แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาในธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้าตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลายกว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาเป็นปุพพาปรลำดับ คือสืบต่อจากธรรมเทศนาในตอนต้นแห่งราตรี ธรรมเทศนานี้กล่าวถึงเรื่องธรรมว่าประกอบไปด้วยหนทาง ๘ ประการ ประกอบไปด้วยหนทางว่าเป็นหนทางอันประกอบไปด้วยองค์ ๘ ประการนี้เป็นตัวธรรม คือ เป็นความถูกต้องสำหรับมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา ทีนี้ก็จะได้พิจารณาสืบต่อไปถึงว่าไอ้ความถูกต้อง ๘ ประการนี้จะไปถึงที่สุด ณ จุดใด หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็ว่า วิวัฒนาการของมนุษย์นั้นจะไปถึงที่สุด ณ จุดใด
ขึ้นชื่อว่าหนทาง ย่อมมีต้นทาง หรือปลายทาง เดินจากต้นทางก็ไปถึงปลายทาง แล้วแต่ว่ามนุษย์เขาจะสร้างหนทางกันอย่างไร คือไปที่ไหนนั่นเอง แต่หนทางนี้ประกอบไปด้วยองค์ ๘ เป็นหนทางเพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางคือพระนิพพาน ดังนั้นพระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงได้กล่าวว่า นิพพานเป็นบรมธรรม คือธรรมอันสูงสุด เป็นที่จบสิ้นแห่งทาง เมื่อบุคคลเดินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ก็จะบรรลุถึงจุดหมายปลายทาง คือนิพพานนั้น อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการนี้กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ กรรม เป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมทั้งหลาย กรรมดำ คือกรรมชั่ว กรรมขาว คือกรรมดี กรรมไม่ขาวไม่ดำก็คือ อริยมรรค เป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมทั้งปวง นี่เราจะต้องมองดูกันที่นี่ว่า คนธรรมดาสามัญมองเห็นเป็นดีแล้วก็ดีใจ พอใจ มองเห็นเป็นชั่วแล้วก็ไม่ชอบใจ
ทำกรรมดีก็มีการเป็นไปตามกรรมดี ทำกรรมชั่วก็มีการเป็นไปตามกรรมชั่ว เมื่อต้องเป็นไปตามอำนาจแห่งกรรม ก็ไม่เป็นอิสระแก่ตัว คือต้องเป็นไปตามกระแสกรรม ซึ่งยังมีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทีนี้เพื่อจะสิ้นสุดแห่งความเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันก็ต้องสิ้นสุดแห่งกรรมดีกรรมชั่วนั้นเอง จึงได้มีกรรมอีกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นกรรมไม่ดีไม่ชั่ว คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ เมื่อบุคคลประกอบกรรมนี้แล้ว ย่อมหยุดเสียซึ่งอำนาจหรือกระแสแห่งกรรมดีกรรมชั่ว ก็ไปถึงที่ๆ ไม่อาจจะกล่าวได้ว่าดีหรือชั่ว สิ่งนั้นแหละคือ นิพพาน
ได้กล่าวมาแล้วเบื้องต้นว่า มรรคมีองค์ ๘ นั้นมี สัมมาทิฐิ เป็นองค์ต้น หรือเป็นองค์นำ นำหน้า สัมมาทิฐิแก่กล้าหรือสูงขึ้นไปเท่าไร อริยมรรคทั้ง ๘ มีองค์ ๘ นั้นก็แก่กล้าสูงยิ่งขึ้นไปเท่านั้น ถ้าสัมมาทิฐินั้นเป็นไปสูงสุด ถึงกับมองเห็นตามที่เป็นจริงว่าโลกนี้ว่างเปล่าจากตัวตน และจากของตน จิตก็ไม่ยึดมั่นสิ่งใดๆ ในโลก ก็มีแต่จะน้อมไปสู่นิพพานเหนือโลก หรือสิ้นสุดแห่งโลก
สัมมาทิฐินั้นเป็นปัญญา เมื่ออบรมให้มากเข้าแล้วก็เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริงจนถึงที่สุดแล้วก็มองดูโลก โลกนี้คือทุกโลก จะเป็นโลกกามาวจร หรือโลกรูปาวจร หรือโลกอรูปาวจร ก็เรียกว่าโลก ในทุกๆ โลกนั้นไม่มีอะไรที่มีความหมายแห่งตัวตนหรือของๆ ตน พูดตามธรรมดาสามัญก็ว่าไม่มีอะไรที่เป็นตัวตน เป็นของตน คือเห็นโลกว่างเปล่าจากตัวตน ว่างเปล่าจากของตน นี้เรียกว่าเห็นความว่างถึงที่สุด เมื่อจิตเห็นความว่างถึงที่สุดอย่างนี้แล้ว จิตนั้นก็ไม่จับฉวยอะไร จิตที่ไม่จับฉวยอะไรนั้นก็คือจิตว่าง เมื่อไม่จับฉวยอะไรถึงที่สุดแล้ว มันก็มีความว่าง มันจึงมีการน้อมไปสู่พระนิพพาน อันเป็นความว่างถึงที่สุด ดังที่มีคำกล่าวว่า “นิพพานัง ปรมัง สุญญัง” นิพพานเป็นความว่างถึงที่สุดอย่างนี้ ขอให้เข้าใจใจความสำคัญที่ว่า เมื่อมันไม่เห็นว่ามีอะไรที่เป็นตัวเป็นตนที่จะยึดถือเอาได้ แล้วมันจะไปทางไหน มันก็น้อมไปเพื่อความว่างถึงที่สุดคือ พระนิพพาน
