แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้า ในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ปรารภเหตุมาฆบูชา ดังที่ท่านทั้งหลายก็ได้ทราบกันอยู่เป็นอย่างดีแล้ว ธรรมเทศนาในโอกาสนี้มีความประสงค์จะให้เป็นการเตรียมตัว เตรียมกายและเตรียมใจของท่านทั้งหลาย เพื่อความเหมาะสมแก่การทำ มาฆบูชา ให้สำเร็จประโยชน์ถึงที่สุด เต็มที่ตามความปรารถนา ขอให้ฟังให้ดี
อยากจะกล่าวถึงข้อที่ว่า ทำไมจะต้องมาประกอบพิธี มาฆบูชา ณ สถานที่นี้ ทั้งนี้ก็เพื่อว่า จะให้เกิดความสะดวกแก่การกระทำในใจถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งมีพระชนม์ชีพแทบทั้งสิ้นเกี่ยวเนื่องกันอยู่กับธรรมชาติ โดยเฉพาะในป่าและใกล้ชิดกับแผ่นดิน ซึ่งควรจะถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับพุทธบริษัทเรา ต้นไม้เป็นที่โปรดปรานของพระพุทธเจ้า ท่านประสูติใต้ต้นไม้ ท่านตรัสรู้ใต้ต้นไม้ ประทับอยู่ส่วนมากก็ใต้ต้นไม้ สั่งสอนภิกษุใต้ต้นไม้ และท่านก็ปรินิพพานใต้ต้นไม้ เมื่อเรามานั่งอยู่ใต้ต้นไม้อย่างนี้ อาจจะระลึก นึกถึง โดยความเป็นพุทธานุสติในพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นโดยง่าย ขอให้ท่านทั้งหลายจงกระทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ ในการที่มานั่งกับต้นไม้ในลักษณะอย่างนี้ โดยทำในใจว่า พระองค์ประสูติ ตรัสรู้ ประทับอยู่ และปรินิพพานใต้ต้นไม้
อีกอย่างหนึ่งก็นึกถึงกลางดิน กลางแผ่นดิน ว่าพระผู้มีพระเจ้านั้นประสูติกลางดิน ทั้งที่เป็นกษัตริย์ก็มิได้ประสูติในปราสาทราชฐาน แต่กลายเป็นประสูติกลางแผ่นดินในสวนลุมพินี-สวนป่าแห่งหนึ่ง เมื่อตรัสรู้ก็ได้ตรัสรู้กลางดิน โคนต้นไม้ริมลำธารแห่งหนึ่ง มิได้ตรัสรู้ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย หรือในสถานที่เช่นนั้น ตรัสรู้แล้วก็เที่ยวสั่งสอน การสั่งสอนภิกษุส่วนใหญ่ก็กล่าวได้ว่า สอนกันอยู่ตามพื้นดิน ตามกลางดิน แม้กระทั่งเดินทางก็สอนได้ มีเรื่องราวปรากฏชัดอยู่ในพระบาลีนั้นๆว่า ทรงประกอบสังฆะกรรมกลางพื้นดิน และเมื่อจะปรินิพพาน ก็ปรินิพพานกลางดิน ใต้ต้นสาละในสวนที่เรียกว่า สาละวัน ท่านทั้งหลายจงกระทำในใจ ระลึกถึงเหตุการณ์นั้นๆเพื่อความเป็นพุทธานุสติอย่างเดียวกันอีก ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน สั่งสอนกลางดิน กุฏิก็พื้นดิน และปรินิพพานก็กลางดิน มันเป็นการง่ายที่จะทำในใจถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า ในโอกาสเช่นนี้ เราจึงมาทำมาประกอบพิธีมาฆบูชากันในสถานที่อย่างนี้
ใจความสำคัญ มันอยู่ที่คำๆเดียวว่า ตามธรรมชาติ การเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ เป็นอยู่อย่างธรรมชาติ ตามธรรมชาตินั้น เป็นการง่ายที่จะเข้าใจธรรมะ เพราะว่าธรรมะนั้นไม่ใช่เรื่องอะไรอื่นนอกจาก สัจจะของธรรมชาติ ความเป็นอยู่ตามธรรมชาติ ตามที่เป็นจริง อันนี้ก็เรียกว่า ตัวธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ ก็เรียกว่า ธรรมชาติ หน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติ นี้เรียกว่า ธรรม ผลที่ได้รับของการปฏิบัติหน้าที่ก็เรียกว่า ธรรม
เป็นอันว่ามันเป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นความจริงของธรรมชาติ เราควรจะใกล้ชิดกับธรรมชาติ เพื่อรู้เรื่องของธรรมชาติในทุกแง่ทุกมุม อย่างนี้เรียกว่าสะดวกแก่การเข้าถึงธรรม พระศาสดาของศาสนาทุกๆศาสนา ล้วนแต่ตรัสรู้เป็นพระศาสดาในท่ามกลางธรรมชาติ ในป่าอันสงบสงัด หรือในภูเขา ในท้องถ้ำ ด้วยกันทั้งนั้น นั่นก็คือ ความใกล้ชิดกันกับธรรมชาติ จึงหวังว่าการที่ท่านทั้งหลายมานั่งประชุมกันอยู่ในทีนี่ ในลักษณะอย่างนี้ คงจะได้รับอิทธิพลอันนี้จากธรรมชาติบ้างไม่มากก็น้อย อย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้รู้สึกเย็นใจ มีจิตใจที่เย็น ที่หยุด ที่ว่าง ที่สงบ จากความรบกวนแห่งกิเลสไปสักขณะหนึ่ง แม้ไม่ถึงความสิ้นแห่งกิเลส ก็ถึงซึ่งความว่างจากการรบกวนของกิเลสสักชั่วขณะหนึ่ง จะได้ชิมรสของความว่างจากกิเลส ซึ่งเป็นตัวอย่างรสของ พระนิพพาน อันเรียกว่าเป็นการชิมลองรสของ พระนิพพาน ก็ยังได้ ขอให้กำหนดจิตใจให้ดีๆ ถ้าความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้น ก็จะเป็นผลดีในการที่จะมีความเชื่อ ความเลื่อมใสในพระธรรมนั้น อย่างแน่นแฟ้นยิ่งๆขึ้นไป ไม่เสื่อมคลาย เป็นการปลูกฝังศรัทธาให้ยิ่งขึ้นไป เพราะการได้รับรสของพระธรรม ซึ่งหมายถึง ความว่างไปจากการรบกวนของกิเลสแม้ชั่วขณะหนึ่ง เมื่อเป็นได้อย่างนี้ก็เรียกว่าได้คุ้มค่า หรือเกินค่า ในการที่มาประกอบพิธีเช่นนี้ ในลักษณะอย่างนี้ ในสถานที่เช่นนี้ ขอให้ท่านทั้งหลาย ทุกคน จงทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ตามนี้
ทีนี้ ก็จะได้กล่าวถึงความหมายของ มาฆบูชา การประกอบพิธีมาฆบูชานี้ เพื่อให้เกิดความระลึก นึกถึงเป็นพิเศษ แก่บุคคลผู้ประกอบและบุคคลผู้ได้พบได้เห็น ว่าเราได้รับรู้และแสดงความเคารพ บูชา ต่อเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในวันนี้ ในวันที่ตรงกับวันนี้ คือ วันเพ็ญ เดือนมาฆะ โดยส่วนใหญ่ก็เล็งถึงการประชุมที่เรียก จาตุรงคมหาสันนิบาต พระอรหันต์ ๑๒๕๐ รูปมาประชุมกัน ณ เวฬุวันมหาวิหาร โดยไม่มีการนัดหมาย พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับเป็นประธานแห่งคณะสงฆ์นั้น และทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ คือ หลักที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
