แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมและสนใจในการทำบุญอายุประเภทล้ออายุทั้งหลาย การบรรยายในวันนี้ตามปกติเป็นการบรรยายชนิดที่เรียกว่า บรรยายวันเสาร์ แต่เผอิญมาพ้องกันกับวันที่กำหนดไว้เป็นวันสำหรับทำบุญชนิดล้ออายุ จึงต้องเอามารวมกันไม่ให้เสียหลักการที่ว่าเป็นการบรรยายในวันเสาร์ด้วยและเป็นการทำบุญล้ออายุด้วย การบรรยายในภาควิสาขบูชานี้พูดกันมาโดยหัวข้อว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นอะไรเรื่อยๆ มา วันนี้ถ้าเป็นวันเสาร์ธรรมดาก็จะบรรยายเรื่องอะไรเป็นอะไร ถึงอย่างนั้นก็ยังยึดถือหลักอันนี้ว่า วันนี้จะบรรยายเรื่องอะไรเป็นอะไร แต่จะบรรยายโดยหัวข้อที่ว่าหัวใจของพระพุทธศาสนาคืออะไร ก็จะเข้าชุดด้วยกันได้
วันนี้เป็นวันบำเพ็ญบุญหรือกุศลหรืออะไรก็แล้วแต่จะเรียก สำหรับอาตมาเรียกว่า ทำบุญเนื่องด้วยอายุ แต่มันก็มีหลายรูปแบบ อย่างน้อยก็มีสัก ๓ รูปแบบตามที่ได้เห็นมา ทำบุญเนื่องด้วยอายุนั้นทำบุญอย่างที่เรียกว่า ต่ออายุ ก็มีซึ่งทำกันโดยมาก หรือทำบุญอย่างที่เรียกว่าทำไปอย่างนั้นเองให้มันแล้วๆ ไปไม่มีความหมายอะไรนอกจากทำบุญเนื่องในคราวที่อายุมันครบอย่างนี้ก็มี แต่อาตมาทำบุญในลักษณะที่เรียกว่า เป็นการล้ออายุ ในเมื่ออายุครบรอบปี บางคนไม่เข้าใจก็งงๆ กันอยู่ เดี๋ยวนี้ก็ค่อยมีผู้เข้าใจมากขึ้นว่า ทำบุญล้ออายุนี้คือทำอะไร ทำอย่างไร แล้วท่านทั้งหลายก็ได้มาร่วมในการทำ บางคนก็กล้าหาญถึงกับร่วมทำอย่างเดียวกันก็มี คือ การล้ออายุ อาตมาก็ต้องการอย่างนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนที่มาที่นี่รู้จักบำเพ็ญบุญในลักษณะที่เป็นการล้ออายุ ข้อนี้มันจะดีอย่างไร เดี๋ยวก็จะเล่าให้ฟัง
ในตอนแรกนี้อยากจะปรารภถึงข้อที่ว่า ท่านทั้งหลายมาด้วยความยากลำบาก มาจากที่ไกล เปลืองทรัพย์ เปลืองเวลา ถ้าไม่ได้ประโยชน์อะไรคุ้มกัน มันก็ต้องถือว่า เป็นความผิด เป็นความเสียหาย เป็นบาปและมันก็จะตกอยู่ที่อาตมาด้วย เพราะว่าทำให้ท่านทั้งหลายมาเสียเวลาแล้วก็ไม่คุ้มกัน เรื่องนี้ได้พูดอยู่เสมอๆ หลายครั้งหรือหลายสิบครั้งแล้วก็ได้ว่า เป็นพุทธบริษัทต้องทำอะไรชนิดที่เป็นการคุ้มค่าของเวลา คุ้มค่าของทรัพย์สินที่ลงทุนไป ถ้าไม่อย่างนั้นจะไม่ชื่อว่า เป็นพุทธบริษัท หรือจะเป็นพุทธบริษัทก็เป็นพุทธบริษัทที่ยังเลวมาก ไม่ถึงขนาดของพุทธบริษัท ถ้าท่านทำอะไรไม่คุ้มค่าของเวลาเรี่ยวแรงเงินทองที่ลงทุนไปก็ไม่เป็นพุทธบริษัท ซึ่งเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คนที่ทำอะไรแล้วไม่ได้ผลคุ้มค่าของเวลานั้นไม่อาจจะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานได้ เพราะว่าเป็นคนที่ไม่รู้อะไรแล้วก็ต้องซบเซาไป ไม่สามารถจะเบิกบานได้ จึงต้องทำอะไรให้คุ้มค่าของเวลา ของทรัพย์สมบัติ ของสิ่งต่างๆ ที่ต้องลงทุนไป ถ้าทำไม่ได้ตามนั้น มันก็ควรจะถูกล้อหรือถูกด่า วันนี้เราควรจะนึกถึงเรื่องนี้ มาล้อเรื่องนี้เป็นพิเศษ ถ้าพูดเป็นหลักทั่วๆ ไปก็ต้องพูดว่า ชีวิตนี้ได้มาแล้ว ได้ใช้ประโยชน์อะไรให้มันคุ้มค่าบ้าง ถ้าใช้ชีวิตนี้เป็นประโยชน์ไม่คุ้มค่า นั่นคือ เป็นผู้มีความผิดในข้อนี้ คือทำอะไรไม่ได้ผลคุ้มค่า ขอท่านทั้งหลายลองพิจารณาดูให้ดี เมื่อสักครู่พูดว่า ถ้าได้ผลไม่คุ้มค่า บาปมันตกอยู่ที่อาตมา นี่ขอรับเอาอย่างชื่นตาว่า เป็นต้นเหตุให้ท่านทั้งหลายมาแล้วได้ผลไม่คุ้มค่าของการมา บาปตกอยู่ที่อาตมา คือ จะถูกยมบาลเล่นงานเอา นี้เป็นคำพูดที่พูดอยู่เสมอว่า ใครทำอะไรไม่คุ้มค่าของเวลาก็จะถูกยมบาลเล่นงานเอา ไม่ว่าเป็นพระ เป็นเณร หรือเป็นอุบาสก อุบาสิกา ขอให้ระวังกันเป็นอย่างมาก ถ้าทำอะไรต้องคุ้มค่าของเวลา คุ้มค่าของทุนรอนที่ได้ลงไป เดี๋ยวนี้เรามีชีวิตเป็นเดิมพัน เป็นต้นทุนสำหรับลงไป มันได้อะไรคุ้มค่า นี่ขอให้คิดนึก อาตมามีความตั้งใจที่จะทำอะไรให้ได้ผลคุ้มค่าหรือเกินค่าเสมอ ตามปกติทั่วไป ทายก ทายิกาทั้งหลายบริจาคทรัพย์สร้างวัดวาอาราม สร้างนั่นสร้างนี่ สร้างโบสถ์วิหารพระเจดีย์อะไรก็ตาม ถ้ามันไม่ได้ผลคุ้มค่า ยมบาลก็จะเล่นงานเอา ไม่ยกเว้นว่าจะเป็นท่านสมภารผู้ชักชวน หรือเป็นทายกทายิกาผู้ร่วมมือร่วมบริจาค ถ้าวัดนี้มันสร้างขึ้นมาแล้วได้ผลไม่คุ้มค่าของเงินที่ลงทุนไปก็ต้องถือว่าบกพร่องเหลวไหลผิดพลาด ยมบาลจะต้องเล่นงานเอา อาตมาถือเป็นหลักอย่างนี้มาเสมอ และยังจะอธิษฐานยืดยาวไว้ด้วยว่า จะทำอะไรให้มีผลคุ้มค่าอย่างนี้เรื่อยๆ ไปจนกว่าอายุจะครบร้อยปี แล้วก็จะลาสึกไปแต่งงานกับลูกสาวของยมบาลคนที่สวยที่สุด พูดอย่างนี้ท่านเข้าใจหรือไม่เข้าใจตามใจ ถ้าไม่เข้าใจก็ต้องล้อต่อกันไปอีก ถึงท่านทั้งหลายก็เหมือนกัน ถ้าได้ทำอะไรคุ้มค่าเรื่อยไปๆ จนอายุครบร้อยปีแล้วก็ไปแต่งงานกับลูกสาวของยมบาลที่สวยที่สุด
