แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การที่ชวนมานั่งพูดกันบนนี้ ก็ด้วยความประสงค์เป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือได้นั่งตามธรรมชาตินั่นเอง ให้เป็นการง่ายแก่การที่จะศึกษาธรรมะ และเป็นการง่ายแก่การที่จะมีพุทธานุสติ คือการระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้า เมื่อนั่งกันตามธรรมชาติอย่างนี้ ผู้ที่รู้เรื่องดีอยู่แล้ว ย่อมมีความรู้สึกเป็นพุทธานุสติขึ้นมาโดยอัตโนมัติ คือนึกถึงข้อที่พระพุทธเจ้าประสูติกลางพื้นดิน ตรัสรู้ก็กลางพื้นดิน สั่งสอนอยู่ตลอดเวลาก็กลางพื้นดิน จนกล่าวได้ว่าพระไตรปิฎกน่ะมันมีกำเนิดอยู่กลางพื้นดิน แล้วในที่สุดพระพุทธเจ้าก็ปรินิพพานกลางดิน นี่ขอให้คิดถึงข้อนี้ก่อน เรามาหาโอกาสนั่งกลางดินเพื่อเกิดพุทธานุสติกันเสียส่วนหนึ่งนอกออกไปจากการศึกษา
ทีนี้เมื่อพูดถึงการศึกษา ก็ขอให้มองเห็นว่าไอ้เรื่องของธรรมะนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าเรื่องธรรมชาติ ธรรมชาติในความหมายภาษาไทยเรา ถ้าเข้าใจธรรมะทั่วถึง มองเห็นพร้อมกันทั้งหมดก็พอที่จะกล่าวสรุปให้เป็นเค้าโครงได้ว่า ธรรมะนั้นคือธรรมชาติใน ๔ ความหมาย ความหมายที่ ๑ คือตัวธรรมชาติ หรือปรากฏการณ์ตามธรรมชาติทั้งหลาย นี่เป็นธรรมในความหมายที่ ๑ ทีนี้กฎของธรรมชาติที่มีอยู่ในธรรมชาติทั้งหมดนั้น ไอ้กฎเหล่านั้นก็เรียกว่า “ธรรม” ก็จัดให้เป็นความหมายที่ ๒ เมื่อเรียกในภาษาบาลี เรียกว่า “ธรรม” เฉยๆ ธรรมะ ก็เรียกในภาษาไทยสั้นๆ ว่า “ธรรม” หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ คือธรรมชาติบังคับให้ต้องทำหน้าที่ ให้ถูกตามกฎของธรรมชาติไม่เช่นนั้นจะต้องตาย ทีนี้ก็ไม่ได้รับประโยชน์ที่ต้องประสงค์ นี่แหละหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ก็เรียกว่าธรรมอีก ทีนี้สิ่งสุดท้ายคือผลที่เกิดจากการทำหน้าที่ออกมาเป็นอย่างไร ถูกใจหรือไม่ถูกใจก็สุดแท้ แต่ก็เรียกว่าผลได้เหมือนกัน ไอ้ผลเหล่านี้ก็เรียกในภาษาบาลีว่าธรรมะ หรือธรรมคำเดียวอีก ฉะนั้นขอให้ช่วยจำไอ้หลักกว้างๆ เบื้องต้นเหล่านี้ ไว้ให้ดี และต้องให้เข้าใจด้วย และต่อไปก็จะศึกษาธรรมะที่ยังเหลือน่ะได้ง่ายที่สุด ถ้าเราจับใจความสำคัญได้แล้วมันก็ง่ายที่จะศึกษาต่อไป
ดังนั้นคำว่าธรรมในภาษาไทย หรือธรรมะในภาษาบาลี เล็งถึงสิ่งทั้ง ๔ คือตัวธรรมชาติทั้งหลายตามที่ปรากฏอยู่นี้อย่างหนึ่ง และกฎของธรรมชาติที่สิงสถิตอยู่ในธรรมชาติทั้งหลายนั้นก็ความหมายหนึ่ง แล้วก็หน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินั้นก็ความหมายหนึ่ง และผลจากหน้าที่ จนกระทั่งบรรลุมรรค ผล นิพพาน นี่ก็เรียกว่าผลตามหน้าที่ อันนี้ก็ความหมายหนึ่ง ถ้าท่านเป็นนักภาษา ภาษาศาสตร์ก็จะมองเห็นได้เองว่าไอ้คำๆ นี้ คือคำว่าธรรม ในภาษาไทยที่มาจากภาษาบาลีว่าธรรมะนี้ เป็นคำพิเศษเหลือประมาณ เหลือประมาณในที่นี้หมายความว่า ไม่อาจจะแปลเป็นภาษาอื่นในโลกปัจจุบันนี้ได้ ถ้าแปลออกไปเป็นภาษาอื่นคำใดคำหนึ่ง มันกินความไม่หมด คือยอมแพ้ เดี๋ยวนี้ไม่มีความพยายามที่จะแปลคำว่าธรรมนี้เป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาอะไรอีกแล้ว ก็เลยใช้คำว่า ธรรมนั่นเอง บรรจุเข้าไปในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ เป็นต้น และคำภาษาอื่นๆ ก็พลอยใช้ตาม ขอให้ทราบไว้ด้วย เดี๋ยวถ้าเกิดฝรั่งเขาถามว่า คำว่าธรรมคืออะไร ซึ่งเราก็คงจะตอบออกไปคำใดคำหนึ่ง แล้วมันจะได้ความหมายแคบนิดเดียว และก็เหมือนกับลูกเด็กๆ พูดน่ะ ว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อย่างนี้มัน มันอยู่ในระดับลูกเด็กๆ ก็เรียนจากหนังสือในโรงเรียน ถ้าเป็นนักศึกษาธรรมะโดยแท้จริงมันก็ต้องหมายถึงไอ้ ๔ อย่าง อย่างที่ว่ามาแล้วนั้น ภาษาบาลีมันเป็นอย่างนี้
คำว่า ธรรม หมายถึงตัวธรรมชาติ หมายถึงกฎของธรรมชาติ หมายถึงหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ หมายถึงผลอันเกิดจากหน้าที่นั้นๆ ถ้าเราเข้าใจไอ้คำ ๔ คำนี้ เราจะมองเห็นได้เองเหมือนกัน ไม่ต้องมีใครบอกว่ามันเล็งถึงสิ่งทุกสิ่ง ทุกสิ่งเลย ทุกสิ่งที่มนุษย์จะรู้จักได้ หรือที่มนุษย์ยังไม่เคยรู้จักก็ตามใจ มันไม่พ้นออกไปจากความหมายของคำว่า ธรรม นี้เพียงคำเดียว ธรรม หมายถึงทุกสิ่งอย่างนี้ ให้เข้าใจอย่างนี้ไว้ก่อน แล้วก็ค่อยเกิดความสงสัยขึ้นมาตามลำดับ ว่าธรรมมันหมายถึงทุกสิ่ง มากเหลือประมาณอย่างนี้ แล้วเราจะศึกษาไหวหรือ จะปฏิบัติไหวหรือ อาจจะเกิดความสงสัยขึ้นมาอย่างนี้
ทีนี้ก็มีหลักอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เองว่า ไอ้ที่เราจะต้องศึกษากันนั้นน่ะ มันเป็นส่วนน้อย คือส่วนที่จำเป็นสำหรับจะดับความทุกข์เท่านั้น นอกนั้นไม่ได้ศึกษา หรือไม่ได้เอามาสอนด้วยซ้ำไป ท่านเปรียบอุปมาว่า ไอ้ธรรมะที่ตรัสรู้น่ะ คือที่ทรงทราบนั้น เท่ากับใบไม้ทั้งป่า ที่เอามาสอนน่ะ เท่ากับใบไม้กำมือเดียว ที่เรานั่งตรงนี้มันสะดวก ในการที่จะคำนวณดูว่าใบไม้กำมือเดียว กับใบไม้หมดทั้งป่านี่มันต่างกันสักเท่าไร เหลียวดูไปรอบๆ สิว่าป่าทั้งป่ามีใบไม้เท่าไร มาสอนกำมือเดียวเท่าที่จำเป็น ที่พระพุทธองค์ตรัสเรียกว่าเบื้องต้นของพรหมจรรย์ คือเรื่องดับทุกข์โดยตรง
เมื่อได้แบ่งธรรมะออกเป็น ๔ อย่าง ซึ่งขอร้องให้ช่วยจำให้แม่นยำ เข้าใจให้แจ่มแจ้ง สำหรับเป็นทุนเพื่อศึกษาธรรมะต่อไปข้างหน้า เราก็ดูให้มันมีลักษณะกำมือเดียว คือไม่ทั่วไปทั้งสากลจักรวาล คือจักรวาลนั้นมีมากไม่รู้กี่หมื่นกี่พันจักรวาลน่ะ ทีนี้เราก็มาดูกำมือเดียวโดยเทียบส่วนกัน ก็คือดูธรรมะในตัวเรา นี่ก็เป็นหลักพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่งว่า ถ้าจะศึกษาธรรมะ ขอให้ศึกษาจากภายในตัวคนนั่นเอง มันเข้ากันกับที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่า ไอ้โลกทั้งหมดก็ดี เหตุให้เกิดโลกก็ดี ความดับไม่เหลือแห่งโลกก็ดี ทางปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งโลกก็ดี ตถาคตบัญญัติเรื่องนี้อยู่ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ แต่ที่ยังเป็นๆ คือยังมีสัญญาและใจ หมายความว่าร่างกายที่ยังเป็นๆ แม้ยาวสักว่าประมาณวาหนึ่งนี้ ในนั้นมีเรื่องโลกทั้งหมด เรื่องเหตุให้เกิดโลกทั้งหมด เรื่องความดับไม่เหลือแห่งโลกทั้งหมด และหนทางแห่งความดับไม่เหลือทั้งหมด ฉะนั้นร่างกายคนนั่นแหละจะเป็นห้องเรียน ถ้าถือตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าต้องเอาร่างกายเป็นห้องเรียน ไม่ใช่ห้องสมุดหรือชั้นเรียนเป็นห้องเรียน ห้องสมุดใหญ่โตมากมายในโลกรวมกัน ก็ไม่อาจจะใช้เป็นห้องเรียนที่ได้ผลเต็มตามความหมายได้ ต้องใช้ร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้เป็นห้องเรียน นั่นก็คือศึกษาทุกอย่างจากร่างกาย
ฉะนั้นวันนี้ก็อยากจะพูดทุกเรื่องที่เป็นเบื้องต้น ที่เป็นหลักเบื้องต้นที่จะศึกษาธรรมะในขั้นแท้จริง ที่เขาเรียกว่าปรมัตถ (อ่านว่า ปะ-ระ-มัด-ถะ) ชาวบ้านชอบเรียกว่าพระปรมัตถ์ (อ่านว่า ปะ-ระ-มัด) ถ้าเรื่องชั้นปรมัตถ์นั้นก็เป็นเรื่องที่จริง แล้วก็ที่สูง ที่ลึกซึ้ง วันนี้จะพูดถึงเรื่องปรมัตถ์ โดยประมวลเอาหัวข้อเรื่องปรมัตถ์นี้ มาอธิบายให้ฟังชั่วการบรรยายครั้งหนึ่งนี้ เมื่อได้กล่าวลักษณะของธรรม ๔ ความหมาย แล้วก็ให้ดูในส่วนที่สำคัญที่สุดที่เราอาจจะเข้าใจได้จากร่างกายเราเองก่อน ดูจนมองเห็นรู้สึกว่าไอ้เราคนๆ หนึ่งนี้ มันก็คือตัวธรรมในความหมายแรก คือตัวธรรมชาติ ร่างกายของเราประกอบไปด้วย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ก็แล้วแต่เขาจะแยกเป็น ๓๒ อาการในส่วนร่างกาย แล้วก็มีส่วนที่เป็นจิตใจ เป็นความรู้สึก เป็นสิ่งลึกลับชนิดหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ที่ร่างกาย เดี๋ยวเราก็จะพูดแยกกันดู นี่ธรรมชาติส่วนที่เป็นวัตถุคือร่างกาย ก็อยู่ในกายเรา ส่วนที่เป็นจิตใจ ความรู้สึกนึกคิดได้ก็รวมอยู่เป็นร่างกาย ในร่างกายเรา นี่คือธรรมะความหมายที่ ๑ คือตัวธรรมชาติ คือปรากฏการณ์ธรรมชาติ ทุกคนจงทำความเข้าใจแก่ร่างกายของตนว่ามันเป็นตัวธรรมชาติ เป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติ เป็นร่างกายกับจิตใจที่มีอยู่อย่างทำหน้าที่สัมพันธ์กันไปวันหนึ่งๆ นี่คือตัวธรรมชาติ นี่ธรรมในความหมายที่ ๑ คือตัว เนื้อตัวของเรา ถ้าไปศึกษาธรรมในความหมายนี้ที่อื่นนอกไปจากนั้นก็ ก็เรียกว่าโง่นะ ขออภัย พูดคำหยาบๆ เพราะว่ามันคือตัวคนนั่นเอง
