แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในวันนี้ผมตั้งใจจะพูดกับพระที่มาใหม่ ๑๐ รูป ที่ว่าเป็นนักศึกษาบวช แล้วก็ท่านเจ้าคุณปัญญาท่านฝากมา ว่าให้ช่วยในทางที่จะให้ได้ให้รับประโยชน์เกี่ยวกับการมาอยู่ที่นี่ ผมจึงถือโอกาสแรกนี่พูด พูดถึงเรื่องที่จะต้องพูดเป็นครั้งแรก เป็นข้อแรก เป็นเรื่องแรก เพื่อว่าจะได้รู้จักใช้เวลาหรือทำตัวให้ได้รับประโยชน์ให้มากที่สุดตามที่จะทำได้ มีเรื่องที่ผมจะพูดก็ไม่มีเรื่องอะไรนอกไปจากว่า จะอยู่ที่นี้ให้ได้รับประโยชน์มากที่สุดได้อย่างไร ถ้าเป็นเรื่องที่อาจจะอ่านเอาได้จากหนังสือหนังหา บันทึกการบรรยายที่เคยบรรยายมาแล้วเป็นต้น นี่ก็ไม่พูด เพราะว่าไปหาอ่านเอาได้ นี่เป็นการประหยัดเวลาด้วย และก็เป็นการทำให้ได้ทำในส่วนที่ควรทำด้วย คำบรรยายกับนักศึกษาธรรมศาสตร์ มหิดล หรือ จุฬาฯ อะไรต่างๆนั้น มันมีอยู่เป็นชุดๆ บรรยายอีกก็จะซ้ำกันเท่านั้นเอง จึงพูดเรื่องที่ว่าจะใช้เวลาที่บวชในระหว่างที่บวชชั่วคราวนี้ ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไรให้มากที่สุด เรื่องที่อ่านเอาเองได้ถ้าขืนมาพูดในเวลาอย่างนี้ มันก็เรียกว่ามันขาดทุน เอาเรื่องที่ไม่ต้องมาพูดในเวลาอย่างนี้มาพูด แล้วก็ไม่ได้พูดเรื่องที่ควรจะพูดในเวลาอย่างนี้ เรื่องที่จะพูดก็คือเรื่องที่ว่า จะถือเอาประโยชน์ให้ได้มากที่สุดได้อย่างไรชั่วการบวชระยะสั้นในครั้งนี้
ก่อนอะไรทั้งหมดนี้ก็อยากจะบอกให้ทราบว่า การศึกษาธรรมะหรือการศึกษาพุทธศาสนานั้น มันมีหลายรูปแบบหลายชนิด จนกระทั่งไม่รู้ว่าคุณจะเอาอย่างไรกัน อย่างน้อยที่สุด มันก็จะมีสัก ๒ รูปแบบที่มันต่างกันมาก ถ้าคุณอยากจะศึกษาอย่างที่นักศึกษา นักปราชญ์ นักปรัชญาอะไรเขาจะศึกษากัน ให้มันแตกฉานกันในรูปแบบของการศึกษาในระดับวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนั้น มันไปอย่างหนึ่ง มันไปอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเขาเรียกกันว่า Academic Study นี่ ผมไม่ทำที่นี้ เพราะว่ามันไม่ๆสำเร็จประโยชน์อย่างคนอย่างเรา ถ้าคุณจะศึกษาพุทธศาสนากันแบบ Academic Study ก็ทำเหมือนกับที่พวกฝรั่งเขาทำ ที่เขาศึกษาเรื่องประเทศอินเดีย จนให้รู้จักภูมิประเทศของประเทศอินเดีย รู้จักความเป็นมาของคน รู้จักประวัติศาสตร์ของการศึกษา รู้จักแนวความคิดทางปรัชญาของนักปราชญ์ในประเทศอินเดีย จนกว่าจะมาถึงพระพุทธเจ้า ศึกษาปรัชญาของอินเดียกันเป็นวรรคเป็นเวร จริงๆแล้วไม่รู้จักอย่างของพระพุทธเจ้า แล้วก็เอาไปเปรียบเทียบกันกับของพวกอื่น แล้วก็เอาไปเปรียบเทียบกันกับฝ่ายตะวันตกของฝรั่ง ว่าปรัชญาตะวันตกเป็นอย่างไร ปรัชญาตะวันออกหรือปรัชญาอินเดียเป็นอย่างไร กระทั่งว่าปรัชญาพุทธศาสนาเป็นอย่างไร อย่างนี้มันต้องอ่านหนังสือเป็นหอบๆ เป็นหาบๆ มันจึงจะครบถ้วนได้ นี่ก็รู้เท่านั้นล่ะก็รู้ เรียกว่ารู้อย่างปรัชญาเสียมากกว่า ไอ้ที่ว่ารู้อย่างปรัชญานั้นนะคือไม่รู้อะไร อยากจะบอกว่าอย่างนี้ดีกว่า ที่ว่ารู้อย่าง Philosophy ไอ้รู้อย่าง Philosophy คือไม่รู้อะไร มีความสงสัยอยู่ตลอดเวลา ถ้ามันรู้อย่างปรัชญาตรงตามคำว่าปรัชญาของภาษาสันสกฤตมันก็ดีมาก คือมันคำว่าปัญญานั่นเอง มันรู้จริงรู้ทั่วถึงได้ แต่ไอ้ที่เรียกว่า Philosophy นั้นมันไม่ใช่อย่างนั้น มันฝากไว้กับสมมติฐานสำหรับตั้งข้อสงสัยใคร่ครวญตามรูปแบบของการใช้เหตุผลเรื่อยไป ก็ไม่รู้อะไร ที่ไม่รู้อะไรจริงจนมีประโยชน์ จนใช้เป็นประโยชน์ได้ มันก็ได้แต่รู้มากเข้า พูดได้มากเข้า กระทั่งไม่รู้จะพูดไปทำไมในที่สุด ที่จะทำได้ดีก็คือไปรับจ้างเป็น Professor สอนปรัชญาอย่างนี้ได้เงินเดือนแพงๆ มันก็มีเท่านั้น มันไม่เกี่ยวกับที่พวกเราต้องการจะรู้เพื่อดับทุกข์ ในนี้เราจะศึกษาพุทธศาสนาในฐานะเป็นวิชา สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อดับทุกข์ให้ได้ มีคำที่เขาชอบใช้กันอยู่คำหนึ่ง เดี๋ยวนี้ว่า Religious Life Religious Religious คือศาสนานั่นเอง Religion ลงมาเป็นคุณศัพท์เป็น Religious แล้วก็ Life ชีวิตที่ไปตามรูปแบบของศาสนา อย่างนี้เขาก็หมายถึง ไอ้ความรู้ที่เอามาปฏิบัติให้ได้รับผลจากศาสนาโดยตรง แต่แล้วก็ให้ขอบเขตไว้กว้างเป็นแต่ศึกษาอย่างที่พร่าไปไม่ค่อยจะรู้จัก จักจบก็ได้ แล้วบางทีก็วกเข้าไปหาไอ้รูปปรัชญาอย่างนั้นอีก เพราะว่าในธรรมะนี่มัน มันมีข้อเท็จจริงอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งผมอยากจะบอกให้คุณจำไว้ให้ดี ว่าหลักธรรมะหรือความจริงของธรรมะที่เป็นสัจธรรมนี้ ตลอดเวลาที่เราไม่ๆเข้าถึงไม่รู้แจ้งแทงตลอด มันจะอยู่ในลักษณะที่สลัวๆ ไม่กระจ่าง แล้วก็เป็น Philosophy อยู่เรื่อยไป เป็นปรัชญาที่เรียกว่า Philosophy อยู่เรื่อยไป
เรื่องอริยสัจก็ดี เรื่องอะไรก็ดี โดยเฉพาะเรื่องปฏิจจสมุปบาท ถ้าเรายังไม่รู้แจ้งแทงตลอดสิ่งนั้นแล้วก็ มันจะเป็นเรื่องที่สลัว ที่ต้องใช้เหตุผล ต้องใช้สันนิษฐาน ต้องใช้คาดคะเน ต้องใช้การสมมติฐานขึ้นมาอย่างนั้นอย่างนี้แล้วก็หาเหตุผลมาแวดล้อม ว่าเออ มันจะต้องจริงอย่างนั้นอย่างนี้เป็นต้น แต่พอเมื่อใดบุคคลนั้นมันรู้ธรรมะนี้จริง ก็ได้ถึงจริง ได้ผ่านไปจริง มันก็ขบพ้น คือหมดจากความเป็น Philosophy มันก็จะมาเป็นธรรมะ อย่างที่เป็นตัวศาสนา ซึ่งจะเรียกว่าไอ้พรหมจรรย์ หรือ Religious Life อันนี้ก็แล้วแต่จะเรียก ถ้าให้พูดให้ฟังง่าย จำง่าย ก็จะพูดว่า เช่น เรื่องปฏิจจสมุปบาท นี่มันก็จะเป็น Philosophy สำหรับคนทั่วๆไปที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ พอเป็นพระอรหันต์แล้ว เรื่องนี้ก็ๆพ้นจากความเป็นปรัชญาพ้นจากความเป็น Philosophy ที่สลัวๆ มาเป็นเรื่องที่แจ่มชัดอยู่กับจิตใจ ว่าทุกข์นี้เป็นอย่างไร เกิดขึ้นมาอย่างไร และได้ละให้หมดไปแล้วอย่างไร มันชัดเจนอย่างนี้ ความรู้เรื่องอริยสัจนั้น ก็ไม่เป็นเรื่อง Philosophy อีกต่อไปสำหรับผู้ที่ได้บรรลุธรรมถึงขนาดที่เป็นพระอรหันต์แล้ว การที่เขาพูดว่าเรื่องอริยสัจนี่เป็นปรัชญาบ้าง เป็นอะไรบ้าง มันก็โง่เต็มที เพราะมันไม่อาจจะพูดอย่างนั้นได้ อย่างเรื่องอริยสัจ ๔ นี่มันก็เป็นเรื่องปรัชญาสำหรับคนธรรมดาหรือปุถุชน แต่มันเป็นเรื่องสัจจะที่เห็นประจักษ์ชัดด้วยจิตใจ เป็นเรื่องไม่เป็น Philosophy ก็แล้วกัน แก่คนที่ได้บรรลุถึงธรรมะนั้นแล้วคือเป็นพระอรหันต์นั่นเอง
