แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะปาฏิโมกข์ในวันนี้ ก็จะกล่าวต่อกันไปจากวันก่อน ขอให้สังเกตให้เห็นว่า ผมตั้งใจจะกล่าวหัวข้อธรรมะประเภทที่เป็นหลักพื้นฐานทั่วๆ ไป ที่จะต้องรู้ในเบื้องต้นสำหรับเป็นหลักพื้นฐาน ถ้าเราได้หลักพื้นฐานที่เพียงพอแล้วมันง่ายที่จะเข้าใจเรื่องต่างๆ ต่อไปอีก ที่พูดให้เป็นอุปมานั้นมันเพื่อมันจำง่าย อุปมาให้ประโยชน์ตรงที่ว่าเรามักจะรู้จักความหมายของสิ่งที่เรียกว่าอุปมากันอยู่แล้ว ก็เลยเข้าใจความหมายของอุปไมย คือตัวธรรมะได้โดยง่าย จึงพูดในเรื่องแรกที่สุดว่าไม้อิง ๓ ขา ตัวพระศาสนาอิงกันอยู่ ๓ ขา คือ ๓ หลักจึงตั้งอยู่ได้ หรือว่ามนุษย์เราจะเอาสิ่งทั้งสามนี้มาเป็นไม้อิงสำหรับเราทั้งสามขาก็ยังได้ คืออิงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ยังได้ และในตัวเองนั้นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อิงกันอยู่จึงตั้งอยู่ได้ วันแรกพูดถึงอิง ๓ ขา และวันถัดมาก็ศาสตรา ๓ อัน ศาสตราหมายถึงอาวุธที่จะตัดสิ่งที่ต้องตัด เรามีสามอัน ปัญหาในทางธรรมะก็มีสิ่งที่ต้องตัดด้วยศีล สมาธิ และปัญญา จึงถือเอาไตรสิกขานั้นว่าเป็นศาสตราสามอัน ทีนี้สิ่งที่ต้องตัดหรือข้าศึกนั้นมันเรียกว่าโจรฉกรรจ์ ๓ ก๊ก คือ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นสามพวกกันอยู่ เข้าใจความหมายแล้วก็จะรู้จักจัดพวกด้วยตนเอง จะมีปัญหาเกี่ยวกับว่ากิเลสนี้มันพวกไหน ก็บอกเครื่องสังเกตไว้ให้เพียงพอแล้ว โจรฉกรรจ์สามก๊ก
วันนี้จะพูดด้วยหัวข้อว่า ป่ารก ๓ ดง มีดงรกๆ อยู่สามดง คุณก็ต้องนึกถึงสิ่งที่เรียกว่า "ดง" หากเข้าใจคำว่าดง ก็จะเข้าใจสิ่งที่ผมกำลังจะพูด ดงมีลักษณะรก แน่นทึบ หลง หลงทางง่าย ออกมาจากดงได้ยาก คำว่าดงหมายความว่าเป็นที่กว้างใหญ่ไพศาล เข้าไปในนั้นแล้วหลงวนเวียน ออกมายาก ในป่ารกมีอยู่ ๓ ดง ดงใหญ่ๆ ๓ ดง คำว่าดงที่ลึกซึ้ง เข้าไปแล้วหลงออกมายากนี้หมายถึง ทิฐิ ถ้าไม่รู้จักทิฐิ ก็นึกถึงดง คือพอเข้าไปแล้วก็หลง แล้วก็ออกมายาก คนเรามีทิฐิของตนๆ เป็นเหมือนกับดง เข้าไปแล้วก็หลง ทั้งที่เป็นทิฐิของตัวเอง คือทิฐินั่นแหละ มันหลงไป หาทางออก คือความถูกต้องไม่ถูก เพราะฉะนั้นคนธรรมดาสามัญ หรือส่วนใหญ่จึงมีมิจฉาทิฏฐิ ขอให้ระวังให้ดี เมื่อเรามีมิจฉาทิฏฐิ เหมือนกับดงที่เข้าไปหลงอยู่ในนั้นแล้วออกไม่ได้ ที่จริงมีมาก มิจฉาทิฏฐินี่ แต่ถ้าเอาที่สำคัญๆ ก็มี ๓ ดง หรือ ๓ พวก ทิฐิ เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า มันเกิดจากผัสสะของเราเอง เมื่อตาเราเห็นอะไร เป็นอย่างไร เราก็มีทิฐิอย่างนั้น เมื่อหูของเราได้ฟังอะไร อย่างไร เราก็มีทิฐิอย่างนั้น จมูกของเราได้กลิ่นอย่างไร เราก็มีทิฐิอย่างนั้น ลิ้นของเราได้รสอย่างไร เราก็มีทิฐิอย่างนั้น สำผัสผิวหนังก็ดี สำผัสทางจิตก็ดี มันมีอย่างไร เราก็มีทิฐิอย่างนั้น มันจะมีทิฐิมาก แล้วมันก็เชื่อสัมผัสของตัวเอง ก็เลยมีทิฐิตามที่ได้สัมผัส แต่ละทิฐิจะไปรวมกลุ่มสำคัญๆ เป็นพวก เหลือสัก ๓ พวกอย่างที่กล่าวแล้ว
ในชั้นแรกนี้ขอให้ตัวเองได้รู้จักดงของทิฐิที่ตนกำลังหลงของตนอยู่ด้วยกันในทุกคนว่ามันหลงในอะไรบ้าง ให้เห็นชัดลงไปที่ว่า มันออกมาได้ยากนั้น อย่างไร แล้วทิฐิของเราก็เป็นของเรา ถ้าเรามีระดับต่ำมาก ทิฐิก็ต่ำมาก เป้นความคิดที่ต่ำมาก อยากจะยกตัวอย่างเหมือนคำพูด ที่พูดกันอยู่ชินหูที่สุด ว่าหมากัดแล้วก็กัดตอบ ตรงข้ามกับภาษิตที่ว่า หมากัดอย่ากัดตอบ นั่นเป็นทิฐิของคนพวกหนึ่ง พวกเราคนธรรมดาสามัญอย่างนี้ ไปเห็นหมากัดแล้วต้องกัดตอบ ทั้งที่เป็นหมาก็ไปกัดตอบ มันก็เป็นทิฐิของคนพวกหนึ่ง ที่ว่าหมากัดต้องกัดตอบ ทีนี้คนอีกพวกหนึ่งว่าไม่เอา แม้แต่คนกัดก็ไม่กัดตอบ แต่ก็มีคนบางพวกถือว่ามันไม่ใช่หมานี่ มันเป็นคนถ้ามันกัดก็ต้องกัดตอบ คือมันทำอะไรเรา เราก็ทำอะไรมัน ฟันต่อฟัน ตาต่อตา ที่เขาเรียกว่าคนกัดต้องกัดตอบ แต่ถ้าหมากัดมันยังไม่กัดตอบ เพราะคนแบบนี้สูงขึ้นมาหน่อย แต่คนอีกพวกนี่ต่ำมาก จนหมากัดก็กัดตอบ รู้ว่าเป็นคนไม่ควรจะไปกัดกับหมา แต่ทีนี้หลักธรรมะชั้นสูงสุดนั้นก็ไม่กัดตอบ คนกัดหรือคนที่ดีกว่ากัด ก็ไม่กัดตอบ พวกนักเลงพูดว่าคนด้วยกันทำอะไรเรา เราไม่อยากจะไปต่อล้อต่อเถียงกับมัน แต่ถ้าดีกว่าเรา สูงกว่าเรา ประเสริฐกว่าเรา เราชอบ เรามาแลกกันไปเลยทีเดียว คนพวกนี้ก็ยังมีหลักอีกชั้นหนึ่งว่า ถ้ามันดีกว่าเรา เราก็เอากับมัน คือกัดตอบ แต่พระพุทธเจ้าท่านจะไม่เอาทั้งนั้น เรียกว่าอยู่กันคนระดับ สุดโต่งเลย มันกัดเรา เราก็ควรจะสงสารมัน คนดีกว่าเราก็สงสารมันว่ามันยังโง่กว่าเรา คนเสมอกันก็สงสารมันว่ามันช่างไม่รู้อะไรเสียเลย หรือถ้ามันเลวกว่าเราก็สงสารมัน ว่ามันโง่หนัก อย่าไปถือมันเลย อย่าไปถือสามันเลย เดี๋ยวนี้เรามันทิฐิต่างกันเสียอย่างนี้ คุณลองคิดดู พวกหมากัดกัดตอบ ก็เข้าหลงในทิฐินั้นออกมาไม่ได้ พวกคนกัดจึงกัดตอบ ก็หลงในทิฐิจนตายเหมือนกัน ส่วนคนดีกว่ากัด กัดตอบ ต้องสู้อย่างนี้ก็หลงไปได้ ซึ่งเป็นกันอยู่มากในหมู่นักเลงชั้นสูง หรือคนที่เขาถือว่าเขามีเกียรติ แต่การที่มีทิฐิถือกันอยู่อย่างนี้ ก็เป็นเหตุทำลายความสงบ เราจึงได้เห็นพระเณร ทำร้าย วิวาทกัน ในบาลีก็มี พูดถึง "ทหรสามเณรา" ภิกษุหนุ่ม สามเณรยังทะเลาะวิวาทกัน ซึ่งยังเด็กนัก ยังเป็นสามเณร ยังเป็นหนุ่มเพราะเพิ่งบวชพรรษาเดียว กัดกันได้โดยทิฐิระดับใดเดียวกัน หรือคนละระดับ เราควรจะถือว่าเรื่องทิฐินี่ไม่ใช่เล่น ทิฐิแล้วก็เลยไปถึงมานะ พระเณรนี่แทงกันตายก็มีบ่อย โดยมากเป็นพระหนุ่ม แล้วก็เณร ยังเป็นเณร ซึ่งล้วนแต่ไม่ค่อยจะรู้อะไรกัน เขาจึงจัดเกรดของภิกษุหนุ่มและสามเณรไว้เกรดหนึ่ง ถ้ามีทิฐิหมายมั่น ฉุนเฉียว รุนแรงอย่างคนหนุ่มก็เลยได้ผลร้าย เราจะต้องระวังสิ่งที่ร้ายกาจเหล่านี้ อย่าหลงเข้าไปแล้วไปยึดมั่นถือมั่นอยู่อย่างแน่นแฟ้น ด้วยทิฐิ มันคู่กันอยู่ ตัณหา มานะ ทิฐิ ตัณหาคืออยากเป็นบ้าเป็นหลังแต่ด้วยความโง่ มานะคือยึดถือนั่นนี่ ทิฐิก็มีความเห็น ที่เรียกว่าลงหลักปักราก ลงหลักเหมือนกับเสา ไม่ยอมคลอนแคลน โยกถอนได้โดยง่าย แล้วก็มีเรื่องมาก เพราะอายตนะมีมาก เรื่องที่มากระทบอายตนะก็มาก แล้วสิ่งที่แวดล้อม อบรม สอนกันมาตั้งแต่เล็กๆ อย่างทารกก็มีมาก มันสร้างทิฐิมาได้เหมือนกัน แต่ละคนๆ กว่าจะโตขึ้นมาก็มีทิฐิ โยง รึงรัดกันเหมือนกับดง ดงหนึ่งๆ
ทีนี้ผมก็จะพูดถึงข้อที่ว่า พงรก ๓ ดง หมายความว่าทิฐิ ๓ ดง นี่เป็นหลักเบื้องต้นที่สุดที่จะรู้จักพระพุทธศาสนา นี่ก็หมายความว่าต้องรู้จักทิฐิ ๓ อย่างนี้ ในฐานะที่มันไม่ตรง ไม่เหมือนกันกับพระพุทธศาสนา คำว่าทิฐิ ๓ อย่างนี้ หรือกี่อย่างก็ตามไป มันมีลักษณะเป็นการพูดยืนยันโดยส่วนเดียวว่าต้องเป็นอย่างนั้น พูดโดยส่วนเดียว คำเดียว ประโยคเดียว ใจความเดียวไม่มีข้อแม้ นี่เขาเรียกว่าทิฐิ ถ้ายังมีข้อแม้ ยังไม่ใช่ทิฐิ ทีพุทธศาสนาไม่เป็นอย่างนั้น ไม่พูดยืนยันอะไรโดยส่วนเดียว ช่วยจำไว้ด้วยนะ ประโยคนี้สำคัญมาก "พระพุทธเจ้าหรือหลักพระพุทธศาสนานั้นจะไม่ยืนยันอะไรลงไปโดยส่วนเดียว คือจะฝากไว้กับเหตุ ปัจจัย" สิ่งที่เรียกว่าเหตุและปัจจัยนั้นเป็นตัวเรื่องสำคัญของพุทธศาสนา มันมีกฎแห่งเหตุ ปัจจัย ที่ทุกสิ่งจะต้องเป็นไปตามเหตุและปัจจัย มันจึงพูดโดยส่วนเดียวไม่ได้ ต้องพูดไปตามเแห่งเหตุ ปัจจัยมันจะมีอย่างไร เรียกว่า "กฎอิทัปปัจจยตา" ไปหาศึกษาดูเองก็ได้ เมื่อมีสิ่งนี้จะต้องมีสิ่งนี้ เมื่อไม่มีสิ่งนี้ต้องไม่มีสิ่งนี้ เมื่อสิ่งนี้เกิดสิ่งนี้ก็เกิด เมื่อสิ่งนี้ดับสิ่งนี้ก็ดับ ที่เรียกว่ากฎอิทัปปัจจยตา จึงไม่พูดโดยส่วนเดียว