แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายเมื่อสักครู่นี้ท่านทั้งหลายได้ฟังคำปราศรัยของท่านเจ้าคุณจบลงไปแล้ว อาตมาตั้งใจว่า ปีนี้จะมาให้ได้เลยก็มา เดินทางเมื่อวานนี้จากท่าศาลา รอรถที่จะขึ้นอยู่จนกระทั่ง ๔ โมงกว่า จึงได้ขึ้นรถ รถทัวร์ กำนันเขาฝากรถมา พอขึ้นรถก็บอกว่า หลวงพ่อไม่มีสตางค์ เอาไปส่งด้วยก็แล้วกัน แล้วเขาก็เอามาส่ง ถึงสุราษฎร์มันค่ำ ก็นึกว่าถ้าขืนนั่งรถมาลงที่นี่มันจะลงไม่ถูก เพราะมืดเดี๋ยวจะเลยไปจะลำบากก็เลยแวะนอนเสียที่สุราษฎร์ พอดีก็จะได้สนทนากับท่านเจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัด มีอะไรหลายอย่างคุยกัน คุยกันจนถึง ๒๓ นาฬิกา จึงปล่อยให้ไปจำวัด ตื่นเช้าก็ออกเดินทางมานี่ต่อไป มาถึงสามแยกก็ลงเดินเตร็ดเตร่ นึกว่ารถใครมันจะผ่านมาบ้าง คือ จะโบกให้มันหยุดตามแบบนักเดินทาง ไม่เห็นรถหยุดสักคันหนึ่ง มีแต่รถบรรทุกดิน เลยเห็นรถโดยสารบอกว่า ไปไชยา ก็ถามเขาว่าเราไปไชยาไปทางไหน ไปทางสายล่าง ไปโบกตลาดโน้น โอ่, ฉันจะไปสวนโมกข์ จะไปแบบนั้นได้ยังไง ถ้าไปสวนโมกข์ไปสายบน ผมไปสายล่าง บอกว่าเธอรับคนเที่ยวหนึ่งได้เงินเท่าไหร่ เขาบอกว่า ๑๕๐ บาท เอ้า, อย่างเธอไม่ต้องไปรับใครรับฉันคนเดียว พาไปส่งสวนโมกข์ก็แล้วกัน ฉันจะให้เต็มอัตรา เลยเขาก็พาบึ่งมาถึงนี้ มาถึงก็ได้ยินเสี่ยงพระสวดอยู่พอดี นึกดีใจว่าทันเวลา ก็เลยมานั่งฟัง ดังที่ท่านทั้งหลายได้ฟังแล้วเมื่อสักครู่ ความจริงก็ไม่ได้ตั้งใจจะมาพูดอะไรหรอก เพราะว่าจะมาฟังมากกว่า แต่เมื่อท่านเจ้าคุณท่านบอกให้พูดก็ต้องพูดกับญาติโยมบ้าง เพราะว่าโยมก็ชอบฟังอยู่เหมือนกัน อาตมานี่มันคนชอบพูดอยู่เหมือนกัน คือ ไปไหนเขาจะให้พูดเสียเรื่อย ไปอยู่ท่าศาลาวันเดียว ให้พูดตั้ง ๒-๓ แห่ง พูดกับเด็กบ้าง พูดกับผู้ใหญ่บ้าง พูดกันไปเรื่อยจนคอแหบคอแห้ง มาถึงนี้ก็สบายใจ
ญาติโยมที่มานั่งอยู่นี่รู้สึกอย่างไร ลองถามความรู้สึกในใจสักเล็กน้อย ว่าท่านรู้สึกอย่างไร เมื่อมานั่งอยู่ในบริเวณป่าตามธรรมชาติ ซึ่งไม่ใช่ธรรมชาติล้วน มีการปรุงแต่งบ้างพอสมควร แต่ว่าความรู้สึกในใจของท่านนั้นเป็นอย่างไร กับเมื่อท่านอยู่ที่บ้านหรือว่าอยู่ในกรุงเทพฯ ที่มีการจราจรคับคั่ง มีเสียงรถยนต์ดังอยู่ตลอดเวลา แล้วเรามานั่งอยู่ในป่าเงียบๆ นี้ท่านจะรู้สึกว่า มันแตกต่างกันหรือไม่ ทุกคนคงจะรู้สึกว่ามันแตกต่างกัน มานั่งอยู่ที่นี่คงจะสบายใจ เพราะไม่มีอะไรรบกวน มันมีแต่เรื่องธรรมชาติหรือมีแต่ลมพัดผ่านไปมา ไม่มีอะไรรำคาญ ท่านก็รู้สึกสบายใจ แล้วพูดได้ว่า เป็นตัวเองขึ้นนิดหน่อย ทุกคนที่มานั่งอยู่ที่นี่นะมีความเป็นตัวเอง ความเป็นตัวเองนี่ถ้าพูดตามภาษาชาวบ้านมันก็แบบหนึ่ง แต่พูดตามภาษาธรรมะมันก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ภาษาชาวบ้านตัวเองมักจะเลอะทุกที ถ้าบอกว่ากูเป็นตัวเองทีไร แล้วเกิดเรื่องทุกที โกรธมั่ง เกลียดมั่ง ริษยามั่ง พูดคำหยาบออกไปมั่ง ตีเขามั่ง ขว้างถ้วยชามแตกมั่ง และอวดเขาทุกที มึงไม่รู้จักกู ไปซะอย่างนั้น กูตัวนี้มันแย่ทุกที พอเป็นตัวเองทีไรก็ยุ่งทุกที นั่นมันเป็นตัวเองตามภาษาเขาเรียกว่า ปากตลาด ชาวบ้านเขาพูดกันอย่างนั้น ตัวเองๆ แต่ว่าความจริงไม่ใช่ตัวเอง มันเป็นตัวอะไร อะไรมันเกิดขึ้นในขณะนั้น มันเป็นตัวกิเลส เกิดขึ้นในใจเกิดขึ้นเพราะอะไร ก็เกิดขึ้นก็เพราะการกระทบผัสสะ ตา หู จมูกลิ้น กาย มันกระทบอะไรเข้า แล้วเรามันไม่มีความรู้ ไม่มีปัญญา ที่จะไปคิดไปค้นให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ในเมื่อไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรมันก็ เปรี้ยงป้างออกมา ตามอำนาจที่สะสมไว้ อนุสัยมันเยอะที่เก็บๆ ไว้ ดองไว้มากมาย ล้นออกมาก็เกิดเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา แล้วก็ไปอวดเขาอีกว่า ตัวข้านั่นมันเป็นอย่างนั้น ไม่รู้จักข้าเหรอ นี้มันตัวอย่าง นั่นไม่ใช่ตัวเอง
ทีนี้เรามานั่งที่นี้ มันเป็นตัวเองในแง่ธรรมะ ก็หมายความว่าสงบ พูดว่าเป็นตัวเอง มันก็ไม่ถูกในความจริง แต่ว่าพูดตามภาษาที่ฟังกันรู้เรื่องว่า เป็นตัวเองหมายความมันสงบอยู่ ยังไม่มีอะไรรบกวนทำให้เกิดความวุ่นวายในจิตใจ คล้ายๆ กับตัวแมลง ท่านมาในป่านี้ มาท่านเดินๆ บางทีอาจจะเจอบ้าง มันขึงเป็นเรดาร์เลยทีเดียว ใยมันขึงจากต้นไม้นี้ ไปต้นไม้โน้น แล้วขึง เป็นวงกลมใหญ่โตยืดยาว เจ้าตัวแมลงที่ทำขึงใยแล้วมันอยู่ตรงไหน มันไปอยู่นิ่งอยู่ตรงกลาง สงบ เป็นตัวเองอยู่ตรงนั้นสงบนิ่ง แต่ว่ามันก็คอยสังเกตดูอยู่เหมือนกันว่า อะไรจะมาเกิดขึ้น ถ้าว่าสายใยด้านใดด้านหนึ่งกระเทือน มันรู้ พอกระเทือนปั๊บ มันก็วิ่งปร๊าดไป ดูว่ามีอะไร มีตัวแมลงออกมาเกาะมาจับ มันก็พิจารณาพอกินได้ไหม ถ้าเห็นว่าพอกินได้ ก็จับดูดเอาน้ำในตัวแมลงนั้นกินเป็นอาหาร ทิ้งคราบให้เกาะอยู่ที่ใยนั้นต่อไป เสร็จแล้วก็กลับมาที่เดิม หมอบนิ่งต่อไป อาการอย่างนี้ มันเกิดขึ้นในตัวเราบ่อยๆ ปกติเรามันก็สงบอยู่ไม่มีอะไร แต่ว่ามีอะไรมากระทบ ก็มันออกไปหา อันนี้การออกไปหา ไปด้วยอะไร ถ้าไปด้วยความโง่ มันก็เกิดสิ่งโง่ๆ ขึ้นมา ถ้าไปด้วยปัญญา มันก็เกิดสิ่งที่เป็นปัญญา ถ้าไปด้วยความโง่ ก็เกิดความโลภบ้าง โกรธบ้าง หลงบ้าง ริษยาบ้าง พยาบาทบ้าง ต่างๆ นานา แต่ถ้าไปด้วยปัญญา ก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่เกิดเรื่อง กลับมานอนที่เดิมต่อไป คล้ายกับคนนอนอยู่ในบ้าน มีเสียงอึกกะทึกครึกโครมหน้าบ้านวิ่งไปดูหน่อย ไปดูก็รู้ว่ารถมันชนกัน ไม่ใช่เรื่องของกู เลยกลับมานอนต่อ หรือมานั่งทำงานต่อไป จิตใจนั้นก็สภาพเช่นเดียวกัน ออกไปดูด้วยปัญญารู้ว่าอะไรแล้วก็กลับมาเสีย ไม่เอาสิ่งนั้นมาด้วย แต่บางทีถ้าไปดูด้วยอวิชชาละก็เอามาด้วย รวบมาหมดเลยรวบหัวรวบหาง ไม่รู้อะไรเป็นอะไร ถ้าเป็นผ้าก็หอบมาทั้งห่อเลย เอามาถึงก็นั่งดู นั่งคิดอยู่ด้วยอำนาจ ความเขลา อย่างนี้มันไม่สงบใจ เกิดเป็นปัญหา ความวุ่นวายอยู่ในใจตลอดเวลา เป็นทุกข์ แต่นี้ถ้าเรามาอยู่ในที่อย่างนี้ ธรรมชาติมันช่วย เพราะว่ามีแต่สิ่งที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ ไม่มีเครื่องยั่วยุให้เกิดอารมณ์ ที่จะเกิดความกำหนัด เกิดความขัดเคือง เกิดความลุ่มหลง เกิดความมัวเมา อะไรต่างๆ มันมีน้อยหรือว่าไม่มี
อีกประการหนึ่งจิตใจของเราที่ออกจากบ้านนั้น เรามาเพื่ออะไร เรามาเพื่อแสวงหาธรรมะ มาเพื่อหาทางดับทุกข์ดับร้อน ที่มานี่ อุตส่าห์ลงทุนนั่งรถกันมาไกลๆ มาเพื่อแสวงหาทางดับทุกข์ ทำไมเราจึงต้องแสวงหาทางดับทุกข์ เพราะเรามันเป็นคนมีทุกข์กันอยู่ด้วยกันทั้งนั้นไม่มากก็น้อย วุ่นวายอยู่ในจิตใจบ่อยๆ ก็นึกว่า มาสวนโมกข์ ซึ่งเป็นชื่อแห่งความหลุดพ้น มาหลุด มาพ้นกันเสียบ้าง มาปล่อย มาวางกันเสียบ้าง มาเอาอะไรๆ ทิ้งไปเสียบ้าง เราจึงมากันในรูปอย่างนี้ อุตส่าห์มากัน วันวิสาขะก็มา วันรอบอายุก็มา วันอะไรที่พอจะมาได้ก็มา เดี๋ยวนี้ถนนหนทางมันดี ขับรถบึ่งมาจากกรุงเทพฯ ก็ยังได้ วันศุกร์เย็นก็มา อาทิตย์เย็นก็กลับอะไรก็ยังได้ เรามาเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ คลายจากความทุกข์ ความเดือดร้อน ความวุ่นวาย ในชีวิตประจำวัน ชีวิตของคนเรานี้ มันต้องมีการพักผ่อนบ้าง ไม่ใช่ว่าจะวุ่นกันอยู่ตลอดเวลา ถ้าขืนวุ่นกันอยู่ตลอดเวลาแล้วน่ากลัวจะเป็นโรคประสาท น่ากลัวจะต้องส่งโรงพยาบาลปากคลองสาน เพราะจิตมันยุ่งเหลือเกิน ทีนี้ต้องหาวิธีพักผ่อน การพักผ่อนนั้นต้องให้พักจริงๆ ไม่ใช่พัก แบบเปลี่ยนอารมณ์
การพักมันก็มี ๒ แบบเหมือนกัน เขาเรียกว่าพักแบบเปลี่ยนอารมณ์กับพักแบบที่เรียกว่าพักจริงๆ พักเปลี่ยนอารมณ์นั้น มันพักอย่างไร เราอยู่บ้านกลุ้มใจก็ไปดูหนัง ไปเที่ยวบางแสน ไปพัทยา หรือว่าไปไกลกว่านั้นมาหัวหินนี้เป็นตัวอย่าง หรือว่าพวกผู้ชายที่ยังหนุ่มยังแน่นก็ไปเที่ยวดื่มเหล้า เมายา อะไรไปตามเรื่อง อันนี้เรียกว่าพักผ่อนด้วยการเปลี่ยนอารมณ์ ที่มันซ้ำซากแล้วก็ไปเปลี่ยนเสีย การพักผ่อนด้วยวิธีเปลี่ยนอารมณ์อย่างนี้ มันไม่ได้พักจริงจัง แล้วก็เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายมากขึ้น เพราะเสียนิสัย ต้องเปลี่ยนกันเรื่อยไป ดูหนังเบื่อหนัง ดูละครเดี๋ยวก็เบื่อละคร ไปเที่ยวที่นั่น แหม, เบื่อ พัทยาไปบ่อยไม่เห็นมีอะไร แล้วก็ต้องการไปหัวหิน ต้องการไปที่นั่น ต้องการไปที่นี่ บางทีไปไกลถึงไปต่างประเทศ ไปพักผ่อนเปลี่ยนอารมณ์ กลับมาเท่าเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเท่าใดหรอก กลับมาบ้านก็เหมือนเดิม ยังกลุ้มใจต่อไป ยังวุ่นวายต่อไป ไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก ทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะการไปนั้นไม่ใช่ไปด้วยปัญญา ไปด้วยความหลงใหล มัวเมา แต่ว่ามันมีปัจจัยอำนวยก็ไปกันไปตามเรื่อง ไปเปลี่ยนอารมณ์กันไปตามเรื่อง ให้มันสบายชั่วครั้งชั่วคราว อย่างนั้นแบบหนึ่ง
ทีนี้อีกแบบหนึ่งนั้นไม่ต้องลงทุนมาก ไม่ต้องไปไกลก็ได้ แต่ว่ารู้จักบังคับตัวเองให้เป็นตัวเอง ว่าอย่างนั้นนั้น พูดง่ายๆ บังคับตัวเองให้เป็็นนตัวเอง ตัวเองก็คือความสงบนั่นเอง จิตที่ยังไม่วุ่นด้วยอารมณ์นี่เป็นตัวเองมันสงบ ขณะใดที่เรานั่งสงบ เราเป็นตัวเองในขณะนั้น ขณะใดที่นั่งวุ่นวายเดือดร้อนอยู่ ไม่เป็นตัวเอง มันยุ่ง ที่นี้ก็ เราจะพักผ่อนด้วยการเป็นตัวเองเสียบ้าง แต่ว่าเบื้องต้นนั้น มันก็ทำยากเหมือนกัน เพราะยังไม่เคย เพราะฉะนั้นต้องหาที่ช่วย
