แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นักศึกษา ผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายครั้งนี้จะกล่าวโดยหัวข้อว่า ก ข ก กา สำหรับพุทธศาสนา อะไรเป็น ก ข ก กา ก็หมายความว่า สิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่ต้องเรียนก่อน เรียนก่อนสิ่งใดหมด เหมือนกับคนต้องเรียน ก ข เมื่อเรียนหนังสือ เมื่อถามว่าอะไรเป็น ก ข ก กา ก็คงจะตอบกันไม่ได้นัก แม้จะเป็นนักศึกษา ก็ยังไม่เคยศึกษาพุทธศาสนามาอย่างเพียงพอ นั่นก็ถือเอาได้ตามที่เค้าพูด ๆ กัน ก็แล้วกัน ในเมื่อคุณจะมาศึกษาพุทธศาสนานี้ เรียนเรื่องอะไรก่อน หรือว่าอ่านเรื่องอะไรก่อน แนะให้อ่านเรื่องอะไรก่อน บางทีก็จะเป็นเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก่อน มันก็ถูกอย่างยิ่ง ถ้าพูดอย่างนั้นก็ถูกอย่างยิ่ง แต่ว่าความหมาย มันยังมีอะไรซ่อนอยู่ ว่าอะไรเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่เราจะรู้ จะถึงได้ หรือจะมี หรือถึงกับว่า เราก็จะเป็นเสียเอง
เรื่อง ก ข ก กา ของพุทธศาสนานี้ มันก็มีความลำบากอยู่ที่จะต้องถามกันถึงว่า สำหรับจะเรียนโดยวิธีไหนกัน ถ้าเรียนอย่างวิชาทั่ว ๆ ไป ก็เรียนเรื่องแรก ๆ สำหรับจำ แต่ถ้าเรียนสำหรับปฏิบัติ มันก็กลายเป็นเรียนสิ่งที่เรามองข้ามอยู่ทุกวัน เราไม่สนใจกับสิ่งนั้นว่ามันสำคัญ นั่นแหละ เราจึงไม่รู้ ก ข ก กา ของพุทธศาสนาในแง่ของการปฏิบัติ ลองตั้งปัญหาถามตัวเองดูว่า เพียงแต่เรียน มันจะได้ประโยชน์อะไร นอกจากจะรู้ท่องจำไว้ มันก็ไม่พอที่จะขจัดปัญหาของเราได้ มันต้องสามารถขจัดปัญหาของเราได้ เราจึงจะเรียกว่า เรารู้หรือเรามี เดี๋ยวนี้อะไรเป็นปัญหาของเรา เราก็ยังไม่รู้ซะอีก ก็เลยไม่รู้ว่าจะต้องเรียนอะไร จะต้องทำอะไร จะต้องตั้งต้นที่จุดไหน อย่างเมื่อวานก็ได้พูดกันทีหนึ่งแล้วว่า จะเรียนพุทธศาสนาไปทำไม จะเรียนเพื่อให้มีความรู้หรือว่าจะเรียนเอาไปใช้ปฏิบัติให้เรามีความเหมาะสมที่จะทำการงานของเรา เช่น ทำให้เราสามารถศึกษาประจำวันของเรานั้นดีขึ้น หรือเราจะอยู่ในโลก ในสังคมนี้ อย่างที่ไม่มีปัญหา คือ ไม่เดือดร้อน ไม่มีความทุกข์หรือว่าจะเรียนเพื่อรู้จักขจัดความโลภ ความโกรธ ความหลงที่มารบกวนเรา หรือถึงกับทำความทุกข์ร้อนให้แก่เรานั้นให้มันออกไปเสีย นี่ควรจะมุ่งหมายเรียนอย่างนี้แหละ ซึ่งมันยิ่งกว่าเรียนเขียน ขีดเขียนท่องจำ คือ มันเรียนอย่างรู้จักตัวจริง เรียนด้วยการสัมผัส เรียนด้วยการเข้าใจอย่างซึมซาบ เรียนการใช้ให้เกิดประโยชน์อยู่ หรือว่าจะเรียนเพื่อรู้ก็ดี เพื่อเอาไปช่วยให้เราทำการงานหน้าที่ของเราดีขึ้นก็ดี หรือว่าจะเพื่อป้องกันกำจัดกิเลสก็ดี มันก็ต้องรู้สิ่งที่เรียกว่า ก ข ก กา นี้เป็นต้นไป ดังนั้นขอให้สนใจ ให้สำเร็จประโยชน์ จะได้คุ้มค่าที่มาลำบาก หมดเปลือง เราควรจะพูดถึงเรื่องนี้กันเป็นเรื่องแรก แต่บางทีก็ไม่สะดวก มันดึงเข้ามาจุดนี้ยังไม่ได้ เดี๋ยวนี้เข้าใจว่า พอจะเข้าใจกันได้ พอจะพูดกันได้ ว่าจะเรียนพุทธศาสนานี้ต้อง ตั้งต้นเรียนเป็น ก ข ก กา
ลงที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คนทุกคนมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่เค้าก็ไม่รู้จักมันว่า คืออะไร นอกจากปล่อยไปตามเรื่องของมันเอง ก็มีตาไว้ดู มีหูไว้ฟัง มีจมูกไว้ดม ทำไปอย่างไม่ต้องรู้อะไร นอกจากรู้เพียงเท่านั้น ที่นี้มันก็เกิดความเข้าใจผิด เกิดความหลงใหลใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในเรื่องต่าง ๆ ที่มันเกี่ยวกันอยู่กับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอเอ่ย ชื่อเรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ บางคนก็ไม่อยากจะฟัง มันก็ง่วงขึ้นมาทันที นี่หมายความว่า มันลำบากที่จะเรียน ก ข ก กา ของพุทธศาสนา ก็คิดซะว่ารู้แล้ว ดังนั้นขอให้ทนฟัง ถ้าไม่ค่อยจะสนใจก็ขอให้ทนฟัง เพราะว่า ปัญหาต่าง ๆ ของมนุษย์นะ มันตั้งต้นที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้ากล่าวตามหลักพุทธศาสนา ก็ถึงกับกล่าวว่า โลกนี้มันมีขึ้นมาได้ก็เพราะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่กล่าวอย่างภาษาธรรมะในพุทธศาสนา มันต่างจากที่เราเคยได้ยินได้ฟัง หรือได้เล่าได้เรียนมาว่า โลกนี้มันมาจากอะไรก็แล้วแต่ครูจะสอน มาจากดวงอาทิตย์ก็มี มาจากการรวมตัวของหมอกเพลิงเหล่านั้นก็มี เราก็เข้าใจแต่อย่างนั้น ก็เป็นเรื่องโลกที่เป็นวัตถุ แต่ปัญหาเรื่องความทุกข์ของเรามันไม่ใช่เรื่องวัตถุ มันเป็นเรื่องจิตใจ รู้สึกได้ด้วยจิตใจ ก็ต้องเรียนโลกในแง่ของจิตใจกันบ้าง