และดูที่เหตุปัจจัยก่อนว่ามันมีอย่างไร ทีนี้ นั่นไม่พูดไปส่วนเดียว ซึ่งพูดโดยเหตุหรือพูดโดยผลก็ไม่พูดโดยส่วนเดียว ดังนั้นจึงอยู่ตรงกลางที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "มัจฉิมาปฏิปทา" มัจฉิมาปฏิปทาเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา แล้วกฎของอิทัปปัจจยตาก็เหมือนกันจะไม่โดยส่วนเดียวคือมัจฉิมาปฏิปทานั่นเอง มีพระพุทธภาษิตที่แสดงมัจฉิมาปฏิปทาด้วยเรื่องปฏิจจสมุปบาทหรือกฎอิทัปปัจจยตา แล้วก็อยู่ตรงกลางคือเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เสมอ จึงไม่มีทิฐิที่จะพูดอะไรลงไปโดยส่วนเดียวว่านั่นอย่างนั้น นี่อย่างนี้ จึงพูดว่า "ไปตามปัจจัย" เราจึงไม่ทิฐิสำหรับยึดมั่นถือมั่นลงไปอย่างนั้นอย่างนี้ คอยศึกษาสังเกตุดูเหตุปัจจัยที่จะเป็นไปอย่างไร ทุกข์จะเกิดขึ้นมาอย่างไร ทุกข์จะดับลงไปอย่างไร ทำไปให้ตรงตามกฎเกณฑ์อันนั้นเฉพาะกรณีๆ ไป ใช้คำพูดว่า "ไม่พูดอะไรลงไปโดยส่วนเดียว" เดี๋ยวจะเข้าใจเรื่องนี้
ทีนี้ ตัวทิฐิเป็นดงรกอยู่ในประเทศอินเดียในสมัยพุทธกาลมี ๓ ชื่อ ชื่อที่ ๑) สัสสตทิฐิ ชื่อที่ ๒) อุจเฉททิฐิ ชื่อที่ ๓) ณฐิกทิฐิ เป็นชื่อรวมแห่งทิฐิทั้งหลายลงในสามดง
"สัสสตทิฐิ" มีทิฐิว่าเที่ยง แน่นอน ถาวร คนพวกนี้มีความคิดว่าตายแล้วเกิดอีก ตายแล้วเกิดอีก ตายแล้วเกิดอีก หรือว่าอะไรๆ ต้องเป็นอย่างนี้ และเป็นอย่างนี้เท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น ถ้าเกิดมานะก็มานะที่ยึดถือ ยึดมั่น ถือมั่น หัวแข็ง เรียกว่าสัสสตทิฐิ ตัวหนังสือแปลว่า เที่ยง ทิฐิเห็นว่าทุกอย่าง หรือว่าโลกนี้ หมู่สัตว์นี้ก็ตาม มันเที่ยง ตายก็ไม่เป็นไร เกิดใหม่เท่าเดิมเรื่อยไป นี่ระวังนะ พุทธบริษัททั้งที พูดว่าตายแล้วเกิดมันไม่ถูก เป็นมิจฉาทิฏฐิประเภทสัสสตทิฐิ จะพูดว่าอย่างไรจึงจะถูก ก็บอกว่าแล้วแต่เหตุปัจจัย ถ้าปัจจัยให้เกิดมี มันก็เกิด ปัจจัยให้เกิดไม่มีก็ไม่เกิด พอไปอีก มันกลายเป็นว่ามันมีแต่เหตุและปัจจัยเท่านั้น เพราะนั่นไม่มีคน มันไม่ใช่คน มันเป็นแต่เหตุและปัจจัยเท่านั้น ดังนั้นไม่มีคน เมื่อไม่มีคน อะไรจะตาย อะไรจะเกิด มันก็ไม่มีใครตาย ไม่มีใครเกิด ก็มีแต่การเปลี่ยนแปลงของเหตุปัจจัย ที่จิตมันโง่ มันเหมา มันสำคัญเอาเองว่ามีเรา มีเราตาย มีเราเกิด มีตัวตน มีตัวคนขึ้นมา แต่ถ้ามีสัมมาทิฏฐิ เห็นเป็นเพียงเหตุปัจจัย เปลี่ยนแปลงไป มีแต่สิ่งที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีตัวตนบุคคลเราเขา เพราะฉะนั้นเราจึงไม่พูดว่า ตายแล้วเกิด เราพูดให้ฉลาดมากกว่านั้นอีกว่าไม่มีคนที่กำลังอยู่ ไม่มีคนที่กำลังเป็นอยู่ มีแต่เหตุและปัจจัยกำลังเป็นไปตามกฎของเหตุและปัจจัย ที่เป็นนามก็เป็นนาม ที่เป็นรูปก็เป็นรูป ที่เป็นร่างกายก็เป็นร่างกาย ที่เป็นจิตใจก็เป็นจิตใจ มีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่งให้หมุนไป สัมพันธ์กันไป มีแต่นามและรูป ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา จึงไม่เรียกว่าคนตายคนเกิด จึงได้พูดกันว่าคนตายคนเกิด มันไปไกลออกไปอีกชั้นหนึ่ง ไกลกว่าที่จะถามว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด ตอบไปเลยว่าไม่มีคน ฉันตอบไม่ได้ว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด เพราะไม่มีคนที่จะตายและเกิด นี่เป็นทิฐิที่ละเอียดและประณีตกว่ากัน พระพุทธศาสนาไม่มียืนยันว่าตายแล้วเกิด แล้วไม่ใช่สัสสตทิฐิ เพราะว่ายึดเหตุปัจจัยที่กำลังเป็นไปนั้นเป็นหลัก ถ้าสัสสตทิฐิเข้ามายึดตัวตน ไม่มีตัวตนขึ้นมา ยึดตัวตนนั้นเป็นหลัก นี่แหละพวกหนึ่งได้รับคำยืนยันว่าเที่ยง เป็นสัสสตทิฐิ
ที่นี้พวกที่ ๒ ที่เรียกว่า "อุจเฉททิฐิ" นั้นแปลว่าขาดสูญ พวกนี้ตายแล้วขาดสูญ ไม่เกิดอีก เหตุปัจจัยหรือก็อะไรไม่รู้ ปรุงแต่งกันทีเดียวแล้วก็ตายลง ดับลงดับเลย ไม่มีเหตุปัจจัยอะไรต่อไปอีก คนพวกนี้จึงพูดในทำนองว่าตายแล้วสูญเลย แค่นั้นก็ผิด มันไม่ใช่กฎอิทัปปัจจยตา กฎอิทัปปัจจยตาไม่ได้พูดว่าคนมีแล้วตาย ตายแล้วสูญเลย เขาพูดไปในทำนองไม่มีคน สูญไม่สูญไม่มีทางจะพูดเพราะไม่มีคน มีแต่เหตุปัจจัยอีกเหมือนกัน นามรูปนี้ดับลงไปแล้ว จะสูญจะขาดสูญหรือไม่ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยของนามรูปนี้ เอาไม่มีคนไว้ก่อน เหมือนกับข้อแรกนั่นแหละ สัสสตทิฐิ มีคน อุจเฉททิฐิก็มีคน ที่ว่าตายแล้วจะขาดสูญไป พวกที่ถือตายแล้วเกิดอีกก็เตรียมตัวอย่างหนึ่ง พวกที่ถือว่าตายแล้วไม่เกิดอีก สูญเลยก็เตรียมตัวอีกอย่างหนึ่ง ล้วนแต่ไม่ถูกกับเรื่องทั้งนั้น ขอให้ทำใจดีๆ ว่าพระพุทธศาสนาไม่ข้องแวะกับทั้งสองนี้ เราจะมองเห็นทีที่หนึ่งก่อนว่า ๒ อันนี้ ตรงข้ามกันอยู่ อันที่หนึ่งกับอันที่สองตรงกันข้ามอยู่คู่แรก คือพวกที่ว่ามี พวกที่ถือว่ามี ดังนั้น สัสสตทิฐิก็ถือว่ามีอย่างเที่ยงแท้ถาวร เป็นการมีอย่างเที่ยงแท้ถาวร อุจเฉททิฐิ มีชั่วแว่บชั่วคราว ว่าตายแล้วสูญ มันมีแต่ชั่วเกิดคราวนี้ ตายแล้วก็สูญ คือมีชั่วคราว พวกสัสสตทิฐิมีตลอดกาล มีอย่างเที่ยงแท้ตลอดกาล สองพวกนี้ พวกที่ว่ามีก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ คุณอย่าไปพูดว่าตายแล้วเกิด หรือตายแล้วสูญ มันจะเป็นมิจฉาทิฏฐิ แล้วแต่เหตุปัจจัย ที่จริงไม่มีคนตายหรือเกิด
ทีนี้ก็มาถึงพวกที่ ๓ ซึ่งเป็นอีกแนวต่างหากเรียกว่า "ณฐิกทิฐิ " แปลว่าทิฐิไม่มีอะไรเลย นี่มันเลยกว่าตัวตนเสียอีกนะ ที่พระพุทธศาสนาว่าไม่มีตัวไม่มีตนน่ะ แต่ยังมีเหตุมีปัจจัย และสิ่งที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย พอมาถึงทิฐิพวกที่สาม นี่ไม่มีอะไรเลย ไร้ความหมายหมดสิ้น เราไม่ต้องสนใจอะไรเลย จึงไม่มีคำว่าเหตุปัจจัยสำหรับพวกนี้ ทำอะไรก็ไม่มีความหมาย ไม่มีค่า จะทำดีก็ไม่มีความหมาย จะทำชั่วก็ไม่มีความหมาย จะฆ่าคนก็ไม่มีความหมาย จะถูกฆ่าก็ไม่มีความหมาย เป็นเรื่องไม่มีไปด้วยประการทั้งปวง รวมความทิฐินี้ว่า "ไม่มี" เมื่อสองพวกแรกว่ามี มีตลอดกาล หรือมีครั้งเดียว นั่นพวกมี พวกที่สองนี้ไม่มี ตามหลักของพระพุทธศาสนานี้ถือว่าเป็นมิจฉาทิฐิทั้งนั้น คือพวกที่ถือว่าสิ่งทั้งปวงมีอยู่ก็บ้า สิ่งทั้งปวงไม่มีอยู่ก็บ้า ถือว่าอย่างนั้น สิ่งทั้งปวงมี ที่หมายถึงว่ามีอย่างมีตัวตน ไม่ให้พูดว่ามี และไม่ให้พูดว่าไม่มี จึงจะเป็นอิทัปปัจจยตา หรือเป็นมัจฉิมาปฏิปทา มีแต่เหตุปัจจัยกำลังเป็นไปอยู่ แต่ไม่ควรเรียกว่าตัวตน ฉะนั้น ดีหรือชั่ว บุญหรือบาป สุขหรือทุกข์ ก็อยู่ในสิ่งที่กำลังเปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย อย่ามีตัวตน ตัวเรา ตัวเขา สัตว์ บุคคลอะไรขึ้นมา เป็นเจ้าของการกระทำ หรือผลของการกระทำ หรือความสุขความทุกข์ ส่วนพวกณฐิกทิฐินี่ ไม่มีเอาเสียเลย ไม่มีตัวตนนั่นแหละ แล้วก็ไม่มีปัจจัย แล้วก็ไม่มีเหตุที่เรียกว่าเหตุดีเหตุชั่ว ผลดีผลชั่วนี่ไม่มี ไม่ต้องมีด้วยประการทั้งปวง นี่คือว่างอันธพาล ว่างผิดแบบ พระพุทธศาสนาไม่ยอมพูดว่าไม่มี แต่พูดว่ามีสิ่งที่เป็นเหตุปัจจัยหมุนไป ฉะนั้นการหมุนไปคือการกระทำ ก็มีทางที่จะบัญญัติว่าดีหรือชั่ว บุญหรือบาป สุขหรือทุกข์ แล้วแต่จะบัญญัติว่าควรจะบัญญัติอย่างไร พระพุทธศาสนาที่ว่าไม่มีตัวตน ไม่มีอัตตา เป็นอนัตตา ยังมีสิ่งที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย และบัญญัติได้ว่ากุศล หรืออกุศล ว่าบุญหรือบาป ว่าดีหรือชั่ว ว่าสุขหรือทุกข์ ในพระพุทธศาสนาจึงมีการพูดถึงดี-ชั่ว บุญ-บาป สุข-ทุกข์ และที่กล่าวมานี้เป็นสัมมาทิฏฐิ พวกที่ถือว่าไม่มีบุญไม่มีบาป ไม่มีดีไม่มีชั่ว