แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ตั้งแต่แรกเริ่มมาวันอาทิตย์กลางคืนจัดไว้เป็นวันสำหรับถาม ตอบ อภิปราย ปัญหาทั้งหมด ไม่ไช่เฉพาะภิกษุนวกะ หรือภิกษุทั้งวัด ใครมีปัญหาอะไรก็ถามได้ เอามาถกกันได้ มาอภิปรายกันได้ มาซักไซ้กันได้ ใครมีปัญหาอะไรก็ลองว่ามาดู คือจัดไว้เป็นวันสำรับแก้ข้อสงสัย ค้างคา ติดขัดตรงนั้น ตรงนี้อย่างไร ปัญหาเหล่านั้นมันจะได้หมดไปๆ ทั้งของภิกษุใหม่ และภิกษุเก่า ใครมีปัญหาอะไรลองว่ามา
(นาทีที่ 02:47-03:07 เป็นคำถาม เสียงเบามาก)
นี่มันมีอยู่ในหนังสือ ตำรับตำราแล้ว ว่าเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ เห็นเวทนาอยู่ในเวทนาอยู่เป็นประจำ เห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ เห็นธรรมในธรรมอยู่เป็นประจำ นี่เขาเรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ นี่อธิบ่ายอยู่ในหนังสือเรื่องนั้นๆ สำหรับภิกษุ ธรรมนี้กล่าวสำหรับภิกษุ ให้ภิกษุเป็นผู้ที่มีสติ รู้สึกในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมอยู่เป็นประจำ มันเป็นหลักปฏิบัติทั้งหมด และตลอดกาล อยากจะบอกให้ทราบว่าหลักปฏิบัติในพุทธศาสนานั้น ถือได้ว่าสติปัฏฐาน ๔ เป็นตัวหลักที่ต้องปฏิบัติทั้งหมด และตลอดกาล และในเรื่องของโพธิปักขยธรรม ๓๗ นั้นไปพิจารณาดูให้ดี จะเห็นได้ว่าตัวที่จะปฏิบัติจริงๆก็คือสติปัฏฐาน ๔ ส่วนสัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ นั้นมันเป็นอุปกรณ์ของการปฏิบีติ คือส่วนหนึ่งมีอาการของการปฏิบัติ เช่น สัมมัปปธาน ๔ ไประดมปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔ อิทธิบาททั้ง ๔ ก็ใช้ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ นี่ก็ใช้ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ เมื่อปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ มันมีโพชฌงค์ ๖ ๗ อยู่ในตัวการปฏิบัตินั้นเห็นได้ชัด และเมื่อทำอยู่อย่างนั้น มรรคมีองค์ ๘ ชื่อว่าเป็นอันปฏิบัติด้วยอยู่ในตัว โดยอัตโนมัติ โดยสมบูรณ์ ถ้าเราจะหาองค์ทั้ง ๘ ของมรรคนั้นได้ในเรื่องของสติปัฏฐาน ๔ ที่กำลังปฏิบัติอยู่นั้นเอง จึงว่าให้เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ เห็นเวทนาในเวทนาอยู่เป็นประจำ ในจิต ในธรรมอยู่เป็นประจำ คือปฏิบัติกันตลอดเวลา เป็นตัวการปฏิบัติทั้งหมดที่ไม่ต้องเปลี่ยนแปลง โยกย้ายเป็นบทนั้น บทนี้ เรื่องนั้น เรื่องนี้
ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ตามนัยยะแห่งอานาปานสติสูตร จะเป็นไปตั้งแต่ต้นจนถึงบรรลุมรรคผลสุดท้าย นี่สำหรับภิกษุ ต้องเรียกว่าสมบูรณ์แบบ ภิกษุที่เป็นภิกษุอย่างสมบูรณ์แบบ มีการประพฤติ ปฏิบัติอย่างนี้อยู่เป็นประจำ บทแรกเห็นกายในกาย นี่หมายถึงรู้เรื่องเกี่ยวกับกายทั้งหมดเพราะว่ากายเป็นที่ตั้งของทุกสิ่ง ร่างกายเป็นที่ตั้งของการงาน ของจิต ของอะไรทุกสิ่ง เราต้องรู้เรื่องกายดี จนใช้กายนี้ให้เป็นประโยชน์เต็มที่ได้ แม้ฆราวาสรู้เรื่องกายดี ก็ใช้กายนี้ให้เป็นประโยชน์ หน้าที่การงานได้ สามารถจะบังคับกาย เนื้อหนังโดยทางกาย ลมหายใจ รู้จักใช้การหายใจเป็นเครื่องบังคับกาย เนื้อหนังนี้ให้ดีที่สุด ให้มันเยือกเย็นที่สุด เข้มแข็งที่สุด อะไรที่สุด ไม่เฉพาะแต่พระ ไม่ใช่เฉพาะแต่นักบวชที่จะทำกายให้ดีที่สุด ถ้าฆราวาสรู้จักธรรมมันก็จะมีกายที่ดีที่สุดด้วย
เรื่องเวทนานั้นมันเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะมันเป็นต้นเหตุของเรื่องทุกเรื่อง จะเกิดความทุกข์ก็เพราะเวทนานั่นเอง จะเกิดความคิดฟุ้งซ่าน นอนไม่หลับ ก็เวทนานั่นเอง ทุกขเวทนา สุขเวทนา อทุกขมสุขเวทนาที่กำลังเป็นปัญหา เตรียมก่อหวอดอะไรขึ้นมาให้เกิดความคิดเรื่อยไป เกี่ยวกับสุขเวทนา หรือทุกขเวทนานั้น นี่คนเขาไม่ค่อยรู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่าเวทนา ก็เห็นเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ ชั่วประเดี๋ยวประด๋าวไป มันก็เลยควบคุมความคิดนึก ความรู้สึกไม่ได้
ถ้าในตัวบาลีนั้นก็บอกชัดอยู่แล้ว ว่าไอ้เวทนานั่นแหละคือสิ่งที่ปรุงแต่งให้เกิดความคิด บางทีก็เรียกว่าจิต คิดอย่านั้น คิดอย่างนี้ คิดอย่างโน้น มันมีมูลมาแต่เวทนา เรารู้สึกอย่างไรเราจะคิดไปตามอิทธิพลของเวทนาบังคับให้คิด เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม แล้วเวทนามันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือทีทำให้เกิดกิเลส คนทุกคนในโลกมันทำงานเพื่อเวทนา คุณต้องมองเห็นไอ้หลักใหญ่อันนี้กันเสียก่อน บางที่ยกเว้นสัตว์เดรัจฉานเสียบ้าง สัตว์เดรัจฉานทั้งหมดไม่ค่อยได้ทำงานเพื่อเวทนา มันเพื่อธรรมชาติ เพื่อสัญชาตญาณเสียมากกว่า แต่ถ้ามนุษย์นี่แล้วมันทำงานเพื่อเวทนา เพื่อความเอร็ดอร่อย ทางกามก็มี ทางกินก็มี ทางกามก็มี ทางเกียรติก็มี เป็นความอร่อยของเวทนาทั้งนั้น เมื่อมีชื่อเสียงก็อร่อยทางเวทนา กามารมณ์อร่อยทางเวทนา กินอาหารตามธรรมดา อร่อยทางเวทนา คุณลองไปพิจารณาดูอย่างอิสระเต็มที่ ว่าทุกคนในโลกนี้มันทำงานทุกอย่างเพื่อสิ่งๆเดียวคือเวทนาหรือหาไม่ รวมทั้งตัวเราเองด้วย สิ่งใดที่เราหมายมั่นปั้นมือไว้ว่าจะได้ๆให้มากที่สุดในอนาคตนั้น ในที่สุดเป็นไปเพื่อเวทนาทั้งนั้น เวทนาทางเรื่องกินบ้าง เวทนาทางเรื่องกามบ้าง เวทนาทางเรื่องเกียรติบ้าง ฉะนั้นเราจึงมาศึกษาให้รู้จักไอ้เรื่องเวทนานี้กันให้ดีๆ
ถ้าให้โอกาสพูดคำหยาบก็จะพูดว่ามันเป็นนายเหนือหัว คุณต้องรู้ว่าไอ้เวทนามันเป็นนายเหนือหัวของมนุษย์ทุกคนในโลก แม้งานใหญ่ระหว่างชาติมันก็เพื่อประโยชน์แก่ชาติ แล้วประโยชน์นั้นก็มากลายเป็นเวทนา สุขเวทนาของแต่ละคน จนเกือบพูดได้ว่าฝ่ายซ้าย กับฝ่ายขวามันจะทำลายล้างกัน ก็เพื่อประโยชน์แห่งเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น มองให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เป็นต้นเหตุของทุกเรื่อง แล้วก็รู้จักมันไว้ ควบคุมมันให้ได้ อย่าให้มันเล่นงานเรา การปฏิบัติเกี่ยวกับเวทนา นี่เป็นอย่างนี้ เห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ดูเวทนาก็ต้องดูที่เวทนา และเวทนามีมากมายหลายๆอย่าง หลายสิบอย่าง ก็ดูแต่ละอย่างๆ เรียกว่าเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ถ้ามันปรุงแต่งความคิด ความนึก ความรู้สึก และออกมาเป็นการกระทำอะไรต่างๆ และส่วนมาก็เป็นไปเพื่อความทุกข์ เพราะเราไม่รู้จักมัน รู้จักมันเสียอย่าให้มันเป็นไปเพื่อความทุกข์ ไม่เป็นทาสของเวทนา อย่าให้เวทนามาเป็นนายเหนือหัว นี่ถ้าพูดคำหยาบ
