แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะปาฎิโมกข์ในวันนี้เป็นครั้งที่สาม ในครั้งที่หนึ่งเราพูดโดยหัวข้อว่า ไม้สามขา ในครั้งที่สองพูดโดยหัวข้อว่า ศาตราสามอัน ในวันนี้จะพูดโดยหัวข้อว่า โจรฉกรรจ์สามก๊ก ให้มันสัมพันธ์กันหน่อย ไม้สามขา ศาตราสามอัน โจรฉกรรจ์สามก๊ก ผมหาทางพูดให้ผู้บวชใหม่เข้าใจได้ง่ายและจำง่ายจึงได้เกิดรูปคำอย่างนี้ขึ้นมา ไม้สามขา คือ พระรัตนตรัย มีลักษณะเหมือนไม้สามขาอิงกันอยู่ได้เพียงไร สิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนาก็ยังคงตั้งอยู่ได้เพียงนั้น ฉะนั้นขอให้ผู้บวชใหม่สนใจความหมายอันนี้ไว้ให้ดีเป็นพิเศษ ว่าไม้สามขา ขาดไปอันหนึ่งก็ล้ม ต้องอยู่ครบทั้งสามขา ทีนี้ต่อมาก็ศาตราสามอัน ในพระศาสนา หรือไม้สามขา เรามีสิ่งซึ่งเปรียบเสมือนศาตรา ซึ่งแปลว่าของมีคม สามารถจะตัดปัญหาอะไรได้ จึงเรียกว่า ศาตราสามอัน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ผู้มาใหม่จงรู้จักศีล สมาธิ ปัญญาในลักษณะนี้ ในที่นี้ก็พูดถึงโจรฉกรรจ์สามก๊ก ก็คือ สิ่งที่จะต้องตัดด้วยศาตรานั้นเอง โจรฉกรรจ์สามก๊กนี่เราให้เป็นชื่อของกิเลส แต่คนที่ไม่คุ้นกับวัดนั้นน่ะก็ไม่ค่อยรู้ความหมายของคำว่ากิเลสนัก เพราะว่าคำว่า กิเลสที่ใช้พูดกันตามธรรมดาในบ้านในเรือนนั้น มันเป็นคำสั้นๆ ลุ่นๆ ไม่มีความหมายสลับซับซ้อนอะไร แล้วก็ไม่ค่อยน่ากลัวอะไร คนออกชื่อแต่ว่ากิเลสๆ แล้วก็ไม่กลัว ก็ไม่ค่อยพยายามจะละกิเลส เดี๋ยวนี้เราจะพูดให้เห็นว่าโจรฉกรรจ์สามก๊กก็คือ กิเลสสามหมู่ซึ่งจะต้องตัดด้วยศาตรานั้นเอง
เรื่องกิเลสนี้มันเป็นระบบใหญ่ระบบหนึ่งซึ่งควรจะทราบไว้ ถ้าไม่อย่างนั้นเราไม่มีทางที่จะทราบถึงต้นเหตุแห่งความทุกข์ เราอาจจะรู้สึกต่อความทุกข์ แต่ไม่ทราบถึงต้นเหตุแห่งความทุกข์ ก็คือไม่ทราบลงไปถึงกิเลสซึ่งเป็นต้นเหตุของความทุกข์ ทีนี้คำว่ากิเลสนั้นน่ะในภาษาธรรมดาก็มีพูดกันสั้นๆ ลุ่นๆ แล้วก็ใช้หมายความกว้าง หมายถึงตัวกิเลสซึ่งกำลังเกิดอยู่ก็เรียกว่า กิเลส เชื้อของกิเลส คือ ความเคยชินของกิเลสนั้นก็เรียกว่า กิเลส บางทีผลของกิเลสออกมาเป็นการกระทำ ก็เรียกว่า กิเลสเสียอีก เช่น กรรมกิเลส หมายถึง การประพฤติล่วงปาณาติบาต อทินาทา ก็เรียกว่า กรรมกิเลสเป็นกิเลสที่หยาบมากออกมาในรูปของการกระทำแล้วก็ยังเรียกว่ากิเลส
กิเลสโดยตรงที่ควรจะเรียกว่ากิเลสก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ ส่วนความเคยชินของกิเลสนั้น ก็เรียกว่า อนุสัย แต่ท่านก็มักจะเรียกกันว่ากิเลสอีกเหมือนกัน จัดว่าเป็นกิเลสชั้นละเอียดไป เกิดกิเลสชั้นละเอียด ชั้นกลาง ชั้นหยาบขึ้นมา พูดตามภาษาธรรมดาที่เขาสอนๆ กันอยู่ก่อน กิเลสชั้นละเอียดเรียกว่า อนุสัย แตกโดยอนุสัยสิบ เกี่ยวกับเรื่องการบรรลุมรรคผลนั้นก็มี หรือว่าสรุปย่อแล้วเป็นอนุสัยเพียงสามอย่าง คือ ราคานุสัย ปฎิฆานุสัย อวิชชานุสัย สามอย่างนี้มันก็คู่กับกิเลสสามกลุ่มคือ โลภะ โทสะ โมหะ
