แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไปในทางแห่งพระศาสนา กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาแบบพิเศษ ปรารภเหตุเนื่องด้วยวันสิ้นปีเก่าและจะขึ้นปีใหม่ ซึ่งเป็นธรรมเนียมประเพณีที่สาธุชนทั้งหลายได้เอาใจใส่ พยายามจะทำให้ดีให้สำเร็จประโยชน์ พุทธบริษัททั้งหลายก็นิยมกระทำกัน ธรรมเทศนาเนื่องในโอกาสเช่นนี้มีข้อความตักเตือนเพื่อความไม่ประมาท เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับจะขึ้นปีใหม่
ท่านทั้งหลายก็ทราบได้ว่าปีหนึ่งๆนั้น มันก็มีเหมือนกับวงกลม เช่นว่าปีใหม่ก็เวียนมาถึงเขาอีก มีลักษณะเหมือนวงกลม ถ้าถือปีใหม่กันอย่างนี้มันก็วนเวียนอยู่ที่ตรงนี้ ไม่ต้องไปไหนกัน เวียนเป็นวงอยู่อย่างนี้เอง เราจะได้รับประโยชน์อะไรจากปีใหม่ เราควรจะทำให้มันก้าวไปข้างหน้า ให้มันเดินไปข้างหน้า กว่าจะถึงที่สุดจุดหมายปลายทาง แล้วเราจะต้องทำอย่างไร ข้อนี้ควรจะทำในใจให้ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะได้เตรียมจิตใจให้เหมาะสม ให้สำเร็จประโยชน์ ขอให้ถือเสมือนหนึ่งว่าเราเดินทางไกล คือชีวิตนี้มันก็เป็นการเดินทางไกลอยู่ในตัวแล้ว ถ้าพูดถึงมนุษย์เป็นส่วนรวม มนุษย์ก็ได้เกิดขึ้นในโลกนับได้ ๑๐,๐๐๐ ปีหรือ ๑๐๐,๐๐๐ ปีมาแล้วตามที่เขาเชื่อกัน ก็เดินมาด้วยวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมันมีมนุษย์ในโลกอย่างสมัยนี้ซึ่งต่างกันจนเปรียบกันไม่ได้กับมนุษย์ในโลกสมัยนู้น นี่มันก็เป็นการเดินทางไกลไม่ได้เป็นวงกลมอยู่กับที่ แปลว่าเราคนหนึ่งๆนี้ ในชีวิตนั้นมันก็เป็นการเดินทางไกล ตั้งแต่เป็นเด็กทารกมาเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนเฒ่าคนแก่ มันมีอะไรเพิ่มมากขึ้น เพิ่มมากขึ้น ไม่ได้เป็นวงกลมอยู่กับที่ ฉะนั้น ขอให้ทุกคนถือเอาคติแห่งการเดินทางไกล แค่นี้แหละ มาปรับกันเข้าให้ได้กับเรื่องของปีใหม่
การเดินทางไกลพอเหนื่อยเข้าเราก็ต้องหยุด พอหายเหนื่อยเราก็เดินต่อไปอีกแล้วก็หยุดเมื่อเหนื่อย แล้วก็เดินต่อไปอีกเมื่อหายเหนื่อยอย่างนี้ไปเรื่อยๆไป เดี๋ยวนี้เวลามันก็ได้ล่วงมา ๑ ปีเต็ม มันเหนื่อยมันก็ต้องหยุดเหมือนกับส่งท้ายปีเก่า รุ่งขึ้นก็เดินต่อไปเหมือนกับต้อนรับปีใหม่ ถ้าทำได้อย่างนี้ การส่งปีเก่า การขึ้นปีใหม่ มันก็เป็นการเดินต่อไปไม่วนอยู่เป็นวงกลม