แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นักศึกษาผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย การพูดกันครั้งนี้จะพูดต่อจากครั้งที่แล้วมา ในครั้งที่แล้วมาเราได้พูดกันโดยหัวข้อว่าการศึกษาธรรมะของพวกเรายังสับสน หวังว่าคงจะยังจำกันได้ ว่ามันสับสนอย่างไร แต่ถึงอย่างไรก็ดีอยากจะมาชี้ให้เห็นเป็นคราวใหญ่ๆ อีกครั้งหนึ่งว่า บางคนศึกษาธรรมะเพราะมีความทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งปรากฏอยู่และต้องการจะดับความทุกข์นั้น บางคนไม่รู้สึกว่ามีความทุกข์หรือมีปัญหาอะไรเลยก็มาศึกษาธรรมะโดยหวังว่าจะได้รู้อะไรใหม่ๆเอาไปใช้ในการดับทุกข์ และก็มีเป็นจำนวนไม่น้อยที่ศึกษาธรรมะโดยเห่อๆตามๆกันมา หรือบางทีก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องศึกษา เพราะว่าเป็นหัวหน้านำเขาก็มี หรือว่าจะต้องสอบไล่สอบอะไรบางอย่างก็มี เราก็ศึกษาธรรมะกันตามระดับตามวิธีตามเหตุผลปัจจัยอะไรของตนๆ มันก็เลยมีความสับสน ผู้พูดมันก็ยากที่จะพูดให้ตรงเรื่องผู้ฟังก็ไม่ค่อยจะได้รับคำบอกกล่าวที่ตรงกับเรื่อง ถ้าว่าโดยที่แท้แล้วในครั้งพุทธกาลนั้น ไม่มีการศึกษาธรรมะที่สับสนเพราะเขาจะต้องมีเรื่องมีปัญหาเฉพาะหน้า แล้วก็ดับความทุกข์อันนั้นไม่ได้ จึงไปทูลถามพระพุทธเจ้า ก็ได้รับคำตอบที่เอามาใช้แก้ปัญหาอันนั้นได้ นี่เรื่องมันก็ไม่สับสน เดี๋ยวนี้เราส่วนใหญ่มาศึกษาธรรมะกันโดยที่ไม่มีเรื่องคือไม่มีปัญหา ไม่มีความทุกข์ แล้วก็มาขอศึกษาเรื่องเผื่อว่า หรือว่าอาจจะเอาไปคิดนึกเลือกเฟ้นดูเองว่าจะใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง เหมือนกับว่าคนเจ็บไปหาหมอ ก็เพื่อจะรักษาไอ้ส่วนที่มันเจ็บนั้นให้หายไป ก็ถ้าคนไม่เจ็บ สบายดีไปหาหมอ ก็ไปถามเรื่องสุขภาพอนามัยอันกว้างขวางเสียมากกว่า นี่เป็นเค้าเงื่อนของการศึกษาธรรมะที่ยังสับสน เราควรจะพิจารณาดูให้ดี สังเกตดูให้ดีว่าปัญหาหรือเหตุผลของเรามีอยู่อย่างไร จึงได้มาสนใจธรรมะ แล้วมาศึกษาธรรมะ อาตมาเคยถามฝรั่ง ทุกคนก็จะว่าได้ถ้ามาที่นี่ จะถามเขาว่าอะไรเป็นเหตุอันแท้จริงที่ทำให้คุณสนใจธรรมะหรือพุทธศาสนา จนกระทั่งศึกษาพุทธศาสนาหรือจนกระทั่งมาถึงประเทศไทยหรือมาถึงสวนโมกข์นี้เป็นที่สุด คำตอบก็ดูมันพร่า มันไม่ชัดเจนลงๆไปอื้อๆอ้าๆ แต่เขาก็ยังดีที่มีจุดมุ่งหมายอยู่บ้างคือเขาจะตอบว่าเพื่อปรับปรุงชีวิตในอนาคตให้มันดีหรือให้มันมีประโยชน์มากขึ้น เขาจึงมาศึกษาพุทธศาสนา เข้าใจว่าคำตอบนี้จะเป็นคำตอบที่ ที่จริงหรือที่จะใช้ได้ทั่วๆไป แม้ในหมู่คนไทยเรา ถ้ายังไม่มีความทุกข์เจ็บปวดเพราะกิเลสขบกัดอะไร อยู่ในบัดนี้ก็มาศึกษาพุทธศาสนา เพื่อเป็นแนวทางสำหรับตระเตรียมชีวิตข้างหน้าให้มันน่าดู ให้มันมีประโยชน์หรือมันถูกต้องมากที่สุดอย่างนี้ก็ยังดี มันจะป้องกันความสับสนได้
ท่านนักศึกษาทั้งหลายควรจะสังเกตดูข้อเท็จจริงที่สุดอย่างหนึ่งว่า การศึกษาของเราในโรงเรียนในวิทยาลัย กระทั่งในมหาวิทยาลัย ทำกันมาจนถึงที่สุดแล้วมันเรียนเรื่องอะไรมันก็กลายเป็นว่าเรียนหนังสือโดยวิธีของหนังสือ ให้มันฉลาดให้รู้หนังสือ แล้วก็ไปเรียนวิชาชีพที่เราพอใจจะได้อาศัยเป็นเครื่องยังชีพ หรือจะเรียนวิชาสำหรับไปสอนเขา มันก็เป็นเรื่องไม่พ้นไปจากหนังสือหรือวิชาชีพ เดี๋ยวนี้ดูก็จะไปรวมกันอยู่ที่ว่าเรียนเทคโนโลยีแขนงใดแขนงหนึ่ง คือ การใช้เทคนิคของวิชาความรู้แขนงนั้นให้ถูกต้องที่สุด ให้ดีที่สุด ให้ได้รับประโยชน์มากที่สุด จนอะไรๆก็เป็นเทคโนโลยีไปหมด ผลมันก็เพียงว่า รู้อาชีพ รู้จักใช้เทคนิคของการที่จะประกอบอาชีพ หรือใช้วิชานั้นๆให้มันมีผลดีที่สุด แล้วก็จบกันเพียงเท่านี้ มหาวิทยาลัยไหนในโลกนี้ที่สอนมากไปกว่านี้ คือสอนถึงเรื่องของธรรมะ เรื่องของศาสนา เรื่องของพระเจ้า เรื่องของชีวิตส่วนที่เป็นนามธรรม แม้ที่สุด แต่ว่าเราเกิดมาทำไมกัน อย่างนี้ก็ไม่ได้สอน ก็เป็นอันว่าการศึกษาของเราหรือทั้งหมดในโลกนี้มันหยุดอยู่เพียงแค่รู้หนังสือ และมีวิชาชีพก็เราเรียนให้คนฉลาดและก็ใช้ความฉลาดในการประกอบอาชีพ มันก็จบกันเท่านั้นมันไม่มีธรรมะ ไม่มีส่วนที่เป็นเรื่องของธรรมะในทางฝ่ายนามธรรม ถูกแล้ว อาตมาก็ยอมรับว่า เรื่องอะไรๆมันก็เป็นเรื่องธรรมะทั้งนั้น แม้เรื่องฝ่ายรูปธรรม รู้จักทำมาหากินให้สบายอย่างนี้ก็เรียกว่าธรรมะเหมือนกัน แต่เป็นธรรมะในฝ่ายรูปธรรมมันยังไม่พอ ยังไม่ขึ้นมาถึงระดับที่จะเรียกกันว่าศาสนา หรือธรรมะในพระศาสนา เราจะต้องต่อการศึกษาของเราให้ออกไปอีกส่วนหนึ่ง คือให้รู้เรื่องชีวิตจิตใจ ซึ่งเป็นเรื่องทางจิตทางวิญญาณ เป็นเรื่องความทุกข์ที่จะเกิดขึ้น เพราะการประกอบอาชีพนั้น เราเรียนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแล้วก็ไปประกอบอาชีพการงานอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ คือไปเป็นคนในโลกนี้คนหนึ่งทำหน้าที่ของตน แต่แล้วในการประกอบอาชีพนั้นมันอยู่ในโลก หรือมันยังอยู่ด้วยร่างกายนี้ ปัญหามันยังจะต้องมีเกิดขึ้น เนื่องกับว่าร่างกายนี้ มันจะไม่เป็นไปตามที่เจ้าของต้องการ เจ็บไข้พิกลพิการไปอย่างนั้นก็มี แล้วมันก็มีความทุกข์ ไม่รู้จักทำจิตใจให้ถูกต้อง มันก็ต้องมีความทุกข์ หรือว่าทรัพย์สมบัติของเรา กระทั่งบุตร ภรรยา สามีหรืออะไรก็ตามมันจะต้องเป็นไปตามธรรมชาติ ธรรมดาจะต้องเจ็บจะต้องป่วย จะต้องตาย จะต้องสูญ จะต้องหาย จะต้องวิบัติไปคราวละมากๆก็มี ถ้าว่าไม่มีธรรมะก็ดำรงจิตใจไว้ไม่ถูก มันก็จะต้องเป็นทุกข์ เมื่อเราประกอบการงานในหน้าที่ของเราอยู่ ไม่มีอะไรที่จะเป็นไปตรงตามความต้องการของเรา เพราะว่าเราบังคับมันไม่ได้ แม้แต่วัตถุสิ่งของเราก็บังคับมันไม่ได้ ทีนี้คนที่อยู่ใต้บังคับบัญชา เราก็บังคับเขาไม่ได้ หรือไม่ได้ตามที่เราต้องการ มันก็มีความที่ไม่เป็นไปตามที่เราต้องการนั้นแหละอยู่ทั่วๆไป เราก็มีอาการที่เรียกกันว่ากลุ้มอกกลุ้มใจและเป็นทุกข์ มากเข้ามันก็เป็นโรคประสาทเป็นโรคจิตไปก็ได้ เพราะการทนทรมาน เป็นชาวไร่ชาวนาก็ยังผิดหวังด้วยการที่ดินฟ้าอากาศไม่เป็นไปตามที่ตัวต้องการ ไอ้ความยากจนบังคับให้ทำอะไรไม่ได้ตามต้องการ มันก็ล้วนแต่เป็นการทนทรมาน เรียกว่ามนุษย์ในโลกนี้ในระดับที่เป็นปัญญาชนก็ดี หรือไม่ใช่ปัญญาชนก็ดี โดยเนื้อแท้แล้วมันก็มีความทุกข์หรือปัญหาอยู่ในตัวของความเป็นมนุษย์นั่นเอง ส่วนนี้ เราไม่เอามาเรียนกันในวิทยาลัยหรือในมหาวิทยาลัยโดยที่ถือเป็นหลักว่าปล่อยให้เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน ฉะนั้นใครสนใจเรื่องธรรมะเรื่องศาสนาก็ไปหาเอาเป็นเรื่องส่วนตัว นี่มันเกิดการแยกธรรมะหรือศาสนาออกไปจากวงการศึกษาของมนุษย์เรา เมื่อไม่นานมานี้เอง ก่อนนี้พระหรือเจ้าหน้าที่ในศาสนาเป็นผู้จัดการศึกษาแม้แต่มหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ ในตอนแรกๆก็ว่าพระจัดทั้งนั้น พระก็มีเรื่องของพระใส่ลงไปในการศึกษาเต็มที่ ต่อมาความนิยมเปลี่ยน ไม่อยากจะให้เรื่องของศาสนาเข้ามารีๆขวางๆอยู่ในวงของการศึกษาในทางโลกๆที่เขาจะก้าวหน้าให้มันเร็วมันก็เลยแยกออกจากกัน ประเทศไทยเราจัดการศึกษาตามก้นพวกฝรั่ง ก็เลยแยกการศึกษาธรรมะออกไปเสียจากการศึกษา กระทรวงธรรมการก็เลยเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงศึกษาธิการอย่างที่เห็นๆกันอยู่ นี่ขอให้มองเห็นข้อเท็จจริงอันนี้ก่อนว่า แม้ว่าเราจะได้รับการศึกษาอย่างสูงสุดเพียงไรในโลกปัจจุบันนี้ มันก็ยังขาดเรื่องที่จำเป็นของมนุษย์อยู่ตอนหนึ่ง หรือครึ่งหนึ่งหรือซีกหนึ่งก็ว่าได้ คือเรื่องที่เกี่ยวกับจิต ชีวิตในด้านจิตด้านนามธรรมเรียกกันว่าฝ่าย Spiritual ไม่รู้จะแปลว่าอะไร เราก็แปลกันทีก่อนว่าเรื่องทางวิญญาณ ที่เขาเรียนกันในมหาวิทยาลัยไม่มีเรื่องเกี่ยวกับทางวิญญาณ แม้จะไปเรียนกันเรื่องจิตเรื่องวิญญาณเรื่องอะไรบ้าง มันก็เป็นศาสตร์อย่างอื่น ไม่เกี่ยวกับธรรมะ ฉะนั้นเราจึงยังขาดเรื่องของมนุษย์อยู่ครึ่งหนึ่ง คือเรื่องทางจิตทางวิญญาณซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์ และความดับทุกข์โดยตรง เมื่อเราเรียนหนังสือหนังหา รู้เรื่องอะไรดีแล้ว ความทุกข์ยังเหลืออยู่ มันก็ต้องหันไปหาเรื่องทางศาสนาหรือทางจิตทางวิญญาณ มาแก้ปัญหาส่วนนั้น ถ้าใครไม่มีปัญหาเป็นเรื่องความทุกข์ทางจิตทางวิญญาณ ไม่ต้องมาสนใจเรื่องธรรมะเรื่องศาสนาให้เสียเวลา อาตมาแนะนำอย่างนี้ ขอร้องอย่างนี้ แล้วก็ยืนยันอย่างนี้ ว่าถ้าใครไม่มีความทุกข์ในด้านจิตใจแล้วไม่ต้องมาเสียเวลาศึกษาพุทธศาสนาให้ป่วยการ เพราะว่าต้องการจะแก้ปัญหาส่วนนี้ ถ้าใครเห็นว่าแม้จะศึกษา จบการศึกษาในโลกอย่างที่เขามีให้ในปัจจุบันนี้แล้ว เรายังไม่หมดปัญหา คือไม่หมดปัญหาส่วนที่สำคัญคือปัญหาทางจิตทางวิญญาณ นี่แหละจึงจะมาหาธรรมะ มาหาศาสนา ดังนั้นเรื่องมันก็กว้างไกลออกไปกว่าในครั้งพุทธกาลที่มีแต่เพียงว่า ใครมีความทุกข์ก็ไปทูลถามพระพุทธเจ้า ก็จะดับทุกข์เรื่องนั้นๆ เดี๋ยวนี้เราต้องการความรู้เรื่องธรรมะ เรื่องของศาสนาเพื่อจะดับไอ้ความทุกข์ทั้งหมดของมนุษย์เราในภาคปลาย ในภาคปลายของชีวิต จะใช้คำว่าอย่างนี้ก็พอจะได้ คือส่วนที่มันเหลือจากความสามารถของวิชาความรู้อย่างโลกๆทั่วไป ที่จะช่วยแก้ไขได้ เมื่อความรู้อย่างโลกๆทั่วไปมิอาจจะแก้ไขได้มันก็เหลืออยู่เป็นหน้าที่ของความรู้ในทางฝ่ายธรรมะ เราจึงสนใจธรรมะ จึงหวังว่านักศึกษาทั้งหลายจะมองเห็นข้อนี้ แล้วก็จัดการศึกษาของตนๆอย่าให้มีการสับสน แทรกแซงกันอยู่ในนั้น ให้มันชัดเจนลงไป นี่อาตมาตั้งใจจะกล่าวในข้อนี้ต่อไปว่าทำอย่างไรจึงจะไม่สับสน ก็พูดกันถึงเรื่องธรรมะต่อไปอีก ขอย้ำแล้วย้ำอีก ย้ำแล้วล้ำเล่า จนจะเรียกว่าเซ้าซี้ก็ตามใจ จะย้ำในเรื่องของธรรมะ ๔ ความหมาย บางคนอาจจะเคยฟังมาแล้วหลายหนจนรำคาญ บางคนยังไม่เคยฟังก็ได้ ฉะนั้นขอให้ทนฟัง ถ้าเคยฟังมาแล้ว เพราะคำว่า ธรรม เพียงคำเดียวในภาษาไทยนี่ มาจากคำว่า “ธมฺม” ในภาษาบาลี หรือ “ธรฺม” ในภาษาสันสกฤต มันเป็นคำเดียวกัน เรียกว่า ธรรม เฉยๆในภาษาไทย มีความหมายสำหรับคำๆนี้อยู่ ๔ ความหมาย คือ ธรรมชาติทั้งหลายที่จะมีปรากฏการณ์ หรือไม่มีปรากฏการณ์ก็ตาม ตัวธรรมชาติทั้งหลาย ทั้งหมด ทั้งสิ่งนั้น ก็เรียกว่า ธรรมโดยภาษาบาลี นี่เราก็ศึกษาตามสมควร ทีนี้ในธรรมชาติทั้งหลาย มันมีกฎของธรรมชาติ ไอ้ตัวกฎของธรรมชาติที่ประจำอยู่ในตัวธรรมชาติทั้งหลาย กฎของธรรมชาตินี้ก็เรียกโดยภาษาบาลีว่า ธรรม เหมือนกัน เราก็ต้องศึกษาเกี่ยวกับธรรมในส่วนนี้ ตามสมควรด้วยเหมือนกัน คือเรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆของรูปธรรมนามธรรม นี่เรียกว่าศึกษาเรื่องกฎของธรรมชาติตามสมควร แล้วเรื่องที่ ๓ ก็คือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ กฎธรรมชาติมันครอบงำสิ่งทั้งปวงอยู่ ทำให้สิ่งทั้งปวง โดยเฉพาะที่มีชีวิต จะต้องประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ มิฉะนั้นจะต้องตาย หรืออยู่อย่างทนทรมาน เราก็ศึกษาเรื่องหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ให้ครบถ้วนหน้าที่ตามกฎธรรมชาตินี้ก็เรียกว่า ธรรม คำเดียวนั่นแหละ ธรรมในความหมายที่ ๓ นี่แหละที่ต้องศึกษากันให้มากที่สุดให้เต็มที่ พระธรรมทั้งหมดในพระพุทธศาสนา แสดงหน้าที่ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ขอให้ทราบว่าคำว่า ธรรม หรือ ธรรมะนี่ ถ้าไปบรรจุอยู่ในดิกชันนารีธรรมดาสามัญ ดิกชันนารีชาวบ้านทั่วไป เช่นดิกชันนารีในประเทศอินเดียแล้วคำว่า ธรรมเขาจะแปลว่า Duty คือหน้าที่ที่สิ่งที่มีชีวิตจะต้องทำ ทีนี้อันสุดท้ายผลที่จะได้รับจากการทำหน้าที่ ตรงตามต้องการหรือไม่ตรงตามต้องการก็ตามเถอะ แต่มันเป็นผลที่เกิดมาจากการทำหน้าที่แล้วก็เรียกว่า ธรรมอีกเหมือนกัน นี่คำว่า ธรรมเป็นคำพิเศษ มีความหมายครอบคลุมทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร จนแปลเป็นภาษาอื่นไม่ได้ ลองนึกถึงความหมาย ๔ ความหมายนี้สิว่า ธรรมคือตัวธรรมชาติทั้งหมด คือตัวกฎธรรมชาติทั้งหมด คือตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติทั้งหมด ตัวผลที่ได้รับจากหน้าที่นั้นทั้งหมด นี้คือคำว่า ธรรม แม้จะไปแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า ว่ายังไง หรือภาษาอื่นๆก็ตามใจ ว่ายังไง แล้วมาแกล้งสำรวจดู