แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านอาจารย์ๆที่เคารพ กระผมเคยอ่านหนังสือธรรมมะของท่านอาจารย์ และมีข้อสงสัยตรงที่ว่าการให้ทานแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด
๑. การให้ทานมีผู้รับ
๒. การให้ทานโดยไม่มีผู้รับ
กระผมสงสัยและขอให้ท่านอาจารย์ได้อธิบายเกี่ยวกับการให้ทานมีผู้รับ กับไม่มีผู้รับ นมัสการพระอาจารย์ (นาทีที่ 01:53 – 02:32 เป็นคำถาม)
ถ้าอ่านหนังสือเล่มนั้นจริงมันก็มีคำตอบอยู่ในหนังสือเล่มนั้นแล้ว นี่เราพูดไปเสร็จแล้ว บริจาคๆความเห็นแก่ตัว บริจาคตัวกู บริจาคสิ่งที่ยึดมั่น ถือมั่นอยู่ บริจาคสิ่งเหล่านี้ออกไป นั่นแหละคือไม่ต้องมีผู้รับ ให้ตัวตนออกไปเสีย รวมทั้งความเห็นแก่ตน บริจาคโดยไม่ต้องมีผู้รับ นอกนั้นมันต้องมีผู้รับ วัตถุทานก็ดี ธรรมทานก็ดี อภัยทานก็ดี ในที่สุดแต่ให้นิพพานเป็นทานก็ดี ก็ยังต้องมีผู้รับ ทานที่ไม่มีผู้รับก็คือให้กิเลสออกไป ใช้คำว่าบริจาคในบาลีก็มี มีเท่านั้น เอาเป็นว่าตอบแล้ว มีปัญหาอะไรอีก
ขอกราบเรียนนมัสการท่านอาจารย์อีกครั้ง คือว่า สมมุติว่าการฝันของเรานี้ ทำอย่างไรเราอย่าให้ฝันทุกคืน แต่ว่าเราฝันดีบ้างไม่ดีบ้าง และก็มีๆข้อแก้ไขอย่างไรที่จะอย่าให้เรานี้ฝันร้าย หรือว่าฝันดีอะไร อย่าให้ฝัน ขอกราบนมัสการพระอาจารย์ (นาทีที่ 04:40 – 05:06 เป็นคำถาม)
ในบาลีเขามีหลักว่าให้เจริญเมตตา แล้วจะไม่ฝันร้าย ให้เจริญเมตตาอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่จะนอน ให้หลับลงไปด้วยความรู้สึกที่เป็นเมตตา แล้วก็เมตตาจริงๆ คือเมตตาด้วยจิตใจ ไม่ใช่เมตตาแต่ปาก ก็หมายความว่าจิตใจมันสงบ จิตใจปราศจากความกลัว ปราศจากความหวาดระแวง ความวิตกกังวล แล้วหลับก็ไม่ฝันร้าย
ฝันร้ายมาจากอารมณ์ที่ไม่ดี ที่ค้างอยู่ในจิตใจ ถ้าไม่อย่างนั้นก็เป็นเพราะร่างกายไม่ปกติ ก็ฝันร้ายได้ พยายามนอนด้วยสติที่ประกอบด้วยเมตตาโดยเฉพาะ พระบาลีเขาว่าอย่างนี้ ตามที่สังเกตมาก็เป็นอย่างนี้
ขอกราบเรียนนมัสการท่านอาจารย์ ขอถามหัวข้อที่ว่า สมมุติว่าผมเดินไปแล้วก็เขาถามว่าผมนับถือศาสนาอะไร ผมก็ตอบว่านับถือศาสนาพุทธ แล้วเขาจะถามว่าท่านจะพิสูจน์ เขาถามผมว่าท่านจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าพระพุทธเจ้าท่านมีจริงหรือไม่ แล้วผมจะตอบเขาว่าอย่างไร ขอกราบนมัสการท่านอาจารย์ (นาทีที่ 07:35 – 08:05 เป็นคำถาม)
ถามว่าพิสูจน์ได้อย่างไร ว่าพระพุทธเจ้ามีจริง ตอบได้เป็น ๒ แบบ พระพุทธเจ้าอย่างบุคคลย่อมมีจริง พระพุทธเจ้าอย่างพระธรรม อย่างภาษาธรรมก็มีจริง คือเราถือว่าพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งนั้นตายแล้ว เผาแล้ว เหลือแต่กระดูกแล้ว ส่วนพระพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งนั้นจะไม่รู้จักตาย ยังอยู่ตลอดไปกับเรา ทั้ง ๒ องค์นี้พิสูจน์ได้อย่างไรว่ามีจริง ก็แล้วแต่สติปัญญา พระพุทธเจ้าที่เป็นบุคคล ทีแรกพวกฝรั่งส่วนมากก็ไม่เชื่อ หาว่าเป็นเรื่องประดิษฐ์ขึ้น แต่เนื่องจากฝรั่งเขาเป็นนักศึกษา ก็เชื่อหลักวิชาทางโบราณคดี ทีนี้การขุดค้นทางโบราณคดีในประเทศอินเดียนั้นทำกันถึงที่สุด จากไอ้หลักฐานเหล่านั้นพอจะทำให้เชื่อได้ว่ามีบุคคลหนึ่งซึ่งเป็นพระพุทธเจ้านั้นมีจริง ที่เป็นเจ้าของพระธาตุ หรือกระดูกเหล่านั้น ฝรั่งเขาเชื่อเรื่องพระเจ้าอโศกมหาราช ฉะนั้นก็เลยเป็นเหตุให้เชื่อไอ้หลักศิลาจารึก จารึกทุกๆแห่งที่พระเจ้าอโศกได้ไปทำไว้ ทำไว้ที่ตรงนั้น ที่ตรงนี้ ว่าพบพระพุทธเจ้าได้มาประสูติ ได้ประสูติที่นี่บ้าง ได้ทำอย่างนั้นที่นี่บ้าง หลายๆแห่ง เรียกว่าจารึกพระเจ้าอโศกเป็นประโยชน์แก่พุทธศาสนามาก ที่ทำให้พวกฝรั่งทั้งหลายยอมเชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริงอย่างบุคคลในประวัตศาสตร์
แล้วก็มีอีกพระสถูปเจดีย์ พบพระธาตุจารึกเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าอีกหลายๆแห่ง เกี่ยวกับสาวกของพระพุทธเจ้าที่สำคัญๆอีกหลายแห่ง เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง นี่ในฐานะประวัติศาสตร์ โบราณคดี ในฐานะโบราณคดี มีหลักฐานทางโบราณคดี
นี่ฝรั่งบางพวกก็มาพิจารณาดูพระไตรปิฎก แล้วเห็นว่าเรื่องพระไตรปิฎกทั้งหมดนี่จะเป็นเรื่อง Make up กันทั้งหมดไม่ได้แน่ ต้องมีเค้าเงื่อน ต้องมีตัวจริง มีของจริง มีบุคคลจริง ไม่ได้พูดขึ้น ถึงแม้มันจะเติมทีหลังบ้างก็ไม่เป็นไร ให้เชื่อว่าได้มีผู้สอนข้อความตามที่จารึกอยู่ในพระไตรปิฎกนี้จริง โดยตำนานปรัมปรา นิยายต่างๆในประเทศอินเดียก็ยอมรับ แล้วก็ถือกัน เชื่อกันเรื่องพระพุทธเจ้าเป็นบุคคลหนึ่งในบรรดาพระศาสดาในประเทศอินเดีย อย่างหินสลักทั้งหลายที่เราเอามาไว้รอบตึกนี้ ก็ลองพิจารณาดูมันมีมากและเป็นเรื่องราว ต้องทำอุทิศบุคคลคนใดคนหนึ่งแน่ ถ้าเป็นเรื่อง Make up จะไม่ทำขานาดนี้
เรื่องเมคอัพ Make up อย่างพระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม นี้มันไม่มี ไม่มีวัตถุ ไม่มีสิ่งของ ไม่มีจารึกอะไรอย่างนี้ นี่เรียกว่าพระเจ้า พระพุทธเจ้าอย่างที่เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ คือเป็นคนมนุษย์ได้ๆมีขึ้นมาจริง และนี่เค้าถือกันอย่างนี้ ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ถือพระพุทธเจ้าอย่างบุคคล ให้ถือพระพุทธเจ้าอย่างธรรม ธรรมมะ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม ระบุเรื่องปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมที่จะต้องเห็น เพราฉะนั้นจึงได้แก่ธรรมมะในระบบที่มันดับทุกข์ได้ นั่นแหละคือพระพุทธเจ้า ธรรมมะระบบดับทุกข์ได้คือพระพุทธเจ้า ทีนี้เราไม่ต้องเชื่อใคร เราเชื่อข้อที่ว่าธรรมมะระบบนี้ประพฤติกันแล้วดับทุกข์ได้ ประจักษ์แก่เรา นี่ก็เป็นพระพุทธเจ้าแท้จริงสำหรับเรา นี่คือพระพุทธเจ้าที่จริงกว่า ที่พระพุทธเจ้าเองท่านก็ตรัสให้เรายึดถือพระพุทธเจ้าอย่างนี้ พระพุทธเจ้าที่จะอยู่กับคนตลอดไป จะเป็นประโยชน์ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ ทีนี้ก็พิสูจน์ด้วยการปฏิบัติและดับทุกข์ได้ เอาระบอบการปฏิบัติที่ดับทุกข์ได้เป็นพระพุทธเจ้า มันรวมความรู้อยู่ในนั้น การเห็นธรรมนั้นคือการรู้สึกต่อธรรมนั่นเอง และก็มันดับทุกข์ได้ ก็รู้สึกอยู่