นี่เรื่องที่ ๓ เรื่องจิต เห็นจิตในจิต ถ้าใครรู้แตกฉานในเรื่องของจิต จิตใจมันเป็นอย่างไร จะต้องจัดการกันอย่างไร ทุกอย่างมันสำเร็จอยู่ที่จิต ถ้าไม่มีจิตมันก็เหมือนไม่มีอะไร ถ้ามีจิตจึงมีความรู้สึก มีความรู้สึกทุกสิ่งจึงมี ในบาลีแม้ไม่ใช่พุทธภาษิต ก็มีน้ำหนักเหมือนพุทธสุภาษิตที่ว่าทุกอย่างมันรวมอยู่ที่จิต ชีวิต อัตภาพ ความสุข ความทุกข์ อะไรทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับสิ่งๆเดียวคือจิต ถ้าจัดการจิต เกี่ยวกับจิต ทุกอยย่างมันเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา ฉะนั้นเราต้องเป็นผู้มีความรู้แตกฉานในเรื่องอันเกี่ยวกับจิตของคนเราเอง ของตัวเอง และจะกระทำไปในลักษณะที่อย่าให้ก่อปัญหา หรือก่อความทุกข์ขึ้นมา ก็สบายไปเลย
ส่วนเรื่องธรรม เห็นธรรมในธรรมทั้งหลายนี่มัน คือรู้จักสิ่งรอบด้าน รอบตัว ที่เกี่ยวข้องกับคนเรา ทั้งภายนอก ทั้งภายใน ที่เรียกว่าธรรม เรียกว่าสัจธรรมของธรรมชาตินั่นแหละ ถ้ามองเห็น รู้จักสัจธรรมของธรรมชาติทุกอย่าง ทุกประการ แล้วก็สามารถที่จะปฏิบัติถูกต้องในธรรมชาติเหล่านี้ ก็เลยไม่มีความทุกข์เหมือนกัน ทั้ง ๔ อย่างนี้มันช่วยกัน รู้จักกายดี ก็รู้จักเวทนาได้โดยง่ายรู้จักเวทนาดี ก็รู้จักจิตได้โดยง่าย รู้จักจิตดี ก็ใช้จิตให้เป็นประโยชน์ที่สุดได้ในการที่จะศึกษาธรรม ฉะนั้นผมจึงแนะให้ยึดหลักสติปัฏฐาน ๔ ในอาณาปาณสติสูตร ไม่แนะนำมหาสติปัฏฐานสูตรอย่างที่เขาแนะนำกันอยู่ทั่วไป ซึ่งมันพร่า หรือมันๆไม่เป็นต้น เป็นปลายอะไร มันเหมือนกับกระจาดใหญ่เทรวมๆกันลงไป
เขาสอนเรื่องมหาสติปัฏฐานสูตรกันเป็นส่วนใหญ่ น้อยคนที่จะมาสนใจสติปัฏฐาน ๔ ในอานาปานสติสูตร แต่ไปสำรวจดูแล้วพระพุทธเจ้าท่านทรงสรรเสริญแนะนำไอ้เรื่องอานาปานสติ สติปัฏฐาน ๔ ในอานาปานสตินี่อย่างยิ่ง จนกระทั่งมีบทที่ตรัสว่า การตรัสรู้ของตถาคตก็เป็นไปตามแนวนี้ อานาปานสติ ๔ หมวด หมวดละ ๔ ๔ มันจึงเห็นได้ว่าจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับบรรพชิต ไม่ใช่ฆราวาสก็รู้จักใช้ให้ได้มากที่สุด มันก็ยิ่งเป็นประโยชน์มากที่สุดแก่ฆราวาส ถ้ารู้จักใช้ร่างกาย รู้จักควบคุมเวทนา รู้จักใช้จิต รู้จักธรรมะคือสัมมาสัจจะ (นาทีที่ 18:09) ธรรมสัจจะ สัจธรรมของสิ่งทั้งปวง มันก็ดี รายละเอียดมันก็มากอยู่ ถ้าสนใจก็ศึกษาไป เอ้า, ใครมีปัญหาอะไรอีก พูดดังๆหน่อย ไม่ค่อยได้ยิน ทำไมจึงไม่มีปัญหา
(นาทีที่ 18:48-19:11 เป็นคำถาม เสียงไม่ชัดเจน)
ปัญหานี้เคยมีผู้ถาม เมื่อสัตว์มีกรรมเป็นของตัว แล้วทำไมจะไปดันทุรังให้ส่วนบุญแก่ผู้อื่น ไปคิดดูก็พอจะมองเห็นว่ามันมีความมุ่งหมายอย่างอื่น สัตว์มีกรรมเป็นของตัว ของใครใครทำ ของใคร ใครรับกันไปตามเรื่องของกรรมไปส่วนหนึ่ง แต่ข้อที่เขาอยากจะให้ทุกคนเมตตากรุณาต่อกัน ให้มีจิตใจไปในทางที่ว่าทุกคนเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน มีความทุกข์ ความสุขด้วยกัน ปัญหาเดียวกัน หัวอกเดียวกัน ให้นึกถึงกัน มันก็เป็นเรื่องของศีลธรรม ถ้าทำไปมันย้อมใจให้เห็นแก่ผู้อื่น ให้เห็นแก่สัตว์อื่น เป็นเรื่องของเมตตา หรือว่าเป็นเรื่องของทำลายความเห็นแก่ตัว คนมันขี้หวง ริษยา ไม่อยากให้ผู้อื่นได้ดี หรือมีบุญ ทีนี้เรามาฝึกกันในทางที่ตรงกันข้าม พยายามที่จะให้ผู้อื่นพลอยได้ดี ได้มีบุญ ได้เป็นสุข ได้เป็นอะไรอย่างน้อยมันก็มีผลแก่จิตใจของผู้ที่ทำอย่างนั้น ถ้าพูดถึงเรื่องทางจิต มันก็ทำให้เกิดความรู้สึกที่เมตตาต่อกันได้มาก มันเป็นมิตรกันง่าย ถ้าทุกคนมันคิดอยู่แต่อย่างนี้
เมื่อผมยังเป็นเด็กเล็กหิ้วตะกร้าหมากตามหลังย่าไปฟังเทศน์ที่วัดตอนเย็น พอกลับมาคุณย่าก็จะร้องบอกแก่ทุกคนที่รู้จัก หรือเดินสวนทางมา หรือบ้านข้างถนนที่บังเอิญเจ้าของบ้านออกมานั่งอยู่ เอาส่วนบุญมาให้นะๆ ประโยคนี้ว่าตลอดทาง เราก็จำได้ติดหู เอาส่วนบุญมาให้นะ ลูกนะ หลานนะ น้องนั่นนะ พี่นี่นะ เอาส่วนบุญมาให้ แล้วคุณลองคิดดูสิว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นถ้ามันมีแต่การกระทำอย่างนี้ทั่วไปหมด มันจะเกิดอะไรขึ้นในทางสังคม เดี๋ยวนี้มันไม่อยากให้ มันไม่อยากจะแยแส มันไม่อยากจะมีบุญ มันไม่อยากจะสนใจสิ่งที่เรียกว่าบุญ เลยไม่ค่อยมีการแผ่ส่วนบุญ หรือแจกส่วนบุญ ถ้าพูดเป็นเรื่องโลกๆไม่ต้องเกี่ยวกับธรรมะชั้นสูงอะไรมันก็ดีในทางสังคม และเป็นผลดีแก่บุคคลคนนั้นอย่างยิ่งด้วย ที่ให้ส่วนบุญเสียเรื่อย คนแต่ก่อนเขาเป็นอย่างนี้ เขาไปทำบุญอะไรที่ไหนมา ที่วัด เดินกลับมาก็จะแจกส่วนบุญตลอดทางแก่คนที่รู้จัก เป็นเรื่องทางสังคม เป็นเรื่องทางศีลธรรม ก็เป็นเรื่องของเมตตา ไม่ได้เป็นเรื่องของกรรม หรือเป็นปัญหาในทางเรื่องของกรรม
ทีนี้ภิกษุเราก็นิยมทำตามประเพณี มันเป็นประเพณีทั่วไปเสียทั้งวัด ทั้งบ้าน ภิกษุก็ นักบวชก็ทำกันเป็นประเพณี นักบวชในศาสนาไหน นิกายไหนก็ทำ นักบวชในพุทธศาสนาก็ทำ พระพุทธเจ้าทรง เพียงแต่ทรงแนะนำให้แผ่เมตตา แต่เชื่อได้แน่ว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้นำสวดแผ่เมตตาอย่างสวดอิมินาเหมือนที่เราสวดนั้น เป็นไปไม่ได้หรอกที่พระพุทธเจ้าจะมานั่งนำสวดอย่างนี้อยู่ แต่ว่าแนะให้แผ่เมตตา ภิกษุสงฆ์ก็หาวิธีเอาเอง ก็เกิดบทแผ่เมตตาอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้นขึ้นมาแล้วแต่อันไหนดีกว่า ที่เป็นบาลีแท้ๆก็คือกรณียเมตตสูตร เป็นบทแผ่เมตตาในระดับสูง คือระดับพระบาลี กะระณียะมัตถะกุสะเลนะ ยันตัง สันตัง ปะทัง อะภิสะเมจจะ สักโก อุชู จะ สุหุชู นั่นคือสวดต่อท้ายธรรมปาฏิโมกข์ สวดกันหรือเปล่าก็ไม่รู้เดี๋ยวนี้ การทำปาฏิโมกข์ที่สมบูรณ์แบบก็สวดกรณียเมตตสูตรต่อท้าย แผ่เมตตา แผ่กุศลเหมือนกัน ในการที่จะได้ทำปาฏิโมกข์ เอ้า, ใครมีปัญหาอะไรอีก
(นาทีที่ 25:51-26:02 เป็นคำถาม เสียงเบามาก)
ถามทีเดียวหลายปัญหา ไม่ค่อยจะเป็นลำดับ ไอ้กรรมให้ผลแน่ ที่ให้ผลเมื่อไร อย่างไรนั้นอธิบายกันมากมาย ตอนหลังนี่ยิ่งเหลวแหลก คือถ้าถือหลักว่าทำกรรมดีต้องได้ผลดีเหมือนที่ทำ หรือเหมือนที่หวัง ถ้าทำกรรมชั่วก็ต้องชั่วเหมือนที่ทำ ที่หวัง เช่นไปฆ่าเขาตายจะต้องถูกเขาฆ่าตายตอบ ถ้าทำดี ทำการช่วยเหลือก็จะได้รับการช่วยเหลือตอบ เป็นเรื่องวัตถุไปหมด นี่ก็ยกให้เป็นเรื่องทางศีลธรรม อย่าไปคัดค้านเขาเลย เขาชอบจะถือกันอย่างนี้ก็ปล่อยให้มันเป็นคนดีทางสังคม ทางศีลธรรม ถ้าเขาเชื่ออยู่แล้วก็ดี อย่าไปลบล้างอะไรเสีย ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แต่ถ้าตามพระบาลีแท้ๆ ในทางปรมัตถธรรมชั้นลึก ก็จะมีหลักว่า ทำดีๆทันที ทำชั่วๆทันที เพราะสิ่งนั้นก็ถือกันแล้ว บัญญัติกันแล้วว่าดี พอไปทำเข้าก็ดีทันที ไม่ต้องรอให้ได้เงิน ได้ของ ได้ลาภ ได้ผล ไม่ต้อง พอทำดีก็ดีทันที พอทำชั่วก็เหมือนกัน เขาบัญญัติกันลงไปแน่ชัดแล้วว่าการกระทำระบบนี้เรียกว่าชั่ว พอไปทำเข้าก็ชั่วทันที ในบาลีมีหลักถึงกับว่าขณะจิตต่อมาหลังจากการกระทำกรรมนั้นคือการรับผลของกรรม
