แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การพูดอีกครั้งหนึ่งสำหรับราชภัฎซึ่งจะลาสิกขาต่อจากเมื่อคืน ผมอยากจะพูดโดยหัวข้อว่า สุญญตาสำหรับฆราวาสผู้ครองเรือน บางคนเคยอ่านเรื่องนี้มาบ้างแล้ว รู้บ้างแล้ว บางคนก็ยังมืดแปดด้าน แล้วบางคนก็เคยเข้าใจผิด ว่าเรื่องสุญญตาไม่ใช่เรื่องของฆราวาส ถ้าเล่าให้ฟังก็ต้องเล่าว่า ผมเคยถูกเขาด่า เขาล้อ เขาหัวเราะเยาะ หรือเขาดูถูกต่าง ๆ ว่า เอาเรื่องที่สูงเกินไปมาพูดสำหรับชาวบ้าน อย่างที่เรียกว่าผิดฝาผิดตัว เขาก็ด่าว่าคนที่ไม่รู้ อุปมานคือไม่รู้ ไม่รู้จักคน ไม่รู้จักโลก ไม่รู้จัก แต่ผมก็ยังบอก ยืนยันอยู่นั้นเองว่า เรื่องสุญญตาก็เป็นเรื่องสำหรับฆราวาส ดังที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เอง คือมีฆราวาสกลุ่มหนึ่งไปทูลถามถึงเรื่องที่เหมาะ สำหรับฆราวาส พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่าเรื่องที่เกี่ยวกับสุญญตาอันลึกซึ้ง ที่คถาตถกล่าวอยู่เป็นประจำนั่นแหละ ฆราวาสบางคนก็ว่าลึกไป ลึกมากไป พระพุทธเจ้าก็ตรัสลดลงมาถึงเรื่องโสตาปัตติยังคะ คือ เรื่องทำให้เป็นพระโสดาบัน ได้แก่มีความเชื่อมั่นคงไม่ง่อนแง่นโคลงเคลงในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ กับมีศีลเป็นที่พอใจของพระอริยเจ้า ฆราวาสเหล่านั้นเขาก็ทูลว่า นี่ก็ปฏิบัติอยู่แล้ว นี่เป็นอันว่าถ้าอันนี้ปฏิบัติอยู่แล้วไม่ต้องการ มันก็เหลือแต่เรื่องสุญญตาอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส ก็เป็นอันว่าเรื่องสุญญตเป็นเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงยืนยันว่า เหมาะสมที่สุดจำเป็นที่สุดสำหรับฆราวาสผู้ครองเรือน เป็นอันว่าฆราวาสจะต้องรู้และปฏิบัติเรื่องสุญญตา
ที่นี้เขาก็ฟังกันไม่ออกว่าจะปฏิบัติกันอย่างไร ฟังดูมันก็ลึกซึ้งมากอยู่ อาจจะรู้สึกเหมือน ๆ กันไปกับคนเหล่านั้นก็ได้ว่า เรื่องนี้มันไม่เหมาะสำหรับฆราวาส นี่มันมีข้อเท็จจริงอยู่ว่าไอ้เรื่องสุญญตามันเป็นเรื่องดับทุกข์โดยตรง มันเป็นเรื่องดับร้อนโดยตรง หรือว่ามันเป็นเรื่องที่ทำให้จิตใจไม่ยุ่งเหยิง จิตใจไม่วุ่นวาย ไม่กระสับกระส่าย ไม่ยุ่งเหยิง ให้สงบระงับ นี่มันเป็นเรื่องที่เป็นความหมายของสุญญตา คือความเป็นผู้มีจิตว่าง เรียกสั้น ๆ ก็เรื่อง 'ความว่าง' ขยายความออกไปก็คือความที่มีจิตว่าง ปราศจากความหมายมั่นเป็นตัวตน หรือเป็นของตน ถ้าจิตไม่รู้สึกว่ามีตัวตนมีของตน มันก็ว่างแหละ แล้วก็ไม่ปั้นป่วน ไม่ยุ่งเหยิง ไม่ดิ้นรนอะไร จิตเห็นว่างจากตัวตนก็คือ เห็นความว่าง ในที่ทั่ว ๆ ไป เห็นความจริงเกี่ยวกับเรื่องความว่าง ไม่มีส่วนไหนที่ควรจะไปหมายมั่นเข้าว่าเป็นตัวเรา หรือเป็นของเรา ในความหมายมั่นอันนี้ (นาที่ที่ 07:05 – 07:44 เสียงหายไป) หรือเป็นตัวกูของกูนี่ให้ได้เสียก่อน พวกฆราวาสเป็นฆราวาสครองเรือน ก็ยังไม่รู้จัก เพราะไม่ได้ศึกษาจึงไม่รู้จักว่า ไอ้ความหมายอย่างไร ความรู้สึกอย่างไร ความกลัดกลุ้มอย่างไรที่เรียกว่าตัวกูของกู เขาไม่รู้สึก ถ้าจะใช้เรื่องสุญญตาให้เป็นประโยชน์ ฆราวาสทุกคนเลย จะต้องไปพยายามสังเกตศึกษาทำความเข้าใจนี้กับตัวเองให้ได้เสียก่อน ให้รู้สึกเสียก่อนว่าไอ้ความรู้สึกชนิดไหนที่มันเป็นเรื่องตัวตน เรื่องของตน เรื่องตัวกูของกู ในการเป็นอยู่ประจำวันของเรา ถ้าความรู้สึกอันนี้มันเกิดขึ้นแล้วเราเป็นอย่างไร คือที่ทำให้เรา กระวนกระวาย เดือดร้อนกระสับกระส่าย จิตใจก็ร้อนเป็นไฟ หรือมันอยู่ด้วยความรักบ้าง ความโกรธบ้าง ความเกลียดบ้าง ความกลัวบ้าง ความอิจฉาริษยาบ้าง หรือความเศร้าอย่างไม่มีเหตุผลบ้าง ในหมู่มนุษย์มันเป็นอย่างนี้ ฆราวาสเป็นอย่างนี้ นี่คือธรรมดาของฆราวาส ฆราวาสอยู่ด้วยความรู้สึกเหล่านี้ รัก โกรธ เกลียด กลัว อิฉาริษยา เห็นแก่ตัว กระทั่งมีความเศร้า เพราะความผิดหวัง ฆราวาสนี่จะเต็มไปด้วยความผิดหวัง เพราะว่ามันหวังมากเกินไป เป็นบรรพชิตเขาไม่ค่อยหวังอะไร หรือหวังก็ไม่ได้หวังมากมายอะไร มันก็ไม่ผิดหวัง ฉะนั้นกิเลสทำให้หวังมากเกินไป มันก็ผิดหวังมาก มันอยู่ด้วยความผิดหวัง มันจึงโกรธบ้าง จึงเสียใจ โศกเศร้าบ้าง ซึ่งเป็นความทุกข์ ทีนี้เพื่อจะเอาให้ได้ เพื่อจะไม่ให้ผิดหวัง หรืออะไรทำนองนี้มันก็โลภบ้าง มันก็เห็นแก่ตัวบ้าง เรื่องเหล่านี้ไม่มีประโยชน์หรอกที่จะฟังจากคำพูด หรืออ่านจากหนังสือ ทุกคนต้องไปเรียนไปอ่านเอาจากความรู้สึกในใจของตนเป็นประจำวัน พอรู้สึกวุ่นวายใจด้วยความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความเศร้า ความอะไรก็ตาม รีบ รีบทำความรู้สึกในเรื่องนั้นให้เป็นที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง จนให้รู้จักมันจริง ๆ ว่ามันมีรสชาติอย่างไร กระทั่งรู้ว่ามันไม่เป็นสิ่งที่พึงปรารถนา ถ้ามันโง่มากมันจะเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นของน่าปรารถนาไปเสียก็มี คือมันไม่ยอมสลัดทิ้ง ไอ้ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว อะไรต่าง ๆ นี้ มันไม่ยอมสลัดทิ้ง ยังคงสงวนเอาไว้ ฉะนั้นเราจึงเห็นว่าฆราวาสนี่เขามีความทุกข์มาก