อาตมาถือว่า วันนี้เป็นวันที่ระลึกแก่พระอรหันต์ที่ประชุมกัน ๑๒๕๐ รูป เลยเรียกวันวันนี้ว่า วันพระสงฆ์ เรียกวันเพ็ญเดือนวิสาขะ หรือวันวิสาขบูชา นั้นว่าเป็น วันพระพุทธเจ้า และเรียกวันแสดงธรรมจักรที่ อิสิปตนมฤคทายวัน เรียกกันว่า วันอาสาฬหบูชานั้นว่าเป็น วันพระธรรม วันพระพุทธเจ้า ก็คือ วันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานของพระองค์ วันพระธรรม ก็คือ วันที่ทรงแสดง พระธรรมอันเป็นหลักคือ ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร วันพระสงฆ์ คือ พระสงฆ์เกิดขึ้นอย่างปึกแผ่นแน่นหนา ๑๒๕๐ รูปแล้วประชุมกันกระทำสิ่งเป็นเหมือนกับว่าเป็นการย้ำลงไปว่า คณะสงฆ์ได้ประดิษฐานตั้งมั่นลงในโลกนี้แล้ว มีธรรมนูญระบอบปฏิบัติที่เรียกว่า โอวาทปาติโมกข์ เราจึงมีวันสามวันครบถ้วนบริบูรณ์ คือ เพ็ญวิสาขะ เป็น วันพระพุทธ ต่อมาอีก ๓ เดือนคือ เพ็ญอาสาฬหะ เป็น วันพระธรรม ต่อมาอีก ๔-๕ เดือนก็เป็น วันเพ็ญมาฆะ คือ วันพระสงฆ์ ขอให้ถือว่าเป็นวันสำคัญที่สุด สำหรับพุทธบริษัท อย่างวันพระพุทธ วันพระธรรม วันพระสงฆ์ เดี๋ยวนี้เขาก็มีวันสำคัญๆในโลก วันแม่ วันเด็ก วันครู เป็นต้น ที่เป็นเรื่องการเมือง ก็มีวันสหประชาชาติ อะไรต่างๆไปตามแบบของนักการเมือง แต่พุทธบริษัทเราก็จะมีวันสำคัญ คือ วันพระพุทธ วันพระธรรม และวันพระสงฆ์ มีความสำคัญยิ่งกว่าวันใดหมด สำหรับพุทธบริษัท เราจึงมาประกอบพิธีเพื่อวันอันสำคัญนั้น
ขอให้ท่านทั้งหลายกระทำในใจให้ถึงขณะนี้ ว่าประกอบพิธีนี้เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงและบูชาแก่เหตุการณ์อันสำคัญในพระพุทธศาสนา สำหรับวันมาฆะบูชานี้ ก็มีเหตุการณ์คือ พระอรหันต์ประชุมกันนี้ตามที่ยอมรับกันเป็นส่วนใหญ่ กับอีกส่วนหนึ่งก็ถือว่าเป็น วันที่ทรงปลงอายุสังขาร กำหนดความเป็นอยู่แห่งสังขารว่าถึงที่สุดแล้ว จะปล่อยให้สังขารนี้ดับไป ทรงปลงอายุสังขารในวันเพ็ญ คล้ายกับวันนี้ด้วยเหมือนกัน แต่ก็เป็นเหตุการณ์เล็กน้อยก็ไม่ค่อยจะเอามากล่าวกัน คงกล่าวกันแต่เรื่องประชุม จาตุรงคมหาสันนิบาต เราจะถือว่าเรื่อง จาตุรงคมหาสันนิบาต นี้เป็นใจความสำคัญของวันมาฆะบูชา เราจะระลึกนึกถึงหลักพระธรรม ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงในวันนี้ และถือว่าเป็นหลักธรรมที่พุทธบริษัทจะต้องประพฤติ ปฏิบัติโดยทั่วๆไป ประจำชีวิต จิตใจ เหมือนกับว่ามีความเป็นมนุษย์อันสูงสุด ตั้งอยู่ที่การปฏิบัติในลักษณะเช่นนี้ ถ้าเราปฏิบัติตามหลักดังที่กล่าวนี้ ความเป็นมนุษย์ก็จะสมบูรณ์ เดี๋ยวนี้ในโลกนี้ ไม่สนใจในเรื่องของพระศาสนา เรื่องของพระเป็นเจ้า หรือเรื่องของพระธรรมยิ่งขึ้นทุกที เพราะความหลงใหล ความพลั้งเผลอ ปล่อยให้จิตใจตกเป็นทาสของวัตถุ ไปบูชารสอร่อยทางวัตถุ จนติดรสของวัตถุเหมือนกับติดยาเสพติด แล้วก็ไม่อยากจะนึกถึงสิ่งใด เลยไม่นึกถึงพระธรรม ไม่นึกถึงพระศาสนา ไม่นึกถึงศีลธรรม จริยธรรมใดๆ คงนึกถึงแต่เรื่องที่ต้องการของกิเลส คือ เรื่องความสุข สนุกสนานทางเนื้อ ทางหนัง ซึ่งเป็นกิเลส ซึ่งเป็นข้าศึกของธรรมะที่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์
อาตมาอยากจะขอร้องเป็นพิเศษสำหรับปีนี้ ว่าให้ระลึกนึกถึงความเป็นมนุษย์ให้ยิ่งกว่าที่แล้วๆมาสักหน่อย ระลึกย้อนไปถึงว่ามันมีคำกล่าวว่า คน-นี้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ คน-นี้เป็นสัตว์สังคม คน-นี้เป็นสัตว์การเมือง คำกล่าวนี้กล่าวกันมาตั้งแต่โบราณ สมัยพวกกรีกเริ่มสอนปรัชญาการเมือง เขาก็กล่าวถูกที่ว่า คน-เป็นสัตว์เศรษฐกิจ หมายความว่า คน-ควรจะเอาใจใส่เรื่องเศรษฐกิจ ว่าคน-เป็นสัตว์สังคม ก็คือ คน-ควรจะเอาใจใส่เรื่องสังคม แล้วว่าคน-เป็นสัตว์การเมือง ก็คือ คน-ควรเอาใจใส่เรื่องการเมือง เพราะต้องการแต่เพียงเท่านั้น แต่นี้คนในโลกปัจจุบันนี้ทำดีเกินครู คน-เป็นสัตว์เศรษฐกิจจนบูชา เศรษฐกิจ จนเป็นทาสของเศรษฐกิจ ใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือสำหรับเอาเปรียบกัน สำหรับทำลายล้างกัน มองอะไรเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจไปหมด จนไม่มองเรื่องศีลธรรมเสียเลย มันก็เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่บูชาเศรษฐกิจยิ่งกว่าพระเจ้า ยิ่งกว่าศาสนา ไม่ตรงตามความมุ่งหมายทีแรกที่เขาต้องการให้ คน-เป็นสัตว์เศรษฐกิจ เพียงการจัดเศรษฐกิจให้ถูกต้อง ให้ดีๆ ให้อยู่กันในโลกนี้อย่างไม่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ เดี๋ยวนี้คนมันบ้าหลังกันมากเกินไป จนจัดเศรษฐกิจให้กลายเป็นปัญหาของคน ให้เรื่องเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกของคน คนก็ทนทรมาน ทุกข์ยาก ลำบากอยู่ด้วยเรื่องทางเศรษฐกิจ มันเป็นความโง่ของคนนั่นเองที่ลงโทษคน นี่ เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ถูกต้องไม่ได้ กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่โง่เง่า หลงใหล ทำผิดในทางเศรษฐกิจ จนจะเรียกว่าเป็น สัตว์เศรษฐกิจ ก็ถูกแล้ว แต่มันเป็น สัตว์โง่ ในทางเศรษฐกิจ คนทั่วโลกกำลังเป็นสัตว์เศรษฐกิจในลักษณะอย่างนี้
ที่ว่า คน-เป็นสัตว์สังคม ก็ขอให้นึกว่า ให้จัดให้ถูกต้องในทางสังคม ให้อยู่กันอย่างเป็นผาสุกในทางสังคม ทีนี้ คนมันก็ทำดีเกินไป ทำดีเกินครู หลงใหลในเรื่องของสังคม คือ ความมีหน้ามีตา สร้างสรรค์ความนิยมอย่างนั้น อย่างนี้ ให้มันเลยธรรมดา ให้มันไม่จำเป็นให้มันทำความลำบากให้แก่มนุษย์เปล่าๆ ก็ดูเอาเถิดว่า ที่เขาเรียกว่า สังคม สังคมนั้นเป็นอย่างไร มีแต่เรื่องเกินธรรมดาของมนุษย์ เป็นเรื่องเอาหน้า เอาเกียรติ กระทั่งเป็นแฟชั่น เดี๋ยวนี้ก็มีแฟชั่นอยู่หลายๆอย่าง ที่ทำแล้วมันน่าเกลียด น่าชัง น่าขยะแขยง นี่คือมนุษย์มันเป็นสัตว์สังคมที่ดีเกินไป จนใช้ไม่ได้ ถ้ามันเป็นสัตว์สังคมในลักษณะที่ถูกต้อง คือจัดสังคมให้ดี มันก็ดี แต่นี่มันดีเกินไปจนไม่มีอะไรดีเหลืออยู่เลย เป็นปัญหาทางสังคม อยู่กันอย่างหลอกลวงหน้าไหว้ หลังหลอกซึ่งกันและกันตลอดเวลา ความเป็นสัตว์สังคมของคนสมัยนี้ มันเป็นอย่างนี้