นี่โลภะ โทสะ โมหะแต่ละอย่างนี้มันระเบิดออกมาข้างนอกเป็นการกระทำ เช่น การฆ่ากัน ขโมยก็ตาม เรียกว่าการประทุษร้ายทั้งนั้น ประทุษร้ายชีวิตและร่างกายของผู้อื่น ปาณาติบาต ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของผู้อื่น ก็คือ อทินนาทาน ประทุษร้ายของรักใคร่ พอใจของผู้อื่น ก็เรียกว่า กาเมสุมิจฉาจาร ประทุษร้ายความเป็นธรรมของผู้อื่นก็เรียกว่า มุสาวาท ประทุษร้ายสติสัมปชัญญะของตัวเอง ก็เรียกว่า สุรา เมระยะ ประมาทัฎฐานา เรามองในแง่ที่ว่า กิเลสมันออกมาเป็นความประทุษร้าย มันทำลาย จึงจะเรียกมันว่า โจรฉกรรจ์สามก๊ก มีอยู่สามกลุ่ม สามพวก โลภะพวกหนึ่ง โทสะพวกหนึ่ง โมหะพวกหนึ่ง จะพูดให้ลึกลงไป มันก็สามพวกนั้น จะพูดให้ตื้นขึ้นมาก็สามพวกนี้ แต่ให้รู้ว่าไอ้การประทุษร้ายนั้น มันประทุษร้ายกันตรงไหนเสียก่อน ประทุษร้ายแก่ความเป็นมนุษย์ให้สูญเสียไป นี่ละเอียดมาก กิเลสเกิดแล้วประทุษร้ายแก่ความเป็นมนุษย์ ทำให้ความเป็นมนุษย์สูญเสียไปนี่ก็อย่างหนึ่ง ประทุษร้ายในส่วนลึกในส่วนภายในนั้นของตน ต่อคน หมดความเป็นคน เพราะการประทุษร้ายของกิเลส ที่นี้เมื่อกิเลสมันเป็นไปมากขึ้น มันก็ประทุษร้ายผู้อื่น ทำให้ผู้นั้นประทุษร้ายผู้อื่น เช่น ประทุษร้ายห้าประการในหลายประการก็ได้ มันยังมีอีกมาก ยังมีการประทุษร้ายไปเสียทั้งนั้น มันทำลายคุณธรรมบ้าง มันทำลายความสงบสุขบ้าง เราจึงเรียกมันว่า โจร แล้วก็ฉกรรจ์ แล้วก็สามกลุ่ม สามพวก คือ สามก๊ก จำหัวข้อให้ดีๆว่า ไม้สามขา ศาตราสามอัน โจรฉกรรจ์สามก๊ก
บัดนี้เรากำลังจะพูดกันถึงโจรฉกรรจ์สามก๊ก จะพูดถึงการเกิดแห่งกิเลส พูดถึงต้นเหตุให้เกิดกิเลส พูดถึงตัวกิเลส พูดถึงผลของการเกิดกิเลส เมื่อพูดถึงตัวกิเลส ก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ
โลภะ หรือ ราคะนั่นก็จัดไว้ก๊กเดียว เรียกชื่อแทนกันได้ มันมีลักษณะรวบรับเอาเข้ามากิเลสนี้ โลภะก็ดี ราคะก็ดี รวบรับเอาเข้ามาด้วยความรัก ด้วยความยึดถือ ทีนี้กิเลสที่สอง คือโทสะ นี่มันไม่อย่างนั้น มันตรงกันข้าม คือ มันจะตีออกไป มันจะปัดออกไป มันจะทำลายเสีย มันไม่รวบรับเอามา ทีนี้กิเลสที่สามคือ โมหะนี้หมายถึงมันไม่รู้ มันยังเต็มอยู่ด้วยความสงสัย ความสับสน นั้นมันจึงมีอาการวนเวียนมัวเมาอยู่อย่างนั้นเอง เอาก็ไม่เอา ไม่ จะทำลายก็ไม่ทำลายอะไรอยู่ สำหรับจะมัวเมา นี่คุณจำใจความสำคัญของคำว่า กิเลสสามก๊กไว้ให้ดีๆ ว่า โลภะหรือราคะนั้นมันจะเอากับมัน โทสะหรือโกธะนั้นมันจะผลักออกไป อันหนึ่งมัน Positive อันหนึ่งเป็น Negative ทีนี้โมหะนี้มันไม่แน่ มันไม่มีความรู้ที่จะตัดสินขาดลงไปว่าจะทำอย่างไร ฉะนั้นถ้าเราได้ยินชื่อกิเลสแปลกๆ เราทราบกิริยาอาการของมันแล้ว เราก็อาจจะสงเคราะห์กิเลสชื่อนั้นเข้าไปในกลุ่มไหนในสามกลุ่มนี้ได้โดยไม่ยากเลย คุณไปศึกษาอาการของกิเลสไม่ใช่สงเคราะห์กิเลส แม้จะแปลกมาใหม่ ก็สามารถจะสงเคราะห์เข้าในกลุ่มของกิเลสได้ นี่เราเรียกว่า ตัวกิเลสโดยตรง คือ โลภะ โทสะ โมหะ
ทีนี้ ความเคยชินของกิเลสอีกชุดหนึ่งก็มีสาม สามตามชื่อของกิเลส คือ ถ้าเราโลภ หรือเรากำหนัด โลภหรือกำหนัดครั้งหนึ่ง มันก็มีความเคยชินที่จะเป็นเช่นนั้น ถูกสร้าง ถูกปรุงขึ้นมาในสันดานหน่วยหนึ่ง สมมุติว่าหน่วยหนึ่ง ทีนี้พอเราโกรธขึ้นมาทีหนึ่งมันก็สร้างความเคยชินสำหรับที่จะโกรธขึ้นมาหน่วยหนึ่ง หรือโมหะ โง่ หลงใหล มัวเมาครั้งหนึ่ง มันก็สร้างความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้นขึ้นมาหน่วยหนึ่ง ทีนี้พอวันหนึ่ง คืนหนึ่งมันโลภตั้งหลายหน มันโกรธตั้งหลายหน หรือมันหลงตั้งหลายๆ หน ไอ้ความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้นมันก็มากขึ้นๆ หลายๆ หน่วยจนเหนียวแน่น นี่เราเรียกว่า อนุสัย ความเคยชินที่จะเกิดกิเลส ฉะนั้นเราทำอะไรโดยกิเลสไหนอยู่บ่อยๆ มันจะมีความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้นมากขึ้น เรื่องเศร้าโศก เรื่องหวาดกลัว เรื่องฟุ้งซ่านก็ตามใจ มันเป็นกิเลสหนึ่งๆ พอไปทำมันเข้า มันก็เพิ่มความเคยชิน ฉะนั้นมันจึงเก่งที่จะเป็นอย่างนั้น ความเก่งที่จะเป็นอย่างนั้น เราเรียกว่าความเคยชินแห่งกิเลส หรือเรียกว่า อนุสัย มันก็มีชื่อไปตามนั้น ความเคยชินที่จะโลภหรือจะกำหนัดที่เราเรียกว่า ราคานุสัย อนุสัยแห่งราคะ ที่นี้ความเคยชินที่จะโกรธ ที่จะโทสะนี่ ก็เรียกว่า ปฏิฆานุสัย ปฏิฆะมันแปลว่า กระทบกระทั่งแห่งจิต คือ โกรธนั่นเอง มันก็เคยชินที่จะปฏิฆะ นี่ก็เรียกว่า ปฏิฆานุสัย ส่วนความหลงใหล มัวเมา สะเพร่า ฟุ้งซ่าน อะไรก็ตามที มีความเคยชินขึ้นมาแล้วก็เรียกว่า อวิชชานุสัย
กิเลสที่เป็นความเคยชินนี่ เขาเปรียบนะเหมือนกับตะกอนที่อยู่ก้นโอ่ง ก้นอ่าง ไม่มีอะไรกวนก็ไม่ขึ้นมา พอมีอะไรกวนมันก็พร้อมจะขึ้นมา ทีนี้สิ่งที่เรียกว่า อนุสัย มันพร้อมจะไหลออกมาเป็นกิเลสอีก เช่น เรามีความโลภ มีความกำหนัด ทุกทีสร้างอนุสัยแห่งความโลภ ความกำหนัดไว้แล้วทุกที แล้วอนุสัยนี่มันก็จะมากเข้าๆ ตะกอนนี่ก็จะมากเข้าๆ มันจึงพร้อมที่จะไหลออกมา กลับออกมาเมื่อมีโอกาสแม้แต่นิดเดียว ความเต็มปรี่ที่จะไหลออกมานี้เขาเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อาสวะ ก็จะไหลออกมาเป็นโลภ โกรธ หลง โดยปรากฎการณ์ กามะสวะ ภาวะสวะ อวิชชาสวะ มันๆจะไหลออกมาในรูปนั้น นี้เรียกว่า อวัฎจักรก็ได้ของกิเลส ได้อารมณ์สำหรับเกิดกิเลส ก็เกิดกิเลส แล้วก็สร้างอนุสัยสำหรับกิเลสนั้นๆ แล้วก็พร้อมที่จะไหลออกมาเมื่อมีโอกาส ฉะนั้นถ้าเราไม่มีอนุสัยก็ไม่มีอาสวะ ก็สิ้นอาสวะมันก็กิเลสไม่ออกมา กิเลสก็เกิดไม่ได้ เป็นพระอรหันต์ก็เรียกว่าสิ้นอาสวะ ก็หมายความว่า สิ้นอนุสัยตามเคยชินแห่งกิเลสที่สะสมไว้แล้ว มันก็ไม่มี ไม่มีอาสวะที่จะออกมา ก็เรียกว่า สิ้นอาสวะ ฉะนั้นจึงเกิดกิเลสอีกไม่ได้ ส่วนคนธรรมดาสามัญ มันก็มีความพร้อมที่จะเกิดกิเลส เพราะมันสะสมอนุสัยไว้มาก พอได้โอกาส ได้ปัจจัย ได้ความสะดวก มันก็เกิดเป็นกิเลสขึ้นมาในรูปของการไหลออกมาเป็นอาสวะ ไหลออกมาแล้วก็ออกมาเป็นรูปของโลภะ โทสะ โมหะ อย่างใดอย่างหนึ่งอีกต่อไป
เมื่อเราอย่าเรียนกันแต่ในตัวหนังสือหรือคำพูดเลย เราพยายามเรียนจากของจริง เมื่อไรเรามีกิเลสก็ให้รู้ว่ามันมีกิเลสคืออย่างไร ถ้าเราจะรู้ว่าเมื่อมันมีกิเลสบ่อยๆ เราก็ไวที่จะเกิดกิเลสนั้นมากขึ้น เช่น คนชอบโกรธ มีเชื้อโกรธก็ไวที่โกรธจนกระทั่งมีความโกรธเป็นเจ้าเรือนนั้น ไวขึ้นเพราะเหตุนั้น ไหนอื่นเรื่องความโลภ พวกโลภะ พวกโทสะะก็เหมือนกัน ก็ไปทำมันเข้ามากเข้า มันก็สะสมความเคยชินไว้มาก ก็คือมีอนุสัยมาก พร้อมที่ไหลออกมาเป็นกิเลสชื่อนั้นๆ ฉะนั้นขอให้รู้จักสิ่งเหล่านี้จากตัวเอง ภายในความรู้สึกของตัวเอง แล้วก็มองเห็นเป็นสิ่งที่เลวทราม เสียหาย และเป็นสิ่งที่ดุร้ายเหมือนกับโจรและทำลายมากเหมือนกับมาร
กิเลสนี้อีกชื่อหนึ่งเขาเรียกว่ามาร เป็นกิเลสมาร เกิดขึ้นแล้วทำลายความดี ความงาม ความสุขอะไรหมดสิ้น ถ้ามันเป็นโจรมันก็ปล้นเอาความดี ความงาม ความสุขอะไรไปจนหมดสิ้น โดยเหตุที่มันมีอยู่สามกลุ่ม เราก็เลยเรียกว่า โจรฉกรรจ์สามก๊ก เพื่อให้มันสัมผัสในทางภาษา จำง่าย