ทีนี้ธรรมในความหมายที่ ๒ คือกฎของธรรมชาติ ก็หมายความว่าในเนื้อหนัง ร่างกาย จิตใจ ชีวิตอะไรของเราทั้งหมดนี้ มันมีกฎของธรรมชาติสิงอยู่ ครอบงำอยู่ ควบคุมอยู่ ปรุงแต่งอยู่ ผลักไสบันดาลให้เป็นไปตามกฎ ดังนั้นทุกๆ อณูในร่างกายของเรานี้ ทั้งส่วนที่เป็นร่างกายและเป็นส่วนจิต ทุกส่วนมันอยู่ใต้กฎของธรรมชาติ มันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ที่ร่างกายมันจะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ หรือเปลี่ยนไป ที่ความคิดมันจะเกิดขึ้นและก็เปลี่ยนไป และก็หยุดลง และก็เกิดใหม่ อะไรทุกอย่างน่ะ เข้าใจว่าคงจะมองเห็นได้ด้วยตนเอง เพราะมันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ บางอย่างก็มนุษย์รู้สึก บางอย่างก็ไม่รู้สึกหรือควบคุมไม่ได้ อย่างเช่นร่างกายนั้นทำหน้าที่ของมันอย่างน่าประหลาดมหัศจรรย์ที่สุด ก็ไปศึกษาดูเอาเองจากเรื่องราวอันละเอียด ของเรื่องส่วนๆ ของร่างกายแต่ละส่วน แม้แต่ส่วนระบบการหายใจ ระบบย่อยอาหาร ทุกๆ ระบบ มันไม่รู้กี่ระบบในร่างกายนี้ ล้วนแต่ประหลาด น่ามหัศจรรย์ ซึ่งมนุษย์ทำไม่ได้ แต่ธรรมชาติมันทำได้ ธรรมชาติมันบังคับให้เป็นไปตามกฎ หรือเกิดขึ้นมาตามกฎ เป็นอยู่ตามกฎ เป็นไปตามกฎ ฉะนั้นก็กฎธรรมชาติก็มีอยู่ในตัวธรรมชาตินั่นเอง เมื่อเราจะศึกษาเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์แล้วไม่ต้องศึกษาออกไปนอกตัว ธรรมชาติทั่วสากลจักรวาลมันก็มีกฎของธรรมชาติควบคุมอยู่ทั่วสากลจักรวาล เราไม่สนใจเพราะเราไม่ต้องการเรื่องนั้น ยกเรื่องนั้นไว้เป็นหน้าที่ของคนพวกอื่น หรือเวลาอื่นที่เขาจะสนใจเรื่องนั้น เดี๋ยวนี้เราจะสนใจเรื่องธรรมะ เราก็มาดูกฎของธรรมชาติ เท่าที่มันสิงสถิตอยู่ในคนแต่ละคนที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ มันบังคับอะไรบ้าง ในลักษณะที่เป็นกฎตายตัวอย่างไร ถ้าเรามองเห็นอันนี้ก็เรียกว่ารู้ธรรม ในความหมายที่ ๒ ว่ามีอยู่ในเรา ในเมื่อความหมายที่ ๑ ก็คือตัวเรานั่นเอง แต่ความหมายที่ ๒ ก็คือมันมีบังคับอยู่ในตัวเรา
ทีนี้ธรรมในความหมายที่ ๓ คือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติในหน้าที่ หมายถึงตัวหน้าที่ คนทั้งคนก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำอย่างรวมกันเป็นคนๆ หนึ่ง ซึ่งเราก็ทราบดีว่าเราต้องทำอะไรบ้าง ที่มันสำคัญที่สุด ก็ต้องหาอาหารกิน ต้องกินอาหาร ต้องบริหารร่างกายให้อยู่ในสภาพที่พอทนได้หรือพอสบาย ที่มันเป็นส่วนย่อย ส่วนหนึ่งๆ ของร่างกายมันก็ทำหน้าที่ของมัน เช่นหัวใจสูบฉีดโลหิต ปอดมันสูบฉีดลม หรือแม้ที่สุดแต่ตัวโลหิตที่จะมองไม่เห็นตัวนั้น มันก็มีหน้าที่ที่ต้องทำงานตามหน้าที่ของไอ้ตัวโลหิตขาว ตัวโลหิตแดง เซลล์ทุกๆ เซลล์ มันก็มีหน้าที่ตามหน้าที่ของมัน ทุกๆ เซลล์ที่ประกอบกันขึ้นเป็นคนๆ หนึ่ง นี่เรียกว่าหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ แก่ทุกส่วนของร่างกายและทั้งกลุ่มของร่างกายที่เรียกว่าเป็นคนๆ หนึ่ง นั่นเราดูหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติก็ยังต้องดูที่คนที่ยาวประมาณวาหนึ่ง ดูไปให้ทั่วถึง ยิ่งเข้าใจได้มากเท่าไรยิ่งดี ทีนี้ในความหมายที่ ๔ คือผลอันเกิดจากหน้าที่ ก็ดูเถิดที่ร่างกายนั่นแหละมันมีผลอย่างไร สบายดีหรือไม่สบายดี จิตใจปกติดี หรือถ้าเราทำหน้าที่ทางจิตใจ ก็ว่าจิตใจได้ผลเป็นความสุข เป็นความสงบ หรือหาไม่ ผลทางวัตถุเป็นอย่างไร เรามีทรัพย์สมบัติอย่างไร ผลทางร่างกายเรามีร่างกายอย่างไร เป็นที่พอใจหรือไม่ ทางจิตใจเรามีหน้าที่อย่างไรได้ผลเป็นที่พอใจหรือไม่ พูดระบุลงไปเดี๋ยวนี้
เพราะว่าการที่ท่านทั้งหลายมาศึกษาธรรมะที่นี่ เดี๋ยวนี้ เพราะว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำตามกฎของธรรมชาติ คือจะศึกษาเรื่องของธรรมชาติ ในส่วนจิตใจที่เราเรียกกันว่าพระธรรมนั้น ให้เข้าใจและเอาไปปฏิบัติได้เพื่อได้รับผลดี นี่ก็เรียกว่าหน้าที่ ที่มาหาความรู้ทางธรรมะนี้ก็เป็นหน้าที่ ได้ไปแล้วก็ต้องปฏิบัติ มันก็เป็นหน้าที่ หน้าที่มันก็มากเหลือเกิน จนเรียกว่าจะจดรายการกันไม่ค่อยไหว ก็ทำไปตามที่รู้สึกได้ก็แล้วกัน นี่ก็มีผลเกิดขึ้นอย่างไรก็ขอให้รู้ เราทำผิดเกี่ยวกับร่างกาย มันก็มีโทษเกิดขึ้นทางร่างกาย แม้ทำผิดเกี่ยวกับปัจจัยเครื่องอาศัยของร่างกาย เราก็เดือดร้อนเรื่องเศรษฐกิจไม่ดีอย่างนี้เป็นต้น ขอให้มองเห็นธรรมใน ๔ ความหมาย คือหมดนั่นเอง ทั้งหมดนั่นเองในร่างกาย จนมองเห็นจริงๆ นี่จึงเรียกว่าไม่อาศัยห้องสมุด ไม่อาศัยห้องเรียนในมหาวิทยาลัย เพราะมันอาศัยไม่ได้ เรียนธรรมะเรียนจากร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งที่ยังเป็นๆ เอาคนตายมาเรียนก็ไม่ได้ เพราะมันไม่มีเรื่องของความรู้สึกเกี่ยวกับสุขกับทุกข์อะไรเลยในคนตาย มันต้องเรียนในคนเป็นๆ ที่ยังรู้สึกคิดนึกได้ จนกระทั่งพบธรรมะทั้ง ๔ ความหมายอย่างเพียงพอแก่การศึกษาของตน ของตน
ทีนี้ก็ ก็ดูต่อไปมันอาจจะมีคนสงสัยขึ้นมาว่าเมื่อเราเป็นธรรมะอยู่เองแล้ว มีธรรมะถึงขนาดนี้อยู่ในร่างกายนี้แล้ว จะไปเรียนธรรมะ ปฏิบัติธรรมะกันทำไมอีกให้มันเหน็ดเหนื่อยเปล่าๆ เล่า ใครกำลังสงสัยอย่างนี้บ้าง เมื่อทั้งเนื้อทั้งตัวมันคือธรรมะ ในฐานะที่เป็นตัวธรรมชาติ เป็นกฎธรรมชาติ เป็นหน้าที่ตามธรรมชาติ เป็นผลจากหน้าที่ตามธรรมชาติ มันเป็นอยู่ในเนื้อในตัวแล้วจะไปศึกษาธรรมะกันทำไมอีก ปฏิบัติธรรมะกันทำไมอีกเมื่อมันมีอยู่แล้ว มันเป็นอยู่แล้ว ถ้าสงสัยอย่างนี้ก็ไปดูให้ดี ว่าเรามันยังไม่รู้ส่วนที่เป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง จนว่าความทุกข์มิได้เกิดขึ้นเลย มิอาจจะเกิดขึ้นเลย นั่นแหละจึงจะพอ เราอาจจะรู้ อาจจะมี อาจจะเป็นอยู่แล้ว แต่ว่ามันไม่มีความรู้ที่ถูกต้องในส่วนที่เป็นหน้าที่ จึงไม่สามารถดำรงชีวิตนี้ไว้ในลักษณะที่ถูกต้อง คือไม่มีความทุกข์ ไม่มีปัญหา ถ้ายังรู้สึกเป็นทุกข์หรือมีปัญหาอยู่ก็แปลว่าไอ้ความรู้ในการปฏิบัติหน้าที่นั้นมันยังไม่พอ หรือว่ามันไม่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ดังนั้นมันจึงมีความทุกข์หรือมีปัญหาเหลืออยู่
ถ้าใครมีปัญหาเหลืออยู่ มีความทุกข์ ความทุกข์เหลืออยู่อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็รีบดูในส่วนนี้ ว่าเรามันขาดความรู้ในส่วนที่เป็นหน้าที่ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติ จนกระทั่งว่าไม่มีความทุกข์ ไม่มีปัญหาเหลืออยู่เลย ควรจะคิดในทำนองคำนึงคำนวณดูเสียด้วยเลยว่า เราศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย จบการศึกษาถึงขนาดที่ไม่รู้จะสอนกันอย่างไรอีกแล้ว มันยังไม่พออีกหรืออย่างไรจึงมาต้องศึกษาธรรมะอีก ช่วยคิดกันในข้อนี้ให้มากว่าการศึกษาในโลกในทุกๆ ระบบที่มีอยู่มันก็มากมาย แล้วเราก็สอนเราก็เรียน เป็นปริญญาเอกในแขนงหนึ่งๆ แล้ว ไม่มีอะไรจะเรียนในแขนงนั้นแล้ว ทำไมมันยังไม่พออีกหรือย่างไร ที่จะต้องมาเรียนธรรมะกันอีก
นี่ก็ขอให้ดูให้มองเห็นว่ามันคนละเรื่องกัน ที่ชาวบ้านชาวโลกเขาทำกันนั้น นั่นเป็นเรื่องทางวัตถุทางร่างกายเสียมากกว่า คือมันไม่ค่อยจะเป็นเรื่องทางจิตใจ เป็นเรื่องทางวัตถุซึ่งให้ผลไปตามแบบของวัตถุ เป็นที่ตั้งแห่งความหลงใหลของคน คนก็หลงใหลในผลทางวัตถุ ก็ลงทุนค้นคว้าศึกษาเล่าเรียนก้าวหน้าเรื่อยไม่มีที่สิ้นสุด จะก้าวหน้าไปเรื่อยจนกระทั่งว่าไอ้เรื่องไปโลกพระจันทร์นี้เป็นเรื่องของเด็กอมมือไปในที่สุด คือมันจะทำอะไรได้มากกว่านั้น แต่แล้วเรื่องมันก็ไม่จบ มันไม่ทำให้มนุษย์มีความสงบสุขเป็นปกติมีสันติภาพได้
