แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชชนาพระธรรมเทศนา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ แลวิริยะความพากเพียร ของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้า ในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาเป็นบุพพาปรลำดับ คือ สืบเนื่องจากธรรมเทศนา ที่วิสัชชนาแล้วในตอนกลางวัน อันเป็นธรรมเทศนา ชี้แจงให้เตรียมตัวสำหรับทำอาสาฬหบูชาให้ได้ผลดีที่สุด แล้วก็ได้แสดงลักษณะพิเศษของวันนี้ ในฐานะเป็นอุปมา ว่าเหมือน กับเป็นวันที่พูดกับคนบ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือพระพุทธองค์ได้ตรัสกับปัญจวัคคีย์ที่มีทิฏฐิเหนียวแน่น ในอัตตกิลมถานุโยค เหมือนกับเป็นบ้าเป็นหลัง ไปทีเดียว แต่ในที่สุด ก็ทรงเอาชนะคนเหล่านี้ได้ เหมือนกับรักษาคนบ้าเหล่านั้นให้หาย ส่วนอีกคนหนึ่งคือ อุปกาชีวกนั้น ปรากฎว่าไม่ได้ผล เป็นแต่เพียง รับรู้ว่ามันอาจจะเป็นได้ เหมือนกับคนเป็นอันมากในโลกนี้ ไม่ยอมรับนับถือพุทธศาสนา คิดแต่เพียงว่า มันอาจจะเป็นได้ แต่ไม่มองเห็นว่ามันเป็นได้ตามนั้น หรือไม่ตรงกับที่เขาต้องการ เขาจึงไม่สนใจ เขามีทิฏฐิความคิดเห็นอย่างไรก็คงถือไปตามนั้น นี้ก็แปลว่าพูดกันไม่สำเร็จ หรือรักษาคนบ้าพวกนี้ให้หายไม่ได้ เขายึดมั่นในทิฏฐิของเขามากเกินไป รวมความว่าเรื่องพูดกับคนบ้านั้น มันเสร็จไปแล้ว ในตอนนี้ ก็จะได้พูดต่อไปถึงเรื่องคนบ้า มันพูดกันกับคนบ้า หรือให้ถูกกว่านั้นก็ว่า คนบ้ามันเถียงกับคนบ้า ก็ลองคิดดูเถิดว่ามันจะมีอะไรเกิดขึ้น
เมื่อเรานึกถึง วันอาสาฬหปุรณมี คือวันเพ็ญเช่นวันนี้ ก็ถือกันว่าเป็นวันที่ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ทรงแสดงสิ่งสำคัญที่สุดสิ่งหนึ่ง คือสิ่งที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา แม้ว่ามัชฌิมาปฏิปทาจะหมายถึง อริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอริยสัจก็จริง แต่พระองค์ได้ตรัสแยกออกมาต่างหาก จากกลุ่มของอริยสัจ เอามาเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา อยู่ตรงกลางระหว่างกามสุขัลลิกานุโยค กับอัตตกิลมถานุโยค แล้วทรงย้ำเฉพาะตอนนี้ ว่าเป็นสิ่งที่พระองค์ไม่เคยทรงฟังมาแต่ก่อน เป็นเรื่องที่ตรัสรู้พร้อมเฉพาะของพระองค์เอง ความสำคัญของมัชฌิมาปฏิปทามีมากถึงอย่างนี้ เอาหละ จะต้องทราบกันไว้ว่า หัวใจของพุทธศาสนาก็คือ มัชฌิมาปฏิปทา พูดอย่างเป็นกลางที่สุดไม่พูดสุดโต่งไปข้างโน้นหรือข้างนี้ ไม่ซ้าย ไม่ขวา ไม่หน้า ไม่หลัง ไม่อะไรหมด พูดในลักษณะที่เป็นกลาง ว่าเพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมีอย่างนี้เรื่อยไป ที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท นี้เป็นหัวใจของพุทธศาสนาอย่างหนึ่งซึ่งทุกคนควรจะทราบไว้ ว่าอย่าพูดอะไรอย่างขวานผ่าซาก มันจะเป็นเรื่องของคนบ้า คือให้มองที่เหตุปัจจัยกำลังปรุงแต่งซึ่งกันและกันแล้วก็เป็นไป ไม่อาจจะพูดลงไปว่าอย่างนั้นหรืออย่างนี้ เพราะมันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยไป นี้เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยสนใจกัน จึงได้พูดอะไรออกไปในลักษณะขวานผ่าซาก คือโดยส่วนเดียวโดยส่วนเดียว อย่างนั้น อย่างนี้ แล้วก็เถียงกัน จนทะเลาะวิวาทกัน การที่บัญญัติลงไปว่าอย่างนั้น อย่างนี้นั่น มันเป็นเรื่องสมมุติชั่วขณะทั้งนั้น โดยแท้จริงแล้วมันยังเป็นสายของการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จะเรียกว่านี้ก็ไม่ได้ จะเรียกว่าอื่นจากนี้ก็ไม่ได้ มันเป็นสายที่ปรุงแต่งกันไปเรื่อย ถ้ามองดูว่ามันเป็นอย่างอื่น มันก็เป็นอย่างอื่นต่อกัน ถ้ามองดูว่ามันเป็นเส้นเดียวกัน อย่างเดียวกัน มันก็เป็นอันเดียวกัน เพราะฉะนั้น คนในโลกจึงมักจะพูดไปตามความเห็นของตัวว่า อย่างเดียวกัน หรืออันนี้ อีกพวกหนึ่งก็ว่าอย่างอื่น หรืออันอื่นคือต่างกัน มัชฌิมาปฏิปทานั้นไม่ ไม่เป็นไปในลักษณะอย่างนั้น แต่จะกล่าวในลักษณะเป็นการปรุงแต่งของปัจจัย ไม่พูดลงไปว่าเป็นอย่างไร การที่พูดลงไปว่าอย่างไรโดยเด็ดขาดนั่นแหละคือคนบ้า ทีนี้เมื่อคนนี้มันบ้า โดยพูดเด็ดขาดอย่างนี้ แล้วคนอื่นมันก็บ้า เพราะมันมองเห็นอย่างอื่น มันก็พูดอย่างอื่น มันก็เกิดคนบ้าขึ้นมากมาย แล้วก็ได้ทะเลาะกัน เรื่องนี้มีอยู่ในพระบาลี ที่ทรงนำมาตรัสเล่า ไว้ในฐานะเป็นอุปมา จะเป็นอุปมาของเรื่องที่เป็นจริง หรือพระองค์ทรงกระทำอุปมาขึ้นก็สุดแท้ แต่เรื่องมันมีอยู่ในพระบาลีในรูปของพระพุทธภาษิต เรียกกันว่า เรื่อง ตาบอดคลำช้าง ตัวอุปมัยของเรื่องนั้นก็คือมีเจ้าลัทธิต่างๆ ซึ่งสอนลงไปโดยเด็ดขาดว่าอย่างนั้น อย่างนั้น พรรณนั้น อย่างอื่นไม่ใช่ อย่างอื่นผิด คือเจ้าลัทธิพวกหนึ่งสอนว่าโลกนี้เที่ยง ไม่มีการเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ทีนี้เจ้าลัทธิอีกคนหนึ่งว่า โลกเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่เป็นอย่างนั้น คือ คือไม่เที่ยง ที่ว่าเที่ยงนั้นผิด ที่มีเจ้าลัทธิอื่นสอนว่า โลกนี้มีที่สิ้นสุด ก็มีเจ้าลัทธิอื่นแย้งว่า ไม่มีที่สิ้นสุด ก็เลยเถียงกัน เจ้าลัทธิคนหนึ่งสอนว่า