ดูที่เขาแปลเป็นภาษาอังกฤษกันมาแล้วสัก ๓๐ กว่าคำ ๓๐-๔๐ คำมันก็ไม่หมดความหมายของคำว่าธรรม เพราะเขาไม่ได้แยกมันโดยหลัก ๔ ประการนี้ ก็แยกตามที่เห็นกันตามธรรมดาสามัญ ธรรมะแปลว่าคำสอน ธรรมะแปลว่ากฎ ธรรมะแปลว่า มันมากมายก่ายกอง ฉะนั้นจึงยอมแพ้ไม่ยอมรับเอาคำว่า ธรรมนี้เข้าไปไว้ในปทานุกรมภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ ไม่แปล เพราะมันแปลไม่ได้ ในประเทศไทยเราก็เหมือนกัน เราก็ไม่สามารถจะแปลคำว่า ธรรมได้ ก็เลยเอาคำว่า ธรรมนั้นเองมาเป็นภาษาไทยเสีย มันก็หมดปัญหาไป นี่ถ้าจะศึกษาธรรมะกันอย่างสมบูรณ์แบบมันต้องศึกษากันถึง ๔ชุด ๔กลุ่ม ๔ระดับ ๔ความหมายอย่างนี้ คือตัวธรรมชาติอย่างหนึ่ง คือตัวกฎของธรรมชาติอย่างหนึ่ง ตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติอย่างหนึ่ง ตัวผลที่เกิดจากหน้าที่อย่างหนึ่ง ทีนี้ที่เราสอนกันโดยมาก เรียนกันมากตามวัดวาอารามก็ความหมายที่๓ คือว่าจะต้องประพฤติปฏิบัติอย่างไร คือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เราสอนกันในส่วนนี้มาก ได้ยินได้ฟังในส่วนนี้มาก แต่แล้วมันก็ยังไม่พอ ที่จะดับความทุกข์หรือแก้ปัญหาของคนแต่ละคน แม้ในชีวิตประจำวัน นี่เราจะศึกษาธรรมะให้มันถูกตัวธรรมะทั้งหมดแล้วก็ขยับขยายให้ถูกใจความสำคัญที่จะเอามาใช้เป็นประโยชน์ คือธรรมะในความหมายที่ว่าเป็นหน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินั่นเอง ทีนี้ก็อยากจะบอกต่อไปว่า จะศึกษาธรรมะกันที่ไหน ไอ้คำถามนี้มันตอบได้อย่างที่เรียกว่า ดิ้นได้ เพราะว่ามันเกี่ยวพันกันอยู่มาก ศึกษาธรรมะจากบุคคลก็ได้ ศึกษาธรรมะจากหนังสือหนังหา ตำรับตำราก็ได้ เช่นศึกษาจากพระไตรปิฎกเป็นต้น ที่นั่นที่นี่ก็ได้มาที่สวนโมกข์นี่ก็เพื่อมาศึกษาธรรมะ แต่แล้วมันไม่ถูกกับเรื่องที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ โดยท่านตรัสไว้ว่าไอ้เรื่องทั้งหมดนั่น มันต้องศึกษาในร่างกาย จากร่างกายของมนุษย์ที่ยังเป็นๆ มนุษย์ซึ่งมีขนาดยาวประมาณสักวาหนึ่งนี้เท่านั้น ยังเป็นๆไม่ตายก็มีอะไรให้ศึกษา ก็หมายความว่าทุกคนจะต้องศึกษาจากเรื่องในตน ของตน คือเรื่องร่างกายก็ดี เรื่องจิตใจก็ดี ก็ได้ระบุไว้ชัดว่า ในร่างกายที่ยังเป็นๆคือยังมีชีวิต ถ้าตายแล้วมันขาดอะไรไปมาก มันศึกษาไม่ได้ นี่ก็บอกได้เลยว่า ธรรมะความหมายที่ ๑ คือตัวธรรมชาติ เราจะต้องศึกษาให้รู้เรื่องของธรรมชาติที่ประกอบกันเป็นกายนี้ อย่างที่เขาจะพูดกันตามแบบฉบับว่า ดินน้ำลมไฟ อะไรที่ประกอบกันอยู่เป็นร่างกายนี้ แล้วก็ยังมีส่วนที่เป็นจิตเป็นวิญญาณอีกส่วนหนึ่ง ดินน้ำลมไฟนั้นเป็นส่วนร่างกาย ส่วนวัตถุเท่านั้น อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องจิตซึ่งจะใช้คำว่าวิญญาณหรืออะไรก็แล้วแต่จะเรียกให้เป็นที่รู้กันว่ามันไม่ใช่เรื่องร่างกายก็แล้วกัน ธรรมชาติก็คือร่างกายเราทุกคนนี้ ประกอบอยู่ด้วยของ ๒ อย่าง คือฝ่ายที่เป็นวัตถุหรือร่างกายนี้อย่างหนึ่ง และฝ่ายที่เป็นจิตคือวิญญาณนี่อย่างหนึ่ง ศึกษามันให้ละเอียดพอสมควรไม่ต้องรู้ไปเสียทั้งหมดจนศึกษาอะไรไม่ไหวพอให้รู้ว่ามันเป็นอย่างไร มันจะต้องเป็นอย่างไร ไอ้ที่มุ่งหมายสำคัญอย่างยิ่งก็คือให้รู้ว่ามันเป็นธรรมชาติ มันเป็นของมันอย่างนั้นเอง มันเปลี่ยนไปตามเรื่องของธรรมชาติ นี่เรียกให้รู้ว่ามันเป็นอนิจจัง ให้รู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ดูแล้วน่าเกลียดเพราะมันเป็นอนิจจัง คือมันหลอกลวง คือมันเปลี่ยนเรื่อยมันไม่มีจริงอะไรที่ตรงไหน ความที่มันเปลี่ยนเรื่อยนี่เรียกว่ามันน่าเกลียด นี่คือทุกขัง ถ้าใครไปยึดถือเอาแล้วจะเป็นทุกข์แก่ตนทันที ถ้าไปยึดถือว่าร่างกายนี้ของกู อย่างนี้เป็นต้น มันจึงยิ่งน่าเกลียดไปใหญ่มันหลอกลวงมากขึ้นไปอีก แล้วว่ามันเป็นอย่างนั้นของมันเองเป็นอย่างอื่นไม่ได้จึงเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน อย่าไปเข้าใจว่าเป็นตัวเป็นตน เดี๋ยวจะพูดให้ฟังถึงเรื่องนี้ว่ามันไม่ใช่ตัวตนอย่างไรให้ชัดยิ่งขึ้นไปอีก นี่เราต้องดูดิน น้ำ ลม ไฟ ที่เขามาแยกเป็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เอ็น เนื้อ กระดูก ไอ้ทุกๆส่วนของร่างกายนี่แล้วก็มีส่วนหนึ่งซึ่งเป็นความรู้สึกที่เกิดรู้สึกขึ้นได้ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วเอาไปปรุงเป็นความคิด ความนึก ส่วนนี้เป็นนามธรรมหมด ไอ้ตานั้นนะมันเป็นเหมือนกับตรงกลาง ไอ้เนื้อลูกตามันก็เป็นรูปธรรมหรือเป็นร่างกาย แล้วมันก็มีจักษุประสาท ซึ่งมันมากกว่าร่างกายธรรมดา แต่ก็ยังไม่ถึงจิตหรือวิญญาณ ต่อเมื่อไอ้จักษุประสาทมันทำหน้าที่ของมัน มันจึงจะเกิดเรื่องที่เป็นจิตหรือเป็นวิญญาณขึ้นมา มันจึงอาศัยอยู่ด้วยกันที่นั่น หูก็เหมือนกัน จมูกก็เหมือนกัน ลิ้นก็เหมือนกัน ผิวหนังนี่ก็เหมือนกัน หรือว่าจิตใจเองก็เหมือนกัน มันเป็นสิ่งที่มีหน้าที่ที่จะรับสิ่งภายนอกเข้ามา สำหรับสร้างเป็นความรู้สึกเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นในภายใน แล้วความสุขหรือความทุกข์ทั้งหลายมันก็เนื่องกันอยู่กับสิ่งที่มันสร้างขึ้นมาในภายใน เดี๋ยวนี้เรามาศึกษาธรรม ในความหมายที่ ๑ คือตัวธรรมชาติ ที่ประกอบอยู่เป็นร่างกายและจิตใจของเรากันเสียเรื่องหนึ่งก่อน เป็นเรื่องที่ ๑ ทีนี้ก็เราศึกษาเรื่องที่ ๒ คือกฎของธรรมชาติ ว่าร่างกายและจิตใจที่ประกอบกันอยู่เป็นสิ่งสมมุติ ว่าตัวกูนี่มันอยู่ใต้กฎของธรรมชาติ หรือว่ามันมีกฎของธรรมชาติสิงอยู่ ครอบงำอยู่ ควบคุมอยู่ บันดาลอยู่ ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ อย่างน้อยก็ตามกฎของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กฎของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั่นนะคือกฎของธรรมชาติที่สิงอยู่ในร่างกายนี้ที่เป็นตัวธรรมชาติ นี้ยังมีกฎอื่นๆเช่นอริยสัจ เมื่อเกิดตัณหาอุปาทานแล้วต้องเป็นทุกข์ ไม่เกิดตัณหาอุปาทานก็ไม่เป็นทุกข์ กระทั่งกฎปฏิจจสมุปบาทอันละเอียด ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของพุทธศาสนา นั่นก็เรียกว่า