แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ อาตมาภาพจะได้วิสัชนาในพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายที่เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนานี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษเนื่องในมาฆบูชาดังที่ท่านทั้งหลายก็พอจะทราบได้อยู่เองแล้ว ในโอกาสเช่นนี้มีการแสดงธรรมเทศนาอันวัตร (นาทีที่ 02:30) แก่เหตุการณ์ ตามที่เห็นว่าควรจะนำมาแสดงอย่างไร อาตมามีความตั้งใจว่าเราจะพูดกันถึงเรื่องของความสำคัญในความหมายของวันวันนี้ วันวันนี้เป็นวันอะไร วันนี้เป็นวันมาฆบูชา คือวันของพระสงฆ์ วิสาขบูชาเป็นวันพระพุทธเจ้า เราก็ควรจะพูดกันถึงเรื่องพระพุทธเจ้า วันอาสาฬหบูชาเป็นวันของพระธรรมเราก็ควรจะพูดกันถึงเรื่องพระธรรม วันมาฆบูชาเป็นวันของพระสงฆ์ เราก็จะพูดกันถึงเรื่องของพระสงฆ์ จะโดยเหตุที่พระสงฆ์ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งมาฆบูชานี้เป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น เราจึงควรจะพูดกันถึงเรื่องพระอรหันต์ซึ่งเป็นยอดสุดของพระสงฆ์ คำว่าพระสงฆ์สึ่คู่ แปดพระองค์ ซึ่งเรียกว่าอริยสงฆ์นั่นก็มีโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามีมรรถ สกิทาคามีผล อนาคามีมรรค อนาคามีผล อรหัตมรรค อรหัตผล คู่สุดท้ายที่เรียกว่าพระอรหันต์ เป็นพระสงฆ์สี่คู่ แปดพระองค์ ถ้านอกไปจากนี้นิยมเรียกกันว่า สมมติสงฆ์ คือผู้ที่จะต้องสงเคราะห์ไปในพระสงฆ์ ได้แก่ผู้ที่กำลังปฏิบัติ เพื่อบรรลุมรรคผลนั่นเอง ผู้ใดปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเพื่อการบรรลุมรรคผลนั้นๆ ก็ด้ชื่อว่าพระสงฆ์ด้วยเหมือนกัน ขยายความลงมาถึง แม้แต่จะเป็นฆราวาสก็ได้ เพราะว่าฆราวาสที่เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามีก็ยังมี ฆราวาสที่กำลังปฏิบัติเพื่อความเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี นี้ก็ยังมี จึงนับเนื่องอยู่ในหมู่สงฆ์ วันนี้เป็นวันพระสงฆ์ เราก็พูดอะไรที่เนื่องกันอยู่กับพระสงฆ์ จะโดยเหตุที่พระสงฆ์ที่เนื่องด้วยมาฆบูชา ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ดังที่กล่าวแล้ว จึงตั้งใจว่าเราจะพูดกันถึงเรื่องของพระอรหันต์ เมื่อเข้าใจเรื่องของพระอรหันต์แล้วก็ลดหย่อนลงมาได้โดยลำดับ จนเป็นพระสงฆ์ที่ต่ำกว่าตามความพอใจของตน ขอให้คิดดูเถอะว่า ถ้าเรื่องของพระอรหันต์ยังเป็นที่มืดมัวไม่เป็นที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งของพุทธบริษัท ก็จะเป็นพุทธบริษัทกันอย่างไร ประชาชนธรรมดาทั่วไปก็รู้จักพระอรหันต์แต่ชื่อ นักศึกษาแม้ในระดับมหาวิทยาลัย ก็มีอยู่เป็นอันมากที่รู้จักพระอรหันต์สักแต่ว่าชื่อ ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบอะไรกันนัก นับว่าเป็นจุดที่บกพร่อง ไม่น่าพอใจเลยของพวกเราชาวพุทธบริษัท เราควรจะพยายามกันเรื่อยไปให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องอันเกี่ยวกับพระอรหันต์ให้มากขึ้น มากขึ้น จนเป็นที่พอใจว่าเราได้รู้เรื่องของพระอรหันต์อย่างแจ่มแจ้ง สามารถที่จะปฏิบัติไปตามทางสายนั้นได้ด้วยความแน่ใจ แม้ว่าบัดนี้จะยังไม่ลุถึง ก็ถือไว้เป็นเรื่องในเวลาต่อไป เป็นอันว่าเดี๋ยวนี้ก็กำลังตามรอยของพระอรหันต์นั้นอยู่ แม้ที่สุดแต่บทปัจจเวกของอุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายอันเกี่ยวด้วยองค์อุโบสถ แต่ละบทละบทนั้นก็มีการกล่าวถึงการทำตามพระอรหันต์ ด้วยองค์แห่งอุโบสถนั้นๆ เมื่อเช้านี้ก็ยังได้ยินสวดอยู่ จะทำตามพระอรหันต์กันแต่เพียงว่าสวดแล้วก็ไม่รู้ความหมายนี้ มันก็เป็นที่น่าเวทนา ถ้าอย่างไรก็จะเอามาพิจารณา พูดจากันเสียให้ละเอียดในคราวนี้ ในชั้นแรกนี้ก็จะกล่าวถึง พระอรหันต์โดยตรงก่อน ว่าท่านเป็นอย่างไร เราจะใช้คำไหนมาพูดจากัน หัวข้อที่ยกขึ้นไว้เบื้องต้นนั้นเป็นธรรมะที่ลึกซึ้ง ใช้คำเรียกพระอรหันต์ว่า ผู้มิได้ตั้งอยู่ คือพระบาลีที่เรียกว่า อัตถังคะ อัตถังคะเป็นภาษาบาลีแปลว่ามิได้ตั้งอยู่ ที่เป็นภาษาสันสกฤต แล้วก็มาเป็นภาษาไทยก็คือคำว่า อัสดง เมื่อพูดว่าอัสดง หลายคนก็เข้าใจว่าหมายถึงอะไร อย่างน้อยที่สุดก็พูดเป็นว่าพระอาทิตย์อัสดง พระอาทิตย์กำลังจะลับหายไป อัสดงนั้นแปลว่ามิได้ตั้งอยู่ ในพระบาลีเรียกพระอรหันต์ว่า ผู้มิได้ตั้งอยู่ พระบาลีนั้นก็มีเต็มรูปว่า อัตถังคะตัสสะ นะปะมาทะนัตถิ ประมาณมิได้มีแก่ผู้ที่มิได้ตั้งอยู่ พระอรหันต์มิได้ตั้งอยู่นี่หมายความว่ามันดับไป ดับกันอย่างไร ที่เรียกว่าดับในที่นี้ และมิได้ตั้งอยู่นั้น มิได้ตั้งอยู่อย่างไร ทีนี้ขอให้เข้าใจเพราะว่ามันเป็นใจความพิเศษ มิได้ตั้งอยู่แต่ก็มิได้ตาย มิได้ตายไม่ได้หมายความว่าท่านตาย และใช้คำว่าท่านมิได้ตั้งอยู่ ดับไปโดยที่ไม่ต้องตาย ดับไปแห่งกิเลส ดับไปแห่งตัวตน ดับไปแห่งความยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวมีตน มิได้สำคัญว่ามีตนที่ตั้งอยู่ เลยเรียกท่านว่าผู้มิได้ตั้งอยู่ เพราะว่าจิตได้เข้าใจแจ่มแจ้งในความหลอกลวงของการตั้งอยู่แห่งตัวกู ที่เรารู้สึกกันว่าเรามีอยู่ เรายังไม่ตาย นี่เรารู้สึกว่าเราตั้งอยู่ เรามีอยู่ แต่พระอรหันต์ท่านไม่ได้มีความรู้สึกอย่างนั้น ไม่ได้มีความรู้สึกว่าตัวเราตั้งอยู่ หรือเป็นอยู่ เพราะมองเห็นขันธ์ธาตุอายตนะเหล่านั้น โดยความที่เป็นอนัตตา มิใช่ตัวตน จึงว่างจากตัวตน จึงว่างจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้น นี่คือความที่มิได้ตั้งอยู่ ส่วนพวกปุถุชนธรรมดาสามัญทั่วไปก็มีความรู้สึกว่า มีตัวฉัน มีตัวเรา มีตัวกูตั้งอยู่ ท่านก็เอาไปคิดกันเอาเองว่าถ้าเรามีความรู้สึกตั้งอยู่ มีอยู่แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น มันก็จะเกิดของกู ของฉัน ของตนขึ้นมา ก็เลยยุ่งกันใหญ่ มีตัวตนคนเดียวมันก็ยุ่งมากพออยู่แล้ว มันจะเจ็บมันจะไข้ มันจะเป็นมันจะตาย มันจะได้มันจะเสีย มันยุ่งไปหมด แล้วก็ยังมีของตนเข้ามาอีก สำหรับจะแก่จะไข้ จะได้จะเสีย จะเป็นจะตาย ทุกอย่างไปเนี่ยมันยุ่ง ถ้าอยากจะรู้จักพระอรหันต์ ก็รู้จักตัวเองว่ามันเป็นอย่างไรที่มันกำลังยุ่งใจ กำลังทุกข์ทรมานเพราะการมีอยู่แห่งตัวกูของกู ทีนี้ก็คำนวณเอาเองก็แล้วกันว่าถ้าความยุ่งเหล่านี้มันหมดไปมันจะเป็นอย่างไร มันจะสบายสักเท่าไร เนี่ยคือหนทางที่เราจะรู้จักพระอรหันต์ได้ว่าท่านเป็นอย่างไร ด้วยการเทียบดูกับสิ่งที่มันตรงกันข้าม คือตัวเราที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ทีนี้ใจความเกี่ยวกับประโยคประโยคนี้ยังมีต่อไปว่า ประมาณมิได้มีแก่ผู้ที่มิได้ตั้งอยู่ เมื่อมิได้ตั้งอยู่ไม่มีตัวกูมันว่างไปหมดแล้ว ประมาณอะไรมันจะมีแก่บุคคลนั้นได้ ประมาณในที่นี้หมายถึงเครื่องนับ เครื่องกำหนดหรือเครื่องวัด ว่ามันใหญ่โต กว้างยาว หนาบางเท่านั้นเท่านี้ ว่ามันสีขาวสีเขียวสีแดงสีดำว่ามันเป็นหญิงว่ามันเป็นชาย ว่ามันสูงว่ามันต่ำ ว่ามันดีว่ามันชั่ว ทุกอย่างที่เป็นเครื่องกำหนดนี้เรียกว่าประมาณ นี้ประมาณทั้งหมดนี้ไม่มีแก่บุคคลที่มิได้ตั้งอยู่ ที่มิได้มีแก่พระอรหันต์นั่นเอง เราลองเทียบกับเราดูว่าเรายังติดอยู่ในประมาณ คนธรรมดาสามัญติดอยู่ในประมาณ ว่าฉันเป็นอย่างนั้นฉันเป็นอย่างนี้ ฉันมีนั่นฉันมีนี่ คนนั้นไม่มี คนนั้นดีกว่าคนนั้นเลวกว่า คนนั้นเสมอกันมันยุ่งไปหมด นั่นหล่ะคือคนที่มีประมาณ ประมาณมันยังใช้ได้กันอยู่กับคนธรรมดาสามัญเช่นนั้น ส่วนประมาณชนิดนี้ไม่ได้มีแก่ผู่ที่มิได้ตั้งอยู่คือเป็นพระอรหันต์ อยู่เหนือประมาณ ที่ไม่เอาอะไรไปวัดท่านได้ ไปกำหนดท่านได้ ไปให้ความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งได้ นี่เป็นข้อแรก ข้อต่อไปว่า เยเนวันนัง วัตชุตังตัสสะนัตถิ คนเราจะกล่าว หากคนใดด้วยประมาณใด ประมาณอันเป็นเครื่องกล่าวนั้นก็มิได้มีแต่บุคคลที่มิได้ตั้งอยู่ เราอาศัยอะไรเป็นต้นเหตุที่ทำให้เรากล่าวคนนั้นคนนี้ว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เหตุอันนี้ไม่มีสำหรับที่จะกล่าวแก่พระอรหันต์ได้ว่าท่านเป็นอย่างไร นี่แหละมันคงจะเข้าใจยากลำบาก ว่าท่านอยู่ในลักษณะอย่างไร จึงเราไม่สามารถใช้คำพูดใดๆกล่าวได้ว่าท่านเป็นอย่างไร ยิ่งถ้ากล่าวโดยความหมายอันลึกซึ้ง โดยสภาวะแห่งจิตใจ คุณสมบัติเฉพาะของพระอรหันต์แล้ว ไม่มีคำพูดใดๆ ที่จะกล่าวท่านได้ว่าเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้เราก็กล่าวท่านว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านเป็นผู้หมดกิเลสอาสวะ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นี่มันก็เป็นเรื่องกล่าวตามภาษาของคน คนมันอยากกล่าวมันก็กล่าวได้ แต่โดยเนื้อแท้แล้วมันไม่ควรจะกล่าวว่าอะไรหมด สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจ ถ้าเข้าใจก็เข้าใจ นี่อาตมาก็ต้องพูดอย่างนี้ ว่าหลักเกณฑ์บัญญัติอัตราประมาณอะไรต่างๆ ที่จะให้ใช้กล่าวคนนั้นคนนี้ว่าเป็นอย่างนั้นว่าเป็นอย่างนี้ได้นั้น กำหนดกฎเกณฑ์อะไรต่างๆเหล่านั้น มันใช้ไม่ได้กับพระอรหันต์ ที่ถูกไม่ควรกล่าวท่านว่าเป็นอย่างไร เรียกชื่อว่าพระอรหันต์ก็เรียกว่าเป็นเรื่องสมมุติ บัญญัติว่าเราบัญญัติคนอย่างนี้ว่าเป็นพระอรหันต์ เพื่อจะใช้ให้พูดจากันได้ ถ้าไม่บัญญัติอะไรขึ้นเลยมันก็พูดจากันไม่ได้ กำหนดกฎเกณฑ์บัญญัติเหล่านี้ ใช้ได้แก่คนที่ยังมีกิเลสเป็นเหตุให้ยึดถือในบัญญัติและกฎเกณฑ์นั้นเอง ทีนี้พระอรหันต์ท่านไม่เป็นอย่างนั้น ท่านถอนความยึดมั่น หรือถอนความมั่นหมายสำคัญ ความมั่นหมายในสิ่งใดๆ ทั้งปวงหมด ยังมีคำกล่าวว่า สัพเพสุธัมเมสุสโมหเตสุ สมุหตาวาภิถาหสัพเพ เมื่อธรรมทั้งหลายทั้งปวงถูกถอนเสียแล้ว ระเบียบแห่งถ้อยคำที่จะพูดว่าอย่างไรก็ต้องถูกถอนไปด้วย หมายความว่าพระอรหันต์ท่านถอนความสำคัญมั่นหมายในรูปธรรม ในนามธรรม ในทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นสังขารเป็นวิสังขารหรือเป็นอะไรก็ไม่ยกเว้น ท่านถอนความสำคัญมั่นหมายในสิ่งเหล่านั้นได้ ธรรมเหล่านั้นถูกถอนแล้ว ถ้อยคำสำหรับจะเรียกจะพูดจะจา ก็เป็นอันว่าพลอยถูกถอนไปด้วย ไม่มีความถูกต้องที่จะบัญญัติ หรือว่ากำหนดหรือว่าพูดจาว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นี่แหละข้อแรกที่อาตมานำมาแสดงให้ท่านทั้งหลายฟัง ด้วยจะรู้จักว่าพระอรหันต์นั้นเป็นอย่างไร คือภาวะของพระอรหันต์นั้นมันไปไกลจนอยู่เหนือการที่จะบัญญัติว่าเป็นอะไร แต่เราก็ยังบัญญัติท่านว่าเป็นพระอรหันต์ ทั้งที่แท้นั้น ท่านไม่มีความเป็นอะไร ไม่มีความยึดมั่นโดยความเป็นอะไรหรือมีอะไร อยากรู้จักพระอรหันต์ก็รู้จักความโง่เง่าของตัวเอง รู้จักความยึดมั่นถือมั่นของตัวเอง ที่ต้องหนักอกหนักใจอยู่ตลอดเวลานั่นเสียก่อน และก็ถ้าว่าถอนสิ่งเหล่านั้นมันเสียได้มันจะเป็นอย่างไร นี่ก็จะเข้าใจหรือรู้จักพระอรหันต์ เป็นจุดตั้งต้นเพิ่มขึ้นมานิดหนึ่ง ทีนี้บทต่อไปที่ใช้เรียกพระอรหันต์ก็คือบทว่า โอหิตภาโร โอหิตภาโรแปลว่ามีของหนักที่ลง ลงไปเสียได้แล้ว ของหนักในที่นี้ได้แก่เบญจขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นคนคนนึงนึง นี้เรียกว่าเบญจขันธ์ เบญจขันธ์นี่แหละคือของหนัก เพราะว่าจิตใจของคนปุถุชนธรรมดาสามัญนั้น ยึดมั่นเบญจขันธ์เหล่านี้ว่าเป็นตัวตน ยึดมั่นก็คือยึดถือไว้ด้วยจิตใจ คือแบก หาบ หาม อะไรไว้ด้วยจิตใจ เบญจขันธ์ก็เลยกลายเป็นของหนักแก่บุคคลนั้น คือเราทุกคนที่ยังเป็นปุถุชน ยึดถือเบญจขันธ์ว่าเป็นของตน มันจึงเหมือนกับคนหาบของหนักๆ หาบก้อนหิน หาบท่อนไม้ หาบอะไรก็ตามที่ล้วนแต่หนักๆ เพราะด้วยความรักด้วยความยึดถือปล่อยไม่ได้ ปล่อยวางไม่ได้ มีแต่จะไปยึดถือเอาของที่หนักยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ยังเด็กๆ อยู่ก็ยังไม่ยึดถืออะไรนัก ยึดถือของที่ไม่สู้จะหนักนัก พอเป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้นมาความบ้าของมัน ก็ทำให้ชอบแบกของที่หนักไปกว่านั้น พอเป็นพ่อบ้านแม่เรือนมันก็ยิ่งบ้ามากขึ้นไปอีก ไปยึดถือเอาของหนักอย่างอื่นเพิ่มขึ้นเข้าไปอีก