เดี๋ยวนี้พอออกชื่อว่ายมบาล ท่านก็สั่นหัวเสียแล้ว ถ้ายังคิดว่ายมบาลเป็นเพียงสัปเหร่อนี้ก็คนโง่มาก ไม่เป็นพุทธบริษัทเลย ยมบาลนี้เป็นคนที่น่าเคารพนับถือ เป็นพระเจ้าชนิดหนึ่ง เป็นผู้ยึดมั่นในความดี ทำหน้าที่เพื่อพิทักษ์ความถูกต้องเกี่ยวกับความดีของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ไม่เคยเหลวไหล ไม่เคยโกหกใคร ไม่เคยบกพร่องในหน้าที่ มีอำนาจ มีสติปัญญา เราจะเห็นได้ว่า รูปของยมบาลในระดับพญายม คือ หัวหน้ายมบาลนั้น เขาเขียนตาดวงที่สามไว้ตรงระหว่างตรงกึ่งกลางของหน้าผาก นี่เรียกว่า ตาที่สาม รูปพระพุทธเจ้าก็ดี รูปพระโพธิสัตว์ก็ดี เมื่อเขาทำถูกต้องแล้วเขาก็จะมีตาที่สามอยู่ตรงศูนย์กลาง เหมือนกับอุณาโลมหรืออะไรก็แล้วแต่จะเรียก ตาที่สามนี้ หมายถึง ตาปัญญาชนิดที่ใครหลอกไม่ได้ ชนิดที่รู้อะไรทุกสิ่ง ยมบาลก็มีตาที่สาม ดูรูปยมบาลที่เขาเขียนไว้อย่างถูกต้อง คือ มีปัญญาชนิดที่ใครหลอกไม่ได้
เพราะฉะนั้นใครที่คิดทำความชั่วแล้วจะไปหลอกยมบาลอย่างนี้ มันเป็นไปไม่ได้ ความดีที่คนทำมียมบาลเป็นผู้รับรู้ ถ้าทำชั่วก็จะจัดการลงโทษ ถ้าทำดีก็ส่งเสริมให้ได้รับผลของความดี นี่เมื่อกล่าวโดยภาษาคนเป็นอย่างนี้ ถ้ากล่าวโดยภาษาธรรมจะเป็นอย่างไร จะเป็นอะไร ถ้ากล่าวโดยภาษาธรรม ก็คือ กฎเกณฑ์อันหนึ่งซึ่งตายตัวมากว่า ทำดีจะได้อะไร ทำชั่วจะได้อะไร แล้วถ้าทำดีจะต้องได้รับผลสมหรือตรงหรือยุติธรรมตามที่ได้ทำเสมอ หน้าที่นี้มันเป็นหน้าที่ของยมบาล
ฉะนั้นทุกคนทำความดีเรื่อยๆ ไปจนถึงระดับสูงสุดแล้วจะได้รับอะไร ถ้าได้รับอะไรเป็นที่พอใจสูงสุด นี้เราจะเรียกว่าได้แต่งงานกับลูกสาวของยมบาลคนที่สวยที่สุด เพราะมันได้รับผลของความดีมากที่สุด ถ้าดีเราต้องเรียกว่า สวย ถ้าไม่ดีเราต้องเรียกว่า สกปรกหรือไม่สวย
ขอให้ทุกคนได้รับผลของความดีหรือความสวยงามที่สุดในวาระสุดท้ายด้วยกันจงทุกคน ถ้าใครไม่ได้รับมันก็เสียทีที่เกิดมา แล้วจะถูกยมบาลจับใส่ลงไปในหม้อในนรกที่ลงเป็นการลงโทษ ขอให้ทุกคนระวังให้ดี เมื่อทำอะไรคุ้มค่าของเงินและเวลาไม่ถูกยมบาลจับใส่หม้อนรก แล้วก็จะให้แต่งงานกับลูกสาวที่สวยที่สุดด้วย เมื่อพูดกันถึงความดี ไม่พูดถึงเหนือความดี แต่พูดถึงความดี แล้วก็มันก็มีจุดสูงสุดเหมือนกัน ซึ่งกฎเกณฑ์เรื่องนี้จะอำนวยให้ พูดอย่างบุคลาธิษฐานในภาษาคนก็อย่างอาตมาว่า ให้ได้แต่งงานกับลูกสาวของยมบาลคนที่สวยที่สุดนั่นเอง
สรุปความว่าทำอะไรขอให้มีผลคุ้มค่าหรือเกินค่า คือ มันดีที่สุด อย่าให้ยมบาลเขาเล่นงานเอาได้ นี่เป็นเรื่องแรกที่จะพูด แปลว่า ท่านทั้งหลายก็ได้มาที่นี่ด้วยความยากลำบาก ตามปกติเจ้าของบ้านก็จะต้องขอโทษ แต่เดี๋ยวนี้อาตมาไม่ได้เป็นเจ้าของบ้าน ทุกคนเป็นเจ้าของบ้าน ทุกคนมีชีวิตเป็นเดิมพันสำหรับจะใช้มันให้เป็นประโยชน์ที่สุด ขอให้รับผิดชอบเอาเอง
เอาละ, ทีนี้ก็จะพูดถึงเรื่องที่จะพูดต่อไปว่า เรามาบำเพ็ญกุศลในวันนี้ เป็นไปในรูปที่เรียกว่าเป็นการล้ออายุ อาตมาเห็นประโยชน์และก็ได้ทำมาเรื่อยๆ ท่านทั้งหลายพอได้ยินได้ฟังก็อัศจรรย์หรืองุนงงในตอนแรก ตอนหลังก็มาสนใจด้วย เพราะฉะนั้นจึงขอชักชวนทุกคนที่อยู่ที่นี่ว่า ถ้าอย่างไรก็มาลองทำบุญแบบล้ออายุกันบ้างเป็นไร จะเป็นไรไป ลองหัดมาทำบุญแบบล้ออายุกันบ้าง ถ้าทำเป็นก็สนุกที่สุด เพราะมันอาจจะล้อสิ่งต่างๆ ที่เป็นกิเลสเป็นอุปสรรค เป็นศัตรู เป็นพระยามาร เป็นจอมมารชนิดไหนมาก็จะล้อให้มันหงายหลังกลับไป ล้อชนิดที่เรียกว่า แลบลิ้นหลอกเลย แต่ไม่ต้องแลบก็ได้มันน่าเกลียด แต่ว่าจะล้อถึงขนาดที่มีความหมายว่า แลบลิ้นหลอกให้มันวิ่งหนีกลับไปเลย จะเรียกว่าทำบุญล้ออายุ มันสนุก อะไรที่ควรล้อ ก็ทุกสิ่งที่มันมารวมอยู่ในคำว่า “อายุ” อายุนี้มันก็ คือ เวลาที่ผ่านไปสำหรับคนคนหนึ่งๆ ฉะนั้นมีอะไรมารวมอยู่ในนั้นมาก ล้วนแต่เป็นสิ่งที่น่าล้อ เพราะว่าอายุเอง มันก็น่าล้ออยู่แล้ว ทุกสิ่งที่มันมารวมอยู่ในอายุมันก็พลอยเป็นของที่ควรจะล้อไปด้วยกัน คนที่ล้อไม่เป็นก็เพราะว่าเขาไม่มองเห็นแง่ที่ควรล้อ แล้วก็เลยไปชอบมัน ไปรักมัน ไปยึดมั่นมันในเรื่องอายุหรือสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับอายุ ยึดมั่นเท่าไร มันก็มีความทุกข์เท่านั้น ยึดมั่นเท่าไร มันก็กัดเอาเท่านั้น อย่างที่มีบาลีว่า เวลาย่อมล่วงไปโดยการกินสรรพสัตว์และกินตัวมันเองด้วย สิ่งที่เรียกว่าเวลา คือ อายุมันเป็นอย่างนี้ มันกินสรรพสัตว์ให้สัตว์มันมีอายุล่วงไปๆ เหลือชีวิตน้อยเข้าๆ แล้วมันก็ตาย ถ้ามันตายไปอย่างคุ้มค่าของการมีชีวิตเพราะว่ามันได้รับสิ่งที่ดีที่สุดในการมีชีวิตก็รอดตัวไป ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นก็ถูกเวลากินเปล่าๆ เป็นคนที่ไร้สาระไร้คุณค่าแห่งการเกิดมา