ไอ้ที่ว่า สัตว์การเมืองนั้นก็เหมือนกันอีก เขาต้องการให้สนใจการเมือง เพื่ออยู่กันอย่างเป็นผาสุก ตามความหมายของคำว่า การเมือง คือ การจัดบ้าน จัดเมือง ให้อยู่กันอย่างผาสุกโดยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องหลั่งเลือด ไม่ต้องฆ่ากัน แต่อยู่กันเป็นผาสุกโดยไม่ต้องใช้อาชญา นี้คืออุดมคติของคำว่าการเมือง เขาต้องการให้คนในโลก เป็นสัตว์การเมืองเพียงเท่านี้ คือให้อยู่กันอย่างเป็นผาสุก โดยไม่ต้องใช้อาชญา คนสมัยนี้มันทำดีเกินครู ใช้การเมืองเป็นเครื่องแสวงหาประโยชน์ใส่ตน แล้วก็ต้องใช้อาชญา ฆ่าฟันกัน ปราบปรามกัน เพื่อความเอาเปรียบกัน แล้วก็คุมพวกกันเป็นพวกใหญ่ๆ ดำเนินการเมืองเพื่อจะเอาประโยชน์ของฝ่ายอื่นมาเป็นของฝ่ายตัว ก็มีความทุกข์ยาก ลำบากอันไม่รู้จักสิ้นสุด เกี่ยวกับการเมือง ความเป็นสัตว์การเมืองก็ให้เป็นโทษขึ้นมา แทนที่จะเป็นไปเพื่อสันติภาพ มันก็กลายเป็นเพื่อวิกฤติการณ์อันถาวร ใช้อาชญาปราบปรามแก้ไขกันสักเท่าไรๆ วิกฤตการณ์อันนี้ก็ไม่หมดไป จงดูความเป็น สัตว์ ของ คน ที่จะมาใช้คำว่า เป็นสัตว์ ก็ดูเอาตามคำเดิมที่เขาเรียก ก็ใช้ Economic Animal สัตว์เศรษฐกิจ Social Animal สัตว์สังคม Political Animal สัตว์การเมือง ไม่ใช่เป็นคำที่ตั้งเอาเอง เป็นคำที่มีมาแล้ว แต่กาลก่อนที่เขาใช้กันอยู่ มีความหมายเพียงว่าให้คนเตรียมตัวให้ดีสำหรับเป็นสัตว์เศรษฐกิจ สัตว์สังคม สัตว์การเมืองที่ถูกต้องเพื่อทำโลกนี้ให้มีสันติสุข แล้วคนมันก็ทำดีเกินไปจนเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ดุร้าย เป็นสัตว์สังคมที่หลอกลวง แล้วก็เป็นสัตว์การเมืองเจ้าเล่ห์ แล้วก็ไม่มีสันติสุข สันติภาพใดๆขึ้นมาในโลก จึงได้แต่ตั้งความหวังว่า เมื่อใดสัตว์ทั้ง ๓ นี้มันจะเปลี่ยนแปลงกันเสียใหม่ กลายมาเป็นสัตว์ศีลธรรม กลายมาเป็นสัตว์ศาสนา และกลายมาเป็นสัตว์สันติภาพ อย่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจ สัตว์สังคม สัตว์การเมืองแบบนั้นกันอีกต่อไปเลย กลายมาเป็นสัตว์ศีลธรรม สัตว์ศาสนา สัตว์สันติภาพกันเสียเถิด แล้วโลกนี้ก็จะอยู่เย็นเป็นสุข
ถ้าตั้งปัญหาถามขึ้นมาว่าเราจะกลายภาพ กลายรูป ปฏิรูปกันเสียใหม่นี่อย่างไร? ด้วยอาศัยอะไร? อาตมาก็จะตอบตรงๆว่า ด้วยอาศัยหลักพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ได้ตรัสไว้ ในพระบาลี โอวาทปาติโมกข์ นั่นเอง ซึ่งเป็นใจความสำคัญของคำว่า มาฆะบูชา โอวาทปาติโมกข์ นั้นที่สรุปโดยย่อ ก็มีอยู่ ๓ ข้อว่า
ถ้าฟังดูก็พอจะเข้าใจได้ว่า ไม่ทำชั่ว ทำแต่ดี แล้วก็ทำจิตให้บริสุทธิ์ อย่าไปหลงยึดในเรื่องชั่ว เรื่องดี ให้มันวุ่นวายแก่จิตใจ คนก็จะอยู่ด้วยกันเป็นผาสุก ไม่ต้องเป็นสัตว์เศรษฐกิจ สัตว์สังคม สัตว์การเมือง แต่กลายมาเป็น-มนุษย์
การเป็นสัตว์เศรษฐกิจ สัตว์สังคม สัตว์การเมือง จะเป็นกันสักเท่าไร เป็นกันสักเท่าไร สูงสุดสักเท่าไร มันก็ไม่เป็นมนุษย์ แม้จะเป็นคนก็ไม่ได้ อย่าว่าแต่จะเป็นมนุษย์เลย นี่เราจึงต้องเปลี่ยนเป็น สัตว์ศีลธรรม สัตว์ศาสนา สัตว์สันติภาพ มันก็จะเป็นคน และเป็นมนุษย์ โดยอาศัยหลักที่ว่า
คือเรากล่าวได้ว่า ถ้ามีการยึดมั่น ผูกพันกับสิ่งใดๆแล้ว มันก็เป็นการเกิดแห่งกิเลส จึงมีจิตใจที่เป็นอิสระ ไม่ถูกผูกพัน ยึดมั่นในสิ่งใดๆ ถือหลักว่า ทำดี มันก็ดี - ทำชั่ว มันก็ชั่ว ไม่ต้องพูดว่าทำดีได้ดี - ทำชั่วได้ชั่ว ไม่ต้องพูดว่า ได้ เพราะพอทำดีมันก็ดีเสร็จ พอทำชั่วมันก็ชั่วเสร็จ เพราะมันเป็นดี เป็นชั่วอยู่ในตัวการกระทำ ขอให้ทุกคนถือหลักอย่างนี้ อย่าไปมีข้อแก้ตัวว่า ทำดีต้องรอ ก็อาจจะได้ดี ทำชั่วต้องรอกว่าจะได้ชั่ว บางทีก็ถึงกับเตลิดเปิดเปิงไปถึงกับว่า ทำชั่วได้ดี ทำดีได้ชั่ว ยกตัวอย่างคนนั้น คนนี้ก็มีว่าเขาทำชั่วทำไมจึงได้ดี นี่คนมันโง่ซ้ำสอง จึงมองเห็นเป็นว่าทำชั่วแล้วได้ดี คนทำชั่วแล้วรวย อย่างนี้จะเรียกว่าคนทำชั่วได้ดีไม่ได้ เพราะว่าชั่วในความรวยนั่นเอง มันทำชั่วมันก็คือชั่วแล้ว มันรวยมาแล้วมันก็รวยชั่ว มันรวยด้วยความชั่ว มันเป็นความรวยที่ชั่ว เพราะฉะนั้น อย่าไปถือว่ามันขัดกัน อย่าเข้าใจว่า มันจะมีหนทางที่จะกลับกลอกได้ว่า ทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี เพราะหลักที่แท้จริงนั้นมันมีว่า ทำชั่วก็ชั่ว ทำดีก็ดี ไม่ต้องใช้คำว่า ได้ เลิกใช้คำว่า ได้ กันเสียดีกว่า มันเปิดโอกาสให้เข้าใจผิดได้ ถือตามหลักทางจิตใจ ทำชั่วมันทำด้วยจิตใจที่ชั่ว แล้วมันจึงจะทำได้ เมื่อจิตใจมันชั่ว มันก็ชั่วแล้ว มันไม่ต้องรอว่าชั่วต่อเมื่อไรอีก ทำดีอีกก็เหมือนกัน มันต้องทำด้วยจิตใจที่ดี เมื่อจิตใจมันดีแล้ว มันก็ดีแล้ว มันไม่ต้องรอว่าเมื่อไหร่จะดี
ตามหลักพระบาลีก็มีว่า กรรมย่อมให้ผลในขณะจิตที่ถัดมา ไม่ต้องรอวันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ ปีหน้า หรือชาติหน้า กรรมให้ผลในขณะจิตที่ถัดมา ขณะจิตนี้เป็นจิตชั่ว ก็ทำชั่ว ก็ให้ผลเป็นความชั่วแก่จิต ในขณะจิตที่ถัดมาติดๆกันนั่นเอง แล้วทำดีก็เหมือนกัน ทำด้วยจิตที่ดี ขณะจิตถัดมาก็เป็นขณะจิตใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นจิตดี เป็นความดี มีผลเป็นความดี รู้สึกได้ในทางดี เพราะฉะนั้น ขอให้ถือหลักอย่างนี้ แล้วเราก็จะแก้ปัญหาต่างๆ ที่กำลังมีอยู่โดยทั่วๆไปได้
โอวาทปาติโมกข์ ๓ ข้อนี้ เป็นโดยสังเขป ที่ว่า เว้นความชั่วด้วยประการทั้งปวง ทำความดีให้เต็มเปี่ยม ทำจิตให้บริสุทธิ์ ทีนี้ เพื่อจะปฏิบัติให้ชัดเจน ได้ตรัสขยายความออกไป เป็นตอนที่ ๒ เป็นโอวาทปาติโมกข์ เหมือนกัน ว่า ขันตี ปรมัง ตะโปตี ติกขา ความอดกลั้น อดทน นั้น เป็นตบะ เครื่องเผาผลาญความชั่วอย่างยิ่ง ท่านจงพิจารณาดูให้ดีว่า พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า ความอดกลั้น อดทนนั้น เป็น ไฟ เผาความชั่วอย่างยิ่ง เราต้องใช้ความอดกลั้น อดทน ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะไม่ต้องใช้ความอดกลั้น อดทน แม้ว่าเราเป็นคนเฉลียวฉลาด เป็นนักปราชญ์ ความเป็นนักปราชญ์ก็ช่วยไม่ได้ ถ้าเขาไม่เป็นคนอดกลั้น อดทน เขาจะใช้ความฉลาดนั้นผิดทาง เราจะมีความดีอะไร โดยไม่ตั้งอยู่บนรากฐานความอดกลั้น อดทนนั้นไม่ได้ นับตั้งแต่การทำมาหากิน นั้นก็ต้องอดกลั้น อดทน แม้จะช่วยเหลือผู้อื่นเอาบุญ ก็ยังต้องอดกลั้น อดทน ฟังแล้วมันก็ไม่น่าสบายใจ ว่าแม้จะช่วยเหลือผู้อื่นนี้ เรายังต้องอดกลั้น อดทน เราเป็นบิดา มารดา จะอบรมลูกให้ดี ก็ยิ่งต้องอดกลั้น อดทน ยิ่งเป็นครูบาอาจารย์ จะอบรมเด็ก ลูกศิษย์ให้ดี ก็ยิ่งต้องอดกลั้น อดทน เราเป็นนายมีอำนาจ วาสนา ปกครองบังคับบัญชาเขา นั่นแหละ ยิ่งต้องอดกลั้น อดทน นี่อาตมากล้าท้าทายอย่างนี้ ถ้าไม่มีการอดกลั้นอดทนแล้ว จะล้มละลายหมด บันดาลโทสะนิดเดียว เรื่องมันก็ไปในทางร้ายหมด แม้จะมีอำนาจอย่างไร มันก็จะหกคะเมนปักหัวลงมาเพราะไม่มีความอดกลั้น อดทน อยากจะให้ถือเอา ขันตี ความอดกลั้น อดทนนี้ เป็นรากฐานของคุณธรรมอื่นๆ ให้มีอยู่เสมอในทุกกรณี ไม่ทำความชั่วก็เพราะอดกลั้น อดทน ทำความดีให้สำเร็จ ก็เพราะความอดกลั้น อดทน จะทำจิตให้บริสุทธิ์ ผ่องใส ก็ยิ่งใช้ความอดกลั้น อดทนในการกระทำนั้นเป็นอันมาก จึงขอให้ถือตามพุทธภาษิตที่ว่า ขันตี คือความอดกลั้น อดทนนั้น เป็น ตบะ คือ ไฟ เผาผลาญความชั่วอย่างยิ่ง เป็นไฟที่สูงสุดที่จะเผาผลาญความชั่ว ลองเอาไปใช้เถอะ จะแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางการเมืองได้ดี
ข้อถัดมาที่ว่า นิพพานังปรมัง วะทันติพุทธา นี้แปลว่า พระนิพพาน เป็นสิ่งที่ผู้รู้กล่าวว่าเป็น ธรรมะสูงสุด หรือจะแปลตามลำดับคำก็ว่า ผู้รู้กล่าว พระนิพพาน ว่าเป็น บรมธรรม ผู้รู้จริง รู้ถึงที่สุด กล่าวเหมือนกันหมด ว่า พระนิพพาน นั้นเป็น บรมธรรม คือ ธรรมะสูงสุด นิพพาน ตามภาษาธรรมดาก็แปลว่า เย็น แปลว่า ดับเย็น ดับเย็นแห่งของร้อน ถ้ามันไม่ร้อนก็ไม่ต้องดับอะไรกันอีก เพราะมันร้อนมันจึงต้องดับ ความดับเย็นแห่งของร้อน นั่นแหละเรียกว่า นิพพาน เป็นภาษาชาวบ้าน ของร้อนๆเช่น ไฟ หรือ ของร้อนอื่นๆเย็นลงก็เรียกว่ามัน นิพพาน ลง และเป็นของเย็นได้ในภายใน ว่าจิตใจ สงบจากกิเลสเย็นลงได้ ในภายในดับเย็นได้ โดยที่ร่างกายไม่ต้องตาย
ปรินิพพุทโต โสภะคะวา ปรินิพพานายะ ธัมมังเทเสติ (นาทีที่ 42 : 52) พระผู้มีพระภาคเจ้า นั้น ปรินิพพุตะ คือ ปรินิพพาน แล้ว ก็ทรงแสดงธรรมเพื่อการ ปรินิพพาน นี่หมายความว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพาน แล้ว โดยไม่ต้องตาย โดยไม่ต้องสิ้นพระชนม์ เพราะยังนั่งทรงแสดงธรรมเพื่อ ปรินิพพาน อยู่ ดังนั้น คำว่า ปรินิพพุโต ไม่ได้หมายถึงสิ้นพระชนม์ แต่หมายถึง ดับเย็นแห่งความร้อน แห่งของร้อน คือกิเลสทั้งปวง เมื่อใดเราเย็น เพราะกิเลสที่เป็นไฟไม่เผาผลาญ เมื่อนั้นเรียกว่าเรามี ปรินิพพาน โดยปริยายใดปริยายหนึ่ง ความหมายใดความหมายหนึ่ง เพราะฉะนั้น เราจึงจัดชีวิตนี้ให้มันเย็น อย่าให้โอกาสแก่กิเลสที่จะเกิดขึ้นเผาผลาญให้ร้อน เราเป็นอยู่โดยว่างจากกิเลสอยู่เสมอ ก็เรียกว่าเป็นอยู่ด้วย นิพพาน แม้ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ไม่เป็นพระอริยบุคคล ก็ยังชื่อว่า เป็นอยู่ด้วย นิพพาน ตามแบบของปุถุชน เป็นนิพพานชั่วขณะ เป็นนิพพานในบางระดับ เป็นนิพพานที่จะมีได้แก่คนทั่วไป แล้วก็อยู่เป็นสุขสบาย เยือกเย็น ไม่ต้องเป็นโรคเส้นประสาท ไม่ต้องฆ่าตัวตาย เหมือนคนในสมัยที่เจริญด้วยวัตถุ
โลกปัจจุบันนี้ เจริญด้วยการศึกษาจนไม่รู้ว่าจะเจริญอย่างไรกันแล้ว แล้วก็เจริญด้วยผลจากการศึกษา เช่น ประกอบอาชีพต่างๆนี้ แต่มันก็ยิ่งร้อนเป็นไฟ ไม่เคยพบกับความเย็นแต่ประการใด เราต้องจัดกันเสียใหม่ ให้มันเป็นไปเพื่อความเย็นก็จะอยู่เป็นสุข เดี๋ยวนี้ปรากฏว่า โลกประสาททวีขึ้นในโลก โรควิกลจริต เป็นบ้าก็เจริญขึ้นในโลก อาชญากรรมทั้งหลายก็ยิ่งหนาแน่นขึ้นในโลก เรียกว่าโดยส่วนตัวก็ไม่เย็น โดยส่วนสังคมก็ไม่เย็น ปราศจากความหมายของ พระนิพพานโดยสิ้นเชิง จงทำให้โดยส่วนตัวนี้เป็นคนเย็น ทำให้สังคมก็เป็นของเย็น แล้วโลกนี้ก็เป็นของเย็น คือ อยู่ด้วยความคุ้มครองของ พระนิพพาน ให้สมกับที่ท่านกล่าวว่า ผู้รู้ทั้งหลายกล่าว พระนิพพาน ว่าเป็น บรมธรรม คือ ธรรมอันสูงสุดเหนือสิ่งอื่นใด ขอให้ถือเป็นหลักไว้อย่างนี้
ข้อต่อไปที่มีว่า น หิ ปัพพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปะรัง วิเหธะยันโต (นาทีที่ 45:46) ผู้ที่เบียดเบียนผู้อื่นอยู่ไม่ชื่อว่าเป็น บรรพชิต ไม่เป็น สมณะ การทำให้เกิดการกระทบกระทั่ง เบียดเบียน ไม่ชื่อว่า เป็นบรรพชิต คือผู้สำรวม มัธยัสถ์ ปฏิบัติ และไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ คือ ผู้สงบ ถ้าเป็น บรรพชิต ผู้อยู่ในระเบียบ วินัย คือ ประพฤติ ปฏิบัติ ระเบียบวินัยอยู่ ต้องไม่กระทบกระทั่งใคร ถ้าเป็น สมณะ ผู้สงบ ต้องไม่กระทบกระทั่งใคร เราถือหลัก ที่ไม่กระทบกระทั่งใคร ไม่เบียดเบียนผู้ใดทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เพื่อการความเป็นผู้สำรวม ระวัง เพื่อความเป็นผู้สงบ ระงับ สังคมมนุษย์นี้ ก็จะกลายเป็นสังคมมนุษย์ ไม่ต้องเป็นสัตว์เศรษฐกิจ สัตว์สังคม สัตว์การเมืองอย่างไม่รู้จักสิ้นสุด
ข้อต่อไปว่า อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกเข จ สังวโร (นาทีที่ 46:58) ไม่กล่าวร้ายใคร ไม่ทำร้ายใคร สำรวมระวังในระเบียบ วินัย อนูปวาโท ไม่พูดว่าร้ายต่อใคร อนูปฆาโต ไม่ทำร้ายใคร ปาติโมกเข จ สังวโร สำรวมระวังใน พระปาติโมกข์ คือ ระเบียบวินัย เราจงอยู่กันอย่างมนุษย์ มีจิตใจสูง ขยะแขยงในการที่จะกล่าวร้ายผู้อื่น จะเป็นกล่าวร้ายชนิดใดก็ตาม ถือว่าเป็นสิ่งที่สกปรก เป็นสิ่งที่ไม่ควรมี ไม่ควรแตะต้อง ไม่กระทบกระทั่งใคร ทั้งโดยทางวาจา และโดยทางการกระทำ คำว่า ปาติโมกข์ นั้น แปลว่าระเบียบสำหรับการประพฤติ ปฏิบัติ ที่เป็นหลัก เป็นประธาน จะเป็น บรรพชิต ก็มี ปาติโมกข์ จะเป็น ฆราวาส ครองเรือน ก็มี ปาติโมกข์ ตามแบบของ ฆราวาส ที่ครองเรือน พวกที่เป็น ฆราวาส ก็ไปศึกษาดูเอาเอง ว่าอะไรมันตั้งอยู่ในฐานะเป็น พระปาติโมกข์ ของบุคคลผู้อยู่ครองเรือน จารีต ขนบธรรมเนียม ประเพณี ศีลธรรมทั้งหลาย รวมทั้งกฎหมาย รวมทั้งอะไรต่างๆนี้ มันต้องเอามาประมวลกันเข้าแล้ว ตั้งไว้เป็นหลัก เป็นระเบียบสำหรับปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ก็จะเรียกว่า ประพฤติตรงตามพระพุทธโอวาท ข้อนี้