ที่นี้ถ้าเราจะละเว้นการศึกษาอย่างแบบปรัชญาหรือ Philosophy ให้มาเป็นรูปแบบที่ว่าศึกษาเป็นตัวการปฏิบัติให้เป็นพรหมจรรย์ขึ้นมาอย่างนี้ มันก็คนละรูปแบบและวิธีศึกษามันก็ต้องต่างกัน อย่างผมบอกไปแล้วเมื่อสักครู่นี้ว่า ที่พวกฝรั่งเขาชอบกันนัก เขาศึกษาพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นปรัชญา ศึกษาในรูปแบบ Academic Study ก็เรียนเรื่องประเทศอินเดีย ปรัชญาของอินเดียอะไรของอินเดีย เปรียบเทียบกับตะวันตกตะวันออกอะไรต่าง ๆ ต้องใช้หนังสือเป็นหาบๆ อย่างที่เขามีขายอยู่ในตลาดเวลานี้ เออมันเป็นอย่างนั้น ก็ว่าต้องตั้งต้นกันด้วยเรื่องอย่างนั้น ก. ข. ก. กา ของมันก็คือเรียนเรื่องประเทศอินเดีย เรื่องปรัชญาของประเทศอินเดียดูเถอะ คุณไปเปิดดูหนังสือทุกเล่มที่ฝรั่งแต่งเรื่องพุทธศาสนา ไอ้บทๆต้นมันก็จะพูดถึงเรื่องประเทศอินเดีย ปรัชญาของประเทศอินเดีย ตั้ง ๒-๓ บทก็มี แล้วก็จะไปพูดถึงพุทธประวัติกันอย่างเพียงพอ และก็มีจารธรรมะแต่ละข้อละข้อในรูปแบบปรัชญา เกือบตาย ก็ไม่รู้อะไรว่าเป็นอะไร นี่เรียกว่าเรียนเพื่อไม่ให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร นี่ถ้ามาเรียนอย่างพรหมจรรย์ ก็จะเอามาปฏิบัติเพื่อขจัดความทุกข์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งอยากจะเรียกว่าเรียนเพื่อ Religious Life ตัวนี้เราไม่เรียนอย่างนั้น เราไม่รู้เรื่องนั้น นี่ยังอยากจะพูดว่าเราไม่ถึงกับต้องเรียนเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ได้ ไม่เรียนเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างที่เขาเรียนๆ กัน ไม่ต้องก็ได้ แล้วก็ไม่เรียนเรื่องประเทศอินเดีย ปรัชญาของอินเดีย อย่างที่เขาเรียนกันก็ได้
แต่เรามาตั้งต้นเรียน ก. ข. ก. กา กันในรูปแบบอย่างอื่น คือตั้งต้นเรียนให้รู้ว่าความทุกข์นั้นมันเกิดขึ้นมาอย่างไร ไม่ต้องของใคร ไม่ต้องของชาวอินเดีย ไม่ต้องของฝรั่งตะวันตกหรือสาขาไหน เรียนอย่างของคน ความทุกข์ของคนตั้งต้นขึ้นมาอย่างไร และมันจะดับลงไปอย่างไร นี่ เรื่องแรก คำแรก คือ ก. ข. ก. กา มันเป็นอย่างนี้ ไม่ข้องแวะกับประเทศอินเดีย ปรัชญาของอินเดีย ไม่ข้องแวะกับพุทธประวัติก็ได้ แต่เรากลับเรียนลงไปที่ตัวพระพุทธเจ้าเอง เดี๋ยวจะว่าให้ฟัง ที่ว่าถ้าจะเรียนให้ถึงตัวพุทธศาสนาในวิธีการของพุทธศาสนา ให้ดับความทุกข์ได้และก็เรียนๆตรงลงไปที่เรื่องความทุกข์ และความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เพราะพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า แต่ก่อนนี้ก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี ฉันบัญญัติ ประกาศ แต่เรื่องความทุกข์ กับความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้น คือสองเรื่องเท่านั้น มันมีพระพุทธภาษิตตรัสไว้อย่างนี้ ยืนยันไว้อย่างนี้ เรื่องอื่นไม่พูด ฉะนั้นใครจะเอาเรื่องอื่นมาถาม ท่านก็ไม่ตอบเพราะ ว่ามันไม่ใช่เบื้องต้นของพรหมจรรย์ ไม่ใช่จุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ คือไม่ใช่ ก. ข. ก. กา ของพรหมจรรย์ จะมามัวถาม ว่าตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด นี่มันเรื่องบ้า มันไม่ใช่เรื่องจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ ที่ว่าอะไรเป็นเรื่องจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ ก็เรื่องที่ว่านี่ ทุกข์กับความดับทุกข์ ที่จะเรียนเรื่องความทุกข์อย่างไร ตั้งต้นเรียนเรื่องความทุกข์ อย่างไร มี ก. ข. ก. กา สำหรับเรียนอย่างไร ก็บอกได้เลยว่ารู้จัก ไอ้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หกอย่างนี้ว่ามันเป็นอย่างไร คุณก็อาจจะนึกว่าพวกคุณรู้จักตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี้แล้วก็ได้ คุณอาจจะรู้จักในลักษณะที่อย่างไม่ใช่ ไม่ใช่ลักษณะที่พระพุทธเจ้าประสงค์หรือที่กำลังจะพูด
ที่พระพุทธเจ้าทรงประสงค์และจัดไว้เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ เป็นจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ นั่นคือให้รู้จักเรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจในลักษณะที่มันทำหน้าที่ของมันประจำวัน เช่นว่า ตานี่เห็นรูป แล้วมันก็เกิดจักษุวิญญาณ คือ การเห็นทางตาขึ้นมา เรามีตาแล้วก็เห็นรูป ก็เกิดการเห็นทางตา คือเกิดจักษุวิญญาณขึ้นมา กลายเป็น ๓ เรื่อง ๓ เรื่องแล้วนะ ตาเรื่องหนึ่ง รูปที่เห็นเรื่องหนึ่ง แล้วก็จักษุวิญญาณอีกเรื่องหนึ่งเป็น ๓ ๓ สิ่งนี้มาถึงกันเข้าอย่างนี้เรียกว่าการสัมผัส เพราะมีการสัมผัสนี้ก็เกิดความรู้สึกที่เรียกว่า เวทนา รู้สึกสบาย เป็นสุขทางตา รู้สึกไม่สบายเป็นทุกข์ทางตา ชอบหรือไม่ชอบนั่นเอง นี่เรียกว่าเวทนา นี่เพราะเวทนานี่จึงมีตัณหาไปตามสมควรแก่ไอ้เวทนา ถ้าเวทนาอร่อยชวนให้รักมันก็รัก มันเกิดกามตัณหา ภวตัณหาอะไรเป็นต้น ถ้าเวทนามันไม่อร่อย ไม่น่ารัก แต่มันน่าชัง ก็เกิดวิภวตัณหานี่ก็เรียกว่าตัณหาความอยาก ที่แยก ปรุงตัวขึ้นมาจากเวทนา เวทนาให้เกิดตัณหา ตัณหาให้เกิดอุปาทานไปยึดมั่นเป็นความรู้สึกขึ้นมา ว่าฉันอยาก ตรงนี้มันน่าหัว ที่ว่าไอ้ความรู้สึกอยากเกิดก่อนเรียกว่าตัณหา