การทำกรรมในขณะจิตกลุ่มหนึ่งเสร็จไปแล้ว ที่มันปรุงขณะจิตอีกกลุ่มถัดมานั้นคือการรับผลของกรรม หรืออาจจะหลายๆช่วงขณะจิตต่อมาอีกก็ได้เหมือนกัน ถ้าทำไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ อะไรมันก็เป็นความเลว ความชั่วตามแบบของโลภะ โทสะ โมหะเสร็จตั้งแต่ในขณะจิตต่อมา ขณะจิตนี้เร็วมาก เร็วเท่าสายฟ้าแลบ หรือเร็วกว่าสายฟ้าแลบ ทำกรรมลงไปในขณะจิตใด ขณะจิตถัดมาคือการสะท้อนออกมาแห่งผลของกรรม ฉะนั้นจึงพูดได้ว่า ทำดี ดี ทำชั่ว ชั่ว ไม่ต้องรอได้ดี ได้ชั่ว ถ้าคุณเข้าใจอย่างนี้ก็จะไม่มีปัญหาว่าทำดีๆจริงไหม ทำชั่วๆจริงไหม เพราะระบบนั้นบัญญัติว่าชั่วแล้ว คิดอย่างนั้น ทำอย่างนั้น พูดอย่างนั้น ทำไปแล้วมันก็ชั่วแล้ว ดีแล้ว ไม่ต้องได้ๆอะไรกันอีก
แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่อย่างนั้น เขาว่าทำดีทำไมไม่ได้เลื่อนเงินเดือน ทำไมไม่ได้ลาภ ได้ผล ได้อะไรต่างๆเหมือนที่เขามาพูดกันอยู่ คนทำชั่วได้เลื่อนปีละ ๒ ขั้น เราทำดีเกือบตายไม่ได้เลื่อนสักขั้น นี่มันพูดอย่างนี้ นี่มันคนละเรื่อง ดี หรือชั่วบัญญัติกันเสร็จแล้ว ว่าระบบอย่างนี้เรียกว่าดี ระบบอย่างนี้เรียกว่าชั่ว ทำด้วยโลภะ โทสะ โมหะ เรียกว่าชั่ว ทำด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ ก็เรียกว่าดี ทำดีก็ดี ทำชั่วก็ชั่วเพียงเท่านั้น ทำชั่วเข้ามันก็สะสมกิเลสมากขึ้น ทำดีอยู่กิเลสก็ค่อยๆจาง ค่อยน้อยลง ลดลง
ทีนี้ปัญหาที่ว่าทำอย่างไรจะหมดกรรม จะอยู่เหนือกรรมนั้นต้องศึกษารู้เรื่องไม่มีตัวตนจนไม่เกิดกิเลส ถ้าไม่มีตัวตนมันก็ไม่มีการกระทำกรรม แล้วก็อยู่เหนือกรรม ถ้ายังมีตัวตนอยู่มันก็ยังมีกิเลส หรือเจตนาที่ทำกรรม ก็เป็นการกระทำกรรม แล้วก็ดี หรือชั่วไปตามการกระทำ ต้องเห็นธรรมะในระดับที่ไม่มีตัวตนจึงจะหมดกรรม จะแกล้งว่าเอาเองว่ากูไม่มีตัวกูนี่มันไม่ได้ มันไม่ใช่เรื่องจริง มันต้องเห็นด้วยปัญญาอันแท้จริงจึงไม่มีตัวกูจริง จึงจะไม่มีตัวกู ฉะนั้นการกระทำก็ไม่เป็นกรรม แล้วผลแห่งการกระทำมันก็เป็นธรรมชาติอะไรอันหนึ่งไป ไอ้คนนั้นไม่รับเอามาเป็นทุกข์ ไม่เป็นความทุกข์ เอ้า, มีปัญหาอะไรอีก
(นาทีที่ 32:16-32:31 เป็นคำถาม เสียงเบามาก)
เห็นด้วยปัญญา เป็นคำบัญญัติในทางศาสนา เป็นคำบัญญัติเฉพาะ เราจะเข้าใจ หรือไม่เข้าใจนั้นมันอีกเรื่องหนึ่ง ยถาภูตสัมมัปปัญญา ปัญญาเห็นชอบตามที่เป็นจริง เรียกเต็มๆว่า ยถาภูตสัมมัปปัญญา ปัญญาเห็นชอบตามที่เป็นจริง คำว่าเห็นในภาษาธรรมะคือรู้สึก ไม่ได้หมายเห็นด้วยตา ไม่ๆใช้ตาเห็น ใช้ใจเห็น ใจมันไม่มีตา แต่มันก็เห็นด้วยความรู้สึก เช่นเรารู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ นี่ก็เรียกว่าเห็นสุข เห็นทุกข์ เท่าที่มันรู้สึก ทีนี้มันรู้สึกต่อความจริงอย่างลึกซึ้งถึงที่สุด เขาเรียกว่าธรรมจักษุ หรือปัญญาจักษุ เป็นผู้เห็นตามที่สิ่งนั้นเป็นจริงอย่างไร คือรู้สึกกันจริงๆ
ในส่วนที่ผมบอกให้ฟัง แล้วฟังเข้าใจนี่ก็ยังไม่เรียกว่าเห็นด้วยปัญญาจักษุ มันเห็นไปตามที่เขาบอกให้ฟัง หรือบางทีคุณไปใช้เหตุผล คิดทบทวนด้วยเหตุผลเอาเอง เกิดความเห็นอย่างนั้นขึ้นมา ก็ยังไม่ใช่เห็นด้วยปัญญาจักษุในความหมายนี้ เห็นด้วยเหตุผล คิดด้วยเหตุผล ก็เป็นเรื่องของเหตุผล ถ้าเหตุผลผิดก็ผิดได้ คือมันไม่ค่อยแน่ มันสู้เห็น รู้สึกด้วยจริงๆไม่ได้ ไอ้ตาธรรมดานี่ถ้ามันเห็นมันก็จริง มันก็จริงกว่าที่จะคิดนึก หรือสันนิษฐาน ตาของใจ ตาของปัญญายิ่งไปกว่านั้นอีก คือมันรู้สึกไม่เที่ยง มันรู้สึกจริงๆว่าไม่เที่ยง เห็นความไม่เที่ยงของอะไรมันก็เห็นจริง ไม่ใช่มาคิดเอามันคงจะไม่เที่ยง เพราะมันเหตุอย่างนั้น เพราะมันเหตุอย่างนี้ มันคงจะไม่เที่ยง นั่นเห็นด้วยการคิด การใช้เหตุผล ไม่ๆๆใช่สิ่งเดียวกัน
เมื่อทำสติ ทำสมาธิได้ดี ถูกต้องดีแล้วจะมีการเห็นจริงด้วยปัญญามากขึ้น เช่นจิตเป็นสมาธิแล้วดูความไม่เที่ยงของสิ่งต่างๆ ก็เห็นจริงว่ามันไม่เที่ยงจริงๆ ความไม่เที่ยงของกาย ความไม่เที่ยงของเวทนา ความไม่เที่ยงของจิตเอง อันนี้เห็น ใช้คำว่าความรู้จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น ความรู้เกิดจากได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน นี่ก็ไม่ใช่ความรู้ที่สมบูรณ์ ไม่ใช่การเห็นที่สมบูรณ์ ทีนี้ความรู้ที่มาจากการคิดด้วยเหตุผลนี้ก็ยังไม่สมบูรณ์ ไม่ใช่การเห็นที่สมบูรณ์ การเห็นที่สมบูรณ์ต้องเป็นสิ่งที่สัมผัสลงไปด้วยจิต ด้วยปัญญานั้นจริงๆ จะเห็นความไม่เที่ยงนี่ต้องเห็นอยู่ซึ่งไอ้ตัวสิ่งที่มันไม่เที่ยง หรือรู้สึกอยู่ ลมหายใจไม่เที่ยงนี้เรารู้สึกๆได้ รู้สึกได้โดยความรู้สึกว่าลมหายใจมันไม่เที่ยง ร่างกายที่ลมหายใจหล่อเลี้ยงอยู่นี้มันก็ไม่เที่ยง มันเห็นได้ด้วยปัญญาจักษุอย่างนี้ เวทนาก็ไม่เที่ยง เมื่อตะกี้ไม่มี เดี๋ยวนี้เกิดขึ้น แล้วเดี๋ยวนี้ก็กำลังเปลี่ยนไป เวทนาไม่เที่ยง ไม่ต้องใช้เหตุผลอย่างอื่น ไม่ต้องเรียน ฟังมาจากใคร ในเรื่องนี้ ในขณะนี้ ไม่เอาๆๆเรื่องที่เรียน หรือฟังมาจากผู้อื่น เอาเรื่องที่เห็นเอง รู้สึกเอง
คำว่าเห็นในทางธรรมะในชั้นลึกนี้ คือความรู้สึกนั่นแหละ มันรู้สึกด้วยความรู้สึกจริงๆ มันก็รู้สึก เช่นเรารู้สึกร้อน รู้สึกหนาว รู้สึกอะไรมันรู้สึกจริงๆ รู้สึกความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง ความเป็นทุกข์ อะไรต่างๆ ถึงขั้นนี้ ขั้นยถาภูตสัมมัปปัญญา แล้วก็จะจะรอดตัวได้ คือเห็นสิ่งที่ละเอียด ลึกซึ้ง ซับซ้อน ก็ต้องเห็นด้วยยถาภูตสัมมัปปัญญา เช่นเห็นเรื่องปฏิจจสมุปบาท อวิชชาเกิดสังขาร สังขารเกิดวิญญาณ วิญญาณเกิดนามรูป ไม่ใช่ๆเอาไปตามที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน และไม่ใช่เอาไปตามที่คาดคะเน สันนิษฐานด้วยเห็นผล มันเอาจากความรู้สึกจริงๆ ที่ง่ายๆเช่นว่าผัสสะให้เกิดเวทนา นี่รู้สึกได้ด้วยสัมมัปปัญญา เวทนาให้เกิดตัณหา เวทนาที่เป็นสุขให้เกิดความอยากแบบหนึ่ง เวทนาที่เป็นทุกข์ให้เกิดความอยากอีกแบบหนึ่ง เวทนาที่ไม่สุข ไม่ทุกข์ ให้เกิดความอยากไปแบบหนึ่ง นี่จากความรู้สึกว่ารู้สึกจริง นี่เรียกว่าเห็นด้วยยถาภูตสัมมัปปัญญา ฉะนั้นอะไรๆให้เราเห็นด้วยยถาภูตสัมมัปปัญญาจึงจะมีผลถึงที่สุด
ความรู้เรื่องโลกๆ เขาไม่ได้มาเอากันถึงขั้นนี้ เอาเพียงได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน ได้อะไรก็ได้ หรือเอาแต่ความคิดนึก สมเหตุสมผลมันก็ได้ หรือจะมาในรูปวิทยาศาสตร์ ทดลอง พิสูจน์จนเห็นจริงอย่างนี้มันก็ได้ แต่สิ่งที่ไม่จริง ที่มันซ่อนอยู่ใต้นั้นมันอาจจะมีก็ได้ ฉะนั้นจึงต้องรอไว้ก่อน มาในชั้นยถาภูตสัมมัปปัญญามันเกี่ยวกับจิตใจล้วน ญาณทัสสนะก็เรียก ยถาภูตญาณทัสสนะก็เรียก ยถาภูตสัมมัปปัญญาก็เรียก พยายามสังเกตไว้ให้รู้จักไอ้สิ่งเหล่านี้ไว้ เพราะความรู้ที่แท้จริงคือสิ่งที่จิตสัมผัสไปตรงๆ ส่วนความรู้ใช้เหตุผล หรือความรู้ตามได้ยิน ได้ฟังนี้อยู่ผิวนอก ใครมีปัญหาอะไรอีก
(นาทีที่ 41:00-41:20 เป็นคำถาม เสียงเบามาก)
