แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้สนใจในการบำเพ็ญบุญที่เรียกว่า ล้ออายุ ทั้งหลาย บัดนี้เป็นการบรรยาย ปราศรัย แก่ท่านทั้งหลายเป็นรอบที่ ๒ ไม่ได้พูดกันในรูปแบบของธรรมเจตนา อย่างที่อาตมาบอกแล้วว่า เป็นเรื่องบรรยายความรู้สึกในใจ ปราศรัยแก่ท่านทุกคนที่ยินดีในการล้ออายุ เรื่องที่จะล้อหมายความว่า เราไม่อยากจะทะเลาะกัน ถ้าถึงกับทะเลาะกัน มันก็ผิดด้วยประการทั้งปวง การกระทำที่ทำไปเพื่อทะเลาะวิวาทนั้น ไม่ใช่ธรรมะ ไม่ใช่วินัยในศาสนาใดๆ แต่ก็ยังมีการทะเลาะวิวาทในระหว่างศาสนา เลยเป็นการใช้ศาสนานั่นเป็นเครื่องมือสำหรับสร้างวิกฤตการณ์ คือ ความระส่ำระสายในโลกกลับมี เพราะศาสนา ไม่ใช่มีศาสนาสำหรับระงับวิกฤตการณ์อันยุ่งยากในโลก
การทำความเข้าใจกันได้ในระหว่างศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นแห่งโลกยุคปัจจุบัน อาตมาจึงได้เอามาทำไว้ในใจ ในฐานะเป็นปณิธานที่จะทำไปเรื่อยๆ ไปจนกว่าจะประสบความสำเร็จ แต่แล้วก็มีเรื่องที่น่าล้อ น่าเอามาล้อสำหรับตัวเอง ศาสนาที่ใกล้ชิดกับพุทธศาสนาเวลานี้ก็ ได้แก่ ศาสนาคริสเตียน อาตมาจึงหยิบขึ้นมาพิจารณาก่อนหรือมากกว่าศาสนาอื่น เมื่อเห็นช่องทางที่จะทำความเข้าใจกันได้ก็ถือโอกาสทำเพื่อการทำความเข้าใจกันได้ พยายามมองในส่วนที่จะเข้ากันได้ทำความเข้าใจกันได้ ผลที่เกิดขึ้น ก็คือ ต้องตกอยู่ในระหว่างกลางของเขาควาย ควายที่เป็นพุทธบริษัทด้วยกัน ถือว่าการทำเช่นนั้นเป็นความขบถต่อพุทธศาสนา โดยไปยกเอาศาสนาอื่นขึ้นมาเทียมหรือเท่าหรือเหมือนกันกับพุทธศาสนา มีคนเขียนด่า ต้องใช้คำว่าด่าเพราะมันไม่ใช่วิพากษ์วิจารณ์ เขาด่าว่า อาตมา นี่มันเป็นสัตว์ชนิดนกมีหูหนูมีปีก อย่างไหนมาก็เรียกว่าได้ทั้งนั้น ถูกทั้งนั้น เขียนลงในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ พิมพ์อยู่ในลังกา ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง
ทีนี้เรียกว่าที่มันเป็นจุดเหวี่ยงหรือว่าถูกด่าอย่างนี้ที่ไม่ถึงขนาดนี้ มันก็มีอยู่มาก แม้ในประเทศไทยของเรานี่เอง ก็หาว่าอาตมานี่ประจบศาสนาอื่น ทีนี้ทางฝ่ายศาสนาอื่นโดยเฉพาะศาสนาคริสเตียน ก็มีบางกลุ่มหาว่าอาตมานี้เป็นตัวร้ายหรือตัวเสนียด อะไรก็สุดแท้ที่จะพยายามกลืนศาสนาของเขา พยายามพิสูจน์แต่ในทางที่ให้เห็นว่า ศาสนานั้นๆ ไม่มีอะไรแปลกไปจากพุทธศาสนา ซึ่งมีอยู่เก่าก่อนศาสนานั้นๆ ถ้าพูดอย่างนี้แล้วศาสนาอื่นที่เกิดขึ้นทีหลังก็หมดความหมายไป เขาก็สะดุ้งและกลัวหวาดระแวงว่า อาตมานี้เป็นผู้ที่มุ่งจะกลืนศาสนาอื่น เท่ากับทำลายศาสนาอื่นอย่างนี้ก็มี นี่เรียกว่า ส่วนที่น่าเอามาล้อ ล้อใครก็ลองคิดดูเอง ล้ออาตมาก็ได้ ล้ออีกฝ่ายหนึ่งก็ได้ หรือล้อว่ามันเป็นบาปกรรมของคนทั้งหมดรวมกันก็ได้ เพราะว่าเมื่อเราไม่สามารถจะทำความเข้าใจระหว่างศาสนาด้วยกันแล้ว มันก็ยังเป็นผลร้ายแก่พระศาสนาอยู่นั่นเอง นี่เรียกว่า ส่วนที่ควรจะล้อ ทีนี้ผลอีกทางหนึ่งมันก็ยังมีที่ว่า คนบางคนในศาสนาอื่นเขาก็มองเห็นว่าการพูดอย่างนี้มีประโยชน์ และเขาก็ต้องการจะพูดอย่างนี้ด้วยเหมือนกัน แต่โอกาสหรือสถานการณ์มันไม่อำนวยให้พูด ถ้าพูดออกไปก็จะกลับเป็นผลร้าย แต่เมื่ออาตมาพูดมันก็กลายเป็นพูดได้ ก็มีประโยชน์แก่พวกเขาเหล่านั้นที่ต้องการจะพูดอย่างนี้ ผู้มีเกียรติเหล่านั้นอุตส่าห์ถ่อร่างมาถึงที่นี่ มาขอบคุณอาตมา ขอบคุณด้วยใจจริงว่า ได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ระหว่างศาสนา ซึ่งเขาก็ต้องการจะพูดอย่างนี้อย่างยิ่ง นี่ก็เรียกว่า มันก็น่าหัวอีกเหมือนกัน ที่คนพวกหนึ่งก็มองไปอีกทางหนึ่ง เรามานึกดูแล้ว มันก็เห็นสิ่งที่น่าสงสารจิตผูกพันกันไปผูกพันกันมาในระหว่างคนเหล่านี้ ในข้อนี้ทำให้อาตมามองเห็นความจำเป็นยิ่งขึ้นว่า การทำความเข้าใจกันระหว่างศาสนานั้นเป็นสิ่งที่สำคัญและมีความจำเป็นมาก ขอร้องให้ท่านทั้งหลายทุกคนสนใจในเรื่องนี้ และมีความเข้าใจถูกต้อง อย่าได้ทำไปในลักษณะที่ทำให้เกิดแตกแยกกัน ศาสนิกชนของศาสนาใดยึดมั่นในศาสนาของตน สร้างความแตกแยกกันในระหว่างศาสนากับศาสนาอื่นแล้ว นั่นจะเป็น ขออภัยที่ต้องพูดคำว่า ตัวเสนียดจัญไรของศาสนา หรือมากกว่านั้นก็เป็นตัวเสนียดจัญไรในโลกที่ทำโลกนี้ให้สามัคคีกันไม่ได้ เรื่องทางศาสนานี้มันสำคัญเพราะว่ามันเป็นเรื่องจิตใจ ถ้าลองจิตใจมันผิดแล้วมันก็ผิดตลอดไปหมดถึงการกระทำทางกายและทางวาจา เรื่องทางจิตใจนี้ มันเปลี่ยนยากแล้วมันลึกซึ้งถ้ามันลองผิดในเรื่องจิตใจแล้วความผิดพลาดนั้นก็จะลึกซึ้งและกว้างขวาง ถ้าท่านทั้งหลายทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ ยังมองเห็นศาสนาอื่นในฐานะเป็นศาสนาอื่นอยู่แล้ว อาตมาก็ต้องขอโอกาสล้อท่านคนนั้นว่า ช่างกระไรไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าศาสนาเสียเลย แม้แต่ศาสนาที่ตัวนับถืออยู่มันก็ยังไม่รู้จัก จนเกิดความคิดที่เห็นว่าเป็นคนละอย่างที่เป็นปรปักษ์ต่อกัน ความคิดว่า ศาสนาอื่นเป็นปรปักษ์หรือเป็นศัตรูนั้นไม่มีทางที่จะถูกได้เลยโดยประการทั้งปวง เพราะเขาไม่รู้ว่าศาสนานี้คืออะไรกันแน่ ไม่รู้ว่าศาสนาเกิดขึ้นได้อย่างไร อาตมามักจะได้ยินคนออกชื่อศาสนาอื่นด้วยถ้อยคำหรือน้ำเสียงซึ่งแสดงความดูถูกดูหมิ่น จับเขาเป็นศัตรูแล้วคิดดูเถิดว่า มันจะมีผลดีแก่ใคร ศาสนาที่เหลืออยู่ในโลกเป็นศาสนาใหญ่มีผู้นับถือเป็นจำนวนมากนั้น มันจะเลวหรือจะผิดไปโดยส่วนเดียวไม่ได้ หรือไม่ควรจะจัดไว้ในฐานะเป็นสิ่งที่ผิด เพราะคนเป็นจำนวนล้านๆ หรือหลายสิบล้านเชื่อและถืออยู่นั้นไม่ควรจะดูถูกเขาว่า มันเป็นเรื่องผิด มันเท่ากับว่าจัดคนอื่นเป็นจำนวนล้านๆ เป็นคนโง่ไปหมด เป็นเหตุให้ไม่เกิดความหวังดี สามัคคีต่อกันในฐานะเป็นมนุษย์ในโลกนี้ที่จะช่วยกันทำโลกให้มีสันติ ถ้าท่านเห็นด้วยกับอาตมาว่า การทำความเข้าใจระหว่างศาสนาเป็นสิ่งที่ถูกต้องและจำเป็นแล้วก็ขอให้ฟังต่อไป ถ้ายังอยากจะมีศาสนาของตนที่เหนือกว่าศาสนาของผู้อื่นแล้วคิดจะดูถูกเขาแล้ว ก็ขอเชิญกลับไปนอนได้ ขืนฟังก็คงจะโมโหหรือว่าเกิดความคิดที่ไม่เป็นบุญเป็นกุศลขึ้นมาก็ได้ เราจะต้องนึกถึงมนุษย์ในฐานะที่ว่าเป็นมนุษย์เหมือนกัน ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วศาสนาทุกศาสนาก็จะไม่สอนให้เห็นแก่ผู้อื่น คือ ถือว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น สัตว์ทั้งหลายมีปัญหาอย่างเดียวกัน คือ มีความทุกข์โดยธรรมชาตินั้นเสมอกัน เราจะมาตั้งตัวเป็นปรปักษ์ศัตรูต่อกัน มันก็เป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผลหรือเป็นสิ่งที่มันไม่ตรงกับความต้องการของธรรมชาติ เรื่องธรรมชาตินี้สำคัญมาก ขอให้สนใจในฐานะเป็นที่ตั้งแห่งการทำความเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างถูกต้องในระหว่างฝ่าย กระทั่งระหว่างศาสนา ถ้าจะรู้จักความลึกซึ้งของความที่ทุกศาสนามีหัวใจตรงกันก็ต้องศึกษาเรื่องธรรมชาติ