ฉะนั้นขอให้ดูให้ดีว่า เวลานี้เป็นสิ่งที่เราควรจะล้อ เพราะว่าเราเอาชนะมันได้ เราได้ทำทุกอย่างที่ควรจะทำ เราก็สามารถที่จะล้อเวลาเล่นได้ว่า มึงไม่ได้กินกูแล้ว กูจะกินมึงแล้ว อย่างนี้ก็เรียกว่า ล้อเวลา เป็นผู้ที่ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนา เพราะสามารถกินเวลา ที่จริงคำนี้มันออกจะคุยโตไปสักหน่อย ผู้ที่กินเวลาได้ ก็คือ พระอรหันต์เท่านั้น แต่เราเป็นลูกศิษย์พระอรหันต์ ก็กิน ก็ควรจะกินเวลาบ้างตามความสามารถของเราๆ คือ ประพฤติให้มันมีประโยชน์เกินค่าของเวลา เกินค่าของทุกสิ่งที่ได้ทำไป อย่างนี้เรียกว่า กินเวลา ทำเวลาให้มีค่าเกินคาด นั้นเรียกว่า กินเวลา จนเวลาไม่มีปัญหาสำหรับเรา จนเราไม่ต้องการอะไรอีก เพราะว่าได้สิ่งสูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้รับแล้ว พระอรหันต์ท่านเป็นอย่างนั้น เขาจึงเรียกว่า ผู้กินเวลา เราเป็นลูกศิษย์ท่านก็คลานตามท่านไปในลักษณะที่จะทำอะไรให้มีผลคุ้มค่าหรือเกินค่าของสิ่งที่เรียกว่าเวลา
ฉะนั้นอะไรมันเข้ามาเกี่ยวข้องกับอายุนี้ต้องพิจารณาดูให้ดี ถ้าตกไปเป็นทาสของมันแล้วก็เรียกว่า ขาดทุนย่อยยับไม่มีอะไรเหลือ ไม่สมกับที่มาเกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา เรื่องที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับเวลา ก็คือ เรื่องที่คนเราหลงกันอยู่ทุกวัน ชี้ระบุง่ายๆ ไปยังโลกธรรมทั้ง ๘ ได้ลาภเสื่อมลาภ ได้ยศเสื่อมยศ ได้นินทาได้สรรเสริญ ได้สุขได้ทุกข์ ๔ คู่มันก็ ๘ อย่าง ได้ลาภเสื่อมลาภ ได้ลาภก็ดีใจโลดเต้น ถูกกิเลสมันเชิด ก็เสื่อมลาภมักจะนั่งกลัดกลุ้มอยู่บางทีถึงกับร้องไห้อยู่ บางทีถึงกับฆ่าตัวตาย นี่เรื่องมันไม่รู้จักเรื่องลาภ มันไม่อาจจะล้อตัวเองได้ ไม่อาจจะล้อลาภที่เข้ามาเกี่ยวข้องทำให้เกิดการได้หรือการไม่ได้ เรื่องยศก็เหมือนกันได้เกียรติยศหรือไม่ได้เกียรติยศก็ทำให้คนฟูๆ แฟบๆ ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ได้นินทาได้สรรเสริญ นี่ก็อย่างเดียวกันอีก ได้นินทาก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ได้สรรเสริญก็หลงระเริงจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร และก็ไม่ใช่ความสงบสุขด้วย
คำว่า “ได้สุขได้ทุกข์” นี้เป็นภาษาชาวบ้านเต็มที ไม่ใช่ภาษาธรรมะสูงสุดของพระอริยะเจ้า เมื่อได้ทุกข์ก็เหมือนกับตกนรก พอได้สุขก็มีความหลงใหลมัวเมา มีความหึง มีความหวง มีความอิจฉาริษยา มีความหวาดระแวง เพราะว่าโดยแท้จริงแล้วความสุขมันไม่มี มันมีแต่ความทุกข์กับความไม่ทุกข์เท่านั้น นี่ได้ทุกข์มาก็เป็นทุกข์เสีย ได้สุขมาก็เอามาเป็นทุกข์อีก ข้อนี้มันมีความลึกลับซับซ้อนอยู่ เป็นความจริงที่สำคัญมากที่ขอให้ทุกคนมองให้เห็นและจับตัวให้ได้ว่า เมื่อเรายังไม่อยาก เมื่อเรายังไม่ได้สิ่งที่เราอยากจะได้ เราก็กระวนกระวายๆ อยู่ทั้งหลับและตื่นก็ว่าได้ ก็หลับมันฝันร้ายก็เรียกว่า กระวนกระวาย เมื่อยังไม่ได้ก็กระวนกระวายเพราะมันยังไม่ได้ ครั้นได้มาแล้ว มันก็ไม่หยุดกระวนกระวาย มันกลับไปกระวนกระวาย เพราะได้ไปรักไปหวงไปหึงไปอิจฉาริษยาไปหวาดระแวง ทั้งที่ได้มาแล้ว นี่ขอให้ดูให้ดีว่า ชีวิตที่เลวที่สุดมันเป็นอย่างนี้ เมื่อยังไม่ได้อะไรก็กระวนกระวายเพราะไม่ได้ ครั้นได้มาแล้วก็กระวนกระวายเพราะมันได้มา ชีวิตของคนโง่มันเลวอย่างนี้ มันควรจะเอามาล้อให้มันละอายให้มันสูญหายไปเสียที คือ ให้คนโง่มันฉลาดขึ้น เมื่อยังไม่ได้ก็อย่ากระวนกระวาย เมื่อได้มาแล้วก็อย่ากระวนกระวาย มันก็ปกติสุข นี่เรียกว่า เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าใครยังเป็นอย่างที่เรียกว่า ปุถุชนเกินไป ไม่ได้ก็กระวนกระวาย ได้มาแล้วก็กระวนกระวาย ก็มาตั้งหน้าตั้งตาล้อมันให้หายไปในวันนี้ อาตมาชักชวนท่านทั้งหลายว่า มาเป็นผู้ล้ออายุกันดูเล่นเป็นไร ก็หมายความว่าอย่างนี้ เรื่องลาภก็ดี เรื่องยศก็ดี เรื่องสรรเสริญก็ดี เรื่องสุขอะไรๆ ก็ดี ดูให้พบความจริงข้อนี้แล้วก็จะเห็นว่า มันเป็นเรื่องน่าล้อ ไม่ใช่น่าหลง หลงนี่ยกไว้ให้คนไม่รู้อะไร คนที่รู้อะไรบ้างอย่าไปหลงแล้วก็เอามาล้อ ถ้ายังหลงอยู่มันล้อไม่ออก ถ้ามันล้อได้ก็หมายความว่ามันไม่หลง
เพราะฉะนั้นเรื่องล้อนี้มันเป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างนี้เอง จึงชวนว่า มาล้ออายุกันเล่นเถิด นับตั้งแต่ว่า วันนี้มีของขวัญให้แก่กันและกัน คือ การไม่กินอาหารเสียสักวันหนึ่ง หลายคนก็มองเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องน่าทำ เป็นเรื่องล้ออายุ หลายคนก็สั่นหัวกลัวตาย เมื่อไม่ได้กินข้าวสักวันหนึ่งแล้วมันจะต้องตาย นี่มันจริงหรือไม่จริง มันขี้ขลาดมากหรือขี้ขลาดน้อย ถ้าจะพูดตรงๆ ก็ว่า มันโง่มากหรือโง่น้อย มันพิสูจน์กันดูสักทีว่า ไม่ได้กินข้าวสักวันหนึ่งมันจะตายไหม เราถือเอาว่า เมื่อวันที่เราแรกเกิดมาในโลกนี้ เราก็ไม่ได้กินข้าวปลาอาหารอะไร บางทีนมแม่ก็ยังกินไม่เป็น มันก็ไม่เห็นตาย มันก็เป็นจุดตั้งต้นที่เจริญขึ้นมาๆ จนกินแล้วกินมาก แล้วก็อยู่อย่างที่เรียกว่า กินมาก ถ้าไม่ไปคิดดูให้ดีว่า เมื่อวันที่เราเกิดมาเราก็ไม่ได้กินอะไร วันนั้นเป็นวันที่เกลี้ยงเกลา เป็นวันที่ประหลาด เป็นวันที่ตั้งต้นมาด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ไม่หลงใหลอะไร เรื่องนี้เป็นสิ่งที่จะต้องดูให้ดี จะต้องพูดกันโดยละเอียด