กฎเหมือนกัน เป็นสิ่งที่มีอำนาจบังคับควบคุมธรรมชาติเหล่านี้อยู่ ธรรมชาติทั้งหมดเหล่านี้ต้องเป็นไปตามกฎนั้น อาตมาถือเอากฎ คำว่ากฎนี้ สำหรับไปเปรียบเทียบกันกับพระเจ้า พระเป็นเจ้าในศาสนาอื่น ซึ่งเขาถือว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้าง เป็นผู้ควบคุม เป็นผู้อะไรอยู่ เขาเรียกว่าพระเจ้ามีลักษณะอย่างบุคคล ก็ตามใจเขา เราไม่มีพระเจ้าอย่างนั้น แต่เรามีสิ่งซึ่งทำหน้าที่อย่างนั้นได้ นั้นคือกฎ เราก็มีกฎของธรรมชาตินี่เป็นพระเจ้า นั้นมันเป็นเผอิญอย่างยิ่งในภาษาไทย ที่เรามีคำว่ากฎใช้ เพราะว่าคำว่า กฎนี่ ถ้าออกเสียงให้ยาวลากให้ยาวออกไปมันก็เป็นกอด ก็เลยเป็น GOD ของพวกฝรั่งได้ก็ได้หัวเราะกัน เรามีกฎธรรมชาติ สิงอยู่ในทุกสิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนนี่ ก็เป็นไปตามกฎ ฉะนั้นจงศึกษาให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า กฎนี่ ทำไมจึงต้องรู้สึกเป็นทุกข์เป็นสุข เป็นอะไรขึ้นมาตามเรื่องที่เป็นไปธรรมดา ก็เพราะกฎนั่นเอง นี่เรารู้ความหมายที่ ๒ ของธรรมะ หรือธรรมะในความหมายที่ ๒ คือกฎธรรมชาติอยู่ในตัวคนที่ยังมีชีวิตเป็นๆอยู่ ถ้าตายแล้วเลิกกันไม่ต้องพูดถึง พระพุทธเจ้าท่านแนะให้ศึกษาจากคนที่ยังเป็นๆอยู่ ทีนี้มาถึงความหมายที่ ๓ คือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ นี้ก็ยิ่งต้องศึกษาในคนในตัวคนที่ยังเป็นๆ คือตัวเรานั่นแหละ มองให้พบหน้าที่ที่มันจะต้องทำอยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่เกิดมาจากท้องแม่ มันจะต้องทำอะไร มันจะต้องกินอาหาร แล้วมันจะต้องทำอะไรเกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่ แล้วต้องไปถ่ายอุจจาระ มันต้องถ่ายปัสสาวะ ต้องอาบน้ำ ต้องบริหารร่างกายทุกสิ่งทุกอย่างนี้ก็เป็นหน้าที่ส่วนน้อยๆที่เกี่ยวกับร่างกาย ทีนี้เดี๋ยวนี้เรามีความรู้กันถึงขนาดแล้วว่าเราจะต้องศึกษาเล่าเรียนเพื่อฝึกฝนสติปัญญา ที่มีอยู่ตามธรรมชาตินั้นให้มันพัฒนา แล้วก็มีหน้าที่ที่จะต้องศึกษาเล่าเรียน ฉะนั้นบิดามารดาครูบาอาจารย์จึงให้การศึกษาเล่าเรียนเรามาตั้งแต่อ้อนแต่ออก แล้วเราก็มีหน้าที่ที่จะต้องศึกษาเล่าเรียนทำให้ดีที่สุด ให้รู้หนังสือให้ดีที่สุด ให้มีมารยาทดีที่สุด ให้มีอะไรถูกต้องที่สุด มีความรู้ มีอาชีพในที่สุด นี้หน้าที่สำหรับความเป็นมนุษย์ในส่วนร่างกาย ทีนี้ก็มาถึงหน้าที่ที่เกี่ยวกับจิตใจ เมื่อเรามีความทุกข์ขึ้นมาเราทนอยู่ไม่ได้ ขืนทนไปมันอาจจะเป็นโรคประสาท หรือเป็นบ้าตาย เราก็ต้องขจัดออกไป เราจะต้องมีการศึกษาอีกส่วนหนึ่ง มีหน้าที่ที่จะต้องศึกษาวิชาความรู้อีกส่วนหนึ่งคือทางธรรมะ แล้วเรายังมีหน้าที่ที่จะต้องเอาธรรมะนั้นมาปฏิบัติอยู่ด้วย ไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นทางจิต ทางใจ เหมือนที่เราต้องกินอาหารต้องถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะต้องอาบน้ำ ต้องอะไรต่างๆเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาทางกาย เดี๋ยวนี้เราก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับทางจิตใจ แล้วก็ปฏิบัติอยู่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาในทางจิตใจ นี่ไปรู้เอาเองว่าเราได้ศึกษามันพอแล้วหรือยัง เราได้ปฏิบัติถูกต้องแล้วหรือยัง ถ้ายังมีความทุกข์อยู่ ก็เรียกว่ายังไม่พอ เราจึงต้องศึกษาธรรมะเป็นพิเศษอีกส่วนหนึ่ง ต่อจากความรู้ตามธรรมดาสามัญของคนทั่วไปอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะการศึกษาในมหาวิทยาลัยในโลกนี้ไม่พอสำหรับความเป็นมนุษย์ ตามเจตนารมณ์ของความเป็นมนุษย์ มันบัญญัติกันเพียงแค่ว่าชาวบ้านก็จะอยู่กันอย่างนั้น แต่ถ้าทางศาสนา ก็ต้องการให้มนุษย์ไปไกลกว่านั้น ให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ คือเป็นคนที่ไม่มีความทุกข์ ไม่มีปัญหาในด้านจิตด้านวิญญาณ และสามารถบำเพ็ญประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่นได้อีกอย่างมากมาย นี่เป็นเรื่องสุดท้ายเรื่องสูงสุด ซึ่งเราจะต้องศึกษาและก็ปฏิบัติ แล้วมันก็ไม่ไปศึกษาจากที่อื่นได้ นอกจากจะศึกษาดูจากภายในแห่งร่างกายนี้ ร่างกายและจิตใจนี้อีกเหมือนกัน นี่ธรรมะในความหมายที่ ๓ ก็ศึกษาจากภายในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ นี้ความหมายที่ ๔ ผลเกิดจากหน้าที่ จากการศึกษาและทำหน้าที่ มันก็เป็นความสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง มันแล้วแต่มันจะทำหน้าที่ผิดหรือถูกหรืออย่างไร นี้ก็ไปศึกษาภายนอกไม่ได้ ต้องศึกษาจากภายในที่รู้อยู่กับใจ ว่ามันเป็นความสุขหรือความทุกข์ ว่ามันผิดหรือมันถูกอยู่อย่างไร นี่ธรรมะทั้ง ๔ ความหมายนี้ ต้องศึกษาแล้วก็ต้องศึกษาจากภายในคือคนที่ยังเป็นๆอยู่ แม้ว่าจะมีขนาดยาวสักเพียงวาหนึ่งเท่านั้น แต่มันมีเรื่องหมดทั้งจักรวาลรวมอยู่ในขนาดที่วาหนึ่งนี้ หมายความว่าเรื่องทุกข์ เรื่องดับทุกข์ เรื่องวัฏสงสาร เรื่องพระนิพพานอะไรก็มันรวมอยู่ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ นี่พูดให้มันสุดเขตหมดขอบเขต ก็ลองไปคำนวณดูเองว่าเราทำได้เท่าไหร่ เราควรจะทำต่อไปอีกสักเท่าไหร่หรืออย่างไร อย่าลืมว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ต้องการให้มันเกิดการเฟ้อในทางการศึกษา แม้ที่เกี่ยวกับพระองค์เองพระองค์เองก็ตรัสว่า ไอ้สิ่งที่ตรัสรู้นั้นเท่ากับใบไม้ทั้งป่า แต่สิ่งที่เอามาสอนนี้เท่ากับใบไม้กำมือเดียว นั่งอยู่ตรงนี้มันเข้าใจประโยคนี้ได้ง่ายนะใบไม้ทั้งป่า ทั้งป่าทั้งประเทศไทย ใบไม้ทั้งป่า แล้วพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าที่เอามาสอนแก่พวกเธอนี่เท่ากับใบไม้กำมือเดียว หมายความว่าเรื่องที่จำเป็นแก่มนุษย์นี่ไม่มีอะไร นอกจากเรื่องความทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดความทุกข์ ความดับแห่งความทุกข์ และวิถีทางที่จะดับความทุกข์ ที่เราเรียกกันว่าเรื่องอริยสัจ ๔ ถ้าขยายออกไปให้ละเอียดก็เป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ถ้าย่นลงมาก็เหลืออริยสัจ ๔ นี่คือเรื่องใบไม้กำมือเดียว เรื่องนอกนั้นมันไม่จำเป็น และไม่จำเป็นสำหรับทุกคน เว้นแต่ทุกคนเขาอยากเรียนก็เรียนไป แต่มันก็ไม่จำเป็น มันเป็นเรื่องเฟ้อ ไอ้เรื่องเฟ้อนี่ควรจะเอามานึกกันดูให้ดี ถึงข้อเท็จจริงที่กำลังเป็นอยู่ในทุกวันนี้ว่า ไอ้การศึกษาในโลกนี้มันเฟ้อ มันไปเรียนเรื่องที่ไม่จำเป็นจะต้องเรียนกันเสียมากเกินไป ไอ้เรื่องที่จำเป็นจะต้องเรียนมันเรียนไม่พอ ฉะนั้นมันจึงแก้ปัญหาต่างๆไม่ได้ อย่าว่าทั้งโลกเลยแม้ในประเทศหนึ่งก็ยังแก้ไม่ได้ หรืออย่าว่าในประเทศเลยแม้แต่ในครอบครัวหนึ่งๆมันก็ยังแก้ไม่ได้ ทั้งที่มันไปเรียนเมืองนอกเมืองนา มีปริญญายาวเป็นหางเลย ยาวไปด้วยปริญญามันก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ นี่การศึกษาในโลกมันเฟ้อ ฉะนั้นจึงทำให้โลกนี้มีสันติภาพไม่ได้ เพราะมันไม่ได้เรียนเรื่องที่จะสร้างสันติภาพโดยตรงขึ้นมาในโลกนี้ ไม่ให้เรียนเรื่องยุ่งๆ เรื่องเทคโนโลยีทั้งหลายที่จะสร้างความยุ่งใหม่ๆขึ้นมา ไอ้โลกนี้ก็ไม่มีวันที่จะพบกันกับสันติภาพ ถ้าลองว่าให้นักศึกษา ผู้จัดการศึกษามันรู้เรื่องนี้ดี มันหมุนการศึกษาไปให้ถูกจุดของสันติภาพ ก็พอจะทำให้โลกนี้มีสันติภาพได้ เพราะว่าการศึกษามันไม่เฟ้อ เดี๋ยวนี้การศึกษากำลังเฟ้อและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสันติภาพ มันไปเฟ้อในส่วนที่สำคัญ คือส่วนที่จะสร้างสันติภาพ มันไม่เฟ้อ หรือมันยังไม่พอเสียด้วยซ้ำไป ในส่วนที่มันจะสร้างความวุ่นวาย ทีนี้เรื่องพัฒนาการทั้งหลายคือเรื่องสร้างความวุ่นวาย ก็ยังไม่พอก็ยังเร่งๆๆกันอยู่ มันก็จะมีไอ้พัฒนาการอะไรต่างๆที่จะเพิ่มความวุ่นวายขึ้นอีกมากมาย ไอ้ส่วนที่จะสร้างสันติภาพมันก็ไม่ทันกัน แล้วมองดูอีกทางหนึ่งมันก็ชอบเรื่องเฟ้อ อาตมาอยากจะระบุลงไปเลยว่า เรื่องเฟ้อนั้นคือเรื่องทางปรัชญา เอามาใช้เป็นหลักสำหรับศึกษานั่น ศึกษานี่ ล้วนแต่ทำให้โยกโย้โอ้เอ้ แล้วก็เฉื่อยชา แล้วก็เฟ้อ เรื่องธรรมะไม่ใช่ปรัชญา นี่ช่วยฟังให้ดีว่าธรรมะในพระศาสนาไม่ใช่เรื่องปรัชญา แต่ว่าอาจจะเอาไปศึกษาในรูปแบบปรัชญาให้เฟ้ออย่างไม่มีจุดจบก็ได้เหมือนกัน ธรรมะในพระศาสนาต้องเป็นไปในรูปแบบของวิทยาศาสตร์ อย่าเป็นไปในรูปแบบของปรัชญา ปรัชญามันเป็นเรื่องคำนวณไม่ได้อาศัยตัวจริง มันต้องมีสมมติฐานอันใดอันหนึ่งขึ้นมา สำหรับการคำนวณสำหรับการหาเหตุผลมาคำนวณแล้วก็สรุปความจริงแบบเฟ้อๆไปอย่างนั้นแหละ มันเป็นสมมติฐาน เมื่อสมมติฐานได้รับเหตุผลแวดล้อมดีก็ยุติว่ามันเป็นจริงอย่างนั้น แต่ทำอย่างนี้กับธรรมะไม่ได้ต้องเป็นของที่จริงเด็ดขาด เหมือนกับวิทยาศาสตร์ ต้องมีตัวจริงต้องมีของจริง มองไปที่นั่น ทำลงไปที่นั่นไม่มีการคำนวณไม่ต้องใช้สมมติฐาน พอใช้สมมติฐานเป็นเรื่องต้นมันก็กลายเป็นปรัชญา ฉะนั้นเราเลิกวิธีการนั้น มาใช้วิธีการวิทยาศาสตร์ จึงจะเป็นเรื่องทางศาสนา นี่คือใจความสำคัญที่จะช่วยป้องกันความสับสนในการศึกษาพุทธศาสนา ก็จะต้องศึกษาพระธรรมในรูปแบบของวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ อย่าเป็นไปในรูปแบบของปรัชญา แต่ไม่ได้หมายความว่าเรื่องธรรมะนี้จะเอาไปศึกษาอย่างปรัชญาไม่ได้ เอาไปศึกษาอย่างปรัชญาได้ทั้งนั้นนะไม่ว่าอะไร แม้แต่เรื่องก้อนหินก้อนดินก็ยังเอาไปศึกษาในรูปแบบปรัชญากันได้ ทีเรื่องทางจิตใจ ก็ไปศึกษาในรูปแบบปรัชญาได้ แต่ไม่ใช่ความประสงค์ของพุทธศาสนาหรือธรรมะในพุทธศาสนาต้องการให้เป็นเรื่องจริง ไม่เกี่ยวกับการคำนวณ
ทีนี้ก็จะมาถึงเรื่องตัวธรรมะที่จะต้องศึกษากันจริงๆ จะให้ จะขอให้สังเกตถึงพระพุทธภาษิตอันหนึ่งที่ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม นี่ช่วยจำให้ดี ว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้อย่างนี้ เห็นธรรมจึงจะเห็นพระพุทธเจ้า ถ้าไม่เห็นพระพุทธเจ้า แม้เกิดในสมัยพุทธกาลแทบเกาะชายจีวรพระพุทธเจ้าอยู่ก็ไม่ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า ที่เห็นธรรมคือเห็นอะไร ก็เห็นธรรมตามหลัก ๔ ประการอย่างที่ว่ามาเมื่อสักครู่นี้ และก็เห็นจากภายในในตัวของตัว แต่ให้มันรัดกุมเข้ามา คำว่าเห็นธรรมนี้ หมายถึงเห็นความทุกข์และความดับทุกข์นั่นเอง มันมีประโยคกล่าวไว้ต่อไปว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาทผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาทนี่มันเนื่องกันอยู่อย่างนี้ ทีนี้ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรม จะย้อนมาแต่ต้นอีกทีว่าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรมนี่ แล้วก็ว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาทผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นปฏิจจสมุปบาทอย่างไรที่เรียกว่าเห็นธรรม และเป็นเหตุให้เห็นตถาคต ที่เห็นปฏิจจสมุปบาทก็เห็นธรรม ในความหมายที่ว่ามาแล้ว คือต้องเห็นในตัวคนนั่นเองในตัวคนที่จะดูนั่นเอง เราไปดูของใครไม่ได้ ในใจคนอื่นเราไปดูไม่ได้ เรารู้สึกได้เห็นได้แต่เรื่องในใจของเรา แล้วเราก็ศึกษาปฏิจจสมุปบาทจากภายในของเรา อาตมาขอร้องถึงที่สุดเลยว่า การศึกษาพุทธศาสนาให้ถูกต้องและสมบูรณ์ นั่นคือศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่านี่เป็นจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ คือการศึกษา คือศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้นเป็นจุดตั้งต้นของการศึกษาพุทธศาสนา แต่เดี๋ยวนี้เราไม่รู้ว่าปฏิจจสมุปบาทอยู่ที่ไหน เราตั้งต้นศึกษาพุทธศาสนาด้วยเรื่องอื่นๆ เช่นเรื่องพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าเองเป็นต้น มันไม่ใช่เรื่องปฏิจจสมุปบาท ถ้าเป็นฝรั่ง หรือว่าผู้มีการศึกษาอย่างฝรั่งยุคปัจจุบันแล้ว เขาตั้งต้นพุทธศาสนาด้วยเรื่องปรัชญาต่างๆในประเทศอินเดีย เขาจะศึกษาปรัชญาทุกแขนงในโลกก่อนแล้วก็ในอินเดีย แล้วก็ถึงพุทธปรัชญา แล้วก็กลายเป็นปรัชญาไปหมดไม่ใช่ตัวธรรมะในพุทธศาสนาที่แท้จริง อย่างนี้มันไม่พบ ไม่มีวันที่จะไปพบกันได้ จะศึกษาพุทธศาสนาก็ให้ศึกษาลงไปที่ตัวปฏิจจสมุปบาท ถึงขนาดที่เรียกว่าเห็นธรรม