แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพุทธทาส : คืนวันอาทิตย์ เป็นเวลาที่กำหนดไว้สำหรับตอบข้อสงสัยแก่พระเณรที่อยู่ในวัด ไม่ใช่เรื่องอบรมนวกะ มันพูดให้ผิดจากความเป็นจริงที่เคยทำมา วันนี้เป็นวันตอบปัญหา ถ้ามีปัญหาอะไรก็ขอให้ถาม แล้วก็จะได้ตอบให้มันตรงกับความประสงค์ พระเก่าก็ได้พระใหม่ก็ได้ นี่คืนวันอาทิตย์ที่เคยปฏิบัติมา ฉะนั้นเดี๋ยวนี้มีปัญหาอะไรนิมนต์ว่ามา ต่อเมื่อตอนสุดท้ายไม่มีใครจะถามอะไร ผมจึงจะพูดอะไรของตัวเองสักเรื่องหนึ่งก็ได้ เล่าอะไรให้ฟังกันสนุกๆ ก็ได้ ตอนนี้ขอให้เป็นการตอบข้อสงสัยของผู้ใดที่มีข้อสงสัยในเรื่องอะไร นิมนต์ถามได้เลย//
คำถาม : ผมอยากจะกราบเท้าขอความกรุณาท่านชี้แจงบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติธรรมและธรรมชาติ โดยจะเป็นประโยชน์ทั้งในที่นี้... เสียงเบามาก ฟังไม่ชัดเจน(นาทีที่ 02:40 - 02:57)//
ท่านพุทธทาส : ก็ถือว่าเป็นคำถามเหมือนกัน คือปฏิบัติธรรมโดยอาศัยธรรมชาตินั้นทำอย่างไร/ เอ้า,ทีนี้ขอคำถามคนอื่นอีกผู้อื่นอีก ถามเสียคราวเดียวกันก็ได้ มันตอบได้เนื่องๆ กันไป//
คำถาม : ท่านอาจารย์ครับ ผมจะขออนุญาตถามเกี่ยวกับอุบายในการเอาความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจเป็นครั้งคราวนี้มาใช้ในแง่ที่เป็นประโยชน์...เสียงเบามาก ฟังไม่ชัดเจน(นาทีที่ 03:37) แต่ผมไม่เข้าใจแจ่มชัด คือบางทีเวลาเกิดความทุกข์ประเภททำนองอุปสรรคหรืออย่างที่อาจารย์เรียกว่ามารขึ้นมานี้ พอจะพิจารณาให้เห็นได้ตามสายของปฏิจจสมุปบาทอะไรทำนองนี้ แต่ว่าไม่สามารถจะเอามาใส่ในความรู้สึกว่าให้ละความยึดมั่นทำนองนั้นได้ เช่นว่าความทุกข์เป็นความเจ็บอย่างนี้ ผมเข้าใจว่าสาเหตุมาจากอะไร แต่ความเจ็บนั้นมันก็ยังทำให้รู้สึกเจ็บอยู่ ผมก็ละไม่ได้ ผมไม่เข้าใจว่าจะทำอย่างไรดี//
ท่านพุทธทาส : นี้มันก็เรื่องการปฏิบัติธรรมโดยอาศัยเหตุการณ์ของธรรมชาติอยู่ด้วยเหมือนกัน ความเจ็บไข้ก็ดี อุปสรรคก็ดี มันก็มีอยู่ตามธรรมชาติ เรียกว่ามันเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วเราจะทำอย่างไรให้กลายเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ไปเสีย เรื่องธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่มันมีของมันเอง เราไปบังคับมันไม่ได้ หรือไปเปลี่ยนมันโดยตรงนั้นไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนฝ่ายตัวเราได้ คือต้อนรับมันในฐานะที่กลับเป็นประโยชน์ไม่ใช่เป็นโทษแก่เรา นี้ขอให้ถือหลักว่าเป็นพุทธบริษัทต้องสามารถเอาชนะความทุกข์ ความทุกข์เป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ จะไม่ให้มีก็ไม่ได้ แล้วมี,ก็มีตามธรรมชาติ ฉะนั้นถ้าเราเก่งจริง เราก็ทำให้มันไม่มีทุกข์ หรือถ้าดีไปกว่านั้นอีก ก็ทำให้มันกลายเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์ไปเสีย เช่น เป็นบทเรียนสำหรับการปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพานไปเสีย
นี่ขอให้เข้าใจตอนนี้ว่า อะไรเกิดขึ้นแรงมาก เราก็เปลี่ยนทิศทางหรือกระแสของมันให้เป็นไปแต่ในทางที่เป็นประโยชน์ มีคนถามตั้งสองสามราย เรื่องถูกขโมยทรัพย์สมบัติไปเป็นแสน ซึ่งมันก็เป็นเรื่องมากสำหรับคนๆ นั้น แล้วจะให้ทำอย่างไร จะมาทุกข์ มาร้องไห้ มาเป็นทุกข์ กินไม่ได้นอนไม่หลับอยู่ มันจะมีประโยชน์อะไร ทีนี้เราอยากให้เขาถือเอาเป็นโอกาสว่านี่แหละมันเป็นเรื่องศึกษาและสอบไล่ที่ดีที่สุด ถ้ามันไม่เกิดขึ้น แล้วจะศึกษาได้อย่างไร ถ้ามันไม่เกิดขึ้นแก่จิตใจ ก็ศึกษาไม่ได้ มันจะมีโอกาสสอบไล่ว่าจิตใจของเราเข้มแข็งหรือปรกติได้อย่างไรถ้ามันไม่มีเรื่องอะไรเกิดขึ้น ครั้นเมื่อมันมีเรื่องอะไรเกิดขึ้น มันก็มามารถที่จะศึกษาเต็มที่ แล้วก็สอบไล่ไปในตัวเสร็จ ถ้าไม่ทำอย่างนี้มันก็มีแต่ความทุกข์ เสียใจไปนานๆ ก็เป็นโรคประสาท บางคนอาจจะเป็นบ้าเลย หรือที่เลวร้ายไปกว่านั้น ก็จะทำให้เกิดเรื่องฆ่ากันตายหรืออะไรก็ได้ ไม่ใช่ว่าเราจะอยากให้ใครมาขโมยหรือมาทำให้เราเป็นทุกข์ลำบาก แต่ถ้าเรื่องชนิดนั้นมันเกิดขึ้นแล้ว เราจะต้อนรับมันในฐานะที่ไม่ใช่เรื่องของความทุกข์ ไม่ใช่เรื่องของความเสีย แต่ให้กลายเป็นเรื่องของความได้ สมมติว่ามันเอาไปสองแสนอย่างนี้ แล้วเราจะต้องเสียตั้งสองแสนดี หรือว่าเราจะทำให้ได้อะไรมาซึ่งมีค่ามากกว่าสองแสน ก็กลายเป็นได้กำไรไปเสียอีก แต่มันเป็นเรื่องทางจิตทางวิญญาณ ไม่มีตัววัตถุปรากฏ เขาไม่รู้ว่ามันได้อะไร ซึ่งมันมากกว่าสองแสนที่เสียไป เขาก็เห็นว่าทำไม่ได้
นี่เรื่องของชาวบ้านที่เป็นเรื่องทางวัตถุเกินไป มันเอามาพูดกับเรื่องของธรรมะไม่ได้ แต่ถ้าเขาเป็นนักเลงอยู่บ้าง รู้เรื่องทางจิตใจอยู่ ก็อาจจะทำให้มันเป็นเรื่องที่ได้อะไรกลับคืนมาจากการที่ต้องเสียวัตถุไปถึงเท่านั้น นี้ผมเชื่อว่ามันจะต้องมีกันทุกคน ความวิบัติความเสียหายกะทันหันหรือรุนแรงหรืออะไรต่างๆ กระทั่งต้องเสียอวัยวะเกือบจะเสียชีวิต เรื่องนี้มันจะต้องมี ทำอย่างไรจะเอาสิ่งที่เสียไปนั้นให้กลายเป็นสิ่งที่ได้ขึ้นมา มันก็อยู่ในพวกที่รู้จักต้อนรับธรรมชาติ ถ้ามันเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ต้อนรับมันในฐานะที่ให้ความรู้ที่เกี่ยวกับธรรมชาติที่ลึกซึ้ง กลายเป็นเรื่องของความไม่ยึดมั่นถือมั่นไปเลย ในเรื่องที่ถามว่าทำอุปสรรคให้เป็นประโยชน์เป็นคุณไปเสีย หรือว่าทำมารให้กลายเป็นพระไปเสีย เหมือนอย่างคำบรรยายในวันนั้น ก็มีความหมายอย่างเดียวกัน มีหลักการอย่างเดียวกัน อุปสรรคทำให้เราเข้มแข็งให้เราฉลาดขึ้นกว่าเดิม ถ้าไม่เคยพบกับอุปสรรคคนเราก็โง่อยู่ตลอดเวลา อุปสรรคเป็นเหตุให้คิดค้น กระทั่งเลยไปถึงประดิษฐ์อะไรต่างๆ ขึ้นมาให้มันเกินหน้าอุปสรรคไปเสียอีก ผู้ที่เป็นมารกับเรา เราถือว่าเขามาสอนเรา มาให้บทเรียนแก่เรา มาสอบไล่เรา ว่าเรามันดีจริงแค่ไหน เรื่องความทุกข์ที่มันเอามาให้นั้นมันก็มีความหมายมีค่าตามมาตรฐานของความทุกข์ แต่เราต้องได้อะไรกลับมาที่มันมีค่ายิ่งกว่านั้น ก็เพราะมันมีมาร มีพญามาร จึงทำให้เกิดมีพระ ถ้าไม่มีมารพระก็ไม่มีทางที่จะเกิด เหมือนเรื่องความดีนี้มันมีค่า เพราะมันมีความชั่วคอยเป็นคู่เปรียบเทียบอยู่ ถ้ามันไม่มีความชั่วเป็นคู่เปรียบเทียบ คำว่าดีๆ มันก็ไม่มีความหมาย ฉะนั้นของที่เป็นคู่ มันอาศัยคู่ที่ตรงกันข้ามเป็นเครื่องทำให้เกิดค่าหรือความหมาย ชั่วก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีดีเป็นเครื่องเทียบคู่อยู่ มันก็ชั่วไปไม่ได้ มันไม่รู้จะชั่วอย่างไร
ฉะนั้นถ้ามันเป็นเรื่องชั่วเรื่องทุกข์ ก็ให้ถือว่ามีมาสำหรับให้รู้จักแก้ไข ให้มันมาสอนเราให้ฉลาดขึ้น ไม่ใช่ให้ว่าไปทำชั่ว แต่ว่าถ้าว่ามันมีเข้ามาโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจจะทำ เกิดความเสื่อมเสียความอะไรก็ตาม ซึ่งเขามักจะเรียกกันว่าโชคร้ายอย่างนี้ มันก็ต้องมีตามธรรมชาติ ฉะนั้นต้อนรับให้มันกลายเป็นโชคดีไป คือมันเข้ามาครอบงำจิตใจ ทำให้เกิดต่อสู้ทางจิตใจ ให้เฉลียวฉลาดในด้านจิตใจ อย่างนั้นมันแพง ถ้ามันไม่มีอันนี้เกิดขึ้น เราก็ไม่รู้จะฝึกฝนในทางจิตใจอย่างไร จะต่อสู้ไปในทางจิตใจอย่างไร มันก็ทำไม่ได้ เพราะมันไม่มีเรื่องจริง มันได้แต่คาดคะเนเอาว่าจะทำได้ มันก็เหลวทั้งนั้น เหมือนเรียนธรรมะแต่ปาก มันไม่ได้มีเรื่องจริงเข้ามาเกิดขึ้นสำหรับให้ทดสอบดูหรือปฏิบัติดู จะว่าโชคร้าย มันก็ร้ายต่อเมื่อเราไปรับเอาในฐานะที่เป็นโชคร้าย ถ้าเราไม่รับเอาในฐานะที่เป็นโชคร้าย มันก็ไม่เป็นโชคร้าย มันจะกลายเป็นโชคดีที่ได้ทำอะไรอย่างว่า คือได้สิ่งที่มีค่ามากกว่าส่วนที่มันเสียไป แต่ถ้าเขามองกันแต่ในแง่วัตถุแล้ว มันเข้าใจไม่ได้
แต่เราอยากจะให้เขามองว่า เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่มันหลีกไม่ได้ มันต้องมี สิ่งที่เป็นโชคร้ายให้เสียเงิน เสียทอง เสียข้าว เสียของ มันเป็นสิ่งที่ต้องมี มันหลีกไม่ได้ แล้วคุณจะต้อนรับมันอย่างไรนี่ เอาสิ,ลองดูสิ อะไรที่มันจะไม่มีในลักษณะที่เรียกว่าโชคร้ายนั้นมันไม่มี มันมีไม่ได้ มีเงินมีทองมันก็มีส่วนเสีย มีทรัพย์สมบัติก็มีส่วนเสีย มีลูกมีเมียมันก็มีส่วนเสีย ทุกอย่างมันมีส่วนได้แล้วมันก็มีส่วนเสีย เราเห็นว่าเรื่องได้เรื่องเสียเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ต้อนรับในฐานะเป็นสิ่งที่ให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติในการที่เกิดมาในโลกนี้ จุดรวบยอดของมัน มันไปอยู่ที่รู้จักสลัดออกไปเสียจากจิตใจ คือคำพูดที่ไม่ค่อยเข้าใจกัน แล้วก็เอาไปล้อเล่น คือคำว่าทำจิตให้ว่าง เป็นคำพูดที่คนส่วนมากไม่เข้าใจ บางทีเอาไปล้อเล่นดูหมิ่นดูถูกเพราะไม่เข้าใจ มันไม่มีอะไรจะดีเลิศไปกว่าความมีจิตว่าง มันเป็นธรรมะสูงสุดในพระพุทธศาสนา ซึ่งฝ่ายมหายานเขาพูดถึงกันจนเป็นเรื่องธรรมดา ฝ่ายเถรวาทยังโง่เง่าคลานต้วมเตี้ยมอยู่ ไม่ค่อยรู้เรื่องจิตว่างคือเรื่องสุญญตา ให้มันศึกษาและทดลองปฏิบัติให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับสุญญตาความว่างหรือความมีจิตว่างให้เพียงพอ เพราะมันเป็นยอดสุดของธรรมชาติ
ความว่างจากตัวตนนั้นเป็นยอดสุดของธรรมชาติ ของความจริงของธรรมชาติ ที่เป็นหลักธรรมะเป็นพุทธภาษิต ก็มีคำกล่าวว่า โลกนี้คือทุกสิ่งในสากลจักรวาลนี้ มันว่างจากความหมายแห่งตัวตน แต่เรียกเป็นบาลีเรียกสั้นๆ ว่า ว่างจากตัวตนและว่างจากของตน คือมันไม่ได้เป็นตัวตนได้ และมันไม่อาจจะเป็นของของตนของใครได้ นี้ยอดสุดของธรรมชาติ ที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติก็เป็นอย่างนั้น ที่เราเข้าไปยึดถือเอามาเป็นของเรา มันก็ยังคงเป็นอย่างนั้นอยู่นั่นแหละ ทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง บุตร ภรรยา สามี อะไรก็ตาม ที่เราเอามายึดไว้ว่าเป็นของเรานี้ มันก็ยังเป็นอย่างเดิม แต่โดยเหตุที่ว่าเราพอจะจับจะทำไปได้ พูดกันรู้เรื่องได้ ก็รวมหัวกันทำชนิดให้ได้รับประโยชน์กันไปได้ในระหว่างเพื่อนฝูง ในระหว่างญาติ ในระหว่างผัวเมียนี้ ก็ทำไปได้ แต่ถ้ามันแสดงบทบาทธรรมชาติจริงๆ ของมันขึ้นมาแล้ว ระวัง อย่ามานั่งร้องไห้ให้ขายขี้หน้าของพุทธบริษัท ควรจะรู้จักทำให้ปรกติ แก้ไขให้มันถูกต้องเรื่อยไปเป็นปรกติ แล้วก็ไม่ต้องโกรธแค้นฆ่าฟันยิงกันง่ายๆ เหมือนอย่างที่กำลังเป็นข่าวอยู่เดี๋ยวนี้ แม้ในหมู่ชนชั้นศึกษาครูบาอาจารย์ เป็นหัวหน้าหัวตานี้ ก็ยังโง่เง่าขนาดที่ว่าผิดใจอะไรนิดหนึ่งก็ยิงกันเลย เรื่องผัวเรื่องเมียนี้เป็นมากที่สุด เพราะมันไม่รู้เรื่องของธรรมชาติ
ที่ผมเคยพูดว่าให้ทุกคนพยายามศึกษาจากธรรมชาติ ฟังก้อนหินพูด ฟังต้นไม้พูดให้ได้ยิน เป็นการศึกษาจากธรรมชาติ นี้บางคนก็ไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจก็ทำไม่ได้ อันนั้นแน่นอน มันไม่เข้าใจแล้วก็เอาไปพูดผิดๆ ได้ พวกที่ชั้นต่ำสุดเขาอยากจะฟังก้อนหินพูดต้นไม้พูดในลักษณะที่เป็นการบอกเบอร์ นี่เขามาต่อว่าก็มี จิตใจมันมุ่งมั่นแต่อย่างนั้น พูดธรรมะกลายเป็นเรื่องบอกเบอร์ ต้องการให้สิ่งเหล่านี้บอกตัวเลขไปซื้อเบอร์ นี้แสดงว่าจิตใจมันยังเป็นวัตถุมากเกินไป ไม่เข้าใจเรื่องธรรมชาติทางนามธรรมอันละเอียด ระหว่างที่มาอยู่สวนโมกข์มันก็พูดได้ว่ามีโอกาสใกล้ชิดกับธรรมชาติมาก ฉะนั้นถือโอกาสนี้ศึกษาธรรมชาติให้ได้รับประโยชน์จากธรรมชาติ ถ้าว่าธรรมชาติแท้ๆ มันก็ต้องหมายถึงไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่ของตน พอยึดเอามาเป็นตัวตน เอามาเป็นของตนเสีย มันก็คือผิดธรรมชาติ แล้วจะยุ่ง
คำว่าธรรมชาตินี้ เป็นคำที่ทำความยุ่งยากลำบาก มันไม่รู้ว่าธรรมชาติอย่างไร เพียงไหนเรียกว่าธรรมชาติ เพียงไหนไม่เรียกว่าธรรมชาติ ถามพวกฝรั่งดูมันก็ยุ่งเหมือนกัน มันก็ยังพูดไม่ได้ว่าเพียงไหนเรียกว่าธรรมชาติ เพียงไหนเรียกว่าผิดธรรมชาติ ในที่สุดมันต้องแล้วแต่กรณีที่เราจะพูดกัน แต่ในทางพุทธศาสนานั้นง่ายนิดเดียว คือมันไม่มีอะไรที่มิใช่ธรรมชาติ ในภาษาไทยหรือภาษาบาลีพูดได้ว่าไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ แต่คำว่าธรรมชาติตัวนี้ พอไปแปลเป็นภาษาฝรั่งเข้า มันไม่ได้ความ มันไม่ได้เรื่องตรงตามที่มันให้ความหมายในภาษาไทยหรือในภาษาธรรม ฉะนั้นเอาภาษาธรรมเป็นหลัก ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่เรื่องของธรรมชาติ สิ่งต่างๆ ที่เป็นวัตถุแผ่นดินอะไรก็เป็นเรื่องธรรมชาติ เรื่องสัตว์เรื่องต้นไม้กระทั่งเรื่องคน ความรู้สึกคิดนึกจิตใจของคน ทั้งเนื้อทั้งตัวของคน ทีนี้เขาถามว่า เรือน บ้านเรือน ตึกราม เครื่องประดิษฐ์ต่างๆ นี้ธรรมชาติหรือมิใช่ธรรมชาติ เพราะเขาเล็งถึงว่ามนุษย์มันทำขึ้น มนุษย์สร้างเรือบินขึ้น มนุษย์สร้างตึกอะไรมาขึ้นมา ถูกแล้ว,มันไม่ได้เป็นไปเองตามธรรมชาติง่ายๆ ทางวัตถุ แต่แล้วมันก็เป็นเรื่องที่ต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ มันจึงสร้างสำเร็จ ฉะนั้นความรู้ที่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติเท่านั้นมันจึงจะมีการประดิษฐ์อะไรขึ้นมาได้ถูกต้องตามที่ต้องการ ก็เรียกว่ายังไม่ทิ้งหลักของธรรมชาติ แล้วมันไม่ทิ้งหลักธรรมชาติที่ลึกไปกว่านั้นอีก ก็คือว่ามันไม่ใช่ตัวตนและไม่ใช่ของตนอยู่นั่นแหละ เช่นว่าจะสร้างตึกขึ้นมาร้อยชั้น สร้างเรือบิน สร้างยานอวกาศ สร้างอะไรได้ด้วยสติปัญญาของมนุษย์ แต่แล้วมันก็ไม่อยู่ใต้อำนาจของมนุษย์ มันอยู่ใต้กฎของธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวตนของมันเองและไม่ใช่ตัวตนของผู้สร้าง มันจะต้องเป็นไปตามเรื่องราวของธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติอยู่นั่น ฉะนั้นเราจะต้องมีจิตใจที่จะต้อนรับหรือว่าเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ให้ถูกต้อง อย่าให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาเป็นอันขาด จึงจะเรียกว่าเป็นพุทธบริษัทผู้มีความรู้ธรรมะ ซึ่งไม่มีอะไรนอกไปจากเรื่องของธรรมชาติ
คุณช่วยจำกันไว้ให้แม่นยำว่า ธรรมะนั้นมันไม่ใช่เรื่องอะไรนอกไปจากเรื่องของธรรมชาติเลย มันเป็นเรื่องของธรรมชาติในแง่มุมต่างๆ กัน อย่างที่ผมให้ความหมายจำกัดความของคำว่าธรรมะไว้สี่ความหมาย ตัวธรรมชาติทั้งหลายก็เรียกว่าธรรม ตัวกฎของธรรมชาติก็เรียกว่าธรรม ตัวหน้าที่ของมนุษย์,หน้าที่สำหรับมนุษย์ตามกฎของธรรมชาติก็เรียกว่าธรรม หรือได้ผลอะไรมาก็เรียกว่าธรรม และธรรมก็คือธรรมชาตินั่นแหละ คือธรรมชาติในแง่มุมต่างๆ กัน ถ้ารู้ธรรมะในสี่ความหมายนี้แล้ว คือรู้ธรรมชาติถึงที่สุดไม่มีเหลือ เมื่อฝึกปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์เหล่านี้หมด มันก็หมดปัญหา ไม่มีความทุกข์ ความทุกข์เป็นเรื่องของธรรมชาติ คนก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ ต้องยกไว้ให้เป็นเรื่องของธรรมชาติ อย่าเอามาเป็นความทุกข์ร้อนอยู่ในใจ คุณเข้าใจข้อนี้แล้วจะเข้าใจหัวใจของพุทธศาสนา ยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือจะเข้าใจส่วนที่พุทธศาสนามันเลิศประเสริฐกว่าศาสนาใดๆ เราพูดอย่างนี้ต่อหน้าคนในศาสนาอื่นก็คล้ายๆ กับว่าเรามายกตัวเองข่มคนอื่น แต่ทีนี้เราไม่ได้คิดอย่างนั้น เราจะถือว่าเป็นการพูดกันภายในก็ได้ แต่ขอให้ถือว่าเป็นการพูดถึงความจริงอันหนึ่ง ซึ่งหลักของพระพุทธศาสนานี้มันไปไกล ไปลึก ไปสูงสุดกว่าหลักในศาสนาใดๆ ก็ได้ จะเท่ากันได้ก็แต่ในพวกหลักที่พูดถึงความว่างจากตัวตนด้วยกันเท่านั้นแหละ สังเกตเห็นมีอยู่แต่ลัทธิของเต๋าของเหลาจื้อลัทธิเดียวเท่านั้นแหละที่จะมาเคียงไหล่กับหลักธรรมะเรื่องว่างเรื่องสุญญตาในพุทธศาสนาได้ นอกนั้นไม่เห็นมี
เอาล่ะ,เป็นอันว่าเรื่องว่างจากตัวตนนั่นแหละ ว่างจากของตนนั่นแหละ จำไว้ให้ดีๆ สองคำนี้ คือยอดสุดของธรรมชาติ ถ้ามานั่งใกล้ก้อนหิน มานั่งใกล้ต้นไม้ ได้ยินมันพูด ก็ให้ได้ยินเป็นมันพูดเรื่องความว่างจากตัวตน-ว่างจากของตน คือความคิดอันนี้มันจะเกิดขึ้นมาในจิตใจของคนเราได้ง่าย ในเมื่อเรามาเป็นอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ให้เป็นธรรมชาติให้มากที่สุด ความคิดจะเป็นไปในทางว่างจากตัวตนเอามากทีเดียว แต่บทเรียนที่จะต้องทำเพื่อให้ได้อย่างนั้นมันมีมาก มันมีนับตั้งแต่เบื้องต้นเบื้องต่ำกว่านั้นอีกมาก กว่าจะสูงขึ้นไปได้ถึงขนาดนั้น เป็นเรื่องของปัญญาของวิปัสสนา พร้อมที่จะเกิดความรู้สึกว่าไม่ใช่ตนไม่ใช่ของตนขึ้นมา มันมีระบบใหญ่ยืดยาว ฉะนั้นเป็นอยู่ให้ดีๆ ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ แล้วความรู้สึกเรื่องไม่ใช่ตนเรื่องไม่ใช่ตัวตนของตนนี้จะค่อยๆ เกิดขึ้น
ขอผนวกกันไปเลยถึงเรื่องว่าประโยชน์จากการบวช แล้วบวชแบบนี้ด้วย แบบมาอยู่กับธรรมชาตินี้ด้วย คือขอให้คุณถือเอาประโยชน์จากการบวชเป็นพิเศษอยู่ข้อหนึ่ง คือว่าระหว่างบวชนี้เรามีการฝึกฝนการกระทำที่มิได้เป็นไปเพื่อตัวตนหรือของตน ประโยชน์ของการบวชไม่ใช่มีเพียงข้อเดียวเท่านี้ มีมาก,มีมากข้อเหลือเกิน อย่างที่เคยพูดให้ฟังแล้ว แต่ว่ามันมารวมจุดอยู่ที่ตรงนี้ ตรงที่ฝึกการเป็นอยู่ชนิดที่ทำให้เข้าถึงความจริงเรื่องความไม่มีตัวตนหรือของตน จะพูดไปตั้งแต่ข้างบนว่าเราทำอะไรในระหว่างบวชนี้ ต้องถือว่าไม่ได้ทำเพื่อตัวตน ไม่ได้ทำเพื่อของตน ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วไม่สมกับที่เป็นการบวช หรือไม่ได้บวชด้วยซ้ำไป ที่นี่เรามีวันกรรมกร คือวัน ๗ ค่ำ,๑๔ ค่ำ เรียกว่าวันกรรมกร พระเณรช่วยกันทำอะไรที่มันเป็นเรื่องเหงื่อไหลไคลย้อยที่เรียกว่าทำงานหนักนั้น แต่แล้วต้องทำด้วยจิตที่มิใช่ทำเพื่อตัวเรา หรืออะไรๆ ที่มันเนื่องกับเรา ไม่มีใครขอบใจว่าคุณได้ทำ ไม่มีใครให้รางวัลว่าได้ทำ และผู้ทำจะต้องทำเพื่อให้รู้รสของการทำงานมิใช่เพื่อตัวเรา
เมื่อคุณอยู่ที่บ้าน จะเป็นการเรียนก็ดี การงานก็ดี อะไรก็ดี มันเพื่อตัวเรา เพื่อของของเรา ที่เกี่ยวเนื่องกับเราทั้งนั้นแหละ แล้วไม่ว่าจะมีอาชีพชนิดไหน การเคลื่อนไหวทุกกระเบียดนิ้วมันเป็นไปเพื่อผลแก่ตัวเราหรือของเรา ทีนี้ถ้าในระหว่างบวชนี้อย่าให้เป็นอย่างนั้น ไม่ทำงานหนักเหนื่อยเหงื่อไหลไคลย้อย ก็ต้องไม่หวังว่าจะได้ผลอะไรเป็นตัวเราหรือของเรา หัดทำงานการที่มิใช่เพื่อตัวเราจนกว่าจะสึกจะลาสิกขาไป ถ้าลาสิกขาออกไปแล้วยังทำได้อย่างนี้อีกก็ยิ่งวิเศษแหละ จะไม่มีความทุกข์เลย เดี๋ยวนี้ที่เขาพูดว่าทำงานเพื่อประเทศชาติ เพื่อมนุษย์ในโลก เพื่อโลกนี้ ไม่จริง มันพูดแต่ปาก มันเพื่อตัวผู้ทำนั่นเอง ไปดูก็เห็น แต่ทีนี้อยากจะให้ฝึกกันในระหว่างบวชนี้ ถ้าทำอะไรก็ให้ทำใจเสียใหม่ว่าไม่ได้ทำเพื่อเราหรือที่มันเกี่ยวกันกับเรา ให้มันชัดลงไปเลยว่าทำให้พระศาสนาก็ได้ อย่าให้มีตัวเราเข้าไปอยู่ในนั้น ทำเพื่อมนุษย์ทั้งโลก เพื่อโลก เพื่อชาติอะไรก็ได้ ก็ขอให้ทำมันจริงๆ เถอะ อย่าให้มันเป็นเพื่อเรา แม้จะกินอาหารก็กินด้วยความรู้สึกที่ถูกต้อง ไม่ใช่มีความหมายมั่นเป็นตัวเรา เราหิว เรากิน กินเพื่อเรานี้ อย่าให้มันมี ตามบทปัจจเวกขณ์ที่เรียกว่าธาตุปัจจเวกขณ์ ที่สวดกันอยู่เกือบจะทุกวันนั้น บิณฑบาตนี้ก็ดี ผู้บริโภคบิณฑบาตนี้ก็ดี มิใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน อัตตาชีโวนั่น นั่นแหละมันเป็นจุดตั้งต้นที่ดีมาก ที่ทำให้รู้จักธรรมชาติ ฉะนั้นการบวชจะรู้จักธรรมชาติข้อนี้ได้ง่ายกว่าไม่บวช จะได้ปฏิบัติธรรมโดยธรรมชาติ จากธรรมชาติ เพื่อธรรมชาติอะไร ล้วนแต่เป็นเรื่องของธรรมชาติ