อาตมานิยมบอกว่า เกิดวันนี้ คือ วันที่ ๒๗ พฤษภาคมเมื่อเวลาพระออกบิณฑบาต ถือตามเวลานั้นวันนั้น ในวันนั้นอาตมาก็มีอายุได้สามสี่ชั่วโมงแล้ว ก็เรียกว่า ได้เจริญขึ้นมาสามสี่ชั่วโมงแล้ว ข้าวก็ไม่ได้กิน อะไรก็ยังไม่รู้จะกิน น้ำก็ไม่รู้อะไร ไม่รู้จะดื่ม เพราะฉะนั้นจึงถือเอาอาการอันนี้มาเป็นเรื่องล้ออายุ วันนี้ไม่กินอาหารกัน ล้อมันเล่นว่า มันจะตายไหม ทำไมคนจึงกลัวมากถึงว่า ไม่ได้กินอาหารช้าไปสักหลายๆ ชั่วโมงก็จะเป็นลมแล้ว มันอ่อนแอหรือเข้มแข็ง ขอให้ลองคิดดูให้ดี เดี๋ยวนี้เราจะพิสูจน์ว่า ไม่กินอาหารสักหนึ่งวัน มันก็ไม่เห็นตาย ๓ วันก็ไม่ตาย ๗ วันก็ไม่ตาย ถ้ามันมีความดีชนิดที่ได้ทำไว้มากพอที่จะท้าทายยมบาลได้ มันก็อิ่มอยู่ด้วยความดี ไม่หิว มันครอบงำความหิวจนหลายๆ วันไม่กินข้าวก็ได้ ถ้าเรายอมรับเรื่องพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วท่านก็ไม่ได้ฉันอาหารตั้งหลายๆ วัน เพราะมันอิ่มอยู่ด้วยความสำเร็จในการตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เรามีอะไรดีพอที่จะให้ไม่หิวอย่างนี้ได้บ้างไหม ถ้ามันไม่มีดีอะไรสักนิดพอที่จะทำให้ไม่รู้สึกหิวอย่างนี้แล้วก็เรียกว่า มันล้มเหลวหมด มันไม่มีอะไรดีสักนิดเดียว ไม่มีอะไรดีจนเป็นปีติปราโมทย์ทำให้ไม่หิวข้าวสักวันหนึ่งก็ไม่มี ท่านทำอะไรมาตั้งปีจนถึงวันนี้เรียกว่า ครบรอบปี อย่างนับอย่างอาตมา ไม่มีอะไรดีเลยสักนิดเดียว พอที่จะทำให้ไม่หิวข้าว แม้ว่าจะเว้นเสียสักวันหนึ่ง
เพราะฉะนั้นเรื่องล้ออายุมันมีผลดีอย่างนี้ ลองๆๆ ดู จะจริงหรือไม่จริง หรือถ้าจะมองไปในอนาคตว่า เราจะฝึกฝนความอดทน ความเข้มแข็งก็ควรจะลอง ไม่กินข้าวสักวันหนึ่ง นี่มันจะเป็นอะไรไป มันจะได้ความเข้มแข็งมาสักเท่าไร ที่อ่อนแอมันก็เรื่องอย่างนี้ทั้งนั้น ทว่าอดข้าววันหนึ่งไม่ได้ มันก็ไม่มีความเข้มแข็งพอที่จะไปสืบอายุพระศาสนาหรือทำประโยชน์แก่คนทั้งโลกได้ เดี๋ยวนี้มันก็พิสูจน์ว่าเราไม่กินกันเสียสักวันหนึ่งมันจะมีอะไรเกิดขึ้น ลองสมมติ ทว่าสมมติว่ามันเป็นไปได้ เช่น วันนี้ทุกคนไม่กินอาหาร อาหารมื้อหนึ่งคิดเสียว่า สัก ๑๐ บาท พออาหารวันหนึ่งคิดเสียว่าสัก ๑๐ บาทก็พอแล้ว ทีนี้คน ๔๐ ล้านคนไม่กินอาหารวันหนึ่ง มันก็เท่ากับ ๔๐๐ ล้านบาทในพริบตาเดียวก็ประหยัดเงินได้ ๔๐๐ล้านบาทโดยไม่ต้องทำอะไรนอกจากหยุดกินข้าวเสียสักวันหนึ่ง ที่มันหยุดเสียได้ไม่ต้องเสียไปนั้นเอาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ เอาไปให้คนยากจนไม่มีอะไรจะกินก็ได้ หรือมันจะเหลืออยู่เป็นกำไรในแผ่นดินนี้ก็ได้เหมือนกัน นับว่าเป็นสิ่งที่น่าคำนวณดู เดี๋ยวนี้เรามันกินกันจนเกินๆๆ จนไม่มีปากจะกิน ไม่มีอะไรจะกิน อยากจะกินให้อิ่มๆ จนมันกินไม่ได้โน้น กินไม่ไหวโน้น ไม่มีใครคิดที่ว่าจะลดมันเสียบ้าง จะไปสู่สภาพที่ว่าตามธรรมชาติแล้วมันอยู่กันอย่างไร นี่อาตมาเห็นว่า เรื่องไม่กินอาหารกันเสียบ้างสักวันหนึ่งนี่มันเป็นเรื่องมีประโยชน์ คือ มันล้ออย่างยิ่ง มันล้อชีวิตที่เห็นแก่กิน เห็นแต่ที่จะเอร็ดอร่อย แล้วก็เห็นแต่จะกลัวตาย ถ้าใครอยากจะฝึกฝนเรื่องไม่กลัวตายเรื่องความเข้มแข็งแล้วก็ควรจะลองดู
อาตมาก็ตั้งหลักขึ้นมาว่า เราจะล้ออายุ ล้อชีวิตในลักษณะที่จะทำให้แข็งกร้าวขึ้นมา ไม่เป็นความอ่อนแออีกต่อไป ใครสนใจก็ลองดู นี่เรียกว่ามาล้อกันดูบ้างเป็นไร อะไรเข้ามาก็จะล้อให้หงายหลังกลับไป ในที่สุดไม่เป็นโอกาสแก่กิเลสชนิดไหนจะเกิดขึ้นได้ ฉะนั้นขอพูดประโยคที่จะจำง่ายอีกสักประโยคหนึ่งว่า การล้ออายุนี้เป็นเครื่องรางอันศักดิ์สิทธิ์ เขาจะมีเครื่องรางเป็นพระเครื่อง เป็นตะกรุดเป็นอะไรก็ตามใจเขา เพราะว่าเขาชอบอย่างนั้น ส่วนอาตมานี้ชอบว่า การล้ออายุกันให้จริงๆ จังๆ ในทุกแง่ทุกมุมทุกเรื่องที่มันเข้ามาเกี่ยวข้องกับอายุนี้เป็นเครื่องรางอันศักดิ์สิทธิ์ คุ้มครองไม่ให้อะไรๆ มาก่อให้เกิดกิเลสได้ กิเลสไม่มีทางจะเกิด เพราะมันถูกล้อให้หงายหลังกลับไปทุกๆ กรณีที่มันจะเกิดกิเลส เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เป็นเครื่องรางอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะคุ้มครองเราไม่ให้มีความทุกข์มาย่ำยีบีทา มองตื้นๆ ก็ยังเห็นว่า การล้ออายุได้นี้ มันเป็นที่ตั้งของหิริและโอตตัปปะ ความละอายบาป ละอายความชั่วความเกลียดกลัวบาปและเกลียดกลัวความชั่วนี้เรียกว่า หิริและโอตตัปปะ
