แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ อาตมาภาพจะได้วิสัชนาในพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ แลวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้า ตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ปรารภเหตุเนื่องในมาฆบูชา ดังที่ท่านทั้งหลายก็ได้ทราบกันอยู่เป็นอย่างดีแล้ว พิธีมาฆบูชานี้กระทำไปในลักษณะเป็นที่ระลึกแก่พระอรหันต์ เป็นเครื่องบูชาคุณของพระอรหันต์ เพราะว่าวันนี้เป็นวันของพระอรหันต์ ธรรมเทศนาแสดงถึงการทำมาฆบูชาว่าจะต้องทำอย่างไร ทั้งแสดงถึงเรื่องของพระอรหันต์โดยตรง ว่าเราจะต้องรู้จักพระอรหันต์ที่เรายกให้ว่า วันนี้เป็นวันของพระอรหันต์แล้วก็มาทำพิธีบูชา ได้กล่าวถึงลักษณะของพระอรหันต์ และโอกาสแห่งการบรรลุพระอรหันต์ ตลอดถึงวิธีทำตามพระอรหันต์มาแล้วในธรรมเทศนากัณฑ์ค่ำ ในบัดนี้จะได้แสดงถึงหนทางแห่งความเป็นพระอรหันต์สืบต่อไปตามลำดับ โดยอาศัยพระพุทธภาษิตที่ว่า สัพเพ สังขารา อะนิจจาติ ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ เมื่อใดบุคคลย่อมเห็นตามที่เป็นจริงว่า สังขารทั้งปวงเป็นอนิจจัง คือ ไม่เที่ยง อะถะ นิพพินทะติ ทุกเข เอสะ มัคโค วิสุทธิยา เมื่อนั่นย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ นั่นคือ หนทางแห่งความหมดจด แล้วว่า เมื่อใดบุคคลย่อมมองเห็นตามที่เป็นจริงว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ เมื่อนั่นย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ นั่นคือ หนทางแห่งความบริสุทธิ์ แล้วว่าเมื่อใดบุคคลย่อมเห็นด้วยปัญญาตามที่เป็นจริงว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั่นย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ นั่นคือ หนทางแห่งความบริสุทธิ์ ดังนี้
พระพุทธภาษิตนี้เป็นที่มาแห่งบทธรรมะที่เรียกว่า พระไตรลักษณ์ คือ ลักษณะแห่ง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ๓ ลักษณะด้วยกัน
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นอย่างไร บุคคลใดเห็นแล้วก็จะเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ความเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ นั่นแหละคือ หนทางแห่งความบริสุทธิ์ คือ พระนิพพาน หรือ ความเป็นพระอรหันต์ก็ได้ เรื่องมันจึงมีความสำคัญอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ในสิ่งที่เป็นทุกข์นั้นคืออะไร? ถ้าเมื่อใดมีความรู้สึกเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ เมื่อนั้นก็จะเกิดหนทางแห่งความบริสุทธิ์หมดจด ถ้ายังไม่เบื่อหน่ายแห่งสิ่งที่เป็นทุกข์ ก็ยังไม่มีหนทางแห่งความบริสุทธิ์ ผู้ที่ไม่เข้าใจก็จะสงสัยว่าทำไมสิ่งที่เป็นทุกข์บางคนยังไม่เบื่อหน่าย? ก็หมายความว่า ธรรมดา คนธรรมดาทั่วไปไม่เบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ก็เพราะว่าเขาไม่มองเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งเป็นความจริงอย่างยิ่ง แล้วก็แจกไม่ชัดเจนว่า สังขารเท่านั้นที่ไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงทั้งที่เป็นสังขารและวิสังขารนั้นทั้งหมดด้วยกันเป็นอนัตตา วัตถุแห่ง อนิจจัง และ ทุกขัง อยู่ในวงแคบกว่าวัตถุที่เป็นที่ตั้งแห่ง อนัตตา ความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้ ตั้งอยู่ในฐานะเป็น ธรรมนิยามตา เป็น ธัมฐิตตา คือความเป็นอย่างนั้นตามธรรมชาติ ความที่ต้องเป็นอย่างนั้นอยู่ตามธรรมชาติ เรียกกว้างออกไปถึงกับว่ามันเป็น ตถาตา คือ ความเป็นอย่างนั้น เป็น อวิตถตา (นาทีที่ ๘.๔๖) คือ ไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น เป็น อนัญญถตา ไม่เป็นโดยความเป็นอย่างอื่นไปจากความเป็นอย่างนั้น ความที่เป็น ตถาตา เป็นต้นนี้ มีพระพุทธภาษิตตรัสว่า มันเป็นธรรมชาติอยู่ตามธรรมชาติ พระตถาคตจะเกิดขึ้นหรือจะไม่เกิดขึ้นก็ตาม ความเป็นอย่างนั้นมันมีอยู่แล้ว คือ ความที่สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ และธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา พระตถาคต นั้นคือ บุคคลที่ถึงแล้วซึ่ง ตถา ตถา ก็คือ ตถา / คะตะ ก็แปลว่า ผู้ถึงแล้ว ตถาคต ก็แปลว่า ผู้ถึงแล้วซึ่ง ตถา โดยใจความก็คือพระอรหันต์ทั้งปวง พระอรหันต์ทั้งปวงเป็นผู้ถึงแล้วซึ่ง ตถา คือเห็นแจ้งแล้วซึ่งสิ่งที่เป็น ตถา สิ่งที่เป็น ตถาในที่นี้ คือ สิ่งที่เป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา
ในที่อื่นหมายถึงกฎแห่งอริยสัจ ๔ คือ เรื่องความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ และหนทางให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ก็มี ๔ อย่างนี้เรียกว่า ตถา ผู้ใดถึงซึ่งตถา คือ เห็นด้วยปัญญาต่อสิ่งที่เป็น ตถา นั้น ก็เรียกว่า ตถาคต ด้วยเหมือนกัน ในที่บางแห่งทรงระบุถึง อิทัปปัจจยตา คือ กฎแห่ง ปฏิจจสมุปบาท วันนี้เป็น ตถาตา คือ ความที่เมื่อมี อวิชชา เป็น ปัจจัย ย่อมเกิด สังขาร สังขาร เป็น ปัจจัย ย่อมมีวิญญาณ วิญญาณ เป็น ปัจจัย ย่อมมีนาม-รูป เป็นต้น เป็นลำดับไป จนกระทั่งถึงมีความทุกข์ นี่ก็เป็น ตถา หรือ ตถาตา ผู้ใดถึงซึ่งธรรมนี้ ผู้นั้นก็ชื่อว่า ตถาคต ด้วยเหมือนกัน ดังนั้น ตถาคต ก็คือ ผู้ที่เข้าถึงสัจธรรมแห่งสามัญญลักษณะ ๓ ประการ ถึงสัจธรรมแห่ง อริยสัจทั้ง ๔ ประการ ถึงสัจธรรมแห่ง ปฏิจจสมุปบาท อันมีอาการ ๑๑ อาการ ดังนี้เป็นต้น
