แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านนักศึกษาชุมนุมกลุ่มพุทธศาสตร์ทั้งหลาย การบรรยายในครั้งที่ ๒ นี้ ก็ยังจะพูดโดยหัวข้อเดิมว่ากลุ่มพุทธศาสตร์คืออะไร แต่จะพูดไปในแง่ว่ากลุ่มพุทธศาสตร์จะต้องทำอะไร หรือเรียกให้สั้นๆก็ว่าหน้าที่ของกลุ่มพุทธศาสตร์ หรือโดยแท้จริงแล้วมันก็หมายถึงว่าพุทธบริษัททั่วไปก็ได้ เขามีหน้าที่อย่างไร เมื่อมองโดยวงกว้าง มันก็เลยไปถึงปัญหาที่ใหญ่ที่กว้างขวางที่สำคัญที่สุดปัญหาหนึ่ง คือว่าเกิดมาทำไม ปัญหาที่ว่าเกิดมาทำไมนี้สำคัญมาก ถ้าเขาไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม เขาก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร หรืออะไรที่ควรจะทำ อะไรควรศึกษาเพื่อจะได้กระทำ เพราะไม่รู้ว่าเกิดมาทำไมอย่างเดียวกันนั้นแหละ ก็จะมีปัญหาอื่นๆอีกมาก ถ้าเรารู้ว่าเกิดมาทำไม เราอาจจะปรับปรุงอะไรๆทุกอย่างให้มันสมกับข้อที่ว่าเกิดมาทำไม ขอให้สนใจปัญหานี้ให้มากจนให้มันแน่ชัดลงไปทีเดียวว่าเราเกิดมาทำไม แต่ว่ามันอาจจะมีคนบางคนแย้งในข้อปัญหานี้ว่าฉันไม่ได้ตั้งใจที่จะเกิดมา ฉันก็รู้สึกตัวต่อเมื่อมันได้เกิดมาแล้ว มันก็แปลว่าไม่ได้มีเจตนาก่อนแต่เกิด ว่าจะเกิดมาทำไมอย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน แต่ขอให้ยุติเสียว่าเมื่อเกิดมาแล้วจะต้องทำอะไร นั้นแหละเป็นตัวปัญหา เราไม่ตั้งใจจะเกิดมาแต่มันก็ได้เกิดมาแล้ว ถ้ารู้ว่าเกิดมาแล้วจะต้องทำอะไร มันก็ไปร่วมกันกับปัญหาที่ว่าเกิดมาทำไมได้ ดังนั้นถ้าใครจะถือว่าฉันไม่ได้ตั้งใจจะเกิดมา ก็ขอให้ยอมรับในข้อที่ว่าเราเกิดมาแล้วจะต้องทำอะไรก็ทำสิ่งนั้น ปัญหาที่ว่าเกิดมาทำไมนี่ แม้ว่าจะเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด แต่ก็มีคนพูดกันน้อยที่สุด มีคนถกเถียงกันน้อยที่สุด เพราะเขาจะถือเอาตามความรู้สึกที่เขามีอยู่แล้วในใจตลอดเวลา ว่าเขาต้องการอะไร เขาได้อะไร เขาทำอะไรได้อะไรอยู่นั่นแหล่ะเขาก็เกิดมาเพื่อสิ่งนั้น เขารู้สึกอยู่แต่ในใจ ไม่ตั้งให้เป็นปัญหาเด่นชัดขึ้นมา เราจึงไม่ค่อยได้ยินปัญหาที่ว่าเกิดมาทำไม ทีนี้ดูให้ดี แม้ในโรงเรียนในวิทยาลัย ในมหาวิทยาลัยเขาก็ไม่ได้มีการสอนให้รู้ว่าเกิดมาทำไม แม้ในวิชาปรัชญาก็ดูจะไม่ได้ตั้งปัญหาว่าเกิดมาทำไม ตั้งปัญหาอย่างอื่น รูปอื่น จึงไม่มีการสอนแม้ในมหาวิทยาลัยว่าไอ้คนเรานี่เกิดมาทำไม นักเรียนที่ผ่านมหาวิทยาลัยมาแล้วก็ไม่เคยคิดหรือนึก หรือทราบว่าเกิดมาทำไม โดยการศึกษาเล่าเรียนนั้น กระทั้งตัวเองก็ไม่สนใจที่จะรู้ว่าเกิดมาทำไม ในที่สุดก็เป็นอันว่าไม่ต้องนึก ไม่ต้องคิด ไม่ต้องสนใจที่จะตอบปัญหาว่าเกิดมาทำไม แต่เดี๋ยวนี้อาตมายืนยันว่านี่คือตัวปัญหาที่สำคัญที่สุดที่มนุษย์เราจะต้องทราบ ท่านทั้งหลายทุกคนคงจะทำอะไรถูกต้องไม่ได้ ถ้าไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม แล้วก็ขอให้คิดดูให้ดีว่า เพราะคนในโลกทุกคนในโลก ๓,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ล้านนี่ มันก็ไม่ได้คิดเรื่องนี้ว่าเกิดมาทำไม เขาจึงไม่ได้ตั้งใจที่จะทำให้ถูกให้ตรงว่าเขาเกิดมาทำไม ในโลกก็เลยไม่ต้องรู้ว่าเราจะช่วยกันทำอะไรให้มันตรงเป็นเรื่องเดียวเป็นอย่างเดียวกัน คือต่างคนต่างมีความประสงค์ของตัว มันก็ทำไปตามความประสงค์ของตัวเฉพาะคน เฉพาะคน มันเลยกลายเป็นว่าเขาเกิดมาทำตามความต้องการของเขา นี้ความต้องการของเขามันขัดแย้งกับความต้องการของผู้อื่น มันจึงมีการขัดแย้ง เกิดวิกฤตการณ์คือความระส่ำระสายกันขึ้นในสังคมมนุษย์โดยเหตุที่ว่าไม่ได้มีความมุ่งหมายตรงกันว่าเกิดมาทำไม นี่ก็เป็นเรื่องของมนุษย์ปล่อยให้มันเป็นเรื่องของมนุษย์ทั้งหมด เดี๋ยวนี้เฉพาะท่านทั้งหลายที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มพุทธศาสตร์นี่ มันควรจะรู้กันเสียทีว่าเกิดมาทำไม ถ้าเป็นกลุ่มพุทธศาสตร์ก็ต้องเป็นกันอย่างไร อาตมาบอกว่าเป็นกลุ่มพุทธศาสตร์เพื่อจะให้รู้ว่าเกิดมาทำไมแล้วก็ทำให้ได้ตามนั้น เมื่อทำได้ตามนั้นแล้วจึงจะเป็นกลุ่มพุทธศาสตร์ คือผู้ที่ใช้ศาสตราของพระพุทธเจ้าก็ตัดปัญหาต่างๆให้หมดไป เราก็เป็นบุคคลกลุ่มเดียวกัน มีวัตถุประสงค์อุดมคติอะไรเหมือนๆกัน นี่มันจะเป็นกลุ่มพุทธศาสตร์ที่แท้จริงขึ้นมา ถ้าเราไม่มีสติปัญญาไม่มีความคิดของเราเอง จะเอาสติปัญญาของพระพุทธเจ้าก็ได้ ว่าเกิดมาทำไม สรุปความตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ทั้งหมด โดยตรงโดยอ้อมอะไรก็ตาม มันได้ความว่า ได้ความตามที่พระองค์ตรัสว่าบุรุษอาชาไนยเกิดขึ้นมาเพื่อประโยชน์แก่คนทั้งหลาย แก่มหาชนทั้งหลายทั้งเทวดาและมนุษย์ หรือว่าจะให้สั้นๆก็คนทั้งหลายก็แล้วกัน แก่สัตว์ทั้งหลาย เกิดมาเพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย ก็รวมตัวเองด้วย บุรุษอาชาไนยเกิดมาเพื่อประโยชน์แก่มหาชนทั้งหลาย ก็แปลว่าเกิดมาเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ทุกคน เราด้วยและผู้อื่นทุกคนด้วย นี้ใจความมันมีอยู่แต่เพียงว่าไม่ใช่เกิดมาเพื่อเราคนเดียวหรือว่าเกิดมาแล้วจะต้องทำอะไรเพื่อประโยชน์เราคนเดียว แต่เราเกิดมาแล้วเพื่อประโยชน์แก่ทุกคน ก็น่าสนใจอยู่ตรงคำที่ว่าบุรุษอาชาไนย ทำไมต้องใช้คำว่าบุรุษอาชาไนย หมายถึงเฉพาะผู้ชายหรืออย่างไร คำกล่าวในลักษณะอย่างนี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะผู้ชาย หมายถึงคนทั่วไปแต่ที่เป็นอาชาไนยคือมีสติปัญญารู้ รอบรู้ทั่วถึงในการเกิดมาก็เรียกว่าอาชาไนย เมื่อเด็กๆได้ยินคำนี้ก็ให้คำแปลว่าบุรุษที่รู้ได้เร็วหรือรู้ได้ง่ายเรียกว่าบุรุษอาชาไนย ม้าก็เหมือนกัน ม้าที่ฝึกง่ายเพราะมันรู้ได้เร็วรู้ได้ง่ายเรียกว่าม้าอาชาไนย ก็ได้ความตามนี้ว่าอาชาไนยนั้นน่ะคือมีสติปัญญา และถ้าเรามีสติปัญญาก็จัดไว้ในฝ่ายพวกอาชาไนย ถ้าไม่มีสติปัญญาก็เป็นม้าโง่ เป็นคนโง่ซึ่งไม่ต้องรับผิดชอบอะไรก็ได้เพราะว่าเรามันโง่ แต่นี่เผอิญมันมีสติปัญญา มันก็ต้องรับผิดชอบในการที่เกิดมาเป็นผู้มีสติปัญญาคือจะต้องทำอะไรให้มันสมกันกับผู้มีสติปัญญานั่นเอง นี่เมื่อท่านทั้งหลายเรียกตัวเองว่ากลุ่มพุทธศาสตร์ มันก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะไม่ยอมรับว่าเราจะมี จะเป็น จะทำหรืออะไรกันอย่างผู้มีสติปัญญา เพราะคำว่ากลุ่มพุทธศาสตร์มันหมายถึงผู้ที่ใช้ศาสตราของพระพุทธเจ้ามันก็คือสติปัญญานั่นเอง ใช้ธรรมะเป็นศาสตราสามารถตัดปัญหาต่างๆได้ ดังนั้นเราก็เป็นผู้มีสติปัญญาที่จะรู้ว่าเกิดมาทำไม แล้วต้องทำให้สำเร็จตามนั้น