ไม่มีสุขไม่มีทุกข์นี่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ประเภทที่สามคือณฐิกทิฐิ สังเกตดูว่าเป็นดงรก ดงที่ลึกลับที่ออกมายาก กว้างขวางมาก ต้องเข้าใจคำว่าสัสสตทิฐิ อุจเฉททิฐิ ณฐิกทิฐิไว้ดีดี อย่าจดป้อแป้ๆ แล้วก็เลิกกันเลย ต้องไปคิดให้เข้าใจ ไปศึกษาให้เข้าใจ พระพุทธศาสนาที่เป็นทั้งสามอย่างนี้ พระพุทธศาสนาจะไม่มีทิฐิว่ามี หรือไม่มีทิฐิว่าไม่มี คือคำว่ามีหรือคำว่าไม่มีนี่ใช้ได้กับพระพุทธศาสนาที่บัญญัติเป็นทิฐิตายตัวอย่างนั้นไม่ได้ ก็มีแต่สิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัย กว่าจะดับ ถ้ายังไม่หมดเหตุหมดปัจจัยก็ยังไม่ดับ และในระยะนั้นที่กำลังปรุงแต่งกันไป มีส่วนที่จะบัญญัติได้ว่าดี-ชั่ว บุญ-บาป สุข-ทุกข์ กุศล-อกุศล ฉะนั้นจึงมีการบัญญัติให้มากขึ้นมาว่า มีบิดา-มารดา ครูบาอาจารย์ พวกหนึ่งอาจจะแย้งว่า อ้าว ก็ถ้าไม่มีตัวตน จะมีบิดามารดา ครูบาอาจารย์มาจากไหนล่ะ ตอบว่า ไม่มีตัวตน แต่มีเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งกันไป ในส่วนหนึ่งเรียกได้ว่าเป็นบิดามารดา โดยไม่ต้องเป็นตัวเป็นตนอะไรที่ไหน เหตุที่เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยปรุงแต่งเป็นไป บัญญัติได้ว่าเป็นบิดามารดาให้คลอดลูกออกมา ลูกก็เรียกว่าลูก โตขึ้นมาเป็นบิดามารดาอีก ก็นึกประหลาดๆ อยู่ ไม่ต้องมีตัวตนแต่ก็มีได้ บิดา-มารดา ครูบาอาจารย์ บุญ-บาป สุข-ทุกข์ นรก-สวรรค์ อะไรอย่างนี้ได้ ถ้ารู้สึกเป็นทุกข์ก็เรียกว่านรก ถ้ารู้สึกเป็นสุขก็เรียกว่าสวรรค์ แล้วไม่ต้องตายตัว อย่างสวรรค์ของพวกที่เรียกว่าตายตัว จริงแท้แน่นอน
ทีนี้ไกลไปถึงรายละเอียดที่ว่า จะไม่มีคำว่า "เอง" หรือ "อื่น" ทิฐิว่าเราเอง ทิฐิว่าผู้อื่น นี่ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ ลองมีเองมีอื่นเดี๋ยวจะได้กัดกัน เราเอง ทำเอง ผู้อื่นหรือผู้อื่นทำ อย่างนี้เป็นการบัญญัติ ประเภทสัสสตเหมือนกัน แน่นอนลงไปและมีตัวตนด้วย ก็มีแต่เราเองแล้วก็มีผู้อื่น พุทธศาสนามีแต่อิทัปปัจจยตา จะสมมติว่าเราเองก็ได้แต่เรียกว่าโดยสมมติ จะเรียกว่าผู้อื่นก็ได้แต่โดยสมมติ แต่โดยแท้จริงจะไม่มีเองไม่มีอื่น ในระดับสูงสุดเป็นวิชชาสูงสุด ปัญญาสูงสุดจะไม่มีเองไม่มีอื่น ตลอดถึงจะไม่มีนี่ไม่มีนั่น ไม่มีอะไรที่เป็นคู่ๆ โดยตายตัวนั้นไม่มี แล้วแต่ว่าจะมีเหตุปัจจัยอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น สมมติกันก็ได้ว่าคนนี้ คนอื่น คนว่าเราเองเรียกว่าคนอื่น ว่าคนนี้ว่าคนนั้น พระพุทธศาสนาจึงละเอียดอ่อนในข้อที่ไม่มีตัวตน ถ้าสมมติลงไปที่ตรงไหนว่าอย่างไร ก็ยังสมมติได้ ทั้งนี้ก็เพื่อจะให้เห็นชัดลงไปในข้อที่เป็นความจริง แล้วยึดมั่นถือมั่นในอะไร ในสิ่งใดแล้วไม่เป็นทุกข์ แต่ความสำคัญมีอยู่คำเดียวคือไม่ทุกข์ ไม่เป็นทุกข์ เป็นการดับทุกข์
แต่ถึงอย่างไรก็ดี ก็ต้องบัญญัติว่ามีอยู่ ๒ ระดับ พระพุทธศาสนาในระดับต้นๆ ที่ไม่ลึกซึ้งเรียกว่าระดับโลกียะ ถูกต้องสำหรับโลกียะ สำหรับโลกุตตระโน้นก็มีอยู่ แต่ไม่ขัดกัน อย่างโลกียะก็มีโดยไม่ต้องมีตัวตนก็ได้ ก็คงจะทำให้ลำบากตรงที่มีคำพูดว่ามีตัวตน ตนพึ่งตน ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ตนทำดีทำชั่ว ให้รู้ว่าเป็นคำพูดที่พูดไว้สำหรับคนธรรมดาฟัง โดยภาษาคนพูดว่ามีตัวตนสำหรับคนธรรมดาชาวบ้านฟัง คุณจำไว้สัก ๒ ประโยคว่าถ้าท่านพูดอย่างภาษาคน และคนธรรมดาฟัง เขาว่ามีตน มีตนเป็นที่พึ่งของตน มีตนเป็นที่พึ่งของตนนี่พระพุทธเจ้าว่าไว้ให้ฟัง สำหรับคนที่ยังยึดถือตัวตนก็ไม่อาจจะเข้าใจอะไรได้ ถ้าพูดสำหรับคนที่อาจจะเข้าใจได้ก็พูดว่า ตนของตนก็ไม่มี แล้วของตนจะมาแต่ไหน เมื่อตัวตนไม่มีแล้ว ทรัพย์สมบัติของตน ลูกเมียของตนจะมาแต่ไหน เมื่อตนก็ไม่มีเสียแล้ว