ส่วนในพระพุทธภาษิตที่ยกขึ้นเป็น นิเขตบท (นาทีที่ ๑๑.๔๘) นั้น ระบุลงไปยังใน สามัญญลักษณะ ดังที่กล่าวแล้วว่า เมื่อใดเห็นด้วย ปัญญา ว่า สังขาร ไม่เที่ยง เมื่อนั้นก็จะเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ เมื่อใดเห็นว่าสังขารเป็นทุกข์ เมื่อนั้นก็จะเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ เมื่อใดเห็นว่าธรรมทั้งปวงเป็น อนัตตา เมื่อนั้นก็จะเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ขอให้พิจารณาดูให้ดีว่า สิ่งที่เป็นทุกข์นั้น ก็คือ สิ่งที่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีความหมายซ้อนกันอยู่ว่า เห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ ก็จะเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์นั้นโดยตรง เหมือนกับว่าเราพูดอย่างโวหารธรรมดา แต่ว่าเมื่อใดเห็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เมื่อนั้นก็จะเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ นี่ก็เพราะเหตุว่า เมื่อใด เมื่อสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นก็ต้องเป็นทุกข์ เมื่อเห็นความไม่เที่ยงก็เห็นความเป็นทุกข์ เบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ข้อที่ว่าเมื่อใดเห็น อนัตตา เมื่อนั้นก็จะเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ เพราะว่ามันเป็นของไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ มันจึงเป็น อนัตตา เห็นความไม่เที่ยงและความเป็น อนัตตา มันก็เบื่อหน่ายในสิ่งนั้นซึ่งมีลักษณะแห่งความทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงควรจะสนใจเป็นพิเศษในข้อที่ว่า สิ่งที่เป็นทุกข์
ผู้ที่ได้ศึกษามาเพียงพอแล้วก็จะพบได้เองว่าในพระบาลีทั้งหลายนั้น คำว่า “ทุกข์” ก็มีอยู่ ๒ ความหมาย
ความหมายทั่วไป ก็หมายถึง อาการที่ทนได้ยาก คือ ความเจ็บปวดทนทรมาน อันนี้อย่างหนึ่ง คือ เป็นความรู้สึกที่เป็นทุกข์ อันเกิดมาจากความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน ด้วยอำนาจของตัณหา จิตไปยึดมั่นในสิ่งที่ไม่เที่ยง-เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ว่าเป็นตนหรือเป็นของตน มันก็เกิดความเจ็บปวดขึ้นที่จิตนั้น อาการนั้นเรียกว่า เป็นทุกข์ เช่น ถือว่าความเกิดของตน มันก็มีปัญหาเกี่ยวกับความเกิด แล้วก็เป็นทุกข์เพราะปัญหาของความเกิด เมื่อถือว่าความตายเป็นของตน ก็เกิดความทุกข์ขึ้นเกี่ยวกับปัญหาของความตาย หรือว่าถือว่าความแก่ของตน ความเจ็บไข้ของตน อะไรๆเป็นของตน มันก็ต้องทรมานใจเป็นทุกข์ เพราะปัญหาอันเกี่ยวกับความแก่ หรือความเจ็บ เป็นต้น นี่เรียกว่า เป็นทุกข์เพราะมันเป็นสิ่งที่ขบกัด เหมือนกับว่าถูกขบกัดด้วยของที่มันขบกัด เรียกว่า ความทุกข์ แปลว่า สิ่งที่ทนได้ยาก
ทีนี้ข้อที่ว่า ความทุกข์ ในความหมายว่า มีลักษณะแห่งความทุกข์ นี้ก็ใช้กับสังขารทุกชนิดที่มีลักษณะแห่งความทุกข์ เพราะว่ามันไม่เที่ยง แต่ไม่ใช้กับ วิสังขาร หรือ อสังขตธรรม ที่มันมีลักษณะแห่ง ความเที่ยง จึงไม่เป็น ทุกข์ ถึงจะเป็น อนัตตา ก็ไม่จัดว่าเป็นทุกข์ สังขารทั้งหลายมันมีความไม่เที่ยง เพราะมันมีความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มันจึงมีลักษณะแห่งความทุกข์ คือ ดูแล้วก็น่าเกลียด คำว่า “ทุ” ทอสะระอุ แปลว่า น่าเกลียด คำว่า “ขะ” เต็มรูปก็ว่า อิขะ แปลว่า เห็น เห็นแล้วก็น่าเกลียด พูดตามโวหารธรรมดาว่า เห็นแล้วก็น่าเกลียด สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นมีลักษณะแห่งความทุกข์ในความหมายที่ว่า เห็นแล้วก็น่าเกลียด ส่วนสิ่งที่เป็น อสังขต คือ พระนิพพานโดยตรงนั้น มีลักษณะเที่ยง สิ่งนี้มิใช่ สังขาร เป็น อสังขาร มีความเป็นของเที่ยง ดูแล้วก็น่ารัก นี่พูดด้วยภาษาธรรมดาสามัญจะเรียกว่าภาษาคนก็ได้ ใครมองเห็น อสังขต แล้วรู้สึกว่าไม่น่ารัก คนนั้นมันก็โง่อย่างบรมโง่ เมื่อใดมองเห็น สังขาร ว่าเป็น ของไม่เที่ยง ก็รู้สึกว่าเป็นของน่าเกลียด เมื่อใดมองเห็น วิสังขาร ซึ่งเป็นของเที่ยง มันก็รู้สึกเป็นของที่น่ารัก