ฉะนั้นให้คำว่า โลภะ โทสะ โมหะ เหล่านี้เป็นคำที่แจ่มแจ้งแก่ความรู้ ความเข้าใจ หรือการศึกษาของเรา เมื่อเกิดโลภะให้รู้ว่าเกิดโลภะ เมื่อเกิดโทสะให้รู้ว่าเกิดโทสะ เกิดโมหะก็เกิดโมหะ มันมีตัวเล็กตัวใหญ่ ละเอียดยิบจนแทบจะจับตัวมันไม่ได้ก็มี แต่เรามีสติ ปัญญาพอที่จะรู้จักว่ามันเป็นกิเลส ฉะนั้นขอให้ทุกคนสนใจที่จะรู้จักกิเลส แล้วก็มีสติ รู้จักให้ทันท่วงที แล้วถ้าดีกว่านั้นก็มีสติในทางป้องกันที่จะไม่ให้เกิดกิเลส ทีนี้การที่จะไม่ให้เกิดกิเลสได้ เราก็ต้องรู้ว่ามันเกิดอย่างไรเท่านั้นเอง ฉะนั้นคุณก็ต้องตั้งต้นศึกษามาแต่ต้นตอของเรื่อง ก็คือเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผมบอกหลายหนต่อหลายหนแล้วว่า ไอ้จุดตั้งต้นของเรื่องนั้นมันคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ปฏิจจสมุปบาท เป็นจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์สำหรับศึกษาและปฏิบัติ ท่านเรียกว่า อาทิพรหมจรรย์ แต่แล้วปฏิจจสมุปบาทนั้นมันตั้งต้นที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราจึงเรียนเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท คือ อาการที่เกิดขึ้นของกิเลสและความทุกข์
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นของธรรมชาติ เป็นของมีอยู่ตามธรรมชาติ ในสิ่งที่เรียกว่า มนุษย์ ในสัตว์ที่เรียกว่า มนุษย์ หรือ แม้สัตว์ที่ยังไม่ถึงมนุษย์ มันก็ต้องมีทำนองเดียวกัน คือ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แม้แต่เรื่องปลา ตามที่เราได้ศึกษามา ปลาก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เส้นที่ขนานไปกับลำตัวตรงกับกระดูกสันหลังของมันนั้น ก็คือ หูของมัน ไม่ใช่มีหูอย่างหูคน การรับคลื่นเสียงของปลามันอยู่ที่เส้นยาวไปตามตัว ปลานี้มีจมูกหรือเครื่องรับกลิ่น รู้กลิ่นนั้นมีแน่ เราเคยเอาอาหารวางไว้กลางจอกแหนใหญ่และสูงมาก ปลาไม่อาจไม่อาจจะมองเห็น แต่ปลารู้ได้กลิ่นและปลาก็พยายามเจาะแหนตรงศูนย์กลางนั้นจนทะลุ มันกัดแหน กัดเรื่อย กัดเรื่อย จนทะลุ จนกินอาหารที่อยู่กลางยอดแหนได้ ทำให้รู้ว่ามันก็มีเครื่องรับกลิ่นทำนองเดียวกับจมูก แม้จะไม่มีรูปจมูกเป็นรูปร่างเหมือนกับคนหรือสัตว์
เอาละเป็นอันว่า สัตว์ทั้งหลายมันมีอายตนะ คือ เครื่องที่จะเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสผิวหนังและรู้สึกด้วยใจที่เราเรียกว่า อายตนะทั้งหก อายตนะทั้งหกคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราเรียกว่า อายตนะเพราะว่ามันเป็นเครื่องรับอารมณ์ เป็นเครื่องติดต่อกับอารมณ์ ตาติดต่อกับรูป หูติดต่อกับเสียง จมูกติดต่อกับกลิ่น ลิ้นติดต่อกับรส ผิวหนังสัมผัสกับอารมณ์ทางผิวหนัง จิตสัมผัสกับความรู้สึกทางจิต เมื่อมันทำหน้าที่ติดต่ออย่างนี้เราเรียกว่าอายตนะ ทีนี้มันมีลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือว่า มันเป็นตัวการสำคัญของเรื่องทั้งปวง นี่ก็เลยเรียกมันอีกชื่อหนึ่งว่า อินทรีย์
อินทรีย์คือสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เลยได้ชื่อว่า อินทรีย์หกไปด้วย เพราะมันมีความสำคัญ เป็นตัวการสำคัญในอันที่จะทำให้เกิดเรื่องเกิดราว ถ้าคนเราไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็ไม่มีทางจะเกิดเรื่องอะไรกันได้ นี่ คุณคิดดูจะเห็นได้ง่ายๆ ถ้าสมมุติว่าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่มีทางจะเกิดเรื่องอะไรได้ มันจะยิ่งกว่าไม้ขอนเสียอีก ฉะนั้นโดยเหตุที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นตัวการสำคัญในการที่จะทำให้เกิดเรื่องเกิดราวขึ้นมาในโลก เป็นตัวสัมผัสโลกทำให้มันมีความหมายอะไรขึ้นมา จึงเรียกว่า อินทรีย์ทั้งหก