ขอท้าทายว่าอย่างนี้ ช่วยเป็นพยานด้วย อาตมาขอท้าทายว่าอย่างนี้ ก็เดี๋ยวนี้อย่างที่เห็นกันอยู่ แล้วก็พูดกันอยู่ทั่วๆ ไป มนุษย์ก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างสุดเหวี่ยง จนขนาดเรียกกันเองว่าสัตว์เศรษฐกิจแล้ว เป็นสัตว์เศรษฐกิจแล้ว ไอ้เศรษฐกิจอันใหญ่หลวงนั้นมันก็ไม่ช่วยให้มนุษย์มีความปกติสุข สงบสุขได้ ความเป็นสัตว์เศรษฐกิจนั้นมันก็เป็นของไร้ความหมาย เราจะถือว่ายังไม่เป็นมนุษย์ ยังเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ยังไม่ใช่มนุษย์ ยังก้มหน้าก้มตา หลับหูหลับตา หลงใหลอยู่แต่ในเรื่องของเศรษฐกิจ แล้วก็ไม่อาจจะเอาชนะปัญหาทางเศรษฐกิจ มีปัญหาทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นทุกที จนไม่มีหวังว่าจะหมดสิ้นไป นี่คือความที่ยังไม่ได้เป็นมนุษย์ เป็นเพียงสัตว์เศรษฐกิจ ที่เรียกว่าสัตว์การเมืองก็เหมือนกันแหละ สัตว์สังคมก็เหมือนกันแหละ มันไปมัวแต่ลุ่มหลงอย่างหลับหูหลับตา วนเวียนอยู่ที่นั่น ไม่ออกมาเป็นผลคือความสงบสุขของมนุษย์ได้เลย นี่การศึกษาเดี๋ยวนี้ในโลกปัจจุบันนี้ มันก็ไม่ได้มีอะไรที่ออกไปนอกวงของไอ้เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเมือง เรื่องสังคม เรื่องวัตถุทั้งนั้น นั่นแหละ มันเป็นคำตอบที่ว่าทำไมเราจึงมาศึกษาธรรมะกันอีกส่วนหนึ่ง
พูดให้มันง่ายมันสั้นก็คือว่า เรารู้แต่เรื่องทางวัตถุหรือทางร่างกายนั้นมันไม่พอ มันไม่ทำให้มีความสงบสุขได้ เพราะไอ้เรื่องสุขเรื่องทุกข์ เรื่องอะไรนี้มันอยู่ที่จิตใจ เราต้องมีความรู้กับการกระทำที่ถูกต้องที่เกี่ยวกับจิตใจ จิตใจจะสงบสุขแล้วมนุษย์ก็จะเป็นสุขแล้วก็ทนอยู่ได้ หรือเรียกว่าไม่ต้องทน ถ้าว่าจิตใจมันไม่สงบสุขแม้ร่างกายมันจะสมบูรณ์อย่างไร มันก็ยังมีความทุกข์ เราเห็นได้ด้วยตนเองว่าไอ้ความก้าวหน้าในทางวัตถุนั้น ไม่มีวันที่จะทำให้โลกนี้มีสันติภาพ หรืออยู่กันอย่างสงบสุขได้ มีแต่ทำแล้วรื้อทิ้ง ทำแล้วรื้อทิ้ง ทำแล้วรื้อทิ้ง อย่างไม่มีจุดจบในเรื่องทางวัตถุ แล้วก็จะต้องมาคิดกันใหม่ว่าเรื่องทางจิตใจนี้มันมีส่วนสำคัญอยู่ จะเรียกว่าครึ่งหนึ่งหรือเกินครึ่ง มันก็แล้วแต่ใครจะมองเห็น บางคนให้ความสำคัญแก่เรื่องทางวัตถุมากเกินไป จนไม่ค่อยสนใจแก่เรื่องทางจิตใจ บางคนก็ให้ความสำคัญแก่เรื่องทางจิตใจมากเกินไป จนไม่ให้ความสำคัญแก่เรื่องทางวัตถุ แต่ว่าพวกหลังนี่มีน้อยมาก หาดูยากมาก เพราะว่าแทบจะทั้งโลกนี้มันได้เป็นภาพของวัตถุ อะไรไปหมดแล้ว
แต่แล้วความจริงหรือความถูกต้องนั้นมันไม่ได้อยู่ที่นั่น มันต้องอยู่ที่ให้ความสนใจให้แก่เรื่องทางวัตถุและเรื่องทางจิตใจอย่างพอๆ กัน คือถูกสัดส่วนหรือสมส่วนกันตามหลักของพุทธศาสนา ซึ่งไม่ใช่วัตถุนิยม ไม่ใช่มโนนิยมโดยส่วนเดียว แต่มันอยู่ที่ความถูกต้องเรียกว่าสัจจนิยม ธรรมนิยม สมนิยม (นาทีที่ 33:42 อ่านว่า สะ-มะ-นิ-ยม) อะไรก็ได้ ควรอยู่ที่ความถูกต้องระหว่างสิ่งทั้งสองนั้น พุทธศาสนานิยมความถูกต้องระหว่างวัตถุกับจิตใจ เราจึงต้องศึกษาทั้งสองเรื่อง แล้วเราก็จะพบความถูกต้องระหว่างสิ่งทั้งสอง ฉะนั้นเรื่องขวาเรื่องซ้ายนั้นไม่ต้องเอามาพูดถึง มันเป็นเรื่องบ้าสุดเหวี่ยง ไอ้เรื่องที่ถูกที่จริงมันต้องอยู่ในระหว่างกลาง เอาขวามาใช้เป็นประโยชน์ได้ เอาซ้ายมาใช้เป็นประโยชน์ได้ มันอยู่ตรงกลางอย่างนี้จึงจะเป็นธรรมะตามหลักของพระศาสนา ก็เรียกว่ารู้ความจริงของสิ่งทั้งปวง
สิ่งทั้งปวงคือธรรมะอย่างที่ว่ามาแล้วใน ๔ ความหมายนั่นเอง จึงต้องรู้เรื่องธรรมชาติ รู้เรื่องกฎของธรรมชาติ รู้เรื่องหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ รู้เรื่องผลอันเกิดจากหน้าที่นั้นอย่างถูกต้อง มันก็พอแล้วที่จะปฏิบัติให้มันถูกต้อง ได้รับผลที่ควรจะได้รับไปอย่างเพียงพอ อาตมาได้พูดว่าผลที่ควรจะได้รับนะ ช่วยสังเกตดูให้ดีด้วยว่าได้พูดว่าผลที่ควรจะได้รับ ก็หมายความว่ามันไม่ใช่ผลทั้งหมดทั้งสิ้น นั่นคือไม่ใช่ผลของใบไม้ทั้งป่า แต่ว่าเป็นผลของใบไม้กำมือเดียว คือเท่าที่มันจำเป็นที่มนุษย์จะต้องรู้จะต้องทราบ และก็ต้องมีให้ได้ และปัญหาก็จะหมดไป เราไม่ต้องรู้ทั้งหมดและไม่อาจจะรู้ด้วย ฉะนั้นต้องรู้เท่าที่จำเป็นจะต้องรู้ ฉะนั้นก็รู้เท่าที่พระพุทธเจ้าท่านได้บัญญัติไว้ว่าอยู่ในร่างกายอันยาววาหนึ่งนี้ และอาตมาก็ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าในร่างกายที่ยาวตั้งวาหนึ่งนี้ ก็มีเรื่องธรรมชาติ เรื่องกฎของธรรมชาติ เรื่องหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ และผลที่ได้รับจากหน้าที่นั้นอยู่อย่างครบถ้วน
เพราะฉะนั้นเราจะได้ดูกันในเรื่องนี้ ใน ๔ เรื่องนี้ต่อไป ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่ง ดูให้ครบทุกเรื่อง ให้เห็นทุกเรื่องตามที่ควรจะเห็นในชั้นลึกที่เรียกว่า “ปรมัตถธรรม” ฉะนั้นคำพูดในวันนี้ก็เรียกว่าประมวล ปรมัตถธรรมที่คนธรรมดาควรจะทราบ นี่หัวข้อการบรรยายในวันนี้ ที่นี่ ประมวลปรมัตถธรรม เท่าที่คนธรรมดาควรจะทราบ นับตั้งต้นมาตั้งแต่เรื่องธรรมะใน ๔ ความหมาย และเอามาอยู่ในร่างกาย และจะดูกันต่อไปให้มันชัดเจนละเอียดยิ่งขึ้น ทีนี้ก็จะมาถึงตอนที่จะทำให้ง่วงนอน รับประกันได้ว่ามันถึงตอนที่จะทำให้คุณง่วงนอน ที่จะทนฟังได้หรือไม่ได้ก็คอยดูกันต่อไป
ถ้าจะดูถึงตัวธรรมชาติในคนๆ หนึ่ง ในร่างกายคนๆ หนึ่งนี้ ก็มีหัวข้อไว้สำหรับกำหนดจดจำ ๓ หัวข้อเท่านั้นแหละ คือ เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะ แล้วก็เรื่องขันธ์ เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะ เรื่องขันธ์ เป็นนักศึกษาพุทธศาสนา ประกาศตัวเป็นผู้รู้พระพุทธศาสนา ถ้าใครถามแล้วไม่รู้เรื่อง ๓ เรื่องนี้ละก็เรียกว่าล้มละลายเลย ควรจะรู้เรื่องธาตุ เรื่องขันธ์ เรื่อง ไอ้เรื่อง ไอ้เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะ เรื่องขันธ์ อาตมาอยากจะเรียงลำดับอย่างนี้ เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะ และเรื่องขันธ์ ที่เขาพูดกันโดยทั่วๆ ไปเขามักจะเรียงลำดับว่า เรื่องขันธ์ เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะ ไม่สะดวกที่จะมาอธิบาย มาเรียงเสียใหม่ว่า เรื่องธาตุ เรื่องขันธ์ เรื่องอายตนะ
เรื่องธาตุนั้นที่รู้กันอยู่โดยทั่วไปก็ว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่มันไม่หมด มันเติมไปอีก ๒ ธาตุ คือ ธาตุอากาศ และก็ธาตุวิญญาณ ในร่างกายนี้ประกอบอยู่ด้วยธาตุ ๖ ธาตุ ธาตุดิน ธาตุดินไม่ใช่ดินปลูกสวนผัก มันดินหมายถึงไอ้สสารที่มันมีคุณสมบัติเป็นของแข็งและกินเนื้อที่ ทีนี้ไอ้ธาตุน้ำน่ะ มันคือ มันมีคุณสมบัติเป็นของเหลวไหลได้ มีลักษณะเกาะกุมตัวมันเองอยู่ แต่มันเปลี่ยนรูปได้ คือไหลได้ ไอ้น้ำน่ะมันมีคุณสมบัติเกาะตัวกันอยู่นะ ถ้าไม่มีการเกาะตัวแล้วจะเป็นน้ำอยู่ไม่ได้ แต่เนื่องจากการเกาะตัวนั้นมันรวนได้ มันมีอาการเปลี่ยนรูปได้น้ำจึงไหลได้ ธาตุน้ำคือคุณสมบัติที่เกาะกุมตัวเองอยู่และเปลี่ยนรูปเป็นไหลได้ นี่เรียกว่าธาตุน้ำ พูดไปเสียให้หมดก่อนแล้วก็จะทำให้เห็นง่าย และก็ธาตุไฟ คือส่วนที่มันมีอุณหภูมิและเผาไหม้ คุณสมบัติที่ทำให้เกิดความร้อน หรือความร้อนและเผาไหม้นี่เราเรียกกันว่าธาตุไฟ ทีนี้ที่มันระเหยลอยได้นี่ เรียกว่าธาตุลม