ในทางหลักธรรมะเขาเรียกว่า ต้องมีกายวิเวก แล้วก็ต้องมีจิตวิเวก แล้วมีอุปธิวิเวก ต่อไป กายวิเวกก็หมายความว่า ไปอยู่ในที่เงียบๆ ที่ไม่ค่อยมีอะไรรบกวน เดี๋ยวนี้หายากที่เงียบๆ ป่าธรรมชาติหายาก มนุษย์ทำลายกันเสียหมด ไม่รู้จะไปไหน ก็มีอยู่บ้างอย่างนี้ พอจะได้เป็นที่พักผ่อนอย่างแท้จริง ของชาวบ้าน เรามาอย่างนี้เรียกว่ามีกายวิเวก ไม่มีเครื่องรบกวน ตา หู จมูก ลิ้น กาย เรียกว่า เกิดวิเวกทางร่างกาย อันนี้เมื่อได้ที่วิเวกอย่างนี้แล้ว จิตมันไม่รับอารมณ์ เพราะไม่มีอะไรผ่าน ประสาทตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เกิดจิตวิเวก คือ มันสงบขึ้นมาหน่อย กิเลสไม่เกิดขึ้นรบกวนก็มีอุปธิวิเวกต่อไป อันนี้ต้องมีก่อนเบื้องต้น หรือว่ามาฝึก มาซ้อม คล้ายๆ กับว่าเราเข้าค่ายอบรม มาพักเสียบ้างเป็นครั้งเป็นคราว มาอบรมตัวเองให้มีปัญญาในการต่อสู้กับสิ่งที่มากระทบ คล้ายทหารจะออกรบนี่ต้องไปอบรมเสียก่อน ยุทธวิธีที่จะต่อสู้กับข้าศึกศัตรูทั้งหลาย ก็เพราะไม่พอก็สู้เขาไม่ได้ ต้องพ่ายแพ้ ในเรื่องจิตใจเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราอบรมไม่พอ ที่เรามักพูดว่า บารมีมันไม่พอ ก็หมายความว่า ปัญญาน้อย สติน้อย ไม่ค่อยจะได้มีการอบรมบ่อยๆ เลยสู้ไม่ได้ พ่ายแพ้แก่ข้าศึก คือ อารมณ์ที่มากระทบ แล้วข้าศึกนั้น มันเหยียบรอยไว้ในจิตใจของเรา ประทับรอยอนุสัยไว้ในใจของเรา คือ ประทับเรื่องที่จะทำให้เกิดความโลภได้ โกรธได้ หลงได้ ริษยาได้ พยาบาทได้ อะไรๆ ต่างๆ ขึ้นมา มันเยียบรอยไว้ทุกที เหยียบไว้ๆ เราก็ไม่รู้ว่า เรากำลังเป็นอะไร พูดได้ว่า ยังไม่รู้จักตัวเอง ยังไม่รู้จักสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นอยู่ในตัว ยังไม่รู้เหตุของเรื่องนั้นๆ แล้วยังไม่รู้ว่า มันให้ทุกข์ ให้สุขอย่างไร ให้คุณให้โทษอย่างไร แล้วไม่รู้ว่าจะแก้ยังไง อ้า, แล้วอย่างนี้มันยุ่งไหม อย่างนี้มันยุ่งไหม ญาติโยมลองคิดดูซิ มันยุ่งไหม ที่มันไม่รู้เรื่องอย่างนี้ มันยุ่ง เพราะเราไม่รู้
ทีนี้เราต้องเรียนให้มันรู้ ก็เรียนเอาในตัว แต่ว่าเบื้องต้นก็ไปเรียนที่นั่น เรียนที่นี่บ้าง อะไรอ่านหนังสือบ้าง ฟังบ้าง เรื่องฟัง เรื่องอ่าน นี่ก็ยุ่งเหมือนกัน เพราะว่าผู้เทศน์ มันเยอะ เดี๋ยวนี้สำนักนั้นว่าอย่างนั้น สำนักนี้ว่าอย่างนี้ โยมชักจะแย่เหมือนกัน ฟังสำนักโน้นก็ไปอย่าง ฟังสำนักนี้ก็ไปอย่างหนึ่ง ต่างคนต่างสอน ต่างคนต่างบอก บอกด้วยความตั้งใจทั้งนั้น อันนี้โยมซิลำบาก ไปฟัง วัดเหนืออย่างหนึ่ง ไปฟังวัดใต้อย่างหนึ่ง เลยไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรอันไหนถูกอันไหนผิดก็ไม่รู้ อันนี้เป็นปัญหา เพราะว่านักสอนทั้งหลายไม่ค่อยได้เจอกัน เมืองไทยนี่ยังไม่ได้สัมมนานักเทศน์ นักสอน เขาสัมมนากันอยู่บ้างเหมือนกัน สัมมนานักวิปัสสนาระดับประเทศ แหม, ใหญ่เหลือเกิน ว่ากันเสียใหญ่โต แต่ไปดูแล้วมันไม่ได้ความอะไร คือว่า ไม่ได้เรื่อง เรื่องมันเป็นอย่างนี้ มันก็ตีกัน ว่ากันไปตามเรื่องตามราว เราจะทำอย่างไร เราวินิจฉัยเอาเองก็แล้วกัน ทำอย่างไรแล้วใจมันสงบไหม มันเยือกเย็นไหม มันสงบไหม ปฏิบัติแล้วมันเยือกเย็น มันสงบไหม รู้เท่าทันต่อสิ่งทั้งหลายที่มากระทบหรือไม่ แล้วอีกอย่างหนึ่งให้พิจารณาว่าเมื่อก่อนกับเดี๋ยวนี้มันเป็นอย่างไร สมัยก่อนนี้เราไม่เคยเข้าวัด ไม่เคยศึกษาธรรมะ ไม่ได้ปฏิบัติธรรมะเลย แล้วก็เริ่มเข้าวัดปฏิบัติธรรมะอะไรขึ้นมาบ้าง เรามองดูตัวเราว่า เมื่อก่อนกับเดี๋ยวนี้ มันเป็นอย่างไร ความรุนแรงต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในใจของเรานั้น มันเบาไปไหม ความโลภมันเบาไปไหม ความโกรธมันเบาไปไหม ความหลงมันเบาไปไหมหรืออะไรๆ ที่มันเป็นเจ้าเรือนอยู่ในตัวเราเบาไปหรือไม่ เคยพบคนคนๆ หนึ่งแกบอกว่า แหม, ดิฉันนี่ เมื่อก่อนใจร้อนเหลือเกิน ใจเร็ว ใจร้อน หุนหันพลันแล่น ตั้งแต่มาฟังเทศน์เข้ามากๆ นี่รู้สึกว่า เย็นขึ้น สงบขึ้น อานิสงส์ ที่มาฟังเทศน์นี่มันทำให้ดิฉันสงบขึ้น เย็นขึ้น เรียกว่าได้แล้ว ได้ประโยชน์แล้ว เพราะว่าจิตใจเย็นขึ้น สงบขึ้น แล้วก็ไม่ใช่พูดคนเดียว พ่อบ้านก็เป็นพยานด้วย พ่อบ้านก็บอกว่า แหม, ไม่ไหวหรอก เมื่อก่อนนี้ผมมันต้องอยู่ด้วยความอดทนที่สุดเลย ปึงปังบ่อยเหลือเกิน ฟ้าผ่าบ่อย ว่าอย่างนั้น เปรี้ยงป้างๆ ตลอดเวลา เดี๋ยวนี้เรียบร้อย ฟ้าก็ไม่เปรี้ยงป้าง อะไรก็เรียบร้อย นี่ไม่ใช่เรื่องอะไร เรื่องมาวัดนี่มาฟังเทศน์ทุกวันอาทิตย์ๆ อ่านหนังสือมั่ง ฟังเทศน์มั่ง ดีขึ้น อย่างนี้ก็เป็นเครื่องวัดได้แล้วว่าเราได้อานิสงส์แล้ว อานิสงส์นั้นก็หมายความว่า มันดีขึ้นจากเมื่อก่อน อะไรๆ มันดีขึ้น ความรู้สึกนึกคิด อะไรต่ออะไรก็ดีขึ้น อะไรที่เคยเป็น มันก็ค่อยหายไป จางไป อย่างนี้ก็เรียกว่า ใช้ได้ เราวัดเอาด้วยตัวเราเอง อย่าไปเที่ยวถามใครเลย ว่าอะไรมันเป็นอะไร มันลำบากไปเที่ยวสอบ เที่ยวทานก็ลำบาก ผู้สอบเองก็ไม่รู้ ผู้ถามเองก็รู้อยู่ว่าในตัวเราเองเป็นอย่างไร จึงไม่ต้องไปสอบก็ได้ เพียงแต่เราคอยสังเกตตัวเราว่า มันสงบมากขึ้นหรือเปล่า สะอาดขึ้นหรือเปล่า มีปัญญาจิตใจสว่างขึ้นบ้างหรือเปล่า ให้พิจารณาอย่างนั้น ถ้าเรารู้สึกว่ามันดีขึ้นหลายแล้ว ดีกว่าเมื่อก่อนหลายแล้ว แสดงว่า ดีขึ้น แต่ว่ามันยังแอบมาเยี่ยมอยู่ เผลอไม่ค่อยได้ พอเผลอก็เดี๋ยวมาแอบมาเยี่ยมเสียหน่อย ปึงปัง โผงผางขึ้นหน่อยหนึ่ง แสดงว่า มันยังไม่เด็ดขาด ต้องต่อสู้กันต่อไป พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เมื่อยังไม่ถึงจุดหมายปลายทางก็อย่าหยุดเสีย ต้องก้าวหน้าต่อไป
ทีนี้จุดหมายปลายทางนั้น มันอยู่ตรงไหนอยู่ที่ดับทุกข์ได้อย่างเด็ดขาด ไม่มีอะไรจะทำให้เราต้องขึ้นๆ ลงๆ อีกต่อไป จิตใจมันคงที่ ที่เขาพูดกันว่าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย เมื่อใดเรารู้สึกว่า ไม่ยินดี ไม่ยินร้ายอยู่ในโลกได้ เหมือนกับก้อนหินที่มันอยู่นิ่งๆ ก้อนนี้ ลมพัดมากี่ทิศๆ มันก็ไม่หวั่นไหวโยกโคลง ใจเราก็เป็นอย่างนั้น เราเรียกว่าเป็นตาปีบุคคล หมายความว่า เป็นบุคคลที่มั่นคง ไม่หวั่นไหวด้วยอะไรที่มากระทบ ใครมาชมเราก็เฉยๆ ใครมาด่าเราก็เฉยๆ เรารู้ว่า นี่เป็นคำชม นั่นเป็นคำด่า แต่ไม่ยินดีไม่ยินร้าย จิตใจสงบ อย่างนี้ก็แสดงว่าได้ผลแล้วจากการกระทำที่เราประพฤติปฏิบัติมาโดยลำดับ แต่ว่ายังไม่เด็ดขาด ก็ต้องก้าวหน้าต่อไป ควบคุมตัวเองต่อไป ปฏิบัติต่อไป ตามแนวทางที่เราได้รู้ ได้เข้าใจ เอามาปฏิบัติเอาด้วยตัวเราเอง
เบื้องต้นนั้นก็ต้องทำในที่เงียบๆ พอสมควรเรียกว่า คล้ายๆ กับว่าไปซุ่มซ้อมๆ เพื่อจะขึ้นเวที ไปซุ่มซ้อมเสียหน่อย แล้วเมื่อซ้อมได้ที่แล้ว ที่ไหนก็สู้ได้ อยู่ในบ้านก็ได้ เราอย่าหนี หนีมันไม่มีอะไรจะสู้ ก็ต้องอยู่สู้มันต่อไป ที่ไหนมันทำให้เกิดอะไรขึ้นในใจเราก็ไม่หนี ไม่หนีสิ่งเหล่านั้น แต่เราจะต่อสู้เพื่อทดสอบ ผู้ที่นั่งอยู่ในป่า จิตใจสงบได้ แต่พอเข้าเมืองจิตใจวุ่นวายก็ยังใช้ไม่ได้ อยู่ในป่าใจสงบอย่างใด เข้าเมืองใจก็สงบอย่างนั้น อยู่คนเดียวมีสภาพจิตสงบอย่างใด อยู่หลายคนจิตใจก็สงบอย่างนั้น แล้วก็ใช้ได้ เครื่องวัดมันอยู่ที่ตัวเรานั่นแหละ ไม่ใช่อยู่ที่คนอื่น ไม่ใช่ที่คนอื่นจะบอก เออ, นี่บรรลุขั้นนั้นแล้วขั้นนี้แล้ว แล้วก็ภูมิใจอยู่ แหม, ฉันได้บรรลุขั้นนั้นขั้นนี้ ทีหลังเลอะเทอะไม่ค่อยได้ความ ทั้งๆ ที่ได้บรรลุแล้ว อันนี้เขาเรียกว่าบรรลุตามเขาว่า มันลำบาก มันต้องรู้ได้เอง เพราะกระทำนี้เป็นสันทิฎฐิโก แต่หมายความว่า รู้เอง เห็นเอง ความสุขก็ต้องรู้เอง ความสงบก็ต้องเห็นเองก็ต้องรู้เอง ความสงบก็ต้องเห็นเอง ความเข้าใจในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ ก็เป็นเรื่องรู้เองเห็นเอง เป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่ใช่เรื่องสาธารณะ เหมือนกับสิ่งทั้งหลายอื่นใด เป็นเรื่องภายใน เป็นเรื่องของเรา เพราะฉะนั้นเราจะต้องศึกษาด้วยตัวเรา แล้วคอยกำหนดอาการของตัวเราไว้ การกระทำในเรื่องนี้ มันทำได้ทุกโอกาส ทุกเวลา เธอคอยพิจารณาคอยตรวจสอบสิ่งต่างๆ ที่มากระทบไว้ พูดง่ายๆ ว่าปัดออกไป อะไรมากระทบก็ปัดออกไปๆ ไม่สะสม ไม่เก็บไว้ ไม่เก็บอารมณ์ประเภทต่างๆ ไว้ในใจของเรา ไปที่ไหนอย่าเอามา ไปตลาดไปเที่ยว ไปไหนอย่าเอาอะไรมา ทิ้งไว้ที่นั่น อะไรมันเกิดที่ไหนก็ให้มันดับไปที่นั่น อย่าเอามาที่บ้านที่เรือน อย่าเอามาฝากคนนั้นคนนี้ให้มันวุ่นวาย แต่ว่าโดยมากมักจะชอบเอามา เรื่องเก่าๆ อะไรต่ออะไรก็ชอบฟื้นขึ้นมา เอามานั่งดู คล้ายๆกับ ดูอัลบั้มรูปภาพ ไปเที่ยวน้ำตก ไปเที่ยวไหนก็ถ่ายแอ๊คท่าเสียหรูหรา ว่างๆ ก็นั่งเปิดดู ไปตามเรื่อง นั่นอัลบั้ม ในภาพกระดาษ อัลบั้มอันหนึ่งมันสำคัญกว่า คือ อัลบั้มที่อยู่ในใจของเรา เก็บไว้ในใจ เอามาดู เอามาพิจารณา แล้วดูแล้วมันเกิดอะไรบ้าง เกิดความยินดี เกิดความยินร้าย เกิดกิเลส พูดว่าอย่างนั้น ไม่ได้เกิดความสงบอะไร ดูอย่างนั้นมันไม่ถูกแบบของผู้ปฏิบัติธรรมะ ผู้ปฏิบัติธรรมะจะยกขึ้นอะไรขึ้นมาดู ต้องดูด้วยปัญญา ดูให้เห็นชัดในสิ่งนั้นตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ คือ ดูความจริง อย่าไปดูมายา อย่าดูของปลอม ของไม่แท้ อย่าไปดูมัน ดูของปลอมมันเกิดกิเลส เกิดรัก เกิดชัง เกิดโลภ เกิดหลง เกิดอยากได้ อยากไม่ได้ อยากได้ก็อยากจะดึงเข้ามา อยากไม่ได้ก็อยากจะผลักมันออกไป ต้องออกแรงทั้งสองฝ่าย ดึงก็ต้องใช้แรง ดันก็ต้องใช้แรงเหมือนกัน เหนื่อยใจเท่ากัน ทั้งดึงทั้งดัน ความอยากไม่ว่าประเภทใดมันก็เหนื่อยทั้งนั้น เหนื่อยใจทำให้เกิดความทุกข์ เกิดเป็นปัญหาขึ้นในชีวิตด้วยประการต่างๆ ถ้าเราดูในรูปอย่างนั้นละก็ ไม่ได้เรื่อง เพราะไม่ได้ดูตามในแบบของผู้ปฏิบัติธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมจะดูอะไรนั้น ต้องดูให้รู้ว่า สิ่งนี้คืออะไร มันมาจากอะไร เป็นคุณเป็นโทษ เป็นประโยชน์อย่างไร เราควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องในรูปใด คล้ายๆ กับเรากินปลาที่มันมีก้าง ก็ต้องระมัดระวัง อย่าให้ก้างมันตำคอหอย อย่าให้ก้างมันตำเหงือก แล้วก็กินได้ อารมณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นกระทบจิตใจเรานี้ก็เหมือนกัน เราจะต้องพิจารณาด้วยปัญญา พระผู้มีพระภาคสอนเราให้เพ่งพิจารณาสิ่งทั้งหลาย ให้เห็นชัดตามสภาพที่เป็นจริง มีคำพระบาลีอยู่คำหนึ่งว่า ยถาภูต ญาณทัสสนะ ซึ่งมีใช้อยู่ ยถาภูต ญาณทัสสนะ ก็หมายความว่า ให้มองเห็น สิ่งนั้นตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ ดูให้เห็นว่า เนื้อแท้เรื่องจริง เรื่องแท้ของสิ่งนั้น มันเป็นอย่างไร มันมีสภาพอย่างไร อย่าไปดูผิวเผิน ดูมายาของมัน ดูสิ่งที่ปรุงที่แต่งภายนอก แต่ดูให้ซึ้งลงไป ให้เห็นว่ามันคืออะไร ให้เห็นชัดด้วยปัญญา