แล้วหลังจากนั้นจะเกิดความรู้สึกอีกชนิดหนึ่งเรียกว่าอุปาทาน ที่เรียกว่าฉันเป็นผู้อยาก ฉันอยาก ฉันต้องการ อยากได้เป็นของฉัน นี่ก็จะแสดงเรื่องที่มันไม่มีตัวตนอันแท้จริง ความรู้สึกอยากเกิดได้โดยไม่ต้องมีตัวตน มันมีความรู้สึกอยาก แล้วมันจะเกิดความรู้สึกอีกชนิดว่าฉันอยากฉันต้องการยึดมั่นเป็นตัวตน ก็เรียกว่า มันๆโง่เต็มที ความโง่มันถึงที่สุด มันก็มีเพราะมีอุปาทานอย่างนี้ก็มีภพ คือความเป็นแห่งตัวฉัน ที่โง่ๆ ที่ลมๆแล้งๆ เป็นมายา แล้วออกมาเป็นตัวฉัน เรียกว่า ชาติ เพราะถ้ามีตัวฉันอย่างนี้แล้วอะไรๆ มันก็เป็นปัญหาแก่คนนั้นหมด ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศกเศร้า อะไรก็ตามมันเป็นปัญหาแก่คนนั้น ผู้มีความรู้สีกว่ามีฉันหรือมีตัวฉัน ถ้าไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวฉันหรือของฉัน แล้วไอ้พวกเกิดแก่เจ็บตายทุกข์โศกทั้งหลายมันก็ไม่ทำอะไรใครได้ คือมันไม่เป็นๆทุกข์ขึ้นมาได้ มันเป็นไปตามธรรมชาติธรรมดาของสังขาร แต่พอมีฉัน มีตัวฉัน มันก็ความเกิดของฉัน ความแก่ของฉัน ความตายของฉัน อะไรๆ ก็ของฉัน ประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ปรารถนาแล้วไม่ได้ดั่งใจฉัน รวมความแล้วก็คือขันธ์ทั้ง ๕ ที่ถูกยึดถือเป็นตัวฉันของฉันนี่เป็นตัวทุกข์ คือถ้าคุณเข้าใจเรื่องนี้ในชีวิตประจำวันแต่ละวันๆ นั่นละคือเรียนพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงอย่างถูกตัวพุทธศาสนา อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่ามันเป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ และการเห็นอย่างนี้เขาเรียกว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายเกิดขึ้นแห่งความทุกข์ ว่าที่ความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ย้ำอีกทีหนึ่งก็ได้ว่า ตาเห็นรูป เกิดการเห็นทางตา ๓ อย่างนี้เรียกว่าผัสสะ ในขณะนั้น มันไม่มีปัญญา ไม่มีสติ ผัสสะ มันก็ไปเกิดเวทนา ที่โง่เขลา ที่มีรสชาติ ที่จะทำให้เกิดตัณหา เกิดตัณหาแล้วก็เกิดอุปาทาน ความยึดถือเป็นตัวฉันของฉัน ก็เกิดภพหรือความมีตัวฉัน เกิดชาติคือถึงที่สืบแห่งตัวฉัน ทุกอย่างเป็นปัญหาและมีความทุกข์ไปหมด นี่ความทุกข์เกิดขึ้นอย่างนี้ นี่เรียกว่าความทุกข์ นี่ถ้าดับไม่เหลือแห่งความทุกข์ก็คือมันตรงกันข้าม พอตาเห็นรูป มันเกิดการเห็นทางตา ๓ อย่างนี้ถึงกันเข้าเรียกว่าผัสสะ แต่มันแปลกตรงที่ว่า ขณะนั้นมันมีสติ นำมาซึ่งปัญญา รู้จักสิ่งเหล่านี้ตามที่เป็นจริง แม้จะเกิดเวทนาเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ มันก็ไม่หลงไปตามเวทนานั้น ฉะนั้นจึงไม่เกิดตัณหาอย่างเมื่อสักครู่ที่พูดไปแล้ว มันก็ไม่เกิดอุปาทาน ไม่มีตัวกู ไม่มีตัวฉัน ไม่มีของฉัน ไม่มีภพ ไม่มีชาติ ไอ้เกิดแก่เจ็บตายมันก็ไปเป็นของธรรมดาไป ไม่เป็นทุกข์ อย่างนี้ความดับสนิท ดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นปฏิจจสมุปบาทไป ดับไม่เหลือแห่งทุกข์ มันก็ได้เป็น ๒ เรื่อง จริงอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ฉันพูดแต่เรื่องความทุกข์ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้น เรื่องอื่นไม่พูด อย่าเอามาถามอย่างนี้เป็นต้น เรื่องทุกข์ คือทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร เรื่องดับทุกข์จะดับอย่างไร ที่ว่ามานี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ชื่อแปลกอยู่ จำได้ก็ดี จำไม่ได้ ก็ตามใจ เรียกชื่อว่าปฏิจจสมุปบาท ไอ้การที่มันอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น ภาวะที่มันอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น เกิดขึ้นอย่างนี้เรื่อยไป ไม่มีตัวตนอะไรที่ไหน มันเป็นธรรมชาติอย่างนั้น เท่านั้นเอง ทีนี้ มันก็มีพระพุทธภาษิตว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท หมายความว่า ผู้ใดเห็นเกิด ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ อย่างที่อธิบายแล้ว เห็นความดับลงแห่งทุกข์ อย่างที่อธิบายแล้ว คือเห็น ปฏิจจสมุปบาท ผู้ใดเห็น ปฏิจจสมุปบาทนี้ ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็น ปฏิจจสมุปบาท ผู้ใดเห็น ปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม คือธรรมะที่แท้นี้ทีหนึ่งก่อน ที่นี้ก็มีพุทธภาษิตที่เนื่องกันว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดไม่เห็นธรรม ผู้นั้นไม่เห็นเรา แม้ว่าจะอยู่ใกล้เพียงแค่จับจีวรเอาไว้ นี่ก็ไม่ชื่อว่าเห็นเรา การเห็นปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง คือเห็นพระพุทธเจ้า การเห็นปฏิจจสมุปบาทนั้นเราตั้งต้นเรียนที่ตา เหมือนอย่างที่ว่าตาเห็นรูป แล้วก็เป็นอย่างนั้น แล้วหูก็เหมือนกัน หูได้ฟังเสียงแล้วก็เป็นอย่างนั้น จมูกได้กลิ่น แล้วก็เป็นอย่างเดียวกันไปแจกรูปเอาเองได้ ยกตัวอย่างให้ฟังแต่เรื่องทางตา ว่าตาเห็นรูป ก็เกิดการเห็นทางตา ๓ อย่างนี้ถึงกันเรียกว่าผัสสะ ถ้าโง่ตอนผัสสะ ก็เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน ภพชาติ ทางหูก็เหมือนกันอีก ได้ยินเสียง ก็เกิดหูถึงกันเข้ากับเสียง เกิดได้ยินทางหู เรียกว่า โสตวิญญาณ ๓ ประการนี้ถึงกันเข้าก็เรียกว่าผัสสะ แล้วก็เวทนา ตัณหา อย่างเดียวกันอีก จนกระทั่งคู่สุดท้าย ใจ มันสัมผัสที่อารมณ์ ที่ใจจะรู้สึกได้อย่างใดอย่างหนึ่งเขาเรียกว่า ธรรมารมณ์ ใจ ธรรมารมณ์ถึงกันเข้าก็เกิด ความรู้สึกทางใจเรียกว่า มโนวิญญาณ ๓ ประการนี้ถึงกันเข้าเรียกว่า ผัสสะ ผัสสะ เกิดเวทนา ตัณหา อุปาทาน อย่างเดียวกันอีก ทั้ง ๖ เรื่อง เรื่องตา เรื่องหู เรื่องจมูก เรื่องลิ้น เรื่องตา เรื่องหู เรื่องจมูก เรื่องลิ้น เรื่องกาย เรื่องใจ หกเรื่องนี้เหมือนกันเลย สูตรเหมือนกันเลย