ดังนั้นเมื่อใดเราปฏิบัติดับทุกข์ได้ในเรื่องไหน ระบบไหน ก็เรียกว่าเรามีพระพุทธเจ้าอยู่กับเรา นี่ขอให้สนใจกันมาถึงขั้นนี้ ให้เลื่อนความสนใจ ความเข้าใจกันมาถึงขั้นนี้ เรามีพระพุทธเจ้าอยู่กับเราตลอดเวลาเรื่อย อย่างที่บอกว่าทำ จะทำอะไรให้ถามพระพุทธเจ้าก่อน คนโง่ๆฟังไม่เข้าใจ แล้วก็ไม่อยากจะเชื่อ ไม่อยากจะทำ จะทำอะไรอวดดี ประมาท สะเพร่า เผลอเรออยู่เรื่อย ฉะนั้นจะตัดสินใจอะไร จะอะไรลงไป ให้ถามพระพุทธเจ้าก่อน คือต้องรวมสติสัมปชัญญะ ให้ปัญญา ความรู้เกี่ยวกับจากพระพุทธเจ้ามาครบถ้วนอยู่ในจิต แล้วก็วินิจฉัยดูว่ามันควรจะทำอย่างไร ความรู้นั้นมันจะบอกให้เหมือนกับพระพุทธเจ้าบอก เหมือนกับว่าพระพุทธเจ้าบอกถ้าเราทำอย่างนั้น เราควรทำอย่างนั้น ไม่ควรทำอย่างนั้น ควรละอายในเรื่องอย่างนี้ อย่าทำชั่ว ทำเลวอย่างนั้น ก็หักห้ามไว้ทัน นึกจะด่าใครสักทีหนึ่งก็รอถามพระพุทธเจ้าก่อนว่าควรจะด่า หรือไม่ด่า เดี๋ยวก็ได้คำตอบว่าไม่ต้องด่า ไม่ต้องทำสิ่งที่ให้มันเกิดปัญหายุ่งยาก เป็นความทุกข์ขึ้นมา แม้ว่าเราจะเป็นฝ่ายถูก เขาจะเป็นฝ่ายผิด เขาทำอะไรกับเรา เรามีสิทธิ มีความชอบธรรมที่จะตอบโต้ จะเรียกร้อง จะปรับไหม ถ้าเรามาทูลถามพระพุทธเจ้าเสียก่อนที่จะเงียบ จะไม่ต้องทำ
พระพุทธเจ้าอย่างนี้สำคัญมาก มีประโยชน์ที่สุด และก็มีอยู่จริงโดยไม่ต้องถามใคร ทางที่ดีเราควรจะตอบเขาว่า เราพิสูจน์ของเราพอแล้ว เราไม่ต้องการจะพิสูจน์ให้คุณ คุณไม่อยากจะเชื่อก็ตามใจคุณ เรามีของเรา ประจักษ์แก่จิตใจของเรา พิสูจน์โดยตัวเรา เป็นที่พอใจของเราแล้ว เรามีพระพุทธเจ้า คุณไม่อยากเชื่อก็ไม่ต้องก็ได้ บทพิสูจน์นี้เฉพาะตน ถ้าเค้ายังติดใจ ยังขอร้องอีก ก็บอกๆระบบปฎิบัติเพื่อดับทุกข์ให้เขา แล้วก็ลองไปปฎิบัติดู แล้วมันดับทุกข์ได้ นั่นแหละคือพระพุทธเจ้า ธรรมมะนั่นคือพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าคือธรรมมะ ถ้าพระพุทธเจ้าอย่างบุคคล คุณก็ไปศึกษาเอาเองทางโบราณคดี ทางอะไรต่างๆ เอาเปรียบกันนัก เราขี้เกียจพูด
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ในฐานะที่เป็นพระรัตนไตรมีอยู่แน่ คือธรรมมะ คือผู้ค้นพบ สอนธรรมมะ แล้วก็ตัวธรรมมะ แล้วก็ตัวผู้ที่ได้รับประโยชน์จากธรรมมะ นี่คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่ามีอยู่จริง และตลอดเวลา ไม่จำกัดเวลา คนเดี๋ยวนี้ก็ฉลาดพอที่จะเข้าใจเรื่องอย่างนี้ ถ้าเขาไม่ๆๆประสงค์ร้าย ถ้าเขาถามด้วยความบริสุทธิ์ใจก็มีทางที่เข้าใจ แต่คนที่เขาถามด้วยประสงค์ร้ายก็ไม่ต้องพูดกัน ไม่ต้องพูดกับเขาก็ได้ เอ้า, มีปัญหาอะไรอีก
ท่านอาจารย์ครับ ผมขอความกรุณาเรียนถามว่าคำว่า “การอิ่มในธรรม”นั้นมีความหมายอย่างไรบ้าง (นาทีที่ 22:12 – 22:21 เป็นคำถาม)
ก็แปลว่าไม่ๆๆเคย ไม่เคยดื่มกินธรรมเลย ที่ๆถามนี่ ที่ต้องถามนี่ ก็แปลว่าคุณไม่เคยกิน เคยดื่มธรรม พระธรรมเลย ธัมมปิติ สุขัง เสติ แปลได้หลายอย่าง ธัมมปิติ ปิติ คือ อิ่ม อิ่มในธรรม อิ่มด้วยธรรม อิ่มซึ่งธรรม อิ่มอย่างเป็นธรรม สุขัง เสติ แน่นอนเป็นสุข เมื่อรู้สึกว่าเรามีตวามถูกต้อง คือความเป็นธรรม ก็พอใจในตัวเองที่ประกอบไปด้วยธรรม ที่ผมใช้ประโยคสำหรับวัดกันว่า ไหว้ตัวเองได้ เมื่อไหร่ไหว้ตัวเองได้เมื่อนั้นจะมีปิติในธรรม ก็เป็นสุข ตื่นก็เป็นสุข หลับก็เป็นสุข อะไรก็เป็นสุข จงประพฤติธรรมจนรู้สึกว่าเรามีธรรม ประกอบอยู่ด้วยธรรม มีความพอใจในตัวเอง เคารพนับถือตัวเอง จิตชนิดนั้นแหละเรียกว่ามีความอิ่มในธรรม มันก็เป็นความอิ่ม แต่ไม่ใช่ๆอิ่มอย่างอิ่มของอาหาร อิ่มน้ำ อิ่มข้าว อิ่มกามคุณ นั่นมันคนละอิ่ม แม้คำๆเดียวกันว่าอิ่ม แต่มันความหมายคนละอย่าง ประพฤติธรรมจนพอใจตนเอง ก็เรียกว่าอิ่มในธรรม แต่ถ้าเรื่องข้าว น้ำ อารมณ์ กามคุณนี้มันไม่มีความหมายอย่างนี้ และจะไม่มีความอิ่ม จะไม่มีความหมายว่าอิ่ม เท่าไหร่ๆก็ยังอยากได้อยู่เรื่อย อยากกินอยู่เรื่อย เพราะว่ากระเพาะมันกินไม่ลงแล้วมันจึงอิ่ม จึงไม่เหมือนกับอิ่มในธรรม หรือว่ากามารมณ์ก็เหมือนกัน เมื่อร่างกาย อวัยวะมันสู้ไม่ไหวแล้ว ก็เรียกว่าอิ่มอย่างนี้ มันไม่เหมือนกับอิ่มในธรรม
ก็มีคำว่า เคารพตัวเอง นับถือตัวเอง ใช้กันเป็นระบบศีลธรรม ระบบศาสนา พวกฝรั่งก็เคยพูดมากเกี่ยวกับคำๆนี้ เคารพตัวเอง นับถือตัวเอง บังคับตัวเอง พูดมาก ฝรั่งสมัยก่อน ฝรั่งสมัยนี้ก็ไม่พูดแล้ว จะเป็นวัตถุนิยมกันเสียหมดแล้ว เมื่อรู้สึกว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด เราทำอะไรถูก ไม่มีความชั่ว ความเลว ความลับที่ซ่อนอยู่ ก็มีความอิ่มในธรรม ถ้ามีความเลว ความชั่ว ความลับซ่อนอยู่ มันไม่มีวันที่จะอิ่มในธรรมได้ คนชนิดนั้นไม่มีวันที่จิตจะเป็นสมาธิ หรือสงบได้ เพราะมันเกลียดชังตัวเองอยู่เสมอ จึงไม่มีความเคารพตัวเองได้ ไม่พอใจในตัวเองได้