เรียนให้มันหนักยิ่งขึ้นหนักยิ่งขี้นนี่เรียกว่าทุกคนมันแบกของหนัก หากพระอรหันต์คือผู้ที่เหวี่ยงของหนักทิ้งลงไปเสียได้แล้ว เพราะรู้ตามที่เป็นจริงว่าเบญจขันธ์เป็นอย่างไร จึงไม่ยึดถือเบญจขันธ์นั้นโดยความเป็นตัวเป็นตนไว้อีกต่อไปเรียกว่าเป็นผู้มีของหนักมีภาระหนักอันปลงลงได้แล้ว ถ้าใครอยากจะรู้จักพระอรหันต์ก็รู้จักตัวเองที่กำลังแบกของหนักอยู่นี่เสียก่อน รู้จักให้จริงๆ ว่าเรามันแบกของหนักอะไรเท่าไร ให้มันเห็นว่าหนักจริงๆ แบกลูกแบกเมียแบกผัว แบกสมบัติพัสถาน วัวควายไร่นาขึ้นมาอยู่บนศีรษะทั้งนั้น ทุกๆอย่างเก็บใส่ไว้ในกระบาล ขออภัยพูดจามันหยาบคายมากไปแล้ว ถ้าไม่อย่างนั้นมันไม่แสดงความหมายคำว่าหนักได้ อะไรๆ ก็เก็บมาใส่ไว้ในกระบาล แล้วมันหนักเท่าไหร่ อย่าคำนวณด้วยคำที่อาตมาพูด ไปรู้จักไอ้ตัวจริงของตัวเองที่อะไรมันหนักอยู่ในจิตใจเท่าไหร่ มันหนักจริงๆ มันหนักอย่างไร มันหนักเท่าไร แล้วคำนวณกลับว่าสิ่งเหล่านี้ถ้ามันหมดไปไม่มีเหลือมันจะเบาสบายสักเท่าไรเนี่ยเป็นเหตุให้รู้จักพระอรหันต์ เป็นผู้ที่มีของหนักอันปลงลงได้แล้ว และก็ไม่จับฉวยเอาของหนักอันอื่นขึ้นมาอีกจึงเป็นผู้พ้นไปจากความทุกข์เพราะความเป็นของหนัก การที่จะบรรลุธรรมะในขั้นสูงอย่างนี้ มันก็ต้องรู้จักสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง คือเห็นว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง ถ้ายังไม่รู้ก็ไปจับ คือไปยึดมั่นน่ะสิ่งทั้งปวงเอามาไว้เป็นของตน อย่างนี้เรียกว่าเอามาแบกไว้ถือไว้โดยความเป็นของหนัก ถ้าว่าคนมองเห็นว่าเบญจขันธ์เป็นของหนักก็เกิดคลายความยึดถือที่เคยยึดถือมาแต่ก่อน ว่าร่างกายนี้ของกู เวทนาของกู สัญญาของกู สังขารของกู วิญญาณของกู เดี๋ยวนี้มาเห็นว่ารูปนี้ก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา เวทนานี้ก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สัญญานี้ก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สังขารวิญญาณนี้ก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา รู้สึกด้วยใจจริง ว่ามันเป็นของมายา ไม่เที่ยง เอาอะไรกับมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไปยึดถือเข้ามันก็หนักเป็นทุกข์ ดังนั้นจึงถือว่ามันไม่ใช่ตัวตน อะไรที่เราควรจะยึดถือว่าเป็นตัวตน แม้เป็นตัวตนของมันเองก็ไม่ได้เพราะมันเปลี่ยนอยู่เสมอไป พอเห็นว่าเบญจขันธ์ทั้งห้าเป็นอย่างนี้แล้วก็เริ่มเบื่อหน่ายต่อเบญจขันธ์ที่เคยยึดถือมาแต่ก่อน เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายความยึดถือ เรารักอะไรเรากอดรัดไว้ พอเห็นว่ามันเป็นพิษเป็นมายาก็เบื่อหน่ายก็คลายความยึดถือ เมื่อคลายความยึดถือมันก็หลุดออกไป ไอ้ตัวตนนั้นมันก็หลุดออกไปจากความยึดถือ จิตที่เคยยึดถือด้วยความเป็นตัวตนมันก็ปล่อยสิ่งนั้นออกไป ไม่มีตัวตน ไม่มีความรู้สึกว่าตัวตนอยู่ในความรู้สึกอีกต่อไป ท่านใช้คำตอนนี้ว่า ชาติตัดสิ้นแล้ว ชาติสิ้นแล้ว ไม่เกิด ไม่เกิดชาติใดๆขึ้นแล้ว ไม่เกิดตัวกู ของกูอีกแล้ว เรียกว่าชาติสิ้นแล้ว แต่คนก็ไม่ต้องตาย ชาติสิ้นแล้ว คนไม่ต้องตาย มันรู้ความจริงว่ามันไม่ได้มีตัวตนที่เกิดอยู่หรือเกิดขึ้นหรือจะเป็นไป ความเกิดแห่งตัวตนสิ้นสุดหยุดกันลงเพียงเท่านี้ นี่ก็เรียกว่าชาติสิ้นแล้ว เรื่องที่จะเป็นพระอรหันต์นั้นจะต้องมีความรู้สึกตามลำดับจนถึงกับว่าชาติสิ้นแล้ว ความเกิดสิ้นสุดแล้ว คำต่อเนื่องกันไปอีกว่า ยุสิตัง พรหมมังจริยัง (นาทีที่ 27.49)พรหมจรรย์ จบแล้ว การประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสูงสุดแห่งความเป็นมนุษย์นี้จบแล้ว สิ้นเพียงเท่านี้แล้ว กตังกรณียัง สิ่งที่มนุษย์ควรจะทำนั้นทำเสร็จแล้ว ไม่เหลือไว้ให้ทำอีกต่อไป นาปารังอิตทัตตายะ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มีอีกแล้ว นี่คือมันจบสุดของการประพฤติของมนุษย์เพื่อปฏิบัติเพื่อความสูงสุดมาจบลงเพียงเท่านี้คือที่ความเป็นพระอรหันต์นั่นเอง เรายังอยากดี เรายังรู้สึกว่ายังมีอะไรอีกมากที่จะต้องทำต่อไปจนไม่แน่ใจว่าจะต้องตายกี่ชาติกี่ชาติถึงจะทำได้เสร็จ แต่มันก็ยังอยากจะทำต่อไป เรื่องของพระอรหันต์มันจบ เรื่องที่ต้องทำมันจบ สิ่งที่ต้องทำมันสิ้น ที่จะต้องทำเพื่อความเป็นมนุษย์ พูดถึงที่สุดว่ามันจบแล้วเพราะมันถึงที่สุดแล้วนั่นเอง นี่ก็เปรียบเทียบกันดูว่าเราเป็นอย่างไร เรายังจะมีตัวกูของกูอยู่ ยังจะเกิดตัวกูของกูอยู่เรื่อยไป ความอยากดีอยากสูงอยากเจริญก้าวหน้าต่อไปยังมีอยู่ยังไม่สิ้นสุด เรายังรู้สึกด้วยตนเองว่าไอ้เรื่องที่จะต้องทำต่อไปเนี่ยมันยังมีอีก ไปเทียบกับคนอีกคนหนึ่งซึ่งมันตรงกันข้ามมันไม่มีความรู้สึกอย่างนี้ แล้วก็จะรู้จักพระอรหันต์เพิ่มขึ้นอีกมุมหนึ่ง อีกความหมายหนึ่ง มีคำพิเศษในพระบาลี ใช้เรียกชื่อพระอรหันต์ว่า เกพะลี เกพะลีนี้แปลว่าครบหมด จบหมด บางทีจะเป็นมูลเหตุ เป็นคำนี้เองที่มีความหมายที่เป็นมูลเหตุให้พวกฝรั่งเค้าแปลคำพระอรหันต์ว่า คนที่เต็ม The man perfected คนที่มันเต็ม คำว่าเกพะลีนี่มันแปลว่าครบหมดจบหมด เกวละ แปลว่าหมดจด หมดครบถ้วนสิ้นเชิง พระอรหันต์เรียกว่า เกพะลี คือผู้มีความ ครบหมด เต็มหมด ไม่มีที่พร่อง ทีนี้มาดูที่เรา มันอยากอะไรอยู่สารพัดอย่าง มันเต็มไม่ได้ มันไม่มีความเต็มแห่งความต้องการ ไม่มีความเต็มแห่งความหวัง มันยังมีความหวัง มีความต้องการ ไอ้ที่ล่วงมาแล้วแต่หลัง ก็ยังมีความอาลัย อย่างนี้มันก็ไม่มีวันเต็ม เรียกว่ามันเป็นคนที่พร่องอยู่เสมอ เราก็เปรียบเทียบดูว่าเราเองดูในลักษณะนี้ว่าเรามันยังหิว ยังกระหาย ยังคอแห้ง ยังกระหายอะไรอยู่เรื่อยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็กระหายเรื่องในทางกามคุณ มันจึงเต็มไม่ได้ กามคุณก็กระหาย ความอยากเป็นอย่างนั้นอยากเป็นอย่างนี้ก็กระหาย กระหายจนกระทั่งไม่รู้จะกระหายอะไร มันมีแต่ความกระหาย นี่เรียกว่ามันไม่เต็ม ส่วนพระอรหันต์หมดความกระหายเหล่านี้โดยสิ้นเชิง ท่านจึงเรียกว่าผู้ที่เต็ม