นี่เป็นปัญหาเรื่องภาษาคน ภาษาธรรม ว่าเรื่องความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ในภาษาคนหมายถึงเรื่องทางวัตถุ ร่างกายเกิด แก่ ตาย ในภาษาธรรมหมายถึงความคิดนึกของจิตเกี่ยวกับตัวกู ของกู ที่เป็นรูปร่างของจิต รู้ว่าเรามี ๒ อย่างก็แล้วกัน แล้วไม่ต้องไปปนกันให้มันลำบาก เป็นเรื่องทางร่างกาย ทางวัตถุ ก็ดูไปแบบวัตถุ เรื่องเกิด แก่ ตายของร่างกาย ถ้าเป็นเรื่องทางจิต ก็เป็นเรื่องเกิด แก่ ตายของจิต ฉะนั้นอุปทานเกิดเป็นตัวกูเข้มข้นขึ้นมา ก็เรียกว่าเกิด เดี๋ยวมันก็ซาลงๆก็เรียกว่าแก่ เดี๋ยวมันก็ดับไปครั้งหนึ่งก็เรียกว่ามันตาย นี่ตัวกูมันเกิด แก่ ตายอยู่ตลอดเวลาก็ว่าได้ในวันหนึ่งๆ เดี๋ยวเกิดตัวกู ของกูเรื่องนั้น เรื่องนี้ แล้วเดี๋ยวก็ดับไป เดี๋ยวเกิดตัวกู ของกูในเรื่องใหม่แล้วก็ดับไป ที่มันจะเกิดอยู่ตลอดเวลาไม่ได้ มันก็เปลี่ยนไปจนดับไป เกิดขึ้นแล้วก็เปลี่ยนไปคือชรา แล้วก็ดับลงก็คือตาย ฉะนั้นความเกิด แก่ เจ็บ ตายในเรื่องของวัตถุก็ดูตามแบบของวัตถุ ความเกิด แก่ ตายตามเรื่องทางจิตใจล้วนๆ ก็ดูตามทางเรื่องของจิตใจ ทีนี้ปัญหามันเหลืออยู่แต่ว่าที่เราเป็นทุกข์ เป็นร้อนกันอยู่นี่ มันเป็นเรื่องกาย หรือเป็นเรื่องทางจิตใจ ถ้าเป็นเรื่องทางกายก็แก้ทางกาย ถ้าเป็นเรื่องทางจิตใจก็แก้ทางจิตใจ ตามวิธีทางจิตใจ ทางร่างกายที่มันเจ็บปวด ทางร่างกายก็แก้ให้มันหายไปด้วยวิธีทางร่างกาย แต่ถ้าเป็นเรื่องกิเลส ตัณหา อุปาทานก็ต้องแก้ด้วยวิธีของทางจิตใจ ระงับ กิเลส ตัณหา อุปาทานนั้นเสีย ความทุกข์มันจึงจะดับไป
คือแยกออกไปเลยเป็นภาษาคน หรือภาษาธรรม ภาษาคนเป็นเรื่องวัตถุ เอาร่างกายเป็นหลัก ภาษาธรรมเอาเรื่องจิตใจเป็นหลัก ทีนี้ความทุกข์ในกรณีนี้มันเกิดแก่ส่วนไหน ก็แก้ไปโดยส่วนนั้น หรือถ้าพูดกันเรื่องภาษาคนก็พูดกันเรื่องภาษาคน เป็นความยากจน เป็นทุกข์ ก็ช่วยกันแก้ความยากจนเสีย ความขัดข้องโดยธรรมชาติอย่างนั้น อย่างนี้ เป็นความทุกข์ก็ร่วมมือกันแก้เสีย นี่เป็นเรื่องทางวัตถุ ทางภาษาคน แต่ถ้าเป็นเรื่องทางจิตใจ ยึดมั่น ถือมั่นแล้วเป็นทุกข์ จนเป็นโรคประสาท จนเป็นบ้า หรือจนตายไปนี่มันก็แก้ทางวัตถุไม่ได้ ต้องแก้เรื่องทางจิตใจ แล้วถ้ามันถึงขนาดเป็นโรคประสาทอย่างแรง เป็นโรคจิตอย่างแรง ก็แก้ยากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยให้มันถึงขนาดเป็นโรคประสาท เป็นโรคจิตจนพูดกันไม่รู้เรื่อง จะแก้อย่างไรได้ จะรดน้ำมนต์ให้กิเลสหมดไปนี่มันทำไม่ได้
เรื่องภาษาคน ภาษาธรรม พยายามทำความเข้าใจไว้ จะมีประโยชน์ในการที่จะศึกษาเรื่องต่างๆต่อไปข้างหน้าได้ง่าย ได้เร็ว พวกฝรั่งเขาชอบมาก ได้รับจดหมายบ้าง มาแสดงความรู้สึกด้วยตนเองบ้าง ว่าเรื่องภาษาคน ภาษาธรรมนี่มีประโยชน์ ที่ทำให้พูดกันรู้เรื่องมากขึ้น ทางธรรม ทางศาสนา เอ้า, มีปัญหาอะไรอีก
(นาทีที่ 46:22-46:42 เป็นคำถาม เสียงเบามาก)
นั่นมันซ้อนกันอยู่ ๒ ชั้น ความเกิดทางร่างกาย ถ้าไม่ยึดถือว่าเป็นของเราก็ไม่ใช่ความเกิด ความแก่ถ้าไม่ไปยึดถือเป็นความแก่ของเรา ก็ไม่ใช่ความแก่ ความเจ็บ หรือความตายก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีอุปาทานยึดถือว่าความแก่ ความตายของเรา มันก็ไม่ได้มีความแก่ ที่ว่าความเกิดเป็นทุกข์นี่มันเพราะว่าไปยึดถือความเกิดเป็นของเรา มันจึงจะเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ก็เพราะไปยึดความแก่เป็นของเรา ความแก่จึงจะเป็นทุกข์ ถ้าแก่อยู่ตามธรรมชาติ ไม่มีจิตไหนเข้าไปยึดถือเป็นความแก่ของเรา มันก็ไม่เป็นทุกข์แก่จิตใจ ภาษาบาลีพูดไว้ห้วนๆสั้นๆว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ โสกะ เทวทุกข์ โทมนัส อุปายาส(นาทีที่ 47:38) เป็นทุกข์ นั่นหมายความว่าแต่ละอย่างๆถูกยึดถือว่าเป็นของเราจึงจะเป็นทุกข์ ถ้าไม่ยึดถือเป็นของเรา เป็นเรื่องทางกายล้วน เช่นมีแผลเจ็บมันก็เป็นเรื่องเจ็บทางกาย ภาษาคนก็ไปหาหมอได้ไม่ต้องใช้ธรรมะ ใช้ธรรมะแต่อย่าให้จับฉวยเอาความเจ็บนี้มาเป็นความเจ็บของเรา ถ้ามีจิตใจเข้มแข็งพอถึงขนาดไม่รับเอาสิ่งอะไรมาเป็นของเรานี้มันมีผลดีมาก จะมีความเจ็บน้อย มีความทุกข์น้อย หรือไม่มีความทุกข์เลย เรื่องที่มนุษย์เขาเป็นทุกข์กันอย่างสูงสุด ถ้าศึกษาจนรู้จักความไม่ยึดถือ มันก็ไม่เป็นความทุกข์อะไร เอ้า, ใครมีปัญหาอะไรอีก
(นาทีที่ 49:28-49:33 เป็นคำถาม เสียงเบามาก)
ปัญญายังไม่เกิดก็ดับไม่ได้ เพราะปัญญามันจะต้องมีอยู่พอสมควรแล้วที่มันจะดับตัณหา ดับเวทนา ดับอะไรได้ คือรู้เรื่องเหล่านั้นดี ไอ้ปัญญาตามธรรมดา ตามสัญชาติธรรมดามันก็มีอยู่เหมือนกัน มีอยู่ตลอดเวลา เช่นเราเกิดมาได้มีชีวิตอยู่ ได้ผ่านอะไรไปแต่ละวันๆ แต่ละวันมันก็มีปัญญาชนิดหนึ่งเกิดขึ้น เพิ่มขึ้น คือรู้อะไรเพิ่มมากขึ้น ทีนี้ถ้าว่าเราไปฝึกฝนมันเข้าอีก มันก็เพิ่มมากขึ้น ถ้าเรามาอบรมปัญญาตามแบบพระพุทธศาสนาอีก ปัญญาแบบนี้มันก็เกิดขึ้น ฉะนั้นตามธรรมดาเราอยู่ได้ด้วยปัญญาตามธรรมชาติ เด็กเกิดมามันก็ค่อยรู้นั่น รู้นี่ขึ้นตามลำดับ ตามสัญชาติ ฉะนั้นก็เป็นอันว่าไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะไม่มีอะไรกิน หรือจะกินไม่เป็น จะสืบพันธุ์ไม่เป็น นี่มันไม่ต้องเป็นห่วง เป็นไปได้ตามปัญญาอย่างสัญชาติญาณ
ทีนี้ปัญญาที่เรามาอบรมให้มันมากกว่านั้น การเล่าเรียนก็ดี การทำสมาธิวิปัสสนาก็ดี นี่มันอีกชั้นหนึ่ง ถ้าเราทำมันเข้ามันก็มากขึ้น ปัญญาโลกๆก็เหมือนกัน ถ้าไปศึกษาเล่าเรียนให้มาก มันก็มากได้ เขาไปเรียนกันมากๆก็เพื่อปัญญาอย่างนี้ แต่ยังไม่สูงสุด ไม่ดับเรื่องทางจิตใจได้ ก็ต้องมาเรียนปัญญาอย่างตามแบบพุทธศาสนา หรือของศาสนาที่มันมีเรื่องอย่างนี้ขึ้นอีกทีหนึ่ง คือมาอาศัยความรู้ของพระพุทธเจ้า สติปัญญาของพระพุทธเจ้า มีความรู้เพียงพอ มีสติเพียงพอ และจัดการให้แต่ละวันๆนี่เป็นอิสระ ไม่มีความทุกข์ได้ แล้วมีปัญญาพอที่จะจัดการกับเวทนา หรือตัณหาอยู่แล้วเราจึงจะจัดการกับมันได้ ถ้าเราไม่มี มันก็ต้องเป็นทุกข์เพราะเวทนา เพราะตัณหา จึงต้องเป็นทุกข์ แต่พอเป็นทุกข์ขึ้นมาทีหนึ่งมันก็ฉลาดขึ้นมา รู้เท่าทันขึ้นมา ทีหลังก็ไม่ยอมเป็นทุกข์ในรูปแบบนั้นอีก ไอ้ความทุกข์มันสอนให้อย่างเพียงพอ ให้คนเข็ดหลาบ หรือกลัว ที่จะไม่มีความทุกข์อย่างนั้นอีก ในๆๆๆชั้นลึก ในชั้นละเอียด มันๆสอนไม่หมด คนเรียนเอาไม่ได้ หรือไม่เรียน ไม่รับเอา ก็ไม่รู้มัน มีความทุกข์จนตายเปล่าก็ไม่ได้ทำให้ฉลาดขึ้น ถ้าคนมันมีแวว มีสติปัญญามันก็เรียนได้จากความทุกข์นั่นเอง ฉลาดขึ้นทุกคราวที่มีความทุกข์
ท่านจึงกล่าวไว้ว่าปัญญาก็มาจากการประกอบปัญญานั่นเอง คือการศึกษานั่นเอง เขาเรียกว่าโยคะ โยคา เว ชายเต ภูริ ปัญญาเกิดมาจากโยคะ โยคะคือการประกอบ การกระทำ การฝึกฝนในทางจิต เมื่อมีโยคะอยู่ ปัญญาก็เกิดขึ้นมากขึ้นๆ ประกอบการฝึกฝนทางจิต ปัญญาก็เกิดขึ้น มากขึ้น เอ้า, ใครมีปัญหาอะไรอีก
(นาทีที่ 54:33-54:49 เป็นคำถาม เสียงเบามาก)
การประพฤติพรหมจรรย์ที่ถูกต้องต้องมีสติอยู่ก่อน ถูกแล้ว ไอ้สตินี่มันต้องจำไว้เลยว่าตลอดเวลา สติมันทำให้ความรู้มีอยู่ ไม่มีสติความรู้ก็ไม่รู้อยู่ที่ไหน การที่มีปัญญา รู้สึกเป็นความรู้อยู่ได้ก็เพราะว่าสติมันดึงมา หรือสติมันๆๆกุมไว้ มันกุมไว้ คุณหมายถึงว่าการประพฤติพรหมจรรย์อยู่ตลอดเวลานี่มันต้องทำไปด้วยสติ และปัญญา