การล้ออายุ ก็คือ ล้อสิ่งที่มาทำให้สูญเสียหิริและโอตตัปปะ ยังล้อได้อยู่ก็ยังรักษาหิริและโอตตัปปะไว้ได้ ไม่พ่ายแพ้แก่กิเลสนั่นเอง นี่เรื่องหิริและโอตตัปปะนี้สำคัญมากเป็นรากฐานของศีลธรรม กระทั่งเป็นรากฐานของปรมัตถธรรม คือ คนที่มีกิเลส ชอบกิเลส สะสมกิเลสนั้น มันเป็นคนไม่มีหิริและโอตตัปปะ ถ้ามีหิริโอตตัปปะ มันสะสมกิเลสไม่ได้ คนกลัวทุกข์ กลัวความชั่ว เพราะฉะนั้นจึงหวังพระนิพพาน ถ้าใครอยากจะนั่งใกล้พระนิพพานก็ต้องสร้างหิริและโอตตัปปะให้มาก คือ ละอายอยู่ว่ามาเป็นปุถุชนโง่ๆ ง่ายๆ อยู่ตรงนี้ มันไม่มีค่าอะไร ไม่คุ้มค่าของชีวิตที่เกิดมาแล้วก็ละอายในความเป็นปุถุชน อยากจะละไปเสียให้พ้น แล้วกลัวความทุกข์ในวัฏฏะสงสาร ก็อยากจะไปเสียให้พ้น นี้มาเป็นหิริและโอตตัปปะในระดับสูงสุด ในระดับศีลธรรมนั้น มันเป็นระดับทั่วๆ ไป ถ้าใครมีหิริโอตตัปปะก็ทำความชั่วไม่ได้ เบียดเบียนใครไม่ได้ เดี๋ยวนี้คนมันไม่มีหิริโอตตัปปะ เบียดเบียนเขา เขาจับได้ก็ไม่มีความละอาย พูดโกหก เขาจับได้ก็ไม่ละอาย อย่างนี้มันไม่มีหิริโอตตัปปะในระดับต่ำต้อย ซึ่งเป็นปัญหาของสังคมในยุคปัจจุบันอย่างยิ่ง ถ้าเพียงแต่มีหิริและโอตตัปปะกันเท่านั้น อาชญากรรมทั้งหลายก็จะหมดไปจากประเทศไทย โดยเฉพาะอาชญากรรมเลวร้ายสกปรกที่ปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ในกรุงเทพนั้นก็จะหมดไปไม่มีเหลือ ขอให้มีหิริและโอตตัปปะเถิด
การที่จะปลูกฝังหิริโอตตัปปะขึ้นมานี้ก็ขอให้รู้จักล้ออายุเถิด ล้อทุกสิ่งที่มันเข้ามาเกี่ยวข้องกับอายุในชีวิตประจำวันแต่ละวันๆ อะไรที่จะมาลากคอเราไปให้เป็นทาสของกิเลสเราก็สามารถตะเพิดให้กลับหงายหลังไปทุกที นี้เรียกว่า เป็นการล้ออายุอย่างดีอย่างสูงสุดสำหรับทุกคน ขอให้มีสติสัมปชัญญะเท่านั้น ก็จะสามารถล้ออายุได้ อาตมาจึงเรียกว่า เป็นเครื่องรางอันสูงสุด อย่างน้อยก็เป็นหิริและโอตตัปปะที่จะเป็นการคุ้มครองอย่างยิ่ง
ทีนี้ก็จะพูดถึงตัวเรื่องที่ว่า อะไรเป็นอะไร ที่จะพูดตามที่กำหนดไว้สำหรับการบรรยายในภาควิสาขบูชานี้ ในวันนี้ก็จะต้องพูดเรื่องว่า หัวใจของพุทธศาสนาคืออะไร ขอทบทวนเรื่องแต่หนหลังสักหน่อยสำหรับบางคนที่ยังไม่ทราบว่า อาตมามีปณิธานที่ตั้งไว้สำหรับชีวิตจิตใจ ๓ ประการด้วยกันว่า จะพยายามให้เพื่อนเกิดแก่เจ็บตายทุกคนนี้เข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา แล้วก็จะพยายามให้เขาออกมาเสียได้จากอำนาจของวัตถุนิยม แล้วก็จะพยายามทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนาทุกศาสนาในโลกนี้ นี่คือ หลัก ๓ ประการที่ยึดถือเอาเป็นสิ่งสูงสุดในเรื่องที่จะต้องทำต่อไปข้างหน้าจนตลอดชีวิตให้เป็นชีวิตที่มีผลคุ้มค่าหรือเกินค่า
สำหรับข้อที่ว่า จะพยายามให้ทุกคนเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนานั้น มันมีความจำเป็นมาก ถ้าทุกคนในโลกต่างเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตนๆ แล้วโลกมันไม่เป็นอย่างนี้ มันจะเป็นโลกพระศรีอาริย์ขึ้นมา เพราะประพฤติพร้อมในคราวเดียวกันหมดทั้งโลกและทุกศาสนา หัวใจของศาสนาทุกศาสนาอยู่ที่ไม่เห็นแก่ตัว ปราศจากความเห็นแก่ตัว ทำอะไรก็เพื่อประโยชน์โดยบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นเหตุให้เบียดเบียนกันไม่ได้แล้วก็ช่วยเหลือกัน ทุกอย่างก็จะเพียบพร้อม ไม่ขาดแคลนในทางที่มนุษย์จะอยู่กันเป็นผาสุก
เพราะฉะนั้นขอให้เข้าถึงหัวใจของพระศาสนา สำหรับพุทธบริษัท ก็คือ พุทธศาสนา หัวใจของพุทธศาสนาตรงกันหมด ก็คือ ความไม่เห็นแก่ตัว พูดภาษาธรรมะก็ต้องพูดว่า ความไม่ยึดมั่นถือมั่น เมื่อพูดว่า ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็คือ ไม่ยึดมั่นว่าเรา ว่าของเรา หรือที่หยาบคายที่สุดก็ว่า ไม่ยึดมั่นว่าตัวกู ว่าของกู เมื่อไม่ยึดมั่นว่ากูว่าของกูแล้วก็ไม่มีความเห็นแก่ตัว มันจะเกิดความเห็นแก่ตัวไม่ได้ หัวใจของศาสนาอยู่ที่ตรงนี้ พระพุทธเจ้าก็สอนเรื่องเห็นแก่ผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัว ศาสนาคริสเตียน อิสลามก็สอนความไม่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ผู้อื่น คัมภีร์ของอิสลามจะมีเรื่องในทำนองบังคับไปตั้งแต่แรกที่จะไม่ให้เห็นแก่ตัว และให้เห็นแก่ผู้อื่น
พุทธศาสนาเราก็มีคำสอนที่ไม่ให้เห็นแก่ตัว แต่เห็นแก่ผู้อื่นนี้อยู่อย่างเรียกว่า ครบถ้วนบริบูรณ์ด้วยเหมือนกันและที่ไม่ให้เห็นแก่ตัวยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ ไม่เห็นแก่ตัวอย่างสูงสุด จนไม่มีอนุสัยที่สำคัญว่าเรา ว่าของเรา คือ ละอหังการ มมังการ มานานุสัยเสียได้แล้วก็เป็นพระอรหันต์ ประโยชน์ของความไม่เห็นแก่ตัวหรือไม่มีตัวนั้นมันเป็นได้ถึงเป็นพระอรหันต์ เดี๋ยวนี้ยังไม่พูดถึงระดับนั้น พูดถึงระดับว่า อยู่กันในโลกนี้ก็อย่าเห็นแก่ตัว ให้เห็นแก่สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นก็จะเป็นหัวใจของธรรมะ หัวใจของธรรมะในระดับศีลธรรมสอนไม่ให้เห็นแก่ตัวในระดับปรมัตถธรรมจึงเรียก อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท ก็ชี้แจงเปิดเผยจำแนกออกไปจนไม่มีตัวเหลืออยู่ที่ตรงไหน เป็นเพียงกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ไม่มีตัวเหลืออยู่ที่ตรงไหน นี้เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา บางคนก็ไม่เคยได้ยินได้ฟัง ก็รีบได้ยินได้ฟังเสีย พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นจนไม่มีตัวเหลืออยู่ เห็นเป็นกระแสแห่งอวิชชา สังขาร วิญญาณ นาม รูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ นี้เรียกว่า ไม่มีตัวที่ตรงไหน ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท ว่าอย่างนี้ ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรม
เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นปฏิจจสมุปบาทนั่นจะเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง จะมีพระพุทธเจ้าพระองค์จริง และจะมีพระธรรมจริง จะมีพระสงฆ์จริง จิตที่เห็นปฏิจจสมุปบาทอย่างนี้เรียกว่า เห็นธรรม เห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ตัวกระแสแห่งความเกิดและดับทุกข์นั้นเป็นตัวพระธรรมจริง ตัวผู้ปฏิบัติอย่างนั้นอยู่ก็เป็นพระสงฆ์จริง เพราะฉะนั้นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จริงอยู่ที่ตัวการเห็นและปฏิบัติสำเร็จในเรื่องของปฏิจจสมุปบาท พระพุทธจริง พระธรรมจริง พระสงฆ์จริงอยู่ที่นี่ มันไม่อาจจะจริงได้เพียงแต่ว่าพุทธังสรณังคัจฉามิ นี่เรามันตั้งต้นด้วยพิธีรีตองมากเกินไปแล้วก็ไปติดตันอยู่ที่นั่น ไม่เข้าไปถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ เรื่องพระธรรมและเรื่องปฏิจจสมุปบาท ซึ่งสรุปความว่าหมดตัว หมดความเห็นแก่ตัว ไม่มีตัว ถ้าว่าเข้ามาถึงความจริงอันนี้ก็เรียกว่า ถึงหัวใจของพุทธศาสนาและทุกศาสนาด้วย แม้ว่าเราจะมีวิธีต่างๆ กันแต่ผลมันก็จะต้องมาสู่ที่อันเดียวกัน คือ ความไม่เห็นแก่ตัว
ทีนี้เรามันมามีความเห็นแก่ตัว มันควรจะถูกล้อหรือควรจะถูกด่า หรือว่าควรจะถูกทำอะไรให้มากไปกว่านั้น อาตมาเอาแบบแต่เพียงว่าควรจะถูกล้อ ใครเห็นแก่ตัว คนนั้นควรจะถูกล้อ ใครจะล้อที่ดีที่สุด ก็ตัวเองนั่นควรจะล้อ ตัวเองมันโง่มันเป็นกิเลสเสีย มันก็ไม่ล้อ เมื่อไม่ล้อ มันก็เห็นแก่ตัวมากขึ้นๆ จนเต็มไปด้วยตัวอย่างที่อยู่กันในเวลานี้ ฉะนั้นขอให้ถือเป็นเรื่องสำคัญว่ามันเกิดความเห็นแก่ตัวขึ้นมาเท่าไรก็ควรจะล้อหรือจะตี จะด่า จะแช่ง จะทุบหัวมันเข้าไปสักทีหนึ่งก็ยังไม่ ยังเรียกว่า มันยังน้อยไป นี่เรามาล้อความเห็นแก่ตัว หรือของผู้เห็นแก่ตัวอยู่เสมอๆ เถิด จะเป็นการปฏิบัติที่ก้าวหน้าไปสู่พระนิพพาน
ที่เอาเรื่องนี้มาพูดมาล้อก็ คือว่า เมื่อเราเกิดมาจากท้องแม่ไม่มีความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวนี้เพิ่งมาริเริ่ม สร้างขึ้นและสะสมไว้มากขึ้นๆ จนเป็นคนผู้ใหญ่จึงจะเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว บางคนก็อาจจะพูดว่า ความเห็นแก่ตัวนี้หรือกิเลสตัวนี้ มันติดมาแล้วแต่ในกำเนิด แต่ในพืชพันธุ์สายโลหิต เขาพูดอย่างนั้นก็ตามใจเขา เขาก็พูดได้ แล้วมันก็ไม่ให้โทษอะไร มันจะได้กลัวมากขึ้น แต่โดยแท้จริงแล้วอยากจะพูดว่า มันยังไม่มีความเห็นแก่ตัว กิเลสทั้งหลายเพิ่งเกิด พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า แม้แต่อวิชชามันก็เพิ่งเกิด อวิชชามันเพิ่งเกิดต่อเมื่อมีเหตุปัจจัยให้มันเกิด นี่ล้วนแต่เป็นเรื่องทีหลังจากการเกิดจากท้องแม่ทั้งนั้น คำสอนบางพวกเขาสอนให้ศึกษาจิตของเด็กที่อยู่ในท้องแม่ว่ามันมีอะไรบ้าง คือ จะเห็นว่ามันคิดไม่เป็น มันปรุงแต่งไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันไม่มีกิเลส จิตของเด็กที่อยู่ในท้องแม่ มันมีกิเลสไม่ได้ มันยังไม่ถึงระดับที่มันจะคิดได้จนมีตัณหามีอุปาทานได้ จึงถือว่าจิตของเด็กในท้องแม่นั้นยังว่างอยู่ ยังปราศจากกิเลส ปราศจากความเห็นแก่ตัว
ทีนี้เราเอากันตรงที่ว่าพอคลอดมาจากท้องแม่แล้วดีกว่า เกิดมาจากท้อง คลอดมาจากท้องแม่เดี๋ยวนั้นก็ยังไม่มีกิเลส ยังไม่มีความเห็นแก่ตัว อย่าไปเชื่อตามพวกที่ว่ามันหาบหามเอาอวิชชาเอากิเลสตัณหามาแต่ชาติก่อนโน้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า มันก็เพิ่งเกิด อวิชชามันก็เพิ่งเกิด ต่อเมื่อมีการกระทบทางอายตนะแล้วไปหลงใหลในความเอร็ดอร่อยที่เป็นผลของการกระทบทางอายตนะ มันเพิ่งเกิด ทีนี้เราจะถือว่า เด็กพอคลอดออกมาจากท้องแม่ จิตของมันยังบริสุทธิ์อยู่ ยังไม่มีกิเลส ไม่มีอวิชชา ไม่มีตัณหา ไม่มีอุปาทาน มีพระบาลีกล่าวไว้ชัดว่า เด็กๆ นี้ยังไม่มีอุปาทาน ยังไม่มีตัณหา ยังไม่มีกิเลส ยังไม่มีอาสวะ จนกว่าเด็กน้อยนี้เติบโตขึ้นมา รู้จักความเอร็ดอร่อยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนังเป็นต้น พอเขารู้จักความเอร็ดอร่อยแล้วก็จะยึดมั่นถือมั่นเกี่ยวกับความเอร็ดอร่อยนั้น กิเลสจึงจะค่อยตั้งต้นและเจริญงอกงาม พอถึงระดับวิ่งได้เดินได้ มันก็ตั้งต้นมีกิเลส มีตัณหาอุปาทานถึงระดับที่เป็นหนุ่มเป็นสาว มันก็เจริญเต็มที่ด้วยเรื่องของกิเลสตัณหาอุปาทาน