ไม่มีอะไรที่พร่องสำหรับจะอยาก หรือว่าจะพูดความเต็มในความหมายอื่นก็พูดได้เหมือนกันว่ามีความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ เรามันยังเป็นมนุษย์ที่ไม่เต็ม ที่เราใช้ด่าคนอื่นว่า คนไม่เต็ม ไม่เต็มบาท ด่าว่าไม่เต็มบาทนี่มันก็มีความหมายมาก แต่ว่าความเต็มของพระอรหันต์นั้น มันไม่เต็มสักแต่ว่าเต็มบาท มันเต็มอะไรไปเสียหมด คือไม่ต้องการอะไร มันไม่หิวอะไร มันเลยเป็นการอิ่มอยู่เสมอ เป็นการอิ่มนิรันดร อิ่มอย่างนิรันดรเพราะมันไม่ต้องการอะไรมันหิวอีกไม่ได้ ไอ้เรานี่มันอิ่ม เพราะบรรจุเข้าไปมากมันอิ่ม เดี๋ยวมันก็ถ่ายออกแล้วมันก็หิวอีก มันก็กินอีก หิวอีก กินอีกก็หิวอีกไม่รู้จักอิ่ม จะให้มีอายุอยู่กี่เดือนกี่ปี กี่สิบปีมันก็ไม่มีคำว่าอิ่ม มันมีความอิ่ม ที่หลอกๆ เพราะว่ามันใส่เข้าไปไม่ลงแล้ว แล้วเดี๋ยวมันก็พร่องมันก็หิวอีก ไปดูความที่อิ่มนี่มีที่สิ้นสุด หรือว่าหิวไม่มีที่สิ้นสุดของคนเราก็จะรู้ได้เองว่าเรามันไม่เต็ม มันไม่มีความเต็ม ไม่มีความเต็มแห่งสิ่งที่ประสงค์ หรือไม่มีการเต็มแห่งความดีความงาม ของการประพฤติปฏิบัติ เรามันไม่เต็ม เรามันพร่องอยู่เสมอ ถ้ามีใครที่ตรงกันข้าม ก็จะน่าเลื่อมใสน่าบูชาสักเท่าไรก็ไปคำนวณดูเอง เนี่ยจะทำให้รู้จักพระอรหันต์ ซึ่งเป็นเจ้าของวันสำคัญวันนี้ว่าเป็นวันของพระอรหันต์ นี้มีข้อความที่จะช่วยให้ เข้าใจต่อไปอีกตามลำดับ ดังพระบาลีว่า สุขิโน วัตตะอรหันโต พระอรหันต์ทั้งหลายเป็นผู้มีความสุขหนอ นี่ถ้าฟังไม่ดีมันก็จะขัดกับข้อความที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า พระอรหันต์เป็นผู้ที่เราจะบัญญัติด้วยประมาณใดๆไม่ได้ เดี๋ยวนี้ท่านก็มีคำพูดตามแบบบัญญัติว่า พระอรหันต์นั้นมีความสุข หรือจัดเป็นคนมีความสุข นี้เรียกว่าพูดตามภาษาชาวบ้าน พระอรหันต์มีความสุข ที่จริงนั้นพระอรหันต์อยู่เหนือความสุข อยู่เหนือความทุกข์ ทีนี้พอให้ชาวบ้านพูดให้ชาวบ้านเป็นผู้พูด ชาวบ้านก็จะพูดว่าพระอรหันต์มีความสุข มันความโง่ของชาวบ้านพูด ก็พูดให้พระอรหันต์ที่อยู่เหนือประมาณเหนือการบัญญัติใดๆว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา ถ้าไม่พูดอย่างนี้มันไม่เข้าใจมันไม่รู้เรื่อง เพราะเรากระหายในความสุข นี่เค้าพูดให้ฟังว่าพระอรหันต์นั้นเป็นผู้มีความสุข เพราะว่าไม่มีเหตุแห่งความทุกข์ ไม่มีกิเลสที่เป็นเหตุให้ต้องการนั่นนี่ ไม่มีอุปาทานที่เป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่นนั่นนี่ ท่านก็เลยว่างเลยเบา เลยไม่มีความทุกข์ เมื่อไม่มีความทุกข์ก็เรียกว่ามีความสุข ที่พูดเนี่ยเป็นการพูดอย่างบัญญัติ หรือให้ประมาณการกำหนดอย่างหนึ่งว่าท่านเป็นพวกที่มีความสุข เมื่อตะกี้นี้พูดอยู่หยกๆว่า พระอรหันต์ไม่มีประมาณ ประมาณทั้งหลายใช้กับพระอรหันต์ไม่ได้ แต่นี้ก็มาใช้เพื่อให้คนธรรมดาฟังถูก ว่าพระอรหันต์ท่านอยู่เหนือประมาณที่จะบัญญัติท่านว่ามีความสุข เพราะท่านอยู่เหนือประมาณนั่นเองท่านจึงไม่มีความทุกข์ คนที่ติดฝิ่นความสุขมันก็พูดขึ้นมาว่าพระอรหันต์เป็นผู้มีความสุข คนที่อยู่เหนือประมาณความสุขและความทุกข์นั่นหล่ะกลายเป็นผู้มีความสุขเมื่อพูดตามชาวบ้านพูด ถ้าจะให้พระอรหันต์กล่าวท่านก็ไม่กล่าวว่าความสุขหรือความทุกข์เพราะว่าเป็นผู้อยู่เหนือประมาณ เหนือกำหนดกฎเกณฑ์ใดๆที่จะไปพูดกับท่านได้ บทต่อไปว่า ตัณหาเตสังนวิชติ ตัณหาของท่านเหล่านั้นมิได้มี หมายความว่า ตัณหาคือความอยากโดยประการใดๆของพระอรหันต์เหล่านั้นมิได้มี นี่ก็เป็นการเอาประมาณไปจับเข้าที่พระอรหันต์อีกเหมือนกัน ว่าตัณหามีหรือไม่มี นี่ว่าไม่มีมันก็เป็นอันว่าเป็นผู้ที่ไม่มีตัณหา แต่พระอรหันต์นั้นมิใช่ตัวตนมิใช่บุคคล เป็นภาวะแห่งจิตใจ ที่ไม่อาจจะมีตัณหาได้อีกต่อไป ตัณหานั้นคือความอยาก ความอยากของคนเรานั้นมีอยู่เพียงสามประเภท คือ อยากเอา เอาของที่ตัวชอบ หมายถึงกามคุณ และก็อยากเป็น เป็นนั่นเป็นนี่ตามที่ความคิดเห็นว่ามันน่าเป็น และก็อยากไม่ให้เป็นอย่างนั้น อยากไม่ให้เป็นอย่างนี้ ตามที่มันเห็นว่าไม่อยากจะเป็น เช่นถูกด่ามันไม่ชอบ ถ้าเค้าชม เค้าสรรเสริญมันชอบ มันก็อยากเป็นคนที่เค้าชมเค้าสรรเสริญ มันไม่อยากเป็นคนที่เขาด่าเขาดูหมิ่นดูถูก รวมความว่าตัณหาของมนุษย์เรามีเพียงสามอย่าง อยากได้หรืออยากเอา ส่วนที่เป็นกามคุณ อยากเป็นในส่วนที่น่าเป็น และก็อยากไม่เป็น ในส่วนที่มันไม่น่าเป็น แต่บางทีก็ไปอยากถึงกับอยากตาย อยากตายเสีย ไม่อยากอยู่อย่างนี้ก็มี เรียกว่าอยากที่จะไม่เป็นด้วยเหมือนกัน ถ้าอยากจะรู้จักพระอรหันต์ก็ไปศึกษาความอยากของตัว ให้รู้จักความอยากทั้งสามประการนี้อย่างชัดแจ้ง ว่ากามตัณหา อยากในกามนั้นเป็นอย่างไร ไปดูรายละเอียดจากภายในใจของตัว ดูจากหนังสือหรือฟังเทศน์เนี่ยรู้ไม่จริง ไปกำหนดความอยากในทางกามคุณของตนเองดูแล้วจะรู้จักกามตัณหา และก็ไปสังเกตุดูอยากเป็นนั่นเป็นนี่อยากดีอยากเด่นอยากโก้อยากสวยอยากหรู ดูว่ามันมีเท่าไรมีอย่างไร ก็จะรู้จักภวตัณหา คือความอยากเป็น แล้วก็ไปสังเกตุดูความอยากที่จะไม่ให้เป็น อะไรบ้างที่เราอยากไม่ให้มันเป็นก็จะรู้จัก วิภวตัณหา รู้จักสามตัณหานี้แล้วก็จะรู้จักสิ่งที่เรียกว่าตัณหา และก็รู้ว่าพอมันมีตัณหาเกิดขึ้นแล้วมันเป็นอย่างไร มันเหมือนกับน้ำร้อนลวก หรือเหมือนกับไฟไหม้ หรือไฟสุมอยู่บนศีรษะหรือไฟสุมอยู่ในอก ไปรู้สึกเอาเองเถอะก็จะรู้จักตัณหาให้ดีให้ครบถ้วน และก็ไปศึกษาโดยคำนวณกลับกันว่าพระอรหันต์ไม่มีตัณหาเหล่านี้ท่านจะเป็นอย่างไร แต่ท่านก็ไม่ได้จะเป็นตัวกูที่หลงไหลในเรื่องของความสุขอันนี้ จิตใจมันอยู่เหนือความอยากเท่านั้นเอง ความอยากมันไม่มี ไม่มีน้ำหนัก ไม่มีความหมายอะไรอีกต่อไปในจิตใจของบุคคลผู้เป็นพระอรหันต์ ทีนี้บทต่อไปว่า อัสมิมาโน สมุตฉินโท อัสมิมานะของท่านถูกตัดขาดแล้ว อัสมิมานะนี่คือความสำคัญมั่นหมายว่าเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พูดชัดๆสั้นๆง่ายๆคือว่า ตัวกูนั่นเอง มานะสำคัญมั่นหมายว่าตัวกู