ทีนี้ การที่จะมีความเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ มันหมายถึงเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลายที่มีลักษณะน่าเกลียด ในความหมายที่ว่าน่าเกลียด สัพเพ สังขารา อะนิจจาติ ยะทา ปัญญายะ ปัสสะติ เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง อัตถ นิพพินติ ทุกเข เมื่อนั้นเขาก็จะเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ เอสะ มัคโค วิสุทธิยา นี่เป็นหนทางแห่ง วิสุทธิ คือ ความหมดจดกิเลสและความทุกข์ เด็กๆอาจจะถามขึ้นมาว่า ถ้ามันเป็นทุกข์ ทรมาน เจ็บปวดแล้วใครจะไปรักมัน นี่ก็แปลว่า ไอ้สิ่งที่มันเป็นทุกข์ ทนทรมาน เจ็บปวด ขบกัดนั้น ใครๆก็ต้องเกลียดต้องเบื่อหน่าย แต่สิ่งที่มันไม่ขบกัด มันเป็นสักว่าเป็นสังขารอยู่ตามธรรมดา นี่มันก็ยากที่ใครจะรู้สึกเบื่อหน่าย เว้นไว้เสียแต่ว่าเขาได้มองเห็นความไม่เที่ยงแห่งสิ่งนั้นเสียก่อน อย่างก้อนหินทั้งหลายที่อยู่ตรงหน้านี้ก็เป็นสังขาร แล้วก็มีอาการแห่งความไม่เที่ยงไปตามธรรมดาของสังขาร ถ้ามองเห็นความไม่เที่ยงแห่งก้อนหินเหล่านี้ เราก็จะรู้สึกเบื่อหน่ายในก้อนหินเหล่านี้ ซึ่งมีลักษณะแห่งความน่าเบื่อหน่าย คือ น่าเกลียด-น่าชังเพราะความที่มันไม่เที่ยงนั้นเอง อะไร ๆ ที่มันไม่มีชีวิตวิญญาณ ไม่มีความรู้สึกนึกคิดได้ ไม่อาจจะรู้สึกว่าเป็นทุกข์ทรมานได้ แต่มันก็มีลักษณะแห่งความเป็นทุกข์ คือ มันดูแล้วมันน่าเกลียดแก่บุคคลผู้เห็นสิ่งนั้นตามที่เป็นจริง ว่ามันเป็นอนิจจัง หรือเป็นอนัตตา รวมทั้งเป็นทุกข์ด้วย เราจะต้องมองดูจนกระทั่งเห็นความจริงข้อนี้ว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง-เป็นทุกข์ และเป็น อนัตตาด้วย แต่มองให้กว้างในกรณีของ อนัตตา ว่า ธรรมทั้งปวงทั้งที่เป็นสังขารและที่เป็นวิสังขารคือมิใช่สังขาร มันก็เป็น อนัตตา เรามีวัตถุเป็นที่รักที่พอใจ แก้วแหวน-เงินทอง บุตร ภรรยา สามี เมื่อไปยึดมั่น-ถือมั่นเข้าก็เป็นทุกข์เจ็บปวดในใจ นี่ในความหมายที่ว่ามันเป็นทุกข์-ทรมาน แต่แม้จะไม่ได้ไปยึดถือเข้า ไม่ได้ทำความทุกข์ให้เกิดขึ้นในใจมันก็มีลักษณะแห่งความไม่เที่ยง เมื่อไปดูเห็นความไม่เที่ยงเข้า ก็จะเห็นลักษณะแห่งความเป็นทุกข์เนื่องจากความไม่เที่ยงนั้น คือ มันน่าเกลียด คือ มันหลอกลวง เพราะความไม่เที่ยง ความเป็นของไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลงเสมอ นี่คือลักษณะที่น่าเกลียด ตรงกันข้ามกับ พระนิพพาน ซึ่งเป็น วิสังขาร ดูแล้วไม่น่าเกลียด กลับจะน่ารัก น่าปรารถนา น่าพอใจ เพราะว่ามันเป็นของเที่ยง เมื่อเห็นของเที่ยงชนิดนี้ ก็มีความรู้สึกที่ไม่น่าเกลียด คือ รู้สึกเป็นสุขแก่ตาที่จะเห็น ถ้าเห็นของไม่เที่ยง ก็รู้สึกเป็นทุกข์แก่ตาที่จะเห็น ขอให้สนใจในเรื่องของ สามัญญลักษณะ คล้ายโดยนัยอย่างนี้ ความเป็นพระอรหันต์นั้น ก็คือ ผลของการเห็นสามัญญลักษณะ โดยสมบูรณ์ ถ้าเห็นสามัญญลักษณะไม่ถึงขนาดที่สมบูรณ์ ก็จะเป็นเพียง พระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ไปตามลำดับ การบรรลุมรรคผลนั้น คือ การพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ เป็นอนัตตานี้ทุกระดับชั้น เห็นน้อย ๆ ไม่เป็น พระโสดาบัน ก็ได้ เห็นพอสมควรก็เป็น พระโสดาบัน เห็นมากขึ้นไปอีกก็เป็น พระสกิทาคามี หรือ อนาคามี เห็นถึงที่สุดก็เป็นพระอรหันต์ ในกรณีที่บุคคลเป็นพระอรหันต์ ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นก็เพราะว่า เขาเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถึงระดับสูงสุด มีอยู่มากมายทั่วไปที่บุคคลบรรลุธรรมรวดเดียวก็เป็นพระอรหันต์ ในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า บางทีก็บรรลุธรรมะในขั้นเป็นพระอรหันต์กันทั้งหมู่ หมดทั้งหมู่ เป็นสิบเป็นร้อยเป็นพัน ด้วยความเป็นพระอรหันต์ เพราะว่าเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถึงที่สุด ไม่คลานต้วมเตี้ยมเป็น พระโสดาบัน สกิทาคามี เป็นต้น เพราะเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ถึงที่สุด การพยายามให้เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ย่อมเป็นผลดีเสมอ แม้จะไม่เป็นพระอริยบุคคล ก็ยังจะเป็นปุถุชนชั้นดี คือเป็น กัลยาณปุถุชน ไม่โง่เง่า งมงาย ไม่หลงใหลเหมือนกับปุถุชนเต็มที่ ท่านจึงยกเอาการเห็นพระไตรลักษณ์นี้เป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญในพระพุทธศาสนา ผู้ที่เพ่งพิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่เป็นประจำจนถึงกับว่ามีอะไรเกิดขึ้น ก็พลั้งปากออกมาว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามแบบฉบับของคนโบราณผู้นับถือพระพุทธศาสนาอย่างนี้ก็มีอยู่ คนเดี๋ยวนี้ไม่สนใจเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดอะไรขึ้นมาก็ไม่ได้พลั้งปากออกไปว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กลับไปพลั้งปากเป็นคำหยาบคาย น่าเกลียดน่าชังอะไรก็ไม่รู้ นี่แหละแสดงความไม่เป็นพุทธบริษัท ไม่มีพระอนิจจัง พระทุกขัง พระอนัตตา ประจำอยู่ในใจ คนแต่สมัยโบราณเขาเติมคำว่า พระ เข้าไปข้างหน้าคำว่า อนิจจัง ขอให้เห็น พระอนิจจัง ขอให้เห็น พระทุกขัง ขอให้เห็น พระอนัตตานี่ ในฐานะที่เป็นความจริงสูงสุด จึงใส่คำว่า พระ เข้าให้ เห็นความจริงสูงสุดของความไม่เที่ยง ก็เรียกว่าเห็น พระอนิจจัง เห็นความจริงสูงสุดของความเป็นทุกข์ คือ ดูแล้วน่าเกลียดน่าชังนี้ ก็เรียกว่าเห็น พระทุกขัง แล้วก็เห็นความไม่ใช่ตนถึงที่สุด ก็เรียกว่าเห็น พระอนัตตา ถ้าว่าเป็นผู้มีญาณอันแท้จริงเพียงพอเห็น พระอนิจจัง แล้วก็จะเห็น พระทุกขัง เห็นพระอนัตตา