ในเรื่องทางวัตถุ โลกมันมีมา ไม่รู้กี่ล้าน ๆ ปีแล้ว แต่ถ้าเรียนทางพุทธศาสนา หรือกล่าวอย่างพุทธศาสนาว่า โลกนี้มันพึ่งมี แล้วมันก็มี ๆ คือ เกิด ๆ ดับ ๆ ไปตามครั้ง ตามคราว ที่เราสัมผัสด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ขอให้เข้าใจตอนนี้แหละที่เป็นเรื่องที่สำคัญ ดูถ้า หากสมมติว่า ถ้าเราไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขอให้ทำในใจตามไปให้ถูกต้องด้วยว่า ถ้าเราไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะเป็นอย่างไร โลกนี้มันก็มีไม่ได้ ถ้าเข้าใจคำนี้ก็จะเข้าใจได้ตลอดไป มันเพราะเรามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ต่างหากโลกมันจึงมีขึ้นมาได้ ถ้าไม่มีตาแล้วก็ไม่เห็นว่ามีอะไร ไม่มีหูก็ไม่ได้ยินเสียงอะไร ในสิ่งทั้ง 6 นั้น รูปที่จะเห็นด้วยตา เสียงที่ได้ยินด้วยหู กลิ่นที่จะรู้ด้วยจมูก รสที่จะรู้ด้วยลิ้น สิ่งที่มากระทบผิวหนังที่จะรู้ได้ด้วยผิวหนัง กระทั่งความคิด ที่เกิดขึ้นในจิตที่เราจะรู้สึกได้ด้วยจิต มันมีอยู่ 6 อย่าง อย่างนี้ ถ้ามันไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราก็ไม่รู้สึกอะไรเลย เลยไม่มีอะไรเลย ทั้งที่มันมีอยู่อย่างนี้ นี่เราสมมุติดู ทุกอย่างมันมีอยู่อย่างนี้ แต่เราคนเดียวนี้ไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็มีไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่มีไม่ได้ มันก็มีชีวิตอยู่ไม่ได้ด้วย โดยแท้จริงมันจะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ เพราะมันไม่สามารถจะปฏิบัติด้วยตัวมันเองได้ แต่ถ้าเราไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และโลกนี้มันเท่ากับไม่มี
ทีนี้เมื่อไร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันทำหน้าที่ตามเรื่องของมัน จนตาเห็นรูป หูฟังเสียง เป็นต้น เมื่อนั้นแหละ โลกในส่วนนั้นมันก็มี เมื่อตาเห็นรูป โลกในส่วนที่เป็นรูปมันก็มี เมื่อหูได้ยินเสียง โลกในส่วนที่เป็นเสียงมันก็มี หรือมันได้กลิ่น โลกในส่วนที่ได้กลิ่นมันก็มี อย่างนี้เรื่อยไปจนครบทั้ง 6 อย่าง นี้มันเป็นข้อเท็จจริงที่ยิ่งกว่าจริง ซึ่งต้องมองให้เห็นเสียก่อน ถ้ามองไม่เห็นก็จะเข้าใจต่อไปไม่ได้ ตามภาษาธรรมะพูดอย่างภาษาธรรมะ เขาไม่พูดเหมือนกับภาษาที่ชาวบ้านพูด เช่นในกรณีนี้ชาวบ้านก็พูดว่า โลกมีอยู่ตลอดเวลาล้าน ๆ ปีมาแล้ว ส่วนภาษาธรรมะนี้โลกมีเมื่อสัมผัสด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอไม่สัมผัสมันก็เท่ากับไม่มี คือ ดับไป พอสัมผัสอีก มันก็มีขึ้นมา แล้วแต่ในด้านไหน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นก็จึงเรียกว่า โลกนี้มีเกิดดับอยู่เรื่อย เป็นภาษาอะไรบ้าหรือดี ลอง ลองพยายามคิดดู ว่า โลกนี้เกิดดับอยู่เรื่อย ตามขณะที่เรารู้สึกมัน หรือไม่รู้สึกมัน ที่มันหนักยิ่งไปกว่านั้นอีก ซึ่งคนทั่วไปชักจะสั่นหัว ที่พูดว่าแม้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น มันก็ไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา มีการเกิดขึ้นและดับไป ทุกคนคงจะสงสัยและไม่เชื่อ ชั้นมีตาอยู่ตลอดเวลา มีหูอยู่ตลอดเวลา มีจมูกตลอดเวลา ทำไมจึงเรียกว่ามันเกิดขึ้นแล้วดับไป เกิด ๆ ดับ ๆ อยู่ นี่เป็นภาษาธรรมะเค้าพูดอย่างนี้ หมายความว่า ตาทำหน้าที่ของตา ก็เรียกว่าตาเกิดขึ้น พอเสร็จหน้าที่ของตา ไม่ได้ทำหน้าที่ทางตา ก็เรียกว่า ตาดับไป หูก็เหมือนกัน หูทำหน้าที่ทางหู ก็หูเกิดขึ้น เสร็จเรื่องแล้วไม่ทำแล้วก็ดับไป มันจึงเป็นเรื่องผลัดกันเกิดผลัดกันดับระหว่าง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันละเอียดขนาดนี้แหละ จะน่าสนใจหรือไม่น่าสนใจก็ไปลองคิดดู แต่ถ้าจะเข้าใจธรรมะแล้วก็ ต้องเข้าใจเรื่องนี้ คือ เรื่อง ก ข ก กา ของธรรมะ คือ เรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เมื่อคนพูดว่าอยากจะศึกษาธรรมะ อยากจะรู้ธรรมะ ก็เป็นหน้าที่อาตมาที่จะช่วยให้รู้ธรรมะ แต่พอจะให้ช่วยรู้ธรรมะ มันก็ต้องช่วยให้รู้ ก ข ก กา ของธรรมะ คือ เรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าไม่อย่างนั้น ก็ไม่มีทางที่จะรู้ถึงธรรมะที่แท้จริง ทุกเรื่องมารวมที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งก็จงฟังกันต่อไป ก็ควรจะจำไว้ด้วย ถ้าจะมีความรู้ขนาดที่เรียกว่าพอตัว มีความรู้ที่จะพูดกับคนต่างชาติ ต่างศาสนา ฝรั่งมังค่าอะไรก็ตาม เมื่อเค้าให้เราอธิบายพุทธศาสนา เราก็ต้องพูดจาให้มันถูกต้อง
เรื่องต่อไปก็คือว่า เรามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่า อายตนะภายใน ก็มันอยู่ในตัวเรา ที่นี่ก็มี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อีก 6 อย่างอยู่ข้างนอก ที่จะเป็นคู่กับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คำว่า รูป เสียง กลิ่น รส นี่คงฟังถูกกันแล้ว ขนาดเป็นนักศึกษา คงจะต้องฟังกันถูก คำว่า ตา คำว่า รูป เสียง กลิ่น รส แต่คำว่า โผฏฐัพพะ มันเป็นคำภาษาธรรมะ อาจจะไม่เคยได้ยิน อะไรที่มากระทบผิวหนัง ให้เกิดความรู้สึกทางผิวหนัง สิ่งนั้นเรียกว่า โผฏฐัพพะ คือ สิ่งที่มากระทบทางผิวหนัง ธรรมารมณ์ นั้นคือ สิ่งที่มากระทบใจ คือ ความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในใจ ช่วยเข้าใจไว้ให้ดี ๆ ว่า 6 คู่ ตาคู่กับรูป ตาเท่ากับเห็นรูป รูปสำหรับให้ตาเห็น หูคู่กับเสียง เสียงสำหรับหูได้ยิน คือ หูมีไว้สำหรับได้ยินเสียง ฟังเสียง จมูกมีไว้รู้จักกลิ่น ลิ้นมีไว้รู้จักรส ผิวหนังทั่วไป ระบบประสาทที่ผิวหนังทั่วไปมีไว้สำหรับรู้สิ่งที่จะมากระทบผิวหนังทั่วทั้งเนื้อทั้งตัว ที่นี้ก็ใจมีไว้สำหรับรู้สึกความคิดนึกที่จะเกิดขึ้นในใจ นี่เป็นเรื่องจริงเกินกว่าจริง เป็นเรื่องที่เราจะต้องรู้จักมันจริง ๆ เมื่อก่อนนี้เราไม่สนใจ เราก็ไม่รู้จัก เราก็คิดว่ารู้จัก เดี๋ยวนี้เรารู้จักไปตามลำดับ ตามที่มีกล่าวไว้ ในพระพุทธวัจนะ คือ ตา ถึงกันเข้ากับรูป ก็เกิดการเห็นทางตา นี่พูดเรื่องตาเป็นตัวอย่างก่อน ตามาถึงกันเข้ากับรูป ก็เกิดการเห็นทางตา เรียกว่า จักษุวิญญาณ หรือ วิญญาณทางตา นี่วิญญาณก็เพิ่งเกิดเดี๋ยวนี้ เมื่อตามาถึงก็เท่ากับรูป ก็เกิดวิญญาณทางตา เมื่อหูถึงกันเข้ากับเสียง ก็เกิดวิญญาณทางหู กลิ่นถึงกันเข้ากับจมูก ก็เกิดวิญญาณทางจมูก ลิ้นถึงเข้ากับรส ก็เกิดวิญญาณทางลิ้น หนังสัมผัสกับสิ่งมาสัมผัสผิวหนัง ก็เกิดวิญญาณทางผิวหนัง ซึ่งเรียกว่า กายวิญญาณ อารมณ์มา ความรู้สึกเกิดขึ้นในจิต กระทบจิต จิตรู้สึกได้ก็เรียกว่า วิญญาณทางจิต เค้าใช้คำว่ามโน วิญญาณทางมโน ดังนั้นเราจึงมีจักษุวิญญาณ ทางตา โสตวิญญาณ ทางหู ฆานวิญญาณ ทางจมูก ชิวหาวิญญาณ ทางลิ้น กายวิญญาณ ทางผิวหนัง มโนวิญญาณ ทางใจ
อย่ารู้สึกหรืออย่าเห็น เป็นเรื่องเหลวไหล ทึกทัก บ้า ๆ บอ ๆ ถ้าจะรู้จักพุทธศาสนา ก็รีบรู้จักสิ่งเหล่านี้เสีย อายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มาถึงกันเข้าตามคู่ของมันก็เกิดวิญญาณ คือ จักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ ก็เลยได้เป็น 3 เรื่องขึ้นมา นี่ยกตัวอย่างด้วยเรื่องทางตาต่อไปอีก ตาถึงเข้ากับรูป เกิดจักษุวิญญาณ การเห็นทางตา เป็น 3 สิ่งขึ้นมา ตาสิ่งหนึ่ง รูปสิ่งหนึ่ง จักษุวิญญาณอีกสิ่งหนึ่ง การมาถึงกันเข้าอย่างเต็มที่ของสิ่งทั้ง 3 นี้ ก็เรียกว่า ผัสสะ ในกรณีนี้ก็เรียกว่า จักษุสัมผัส คือ สัมผัสทางตา ถ้ามันเป็นเรื่องทางหู หูถึงเข้ากับเสียง เกิดวิญญาณทางหู 3 สิ่งนี้มาถึงกันเข้า ทำงานร่วมกันเข้า ก็เรียกว่า สัมผัสทางหู กลิ่นกับจมูก ถึงกันเข้าเกิดวิญญาณทางจมูกแล้วก็เลยเรียกว่า สัมผัสทางจมูก เรียกว่า ฆานสัมผัส ทางลิ้นก็เหมือนกันอีก ลิ้นกับรส ชิวหาวิญญาณ รวมกันก็เรียกว่า ชิวหาสัมผัส เรียกว่า กายสัมผัส เรียกว่ามโนสัมผัสกันจนไปตลอดเรื่องของทั้ง 6 นี่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า สัมผัส
ทุกคนที่นี่ สิ่งเหล่านี้ที่ทำหน้าที่เป็นวิญญาณ หรือเป็นสัมผัสอยู่ตลอดเวลา ในเมื่อเราสัมผัส เราก็ไม่รู้สึกหรือสนใจที่จะควบคุมเรื่องสัมผัส ก็ปล่อยไปตามเรื่อง งั้นสัมผัสของเราก็เป็นสัมผัสที่ปล่อยไปตามเรื่อง ไม่ประกอบไปด้วยปัญญา ไม่ประกอบไปด้วยสติ สัมผัสของผู้ที่ไม่มีปัญญา ไม่มีสติ มันก็เกิดเวทนา เมื่อมีสัมผัสแล้วมันก็เกิดเวทนา เราจะมีสติหรือไม่มีสติในสัมผัสนั้นมันก็มีเวทนาเกิดขึ้น แปลว่าความรู้สึก ให้เกิดรู้สึกเป็นสุขคือถูกใจก็มี เป็นทุกข์ไม่ถูกใจก็มี หรือไม่พูดได้ว่า ถูกใจหรือไม่ถูกใจก็มี เค้าเรียกว่า กลาง ๆ นี้ก็มี ที่เราสัมผัสสิ่งนั้น ๆ แล้วเกิดเวทนา ที่นี่เกิดเวทนาแล้วนี้ ถ้ายังไม่ปัญญา ไม่มีสติอยู่ต่อไป ก็จะเกิดตัณหา อย่างคนธรรมดาก็มีสัมผัส มีเวทนา แล้วก็มีตัณหา อย่างสัมผัสทางตา ก็เกิดเวทนาทางตา สวยหรือไม่สวย ก็จะเกิดตัณหาคือความอยาก ไปตามความหมายของการที่มันสวยหรือไม่สวย นึกภาพสวยถึงขนาดที่จับอกจับใจ มันก็เกิดตัณหาชนิดที่จะเอา เกิดความอยากได้ แต่ถ้าไม่สวย ไม่ถูกใจ มันก็อยากจะให้ไม่มี อยากให้ผ่านพ้นไปเสีย หรืออยากจะทำลายเสีย หรือบางทีความอยากมันก็เอียงไปในแง่ที่อยากจะเป็น เป็นอย่างสวยนั้นบ้างอย่างนี้ก็ได้ งั้นความอยากหรือตัณหามันก็เกิดขึ้น เพราะเวทนาของบุคคลที่ไม่มีปัญญา ไม่มีสติ ไม่มีความรู้ทางธรรมะ ก็คือ คนทั่วไป ทุกคนในโลก พอเกิดสัมผัส เกิดเวทนา แล้วก็เกิดตัณหาก็ตาม การยั่วยุของเวทนา นี่มันออกจะซับซ้อนนะ ถ้าไม่จำให้ดีละก็เลอะหมดซักก่อน วนเวียนหมด ไม่ได้เรื่องอะไรก็ได้ ช่วยจำให้มันแม่นยำ ที่นี้มันมาถึง เกิดตัณหาคือความอยากแล้ว ตัณหาที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ มันก็เกิดขึ้นมาแล้ว ที่นี้เมื่อเกิดตัณหา มันก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า อุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่มันอยาก มันอยากในอะไร มันก็จะยึดมั่นในสิ่งนั้นที่มันอยาก เช่น รู้สึกสบายตา เพราะรูปสวย มันก็อยากที่จะยึดครองไอ้ความสวยนั้น มันมีอยากได้ขึ้นมาก่อนเรียกว่าตัณหา หลังจากนั้นมันจะเกิดความรู้สึกว่า กูมีอยู่ กูอยาก อยากได้มาเป็นของกู แต่มันเป็นเรื่องที่ไวยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ ที่จะเกิดความรู้สึกอยาก แล้วก็ยึดถือว่า มีกูเป็นผู้อยาก อยากได้มาเป็นของกู นี่เรียกว่า อุปาทาน ความรู้สึกเป็นตัวฉัน เป็นตัว เป็นของฉัน ตัวกูของกู มันก็เกิดขึ้นมา
พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้มันละเอียด ให้เห็นอย่างละเอียด ซึ่งไม่มีใครแสดงกันอย่างละเอียดอย่างนี้ นี่เกิดอุปาทานรู้สึกเป็นกู เป็นของกูแล้ว ก็เรียกว่าเกิดภพ มีภาวะ มีภพ คือมีความมี ความเป็นแห่งบุคคล ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น และความรู้สึกเป็นตัวฉัน เป็นตัวกู นั่นแหละเค้าเรียกว่า ภพ คือมีขึ้นแห่งบุคคล ก่อนนี้บุคคลไม่มี เพราะมันไม่รู้สึก ว่ากูมี เดี๋ยวนี้มันเกิดรู้สึกว่า กูมี กูเป็น กูอยู่ กูอยากได้มา ก็เรียกว่าภพ นี้ภพเพิ่งมีเดี๋ยวนี้ นี่ภาษาธรรมเป็นอย่างนี้ ภพเพิ่งมีเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่มีอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่คลอดมาจากท้องแม่ ไม่ใช่มีตลอดเวลา จนกว่าจะเข้าโลง นั่นภาษาชาวบ้าน ไม่ใช่ภาษาพระพุทธเจ้า คือภาษาทั่วไปที่พระพุทธเจ้าท่านก็ใช้เหมือนกัน แต่เมื่อถึงคราวที่ท่านจะแสดงเรื่องของท่าน ท่านมีความหมายอย่างงี้ ก็มีภพขึ้นมา ที่จะเรียกว่า Existence คือ ความมีอยู่แห่งบุคคล ความหมายแห่งบุคคล เป็น Individuality ที่เรียกกันภาษาจิตวิทยา เป็น individuality ได้เกิดขึ้นหลังจากความยึดถือเป็นตัวกูของกูแล้ว ก็มีตัวตนที่ตรงนี้ ความสำคัญมันอยู่ตรงที่ว่า ตัวตนมันพึ่งเกิด พึ่งเกิดเดี๋ยวนี้เอง ก็ยังสำคัญว่าตัวตน แล้วก็เกิดจากสำคัญมั่นหมายแล้ว ตัวตนไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่ของมีอยู่จริง เป็นเพียงความรู้สึกหมายมั่นด้วยความไม่รู้ สำคัญเป็นตัวตนมันก็มีตัวตน มีตัวตนมันจึงมี แล้วก็มีอย่างมายา มีภพเรียกว่ามีภพ แล้วก็มีอันสุดท้าย คือ ชาติ คลอดหรือเกิดออกมาโดยสมบูรณ์ อย่างที่เค้าคลอดลูกออกมา อย่างมารดาคลอดบุตรออกมา ทางกำเนิดนั่นมันคลอดชนิดนั้น แต่เดี๋ยวนี้มันคลอดชนิดนี้ มันคลอดชนิดนามธรรม เกิดเป็นตัวกูขึ้นมาในความรู้สึก ทั้งเนื้อทั้งตัวเป็นตัวชั้น ตัวกูขึ้นมา ก็มีตัวตนโดยสมบูรณ์นั่นแหละ พูดอย่างดังนั้นดีกว่า เรามีภพ มีชาติขึ้นมาแล้ว
สำหรับของพระพุทธภาษิตเป็นอย่างงี้ ภพหรือชาติ มีบ่อย ๆ คือ มีทุกคราวที่มันมีอุปาทาน มีตัณหา มีเวทนา ที่สัมผัสด้วยความไม่รู้ นั้นเราจึงมีภพ มีชาติ เป็นตัวกู โดยไม่รู้สึกตัว เราไม่รู้สึกตัว แต่ตามความจริงธรรมชาตินั้นมันเป็นอย่างนั้น งั้นเราจึงมีตัวกู ตัวฉัน วันหนึ่งหลาย ๆ ครั้ง หลาย ๆ สิบครั้ง ก็ได้ หลายสิบครั้งก็ได้ เพราะเดี๋ยวทางตา เดี๋ยวทางหู เดี๋ยวทางจมูก คือ ใน 6 ทางนั้น เรายังมี ตา หู จมูก ลิ้น ผิวหนังอยู่ ก็มีสัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้นและ ผิวหนังอยู่ วันหนึ่งก็สลับกันไปได้เรื่อย แม้ว่าไม่มี ไม่ได้สัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้นและ ผิวหนัง มันก็นึกได้ทางจิตใจ เช่น กลางคืนค่ำ ๆ มืด ๆ ก็อาศัยจิตคิดนึกเอาได้ เกิดรู้สึกได้ งั้นเราจึงมีตัวตนชนิดนี้ ตัวตนที่เป็นอนัตตา ตัวตนที่ไม่ใช่ตัวตนอยู่ และทุกคราวที่เรารู้สึกเป็นตัวตนชนิดนี้ เราจะต้องรู้สึกเป็นทุกข์ เพราะมันเกิดเป็นภาระขึ้นมาทันที มันจะต้องทำตามความต้องการของตัวตน อะไร ๆ มันก็เกิดขึ้นจากตัวตน ความได้ ความเสีย ความแพ้ ความชนะ ความเจ็บ ความใคร่ ความตาย อะไรมันก็เป็นของตัวตนขึ้นมา ถ้าไม่มีความรู้สึกว่าตัวตนแล้วเราจะรู้สึกเป็นทุกข์ไม่ได้ หรือเป็นสุขก็ไม่ได้ สุขหรือทุกข์มันหลอกเท่ากัน ถ้ามีตัวตน ถูกใจตัวตน มันก็ว่าเป็นสุข ไม่ถูกใจตัวตน มันก็ว่าเป็นทุกข์ ถ้าเราสอบไล่ตก เราเสียใจอยู่ นั่นเพราะเรามีความรู้สึกเป็นตัวตน ตัวเรา ตัวตนที่สอบไล่ แล้วมันก็ตก ถ้าเราไม่มีความรู้สึกเป็นตัวตน มันก็ไม่มีใครสอบไล่ แล้วมันก็ไม่มีได้หรือตก นี่ถ้าเราจะมีตัวตน ชนิดที่เรารู้เท่า รู้ทัน ไม่ต้องให้เป็นภาระหนัก คือ ไม่ต้องยินดี ยินร้าย ไปตามได้หรือตก มันสบายกว่าถึงเรื่องอื่นก็เหมือนกัน เรื่องได้เงิน ได้ทอง ได้ของถูกใจ สูญเสียของถูกใจหรืออะไรก็ตาม มันจะเป็นสุข หรือเป็นทุกข์หรือไม่ จะมีความหมายหรือไม่ก็เพราะมันมีความรู้สึกว่าตัวตนหรือไม่ ถ้ามีความรู้สึกว่าเป็นตัวตนแล้วมันต้องมีความหมายซึ่งเป็นสุขหรือทุกข์ ว่าได้หรือเสีย ว่าแพ้หรือชนะ เป็นคู่คู่ ๆ ๆ กันไป ทั้งหมดนั้นเป็นภาระหนักแก่จิตใจและเป็นความทุกข์ ได้ความสุขมันก็ต้องยึดถือหนักขึ้นไปอีก มันก็มีความรู้สึกเป็นห่วง เป็นหวงและห่วง แล้วมันก็มีความทุกข์ เพราะหวง และห่วง วิตกกังวล ในสิ่งที่เรารู้สึกว่า เป็นสุข เพราะว่ามันมีตัวตน ถ้าไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวตน จะไม่มีความรู้สึกหวงหรือห่วงหรือวิตกหรือกังวล จิตมันเป็นอิสระ ก็สบายดี เดี๋ยวนี้เรามีความรู้สึกไปในทางที่จะหนักขึ้น ผิดหวังก็หนักขึ้นไปแบบหนึ่ง สมหวังก็หนักขึ้นไปอีกแบบหนึ่ง ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้ แล้วไม่เข้าใจธรรมะ ก็คนธรรมดาจะรู้สึกสมหวังสบายไปเลยเป็นสุขไปเลย ไม่มองเห็นความหนักอึ้งเพราะความสมหวัง เช่นเรื่องของความรักที่เข้าใจกันผิด ๆ และก็บูชากันนักก็ไม่มองเห็นไอ้ความหนักอึ้ง หรือความวิตกกังวล หรือความทนทรมานที่เกิดขึ้นมาจากสิ่งที่เรียกว่า ความรัก มันมีแบบของมันอย่างนั้น ไอ้ความไม่รักมันก็มีแบบของมันอีกอย่างหนึ่ง แต่แล้วมันก็เป็นเรื่องความหนักอึ้งเหมือนกัน มันหนักอึ้งเพราะมันมีตัวตน มีความหมายเป็นตัวตนและของตน นี่มันละเอียดกว่ากันสักกี่มากน้อย ช่วยคิดกันตรงข้อนี้ คนธรรมดาก็ถ้าได้แล้วก็ดี ไม่มีความทุกข์ แต่ทางธรรมะ ถ้ายึดถือแล้วเป็นทุกข์ทั้งนั้น ได้ก็เป็นทุกข์ เสียก็เป็นทุกข์ ได้อย่างใจก็เป็นทุกข์ ไม่ได้อย่างใจก็เป็นทุกข์ เพราะว่ามันยึดถือในความหนักอึ้งบนจิตใจ เราจึงเห็นคนเป็นทุกข์ เพราะได้ หรือคนที่ยึดมั่นในเรื่องดี เรื่องชั่ว ยึดมั่นในเรื่องของความดี จนเป็นทุกข์ จนฆ่าตัวตาย เพราะความยึดมั่นในความดีนี้ก็มีอยู่มาก ก็เป็นเรื่องของความทุกข์ นี่ฟังเรื่องนี้ออกหรือไม่ออก มันเป็นเรื่องตั้งต้นมาแต่ ก ข ก กา ทีเดียว