางเพศ อย่างนั้นมันก็เป็นไอ้กามฉันทะ เราตั้งใจจะคิดอะไรให้ดีสักอย่างหนึ่ง หรือแม้แต่จะเรียนหนังสือ หรือว่าจะเขียนบทความเรื่องอะไรก็ตามให้ดีที่สุดสักอย่างหนึ่ง พอลงมือทำ ความรู้สึกทางกามารมณ์ ทางเพศก็มารบกวนเสีย อันนี้คือนิวรณ์ตัวแรก หรือถ้าไม่มีอันนั้น ก็มีความแฟบ ความเหี่ยว ความลดต่ำแห่งจิตเข้ามา นี่เป็นนิวรณ์ตัวพวกถีนมิทธะกลุ่มที่สอง บางทีถ้าไม่เป็นอย่างนั้น บางทีมันก็ฟุ้งๆ ฟุ้งซ่าน ไอ้ความฟุ้งซ่านของความคิดนึก มันก็เป็นกลุ่มที่สาม เรียกว่ากามฉันทะ อ้าว พยาบาท ข้ามมาเสียตัวหนึ่ง ทีแรกตั้งใจจะทำ แล้วความรู้สึกทางกามก็มาแทรกแซงเสีย ทำไม่ได้ แล้วก็ตั้งใจจะทำ ความรู้สึกทางพยาบาท เกลียดคนนั้น เกลียดคนนี้ อึดอัดกับใครก็เข้ามาแทรกแซงเสียก็ทำไม่ได้ หรือว่าความรู้สึกของจิตประเภทที่มันลด แฟบ มาแทรกแซงเสีย มันมีหลายชื่อ มันไม่ใช่เฉพาะ ถีนะ กับ มิทธะสองตัวเท่านั้น มันมีอีกหลายชื่อ แต่รวมความว่า กลุ่มที่มันทำให้จิตมันถอยกำลัง ถอยสมรรถภาพ เหี่ยวห่อ ตกแฟบลงไป เข้ามา คือความท้อแท้เข้ามา แล้วก็ทำไม่ได้ ถ้าไม่ใช่อย่างนั้น ความฟุ้งซ่านเข้ามา ฟุ้งจนทำไม่ได้ หรืออันสุดท้าย
ความไม่แน่ใจ ความลังเลเข้ามาก็ทำไม่ได้ ไปเปรียบเทียบดูทีเดียวทั้งห้านี่ ที่มันคอยเป็นอุปสรรคขัดขวางในเมื่อเราต้องการที่จะให้มีจิตแจ่มใส ผ่องใส ทำอะไรดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อจะแต่งโคลง แต่งกลอน ต้องการจิตที่ปรกติมากที่สุด ถ้านิวรณ์อันใดอันหนึ่งเข้ามาแทรกแซงแล้ว การแต่งโคลง แต่งกลอนก็จะเป็นไปไม่ได้ แต่เรื่องอื่นก็เหมือนกัน ถ้านิวรณ์เข้ามาก็ดีไม่ได้ เอาดีไม่ได้ แม้แต่จะนอนพักผ่อน มันก็พักผ่อนไม่ได้ ถ้ากามฉันทะรบกวนหรือว่าพยาบาทรบกวนนี่มันก็จะนอนพักผ่อนให้เป็นสุขก็ทำไม่ได้ มันจึงเป็นอุปสรรค ศัตรู ด่านแรกหรือด่านนอกของทุกๆคนในโลกนี้ เรียนหนังสือไม่สนุก ทำงานไม่สนุก มันก็ล้วนแต่เรื่องของนิวรณ์รบกวน เขาค้นพบกันมานาน เป็นพันๆ ปี เรื่องนิวรณ์ ต้องการจะขจัดออกไปเสียด้วยสมาธิให้มีจิตใจ แจ่มใส เข้มแข็ง ว่องไวขึ้นมา แล้วทำอะไรได้ ถ้านิวรณ์ออกไป จิตมันก็จะบริสุทธิ์ก่อน ก็ต้องตั้งมั่นเข้มแข็งแล้วก็ ว่องไว เป็นกัมมนีโย
ถาม : เพราะฉะนั้นถ้าเราเริ่มที่จะรู้จักนิวรณ์แล้วนี่ หากเราไม่รู้จักอุบายในการที่จะขจัดนิวรณ์ออกไป ก็จะทำให้นิวรณ์รบกวนเราอยู่เสมอ อยากจะเรียนถามอาจารย์ว่า
ตอบ: ก็เขาก็มีวิธี สมาธิ นั่นแหละเป็นเครื่องกำจัดนิวรณ์ คือทำจิตให้เข้มแข็งขึ้นมา
ให้แจ่มใสขึ้นมา สมาธิจะกำจัดนิวรณ์ ไปสนใจเรื่องสมาธิ ทำสมาธิให้ได้ จะใช้อุบายอย่างอื่นก็ได้ ถ้ามันทำให้ความรู้สึกที่เป็นนิวรณ์หายหน้าไปสักครั้งหนึ่ง ก็เรียกว่าใช้ได้แล้ว ให้เราทำอะไรได้ด้วยจิตที่ปรกติ เรื่องนิวรณ์นี้ควรจะเป็นเรื่องที่ๆในชีวิตประจำวัน ว่ากันอย่างนั้นเถอะ ก็ต้องรู้จัก ต้องต่อสู้ ต้องแก้ไข เอาชนะให้ได้ แม้ในชีวิตประจำวัน ให้จิตใจ ใจคอมันผ่องใส มันสบาย มันปรกติ
ถาม : พอดี เอ่อ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และโผฏฐัพพะ อยากทราบว่า โผฏฐัพพะ นี่เป็นอย่างไรคะ แล้วทำไมท่านอาจารย์ไม่สอนละคะ
ตอบ : อ้อ ฟังสับสน สับสนเสียแล้ว โผฏฐัพพะนั้น มันไปอยู่ในชุดรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ สิ่งมากระทบตาเรียกว่ารูป สิ่งมากระทบหูเรียกว่าเสียง สิ่งมากระทบจมูกเรียกว่ากลิ่น สิ่งมากระทบลิ้น เรียกว่ารส สิ่งมากระทบผิวหนังทั่วไปเรียกว่าโผฏฐัพพะ สิ่งมากระทบใจเรียกว่าธรรมารมณ์ มันง่ายแล้วมันก็ชัดอยู่แล้ว ๖ อย่างนี้ ก ข ก กา ที่ต้องเริ่มเรียน โผฏฐัพพะแปลว่า สิ่งที่มากระทบผิวกาย กายประสาท ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นคู่ๆ
ถาม : ผมอยากจะถามอีกสักเล็กน้อยครับ รู้สึกผมถาม ค่อนข้างจะถามมากนะครับ
เกี่ยวกับการที่เรา เรื่องเกี่ยวกับที่ท่านบอกว่า การที่เราจะกระทบกับกิเลส นี่ให้เรามีสติปัญญา ผมอยากจะ สติสัมปชัญญะนี้ฮะ ผมอยากจะทราบว่า มันเกี่ยวข้องกับการที่เรามาถือศีล อย่างเช่นการที่เราทานอาหารแต่เพียงเท่าที่จะพอที่ร่างกายจะอยู่ได้ การที่มีเครื่องนุ่งห่มเพียงเพื่อขจัดความหนาวร้อนนี่ มันเกี่ยวข้องกันด้วยหรือไม่
ตอบ : กับอะไรๆ ยังไม่รู้เลย
ถาม : กับการดับทุกข์ครับ
ตอบ : แน่ล่ะ นั่นมันเป็นอุปกรณ์แวดล้อม ตระเตรียมความครบถ้วน คือเป็นอยู่ให้ถูกต้อง เรื่องกิน เรื่องอยู่ เรื่องอิริยาบถอะไรต่างๆ ไอ้ความมีสติสัมปชัญญะในสิ่งเหล่านี้ มันทำไม่ให้เกิดความผิดพลาดเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ มันก็ง่ายที่จะมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา
ถาม : อาจารย์ครับ การที่อาจารย์บอกว่า การมีความอยากหรือความต้องการด้วยสติปัญญา เช่น เราอยากจะพ้นทุกข์ หรือว่าอยากจะนิพพานนี่ ท่านถือว่า มันไม่เป็นตัณหา แต่ถ้าเราจะคิดดูดีๆ นะครับว่า
ถ้าเกิดสมมุติว่า ใครก็ตาม มัวแต่จะคิดว่า เราจะนิพพานแล้ว นิพพานล่ะ เราอยากจะพ้นทุกข์ ก็พ้นทุกข์อยู่นั่น