ขอให้ท่านทั้งหลายจงพยายามกระทำให้ได้ในลักษณะเช่นนี้เถิด การทำพิธีส่งปีเก่าขึ้นปีใหม่ก็ย่อมจะมีความหมาย เราจะทำกันอย่างไรจึงจะได้รับผลเช่นนั้น ถึงแม้เหนื่อยแล้วก็ต้องหยุด หยุดหายเหนื่อยแล้วก็ต้องเดินต่อไปอีก ไม่ขี้เกียจ ไม่เหลวไหล หยุดเสียตลอดกาล นึกดูว่าการขึ้นปีใหม่นี้อะไรที่มันยังค้างคาอยู่ก็ทำต่อไป ท่านทั้งหลายจงฟังดูให้ดีๆว่าอะไรมันค้างคาอยู่สำหรับสิ้นปีนี้ ขึ้นปีใหม่ก็ต้องทำต่อไปให้มันก้าวหน้าไปตามลำดับ ทำอย่างนี้เรื่อยไปเรียกว่าขึ้นปีใหม่ อย่าโง่ไปถึงกับว่ามันจะต้องเปลี่ยนแนวใหม่ เปลี่ยนกระแสใหม่ หาเรื่องใหม่ ริเริ่มอะไรใหม่ๆบ้าๆบอๆ อย่างนั้นมันจะไม่ใหม่ มันจะไม่เข้ากัน มันจะวนเวียน มันจะส่ายไปส่ายมา หรือมันจะย้อนกลับหลัง
คำว่า “ใหม่” นี้ไม่จำเป็นที่จะต้องคิดอะไรขึ้นมาใหม่ แต่ว่าอะไรที่มันเป็นแนวทางสำหรับจะเดินไปก็เดินไป คือทำสิ่งที่ค้างอยู่นั่นให้เสร็จไป เสร็จไป อย่างนี้เรื่อยไป หรือจะเปรียบอย่างหนึ่งก็เหมือนกับเดินทางที่มันเก่า มันรก มันปิดมิด เพราะคนไม่ค่อยเดิน เราก็ค้นหาทางเดินเก่าให้พบ แล้วก็เดินต่อไปตามทางนั้น พระพุทธเจ้าเองท่านก็ยังตรัสอย่างนี้ คือท่านตรัสว่าท่านค้นพบทางเก่าที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตเคยเดินมาแล้ว ท่านก็เดินตามทางอันนั้น แล้วก็สอนให้พุทธบริษัททั้งหลายเดินจนเป็นทางที่สำเร็จประโยชน์ขึ้นมาอีก เช่น อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เรียกว่า “ทาง” พระพุทธเจ้าทั้งหลายในกาลก่อนได้ค้นพบ และเดิน และสอนให้สาวกเดิน ต่อมามันมีการเปลี่ยนแปลงด้วยอำนาจของอนิจจัง ไม่ค่อยมีใครเดิน คนเดินน้อยเข้า หรือกระทั่งไม่เดิน ทางมันก็ลับเงียบหายไป พระพุทธเจ้าองค์ใหม่ก็มาค้นพบทางเดิมนั่นแหละอีก แล้วก็เดิน แล้วก็สอนให้คนอื่นเดิน ยังจะเป็นอย่างนี้อีกเรื่อยๆไป ไม่ว่าจะมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาในโลกนี้อีกสักกี่พระองค์ และที่จะต้องคิดอีกข้อหนึ่งก็คือว่า พระพุทธเจ้าองค์ไหนจะเกิดขึ้นมาในโลกก็ต้องตรัสสอนเรื่องเกี่ยวกับความดับทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็เรื่องปฏิจจสมุปบาท ในฐานะที่เป็นกฎอิทัปปัจจยตา พระพุทธเจ้าองค์ไหนทรงอุบัติขึ้นมาก็จะทรงสอนเรื่องนี้ ไม่ให้มันสาบสูญหายไปได้ เช่นเดียวกับการพบทางใหม่ เดินกันแล้วก็รู้เรื่องอิทัปปัจจยตาที่เรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาท” เป็นหลักสำคัญเป็นหัวใจของพระศาสนา ที่แสดงให้รู้ชัดโดยละเอียดว่าความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ความดับทุกข์นั้นดับลงไปอย่างไร ขอให้ไปศึกษาโดยนัยแห่งปฏิจจสมุปบาทนั้นโดยละเอียด จะทราบได้ด้วยกันทุกคน เดี๋ยวนี้เราก็เหมือนกับว่าเดินไปตามทางเก่าที่ลับไปเพราะไม่ค่อยมีใครเดิน เดินให้มันใหม่ขึ้นมาอีก ให้สำเร็จประโยชน์ขึ้นมาอีก ที่พูดนี้ก็หมายความว่าเราไม่ต้องคิดเรื่องอะไรใหม่ขึ้นมา เราไม่ต้องสร้างทฤษฎีอะไรบ้าๆบอๆใหม่ๆขึ้นมา คงยึดถือได้ตามหลักที่ท่านได้ตรัสไว้แล้วอย่างไร แล้วก็เดินไป เหนื่อยก็หยุด หายเหนื่อยก็เดินไป เหนื่อยก็หยุดหายเหนื่อยก็เดินไป ขอให้มันเป็นอย่างนี้ในแต่ละปีๆ ค้นพบทางเก่าแล้วก็จะเดินไปๆให้ถึงจุดหมายปลายทางให้จนได้ เพราะว่ามันยาว มันนาน ยิ่งคนขี้เกียจเดินแล้วก็ มันก็ยิ่งยาว หรือว่าถ้ามันไม่มีแรงจะเดิน มันก็รู้สึกว่ามันยาว แต่ถึงกระนั้นก็อย่าได้ประมาทเลย จงพยายามเดินให้จนได้ ก็เดินอย่างที่เรียกว่า เหนื่อยก็หยุด หายเหนื่อยก็เดิน เหนื่อยก็หยุด หายเหนื่อยก็เดิน
พอดีปีหนึ่ง ปีหนึ่งๆที่เราได้พยายามขวนขวายกันมา เรียกว่ามันเหนื่อยเต็มทีแล้วในวันสิ้นปี เช่นวันนี้ ก็หยุด เหมือนกับว่าเรามานั่งกันอยู่ที่นี่ ปรึกษาหารือกันสำหรับคนที่เหนื่อยแล้ว แล้วขึ้นปีใหม่นี้จะเดินกันต่อไปอย่างไร อาศัยพระพุทธภาษิตอย่างที่ยกไว้ข้างต้นว่า กาลานุรูปังวะ ทุรัง นิยุนเช จงประกอบหน้าที่ของตนให้เหมาะแก่เวลา ขะโณ มา โว อุปัจจะคา ขณะอันสำคัญนั้นอย่าได้ล่วงพ้นท่านทั้งหลายไปเสียเลย คำว่า “จงประกอบหน้าที่การงานให้เหมาะแก่กาลเวลา” นั้น มันก็มีใจความชัดเจนอยู่แล้ว เวลาอะไรควรจะทำงานอะไร ควรจะทำอะไร ทำอย่างไร ก็ทำให้ถูกต้องตามเวลา เหมือนอย่างว่าเป็นเด็กจะต้องทำอย่างไร เป็นหนุ่มเป็นสาวจะต้องทำอย่างไร เป็นพ่อบ้านแม่เรือน เป็นคนแก่คนเฒ่าจะทำอย่างไร ถ้าเป็นเด็กก็ต้องทำอย่างเด็ก เป็นเด็กนักเรียนก็ต้องเป็นเด็กนักเรียน อย่าริเป็นเจ้าชู้ตั้งแต่เล็ก จะเป็นเจ้าชู้กับนักเรียนนักศึกษาพร้อมกันไปนี้ไม่ได้ มันทำลายสมาธิหมด มันเรียนไม่ได้เพราะว่าผีมันเข้าไปกวน ให้คิดดูเถิดว่าถ้าเราเป็นนักเรียนอยู่ในวัยของนักเรียนก็ตั้งหน้าตั้งตาเรียน อย่าให้มีอะไรเข้ามาแทรกแซงได้ ก็จะเรียกว่าประกอบหน้าที่เหมาะเจาะสมควรแก่เวลา