แล้วก็ขึ้นมาจนถึงเป็นเรื่อง ตัวเรื่อง แล้วก็ขึ้นจนเป็นตัวความทุกข์ เป็นตัวปัญหา นี่ถ้ามันกลับตรงกันข้าม มันก็เป็นเรื่องไม่มีทุกข์ นี่จะต้องฟังให้ดี เพราะว่า เราจะอยู่กันอย่างไรในโลกนี้ เพราะเรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ก็คอยมาสัมผัสอยู่เสมอ ทีนี้เมื่อสัมผัสนั่นแหละ เมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น นั่นแหละเรียกว่า สัมผัส เมื่อสัมผัสนั่นแหละ จะต้องมีธรรมะ คือจะต้องเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า และมีธรรมะ มีสติ สัมปชัญญะ มีปัญญา เมื่อมีการสัมผัส ตะกี้บอกไปแล้วเป็นคนโง่ ไม่ใช่ลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เป็นปุถุชนคนธรรมดา ไม่รู้ธรรมะ ไม่ใช่ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เมื่อสัมผัส เกิดเวทนา สุขหรือทุกข์ มันก็มีตัณหา มีความอยากไปตามเรื่องของไอ้ได้หรือเสีย สุขหรือทุกข์ สวยหรือไม่สวย อร่อยหรือไม่อร่อยก็สุดแท้ มันก็เกิดอุปาทาน เป็นยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวเป็นตน เป็นของตน มีความหนักอกหนักใจ ตลอดสาย เดี๋ยวนี้มัน คนเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เมื่อรับคำสั่งสอนมาเพียงพอ มันรู้เรื่องของสติสัมปชัญญะและปัญญา งั้นพอมีการสัมผัสทางตา ทางหูก็ตาม สติสัมปชัญญะ ปัญญา มันมาทันที เพราะมันมีสัมผัส เกิดเวทนาขึ้น สบายตา ไม่สบายตา สบายหู ไม่สบายหู หอมกับจมูก เหม็นกับจมูก ให้ทำเป็นคู่ ๆ กันไป ก็เรียกว่า เวทนาเกิด มีสติปัญญาตามแบบของพระพุทธเจ้า ว่าไอ้นี้มันสักว่าเวทนาเท่านั้น
คำนี้ฟังยาก แต่สำคัญมากว่า สักแต่ว่าเวทนาเท่านั้น เวทนาทางตา สวย มันเกิดขึ้นสบายตาที่สุด คนที่มีธรรมะก็บอกว่า นี่มันสักแต่ว่าเวทนาเท่านั้น สักแต่ว่าความรู้สึกเท่านั้น สักแต่ว่าความรู้สึกว่าสวยเท่านั้น ถ้าไม่สวย ถ้าน่าเกลียด มันก็อย่างเดียวกันอีกว่า นี่มันสักว่าเวทนาเท่านั้น ไม่สบายตา มันเป็นเพียงความรู้สึกไม่สบายตา มีเสียงไพเราะหรือไม่ไพเราะ พอสัมผัสเข้าเป็นเวทนา ไพเราะหรือไม่ไพเราะ แต่จิตใจที่มันฉลาด มันก็โอ๊ย มันสักว่าเวทนาเท่านั้น คุณช่วยจำข้อนี้ไว้ด้วยจะเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าทันทีตั้งครึ่งตั้งค่อนทีเดียว ที่สามารถรู้สึกทันท่วงทีว่า ไอ้นี้มันสักแต่ว่าเวทนาเท่านั้น ทางตารู้สึกสวยไม่สวย ทางหูรู้สึกไพเราะหรือไม่ไพเราะ ทางจมูกรู้สึกหอมหรือเหม็น ทางลิ้นรู้สึกอร่อยหรือไม่อร่อย ทางผิวหนังรู้สึกนิ่มนวลหรือกระด้าง ทางจิตรู้สึกว่าระคายใจหรือไม่ระคายใจ ความรู้สึกทั้ง 6 คู่นี้มีปัญญามองเห็นว่า มันสักว่าเวทนาเท่านั้น พระพุทธเจ้าท่านสอนสักว่าเวทนา คือ สักว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ตามธรรมดาเท่านั้น เมื่อตากระทบรูปสวย ๆ มันก็รู้สึกสวย ไอ้สักว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างนั้นเท่านั้น ในเมื่อมันกระทบรูปที่ไม่สวย มันก็รู้สึกไม่สวย รู้สึกเกลียดชังขึ้นมา มันก็สักว่าความรู้สึกเท่านั้น อย่าไปเอาอะไรกับมันนัก หรือไม่เอาอะไรกับเลยจะดีกว่า แล้วเราก็จะไม่หลงรักและไม่หลงเกลียด เดี๋ยวนี้เรามันอยู่ด้วยความหลงรัก ไม่ใช่น่ารัก หลงเกลียด ไม่ใช่เรารู้สึกว่าน่าเกลียด เรามันโง่ทั้งขึ้นทั้งร่องเพราะฉะนั้นอยู่ด้วยจิตใจที่ไม่หลงรักและหลงเกลียด คือความมุ่งหมายของธรรมะของศาสนา ในขณะที่สัมผัส และมีเวทนา เรามีสติปัญญาอย่างนี้แล้ว มันก็ไม่เกิดตัณหา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่เกิดอุปาทาน ไม่เกิดภพ ไม่เกิดชาติ อย่างที่ว่าเมื่อตะกี้นี้ ซึ่งมันเป็นทุกข์ มันกลับมาเป็นความรู้ ความฉลาด ว่าโอ๊ย เวทนา สักแต่เวทนาเท่านั้น จะดูต่อไปอีกว่า อ้าว ไม่เชื่อเว้ย ทรมานใจพุ่งเข้าไปมองเว้ย ไม่มีตัวไม่มีตนเว้ย มันกลายเป็นเรื่องการศึกษาชั้นสูงสุดไปเสีย รู้จักแยกทางกันตรงนี้ เมื่ออารมณ์มากระทบกับเวทนาแล้ว ปุถุชนคนไม่มีความรู้มันก็เกิดตัณหา เกิดอุปทาน เกิดภพ เกิดชาติ เป็นทุกข์ไปทางโน้น ส่วนฝ่ายนี้มีผัสสะ มีเวทนาแล้วมันก็เกิดการศึกษา รู้ว่าอันนี้สักแต่เวทนา รู้แต่ว่าเป็นตามธรรมชาติอย่างนี้ แล้วไม่เที่ยง คือ หลอกหลวงที่สุด เมื่อตะกี้ไม่มี เดี๋ยวนี้มี มีแล้วก็เปลี่ยนอยู่เรื่อย ดูแล้วน่าเกลียดน่าชัง นั่นเค้าเรียก ความทุกข์ ไม่สบายแก่การดู นี้เรียกว่า มันเป็นทุกข์ ถึงมันไม่ได้ทำอะไรเรา มันก็มีลักษณะที่ดูแล้วน่าชัง คือ หลอกหลวง แล้วมันมีความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนที่ไหน เพิ่งเกิดมาด้วยความรู้สึกทั้งนั้น สักว่าความรู้สึกทั้งนั้น เพราะมันเป็นสักว่าความรู้สึกทั้งนั้น เค้าเรียกว่ามันเป็น อนัตตา นี้คือ ความรู้สูงสุด สุดยอดในพุทธศาสนา คือ สุดยอดในโลก คุณไม่ชอบก็ได้ คุณอาจจะไม่ชอบมันก็ได้ความรู้ชนิดนี้ อันนี้ความยากลำบากมันอยู่ที่ตรงนี้ นี่คุณว่าอยากจะเรียนธรรมะกับพระพุทธเจ้า แต่ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้จะชอบหรือไม่ชอบ ถ้าต้องการจะไม่ให้เป็นทุกข์ มันก็มีทางนี้เท่านั้นแหละ คือ รู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ตามที่มันปรุงแต่งกันขึ้นมาอย่างไร แล้วก็ไม่มีตัวตนอันแท้จริง นอกจากความรู้สึกเท่านั้น
เวทนา สักว่าความรู้สึกเท่านั้น เวทนาที่รู้สึกเป็นสุข คือ พอใจ เป็นทุกข์ คือ ไม่พอใจ หรืออยู่ระหว่างกลาง ไม่สุข ไม่ทุกข์ มันสักว่าความรู้สึกเท่านั้น ไปเอาตัวตนที่ไหนได้ แต่เราก็หลงรักจนยอมพลีชีวิต คนหนุ่มคนสาวที่บรมโง่ มันจะหลงรักสิ่งนี้ จนยอมพลีชีวิต คิดดูแล้วกันจะเป็นยังไง นี้เรียกว่าเวทนา เท่านั้น ถ้ามันเป็นเรื่องของความสำคัญมั่นหมายต่อไปอีก สำคัญว่าสวย สำคัญว่าดี สำคัญว่าแล้วแต่จะสำคัญว่าอะไร เรียกว่า สัญญา นี่ก็สักว่าความรู้สึกเท่านั้น เรียกว่าสัญญา
พอรู้สึกหลงใหลอย่างนี้แล้ว มันก็เกิดไอ้ความคิดจะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนี้ มีตัวกูต้องการจะทำอย่างนั้น อย่างนี้ ก็เรียกว่า สังขาร สังขารนี้มีความหมายพิเศษ หมายถึง ความคิด ที่เราจะรู้สึก แต่เราจะรู้ว่า เรา กู คิด อย่างนั่นแหละ เป็นตัวกูคิด เช่น โกรธ เช่น เกลียด เช่น จะฆ่ามันหรือว่าลักจะเอามัน มันก็เรียกว่า ความคิด เขาเรียกว่าสังขาร มันก็สักว่า ความรู้สึก เท่านั้น ไม่ใช่ตัวตนอะไรที่แท้จริง ถ้าอย่างนั้น งั้นความรู้สึกทุกรูปแบบ จะเป็นเวทนาก็ดี สัญญาก็ดี สังขารก็ดี มันเป็นสักว่าความรู้สึกเท่านั้น ก็เลยไม่มีอะไรที่จะต้องหลงใหล ถึงกับไปรัก ไปโกรธ ไปเกลียด ไปกลัว ไปเป็นทุกข์ เป็นร้อน ใจคอปกติอยู่ตามเดิม ทำอะไรก็ได้ เราเป็นคนมีใจคอปกติ เป็นอิสระอยู่ตามเดิม ก็ลองไปเทียบดู มันไม่เสียเวลาเปล่า มันคุ้มค่าที่สุด ไปเทียบกันดู ของเราเองก็ได้ เวลาที่เราโง่ไป มันเป็นอย่างไร เวลาที่เราไม่โง่เป็นอย่างไร เวลาที่เราหลงรักเป็นอย่างไร เวลาที่เราหลงเกลียดเป็นอย่างไร เวลาที่เราหลงอย่างใดอย่างหนึ่งกับไม่หลงอย่างใดอย่างหนึ่งมันเป็นอย่างไร มันต่างกันมาก เวลาไหนสบาย เวลาไหนจิตเป็นอิสระ เวลาไหนจิตหลุดพ้น เวลาไหนจิตถูกกักขัง ถูกจับกุม เมื่อเรารู้สึกรัก หรือไม่รักคือเกลียด รักหรือเกลียด หรือ… (วินาทีที่ 00:51.02) สนใจอยู่อย่างยิ่ง เขาเรียกว่า ถูกจับกุม จิตถูกจับกุม ถูกผูกพัน ด้วยกิเลส ไม่เป็นอิสระ เป็นอย่างไรบ้าง เมื่อใดจิตของเราเป็นอิสระ ไม่ถูกความรู้สึกอะไรจับกุม ไม่หลงรัก ไม่หลงเกลียด ไม่หลงโกรธ ไม่หลงกลัว ไม่หลงเศร้า ไม่หลงอะไรต่าง ๆ นี้มันเป็นอิสระ ถ้าเราไม่ต้องการจิตชนิดนี้ ก็ไม่รู้จะศึกษาธรรมะไปทำไม ธรรมะมันสูงสุดอยู่แค่เพียงทำจิตให้มันเป็นอิสระเท่านั้น บางทีเค้าเรียกอีกคำนึงว่า หลุดพ้น วิมุต หลุดพ้น คือ หลุดพ้นจากโลก จากสิ่งต่าง ๆ ในโลกที่มันคอยจับกุมเรา สิ่งต่าง ๆ ในโลกที่มันคอยจับเรา รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ทั้งที่สวยและไม่สวย ทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ มันคอยจับกุมเรา จับกุมเราให้รักก็มี จับกุมเราให้เกลียดก็มี เพื่อให้เราถูกใจหรือไม่ถูกใจ เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ก็เรียกจับกุมทั้งนั้น ไม่เป็นอิสระ แต่เราไม่รู้สึกว่า นี้ถูกจับกุม ความโง่ของเรา ทำให้เรารู้สึกสบายเสียอีก เมื่อมันถูกจับกุม เหมือนคนที่ตกหลุมของความรัก หรือตกหลุมของความเกลียดก็ตาม มันไม่รู้สึกว่า เราถูกทำร้าย ถูกทรมาน มันรู้สึกสบายไปเสียอีก มันอยากจะหมกจมอยู่ในกิเลสแห่งความรัก ความโกรธ ความอาฆาต อะไรก็ตาม มันสบายไปซะอีก ถ้ารู้สึกสบายไปซะอีก ก็ไม่ต้องพูดกัน มันเป็นปุถุชนมากเกินไปจนพอใจในความทุกข์ ไปสังเกตดูให้ดีในกรุงเทพ น่าจะมองดูได้ทั่วทุกหัวระแหงที่พวกอันธพาลทั้งหลาย เค้าพอใจในการตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลส และก็ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ มีความทุกข์ก็กลับต้องการ นี่พูดอย่างที่เรียกว่า คุณตั้งใจจะศึกษาธรรมะ ถ้าคุณยังยืนยันอยู่ว่าจะศึกษาธรรมะแล้วก็ต้องทนฟังในเรื่องอย่างนี้ มันถึงจะเป็นธรรมะจริง เรื่องอื่นเป็นธรรมะเล่นหมด ให้รู้ความจริงว่า ตัวเรา คนเราที่ยังโง่อยู่นั้นเป็นอย่างไร ที่ว่ามันลืมตาแล้วเป็นพุทธะ เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าขึ้นมาแล้วมันเป็นอย่างไร มันรู้ได้ตรงที่เมื่ออารมณ์มากระทบ เป็นเวทนา เป็นผัสสะ เป็นเวทนา นั่นแหละเรามีจิตใจอย่างไร ถ้าเราโง่ มีตัวเรา ก็หลงรัก หลงชัง เกิดตัณหา อุปาทาน จนเป็นทุกข์ไปในที่สุด นี่คือคนทั่วไป ถ้าเราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นพุทธมามกะสมชื่อ แล้วก็มีความรู้ มีสติสัมปชัญญะ มีปัญญา เมื่อสัมผัส และมีเวทนา อ้าว ไอ้นี่สักว่าความรู้สึกเท่านั้นเว้ย จะมาหลอกเราไม่ได้ จะมาหลอกเราให้หลงรัก หลงเกลียดไม่ได้ นี่คือ ข้อที่พูดว่าจำเป็นแม้แก่ นักเรียน นักศึกษาที่จะไม่ตกหลุมของความรัก ความหลง ความโกรธ ความเกลียด ความกลัวอะไรต่าง ๆ แล้วเค้าก็จะเรียนได้ดี ต่อไปข้างหน้า เมื่อไปมีสังคมกว้างออกไป เค้าก็จะรู้จักทำจิตให้ไม่ตกไปในทางความทุกข์ ให้ทรงตัวอยู่ได้เป็นอิสระ สังคมไม่ทำให้เค้าร้อนใจได้ กระทั่งว่ากิเลสภายในของเค้าคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลงของเค้าก็ไม่ทำให้เค้าเป็นทุกข์ได้ นี้คือ ก ข ก กา รู้เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วรู้เรื่องคู่ Partner ของมัน คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันมาถึงกันเข้าทีไร