เมื่อถามว่าเกิดมาทำไม คำตอบที่สั้นที่สุดก็คือเกิดมาเพื่อประพฤติประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นโวหารพูดอย่างนี้เป็นพุทธบริษัทแท้ คำว่าทั้งแก่ตัวเองและแก่ผู้อื่นนั้นแหละ ขอให้ช่วยจำไว้ด้วย ถ้าพูดแต่ตัวเองฝ่ายเดียวแล้วก็จะไม่เป็นจะไม่เป็น จะไม่เป็นเรื่องทางศาสนา ศาสนาไหนก็ตาม ไม่มีศาสนาไหนที่จะพูดถึงแต่เรื่องตัวเอง จะพูดถึงตัวเองและผู้อื่นทั้งหมดทั้งสิ้นด้วยเสมอ เพราะว่าศาสนาเขามีมาเพื่อแก้ปัญหาในโลก จึงต้องมีเรื่องที่จะช่วยกันทุกคนหรือทั้งโลกให้ได้รับสันติสุขหรือสันติภาพ ดังนั้นเราถ้าว่าเป็นชาวพุทธก็ต้องยอมรับในข้อนี้ ที่ว่าเกิดมาเพื่อประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น นี่คือปัญหาข้อแรกที่ว่าเกิดมาทำไม ก็ตอบว่าเกิดมาเพื่อให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดทั้งตนเองและผู้อื่น คำว่าประโยชน์สุขในที่นี้ก็หมายถึงสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรจะได้รับทั้งเพื่อตนเองและเพื่อผู้อื่น ขอให้กลุ่มพุทธศาสตร์เตรียมตัวได้ สำหรับจะทำอะไรที่มันมีประโยชน์ที่สุดทั้งแก่ตัวเองและผู้อื่น จะต้องเรียนอะไร จะต้องรู้อะไร ก็จะต้องทำอะไร มันจึงจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดทั้งแก่ตัวเองและผู้อื่น ขอให้มีปัญหาข้อนี้พร้อมทั้งคำตอบแจ่มแจ้งอยู่ในใจตลอดเวลา
เมื่อวานนี้ก็ได้บอกแล้วว่าการศึกษาอย่างน้อยต้องมี ๓ ระดับคือศึกษาให้มีความรู้หนังสือสติปัญญาเฉลียวฉลาด แล้วก็ศึกษาให้มีอาชีพ ให้รู้และมีอาชีพ แล้วก็ศึกษาอันสุดท้ายคือให้มีความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องเป็นมนุษย์ที่เต็ม ไอ้ความหมายที่ ๓ ระดับที่ ๓ นั่นแหล่ะที่เรากำลังจะพูดในวันนี้ว่าเราจะมีความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องแล้วก็เต็มเปี่ยมหรือสมบรูณ์ ที่จริงพูดแต่ว่าถูกต้องก็ได้ แต่มันมีทางให้ขัดแย้งได้ว่ายังไม่สมบรูณ์ น ที่นี้ก็เลยพูดให้ชัดว่าต้องทั้งถูกต้องและก็สมบรูณ์ อย่าให้ถูกต้องในขั้นต้นหรือครึ่งๆกลางๆ แล้วก็มีความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องและสมบรูณ์ นั่นหมายความว่าเมื่อเราสามารถใช้ศาสตราของพระพุทธเจ้าได้สำเร็จ เราใช้ธรรมศาสตราของพระพุทธเจ้าปฏิบัติหน้าที่ของมนุษย์สำเร็จ เราก็มีความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องและสมบรูณ์ ความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องและสมบูรณ์นั่นแหล่ะเหลืออยู่เป็นปัญหาว่าจะต้องทำอย่างไร เคยพูดมาแล้วว่าเพียงแต่รู้หนังสือและมีอาชีพนี่ยังไม่สมบรูณ์สำหรับความเป็นมนุษย์ ถ้าใครเคยคิดว่ามีอาชีพที่มีเงินมากๆ เอาอะไรก็ได้จะเรียกว่าความเป็นมนุษย์ที่สมบรูณ์ อย่างนี้มันก็ใช้ได้แต่พวกที่นิยมวัตถุเป็นหลักคือมันเป็นพวกวัตถุนิยม เอาวัตถุเป็นหลักว่ามันสมบรูณ์ด้วยวัตถุแล้วก็เรียกว่าความเป็นมนุษย์นั้นสมบรูณ์หรือจะไม่มีปัญหาอะไรเหลืออยู่ แต่ตามทางของศาสนาซึ่งมองทั้งเรื่องวัตถุและเรื่องจิตใจ ทั้งทางรูปธรรมนามธรรมแล้วเขาไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น ต้องมีความถูกต้องและสมบรูณ์ทางจิตใจด้วยจึงจะเรียกว่าเป็นมนุษย์ที่สมบรูณ์ คนที่มีทรัพย์สมบัติมากมีอำนาจวาสนามาก จิตใจยังเลวทรามเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้ ก็ยังมีความทุกข์ร้อนนอนไม่หลับก็ได้ เขาอาจจะโง่ถึงฆ่าตัวตายเมื่อไหร่ก็ได้ อย่าเข้าใจไปว่ามีทรัพย์สมบัติอำนาจวาสนาสมบรูณ์แล้วมันก็จบกันถือว่าเป็นมนุษย์ที่สมบรูณ์ ตามหลักของศีลธรรมหรือจริยธรรม ความเป็นมนุษย์จะสมบรูณ์ต่อเมื่อเขามีความสุขอย่างแท้จริง ไม่ใช่มีความสุขอย่างปวดหัวเหมือนเรื่องของคนมีเงินมากเดี๋ยวนี้ มีความสุขสำหรับจะปวดหัว ยิ่งมีความสุขมากยิ่งปวดหัวมาก สำหรับคนสมัยนี้ที่บูชาวัตถุ อย่างนี้เราไม่เรียกว่าความสุขที่แท้จริง ความสุขที่แท้จริงคือความที่จิตมันปราศจากไอ้สิ่งเร่าร้อนคือกิเลสตัณหา กิเลสตัณหาไม่รบกวนจิตใจมีจิตใจสะอาด สว่าง และสงบ เป็นจิตใจที่เรียกได้ว่าเป็นอิสระ ไม่ถูกย่ำยีด้วยความทุกข์ในทางจิตใจ ที่จริงก็ควรจะเรียกว่ามีจิตว่างจึงจะเป็นอิสระ แต่เดี๋ยวนี้คนไม่ชอบคำว่าว่าง อาตมามาใช้คำว่าว่างนี่ถูกด่ามาเป็นกระบุงๆเลย ว่าพูดภาษาอะไรก็ไม่รู้จิตว่าง เพราะว่ามันพูดกันไม่รู้เรื่องมันฟังกันไม่ชัด จิตว่างนั้นมันคือว่างจากความรู้สึกว่าตัวกูว่าของกู คนปุถุชนธรรมดามันมีจิตใจเต็มอัดอยู่ด้วยความรู้สึกว่าตัวกูว่าของกู ไอ้กูไอ้ของกูมันเข้าไปอัดเต็มอยู่มันไม่ว่าง พอเอาความรู้สึกชนิดนั้นออกเสียจิตมันก็ว่างเพราะมันไม่มีตัว ไม่ตัวกูไม่มีของกูเรียกว่าไม่มีตัวเข้าไปอัดเต็มอยู่ มันก็เรียกว่าจิตว่าง ทีนี้ตัวกูของกูมันเป็นเรื่องของกิเลสที่เป็นเหตุให้โลภ ให้โกรธ ให้หลง ถ้าไม่มีตัวกูของกูมันก็โลภโกรธหลงไม่ได้เพราะมันเป็นจิตที่สะอาดปราศจากกิเลส และเพราะว่าปราศจากกิเลสเราเรียกว่าอิสระ ถ้ามีกิเลสจิตไม่เป็นอิสระ มันก็ถูกกิเลสนั่นแหละไสคอไปให้ทำอะไรตามอำนาจของกิเลส อยู่ใต้อำนาจของกิเลส มันไม่อิสระ ดังนั้นเราจะต้องเล็งถึงจิตที่เป็นอิสระ แล้วมันก็ว่าง คำว่าว่างนี้เป็นคำที่สำคัญที่สุดในพุทธศาสนา คือว่าต้องเห็นจิตที่มันว่างคือไม่ไปติดธุระ ไม่ไปจับ ไม่ไปฉวย ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆ จึงจะเรียกว่ามันว่าง ถ้ามันไปจับไปฉวยไปยึดมั่นถือมั่นอยู่ที่สิ่งที่เรียกว่าตัวกูของกูก็เรียกว่ามันไม่ว่าง และมันไม่เป็นอิสระ ที่จริงไอ้คำว่าว่างนี้ แม้ในทางวัตถุมันก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะรังเกียจ มันเป็นสิ่งที่มีค่าเหมือนกัน คุณลองคิดดู ถ้ามันไม่ว่างแล้วเราจะอยู่กันยังไง ถ้าที่ตรงนี้มันไม่ว่างแล้วคุณจะมานั่งได้อย่างไร ฟังออกหรือไม่ออก ว่าถ้าที่ตรงนี้มันไม่ว่างมันเต็มอัดอยู่ด้วยก้อนหินด้วยอะไรแล้วคุณจะนั่งได้อย่างไร มันต้องมีที่ว่างแล้วคุณก็มานั่งได้ นั่นน่ะคือประโยชน์ของความว่างแม้ในทางวัตถุ หรือพูดกันให้ง่ายๆว่าถ้วย ชาม จาน โอ่ง ไห ขวด กระปุกอะไรก็ตาม ถ้าข้างในมันไม่ว่างแล้วจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร โอ่ง ไห อะไรก็ตาม ถ้าข้างในมันไม่ว่างแล้วก็จะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ถ้ามันตันทึบ มันก็ใช้อย่าง โอ่ง ไห ถ้วย ชาม ไม่ได้ ดังนั้นความที่มันว่างอยู่นั้นแหละ มันเป็นประโยชน์ ดังนั้นค่าของถ้วย ชาม ลาม ไห มันอยู่ตรงที่ว่ามันว่างหรือมันกลวง หรือบ้านเรือน ห้อง ห้องในเรือนถ้ามันไม่ว่างแล้วจะเข้าไปอยู่ได้อย่างไร ถ้ามันตันทึบเหมือนกับภูเขาทึบนี้ เราจะเข้าไปในเรือนได้อย่างไร เพราะเรือนมันเป็นห้องที่ว่าง มันจึงมีค่าสำหรับให้เราเข้าไปอยู่ในความว่างที่ในห้องเรือนนั้น นี่ดูสิบ้านเรือนก็ดี ถ้วยชามลามไหก็ดี สถานที่ทั่วไปก็ดีเพราะมันว่างอยู่เราจึงใช้ประโยชน์ได้
ส่วนทางจิตใจ ทางนามธรรมนั้นหมายถึงจิตใจที่มันว่างจากกิเลส ที่เป็นเหตุให้รู้สึกว่าตัวกูของกูเรียกว่ามันไม่ว่าง มันอัดกลุ้มอยู่ด้วยไอ้ตัวกูของกู หรือว่าเมื่อมันมีความรู้สึกว่าเป็นตัวกูของกู มันย่อมหมายความว่ามันได้ไปจับฉวยเอาอะไรสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าแล้วเอามาทำเป็นตัวกู มาทำเป็นของกู อย่างนี้เขาเรียกว่าความยึดมั่น จิตมันไปจับฉวยเอาอะไรเข้ามาเป็นตัวกูของกูก็หมายความว่าจิตนั้นมันไม่ว่าง เพราะ มันไปยึดถืออะไรไว้ มันกอดรัดอะไรไว้ เรียกว่ามันไม่ว่าง เหมือนกับมือของเรานี่ ถ้าว่างก็หมายความไม่ได้จับฉวยอะไร พอไปจับฉวยจับกุมอะไรไว้มือมันก็ไม่ว่างแล้ว มันอย่างเดียวกันกับเรื่องของจิต ถ้าจิตไปจับฉวยหมายมั่นอะไรเป็นตัวกูของกู เราเรียกว่าจิตไม่ว่าง แล้วเวลานั้นแหละจะหนักที่สุด จะเป็นทุกข์จะลำบาก จะคับแค้น จะมีความทุกข์อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ไอ้เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละเป็นตัวทุกข์ หมายความว่าไปจับฉวยยึดมั่นถือมั่นเข้าที่อะไร อันนั้นจะเป็นตัวทุกข์ เป็นตัวความทุกข์ ดังนั้นเราไม่ต้องมีจิตนี้เป็นตัวตนของตน ไม่ต้องมีชีวิตนี้เป็นตัวตนของตนก็ได้ ถ้ามันมีจิตนี้ชีวิตนี้เป็นตัวตน มันก็จะหนักขึ้นมาด้วยเรื่องของตัวตนนั้นแหละ มันจะหาความสงบสุขไม่ได้ นี้ปล่อยให้จิตมันว่าง ไม่ได้ไปจับฉวยยึดถืออะไรเป็นตัวตน อะไรๆมันก็มีอยู่ตามธรรมชาติ เราสามารถที่จะใช้ให้มันเป็นประโยชน์ จะใช้ชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์หรือใช้ร่างกายนี้ให้เป็นประโยชน์ ใช้มือ ใช้เท้า ใช้อะไรก็ต้องใช้สติปัญญาให้มันเป็นประโยชน์โดยไม่ต้องหมายมั่นให้เป็นตัวเราหรือเป็นของเราซึ่งมันจะทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา จิตไม่จับฉวยอะไรเรียกว่าจิตว่าง อันนี้คือหัวใจของพุทธศาสนา ถ้าเข้าใจได้ก็ดี ถ้าเข้าใจไม่ได้ มันก็ไม่เชื่อ ไม่ยอมรับแล้วหาว่าบ้า จะทำอย่างไรได้เพราะความจริงมันมีอยู่อย่างนี้ ถ้าให้บอกความจริงมันก็บอกอย่างนี้ แล้วคนเขาก็ไม่ชอบ บางคน บางหมู่ เขาก็ไม่ชอบ ต่อเมื่อเป็นบุรุษอาชาไนยมีปัญญาพอเท่านั้น จึงจะเข้าใจสิ่งอย่างนี้ เช่นเข้าใจเรื่องความว่าง หรือเข้าใจเรื่องธรรมะ พระธรรม ถ้าไม่มีสติปัญญาพอก็ไม่เข้าใจธรรมะ ก็ไม่ชอบธรรมะ แล้วจะเกียดธรรมะด้วย อย่างที่คนอันธพาลทั้งหลายเขาไม่ชอบธรรมะ คนอันธพาลในโลก เขาไม่ชอบธรรมะ เขาว่าเป็นเรื่องของคนโง่ อยากจะบอกเป็นทางสังเกตว่า เมื่อธรรมะที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าถูกเปิดเผยออกมา ถูกแสดงออกมาว่าอย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น นี้คนในโลกมันมีหลายพวก พวกที่มีสติปัญญามันเข้าใจได้ มันก็พอใจยินดีรับเอาธรรมะของพระพุทธเจ้าไปปฏิบัติให้เป็นประโยชน์ได้ถึงที่สุด นี่พวกแรกมันมีปัญญาแท้จริง ทีนี้พวกที่ ๒ มันมีปัญญาสุกๆดิบๆ ปัญญาสุกๆ ดิบๆ ควรจะเข้าใจได้ว่ามันว่ายังไง ปัญญาที่มันไม่จริงปัญญาสุกๆดิบๆ พอฟังธรรมะของพระพุทธเจ้ามันก็ไม่เข้าใจ มันก็ลังเลไม่รู้จะทำอย่างไรดี มันจะโลดจะเต้นจะรำ มันก็ไม่รู้จะเล่นจะโลดจะเต้นจะรำอย่างไรดี มันก็เป็นเรื่องครึ่งๆกลางๆ รู้ธรรมะครึ่งๆกลางๆ ปฏิบัติธรรมะครึ่งๆกลางๆ ไม่สำเร็จประโยชน์ นี่พวกคนที่มันมีปัญญาสุกๆดิบๆ ระวังให้ดีใครมีปัญญาชนิดนี้ จะลูบคลำธรรมะเล็กๆน้อยๆศึกษาก็เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ปฏิบัติก็ผิดๆถูกๆ แล้วสรุปความแล้วก็ไม่ได้ผลหรือได้ผลน้อยเกินไป ทีนี้พวกที่ ๓ เป็นพวกอันธพาล เป็นคนโง่ไม่มีปัญญาเลย พอได้ฟังธรรมะที่เขาแสดงแล้วนั้นแหละ มันก็ว่าบ้าโว้ย เรื่องบ้าโว้ย ธรรมะเป็นเรื่องบ้า ธรรมะเป็นเรื่องของคนโง่ เอาไว้ให้คนโง่เถอะ เราช่วยกันโห่ธรรมะว่าเป็นเรื่องบ้า คนอันธพาลเขาก็โห่ธรรมะหาว่าเป็นเรื่องบ้า เอาไว้ให้คนโง่ เขาเองไม่โง่ นี่ขอให้คิดดูให้ดี แล้วสังเกตดูให้ดีว่าในโลกนี้มันจะมีอย่างนี้ จะมีคนอยู่ ๓ ชนิด คือมีปัญญาแท้จริง แล้วก็มีปัญญาสุกๆดิบๆแล้วก็ไม่มีปัญญาเลยโง่เป็นอันธพาลเลย พอธรรมมะถูกแสดงออกมาอย่างชัดเจนถูกต้องโดยเปิดเผย ไอ้คน๓ พวกนี้มันก็รู้สึกต่างๆกัน แล้วเขาก็จะได้ประโยชน์ต่างกัน พวกแรกจับฉวยเอาไปได้ไปประพฤติปฏิบัติได้สำเร็จประโยชน์เต็มที่ เต็มตามที่ว่ามนุษย์เกิดมาทำไม เขาทำให้ได้รับประโยชน์เต็มที่จากธรรมะนั้น พวกที่ ๒ มีปัญญาสุกๆดิบๆ มันก็ไม่อาจจะเอาธรรมะไปสำเร็จประโยชน์ได้ ได้ก็น้อยเต็มที ระวังกลุ่มพุทธศาสตร์อย่ามีปัญญาชนิดนี้ ขอให้มีปัญญาที่สำเร็จประโยชน์ นี้พวกที่ ๓ นี่ไม่มีประโยชน์อะไรไม่สำเร็จประโยชน์อะไร เพราะกับโห่ธรรมะเกลียดธรรมะ เป็นเรื่องไม่มีประโยชน์อะไร ซึ่งเวลานี้ในโลกนี้ก็มีอยู่มาก สำหรับคนที่เกลียดธรรมะ เกลียดศาสนา เขาก็เลยไม่มีหนทางที่จะใช้ชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์ในทางฝ่ายจิตใจ ก็ไปหลงในเรื่องฝ่ายวัตถุ ฝ่ายร่างกาย หลงเรื่องปาก เรื่องท้อง เรื่องสนุกสนานทางวัตถุ มันก็มีอย่างนี้ นี่คือความเป็นมนุษย์ที่มันมีอยู่จริง ๓ พวกเกี่ยวกับธรรมะ นี่เราจะเป็นมนุษย์ที่สมบรูณ์ถูกต้องและสมบรูณ์ มันต้องมีความสุขชนิดที่แท้จริงที่ถูกต้องและสมบรูณ์โดยมีความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ คำนี้ก็อยากจะขอให้ช่วยจำไว้ด้วยทุกคนแหละ ไอ้ความเต็มเขาเรียกง่ายๆว่า Perfection ความเต็มนั้นน่ะ Perfection ของความเป็นมนุษย์ ถ้าเรายังไม่มี ไม่มีความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ มันจะมีความสุขไม่ได้ ความเต็มของความเป็นมนุษย์นี่ มันก็คือความถูกต้องทาง ทุกทางที่เกี่ยวกับคนเรา ทางกาย ทางวาจา ทางจิต มันก็ถูกต้อง ทางสติปัญญามันก็ถูกต้อง ถ้าพูดว่ามีกี่ทาง ขอให้ช่วยจำไว้เป็นหลักทั่วไปสำหรับการศึกษาทั่วไป ก็เราจะบอกว่ามี ๔ ทาง เพื่อให้ฟังง่ายจะต้องบอกว่ามี ๔ ทางคือทางกายหนึ่ง ทางวาจาหนึ่ง ทางจิตหนึ่ง ทางสติปัญญาหนึ่ง รวมเป็น ๔ ทาง เรามีความเป็นอยู่ทางกายที่ถูกต้องเรื่องกินอาหาร เรื่องนุ่งห่มที่อยู่อาศัยเจ็บไข้ได้ป่วยมันมีถูกต้องหมด มันถูกต้องทางกาย แล้วก็มีความประพฤติกระทำในทางกายก็ถูกต้อง ก็เรียกว่าถูกต้องทางกายโดยสมบรูณ์ และก็ถูกต้องทางการพูดจา มีวาจาที่ถูกต้อง มีวิธีพูดจาที่ถูกต้อง ซึ่งจะต้องศึกษากันมากเหมือนกันนะ การที่จะมีวาจาถูกต้องนี้ แต่แล้วในที่สุดเราก็มีความถูกต้องทางวาจา ทีนี่ก็มาถึงถูกต้องทางจิต หมายความว่าไม่บ้า ไม่บอ มีจิตที่ปกติตามธรรมชาติ แล้วก็มีจิตที่อบรมดี มีความเป็นสมาธิดี นี่ก็เรียกว่าสามารถจะใช้จิตให้เป็นประโยชน์ที่สุดได้ อย่างนี้เรา เราเรียกว่าเรามีความถูกต้องในทางจิต ทีนี่ทางสติปัญญานั้นมันมีความ มันหมายถึงความรู้ ลำพังจิตมันยังไม่เกี่ยวกับความรู้ มันอาจจะรู้ผิดก็ได้ นี้ต้องมีความรู้ มีสติปัญญาถูกต้อง มีความคิดความเห็นถูกต้อง ก็มีความเชื่อที่ถูกต้อง นี่เราเรียกว่าสติปัญญา มีสติปัญญาถูกต้อง ขอให้กลุ่มพุทธศาสตร์สมาชิกกลุ่มพุทธศาสตร์ทุกคนจำไอ้ความถูกต้อง ๔ ทางนี้ไว้ ทางกาย ทางวาจา ทางจิต ทางสติปัญญา พอคุณมีความถูกต้อง ๔ ทางนี้ มันจะมีความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ มี Perfection แห่งความเป็นมนุษย์ ก็มีความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ มันก็มีความสุขได้ ความสุขที่แท้จริงได้ ไม่ใช่สุขหลอกๆ สุขอย่างที่ร้อนระอุเป็นไฟเหมือนที่เขาหลงใหลกันโดยมาก เราเรียกว่าสุก ก สะกด สุกชนิดนั้น ก สะกด มีเงินมาก มีอำนาจวาสนามาก มีเอร็ดอร่อยสนุกสนานตลอดเวลา เขาเรียกว่าความสุก แต่เราให้ตัว ก สะกดแก่คนชนิดนั้น ถ้าว่ามันเป็นความสุขที่ถูกต้อง มันต้องเป็นความสุขสงบเย็น ไม่มีกิเลสที่เป็นไฟรบกวน อย่างนี้เราเรียกว่าความสุขที่ให้ตัว ข สะกด ในที่นี้พูดกันเพื่อ เพื่อเข้าใจเรื่องนี้นะ สุก ก สะกด สุข ข สะกดเพื่อเข้าใจง่ายๆไม่ใช่เรื่องภาษาที่จะใช้เรื่องของภาษาทั่วๆไป อย่าไปใช้เข้า เดี๋ยวมันจะคนเขาจะโห่เอา เอาไว้พูดกันสำหรับรู้จักความสุขที่มนุษย์มันมีอยู่ ก สะกดมันเป็นสุกร้อน ซึ่งทำลายมนุษย์อย่างยิ่ง ถ้าสุข ข สะกดมันเป็นสุขเย็นที่ไม่ทำอันตรายใครเลย เป็นความสุขที่เกิดมาจากธรรมะเช่นความมีจิตว่างเป็นต้น มันก็สุขเย็น ถ้ามันจิตวุ่นเหลือประมาณมันก็สุขร้อน เช่นสุขกามารมณ์ สุขอะไรต่างๆเป็นสุขร้อน แล้วสุขเมื่อว่างจากกามารมณ์ ว่างจากกิเลสอะไรต่างๆนี้มันเป็นสุขเย็น เราจะมีความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ มีความถูกต้องแห่งความเป็นมนุษย์แล้วเราก็ได้สุขเย็น มันจะเลยไปถึงธรรมะอันละเอียดที่ว่าไม่มีการยึดถืออะไรให้เป็นตัวกูเป็นของกู ถ้าเรามีความเป็นมนุษย์ก็ขอให้มันเพื่อความเป็นมนุษย์อย่าเพื่อๆตัวกูเลย ให้มนุษย์นี่ทำอะไรเพื่อมนุษย์อย่าเพื่อตัวกูของกูของมนุษย์ ถ้าเราเรียนและมันเพื่อการเรียน ถ้าเราทำงานก็ขอให้มันเพื่อการทำงาน ถ้าเราทำหน้าที่ก็ขอให้มันเป็นไปเพื่อหน้าที่ แล้วประโยชน์ผลนั้นไม่ไปไหนเสียหรอก มันอยู่ที่จิตนั้นนะ อยู่ที่ร่างกาย อยู่ที่จิตนั่นนะ แต่อย่าหมายมั่นให้เป็นตัวตนของตน มันจะหนักขึ้นมา ดังนั้นเรามีร่างกายชีวิตจิตใจได้โดยที่ไม่ต้องยึดมั่นเป็นตัวกูของกู ไม่ต้องยึดมันว่าเป็นตัวตนของตน มันก็ไม่หนักแล้วมันก็ไม่ร้อน นี่จะฝากไว้ทุกคนไปตั้งข้อสังเกตเอาเองเมื่อใดร้อนใจ เป็นทุกข์ร้อนใจ เป็นไฟเผา แล้วขอให้ค้นเถอะมันพบแหละ มันจะพบตัวกูของกูที่เป็นเหตุให้ร้อน ใครมีความทุกข์เมื่อไรร้อนอกร้อนใจเมื่อไร ไปค้นดูให้ดีมันมีเรื่องที่ทำให้เกิดความรู้สึกตัวกูของกู อยู่ในนั้น นั้นเราอย่ามีไอ้ความรู้สึกชนิดนี้ มีร่างกายที่ถูกต้อง มีจิตใจที่ถูกต้อง มีสติปัญญาที่ถูกต้อง แล้วก็ทำไป จะเล่าเรียนก็ได้ จะทำการงานก็ได้ หรือจะประพฤติอะไรก็ได้ โดยที่ไม่ต้องหมายมั่นให้เป็นเรื่องตัวกูของกูให้มันเป็นทุกข์ ให้มันหนักอกหนักใจ มันจะเกินไปนั่นแหละมัน มันจะ มันก็หนัก นี่เราให้มันไปตามธรรมชาติ ร่างกายก็เป็นร่างกาย จิตใจก็เป็นจิตใจ สติปัญญาก็เป็นสติปัญญา มันก็รวมหัวกันทำอะไรไปอย่างถูกต้องไม่มีความทุกข์ แล้วมันก็เกิดประโยชน์ความสุขทั้งแก่ตัวเองและผู้อื่นด้วย ขอให้ประพฤติถูกต้องเถอะอยู่ที่ไหนก็มันจะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น เพียงแต่เราเป็นคนดีเท่านั้นแหละ มันก็มีประโยชน์ไปถึงผู้อื่นด้วยซึ่งอยู่ข้างๆกันนั้นแหละ ดังนั้นผู้ที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวกูของกู ก็จะอยู่อย่างมีความว่าง มีความเย็น มีความปกติ ไม่มีความทุกข์เลย ระวังอย่าให้ความคิดประเภทตัวกูของกูซึ่งเหมือนกับภูตผีปีศาจอะไรชนิดหนึ่งนะ มันเกิดขึ้นในจิต มันจะหมายมันเกินไป มันจะยึดถือเกินไป จนเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือเกิดความหนักในดวงวิญญาณ เกิดความหนักอึ้งในทางจิตทางวิญญาณขึ้นมา ไม่สบายด้วยแล้วก็ทำอะไรให้สำเร็จไม่ได้ด้วย ให้มีจิตใจที่ว่างโปร่งมีจิตใจที่ปกติ โปร่ง เยือกเย็นสบาย แล้วก็ทำไปทุกอย่างตามที่เห็นว่าเป็นหน้าที่ที่ควรจะทำ อย่าหมายมั่นให้มันเครียดขึ้นมาเป็นตัวกูของกู จะได้ จะเสีย จะฉิบหาย จะรวย จะอะไรอย่างดังนั้นอย่า อย่าให้มันมีความคิดเลยไปถึงนั่น นี่เรียกว่ามีความสุข เรามีความเต็ม เรามีความถูกต้องของความเป็นมนุษย์ เราก็มีความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ เราก็มีความสุขแท้จริงอย่างความมีอย่างเป็นมนุษย์ที่แท้จริง นี่มันควรจะเป็นชีวิตแบบนี้สำหรับสมาชิกกลุ่มพุทธศาสตร์ทั้งหลาย
นี้ตามหลักจริยธรรมสากลจะต่อท้ายขึ้นมาอีกสักข้อหนึ่งว่า เมื่อเรามีความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์แล้วมีความสุขที่แท้จริง ทำอะไรไม่ใช่เพื่อตัวกูของกู แต่ทำเพื่อความถูกต้องของความเป็นมนุษย์แล้ว จิตมันก็จะกว้างพอที่จะรักผู้อื่นคือรักเพื่อนมนุษย์ด้วยกันทุกคน แล้วจะเลยไปถึงสัตว์เดรัจฉานที่มีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึกคิดนึก เรารักเราสงสารแม้แต่สัตว์เดรัจฉาน อย่าว่าแต่มนุษย์ด้วยกัน และยิ่งไปกว่านั้นถ้าความรู้ของเรามันกว้างไปจนถึงกับว่าแม้แต่ต้นไม้ต้นไร่นี้ มันก็มีชีวิต มีความรู้สึกคิดนึก แล้วก็พลอยรักต้นไม้ด้วยทำลายมันไม่ลง ข้อนี้ก็ฝากไว้ให้เป็นเรื่องที่ท่านทั้งหลายจะต้องไปศึกษาเอาเองต่อไป ว่าต้นไม้นี่มันมีความรู้สึกหรือไม่ เดี๋ยวนี้การศึกษายุคหลังสุดนี่เขาสามารถพิสูจน์ได้ว่าต้นไม้ก็มีความรู้สึก ต้นไม้มีความรู้สึกอยากจะอยู่ไม่อยากตาย แล้วก็อยากที่จะได้สิ่งแวดล้อมที่อบอุ่นนิ่มนวลสบาย อย่างไปร้องเพลงให้ฟัง มันก็ชอบกว่าที่จะไปด่ามัน เขาพิสูจน์ถึงอย่างนี้ เกี่ยวกับต้นไม้เขาพิสูจน์ได้ด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ที่ละเอียดมาก แต่ว่าในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาก็ไม่ได้พูดถึงอย่างนั้น พูดแต่ว่าสิ่งที่มันมีชีวิต เราควรจะสงสารมัน เมื่อเรามีจิตใจกว้างเพราะความว่างจากตัวกูของกู มันก็รักผู้อื่นได้ ความเห็นแก่ตัวมันเกิดไม่ได้มันก็รักผู้อื่นได้ ก็เลยเกิดความรักที่เรียกว่าไม่มีขอบเขตเรียกว่าความรักสากล โดยบทว่าสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายล้วนแต่เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ใช้คำว่าสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายดีกว่าจะใช้คำว่ามนุษย์ จำกัดอยู่แต่มนุษย์ สิ่งที่มีชีวิตก็แล้วกัน อะไรก็ได้ แต่ก็ถ้ามันมีชีวิตแล้วเราจะถือว่ามันเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายของเราซึ่งก็มีชีวิตด้วย จิตใจอย่างนี้มันไม่ใช่มุ่งหมายแต่เพียงจะทำประโยชน์ผู้อื่น แต่มันมีประโยชน์แก่ผู้นั้นเองด้วย ผู้ที่มีความรู้สึกอย่างนี้ เขาจะได้รับประโยชน์จากความรู้สึกอย่างนี้ เขาจะมีความรู้สึกที่เป็นสุขอย่างยิ่ง รู้สึกเป็นสุขในข้อที่ว่าเราไม่มีเวร เราไม่มีภัย เราไม่มีศัตรู ใครจะเป็นศัตรูกับเราก็ตามใจเขา เราไม่รู้ไม่ชี้ แต่เราไม่มีเวรไม่มีภัยกับใคร ก็เลยเกิดความสุขแบบใหม่อีกแบบหนึ่งคือสุขที่เกิดมาจากความรู้สึกว่าไม่มีศัตรู ไอ้สุขเกิดจากมีเงินใช้มีอะไรทั้งนั้นมันก็เป็นความสุขต่ำๆเตี้ยๆ แล้วความสุขที่เกิดมาจากกิเลสไม่รบกวน มันก็เป็นความสุขที่แท้จริงอย่างหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้เรามีความสุขที่เกิดมาจากความรู้สึกว่าไม่มีศัตรู ไปนั่งไปนอนตรงไหนก็ได้ เสือก็ไม่กัด งูก็ไม่กัด อะไรก็ไม่ทำอันตราย เพราะความมีจิตชนิดนี้ก็เลยมีความสุขสมบรูณ์เพราะว่าเขามีความรักที่ไม่มีขอบเขตจำกัด เขาเรียกว่าเมตตาแปลว่าความเป็นมิตรอัปปมัญญาที่ไม่มีขอบเขตจำกัด นี่มนุษย์สูงสุด มนุษย์เต็มมันมาอยู่ที่นี่ มีความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ก็มีความสุขแท้จริง ไม่มีตัวตนทำอะไรก็ทำเพื่อธรรมะ เพื่อความถูกต้อง ไม่ต้องเพื่อตัวกูของกู แล้วเขาก็มีความรักไอ้สิ่งที่มีชีวิตทุกชีวิตทุกสิ่งได้ในสากลจักรวาล นี่จุดสูงสุดมันมาถึงนี่ เราจะถึงหรือไม่ถึงมันอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าจุดสูงสุดของความเกิดมาทำไม เพื่อประโยชน์อะไร นี่มันเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ เกิดมาเพื่อให้ได้ความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ ให้ได้ความสุขอย่างแท้จริง ให้ทำอะไรทำเพื่อธรรมะไม่ใช่เพื่อตัวกูของกู และก็ให้มีความรักที่ไม่มีขอบเขตในสิ่งที่มีชีวิตด้วยกัน จะมากหรือน้อยจะสูงหรือต่ำเท่าไรก็ลองไปคิดดูเอง แต่ถ้าถือตามหลักคำสอนในทางศาสนาแล้ว มันมีอยู่อย่างนี้ ว่าเกิดมาเพื่ออย่างนี้ เพื่อถึงจุดหมายอันนี้ นี่ที่บอกเมื่อสักครู่นี้ว่าเราจะมีปัญหาขึ้นมาว่าเราเกิดมาทำไม หรือจะบ่ายเบี่ยงว่าฉันไม่ได้ตั้งใจจะเกิดมาแต่มันเกิดมาแล้ว ก็ยังจะต้องสวมปัญหานี้ให้อีกทีหนึ่งว่า ที่เกิดมาแล้วนี่จะต้องทำอะไรต่อไป มันก็ปัญหาเดียวกันกับว่าเกิดมาทำไม เกิดมาเป็นมนุษย์ที่สมบรูณ์คือมีความสุข มีจิตใจว่างจากตัวกูของกู มีความรักสากล ได้ในคำพูดสั้นๆว่าเกิดมาเพื่อประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ถ้ามองเห็นแล้วก็ยอมรับว่าเราเกิดมาเพื่อทั้งแก่ตัวเราเองและทั้งแก่ผู้อื่นไม่ใช่เกิดมาเพื่อเราคนเดียว เมื่อเรามีความตั้งใจลงไปอย่างนี้ เราก็ต้องเตรียมพร้อมทุกอย่างแหละเพื่อให้มันสำเร็จตามนี้ เพราะฉะนั้นเราอย่าเรียนเพื่อเราคนเดียว เราอย่าทำงานเพื่อเราคนเดียว เราอย่าอะไรๆเพื่อเราคนเดียว จะต้องทำเพื่อเพื่อนสัตว์ที่มีชีวิตทั้งหลายด้วย ดังนั้นแหละจะได้รับประโยชน์สูงสุดของความเป็นมนุษย์คือสันติสุขและสันติภาพทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวม จิตใจที่สูงถึงขนาดนี้ มันเพ่งเล็งไปยังมนุษย์ทั้งหมด ไม่ใช่มาแยกตัวเป็นมนุษย์คนเดียว เราเกิดมาเป็นมนุษย์นี่มันเป็นมนุษย์คนเดียว ถ้าเราเกิดมาเป็นมนุษยชาติ เป็นชาติแห่งมนุษย์อย่างนี้มันเกิดมาเพื่อมนุษย์ทุกคน หรือว่าเราเป็นมนุษยชาติคือเป็นมนุษย์ทั้งหมดของความเป็นมนุษย์ไม่ได้เพื่อเป็นมนุษย์คนเดียวสำหรับเรา ดังนี้จิตใจมันก็กว้าง เป็นๆสิ่งที่ถูกต้องตามความมุ่งหมายของธรรมชาติ ที่ว่ามนุษย์จะต้องเกิดมาเพื่อความเป็นอย่างนี้ ข้อนี้มันก็คงไม่ลึกลับเกินไปคือเราสังเกตได้ ถ้าเราจะคิดนึกสักหน่อยว่าเราจะอยู่คนเดียวในโลกนี้ได้ไหม คิดเดี๋ยวนี้ก็ได้ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ ลองสมมุติว่ามีแต่เราคนเดียวในโลกนี้เราจะเอาไหม เดี๋ยวก็สั่นหัวนะ มันจะอยู่ได้อย่างไร ถ้าในโลกนี้มีแต่เราคนเดียวนะ เราคงจะบ้าเลยไม่กี่ชั่วโมงมันก็บ้า ดังนั้นเราก็ไม่อาจจะอยู่คนเดียวได้ เพราะโดยอำนาจของธรรมชาติหรือโดยสัจจะของธรรมชาตินี่ มันไม่ได้สร้างมาเพื่อมนุษย์อยู่คนเดียว ดังนั้นมันจะทำอะไรไม่ได้อีกหลายอย่างถ้ามันอยู่คนเดียว ก็ไปคิดดูสิว่าเดี๋ยวนี้เราประสานสัมพันธ์กันทั้งบ้านทั้งเมืองทั้งโลก เราได้รับประโยชน์จากอะไรบ้าง เดี๋ยวนี้เรามานั่งอยู่ที่นี่ มันเป็นการกระทำของผู้อื่นนะ ที่ทำสถานที่นี้ไว้สำหรับพอเรามาก็นั่งได้ทันที เพราะเรามีอยู่หลายคน หลายพวก หลายชนิด หลายหน้าที่การงาน ยิ่งเดี๋ยวนี้ยิ่งเห็นว่าที่เราจะมีเครื่องเสียงใช้อย่างนี้ มันไม่ยอมให้ทำเลย เราก็ทำไม่เป็นด้วยแล้วก็มีคนทำ ทำเป็นแล้วเราก็ได้ใช้ เพราะว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว เรามีการเป็นอยู่ที่สัมพันธ์กัน เกี่ยวข้องกัน แลกเปลี่ยนกัน ทำให้เกิดความเจริญที่เป็นเรียกกันว่าความก้าวหน้าในทางที่เป็นประโยชน์นั้นมากมายมหาศาล มันเป็นไปไม่ได้ที่จะมีมนุษย์คนเดียวในโลก แล้วถ้าว่ามันมีได้เป็นได้ มันก็เป็นบ้าตายใน ๒ – ๓ชั่วโมงนั่นแหละ มันไม่รู้จะทำอะไร ก็ควรจะถือเสียว่าเราจะต้องมีเพื่อนมนุษย์อยู่ มันจึงจะเป็นการอยู่ของมนุษย์หรือมนุษยชาติคือมนุษย์ทุกคน ก็เลยเป็น เป็นฐานที่ตั้งที่มั่นคง เข้มแข็งที่จะอยู่ได้ เมื่ออยู่ได้แล้วก็ทำให้มันเจริญก้าวหน้าไปได้ตามที่มันควรจะเป็นไป แต่มันก็มีเหมือนกันที่เจริญก้าวหน้าไปในทางเฟ้อทางเกิน นั้นเรื่องยุ่ง จะต้องระวังอยู่อีกส่วนหนึ่งอย่าให้มันก้าวหน้าหรือเจริญไปในทางที่มันเกิน หลักธรรมะในพระพุทธศาสนาก็มีอยู่ข้อหนึ่งที่สำคัญมาก คืออย่าอยู่ อย่าเป็นอยู่อย่างขาดๆเกินๆ ให้อยู่ถูกต้องและพอดี ดังนั้นเรื่องกิน เรื่องอยู่ เรื่องนุ่ง เรื่องห่ม เรื่องบริหารร่างกายเครื่องใช้ไม้สอยบ้านเรือนอะไรก็ตาม ขอให้มันพอดีอย่าให้มันเกิน ถ้ามันเกินมันก็ผิดไปในทางที่จะให้เกิดความทุกข์เกิดกิเลสเกิดความยุ่งยาก ถ้ามันขาดมันก็อาจจะตายได้ แต่เรื่องขาดนี่ไม่มี มันมีได้ยากเพราะว่ามนุษย์มันไม่ชอบนี่ส่วนที่มันขาดหรือมันน้อยมันชอบแต่ส่วนที่มาก มันชอบแต่ส่วนสนุกสนานเอร็ดอร่อยสวยงามซึ่งนำไปในทางเกินเสมอ เรื่องห้ามว่าอย่าให้ขาดนี้ดูจะไม่ต้องห้ามแล้ว เพราะมันไม่มีใครชอบที่จะขาด แต่ส่วนที่มันจะเกินนะทุกคนมันชอบต้องห้ามไว้บ้างอย่าให้มันเกิน นี่จะถือศีลอุโบสถกันบ้างหรือเปล่าก็ไม่ทราบ นักศึกษากลุ่มพุทธศาสตร์นี่ถือศีลอุโบสถกันบ้างหรือเปล่า ศีล ๘ นะ ที่นี้ก็ดีที่สงขลา ที่มหาวิทยาลัยก็ดีเคยถือศีลอุโบสถกันบ้างหรือเปล่า ถ้ายังแล้วก็แย่มาก ยังไม่เป็นกลุ่มพุทธศาสตร์นะ ถ้ายังไม่เคยถือศีลอุโบสถเสียเลยนี่ยังไม่เป็นกลุ่มพุทธศาสตร์ ดังนั้นไปปรับปรุงกันเสียใหม่ ว่าลองถือดูบ้างมันจะเป็นยังไง เพราะว่าศีลอุโบสถนั่นแหละคือศีลที่ไม่แตะต้องส่วนเกิน ศีลที่ป้องกันไม่ให้เราแตะต้องส่วนเกิน ที่จริงศีล ๕ นี่มันก็ป้องกันไม่ให้แตะต้องส่วนเกินเหมือนกันแต่มันส่วนลึกหรือส่วนรุนแรง ส่วนธรรมดาสามัญนั้นก็อยู่ที่ศีล ๘ ถ้าเราถือศีล ๘ นั้นจะไม่มีอะไรเกิน ไม่ ข้อที่ ๖ ไม่กินอาหารส่วนเกิน อาหารดีเกิน อร่อยเกิน แพงเกิน มากเกิน บ่อยเกินนี่ๆไม่เอาทั้งนั้น ลองๆถือศีล ๘ แล้วก็ไอ้ข้อที่ ๗ นัจจคีตวาทิต ไม่ฟ้อนไม่รำ ไม่ขับร้อง ไม่ประโคม ไม่ดีดสีตีเป่า ไม่ลูบทาของหอม ไม่ประดับประดาสวยงามเหมือนกับยายบ้า นี่เรามันยังชอบกันไหม ฟ้อนรำ ขับร้องประโคม ดีดสีตีเป่า ประดับประดา นี้มันเกิน ถ้าถือไม่ได้ทุกวันก็ลองถือแต่บางวันแล้วจะรู้สึก ทำไมจะต้องใส่เสื้อที่มันมีลวดมีลายมีปุปะอย่างนั้นอย่างนี้ นี่มันๆเพราะอะไร ทำไมไม่ใส่เสื้อสีธรรมดาๆหนาๆทนๆ ไปใส่เสื้อมีลาย มันต้องแพงในผ้าที่ทำลายต้องเสียสตางค์มากกว่า ใส่แล้วก็ครึ้มใจว่าเรามันสวย นี่มันเกิน จะระบุว่าทุกคนที่สวมเสื้อลายนี่ไปชอบของที่มันเกิน ไปปรับปรุงกันเสียไหมก็ได้ อย่าให้มันเกิน แล้วข้อที่ ๘ สุดท้ายก็ว่าไม่นั่งนอนบนที่นั่งนอนสูงใหญ่ เขาพูดว่าไว้เป็นตัวอย่าง เป็นตัวบทต้องขยายความเอาเอง ว่าเครื่องใช้ไม้สอยที่มันสูงมันใหญ่คือมันเกิน เกินจำเป็นเลิก จะเป็นที่นั่ง ที่นอนเครื่องใช้ไม้สอยบ้านเรือนอะไรก็ตาม ไม่ต้องดีเกิน ไม่ต้องแพงเกิน ไม่ต้องสวยเกิน หรือไม่ต้องมีอย่างนี้ก็แล้วกันนะ เอาที่มันปกติธรรมดา ถ้าจะให้เป็นกลุ่มพุทธศาสตร์ที่จริงจัง เข้มข้นขึ้นและก็ช่วยกันถือศีลอุโบสถบ้าง เมื่อไรก็ได้ ที่นี่ก็ได้ ที่ไหนก็ได้ เว้นอาหารส่วนเกิน ไปรู้เอาเองว่าอะไรมันเกิน ที่ร่างกายมันต้องการแท้ ๆเท่าไรเหลือไปจากนั้นมันเกิน ดังนั้นอย่าไปชอบอร่อย ถ้าไปหลงในอร่อยแล้วมันก็จะทำให้เกิน ยกตัวอย่างผงชูรสนั้น มันทำให้อร่อยแล้วคนมันก็กินเกินกว่าที่ควรจะกิน หรือว่าไอ้น้ำจิ้มทั้งหลายระวังให้ดี มันเป็นตัวร้ายกาจที่สุด มันอิ่มแล้วแต่ถ้าน้ำจิ้มรสแปลกมาจิ้ม มันยังกินได้อีกหลายคำ มันก็เกินที่ร่างกายต้องการ นั้นเราอย่าไปชอบไอ้สิ่งชูรสที่ทำให้เรามันกินเกินกว่าธรรมดา เรียกว่าทำตนเป็นคู่ปรปักษ์กันเลยกับไอ้สิ่งที่ทำให้มันเกิน โดยเฉพาะที่ให้กินเกิน อย่าให้แพงเกิน อย่าให้บ่อยเกิน จะนอนแล้วก็ยังกินอีก มันเกิน เรื่องบริหารร่างกายอย่าให้มันเกิน เราอย่าไปหลงไอ้ตามคนที่มันไม่ ไม่มีหลักธรรมะ เรื่องฟ้อนรำขับร้อง เรื่องอะไรเหล่านี้ ถ้ามันเป็นเรื่องมีประโยชน์ทางศิลปะ ทางอะไรมันก็ดี แต่ถ้ามันเป็นไปเพื่อส่งเสริมไอ้ความรู้สึกทางกิเลส แล้วมันก็ผิด แล้วมันก็เกิน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระบาลี ปรากฏอยู่ในพระบาลีที่มีคนเอาไปเขียนเป็นหนังสือกามนิต ว่าร้องเพลงคืออาการของคนบ้า หัวเราะอาการของเด็กอ่อนนอนเบาะ ร้องเพลงนั้นคือร้องไห้ นี่ลองไปคิดดูทำไมพระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้ ไอ้คนเต้นรำ ไอ้คนเต้นรำนะเหมือนกับคนบ้าคืออาการของคนบ้า มันก็เหมือนกับอาการของคนบ้าแหละ มันไม่ต้องอธิบายแล้ว พอมันลุกขึ้นเต้นมันก็มีอาการของคนบ้า พอมันร้องเพลงมันก็ทำเสียงหยีๆเหมือนกับเด็กร้องไห้เหมือนกับคนร้องไห้ พอมันหัวเราะแล้วมันก็เป็นอาการของเด็กอ่อนที่เขายั่วให้มันหัวเราะ นั้นเราโตแล้วอย่าชอบหัวเราะกันนัก อย่าให้มีใครมาจี้ให้หัวเราะได้ง่ายๆ เดี๋ยวนี้เรามันชอบหัวเราะจนเสียสมดุล อะไรนิดหนึ่งก็หัวเราะ อะไรนิดหนึ่งก็ฮา ไม่สำรวมไม่บังคับความรู้สึก จิตใจมันก็เคยชินไปในทางไม่บังคับความรู้สึก เรื่องเครื่องใช้ไม้สอยก็ไปคิดเอาเอง อะไรมันเกินไป ดินสอ ปากกา นาฬิกาที่ใช้อยู่นี่ อย่าให้มันมีลักษณะที่ส่อความเกิน ให้มันพอดี หรือถ้าไม่มีได้ ถ้าไม่มีพอดีก็อย่ามีมันดีกว่า ถ้ามีก็มีให้พอดี อย่าให้มันเป็นลักษณะเกิน เดี๋ยวนี้มันชอบแพงจนพ่อแม่ให้ไม่ไหว ชอบแพงจนไปขอพ่อแม่ให้ไม่ไหว จะซื้อนาฬิกาก็ทอง กรอบแว่นตาก็ทอง อะไรๆก็จะทองไปเสียหมด มันเกิน นี้ที่เอาเรื่องนี้มาพูดก็เพื่อจะบอกให้ทราบว่าไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ถ้ามีเรื่องเกินแล้วก็ไม่มีธรรมะ ถ้าธรรมะต้องถูกต้องและพอดี เรารู้เรื่องจิตใจให้พอ ให้มันอยู่ในความถูกต้องและพอดี อย่าให้มีเรื่องเกิน เรื่องขาดนั้นไม่ต้องพูด ดังที่บอกแล้วว่าไม่มีใครชอบขาด เราไม่ค่อยเตือนกันเพราะไม่มีใครชอบที่จะขาด แต่เรื่องที่มันจะเกินไปนี่แหละ มัน ทุกคนมันชอบก็ต้องเตือนกันไว้บ้าง ระวังอย่าให้เกิน ถ้าเขาจะควบคุมกันเรื่องนี้ก็ขอให้ถือศีลอุโบสถกันบ้าง ระหว่างที่พักอยู่ที่สวนโมกข์นี้ ยิ่งดี ยิ่งสะดวก มันยิ่งประกอบกันกับเวลาและสถานที่ ว่ามาอยู่อย่างนี้ถือศีลอุโบสถ ศีล ๘ กันเสียบ้าง ส่วนศีล ๕ นั้นก็ถือเป็นประจำ ถ้าเราถือศีลไม่แตะต้องส่วนเกินนี่ มันเป็นการบอกให้รู้อยู่ในตัวแล้วว่าเรารู้ว่าเราเกิดมาทำไม รู้ว่าเราไม่ได้เกิดมาเพื่อทำอะไรให้มันเกิน จะทำอะไรให้มันถูกต้อง ให้พอดีให้เป็นอยู่พอดี มีชีวิตถูกต้องและพอดี ไม่มีเรื่องขาด ไม่มีเรื่องเกิน เรื่องขาดไม่มีใครชอบเพราะฉะนั้นจึงไม่เตือน แต่ว่ามันอาจจะมีการขาดโดยไม่รู้ตัว ถ้าสิ่งอะไรมันขาดแล้วเราก็ไม่รู้ว่ามันขาดเพราะเราไม่รู้เรื่องนี้อย่างนี้ก็จะต้องเตือนกันบ้างเหมือนกัน เตือนให้ต้องประพฤติหรือกระทำให้เต็มขึ้นมาอย่างที่เรียกว่าไม่เคยรักษาศีล ๘ มันยังขาดอยู่ ก็เตือนกันบ้างว่าลองรักษาศีล ๘ กันบ้าง และพอรักษาศีล ๘ แล้ว มันก็จะป้องกันไอ้ส่วนเกินที่เรากำลังเกินอยู่โดยไม่รู้สึกตัวอีกเหมือนกัน ดังนั้นขนบธรรมเนียมประเพณีในทางธรรมะ ทางศาสนาที่เขาวางไว้ดีแล้วนั้น เราอย่าดูหมิ่นดูถูกเลย อย่างน้อยก็ลองดู ลองถือศีลอุโบสถดู ศีลอะไรต่างๆที่มันแปลกออกไปที่เราจะถือได้ดู เป็นอุปกรณ์ เป็นเครื่องช่วยให้ถึงธรรมะได้ง่ายเข้า ได้เร็วเข้าแล้วความเป็นมนุษย์ของเรามันก็จะสมบรูณ์เร็วเข้านั่นเอง
นี่ว่าเกิดมาทำไม ปัญหาที่ตั้งไว้เป็นหัวข้อว่าเกิดมาทำไม เกิดมาเพื่อถึงความสมบรูณ์แห่งความเป็นมนุษย์ ทำได้อย่างไร ด้วยการประพฤติปฏิบัติสิ่งที่เรียกว่าธรรมหรือธรรมะโดยถูกต้อง โดยสมควรแก่ธรรมดังนี้คือไม่ขาดไม่เกิน ปฏิบัติธรรมะโดยสมควรแก่ธรรมะ นี่เป็นคำที่ลึกซึ้งอธิบายยากที่สุด ยากที่ใครจะรู้ว่าสมควรคือเท่าไร แต่ขอให้พยายามไปเรื่อยๆ พยายามไปเรื่อยๆ มันคงจะรู้สัก รู้มากขึ้น มากขึ้นแหละว่าไอ้พอดีหรือสมควรนะคืออย่างไร แล้วในที่สุดมันก็จะบอกให้ได้ว่าไม่มีความทุกข์เลย ไม่สร้างความทุกข์ขึ้นมา นี่ก็คือถูกต้องแล้วก็สมควรแก่ธรรมะ นี่เราจะเห็นในที่สุดเห็น จะเห็นได้ในที่สุดว่าไอ้ๆๆธรรมะกับมนุษย์นี่ต้องคู่กัน ธรรมะกับมนุษย์นี้ต้องคู่กัน แยกธรรมะออกจะไม่มีความเป็นมนุษย์ และมนุษย์ไม่อาจจะอยู่ได้โดยปราศจากธรรมะ เข้าใจว่าทุกคนยังคงจะจำได้ที่บอกแล้ววันก่อนว่าธรรมะนั้นมีอยู่ ๔ ความหมายธรรมะคือตัวธรรมชาติทั้งหลาย ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ และธรรมะคือหน้าที่ที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ และธรรมะคือผลที่ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่นั้น ที่นี้ลองตั้งปัญหาถามดูว่าใครบ้างมันจะลอดชีวิตอยู่ได้โดยไม่กระทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ใครอยู่ได้ ใครจะมีชีวิตลอดอยู่ได้โดยที่ไม่ทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ซึ่งเป็นธรรมะในความหมายที่ ๓ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติความหมายที่ ๓ มนุษย์ไม่อาจจะรอดชีวิตอยู่ได้โดยไม่มีธรรมะในความหมายนี้ นี่เราก็ทำกันอยู่โดยไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำไป เราต้องกินอาหาร เราต้องอาบน้ำ ต้องถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ต้องบริหารทุกอย่างทุกทางนี่เป็นหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติอย่างเลวอย่างต่ำที่สุดแล้วยังต้องทำ นี้มันมีอย่างดี อย่างสูง อย่างอะไรขึ้นไปกว่านั้นอีกมาก เราก็ต้องทำให้ความเป็นมนุษย์ๆของเรามันงดงามยิ่งขึ้น งดงามยิ่งขึ้นจนกว่ามันจะสมบรูณ์ นี่เกิดมาทำไม เกิดมาเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบรูณ์ สมบรูณ์ได้ด้วยอะไร สมบรูณ์ได้ด้วยธรรมะรู้ธรรมะในทุกความงาม ทุกความหมายแล้วก็ปฏิบัติธรรมะในความหมายที่จำเป็นที่สุดสำหรับมนุษย์ เราก็เรียนธรรมะ เราก็ปฏิบัติธรรมะ ได้ผลของธรรมะในขั้นที่สมบรูณ์ นี่ขอให้สมาชิกกลุ่มพุทธศาสตร์ทุกคนมีความเข้าใจแจ่มแจ้งในสิ่งที่กำลังพูดอยู่นี้ ว่าเกิดมาทำไม แล้วมันจะได้อย่างไร โดยวิธีใด แล้วก็จะไม่เสียทีนะ ไม่เสียทีที่อุตส่าห์ตั้งกลุ่มพุทธศาสตร์ขึ้นมา แม้ว่านะขออภัยที่จะพูดว่าแม้ว่าทีแรกเราจะตั้งกลุ่มพุทธศาสตร์ขึ้นมาเพราะเห่อๆตามเขา แม้ว่านะเราจะตั้งกลุ่มพุทธศาสตร์เห่อๆขึ้นมา ตามๆเขาที่ได้ยินมาว่ามหาวิทยาลัยนั้นก็มีกลุ่มพุทธศาสตร์ วิทยาลัยนี้ก็มีกลุ่มพุทธศาสตร์ เราเห่อ ๆ ตั้งขึ้นมาตามเขา นี่ขอสมมุติว่าแม้ว่าเราได้ตั้งขึ้นมาในลักษณะอย่างนั้นนะ แต่ต่อไปนี้เราก็จะไม่แม้ว่าแล้วแหละ เราจะทำให้ไอ้ความเป็นกลุ่มพุทธศาสตร์นี่สมบรูณ์ เท่าที่อาตมาจำได้ดูเหมือนรู้สึกว่าไอ้ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั่นนะ มันจะได้ตั้งขึ้นก่อนมหาวิทยาลัยไหนหมด ๓๐ – ๔๐ ปีมาแล้ว ตั้งกลุ่มพุทธศาสตร์ขึ้นมา แล้วคำนี้ความหมายนี้ยืมไปใช้ตั้งกันในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วไป ทั่วไป แล้วจะมีบ้างกลุ่มมันตั้งขึ้นมาเพราะอยากจะตั้งตามๆเขา แม้ว่ามันได้ตั้งขึ้นมาโดยลักษณะนั้นต่อไปนี้ก็ขอให้มันเข้ารูป คือใช้ให้เป็นประโยชน์ในการตั้งกลุ่มพุทธศาสตร์ขึ้นมาในมหาวิทยาลัยของเรา แล้วใครเป็นสมาชิกแห่งกลุ่มนี้ก็ขอให้เป็นให้สมชื่อ ให้สมจริง ว่าเป็นผู้มีธรรมะศาสตราของพระพุทธเจ้ามาใช้ในการแก้ปัญหาแห่งความเป็นมนุษย์สำเร็จได้ตามความมุ่งหมาย เราก็เป็นกลุ่มพุทธศาสตร์แท้จริง ไม่เป็นกันแต่ปาก นี่วันนี้ตั้งใจจะพูดเพียงหัวข้อเดียวว่าเกิดมาทำไม ก็ไปสรุปความหมายดูให้ดี ไปบันทึกให้แม่นยำ อย่าให้ลืมเสียว่าเกิดมาทำไม แล้วก็ให้ได้ตามนั้น นี่การพูดจะขอยุติไว้เท่านี้ ใช้เวลาที่เหลือสำหรับให้ถามปัญหาบ้าง เพื่อความสมบรูณ์ ปัญหาบางอย่างมันติดอยู่ มันก็ถามได้แล้วก็จะตอบให้ได้ตามที่มันจะตอบได้ ว่าถ้าใครมีปัญหาอะไรเกี่ยวกับที่ได้ยินได้ฟังมานี้ ก็ถามได้เลย เอาว่าๆไป .... ตรงนั้นจะดีกระมัง ใครมาก็มา ใครจะถามก็มาที่ตรงนั้น ลดต่ำลงหน่อยก็ได้
นักศึกษา : นมัสการท่านอาจารย์ที่เคารพ ดิฉันขอเรียนถามปัญหาจากเรื่องความว่างที่ท่านอาจารย์บรรยายเมื่อสักครู่นี้นะคะ คือความว่างนั้นดิฉันพอจะเข้าใจจากการที่เคยอ่านหนังสือของท่านมาหลายเล่ม แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นจะรู้แจ้ง แต่พอจะแก้ไขปัญหาได้โดยการใช้กลอุบายคือมองอะไรให้เห็นว่าทุกอย่างมันเป็นสิ่งสมมุติไปเสียหมด แต่ที่ทำไปก็ไม่แน่ใจว่าเป็นกลอุบายอันธพาลหรือเปล่า ที่จะมองทุกอย่างในโลกเป็นสิ่งสมมุติ จึงอยากจะขอเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ถ้าใช้อุบายนี้จะผิดหรือถูกแค่ไหน จะเป็นความรู้สุกๆดิบๆหรือไม่ และขอทราบขอบเขตของคำว่านามบัญญัติสมมุติ และสิ่งไหนในโลกบ้างที่ไม่เป็นสิ่งสมมุติ ขอเรียนถามปัญหา
ท่านพุทธทาส : นั้นก็แสดงว่าผู้ถามก็ได้สังเกตเห็นอะไรมากอยู่แล้วเหมือนกัน เกี่ยวกับความว่างหรือปฏิบัติเพื่อความว่างจะเป็นผู้มีจิตว่างนี้ มันก็มีการปฏิบัติ วิธีการปฏิบัติที่แยกออกได้เป็น ๒ ระยะ คือระยะตามปกติธรรมดาสามัญตลอดเวลานั้น เราพยายามจะดูสิ่งทั้งปวงให้เห็นโดยความเป็นของว่าง นี่คือว่าศึกษาโลกทั้งโลกโดยความเป็นของว่าง มีบทหนึ่งคือเป็นบทเรียนบทหนึ่ง บทเรียนประจำ ทีนี้เมื่อไม่มีอะไรเข้ามากระทบเรา มันก็ต้องมีสติที่จะไม่เผลอ มีสติที่จะรักษาความรู้อันถูกต้องเรื่องความว่างไว้ได้ มีสติป้องกันจิตไม่ให้ไปจับฉวยอะไรเข้า จิตก็ยังคงว่างอยู่ตามเดิม นี่เป็นบทเรียนที่ ๒ ใช้กับเมื่อมีสิ่งมากระทบเฉพาะกรณีและเฉพาะเวลาด้วย ในเวลาอันสั้น ในเวลาอันสำคัญนั้นต้องมีสติ ใช้ความรู้เรื่องความว่างที่เรามีอยู่ก่อนๆให้ทันแก่เวลา ก็รักษาจิตว่างไว้ได้ คือไม่ไปจับฉวยเอามันแล้วเอามาเป็นตัวกูของกู สำหรับบทเรียนที่ ๑ ที่ว่าดูโลกหรือสิ่งทั้งปวงโดยความเป็นของว่างนั้นเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยตรง ว่าจงเห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่ทุกเมื่อเถิด ว่างอะไร ว่างจากตัวตน ว่างจากของตน ว่างจากอัตตาคือว่างจากตัวตนอย่าไปเข้าใจว่าอะไรมันเป็นตัวตน แม้ในภายในตัวเรานี่จิตที่คิดนึกได้นั้นก็อย่าไปเข้าใจว่าเป็นตัวตน มันเป็นอย่างนั้นเอง เป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้นเอง เป็นของธรรมชาติอย่างนั้นเอง ถ้าเป็นตัวตนก็ตัวตนของธรรมชาติ เราเรียกว่าธรรมชาติ เราก็ไม่เรียกว่าตัวตน แล้วก็ไม่มีอะไรเป็นของตน จะเอาอะไรมาทำให้เป็นของกู นี่มันก็ไม่ได้ แม้แต่ชีวิตนี้มันก็เป็นของกูไม่ได้ เพราะมันเป็นไปตามธรรมชาติ เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ โดยเฉพาะตามกฎอิทัปปัจจยตา เขาเอามาเป็นของๆ กูไม่ได้นี่ ไม่ว่าอะไรถ้ามันมา มันเข้ามาในขอบวงของไอ้การศึกษาของเราหรือมารบกวนเรา เราจะดูมันโดยความเป็นของว่าง ว่างจากตัวตน ว่างจากของตน มีใจคอปกติแล้วก็จะเห็นได้แหละ นี่การศึกษาที่ต้องทำอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับอนัตตา เกี่ยวกับไม่มีตัวตน ถ้าทำได้ถึงที่สุดนะมันมีผลถึงกับเป็นพระอรหันต์ เราอย่า อย่าเพิ่งพูดถึงนั่นหรือว่าอย่าไปหมายมั่นอะไรให้มันมากถึงขนาดนั้น เอาโดยหลักทั่วไปก็แล้วกันว่าเราจะมีความรู้ที่ถูกต้องต่อโลกทั้งปวง ว่ามันว่างจากตัวตน ว่างจากของตน ดูโลกข้างในร่างกาย จิตใจ ความรู้สึกคิดนึก อะไรก็ตามนะมันก็เป็นไปตามธรรมชาติไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรถือว่าเป็นของตน ดูโลกข้างนอกทรัพย์สินเงินทอง สมบัติพัสถานบ้านเรือนออกไปจนถึงทุกๆอย่างในโลก มันก็เป็นธรรมชาติที่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เราที่ไม่ใช่เป็นตัวตนนี่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้นก็อย่าให้เป็นตัวตนขึ้นมา เรียกว่าร่างกายกับจิตใจที่มีสติปัญญาที่ดี มันก็ไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆได้โดยวิธีที่ถูกต้องแล้วมันก็ไม่เกิดเป็นทุกข์ขึ้นมาแก่จิตใจนั้น นี้เรียกว่าไม่ต้องมีตัวตนก็ทำอะไรได้ ก็กินอาหารได้ ก็มีชีวิตได้โดยไม่ต้องมีความรู้สึกมั่นหมายให้เป็นตัวตน ทำไมสอนอย่างนี้ ก็เพราะว่าคนทั้งหลายมันมีตัวตนมาก่อนแล้ว เราไม่ต้องสอนให้เขามีตัวตนเพราะว่าเขามีตัวตนอย่างยิ่งมาก่อนแล้ว นี่ไอ้ความรู้สึกว่ามีตัวตนนั้นมันเป็นความทุกข์แก่เขา มันทำอันตรายเขา ราจึงให้ความรู้แก่เขาว่าอย่าไปหลงว่าไอ้สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเป็นตัวตน ให้มองให้เห็นโดยความเป็นของว่างจากตัวตน ว่างจากความเป็นของตน นี้คือคำสอนที่เป็นหัวใจแท้ๆของพุทธศาสนา ให้ถอนความหลงว่าตัวตน ว่าของตน เสียให้ได้ ถ้าได้ ได้เท่าไหร่ก็จะมีความสุขแท้จริงมากขึ้นเท่านั้น ถ้าถอนได้หมดเลยก็เป็นผู้มีความสุขถึงที่สุด ที่เรียกว่าขั้นพระอรหันต์ เดี๋ยวนี้จงทำไปตามที่มันมีอยู่เป็นปัญหาแก่เรา มีความทุกข์เพราะตัวตนในเรื่องอะไร ในระดับไหนก็แก้ปัญหาส่วนนั้นไปก่อน ขอสรุปว่าตามปกติให้ทำบทเรียนมองดูสิ่งทั้งหลายให้ถูกต้องตามที่เป็นจริงว่ามันไม่ใช่ตัวตนของตนเลย แล้วขั้นถึงเวลาคับขัน คือมีอะไรมากระทบที่ทำให้เกิดกิเลสตัวตนนี่ก็มีสติให้ทันแก่เวลา เราก็ฝึกหัดให้เป็นผู้มีสติและทันแก่เวลา มีสติรวดเร็วทันแก่เวลา ที่เขาเรียกว่าทำวิปัสสนา ทำกรรมฐาน ทำอะไรนั่นนะ โดยแท้จริงใจความของเรื่องมันอยู่ตรงที่ทำให้เป็นผู้มีสติแล้วก็ทันแก่เวลา แล้วฝึกฝนเป็นผู้ที่จะไม่ปรุงให้เกิดความคิดอะไรก่อนแต่ที่จะมีสติเสียก่อน จะคิดอะไรก็ต้องมีสติเสียก่อน เพราะมันมีสติเสียก่อนแล้วมันก็ไม่ๆๆทำความคิดไปในทางเป็นตัวกูของกู ไม่เป็นตัวตน นี้สติมันช่วยทำให้จิตรักษาความว่างไว้ได้ นี่เราเรียกว่าทำวิปัสสนา ทำกรรมฐาน ก็ลองดูบ้างถ้าสนใจ สรุปได้สั้นๆ นิดเดียวว่า มองทุกสิ่งให้เห็นตามที่เป็นจริงว่ามันว่างจากตัวตน แล้วพอมีเรื่องมากระทบตา หูจมูก ลิ้น กาย ใจของเราก็ให้มีสติทันแก่เวลารักษาความรู้ ความจริงที่ว่าไม่มีตัวตนนั้นไว้ให้ได้ แล้วจิตก็ไม่มีทางที่จะเป็นทุกข์เลย เรื่องมันมีเท่านี้ ใครมีปัญหาอะไรอีก หรือถ้าไม่เข้าใจจะถามอีกก็ได้ จะถามเกี่ยวกับปัญหาข้อนี้อีกก็ได้ เอาสิไม่ ไม่ต้องเกรงใจถามได้
นักศึกษา : นมัสการท่านพุทธทาส ดิฉันเคยนำบทสวดมนต์ของท่านไปสวดในห้องเป็นประจำก่อนนอนแต่ทีนี้เพื่อนๆ ที่อยู่ในห้อง ไม่เข้าใจว่าดิฉันสวดไปทำไม เขาหัวเราะกัน ดิฉันไม่ทราบจะอธิบายยังไงถึงจะให้เขาเข้าใจว่าการที่เราสวดมนต์นี่ให้ประโยชน์อะไรกับเราบ้าง หรือว่าไปทำให้เขาเลื่อมใสได้อย่างไร ขอเรียนให้ท่านชี้แจงด้วยค่ะ
ท่านพุทธทาส : พูดดัง ๆ .. มันหายไปได้ มันไม่ถูกนั่นนะ ไม่ลงดินอะไรหลายอย่าง
ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาธรรมะ ปัญหาที่ถามนี่ไม่ใช่ปัญหาธรรมะเป็นปัญหาสังคม เป็นปัญหาทางสังคม คือมีคนที่เขาไม่เห็นด้วยในการกระทำของเรา เรื่องสวดมนต์เขาไม่เห็นด้วย เขาล้อหรือเขาอะไรก็ มันก็เป็นธรรมดาไม่แปลก ไอ้เรายังพอใจของเรา เราก็สวดไปเรื่อย ถ้าเขาอยากจะรู้ว่าได้ประโยชน์อะไร ก็บอกให้เขาลองสวดดูสิ มันก็มีเท่านั้นแหละ บอกให้เขาลองสวดดูสิ สวดให้ถูกวิธี มันก็จะพบเองว่ามันมีประโยชน์อะไร มันเป็นการทำจิตให้หยุดเป็นสมาธิน้อยๆแบบหนึ่ง นี่มันก็เรียกว่าประโยชน์ มันเป็นการท่องหัวข้อธรรมะไว้ให้แม่นยำ นี่มันก็เป็นประโยชน์ แล้วเราจะได้ใช้ไอ้บทมนต์นี้เป็นเครื่องตักเตือน เป็นเครื่องเตือนสะกิดใจทำให้นึกได้ เกิดอะไรขึ้นมานึกถึงบทสวดมนต์นี้ได้โดยง่าย มันก็จะพบไอ้ข้อธรรมะที่จะแก้ปัญหานั้นได้ง่ายขึ้น มันเหมือนกับเตรียมใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่มากๆนี่ให้พร้อมไว้เสมอ ถ้าพูดถึงสมัยโบราณ การสวดมนต์นั้นมันเป็นการรักษาพระศาสนา สืบพระศาสนา เพราะว่าสมัยโบราณเขาไม่มีกระดาษดินสอที่จะจด จะจาน จะพิมพ์คำสอนเหล่านี้ไว้ เขาสอนกันด้วยปาก ทีนี้คนก็ช่วยกันจำไว้ด้วยปากท่องไว้ด้วยปากอย่าให้มันสูญหายไปได้ ดังนั้นการสวดมนต์สมัยโบราณโน้น ก็เพื่อจะรักษาตัวพระคัมภีร์ตัวศาสนาไว้ได้ ดังนั้นเขาจึงถือว่ามีประโยชน์ที่สุดเลย มีประโยชน์หรือจำเป็นที่สุด ถ้าอยากรู้ความจริงข้อนี้ ก็ขอให้ไปตั้งใจทดลองสวดมนต์ดูก็แล้วกัน ว่าจะมีประโยชน์หรือไม่ประโยชน์ อ้าว , ใครมีปัญหาอะไรอีก
นักศึกษา : ขอเรียนถามท่านว่า ในศีลอุโบสถข้อที่ห้ามทานอาหารเย็นนะครับ เพราะตามปกติแล้วคนบางคนต้องทำงานหนักเช่นตอนค่ำคืน อาหารเย็นจะเป็นส่วนเกินของเขาหรือเปล่าครับ
ท่านพุทธทาส : คนที่มีเหตุผลมีความจำเป็นที่ต้องรับประทานอาหารเย็น เป็นกุลีแบกกระสอบข้าวสารนี่ เขาไม่ได้ห้าม เขาหมายถึงที่คนปกติธรรมดาสามัญทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาเป็นบรรพชิต นักบวชจัดเป็นส่วนเกิน ลองเว้นดูมันจะสบายกว่าสำหรับผู้ที่บำเพ็ญตนเป็นนักศึกษา นักปฏิบัติค้นคว้า ถ้าถือตามเหตุผลนั้นมันก็หมายความว่า ถ้ามันมีความหิวกระหายอ่อนเพลีย มันก็รับประทานอะไรได้บ้างเหมือนกันเช่นเครื่องดื่มที่คั้นออกมาจากผลไม้อย่างนี้เป็นต้น ก็หมายความว่าหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว อย่าให้มันยุ่งด้วยเรื่องอาหาร หามากินหรือว่าอย่ารบกวนกระเพาะให้มันต้องทำงานเลยตอนนี้ให้มันได้พักได้ว่าง แล้วเราจะได้เอาเวลานี้ที่กระเพาะมันว่างนี่สำหรับทำงานทางสมอง ถ้ากระเพาะมันต้องย่อยอาหาร มันต้องมีการใช้โลหิต มันก็ไม่พอที่จะบำรุงหล่อเลี้ยงสมอง นั้นเราไม่ ไม่รับประทานอาหารเพื่อให้ว่าง ให้โปร่ง ให้เหมาะที่จะใช้สมอง แต่ถ้าคนขี้กิน มันมีอุปาทานมันหิวล่วงหน้า มันก็ต้องแก้กันไปอย่างหนึ่ง แต่ถ้าโดยตามปกติแท้จริงแล้ว ไม่มีปัญหา มันเพลิดเพลินโดยการใช้สมองแล้วมันก็ไม่หิวเหมือนกัน เอ้า,ใครมีปัญหาอะไรอีกให้เวลาเป็นประโยชน์เต็มที่
นักศึกษา : กราบนมัสการท่านพระอาจารย์ คือผมสงสัยว่าตั้งแต่ผมได้มาเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมะที่นี่ เรื่องส่วนมากเป็นการปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้น แต่ว่าผมสงสัยว่าการหลุดพ้นนี้จำเป็นจะต้องบวชเสมอไปหรือไม่บวชเป็นพระเสมอไปหรือไม่ เพราะการสอนหรือได้ฟังจากคำบรรยายไม่เคยพูดเกี่ยวกับว่าถ้าหลุดพ้นแล้วต้องปฏิบัติอย่างนี้ ผมยังสับสนอยู่มากเพราะว่าเพิ่งจะเริ่มสนใจเกี่ยวกับพุทธศาสนา ทีนี้สงสัยว่าเป็นเพียงกลอุบายเพื่อหว่านล้อมอุบาสกอุบาสิกาให้มาสนใจไม่ให้ห่างเหินไปหรือไม่
ท่านพุทธทาส : นี้มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องบวช พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ชวนใครบวช แต่ท่านชวนให้ดับทุกข์นั้นใครมีความทุกข์ คนนั้นสมควรอย่างยิ่งหรือจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมาศึกษาธรรมะ นั้นคนที่มีความทุกข์นั้นส่วนใหญ่ก็เป็นคนฆราวาสนะ ชาวบ้านทั่วไป จะเป็นฆราวาสหรือเป็นผู้บวชก็ตามใจ ถ้ามีความทุกข์เราก็ต้องสนใจธรรมะ นี้ชาวบ้านทั่วไปเป็นตัวผู้มีความทุกข์นั้นเขาก็สนใจธรรมะเพื่อจะดับทุกข์ การบวชนั้นช่วยให้สะดวกเท่านั้นเอง การที่จะปฏิบัติธรรมะนั้น ความสะดวกมีมากในการบวช นั้นถ้าใครอยากจะเอาเร็วๆ จริงๆ ก็บวช ถ้าใครยังไม่ต้องการถึงขนาดนั้นก็ศึกษาโดยเป็นฆราวาสไปก็แล้วกัน มันก็ไม่ได้แน่ไม่ได้ ไม่ได้ๆพูดว่าดีกว่าเลวกว่ากันนะ ถ้าทำถูกต้องก็แม้เป็นฆราวาสมันก็รู้ธรรมะได้ง่าย ได้สะดวก แต่ถึงอย่างไรก็ดี ระบบการเป็นอยู่นี่เป็นบรรพชิตสะดวกหรือมีเวลามากในการปฏิบัติธรรมะ มันมีเท่านี้ นั้นเมื่อเรายังต้องเป็นฆราวาส เราก็ศึกษาธรรมะอย่างฆราวาส ปฏิบัติธรรมะอย่างฆราวาส โดยมุ่งหมายจะดับความทุกข์ที่มันมีอยู่ หรือจะขจัดกิเลสที่เป็นอุปสรรคในต่อหน้าที่การงานของเราก็ได้ เรามีหน้าที่การงานอย่างไร เราปฏิบัติไม่ค่อยได้เพราะว่ามีกิเลสเป็นอุปสรรค เราก็ปฏิบัติธรรมะเพื่อทำลายกิเลสให้การงานของเราดำเนินไปด้วยดีอย่างนี้ ถ้ามองกันในด้านใน ด้านลึกก็เหมือนกับบวชอยู่แล้ว ที่เราตั้งใจปฏิบัติธรรมะนั่น มันเป็นการบวชชนิดหนึ่งอยู่แล้ว แต่ไม่แสดงตัวให้ออกมาเป็นรูปแบบทางสังคม ได้มากไปกว่านั้นก็ไปบวชจริงให้มันมีการเป็นอยู่ชนิดที่เบา สบายยิ่งขึ้นไปอีกก็ได้ บวชนี่มันไม่ต้องทำนาทำไร่ มันกินอาหารของประชาชนที่เขาให้ เพราะว่าเราได้ปฏิบัติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ เราก็มีเวลาปฏิบัติธรรมะมากเพราะเราไม่ต้องไปทำนาทำไร่ ถ้าเราเป็นคฤหัสถ์ราต้องแบ่งเวลาไปทำนาทำไร่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องปฏิบัติธรรมะไปพลางศึกษาไปพลางอย่างนั้น มันก็ช้าหน่อย หรือต้องอดทนมาก ต่อสู้มาก คนบวชเหมือนกับคนเดินตัวเปล่า ฆราวาสไม่ได้บวชก็เหมือนกับแบกหามอะไรหนักๆ ไปด้วย ไม่ได้เดินตัวเปล่า ก็มีความเร็วความช้าที่มันผิดกัน เรื่องบวชหรือไม่บวชมีเท่านี้ ให้ถือแต่เพียงว่าบวชนั้นสะดวกในการปฏิบัติธรรมะกว่าฆราวาส แต่ฆราวาสถ้าทำจริงก็ทำได้มากเหมือนกันแหละ ตามสมควรแก่ปัญหาของฆราวาส นั้นเมื่อยังเป็นต้องยังต้องเป็นฆราวาสอยู่ก็ไม่ ไม่ต้องท้อถอย ก็ทำไปตามที่ฆราวาสจะทำได้ ถ้าถึงเวลามันบวชเอง ใครห้ามมันก็ไม่อยู่
เอ้า, ใครมีปัญหาอะไรอีก...