แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันที่ ๑๓ พฤษภาคม พศ. ๒๕๒๑ วันนี้ผมจะพูดต่อจากวันก่อนซึ่งเป็นการพูดครั้งแรกสำหรับพวกคุณที่บวชระหว่างปิดภาคและก็มาขอศึกษาอะไรที่นี่ ท่านอุปัชฌายะของคุณก็เขียนบอกมาขอร้องให้ช่วยพูดสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ให้ฟัง ในครั้งนั้นเราพูดเรื่องแรกที่สุดในลักษณะที่เรียกกันเดี๋ยวนี้ว่าปฐมนิเทศ คือการชี้แจงให้รู้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรในครั้งแรกซึ่งล้วนแต่เพื่อช่วยตัวเองให้ปฏิบัติของตัวเองให้ได้รับประโยชน์ ในวันนี้เป็นการพูดครั้งที่ ๒ ก็พูดในลักษณะอย่างนั้นอีก จะเรียกว่าทุติยนิเทศ มีตติยนิเทศ จตุตถนิเทศต่อไปจนกระทั่งมีปัจฉิมนิเทศ ผมคิดว่าอย่างนี้มากกว่า คือไม่พูดอะไรนอกไปจากพูดให้รู้จักจัดการเอาเองดูเอาเองศีกษาเอาเองปฏิบัติเองเพื่อช่วยตัวเองให้ได้เรียนรู้สิ่งที่เรียกว่าธรรมะ เดี๋ยวนี้สิ่งที่เราต้องการจะรู้จะเรียนจะปฏิบัตินั้นเราเรียกกันสั้นๆ ว่าธรรมะ ถ้าเข้าใจคำว่าธรรมะมันก็คงจะง่ายในการที่จะแสวงหาธรรมะ โดยประวัติของสิ่งนี้ในประเทศอินเดียเขาลงความเห็นเชื่อกันว่ามันก็ไม่มีอะไรอื่นนอกจากไอ้คนพวกหนึ่งอยู่ในบ้านเรือนครองเรือนเรื่อยไป ได้รับประโยชน์จากความเป็นฆราวาสสุดที่เขาจะทำได้แล้วก็ไม่รู้สึกพอใจไม่รู้สึกว่ามันดีวิเศษที่ตรงไหนสำหรับมนุษย์เรา เขามีความคิดว่ามันจะต้องมีอย่างอื่นอีก ฉะนั้นจะต้องไปค้นหาสิ่งที่ดีกว่านี้ แสวงหาสิ่งซึ่งเป็นกุศลยิ่งไปกว่านี้ จึงมีคนชุดแรกที่ปลีกตัวออกไปจากบ้านเรือนไปหาความสงบสงัดแล้วคิดอยู่ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นอะไร และก็พบว่าอะไรเป็นอะไร แปลกออกไปจากที่เคยรู้เคยเรียนเคยปฏิบัติกันมาแต่ก่อน ธรรมะที่มันลึกออกไปกว้างออกไปมันก็มีขึ้นในโลก คนเหล่านี้ออกไปอยู่ในที่สงบสงัดเพื่อจะไม่ให้มีการรบกวนก็ไปไกลไปในป่าในดงในภูเขาในอะไรก็ตาม ไปกันอยู่ไปกันไกลลิบ ให้ปราศจากแก่การรบกวนของคนในบ้านในเมือง ไปหาธรรมชาติ อย่างที่ผมเคยพูดเสมอๆ ว่าไปเป็นเกลอกันกับธรรมชาติและก็เรียนจากธรรมชาติอ่านเอาจากธรรมชาติ ก็พบสิ่งใหม่ พบความรู้สึกทางจิตใจที่ใหม่ที่แปลกออกไปและจึงพบเรื่องของการทำจิตให้ดีกว่าจิตที่อยู่ในบ้านเรือนเป็นจิตที่มันพรากออกไปจากกาม เป็นจิตที่สะอาดจากกามไม่มีความหมายแห่งความเป็นกามแล้วก็มันก็เป็นกุศลยิ่งขึ้นเพราะมันไม่บาป มันไม่มีบาป มันมีอกุศลยิ่งขึ้น ก็คือพบสิ่งที่เป็นกุศลยิ่งขึ้นจนรู้จักว่าเราจะต้องทำจิตใจอย่างนี้เราก็จะมีความรู้สึกอย่างนี้คือเป็นสุขยิ่งขึ้นไป ในการเกิดธรรมะคือว่าธรรมะปรากฏออกมาสู่จิตใจของมนุษย์มากขึ้นๆ และก็รับช่วงสืบต่อ ต่อ ต่อ กันมา ก็มากขึ้นๆ ต่างคนต่างก็มุ่งหมายให้มันสูงหรือมันดีกว่าเก่า เขาก็ค่อยพบทีละนิดๆ ที่มันดีกว่าเก่า จัดเป็นระเบียบหรือระบบอย่างนั้นอย่างนั้นอย่างนั้นขึ้นมาสำหรับจะทำให้มันดีกว่าเก่าก็สอนสืบๆกันมา ไม่จำเป็นจะต้องเป็นลูกศิษย์ลูกหาที่อยู่ด้วยกัน คือใครใครก็ได้ เกิดไปพบเข้าก็คุยกันได้ สอนกัน ก็สอนกันด้วยการกระทำ ไม่มีหนังสือจะใช้ไม่มีการใช้หนังสือบันทึกหรืออะไร มันสอนกันด้วยการกระทำคุยกันสืบกันด้วยปาก ว่าทำอย่างนั้นดีกว่า ทำอย่างนั้นดีกว่า ทำอย่างนั้นดีกว่า ล้วนแต่เป็นเรื่องทางจิตใจ นี่เป็นเหตุให้พบเรื่องสมาธิเรื่องฌานเรื่องสมาบัติเรื่องวิโมกข์ขึ้นมาเรื่อยๆในโลกนี้ ไอ้จุดตั้งต้นของมันคือความไม่พอใจในความรู้สึกบางอย่าง รู้สึกประเภทที่เป็นกิเลสเลวร้ายรบกวนน่าเกลียดน่าชังน่าขยะแขยง ความรู้สึกอย่างนี้เขาต้องการจะกำจัดเสีย เรื่องของกิเลสก็ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณา ตั้งต้นด้วยเรื่องของกาม ของกามารมณ์ สำหรับที่หลงใหลสำหรับหลงใหลอยู่ในกิเลสประเภทกามารมณ์ และก็สูงขึ้นไปถึงความโกรธความขัดใจ เพราะมันไม่ได้ตามที่ต้องการ มันก็เกิดระบบประพฤติปฏิบัติที่ไม่ข้องแวะกับกามารมณ์ เกิดระบบปฏิบัติที่จะไม่ให้โกรธและให้มีจิตที่เยือกเย็นเป็นเมตตา ส่วนเรื่องของปัญญาที่ว่าอะไรมันลึกซึ้งอย่างไรนี้มีทีหลัง ของที่มีทีหลังมาก ที่เขารู้จักมันก่อนอิดหนาระอาใจเกลียดชังมันก่อน ก็คือกิเลสประเภทกามารมณ์ เรื่องทางเพศ และก็มาถึงเรื่องของความโกรธเพราะไม่ได้ตามที่ต้องการ ระเบียบปฏิบัติต่างๆ มันก็เพื่อละสิ่งเหล่านี้เหลืออยู่เป็นหลักเป็นอนุสรณ์ เช่นคำว่าละเสียซึ่งอภิชฌาและโทมนัส คำสองคำนี้มีความหมายมากเป็นคำที่ตั้งต้นมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์โน้นและก็ใช้เรื่อยมาจนกระทั่งวันนี้ ปัญหาของมนุษย์ก็คืออภิชฌาและโทมนัส ความยินดีรักอยากเอาอยากได้อยากเป็นอยากยึดครองนี่ก็พวกหนึ่งอยู่ในพวกอภิชฌา อีกพวกหนึ่งก็ตรงกันข้ามคือไม่อยากเอาไม่อยากเป็นไม่อยากได้ไม่อยากมีเกลียดชังหงุดหงิดดุร้าย ที่มันแสดงออกมามันมีสองอย่างอย่างนี้คือเป็นฝ่ายรักหรือเป็นฝ่ายชัง เป็นฝ่ายยินดีหรือฝ่ายยินร้าย เป็นฝ่ายชอบใจหรือไม่ชอบใจ ถ้าจะเรียกสิ่งเหล่านี้ด้วยคำเพียงคำเดียวเป็นหมวดหมู่รวมกัน แล้วก็ใช้สองคำที่ว่าคืออภิชฌาและโทมนัส ถ้าจิตไม่มีอภิชฌาและโทมนัสมันก็สมดุลย์ เป็นจิตที่ปกติไม่มีการรบกวน ไม่มีความรบกวนมันก็เป็นสุข หลักปฏิบัติในพุทธศาสนาก็ยึดถือหลักอันนี้เหมือนกันคือจะกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกนี้เสีย คุณเมื่ออยากจะศึกษาก็ทำตนให้รู้จักสิ่งเหล่านี้ จึงจะเรียกว่าเรียนจากธรรมชาติเป็นเกลอธรรมชาติ หรือเรียนจากธรรมชาติ ซึ่งไม่ได้เรียนจากพระคัมภีร์หนังสือหนังหาอะไรทำนองนั้น ให้เรียนจากธรรมชาติที่เป็นภายในคือมองให้เห็น ค้นให้พบว่าอะไรอย่างไรที่เป็นความรู้สึกที่น่ารังเกียจ มันทำให้เป็นทุกข์ มันทำให้กระวนกระวายกระสับกระส่าย จับตัวปัญหาอันนี้ให้ได้นั้นแหล่ะจึงจะเรียกว่าเรียนจริง มองเห็นไอ้ตัวร้าย ตัวสิ่งที่ควรจะถูกกำจัดออกไปนี้เสียให้ได้ก่อน จึงค่อยคิดดูต่อไปถึงวิธีที่จะกำจัดมันอย่างไร ถ้าเราไม่มองเห็นว่าเราก็มีอภิชฌาและโทมนัสเป็นสิ่งรบกวน ก็อย่าไปเอามาจากในหนังสือ อย่าไปท่องจำมาจากในหนังสือ ให้มองดูลงที่จิตใจว่าอย่างไรเรียกว่ามันเป็นอภิชฌาคือความรู้สึกฝ่ายที่จะเอา แล้วเมื่อไหร่มันมีความรู้สึกตรงกันข้าม ที่อยากจะปฏิเสธไม่อยากจะเอาอยากจะทำลาย เมื่อเราชอบใจเมื่อเรารักใคร่ ความรู้สึกประเภทนี้ทั้งหมดเป็นเรื่องอภิชฌา มันเพ่งเล็งจะเอา ทีนี้เมื่อมันไม่เป็นไปตามความต้องการ มันก็เกิดความรู้สึกที่ตรงกันข้ามคือไม่เอา อยากจะทำลาย มันตรงกันข้ามอย่างนี้ อย่างหนึ่งจะดึงเข้ามาเอา อย่างหนึ่งมันจะตีผลักให้กระเด็นไป ตั้งแต่เราเกิดมามันก็มีความรู้สึกสองอย่างนี้ซ้ำๆซากๆ จนกระทั่งมันหนักแน่นมันหนาแน่นเป็นนิสัยสันดานไป ถ้าเราไม่ต้องการจะกำจัดสิ่งทั้งสองนี้ ก็ดูไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะมาศึกษาธรรมะ เพราะความทุกข์หรือสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ มันอยู่ที่สองอย่างนี้ อยู่ที่อภิชฌาและโทมนัส ยินดีจะเอาและก็ไม่ยินดีที่จะเอา คิดจะคิดทำลายคิดประทุษร้าย ไปมองให้เห็นเสียก่อนว่ามันมีอยู่เพียงเท่านี้จริงๆ แม้ว่ามันจะมีเรื่องมาก มีรูปแบบมากมีกิเลสหลายรูปแบบ มันก็ มันก็อยู่ที่สองต้นตอนี้ ความรู้สึกประเภทที่จะเอาความรู้สึกประเภทที่จะประทุษร้ายและทำลาย ถ้าไม่รู้จักไอ้สองอย่างนี้ มันก็ไม่เกิดความคิดที่จะต้องการอะไรมาแก้ไขอะไร มันก็เรียนธรรมะเพ้อๆไป สอนให้ท่องจำอย่างนกแก้วนกขุนทองนี้ มันไม่เป็นเหตุมันไม่เป็นเรื่องจริงขึ้นมาได้ นี้เราเกิดมาเรากำลังเล่าเรียนอยู่ ปิดภาคเรียนเรามาบวชจะมาศึกษาธรรมะ มันต้องรู้อยู่เห็นอยู่ชัดอยู่ ว่ามันมีปัญหาอย่างไรจึงจะต้องจึงต้องการธรรมะ จึงศึกษาธรรมะ ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็บวชเพ้อๆไป หรือว่าตามธรรมเนียมขนบประเพณี บวชเผื่อๆไปว่า เผื่อมันจะพบอะไรดี อย่างนี้มันก็ไม่แน่ มันก็อาจจะมีประโยชน์อยู่เหมือนกัน บวชลองดูเผื่อจะพบอะไรดี และก็ได้พบอะไรบ้าง จะพบได้อย่างไร เรื่องมันก็ย้อนไปที่ตะกี้อีกว่า เรามีอุปสรรคอะไรมีปัญหาอะไรมีศัตรูอะไรในชีวิตของเรา มาสู่ที่สงัดคิดได้ดีมองเห็นได้ดี ก็มองไปแล้วก็จะพบว่าไอ้สองตัวนี้อีกนั่นเอง อภิชฌาและโทมนัสในโลก ถ้าอยู่ในโลกก็ต้องมีอภิชฌาและโทมนัส เพราะว่าในโลกมันมีให้แต่สองเรื่องนี้สองความหมายนี้ อยู่ในโลกมันจะทำให้เกิดอภิชฌาหรือทำให้เกิดโทมนัสที่อยู่กันอย่างโลกๆ เมื่อเรายังเป็นเด็ก แล้วก็เราโตขึ้นมา เราเล่าเรียนกระทั่งก่อนที่จะมาบวชนี้มันเต็มอยู่ด้วยอภิชฌาและโทมนัสอย่างไร เพราะว่าเราก็อยู่ในโลกนั่นเอง มันเป็นอย่างไร มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร แล้วมันให้ผลเป็นสุขหรือเป็นทุกข์อย่างไร บางทีคุณอาจจะเข้าใจผิดเอาคำๆนี้ไปใช้อย่างผิดๆก็ได้ เช่นว่าเราอยากจะเรียนให้ดีให้เด่น เราก็ต้องมีอภิชฌาในเรื่องการเรียนหรือเมื่อเรียนไม่สำเร็จเราต้องมีความโกรธขัดใจบ้างเป็นธรรมดา ไม่เสียหายที่ตรงไหน ถ้าอย่างนี้แล้วมันก็จะไม่พบกันกับเรื่องของธรรมะ เพราะว่าเพ่งเล็งโลกจากอภิชฌาก็หมายทำด้วยความโง่ อภิชฌาแปลว่าเพ่งเล็งอย่างรุนแรง อภิ เฉพาะ ไอ้ ฌา มันแปลว่าเพ่ง เพ่งเฉพาะเจาะจงในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างรุนแรง