นี่เราทุกคนนะมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราทุกคนมีตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ที่สัมผัสคู่ของมันอยู่ตลอดวัน ตาสัมผัสรูป หูสัมผัสเสียง จมูกสัมผัสกลิ่น ลิ้นสัมผัสรส กาย ผิวหนัง สัมผัสสิ่งที่มากระทบผิวหนัง ใจสัมผัสที่สิ่งที่รู้สึกทางใจ คุณเรียนเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กายใจ นั่นแหละ เรียกว่า เริ่มเรียน ก. ข. ก. กา อันแท้จริงของพระพุทธศาสนา พอเรียนรู้ ๖ อย่างนี้ตามที่เป็นจริง แล้วกลายเป็นเห็นพระพุทธเจ้า ถึงพระพุทธเจ้าตัวจริงพระองค์จริง การที่เรามาจะเรียนพุทธประวัติหรือเรียนเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างพิสดารอย่างไรก็ตาม แต่จิตมันไม่รู้สึกลงไปที่ตัวพระพุทธเจ้าจริงๆ คือตัวปฏิจจสมุปบาท พยายามคิดว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ถ้ามีธรรมะอย่างนั้นก็คือมีเรา พระพุทธเจ้าจริง ถ้าเรียนถึงระดับ ก. ข. ก. กา ในวาระแรก ก็ถึงองค์พระพุทธเจ้าได้ นี่เรียกว่าเรียนพระพุทธศาสนาอย่างพรหมจรรย์ อย่างที่เรียกว่า Religious Life เรียนเพื่อมี Religious Life ภายในไม่กี่วัน หรือไม่กี่สัปดาห์ คุณก็มีพระพุทธเจ้า ถึงพระพุทธเจ้าได้ นี่ถ้าคุณเรียนอย่างที่พวกนักศึกษาสมัยปัจจุบันเขาเรียนกันอย่าง Academic Study เรียนในวิทยาลัย ในมหาวิทยาลัยนั่นนะ ให้เรียนเป็นสิบๆปี ๒๐ ๓๐ ปี ก็ไม่ถึงตัวพุทธศาสนา ก็เหมาะสำหรับไปเป็น Professor สอนวิชานี้เงินเดือนแพงๆนี่มันต่างกันอย่างนี้ ต้องเรียนมากเป็นหลายสิบปี แล้วก็มีหนังสือเป็นหาบ เป็นหาบๆ เลยมันก็ไม่ถึงตัวพระพุทธศาสนา คุณจะหวังเรียน Academic Study นั้นผมช่วยอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้าต้องการจะเรียนอย่าง เพื่อพรหมจรรย์นะ ก็พอจะช่วยกันได้ มันไม่เนื่องกับหนังสือก็ได้ เราเรียนกันโดยไม่ต้องเนื่องกับหนังสือ กระดาษสักแผ่นเดียวก็ได้ เพราะมันต้องตั้งเรียนลงไปที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เกี่ยวกับพระไตรปิฎกก็ยังได้ แต่ขอให้เกี่ยวกับตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ว่ามันเป็นอย่างไร มันทำอย่างไร ผมก็รู้เหมือนกันนะว่า คุณคงยังไม่เข้าใจ ไอ้ที่ว่าตาเห็นรูป เกิดจักษุวิญญาณ ๓ ประการนี้เรียกว่า ผัสสะ ผัสสะให้เกิดเวทนา เวทนาเกิดตัณหา ตัณหาเกิดอุปาทาน ภพ ชาติจนเป็นทุกข์ ทั้งที่มันเป็นเรื่องจริง และคุณก็ได้มีอยู่ เป็นอยู่ทุกวันๆ คือมีความทุกข์ ในเมื่อมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำหน้าที่อยู่ทุกวัน แต่ว่าคุณก็ไม่ได้รู้จักมันอย่าง ตรง ๆ จริงๆ ถูกต้อง ลึกซึ้งเพียงพอ ไปเรียนเสียใหม่ ศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วมันทำของมันอย่างไรในวันหนึ่งวันหนึ่ง ซึ่งทำให้เราเกิดร้อนเป็นไฟ หรือตกนรกทั้งเป็นอยู่บ่อยๆ นี่เรียนที่ตรงนี้ อย่างนี้ จะถึงตัวพุทธศาสนา
อ้าว,ที่นี้ ผมตั้งใจจะพูดกับคุณว่า จะใช้ประโยชน์การบวชชั่วคราวนี้ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด อย่างไร นี่เรื่องมันก็เป็นอันว่าเราไม่เรียนกันอย่าง Academic Study ไปเป็น Professor สอนเอาเงินเดือนแพง มาเรียนอย่างพรหมจรรย์ เพื่อบันทึกพรหมจรรย์ มันก็คือจะต้องหาโอกาสที่เหมาะสมหรือเวลาที่มันเพียงพอ สำหรับที่จะมาจับตัวไอ้สิ่งเหล่านี้ ตัวการกระทำของ ตา หู จมูก ลิ้น กายใจในวันหนึ่งวันหนึ่ง ถ้าเราอยู่ที่บ้านที่เมืองนี้มันๆทำยาก เพราะฉะนั้นมาอยู่ในป่ากับธรรมชาตินี้มันทำง่าย เพราะอย่างนั้นเราจึงถือโอกาสบวชกันสักคราวหนึ่งก็มาอยู่ในป่า เพื่อเป็นโอกาสทำง่าย เวลาก็มีมาก เพื่อจะศึกษาไอ้ตัว ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ให้รู้จักปฏิจจสมุปบาท ให้รู้จักพระพุทธเจ้าพระองค์จริง มันต้องรู้จักแยกแยะว่า ไอ้ที่บวชมาอยู่อย่างนักบวชในป่านี้ มันได้เปรียบกว่าที่จะเป็นชาวบ้าน อยู่ในบ้านในเมือง เพราะเรื่องอะไรคุณก็พอจะทายถูก เช่น คุณควรจะทายถูกว่าไอ้เรื่องธรรมะนี้ มันไม่ใช่เรื่องอะไรอื่นเลย มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ มันเรื่องของกฎของธรรมชาติ เป็นเรื่องของตัวธรรมชาติ ที่เป็นอยู่อย่างไร เปลี่ยนแปลง อย่างไร ผมเคยให้หัวข้อสำหรับไปศึกษากันว่ามันเป็นเรื่องตัวธรรมชาติเองอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องกฎของธรรมชาติอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องหน้าที่ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติให้ถูกตามกฎของธรรมชาตินั้นอย่างหนึ่ง และเป็นเรื่องของผลที่ได้รับมาจากการปฏิบัติหน้าที่นั้นอย่างหนึ่ง มันเป็น ๔ เรื่องก็จริงแต่มันเป็นธรรมชาติทั้งนั้น มันเกี่ยวอยู่กับธรรมชาติทั้งนั้น เรื่องตัวธรรมชาติทั่วไปเรื่องกฎของธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวธรรมชาติ เรื่องหน้าที่ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติให้ถูกกฎของธรรมชาติจึงจะไม่เป็นทุกข์ ไอ้เรื่องผลที่ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่นั้น นี่มันเป็นตัวธรรมชาติเกี่ยวกับธรรมชาติ นี่พอเราบวชเราก็ใกล้ชิดธรรมชาติขึ้นมาทันที ถ้าอยู่ที่บ้านที่เมืองโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ในสิ่งแวดล้อมอย่างนั้นมันไกลธรรมชาติ เราจึงหาโอกาสจัดตัวเองให้มันมาอยู่ใกล้ธรรมชาติกันเสียสักคราวหนึ่งท่านจึงบวช อย่างเดี๋ยวนี้ก็ดูสิคุณก็นั่งกลางดิน ซึ่งมันใกล้ชิดธรรมชาติกว่าที่คุณจะศึกษาในห้องเรียนในตึกที่หรูหราสวยงามราคาแพงเป็นบ้าเป็นหลังไปเลย มันไกลธรรมชาติ เดี๋ยวนี้มานั่งกลางดิน อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านๆเคยเกี่ยวข้อง