สัมมาทิฐิ มองเห็นโลกทั้งปวงโดยความเป็นของว่างจากตัวตนและของตนดังนี้แล้ว องค์มรรคอื่นๆ ก็ถึงที่สุดไปตาม ปรารถนาความว่างถึงที่สุด คนนั้นก็พูดจาได้ถึงเรื่องความว่างถึงที่สุด ประกอบกรรมใดๆ ได้ในลักษณะที่จะให้ถึงความว่างถึงที่สุด ดำรงชีวิตอยู่โดยเพ่งเล็งถึงความว่างถึงที่สุด ความเพียร หรือสติ หรือสมาธิ ก็ล้วนแต่มีความว่างถึงที่สุดเป็นอารมณ์ ก็คือพระนิพพานเป็นอารมณ์ จึงกล่าวว่าหนทางนี้ไปสิ้นสุดลงที่พระนิพพาน หนทางมีองค์ ๘ นี้เรียกว่ากระแสหรือเกลียวของนิพพาน ผู้แรกถึงกระแสเรียกว่าพระโสดาบัน ผู้เดินต่อๆ ไปจนถึงที่สุดก็เรียกว่า พระสกิทาคามี อนาคามี และพระอรหันต์ พระอรหันต์นั้นเองคือผู้ถึงที่สุดแห่งการเดินทาง เรียกว่า ลุถึงนิพพาน
เราต้องใช้โวหารธรรมดามาพูดกัน จึงฟังดูคล้ายๆ กับว่านิพพานเป็นถิ่น หรือเป็นแดน หรือเป็นบ้าน หรือเป็นเมืองอะไรอันหนึ่ง ซึ่งจะต้องเดินไปให้ถึง ดังที่ท่านได้กล่าวเป็นโลกียโวหารว่า อมตมหานคร นิพพานนั้นเป็นมหานครแห่งความไม่ตาย เป็นนครสูงสุดซึ่งมีความไม่ตาย นี่พูดเป็นโลกียโวหารโดยภาษาคน ให้มันเป็นบ้านเป็นเมือง ชวนให้สนใจ ชวนให้อยากได้ ชวนให้ปรารถนา แต่ทว่าโดยที่แท้แล้ว มันกลายเป็นความว่างถึงที่สุดที่จิตไม่ได้จับฉวยในสิ่งใด แล้วก็ลุถึงความว่างชนิดนั้นได้
ความว่างถึงที่สุดเรียกว่านิพพาน ซึ่งแปลว่าเย็น นี่ก็เอาความเย็นหรือเอาสิ่งที่มีความเย็น ไม่มีความร้อน มาเป็นคำสำหรับเรียกพระนิพพาน ดังที่ได้กล่าวให้เป็นที่เข้าใจกันไว้เป็นหลักทั่วไปว่า คำธรรมะอันสูงสุด หรือภาษาธรรมะอันสูงสุดนั้น ยืมไปจากภาษาชาวบ้านตามธรรมดาสามัญ เช่น ยืมเอาคำว่าหนทางไปใช้เป็นชื่อของการปฏิบัติที่ถูกต้องประกอบไปด้วยองค์ ๘ ประการ ดังนี้เป็นต้น แล้วก็ยืมเอาคำว่านิพพาน ซึ่งภาษาธรรมดาแปลว่า เย็น หรือดับสนิทแห่งความร้อนนี้ไปเป็นชื่อของจุดหมายปลายทางของหนทางนั้น เราก็เข้าใจได้โดยคำๆ นั้นมีความหมายแสดงอยู่แล้วว่าอย่างไร
พระนิพพานแปลว่าเย็น เพราะว่ากิเลสซึ่งเป็นของร้อนดับหายไป กิเลสดับหายไปเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนหรือเป็นของตน ที่ไม่ยึดมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนของตนนั้นก็เพราะว่า สัมมาทิฐิ องค์ต้นแห่งมรรคได้เป็นไปถึงที่สุด เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริงถึงที่สุดจนเห็นว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา หรือว่าโลกทั้งปวงเป็นความว่างเป็นของว่างจากตัวตนจากของตนดังนี้
สัมมาทิฐิ ทำให้ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆ ครั้นไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดก็เกิดกิเลสไม่ได้ ไม่เกิดกิเลสแล้วก็ไม่เป็นของร้อน ไม่มีความร้อน มันจึงมีแต่ความเย็น ซึ่งหมดเหตุหมดปัจจัยแห่งความร้อน ร้อนไม่ได้อีกต่อไปดังนี้ ท่านจึงกล่าวพระนิพพานว่าเป็นความเย็น บางทีก็เรียกว่า ศิวโมกขะ แปลว่าความหลุดพ้นที่เป็นความเย็น นี่เป็นชื่อของพระนิพพาน
ขอให้ทำความเข้าใจในลักษณะที่จะเป็นประโยชน์ว่า เมื่อไรมีความเย็นเพราะว่างจากกิเลส เมื่อนั้นก็เป็นนิพพาน เราไม่ต้องพูดถึงโลกอื่น ที่อื่น เวลาอื่น หรือในอนาคตอันนานไกล เราจะเพ่งเล็งถึงว่าเมื่อไรก็ได้ ถ้าไม่มีกิเลสซึ่งเป็นของร้อน มันก็มีของเย็น ความเย็น ปรากฏ มีนิพพานปรากฏ ให้คอยจดจ้องดูให้ดีๆ ว่า เราในบางที บางครั้ง บางโอกาส ก็มีความเย็น ให้สังเกตดูให้ดีตรงที่เมื่อไรไม่มีกิเลสเกิดขึ้นในใจ มันก็เป็นความเย็นหรือเป็นนิพพาน