สติมันไม่ใช่ๆความรู้ แต่ว่าสติมันเป็นเครื่องทำให้ความรู้มันทำหน้าที่ ถ้ามีแต่ปัญญาไม่มีสติ มันก็ไม่ได้ทำหน้าที่ของปัญญา ความระลึกได้ว่าจะใช้ความรู้อย่างไร ความรู้ว่าอะไร ในแง่ไหน ในๆกรณีนี้ อย่างนี้เป็นหน้าที่ของสติที่จะเอาปัญญามา ขาดสติ ปัญญาก็เป็นหมัน ขาดปัญญา สติก็ไม่รู้จะขนอะไรไป มันก็เป็นหมันเหมือนกัน รู้ว่าไอ้ของ ๒ อย่างนี้มันทำงานร่วมกัน คือความรู้กับสิงที่จะนำความรู้มาใช้ให้ทันท่วงที นี่คือสติ ปัญญาคือความรู้ สติคือผู้จัดนำความรู้มาใช้ได้ทันท่วงที ในโลกเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่มีสตินำความรู้มาใช้ไม่ทันท่วงที เรื่องนั้นจะเสียหาย จะต้องมีความเสียหาย จะต้องมีความทุกข์ จะต้องมี ฉะนั้นเราต้องมีสติให้เพียงพอ มีปัญญาให้เพียงพอ
เขาใช้คำว่าฝึก ต้องฝึกๆให้เร็วขึ้นๆ ฝึกให้ละเอียดขึ้น ฝึกให้ติดต่อกัน เช่น ฝึกอานาปานสตินี่เป็นการฝึกให้สติติดต่อกัน ให้มันเร็วขึ้น ให้มันแน่นแฟ้น เข้มแข็ง มั่นคง ก็ไปฝึกสติ ส่วนปัญญานี่ก็ต้องไปอบรม ต้องเรียนรู้ เรื่องโลกๆแท้ๆ ที่บ้าน ที่เรือน ถ้ามันขาดสติ ความรู้ก็เป็นหมันเหมือนกัน เรื่องจริงเขาเล่ากัน ดูที่หลังสวนนี่เอง ไอ้ลูกเด็กๆมันกลืนสตางค์ไปติดอยู่ที่คอ แม่มันเทน้ำกรดลงไปในคอเพื่อให้กัดสตางค์นั้นให้ๆๆหมดไป แล้วลูกๆมันจะเป็นอย่างไรคิดดูสิ มันก็ตายไม่ทัน มันมีแต่ความรู้ว่าไอ้น้ำกรดนี่ละลายสตางค์ได้ แต่มันไม่มีสติว่าจะต้องทำอย่างไร หรืออะไรจะเกิดขึ้น นี่เรียกว่ามันมีปัญญา มันมีความรู้ แต่มันไม่มีสติ
อยากมีสติก็ฝึกสติ ไม่ใช่เฉพาะอานาปานสติ ฝึกไปจะมีสติ จะเป็นผู้มีสติมาก มีสติไว มีสติ จะมีกำลัง เช่นว่าเมื่อกินอะไรอร่อยนี่ต้องมีสติทันท่วงที ว่านี่มันสักว่ารสอร่อย นี่มันสักแต่รสที่เขาเรียกกันว่าอร่อย อย่าไปอร่อยกับมันเข้า ต้องมีสติ อย่าไปอร่อยมันเข้า แต่รู้สึกว่ารส มันกำลังได้รับรสชนิดที่เขาเรียกกันว่าอร่อย อร่อยเท่านั้นหนอ กูไม่อร่อยกับมึง นี่เรียกว่ามันมีสติ พรรณ์นี้เรียกว่าอร่อย หรือเจ็บ หรือสบายอะไรก็เหมือนกัน เช่นคุณเอาผ้ามาห่มเข้าแล้วรู้สึกสบายนี่ ก็เรียกความรู้สึกว่าสบายเท่านั้นหนอ อย่าไปกู ตัวตน สบายเข้า แม้แต่นอนลงบนที่นอนที่สบายนี่ก็ระวัง มันจะมีตัวกู พอใจในเวทนานั้น ถ้ามีสติ มีปัญญา มันก็รู้สึกว่านี่เป็นเวทนาอันหนึ่งซึ่งมีลักษณะอย่างนี้เท่านั้นหนอ นี่ก็สบายหนอ สักว่าเป็นความรู้สึกที่เรียกกันว่าสบายเท่านั้นหนอ อย่ามีตัวตนแก่ฝ่ายไหน ฉะนั้นระวังให้มากเรื่องอร่อย เรื่องสบาย เรื่องสนุกนี่ให้ระวัง ให้มันเป็นสักว่าเท่านั้นหนอ สติมันพอมันจะรู้สึก ถ้าไม่พอมันก็หลงไป มันก็ได้เรื่อง เอ้า, ใครมีปัญหาอะไรอีก
(นาทีที่ 01:01:33-01:02:01 เป็นคำถาม)
มันก็คือการใช้ปัญญา หรือเพิ่มปัญญาใหม่ด้วย (นาทีที่ 01:02:08-01:02:12 เป็นคำถาม)
ก็แน่นอน ถ้าทำให้สำเร็จมันก็มีปัญญาในเรื่องนั้นเกิดขึ้น เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ ก็ไปมองให้มันเห็น ให้มันแน่นอนลงไป ว่าไอ้เวทนา หรือตัณหานี่มันเป็นสิ่งที่ต้องควบคุมหรือไม่ มันเป็นสิ่งที่ต้องดับหรือไม่ ตัณหาเป็นกิเลสเกิดขึ้นแล้วต้องดับหรือไม่ หรือว่าไม่ต้องดับ ถ้าต้องดับมันก็ต้องดับ หรือเวทนาก็เหมือนกัน ถ้าไม่ควบคุมมันก็เกิดกิเลส ฉะนั้นเราต้องควบคุมเวทนา ต้องดับกิเลสตัณหา มันต้องอยู่แล้ว ถ้าเราไม่มีปัญญาจะดับมัน เราก็ต้องเป็นทุกข์ไปสักทีหนึ่งก่อน แล้วค่อยๆฉลาดขึ้น ค่อยๆรู้จักดับมันขึ้น ชีวิตเป็นการศึกษาอยู่ในตัวแม้ในเรื่องชั้นสูง ชั้นกิเลส การที่จะผ่านไปในชีวิตมันก็เป็นการศึกษาอยู่ในตัวมันเอง เรื่องต่ำๆก็เป็นอย่างนั้น
เรื่องความทุกข์นี่มันก็มีมาตั้งแต่เริ่มรู้ๆจักคิด รู้จักนึก รู้สึกได้ก็มีความทุกข์ ก็ดิ้นรนแก้ไขกันไปตามเรื่อง ที่เป็นชั้นง่ายๆก็แก้ไขไปได้ก่อน เป็นเรื่องทางกาย ทาง พอมาถึงทางจิต ทางวิญญาณ มันลึกซึ้ง แก้ไขไม่ได้ ก็ต้องต่อสู้ ต้องศึกษา เพราะมันเกิดแก่ใครก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ ไอ้ความทุกข์ในด้านจิต ที่ลึกไปกว่าระบบจิต ผมจะชอบเรียกกว่าระบบวิญญาณ มันไม่มีคำจะพูด ระบบจิตที่มันอยู่ใกล้ๆกับร่างกายตรงนี้เองคือระบบประสาท แต่ถ้าระบบวิญญาณนี่มันไกลลิบ มันเป็นเรื่องของสติปัญญาของจิตอีกทีหนึ่ง
ขอบอกสรุป เป็นการสรุปความไปเลยว่ามนุษย์เราจะต้องมีความรู้ ๒ ระบบ คือระบบ ผมๆว่าเอง ตั้งชื่อเอาเองและก็อนุโลมตามที่เขาใช้กันอยู่ มีความรู้ระบบที่เรียกว่าศิลปศาสตร์ ระบบนี้ และมีความรู้ระบบหนึ่งเรียกว่าธรรมศาสตร์ แต่ไม่ใช่ธรรมศาสตร์การเมืองที่ท่าพระจันทร์นะ มันระบบไอ้ธรรมศาสตร์ของพระธรรม เราจะต้องมีไอ้ ๒ ระบบนี้ ที่คุณมาบวชนี้ก็จะเป็นโอกาสเพื่อรวบรวมความรู้ระบบที่สอง ระบบธรรมศาสตร์ ระบบศิลปะศาสตร์นี้ผมถือว่าคุณมีกันพอตัวกันมาแล้วทั้งนั้น คือจะมีอาชีพทำมาหากินได้ หน้าที่การงานในโลกเจริญได้นี่เรียกว่าระบบศิลปะศาสตร์ ไม่พูดถึง คุณมีมากกว่าผมด้วยซ้ำ ทีนี้ก็ไอ้ระบบธรรมศาสตร์นี่ ทำอย่างไรอย่าให้จิตใจมันเกิดเป็นทุกข์ขึ้นมา ไม่ว่าในระยะไหน ตอนไหนของชีวิต หรือในระบบที่เราต้อง ในระยะ ในขณะที่เรากำลังใช้ศิลปศาสตร์นั่นเอง
คำว่าศาสตร์นั้นแปลว่าของมีคม ในภาษาไทยเรียกว่าศาสตรา คำว่าศาสตร์ก็ต้องของมีคม ของมีคมธรรมดาก็ตัดอะไรได้ตามเรื่อง ไอ้ของมีคม ไอ้ทางจิตใจก็ตัดปัญหาทางจิตใจ เราต้องมีศาสตร์ คือของมีคมสำหรับตัดปัญหา ศิลปศาสตร์นี่มันจะตัดปัญหาที่ว่าเราไม่รู้จะดำรงชีวิตอย่างไร ฉะนั้นเรามีความรู้ประเภทศิลปศาสตร์ แล้วแต่จะเรียนกันมาแขนงไหน เรียนวิศวะ เรียนกฎหมาย เรียนแพทย์ เรียนอะไรที่มันเป็นอาชีพได้ ก็เรียกว่าศิลปศาสตร์กันทั้งนั้น ต้องมีกันทุกคน อย่างน้อยชาวนาก็ต้องทำนาเป็น มันมีส่วนศิลปศาสตร์กันอยู่ทุกคน แต่ทีนี้มันยังมีปัญหาอีกส่วนหนึ่ง คือส่วนจิตที่มันไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นๆเข้าแล้วเป็นทุกข์นี่ เราต้องมีความรู้ส่วนที่เรียกว่าธรรมศาสตร์ คือศาสนา เพื่อจะดำรงจิตให้ถูกต้อง อย่าไปเที่ยวคว้าเอาความทุกข์นั้นมา นี่เรียกว่าความรู้ประเภทธรรมศาสตร์ เป็นศาสตรา เป็นของมีคม ตัดปัญหาทางด้านวิญญาณ ทางจิตด้านวิญญาณ ศิลปศาสตร์ตัดปัญหาทางด้านร่างกาย และจิตที่เกี่ยวกันอยู่กับร่างกาย ให้เรามีอาชีพได้ มีครอบครัวได้ มีทรัพย์สมบัติได้ มีเกียรติยศชื่อเสียงได้ แต่แล้วระวังให้ดีไอ้ความทุกข์มันจะเกิดขึ้นมาจากสิ่งเหล่านั้น แล้วก็แก้ไม่ได้ ต้องหาความรู้อีกชนิดหนึ่งคือความรู้ในฝ่ายธรรมศาสตร์ มีไว้ให้เพียงพอ คือมีสติปัญญาในด้านนี้เพียงพอ ก็ไม่มีความทุกข์ที่เหลือวิสัยที่ศิลปศาสตร์มันจะช่วยแก้ให้ได้ เรียกว่าร่ำรวยแล้ว สบายดี มีเกียรติยศ มีอำนาจวาสนาแล้ว แต่มันมีความทุกข์จะทำอย่างไร นั่นแหละมันต้องการธรรมศาสตร์กันที่ตรงนี้