มันจับคู่กันทีไรแล้วเป็นเกิดเรื่อง ก็จะมีผัสสะ มีเวทนา ถ้าคนนั้นโง่ มันก็ไปตามสายความทุกข์ ถ้าคนนั้นฉลาดมันก็มาอีกฝ่ายตรงกันข้าม ไม่มีความทุกข์ จะได้ความรู้ ได้ความเฉลียวฉลาดในสิ่งทั้งปวงขึ้นมา งั้นถ้าเป็นพุทธบริษัทวันคืนมันเจริญด้วยความรู้ ความแจ่มแจ้ง ความสว่างไสว ถ้าเป็นปุถุชนคนโง่ คนเขลา วันคืนมันก็เจริญไปด้วยกิเลส ตัณหา และความทุกข์ นี่คือเรื่องที่เราจะเรียนธรรมะกัน เพื่อให้รู้ธรรมะและเป็นพุทธบริษัท มีชีวิตอยู่ด้วยสติปัญญา เหมือนกับลืมตา ก็พุทธะ แปลว่า ผู้ตื่น ลืมตา ไม่ใช่หลับอยู่ คนที่ไม่ใช่พุทธะ มันหลับอยู่ในกิเลส หลับอยู่ในอวิชชา หลับอยู่ด้วยความโง่ แต่พุทธะมันตื่นอยู่ด้วยปัญญา ไม่มีอวิชชา แต่มีวิชชา ปุถุชนหลับอยู่ด้วยอวิชชา อริยะบุคคลตื่นอยู่ด้วยวิชชา คือ ความรู้ การที่เรามาศึกษาธรรมะกันนี้ ก็เพื่อให้มีวิชชา สำหรับจะได้เป็นผู้ตื่นอยู่ต่อไป นี่โดยย่อ ก ข ก กา มีอยู่อย่างนี้
ขอร้องนะไปช่วยจำให้แม่นยำ อย่าเห็นเป็นเรื่องไร้สาระ แล้วมันเป็นที่รวมของทุกเรื่องในธรรมะ เรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รวมของทุกเรื่องในทางธรรมะ แล้วนี่ ก็คือ เรื่องปฏิจจสมุปบาท คือ เรื่องการเกิดขึ้นแห่งความทุกข์ และการดับลงแห่งความทุกข์ ต้องศึกษาให้เข้าใจว่าเกิดขึ้นแห่งความทุกข์อย่างไร และดับลงแห่งความทุกข์อย่างไร คือ ตาถึงกับเท่ากับรูป เดี๋ยวทบทวนอีกที ฟังให้ดี เมื่อตะกี้อาจจะฟังไม่ถนัด ว่า ตา ยกตัวอย่างเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเหมือนกันแหละ เข้าใจเรื่องหนึ่งก็เข้าใจทุกเรื่อง ตามันจับคู่ของมัน คือ รูป ก็เกิดวิญญาณทางตา คือ การเห็นรูปทางตา ทั้ง 3 อย่างนี้ทำงานร่วมกัน เรียกว่า ผัสสะ ขณะแห่งผัสสะนี้สำคัญมาก ถ้ามีธรรมะ มีสติปัญญา มันก็ไม่โง่ ไม่หลง ไม่ลืมตัว ไม่เผลอตัว รู้สึกเดี๋ยวนี้สักว่าผัสสะ เท่านั้น ที่นี้พอผัสสะแล้ว มันก็ต้องเกิดเวทนา คือสบายแก่ตา ไม่สบายแก่ตา ถ้าโง่มันก็หลงรักหรือหลงเกลียด แล้วแต่ว่าเวทนานั้นจะเป็นอย่างไร ถ้ามีธรรมะมันไม่โง่ มันก็ โอ๊ย นี่สักว่าเวทนาเท่านั้น สักว่าความรู้สึกเท่านั้น ตรงนี้จะแยกกัน ไอ้ฝ่ายโน้น มันหลงรัก เวทนา แล้วเกิดตัณหา คืออยากไปตามเวทนา เกิดอุปาทานยึดมั่นในเวทนา เกิดภพมีตัวกูผู้ยึดมั่น ผู้เป็นอยู่ เกิดชาติสมบูรณ์ แห่งตัวกูมีความทุกข์ อันเป็นสายความทุกข์ ที่นี่ฝ่ายนี้มันจะดับทุกข์ ก็คือ พอมีผัสสะมันรู้สึกตัว มีเวทนามันก็รู้สึกตัว ตัณหามันเกิดไม่ได้ ตัณหามันดับ ตัณหามันดับ เวทนา อุปาทานเกิดไม่ได้ ภพเกิดไม่ได้ ชาติเกิดไม่ได้ ความทุกข์ไม่เป็นของใครได้ ไม่มีความทุกข์ นี่ฝ่ายดับทุกข์ วันหนึ่ง ๆ มันจะเกิดทุกข์ หรือมันจะดับทุกข์ก็เพราะ อาการ 2 อย่างนี้ นี้เป็นเรื่องพูด ตัวจริงไปกำหนดเอาเอง ฉะนั้นจะต้องปฏิบัติธรรม อยู่ที่นี่ ให้เข้าปฏิบัติธรรม มาอยู่สวนโมกข์ จะปฏิบัติธรรม ก็คือ ต้องกำหนดตั้งสติอารมณ์ให้ดี เพื่อคอยจับสิ่งเหล่านี้ หรือว่ากลับไปจากสวนโมกข์ไปถึงที่อยู่เดิมก็เหมือนกัน ถ้าจะปฏิบัติธรรม ต้องสำรวม ให้เกิดความสงบ พอที่จะคอยจับสิ่งเหล่านี้ จับการเกิดขึ้นแห่งผัสสะ แห่งเวทนา แห่งตัณหา อุปาทานเหล่านี้ ก็มันเกิดอยู่เป็นประจำ แต่ถ้าเราไม่คอยสังเกต ไม่คอยจับ เราก็ไม่เห็น เราก็ปล่อยไปตามเรื่องของมัน ก็หลงใหลไปตามเรื่องของกิเลสตัณหา แล้วก็เป็นทุกข์ โดยไม่รู้สึกตัว บางทีก็รู้สึกตัว บางทีก็นั่งร้องไห้อยู่ ถ้าเรามาอยู่กับธรรมชาติสงบเย็นอย่างนี้ อย่ามากระโดดโลดเต้น หัวเราะ หยอกล้อกันเสีย ก็จะมีจิตใจเหมาะสมที่จะจับสิ่งเหล่านี้ได้ การที่มาอยู่กับธรรมชาติอันสงบ มันมีโอกาสอย่างนี้ แต่ถ้าเรามาเล่นหัวกันเสีย หยอกล้อกันเสีย อะไรกันเสีย มันก็เหมือนกัน มันจับไม่ได้ เพราะจิตใจมันไปหลงอยู่ในอารมณ์เหล่านั้นเสียแล้ว ไม่มีอะไรมากำหนด คอยรู้คอยจับ ที่ว่ามาอยู่สวนโมกข์จะปฏิบัติธรรมกันบ้าง ก็จงดำรงตนให้ดี ให้มีความสงบทางกายกันไป สงบทางวาจา ทางจิต แล้วก็พร้อมจะคอยจับความรู้สึกคิดนึกที่จะเกิดขึ้นในจิต ก็จะเห็นธรรมะ เข้าใจธรรมะ นี้เรียกว่า ปฏิบัติธรรมะขั้นสูง นั่นแหละ ไม่ใช่เพียงแต่ถือศีล 8 ปฏิบัติทางจิต ทางสมาธิ ทางปัญญาแล้ว ก็จะได้ความรู้เช่นหนึ่งในระดับสูง นั้นจึงบอกให้รู้ว่า ก ข ก กา มีอยู่อย่างนี้ แล้วเราก็ใช้ให้มัน คือ เรื่องอ่าน เรื่องเขียนขึ้นมา จนรู้เรื่องความทุกข์ ความดับทุกข์ จนมองเห็นชัดว่า ความทุกข์เกิดขึ้นมาอย่างนี้ ๆ แล้วเข้าใจแม่นยำ ไม่ต้องถามใคร ไม่ต้องจดไว้ในสมุด จดไว้ในสมุดนั้นไว้ตอบสอบไล่ แต่สำหรับปฏิบัติธรรมะแล้วจดไว้ในสมุดไม่สำเร็จประโยชน์อะไร ต้องจดอยู่ในใจ นั่นก็ไปทำความเข้าใจเสียให้ดี ว่า อายตนะข้างใน คือ ตา อายตนะข้างนอก คือ รูป พอถึงกันเข้าเกิดวิญญาณทางตา 3 อย่างนี้ทำงานร่วมกันเรียกว่า ผัสสะ คือ สัมผัสทางตา เมื่อมีสัมผัสทางตา มันก็จะเกิดเวทนาทางตา สวยหรือไม่สวย พอเวทนาเกิดแล้วมันก็จะเกิดตัณหา อยากไปตามความที่มันสวยหรือไม่สวย เกิดตัณหาอยากเต็มที่แล้ว แล้วจะเกิดความรู้สึกอีกอันหนึ่งแซงเข้ามา ฉัน ฉันอยากต้องการเอามาเป็นของฉัน สำหรับที่มันสวย ฉันอยากจะขยี้ให้มันแหลกไปเรื่องที่มันไม่สวย มันมีฉันอย่างนี้ มันเกิดเป็นอุปาทาน ก็เกิดภพ ความมีแห่งตัวฉันเต็มที่ขึ้นมา