ร่างกายก็ร่างนี้ ชีวิตหรือชีวะก็อันนี้ จะไปด้วยกันเรื่อยไป เจ้าลัทธิคนอื่นก็สอนว่า ร่างกายอันอื่น ชีวิตก็อันอื่น ไม่ใช่อันนี้ ก็เลยได้เถียงกัน เจ้าลัทธิคนหนึ่งสอนว่า ตถาคต หลังจากตายแล้วก็มีขึ้นมาอีก เจ้าลัทธิอีกคนหนึ่งก็ว่า ตถาคตตายแล้วไม่มีขึ้นมาอีก ก็เลยเถียงกัน เจ้าลัทธิอีกคนหนึ่งว่า ตถาคตตายแล้วมีอีกก็มี ไม่มีอีกก็มี ก็มีเจ้าลัทธิอีกคนหนึ่ง อีกพวกหนึ่งว่า ตถาคตตายแล้ว มีอีกก็ไม่ใช่ ไม่มีอีกก็ไม่ใช่ อย่ากล่าวอย่างนั้นซิ มันจะเป็นคู่ตรงกันข้ามอย่างนี้ กลายเป็นห้าคู่ หรือเป็นสิบลัทธิ เท่าที่มีอยู่อย่างหนาแน่นในครั้งพุทธกาล เขาเรียกว่า อันตคาหิกทิฏฐิแปลว่า ความคิดเห็น ความคิดเห็นที่มันแล่นไปสุดเหวี่ยง สุดโต่ง ก็ไปจับเอาที่สุดโต่งนั้น ขึ้นมาพูดว่าอย่างนั้นว่าอย่างนี้ เช่นว่าเที่ยงบ้าง ว่ามี ไม่เที่ยงบ้าง ว่ามีที่สิ้นสุดบ้าง ไม่มีที่สิ้นสุดบ้าง เป็นเรื่องกล่าวโดยเด็ดขาดที่สุดโต่งข้างใดข้างหนึ่ง อย่างนี้มันขัดกับหลักมัชฌิมาปฏิปทาที่อยู่ตรงกลาง เพราะว่าหลัก มัชฌิมาปฏิปทาเป็นแต่เพียงเรื่องของปฏิจจสมุปบาท คือสิ่งนี้อาศัยสิ่งนี้แล้วเกิดขึ้น อาศัยสิ่งนี้แล้วเกิดขึ้น อาศัยสิ่งนี้แล้วเกิดขึ้น อย่างนั้นเรื่อยไป จะพูดว่านี้ หรือจะพูดว่านั้นก็ไม่ได้ จะพูดว่าเองก็ไม่ได้ จะพูดว่าอื่นก็ไม่ได้ มันเป็นเพียงกระแสของปฏิจจสมุปบาท ทีนี้พวกที่ไม่รู้เรื่องกระแสของปฏิจจสมุปบาทก็พูดแบบขวานผ่าซากเป็นพวกๆไป เกิดเป็นสิบพวกขึ้นมา ก็ได้ทะเลาะกันตลอดเวลาในครั้งพุทธกาล เรียกว่ามีทิฏฐิอยู่สิบพวก ที่เป็นพวกที่รุนแรง เป็นชั้นหัวหน้า ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านจะทรงทำอุปมา ให้มันเข้าใจได้ง่ายว่ามันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ท่านได้ตรัสถึงเรื่องตาบอดคลำช้าง
สำหรับเรื่องตาบอดคลำช้างนี่ คนไทยเราก็พูดกันอยู่แล้ว ก็เข้าใจว่าจะได้เค้าเงื่อนมาจากพระบาลี แต่ก็ไม่ครบจำนวนหัวข้อตามที่มีอยู่ในพระบาลี ที่พวกฝรั่งเอาไปกล่าวเอาไปเล่าก็มี แต่ก็ไม่มีครบตามหัวข้อในพระบาลี แต่ถึงอย่างไรก็ เชื่อได้ว่าเป็นเรื่องที่เอาไปจากประเทศอินเดีย เพราะเขามักจะเรียก มักจะเรียกว่านิทานของชาวอินเดีย ส่วนที่กล่าวในพระบาลีนี้ มีถึงสิบหัวข้อ คือสิบ สิบชนิดของคนตาบอด เรื่องนั้นก็เล่าว่า พระราชาองค์หนึ่ง นึกสนุกอะไรขึ้นมา ก็แล้วแต่ ก็ทรงรับ ก็รับสั่งให้เจ้าหน้าที่จัดการให้พวกตาบอดแต่กำเนิดสิบคนมาคลำที่ตัวช้าง แล้วเขาจะได้บอกว่าช้างนั้นมีรูปร่างเหมือนกับอะไร เจ้าหน้าที่ก็จัดอย่างนั้น คือ ให้ตาบอดสิบคนไปคลำที่ตัวช้าง แต่ละส่วน ละส่วน ละส่วน ไม่ให้คลำทุกส่วน และก็ไม่ให้คลำทั้งตัวด้วย คนตาบอดได้คลำแต่เพียงส่วนเดียว มันก็เข้าใจว่าช้างมีรูปร่างอย่างนั้น ครั้นเมื่อคลำกันทั่วทุกคนแล้ว ก็พาตัวไปหาไปเฝ้าพระราชา ให้พระราชาทรงซักถามด้วยพระองค์เอง จากคนตาบอดเหล่านั้น พระราชาทรงซักถามไปตามลำดับทีละคน ละคน ว่าพ่อบอด ไอ้ช้างนี้มันมีรูปร่างอย่างไร ไอ้คนตาบอดที่มันคลำเฉพาะที่หางช้าง พวงหาง มันก็ทูลพระราชาว่า ช้างเหมือนกับไม้กวาด พระองค์ก็ฮากันใหญ่ เสร็จแล้วก็ให้คนที่สองเข้ามาถาม เข้ามาแล้วตรัสถามว่าช้างเหมือนกับอะไร ไอ้คนนั้นมันคลำถูกแต่ที่ขา มันก็บอกว่าช้างนี่มันเหมือนกับเสา นี่ก็คงจะได้ฮากันอีกทีหนึ่ง ตาบอดสองคนนี่ชักจะขุ่นๆกันแล้ว ทีนี้ถามคนที่สาม ที่ไปคลำถูกปุ่มศีรษะของช้าง ก็กราบทูลว่าช้างนี้เหมือนหม้อ หม้อกลมๆ มันคงจะฮากันอีกทีนึง ถามคนที่สี่ ตาบอดคนที่สี่ มันไปคลำเผอิญถูกเฉพาะที่หู มันก็บอกว่าเหมือนกับกระด้ง เหมือนกับตะแกรง มันก็คงจะฮากันอีกที ตาบอดคนที่ห้า มันไปคลำเข้าที่พุงช้าง มันก็บอกว่า ช้างนี้เหมือนกระพ้อม ที่เขาใช้ใส่ในข้าวเปลือกใหญ่ๆ ตาบอดคนที่หก เผอิญมันไปคลำเข้าที่หลังโกงของช้าง มันก็ว่าเหมือนกับคันกระเดื่อง ครกกระเดื่องที่มีคันโค้งตำข้าว คนที่นั่งดูอยู่ก็ต้องฮากันอีก ทีนี้คนที่เจ็ด เผอิญไปคลำที่โคนหาง มันก็ว่าช้างนี่แหละเหมือนกับสากตำข้าว สากชาวอินเดียก็คงจะทำเหมือนกับโคนหางช้าง ตาบอดคนที่แปดนั่นไปคลำที่งวง เจ้าหน้าที่ก็ชูขึ้นมาให้คลำมันก็งอน มันก็บอกว่าช้างนี่เหมือนกับงอนไถ ก็เลยฮากันใหญ่ ไอ้ตาบอดคนที่เก้า มันก็บอกว่าช้างเหมือนกับฐาน เพราะมันปลายแหลมเหมือนกับฐานไถ ตาบอดคนที่ถูกคลำที่กระพ้อม มันก็ว่าเหมือนกับโอ่งกับไห ทีนี้ตาบอดแต่ละคนเมื่อถูกโห่ มันก็โกรธขึ้นมา มันก็เถียงว่าที่ฉันว่านี่มันถูก ที่แกว่านี่มันไม่ถูก ทั้งสิบคนมันก็รุมกัน แล้วมันก็เถียงกัน หนักเข้ามันก็ชกต่อยกันเป็นพัลวัน เป็นชุลมุน พระราชาก็ได้หัวเราะใหญ่ นี่เรื่องตาบอดคลำช้างมันเป็นอย่างนี้ เราลองคิดดูว่าตาบอดแต่ละคน ละคนน่ะ เขายืนยันความคิดความเห็นของเขา ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง มันเหมือนกับคนบ้า ที่เอามาพูดพร้อมๆกัน มันก็ขัดขวางกัน พูดกันไปคนละทาง ลองนึกดูให้ดีดีว่ามันมีอะไรที่เกิดขึ้นต่อไปอีก คนตาบอดแต่กำเนิด มันอยู่ตามบ้านเรือน แม้ตาบอดมันก็เคยคลำไอ้สิ่งต่างๆเหล่านี้ เคยคลำไม้กวาดบ้าง คลำเสาบ้าง คลำหม้อบ้าง คลำไหบ้าง คลำกระด้งบ้าง คลำพ้อมบ้าง คลำครกกระเดื่องบ้าง