รู้ตัวก็มี ไม่รู้ตัวก็มี กลับชอบพอใจในความทุกข์เสียก็มี พูดให้สั้นที่สุดก็คือว่าฆราวาสมีความทุกข์มาก เมื่อมีความทุกข์มาก ไอ้เรื่องที่จะดับทุกข์ได้มันก็จำเป็น สำหรับผู้ที่มีความทุกข์มาก ถ้าเป็นบรรพชิต เป็นฤษี ชีไพร เป็นมุนี เป็นอะไร มันก็ไม่ค่อยจะมีความทุกข์ ไอ้เรื่องความดับทุกข์ มันก็ไม่จำเป็น เดี๋ยวนี้ เรื่องดับทุกข์สูงสุด คือเรื่องสุญญตา เป็นของจำเป็นสำหรับฆราวาสที่มันมีทุกข์มาก ฆราวาสเป็นเพศที่ต้องมีความทุกข์มาก ผิดกับเพศบรรพชิต แล้วบ้างคนก็มากเอาจนกระทั่งเป็นโรคประสาท เป็นบ้า ฆ่าตัวตายไปเลย ดังนั้นฆราวาสควรจะได้สิ่งบำบัดทุกข์หรือยาบำบัดทุกข์อย่างแรงกล้า อย่างสูงสุด อย่างแท้จริง มากพอกันกับความทุกข์ของตน เพราะเหตุนี้แหละ พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า เรื่องที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ฆราวาสอย่างยิ่งนั่น คือ เรื่องสุญญตา นี่ความจริงมันมีอยู่อย่างนี้ แต่คนส่วนมากไม่รู้เรื่องว่าสุญญตาคืออะไรโดยถูกต้อง แล้วก็คิดว่ามันเป็นเรื่องสูงสุด เป็นเรื่องปฏิบัติเพื่อนิพพาน ยังไม่ต้องการ เรายังไม่ต้องการ นี่แหละ แม้อันนี้ก็ยังเป็นเรื่องเข้าใจผิด มันไม่มีเรื่องอื่น นอกจากเรื่องที่เป็นไปนิพพานจึงจะดับทุกข์ได้ เรื่องที่ไม่ไปนิพพานนั้นดับทุกข์ไม่ได้ เราควรจะเอาสำหรับที่ไปนิพพานมาดับทุกข์ เท่าที่จำเป็นหรือเหมาะสมแก่เรา แม้ว่าจะไม่ไปนิพพานโดยสมบูรณ์ มันก็ต้องเป็นเรื่องที่ไปทางนิพพาน มันจึงจะดับทุกข์ได้ เรื่องอื่นมันไม่มี เรื่องสุญญตา เป็นเรื่องสำหรับการบรรลุนิพพาน ระดับสูงสุด แต่อาจจะเอามาใช้ในระดับฆราวาสทั่ว ๆ ไป ได้เหมือนกัน เพราะมันไม่มีอย่างอื่น มันมีแต่จะหยุดความทุกข์ คลายความยึดมั่น ถือมั่น ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ นี่เรื่องความว่างนี้มันจะเป็นเรื่องสำหรับคลายความยึดมั่นถือมั่นให้น้อยลง และความทุกข์มันก็น้อยลง
ทีนี้สำหรับคำว่า “นิพพาน” นั้น ควรจะเข้าใจถูกต้องกันเสียที จะดีมาก ไม่ใช่ว่าตายแล้ว และไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ไปอยู่ที่เมืองนิพพานที่ไหนก็ไม่รู้ คำว่านิพพานนั้นหมายถึง ความที่มันเย็นลง เพราะกิเลสมันหยุดไป ถ้าสิ้นกิเลสสิ้นเชิงมันก็เย็นถึงที่สุด เป็นนิพพานโดยสมบูรณ์ แต่แม้ว่ากิเลสจะหยุดไป จะว่างไปบางส่วน บางขณะ บางเวลา มันก็มีอาการเป็นนิพพานด้วยเหมือนกัน คือมันเย็นลง ฉะนั้นไม่มีความเย็นลงอย่างไหนที่นอกไปจากเรื่องนิพพาน แม้ว่าฆราวาส ชาวบ้าน อะไรบางครั้ง บางเวลา บางคนเขาสามารถทำให้เย็นอกเย็นใจ หยุดไอ้ความร้อนได้บ้างมันก็ยังเป็นเรื่องเดียวกันกับเรื่องนิพพาน คือเรื่องที่กิเลสมันไม่ปรุงขึ้นมาครอบงำจิตใจในเวลานั้น จิตใจมันก็ไม่ร้อนไม่เย็น พูดเป็นสูตรได้เลยว่า พอกิเลสเข้ามาในจิตใจมันก็ร้อน พอกิเลสดับไปมันก็เย็น ดับไปเท่าไรมันก็เย็นเท่านั้น ฉะนั้นเราจึงมีอะไรสำหรับที่จะให้กิเลสจางลงหรือดับไป แล้วก็ไม่มีเรื่องอะไรที่จะจริงหรือแท้จริงเท่ากับเรื่องสุญญตา กิเลสไม่เกิดขึ้นในใจเมื่อไร ก็แปลว่าเราอยู่กับนิพพานชนิดชั่วคราวเมื่อนั้น เดี๋ยวกิเลสตื่นขึ้นมาอีก ไอ้นิพพานชั่วคราวก็หายไป เราก็อยู่ด้วยทุกข์หรือความร้อน เดี๋ยวกิเลสหยุดไปว่างไปด้วยเหตุปัจจัยอะไรก็ตาม ก็มีนิพพานชั่วคราวปรากฎอีกแหละ งั้นใครมีความเย็นอกเย็นใจมาก ก็หมายความว่าเขาได้อาศัยนิพพานชั่วคราวนั่นแหละมาก ขอให้มองให้ดี ๆ ถ้าไปหวังแต่ตัวหนังสือในตำรา ในคัมภีร์อยู่แล้วก็ยังอีกนานมากกว่าจะรู้เรื่องนี้ ขอให้รู้จากภายในว่าจิตใจมันเย็นหรือมันร้อน ถ้าร้อนก็มีกิเลส ถ้าเย็น มันก็ว่างไปจากกิเลส ว่างอยู่จากกิเลส ไอ้ว่างจากกิเลสนั่นก็คือสุญญตาในความหมายหนึ่ง แต่ความหมายที่ถือเป็นหลักก็คือ ว่างจากความหมายมั่นว่าเป็นตัวตน หรือของตน ไอ้ความหมายมั่นว่าเป็นตัวตน หรือของตนนั่นมันก็คือกิเลสนั่นเอง เป็นแม่บทของกิเลสทั้งหลาย เมื่อใดมีความหมายมั่นเป็นตัวตนของตน มันก็ปรุงเป็นกิเลสเป็นความโลภก็มี เป็นความโกรธก็มี เป็นความโง่ความหลงก็มี ความหมายมั่นเป็นตัวตนนั่นแหละเป็นรากฐานของกิเลส ฉะนั้นถ้าไม่มีความหมายมั่นประเภทตัวตนของตน มันก็ว่างจากกิเลส ว่างจากตัวตนก็ได้แล้วแต่จะเรียก มันก็ว่างจากกิเลส มันก็ไม่ร้อน มันก็เย็นเป็นนิพพาน
นี่ฆราวาสมันก็มีเรื่องมาก แล้วก็มากยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น สำหรับจะให้ปรุงเป็นกิเลส หรือร้อนเป็นไฟ มีเรื่องมาก คือมีมากกว่าบรรพชิต ฤษี มุนี ชีไพรที่อยู่ในป่า มันก็ไม่มีเรื่องที่จะปรุงให้เกิดกิเลสให้ร้อนมากเหมือนพวกฆราวาสที่ครองเรือนที่อยู่ที่บ้าน ถ้าคุณไม่มองเห็นข้อเท็จจริงอันนี้ก็จะไม่เข้าใจอะไรได้ต่อไปเกี่ยวกับเรื่องสุญญตา แล้วผมก็พูดเปล่า ๆ ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าหากว่าคุณจะไม่มองเห็นสิ่งที่มีอยู่จริง ในจิตใจของตัวเอง ในเวลาที่เป็นกิเลส มีกิเลสร้อนเป็นไฟ ในเวลาที่มันว่างจากกิเลส แล้วมันก็เย็น งั้นถ้ามันมีอะไรมาทำให้เย็นอยู่เสมอไป จะดีหรือไม่ดีลองคิดดู