สรุปแล้วต้องประพฤติธรรม ต้องประพฤติธรรมสำเร็จ มันก็จะมีความอิ่มในธรรม ไม่ได้กินด้วยกิเลสตัณหา กินธรรมมะให้อิ่มนี่ไม่ได้กินด้วยกิเลสตัณหา ไม่เหมือนกับกินอารมณ์ กิเลส มันกินด้วยกิเลสตัณหา เป็นอิ่มหลอกๆ เป็นอิ่มที่ไม่รู้จักอิ่ม พอรู้สึกว่าเราได้ทำดี ได้ทำถูกต้อง ได้ทำดี ได้ทำในทางที่ดี ก็พยายามที่จะชิมรสความรู้สึกที่ว่าได้ทำดี มันคงจะอิ่มขึ้นมาบ้าง ค่อยๆรู้สึกอิ่มขึ้นมาบ้าง ก็ต้องมีจิตใจจดจ่ออยู่ที่นั่น สัมผัสอยู่กับธรรมที่กำลังประพฤติอยู่ อันเนื่องไปจากคำว่า รสแห่งธรรม ธมฺมรโส รสแห่งพระธรรม รสแห่งธรรม สพฺพรสํ ชินาติ ชนะซึ่งรสทั้งปวง ธมฺมรโส สพฺพรสํ หรือว่า สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง ถ้าไม่รู้จักรสแห่งธรรมคงอิ่มไม่ถูก คือไม่รู้จักผลแห่งความดี ไม่รู้จักรสแห่งความดีที่ตนกระทำ จนว่ามีศีล ก็มีรสแห่งศีล พอใจในความที่ตัวมีศีล มีศีลบริสุทธ์ รสแห่งศีลนี่ก็เรียกว่ารสแห่งธรรมด้วยเหมือนกัน ที่มีสมาธิ จิตเป็นสมาธิสงบเย็น ก็เป็นรสแห่งธรรมชนิดหนึ่งเหมือนกัน แล้วก็มีปัญญารู้แจ้ง ดับกิเลสได้เป็นที่พอใจ ก็มีรสแห่งธรรมที่เป็นปัญญา ฉะนั้นจะต้องกระทำลงไปจริงๆในเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา แล้วก็จะได้รับรสแห่งธรรม แล้วก็จะมีปิติเพราะดื่มธรรม ความหมายมีอยู่อย่างนี้ มีความสุข เป็นเรื่องฝ่ายจิต ฝ่ายวิญญาณ ดื่มธรรม อิ่มด้วยธรรม เป็นเรื่องฝ่ายจิต ฝ่ายวิญญาณ ฝ่ายนามธรรม ไปปฎิบัติศีล สมาธิ ปัญญาให้ถึงขนาดจะได้ดื่มรสแห่งธรรม และมีธรรมปิติ เอ้า, มีปัญหาอะไรอีก
กระผมอยากจะทราบเนื่องจากคนในสังคมปัจจุบันมีการเข้าทรง มีปัญหาว่าคนไปเชื่อและไปหลงใหลในการที่ว่าเจ้าเข้าทรงบอกอย่างนั้น บอกอย่างนี้ เป็นเพราะอำนาจอะไร เป็นเพราะอำนาจจิต หรือว่าวิญญาณ หรือว่าอุปทาน หรือเป็นเพราะส่วนไหน บางอย่างก็จริง บางอย่างก็ไม่จริง เป็นเพราะอะไร ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ (นาทีที่ 33:15– 33:48 เป็นคำถาม)
นี่ไม่ใช่พุทธศาสนา ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนา ฉะนั้นเราจะไม่วินิจฉัย คือเราไม่ถือว่าเป็นหลักธรรม หรือเป็นธรรมมะในพุทธศาสนา ไม่จำเป็นที่จะต้องไป นั่นกัน แต่ถ้าคิดจะช่วยปลดเปลื้องให้คนพ้นจากอันนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นอีกเรื่องหนึ่ง มีคำถามอย่างอื่น มีคำตอบอย่างอื่น จะดูไปอย่างนี้ไม่ใช่นาทีของเรา ก็เลยเฉยๆ ที่สังคมมันไปชอบไอ้เรื่องอย่างนี้กันมากขึ้นในเวลานี้ ก็แปลว่าสังคมยุคนี้ไม่รู้ๆธรรม ไม่รู้ธรรม ไม่สนใจธรรม ไม่รู้ธรรม มีเรื่องที่ทำให้ขี้ขลาดมาก ความหลงในวัตถุ ยุคปัจจุบันมีความหลงในวัตถุ ความหลงในวัตถุทำให้โง่มาก และความโง่มากนี้ทำให้กลัวมาก ถ้ามีอะไรมาหลอกให้หายกลัวได้บ้าง แม้เล็กๆน้อยๆ แม้ชั่วคราว คนก็ชอบ ในเรื่องทรงเจ้าเข้าผีนี้ทำให้เขาหายกลัว ทำให้สบายใจไปพักๆหนึ่ง เขาไม่อาจจะแก้ไขด้วยวิธีอื่นซึ่งแท้จริง ก็ต้องใช้วิธีอย่างนี้
ฉะนั้นจะเห็นว่าในยุคที่โลกเจริญ เจริญด้วยวัตถุจะมีเรื่องอย่างนี้มากขึ้น เพราะความเจริญทางวัตถุทำให้โง่มาก ทำให้หลงมา แล้วมันก็กลัวมาก ความกลัวทำให้ไปหาที่พึ่งแบบนี้ แต่ถ้ามองกันอย่างอื่นบ้างก็ๆจะๆๆรู้สึกว่าดีเหมือนกัน ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นโรคประสาทตายกันไปหมด ไอ้ความโง่ และความกลัวที่มากในยุคนี้ ไประบายออกในทางงมงายอย่างนั้น มันก็พอบรรเทาได้บ้าง ไม่ต้องเป็นโรคประสาท หรือโรคจิตเร็วเกินไป ผมเข้าใจว่าอย่างนั้น แต่มันจะเอาเป็นที่พึ่งอันแท้จริงไม่ได้ ไม่ต้องสนใจก็ได้ ไอ้เรื่องไสยศาสตร์มันมีประโยชน์สำหรับคนโง่มาก ขลาดมาก เขาไม่มีทางออกอย่างอื่น เขาเข้าใจธรรมมะไม่ได้ ไอ้ไสยศาสตร์นี่มันช่วยคนชนิดนี้ไว้ตามแบบนั้น จนกว่าเขาจะฉลาดสามารถใช้ธรรมมะเป็นเครื่องช่วยก็ไม่ไปๆหลงใหลในไสยศาสตร์ต่อไป ถ้ายังไม่มีธรรมมะ มันก็ต้องพึ่งไสยศาสตร์ไปก่อน คือพึ่งของหลอกๆ ของปลอมๆไปก่อน จนกว่าจะถึงของจริง มนุษย์มันหยุดคิดไม่ได้ มันก็คิดแล้วก็ไปพบอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาไปก่อน ไปทีก่อน ที่ทรงเจ้าเข้าผีกันส่วนใหญ่ก็เพราะว่าอยากรวย อยากดี อยากรวย อยากถูกล็อตเตอรี่ อยากรวย อยากอื่นๆ เอ้า, ใครมีปัญหาอะไรอีก
อยากถามพระอาจารย์ว่า ธรรมมะที่ทำให้คนสุขใจ แล้วคนพยายามศึกษาธรรมมะนั้น ยึดธรรมมะนั้น เพื่อให้ตัวเองมีความสุขใจอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้จะเรียกว่ายึดมั่น ถือมั่นอยู่ในธรรมมะนั้นได้ไหม (นาทีที่ 39:31– 39:44 เป็นคำถาม)
ยึดมั่น ถือมั่นนี้ ที่เป็นกิเลส ที่เป็นโทษ ต้องทำด้วยอวิชชา จึงจะเรียกว่ายึดมั่น ถือมั่นที่เป็นโทษ เป็นกิเลส ยึดมั่น ถือมั่นด้วยสติปัญญา ยึดถือเอาเป็นหลักที่พึ่งนี้ไม่เรียกว่ายึดมั่นถือมั่น ข้อนี้มันเป็นเพราะภาษาไทย มันมีคำๆเดียวกันใช้อย่างกำกวม ถ้าเป็นภาษาบาลีก็มีคำคนละคำ ไม่มาปนกัน นี่เราพูดอย่างภาษาไทย ยึดเป็นหลักปฏิบัติ ไม่เรียกว่ายึดๆ ไม่เรียกว่ายึดมั่นที่เป็นกิเลส หรือว่าเป็นไอ้ความทุกข์ แต่ยึดมั่นด้วยกิเลสตัวกู ของกู ด้วยกิเลสนี่ เรียกว่ายึดมันที่เป็นทุกข์ การถือ หรือยึดถือก็ตามแต่ ภาษาไทยมันๆก็ต้องพูดอย่างนั้น พระพุทธ ยึดถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ไม่ใช่ยึดมั่นอย่างกิเลส เพราะว่ามันยึดด้วยสติปัญญา ความรู้ ถ้าว่ามีคนยึดมั่นด้วยความโง่ ความไม่รู้ มันไปเข้าพวกโน้นได้เหมือนกัน แต่คงทำให้สบายใจได้บ้าง
ไปแยกกันว่ามันยึดมั่นด้วยอวิชชา หรือว่ายึดมั่นด้วยวิชชา ถ้ายึดมั่นด้วยวิชชาก็เปลี่ยนคำพูดเสียใหม่ อย่าใช้คำว่ายึดมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ด้วยอุปาทาน จะยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือยึดธรรมมะนี้ เขาใช้คำอย่างอื่น ไม่ได้ใช้คำว่ายึดมั่นด้วยอุปาทาน การสมาทานนี้ก็ไม่ใช่อุปาทานก็ได้ คือยึดถือปฏิบัตอย่างดีที่สุด เรียกว่าสมาทาน และที่ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี่ก็ไม่ได้ใช้คำว่ายึดถือ ใช้คำว่าถือ หรือถึง ฉะนั้นคนที่เห็นประโยชน์ของธรรมมะ และยึดมั่นในธรรมมะนั้นก็ๆไม่เป็นไร คือไม่ผิด ไม่ได้ๆยึดมั่นถือมั่นอย่างเป็นกิเลส หรือเป็นทุกข์ กลับจะดีเสียอีก เพราะยึดมั่นด้วยสติปัญญา ด้วยเหตุผลที่ว่ามันปรากฏแก่จิตใจแล้วว่าปฏิบัติแล้วมันดับทุกข์ได้จริง มันก็เปลี่ยนรูปเป็นศรัทธา ความเชื่อถือที่แน่นแฟ้น ที่ไม่รวนเร ภาษาบาลีเขามีคำเรียกเฉพาะ ไม่มาปนกันกับคำว่ายึดมั่นด้วยกิเลส นี่เราพูดภาษาไทยกัน ก็บอกว่ายึดมั่นด้วยวิชา หรือด้วยอวิชชา แยกกันตอนนี้ จะยึดถืออะไรให้มั่นคงก็ขอให้ยึดถือด้วยวิชชา ยึดถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือแม้แต่พระพุทธรูป แม้แต่เครื่องราง ถ้าเรายึดถือด้วยวิชชา ก็จะๆไม่เป็นไร อย่าๆยึดถือพระเครื่องรางด้วยอวิชชา เรายึดถือด้วยวิชชา ก็จะไม่เป็นไร แล้วมันจะช่วยให้มีขั้นปฏิบัติขึ้นมาได้ เอ้า, มีปัญหาอะไรอีก
กระผมใคร่ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยกรุณาพูดเรื่อง การตั้งตนมิชอบในอันที่เกี่ยวกับสังโยชน์ข้อที่ ๙ (นาทีที่ 45:15– 45:26 เป็นคำถาม)
ปฏิบัติเกี่ยวกับมานะ ว่าดีกว่า ว่าเสมอกัน ว่าดีกว่า ว่าเลวกว่า นี่มันเป็นไอ้ข้อปฏิบัติระดับจะสุดท้ายแล้ว เกือบจะถึงที่สุด ไม่มีมานะ ๓ อย่างนั้น เพราะไม่มีมานะว่าตนมีอยู่ เป็นอยู่ ถ้ามีอัสมิมานะว่าเรามี เราเป็นอยู่ มันก็ต้องมีมานะที่ว่าดีกว่า เสมอกัน หรือเลวกว่า ฉะนั้นโดยหลักๆทั่วไป หรือหลักใหญ่ที่มีอยู่แล้ว คือถอนมานะว่าตนเสียได้ แล้วมานะว่าดีกว่า ว่าเลวกว่า ว่าเสมอกัน ก็หายไปเอง นั่นสำหรับเป็นพระอรหันต์ แต่ถ้าจะเอาเป็นเรื่องปฏิบัติชอบในโลกนี้ของบุคคลที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ คืออยู่ในสังคมของบุคคลผู้ไม่เป็นพระอรหันต์ด้วยกันทั้งนั้น ก็ควรปฏิบัติอย่าให้มันเกิดมานะว่าดีกว่าแล้วไปดูหมิ่นผู้อื่น หรือว่าเสมอกันแล้วก็แข่งดี อิจฉาริษยา หรือว่าเลวกว่าแล้วก็มาน้อยใจ ปมด้อย น้อยใจ เสียใจ เป็นทุกข์อยู่ แต่ถ้าความรู้สึกไอ้ ๓ อย่างนี้มันเกิดขึ้นก็รีบสลัดออกไปเสีย หยุดๆเสีย สลัดออกไปเสีย พอเรารู้สึกว่าเรา พอมันเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าเราดีกว่าใครนี่ ก็พูดคำว่าไอ้บ้าๆ หยุดๆๆ
มันเป็นความรู้สึกที่เราๆว่าเอาเอง เราจัดเอาเอง ที่ว่าดีด้วยเรื่องเพียงเท่านั้นมันไม่แน่นอน มันยังมีเรื่องอื่นที่เรายังวินิจฉัยไม่ได้อีกมาก อย่าไปคิดว่าดีกว่าเขาด้วยข้อนั้น ข้อนี้เลย แม้ว่าเรามีอะไรมากกว่าเขา ดีกว่าเขาอยู่บางแง่ ก็อย่าไปถือว่าด้วยเหตุเพียงเท่านั้นแล้วเราจะดีกว่าเขา เขาอาจจะมีแง่อื่นซึ่งเขาดีกว่าเรากลับมาก็ได้ เพราะมันไม่มีเพียงแง่เดียว แล้วไปคิดดู เราดีกว่าเขา เอ้า,สมมุตินะ พูดกันตามภาษาชาวบ้านว่าในดีกว่าเขาในแง่นี้ แต่ในบางแง่เราเลวกว่าเขาไม่ทันรู้ ฉะนั้นการคิดว่าดีกว่าเขาก็มีเท่าแต่ยกหูชูหาง ก็มีแต่ไม่ถูก มีแต่เรื่องไม่ถูก ถึงแม้ว่าเราปฏิบัติธรรมมะได้มากกว่าเขา เห็นกันอยู่ ก็ไม่ควรจะไม่มีความรู้สึกอย่างนั้น มันก็จะทำให้เราเลวมาทันที ไม่ดีกว่าเขาอีก
ฉะนั้นถ้าเราเกิดมองเห็นว่ามีอะไรดีกว่าเขาในบางอย่าง เราก็คิดไปทางอื่น คือคิดไปทางที่จะปันความดีนั้นให้ผู้อื่น เป็นหลักๆธรรมมะทั่วไป ถ้าเรามีอะไรเหลือกินเหลือใช้ เราก็รีบนึกถึงผู้อื่น นึกช่วยผู้อื่น ถ้าเราดีมากกว่าก็พยายามช่วยผู้อื่นดีด้วย ถ้าเสมอกันก็ควรจะคิดในทางร่วมมือกันอย่างบุคคลที่มีอะไรเสมอกัน ช่วยกันทำประโยชน์ผู้อื่นดีกว่า ไม่ต้องมาแข่งขัน มามุ่งทำลายล้างกัน ถ้าเรารู้สึกว่าเราด้อยกว่า เลวกว่า ก็ไม่ต้องเสียใจ แต่ควรจะมีความรู้สึกในทางที่จะแก้ไขให้เรามันๆมีอะไรดีขึ้นมาบ้าง คือยกตัวขึ้นมาให้ถึงระดับที่เขาจะไม่เกลียดเรา รังเกียจเรา ดูหมิ่น ดูถูกเรา เราก็ควรจะแสดงความเคารพต่อบุคคลที่ดีกว่า อย่าไปถือเนื้อถือตัว ถ้ามันมีอะไรดีจริง ดีกว่าจริง ก็เคารพได้ มันจะเป็นประโยชน์กว่าที่จะไปคิดร้าย หรือกระด้างไม่ยอมเคารพแม้บุคคลที่ดีกว่า เดี๋ยวก็เกิดไม่เคารพพระพุทธเจ้าขึ้นมา
ผมคิดว่ามันคงไม่อยากนักที่จะปฏิบัติเกี่ยวกับ ๓ ข้อนี้ในสังคมปัจจุบัน ในหมู่ปุถุชนด้วยกัน ถ้าเขาดีกว่าเราๆเคารพเขา ถ้าเสมอกันก็เป็นเพื่อนทำอะไรไปด้วยกัน ถ้าเลวกว่าเราก็คิดช่วยเขาให้ดีขึ้น ถ้าเขาเลวกว่าเรา เรามีทางจะช่วยเขาได้ ปฏิบัติอย่างนั้นเพื่อประโยชน์อย่างในโลกๆนี้ ถ้าปฏิบัติอย่างสูง อย่างธรรมมะจริงๆ ก็บรรลุมรรคผลนิพพาน ก็ต้องรีบปฏิบัติเพื่อถอนความยึดมั่นว่าตัวตนเสีย มันเป็นสังโยชน์เบื้องบน มันสูงแล้วที่จะเป็นพระอรหันต์ เอ้า, ใครมีปัญหาอะไรอีก เด็กๆก็ไม่มีปัญหาแล้ว
นมัสการพระอาจารย์ จากการที่สอนสไลด์เมื่อกี้ มีข้อสงสัยที่ว่าพระภิกษุสงฆ์ต้องใช้จีวรสีเหลืองนั้นเป็นธรรมดา เลยมีข้อสงสัยว่าทำไมพระภิกษุสงฆ์ต้องใช้จีวรสีเหลือง ถ้าจะใช้สีอื่นจะใช้ได้หรือไม่ (นาทีที่ 55:49– 55:13 เป็นคำถาม)
เกี่ยวกับสไลด์อะไรกัน อันนี้มันเป็นความเข้าใจผิดอย่างอื่น คือความเข้าใจผิดว่าพระสงฆ์ต้องใช้จีวรสีเหลือง พระสงฆ์ที่ถือวินัยใช้จีวรซึ่งไม่ใช่สีเหลือง สีเหลืองที่สวยสดนี่ก็ผิดวินัยเหมือนกัน คือมีวินัยให้ใช้ผ้า วินัยบอกให้ใช้ผ้าที่ย้อมน้ำฝาดตามที่นิยมใช้กันอยู่ในหมู่บรรพชิต เอาน้ำฝาดนั้นย้อมแล้วเป็นสีอะไรก็ตามแต่มัน มันเป็นสีหม่นซึ่งบอกยาก อย่างที่ย้อมด้วยกรัก เอาๆๆๆกรัก เอาแก่นไม้น้ำฝาดมาย้อมดู เป็นอะไรก็เป็นอย่างนั้น สีหม่น สีเหลืองก็อยู่ในพวกที่ห้าม เพราะมันสวย ความมุ่งหมายก็เพื่อให้สีไม่สวย ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือว่าสวย แล้วก็ให้มันทน การย้อมน้ำฝาดก็เพื่อให้มันทน ให้เหมาะสมกับภิกษุ ผู้อยู่อย่างภืกษุ อยู่อย่างบรรพชิต แล้วคนชาวบ้านที่เขาต้องการจะย้อมฝาดก็มีเหมือนกัน ก็พวกพราน พวกชาวประมงนี่เขาก็ย้อมผ้าน้ำฝาดใช้เหมือนกัน ก็คงจะคล้ายกัน
ถามว่าทำไมภิกษุจึงใช้จีวรสีเหลืองนี่มันไม่ถูกกับเรื่องแล้ว มันไม่ถูกกับปัญหา เพราะว่าภิกษุไม่ได้ใช้จีวรสีเหลืองโดยเจตนา ก็ต้องให้จีวรที่ย้อมด้วยน้ำฝาด แล้วเป็นสีอย่างน้ำฝาด ในบาลีก็มีว่าแก่นไม้ เปลือกไม้ ดอกไม้ รากไม้ ใบไม้ที่เป็นพวกน้ำฝาด คงไม่มีเหลืองอ่อย ความเข้าใจผิดในหลังๆที่เอาไปย้อมให้เป็นสีเหลืองอ่อย สวยดี เมื่อสมัยแรก เมื่อสมัยผมแรกบวช ก็มีไอ้ความนิยมกันว่าจีวรที่ซื้อมาจากร้านที่เขาขาย เอามาชุบย้อมด้วยน้ำกรัก น้ำแก่นขนุน จึงใช้เป็นจีวรสำหรับบวชๆนาค ก็ทำกันอย่างนั้น แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่ทำกันแล้ว เอ้า, ใครมีปัญหาอะไรอีก
นมัสการท่านอาจารย์ ดิฉันขอเรียนถามว่าทำอย่างไรมนุษย์เราจึงจะมีความสุขที่แท้จริงได้ เท่านี้ค่ะ(นาทีที่ 01:00:07– 01:00:17 เป็นคำถาม)
ปัญหาๆอย่างนี้มันใหญ่โต มันกว้างขวาง ปัญหาหมด และใช้คำว่ามนุษย์เรา มันก็ทั้งโลก มันตอบยาก ไม่ใช่เฉพาะบางคน ทำอย่างไรมนุษย์เราจึงจะมีความสุขที่แท้จริง มันมีความหมายเท่ากับทำอย่างไรคนทั้งโลกจะมีความสุขที่แท้จริง เพราะว่าแม้ว่าธรรมมะมันทำให้คนมีความสุขได้ แต่มันก็มีปัญหาว่าทำอย่างไรให้คนทั้งโลกมันยอมนับถือธรรมมะ เป็นปัญหาที่ซับซ้อนอยู่ ถ้าทำให้คนทั้งโลกถือธรรมมะได้ คนทั้งโลกก็มีความสุขได้ แต่ทีนี้ปัญหามันก็ทำอย่างไรให้คนทั้งโลกมันชอบถือธรรมมะพร้อมๆกันได้ นี่คือปัญหาที่กำลังๆคิดอยู่ทุกวัน ทำอย่างไรศีลธรรมจะกลับมาสำหรับคนทุกคนในบ้าน ในเมือง
ต้องตอบอย่างกำปั้นทุบดินว่าต้องให้คนทุกคนประพฤติธรรม แล้วก็มีความสุขแท้จริงได้ ความสุขแท้จริงเกิดจากพระธรรมที่ปฏิบัติ ให้คนปฏิบัติธรรมก่อนสิก็มีความสุขที่แท้จริง ก็ไปติดปัญหาที่ ๒ ที่ว่าคนไม่ยอมปฏิบัติ ทำอย่างไรจึงจะให้ทุกคนยอมปฏิบัติธรรม ข้อนี้มันก็ต้องยอมรับว่ามันจนปัญญา พระพุทธเจ้าเองก็ยังไม่ปรากฏว่าได้ทำให้ทุกคนโลกยอมรับปฏิบัติธรรม มีคนที่ไม่เชื่อพระพุทธเจ้า หรือไม่ปฏิบัติธรรมอยู่มาก ถ้าจะเปลี่ยนให้เป็นเรื่องการเมืองของมนุษย์ในโลก มันต้องมีอำนาจอะไรอย่างหนึ่งที่มันทำให้คนทุกคนปฏิบัติธรรมในโลก โลกก็จะมีความสุขที่แท้จริง
เดี๋ยวนี้ยังมองไม่เห็นทาง ก็พูดกันไปเฉพาะบางคนที่พูดกันรู้เรื่องให้ช่วยกันปฏิบัติธรรม จะโดยกฎหมายก็ทำไม่ได้ แล้วคนทั้งโลก กฎหมายสำหรับคนทั้งโลกมันก็ไม่มี ช่วยๆกันทำไปเรื่อยๆให้คนเขาชอบธรรมมะ นิยมธรรมะมากขึ้นๆในโลกนี้ เราใช้คำว่า พูดให้เขาเข้าใจ ปฏิบัติให้ดู มีความสุขให้เขาดู นั่นคือการเผยแผ่ธรรมมะ พูดให้เขาเข้าใจ แล้วปฏิบัติให้เขาดู แล้วก็มีความสุขให้เขาดู คือประสบความสำเร็จให้เขาดู เพียงแต่ปฎิบัติให้ดูมันก็ยังไม่พอ เพราะเขาคิดว่าการปฏิบัตินี้เป็นไปไม่รอดก็ได้ ไปค้างเติ่งอยู่ที่ไหนก็ได้ นี่เราต้องประสบความสำเร็จให้เขาดู คือเป็นอยู่อย่างไม่มีความทุกข์เลยให้เขาดู นี่การเผยแผ่พระธรรม ต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เพียงแต่พูด แต่สอน หรือว่าฉายหนังให้ดู นี่มันเรื่องเถลไถลออกไปนอกเรื่อง ต้องพูด หรือต้องทำอะไรก็สุดแท้ให้มันเข้าใจ แล้วก็ปฏิบัติให้ดู แล้วเป็นสุขให้ดู
คำตอบโดยสรุปก็คือว่า ไปทำให้คนทั้งโลกปฏิบัติธรรมให้สำเร็จ แล้วจะมีความสุขที่แท้จริง ความสุขที่แท้จริงนั้นตัวเองรู้จักแล้วหรือยัง เอาแต่ไหนมาถามว่าความสุขที่แท้จริงเป็นอย่างไร
เด็กๆข้างในฟังอีกทีหนึ่ง เราจะพูดเรื่องนี้ว่าให้แสวงหาความสุขจากการงาน อย่าแสวงหาความสุขจากผลงานเลยนี่ กำลังขอร้องอย่างนี้อยู่ในเวลานี้ ยุคนี้ ให้หาความรู้สึกที่เป็นสุขจากตัวการงานที่กำลังกระทำอยู่ อย่าไปหวังหาความสุขจากผลงานเมื่อสำเร็จแล้วเลย ถ้าคนที่เป็นวัตถุนิยมฟังไม่ออก ไม่เข้าใจว่าทำงานไม่เป็นผลสำเร็จ ไม่มีผลแล้วมันจะมีความสุขได้อย่างไร เพราะคนในวัตถุนิยมนี้เขารู้จักแต่ว่าผลงานเป็นเงิน เป็นวัตถุ หรือเป็นปัจจัยอะไรก็ได้ที่จะไปทำให้มีความสุขอย่างวัตถุได้ ถ้าเขาต้องการมีความสุขอย่างวัตถุ ก็ต้องมีผลงานได้มา เป็นปัจจัยซื้อหาความสุขชนิดนั้น ทีนี้เรามันไม่ใช่พวกวัตถุนิยมอย่างนั้น พอเรารู้สึกว่าเราได้ทำหน้าที่ๆถูกต้องของมนุษย์ เราพอใจ เราสบายใจ เรามีปิติในธรรมเสียแล้ว กำลังทำงานอยู่แท้ๆ ยังไม่ๆมีผลงานตามๆที่เขาเรียกกันว่าผลงาน ยังไม่ทันจะมี เราก็มีความสุข มีปิติในตัวเองว่าได้ทำสิ่งที่ควรทำ ทำหน้าที่ของมนุษย์อย่างถูกต้อง คือกำลังทำอยู่
ถ้าสมมุติว่าเป็นชาวนากำลังไถนาอยู่ กำลังขุดดินอยู่ก็มีความสุขอย่างยิ่งในการขุดดิน ในการไถนา โดยไม่ต้องหวังว่าจะได้ข้าวเปลือกมาขาย อย่าๆนึกไปถึงนั้น นึกไปถึงนั้นบางทีจะทรมานใจขึ้นมาอีกเพราะมันยังไม่ๆ ยังไม่เป็นข้าวเปลือก แต่ถ้านึกถึงว่าไอ้ที่ไถนาอยู่นี่ ที่ขุดดินอยู่นี่คือการกระทำที่ถูกต้องของมนุษย์ คือการทำหน้าที่ของมนุษย์อย่างถูกต้อง ก็พอใจว่าเราได้ทำหน้าที่ของมนุษย์อย่างถูกต้อง แล้วเป็นสุขด้วยสิ่งที่มีอยู่นั้น แล้วก็จะๆแน่นอน จะแน่นอนว่าจะมีความสุข ไอ้ตอนๆนี้ก็เรียกว่าสันโดษได้เหมือนกัน คือเพียงแต่ขุดดิน เพียงแต่ไถนา ก็พอใจเท่าที่กำลังมีอยู่ ทำอยู่ หรือว่าถ้าเป็นๆคนทำงานด้วยสติปัญญา ทำงานออฟฟิต ก็เมื่อทำอยู่ขอให้สนุก ให้พอใจในขณะที่กำลังทำอยู่ ไม่ใช่เงินเดือน ไม่ใช่ไอ้ตอนสุดท้ายที่จะได้เงินเดือน ให้สนุกในการงาน ให้เป็นสุขในการงาน ถ้าเป็นนักเรียน เมื่อกำลังเรียนอยู่ในโรงเรียนทุกวัน รู้จักทำให้มีความพอใจ และเป็นสุขในการอ่าน การเขียน การทุกอย่างที่เป็นบทเรียน ไม่ต้องหวังว่าเรียนแล้ว ไปเรียนได้ปริญญาแล้ว ก็ได้ลาภ ได้เงิน ได้อะไรกันใหญ่โต ไอ้เรียนอย่างนั้น ไอ้คิดอย่างนั้น มันก็เป็นธรรมดาที่คนเขาก็คิดกันอยู่แล้ว เราว่าไม่ถูก เรียนแล้วเป็นโรคประสาท เรียนแล้วบ้า สู้พอใจที่ได้ทำอยู่ เมื่อดินสอเขียนอยู่บนกระดาษนั่นแหละพอใจที่สุด
ทำด้วยจิตที่ไม่มีตัวตน แล้วพอใจที่สุด มันๆเป็นเรื่องทางจิตใจ ถ้ามีตัวตนขึ้นมา มันก็จะไปนึกถึงไอ้ความสำเร็จที่เป็นวัตถุ เป็นเงิน เป็นของ เป็นอะไรอย่างธรรมดา มันต้องไม่มีตัวตนในขณะนั้น มีแต่การเรียน ให้การเรียนนั่นแหละมันเป็นตัวตนเสีย ให้ดินสอ ปากกานั้นมันเป็นตัวตน สมุดเป็นตัวตันอะไร ให้มันเป็น ไม่มีตัวกูก็แล้วกัน จะมีๆกำไร หรือว่ามีความสุข สนุกในการเรียน แล้วก็เรียนได้ดีที่สุด เรียนด้วยจิตใจทั้งหมด ไม่แบ่งเอาจิตใจไปเป็นตัวกู ของกู แล้วก็คอยดูว่ากูจะได้อะไร อย่างนี้มันไม่หมด มันแบ่งไปเป็นตัวกูเสียมากมาย นี่ไม่ต้องไปเป็นตัวกูที่ไหน ให้ดินสอปากกานั่นแหละเป็นตัวกู ทำไปแล้วกัน ให้มันพอใจในการที่มันเขียนลงไป หรือมันทำอะไรก็แล้วแต่ แล้วแต่บทเรียนไหนให้ทำอะไร พอใจที่สุด สนุกที่สุด หยิบดินสอมาขีดไปตามไม้บรรทัดลงไปในกระดาษ นี้ก็เป็นสุขที่สุด
อย่าไปเผลอเอาไอ้ตัวกู ของกู แล้วจะ กูจะอีกกี่ปีได้ปริญญา ได้เงินเดือนเป็นพัน เป็นหมื่น จะหิวเป็นเปรต ถ้าต้องการแบบนั้นมันมีความรู้สึกไม่มีสันโดษ และหิวเป็นเปรต เดี๋ยวก็จะเป็นโรคประสาท เดี๋ยวก็จะเป็นทุกข์ แล้วเรียนก็ไม่ได้ดี ไม่ได้จริง ก็ไม่ ก็ๆได้ผลเรียนไม่ดี ได้ผลการเรียนไม่ดี จิตใจฟุ้งซ่าน ฉะนั้นเรียนด้วยสมาธิทั้งหมดลงไปที่นั่น จะได้ผลดีที่สุด ด้วยเหตุที่ว่าจิตมันไม่มีความหมายมั่นเรื่องตัวกู เราเรียกว่าว่าง จิตว่าง ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ไม่แบ่งกำลังของจิตไปคิดอย่างอื่นไปหวังอย่างอื่น ไปทะเยอทะยานอย่างอื่นอยู่ในขณะเดียวกัน ให้กำลังจิตทั้งหมดระดมลงไปในงานที่ทำ พูดว่าให้จิตนั้นกลายไปเป็นอะไรที่ทำเสียเอง เป็นดินสอ ปากกา ให้จิตไปเป็นดินสอ ปากกาเสียเอง อย่ามาเป็นตัวกู ถ้าว่าผ่าฟืน หรือขุดดิน ไถนา ให้จิตนี้มันเป็นจอบ เป็นเสียม เป็นไถ เป็นอะไรเสียเองเลย อย่าแบกเอามาไว้เป็นตัวกู ของกู อย่างนี้เราเรียกว่าทำงานด้วยจิตว่าง เป็นการทำถึงที่สุด ได้ผลดีถึงที่สุด ผู้ทำสบายใจที่สุด มีสติถึงที่สุดจึงจะทำอย่างนั้นได้ มีสติสัมปชัญญะที่สุดจึงจะทำอย่างนั้นได้
เป็นนักเรียนก็ให้การเรียนนั้นเป็นตัวตนไปเสียเลย ให้จิตใจมันเป็นการเรียนไปเสียเลย ไม่ต้องแยกออกมาเราเป็นผู้เรียน เอาการเรียนเป็นตัวเราเสีย ไม่ต้องมีตัวเราเป็นผู้เรียน ลองทำดู มันจะสอนให้เอง มันทำยากที่จะบังคับจิตให้เป็นอย่างนั้น มันทำยาก พอทำเข้าก็ไม่ได้ ไม่ได้ก็ยอมแพ้ แล้วก็เลิกกัน ทีนี้ก็ล้มๆ ล้มละลาย ถ้าๆทำแล้วมันทำไม่ได้ก็ต่อสู้เรื่อยไป ทำให้ได้ บังคับจิตให้มีสติสัมปชัญญะให้ได้
การบังคับจิตเราชอบเปรียบด้วยการขี่รถจักรยานจิต มันหกล้ม มันจะหกล้มเรื่อย แล้วก็ไม่ยอมแพ้ ก็พยายามเรื่อยไปจนขี่รถจักรยานจิตได้ เหมือนกับที่เราจะขี่รถจักรยานธรรมดานี่ต้องหกล้มกันหลายๆหน แล้วไม่มีใครสอนได้ มันสอนให้เอง ที่ว่าขี่ได้ไม่ล้มนี่ไม่มีใครสอนได้ ไอ้การล้มมันสอนให้เอง ถ้าจิตใม่เป็นสมาธิ การไม่เป็นสมาธิมันจะสอนให้เอง ก็เรียกว่าการล้ม ขี่จักรยานจิตแล้วล้ม คือไม่เป็นๆสมาธิ ล้มขี่อีกๆๆ จะค่อยดีขึ้นๆ ไม่ค่อยมีใคร ไม่ค่อยมี ไม่มีใครจะมาสอนให้ได้ เพราะแม้แต่ขี่รถจักรยานธรรมดานี่มันก็ยังสอนกันไม่ได้ ต้องสอนอยู่โดยอัตโนมัติในตัวมัน เพราะฉะนั้นคนทำสมาธิก็ให้การทำไม่สำเร็จมันสอนให้ๆ เราจะบังคับจิตไม่ให้วอกแวก ให้มีสติสัมปชัญญะ ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่างนี้ ก็ทำไปมันสอนให้เอง จิตชนิดที่ไม่หมายมั่นเป็นตัวกู ของกู เรียกว่าจิตว่าง เพราะมันมาอยู่กับการทำงานทั้งหมด สมาธิทั้งหมดมาอยู่ที่นี่ แล้วก็ทำได้ดี จำก็จำได้ดี คิดก็คิดได้ดี ฟื้นความจำมาใช้อีกก็ทำได้ดี เพราะมันทำด้วยจิตทั้งหมด ไม่มีตัวกู ของกู ที่แบ่งแยกออกไปเป็นผู้คอยจะเอาผลอย่างนั้น อย่างนี้
นี่วันนี้พูดกับเด็กๆทั้งหมดที่มานี่อย่างนี้ คือเรื่องนี้ ตรงนี้คงไม่มีเวลาพูด แล้วมาทั้งทีจะไม่ได้พูดอะไรเสียเลยก็ไม่ถูกเรื่อง ให้เด็กๆทุกคนจำไว้ว่าวันนี้เราได้พูดเรื่องว่า ให้หาความสุขจากการทำงานนั่นเอง อย่าไปหาความสุขจากผลงานเลย อย่าไปหวังความสุขจากผลงานเลย มันจะฟุ้งซ่าน ให้หาความสุข ความพอใจจากตัวการงานนั่นเอง จะมีอนามัยดีทางจิต จะเป็นเศรษฐกิจที่ดี ลงทุนน้อย ได้ผลมาก การเรียนจะสนุกสนาน จะก้าวหน้าๆในการเรียน
ทีนี้คนโตๆก็เหมือนกันที่ไปทำงานอะไรที่ไม่ใช่การเรียน เดี๋ยวนี้ๆเรียนเสร็จแล้วไปทำงาน เป็นใหญ่ เป็นโต เป็นอะไรก็ตาม ก็ยังอยากจะฝากความคิดข้อนี้ว่า จงพยายามหาความสุขจากตัวการงานที่กำลังทำอยู่ด้วยมือ อย่าไปหวังความสุขจากผลงาน มันจะฟุ้งซ่าน มันจะไม่มีความสุข แล้วมันจะค่อยๆน้อมไปหาไอ้ความสุขชนิดที่เป็นกิเลส เป็นฆ่าศึก ความสุขที่บริสุทธ์อยู่ที่การรู้สึกที่ว่าได้ทำหน้าที่ของมนุษย์ นี่แหละเป็นความสุขที่แท้จริง จะเป็นความสุขชนิดที่เย็น ความสุขจากผลงาน อย่างเป็นเงิน เป็นอะไรจะเป็นความสุขชนิดร้อน เป็นชนิดที่จะดึงลงไปในความผิดพลาดไม่ทันรู้ ถ้ามีความสุขในการงานแล้วรับรองได้ว่าไม่มีคอรัปชั่น ไม่มีจิตที่มันจะปลีกตัวไปทำคอรัปชั่นได้ เพราะมันเป็นสุขในตัวการงานเสียแล้ว แล้วเราจะเป็นสุขกับผลงานนั้น ไม่มีหวังจะคอรัปชั่นให้ผลงานมันมาก หรือว่า หาความสุขจากการงานเถิด อย่าหาความสุขจากผลงานเลย พูดให้มันสั้นพูดอย่างนี้
มันเป็นการหาความสุขจากการที่ไม่มีกิเลสตัณหาในการที่ทำงาน ถ้าเราไปหวังความสุขจากผลงาน มันก็คือกิเลสตัณหา ที่หวังที่จะได้รับอะไรอย่างเมื่อๆทำงานเสร็จ เมื่อมันเป็นกิเลสตัณหาแล้วมันจะให้ความสุขอย่างแท้จริงไม่ได้ มันก็เป็นความสุขหลอกๆ สันตุฏฐี ปรมัง ธนัง สันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง คือเราสันโดษยินดีในงานที่กำลังทำอยู่ แล้วก็เป็นสุขในตัวการงานนั้น แต่มันก็ต้องศึกษาจนรู้ว่ามนุษย์มันมีความเป็นมนุษย์อยู่ที่การทำการงาน ไม่อย่างนั้นมันไม่มีความเป็นมนุษย์ เมื่อเราได้ทำการงานเราก็พอใจในการได้เป็นมนุษย์ ได้มีความเป็นมนุษย์ ยุวชนเขาก็มีการศึกษาเป็นการงาน เขาต้องยินดี พอใจ เป็นสุขในตัวการศึกษา นี่พอเป็นผู้ใหญ่แล้วมันก็มีการงานโดยตรง มีความสุขในตัวการทำงาน ผลงานไม่ไปไหนเสีย มันก็อยู่ที่นั่นแหละ อย่าไปหลงมันเข้าอีกก็แล้วกัน มันก็ต้องได้ ครบเดือนมันก็ต้องได้เงินเดือน ต้องระวังให้ดีมันจะไม่ให้ความสุข มันจะให้ความหลอกลวงอะไรบางอย่างเท่านั้น
หาความสุขจากการงานเถิด อย่าหาจากผลงานเลย เตือนตัวเองไว้อย่างนี้ ความสุขจากผลงานเป็นเรื่องหลอก เป็นความสุขหลอก ความสุขจากการงานนั้นจริง บริสุทธิ์ และจริง เพราะจิตใจมันสูง มันจึงหาความสุขจากการงานได้ และทำหน้าที่ พอได้ทำหน้าที่ก็เป็นสุข อย่างนี้เขาเรียกว่างานเป็นสุขอยู่ในตัว เรียกว่างานเป็นงานอยู่ในตัว ไม่ใช่งานเป็นเงิน เราทำงานให้เป็นงานแล้วก็สบาย เป็นสุขอยู่ในงาน ไม่ใช่ๆงานเพื่อเงิน ไม่ใช่เงินโดยงาน ไม่ใช่งานเพื่อเงิน มันจะทำให้เป็นทาสของกิเลสไม่ทันรู้ ถ้างานเพื่อเงิน เงินเพื่องาน คงจะทำยากสำหรับทุกคนทั่วๆไป มันทำยาก ที่จะให้มีรู้สึกเป็นสุขในตัวการงานนั้นมันยาก แต่มันไม่เหลือวิสัย แล้วมันเป็นความจริง ถ้าทำได้มันก็เป็นสุขแท้จริง เหงื่อไหลไคลย้อยอยู่ก็เป็นสุข
ที่พูดอ้อมออกไปอย่างอื่นก็ว่าพูดว่าการงานคือการปฏิบัติธรรม การงานทุกชนิดเป็นการปฏิบัติธรรมอยู่ในตัวการงาน นี่ก็เพื่อให้มองเห็นเป็นความสุข ให้เป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อมรรคผลนิพพานไปเลย เพราะว่าการทำการงานนี้ต้องประกอบด้วยคุณธรรมมาก จึงจะรู้สึกเป็นสุข พอใจอยู่ในการงานนั้น ถ้าทำอย่างนั้นมันมีคุณธรรมมากสำหรับไปนิพพาน คือมันไม่หลง ไม่โง่ ไม่จม ไม่ยึดมั่นด้วยกิเลสตัณหาในๆการงาน ในผลงาน ในรสอร่อยของปัจจัย ของกิเลส เงินนี่มันเป็นปัจจัยของกิเลส ไปคิดดู มันไม่ได้เป็นปัจจัยของโพธิเลย ที่มันเป็นไปอยู่ตามธรรมดา ธรรมชาติในเวลานี้ ของทุกคนในโลกนี้ ไอ้เงินนี่มันเป็นปัจจัยของกิเลส ไม่ได้เป็นปัจจัยของโพธิ เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน มันทำไม่เป็น ที่จะทำให้เป็นปัจจัยของโพธินี่ทำไม่เป็น หาเงินเพื่อความอร่อยทางเนื้อหนัง
เราอย่าไปบูชาผลงานที่เป็นเงิน บูชาตัวการงานที่เป็นหน้าที่ของมนุษย์ ความเป็นมนุษย์คือทำหน้าที่ของมนุษย์ ถ้ามนุษย์ไม่ทำหน้าที่ของมนุษย์ก็ไม่มีความเป็นมนุษย์ เราถือหลักธรรมชาติเหล่านี้ ธรรมชาติ กฎธรรมชาติ หน้าที่ตามธรรมชาติ ทำหน้าที่ของมนุษย์ตามธรรมชาติมันก็ดี ถูก บริสุทธิ์ เหมาะสม ควรจะเป็นสุขในหน้าที่ ส่วนผลมันก็ต้องเกิด ทีนี้เราก็ไม่หลงเพราะเราไปพอใจในความสุขที่เกิดจากการงานอยู่แล้ว แม้ผลงานจะเกิดขึ้นมาอีกเราก็ไม่หลง เพราะมีแต่เรื่องหลอก ได้เงินมาจากการงานสำหรับหล่อเลี้ยงกิเลส เป็นอย่างนี้กันทั้งนั้น ในโลกนี้มันเป็นอย่างนี้ ผลงานออกมาเป็นเงินเพื่อมาหล่อเลี้ยงกิเลส แล้วความสุขจากกิเลสนี้ ไปคิดดูเอง นี่ความสุขจากการงานมันไม่เกี่ยวกับกิเลส แล้วมันก็ถูกกว่า จริงกว่า บริสุทธิ์กว่า เย็นกว่า เอ้า, ใครมีปัญหาอะไรอีก
กระผมมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องผู้ประกาศศาสนา ในฐานะที่บรรพชิตคือสมณะทั้งหลาย มีเพศเดียวกับพระพุทธเจ้าที่เคารพ แล้วก็ถือว่าเป็นสถาบัน เป็นกลุ่มของผู้ที่จะประกาศพระศาสนา แต่ก็ยังมีอีกหลายๆอย่างในๆส่วนมากของผู้ประกาศศาสนานี้ ยังติด ยังจมอยู่ในสิ่งที่เรียกว่ากิเลส คือความโลภ ความโกรธความหลงอยู่ ซึ่งทำให้ภาพพจน์ของผู้ที่เป็นพุทธบริษัทอื่นๆไม่สามารถจะเข้าถึง ไม่สามารถจะเข้าใจธรรมมะที่ควรจะปฏิบัติได้ ขอเรียนถามว่าในการประกาศศาสนาในปัจจุบัน ในยุคปัจจุบันนี้ควรจะมีแนวทางอย่างไรแล้วก็ผู้ที่ประกาศนี้ควรจะเป็นใคร (นาทีที่ 01:31:44– 01:32:48 เป็นคำถาม)
นี่คุณจะสึกออกพรรษานี้ใช่มั้ย ถามปัญหาสำหรับใคร เรื่องประกาศศาสนานี้เรายอมรับกันว่ามันเป็นหน้าที่อันหนึ่งซึ่งสูงสุดของคนที่มีจิตใจสูง เห็นแก่ประโยชน์ชั้นสูงตามรอยพระพุทธเจ้า จะทำได้ดี ทำได้กว้างขวางมันก็ต้องเป็นบรรพชิตเท่านั้นแหละสำหรับการประกาศพระศาสนา ถ้าเป็นฆราวาสก็ทำได้บ้าง ทำได้เหมือนกัน แต่จะให้ดีเท่ากับบรรพชิตผู้เป็นอิสระนั้นคงทำไม่ได้ มันต้องเป็นผู้ปฏิบัติสำเร็จก่อนแล้วจึงไปสอนผู้อื่น อย่างนี้มันก็มี นี่เป็นหน้าที่ของไอ้บรรพชิตผู้ปฏิบัติสำเร็จแล้วสอนผู้อื่น ทำตนให้เป็นผู้ปฏิบัติได้ในสิ่งที่จะสอน ผู้ที่ควรสอนผู้อื่นก็คือผู้ที่ปฏิบัติได้แล้ว คือผู้ที่ควรสอนผู้อื่นอย่างยิ่ง ปฏิบัติในสิ่งนั้น ในสิ่งที่ตัวจะสอน ผู้ที่จะเป็นครูก็ต้องทำสิ่งนั้นได้ก่อน จึงจะไปเป็นครู ผู้ที่สอนศาสนาก็ต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติศาสนามาเป็นที่พอประจักษ์แก่บุคคลที่จะรับคำสั่งสอน
พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสอย่างนี้ ทำตนให้เสร็จในเรื่องนั้นเสียก่อน ทำตนไว้ในความสมควรนั้นก่อนแล้วจึงสอนผู้อื่น จึงจะเป็นผู้สอนที่ไม่เศร้าหมอง คือไม่สกปรก ถ้ามิฉะนั้นแล้วจะเป็นผู้สอนที่เศร้าหมอง คือสกปรก คือตัวไม่ได้ตั้งอยู่ในคุณข้อนั้น นี่พูดโดยหลักชั้นสูงของศาสนา ทางการศาสนา ผู้นั้นปฏิบัติพรหมจรรย์ได้แล้วๆจึงจะไปสอน ไปประกาศพรหมจรรย์ พูดตรงๆก็ผู้ที่ถึงๆความจริงในเรื่องนั้นแล้วจึงจะสอนผู้อื่น สอนจากความรู้สึกของตัวผู้นั้นเองจะยิ่งดี แต่ว่าเดี๋ยวนี้ ยุคนี้ ยุคโลกปัจจุบันนี้เขาไม่ได้ทำกันอย่างนั้น เขาสอนโดยถ่ายทอดวิชา ตำราอะไรต่างๆ เป็นแบบของโลกปัจจุบันนี้ ถ่ายทอดวิชาทางตำรา โดยตำรา และดูจะไม่รับผิดชอบด้วยว่าจะปฏิบัติได้สำเร็จ หรือไม่สำเร็จ แต่ก็ยอมรับกันว่ามันมีประโยชน์เหมือนกัน แม้จะเป็นๆๆการถ่ายทอดโดยทางวิชชา ทางตำรา ก็มีประโยชน์บ้าง เพื่อมันจะได้มีเหลืออยู่สำหรับผู้ปฏิบัติ มันจะได้ค้นคว้า ศึกษา ปฏิบัติต่อไป ฉะนั้นการพิมพ์พระไตรปิฎกไปเรื่อยๆนี้ผมว่าดี ถ้าปล่อยให้มันสูญไปหมดแล้วก็จะลำบากกว่านี้
ตอบว่าผู้สอนศาสนาที่ดีก็คือผู้ที่ปฏิบัติได้ตามที่จะไปสอนเขา อย่างผมจะไปสอนคนลดความอ้วนนี่ไม่มีใครเชื่อเพราะผมลดตัวเองไม่ได้ ผมก็เลยไม่สอนใครเรื่องลดความอ้วน เอ้า, ใครมีปัญหาอะไรอีก
นมัสการหลวงพ่อ กระผมอยากเรียนถามว่า คนเราทุกคนเกิดมาทำไมครับ (นาทีที่ 01:40:14 –
01:40:23 เป็นคำถาม)
มันเป็นปัญหาที่พิเศษที่สุดเลย ปัญหาที่ถามว่าเกิดมาทำไม เป็นปัญหาที่พิเศษ คือมันเกี่ยวข้องกับปัญหาอื่นทั้งหมด เกิดมาสำหรับให้รู้ว่าเกิดมาทำไม ถ้าไม่ได้เกิดมามันก็ไม่มีทางจะรู้ว่าเกิดมาทำไม ฉะนั้นเกิดมาเพื่อให้รู้ว่าเกิดมาทำไม ที่เกิดมาแล้วก็รู้เอาเองว่าเกิดมาทำไม ผมรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ที่โลกมันเต็มไปด้วยปัญหายุ่งยาก และเลวทรามนี่ก็เพราะทุกคนมันไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม นี่ปัญหาอันนี้เป็นปัญหาใหญ่ ถ้าทุกคนในโลกมันรู้ว่าเกิดมาทำไม แล้วมันก็ทำถูกต้อง แล้วโลกก็ไม่เป็นอย่างนี้ ปัญหาที่ศาสตราจารย์ทั้งหลายยังไม่รู้ ปัญหาที่ว่าเกิดมาทำไมนี่ ปัญหาศาสตราจารย์ทั้งหลายในโลกนี้ยังไม่รู้ เราตอบไม่ได้โว้ย คือเราไม่อยากจะเป็นศาสตราจารย์ด้วย นี่มันจะ ๔ ทุ่ม ใครจะดับไฟ หรือคนรู้แล้วเขายังไม่ดับ เจ้าหน้าที่ไฟรู้แล้วแต่ยังไม่ดับ เพราะยังคุยกันอยู่
ใครตอบได้คนนั้นเป็นศาสตราจารย์สูงสุด ตอบว่าเกิดมาทำไมได้ ไม่มีๆหลักสูตร ไม่มีหลักสูตรสอนว่าเกิดมาทำไม มีการศึกษามาไม่รู้กี่ร้อยปี กี่พันปีแล้ว มันก็ไม่มีหลักสูตรที่สอนว่าเกิดมาทำไม ในโรงเรียนไหน ในมหาวิทยาลัยไหนมันก็ไม่มีหลักสูตรข้อนี้ ว่าเกิดมาทำไม ปล่อยให้เป็นอิสระ เป็นเสรีภาพแล้วแต่ใครจะชอบ ถ้าถามให้ดีกว่านี้ก็ถามว่าเราควรจะคิดว่าเราเกิดมาทำไม ก็จะตอบได้ ตอบได้ดีดว่าที่ถามอะไรตรงๆอย่างนั้น มันจะได้เป็นปัญหาทางศีลธรรมขึ้นมา ว่าเราควรจะถือว่าเราเกิดมาทำไมอย่างนี้พอจะตอบได้ ปัญหาทางศาสนามันกระดียดไปในทางที่ว่าไม่เกิดดีกว่า แล้วก็สอนไม่ให้มีความรู้สึกไปในทางที่ว่า เกิด มีเกิด คือมีเราเกิด พอมีเราเกิดมันก็มีตัวตน มีปัญหาของตัวตน มีอะไร แล้วก็เป้นความทุกข์ไปใน
เดี๋ยวนี้เราก็ได้เกิดมาแล้วโดยไม่ใช่เจตนาของเรา จะต้องทำอย่างไรต่อไป จึงมีปัญหาว่าเราควรจะถือว่าเราเกิดมาทำไม ที่แล้วๆมามันก็มีแต่ตอบอย่างกำปั้นทุบดิน ว่าเราเกิดมาเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ แต่ปัญหานี้ยังเหมือนกับกำปั้นทุบดินอยู่บ้าง ถ้าไม่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์เราก็ไม่มีทางจะได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ฉะนั้นก็เกิดมาเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ กำปั้นทุบดินตรงที่ว่าไม่รู้ว่าคืออะไร ยังไม่รู้ว่าคืออะไร ตอบอย่างเอาเปรียบ ถ้าว่าอาศัยหลักศาสนามาบังคับกัน มันก็ตอบว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการบรรลุมรรคผลนิพพาน นี่คนเขาไม่เข้าใจเขาก็ไม่อยากจะได้ คนที่เคร่งศาสนาเขาก็ต้องพูดว่าเขาเกิดมาเพื่อจะนิพพาน แล้วก็ยึดมั่นหลักศาสนา แต่คนทั่วไปเขาไม่สนใจ ก็ทิ้งไว้ให้เขาไปเลือกเอาเองว่าไอ้ที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์นั้นคืออะไร ไปหาเอาเอง ตอบอย่างกำปั้นทุบดินไว้ก่อน เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ไอ้ตามความรู้สึกนี้มันเลื่อนได้ ไอ้สิ่งที่ดีที่สุดมันเลื่อนได้ ตามความรู้สึกของคน ตั้งแต่วัยเด็กทารกขึ้นไปจนถึงวัยสุดท้าย มันเลื่อนได้ในความรู้สึกว่าอะไรดีที่สุด มันก็เป็นการที่เกณฑ์ หรือบังคับให้เด็กๆเราเชื่อตามแบบของคนผู้ใหญ่หรือคนแก่ เด็กๆก็ชอบอะไรไปตามประสาเด็กๆดีที่สุดอยู่ที่นั่น ที่เอามนุษย์ผู้สูงสุด ผู้ถึงที่สุดมันก็ยังมืดมัวเหมือนกัน เกิดมาเพื่อให้ได้พบกับนิพพาน สภาพที่เรียกว่านิพพานคืออยู่กันอย่างไม่มีความทุกข์เลย เขาฟังไม่ค่อยถูก แล้วคนๆๆสมัยนี้เขาก็พูดว่าเขาไม่มีความทุกข์เหมือนกัน เขาไม่มีความทุกข์เลย ทั้งที่เขาเป็นอยู่อย่างนั้นเขาก็ไม่รู้สึกว่ามีความทุกข์ เป็นทุกข์อยู่ก็ไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์
ถ้าเราถือศาสนา เราก็ถือหลักศาสนา คำพูดตามหลักศาสนา นิพพานเป็นสิ่งสูงสุด เกิดมาเพื่อนิพพาน ถ้าไม่ถือศาสนา ถือตามหลักชาวบ้าน ก็เอาตามแบบชาวบ้าน มันก็เป็นเรื่องหลอกลวงทั้งนั้น เพราะมันยังไม่ถึงที่สุด นี่จะฉายสไลด์ต่อ เราจะต้องปิดประชุมแล้ว มัน ๔ ทุ่มแล้ว เดี๋ยวเขาดับไฟแล้วจะลำบาก พูดกับเด็กๆอีกครั้งหนึ่งว่าให้หาความสุขจากการงาน อย่าหาจากผลงานเลย