ให้ระลึกนึกถึงพระบาลีประโยคหนึ่งว่า “เตสัง วูปสโม สุโข” ความเข้าไปสงบระงับแห่งสังขารทั้งหลายเหล่านั้นเป็นสุข คำว่าสังขารในที่นี้คือการปรุงแต่ง คือการปรุงแต่งตามแนวแห่งปฏิจจสมุปบาทเป็นสายไปนั้นเรียกว่าการปรุงแต่ง เมื่อใดการปรุงแต่งนั้นระงับไปก็มีความสุข เมื่อใดการปรุงแต่งเกิดขึ้นก็วุ่นวายและมีความทุกข์เพราะกิเลสนั่นเอง ปรุงแต่งในที่นี้ก็คือปรุงแต่งกิเลส นับตั้งแต่เกิดเวทนาแล้วก็ปรุงแต่งตัณหาอุปาทานครบ กระทั่งเป็นชาติขึ้นมา ก็ยึดถือโดยความเป็นตัวตนในสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็มีความทุกข์เกิดขึ้น
เมื่อไม่มีการปรุงแต่งโดยปฏิจจสมุปบาทอย่างนี้แล้ว มันก็ไม่มีความทุกข์ มันก็เย็น หรือมีความสุข จึงมีหลักเกิดขึ้นมาว่า การสงบระงับเสียซึ่งการปรุงแต่งทั้งหลายนั้นเป็นความสุข ในที่นี้ใช้คำว่าความสุข เพราะพูดโดยโวหารธรรมดา เช่นเดียวกับในที่อื่นพูดว่า “นิพพานัง ปรมัง สุขัง” พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง อย่างนี้ก็มี ถ้าพูดให้ถูกตามความจริงของธรรมชาติแล้ว ก็ต้องพูดว่าสิ้นสุดลงแห่งความทุกข์ ไม่มีความทุกข์ นี่แหละคือนิพพาน ส่วนที่พูดว่าสุข หรือพูดว่าเย็นนี่ ก็เพื่อให้เกิดความหมายให้เป็นที่น่าปรารถนาสำหรับคนทั้งหลาย ซึ่งธรรมดาก็ปรารถนาความสุขหรือความเย็นอยู่แล้ว ถ้าพูดว่าสิ้นสุดแห่งความทุกข์ คนทั่วไปก็ไม่ค่อยรู้สึกว่าน่าสนใจ แต่ถ้าพูดว่าเป็นความสุขเขาก็สนใจ พระพุทธเจ้าจึงมีโวหารสำหรับตรัสเป็นสองโวหารด้วยกัน ตรัสโดยโลกียโวหารก็มีความสุข มีความเย็น เป็นต้น เมื่อตรัสโดยโลกุตตรโวหาร ก็มีแต่เพียงว่าเป็นที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์
เมื่อสัมมาทิฐิเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง คือไม่มีตันตนไม่มีของตนแล้ว จิตก็มองเห็นสิ่งทั้งปวง หรือมีปัญญา จิตที่มีปัญญาก็มองเห็นสิ่งทั้งปวงนั้นแปลกไปเป็นอย่างอื่นจากที่เคยมอง คนธรรมดา คนปุถุชน มองเห็นว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ แต่ครั้นจิตหลุดพ้นจากอุปาทานแล้ว ก็จะมองเห็นเป็นอย่างอื่น คนธรรมดาเห็นโลกโดยความเป็นของสวยงาม น่ารัก น่าพอใจ น่ายึดมั่นถือมั่น แต่ว่าจิตที่ถึงจุดหมายปลายทางของการปฏิบัติแล้วเห็นเป็นอย่างอื่น คือเห็นตรงกันข้าม เห็นเป็นไม่น่ายึดมั่นถือมั่น และก็ไม่ได้รู้สึกพออกพอใจในความสุขอะไรๆ เกี่ยวกับสิ่งนั้น เพราะมันเห็นเป็นโดยประการอื่น คือไม่น่ายึดมั่นถือมั่น หรือไม่ควรยึดมั่นถือมั่นเสียแล้ว นี้เรียกว่าจิตนี้หลุดพ้นออกไปได้จากความเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะหรือการปรุงแต่ง เป็นจิตที่ไปถึงจุดหมายปลายทาง ไปถึงธรรมะอันสูงสุดเป็นบรมธรรม นี่แหละเราพูดกันถึงธรรม ถึงสิ่งที่เรียกว่าธรรม ก็ให้รู้ครบถ้วนโดยประการทั้งปวงว่า ธรรมในความหมายทั่วไปหมายถึงอะไรกี่อย่าง แล้วมันตั้งต้นอย่างไร มันถึงที่สุดหรือจบลงอย่างไร
ตั้งต้นถึงธรรมที่เป็นธรรมดาสามัญหรือธรรมดาของปุถุชน มันก็อยู่ที่ความทุกข์ แล้วก็ไปจบไปสิ้นที่โลกุตตรธรรม หรือธรรมะอันสูงสุด คือพระนิพพาน ในระหว่างสิ่งทั้งสองนี้ มีหนทางที่จะเดินจากต้นไปหาปลาย หรือว่าเดินจากความทุกข์ไปสู่ความสิ้นสุดแห่งความทุกข์ ทุกอย่างเรียกว่าธรรมได้ทั้งนั้น ตัวหนทางก็เรียกว่าธรรม ที่ต้นทางก็เรียกว่าธรรม ที่ปลายทางก็เรียกว่าธรรม ความรู้ก็เรียกว่าธรรม การปฏิบัติก็เรียกว่าธรรม ผลของการปฏิบัติก็เรียกว่าธรรม
เราเข้าใจคำว่าธรรมให้ครบถ้วนทุกๆ ความหมาย และทุกๆ สิ่งที่ใช้คำว่าธรรมให้เป็นชื่อ ร่างกายนี้ก็เรียกว่ารูปธรรม จิตใจนี้ก็เรียกว่านามธรรม กิเลสนี้ก็เป็นนามธรรม ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะมีกิเลสนี้ก็เป็นนามธรรม คือจะต้องเป็นธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ แล้วก็เกิดสัมมาทิฐิเป็นสติปัญญาขึ้นมาก็เรียกว่าธรรม และมีธรรมอื่นๆ ที่เนื่องกัน ที่เกิดขึ้นมาจากสัมมาทิฐินั้นๆ จนกระทั่งเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นต้น แล้วเราให้ชื่อว่าเป็นทาง หนทางนี้ก็เป็นธรรมสำหรับเดินไปสู่จุดหมายปลายทางซึ่งเป็นบรมธรรม คือพระนิพพาน