ข้อต่อไปว่า มัตตัญญุตา จ ภัตตัสมิง (นาทีที่ 48:39) เป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค คำว่า บริโภค ในภาษาบาลีนี้ใช้ได้ทั่วไป ไม่หมายเฉพาะการกินทางปาก เป็นการใช้สอยการอะไรก็ได้ ที่มันให้ได้รับประโยชน์แก่ร่างกาย ก็เรียกว่า บริโภค ได้ทั้งนั้น เดี๋ยวนี้เรามักจะใช้คำว่า บริโภค และ อุปโภค แต่ในพระบาลีนี้เอามารวมกันทั้ง อุปโภค และบริโภค อย่างนี้เรียกว่าเป็น การบริโภค เป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค บริโภค อะไรมันก็เป็นเรื่องของปัจจัยทั้ง ๔ คือ อาหาร-การกิน เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่-อาศัย เครื่องใช้-ไม้สอย และวัตถุปัจจัยสำหรับการบำบัดโรค นี้เรียกว่ามีอยู่ ๔ อย่าง ทั้ง ๔ อย่างนี้ต้องรู้ประมาณ คือใช้ให้ถูกต้องและพอดี อย่ากินเกิน อย่านุ่งห่มเกิน อย่าใช้สอยบำรุง-บำเรอร่างกายเกิน เหมือนที่กำลังเป็นอยู่ เดี๋ยวนี้ กินเกินเพราะมันเป็นทาสของกิเลส หรือเป็นทาสของการกิน เป็นทาสของปาก เป็นทาสของลิ้น กินเกินเพราะมีการหลอกลวงมากด้วยสิ่งปรุงแต่งรส ชูรส สิ่งชูรสมันมีมากเกินไป มันก็หลอกให้คนกินเกิน อย่าไปโง่กว่าคนหลอก อย่าไปโง่กว่ากิเลสที่ไปหลงใหลในการหลอก มีสติปัญญาคุ้มครองไว้ อย่าให้ไปตกเป็นเหยื่อของการถูกหลอก แล้วเราก็ไม่กินเกิน ไม่ต้องแพงเกิน ไม่ต้องดีเกิน ไม่ต้องบ่อยเกิน ไม่ต้องอวดกันในเรื่องว่าฉันกินดีกว่าคนอื่น นั่นแหละ คือมันเกิน พอมันเกิน มันก็เกิดกิเลส อันนี้เป็นคำพูดที่ไม่มีทางจะผิด คือพูดได้ว่า กิเลสเกิดเพราะความเกิน ไม่มีความเกินที่ไหนมันก็ไม่มีกิเลสเกิด มีความเกินที่ไหนมันก็มีกิเลสเกิด อยากกินพอดี ไม่เรียกว่า ความโลภ พออยากกินเกิน เรียกว่า ความโลภ เมื่อมันมีความอยากเกินที่ควรจะต้องการ มันก็เป็นความโลภ เรียกว่าเกิดกิเลส คือ ความโลภ ทีนี้โลภแล้วไม่ได้อย่างที่โลภ ก็เกิดความโกรธ คือ โทสะ หรือ โกรธะ (นาทีที่ 51 19)นี่ มันเนื่องกันไปอย่างนี้ แล้วเมื่อมันอยากเกิน แล้วมันโกรธอยู่ด้วยการที่ไม่ได้ตามที่มันอยากเกิน มันก็เป็น โมหะ คือ เป็นความโง่และความหลง นี่ความเกินเป็นเหตุให้เกิดกิเลส ในทุกสถาน ขอให้ระมัดระวัง เกลียดกลัวความเกิน อย่ากินเกิน แล้วก็อย่างนุ่งห่มเกิน ขออภัยจะพูดว่า หลายคนนี้ยังแต่งเนื้อแต่งตัวเกินกว่าที่จำเป็น มันเปลืองมากกว่าที่มันไม่ควรจะเปลือง นี่เรียกว่าแต่งเนื้อแต่งตัวเกิน เครื่องนุ่งห่มเกิน ถ้าไปใช้ผ้าธรรมดาราคาถูกกว่าแล้วก็ทนกว่าอย่างนี้เรียกว่า ประพฤติธรรมเกี่ยวกับเครื่องนุ่งห่ม ไม่ใช้เครื่องนุ่งห่มที่เกิน เครื่องใช้ไม้สอย ที่เนื้อ-ที่ตัว ที่บ้าน-ที่เรือน กระทั่งตัวบ้าน-ตัวเรือนก็อย่าให้มันเกิน ให้มันพอดีกับสถานะแห่งตน มันก็ไม่เกิดกิเลส ทีนี้การบำรุง-บำเรอความสุขนั้นก็อย่าให้มันเกิน เรื่องฟ้อนรำ ขับร้อง ดนตรี ดีด สี ตี เป่า ลูบไล้ของหอมนี้มันเกิน เอาแต่ความเป็นระเบียบ เรียบร้อย สะอาดหมดจด ประหยัด มัธยัสถ์ก็พอแล้ว อย่าให้เกินในเรื่องปัจจัย ๔ นี่คือการประพฤติตามพระบาลีพระพุทธภาษิต โอวาทปาติโมกข์ ที่ว่า มัตตัญญุตา จ ภัตตัสมิง (นาทีที่ 52 58) เป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค ก็ไม่ตกเป็นสัตว์เศรษฐกิจ สัตว์สังคม สัตว์การเมือง ที่เป็นบ้าเป็นหลัง
ข้อต่อไปมีว่า ปันตัญจะ สยนาสนัง (นาทีที่ 53: 14) นั่ง-นอนในที่อันสงัด นี่หมายความว่า อย่าไปชอบคลุกคลี เหมือนคนสมัยนี้ที่ชอบคลุกคลีกันด้วยอำนาจของกิเลส จงพยายามปลีกตัวตามสมควร ให้มากที่สุด ให้อยู่ในที่สงบ สงัด ให้เกิดความคิดนึกที่ถูกต้อง แล้วก็จะได้รับการพักผ่อนที่ดี นี่เป็น อาสนะอันสงัด แม้ว่าเราจะอยู่ในบ้าน ในเมือง ในกรุง ก็ยังจะจัดให้มีเวลาให้อยู่ในที่อันสงบ สงัดตามควรแก่อัตตภาพ คือรู้จักปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดปากเสียบ้าง มันก็จะเป็นสงัดขึ้นมาทันที อย่าไปดูมันก็ไม่เห็น อย่าไปฟังมันก็ไม่ได้ยิน อย่าไปดมมันก็ไม่ได้กลิ่น อย่าไปชิมมันก็ไม่ต้องรบกวนด้วยรส นี่ที่สงัดจะเกิดได้แม้ในเมืองหลวง ไม่ถึงกับว่าจะต้องมาอยู่ในป่า ถ้ามาอยู่ในป่าได้ก็ดี แต่เมื่อมันยังมาอยู่ไม่ได้ ก็รู้จักทำที่ที่ตนมี ที่ตนอยู่นั่นแหละ ให้เป็นที่สงบ สงัดขึ้นมา แม้ว่าอยู่ในเมืองหลวงอันอัดแอ จำหลักคร่าวๆอย่างนี้ไป ปรับปรุงเสียใหม่ให้ในบ้าน-ในเรือนนั้นมีการพักผ่อนที่สงบ สงัด ตามสมควร ก็จะเป็นการประพฤติ ปฏิบัติตามพระโอวาทข้อนี้
ข้อต่อไปที่ว่า อธิ จิตฺเต จ อาโยโค (นาทีที่ 52 : 46) ประกอบความเพียรในการทำจิตให้ยิ่ง นี่ฟังยากแปลตามตัวบาลีว่า ประกอบความเพียรในการทำจิตให้ยิ่ง โดยใจความธรรมดาสามัญ ก็ว่า ขอให้ทุกคนพยายามปรับปรุงจิตของตนให้เป็นจิตที่สูงยิ่งๆขึ้นไปเสมอ อย่าให้เป็นจิตที่ต่ำลดลงมาชอบความชั่ว พอใจในความชั่ว เกลือกกลั้วอยู่ในความชั่ว พยายามยกระดับของจิตให้สูงขึ้น สูงขึ้น ไปในทางความดี ความสูงจนกว่าจะสูงสุด เหนือสุด ดีไปแล้วก็เป็น นิพพาน นี่เราประพฤติกระทำทุกอย่าง ถ้ามันจะเป็นวิธีให้จิตสูง ก็ไม่พ้นจากความอดกลั้น อดทนอีกนั่นเอง ถ้าจะมีสติปัญญา ก็ยังต้องอาศัยความอดกลั้น อดทน จะให้จิตใจมันสูงก็ต้องมีความอดกลั้น อดทน ต่อสิ่งที่มันมาบีบบังคับเพื่อให้จิตใจมันต่ำ เราไม่ยอมให้จิตใจต่ำ เราก็ต้องอดกลั้น อดทน ขอให้ทุกคน ชอบความอดกลั้น อดทน โดยเฉพาะคนหนุ่ม-คนสาว ทั้งหลาย จงเปลี่ยนความคิดนึกใหม่ คือ พอใจในการที่จะอดกลั้น อดทนต่อการบีบบังคับของกิเลส ที่มันจะไสหัวพวกคุณให้ไปในทางต่ำ เราจะต้องต่อสู้ อดกลั้น อดทน ไม่ให้กิเลสมันมาบังคับให้เป็นไปในทางต่ำ การต่อสู้กับกิเลสนั้น มันต้องเจ็บปวดเป็นธรรมดา เราก็ต้องอดกลั้น อดทน เช่น อยากจะไปดูหนัง ดูละคร ที่ไร้สาระ แล้วบังคับไม่ให้ไป มันก็ปั่นป่วนในใจ เจ็บปวดในใจ เราก็ต้องอดกลั้น อดทน อย่างนี้ นี่เป็นตัวอย่าง มีความอดกลั้น อดทน ยกระดับของจิตใจให้สูงขึ้นๆอยู่เป็นประจำ ก็เป็นการประพฤติ กระทำตามพระพุทธโอวาทข้อนี้