เหมือนกับว่าสัตว์มันรู้จักแต่อาหาร เห็นอาหารเข้ามันก็เพ่งเล็งแต่จะกินโดยที่ไม่ต้องรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ความเพ่งเล็งขณะนั้นเรียกว่าอภิชฌา นี่เราก็มีอะไรสำหรับให้เพ่งเล็ง มีเหยื่ออะไรมายั่วยวนใจให้เพ่งเล็ง เห็นตัวอย่างแห่งการเพ่งเล็งเรื่อยๆมา มันก็มีการเพ่งเล็ง ถ้ามันไม่ประสงค์มันไม่สมประสงค์ในการเพ่งเล็ง มันก็คิดหาทางอื่นและก็ไม่มองเห็นว่า ไอ้การเพ่งเล็งนี้มันทำให้เกิดความทุกข์ร้อน เราควรจะทำอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่การเพ่งเล็งด้วยความโง่ที่เป็นกิเลสตัณหาอย่างนี้ เราอยากดิบอยากดีก็ควรจะทำไปด้วยสติปัญญา อย่าอยากดิบอยากดีด้วยกิเลสตัณหาซึ่งมันเป็นการเพ่งเล็งที่เรียกว่าอภิชฌา แต่คนสมัยนี้เขากลัวกันเสียว่า ถ้ามันไม่อยากให้แรงๆแล้วมันจะไม่ได้ เขาเห็นอย่างนั้นมันก็ช่วยไม่ได้มันก็ตามใจเขา เราบอกว่าอยากแต่พอดีเขาว่ามันไม่ทันแก่ความต้องการ เราบอกให้อยากด้วยสติปัญญาอย่าอยากด้วยกิเลสตัณหา เขาก็ยิ่งฟังไม่ถูก แล้วก็ไม่รู้จักว่าอะไรเป็นกิเลสตัณหา กลับเห็นว่ากิเลสตัณหาแหละเป็นของดี เพราะมันเป็นตัวเรา มันเป็นความรู้สึกที่เป็นตัวเรา เป็นความรู้สึกของเราเป็นความรู้สึกที่เป็นตัวเราจะเอาอย่างนั้นจะเอาอย่างนี้ แล้วจะให้เป็นของไม่ดีไปยังไง มันก็เป็นของดีเพราะมันเป็นตัวเรา ผมได้บอกในการพูดครั้งแรกแล้วว่าให้ศึกษาจากธรรมชาติ ทีนี้ก็อธิบายให้เห็นชัดขึ้นไปอีกว่าศึกษาจากธรรมชาตินั้นทำอย่างไร คือจากสิ่งที่มันมีอยู่จริงตามธรรมชาติทั้งภายนอกและภายใน ที่มันอยู่ข้างนอกใจของเราก็เรียกว่าภายนอก ที่มันอยู่ในใจของเราก็เรียกว่าภายใน ที่อยู่ภายนอกนั้นมันผิวเผินมากและมันศึกษาไม่ได้หรอก จนกว่ามันจะเข้ามาเป็นภายในเสียก่อน ไอ้โลกภายนอกยังไม่มีปัญหา มันต้องมาเป็นโลกที่เรายึดถือ หวังหรือต้องการหรือลูบคลำด้วยจิตใจเสียก่อนมันจึงจะเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา หรือว่าเราจะมาดูว่ามันเป็นอย่างไร มันก็ต้องทำให้เป็นเรื่องจิตใจเสียก่อน ฉะนั้นธรรมชาติภายในเท่านั้นที่เราจะสัมผัสได้ด้วยความรู้สึก จะหลงรักอะไรหลงเกลียดอะไรที่อยู่ข้างนอกนั้นเป็นไปไม่ได้ มันต้องเป็นความรู้สึกที่มารู้สึกอยู่ในใจเสียก่อน ดังนั้นท่านจึงสอนกันไว้เป็นหลักว่าอะไรๆ มันก็สำเร็จอยู่ที่จิตใจ มันสำคัญอยู่ที่จิตใจ ให้ดูกันที่ตรงนั้นให้จัดการกันที่ตรงนั้น ในโลกทั้งโลกมันอยู่ข้างนอก มันไม่มีความหมายอะไรจนกว่ามันจะมาเป็นเรื่องของจิตใจมาอยู่ในภายในใจ หรือว่าเรื่องภายนอกนั้น มันก็ยังสำเร็จมาจากจิตใจคือตามที่จิตใจจะไปรู้จักหรือสัมผัสโลกภายนอกได้มาอย่างไร ที่โลกของมันเป็นเองอยู่ภายนอกตามธรรมดามันไม่ทำอะไรกันได้ จนกว่ามันจะเข้ามาเป็นความรู้สึกในจิตใจ นั้นที่โลกมันเปลี่ยนแปลงก็เพราะว่าจิตใจมันเปลี่ยนแปลงไปตามโลก โลกมันจึงเปลี่ยนแปลงปรากฏความเปลี่ยนแปลง เพราะว่าจิตใจมันได้เปลี่ยนแปลงไปตามโลก นั้นเราจึงรู้สึกว่าโลกเปลี่ยนแปลง มันก็เป็นเรื่องความรู้สึกของจิต ตามวิธีปฏิบัติในทางศาสนาจึงทำให้เป็นเรื่องของจิตโดยตรงลงไปเลยไม่เหลืออยู่ข้างนอก ซึ่งทำไม่ได้หรอกเพราะว่าที่จริงมันทำไม่ได้จนกว่ามันจะมาเป็นเรื่องภายใน คือเป็นความรู้สึกของจิตจึงจะรู้จักมันและจะจัดการกับมัน จะป้องกันจะแก้ไขหรือจะทำอะไรก็สุดแท้ อารมณ์ภายนอกทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายอะไรก็ตาม มันถูกกระทำให้เป็นอารมณ์ของจิตในภายใน ไปสัมผัสมันแล้วได้เวทนาอย่างไรมานั้นนะ จิตมันก็สัมผัสอันนั้นอีกทีหนึ่ง ถ้าเป็นเรื่องน่ารักมันก็เกิดอภิชฌาเป็นเรื่องน่าเกลียดมันก็เกิดโทมนัส จึงมีความรู้สึก ๒ อย่างนี้แม้ในสิ่งภายนอกที่อยู่นอกตัวเราออกไปเป็นสัตว์เป็นสังขารเป็นอะไรก็ได้ เพราะเดี๋ยวนี้มันได้เข้ามาอยู่ในใจเราแล้ว มาเป็นธรรมชาติในภายในแล้วเราก็สัมผัสได้รู้สึกได้ศึกษาได้และจัดการกับมันได้ได้ โดยจัดการกับจิตใจแล้วจิตใจมันก็ไปทำกับสิ่งภายนอกชนิดที่ ชนิดที่เราประสงค์คือชนิดที่จะเป็นประโยชน์แก่เราได้ นั่นเราทำจิตใจให้ดีให้ถูกให้ภายนอกมันหมดปัญหาไปไม่ทำอะไรให้เป็นทุกข์ได้ นี่เรียนจากธรรมชาติมันเรียนอย่างนี้ทั้งนั้น คือเรียนจากธรรมชาติในภายในซึ่งเป็นเรื่องของจิตใจ ต้องรู้เรื่องของใจเพราะว่าใจเป็นสิ่งที่เข้าไปจัดการกับทุกสิ่งแม้ที่เป็นภายนอก ฉะนั้นเรื่องเงินก็ดี เรื่องของรักของใคร่ก็ดี เรื่องการเล่าเรียนก็ดี สอบไล่ได้ตกก็ดี มัน มันมากลายเป็นเรื่องในจิตใจ จึงมีปัญหาที่จะทำให้เกิดความทุกข์หรือความไม่ทุกข์ แต่เดี๋ยวนี้มันเป็นเรื่องไม่รู้ เป็นเรื่องโง่จึงเป็นเรื่องให้เกิดความทุกข์มีความทุกข์ไปเสียทั้งนั้น เพราะว่าเรามันมีความอยากมีความต้องการอยู่ตลอดเวลา ตรงนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ว่าถ้าเข้าใจแล้วจะรู้จักประโยชน์อย่างสูงสุดของสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ คือความถูกต้องในการประพฤติกระทำต่อสิ่งต่างๆ ที่มันเข้ามาเกี่ยวข้องกับเราจนเราไม่มีความทุกข์ ระบบประพฤติกระทำนั้นเรียกว่าธรรมะที่ควรปรารถนาอย่างยิ่ง ตามธรรมดาคนเรานี้ มัน มันมีความไม่สงบสุข จะเรียกว่าความทุกข์ไปเลยก็ได้แต่มันไม่รุนแรง มันอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าเรามีความอยากตามความโง่ความหวังด้วยความโง่ โดยไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอยู่ตลอดเวลา เราอยากจะมีนั่นมีนี่อยากจะมีอาชีพมีเงินมีอะไรๆ ที่เราซื้อหามาได้ด้วยเงิน เมื่อยังไม่ได้ตามที่อยาก ก็ไม่ต้องบอกกันละมั้ง ว่ามันเป็นความทุกข์ความทรมานใจ เมื่อมันยังไม่ได้ตามที่อยากมันเป็นความทุกข์ความทรมานใจ นี่มันเป็นเรื่องของคนโง่เพราะอยากด้วยกิเลสตัณหาด้วยอภิชฌา ถ้าคุณเรียนโดยความรู้สึกอันนี้อยากจะสอบไล่ได้ด้วยความรู้สึกอันนี้ ก็เป็นความทุกข์อยู่ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้หรือยังเรียนไม่เสร็จยังสอบไล่ไม่ได้ นี่เรียกว่าเมื่อยังไม่ได้มันก็กระวนกระวายอยู่ด้วยไอ้อภิชฌา นี่ถ้าได้เรียนเสร็จ ได้เงินได้ของรักของพอใจอะไร ได้สิ่งที่เราอยากจะได้ มันก็ไม่ใช่มันจะหยุดไอ้ความกระวนกระวายหรือความทุกข์เพราะว่าความโง่มันยังเหลืออยู่ เมื่อมันอยากด้วยความโง่ได้มาด้วยความโง่มันก็รับไว้ด้วยความโง่ แม้จะได้มาก็เอามาสำหรับรักใคร่ยึดถือหวงแหนหึงหวง สำหรับวิตกกังวลสำหรับหวาดระแวงว่ามันจะกลายเป็นอื่นหรือมันจะตายจากกัน นี่ขอร้องให้เรียนโดยตรงจากธรรมชาติแห่งจิตใจของเราหรือของคนทุกคนอย่างนี้เพราะตามธรรมชาตินั้นเรามันมีแต่ความบ้าอย่างนี้ เมื่อไม่ได้ก็กระวนวายใจเพราะมันไม่ได้ ครั้นได้มาแล้วมันก็กระวนกระวายใจด้วยเพราะไอ้ความรักเพราะความยึดถือ นี่ล้วนแต่เป็นเรื่องของอภิชฌาทั้งนั้น เพราะจิตที่มันไม่ฉลาดจิตที่ไม่มีธรรมะไม่มีแสงสว่างของธรรมะ มันจะเป็นอภิชฌาอยู่เรื่อยไป ที่บางคราวบางโอกาสมันมีอะไรมาขัดคอมาขัดขวางมันก็โกรธเป็นโทมนัสขึ้นมา สมมุติว่าเมื่อไม่ได้ เมื่ออยากแล้วไม่ได้มันก็โทมนัส มันยิ่งแสดงความไม่ได้มากเท่าไรมันก็ยิ่งโทมนัสยิ่งโกรธขัดแค้นมากขึ้นเท่านั้น ไม่ได้ของรักของชอบใจมันก็เป็นโทมนัส พอได้เข้ามามันก็เป็นอภิชฌาอยู่ตามเดิม ทั้งอภิชฌาและโทมนัสนี่ทรมานใจคนทุกคนเลย ผมเชื่อว่าอันนี้เป็นจุดแรกที่ทำให้มนุษย์คนแรกออกจากบ้านเรือนไปอยู่ป่าเป็นฤาษีค้นคว้าไปจนกว่าจะพบเรื่องทำจิตให้หยุดให้สงบ นี่เราคนชั้นหลังนี้ก็ลองตามรอยนี้ดู เราอยู่อย่างชาวบ้านอยู่อย่างปุถุชนอยู่ด้วยอภิชฌาและโทมนัสในโลกมันก็คือทรมาน เราต้องการที่จะขจัดสิ่งร้ายกาจอันนี้ เราไม่อยากจะทนอยู่อย่างนี้เราก็ออกไปค้นหา ถ้ามาบวชก็ควรจะค้นหาอันนี้ให้พบเหมือนกับคนครั้งกระนู้น ออกไปอยู่ในป่าในดง ค้นหาวิธีการกำจัดความรู้สึกอภิชฌาและโทมนัสได้ ก็เรียกว่าได้สิ่งที่มีค่ามาคือธรรมะ ธรรมะคืออะไร ที่ผมอธิบายเป็น ๔ ความหมายนั้น เป็นการถอดใจความตามตัวหนังสือเพื่อให้ตัวหนังสือมันกินความให้หมด พอพูดอย่างนี้ที่ว่าไปค้นพบได้ธรรมะมาดับทุกข์ได้เป็นความหมายของธรรมะในความหมายที่ ๔ คือตัวธรรมชาติอันที่ ๑ เอ้า,ตัวกฏของธรรมชาติอันที่ ๒ ตัวปฏิบัติตามกฏของธรรมชาติอันที่ ๓ และก็ได้ผลแห่งการปฏิบัตินั้นเป็นตัวธรรมะในความหมายที่ ๔ เดี๋ยวนี้เราพบวิธีกำจัดอภิชฌาและโทมนัสออกไปจากจิตใจแล้ว เราก็ได้ธรรมะในความหมายที่ ๔ ซึ่งเป็นผลของการปฏิบัติ ทำให้จิตใจนี้มันไม่ถูกรบกวนด้วยความทุกข์ นี่คือธรรมะในฐานะที่เป็นผลของการศึกษาค้นคว้าปฏิบัติที่มีค่ามีประโยชน์แก่ชีวิตมนุษย์ เราก็มุ่งหมายธรรมะในความหมายนี้กันยิ่งกว่าธรรมะในความหมายอื่นคือธรรมะที่มันดับทุกข์ได้ และก็ต้องดับได้ด้วยและก็มีผลต่อความดับทุกข์ได้ด้วย ไม่ใช่ว่ามันมีไว้จะดับทุกข์แล้วยังไม่ได้ดับอย่างนั้นมันก็ป่วยการ ก็ยังไม่เรียกว่าธรรมะอันนั้นโดยสมบูรณ์ มันต้องเป็นความดับทุกข์แล้วธรรมะนี้ต้องการ ถือเอาความหมายตามพระบาลีบทที่ว่า ธัมโม หะเว รักขะติ ธัมมะจาริง ธรรมะนะเว้ยย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธัมโม หะเว รักขะติ ธัมมะจาริง ธรรมะนะเว้ยย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ไอ้คำว่ารักษานี้ มันคือคุ้มครองไม่ให้เป็นทุกข์และก็รักษาไปเสร็จแล้วไปทันทีที่มีการประพฤติธรรม เรามีธรรมะสำหรับรักษาจิตไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาได้และก็มันมีค่าอยู่ที่ตรงนั้น เมื่อทำให้จิตไม่ต้องเป็นทุกข์ได้ก็เรียกว่ามีธรรมะเมื่อนั้น นั้นไม่ใช่ธรรมะในหนังสือ มันไม่ใช่ธรรมะสอบไล่ ไม่ใช่ธรรมะพูด ธรรมะเถียงกัน แต่มันเป็นธรรมะคือตัวการปฏิบัติ แล้วมันก็คุ้มครองจิตไม่ให้เป็นทุกข์ในทันที จึงเรียกว่าธรรมะรักษาผู้ประพฤติธรรมะ นี่คือธรรมะที่เราต้องการ เรามีปัญหาอย่างไรมีความทุกข์อย่างไร ธรรมะที่เราต้องการนั้นก็เพื่อจะขจัดไอ้ความทุกข์หรือปัญหานั้นออกไปเสียให้จิตมันไม่ต้องเป็นทุกข์