ถ้ามีอะไรมาทำให้เย็นโดยไม่ต้องร้อนอยู่ตลอดเวลา จะดีหรือไม่ดี คนบางคนมันหลับตาพูดว่าอยู่ในโลกมันเย็นไม่ได้ มันต้องมีกิเลส ถ้าไม่มีกิเลสมันก็ทำอะไรไม่ได้ ก็ไม่ทำอะไรชนิดที่จะเป็นความเจริญร่ำรวยอะไรเป็นต้น นั่นมันว่าเอาเอง มันหลับตาพูด ความมุ่งหมาย เจตนารมณ์ของพระธรรมหรือพระศาสนานี่ ต้องการให้คนอยู่เย็นเป็นสุข และทำอะไรได้เป็นความเจริญ เต็มตามที่มนุษย์ควรจะทำ ฉะนั้นก็ต้องมีความเป็นอยู่อย่างถูกต้อง กิเลสปรุงขึ้นมาไม่ได้ เกิดขึ้นมาไม่ได้ มันก็ไม่ร้อน มันก็เย็นอยู่ แล้วความคิดนึกที่ถูกต้องมันก็จะช่วยให้ทำอะไรไปได้อย่างถูกต้อง ที่อยู่ในวัยเรียน วัยศึกษา ก็ศึกษาได้ดี ได้ถูกต้อง ที่อยู่ในวัยประกอบอาชีพ ก็ทำได้อย่างประสบความสำเร็จ เหมาะที่จะทำเรื่องยุ่งยาก คือ มันมีเรื่องมาก ปกครองคนมาก มีปัญหามาก มีอะไรมาก สามารถที่จะมีใจคอปกติ ดำเนินงานไปอย่างมีความสำเร็จ แล้วก็ไม่ต้องร้อน นี่ขอให้เพ่งเล็งว่า เราจะมีชีวิตอยู่อย่างเยือกเย็น แล้วก็ทำหน้าที่ของมนุษย์ไปอย่างก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป นี่ฆราวาสที่ดี ที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างนี้ นี่ต้องมีธรรมะที่สำคัญข้อหนึ่งที่จะมาทำให้เย็น ให้ปกติ แล้วก็มีความถูกต้องได้โดยง่าย แล้วธรรมะที่ว่าข้อหนึ่งนั้นก็คือธรรมะที่เรียกว่า “สุญญตา” นั่นเอง ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงยืนยันว่านี่แหละเป็นประโยชน์เกื้อกูลที่สุดแก่พวกฆราวาส อย่างที่ตรัสแก่พวกนั้น ถ้าเรามีหลัก แม้ในพระบาลี ในพระพุทธวจนะ ที่ยืนยันว่าเรื่องสุญญตาจำเป็นแก่ฆราวาส นอกจากนั้นเราก็มีหลักในข้อเท็จจริง ในชีวิตของฆราวาสที่เราเห็นอยู่ว่ามันเต็มไปโดยความร้อนความหนัก เพราะฉะนั้นไอ้ธรรมะที่จะดับไอ้ความร้อน ไอ้ความทุกข์ได้ นั่นแหละจำเป็นสำหรับฆราวาส ดังนั้นเรื่องสุญญตาก็เป็นเรื่องที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับความเป็นฆราวาส นี่เรายุติกันในชั้นนี้ทีหนึ่งก่อนแล้วว่าเรื่องสุญญตา จำเป็นสำหรับพวกที่มีความทุกข์อย่างแรงกล้า หรือว่ามีความทุกข์เป็นธรรมดา คือพวกฆราวาส
ทีนี้ก็จะพูดให้มันเนื่องกันกับเรื่องที่พูดแล้วเมื่อคืน ว่าฆราวาสครองเรือนนั้นจะต้องรู้จักป้องกันความผิดพลาด อันจะมีมาจากทิศทั้งหก ทิศทั้งหกก็พูดไปแล้ว โดยใจความก็คือว่า ทิศข้างหน้าได้แก่บิดามารดา ทิศข้างหลังได้แก่บุตรภรรยา ทิศเบื้องซ้ายได้แก่มิตรสหาย ทิศเบื้องขวาได้แก่ครูบาอาจารย์ ทิศเบื้องบน ได้แก่พระเจ้า พระสงฆ์ หรือเจ้าหน้าที่ทางศาสนา ทางธรรม ทิศเบื้องล่างก็คือ บ่าวไพร่ ทาส กรรมกร คนใช้ หกทิศทางนี้ต้องไม่มีความผิดพลาด พูดสมมติ อย่างสมมติง่าย ๆ ก็ว่าเรามันอยู่ตรงกลาง ตรงศูนย์กลาง นี่เรียกว่าอยู่ตรงกลาง เป็นศูนย์กลางอยู่ แล้วหกทิศทางที่ขยายไปจากศูนย์กลางนั้นมันเป็นทางมาแห่งความผิดพลาด นี่ระวังอย่าให้มันเกิดความผิดพลาดเข้ามาสู่จุดศูนย์กลาง ทีนี้จุดศูนย์กลางนี้ คนที่ยึดถือเป็นตัวตนก็จะยึดถือว่าเป็นเรา แต่ถ้าจะพูดอย่างธรรมะแท้ ๆ มันก็เรียกว่า ว่างจากตัวเรา จิตที่เป็นศูนย์กลางนั่นแหละคือจิตที่ว่างจากความรู้สึกว่าเป็นตัวเรา นี่มันเกี่ยวกับความรู้หรือการศึกษา ถ้าศึกษามากพอจะมองเห็นว่าทุกสิ่งมันเป็น จัดว่าธรรมชาติ ธรรมชาติที่เป็นร่างกาย ธรรมชาติที่เป็นจิตใจ ธรรมชาติที่เป็นกฎเกณฑ์ของร่างกายและจิตใจ ธรรมชาติที่เป็นการกระทำไปตามเหตุ ตามปัจจัยของร่างกายและจิตใจ ทั้งความรู้สึกคิดนึกหรือการกระทำ การพูดจาอะไรก็ตามมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ถ้าจิตมันรู้อย่างนี้ จิตมันก็ว่างจากความยึดถือเป็นตัวตน เราก็จะเรียกว่าจิตว่างจากตัวตนอยู่เป็นศูนย์กลางสำหรับทิศทางทั้งหก ถ้าเผลอเมื่อไหร่ เกิดความรู้สึกเป็นตัวตนขึ้นมาโดยทางไหนก็ตาม จะเป็นความทุกข์ทันที มันจะมีความผิด ความถูก ความด้อย ความเสียกำไร ขาดทุน หรืออะไรต่าง ๆ ตามที่เขาสมมติเรียกกันเกี่ยวกับตัวตนในทิศทั้งหกนั้น ฉะนั้นเราจะต้องมีจิตใจชนิดที่อิสระที่สุด ว่างจากความหมายมั่นเป็นตัวตน จะให้ได้อย่างที่ตนต้องการนี่ คือไม่ใช่กิเลสก็แล้วกัน ให้จิตใจเป็นศูนย์กลางอยู่ ว่างอยู่จากกิเลส มีสติสัมปชัญญะ รักษาความว่าง ให้มีสติสัมปชัญญะที่จะป้องกันไม่ให้กิเลสหรือความรู้สึกผิดพลาด เกิดเข้ามา เกิดขึ้น หรือเข้ามาจากทิศทางทั้งหกนั้น มีสติสัมปชัญญะคุ้มครองทิศทางทั้งหกนั้น ไม่ให้เกิดความผิดพลาด ตลอดถึงไม่ให้เกิดความทุกข์ ไม่ให้เกิดความเร่าร้อน หรือทุกข์โศกอะไรเมื่อมันผิดพลาด หรือแม้ถ้ามันไม่ผิด ถ้ามันไม่ผิดพลาด มันได้สมหวังก็ไม่หลงใหล ลิงโลด ยึดมั่นถือมั่นอะไร รวมความก็คือว่า ไม่ยินดีไม่ยินร้าย เมื่อไม่ได้อย่างที่ต้องการก็ไม่ยินร้าย เมื่อได้อย่างที่ต้องการก็ไม่ยินดี เป็นปกติหรือว่างอย่างนั้นแหละคือไม่ทุกข์ ขอให้เข้าใจไอ้คำสองคำนี้ด้วย ซึ่งสรุปสั้น ๆ ว่า ไอ้ยินดีนั้นมันเป็นความเหน็ดเหนื่อยทรมานไปตามแบบความยินดี ความยินร้ายก็เหน็ดเหนื่อยทรมานไปตามแบบของความยินร้าย ยินร้ายคือไม่ได้อย่างใจ โกรธแค้นขัดเคือง