นี่คือพูดความจริงว่าสิ่งที่เรียกว่าตนก็จะเป็นของตนนั้นไม่มี มีแต่กระแสแห่งการปรุงแต่งของกายกับจิต เผอิญกายกับจิตไม่มีวิชชาปัญญาเพียงพอ เกิดความรู้สึกในนั้นขึ้นมาเป็นตัวเป็นตนก็ตามใจ ก็จัดว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ คือไม่รู้ หลับตาอยู่ยังไม่รู้ จนกว่ากายกับจิตนี้ได้อบรมดี เกิดความรู้ถูกต้องว่า อ้าวไม่ใช่ตน เป็นเพียงกายกับจิต จะไม่พูดว่ากู เป็นเพียงกายกับจิต จิตจะเห็นว่าเป็นเพียงกายกับจิต ไม่ต้องมีตน ไม่ต้องมีกู นี่จิตหลุดพ้นจากการยึดถือว่ามีตนหรือมีกู จิตหลุดพ้นที่ตลอดเวลาทั่วๆ ไปไม่หลุดพ้น ต้องมีกูมีตนอยู่ที่ความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นของไม่จริง ไม่มีจริง เป็นมายา แต่เมื่อรู้สึกว่าอย่างนั้นก็มี มีไปตามที่รู้สึก เพราะทุกอย่างจะสำเร็จอยู่ที่การรู้สึกของจิตเท่านั้นเอง จิตรู้สึกเป็นตัวเป็นตนเป็นกันได้ก็ว่าถูก ว่าจริง ว่าเที่ยง รู้สึกว่าไม่เที่ยงหรือขาดสูญ รู้สึกว่าไม่มีอะไรเลยก็รู้ได้ รู้สึกไปได้ ตามแต่ที่ว่าจะถูกแวดล้อมด้วยความคิดนึก หรือการศึกษาอะไร คิดเอาเองก็ได้ ผู้อื่นสอนให้ก็ได้ เกิดเป็นทิฐิขึ้นมาอย่างนั้นอย่างนี้ จัดกันเป็นพวกๆ พวกหนึ่งก็สอนไปตามพวกแล้วก็ยังมีมาก มากด้วยกันทั้งนั้น ประชาชนที่นับถือสัสสติทิฐิก็มาก มากกว่าอย่างอื่นก็เข้ากันได้ตามสัญชาตญาณ ประชาชนที่ว่าเป็นอุจเฉททิฐิ ตายแล้วขาดสูญก็มีมากไปตามพวกอุจเฉททิฐิ พวกณฐิกทิฐิที่ว่าไม่มีอะไรเลยดูจะมีพวกน้อยหน่อย ถ้าเราสังเกตดูตามบาลีหรือเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ดูไม่ค่อยมีใครสมัคร ถือว่าไม่มีอะไรเสียเลย ชอบถือว่ามีอะไร จึงต้องสอนกันเป็นพิเศษ เป็นลัทธิลึกลับของพวกโจร ของพวกอะไรอย่างที่เขาเอามาเขียนไว้ในหนังสือกามนิตก็มี หรือว่าไม่มีอัตตาเลยเถิด ลัทธิอื่นๆ ก็มี แต่ไม่ค่อยมีใครชอบ เพราะคนทั่วๆ ไปชอบว่ามีตัวฉัน ไม่มีอะไรเลยนั้นไม่ค่อยมีใครชอบ แต่ถึงอย่างนั้นก็มีอยู่ลัทธิหนึ่ง ซึ่งมีสมาชิกอยู่จำนวนหนึ่งเหมือนกัน แต่จะไม่มากเท่าสัสสตะหรืออุจเฉทะ เราอยู่ในพวกไหน เราเมื่อไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา ไม่เคยมาพบพระพุทธศาสนา เรามีทิฐิพวกไหน ตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด หรือว่าไม่มีอะไรเลย เดี๋ยวนี้ถ้าเราสังเกตดูพวกนักศึกษา พวกฝรั่งอะไรที่เรียกว่าเป็นนักศึกษาของโลก เขาก็ศึกษาไปตามแบบของเขา ตามที่เขาสัมผัสมาในวิธีการศึกษาของเขา ก็เกิดเป็นพวกๆ อย่างนี้ พวกว่าเที่ยง พวกว่าไม่เที่ยง ชั่วคราว และพวกว่าไม่มีอะไรเลย พวกที่ศึกษาไปถึงปรมณู ก็เห็นเป็นปรมณูเท่านั้น ที่กุมกันอยู่ไม่มีอะไรเลย ไม่มีตัวคนเลย ในปรมณูก็ว่างอยู่ เขาก็มีความคิดของเขาได้เองว่าไม่มีอะไรเลย ฉะนั้นอาจจะไม่ยอมรับบุญ-บาป ดี-ชั่ว สุข-ทุกข์ก็ได้
แต่เนื่องจากมีประโยชน์อย่างอื่น ผลอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คนจึงพ่ายแพ้แก่สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความต้องการ ก็เปลี่ยนทิฐิ ยักย้ายไปตามรูปแบบที่มันต้องการ จึงเกิดทิฐิปลีกย่อยขึ้นมามาก แต่ทางหนึ่งก็จะคิดว่าไม่มีอะไร ก็ได้ ตามใจ แต่พอมาถึงทีที่มีการสังคม คบค้ากันก็เกิดมีอะไรกันมา ฉะนั้นในบุคคลคนเดียวกันอาจจะมีทิฐิที่แตกแยกได้ไปตามความต้องการของตัณหา