เมื่อเรียนเสร็จแล้วก็ทำหน้าที่ของผู้ที่จะประกอบอาชีพให้สำเร็จ สร้างเนื้อสร้างตัวให้ได้ อย่ามาเหลวไหลตอนนี้เสียอีกทีหนึ่ง มันก็ประสบความสำเร็จ เมื่อเป็นพ่อบ้านแม่เรือน ก็มีบ้านมีเรือนให้ดีๆ ให้มันเป็นเรือนที่เรียกกันว่าเรือน คือเป็นที่ตั้งที่อาศัยแห่งการอยู่กันผาสุกได้สมตามที่ควรจะมี นี้ก็เรียกว่าเหมาะแก่เวลา ครั้นอยู่มาจนมีความชราเป็นคนเฒ่าคนแก่ ก็อย่าให้มันแก่อย่างมะพร้าว อย่าให้มันแก่อย่างมะละกอ คือให้มันแก่อย่างที่ผู้รอบรู้ชีวิตที่ได้ผ่านมาแล้วแต่หนหลัง ๖๐ ปีบ้าง ๗๐ ปีบ้าง ๘๐ ปีบ้าง ๙๐ ปีบ้าง มันเต็มไปด้วยสิ่งที่เคยผ่านมาแล้วก็ต้องรู้สิ่งเหล่านั้นดีสำหรับมาอบรมสั่งสอนลูกเด็กๆที่เป็นลูกหลาน อย่าให้มันต้องทำอะไรผิดซ้ำๆซากๆอยู่ ปู่ย่าตายายเคยผิดแล้ว ลูกหลานก็ไม่จำเป็นต้องผิดอีก ปู่ย่าตายายจะช่วยคุ้มครองป้องกันลูกหลานให้เดินถูกทางอย่างนี้ นี้ก็เรียกว่าประกอบหน้าที่เหมาะสมแก่เวลาด้วยเหมือนกัน ทุกๆขั้นทุกๆตอนมันก็มีความเหมาะสมแก่เวลามาจึงได้เป็นความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์คนหนึ่งๆโดยสมบูรณ์ นับตั้งแต่เกิดมาจนกว่ามันจะเน่าเข้าโลงไป ขอให้มีแต่การกระทำหน้าที่ที่ถูกต้องแก่เวลาเสมอ
ถึงแม้ว่าเราจะแบ่งเวลาให้มันเป็นระยะย่อยๆ สั้นๆ ลงไปอีก เวลาเช้า เวลาเที่ยง เวลาเย็น เวลาค่ำ เวลาดึก เวลาหัวรุ่ง ก็จะต้องมีการงานที่เหมาะแก่เวลา รายละเอียดนี้มันไม่ต้องพูดก็ได้ ควรที่จะเข้าใจกันได้ว่า ตอนเช้าควรจะทำอะไร ตอนสายควรจะทำอะไร ตอนเที่ยงควรจะทำอะไร ตอนบ่ายควรจะทำอะไร ตอนเย็นควรจะทำอะไร ตอนค่ำควรจะทำอะไร ตอนดึกควรจะทำอะไร ตอนหัวรุ่งควรจะทำอะไร ถ้าเป็นคนซื่อตรงต่อเวลา ต่อหน้าที่ ต่อการงานแล้ว ย่อมสำเร็จประโยชน์เป็นแน่นอน เดี๋ยวนี้มันมักจะเหลวไหล แม้ที่เป็นพระเป็นเณรมันก็ยังเหลวไหล ไม่ทำอะไรให้ถูกต้องตรงตามเวลา จะไหว้พระสวดมนต์มันก็ยังนอนหลับคุดคู้อยู่ อย่างนี้มันก็ไม่ตรงต่อเวลา มันก็ไม่ได้ทำ ขอให้ไปปรับปรุงกันเสียใหม่สำหรับผู้ที่จะขึ้นปีใหม่ จงถือหลักที่ว่า กาลานุรูปังวะ ทุรัง นิยุนเช ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นคือประกอบหน้าที่การงานให้เหมาะสมให้ถูกต้องให้ตรงต่อเวลายิ่งๆขึ้นไป ความเป็นปีใหม่มันก็จะมีความหมาย
พระพุทธภาษิตข้อสุดท้ายที่ว่า ขะโณ มา โว อุปัจจะคา ขณะเวลาที่จำกัดอันสั้นนั้น อย่าได้ล่วง อย่าก้าวล่วงท่านทั้งหลายไปเสียเลย ข้อนี้ขอให้รู้ไว้ว่าเวลาที่จะทำอะไรสำเร็จ จะรู้แจ้งอะไรก็ดี มันก็จำกัดอยู่ชั่วขณะๆเท่านั้น จะเรียกว่าขณะจิตหนึ่งก็ได้ คำว่า “ขณะ” นี้มันสั้นมาก เรามักจะพลาดกันในข้อนี้เอง จิตนี้มันก็ประหลาด ทว่ามันได้รับการปรุงแต่งที่ดีด้วยวิธีพิเศษ เช่น ทำสมาธิ ทำวิปัสสนา เป็นต้น ขณะที่มันจะบรรลุธรรมะนั้น มันก็มีชั่วขณะซึ่งสั้นมากเหมือนกับแวบเดียว ถ้าทำถูกต้องแวบเดียวนั้น ก็จะเกิดขึ้น แล้วก็เพื่อสำเร็จประโยชน์ เมื่อทำไม่ถูกต้องมันเกิดความไขว้เขวอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ขณะนั้นมันไม่เกิด เขาเรียกมันผ่านไปเสีย ทำแล้วทำอีก ทำแล้วทำอีก กี่วัน กี่เดือน กี่ปี มันก็ไม่ได้เกิดขณะที่จะมีความแจ่มแจ้งหรือบรรลุธรรม เราจะต้องระมัดระวัง จะต้องปรับปรุงให้ดีที่สุดให้เป็นที่เกิดแห่งขณะและขณะนั้นก็จะได้เกิด อย่าได้ผ่านพ้นไปเสียเลย ผู้นั้นก็จะได้รับผลคือได้บรรลุผลแห่งการกระทำ จะเป็นมรรคผลในขั้นไหนก็แล้วแต่ แม้ที่สุดแต่เรื่องทำมาหากินของชาวบ้านชาวไร่ชาวนาก็เหมือนกันนั่นแหละ มันมีขณะที่จะต้องระมัดระวังให้ถูกต้อง มันเป็นเวลาที่จะไถนา จะหว่าน จะดูแลรักษา จะเก็บจะเกี่ยว อะไรมันก็ต้องมีขณะที่จำกัด อย่าให้ขณะที่จำกัดนั้นผ่านพ้นไปด้วยความโง่ ความประมาท ความขี้เกียจ ความเหลวไหล อะไรก็สุดแท้ ก็ถือเป็นหลักทั่วไปว่าไม่ว่าอะไรๆมันมีขณะของมันทั้งนั้น ถ้าเราทำผิดขณะแล้วมันก็ไม่ได้ผลบ้าง หรือมันเสียหาย มันเน่า มันพังทลายไปบ้าง ถ้ามันผิดขณะ จะหามา จะรักษาไว้ จะกินจะใช้ จะอะไรก็ต้องถูกต้องตามขณะซึ่งจำกัด คนที่ประมาทไม่ค่อยสนใจในเรื่องนี้ ขณะมันก็ผ่านคนนั้นไป มัวแต่นั่งนับ นับฤกษ์นับยามอะไรอยู่ ขณะมันก็ผ่านไป แม้แต่อย่างนี้มันก็ยังเป็นความผิดพลาดได้ เราจะต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ประกอบไปด้วยเหตุผลหรือเหตุปัจจัยอะไรๆที่มันจำเป็นแก่หน้าที่การงานของเรา ทำให้ดีๆไม่ให้ขณะผ่านไป เหล่าการงานนั้นก็จะเรียกว่าสมควรแก่เวลา