นี่มันเห็นได้ง่ายว่ามันทรมาน ทรมานเรา แต่ที่เป็นเรื่องของความยินดีเรามองไม่ค่อยเห็น ขอให้มองเห็นตัวความรักความยินดีความหลงใหล เลยไปถึงความหึงความหวงอะไรต่าง มันก็ทรมานใจไปตามแบบของความยินดี นั่นมันช่วยไม่ได้หรอกต้องทรมานถ้าไปยินดียินร้ายเข้า ฉะนั้นก็อย่าไปยินดียินร้ายก็ไม่มีการทรมาน มันก็ว่างอยู่ มันก็ทรงตัวอยู่อย่างสมดุล ให้มันเป็นได้อย่างนี้ มันไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นจากทิศทางทั้งหก ที่จะทำให้เรามีความยินดียินร้าย หรือว่าอย่าให้ไอ้ทิศทางทั้งหกนี้สร้างความยินดียินร้ายขึ้นมา เราอยู่ตรงศูนย์กลางของทิศทางทั้งหก อย่างอิสระ อย่างเฉลียวฉลาด อย่างมีสติสัมปชัญญะ คือปกติที่สุด ฟังดูแล้วจะเป็นพระอรหันต์ในฆราวาส ก็ไม่ต้องกลัวถ้ามันเป็นได้ก็ช่างหัวมัน ก็ยิ่งดี ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นพระอรหันต์ในฆราวาส ขออย่างเดียวอย่ามีความทุกข์ อย่าให้มันมีความทุกข์ พยายามที่จะรอบรู้ รวดเร็วในการป้องกันไม่ให้เกิดกิเลสและความทุกข์
ในการดำเนินชีวิตอย่างฆราวาสครองเรือน จะเอากันง่าย ๆ ไม่รับผิดชอบอะไรนั้นไม่ได้ ไม่ได้ มันไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ ไม่ใช่ความถูกต้องหรือความเป็นธรรม ต้องยอมรับผิดชอบในทิศทั้งหกนั้นเป็นอย่างน้อย เรายอมรับไอ้เรื่องทิศทั้งหกว่าเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องทำให้ถูกต้องให้ดี ให้ไม่มีปัญหา ฉะนั้นขอให้ทบทวนไว้เสมออย่าให้ลืมได้ ทิศทั้งหกเป็นสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบ ในการทำให้มันดี ให้มันถูกต้อง ให้มันมีประโยชน์ สำเร็จประโยชน์ แล้วเราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ด้วย ทุกคนก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ขยันท่องไว้หน่อยว่า ทิศเบื้องหน้าบิดามารดา ทิศเบื้องหลังบุตรภรรยา นี่สำหรับคนที่มี และคนที่กำลังจะมี ทิศทางซ้ายคือเพื่อนฝูง ทิศทางขวาคือครูบาอาจารย์ ทิศเบื้องบนคือ พระเจ้า พระสงฆ์ นักบวชที่ถูกต้องนั่นแหละ ทิศเบื้องล่างก็คือ คนใช้ กรรมกร ลูกจ้าง จะว่าไม่รับผิดชอบนี่ไม่ได้ ถ้าว่าไม่รับผิดชอบขึ้นมาไอ้คนนั้นมันก็หมดความเป็นคน หมดความเป็นมนุษย์ หมดความเป็นมนุษย์ที่มีธรรมะอย่างมนุษย์ ถ้ามันมีความเป็นมนุษย์ มีธรรมะอย่างมนุษย์ มันต้องรับผิดชอบไอ้ทิศทั้งหกนี้ คล้าย ๆ กับว่ามันมีเอาไว้สอบ ทดสอบหรือสอบไล่ว่ามันจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์หรือไม่ ก็ตรงที่มันทำให้ทิศทั้งหกนี้ถูกต้องหรือไม่นั่นเอง นี่เราจึงมีการกระทำถูกต้องในทิศทางทั้งหก อยู่ด้วยความถูกต้องไม่มีปัญหาไม่มีความทุกข์ นี่เป็นการแสดงว่าเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง ที่เรายังอุตส่าห์เล่าเรียนศึกษา มาบวชมาเรียน หรือว่ามาเรียนนอกหน่วย เมื่อสึกไปแล้ว อะไรก็ตาม ที่ยังเรียนกันมาก ๆ นั้นเพื่อประโยชน์อย่างนี้ เขาก็ไม่ได้บังคับว่าต้องมาบวชตลอดชีวิต เอาตามความพอใจ หรือว่าตามเหตุผลที่ควรจะมี แล้วก็อยู่กันอย่างฆราวาส ก็มีระบบสำหรับปฏิบัติที่ฆราวาสจะต้องปฏิบัติ เป็นฆราวาสที่ปิดกั้นทางมาแห่งความทุกข์ได้ ก็ใช้ได้ ก็เป็นมนุษย์ที่กำลังเดินทางไปพระนิพพาน ก็อยากจะพูดอีกคำหนึ่งว่า ขอให้ทุกคนถือว่าไอ้คนเราหรือมนุษย์เราเนี่ย มันคือคนที่กำลังเดินทางไปนิพพาน คือไปในทางสูง สูง สูง จนไปถึงที่สุด ถ้าไม่อย่างนั้นจะไม่มีความเป็นมนุษย์ ถ้ามันไปในทางต่ำ ฉะนั้นโดยธรรมชาติมันก็ต้องการอย่างนี้ คือทำให้มนุษย์เกิดมาแล้วรู้อะไรมากขึ้น ปฏิบัติถูกต้องมากขึ้น ดีขึ้น สูงขึ้น จนเป็นมนุษย์สูงสุด ถ้าจะให้บัญญัติความสูงสุดก็บัญญัติที่ความเป็นมนุษย์ซึ่งไม่มีความทุกข์เลย ก็มันมีความถูกต้องอยู่อย่างนี้ ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็จะพูดว่าเป็นพระอรหันต์ในเพศฆราวาส ก็ไม่ต้องกลัวดังที่กล่าวแล้ว ถ้ามันทำได้อย่างนี้มันก็เป็นพระอรหันต์ไปได้ แล้วมันก็ต้องพ้นความเป็นฆราวาสไปในตัว ฉะนั้นฆราวาสที่ทำให้ดีที่สุดจนเป็นพระอรหันต์นั่นก็คือ ทำให้หมดความเป็นฆราวาสพร้อมกันไปในตัว ถ้าไปบวชเป็นสมณะเป็นบรรพชิตอยู่ในป่า ก็เป็นการเดินทางไปนิพพานเหมือนกัน ง่ายกว่า เร็วกว่า สะดวกกว่า ก็เรียกว่าเขากำลังเดินทางไปนิพพานอย่างรวดเร็ว ส่วนฆราวาสนี่ก็เป็นการเดินทางไปพระนิพพานอย่างช้า ๆ อย่างหนัก เพราะมันมีหาบรุงรังไปตั้งหกทิศ ก็ถือเสมือนว่าทิศหกทิศนี่มันเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องปฏิบัติต่อ เหมือนกับหาบของหนักไปด้วย ก็ไม่เป็นไร เราจะไม่คิดว่าไอ้หนักเนี่ยมันจะเป็นอุปสรรค ให้คิดเสียว่าไอ้หนักนี่ยิ่งทำให้เราเก่ง ทำให้เราสามารถ ถ้าฤษีที่ในป่าบรรลุพระอรหันต์ ก็ไม่เก่งเท่าที่ฆราวาสบรรลุพระอรหันต์ เพราะว่าเขาทำอย่างที่เรียกว่ามีความยากมาก มีบทเรียนมาก มีภาระหนักมาก แล้วผ่านพาไปได้สำเร็จ เมื่ออยากเป็นฆราวาสก็ต้องยอมรับในข้อนี้คือยอมรับภาระหนัก ในการที่จะเดินทางไปนิพพาน แต่แล้วก็ไปให้ได้ มันจะช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร แต่มันก็ยังเป็นไปได้ แล้วก็รู้จักทำให้ทิศทั้งหกมันถูกต้อง ถ้าทิศทั้งหกมันถูกต้องมันกลับสนับสนุนการไปนิพพาน มันจะไม่ทำการขัดขวางเป็นอุปสรรคหนักขึ้นจนคลานไปก็ไม่ไหว นี่ขอให้ทำให้ทิศทั้งหกเป็นไปอย่างถูกต้อง แล้วทั้งหกทิศมันก็จะสนับสนุนการไปนิพพาน อย่างที่ว่าเมื่อคืนนี้ แม้แต่บุตร ภรรยา ถ้าเป็นไปอย่างถูกต้องมันก็เป็นเพื่อนเดินทางไปนิพพานที่ดี หรือทำความเย็นในปัจจุบันช่วยกันทำความเย็นให้แก่กันและกันในปัจจุบันไปพลางก็ยังได้ ทิศเพื่อนฝูง มิตรสหาย ครูบาอาจารย์เราไม่ต้องพูดถึง ต้องเป็นไปอย่างถูกต้องแล้วมันส่งเสริมความดับทุกข์ทั้งนั้น เราต่างหากที่จะต้องจัดต้องทำให้ทิศทั้งหกมันมีความถูกต้องสำหรับเรา ผมพูดว่าเราอย่างนี้ ก็ขอให้เข้าใจว่ามันเป็นคำพูดแทนโดยสมมติ เมื่อตะกี้ก็พูดว่ามันมีแต่จิต คือ นามหรือรูป ไม่มีตัวเรา แต่ภาษาพูดอย่างนั้นมันไม่มี ก็ต้องพูดว่าเราอยู่ดี หรือแม้จะพูดว่าอัตภาพมันก็ยังเป็นตัวเราอยู่แหละ อัตภาพ ภาวะแห่งเรา คือร่างกายจิตใจนี้ก็เรียกว่าอัตภาพ มันจะส่งเสริมอัตภาพนี้เพื่อให้เจริญก้าวหน้าไปในทางของนิพพาน อย่างนี้ก็พูดได้ จะส่งเสริมเราบอกไปเลย ให้ก้าวหน้าไปในทางนิพพานก็ได้ ส่งเสริมกายและจิตให้สูงไปทางของนิพพานก็ได้ แต่แล้วทั้งหมดนั้น มันคือความว่างจากความยึดถือว่าตัวตน ว่าของตน ว่าเรา หรือของเรา ว่าตัวกูหรือของกู คนทั่วไปก็รู้สึกว่าถ้ามันไม่มีความหมายเป็นเพื่อเรา เพื่อกู แล้วมันไม่มีรสไม่มีชาติ เขารู้สึกอย่างนั้น บางทีพวกคุณทั้งหลายอาจจะรู้สึกอยู่อย่างนั้น เดี๋ยวนี้ว่าถ้ามันไม่ทำเพื่อเรา เพื่อกูแล้วมันก็ไม่มีรสชาติ ไม่อร่อย ไม่น่า ไม่ชวน ชวนให้ทำเลย มันก็ได้ ถ้ายังคิดอย่างนั้น ยังพอใจอย่างนั้นก็ลองทำดู ทำด้วยความยึดมั่นเพื่อเรา เพื่อของเรา แล้วมันก็ได้หนัก แล้วมันก็ได้ร้อน แล้วมันก็ได้กลุ้ม แล้วมันก็ได้มืดมน เผลอเข้ามันก็ทำผิดต่อทิศทั้งหก คือทำผิดทางทิศทั้งหก เพราะงั้นจึงเป็นงานที่ละเอียดอ่อน เป็นศิลปะชั้นยอดที่เราจะควบคุมชีวิตให้ดำเนินไปในลักษณะอย่างนี้ เป็นฆราวาสที่มีสุญญตาเป็นหลัก ไม่ให้จิตโง่หลงไปหมายมั่นอะไรเป็นเราเป็นของเรา แล้วก็ทำหน้าที่ แสดงว่าเป็นหน้าที่โดยธรรมชาติ ที่มนุษย์จะต้องทำงาน ไอ้เรื่องนี้มันมีความลับอะไรอยู่ที่ว่าคนเรา ธรรมชาติมันสร้างมาให้มีแรงงาน ทุกคนเรามีแรงงาน ธรรมชาติเขาสร้างมามีแรงงาน แล้วแรงงานนั้นมันเป็นสิ่งที่ต้องใช้ จะเก็บไว้เฉย ๆ ก็ไม่ได้ ฉะนั้นเราจึงต้องทำงาน เพราะว่าไอ้งานแม้จะเล็กน้อยมันก็ยังเป็นงาน ฉะนั้นธรรมชาติมันก็ต้องให้แรงงานมาให้ครบถ้วน ให้แรงงานมาสำหรับเราจะใช้ในการที่จะหาอาหกิน ในการที่จะต้องป้องกันอันตราย แม้แต่ที่สุดแต่ว่าจะต้องบริหารร่างกายมันก็ต้องการแรงงาน ที่เขาว่ามันต้องการประโยชน์ที่สูงขึ้นไป มันก็ต้องมีแรงงานมาใช้มาก ทางกาย ทางจิต ทางสติปัญญา ก็มีแรงงานอีกประเภทหนึ่งที่ต้องใช้สำหรับความเป็นมนุษย์ในขั้นสูง จึงเป็นอันว่าเราอยู่นิ่งไม่ได้ โดยธรรมชาติมันทำให้อยู่นิ่งไม่ได้ ฉะนั้นเรามันต้องเคลื่อนไหว ทีนี้มันก็ต้องเคลื่อนไหวให้ถูกต้อง เพื่อเป็นไปเพื่อดับความทุกข์ ไม่มีความทุกข์ ไกลต่อความทุกข์ จนจะเป็นสภาพที่ไม่มีความทุกข์โดยเด็ดขาด ก็เรียกว่าไม่ตาย เป็นอมฤตอมตะ ไม่ตายอยู่อย่างนิรันดร สภาพที่ไม่ตาย ไม่มีความทุกข์ ไม่มีตัวเรา ก็เป็นสภาพนิรันดร นี่คนส่วนใหญ่เขาคงไม่อยากเอามายุ่งนัก คือ เรื่องมันยุ่งนัก ไม่รู้ไม่ชี้ เอาตามสบายสะดวกดีกว่า เขาก็คงจะทำได้ ถ้าเขาต้องการอย่างนั้น แต่แล้วก็ไปทางไหนไม่ได้ ไปทางไหนไม่รอด นอกจากจะวนอยู่ในกองทุกข์ มีตัวเรามีของเรา แน่นหนา ตึงเครียดอะไรยิ่งขึ้นทุกที ทุกที นี่มันก็หนีไปไหนไม่พ้น จะต้องวนอยู่ในกองทุกข์ ถ้าไม่อยากจะวนอยู่ในกองทุกข์ก็ต้องไปหาไอ้ความรู้ที่ถูกต้อง ปฏิบัติให้ถูกต้อง ได้รับผลเป็นจิตใจที่มีความทุกข์กับเขาไม่ได้ มันเป็นคำพูดที่ประหลาดอยู่เหมือนกันว่า มันเป็นจิตใจชนิดหนึ่งซึ่งทุกข์กับใครไม่เป็น เป็นทุกข์กับใครไม่ได้ มันไม่รู้จักทุกข์ มันไม่รู้จักจะเป็นทุกข์เอาเสียเลย นี่เรียกว่ามันเป็นจิตใจที่อบรมมาดีถึงที่สุดแล้วตามหลักแห่งพระศาสนา
ฉะนั้นสรุปความว่า เราจะต้องมีชีวิตเป็นอยู่ด้วยจิตใจที่มีความถูกต้อง มีความรู้สึกคิดนึก รู้สึกตัวอย่างถูกต้อง คือไม่หมายมั่นเป็นตัวตนของตนขึ้นมา พูดตามภาษาธรรมะก็คือ มีสติสัมปชัญญะโดยสมบูรณ์ อย่าแยกอะไรออกมาเป็นตัวตน อย่ามีตัวตนซึ่งเป็นผู้อะไรมา มันจะมีแต่ความรู้สึกที่เป็นกิเลสขึ้นมา มันจะหนักที่นั่น สมมติว่าจะกินอาหาร สมมติว่าจะกินอาหารเพื่อให้ร่างกายจิตใจนี่มันกินอาหาร อย่าแยกเป็นความรู้สึกอีกอันหนึ่งว่าตัวตน คือตัวฉัน ตัวเราเป็นผู้กินอาหาร ถ้าว่าทุกองค์นี้สนใจกับบทปัจจเวกขณ์ ที่พระทุกองค์จะต้องสนใจ ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ธาตุมัตตะเมเวตัง ยะทิทัง จีวะรัง บ้าง ปิณฑะปาโต บ้าง เสนาสะนัง บ้าง นั่นแหละเขาสอนข้อนี้ ว่าไม่มีใครห่มจีวร จีวรก็มิใช่ตน ผู้ห่มจีวรนั้นก็มิใช่ตน คือมิได้มีใครห่มจีวร แต่มันเป็นร่างกายกับใจ มันทำอาการอย่างที่เรียกกันว่าห่มจีวร เมื่อกินอาหารก็เหมือนกัน อย่ามีตัวตนเป็นผู้กินอาหาร นิสสัตโต นิชชีโว สุญโญ ไม่มีสัตว์ ไม่มีตน เป็นว่างเปล่าจากตัวตน แล้วก็มีการกินอาหาร แล้วอาหารนั้นก็กินแล้ว เพื่อเป็นอยู่ได้แห่งอัตภาพ เพื่อไม่เดือดร้อนเพราะการขาดอาหาร งั้นเมื่อกินอาหารมันก็ต้องไม่มีตัวตนที่เป็นผู้กินอาหาร มีแต่ร่างกายเนี่ย หรือรวมทั้งจิตใจด้วยเนี่ย มันทำอาหารอย่างนั้น นี่มีสติให้มันมี การกินอาหาร การนุ่งห่ม การทำงาน การอะไรทุกอย่าง โดยไม่ต้องมีตัวตน ใครเรียกว่าจิตก็ได้ แต่ขออย่าให้มันมีความหมายเป็นตัวตน ถ้ากินอาหารก็ไม่มีคนกินอาหาร มันก็มีการกินอาหารโดยธรรมชาติ ร่างกาย จิตใจ ไม่มีกิเลส แล้วกินอาหาร ถ้ามีตัวตน มีความรู้สึกว่าเป็นตัวตน ตัวกูกินอาหารมันเป็นกิเลสซะแล้ว แล้วมันก็ต้องมีผลของกิเลสนั้น เป็นความทุกข์ เป็นอะไรต่อไป ฉะนั้นมีความสุขก็ดี มีความทุกข์ก็ดี อย่าให้มีตัวตน เป็นผู้มีความสุข หรือ ความทุกข์ ให้มันเป็นเพียงความรู้สึกของจิตใจเท่านั้น จิตใจก็เป็นธรรมชาติ ร่างกายก็เป็นธรรมชาติ มันรู้สึกเป็นสุขก็สักว่าเป็นความสุข ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ อย่ามีตัวกู ตัวเรา ตัวตนอะไรเป็นเจ้าของความสุขนั้น หรือ เสวยความสุขนั้น นี่คือเรื่องสุญญตาอย่างสูงสุด ฉะนั้นเราทำงานโดยที่ไม่ต้องมีตัวเรา หรือถ้ามีตัวเราก็คือการงานนั่นแหละที่เป็นตัวเรา อย่ามีตัวเรา ตัวกูที่ไหนอีก ฉะนั้นเราหัดทำอะไรโดยที่ไม่ต้องมีตัวเรา มีแต่สติสัมปชัญญะ และควบคุมร่างกายระบบประสาทให้ทำอะไรไปตามเรื่องที่จะต้องทำ ยังมีเนื้อที่ไว้สำหรับให้มีตัวเรา เพราะเราเป็นผู้ทำ เป็นผู้ได้รับผลของการกระทำ ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดความยินดี ยินร้าย ยินดีเมื่อทำได้เสร็จ ยินร้ายเมื่อทำไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น นี่สติสัมปชัญญะควบคุมร่างกายให้ทำ ถ้าทำผิดทำไม่สำเร็จ ก็สติสัมปชัญญะอีกนั่นแหละมีหน้าที่ที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงมัน มันเป็นความรู้ที่ประหลาดที่สุดในโลกมนุษย์หรือโลกไหนก็ตามแต่ ความรู้ของพระพุทธเจ้าเรื่องไม่มีตัวตนมันเป็นอย่างนี้ มันประหลาดในตัวของความรู้ และมันประหลาดอย่างยิ่งในตัวที่มันเป็นวิธีที่จะทำให้ไม่มีความทุกข์ ถ้าจะถือกันว่าเป็นศิลปะ มันก็เป็นยอดของศิลปะ เป็นศิลปะแห่งความไม่มีทุกข์ มันปราณีต ละเอียด สุขุมจนไม่รู้จะกล่าวกันว่าอย่างไร
ศิลปะแห่งการใช้สุญญตาคือความว่างให้เป็นประโยชน์ สุญญตา แปลว่าความว่าง จิตที่ว่างจากตัวกูของกู มีแต่สติปัญญาโดยสมบูรณ์ เรามีศิลปะแห่งการ ที่จะใช้จิตที่มีแต่ความว่างนี่แหละให้เป็นประโยชน์ แม้ในเพศฆราวาส แล้วก็จะเป็นฆราวาสที่ประหลาดอีกแหละ เพราะธรรมะนี้มันแสนจะประหลาดอยู่แล้ว ถ้าฆราวาสคนไหนเกิดไปทำได้ แล้วทำอยู่ก็จะเป็นฆราวาสที่ประหลาด คือเป็นฆราวาสที่ทุกข์ไม่เป็น ที่มีความทุกข์กับเขาไม่เป็น มีแต่ความเป็นปกติ เรียกกันให้มันไพเราะว่ามันเป็นชีวิตที่เป็นอิสระ รอดพ้นจากความทุกข์ไม่มีความทุกข์เลย เยือกเย็นเป็นนิรันดร กว่ามันจะแตกดับไป ไม่ใช่ว่ามันจะไม่แตกดับ ไอ้จิตใจที่มันอบรมดีถึงที่สุดจนไม่รู้จักทุกข์ มันก็ยังจะต้องดับ เหมือนกัน ถึงวาระถึงเวลาสิ้นเหตุ สิ้นปัจจัยมันก็ต้องดับ แต่เมื่อมันยังไม่ดับ ก็ยังไม่ตายนี่มันไม่รู้จักกับความทุกข์เลย นี่จะเอาออกไปไว้ให้ใคร ความดีความวิเศษอันนี้จะเอาไปให้ใคร จะเอาไปมอบหมายให้ใคร หรือจะเอาไปมอบหมายให้พวกฤษีมุนีที่อยู่ในป่าเหล่านั้นหรือ อย่างเดียวหรือ จะไม่เอามาใช้สำหรับฆราวาสหรืออย่างไร แต่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า สำหรับฆราวาส ระบอบความรู้ การปฏิบัติเกี่ยวกับสุญญตานี่มีไว้สำหรับฆราวาส เราเป็นคนเอามาไว้ที่ฆราวาสผู้ครองเรือน ไม่ได้มีไว้ให้สำหรับมุนี ฤษี ชีไพรที่อยู่ตามป่าเป็นบรรพชิต พวกนั้นมันเกือบจะไม่จำเป็น เพราะมันอยู่อย่างเกือบจะไม่มีความทุกข์อยู่แล้ว ที่จำเป็นมากที่สุดก็คือพวกฆราวาสที่มันมีความทุกข์หนาแน่นมากเกินไปนั่นเอง แล้วมันยังอยู่ท่ามกลางสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ชวนให้เกิดความทุกข์ เมื่อฤษีเขาก็อยู่ในท่ามกลางสิ่งที่ชวนแต่ให้หยุดให้สงบ ไอ้เรามันอยู่ท่ามกลางสิ่งที่ชวนให้เกิดความทุกข์ มันจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีธรรมะสำหรับที่จะไม่ทำให้เป็นทุกข์ ก็คือธรรมะเรื่องสุญญตา แล้วผมก็บอกแล้วว่าผมเคยถูกด่า โดยคนนั้นคนนี้ ไม่ต้องออกชื่อเขาละ เขาไปเขียนในหนังสือพิมพ์ก็มี ในหน้าหนังสือพิมพ์ก็มี หรือเขาพูดแล้วแต่เขาจะมีโอกาสพูดนะว่ามันเป็นเรื่องบ้าที่จะสอนเรื่องอนัตตา สุญญตา หรือเรื่องนิพพาน แก่ฆราวาส ถ้าสมมติว่าเขามาได้ยินที่ผมพูดเมื่อคืนว่า มีบุตรภรรยาก็คือมีเพื่อนเดินทางไปนิพพานอย่างนี้ เขาก็คงจะด่ามากกว่าที่เคยด่ามาแล้วก็ได้ เพราะก่อนนี้ เราพูดเรื่องว่าฆราวาสควรเรียนเรื่องสุญญตา คุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เป็น ก็มีอิสระ ก็ไปคิดดู ถ้าต้องการจะเป็นฆราวาสที่เป็นสัตตบุรุษ เป็นพุทธบริษัทที่ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด คือไม่มีความทุกข์แล้วก็ต้องสนใจเรื่องนี้ ไอ้เรื่องอื่นมันไม่มี เรื่องจะดับทุกข์ได้มันไม่มีเรื่องอื่น นอกจากเรื่องสุญญตา หรือจะเรียกชื่ออย่างอื่นมันก็ยังเป็นเรื่องนี้ เช่นอนัตตา บางทีเราก็พูดว่านิพพาน นั่นมันก็เป็นเรื่องผลของการไม่ยึดถือ ผลของการบรรลุถึงสุญญตา อนัตตา พระพุทธเจ้าท่านมีชื่อเรียกเฉพาะท่านว่า ตถาคตา หรือตถาคต ตถาแปลว่า “อย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น” คะตะ คือ คตที่แปลว่า “ถึง” คถาคตก็แปลว่าผู้ถึงแล้วซึ่งความเป็นอย่างนั้น ความเป็นอย่างนั้นคือความไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ไอ้ที่มันจะไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นนั่นมันต้องว่างจากความยึดถือทั้งปวง ถ้ามันยังไม่ว่างและมันก็จะเปลี่ยนเป็นอย่างนั้นก็ได้ เปลี่ยนเป็นอย่างนี้ก็ได้ ที่มันจะไม่เปลี่ยนได้ มันจะต้องเป็นความว่าง ว่างจากตัวตนคือสุญญตา พระองค์เป็นผู้ถึงซึ่งตถา คือความเป็นอย่างนั้น คือไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นก็คือ สุญญตา แล้วก็ไม่มีความทุกข์เลย
นี่ขอให้รู้จักในธรรมะ ในลักษณะที่เรียกว่า รวบยอด ครบถ้วน คือเห็นตั้งแต่จุดตั้งต้น จนถึงจุดสุดท้ายปลายทาง คือเห็นทั้งหมด แล้วก็จะได้รู้จักเดิน จากจุดตั้งต้นไปถึงจุดปลายทาง ควรจะมีความเข้าใจว่ามนุษย์นี่มาเป็นมนุษย์ทำไมกัน เกิดมาเป็นมนุษย์ทำไมกัน มันต้องตอบอย่างที่ไม่มีทางผิดว่า เพื่อจะให้ไปถึงที่สุดของความเป็นมนุษย์ก็คือไอ้สภาพที่ไม่มีทุกข์เลย เราเป็นมนุษย์ เพื่อให้ถึงจุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์ เพื่อความเป็นอย่างนี้ นึกว่าเรายังเป็นฆราวาสอยู่ เราจะปฏิเสธว่าเราไม่ต้องการจุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์ เราจะเอาตามที่เราชอบมันก็ได้เหมือนกัน ก็ลองดู ก็ลองเอาตามที่ใจชอบเข้าไปดู เดี๋ยวมันก็จะเหไปหาเรื่องของความยึดมั่นถือมั่น แล้วเกิดกิเลสและเกิดทุกข์ แล้วมันก็ไม่มีทางที่จะถึงจุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์ ให้คุณจะลองดูสักกี่ครั้งก็ได้ คือจะไม่เชื่อหลักธรรมะของพระพุทธเจ้า จะเอาตามพอใจก็เอาก็ลองดูก็ได้ ลองดูสักกี่ครั้งก็ได้ แต่ผมคิดว่าคงจะไม่มีใครทำตัวเองให้บอบช้ำมากถึงขนาดนั้น เพราะเดี๋ยวนี้ก็เป็นที่ปรากฎกันอยู่แล้วว่าอุตส่าห์บวช อุตส่าห์เรียน อุตส่าห์ลามาบวช มาเรียนฉะนั้นควรต้องการคำสอน หรือ ธรรมะ การปฏิบัติธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ในระบบคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังอยากจะพูดว่า แม้ว่าอยากจะลองไปตามแบบของตัว ไม่เอาตามแบบของพระพุทธเจ้าบ้างก็ได้ลองดู เมื่อมันไม่มีทางไปก็ค่อย ๆ กลับมาหาทางของพระพุทธเจ้าก็ยังได้ นี่ถ้ามันไม่เชื่อ แล้วมันไม่มีทางอื่นที่จะทำให้เชื่อได้ ก็ลองดู ลองอยู่ด้วยความวุ่นวายของกิเลสตัณหา เต็มไปด้วยความรู้สึกว่าตัวกูของกู ก็เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงเต็มปรี่ไปหมด มีชีวิตอยู่อย่างเหมือนกับหมกอยู่ในกองไฟ แล้วเมื่อทนไม่ได้ก็จะชะเง้อหาว่าทางไหน ทางไหน หนทางที่จะสงบเย็น แล้วก็หันไปหาทางของพระพุทธเจ้าอีก ก็คือทางที่จะดำรงชีวิตอยู่ด้วยจิตที่ว่างจากตัวกูของกู มีสติปัญญาสูง แล้วจึงมองเห็นว่าโดยแท้จริงแล้วมันไม่มีตัวกูของกู ถ้าเผลอเมื่อไรมันเกิดการปรุงแต่ง ขึ้นมาในใจ เป็นตัวกูของกู ก็มีความทุกข์มีความร้อนเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นอย่าได้เผลอเลย อย่าได้เผลอให้เกิดโอกาสปรุงแต่งในจิตใจเป็นตัวกูของกู อย่าเผลอตลอดเวลาในการที่เรามีชีวิตอยู่ อย่าเผลอทางตา อย่าเผลอทางหู อย่าเผลอทางจมูก อย่าเผลอทางลิ้น อย่าเผลอทางผิวหนัง อย่าเผลอทางจิตใจโดยตรงที่เรียกว่าหก หกทางนั้น อย่าเผลอเลย มันก็ไม่เกิดปรุงเป็นกิเลสประเภทตัวกูของกู มันก็อยู่แบบปกติ ตามแบบของธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติ สำหรับจิตที่จะไม่มีความทุกข์เลย สำหรับจิตที่ตั้งไว้อย่างถูกต้อง นี่ข้อปฏิบัติตั้งหลายมันก็เพื่อความเป็นอย่างนี้ เรามีข้อปฏิบัติ เช่นศีล สมาธิ ปัญญา เรียกว่าไตรสิกขาก็ดี แจกรูปออกไปเป็นมรรคมีองค์แปด สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาอายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ก็ดี มันเป็นเทคนิคเท่านั้น ที่จะช่วยให้มีชีวิตจิตใจอยู่ โดยไม่ให้โอกาสที่จะปรุงแต่งเป็นกิเลสขึ้นมาจนจิตมันสูญเสียความว่าง เมื่อกล่าวโดยธรรมชาติแล้ว จิตนี้มันมีความเป็นประภัสสร คือว่างและก็ไม่มีกิเลส แต่พอเผลอไปมันก็มีกิเลส สูญเสียความเป็นประภัสสร นี่เราก็มีสติสัมปชัญญะให้พอ ที่จะไม่เผลอรักษาความว่างแห่งจิตไว้ได้ ให้จิตมันอยู่กับความว่างไป เรื่อยไป มีสติปัญญา มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ พอจิตไม่ว่าง คือ จิตไปมีกิเลสมันก็ไม่มีสติปัญญา พอจิต