สิ่งที่เรียกว่าธรรมชาตินั้น มันไม่เข้าใครออกใคร มันไม่เป็นพวกไหน มันเป็นธรรมชาติ แล้วมีกฎเกณฑ์ตายตัวตามแบบของธรรมชาติ ทุกคนจะต้องรู้กฎของธรรมชาติ แล้วประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติเพื่อชีวิตของเขาจะมีความปกติไม่ต้องทุกข์ยากลำบาก แล้วไม่อยากจะพูดถึงคำว่าความสุข ขอแต่เพียงว่ามันไม่ทุกข์ก็แล้วกัน เมื่อไม่ทุกข์มันก็หมดปัญหา ขืนไปพูดถึงความสุข มันก็เป็นเรื่องของมายา เดี๋ยวก็ไปเกิดความคิดชนิดที่สร้างความทุกข์ขึ้นมาอีก โดยตะกละในเรื่องของความสุข เดี๋ยวก็เป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่น จนถึงกับว่า มีการแข่งขันแย่งชิงทำลายผู้อื่น เพราะแย่งความสุข
ในโลกปัจจุบันนี้ถ้าทุกคนมุ่งหมายกันแต่เพียงอย่ามีความทุกข์ แล้วก็คงไม่ทะเลาะวิวาทกันเป็นการใหญ่หลวงและถาวร เหมือนอย่างที่กำลังทะเลาะวิวาทกันอยู่ ระหว่างซ้ายระหว่างขวา ระหว่างอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งมันเป็นเรื่องหลับตาทำไปอย่างไม่รู้จักความจริงว่าธรรมชาตินั้นเป็นอย่างไร ในพุทธศาสนาเมื่อพูดถึงความสุขก็พูดอย่างที่ชาวบ้านพูด ไม่จัดเป็นของจริง ไม่จัดเป็นปรมัตถธรรมอันแท้จริง เป็นการพูดอย่างชาวบ้านพูดกับชาวบ้าน ดึงชาวบ้านมาสนใจกับธรรมะหรือศาสนา ถ้าเป็นเรื่องของธรรมะแท้ๆ เป็นความจริงแท้ๆ พระพุทธเจ้าท่านตรัสแต่เรื่องความทุกข์กับความสิ้นสุดแห่งความทุกข์เท่านั้น ไม่พูดถึงเรื่องความสุขให้เป็นเหยื่อล่อสำหรับยึดมั่นถือมั่นในรูปแบบอื่น การที่จะพูดว่า พระนิพพานเป็นสุข มันก็เป็นเพียงคำพูดที่ให้สนใจในสิ่งที่เรียกว่า พระนิพพาน เมื่อตรัสถึงพระนิพพานโดยแท้จริง พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ที่สุดแห่งความทุกข์ มีน้อยครั้งที่จะพูดถึงคำว่านิพพานเป็นสุข จะพูดต่อเมื่อมันมีเหตุผลที่จะใช้สำนวนพูดชนิดนั้น คือ ไปเทียบกันกับความสุขอย่างอื่นที่คนธรรมดาสามัญเขาสนใจอยู่ จึงจะตรัสไปในทำนองว่า นิพพานเป็นยอดของความสุข ให้เขาละจากความสุขเล็กๆ น้อยๆ ต่ำๆ ต้อยๆ ที่เขายึดถือกันอยู่นั้นมาสนใจดูในเรื่องของนิพพาน ถ้ามาสนใจกันจริงก็จะพบของจริงในลักษณะที่เป็นเพียงแต่ที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ ไม่มีความทุกข์เหลืออยู่เลย นี่เราหลงใหลในความสุขจนกลายเป็นสภาพที่น่าล้อ
อาตมาพูดว่า ทุกคนกำลังตะกละในความสุขอย่างนี้ ท่านจะหาว่า เป็นเรื่องดูหมิ่นหรือเป็นเรื่องล้อเลียน อาตมามุ่งหมายเพียงแต่ล้อเลียน ไม่ถึงกับอยากจะดูหมิ่นเพราะว่ามันเลวร้ายเกินไป แต่ว่าถ้าเป็นการตะกละในความสุขจนทำอะไรไม่ถูก จนควานหาความสุขก็ไม่พบ ก็นั่นมันก็ควรจะล้อกันบ้าง เพราะสงสัยอยู่หรือเข้าใจอยู่ว่ามันกำลังมีอยู่อย่างนี้ คือ ตะกละความสุขที่เรียกว่า ยอดสุข จนกระทั่งสับสนวุ่นวายปนเปกันไปหมด ไม่ได้แม้แต่ความสุขอย่างธรรมดาสามัญ และถ้าจะแก้ปัญหาตอนนี้แล้วก็มาศึกษากันเสียใหม่ให้รู้จักว่า ธรรมชาติอันนี้ควรจะเรียกกันแต่เพียงว่า ที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ ไม่มีความทุกข์เหลืออยู่เลยโดยประการทั้งปวง แต่สมมติเรียกว่าความสุขหรือยอดของความสุขก็ได้ เพราะเมื่อไม่มีความทุกข์แล้วคนก็ควรจะสบายใจ แต่อย่าได้เข้าใจไปว่า มันเป็นเหมือนกับความสุขทั่วๆ ไป ในเรื่องความสุขอย่างโลกๆ เป็นความรู้สึกทางเวทนา เป็นความเอร็ดอร่อยอย่างที่คนธรรมดารู้สึกแล้วก็ยึดถือกัน นั่นไม่อาจจะเป็นความสุข ไม่อาจจะเป็นความสุขที่แท้จริง ไม่ต้องพูดถึงว่า เป็นความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขตามความหมายปกติ มันก็ไม่ได้เสียแล้ว เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจกระวนกระวายสงบลงไม่ได้ ถ้ารู้จักเปรียบเทียบความหมายข้อนี้ดีๆ ว่า ความสุขกับความไม่มีทุกข์นี้มันต่างกันอย่างไร อาตมามุ่งหมายจะบอกว่า ความสุขนั้นมันทำใจให้กระวนกระวายด้วยความรัก ความพอใจ ความยึดมั่น ความหวง ความระแวง ความสุขมันรบกวนจิตใจอย่างนี้ ถ้าเอากันแต่เพียงไม่มีทุกข์ ไม่มีความทุกข์ นี่มันก็จะปกติหรือสงบสักหน่อย ลองใช้คำเดิมๆ ของพระพุทธเจ้าดูคงจะดี คือ ใช้คำว่าที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ ไม่มีความทุกข์เหลืออยู่ ความกระวนกระวายอันเกิดมาจากการได้ความสุข นั้นมันก็เป็นความทุกข์เหมือนกัน ค่าของความสุขรสอร่อยของความสุขเมื่อไปยึดถือมั่นเข้าด้วยอุปาทานแล้วมันก็เป็นของหนัก ของร้อน มันก็กัดเอาคนที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เรียกว่า ความสุข นี่เป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจต้องรู้จักทำความเปรียบเทียบว่า ความหมายของคำว่าความสุขกับคำว่าที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์นั้น มันไม่เหมือนกันแท้ ที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์มุ่งหมายไปในทางที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่น ต้องไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วจึงจะถึงที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ เมื่อพูดว่าความสิ้นสุดแห่งความทุกข์ มันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นน้อย หรือไม่เป็นที่ตั้งของความยึดมั่นถือมั่นเลย เมื่อพูดว่า ความสุข มันก็ปลุกความรู้สึกที่เป็นการยึดมั่นถือมั่นเต็มที่ ตามที่เคยรู้สึกกันมาแล้วแต่กาลก่อน ซึ่งเราพูดจากันด้วยคำๆ นี้ หมายถึง ความรู้สึกที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น เด็กๆ เขาไม่เข้าใจคำเหล่านี้เอาคำเหล่านี้ไปใช้กับสิ่งที่น่าสงสาร ก็เป็นความสุขชนิดที่เป็นความสุก “ก” สะกด สุก “ก” สะกด นี่มันสุกด้วยไฟเอาความสุขอย่างนั้นมาเป็นยอดสุขของความปรารถนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็เรื่องกามารมณ์ก็เลยเกิดปัญหา เกิดอะไรๆ ขึ้นมาหลายอย่างหลายประการเกี่ยวกับความสุขชนิดนี้ เทียบดูให้ดีว่า คำพูดนั่นทำให้เกิดปัญหายุ่งยาก คำพูดไม่พอใช้ คำพูดมีความหมายกำกวม คำพูดที่พูดกันอยู่ไม่ตรงกันในระหว่างหมู่ก็ทำความเข้าใจกันไม่ได้ จึงทำให้เกิดความรังเกียจกันหรือดูหมิ่นดูถูกกัน ไม่อาจจะสมัครสมานสามัคคีกัน ดูเหมือนจะเหลืออยู่เพียงศาสนาเดียวเท่านั้นที่จะพอเข้าใจกันได้หรือรับเอาได้ทุกพวกนั่น ก็คือ ศาสนาเงิน เมื่อถือเงินเป็นศาสนาแล้วก็เข้าใจกันได้ทุกพวก แต่แล้วศาสนาเงินก็ไม่พ้นที่จะเป็นที่ตั้งแห่งการทะเลาะวิวาท คือ การแย่งชิงกันหรือการแสวงหาเงินจนกระทบกระทั่งกัน