ฉะนั้นอย่าทำเล่นกับเรื่องบวช แล้วก็เรื่องกระทำทุกอย่างในระหว่างที่บวช ขอให้ทำด้วยจิตที่ว่างจากตัวตนและของตน ให้รู้สึกว่าเป็นเพียงการเคลื่อนไหวของร่างกายและจิตใจไปตามกฎเกณฑ์อันเฉียบขาดของธรรมชาติ เช่นว่าเราไปอาบน้ำอย่างนี้ ก็อย่าคิดว่าเราหรือกูอาบน้ำให้อร่อยสักทีอย่างนี้ อย่าไปเกิดความรู้สึกอย่างนั้น มันจะเป็นไปในทางส่งเสริมความรู้สึกเป็นตัวตนเป็นของตน เดี๋ยวนี้ร่างกายมันต้องการพบน้ำ แล้วก็ทำไปตามธรรมชาติ เพื่อความปรกติของร่างกาย อย่ามีตัวเรา วิธีที่เขาใช้กันอยู่ เขาก็ใช้คำว่าหนอ หนอนี่มันดีมาก แต่คนไม่รู้เรื่อง กลายเป็นเอามาล้อเล่นกันเสีย แล้วคนโง่มันก็ใช้ไม่เป็นถึงมันจะพูดอยู่ เช่นว่าอาบน้ำหนอ,นี่ มันไม่ได้หมายความว่ากูอาบน้ำหนอ มันเป็นเรื่องการอาบน้ำของความรู้สึกตามธรรมชาติของกายของอะไรไปตามธรรมชาติ มันสักว่าการอาบน้ำเท่านั้นหนอ ไม่ใช่กูอาบน้ำให้อร่อยสักที คือให้มันมองเห็นเป็นสักว่าการกระทำที่เรียกกันว่าการอาบน้ำเท่านั้นหนอ สุนัขของเราบางตัวชอบอาบน้ำที่สุด ผมก็ดูมัน มันก็ไม่ได้คิดว่ากูจะอาบน้ำให้อร่อยสักทีหนอ มันไม่มี มันเป็นเรื่องที่มันร้อนแล้วมันก็ลงไป ทีนี้มันเคยพบความสบายเมื่ออยู่ในน้ำ มันก็ชอบลงไปอีก มันไม่ได้หมายมั่นเป็นเรื่องกูเรื่องอะไรมากมาย มันก็ทุกเรื่องแหละ เรื่องถ่ายอุจจาระ เรื่องปัสสาวะ เรื่องเดิน ยืน นั่ง นอน เรื่องฉัน เรื่องการงาน เรื่องอะไรทุกอย่าง ให้มันทำไปด้วยจิตว่าง ไม่มีความหมายมั่นเป็นกูทำ กูได้ กูเสีย กูเอา กูอร่อย ความรู้สึกอันนั้นมันไม่ใช่ธรรมชาติ ถ้าธรรมชาติก็ธรรมชาติของความโง่ มันผิดจากธรรมชาติของความบริสุทธิ์หรือธรรมชาติอันแท้จริง ธรรมชาติอันแท้จริงมันไม่มีตัวกู ไม่มีของกู ไม่มีตัวตน ไม่มีของตน ฉะนั้นถ้ามันมีความรู้สึกประเภทตัวตนของตนขึ้นมา รีบหยุด,หยุดมันเสีย สลัดออกไปเสียจากจิตใจ เพราะอันนี้มันโง่ไปแล้ว ให้มันเป็นจิตปรกติ ไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่ของตนอยู่ตลอดไป เช่นฉันอาหารอย่างนี้ ก็ว่านี่มันเป็นเพียงกิริยาอาการแห่งการกินอาหารตามธรรมชาติเท่านั้นหนอ ก็กินหนอๆ คือว่ามันเป็นสักว่าการกิน กิริยาอาการที่เรียกว่าการกินเท่านั้นหนอ ไม่ใช่ว่ากูจะกินให้อร่อยสักที มีความหมายมั่นอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ไปบิณฑบาตด้วยซ้ำไป กลับมากูจะกินให้อร่อยสักที แล้วคอยจ้องหาแต่เรื่องที่จะกินให้อร่อยสักที นี่มันผิดหลักตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ ยถาปจฺจยํ ปวตฺตมานํ ไปเสียแล้ว
ฉะนั้นเมื่อทำอะไร ก็ให้มันรู้สึกแต่ว่ามันเป็นการกระทำอย่างนั้นตามธรรมชาติเท่านั้นหนอ ไม่ใช่กูทำหรือของกู แต่ผมก็บอกว่ามันยาก และผมก็ยอมรับ เลยอยากบอกว่ามันยาก มันทำได้ยาก มันจะมีสติอย่างนี้โดยสมบูรณ์ได้ยาก แต่ถ้าทำได้ นั่นแหละเป็นตัวพระพุทธศาสนา เพราะเมื่อมีสติอย่างนี้อยู่ คือไม่มีตัวกู-ของกู มีแต่การเป็นไปตามอาการของธรรมชาติเท่านั้นหนอ มันเป็นจิตว่าง มันเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ทำอะไรอยู่ก็ตามใจ กินอาหารอยู่ก็ได้ อาบน้ำอยู่ก็ได้ ทำการทำงานอะไรที่คิดว่าเป็นประโยชน์อยู่ก็ได้ มันจะไม่เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงได้ แต่มันเผลอสติ กูเป็นผู้กิน กูเป็นผู้ได้ กูเป็นผู้เสียนี่ เดี๋ยวมันติดในรสอร่อยนั้น มันก็โลภไป มันมีความโลภเกิดขึ้น
ทีนี้เมื่อมันไม่ได้ตามที่มันโลภ มันก็โกรธ มันก็มีโทสะขึ้นมา แล้วการที่ทำอยู่อย่างนั้นมันก็เป็นโมหะอยู่ตลอดเวลา มันก็มีโลภะโทสะโมหะอยู่ตลอดเวลาที่มันมีตัวกู-ของกู มันก็ผิดธรรมชาติไปใหญ่โต หรือจะเรียกว่าธรรมชาติก็ธรรมชาติฝ่ายที่เป็นทุกข์ มีความทุกข์ต้องทนทรมาน แล้วจะเอาความรู้ไหนมาเปลี่ยนความทุกข์นี้ให้กลายเป็นความไม่ทุกข์เหมือนที่ได้พูดมาแล้วข้างต้น มันจะยิ่งยากเกินไปนะ ที่เปลี่ยนความทุกข์ให้เป็นสุข เปลี่ยนมารให้เป็นพระนั้นมันยิ่งยากไปกว่านี้อีก ถ้ามันไม่มีสติปัญญาพอที่จะระมัดระวังการทำอะไรด้วยจิตว่างแล้ว มันก็ยากแหละที่จะไปเปลี่ยนสิ่งๆ หนึ่งให้มันกลับตรงกันข้าม
ฉะนั้นเราจะอยู่ด้วยธรรมชาติที่บริสุทธิ์ บวชอยู่ก็ได้ ไปอยู่บ้านสึกไปแล้วก็ได้ ขอให้มันอยู่ด้วยธรรมชาติอันบริสุทธิ์ คือธรรมชาติแห่งความรู้สึกคิดนึกหรือกระทำด้วยจิตว่างจากตัวกู-ของกู ความที่มันว่างจากตัวกู-ของกูนี้เราเรียกว่าธรรมชาติอันบริสุทธิ์ ถ้าอยู่ด้วยธรรมชาติอันนี้แล้ว มันเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงไม่ได้ เพราะมันผิดพลาดไม่ได้ ถ้าครอบครัวไหนมันมีความรู้เรื่องนี้กันดีแล้ว มันจะเป็นครอบครัวที่วิเศษที่สุด จะไม่รู้จักกันกับความทุกข์ไม่ว่าอะไรมันจะเกิดขึ้น มันกลายเป็นครอบครัวของพระอริยเจ้าไป/ มีอะไรถาม//
คำถาม : อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ที่ว่าว่างนี้ กับเวทนาที่เป็นกลางๆ คือไม่สุขไม่ทุกข์ กับฌานที่ ๔ ในอานาปานสติ แตกต่างกันอย่างไรครับ//
ท่านพุทธทาส : เวทนาไม่สุขไม่ทุกข์นั้น เขายังไม่ใช้คำว่าว่าง เขาใช้คำว่าอทุกขมสุข อย่าเพิ่งใช้คำว่าอุเบกขา ถ้าองค์ของฌานที่ ๔ เขาใช้คำว่าอุเบกขา ก็ยังไม่ได้ใช้คำว่าว่าง เพราะเรื่องของฌานนั้นยังไม่ฉลาดด้วยปัญญาจนถึงกับรู้จักว่าง แต่เมื่อดูถึงอากัปกิริยาท่าทีที่มันเป็นไปในขณะนั้น ก็พอที่จะสมมติไว้ในพวกว่าง คือว่าในความรู้สึกที่เป็นองค์ฌานขนาดอุเบกขานั้นมันจะมีตัวกู จะมีความรู้สึกประเภทตัวกู-ของกูไม่ได้ แต่ถ้าออกจากฌานแล้ว อาจจะพอใจในความสุขนั้นในฐานะเป็นตัวกู-ของกูก็ได้เหมือนกัน แต่ถ้าในขณะแห่งฌานแล้ว อุเบกขานั้นสงเคราะห์ไว้ในพวกว่าง แต่ยังไม่ใช่สติปัญญาที่ทำความว่าง ถ้าอย่างนั้นขอให้จำไว้ว่า คำว่าว่างนี้มีความหมายหลายระดับ อยู่เฉยๆ ไม่ได้คิดเป็นตัวกู-ของกู มันก็เรียกว่าว่าง นอนหลับเสียก็เรียกว่าว่าง อารมณ์มันดี มันปรกติ มันไม่กลัดกลุ้มด้วยเรื่องตัวกู-ของกูมันก็ว่างอยู่ ก็ต้องการอารมณ์อย่างนี้แหละสำหรับเป็นอยู่สำหรับมีความสุข ทีนี้พอมีอะไรมายั่ว มันทนไม่ได้ มันกลายเป็นวุ่น มันหมดว่างเสีย สุขเวทนาก็ทำให้เกิดตัณหาทางหนึ่ง ทุกขเวทนาก็ทำให้เกิดตัณหาทางหนึ่ง แม้แต่อทุกขมสุขเวทนามันก็ทำให้เกิดความวิตกกังวลความสงสัยอะไรที่เป็นความทุกข์ได้เหมือนกัน
เมื่อพูดว่าความว่างหรือจิตว่าง ในพุทธศาสนาหมายถึงสติปัญญาที่มองเห็นความจริงอันนี้ในระดับสูง ในระดับต่ำๆ ก็เรียกว่าว่างได้เหมือนกัน มันหลายระดับ ไปคิดเอาเองก็ได้ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์สมัยปัจจุบันนี้นะ ผมเชื่อว่าเขาอาจจะผสมยา,ยาเม็ดยาอะไร กินเข้าไปแล้วอารมณ์มันครึ้มเฉย ปรุงเป็นตัวกู-ของกูได้ยาก ก็คงจะทำได้ บางทีในอนาคตเราจะได้ยินจะได้พบ แต่ไม่ใช่สูบกัญชานะ คือว่าต้องดีกว่านั้น ที่ว่าทำให้มันหยุดระบบบางระบบในความรู้สึกคิดนึกหมายมั่นเป็นตัวกู-ของกูไม่ได้ ก็คงจะทำได้ แม้ว่าทำได้ก็ยังไม่ใช่ว่างอย่างที่เรียกว่าสุญญตาหรือเนื่องด้วยสุญญตา ฉะนั้นทางร่างกายมันก็ช่วยให้ทำความว่างได้ ยิ่งเรามาอยู่ในธรรมชาติอย่างนี้แล้ว มันยิ่งว่างได้ง่าย มันไม่มีอะไรมากวน หรือว่าอิทธิพลของธรรมชาติแวดล้อมตัวเราอยู่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ มันล้วนแต่คอยจะดึงไปหาหยุดหรือว่าง ไม่ปรุงแต่ง ไม่เหมือนกับในเมือง ในที่ที่มีของยั่วยวนมาก
ให้จำไว้ว่า ว่างนี้หลายระดับ กระทั่งว่างทางวัตถุแท้ๆ คือว่างไม่มีอะไร ไม่มีแม้แต่อากาศ เป็น... (เสียงไม่ชัดเจน นาทีที่ 51:16) อย่างนี้มันก็ว่างเหมือนกัน ใช้คำว่าว่างเหมือนกันแต่คนละความหมายหรือคนละระดับ แต่ในที่นี้ว่างทางสติปัญญา ว่างทางกายไม่มีอะไรมารบกวนกาย,ก็ว่าง ไม่มีอะไรมารบกวนจิตเป็นนิวรณ์จิต,ก็ว่าง แต่ยังมีความว่างระดับสูงสุดคือว่างทางสติปัญญา ความรู้สึกคิดนึก ความคิดความเห็นอะไรก็ตาม มันไม่ปรุงเป็นตัวกู-ของกูขึ้นมา นี่มันเด็ดขาดในทางสติปัญญาในระดับที่ฝรั่งชอบเรียกกันว่า spiritual ไม่ใช่ทางฟิสิกส์ ไม่ใช่ทาง mental มันเหนือขึ้นไปอีกจนถึงระบบ spiritual ถ้าระบบนั้นว่างได้แล้ว,ก็ได้ เป็นความว่างตามทางของพุทธศาสนาที่มุ่งหมายว่าว่างจากตัวตน-ว่างจากของตนนั้นคืออย่างนี้ มันมีหลักว่าให้มองเห็นธรรมชาติอันแท้จริงว่าโลกนี้ว่างจากตัวตนของตน ว่าทุกสิ่งรวมเรียกว่าโลก โลกนี้ว่างจากตัวตนว่างจากของตน พอสติปัญญามันไปเห็นข้อเท็จจริงอันนี้เข้า จิตมันเลยไม่รู้จะจับฉวยอะไรเอามาเป็นตัวตนของตน จิตมันเลยว่าง ถ้าร่างกายจะต้องกินข้าว จิตมันก็กินด้วยสิ ความรู้สึกที่ไม่ได้จับฉวยเอามาเป็นตัวตนของตน มันก็เป็นการกินข้าวด้วยจิตว่าง จะไปถ่ายอุจจาระก็ได้ จะไปอาบน้ำก็ได้ หรือจะทำอะไรก็ได้ อิริยาบถไหนก็ได้ ทำไปด้วยสติปัญญาที่เข้าถึงความว่างอยู่เสมอ ร่างกายก็ว่าง จิตก็ว่าง ดวงวิญญาณสติปัญญานั้นก็ว่าง มันก็ไม่มีความทุกข์ได้ มันเหมือนอยู่กับความว่างซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของนิพพานอยู่เรื่อยไป/ สงสัยอะไรอีก ถามก็ได้ ไม่ต้องเกรงใจ//
คำถาม : ผมมีอีกข้อหนึ่ง/ เมื่อความว่างเป็นสิ่งที่มีอยู่โดยธรรมชาติ ก็แสดงว่าเด็กวัยเล็กๆ ที่ยังไม่หลงในรูป รส กลิ่น เสียง พวกนี้ จะต้องมีความว่างอยู่อย่างน้อยระดับหนึ่งอยู่แล้ว//
ท่านพุทธทาส : นั่นแหละเขาถือว่าว่างอยู่ระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่ระดับเดียวกัน ไม่ใช่ระดับสูงสุด//
คำถาม : ถ้าอย่างนี้ เราจะพัฒนาความว่างอันนี้ให้สูงถึงระดับว่างด้วยสติปัญญาได้ไหม//
ท่านพุทธทาส : มันต้องอบรมเด็กนั้นให้ถูกวิธีนะ แต่เดี๋ยวนี้วัฒนธรรมอย่างนั้นมันยังไม่มี มันไม่มีใครสร้างวัฒนธรรมแบบนี้ เด็กก็ถูกอบรมให้ไม่ว่างยิ่งขึ้น,ยิ่งขึ้น,ยิ่งขึ้น ก็สร้างความยากลำบากให้ตอนหลัง ตัวกู-ของกูมันหนาขึ้นทุกวันๆ โดยเฉพาะเด็กสมัยปัจจุบันนี้ สิ่งแวดล้อมโดยรอบทำให้เขามีตัวกู-ของกูเข้มข้นขึ้นทุกวันๆ นี่โลกมันจึงได้เป็นอย่างนี้ โลกมันอัดแน่นอยู่ด้วยความรู้สึกแห่งตัวกู-ของกูยิ่งกว่ายุคโบราณ ฉะนั้นเขาจะต้องฟาดฟันกันไปไม่มีที่สิ้นสุด นี่หัด,ฝึกหัดบทเรียนทุกๆ บทไม่ว่าทำอะไร ชนิดที่มันไม่เป็นไปด้วยอำนาจแห่งตัวกู-ของกู มิใช่เพื่อตัวกู-ของกู มิใช่โดยตัวกู-ของกู จิตก็ว่าง แล้วก็สบายอยู่ตลอดเวลา แต่มีคำจำกัดความต่อออกไปอีกว่า ที่ว่าไม่มีตัวกู-ของกูนี้ มันไม่ใช่ว่าจะไม่เห็นแก่ผู้อื่น จะไม่รักผู้อื่น จะไม่ช่วยผู้อื่น ว่างจากตัวกู-ของกูนั้นมันทำให้เป็นโอกาสที่จะเห็นแก่ผู้อื่นได้ง่าย ฉะนั้นท่านจึงสอนกันแต่ว่าไม่เห็นแก่ตัวก็พอ ไม่เห็นแก่ตัวมันก็เห็นแก่ผู้อื่นโดยอัตโนมัติ จะไม่ต้องบอกว่าให้เห็นแก่ผู้อื่นก็ได้ แต่ขออย่าเห็นแก่ตัวเถิด ให้ทำลายอหังการ-มมังการเสียและเชื้อแห่งความเป็นอย่างนั้นเสีย คือระวังอย่าให้เกิดตัวกู-ของกูอยู่เรื่อยๆ ไป มันก็หมดทั้งอหังหาร-มมังการและเชื้อที่ทำให้เป็นอย่างนั้น ภาษาบาลีเขามีคำสั้นๆ ว่า ละ อหังการะ มมังการะ มานานุสัย เสีย เท่านั้นเอง บางทีแปลว่าอนุสัยคือมานะว่าตัวกูว่าของกูอย่างนี้ก็ได้ ตัวกู-ของกูและอนุสัยที่ทำให้เกิดความถือตัวเช่นนั้นเสีย มันจะดีเกินไปสำหรับสมัยนี้ อย่างนี้ผมไม่รับรอง แต่ยังเชื่ออยู่ว่าถ้าโลกมันถือหลักอย่างนี้กันแล้ว ก็มีสันติภาพ นี่คือประโยชน์อันสูงสุดของพระธรรมของธรรมะ มันอยู่ที่ตรงนี้ ไม่มีความเห็นแก่ตัว เพราะไม่มีตัวกู-ของกู มีจิตว่างจากตัวกู-ของกู เป็นอยู่ชนิดที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตนี้เองและชีวิตอื่นด้วย
ที่ถามว่า จะปฏิบัติกับธรรมชาติอย่างไร ใกล้ชิดธรรมชาติโดยวิธีใด ปฏิบัติวิปัสสนาตามธรรมชาติอย่างไร นี่ก็คืออย่างนี้ เราได้ธรรมชาติที่แวดล้อมที่ดี แล้วมันก็จะดึงไปในทางที่ไม่เกิดตัวกู-ของกู แล้วเราก็คอยสนับสนุนมันให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ ให้ยิ่งขึ้นไปอีก ให้รู้จักสังเกตว่าพอมันขุ่นขึ้นมาเท่านั้นแหละ พอจิตมันขุ่นขึ้นมาเท่านั้นแหละ ให้รู้เถิดว่ามันมีตัวกู-ของกูในรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว รีบไปหาให้พบ รีบหยุดเสีย มันจะรู้สึกได้ว่าจิตมันขุ่นขึ้นมาทันที ในรูปโลภะก็ได้ ในรูปโทสะก็ได้ ในรูปโมหะก็ได้ มันขุ่นขึ้นมาให้รู้สึกได้ ฉะนั้นก็รีบจับตัวให้ได้ ค้นให้พบแล้วหยุดเสีย เมื่อมันยังว่างดีอยู่ ก็ว่างดีอยู่ ถ้าว่างจริงมันก็ไม่ไปหลงใหลในรสหรือค่าหรือคุณค่าของความว่าง เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ไปยกหูชูหางว่ากูว่าง กูดีกว่าคนอื่นด้วย มันก็มีไม่ได้ ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ก็คือไม่มีความทุกข์ พอธรรมชาตินั้นถูกปรับปรุงปรุงแต่งให้เป็นไปในทางไม่บริสุทธิ์ มันก็เป็นทุกข์ ยอดสุดของธรรมชาติก็คือพระนิพพาน ยอดสุดของธรรมชาติอันบริสุทธิ์ก็คือพระนิพพาน คือว่างอยู่โดยเด็ดขาดจากตัวกูและของกู นั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาๆ แต่เราไม่รู้จัก บางเวลามันก็ว่างอยู่อย่างน่าพอใจ แต่เราก็ไม่รู้จัก เรียกว่ามันว่าง เราก็รู้สึกว่าสบาย แล้วก็ไปยึดถือเอาความสบายนั้นเป็นของกูเสียอีก เดี๋ยวก็หายหมด เดี๋ยวมันก็ไม่ว่าง มีคำเรียกเป็นบาลีว่า สุญญตาวิหาร สุญญตาแปลว่าความว่าง วิหารแปลว่าการอยู่ สุญญตาวิหาร การอยู่ด้วยจิตว่างของจิต ไม่ใช่ของกู ฉะนั้นพยายามจับตัวสุญญตาวิหารให้ได้ จิตอยู่ด้วยความรู้สึกว่าว่าง อยู่เหนือตัวกู มันจึงไม่กลัวตาย ไม่กลัวเจ็บ ไม่กลัวไข้ ไม่กลัวอะไรหมด เพราะว่าความหมายแห่งตัวกูมันไม่มีสำหรับจะเอามากลัว หรือว่าสำหรับจะเป็นที่รองรับความแก่ความเจ็บความตายมันก็ไม่มี เพราะฉะนั้นจิตชนิดนี้เกิดขึ้นแล้ว มันจะประหลาดจนถึงกับคนนั้นเองมันจะรู้สึกได้ว่า เอ๊,นี่มันเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ มันผิดธรรมดา ยิ่งกว่าตรงกันข้าม มันจะสบายไปหมด คือว่างไปหมด เบาไปหมด คล่องแคล่วไปหมด ก็พอจะเรียกได้ว่าเข้าถึงกระแสธรรมะ เข้าถึงกระแสของพระนิพพาน แต่ยังไม่ถึงตัวพระนิพพาน อย่างภาษาของพวกเซ็น อย่าง เว่ยหล่าง นี่ เขาเรียกว่ามันโพลงขึ้น มันตรัสรู้โพลงขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์หรอก มันเริ่มรู้รสรู้อะไรของพระนิพพานหรือความเป็นพระอรหันต์เป็นตัวอย่าง
ถ้าว่าความรู้สึกว่างหรือความว่าง อยู่,มีอยู่กับจิตแล้ว มันก็จะเป็นเหมือนกับว่าเครื่องคุ้มกัน จะเรียกว่าเกราะหรืออะไรก็แล้วแต่เถอะ มันเป็นเครื่องคุ้มกันจิตไม่ให้มีความทุกข์ได้ ฉะนั้นจึงไม่มีปัญหาเรื่องพระ เรื่องมาร เรื่องได้ เรื่องเสีย เรื่องสุข เรื่องทุกข์ มันไม่มีปัญหา ถ้าสุขมันก็อยู่ในความว่าง ไม่ต้องมีสุขของกูให้อร่อยกันสักที อย่างนี้มันไม่มี ส่วนนี้มันไม่มี แล้วจะไม่รู้สึกว่าใครทำให้เราเสียเงินตั้งหนึ่งแสนหรือว่าอะไรทำนองนั้น มันเฉยอยู่ได้ปรกติอยู่ได้ มันจะทำอะไรต่อไปมันก็ทำได้ แล้วมันก็ไม่เป็นทุกข์ ฉะนั้นสุญญตาหรือบางทีก็เรียกอนัตตาก็ได้ มีประโยชน์มากที่สุด ประเสริฐที่สุด คือคุ้มครองไม่ให้เกิดความทุกข์ ฉะนั้นหัดเป็นอยู่อย่างไม่มีตัวกู-ของกู หัดทำงานอย่างไม่มีตัวกู-ของกูในระหว่างบวชนี่แหละ ถ้าสึกออกไปแล้วมันทำยาก ฉะนั้นระหว่างบวชอยู่นี้ทำอะไรที่มันเป็นการเป็นงานที่มีประโยชน์ แล้วก็ด้วยจิตที่บริสุทธิ์ที่ไม่ใช่เพื่อตัวกู มันจะได้บริหารร่างกายให้สบายด้วย จะเป็นการฝึกฝนธรรมะอย่างสูงไปด้วย ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะขี้เกียจ พอขี้เกียจแล้วตัวกู-ของกูมากลุ้มไปหมด คือเห็นแก่ตัว/ เอ้า,ใครมีปัญหาอะไรอีก ใครมีปัญหาอะไรอีก จะได้ว่ากันต่อไป ไม่ต้องเกรงใจ มีปัญหาอะไรก็ว่ามา วันอาทิตย์เป็นวันสำหรับถามตอบปัญหา พระแก่ก็ได้ พระใหม่ก็ได้//
คำถาม : อาจารย์ครับสมาธิมีความจำเป็น...(เสียงเบามาก ฟังไม่ชัดเจน นาทีที่ 01:07:05 )//
ท่านพุทธทาส : คุณถามว่าการนั่งสมาธิมีความจำเป็นสำหรับพุทธศาสนาหรือ//
ท่านพุทธทาส : เรื่องนี้มันก็ดีอยู่เหมือนกัน ถ้าถามว่าการนั่งสมาธิจำเป็นสำหรับการปฏิบัติศาสนาหรือไม่ ก็มีความหมายอยู่ แต่ถ้าว่าจำเป็นสำหรับพุทธศาสนาหรือไม่ ความหมายก็ไปอีกทางหนึ่ง ข้อนี้มันเกี่ยวกับคำพูดที่เราเอามาใช้มันไม่เป็นที่เข้าใจกัน มันเข้าใจไม่ตรงกัน หรือความหมายของคำพูดที่ใช้มันเข้าใจไม่ตรงกัน ที่คุณถามอย่างนี้มันมีความหมายเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือว่าการทำจิตให้เหมาะสมให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปนั้น จำเป็นแก่การปฏิบัติศาสนาไหม ความจริง,นั่นแหละมันคือการปฏิบัติในศาสนา ระบบที่ทำให้จิตมันดี มันประเสริฐ มันยิ่งๆ ขึ้นไป ก็เรียกว่าการฝึกจิต มันก็จำเป็น,จำเป็นในพุทธศาสนา และจำเป็นมาแล้วในศาสนาอื่นๆ ก่อนพุทธศาสนา ตั้งแต่มนุษย์เริ่มรู้จักคุณค่าของจิต เรียกว่ามีวัฒนธรรมทางจิตได้เกิดขึ้นในหมู่มนุษย์ แล้วเขาก็ได้เห็นเป็นสิ่งจำเป็นเรื่อยๆ มา เขาก็สืบต่อกันมา เขาก็ปรับปรุงให้ดีขึ้นๆ จนมาถึงยุคพุทธศาสนา มันก็เรียกว่าปรับปรุงดีถึงที่สุด คือทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ นี่จำเป็นสำหรับศาสนา เพราะว่ามันเป็นตัวปฏิบัติศาสนา คือการพัฒนาจิตใจให้สูงถึงที่สุด ระบบนี้เขาเรียกว่าการเจริญสมาธิ แต่คำที่ใช้กันอยู่ คำว่าทำสมาธิ เป็นเพียงทำให้จิตสงบ เป็นฌานเป็นอะไรเท่านั้นก็มี แต่ที่จริงมันหมายถึงให้จิตมีปัญญารู้ถึงที่สุดด้วย เขาเรียกว่าระบบสมาธิภาวนา ภาษาที่ใช้พูดกันมันไม่ถูกต้อง มันกลับไปกลับมา ตลบตะแลง แม้ที่สอนอยู่ในโรงเรียนนักธรรม มันก็เป็นคำพูดที่กำลังตลบตะแลงผิดพลาดอยู่ในระหว่างคำว่าสมาธิ สมถะ ปัญญา วิปัสสนา ภาวนาอะไร
ผมเห็นในพระบาลีแล้ว ท่านใช้คำว่าพระพุทธภาษิตมีคำว่าสมาธิภาวนา คำนี้ใช้กันแต่เป็นสมาธิจนกระทั่งเป็นวิปัสสนา เป็นปัญญา จนสิ้นกิเลสอาสวะ ที่ท่านใช้คำว่าอธิจิตตาโยคะ, อธิจิตฺเต จ อาโยโค, อธิจิตตะ อาโยคะ ทำโยคะในการทำจิตให้ยิ่ง คืออันนี้ ยิ่งถึงที่สุดก็คือบรรลุมรรคผลนิพพาน แล้วคำว่าจิตยิ่งนี้มีความหมายกว้างทั่วไป คือให้จิตมันเก่งกว่าธรรมดา ฉะนั้นการศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียน การศึกษาอะไรทุกๆ แขนงนั้น จิตมันดีกว่าเดิมทั้งนั้น เพียงแต่มันดีกว่าเดิมไปในทางทำการงานอย่างฆราวาสซึ่งไม่เกี่ยวกับมรรคผลนิพพานโดยตรง แต่ถึงอย่างไรก็ดี มันมีประโยชน์ ถ้าเราทำจิตให้ฉลาดขึ้นมาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที ตั้งแต่เรื่องโลกๆ เรื่องกินเรื่องอะไรก็ตาม ให้จิตมันสูงขึ้นทุกทีๆ มันก็มาบรรจบเรื่องของมรรคผลนิพพานได้ทีหลัง
ฉะนั้นขอให้ทุกๆ คนพยายามทำจิตให้ยิ่ง ให้ยิ่งคือให้ดีขึ้น,ดีขึ้น,ดีขึ้นตลอดเวลา จิตที่ขี้เกียจซบเซาเป็นอาหารของอวิชชา ทำให้ต่ำทรามไปในทางต่ำ ไปศึกษาเรื่องนิวรณ์ ๕ คือสภาพจิตที่ตกต่ำเป็นประจำวันนั้นเขาเรียกว่านิวรณ์ทั้ง ๕ เดี๋ยวพลัดไปในเรื่องกามารมณ์ เดี๋ยวพลัดไปในทางโกรธแค้นขัดเคืองอาฆาตพยาบาท เดี๋ยวมันก็เหี่ยว ขี้เกียจ ซึมเซา ง่วงนอน เดี๋ยวมันก็ฟุ้งซ่านชนิดที่ไม่มีเหตุผล บางเวลามันก็ลังเลไม่แน่ใจในอะไรๆ ที่ตัวกำลังทำหรือต้องทำ ลังเลแม้ในชีวิต ลังเลในความถูกต้องของชีวิต อย่างนี้เรียกว่านิวรณ์ ๕ สอนกันมาตั้งแต่นักธรรมชั้นตรี แต่ดูจะไม่เข้าใจ เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ไม่ได้ ขจัดสิ่งเหล่านี้ในชีวิตประจำวันให้หมดไป เมื่อจิตมันยิ่ง คนๆ นั้นจะสดใสแจ่มใสอยู่ในภายใน เป็นสุขอยู่ในตัวมันเอง เข้มแข็งว่องไวในการคิดนึกการใช้สติปัญญา ไม่ซึม ไม่ง่วง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่มีความงัวเงีย ปัญหามันมักจะงัวเงีย มันขี้เกียจ มันอยากจะไปนอน อยากจะพักผ่อน อยากจะไม่ต้องทำงาน การทำงานไม่สนุก นี่จิตมันไม่ยิ่ง จิตมันยังต่ำยังทรามอยู่ ถ้าพัฒนาให้จิตยิ่งได้จริงแล้ว มันจะสนุกสนานในการใช้สติปัญญาหรือการทำการงาน
ที่เรียกว่าอารมณ์ดีนั้น ภาษาตลาดชาวบ้านเรียกว่าอารมณ์ดี คือจิตมันกำลังดี จิตมันกำลังปรกติ กำลังเป็นอิสระ สบายดี ทำงานดี คิดดี มีความสุขอยู่ในตัวการงาน พอจิตมันไม่ดีแล้ว มันไม่มีความสุขได้หรอก แม้จะไปนอนมันก็ไม่เป็นสุข ไปกินเหล้าให้มันบ้าไปเสีย มันก็บ้าไปเสีย มันมีความสุขไม่ได้ แต่เขาก็อาจจะรู้สึกว่าอร่อยหรือเป็นสุข กินเหล้ากลบความทุกข์ มันผิดหลักของพุทธศาสนาที่ต้องการทำจิตให้ยิ่ง ไม่ใช่ทำจิตให้เลวให้ต่ำให้ลดลงไป เรื่องการกินเหล้าหรือกามารมณ์หรืออะไรที่จะไปกลบเกลื่อนความทุกข์ร้อนได้ เป็นเรื่องกลบเกลื่อน เดี๋ยวนี้คนเราทำผิดมากลึกเข้าไปทุกทีในเรื่องหาอะไรมากลบเกลื่อนความทุกข์โดยเฉพาะการกินเหล้า ที่ทำให้เหล้าหรือน้ำเมานี้ผลิตขึ้นมามากเกิน เกินที่มันควรจะเป็น เข้ามาใช้กลบความทุกข์ พอไม่มีเหล้าก็มีความทุกข์
เมื่อวานนี้มีหมอคนหนึ่งมาคุยกับผม เขาประสบความสำเร็จในการทำให้คนเกลียดเหล้าภายในไม่กี่วัน เห็นเหล้าแล้วไม่อยากกินหรือกินเข้าไปไม่ได้ ให้ทิ้งเหล้าได้อย่างเด็ดขาด วิธีฝังเข็มโดยใช้ไฟฟ้าช่วยเขาค้นพบว่าทำให้มันเกิดจิตเกลียดเหล้าขึ้นมา ทีนี้มันน่าหัวเราะที่ว่าพอมันเกลียดเหล้าพอไม่กินเหล้า แล้วความทุกข์ความคิดที่เป็นทุกข์ร้อยอย่างพันอย่างระดมเข้ามา จนมีความทุกข์อันเป็นปัญหาขึ้นมาใหม่ เพราะว่าก่อนนี้มันกลบไว้ด้วยเหล้า นี่น่าหัวเราะเห็นไหม คุณคิดดูสิ,มันน่าหัวเราะ พอไม่กินเหล้าได้ มันก็เกิดความทุกข์กลุ้มอกกลุ้มใจทุกชนิดทุกเรื่องทุกราวที่มันเคยกลบไว้ด้วยเหล้า มันถามผมว่าช่วยอะไรได้บ้าง บอกไม่รู้ เรื่องอย่างนี้ถ้ามันมีธรรมะมาตั้งแต่ทีแรก มันก็ไม่ต้องกินเหล้าตั้งแต่ทีแรกนู้น ถ้ามันมีธรรมะพอ มันก็กลบความทุกข์อะไรไว้ได้โดยไม่ต้องกินเหล้า คุณชวนเขาย้อนไปตั้งต้นใหม่จากนู่นสิ,ก่อนกินเหล้า เดี๋ยวนี้มันทำให้เกลียดเหล้าและไม่กินเหล้าได้ แล้วมันมีปัญหา,เรื่องทุกอย่างมันกลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา เรื่องนิดๆ หน่อยๆ ในครอบครัวอะไรก็ตาม มันกลายเป็นความทุกข์ไปหมด หรือมันเอามาคิดเอง ไม่มีเรื่องมันก็เอามาคิดเองทำให้มีความทุกข์ขึ้นมา เขาก็ยังไม่พบวิธีที่จะกำจัดปัญหาอันที่สองนี้ ปัญหาอันที่หนึ่งหมดไปแล้ว คือคนนั้นเห็นเหล้าแล้วก็ขยะแขยงที่สุดเลย ไม่กิน แล้วก็ตัดปัญหาว่ามันจะเสียเพื่อน คนนี้มันไม่กินแล้วมันจะเสียเพื่อน ทีนี้ไปชวนมาทำกันทั้งหมดเลย เพื่อนทุกคนมาทำให้มันเกลียดเหล้ากันหมด ก็เลยเป็นบุคคลฝูงหนึ่งคณะหนึ่งที่มีปัญหาเรื่องไม่กินเหล้าแล้วมีความทุกข์ ถ้าทำจิตว่างได้ ก็ไม่ต้องมีความทุกข์ แล้วก็ไม่ต้องกินเหล้า ฉะนั้นสมาธิภาวนานั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ที่สุดตั้งแต่ต้นจนปลาย คือทำจิตให้มันยิ่ง ทำจิตให้มันดียิ่งๆ ขึ้นไป ทั้งในแง่ของสมาธิ ทั้งในแง่ของปัญญา สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี/ เอ้า,ใครมีปัญหาอะไรอีก//
คำถาม : ผมอยากทราบว่าถ้าเรามีความลังเลสงสัยที่เป็นนิวรณ์ จะมีอุบายแก้นิวรณ์ต่างๆ เหล่านี้... (เสียงเบามาก ฟังไม่ชัดเจน นาทีที่ 01:21:05) //
ท่านพุทธทาส : วิจิกิจฉา ความลังเล ใช้คำว่าวิจิกิจฉาตามบาลี ซึ่งเป็นเรื่องของนิวรณ์ ถ้าใช้คำว่าสงสัยหรือกังขา มันไกลลิบไปเป็นชั้นสูงที่เกินกว่าที่จะเรียกว่านิวรณ์ อันโน้นต้องเป็นเรื่องที่พระอรหันต์จะละความสงสัยหรือกังขาเกี่ยวกับธรรมชาติอันลึกซึ้ง ทีนี้ความลังเลที่มีได้ตลอดเวลานับตั้งแต่เด็กๆ มา จนเป็นหนุ่มเป็นสาวมันก็ลังเลไม่แน่ใจสงสัยเรื่องเกี่ยวกับมีชีวิตอยู่เป็นอยู่ เรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องอะไรต่างๆ ตามแบบเขาก็สอนไว้แนะไว้อย่างไม่มีทางผิด กำปั้นทุบดิน คือให้ศึกษาเรื่องนั้นให้มันรู้เสียจนหมดความลังเล พวกที่เขาใช้ศรัทธาเป็นเบื้องหน้าในศาสนาที่มีศรัทธาเป็นเบื้องหน้า เขาก็ใช้ศรัทธา เชื่อตามที่มีอยู่ตามที่สอนอยู่สอนไว้ เชื่อพระเจ้า เชื่อคำสั่งของพระเจ้า เชื่อพระสงฆ์ เชื่อครูบาอาจารย์ เชื่อ มันก็หมดเรื่องที่จะลังเล มันก็ทำไปด้วยความแน่ใจ พุทธบริษัทนี้มันค่อนข้างประชาธิปไตย มันเปิดให้สงสัย เปิดให้วิพากษ์วิจารณ์ ถ้ามันลังเลบ้างก็ต้องทำให้มันถึงที่สุดในการศึกษาการวิพากษ์วิจารณ์ มันหยุมหยิม,ความลังเลนี้หยุมหยิม แม้ที่สุดแต่วันนี้จะไปกินเหล้าร้านไหนดี เคยมีไหม ความลังเลของคุณ นี่ความลังเลอย่างนี้มันก็อาจจะมีได้ ทีนี้เราเด็กๆ มันก็ลังเลอย่างนั้นอย่างนี้ จะเรียนอะไร จะทำอย่างไร หรือว่าเขาจะมีคู่มีแฟนกันอย่างนี้ เขาก็ลังเลอย่างนั้นอย่างนี้ มันมาก มันหยุมหยิมไปหมด ผมก็ตอบไม่ถูกหรอก
แต่ว่าโดยหลัก เขาก็แนะไว้ว่า ศึกษาเรื่องนั้นแหละให้มันเด็ดขาดลงไป มันก็หมดความลังเล ถ้าลังเลในคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ศึกษาเรื่องนั้นแหละให้มันยิ่งขึ้นไป ลังเลเรื่องดีชั่ว บุญบาป เรื่องกรรม เรื่องผลกรรม ก็ศึกษาเรื่องนั้นให้มันยิ่งขึ้นไป ให้มันหมดความลังเล ความลังเลเป็นความรำคาญเป็นความทุกข์ชนิดหนึ่ง สนใจเรื่องนิวรณ์ทั้ง ๕ แล้วขยับขยายปรับปรุงให้มันน้อยลงๆ จนไม่มารบกวน ก็จะสบายขึ้นมากมาย รู้จักทำสมาธิไล่นิวรณ์ตามแบบของสมาธิ ก็เป็นการไล่ชั่วขณะ ถ้าจะให้มันเด็ดขาดไปมันต้องมีสติปัญญาตัดรากเหง้าของมัน เป็นชั้นปัญญา เรื่องกามารมณ์ เรื่องพยาบาท เรื่องจิตหดหู่ เรื่องจิตฟุ้งซ่าน เรื่องจิตลังเลนี้ กำจัดด้วยสมาธิมันก็ชั่วคราวที่มีสมาธิ ถ้าตัดรากของมันเสียด้วยความรู้ความจริงอันถูกต้อง มันก็หมดไปได้สิ้นเชิง ต้องเอาวิชชามาทำลายอวิชชา นิวรณ์ก็เกิดยาก แต่ลักษณะของนิวรณ์นี้บางทีมันก็เนื่องไปทางวัตถุทางร่างกายด้วยเหมือนกัน ร่างกายไม่สบายก็มีอาการของนิวรณ์ได้ง่าย ก็ต้องไปหาหมอบ้าง/ เอ้า,ใครมีปัญหาอะไรอีก ยังอีก ๑๒ นาที จะปิด//
คำถาม : วิธีฝึกสมาธิเบื้องต้น//
ท่านพุทธทาส : สมาธิเบื้องต้น/ แม้แต่เบื้องต้นเอากันยืดยาว ไปหาอ่านจากหนังสือชื่ออานาปานสติสำหรับนักศึกษา ตอนท้ายของหนังสือบรมธรรมภาคปลาย เรียกว่าอานาปานสติสำหรับนักศึกษา คือพูดกันมาเสร็จในคราวนั้น นายวิโรจน์เขาแยกพิมพ์เป็นหนังสือเล่มต่างหาก ขายกี่บาทก็ไม่ทราบ เป็นอานาปานสติพอที่จะเรียกว่าเบื้องต้นได้ เล่มใหญ่สมบูรณ์นั้นมันอ่านยากเข้าใจยาก เป็นเบื้องปลาย เรียกว่าหัดทำดูด้วยอานาปานสติง่ายๆ ที่เขาพิมพ์แจกพิมพ์ขาย หัดทำดีกว่า มันสอนมันเอง คุณหัดทำแล้วมันไม่ได้ แล้วมันจะสอนให้เองจนได้ ผมก็พูดไปแล้ว และเขียนไว้แล้วก็มี ทำอย่างนั้น กำหนดลมหายใจอย่างนั้นๆ ก็ทำ ทำแล้วมันจะไม่ได้ มันจะล้ม ล้มแล้วก็ต้องทำ ปลุกปล้ำจนได้ เรื่องนี้ให้ทำเหมือนกับว่าคว้ารถจักรยานมาแล้วก็ขี่ให้มันได้ มันก็เห็นเขาขี่อยู่แล้ว แต่เอามาขี่เข้ามันล้ม แล้วล้มนั่นแหละดีที่สุด ล้มมันจะสอนให้ทุกทีที่ล้ม จนมันไม่ล้ม แต่มันโงกเงก,โงกเงก,โงกเงกไปก่อน แล้วก็ทำเรื่อยไปจนมันสอนให้อีก จนมันเรียบ มัวแต่อ่านหนังสืออยู่ไม่ได้ เหมือนเราจะขี่รถจักรยานเป็นโดยฟังคำอธิบายนี้ทำไม่ได้ ต้องไปให้มันล้ม แล้วก็ไม่ต้องมีใครมาสอน มันสอนไม่ได้นะ คุณคงจะนึกได้เมื่อหัดขี่จักรยานนั้น ใครมันจะสอนได้ ทำให้มันบาลานซ์(balance)นี้ ใครจะมาสอนได้ มันสอนในตัวมันเอง และขี่ได้แล้วกว่าจะเรียบนี้ มันสอนในตัวมันเองอย่างที่ใครสอนให้ไม่ได้ กระทั่งในที่สุดปล่อยมือก็ได้ เราเคยหัดขี่รถจักรยานปล่อยมือ เลี้ยวเลิ้วกันได้ ไม่มีใครสอนกันได้ มันค่อยๆ บอกค่อยๆ สอน ด้วยการเอี้ยวตัว ใช้น้ำหนักตัว เดี๋ยวก็ทำได้//
คำถาม : เรียนถามว่า อุคคหนิมิต กับปฏิภาคนิมิตนี้ เกิดเพราะอะไร//
ท่านพุทธทาส : เกิดเพราะว่าการกำหนดนิมิตนั้นมันดีขึ้นๆ กำหนดชั้นแรกเพียงแต่ติดตา ติดตาภายในอยู่ได้เรียกว่าอุคคหนิมิต ทีนี้บังคับได้ตามต้องการเรียกว่าปฏิภาคนิมิต หรือเลือกเอามาส่วนหนึ่งเฉพาะเพื่อดำรงจิตสำหรับเป็นพื้นฐาน อย่างนี้เรียกว่าเป็นปฏิภาคนิมิตอย่างยิ่ง กำหนดให้ได้ ให้อยู่ในอำนาจ หลับตาก็เห็นอย่างนี้ ก็เรียกว่านิมิตที่เราจับฉวยเอาไว้ได้เรียกว่าอุคคหนิมิต ทีนี้นิมิตส่วนที่จะมาใช้สำเร็จประโยชน์แก่ปัญญา มันไม่ใช่ทั้งหมดหรือมันไม่ต้องทั้งหมด มันต้องเท่าที่มันมีความเหมาะสมกลมกลืน ก็เรียกว่าปฏิภาคนิมิต นิมิตของสมาธิในขณะที่จะเพ่งอนิจจังก็เรียกว่าปฏิภาคนิมิต แต่เขาจะเรียกนิมิตที่ได้ที่ ที่จะเอามาทำให้เป็นองค์ฌานให้เกิดองค์ฌานครบถ้วนเรียกว่าปฏิภาคนิมิต ถ้าจะตอบให้มันเป็นภาษาหนังสือก็จะว่านิมิตที่เราเอาไว้ได้ควบคุมไว้ได้เรียกว่าอุคคหนิมิต นิมิตที่เอาไปใช้เป็นประโยชน์ในการกระทำทางจิตทางปัญญาได้เรียกว่าปฏิภาคนิมิต กำลังจิตหรือสมาธิจิตส่วนที่เหมาะสมกันอยู่กับการงานของจิตหรือของปัญญาเรียกว่าปฏิภาคนิมิต คำเหล่านี้เขาบัญญัติด้วยภาษาอื่น มันขลุกขลักบ้าง เมื่อเอามาแปลเป็นภาษาไทยมันมีความขลุกขลักบ้าง เรารู้จักมันโดยตัวจริงนั้นก็แล้วกัน เราเรียกเอาเองก็ได้ว่า ว่าอะไร คัมภีร์ทางสมาธิทางจิตนี้มันเพิ่งดก เพิ่งมาก เพิ่งมากมายจนฟั่นเฝือนี้ในยุคหลังๆ
นิมิตที่หลับตาเห็นเรียกว่าอุคคหนิมิตในชั้นแรก อุคคหนิมิตที่เอามาปรับปรุงให้ดีสำหรับจะใช้เป็นนิมิตที่คงอยู่ แล้วก็ทำความรู้สึกที่เป็นองค์ของฌานให้เกิดขึ้นมาเป็นคู่กัน ตอนนี้เรียกว่าปฏิภาคนิมิต แต่ว่ากลุ่มอื่น ก๊กอื่น พวกอื่นอาจจะอธิบายอย่างอื่นก็ได้ ไม่เชื่อคุณลองไปถามดู พวกอื่นอาจจะอธิบายอย่างอื่นก็ได้/ เอ้า,ใครมีปัญหาอะไรอีก เหลือ ๕ นาทีแล้ว/ นักเลงเก่าล่ะ ไม่มีเหรอ/ คุณเพ็งมีปัญหาอะไรวันนี้//
คำถาม : เวลาน้อยแล้วครับ//
ท่านพุทธทาส : เวลาน้อยแล้ว/ นักเลงเก่า/ แต่โบราณนั้นเขาทำกันอย่างนี้ เรียกว่าธรรมสากัจฉา มีเวลาเหมาะๆ ก็มาสนทนาธรรมในรูปสากัจฉา คือถามก็ได้ แย้งก็ได้ อะไรก็ได้
เอาล่ะ,ขอสรุปความว่า ระหว่างบวชนี้อุตส่าห์ฝึกฝนทำงานชนิดที่มิใช่เพื่อตัวเรา ไม่ว่าจะทำอะไรหมด นับตั้งแต่กินอาหาร หรือแม้แต่การศึกษาก็อย่าศึกษาเพื่อตัวกูเลย ศึกษาเพื่อธรรมะ ศึกษาเพื่อศาสนา เพื่อธรรมชาติ เพื่ออะไรไปตามนั้น แม้มันจะเหน็ดเหนื่อยก็ขอให้ว่ามันเพื่อล้าง,ล้างความเห็นแก่ตัว ฉะนั้นพยายามทำให้เกิดความเหน็ดเหนื่อย เอาเหงื่อมาล้างตัวกู-ของกูให้มันเกลี้ยง สึกออกไปแล้วไม่ค่อยมีโอกาสหรอก เพราะว่าสึกออกไปแล้วต้องทำงานเพื่อตัวกู-ของกูตัวเป็นเกลียวไปหมดแหละ ทีนี้ถ้าว่าใครทำเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นหรือเพื่อธรรมะได้ก็เก่ง เป็นฆราวาสที่เก่ง แต่ระหว่างเป็นพระนี้มันทำได้ มันเป็นโอกาส ถึงอย่างไรๆ ก็มีข้าวกิน ไม่ทำอะไรก็ยังมีข้าวกิน ทำเพื่อประโยชน์แก่ศาสนานั้นเท่ากับทำเพื่อโลกทั้งหมด พระศาสนามันมีอยู่เพื่อประโยชน์แก่โลกทั้งหมด ฉะนั้นระหว่างบวชก็หัดนึกให้มันกว้างออกไป กว้างออกไปกว่าวงของตัวกู-ของกู ไปนึกถึงทั้งโลกทั้งหมด มนุษยชาติทั้งหมดจะอยู่กันเป็นผาสุกได้อย่างไร ให้ขอบเขตมันขยาย ขยายออกไปเต็มที่ เมื่อเด็กๆ ก็เพื่อตัวกู พอมีลูกมีเมียก็เพื่อเมียเพื่อผัวเพื่อลูก แล้วก็ขยายเพื่อหลานเพื่อวงศ์สกุล เพื่อประเทศชาติ เพื่อบ้านเมือง เพื่อให้มันกว้างออกไป จนกระทั่งเพื่อทั้งโลก แล้วก็เพื่อทั้งหมด ฉะนั้นมันต้องไปจบลงที่ไม่เพื่อตัวกู-ของกู เอาล่ะ,หมดเวลาแล้ว ปิดประชุมวันนี้//