เห็นธรรมแล้วก็เห็นองค์พระพุทธเจ้า การศึกษาพุทธศาสนาหรือ ปฏิจจสมุปบาทนี่ต้องตั้งต้นลงไปที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าดูถูกไอ้คำเหล่านี้ เอาไปไว้ล้อเล่นกัน เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่ ทุกคนอาจจะไม่รู้จัก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของตนอย่างแท้จริงก็ได้ จึงได้ตกไปเป็นทาสเป็นบ่าวเป็นขี้ข้าของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของตนจนเป็นทุกข์เป็นลำบากไปเพราะเหตุนั้นเสียอีก ระวังให้ดี เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้มันสำคัญที่สุด เพราะว่าถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเหล่านี้แล้ว มันก็เท่ากับโลกต่างๆทั้งหลายมันไม่มี ไม่มีอะไรหรอก ถ้าเราไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจมันก็จะเท่ากับไม่มีอะไรในสากลจักรวาลนี้ เพราะเรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไปสัมผัสไอ้สิ่งต่างๆในสากลจักรวาลนี้ สากลจักรวาลนี้มันจึงมีมันจึงมีได้เพราะเรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อัน ก.ข.ก.กา มันตั้งต้นที่นี่ มันตั้งต้นที่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทีนี้เราพูดเรื่องความทุกข์ในภายในจะไม่พูดถึงเรื่องความทุกข์ข้างนอกที่มันยืดยาวเกินไป มันจะเป็นใบไม้ทั้งป่า มาเรื่องใบไม้กำมือเดียว ตั้งใจฟังการศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาทแล้วก็จากภายใน ปฏิจจสมุปบาทแปลว่า “อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น” “อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น” “อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น” “อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น” นี่คือคำว่า ปฏิจจสมุปบาทจะพูดด้วยเรื่องตาเป็นตัวอย่าง เมื่อเข้าใจเรื่องตาแล้วก็เรื่องหูจมูกลิ้นกายใจมันก็เข้าใจได้เอง เรามีตา แล้วตาก็มีคู่ของมันคือรูปหรือภาพข้างนอก คือสิ่งที่จะเห็นได้ด้วยตา ในภายในตัวเรามีตา ภายนอกตัวเรามีสิ่งที่จะเห็นได้ด้วยตา ทีนี้พอตากับสิ่งที่จะเห็นได้ด้วยตาคือรูปนะ มาเนื่องกันเข้า มาอาศัยกันเข้า มันก็เกิดการเห็นทางตา เพราะตานี่มันมีประสาทมีอะไรครบอยู่แล้ว และมีรูปมาให้ มันก็เกิดการเห็นทางตา นี่เขาเรียกว่า จักษุวิญญาณ คือการเห็นทางตา การเห็นทางตาจะมีไม่ได้ถ้าไม่มีตาและไม่มีรูปมาให้เนื่องกันกับตา ในชีวิตประจำวันของเรามีตา มีสิ่งที่เนื่องกับตา แล้วเราก็เกิดการเห็นทางตาคือจักษุวิญญาณ ได้เป็น ๓ เรื่องแล้วนะสังเกตดูให้ดีนะ ตาเรื่องหนึ่ง รูปที่มากระทบตาเรื่องหนึ่ง และการเห็นทางตาอีกเรื่องหนึ่ง เป็น ๓ เรื่อง ถ้า ๓ สิ่งนี้ร่วมกันทำงาน แล้วก็เรียกว่ามีสัมผัส มีผัสสะหรือมีสัมผัส ในที่นี้ก็เรียกว่าจักษุสัมผัส คือสัมผัสทางตา มันไม่ใช่เรื่องปรัชญาที่ต้องคำนวณ มันเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ที่จะต้องรู้ชัดๆลงไปว่าตา ว่ารูป ว่าการเห็นทางตา เมื่อทั้งหมดนี้มันทำงานร่วมกันเรียกว่าสัมผัสทางตา ทีนี้พอสัมผัสทางตาแล้ว มันก็จะเกิดความรู้สึกที่เนื่องไปจากสัมผัสนั้น เขาเรียกว่าเวทนา คือความรู้สึกที่สบายแก่ตา หรือความรู้สึกที่ไม่สบายแก่ตา หรือความรู้สึกที่ยังเป็นกลางๆเฉยๆ พูดไม่ได้ว่าสบายหรือไม่สบาย ส่วนนี้เขาเรียกว่าเวทนา ท่านจึงพูดว่าเพราะมีสัมผัสจึงมีเวทนา และนี่มีสัมผัสทางตา ก็มีเวทนาทางตา สบายแก่ตา เป็นสุขแก่ตาหรือไม่สบายแก่ตา เป็นทุกข์แก่ตาที่เราเรียกว่าสุขเวทนา ทุกขเวทนา เราต้องรู้จักไอ้ตัวสัมผัสและตัวเวทนานั้น ด้วยความรู้สึกจริงๆอย่างวิถีทางวิทยาศาสตร์ ที่มองเห็นวัตถุนั้นจริงๆ อย่าใช้คำนวณในทางปรัชญา ทีนี้ก็มีเวทนาขึ้นมาในความรู้สึกแล้ว เวทนานั้นจะให้เกิดความรู้สึกต่อไปอีก เรียกว่าตัณหา คือความอยาก ความต้องการ โดยรูปอันสมควรแก่เวทนานั้น ถ้าเวทนาเป็นสุขแก่ตา ตัณหามันก็อยากได้ ถ้าเวทนาไม่เป็นสุขแก่ตา ตัณหามันก็อยากไม่ได้ มันอยากทำลายเสียให้พ้นไปเสีย อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นเวทนามันให้เกิดตัณหาตามคุณค่าของเวทนานั้น เราจึงเกิดความต้องการ ความอยากอย่างนั้นอย่างนี้ ไปตามอำนาจของเวทนา ที่เราได้สัมผัสสิ่งนั้นแล้ว ทีนี้เมื่อเกิดความอยาก หรือตัณหานี้แล้ว มันเกิดความรู้สึกบ้าบออะไรที่สุดขึ้นมาทันที คือความรู้สึกว่ากูผู้อยาก กูผู้อยากนี้มาทีหลังความอยาก นี่ถ้าเป็นเรื่องทางวัตถุมันก็ผิด Logic ไม่มีผู้อยาก เกิดความอยากได้ เกิดความอยากขึ้นมาได้ แล้วพอเกิดความอยากขึ้นมาได้แล้ว มันจึงเกิดความรู้สึกอีกอันหนึ่งว่าเรา หรือกูซึ่งเป็นผู้อยาก นี่คือข้อที่บอกให้ทราบว่าไอ้ตัวกูผู้อยากนั้นไม่มีตัวตนอันแท้จริง มันเป็นเพียงความรู้สึกโง่ๆไปเท่านั้นเอง ไม่ใช่มีตัวตนอันแท้จริงเป็นผู้อยาก คือเป็นความรู้สึกโง่ๆของจิตเกิดความรู้สึกว่ากูอยาก กูเป็นผู้อยากอะไรขึ้นมา อย่างนี้เขาเรียกว่าอุปาทาน พอมีตัวกูเป็นอุปาทานอย่างนี้แล้ว ไอ้ตัวตนที่หลอกลวงมันก็มีขึ้นมา คือมีตัวกูขึ้นมา แล้วเกิดชาติ เป็นตัวกูออกมาโดยเต็มความหมาย ทีนี้ก็จะมีปัญหาที่เป็นความทุกข์เกี่ยวกับตัวกูนั้นแหละ เช่น ความเกิดของกู ความเจ็บของกู ความแก่ของกู ความตายของกู ความได้ของกู ความเสียของกู อะไรก็ตาม ร้อยแปดพันประการที่จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นแก่จิตโง่ๆชนิดนั้น นี่เรียกความทุกข์ได้เกิดขึ้นแล้ว ความทุกข์ได้เกิดขึ้นแล้วในลักษณะอย่างนี้ นี่คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายที่ให้เกิดความทุกข์ แม้ว่ามันจะซับซ้อนยุ่งยากลำบากแก่การศึกษาหน่อย มันก็เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้าคุณเข้าใจเรื่องนี้ไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจพุทธศาสนาได้ ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ได้ ก็คือเข้าใจพุทธศาสนาได้ และเป็นเรื่องที่เกิดอยู่ทุกวันเป็นประจำวันในชีวิตของเรา ถ้าเป็นทุกข์เมื่อไรแล้วก็ขอให้รู้เถอะว่าไอ้สายนี้มันได้ผ่านไปแล้ว