ทีนี้สำหรับสิ่งที่เรียกว่าศาสนาโดยแท้จริงนั้น มันก็เป็นเรื่องที่ยืดยาวมาก ซึ่งเราควรจะติดตามไปดูว่า มันเกิดขึ้นด้วยความมุ่งหมายอย่างไร ถ้าดูให้ดีก็จะพบว่า ศาสนาในส่วนของศีลธรรมมันเกิดขึ้น เพราะมีปัญหาทางสังคมอยู่กันไม่เป็นสุข ศาสดาจึงบัญญัติบทบัญญัติทางศาสนาในรูปแบบของศีลธรรม เช่น อย่าฆ่าเขา อย่าลักขโมยของเขา อย่าประทุษร้ายของรักของเขา อย่าพูดเท็จ ประทุษร้ายความเป็นธรรมของเขา กระทั่งว่าอย่าดื่มของเมา ซึ่งเป็นเหตุให้ประพฤติชั่วร้ายเหล่านั้นได้โดยง่าย นี่ไม่ใช่ใครจะตรัสรู้แล้วก็บอกไว้ล่วงหน้าว่า จงทำอย่างนั้นๆ ที่จริงมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามหลัง คือ ตามหลังเหตุร้ายหรือวิกฤตการณ์ซึ่งมันเกิดขึ้นแล้ว คือ เมื่อมนุษย์ลำบากอยู่ด้วยการเบียดเบียนกัน มันก็จึงมีบทบัญญัติว่า อย่าเบียดเบียนกัน เมื่อมนุษย์ลำบากอยู่ด้วยการลักขโมยกันจึงมีบทบัญญัติว่า อย่าลักขโมยกัน เรื่องประทุษร้ายของรักใคร่หรือพูดเท็จก็เหมือนกัน มนุษย์ลำบากเพราะทำอย่างนั้นก็จึงเกิดบทบัญญัติขึ้นว่า อย่าทำอย่างนั้น การบัญญัติวินัยในพระพุทธศาสนานี้ก็มีทำนองนั้น คือ พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงบัญญัติไว้ล่วงหน้า แต่ทรงบัญญัติเฉพาะเมื่อเรื่องมันเกิดขึ้นแล้วจึงได้บัญญัติห้าม ดังนั้นมันจึงถูกฝาถูกตัวและเป็นความจริงที่ตรงกับเรื่องกับราว ถ้าบัญญัติไว้ล่วงหน้ามันก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นตรงตามนั้นหรือมันยุ่งยากลำบากหรือมันมากมายเกินความจำเป็นก็ได้ ขอให้ถือว่าบทบัญญัติทางศาสนาในเรื่องของศีลธรรมเป็นความจำเป็นที่ต้องเกิดขึ้นด้วยอำนาจธรรมชาติมันบังคับ คนเดือดร้อนเพราะทำผิดกฎของธรรมชาติในส่วนนี้ จึงมีผู้รู้เรื่องนี้บัญญัติแนะนำสั่งสอน เมื่อคนเป็นอันมากเห็นด้วยและทำตาม มันก็เกิดเป็นสถาบันคำสั่งสอนขึ้นมาเป็นรูปของศาสนา ทีนี้เราก็จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าคนที่ไหนในมุมโลกไหนล้วนแต่มีปัญหาอย่างเดียวกัน เมื่อยังไม่รู้เขาเบียดเบียนกัน เขาลักขโมยกัน เขาประทุษร้ายของรักกัน พูดเท็จกัน มันก็มีปัญหาอย่างเดียวกัน มีหัวอกอย่างเดียวกัน
เพราะฉะนั้นจึงควรถือว่า บทบัญญัติทางศาสนานี้สำหรับทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในโลก ไม่ต้องแบ่งเป็นพวกนั้นพวกนี้ ตะวันออกตะวันตกอะไรทำนองนั้น อันนี้เป็นพื้นฐานที่เราจะยอมรับว่า เป็นศาสนาเดียวกันไม่รังเกียจกัน เป็นมิตรกัน ช่วยกันทำให้โลกมีศาสนาในส่วนนี้ที่เป็นพื้นฐานของสังคมกันเสียก่อน ไม่มีศาสนาไหนที่สอนให้ฆ่า ให้ลัก ให้ประทุษร้ายในทางกาม ไม่มีศาสนาไหนสอนอย่างผิดศีลธรรมจะผิดกันอยู่บ้างก็แต่ว่าบางศาสนาเน้นมากเกินไป อย่างบางศาสนาถือว่าต้องกระทำจึงจะผิดบทบัญญัติ แต่บางศาสนาหรือบางศาสดาเน้นว่าแม้แต่เพียงคิดก็ผิดเสียแล้ว อย่างคำของพระเยซูก็ย้ำมากในเรื่องนี้ คือ พระเยซูเกิดขึ้นเพื่อจะบัญญัติบทบัญญัติให้มันรุนแรงถึงที่สุด เช่นว่า เพียงแต่คิดจะล่วงประเวณีอย่างนี้ก็ถือว่าผิดประเวณีแล้วอย่างนี้ เป็นต้น ก็ขอไปลองอ่านดูในคัมภีร์ของฝ่ายนั้น อย่างนี้เราจะเอามาเป็นเรื่องทะเลาะวิวาทกันได้อย่างไร มันเป็นเรื่องที่หวังดี เป็นเรื่องตั้งใจจะทำให้ดีให้เต็มเปี่ยม ทีนี้เมื่อมนุษย์มีการประพฤติทางศีลธรรมถูกต้องอยู่กันเป็น็นผาสุกในสังคม ทุกคนมีกินมีใช้ ทุกคนก้าวหน้าไปตามชีวิตภาษาฆราวาส มีทรัพย์สมบัติ มีเกียรติยศชื่อเสียง มีกิน มีกาม มีเกียรติเต็มที่ แล้วปัญหามันก็ยังไม่สิ้นสุด สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลที่น่ารักน่าพอใจนั้นเอง มันกลับกลายเป็นยาพิษขึ้นมา เมื่อคนมีกิน มีกาม มีเกียรติถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่เรียกว่ากิน ว่ากาม ว่าเกียรตินั้นเองกลับกลายเป็นยาพิษขึ้นมา เหมือนกับว่านอนอยู่ในกองไฟ จึงมีคนอีกพวกหนึ่ง มองเห็นว่านี้ไม่ไหว นี้ถึงที่สุดแล้ว นี้เพียงเท่านี้เอง ไม่มากไปกว่านี้ ชั้นจะไปหาสิ่งอื่นที่ดีกว่านี้ คนพวกนั้นจึงออกไปสู่ที่สงบสงัด ที่เหมาะสมที่ทำการค้นคว้าเรื่องอะไรที่มันดีไปกว่าเรื่องกินเรื่องกาม เรื่องเกียรติ คือ ไปค้นคว้าหาสิ่งที่มันจะดับร้อนของกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ อยู่กับกิน กับกาม กับเกียรตินี้มันก็กรุ่นอยู่ด้วย โลภะ โทสะ โมหะ คนบางคนมันมีปัญญาเฉลียวฉลาดมองเห็นอย่างนี้แล้ว จึงออกไปค้นหาสิ่งซึ่งดีกว่าเรื่องนี้ มันจึงไปพบระบบศาสนาส่วนบุคคลที่จะเป็นไปถึงที่สุดในทางจิตใจ คือ บังคับกิเลสได้ บังคับความโลภ ความโกรธ ความหลงได้ ไม่ให้ความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นไฟขึ้นมา อย่างนี้เป็นระบบศาสนาส่วนบุคคล ส่วนปัจเจกบุคคลจะพึงกระทำได้ไม่ผูกพันกันเป็นสังคม เขาจึงทำได้ดี แต่ละบุคคลบรรเทากิเลสของตนลงไปๆ แล้วก็สอนสืบต่อๆ กันมา หลายชั่วอายุคนเข้าก็พบละเอียดยิ่งๆ ขึ้นไป พบเรื่องของศีล พบเรื่องของสมาธิ พบเรื่องของปัญญาในระดับหนึ่งๆ แล้วก็สูงขึ้นไปๆ จนเกิดบุคคลที่เราเรียกกันว่า สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงทราบเรื่องนี้ถึงที่สุด ทรงทราบวิธีปฏิบัติถึงที่สุด สามารถขจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง กิเลส อนุสัย อาสวะให้หมดสิ้นไป จนความทุกข์ดับสนิทไม่มีเหลือ เรียกว่า เป็นนิพพาน คือ ดับสนิทแห่งความทุกข์ไม่มีเหลือ
ทีนี้เราจะไปคิดอย่างไรว่า ของเราดีกว่าของคนอื่น ของคนอื่นก็ได้ไต่มาตามลำดับสายเดียวกัน ถ้าเผอิญว่าพระพุทธศาสนาไกลออกไปได้ถึงที่สุด มันก็มาด้วยความมุ่งหมายอย่างเดียวกันมาตั้งแต่ต้น คือ มุ่งหมายจะทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ทำลายกิเลสส่วนนี้ เมื่อเขายังคงว่าพวกหนึ่งก็คงยังทำไม่ได้ไม่ถึง เราทำได้ทำถึง ก็ไม่ควรจะถือว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เพราะว่าทุกพวกก็ชะเง้อมองหาสิ่งสูงสุด สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับด้วยกันทั้งนั้น ผู้ที่ได้รับหรือผู้ที่ไปได้ถึงที่สุดควรจะเห็นอกเห็นใจเมตตากรุณาผู้ที่ยังไม่ได้ไม่ถึง เมื่อศาสนาได้ขึ้นมาถึงระดับสูงสุดอย่างนี้แล้วก็เรียกว่า มนุษย์ได้ขึ้นมาถึงระดับสูงสุดของมนุษย์ พบสิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์แล้วก็ยึดถือเป็นหลักโดยทั่วกัน ใจความสำคัญมันก็อยู่ที่ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ตัวจนกระทั่งไม่รบกวนผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัวจนกระทั่งว่าไม่มีตัว มีจิตใจที่ไม่อาจจะเกิดกิเลสได้ มีจิตใจที่มีปัญญาสูงสุด เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงธรรมชาติ เป็นไปตามอำนาจของธรรมชาติที่สร้างวิวัฒนาการให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้วิวัฒนาไปในทางสูงจนกว่าจะถึงระดับสูงสุด