คุณสมบัติของสสารที่มันทำให้เกิดการกินเนื้อที่ โดยเราว่าของแข็งนี่ คือธาตุดิน ในร่างกายเราก็มีส่วนอณูที่เป็นธาตุดิน ที่มันแข็งและกินเนื้อที่ ที่มัน เช่นไอ้ของแข็งแต่ละส่วน ละส่วนนี้ เช่นเล็บ เช่นผม เช่นอะไรนี้เป็นของแข็ง เขาสงเคราะห์จัดรวมเป็นพวกธาตุดิน ทีนี้น้ำก็เหมือนน้ำตา น้ำเลือด น้ำ ไอ้ส่วนที่เป็นน้ำ แต่เอาคุณสมบัติที่มันเหลวเกาะตัวกันอยู่และเปลี่ยนได้ แต่ถ้าเราไปแยกเอาธาตุบางอย่างที่มีอยู่ในเลือดในน้ำนั้น อันนั้นมันก็เป็นส่วนของแข็งเป็นธาตุดินไป มันสัมพันธ์กันอยู่อย่างที่จะแยกกันไม่ได้ ที่ว่าในของแข็งหรือในน้ำนั้นแหละ ในเลือดนั่นแหละ เอ้า, ที่ว่าเป็นธาตุน้ำนี้ มันก็มีอุณหภูมิคือความร้อน มันก็มีธาตุไฟ ฉะนั้นในนั้น ในเลือดนั่นแหละ จึงมีทั้งน้ำ ทั้งไฟ ทั้งดิน และมันก็ยังมีธาตุลมคือส่วนที่เป็นแก๊สและระเหยได้ สมมติว่าเราตัดเอาเนื้อของคน เอากล้ามเนื้อของคนมาดุ้นชิ้นหนึ่ง เราก็ดู ส่วนหนึ่งมันเป็นธาตุดิน ส่วนที่มันแข็งและกินเนื้อที่ จะละเอียดเล็กสักเท่าไร เป็นอนุภาคเล็กสักเท่าไร มันก็ มันก็ยังกินเนื้อที่ มันก็เรียกว่าธาตุดิน ในเนื้อก้อนนั้นน่ะ มันมีส่วนที่เป็นน้ำเลือดน้ำเหลืองอะไรอยู่ ที่มันเป็นน้ำ ที่มันเป็นธาตุน้ำ รวมอยู่ในเนื้อชิ้นนั้น ทีนี้มันก็มีอุณหภูมิอยู่ตามมากตามน้อยในเนื้อชิ้นนั้น และมันก็มีส่วนที่เป็นแก๊สระเหยออกอยู่จากเนื้อชิ้นนั้น อยู่ในเนื้อชิ้นนั้น
ฉะนั้นเนื้อคนนี่ มันก็มีทั้งดิน น้ำ ลม ไฟ ยกตัวอย่างเพื่อจะให้มันรู้จักแยกออกจากกันเท่านั้นน่ะ เราไม่สามารถที่จะพูดชัดลงไปว่าไอ้ส่วนนั้นเป็นดิน ส่วนนั้นเป็นน้ำ ส่วนนั้นเป็นไฟ เป็นลมล้วนๆ นั้นมันไม่ได้ เพราะมันประกอบกันอยู่อย่างที่ทำงานร่วมกัน ฉะนั้นเรารู้จักธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมที่ประกอบกันอยู่เป็นร่างกายเรา ที่ส่วนอากาศเป็นธาตุหนึ่งคือที่ว่าง ธาตุอากาศคือธาตุว่าง ธาตุว่างนี่มันสำคัญ ถ้ามันไม่มีที่ว่างแล้วก็ มันจะมีอะไรเข้าไปอยู่ได้ล่ะ ถ้ามันเต็มเสียก่อน มันต้องมีที่ว่าง โลกนี้มันก็ตั้งอยู่บนที่ว่าง ถ้าไม่มีที่ว่างไอ้โลกนี้มันก็อยู่ไม่ได้ ไม่มี ไม่มีที่ตั้ง ทีนี้ในโลกนี้มัน ส่วน ส่วนที่มองไม่เห็นมันก็มีที่ว่าง เราอย่าเข้าใจว่าไอ้ที่ว่างนี้เป็นอากาศ เป็นเหมือนกับลมอะไรมาแทนที่ แล้วก็ผลักลมออกไป จนตรงนั้นไม่มีลม
แต่ถ้าสำหรับอากาศแล้วก็มันไม่ใช่อย่างนั้น แม้จะมีอะไรมา มาตั้งอยู่ได้แทนที่ในที่ว่างของมัน ไอ้ตัวมันที่เป็นความว่างนั้นน่ะ มันก็ยังอยู่ที่นั่น ในฐานะเป็นสิ่งรองรับสิ่งที่มาตั้งอยู่ในความ อยู่บนความว่าง ลักษณะของมันก็คล้ายๆ กับสิ่งที่เราเรียนกันในวิชาวิทยาศาสตร์ว่า อีเทอร์ อีเทอร์ ซึ่งมีอยู่เต็มไปทั้งโลก เป็นเครื่องรองรับโลก โลกตั้งอยู่บนอีเทอร์ แม้โลกจะมาตั้งอยู่บนอีเทอร์ก็ไม่แทนที่อีเทอร์ไปได้ อีเทอร์ก็ยังมีอยู่ตรงที่โลกมันตั้งอยู่ พวกนักวิทยุเขาอธิบายว่ากระแสวิทยุแล่นไปตามอีเทอร์ ถ้าไม่มีอีเทอร์มันไม่อาจจะแล่นไปไม่ได้ เมื่อคลื่นวิทยุมันแล่นผ่านภูเขา ผ่านทะลุกำแพงเข้าไปได้ก็หมายความว่าในกำแพงนั้นก็มีอีเทอร์ ให้วิทยุ ไอ้คลื่นวิทยุมันผ่านกำแพงไปได้ นี่ก็คือลักษณะที่จะเปรียบได้กับไอ้อานุภาพหรือคุณสมบัติของอากาศธาตุ ที่ว่าง สำหรับอะไรๆ มาตั้งอยู่บนที่ว่าง แต่แล้วก็ไม่อาจจะขับไอ้สิ่งนั้นออกไปจากที่นั่นได้ นั่นยังเป็นเครื่องรองรับอยู่ เป็นเรื่องละเอียดที่มองเห็นไม่ได้ด้วยตา แม้ว่าในบางคัมภีร์บางแห่งเขาจะอธิบายว่า อากาศธาตุในคนนั้นคือที่ว่างระหว่างพวกช่องหู ช่องจมูก ตรงที่มันเว้าๆ กลวงๆ นั้นเป็นอากาศธาตุ อย่างนี้มันเป็นคำอธิบายที่ผิด หรือมันขัดกันอยู่ในตัว เพราะตรงนั้นมันมีธาตุลมมากกว่าที่จะเป็นความว่าง มันต้องเป็นความว่างชนิดที่มองไม่เห็นตัว ที่ว่างที่ไม่มี ที่ไม่มีตัวน่ะมันเป็นธาตุอันหนึ่งที่รองรับไอ้สิ่งทั้งหลายอยู่ ไม่ได้หมายความแต่เพียงว่าห้องว่าง ถ้วยชามว่าง อะไรมันว่างนี้ อย่างนี้มันก็ไม่ว่าง เพราะมันมีอากาศอยู่ที่นั่น มีธาตุลมอยู่ที่นั่น
มันต้องว่างไปกว่านั้นที่รองรับสิ่งเหล่านั้นอยู่ อย่างเหมือนโลกนี้ตั้งอยู่บนอีเทอร์ ภาษาธรรมะเราก็จะพูดว่าโลกนี้มันตั้งอยู่บนความว่าง สิ่งต่างๆในโลกก็ล้วนจะตั้งอยู่บนความว่าง ร่างกายเรา ดินน้ำลมไฟนี้มันก็ตั้งอยู่บนธาตุๆ หนึ่งที่เรียกว่าความว่าง นี่ได้ธาตุที่ ๕ มาคือ ธาตุ อากาศธาตุหรือความว่าง ไม่ใช่ว่างอย่างทางวัตถุที่มีตัวตน แต่มันว่างชนิดที่ลึกซึ้ง จนเป็นที่ตั้งของวัตถุได้โดยที่มันไม่ต้องสูญเสียตัวมันเองไป ไอ้ความว่างนี้
ทีนี้ก็มาถึงธาตุที่ ๖ คือวิญญาณธาตุ คือธาตุใจ ธาตุจิต ธาตุใจ ธาตุมโน แต่เขาเรียกกันว่าวิญญาณธาตุ ธาตุวิญญาณ นี่อธิบายยาก อธิบายชั่วเวลาเล็กน้อยไม่ได้ แต่สรุปความได้ว่ามันมีธาตุอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่เหมือนกับไอ้ ๕ อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือเป็นธาตุวิญญาณ เป็นธาตุที่รู้สึกอะไรได้ เป็นธาตุแห่งความรู้สึก เขาเรียกธาตุที่ ๖ นี้ว่าเป็นนาม เป็นนาม จึงเป็นนามธาตุ มันตรงกันข้ามกับไอ้ ๕ อย่างข้างต้น ๕ อย่างข้างต้นนั้นเรียกว่ารูปธาตุ ธาตุทั้ง ๕ ข้างต้นเรียกว่ารูปธาตุ คือเนื่องกับรูป หรือมีรูป ส่วนจิต ส่วนวิญญาณนี้เป็นธาตุที่เป็นธาตุนาม ไม่ใช่รูป แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องอาศัยที่อยู่กับรูป ธาตุวิญญาณมีธาตุเดียวต้องอาศัยอยู่กับธาตุรูป ๕ อย่าง ๕ ธาตุข้างต้น ประกอบกันเข้าเป็นคนๆ คนเรา
หลับตาดูภาพคนเราว่ามันมีธาตุอากาศ คือธาตุว่างเป็นพื้นฐานรองรับ แล้วก็มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ตั้งอยู่บนธาตุนั้น และธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมนี้ ก็เป็นที่ตั้งที่อาศัยให้ธาตุพิเศษๆ ธาตุหนึ่ง คือธาตุวิญญาณ มาอาศัยและทำหน้าที่ของมันได้ ทำหน้าที่ทางจิตทางวิญญาณได้ มัน มันจะแยกมีกันไม่ได้ มันต้องมีครบทั้ง ๖ อย่างนี้จึงจะเป็นคนอยู่ได้ ไอ้ไฟฟ้าอย่างนี้ถ้าตามทางธรรมะถือว่าเป็นรูปธาตุ มันจะเป็นนามธาตุไปไม่ได้ แต่เราไม่รู้ เราไม่รู้จักไฟฟ้า เราจับตัวไฟฟ้าไม่ได้ คล้ายๆ กับว่ามันเป็นนาม และมันก็มีร่างกายเช่น หม้อแบตเตอรี่บ้าง ไอ้ขดลวดเจเนอเรเตอร์บ้าง ให้มันเป็นที่อาศัย มันได้อาศัยสิ่งนั้นแล้วมันจะแสดงตัวออกมาได้ เป็นกระแสไฟฟ้าที่เราใช้ได้ แต่ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องรูป ไม่ใช่เรื่องนาม
ส่วนเรื่องนามนี้เราจะเปรียบว่ามันเป็นธาตุจิต เปรียบเหมือนกับไฟฟ้านั่นแหละ ตัวไฟฟ้ามันก็อาศัยที่ตั้งของมันคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ เป็นออฟฟิศให้มันทำงานของมันได้ ฉะนั้นร่างกายนี้ก็เหมือนกับออฟฟิศ สำหรับธาตุวิญญาณทำงานได้ บอกแล้วว่าเรื่องนี้มันชวนง่วงนอน ถ้าไม่รู้ว่าจะใช้ประโยชน์อะไรได้แล้วมันก็จะง่วงนอน ชวนให้ง่วงนอน ทีนี้เราก็ดูกันอีกทีว่า ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศนี้ รวมเข้าเป็นส่วนร่างกาย แล้วก็มีส่วนที่ ๖ คือธาตุวิญญาณ เข้ามาอาศัยทำหน้าที่ของมันได้ วิญญาณหรือจิตนี่เป็นเหมือนตัวการตัวสำคัญ ตัวหัวใจ ไอ้ร่างกายนี้เหมือนกับเปลือก เหมือนกับออฟฟิศว่าอย่างนั้นน่ะ จิตและวิญญาณนี่มันอาศัยร่างกายเป็นออฟฟิศ และมันก็ทำหน้าที่ของมันได้
ทีนี้มันจะทำหน้าที่อย่างไรต่อไปนั้น มันต้องเปลี่ยนรูปจากสิ่งที่เรียกว่าธาตุนี้ ไปเป็นเรื่องที่เรียกว่าอายตนะ เรื่องที่ ๑ คือธาตุ เรื่องที่ ๒ คืออายตนะ และมันเชื่อมกันอย่างนี้ หัวเงื่อนที่มันเชื่อมกัน คือเรามีดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ เป็นร่างกายที่มันแยกเป็นส่วนๆ ส่วนที่เป็นลูกตา มันก็อาศัยเนื้อ หนัง เลือดอะไรตามเรื่อง เป็นวัตถุ เป็นเนื้อ ที่มันจะประกอบกันเป็นลูกตากระทั่งเส้นประสาทตานี่ ในลูกตามีเส้นประสาทของตา สำหรับหน้าที่ของตา ไอ้ประสาท ตัวประสาทนั้นก็ยังจัดเป็นรูป ตา มีประสาทตาที่เป็นรูป เป็นร่างกาย แล้วประสาทตาจะเป็นที่อาศัยของไอ้ธาตุวิญญาณ มาทำหน้าที่ที่ประสาทตาได้ และเราก็มีตาที่พร้อมที่จะทำหน้าที่ มีการเห็นทางตา เรามีหูและก็มีประสาทหู ที่ให้วิญญาณทำหน้าที่ทางหู ก็เป็นวิญญาณทางหู แล้วก็จมูก ก็มีประสาทที่จมูกให้วิญญาณเขาทำหน้าที่รู้กลิ่น ที่ลิ้นก็มีประสาทลิ้น ให้วิญญาณทำหน้าที่รู้รสโดยทางลิ้น ที่ผิวหนังทั่วทั้งตัวก็มีประสาทที่จะให้วิญญาณเขาทำหน้าที่รู้สึกทางผิวหนังทั่วไปทั้งตัว นี่ก็ยังมีส่วนหถยวัตถุ ไม่อาจจะบอกได้ว่าเป็นสมอง หรือก้อนหัวใจ ไม่อยากจะพูด ถ้าพูดก็พูดรวมๆ กันแหละ เอาสมองจะถูกกว่ามีระบบประสาทอยู่ที่นั่น สำหรับใจจะได้ทำหน้าที่รู้ทางใจโดยตรง