นี่ดูให้ดีเถิด จะเห็นว่ามันเต็มไปด้วยสิ่งที่เรียกว่าธรรมหรือธรรมชาติ เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ มีการปฏิบัติที่เป็นธรรมตามกฎของธรรมชาติ แล้วก็บรรลุธรรมซึ่งเป็นผลของการปฏิบัติ อะไรๆ มันก็เต็มไปด้วยธรรมทั้งนั้น มีชื่อต่างๆ กันตามลักษณะของธรรมนั้นๆ ธรรมเป็นเหตุก็มี ธรรมเป็นผลก็มี ธรรมที่บัญญัติว่าดีว่าชั่ว ว่าไม่ดีไม่ชั่ว อย่างนี้ก็มี เป็นไปเพื่อสุข เป็นไปเพื่อทุกข์ เป็นไปเพื่ออทุกขมสุขก็มี มันเต็มไปด้วยสิ่งที่เรียกว่าธรรม มันจะพราวไปหมด แม้แต่เมล็ดทรายเม็ดหนึ่งก็เรียกว่ารูปธรรม และเมล็ดทรายมันมีเท่าไร มากมายเท่าไร มันก็เป็นรูปธรรมทั้งนั้นแหละ
ถ้าเรามีสติปัญญา มีความรู้ เหลือบตาไปก็เห็นรูปธรรมก่อนเต็มไปหมด มันสะดุดตาได้ง่าย แล้วก็จะมองลึกลงไปถึงที่เป็นนามธรรม ตัวธรรมชาติที่เป็นกฎก็ต้องสมมุติเรียกว่าเป็นนามธรรมประจำอยู่ในสิ่งทุกสิ่ง ดูไปที่ต้นไม้ ดูไปที่สัตว์ ดูไปที่คน ก็เห็นสิ่งที่เรียกว่าธรรม หรือจะเรียกว่าสังขารธรรมก็ยิ่งชัดยิ่งขึ้นไปอีก
สังขารธรรมคือธรรมที่มีการปรุงแต่ง ธรรมที่มีการปรุงแต่งย่อมเป็นไปในรูปแบบต่างๆ มากมายเหลือที่จะกำหนดได้ เราก็จะศึกษาและกำหนดแต่สิ่งที่ควรกำหนด เช่น กำหนดรู้ความทุกข์ กำหนดรู้เหตุให้เกิดทุกข์ กำหนดรู้สิ่งที่ดับทุกข์หรือความดับทุกข์ แล้วก็กำหนดรู้หนทางที่จะให้ถึงความดับแห่งทุกข์ แล้วก็ปฏิบัติหน้าที่ตามสมควรแก่สิ่งนั้นๆ เช่น รู้แล้วก็ละเสีย หรือทำให้แจ้งขึ้นมา ทำให้เกิดสมบูรณ์เต็มขึ้นมา เหล่านี้ก็เรียกว่าธรรมทั้งนั้น ตัวการปฏิบัติก็เรียกว่าธรรม สิ่งที่ถูกปฏิบัติก็เรียกว่าธรรม ผลของการปฏิบัติก็เรียกว่าธรรม ถ้าท่านเข้าใจจริงจะมองเห็นว่ามันเป็นธรรมไปเสียรอบด้านทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะเหลียวไปในทางไหน จะหลับตา จะลืมตา มันก็เห็นธรรม
ทีนี้ก็มีหน้าที่ที่จะเห็นให้ถูกต้องตามที่ควรจะเห็น ก็คือเห็นตามที่เป็นจริง ครั้นเห็นตามที่เป็นจริงแล้ว มันก็จะปรากฏลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของสังขารธรรมทั้งหลาย ดูให้มากยิ่งขึ้นไปอีก ให้เห็นชัดยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป ก็จะเกิดธรรมอันวิเศษขึ้นมา คือ ความเบื่อหน่าย หรือคลายกำหนัด ซึ่งเรียกว่าวิราคธรรม
จงตั้งใจดูสิ่งทั้งปวงหรือธรรมทั้งปวงให้เห็นตามที่เป็นจริงว่า สังขารธรรมเหล่านี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อะไรมาปรากฏในสายตาก็ดูให้เห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ดูแล้วก็เห็นอยู่อย่างนี้ในลักษณะที่เรียกว่าตามดูตามเห็นอยู่เป็นปรกติ ครั้นถึงขนาดถึงระดับ มันก็จะเกิดวิราคธรรมดังที่กล่าวแล้ว คือความเบื่อหน่าย คลายความยึดมั่นถือมั่น กำหนดความเบื่อหน่าย คลายความยึดมั่นถือมั่น ก็จะเห็นว่ามันเป็นไปเรื่อยๆ มันเป็นไปหนักขึ้นๆ ตามที่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มากขึ้นหรือหนักขึ้น
ฉะนั้นการพอกพูนเพิ่มพูนความเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นแหละเป็นตัวการปฏิบัติที่ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป เพิ่มความเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มากขึ้นเท่าไร วิราคะ ความคลายกำหนัดก็จะเป็นไปยิ่งขึ้นมากขึ้น จนกระทั่งสูญสิ้นความยึดมั่นถือมั่น นี้ก็เรียกว่า นิโรธะ คือ ความดับแห่งความยึดมั่นถือมั่น ความดับแห่งความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน และก็เป็นความดับแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลง และเป็นความดับแห่งความร้อน คือกิเลส มันก็กลายเป็นความเย็น คือพระนิพพาน มาจบลงที่ตรงนี้ แล้วก็เรียกว่าบรมธรรม ธรรมะอันสูงสุด