คืออัสมิมานะ ตัวกูอยู่ ตัวกูเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และตัวกูก็ต้องมีอะไรที่เป็นของกู นี่รวมๆกันหมด รวมกันเข้าด้วยกันเรียก อัสมิมานะ ทุกคนมีอัสมิมานะ ที่เป็นเหตุให้ต้องการที่เป็นเหตุให้วิตกกังวล ที่เป็นเหตุให้จองหอง ที่เป็นเหตุให้ยอมใครไม่ได้ หลายอย่างพูดกันก็ไม่รู้จักจบ แต่รวมเรียกว่าอัสมิมานะ เราก็มีอยู่ อย่ามาหาอ่านดูจากหนังสือ ไม่มีประโยชน์อะไร หาอ่านดูจากจิตใจว่าเรามีอัสมิมานะอยู่อย่างไร ตั้งแต่เกิดมา รักกันก็เพราะอัสมิมานะ โกรธกันฆ่ากันก็เพราะอัสมิมานะ อะไรๆที่ว่าเป็นเหตุแห่งความทุกข์ก็เป็นเรื่องของอัสมิมานะอัสมิมานะชนิดนั้น พระอรหันต์ท่านตัดขาดหมดแล้ว ไม่มีอัสมิมานะเหลืออยู่ ท่านจะเป็นอย่างไร เปรียบเทียบกับเราที่ยังเต็มไปด้วยอัสมิมานะ ไปรู้จักพระอรหันต์ดีขึ้น วันนี้เรากำลัง กำลังพูดกันถึงเรื่องพระอรหันต์ เพื่อจะให้รู้จักพระอรหันต์ดีขึ้นยิ่งขึ้นกว่าที่แล้วมา จึงได้พูดเรื่องนี้ หรือเอาเรื่องนี้มาพูดให้เข้าใจพระอรหันต์ยิ่งกว่าปีที่แล้วมา บทต่อไปมีว่า โมหะชาลัง ปะทาลิตัง แปลว่าตาข่ายแห่งโมหะ ท่านทำลายได้หมดสิ้น ตาข่ายเรารู้จักกันดีเช่นตาอวน ตาแห นี่เรียกว่าตาข่าย โมหะชาลัง ตาข่ายแห่งโมหะ คือความโง่ คนเราติดอยู่ในตาข่ายแห่งความโง่ของตนเอง ความโง่ของตนเองเป็นเหมือนกับตาข่ายที่หุ้มตัวเองไว้ไม่ให้ออกมาได้ เหมือนกับว่าแมลงมันชักใยพันตัวเองของมัน มันไม่ออกมา มันออกมาไม่ได้ ใยนั้นก็เป็นตาข่ายในความหมายนี้ เดี๋ยวนี้เรามีโมหะ ความโง่ ความหลงมีอวิชชา ความไม่รู้อะไรเป็นเหมือนกับตาข่าย หรือใยพันตัวอยู่อย่างที่ออกมาไม่ได้ ไปซื้อแหมาสักผืนหนึ่งแล้วก็พันตัวให้แน่นให้นอนคุดคู้อยู่อย่างนั้นแหละ รู้สึกมาว่าเป็นอย่างไร ถูกตาข่ายมันพันอยู่ มันผิดกันอย่างไรกับว่าไม่มีตาข่ายพัน แต่นั้นมันเป็นเรื่องทางทางร่างกายนะ มันไม่กี่มากน้อยนะ ถ้าเป็นเรื่องทางจิตใจมีตาข่ายทางจิตใจคือโมหะ อวิชชาพัน นี่มันเหลือที่จะทนได้ นี่พระอรหันต์ท่านทำลายข่ายแห่งโมหะนี้หมดสิ้น แล้วท่านจะเป็นคนอิสระ เป็นคนว่าง เป็นคนฟรี สักเท่าไร ที่ว่าทำลายข่ายแห่งโมหะเสียได้ บทต่อไปมีว่า อเนชังเต อนุปัตตา ท่านลุถึงแล้วซึ่งความไม่หวั่นไหว ธรรมะอันไม่หวั่นไหว เรานี้ยังมีภาวะแห่งความหวั่นไหว หวั่นไหวไปตามสิ่งต่างๆ ถ้าน่ารักมามันก็หวั่นไหวไปในความรัก ถ้าน่าเกลียดมามันก็หวั่นไหวไปด้วยความเกลียด ความโกรธ หวั่นไหวไปด้วยความวิตกกังวล หวั่นไหวอยู่ด้วยทุกอย่างทุกประการที่มาทำให้หวั่นไหว หวั่นไหวเรื่องได้ หวั่นไหวเรื่องเสีย หวั่นไหวเรื่องแพ้ หวั่นไหวเรื่องชนะ นั้นไม่ไหวหรอก ความหวั่นไหวน่ะ กิเลสเป็นเหตุให้หวั่นไหว เดี๋ยวนี้ท่านถึงแล้วซึ่งสภาพแห่งความไม่หวั่นไหว ความคงที่ เพราะความหมดกิเลสที่เป็นเหตุให้หวั่นไหว เพราะว่าไม่มีตัวกูของกู แล้วจิตมันจะหวั่นไหวอะไรกัน มันจะหวั่นไหวด้วยอะไรทำไมกัน มันจะหวั่นไหวไปเพื่ออะไรทำไมกัน มันก็ไม่มี นั้นจิตนั้นจึงถึงแล้วซึ่งความไม่หวั่นไหว บทต่อไปก็มีว่า จิตตังเตสังอนาอบิลัง จิตของท่านเหล่านั้นไม่ขุ่นมัว เรามีจิตที่ขุ่นมัว มีกิเลสเป็นตะกอนก็ขุ่นมัว ก็ไปดูน้ำโคลน มันมีตะกอนที่เป็นโคลน น้ำมันก็ขุ่นมัว ถ้าไม่มีตะกอนไม่มีโคลนเหล่านั้นก็ใสแจ๋ว จิตของพระอรหันต์ก็ปราศจากตะกอนที่ขุ่นมัวคือกิเลส นั้นจึงเป็นจิตที่ใสแจ๋ว ท่านจึงกล่าวว่า จิตของท่านเหล่านั้น ไม่ขุ่นมัว ไอ้เรานี้ มันมีเรื่องข้างในทำให้ขุ่นมัว มีเรื่องข้างนอกทำให้ขุ่นมัว มันยึดถืออยู่เป็นประจำ มันก็มีความขุ่นมัว ด้วยสิ่งที่ยึดถือนั่นเอง ยึดถืออะไรมันก็ขุ่นมัวเพราะสิ่งนั้น รู้จักตัวเองในเรื่องของความขุ่นมัวให้ดี แล้วก็ไปเปรียบเทียบโดยนัยที่ตรงกันข้ามกับพระอรหันต์ผู้ไม่มีความขุ่นมัว จิตของท่านไม่มีความขุ่นมัว บทต่อไปมีว่า โลเก อนุปริตาเต แปลว่าท่านเหล่านั้น มิได้ติดอยู่ในโลก ปริตะ นี่แปลว่าติด เหมือนกับของเหนียวติด เอากาวติด เอาตังติดแล้วมันก็ติด เหมือนกับลิงติดตังเนี่ย นั้นเป็นเรื่องร่างกายเท่านั้น ในที่นี้หมายถึงเรื่องจิตใจ จิตใจมันติดด้วยตัง ในทางจิตใจ มันจึงติดแน่นหนา ติดลูกติดเมียติดผัว ติดเงินติดทอง ติดทรัพย์สมบัติ ติดเกียรติยศชื่อเสียง ติดทุกเรื่อง กินกามเกียรติ เนี่ยมันเป็นเรื่องติด พระอรหันต์ท่านไม่ติดในโลกซึ่งเต็มไปด้วยเหยื่อของความติด ใช้คำว่าโลกในโลกนี้เต็มไปด้วยเหยื่อสำหรับจะติด ท่านไม่ติดอยู่ในโลกเพราะไม่มีกิเลสที่เป็นเหตุให้ติดเหมือนกับตังเหนียว มันไม่มีของเหนียวมันก็ไม่ติดอะไรได้ เนี่ยคือจิตใจหรือภาวะแห่งจิตใจของพระอรหันต์ ไอ้เรามันติดอยู่ในสิ่งใดบ้าง และก็เป็นอย่างไรไปคำนวณดูให้ดี แล้วก็จะรู้ว่าความติดนั้นเป็นอย่างไร ถ้าไม่ติดจะเป็นอย่างไร นี่จะเป็นเหตุให้รู้จักพระอรหันต์เพิ่มขึ้นไป บาลีถัดไปมีว่า พรหมะภูตาอนาสวา ท่านเป็นสัตว์สูงสุด ไม่มีอาสวะ พรหมะภูตาเนี่ยเป็นตัวพรหม คำว่าพรหมในภาษาบาลีหมายถึงสิ่งสูงสุด โดยสมมุติว่าเป็นพระเจ้าเป็นอะไรก็แล้วแต่จะเรียก เรียกว่าพรหม ก็เป็นสิ่งสูงสุด เป็นพรหมทูต คือเป็นพรหมเสร็จแล้ว เป็นสัตว์สูงสุด สัตว์ประเสริฐที่สุด ด้วยจิตใจที่หลุดพ้นอย่างที่ว่ามานั้น และก็ยังมีคำกำกับไว้ด้วยว่า อนาสวา คือไม่มีอาสวะ อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายเข้าใจว่ามีอยู่มากทีเดียวที่ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า อาสวะ แม้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยก็เข้าใจว่ายากหรือลำบากที่จะรู้จักสิ่งที่เรียกว่า อาสวะ พระอรหันต์เป็น ศีนาสวะ คือสิ้นอาสวะ ก็รู้จักอาสวะที่มีอยู่มากสำหรับเรา ขอให้ตั้งใจฟังให้ดี อาตมาจะว่าให้ฟัง เราจะรู้จักคำว่ากิเลสก่อน ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่เรียกว่ากิเลส นี่คงจะพอรู้จักกันได้ ความรู้สึกที่โง่เขลาอยากจะเอานี้เรียกว่า ความโลภ ความรู้สึกที่โง่เขลา อยากจะทำลาย นี้เรียกว่า ความโกรธ ความโง่เขลา ที่ทำให้หลงไหลพัวพันในสิ่งนั้นสิ่งนี้ แม้ที่สุดจะมีความสนใจนี้เรียกว่า ความหลง เขาจึงมี โลภะ โทสะ โมหะ สามอย่างนี้เรียกว่ากิเลส รู้จักกิเลสไว้ชั้นหนึ่งก่อน นี้พอกิเลสเกิดขึ้นในใจ มันก็เกิดความเคยชินของกิเลสที่จะเกิดอีก ความเคยชินที่จะเกิดอีกเนี่ย เราเรียกว่า อนุสัย มีกิเลสทีนึงก็มีอนุสัยทีหนึ่ง มีกิเลสทีหนึ่งก็เพิ่มอนุสัยทีหนึ่ง เกิดกิเลสบ่อยๆ มันก็เพิ่มอนุสัยหรือความเคยชินที่จะเกิดกิเลสมากขึ้นจนไม่หยุด ส่วนหนึ่งเรียกว่าอนุสัย คือความเคยชินของกิเลส การที่จะเกิดขึ้นนี่เรียกว่าอนุสัย ไม่ใช่สิ่งเดียวกับกิเลส เป็นเพียงความเคยชินของกิเลส ที่มันจะแสดงออกมาในรูปร่างอย่างนั้นอีก ชั้นที่สองเรียกว่า อนุสัย ทีนี้อนุสัยเนี่ย มากเข้า มากเข้าในสันดานส่วนลึกในจิตใจ มันก็มีความกดดันที่จะไหลออกมาข้างนอก ส่วนนี้เรียกว่า อาสวะ เหมือนกับเราตักน้ำใส่ตุ่มที่มันมีรูรั่วอยู่นิดนึง พอใส่มากเข้า มากเข้า ความกดดันที่มันจะปรี่มาจากรูรั่วนั้นก็มากขึ้นมากขึ้น ส่วนที่มันจะไหลออกมาเนี่ย เราเรียกว่า อาสวะ เมื่อในสันดานของเรามีอนุสัย มากขึ้นมากขึ้น การที่มันจะปรี่ออกมาล้นออกมาเป็นกิเลสอีกมันก็มากขึ้น แล้วมันก็บังคับไว้ไม่ค่อยอยู่ ฉะนั้นเราคนธรรมาจึงบังคับความโลภความโกรธความหลงยาก บังคับมันไม่ได้มันก็เกิดมาอีกเพราะว่าเรามีอนุสัยเก็บไว้มาก และก็มีแรงดันที่จะดันออกมาคือ อาสวะนั้นมาก นี้คืออาสวะ นี่พระอรหันต์ไม่มีอาสวะ ไม่มีทางที่จะไหลออกมาเป็นกิเลส ก็เรียกว่าสิ้นอาสวะ เพราะไม่มีอนุสัย ไม่มีอนุสัยเพราะว่ามันไม่ได้เกิดกิเลส มันไม่มีกิเลสสำหรับจะเกิดขึ้นเป็นการสะสมอนุสัย ไม่มีการสะสมอนุสัย ก็ไม่มีอาการที่จะไหลออก คือ อาสวะ ท่านจึงไม่มีอาสวะ เรียกว่า ศีนาสวะ เรียกว่าสิ้นอาสวะ เรียกว่าอนาสวะก็ได้ เพราะไม่มีอาสวะ พรหมะภูตา อนาสวา นี่พระอรหันต์ท่านเป็นพรหมภูติ เป็นสัตว์ประเสริฐสูงสุด เพราะว่าไม่มีอาสวะ ตัวอย่างเหล่านี้ ก็ให้ไปดูจากภายใน เข้าใจให้ดี รู้จักให้ดี แล้วเทียบเคียงความเป็นพระอรหันต์ บทต่อไปมีว่า กาเมหิอวิสังยุตโต ไม่มีการประกอบอยู่ในกามทั้งหลาย กามคือสิ่งที่น่ารักน่าใคร่ เป็นความรู้สึกเกี่ยวกับเพศ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางจิตใจเองนี้เรียกว่ากามทั้งหลาย ท่านไม่ได้ประกอบอยู่ด้วยกามทั้งหลาย ไม่ประกอบอยู่ด้วยกิเลสที่เป็นเหตุให้ใคร่ คนเราธรรมาสามัญประกอบอยู่ด้วยกิเลสเป็นเหตุให้ใคร่ในทางกาม เพื่อรับผลจากกาม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง กระทั่งทางจิตใจ พระอรหันต์ไม่ได้ประกอบอยู่ด้วยกาม ทั้งที่เป็นวัตถุกาม และทั้งที่เป็นกิเลสกาม เราเป็นอย่างไร ดูตัวเองให้ดี เทียบในนัยตรงกันข้ามแล้ว ก็ทำให้รู้จักพระอรหันต์มากขึ้น พราหมะโนอะกะถังกะถี บทต่อไปว่าท่านเป็นพราหม์ คือล้างบาปหมดแล้ว รอยบาปหมดแล้ว อะกะถังกะถี เป็นผู้ที่ไม่มีปัญหาว่าอะไรเป็นอะไรอีกต่อไป ถ้ายังมีกิเลสยังมีบาป มันยังมีสิ่งที่ต้องการ ก็จะถามอยู่เรื่อยว่านี่อะไร นี่เป็นอย่างไร นี่ทำอย่างไร คนเรายังมีปัญหาอย่างนี้อยู่เสมอ เรียกว่า กะถังกะถี ต้องถามคนอื่นอยู่เสมอไปว่าอะไรว่าอย่างไร ส่วนพระอรหันต์ไม่มีความต้องการอะไร จึงไม่ต้องถามใครว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นอย่างไร ก็เลยมีชื่อว่า อะกะถังกะถี เป็นลักษณะของบุคคลที่เป็นพราหม์ในความหมายนี้ ความหมายทางพระพุทธศาสนา พราหม์ในความหมายของศาสนาพราหม์เป็นอย่างอื่น อย่าเอามาปนกัน แค่พราหม์ในความหมายพระพุทธศาสนานี้ หมายความว่า หมดบาป สิ้นบาป สะอาดไปแล้วจากบาป บาลีต่อไปมีว่า อฉินนกุจกุโจ เป็นผู้มีความรำคาญอันตัดขาดแล้ว เมื่อพูดว่าความรำคาญเนี่ย เป็นเรื่องที่ไม่ ไม่หนักหนาอะไร ไม่เจ็บปวดอะไร เป็นเพียงความรำคาญ แต่ใครๆก็ทนไม่ได้ หรือทนยาก เกิดโทสะเพราะสิ่งที่รำคาญ เราไม่มีความเจ็บปวดมาก ไม่มีความทุกข์มาก แต่ถ้ายังรำคาญอยู่ก็ทนไม่ไหวเหมือนกัน ไอ้ฤดูที่แมงหวี่มันชุมน่ะมันตอมตาเรื่อย เผลอเข้ามันก็หายใจเข้าไป เผลอมันก็บินเข้าปากเนี่ย มันไม่ได้ทำให้ตายแต่ก็รำคาญเหลือประมาณ พระอรหันต์ไม่มีอะไรที่จะทำให้รำคาญได้ จึงเรียกว่าเป็นผู้มีความรำคาญอันตัดขาดแล้ว ท่านดีกว่าเราสักเท่าไหร่ก็ลองไปเทียบดู บทต่อไปก็จะมีว่า ภวาภเววิตะตันโห มีตัณหาในภพน้อยภพใหญ่ที่สิ้นสุดแล้ว หรือปราศจากตัณหาในภพน้อย ภพใหญ่ คำว่าภพในที่นี้หมายถึงความได้มีได้เป็นอย่างดีๆ ก็เรียกว่า ภพใหญ่ อย่างไม่สู้ดี ที่ว่าไม่ถูกใจก็เรียกว่า ภพน้อย ไม่มีทั้งภพน้อย ไม่มีทั้งภพใหญ่ ไม่มีทั้งภพ และไม่มีทั้งอภพ ภพที่น่ารัก ภพที่ไม่น่ารักก็ไม่มีทั้งนั้น คือไม่มีความเป็นแห่งความน่ารักหรือความไม่น่ารัก ไม่มีความรู้สึกพอใจในภพใดๆ เรียกว่าปราศจากตัณหาในภพทุกภพ ความเป็นชนิดไหนก็ไม่อยากเนี่ยพูดง่ายๆ ก็ต้องพูดว่า ความเป็นชนิดไหนท่านก็ไม่อยาก เพราะมีปัญญามีวิชชา ถึงที่สุดว่า ภพไหนๆมันก็ชนิดไหนๆมันก็ไม่ไหวทั้งนั้น ก็เลยไม่มีภพ ต้องการเป็นผู้ปราศจากภพ นี่คือลักษณะ ที่จะศึกษาให้เข้าใจเป็นคู่เปรียบกัน ว่าไอ้ฝ่ายที่เป็นปุถุชนธรรมดาสามัญน่ะมันมีอยู่อย่างนี้อย่างนี้ และที่เป็นพระอรหันต์นั้นก็ปราศจากความเป็นเหล่านี้โดยสิ้นเชิง นี่ได้กล่าวถึงลักษณะของพระอรหันต์พอให้เป็นเครื่องคำนวณได้อย่างทราบได้ สำหรับคนทั่วไป สำหรับนักศึกษาอะไรก็สุดแท้ จำข้อความเหล่านี้แล้วก็ไปเปรียบเทียบดู โดยนัยตรงกันข้ามก็จะทำให้รู้จักพระอรหันต์ได้พอสมควร ไม่เสียทีที่วันนี้เป็นวันพระอรหันต์ อุตส่าห์มาทำพิธีเพื่อพระอรหันต์ แล้วก็ยังโง่อยู่นั่นเองว่าพระอรหันต์นั้นเป็นอย่างไร ไม่รู้จักพระอรหันต์และก็มาทำพิธีเป็นที่ระลึกแก่พระอรหันต์ ขอให้ขจัดปัญหานี้ให้หมดไป ให้เรารู้จักพระอรหันต์ยิ่งขึ้นทุกที เมื่อพูดถึงลักษณะของพระอรหันต์พอสมควรแล้ว ก็จะกล่าวถึงโอกาสที่จะได้เป็นพระอรหันต์กันบ้าง นี้ไม่ใช่เรื่องอวดดี ไม่ใช่เรื่องชักชวนให้อวดดี ไม่ใช่เป็นเรื่องชักชวนให้ทำอะไรเกินกว่าฐานะของตน ขอให้ถือกันเสียว่าความเป็นพระอรหันต์นั้นมีสำหรับมนุษย์ทุกคนในจุดหมายปลายทาง