การดูให้เห็นชัดด้วยปัญญานั้นก็ดูตามหลัก ๓ ประการ ที่โยมฟังบ่อยๆ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันนี้มันเป็นกฎธรรมชาติที่ไม่มีใครบัญญัติ ไม่มีใครแต่งตั้ง เป็นของมันเองอย่างนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติสิ่งนี้ แต่ว่าทรงค้นพบด้วยปัญญาด้วยพระองค์เอง เพราะสิ่งนี้มันมีอยู่ตลอดเวลา มีอยู่ที่ก้อนหิน ที่ต้นไม้ ที่กรวดทราย ที่เสื้อผ้า ที่เนื้อ ที่หนัง ที่ความนึกความคิดของเรา มันมีอยู่ตลอดเวลา ปรากฏ อยู่ทั่วไป แต่คนมองไม่ค่อยเห็น ทำไมมองไม่เห็นสิ่งนั้น เพราะไปติดสิ่งภายนอก ติดภาพมายาที่มันปกคลุม หุ้มห่อไว้ เหมือนเราดูคน ดูดอกไม้ ดูอะไร เราไปดูความสวยของสิ่งนั้น ดูดอกกุหลาบก็ดูสีมัน ดูกลิ่นมัน ดมกลิ่นมัน ดูอะไรก็ดูอย่างนั้น ดูสิ่งที่ปรากฏแก่ตา แก่หู แก่จมูก แก่สิ่งที่เราจะถูกต้องได้ ซึ่ง ล้วนเป็นมายา ไม่ใช่ของจริงของแท้ แต่เราชอบดูอย่างนั้น ไม่ได้ดูให้มันลึกลงไปว่า สิ่งนี้นี่เนื้อแท้มันเป็นอย่างไร เราไม่ได้ดูอย่างนั้น เมื่อไม่ได้ดูอย่างแท้จริง ก็ไม่เห็นของจริง เมื่อไม่เห็นของจริง ก็เลยหลงในของเท็จ ของเทียม หลงในสิ่งที่เป็นมายา ที่ปรุงแต่ง เหมือนกับดูภาพบนจอ ดูมันวิ่ง มันแสดงยิงปืน บ้างอะไรบ้าง ความจริง มันเป็นภาพวิ่งเท่านั้นเอง แต่เราดูว่าเป็นจริงเป็นจัง บางทีร้องไห้เศร้าโศกกะเขาด้วย เหมือนโยมผู้หญิงแก่ๆ ชอบดูยี่เก บางทีก็ร้องไห้ บางทีโกรธ ผู้ร้ายไล่ทุบพระเอก อยู่เฉยๆไม่ได้เอาหมากขว้างเข้าไป แหม, มันทำกะพระเอกเหลือเกิน นี่เป็นเสียอย่างนั้น นี่คือว่า จิตมันเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้น นึกว่า มันเป็นจริงเป็นจังซึ่งความจริงนั้น มันไม่ใช่อย่างนั้นแต่ว่าเราหลงในภาพ ในสิ่งเหล่านั้น เลยติดอยู่ที่นั่น มันไม่ได้แทงทะลุลงไปในสิ่งนั้นว่าอะไร เป็นอะไร การดูให้เห็นชัดมันเป็นสิ่งจำเป็น ดูอะไรก็ดูให้มันชัดเจนเลยไป แล้วจะมีปัญญาเกิดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะดูในแง่ธรรมะก็ต้องดูให้เห็นว่า มันไม่เที่ยงอย่างไร มันเป็นทุกข์อย่างไร มันไม่มีเนื้อแท้ในตัวของมันเองอย่างไร หรือไม่เที่ยง อนิจจัง เป็นทุกข์ ทุกขัง ไม่มีตัวตนก็คือ อนัตตา ซึ่งเราผู้สวดมนต์เช้าๆ ก็สวดกันอยู่เสมอ อะไรๆ ไม่เที่ยง อะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นอนัตตา สวดจบแล้วก็หมดเรื่อง ไม่ได้เอาไปสวดอยู่ในใจ สวดแต่ปาก ไม่ได้สวดในใจ ไม่ได้สวดอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก สวดเป็นเวลา เช้าที เย็นที สวดมนต์เช้านี่ดีมาก น่าจะสวดทั้งเช้าทั้งเย็น แต่ว่าเย็นก็มีอันหนึ่งสวดอีกเหมือนกัน แต่สวดมนต์เช้าควรสวดบ่อยๆ สวดทุกลมหายใจเข้าออกยิ่งดีใหญ่ สวดไว้ทุกเวลานาที สวดในแง่ว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายเป็นทุกข์ สิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา สิ่งทั้งหลายนั้น อย่ามองไปให้มันไกล มันยุ่งเปล่าๆ มองมาที่ตัวเรานี่ ตัวเรามีอยู่ทุกคน ตัวโดยสมมติ โดยปรุงแต่ง ของสิ่งทั้งหลายที่มารวมกันเข้าไหลไปตามอำนาจของการปรุงแต่ง แล้วมันก็ต้องแตกสลาย อันนี้ควรมอง ควรพิจารณา พระผู้มีพระภาคบอกเราไว้ว่า ให้มองที่ตัว ดังพุทธดำรัสที่ว่า ในกายยาววา หนาคืบ กว้างศอกนี้มีอะไรทุกอย่าง ความทุกข์ก็อยู่ในนี้ เหตุให้เกิดทุกข์ก็อยู่ในนี้ ความดับทุกข์ก็อยู่ในนี้ แนวทางปฏิบัติที่จะให้ถึงความดับทุกข์ก็อยู่ในนี้ ไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ข้างใน ให้มองข้างใน ให้เอาปัญญาส่องเข้ามาข้างใน แต่ว่าคนเราโดยปกตินั้นไม่ค่อยมองข้างใน ไม่ค่อยมองตัวเองด้วยปัญญา แต่มองไปข้างนอก มองคนนั้น มองคนนี้ มองเรื่องโน้น เรื่องนี้ ที่ตัวไม่ได้มอง ไม่ได้เพ่งมาที่ตัว ถ้ามองก็มองไปอีกรูปหนึ่งเสีย มองในเรื่องอะไร มองเพื่อให้เกิดกิเลส ไม่ได้มองเพื่อบรรเทากิเลส เช่น มองในขณะแต่งเนื้อแต่งตัว ยืนหน้ากระจกแล้วก็มอง มองตัวเอง ไม่ได้มองเพื่อชี้หน้าตัวเองเสียบ้างเลย น่าจะมองแล้วชี้หน้าตัวเองเสียบ้าง ชี้ยังไง แกนี่มันไม่เข้าเรื่อง ยืนมองกันบ่อยๆ ไม่เห็นเอางานเอาการอะไร เช้ามอง สายมอง เที่ยงมอง เย็นมอง มองอย่างนี้ ไม่ได้เรื่องอะไร รู้ไหมว่าร่างกายนี้ มันเป็นยังไง ไม่เข้าท่าเลย ชี้ๆ หน้าด้วยก็ได้ ไม่เข้าท่าเลย ดูๆ มันก็อย่างนี้ ไม่เห็นได้เรื่องได้ราวอะไร ว่าตัวเองเสียบ้าง ดุเสียบ้าง เพราะว่ามองทีไรก็มองด้วยความหลง มองด้วยราคะ มองด้วยโทสะ มองด้วยโมหะ ไม่ได้มองด้วยปัญญา เลยไม่รู้อะไร มองเท่าไหร่ก็ไม่รู้ เขาเรียกว่า มองไม่เห็น นี่ภาษาธรรมะพูดกันว่า มองไม่เห็น ดูแต่ไม่เห็น ได้ฟังแต่ไม่ค่อยได้ยิน แล้วก็ไม่คิดจะเกิดความเข้าใจถูกต้องตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ เรื่องมันก็ไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางดี แต่เปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมลงไปทุกวันเวลา เพราะเราไม่ได้มองอย่างที่ควรมอง ไม่ได้มองอย่างนักปฏิบัติธรรมะ แต่มองอย่างผู้ไม่ปฏิบัติธรรมะ ก็ลำบากเดือดร้อน จึงใคร่จะขอแนะนำว่า มองใหม่ ทีนี้เรามองอย่างผู้มีธรรมะ มองให้เห็นว่าเปลี่ยนไปเยอะแล้ว สังขารนี้เปลี่ยนไปเยอะแล้ว ผมเผ้าก็เปลี่ยนแปลงไป หนังก็เปลี่ยนแปลงไป อะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงไป
คนสมัยก่อนนั้น เขามองด้วยปัญญา มองเพื่อออก ไม่ได้มองเพื่อเข้า มองออก หมายความว่ามองแล้วเปลื้องจิตออกจากความยึดมั่นถือมั่น มองเข้า หมายความว่า มองแล้วจิตเข้าไปเกาะไว้ จับไว้ เหมือนตัวปลิง ตัวทากที่มาเกาะแข้งเกาะขา หรือเหมือนตัวเห็บที่มาเกาะที่เนื้อเรา ในสวนโมกข์นี่เห็บเยอะ โยมอย่าเที่ยวเดินเข้าไปในป่า เดินตามเส้นทาง เกาะแล้วไม่ค่อยวางเสียด้วย ถ้าเกาะแล้วคันอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา จิตใจเราก็อย่างนั้น มองเพื่อเกาะเพื่อจับ เพื่อยึด เพื่อถือ ไม่ได้มองเพื่อปล่อยวาง อย่างนี้เขาเรียกว่า มองให้เป็นทุกข์ มองหาเรื่อง มองแบบนี้เขาเรียกว่า มองหาเรื่อง หาเรื่องยุ่งใจ วุ่นวายใจกัน ด้วยประการต่างๆ ไม่รู้จักจบ ไม่รู้จักสิ้น แต่ผู้ปฏิบัติธรรมะนั้นมองเพื่อปลดปล่อยตัวเองให้พ้นจากความยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้นจึงต้องมองตามแบบของผู้ปฏิบัติธรรม มองร่างกาย มองจิตใจ ก็มองอย่างนั้น
ในเรื่องชาดกเล่าเรื่องว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งชื่อ พระเจ้ามัคคะเทศ พระเจ้ามัคคะเทศ นี่ท่านเป็นผู้ไม่ประมาท แม้จะเป็นพระราชาครองเมืองก็ไม่ประมาท คิดถึงความเปลี่ยนแปลงของชีวิตอยู่เสมอ ได้สั่งนายช่างตัดผมไว้ เขาเรียกว่า ช่างกัลบก มาเจริญพระเกศา ตัดผมให้พระเจ้าแผ่นดิน พูดว่า ตัดไม่ได้ ต้องว่า เจริญพระเกศา แม้ถ้อยคำนี่ก็ยังหลอกกันอยู่พูดหลอก ให้มันเจริญ ความจริงตัดให้มันสั้น แล้วไปว่าเจริญขึ้น แต่โลกเขานิยมอย่างนั้น ก็ใช้ไปไม่ว่าอะไร ไปเจริญพระเกศา แล้วท่านสั่งยังไง สั่งว่า “แกดูนะเวลาก่อนที่จะตัดผมข้านี่ ดูหน่อยนะ ถ้าเห็นผมหงอกแล้วช่วยบอกด้วย” นายคนนั้นก็ต้องมองไป ตัดไป ตามเรื่อง อยู่มาคราวหนึ่ง มองๆไปเจอผมหงอกเข้าเส้นหนึ่ง เลยหมอบลงไปกราบว่า พบแล้วพะยะค่ะ, เอ็งพบอะไร, พบว่าผมของพระองค์หงอกแล้วเส้นหนึ่ง อือ, ถอนมาให้ข้าดูหน่อย เขาก็เอาแหนบถอน วางในอุ้งพระหัตถ์ ในมือ พระองค์ก็นั่งดูไป พิจารณาไป อือ, เขาบอกเตือนแล้ว เทวะทูต มาบอกแล้ว มาบอกว่า หัวหงอกแล้วนะ หัวหงอกหมายความว่า แก่แล้ว คนเราบางคนหงอกทั้งหัวยังไม่แก่เขาเลย ยังไม่ยอมแก่ ไม่ยอมแก่ทำไง เขาย้อม ย้อมให้มันดำต่อไป ความจริงถึงหัวหงอกก็ยังกินข้าวได้ ยังนอนหลับอยู่นั่นแหละ แต่ทำไมต้องย้อม ไม่อยากให้คนเห็นว่าฉันแก่ ความจริงให้เขาเห็นหัวหงอก เสียบ้างมันจะดีนะโยมนะ คือ ให้เขาได้ปลงธรรมสังเวช ได้เกิดความสลดใจ ทีนี้เราเอายาใส่ย้อมผมมาใส่ ก็เท่ากับว่า ปิดบังดวงตา ปิดบังปัญญาคนอื่นไม่ให้มองเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง ให้เขาเห็นว่า มันยังหนุ่ม ว่าอย่างนั้น ใจมันอยากหนุ่ม ไม่ใช่เรื่องอะไร แล้วก็เลยย้อมผม ผู้ชายก็ย้อม ผู้หญิงก็ย้อม ไม่รู้ว่าย้อมไปทำไม ปล่อยมันไปเสีย ขาวมันก็สวยเหมือนกัน ถ้าขาวหมดหัว เหมือนกับอาตมาก็ขาวหมดหัวแล้ว มองกระจกทีไรมันก็ครึ้มๆ อยู่เหมือนกันแหละ ครึ้มว่า กูมันแก่แล้ว มองแล้วจะได้รู้ว่า มันแก่แล้วว่าอย่างนั้น กูมันแก่แล้ว ญาติโยม ถ้ามีผมหงอก ก็ให้นึกว่าแก่ จะได้ทำตนให้สมกับเป็นคนหัวหงอกสักหน่อย ที่เขาพูดว่า อย่าให้เด็กมันถอนหงอกนั่นเอง หมายความว่ายังไง อย่าให้เด็กถอนหงอก คือ อย่าทำอะไรที่มันไม่เหมาะกับเรื่องของคนแก่ ถ้าเป็นคนแก่แล้ว ไปทำอะไรเรื่องมันไม่สมกับคนแก่ เขาเรียกว่า อย่าให้เด็กถอนหงอก มันไม่ค่อยดี ทีนี้ทำไมจึงไปทำแบบให้เด็กถอนหงอกได้ เพราะไม่ได้เห็นว่ากูหัวหงอกนั่นเอง เห็นไม่เห็นเพราะอะไร เพราะย้อม ย้อมแล้วมันก็ไม่เห็น เมื่อไม่เห็นกูก็หนุ่มอยู่เรื่อยไป เขาเรียกว่า ทำให้เด็กถอนหงอกได้ มันไม่ดี เพราะฉะนั้นอย่าไปยุ่งกับมัน มันจะหงอกก็ปล่อยมันหงอกไปตามเรื่อง มันจะแก่ก็ปล่อยมันแก่ไปตามเรื่อง ดีเสียอีกจะได้มองเห็นง่ายๆ ดูกระจกทีไรก็จะได้รู้ว่า เออ ฉันแก่แล้วนะ หงอกแล้วนะ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ ท่านเห็นผมหงอก ท่านก็บอกช่างตัดผมว่า วันนี้ไม่ต้องตัดแล้ว โกนเกลี้ยงเลย พอโกนเสร็จแล้วท่านก็เอาผ้าขาวมานุ่ง มาห่ม นุ่งขาวห่มขาวเป็นเครื่องแสดงว่าฉันเป็นนักบวชแล้ว ฉันประพฤติพรหมจรรย์ ดำรงชีวิตตามแบบพรหมจารี แล้วจะไม่อยู่ในวังแล้ว จะออกป่าแล้ว เลิกที ความเป็นพระเจ้าแผ่นดินนี่ แล้วก็เรียกลูก เรียกเต้ามา อำมาตย์ข้าราชการมาพร้อมหน้า แล้วก็บอกว่า ฉันนี้มันตั้งใจไว้นานแล้วว่า ถ้าพบผมหงอกบนหัวเมื่อใด ฉันจะออกบวช บัดนี้ได้พบแล้ว เพราะฉะนั้นขอยกราชสมบัติให้แก่ลูกชายคนหัวปี สั่งอำมาตย์ ข้าราชการทั้งหลายว่าให้อยู่กันด้วยธรรม อย่าคอร์รัปชั่น อย่าโกงกัน อย่ากินกัน บ้านเมืองมันจะฉิบหาย สั่งสอนอย่างนั้น แล้วท่านก็ไปอยู่ป่า แต่ว่ามีสั่งลูกชายไว้อีกข้อหนึ่งบอกว่า เมื่อลูกเห็นผมหงอกบนหัวก็ให้เดินตามแบบพ่อ ออกบวชเสียเหมือนกัน ท่านก็ไปอยู่ป่า เจริญสมนะธรรม อยู่ด้วยปัญญาอยู่ด้วยจิตใจสงบ ตายไปตามเรื่อง เขาเรียกว่า ตายไปตามยถากรรม หมดชีวิตไปตอนหนึ่ง ลูกก็ทำตามพ่อ หลานก็ทำตามปู่ เหลนก็ทำตามทวดต่อไป ในราชวงศ์นี้เรียกว่า แก่แล้วก็ออกกันทั้งนั้น ไม่อยู่ให้เขารำคาญต่อไป