หรือว่าใครไม่มีความทุกข์ ที่มันมีเกียรติ มีอำนาจ มีทรัพย์ มี แล้วมันไม่มีความทุกข์ ก็ดูให้ดีเถิด มันมีความทุกข์ทุกๆๆๆขณะที่ยึดถือ เกิดตัวกูทุกทีเป็นทุกข์ทุกที เกิดตัวกูทีไรเป็นทุกข์ทีนั้น แล้วมันก็เป็นทุกข์ หรือจะเป็นอะไรก็ได้ ที่เรียกว่ามีทรัพย์สมบัติ มีอำนาจวาสนา มีอนามัย มีอะไรดี คนไหนบ้างที่มันไม่มีความทุกข์ในด้านวิญญาณ จะความโลภ ความโกรธ ความหลง ความรัก ความเกลียด ความกลัว ความอะไรต่างๆ มันก็ยังมี ฉะนั้นเราจึงต้องมีความรู้ประเภทที่เรียกว่าธรรมศาสตร์ ระหว่างบวชนี่คุณก็เก็บหอมรอมริบความรู้ประเภทนี้สะสมเอาไว้ แล้วก็ไปทำให้มันรู้จริง ทำให้มันใช้ประโยชน์ได้จริง มีสติเพียงพอทันแก่เวลาจริง ถ้าสติไม่เพียงพอความรู้ไม่มาทันเวลา ความรู้ก็เป็นหมันไปโดยอัตโนมัติ ฉะนั้นเราต้องฝึกหัดสติให้ค้นเอาความรู้มาทันแก่เวลา แก้ปัญหาได้ในพริบตาเดียว นี่ส่วนศิลปะศาสตร์กับส่วนธรรมศาสตร์มันเป็นอยู่อย่างนี้
หลักสูตรการศึกษาเขาไม่จับให้มันชัด ให้มันกระจ่างลงไปอย่างนี้ ให้ทุกคนได้เล่าเรียนความรู้ ๒ ประเภทขนานกันไป โลกนี้มันก็คงจะดีกว่านี้ คนจะเป็นโรคประสาท โรคจิตน้อยลง ไม่ล้นโรงพยาบาล เดี๋ยวนี้ได้ยินว่าล้นทุกแห่ง โรงพยาบาลประสาท โรงพยาบาลโรคจิตล้นทุกแห่ง ทุกจังหวัด ทุกแห่ง เพราะความรู้ในด้านธรรมศาสตร์มันไม่พอ ความรู้ทางด้านศิลปศาสตร์นี่มันมีแต่จะเฟ้อ เพราะใครๆก็ชอบ ใครๆก็สนับสนุน ใครๆก็ มันเป็นของที่ยั่ว เพราะฉะนั้นปัญหาเกี่ยวกับธรรมะ เกี่ยวกับจิตใจ เกี่ยวกับธรรมะระดับสำหรับจิตใจในด้านลึก มันยังจำเป็นอยู่ บวชคราวหนึ่งก็พยายามรวบรวมเอาไปให้พอใช้ ให้พอกิน พอใช้ พอตัว แล้วมันจะค่อยสอนให้ทีหลังอีก ขอให้จับเงื่อนต้นไปให้ได้ แล้วมันจะสอนให้ ความผิดพลาดทุกคราวจะสอนให้ทุกคราว ความเป็นทุกข์ทุกคราวจะสอนให้ฉลาดขึ้นทุกคราว ฉะนั้นมีแต่คนที่โง่เกินไปเท่านั้น ที่ว่าความผิดพลาดมันไม่สอนอะไรเลย หรือความทุกข์มันไม่ได้สอนอะไรเลย เพราะว่าคนนั้นมันโง่เกินไป ถ้าอย่าโง่เกินไป อยู่ในระดับธรรมดาสามัญแล้วมันจะฉลาดขึ้นทุกทีที่มีความผิดพลาด และมีความทุกข์ เพราะฉะนั้นเราต้อนรับความทุกข์กันให้ดีๆ ต้อนรับความผิดพลาดกันให้ดีๆ
คนโบราณเขารู้จักเรื่องนี้ดี เขาจึงพูดไว้ว่า ไอ้ความผิดก็เป็นครู ความถูกก็เป็นครู คำพูดประโยคนี้ผมได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วบางทีจะได้ยินจากครูบาอาจารย์ที่มีสติปัญญาสูงส่วนไอ้ยายแก่ๆนี่ก็พูดเป็น ยายแก่ๆก็ยังพูดประโยคอย่างนี้เป็นสมัยโบราณ เขามีใจคอปกติ ต้อนรับความผิดให้เป็นครูได้ และต้อนรับความถูกก็ให้เป็นครูได้ อย่าให้ความถูกมันมาทำให้เหลิง ให้เหลิงเจิง ให้อวดดี ให้ลิงโลด ให้เตลิดเปิดเปิง ความถูกมันจะทำให้อย่างนั้น เราต้อนรับเอาแต่เพียงว่าเป็นครูเถิด เท่าที่เป็นครูเถิด ความผิดก็เป็นครู ความถูกก็เป็นครู เราก็ฉลาดมากขึ้นจริง เพราะว่ามันจะมีอยู่ตลอดเวลา ความผิด ความถูก สลับกันไปตลอดเวลาในวันหนึ่งๆ ถ้าต้อนรับไม่เป็น ความผิดก็ไม่เป็นครู ความถูกก็ไม่เป็นครู เลยไม่มีใครเป็นครู มีแต่ความโง่ มีแต่ความโมโหโทโส มีแต่ความไอ้หงุดหงิด งุ่นง่าน เอ้า, ใครมีปัญหาอะไรอีก ไม่ต้องเกรงใจ มีปัญหาอะไรก็ว่ามา แล้วไม่ต้องกลัวเพื่อน
(นาทีที่ 01:15:30-01:15:47 เป็นคำถาม เสียงเบามาก)
นี่มันเรื่องอะไร คุณว่ามาให้เต็มเรื่อง ภพ กับสังขาร ปฏิจจสมุปบาทมันก็มีอวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ภพมันอยู่เกือบสุดท้าย ไอ้สังขารมันอยู่ที่ ๒ ข้างต้นรองจากอวิชชา อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ แล้วก็ชาติ และทุกข์ มันก็มีสัมพันธ์กันมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่สังขารจนมาเป็นภพ ถ้าเราเข้าใจความสัมพันธ์กันระหว่างไอ้ข้อ ข้อหนึ่งๆของปฏิจจสมุปบาท เราก็เข้าใจเรื่องนี้ได้ดี เรื่องนี้มันอธิบายยาก ที่ในโรงเรียนก็ไม่เคยอธิบายให้เป็นที่เข้าใจได้ เพราะไอ้ความหมายของคำมันซ่อนเร้นอย่างไรอยู่ก็ไม่รู้ ไม่มีใครรู้จริง รู้ตรงเอามาพูดให้มันเป็นเรื่องเป็นราว นี่ผมก็พูดได้ตามที่ผมเข้าใจ บาลีมันมีอยู่อย่างนั้น มันไม่ได้อธิบายอะไร
อวิชชา คือปราศจากความรู้ เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร คืออำนาจที่จะปรุงแต่งอะไรๆขึ้นมา สังขารในที่นี้ อำนาจที่จะปรุงแต่งอะไรๆขึ้นมา ไม่ใช่สิ่งที่ถูกปรุงแต่งแล้ว ไม่ใช่การปรุงแต่งด้วย ไม่ใช่สิ่งที่ถูกปรุงแต่งแล้วด้วย แต่เป็นอำนาจอันหนึ่งที่จะปรุงแต่งอะไรขึ้นมา นี่อวิชชาให้เกิดสังขารนี้ นี่สังขารให้เกิดวิญญาณ ในกรณีนี้ก็อำนาจปรุงแต่งอะไรขึ้นมานี่ เรียกว่าปรุงแต่งวิญญาณและธาตุ ธาตุวิญญาณที่มีอยู่ตามธรรมดายังทำอะไรไม่ได้ ให้มันเป็นวิญญาณที่จะทำอะไรได้ เมื่อมีวิญญาณที่ทำอะไรได้ มันก็มีสิ่งที่เรียกว่าจิตใจ ซึ่งมันจะต้องหาร่างกาย หรือรูปเอาเอง วิญญาณจึงได้เกิดนามรูป ไม่ใช่คลอดจากท้องแม่อะไรทำนองนั้น มันๆลึกกว่านั้น วิญญาณที่ถูกสังขารปรุงแล้วมันก็เกิดสิ่งที่จะเรียกว่าจิตใจสำหรับไปเป็นคู่กับรูป จับคู่กันได้ จึงพูดว่าวิญญาณให้เกิดนามรูป
ทีนี้นามรูปให้เกิดอายตนะ มันต้องมีกาย กับใจ มันถึงจะมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่ทำอะไรได้ ทีนี้อายตนะมี มันทำให้มีผัสสะได้ คือผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอมีผัสสะได้ มันก็มีเวทนาได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เวทนาก็มีตัณหาได้ ตัณหาที่มาจากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีตัณหาได้ ก็มีอุปาทาน คือความโง่ ความรู้สึกสำคัญว่าตัวกู กูอยากพูดได้ กูต้องการในอุปาทานได้ เมื่อมีอุปปาทานอย่างนี้แล้ว ภพคือความเป็นอยู่แห่งบุคคลในมายานั้นก็เกิดขึ้นมาโดยสมบูรณ์ เกิดตัวกูขึ้นมาได้เรียกว่าภพ เรียกว่ามีชาติแบบตัวกู แบบที่ว่าจะให้เป็นทุกข์ นี่สังขาร นัมเบอร์ ๒ มาสัมพันธ์กับไอ้ภพนัมเบอร์ ๑๐ นี่ได้อย่างนี้
(นาทีที่ 01:20:32-01:20:36 เป็นคำถาม เสียงเบามาก)
สายของปฏิจจสมุปบาททยอยกันไปตามลำดับ จนกว่าจะหมดวง วงหนึ่งแล้วก็ดับ แล้วก็ตั้งต้นวงใหม่ได้ การที่เชื่อว่าปฏิริยายังเนื่องถึงกัน เขาจึงเปรียบว่าเหมือนลูกโซ่ที่คล้องกันเป็นห่วงๆๆๆ ใน ๑ ห่วงมีครบ ๑๒ ตอน จึงมีลูกโซ่ ถ้าเรียกว่าเป็นวงกลม มันก็ต้องวงกลมของปฏิจจสมุปบาท ทั้งรอบจึงจะเรียกว่ากลมได้ เรียกวัฏฏะได้ ในวันหนึ่งมีหลายวง เดี๋ยววงนั้น เดี๋ยววงนี้ เดี๋ยวเกิดเรื่องนั้น เดี๋ยวเกิดเรื่องนี้ เดี๋ยวเกิดตัวกูครั้งหนึ่งก็เรียกว่าวงหนึ่ง เกิดตัวกูอีกครั้งหนึ่งก็อีกวงหนึ่ง ทีนี้วันหนึ่งมันเกิดตัวกูได้หลายครั้ง ก็เลยเป็นวงกลมที่คล้องกันไป เพราะมันเนื่องถึงกันได้ ปฏิกิริยาของตัวกูๆเรื่องแรกมันไปเกี่ยวพันกับตัวกูเรื่องที่ ๒ ก็ได้ เช่นวงแรกที่ให้เกิดความรัก ก็เป็นความทุกข์ไปได้ ต่อไปมันก็เกิดความขวนขวยที่จะให้ได้ มันก็เนื่องกันอยู่ เพราะความรักจะได้ มันขวนขวายจะได้ต่อไป มันเกิดห่วงชนิดที่ไปทำอันตรายกันได้ ฆ่าฟันกันได้ มันเนื่องกันไปได้โดยไม่ต้องมีเจตนาของใคร มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นอยู่ติดต่อกัน มันก็เนื่องถึงกัน