พูดว่าเราก็คือจิตนั่นเอง จิตใจนี้มันอยู่กับร่างกาย มันทำอะไรได้ รู้สึกได้ คิดนึกได้ มันทำได้ แต่เราพูดเรียกมันโดยความรู้สึกว่าเรา ว่าเราทำ กลายเป็นมีเราทำ ในการทำให้เกิดความรู้สึกว่าเราขึ้นมานี้ก็เป็นความไม่รู้เป็นความโง่ความหลงที่จะสร้างให้ความทุกข์ให้เกิดขึ้นมาอีก เมื่อความทุกข์มันเกิดขึ้นมาจากเราแล้วจะเอาเราไหนไปดับความทุกข์ หลักธรรมะที่แท้จริงมันก็เป็นหลักปฏิบัติสำหรับกำจัดความรู้สึก ว่าเรานั้นเสียให้เหลือแต่จิตบริสุทธิ์กายบริสุทธิ์ความรู้สึกคิดนึกบริสุทธิ์ มันทำกันไปได้โดยไม่ต้องมีเราและไม่ต้องมีความทุกข์ นี่คือตอนที่ยากสุดเข้าใจยากที่สุดของสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ที่ให้กำจัดความรู้สึกว่าเราเสีย แล้วจึงจะหมดความทุกข์ เดี๋ยวนี้เราอยากมีเราสำหรับเป็นสุขเราก็ไม่ยอมกำจัดเรา เราก็ต้องมีความทุกข์ไปตามแบบที่มีเรา ความรู้สึกที่มีเรามันเป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกอภิชฌาและโทมนัสได้ในตอนหลังๆ ถ้าไม่มีความรู้สึกเป็นเรา ความรู้สึกประเภทอภิชฌาและโทมนัสมันก็เกิดไม่ได้คือมันยินดียินร้ายไม่ได้ ทุกอย่างที่ออกชื่อมา คุณต้องมองดูให้พบให้รู้จักหน้าตาของมันทุกอย่างทุกอย่างทุกๆชื่อ ที่มีอยู่ในจิตปรากฎแก่จิตรู้สึกอยู่ในจิต ไอ้ความรู้สึกที่หลงๆผิดๆ มันก็จะหายไปหายไปเหลือแต่ความรู้แห่งจิตที่มันถูกต้องและมันก็ไม่เกิดปัญหาสำหรับจะเป็นทุกข์ด้วยอภิชฌาหรือโทมนัส คำอธิบายตอนนี้ผมเองก็จนปัญญารู้สึกท้อแท้เหมือนกันที่จะพูดให้ผู้อื่นฟัง ว่าไอ้เรื่องไม่มีเรานี้มันทำกันอย่างไร ใครๆมันมีเรากันมาเต็มที่ทั้งนั้น แล้วเราเป็นผู้ต้องการธรรมะแล้วจะให้มามองเห็นว่าที่แท้มันไม่มีเรานั้น มันก็พูดยาก พูดกับคนไทยด้วยกันอย่างพูดกับพวกคุณนี้ผมก็ยังพูดยากพูดลำบากพูดให้เข้าใจไม่ได้ พอจะไปพูดให้พวกฝรั่งฟังก็ยิ่งยากมากขึ้นไปอีกหลายเท่า พูดให้เขาเข้าใจเรื่องไม่มีเรา ความรู้สึกว่าเรา ว่ามีตัวเรา เราเป็นนั่นเป็นนั้นนะคือความเข้าใจผิดเห็นผิดของจิต เราเข้าใจผิดกันมาตลอดกาลตั้งแต่เกิดมาจากท้องของมารดา โผล่ขึ้นมาก็มีความรู้สึกเป็นเรา และก็มีมากขึ้นๆ เป็นของเรา มันก็ต้องการอะไรตามความรู้สึกของมัน ไม่ต้องรู้กันว่าจริงหรือไม่จริงผิดหรือถูกดีหรือชั่ว ไม่ต้องรู้ ต้องการจะเอา ถ้าไม่ได้ก็โทมนัสถ้าได้ก็ยิ่งอภิชฌายิ่งขึ้นไปอีก แต่ถ้าศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาทกันให้ละเอียดสักหน่อยทุกขั้นทุกตอนจนรู้สึกว่าอภิชฌาคือความอยาก มันเกิดขึ้นมาอย่างไรแล้วจะรู้สึกว่า เมื่อไอ้ความอยากเกิดขึ้นแล้วมันทำให้หลงไปว่า เราอยาก ไอ้ตัวเรานี้มันมาหลังเกิดขึ้นหลังความอยาก ผู้อยากนี่เกิดขึ้นทีหลังความอยาก เพราะมันไม่มีตัวตนแท้จริงมีแต่จิตกระแสของจิตที่เป็นไปปรุงกันไปเป็นความอยากเกิดขึ้นในจิต พอความอยากอย่างรุนแรงเกิดขึ้นในจิตแล้ว มันเกิดความรู้สึกตามมาอีกอันหนึ่งว่า เราอยาก ไอ้เรามันเกิดที่ตรงนี้ เกิดหลังความอยาก ถ้าจะเข้าใจเรื่องไอ้ไม่มีเราเป็นอนัตตาไม่มีเรา เราเป็นของมายาลมๆ แล้งๆ ก็ต้องสนใจตรงนี้ จนกระทั่งรู้สึกว่าไอ้ความอยากมันก็เกิดขึ้นมาได้ด้วยการปรุงแต่งในทางจิตใจ ก่อนนี้มันก็ไม่มี และเกิดเป็นความรู้สึกเป็นความอยากขึ้นมาได้อย่างรุนแรง พอความรู้สึกอยากรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว ไอ้ความรู้สึกที่เป็นเงาตามมาทีหลังก็ตามมาคือว่าเราอยาก ฉันอยาก ฉันต้องการ ฉันจะได้ฉันจะเอาเป็นของฉัน ไอ้ ฉัน มันเพิ่งเกิดหลังจากความอยากจึงพูดไว้ว่าผู้อยากเกิดทีหลังความอยาก มันผิด logic ทางตัวหนังสือก็ดี ทางเหตุผลทั่วๆไปก็ดี ทำไมจึงมีความอยากได้โดยไม่ต้องมีตัวผู้อยากและความอยากนั้นเองเป็นเหตุให้เกิดตัวผู้อยาก มันผิดความรู้สึกธรรมดาสามัญแต่ความจริงมันเป็นอย่างนั้น นี่คือธรรมะประเภทปัญญาหรือวิชชาที่จะต้องศึกษาต่อไป เพื่อจะกำจัดอภิชฌาและโทมนัสนั้นเสีย เป็นเรื่องปัญญา