ในวันเช่นวันนี้ เราอุทิศให้เป็นวันของพระธรรม ฉะนั้นจึงมาศึกษาพระธรรม ปฏิบัติพระธรรม โดยการดูให้เห็นธรรมอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า จะเหลียวไปทางไหนก็ล้วนแต่เห็นสังขารธรรม ดูให้หนักเข้าก็จะเห็นว่ามีความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดูให้หนักเข้าก็จะเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด เป็นความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดมากเข้าก็จะถึงที่สุด คือความดับแห่งกิเลส มันก็เป็นนิพพาน จบ เรื่องจบตรงนี้ ไม่มีอะไรที่จะกล่าวได้อีกต่อไป หรือไม่ควรจะกล่าวอีกต่อไป เรื่องมันจบที่ตรงนี้ เป็นที่สิ้นสุดแห่งความว่ายเวียน ไม่มีความเกิดขึ้นแห่งตัวตน ไม่มีความเกิดขึ้นแห่งกิเลส ไม่มีความเกิดขึ้นแห่งความทุกข์ ก็เรียกว่าเป็นที่สิ้นสุดลงแห่งความทุกข์
ถ้าทำอะไรไม่ได้ในวันเช่นวันนี้ ก็มานั่งดูๆ ๆ ๆ ไม่ต้องการให้คิด ไม่ต้องการให้นำด้วยความคิด ต้องการให้ดู เพียงแต่ต้องการให้ดู ดูธรรมที่เป็นสังขารทั้งปวง ดูๆ จนเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่าไปคิดว่ามันคงจะเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็อ้างเหตุผลอย่างโน้นอย่างนี้มาสรุปความว่ามันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างนี้ใช้ไม่ได้ ไม่เป็นวิปัสสนา ไม่เป็นอนุปัสสี ทำจิตให้เป็นสมาธิแล้วก็เพ่งดู เพ่งดู เพ่งดู เหมือนกับเราดูสิ่งของด้วยตา แต่เดี๋ยวนี้ดูด้วยธรรมจักษุ หรือปัญญาจักษุในภายใน ดูๆ ๆ ก็เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็จะมีผลเป็นความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในความดับและความหลุดพ้นดังที่กล่าวแล้ว
วันเช่นวันนี้ก็ควรจะแจ่มใส อย่าขี้ง่วงนอนเป็นเด็กอมมือเลย อย่าขี้ง่วงนอนเป็นเด็กอมมือเลย พระเจ้าพระสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายเอ๋ย ในวันนี้อย่าขี้ง่วงนอนเป็นเด็กอมมือเลย จงมานั่งดูพระธรรม ดูธรรมะ ให้เห็นธรรมะอันสูงสุด คือความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ดับเย็นเป็นนิพพาน ก็จบกันที่ดูนิพพาน ถ้าว่าเรื่องขนาดนี้ทำให้ตาสว่างไม่ได้แล้วมันก็เป็นเด็กอมมือ พระเณรที่หนีไปนอนนั้นมันเป็นเด็กอมมือ มันไม่รู้จักพระธรรมว่าสูงสุดประเสริฐ น่าอัศจรรย์อย่างนี้ ตามันก็สว่างอยู่ไม่ได้ มันก็ต้องหนีไปนอนเป็นลูกเด็กๆ อมมือ ไม่สมกับที่ว่าวันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา เป็นวันของพระธรรม
จงมามีตาสว่าง สดใส หลับไม่ลง เหมือนกับคนถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งหลายรางวัลซ้อนๆ กัน มันหลับไม่ลง มันตื่นเต้น นี่เราก็ตื่นเต้นด้วยพระธรรม มีลักษณะอันน่าตื่นเต้น น่าอัศจรรย์จริง อย่าพูดกันแต่ปากว่า อโห พุทโธ พระพุทธเจ้าน่าอัศจรรย์จริง แล้วมันก็ว่าแต่ปาก เดี๋ยวมันก็ง่วงนอน อโห ธัมโม พระธรรมน่าอัศจรรย์จริง ก็ว่ากันแต่ปาก เดี๋ยวมันก็ง่วงนอน อโห สังโฆ พระสงฆ์น่าอัศจรรย์จริง ก็ให้อัศจรรย์จริง ทั้งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีความปีติปราโมทย์ พอใจ ตื่นเต้น ไม่ง่วงนอน นั่นแหละจึงจะเรียกว่าเห็นพระธรรม อยู่กับพระธรรม พอใจในพระธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันเช่นวันนี้ ที่เรียกว่าวันพระธรรม คือวันอาสาฬหบูชา เพราะว่าพระองค์ทรงเปิดเผยพระธรรมที่ได้ตรัสรู้ เป็นการเปิดเผยครั้งแรกในวันนี้ เป็นวันเกิดของพระธรรม พระธรรมเกิดทั้งที ไม่อัศจรรย์ ไม่น่าอัศจรรย์ มันก็เรียกว่าเป็นปุถุชนมากเกินไป มีอวิชชามากเกินไป ไม่พอใจในการเกิดขึ้นแห่งพระธรรม