ก็ถือเอาเป็นที่ยุติว่าจะต้องทำกันอย่างนี้ จะเป็นศาสนาไหนก็ตามที่นอกไปจากศาสนาพุทธก็มุ่งหมายอย่างนี้ เพราะสิ่งสูงสุดนั้นก็คือไม่ต้องมีความทุกข์เลย ถ้าเขาไปเรียกชื่ออย่างอื่นไม่เรียกว่านิพพานเหมือนพวกเรา เขาก็เรียกว่า การที่ไปอยู่รวมกันกับพระเจ้า ไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระเป็นเจ้าแล้วก็ไม่มีความทุกข์อีกต่อไป นี้มันจะผิดจะบาปอะไรที่เขาพูดอย่างนั้น เพราะเขาก็ต้องการความไม่มีความทุกข์เลย สิ่งที่เรียกว่า พระเจ้า นั้นยังมีความหมายกำกวมแต่ที่เขาเชื่อแน่ก็คือว่า สภาพที่ไปรวมแล้วไม่มีความทุกข์เลย เห็นอกเห็นใจกันอย่างนี้ เขาจะเรียกว่าความเป็นอันเดียวกันกับพระเจ้าเป็นสิ่งสูงสุดในศาสนานั้นก็ไม่เป็นไร เขาก็จะเรียกอย่างนั้นได้แล้วเราก็ไม่ไปดูหมิ่นเขา เขาได้มีความคิดเดินมาตามลำดับๆ ใช้ถ้อยคำบัญญัติทางศาสนามาในรูปแบบอย่างนั้น ตามที่พระศาสดาของเขาได้บอกสอนแก่เขา ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติทั้งนั้น อาตมาได้กล่าวแล้วว่า มันมีอยู่แต่ความจริงของธรรมชาติ ไม่มีอะไรอื่น มีตัวธรรมชาติครบทุกชนิด แล้วก็มีกฎของธรรมชาติ ซึ่งเด็ดขาดที่สุด ตกเป็นหน้าที่ของสิ่งมีชีวิตที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ครั้นปฏิบัติแล้วก็ได้รับผลอย่างเที่ยงตรงหรืออย่างยุติธรรมตามกฎของธรรมชาติ มันมีอย่างนี้ มันไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ จะอยู่ในรูปแบบของศาสนาไหนมันก็เป็นเรื่องการบอกกล่าวให้รู้หน้าที่ ที่แต่ละคนจะต้องประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ เพื่อผลอย่างเดียวกัน คือ ไม่มีความทุกข์เลย
ทีนี้เมื่อพระศาสดาองค์หนึ่งๆ เกิดในมุมโลกหนึ่งๆ ในยุคสมัยหนึ่งๆ เขาก็ต้องพูดจาให้เข้ารูปเข้ารอยกันกับมนุษย์ในยุคนั้นในถิ่นนั้น ดังนั้นมันก็ต้องแตกต่างกันบ้าง แม้ว่าจะพูดเรื่องเดียวกัน มีความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน แต่ภาษาที่พูดมันก็ต้องแตกต่างกัน วิธีพูดมันก็ต้องแตกต่างกัน เรามาตกลงกันอย่างนี้จะเป็นการดีที่สุดว่า พระศาสดาทุกๆ พระองค์ของทุกๆ ศาสนานั้น มันเป็นเพียงปากสำหรับพูด ปากสำหรับจะพูดถึงสิ่งสูงสุดอันหนึ่งซึ่งเรียกว่า กฎของธรรมชาติ กฎของธรรมชาตินี้ในพุทธศาสนาเรา เราเรียกว่า พระธรรมหรือธรรมในฐานะที่เป็นสัจจะธรรม คือ เป็นกฎของธรรมชาติ อันที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาเขาก็ยังเรียกว่า กฎของธรรมชาติต่อไปตามเดิม เช่น พวกวิทยาศาสตร์หรือนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายไม่เกี่ยวกับศาสนา เราก็เรียกสิ่งนี้ได้ว่าเป็นกฎของธรรมชาติต่อไปตามเดิมเพียงแต่มันอยู่ในวงแคบเป็นไปในทางวัตถุ ไม่ขึ้นมาถึงจิตใจ แต่เพราะเรื่องของความทุกข์เป็นเรื่องของจิตใจ เราจึงต้องรู้ธรรมชาติในส่วนของจิตใจและรู้กฎของธรรมชาติในด้านที่เป็นจิตใจ เรื่องของศาสนาในระดับสูงจึงเป็นเรื่องของธรรมชาติ เรื่องกฎของธรรมชาติ เรื่องการปฏิบัติให้ถูกตามกฎของธรรมชาติในระดับสูงทางจิตใจ เมื่อมนุษย์ปฏิบัติได้แล้วก็ดับความทุกข์อันสูงสุด หรือละเอียดที่สุดนี้ได้ เป็นอันว่า ความจริงของธรรมชาตินั้นจะต้องถูกเปิดเผยออกมา ทีนี้ใครจะเป็นปากสำหรับพูดเรื่องนี้ คือ พระศาสดาแห่งศาสนาทั้งหลาย ทีนี้มันก็มีปัญหาเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน เช่นในประเทศอินเดีย เช่นประเทศปาเรสสไตน์หรือทางประเทศจีน ล้วนแต่ต่างยุคต่างสมัย ต่างภูมิประเทศ มีภูมิแห่งจิตใจหรือวัฒนธรรมต่างๆ กัน คนจึงมีความรู้สึกไม่เท่ากันโดยแท้ เพราะฉะนั้นจึงต้องพูดให้ตรงกับความรู้สึกแห่งถิ่นนั้นๆ แห่งยุคสมัยนั้นๆ เช่นพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นเมื่อตั้ง ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ต่อมาราวๆ ๕๐๐ ปีถึงจะเกิดคริสต์ศาสนา ต่อมาอีกราวๆ ๕๐๐ปีจึงจะเกิดศาสนาอิสลาม หรือว่าเมื่อไม่กี่ ๑๐๐ ปีมานี้เกิดศาสนาซิกข์ เป็นต้น แล้วจะให้พูดเหมือนเป็นคำพูดเดียวกัน เป็นตัวอักษรอย่างเดียวกันได้อย่างไร นั่นก็ถือว่ามุ่งจะพูดด้วยเรื่องเดียวกันแต่โดยปากคนละปาก คนละยุคคนละสมัย มันก็จะต้องแตกต่างกันในส่วนคำที่พูดจา แต่เรื่องเนื้อเรื่องเนื้อหาของเรื่องนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน คือ เรื่องให้ทำลายความเห็นแก่ตัวเสียให้หมดสิ้น เพราะว่าพระศาสดาเหล่านั้นมีสติปัญญารู้ลึกถึงข้อนี้ด้วยกันทั้งนั้น คือ ข้อที่มีความเห็นแก่ตัวแล้วก็มีปัญหาเกิดขึ้นเป็นความทุกข์ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น คือ เป็นความทุกข์ทั้งส่วนบุคคลและส่วนสังคม พระศาสดาท่านนั้นได้พยายามสุดความสามารถของท่านที่จะช่วยมนุษย์ในเรื่องนี้ ท่านจึงบอกสอนไว้อย่างครบถ้วนเป็นลำดับๆ หลายๆ ระดับให้เหมาะสมกับคนทุกๆ ระดับ แม้ในศาสนาเดียวกันก็ยังมีเป็นหลายๆ ระดับ และเมื่อเอาหลายๆ ศาสนามาเทียบเคียงกัน มันก็เกิดเป็นระดับขึ้นมาได้เหมือนกัน แต่ความมุ่งหมายก็ยังเป็นอย่างเดียวกัน คือ ต้องการจะทำลายความเห็นแก่ตัวเสียเท่านั้น ถ้าลองพิจารณาใคร่ครวญดูตามนี้แล้วก็ลองหาช่องหรือเหตุผลดูว่า มันมีอยู่อย่างไรในการที่เราจะไปหลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น ทุกๆ คนล้วนแต่ชะเง้อหาสิ่งสูงสุด เขาหาพบได้เท่าไร เขาก็พบได้เท่านั้น เขาก็สอนเท่านั้นแล้วมุ่งหมายเหมือนกันอยู่ตรงที่ว่าจะถึง ลุถึงสิ่งสูงสุดด้วยกันทั้งนั้น ทั้งศาสนาจึงมีความหมายอยู่ที่ตรงนี้ คำว่า ศาสนามีความหมายอยู่ตรงที่ว่า เราจะต้องมีการกระทำอย่างหนึ่งให้มีผลเกิดขึ้นมาเป็นการสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์กับสิ่งสูงสุด สิ่งสูงสุดนั้น คือ ความไม่มีทุกข์ นั่นคือสิ่งสูงสุด ให้ผูกพันมนุษย์กันเข้ากับสิ่งสูงสุดแล้วก็เป็นอันใช้ได้เรียกว่าศาสนาได้ด้วยกันทั้งนั้น ระบบศาสนาไหนก็เรียกว่าเป็นศาสนาได้ แล้วมุ่งหมายเหมือนกัน คือ จะให้ถึงสิ่งสูงสุด เพราะฉะนั้นอย่ามาทะเลาะวิวาทกันตรงที่ว่าสิ่งสูงสุดของแกยังไม่สูงจริง ของฉันยังสูงกว่าอย่างนี้ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการกระทบกระทั่งกันในระหว่างศาสนา ขอยอมรับในข้อที่ว่าทุกพวกต้องการสิ่งสูงสุด เขาพยายามจะถึงสิ่งสูงสุดที่ดีที่สุด ที่ประเสริฐที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับก็ต้องยอมรับรองในความรู้สึกข้อนี้ในความมุ่งหมายข้อนี้ ฉะนั้นอย่าไปดูถูกเหยียดหยามกันว่า เขาเลวกว่าเรา เราดีกว่าเขา ข้อที่มีวิธีปฏิบัติต่างกันก็เพราะต้องการจะให้เหมาะสมสำหรับประชาชนในถิ่นนั้นๆ ใน ยุคนั้นๆ ซึ่งมีภูมิหลังหรือว่ามีรากฐานแห่งวัฒนธรรมอย่างไร