อภิชฌานั้นเป็นเรื่องความโลภคือราคะ โทมนัสเป็นเรื่องโทสะหรือโกรธะ ความไม่รู้เรื่องตัวตนนี้มันเป็นโมหะ ฉะนั้นต้องกำจัดโมหะจึงจะหมดตัวตน นี่เป็นหลักพื้นฐานทั่วไปที่จะต้องมองให้เห็นจะต้องเข้าใจให้ได้ มันเป็นธรรมชาติในจิตใจเป็นภายในอยู่เป็นปกติอย่างนี้ เป็นหลักพื้นฐานที่มันต้องเป็นอย่างนี้และมันจะก่อให้เกิดอย่างอื่นได้อีกมาก นี้เราไม่รู้จักเรื่องตาหูจมูกลิ้นกายใจ เรื่องสัมผัสแล้วเกิดความรู้สึกเวทนาตัณหา ความอยาก ตัวผู้อยาก เราไม่รู้เสียเลย เรารู้สึกแต่ว่าเราและก็อยาก อยากแล้วก็กระวนกระวายได้มาก็ยังกระวนกระวายไม่ได้ก็โกรธ ถ้าว่ารู้สึกว่าเรื่องนี้มันยาก มันก็ถูกแล้วเพราะว่ามันเป็นเรื่องของจิตเท่านั้นที่จะรู้หรือไม่รู้ที่จะคิดนึกอะไรขึ้นมาและมีความทุกข์และตัวมันเองจะต้องดับทุกข์ มันก็เป็นเรื่องยาก ที่จิตเพียงสิ่งเดียวเป็นทุกสิ่ง ฟังดูแล้วมันไม่น่าเชื่อว่ามันจะเป็นได้ ไอ้ตัวที่รู้สึกเป็นทุกข์ก็คือจิต ไอ้ตัวที่มันคิดจะดับทุกข์เสียมันก็คือจิต แล้วมันก็ต้องกระทำเกี่ยวกับจิตนั้นอีกจึงจะดับไอ้ความรู้สึกที่เป็นทุกข์เสียได้ มันมีการคิดได้ก็คิดว่ามีตัวฉันเป็นผู้คิด ไอ้เรื่องตัวฉันมันก็หนักเข้าไปอีกเน้นหนักเข้าไปอีก เป็นตัวฉันเน้นหนักเข้าไปอีกมันเลยถอนไม่ได้ นี่คือความยากลำบากของธรรมะอย่างลึกซึ้ง ผมอาจจะโง่ไปก็ได้ที่เอาเรื่องที่มันยากที่สุดลึกซึ้งที่สุดมาพูดกับคุณเป็นเรื่องแรก เป็นเรื่องปฐมนิเทศและก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร ถ้ามันตั้งต้นที่ถูกเรื่องมันก็ต้องพูดเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ลึกและยากที่สุดที่จะกำจัดกิเลสที่มาจากตัวกูของกูซึ่งเป็นเรื่องของจิตและโดยจิตนั่นเอง เพียงแต่จิตคืออะไร อย่างไร เมื่อไรก็ยังเข้าใจยากยังดูเห็นยาก จิตเป็นตัวเราเสียเรื่อย มันมีความสำคัญรู้สึกเป็นตัวเราเสียเรื่อย มันก็เห็นตัวเรามันก็ไม่เห็นจิต ไม่เห็นจิตล้วน ๆ ที่ปราศจากความรู้สึกว่าตัวเรา ถ้าหลักธรรมะในพุทธศานาก็มีเป็นระบบปฏิบัติเพื่อจะแยกความรู้สึกว่าตัวเราออกไปเสียจากจิต ให้จิตมันหลุดพ้นจากความห่อหุ้มของความรู้สึกว่าตัวเรา จิตหลุดออกมาได้จากความรู้สึกอันนี้ก็หลุดพ้น มันก็ไม่มีความทุกข์เพราะความรู้สึกว่าตัวเรา ถ้าคุณชอบอ่านหนังสือเรื่องเว่ยหล่างหรือฮวงโป ก็ให้เข้าใจเสียให้ถูกต้องว่าเขาไม่พูดพล่ามทำเพลงอะไร เขาไปเอ่ยถึงไอ้เรื่องจิตที่มันปราศจากความรู้สึกว่าตัวเรา จิตที่ไม่มีความรู้สึกว่าตัวเราหุ้มห่ออยู่ จิตที่เปลื้องความรู้สึกว่าตัวเรานี้ออกไปเสียได้ เขาก็เรียกมันว่า จิตเดิมแท้ ในหนังสือเรื่องเว่ยหล่างนั้นเรียกว่าจิตเดิมแท้คือจิตล้วนๆ ไม่มีไอ้ความรู้สึกว่าตัวเราตัวกูหุ้มห่อ รู้จักอันนั้นได้ดีด้วยวิธีใดมันก็หมดเรื่องเหมือนกัน พอมาถึงหนังสือเล่มฮวงโปมันไม่ยักเรียกว่าจิตเดิมแท้มันไปเรียกว่าจิตว่าง จิตเป็นอิสระจิตที่ไม่มีอะไรไปแตะต้อง ก็คือจิตที่ปราศจากความรู้สึกว่าตัวกูของกูนั่นอีกเหมือนกัน ถ้าความรู้สึกว่าตัวกูของกูมันไปหุ้มห่อจิตอยู่ปรุงแต่งจิตอยู่ก็ว่าจิตนั้นมันไม่ว่าง หนังสือเล่มที่เรียกว่าฮวงโปมันก็ใช้คำว่าว่างเป็นหลัก ไอ้หนังสือเล่มแรกเรื่องเว่ยหล่างมันใช้คำว่าเดิมแท้หรือล้วนๆ จิตล้วนๆ จิตเดิมแท้นั้นเป็นหลัก จริงๆก็เรื่องเดียวกัน นี่ก็ควานเรียกว่าควานหากว้างออกไป ก็ว่าให้มองเห็นว่าอะไรๆ มันก็ว่างจากความรู้สึกว่าตัวเราว่างจากความหมายว่าตัวเรา เขาก็เลยพูดเป็นทำนองว่าพระพุทธเจ้าก็ว่างจากความหมายว่าตัวเรา พระธรรมก็ว่างจากความหมายว่าตัวเรา พระสงฆ์ก็ว่างจากความหมายว่าตัวเรา อะไรๆ ก็ว่างจากความหมายว่าตัวเรา เลยยกเอาเรื่องความว่างมาพูด ให้จิตมันว่างจากความรู้สึกว่าตัวเราให้จนได้ ถ้าเข้าใจหลักอันนี้แล้วก็จะอ่านหนังสือ ๒ เล่มนั้นรู้เรื่องแล้วก็จะเห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เป็นพุทธศาสนาอย่างอื่น นี่เป็นพุทธศานาอย่างเดียวกันแต่วิธีพูดเขามีอย่างอื่นเขามีวิธีพูดแบบบุกเข้าไปถึงศูนย์กลางเลย ไม่มัวร่ำทำเพลงอยู่รอบๆ เหมือนกับวิธีอย่างเถรวาทหรือวิธีตามแบบฉบับทั่วๆไป สร้างวิธีใหม่ที่เรียกว่าบุกเข้าถึงตัว เขาไม่พูดมากเรื่องนั้นเรื่องนี้ เรื่องทานเรื่องศีลอะไรก็ไม่ค่อยพูด พูดถึงเรื่องหัวใจแท้ๆ ว่าจิตนี้ต้องเกลี้ยง ต้องแท้ ต้องล้วนและก็ว่างจากความรู้สึกยึดมั่นถือมั่น ถ้าใครพบจิตที่มีลักษณะอย่างนี้สักแวบหนึ่งเขาก็ถือว่าคนนั้นบรรลุธรรมะอย่างเซน ต่อไปมันก็ติดตามได้มันก็รักษาไว้ได้ เรียกว่าวิธีรวดเดียวถึง ฉับพลัน ไม่มีมัวโอ้เอ้ๆอยู่ นี่ก็เรียกว่าธรรมะระบบหนึ่งที่เขาจัดไว้สำหรับวิธีการที่ฉับพลัน แต่โดยเนื้อแท้แล้วธรรมะเดียวกันคือธรรมะที่จะทำให้ไม่มีความรู้สึกว่าตัวกูหรือของกู เมื่อคุณตั้งใจจะเรียนจากภายในก็ดู มันมีตัวกูอย่างไรของกูอย่างไร มันกลุ้มอยู่ด้วยไอ้อันนี้ตลอดเวลาอย่างไร ไม่เคยว่าง ไม่เคยเกลี้ยง ไม่เคยเดิมแท้ พยายามเอาเองก็ได้ ไม่ใช้หนังสือหนังหาเหล่านี้ก็ได้พยายามเอาเองก็ได้ ให้มันพบความที่จิตเกลี้ยงไปหรือว่างไปจากความรู้สึกว่าตัวกูของกู เท่าที่เรารู้สึกตั้งแต่เกิดมามันไม่เคยว่าง ไม่เคยเป็นอิสระ ไม่คิดก็แล้วไปพอคิดก็คิดอย่างนี้ ถ้าจิตมันหยุดคิดไปเสียมันก็แล้วไป ไอ้ว่างอย่างนั้นมันไม่มีความหมายอะไรเพราะมันไม่ได้คิดอะไร แต่พอจิตมันคิด มันคิดในรูปแบบของตัวกูของกูเสมอมันจึงไม่ว่าง ฉะนั้นเราจึงไม่เคยพบไอ้ที่ว่างจากตัวกูของกู เมื่อหลับก็หลับไปมันไม่มีความรู้อะไรเกิดขึ้นพอตื่นขึ้นมาก็คิดแบบมีตัวกูอยู่เสียเรื่อย นี้ธรรมชาติที่ลึกลับมันมีอยู่อย่างนี้ ถ้าเรารู้เท่าทันมัน มันก็คงจะเร็วขึ้นในการที่จะรู้เรื่องไอ้ความไม่มีตัวกูของกูและก็ทำจิตให้เป็นอย่างนั้นได้ แล้วก็ได้พบจิตที่หลุดพ้น จิตที่บริสุทธิ์ จิตที่เกลี้ยง จิตที่เป็นอิสระ ที่เป็นยอดสุดของธรรมะที่ควรจะได้รับ นี่ผมพูดให้ทราบว่าไอ้ทั้งหมดมันมีอยู่อย่างนี้ ระบบของธรรมะมันมีอยู่อย่างนี้ ตั้งต้นอย่างนี้ แล้วเดินไปอย่างนั้นและไปจบลงที่นั่น เราจะเอาหรือไม่เอานั้นมันอีกปัญหาหนึ่ง เราจะเอาหรือไม่เอา ไม่เอาก็ตามใจแต่ระบบของธรรมะมันมีอยู่อย่างนี้ ถ้าไม่เอาก็ได้ เอาครึ่งๆ กลางๆ ก็ได้ แต่คงไม่สำเร็จประโยชน์อะไรเพราะมันยังเหลือเป็นตัวกูของกูอยู่ด้วยอภิชชาและโทมนัสต่อไป ถ้ามันถึงที่สุดมันจึงจะหมดเรื่องของอภิชชาและโทมนัส ฉะนั้นแต่ละวันละวันโดยเฉพาะเมื่อคุณพักอยู่ที่นี่สำรวจดูให้ดี มันมีอภิชชาและโทมนัสอย่างไร ลองเปรียบเทียบกับก่อนแต่บวชหรืออยู่ในกรุงเทพที่เป็นสิ่งที่เต็มด้วยอารมณ์สำหรับก่อให้เกิดอภิชชาและโทมนัสนั่นน่ะ เรามีอภิชชาและโทมนัสกันอย่างไร ไม่ต้องเอาเรื่องคนอื่นเพราะว่าเรื่องของเรามันอยู่ในจิตใจของเราแล้ว เรารู้สึกได้ง่ายเห็นได้ง่าย ทีนี้มองดูสิ่งเหล่านั้นว่ามันน่าเกลียดน่าชังน่าอิดหนาระอาใจอย่างไรมีมากมีน้อยเท่าไร เดี๋ยวนี้จะต้องการธรรมะเพื่อขจัดสิ่งเหล่านั้นหรือไม่ โดยแท้จริงถ้ามาบวชก็เพื่อจะรู้เรื่องนี้บวชอยู่ก็ต้องพยายามให้ทำในเรื่องนี้จึงจะถูกตรงตามความมุ่งหมายของการมาบวชในศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา ที่ล้วนแต่สั่งสอนเพียงข้อเดียวเท่านั้นว่าให้มันหมดไปเสียจากความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูว่าของกู ที่เรามันมีมากมีแน่นหนาอยู่ในสันดาน มันถอนออกยากต้องใช้วิธีการที่ฉลาดมันไม่ใช่วิสัยของคนโง่และอวดดี ไอ้หลักการของพวกเซ็นมันยังมีดีอยู่อย่างที่ว่ามันไม่ยอมพึ่งพาอาศัยพระคัมภีร์ยังอยู่นอกพระคัมภีร์อยู่เรื่อย คือมุ่งตรงไปยังตัวธรรมชาติด้วยความรู้สึกในจิตใจอย่าไปลอกเอามาจากพระคัมภีร์อย่าหวังว่าพระคัมภีร์จะช่วย นี่เขาเอาจริงกันขนาดนั้น เขาจะเอาเนื้อเอาตัวเราเป็นพระคัมภีร์เอาธรรมชาติอันแท้จริงนี้เป็นพระคัมภีร์แล้วดูกันที่นี่ศึกษากันที่นี่เรียนที่นี่ จึงพูดเป็นอุปมาว่าอาจารย์เซ็นมันฉีกพระไตรปิฎกทิ้งหมดทั้งนั้นเพราะมันเป็นเรื่องที่รุงรังเกะกีดเกะกะขวางทางอะไรอยู่ไปวนเวียนอยู่แต่ในตัวหนังสือในพระคัมภีร์สู้มาเรียนโดยตรงจากตัวธรรมชาติไม่ได้ ถ้าจะเรียนจากธรรมชาติก็ทำอย่างผมว่า มันดูจิตใจที่เป็นอยู่อย่างไรเต็มอยู่ด้วยอภิชชาและโทมนัสอย่างไร ดูถอยหลังย้อนลงไป ย้อนลงไป เมื่อก่อนบวชมันจะยิ่งเห็นอภิชชาและโทมนัสมากและแน่นหนากว่าเมื่อกำลังบวชอยู่เสียอีก ถ้าเห็นอภิชชาและโทมนัสก็หมายความว่ารู้จักโดยแท้จริงว่าเป็นอะไร คืออะไร อย่างไร เพื่ออะไร ร้ายกาจอย่างไรตามวิธีที่เขามีไว้สำหรับดูว่าไอ้สิ่งนี้คืออะไร สิ่งนี้มันมาจากอะไร เมื่อรู้จักลักษณะของมันแล้วก็มารู้จักสมุทัยของมันว่ามันมาจากอะไร ก็รู้ว่ามันมีปสาทะ ที่ทำให้คนหลงอย่างไรหลงเป็นของน่ารักน่าพอใจอย่างไร ก็ดูว่าความเลวทรามของมันอันตรายของมันที่จะทำให้เกิดความทุกข์นี้เป็นอย่างไร อุบายที่จะออกมาเสียได้จากมันนั้นเป็นอย่างไร นี่เราดูกิเลสของเราว่ามันเป็นอย่างไรโดยนัยยะอันนี้ คืออะไรคือมีลักษณะอย่างไรมีกี่อย่างกี่พวก อาจจะเปรียบเทียบอย่างไรอุปมาอย่างไร ให้รู้ แล้วมันสวยงามเอร็ดอร่อยอย่างไรและมันเลวร้ายขบกัดอย่างไร วิธีไหนออกมาให้พ้นจากสิ่งเหล่านี้ได้ ทั้งหมดนี้มีอยู่ในภายในของคนที่ยังมีชีวิตเป็นๆ อยู่ยังไม่ตายถ้าตายก็เลิกกัน มันคิดนึกอะไรไม่ได้และมันก็ไม่มีอะไรให้ดูด้วย