เนื่องกันไปทีเดียว ดังบาลีมีอยู่ชัดแล้วว่า สิ่งใดไม่เที่ยง-สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ สิ่งใดทั้งไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ สิ่งนั้นก็เป็นอนัตตา แต่ท่านใช้คำว่า สัพเพ สังขารา แปลว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง คือ สังขารทั้งปวงมันก็มีลักษณะแห่งความไม่เที่ยง มีลักษณะแห่งความเป็นทุกข์ จะเป็นสิ่งที่มีชีวิตวิญญาณ หรือไม่มีชีวิตวิญญาณ มันก็มีลักษณะแห่งความไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ ตามธรรมดาของสังขาร เช่น แก้วแหวนเงินทองไม่มีชีวิตจิตใจ แต่ลักษณะแห่งความไม่เที่ยงของมันปรากฏอยู่ เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่ดูแล้วน่าเกลียด เห็นแล้วรู้สึกว่าน่าเบื่อหน่าย น่าระอา เพราะว่ามันมีความไม่เที่ยง เราก็ไปหลงรักมันในฐานะเป็นแก้วแหวนเงินทอง เป็นทรัพย์สมบัติ แม้จะขยายออกไปถึงสิ่งที่ใหญ่โต เช่น เรือกสวน ไร่นา ที่ดินเหล่านี้เป็นสมบัติพัสถาน มันก็มีลักษณะแห่งความไม่เที่ยง คือ เปลี่ยนแปลง ไปยึดถือเข้าก็เกิดทุกข์ แม้ไม่ยึดถือก็มีลักษณะแห่งความเปลี่ยนแปลง ผู้มีปัญญาเห็นแล้วก็จะรู้สึกว่าน่าเกลียดและน่าชัง เพราะความหลอกลวงของความเปลี่ยนแปลง นี่จึงเรียกว่าจะเบื่อหน่ายในสิ่งที่มีลักษณะแห่งความทุกข์ พูดสั้นๆว่าเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ใครเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็จะเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ คือ สิ่งที่มีลักษณะดูแล้วก็น่าเกลียดน่าชัง เพราะว่ามันเปลี่ยนแปลง ตรงกันข้ามกับสิ่งที่มันไม่ ๆ เปลี่ยนแปลง คือเป็นของเที่ยง เห็นแล้วก็น่ารัก น่าพอใจ น่าปรารถนา ผู้มีปัญญาจึงปรารถนา พระนิพพาน มิได้ปรารถนาสังขาร แม้จะเป็นที่น่ารักใคร่พอใจของคนธรรมดาสามัญทั่วไปอย่างไรก็ตาม
นี่แหละการที่จะละจากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้านั้น มันสำคัญอยู่ที่ว่าเห็นพระไตรลักษณ์เหล่านี้หรือไม่ เห็นมาก-หรือน้อย หรือถึงที่สุดหรือหาไม่ จะต้องมี ญาณ คือ ความรู้ ทัศนะ คือ ความเห็น บวกกันเป็น ญาณทัศนะ คือ การเห็นด้วยอำนาจแห่งการรู้ว่าสังขารไม่เที่ยง สังขารเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา นี้เป็นจุดเริ่มแรก คำว่า ญาณ แปลว่า ความรู้ ท่านๆแบ่งออกเป็น ๒ ตอน บรรดาญาณทั้งหลายจะมีมากมายกี่สิบชื่อ แต่ถ้าแบ่งออกได้แล้วก็เป็นสองตอน คือ
มีคำเรียกว่า นิพพานญาณ ฟังแล้วก็แปลกดี สืบต่อมาจาก ธรรมฐิติญาณ ธรรมฐิติญาณ คือ ญาณที่เห็นธรรมฐิติ เห็น ธรรมนิยาม คือ เห็นพระไตรลักษณ์นั่นเอง พระไตรลักษณ์ได้ชื่อ ธรรมฐิติ ธรรมนิยาม ได้ชื่อว่า ตถตา อวิตถตา อนัญญถตา - เป็นต้น จะต้องเริ่มต้นด้วย ธรรมฐิติญาณ มองเห็นความไม่เที่ยง แล้วก็เห็นความที่เป็นทุกข์ ความที่เป็น อนัตตา นี้ก็เป็น ญาณ เห็น ไตรลักษณ์ แล้วก็เกิด นิพพิทาญาณ มีความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด จนกระทั่งมาถึงความปล่อยวางเป็น วิมุติญาณ ญาณนี้ก็เป็น นิพพานญาณ ถือหลักว่านับตั้งแต่ วิมุตติญาณ ขึ้นไปก็อยู่ในพวก นิพพานญาณ ทั้งนั้น นิพพานญาณ เห็น นิพพาน วิมุติญาณทัศนะ เห็นการที่ บรรลุวิมุตติ คือ นิพพานแล้ว หรือ ปัจจเวกขณญาณ ได้ชิมรสของพระนิพพานอยู่ ญาณเหล่านี้เรียกว่า นิพพานญาณ ทั้งสิ้น จะเป็นนิพพานญาณในระดับโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ อะไรก็ตาม ถ้าเป็นเรื่องของการสิ้นกิเลสลงไปในระดับใดระดับหนึ่ง แล้วก็เรียกว่า นิพพานญาณ จึงมีการบรรลุญาณเป็น ๒ ขั้นตอน คือ
ญาณในส่วนของ ธรรมฐิติ ได้แก่ การเห็นความจริงของสังขารทั้งปวง มีรายละเอียดมากมายตามลักษณะนั้นๆ
ครั้น ธรรมฐิติญาณ เห็นลายลักษณ์แห่งสังขารทั้งปวงเป็นไปถึงที่สุดแล้ว ก็เกิดเบื่อหน่ายคลายกำหนัด และปล่อยวาง ความปล่อยวางนี้เป็น นิพพานญาณ เป็นต้นไป จนกว่าจะถึงญาณสุดท้าย คือ ได้เสวยรสแห่งความหลุดพ้น
ท่านลองคิดดูว่ามันมีความจำเป็นอย่างไร ที่เราจะต้องรู้จักสิ่งที่เรียกว่า พระไตรลักษณ์ ให้อยู่ด้วยสติ-สัมปชัญญะ มีความรู้สึกเห็นแจ้งอย่างแจ่มแจ้งอยู่เสมอในสิ่งที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ ตามธรรมดาก็หยิบขึ้นมาพิจารณาในเวลาที่ทำ กรรมฐานภาวนา ให้เห็นความไม่เที่ยง-เป็นทุกข์ของสังขาร ให้เห็นความเป็น อนัตตา ของธรรมทั้งปวง ทั้งที่เป็นสังขาร และ วิสังขาร การทำ วิปัสสนา นั้นไม่มีอะไรอื่นเลย นอกไปจากพิจารณาให้เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของสิ่งที่มีความเป็นอย่างนั้น อย่างว่าทำ อาณาปานสติ ก็ทำการกำหนดลมหายใจ ให้จิตสงบระงับเป็นสมาธิแล้วเกิดปีติ ความพอใจ เกิดความสุข คือ สุขใจปรากฏชัดอยู่เป็นสังขารที่ชัดเจน เป็นสังขารที่ถึงขนาด คือ ความรู้สึกปีติและปราโมทย์อยู่ แล้วก็พิจารณาดูความไม่เที่ยงแห่งสังขารเหล่านั้น ว่าลมหายใจก็ไม่เที่ยง ลมหายใจยาวก็ไม่เที่ยง ลมหายใจสั้นก็ไม่เที่ยง ความที่ลมหายใจปรุงแต่งร่างกายนี้ มันก็ไม่เที่ยง