อาตมาได้เสนอหลักธรรมะ ๒ ประการว่า จงประกอบหน้าที่การงานให้สมควรแก่เวลาอย่างหนึ่ง และขณะอันสำคัญนั้นอย่าได้ผ่านล่วงท่านทั้งหลายไปเสียเลย เพื่อว่าเราจะไม่เป็นผู้ประมาท ปีนี้มันเหนื่อยเต็มทีแล้วมันหยุดนั่งพัก ปีหน้ามันก็ออกเดินต่อไป ก็ระวังอย่าให้ขณะนั้นมันผิดพลาด อย่าให้มันเหลวไหล อย่าให้มันประมาท หายเหนื่อยแล้วก็ต้องรีบเดินต่อไป ขอให้ตั้งใจอย่างนี้ การส่งปีเก่าการขึ้นปีใหม่ก็จะถูกต้อง ก็จะเป็นไปด้วยดี เดี๋ยวนี้เราก็ได้มาประชุมกันที่นี่ เป็นการเริ่มต้นของพิธีแห่งการขึ้นปีใหม่ ก็ขอให้มันสำเร็จประโยชน์ อย่าสักว่าเป็นพิธีรีตอง มันก็จะงมงาย ให้มันเป็นเพียงวิธีที่ถูกต้อง ช่วยฟังให้ดีว่าอย่าให้เป็นพิธีรีตอง แต่ให้มันเป็นพิธีที่ถูกต้อง ว่าเราจะต้องทำอย่างไร จะต้องทำอะไรบ้าง ทำอย่างไร ทำให้ถูกให้สมแก่เวลา
ส่วนที่มันล่วงมาแล้วแต่หนหลังนั่นแหละมันเป็นครู แม้จะทำผิดมันก็เป็นครู บอกให้รู้ว่าทำถูกนั้นทำอย่างไร ที่ทำถูกมันก็เป็นครูเพื่อให้รู้ว่าจะต้องทำให้ถูกยิ่งๆขึ้นไปนั้นอย่างไร ปู่ย่าตายายก็พูดไว้ดีว่า ทำผิดก็เป็นครู ทำถูกก็เป็นครู แต่ลูกหลานสมัยนี้มันโง่ มันไม่สามารถจะถือเอาประโยชน์จากข้อแนะนำอย่างนี้ได้ แล้วมันก็จะอวดดีของมันเอง จนผิดก็ไม่เป็นครู จนถูกก็ไม่เป็นครู ตามประสาเด็กโง่มันจะเป็นอย่างนี้ ทำผิดมันก็ไม่ทำให้ฉลาดขึ้น คือไม่เอาความผิดเป็นครูได้ มันอวดดี มันจองหอง แล้วเมื่อทำถูกมันก็ไม่เป็นครู คือมันไปลิงโลดเหลิงเจิ้งอวดดีเรื่องทำถูก เรื่องเอร็ดอร่อย สนุกสนานไปเสีย ความถูกมันก็ไม่เป็นครู นี่เรียกว่าลูกหลานมันเลวลง มันไม่ถือเอาคติที่ดีจากปู่ย่าตายายที่สอนไว้เป็นอย่างดีแล้วนั้นให้ได้
ฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคน จงไปคิดเสียให้ดี คิดเสียใหม่ ให้ถูกต้อง จนสำเร็จประโยชน์ในข้อที่ว่า ทำผิดก็เป็นครู ทำถูกก็เป็นครู ปีเก่ามันก็มีความผิดบ้างมีความถูกบ้างมากพอที่จะเป็นครู ปีใหม่เราก็จะเป็นคนที่หูตาสว่างที่จะเดินทางต่อไป ขอให้ต้อนรับปีใหม่ เตรียมต้อนรับปีใหม่กันในลักษณะนี้เถิด คืนนี้นึกถึงความผิดและความถูกสำหรับที่จะใช้เป็นเครื่องวินิจฉัยหน้าที่การงานต่อไปในวันพรุ่งนี้ นี่คือวิธีที่ดีที่สุดในการเตรียมต้อนรับปีใหม่ส่งท้ายปีเก่า พุทธบริษัททั้งหลายเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นคนโง่ไม่ได้ ถ้าเป็นคนโง่ก็เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานไม่ได้ ดังนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายจงได้ถือเอาคติอันนี้ให้ได้ ทำการขึ้นปีใหม่ส่งท้ายปีเก่าให้สำเร็จประโยชน์ด้วยทุกๆคนเถิด ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้