ไม่มีกิเลสให้ดูด้วย พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสชัดลงไปว่าในร่างกายที่ยังเป็นๆ ที่มีสัญญาและใจคือยังเป็นๆอยู่ มันมีอะไรครบหมดสำหรับให้เรียนให้ดู นี่คือสิ่งที่ผมเรียกว่าให้เรียนจากธรรมชาติ ให้ดูธรรมชาติให้เรียนจากธรรมชาติแล้วก็ที่เป็นภายในด้วยคืออย่างนี้ แล้วจะพบว่าธรรมะไอ้สิ่งที่เรียกว่าธรรมะที่ต้องประสงค์อย่างยิ่งนั้นด้วย ที่ดับทุกข์ได้ ก็รู้อยู่ประจักษ์แก่ใจด้วย ก็ลองคิดดู ปิดภาคเรียนแล้วเราบวชกันสักเดือนหนึ่งนี่จะดูได้สักกี่มากน้อย จะดูได้สักเท่าไร ลึกลงไปได้สักเท่าไหร่ก็ลองพยายามดู เป็นเรื่องที่คุณจะต้องดูเองแล้วทีนี้คือต้องทำเอง ผมมันแนะได้แต่วิธีดูแล้วคุณก็ต้องไปดูเองที่เรียกว่าทำเองประพฤติด้วยตนเอง ผมเชื่อว่าถ้าคุณเข้าใจที่ผมกำลังพูดนี้แล้วคุณคงจะไม่เสียหลาย คงจะมองดูเห็นบ้างคงจะรู้จักธรรมะตัวจริงบ้างและคงจะเห็นลู่ทางที่จะแก้ไขให้มันดีขึ้น ให้ชีวิตนี้มันดีขึ้นไปเพราะธรรมะนั่นเองก็รู้จักธรรมะกันเสียที รู้จักสิ่งที่เรียกว่าจิตกันเสียที รู้จักว่าไอ้สิ่งที่มาปรุงแต่งจิตให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเราของเราตัวกูของกูกันเสียที ให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าอภิชชาและโทมนัสในโลกนี้ซึ่งมีอยู่ตลอดเวลาในจิตกันเสียที มันมีสิ่งๆ หนึ่งซึ่งมันรู้อะไรได้ก็เรียกว่าธาตุ นามธาตุ มโนธาตุ วิญญาณธาตุอะไรแล้วแต่จะเรียก มันเป็นธาตุอันหนึ่งซึ่งมันรู้สึกได้ มันไม่ใช่รูปธาตุที่รู้สึกไม่ได้ ไอ้ธาตุนี้นี่คือตัวเรื่องตัวปัญหาตัวการอยู่ที่ธาตุจิตนี้ แต่เขามักจะเรียกว่าวิญญาณธาตุ ธาตุดินธาตุน้ำธาตุไฟธาตุลมธาตุอากาศธาตุวิญญาณ ธาตุนี้เมื่อมันทำหน้าที่คิด คิด ปรุงแต่งอย่างคิดเราเรียกมันว่าจิต เมื่อมันทำหน้าที่รู้สึกนั่นนี่ได้เราเรียกมันว่ามโน เมื่อมันรู้สึกสัมผัสทางภายนอกเราเรียกมันว่าวิญญาณเช่นวิญญาณทางตาทางหูทางจมูก มันทำหน้าที่สัมผัสสิ่งภายนอกเราเรียกมันว่าวิญญาณ เมื่อมันทำหน้าที่รู้สึกคิดนึกรู้สึกอยู่ภายในเราเรียกว่าจิต เมื่อมันทำหน้าที่รู้สึก รู้สึกในทางภายในมีสัญญามีอะไรก็ตามอย่างนี้เราเรียกว่ามโน มันก็สิ่งเดียวกันทำหน้าที่แตกต่างกัน บางทีเรียกว่าจิตบางทีเรียกว่ามโนบางทีเรียกว่าวิญญาณ ถ้าตัวหนังสือมันยุ่งนักก็อย่าไปสนใจก็ได้ แต่ว่ามันมีสิ่งหนึ่งที่เราเรียกว่าจิตเป็นตัวร้ายเป็นตัวปัญหา เป็นตัวสร้างนั่นสร้างนี่กระทั่งสร้างโลกสร้างอะไรก็ได้แล้วมันแล้วแต่มันจะคิดไป หรือมันให้ความหมายอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา ทำให้มันเป็นอิสระจากมิจฉาทิฏฐิมันก็รู้อะไรของมันเองได้ วิธีการก็เปลื้องจิตออกเสียจากมิจฉาทิฏฐิ เหลือเป็นจิตล้วนๆ จิตเดิมแท้แล้วมันรู้อะไรของมันได้เพราะว่าไอ้ธรรมชาติของมันเป็นอย่างนั้นเอง อย่าให้อวิชชาหรือกิเลสครอบงำจิตจิตจะรู้อะไรถูกต้องได้โดยธรรมชาติของมันเอง ไอ้สิ่งที่เรียกว่าเราคือสิ่งที่จิตคิดขึ้นรู้สึกขึ้น มันมีความคิดผิดทางและมันเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าเรา ปัญหามันก็เกิดกันที่ตรงนี้ ไปเที่ยวรักเที่ยวชังเที่ยวยินดียินร้ายที่มีอภิชชาและโทมนัสในโลกเพราะจิตมันมีอวิชชา คุณอ่านหนังสืออะไรอยู่คิดนึกอะไรอยู่ตามใจ ลองปรับปรุงสิ่งเหล่านั้นให้มันเข้ารูปเข้ารอยกันกับหลักเกณฑ์อันนี้ของธรรมชาติ ระบบของธรรมชาติที่มันมีอยู่อย่างนี้ มันยากลำบากอยู่ที่มันมีแต่เพียงจิตสิ่งเดียวเท่านั้นจะทำอะไรหมดทุกอย่าง จะผิดจะโง่จะเป็นทุกข์มันก็คือจิต จะรู้แจ้งจะดับทุกข์มันก็คือจิต จะต้องการมันก็คือจิตจะทำให้ได้ตามต้องการมันก็คือจิต ถ้าทำผิดหลักเกณฑ์ของความสงบสุขแล้วมันก็ต้องเป็นทุกข์เป็นธรรมดา จิตนี้มันจะจัดจิตเองให้มันไปถูกต้องตามทางของความถูกต้องของธรรมชาติอย่างไรนี่คือปัญหา นี่คือธรรมะที่เราจะต้องหาให้พบจะศึกษาเล่าเรียนอะไรให้กว้างขวางสักเท่าไรมันก็ไม่นอกไปจากไอ้หลักเกณฑ์อันนี้ที่กำลังพูดอยู่ รีบไปรู้จักอภิชชาและโทมนัสเสียแล้วก็จะรู้จักจิตรู้จักความทุกข์รู้จักความหลุดออกไปจากความทุกข์สมตามความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา นี่ไปๆ มาๆ ผมก็ยังพูดได้แต่เพียงวิธีที่คุณจะไปทำเอาเองและมุ่งหมายจะพูดอย่างนั้นคือวิธีที่คุณจะไปทำเอาเอง เพราะฉะนั้นมันก็ยังเป็นเรื่องนิเทศอยู่นั่นดีอยู่ดี ปฐมนิเทศ ทุติยนิเทศ ตติยนิเทศ จตุตถนิเทศอะไรก็ตาม ก็พูดแต่เรื่องแนะวิธีที่จะไปประกอบกระทำเอาด้วยตนเอง และสำหรับวันนี้คิดว่ามันพอสมควรแก่เวลาแล้วจะขอยุติการพูดครั้งนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้