เพราะว่าลมหายใจก็ไม่เที่ยง การปรุงแต่งนั้นก็ไม่เที่ยง ดังนั้น ร่างกายนี้จึงไม่เที่ยง ถ้าจะเห็นให้ละเอียดในความเป็น อนิจจัง ของร่างกายนี้ ก็ดูความที่ร่างกายนี้ขึ้นอยู่กับลมหายใจ ที่มันคอยปรุงแต่งไว้ให้เห็นความไม่เที่ยงทั้งของลมหายใจซึ่งเป็นผู้ปรุงแต่ง และเห็นความไม่เที่ยงของร่างกายซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่ง แล้วก็ให้เห็นอาการของการที่มันปรุงแต่งว่าก็ล้วนแต่ไม่เที่ยง ให้เห็นร่างกายนี้ว่าไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง-สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ ดังนั้น ร่างกายนี้จึงมีลักษณะแห่งความทุกข์ คือ ความที่ดูแล้วมันน่าเกลียด เพราะความที่มันไม่เที่ยง ให้เห็นพ้องกันทั้งความไม่เที่ยงและน่าเกลียด นี่คือเห็น อนัตตา ว่ามิใช่ตน ไม่ควรจะยึดถือโดยความเป็นของตน ลักษณะแห่งความไม่เที่ยง ลักษณะแห่งความเป็นทุกข์ ลักษณะแห่งความเป็นอนัตตา มีความหมายอย่างนี้แล้วก็เนื่องกันอยู่ เห็นว่าไม่เที่ยงมันก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่า เป็นทุกข์หรือน่าระอา ไม่เที่ยงและหลอกลวงอย่างน่าระอา มันก็ไม่ควรจะยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตน นี่แหละคือ พระไตรลักษณ์ ที่เราพูดกันมากจนติดปาก ติดปากมากจนไม่รู้ว่าหมายความว่าอย่างไร อาตมาก็ไม่ได้ดูถูกบรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยายที่จะคิดไปบ้าง ที่อาตมาคิดว่าเขามัวแต่ท่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยไม่รู้ความหมาย บัดนี้ ลูกหลานของปู่ย่าตายายนั้น ก็ควรจะเขยิบออกไป ไม่เพียงแต่ท่องกันเฉยๆว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ให้เห็นความจริงของสิ่งนี้ถึงขนาดที่เรียกว่า ธรรมฐิติญาณ ให้ธรรมจิตติญาณ เกิดขึ้นปรากฏ ปรากฏประจักษ์ชัดในความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ผู้ใดเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แวบเดียวขณะจิตหนึ่ง หรือว่าชั่วช้างกลับหูหนึ่งก็ยังดี มันก็ยังดีกว่าผู้ที่ท่องบ่นพระไตรปิฏกครบทั้งพระไตรปิฏก โดยไม่เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ท่านเปรียบค่าหรือความหมายไว้อย่างนี้ ซึ่งเราพุทธบริษัทควรจะทำตนให้เหมาะสมกับความเป็นพุทธบริษัทที่แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานตามที่คำๆนี้จะแปลได้ ตามความหมายอย่างนี้ เราจงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ให้สมตามความหมายของคำๆนี้ พระอรหันต์ทั้งหลายเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถึงที่สุด เรายังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานไปตามแบบของปุถุชนชั้นดี พระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ท่านก็มีความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มากยิ่งขึ้นไปจนใกล้ความเป็นพระอรหันต์ เรื่องมันมีอยู่ว่าจะตื่นคราวเดียวหมดเป็นพระอรหันต์ หรือ จะตื่นไปตามลำดับเป็น พระโสดา สกิทาคา อนาคา พิจารณาดูเรื่องราวในพระบาลีพระไตรปิฏกแล้วจะพบว่า การตื่นคราวเดียวเป็นพระอรหันต์นั้นมีมากกว่าที่จะคลานงุ่มง่ามไปตามลำดับ นี่มันสำเร็จอยู่ที่การมีการพิจารณาเห็นพระไตรลักษณ์ คือ การกระทำให้เกิดมาซึ่ง ธรรมฐิติญาณ ขอให้จำคำนี้ไว้ แม้ว่าจะเป็นคำที่แปลกว่า เราจะทำให้เกิดความเห็นแจ้งใน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นแจ้งใน พระไตรลักษณ์ เห็นแจ้งในพระไตรลักษณ์เมื่อไร ก็จะเกิด ธรรมฐิติญาณ ที่วัดก็ได้ ที่บ้านก็ได้ ที่บ้านก็มีทางที่เกิด ธรรมฐิติญาณ เพราะว่าเวลานั่งไหว้พระ สวดมนต์ เจริญพระกรรมฐานภาวนานั้นก็มีได้ที่บ้าน แต่ว่าที่บ้านมันมีเรื่องมาก ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก็จงรีบปรับกันกับ พระไตรลักษณ์ อะไรทำให้เกิดวิบัติ ก็วินาศ ฉิบหายก็ให้พระไตรลักษณ์มาช่วยให้ทันท่วงที อย่าต้องเป็นทุกข์เพราะความวิบัตินั้น เมื่อความเจ็บไข้เกิดขึ้น ก็ให้ พระไตรลักษณ์ มาช่วยให้ทันท่วงที อย่าต้องเป็นทุกข์เพราะความเจ็บไข้นั้น นี้ถ้ามันได้มาอย่างดี ได้ลาภ ได้ผลได้ความร่ำรวย ก็ให้ พระไตรลักษณ์ มาช่วยให้ทันท่วงที คืออย่าให้มันโง่ เมื่อมันรวยขึ้นมามันก็หลงระเริงอยู่กับความร่ำรวย-มันโง่ มันก็ตกนรกแห่งความโง่ ก็ให้ พระไตรลักษณ์ มาช่วยจับยึดไว้ อย่าให้มันตกนรกแห่งความโง่ นี้เรียกว่าให้ พระไตรลักษณ์ มาช่วยให้ทันท่วงที ในเมื่อเป็นการได้ คือ ได้ลาภและเมื่อเสื่อมลาภ ก็ให้ พระไตรลักษณ์ มาช่วยทันท่วงทีโดยไม่ต้องเป็นทุกข์ เมื่อได้ทุกข์ เป็นทุกข์ก็ให้ พระไตรลักษณ์ มาช่วยทันท่วงที ให้หายความรู้สึกที่เป็นทุกข์ว่า โอ้, มันเป็นอย่างนี้เอง ให้มันเกิด ธรรมฐิติญาณ ว่ามันเป็นอย่างนี้เอง และเมื่อได้ความสุขก็อย่าให้มันตกนรกแห่งความโง่ ให้พระไตรลักษณ์มาช่วยทันท่วงทีว่ามันก็เป็นของธรรมดา แม้จะมีความสุขอย่างไร มันก็เป็นของธรรมดา ก็ไม่หลงใหลในความสุข เมื่อได้ยศ-ก็ไม่หลง เมื่อเสื่อมยศ-ก็ไม่หลง