แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นสหายโดยธรรมทั้งหลาย อาตมาจะได้บรรยายเรื่องเกี่ยวกับธรรมะ ต่อจากการบรรยายครั้งที่แล้วมา แล้วก็จะเชื่อว่าเป็นคำบรรยายที่ทำให้ท่านทั้งหลายรู้สึกรำคาญเป็นอย่างมาก ก็ได้ โดยมีหัวข้อสำหรับวันนี้ว่า ธรรมะคือ ธรรมชาติโดย ๔ ความหมาย การบรรยายครั้งที่แล้วมาพูดถึงธรรมะ คือ วิทยาการ ในทางวิทยาศาสตร์ ของสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติ คือ เราเอาธรรมชาติ มาศึกษากันในรูปแบบของ วิทยาศาสตร์ โดยวิถีทางวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้เป็นสื่อกลาง ระหว่างศาสนา เพราะธรรมชาติ จะมีหลายอย่าง หลายชนิด หลายพวก หลาย อ้า, คณะไม่ได้ เมื่อเข้าถึงธรรมชาติแล้วก็เป็น ตัวเดียวกัน เรียกว่าเป็นไกวัลย์ ทั่วทั้งไกวัลย์มีแต่ธรรมชาติอย่างเดียว อยากจะให้ทำ อ้า, ความสำคัญไว้ในใจว่า เรื่องธรรมะนั้น คือเรื่องธรรมชาติ เป็นสัจจะของธรรมชาติ เป็นปรากฏการณ์ ของธรรมชาติ หรือเป็นตัว ธรรมชาติเอง ก็ได้ ขอแต่ให้มันเกี่ยวกับธรรมชาติ ก็แล้วกัน พระศาสดาเราถือว่าเป็นนักธรรมชาติ และเป็นนักวิทยาศาสตร์ หากแต่ว่ามันเป็นเรื่องทางจิตใจ เราไม่ค่อยยอมรับ และไม่ค่อยมองเห็นว่า ท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นนักธรรมชาติ ท่านเข้าใจธรรมชาติ ในด้านจิตใจ ด้านวัตถุ ด้านร่างกาย นั้นก็ต้องเข้าใจเป็นธรรมดา เพราะว่ามันง่ายกว่า มันตื้นกว่า ท่านศึกษาสิ่งทั้งปวงไปตามกฎ หรือตามธรรมดา หรือตามหลักเกณฑ์ของธรรมชาติ เช่นท่านจะศึกษาเรื่องความทุกข์ ก็ศึกษาลงไปที่ตัวความทุกข์ ไม่ได้ศึกษาจากหนังสือ หรือคัมภีร์พระศาสนาเหมือนพวกเราเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้ เราไม่ค่อย ไม่ค่อยมีโอกาส หรือว่า เราไม่สามารถจะ จะศึกษา ไอ้ธรรมะ จากธรรมชาติ เราไปศึกษาจากหนังสือ หรือจากพระคัมภีร์ แม้ที่จะกล่าวถึงเรื่องนั้น เรื่องเดียวกัน เราก็ยากที่จะเข้าใจ จึงขอชักชวนให้ปรับปรุงกันบ้าง เสียใหม่ในการที่จะศึกษาธรรมะ จาก ธรรมชาติ นับตั้งแต่ธรรมชาติ ชั้นนอก เป็นรูปธรรมง่าย ๆ เช่นความสงบ สงัดตามธรรมชาติ หรือความวุ่นวายตามธรรมชาติ เป็นต้น เดี๋ยวนี้นั่งกลางดิน ก็เรียกว่ามันใกล้ธรรมชาติ ถ้าไปนั่งบนตึก บนวิมาน มันก็ไกลธรรมชาติ ตามที่เป็นอยู่เอง มันกลายเป็นธรรมชาติที่แปลกปลอม ธรรมชาติที่ดัดแปลง ธรรมชาติที่ หาลักษณะอันแท้จริงของธรรมชาติ ได้ยาก แต่ก็ยังเป็นคงธรรมชาติ เรียกว่าเป็นธรรมชาติที่ถูกเปลี่ยนแปลง เรามานั่งกันกลางดินบ่อย ๆ นี่ดี เพราะว่ามันสัมผัสธรรมชาติ พื้นฐาน คือ แผ่นดินอันเป็นที่เกิดของทุกสิ่ง อยากจะให้ทำในใจไว้เสมอว่า พระพุทธเจ้านะท่านประสูติกลางดิน ตามเรื่องพุทธประวัติที่เรารู้กันอยู่แล้ว เป็นลูกพระราชามหากษัตริย์ ทำไมมาประสูติกลางดิน จะเรียกบังเอิญก็ได้ แต่ว่ามันจริงอยู่ที่ว่า ท่านใกล้ชิดธรรมชาติมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก เมื่อตรัสรู้ก็นั่งตรัสรู้กลางดินริมลำธารโคนต้นไม้แห่งหนึ่ง เสร็จแล้วก็สอนกันอยู่แต่กลางดิน เพราะว่าเขาไม่มีสิ่งก่อสร้างอะไรกันนัก นี่ก็ขอให้หลับตาเห็นภาพว่า ท่านพูดกันกลางดิน สนทนากันกลางดิน คณะสงฆ์ก็ทำสังฆกรรมกลางดิน ไม่มีอาคารโดยมาก ในที่สุดท่านปรินิพพาน ก็คือกลางดินอีก ขอให้พุทธบริษัทพอใจเมื่อได้นั่งกลางดิน ซึ่งเป็นที่นั่งที่นอน ที่เกิด ที่ตายของพระพุทธเจ้า จะได้ง่ายในการที่ทำในใจถึงพระพุทธเจ้า เป็นพุทธานุสติ ว่าเราก็จะเป็นนักธรรมชาติ เหมือนกับพระพุทธเจ้า สวนโมกข์รับแขกกลางดิน ก็เพื่อความมุ่งหมายอันนี้ แล้วเรายังจะกล่าวได้ว่าพระศาสดาของทุกศาสนา ท่านตรัสรู้เป็นพระศาสดา ในท่ามกลางธรรมชาติทั้งนั้น ไม่ใช่ในตึก บนตึกมหาวิทยาลัยไหน มัน มันเป็นไปไม่ได้ เพราะท่านต้องศึกษาเรื่องของธรรมชาติ รู้จากธรรมชาติ เป็นความจริง ขั้นมูลฐาน พื้นฐาน ที่ยังไม่ถูกดัดแปลง เปลี่ยนแปลง ถ้าเราชอบธรรมชาติ มันก็จะง่ายในการที่จะเข้าใจธรรมชาติ ทีนี้ คำว่าธรรม นี้เป็นคำที่ประหลาด แปลว่าธรรมเฉย ๆ ก็ได้ แปลว่าธรรมชาติก็ได้ แปลว่าธรรมดาก็ได้ คำว่าธรรมนี้ โดยที่มันเป็นตัวจริงของมัน ก็คือตัวธรรมชาตินั่นเอง ดังนั้น เรามีสิ่งที่เรียกว่าธรรม ในฐานะที่เป็นธรรมชาติ ก็โดยความหมาย ๔ ความหมาย ซึ่งท่านทั้งหลายคงได้เคยอ่านมาแล้ว เคยได้ยินมาแล้ว มาพูดกันอีกก็คงจะรำคาญ แต่มันก็ยังจำเป็นที่จะต้องพูด ธรรมชาติโดยความหมาย ๔ ความหมายนี่ ช่วยจำกันไว้ ความหมายที่ ๑ ก็คือตัวธรรมชาตินั่นเอง ปรากฏการณ์ของธรรมชาติ อย่างที่เห็นชัดอยู่ในสากลจักรวาลนี่ ที่เราเห็นได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย และบางอย่างต้องรู้สึกได้ด้วยใจ ในภาษา ธรรมะ นี้ เรามีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ๔ ธาตุ และมีธาตุอากาศ คือ ธาตุจิตใจ ธาตุอากาศ คือ ธาตุว่าง วิญญาณธาตุคือ ธาตุจิตใจ ดิน น้ำ ลม ไฟ นี้เป็นธาตุวัตถุ ๔ อย่าง ประกอบขึ้นเป็นสิ่งต่าง ๆ ในสากลจักรวาล เป็นเนื้อหนังของคนเรา ก้อนหิน ต้นไม้ กรวด ทราย โลหะ ธาตุอะไรต่าง ๆ คุณสมบัติที่กิน กินที่ เรียกว่าธาตุดิน คุณสมบัติที่กุมตัวกันเข้าตลอดเวลานี่เป็นธาตุน้ำ คุณสมบัติที่มีอุณหภูมิเผาไหม้ นี่เรียกว่า ธาตุไฟ เอ้อ, คุณสมบัติที่ลอยไปมาได้ นี่เรียกว่า ธาตุลม ทีนี้ที่ว่าง ที่ให้สิ่ง ที่ให้ธาตุอื่น ๆ ตั้งอาศัยอยู่ได้เพราะมันว่าง ถ้าไม่มีว่าง ไม่มีที่ว่าง ธาตุอื่นก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ฉะนั้น จึง มีธาตุว่าง ที่ว่าง หรือจะเรียก space หรืออะไรก็แล้วแต่เถิด แต่มันต้องมีอยู่อย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน เรียกว่าธาตุว่าง