เรารู้กันแล้วนี่ว่าพระพุทธเจ้าเมื่อประสูติก็ประสูติกลางดิน เมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็นั่งกลางดินที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง ริมตลิ่งแห่งหนึ่ง ท่านก็นั่งกลางดินแล้วตรัสรู้ เมื่อท่านนิพพานคือตายก็ตายกลางดิน ท่านสอนคำสอนทั้งหมดก็สอนกันกลางดิน บางทีเดินทางอยู่ก็สอน กุฏิพระพุทธเจ้าพื้นดิน ที่ประชุมโรงฉันท์ โรงอสัณฐาการ (นาทีที่ 37:08) นะมันก็เรื่องพื้นดิน เรียกว่ามันเป็นธรรมชาติมากกว่าอยู่ตามเดิม นี่ถ้าว่าเราจะไปศึกษาดูก็จะพบว่าพระศาสดาของทุกๆ ศาสนา ตรัสรู้เพื่อเป็นพระศาสดานั่นนะ ก็ออกไปอยู่กับธรรมชาติด้วยกันทั้งนั้น กินอยู่กลางดินอยู่คนเดียวนั้นนะ ได้บรรลุถึงธรรมะ สูงสุดเป็นพระศาสดาแห่งศาสนานั้นๆ นี่เห็นได้ว่าไม่เฉพาะแต่พุทธศาสนาเท่านั้น ไม่ว่าศาสนาไหนพระศาสดาก็ไปตรัสรู้กันกับธรรมชาติไปอยู่กับธรรมชาติ จนถึงกับต้องใช้คำพูดว่าเป็นเกลอกับธรรมชาติทีเดียว ด้วยน้ำหนักที่ว่าพระพุทธเจ้าประสูติกลางดินตรัสรู้กลางดินนิพพานกลางดินสอนอยู่กลางดิน อะไรก็กลางดินกุฏิก็พื้นดิน นี่เรียกว่า มันเป็นถึงขนาดเป็นเกลอกับธรรมชาติ นี่ท่านจึงเข้าถึงธรรมชาติ เข้าถึงกฎของธรรมชาติ ซึ่งเป็นธรรมะอันสูงสุดได้โดยง่าย และเมื่อสอนก็สอนกันได้โดยง่าย นี่ก็สอนธรรมะกันเหมือนนั่งอยู่กับธรรมชาติอย่างนี้ มันง่ายแก่การเข้าใจมากกว่าที่จะสอนในตึกมหาวิทยาลัยในสิ่งแวดล้อมอย่างอื่น ครั้นเมื่อคุณได้บวชและมีการเป็นอยู่อย่างนักบวช คุณก็ใกล้ชิดธรรมชาติขึ้นมาทันที โดยเฉพาะที่มาที่นี่ซึ่งเรามีความมุ่งหมายจะจัดสถานที่นี้เพื่อวัตถุประสงค์อย่างนั้น คือวัดนี้จัดแบบที่เรียกว่าวัดป่า เขาจัดกันอย่างวัดบ้านวัดเมืองกันมากมายก็ตามใจเขา แต่ส่วนวัดนี้จะจัดเป็นแบบวัดป่า จริงๆมีอะไรอย่างที่คุณเห็นๆกันอยู่นี่มันแบบวัดป่า เพื่อว่าคนที่มาอยู่ที่นี่มันจะได้ใกล้ชิดธรรมชาติได้โดยง่าย โดยสะดวกทันที แล้วเราก็จะไปตามรอยของพระพุทธองค์ ซึ่งใกล้ชิดธรรมชาติ เป็นเกลอกับธรรมชาติ แล้วมันง่ายที่จะรู้จักธรรมชาติหรือเข้าถึงธรรมชาติ แล้วเราจึงมีหลักเกณฑ์ที่นี่สำหรับการอยู่ที่นี่ว่าจงเป็นอยู่อย่างเป็นเกลอกับธรรมชาติ อะไรๆก็ให้มันเป็นเกลอกับธรรมชาติ ให้ใกล้ชิดธรรมชาติมากที่สุด แม้จะนั่งพูดกันก็ตรงนี้มันก็ใกล้ชิดธรรมชาติที่สุด ให้ได้ศึกษาจากธรรมชาติโดยตรง คุณจะจำไว้อีกสักคำหนึ่ง ก็น่าจะมีประโยชน์ คือผมกำลังบอกว่าธรรมชาติสอนนั้นดีกว่ามนุษย์ด้วยกันสอน ให้ธรรมชาติมันสอนนะมันดีกว่าให้มนุษย์ด้วยกันสอน เพราะมนุษย์ไม่อาจจะสอนสิ่งที่ธรรมชาติสอนโดยเฉพาะได้ ฉะนั้นเราต้องมายอมตนให้ธรรมชาติสอน ผมยังพูดเลยเถิดไปถึงว่า ธรรมชาติสอนดีกว่าพระพุทธเจ้าสอน แล้วคนเขาก็หาว่าผมนี่ปากร้าย พูดจ้วงจาบพระพุทธเจ้า ว่า ธรรมชาติสอนดีกว่าพระพุทธเจ้าสอน ผมก็บอกว่าตามใจคุณ คุณจะว่าอย่างนั้นก็ได้แต่ขอให้สังเกตกันสักหน่อยว่า พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสอย่างนั้น เมื่อฉันสอนก็อย่าเพิ่งเชื่อฉัน ต้องไปใคร่ครวญดู จนมันรู้สึกแก่ใจของตัวเองเสียก่อนแล้วจึงเชื่อ ตอนนั้นล่ะคือตอนที่ธรรมชาติสอน พระพุทธเจ้าท่านสอนแล้วท่านบอกว่าอย่าไปเชื่อ แล้วไปทำให้มันกลายเป็นความรู้สึกของผู้นั้นเองเสียก่อน ตอนนี้คือตอนที่ธรรมชาติสอน นั้นคำสั่ง คำสอนของพุทธองค์โดยส่วนใหญ่เราจะเห็นได้ว่า ท่านชี้แนะวิธีที่เราไปทำให้ธรรมชาติสอนเรียนจากข้างในรู้จากข้างในไม่ใช่จากข้างนอก เรียนจากข้างในคือเรียนจากความรู้สึกอะไรที่รู้สึกอยู่ในใจจริงๆ จงเรียนลงไปที่สิ่งนั้น แล้วสิ่งนั้นมันก็จะสอน อย่างนี้เรียกว่าเรียนจากธรรมชาติ เรามาสัมผัสธรรมชาติแล้วรู้สึกอย่างไร เราเรียนจากสิ่งนั้น เช่น ว่าใครก็ตามเอามานั่งลงที่ตรงนี้ มันรู้สึกสบายใจบอกไม่ถูก มันก็บอกไม่ถูก แต่มันรู้สึกแต่เพียงว่าสบายใจ เราก็บอกเขาว่า คุณจะต้องถือโอกาสที่สบายใจเรียนจากความรู้สึกที่มันสบายใจ ความสบายใจนี่มันเป็นอย่างไร เพราะมันไม่มีความรู้สึกประเภทยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเรา ของเรา เป็นตัวกู ของกู
เมื่อใดไม่มีความรู้สึกประเภทตัวกู ของกู ตัวเรา ของเรา เมื่อนั้นมันจะสบายบอกไม่ถูก ทำไมไม่สังเกตดูให้ดี ว่าพอเรามานั่งลงตรงนี้ ไอ้ความคิดประเภทตัวเรา ตัวกู มันไม่เกิด เราจึงสบายใจที่สุด ถ้าเราเรียนอย่างนี้ จะเรียกว่าเรียนจากธรรมชาติ เรียนจากภายใน เรียนจากความรู้สึก ดีกว่าอ่านหนังสือตั้งหอบ ขอให้พยายามเรียนจากธรรมชาติ ที่มันให้ความรู้สึกแก่เรา อย่าเห็นเป็นเรื่องน่ารำคาญหรือเป็นเรื่องไม่มีประโยชน์ไปเสีย อยู่ที่นี่ เราให้อยู่กันอย่างสัมผัสธรรมชาติให้มากที่สุด มีคำพูดให้ท่องกันไว้ว่า อยู่ที่นี่คือ กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู นอนในเล้าหมู ฟังยุงร้องเพลง กินข้าวจานแมว อย่างที่ว่าหยอดลงไปในบาตร เหมือนกับใส่ให้หมาให้แมวกินอย่างนั้นละ นี่เรียกว่า กินข้าวจานแมว อย่าให้มันยุ่งยาก ลำบาก พิถีพิถันนัก ซึ่งเมื่อวานเมื่อวันที่เขาเลี้ยงกัน คุณก็คงจะเห็นแล้วว่า กินข้าวจานแมว ในบาตร นั้นมัน มันใกล้ธรรมชาติมากกว่าจะกินสำรับคับค้อน เมื่อพระกินข้าวจานแมว ( เสียงหายช่วงนาทีที่ 45:20-45:30 ) บางองค์ไม่ชอบ บางองค์ว่าฝืนความรู้สึก ไม่ชอบ จนพวกชาวบ้านเขาไม่กล้าเลี้ยงแบบฉันท์ข้าวจานแมว เพราะพระบางองค์โกรธและด่าเขา ก็อยากจะเลี้ยงจานแมวแบบวัดนี้บ้าง พระบางองค์โกรธและด่าเขา เขาก็เลยไม่กล้าเลี้ยงฉันท์ข้าวแบบจานแมว ที่นี่เราก็ยังมีวิธีฉันท์แบบจานแมว ที่นี่ก็ดีที่โรงฉันท์ก็ดี อาบน้ำในคู ก็ไม่ต้องมีห้องน้ำที่สวยงาม เอาตามธรรมชาติ ในบ่อน้ำหรือว่าในลำธาร ก่อนนี้ทุกองค์อาบน้ำในลำธาร เพิ่งมีบ่ออาบน้ำอะไรนี่ เพิ่งจะมีอุตริบ้าๆ บอๆ ขึ้นมานี่ผิดจากธรรมชาติ ถ้าคุณรักธรรมชาติแท้ๆ แล้วก็ไปอาบน้ำในลำธารดีกว่าอาบตามบ่อบ่อที่เขาสร้างขึ้น มันจะได้เรียกว่าอาบน้ำในคูตามธรรมชาติ แล้วคอยสังเกตเอาเอง มันมีความรู้สึกต่างกันอย่างไร ในห้องน้ำที่จัดไว้หรูหรา งดงาม สะดวกอะไรต่างๆ มันผิดกับไปอาบในลำธารอย่างไร มันจะผิดกันตรงที่ว่า อาบในลำธารนั้นมันได้สัมผัสธรรมชาติมากกว่าที่อาบในห้องน้ำที่สวยหรู นอนในเล้าหมูก็คือว่านอนในที่แคบๆ เล็กๆ ในกุฏิเล็กๆ เหมือนกับเท่าเล้าหมู บางทีนอนในซอก พอสอดตัวลงนอนได้ ผมก็ทำอย่างนั้นเหมือนกัน เหมือนกับหมู นอนในซอกแคบๆในเล้าหมูไม่ใช่เต็มไปทั้งคอก ให้มันสัมผัสกับธรรมชาติให้มากขึ้น เหมือนกับนอนในที่แคบๆ เท่ากับเล้าหมู แล้วก็ฟังยุงร้องเพลง ถ้าใครฟังยุงเป็นฟังเพลงได้ก็เรียกว่าใกล้ชิดธรรมชาติมาก มันมีแต่ด่ายุงบ้างตบยุงบ้าง มันไม่ใช่ว่ารู้สึกว่ายุงมาร้องเพลงให้ฟัง เดี๋ยวนี้เราไม่ต้องใช้มุ้ง ถ้ามียุงมาร้องอยู่ข้างหู สามารถทำจิตใจให้มันเปลี่ยนจากร้ายกลายเป็นดี ว่ายุงมันมาร้องเพลงให้ฟัง ว่าเราเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน มีชีวิตอยู่ด้วยกัน อย่างนี้ก็ดี เพราะว่าเราได้ยินแต่คนด่ายุงตบยุง ตามความรู้สึกโกรธแค้น ยุงมันสอนให้อดทนก็รับคำสั่งสอนมันบ้าง มันเป็นธรรมชาติเหมือนกัน มันสอนให้รู้จักธรรมชาติ และความเป็นพระมันก็จะมากขึ้น นี่ถ้าคุณทำให้ยุงกลายเป็นผู้มาร้องเพลงให้ฟังได้อย่างนี้ ไอ้ความเป็นพระของคุณก็จะมีมากขึ้น ถ้าคุณไปโกรธมันตบมัน ไอ้ความเป็นพระของคุณก็จะไม่มีเหลือ นี่เราก็ควรจะขอบใจมันนะที่มาช่วยส่งเสริมให้มีความเป็นพระมากขึ้น นี่เป็นตัวอย่างที่ว่า เมื่อมาอยู่กับธรรมชาติ เมื่อมาอยู่ในที่ๆทำให้ใกล้ชิดธรรมชาติอย่างที่นี่ เราก็มีโอกาสที่จะศึกษาทุกสิ่งทุกอย่างจากธรรมชาติโดยตรง นี่ผมก็พูดได้เท่านี้ คุณจะเอาหรือไม่เอา จะชอบหรือไม่ชอบ ก็ๆ ผมช่วยไม่ได้ ผมทำในส่วนนั้นไม่ได้ ทำได้แต่เพียงว่า จัดสถานที่นี้ไว้สำหรับผู้มาอยู่จะได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติที่สุด ถึงกับเป็นเกลอกับธรรมชาติ แล้วธรรมชาติมันจะสอนๆๆจนไอ้คนนั้นมันรู้จักตัวธรรมชาติ รู้จักกฎของธรรมชาติ รู้จักหน้าที่ของมนุษย์ตามกฎของธรรมชาติ ได้รับผลจากการทำหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ นี่คือเรื่องที่ผมเห็นว่ามันดีที่สุด มีค่าที่สุด จึงได้จัดสถานที่นี้ไปในลักษณะอย่างนี้
แล้วคุณก็รู้จักใช้มันให้เป็นประโยชน์ รู้จักใช้สถานที่ที่เขาจัดไว้แล้วในลักษณะอย่างนี้ให้มันเป็นประโยชน์ให้มากที่สุด ผมว่ามันจะคุ้มค่าและได้ผลเกิดคาด ที่ได้เสียสละมาบวช อย่างน้อยก็ต้องลงทุนซื้อผ้าเหลืองนี่เอามาบวช และต้องอดทนอีกหลายๆอย่างจนได้บวช และจะได้ประโยชน์อะไรคุ้มค่ากัน ผมก็ยืนยันแต่เพียงว่า คุณจะต้องหาโอกาสศึกษาธรรมะจากต้นตอของธรรมะ คือ ตัวธรรมชาตินั้น ให้รู้จักธรรมชาติโดยสมบูรณ์ ว่าตัวธรรมชาติทั้งหลายเป็นอย่างไร กฎธรรมชาติทั้งหลายเป็นอย่างไร หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องทำนั้นเป็นอย่างไร และได้ผลอะไรมา จะได้ผลเป็นอะไรมา นี่มันเล็งถึงมรรคผลนิพพาน ถ้าเราทำได้เต็มตามความมุ่งหมายอันนี้แล้ว ผลที่ได้มาคือมรรคผลนิพพาน หรือถ้าจะอยู่อย่างฆราวาส เป็นชาวบ้าน ก็จะเป็นชาวบ้านที่มีจิตใจดี สูงกว่าชาวบ้านธรรมดา คือเขาจะมีใจคอปกติไม่กระวนกระวาย มีความเย็นฉ่ำในจิตใจ ทำการงานสนุก เป็นประโยชน์ตนเป็นประโยชน์ผู้อื่น เป็นความก้าวหน้าอยู่ในการงาน เพราะอำนาจของธรรมะอันแท้จริง ที่เขาได้รู้จัก รู้สึกมัน
คุณอาจจะอยากทราบอย่างรวบรัดที่สุดว่ามันจะได้ประโยชน์อะไรจากพระพุทธศาสนาสำหรับฆราวาส ไม่พูดถึงนักบวช เพราะคนทั่วไปในโลกนี้เป็นมันเป็นฆราวาส ฆราวาสจะได้รับประโยชน์อะไรจากพุทธศาสนา ผมก็ตอบสั้นๆ อย่างที่ว่า คือว่า ถ้าเขามีพุทธศาสนาจริง เขาจะมีชีวิตในแบบชนิดที่มัน ไม่มีความกระวนกระวาย ระส่ำระสาย อยู่อย่างเยือกเย็น สงบเย็น และเป็นสุข สนุกสนานในการทำงานเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน คุณไปดูเอาเองก็แล้วกันว่า คนทั่วไป รวมทั้งคุณเองด้วย ทำการงานอยู่ด้วยความสนุกไหม ทำงานอาชีพใดอาชีพหนึ่งอยู่ด้วยความสนุกสนานไหม หรือมันอยากจะให้ชั่วโมงทำงานหยุดลงเร็วๆ เลิกงานแล้วไปเที่ยว จะได้สนุกสนาน ใครบ้างมันสนุกสนานอยู่ในตัวการทำการงาน ที่ออฟฟิต ก็ดี ที่โรงเรียนก็ดี ที่มหาวิทยาลัยก็ดี แม้การงานของเด็กๆ คือ การศึกษาในโรงเรียน ก็เรียกว่าการงาน ใครบ้างเมื่อทำการงานแล้วสนุกสนาน มีความสุขอยู่ในตัวการงาน มันมีไม่ได้ถ้าเขาไม่มีธรรมะ เพราะถ้ามีธรรมะ มีจิตใจเป็นธรรมะ โดยเฉพาะในพระพุทธศาสนา ก็รู้สึกว่าไอ้หน้าที่ตามธรรมชาติคือการปฏิบัติธรรมะ มันดีอยู่ที่นั่น ควรจะพอใจอยู่ที่นั่น และก็เป็นสุข ไม่มีความกระวนกระวาย ทำการงานสนุก เป็นประโยชน์ตนเองจนล้นไปเป็นประโยชน์ผู้อื่น ถ้าทุกคนมันอยู่กันในโลกในลักษณะอย่างนี้ ไอ้โลกนี้ก็เป็นโลกที่วิเศษที่สุด เดี๋ยวนี้มันกำลังเป็นโลกที่บ้าบอ เลวร้ายที่สุด ไม่มีใครอยากทำงาน มันอยากเลิกงานแล้วไปเที่ยว ไม่ต้องทำงานก็ดี เพราะอย่างนั้นคอรัปชั่น หรือหารวยทางลัด หรือว่าทำทุจริต อาชญากร อาชญากรรมต่างๆ เพื่อสนองความอยากอะไรของเขา