ทีดูหนังดูละครมันดูได้จนสว่าง พอจะมาดูพระธรรมบ้าง มันดูไม่ได้ มันง่วงนอน เดี๋ยวเดียวมันก็หนีไปนอนแล้ว นี่เรียกว่าไม่เป็น ไม่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าเอาเสียเลย ดังนี้ ไม่มีความอัศจรรย์ยินดีในพระพุทธ ในพระธรรม และในพระสงฆ์ อาตมาก็ได้ชักชวนขอร้องมาเป็นลำดับๆ ตั้งหลายปีมาแล้วว่า ในวันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา มาฆบูชานี้ ขอเป็นพิเศษเถิด ทำในใจระลึกถึงพระพุทธเจ้า ถึงการตรัสรู้ ถึงการประกาศพระธรรม ถึงการประชุมพระอรหันต์ ซึ่งมันน่าอัศจรรย์เหลือประมาณ ถ้าเป็นคนมีธรรมะจริง ก็จะพอใจให้ทนอยู่ได้ จะนั่งทำในใจทั้งวันทั้งคืนก็ทำได้ นี่มันเป็นเครื่องวัดว่ามีความก้าวหน้า เป็นผู้ถึงธรรมและก็พอใจอยู่ในธรรม
ถ้ายังไม่เป็นผู้ถึงธรรม ก็ขอให้มีความอดทนที่เรียกกันว่า ขันตี “ขันตี พลัง วะยะ ตีนัง” แปลว่าขันตีเป็นกำลังของผู้บำเพ็ญพรต ภิกษุสามเณรนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้บำเพ็ญพรต มีขันตีเป็นกำลังในการบำเพ็ญพรต ถ้าไม่มีขันตีแล้วก็ไม่มีกำลังที่จะบำเพ็ญพรต มันเป็นพรตที่ไม่มีกำลัง มันก็ล้มละลาย คือไปนอนเสียเท่านั้นเอง ถ้ามีขันตีก็ทนได้ มีตาสว่าง แล้วก็พอใจในพระธรรม ปีติปราโมทย์ ก็อยู่ไปได้ นี่ต้องอาศัยความอดทนเป็นพื้นฐานของการบำเพ็ญพรต
อานิสงส์ของขันตีมีมากมาย ไปเปิดดูเองในตำราก็ได้ คือพระพุทธภาษิตหมวดที่ว่าด้วยขันตี แล้วก็คงจะพอใจในความอดทน ภิกษุหนุ่มสามเณรทั้งหลายนั้นก็จะพอใจในความอดทน ก็จะฝึกฝนตนให้เป็นผู้มีความอดทน ครั้นมีความอดทนเป็นนิสัยขึ้นมาแล้ว สิ่งต่างๆ ก็จะเป็นไปได้โดยง่ายในการบรรลุธรรม ในการดำเนินไปตามทางธรรม ในการปฏิบัติธรรม การประพฤติพรหมจรรย์นั้นก็จะเป็นของง่าย เพราะมีความอดทนเป็นนิสัย ไม่มีความอดทนแล้วอะไรๆ ก็ลำบาก ยาก น่าเบื่อไปเสียทั้งหมด นี่ก็คือความล้มเหลวของการบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา เพราะว่าเขาไม่มีความอดทน
เราจึงมาชักชวนกันให้ปฏิบัติในความอดทน มีเหตุปัจจัยอะไรที่จะทำให้อดทนก็จงเอามาใช้ให้หมด เพื่อมันจะได้เกิดความอดทน เช่น การคำนึงถึงพระพุทธคุณก็เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดการอดทน รู้จักพระธรรมก็เป็นเหตุให้อดทน เพราะพอใจในพระธรรม ต้องการจะเป็นพระสงฆ์ที่แท้จริง เพื่อความเป็นพระอริยสงฆ์ มันก็เป็นเหตุให้อดทน ฉะนั้นเราจงสร้างปัจจัยแห่งความอดทนให้มีขึ้น จนกระทั่งว่าความอดทนนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายๆ เหมือนว่าเล่น นั่นแหละคือผู้ที่บำเพ็ญพรตโดยแท้จริง สำเร็จประโยชน์ได้ด้วยการอดทน
วันวิสาขะ อาสาฬหะ มาฆะ ก็เป็นวันสำหรับฝึกความอดทน เรามานั่งอดทนไม่หลับไม่นอน ไอ้คนปุถุชนมันก็ว่าบ้า จะมานั่งอดทนไม่หลับไม่นอนกันทำไม พวกหมอโง่ๆ มันก็สอนว่าเสียสุขภาพอนามัย นี่คือพวกหมอที่ให้การศึกษาชนิดที่เป็นสุนัขหางด้วน มันไม่ตลอดรอดออกไปว่า ไอ้ธรรมะนั้นมันมีความจริงของธรรมะเอง มันมีอะไรๆ ที่เป็นคนละเรื่องกับเรื่องของคนชาวบ้าน ของปุถุชนที่เต็มไปด้วยอวิชชา
เป็นความจริงที่เราจะเชื่อได้ว่าพระพุทธเจ้า บางคราวก็อดอาหารหลายๆ วัน ติดๆ กัน และท่านก็ไม่ตาย และความอดทนของท่านมีมากน้อยเท่าไรก็ไปศึกษาดูจากเรื่องของการบำเพ็ญทุกรกิริยา มีอยู่มากมายในสุตตันตปิฎก ก็พบว่ามันเป็นความอดทนชนิดที่คนธรรมดากลัว กลัวตาย เข้าใจว่าอดทนถึงอย่างนั้นแล้ว เราจะต้องตาย นี่ก็เอาความรู้สึกของคนธรรมดามาเป็นเครื่องวัด แล้วก็สอนกันไปในทางที่ให้อ่อนแอ เราจะถือเอาหลักของพระพุทธเจ้ามาเป็นเครื่องชูประคับประคองจิตใจ เพื่อค้ำชูจิตใจให้มีความอดกลั้นอดทนได้ แล้วก็ไม่ตาย ทำอย่างนี้แหละเป็นการปฏิบัติธรรม เพื่อเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะมีการเดินทางตรงไปสู่พระนิพพาน ไม่เสียทีที่มาเป็นพุทธบริษัทบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา
ขอให้ผู้บวชทั้งหลาย จะบวชพระ บวชเณร บวชชี หรือถือศีลเป็นอุบาสก อุบาสิกา จงมีความกล้าหาญในการที่จะเดินตามรอยของพระศาสดา ซึ่งต้องมีความอดกลั้นอดทน การประพฤติพรหมจรรย์อาศัยความอดกลั้นอดทน เพราะว่าพรหมจรรย์นั้นเป็นความขูดเกลา เหมือนกับว่าขูดเนื้อร้ายให้มันหลุดออกไปเสียให้หมด ให้เหลือแต่เนื้อดี แล้วก็ใส่ยาให้หายโดยเร็ว ก็ลองคิดดูเถิดว่ามันจะต้องเจ็บปวดสักเท่าไร เราก็ต้องทนได้ ทนจนน้ำตาไหลก็ทนได้ เพราะว่าให้ของร้ายๆ มันออกไป มันเหลือแต่ของที่ควรจะเอาไว้ คือของดี จะได้หาย จะได้สบาย
การที่จะบวชจะประพฤติพรหมจรรย์ มันก็ต้องขูดเกลากิเลส แล้วมันก็มีความเจ็บปวดตามแบบของการขูดเกลา ปุถุชนเขารักกิเลส บูชากิเลส เมื่อจะต้องขูดเกลากิเลสออกไปจากตน ก็เจ็บปวดมาก เหมือนกับคนมันอยากจะไปดูหนัง ดูละคร ไปเที่ยวกามารมณ์ ไปอะไรต่างๆ ตามความรู้สึกของกิเลส เมื่อถูกบังคับไม่ให้ไป มันก็เจ็บปวดมาก ถ้ามันทนได้มันก็ไม่ต้องไป ถ้ามันทนไม่ได้มันก็ต้องไป แล้วมันก็จะมีอะไรเกิดขึ้นก็ลองคิดดู มันก็เลวไปตามเดิม มันก็ทนทุกข์ไปตามเดิม ไม่มีทางที่จะหายจากโรคคือกิเลส
เดี๋ยวนี้พระธรรมเป็นระบบปฏิบัติเพื่อขูดเกลากิเลส เรามานึกถึงพระธรรมในวันเช่นวันนี้ กระทำไว้ในใจถึงพระธรรมในวันเช่นวันนี้ นี่แหละคือการที่มีพระธรรม ถึงพระธรรม บูชาพระธรรม ซึ่งเป็นสิ่งสูงสุดที่แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังเคารพพระธรรม มีความสูงของความเป็นมนุษย์ก็เพราะอำนาจของพระธรรม มีความผิดแปลกแตกต่างไปจากสัตว์เดรัจฉานก็เพราะอำนาจของพระธรรม จนกระทั่งดับทุกข์ทั้งปวง เป็นการบรรลุพระนิพพานก็ด้วยอำนาจของพระธรรม
พระธรรมหมวดหนึ่ง ประเภทหนึ่งก็ตั้งอยู่ในฐานะเป็นเครื่องมือ คือการปฏิบัติ ครั้นปฏิบัติแล้วก็ได้รับผลของการปฏิบัติ พระธรรมนี้เป็นเครื่องมือปฏิบัติ และพระธรรมต่อมาก็เป็นผลของการปฏิบัติ เรามีหน้าที่ที่จะต้องใช้เครื่องมือคือการปฏิบัติ แล้วก็จะได้รับผลของการปฏิบัติเป็นแน่นอน ขอให้ลองปฏิบัติดูเถิด ก็จะรู้สึกว่าตัวเองมันสูงขึ้น คือมันยกตนขึ้นมาได้จากกองทุกข์ หรือกองกิเลส สูงขึ้นมา สูงขึ้นมา มีความเป็นมนุษย์ที่สูงขึ้นมา สูงขึ้นมา กว่าจะถึงระดับสูงสุดของความเป็นมนุษย์ นี่แล้วเอาไปคิดดูว่า มันมีอะไรดีกว่านี้ หรือมันเกิดมาทีหนึ่งนี้มันมีอะไรที่ดีกว่านี้
เรามาเป็นพุทธบริษัทนับถือพระพุทธเจ้ากันนี้เพื่อประโยชน์อะไร คนหนุ่มมาบวชพระบวชเณรนี้มันบวชทำไม มันหลับตาเห่อๆ ตามๆ กันมาโดยไม่รู้ว่าบวชทำไม มันก็น่าละอายมาก มันควรจะรู้ว่าบวชทำไม เพื่อได้อะไร บวชนี้ก็คือทำให้มันเร็วเข้าในการที่จะได้อะไรๆ ที่ควรจะได้ ไม่บวชก็ได้เหมือนกันแต่มันช้า มันคลานงุ่มง่าม เปรียบเทียบเหมือนอย่างว่าคนหนึ่งตัวเปล่า มันก็เดินสบาย เดินไปได้เร็ว และอีกคนหนึ่งมันหาบเอาบ้าน เอาเรือน เอาอะไรมาหมด แล้วมันจะเดินได้เร็วอย่างไร คนหนึ่งมันหาบบ้านหาบเรือนมา คนหนึ่งมันเดินตัวเปล่า มันก็ต่างกันมาก
ที่บวชนี่ก็เพื่อว่าจะเป็นคนตัวเปล่า ไม่หาบบ้านหาบเรือน แล้วก็เดินได้เร็ว ก็จะถึงนิพพานได้โดยง่ายและโดยเร็ว นี้คือประโยชน์ของการบวช จะบวชพระ บวชเณร บวชชี บวชอะไรก็สุดแท้เถิด มันก็เพื่อความเร็ว ในการที่จะเดินทางไปสู่ที่สุดจุดหมายปลายทาง คือพระนิพพาน มนุษย์ควรจะมีความมุ่งหมายปลายทางที่นี่ อย่าให้เหมือนกับมนุษย์ในโลกปัจจุบันนี้ เขามีวิชา มีความรู้ มีความก้าวหน้า ทำตัวเองให้วิ่ง เหมือนกับคนบ้าอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ถามว่าจะไปไหน ก็บอกไม่ทราบยังไม่ได้ถามคอมพิวเตอร์ว่าจะไปไหน
นี่คนเดี๋ยวนี้มันเป็นอย่างนี้ มันไม่รู้ว่าจะไปไหน แล้วมันก็วิ่งๆ ๆ ๆ ๆ ด้วยอำนาจความก้าวหน้าในเรื่องวิชาความรู้ มันก็ไม่รู้จะไปไหน มันก็วนอยู่ที่นั่น มันก็วนอยู่ในกองทุกข์ วนไปวนมามันจะตกลึกลงไปอีก เพราะว่าความก้าวหน้าของเขานั้นมันก้าวหน้าไปตามทางของกิเลส ก้าวหน้าไปในทางที่จะปรุงเหยื่อสำหรับกิเลสให้มันรุนแรงยิ่งๆ ขึ้นไป มันก็เป็นการก้าวหน้าไปตามทางของกิเลส เพราะไม่รู้ว่าจะไปไหน