ทีนี้เราก็เกิดมีส่วนที่จะทำหน้าที่รู้สึกต่อสิ่งภายนอกขึ้นเป็น ๖ แห่ง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ก็เรียกว่าอายตนะ ทีนี้ใจหรือวิญญาณนั้นน่ะมันมาทำหน้าที่ ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่หัวใจเอง นี่ก็หมายความว่าเมื่อถึงโอกาส ไม่ได้ทำอยู่ตลอดเวลา หรือทำอยู่ตลอดเวลาไม่ได้ มันทำต่อเมื่อตานี่ถึงกันเข้ากับรูป แล้ววิญญาณก็มาทำหน้าที่ทางตา ก็เรียกว่าเกิดจักษุวิญญาณ ถ้าจะจำสั้นๆ ต้องจำว่าเมื่อตามันเนื่องกันเข้ากับรูป มันก็จะเกิดจักษุวิญญาณ นี่มันเพิ่งเกิดเดี๋ยวนี้ มันไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา เรามีตา ประสาทตาอยู่เป็นประจำ แล้วรูปมันก็มี เมื่อใดมันมาเกี่ยวข้องกันเข้า มันก็จะเกิดการเห็นทางตา คือจักษุวิญญาณ
เรามีหูอยู่ เมื่อมีเสียงมาถึงกันเข้า ก็เกิดได้ยินทางหู ก็เกิดวิญญาณทางหู เรียกว่าโสตวิญญาณ มีจมูกอยู่กลิ่นมาสัมผัสเข้า มาเกี่ยวข้องกันเข้า ก็เรียกว่าเกิดวิญญาณทางหูคือได้กลิ่น เอ้อ, เมื่อจมูกได้กลิ่นก็เกิดวิญญาณทางจมูก เรียกว่าฆานะวิญญาณ ลิ้นมีอยู่ รสไปถึงเข้า มันก็เกิดการรู้รส ก็เกิดวิญญาณทางลิ้นเรียกว่า ชิวหาวิญญาณ มีผิวหนังเมื่ออะไรมากระทบเข้า รู้สึกทางผิวหนัง เกิดวิญญาณทางผิวหนังเรียกว่า กายวิญญาณ หถยวัตถุมีอยู่ มีอะไรมากระทบเข้า มันก็เกิดความรู้สึกทางใจ เรียกว่ามโนวิญญาณ นับจำนวนกันอย่างนี้ก่อน
เพราะในร่างกายเราภายในนี้มันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่าง และคู่ของมันก็อยู่ข้างนอก เรียกว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มี ๖ ครบตามจำนวนก็ได้เป็น ๖ คู่ ที่อยู่ข้างในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เรียกว่าอายตนะภายใน ก็อยู่ข้างใน และ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่จะมากระทบตัวนั้น เพราะมันอยู่ข้างนอกตัวจึงเรียกว่าอายตนะภายนอก ฉะนั้นขอให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าอายตนะ ที่เป็นภายในคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นภายนอกคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
ข้อนี้ต้องรู้ความสำคัญของมันว่า ถ้าว่าสัตว์หรือคนนี่ ไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วมันก็ไม่มีเรื่องอะไร โลกนี้ก็ไม่มีแล้ว ฟังถูกไหม คือว่าถ้าเราไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โลกนี้ก็เท่ากับไม่มี มันมีค่าเท่ากับไม่มี เพราะรู้สึกไม่ได้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นสื่อสำหรับให้รู้สึกได้ จึงเรียกมันว่าสื่อ หรือ อายตนะ อายตนะแปลว่าที่ต่อ ที่ติดต่อเป็น ที่ติดต่อเหมือน Medium อย่างนี้ ข้างในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะมันรู้สึกต่อข้างนอกได้ ข้างนอกจึงมี ถ้าข้างในไม่รู้สึกอะไรได้ ข้างนอกก็เท่ากับไม่มี มันก็จึงให้ความสำคัญแก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก มันจึงได้ชื่ออีกชื่อหนึ่ง เรียกว่าอินทรีย์ อินทรีย์แปลว่าสิ่งสำคัญ ไอ้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่เรียกว่าอายตนะทั้ง ๖ นั่นแหละ มันมีชื่ออีกชื่อหนึ่ง เรียกว่าอินทรีย์ คือสิ่งสำคัญทั้ง ๖ เพราะว่าถ้าไม่มีสิ่งนี้แล้วอะไรก็จะไม่มีหมด ไม่มีอะไรเกิดกันได้ แต่ว่ามีอินทรีย์อย่างนี้ก็จริง มันก็ต้องมีไอ้คู่ๆ คู่ของมันคืออายตนะข้างนอก ซึ่งเขาเรียกว่าอารมณ์
อารมณ์ ๖ อารมณ์นั้นแปลว่าที่เกี่ยวเกาะ คือที่อินทรีย์มันจะไปเกี่ยวเกาะ ก็เรียกว่าอารมณ์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ข้างในเรียกว่า อินทรีย์ และมันจะไปเกี่ยวเกาะ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่อยู่ข้างนอกซึ่งเรียกว่า อารมณ์ อารมณ์กับอินทรีย์มีสำหรับจะพบกันและจะทำให้เกิดเรื่องต่างๆ ไปตามลำดับ นี่เรารู้เรื่องอายตนะเป็นเรื่องที่ ๒ เรื่องที่ ๑ คือเรื่องธาตุ เรื่องที่ ๒ คือเรื่องอายตนะ กลุ่มที่ ๒ คือ อายตนะ
ทีนี้ก็จะมาถึงกลุ่มที่ ๓ ที่เรียกว่าขันธ์ ขันธ์นี้จะเข้าใจว่าทุกคนหรือส่วนมากคงจะเคยได้ยินได้ฟังมาแล้วว่า ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ บางคนอาจจะจำชื่อได้แล้วว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ๕ อย่างนี้เรียกว่าขันธ์ ๕ แต่บางทีก็จะเพียงแต่ได้ยินชื่อ หรือจำชื่อ หรือท่องชื่อเอาไว้ได้และยังไม่รู้จักตัวจริง ดังนั้นเรามาพูดถึงตัวจริงกัน ให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าขันธ์ ๕ ให้ดีก่อน มันมี มันมีไอ้อะไร มันมีหลักพิเศษหรือสำคัญอยู่ในทางฝ่ายธรรมะ ฝ่ายวิชาธรรมะ หรือการศึกษาธรรมะนี่ มันมีหลักพิเศษอยู่ว่า เมื่อสิ่งนั้นทำหน้าที่จึงจะเรียกว่าสิ่งนั้นมี เช่น ภาษาไทยพูดได้ว่าเรามีตาอยู่ตลอดเวลา เรามีหู มีจมูก ลิ้น กายอยู่ตลอดเวลา แต่ภาษาธรรมะพูดไม่ได้ว่าเรามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ตลอดเวลา มันกลายเป็นว่าต่อเมื่อมันทำหน้าที่ เมื่อตาทำหน้าที่เห็นรูป จึงจะเรียกว่าเรามีตา ใช้คำว่าตาเกิดขึ้น มันน่า มันน่าหัวเราะ เด็กๆ มันจะโห่
ตาเกิดขึ้นเมื่อมีรูปมากระทบตา มากระทบกับไอ้ประสาทตานี้ ตาจึงจะเกิดขึ้น เมื่อเสียงมากระทบหู หูจึงจะเกิดขึ้น หูที่มีอยู่ตลอดเวลานี้ไม่ได้ถือว่ามีอยู่ ไม่ได้ถือว่าเกิดอยู่แล้ว มันจึงมีคำพูดว่า ตาเกิด หูเกิด จมูกเกิด ลิ้นเกิด ผิวหนัง กายเกิด ใจเกิด ต่อเมื่อมันทำหน้าที่ของมัน ไอ้หลักอันนี้จะจำไว้ด้วยว่าถ้าไปได้ยินได้ฟังข้อความในคัมภีร์ในบาลีว่าตาเกิด หูเกิด จมูกเกิด ก็หมายความว่าเมื่อมันได้ทำหน้าที่ เช่นรูป เสียง กลิ่น รส ข้างนอกนี้ก็เหมือนกัน เขาไม่ได้ถือว่ามันเกิดอยู่ตลอดเวลา มันเกิดต่อเมื่อมันทำหน้าที่กับคู่ของมัน คือเมื่อรูปมันทำหน้าที่กับตา ก็เรียกว่าตาก็เกิดรูปก็เกิด เสียงมันทำหน้าที่กับหู ก็เรียกว่า หูก็เกิด เสียงก็เกิด คำว่าเกิดนี้มีความหมายพิเศษในภาษาธรรมะ
ทีนี้มันจะเกิดอะไรต่อไป จำให้ดีนะว่าขันธ์ ๕ นั้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รู้ความหมายคร่าวๆ ของมันเสียก่อนว่า รูปนี่คือสิ่งที่มีรูป เช่น ร่างกาย เป็นต้น นี่เรียกว่ารูป ทีนี้เวทนาคือความรู้สึก ประเภทที่ให้รู้สึกว่าเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ คือพอใจหรือไม่พอใจ สบายหรือไม่สบายนี้ ความรู้สึกอย่างนี้เขาเรียกว่าเวทนา ทีนี้อันที่ ๓ เรียกว่าสัญญา คือรู้สึกว่าอะไรเป็นอะไร เช่นจำได้ว่านี่รูปอะไร นี่เสียงอะไร นี่กลิ่นอะไรนี่ แล้วก็สำคัญว่ามันเป็น กลิ่น เป็นรูป เป็นกลิ่น เป็นเสียงของอะไร ตลอดถึงสำคัญไปตามความรู้สึกต่อๆไปว่า ว่าดี ว่าชั่ว ว่าหญิง ว่าชาย ว่าอะไร นี่เป็นความสำคัญ ให้ความหมายไปในทางสำคัญว่าเป็นอะไร นี่คือสัญญา ขันธ์ที่ ๔ เรียกว่าสังขาร นี่คือความคิดนึกจะเอาอย่างนั้น จะทำอย่างนี้ ไม่ใช่ร่างกายนะสังขารในคำนี้ ในความหมายนี้ไม่ใช่ร่างกาย สังขารนี้เป็นเพียงความคิด คิดด้วยเจตนาต้องการจะได้ จะเอา จะทำ จะเป็น อะไรก็ตามนี้คือความคิด คิดดี คิดชั่วอะไรก็ตามเรียกว่าสังขารหมด อันสุดท้ายเรียกว่าวิญญาณ นี่ ความรู้แจ้ง จิตที่ทำหน้าที่รู้แจ้ง วิญญาณที่ทำหน้าที่รู้แจ้ง รู้แจ้งที่อายตนะทั้ง ๖ วิญญาณคือจิตที่จะไปทำหน้าที่รู้แจ้ง ตา หู จมูก ลิ้น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เอ้า, ทีนี้ก็จะเล่าเรื่องมันต่อไปว่า มันเกิดอย่างไรไอ้ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ ตาถึงกันเข้ากับรูป นี่ทุกคนลืมตา ทุกคนลืมตาอยู่นี่ และก็ทำเหมือนกับว่าตานี้มันถึงเข้ากับรูปที่อยู่ตรงหน้านั่นแหละ ก็ว่าเกิดการเห็นทางตาที่เรียกว่าจักษุวิญญาณ ทุกคนมีจักษุวิญญาณ ก็นี่ตาทำหน้าที่เห็นรูป รูปถูกเห็น ตาก็เกิดแล้ว รูปก็เกิดแล้ว และการเห็นก็เกิดขึ้นมา เรียกว่าจักษุวิญญาณเกิด รู้จัก รู้จักจักษุวิญญาณหรือยังล่ะ พูดอย่างนี้เข้าใจไหม ตาถึงกันเข้ากับรูป แล้วเกิดจักษุวิญญาณ รู้จักสิ่งทั้งสามนี้ชัดเจนไหม ชัดเจนพอไหม ตาเกิดแล้วเพราะเห็นรูป รูปเกิดแล้วเพราะตาเห็น แล้วที่ตากับรูปมันเนื่องกันนี้ ทำให้เกิดการเห็นทางตาคือ จักษุวิญญาณ ทำไมฟังดูยังงงๆ กันอยู่ล่ะ รู้จักจักษุวิญญาณหรือยัง