ตอบ : ก็เป็นปัญหาสิ มันไม่ได้รู้จักนิพพาน มันไม่ได้เข้าใจนิพพาน มันเป็นนิพพานเขลาๆ ว่าเอาเอง มันไปต้องการนิพพานอย่างนั้น มันก็เป็นตัณหาแหละ เรียกว่าอยากด้วยความเขลา ด้วยความไม่รู้เหมือนกัน แต่ถ้ามันเข้าใจตัวทุกข์ แล้วก็อยากจะพ้นทุกข์ที่เห็นอยู่จริงๆนี้ อย่างนี้ไม่เป็นตัณหา นี่เป็นการปฏิบัติ
การต่อสู้ เพื่อจะดับทุกข์ ก็อาจจะมีได้โดยทั่วๆ ไป ไอ้คนปรารถนานิพพานโดยความไม่รู้ ปรารถนาละเมอๆ ตามๆ กันไป ด้วยความหลงใหลอย่างยิ่ง ไอ้ความอยากไปนิพพานอย่างนี้ ก็เป็นตัณหาได้ แล้วก็จะมีมากเสียด้วย แต่ถ้าคนพิจารณาเห็นทุกข์ แล้วอยากจะดับทุกข์ ความอยากนี้ไม่เป็นตัณหา เป็นสัมมาวายาโม
ถาม : อย่างนี้ กรณีอย่างนี้ การที่เราอยากจะนิพพานนั้น ความอยากนี้ จะเป็นความอยากที่จะมีสติสัมปชัญญะได้ หรือไม่ครับ ขณะที่เรามีสติสัมปชัญญะแล้วเราเกิดความอยากที่จะนิพพาน
ตอบ : ถามว่าอย่างไร ฟังไม่ถูก
ถาม : คือเมื่อสักครู่นี้นะครับ ถ้าเกิดเรามีสติสัมปชัญญะ ขณะที่เรามีสตินั้น เราจะพ้นทุกข์ แล้วเราก็
ตอบ : โอย ฟังไม่ถูก ได้ยินโครกครากๆ (นาทีที่ 01.41.29 ถึงนาทีที่ 01.42.20 เป็นภาษาใต้ คาดว่าหมายความดังนี้ “มันจะคลอน ทำให้มันดีๆล่ะ ไม่ถึงหรอก บิดแล้ว มันจะแน่นเกินไป..เรียนรู้อื่นบางไม่ได้..."
ถาม : คำถามนี้เป็นคำถามต่อจากคำถามที่แล้ว ที่ถามเกี่ยวกับเรื่องอุเบกขานะครับ
ตอบ : ว่าให้ดังๆ เอาไว้ใกล้ๆปาก
ถาม : คนเมื่อสักครู่ที่ส่งคำถามมาก็ถามต่ออีกครับว่า เขายังทำเกี่ยวกับเรื่องทำอุเบกขาไม่ได้ เขาจะทำอย่างไรดีครับ
ตอบ : โอย ถามอย่างนี้ มันเป็นถามแบบตอบไม่ได้หรอก ก็ให้ทำต่อไป ให้พยายามทำต่อไป พยายามใช้หลักการของอิทธิบาท ๔ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสานี่ เข้ามาจับแล้วปรับปรุงแก้ไขให้ทำต่อไปจนได้
ถาม : คืออยากจะถามเกี่ยวกับเรื่องความรักผู้อื่นที่อาจารย์พูดนะคะ คือว่าบางครั้งนี้ เรารู้สึกว่า เรานี่อยากจะรักผู้อื่น ถ้าหากว่าเราทำอะไรที่เป็นความรักผู้อื่นไปแล้ว เขาคนนั้นรู้สึกเห็นคุณค่า เราจะรู้สึกอิ่มเอิบใจ แต่ถ้าหากว่าเราทำในหมู่คนที่ว่า เขาก็ยังมีความเห็นแก่ตัวอยู่ เอารัดเอาเปรียบคนอื่น อยู่ตลอดเวลานี่ บางครั้งทำไปแล้ว เรารู้สึกผิดหวังก็รู้สึกว่า มีความทุกข์นี่ จะทำอย่างไรดีคะ ถึงจะรักคนอื่นต่อไปได้