ถ้าจิตประกอบด้วยธรรมะ มันจะมีความรู้สึกพอใจในเมื่อทำงาน เพราะการทำงานนั้นคือการปฏิบัติธรรม ไม่ว่างานชนิดไหน คุณศึกษาเถอะ คุณจะพบว่ามันเป็นการปฏิบัติธรรม ครบทุกข้ออยู่ในตัวการงาน และทำให้มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น ให้ใกล้ไอ้จุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์มากขึ้น เขาจึงพอใจ ไม่คิดว่าต่อได้เงินเดือนมากจึงจะ จึงจะสนุก หรือจึงจะพอใจ แล้วมันก็เหลวทั้งเพ ยิ่งได้เงินเดือนมากมันก็ยิ่งบ้ามากขึ้น เพราะว่ามันยิ่งมีความกระวนกระวายมากขึ้น อย่างนั้นคำพูดที่สำคัญ ที่จะทำให้คุณเข้าใจพุทธศาสนา ได้ง่ายขึ้นมันมีอยู่ ซึ่งๆอยากจะบอกให้ และก็ให้จำไว้ให้ดีว่า ความกระวนกระวาย ธรรมะมันช่วยให้ไม่มีความกระวนกระวาย ความกระวนกระวายคุณก็พอจะฟังออกว่ามันไม่ใช่ความหยุด มันไม่ใช่ความสงบ มันไม่ใช่อิสรภาพ เสรีภาพ เพราะมันมีอะไรมาทำให้ดิ้นรนกระวนกระวาย ไม่มีความสะอาด ไม่มีความสว่าง ไม่มีความสงบ ไม่มีความสุข มันมีความกระวนกระวาน ความรักคือกามารมณ์ มันก็ทำให้กระวนกระวายไปแบบหนึ่ง โตขนาดนี้แล้ว คงรู้จักมันดีว่า กามารมณ์หรือความรักมันทำให้กระวนกระวายอย่างไร และการขาดกามารมณ์หรือความรักมันทำให้กระวนกระวายอย่างไร ความโกรธ ความเกลียด มันทำให้กระวนกระวายอย่างไร ความอิจฉา ริษยา มันทำให้กระวนกระวายอย่างไร ความกลัว ความสงสัย มันทำให้กระวนกระวายอย่างไร แล้วเราก็เต็มกันอยู่ด้วยความรู้สึกเหล่านี้ใช่ไหม บางทีก็มีความรัก บางทีก็มีความโกรธ บางทีก็มีความเกลียด ความกลัว ความอิจฉา ริษยา ความสงสัย คุณก็เล่าเรียนมาด้วยความกระวนกระวาย อยากให้มันสอบไล่ได้ แม้เดี๋ยวนี้ก็กระวนกระวายว่าเมื่อไร มันจะจบการศึกษาออกไปหาเงินได้มากๆ แล้วก็จะหัวหกก้นขวิดกันให้สนุก บวชแล้วก็ยังกระวนกระวายถ้าคุณคิดอย่างนี้ เพราะคุณบวชระหว่างปิดภาคเรียน แล้วก็เรียนยังไม่เสร็จ คุณต้องการให้มันเสร็จ ให้มันเรียนได้ๆแล้ว ก็จะไปทำงานได้เงินมากอย่างนี้ มันก็เป็นความกระวนกระวายอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งบวชแล้วมันก็ยังกระวนกระวาย จะทำอย่างไรให้จิตมันหยุดความกระวนกระวายโดยประการทั้งปวง นี่คือธรรมะล่ะ จะพูดให้มันลืมยากสักหน่อย เพราะว่าเมื่อประสบความสำเร็จมันก็กระวนกระวาย เมื่อไม่ประสบความสำเร็จมันก็กระวนกระวาย คุณประสบความสำเร็จได้ปริญญาก็ยังกระวนกระวาย หรือหาเงินเดือนมากๆ ก็ยังกระวนกระวาย ได้เงินเดือนมากๆ มาบำรุงบำเรอเนื้อหนังอยู่ มันก็กระวนกระวาย ที่เรียกว่าประสบความสำเร็จมันก็กระวนกระวาย ไม่ประสบความสำเร็จมันก็กระวนกระวาย พระพุทธเจ้าท่านประสงค์จะหยุดความกระวนกระวายเหล่านี้ทั้งหมด ท่านจึงได้ตรัสหลักธรรมะในพระพุทธศาสนาเพื่อความเป็นอย่างนั้น เมื่อผู้ใดปฏิบัติได้แล้ว มันก็จะไม่มีความกระวนกระวายโดยประการทั้งปวง ทางกายก็ไม่กระวนกระวาย ทางจิตก็ไม่กระวนกระวาย ทางวิญญาณก็ไม่กระวนกระวาย นี่ผลของพุทธศาสนามันมีอย่างนี้ และมันมีเท่านี้ คุณอาจจะไม่ชอบก็ได้ มันไม่มีใครช่วยได้ถ้าคุณไม่ชอบ แต่มันไม่มีอะไรดีกว่านี้ มันไม่มีอะไรมากกว่านี้ พุทธศาสนาจะให้ได้เพียงอย่างนี้
ไม่มีความกระวนกระวายโดยประการทั้งปวง ก็คือเป็นพระอรหันต์ ที่เราจะอาจเอื้อมถึงขนาดนั้นหรือไม่มันอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าจุดหมายปลายทางมันมีอย่างนั้น หรือว่าเราเอาแต่เพียงว่า เป็นฆราวาสที่ไม่มีความกระวนกระวายตามแบบของฆราวาสก็พอแล้ว ก็มากถมไปแล้ว ไม่ต้องถึงกับว่าเป็นพระอรหันต์แล้วไม่มีความกระวนกระวายโดยประการทั้งปวง แต่เรื่องของมันเป็นอย่างนั้น จุดจบมันไปอยู่ที่ไม่มีความกระวนกระวายโดยประการทั้งปวง เดี๋ยวนี้เรามีความกระวนกระวายอะไรอยู่ ก็รู้จักมันเสียสิ สมประสงค์ก็กระวนกระวาย ไม่สมประสงค์ก็กระวนกระวาย แต่คนโง่มันฟังไม่ถูกนะ เมื่อได้สมประสงค์แห่งความรัก กามารมณ์มันว่าหยุดความกระวนกระวาย เพราะมันไม่รู้จักไอ้ความกระวนกระวายอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดมาจากความรัก ความหึงหวง ความอะไรต่างๆ ความวิตกกังวล เดี๋ยวนี้ในประเทศเราโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มันฆ่ากันตายเพราะเรื่องของความรัก ด้วยเรื่องของกามารมณ์ อย่างเลวร้าย เลวทราม ยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉานนะ เมื่อก่อนไม่เคยมี เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว การที่ฆ่าฟันกันด้วยมูลเหตุแห่งความรักเหมือนเดี๋ยวนี้ไม่มี ถ้าใครมาเป็นชู้กับเมียเขา เขาก็ยกให้เลย มันไม่ต้องไปฆ่าเขา เดี๋ยวนี้ไม่ต้องถึงอย่างนั้นนะ มันก็ไปฆ่าเขาแล้ว แล้วมันยังละโมบโลภลาภ ข่มขืน ข่มขืนแล้วฆ่า ฆ่าก่อนข่มขืน นี่มันถึงขนาดอย่างยิ่งนะฆ่าก่อนข่มขืน เพราะว่าจิตมันกระวนกระวายเหลือที่จะระงับไว้ได้ ขอให้จำไว้สักนิดเดียวว่า ประสบความสำเร็จมันก็ยังกระวนกระวาย มันเป็นคนโง่ประสบความสำเร็จ ถ้าเป็นคนฉลาดประสบความสำเร็จไม่กระวนกระวาย อันเมื่อจะได้ก็ดี เมื่อจะไม่ได้ก็ดี ให้อย่าให้มันกระวนกระวาย ผมใช้คำว่าจิตว่าง คนเขาฟังไม่ถูก เขาก็หัวเราะ เขาโห่อะไรกันไปตามเรื่องของเขา จิตว่างหรือว่าจิตอิสระ จิตหยุด จิตเย็น จิตเกลี้ยง จิตพ้น นี่มันไม่มีกระวนกระวาย ได้อย่างอกอย่างใจ ก็ไม่กระวนกระวาย ไม่ได้ก็ไม่กระวนกระวาย อร่อยก็ไม่กระวนกระวาย ไม่อร่อยก็ไม่กระวนกระวาย มันปกติ ธรรมะมันก็เป็นอย่างนั้น จะเอาหรือไม่เอาก็ตามใจ