ทิฐิ ตัวหนังสือแปลว่าความเห็น ตรงกับคำว่าทฤษฎีในภาษาสันสกฤต พอมาเป็นทฤษฎีในภาษาไทยก็เปลี่ยนเสียแล้ว ความหมายก็เปลี่ยนจากคำเดิมในภาษาสันสกฤตเสียแล้ว ถ้าเอาภาษาอังกฤษเป็นหลัก ตรงกับคำว่า วิว (view) คำว่าทิฐิตรงกับคำว่า view คือตามที่จิตเห็น จิตของเราก็มี view ขึ้นมาเรื่อยๆ พอใจจะเชื่อจะถืออย่างไรก็ถืออย่างนั้น ไม่มีความคิดเห็นประจำตัว ถูกปัญหาลากไป ว่าอะไรก็ตามใจ เกิดตัณหาเมื่อต้องการเงิน ถือว่าเงินนั้นดี เงินเป็นจุดมุ่งหมายที่ถูกต้อง อย่างอื่นหยุดไว้ก่อน ก็มามีทิฐิในเรื่องที่จะมีเงิน มีกิน มีกาม มีเกียรติ อะไรต่างๆ เป้นของดี ของถูก หรือจะเรียกว่าไม่ดีไม่ถูกก็ตามใจ แต่เราต้องการแน่นอน ความคิดเห็นเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นระวังให้ดีๆ ที่ว่าจะชอบธรรมะนั้น ชอบจริงหรือไม่ ถ้าทิฐิไม่ถึงขนาด จะชอบธรรมะไม่ได้ จะชอบกิน-กาม-เกียรติไว้ก่อน เมื่อไม่ถือธรรมะเป็นหลัก เกิดไปถือเกียรติเข้า ประเดี๋ยวก็ชกปากกัน ทั้งๆ ที่เป็นพระเป็นเณร จำไว้ด้วย เมื่อไม่ถือธรรมะ ทิฐิจะสวนขึ้นมา ไม่เอาธรรมะ เอาตัวกูเป็นหลัก ก็เปลี่ยนได้ เกิดรักษาเกียรติชกต่อยกันได้
ยังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นๆ อีกมาก เพราะว่าทิฐิแข็งกระด้าง เดี๋ยวนี้เรามาบวชเป็นพระเป็นเณรเข้าแล้วต้องรู้เรื่องนี้ ผมบอกว่าต้องรู้เรื่องนี้ ไม่งั้นไม่รู้พุทธศาสนา ต้องรู้เรื่องนี้ ทิฐิผิดๆ มีอยู่สามดงที่อย่าเข้าไป อยู่ในที่โล่งที่แจ้งที่สว่างไสวดีกว่า อย่าเข้าไปในดงทึบ ๓ ดงนั้น จะมีตัวกูของกู มีดีกว่าเลวกว่า เสมอกัน อันนั้นเป็นพวกสัสสตทิฐิ สร้างเป็นมานะสำหรับตัวกูขึ้นมาว่ากูเสมอกัน กูดีกว่า กูเลวกว่า ต่างมีมานะไม่ยอมกันทั้งนั้น เที่ยวได้รบราฆ่าฟันกันเป็นส่วนรวมก็มี รบราฆ่าฟันกันเป็นส่วนตัวก็มี ทิฐิที่ถูกต้องเรียกว่าสัมมาทิฐิ ทิฐิที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ บางทีใช้คำเลวๆ กว่านั้นว่าทิฐิอันลามกก็มี ความคิดเห็นที่ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน แต่ถ้าเป็นอย่างต่ำๆ ก็ยังยอมให้ได้ว่าทิฐิมีตัวตน ยึดถือตัวตนนี้ยังไม่เป็นไร จะได้ทำดี ยึดถือตัวตนแล้วจะได้ทำดี ไปสวรรค์ก็ยังได้ เพราะสวรรค์ก็เป็นเรื่องของตัวตน แต่ว่าไปนิพพานไม่ได้ เป็นเรื่องคนละตอน มีตัวตน ยึดมั่นเรื่องดี เรื่องกุศล ไปสวรรค์ได้ คือมีความสุขอย่างที่เรียกว่าสวรรค์ได้ แต่ว่าสุขสงบเย็นอย่างนิพพานไม่ได้ เพราะยังมีตัวตน ทิฐิที่ยังมีตัวตน ไปนิพพานไม่ได้ ทิฐิที่ยังมีตัวตนเพื่อทำดีไปสวรรค์ได้ เพราะสวรรค์ยังเป็นเรื่องของตัวตน เแม้แต่ยมโลกก็เป็นเรื่องของตัวตน
ฉะนั้นก็ถือโอกาสรู้เสียเลยว่า ทิฐิที่สัมมาทิฏฐิที่สุด ถูกต้องที่สุดในพระพุทธศาสนานั้นปราศจากตัวตน ถ้าปราศจากตัวตนมีแต่อะไร ก็มีแต่กายกับใจหรือนามรูป นี่พูดถึงคนนะ ที่เป็นไปตามเรื่องของอิทัปปัจจยตา ใครทำกรรมใครได้รับผลกรรม ก็เป็นนามรูปที่กำลังเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา มีการกระทำ มีความคิด มีความต้องการอยู่ในตัวนามรูปนั้น และนามรูปนั้นได้รับผลของกรรม ไม่ต้องมีอัตตาตัวตนที่ไหนมาอีก เพราะว่านามรูปนั้นหมุนไปตามกฎแห่งอิทัปปัจจยตาที่เราบัญญัติเรียกกันว่ากรรม กรรมดีกรรมชั่ว ก็มีปฏิกิริยาออกมา ก็ต้องกระทบกับนามรูปนั้น เป็นผู้เสวยผลของกรรมโดยสมมติว่าเป็นผู้ทำกรรมและเป็นผู้ได้รับผลของกรรม แต่ถ้าในขั้นปรมัตแท้จริงแล้ว ไม่มีผู้ทำและผู้รับผลทำ เป็นเพียงเหตุปัจจัย ธรรมชาติล้วนๆ ที่เป็นไป ถ้าทิฐิของใครขึ้นมาถึงขนาดนี้ ก็เรียกว่าเขาออกมาจากดงรกสามดงนั้นได้ มาอยู่ในที่โล่งที่แจ้งเป็นสัมมาทิฏฐิได้ ไม่จมอยู่ในกองทุกข์ ที่ว่ามีอัตตาๆ นี่เป็นทิฐิอันแรกที่จะต้องจัดการเพื่อบรรลุมรรคผล นิพพาน ที่เรียกว่าสักกายทิฏฐิ เป็นข้อที่หนึ่งของอนุสัย สังโยชน์ ๑๐ ประการนั้น แปลว่าต้องเริ่มถอยออกมาจากดงทึบสามดงนั้นแล้ว ถ้าความคิดนึกรู้สึกยังเป็นตัวกูอยู่ล่ะก็ ขอให้รู้ว่าเรากำลังตกอยู่ในดงนั้น จะไม่มีตัวกูอย่างไร จะออกมาได้อย่างไร ก็เหมือนกับที่กำลังว่า กำลังพูด มีธาตุดิน-น้ำ-ลม-ไฟ-อากาศ-วิญญาณ ทำหน้าที่กันอยู่อย่างที่เรียกว่ากายกับจิต