ที่ว่าง มีธาตุจิต ธาตุวิญญาณที่อาศัยอยู่ในธาตุวัตถุนั้น สำหรับรู้สึกคิดนึกได้ เมื่อวัตถุนั้นมันมีวิวัฒนาการมากเพียงพอ นี่เราก็มีธาตุทั้ง ๖ นี้ เป็นตัวธรรมชาติ เรียกว่าเป็นธาตุวัตถุก็มี เป็นธาตุจิตใจเป็นนามธรรม ก็มี แต่แล้วก็เป็นธาตุตามธรรมชาติเหมือนกันทั้งนั้น เราเรียกว่าธรรมชาติที่เป็นตัวธรรมชาติ ทีนี้ธรรมชาติในความหมายที่ ๒ ธรรมะในความหมายที่ ๒ คือ กฎของธรรมชาติ อยู่ที่ไหน มันก็อยู่ที่ตัวธรรมชาตินั่นเอง ในตัวธรรมชาติต้องมีกฎควบคุมมา มาแล้ว ควบคุมอยู่ ควบคุมตลอดไป ธรรมชาติทั้งหลายเกิดขึ้นโดยกฎของธรรมชาติ เพราะฉะนั้น เราจะต้องถือว่าไอ้กฎของธรรมชาตินี้จะต้องมีอยู่ก่อนธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ บันดาลให้ธรรมชาติเป็นไปนับตั้งแต่เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง ดับลง เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง ดับลง ก็มีกฎของธรรมชาติอยู่ก่อนสิ่งใดหมด คำว่า The Word ของคัมภีร์โยฮัน ในไบเบิลนั้น อาตมา เข้าใจว่าหมายถึงกฎของธรรมชาติ เพราะได้กล่าวว่ามีอยู่ก่อนสิ่งใด ประโยคถัดมาจึงพูดว่า word นั้นอยู่กับพระเจ้า ประโยคถัดมาจึงจะพูดว่า word นั้นเป็นอันเดียวกับพระเจ้า ประโยคแรกเขาพูดว่า มีอยู่ก่อนสิ่งใดนี่ ถือเอาใจความนี้ ก็หมายความว่า The Word นั้นคือกฎของธรรมชาติ มีอยู่ก่อนสิ่งใด word ก็แปลว่าคำพูด มีความหมายอย่างเดียวกับกฎ กฎคือคำสั่งหรือเรียกว่าคำพูด เราไม่มีความรู้ภาษาเพียงพอ ก็สันนิษฐานไปตามที่มันจะรู้ ถามพวกที่เขารู้ เขาว่า คำว่า The Word นี่ภาษาเดิมเป็นภาษากรีกมาจากคำว่า โลโกส (นาทีที่ 14:06) ก็ word หรือคำพูด หรือคำสั่งนี่ก็อย่างเดียวกันนั่นแหละ มันต้องมีกฎที่สามารถบันดาลสิ่งต่าง ๆ ได้ อยู่ก่อนสิ่งใด สิ่งต่าง ๆ จึงเกิดขึ้น เราจึงถือว่า กฎของธรรมชาติมีอยู่ก่อนสิ่งใด ในการสร้างโลก อ้า, ของพระเจ้า ก็ว่าสร้าง The Right ขึ้นก่อนสิ่งใด นั้นก็คืออำนาจที่จะเป็นไปตามกฎ ซึ่งอยากจะเรียกว่า กฎแห่งวิวัฒนาการ พระเจ้าต้องสร้างขึ้นมาก่อนสิ่งใด จึงสร้างแผ่นดิน สร้างน้ำ สร้างฟ้า สร้างสัตว์มีชีวิตอะไรต่าง ๆ ขึ้นมา มันต้องมีสิ่งหนึ่ง อยู่ก่อนสิ่งใด ที่บันดาลให้สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น เราจะถือว่าเป็นกฎของพระเจ้า หรือเป็นพระเจ้าเสียเอง ก็แล้วแต่จะมองกันเถิด ไม่ควรจะมองไปในทางที่ขัดแย้งกันว่า มันต้องมีสิ่งนั้นก่อนเราจะเรียกสิ่งนั้นว่า พระเจ้าเสียเลย หรือจะเรียกสิ่งนั้นว่า กฎของพระเจ้า ผลก็ต้องเท่ากันแหละ เพราะว่าเป็นสิ่งแรก ที่มีอยู่ก่อนสิ่งใด ทำให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้น นี่เรียกว่ากฎของธรรมชาติ ได้ทำให้ตัวธรรมชาติเกิดขึ้น แล้วก็ควบคุมอยู่ในสิ่งนั้น เรียกว่าสิงอยู่ ในสิ่งนั้น เหมือนกับผีสิง ในตัวธรรมชาติทั้งหลายก็มีกฎของธรรมชาติสิงอยู่ ที่จะต้องพิจารณากันให้ดีที่สุดในเรื่องนี้ เช่นว่าโลกนี้ อ้า, ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ นี้ เกิดขึ้นมาแล้วตามกฎของธรรมชาติ แล้วกฎของธรรมชาติก็ยังคงสิงอยู่ในตัวดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ที่จะให้เป็นไปตามกฎอย่างสม่ำเสมอ จะถือว่าพระเจ้าควบคุมดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ให้เป็นไปอย่างเสมอ สม่ำเสมอก็ถูกเช่นเดียวกับว่า กฎของธรรมชาติที่สิงอยู่ในนั้นนะทำการควบคุมให้ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์เป็นไป อย่างสม่ำเสมอ สิ่งที่มันจะเกี่ยวข้องกับเราก็คือ ความที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์มันหมุนไป อย่างสม่ำเสมอ นี่สำคัญกว่าที่จะไปพิจารณาว่าใครมันสร้างขึ้นมา ในทางวัตถุ ไม่มี มีกฎของธรรมชาติสิงสถิตอยู่สำหรับควบคุมให้มันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ อย่างก้อนหินก้อนที่อยู่ตรงหน้าเรานี่มันก็เป็นธรรมชาติ ในนั้นก็มีกฎของธรรมชาติควบคุมก้อนหินก้อนนี้อยู่ทุกๆ ปรมาณู ซึ่งมันจะต้องเป็นไปตามกฎ ก้อนหินนี่จะเป็นอย่างไรก็เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ จะช้าหรือจะเร็วก็เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ นี่ถ้ามันเป็นสิ่งที่มีชีวิต เช่น ต้นไม้ มันก็ยิ่งเป็นได้ง่ายได้เร็วกว่านั้น นั่นมาเป็นตัวเรา เนื้อหนังของเรา เนื้อหนังของเราเป็นตัวธรรมชาติ และในตัวธรรมชาติมีกฎของธรรมชาติควบคุมอยู่ ดังนั้น เนื้อหนังของเราทุก ๆ เซลล์นี่มันจึงเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ อย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เฉียบขาดที่สุด ทีนี้ก็ จะดูต่อไปถึงหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เมื่อกฎของธรรมชาติควบคุมอยู่ทุก ๆ อนุภาค ของทุกสิ่ง ทุกสิ่งก็ต้องมีหน้าที่ประพฤติ กระทำให้ถูกต้อง ตามกฎของธรรมชาติ ที่มีปัญหามากที่สุดก็คือสิ่งที่มีชีวิต มันจะต้องการมีชีวิต มันก็ต้องการทำให้ถูกต้อง ตามกฎของธรรมชาติ คือมีหน้าที่ประจำ อยู่ในสิ่งที่มีชีวิต ซึ่งมันจะต้องเป็นไปให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ไอ้ส่วนที่ เอ้อ, สิ่งที่มันไม่มีชีวิต มันก็ต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติอยู่แล้ว มันไม่รู้จักคิดนึก ว่าจะต้องการอย่างไร จะต้องเอาอย่างไร มันก็ไม่ต้องพูดกัน ไอ้สิ่งที่มีชีวิตนี่มันต้องการอย่างนั้น มันต้องการอย่างนี้ หรือมันต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ มันก็ต้องมีหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติที่จะให้เป็นไปได้อย่างนั้น เรามองดูทั่วๆ ไป ก็พอจะมองเห็นได้ว่า