เอตัง พุทธานะสาสนัง (นาทีที่ 56 : 53) ข้อปฏิบัติทั้งหมดนี้นี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ท่านได้กล่าวไว้ว่า ความอดกลั้น อดทนเป็นไฟเผาความชั่วอย่างยิ่ง ผู้รู้ทั้งปวง กล่าวพระนิพพานว่าเป็นบรมธรรม เป็นบรรพชิต ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เป็นสมณะ ไม่ทำผู้อื่นให้ลำบาก ไม่กล่าวร้าย ไม่ทำร้าย สำรวมอยู่ในระเบียบวินัย รู้ประมาณในการบริโภค เสพภพที่นั่ง-ที่นอนอันสงัด สงบ ก็ทำจิตให้สูงอยู่เรื่อยไป ทั้งหมดนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย นี่คือข้อความที่พระพุทธองค์ได้ตรัสในวันนี้ วันที่คล้ายกับวันนี้ คือ วันเพ็ญเดือนมาฆะ นี้ แก่ที่ประชุมพระอรหันต์ทั้ง ๑๒๕๐ รูป พระอรหันต์นั้นหมดบทเรียนแล้ว ไม่ต้องปฏิบัติอะไรอีกแล้ว ไม่ต้องศึกษาอะไรอีกแล้ว แล้วทำไมพระพุทธเจ้าจะต้องตรัสอย่างนี้ การตรัสอย่างนี้ในกรณีนี้ก็เพื่อว่า เป็นการประกาศหลักพระพุทธศาสนา ให้ยอมรับ-นับถือกันไว้อย่างนี้ ผู้ที่ปฏิบัติเสร็จแล้วก็รับเอาไว้สำหรับสั่งสอนเป็นหลักต่อๆไป ผู้ที่ยังไม่ปฏิบัติเสร็จ ก็จงถือเอาเป็นหลักปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติเสร็จก็ถือเอาไว้เป็นหลักสำหรับสั่งสอนต่อไป
ดังนั้น สิ่งใดที่เราปฏิบัติได้แล้ว เราก็สั่งสอนผู้อื่นต่อๆไป ก็เป็นการกระทำตามพระพุทธประสงค์ นี่แหละ คือ หลักธรรมะที่ตรัสไว้ในฐานะ โอวาทปาติโมกข์ ในวันมาฆะบูชาเช่นวันนี้ เรามาทำในใจระลึกนึกถึงเหตุการณ์อันนี้ นึกถึงพระพุทธภาษิตข้อนี้ แสดงออกซึ่งศรัทธาของเรา มาประกอบพิธีให้เป็นจริงเป็นจัง ด้วยความรู้สึกทั้งหมดแห่งจิตใจทำ มาฆะบูชา
ทีนี้ เรื่องเล็กน้อยที่แฝงกันอยู่อีกเรื่องหนึ่งก็คือ วันนี้เป็นวัน ปลงอายุสังขาร เมื่อพระพุทธเจ้า พระชนม์มายุครบ ๘๐ พรรษา ก่อนถึงเดือน วิสาขะ พระพุทธองค์ทรงดำริที่จะปลงพระชนม์มายุสังขาร ซึ่งคร่ำคร่า เพราะชรานั้น เพราะใช้มันมาก แต่ก็ให้โอกาสแก่พระอานนท์ที่จะทูลขอร้องไว้ว่าอย่าเพิ่งปรินิพพานให้อยู่ต่อไปอีกก็ได้ โดยตรัสแย้มว่า ถ้าตถาคตจะดำรงชีวิตอยู่ตลอดอีกกัปป์หนึ่งก็ทำได้ เป็นอำนาจของ อิทธิบาท ทั้ง ๔ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา จะช่วยให้มีชีวิตอยู่ได้จนตลอดกัปป์ แต่พระอานนท์ไม่ได้ทูลขอร้องว่าให้อยู่จนตลอดกัปป์ ข้อความกล่าวว่า พญามารดลใจพระอานนท์ไม่ให้นึกได้ แล้วก็ไม่ได้ขอร้อง แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงปลงอายุสังขาร อธิษฐานที่จะปรินิพพาน ๓ เดือนหลังจากวันนั้น ข้อนี้ เขาเอามาเป็นความบกพร่องของพระอานนท์ โทษทัณฑ์พระอานนท์กันเป็นการใหญ่ ว่าไม่ทูลขอร้องให้พระพุทธองค์ทรงดำรงอยู่ตลอดกัปป์ เรื่องนี้ก็มีคำอธิบายต่างๆกัน ที่จะให้อยู่ตลอดกัปป์ ตามความหมายของสามัญนั้นมองไม่เห็น เพราะ คำว่ากัปป์ กัปป์หนึ่งนั้น ไม่รู้กี่โกฏิ กี่อสงไขยปี ตลอดกัปป์ตลอดกัลป์นี้ เขาใช้อุปมาเหมือนกับว่าภูเขาลูกหนึ่ง ปีหนึ่งเทวดาเอาผ้ามาฟาดให้ทีหนึ่ง ฟาดไป ฟาดไป จนกว่าภูเขานั้นเหี้ยนเตียนราบเสมอแผ่นดินไป มันเป็นเวลากี่ปีก็คิดดู นี่เป็นเวลากัปป์หนึ่ง จะให้พระพุทธเจ้าทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่กัปป์หนึ่งอย่างนี้ มันก็เกิดปัญหาขึ้นมาทันที ไม่มีใครเชื่อ แล้วก็จะถือว่าเป็นคำกล่าวที่ผิด ที่จริงเรื่องนี้เมื่อได้ค้นคว้า สอบสวนดูหลายๆแห่งแล้ว มันเป็นเรื่องของภาษา คำว่า กัปปะนี้ ไม่ได้แปลว่า กัปป์แห่งยุค ทำนองนั้นโดยอย่างเดียว มันเป็นเครื่องหมาย เครื่องวัด ของความจบเรื่องๆหนึ่ง ถ้าเป็นกัปป์แห่งชีวิต กัปปะนี้หมายถึงกัปปะแห่งชีวิต ไม่ได้หมายถึงกัปปะแห่งยุคของโลก กัปปะแห่งชีวิตก็คือ อายุขัยนั่นเอง มันเป็นที่ยึดถือกันตามยุค ตามสมัยว่าอายุขัยของคนๆหนึ่งๆ ควรจะมีสักเท่าไหร่? เช่นเดี๋ยวนี้ เราก็จะถือว่าอายุขัยของคนนี้ ควรจะเป็นสัก ๘๐ หรือ ๑๐๐ ปี แต่ในสมัยพระพุทธกาลนั้น เชื่อได้ว่าประชาชนควรจะถือเอากัปปะแห่งชีวิต หรืออายุขัยนั้นประมาณสัก ๑๒๐ ปี เช่น เราได้ยินมาว่า พระมหากัสสป มีอายุ ๑๒๐ ปี พรอานนท์ก็มีอายุ ๑๒๐ ปี เพราะฉะนั้น ๑๒๐ ปีนั่นแหละ คือ กัปปะแห่งชีวิต ชีวิตกัปปะของคนสมัยนั้น ถ้าพระอานนท์ทูลขอร้องให้พระพุทธองค์ทรงอยู่ตลอดกัปปะ พระองค์ก็จะอาศัย อิทธิบาททั้ง ๔ ดำรงชีวิตให้ยืนอยู่ตลอดกัปปะ คือจะยึดออกไปได้อีก ๔๐ ปี เพราะพระองค์ปรินิพพาน เมื่อพระชนมายุ ๘๐ ปี ถ้าอยู่ถึงกัลป์ ก็คืออายุ ๑๒๐ ปี เพราะฉะนั้น ๑๒๐ ปีนั่นแหละก็คือยึดไปได้อีก ๔๐ ปี ฟังดูแล้วก็น่าหัวเราะที่ว่า คำว่ากัปปะ ในลักษณะความหมายธรรมดานี้ มันก็ตรงกับคำสมัยนี้ว่า เกม (นาทีที่ 1:04:19 ) เมื่อมันจบเกม คือ จบกัปปะหนึ่ง กัปปะหนึ่ง จบเกมครั้งหนึ่ง เกมแห่งชีวิต คือ หมดอายุขัย มันก็เอาตามที่ว่า มนุษย์ถิ่นนั้น ยุคนั้น ยึดถือกันอย่างไร ชีวิตกัปปะนี้ควรจะ ๑๒๐ ปี สำหรับสมัยนั้น ถ้าพระอานนท์ทูลขอร้องไว้ พระองค์ก็ทรงใช้ อิทธิบาท ให้มีชีวิตตลอดไปจนถึง ชีวิตกัปปะ คือ ๑๒๐ ปี ก็จะทรงสอนสาวกได้เพิ่มอีก ๔๐ ปี อย่างนี้เป็นต้น นี้เกี่ยวกับเรื่องการปลงอายุสังขาร ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรก็ไปใคร่ครวญดูเอาเองก็แล้วกัน แต่อยากจะนำมาบอกนี้ก็เพราะมองเห็นว่า ธรรมะอันสำคัญคือ อิทธิบาท ทั้ง ๔ นั้น สามารถจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้างตามสมควร ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนจงไปศึกษาเรื่อง อิทธิบาท ทั้ง ๔ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา แล้วเอาไปใช้สำเร็จประโยชน์ ตามสิ่งที่ตนปรารถนา จะเป็นการศึกษาเล่าเรียนก็ดี จะเป็นการงานการอาชีพก็ดี จะเป็นการดำรงชีวิตอยู่เพื่อประโยชน์แก่ลูกแก่หลานยืดยาวไปก็ดี จงพยายามใช้ อิทธิบาท ทั้ง ๔ นี้ให้สำเร็จประโยชน์