เอ้า, หูก็มีอยู่แล้ว เสียงอาตมาพูดก็มีอยู่แล้ว เสียงกับหูถึงกันเข้าก็เกิดการได้ยินทางหู เรียกว่าโสตวิญญาณ รู้จักโสตวิญญาณหรือยัง ดูหน้าตาทุกคนยังงงๆ กันอยู่ ไม่รู้จักจักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ นี่ถ้าว่ามีกลิ่นอะไรมากระทบจมูก จมูกก็เกิดแล้ว กลิ่นมันก็เกิดแล้ว แล้วก็เกิดวิญญาณทางจมูกเรียกว่า ฆานะวิญญาณ ฆานะแปลว่าจมูก เมื่ออะไรวางไปที่ลิ้น ลิ้นก็เกิดเพราะมันได้รับรส ไอ้รสมันก็เกิดเพราะมันถูกสัมผัสกับลิ้น ความรู้สึกโดยลิ้น ก็เกิดวิญญาณทางลิ้นเรียกว่าชิวหาวิญญาณ มีอะไรมากระทบผิวหนัง ลมพัดมาเย็น ถูกผิวหนังรู้สึกเย็นนี้ ผิวหนังกระทบกับลม ลมเกิดแล้ว ผิวกาย กายะนี่ กายะคือผิวกายก็เกิดแล้ว มันก็เกิดความรู้สึกทางกายที่เรียกว่า กายวิญญาณ พอลมพัดมากระทบก็จับตัวกายวิญญาณให้ได้ ถ้าความคิดไอเดียอะไรเกิดขึ้นในจิต จิตมันก็ได้รับอันนั้น แปลว่าไอ้มโนน่ะ เดี๋ยวเราก็เรียกว่าจิต เดี๋ยวเราก็เรียกว่ามโน มโนมีความคิด มันไม่ใช่ ไม่ใช่เชิงความคิด คือรูปเรื่องของความคิดมันมากระทบกันเข้ากับจิต ที่เรียกว่าไอเดียในภาษาอังกฤษนั้นถูกแล้วสำหรับสิ่งที่จะมากระทบจิต จิตมันก็มีความรู้สึกทางจิต ซึ่งเรียกว่ามโนวิญญาณ มีความรู้สึกทางใจเรียกว่ามโนวิญญาณ นั่นเราจึงได้เหมือนกันทั้ง ๖ ชุดนั่น ชุดตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีอยู่ ๖ ชุด ก็มีข้างนอกแล้วก็เกิดวิญญาณ เกิดวิญญาณ
ฉะนั้นขอให้เข้าใจแจ่มแจ้ง พอพูดว่า จักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานะวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ ก็ให้เข้าใจแจ่มแจ้ง อย่าต้องไปถามใครเลย เข้าใจแจ่มแจ้ง มองเห็นแจ่มแจ้ง รู้สึกแจ่มแจ้ง อยู่เหมือนกับศึกษาวิทยาศาสตร์ ไม่เกี่ยวกับปรัชญาเลย ไอ้ที่พูดทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวกับปรัชญาเลย เป็นไปในรูปแบบของวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เป็นนามธรรม เป็นเรื่องจิตไม่มีเห็นตัว ก็มันเป็นรูปแบบของวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ปรัชญา ถ้าปรัชญาต้องคำนึงคำนวณแล้วใช้ไม่ได้ เอามาใช้กันไม่ได้ เพราะเรื่องนี้ไม่ต้องคำนึงคำนวณ ตากับรูปถึงกันเกิดการเห็นทางตานี้จะต้องคำนวณอะไร ถ้าต้องคำนวณก็แปลว่ามันไม่มีความรู้สึกเพียงพอแล้ว ศึกษาธรรมะไม่ได้แล้ว เรื่องหู จมูก ลิ้น กายก็เหมือนกัน
เอ้า, ต้องย้อนมาต้น ยกตัวอย่างด้วยเรื่องทางตาสักกลุ่ม กลุ่มเดียว ตาเกิดขึ้นแล้วเพราะเกี่ยวกับรูป รูปเกิดขึ้นแล้วเพราะเกี่ยวกับตา แล้วก็เกิดจักษุวิญญาณแล้ว อย่างนี้เรียกว่าเกิดขึ้นมา ๒ ขันธ์แล้วนะ ๒ ขันธ์ได้เกิดขึ้นแล้ว คือรูปขันธ์ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว รูปขันธ์ก็คือตานั่นแหละ ที่เป็นภายในก็คือตา ที่เป็นภายนอกก็คือรูป นี่รูปขันธ์เกิดแล้ว ได้ทำหน้าที่แล้ว นี่วิญญาณขันธ์ก็เกิดแล้ว คือวิญญาณทางตาน่ะได้เกิดแล้ว เกิด ๒ ขันธ์แล้วเข้าใจไหม ในขันธ์ทั้ง ๕ น่ะ เดี๋ยวนี้ได้เกิด ๒ ขันธ์แล้ว รูปขันธ์ คือ ตากับรูป ตาข้างในกับรูปข้างนอกได้เกิดเป็นรูปขันธ์แล้ว และเกิดการเห็นแจ้งทางตาเรียกว่าวิญญาณ ก็คือวิญญาณขันธ์เกิดแล้ว ทีนี้ตานี้ด้วยรูปนั้น ด้วยวิญญาณขันธ์ ด้วย ๓ อันนี้มันมาทำงานร่วมกันก็เรียกว่าผัสสะ หรือ สัมผัส
พอมีสัมผัสแล้วแน่นอนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องเกิดเวทนา เวทนาขันธ์ คือสบายตา หรือไม่สบายตา ถ้าในกรณีของตา มันเป็นทุกข์แก่ตา หรือมันเป็นสุขแก่ตา นี่คือเวทนาขันธ์ได้เกิดแล้วทางตา ที่พอเวทนาขันธ์เกิดแล้วอย่างนี้สัญญามันก็สำคัญมั่นหมายเอาไอ้เวทนา เอาค่าของเวทนาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นสุขเวทนา เป็นทุกขเวทนา สำคัญมั่นหมายเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ว่าดีหรือชั่ว ประณีตหรือว่าพูนกาม (นาทีที่ 01:10:43) หรือว่าถ้ามันกว้างออกไป มันก็ว่าของผู้หญิงหรือของผู้ชาย มันขยายตัวไปได้ไกล สัญญาแปลว่าจำได้สำคัญได้ มั่นหมายได้ เช่นตามันเห็นรูปของเพศชายหรือเพศหญิง มันก็มีสัญญาที่รู้ว่าเพศชายหรือเพศหญิง ไอ้รูปนั้นน่ะเป็นรูปอะไร รูปเพศชายหรือรูปเพศหญิง ควรจะเอาหรือไม่ควรจะเอา คือว่ามัน มันเป็นความสำคัญมั่นหมายขึ้นมาทีเดียว อย่างนี้เรียกว่าสัญญาขันธ์ สัญญาขันธ์ได้เกิดแล้ว จำได้ว่ารูปอะไร รูปเขียว รูปแดง รูปขาว รูปดำ รูปดี รูปชั่ว รูปหญิง รูปชาย รูปอะไรมันจำได้และก็มันสำคัญว่าเป็นอย่างนั้น นี่คือสัญญาขันธ์เกิดแล้ว ถ้าไม่เข้าใจแล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะศึกษาธรรมะ จะไม่รู้จักขันธ์ ๕ ขอให้สนใจหน่อยว่าสัญญาขันธ์ได้เกิดแล้ว
พอสัญญาขันธ์เกิดแล้ว ทีนี้มันก็จะเกิดความคิดเพราะสัญญานั่นแหละ สัญญาสำคัญมั่นหมายว่าเป็นอะไรมันก็จะเกิดความคิดว่าจะเอาหรือจะไม่เอา จะทำอย่างใดอย่างหนึ่งกับสิ่งนั้น ความคิดที่จะได้ จะเอา จะมี จะทำ จะเป็นอย่างนี้ มันก็เกิดขึ้น ที่เป็นตัวความคิดเรียกว่าสังขาร ก็แปลกันตรงๆ ง่ายๆ ว่า Though นั่น Though ที่แปลว่าคววามคิดนั่นน่ะ นั่นน่ะคือตัวสังขาร สังขารขันธ์ เดี๋ยวนี้สังขารขันธ์ก็เกิดแล้ว มันก็เป็นความคิดขึ้นมา เช่นรูปนั้นสวย เช่นว่าดอกไม้สวยในความคิดเกิดที่จะเอา มันก็เกิดขึ้นและมันก็เกิดความคิดที่จะไปเด็ดเอา หรือเกิดความคิดอย่างอื่นที่เกี่ยวกับของสวย เช่นในกรณีนี้เป็นดอกไม้ใช่ไหม ถ้าเป็นอย่างอื่นมันก็เป็นอย่างอื่นก็คิดไปอย่างอื่น มันแล้วแต่ว่าเวทนาหรือสัญญามันเป็นมาอย่างไร เวทนาฝ่ายน่ารักน่าพอใจ ความคิดก็เกิดฝ่ายที่จะเอา เวทนาฝ่ายไม่น่ารักไม่น่าพอใจ มันสำคัญมั่นหมายเป็นศัตรู มันก็ไม่คิดที่จะเอา มันคิดที่จะทำลาย นี่เรื่องสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา ถ้าไม่เข้าใจเรื่องขันธ์ทั้ง ๕ นี้ก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจหลักพระพุทธศาสนา จึงขอร้องฝากไปว่าเวลาไหนก็ตามใจไปศึกษาทบทวนซ้ำๆ จนเข้าใจไอ้สิ่งทั้ง ๕ นี้ชัดเจน เหมือนเราเข้าใจวัตถุในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์อย่างนี้จึงจะได้ ไปทบทวนให้มันมีความเข้าใจถูกต้องเพียงว่า
เมื่อตาเห็นรูป เกิดรูปขันธ์แล้ว รูปขันธ์ข้างในคือตา รูปขันธ์ข้างนอกคือสิ่งที่เราเห็น นี่คือรูปขันธ์แล้ว เมื่อตาเห็นเกิดรูปคือรูปขันธ์ เพราะไอ้สองอย่างนี้มันถึงกันเข้าเกิดจักษุวิญญาณ นี่เกิดวิญญาณขันธ์แล้ว นี่ ๓ อย่างนี้เป็นผัสสะ มาถึงกันเข้าเป็นผัสสะก็เกิดเวทนา สบายแก่ตา หรือไม่สบายแก่ตา นี่เรียกว่าเวทนาขันธ์ เวทนาขันธ์ก็แปลกันทื่อๆ ว่า Feeling Feeling ไอ้วิญญาณก็ใช้คำภาษาฝรั่งว่า Consciousness ทีนี้มันเกิดเวทนาขันธ์เมื่อสบายตา หรือเมื่อไม่สบายตา ก็เกิดสัญญาความสำคัญมั่นหมาย เขาเรียก Perception ในสัญญานี้ใช้กันว่า Perception ต่อ Feeling ไอ้อันนี้เรียกว่าสัญญาขันธ์ เกิดสัญญาขันธ์ ทีนี้ไอ้สัญญาขันธ์ทำไปอย่างไร มันก็ให้เกิดความคิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามสมควรแก่สัญญานั้น นี่เรียกว่าสังขารขันธ์ เรียกว่า Thought ถ้าเรียกเป็นหลักวิชาจริงๆ เขาเรียกว่าอะไร กรรม กรรม กรรมาการมิกฟอร์เมชั่น สิ่งที่จะให้ทำกรรม กรรมมิก คือกรรมมิกกะในภาษาบาลี กรรมมิกฟอร์เมชั่น เอาจำง่ายๆ ว่า Thought ก็แล้วกันมันคิดจะทำอย่างใดอย่างหนึ่ง