ทีนี้ก็มาถึงข้อที่ต้องวินิจฉัยต่อไปสำหรับทำความเข้าใจในระหว่างศาสนา ในคัมภีร์ฝ่ายพุทธศาสนาเรานี้เองแม้จะไม่ได้มีอยู่ในพระไตรปิฎก หรือบาลีพระไตรปิฎกโดยตรงก็มีอยู่โดยอ้อม แต่มีอยู่ในหนังสือชั้นหลังต่อมา ที่กล่าวถึงข้อที่ว่า มีพระศาสดาหรือพุทธบุคคลมีอยู่แตกต่างกัน พุทธบุคคลพวกหนึ่งถือเอาศรัทธาเป็นเบื้องหน้าสำหรับระงับเสียซึ่งกิเลส พุทธบุคคลพวกหนึ่งถือเอาวิริยะ คือ กำลังจิตเป็นเครื่องระงับเสียซึ่งกิเลส พุทธบุคคลอีกพวกหนึ่งถือเอาปัญญาเป็นเครื่องระงับเสียซึ่งกิเลส มันจึงเกิดหลักเกณฑ์ขึ้นมาเป็น ๓ อย่างว่า พวกหนึ่งอาศัยศรัทธา พวกหนึ่งอาศัยวิริยะคือกำลังจิต พวกหนึ่งอาศัยปัญญา นี้เผอิญเป็นว่า พุทธศาสนานี้มีอยู่ในพวกที่อาศัยปัญญาเป็นเบื้องหน้า อาศัยศรัทธาหรือวิริยะเป็นส่วนประกอบ ในเมื่อพวกอื่นเขาถือเอาศรัทธาเป็นเบื้องหน้า เอาวิริยะและปัญญาเป็นส่วนประกอบ หรือว่าอีกพวกหนึ่งก็จะถือเอาวิริยะ คือ กำลังจิตเป็นเบื้องหน้า เอาศรัทธาและปัญญาเป็นส่วนประกอบ โดยมุ่งหมายจะให้สามารถกำจัดกิเลสหรือกำจัดความทุกข์เสียด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเขามีสิ่งที่จะใช้เป็นเครื่องมือต่างกันกับเราแต่ก็มีความมุ่งหมายอย่างเดียวกันอย่างนี้แล้ว จะเอาเหตุผลอะไรมาดูหมิ่นดูถูกกันว่า ฉันดีกว่าหรือท่านเลวกว่า ถ้าพูดถึงเรื่องศรัทธา มันก็มีปรากฏอยู่ว่า ผู้ที่มีศรัทธาถึงที่สุดก็ระงับความรู้สึกที่เป็นความทุกข์ได้เหมือนกัน ถ้าเขาเชื่อพระเจ้า เชื่อศาสนาโดยศรัทธาจริงก็ไม่กล้าที่จะโลภ ไม่กล้าที่จะโกรธ ไม่กล้าที่จะหลง เมื่อเขาควบคุมไม่ให้โลภอยู่ก็ ไม่สร้างอนุสัยแห่งการโลภ ควบคุมไม่ให้โกรธอยู่ก็ไม่สร้างอนุสัยแห่งการโกรธ ควบคุมความโง่อยู่มันก็ไม่สร้างอนุสัยแห่งโมหะหรือความโง่ มันก็อยู่ได้ด้วยปกติสุข ไม่ถูกเบียดเบียนด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ด้วยความเชื่อหรือความกลัวต่อพระเจ้าซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความเชื่อ ประโยชน์มันก็สำเร็จอยู่ตรงที่ว่า เขามีการควบคุมความโลภ ความโกรธ ความหลงได้เป็นที่พอใจ อย่างนี้เรียกว่า พวกที่รอดตัวด้วยความเชื่อ พระศาสดาองค์นั้นตรัสรู้พบความเชื่อเป็นวิธีกำจัดทุกข์แล้วก็ตั้งระบบศาสนาที่ใช้ความเชื่อเป็นเครื่องกำจัดทุกข์ ที่นี้มีพระศาสดาพวกอื่นที่เผอิญไปพบเรื่องของวิริยะหรือกำลังจิตสร้างกำลังจิตโดยวิธีต่างๆ ซึ่งเราเรียกกันในบัดนี้ว่า โยคะ คือ วิธีอบรมจิตฝึกจิตจนจิตมีอำนาจสูงสุดที่จะบังคับความรู้สึกความโลภ ความโกรธ ความหลงไว้ได้เสมอไป บังคับความโลภอยู่ได้ อนุสัยของความโลภก็ไม่ก่อขึ้น บังคับความโกรธไว้ได้ อนุสัยของความโกรธก็มิได้เกิดขึ้น บังคับความโง่ โมหะ ความสะเพร่า ความประมาทไว้ได้ มันก็ไม่มีอนุสัยแห่งความโง่ก่อขึ้น การบังคับความรู้สึกไว้ได้ไม่ให้เกิดความรู้สึกประเภทตัวกูของกู มันก็ไม่มีความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกูที่จะก่อขึ้นแล้วก็เป็นกิเลสและเป็นความทุกข์ ไม่เท่าไรมันก็ตายไปมันก็หมดปัญหา คนๆ นั้นก็ไม่พบความรู้สึกที่เป็นความทุกข์ เพราะบังคับความรู้สึกของตนไว้ได้ด้วยสิ่งที่เรียกว่าวิริยะ คือ กำลังของจิตที่ฝึกฝนดีแล้วสามารถจะบังคับให้รู้สึกอยู่แต่อย่างนี้ๆ อย่างนี้ คือ ไม่เกิดเป็นความรู้สึกโลภหรือโกรธหรือหลงขึ้นมา เขาก็รอดตัวไปได้ เพราะยึดถือสิ่งที่เรียกว่า กำลังจิตหรือวิริยะ พุทธบุคคลหรือพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งเขาพบอย่างนี้ เขาสอนอย่างนี้จึงได้ตั้งศาสนาชนิดที่ใช้ระบบการบังคับจิตอยู่ในอำนาจ นั่นเป็นหลักปฏิบัติ เป็นหัวใจของศาสนา
ทีนี้มาพูดถึงพุทธศาสนาของเรากันบ้าง ใช้คำว่า ของเรา นี้ก็ไม่ใช่จะเพื่อแยกใคร แยกจากใครหรือดูหมิ่นใคร พูดตามภาษาธรรมดาก็หมายความว่า ระบบที่เรานับถือปฏิบัติอยู่นี้ ยึดถือเอาปัญญาเป็นส่วนใหญ่ เป็นส่วนสำคัญ คือ พระศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราพบระบบปัญญาแล้วก็สอนระบบปัญญา ตั้งศาสนาไว้ในระบบของปัญญา คือ เอาความรู้เป็นเบื้องหน้า ไม่เอาเรื่องของความเชื่อหรือการบังคับจิตเป็นเบื้องหน้า แต่เอาเรื่องของปัญญา คือ ความรู้แจ้งเห็นจริงเป็นเบื้องหน้า มองดูสิ่งทั้งหลายให้รู้แจ้งโดยประจักษ์ว่า ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แล้วก็สอนตามวิถีทางของปัญญาให้รู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวงจนไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็เกิดกิเลสไม่ได้ เมื่อเกิดกิเลสไม่ได้ อนุสัยของกิเลสก็ไม่เกิด มันก็ไม่มีอาสวะที่จะคลอดกิเลสออกมา ก็ไม่มีปัญหา คือ ดับทุกข์ได้ผลมันก็เหมือนกันตรงที่ว่าไม่เกิดความรู้สึกที่เป็นกิเลสและความทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น ดังนั้นเราควรจะเป็นเพื่อนกันดีกว่ากับศาสนาอื่นที่ถือความเชื่อเป็นเบื้องหน้า ถือกำลังจิตเป็นเบื้องหน้า ในเมื่อเราถือเอาปัญญาเป็นเบื้องหน้า พวกที่ถือความเชื่อเป็นเบื้องหน้า เช่น ศาสนาคริสเตียน เป็นต้นนี้ เราได้ยินเขาสั่งสอนกันในเรื่องให้หวังความเชื่อในพระเจ้า พระเจ้าโปรดเท่านั้นจึงจะพ้นทุกข์ได้ แม้จะทำบุญทำกุศลทำกรรมดีอย่างไร ถ้าไม่มีความเชื่อในพระเจ้าอย่างเพียงพอแล้วบุญกุศลหรือความดีอันนั้นไม่มีประโยชน์อะไร อาตมาได้ยินเข้าอย่างนี้ก็ชักจะโมโห เพราะตอนนั้นมันก็มีตัวตนแรงรุนแรงอยู่เหมือนกัน เมื่อได้ยินคำพูดอย่างนี้มันก็โมโห แล้วก็โกรธจนจะฟัดแผ่นเสียงแผ่นนั้นแล้ว ซึ่งบันทึกคำสั่งสอนของผู้สอนศาสนาคริสเตียนเขาพูดว่าอย่างนี้ พูดเพื่อลบหลู่พุทธบริษัทโดยตรงชักชวนพุทธบริษัทว่า อย่ามามัวถือเรื่องบุญเรื่องบาป เรื่องกรรมเรื่องอะไรอยู่เลยให้มีความเชื่อในพระเจ้าอย่างเดียวเท่านั้น จิตนี้ก็จะพ้นจากความทุกข์ได้ เดี๋ยวนี้ก็หายโมโหแล้วก็คิดว่า เขาสอนรุนแรงขนาดนั้นมันก็เป็นเรื่องที่เหมาะสำหรับเขา เพราะเขาไม่อาจจะมีปัญญาหรือสร้างปัญญาขึ้นมาได้ เขาก็ต้องใช้สิ่งที่เขามีอยู่ ถ้าเราจะเดินทางแล้วเราไม่มีรถยนต์เรามีแต่ควายเราก็ขี่ควายไปก็ได้ เรียกว่าถ้าเรามีม้าเราก็ขี่ม้าไปก็ได้ เรามีเกวียนเราขี่เกวียนไปก็ได้ ถ้าเรามีรถยนต์เราขี่รถยนต์ไปก็ได้ หรือว่าเรามีเรือบินเราขี่เรือบินไปก็ได้ แต่เราไม่ควรจะมาเกลียดชังกัน ทะเลาะวิวาทกัน เพราะว่าเรามียานพาหนะต่างๆ กัน ทว่าโดยที่แท้แล้วการที่ใช้ความเชื่อเป็นหลัก ใช้กำลังจิตเป็นหลัก ใช้ปัญญาเป็นหลักนี้ มันไม่ได้แตกต่างกันมากเหมือนกับอย่างว่าเราจะขี่ควายไปหรือว่าจะขี่เรือบินไป ซึ่งนั่นมันแตกต่างกันมากเกินไป เอาที่พอมันคล้ายๆ กัน พอไปถึงด้วยกันได้ เช่นว่า คนหนึ่งขี่เกวียน คนหนึ่งขี่ม้า คนหนึ่งขี่ควายแล้วก็เดินไปด้วยกันได้ อย่างนี้มันจะเข้ารูปกฎของธรรมชาติที่ว่าอยู่ร่วมโลกกันจะต้องมีความรักใคร่เมตตาอารีกัน เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน แล้วก็เดินทางจากความทุกข์ไปสู่ที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ เมื่อคุณขี่ควาย ฉันก็ขี่เกวียน ฉันก็ขี่ม้าหรือว่าฉันจะขี่อะไรตามแต่ฉันจะมี ความเข้าใจอย่างนี้ต่างหากที่จะช่วยให้เกิดการกระทำอันถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ไม่เป็นข้าศึก ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันในระหว่างศาสนา การเข้าใจผิดในส่วนนี้ก็ทำให้เกิดการเกลียดชังกันในระหว่างศาสนา มันก็เคยมีมาแล้วในโลกนี้ที่การเกลียดชังกันในระหว่างศาสนาไปทำลายล้างกันในระหว่างศาสนา เป็นความเสียหายอย่างยิ่งแก่มนุษย์นั่นเอง มันไม่ไปเสียหายแก่ใครที่ไหน ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องระหว่างศาสนา สิ่งอย่างนี้มันก็ไม่เกิดขึ้น เดี๋ยวนี้เรามาถือหลักชนิดที่จะไม่ทำให้เกิดการเกลียดชังกันระหว่างศาสนา ถือหลักที่ไม่ให้เกิดการเบียดเบียนกันในระหว่างบุคคล แม้ว่ามันจะแตกต่างกันอย่างไร คนแต่ก่อนเขาได้ค้นคว้าเรื่องนี้ เขาพบว่า หลักเกณฑ์ที่สำคัญที่สุดก็คือ ให้ทุกคนยอมรับว่าเราจะไม่เบียดเบียนกัน ให้เราถือว่าการไม่เบียดเบียนกันเป็นธรรมะสูงสุด เป็นหลักที่กว้างขวางจะครอบงำไปได้ทุกศาสนาที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ว่า อหิงสาความไม่ทำให้ลำบาก ปรโม ธัมโม นั้นเป็นธรรมะสูงสุด ลองจำไว้ได้ ลองจำไว้ที ก็คงจะไม่เสียหลายว่า อหิงสา ปรโม ธัมโม การไม่ทำให้เกิดความลำบากนี้เป็นธรรมะสูงสุด ไม่ทำให้เกิดความลำบากแก่ตัวเอง ไม่ทำให้เกิดความลำบากแก่ผู้อื่นนี้เรียกว่า ไม่ทำความลำบาก ไม่ทำความลำบากให้เกิดขึ้นนี้เป็นธรรมะสูงสุด ถ้าเรามีกิเลสทำความลำบากให้แก่ตัวเอง มันก็ใช้ไม่ได้ ต้องไม่ทำความลำบากให้แก่ตัวเอง ทีนี้ถ้าเรายังทำความลำบากให้แก่ผู้อื่น มันก็ใช้ไม่ได้ เราต้องไม่ทำความลำบากให้แก่ผู้อื่นด้วย เพราะทุกฝ่ายไม่มีความลำบากนี้เป็นธรรมะสูงสุด เป็นบรมธรรม ทุกศาสนามุ่งอย่างนี้ทั้งนั้นโดยความบริสุทธิ์ใจแท้จริงแต่เดิมๆ เป็นอย่างนี้ ที่นี้ความเลวทรามมันเกิดขึ้นเพราะการปฏิบัติผิดของเจ้าหน้าที่ทางศาสนาในระดับต่อมาพวกลูกศิษย์ทีหลังนี้มันบ้ากันไปเอง จึงมีความคิดที่จะเกลียดชังผู้อื่น กีดกันผู้อื่น ข่มขี่ ดูหมิ่นดูถูกผู้อื่น นี้มันเป็นฝีมือของลูกศิษย์ชั้นหลัง ไม่ใช่ความมุ่งหมายแท้จริงของพระศาสดาแห่งศาสนานั้นๆ ไม่ว่าศาสนาไหนหมด
เมื่อตัวเองต้องการจะไม่เป็นทุกข์หรือลำบากแล้วจะไปทำเพื่อผลอย่างนั้น ด้วยการกระทำให้ผู้อื่นลำบากมันก็ขัดกันอยู่ในตัว เมื่อเราไม่ชอบลำบากหรือเป็นทุกข์ เราก็ต้องไม่ทำให้ผู้อื่นลำบากหรือเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นการเบียดเบียนกันไม่ควรจะมี การทำให้เกิดความลำบากขึ้นแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มันก็ไม่ควรจะมี ทุกศาสนาก็มุ่งความสงบสุขของมนุษย์นั่นเป็นหลัก นี้เป็นความมุ่งหมายแท้จริงของทุกศาสนา เราจึงไม่มีเหตุผลและไม่มีช่องทางที่จะไปดูหมิ่นกันในระหว่างศาสนา เมื่อพูดถึงการสอนทุกศาสนาก็สอนความไม่เห็นแก่ตัว เมื่อพูดถึงทุกสิ่งจบ มันก็คือ วิมุติ หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ ใช้คำกลางๆ ก็คือ หลุดพ้นจากปัญหา ไม่มีปัญหาที่รบกวนมนุษย์นี่เรียกว่า วิมุติ หลุดรอดออกไป ทุกศาสนาก็มุ่งหมายอย่างนี้ ถ้าเราถือหลักกันอย่างนี้ก็ไม่มีการเบียดเบียนกันในระหว่างศาสนา และยิ่งไปกว่านั้นแม้ในระหว่างบุคคลที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาก็ไม่มีการเบียดเบียนกัน อาตมาถือหลักว่า สัตว์ทั้งหลายล้วนแต่ก็ต้องการความสุข ไม่ต้องการความทุกข์ สัตว์ทั้งหลายจึงเป็นเพื่อนทุกข์ เพื่อนดับทุกข์ด้วยกัน ไม่ใช่จะเป็นศัตรูกัน พุทธบริษัทก็ถือหลักว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น แล้วต้องการจะขจัดความเกิดแก่เจ็บตายให้พ้นไปจากความรู้สึก เราจึงมีวิธีของเรา คือมีปัญญาที่จะรู้ว่า ความเกิดแก่เจ็บตายนั้นเป็นของธรรมชาติ อย่ามีตัวเราเลย ความเกิดแก่เจ็บตายก็ไม่เป็นของเรา กลายเป็นของธรรมชาติไป ถ้าจิตดวงใดมันฉลาดถึงขนาดนี้แล้ว จิตดวงนั้นไม่รับเอาความเกิดแก่เจ็บตายมาเป็นความทุกข์ของมัน ปล่อยให้เป็นของธรรมชาติ ฉะนั้นจะเกิดแก่เจ็บตายโดยทางร่างกาย จิตใจก็ไม่ยอมรับเอา นี้เรียกว่า เป็นผู้ลุถึงธรรมระดับที่อยู่เหนือความเกิดแก่เจ็บตาย ซึ่งเป็นความหมายของพระนิพพาน มีจิตอยู่เหนืออำนาจ อิทธิพลของความเกิดแก่เจ็บตาย เกิดแก่เจ็บตายไม่มาบังคับหัวใจให้เป็นทุกข์ได้ก็กลายเป็นเรื่องของธรรมชาติไปอย่างนี้ นี่ก็คือเพราะรู้ตัวธรรมชาติ เพราะรู้ตัวกฎของธรรมชาติรู้จักหน้าที่ๆ เราจะต้องประพฤติให้ตรงตามกฎของธรรมชาติแล้วเราก็ได้รับผลอย่างนี้
อาตมาเคยขอร้องให้มองกันในอีกแง่หนึ่งว่า เรามองกันในแง่ว่า ไม่มีศาสนากันสักทีก็ได้ จึงได้เขียนบทความที่เรียกว่า ไม่มีศาสนา พูดก่อนแล้วก็พิมพ์เป็นตัวหนังสือว่าไม่มีศาสนา มันมีแต่ธรรมชาติมีแต่สัจจะของธรรมชาติ เป็นตัวธรรมชาติ เป็นตัวกฎของธรรมชาติ เป็นตัวหน้าที่ของธรรมชาติ เป็นผลที่ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ เราอย่ามีศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลามอะไรกันเลย แล้วก็ไม่ต้องอิจฉากัน ไม่ต้องกระทบกระทั่งกัน มีศาสนา คือ กฎของธรรมชาติ เป็นหน่วยเดียวกันเลยกลายเป็นศาสนาเดียวกันทั้งโลกทุกยุคทุกสมัย มีศาสนาเดียวคือ ศาสนาแห่งการประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติโดยที่ไม่ต้องมีความทุกข์เลย บทความนี้เมื่อถูกแปลเป็นภาษาต่างประเทศแล้วได้รับความนิยมมากในยุโรป มีคนเขียนมาขอบใจ บางคนมาถึงก็พูดถึงเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกก่อนก็มี นี่คือ การหาวิธีที่จะปรองดองกัน ไม่เกิดการแตกแยกเกลียดชังกันในระหว่างศาสนา โดยยกเอาคำว่า “ศาสนา” ออกไปเสีย ให้เหลือแต่คำว่า “สัจจะของธรรมชาติ” ถ้าเหลือเป็นสัจจะของธรรมชาติแล้วทุกคนจะยอมรับได้ นักวิทยาศาสตร์ก็ยอมรับได้ อาตมากล้าพูดว่า แม้แต่คอมมิวนิสต์ก็ยอมรับได้ ถ้าเราถือเอาสัจจะของธรรมชาติเป็นหลัก พวกคอมมิวนิสต์ก็จะไม่หาว่าศาสนาเป็นยาเสพติดสำหรับมนุษย์อีกต่อไป เพราะเขารู้จักสิ่งที่เรียกว่าสัจจะของธรรมชาติ รู้จักเอาไปใช้เป็นประโยชน์แก่ลัทธิของเขาเอง นี่เราจะทำให้ปัญหาหมดไปไม่มีคอมมิวนิสต์และไม่มีไม่ใช่คอมมิวนิสต์ เพราะเข้าถึงตัวของธรรมชาติ รู้จักสัจจะของธรรมชาติ ประพฤติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติแล้วก็จะไม่เกิดการแตกแยกระหว่างศาสนา ระหว่างฝ่าย