หรือนามกับรูปเป็นธรรมชาติเท่านั้นเอง เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของเหตุปัจจัยคืออิทัปปัจจยตา ไม่ต้องตัวตนที่ตรงไหน ทีนี้จะนึกเสียดายขึ้นมาว่าไม่มีอะไรอร่อย ก็อร่อยที่กายใจนามรูปนั้นก็ได้ ไม่ต้องอร่อยที่ตัวกู เมื่อจิตเอานามรูปเป็นตัวกู ตัวกูก็อร่อย มันผิดอยู่หลายชั้น สังเกตดูให้ดี เอานามรูปมาเป็นตัวกู ผู้กระทำ ผู้ได้ ผู้กิน ผู้อร่อย เราจึงต้องมีความทุกข์ คือต้องยินดียินร้าย มีความหมายเป็นเรื่องได้เรื่องเสีย เรื่องแพ้เรื่องชนะ เรื่องกำไรเรื่องขาดทุน เป็นไปตามโง่ความหลงของผู้ที่ทำให้เปรียบเทียบกันได้ มิจฉาทิฏฐิเหล่านี้ถูกทำลายหมด ก็เรียกว่ามีสัมมาทิฏฐิ บางทีก็เรียกว่ามีทิฐิที่สมบูรณ์ เรียกทิฏฐิสัมปันโน ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฐิ ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิ ทิฐิสมบูรณ์ในฝ่ายถูกต้อง ไม่ใช่สมบูรณ์ในฝ่ายผิด รีบสะสางทิฐิของเราให้เปลี่ยนจากผิดมาเป็นถูก ถ้าออกมาจากดง ออกมาจากกลางดงไม่ได้เรียกว่าเสียหายมาก ยังไงๆ ก็ออกมาแค่ปากดงมองเห็นช่องแสงสว่าง ออกมาเสียจากดงกันได้ก็ยังเป็นการดี เพราะจะได้ออกมาได้ ไม่ว่าหลงอยู่ในดงนี่ พอออกมาได้ริมดงก็เริ่มเห็นแสงสว่างข้างนอกก็เรียกว่าปลอดภัย เราอย่าติดอยู่ในดงทึบทั้งสามดงนี้กันอยู่เลย รีบศึกษาให้เข้าใจเรื่องสัสสตทิฐิ อุจเฉททิฐิ ณฐิกทิฐิ ซึ่งล้วนแต่เป็นทิฐิผิดๆ แล้วก็มามีสัมมาทิฏฐิเป็นเรื่องของอิทัปปัจจยตา มัจฉิมาปติปทาเรียกว่ามีทิฐิถูก โดยใจความสำคัญก็มีอย่างนี้ สำหรับสิ่งที่เรียกว่าทิฐิ แล้วก็จำไว้คำหนึ่งว่าพระพุทธเจ้าได้สอนว่า "อย่าถือรั้นเป็นทิฐิ" ต้องมีปัญญา จะยึดถืออย่างหนักแน่นก็ได้แต่อย่ารั้น ถ้ารั้นเป็นเรื่องของทิฐินะ ถ้าใช้คำว่ารั้นล่ะก็ขอให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องของทิฐิ อย่าเอาเลย เอาที่ถูกต้อง ด้วยปัญญา ถ้าจะหนักแน่น มั่นคง เฉียบขาดอย่างไรก็ตามขอให้เป็นเรื่องของสัมมาทิฏฐิ หรือแสงสว่าง เราต้องการความจริง ความหนักแน่น การกระทำสุดเหวี่ยงกันอยู่เหมือนกัน แต่ขอให้เป็นไปในทางถูก เดี๋ยวนี้คนแต่ละคนก็มีทิฐิเป็นผู้นำ นามรูปอันไหน กายใจกลุ่มไหนก็มีทิฐิเป็นผู้นำกลุ่มอยู่เสมอ ถ้าผิดก็นำไปผิด ถ้าถูกก็นำไปถูก ในมรรคมีองค์ ๘ เอาทิฐิขึ้นมาเป็นข้อแรก ก็เพราะสิ่งที่เรียกว่าทิฐิมีความสำคัญนั่นเอง คุณอย่าลืมไปใคร่ครวญดู มรรคมีองค์ ๘ แสดงว่าอีกอย่างเรียกว่ารัดกุมที่สุด เหมาะสมสำหรับความสำเร็จที่สุด สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมา อาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสะติ สัมมาสะมาธิ เอาทิฐิไว้ต้น เอาปัญญาไว้ต้น นอกนั้นเป็นตัว เป็นเนื้อเป็นตัวเป็นกำลังเป็นพลังงานเป็นอะไรต่าง ให้สัมมาทิฏฐินำไปสู่พระนิพพาน คือความหมดปัญหา
โจร คือกิเลส ๓ พวก ราคะ โทสะ โมหะ นั้นก็เล็งถึงพวกหนึ่ง เดี๋ยวนี้ว่าทิฐิเหมือนกับดงรกก็เล็งที่สิ่งหนึ่ง ถ้าเราจะถือเป็นหลักธรรมดาสามัญว่าโจรอยู่ในดง เป็นที่หลบที่ซ่อนของโจร ทิฐิทั้งหลายจึงเป็นที่หลบที่ซ่อน ที่เกิดที่อะไรของกิเลส ถ้าเห็นผิดก็เกิดกิเลสได้ทุกชนิด กิเลสเหมือนกับโจร มันอยู่ในดงคือทิฐิ นี่ได้พูดมาถึงขั้นที่ ๔ แล้ว ไม้อิง ๓ ขา ศาสตรา ๓ อัน โจรฉกรรจ์ ๓ ก๊ก ป่ารก ๓ ดง ผมช่วยพูดอย่างนี้ก็เพื่อให้คุณจำง่าย เพราะว่าคุณขี้เกียจ แต่จด นี่พูดให้จำง่าย สะดวกในการที่จะเอาไปคิดเล่นๆ ที่ไหนก็ได้ นั่งที่ตรงไหนก็ลองเอาไปคิดดู จะพยายามให้เป็นเรื่องง่ายๆ เป็นเรื่องพื้นฐานโดยหัวข้อที่เป็นคำกลอนสำพันธ์กันและก็จำง่าย รับรองว่าคงจะสำเร็จประโยชน์บ้างสำหรับคนที่บวช เข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนา นี่เวลาหมดแล้ว ขอยุติการบรรยายและปิดประชุม.