บ้านเมืองเราสมัยนี้ถ้าคนเราถือคตินี้บ้าง มันก็ดียกไว้สักองค์หนึ่งพระเจ้าอยู่หัวไม่ต้องออกแบบนี้ก็ได้ แต่ว่านายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีทั้งหลาย หรือว่าคนที่มันชักจะแก่ ป้ำๆ เป๋อๆ แล้ว แม้ไม่ถึง ๖๐ ถ้ารู้สึกว่ากูมันชักจะแย่แล้วอยู่ไปก็หนักบ้านเมืองแล้ว ลาออกไปเสียมั่ง ออกไปพักผ่อน อยู่บ้านอยู่ช่อง เข้าหาสมณะธรรม ประพฤติธรรมะไป หรือว่าทำอะไร แบบที่เรียกว่า ช่วยตักช่วยเตือน ช่วยชี้ ช่วยบอก คนอื่นต่อไป จากประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมา มีประสบการณ์อย่างไร ผ่านชีวิตมาอย่างไร ต่อสู้มาอย่างไร เอาไปบอกคนอื่นต่อไป มีโอกาสได้พบคนหนุ่มคนน้อยที่จะก้าวหน้าในชีวิตต่อไป ก็บอกนี่คุณจะก้าวหน้าชีวิตมันต้องอย่างนั้น อย่างนี้ เล่าเรื่องประสบการณ์ให้ฟัง อย่างนี้จะดี
วันก่อนนี้เขานิมนต์ไปเทศน์หน้าศพ คุณผู้หนึ่งซึ่งแกก็ใช้ชีวิตเป็นประโยชน์อยู่เหมือนกัน ชั้นแรกก็เป็นพ่อค้า นักศึกษา เรียนจบได้ปริญญา แล้วก็ไปเป็นพ่อค้า ทำราชการก่อนนิดหน่อย เลยหันไปเป็นพ่อค้าขายข้าว ส่งข้าวออกนอก ค้าจริงๆ เหมือนกัน ร่ำรวย พอร่ำรวยแล้วเลิกหมดกิจการค้า ไม่เอาแล้ว ใช้ชีวิตเป็นครู เป็นอาจารย์ ไปสอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย สอนไม่เอาสตางค์ แต่เขาเบิกตามหน้าที่ เบิกแล้วก็เอาไปซื้อเครื่องประกอบการสอนบ้าง ให้นักศึกษาที่ลำบากบ้าง อะไรบ้าง ไม่เอาเงินนั้นมาใช้ส่วนตัว ให้ไปเป็นประโยชน์ทั้งนั้น เพราะว่าตัวมีสตางค์ พอกินพอใช้แล้ว เป็นคนรู้จักพอนั่นเอง คนเราถ้ารู้จักพอแล้วมันสบาย ถ้าไม่พอแล้วมันวุ่นเรื่องตลอดไป เลยก็สอนไป ทำไปเรื่อยเฉื่อย ต่อมาก็เป็นนักศึกษาค้นคว้าเรื่องประวัติศาสตร์ เขียนเรื่องนั้น เรื่องนี้ มากมายหลายเรื่อง ล้วนแต่ว่าเป็นเรื่องที่มีคุณมีค่าในด้านประวัติศาสตร์ ต่อมาก็ตาย ธรรมดา ถึงแก่กรรมไป เขาก็นิมนต์อาตมาไปเทศน์หน้าศพ เทศน์บนเมรุก่อนจะเผา แล้วมันดีเทศน์ตอนนั้น คนมันเยอะ นั่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้เรื่องอะไร โดยมากมักจะนิมนต์พระเทศน์บ่ายโมง ไม่มีคนฟัง เทศน์ให้ผีในโลงฟัง ไม่ได้เรื่องอะไร ก็เลยบอกโยมว่า ฉันขี้เกียจเทศน์กับผีแล้วโยม ต้องการเทศน์กับคน เพราะฉะนั้นเทศน์เวลาก่อนเผาเถอะ ดี เทศน์ก่อนเผา วันนั้นก็เทศน์บอกเขาว่าอย่างนี้บอกว่า นี่คนแก่ๆ ที่มีปัญญา มีเยอะแยะ จะเอาความรู้ใส่ข้างโลงไปด้วย มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เราก็ควรจะมารวมกันเข้าเป็นสมาคมคนแก่ เขาก็มีเหมือนกันแหละเรียกว่า สมาคมผู้สูงอายุ จะเรียกว่าสมาคมคนแก่ก็กลัวว่ามันจะไม่ค่อยเหมาะ เพราะคนเรามันไม่ชอบความแก่ เลยสมาคมผู้สูงอายุ แล้วไปทำอะไร ไปฟังดนตรีกัน เอาคนแก่ไปฟังดนตรีกัน ให้คนแก่มาพบกันแล้วก็เล่นดนตรีให้ฟัง เออ, นี่เขาเรียกว่า พวกหมอโรคโรงพยาบาลประสาท เขาคิดกันอย่างนั้น ให้คนแก่สบายใจ ความจริงคนแก่เขาก็สบายอยู่แล้ว แต่ไปหาเรื่องให้กลุ้มใจต่อไป ไปฟังดนตรี ให้มันกลุ้มขึ้นมาอีก ไม่ใช่เรื่องอะไร
วันนั้นคุณหมอประสพไปนั่งฟังอยู่ด้วยก็เลยบอกว่า ได้ข่าวว่า คุณหมอประสพนี่ตั้งสมาคมผู้สูงอายุ เอาคนแก่มาฟังดนตรีวันเสาร์ วันอาทิตย์ ขอให้เปลี่ยนเสีย สมาคมนี้ เปลี่ยนเป็นว่า เอาคนแก่มารวมกัน แล้วเอาคนแก่นี่ไปพูดให้คนหนุ่มฟัง วันไหนก็ดีก็เอาพูดเสีย ทางวิทยุเครื่องสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ให้คนหนุ่มมาฟังเรื่องคนแก่ จะพูดให้ฟัง แต่ละคนมีอะไรดี ๆ ทั้งนั้น เคยต่อสู้มาเป็นพ่อค้า เป็นนักธุรกิจ เป็นข้าราชการอะไร มีเพชร กลละเม็ดเด็ดพราย เอามาเปิดเผย พูดให้คนหนุ่มฟัง เพราะคนหนุ่มนี่เรียกว่ายังไม่รู้อะไร อย่านึกว่ารู้อะไร เรียนจบปริญญาแล้ว มันยังไม่ได้ความอะไรหรอก ความจริงจบไปในเรื่องนั้น แต่ประสบการณ์ในชีวิตยังไม่มี ต้องออกไปต่อสู้กับปัญหาชีวิตร้อยแปด สู้อย่างหลับหูหลับตา เพราะไม่มีอะไรมาก่อน อันนี้คนแก่มาช่วยเบิกทางให้หน่อย บอกว่า มันต้องอย่างนั้น มันจะมีอะไรเกิดขึ้น แล้วจะแก้ไขอย่างไร คุณลุงเคยแก้มาแล้ว คุณปู่เคยแก้มาแล้วด้วยวิธีอย่างนี้ เอาตัวรอดมาได้ทุกครั้ง เป็นประโยชน์ดี ว่าอย่างนั้นเป็นประโยชน์ เรื่องในครอบครัว เรื่องในการงาน เรื่องสังคม เรื่องปัญหาชีวิตที่มีมากมายก่ายกอง เอามาคุยให้คนหนุ่มฟัง คนหนุ่มก็จะได้รับเอาไปใช้ เป็นหลักปฏิบัติในชีวิตต่อไป อันนี้เรียกว่า เป็นเรื่องประสบการณ์แท้ๆ เอามาเล่าให้ได้เด็กฟัง จะเป็นเรื่องดีไม่น้อย เทศน์จบแล้ว คุณหมอแกเข้ามา ว่าเข้าทีดี เจ้าคุณว่า เข้าทีดี ลองคิดดูก่อนว่าอย่างนั้น แกก็คิดดูก่อนอยู่อย่างนั้นไม่ได้ปรากฏอะไรขึ้นมา คิดดูก่อน อันนี้มันก็ดีนะโยม เรียกว่า คนแก่นี้ทำประโยชน์ได้แล้วสบายใจ
ในประเทศอินเดีย เขามีคนแก่ที่ทำประโยชน์จนใหญ่โต ท่านทั้งหลายเคยได้ยินชื่อ เซอร์ ระพิน นาคสะกอ แกอยู่ในเมืองกัลกัตตา เมืองใหญ่ หนวกหูที่สุดเลยบ้านที่แกอยู่มันใกล้สะพานใหญ่ ออร่าบ้านออร่า เสียงดังอยู่ตลอดเวลา พอแก่ตัวลงก็อยากจะสงบบ้างตามแบบวัฒนธรรมอินเดียเขา วัฒนธรรมอินเดีย พอแก่แล้วก็ต้องออกจากบ้าน ไปอยู่เงียบๆ หรือว่าจาริกไป เรียกว่าเป็นสัญญาสี ก็เพื่อไปจะชี้ทางให้คนหนุ่มนั่น ไม่ใช่เรื่องอะไร เพื่อชี้ทางให้คนหนุ่มเดิน แกก็ไปตั้งหลักแหล่งลงในที่ตำบลแห่งหนึ่งแล้วเรียกว่า สันนิกิเกสัน แล้วก็เอาเด็กมาสอน ไปอยู่กันหลายคนนี่ ความรู้มากขนาดเอาเหล็กรัดพุงกันทั้งนั้น กลัวความรู้มันจะทะลุออกมา ก็เลยเอามาเด็กมาสอนมาพูดให้ฟัง มาอะไรต่ออะไร สอนวิชานั้น วิชานี้ มีเยอะแยะ ก็ได้ประโยชน์ กิจกรรมนี้เจริญก้าวหน้าจนกลายเป็นมหาวิทยาลัย แต่เป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่เหมือนใคร เป็นมหาวิทยาลัยที่นั่งเรียนกันใต้ต้นไม้อย่างนี้ ลูกศิษย์นั่งล้อม อาจารย์ อาจารย์นั่งลงสอนกัน คุยกัน ตั้งแต่หกโมงครึ่งแล้วไปเลิกเอาสิบเอ็ดโมงครึ่ง แต่ตอนบ่ายไม่เรียน ร้อน อากาศร้อน ต้นไม้ ปลูกต้นไม้ร่มรื่น อันนี้เขาเรียกว่า ชีวิตคนแก่เป็นประโยชน์ อย่างนี้ดี
เราก็เหมือนกันคนที่รู้สึกตัวว่า แก่แล้วก็ปลีกตัวเสียบ้าง ออกมานั่งดูเสียบ้าง อย่าขึ้นเวทีอยู่จนหมดลมหายใจ นักมวยคนใดชกตายคาเวที นี่ก็ไม่ไหวเหมือนกัน เรียกว่า ชกตายคาเวที มันต้องลงมานั่งดูมั่ง ลงมาวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นเขามั่ง ดูมันต่อยกันยังไง ท่าทางเป็นยังไง แนะเขา บอกเขา อะไรไปตามเรื่อง อย่างนี้ก็เป็นประโยชน์ เรียกว่า รู้จักใช้ชีวิตตอนชราให้เป็นประโยชน์ ทีนี้จะทำยังไงจึงจะรู้ว่าตัวชรา นี่ต้องหันเข้าหามองดูตัวเอง มองดูตัวเองให้รู้ว่าเรามันแก่แล้ว แก่แล้วร่างกายนี้เปลี่ยนไปเยอะแล้ว ผมหงอกแล้ว ฟันปลอมแล้ว ผิวหนังก็เหี่ยวแล้ว อะไรๆ ก็ไม่ค่อยดีแล้ว ป้ำๆ เป๋อๆ จำไม่ค่อยจะได้ เรื่องใหม่ นี่จำไม่ค่อยได้ มีแต่เรื่องเก่าๆ พอรู้เรื่อง คิดว่าร่างกายเปลี่ยนแปลง อันนี้มันเป็นกฎธรรมดาที่จะต้องเป็นอย่างนี้ มันไม่เที่ยง เปลี่ยนอยู่ทุกลมหายใจเจ้าออก ทุกขณะจิต เกิดดับๆ อยู่ตลอดเวลา มีอะไรที่เราควรจะเข้าไปยึดถือว่าเป็นตัวเรา ว่าเป็นของเรา คิดดูแล้วไม่เห็นมี มันก็มีเท่านี้ เกิดดับๆ อยู่อย่างนี้ แล้วจะไปยึดอะไร ไปถืออะไรเอานักหนาในเรื่องร่างกายนี้ ควรจะปล่อยจะวางไปเสียบ้าง บรรเทาความรู้สึกนึกคิด ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความริษยา พยาบาทอะไรให้มันเบาไป บางไป อยู่อย่างผู้ลืมหูลืมตา มองเห็นอะไรทุกอย่างตามสภาพที่เป็นจริง เรียกว่า อยู่อย่างพุทธบริษัท พุทธบริษัทนั้นอยู่อย่างผู้รู้ อยู่อย่างผู้ตื่น อยู่อย่างผู้มีความเบิกบานแจ่มใส รู้เรื่องอะไร ก็รู้ว่าสิ่งทั้งหลายมันเป็นอะไร ตามสภาพที่เป็นจริง มองเห็นว่า มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา นี่เรียกว่า เป็นผู้รู้ ตื่นอยู่ หมายความว่า มันติดต่อ ตลอดเวลา ดูอยู่อย่างนี้ติดต่อกันตลอดเวลา ไม่เผลอ ไม่หลับ ไม่ง่วง ไม่เหงาในเรื่องนี้ ตราบใดที่ยังตื่นอยู่และก็ดูมันอยู่อย่างนี้ ทุกลมหายใจเข้าออกก็ว่าได้เรียกว่า ตื่นอยู่ด้วยสติ ด้วยปัญญา มองสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริงอยู่ตลอดไป แล้วก็จิตใจมันจะเป็นยังไง มันก็เบิกบาน แจ่มใส เพราะไม่ไปเกาะเกี่ยวอยู่กับเรื่องอะไรๆ คนเราที่ใจขุ่นใจมัว ใจเศร้าหมอง นี่มันเรื่องอะไร เรื่องอยากจะได้ เรื่องอยากจะไม่ได้ ของใดชอบใจก็อยากได้ ของใดไม่ชอบใจเอาออกไปๆ ไปพ้นหูพ้นตาที เรื่องไม่ชอบใจมันก็ขุ่นสิอย่างนั้น ก็ขุ่น เพราะอะไร เพราะเรื่องอยากทั้งนั้น อยากได้มาก็ขุ่น อยากผลักดันออกไปก็ขุ่น เศร้าหมอง อย่างนี้มันไม่เบิกบาน ใจเหี่ยว ใจแห้ง ใจหดหู่ ใจเคลิบเคลิ้ม ใจมัวเมา ใจประมาทอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้เรื่องเลย อันนี้เราจะต้องอยู่อย่างนั้นไม่ได้ เรามันเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ต้องเดินตามรอยพระยุคลบาทของพระพุทธเจ้า เดินตามรอยก็ต้องเดินอย่างผู้รู้ เดินอย่างผู้ตื่น ไม่ไปเที่ยวสะดุดอะไรให้มันล้มลงกลางทาง อยู่อย่างผู้ที่มีใจเบิกบาน แจ่มใส ไม่ขุ่นมัว ไม่เศร้าหมอง จิตใจผ่องแผ้วอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้มันก็สบายใจ มีความสุขใจ มีความสงบใจอยู่ เพราะเราอยู่อย่างพุทธะ อยู่อย่างผู้รู้ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแจ่มใส จิตใจก็สบาย ลองทำอย่างนี้ดู แล้วจะเห็นว่าเป็นอย่างไร ญาติโยมจะรู้สึกด้วยตัวเอง ว่ามันสบายขึ้น มีอะไรก็เท่านั้น กินไปใช้ไป