วิวัฒนาการของธรรมชาตินี่ วิวัฒนาการเพื่อให้ดีขึ้น ดีขึ้น สูงขึ้น สูงขึ้นกว่าจะสูงสุด หน้าที่ของมันก็คือ ทำให้มันถูกต้องตามกฎที่มันจะดีขึ้น สูงขึ้น มิฉะนั้นมันก็จะต้องตาย ต้องสูญหายไป ไม่เหลืออยู่ในโลก นี้สิ่งที่มีชีวิตก็ต้องมีหน้าที่ที่จะดำรงชีวิต และดำรงชีวิตแล้ว ต้องดำรงอยู่ในลักษณะที่เป็นที่น่าพอใจ คือไม่เป็นทุกข์ เท่านั้นยังไม่พอ มันยังต้องให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ หรือสิ่งที่มาเกี่ยวข้อง ทุก ๆ สิ่งด้วย ฉะนั้น หน้าที่มันจึงมีว่า ทำให้ชีวิตรอดอยู่ได้ แล้วก็ทำให้มันไม่ต้องเป็นทุกข์ทรมาน และขณะเดียวกันนั้น ต้องให้เป็นประโยชน์แก่สิ่งที่มาเกี่ยวข้อง เช่น ผู้อื่น เป็นต้น ข้อนี้จะต้องดูให้ดีดีว่า มันจะเป็นหัวใจของพระศาสนา ในฐานะที่เป็นจุดหมายปลายทาง ศาสนาไหนบ้างไม่ต้องการอย่างนี้ ไม่มีจุดหมายปลายทางอย่างนี้ ลองว่ามาดู คือ ต้องการให้ผู้ปฏิบัตินั้นนะ รอดอยู่ได้ แล้วรอดอยู่อย่างดี คือมีความสุข อย่างแท้จริง แล้วการมีไอ้ตัวตนอยู่นั้น ต้องเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย นี่จะพอไหม ที่จะเป็นจุดหมายปลายทางของมนุษย์ หรือเป็นความมุ่งหมายของศาสนาทุกศาสนา ถ้ายอมรับว่ามันตรงกันทุกศาสนา แล้วก็คือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินั่นแหละ เป็นตัวระบบปฏิบัติของแต่ละศาสนา เราต้องทำหน้าที่คือการปฏิบัติ จะมีแต่พูดกันก็ไม่ได้ ต้องปฏิบัติ ใช้คำปฏิบัติก็เป็นภาษาเดิมในประเทศอินเดีย ในภาษาอื่นก็ต้องใช้คำอย่างอื่น เช่น commitment เป็นต้น แต่มันก็มีความหมายว่า ปฏิบัติอยู่นั่นเอง คือต้องปฏิบัติตามหน้าที่ ที่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติแล้วก็ทำ ทีนี้การปฏิบัติหน้าที่นี้ย่อมมี ผลเราจึงมีธรรมชาติในความหมายที่ ๔ คือผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ ไอ้ผลนี่ไม่สำคัญ จะไม่ต้องพูดถึงก็ได้ เพราะเมื่อปฏิบัติแล้ว มันก็ต้องมีผลตามสมควรแก่การปฏิบัติ แต่เดี๋ยวนี้มันเป็นสิ่งที่มีอยู่อีกแผนกหนึ่ง เราจึงจัดเป็นไอ้ธรรม ธรรมะหรือธรรมชาติอีกส่วนหนึ่ง แผนกหนึ่งเรียกว่า ผล ได้รับผลเป็นสุข เป็นทุกข์ แล้วแต่ปฏิบัติผิด หรือปฏิบัติถูก เราต้องการสุข เราก็ต้องปฏิบัติถูก ถูกก็คือรอดอยู่ได้ แล้วก็รอดอยู่อย่างดี อย่างมีประโยชน์แก่ทุกฝ่าย เรามีคำพูดในพุทธศาสนาว่าบรรลุมรรคผลนิพพาน บรรลุมรรคก็คือมีการปฏิบัติ ที่ปฏิบัติสำเร็จ ไม่ใช่ปฏิบัติผิด ๆ แล้วค้างเติ่ง ไม่สำเร็จ แล้วต้องมีมรรค คือการปฏิบัติที่ถูกที่จริงที่ตรง และสำเร็จ แล้วก็มีผลเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ นี่ถ้าว่าเป็นไปถึงที่สุดของผล แล้วก็ถึงสภาพที่เรียกว่านิพพาน คือหมดปัญหา หมดความทุกข์ร้อน หมดทุก ๆ อย่าง ที่เรียกว่าว่างจากปัญหา ว่างจากความทุกข์ คือ พระนิพพานมีความหมาย ตามภาษาชาวบ้านว่าเย็นสนิท ถ้ายังร้อนอยู่แม้แต่นิดหนึ่งก็เรียกว่า มันยังไม่ถึงที่สุด คือยังไม่ปรินิพพาน เย็นสนิท จากการรบกวนของปัญหาของความทุกข์ พูดตรง ๆ ก็ว่าเย็นสนิทจากไฟ คือความโลภ ความโกรธ ความหลง นั้นเอง นี่เรียกว่าผลจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ อาตมาขอร้องเสมอเลยว่า ช่วยศึกษาไอ้ธรรมชาติโดยความหมาย ๔ ความหมายนี้ไว้ให้ดี จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าธรรมะในพระพุทธศาสนา ทุกเรื่อง ทุกขั้นตอน ง่ายขึ้น หรือง่ายมาก ง่ายที่สุด ไปตามลำดับ ขอให้รู้จักธรรมะ ใน ๔ ความหมายหรือธรรมชาติใน ๔ ความหมายนี้แหละ เป็นรากฐานของการศึกษาธรรมะทั้งหมด ถ้าสรุปพูดง่าย ๆ ก็ ธรรมชาติ แล้วก็กฎของธรรมชาติ คำว่าตัวธรรมชาตินะ แล้วก็กฎของธรรมชาติ แล้วก็หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ และผลที่เกิดจากหน้าที่ ทีนี้คำว่าธรรมใน ความหมาย ๔ ความหมายนี้ มันจึงเป็นคำประหลาด ครอบงำทุกสิ่ง ทุกเวลา ทุกสถานที่ ทั้งหมดทั้งสิ้น เรียกว่าธรรม แปลเป็นภาษาอื่นไม่ได้ ไม่มีคำในภาษาไหนที่จะมีความหมายครบถ้วนอย่าง อย่างนี้ เราก็ต้องใช้คำว่าธรรม ต่อไป เอ้า, ทีนี้จะให้สำเร็จประโยชน์ เราจะต้องศึกษาตัว ตัวธรรมชาติ ๔ ความหมายนี้ หรือว่าธรรมะ ๔ ความหมายนี้กันให้จริง ๆ ไม่ใช่เอาไว้พูดฟังกันเล่น ๆ เอ้อ, พุทธศาสนานี้ถือตามหลักที่กล่าวไว้ สรุปความได้ว่า ถ้าศึกษาจริง ต้องศึกษาจากตัวจริง จากของจริงไม่ใช่จากสมมุติฐานที่สร้างขึ้นมา เพื่อหาข้อเท็จจริงแวดล้อม แต่ต้องการให้ศึกษาจากตัวจริงจากของจริง ถ้าศึกษาเรื่องก้อนหินก็ศึกษาที่ก้อนหินจริงๆ ถ้าศึกษาเรื่องคน ก็ที่คนจริง ๆ และอะไรเป็นปัญหา ก็ต้องศึกษาที่ตัวปัญหานั่นเอง ทีนี้ไอ้เรื่อง ไอ้เรื่องที่เป็นปัญหาจะเป็นความทุกข์ก็ดี ความสุขก็ดี มันอยู่ที่จิตใจ ฉะนั้น เราต้องศึกษาลงไปที่จิตใจ ดังนั้น จึงต้องศึกษาเมื่อมีจิตใจ เมื่อตายแล้วศึกษาไม่ได้ จะเอาซากศพมาศึกษาธรรมะนี่ มันไม่อาจจะศึกษาหรอกเพราะมันตายแล้ว หรือเราจะเป็นผู้ศึกษา ก็ไม่อาจจะศึกษาเรื่องจิตใจได้จากซากศพ เป็นอันว่าต้องศึกษากันจาก คนที่ยังเป็น ๆ และก็โดยบุคคลนั้นเอง นี่เรียกว่าศึกษาจากภายใน ไม่มีการศึกษาจากภายนอก ต้องศึกษาจากภายใน การศึกษาจากภายนอกเป็นองค์ประกอบ พระพุทธเจ้าท่านทรงกำชับทุกประเด็น ทุกข้อต้องศึกษาจากภายใน และให้ศึกษาตรงจุดสำคัญที่สุดก็คือจิตใจที่มันรู้สึกอะไรได้ อย่างว่าเราจะศึกษาเรื่องโลก เป็นเรื่องธรรมดา ก็ศึกษาไปทั่วโลกทั่วสากลจักรวาล แต่ถ้าจะศึกษาโลกตามทางของธรรมะ ในพุทธศาสนา กลายเป็นศึกษาข้างในตัวคน ในชั้นแรกก็คือที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กำลังรู้สึกอยู่อย่างไร นั่นเรียกว่าโลก ตามีความรู้สึกอะไรโดยทางตา อยู่อย่างไร หูรู้สึก เสียง อยู่อย่างไร จมูกรู้จักกลิ่นอยู่อย่างไร ลิ้นรู้จักรสอยู่อย่างไร ผิวหนังรู้สึกทางผิวหนังอยู่อย่างไร จิตใจรู้สึกโดยทางจิตใจอยู่อย่างไร รวมกันนี้ ความรู้สึกทั้งหมดนั้นเรียกว่าโลก โลกอยู่ที่ไหน โลกอยู่ข้างใน อยู่ในเรา เข้ากันกับพระพุทธภาษิตอีกแห่งหนึ่งว่า คนไม่อาจจะไปถึงที่สุดโลกได้ด้วยการไป คือวิ่งไป แล่นไป เพราะว่าเราบัญญัติ โลกก็ดี เหตุให้เกิดโลกก็ดี ดับสนิทแห่งโลกก็ดี ทางให้ถึงความดับสนิทแห่งโลกก็ดี ในร่างกายที่ยาววาหนึ่งนี้ ในร่างกายที่ยาววาหนึ่งนี้ ที่ยังมีสัญญาและใจ หมายถึงร่างกายที่ยังเป็น ๆ ร่างกายที่ปราศจากสัญญา และใจ ก็คือร่างกายที่ตายแล้ว ในร่างกายที่ยังเป็น ๆ มีสัญญา perception มีใจ มี consiousness นี่ เป็นร่างกายที่เราจะศึกษาเอามาเป็นวัตถุสำหรับศึกษาให้พบโลก ตัวโลก ก็อย่างที่มันเกิดทางอายตนะทั้ง ๖ รู้สึกอยู่ นี่คือตัวโลก และก็เหตุให้เกิดโลก เป็นเรื่องของกิเลส ตัณหา อุปาทาน ที่จะทำให้รู้สึกคิดนึก ยึดถืออย่างนั้นอย่างนี้ และความดับสนิทของโลก ก็คือดับกิเลสเสียในร่างกายนี้ เป็นความสงบเย็น เป็นนิพพานได้ ในความรู้สึกของจิตใจนี้ แล้วก็วิธีปฏิบัติให้ถึงความดับสนิทของโลก ก็อยู่ในร่างกายนี้คือการประพฤติ กระทำที่ถูกต้อง ทางกาย ทางวาจา และทางจิตใจนั่นเอง เป็นอันว่า มันรวมอยู่ในร่างกายนี้ ทีนี้เราก็มาดู ความประหลาดหน่อยของร่างกายนี้ ที่ยังเป็น ๆ นะ ที่อาตมาต้องการโดยตรงว่าจะให้ศึกษาให้เข้าใจธรรมะ ๔ ความหมาย ร่างกาย ขอทบทวน ขอซ้ำอีกทีหนึ่ง อย่างเพิ่งเบื่อ ว่าร่างกายของเรา ประกอบด้วย ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ ๖ ธาตุ นี่เป็นตัวร่างกาย ไอ้ ไอ้ ไอ้วิญญาณธาตุ คือ จิตใจที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับตัวธาตุวัตถุ ทำให้เกิดรู้สึกคิดนึกได้ เป็นชีวิตขึ้นมา ถ้าปราศจากไอ้ธาตุใจ ธาตุวิญญาณแล้ว มันก็ไม่มีชีวิตได้ หรือจะว่าอะไรเอามาจากอะไรก็ได้ แต่ขอให้ว่าในขณะนั้น มันมีส่วนที่เป็นวัตถุ และมีส่วนที่เป็นจิตใจ รู้สึกคิดนึกได้ก็แล้วกัน มันจึงจะครบ เรามีร่างกายที่ประกอบอยู่ด้วยจิตใจ นี่คือตัวธรรมชาติ ใน ใน ในภายใน ในภายในของตัวเรานี่ สมมุติเรียกไอ้ร่างกายนี้ว่าตัวเรา ในตัวเรานี้ก็มีตัวธรรมชาติ อ้า, ที่เป็นร่างกายและเป็นจิตใจ เป็นธรรมชาติเสมอกัน ที่ในร่างกายทุก ๆ อณู มันก็มีกฎของธรรมชาติครอบงำอยู่ ทุกๆ ปรมาณูดีกว่า เป็นไปตามกฎของธรรมชาติทุก ๆ ปรมาณู มันจึงต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ในแง่ของสรีรศาสตร์ ร่างกายจะต้องเป็นอย่างไรบ้าง ก็ไปศึกษาดูเอง เรื่องมันมาก แต่ขอสรุปความว่าที่มันเป็นไปได้อย่างนั้น เพราะมันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ มีกฎของธรรมชาติบังคับให้เป็นไปอย่างนั้น นี่ส่วนจิตก็เหมือนกันแหละ มันจะปรุงกันขึ้นเป็นความรู้สึกคิดนึก มันก็โดยกฎของธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติ มันสัมผัสทางตา หู เป็นต้น มันก็เกิดความรู้สึกที่เป็นสัมผัส แล้วมันก็เกิดความรู้สึกที่เป็นเวทนา เป็นที่เรียกว่า อ้า, feeling นี่มันก็มี หลังจากเวทนา หรือ feeling มันก็เกิดความคิดนึกเป็น conception เป็น perception ไปตามเรื่อง จนกว่าจะถึงที่สุดของความคิดนึก นี่มันก็เป็นไปตามกฎของธรรมชาติฝ่ายจิตใจ จึงเป็นไปได้อย่างนี้ เรียกว่ามีกฎของธรรมชาติสิงอยู่ ต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาตินั้น ทีนี้มันทำให้เกิดหน้าที่ ถ้าสิ่งที่มีชีวิตนั้นต้องการจะมีชีวิตต่อไป มันก็ต้องทำให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ เท่ากับที่มันเกิดขึ้นมาเพราะมันเป็นมาอย่างถูกตามกฎของธรรมชาติ มันจึงมีหน้าที่อย่างน้อยก็ตามสัญชาตญาณ อย่างที่เราเรียนวิทยาศาสตร์ และชีววิทยาเป็นต้น มันต้องกินอาหาร มันต้องต่อสู้ มันต้องหนีภัย มันต้องสืบพันธุ์ ตามกฎของธรรมชาตินั้น ๆ เพื่อรอดชีวิตอยู่ ทีนี้ต่อมามนุษย์ไม่พอใจ ค้นหาสืบไปว่ายังไม่ดีพอ ยังไม่สูงพอก็ต้อง พบว่ามันจะสูงได้อย่างไร จะดีได้อย่างไร มันก็ไม่พ้นไปจากกฎของธรรมชาติ ที่เราจะต้องทำหน้าที่ให้ถูกต้อง แล้วมีชีวิตที่เยือกเย็นเป็นความเย็นมากขึ้นทุกที ๆ จนกว่าจะถึงเย็นที่สุด คือ นิพพาน นั่นเป็นการปฏิบัติหน้าที่และได้รับผลจากการปฏิบัติตามหน้าที่นั้นพร้อม ๆ กันไป ทีนี้สิ่งที่จะต้องสนใจในแง่ของธรรมะ หรือศาสนา ก็คือว่าร่างกายนี้ รวมทั้งจิตใจด้วยนี่ เราจะต้องจัดการกับมันอย่างไรให้ดีที่สุด ให้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ที่สุด มีค่าที่สุดเป็นผลดีแก่ตัวมันเองที่สุด แต่ถ้าเราพูดอย่างมีตัวตน ก็ต้องพูดว่า ให้มนุษย์ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ มีมนุษย์กลับมาเป็นเจ้าของแล้ว มีตัวตนโดยสมมุติมาเป็นเจ้าของ แต่ถ้าพูดอย่างความจริงตามธรรมชาติแล้ว ไอ้ร่างกายจิตใจนั่นแหละ มันต้องรู้ของมันเอง และมันต้องทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ เพื่อให้มันเอง คือกายกับใจนั่นแหละ เป็นสิ่งที่มีผลดีที่สุด ได้รับผลดีที่สุด นี้เรียกว่าอย่างไม่มีตัวตน ก็คือมีร่างกายกับจิตใจ มันก็ต้องทำให้ถูก ตามกฎของธรรมชาติให้ร่างกาย กับจิตใจ ซึ่งมิใช่ตัวตนอะไรนั่นแหละ ได้มีความรอดอยู่ได้ และดีที่สุด เจริญที่สุด ทีนี้ถ้าเราพูดอย่างแบบธรรมดาชาวบ้าน ว่ามีตัวตน มีบุคคล มีตัว มีตนเป็นเจ้าของร่างกาย เป็นเจ้าของจิตใจ ก็ให้บุคคลหรือตัวตนนั่นแหละควบคุมบังคับร่างกายจิตใจให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ให้ดีที่สุด นี่สมมุติตัวตน ลม ๆ แล้ง ๆ ขึ้นมา ไอ้ที่มันมีอยู่จริง ก็คือร่างกายกับจิตใจที่เป็นตัวธรรมชาติ กำลังเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ทำให้เกิดหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ปฏิบัติหน้าที่แล้วก็ได้รับผลตามกฎของธรรมชาติ ๔ ความหมายนี้ ทีนี้ที่น่าสนใจที่สุดที่อาตมารู้สึกชอบ ก็คือคำสอนของ คริสต์เตียนที่ว่า จงทำร่างกายนี้ให้เป็นวิหารของพระเจ้า ดังนั้น ก็คือทำร่างกายนี้ให้มันถูกต้องตามกฎ กฎของธรรมชาติคือพระเจ้า ก็จงปรับปรุงร่างกายนี้ให้เป็นวิหารสำหรับพระเจ้าอยู่ ถ้าเราทำผิด ไอ้วิหารนี้ก็ไม่เกิดขึ้น พระเจ้าก็ไม่มาอยู่ หรือมาก็อยู่ไม่ได้ ฉะนั้น เราจึงปรับปรุงร่างกายนี้ให้มันถูกตามกฎของธรรมชาติ แล้วกฎของธรรมชาติก็จะมาสิงสถิตอยู่ แล้วก็มีพระเจ้ามาสิงอยู่ในร่างกายนี้ อะไรจะเกิดขึ้น มันก็ดีที่สุด เป็นไปดีที่สุด ถ้าถูกต้องตามกฎของพระเจ้า ก็มีการคุ้ม คุ้มครองที่สุด ไม่มีความทุกข์เลย ถ้าไม่ชอบคำว่าพระเจ้า ก็ใช้คำว่าพระธรรมก็ได้ จงทำร่างกายนี้ให้เป็นที่สิงสถิตอยู่ของพระธรรม เมื่อพระธรรมมาอยู่ก็คุ้มครองก็สบายไปเลย แล้วพูดเลยไปถึงว่าให้เป็นที่สถิตอยู่ของพระพุทธเจ้า คือสติปัญญา ที่รู้จักตัดปัญหาทั้งปวงให้หมดไป จงปรับปรุงร่างกายนี้ให้เป็นที่สถิตอยู่ของพระพุทธเจ้า เอ้า, พูดเลยไปอีกว่าจงทำร่างกายนี้ให้เป็นที่สิงสถิตอยู่ของพระสงฆ์ พระสงฆ์ ในที่นี้คือการประพฤติ กระทำตามกฎของธรรมชาติที่ถูกต้องนั่นเอง พระสงฆ์คือผู้ปฎิบัติถูกต้อง เมื่อร่างกายนี้เป็นที่สิงสถิต ของการปฏิบัติที่ถูกต้อง ร่างกายนี้ก็เป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ แล้วเป็นอยู่ เป็นที่อยู่ของพระธรรมคือกระทำถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ เป็นที่อยู่ของพระเจ้าก็คือกฎของธรรมชาตินั่นเอง เป็นที่อยู่ของพระพุทธเจ้า ก็คือว่าสติปัญญาที่เพียงพอ ที่เป็นแสงสว่างที่เพียงพอ พระเจ้าก็ดี แม้ผู้แทนพระเจ้าเช่น พระเยซูก็ดี ท่านเรียกตัวท่านเป็นแสงสว่างทั้งนั้นแหละ จงทำให้ร่างกายนี้เป็นที่สิงสถิตของแสงสว่าง แล้วแสงสว่างนั่นแหละคือพระพุทธเจ้า เป็นพุทธบริษัททั้งที ไม่รู้จักว่าพระพุทธเจ้า คือแสงสว่าง แล้วก็ ไม่รู้จะเอาหน้าไปซ่อนไว้ที่ไหนแหละ พุทธะแปลว่ารู้ รู้คือแสงสว่าง ตื่น คือไม่หลับ คือแสงสว่าง แล้วจึงเบิกบาน คำว่าพุทธะ พุทธะนี่ ยืมคำชาวบ้านมาเรียก คำว่า พุทธะ ถ้าเป็นภาษาชาวบ้านนั้น คำ ๆ นี้ แปลว่า ตื่นนอน พุทชติ หรือพุทธะ นี้ แปลว่าตื่นนอน ใครๆ มันก็ตื่นนอนเป็นกันทั้งนั้น เกิดมาในโลกนี้ ไอ้คำ ๆ นี้ ถูกยืมมาใช้ เป็นชื่อของบุคคลที่ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็แปลว่าผู้ตื่นนอนทาง spiritual มันก็รู้อะไรหมด ดังนั้น เมื่อใดเราทำให้ในร่างกายนี้ มันมีสติปัญญาอย่างนี้ มีการตื่นจากหลับคือกิเลสอย่างนี้ ร่างกายนี้ก็ เป็นที่สิงสถิต ของพระพุทธเจ้า เราอาจจะทำให้ร่างกายนี้เป็นที่สิงสถิต ของพระเจ้า ทำให้ร่างกายนี้เป็นที่สิงสถิตของพระพุทธเจ้า ของพระธรรม ของพระสงฆ์ แล้วจะเอาอย่างไร เดี๋ยวนี้เราใช้ร่างกายนี้อย่างเลวที่สุด ใช้เพื่อวัตถุแห่งกามารมณ์ ทำการทำงานขวนขวายอยู่ทุกอย่างนี้ เพื่อไปซื้อกามารมณ์มาสวมทับให้ร่างกายนี้ มันเป็นเรื่องบ้าหรือดี มันใช้ร่างกายนี้ถูกตรงตามความประสงค์ของธรรมชาติหรือหาไม่ ไอ้ตัวธรรมชาติ ตัวกฎของธรรมชาติ ตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ มันเป็นอย่างอื่นจากที่เรากำลังทำกันอยู่นั่น ไปตรวจสอบดูให้ดีไปชำระสะสางคุ้ยเขี่ยดูให้ดี ว่าเราไม่ได้ทำให้ถูกตรงตามไอ้เรื่องของธรรมชาติ ดังนั้น เราจึงได้รับผลตรงกันข้าม คือ เราร้อน เรามีความทุกข์ เราเพิ่มปัญหาขึ้นมามากมาย นี่เป็นใจความอย่างย่อที่สุด โดยคร่าว ๆ ว่า ไอ้ธรรมชาติโดย ๔ ความหมายนี้ มันเป็นอย่างนี้ เรารู้จัก ให้ถูกกันเสียก่อนเป็นความรู้พื้นฐาน เป็นหัวข้อ แล้วก็ค่อยศึกษาโดยรายละเอียด ซึ่งคงจะศึกษากันไปได้อีกนาน เอ้า, ย้อนมาทบทวนอีกที จะขยายความมากออกไปว่า ความหมายที่ ๑ คือ ตัวธรรมชาติ ธรรมะคือ ธรรมชาติ ธรรมะคือตัวธรรมชาติ นี้ก็คือเรื่องสภาวธรรมตามที่เป็นอยู่อย่างไร ของธาตุทั้ง ๖ ขอร้องว่าอย่า อย่าไปเห็นแก่เหน็ดเหนื่อย หรืออย่าเห็นว่าเป็นเรื่องคร่ำครึ โง่เง่าเต่าล้านปีเลย ช่วยไปศึกษาเรื่อง ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ ทั้ง ๖ ธาตุนี้ให้แจ่มแจ้งที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากตำรับตำราก่อน แล้วก็จากตัวจริง ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม นี่ได้ยินกันมาทุกคนจนก้องไปหมดแล้ว แต่ไม่รู้ว่าตัวจริงมันอยู่อย่างไรที่ตรงไหน ขอให้ตั้งต้นใหม่ ไปศึกษาใหม่ ธาตุดินในร่างกายนี้ คือ อยู่ที่ตรงไหน ธาตุน้ำอยู่ที่ตรงไหน มัน มันเป็นของที่ละเอียดนะ มันไม่ใช่เนื้อวัตถุนะ ธาตุ ธาตุนี่ไม่ใช่เนื้อวัตถุ แต่เป็นคุณสมบัติของวัตถุ เช่นสมมุติว่าเขามาป้ายเอาเนื้อ เนื้อของเราออกมาก้อนหนึ่ง เหมือนกับเอาไปแกง ในเนื้อก้อนนั้นมันเป็นอะไร ส่วนหนึ่งมันเป็นธาตุดิน คือส่วนที่เป็นเซลล์ เป็นไฟเบอร์ อะไรต่าง ๆ นี่ มันเป็นธาตุดิน คือคุณสมบัติกินเนื้อที่ ที่ในเนื้อก้อนนั้นนะ มันมีเลือดนะ มันมีน้ำนะ มันมีธาตุน้ำนะ ธาตุน้ำคือคุณสมบัติที่เกาะกุม เรียกว่า cohesion น้ำนั่นจะมีคุณสมบัติเกาะกุมตัวไม่ค่อยยอมแยก เมื่ออะไรมาทำให้แยก เพราะมันถูกบังคับให้แยก เสร็จแล้วมันก็จะพยายามที่จะเกาะกุม เราดูน้ำเถิดมันพยายามที่จะเข้าผสมเป็นก้อนเดียวกันอยู่เสมอ คุณสมบัติอันนี้เราเรียกว่าธาตุน้ำ ในเลือด ในหนอง ในน้ำเหลือง ในอะไรนี้ มันก็มี ในเนื้อก้อนนั้นมันก็มีธาตุน้ำ ทีนี้ในเนื้อก้อนนั้นมันก็มีธาตุไฟคืออุณหภูมิ ถ้ามันยังอยู่กับเราเป็น ๆ นี้ ๙๘ ฟาเรนไฮต์ ครึ่ง ๙๘ ครึ่ง ฟาเรนไฮต์ นี้ มันมีอยู่ มันมีอุณหภูมิอยู่เท่านั้นนั่นนะคือ ธาตุไฟ ทีนี้ เอ้อ, ตัดไปวางที่ตรงนั้นเดี๋ยวมันก็เย็นลง ตัดออกไปจากร่างกายแล้วอุณหภูมิก็ลดลงแต่มันก็ยังต้องมีอุณหภูมิ แม้เอาไปล้างน้ำไปใส่หม้อแกงแล้วมันก็ยังมีอุณหภูมิเหลืออยู่ เรื่องอุณหภูมินี่ต้องยอมรับว่า มันจะต่ำกว่าศูนย์หรือมันจะเหนือศูนย์ก็ตาม ยังเป็นอุณหภูมิอยู่นั่นเอง ลบศูนย์ ก็ยังเป็นอุณหภูมิของลบศูนย์ ลบสอง ลบ อะไรลงไปมันก็ยังมีอุณหภูมิ ดังนั้น ในเนื้อของเรานี้มีธาตุไฟด้วย ทีนี้มันมีอีกส่วนหนึ่ง ในก้อนเนื้อนั้นซึ่งระเหยได้ เคลื่อนลอยไปเป็นแก๊สก็เรียกว่าธาตุลม ให้ดูคำว่าธาตุให้เข้าใจอย่างนี้ เดี๋ยวจะเข้าใจว่า ไอ้เนื้อนี่เป็นธาตุดิน และเลือดเป็นธาตุน้ำ ไม่ถูก เอาเลือดมา ชามหนึ่ง เดี๋ยวเถิดก็จะพบว่าในเลือดนั้นมีธาตุดิน ส่วนที่จับตัวเข้ม เข้มข้นเป็นธาตุดินขึ้นมา ในเลือดนั้นก็มีธาตุน้ำ คือ ส่วนเหลวใส ในเลือดนั้นมีอุณหภูมินั่นคือ ธาตุไฟ ในเลือดนั้นมีส่วนที่เป็นแก๊สระเหยอยู่ มันก็มีธาตุลม ดังนั้น จะชี้อะไรลงไป ที่อะไรโดยส่วนเดียวนั้นไม่ถูก มันต้องเอาที่ว่ามันมีคุณสมบัติอะไรอยู่ นี่เป็นตัวอย่างให้ท่านทั้งหลายไปศึกษาเรื่อง ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ดูให้ดีดี เพราะมันต้องมีคุณสมบัติอันนั้น และกำลังทำหน้าที่ของมันได้ มันจึงจะเป็นส่วนประกอบของสิ่งที่มีชีวิตได้ แล้วก็มีธาตุอากาศให้เป็นที่ฐานรองรับ คือ ธาตุว่าง มันต้องตั้งอยู่บนความว่าง ไม่มีความว่าง มันก็ไม่รู้จะตั้งอยู่บนอะไร มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้ มันต้องมีที่ว่างให้ตั้งอยู่ มันจึงจะตั้งอยู่ได้ทุก ๆ อณู ทุก ๆ ปรมาณู นี่ก็มีธาตุวิญญาณเข้ามาทำหน้าที่จะเรียกว่ามาจากอื่น หรือจะเกิดขึ้นในนั้นก็แล้วแต่จะเรียก อย่าไปเสียเวลาเถียงกันในข้อนี้ ยอมรับแต่เพียงว่า มันมีธาตุวิญญาณ คือ ความรู้สึกอะไรได้เข้ามาเกี่ยวข้อง และทำหน้าที่อยู่ใน ในร่างกายนั้น ในแขน ในขา ในมือ ในเท้า ในเนื้อ ในหนัง ใน มันมี เราก็มีธรรมชาติ ส่วนที่เป็นตัววัตถุ เป็นตัวสภาวธรรม ทีนี้ก็ดูว่ามันเป็นอย่างไรบ้าง มันมาตามกฎ มันอยู่ด้วยกฎ มันเป็นไปตามกฎ มันจะต้องเป็นต่อไปตามกฎ ดังนั้น มันจึงมีไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นลักษณะให้เห็นอยู่ในสิ่งเหล่านั้น เราก็ต้องรู้ออกไปถึงความจริงอันนี้ ดูตัวธรรมชาติทั้งหลายในภายในเรานี่ ให้ดีให้เข้าใจก่อน และก็เชื่อได้แหละว่าในร่างกายเพื่อนของเราก็เป็นอย่างนั้นแหละ แต่การที่เราจะไปดูร่างกายเพื่อนของเราก่อนนั้น มันไม่ถูก เรามาดูร่างกายของเราให้เห็นอย่างไร แล้วเราก็รู้ได้ว่า ในร่างกายของเพื่อนของเราก็เป็นอย่างนั้น ถ้าร่างกายของเราไม่น่ายึดถือเลย น่า น่าเฉย ๆ กันอยู่ดีกว่า ในร่างกายของเพื่อนก็เหมือนกัน แล้วเราจึงจะไปหลงรักอะไรไม่ได้ นี่เรียกว่ารู้จักตัวธรรมชาติ โดยแท้จริง โดยนัยยะต่าง ๆ ยังมีอีกมาก นี่ยกมาเป็นตัวอย่าง ขอให้รู้จักตัวธรรมชาติ ดังนั้น แล้วก็มารู้จักไอ้ที่มันเป็น กฎของธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนานั้นก็คือ กฎเรื่อง อิทัปปัจจยตา ฟังดูแล้วมันชวนง่วง มันดูคร่ำครึ เต่าล้านปี อิทัปปัจจยตา ตัวหนังสือแปลว่า มีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้ก็เกิดขึ้น มีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้ก็เกิดขึ้น มีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้ก็เกิดขึ้น นี่คือ กฎวิทยาศาสตร์ของสากลจักรวาล ในกฎของธรรมชาติ กฎของวิวัฒนาการ อะไรก็ตามเพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัยสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เราไปสรุปสุดกันตรงที่ว่า ปฐมเหตุ คือ พระเจ้า หรือ คือ กฎธรรมชาติก็ได้ มันมีปฐมเหตุ มีสิ่งนี้เป็นปัจจัย มีปฐมเหตุเป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น และสิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้นก็เป็นเหตุให้เกิดสิ่งอื่นต่อไป แล้วเป็นเหตุให้เกิดสิ่งอื่นต่อไป เนื่องกันเป็นสายอย่างนี้เรียกว่ากฎอิทัปปัจจยตา ดูให้เห็นความเป็นอย่างนี้ในทุกสิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ในตัวเอง ตัวเราเอง ในตัวเราเองก็มีมากเรื่อง แล้วเราเลือกเอาแต่เรื่องที่สำคัญที่สุด คือเรื่องความทุกข์จะเกิดขึ้นอย่างไร ความทุกข์จะดับไปอย่างไร กฎที่เราต้องรู้ ต้องเรียนนี้มีมาก มากเรื่อง มากกฎ แม้แต่ตัวเราคนเดียวนะ เราก็เอาแต่กฎที่จำเป็นที่สุดก่อน คือ กฎเรื่องอิทัปปัจจยตา มันก็ไม่ยากนักที่จะเข้าใจได้โดยวิถีทางวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องงมงาย เอาตามสูตร สูตรหรือ formular ที่มันมีอยู่ สูตรนี้สำคัญมากนะ จนถึงกับว่าพระพุทธเจ้า ตรัสรู้แล้ว ตอนหลัง ๆ มา ท่านยังเอามาท่องนะ ท่องสูตรนี้เหมือนกับเด็กท่องสูตรคูณ ว่า จักขุ จ ปฏิ จ รูปเป จ อุปปัชชติ วิญญาณัง ติณณัง ธัมมานัง สังฆติ ผัสโส ผัสสปัจจยา เวทนา เวทนาปัจจยา ตัณหา ตัณหาปัจจยา อุปาทานัง อุปาทานปัจจยา ภโว ภวปัจจยา ชาติ ชาติปัจจยา ชรามรณะ โสกปริเทวะ เรื่อยไปจนทุกข์ทั้งปวง ท่าน ท่านนั่งท่องหรือนั่งสาธยาย เหมือนกับคนที่ชอบร้องเพลง ก็ต้องร้องเพลงอะไรอยู่เสมอนี่ ทีนี้ภิกษุองค์หนึ่ง แอบมาข้างหลังท่าน มา มาแอบฟังอยู่อย่างนั้น จนพระพุทธเจ้าท่านเหลียวไปเห็นเข้า เอ้า, นี่แกมาอยู่นี่ เอ้า, เอาไป เอาไป นี่เอาไป นี่เอาไปเรียน นี่เอาไปศึกษา นี่เอาไปปฏิบัติ นี่เป็นอาทิพรหมจรรย์ อาทิพรหมจรรย์ แปลว่า เบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ นี่เป็นจุดตั้งต้นแห่งพรหมจรรย์ แกจงรู้เรื่องนี้ แล้วแกจงปฏิบัติเรื่องนี้ แล้วพรหมจรรย์ก็จะเป็นไป จนถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์ คือ ดับทุกข์ได้ ไอ้สูตรนั้นที่ว่านั้น ถ้ามัน ถ้าแปลเป็นไทยก็ว่า อาศัยตาด้วย รูปที่มากระทบตาด้วย แล้วก็เกิดการเห็นทางตา นี่ข้อแรก ตาด้วย สิ่งที่มากระทบตาด้วย ก็เกิดการเห็นทางตา คือ จักษุวิญญาณนั่น จักขุ นี่ตา รูปะนี่รูป อาศัยกันแล้วก็เกิด จักขุวิญญาณัง คือ การเห็นทางตา ทีนี้ไอ้ ๓ อย่างนี้ ทำงานร่วมกันนะ คือ ตาด้วย รูปที่มากระทบตาด้วย จักขุวิญญาณด้วย ๓ อย่างนี้ทำงานร่วมกัน เรียกมันว่าผัสสะ ติณณัง ธัมมานัง สังฆติ ผัสโส เรียกว่าสัมผัส ผัสสะ ถ้าทางตา ก็เรียกว่าสัมผัสทางตา ทางหู ก็เรียกว่าสัมผัสทางหู มันก็มีผัสสะ เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงเกิดขึ้น ที่เรารู้สึกว่า อ้า, ชอบใจ หรือไม่ชอบใจ สบายหรือไม่สบาย สุขหรือทุกข์นี่ เรียกว่าเวทนา เพราะมีเวทนานี้เป็นปัจจัย ก็เกิดตัณหา คือ ความอยาก ในกรณีอย่างนี้หมายถึงความโง่ ครอบงำอยู่ อวิชชาครอบงำอยู่ เราจึงเกิดเวทนา ชนิดที่ทำให้เกิดความอยาก ถ้าวิชามาครอบงำอยู่ เวทนานั้นไม่ ไม่ทำให้เกิดความอยาก เดี๋ยวนี้ท่านพูดไปตามธรรมดาสามัญปุถุชน เมื่อเกิดเวทนาแล้วมันก็เกิดตัณหา คือ ความอยาก เช่น สบาย หอม นิ่มนวล หรืออะไรก็ตาม ถูกใจ นี่ก็เกิด ตัณหา อยากได้ อยากเอา อยากเป็น ถ้ามันเกิดไอ้เวทนาไม่ถูกใจ มันก็เกิดวิภวตัณหา อยากไม่เอา อยากไม่เป็น อยากทำลายเสีย เป็นต้น นี่เกิดตัณหา นี่เพราะตัณหานี้เป็นปัจจัย ทำให้เกิดอุปาทาน ความรู้สึกมีตัวตนขึ้นมา นี่ของแปลกอยู่ เพราะว่ามันเป็นเรื่อง มันเรื่องจริงของธรรมะ มันก็แปลก สำหรับชาวบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องโลก ตัณหาคือ ความอยาก รู้สึกอยู่ เป็นความอยากตามธรรมชาติ ไม่ต้องมีตัวตน มันรู้ มันเป็นมาตามกฎของธรรมชาติ เกิดความรู้สึกอยากอยู่ในใจ ถ้าความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว มันจะทำให้เกิดความรู้สึกอีกอันหนึ่ง ตามติดมาทีเดียว คือ รู้สึกว่าตัวฉันนะ ฉันผู้อยาก นี่เรียกว่าอุปาทาน ตัณหาคือความรู้สึกอยาก ทำให้เกิดอุปาทาน คือ มีความรู้สึกว่า ฉันอยาก มัน มันแปลกไหม คิดดูเถิด ผู้อยากนี่เพิ่งเกิดทีหลังความอยากนะ ไอ้เด็กๆ นักเรียนก็ต้องถือว่านี่ผิด logic อาจารย์พูด logic แล้ว เกิดตัวผู้อยากทีหลังความอยาก แล้วมันเอาอะไรมาอยาก นี่คือบอกให้รู้ว่า ไอ้ความอยากนั้นมันเป็นของจริง เกิดขึ้นในใจแล้ว มันจึงทำให้เกิดความรู้สึก ที่ลวง ที่หลอกลวงว่าฉันอยาก ตัวฉันจึงเป็นมายา หรือเป็นหลอกลวง เพิ่งเกิดมาเมื่อมีความอยาก อยากอย่างไรก็ตามเถิด มันจะเกิดความรู้สึกว่าฉันอยาก นี่เรียกว่าเกิดอุปาทานว่าตัวกู ว่าของกู ขึ้นมา เกิดมาจากความอยาก ผู้อยากเกิดขึ้นมาจากความอยาก มันผิด logic ทางภาษาวัตถุ ถ้าภาษาวัตถุมันต้องมีผู้อยาก หรือผู้ ผู้กระทำก่อน ที่มันจึงจะมีการกระทำ นี่มันมีการกระทำก่อนมีผู้กระทำ เพราะผู้กระทำนั้นเป็นเพียงมายาเท่านั้น รู้สึกอยาก แล้วก็รู้สึกว่าฉันอยาก อุปาทาน ก็มีตัวฉัน ตอนนี้มันก็จะเกิดความรู้สึกว่า มีความมีอยู่แห่งตัวฉัน ในรูปใดรูปหนึ่ง เรียกว่าภพ เป็นภพ ไม่ใช่ต้องตายแล้วไปเกิดในภพไหน ที่นั่นเดี่ยวนั้นแหละ มันมีความอยาก แล้วเกิดความรู้สึก ฉันผู้อยาก และฉันนั้นก็ต้องอยู่ในสภาพอย่างใดอย่างหนึ่งเรียกว่าภพ ถ้าความมีตัวฉันอย่างนี้สมบูรณ์แล้ว อย่างนี้ก็เรียกว่า ชาติ ชาติเต็มความหมาย คือ ตัวกูของกูเต็มความหมาย และตัวกูของกูก็จะรวบเอาไอ้ทุกอย่างที่มันเกี่ยวข้องอยู่นะ ว่าเป็นของกู เช่น ความเกิดของกู ความแก่ของกู ความตายของกู อะไร ๆ ก็ของกู ลูกเมียของกู บ้านเรือนของกู มันก็มี มีตัวกู เข้าไปเที่ยวควานคว้าเอามายึดถือ มันก็เล่นหนัก และเป็นทุกข์ เพราะสิ่งเหล่านั้น กระทั่งมันยึดว่าร่างกายนี้ของกู ชีวิตนี้ของกู อะไร ๆ ก็ของกู มันก็เลยมีความทุกข์ เพราะความยึดถือนั่นเอง นี่กฎอันนี้ไม่กี่คำเรียกว่า กฎอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท เป็นกฎเกี่ยวกับความทุกข์โดยตรง อาตมาบอกแล้วว่ามีกฎหลายกฎ หลายระบบนะ ระบบอื่นไม่ต้องสนใจหรอก สนใจแต่ระบบที่มันจะเป็นทุกข์นี่ แล้วอย่า อย่าให้มันเป็นทุกข์โดยทำให้มันตรงกันข้ามเสีย กลับให้ตรงกันข้ามเสีย เราก็ไม่มีทุกข์ นี่เรียกว่ากฎอิทัปปัจจยตา ขอร้องให้ศึกษาเรื่อยไปจนกว่า จะเข้าใจ และอย่าศึกษาจากหนังสือ ให้ศึกษาจากไอ้ของจริงที่มันมีอยู่ ตามนัยยะที่ว่ามาแล้ว ตาเห็นรูป เกิดการเห็นทางตา ๓ อย่างนี้ทำงานร่วมกัน เรียกว่า ผัสสะ มีผัสสะแล้วก็มีเวทนา มีเวทนาแล้วก็มีตัณหา มีตัณหาก็มีอุปาทาน มีอุปาทานแล้วก็มีภพ มีภพก็มีชาติ ตัวกูสมบูรณ์แล้วก็ควานเอาทุกสิ่งทุกอย่างมาเป็นตัวตน มาเป็นของตน แล้วก็ได้มีความทุกข์ ถ้าอย่าเกิดความรู้สึกว่าตัวตนของตนแล้วไม่มีอะไรทำให้เป็นความทุกข์ได้ ไม่มีอะไรในโลกที่จะทำให้เขามีความทุกข์ได้ เพราะว่าเขาไม่มีความรู้สึกว่า ตัวตนที่จะไปจับฉวยอะไรมาเป็นของตน เพราะฉะนั้นต้องเกิดตัวตนเสียก่อน มันจึงจะเป็นทุกข์ ทุกข์นี่มาจากไอ้ความยึดถือว่าตัวตน ความยึดถือว่าตัวตนนี้ก็มาจากตัณหา พูดอย่างอริยสัจ ก็ว่าเหตุให้เกิดทุกข์ คือ ตัณหา พูดอย่างนัยยะ ปฏิจจสมุปบาท ก็ว่าทุกข์นี่มาจากอุปาทาน ปัญจุปาทานนักขันธา ทุกขา ยึดถือไอ้ขันธ์ทั้ง ๕ นั่นแหละเป็นตัวทุกข์ นี่ในกรณีทางตาเป็นอย่างไร ในกรณีทางหูก็เป็นอย่างนั้น formular เดียวกันหมด ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางจิต มันเลยมีอยู่หก ๖ อายตนะ ที่เกิดความทุกข์ มีกฎเกณฑ์เดียวกัน เราศึกษาให้ดี เรื่องกฎของปฏิจจสมุปบาท นี่มันก็เป็น ทฤษฎี กฎทางทฤษฎี หรือค่อนข้างจะเป็น อ้า, อ้า, เป็นเรื่องของปรัชญา ที่ผู้ไม่รู้ผู้ไม่มองเห็นจะต้องใช้วิธีการทางปรัชญาช่วยคำนวณว่า มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ แต่เราไม่ต้องการให้ใช้วิถีทางปรัชญา เราต้องการให้ใช้วิถีทางวิทยาศาสตร์ ให้รู้สึกอยู่จริง ๆ เหมือนกับเราคลำด้วยมือ เห็นด้วยตาอย่างนี้ ตลอดสายของปฏิจจสมุปบาท ไม่ว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนี่ อย่าลืมว่าพระพุทธเจ้าท่านยืนยันว่าเรื่องนี้เรื่องเดียว เป็นอาทิพรหมจรรย์ เป็นจุดตั้งต้นของพระพุทธศาสนา นับตั้งแต่จะต้องเรียน จะต้องปฏิบัติ และก็จะต้องทำให้มันถึงที่สุด เป็นพระนิพพานขึ้นมา อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ ที่ร่างกายและจิตใจ ที่ยังเป็น ๆ เมื่อเรายังมีชีวิตเป็น ๆ อยู่ เราจะมองเห็นจากสัมผัสด้วยใจ ได้ว่ากฎของอิทัปปัจจยตานี่มีอยู่ ในนี้ เมื่อใดมีความเห็นแจ้งในกฎอิทัปปัจจยตา เมื่อนั้นเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาในเรา แปลว่าเราได้จัดให้ร่างกายของเรานี้ดีที่สุดแล้ว เป็นวิหารสำหรับพระพุทธเจ้าเข้ามาประทับแล้ว พระพุทธเจ้าเข้ามาประทับในวิหาร คือ ร่างกายของเรานี้แล้ว ก็แสดงธรรมเรื่อง ปฏิจจสมุปบาทอย่างแจ่มแจ้ง ขอให้ทุกคนใช้ร่างกายของตนให้เป็นวิหาร ที่สิงสถิตของพระเจ้าทุกรูปแบบ ดีกว่าไปใช้ในเรื่องกามารมณ์ ไม่ต้องอธิบาย ดีอย่างไรไม่ต้องอธิบาย ให้คุณรู้เอาเองบ้าง ใช้ร่างกายนี้ให้เป็นที่สิงสถิตของพระเจ้าทุกรูปแบบ อย่าเอาใช้เพื่อเป็นออฟฟิตของกามารมณ์ ที่ได้บอกมาแล้วว่า มันไม่มีแต่กฎอิทัปปัจจยตา มันยังมีกฎอื่น ๆ อีกมากมาย ที่เนื่องอยู่กับกายนี้ ภายในนี้ เพราะฉะนั้นจะยกตัวอย่างมาให้ฟังอีกสักกฎหนึ่ง ซึ่งสำคัญที่สุดอีกเหมือนกัน มันก็รูปแบบอิทัปปัจจยตา แต่ว่ามัน มันพูดชี้ให้เห็นได้อีกแง่หนึ่ง คือ เรื่องของกิเลส การเกิดแห่งกิเลส การสูญสิ้นไปแห่งกิเลส เมื่อตาเห็นรูป เป็นต้น มันเกิดผัสสะเกิดเวทนา สบายทางตา ถูกแก่ตา งามแก่ตา สวยแก่ตา เราก็เกิดความรัก ความพอใจ เพราะว่าเรายังโง่ เรายังไม่มีปัญญาพอที่ว่า นั่นมันสักว่าธรรมชาติ นั่นมันสักว่าความเห็นทางตา แต่เราไม่เห็นอย่างนั้น เราเห็นเป็นความงาม เป็นตัวตนอันสวยงาม เราก็รัก เพราะเราโง่ เราจึงหลงรัก นี่เรียกว่ากิเลส ประเภทโลภะ ราคะ โลภะ กิเลสประเภทรัก ประเภทจะเอา ประเภทจะกอดรัด ยึดถือเข้าไว้ ทีนี้ถ้าว่าไอ้สิ่งนั้นมันไม่ให้เกิดสุขเวทนา เช่นนั้น แต่มันเกิดทุกขเวทนา เราก็เกลียด เราก็โกรธ ก็เกิดกิเลส ประเภทโทสะ หรือโกรธะ อยากจะทำลายมันเสีย นี่กิเลสประเภทนี้ อยากจะทำลายมันเสีย กิเลสประเภทโกรธะ ทีนี้ถ้าว่า ไอ้สิ่งที่มากระทบนั้น มันไม่แน่ว่างามหรือไม่งาม สบายหรือไม่สบาย อร่อยหรือไม่อร่อย มันก็เกิดกิเลสประเภทที่ ๓ คือ โมหะ ยังไม่รู้จะเอาอย่างไรแน่ ได้แต่วนเวียน วนเวียนอยู่รอบ ๆ นั่นแหละ จะรักเข้าไปก็ไม่ไม่ ไม่รัก จะเกลียดก็ยังไม่เกลียดเสียเลย ก็ได้แต่วนเวียนวนเวียนอยู่ ด้วยความฉงน สงสัย ทึ่ง สนเท่ห์ ลังเล นี่โมหะ ประเภทโมหะ ช่วยจำว่า โลภะ โทสะ โมหะ กิเลส ๓ ประเภทนี้ เกิดขึ้นมาอย่างนี้ หรือจะมองกัน อีกทางหนึ่งว่า มันมีความยืดถือตัวตน แล้วมันก็อยากได้ ก็เกิดกิเลสประเภทโลภะ ที่อยากแล้วไม่ได้ ตามที่อยาก ก็เกิดกิเลสประเภทโทสะ ถ้ามันไม่รู้ว่าเป็นอะไรแน่ มันก็มีโมหะ ที่จะวนเวียนติดตามอยู่ เราก็เกิดกิเลส เอ้า, ฝนไล่แล้วนี่ แล้วก็เกิดกิเลส นี่เรียกว่าเกิดกิเลสนะ ช่วยจำให้ดี ๆ ว่า เกิดกิเลสนะ เป็นจุดแรกที่เกิดกิเลส ทีนี้พอเกิดกิเลสครั้งหนึ่ง มันจะเกิดความเคยชินของกิเลสครั้งหนึ่งด้วย เรารักเข้าทีหนึ่ง มันจะเกิดความเคยชิน สำหรับจะรักหน่วยหนึ่งด้วยเหมือนกัน เราไปเกิดโกรธเข้าทีหนึ่ง มันจะเกิดความเคยชิน สำหรับจะโกรธหน่วยหนึ่ง เกิดโง่ทีหนึ่ง ก็จะเกิดความเคยชินสำหรับจะโง่หน่วยหนึ่ง ความเคยชินเหล่านี้ อ้า, ไม่ใช่ตัวกิเลส แต่เป็นความเคยชิน ที่จะเกิดกิเลส เราเรียกว่า อนุสัย กิเลสเกิดทีหนึ่ง จะสร้างอนุสัยไว้หน่วยหนึ่ง กิเลสเกิดทีหนึ่ง จะสร้างอนุสัยไว้หน่วยหนึ่ง ไม่ว่ากิเลสตัวไหนนะ มันเกิดแล้วมันจะสร้างอนุสัย แปลว่า นอนตามอยู่ คือ ความเคยชิน นอนตามอยู่ในสันดาน แล้วมันก็จะเกิดหมักหมม แห่งความเคยชิน หมักหมมแห่งความเคยชิน มากเข้า มากเข้า เราเรียกว่าอาสวะ ชื่อเปลี่ยนเป็นอาสวะ แปลว่า หมักดอง หมักหมม reformenting หมักหมม หมักหมม จะปูดออกมา จะไหลออกมาเป็นกิเลสอีก นี่อาสวะ ดังนั้น เราต้องระวังอย่าให้เกิดกิเลส เพราะว่าเกิดกิเลสแล้ว จะเกิดอนุสัยความเคยชินแห่งกิเลส สะสมมากเข้า จะเป็นอาสวะจะดันปรี่ออกมาตามรูรั่ว เพื่อเกิดกิเลสใหม่อีก ฉะนั้น ถ้าจะ จะดับอาสวะ ก็ต้องกั้นอย่าให้เกิดอนุสัย คือ นิสัยแห่งความเลว นิสัยแห่งความเคยชิน เรียกว่าอนุสัย อย่าให้เกิดกิเลสก็ไม่เกิดอนุสัย ไม่มีอนุสัยก็ไม่มีอาสวะ ก็ไม่มีกิเลสอีกต่อไป นี่เป็นกฎอย่างนี้ ทำดีก็เหมือนกัน เราทำดีไม่มีกิเลส อดกลั้นกิเลสไว้ได้ครั้งหนึ่ง มันจะมีบารมีขึ้นมาหน่วยหนึ่ง ที่จะไม่เกิดกิเลส ทุก ๆ คราวที่เราไม่ให้เกิดกิเลส จะมีบารมีขึ้นมาหน่วยหนึ่ง สำหรับที่จะไม่มีกิเลส มากเข้า มากเข้า กิเลสก็ไม่มีโอกาสจะเกิดอีกต่อไปเรื่องมันก็จบกัน นี่ขอให้จำไว้เป็นหลักสำหรับประพฤติ ว่ามันมีกฎแห่งการเกิดและการไม่เกิดกิเลสอย่างนี้ เป็นอันว่า เป็นกฎของธรรมชาติ เป็นพระเจ้าผู้มีอำนาจสูงสุดอยู่ที่นี่ เราจงต้อนรับท่านให้ดี ทำร่างกายนี้ให้มีความเหมาะสม ที่ท่านจะเป็นประโยชน์แก่เรา เอาละเป็นอันว่าเราพูดได้เพียงเท่านี้ เพราะว่าฝนไล่เราแล้ว เราก็ต้องเลิก อาตมาขอยุติการบรรยายครั้งนี้ไว้เพียงเท่านี้