หมายความว่าในเบื้องสุดท้ายทั้งหมดของวัฏสงสารเนี่ย ขอให้มันจบลงด้วยความเป็นพระอรหันต์ ให้ถือว่าความเป็นพระอรหันต์เป็นจุดหมายปลายทางของคนทุกคน จะถือการเวียนว่ายตายเกิดชนิดไหนก็สุดแท้ แต่ขอให้มันจบลงด้วยความเป็นพระอรหันต์ ถ้าเวียนว่ายจากเข้าโลงแล้วคลอดจากท้องแม่แล้วเข้าโลงออกจากท้องแม่แล้วเข้าโลง อย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน ก็ดีเหมือนกัน แต่ขอให้มันจบลงสิ้นสุดลงด้วยความเป็นพระอรหันต์ หรือว่าจะถือว่ามันเกิดขึ้นจากความรู้สึกยึดถือว่าตัวกูครั้งหนึ่งเกิดเดี๋ยวดับไปก็ตายไปเดี๋ยวก็เกิดตัวกูของกูอีกในจิตใจ วันหนึ่งเกิดหลายๆสิบครั้ง ปีหนึ่งคลอดตั้งหลายหมื่นหลายแสนครั้ง ถือเกิดตายอย่างนี้ก็ได้ เวียนว่ายอย่างนี้ก็ได้ แต่แล้วก็ขอให้มันจบลงด้วยความเป็นพระอรหันต์ คือไม่มีการเกิดอีก ให้เราหวังว่าความเป็นพระอรหันต์นั้นเป็นจุดหมายปลายทางของชีวิตทุกชีวิต ถ้ามิฉะนั้นมันก็ยังต้องเที่ยวไปในวัฏสงสารอันไม่รู้จักจบจักสิ้น ถ้ามันจะหยุดท่องเที่ยวไปในวัฏสงสารมันก็ต้องเป็นพระอรหันต์ นั้นทุกคนมีความหวังที่จะได้เป็นพระอรหันต์เป็นจุดหมายปลายทาง นี่ไม่ใช่ให้ยึดมั่นในเรื่องตัวกู ของกู แต่ต้องการให้เป็นที่จบที่สิ้นแห่งตัวกูของกู ฟังให้ดีๆ อย่าให้ตัวกูมันไปอยากเป็นพระอรหันต์เข้าอีก มันก็จะไม่รู้จักสิ้นสุด ให้มันหมดตัวกูนั่นแหละก็จะเป็นพระอรหันต์ วิธีที่จะหมดตัวกูก็มีอยู่ คือการบรรลุความเป็นพระอรหันต์ ในพระบาลีท่านแสดงไว้ น่าอัศจรรย์มากคือว่า ฟังดูแล้วมันก็ไม่น่าเชื่อ คือท่านแสดงไว้ในสูตรที่ชื่อว่า วิมุตตายตนสูตร ว่าการเป็นพระอรหันต์ได้นั้นมีได้ถึง ห้าขณะ ห้าโอกาส เรียกว่ามีโอกาสถึงห้าโอกาส คือเมื่อฟังธรรมก็มีโอกาสเป็นพระอรหันต์ เมื่อแสดงธรรมก็มีโอกาสเป็นพระอรหันต์ เมื่อสาธยายธรรมสวดบ่นท่องบ่นอยู่ก็มีโอกาสเป็นพระอรหันต์ เมื่อตริตรองทำอยู่ก็มีโอกาสเป็นพระอรหันต์ เมื่อเจริญสมาธิภาวนาก็มีโอกาสเป็นพระอรหันต์ มีถึงห้าโอกาส โอกาสแรกเมื่อฟังธรรม ถ้าเผอิญธรรมนั้นฟังเข้าใจจับอกจับใจ ทำให้เกิดปิติและเกิดปราโมท แล้วเกิดปัสสัทธิ เกิดสมาธิ แล้วเกิดปัญญาเกิดวิมุตติขึ้นมา เรื่องอย่างนี้เมื่อได้มีแล้วในครั้งพุทธกาล คนบางคนก็ฟังพระพุทธเจ้าพูดสองสามคำเข้าใจเกิดปีติ แล้วก็จากปีติก็เกิดปราโมท จากปราโมทก็เกิดปัสสัทธิ คือความสงบระงับลงแห่งจิต จากปัสสัทธิก็เกิดสมาธิ คือจิตแน่วแน่ตั้งมั่น บริสุทธิ ว่องไว ในการที่จะทำหน้าที่ของจิต มันก็เกิดปัญญา เกิดวิปัสนาเห็นแจ้งตามที่เป็นจริง ทำลายกิเลสอนุสัยสิ้นกันแต่ตรงนั้น ต่อหน้าพระพักตร์ของพระพุทธเจ้านั่นเอง นี่เรียกว่าเป็นโอกาสบรรลุพระอรหันต์เมื่อฟังธรรม นี้โอกาสที่สองเมื่อแสดงธรรม เมื่อบุคคลบางคนแสดงธรรมอยู่ ไอ้ธรรมนั้นกลับปรากฎแจ่มแจ้งแก่ผู้แสดงนั้น ผู้แสดงธรรมนั้นเกิดปีติ เกิดปีติแล้วก็เกิดปราโมท ปราโมทแล้วก็เกิดปัสสัทธิ แล้วก็เกิดสมาธิ เกิดปัญญาในนัยเดียวกัน มันต้องการเกิดปีติในธรรม ปีติโดยธรรม ปีติเพื่อธรรมกันก่อน แล้วก็จะเกิดปราโมท เกิดปัสสัทธิ เกิดสมาธิ แล้วก็เกิดปัญญา เกิดวิมุตติหลุดพ้นได้ ผู้ฟังธรรมอาจจะเกิดปีติปราโมทได้ฉันใด ผู้แสดงธรรมก็อาจจะเกิดปีติปราโมทได้ฉันนั้น เพราะว่าผู้แสดงนั้นเข้าใจในธรรมะ จนถึงกับเกิดปีติปราโมท ผู้ที่จะแสดงธรรมต้องคิดนึกมาก และธรรมนั้นก็เป็นที่แจ่มแจ้งปรากฎ และก็แสดงออกไปด้วยปีติและปราโมทนั้น นั้นธรรมกถึกนั้นก็บรรลุความเป็นพระอรหันต์ในขณะที่แสดงธรรมอย่างนี้ก็มี นี่ก็เป็นโอกาสนึงที่จะเป็นพระอรหันต์เมื่อพูดธรรมะให้ผู้อื่นฟัง ทายกทายิกาทั้งหลายไม่สามารถมานั่นธรรมาสเพื่อแสดงธรรม แต่ว่าเมื่อจะพูดจากับเพื่อนฝูงที่บ้านที่เรือนนั้นแหละก็ขอให้ตั้งใจดีๆในเรื่องที่จะพูดออกไป ถ้าเผอิญธรรมะนั้นแจ่มแจ้งแก่ตนเพราะมันต้องแจ่มแจ้งแก่ตนก่อน ก่อนที่จะแจ่มแจ้งแก่ผู้ฟัง นี่ทำให้ดีๆ ความแจ่มแจ้งแก่ตนนั้นถึงจะมากพอจนทำให้เกิดปีติ และเกิดปราโมทเกิดปัสสัทธิ เกิดสมาธิและเกิดปัญญา นี่ก็เป็นโอกาสอันหนึ่งเหมือนกันที่จะเป็นพระอรหันต์เมื่อแสดงธรรม นี้โอกาสที่สาม เมื่อสาธยายธรรม เมื่อเอาธรรมะมาท่องบ่นอยู่ ธรรมะนั้นเกิดจับใจเกิดสว่างไสวแจ่มแจ้งขึ้นมาในขณะที่สาธยายอยู่ท่องบ่นอยู่ มันก็เกิดปีติที่ปรารภธรรม เกิดปราโมทแล้วก็เกิดปัสสัทธิแล้วก็เกิดสมาธิ ก็เกิดปัญญาอย่างเดียวกันอีก งั้นใครจะสาธยายธรรมอะไรก็ตั้งใจดีๆ โอกาสมันมีว่าในขณะสาธยายธรรมนั่นแหละมันก็จะบรรลุพระอรหันต์ได้ ทำให้ดีจนเกิดปีติในการสาธยายธรรม ทำให้นึกถึงพระพุทธเจ้า ครั้งหนึ่งพระองค์ทรงนำเอาสูตรของปฏิจสมุปบาทมาสาธยายอยู่ตามลำพังพระองค์เองจนภิกษุองค์หนึ่งแอบฟังอยู่ข้างหลังอย่างนี้เรื่องก็ยังมี ว่าแม้แต่พระพุทธองค์ก็ทรงสาธยายธรรม เราเห็นคนหนุ่มคนสาวเอาอะไรไม่รู้มาสาธยาย เอาเพลงรักเพลงอะไรก็ไม่รู้มาสาธยาย เรียกว่าร้องเพลงซ้ำๆซากๆ อยู่นั่นหล่ะ มันก็เหมือนกับการสาธยาย เพลงอะไรจับใจก็เอาเพลงนั้นมาร้องอยู่เสมอ ก็เหมือนกับการสาธยาย แต่อย่างนี้มันส่งเสริมให้เกิดกิเลส มันไม่เกิดปีติในธรรม ปราโมทในธรรม โดยนัยนี้ได้ ต้องเอาธรรมะที่แท้จริงไปสาธยาย ก็จะเกิดปีติปราโมทและจะเกิดปัสสัทธิสมาธิ และจะเกิดปัญญาโดยทำนองเดียวกันกับที่เมื่อฟังธรรมหรือแสดงธรรม นี่มันเป็นเรื่องสาธยายธรรม เป็นโอกาสที่สาม โอกาสถัดไปอีกเป็นโอกาสที่สี่เมื่อ ตริตรองทำอยู่ เอาข้อธรรมใดมาตริตรองอย่างละเอียดละออทบทวนไปมาตริตรองอยู่ตริตรองอยู่ บังเอิญมันพอเหมาะพอดีกันเข้า แจ่มแจ้งสว่างไสวเกิดปีติ ปราโมทในธรรมขึ้นมา เกิดปีติแล้วก็เกิดปราโมท เกิดปราโมทแล้วก็เกิดปัสสัทธิคือความระงับลงไป เกิดปัสสัทธิแล้วมันก็เกิดสมาธิ เกิดสมาธิแล้วก็เกิดปัญญา แล้วก็เกิดวิมุตติอย่างเดียวกันอีก งั้นการตริตรองทำใคร่ควรทำอยู่เสมอ เป็นโอกาสที่สี่ ของการเพื่อบรรลุธรรมเพื่อเป็นพระอรหันต์ ส่วนโอกาสที่ห้านั้น ต้องใช้คำว่า เจริญภาวนา เจริญสมาธิภาวนาเป็นเรื่อง สมถะก็ได้ วิปัสนาก็ได้ เจริญภาวนาอยู่ก็จะมีผลไปตามลำดับอย่างเดียวกันอีก