ตอบ : เราไม่ได้ทำเพื่อที่จะหวังเอาอะไรตอบแทน เราทำไปด้วยจิตที่หลุดพ้นจากความเห็นแก่ตัว อย่าไปทำด้วยหวังว่าจะให้เขาตอบแทน ให้เขาชอบเรา ขอบใจเรา ตอบแทนเรา หรือเอาใจใส่เรา ไม่ เราทำชนิดที่เรียกว่า ไม่ต้องให้เขารู้ดีกว่า เป็นเรื่องทำปิดทองหลังพระนั้นจะดีมาก เรื่องเกี่ยวกับรักผู้อื่น
ถาม : คนที่ว่า บางคนที่เขาเห็นแก่ตัว เรารู้ว่าเขาเห็นแก่ตัว แต่ว่าเราเพราะความที่อยากจะช่วยเหลือเขา เราก็ทำบางอย่างซึ่งเรารู้สึกว่าเป็นการส่งเสริมให้เขาเห็นแก่ตัวยิ่งขึ้นนี้ เป็นการกระทำ
ตอบ : ก็เราไม่ทำดีกว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น เราไม่ทำดีกว่า เรารู้ที่ควรจะทำ คือว่าเรามุ่งหมายจะทำลายความเห็นแก่ตัวของเรา เราจึงทำลายความเห็นแก่ตัว จิตมันจึงขยายออกไปในทางที่จะรักผู้อื่น ให้เราพิจารณา
พบข้อเท็จจริงเสียก่อนว่า ธรรมดานี่ คนนะไม่รักผู้อื่น เว้นไว้แต่มันจะได้อะไรจากเขา จึงจะไปรักเขา หรือไปร่วมมือกับเขา คนตามธรรมดามีความเห็นแก่ตัว มันจึงไม่รักผู้อื่น เว้นไว้แต่ว่าหวังจะได้อะไรจากเขา จึงจะไปร่วมมือกับเขา นี่มันก็ไม่ใช่รักผู้อื่น เมตตา กรุณาอันบริสุทธิ์ นั่นแหละคือรักผู้อื่น ก็ต้องระวังเหมือนกัน แต่ยังจะต้องระวังให้ถูกกาลเทศะเหมือนกัน มันยังไม่ควรทำลงไปอย่างที่เรียกว่า บุ่มบ่าม หรือว่ามันหลับหูหลับตาทำ แต่ถ้าเรายังรักผู้อื่นไม่ได้ ก็หมายความว่า เรายังติดคุก ติดตารางของเราเอง คือความเห็นแก่ตัว อันจิตที่เป็นอิสระแล้วมันจะรักผู้อื่นได้ ถ้าจิต จิตยังเห็นแก่ตัว แล้วมันรักผู้อื่นไม่ได้ แล้วก็ไม่ใช่รักอย่างกิเลสตัณหา เขาเรียกว่า รักอย่างเมตตา กรุณา รักผู้อื่นอย่างนี้ ทำให้สบายใจ รักอย่างกิเลสตัณหานั้นทำให้มืดมัว หรือเป็นทุกข์ หัดตั้งแต่เอาข้าวให้สุนัขกิน นี่ แล้วสังเกตจิตใจดู ว่าเราไม่หวังอะไรตอบแทนจากมัน แต่เราได้เสียสละไอ้ความเห็นแก่ตัว นี่ทำอย่างนี้เรื่อยๆ ไป โบราณนะเขาฝึกเป็นบทเรียนเลยว่า จะต้องช่วยเหลือผู้อื่นก่อน จึงจะกินเอง อธิษฐานว่า ถ้ายังไม่ได้ให้สัตว์อื่นกิน แล้วเรายังไม่กิน ฉะนั้นเขาจะต้องหาโอกาสให้นก ให้กากิน ให้มด แมลงกินเสียก่อน แล้วจึงจะมานั่งกินเอง หัดการรักผู้อื่น แต่อาจจะเป็นเรื่องงมงายก็ได้เหมือนกัน นี่อย่างนี้มันก็เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ทำไปด้วยความงมงายก็ได้ ทำไปด้วยสติปัญญาก็ได้ แต่ว่าการรักผู้อื่นนี่มันไม่มีโทษ ขอให้รักด้วยเมตตา กรุณา จะต้องปิดประชุมแล้ว มันสามทุ่มสี่สิบนาทีแล้ว เดี๋ยวใครเกิดดับไฟขึ้นมา จะลำบาก