เมื่อได้นินทา-ก็ไม่เป็นทุกข์ เมื่อได้สรรเสริญ-ก็ไม่ดีใจ อยู่ในโลกนี้มันต้องคลุกเคล้ากันไปกับโลกธรรม คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ความนินทา และความทุกข์ ๘ ประการนี้ ซึ่งเรียกว่า โลกธรรม อยู่ที่บ้านเสียอีก ยิ่งเต็มเป็นโลกธรรม ดังนั้นอยู่ที่บ้านมันก็มีโอกาสที่จะพิจารณาพระไตรลักษณ์ ต่อโลกธรรมที่มาครอบงำย่ำยี ที่วัดก็มี ที่บ้านก็มี อย่างนี้แล้วมันก็เป็นโอกาสที่เสมอกันในการที่จะศึกษาเรื่องอันเกี่ยวกับพระไตรลักษณ์ ถ้ามันมีความทุกข์-เจ็บปวดขึ้นมาก็อย่าไปหลงใหล ไปเป็นทุกข์ อย่าไปเป็นทุกข์ แม้ว่าจะมีลักษณะน่าเกลียด ดูมันให้เป็นของที่มีลักษณะน่าเกลียด ก็อย่าต้องเป็นทุกข์เจ็บปวดรวดร้าวอยู่ในใจ และเมื่อได้ความสุขเป็นของที่ไม่ต้องทน หรือทนได้สนุก นี้ก็อย่าไปหลงสนุกกับมัน ให้เห็นความที่มันเป็น สักว่าสังขารตามธรรมดาอย่างนี้ ก็จะเรียกว่าเป็นพุทธบริษัทอย่างถูกต้อง เป็นพุทธบริษัทสมน้ำ สมเนื้อ สมตัว คือ เป็นพุทธบริษัทจริง เป็นพุทธบริษัทที่อยู่ด้วยหนทางแห่งความหมดจด จนกว่าจะลุถึงปลายทางแห่งความหมดจดตามพระบาลีนั้น
เมื่อใดเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อนั้นจะเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ความเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์นั้นเป็นจุดตั้งต้นแห่งหนทางไปสู่ความบริสุทธิ์ คือ พระนิพพาน หนทางไปพระนิพพานมีจุดตั้งต้นอยู่ที่การเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ เมื่อจึงมองเห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ แล้วก็เบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ดังนั้น การพิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่นั้นแหละทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์แล้ว ก็เป็นจุดตั้งต้นของหนทางที่จะไปสู่ความเป็นพระอรหันต์ หรือความเป็นนิพพาน ความบริสุทธิ์หมดจดนั้น ก็คือ ความเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ไม่มีความเศร้าหมองเพราะไม่มีกิเลส พระอรหันต์มีขันธ์ ๕ ที่บริสุทธิ์ คือ ขันธ์ ๕ ที่สมมุติกันว่าเป็นขันธ์ของพระอรหันต์นั้นไม่มีอุปาทานเข้าไปยึดถือขันธ์เหล่านั้น ว่าเป็นตัวตนหรือของตน ที่จริงมันก็เป็นคำพูดที่ผิดอยู่มากที่จะพูดว่าพระอรหันต์แล้วยังมีขันธ์ที่บริสุทธิ์ นี่เราพูดตามภาษาคน ถ้าเป็นภาษาธรรมแท้ๆก็ไม่มีตัวมีตนแห่งพระอรหันต์ ก็หมายถึงจิตของบุคคลที่ประกอบอยู่ด้วยญาณ ไม่มีความยึดมั่นในสิ่งใดๆ ปราศจากความยึดมั่น บริสุทธิ์จากความยึดมั่น จึงบริสุทธิ์จากความทุกข์ นี้เรียกว่า คนบริสุทธิ์ มีภาวะแห่งความบริสุทธิ์ ข้อปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ก็เรียกว่า หนทางแห่งความบริสุทธิ์
ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนดำรงตนอยู่ในหนทางแห่งความบริสุทธิ์ คือ การเห็นสังขารตามที่เป็นจริง โดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็น อนัตตา แล้วก็มีอาการเหมือนกับชะงักอยู่ หรือถอยหลังอยู่ ไม่ก้าวเข้าไปจับฉวยเอาสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็น อนัตตา แล้วก็เบื่อหน่ายต่อสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็น อนัตตา อยู่ นี้เรียกว่า เดินอยู่ในหนทางแห่งความบริสุทธิ์ ซึ่งจะขยายออกเป็นหนทางมีองค์ ๘ ประการก็ได้ เพราะว่าเมื่อใครเห็นความจริงเกี่ยวกับพระไตรลักษณ์ในสังขารทั้งปวงอยู่ บุคคลนั้นก็จะมีความถูกต้องในองค์ ๘ ประการ ที่เราเรียกกันว่า องค์แห่งมรรค เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอยู่ ก็มี สัมมาทิฏฐิ แล้วก็ปรารถนา พระนิพพาน นี้ก็เป็น สัมมาสังกัปโป การพูดจาของเขาก็จะถูกต้อง การทำการงานของเขาก็จะถูกต้อง การดำรงชีวิตของเขาก็จะถูกต้อง อย่าเข้าใจไปว่าอยู่ด้วย พระอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วจะทำมาหากินไม่ได้ อย่าพูดจาอะไรไม่เป็น ยิ่งเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ยิ่งมีการพูดจาที่ถูกต้องโดยอัตโนมัติ มีการทำการงานที่ถูกต้องโดยอัตโนมัติ มีการดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้องโดยอัตโนมัติ ความพากเพียรของเขาก็ถูกต้อง สติความระลึกของเขาก็ถูกต้อง สมาธิของเขาก็ถูกต้อง ถูกต้องไปทั้ง ๘ ประการ เพราะอำนาจของความเห็นพระไตรลักษณ์ เป็นผู้อยู่ด้วยความเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ แต่ก็ไม่ต้องมานั่งโศกเศร้าเหมือนกับคนบ้า การเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ไม่ได้มา ไม่ได้มาทำให้มานั่งโศกเศร้าระทมใจอยู่ หรือมานั่งร้องไห้อยู่ แต่ทำให้อยู่ด้วยความรู้สึกเฉลียวฉลาด อาจหาญ ร่าเริง เป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของสิ่งใด ที่มายั่วให้ยึดมั่น-ถือมั่นโดยความเป็นของน่ารักหรือน่าชัง ความเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะช่วยคุ้มกันไม่ให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด เพราะเขาเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นมันน่าเกลียด เพราะมันมีอาการแห่งความไม่เที่ยง และความเป็นทุกข์โดยอัตโนมัติ จึงไม่ไปจับฉวยเอาสิ่งใดโดยความเป็นตัวตน หรือความเป็นของๆตน ขอให้ท่านทั้งหลายทำความเข้าใจในข้อนี้ให้มากที่สุด จึงจะตั้งอยู่ที่หนทางแห่งความบริสุทธิ์ คือ ความเป็นพระอรหันต์ ซึ่งเป็นบุคคลผู้เต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์