ที่นี้มันทำเรื่องราวอะไรนักล่ะที่ว่าสำคัญน่ะ ก็คือทำเรื่องราวให้เกิดกิเลสนั่นเอง เรื่องราวสำคัญที่มันทำขึ้นมาจนเป็นอินทรีย์ขึ้นมาก็คือว่า มันทำให้เกิดกิเลส
ที่นี้ก็ดูต่อไปว่ามันทำให้เกิดกิเลสอย่างไร นี่จะมาถึงเรื่องปฏิจจสมุปบาท ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็นอาทิพรหมจรรย์ เป็นเงื่อนต้น แห่งพรหมจรรย์ในรูปของการปฏิบัติ ในการศึกษาก็ดี ในรูปของการปฏิบัติก็ดี พรหมจรรย์มีอยู่สองรูปแบบ รูปแบบการศึกษา เรียกว่า ปริยัติพรหมจรรย์ ในรูปแบบของการปฏิบัติ เรียกว่า ปฏิบัติพรหมจรรย์
ในเรื่องปฏิจจสมุปบาท เป็นจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ ในเรื่องปฏิจจสมุปบาท ตั้งต้นด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้นไอ้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้ชื่อว่าเป็นอินทรีย์ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปฏิจจสมุปบาท
นี้ปฏิจจสมุปบาท คือ อาการเกิดขึ้นแห่งกิเลสและความทุกข์ ฉะนั้นเรารู้จักตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ไว้ในลักษณะสองอย่าง คือ เป็นที่ติดต่อกับอารมณ์ภายนอก เรารู้จักตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจในฐานะเป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้เกิดเรื่องสำคัญ คือ เกิดกิเลสและความทุกข์ ปฏิจจสมุปบาทในรูปแบบนี้ มีพระบาลีว่า จักขุ จักปฏิรูปเป จักอุปชาติ วิญญาณัง(ไม่แน่ใจนาทีที่ 29.30) เพราะอาศัยตา ด้วยรูปด้วย ย่อมเกิดจักษุวิญญาณ คือ การเห็นทางตา ตากับรูปอาศัยกันย่อมให้เกิดการเห็นทางตา มันเป็นสามอย่างขึ้นมาแล้วนา ฉะนั้นก็บาลีจึงมีต่อไปว่า ติณณัง ทานัง สังฆาฎิ ผัสโส (ไม่แน่ใจนาทีที่ 30.04) การมาถึงพร้อมกันของสิ่งทั้งสามนี้ คือ ตากับรูปและจักษุวิญญาณนั้นเอง นี้เรียกว่า ผัสสะ วันหนึ่งๆ เรามีผัสสะ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ครบทุกทาง ให้รู้จักผัสสะโดยตัวจริง อย่ารู้แต่โดยตัวหนังสือเลย แล้วก็ ผัสสะ ปัจจะยา เวทนา เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย เพราะผัสสะมีอยู่และเป็นปัจจัย เวทนาย่อมมี เวทนาในที่นี่คือ ความรู้สึกต่อมาจากผัสสะ บางทีก็เกิดความรู้สึกที่เรียกว่า สุขะเวทนา บางทีทุกขะเวทนา บางทีก็อทุกขมสุขเวทนา คือ รู้สึกเป็นสุข พอใจ สบายใจบ้าง รู้สึกเป็นทุกข์ ไม่พอใจ ไม่สบายใจบ้าง รู้สึกไม่เป็นสุข ไม่เป็นทุกข์ แต่ชวนฉงนสนเท่ห์อยู่บ้าง นี่เวทนามีสามอย่าง อย่างนี้ เราจะศึกษาเวทนาจากเวทนา อย่าศึกษาจากตัวหนังสือไปเสียท่าเดียว ถ้าโรงเรียนสอนธรรมชาติบ้าง เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นในความรู้สึกค่อยถือเป็นการศึกษา เปิดโรงเรียนขึ้นที่นั่นทันที ผัสสะ ปัจจะยา เวทนา นี่หมายความว่า เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา
นี้ต่อไปก็ว่า เวทนา ปัจจะยา ตัณหา เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย เพราะตัณหาได้มีอยู่เป็นปัจจัย เอ้ย, เพราะ เวทนามีอยู่เป็นปัจจัย ตัณหาก็มี ตัณหาแปลว่า ความอยาก ความอยากนี้ประกอบอยู่ด้วยความไม่รู้อะไรๆ ตามที่เป็นจริง มันอยากไปตามอำนาจของความไม่รู้ ก็เลยเรียกชื่อว่าตัณหา คือ ความอยาก อย่าเข้าใจว่า ถ้าเป็นความอยากแล้วเราจะเรียกว่าตัณหาไปเสียหมด เพราะมันมีความอยากด้วยวิชชา ด้วยปัญญา ด้วยแสงสว่าง ด้วยญาณทัศนะก็มี คือมันอยากจะดับทุกข์ มันอยากจะทำอะไรให้ดี มันอยากอะไรที่ควรจะทำ ทำหน้าที่อย่างนี้ เราจะไม่เรียกว่าตัณหา เฉพาะแต่ความอยากที่มาจากความไม่รู้ เพราะเวทนามันครอบงำจิตใจ จิตไม่ประกอบด้วยความรู้ แล้วมันก็อยากไปตามอำนาจของเวทนานั้น นั่นแหละจึงจะเป็นตัณหา เช่น เวทนาเป็นสุข ก็เกิดตัณหาเป็นกามะตัณหา ภาวะตัณหาก็ได้ อยากจะเอา อยากจะได้ อยากจะเป็นขึ้นมา ถ้าเวทนามันเป็นทุกข์มันก็ไม่อยากที่จะเอา มันก็อยากที่จะไม่เอา มันก็อยากตรงกันข้าม ถ้ามันเป็นอทุกขมสุข เวทนา มันก็มีตัณหา อนุโลมไปตามความสงสัย สนใจ ยังทึ่งอยู่ ยังอาลัยอาวรณ์อยู่ มันจึงมีความอยากได้ตามสมควรแก่เวทนา นี่ก็คือ ตัณหา นี่คือกิเลส โผล่เป็นรูปกิเลสขึ้นมาเต็มตัว คือสิ่งที่เรียกว่าตัณหา มันเกิดขึ้นมาจากเวทนา ฉะนั้นเมื่ออยากจะรู้ว่ากิเลสเกิดเมื่อไหร่ก็ไล่ปฏิจจสมุปบาทมาจนถึงระยะของเวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหานั้นก็คือกิเลสแล้ว เราจะดูตัณหานั้นในรูปของความโลภ อยากจะได้ อยากจะเอา อยากจะดู ดูตัณหานั้นในรูปของความโกรธ คือ อยากจะฆ่า อยากจะตี อยากจะทำลาย อยากจะตายเอง หรือจะดูตัณหาในรูปของโมหะ คือ มันอดอยากไม่ได้ มันยังผูกพันจิตใจอยู่ด้วยความสงสัย ด้วยความไม่รู้ ฉะนั้นตัณหาก็มีขึ้นมาเต็มตัวเรียกว่ากิเลส ถ้าเรามองไปในแง่ของความโลภ ความโกรธ ความหลง มันก็เรียกว่าตัณหา ถ้าเรามองในแง่ของกามตัณหา ภาวะตัณหา และวิภาวะตัณหา นี้มาถึงเกิดกิเลสแล้วนา กิเลสนั้นแล้วแต่กรณี จะมาในรูปของโลภะก็ได้ รูปของโทสะก็ได้ รูปของโมหะก็ได้ตามแต่เรื่องของมัน
นี่พูดแล้วก็ต้องพูดไปให้ตลอดว่า เมื่อมีตัณหาแล้ว มีความอยาก ซึ่งเป็นเพียงความรู้สึกของจิตตามธรรมชาติเท่านั้นแหละ รู้สึกอยากขึ้นมาก่อน จิตเป็นของธรรมชาติ รู้สึกได้ตามธรรมชาติ มีการปรุงแต่งตามธรรมชาติ มีความรู้สึกในจิตขึ้นมาอย่างหนึ่งเรียกว่าความอยาก นี้คือ ตัณหา ถ้าสิ่งที่เรียกว่าความอยาก คือ ตัณหานี้มีแล้ว แต่ความรู้สึกอีกอันหนึ่งจะต้องมีตามขึ้นมาทันที คือ ความรู้สึกว่า ฉัน หรือ กู หรือ อาตมา ก็ตาม คือว่า เรา เป็นเราขึ้นมา เราอยาก ฉะนั้นคำว่าเราในที่นี้ ฉันในที่นี้ไม่ใช่ตัวตนอะไรที่ไหน เป็นเพียงความรู้สึกที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างนั้นเอง หลังจากที่มันเกิดความอยาก คือ ตัณหาแล้ว มันจะเกิดความรู้สึกมีตัวเรา ซึ่งเป็นผู้อยาก นี่ทำความเข้าใจกันไว้อย่างนี้ก็จะรู้ได้ดีว่าตัวตนนั้นมิได้มี ตัวตนที่คิดๆ นึกรู้สึกอะไรได้โดยเป็นตัวตนนั้นมันไม่มี มันเป็นความรู้สึกที่เกิดตามธรรมชาติ แล้วความรู้สึกนั้นมันหลอนตัวมันเอง ให้รู้สึกเป็นตัวฉันขึ้นมา ฉะนั้นจึงมีตัวฉันเป็นผู้อยาก เป็นผู้ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ จนเกิดเรื่องเกิดราวจนฆ่ากันตายหรือว่าหลงใหลรักใคร่กันอย่างที่เรียกว่าโง่ที่สุด อย่างนี้เป็นต้น ตัวตนมิได้มีอยู่จริง แต่ความรู้สึกว่ามีตัวตนเป็นตัวตนนั้นมันมีอยู่จริง จึงเป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยธรรมชาติ อุปาทานนี้ยังจัดไว้ในพวกที่เป็นกิเลสเหมือนกัน คือ ความยึดมั่น ถือมั่น ในรูปแบบของโลภะก็ได้ โทสะก็ได้ โมหะก็ได้