ทีนี้ถ้าเราอยู่อย่างนี้มันช่วยแก้ปัญหาในชีวิตทุกแง่ ทุกมุม เช่น ปัญหาเรื่องการใช้จ่าย ซึ่งมีปัญหาไม่พอกิน ไม่พอใช้ ปัญหาเรื่องของแพง เรื่องอะไรๆ ต่าง ๆ ผู้ที่ปฏิบัติธรรมนั้นจะไม่มีปัญหาของแพง จะไม่มีปัญหาเรื่องเงินไม่พอใช้ เพราะอะไร เพราะว่าเราไม่ได้กินมาก เราไม่ได้นุ่งห่มมาก เราไม่ได้มีที่อยู่มากๆ หรืออะไรมากๆ อย่างเขา เรากินอยู่ใช้สอยปัจจัยเท่าที่จำเป็น เท่าที่จำเป็นจริงๆ อันนี้ลองคิดดู ญาติโยมลองคิดดู ที่เราใช้ เราสอยเรากิน เราอยู่กันนี้ มันเกินจำเป็นหรือเปล่า หรือเท่าที่ จำเป็นแก่ร่างกายต้องการ ถ้าคิดดูแล้ว มันชักจะเกินๆ กันอยู่ เกินจำเป็นกันอยู่ นุ่งห่มเกินความจำเป็น กินอาหารเกินความจำเป็นไป กินกันหลายอย่าง ไม่ต้องอะไรหรอก
ตัวอย่างง่ายๆ โยมจะทำบุญสักคราวหนึ่ง เลี้ยงพระ แหม, มากเหลือเกิน ของฉัน นี่มันมากเหลือเกิน บ้านเดียว ไม่หลายบ้าน แต่ต้องทำหลายอย่าง เต็มโต๊ะเลย อาตมาไปฉันทีไร ก็บ่นกับโยมทุกที แหมมันมาก โยม ฉันไม่ไหว ตอนเย็นหิวก็แบบนี้ คือ มันอื้อไปหมด ตาลายไปหมด ไม่รู้อะไรเป็นอะไร มันมากเหลือเกิน ทำไมต้องทำอย่างนี้ โยม นานๆ ที เจ้าค่ะ อือ, เป็นอย่างนี้ นานๆ ที มันต้องให้ล้นโต๊ะล้นพุงกันหน่อย ถ้าพระฉันได้ โยมสบายใจ พระท้องเสีย โยมไม่เดือดร้อน เพราะว่ากลับไปวัดแล้ว ไปเสียอยู่วัดท้องเสียอยู่วัด ช่างหัวแก มันเป็นเสีย อย่างนี้ นี่มันเกินพอดี เกินไป อาหารก็เกินไป แหม, ไปงานหนึ่ง ที่พนมสารคาม เขาเรียกว่า บ้านสาวชะโงก มีสำนักวิปัสสนาอยู่ด้วยที่นั่น วัดนั้น วัดวิปัสสนา โยมเอากับข้าวมาเลี้ยง ๑๑ อย่าง มองๆ ก็เลยถาม โยมทำไมมันมากอย่างนี้ อย่างเดียวก็กินไม่ไหวแล้ว โยมตอบ งานก่อนเขาทำ ๑๕ ว่าอย่างนั้น งานก่อนเขาทำตั้ง ๑๕ ผมลดลงมาแล้ว ฟังเทศน์เจ้าคุณบ่อยๆ เลยลดลงมาเหลือ ๑๑ เอ้า, มัน ลดน้อยเกิน ลดให้มากกว่านี้ไม่ได้หรือ ไม่ได้ ชาวบ้านแถวนี้เขาชอบอย่างนั้น คือ ชอบเรื่องฉิบหายกันทั้งนั้น ไม่ว่าบ้านไหนชอบแต่เรื่องฉิบหายกันทั้งนั้น เรื่องที่มันไม่ฉิบหายไม่เดือดร้อน ก็ไม่ค่อยชอบ อือ, มันเป็นเสียอย่างนี้ นี่มันไม่ใช่วิสัยของพุทธบริษัท พุทธบริษัทต้องกินน้อยๆ อะไรน้อยๆ พอสบาย ไม่วุ่นวาย เรื่องมาก ไม่วุ่นวายกับเรื่องมาก ทีนี้เศรษฐกิจมันก็ไม่ยุ่ง เรากินแต่พอดี อยู่แต่พอดี
เดี๋ยวนี้เขาไม่เป็นอย่างนั้น เขาต้องการกินดีอยู่ดีกัน ไม่รู้เอาอะไรมาวัด เรื่องกันดีอยู่ดี มันวัดไม่ได้ แต่ถ้าพอดีมันก็วัดได้ ชอบทำอย่างนั้น เอ้า, พอถึงบทของบทหวาน แหม, หวานไปทั้งนั้น ทองหยิบก็หวาน ฝอยทองก็หวาน เม็ดขนุนก็หวาน ขนมหม้อแกงก็หวาน หวานทั้งนั้น แป้ง ไข่ น้ำตาลทั้งนั้นแหละ รวมกันแล้วมันหลายชื่อ ไม่รู้จะฉันอะไรดี พระก็ฉันไม่ไหว หยิบไป ทองหยิบเข้าไปสักคำ ก็พอแล้ว กลัวเป็นโรคเบาหวานตาย โยมบ่นอีก ของหวานเยอะแยะ ทำไมท่านไม่ฉัน อายุสั้นอยู่ ถ้าขืนฉันหมดนี้ฉันอายุสั้นแน่ น้ำตาลมันจะเหลือมากเกินไป มันจะเดือดร้อน อ้า, โยมไม่คิดอย่างนั้น ต้องทำให้เต็มฝีมือ เรื่องอะไร เรื่องอัตตานั่นเอง อวด อวดฝีมือ อวดฝีมือกันหน่อยในงานนี้ อย่างนี้เป็นตัวอย่าง นี่มันไม่ใช่กินแบบชาวพุทธเสียแล้ว กินแบบอะไรไม่รู้ แบบปรนเปรอกิเลส ปรนเปรอความอยากกันเหลือเกิน เลยก็หมดเปลือง สิ้นเปลือง งานอะไร ก็อย่างนั้น จะบวชลูก จะบวชหลาน จะทำงานศพ มันต้องใหญ่ ต้องจ่ายมากๆ ต้องเลี้ยงกันให้เต็มอัตรา กินเหลือเยอะแยะ ถ้าเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ติดคุกกันตายเลย กินแบบนี้ คอมมิวนิสต์เขาไม่ให้กินมากใครกินมากติดคุก กินขว้างกินทิ้งไม่ได้ ต้องกินให้พอดี เขาจึงจะอยู่สบาย
คราวหนึ่งพระที่วัดเขาไปเมืองญี่ปุ่นมา ไปเที่ยว ไม่ใช่เรื่องอะไร แต่ว่ามีเพื่อนญี่ปุ่นที่เคยไปเรียนที่นาลันทาด้วยกัน เขาเรียนเก่งจนได้เป็นดอกเตอร์ ได้เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเกียวโต เมืองโบราณ ก็ไปพักกับเพื่อนคนนั้น กลับมาถึงบ่นอู้ ไม่ไหวอาจารย์ ไปเมืองญี่ปุ่น มันเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย มันกินแกงเลียงทุกวัน มันอยู่ได้อย่างไร แกงเลียงญี่ปุ่นเขาเรียกว่า สุกี้ยากี้ แต่ว่าสุกี้ยากี้พอมาถึงเมืองไทยก็แต่งโฉมหน้า จนจำไม่ได้ ญี่ปุ่นเห็นจำไม่ได้แล้ว สุกี้ยากี้ไทยแต่งเหมือนกับ เหมือนหงส์เมืองมอญนั่น พอมาเป็นหงส์เมืองไทยติดหงอน ติดหางเสียจนมอญจำไม่ได้ หงส์เมืองมอญก็เป็ดเราดีๆ นี่เอง อยู่บนเสาธง นั่นก็เป็ด นี่เป็ดไปเกาะอยู่บนยอดเสา พอมาเป็นหงส์ไทยก็ทำเสียหรูไปเลย สิงโตไทยก็แหมหรูหรา มีขน มีลวด มีลาย ไทยเรามันชอบแต่ง ได้สุกี้ยากี้ญี่ปุ่นมาก็แต่งเสียจนญี่ปุ่นจำหน้าไม่ได้ ของญี่ปุ่นแท้ๆ มันก็แกงเลียงนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร ผักน้อยผักมาก หมูสักสองชิ้น น้ำมากๆ ตักข้าวใส่ถ้วย พอยกขึ้นก็พุ้ยได้ พุ้ยๆ ซดน้ำแกง พุ้ยๆๆ ซดน้ำแกง หมดข้าวเติมข้าว แกงไม่เติม เติมแต่ข้าวเท่านั้น กินต่อไป เติมข้าวแกงไม่เติม แล้วก็กินแกงหมด ข้าวหมด เอ้า, เอาน้ำชา ใส่ลงไปในจานแกง แล้วเขี่ยพุ้ยๆ เขี่ยๆ มันติดอยู่มั่ง เขี่ยรวมลงไป เสร็จแล้วใส่ในถ้วยข้าวชามข้าว เขี่ยๆ กินหมดทั้งน้ำทั้งเนื้อ กินน้ำล้างถ้วย ด้วยซ้ำไป พระที่ไปดู บอกไม่ไหวญี่ปุ่น มันกินจนกระทั่งน้ำล้างถ้วย เพราะญี่ปุ่นกินน้ำล้างถ้วย มันถึงกุมเศรษฐกิจทั่วทวีปเอเชีย เพราะอะไร คนไทยเสียดุลการค้าญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นมันกินน้ำล้างชามนั่นเอง ไทยมันไม่กินน้ำล้างชาม เททิ้งเยอะแยะ คนไทยเรา นี่เขาเรียกว่า กินกันจนฉิบหายอย่างนี้ มันเดือดร้อนโยม คิดดูอย่างนี้ นิสัย อย่างนี้ๆ นี่ไม่ใช่นิสัยของพุทธบริษัท พุทธบริษัทนั้น กินพอสมควร แก้หิว แก้กระหาย พออิ่มแล้วหยุด อิ่มท้องมันบอก อิ่มก็ท้องบอก หิวก็บอก แล้วก็ท้องบอก ให้เชื่อเถอะ เชื่อแล้วก็ไม่เป็นไร แต่ว่าไม่อย่างนั้น ท้องบอกว่าพอแล้ว ความอยาก ตัณหาในจิตมันมี ไม่ได้ นี้อร่อยต้องว่าอีกชามหนึ่งว่าอย่างนั้น นี่มันไม่ใช่กินพอดีแล้ว กินเกินพอแล้วที่นี้ เกิดเดือดร้อนเศรษฐกิจวุ่นวาย นี่เรื่องเล็กน้อย
เรื่องการกิน เรื่องการอยู่ การนุ่งห่ม การอะไรต่อไป มันมากมายเหลือเกิน มากมายจ่ายเกินความต้องการ ดูเขาสร้างบ้านสร้างช่องกัน สร้างแล้วมันใหญ่โต ไม่รู้จะไปนอนตรงไหน มากห้องเหลือเกินนี่ เรื่องสิ้นเปลืองมากมายก่ายกอง ทำให้เงินทองเสียหาย เศรษฐกิจตกต่ำ ถ้าเราปฏิบัติตามหลักธรรมะของพระพุทธเจ้า ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เพราะว่าเราไม่จ่ายมาก ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่สุรุ่ยสุร่ายประหยัดไปด้วยในตัว นี่วันนี้ประหยัดได้ตั้ง ๔๐๐ ล้าน เมื่อสักครู่ท่านเจ้าคุณท่านว่า ประหยัด ๔๐๐ ล้าน ถ้ากินอดทุกคน
เมืองอินเดียเขาดีโยม เขามีวันอดบ่อยๆ คนโบราณเขาสอนให้ประหยัด กินน้อยๆ เพราะฉะนั้นเขามีวันอดบ่อยๆ อดกันทั้งครอบครัวเลย เดี๋ยวเอาวันนี้ไม่กินข้าวกันแล้ว ไม่หุงข้าวเลย นอกจากเด็กที่ดื่มนม เขาให้ดื่มนม เด็กที่โตแล้วก็ไม่ให้กิน ไม่กินทั้งครอบครัว ไม่กินทั้งวันเลย ถามว่าวันนี้ ทำไมไม่กิน อ้าว, วันนี้มีนิทาน มีเรื่องเขามีเรื่องทั้งนั้น อดเพื่อพระผู้เป็นเจ้าองค์นั้น พระผู้เป็นเจ้าองค์นี้ มากมายก่ายกอง อันนี้ไม่ใช่เรื่องอะไรหรอก เป็นเรื่องของคนฉลาด ในการที่จะหาเรื่องให้คนบังคับตัวเอง ให้รู้จักประมาณในการกินการอยู่ ปีหนึ่งให้อดหลายวัน เดือนหนึ่งก็อดตั้งหลายวัน ก็เรียกว่า ประหยัดไปในตัว ความจริงอินเดียสมัยก่อน ไม่ได้ฝืดเคืองอย่างเดี๋ยวนี้หรอก คนมันน้อย ป่ามันเยอะ บ้านเมืองมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ แต่เดี๋ยวนี้พลเมืองมันมาก เกิดลำบาก แต่เรื่องที่คนสมัยก่อน เขามองเห็นอนาคต มองเห็นว่าต่อไปข้างหน้าคนจะมาก คนจะลำบาก ก็ต้องวางกฎบัญญัติไว้ให้คนรู้จักบังคับตัวเองในเรื่องการกินการอยู่ เขาก็เลยตั้งระเบียบไว้ เขาเลยปฏิบัติกัน มันก็ดีเหมือนกัน ดีเหมือนกัน ทำให้มีการยับยั้งในการกินการอยู่ แล้วบางเรื่องเขายังควบคุมไปถึงว่า ให้กินอาหารที่บ้าน อย่าไปกินอาหารตามร้านตลาด เพราะอาหารที่อื่นนั้นคนต่างวรรณะปรุง ไม่ใช่คนพวกเดียวกันปรุง อันนี้มันเกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจเหมือนกัน เพราะว่าคนไม่ไปกินตามร้าน ไม่มีภัตตาคารหรูหรามีชื่อเหมือนกับเราในกรุงเทพฯ เดี๋ยวนี้ในกรุงเทพฯ ถนนตัดใหม่ ภัตตาคารทั้งนั้น หรูหราใหญ่โต เห็นเขาสร้างนึกว่าสร้างศาลาการเปรียญสำหรับแสดงธรรม ต่อมา เอ้า, ภัตตาคารนั่นเอง เป็นที่กินอาหาร ไม่ใช่ที่กินธรรมะกัน หรูหรา ฟู่ฟ่า กินกันใหญ่ กุ้งทะเลตัวหนึ่งราคา ๘๐๐ กินเข้าไปทำอะไร แพงอย่างนั้น แต่เขาชอบกินกัน คนไทยเรานี่มันแปลกโยมนะ ถ้ากินของแพงแสดงว่าเป็นคนมีเกียรติ มีชื่อเสียงแต่ชาติอื่นนั้นเขาประหยัดเอาเกียรติ เรามันกินมากเอาเกียรติ เกียรติอย่างนี้ มันไม่เหมือนกัน พุทธบริษัทนั้น ต้องเป็นคนประหยัด ไม่สุรุ่ยสุร่าย นี่ถ้าว่าเราบังคับตัวเองด้วยการมองธรรมะ ก็เกิดการประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่สุรุ่ยสุร่าย สิ่งทั้งหลายมันก็ดีขึ้น เรียบร้อยขึ้น เป็นประโยชน์