เราเอาเรื่องการปลงอายุสังขารของพระพุทธองค์มาพูดกันในวันนี้ ก็เพื่อจะให้เห็นอำนาจของ ปฏิจจสมุปบาท ที่เปลี่ยนแปลงอะไรได้มาก ขอให้สนใจและศึกษาให้ยิ่งๆขึ้นไป และใช้ให้เป็นประโยชน์ เรื่อง อิทธิบาท ทั้ง ๔ นี้ ก็มีอยู่ในแบบเรียนสำหรับนักเรียนในโรงเรียน ก็ไปหารายละเอียดเอา คือ ความพอใจที่จะเป็นอย่างนั้น ความพากเพียรที่จะเป็นอย่างนั้น ความเอาใจใส่อยู่เสมอเพื่อความเป็นอย่างนั้น ก็ใคร่ครวญ แก้ไขอุปสรรค หรือส่งเสริมความก้าวหน้าในสิ่งนั้นอยู่เสมอ ครบทั้ง ๔ ประการแล้วก็จะประสพความสำเร็จในสิ่งที่เกินกว่าธรรมดา หรือเหนือไปกว่าธรรมดาได้บ้างตามสมควร แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด เช่น จะไม่ให้ตายเลยอย่างนี้ก็ทำไม่ได้ แต่ให้ตายช้าลงนี้ทำได้ จึงตรัสว่า อิทธิบาท นี้เป็นหลักธรรมะอันสำคัญ ให้สำเร็จประโยชน์ทุกอย่างที่ควรจะปรารถนา
เป็นอันว่า เราทั้งหลายทุกคนที่ได้มานั่งกันอยู่อย่างนี้ ในลักษณะนี้ ในเวลานี้ เพื่อประกอบพิธี มาฆะบูชา ทำในใจทั้งหมดทั้งสิ้นระลึกถึงพระบรมศาสดา ที่ได้ทรงกระทำการประชุมสงฆ์เหมือนกับว่าประกาศพระธรรมนูญของพระศาสนาที่เรียกว่า โอวาทปาติโมกข์ นี้ กรณีหนึ่ง
อีกกรณีหนึ่ง ก็คือการทรงปลงอายุสังขาร เราก็ทำให้แจ่มแจ้งในใจในสิ่งทั้ง ๒ นี้ ก็จะเกิดผลดีแก่จิตใจ คือ มีความสว่างไสว ความเข้าใจอันถูกต้อง มีความเชื่อ ความเลื่อมใสในพระพุทธองค์ ยั่งยืน มั่นคงยิ่งขึ้นไปกว่าแต่ก่อน ยากที่จะบิดผันเป็นอย่างอื่น และยากที่จะถอยหลัง มีแต่จะก้าวหน้าไปตามทำนองของพระศาสนากว่าจะถึงที่สุด
ต่อไปนี้ ก็จะเตรียมตัวสำหรับกระทำพิธี ประทักษิณ คำว่า ประทักษิณ เป็นคำพูดที่มีความหมายว่า แสดงความเคารพสูงสุด ประทักษิณ แปลว่า เวียนไปเบื้องขวา เวียนไปทางขวา เราเคารพสิ่งใดเราเดินเวียนรอบสิ่งนั้นโดยทำสิ่งนั้นให้อยู่ทางขวาอย่างนี้เรียกว่า ประทักษิณ เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีในประเทศอินเดียแต่โบราณกาลมาว่า เป็นการแสดงกริยาที่เคารพสูงสุด ถ้าจะมีการเคารพกันอย่างสูงสุดแล้ว ก็จะต้องทำอาการที่เรียกว่า ประทักษิณ แม้จะเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็มีอาการ ประทักษิณเข้าไป แม้แต่จะกลับออกมาเมื่อเลิกเฝ้าก็จะทำอาการ ประทักษิณ กลับออกมา เพราะถือว่า เป็นสิ่งสูงสุด อาศัยดูได้จากภาพหินสลัก ที่เขาสลักไว้ตั้งแต่พ.ศ. ๔๐๐ - ๕๐๐ ก็จะมีภาพ ประทักษิณ อย่างนี้ ข้อความในหนังสือก็มี แต่ภาพหินสลักเก่ากว่าข้อความในหนังสือไปเสียอีก ประเทศที่ได้รับวัฒนธรรมอินเดีย ก็นิยมกระทำตามวัฒนธรรมนี้สืบๆมา มาอยู่ในประเทศไทยก็เรียกว่า ประทักษิณ เดี๋ยวนี้ เราจะทำ ประทักษิณเป็นการบูชาพระบรมศาสดา ในโอกาสแห่งมาฆะบูชา จะทำในใจถูกต้องว่า พระศาสดาองค์จริงนั้น แสดงไม่ได้ด้วยรูป ด้วยภาพ ด้วยวัตถุ ด้วยรูปธรรม ท่านเป็น นามธรรม เราก็ทำ นามธรรมอันนี้ให้เกิดขึ้นในจิตใจของเรา ให้พระพุทธองค์มาประทับในจิตใจของเรา แล้วเราก็เดินเวียนข้างขวา ก็เรียกว่าเป็นการประทักษิณ พระบรมศาสดาซึ่งประทับอยู่ในจิตใจของเรา
อาตมาจึงชักชวนให้ทำจิตให้ว่าง ปราศจากตัวตน ปราศจากความรู้สึกว่าตัวตนเสียก่อน เพราะว่าว่างแล้วก็มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เข้ามาอยู่แทนที่ พระพุทธ คือ ความว่าง พระธรรม คือ ความว่าง พระสงฆ์ คือ ความว่าง ว่างจากความหมายว่าตัวกู ว่าของกู ว่างจาก อหังการะ มมังการะ มานานุสัย คือ ว่างจาก อนุสัย ที่ทำความสำคัญว่า เรา ว่าของเรา เมื่อว่างจากสิ่งนั้นก็เป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราทำจิตประคองจิตให้ว่างแม้แต่ชั่วขณะหนึ่ง เป็นที่ระลึกแก่พระพุทธองค์ แล้วก็เวียน ประทักษิณ นี่ในทางฝ่ายนามธรรม
ถ้าทางฝ่ายรูปธรรมก็ให้ถือว่า ตรงนี้เป็นพระเจดีย์ ที่เขาสร้างขึ้นเพื่อพระพุทธเจ้า แต่ถูกโจรขโมยมารื้อทำลายแหลกหมดในสภาพที่เห็นอยู่นี้ เมื่ออาตมาแรกมาอยู่ตรงนี้เป็นหลุมลึกท่วมศีรษะเสียอีกเป็นรอยขโมยเขาขุด นี่เราเกลี่ยมานั่งได้ แล้วก็มีสัญลักษณ์ของการประสูติ การตรัสรู้ การปรินิพพาน เป็นแผ่นๆมาวางเอาไว้ แทนพระพุทธรูป ก็เป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์ ถ้าว่าโดยทางวัตถุ พระเจดีย์นี้ก็เป็นพระเจดีย์อันหนึ่งที่ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์ สำหรับทำ ประทักษิณ ก็ได้เหมือนกัน ถ้ายึดถือทางวัตถุ ก็เอาพระเจดีย์นี้และรูปหินสลัก ประสูติ ตรัสรู้ นิพพานนี้ ถ้าเอาในทางนามธรรม ทางจิต ทางวิญญาณ ก็ทำความว่างแก่จิตใจให้เกิดความหมายแห่ง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้เกิดความหมายแห่ง ความสะอาด สว่าง สงบ ขึ้นมาในจิตใจแล้ว ก็เดินเวียน ประทักษิณ อุทิศบูชาแด่ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ก็จะสำเร็จประโยชน์ในทางฝ่ายจิตใจ เราจึงสำเร็จประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือ ทางฝ่ายรูปธรรม และ ฝ่ายนามธรรม
อาตมาขอชักชวนท่านทั้งหลายกระทำอย่างนี้ให้ดีที่สุด สุดความสามารถของตนจงทุกๆคนเถิด
ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการ ฉะนี้ (นาทีที่ 1: 13:11)
เอ้า ทีนี้ก็จะเริ่มเวียน ประทักษิณ พระสงฆ์จะกล่าวคำบูชาโดยภาษาบาลี ฆราวาสจะกล่าวคำบูชาโดยภาษาไทย ฆราวาสรอก่อน อย่าเพิ่งจุด เดี๋ยวเทียนจะหมดเสียก่อน บอกว่าอย่าเพิ่งจุด เตรียมตัวรับช่วงจากพระสงฆ์ ขอให้พระสงฆ์ทั้งหลายจุดธูปเทียน และลุกยืนขึ้น ขอให้จุดธูป จุดเทียนแล้วลุกยืนขึ้น เพื่อกล่าวคำบูชาเป็นภาษาบาลี
เอ้า นิมนต์จุดธูป จุดเทียน แล้วลุกขึ้นยืน