ทีนี้ต่อไปก็มีว่า อุปาทานะ ปัจจะยา ภะโว เพราะอุปาทานมีอยู่เป็นปัจจัย ภพจึงมี ภพ คือ ความรู้สึกว่ามี ว่าเป็น เรียกว่า ภพ คำว่า ภพ แปลว่ามี ว่าเป็น ความเป็นฉัน ความมีฉัน ก็เกิดขึ้นในความรู้สึกที่โง่เขลาอันนั้น นี้สิ่งที่เรียกว่าภพเป็นการกระทำของจิตอย่างโง่เขลา เกิดความรู้สึกเป็นภพ มี เรามี เราเป็น เพราะภพนี้เป็นปัจจัย ก็มีชาติ คือ ความเกิดขึ้นแห่งตัวตน ตัวกู ในนั้น ในความรู้สึกนั้นๆ โดยสมบูรณ์ แต่ว่าความรู้สึกว่าตัวฉันนั้นเป็นไปโดยสมบูรณ์เหมือนตัวคลอดออกมาจาก คลอดออกมาเป็นคนคนหนึ่ง จากแม่ของมันคือ ตัณหาอุปาทาน
ที่นี้ เมื่อมีชาติอย่างนี้แล้วก็มีที่ตั้งแห่งความทุกข์ เพราะมันมีตัวฉัน อะไรๆ เอามาเป็นของฉัน มันก็เป็นความทุกข์ ความเกิดก็เป็นของฉัน ความแก่ก็เป็นของฉัน ความตายก็เป็นของฉัน อะไรๆ ก็เป็นของฉัน มันมีความทุกข์ ถ้ามันไม่เอามาเป็นของฉัน มันก็ไม่ ไม่เป็นความทุกข์ เพราะว่ามันไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ถ้ามีสติปัญญา มันไม่ยึดมั่นถือมั่น มันไม่มีฉัน ก็ไม่มีของฉัน ฉะนั้นความเกิด ความแก่ ความตาย ก็เป็นไปตามธรรมชาติและไม่เป็นทุกข์
หลักมันจึงมีอยู่ว่า มีความทุกข์เฉพาะแก่ผู้มีความยึดถือ เมื่อไม่มีความยึดถือก็ไม่เป็นทุกข์ อะไรๆ ก็ตามมันจะไม่มาเป็นทุกข์แก่จิตที่ไม่ยึดถือ เดี๋ยวนี้จิตมันยังมีกิเลสอยู่ มันจึงยึดถือ เพราะฉะนั้น มันจึงได้เป็นทุกข์ตามสมควรแก่ความยึดถือ การยึดถือก็เป็นกิเลส ตัณหาก็เป็นกิเลสแยกรูปแบบออกไปได้เป็นโลภะ โทสะ โมหะ ตามกรณีเป็นกรณีไป เราจึงเรียกว่ากิเลส แล้วก็ทำลายหมดสิ้น ทำลายอะไร มันก็ทำลายความสงบสุข เมื่อก่อนนี้มันอยู่กันอย่างปกติสุข มีสันติสุข พอจิตเกิดขึ้นมา มันก็เหมือนกับโจรปล้นทำลาย ความสงบสุขวินาศไปหมด ไม่มีเหลือ ฉะนั้นเราจึงเรียกมันว่าโจร เพื่อจะจำง่ายๆว่า มันเป็นโจร มันมีอยู่สามก๊ก คือ ก๊กโลภะ ก๊กโทสะ ก๊กโมหะ เกิดขึ้นมาตามอาการแห่งปฎิจจสมุปบาท และมีจุดตั้งต้นอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทางตามีลำดับแห่งการเกิดอย่างไร ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น เป็นต้น ก็มีลำดับแห่งการเกิดอย่างนั้น ฉะนั้นเราเข้าใจเอาเองจากสิ่งที่ได้เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในชีวิตประจำวัน ถ้าจะเป็นนักศึกษาที่ดี ที่แท้จริง ได้รู้จักศึกษาสิ่งเหล่านี้จากตัวเอง จากจิตใจของตัวเองที่มันมีอยู่แน่นอนในชีวิตประจำวัน
ทีนี้เรื่องมันมีเคล็ดอยู่หน่อยหนึ่งว่า ความไม่มีสติปัญญา ทำให้เกิดกิเลสตัณหา ความไม่มีสติปัญญาที่เพียงพอได้ทำให้กิเลส ให้เกิดกิเลสตัณหา มีผัสสะแล้ว มีเวทนาแล้ว ถ้ามีสติเพียงพอ มีปัญญาเพียงพอ มันรู้จักเวทนานั้นไปในลักษณะอื่น ไม่ให้เวทนานั้นเป็นปัจจัยปรุงให้เกิดตัณหาได้ ต้องมีปัญญาถูกต้องว่า เวทนานี้สักแต่ว่าความรู้สึกเท่านั้นหนอ ไม่เอาเวทนา เป็นตัวเวทนา เป็นตัวเป็นตน เป็นตัวสุขทุกข์ที่มีค่าอะไรเลย เอาเวทนาเป็นเพียงธรรมชาติธรรมดา เป็นแต่เพียงความรู้สึกที่มันจะต้องเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเท่านั้นหนอ ถ้าความรู้อย่างนี้มีมาด้วยอำนาจของสติทันท่วงทีในขณะที่รู้สึกต่อเวทนาแล้ว ตัณหาก็ไม่เกิด กิเลสก็ไม่เกิด มันกลายเป็นความรู้เท่าทันไปเสียว่าสิ่งนั้นๆ เป็นอย่างไร กิเลสเกิดไม่ได้อย่างนี้ ก็คือ โจรปล้นเราไม่ได้ เพราะว่าเรามีอะไรป้องกันเพียงพอ คือ สติและปัญญา โจรมันก็ทำอะไรเราไม่ได้ นี้เขาเรียกว่าไม่มีโจร ไม่มีโจรก๊กไหนเกิดขึ้นมาได้ เพราะมีสติปัญญา ทั้งว่าทุกคนจะสนใจเป็นผู้ฉลาด เฉียบแหลม ว่องไว ในการรู้เท่า รู้ทันกระแสจิตที่จะปรุงแต่งไป หมุนไปแห่งตามอำนาจเหตุปัจจัยที่มาปรุงแต่งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจดังที่กล่าวแล้ว ดังนั้น ขอให้เห็นชัดลงไปว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้อย่างยิ่งแล้วว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ ที่เราจะต้องศึกษาและปฏิบัติ ถ้าศึกษามันให้ดีๆ รู้จักมันให้ดีๆ ควบคุมป้องกันมันให้ดีๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ก็จะไม่เป็นที่ตั้งของพวกโจร ไม่เป็นที่ตั้งแห่งการเกิดของกิเลส ที่นี้ก็เข้ารูปแบบที่ตรงกันข้าม ว่าเมื่อกิเลสไม่อาจจะเกิด ความเคยชินของกิเลสก็ไม่มี ความสะสมอนุสัยและอาสวะมันก็ไม่มี มันก็ไม่มีอะไรจะเกิดกิเลส เรื่องมันก็จะจบกันเสีย ในทางที่ตรงกันข้าม ไม่มีสติปัญญาที่เพียงพอ มันก็เกิดกิเลสได้เรื่อย เกิด เกิดทุกที สะสมกำลังแห่งความเคยชินที่จะเกิดใหม่ไว้ทุกที อนุสัยก็กล้าแข็ง อาสวะก็กล้าแข็ง มันก็เกิดกิเลสได้เหลือประมาณ เดี๋ยวนี้เรารู้จัก อะไรล่ะ รู้จักธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้อย่างเพียงพอ ก็มีสติปัญญาอย่างเพียงพอในขณะสัมผัสอารมณ์และเกิดเวทนา รักษาจิตไว้ให้ได้ ไม่มีการปรุงแต่งที่จะเกิดกิเลสหรือตัณหา ก็ไม่เกิดโจรฉกรรจ์สามก๊กขึ้นมา เราก็อยู่กันเป็นสุขสบายดี ให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าโจรฉกรรจ์สามก๊กในภายในของเราไว้ดั่งนี้ โลภะ โทสะ โมหะเป็นโจร ตัวโจร ถ้ามันได้เกิด ได้ทำหน้าที่ของมันทีหนึ่งแล้ว มันก็ตั้งฐาน ตั้งฐานที่มั่นของมันให้มั่นคงยิ่งขึ้นไป คือ อนุสัย นึกว่ามันมีความพร้อมที่จะเกิดสวนกลับออกมาอีกเป็นอาสวะ แล้วพวกโจรก็ได้เปรียบ ได้โอกาส ได้การสะสมกำลัง แล้วก็มีอะไรที่จะกลับออกมาทำลายประชาชนต่อไปอีก นี้ในนามรูปนี้ คือร่างกายของคนเป็นๆ นี้มันมีโจรอยู่สามก๊กอย่างนี้ พูดเป็นอุปมาเพื่อให้จำง่าย มันเกิดขึ้นมาทีไรมันปล้นบ้านเมืองนี้ นามรูปนี้ วินาศแหลกลาญไป ร้อนไปด้วยไฟ คือ ไฟกิเลสและไฟทุกข์ มีกิเลสก็เกิดทุกข์ กิเลสเองมันก็ร้อน และทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะกิเลส มันก็ร้อน ฉะนั้นเราจึงมีอยู่สองร้อนหรือสองชั้น ร้อนเป็นเกิดกิเลส มันก็ร้อนอย่างยิ่งอยู่แล้ว เกิดราคะ โมหะ โทสะ มันก็ร้อนเพราะเหตุนั้นอยู่แล้ว ที่มันมาเกิดตัวตนของตน เกิดอะไรขึ้นมา มีปัญหาชั้นที่สองต่อไปอีก ก็เรียกว่า ไฟทุกข์ มีปัญหาเกี่ยวกับความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย หนักอกหนักใจ แต่เพราะเรื่องยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง เรียกว่าไฟทุกข์ ล้วนแต่เป็นไฟ ดับกิเลสและดับทุกข์เสียได้ ก็ดับไฟได้ทั้งสองชั้น ก็ไม่มีความร้อน
นี่วันนี้ผมพูดถึงโจรฉกรรจ์สามก๊ก มีใจความสำคัญย่อๆ ดังที่กล่าวมานี้ พูดเรื่องไม้สามขา พูดเรื่องศาตราสามอัน พูดเรื่องโจรฉกรรจ์สามก๊ก ติดต่อกันมาเพื่อให้มันจำง่าย หวังว่าทุกคนจะเอาไปศึกษาทำความเข้าใจในเรื่องทั้งสามนี้ให้ติดต่อกันไป ตลอดที่มี ตลอดเวลาที่มีไม้สามขา ก็จะมีศาตราสามอัน สำหรับจะไปทำลายล้างโจรฉกรรจ์สามก๊ก เวลาที่กำหนดไว้หมดแล้ว นี่ขอปิดประชุม