ฉะนั้นเราย้อนไปดูเด็กเพิ่งคลอด มันมีหัวใจของพุทธศาสนาอยู่แล้ว เด็กที่เพิ่งคลอดอาตมาพูดว่า มันมีหัวใจของพุทธศาสนาอยู่แล้วในจิตใจของเด็กที่เพิ่งคลอด ในจิตใจของเด็กที่เพิ่งคลอดนั้นปราศจากความเห็นแก่ตัว มันไม่ได้อยากอะไรด้วยตัณหา มันไม่มีอุปาทานยึดมั่นในสิ่งนั้นก่อน ทีนี้พอมันเติบโตมันรู้จักอร่อย แม้แต่นมของแม่ แม้แต่ข้าวปลาอาหาร แม้แต่สัมผัสผิวหนังความอบอุ่นพ่อแม่พี่เลี้ยงเขากกเขากอดอะไรเป็นต้นก็ตาม พอรู้สึกอัสสาทะ ความเอร็ดอร่อยของสัมผัสเหล่านั้น มันจึงเริ่มรู้จักอยาก แล้วจิตมันก็มีความรู้สึกว่า เราเป็นผู้อยาก ฉันอยาก ฉันต้องการ นี้เรียกว่า เกิดตัณหาอุปาทาน หลังจากการรู้รสอร่อยทางอายตนะแล้ว อย่าไปปรับให้ลูกเด็กๆ เพิ่งคลอดนั้นมีกิเลสตัณหา มีอุปาทานเลย มันไม่เป็นความจริง
เพราะฉะนั้นเราจึงมองเห็นกันว่า เด็กเพิ่งคลอดนั้นมันมีหัวใจของพระพุทธศาสนาอยู่ในใจ คือความว่างจากความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกู ทีนี้มันค่อยๆ เกิดมาตามลำดับจนหนาแน่น นี่เรียกว่ามันใหม่ มันใหม่แล้ว มันมาเป็นเรื่องใหม่แล้ว เกิดตัณหาอุปาทานเพิ่มขึ้นๆ เป็นสิ่งที่ควรจะเอามาล้อว่า มันเลวร้ายอะไรเช่นนั้น เกิดมาไม่มีกิเลสตัณหาอุปาทาน แล้วทำไมมันมาสร้างสมขึ้นจนหนาแน่น ข้อนี้ต้องพูดกันให้เป็นที่เข้าใจเหมือนกัน ไม่ฉะนั้นก็จะล้อไม่สำเร็จว่า เราเกิดมาด้วยหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น แล้วเราก็ค่อยๆ มีความยึดมั่นถือมั่น คือ เราละทิ้งหัวใจของพุทธศาสนาออกไปทุกทีๆ จนไม่มีเหลือ นี่เป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจว่า จะจัดการกันอย่างไรต่อไป อย่าทิ้งไว้ให้เป็นของน่าเกลียดน่าชังน่าล้อกันอีกต่อไปเลย
นี่เราเกิดมาด้วยจิตใจที่มีหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ ความว่างจากตัวกูของกู แล้วก็มาเพิ่มให้มันเป็นมี วุ่นด้วยตัวกูของกูมากขึ้นๆ ข้อนี้มันมีพฤติการณ์ของมันอย่างไรก็ควรจะสนใจอย่างยิ่ง และควรจะตั้งต้นการศึกษากันที่ตรงนี้ มันจึงจะทันแก่เวลา ถ้าจะศึกษาพุทธศาสนา ก็ตั้งต้น ก ข ก กากันที่ตรงนี้ ตรงที่ว่า จิตเดิมคลอดออกมาจากท้องแม่ไม่มีกิเลส ตัณหา อุปาทาน แล้วมันมีขึ้นมาได้อย่างไร ขอถือเอาเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการพูดจาในวันนี้ซึ่งเป็นวันเสาร์ที่จะพูดว่าอะไรเป็นอะไร ว่าหัวใจของพุทธศาสนานั่นอย่างไร เด็กเกิดมาด้วยจิตใจที่ว่างเปล่าจากความรู้สึกชนิดที่เป็นกิเลส ตัณหา นี่อาศัยพระบาลีพูดอย่างนี้ แล้วจิตของเด็กนั้นถูกแวดล้อมด้วยความรู้สึกเอร็ดอร่อยทางอายตนะ จึงรู้จักมีตัณหา คือ ความอยากโดยสมควรแก่เวทนานั้น มีตัณหา คือ ความอยาก แล้วก็มีอุปาทานคือ ความรู้สึกถัดมาว่า ฉันอยาก ฉันต้องการนั่นนี่มาเป็นของฉัน มีตัณหาอุปาทานเกิดขึ้นก็เกิดกิเลสที่เรียกว่า โลภะโทสะ โมหะ มันเห็นแก่ตัว มันก็โลภหรือมันมีราคะ นี้ได้กิเลสชนิดที่หนึ่ง ทีนี้มันไม่ได้ตามที่มันต้องการด้วยความเห็นแก่ตัว มันก็เกิดโทสะหรือโกธะ กิเลสประเภทที่ ๒ แล้วมันไม่รู้จักสิ่งเหล่านั้น มันก็เป็นโมหะ คือ ความโง่ต่อสิ่งเหล่านั้น มันรู้สึกอยู่ อร่อยอยู่ หลงใหลอยู่ มันก็ไม่รู้ว่า นั่นเป็นอะไร ความไม่รู้นั้น ความไม่รู้นั้นเป็นความโง่เรียกว่า โมหะ เด็กๆ จึงค่อยสะสม สร้างสม โลภะโทสะโมหะขึ้นมา จะเกิดได้กี่วันกี่เดือนก็เอาแน่ไม่ได้ เอาแน่ได้แต่เพียงว่า เด็กพอโตขึ้นมาก็รู้จักที่จะทำความรู้สึกต่อสิ่งที่มากระทบเป็นความเอร็ดอร่อยบ้าง เป็นความไม่เอร็ดอร่อยบ้าง เป็นความพอใจบ้าง เป็นความไม่พอใจบ้าง มันจึงมีตัณหาไปตามรูปแบบ ถ้าพอใจก็มีตัณหาที่อยากได้ ไม่พอใจก็มีตัณหาในทางที่อยากจะทำลาย ถ้ามันไม่แน่ว่าพอใจหรือไม่พอใจ แต่มันก็ยังยึดถือในคุณค่าหรือความหมายอยู่ มันก็มีความสงสัยและมีความหวัง นี้คือ กิเลสที่ไม่เคยมีมาแต่ก่อน มันได้มีขึ้นแล้ว เด็กทารกนั้นก็ได้สูญเสียภาวะแห่งความว่างจากตัวตนนั่นเสียแล้ว มันก็เริ่มมีความรู้สึกประเภทตัวตนและความเห็นแก่ตน ทีนี้พอเขาเกิดโลภะ รู้จักเกิดโลภะ รู้จักเกิดโทสะ รู้จักเกิดโมหะแล้ว พอเขาเกิดโลภะขึ้นมาครั้งหนึ่ง มันก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า อนุสัยเพื่อโลภะขึ้นมาจำนวนหนึ่ง ถือว่าหน่วยหนึ่งก็แล้วกัน เมื่อเกิดโลภะแล้ว เกิดกิเลสชื่อว่าโลภะแล้ว ก็เกิดอนุสัยสำหรับโลภะ เรียกว่า ราคานุสัย ความเคยชินที่จะโลภจะรักขึ้นมาครั้งหนึ่ง คือ หน่วยหนึ่งเรียกว่า อนุสัย นี่จำไว้ให้ดีๆ ว่าเราเกิดกิเลสตัวไหนขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้ว จะเกิดอนุสัย ในเมื่อสะสมความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้นขึ้นมาครั้งหนึ่ง ถ้าเกิดโลภะ คือ ความอยากครั้งหนึ่งจะเกิดราคานุสัย ความเคยชินสำหรับที่จะเกิดโลภะนั้นเอาไว้ครั้งหนึ่ง ถ้าเราเกิดโทสะ โกรธขัดเคืองขึ้นมาครั้งหนึ่งก็จะสะสมอนุสัยที่เรียกว่า ปฏิฆานุสัย เพิ่มขึ้นมาครั้งหนึ่ง ถ้าเราเกิดโมหะ คือ ความโง่มันก็เกิดอวิชชานุสัย ความเคยชินสำหรับจะโง่ขึ้นมาครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราเกิดโลภ เกิดโกรธ เกิดหลงอยู่ตลอดเวลา แล้วก็สร้างความเคยชินที่จะโง่ จะโลภ จะโกรธ จะหลงอยู่ตลอดเวลา คือ สะสมราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัยเพิ่มขึ้นๆ เด็กก็โตขึ้นมาด้วยการสะสมสิ่งที่เรียกว่า อนุสัย จนกว่าจะเป็นเด็กวิ่งได้ จนกว่าจะเป็นเด็กหนุ่มเด็กสาว นี่มันจะสะสมกันกี่มากน้อย ขอให้ลองคิดดู เรื่องกิเลสเกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วดับไปนั้น มันไม่ใช่มีเรื่องดับไปหมด มันทิ้งอนุสัย คือ ความเคยชินที่จะเป็นเช่นนั้นไว้ในสันดาน