คือภาวนานั้นเจริญได้สำเร็จประโยชน์ก็เกิดปีติ แล้วก็เกิดปราโมท เกิดปัสสัทธิ เกิดสมาธิ โดยนัยแห่งโพชฌงค์นั้นแหละก็บรรลุมรรคผลได้ นี่โอกาสที่จะเป็นพระอรหันต์ได้ มีถึงห้าโอกาส เมื่อฟังธรรมอยู่ก็ได้ เมื่อแสดงธรรมอยู่เองก็ได้ เมื่อสาธยายธรรมท่องบ่นอยู่ก็ได้ เมื่อตริตรองทำอยู่ก็ได้ และก็เมื่อเจริญภาวนาวิปัสนาอยู่ก็ได้เหมือนกัน มันจะไม่เหลือวิสัยนักมั้ง ขอให้สนใจในการที่จะฟังธรรม หรือแสดงธรรมคือพูดให้คนอื่นฟัง หรือสาธยายธรรมกันลืม หรือว่าตริตรองทำเพื่อความแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น จนกระทั่งเจริญสมาธิภาวนา ขอให้ช่วยกันจดจำหลักเกณฑ์อันนี้เอาไว้ใช้ ไปขยายไปปรับปรุงให้สำเร็จประโยชน์ยิ่งขึ้น แม้ที่สุด ในการศึกษาเล่าเรียนเรื่องธรรมดาสามัญทั่วไปก็จะได้รับผลดีด้วยเหมือนกัน จะเป็นเพื่อความเป็นพระอรหันต์ก็ได้ เพื่อความเจริญก้าวหน้าในวิชาความรู้สามัญก็ได้ ยังใช้หลักเกณฑ์นั้นได้ ขอให้ถือว่าไม่ใช่เรื่องสุดวิสัยหรือพ้นวิสัยทีเดียว ไหนๆเราก็บูชาพระอรหันต์แล้ว เราก็สนใจในโอกาสที่จะเป็นพระอรหันต์กันบ้าง ทีนี้อาตมาก็จะพูดถึงธรรมะหมวดสุดท้ายที่เรียกว่าทำตามพระอรหันต์ ที่เมื่อเช้านี้ก็จะได้ยินสวดปัจจเวกอุโบสถ ว่าเราทำตามพระอรหันต์ ด้วยองค์แห่งอุโบสถแม้นี้ องค์ที่หนึ่งก็เว้นขาดจากปาณาฑิบาต ทำจิตใจให้เว้นขาดจากปาณาฑิบาต เกลียดชังปาณาฑิบาต มีจิตใจถึงที่สุดในการที่จะทำปาณาฑิบาตไม่ได้ ลองปัจจเวกองค์อุโบสถกันบ่อยๆ โดยทั่วไปคนทั้งหลายเนี่ยมีจิตใจต้องเรียกว่าประณีตละเอียดสูงสุดจนถึงกับทำอะไรให้ตายไม่ได้ ไม่มีเจตนาที่จะทำอะไรให้ตายได้ นี่เป็นการทำตามพระอรหันต์อย่างนึงแล้ว ทีนี้มีการทำตามพระอรหันต์โดยการที่ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ให้ เดี๋ยวนี้เรามันคอยจะถือโอกาสที่จะเอาซะเรื่อยไปรู้ว่าเจ้าของเขาไม่ให้ ถ้าเป็นโอกาสแล้วก็เอา พบของตกก็เอา และบางทีก็หาโอกาสที่จะไปเอาของของผู้อื่น โอกาสที่จะช่อโอกาสที่จะโกง โอกาสที่จะขึ้นโรงขึ้นศาล อะไรต่างๆ มันก็มีมากที่จะทำให้ของผู้อื่นมาเป็นของตัว ถ้าการประพฤติอันนี้มันละขาดไป ไม่มีเหลืออยู่แม้สักนิดเดียวในการที่จะเอาของที่เขาไม่ให้มาเป็นของตัวนี้มันก็เป็นการทำตามพระอรหันต์ทำตามรอยพระอรหันต์ขึ้นมาอีกองค์หนึ่ง เป็นองค์ที่สอง ทีนี้องค์ที่สาม ไม่ประกอบกิจกรรมของคนที่อยู่กันเป็นคู่ หมายความว่ากิจกรรมระหว่างเพศ ถ้าการพยายามละความพอใจในกิจกรรมระหว่างเพศซะโดยเด็ดขาดก็ทำตามพระอรหันต์ได้เข้าไปอีก อีกองค์หนึ่งเป็นองค์ที่สาม องค์ที่สี่ก็เว้นจากการพูดเท็จ ขึ้นชื่อว่าความเท็จโดยลักษณะหนึ่งลักษณะใดแล้ว ไม่ประพฤติก็ไม่กระทำ ก็โดยทำตามพระอรหันต์มาอีกองค์หนึ่ง และก็ไม่ดื่มสุราเมไรของมึนเมาทั้งหลาย ความเมาทำให้เสียสติสัมประดี เว้นขาดจากทุกอย่างที่ทำให้เสียสติสัมประดี ไม่ต้องพูดถึงเหล้าถึงน้ำเมาโดยตรงหรอก อะไรก็ได้ถ้ามัน ถ้ามันทำให้เสียสติสัมประดี ไม่มีสติสัมปชัญญะแล้วก็เว้นขาดเถิด เว้นให้ขาดจริงๆ ก็ไม่มีโอกาสที่จะทำอะไรผิดๆ เพราะความประมาทหรือความเสียสติสัมประดี นี่ก็เป็นการทำตามพระอรหันต์อีกองค์หนึ่ง เป็นองค์ที่ห้า และก็เว้นขาดจากวิกาลโภช คือกินอาหารส่วนเกิน นอกเวลาค่ำแล้วก็ยังกิน กินดี กินแพง กินมาก กินอะไรต่างๆ นี่ก็เว้นซะเถิด ก็เป็นการทำตามรอยพระอรหันต์องค์ที่หก และก็เว้นจากสิ่งบำรุงบำเรอความรู้สึก ที่มันมากเกินไปฟ้อนรำขับร้องประโคมดีดสีตีเป่า ประดับประดาลูบไล้ลูบทาของหอม ย้อมด้วยของหอม หรือว่าการใช้เครื่องประดับประดาตกแต่งทำจิตใจให้มันเป็นบ้า สิ่งทั้งหมดนี้ในสิขาบถข้อนี้มันเป็นการทำให้จิตใจเป็นบ้า ฟ้อนรำ ขับร้อง ดนตรีอะไรต่างๆ กระทั่งการประดับประดา เว้นเสียเถิด และทำตามพระอรหันต์เป็นองค์ที่เจ็ด ทีนี้ก็เว้น อุจาสยนะมหาสยะนา ที่นั่งที่นอนเครื่องใช้ไม้สอยอันใหญ่อันสูงอันงามอันเกินความจำเป็นนั่นน่ะเว้นเสียเถิด ที่นั่งที่นอนเครื่องใช้ไม้สอยที่เกินความจำเป็นน่ะเว้นเสียเถิด มันจะเป็นการทอนกำลังของกิเลส เป็นการทำตามพระอรหันต์ มันก็มีโอกาสที่จะเป็นพระอรหันต์ด้วยองค์ที่แปด อุโบสถศีลทั้งแปดนี้แต่ละองค์ละองค์เนี่ยเป็นการทำตามพระอรหันต์ เราก็พูดอยู่ทุกวัน เราก็สวดบทนี้อยู่บ่อยๆ ทำไมไม่ใช้ธรรมะทั้งแปดองค์นี้ เป็นการทำให้เดินใกล้กับพระอรหันต์เข้าไปทุกที ขอให้ท่านทั้งหลายสนใจ ข้อปฏิบัติเพื่อมีโอกาสที่จะเป็นพระอรหันต์ให้ครบถ้วนอย่างนี้ เนี่ยมายกให้เห็นเป็นสองหมวดด้วยกันว่าเมื่อฟังธรรม เมื่อแสดงธรรม เมื่อสาธยายธรรม เมื่อตริตรองธรรม เมื่อเจริญสมาธิภาวนา แต่ละอย่างเป็นโอกาสที่จะบรรลุความเป็นพระอรหันต์ และถ้าจะทำไปตามธรรมดาสามัญเนืองนิตย์ ก็ถือเอาองค์อุโบสถศีลแปดประการนั่นแหละเป็นการทำตามรอยพระอรหันต์ด้วยใจที่กล้าหาญ ที่เข้มแข็งที่ร่าเริงที่พอใจในการกระทำก็จะต้องประสบความสำเร็จเข้าสักวันหนึ่ง เป็นแน่นอน อาตมาได้แสดงถึงลักษณะของความเป็นพระอรหันต์ และโอกาสหรือวิธีที่จะก้าวถึงความเป็นพระอรหันต์มาพอสมควรแก่เวลาแล้ว ในโอกาสแห่งวันนี้ ซึ่งเป็นวันเป็นที่ระลึกถึงพระอรหันต์ผู้ประชุมกันในจาตุรงคสันนิสบาต ที่เราได้ไปทำพิธีที่ระลึกบนภูเขาเมื่อตอนเย็นนี้ เดี๋ยวนี้เอาเรื่องนี้มาพูดอีกก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจไปตามลำดับ จนเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในเรื่องของพระอรหันต์ ไม่ต้องงมงาย ไม่ต้องทำอะไรอย่างละเมอๆ ทำอย่างมีความเข้าใจชัดเจนแจ่มใส สำเร็จประโยชน์ตามนั้นจริงๆ หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะได้มีความเข้าใจในเรื่องของพระอรหันต์นี้เพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อน และหวังว่าปีหน้าก็จะเพิ่มมากกว่าปีนี้ ให้เพิ่มมากขึ้นไปก็คงประสบความสำเร็จ ในความเป็นพระอรหันต์สักคราวหนึ่งแน่นอน แสดงธรรมเรื่องพระอรหันต์ก็พอสมควรแก่เวลาแล้ว ก็ขอยุติพระธรรมเทศนาไว้แต่เพียงเท่านี้ ยังไม่ให้ยถา เพราะว่ายังมีอีก