แล้วมันก็สมบูรณ์เป็นชาติ ชาติแห่งคนชนิดนั้นที่มันกำลังโง่อยู่ หรืออะไรอยู่ก็ตาม เป็นชาติแห่งคน ๆ นั้น ในขณะนั้น เมื่อมันมีตัวตนสมบูรณ์อย่างนี้แล้ว อะไรต่าง ๆ มันก็จะเป็นปัญหาของคน ๆ นั้น ความเจ็บของเค้า ความแก่ของเค้า ความตายของเค้า เค้าจะมีความหวนไประลึกทุกสิ่ง ปัญหาของเค้า ความทุกข์ของเค้า ความทุกข์เกิดขึ้นอย่างนี้ ดังนั้นเราอย่ามาสร้างไอ้ตัวตนอย่างนี้ ทำจิตให้เป็นอิสระ แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาเรียนให้ดีที่สุด อย่ามาตกอยู่ภายใต้อำนาจกิเลส ตัณหา เรื่องรัก เรื่องชัง เรื่องอะไรเหล่านี้ เรื่องนี้เรียกว่า เรื่องปฏิจจสมุปบาท ถ้ามันมาในทางเกิดทุกข์ ก็เรียกว่า ฝ่ายเกิดทุกข์ ถ้ามันมาในทางฝ่ายตรงกันข้าม คือมันไม่เกิดทุกข์ ก็เรียกว่า ฝ่ายดับทุกข์ เรารู้จักไว้ทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อจะควบคุมให้เป็นไปในฝ่ายดับทุกข์
ที่นี่ก็จะพูดให้ฟังต่อไป ว่า ทำไมเค้าจึงถือว่า เรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี้เป็น ก ข ก กา ของธรรมะ พระพุทธศาสนา เราจะมี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จริง ไม่ใช่สักแต่ว่ามี สักว่าพูด สักว่า พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ แล้วก็มีพระพุทธ แค่นั้นมันยังไม่พอ เพื่อให้รู้ว่าเมื่อใด จิตมันมีสติปัญญา สัมปชัญญะ รู้แจ้งชัด ในขณะที่มีสัมผัส มีเวทนา เมื่อนั้น จิตที่รู้แจ้ง ที่ตื่น ที่เป็นอิสระ นั่นแหละเป็นพระพุทธ จิตนั้นเป็นพระพุทธเสียเอง จิตที่รู้แจ้งถึงที่สุดนั่นแหละเป็นพระพุทธ ถ้าเราจะถือว่าจิตของเราเป็นพระพุทธ เราก็เป็นผู้รู้แจ้ง เราก็เป็นพระพุทธเสียเอง เราจะมีพระพุทธจริง ๆ ในเรา หรือถึงกับว่าเราเป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง ถ้าจิตนี้มันรู้แจ้งสิ่งนี้ จนความทุกข์เกิดไม่ได้ เวลานั้นอย่างน้อยที่สุด เรามีพระพุทธเจ้าจริงในเรา หรือในจิตของเรา หรือเราอาจจะเรียกมากกว่านั้น เราเป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง คือ จิตนั้นมันเป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง มีพระพุทธเจ้าจริงกว่าอย่างนี้ ไม่ต้องร้อง พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ที่นี่ความรู้นั่นแหละ ที่ปฏิบัติอยู่อย่างนั้น ความทุกข์เกิดไม่ได้ ที่ปฏิจจสมุปบาท มันปรุงกันไม่ได้ นั่นแหละคือตัวพระธรรม ตัวความรู้อยู่ จนความทุกข์เกิดไม่ได้ นี้เป็นตัวพระธรรม แล้วก็มีพระธรรมจริงอยู่ในจิต หรือจิตเป็นพระธรรมเสียเอง เกิดมีพระธรรม โดยไม่ต้องร้อง ธรรมัง สะระณัง คัจฉามิ การที่มันมีความดับแห่งทุกข์อยู่ในการปฏิบัติ ควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไว้ได้ ความทุกข์ไม่เกิดนั้น เรียกว่า พระธรรมจริง เราก็มีพระธรรมจริง หรือกล้าพูดว่า เราเป็นพระธรรมเสียเองเลย เราก็มีพระธรรมจริง โดยไม่ต้องร้องว่า ธรรมัง สะระณัง คัจฉามิ
ที่นี่จิตอีกส่วนหนึ่ง ที่จะเรียกว่าตัวเรา ตัวเดียวกันนั่นแหละ มันปฏิบัติอยู่ มันพยายามอยู่ มันรักษาสติสัมปชัญญะ ใช้ปัญญาอยู่ เรียกว่า ปฏิบัติอยู่ นี่มันเป็นตัวพระสงฆ์ นั่นจิตมันมีพระสงฆ์ หรือเป็นตัวพระสงฆ์เสียเอง เราก็มีพระสงฆ์ หรือเป็นพระสงฆ์โดยไม่ต้องร้องว่า สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ก็ได้ แต่มันเป็นเสียจริง ๆ นี่ความที่จะมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เสียจริง ๆ มันมีได้อย่างนี้ ถ้ารู้เรื่องนี้ เรื่องนี้สำคัญมาก ที่เรียกว่า เรื่องปฏิจจสมุปบาท ถ้าเรารู้เรื่องนี้ เราเป็นพระพุทธ เรามีพระธรรม เราเป็นพระสงฆ์ ถ้าเราปฏิบัติ ไม่ให้เกิดทุกข์ได้ เรื่องนี้มันสำคัญมาก จนถึงกับว่า แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง ท่านเป็นพระพุทธเจ้าแล้วท่านยังเอาเรื่องนี้มาสาธยาย มาสาธยาย คือ มาพูดตามลำพังกับพระองค์ เหมือนกับท่องเล่นอย่างนั้น เหมือนกับพวกคุณร้องเพลงเล่นคนเดียว เรื่องอะไรที่ชอบ เพลงไหนที่ชอบ ชอบมาร้องเล่นคนเดียว พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงกระทำกับเรื่องนี้อย่างนั้น คือ เอาไอ้ข้อความนี้มากล่าวอยู่โดยพระองค์เอง พระองค์เดียว ไม่ต้องมีใครอยู่ ถ้าเป็นบาลีก็จะมีว่า จะคุณจะปะติจะ รูเปจะ อุปะชะติ วิญญานัง ตินนังธัมมานัง สังฆาคติปะโส ผัสสะปรัชญา เวทนา เวทนาปรัชญา ตัณหา ตัณหาปรัชญา อุปาทานัง อุปาทานังปรัชญา พโว พวปรัชญา ชาติ ชาติปรัชญา ชะรามรณัง โสกะ เทวะ ทุกข โทมนัส ปัทถุ มะธะนายาสา (นาทีที่ 01:10:53 – 01:11:38) นี่เรื่องตา จบก็ว่าด้วยเรื่องหู อีก เรื่องจมูกอีกจนกระทั่ง 6 เรื่อง ถ้าว่าเป็นภาษาบาลีคืออย่างนี้ ไม่มีเรื่องไหนที่พระพุทธเจ้าท่านทรงเอามาร้องเล่นอย่างนี้ นอกจากเรื่องนี้ คือเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ในพระไตรปิฏก เราสำรวจดูหมดแล้วว่า ไม่มีเรื่องไหนที่มีเกียรติสูง ขนาดพระพุทธเจ้าทรงเอามาท่องเล่น นอกจากเรื่องนี้ ที่นี้วันหนึ่งท่านท่องโดยพระองค์เองอยู่อย่างนี้ มีพระองค์หนึ่งแอบมาข้างหลัง มาแอบฟังอยู่ ด้วยเจตนาอะไรของแกก็ตามใจ นี่พระพุทธเจ้า เผอิญท่านทรงเหลียวไปเห็นพระองค์นั้นเข้า อ้าวนี่ ดี ๆ ๆ แล้วมา นี่เรื่องสำคัญที่สุด