นี่วันนี้เป็นวันแห่งพระอรหันต์ เราก็พูดกันถึงเรื่องพระอรหันต์ว่าเป็นอย่างไร? หนทางที่จะเข้าสู่ความเป็นพระอรหันต์นั้นเป็นอย่างไร? จะได้ดำรงจิตใจให้ถูกต้องโดยไม่ต้องมีตัวกู-ของกู ก็ดำรงจิตได้อย่างถูกต้อง จิตนั้นก็อยู่ในภาวะที่ถูกต้อง เจริญงอกงามไปตามหนทางของ ธรรมฐิติญาณ คือ ความรู้แจ้งประจักษ์ในสิ่งที่มันเป็นอย่างนั้นอยู่เองตามธรรมชาติของมัน ย้ำอีกทีหนึ่งก็ได้ว่า ความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นมันเป็น ธรรมฐิติ คือ มันเป็นการตั้งอยู่แห่งธรรมชาติ มันเป็นบท เป็น ธรรมนิยาม คือ เป็นความตั้งอยู่ตามธรรมดาโดยนิยามของธรรมชาตินั้น มันเป็นไปตามธรรมชาติอย่างนั้น มันเป็น ตถาตา คือ ความเป็นอย่างนั้น มันเป็น อวิตถตา คือ มันไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น มันเป็น อนัญญถตา คือ มันไม่เป็นโดยประการอื่นจากความเป็นอย่างนั้น เห็นชัดอย่างนี้เรียกว่า เห็น ธรรมฐิติญาณ มี ธรรมฐิติญาณ ถ้ามีธรรมฐิติญาณ จริงๆแล้วเพียงพอแล้วมันเป็นการแน่นอนที่จะมี นิพพานญาณ คือ ญาณทั้งหลายที่เนื่องกันอยู่กับพระนิพพาน ญาณมี ๒ ญาณเท่านั้น ธรรมฐิติญาณ เห็น พระไตรลักษณ์ นิพพานญาณ คือเห็นพระนิพพานที่เป็นผลของการเห็นพระไตรลักษณ์ เราไม่ต้องเรียนมากจนเวียนหัวด้วยเรื่องของญาณ นับได้สิบๆชื่อถึงร้อยชื่อ หลายร้อยชื่อ เราเรียนกันแต่เพียง ๒ ญาณ คือ ธัมมะฐิติญาณ เห็นสภาพตามที่เป็นจริงของ สังขาร รวมทั้งวิสังขาร ถ้าสังขารก็ต้องไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็น อนัตตา ถ้าเป็น วิสังขาร ก็เป็น อนัตตา โดยที่ไม่ต้อง ไม่ โดยที่เป็นของเที่ยง ทั้งที่เป็นของเที่ยง และเป็นของไม่ทุกข์ ไม่มีลักษณะแห่งความทุกข์ รู้จักสังขาร คือ สิ่งที่มีการปรุงแต่งว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็น อนัตตา โดยส่วนเดียวก็ยังได้ ฝ่าย วิสังขาร ย่อมจะเป็นไปเอง ถ้าเราเห็นฝ่ายสังขารอย่างถูกต้องเต็มที่ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วจิตก็ไม่จับฉวยอะไร ไม่ยึดมั่นอะไร ไม่มีกิเลสเกิดขึ้น เมื่อไม่จับฉวยอะไร ไม่มีกิเลสเกิดขึ้น สภาพที่เป็น อสังขต หรือเป็น วิสังขาร ก็ปรากฏแก่จิตนั้น มีพระบาลีอยู่ชัดว่า ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งราคะ เป็นที่สิ้นไปแห่ง โทสะ เป็นที่สิ้นไปแห่ง โมหะ นั้นเป็นอสังขต เพราะว่ามันไม่มี ราคะ โทสะ โมหะ จะปรุงแต่ง ปราศจากสิ่งปรุงแต่ง มันจึงเป็น อสังขต ถึง พระนิพพาน เองก็เหมือนกัน เป็นที่สิ้นไปแห่ง ราคะ โทสะ โมหะไม่มี ราคะ โทสะ โมหะ เผาลนให้เร่าร้อน จึงเป็นของเย็น นี้เป็นเรื่องของ พระนิพพาน เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยประจักษ์ชัดแล้ว ก็จะรู้สึกต่อพระนิพพานซึ่งเป็นของเย็น นี่คือบุคคลที่เข้าถึง ตถา เรียกว่า ตถาคต ไม่ได้หมายถึงแต่พระพุทธเจ้าจำพวกเดียว พระอรหันต์ทั้งหลายก็เป็น ตถาคต ด้วยเหมือนกัน คือ เป็นผู้ที่เข้าถึงซึ่ง ตถา ด้วยเหมือนกัน แต่ว่าวิธีพูดจานั้นหมายถึงกันแต่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านใช้นามสำหรับเรียกพระองค์เองว่า ตถาคต ว่าเรา-ตถาคต ตถาคต คำนี้แปลว่า ถึงแล้วซึ่ง ตถา นั้นก็คือ ถึงธรรมะที่เป็น ธรรมฐิติญาณ และ นิพพานญาณ พระอรหันต์ทั้งหลายก็สมบูรณ์อยู่ด้วย ธรรมฐิติญาณ และ นิพพานญาณ เพราะว่าท่านก็ถึงซึ่ง ตถา มีความรู้ที่ทำให้รู้แจ้ง-แทงตลอดในเรื่องพระไตรลักษณ์ ในเรื่องอริยสัจทั้ง ๔ ในเรื่อง อิทัปปัจจยตา คือ ปฏิจจสมุปบาท ทั้ง ๑๑ อาการ นี่ ผ่านสิ่งเหล่านี้ไปได้ ก็เรียกว่าตถาคตด้วยกันทั้งนั้น เราเป็นที่สิ้นสุดแห่งความเป็นมนุษย์ ที่เราเรียกกันง่ายๆว่าเป็นผู้สำเร็จ ปัญหาเกี่ยวกับ มิจฉาทิฏฐิ พวก อันตคาหิกทิฏฐิ มีอยู่ว่า ตถาคต หลังจากตายแล้วมีอีก หรือ ตถาคต หลังจากตายแล้วมีอีก หรือ มิได้มีอีก ตถาคตหลังจากตายแล้วมีอีกก็ไม่ใช่ ไม่มีอีกก็ไม่ใช่ นี่, มีความเห็นยึดมั่นโดยความเป็นตัว-ตนแน่นอนลงไปว่า มี หรือว่า ไม่มี หรือว่า มีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่ นี่เป็นอาการแห่ง มิจฉาทิฏฐิ ไม่เข้าใจตามที่เป็นจริงในเรื่องของ สังขาร และ วิสังขาร ทำให้พูดลงไปอย่างใดอย่างหนึ่งโดยส่วนเดียว ซึ่งโดยที่แท้แล้วมันพูดไม่ได้ ปล่อยให้มันเป็นไปตามกฎของ อิทัปปัจจยตา ว่ามันเป็นไปอย่างไร มันเป็นไปในลักษณะที่เกิดขึ้น หรือ มันเป็นไปในลักษณะที่ดับลง มันก็มีเพียงเท่านั้น อย่าพูดอะไรลงไปโดยส่วนเดียว ว่าตายแล้วเกิดบ้าง ตายแล้วไม่เกิดบ้าง มันจะเป็นคนโง่สุดโต่ง การที่พูดว่าตายแล้วเกิดโดยส่วนเดียว ตายแล้วไม่เกิดโดยส่วนเดียวนี้ มันเป็นคนโง่สุดโต่ง มันก็ยังมีส่วนอยู่ผิดๆในเมืองไทยอย่างนี้เอง ว่าตายแล้วเกิดบ้าง ตายแล้วไม่เกิดบ้าง เพราะไม่เห็น อิทัปปัจจยตา เรียกว่า ไม่เห็น ตถาตา ความเป็นเช่นนั้นโดยถูกต้อง นี้มันไม่รู้จัก พระตถาคต แล้วทำไมจะทำตัวเองให้เป็นถึงซึ่ง ตถา มันไม่มีหวัง เพราะฉะนั้นเราจงพยายามที่จะมาพิจารณาศึกษากัน ในเรื่องของ พระไตรลักษณ์ ให้ประจักษ์ชัดโดย ธรรมฐิติญาณ แล้วก็จะประหารกิเลส แล้วก็เกิด นิพพานญาณ นี้จะเกิดเป็น ตถาคต ขึ้นมาได้ ใครก็ได้ถ้าเข้าถึงซึ่ง ตถา คือความจริงของ สามัญญลักษณะ ของ อริยสัจจ์ และของ อิทัปปัจจยตา แล้ว ก็เรียกว่า เป็นผู้เข้าถึงซึ่ง ตถา ด้วยกันทั้งนั้น ก็หมดความเป็นบุคคล หมดความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลหมดตัว-หมดตน ก็จะไม่มีทางที่จะพูดว่า ตาย หรือ อยู่ หรือเกิดใหม่ อย่างนี้มันไม่มี มีความชัดเจนขึ้นมาว่ามันมิได้มีตัว-มีตน มันจึงไม่มีใครเกิด มันจึงไม่มีใครตาย มันอยู่เหนือความเกิด เหนือความตาย เป็นความหมายของพระนิพพานขึ้นมาอย่างนี้
ขอให้พุทธบริษัททั้งหลายจงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยนัยดังที่กล่าวมานี้เถิด จะไม่เสียทีที่ชอบใจในพระอรหันต์ บูชาความเป็นพระอรหันต์ของพระอรหันต์ทั้งหลาย อุตส่าห์กันมาประชุมเพื่อทำพิธีกรรมเป็นที่ระลึกแก่พระอรหันต์ทั้งหลายเหล่านั้น อย่างที่เรียกว่าทำมาฆบูชา โดยแท้จริง ไม่ใช่ว่าสักว่ามาเดินเวียนเทียนให้เด็กมันดู ทำพิธีมาฆบูชา วิสาขบูชาอะไรนี้ไม่ใช่มาทำพิธีให้เด็กมันดู หรือมันพลอยสนุกสนาน แต่ว่ามาทำพิธีด้วยจิตใจ ทำในใจให้สว่างไสว แจ่มแจ้ง รู้จักพระพุทธเจ้า รู้จักพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้สิ้น อาสวะ เพราะว่าเห็น พระไตรลักษณ์ ปล่อยวางสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่มายั่วให้ยึดถือ ให้หลงใหล เป็นผู้ตื่นจากกิเลสซึ่งเป็นความหลับ ให้ตื่นจากความหลับแห่งกิเลส ที่เรียกว่า กิเลสนิทรา มันอยู่ในความหลับ มันไม่รู้อะไรที่ถูกต้องที่แท้จริง มันอาจจะพูดได้มากเหมือนต่อยหอย แต่มันพูดไปด้วยความไม่รู้ มันพูดอย่างคนละเมอ คนหลับนี่มันพูดได้ อย่าเข้าใจว่าคนหลับพูดไม่ได้ คือ มันละเมอ เดี๋ยวนี้กิเลสมันครอบงำ มันอยากจะเป็นนักปราชญ์ มันอยากจะเป็นอาจารย์ มันก็พูดมาก ที่แท้ก็มีอาการเหมือนคนหลับแล้วก็ละเมอ เพราะมันไม่มีความรู้จริงเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ขอให้ท่านทั้งหลายยึดถือเอา ธรรมฐิติญาณ คือ ความรู้อย่างถูกต้องแท้จริงนี้แหละ เป็นเครื่องบูชา สักการะแก่พระอรหันต์เถิด บูชาด้วยดอกไม้-ธูปเทียน เวียนเทียนนั้นมันเป็น อามิสบูชา แต่ถ้าเป็น ธัมมบูชา เป็น ปฏิบัติบูชาแล้ว จงบูชาด้วยหัวใจที่สว่างไสว เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เห็นแจ้งประจักษ์ชัดในสามัญญลักษณะโดยทุกประการ แล้วเอาคุณธรรมนี้เป็นเครื่องบูชาพระอรหันต์เถิด มันก็จะเข้ารูปเข้ารอยกัน การทำมาฆบูชาก็มีความหมาย ขอให้ท่านทั้งหลายทำได้อย่างนี้ และทำได้อย่างนี้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปกว่าจะถึงอันดับสุดท้าย คือ เข้าถึง ตถา กลายเป็นผู้ถึง ตถา เช่นเดียวกับพระอรหันต์ทั้งหลายทั้งปวง
ที่พูดนี้ไม่ใช่อวดดี มิใช่ยุให้เป็นคนอวดดี ให้เป็นคนใฝ่สูงเกินฐานะ แต่พูดนี้ก็เพื่อให้รู้ว่าพระพุทธเจ้าท่านมีพระพุทธประสงค์อย่างนี้ พระพุทธองค์มีพระพุทธประสงค์ต้องการให้สัตว์ทั้งหลายเข้าถึงความเป็นอย่างนี้ การตรัสรู้ของพระองค์ก็เพื่อให้สัตว์ทั้งหลายเข้าถึงความเป็นอย่างนี้ พวกเราอย่าได้ทำให้พระพุทธประสงค์นั้นเป็นหมันแก่เราเลย มันเป็นหมันแก่คนทั่วไปเป็นอันมาก มันก็ช่วยไม่ได้ ไม่รู้จะช่วยอย่างไร แต่ขออย่าได้มาเป็นหมันแก่เราคนหนึ่งนี้เลย ขอให้เราได้เข้าถึงพระธรรมที่เป็นการตรัสรู้ดีของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่อง พระไตรลักษณ์ เรื่องอริยสัจจ์ และเรื่อง อิทัปปัจจยตา ซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสว่า ตถาคตจะเกิดขึ้นก็ดี ตถาคตจะไม่เกิดก็ดี คำที่เป็น ธรรมฐิติ ได้มีอยู่แล้ว ธรรมธาตุที่เป็น ธรรมฐิติ ธรรมนิยาม ได้มีอยู่แล้ว พูดให้เจาะจงทีหนึ่งว่าคนจะรู้เรื่องนี้หรือจะไม่รู้เรื่องนี้ก็ตาม ธรรมธาตุที่เป็น ธรรมนิยาม ธรรมฐิติ นี้ได้มีอยู่แล้ว ได้มีอยู่ตลอดกาล ไม่มีการตั้งต้น ไม่มีการสิ้นสุด มันเป็นธรรมธาตุที่ปราศจากการตั้งต้น และปราศจากความสิ้นสุดลงไป เราจงเข้าถึง ธัมมธาตุ อันนี้เถิด ก็จะเรียกว่าถึงซึ่ง ตถา เป็นอย่างเดียวกับพระอรหันต์ทั้งหลายผู้เข้าถึงแล้วซึ่ง ตถา การทำมาฆบูชาของเราก็มีความหมายขึ้นมาทันที ทั้งในแง่ของ อามิสบูชา ทั้งในแง่ของ ปฏิบัติบูชา หรือ ธัมมบูชา เป็นที่ตั้งแห่งความก้าวหน้าเดินไปตามหนทางของ ความวิสุทธิ์หมดจด กล่าวคือ พระนิพพาน ขอให้ธรรมนี้จงเจริญงอกงามแก่ท่านทั้งหลายตามทำนองคลองธรรมของพระศาสนาอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ
ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้