ฆราวาสรอก่อน เตรียมตัวก่อน เตรียมตัวรับช่วงทีหลัง อีกช่วงหนึ่ง
เอ้า, จุดธูปเทียนเสร็จแล้ว พระสงฆ์ยืนตัวตรง ทำในใจว่างจากตัวกู-ของกู ให้ว่างถึงขนาดว่า ไม่มีทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ไม่มีทิศเหนือ ไม่มีทิศใต้ ไม่มีประเทศอินเดีย ไม่มีประเทศไทย ไม่มีที่ไหนๆหมด แม้ที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น หลับตาเสีย ทำได้ง่าย หลับตา ไม่ทำความสันนิษฐานว่ามีตัวกูอยู่ที่นี่ คือ ยืนอยู่บนแผ่นดินนี้ก็ไม่มี ไม่มีอะไรที่จะมั่นหมายเป็นตัวกู เป็นของกู ไม่มีทิศเหนือ ทิศใต้ ไม่มีทิศตะวันออก ไม่มีทิศตะวันตก ไม่ยึดมั่นสิ่งใดโดยความเป็นเหตุ-เป็นปัจจัยสำหรับความดี-ความชั่ว หรือสังขารทั้งปวง ทำใจให้ว่างอย่างนี้ก็เหมาะที่จะกล่าวคำบูชาสมเด็จพระบรมศาสดา ในโอกาสอันศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้
สวดมนต์บาลี นาทีที่ 1.16.10 – 1.26.18
นิมนต์นั่ง ฆราวาสทั้งหลายจุดธูปเทียน จุดธูปเทียน ฆราวาสทั้งหลายจุดธูปเทียน
ขอเชิญคุณพระดุลผู้อาวุโสให้กว่าทุกคน เดินนำหัวแถว จุดธูปเทียนแล้วยืนขึ้น
คิดๆดูทิศทางให้ดีว่าจะเดินทางไหน จะแวะลงทางไหน ดูให้ดี ให้คุณพระดุลนำ ให้ดูทางและเตรียมทางไว้ว่าจะเดินออกทางไหน ได้เดินออกทางไหนไม่ต้องขลุกขลัก เตรียมตัวเดิน พระดุลอยู่หัวแถวนะ ......ภาษาใต้ นาทีที่1.27.18
ทำในใจให้ว่างให้บริสุทธิ์สมกับที่จะเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าในหัวใจของเรา แล้วก็ว่ากล่าว กล่าวนะโม ขึ้นพร้อมๆกัน ๓ ครั้ง
สวดมนต์บาลี 1.27.43 – 1.28.13
เราทั้งหลายนับถือพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ใดว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ใดเป็นศาสดาของเราทั้งหลาย อนึ่ง เราทั้งหลายชอบใจพระธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น กำเนิดแล้วใน มัจฉิมประเทศ ในหมู่มนุษย์ชาว อริยกะ เป็นกษัตริย์โดยพระชาติ เป็นโคตมะโดยพระโคตร เป็น ศากยบุตร บรรพชาแล้วแก่ ศากยตระกูล ตรัสรู้แล้วซึ่งอภิสัมโพธิญาณ ไม่มีความรู้อื่นยิ่งไปกว่า ไม่ต้องสงสัยเลย พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบเอง ถึงพร้อมด้วย วิชชา และ จรณะ ทรงดำเนินดีแล้ว รู้แจ้งซึ่งโลก เป็นยอดสารถีผู้ฝึกสัตว์ที่ควรฝึก เป็นศาสดาของเทวดาแลมนุษย์ เป็นผู้เบิกบาน เป็นผู้จำแนกพระธรรม อนึ่ง พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นตรัสไว้ดีแล้ว เป็นธรรมที่เห็นได้ด้วยตนเอง ไม่จำกัดกาลเวลา ควรเรียกกันมาดู ควรน้อมนำเข้ามาใส่ตน อันวิญญูชนรู้แจ้งได้เฉพาะตน อนึ่ง พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติสมควร นี้คือ คู่แห่งอริยบุคคล ๔ คู่ นับเรียงองค์ เป็น ๘ นี่คือ สาวกของผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้องรับ เป็นผู้ควรบำเพ็ญบุญ เป็นผู้ควรกราบไหว้ เป็นนาบุญยอดเยี่ยมของโลก ก็พระสถูปนี้อันบุคคลสร้างอุทิศแล้ว เฉพาะพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เพื่อได้เห็น แล้วระลึกถึง พระผู้มีพระภาคเพื่อให้ได้ความเลื่อมใส เพื่อให้ได้ความสังเวช บัดนี้ เราทั้งหลายมาถึงซึ่งกาล มาฆะปุณณมี เป็นวันคล้ายกับวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดง โอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์อันหระกอบด้วยองค์ ๔ จึงมาพร้อมกัน ณ ที่นี้ ถือเครื่องสักการบูชา มีธูปและเทียนเป็นต้น กระทำร่างกายแห่งตน แห่งตน ให้เป็นภาชนะรองรับเครื่องสักการะ ในใจระลึกถึงซึ่งพระคุณอันแท้จริงของพระผู้มีพระภาคเจ้า แลพระภิกษุสงฆ์ จะกระทำประทักษิณพระสถูปนี้สิ้น ๓ รอบ ทำการบูชาด้วยเครื่องสักการะตามที่ถือไว้แล้วอย่างไร ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก แม้เสด็จไปนิพพานนานแล้ว แต่ยังคงดำรงอยู่โดยพระคุณทั้งหลาย จงทรงรับเครื่องสักการะของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนาน เทอญ
ทีนี้ก็เดินประทักษิณ ให้คุณพระนำหัวแถว เอ้า ทุกคนทำในใจถึงพระพุทธคุณ ที่พระสงฆ์จะสวดคุณไม่ต้องสวดมันได้ผลกว่า พระจะสวดให้ มีส่วนทุ่นที่ไม่ต้องเดินเวียนเทียน
สวดมนต์บาลีบทอิติปิโสฯ นาทีที่ 1.35.48 - 1.37.55
....... จะไหม้ป่า เอามาปักโคนไม้รอบๆฐานพระเจดีย์นี้ ปักที่ก้อนอิฐ อย่าทิ้งเข้าไปในป่า เดี๋ยวจะไหม้ป่า หยุดตรงไหน ปักตรงนั้นก็ได้ เราหยุดที่ตรงไหน ปักตรงนั้นได้เลย หยุดตรงไหนปักตรงนั้นได้เลย ไม่จำเป็นจะต้องมาข้างหน้า หยุดตรงไหน ปักตรงนั้นแหละ ปักที่ก้อนหินก้อนอิฐนั่น ปักตรงนั้นแหละ แล้วก็ถ่ายรูปอีกทีหนึ่ง สวยเหมือนกัน เราหยุดตรงไหน ปักตรงนั้นไม่ต้องมาข้างหน้า เดี๋ยวไม่จบกันจะช้า .......... หยุดตรงไหน ปักตรงนั้น ปักบนก้อนหินดีที่สุด เกิน ๓ รอบแล้ว หยุดเถอะ หยุดเถอะ หยุดตรงไหน ปักตรงนั้น เอ้า หยุดตรงไหน ปักตรงนั้น ข้างหลังนี้ก็ได้ หยุดข้างหลังนี้ก็ได้ ปักข้างหลัง หยุดข้างหลัง
พิธีมาฆะบูชา บนภูเขาพุทธทองนี้เสร็จลงแล้วก็จะปิดการบูชาบนภูเขานี้ หยุดชั่วขณะ หยุดพักชั่วขณะ ลงไปข้างล่างแล้วไปเริ่มประชุมกันใหม่ข้างล่าง เวลาเท่าไหร่นะ? นี่ลงไปข้างล่างประชุมกันที่หินโค้ง เอ้า ลงไปข้างล่าง ประชุมกันที่หินโค้ง
อุบาสก อุบาสิกา ผู้ประสงค์จะทำวัตรเย็น ก็ทำวัตรเย็นที่หินโค้ง แล้วก็จะสนทนากันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีพระธรรมเทศนาเวลา ๓ ทุ่ม เวลา ๓ ทุ่ม มีเทศน์อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็มีการอภิปรายธรรมะ สนทนาธรรมะกันอย่างเคย สลับกันกับจะฉายภาพสไลด์ก็ได้ นั่นแหละ ค่อยไปรู้กันข้างล่าง แล้วเวลา ตี ๓ ก็มีเทศนาอีกครั้งหนึ่ง จบเทศนาแล้วก็ทำวัตรเช้า ทำวัตรเช้าก็สว่างพอดี ก็ปิดพิธี มีเพียงเท่านั้น
นี่พักผ่อนชั่วขณะ ลงไปที่หินโค้ง เตรียมทำวัตรเย็น
ถ้าเขาเลี้ยงข้างล่างก็นิมนต์ไปฉันข้างล่าง ถ้าบนนี้ไม่มีการเลี้ยงพระ ก็นิมนต์ไปฉันข้างล่าง