ระหว่างพวก ระหว่างนิกาย ระหว่างอะไรหมด แม้ระหว่างบุคคลต่อบุคคล ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ยากที่จะมีความสนิทสนมกลมเกลียวกันโดยจิตใจ มันมีจิตใจกินแหนงแคลงใจพันกันอยู่ไม่มากก็น้อยในส่วนที่เกี่ยวกับลัทธิ แม้แต่ผัวกับเมียก็คงจะมีความแหนงกันอยู่บ้างในระหว่างความเชื่อเกี่ยวกับลัทธิศาสนา แล้วถ้ามาทำความเข้าใจกันอย่างนี้ให้ดี ระหว่างบุคคลมันก็จะไม่มี ระหว่างหมู่เล็กๆ ก็จะไม่มี ระหว่างพวกก็จะไม่มี ระหว่างฝ่ายก็จะไม่มี ระหว่างนิกายก็จะไม่มีระหว่างศาสนามันก็จะไม่มี มันกลายเป็นศาสนาเดียวกันหมดสำหรับคนทุกคนในโลกที่ถือสัจจะของธรรมชาติ พระศาสดาทุกพระองค์ไม่ว่าศาสนาไหนล้วนแต่ค้นพบสัจจะของธรรมชาติแล้วก็เอามาสั่งสอน พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสอย่างนั้น ธรรมะนี้เราพบแล้วก็นำมาสั่งสอนไม่ใช่แต่งตั้งได้เองว่าสิ่งนี้จึงเป็นอย่างนี้ ว่าสิ่งนี้จงไม่เที่ยง สิ่งนี้จงเป็นอนัตตา พระพุทธเจ้าไม่ได้มีอำนาจบังคับสิ่งเหล่านั้นให้เป็นอย่างนั้น แต่ท่านทรงค้นพบความจริงว่า สิ่งนั้นสิ่งเหล่านั้นมันเป็นอยู่อย่างนั้น แล้วท่านจึงนำมาสอน เรียกว่าท่านตรัสรู้พระธรรมที่ลึกลับของธรรมชาติและนำมาสอน ท่านไม่สามารถจะบังคับธรรมชาติหรือแต่งตั้งอะไรที่มันเป็นธรรมชาติ ก็แปลว่า พระศาสดาทุกองค์พบความจริงของธรรมชาติแล้วก็นำมาสอน เพราะปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นตามลำดับเกิดขึ้นแก่สังคมก่อน แล้วก็เหลืออยู่เป็นปัญหาอันละเอียดสำหรับบุคคล ค้นพบแล้วเป็นอันดับสุดท้ายแล้วแก้ปัญหาต่างๆ ของมนุษย์ได้แล้ว เหลืออยู่แต่คนชั้นหลังจะปฏิบัติให้ได้รับผลอันนั้นอย่างถูกต้องเหมาะสมแก่จิตใจ ภาวะแห่งจิตใจของตน เมื่อพวกเราอยู่กันแถวนี้ อยู่กันทวีปเอเชียนี้ ตอนใต้นี้ มันเคยมีความเคยชินมาแต่ในเรื่องของสติปัญญา ก็มันก็ต้องมีเกิดระบบของสติปัญญาเป็นเบื้องหน้า แต่ถ้าในหมู่ชนที่เขาเคยใช้ความเชื่อมาเป็นหลักแต่ดึกดำบรรพ์โน้น เขาก็เหมาะสมที่จะรับศาสนาในระบบที่มีความเชื่อเป็นเบื้องหน้า นี้หากถ้าเป็นบุคคลที่เขามีธรรมชาติสำหรับจะมีจิตใจเข้มแข็ง มีกำลังจิตสูงก็เหมาะสมแก่การที่จะมีระบบใช้พลังจิตเป็นเบื้องหน้า เราจึงไม่ติเตียนกันว่า พวกนั้นมันเลวกว่าเรา เราดีกว่าพวกนั้นปัญหาก็ไม่มี มนุษย์ก็จะอยู่กันเป็นผาสุก เพราะมองเห็นว่าเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น มนุษย์ทุกคนมีปัญหาอย่างเดียวกัน คือ ขจัดสิ่งที่เรียกว่าปัญหาหรือความทุกข์นั้นออกไปเสีย เราพูดแทนได้ทุกศาสนาเลยว่า แต่ละศาสนามุ่งหมายจะกำจัดความทุกข์ของมนุษย์ในโลกทั้งโดยส่วนบุคลและในส่วนของสังคม ไม่มีข้อขัดแย้งในเรื่องนี้ระหว่างศาสนาเลย แต่พวกเราชั้นหลัง มันโง่ไปเอง เจ้าหน้าที่ของศาสนาในชั้นหลัง มันโง่ไปเอง มันตกเป็นเหยื่อของกิเลส ของวัตถุ อะไรแล้วเห็นแก่ประโยชน์นั้นแล้ว มันก็พูดไปในทำนองที่จะได้ประโยชน์แก่ตัวแล้วก็ไปทับถมผู้อื่นสร้างความแตกแยกขึ้นมาในระหว่างศาสนา ขอให้พิจารณาดูให้ดีว่า ความแตกสามัคคีจะมีขึ้นที่ไหนนั้น มันจะมีประโยชน์ความเห็นแก่ประโยชน์นั่นเป็นต้นเหตุให้เกิดความแตกสามัคคี บางคนไม่มีประโยชน์อะไรมากไปกว่าความขี้เกียจของกู คือ กูสงวนความขี้เกียจของกูไว้ มันก็ไม่สามัคคี อย่างนี้ก็มี ถ้าเป็นประโยชน์ตัวจริงเป็นเงินเป็นทองเป็นของ มันขัดกันแล้วมันก็แตกสามัคคี ฉะนั้นการที่เห็นแก่ประโยชน์ทำให้เกิดความแตกสามัคคีในหมู่ขณะนี้ก็ดี ในบ้านนี้เมืองนี้ก็ดี มีประโยชน์ขัดกันแล้วมันก็แตกสามัคคี ฉะนั้นจงกลัวสิ่งที่เรียกว่าประโยชน์นั่นให้มาก ในสิ่งที่เรียกว่าประโยชน์ที่ต้องการกันนักนั่น มันจะทำลายมนุษย์หรือมันจะทำลายความสามัคคีของมนุษย์ มองดูประโยชน์ สิ่งที่เรียกว่าประโยชน์ให้ดีๆ มันจะหลอกให้ยึดมั่น ให้เห็นแก่ตัวแล้วก็ทำลายผู้อื่น
คำว่าประโยชน์นี้ในภาษาไทยฟังดูแล้วน่ารัก แต่คำว่าประโยชน์ในภาษาบาลีนั้นน่าเกลียดน่าชังที่สุด คำว่า “โยชนะ” มันแปลว่า ผูกพัน รัดตรึง คำว่า “ประ” นั้น มัน แปลว่า ทั่วถึง ประโยชน์ ก็คือว่า สิ่งที่ผูกมัดรัดตรึงอย่างทั่วถึง ผูกมัดรัดตรึงอะไรผูกมัดรัดตรึงจิตใจของคนที่ต้องการ คือ คนโง่นั่นเอง สิ่งที่ผูกมัดรัดตรึงจิตใจของคนนั่น คือ ประโยชน์ เราก็ต้องการประโยชน์เอามาสำหรับผูกมัดรัดตรึงจิตใจของเรา คำว่าประโยชน์ในภาษาบาลีมันน่าเกลียดน่ากลัวน่าชังอย่างนี้ แต่ในภาษาไทยเราไม่รู้ความหมายอันนี้ เราก็รักที่จะเอาประโยชน์ จะได้ประโยชน์ เห็นแก่ประโยชน์ยกขึ้นมาเป็นสิ่งสำหรับวินิจฉัยความถูกผิดอะไรกันเลย ประโยชน์หรือคุณประโยชน์ก็ตามมันมีเสน่ห์อย่างนี้ มันก็ผูกมัดใจคน คนก็เห็นแก่ตัวแล้วก็เกิดแตกแยกกัน ดังนั้นขออย่าให้สิ่งนี้มันมาหลอกลวงเราทำให้เกิดความแตกแยกกันระหว่างศาสนาเลย
ทีนี้แม้แต่ระหว่างศาสนาเดียวกัน มันก็แตกแยกกันระหว่างนิกาย แม้ในนิกายเดียวกัน มันก็แตกแยกกัน เกลียดชังกันในระหว่างพวก ทายกวัดนี้มันไม่ชอบทายกวัดโน้น มันอิจฉาทายกวัดโน้น เพราะว่าประโยชน์ที่ยึดถือ เป็นเหยื่อแก่กิเลสนั้น มันต่างกัน ขอให้ระวังสิ่งที่เรียกว่าประโยชน์ที่จะทำให้คนเราแตกสามัคคีกัน ผลร้ายก็เกิดขึ้นแต่มนุษย์นั้นเอง ถ้าเรามีตัวศาสนาถูกต้อง ยึดตัวศาสนาที่ถูกต้องเป็นหลักแล้วความแตกแยกมีไม่ได้ ดังนั้นจึงพูดได้ดีว่าที่แตกแยกกันอยู่นี้ก็เพราะยึดตัวศาสนาไม่ถูกต้อง ชาวพุทธก็ยึดตัวศาสนาพุทธไม่ถูกต้อง ชาวคริสต์ก็ยึดตัวศาสนาคริสต์ไม่ถูกต้อง ชาวอิสลามก็ยึดถือตัวศาสนาอิสลามไม่ถูกต้อง มันก็เกิดเป็นสิ่งที่จะกระทบกระทั่งกัน เกิดเหมือนกับว่า มีเขา มีเขี้ยว มีอะไรที่เกะกะไปหมดสำหรับจะกระทบกระทั่งกัน เพราะต่างฝ่ายต่างยึดถือตัวศาสนาของตนไม่ถูกต้อง อาตมาเคยพูดว่า ถ้าเราเข้าใจศาสนาของเราโดยแท้จริงแล้ว เราก็จะเข้าใจศาสนาของผู้อื่นอย่างถูกต้อง ก็ไม่เกลียดชังกัน ไม่อิจฉากัน เพราะมีความมุ่งหมายอย่างเดียวกันดังที่กล่าวมาแล้ว อาตมาเคยพูดถึงกับว่า ถ้าคุณเข้าใจศาสนาของคุณถูกต้อง คุณก็จะไม่เปลี่ยนมาถือพุทธศาสนา ซึ่งมีเนื้อหาในส่วนหัวใจเหมือนกัน คือ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในเรื่องตัวตน ไม่ยึดมั่นเรื่องดีเรื่องชั่วจนเป็นเหตุให้ถือตัวถือตน ได้ผล ก็คือว่า เขาโกรธอาตมาว่าดูถูกดูหมิ่นเขา พวกในฝ่ายพุทธด้วยกันก็หาว่าอาตมานี้ขบถต่อพุทธศาสนา บางทีก็พูดว่า ถ้าคุณเกิดในศาสนาคริสเตียน เข้าใจในความหมายของศาสนาคริสเตียน ทำตนให้อยู่เหนือการผูกพันกับความดีความชั่วแล้ว ก็ไม่ต้องมาบวชในพุทธศาสนาก็ได้ พระฝรั่งบางองค์ก็โกรธว่า ดูหมิ่นดูถูกกันอย่างแรง มันก็ไม่รู้ว่าจริงของใคร อาตมาเห็นอย่างนี้ก็พูดไปอย่างนี้ ก็มองเห็นหัวใจของพุทธศาสนานั้นไปอยู่ในหัวใจของศาสนาอื่น เห็นพวกเพื่อนที่เป็นคริสเตียน เป็นพระคริสเตียนแขวนกางเขนมา อาตมาก็ชี้บอกว่า นั่นหัวใจพุทธศาสนาที่แขวนอยู่ที่คอของคุณนั้น เขาก็สะดุ้งเขาก็งง ตาถลนว่า กางเขน นี่มันเป็นหัวใจของพุทธศาสนาได้อย่างไรกันเว้ย ก็บอกว่ากางเขนนั่น คือ ความหมายว่าตัดตัวตนเสีย ตัวฉันเส้นยืนเป็นตัวไอ ตัดเสียด้วยเส้นขวาง ตัดตัวฉันเสีย นั่นคือ หัวใจของพุทธศาสนา รูปร่างมันเป็นกางเขนแขวนอยู่ที่คอของพวกบาทหลวง เราบอกว่า นั่นนะหัวใจของพุทธศาสนา ที่คุณถือว่ากางเขนเป็นบันไดไปสู่พระเจ้าก็จริง เพราะถ้าตัดตัวตนออกซะได้มันก็ไปหาพระเจ้าด้วยกันทั้งนั้น มันจึงถูกกันทั้งฝ่ายพุทธและฝ่ายคริสต์ เราก็อย่ามีตัวตน ตัดความยึดถือว่าตัวตนตัวฉันเสียได้ มันก็ว่างจากตัวตนเป็นอันเดียวกันหมดได้ทุกศาสนา แล้วเราก็ไปอยู่ในที่เดียวกันได้ ถ้าอยากจะเรียกว่า อยู่กับพระเจ้าก็เอา ถ้าจะเรียกว่า เข้านิพพานกันทั้งหมดก็ได้ ไม่มีความขัดแย้งอะไรกัน เอาตัวตนออกไปเสียเถิด มันก็จะหมดปัญหา คือ เรื่องของกิเลสและความทุกข์