คลำสากตำข้าวบ้าง คลำงอนไถบ้าง คลำไอ้ปลายฐานไถบ้าง อย่างนี้มันๆ มันรู้จัก มันรู้จักแต่เท่านั้น แต่พอมาถึงตัวช้าง ซึ่งเขาไม่ให้คลำทั้งตัว เขาให้คลำแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง คนตาบอดก็มี ความเชื่อเด็ดขาดลงไป ว่าช้างมันมีรูปร่างอย่างนั้น แล้วมันต่างกันไกลเท่าไหร่ ก็ลองคิดดู ว่าช้างเหมือนกับไม้กวาดบ้าง ช้างเหมือนกับเสาบ้าง ช้างเหมือนกับกระด้งบ้าง นี่ระวังให้ดี ไอ้เจ้าทิฏฐิทั้งหลาย ได้บัญญัติทิฏฐิไปคนละทางสองทาง ในเรื่องเดียวกัน คือเรื่องโลก เรื่องชีวิตนี้ด้วยกันทั้งนั้น ก็เพราะว่า เขามีสัมผัสต่อโลกนั้นในแง่มุมต่างๆกัน จึงเกิดเป็นทิฏฐินานาประการขึ้นมาในโลกนี้ อย่างพวกหนึ่งว่าโลกเที่ยง พวกหนึ่งว่าโลกไม่เที่ยง เพราะว่ามันมีอะไรส่อให้เขาเห็น ให้เขาคิดเห็น เพียงเท่านั้น หรือความรู้ของเขามันมีเพียงเท่านั้น ในเรื่องราวที่กล่าวไว้ก็บางทีก็ไปไกลลิบเลย จนถึงกับว่าเขาเข้าฌาน เข้าสมาบัติ เข้าสมาธิได้ แต่การเห็นของเขาน่ะมันเห็นไปแต่ในทางที่ทำให้เขาคิดว่ามันเที่ยง อีกพวกหนึ่งมันตรงกันข้าม มันเห็นเป็น มันเห็นไอ้เดี๋ยวเปลี่ยนเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวเปลี่ยนเป็นอย่างนี้ มันก็ว่าไม่เที่ยงอย่างนี้ เป็นต้น ที่มีที่สุดหรือไม่มีที่สุดก็เหมือนกัน ถ้าอายุมันสั้น ก็คิดว่าเที่ยงอย่างนั้น ไม่มีที่สิ้นสุดอย่างนั้น ถ้าหากอายุมันยาว มันก็คิดว่าไม่มีที่สุด ส่วนที่เข้าใจว่าร่างกายอันนี้ กับชีวะวิญญาณอันนั้นน่ะ อันๆคู่เดียวกันเรื่อยไปนี่ ก็เพราะว่ามันเข้าใจอย่างนั้น มันมีอะไรทำให้เข้าใจอย่างนั้น คือจะว่ามันคู่เดียวกันเรื่อยไป เพราะมันมีอะไรทำให้เข้าใจอย่างนั้น ไอ้ส่วนพุทธศาสนาไม่พูดอย่างนี้ เดี๋ยวฟังให้ดีว่าจะพูดอย่างไร ทีนี้ข้อที่ว่า ตถาคตตายแล้ว มีขึ้นมาอีก หรือตายแล้วไม่มีขึ้นมาอีก มีขึ้นมาอีกก็มี ไม่มีมา ไม่มีมาอีกก็มี เรียกว่า มีมาอีกก็ไม่ใช่ ไม่มีมาอีกก็ไม่ใช่ นี่มันเป็นการพูดหมดทุกแง่ทุกมุมที่เกี่ยวกับมี คำว่าตถาคตนี้เป็นปัญหา ไอ้เราก็จะเป็นตาบอดคลำช้างเข้าเองก็ไม่รู้ คือไม่รู้ว่าคำว่าตถาคตนี่มันแปลว่าอย่างไรแน่ บางอาจารย์ก็แปลว่าสัตว์ เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายก็เป็นตถาคต คือ เกิดมาอย่างไรก็ไปอย่างนั้น เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ตามกรรม ก็เรียกว่าตถาคต และก็หมายถึงสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง เป็นตถาคตด้วยกันทั้งสิ้น ก็เลยเกิดยืนยันว่า สัตว์ทั้งหลายนี่ตายแล้วเกิดอีกก็มี ไม่เกิดอีกก็มี หรือมีทั้งเกิดอีก และมีทั้งไม่เกิดอีก หรือว่าไม่ควรจะกล่าวอย่างนั้น ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดอีกหรือไม่เกิดอีก มันก็หมดเท่านั้นน่ะที่ความคิดมันจะซอกแซกไปได้ ถ้าใครยืนยันอย่างไร เห็นอย่างไร ตามๆกันไปอย่างไร มันก็อยู่ในพวกมิจฉาทิฏฐินี้ทั้งนั้น มันก็เป็นสิ่งที่พวกเราสมัยนี้แหละควรจะพิจารณาตัวเองดูบ้าง ถ้าเราถือว่าตายแล้วเกิดอีกแน่ มันก็ไม่เป็นอิทัปปัจจยตา ตายแล้วไม่เกิดอีกมันก็ไม่เป็นอิทัปปัจจยตา เกิดอีกก็มีไม่เกิดอีกก็มี กล่าวไปเด็ดขาดอย่างนี้ มันก็ไม่เป็นอิทัปปัจจยตา เกิดอีกก็ไม่ใช่ ไม่เกิดอีกก็ไม่ใช่ มันก็ไม่ใช่อิทัปปัจจยตา เลยกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิหมด
ทีนี้มันมีเค้าเงื่อน ที่ได้พบใหม่ๆขึ้นมาอีกพวกหนึ่ง ทำให้เข้าใจว่า คำว่าตถาคตนี่ ไม่ได้แปลว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จะแปลว่าพระอรหันต์ผู้สำเร็จ ความเป็นพระอรหันต์แล้ว รูปของเรื่องก็เปลี่ยนไป ปัญหาก็เปลี่ยนไป คือจะต้องถามขึ้นมาว่า พระอรหันต์ตายแล้วเกิดอีกหรือไม่ พวกหนึ่งก็ว่าเกิดอีก พวกหนึ่งก็ว่าไม่เกิดอีก พวกหนึ่งว่าเกิดอีกก็มี ไม่เกิดอีกก็มี พวกหนึ่งว่าเกิดอีกก็ไม่ใช่ ไม่เกิดอีกก็ไม่ใช่ สำหรับพระอรหันต์ อันนี้มีเค้าเงื่อนมากที่จะเป็นอย่างนั้น เป็นคำโบราณที่ใช้มาแต่โบราณกาลในประเทศอินเดีย ที่จะเล็งถึงพระอรหันต์ เรียกว่าตถาคตไปหมด พระพุทธเจ้าก็เรียกว่าพระตถาคต เพราะเป็นพระอรหันต์ ที่เรามาอธิบายเอาเองว่า พระพุทธเจ้าท่านมาอย่างไร ไปอย่างนั้น มาอย่างพระพุทธเจ้า ไปอย่างพระพุทธเจ้านี้ก็เพราะว่ายังเข้าใจผิดๆถูกๆกันอยู่ อาตมาเองก็ได้รับคำสั่งสอนมาอย่างนั้น แล้วก็เคยสอนคนอื่นอย่างนั้นเหมือนกัน เดี๋ยวนี้จะมี ชักจะมีความเห็นที่แน่ลงไปว่า คำนี้แม้จะมีความหมายได้หลายอย่าง เราก็ควรจะถือเอาสักอย่างที่มีเหตุผลที่สุด คือแปลว่า ผู้ที่ถึงแล้วซึ่งตถา ตถาแปลว่าความเป็นอย่างนั้น คตะแปลว่าถึงแล้ว ตถา คตะแปลว่าผู้ถึงแล้วซึ่งความเป็นอย่างนั้น แต่ว่าตถานั้น มันไม่ใช่ความเป็นอย่างนั้นความเป็นอย่างนี้ อย่างแบบทิฏฐิ คำว่าตถา เป็นชื่อของธรรมะที่คงที่ คือ อสังขตะ หรือพระนิพพาน ถ้าไม่คงที่ก็ไม่เรียกว่าตถา เพราะคำว่าตถา มันแปลว่าเช่นนั้น มันเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ที่นี้ตถา ก็คือความคงที่ ซึ่งเป็นลักษณะของพระนิพพาน คือถึงแล้วซึ่งความคงที่ ก็เรียกว่าพูดถึงตถา ฉะนั้น พูดถึงพระนิพพานก็คือพระอรหันต์นั่นแหละ ผู้ถึงแล้วซึ่งตถา จะเกิดอีก หรือจะไม่เกิด หรือเกิดบ้างไม่เกิดบ้าง หรือว่าเกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่นี่ มันเป็นมิจฉาทิฏฐิไปหมด ไม่ควรจะกล่าวอย่างนั้น ควรจะกล่าวว่า มันแล้วแต่กระแสของอิทัปปัจจยตา ถ้ากระแสของท่านสิ้นสุดมันก็สิ้นสุด กระแสยังไม่สิ้นสุดก็ไม่สิ้นสุด พูดในแบบของปฏิจจสมุปบาทก็ต้องเป็นอย่างนี้ นี่มีตาบอดคลำช้างขึ้นมาถึงสิบพวกอย่างนี้ ก็เรียกว่าคนบ้า แต่ละพวกเขาก็มาเถียงกัน แล้วก็ชกต่อยกัน เป็นเรื่องของคนบ้าพูดกับคนบ้า