พุทธบริษัทรู้ว่ากิเลสเป็นอย่างไร ความทุกข์เป็นอย่างไร จุดหมายปลายทางก็คือก้าวให้พ้น ก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ไปเสียให้พัน มันก็คือมีความเย็นสนิท เพราะไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์นั่นเอง เป็นจุดหมายปลายทาง แล้วจะไปมีชีวิตเหมือนกับว่าเกิดใหม่ เป็นคนหรือเป็นมนุษย์อีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่รู้จักกับความทุกข์ ตั้งแต่นี้ต่อไปทุกข์กับเขาไม่เป็น ไม่มีความทุกข์อีกแล้ว นี้เรียกว่าสิ้นสุดแห่งความทุกข์ มีจิตใจเป็นปกติและเป็นสุขถึงที่สุด นี้คือจุดหมายปลายทางเมื่อถือเอาตามหลักของพระพุทธศาสนา
ถามว่าไปไหน ก็พูดว่าไปนิพพาน นั่นแหละถูกที่สุด แต่ว่าคนอาจจะไม่รู้ว่าไปนิพพานนั้นคืออะไรหรือไปอย่างไรก็ได้ พูดตามธรรมเนียมก็ได้เหมือนกัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังดีกว่าที่ไม่รู้ว่าจะไปไหนกัน ให้มันแน่ลงไปสักทีหนึ่งก่อนเถิดว่าจะไปไหนกัน แล้วก็ตั้งใจไปที่นั่น แล้วก็ปรับปรุงให้มันไปได้จริงๆ นี่คือความเป็นมนุษย์ หรือการเกิดมาเป็นมนุษย์เพื่อให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา ทั้งหมดนั้นเกี่ยวข้องกันกับสิ่งที่เรียกว่าธรรมอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด ธรรมะมีความสำคัญอย่างนี้ มีลักษณะความหมาย มีสภาพตามที่เป็นจริงอย่างนี้
เรามาศึกษากันเป็นพิเศษในวันนี้ เรามาปรึกษาหารือกันในการที่จะมีความก้าวหน้าในทางธรรมะที่จะช่วยโลกให้มีธรรมะให้รอดจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นได้ นี่แหละคือวันอาสาฬหบูชา วันที่มีความหมายอย่างนี้ วันที่จะต้องประพฤติกระทำกันอย่างนี้ เราก็ได้มาทำกันแล้วสุดความสามารถของเรา ท่านทั้งหลายควรจะมีปีติปราโมทย์ในการที่ได้ทำอย่างนี้ ทั้งหมดนี้เสียสละเพื่อเป็นเครื่องบูชาพระคุณของพระพุทธเจ้า ของพระธรรม และของพระสงฆ์ เราจึงเห็นไอ้เรื่องนอนเป็นเรื่องเล็กน้อย เรื่องง่วงนอนนี่เป็นเรื่องของเด็กๆ เราโตแล้วก็ไม่ต้อง ฉะนั้นไม่ต้องง่วงนอนในวันนี้ จะได้โตเป็นผู้ใหญ่กันเสียที สดใสแจ่มใสอยู่ด้วยการทำในใจระลึกถึงอยู่ซึ่งพระคุณของพระพุทธองค์ผู้ทรงแสดงพระธรรมขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกในวันเช่นวันนี้
เป็นอันว่าเราได้ประกอบพิธีอาสาฬหบูชาเป็นลำดับมาตั้งแต่ตอนต้นแห่งวัน ตอนปลายแห่งวัน ตอนต้นแห่งราตรี และกระทั่งถึงตอนปลายแห่งราตรี คือเวลานี้ เราได้บำเพ็ญพิธีอาสาฬหบูชาตลอดเวลา เอาเป็นว่า ๒๔ ชั่วโมงก็แล้วกัน ๒๔ ชั่วโมงนี้อุทิศให้แก่พระธรรม ถือเป็นวันพระธรรม เป็นวันเกิดแห่งพระธรรม เป็นวันดำรงอยู่แห่งพระธรรม เป็นวันที่จะต้องศึกษาพระธรรมให้เข้าใจยิ่งๆ ขึ้นไป สำหรับจะถือไว้เป็นหลักสำหรับชีวิต สำหรับจะดำรงชีวิตให้เป็นไปอย่างถูกต้อง คือเป็นธรรม หรือประกอบอยู่ด้วยธรรม แล้วก็จะได้รับประโยชน์ของความเป็นมนุษย์ถึงที่สุด ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา
อาตมาเห็นว่าการแสดงธรรมเทศนากัณฑ์สุดท้ายนี้ก็พอสมควรแก่เวลา สมควรแก่เหตุการณ์ สมควรแก่ความเข้าใจ สว่างไสวแจ่มแจ้งในเรื่องของอาสาฬหบูชาแล้ว จะยุติธรรมเทศนาด้วยการขอร้องให้ท่านทั้งหลายจงพอใจในการกระทำ จำไว้ให้แม่นยำสำหรับยึดถือเป็นหลักปฏิบัติสืบต่อไปในอนาคต ถ้าร่างกายไม่แตกตายเร็วเกินไป ปีต่อๆ ไปก็คงจะได้ทำพิธีอาสาฬหบูชากันอีก ให้ก้าวหน้าให้ดียิ่งขึ้นไปกว่านี้ ถ้าปีนี้มันยังง่วงนอนบ้าง ปีหน้าก็จะไม่ให้ง่วงนอนเลย ให้ทุกอย่างมันดีกว่าปีที่แล้วๆ มาด้วยกันจนทุกคน นี้เรียกว่าเป็นการก้าวหน้าตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย แล้วก็ประสบความสุขความเจริญตามทางของพระธรรมอยู่ด้วยกันทุกทิพาราตรีกาลจงทุกๆ ทุกคนเถิด ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้.