ฉะนั้นก็เป็นอันว่า เราจะมองเห็นข้อที่เป็นเสนียดของโลกอยู่ในเวลานี้ คือ ความขัดแย้งกันในระหว่างศาสนา เราอย่าให้ความผิดบาปอันนี้มันตกอยู่กับฝ่ายเรา ถ้าพวกอื่นเขาไม่เชื่อเรา เขายึดเอาความขัดแย้งก็ตามใจเขา แต่ฝ่ายพวกพุทธเราต้องไม่มี เพราะมันไม่มีเหตุผลและไม่มีความถูกต้องที่จะต้องมี เราก็ไม่ขัดแย้ง ไม่มีความขัดแย้งที่ว่า ศาสนานี้จะต้องขัดแย้งกัน จะดีเลวกว่ากัน ขัดผลประโยชน์ต่อกัน ให้เป็นอันว่า มนุษย์ทุกคนเป็นมนุษย์คนเดียวกัน ศาสนาทุกศาสนาเป็นศาสนาเดียวกัน แล้วก็สำหรับมนุษย์ทุกคน นี่ก็คือ หนทางเดียวเท่านั้นที่ว่าโลกนี้มันจะมีสันติภาพ อย่ามีเขา อย่ามีเรา มีเพียงธรรมชาติที่สร้างสรรค์กันมาอย่างนี้ เป็นมนุษย์อย่างนี้ ควรจะมีความรู้อย่างนี้ แล้วก็เป็นมนุษย์ที่มีจิตใจสูงรู้จักอยู่เหนือความทุกข์ด้วยกันทุกคน เรื่องที่จะพูดต่อไปนิดหนึ่งก็มีว่า ทำอย่างไรเราจึงจะทำให้เกิดความเข้าใจอันนี้ขึ้นมาในหมู่คนหรือในหมู่ประชาชน ทำอย่างไรโลกของเราจึงจะเกิดความรู้สึกอย่างนี้ ก็ขอร้องว่า เรากี่คนที่นี่มีความเข้าใจถูกต้องอย่างนี้กันเสียก่อน เมื่อพอกลับไปบ้านเมืองของตนก็ไปทำความเข้าใจอย่างนี้ให้มันถูกต้องกันอีก ให้มันแพร่หลายออกไปๆ จนทุกคนมีความเข้าใจอย่างนี้ แล้วโลกนี้ก็จะมีศาสนาเดียวกัน มีบุคคลอย่างเดียวกัน มีธรรมะเป็นเครื่องครองโลก ไม่มีกิเลสของบุคคลเป็นผู้ครองโลกอีกต่อไป
ถ้าจะประกวดประขันกันเรื่องหนทางของความสงบสุขหรือสันติภาพของโลกแล้ว ก็ยึดถือเอาความจริงข้อนี้มาเป็นเครื่องยืนยัน ให้ทุกคนมองเห็นแผ่ขยายความรู้สึกคิดนึกอันนี้ให้กว้างออกไปๆ มันจะนำมาซึ่งความผาสุก สงบสุขอย่างยิ่งในโลก อาตมาถือว่า อย่างนี้เป็นการทำบุญทำกุศลอย่างสูงสุด ขอให้ทำบุญทำกุศลด้วยธรรมะที่เป็นเครื่องทำความสงบในโลกนี้ให้ยิ่งขึ้นไปด้วยกันทุกคน ที่เราบริจาคทำบุญด้วยเงินด้วยวัตถุนั้น ก็เพื่อให้เกิดผลอย่างนี้ เสียเงินสร้างวัด เสียเงินทำกิจกรรมทางศาสนา ก็เพื่อให้มนุษย์ทุกคนรู้ความจริงข้อนี้ ถ้าว่าเราไม่ต้องเสียงเงิน แต่เราสามารถทำให้มนุษย์รู้จักความจริงข้อนี้ เราก็ควรจะทำเพราะมันจะไม่เปลืองเงินมากนัก ถ้าเราไปมัวแต่ไปเสียเงินๆ แล้วก็ไม่ได้ทำความจริงข้อนี้ เราก็อาจจะเสียเงินเปล่าก็ได้ ดังนั้นเราควรจะกระทำโดยตรงลงไป คือ การทำความเข้าใจในระหว่างศาสนา อย่าให้มีมิจฉาทิฐิเกิดขึ้นในระหว่าศาสนา มีสัมมาทิฐิระหว่างศาสนา มนุษย์ก็จะหมดปัญหา ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์อันยุ่งยาก เป็นพวกนั้นพวกนี้ มุ่งแต่จะทำลายล้างกันในการทำบุญที่เรียกว่าล้ออายุนั้น อาตมาคิดไปว่า แหม, มันโชคดีเหลือเกินที่ได้เกิดมาในโลกในสมัยที่เขาทะเลาะวิวาทกันในระหว่างศาสนาอย่างนี้ เราโชคดีเหลือเกินที่ได้มาเห็นข้อนี้ นั้นก็ถือว่า โชคดีอันนี้ให้มันมากขึ้นไป ว่าเราจะเป็นผู้ตั้งใจมีปณิธานในการที่จะทำความเข้าใจในระหว่างศาสนาเพื่อจะชะล้าง อุปัทวะจัญไร ในโลกนี้ ข้อนี้ให้มันหมดไปจากโลก คือ อย่าได้มีความเข้าใจผิดขัดแย้งกันในระหว่างศาสนาเลย ล้อจนล้อไม่ถูกแล้วว่า จะล้อกันในแง่ไหนหรือตรงไหน แต่มันก็ล้อในแง่ที่ใหญ่ ก็คือ แง่ที่ว่ามนุษย์นี้ทำไมจึงมาทำอย่างนี้ มนุษย์นี้ต้องถือว่ามีสติปัญญา มีจิตใจสูง ตามคำว่ามนุษย์และก็ทำไมจึงมาทำในสิ่งที่มันต่ำอย่างนี้ มันมีความขัดแย้งกันในระหว่างสังคม และสังคมของศาสนา
ขอพูดอีกชนิดหนึ่งตามความรู้สึกของอาตมา คือรู้สึกว่า เดี๋ยวนี้มันค่อยดีขึ้นบ้าง ความเข้าใจในระหว่างศาสนาค่อยดีขึ้นทีละนิดๆ ผิดกันกับเมื่อยี่สิบสามสิบปีก่อนโน้น ขอแสดงความหวังว่า ต่อไปข้างหน้า ขอให้ความเข้าใจในระหว่างศาสนานั้นมีมากขึ้นๆ ให้ทันตาเห็นกับพวกเราสักทีเถิดว่า ความขัดแย้งระหว่างศาสนานี้ได้หมดไปแล้ว ส่วนที่มันเกี่ยวกับพุทธศาสนา มันเป็นหน้าที่ของเรา เราทำส่วนที่มันเป็นหน้าที่ของเรา อย่าทำให้พุทธศาสนานี้ไปขัดแย้งกับศาสนาใดๆ ขอให้กลมกลืนกันไปในฐานะที่เป็นสัจจะของธรรมชาติ พยายามให้ศาสนาทุกศาสนาเป็นสัจจะของธรรมชาติ ทุกคนมีหน้าที่ประพฤติปฏิบัติให้ตรงตามสัจจะของธรรมชาติ ซึ่งเมื่อปฏิบัติถูกต้องแล้วจะไม่มีการเบียดเบียนกันเลย การไม่เบียดเบียนกันเลยเป็นธรรมะสูงสุดอย่างนี้ มีที่เรียกว่า เป็นการทำบุญด้วยการมองดูโลกนี้ ในลักษณะที่ว่ามันน่าละอาย มันมีความผิดอยู่อย่างน่าละอาย ช่วยกันเอามาล้อๆๆเสีย ให้มันหายไป ให้มันกระจัดกระจายไป ล้อด้วยความหวังดีไม่ต้องวิวาทกัน ทำไมจะต้องล้อพูดกันดีๆ ไม่ได้หรืออย่างไร นี้ก็พูดกันดีๆ นี่มันก็ยังเป็นการล้อก็ได้ เพราะว่าได้เป็นมาถึงขนาดที่เรียกว่ามันชินชากันมากแล้วหรือจะเรียกว่าไม่ค่อยกระดาก ไม่ค่อยละอายกันเสียแล้ว มันก็ต้องเอามาล้อกันบ้าง หวังว่าคงจะเอาเรื่องนี้ไปพินิจพิจารณาดู ถ้าตัวเองเป็นอย่างนั้นก็ล้อตัวเองซะบ้างให้เลิกละการเป็นอย่างนั้นเสีย ถ้าเพื่อนของเราเป็นอย่างนั้นก็ล้อเขาเล่นบ้างเพื่อให้ละความเป็นอย่างนั้นเสีย ทุกคนก็จะปราศจากความผิดพลาดในข้อนี้ รักเมตตาปราณีต่อสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงว่า เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น หากใครไม่ถือหลักอย่างนี้ก็ล้อ รุมกันล้อให้มันไม่มีแผ่นดินอยู่ มันจะเลิกความคิดอันไม่ถูกต้องนั้นเสีย แล้วมีความเมตตาปราณีแก่สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายทั้งปวง ทั้งมนุษย์และเทวดากระทั่งถึงสัตว์เดรัจฉานด้วย มีความเมตตาปราณีกันอย่างนี้เถิดก็จะตรงตามสัจจะของธรรมชาติ ว่าจะอยู่กันเป็นผาสุกได้อย่างไร การบรรยายแก่ท่านทั้งหลายในรอบนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว จึงขอยุติการบรรยายรอบที่ ๒ นี้ไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน