แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
รายการถามตอบปัญหาธรรม ประจำวันอาทิตย์ ที่หินโค้ง ครั้งที่ ๖ ประจำวันอาทิตย์ที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๑
วันอาทิตย์มีไว้สำหรับตอบปัญหา ใครมีปัญหาอย่างไร
ถาม: ผมขอความกรุณาท่านอาจารย์ได้ชี้แจงเพิ่มเติมจากการตอบปัญหาครั้งที่แล้วเรื่องนิวรณ์ ก็อยากจะเรียนถามเรื่องอนุสัยกับนิวรณ์นี้มันมีความแตกต่างกันอย่างไร
ตอบ: อนุสัยสะสมอยู่ในสันดาน ส่วนนิวรณ์นั้นคือที่ขึ้นมารบกวนเป็นประจำวัน เราจะกล่าวได้ว่ากิเลสทุกชนิด ทุกขนาด ทุกระดับ มันออกมาจากอนุสัยคือความเคยชินที่สะสมไว้ในสันดาน ถ้าออกมาเป็นกิเลสเต็มตัว เป็นโลภะโทสะ โมหะเต็มตัว เราก็เรียกว่ากิเลสตามธรรมดา ถ้าเกิดออกมาในลักษณะที่รบกวนหยุมหยิมประจำวันเรียกว่านิวรณ์
ถ้าไม่มีอนุสัยก็ไม่มีทั้งกิเลสและนิวรณ์ ศึกษานิวรณ์ไม่ต้องศึกษาจากหนังสือ ไปศึกษาจากที่ความรู้สึกในจิตใจประจำวันดีกว่า วันไหนมีนิวรณ์อะไรข้อไหนก็ให้มันจับได้ทุกทีไป คนที่มีราคะเป็นเจ้าเรือน จิตมันก็น้อมไปเพื่อกามารมณ์ความหมายใดความหมายหนึ่ง ระดับใดระดับหนึ่งอยู่เรื่อยๆไป เดี๋ยวน้อมไปๆ น้อมไป กลางวันกลางคืน ไม่มีความผ่องแผ้วแห่งจิตใจ จะคิดจะพูดอะไรให้ลึกซึ้งก็ทำไม่ได้เพราะว่าอันนี้มันรบกวน
หรือบางทีก็นิวรณ์ตัวที่สอง มันอ่อนเพลียในทางจิตใจ ละเหี่ยละห้อย มึนชา ซบเซา ง่วงหาว ไม่แจ่มใส เราก็มักจะมีกันบ่อยๆ ทีนี้บางทีก็มีเหตุปัจจัยอย่างอื่นทำให้ฟุ้งซ่าน จิตใจฟุ้งซ่านคือผิดปรกติ มันไม่สามารถจะปรกติ มันจึงไม่คิดไม่นึก ไม่ทำความ ทำการงานทางจิตใจได้ ก็มันฟุ้งซ่าน
ทีนี้ก็สีลัพพตปรามาส อ้าว...ข้อสองข้ามมาแล้ว ข้อสองที่เรียกว่าพยาบาท เนื่องจากไม่ได้ ... (นาทีที่ 05.08)ถึงกับอาฆาตมาดร้ายรุนแรงอะไร แต่ความที่ไม่ชอบบุคคล สิ่งของ หรือสถานะอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง มันหงุดหงิดอยู่ในใจอย่างนี้ก็เรียกว่าพยาบาท โดยเฉพาะถ้ามันมีความไม่ชอบบุคคลใดบุคคลหนึ่งอยู่ มันรบกวนมาก คือความหงุดหงิดไม่พอใจ เกลียดชัง โกรธแค้น จะเรียกว่าอาฆาตพยาบาทก็ได้เหมือนกัน แต่มันเป็นส่วนที่เพลาๆนี่เราจึงเรียกว่านิวรณ์ ถ้ามันโกรธอาฆาตถึงที่สุดมันก็เป็นกิเลสเต็มตัวเรียกว่าโทสะ เรียกว่าโกรธะ
ทีนี้วิจิกิจฉา อันข้อที่ห้า สุดท้ายนี้คือความที่จิตใจไม่ มันไม่แน่วแน่ คือมันไม่ยุติ มันไม่ยุติว่าจะเอาอย่างไรในการเป็นอยู่ ในการกระทำ มันเกิดสงสัยแม้ในสิ่งที่เคยทำมาดีแล้ว ตั้งต้นดีแล้ว มีหลักเกณฑ์ถูกต้องแล้ว ทำมาตั้งเป็นเดือนๆปีๆแล้ว มันก็อาจจะเกิดสงสัยขึ้นมาได้ว่านี้ถ้าจะไม่ได้การเสียแล้ว มันก็ลังเล มันก็ไม่อยากจะทำตามที่เคยทำมา เท่าที่ตัวหนังสือมีอยู่ในตำราเรียนนั้นไม่พอ มันน้อยนัก ต้องไปศึกษาเอาจากตัวนิวรณ์จริงๆ ทุกวัน แต่ละวันๆๆดีกว่า
ทีนี้ทำอย่างไรให้เกลี้ยงไปเสียจากสิ่งเหล่านี้ จิตก็ปรกติ สดชื่น แจ่มใส บริสุทธิ์ เข้มแข็ง ว่องไวในการที่จะคิดจะนึก จะตัดสินใจอะไร ถ้าว่ามีนิวรณ์เกิดขึ้น เราไม่มีความสุขนี้แน่นอนคือรำคาญ ผมจึงเปรียบเอาเหมือนกับแมลงที่ทำให้รำคาญ กัดก็กัดไม่ถึงกับตาย แต่ก็รำคาญ ก็เจ็บ แล้วถ้ามีจิตใจเกลี้ยง แม้แต่จะเขียนจดหมายที่สำคัญสักฉบับหนึ่งนี้ ถ้าจิตใจไม่เกลี้ยงก็เขียนออกไปไม่ได้น่ะ จะบันทึกอะไรให้เป็นจริงเป็นจัง จิตใจไม่เกลี้ยงก็ทำไม่ได้
แม้ภิกษุจะพิจารณาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าจิตใจไม่เกลี้ยงก็คิดไม่ได้ พิจารณาไม่ได้ ดูไม่ได้ จึงต้องมีคำว่าฉันบิณฑบาตแล้วไปสู่ที่หลีกเร้นแล้ว ทำจิตให้ปราศจากนิวรณ์ ให้สงัดจากนิวรณ์ ก็ทำอยู่ให้จิตปราศจากนิวรณ์ แล้วจึงจะค่อยไปดูเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่วิธีปฏิบัติประจำวันของภิกษุครั้งพุทธกาลตามที่กล่าวไว้ในบาลี พอเสร็จเรื่องธุรกิจประจำวันก็ไปสู่ที่หลีกเร้น ก็มีคำว่าทำจิตให้ปราศจากนิวรณ์ คือสมาธิน่ะ
เมื่อมีความสำเร็จในการทำจิตให้ปราศจากนิวรณ์ก็จึงมาดูธรรมะที่ปรากฏอยู่ในขณะนั้น ในแง่ของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้ว่าความสุขเกิดมาจากปราศจากนิวรณ์ มีความสุขอยู่ ก็ดูไอ้ความสุขนี้ในฐานะที่เป็นสิ่งมีปัจจัยปรุงแต่งว่าไม่เที่ยง อย่างนี้เป็นต้น ถ้ายังมีนิวรณ์มันดูไม่ได้นี่ จิตมันไม่ปรกติมันดูอะไรไม่เห็น
เขาเปรียบไว้ดี ดูในบาลีสิ คำเปรียบ กามฉันทะเหมือนกับน้ำที่ใส่สี ผมก็จำไม่ค่อยได้แล้วประมาณนี้ คือน้ำมันหมดความใสกระจ่างเพราะมันเอาสีใส่ลงไป พยาบาทนี่ น้ำเดือดพลุ่งๆ มันก็ไม่ใสกระจ่าง ไม่มองเห็นอะไรได้ ถีนะมิทธะไอ้น้ำมันอยู่ในที่มืด ก็ดูอะไรไม่เห็น คือไม่ใส อุทธัจจกุกกุจจะ น้ำที่มันพลิ้วๆๆๆตามผิวน้ำ เพราะลมพัด ก็ดูอะไรไม่เห็น วิจิกิจฉายังไง ลืมเสียแล้ว มันเปรียบเอาเองก็ได้ น้ำที่เป็นคลื่นอยู่เสมอ มีโคลน มีตม มีตะกอน แล้วอุปมานี้ก็ไม่ได้สำคัญอะไรมากไปกว่าช่วยให้เข้าใจ
ทำจิตให้ปราศจากนิวรณ์ จิตก็แจ่มใส จิตก็เข้มแข็ง จิตก็ว่องไวเฉียบแหลมในการที่จะคิดจะพิจารณา อย่าเห็นหรืออย่าเข้าใจไปว่านิวรณ์เป็นเรื่องสำหรับภิกษุ จะต้องละเว้นชำระอยู่ในป่าในการทำสมาธิวิปัสสนา ขอให้รู้ว่าแม้แต่ฆราวาสที่บ้านที่อยู่กันอย่างชาวบ้านนั่นแหล่ะ ก็ต้องรู้จักชำระจิตให้ปราศจากนิวรณ์เหมือนกัน ไม่อย่างนั้นมันจะทำอะไรดีไม่ได้ ไอ้หน้าที่ของฆราวาส อย่างที่ผมกล่าวแล้วว่าจะเขียนจดหมายที่ดีสักฉบับหนึ่งก็ไม่ได้ ถ้าจิตมันถูกรบกวนอยู่ด้วยนิวรณ์ อะไรๆจะไม่สนุกไปหมด ไม่อร่อยไปหมด ไม่เข้าหูเข้าตาไปหมด มันก็ไม่มีความสุขนี่อย่างหนึ่ง และก็ไม่สามารถจะทำหน้าที่การงานทีดีที่มีค่าได้นี้อย่างหนึ่ง นี่คือเรื่องของนิวรณ์
ข้อที่หนึ่งกามารมณ์รบกวน ข้อที่สองความเกลียดชังรบกวน ข้อที่สามหดหู่ละเหี่ยละห้อยคือแฟ่บ ข้อที่สามมันพลุ่งมันฟู เอ้อ...!ข้อที่สี่มันพุ่งมันฟู ข้อที่ห้ามันลังเลโลเลๆโยเยๆ แม้เป็นฆราวาสแล้วก็ไปศึกษาดู ไอ้นิวรณ์นี่ไม่ไหวทั้งนั้น พอกินข้าวอิ่มหนำสำราญแล้ว ถึงเวลาที่จะลงออฟฟิศทำงานแล้ว ถ้านิวรณ์ยังรบกวนอยู่มันก็ทนทุกข์ มันก็ตกนรกทั้งเป็น
เช่นว่ากินอิ่มเกินไปจนคิดนึกอะไรไม่ค่อยออกก็ได้ หรือว่าเรื่องทางกามารมณ์ทางเพศมารบกวนอยู่ มันก็อยากจะไปหาเหยื่ออย่างนั้น มันก็ทำอะไรไม่ได้ มันเกลียดชังใครอยู่ มันก็ทำอะไรไม่ได้ ฟุ้งซ่านรำคาญอะไรอยู่ ก็ทำอะไรไม่ได้ ไม่แน่ใจในสิ่งที่ตนจะต้องทำ ก็ทำไม่ได้เหมือนกัน ฉะนั้นต้องศึกษาเอาไว้ให้ดีๆคู่กันไปกับตัว แม้ไปเป็นฆราวาสแล้วก็รู้จักชำระจิตให้ปราศจากนิวรณ์ แล้วคนนั้นจะมีความสุขด้วย จะก้าวหน้าในหน้าที่การงานด้วย อะไรต่อไปอีก มีปัญหาอะไรต่อไปอีก
ถาม: สมมุติเราทำจิตให้เกลี้ยงแล้ว นิวรณ์หมดแล้ว อนุสัยมันจะหมดไปด้วยหรือเปล่า
ตอบ: โอ้...อนุสัยมันคนละเรื่อง บอกว่าอยู่ใต้สันดาน
ถาม: จะทำอย่างไรไม่ให้มันเกิดได้
ตอบ: ไม่ให้กิเลสเกิดโลภะ โทสะ โมหะ ระวังไม่ให้เกิด เป็นอยู่ให้ถูกต้องกิเลสเกิดไม่ได้ นิสัยนั้นไม่ได้อาหารเพิ่มเติม ก็ลดลงๆๆ อนุสัยเพิ่มขึ้นเพราะกิเลสเกิด พอกิเลสเกิดทีหนึ่ง อนุสัยเพิ่มขึ้นทีหนึ่ง กิเลสเกิดทีหนึ่ง อนุสัยเพิ่มขึ้นทีหนึ่ง เมื่อในกรณีที่จะต้องเกิดกิเลสแล้วไม่ให้เกิดได้ อย่างนี้อนุสัยจะลดลงไปทีหนึ่ง ใช้คำง่ายๆว่าหน่วยหนึ่งก็ได้
พอเราเกิดมาจากท้องแม่แล้ว รู้จักรัก รู้จักโกรธ รู้จักเกลียด รู้จักกลัว รู้จักอะไรแล้ว สมมุติว่าไปโลภ ไปกำหนัดเข้าทีหนึ่ง มันก็สร้างอนุสัย ไอ้ความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้นไว้หน่วยหนึ่งในส่วนลึกของสันดาน แม้ว่ากิเลสข้างนอกนี้ระงับไปแล้ว แต่อนุสัยนั้นมันเป็นเรื่องที่ได้สร้างขึ้น ไม่ใช่อยู่อย่างคงที่นะ มันพร้อมที่จะเกิดเร็ว มันง่ายที่จะเกิดมากขึ้น ความง่ายนั้นเราเรียกว่าการสะสม อนุสัยก็เพิ่มขึ้นหน่วยหนึ่ง ระหว่างความโกรธ เอ้า...พอโกรธมันก็เพิ่มอนุสัยโกรธหน่วยหนึ่ง บางทีโง่ หลง โมหะมันก็เพิ่มอนุสัยโมหะหน่วยหนึ่ง อย่างนี้เรื่อยไปๆจนบัดนี้ มาจนบัดนี้
อนุสัย อะ-นุ-สัย นั้นจึงเหนียวแน่น จึงแน่นหนา จึงได้รวดเร็ว จึง จนเราพร้อมที่จะโลภ ที่จะโกรธ ที่จะหลง ที่ในทางที่ตรงกันข้าม เป็นอยู่ให้ถูกต้องตามหลักของธรรมะ เช่น อริยมรรคมีองค์แปด กิเลสมันเกิดไม่ได้ ในกรณีที่มันปรุงแต่งสำหรับจะเกิดกิเลส เราบังคับไว้ได้ นี่เขาเรียกว่าความโลภไม่เกิด เป็นต้น อนุสัยของความโลภมันจะลดลงหน่วยหนึ่ง ลดลงตำแหน่งหนึ่ง หน่วยหนึ่ง เมื่อจะต้องโกรธ หรือควรโกรธไม่โกรธ บังคับไว้ได้ อนุสัยโกรธมันก็ลดลงหน่วยหนึ่ง เมื่อจะหลงจะโง่ ทำให้มันไม่หลงไม่โง่ไว้ได้ อนุสัยโง่มันก็ลดลงไปหน่วยหนึ่ง
ถ้ามันมีทำให้ลดอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ไม่เท่าไรมันหมดได้ อย่างที่พระพุทธเจ้า ท่านตรัสไว้สั้นๆว่า ถ้าเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ เป็นอยู่โดยชอบในที่นี้คือเป็นอยู่ชนิดที่กิเลสเกิดไม่ได้ ราคะ โทสะ โมหะ แต่ละอย่างๆ มันลดความเคยชินที่จะเกิดลงไปๆๆ สักวันหนึ่งมันหมด เพียงแต่ปฏิบัติอยู่ให้ถูกต้อง ให้ชอบเรื่อยๆ ไป มันเป็นการลดอาหารของอนุสัย ไม่เพิ่มให้อนุสัยนั้นแน่นหนามั่นคงอีกต่อไป มันก็ไม่ปรี่ ไม่เบ่งที่จะไหลออกมาเป็นกิเลสได้ ก็เหือดแห้งหายไป
ถ้าอนุสัยมันมีอยู่อย่างเต็มที่ พอมีเหยื่อแห่งกิเลสผ่านมาทางตา ทางหู ทางอะไร เป็นต้น มันก็ออกมาเป็นกิเลสแรงเกินไป เร็วเกินไปอย่างนี้ ที่ไหลออกมานี้เรียกว่าอาสวะ ออกมาในรูปของกิเลส อนุสัยเหมือนกับสะสม หมักหมมอยู่ ถ้ามันมากมันก็ออกมาง่าย ถ้ามันน้อยมันก็ออกมายาก ไม่มีมันก็ไม่ออกมา อาสวะแปลว่าของไหล ของบูด หมักบูด แล้วมันก็ขยายตัว มันดันออก มันก็ไหลออก ถ้าสิ้นอาสวะก็คือสิ้นกิเลสที่จะออกมา ก็คือไม่มีอนุสัยนั่นเอง จึงตัดอนุสัยได้ด้วยแล้วก็ไม่มีกิเลสออกมาด้วย
อนุสัยนี่ผมให้เรียกใหม่ว่าความเคยชินแห่งกิเลส ที่เขาสอนกันอยู่โดยทั่วๆไปแต่ก่อนนั้นเขาเรียกว่ากิเลสชั้นละเอียด เรียกว่าอนุสัย ผมว่าไม่อยากจะจัดเป็นกิเลส เรียกว่าความเคยชินแห่งกิเลส มันก็เหมือนกันแหล่ะ คือมันสะสมหมักหมมไว้ในสันดาน ฉะนั้น บางคนมันมีกิเลสมีอนุสัยมากไปทางราคะ บางคนมากไปทางโทสะ บางคนมันมากไปทางโมหะ แต่ดูเหมือนโดยทั่วๆไปของสามัญสัตว์ในโลกธรรมดานี้แล้ว ความเคยชินในทางราคะ ทางเพศนี่มันมีมาก มีเป็นเจ้าเรือนหรือว่ามีเป็นประจำ
แต่แล้วมันก็เนื่องกัน ถ้ามีราคะ มันก็จะต้องมีโทสะ คือมันไม่ได้ตามที่ราคะต้องการ มันต้องมีโทสะ ขืนทำไปในแบบนี้มันก็เป็นโมหะ สิ่งทั้งสามนี่มันก็เกี่ยวพันกันไปเรื่อย ราคะ โทสะ โมหะ ที่เขาสอนกันอยู่ตามโรงเรียนก่อนนี้ กิเลสชั้นละเอียดเรียกว่าอนุสัย กิเลสชั้นธรรมดาสามัญคือ โลภะ โทสะ โมหะ เรียกว่ากิเลส แล้วกิเลสชั้นหยาบก็ออกมาเป็นการกระทำทางกรรม ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฺฉาจาร นี้เรียกว่ากรรมกิเลส กิเลสชั้นหยาบ แล้วกิเลสชั้นธรรมดา แล้วกิเลสชั้นละเอียด ก็ได้เหมือนกัน ถ้าเข้าใจให้ถูกต้องก็ได้เหมือนกัน
เดี๋ยวนี้เราจะพูดให้มันถูกหลัก เพราะจิตคือวิทยาศาสตร์สักหน่อย อนุสัยคือความเคยชินของกิเลสที่สะสมไว้เรื่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วจะลดลงได้เรื่อยๆเมื่อป้องกันไม่ให้กิเลสเกิด ทีนี้ตัวกิเลส ความรู้สึกที่เป็นกิเลสคือตัวโลภะ โทสะ โมหะ นี่คือตัวกิเลส บางทีก็เรียก ราคะ โทสะ โมหะ บางทีก็เรียกว่าโลภะ โทสะ โมหะ ถ้าออกมาข้างนอกเราก็เรียกว่ากิเลสหยาบ
ทุกๆอันมันขึ้นอยู่กับความมีสติ เมื่อมันไม่โกรธ เมื่อมีสติมันก็ไม่ ก็ไม่ปรุงกิเลส มันมีสติสำหรับจะไม่โลภ จะไม่โกรธ จะไม่โง่ มันก็ป้องกันไม่ให้เกิดกิเลส ไม่เกิดกิเลสมันก็ลดอนุสัย หรือว่าจะใช้สติป้องกันอนุสัยที่จะออกมาเป็นกิเลสมันก็ได้เหมือนกันแหล่ะ อารมณ์แห่งกิเลสมาถึงเข้าแล้ว สติมาก็ป้องกันไว้ได้ไม่ให้อนุสัยความเคยชินนั้นทำงาน มันก็ไม่เกิดกิเลสอย่างนี้ก็ได้ เรียกว่าสติมันตัดตอนตรงที่อนุสัยจะเป็นอาสวะออกมาเป็นกิเลส หรือจะพูดกลับอีกทีหนึ่งว่า สติมันป้องกันไม่ให้กิเลสเกิดสำหรับจะไม่ไปเพิ่มอนุสัย แต่จะให้ลดอนุสัยอยู่เรื่อย
ฉะนั้น การเป็นอยู่ด้วยสติที่ถูกต้องสมบูรณ์นั้นมัน จะไม่ให้กิเลสเกิด แล้วมันจะลดอนุสัยอยู่เรื่อยทุกๆ คราวที่กิเลสไม่เกิด คนเราเปลี่ยนนิสัยได้เพราะเหตุนี้ นิสัยเลวๆอะไรถ้าจะเปลี่ยนมันให้ได้ก็ต้องมีสติ อย่ายอมให้มันทำในสิ่งนั้น แม้แต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ จะทิ้งเหล้า ทิ้งบุหรี่ ทิ้งอะไรนี่ก็ต้องมีสติที่จะไม่ให้ความเคยชิน ความติด ความอะไรนั้นน่ะมันลุกขึ้นมาได้
สติเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ ในสตินั้นมีปัญญาอยู่ด้วย สติเอาปัญญามาใช้ เป็นกำลังอันหนึ่งที่เอาปัญญามาใช้ กำลังปัญญามันก็ทำหน้าที่ของปัญญา เพราะสติมันเอามา ถ้าเราขาดสติก็หมายความว่าไม่มีปัญญาที่จะมาใช้ เพราะว่าสติมันเป็นผู้ขนเอาปัญญามาใช้ มันเป็นผู้ใช้อาวุธอันนี้ ถ้าไม่มีสติก็ไม่มีผู้ใช้อาวุธอันนี้ มันก็ไม่ได้ใช้ การขาดสติก็คือการทำความฉิบหายให้เกิดขึ้น คนลุอำนาจแก่กิเลส โลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง เพราะขาดสติ
อ้าว... มีปัญหาอะไรอีก
ถาม: อาจารย์ครับ ใคร่ขอเรียนถามอาจารย์ว่าบางครั้งจิตใจของเรา ถ้าหากว่าต้องการทำอะไรแล้วเกิดการลังเลใจขึ้นมา เพราะฉะนั้นเรามีวิธีการอะไรที่จะจำกัดความลังเลใจอันนี้ให้หมดไปได้บ้างครับ
ตอบ: ก็เมื่อตะกี้ก็พูดถึงนิวรณ์อยู่หยกๆ วิจิกิจฉาคือความลังเล เป็นนิวรณ์อันหนึ่ง กวาดนิวรณ์นั้นออกไปเสีย จิตใจให้เกลี้ยงเกลา ความรู้ ความคิด ความรู้สติปัญญาอะไรกลับมา ก็ทำได้ นี่หมายถึงว่า ไอ้ลังเลนั้นเป็นเพียงนิวรณ์อย่างที่ว่า แต่ถ้ามันเป็นการลังเลที่มากกว่านั้นคือเกินขนาดของนิวรณ์ คือความรู้ความเข้าใจอะไรมันไม่เพียงพอ เราก็ไปเพิ่มในส่วนความรู้หลักการไอ้อะไรต่างๆให้มันเพียงพอจนหมดความลังเล ไอ้ลังเลชนิดนั้นมันเกิน เกินขนาดที่จะเรียกว่านิวรณ์
นิวรณ์คือลังเลเล็กๆ น้อยๆ ที่รบกวนประจำวัน เป็นขั้นนิวรณ์ ทีนี้ไอ้ลังเลชนิดที่มันเป็นเรื่องของสติปัญญาไม่พอ ก็ต้องไปจัดการกันในส่วนที่ให้สติปัญญามันเพียงพอ เช่นลังเลว่าเรียนจบแล้วจะไปทำอะไรดีอย่างนี้นี่ไม่ใช่นิวรณ์หรอก มันเป็นเรื่องของสติปัญญาที่ไม่เพียงพอ ก็ไปหาข้อมูลต่างๆให้มันพอ แล้วเราจะแน่ใจลงไปว่าจะทำอะไรดี แล้วก็ทำ นั้นลังเลชนิด จะต้องเรียกว่ากิเลสที่ใหญ่กว่านิวรณ์ เป็นโมหะ กิเลสประเภทโมหะโดยตรงโดยเต็มขนาด
ถ้าลังเลอย่างนิวรณ์ก็ขจัดปัดเป่าไปด้วยไม้ปัดยุง ไม้ปัดแมลง เช่นสมาธิเป็นต้น เหมือนกับไม้ปัดแมลง เช่นลังเลว่าจะแต่งงานกับผู้หญิงคนนี้ดีหรือไม่อย่างนี้มันไม่ใช่นิวรณ์ มันเป็นเรื่องของสติปัญญา ความรู้ของอะไรต่างๆ เกินขนาดที่จะเรียกว่านิวรณ์ แต่ก็จัดเป็นกิเลสประเภทนิวรณ์ก็ได้ อาวรณ์ นิวรณ์ ความโลเลประจำวันนี่เรียกว่า วิจิกิจฉานิวรณ์ จิตไม่แจ่มใส ไม่ว่องไว ไม่สดชื่น ถ้าโดยหลักการใหญ่แล้วไปแก้กันด้วยเรื่องของสติปัญญาเต็มขนาด
อ้าว...ใครมีปัญหาอะไรอีก
ถาม: เกล้ากระผมมีปัญหาว่า ที่ว่าธรรมชาติของจิตนั้นผุดผ่องประภัสสรอยู่ และได้เศร้าหมองเพราะกิเลสมันจรมา แต่พอก้าวไปดูที่สระน้ำหรือที่ธารน้ำไหล ไอ้น้ำส่วนข้างบนมันใสดี แต่มันก็มองลงไปก็มีตะกอนอยู่ข้างล่าง ก็อดคิดถึงสภาพจิตไม่ได้ว่าไอ้ในส่วนลึกของจิตมันคงจะมีความเศร้าหมองอยู่แบบที่ก้นสระ หรือที่ท้องของลำธาร เกล้าก็เลยทำให้ลังเลคำกล่าวหรือบาลีประโยคนี้ว่ามันจะผุดผ่องอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า
ตอบ: เขาหมายความว่าธรรมชาติของน้ำนั้นน่ะไม่มีตะกอน น้ำกับตะกอนไม่ใช่สิ่งเดียวกัน นี่ดูที่ตัวธรรมชาติของน้ำ คือไม่มีตะกอน มันก็ใสไม่ขุ่นมัว นี่พอตะกอนเข้ามาโดยวิธีใดก็ตามเถิด ไอ้น้ำนี่ก็ขุ่นมัวไปพักหนึ่งจนกว่าจะปราศจากตะกอน ทีนี้ก็สงสัยว่าไอ้ตะกอนนี่มันเป็นสมบัติติดตัวของจิตมาหรือเปล่า ก็ตอบว่าไม่ใช่ เป็นคนละเรื่องกัน อุปกิเลสนี่เป็นคนละเรื่องกับจิต แต่ว่าอุปกิเลสมันมีหน้าที่ที่จะเข้าไปรบกวนจิต
ทีนี้จิตชนิดนั้นก็ยังอยู่ในสภาพที่อาจจะถูกรบกวนได้ ไม่ได้อบรมเข้มแข็ง ให้เข้มแข็ง ให้เฉียบขาด เอาไปบรรลุมรรคผล จิตนั้นยังอยู่ในวิสัยที่รบกวนให้เศร้าหมองได้ ฉะนั้น ถ้ามันมีปัจจัยของกิเลส ของอะไรมาเกิดขึ้นรบกวน จิตนี่มันก็เศร้าหมองได้จนกว่ากิเลสจะออกไป ทีนี้เรามาอบรมจิต อบรมจิตชนิดนั้นน่ะให้มันเข็มแข็งยิ่งขึ้นๆขนาดที่เรียกว่าถึงระดับสูงสุด มันก็สามารถรักษาความเป็นประภัสสรไว้ได้ ไม่ว่ากิเลสชนิดไหนจะเข้ามา มันสู้ได้ มันก็ไม่สูญเสียความเป็นประภัสสร เช่นจิตที่อบรมถึงขนาดที่บรรลุพระอรหันต์แล้ว จะมีเหตุปัจจัย กิเลสชนิดไหนมาก็ไม่มาปรุงแต่งจิตให้เศร้าหมองได้
ถ้าจะเปรียบกับน้ำ ก็คือน้ำที่เราได้กระทำชนิดที่ว่าไม่มีตะกอนอันไหนมาผสมกับมันได้ ทีนี้ไอ้วัตถุชนิดนั้นมันทำไม่ได้ ก็ปล่อยไปตามเรื่อง นี่เรื่องจิตก็ถือว่าอบรมทำให้เป็นอย่างนั้นได้ เป็นจิตที่หลุดพ้นจากการรบกวนของกิเลส ให้ถือว่าจิตมีธรรมชาติประภัสสร ถ้ากิเลสไม่รบกวน ก็ไม่สูญเสียประภัสสร นี่ที่จิตธรรมดาสามัญ มันก็จะเศร้าหมองทุกคราวที่กิเลสมารบกวน ทีนี้พระพุทธเจ้าหรือใครก็ตามมีวิธีที่จะอบรมจิตกันเสียใหม่ เข็มแข็ง เก่งกล้า สามารถ ที่กิเลสทำให้เศร้าหมองไม่ได้ ก็เลยคงความเป็นประภัสสรไว้ตลอดไป
การอบรมจิตมีประโยชน์ อะธิจิตเต จะ อาโยโค เอตัง พุทธานะ สาสะนัง การกระทำจิตให้ยิ่ง ยิ่งในที่นี้ก็ยิ่งชนิดที่เรียกว่าจะไม่มีอะไรทำให้มันเศร้าหมองได้ มันก็เนื่องกันไปหมดน่ะ เนื่องกับสติ เนื่องกับปัญญา เนื่องกับไอ้สมาธิ เนื่องกับวิปัสสนาอะไรที่จะทำอบรมจิตให้มันเป็นจิตอันพิเศษขึ้นมา ถูกทำให้เศร้าหมองไม่ได้อีกต่อไป กิเลส อุปกิเลสไม่อาจจะเข้าไปเกิดในจิตนั้น ไม่อาจจะเข้าไปตั้งอยู่ในจิตนั้น รบกวนจิตนั้นได้ พูดง่ายๆจิตตามธรรมดาของมันนั้นไม่มีกิเลส ปราศจากกิเลส แล้วมันก็ผ่องใส พอกิเลสเข้าไปก็เศร้าหมอง ถ้ากิเลสหยาบเข้าไปมันก็ไม่เศร้าหมอง ทีนี้ทำโดยวิธีที่กิเลสเข้าไปไม่ได้ด้วยการอบรมจิตสมบูรณ์ มันก็ไม่ต้องมีกิเลส ไม่ต้องมีความเศร้าหมอง
นี่เรียกว่าบรรลุธรรมะระดับสูงสุด คือจิตไม่อาจจะเศร้าหมองอีกต่อไป ก็ไปศึกษาเรื่องเศร้าหมองนั้นน่ะให้มันหมดว่ามีอะไรกี่อย่าง เป็นอย่างไร ก็รู้วิธีป้องกันไม่ให้เกิดโลภะ โทสะ โมหะ คือมันเกิดไม่ได้มากกว่า ในชั้นแรกมันก็ป้องกันด้วยสติ แต่เมื่อจิตมันสมบูรณ์อยู่ด้วยสติถึงที่สุด มันก็เกิดไม่ได้ เข้ามาไม่ได้ สมบูรณ์ด้วยสติ สมบูรณ์ด้วยปัญญา มันไม่เกิดความยึดมั่น หรือจับฉวยอารมณ์อะไรสำหรับทำความเศร้าหมอง
ซักข้อปลีกย่อย หรือรายละเอียดก็ได้ ถ้ามันยังข้องใจส่วนไหนอยู่ของปัญหา ปัญหานั้น
ถาม: ถ้าอย่างนั้น จิตของเด็กอ่อนนี่จะถือว่า ผ่องใสได้ไหม แล้วทำไมพอโตขึ้นมาเด็กอ่อนถึงกลายเป็นคนไม่ดีได้
ตอบ: อ้าวก็เด็กอ่อนมันมีจิตประภัสสร แต่แล้วมันก็ไม่สามารถจะป้องกันกิเลส ที่จะเข้ามาครอบงำจิต ยิ่งโตเป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้นมา มันยิ่งเปิดโอกาสให้กิเลส มันก็เศร้าหมอง ก็ต้องไปอบรมกันเสียใหม่ให้เป็นจิตชนิดที่ไม่โง่ ไม่หลง ไม่อะไรอีกต่อไป จึงจะรักษาไอ้ความประภัสสรไว้ได้
ถาม: จิตของพระอรหันต์เที่ยงและเป็นประภัสสร
ตอบ: ประภัสสร ไม่ใช่คำว่าเที่ยง ประภัสสรคือไม่มีเศร้าหมองเพราะกิเลส จิตเป็นนามธรรมเช่นเดียวกับรูปธรรม แล้วก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เปลี่ยนแปลงได้ ดับได้ แต่เดี๋ยวนี้เอากันแต่ว่ามันไม่เศร้าหมอง มันจะเปลี่ยนอย่างไรก็สุดแท้ มันจะเกิดหรือจะดับ มันก็อยู่ได้ด้วยความไม่เศร้าหมอง
ถาม: อาจารย์ครับ ธรรมกายนี้คืออะไร สามารถสร้างให้เกิดในจิตใจได้ไหม
ตอบ: ธรรมกายคือพระธรรม เราไม่ค่อยมีใช้กันคำนี้ เขามีใช้กันก่อนโน้น ฝ่ายมหายานเขาใช้คำๆ มากนี้ พระพุทธเจ้าตถาคตนั่นแหล่ะเป็นธรรมกาย แต่ว่าตถาคตในที่นี้จะไม่ได้หมายถึงบุคคล เขาจะหมายความที่จิตมันเข้าไปถึงไอ้ธรรมชาติที่คงที่คือนิพพาน หรืออมตะ หรืออสังคต นั่นน่ะจิตมันถึงอันนั้นเรียกว่าตถาคต ถึงซึ่งตถา ตถาคตชนิดนี้เรียกว่าธรรมกายก็ได้ เรียกว่าพรหมกายก็ได้ เป็นกายที่สูงสุด เป็นกายของธรรม จะเล็งถึงภาวะก็ได้ ภาวะที่จิตมันถึงซึ่งธรรม ก็เรียกว่าธรรมกาย
กายแปลว่าหมู่ ธรรมกายแปลว่าหมู่แห่งธรรม ธรรมกายก็มีในพระพุทธเจ้า หมู่แห่งธรรม หรือมีในสาวกก็ได้ สาวกที่บรรลุธรรมก็มีธรรมกายอยู่ในนั้น แต่เราไม่ค่อยได้ใช้ เราจึงไม่ค่อยได้พูด แล้วก็เลยพูดไม่เป็นเกี่ยวกับคำนี้ แต่ที่สำนักวิปัสสนาที่วัดปากน้ำภาษีเจริญเขาใช้คำๆนี้ ไปหาศึกษาดู อยากจะพูดว่าไอ้ตัวความหลุดพ้นนั้นน่ะมันเป็นธรรมกาย
ถาม: อาจารย์ครับ พอจะมีข้อธรรมะอันใดบ้างครับที่จะเสริมสร้างสติปัญญา เพื่อที่จะแก้ไอ้ความลังเลใจที่ไม่ใช่นิวรณ์ มีบ้างหรือเปล่าครับ
ตอบ: มันก็มีของมันแหล่ะ ทุกๆเรื่องมันก็มีเรื่องของมัน มีเหตุของมัน มีฐานของมัน มีอะไรของมัน คุณลังเลเรื่องอะไรก็ไปศึกษาเรื่องนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวเฉพาะคนดีกว่า มันลังเลไม่เหมือนกัน เราเหมาะสมที่จะดำเนินชีวิตอย่างไร ก็ไปหาข้อมูลต่างๆเพื่อจะแก้ปัญหานั้นให้หมดไปจนไม่ต้องลังเล เป็นเรื่องเฉพาะตัวไม่ควรที่จะเอามาพูดกับผู้อื่น แต่ว่าทุกเรื่องมันมีข้อเท็จจริงของมัน มีข้อมูลของมัน มีอะไรของมัน มีรากฐานของมัน เราก็ไปศึกษาให้มันถูกต้องครบถ้วน
ถาม: อาจารย์ครับ เมื่อกี้คำถามที่ว่าจิตของเด็กเป็นประภัสสร แล้วต่อมากิเลสก็เข้ามาครอบงำจิตใจของเด็ก ซึ่งขณะนั้นเด็กอาจจะไร้เดียงสา หรืออาจจะไม่มีความคิดที่จะเจริญเติบโตไปในทางกิเลส ฉะนั้นอย่างนี้เราจะโทษสังคมหรือสภาพสิ่งแวดล้อมได้หรือเปล่าครับ แล้วใครจะเป็นผู้แก้ไขสิ่งแวดล้อมนั้นได้
ตอบ: ปัญหาอย่างนี้ไม่มีใครตอบได้ จะให้ใครรับผิดชอบล่ะ มันมาโดยขนบธรรมเนียมประเพณี เด็กมันมีจิตใจที่เป็นประภัสสรโดยธรรมชาติ ทีนี้พอมันออกมาแล้ว มันเกิดมาแล้วมันก็ได้รับสัมผัสรอบด้าน เป็นความเอร็ดอร่อยพอใจ เป็นความไม่เอร็ดอร่อยไม่พอใจ นี้มันก็มีจุดตั้งต้นที่จะสร้างสิ่งที่เรียกว่ากิเลสหรือเศร้าหมอง ทีนี้พ่อแม่ก็ไม่รู้เรื่องนี้ ไม่ได้คอยช่วยให้ป้องกันที่ถูกต้อง แนะนำอะไรที่ถูกต้อง ถ้าพ่อแม่เองก็เป็นตัวอย่างแห่งความไม่ประภัสสรอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น เด็กก็ต้องเติบโตขึ้นมาด้วยการเปิดโอกาสให้กิเลสจนความเป็นประภัสสรแทบจะตั้งอยู่ไม่ได้ โตขึ้นๆก็กิเลสก็โตขึ้นด้วย แต่มันก็ต้องมีน่ะ ไอ้เวลาที่มันว่างจากกิเลสโดยบังเอิญโดยอะไรก็ตาม มันก็มีความประภัสสรเดิมเหลืออยู่
เราไม่มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่จะอบรมเด็กๆอย่าให้รัก อย่าให้โกรธ อย่าให้ยึดมั่นถือมั่นในเรื่องอัตตาตัวตนน่ะ มันไม่มี ขนบธรรมเนียมไหนมันก็ไม่มี แล้วบางทีเขาก็เห็นว่าจำเป็นเสียอีกที่จะสอนให้เด็กมันยึดมั่นถือมั่น ให้มันรัก ให้มันโกรธ ให้มันมีฤทธิ์ มีเดช มีกำลังอะไรขึ้นมา แต่ถึงไม่สอนธรรมชาติมันก็สอนเอง เพราะเด็กมันต้องสัมผัสกับสิ่งที่พอใจก็เกิดกิเลสฝ่ายที่เป็นอวิชชา ที่สัมผัสกับสิ่งที่ไม่พอใจก็กิเลสฝ่ายที่เป็นโทมนัสคือโทสะ จนมันรู้จักยินดียินร้ายคือเกิดกิเลส ที่ว่าทำหนักเข้าๆมันก็เข้าแบบอนุสัย ความเคยชินที่ให้เกิดกิเลสมันก็หนาแน่นๆๆ
มันก็เกิดกิเลสได้เก่ง ได้เร็ว ได้มาก นี่กระทั่งโตก็ไม่เคยคิดจะถอนกัน จนแก่จนเฒ่าเข้าโลงก็ไม่มีใครเคยคิดจะถอนมัน เว้นแต่เขามารู้มาศึกมาธรรมะ มาศึกษาศาสนา ซึ่งจะมาตั้งต้นกันใหม่ ที่จะถ่ายถอนกิเลส มีสติควบคุม นี่ก็ลองเอาพวกเรานี่เป็นหลัก มากี่สิบปีแล้ว ยี่สิบปี สามสิบปี สี่สิบปีก็มีเดี๋ยวนี้ ที่เราปล่อยให้กิเลสมันงอกงาม แล้วจะมาคิดถอนกันเดี๋ยวมันก็ก็เหมือนกับเปลี่ยนใหม่ เปลี่ยนแนวใหม่ คงจะกินเวลา กินแรงงงาน กินไอ้สมรรถนะ กินอะไรมากอยู่เหมือนกัน ซึ่งจะเปลี่ยนแนวใหม่ให้เป็นการลดกิเลสลงไป แต่เป็นสิ่งที่ทำได้ และเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง ไม่อย่างนั้นจะมาบวชทำไมถ้าไม่ต้องการจะรู้เรื่องนี้
ดังนั้นควรจะรู้วิธีที่จะควบคุมกิเลสไม่ให้เกิด แล้วอนุสัยก็จะได้ลดลง อาสวะก็จะลดลง ถ้ามันได้ผลจริง สึกออกไปนี้มันก็จะเกิดกิเลสได้ยากได้น้อยกว่าที่แล้วมา แล้วอนุสัยก็จะลดลง อาสวะก็จะลดลง กิเกสมันลดลง ความสุขมันจะมากขึ้น แต่ถ้ามันไม่ได้รับความรู้อะไรเลย มันก็จะเท่าเดิม มาเท่าไรไปกลับไปเท่านั้น ถ้าทำผิดมันอาจจะมากกว่าเดิมก็ไม่แน่ มันมีทางที่จะผิดได้ คือมาทำความล้มเหลวขึ้นในการบวชนี้ แล้วก็เลยความคิดมันเฉเหหัน เหลวหมดแล้วโว้ยทั้งหมดเลย ทั้งหมดเลยใช้ไม่ได้ ก็เอาตามกิเลส มีคนเขาพูดว่าสึกออกไปบางคนเกลียดธรรมะยิ่งกว่าแต่ก่อนอีก ก่อนนี้ยังสนใจธรรมะ พอใจธรรมะ พอมาบวชแล้วก็ทำล้มเหลวเกี่ยวกับธรรมะ สึกกลับออกไปเกลียดธรรมะ เกลียดศาสนา เกลียดอะไรยิ่งขึ้น ปล่อยไปตามกิเลสเต็มที่
ถาม: สัญชาตญาณของมนุษย์นี่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่ทำให้มนุษย์มีกิเลสหรือเปล่า?
ตอบ: ไอ้คำว่าสัญชาตญาณมันภาษาใหม่ คำใหม่ เป็นจิตวิทยา ถ้าตามที่เขาพูดกันอยู่ในภาษาชีววิทยา จิตวิทยา มันก็เรียกว่ามันก็เป็นรากฐานทั่วไปน่ะ จะเป็นรากฐานให้เกิดกิเลสก็ได้ จะเป็นรากฐานให้ละกิเลสก็ได้ สัญชาตญาณที่มันรักดีนั่นนะมันจะทำให้การละกิเลสได้ สัญชาตญาณแห่งยึดถือตัวกูของกูนี่มันจะให้เกิดกิเลส ส่งเสริมกิเลสได้ มันต้องพัฒนาสัญชาตญาณให้ถูกเรื่องนะ
สัญชาตญาณแห่งความมีตัวกูของกูนี่ต้องแก้ไขควบคุม จะต้องละลายเสีย สัญชาตญาณที่อยากจะดีที่สุดให้ถึงจุดที่ดีที่สุดของมนุษย์ ข้อนี้ก็ส่งเสริมโดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น แสวงหาอยู่แต่ว่าอะไรมันดีกว่าๆๆ ก็ปฏิบัติในส่วนนั้นให้มันมากขึ้น ความอยากจะให้ดีนี้กระผมถือว่า ตัวผมเองถือว่าเป็นสัญชาตญาณเหมือนกัน เหมือนกับเด็กเล็กๆน่ะเขาอยากดีทั้งนั้นลองถามดูเถิด แล้วเขาก็พยายามทำด้วย พยายามทำให้ดี ให้เก่งกว่าเพื่อน ให้พ่อแม่รัก สัญชาตญาณอยากดีมันมีอยู่แต่ไม่ถูกส่งเสริมให้มันถูกทาง มันก็เลยเป็นเรื่องดีเด่น ดีกิเลสไปเสียอีก ดีข่มคนอื่น ดีไปทำนองนั้น มันก็ไปเข้าสัญชาตญาณตัวกูของกูเสียในที่สุด
สัญชาตญาณที่จะให้รอดอยู่ได้ไม่ตายนั้นน่ะก็ควรส่งเสริม ให้มันรอดๆๆจนรอดจากกิเลส จนเป็นนิพพาน คือความรอดแท้จริงสูงสุด นี่เราอาจจะปรุงขึ้นไปจากสัญชาตญาณอยากจะอยู่รอด หลักเกณฑ์อันเดียวๆกัน จะอยู่รอดทางชีวิตร่างกายนี้ต้องทำให้เหมาะสม มันจึงจะอยู่รอดไม่ตายเสีย นี้ทางจิตก็เหมือนกันทำให้เกิดความเหมาะสม แล้วจิตก็จะรอดจากกิเลส รอดจากการตายทางวิญญาณ การตายทางกิเลส เป็นนิพพานได้
สรุปความได้ว่าการปรับปรุงสัญชาตญาณให้ถูกวิธีนั้นน่ะเป็นเรื่องของธรรมะได้ แล้วมันจะไม่ขัดกับธรรมชาติ เพราะธรรมชาติมันให้มา เราก็ปรับปรุงมัน พัฒนามัน Cultivate Sublimate อะไรก็ตามแล้วแต่จะเรียก ปรับปรุง เพิ่มพูน เปลี่ยนแปลง มีคำพูดหลายคำน่ะที่จะเป็นการปรับปรุงให้ดีขึ้น เราทำที่ร้ายๆให้กลายเป็นดีเสียให้หมด
ถาม: ถ้าอย่างนั้นกระผมยังไม่ค่อยกระจ่างครับ คืออย่างเช่นความกลัวที่ว่าเป็นสัญชาตญาณ การสืบพันธุ์เป็นสัญชาตญาณ ไอ้ทั้งสองอย่างนี้มันมีมาแต่กำเนิด อันนี้รู้สึกว่ามันเหมือนจะเป็นกิเลสดั้งเดิมให้ยึดตัว ให้ตัวมันดำรงอยู่ได้ มันก็เข้ามาหาปัญหาของพระมหาดำรงที่ถามตอนแรกว่าจิตมันไม่ได้ผ่องใส มันแสดงโดยสัญชาตญาณ ไม่ใช่ตัวกิเลสที่ทำให้จิตไม่ผ่องใส
ตอบ: คือว่าสัญชาตญาณที่ให้รอดนี่มันก็เปลี่ยนเป็นให้รอดที่แท้จริง สัญชาตญาณแห่งการสืบพันธุ์ ก็สืบพันธุ์อยู่ไว้สำหรับบรรลุจุดสูงสุดสิ อย่าสืบพันธุ์เพื่อเอร็ดอร่อยสนุกสนาน สืบพันธุ์สำหรับว่ามนุษย์อย่าตายเสีย อย่าขาดตอนเสีย มีอยู่เรื่อยไปจนกว่าจะบรรลุถึงจุดสูงสุดคือนิพพาน
ทีนี้เรื่องความกลัวก็พัฒนามันให้ดี เปลี่ยนมากลัวสิ่งที่ควรกลัว คือกลัวกิเลส กลัวความทุกข์ แล้วก็กำจัดกิเลส กำจัดความทุกข์เสีย ความกลัวโดยสัญชาตญาณก็กลัวอันตรายของชีวิต อันตรายต่อชีวิต มันก็กลัว ทีนี้มันเป็นเด็กๆเกินไป ไปกลัวอะไรที่น่ากลัวกว่านั้น กลัวกิเลส กลัวความทุกข์ กำจัดศัตรูตัวนี้เสียได้เพราะประโยชน์จากสัญชาตญาณแห่งความกลัวเหมือนกัน นับตั้งแต่กลัวบาป กลัวกิเลส กลัวความทุกข์
ผมว่าสัญชาตญาณทุกรูปแบบน่ะถ้าพัฒนาเป็นไปในทางดีได้ เขาเรียกว่าเปลี่ยนแนว ไม่ใช่ทื่อๆไปตามนั้น แต่ใช้กำลังอันนั้นให้มันไปถูกแนวใหม่ เปลี่ยนเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ กำลังของกิเลสเปลี่ยนเป็นกำลังของโพธิเสีย กำลังของราคะนี่เปลี่ยนให้เป็นกำลังของสติปัญญาเสีย กำลังของโทสะเปลี่ยนเป็นกำลังของสมาธิเสีย
มันเป็นที่แน่นอนแล้ว เปลี่ยนไม่ได้แล้วว่าเรามันมาโดยสัญชาตญาณ สัตว์ทั้งหลายมันเกิดขึ้นมาพร้อมด้วยสัญชาตญาณ มีสัญชาตญาณเป็นเดิมพัน ทีนี้ก็จับเอาสัญชาตญาณนี้มาดูกันเสียใหม่ มาพัฒนาเสีย เปลี่ยนกระแส เปลี่ยนแนวเสียใหม่ให้ถูกต้อง เปลี่ยนแนว ของที่เป็นอันตรายกลายเป็นของมีประโยชน์ไป ไอ้คำๆนั้นแหล่ะคือว่าเปลี่ยนแนว
ถาม: ถ้าอย่างนั้นสัญชาตญาณนี้จะถือเป็นอวิชชาได้ไหม
ตอบ: ก็มีสัญชาตญาณแห่งอวิชชา มันก็มีอยู่ส่วนหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้เขาอยากจะให้มองกันในแง่ที่ว่า สำหรับสิ่งที่เรียกว่าจิตนั้นน่ะมีคุณสมบัติประภัสสร คือไม่ได้เจืออยู่ด้วยกิเลส ไม่ได้เจืออยู่ด้วยอวิชชา ให้กิเลสให้อวิชชาเป็นของอีกสิ่งหนึ่ง เป็นของใหม่ เป็นของเข้ามาครอบงำจิต ถ้าจิตสู้ไม่ได้ก็สูญความประภัสสร ถ้าจิตสู้ได้มันก็ยังคงเป็นประภัสสร เดี๋ยวนี้เขาก็พบวิธีคือธรรมะ หรือศาสนานี่เป็นวิธีที่จะคงจิตไว้ในความเป็นประภัสสรกันให้ถึงที่สุด
ถาม: ท่านอาจารย์ครับแล้วอย่างจิตของพวกพระโสดาบันนี่ก็มีปกติส่วนใหญ่เป็นประภัสสรใช่ไหมครับ
ตอบ: มันก็กว่าปุถุชน ใช้คำอย่างนั้นดีกว่า วัดตวงโดยตรงไม่ได้ ก็ต้องพูด ก็มีความเป็นประภัสสรมากกว่าจิตปุถุชน
ถาม: แล้วหลังจากที่เริ่มเป็นพระโสดาบันนี่ แล้วการประพฤติปฏิบัติของเขาหลังจากนั้นเป็นไปในรูปไหน
ตอบ: รูปดีขึ้นๆ โสดาบันคือถึงต้นเงื่อนของความถูกต้อง ทีนี้ต่อนั้นมันก็มีแต่ความถูกต้องมากขึ้นๆๆ เขาเรียกว่า อมตัทวารัง ฐิโต ตั้งอยู่ที่ประตูแห่งอมตะ ต่อจากนี้ก็เข้าประตูไป คำเปรียบของพระโสดาบันมีอยู่มาก คำเปรียบที่น่าสนใจคำ อมตัทวารัง ฐิโต ยืนอยู่ที่ประตูแห่งอมตะ คือต่อไปนี้ก็ก้าวเข้าไปในประตูนั้น ประตูนิพพาน
ถาม: พอจะมีแนวเป็นสังเกตว่าวัดหรือว่าจิตหลังจากที่เป็นพระโสดาบันเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่ที่เป็นพระโสดาบันแล้วมีกิจวัตรในการดำเนินชีวิตอย่างไร
ตอบ: เขามีอยู่แล้วในพระบาลีที่รวบรวมมาพูด มามีหนังสือบางเล่มหลายเล่ม โสดาปัตติยังคสังยุตต์ องค์ประกอบแห่งการบรรลุโสดาบัน คือตั้งอยู่ในมรรคแปดโดยครบถ้วนในระดับแรก ในมรรคมีองค์แปดโดยครบถ้วนในระดับแรกนี่โสดาบัน หรือพูดอีกรูปหนึ่งว่าอะไร ศรัทธาไม่ง่อน ไม่เปลี่ยนแปลงอีกต่อไปในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็มีศีลสมบูรณ์ นี่ก็เรียกว่าเครื่องสังเกตความเป็นโสดาบัน ก็มีอย่างอื่นอีกผมไม่ค่อยได้จำ จำไม่ค่อยได้ ก็ที่กล่าวเป็นลักษณะให้สังเกตว่าการเป็นพระโสดาบันนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
ความคิดจะไม่เปลี่ยนเป็นแนวอื่นอีกแล้วนอกจากแนวของการบรรลุนิพพาน นี่คือความเป็นพระโสดาบัน เรียกว่าผู้ถึงกระแสและไม่เวียนกลับอีกต่อไป ไม่หมุนกลับไปสู่ทางผิดอีกต่อไป จะพูดหลักใหญ่ๆก็พูดว่าละไอ้สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สังโยชน์สามอย่างเบื้องต้นได้ ไปศึกษาดู ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้
คนตกทะเล ว่ายน้ำมาจนถึงเขตตื้น เท้าหยั่งถึงดินได้จะปลอดภัยแน่นี่เรียกว่าพระโสดาบัน ตกทะเลแล้วจมหายตายไปเลยก็ปุถุชน ผู้ที่จะพยายามมาจนถึงเขตน้ำตื้น ยืนถึง แน่นอนว่าจะขึ้นบกนี่เขาเรียกว่าเป็นพระโสดาบัน พูดให้มันธรรมดาๆหน่อยก็เรียกว่ามันแรกถึงกระแสแห่งความถูกต้อง แล้วผิดไม่ได้อีก แล้วมีแต่จะไปข้างหน้าจนถึงจุดสุดท้ายปลายทางแห่งความถูกต้องคือพระนิพพาน นี่คำๆนี้หมายความอย่างนี้ แรกถึงจุดแห่งความถูกต้องอย่างแท้จริง อย่างมั่นคง ไม่มีผิดอีกต่อไป ไม่มีถอยหลังกลับอีกต่อไป แล้วก็ไปลำดับ เป็นลำดับๆไป สกิทา อนาคา อรหัต
ก็คือวิวัฒนาการทางจิตใจทางวิญญาณของมนุษย์ เดี๋ยวนี้เรามารู้จักวิวัฒนาการแต่ทางวัตถุ ทางร่างกาย ทางเนื้อหนังทางวัตถุไม่รู้จักวิวัฒนาการทางจิตทางวิญญาณ ก็เดี๋ยวนี้คนเขาอยากอยู่อย่างมีกิเลสนี่ ก็พูดกันไม่รู้เรื่อง ก็อยากอยู่อย่างเกิน อย่างมีกิเลส เราไปพูดเรื่องความถูกต้อง ความพอดี เขาก็ไม่เอา
ถาม: กระผมอยาจะกทราบวิธีที่จะรักษาจิตให้มั่นคง อย่างเราออกไปอยู่ในสังคมภายนอกที่มีความวุ่นวาย จะมีวิธีการอย่างไรที่จะรักษาจิตให้มั่นคง และเป็นคนที่มีสติแน่วแน่ ตัดสินใจหรือทำอะไรถูกต้องได้
ตอบ: ง่ายสำหรับพูดแต่ว่าทำยากที่สุด ไอ้เรื่องสติก็อย่างที่พูดๆกันนี้มันก็พูดได้ พูดง่าย รู้สึกตัว ก็บังคับตัว สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะนั้นก็ได้เหมือนกัน จะไปอยู่อย่างถูกต้องและมั่นคงในท่ามกลางสังคม จนสังคมลากไม่ไป สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ รัดกุมดี นี่สำหรับสู้ สำหรับต่อสู้ สำหรับไม่ไปในทางเลว โดยเฉพาะฆราวาสต้องมีธรรมะสี่ประการนี้
สัจจะน่ะแข็งโก๊กล่ะ มันอยู่ในความถูกต้องมันไม่ยอมเปลี่ยน ความจริงยึดถือความจริง แล้วทมะก็บังคับไว้ให้มันอยู่ได้ ก็ต้องบังคับจริงเหมือนกันน่ะ มันทำยาก บอกว่าพูดมันง่ายแต่ทำมันก็ยาก แล้วขันตีต้องทนได้ เดี๋ยวนี้อะไรเพราะว่าจะสูบบุหรี่เสียแล้ว เพราะว่าสังคมเขาไม่เล่นด้วยถ้าเราไม่สูบบุหรี่ อย่างนี้มันก็ไม่มีเลยไม่มีอะไรเหลือเลย ทมะไม่มี ขันตีไม่มี อ้างเพียงแต่ว่าสังคมเขาไม่ชอบ ไม่คบเราแล้วถ้าเราไม่สูบบุหรี่ ไม่กินเหล้า ถ้ามันถึงขนาดนี้แล้วอย่ามาพูดกันให้เสียเวลาเลย
ต้องสัจจะ จริง โก๊ก แข็งโก๊ก ทมะก็อดทนเครียด บังคับตัวเครียด ขันตี อดทนอย่างเลือดตาไหลก็ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงนะ แล้วจาคะนี่คอยแก้ไขถ่ายเทไอ้ความกดดันนั้นอยู่ตลอดเวลาก็พอทนได้ นี่จะสู้สังคมอันเลวร้ายปัจจุบันนี้ จะต้องถึงขนาดนี้ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ เรียกว่าฆราวาสธรรมในนวโกวาทนั้นก็มี อันนี้เรียกว่าต่อสู้ ในขั้นต่อสู้
ทีนี้ในขั้นที่จะพัฒนาก้าวหน้าใช้หัวข้อที่จารึกอยู่ที่รูปอวโลกิเตศวรก็ได้ สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันตี คำเหล่านี้ไม่ใช่ลึกใช่ไหม สุทธิคือมันถูกต้อง มันสะอาด มันบริสุทธิ์ ไม่คดโกงไม่หลอกลวงนี่สุทธิ แล้วปัญญานี่มันรู้จริงรู้ถูกต้อง แล้วก็เมตตาผู้อื่น ขันตีต้องทนอีก มีอีก ขันตีมารั้งท้ายอยู่ที่นี่อีก ถ้าไม่ขันตีแล้วมันรักษาไอ้สิ่งเหล่านั้นไว้ไม่ได้ เพราะการที่จะรักษาสิ่งเหล่านั้นไว้ได้มันทำให้เกิดการต้องทน แล้วก็ทนได้ รักษาสุทธิไว้ได้ รักษาปัญญาไว้ได้ รักษาเมตตาไว้ได้ด้วยอำนาจแห่งขันตี
ธรรมะเยอะแยะไปหมด พูดล่ะก็ง่าย แล้วทำยากทั้งนั้นเลย ทีทำแล้วทำยาก แม้จะเป็นคนมีสัจจะสักข้อเดียวเท่านั้นน่ะมันก็ไม่ใช่เล่น นี่ขันตีนี้มันก็ยากนะ โดยมากทนกันไม่ได้ ทนภายนอกก็ไม่ได้ ยิ่งทนภายในยิ่งทนไม่ได้ ที่เขาล้อเลียนด่าว่าดูหมิ่นดูถูกนี้ก็ทนไม่ได้ นี่ทนภายนอกก็ทนไม่ได้ ทนนอกๆผิวหนัง เช่นว่าเจ็บไข้ได้ป่วย ร้อนหนาวนี่ก็ทนไม่ได้ ที่ทนภายในคือกิเลสมันขี่คอ บีบคั้น ไสหัวให้ไปทำเลวมันก็ทนไม่ได้ เช่น เลิกบุหรี่ไม่ได้ เลิกเหล้าไม่ได้ เพราะมันทนไอ้ภายในนี้ไม่ได้
มีขันตีอย่างเดียวมันก็มหาศาล คุณค่าของมันมหาศาล ขันตีเป็นกำลังของผู้บำเพ็ญพรตเขาว่าอย่างนั้น พุทธภาษิตด้วย ขันตี พลัง วยตีนัง ขันตีเป็นกำลังของผู้บำเพ็ญพรต บำเพ็ญพรตคือทำความดี ความถูกต้อง ขันตีเป็นกำลังของผู้บำเพ็ญพรตคือทำความดีความถูกต้อง ขาดขันตีก็คือหมดกำลัง พ่ายแพ้ นี่เราแนะแต่หัวข้อ รายละเอียดไปหาเอาเอง ในการต่อสู้กับสังคมใช้สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ ในการพัฒนาตนเองอยู่ในสังคมเพื่อประโยชน์เขาประโยชน์เราด้วย ใช้สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันตี
ก็สังคมเดี๋ยวนี้เขาเป็นสังคมที่ต้องการจะมีกิเลส ต้องการจะรับใช้กิเลส เราจะไปสังคมกับเขาอย่างไร ด้วยวิธีใด สังคมเพื่อดึงเขามาให้มันถูกต้อง หรือว่าสังคมเพื่อไปเข้าฝูงกับเขานี่มันไปอย่างนั้น ที่ผมได้ยินมาด้วยตนเองมากคนมากมายหลายคน ตัวเขาฝืนสังคมไม่ได้ เขาไม่กล้าทำผิดจากไอ้วิถีของสังคม เขาทิ้งสังคมไม่ได้ เขาต้องทำตามสังคม เพราะฉะนั้นเขาต้องเป็นอย่างที่เขาเป็นกันอยู่ จึงกินเหล้า จึงสูบบุหรี่ จึงบ้ากามารมณ์ จึงอะไรไปตามเรื่องของเขา รวมความแล้วก็คือไปบูชาส่วนเกินเพื่อกิเลส
ถ้าพูดถึงส่วนเกินมันเพื่อกิเลสทั้งนั้น ถ้าส่วนพอดีมันจึงจะเพื่อสติปัญญา เพื่อโพธิ เพื่อปัญญา ทีนี้เขาไปกินเหล้า ไปสูบบุหรี่ ไปอะไรต่างๆ ไอ้เริงรมณ์ต่างๆนั้นน่ะ มันเป็นส่วนเกินของสติปัญญา มันไปเป็นส่วนต้องการของกิเลสตัญหา นี่คือสังคมเขายังนิยมกันอยู่อย่างนี้ ทีนี้เราจะทำอย่างไร บางคนเขาก็มาบอกว่า เจ้านายหรือผู้บังคับบัญชาเขาไม่ชอบถ้าผมไม่กินเหล้า เขาไม่ชอบว่าอย่างนี้ ก็ตามใจคุณ คุณจะให้พระพุทธเจ้าชอบ หรือว่าจะให้นายของคุณชอบก็แล้วแต่
แต่ผมยังบอกว่าถึงอย่างไรก็เถิดเรายังมีวิธี ถ้าเรามันยังซื่อตรงต่อธรรมะ เรายังมีวิธีที่จะทำให้นายไม่เล่นงานเราโดยที่เราไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่ทำอบายมุข แล้วในขั้นสุดท้ายนายเขาอาจจะนับถือก็ได้ แต่นี่คุณมันกลัวล่วงหน้า หรือมันเอาความขี้ขลาดมายึดถือเสียด้วย ถ้านายเขาไม่ชอบไอ้การทำความดีทำความถูกต้อง ก็ควรจะเปลี่ยนนายกันเสียบ้าง ถ้ามันไม่มีให้เปลี่ยนก็ต้องพยายามต่อสู้ให้ดีๆ ก็ใช้ปัญญา ใช้ไหวพริบ ใช้ปฏิภาณ พูดจาให้ดีๆโดยที่เราไม่ต้องทำชั่ว
อย่าไปทำให้มันเหมือนกับว่าดูหมิ่นดูถูกนายเข้า เราไม่กินเหล้าเราดีกว่านาย นี่มันแสดงอาการดีกว่านาย อย่างนี้มันทำไม่ได้ เราต้องมีความจำเป็นอย่างอื่น มีเหตุผลอย่างอื่น กินเหล้าไม่ได้อย่างนี้ก็ขอตัว ก็คงไม่เป็นไร เขาคงไม่เกลียดชังอะไรนัก แต่ถ้านายเขาโกง เขาทุจริต เขาให้เราทำด้วย นี่เราก็หาทางหลบหลีกเอาเองเถิด ถ้าหลีกไม่ไหวก็เปลี่ยนนาย แต่ถึงอย่างไรก็ดีเราเชื่อว่าไอ้ธรรมะนี้ยังมีที่อาศัย มีที่อยู่ ขอให้ถือธรรมะให้จริงๆเถิดมันมีที่ที่ยกเว้น ที่อาศัย ที่ให้อยู่ได้
แต่ว่าข้อนี้มันก็จริงอยู่เหมือนกัน คือว่าโลกนี้น่ะมันหมุนไปในทางอธรรมมากขึ้นก็ได้ ธรรมะหาที่อยู่ยากเพราะว่ามันหมุนไปทางอธรรมมากขึ้น มันเป็นยุคเป็นสมัยที่เนื้อหนังมันมีอำนาจ กิเลสมันมีอำนาจ บูชาวัตถุมากเกินไป บูชาวัตถุก็คือบูชาความเอร็ดอร่อย มันก็ต้องเป็นทาสของกิเลส ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นเพราะว่ามนุษย์จะมีกิเลสมากขึ้น แล้วก็จะทำอันตรายกันเอง เพราะเขาทำทุกอย่างเพื่อกิเลส เพื่ออร่อยของเขา
ถ้าหากว่าไอ้พวกจิตนิยม มโนนิยม มันทำเพื่อความถูกต้องของธรรมะมากกว่า หรือเพื่อความสุขทางจิตมัน ก็ไม่ต้องการวัตถุอะไรนัก เพราะฉะนั้นก็ไม่เป็นทาสของกิเลส มันก็ไปบูชาความถูกต้องหรือธรรมะ หรือว่าอย่างเลวที่สุดมันก็เพื่อเอาบุญแหละ เช่นเราจะทำอะไร เดี๋ยวนี้พวกนี้ก็ทำเพื่อเอาอร่อย ไอ้พวกนั้นมันทำเพื่อเอาบุญไปกันสุดทางโน้น
คนสมัยโบราณเขามีจิตใจสูงถึงกับว่าเพื่อบุญ เพื่อกุศล เพื่อไอ้ความดีของมนุษย์นั่นแหล่ะ เดี๋ยวนี้มันเพื่อตัวกู ความร่ำรวย เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติของตัวกู แล้วก็รุนแรงมากขึ้น เป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นกำนัน เป็นนายอำเภอเพื่อเอาบุญสักทีไม่ได้เลย นี่ผมขอร้องเป็นผู้ใหญ่บ้านนี่เป็นเพื่อเอาบุญหน่อยซิ ทำอะไรแต่ที่มันเป็นบุญ เป็นกำนัน เป็นนายอำเภอ เป็นผู้ว่าฯ เพื่อเอาบุญกันบ้าง อย่าเพื่อเอาอะไรๆนั่นเลย
แต่ก่อนนี้ผมอบรมผู้พิพากษาปีแรกๆเพื่อความเป็นปูชนียบุคคล เพื่อธรรมะ แต่นี่พอมาอ่านข่าววันก่อนที่ผู้พิพากษาเขาต่อสู้เรื่องเงินเดือนแล้วหมดเลย เราหมดหวังที่จะให้เขาคิดเพื่อจะเป็นปูชณียบุคคล เขาต่อสู้เพื่อเงินเดือนเล็กๆน้อยๆ เอาเกียรติยศเข้าไปแลก ต่อสู้เพื่อให้ได้เงินเดือนนั่นนี่ขึ้นมา ปรับเงินเดือนกันใหม่ ไม่นึกถึงปูชนียบุคคล ก็เป็นอันว่าเลิกกัน การอบรมนั้นมันก็เป็นถูกหัวเราะเยาะไป อาชีพที่ได้บุญ อาชีพผู้พิพากษา อาชีพครูบาอาจารย์ อาชีพเหล่านี้เป็นอาชีพที่ได้บุญ ไอ้เงินเดือนอย่าไปนึกถึงมันเลย
ถาม: ผมอยากทราบข้อคุณธรรมที่จะชักนำเยาวชนให้ปฏิบัติดี ที่สำคัญมีอะไรบ้าง
ตอบ: ชักนำยุวชนให้รักดี จะเอากันถึงขนาดไหน
ถาม: เป็นพวกที่ว่าสำเร็จในชีวิต คือสามารถที่จะมีชีวิตอย่างมีความสุขได้โดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ตอบ: ก็ไปดูปัญหาของยุวชนปัจจุบันเสียก่อน เขากำลังหลงใหลในอะไร เราไปเสนอสิ่งที่ดีกว่า ถูกต้องกว่า แต่แล้วก็เป็นสิ่งที่เราเองก็ไม่เอา นี่มันลำบากเอาตอนนี้ที่ไปชวนคนอื่นเอาแต่เราเองก็ไม่เอา สอนให้เขาเข้าใจก็ไม่ดีเท่ากับเราทำให้ดูจริงๆ เป็นอยู่ให้ดูจริงๆ รากฐานของศีลธรรมมันไปอยู่ที่โน้นน่ะ ที่ว่าเกิดความรู้สึกยอมรับว่าทุกคนเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย เราบังคับความรู้สึกอย่าลุอำนาจแก่โลภะ โทสะ โมหะ ความดีของมนุษย์มันอยู่ที่สันติสุขของทุกคน ฉะนั้นเราไม่เบียดเบียน ไม่ลุกล้ำ ไม่อะไรใคร นี่โดยหลักทั่วๆไปนะจะต้องเป็นอย่างนี้
แต่เดี๋ยวนี้ปัญหาของยุวชนมันดูจะไม่ใช่อย่างนั้นเสียแล้ว เกือบจะทั้งหมดยุวชนนีร้เขากำลังลุ่มหลงลัทธิฝ่ายซ้าย มันไม่รู้มันอบรมสั่งสอนกันมาอย่างไร เด็กๆมันฮึกเหิมคะนองในความที่จะเป็นซ้ายแล้วทำลายขวานี่มาก ถ้ามันยังมัวเมาอย่างนี้อยู่ก็ยากเหมือนกันที่จะดึงไปหาธรรมะ เพราะว่าเขาไปมีเรื่องไอ้ส่วนตัว มีเรื่องแหวกแนว นี่คือปัญหา อันนี้คือข้อเท็จจริงที่กำลังเป็นปัญหา คือยุวชนมันมีโอกาสของมันอย่างไรก็ไม่รู้ ชวนกันนิยมซ้าย มุ่งหมายทำลายขวาเรื่อยๆไป นี่มันไม่ถูกนี่ มันไม่ใช่เรื่องที่ถูก ไปบอกเขาว่าทำอย่างอื่นเถิดให้ซ้ายกับขวามันอยู่กันได้ มันอยู่กันได้ทั้งซ้ายทั้งขวาร่วมกัน ร่วมกันทำมนุษย์ให้มันเจริญ
การสอนให้เกลียดชังนายทุนนี่ทำได้เร็วมากในหมู่ยุวชน มันถูกกับนิสัยนักเลงของคนเรา ชอบแสดงฝีไม้ลายมือ อยากจะเก่ง ไม่ค่อยนึกถึงความถูกต้องหรือเป็นธรรม หรืออะไรนัก ศาสนามันมุ่งหมายถึงกับว่าให้สิงโตมันอยู่ได้กับลูกแกะ ศาสนาของเขามีเป้าหมายอย่างนั้น ไอ้ศิลา ไอ้หินสลักแผ่นหนึ่งที่มีรูปปลาเข้าไปเที่ยวในปากจระเข้ มุ่งหมายอย่างนั้น
แต่เดี๋ยวนี้เขาต้องการจะแยกกัน เขาจะต่อสู้กัน ถ้าคนมีอำนาจมีเมตตากรุณาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คนที่ไม่มีอำนาจ คนมั่งมีเอื้อเฟื้อคนยากจน คนแข็งแรงเอื้อเฟื้อคนอ่อนแอ คนฉลาดเอื้อเฟื้อคนโง่ วิธีนี้เท่านั้นที่โลกมันจะมีความสุข ไปบอกยุวชนให้เข้าใจเสียใหม่อย่างนี้ ไม่ต้องทำลายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เดี๋ยวนี้ฝ่ายขวาก็ทำลายฝ่ายซ้าย ฝ่ายซ้ายก็มุ่งทำลายฝ่ายขวา ไม่คิดที่จะอยู่ร่วมกันโดยสันติ
มีอีกปัญหาทางอื่นก็คือเรื่องส่วนตัว สุขสนุกสนานเอร็ดอร่อยของตัว ไม่ต้องนึกถึงผู้อื่น ธรรมชาติมันต้องการให้อยู่กันได้ระหว่างสิ่งที่แตกต่างเหลื่อมล้ำกันถึงขนาดนี้ ธรรมชาติมันมุ่งหมายอย่างนั้นนะ คนไม่มอง ทีนี้ศาสนายิ่งมุ่งหมายอย่างนั้นแรงขึ้นไปอีก ให้คนมันอยู่ได้กันทั้งที่เหลื่อมล้ำต่ำสูงกันที่สุด ศาสนาเกิดขึ้นเพื่อประนีประนอมอันนี้ นี่เขาก็ไม่ใช้ศาสนาเพื่อความเป็นอย่างนี้ แล้วก็ผิดหลักธรรมชาติที่ต้องการให้มันอยู่ร่วมกันได้ในโลกนี้
ก่อนนี้มันอยู่กันได้เต็มไปหมดน่ะ เสือก็มีมาก กวางก็มีมากแต่มันอยู่กันได้ อย่างในทะเลนี่ปลามันจะเต็มจนมันจะไม่มีน้ำ จะมีแต่ปลาอยู่แล้ว ไอ้ปลาที่เป็นเหยื่อปลาอื่นมันก็มีอยู่มาก ไอ้ปลาที่กินปลาอื่นมันก็มีอยู่มาก มันมากขึ้นได้อย่างไร ก็ธรรมชาติมันจัดมาถูกต้องเพียงพอ เดี๋ยวนี้ปลาเกือบจะไม่มีในทะเลเพราะมนุษย์ต่างหากล่ะ ไม่ใช่ปลามันทำลายกันเอง ก่อนที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องกับทะเลมันมีปลาจะเต็มทะเล เดี๋ยวนี้ปลาจะหมดทะเลเพราะมนุษย์ ถ้าปล่อยเขาตามลำพังปลามันอยู่กันได้แล้วก็จะมากขึ้น
ในป่านี้ก็เหมือนกันแหล่ะ มันอยู่กันได้มีเสือเป็นฝูงๆ มีกวางเป็นฝูงๆ มันอยู่กันได้ มันไม่หมด นี่มันเพิ่งหมดทั้งกวางทั้งเสือเพราะมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง เหมือนกับตะไคร่น้ำ ตะไคร่พันธุ์พืช พันธุ์ตะไคร่ มันเกาะอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่โต มันอยู่กันได้ขอให้มันมีหลักอย่างนั้น หญ้าบอนมันก็อยู่กันได้กับป่าไม้ต้นไม้สูงๆ ไปดูที่เป็นดงจริงๆน่ะมันอยู่กันได้ ไม้ใหญ่โตก็อยู่ได้ ไม้ขนาดกลางก็อยู่ได้ หญ้าบอนก็อยู่ได้ ตะไคร่ก็อยู่ได้ อยู่ตรงนั้นอยู่รวมกันโดยสันติได้ นี่คือธรรมชาติ ฉะนั้นเราให้คนจน คนมี คนกลางๆ คนอะไรก็ตาม มันอยู่กันได้ทั้งนั้น ถ้าเกิดลัทธิอย่างนี้ขึ้นมาในโลกมันก็มีสันติสุข สันติภาพ
เดี๋ยวนี้มันเห็นแต่แก่ตัว มันจะเอาประโยชน์ผู้อื่นมาใส่ตัวจนมันต้องต่อสู้กัน พวกหนึ่งเก่งกว่ามันก็รวย พวกหนึ่งมันไม่เก่งมันก็จน แต่ก็มันอยากจะรวย มันพร้อมที่จะรวย อยากที่จะรวยเหมือนกัน พระเป็นเจ้าอยากให้อยู่กันร่วมกันได้ทั้งคนจนและคนรวย ถ้าถือศาสนาก็ต้องเชื่อพระเจ้า ก็ทำไปในทางที่ไอ้คนจนกับคนรวยอยู่ด้วยกันได้ ที่ผมพูดว่าให้นายทุนขูดรีด นายทุนใจร้ายเปลี่ยนเป็นเศรษฐีใจบุญน่ะ
นายธรรมนูญ สิงคารวณิช เขามาเมื่อวานนี้ เขาบอกเขายอมรับลัทธิอันนี้ เดี๋ยวนี้ในโรงงานเขาดีมาก ยิ้มแย้มแจ่มใสกันกับคนงาน กรรมกร เขาช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้รายได้สูงขึ้น ทำความเป็นมิตรกับลูกจ้าง เขามี ทำงาน บริษัทไม้ขีดไฟเมืองชล แล้วเขาได้ยินวิทยุปาฐกถาธรรมเมื่อไม่กี่วันนี้ เขาบอกว่าเขาเห็นด้วยในฐานะที่เขาเป็นนายทุนคนหนึ่ง แล้วมันดีขึ้นกว่าแต่ก่อนที่ลูกจ้างกับนายจ้างตามันไม่ค่อยสบกัน มันก็เลยไม่ค่อยกินกัน เดี๋ยวนี้ไม้ที่ทำก้านไม้ขีดไฟทางจังหวัดชลหมดก็จะมาขนไปจากสุราษฎร์นี่ จะมาหาจากสุราษฎร์ เขาแวะมาเยี่ยมผม รู้จักกันนานแล้ว มีสำนักวิปัสสนาส่งเสริมให้มีการปฏิบัติวิปัสสนาเรียกว่าวิเวกาศรมที่ชลบุรี อาจารย์พม่าอยู่ประจำที่นั่น
ถ้านายทุนเปลี่ยนเป็นเศรษฐีใจบุญมันก็หมดปัญหาในโลกนี้ ให้เด็กๆยุวชนมันเข้าใจเสียใหม่ว่าจะต้องถือไอ้หลักการอันนี้ อย่าไปยุไอ้กรรมกรให้ฆ่านายทุนแล้วตัวเองก็เข้าสมทบช่วยเหลือด้วย มันไม่มีทางที่จะสงบสุขได้ เพราะว่านายทุน เอ้ย... เพราะว่ากรรมกรก็คือคนที่อยากจะเป็นนายทุนอยู่แล้ว ข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนั้น ได้โอกาสเมื่อไรมันก็อยากเป็นนายทุน เป็นนายทุนทันทีพวกกรรมกรนี่
เมื่อไปหลงใหลบูชาลัทธิจะทำลายล้างนายทุน ลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิอะไรก็แล้วแต่ที่จะล้มล้างนายทุนในโลกนี้ เขากำลังฮือกันมากทีเดียว ยุวชนที่ฮือกันไปในทางนี้ เดี๋ยวนี้ก็พูดธรรมะ สอนธรรมะ เอาธรรมะ เอาศีลธรรมแทรกแซงเข้าไปมันก็ลดจำนวนลงบ้าง จะถือธรรมะก็ไม่ต้องทำลายนายทุน ช่วยให้มันอยู่กันได้ระหว่างคนยากจนกับคนมั่งมี นี่ความเห็นของผมนะว่าถ้าจะชักจูงเยาวชนยุคปัจจุบันให้มีความถูกต้องไปสู่สวัสดีมงคลแล้ว ให้เขาเลิกคิดไอ้ชนิดที่ว่าจะเป็นซ้ายจะดีกว่า ให้รู้จักศีลธรรม รู้จักมีชีวิตอย่างถูกต้อง ไปศึกษาระบบศีลธรรมดู ชักจูงไปตามนั้น รายละเอียดมันมีมาก อย่าต้องมาพูดกันที่นี่ มันไม่พอเวลา
ถ้าเราเป็นครูอบรมเด็กให้มีศีลธรรม ตั้งรากฐานขึ้นไปตั้งแต่รากฐานอันแรกว่าพระเจ้าสร้างมา ธรรมชาติสร้างมาเพื่อให้เราอยู่กันอย่างเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายแม้แต่ต้นไม้ต้นไร่ก็ให้อยู่กันอย่างเป็นเพื่อนอย่าทำลายกัน มีแต่ความเมตตากรุณามันก็จะไม่เบียดเบียนกัน จะซื่อตรงรักใคร่กัน จะกตัญญูต่อกัน มันมีอะไรตามมาทีหลังอีกมากถ้าเรายอมรับว่าทุกคนเป็นเพื่อนหรือเป็นพี่น้อง แล้วเด็กๆจะต้องเริ่มหัดบังคับความรู้สึกเลวร้ายที่เมื่อก่อนนี้มันไม่มี เด็กๆมันเกิดมาอย่างบริสุทธิ์ประภัสสรแล้วมันก็ค่อยมีความรู้สึกเลวร้าย เช่น ความโกรธ ความโลภ หรือกามารมณ์ มันค่อยมีขึ้นๆ
เขาต้องยอมรับว่าไอ้สิ่งเหล่านี้มันเป็นอันตราย แล้วเขาก็พร้อมที่จะบังคับมันมากขึ้นๆด้วยบังคับความรู้สึกให้จิตมันเป็นอิสระ อย่าไปอยู่ภายใต้ไอ้ความรู้สึกเลวร้ายแบบนั้น เขาเรียกบังคับความรู้สึก บังคับตนเอง เดี๋ยวนี้เขาไม่บังคับนี่ เขาจะเอาแต่ตามอำนาจกิเลส แล้วพ่อแม่ก็ไม่บังคับ พ่อแม่ก็ไม่เป็นตัวอย่างที่ดีในการบังคับกิเลส พ่อแม่ก็บันดาลกิเลส เด็กๆก็ชอบก็เลยผสมโรงกันเป็นเรื่องพ่ายแพ้แก่กิเลส ตามใจกิเลส
มันมีเด็กผู้ชายตัวเล็กกว่าไอ้ตี๊ดอีกที่ตรงนี้วันนั้นเมื่อเย็นนี้มากับผู้ใหญ่หมู่หนึ่ง ไอ้เด็กคนนี้สูบบุหรี่ด้วย แล้วก็ดูจะถูกใจผู้ใหญ่เหล่านั้น สูบบุหรี่อย่างผู้ใหญ่สูบนั่นน่ะ บุหรี่อย่างเดียวกับผู้ใหญ่สูบ เขาหมุนไปหมุนมาสูบบุหรี่อยู่ที่ตรงหญ้านั่นน่ะ แล้วมีผู้หญิงบ้านนอกแก่ๆอีกคนก็สูบบุหรี่ด้วยเหมือนกัน สูบบุหรี่สมัยใหม่ มีคนนั่งสูบบุหรี่บ่อยที่ม้า ม้ายาวๆหน้ากุฏิผม พวกที่มาเที่ยว เราไม่มีเวลาพอที่จะพูดให้เขาเกลียดบุหรี่ได้ พูดสองสามคำไม่สำเร็จ เขาไม่ทันเข้าใจ ก็เลยไม่พูด
มันไม่มีหลักเกณฑ์ว่าอะไรไม่มีประโยชน์ อะไรให้โทษและต้องเลิกนี่ เขาไม่มีหลักเกณฑ์อย่างนี้ จนกระทั่งไม่รู้อะไรมีประโยชน์ อะไรไม่มีประโยชน์ อะไรให้โทษ เขาก็ไม่รู้ เขาก็ไม่สนใจ อร่อยแล้วก็ดี แล้วเกือบทั้งหมดที่มานั้นยังมีหัว อะไรล่ะ ไสยศาสตร์งมงาย คือขอน้ำมนต์ ขอให้รดน้ำมนต์บ้าง ขอให้เป่าหัวบ้างนะ เกือบจะทุกคน เราบอกว่าทำไม่เป็น บางคนโกรธ พอบอกว่าทำไม่เป็นนี่เขาแสดงอาการโกรธ มีธรรมะเป็นน้ำมนต์เขาก็ฟังไม่ถูก อ้าวใครมีปัญหาอะไรว่าไปอีก เวลามันนั่นเข้าแล้ว
ถาม: เกล้าขอเรียนถามว่า จะกำหนดเวลาอย่างน้อยประมาณสักเท่าไรจึงจะเรียกว่าจิตมีอารมณ์เดียวคือเอกัคคตาจิต มันจะพอทำได้ไหม
ตอบ: อ้าว...มันก็แล้วแต่จะทำได้ แล้วแต่จะรักษาความเป็นสมาธิไว้ได้ เมื่อหัด ฝึกหัดดี ฝึกหัดจริงมาก มันก็ได้นาน ได้ยาวออกไปๆ รักษาความเป็นสมาธิได้เป็นชั่วโมง เป็นหลายชั่วโมงนี้ อยู่ที่การทำ
ถาม: ที่ข้อเกณฑ์จะเรียกว่าเป็นเอกัคคตาจิตอย่างต่อเนื่อง พอจะกำหนดเป็นเวลาได้ไหม
ตอบ: แว่บหนึ่งก็เรียกว่าเอกัคคตาจิต เพียงแว่บหนึ่งเรียกว่าเอกัคคตาจิต ให้มันนานเท่าที่มันจะนานได้ ให้มันนิ่งแน่วแน่แน่วไปให้มันนาน คนโบราณเขาพูดว่าเป็นสมาธิแน่วแน่นี่ ชั่วช้างปรบหู ชั่วช้างกระดิกหู ก็ยังได้บุญได้กุศลมากกว่าทำอะไรอย่างนั้นอย่างนี้ เลี้ยงพระเลี้ยงเจ้า สร้างวัดสร้างวา เขามีคำพูดไว้แต่ก่อนอย่างนั้น ทำจิตเป็นสมาธิได้ชั่วช้างปรบหู ช้างนี่ปรบหูบ่อย คงจะทุกๆนาที อย่างนั้นชั่วช้างปรบหูทีหนึ่งก็คือราวๆนาทีหนึ่งนั้นน่ะ เพียงเท่านี้ก็ว่าเป็นบุญเป็นกุศลสูงสุดกว่าทำอะไรที่เขาชอบทำกัน เป็นคำโฆษณาสำหรับให้นิยมสมาธิ
ก็เพิ่มให้มันมากขึ้น ถึงแม้จะไม่นั่งอยู่ในสมาธิ เป็นฌานอยู่ในสมาธิ ก็ขอให้ผลของความเป็นสมาธิยังหล่อเลี้ยงจิตใจอยู่ตลอดเวลา ลุกออกไปจากที่นั่งทำสมาธิแล้วจะไปทำอะไรที่ไหน ไปอาบน้ำ ไปฉันข้าว ไปอะไรก็ขอให้จิตมันยังดื่มรสของสมาธินั้นอยู่ ที่เรียกว่าจิตบริสุทธ์อยู่ จิตมั่นคงอยู่ จิตว่องไวในวิปัสสนาอยู่ ก็ใช้ได้เหมือนกัน ให้มันเป็นอย่างนี้เป็นวันๆๆๆไปเลย
คือว่าอยู่มีชีวิตอยู่อย่างธรรมดานี้ล่ะ ทำทุกอย่างอย่างที่ควรจะทำตามธรรมดา แต่ภายในจิตนั้นสงบเย็น มีผลของความเป็นสมาธิอาบรดอยู่ ชโลมอยู่ หรือรดอยู่ อย่างนี้จะดีเสียกว่าไอ้นั่งทำสมาธิลุกขึ้นไม่ได้ ที่ทำสมาธิให้มันแน่วแน่ให้มันนานๆก็เพื่อว่าผลมันประทับลงไปในจิตใจนานๆ แรงกระทั่งออกมาเดินมาทำอะไรอยู่แล้วมันก็ยังมีความสงบในภายในอยู่ เขาคงทำกันอย่างนี้ ภิกษุที่ทำสมาธิจริงๆก็ยังคงไปบิณฑบาต ยังคงไปถาน ไปอาบน้ำ ไปส้วม ไปอะไรตามที่เคยจะต้องทำนั่นแหละ แต่จิตไม่สูญเสียไอ้ผลของสมาธิ จิตชนิดนี้มันจะเป็นวิปัสสนาเมื่อใดก็ได้ คือเห็นอะไรอย่างลึกซึ้งพรวดพราดออกไปได้
ไอ้สมาธิเงียบกริบไปนานแล้วกว่าจะออกอย่างนั้นเขาเรียกสมาบัติ คือเข้าสมาธิเงียบไปกว่าจะกลับออกมาระยะนั้นเรียกว่าสมาบัติ นานเท่าไรก็แล้วแต่ความสามารถ นานเป็นวัน เป็นสองวันสามวันแล้วแต่ความสามารถ แต่ดูมันจะเกินไป และพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ทรงแนะนำให้ทำอย่างนั้นไปเสียหมด ใครจะทำก็ได้แต่ขอให้จิตเป็นสมาธิชนิดที่มีผลแก่จิตใจอยู่ตลอดเวลา คือตื่นอยู่อย่างธรรมดาไม่ต้องเงียบกริบเป็นสมาบัติ ก็ทำการดูอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เกิดความเบื่อหน่ายในสิ่งที่ยึดถืออยู่ ก็ปล่อยวาง นี่กิเลสจะถูกทำลายไป เป็นเรื่องของปัญญาไม่ใช่เรื่องของสมาธิล้วนๆ เรื่องของสมาธิล้วนๆมันไปทำได้แต่บางคน อ้าว...มีปัญหาอะไรอีก
ถาม: ในเรื่องของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี่เราจำเป็นจะต้องพิจารณาทั้งสามลักษณะไหม หรือว่าจะพิจารณาอนิจจังตัวเดียวได้ คือปัญหานี้กระผมมานั่งพิจารณาดูแล้วเห็นว่าไอ้ตัวอนิจจังนั้นเป็นกฎธรรมชาติอยู่ตัวเดียว ส่วนอีกสองตัวนั้นมันเป็นเรื่องที่เราทำจิตไปนึกถึงมันเข้าว่ามันเป็นทุกขัง อนัตตา คือกระผมพิจารณาอย่างนี้ผิดหรือถูกครับ
ตอบ: ไอ้หลักแท้ๆมันไม่ได้มีว่าอย่างนั้น เขาใช้คำว่าเห็นอนิจจัง เห็นอนิจจังในสิ่งที่ยึดถืออยู่ ความสุขก็ดี อะไรก็ดี แล้วมันก็คลายความยึดถือ มันก็ดับความยึดถือ แล้วก็หมดเรื่องกันมันเป็นอย่างนั้น ถ้าจะดูทุกขัง ดูอนัตตาโดยตรงนี้มันก็มีเหมือนกัน แต่ว่าไม่ใช่หลักที่แท้จริง ไม่ใช่หลักที่เป็นหลักสำคัญหลักใหญ่อะไร มันเป็นเรื่องพูดให้มันครบมากกว่า เขาให้ถือตามหลักอานาปานสติ ๑๖ ขั้นหมวดสุดท้าย ธัมมานุปัสสนา มันจะมีอยู่เพียงสี่หัวข้อ อนิจจานุปัสสีเห็นความเป็นอนิจจังของไอ้สิ่งที่เรายึดถืออยู่ แล้วก็เห็นอนิจจังๆๆ มันก็คลายความยึดถือก็เรียกวิราคานุปัสสี ทีนี้ไอ้คลายๆๆๆเดี๋ยวมันก็ดับไอ้ความยึดถือเรียกว่านิโรธานุปัสสี
ก็หมดน่ะเรื่องจริงๆ มันจบแค่นั้น แต่แถมมาอีกอันหนึ่งว่า ปฏินิสสัคคานุปัสสี ดูความที่เราหลุดพ้นแล้ว คืนแล้ว ทิ้งแล้ว สลัดแล้วอีกทีหนึ่ง คำพูดนี้มันรวมทุกขัง รวมอนัตตาไว้ในอนิจจัง ถ้าเห็นอนิจจังก็ต้องเห็นทุกข์แหละ ถ้าเห็นทั้งอนิจจังและเห็นทุกข์แล้วก็ต้องเห็นอนัตตาแน่ มันเห็นอยู่โดยอัตโนมัติไม่ได้เอามาพูดถึง พูดถึงแต่เห็นอนิจจัง
เช่นเราหลงรักยึดถือกามารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วเอามาดู พอเห็นความเป็นอนิจจังของไอ้สิ่งที่เรายึดถือนั้น ดูอนิจจัง ดูความเป็นอนิจจังของสิ่งที่เรายึดถือ ดูหนักเข้าๆๆ ไม่ใช่พิจารณาด้วยเหตุผลนะ ต้องดูให้เห็นอนิจจังลงไปจริงๆ แล้วมันก็จะเปลี่ยนเป็นวิราคะ คือคลายออก คลายความยึดถือออก คลายความยึดถือออก มันคลายเรื่อยๆไปเดี๋ยวมันก็สิ้นก็เรียกว่านิโรธะ สิ้นแห่งความยึดถือคือกิเลส พอสิ้นกิเลสแล้ว ดูอีกทีว่าโอ้...มันสิ้นแล้ว นี่ปฏินิสสัคคานุปัสสีเห็นความที่หลุดพ้นปล่อยวางสลัดคืน เอาทุกขังกับอนัตตาพ่วงเข้าไว้ในอนิจจัง
แต่ที่ท่านแยกออกมาเป็นสามกลุ่มเต็มๆนี้มันก็มีบ้างเหมือนกัน แต่ไม่เคยพบหลักที่เป็นหลักจริงๆสำคัญๆ อย่างไอ้หลักนี้ คือหลักเห็นอนิจจังแล้วไปวิราคาไปนิโรธาไปเลย เพราะถ้าเห็นอนิจจังมันจะเห็นทุกขังโดยอัตโนมัติติดกันอยู่ เห็นอนิจจังเห็นทุกขังแล้วมันก็จะเห็นอนัตตาโดยอัตโนมัติติดกันอยู่ มันเอาอะไรกับมันไม่ได้นี่มันอนิจจัง มันทุกขังนี่ มันเอาตัวตนอะไรกับมันไม่ได้ มันรู้สึกได้เองเห็นได้เอง ใช้คำว่าอนุปัสสีทั้งนั้นน่ะคือมันไม่ได้ใช้เหตุผล คิดนึกด้วยเหตุผล คือเห็นเลย รู้สึกลงไปเลย เห็นเลย
ใช้เหตุผลว่าเพราะอย่างนั้น เพราะอย่างนี้ เพราะอย่างโน้น เราก็ถือว่าเป็นอนิจจัง เพราะอย่างนั้น เพราะอย่างนี้ ทุกขังมันก็หลอก หลอกตัวเองด้วยเหตุผลที่เอามาใช้ มันเห็นลงไปตรงๆ มันไม่เที่ยงคืออย่างนั้นๆ รู้สึกในความไม่เที่ยงเรียกว่าเห็น ถ้าพิจารณาอย่างวิธีเหตุผลด้วย logic ตรรกะอันนั้นน่ะมันคนละเรื่อง ควรจะใช้บ้างในวิธีอื่นในคราวอื่น แต่ไม่อาจจะบรรลุมรรคผลได้ด้วยการใช้เหตุผลทำนองนั้น บรรลุมรรคผลได้ด้วยการเห็นลงไปตรงๆ ไม่ต้องฝากไว้กับเหตุผล
ถาม: ท่านอาจารย์พอจะมีอุปมาอุปมัยในการดูอนุปัสสีไหม คือดูอย่างไรให้มันเห็นอนุปัสสี
ตอบ: ถ้าเป็นวัตถุก็ดูด้วยตา ถ้าเป็นเรื่องจิตใจก็ดูด้วยความรู้สึก มันไม่ทราบว่าจะอุปมาว่าอย่างไรดี ก็อุปมาเหมือนกับเอาของมาใส่มือดู เห็นว่ามันเป็นอย่างนี้ๆๆ เช่นเรามีความรู้สึกเป็นสุขอยู่ในใจ ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นสุขขึ้นมาในใจได้ แล้วคอยดู อ้าว...เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน เดี๋ยวก็เปลี่ยนโว้ย เดี๋ยวมันก็เสื่อมไปโว้ย มันไปตามเหตุปัจจัยโว้ย อย่างนี้เรียกว่าดูและเห็น แล้วไม่ต้องคำนวณว่ามันเป็นอย่างนั้น แล้วไม่ต้องใช้เหตุผลว่ามันเป็นอย่างนั้น คือดูเห็นอยู่ รู้สึกอยู่ ความรู้สึกที่เป็นสุขนี่เริ่มหวั่นไหวแล้ว เริ่มสลายแล้ว เริ่มเปลี่ยนแล้ว แล้วก็ให้เกิดความคิดเลวๆ แล้วอย่างนี้เป็นต้น
อย่างนี้เรียกว่าเห็น ดูแล้วเห็น ถ้าคำนวณด้วยเหตุผลสิ่งนั้นไม่ต้องมีอยู่ เอามาคำนวณด้วยเหตุผล ศึกษาลับหลังสิ่งนั้น ไม่ได้เอามาใส่ฝ่ามือดู ศึกษาลับหลังสิ่งนั้นด้วยวิธีใช้เหตุผลว่ามันเป็นไม่เที่ยงแน่ ทุกข์แน่อย่างนี้ไม่สำเร็จ เช่น เราจะใช้เหตุผลว่าไอ้ความสุขมันไม่เที่ยง เพราะมีเหตุผลอย่างนั้นๆอย่างนี้ไม่สำเร็จ ต้องมีความสุขอยู่ในใจแล้วรู้สึกลงไปที่ความสุข ดูที่ความสุขแล้วเห็นว่ามันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลงอย่างนี้จึงจะใช้ได้
อย่างที่เราเรียนในโรงเรียนนักธรรม ที่สอนกันอยู่ในโรงเรียนนักธรรม มันอธิบายด้วยการใช้เหตุผลนะบอกว่าเพราะมันเป็นอย่างนั้นมันจึงไม่เที่ยง แต่ในเวลานั้น ในจิตใจของคนนั้น ของครูและลูกศิษย์นั้นไม่มีความรู้สึกที่เป็นสุขหรอก อย่างนี้เรียกว่าไม่มีโอกาสดู ไม่ได้ดู ฉะนั้นเดี๋ยวนี้เรามานั่งอยู่ ทำความสุขให้เกิดขึ้นได้เพราะจิตเป็นสมาธิ แล้วก็ดื่มความสุขนี้ให้มันจริงจัง ให้รู้จักความสุขกันเสียที แล้วก็ดูต่อไป เดี๋ยวก็เห็นไอ้ความไม่แน่นอนของความสุข ความเปลี่ยนแปลงของความสุข ดูด้วยความรู้สึกเขาเรียกว่าตาข้างใน ดูด้วยตาข้างในไม่ใช่ตาข้างนอก อนุปัสสีหมายความอย่างนี้ คือเห็นด้วยตาข้างในว่า อันนี้เป็นอย่างนี้ๆ เห็นความทุกข์ เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ เห็นความดับสนิทแห่งความทุกข์ เมื่อมันดับลงไปในบางคราว เพราะความดับไปแห่งกิเลส
จำไว้ง่ายๆว่าการปฏิบัติวิปัสสนานั้นคือดู เห็น ไม่ใช่คิดแล้วสรุปความ ไม่ใช่คิดแล้วสรุปมตินี้ไม่ใช่ ถ้าจะพูดว่าคิดหรือพิจารณาก็ได้แต่ขอให้เป็นการดูน่ะ เราเคยใช้คำพูดผิดๆกันมาแล้ว ผมก็เคยใช้คำพูดผิดๆว่าพิจารณาหรือคิดนั้นน่ะคือวิปัสสนา แต่เดี๋ยวนี้พอศึกษารอบคอบทั่วถึงเข้ามันก็มองเห็นว่าถูกแล้วตามที่ท่านใช้คำของท่านนั้นถูกแล้ว คือท่านใช้คำว่าอนุปัสสีแปลว่าเห็น ไม่ใช่คิดอย่างอุปามาน อนุมานไอ้อย่างที่ทางของตรรก ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่ตรรกวิทยา
เป็นเรื่องของวิปัสสนาตามแบบของศาสนา เห็นด้วยตาข้างใน คือรู้สึกอยู่ เช่นเรารู้สึกเป็นสุขอยู่นั่นเรียกว่าเห็นความสุข รู้สึกความทุกข์อยู่นั่นเรียกว่าเห็นความทุกข์ ก็เห็นมัน รู้สึกมันเปลี่ยนแปลงคือเห็นความเปลี่ยนแปลง เห็น รู้สึกอยู่ว่ามันเกิดมาจากอะไร เห็นเหตุของมัน ใช้คำเดิมๆของท่านดีกว่าคือว่าดูแล้วก็เห็น เดี๋ยวนี้เราชอบใช้คำว่าพิจารณา คิดพิจารณา มันเลยออกไปทางหาเหตุผลแล้วสรุปมติ อย่างนี้ไม่จริง เป็นเรื่องตรรกะ เป็นเรื่องนัยยะ เป็นเรื่องวิถีทางตรรกวิทยาบ้าง วิถีทางปรัชญาบ้าง ไม่สำเร็จประโยชน์ที่จะละกิเลสได้
มันจะเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจอะไรได้บ้าง แต่มันไม่ละกิเลส ก็ต้องมาดูอีกทีหนึ่ง ไอ้ผลที่สรุปได้จากการใช้เหตุผล ดูอีกทีให้เห็นจริงๆ จะลดทำลายกิเลส ไอ้ที่เรารู้สึกรัก รู้สึกเกลียด รู้สึกอย่างนั้นมันไม่ต้องใช้เหตุผลนี่ เป็นความรู้สึกจริงๆ มันรู้สึกอย่างนั้น มันไม่ใช่การใช้เหตุผลที่ว่าจะเกิดรัก เกิดเกลียด เกิดอะไร เป็นความรู้สึกโดยตรง นี่การเห็นก็เหมือนกัน เห็นความรัก เห็นความโกรธ เห็นความเกลียด ขอให้มันเห็นลงไปตรงๆ เห็นด้วยจิตคือเห็นด้วยตาภายในเรียกว่าธรรมจักษุ ปัญญาจักษุ นี่สำหรับเห็นธรรมะในภายใน ถ้าเรามีมังสะจักษุสำหรับเห็นวัตถุภายนอก
เอ้า...พอสมควรแก่เวลาแล้ว ยังอีก ๓๐นาทีจะปิดไฟ คุณจะกลับไปถึงกุฏิโดยสะดวก
เอาละ ปิดประชุม