เอ้า, ทีนี้ เราจะได้รับประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้ มันก็ควรจะตั้งปัญหาขึ้นมาว่า เราเป็นตาบอดคลำช้างหรือเปล่า ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ ใครกล้ายืนยันว่าตัวเองไม่ตกอยู่ในฐานะเป็นตาบอดคลำช้าง คือเป็นผู้รู้อะไรหมด เห็นอะไรหมด เป็นผู้ละวางได้ทุกสิ่ง และก็ไม่เป็นตาบอดคลำช้าง แล้วใครบ้างที่รู้สึกว่าตนเองรู้ทุกสิ่ง เห็นทุกสิ่ง ไม่อยู่ในลักษณะตาบอดคลำช้างแต่บางส่วน แล้วก็มาพูดว่าอย่างนั้นอย่างนี้ อาตมาเกรงว่าพวกเราทั้งหมดนี่ ก็เป็นตาบอดคลำช้างชนิดใดชนิดหนึ่งอยู่ก็ได้ ก็ลองฟังดู มันจะเป็นไปได้อย่างไร ยกตัวอย่างปัญหาที่กว้างที่สุด คือจะมีปัญหาถามขึ้นมาว่า เกิดมาทำไม จะตอบตรงกันไหม ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ จะตอบตรงกันไหมว่าเกิดมาทำไม เกิดมาเพื่ออะไร จะเอาอะไร ก็เข้าใจว่าไม่ตรงกัน แล้วก็มุ่งหมายต่างกัน รู้จักตัวเองนี่ต่างกัน ให้ยืนยันขึ้นมา เดี๋ยวก็จะได้เถียงกัน แล้วก็ได้ชกกัน เหมือนกับพวกตาบอดเหล่านั้น หรือจะถามให้แคบเข้ามาว่า ไอ้ที่เรียกว่าดีนั้นมันเป็นอย่างไร ทั้งหมดที่นั่งอยู่ที่นี่ เข้าใจตรงกันทุกคนหรือเปล่าว่าไอ้ที่ว่าดี คือดีมันเป็นอย่างไร หรือแม้แต่ว่าชั่วก็ตามเถอะ มันเป็นอย่างไร เข้าใจตรงกันหรือเปล่า แล้วสิ่งที่ชอบกันนัก คือบุญนั่นนะ มันเป็นอย่างไร ไหนลองว่ามาทีว่าบุญเป็นอย่างไร ทุกคนนี่จะตอบตรงกันไหมว่าบุญนั้นเป็นอย่างไร เพราะว่าคนหนึ่งมันต้องการอย่างหนึ่ง คนหนึ่งมันต้องการอีกอย่างหนึ่ง มันวาด วาดภาพของสิ่งที่เรียกว่าบุญนั้นไว้ตามความรู้สึกคิดนึก หรือความต้องการของตัวมันเอง คำว่าดี นี่ มันก็มีใช้กันอยู่ทุกคน ติดปากกันอยู่ทุกคน มันจึงต้องการกันอยู่ทุกคน พอถามว่าดีคืออะไร คือจะเอากันอย่างไร ก็ลองคิดดูเถอะ จะตอบกันว่าอย่างไร ถ้าถามลูกเด็กๆ ที่ชอบแต่กินขนม ชอบเล่นตุ๊กตานี่ ไอ้ดีของเค้าก็อยู่แถวนั้นแหละ ถ้าเป็นวัยรุ่น ชักจะรู้เรื่องตัวผู้ตัวเมีย เรื่องหญิงเรื่องชายอะไรขึ้นมา มันก็ดีไปทางหนึ่ง ที่นี้คนที่เป็นหนุ่มเป็นสาวเต็มตัวแล้ว คำว่าดีก็มีความหมายเปลี่ยนไปอย่างอื่น ถ้าเป็นพ่อบ้านแม่เรือนขึ้นมา คำว่าดีก็จะหมายไปเป็นอย่างอื่น แทนที่จะงกในกามารมณ์ อาจจะไปงกในเรื่องเงินเรื่องทอง เรื่องทรัพย์สมบัติ จนนอนไม่หลับก็ได้ ถ้าเป็นคนแก่ชราขึ้นมา ไอ้คำว่าดีก็เปลี่ยน เป็นไปเป็นอย่างอื่น แม้แต่ของที่เคยชอบกินนี่ มันก็เปลี่ยน เปลี่ยน เปลี่ยนไป ไม่มีทางจะเหมือนกันได้ ฉะนั้นไอ้สิ่งที่เรียกว่าดีของเขาก็เปลี่ยนไป คนแก่ที่เป็นสัมมาทิฏฐิก็มีความ มีสิ่งที่เรียกว่าดีไปในความหมายหนึ่ง ไอ้คนแก่ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ มันก็มีคำว่าดีไปในอีกความหมายหนึ่ง ไปคิดเอาเองก็แล้วกัน คำนวณดูตั้งแต่ลูกเด็กๆ แล้วก็ถึงเด็กวัยรุ่น แล้วก็ถึงหนุ่มสาว แล้วก็ถึงพ่อบ้านแม่เรือน ถึงคนสูงอายุ กระทั่งคนเฒ่า คนชรา คนแก่หง่อม ถ้าเอามาให้พูดกันคนละที ก็จะบอกลักษณะของสิ่งที่เรียกว่าดีต่างกัน เมื่อยืนยันกันขึ้นมา ก็ได้ชกต่อยกัน ระหว่างคนแก่กับเด็กๆเพราะมันต้องการในสิ่งที่เรียกว่าดีนั้นไม่เหมือนกัน ทีนี้เอาคนโตๆกัน พวกเดียวก็ได้ แต่จะเปลี่ยนไอ้คำว่าดีนี่ เป็นคำว่าบุญ คนสูงอายุทั้งหลายเหล่านี้ต้องการบุญ แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่เหมือนกัน ต้องการค่าของบุญ ลักษณะของบุญ อะไรที่จะได้จากบุญนั้นไม่เหมือนกัน ไอ้คนรุ่นเดียวกันนี่ ก็ยังต้องการบุญไม่เหมือนกัน เอามาให้ยืนยันกัน เดี๋ยวก็ได้ชกต่อยกันอีก จะไม่เรียกว่าตาบอดคลำช้างน่ะ แล้วก็จะเรียกว่าอะไร
ที่นี้จะมองดู ต่อไปอีกถึงพระศาสนา สิ่งที่เรียกว่าศาสนาคืออะไร และจะตอบกันว่าอย่างไร มันมีทางจะตรงกันได้ไหม บรรดาที่นั่งกันอยู่ที่นี่ หลายสิบ หลายร้อยคน ยิ่งถ้าไปถามว่า หัวใจของพุทธศาสนาคืออะไร คงจะมีทางที่จะตอบ ไกลกันออกไปอีก หัวใจของพระพุทธศาสนาคืออะไร เพราะว่าแม้แต่ผู้คงแก่เรียน ลูบคลำพระคัมภีร์อยู่ทั้งวันทั้งคืน มันก็ยังตอบต่างกันนี่ ในเมื่อถามว่าหัวใจพระพุทธศาสนาคืออะไร คนโดยมากก็มักจะตอบอย่างคาถาของ ไอ้อย่าง ถ้อยคำของพระอัญญาโกณฑัญญะ เห็นธรรม “ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพัน ตัง นิโรธะธัมมัง” นี่เป็นหัวใจพระพุทธศาสนาก็มี บางคนก็ไปหมายมั่นเอาคาถาพระอัสสชิที่เก่าแก่ พระสารีบุตรก่อนบวช “เย ธัมมา เหตุปปะภะวา เตสัง เหตุง ตะถาคะโต” อันนี้เป็นหัวใจพุทธศาสนาก็มี คำตอบอย่างนี้ ไม่มีแก่พวกท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ที่นี่ เพราะไม่ได้เล่าเรียนอย่างนั้น ทีนี้มาขอให้ตอบเอาเอง คงจะตอบว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์บ้าง หรือว่าอย่างมากก็ โอวาทปาฏิโมกข์ ที่ว่าไม่ทำบาป ทำชั่ว ทำแต่กุศล แล้วก็ทำใจผ่องแผ้ว อย่างนี้บ้าง นักศึกษาสักหน่อยก็ว่า อริยสัจทั้งสี่ เป็นหัวใจพุทธศาสนาบ้าง ถ้าเก่งกว่านั้นอีก ก็ว่า ปฏิจจสมุปบาท เป็นหัวใจพุทธศาสนาบ้าง ไม่มีทางที่จะลงรอยกัน เดี๋ยวนักเรียน นักศึกษา ผู้รู้นี้จะได้ชกต่อยกัน เพราะการตอบคำถามว่า หัวใจพุทธศาสนานั้นคืออะไร แม้ในหมู่พุทธบริษัทเรา นี่จะมีตาบอดคลำช้างขนาดนี้ แล้วก็มีคนบ้าเถียงกับคนบ้า แล้วก็เลยชกต่อยกัน ทั้งที่ได้เล่าเรียนพระไตรปิฎก ทีนี้จะถามว่า ที่สุด สิ่งที่เป็นที่สุดที่พระศาสนาจะมีให้นั้นน่ะ คืออะไร แม้ในวงพระศาสนานี่ ในวงพระพุทธศาสนานี้ก็ยังตอบต่างกัน แล้วถ้าเอามาด้วยกันทุกศาสนาในโลกนี้ แล้วก็ไม่มีทางที่จะใกล้กันและเถียงกันมากขึ้น อะไรเป็นที่สุดในพุทธศาสนา ก็ว่า พระนิพพาน อะไรเป็นที่สุดในศาสนาคริสเตียน ก็ว่าการอยู่กับพระเจ้า หรือว่าศาสนาไหนที่เขามีพระเจ้า เขาก็หมายถึงการไปอยู่กับพระเจ้า ทีนี้ศาสนาที่ ไม่มีพระเจ้า ไม่มีอะไรทำนองนี้ ก็ไปอยู่กับไอ้อารมณ์ที่เขาพอใจ ศาสนาวัตถุนิยมก็ได้ มีกามมารมณ์ถึงที่สุด ก็ว่าที่สุดของศาสนา เคยบูชายัญ เคยประพฤติพรมจรรย์อะไรกันมาก็เพื่อความถึงพร้อมด้วยกามมารมณ์ ก็เลยได้เถียงกันในระหว่างศาสนา แม้ภายในศาสนาก็ยังเถียงกัน เพราะถ้าถามขึ้นมาว่าพระนิพพานคืออย่างไร แล้วก็ตอบต่างๆกัน อย่างที่เคยปรากฎมาแล้ว ถ้าหากว่าไม่เคยบรรลุพระนิพพาน ก็ยากที่จะรู้ว่าพระนิพพานเป็นอย่างไร ก็ได้แต่คาดคะเน เมื่อคาดคะเนมันก็ต้องต่างกัน แล้วก็ต้องเถียงกัน เคยสอบถามชาวบ้าน ว่าต้องการพระนิพพานหรือต้องการสวรรค์ เขาก็บอกว่าต้องการนิพพานเสียงแข็งเลย พอบอกว่านิพพานน่ะมันหมดตัวตนนะ มันจะสนุกเอร็ดอร่อยอย่างนี้ไม่ได้นะ โอ้ย, ยังงั้นไม่เอาแล้ว ไม่เอาแล้ว นิพพานไม่เอาแล้ว ต้องการสวรรค์ละ ไอ้คำพูดมันถูกยืมไปใช้กลับไปกลับมา เปลี่ยนความหมายไปตามความรู้สึกของคนผู้พูดนั่น นี่ที่สุดของศาสนาคืออะไร ก็เถียงกันในระหว่างศาสนา จะได้ชกต่อยกัน เหมือนกับตาบอดคลำช้างเหล่านั้น
ทีนี้จะให้แคบเข้ามาอีก คือปัญหาที่อาจจะเกิดอยู่แก่ทุกคนก็ได้ ก็คือสิ่งที่เรียกว่าตัวตน ถ้ามาถามว่าตัวตนคืออะไร แต่ละคนก็มีตัวตนไปตามแบบของตน ไม่เหมือนกัน ถึงแม้เป็นผู้เล่าเรียนพระพุทธศาสนามา อย่างที่เรียกว่าเป็นนักปราชญ์ก็ได้ มีความรู้จนต้องเอาเหล็ก เอาเหล็กมารัดท้อง กลัวท้องมันจะระเบิด เพราะความรู้มันมาก อย่างนี้มันก็ยังตอบไม่ได้ ให้ตรงกัน ตอบให้ตรงกันไม่ได้ว่าไอ้ตัวตนนั้นคืออะไร เพราะว่าในพระบาลีนั้นเอง บางทีพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า ตัวตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ไม่มีอะไรจะเป็นที่รักเท่ากับตน แล้วบางทีพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า ไอ้ตัวตนนั้นมันไม่มี แล้วของตนจะมีมาแต่ไหน ทรัพย์ของตน บุตรของตน ภรรยาของตนนี้ มันจะมีมาแต่ไหน ในเมื่อตัวตนมันไม่มี นี่พวกที่อ้างบาลี มันก็ได้ชกต่อยกันแน่ เพราะคำพูดคำตรัสของพระพุทธเจ้า มันก็มีทั้งสองอย่าง อย่างนี้ เพราะฉะนั้นใครยังเข้าใจไม่ได้ ก็อย่าอมพะนำอยู่ สารภาพความโง่ออกมาเสียทั้งหมดสิ้น ว่าเราเข้าใจอย่างไร เกี่ยวกับตัวตนหรือไม่ใช่ตัวตนน่ะ เรารู้สึกอย่างไร จะได้ทำความเข้าใจกันให้มันหมดปัญหา เพราะว่าอย่างไรเรียกว่าตัวตน อย่างไรไม่เรียกว่าตัวตน หรือว่าทำไมบางทีพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า มีตัวตน บางทีก็ตรัสว่าไม่มีตัวตน ก็ตรัสเป็นอนัตตาไปหมด ตรัสเป็นว่างไปหมดอย่างนี้ ในประเทศอินเดีย ถ้ารวมมาให้หมดทุกๆลัทธิ ก็มีอัตตา หรือ อาตมันนี่ ต่างๆ ต่างกันหลายรูปแบบ ตามชั้น ตามระดับของประชาชนเหล่านั้น กายเนื้อธรรมดาเป็นเนื้อหนังนี้ก็เรียกว่าตน ในจิตวิญญาณก็เรียกว่าตน ไอ้ที่ไม่ใช่กาย ไม่ใช่จิต ไม่ใช่วิญญาณก็เรียกว่าอาตมัน ไม่มีอะไรปรุงแต่ง เปลี่ยนแปลงอยู่ถาวรตลอดอนันตกาล อย่างนั้นก็เรียกว่าตน ไอ้กายเนื้อนี่ยังมี ไอ้กายธรรมดา เนื้อหนังอย่างนี้ก็มี กายทิพย์ก็มี แต่เป็นกายเนื้อนะ เป็นกายประเภทกายเนื้อ ยังมีชั้นประเภทที่เป็นทิพย์ และไม่เป็นทิพย์ก็มี แล้วไอ้ตนที่เป็นจิต เป็นวิญญาณนั้นก็มีหลายรูปแบบเต็มที แล้วตนที่เป็นอาตมัน ไม่รู้จักตาย ไม่รู้จักอะไรนั้น ก็มีหลายรูปแบบ ก็เถียงกันได้ ยิ่งกว่าตาบอดคลำช้าง เถียงกันชนิดที่ชกต่อยกันได้ แม้ในพระบาลีของเราชาวพุทธนี้มันก็ยังทำให้เกิดปัญหา เช่นว่าบางทีก็ว่ามีตัวตนที่รูป บางทีมีตัวตนที่เวทนา บางทีมีตัวตนที่สัญญา มีตัวตนที่สังขาร มีตัวตนที่วิญญาณ จนพระพุทธเจ้าต้องตรัสปฏิเสธว่า รูปคืออนัตตา เวทนาก็อนัตตา สัญญาก็อนัตตา สังขารก็อนัตตา วิญญาณก็อนัตตา อย่างนี้ เป็นต้น บางทีก็เอาไอ้ตาเป็นตัวตน หูเป็นตัวตน จมูกเป็นตัวตน ลิ้นเป็นตัวตน กายเป็นตัวตน ใจเป็นตัวตน อย่างนี้ก็มี กระทั่งเรื่องต่างๆนะ แม้ที่เป็นธาตุแท้ๆ ก็ยังจะถูกสำคัญเห็นเป็นตัวตน ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็ยังถูกสำคัญเห็นเป็นตัวตนของธาตุนั้นๆ เพราะฉะนั้น วัตถุที่จะเป็นที่ตั้งแห่งความเข้าใจว่า ตัวตนนั้นน่ะ มีตั้ง ๒๔ อย่าง อย่างที่ตรัสไว้ในมูลปริยายสูตร อย่างนี้เป็นต้น ตั้งแต่ขี้ฝุ่นถึงธาตุดินนี่ ไปจนกระทั่งถึงนิพพานนะ ก็เป็นตัวตนได้ มีความเข้าใจว่าเป็นตัวตนได้ เป็นตัวตนของคนนั้น ของคนนี้ หรือของตัวมันเองนี่ เขาเรียกว่าเป็นตัวตนได้ ด้วยมีตัวตนมากมาย หลายสิบอย่าง ละอย่าง แต่ละอย่าง ก็มีแง่มุมหลายๆแง่มุม ก็เลยเป็นหลายร้อยอย่าง จนไม่รู้จะตัวตนที่ไหนกัน เราคนธรรมดาสามัญ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เท่าที่จะรู้สึก มันก็ยังมีตัวตน ต่างๆกัน หลายรูปแบบอยู่แล้ว แล้วแต่ความคิดมันจะพาไป นี่เราก็จะเถียงกันว่า ไอ้ตัวเรามันน่ะมันคืออะไร เห็นต่างๆกัน แล้วก็เถียงกัน แล้วก็ชกต่อยกันได้ มันอยู่ที่ใจของคนนั้น มันมีผัสสะ หรือสัมผัสต่อสิ่งนั้น หรือต่อข้อเท็จจริงนั้นๆอย่างไร ทีนี้มันไม่หมดเหมือนกับที่ตาบอดคนหนึ่งมันคลำช้างไม่ทั่วทั้งตัว มันก็เลยออกมาเป็นรูปตัวตนนี้ ต่างกันๆๆแล้วก็เปลี่ยนไปได้ตามที่ความรู้ ความเข้าใจอะไรมันเพิ่มขึ้น โดยมากก็เกี่ยวกับตัณหาหรือความต้องการนั่นแหละเป็นตัวการสำคัญ มันรักอะไรมาก ต้องการอะไรมาก มันก็จะไปเป็นตัวตนที่นั่น มันรักชีวิตมาก มันก็ตัวตนที่ชีวิต แต่ถ้ามันมองเห็นสิ่งที่ไกลออกไปกว่าชีวิตสูงกว่าชีวิต ดีกว่าชีวิต มันก็ไปมีตัวตนที่สิ่งโน้นอีก ที่เรียกว่ามันเปลี่ยนได้ ที่พูดมานี้ก็เพื่อให้เป็นตัวอย่างเท่านั้น มันพูดหมดไม่ได้ มันมากเหลือเกิน มันจนพูดให้หมดไม่ได้ แต่พูดให้เป็นตัวอย่างสำหรับท่านทั้งหลาย จะเอากลับไปคิดไปนึกดู ที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ ขอให้คิดดูว่า เรากำลังเป็นไอ้ตาบอดคนหนึ่ง คลำช้างแต่เพียงส่วนหนึ่ง แล้วก็พูดอะไรไปตามความรู้สึก ที่มันมีความหมายมาก ก็คือ รู้ผิด รู้ถูกนั่นเอง ก็ถามว่าผิดถูกอย่างไร มันตอบไม่ตรงกันนี่ ระหว่างคนพาลกับบัณฑิต มันก็ตอบไม่ตรงกันแล้ว แม้แต่คนพาลด้วยกัน มันก็ตอบไม่ตรงกันแล้ว ทีนี้บัณฑิตก็มี บัณฑิตเล็กๆ บัณฑิตโตๆ มันก็ตอบไม่ตรงกันอีก ถ้ามันรู้ตรงกันหมด มันก็ไม่มีการเถียงกัน เดี๋ยวนี้ลูกเด็กๆ มันก็ดื้อพ่อแม่ เป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วยังดื้อพ่อแม่ เพราะว่ามันไม่อาจจะมีความเห็นตรงกันกับพ่อแม่ได้ มันมีผัสสะต่อสิ่งนั้นๆไม่เหมือนกัน เกิดความคิดเห็นของตัวมายึดถือไว้ต่างกัน มันก็ดื้อดึงต่อกัน อาจารย์กับลูกศิษย์ก็เป็นอย่างนี้ กับอุปัชฌาย์อาจารย์ด้วยซ้ำไป มันก็เป็นอย่างนี้ มันก็ยังดื้อได้ มีอะไรไม่เหมือนกัน แล้วก็เถียงกัน มีจิตใจเหมือนกับยักษ์กับมาร เข้าใส่กัน เพราะมันมีอาการที่ตาบอดคลำช้าง ก็ไม่ควรจะมีใครโทษใคร เพราะว่าเขา ก็มีไอ้ความรู้สึกอย่างนั้น เรายังไม่อาจทำให้เขาเปลี่ยนความรู้สึกได้ ก็ต้องทนไปก่อน กว่าจะมีความรู้สึกตรงกัน เหมือนกับว่าคนตาบอดทุกคนได้คลำช้างทั้งตัวทั่วกัน เขาก็คงจะไม่เถียงกัน
เรื่องที่ไม่น่าจะมีมันก็ยังมี อย่างที่เคยได้ยินกะหูตัวเองมาก่อน คือมีพุทธบริษัทเถียงกันว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สามอย่างนี้ อะไรจะสำคัญกว่ากัน ท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ที่นี่ทั้งหมด เคยสงสัยอย่างนี้ไหมว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทั้งสามอย่างนี้ อะไรจะสำคัญกว่ากัน คงจะเอาตามลำดับเลขกระมัง พระพุทธมาก่อน ก็สำคัญที่หนึ่ง พระธรรมมาที่สอง สำคัญที่สอง พระสงฆ์มาที่สาม สำคัญมาที่สาม แต่ก็ มันมีคนไม่เห็นด้วย ว่าพระธรรมสำคัญกว่า เบอร์สองสำคัญกว่าเบอร์หนึ่ง เพราะพระธรรมทำให้บุคคลเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา ปราศจากพระธรรมเสียแล้ว พระพุทธเจ้าก็ไม่มี หรือปราศจากพระธรรมเสียแล้วพระสงฆ์ก็ไม่มี อย่างนี้มันก็ไม่มีวิธีทางที่จะหักล้างกันได้ เพราะมันมองไปอีกทางหนึ่ง แล้วมีคนคนหนึ่งก็พูดว่า พระสงฆ์สำคัญกว่า สำหรับเรา เพราะว่าพระสงฆ์ท่านเอาพระพุทธ พระธรรมมาไว้ให้เราได้ ถ้าไม่มีพระพุทธ ถ้าไม่มีพระสงฆ์แล้วก็พระศาสนานี้ก็ไม่มาถึงเรา แล้วเราไม่อาจจะเป็นพระพุทธหรือพระธรรมได้ เราอาจจะเป็นพระสงฆ์ได้ พระสงฆ์อยู่ในกำมือของเรา ที่จะเป็นประโยชน์แก่เรา เพราะฉะนั้นพระสงฆ์ต้องสำคัญที่สุดสำหรับเรา เพราะว่าเราจะเป็นพระสงฆ์ที่เต็มขนาดได้ นี่ต่างคนต่างมีเหตุผล มีข้อแย้ง มีอะไรสำหรับจะมาสนับสนุนความคิดเห็นของตัว จนไม่รู้ว่าอะไรสำคัญกว่าอะไร ในบรรดาสิ่งทั้งสาม คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จนกว่ามันจะได้มีอะไรเข้ามาอีก จึงจะเปลี่ยนไปอีก แล้วก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทีนี้ถ้าว่ากันตามที่จริงแล้ว พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี่ไม่อาจจะแยกกันได้ มองอย่างตาบอดคลำช้าง จึงจะคลำกันเป็นสามส่วน เป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าเขาเป็นตาบอดที่คลำทีเดียวหมด ก็จะเห็นว่าไม่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมกันเป็นอันเดียวได้ แล้วไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไร บางทีอาจจะต้องเรียกว่าพระธรรมในอีกความหมายหนึ่ง พระพุทธก็เป็นพระธรรม พระธรรมก็เป็นพระธรรม พระสงฆ์ก็เป็นพระธรรมในอีกความหมายหนึ่งนะ ไม่ใช่ความหมายที่ใช้กันอยู่เป็นสามอย่าง โดยเนื้อแท้ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสิ่งเดียวกัน ไม่อาจจะแยกกันได้ แต่เดี๋ยวนี้เราแยกกันออกเป็นสามอย่างเลย โดยเอาเปลือกข้างนอกเป็นหลัก ก็แยกออกเป็นสามอย่าง ถ้าเอาข้างเนื้อในเป็นหลัก มันก็ไม่อาจจะแยก ก็มันหมายถึงไอ้ธรรมชาติอะไรอันหนึ่ง ซึ่งเหมือนกันเลย ที่มีอยู่ในพระพุทธก็อย่างนั้น ที่มีอยู่ในพระธรรมก็อย่างนั้น ที่มีอยู่ในพระสงฆ์แท้จริงก็อย่างนั้น เลยไม่มีความแตกต่างกัน เป็นอันเดียวกันเสีย ก็ไม่มีทางที่จะพูดว่าอะไรสำคัญกว่าอะไร เว้นไว้แต่จะไปพูดว่าอย่าเอาเปลือกนอกเป็นเกณฑ์ มันก็เป็นอย่างว่าอีกล่ะ ทีนี้แต่ละคนก็มีเปลือกนอกที่จะมองต่างกัน คนหนึ่งมีพระพุทธเจ้าที่พระพุทธรูป หรือรูปเขียนก็ได้ คนหนึ่งมีพระพุทธเจ้าที่พระธาตุ กระดูกของพระพุทธเจ้า คนหนึ่งมีพระพุทธเจ้าที่เนื้อหนัง ไอ้เบญจขันธ์อะไรของพระพุทธเจ้าเองที่เมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ เดินไปเดินมาอยู่ในประเทศอินเดีย อย่างนี้ก็มี แต่แล้วพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า ไม่ใช่ ไม่ใช่ ไอ้ธรรมะอันหนึ่ง ที่เมื่อเห็นแล้ว จึงจะเห็นฉัน เห็นตถาคต ไม่ใช่สิ่งเหล่านี้เหรอ มันก็เลยไม่ถูกกันสักคนนึง ที่ไปเอาเปลือกของพระพุทธเจ้ามาเป็นพระพุทธเจ้า และนั่นแหละจะได้เถียงกัน และจะได้ชกกันเหมือนกับพวกตาบอดคลำช้าง คำพูดหรือสิ่งๆเดียวกัน ที่เราเรียกว่าพระพุทธเจ้านี่ ก็ยังมีอะไรใหญ่โตมโหฬาร ที่ทำให้คนคลำทีเดียวทั้งหมดไม่ได้ โดยคลำเป็นส่วนๆ เหมือนกับตาบอดคลำช้าง ไปถามลูกเด็กๆดูซิว่าพระพุทธเจ้าคืออะไรไปถามไอ้นักเรียนดู ไปถามคนหนุ่มคนสาวดู คนแก่ดู มันก็ตอบไปต่างๆกัน ถามชาวบ้านดู ถามชาววัดดู ชาววัดที่ไม่ได้เล่าเรียนอะไร กับที่เล่าเรียนอะไร แม้เล่าเรียน เล่าเรียนอะไร ก็เล่าเรียนมาในทิศทางที่ต่างๆกัน ก็ไม่รู้จักพระพุทธเจ้า ตรงกันเป็นอันเดียวกันได้ ขอให้ไปคิดดูบ้าง ไม่ใช่แกล้งพูดให้เสียเวลา แล้วกระทบกระเทียบท่านทั้งหลายก็ไม่ใช่ แม้จะพูดอยู่ว่าระวังให้ดี กำลังเป็นตาบอดคลำช้างอยู่นะ จริงหรือไม่จริง เอาไปคิดดูเถอะ นี่มันเป็นเรื่องที่ควรจะนำมาพูดกันในวันอาสาฬหบูชา เพราะว่าวันนี้เป็นวันสำคัญ เป็นวันของพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงประกาศ มัชฌิมาปฏิปทา เรื่องที่เป็นไปตามสายกลาง ในลักษณะที่เป็น อิทัปปัจจยตา ไม่พูดว่าอย่างนั้น ไม่พูดว่าอย่างนี้ พูดว่าเป็นกระแสแห่งอิทัปปัจจยตา เป็นกระแสแห่งความคิดนึกของบุคคลที่เปลี่ยนไป เปลี่ยนไปตามสิ่งที่เข้ามาแวดล้อม หรือเข้ามากระทบในระดับหนึ่ง ก็เกิดความรู้สึกคิดนึก หรือความเชื่อ หรือความหมายมั่นขึ้นมา อย่างหนึ่งๆ ไม่เหมือนกันแต่ละคน แม้ในคนเดียวกัน ก็ไม่เหมือนกัน ในแต่ละระดับของวัย คนเดียวกันนั่นแหละ เมื่อเป็นเด็ก ก็รู้จักพระพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง เมื่อโตขึ้นมาก็รู้จักพระพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง ได้บวชได้เรียนก็รู้จักพระพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง ได้เรียนมากเข้าๆ ก็ได้รู้จักพระพุทธเจ้าอีกอย่างหนึ่ง อาตมาก็เหมือนกันแหละ อาตมาเองก็เหมือนกันแหละ มันเป็นอย่างนี้ ท่านทั้งหลายก็คงจะเหมือนกันแหละ เราก็อยู่ในลักษณะที่เรียกว่า เป็นตาบอดคลำช้างมาโดยไม่รู้สึกตัว จนกว่าเมื่อไรจะเข้าถึงธรรมะอันแท้จริง ที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท คือเป็นตัวธรรมะแท้ จนพระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม เพราะฉะนั้นจึงจะเห็นเป็นพระพุทธเจ้า เพราะว่าเห็นธรรมนั้นคือเห็นพระพุทธเจ้า เพราะท่านได้ตรัสไว้ในที่แห่งอื่นว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม ไอ้ที่ว่าเห็นธรรมนั่นคือเห็นปฏิจจสมุปบาทที่เห็นปฏิจจสมุปบาทอย่างไร ค่อยว่ากันโดยละเอียด แต่ว่าเดี๋ยวนี้เวลามันไม่พอ แต่คอยรู้ไว้แต่ว่า โดยหลักใหญ่ใจความแล้ว ก็คือรู้ อิทัปปัจจยตา คือความที่เมื่อมีสิ่งนี้ แล้วสิ่งนี้จึงมี แล้วสิ่งนี้จึงมี สิ่งนั้นจึงมี ตามลำดับกันไป จนไม่อาจจะกล่าวได้ว่า มันอย่างนั้นหรือมันอย่างนี้ หรือมันอย่างไหน มันมีแต่กระแส อิทัปปัจจยตาที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะฉะนั้นเราจะพูดว่าเกิดก็ไม่ได้ ตายก็ไม่ได้ ตายแล้วเกิดก็ไม่ได้ ตายแล้วไม่เกิดก็ไม่ได้ เพราะมันมีแต่กระแสแห่งอิทัปปัจจยตา แล้วแต่เราจะ แล้วแต่ว่าเราจะมองมันในแง่ไหน มองในแง่หนึ่ง ก็ดูว่าตายแล้วก็ไม่เกิด มองแง่หนึ่งก็ตายแล้วเกิด แต่ก็ถ้ามองถูกต้องแล้ว แล้วมันก็มองเห็นไปในทางที่ว่า ไม่มีคน ไม่มีตัวตน ไม่มีคน ก็ไม่มีตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด ไม่ต้องมีตาย ไม่มีเกิด แล้วเอาเรื่องตาย เรื่องเกิด มาพูดให้กลายเป็นคนบ้าไปทำไม จะไปยืนยันอย่างนั้นอย่างนี้ลงไปมันก็กลายเป็นคนบ้า อย่างกะตาบอดคลำช้าง นี่คือความสำคัญของวันนี้ คือวันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสเรื่อง มัชฌิมาปฏิปทา ตอนต้นของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มัชฌิมาปฏิปทานั้นไม่มีอะไรนอกไปจาก ปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตา ไม่มีอะไรจะอยู่ตรงกลางเท่ากับเรื่อง อิทัปปัจจยตา ปฏิจจนี้แหละมันจะซ้ายหรือขวา มันจะสุดโต่งทางนั้นสุดโต่งทางนี้ ไปตามความรู้สึกของคนที่มันยังโง่อยู่ เพราะมันถูกผัสสะหลอกหลอนเอา ถูกอายตนะหลอกหลอนเอา มันจึงยึดมั่นถือมั่นไปตามความถูกหลอกถูกหลอนนี่ จึงเป็นเรื่องสุดโต่งข้างนั้น ข้างนี้ อย่างที่เรียกว่าเป็น กามสุขัลลิกานุโยคบ้าง อัตตกิลมถานุโยคบ้าง ว่าตายแล้วเกิดบ้าง ตายแล้วไม่เกิดบ้าง ว่าเราทำเองบ้าง อันอื่นทำให้บ้าง ล้วนแต่เป็นเรื่องสุดโต่ง ไม่ใช่มัชฌิมาปฏิปทา วันนี้เป็นวันสำคัญอย่างยิ่ง เพราะพระพุทธเจ้าทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา ไอ้ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั่น ถ้าท่านเป็นนักศึกษาที่แท้จริงแล้ว จะเห็นว่ามัชฌิมาปฏิปทาตอนต้นนั่นนะ เป็นเรื่องสำคัญกว่าเรื่องอริยสัจเสียอีก แต่เดี๋ยวนี้เราไปยึดถือเรื่องอริยสัจ ๔ กันมากเกินไป แล้วไปเข้าใจว่าไอ้มัชฌิมาปฏิปทาตอนต้นนั้นมันเป็นส่วนหนึ่งของอริยสัจ อันที่จริงพระพุทธเจ้าตรัสย้ำ มัชฌิมาปฏิปทา เป็นธรรมที่ตรัสรู้ชอบเองด้วยพระองค์เอง ไม่เคยฟังมาแต่ก่อน แล้วเป็นรูปของการปฏิบัติล้วน ไม่ใช่วางทฤษฎีครอบจักรวาลเป็นเรื่องอริยสัจ ๔ ทั้งนี้เพราะว่าไอ้ที่จะต้องปฏิบัติกันจริงๆนั้นมันมีแต่มัชฌิมาปฏิปทา หรือ อริยสัจที่ ๔ นอกนั้นมันเป็นเรื่องประกอบให้รู้เท่านั้นเอง ไม่ได้ปฏิบัติอะไร เพราะฉะนั้นคำว่ามัชฌิมาปฏิปทา มีความสำคัญมากและเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่พระพุทธองค์ได้ตรัส ในวันเช่นวันนี้ คือวันอาสาฬหปุรณมี พระจันทร์เต็มดวงแห่งเดือนอาสาฬห ตรัสมัชฌิมาปฏิปทา เป็นธรรมะครอบจักรวาล ไม่มีทางที่จะผิดได้ ก็คือเรื่องอิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท ที่ใครเห็นแล้วก็คนนั้นได้ชื่อว่าเห็นพระพุทธองค์ ใครมีอยู่ในตัวก็คือมีพระพุทธองค์อยู่ในตัว ดับๆทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง ทีนี้ไม่มีมัชฌิมาปฏิปทาเมื่อไร มันก็ต้องเอียงไปข้างนั้น เอียงไปข้างโน้น ก็ไปเป็นตาบอดคลำช้างคนใดคนหนึ่งอยู่ ไปคิดดูเอาเองเถอะ ที่จริงยังอาจจะคลำช้างได้มากกว่าที่ระบุไว้นี้ มีส่วนอื่นของช้างยังไม่ได้คลำอีกตั้งหลายส่วน แต่ว่าสิบส่วนนี่มันก็มากพอแล้ว คลำหางก็ว่าเหมือนไม้กวาด คลำโคนหางก็ว่าเหมือนสากตำข้าว คลำที่ขาก็ว่าเหมือนเสา คลำที่พุงก็ว่าเหมือนฆ้อม คลำที่งวงก็ว่าเหมือนงอนไถ คลำที่งาก็ว่าเหมือนฐานไถ คลำที่กระพ้องก็ว่าเหมือนกันไห คลำที่ปุ่มก็ว่าเหมือนหม้อ คลำที่หลังโกงก็ว่าเหมือนกับคันครกกระเดื่อง สมน้ำหน้าคนตาบอดที่ได้คลำเพียงส่วนเดียว เพราะฉะนั้นอย่าได้คลำเพียงส่วนเดียว อย่าถือมั่นโดยส่วนเดียว อย่าเป็นขวานผ่าซากโดยส่วน เป็นขวานผ่าซากโดยส่วนเดียวเลย ศึกษาเรื่อง อิทัปปัจจยตา หรือปฏิจจสมุปบาทให้เพียงพอ แล้วมันก็จะไม่กระเด็นออกไปเป็นส่วนๆอย่างนั้นได้ จึงเอามาพูดในวันนี้ ซึ่งเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา คือวันที่พระพุทธองค์ ตรัสเรื่องมัชฌิมาปฏิปทา หรือ อิทัปปัจจยตา ซึ่งท่านคงยังฟังไม่ถูกกันเป็นส่วนมาก ว่าอิทัปปัจจยตานั้น มันเป็นมัชฌิมาปฏิปทาอย่างไร ทีนี้ถ้ากลัวว่าจะกลายเป็นคนบ้า ก็รีบศึกษากันเสียเถิด ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นบ้าชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งพระพุทธเจ้าต้องทรงผจญ เผชิญกันกับคนบ้าด้วยทิฏฐิ บางรายท่านก็ชนะได้ บางรายท่านก็เอาชนะได้ เพราะว่าคนที่พระพุทธเจ้าโปรดไม่ได้ก็ยังมีอยู่เหมือนกัน ก็คือตาบอด ที่มันถือรั้นแค่โดยส่วนเดียว โดยยอมเชื่อฟัง ไม่พินิจพิจารณา ไม่ส่งใจไปตามข้อเท็จจริงที่ทรงแสดงให้เขาทราบ นี่เราเอามาพูดกันในวันนี้เพื่อไม่ให้เกิดความประมาทว่าที่จริงมันมีความประมาทอยู่เต็มไหม เต็มตัวทั้งนั้นแหละ ที่พูดว่าไม่ให้เกิดความประมาทนี่ไม่ค่อยถูกนักหรอก เพราะแต่ละคนมันมีความประมาทอยู่เต็มที่แล้ว ถึงแม้ความประมาทจะไม่เกิดอีก มันก็ร่ำรวยด้วยความประมาทเหลือประมาณอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นพูดกันว่า อยากทำลายความประมาทหรือความไม่รู้ด้วยอำนาจของทิฏฐินี่ให้มันเบาบางไปเสียจะดีกว่า ก็หวังว่าไอ้เรื่องตาบอดคลำช้างนี้คงจะลืมยาก ท่านทั้งหลายคงจะจำได้ ก็ลองทดสอบดูกันเองว่า ไอ้คลำช้างสิบแห่งนั้นมันคืออย่างไร จะได้รู้ว่าเราเป็นกับเขาด้วยหรือเปล่า ธรรมเทศนาเกี่ยวกับอาสาฬหบูชา ให้รู้ว่าอย่าต้องเป็นตาบอดคลำช้างเลย อย่าให้สุดเหวี่ยงไปข้างใดข้างหนึ่งเลย อยู่ตรงกลางที่เป็นความถูกต้องกันเถิด พุทธบริษัทก็จะเป็นพุทธบริษัทที่รุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญากันแน่นอน เจ็บคอเป็นหวัดแล้ว มันก็ต้องยุติ ธรรมเทศนาไว้แต่เพียงนี้ก่อน เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้.