สายของปฏิจจสมุปบาทนี้มันได้เกิดขึ้นและก็ผ่านไปแล้ว จนเป็นตัวความทุกข์ กรณีนี้เกิดทางตา กรณีอื่นอาจจะเกิดทางหู ที่ได้ยินเสียง กรณีอื่นอาจจะเกิดทางจมูกที่ได้ดมกลิ่น กรณีอื่นอาจจะเกิดทางลิ้น ที่มันชิมรส กรณีอื่นอาจจะเกิดโดยทางสัมผัสผิวหนังกระทบกันทางผิวหนังระหว่างบุคคลอย่างนี้ แล้วอีกอันสุดท้ายก็คือ ใจกับความรู้สึกที่มันเกิดแก่ใจ มันจะมีลำดับอย่างนี้ทั้งนั้น ทบทวนอีกครั้งหนึ่ง คอยสังเกตให้ดีว่า ตาอาศัยรูปข้างนอกก็เกิดจักษุวิญญาณ การเห็นทางตา ๓ อย่างนี้ทำงานร่วมกันเรียกว่าผัสสะ พอผัสสะก็เกิดเวทนา รู้สึกชอบหรือไม่ชอบนี่ เกิดเวทนาแล้วก็เกิดตัณหา คือความอยากไปตามความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ ก็เกิดอุปาทานยึดมั่นเป็นตัวกูผู้อยาก ผู้ยึดครอง ผู้จะทำอะไรต่างๆ ก็เกิดความมีตัวกูขึ้นมา เป็นตัวกูเต็มรูปออกมาเรียกว่า ชาติ ก็มีความทุกข์ไปตามเรื่องของมัน ทีนี้อีกแนวหนึ่งมันตรงกันข้าม มันไม่เป็นไปอย่างนี้นะ พอตาเห็นรูปเกิดการเห็นทางตา ๓ อย่างนี้ทำงานร่วมกัน เรียกว่าผัสสะสัมผัส ทีนี้ในขณะแห่งสัมผัสนั้น บุคคลคนนี้เป็นผู้มีธรรมะรู้ธรรมะ ศึกษาธรรมะมาแล้ว มันมีสติสัมปชัญญะในขณะแห่งสัมผัส มันก็ทำให้เกิดเวทนาชนิดที่หลอกมันไม่ได้ ถ้ามันมีธรรมะมีสติมีสัมปชัญญะ ตามแบบพุทธศาสนาแล้ว เวทนาที่เกิดขึ้นจะทำให้คนนี้หลงรักหรือหลงเกลียดไม่ได้ เวทนานี้ก็ทำให้เกิดตัณหาไม่ได้ ตัณหาก็ไม่เกิด ตัณหาไม่เกิดไอ้อุปาทานว่าตัวกูของกูมันก็เกิดไม่ได้ ความเป็นตัวกูชาติตัวกูอะไรมันก็เกิดไม่ได้ ความทุกข์มันก็ไม่มี มันจึงสำคัญอยู่ตรงที่ในขณะผัสสะ ให้มีสติปัญญามาทัน ตาเห็นรูปเกิดจักษุวิญญาณ ๓ ประการถึงกันเรียกว่าผัสสะ ขณะที่สำคัญที่สุด วินาทีทองนี่มันอยู่ที่ตรงนี้ ถ้าสติมาทัน ปัญญามาทัน ไอ้ผัสสะนี้มันไม่โง่ มันเป็นผัสสะที่ประกอบด้วยวิชชาด้วยปัญญา แม้จะเกิดเวทนา ก็เป็นเวทนาที่หลอกไม่ได้ ไม่หลอกจิตได้เพราะว่าจิตมันรู้เสียแล้วว่าเวทนานี้เป็นอะไร แม้จะน่ารักมันก็ทำให้รักไม่ได้ แม้จะน่าเกลียด น่าชัง มันก็ทำให้ชังไม่ได้ ฉะนั้นเวทนานั้นจึงไม่ทำให้เกิดตัณหาได้ ก็ไม่เกิดตัณหาคือความอยากไปตามอำนาจของเวทนา แล้วก็ไม่เกิดอุปาทานว่าตัวกูของกู มันก็ไม่ไปเอาอะไรมาเป็นทุกข์ได้ มันจบลงด้วยความไม่มีทุกข์ ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาทผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต ฟังดูให้ดีๆ ว่าเราต้องเห็นเรื่องนี้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง จึงจะเรียกว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท ก็คือเห็นธรรม เห็นธรรมที่เป็นองค์พระตถาคตคือพระพุทธเจ้า ถ้าจะศึกษาพุทธศาสนากันให้ถึงตัวแท้ก็ต้องศึกษาเรื่องนี้ เราศึกษาในตัวเรา ในชีวิตประจำวัน ที่เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เดี๋ยวไปรู้สึกกันที่นั่น เดี๋ยวไปรู้สึกกันที่นี่ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ศึกษาธรรมะที่ไม่สับสน ที่มันตรงไปยังตัวธรรมะที่เป็นองค์พระพุทธเจ้า ฉะนั้นอย่าทำเล่นกับเรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเป็นทั้งหมดทุกเรื่อง มันรวมอยู่ที่นี่ จะทุกข์ หรือจะสุขก็มันอยู่ที่นี่ จะเป็นนรกจะเป็นสวรรค์มันก็อยู่ที่นี่ จะเวียนว่ายไปในโลก หรือว่าจะบรรลุนิพพานมันก็อยู่ที่นี่ คืออยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นแหละ ถ้าจะศึกษาพุทธศาสนาแล้วก็ต้องศึกษาที่นี่ ไม่ใช่จากพระไตรปิฎก ไม่ใช่จากหนังสือหนังหา ตำรับตำราบุคคลอะไร นั้นมันเป็นบันทึก บันทึกเรื่องนี้ หรือเป็นคำบอกเล่าเรื่องนี้ ความจำของบุคคลเกี่ยวกับเรื่องนี้ มันยังไม่จริง มันยังไม่เข้าถึงตัวจริง เราจะอ่านหนังสือเหล่านั้นมาก็ได้ หรือได้ยินได้ฟังคำบอกคำกล่าวคำสอนอะไรก็ได้ ไม่เป็นไร แต่ยังไม่ถึงตัวจริง จะถึงตัวจริงจนกว่าเมื่อไร เรามาศึกษามันที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างที่ว่ามาแล้ว และก็เห็นตัวจริงว่าตาอย่างนี้ รูปอย่างนี้ จักษุวิญญาณ การเห็นทางตาอย่างนี้ แล้วผัสสะอย่างนี้ แล้วเวทนาอย่างนี้ ตัณหาอย่างนี้ อุปาทานอย่างนี้ ภพอย่างนี้ ชาติอย่างนี้ ความทุกข์ทั้งหลายเป็นอย่างนี้ รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็มีพูดกันแล้วในปีก่อนๆโน้น เขาพิมพ์ขึ้นเป็นหนังสือแล้ว เรียกว่าหนังสือบรมธรรมบ้าง หนังสือมหิดลธรรมบ้าง ไปหาอ่านดูได้ รายละเอียดมันพูดกันหลายชั่วโมงนัก แต่ใจความมันมีเท่านี้ ถ้าศึกษาโดยไม่ต้องใช้หนังสือ ศึกษาที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ แล้วก็ในเรื่องที่มันเกิดขึ้นจริงนะ อย่าไปตั้งสมมติฐาน ว่าถ้าอย่างนั้นจะเป็นอย่างนั้น ถ้าอย่างนี้จะเป็นอย่างนี้ นั่นเป็นวิธีปรัชญา เอามาใช้กับเรื่องนี้ไม่ได้ ต้องเอาเรื่องจริงเหมือนกับวิทยาศาสตร์ คือรู้จักตาจริงๆ รู้จักรูปจริงๆ รู้จักการเห็นทางตาจริงๆ รู้จักผัสสะจริงๆ เวทนาจริงๆ ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ จริงๆ นี่เป็นวิธีที่ว่าไอ้การศึกษาของเราจะถึงจุดที่มุ่งหมายแล้วก็ไม่สับสน ทีนี้มันก็เอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้คำอะไรที่เขาใช้กันใช้ๆกันอยู่ คือว่าเรื่องที่มันเกิดขึ้นทุกวันแก่เรานั่นแหละ ต้องเอาความรู้ความชำนาญ ความแคล่วคล่องในเรื่องนี้ไปใช้ให้จนได้ พูดสรุปสั้นๆว่าเมื่อเกิดการเห็นขึ้นทางตา แล้วก็อย่าให้เกิดความรัก ความชังอะไรขึ้นมาได้ ให้ใจคอปกติ แล้วก็ดำเนินไป ด้วยใจคอที่ปกติ ว่าจะจัดการกับมันอย่างไร ก็จัดการไปโดยใจคอปกติ ไม่ต้องเป็นทุกข์ ถ้าไม่ต้องจัดการอะไร ก็ไม่ต้องจัดการ เรื่องทางหู เข้ามาทางหูก็เหมือนกัน เราก็มีคนที่เราไม่อยากจะได้ยินเสียง เราก็มีคนที่เราไม่อยากจะเห็นหน้าอย่างนี้เป็นต้น เมื่อได้ยินเสียงแล้วก็จะต้องมีความรวดเร็วในทางธรรม มีสติสัมปชัญญะพอที่จะควบคุมไอ้การได้ยินเสียงนั้นนะไม่ให้เกิดความรักหรือความโกรธขึ้นมาได้ และใช่ว่าความรักหรือความชังขึ้นมาได้ เมื่อได้กลิ่นทางจมูกก็เหมือนกัน ได้รสทางลิ้น ได้สัมผัสทางผิวหนัง