ที่นี่เรามาหัดความเป็นอย่างนี้โดยตรงและโดยเร็ว โดยการบวช ก็ลองดู กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู นอนในเล้าหมู ฟังยุงร้องเพลงไปก่อน มันเป็นบทเรียนสำหรับหยุดความกระวนกระวาย เรามีการจัดระบบการเป็นอยู่อย่างนี้ อย่างสวนโมกข์อย่างนี้ นี่บอกให้ฟัง แต่บอกให้ฟังให้หมดเรื่องก็ได้ คือว่าสวนโมกข์นี้ มันจัดขึ้นมาเพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้ที่จะปฏิบัติ ไม่ได้จัดขึ้นเพื่อสอนใคร สั่งสอนใคร จัดขึ้นเพื่อให้คนที่เขาเล่าเรียนมาแล้ว ก็มาอยู่เพื่อปฏิบัติ อย่างนั้นในครั้งแรกจึงรับเอาไว้แต่ผู้ที่เป็นนักธรรมเอก หรือเป็นมหาเปรียญทั้งนั้นที่มาอยู่ในสวนโมกข์ เพราะว่ามันไม่สอนกัน ให้ผู้ที่เรียนมาแล้วมาปฏิบัติ นี่ผู้จัดก็จัดเพียงให้ความสะดวกแก่ผู้ที่จะปฏิบัติ นั้นจึงจัดให้มีการกินการอยู่การอะไรอย่างนี้เรียกว่า สวนโมกข์ ไม่ใช่เป็นวิทยาลัย มหาวิทยาลัย สอนปรัชญา สอนอะไร อย่าเข้าใจผิด ตั้งใจจะส่งเสริมผู้อยากจะปฏิบัติให้ง่าย ให้เร็ว ให้สะดวก ผู้ที่อยากจะลอง ตอนหลังนี้ก็ ก็เปลี่ยนไปบ้าง ไอ้หลักการอันนั้นมันเลยไม่ได้ยกเลิก แต่มีข้อแม้ว่า บ้างว่า บางคนแม้จะไม่ได้เป็นนักธรรมเอก ไม่ได้เป็นเปรียญ ถ้ามีเหตุผลสมควร ก็มาลองดูได้ อย่างพวกคุณที่บวชระหว่างปิดภาคนี่ ไม่ได้อยู่ในหลักเกณฑ์อันนั้น แต่ว่าเปิดโอกาสมาลองดูได้ ได้ใช้วิชาความรู้ที่ได้รวบรวมมาจากหนังสือหนังหาตำรับตำรา หรือคำบรรยายต่างๆ ที่ได้บรรยายไว้ก่อนๆนี้ เป็นต้นทุน เป็นเดิมพัน เอามาสำหรับลองปฏิบัติดู นี้การเป็นอยู่ที่นี่จัดกันในทางส่งเสริมอย่างนั้น ถ้าคุณต้องการประโยชน์อันนี้ก็ต้องทำตนให้เข้ารูป กันกับหลักการอันนี้ คือหลักการที่ว่ามาอยู่อย่างใกล้ชิด เป็นเกลอกับธรรมชาติ ให้สัมผัสธรรมชาติและให้ธรรมชาติมันสอน กระทั่งว่าฟังยุงร้องเพลง นี่ผมพูดด้วยเจตนาดีกับพวกคุณทุกคน เพื่อว่าให้เวลาของคุณมีประโยชน์ ให้ใช้มันเป็นประโยชน์ให้มากที่สุด ไหนๆ ก็ออกมาบวชเพื่อจะศึกษาไอ้เรื่องของธรรมะโดยเร็ว ก็ให้มันเร็วก็แล้วกัน อย่าให้มันอืดอาดอยู่ ให้รู้ความหมายของคำว่าบวชโดยถูกต้อง ให้บวชเพื่อให้มันเบา
ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านจะตรัสคำนี้ไว้โดยอุปมาว่า บรรพชานี่ มันเป็น การเป็นอยู่ที่ๆโล่ง ที่ไม่ติดขัดอะไร เหมือนกับนก มีปีกมันก็บินไปได้ มันอิสระ มันแคล่วคล่องว่องไว นี่การบวชก็จะพยายามทำให้มีชีวิตเหมือนกับนกที่มันเบา มันไม่มีบ้านไม่มีเรือน มันมีภาระ แต่ปีก แล้วจะบินไป เรียกว่าปีกเป็นภาระนี้มันก็น่าขันอยู่เต็มทีแล้ว ปีกก็จะบินไป เป็นสมบัติของมัน นี่เรามาบวชเพื่อจะให้ชิมชีวิตแบบนั้นดูบ้าง เพื่อความก้าวหน้าตามทางของพระศาสนา ที่ว่าเดินๆก้าวหน้าตามทางของพระศาสนานี่ มันต้องการชีวิตที่มันเบา ที่อิสระ ชีวิตที่มันไม่ผูกพัน ฉะนั้นคุณจงพยายามทำให้ชีวิตของคุณไม่มีการผูกพันตลอดเวลาที่บวชอยู่นี้ จะเดือนหนึ่ง หรือเดือนครึ่งหรือสองเดือนก็ตามใจ จงพยายามปรับปรุงให้เป็นชีวิตที่ปราศจากการผูกพันให้มาก อย่ามาสร้างความผูกพันโง่ๆ เขลาๆอะไรขึ้นมาที่นี่อีก ไม่ได้อย่างนั้นไม่ได้อย่างนี้ ไม่ชอบใจคนนั้นไม่ชอบใจคนนี้ อย่างนี้คือเป็นเรื่องหลงใหลที่สุดเลย คือไม่ยอมสลัดสิ่งผูกพัน แล้วกลับมาสร้างไอ้ความผูกพันอะไรขึ้นมาอีก จนกระทั่งว่าเป็นพระเป็นเณรก็ยังทะเลาะวิวาทกัน คิดดู มันๆๆต้องไม่เป็นอย่างนั้น มันต้องไม่มีอะไรผูกพัน มันต้องเกลี้ยง จนทะเลาะกับใครไม่ได้ รักใครก็ไม่ได้ โกรธใครก็ไม่ได้ มันจึงจะได้ ไปรัก ไปโกรธ คือไปยินดียินร้ายกันแล้วมันเรื่องผิด เป็นเรื่องที่ผิด เป็นเรื่องที่เข้าไปผูกพันด้วยอำนาจของกิเลส แต่ถ้าว่ามันได้เกิดขึ้น ในเมื่อมันเอาไว้ไม่อยู่ก็ให้ถือโอกาสให้มันเป็นการศึกษาไปด้วย อย่ามาเสียเวลาเปล่า ทำผิดก็ให้เป็นครู ทำถูกก็ให้เป็นครู แต่ว่าทำผิดนี่เป็นครูมากกว่า ทำถูกไม่ค่อยเป็นครู มันเตลิดเปิดเปิงไปไหนก็ไม่รู้ ดีใจลิงโลดไปเสีย แต่ถ้าทำผิดมันเจ็บปวด แต่ถ้าไปโกรธมันเสีย มันก็จะไม่เป็นครูอีกเหมือนกัน มันต้องรู้จักศึกษาไอ้ความผิดนั้นให้กระจ่างออกมา แล้วความผิดก็จะเป็นครูที่ดีกว่าความถูกเสียอีก พูดให้ชัดก็ว่า ไอ้ความทุกข์นั้นมันสอนดีกว่าความสุข ความสุขไม่ค่อยสอนใคร มีแต่ทำให้โง่ ให้หลงไป ไอ้ความทุกข์นี่สอนดีที่สุด สอนเจ็บปวดจริง แต่ว่าสอนดีที่สุด สอนชัดเจน สอนตรงจุดของเรื่อง ฉะนั้นถ้าเรามีความทุกข์เราก็รับเอาเป็นครูให้มันสอน อย่าไปหวังความสุข สนุกสนานอะไร ซึ่งมันไม่สอน ทำได้อย่างใจ เอร็ดอร่อยนี้มันไม่สอนใคร ความที่มันไม่ได้อย่างใจนะสอนดี ฉะนั้นเมื่อมาอยู่กับธรรมชาติมันเป็นไปตามธรรมชาติ มันคงไม่ตรงใจเราไปเสียหมด เรียกว่ามันไม่ได้อย่างใจเราไปเสียหมด แต่มันก็สอน และมันก็สอนอย่างนั้น เพราะธรรมชาติที่แท้มันก็เป็นอย่างนั้น
และวันนี้ผม ก็ไม่พูดอะไรมากแล้ว อยากจะบอกแล้วว่าตั้งใจจะพูด เพียงว่าให้คุณได้ทราบเรื่องที่ควรจะทราบในอันดับแรก ว่าจะใช้ประโยชน์จากการบวชชั่วคราวมาอยู่ที่นี่นี้ ให้มันเป็นประโยชน์มากที่สุดได้อย่างไร ขอให้ช่วยจดจำเอาไปและทำให้มันเป็นประโยชน์ เรื่องอื่นๆ อย่าไปรู้ไปชี้ หลับหูหลับตาเสียก็แล้วกัน รู้ชี้เพียงแต่เรื่องว่าจะทำอย่างไรให้มันเข้าถึงตัวธรรมะ ในวิธีที่พระพุทธเจ้าท่านทรงประสงค์ พระพุทธเจ้าไม่ได้ประสงค์ให้เราเรียนรู้พุทธศาสนาเก่งกล้าสามารถเป็น Professor ไปสอนศาสนาเอาเงินเดือนแพงๆ ท่านไม่ได้ประสงค์อย่างนั้น และมันไม่เป็นการดับทุกข์ให้แก่ใครด้วย มันเป็นคนธรรมดารับจ้างหาแล้วเอาเงินมาใช้สอยเท่านั้นเอง แต่เราจะเรียนพุทธศาสนาในฐานะเป็นสิ่งที่ว่า เมื่อชีวิตมันจะต้องการความเป็นอิสระ สงบเย็นแล้วก็ ต้องรู้ธรรมะ เรื่องความทุกข์ เรื่องการดับไม่เหลือแห่งความทุกข์ตามวิธีของพระพุทธเจ้า วิชา ความรู้อันใหญ่หลวง อันประเสริฐที่สุดนี้ ตั้งต้น ก. ข. ก. กากันตรงที่เรียนให้รู้จักตา หู จมูก ลิ้น กายใจ นี้เท่านั้นล่ะคุณจะรู้จักความทุกข์ นรก อบายทั้งหลาย มันก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สวรรค์ วิมาน มันก็อยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทั่งพระนิพพานในที่สุด มันก็อยู่ที่ความถูกต้องของการกระทำด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วไม่ต้องเรียนอะไรมาก นอกจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันมีความลับของมันอย่างไร มีความจริงของมันอย่างไร และเราจะต้องปฏิบัติอย่างไร ถ้าจะอ่านหนังสือเรื่องนี้ ก็อ่านให้ได้ใจความตรงนี้ แล้วคุณก็ไปประพฤติปฏิบัติเอง ผมเห็นว่าเวลามันก็สมควรแล้ว ขอยุติการพูดจาวันนี้ไว้เพียงเท่านี้