ว่างจากกิเลสมันก็มีสติปัญญา หากเขาถือกัน วางไว้เป็นหลักว่า สมบัติแท้ ๆ ของจิตนั้นคือ ความรู้ หรือ โพธิ แปลว่า “ความรู้” ถ้าปล่อยให้จิตเป็นอิสระแล้ว จิตเขาจะรู้ไปตามประสาของจิต แต่ถ้ากิเลสมันมาแทรกแซงครอบงำเสียแล้ว จิตก็ไม่สามารถทำอาการรู้ตามธรรมชาติของจิต มันก็กลายเป็นไม่รู้ เป็นอวิชชา ตัณหา อุปทานเป็นความทุกข์ไป จึงมีการศึกษาที่เพียงพอ สำหรับจะดำรงจิตให้อยู่ในความรู้ นี่ป้องกันการปรุงแต่งที่เป็นกิเลสได้ จิตนี้ก็ว่างอยู่เสมอ ถึงแม้ครองเรือนเป็นฆราวาสอยู่ เหมือนกับหาบของหนักอยู่ ก็ยังไปนิพพานได้ เร็วกว่าบรรพชิตที่มันไปโง่ไปบ้า ไปหลง ไปงมงายอยู่ แม้ตามป่าตามเขา นี่พูดอย่างนี้ก็จะรุนแรงไปหน่อย ฆราวาสที่เดินถูกทางทั้งที่มันหนัก ๆ มันก็ยังไปถึงจุดสุดท้ายได้เร็วก่อนกว่าบรรพชิตบางพวกที่มันไปนั่งงมงายอยู่ตามป่า ตามถ้ำ ตามเขา แต่ถ้ามันทำถูกต้องกันทั้งสองฝ่ายไอ้พวกที่มันเป็นบรรพชิตอยู่ป่า อยู่เขา ไปได้เร็วกว่าเป็นแน่นอน แต่ถ้าเขาไปทำผิดพลาดไขว่เขว้อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ไอ้เต่านี่จะไปถึงก่อนกระต่ายอย่างที่เราเคยรู้กันในเรื่องสอนเด็ก ฉะนั้นเรามีความหนักแน่นมั่นคงเหมือนกับเต่าที่วิ่งแข่งชนะกระต่าย เพราะกระต่ายมีความประมาทเลยล้มเหลวหมด ในพุทธศาสนานี้ก็ติเตียนความประมาทว่าเป็นธรรมที่เลวร้ายอย่างยิ่ง แล้วก็สรรเสริญความไม่ประมาทว่าเป็นธรรมะสูงสุด นี่ความไม่ประมาท ก็คือความรู้ที่ถูกต้อง แล้วขยันขันแข็งในการที่จะปฏิบัติ ตามความรู้ที่ถูกต้องให้ถึงจุดหมายปลายทาง นี้ก็เรียกว่าความไม่ประมาท คือหมายถึงรู้ด้วยแล้วก็ทำอย่างถูกต้องด้วย รู้ถูกต้อง ทำถูกต้องนี่เรียกว่าความไม่ประมาท เรียกว่าเป็นพินัยกรรมสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าท่านมอบให้ เมื่อท่านจะปรินิพพานอยู่หยกๆแล้วก็ท่านตรัสอันนี้ว่า จงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท แล้วท่านก็เงียบไป แล้วก็เลิกกัน เราถือว่าเป็นพินัยกรรมสุดท้าย คือคำว่าไม่ประมาท ความไม่ประมาท จึงหวังว่าเราทุกคนจะรู้จักความไม่ประมาท และเป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท เรื่องก็มีแต่หวังได้ว่าจะประสบความสำเร็จ
แล้วนี่ผมก็ได้พูดมาเต็มตามเวลาที่มี คือสรุปความว่าเราบวชสึกออกไป เป็นบัณฑิต หรือเป็นทิด คือผู้ที่รู้จักทิศทั้งหก เราจะปิดกั้นทิศทั้งหกไม่ให้เกิดทุกข์ เกิดโทษ เกิดความผิดพลาดขึ้นมา เราจึงต้องอาศัยธรรมะสูงสุดที่เรียกว่าสุญญตาในพระพุทธศาสนา คือจิตที่เป็นอิสระเหนือกิเลส กิเลสไม่ทำอะไรได้กับจิตชนิดนี้ จิตชนิดนี้จึงเป็นอิสระ มันก็มีความถูกต้อง มีความรู้ถูกต้อง มีการกระทำถูกต้อง ขอให้มีชีวิตชนิดนี้ แม้จะเป็นฆราวาสที่ครองเรือนก็จะ ได้ชื่อว่าเป็น (นาทีที่ 1:08:33 เสียงหายไปช่วงหนึ่ง) สุญญตานั่นเอง นี่เรื่องที่ตั้งใจจะพูดสักครั้งสองครั้งเท่าที่เวลามันมี และตามที่ท่านทั้งหลายก็ตั้งใจจะให้ผมพูด แล้วผมก็ไม่มีเรื่องอื่นจะพูด นอกจากเรื่องนี้ แม้จะต้องพูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ มันก็ต้องพูดเรื่องนี้ มันไม่มีเรื่องอื่น คือให้เรารู้เรื่องความหลุดพ้น ความเป็นอิสระ ไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นอยู่ด้วยความว่าง คือมีจิตว่างจากความยึดมั่นถือมั่น แล้วก็ไม่ต้องมีความทุกข์เลย ไอ้ความไม่มีทุกข์นั้นนะมันจะขยายเป็นระยะยาว ยาวเข้า ยาวเข้า ยาวเข้า ยาวเข้าจนสมบูรณ์ จนเป็นความไม่มีทุกข์ที่สมบูรณ์ ที่แล้วมามันเผลอมีความทุกข์บ้าง ไอ้ความไม่มีทุกข์มันก็มีเป็นระยะ ระยะ ไอ้ความที่จิตเยือกเย็นไม่มีความทุกข์มันมีเป็นระยะสั้น ๆ ไอ้ความมีทุกข์มันมาแทรกแซงเสีย ที่เรามีปัญญามีความรู้พอที่จะหยุด ไอ้การเกิดแห่งความทุกข์นั้นเสีย นี่ว่าให้มันมา มาแต่น้อยที่สุด น้อยทั้งครั้ง และน้อยทั้งไอ้กำลัง ไอ้ความไม่มีทุกข์มันก็ขยายตัวยาวออกไป ยาวออกไป จนในที่สุดมันก็มีแต่ความไม่มีทุกข์ เด็ดขาด นี่อย่างนี้ก็เรียกว่าบรรลุมรรคผลนิพพาน ถ้าไม่ถึงขั้นนี้ก็เป็นการมีนิพพานน้อย ๆ นิพพานชิมลอง นิพพานตัวอย่างไปพลางก็แล้วกัน สรุปความว่าขอให้มีจุดศูนย์กลางเป็นจิตที่มีสุญญตา คือความว่างจากตัวตน ก็จะสามารถปฏิบัติถูกโดยทิศทั้งหก แม้เป็นฆราวาสครองเรือน ก็เหมือนการเดินทางไปนิพพานอย่างเป็นที่น่าพอใจ จะไม่เอ่ยอ้างถึงนิพพานก็ได้ มันอาจจะมากไป เอาแต่เพียงว่าเราไม่มีความทุกข์ ได้เป็นมนุษย์ ที่ได้สิ่งได้รับสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับความเป็นมนุษย์ อยู่ไปได้โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ จนกว่าจะถึงวาระสุดท้ายของมัน เรียกว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ แล้วมนุษย์เกิดมาก็เพื่อจะให้ได้สิ่งเหล่านี้ ถ้าถามว่าเกิดมาทำไมก็เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ก็คือการเป็น การมีชีวิตอยู่อย่างนี้ การมีชีวิตอยู่ด้วยจิตว่าง ฟังแล้วก็น่าหัว แต่คำอธิบายก็มีมากพอแล้ว ฉะนั้นขอยุติการบรรยายครั้งนี้ไว้เพียงเท่านี้ แล้วก็ปิดประชุม.