การปฏิบัติธรรมนี่ต้องปฏิบัติให้คุ้มครองได้ คุ้มครองชีวิตในครอบครัว ชีวิตในการงาน ในทางเศรษฐกิจ ในทางทุกอย่าง แล้วก็คุ้มได้จริงๆ ถ้าเราปฏิบัติธรรมะแล้ว มันคุ้มได้ รักษาได้จริงๆ แต่นี่เราไม่ค่อยเอาจริงกัน ขออภัยที่จะกล่าวว่าพุทธบริษัทบ้านเรา นี่ไม่เอาจริงกันเลย ถือศาสนาเล่นๆ ทำกันเล่นๆ ไม่เอาจริงเอาจัง ทั่วไปมักจะเป็นอย่างนั้น มีชนกลุ่มน้อยๆ ที่เอาจริงเอาจังอยู่ไม่มากนัก แต่โดยทั่วไปแล้ว พอเป็นพิธี ถือศาสนากันพอเป็นพิธีกันเท่านั้น แล้วมันจะคุ้มได้อย่างไร ไม่สามารถจะคุ้มครองได้ เพราะเราไม่ได้ทำจริง ไม่ได้ปฏิบัติจริง ตามสิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงสอนไว้ สิ่งใดที่พระผู้มีพระภาคสอนไว้นั้นเป็นทางพ้นทุกข์ ช่วยตัวเราได้ทุกแง่ ทุกมุม ไม่ว่าในแง่ใด แต่เราไม่ค่อยใช้ เพราะไม่เอามาใช้ จึงมีคนประเภทหนึ่งพูดว่า ศาสนาไม่มีประโยชน์ คล้ายๆ กับยาไม่มีประโยชน์ ความจริงยามีประโยชน์ แต่คนไม่กินยา ยามันจะได้ประโยชน์อย่างไร ถ้าเราไม่กิน มันจะได้ประโยชน์อย่างไร ศาสนา ธรรมะนี่ก็เหมือนกัน เราไม่ค่อยเอามาใช้ในชีวิตประจำวันแล้วก็พูดว่า ศาสนาไม่มีประโยชน์ มีศาสนามานานแล้ว ไม่เห็นดีขึ้น ก็มันจะดีขึ้นได้ยังไง ก็เมื่อเราไม่ปฏิบัติ แต่ถ้าเราเอามาปฏิบัติ เราคุยกับใครได้ อวดได้เลย เป็น เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ได้เลย เรียกให้มาดูได้ ดูแล้วเอามาใส่ตัวได้ เอามาประดับไว้ที่ใจได้ ทำจิตใจให้ดีขึ้นได้โดยเรียบร้อย นี่เรามันไม่ทำอย่างนั้นจึงไม่เกิดคุณค่า
ทีนี้จะทำอย่างไร ต้องช่วยกันแล้วเวลานี้ต้องช่วยกัน ญาติโยมต้องช่วยกัน ช่วยกันปลุกระดมธรรมะให้มันเป็นประโยชน์แก่สังคม เป็นประโยชน์แก่ชีวิต ทุกแง่ ทุกมุม ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ เป็นพ่อค้า ชาวนา ชาวสวน ให้เห็นว่าธรรมะนี่ดี มีประโยชน์ใช้ได้ทุกกาล ทุกสมัย ทีนี้คนจะเห็นประโยชน์ของธรรมะมากขึ้น เพราะใช้ได้ศาสนาจะรุ่งเรืองอยู่ตรงนี้ รุ่งเรืองตรงที่คนเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วเห็นประโยชน์ของธรรมะ เจริญตรงนี้ เดี๋ยวนี้ไม่อย่างนั้น ไม่ค่อยได้เอาไปใช้ แล้วยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ได้ประโยชน์ มันคล้ายๆ กับสุนัขจิ้งจอกไปเห็นองุ่นเข้าแล้วกินไม่ได้ มันสูง สุดเอื้อม แล้วบอกว่า เปรี้ยว ไม่เอา มันเป็นเสียอย่างนั้น องุ่นเปรี้ยว เพราะยังไม่ได้กินเลยว่ามันเปรี้ยว
ศาสนาธรรมะนี้เหมือนกันเพราะไม่ได้เอาไปใช้ จึงไม่เห็นประโยชน์ แต่ถ้าเราลองใช้เข้าดูแล้วจะถึงบางอ้อ คือ รู้ว่า อ้อ, ดีจริงโว้ย! ได้ประโยชน์ มีหลายคนแล้วที่ได้เอาไปใช้แล้ว แล้วก็รู้สึกภูมิใจ รักธรรมะขึ้นมา รักพระพุทธเจ้า รักคำสอน รักอะไรขึ้นมา ถ้าเมื่อใดเราเกิดใจรักในพระพุทธเจ้าจริงๆ ถูกต้อง รักธรรมะถูกต้อง รักพระอริยะสงฆ์ถูกต้องแล้ว เมื่อนั้นเราเริ่มเข้าเส้นทาง ชีวิตจะสว่างไสว ไปแล้ว เดินต่อไป อย่าหยุด อย่ายั้ง เราก็จะถึงจุดหมายปรายทางที่เราตั้งใจได้ เวลานี้มันถึงเวลาแล้ว ที่ญาติโยมทั้งหลายจะต้องช่วยกัน ช่วยตนเองด้วย ช่วยคนอื่นด้วย ช่วยตนเองด้วยการปฏิบัติให้เป็นตัวอย่างในครอบครัว เช่น เราเป็นผู้เฒ่าผู้แก่มาวัดนี่ กลับไปถึงบ้าน ต้องทำตนให้เป็นตัวอย่างแก่ลูกแก่หลาน ให้ลูกหลานเห็นว่า คุณยาย คุณย่าท่านไปวัด จิตใจท่านดี มีความสงบเยือกเย็น ไม่วู่วาม ไม่เร่าร้อน รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักเรื่องอะไรถูกต้อง ตามสภาพที่เป็นจริงทุกประการ ลูกหลานก็เลื่อมใสศาสนา เพราะคุณยายเป็นผู้ประกาศ ประกาศด้วยคำพูดนั้นไม่สำคัญ สำคัญด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง อันนี้ พระพุทธเจ้าก็ต้องการอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นเวลาส่งลูกศิษย์ไปประกาศธรรมะนี่ จึงตรัสว่า พรหมมะจะริยังปะกาเสฐะ เธอทั้งหลายจงไปประกาศพรหมจรรย์ หมายความว่า ไปทำให้เขาดู ไปพูดให้เขาฟัง ทำให้เขาดูก่อน ให้เขาเห็นว่า พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนานี้มีชีวิตอยู่อย่างสงบ เรียบร้อยเป็นตัวอย่าง อย่างแท้จริง คนเลื่อมใส ศรัทธา พระเรานี่สำคัญมาก เป็นตัวอย่างในทางศีล ทางธรรม เป็นตัวอย่างในทางสงบ ทางเยือกเย็น แก่ญาติโยมชาวบ้านอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่ทำตนให้เป็นตัวอย่างในทางนี้แล้ว เป็นพระไม่ได้เรื่อง เป็นหุ่นเดินได้เท่านั้นเอง ไม่ได้ความอะไร ไม่ได้เรื่องอะไร พระเรานี่ต้องนึกเรื่องนี้เหมือนกัน ไปไหนต้องไปเป็นตัวอย่าง นั่งเป็นตัวอย่าง เดินเป็นตัวอย่าง พูดเป็นตัวอย่าง การแสดงออกทางกาย ทางวาจา เป็นตัวอย่างแก่ญาติโยม ให้โยมเห็นว่า ผู้ประพฤติธรรมนี่เขาอย่างนี้ เขาสงบ เขาเยือกเย็น เขาไม่วุ่นวาย เขาไม่มีความทุกข์ เหมือนกับคนอื่นทั้งหลาย โยมก็เลื่อมใส ศรัทธา แล้วเขาก็สนใจ สนใจก็อยากจะศึกษา เรามีบอกเขา บอกให้เขา แต่ว่า โยมสมัยนี้ก็เหลือเกิน เหมือนกันของดีที่แท้ไม่ค่อยเอา ชอบเอาของดีประเภทวัตถุกันทั้งนั้น เจอหลวงพ่อไม่ได้ ใต้เท้ามีของดีไหมครับ มี ของดีมีเยอะแยะ ต้องการเมื่อไหร่ก็ได้ จะให้ เอายังไง ที่เป็นเหรียญ เป็นแหวน เออ, ไปเสียอย่างนั้นเสีย เขาเรียกว่า มันบ้ากันเวลานี้ สังคมประเทศไทยนี่บ้ากันอยู่ บ้าวัตถุมงคล วัตถุมงคลนี้ไม่มีในพระพุทธศาสนา มีแต่ธรรมมงคลทั้งนั้น ข้อปฏิบัติที่เป็นมงคล เริ่มต้นด้วยการไม่คบคนพาล การคบหาสมาคมด้วยบัณฑิตเรื่อยไป จนกระทั่งว่าจิตผ่องใส ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมสงบสติ นั่นเป็นยอดมงคลในพระพุทธศาสนาไม่เอา อยากจะได้มงคลเป็นวัตถุ อยากจะเอามาแขวนคอให้มันหนักๆ กันสักหน่อย แหม, บางคนแขวนมากจนล้มแล้วลุกไม่ขึ้น หนักมงคลล้มแล้วลุกไม่ขึ้น มงคลมันถ่วง อย่างนี้ก็ไม่ไหว มงคลวัตถุมันมาก เพราะอะไร นี่เขาเรียกว่า วัตถุนิยม เมื่อสักครู่นี้ญาติโยมได้ยินคำว่าวัตถุนิยม เดี๋ยวนี้ดึงชาวบ้านไปสู่วัตถุนิยม คือ ให้ไปนิยมแหวนบ้าง นิยมเหรียญบ้าง นิยมอะไรต่ออะไรก็ไม่รู้ หลวงพ่อเวลานี้เก่งกว่าพระพุทธเจ้าแล้ว เวลานี้ทำรูปตัวเองแล้วเสกให้เป็นพระพุทธเจ้า เขาเรียกว่า พุทธาภิเษก เสกรูปให้เป็นพระพุทธเจ้า มันจะเป็นได้ยังไง มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์ไหนบ้าง พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม มันมีบ้างไหม ที่ว่าเสกแล้วรูปมันจะเป็นพระพุทธขึ้นมา แหวนจะเป็นพระพุทธขึ้นมา เหรียญทั้งหลายจะเป็นพุทธะขึ้นมา มันโง่กันทั้งนั้น ทำแบบโง่ๆ โง่ตั้งแต่หัวแม่มือจนถึงนิ้วก้อยเวลานี้ แล้วมันจะไม่ฉิบหายกันยังไง โยมคิดดู บ้านเมืองมันจะไม่ฉิบหายอย่างไร เพราะมันโง่กันตั้งแต่หัวแม่มือจนถึงนิ้วก้อย เวลานี้ โง่กันแต่เรื่องแหวน เรื่องเหรียญกันทั้งนั้น เป็นล่ำเป็นสันเวลานี้ เมื่อวานเห็นรถ แหม, สวยคันหนึ่งผ่านมา ที่อำเภอท่าศาลา หยุดรับคนขึ้นไปคนหนึ่ง ก็นึกๆ ว่าจะไปพลอยเขาด้วย แต่เขาออกเสียก่อน ดีแล้วที่ไม่ได้พลอยรถนั้นมา ถ้าพลอยแล้วมันโง่ลงไปอีกเป็นกอง ถามเขาว่า มันรถอะไร รถเที่ยวขายเหรียญของหลวงพ่อที่มีชื่อดังองค์หนึ่งเรียกว่า ทำเป็นล่ำเป็นสันเวลานี้ มีเอเย่นต์รับซื้อ มีโฆษณามีรถวิ่งรับ-ส่ง เหมือนกับขายปลาทูแล้วเวลานี้ ขายเหรียญ ขายแหวน เหมือนกับขายปลาทูแล้ว ขายปลาทูแช่น้ำแข็ง เวลานี้ส่งไปทั่วถึงปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ เที่ยวรถวิ่งรับวิ่งส่งแพร่หลาย คนก็ไปติดสิ่งเหล่านี้ ไม่เอาธรรมะ เอาแต่ความศักดิ์สิทธิ เอาแต่ความขลังเข้ามาช่วยตัว ไปไหว้พระก็ ไปขอ ไปวิงวอน ไปบนบานศาลกล่าวให้ได้สิ่งที่ตนปรารถนา หารู้ไม่ว่ากำลังทำลายสัจจะธรรมของพระพุทธเจ้า กำลังทำลายพุทธศาสนาโดยไม่รู้ตัว ญาติโยมรู้หรือไม่ พระพุทธศาสนาเสื่อมไปจากอินเดียเพราะอะไร เพราะเรื่องนี้ พระสงฆ์องค์เจ้าในยุคนั้นมัวเมาในลัทธิตันตระ ปลุกเสกลงเลขลงยันต์ ทำพิธีรีตองต่างๆ จนพุทธศาสนาหมดไปจากอินเดียเพราะว่าพระเราลดองค์ลงไปเทียมกับพวกฮินดูแล้ว เทียมกับพวกพราหมณ์ ชาวบ้านทั้งหลายไปนั่งปลุกนั่งเสกหลับตา เป่าพรวดๆ อยู่ พราหมณ์ก็เป่าได้ พระก็เป่าได้ ชาวบ้านเลยมองเห็นพระกับพราหมณ์มันเท่ากันแล้ว ดังนั้นไม่ต้องนับถือพุทธศาสนา ถือพราหมณ์ดีกว่า เป็นอย่างนั้นกันไปหมด นี้เรียกว่าไม่รู้ตัว ความโง่เขลาเบาปัญญา ไปมัวเมาในด้านวัตถุ จนไม่รู้ว่าจะทำลายตัวเองโดยไม่รู้ตัว น่าคิดนะ โยมนะ อาตมาพูดบ่อยเรื่องนี้ ไม่ใช่พูดเฉพาะที่สวนโมกข์ กรุงเทพฯ พูดบ่อย เวลานี้ เพราะรำคาญเต็มทีแล้วรำคาญพวกคนที่ช่วยทำลายสัจจะธรรมของพระพุทธเจ้ามากขึ้นทุกวัน ทุกเวลา พูดไปอย่างนั้น พูดให้คนมันเกลียด แต่ว่าก็ได้บ้างนิดหน่อย ญาติโยมที่ลืมหูลืมตาก็ได้เปลี่ยนมาหาธรรมะกันบ้าง เราต้องช่วยกันปลุกระดมในด้านธรรมะให้คนได้รู้ ได้เข้าใจ อย่าไปหลงใหลมัวเมาในสิ่งที่เป็นวัตถุอย่างนั้นมากเกินไป ศาสนาจะเสื่อม เพราะเรื่องอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ชอบทำ วัดนั้นเสก วัดนี้เสก เสกกันบ่อยๆ เสกกันหมดแล้วเวลานี้ เสกกันจนลืมสอนหนังสือกันแล้ว ลืมเทศน์สอนคนแล้ว นั่งเป็นคนขายของวัตถุกันแล้วเวลานี้ วัตถุเป็นมงคลนั่งขายเป็นร้านไปเลย เข้าไปในที่บางแห่งพระเณรนั่งขายสบายใจ ขายเหรียญ ขายแหวน ไม่รู้ว่าจะเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าตรงไหน ถ้าไปนั่งทำอย่างนั้นแล้วจะเป็นศิษย์พระพุทธเจ้าได้อย่างไร จะเป็นผู้ประกาศธรรมะได้อย่างไร พูดไม่ออกแล้ว เพราะว่าไปทำเรื่องเหลวไหลแล้ว เลยไม่ได้เรื่องอะไร นี่เป็นสภาพที่น่าสลดใจในวงการของพระพุทธศาสนาในเมืองไทยเวลานี้ ถ้าเราไม่ช่วยกันรื้อฟื้นแล้ว จมไม่รู้ตัว ญาติโยมจำไว้ด้วย จมไม่รู้ตัว ประเทศเพื่อนบ้านที่นับถือพระพุทธศาสนาจมไปเพราะเรื่องเหลวไหลอย่างนี้ ไม่สอนธรรมะ ไม่ปฏิบัติธรรมะ เลยเขามองเห็นว่า ศาสนาไม่มีประโยชน์ เพราะมัวเมาแต่เรื่องศักดิ์สิทธิ เรื่องขลังตลอดเวลา ยุบหมดเลย ทีนี้ไม่มีต่อไป ขออย่าให้เมืองไทยต้องเป็นอย่างนั้นเลย ขอให้เมืองไทยจงเป็นเมืองแห่งธรรมะ เป็นเมืองแห่งพุทธศาสนาต่อไป แต่เป็นเมืองแห่งพุทธศาสนาที่สว่างไสวด้วยสัจจะธรรม สว่างไสวด้วยปัญญา ไม่ใช่นับถือพุทธศาสนาแบบเด็กอมมือที่เป็นๆ กันอยู่ในสมัยนี้ เรามาถือพุทธศาสนาแบบผู้ใหญ่ แบบที่รู้จักพระพุทธเจ้าที่แท้ พระธรรมแท้ พระสงฆ์แท้ เข้าถึงสิ่งถูกต้อง เอาปฏิบัติมาถูกต้อง ได้รับประโยชน์จริงจากธรรมะของพระพุทธเจ้า สามารถจะพูดอวดใครๆ ได้ บอกว่า ฉันสบายเพราะฉันมีพระธรรมอยู่ในใจ ฉันสบายเพราะฉันนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อย่างนี้จึงจะชื่อว่าได้เรื่องได้ราวจากหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา
เวลานี้เราต้องใช้ทุกอย่าง ปัจจัย ปัญญา ความสามารถของคน เพื่อปลุกใจคนให้ตื่นตัว ให้มองเห็นพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ องค์แท้องค์จริงกันเสียบ้าง อย่าให้มองเห็นเป็นความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ ความมืดมัวไปเหมือนท้องอากาศหน้าฝนไปอย่างนั้น มันก็ไม่ได้ ต้องให้เป็นท้องอากาศหน้าหนาวโปร่งโล่ง ถ้ามีพระจันทร์ก็เห็นชัด มองชัดเจน ไม่มัวเมา ไม่หลงใหล จึงจะเอาตัวรอด บำรุงศาสนาต้องบำรุงด้วยการปฏิบัติให้ถูกต้อง พูดให้เขาฟังถูกต้อง แล้วก็แสดงอวดเขาได้ว่า เราเป็นสุขเพราะการปฏิบัติอย่างนี้ ในครอบครัวของเรา ครอบครัวของชาวพุทธต้องเป็นครอบครัวที่มีความสุข สงบ ราบรื่น ไม่มีปัญหา ในแง่ใดๆ ในเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องอะไรก็ไม่มีปัญหา แม้จะเป็นคนค้าคนขาย ทำงาน ทำการก็เรียกว่าไม่เป็นทุกข์เพราะขาดทุน ไม่เป็นสุขใจเพราะได้กำไร เพราะมองเห็นอะไรถูกต้องตามสภาพที่เป็นจริงอยู่ อันนี้นักธุรกิจถ้าใช้แล้วสบายใจ วันก่อนนี้ก็มีมารายหนึ่งกลุ้มใจเหลือเกินเพราะขาดทุนยุบยับ ก็เลยแนะแนวทางให้ว่า ไม่ได้ขาดทุนอะไร เพราะเราไม่มีทุนจะขาด มันเป็นแต่เรื่องไม่ได้มากเท่านั้น แต่ว่ามันยังได้อยู่ ชี้แจงให้เข้าใจ ให้ทำใจให้ถูกต้อง แกก็สบายใจ วันหลังมาก็บอกว่า แหม, วันนี้หนักกว่าวันก่อน แต่ผมสบายใจ มานั่งกับหลวงพ่อคุยกันแล้วสบายใจ เอาไปใช้ในชีวิตสบายใจอยู่ เวลานี้มองเห็นอะไรมันดีขึ้น ก็เรามันไม่มีอะไร มีอะไรสักนิดก็เรียกว่า มีแล้ว แต่ถ้ามีด้วยความยึด ความถือมันยิ่งทุกข์มาก ถ้าเรายึดไว้มันก็เป็นทุกข์ แต่ถ้าไม่ยึดก็สบายใจ เรื่องนี้มันต้องรู้แจ้งแก่ใจของเราเอง ทำไป รู้ไป ฉลาดไปเรื่อยๆ ตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา
อ๊ะ, พูดมาก็ไม่รู้ว่าเวลาเท่าใดแล้ว ลืมเอานาฬิกามาวางไว้ตรงนี้ เมื่อสักครู่ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา หยุดกันเสียอีกสักหน่อย ขอให้ญาติโยมนั่งคิดนั่งนึกในเรื่องอะไรๆ มองดูตัวเอง พิจารณาตัวเอง เพื่อให้รู้จักตัวเองมากขึ้น แล้วจะได้มีอะไรเพื่อแก้ไขปรับปรุงต่อไป มาสวนโมกข์ให้มันได้อะไรบ้างกลับไป มาแล้วได้ไป เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป จึงจะได้คุณ ได้ค่า จากการมาสมความปรารถนา เอ้า, เอาละ ขอพักสักอีกนิดหนึ่งก่อน พักกาย ใจค่อยว่าต่อไป
ถาม กระผมขอนมัสการเรียนถามเกี่ยวกับปัญหาที่พระเดชพระคุณ หลวงพ่อปัญญา ได้ปรารภไว้ในที่นี้ว่า มงคลในพระพุทธศาสนานั้นอย่างหนึ่ง แต่พุทธศาสนาในประเทศไทยทุกวันนี้ เรามุ่งทางด้านวัตถุและเป็นที่กระจ่างชัดว่า ผู้ที่ทำงานประเภทนี้ก็อยู่ในเครื่องแบบของนักบวชในศาสนาพุทธ จากการฟังการปรารภสักครู่นี้ จึงขอกราบเรียนถามพระคุณท่านว่า ถ้าเหตุมันเป็นแบบนี้ พุทธศาสนิกชนในฐานะที่เป็นนักบวชด้วยกันจะทำอย่างไร และในฐานะที่เป็นอุบาสก อุบาสิกา ควรจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ อย่างไร ขอกราบนมัสการ
ท่านพุทธทาสภิกขุ คุณสมพงศ์ ช่วยตอบที คุณสมพงศ์ลุกขึ้นมาตอบที พระจะทำอย่างไร ฆราวาสจะทำอย่างไร ที่เป็นปัญหาอย่างนี้อยู่
คุณสมพงศ์ นมัสการท่านอาจารย์เคารพและสหายธรรมทาน สำหรับความรู้สึกของผมเองในเกี่ยวกับปัญหาที่ทางพระคุณเจ้าองค์ยกขึ้นมา ในความรู้สึกผมว่า สิ่งทั้งหลายต่างๆ ที่เป็นไปในสังคมทุกวันนี้ เป็นไปตามกฎของอนิจจัง ก็เป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ มันก็ต้องมีเหตุมีปัจจัยให้เป็นไป แต่ว่าเราจะต้องศึกษาว่าสิ่งที่เป็นไปนั้น เป็นไปด้วยเหตุ ด้วยปัจจัยอย่างไร เราพบอยู่มากมายเดี๋ยวนี้ แฟชั่นต่างๆ นี้เป็นเอามาก แฟชั่นในการแต่งกาย แฟชั่นในการทำงาน หรือแฟชั่นต่างๆ มันจะเป็นไป แต่ถ้าหากว่า เราสามารถในตัวของเรา ในพุทธบริษัทของเรา หรือว่าในกลุ่มของเรา จะต้องพยายามไม่หวั่นไหว ในกลุ่มสงฆ์ก็จะต้องไม่หวั่นไหว ในกลุ่มพุทธบริษัทหรือในกลุ่มพวกชาวบ้านก็ต้องไม่หวั่นไหว ไม่คล้อยตาม ในตัวเราเองไม่คล้อยตาม เพราะเห็นว่าสิ่งนั้นมันเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่ง แต่ถ้าหากว่าเราหวั่นไหวไปด้วย ตามไปด้วย ตามสังคมไปด้วย เรื่องก็จะยิ่งไปกันใหญ่ ในขั้นต้น ในความเห็นของผม ผมคิดว่า ถ้าหากว่าเราพบสภาพการอย่างนั้น ในประการแรกที่สุดเราต้องทำใจให้สบาย อย่าเป็นทุกข์เป็นร้อนกับเขาด้วย ทำใจให้สบายแล้วคิดหาเหตุ คิดรวมเหตุ รวมปัจจัยต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดอย่างนั้น สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะพวกเราเป็นส่วนใหญ่ เพราะว่าไม่ว่าเศรษฐกิจ ไม่ว่าการค้า หรือไม่ว่ากิจการใดๆ มันสำคัญที่ผู้ใช้ ไม่สำคัญที่ผู้ผลิต ก็ผู้ผลิตพยายามผลิตตามตามผู้ใช้ อย่างภาษาฝรั่งเขาว่า Consumer Behavior คนใช้คนซื้อเป็นเรื่องสำคัญที่มีพฤติกรรมที่ทำให้ผู้ผลิตผลิตออกมา เพราะในสิ่งนี้ผมไม่อยากตำหนิผู้ผลิต ผมจะตำหนิพวกเราผู้ใช้ อย่างกางเกงยีนส์ที่มีขายตามตลาดเยอะแยะ ราคาแพง แต่คนใช้มันซื้อกันมาก เป็นแฟชั่นอย่างหนึ่งซื้อกันมาก ทั้งๆ ที่ท่านอาจารย์หรือใครๆ พูดว่า ข้าวของแพง สิ่งของขาดแคลนไม่จำเป็น การเงินการทองไม่ค่อยดี แต่เราก็ใช้กันมาก ในทำนองเดียวเรื่องวัตถุมงคลทั้งหลาย มันสาเหตุมาจากพวกที่เราเป็นเหยื่อของการใช้ เป็นเหยื่อของการโฆษณา เป็นเหยื่อของการล่อลวง เป็นเหยื่อของตลาด นั้นตามความรู้สึกขั้นตนที่ผมพอจะตอบได้ในปัญหานี้ก็รู้ว่า สำหรับผมเองก็คิดว่า เราผู้ใช้ทั้งหลาย หรือว่าเราทั้งเป็นพุทธบริษัททั้งหลาย หากเราไม่หวั่นไหว ไม่คล้อยตามหรือไม่ผสมโรง ที่พบมาก คือ การผสมโรง ผสมโรงเพื่อประโยชน์ ที่พบมากก็ประโยชน์ตามนั้น ยกตัวอย่าง อย่างข้าราชการ ถ้าหากว่านายชอบพระก็หากันใหญ่ หาพระไปเพื่อให้ได้สองขั้น สามขั้น สี่ขั้น ห้าขั้น หรือว่าในการที่เราจะไปทำสงครามต่างๆ เหล่านี้ก็หาเครื่องรางของขลังที่จะไป เพื่อประโยชน์ทั้งนั้น รวมทั้งผม คิดว่าทั้งพุทธบริษัทหรือทั้งพระเองก็หาเครื่องรางของขลัง เพื่อประโยชน์ หาประโยชน์ส่วนตน ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนรวม ก็โดยสรุป ผมก็คิดว่าขั้นต้นก็อย่าหวั่นไหว แล้วหาเหตุหาปัจจัย หาเรื่องต่างที่จะมาดับเหตุนั้น แล้วก็ประการสุดท้ายก็คือ ถ้ามันเป็นอย่างนั้น เราก็อย่าไปทุกข์ไปร้อนกับมัน เพราะว่ามันเป็นอนิจจัง ขอขอบคุณ
ท่านพุทธทาสภิกขุ อ้าว, คุณไสว มาตอบต่อ คุณที่หนึ่งเขาตอบอย่างนี้ เขาว่าอย่าไปเป็นเหยื่อของมันก็แก้ปัญหาได้ คุณไสวมาตอบตามความคิดเห็นของตน
คุณไสว กระผมไม่ได้ฟังปัญหาตลอดครับ เมื่อสักครู่นี้ ผมไว้ตอบปัญหาอื่นนะครับ
ท่านพุทธทาสภิกขุ ไม่ได้ฟัง ไม่ตอบ
คุณไสว ครับ ไม่ได้ฟัง คือผมชอบตอบปัญหาลึกๆ กว่านี้หน่อย ปัญหาพระพุทธ พระธรรม
ท่านพุทธทาสภิกขุ นี่ปัญหานี้ไม่ใช่ตื้น แต่เป็นปัญหาใหญ่ ปัญหายุ่งยาก ปัญหาความวินาศของประเทศชาติว่า เกิดตลาดแบบหนึ่งขึ้นมาทำให้พุทธศาสนาถูกกลบไปด้วย ศิลปศาสตร์ ปรามาสเป็นการทั่วไปที่นี้ คนที่ตอบทีแรกตอบว่า เราอย่าไปเป็นเหยื่อของมัน มันก็ไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีปัญหาอะไรนัก ก็อย่าไปเป็นเหยื่อของมันก็จะรักษาสภาพของพุทธบริษัทหรือประเทศไทยไว้ได้ เขาเกณฑ์ให้ตอบคำถามที่ว่า เมื่อพุทธบริษัทส่วนใหญ่ส่วนหนึ่ง เขาทำอะไรกันมาอย่างนี้ เราควรจะทำอย่างไรจึงจะรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ ไม่ใช่เป็นปัญหาเล็ก มันเป็นปัญหาใหญ่ของส่วนรวม ถ้าคุณมีความคิดเห็นอย่างไร ก็ขอได้ว่าออกไป
คุณไสว ครับ ผมก็จะขอแสดงความคิดเห็นนะครับ ในฐานะที่ผมได้ช่วยเอาธรรมะของท่านอาจารย์ไปเผยแพร่ เช่น พูดอยู่ที่ลานอโศกวัดมหาธาตุถึง ๑๐ ปี แล้วมาพูดอยู่ที่ข้างหอประชุมธรรมศาสตร์อยู่อีก ๒ ปี ก็เจอกับนักศึกษาเป็นส่วนมาก มีอยู่สิ่งหนึ่งที่นักศึกษาสมัยใหม่มักจะกล่าวกันหนาหูก็คือว่า ประเทศไทยนี้มีพุทธศาสนามานานนับหลายร้อยปีแล้ว แต่ก็ไม่เห็นจะช่วยคนไทย ช่วยสังคมไทยอะไรได้ ยิ่งนับวันคนไทยที่อ้างว่านับถือพุทธศาสนา ยิ่งเห็นแก่ตัว ยิ่งเบียดเบียนกัน ศีลธรรมเสื่อมโทรม ทรุดหนักลงไปทุกวัน นี่คือปัญหาที่นักศึกษามีความข้องใจต่อพุทธศาสนาในปัจจุบัน เมื่อผมได้ยินอย่างนี้ ท่านอยากจะทราบว่า ผมตอบนักศึกษาว่าอย่างไร ผมตอบนักศึกษาว่า ปัจจุบันนี้ไม่ใช่พุทธศาสนา ปัจจุบันนี้ส่วนมากไม่ใช่พุทธศาสนา ถ้าเป็นพุทธศาสนาจริงๆ แล้ว สังคมไทยหรือประเทศไทยจะเป็นประเทศตัวอย่างของโลกที่มีแต่ความสงบ สันติ คนไทยที่นับถือพุทธจะไม่หลงใหลวัตถุกันมากมายเหมือนอย่างปัจจุบันนี้ เพราะว่าพุทธศาสนาจริงๆ นั้น พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ดับกิเลสหรือดับทุกข์ การที่จะดับกิเลส ดับทุกข์ ก็ต้องออกจากการหลงใหลวัตถุ ออกจากการยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน นี่คือหลักคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า แต่ว่าทุกวันนี้ เราไม่ได้สอนกันอย่างนี้ เมื่อพระพุทธเจ้าท่านแสดงธรรมครั้งแรกนั้น ท่านเตือนภิกษุทั้งหลายว่า อย่าสอนในทางสุดโต่ง ๒ ทาง คือ กามสุขัลลิกานุโยค คือ สอนเอาวัดความสุขอยู่ที่วัตถุอยู่ที่กามนั้นไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ยังเป็นไปเพื่อความเบียดเบียนอย่าสอนเช่นนั้น อีกประการหนึ่งอัตตกะลิมัตถะนุโยค ก็คือ อย่าได้ไปสอนว่ามันมีอัตตาตัวตนจริงๆ เพราะถ้าคนที่ไปรู้ผิด ยึดถือว่า มีอัตตาตัวตนจริงๆ แล้วจะเป็นทุกข์ ทำให้พ้นทุกข์ไม่ได้ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะไปที่ไหนๆ นะครับ ก็ยกเว้นอยู่ที่สวนโมกข์หรือกับที่วัดชลฯ เท่านั้นเอง ล้วนแต่สอนแต่ในทางสุดโต่ง ๒ ทางนี่ทั้งนั้น สรุปใจความที่สอนก็ว่า ญาติโยมทำบุญมากๆ นะ ตายแล้วจะได้ไปขึ้นสวรรค์ นี่ก็คือ ทางสุดโต่ง ๒ ทาง อะไรไปขึ้นสวรรค์ ก็คือ วิญญาณ ที่เข้าใจว่าเป็นอัตตาตัวตน และสวรรค์เป็นยังไง ที่อยากจะไปขึ้นกันนักก็เต็มไปด้วยวัตถุ เต็มไปด้วยกามชนิดที่ว่าปรารถนาจะกินอะไรก็เนรมิตเอาเอง ไม่ต้องมาทำให้เหนื่อยแรงอย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นเมื่อสอนอย่างนี้เป็นทางสุดโต่ง เป็นคำสอนเน่าๆ อย่างนี้ มันก็ทำให้เกิดกิเลสขึ้นจับจิตใจคนที่หลงใหลวัตถุ ทำให้เกิดกิเลส เกิดความทุกข์ ขึ้นกับจิตใจคนที่ยังเห็นว่ามีอัตตาตัวตนจริง จึงไม่เป็นปัญหาเลยว่า สังคมไทย จึงเป็นแต่ชื่อเท่านั้นที่ว่านับถือพุทธ ส่วนการศึกษา การปฏิบัติ มันไม่ได้เป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ปฏิบัติตามทางสายกลาง คือ ใช้วัตถุเพื่อประโยชน์ให้ชีวิตดำรงอยู่ แต่ว่าความสุขไม่ได้อยู่ที่วัตถุ ใช้อัตตาเป็นคำสมมติเรียกขานเพื่อประโยชน์ทางโลก แต่ไม่ได้ยึดถือว่า มันเป็นตัวตนจริงตามคำเรียกขานทางสายกลาง นี่อย่างนี้เราไม่สอนกัน เมื่อไม่สอนทางสายกลาง ก็คือ ไม่ได้สอนตามที่คำที่พระพุทธเจ้าท่านชี้ เพราะฉะนั้นก็ไม่มีปัญหาเลยว่า คนไทยเราเป็นพุทธแต่ชื่อ แล้วก็มีกิเลส ยิ่งนับวันยิ่งหนาแน่นพอกพูนขึ้นทุกวัน