ฉะนั้นเรื่องเอกคัตตานั้นไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำสมาธิ เมื่อจิตกำหนดอะไรได้ ตายตัวอยู่ที่นั่น เรียกเอกคัตตา คือเป็นสมาธิ ความหมายของความเป็นสมาธิอยู่ที่ตรงคำว่าเอกคัตตา มียอดอันเดียว คือจิตมียอดสุดอันเดียว คืออารมณ์ที่มันไปกำหนดอยู่อย่างแน่วแน่ ก็เรียกว่าเอกคัตตา เอกะแปลว่าหนึ่ง อัคคะแปลว่ายอด เอกคัตตา ความมียอดเพียงหนึ่งเดียว คือจิตมีอารมณ์เดียว เป็นภาษาสมาธิ ภาษาในวงการฝึกสมาธิ เรียกภาวะอย่างนั้นว่าเอกคัตตา จิตมีความเป็นสมาธิ สำเร็จเพราะมีความเป็นเอกคัตตา
(นาทีที่ 01:24:37-01:24:45 เป็นคำถาม เสียงเบามาก)
ในภาษาสมาธิ ก็อารมณ์ของสมาธิ แล้วแต่เราจะใช้อะไรเป็นอารมณ์ หรือเป็นนิมิตให้จิตไปกำหนด จิตไปกำหนดเข้าที่สิ่งใด สิ่งนั้นเรียกว่าอารมณ์ของจิต ในภาษาสมาธิ คำว่าอารมณ์หมายความอย่างนี้ ทีนี้ภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาสมาธิ ภาษาทั่วๆไป คำว่าอารมณ์หมายถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ จิตจะเข้าไปจับฉวยเอาเพื่อก่อให้เกิดกิเลส ไม่ใช่เพื่อทำสมาธิ อารมณ์ธรรมดาเพื่อจิตมันไปจับฉวยเอา บริโภค เสวย แล้วทำให้เกิดกิเลส อารมณ์ประเภทนั้น ส่วนอารมณ์สำหรับจิตเป็นสมาธินี่มันหมายถึงอะไรก็ได้ ที่จิตจะไปกำหนดเข้าที่นั่น จนกว่าจะเป็นเอกคัตตา นี่คำว่าอารมณ์ในภาษาสมาธิ คนละภาษา อารมณ์ในภาษาวิปัสสนาก็เหมือนกัน สำหรับจะพิจารณาเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เรียกว่าอารมณ์ของปัญญา อารมณ์ของจิต
มีอารมณ์อีกคำหนึ่งใช้ในภาษาไทยเท่านั้น คือพื้นแห่งจิตใจ คืออารมณ์ดี อารมณ์เสียนั่นแหละ อย่างนี้ในบาลีไม่มี มีแต่ในภาษาไทย เช่น หน้าตาบอกอารมณ์ อารมณ์อย่างนี้ไม่ใช่อารมณ์ มีคำว่า Mood อยู่ที่ใบหน้า อารมณ์แสดงอยู่ที่ Mood ที่ใบหน้า หรือ Emotion ที่เดือดอยู่ข้างใน อย่างนี้ไม่ใช่อารมณ์ในภาษาบาลีที่ใช้พูดจากัน อารมณ์ตามตัวหนังสือมันแปลว่าที่ๆหน่วงของจิต อารมณ์ทางสมาธิก็จิตมันหน่วงอารมณ์นั้น อารมณ์ทางโลก ทางกามารมณ์ จิตมันก็หน่วงอารมณ์นั้น ฉะนั้นอารมณ์มันแปลว่าที่หน่วงของจิต อารมณ์ชนิดไหนก็ตามที่จิตจะเข้าไปหน่วงเอา จับฉวยเอา ที่เป็นที่ยินดีแห่งจิตก็ได้ เอ้า, ใครมีปัญหาอะไรอีก
(นาทีที่ 01:28:02-01:28:20 เป็นคำถาม เสียงเบามาก)
ไม่ได้ ตวงไม่ได้ มันวัดไม่ได้ มันตวงไม่ได้ มันแล้วแต่เรื่อง เอาให้มันแก้ปัญหาได้ก็ใช้ได้ นี่ศิลปะศาสตร์เดี๋ยวนี้มันกำลังพุ่งก้าวหน้า พรวดพราด ทางฝ่ายธรรมศาสตร์นี่หนีหายไปไหนหมดก็ไม่รู้ โลกไม่มีธรรมะ ไม่มีความรู้ทางธรรมศาสตร์ ก็เป็นเหยื่อแก่กิเลส สนับสนุนกิเลส คือไม่สามารถจะควบคุมศิลปศาสตร์ไว้ได้ ศิลปศาสตร์ก็เลยเล่นงานเอามนุษย์นั่นเอง อย่างที่เราเห็นได้และก็น่าเศร้าที่สุด คือความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ ทางประดิษฐ์อะไรต่างๆมันเหลือประมาณ จะเป็นของวิเศษไปแล้ว แต่พอมาดูสังคม ที่ไหนได้กลับเดือดร้อน ยุ่งยาก ลำบาก เดือดร้อน ระส่ำระสาย ยิ่งกว่ายุคที่ยังไม่ก้าวหน้า ทำให้เกิดความเสื่อมศีลธรรม ทำให้เกิดอันธพาลมากขึ้น ความเอร็ดอร่อยทำให้เกิดอันธพาลมากขึ้น นี่ถ้าหากว่าเรามีศีลธรรมดีกันสมัยนี้ มันวิเศษเลย ไอ้ความก้าวหน้าทางวัตถุทั่วไปทั้งโลกมันวิเศษเหลือเกิน นี่ถ้าเรามีศีลธรรมดีกันทั้งโลกมันจะเป็นโลกที่วิเศษเหมือนกับโลกพระศรีอารย์ นี่มันขาด มันขาดไอ้ๆๆความ ความมีศีลธรรม มันเลยเป็นโลกที่ทำลาย เป็นโลกอันธพาล ทำลายกัน น่าเสียดาย
แม้ในประเทศไทยเรา ประเทศเล็กๆนี่ก็มีอะไร ก็เจริญก้าวหน้าขึ้นมาเหลือหลาย แต่ทางศีลธรรมมันเสื่อม มันเต็มไปด้วยอันธพาล เต็มไปด้วยเรื่องร้ายๆ ไม่มีความสงบสุข กระทั่งนอนอยู่ในห้องบนบ้านของตัวก็ยังไม่ปลอดภัย เอ้า, ใครมีปัญหาอะไรอีก นาฬิกามันเดินเรื่อย
(นาทีที่ 01:31:11-01:31:27 เป็นคำถาม เสียงเบามาก)
นี่ถ้าเรียนนักธรรมมาแล้วมันควรจะตอบได้ อินทรีย์ ๕ กับ พละ๕ ชื่อของตัวธรรมะมันเหมือนกัน คือศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ๕ ด้วยกัน หมวดหนึ่งเรียกว่าพละ หมวดหนึ่งเรียกว่าอินทรีย์ ทำไมต่างกันอย่างนี้ คุณเองอธิบายว่าอย่างไร ถ้ามันเหมือนกันก็ลดเสียได้ ๕ ถ้ามันเหมือนกันลดเสียได้ ๕ ฉะนั้น ๓๗ จะเหลือ ๓๒ เพราะมันลดได้ ๕ ทีนี้ด้วยเหตุที่มันไม่ได้เหมือนกัน หรืออย่างเดียวกัน มันจึงยังมีอยู่ด้วยกัน มันเป็น ๑๐ มันเลยเป็น ๓๗
ไปศึกษาไอ้คำ ๒ คำนั้น คำว่าอินทรีย์ กับคำว่าพละ สติในฐานะที่เป็นพละ มันเป็นกำลังให้เกิดความสำเร็จ ในฐานะที่เป็นอินทรีย์ มันเป็นใหญ่ เป็นโต เป็นผู้นำ เป็นนายก ถ้ามันทำหน้าที่เป็นกำลัง คล้ายกับเป็นลูกน้องก็เรียกว่าพละ พอมันทำหน้าที่เป็นผู้นำ เป็นใหญ่ เป็นโต ก็เรียกว่าอินทรีย์ มันก็มีเท่านี้ ก็แปลกดีเหมือนกันที่ว่าไอ้ธรรมะชื่อเดียวกันมันเป็นได้ทั้ง ๒ ฝ่าย เช่นปัญญานี้เป็นผู้นำก็ได้ เป็นผู้สนับสนุนก็ได้ จำคำว่าอินทรีย์ แปลว่าเป็นใหญ่ เป็นผู้นำ คำว่าพละ แปลว่ากำลัง หรือปัจจัย หรือเครื่องสนับสนุน เอ้า, ใครมีปัญหาอะไรอีก
(นาทีที่ 01:33:45-01:34:13 เป็นคำถาม เสียงเบามาก)
ในบาลีวิญญาณเหมือนกัน คำว่าวิญญาณ อธิบายเหมือนกันหมด จักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ แม้วิญญาณในปฏิจจสมุปบาทในพระบาลีก็อธิบายเป็นวิญญาณทางอายตนะ
(นาทีที่ 01:34:29-01:34:46 เป็นคำถาม เสียงเบามาก)
เอาวิญญาณไปไว้ข้างหลังสุด นี่เราพูดถึงวิญญาณมาก่อน ในวิญญาณในขันธ์ ๕ มันไม่มีอธิบายไว้โดยพระบาลี หรือโดยพระพุทธภาษิต มันไม่มีอธิบายไว้ เป็นเรื่องที่มาค้นกันเอง มาว่ากันเอง ก็อธิบายไว้เหมือนอย่างที่อธิบายอยู่ เก็บไว้ก่อน
ถ้าวิญญาณที่พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงอธิบายไว้เอง คือวิญญาณในปฏิจจสมุปบาท คือปฏิจจสมุปบาทที่วางรูปอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่วางรูปแบบอย่างเมื่อกี้ ปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธเจ้าเองก็ชอบทรงเอามาท่องเล่น เหมือนกับร้องเพลงเล่น มันมีรูปแบบอีกรูปหนึ่ง คือมันเริ่มขึ้นด้วยคำว่า อาศัยตาด้วย รูปด้วย เดี๋ยวก่อน จักขุญจะ ปฏิจจะ รูเปจะ อาศัยตาด้วย กับรูปด้วยถึงกันเข้านี่ เกิด ย่อมเกิดจักษุวิญญาณ พูดชัดอย่างนี้ ต้องมีตาด้วย คือระบบประสาทของตา แล้วก็รูปข้างนอกด้วย ตากับรูป ปฏิจจะก็แปลว่าอาศัยกันเข้าๆ อุปปัชชติวิญญาณนั้น ย่อมเกิดจักษุวิญญาณ ติณนัง ธัมมานัง สังคะติ ผัสโส การมาถึงกันเข้าแห่งสิ่งทั้ง ๓ นี้เรียกว่าผัสสะ มาถึงเข้าแห่งสิ่งทั้ง ๓ นี้ คือตาด้วย รูปด้วย จักษุวิญญาณด้วย ๓ นี้สังคติกันเข้า ผสฺโสเรียกว่าผัสสะ ก็จะได้ผัสสะมาทีหลังวิญญาณ ต้องมีวิญาณมาเป็นหน่วยหนึ่งเสียก่อนใน ๓ หน่วยคือ ตา รูป และจักษุวิญญาณ ๓ ประการนี้ถึงกันเข้า ทำงานร่วมกัน นี่เรียกว่าผัสสะ นี่เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา ต่อนี้ไปเหมือนกับปฏิจจสมุปบาทที่ว่าเมื่อตะกี้ นี่เห็นได้ชัดว่าวิญญาณจะต้องเกิดก่อนแหละ เช่นเดียวกับในรูปปฏิจจสมุปบาทใหญ่ สังขารให้เกิดวิญญาณ วิญญาณให้เกิดนามรูป นามรูปให้เกิดอายตนะๆ ผัสสะ