ช่วยไปศึกษาแล้วศึกษาอีก และทุกทีที่มันมีนะ จะไปศึกษาลับหลังศึกษาจากหนังสือไม่ได้ ศึกษาเรื่องตาก็เมื่อตาเห็นรูป ศึกษาเรื่องหูก็เมื่อหูได้ยินเสียง ศึกษาเรื่องกลิ่นก็ศึกษาเมื่อจมูกมันได้กลิ่น ศึกษาเรื่องรสก็เมื่อลิ้นมันกำลังมีรส เวลากินข้าวเคี้ยวอะไรอร่อยๆ น่ะ ศึกษาให้ดีๆ ให้รู้จักนี่ ลิ้นกับรส แล้วชิวหาวิญญาณ แล้วก็ เวทนา สัญญา สังขาร อะไรไปตามเรื่อง เวลาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้เป็นเวลาที่ศึกษา ที่เรียกว่าศึกษาจากตัวจริงและศึกษาจากภายใน มัวแต่ศึกษาจากหนังสือมันเป็นเรื่องจำเดี๋ยวมันก็ลืม แล้วมันไม่เข้าใจ เอามาใช้ประยุกต์ไม่ได้ เพราะต่อไปเราจะต้องศึกษาถึงขนาดบังคับความรู้สึกเหล่านี้ เราต้องรู้จักความรู้สึก ช่วยศึกษาให้รู้จักรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เรียกว่าขันธ์
เดี๋ยวนี้อาตมาเชื่อว่าทุกคนคงจะเข้าใจได้แล้ว ถ้าถามว่าไอ้ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ มันมีอยู่คราวเดียวกันพร้อมทั้ง ๕ หรือมันแยกกันมีทีละอย่าง ทีละอย่าง คุณไม่ต้องเชื่อใคร ใครจะมาบอกคุณว่ามันเกิดทีเดียวทั้ง ๕ ก็ตามใจเขา เขาว่าไป คุณก็เอาไอ้ความเห็นจริงของตัวเองเป็นหลักว่ามันเกิดพร้อมกันทีเดียวทั้ง ๕ ได้หรือไม่ มันไม่มีที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่าไอ้คนเราประกอบอยู่ด้วยขันธ์ทั้ง ๕ นี้ไม่มี ถ้ามีก็มีประกอบอยู่ที่ธาตุทั้ง ๖ เพราะขันธ์ทั้ง ๕ มันจะมีพร้อมกันในคราวเดียวกันไม่ได้ คือมันเกิดรูปขันธ์แล้วเกิดวิญญาณขันธ์ แล้ววิญญาณขันธ์เสร็จแล้ว ดับไปแล้วจากจิต มันจึงจะเกิดเวทนาขันธ์ เวทนาขันธ์เสร็จไปแล้วมันก็เกิดสัญญาขันธ์ สัญญาขันธ์เสร็จไปแล้วก็เกิดสังขารขันธ์ มันเกิดต่อๆๆๆ กันไปอย่างนี้ ทีนี้จิตนี่มันเหมือนกับเก้าอี้ตัวเล็กๆ ตัวหนึ่งนั่งได้คนเดียว มันทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งได้เพียงอย่างเดียว ก็ทำไปตามลำดับ
ฉะนั้นเมื่อรูปขันธ์เกิดไปแล้วดับไปแล้ว ก็ดับไปแล้ว วิญญาณขันธ์ก็เกิดแล้วก็ดับไปได้ เวทนาขันธ์เกิดแล้วก็ดับไปได้ สัญญาขันธ์เกิดก็ดับไปได้ แต่สำคัญอยู่ที่ว่าให้รู้เมื่อมันเกิด ให้รู้ นี่คือการบรรยายที่มันละเอียดไว้ล่วงหน้า เพื่อป้องกันมิให้เข้าใจผิดว่าไอ้รูปขันธ์เป็นตัวตน หรือเวทนาขันธ์เป็นตัวตน หรือสัญญาขันธ์เป็นตัวตน หรือสังขารขันธ์เป็นตัวตน หรือวิญญาณขันธ์เป็นตัวตน คือถ้าปล่อยไปตามความรู้สึกของสัตว์แล้ว มันจะไปเอาตัวตนเข้าที่ในขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง หรือทั้ง ๕ ขันธ์รวมกันก็มี เอารูปขันธ์ร่างกายนี้ก็เป็นตัวตน เด็กๆ มันก็รู้สึกว่าร่างกายนี้เป็นตัวตน อะไรมากระทบตนมันก็เรียกมากระทบตน เด็กๆ เขา เขาเคยไปถูกก้อนหิน เขาโกรธก้อนหินนั้นน่ะ แม่เลยต้องไปตีก้อนหินให้เขาสักทีเขาจึงจะหายโกรธ นี่มีความสำคัญเป็นตัวตนขึ้นมาได้อย่างนี้ ว่าเรานี้ตัวตน หัวของเราไปโดนก้อนหิน ก้อนหินก็เป็นตัวตน ดังนั้นจึงอยากจะทำลายก้อนหินซะ เป็นตัวตนฝ่ายปรปักษ์อย่างนี้เป็นต้น แม้ร่างกายนี้ก็อาจจะถูกหลงยึดขึ้นว่าเป็นตัวตนก็ได้
ทีนี้ในบางกรณีเวทนาที่รู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์นี่ อร่อยไม่อร่อยนั้น มันถูกยึดถือเป็นตัวตน ว่าตัวตนอยู่ที่เวทนา คือค่าสูงสุดของสิ่งทั้งปวงมันอยู่ที่เวทนา คนเรามันเป็นทาสของอารมณ์ เป็นทาสของเวทนา เอาเวทนาเป็นตัวตนก็ได้ แต่ถ้าชี้ให้เห็นแล้วว่าเวทนามันเป็นเพียงว่าขันธ์เท่านั้น เกิดขึ้นมาอย่างนี้เท่านั้นไม่ใช่ตัวตน ทีนี้ถ้าว่าในกรณีอื่น บางคนอื่น คนอื่น บางคนเขาเอาสัญญาขันธ์เป็นตัวตน เพราะมันจำอะไรได้ สำคัญมั่นหมายอะไรได้ ในกรณี ในกรณีนั้นก็เอาสัญญาขันธ์เป็นตัวตน ในกรณีอื่นคนอื่นก็เอาสังขารขันธ์เป็นตัวตน คือคิดนึกได้ก็เอาสังขารขันธ์เป็นตัวตน ปรัชญาของเดส์การ์ตส์ (ฝรั่งเศส: René Descartes) (นาทีที่ 01:20:28) หรืออะไร ฉันคิดได้ทั้งนั้น ฉันมีอยู่นี้เพราะมันคิดได้ ฉันนั้นเป็นตัวตน ดังนั้นฉันจึงมีอยู่ มีคนเคยยึดถืออย่างนี้กันมาแล้วตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ไม่ใช่ว่านายคนนี้เพิ่งมองเห็นและเพิ่งบัญญัติ ฉะนั้นขันธ์ทั้ง ๕ นี้มีโอกาสที่คนเขลาจะสำคัญผิด ยึดถือเอาว่าตัวตนที่ขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง หรือว่าเอ้า, เหมาทั้ง ๕ เป็นตัวตน แต่โดยมากมันจะเป็นอยู่ที่ขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง เออ ลืมพูดถึงวิญญาณ วิญญาณที่รู้แจ้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ ก็มีส่วนที่จะถูกยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ง่ายเท่ากับสังขารขันธ์เหมือนกัน สังขารขันธ์นั้นมันเป็นตัวคิด คือยึดถือเป็นตัวตนได้ง่าย แต่วิญญาณขันธ์นี้เป็นเพียงแต่รู้แจ้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ก็มีโอกาสจะยึดถือเป็นตัวตนได้ คำสอนในลัทธิอื่นเขาก็สอนอย่างนั้นแหละว่ามีตัวตนออกมาทำงานที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นตัวตนเป็นเจตภูต เป็นชีโว เป็นบุคคลอะไรเขาก็มีสอนกันในลัทธิอื่น ส่วนในพุทธศาสนานี้เห็นเป็นเพียงธรรมชาติเท่านั้น ธรรมชาติที่รู้สึกได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เท่านั้น
ฉะนั้นขอให้รู้สึกขอให้รู้จักขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ล้วนๆ เป็นอย่างนี้ แล้วขันธ์ ๕ ที่ถูกยึดถือว่าเป็นตัวตนนั้นน่ะ มันก็ชุดนั้นแหละ ชุดเดิมนั่นแหละ แต่มันถูกยึดถือเป็นตัวตน พอยึดถือเป็นตัวตนก็มีความทุกข์แหละ มันต้องมีความทุกข์เพราะความยึดถือว่าเป็นตัวตน ว่าเป็นของตน มันต้องการจะเป็นไปอย่างที่ตนต้องการ แล้วมันก็เป็นไปไม่ได้ หรือว่าเอามาให้เป็นตัวตน มันก็ผูกมัดจิตใจของตน มันก็ต้องทนทรมาน เช่นเราถือเอาเงินทอง ทรัพย์สมบัติ ข้าวของเป็นของเรา เราก็ต้องเป็นทุกข์ เพราะเราถือว่าเงินทอง ข้าวของเป็นของเรา ถ้าเราไม่ได้ถือว่าเงินทอง ข้าวของเป็นของเรา เราก็ไม่เป็นทุกข์ ร่างกายนี้ก็เหมือนกัน รูปก็ดี เวทนาก็ดี สัญญา สังขาร วิญญาณแต่ละอย่างก็ดี ถ้าไม่ยึดถือว่าเป็นเรา หรือเป็นของเรา เราก็ไม่ต้องทุกข์ เช่นเดียวกับเราไม่ยึดถือว่าสิ่งใดเป็นของเรา สิ่งนั้นก็ไม่ทำความทุกข์ให้แก่เรา
ทีนี้ในทางภายนอกเรายึดถือเงินทองข้าวของ ทรัพย์สมบัติ บุตรภรรยาสามี อะไรว่าเป็นของตน มันก็ต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น หรือว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ถ้ามันเป็นของธรรมชาติก็แล้วไป แต่ถ้ามันเป็นความเกิด ความแก่ ความตายของเรา เราก็เป็นทุกข์ เดี๋ยวนี้เรายึดอยู่ว่าเป็นของเรา เราก็ต้องเป็นทุกข์ เพราะความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ฉะนั้นก็จึงสอนให้รู้ว่าทั้งหมดนั้นเป็นไปตามธรรมชาติ ตามหลักเกณฑ์ของการปรุงแต่งเรื่องธาตุ เรื่องขันธ์ เรื่องอายตนะ ฉะนั้นอย่าไปเอามาเป็นของตน มันก็ไม่ทุกข์ มี ๓ เรื่องเท่านี้ มันมาเป็นทุกข์ ลองเราไปยึดขันธ์ทั้ง ๕ ว่าเป็นตัวตน ก็มีวิธีทำให้ถอนความยึดถือนั้นเสีย มันก็ไม่มีความทุกข์ เพราะความทุกข์ก็ดับไป เรื่องก็จบเพราะความทุกข์ดับ ถ้ามีความยึดถือขันธ์ ๕ เป็นตัวตน ก็มีความทุกข์ไปแล้วก็ติดต่อกันไปซ้ำๆ ซากๆ ถ้ามีความรู้อันสูงสุดชัดเจนอย่างยิ่งถูกต้องเข้ามา มองเห็นชัดไม่ถือว่าเป็นตัวตน มันก็ไม่เป็นทุกข์ ก็เริ่มตัดความยึดถือเสียได้ก็ไม่เป็นทุกข์ เรื่องก็จบคือบรรลุมรรค ผล นิพพาน นิพพานนั้น บรรลุขั้นนิพพานนั้นคือไม่มีความยึดถือเป็นตัวตนเลย ส่วนขั้นมรรคผลแต่ละขั้นนี้มันยึดถือตัวตนอยู่บางส่วนตามมากตามน้อย ก็มีทุกข์น้อยลง น้อยลงตามลำดับที่ว่าละความยึดถือได้มากเท่าไร