ได้ความคิดนึกทางจิตใจ มีสติว่องไวรวดเร็ว ควบคุมไว้ ไม่ให้ปรุงไปในความรู้สึกรักหรือรู้สึกชังขึ้นมาได้ ก็ไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดอุปาทาน ไม่เกิดความทุกข์ นี่เรียกว่าเห็นอยู่ซึ่งอริยสัจ เห็นอยู่ซึ่งปฏิจจสมุปบาทด้วย แล้วก็ปฏิบัติอยู่ซึ่งอริยสัจ ปฏิบัติอยู่ซึ่งปฏิจจสมุปบาทด้วย ความทุกข์ไม่เกิดขึ้น กรณีไหนก็ตามความทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น ทีนี้เราก็เก่งขึ้นทุกที นี่ขอใช้คำธรรมดาสามัญสักหน่อย ว่าเรานี่ก็จะเก่งขึ้นทุกที ในการที่จะไม่เกิดความทุกข์ เมื่อก่อนนี้เราโง่ เราอ่อนแอ เกิดความทุกข์ทุกที ที่พอมีเรื่องอย่างนี้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นตรงกันข้าม เราเก่งขึ้น จะไม่เกิดความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ทุกที ทุกทีไม่เท่าไหร่ก็จะบรรลุพระอรหันต์ เพราะไอ้ความที่จะเกิดทุกข์มันหายไป จนมันเกิดไม่ได้ ไอ้เรื่องพูดนี่มันง่าย เรื่องปฏิบัติมันยาก แต่ก็พูดให้ฟังไว้ เข้าใจไว้ว่ามันเป็นอย่างนี้ และเราก็ต้องพยายามที่สุดเลย ตลอดชีวิตนี้ที่จะไม่ปล่อยให้มันเป็นไปใน เรื่องหรือแนวหรือกระแสของความทุกข์ ให้หยุดมันเสียได้แล้วก็ไม่เป็นทุกข์ แล้วก็ทำอะไรไปตามที่ควรจะทำ โดยที่ไม่ต้องเป็นทุกข์แล้วก็สำเร็จประโยชน์ เราจะเป็นนักศึกษาอยู่ก็ได้ก็ปฏิบัติอย่างนี้ เสร็จแล้วก็ไปประกอบอาชีพเป็นผู้มีการงาน มีธุรการงานก็ต้องปฏิบัติอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นจะเป็นทุกข์ หรือแม้ที่สุดแต่ไม่ทำอะไร อยากจะพักผ่อนนอนพักผ่อนก็ต้องปฏิบัติอย่างนี้ มิฉะนั้นก็จะเกิดความทุกข์แม้ในการพักผ่อน นี่คือตัวธรรมะในความหมายที่สำคัญที่สุดคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ที่เราจะต้องรู้ให้ชัดลงไปว่าไอ้ความทุกข์มันจะเกิดขึ้นมาอย่างไร แล้วเราสกัดกั้นเสียได้ไม่ให้มันเกิดขึ้นมา นี่คือหน้าที่อันประเสริฐของมนุษย์ ที่จะกระทำต่อสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ ความรู้นี้เป็นความรู้ที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้ เหมือนกับนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบสูตรอันหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องหนึ่งๆ นี่ท่านก็พบเกี่ยวกับเรื่องนี้ ปฏิบัติได้ก็ไม่มีความทุกข์เลย หวังว่าการศึกษาของเราจะไม่สับสน เรามีความรู้อันนี้เราก็ป้องกันไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้นในประจำวัน หรือถ้าความทุกข์มันเกิดขึ้น เราก็รู้จักแก้ไขให้มันสูญหายไปทันที นี่เรียกว่าในแง่ของความเจ็บไข้ เราก็รักษาหาย ในแง่ของอนามัยสุขภาพเราก็ทำได้ดี ก็มีความสุขในฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณ สุขภาพทางวิญญาณโรคภัยทางวิญญาณ เราเอาชนะได้ ถ้ายังไม่เคยได้ยิน ก็ขอให้ได้ยินเสียด้วย ว่ามันจะเป็นการง่าย ถ้าเราจะถือเป็นหลักไว้สัก ๓ ระดับ ก็เป็นเรื่องทางกาย เป็นเรื่องทางจิต แล้วก็เป็นเรื่องทางวิญญาณ เป็นเรื่องทางกายที่เรียกกันว่า ทางฟิสิกส์ ทางเนื้อหนังร่างกายนี้ เราเป็นโรคทางกายเราก็ไปหาหมอ ผู้เชี่ยวชาญโรคทางกาย ถ้าเราเป็นโรคทางจิต คือระบบ Mentality ระบบ Mental ที่สูงขึ้นมาจากฟิสิกส์ เราก็ไปหาหมอทางระบบจิต ระบบ Mental แต่ถ้าเราเป็นโรคทางฝ่ายวิญญาณ คือ Spiritual เราก็ต้องไปหาโรงพยาบาลของพระพุทธเจ้า คือหาธรรมะมาขจัดโรคในทางวิญญาณ มนุษย์จึงจะปลอดภัยจากโรคโดยประการทั้งปวง มีสุขภาพดีทั้งทางกายทั้งทางจิต ทั้งทางวิญญาณ ไม่มีโรคทั้งทางกาย ทั้งทางจิต ทั้งทางวิญญาณอยู่อย่างเป็นผาสุก อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่มีความทุกข์ และก็ทำประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นได้อย่างเต็มที่ นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ เป็นผลเกิดมาจากการที่เรามีธรรมะ รู้ธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ มีธรรมะอย่างถูกต้อง ฉะนั้นจึงขอให้ยึดหลักแนวอย่างนี้ในการศึกษาธรรมะ ให้มันก้าวหน้าไป ให้มันประสบผลตามแนวนี้ไปเรื่อยๆ แล้วเราก็จะ นั่นนะเรียกว่า เป็นผู้มีธรรมะ ผู้รู้ธรรมะ ผู้ใช้ธรรมะ ผู้ได้รับประโยชน์จากธรรมะโดยแท้จริง สมกับที่ท่านทั้งหลายอุตส่าห์มาที่นี่ด้วยความยากลำบาก ต้องเหน็ดต้องเหนื่อย ต้องเปลืองต้องอะไรต่างๆนี่มาทำไม ก็มาเพื่อศึกษาธรรมะ แล้วเขาศึกษากันอย่างไร นี่ก็คือศึกษาอย่างนี้ กลายเป็นบอกวิธีให้ไปศึกษาเอาเองจากตัวเอง จากชีวิตจิตใจตัวเองแล้วก็รู้ธรรมะมากขึ้นๆ แล้วก็จะควบคุมการเกิดแห่งความทุกข์ได้ แล้วความทุกข์ก็ไม่เกิดเรื่องมันก็จบ ถ้ามีธรรมะจริงให้ถือเป็นหลักว่าความทุกข์ไม่อาจจะเกิดได้ เล็กน้อยใหญ่โตหรือชนิดไหนก็เกิดไม่ได้ ไม่มีอะไรที่จะทำให้ความทุกข์เกิดได้ ถ้ามันมีธรรมะถูกต้องกับเรื่องของมัน ต่อไปนี้เราจะเป็นอะไรจะเป็นนักศึกษา จะเป็นผู้ทำการงานหรือจะเป็นผู้บังคับบัญชา หรือจะเป็นอะไรก็ตาม มันจะต้องเป็นทุกข์ไม่ได้ถ้ามันมีธรรมะพอ นี่คือความรู้ที่ยังไม่มีสอนในมหาวิทยาลัย ที่มันยังขาดอยู่ แล้วเราก็หามาเติมให้มันครบ สำหรับความเป็นมนุษย์ของเรา มันนอกเหนือหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเสียแล้ว เราอย่าไปคาดคั้นอะไรเขาเลย เรามาศึกษาหาเพิ่มเติม ให้มันครบมันต่อจากความรู้ระดับมหาวิทยาลัย เป็นเรื่องทางจิตทางวิญญาณ ทางพระศาสนา ก็ได้รับผลเต็ม ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา คือสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับนั่นเอง นี่คือวิธีที่เราจะศึกษาธรรมะไม่ให้สับสน ต่อจากเรื่องที่พูดแล้วในวันก่อนว่าเรากำลังศึกษาธรรมะอย่างสับสน ฉะนั้นเลิกการศึกษาธรรมะอย่างสับสนเสียที มารู้วิธีที่จะเข้าให้ถึงจุดของธรรมะ ศึกษาอย่างไม่สับสน ยิ่งรู้ยิ่งเข้าใจ ยิ่งเอามาใช้เป็นประโยชน์ได้ เราจะดำเนินชีวิตในอนาคตให้ดี ยิ่งกว่าที่เราไม่รู้ธรรมะหรือไม่มีธรรมะ อาตมาขอยุติ การพูดกันในวันนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้