ทีนี้คุณถามเรื่องขันธ์ ๕ ว่าวิญญาณทำไมมาอยู่สุดโต่ง นี่ผมก็บอกไม่ได้ มันไม่มีคำอธิบาย ถ้าเกณฑ์ให้บอก ให้อธิบายตามความเข้าใจของตัว ขอพูดว่าวิญญาณนั้น เขาเพียงเรียงลำดับไว้สุดโต่ง เป็นอันที่ ๕ วิญญาณขันธ์ แต่ที่แท้มันได้แบ่งมาทำงานตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีอย่างที่ว่า คือรูปขันธ์จะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีวิญญาณขันธ์ คือจักษุวิญญาณเข้ามาเกี่ยวข้อง รูปขันธ์เกิดไม่ได้ คือตาไม่ได้ทำหน้าที่ก็ไม่เกิดจักษุวิญญาณ หรือรูปขันธ์ได้ รูปขันธ์นอก รูปขันธ์ในก็ตาม มันๆๆๆยังไม่มีการกระทำหน้าที่ มันไม่เรียกว่ายังไม่เกิด รูปขันธ์ในคือตัวตานั้นก็ยังไม่เกิด ก็ยังไม่ทำหน้าที่ รูปขันธ์นอกคือรูปที่จะเห็นนั้นก็ยังไม่ทำหน้าที่ ยังไม่เกิด จนกว่าเมื่อใดมันเกิดจักษุวิญญาณ ตากับรูปอาศัยกันเข้าจึงเรียกกว่ารูปขันธ์เกิด รูปขันธ์เกิดหมายความว่าวิญญาณส่วนหนึ่งได้เกิด
นี่รูปขันธ์เกิดอย่างนี้มันมีความหมายมาก คือมีจักษุวิญญาณ มีรูปข้างนอก มีการกระทำที่เรียกว่าผัสสะ เมื่อมันมีการเห็นรูป มันเรียกว่ามีผัสสะ มันจึงจะเกิดเวทนาขันธ์ หมายความว่าเวทนาขันธ์ได้ทำหน้า เวทนาขันธ์เกิดต่อเมื่อรูปขันธ์ทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว ทั้งอายตนะภายใน อายตนะภายนอก และจักษุวิญญาณ ยังแถมว่าแม้แต่สัญญาขันธ์ คือจำอะไรได้ก็มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ก่อนแต่จะเกิดเวทนา แต่นี่เขาเอาหลักใหญ่ๆ เมื่อเกิดรูปขันธ์แล้วก็จึงเกิดเวทนาขันธ์ คือความรู้สึกสุข หรือทุกข์ หรือไม่สุข ไม่ทุกข์ มีเวทนาขันธ์เกิด ทีนี้เวทนาขันธ์เกิดแล้ว จิตกำหนดหมายมั่นเอาไอ้เวทนาขันธ์โดยความเป็นตน เป็นตัว เป็นตน เป็นนั่น เป็นนี่ นี่คือสัญญาขันธ์ที่สมบูรณ์ มีสัญญาว่าอะไรลงไปอย่างใดอย่างหนึ่ง สัญญาว่าสุข สัญญาว่าทุกข์ สัญญาว่าบุคคล สัญญาว่าสัตว์ สัญญาว่าหญิง สัญญาว่าชาย แล้วแต่จะสัญญาไหน นี่สัญญาขันธ์ที่สมบูรณ์ มันมารองลำดับเวทนาขันธ์อย่างนี้ ทีจริงสัญญาขันธ์เล็กๆน้อยๆที่จำอะไรได้ว่ารูปอะไร มันๆเกิดแล้ว ทำหน้าที่แล้ว ตั้งแต่ตอนที่รูปขันธ์จะเกิด เขาเอาหลักใหญ่ๆมาๆๆกล่าวไว้ จึงกล่าว่ารูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ พอสำคัญมั่นหมายอะไรเป็นอะไรแล้ว เป็นตัวเราขึ้นมา มีความหมายแล้วก็มันจะเกิดสังขารขันธ์ คือความคิดนึก จะทำ จะพูด จะคิด จะทำ ที่เรียกว่ากรรม สังขารขันธ์
ทีนี้เอาๆวิญญาณขันธ์มาไว้สุดโต่ง ทั้งที่วิญญาณขันธ์นี้มันทำหน้าที่ตั้งแต่เมื่อรูป จะเกิดรูปตั้งแต่ตอนหนึ่งแล้ว และเมื่อเกิดเวทนาแล้ว มันวิญญาณขันธ์ทำหน้าที่กำหนดเวทนานั้นเอามาเป็นอารมณ์ของจิตอีกทีหนึ่ง ว่าจะเกิดความยินดี ไม่ยินดี นี่มันก็ทำหน้าที่อีกทีหนึ่ง ฉะนั้นวิญญาณขันธ์นี่คล้ายกับทำหน้าที่อยู่เป็นรายทาง ระยะ เป็นระยะๆมา ไม่รู้จะบรรจุไว้ที่ตรงไหน บรรจุไว้สุดโต่งเลย จนบางคนเขาอธิบายว่านี่คือตัวจิต ตัวจิตจริงๆ คือสังขารเป็นเพียงความคิด แล้วก็มีวิญญาณซึ่งเป็นตัวจิต เพราะฉะนั้นควรจะมาไว้สุดโต่ง เป็นที่ ๕ ก็ได้เหมือนกัน
แต่ความเห็นของผมรู้สึกว่าวิญญาณขันธ์ไม่ได้อยู่สุดโต่ง ไม่ได้ทำหน้าที่ตอนสุดโต่ง มันทำหน้าที่ตั้งแต่แรกกระทบ ทำหน้าที่ปฏิสนธิเรื่องราวขึ้นมาได้ และทำหน้าที่กำหนดเวทนา โดยเป็นธรรมารมณ์สำหรับจิต จะเกิดสัญญา เกิดอะไรขึ้นมาอีกได้ โดยทั่วไปก็อธิบายว่ารูปเป็นรูป เวทนา ปัญญา สังขาร เป็นเจตสิก วิญญาณขันธ์เป็นจิต มันจึงบังคับอยู่ในตัว ก็ต้องแยกวิญญาณออกมาไว้ต่างหาก มันเลยมาไว้สุดโต่ง เป็นจิต แต่นี่เป็นเพราะพระพุทธภาษิต พบในคัมภีร์อภิธรรม คำอธิบายหลังๆ พวกอภิธรรมเขาก็ถือเป็นพุทธภาษิต เราขี้เกียจทะเลาะกัน เราก็นิ่งเสีย เรารู้สึกว่าวิญญาณขันธ์นี่มัน มันทำหน้าที่ระหว่างๆๆ ทั้ง ๒ หน จะเรียกว่าจิตก็ได้ เอามาไว้ต่างหาก ไม่ๆๆๆไปปนกับเจตสิก มันก็ได้ลำดับว่ารูป เจตสิก และจิต ซึ่งเขาไม่ค่อยพูดกัน ที่เขาพูดกันทั่วไปเขาพูด จิต เจตสิกและรูป จิต เจตสิกและรูป แต่ถ้าเรียงลำดับในเบญจขันธ์ มันก็จะมาว่ารูป เจตสิก และจิต มันอาจจะเกินจำเป็นไปก็ได้ ความรู้ตอนนี้ มันอาจจะเกินจำเป็นไปก็ได้ รู้แต่ว่าเมื่อไรเป็น เมื่อไรเป็นเวทนา เมื่อไรเป็นสัญญา เมื่อไรเป็นสังขารนี่ก็พอ รู้ด้วยความรู้สึกในภายใน แล้วระวังให้ดี อย่าให้เกิดไปยึดมั่นตรงไหนเป็นตัวตนเข้า คืออย่ายึดมั่นรูปเป็นตัวตน อย่ายึดมั่นเวทนาเป็นตัวตน อย่ายึดสัญญาเป็นตัวตน สังขารเป็นตัวตน วิญญาณเป็นตัวตน เอ้า, ได้อีกปัญหาเดียวหมดเวลา
(นาทีที่ 01:45:10-01:45:34 เป็นคำถาม เสียงเบามาก)
ฟังไม่ค่อยถูก ถามว่าอย่างไรนะ เขามีแต่ร่างกาย ไม่มีจิต หรือว่าพูดแต่ร่างกายไม่มีจิต ตัวตน จิตเป็นพระธรรม ร่างกายหล่ะ คือคำสอนที่เป็นหลักก็ต้องการให้เห็นลงไปชัดๆว่า กายเป็นธรรมชาติ จิตก็เป็นธรรมชาติไปตามเรื่องตามราวของกาย ของจิต อย่าไปหลงสำคัญว่ากายเป็นตัวตน หรือจิตเป็นตัวตน ว่าอย่างนั้น จิตก็เป็นตัวตนไม่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เอง ถ้าจะมีตัวตนกันบ้าง ตัวตนที่ร่างกายดีกว่า เพราะว่าร่างกายนี้ตั้งอยู่ ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๕๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง ส่วนจิตนี้ดวงๆนี้เกิด ดวงนี้ดับ เกิดดวง เกิดดวงเกิด ดวงดับ ดวงเกิด ดวงดับ ไม่มีทางที่จะเป็นตัวตนได้ นี่ถ้าจะมีตัวตนกันบ้าง ก็อย่ามามีที่จิต ที่ๆๆกายดีกว่าที่จิต แต่ถ้าเกิดว่าทั้ง ๒ อย่างนั้นมันไม่ควรจะยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นเพียงธรรมชาติ เป็นเพียงปรากฏการณ์ของธรรมชาติ เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ กายก็ไม่ใช่ตน จิตก็ไม่ใช่ตน แล้วมันทำอะไรเกิดขึ้น มันก็เป็นของที่ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของตน เช่นกาย กับจิตมันร่วมกันทำการงานอะไร อาตมาก็ไม่ถือว่าของตน เป็นไปตามการปรุงแต่ง ตามวิถีทางของธรรมชาติ ให้จิตรู้สึกอย่างนี้ เพื่อจิตจะได้ไม่เป็นทุกข์ จิตจะเป็นตัวตนเสียเอง หรือจิตจะเอาร่างกายเป็นตัวตนเสียเอง หรือเอาทั้ง ๒ อย่างเป็นของตน หมายความว่าไอ้ความรู้สึกว่าตน ว่าของตนนั้นอย่าเข้ามามีอยู่ในจิต มันจะเป็นทุกข์ นั่นเป็นเรื่องของธรรมชาติ ตามวิธีของธรรมชาติ เราก็ทำไปได้ กินอาหารก็ได้ ทำอะไรก็ได้ ทำแต่ที่ไม่เป็นทุกข์ก็แล้วกัน ถ้าไปทำที่ต้องเป็นทุกข์ มันก็เป็นทุกข์แหละ เรื่องที่ไม่มีตัวตนนี่คือเรื่องที่สำคัญที่สุด ละเอียดที่สุด ลึกซึ้งที่สุดของพุทธศาสนา ฉะนั้นมันต้องยากบ้างเป็นธรรมดา เข้าใจได้ยากบ้าง เอ้า! พอดีหมดปัญหา หมดเวลา ปิดประชุม