นี่เอาเป็นว่าประมวลปรมัตถธรรม สำหรับคนธรรมดาควรจะทราบนั้นมีอยู่ ๓ กลุ่มเท่านั้น คือกลุ่มธาตุทั้ง ๖ แล้วก็กลุ่มอายตนะทั้ง ๖ แล้วก็กลุ่มขันธ์ทั้ง ๕ ไอ้กลุ่มขันธ์ ๕ นี่มีอยู่ ๒ ความหมาย คือขันธ์ ๕ ที่มีการยึดถือว่าตัวตน หรือขันธ์ ๕ ที่ไม่มีการยึดถือว่าตัวตน และขันธ์ ๕ ที่เกิดขึ้นแก่คนธรรมดาสามัญเป็นขันธ์ของคนธรรมดาสามัญ และมีการยึดถือว่าตัวตนทั้งนั้นแหละ เพราะเรามันยังมีอวิชชายังหลงอยู่ และขันธ์ ๕ ที่จะไม่ถูกยึดถือว่าตัวตนนั้น มีแต่ขันธ์ ๕ ของผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้วเท่านั้น นั่นเขาจึงพูดว่าพระอรหันต์นั้นมีขันธ์อันบริสุทธิ์ มีสันดานอันบริสุทธิ์ มีขันธ์อันบริสุทธิ์ คือขันธ์นั้นไม่ถูกยึดถือด้วยอวิชชา ว่าตัวตน เพราะว่าพระอรหันต์ไม่มีอวิชชา ขันธ์ ๕ จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ แล้วก็บริสุทธิ์เฉพาะคนที่ไม่มีอวิชชา ถ้าปุถุชนยังมีอวิชชา ขันธ์นั้นจะต้องถูกยึดถือตามส่วน จะรูปขันธ์ก็ถูกยึดถือ เวทนาขันธ์ก็ถูกยึดถือตามโอกาสตามครั้งตามคราว เพราะว่ามันให้เกิดความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจ เรามันเป็นทาสของอารมณ์กันทั้งนั้น มีอวิชชา แล้วก็ยึดถือส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นตัวเรา เป็นของเรา ถ้าได้อย่างใจเราก็พอใจ มันก็โง่อย่างพอใจ ถ้าไม่ได้ตามพอใจ ก็ไม่พอใจ มันก็โง่อย่างคนไม่พอใจ
ฉะนั้นจะพอใจหรือไม่พอใจนั้นมันเป็นเรื่องของความยึดถือ เป็นความโง่ทำให้เกิดความทุกข์ ความพอใจ ไม่พอใจทำให้เกิดเรื่องติดต่อกันไปยืดยาวมากมายทีเดียว ในขันธ์ทั้ง ๕ นี้ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้ ท่านแสดงไว้ว่า เวทนาขันธ์นั่นแหละตัวร้าย เป็นตัวทำให้มีเรื่อง ให้ควบคุมกันให้ดีที่สุด เวทนาขันธ์ คือความพอใจ ไม่พอใจ ความยินดี ยินร้าย ความสุข ความทุกข์ ความอร่อย ความไม่อร่อย อะไรก็ตามที่มันเป็นเวทนาขันธ์นั้นน่ะ ไอ้ตัวนี้เป็นขันธ์ที่ ๒ ซึ่งร้ายกาจที่สุด ต้องรู้จักดี ต้องควบคุมได้ ก็จะไม่มีความทุกข์ ให้ถือว่าเป็นหน้าที่อันสูงสุด ธรรมะในฐานะที่เป็นหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ เป็นหน้าที่อันสูงสุด ที่จะต้องรู้จักไอ้พฤติต่างๆ ของจิตและควบคุมไว้ให้ได้ อย่าให้เป็นไปในทางที่เป็นทุกข์ ถ้าพูดกันโดยละเอียดแล้ว มันต้องพูดอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท แต่มันก็เรื่องเดียวกันเพียงแต่ซอยให้ละเอียดเข้าไปเป็น ๑๑ ตอน มันละเอียดจึงไม่ได้เอามาพูด มันก็รวมอยู่ในเรื่องเกิดขันธ์ทั้ง ๕
ใครสนใจก็ไปหาศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาท ก็จะพบรายละเอียดมากกว่านี้ แต่โดยเค้าโครงแล้วมันก็มีว่าไอ้เรื่องธาตุ และก็เป็นอายตนะขึ้นมา เป็นอายตนะขึ้นมาแล้วทำงานแล้วมันจะเกิดขันธ์ขึ้นมา เกิดขันธ์ขึ้นมาแล้วถ้ายึดถือมันจะเป็นทุกข์ ถ้าโง่ไปยึดมั่นถือมั่นโดยไม่รู้สึกตัวแล้วมันก็เป็นทุกข์โดยไม่รู้สึกตัว ถ้าเรามีสติพอ มีปัญญาพอ ไม่ยึดมั่น มันก็ไม่เป็นทุกข์ ฉะนั้นเมื่อเราเห็นรูปที่สวยงาม ถ้าเรามีสติพอมีปัญญาพอ เราก็ไม่ยึดถือจนทำให้จิตใจเป็นทุกข์ หรือว่าถ้าเราเห็นรูปที่เป็นที่ไม่พอใจที่สุด เช่นรูปของคนที่เป็นศัตรูคู่อาฆาตอย่างนี้ ถ้าเรามีสติพอ มีปัญญาพอ รู้ รู้จัก รู้สึกว่าไอ้ความคิด พฤติของจิตเรานี้เป็นเพียงเป็นไปตามธรรมชาติ เราก็ควบคุมได้ เราไม่ไปโกรธไปแค้นเป็นทุกข์เพราะเห็นหน้าศัตรู นี่ไปคำนวณดูเถอะว่าถ้ามีความรู้เรื่องนี้พอ แล้วมันจะมีประโยชน์กี่มากน้อยที่จะอยู่ในโลกโดยไม่มีความทุกข์เลย จะมีศัตรู ไม่มีศัตรู จะอะไรต่างๆ มันก็ไม่มาทำให้จิตใจเป็นทุกข์ได้ กลับมีปัญญา มีสติว่าจะต้องจัดการอย่างไรกับคนที่เป็นศัตรู หรือไม่เป็นศัตรู อะไรทุกอย่างว่าต้องทำอย่างไร และก็ทำไปได้โดยที่เราไม่ต้องเป็นทุกข์ นั่นจึงถือว่าเป็นความรู้อันประเสริฐสูงสุดสำหรับมนุษย์ คือรู้เรื่องความทุกข์ รู้เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ รู้เรื่องความดับแห่งทุกข์ รู้เรื่องทางให้ถึงความดับแห่งทุกข์ มันอยู่ที่ควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไว้ได้ ก็ไม่เกิดทุกข์ เรื่องอริยสัจ ๔ ก็รวมอยู่ที่นี่ ไปมองให้เห็นว่าความทุกข์เกิดขึ้นมาอย่างไร แล้วเราสกัดไว้ให้เป็นอย่างนั้น มันก็ดับทุกข์ เรื่องอริยสัจ ๔ มันก็รวมอยู่ที่ในขันธ์ ในเรื่องขันธ์ ๕ เกิดขึ้นมาอย่างไร
จึงให้ถือเอาไอ้สามเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นหัวข้อสำคัญ เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะ เรื่องขันธ์ พอเข้าใจหลักอันนี้แล้วก็ไปเข้าใจเรื่องอื่นๆ เรื่องปฏิจจสมุปบาท เรื่องอริยสัจ ๔ เรื่องอะไรโดยละเอียดได้ แล้วก็จะรู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ขึ้นมาทันที เพราะความรู้เรื่องนี้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระพุทธ จิตที่รู้เรื่องนี้เป็นพระพุทธเจ้า ความจริงข้อนี้เป็นพระธรรม การที่เราปฏิบัติได้เป็นพระสงฆ์ เราเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เสียเองเลย มันไปไกลถึงขนาดนั้นถ้าเรารู้เรื่องนี้ ตัด ตัดกระแสแห่งความทุกข์เสียได้ เราเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ครบหมด คือจิตที่รู้เรื่องนี้เป็นพระพุทธ ความจริงข้อนี้เป็นพระธรรม การปฏิบัตินั้นเป็นพระสงฆ์ เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริง ที่จริงๆ ไม่ใช่แต่ปากว่า หรือว่ากล้าพูดถึงกับว่าเราเป็นเสียเอง เป็นพระพุทธ เป็นพระธรรม เป็นพระสงฆ์ในรูปแบบอย่างนี้เอง มันจะมีประโยชน์ถึงที่สุดอย่างนี้ นี่โดยย่อมันเป็นอย่างนี้ ขอให้ไปศึกษาโดยรายละเอียดต่อไป เพราะทุกๆ เรื่องมันจะมารวมอยู่ที่ตรงนี้ แม้แต่เรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มันก็มารวมอยู่ที่เรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดิน น้ำ ลม ไฟ อะไรต่างๆ พูดมากไปเกือบสองชั่วโมงแล้ว และมันจะต้อง ต้องพอกันที พูดลืมไป
ขอให้ทบทวนว่าเรื่องพระธรรมนั้นมันมีอยู่ ๔ ความหมาย ตัวธรรมชาติ ตัวกฎธรรมชาติ ตัวหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ ตัวผลเกิดจากหน้าที่ เรามีธรรมทุกความหมายอยู่ในตัวเรา มองดูให้เห็น มองดูเห็นแล้วจะพบเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันจะพบเรื่องวิญญาณ ผัสสะ เวทนา และจะพบไอ้ที่พื้นฐานก็คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ จะพบเรื่อง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นไปอยู่ในชีวิตประจำวันนี้อย่างไร ร่างกายนี้ประกอบด้วยธาตุทั้ง ๖ อย่างไร เป็นที่ตั้งแห่งอายตนะอย่างไร อายตนะทำหน้าที่แล้วถึงจะเกิดขันธ์ ๕ อย่างไร ถ้ายึดถือก็เป็นทุกข์ ไม่ยึดถือก็ไม่เป็นทุกข์
ต่อไปนี้ก็ไปศึกษาเรื่องไม่ยึดถือให้มากขึ้น และมันก็ไม่ยากอะไร ถ้ารู้จักจริงๆ แล้วมันจะไม่ยึดถือเอง เราไปรู้จักให้มันจริงๆ เถอะว่ามันจะกัดเอาถ้าไปยึดถือมัน แล้วมันก็ไม่ยึดถือเอง ขอแสดงความหวังว่าทุกคนคงจะไปทบทวน ไปใคร่ครวญไปศึกษามองเห็นจริง เรื่อง ๓ เรื่อง คือหัวข้อของปรมัตถธรรม ที่ทุกคนควรจะรู้จัก ๓ เรื่อง เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะ และเรื่องขันธ์ เข้าใจเรื่องนี้แล้วรับรองว่าเรื่องอื่นๆ จะกลายเป็นเรื่องง่ายไปหมด และมานั่งที่นี่ก็คงจะได้ผลคุ้ม อุตส่าห์ขึ้นมาเรียนเรื่องธรรมชาติ เมื่อนั่งกับธรรมชาติ เมื่อใกล้ชิดกับธรรมชาติ พระพุทธเจ้าหรือพระศาสดาของทุกๆ ศาสนา ล้วนแต่ตรัสรู้ในป่าตามธรรมชาติทั้งนั้น จึงถือโอกาสมานั่งตามธรรมชาติ มาศึกษาเรื่องธรรมชาติบนนี้ ไม่ใช่แกล้งให้ลำบากเล่น อุตส่าห์ถ่อขึ้นมานั่งบนนี้ อาตมาก็เหนื่อยเหมือนกันที่ต้องขึ้นมานั่งกันบนนี้ แต่ด้วยเหตุที่มันมีผลดี มันเป็นบรรยากาศเหมาะสำหรับการศึกษาธรรมะ เป็นอันว่ายุติการบรรยายวันนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้