อีกสิ่งหนึ่งที่อยากจะพูดเพิ่มเติมเสียด้วย อย่างพวกเครื่องรางของขลังต่างๆ นั้น เอายกตัวอย่างแม้แต่พระพุทธรูปนี่ ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ ท่านก็ปฏิเสธกับพระวักกลิ ซึ่งเข้าใจผิดว่า พระพุทธเจ้านั้นเป็นที่เนื้อหนัง เวลานั่งฟังธรรม พระวักกลิจะนั่งหน้าเพื่อน นั่งใกล้พระพุทธเจ้าที่สุด แล้วก็เผลอๆ ก็เอามือไปจับจีวร จับพระบาท จ้องหน้าจ้องตา นึกในใจ พระพุทธเจ้านี่รูปหล่อ หน้าตา ปากเล็ก จมูกน้อย แก้มแดง อย่างนี้เป็นต้น ส่วนธรรมะไม่ฟัง แล้วไปเที่ยวคุยให้ใครต่อใครฟังว่า ตนเองนั้นนั่งอยู่ใกล้พระพุทธเจ้าที่สุด พระพุทธเจ้าก็เรียกมาตักเตือน วัคกะลิเธอนะอยู่ไกลที่สุด เพราะธรรมเธอไม่ฟัง ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา โยปัสสติโสมังปัสสติ ไม่ว่าเกิดยุคใดสมัยใด เมื่อพระพุทธท่านเจ้าตรัสไว้เช่นนี้แล้ว เหตุไฉนคนในรุ่นหลัง จึงไม่ปฏิบัติตามที่ท่านสอน คือ เมื่อจะเข้าถึงพระพุทธเจ้าก็ต้องเอาคำของท่านมาศึกษา มีอริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น แต่คนรุ่นหลังกลับไปเอาวัตถุมาปั้นขึ้นมาเป็นรูปบุคคล แล้วเคารพกราบไหว้ขึ้น แล้วเขาก็ไปติดอยู่แค่วัตถุนั่นเอง นี้การที่ปั้นรูปพระพุทธเจ้าขึ้น ถ้ามีจุดมุ่งหมายว่าเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า เป็นตัวแทนพระธรรม เห็นพระพุทธรูปก็นึกถึงพระธรรม เอาพระธรรมมาปฏิบัติก็ยังพอใช้ได้ แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่นั้นการสร้างรูปพระพุทธเจ้าขึ้นมานั้น ก็เพื่อที่จะเป็นในทำนองที่จะให้ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ให้อามิส สร้างความร่ำรวยกันขึ้นนะครับ แล้วก็มาพูดกันง่ายๆ ก็เอามาซื้อ มาขาย มาเช่ากัน ที่เรียกเสียใหม่ว่าเช่ากัน เอารูปพระศาสดามาปั้นขายกันขึ้น นี้เป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นการผิดไปจากคำที่พระพุทธเจ้าสั่ง พระพุทธเจ้าสอนนี่จึงเป็นผลเสียให้เกิดขึ้นกับคนที่นับถือพุทธศาสนา นี่ผมก็ขอตอบโดยเท่าที่พอจะแสดงความคิดเห็นนะครับ แค่นี้ครับ
ท่านพุทธทาสภิกขุ เรามุ่งหมายที่จะถามในใจความว่า เมื่อมันได้เกิดสิ่งที่จะครอบงำ หุ้มห่อปิดบัง หรือว่าบดขยี้ความมีอยู่แห่งพุทธศาสนาขึ้นมาแล้วเราควรจะทำอย่างไร ไม่ต้องระบุบุคคล หรือว่าการกระทำลงไปตรงๆ นัก มันไม่สมควร เอาว่าแต่ว่าเมื่อได้เกิดสิ่งที่เป็นเสนียด อุปัทวะ อันตรายที่จะมาครอบคลุมปิดบังพระศาสนาที่จะเป็นประโยชน์แก่มหาชน อย่างนี้แล้วพุทธบริษัทควรจะเคลื่อนไว หรือไม่ ดีกว่าถ้าจะเคลื่อนไหว ควรเคลื่อนไหวอย่างไร การต่อต้านไม่ร่วมมือก็เป็นการเคลื่อนไหวอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน ท่านผู้ใดมีความเห็นชัดกว่านั้นว่า เราควรจะเคลื่อนไหวอย่างไรเพื่อประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา ขอให้แสดงความคิดเห็นอันนี้ออกมา ขอเชิญมาแสดงความคิดเห็นให้ผู้อื่นได้ยินด้วย เอ้า, คุณประยูร จะเชิญใคร เอาเองๆ
คุณประยูร คือ ตอนนี้ผมไม่อยากเชิญแล้ว เชิญเสียเวลาช้า เอาเองดีกว่านะครับ แล้วถ้าใครยังไม่จุใจก็มาช่วยผสมๆ กันดีกว่านะครับ นี่เป็นปัญหาใหญ่จริงนะฮะ อย่างที่พระเดชพระคุณท่านอาจารย์ว่า มันเกิดขึ้นแล้ว แล้วเราจะแก้กันอย่างไรในแบบชาวพุทธนะฮะ สิ่งที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว แล้วเราจะแก้สิ่งนั้นได้อย่างไร กระผมเห็นอยู่แล้วว่าช่องทางการต่อสู้ของชาวพุทธเรานั้นไม่ใช้เดินขบวน เราไม่ได้ใช้อาวุธ เรามีแต่ฝีปากและการกระทำอันสงบเงียบเท่านั้น ฉะนั้นผมก็ใคร่เสนอแนะว่า ขอให้พวกเราที่ต้องการที่จะเป็นพุทธบริษัทจริงๆ พุทธมามะกะจริงๆ ครับ มาช่วยกันทำหน้าที่นี้กันจริงๆ นะฮะ ถ้าทำหน้าที่เป็นพุทธบริษัทกันจริงๆ นะครับ แล้วสิ่งเลวๆ ชั่วร้ายทั้งหลาย มันก็จะน้อยไป โดยเรากระจายทางฝ่ายดี ของเราไว้ เมื่อเรารู้แล้วว่าฝ่ายโน้นไม่ดีกำลังเป็นอยู่และเป็นมากด้วย เราก่อหวอดฝ่ายของเราให้มันดีขึ้นนะฮะ ให้มันดีขึ้น แล้วก็โฆษณาความไม่ดีของฝ่ายโน้นบ้าง ไม่ใช่ๆ โฆษณา คือ ชี้ให้เห็นโทษ ความไม่ดีข้างโน้น วัตถุมงคล ผมขอกล่าว วัตถุมงคลนั้นไม่ดีอย่างไรหรือว่าดีแค่ไหน สิ่งอื่นที่ดีมากกว่านี้คืออะไรนะฮะ เราต้องชี้ให้เห็นชัดลงไปเลย เราจะว่าไม่ดีเสียทีเดียวเลย เขาจะต่อต้านเราเต็มที่ เราบอกว่าดีอยู่บ้างวัตถุมงคล แต่สิ่งที่ดีกว่านั้นคืออะไร อะไรที่เป็นมงคล มงคล ๓๘ ประการ มงคลที่พระสวดอยู่นั้นเหละครับ ถ้าเราอยากจะเป็นพุทธบริษัทกันแท้จริงแล้ว เราจงสร้างมงคลอันนั้นให้มันละเอียด ให้เข้าใจถ่องแท้ แล้วก็เอามาปฏิบัติ ชี้ให้เห็นว่ามงคลที่แท้จริงที่สวดๆ กัน ๓๘ โดยเฉพาะพระสวดตามบ้าน เวลาสวดมงคล สวดให้บ้านมีมงคล สวดอะไรต่างๆ นี้ ผมว่า ถึงแม้ว่า ทางฝ่ายพุทธบริษัทที่เพศ ที่เป็นเพศบรรพชิตก็เหมือนกัน น่าจะเปลี่ยนแปลงได้บ้างแล้ว เราจะต้องมีกลวิธี มีกองทัพรุกแบบใหม่บ้างแล้วนะฮะ เพราะเราโดนโจมตีทางฝั่งโน้นมามากแล้ว วัตถุมงคลกำลังโจมตีเราอยู่ให้เหลวแลก เพราะฉะนั้นกองทัพธรรมของเราทางฝั่งนี้เราต้องเปลี่ยนกลวิธีต่อสู้บ้างแล้ว ถ้ามัวนั่งสวดอเสวนากันอยู่โดยไม่ได้แปลกันเลยนะครับ สวดไปสวดมาก็อยู่แค่นั้นละครับ ก็คนฟังมันไม่รู้จักมงคลที่แท้จริงเลย นะฮะ มันแปลได้แต่ อเสวนา จ พาลานัง คนที่แปลออกว่า อย่าคบคนพาล เขาแปลออก คนที่ไม่รู้เรื่องเลยก็ไม่รู้เรื่องเลยตลอดเวลานะครับ เพราะฉะนั้นนี่ถ้าหากว่า จะได้มีการต่อสู้กับฝ่ายวัตถุมงคลเขาบ้างแล้ว เราควรจะเอามงคลที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญอาจตรัสว่า เป็นมงคลแท้จริงนั่นครับ มาขยายความ แล้วมาพูดกันให้บ่อย ถ้าจะมีพิธีการ สวดมงคลขึ้นมาที่ไหน สวด อเสวนา จ อาพาลานัง ขึ้นมาที่ไหนแล้ว น่าจะเริ่มบทแปลแล้วครับนะฮะ จริงเราไม่เปลี่ยนคำบาลี แต่จะมีคำแปลกันบ้าง เพื่อให้เข้าใจ สวดแปลไปเลยครับ สวดมงคลแปล เหมือนอย่างพระเดชพระคุณท่านอาจารย์ได้สวดทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็นแปล ซึ่งเราจะได้รู้เนื้อหาขึ้นมาแยะแล้ว ต่อไปนี้เราก็สวดมงคลแปลอีก ให้เห็นว่าเป็นมงคลจริงนั้นมันดีอย่างไร เป็นอย่างไร คือ เราชี้โทษทางข้างโน้นว่าวัตถุมงคลนั้น มันจะมีมากจนถึงขนาดล้มแล้วลุกไม่ได้ อย่างที่พระเดชพระคุณท่านปัญญานันทะว่าอย่างนั้น เราชี้โทษให้เห็นบ้างว่า ถ้ามีมากแล้ว มันล้มจนลุกไม่ไหว มันหนักวัตถุมงคล แต่วัตถุมงคลของฝ่ายเราซิครับ เมื่อเราจะไปชี้โทษฝ่ายโน้นแล้ว เราต้องจูงมงคลอันแท้จริงฝ่ายนี้ของเราให้ได้ ซึ่งผมใคร่เสนอแนะว่าเปลี่ยนวิธีการเสียบ้างนะฮะ จะไปสวดที่ไหนจะทำอย่างไรหรือจะหาวิธีจะอภิปรายกันเรื่องมงคลกันให้เข้าใจกันเสียบ้าง เพื่อต่อต้าน เราต่อสู้กันด้วยเหตุด้วยผล ตามเหตุตามปัจจัยอย่างที่คุณหมอสมพงศ์ได้กล่าวไว้แล้วว่า เราจะต้องค้นหาเหตุ ค้นหาผลแล้วต่อสู้ไปด้วยคุณ ต่อสู้กันด้วยโทษ จูงให้เขาเข้าใจเท่านั้นเอง เราหามีการบังคับและต่อต้านโจมตีแช่งด่าคนหนึ่งคนใดไม่ครับ ผมขอสรุปของผมได้แค่นี้ครับ
กระผมขออนุญาตนะครับทางผ่ายฆราวาสก็พูดกันมาหลายคน อยากจะนิมนต์ท่านมหาสำเริง จากเกาะสมุย ขอนิมนต์ครับ
ท่านพุทธทาสภิกขุ จงช่วยจำกันไว้ให้เป็นประเด็นๆ โดยหลักของมันว่าอย่างไร อย่างว่า การต่อสู้มีขึ้นมันก็เว้นการทะเลาะวิวาทไม่ได้ สิ่งที่เป็นไปเพื่อการทะเลาะวิวาทนั้น ควรจะทำหรือไม่ สิ่งที่เป็นการทะเลาะวิวาทนั้น มันเป็นธรรมะหรือไม่ เป็นพุทธบริษัทหรือไม่ เราควรจะมีการต่อสู้ต่อต้านซึ่งเป็นการวิวาทสักเท่าไร เต็มที่หรือครึ่งๆ กลางๆ หรือว่าเราจะเว้นการทะเลาะวิวาทเสียโดยประการทั้งปวง จะ เป็นการถูกกว่าหรือไม่ อยากจะเสริมอย่างที่คนที่หนึ่งได้กล่าวไปแล้วว่า เราเฉยเสีย นั่นเป็นการประท้วงที่ดี คือ ไม่ต้องต่อต้านทะเลาะวิวาท แต่อาตมายังเห็นว่า มันยังมีวิธีอื่นก็ได้ คือว่า เราถือหลักธรรมะเคร่งครัด เป็น สัจจะธรรมสิ่งทั้งหลาย มันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลง และมันเปลี่ยนแปลงไปตามกฎแห่งเหตุปัจจัย เช่น กฎอิทัปปัจจยตา เป็นต้น ก็มีหลักอยู่ว่าสิ่งใดเมื่อมันเป็นไปถึงที่สุด สุดเหวี่ยงแล้ว มันก็สุกงอมและสลาย เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากหมดไปเร็วๆ เราช่วยส่งเสริมเขาไม่ดีกว่าเหรอ ส่งเสริมเขาให้เป็นมากขึ้นๆๆ แล้วมันก็ถึงที่สุดแล้วมันก็สลายเอง ใช้กฎอิทัปปัจจยตา ส่งเสริมให้มันสุกเร็วๆ แล้วมันก็สลายไปตามกฎของอิทัปปัจจยตา ไม่ต้องทะเลาะวิวาทกันเลย อย่างนี้จะดีหรือไม่ จะเอามาใช้ได้หรือไม่ ไม่กระทบกระทั่ง ไม่ประท้วง ส่งเสริมให้มันเป็นไปจนถึงจุดอิ่มตัวแล้วมันก็สลายเอง
เอ้า ผู้จัดการเขาบอกว่าพายุจะมา ฝนจะมา ลูกสะบ้าจะหล่นใส่หลัง