ฉะนั้นขอให้ทุกคนมองดูเข้าไปในสันดานของตนว่าได้สะสมอนุสัยเหล่านั้นไว้อย่างไรบ้างมากน้อยเท่าไรกี่อย่างๆ นี่คือ สิ่งที่น่าละอาย นี่คือ สิ่งที่ควรจะเอามาล้อให้มันหายกระจัดกระจายไป จำไว้ให้ดีว่าตั้งแต่อ้อนแต่ออกมา เราก็มีกิเลสครั้งหนึ่งก็เพิ่มอนุสัยครั้งหนึ่ง มีกิเลสครั้งหนึ่งก็เพิ่มอนุสัยครั้งหนึ่ง ตามชื่อของกิเลสนั้นๆ เราจึงมีอนุสัย คือ ความเคยชินที่จะโลภ จะโกรธ จะหลงอยู่เต็มปรี่อยู่ในสันดาน นี่พูดอย่างภาษาคนว่า เต็มปรี่อยู่ในสันดาน ที่จริงถ้าตามหลักธรรมะนั้นมันไวที่จะเกิด มันพร้อมที่จะเกิด ไม่มีอะไรที่จะนิ่งอยู่ได้ เที่ยงแท้อยู่ได้ มันผิดหลักพระพุทธศาสนา ที่พูดว่า มีอนุสัยนอนเนื่องอยู่ในสันดานตลอดเวลานั้น มันผิดหลักของพระพุทธศาสนา แต่คำพูดของชาวบ้าน มันต้องพูดอย่างนั้น เมื่อมีอนุสัยนอนเนื่องอยู่ในสันดานตลอดเวลานั้น มันไม่ถูก มันมีแต่ความเคยชินและความเร็วที่จะเกิดนั้นมากขึ้นๆ ในสันดาน นี่คือ สิ่งที่เราสะสมไว้ในสันดานเรียกว่าอนุสัย ทุกคนมีปัญหาอย่างนี้ เมื่ออนุสัยมากขึ้นเท่าไร ภาวะที่ว่างจากตัวกูของกูมันก็ลดลงหายไป ช่วยทำความเข้าใจตอนนี้ให้มากว่า รสอร่อยที่เข้ามาสัมผัสกับอายตนะ ทำให้เกิดกิเลส เมื่อเกิดกิเลสแล้วก็เกิดสิ่งที่เรียกว่าอนุสัย คือ ความเคยชินที่จะเกิดกิเลสต่อไปขึ้นมา ทีนี้เมื่ออนุสัยมากเข้าเต็มสันดานมากเข้า ความดันออกที่จะไหลออกมันก็มีมากขึ้น ส่วนที่ไหลออกมานี้เรียกว่า “อาสวะ” เหมือนเอาน้ำใส่ลงไปในตุ่ม เติมลงไปในตุ่มๆ ใหญ่ๆ จนเต็ม ความดันที่มันจะปรี่ออกมาจากตุ่ม มีรูเล็กรูน้อยที่ไหนมันจะดันออกมานี้มันก็มีมากขึ้น อนุสัยมากเท่าไร ความดันที่จะไหลออกมาเป็นอาสวะ มันก็มากขึ้น เพราะความเคยชินแห่งอนุสัย
ฉะนั้นพออารมณ์สำหรับจะโลภ จะโกรธ จะหลงผ่านมา มันก็กระโจนออกมาทันที มันจึงเกิดกิเลสนั้นเร็วมากยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ จึงโลภ จึงโกรธ จึงหลงได้เร็วมากเหมือนกับสายฟ้าแลบ เพราะอนุสัยสะสมมากอยู่ในสันดาน การไหลออก คือ อาสวะก็มีได้ง่าย เดี๋ยวนี้เรามีชีวิตอยู่อย่างนี้ รู้หรือเปล่า รู้หรือยังว่าเรามีชีวิตในประจำวันนั่นเป็นอย่างนี้ มีอนุสัยสะสมไว้มากพร้อมที่จะไหลออกมาเป็นกิเลสคืออาสวะ นั่นมันหนัก มันจึงเกิดกิเลสเร็วเหมือนกับสายฟ้าแลบ เมื่อปัญหามันมีอยู่อย่างนี้แล้วจะทำอย่างไรต่อไป ทางแก้ของมัน ก็คือว่า จะต้องทำในลักษณะที่ตรงกันข้าม พอมันจะโลภก็อย่าโลภ บังคับไว้ให้ได้อย่าให้โลภ อนุสัยก็ไม่เกิด กลับลดลงไปเสียทีหนึ่ง มันก็เกิดสิ่งตรงกันข้ามซึ่งจะเรียกว่าอุปนิสัยแห่งความไม่โลภ ก็จะตั้งขึ้นมาหน่วยหนึ่ง เมื่อไม่โกรธได้ทีหนึ่ง อนุสัยที่จะโกรธก็ลดลงไปหน่วยหนึ่ง แต่อุปนิสัยที่จะไม่โกรธก็จะเพิ่มขึ้นมาหน่วยหนึ่ง หรือว่าเมื่อไม่โง่ไม่หลงทีหนึ่ง อนุสัยสำหรับจะโง่มันก็ลดไปเสียหน่วยหนึ่ง อุปนิสัยที่จะไม่โง่มันก็เพิ่มขึ้นมาหน่วยหนึ่ง นี่เราบังคับไม่โลภไม่โกรธ ไม่หลงได้มากขึ้นๆ เราก็มีอุปนิสัยที่จะไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงมากขึ้น การที่เราพยายามกระทำอยู่อย่างนี้เรียกว่า เป็นการสร้างบารมี คนไหนบ้างกำลังสร้างบารมีอยู่อย่างนี้ ในท่านทั้งหลายที่นั่งกันอยู่ที่นี่ คนไหนรู้สึกตัวและพยายามสร้างบารมีกันอยู่ในรูปอย่างนี้ กลัวว่า จะไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไรเสียเลยตลอดเวลา ถ้าอย่างนี้มันก็ได้เปรียบข้างกิเลสตัณหา คือ ฝ่ายที่จะสะสมอนุสัยเพื่อกิเลสตัณหาหนาแน่นอยู่ด้วยอาสวะ
ฉะนั้นขอให้มีสติสัมปชัญญะบังคับเมื่อมันจะโลภ จะโกรธ จะหลง บังคับให้ได้ทุกทีไป อนุสัยจะไม่เพิ่มขึ้น แล้วอุปนิสัยฝ่ายที่จะไม่เกิดกิเลสนี้ก็จะเพิ่มขึ้น ฉะนั้นอนุสัยและอาสวะ มันจะลดกำลังลงไป อุปนิสัยบารมีฝ่ายที่จะไม่เกิดกิเลส คือ ฝ่ายที่จะเป็นไปเพื่อนิพพานนี้ มันก็จะเพิ่มขึ้น
เพราะฉะนั้นขอให้เพิ่มบารมีด้วยการบังคับไม่ให้โลภ ไม่ให้โกรธ ไม่ให้หลงทุกๆ คราว ทุกๆ ทีที่สิ่งเหล่านี้มันผ่านเข้ามาในชีวิตจิตใจของเรา เราอยู่อย่างไรเป็นชาวบ้านก็ดี ชาววัดก็ดี ล้วนแต่มีอารมณ์ที่จะผ่านเข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วเราก็ไม่รู้ เราก็ปล่อยไปตามเรื่อง มันก็เป็นไปในฝ่ายกิเลส เกิดกิเลสแล้วเกิดอนุสัยแล้วก็มีอาสวะมาก มันก็ดันออกมาเป็นกิเลสได้เหมือนกับสายฟ้าแลบทุกคราวที่อารมณ์ของกิเลสมันผ่านมา เดี๋ยวนี้ทวนกระแสกลับหลังเป็นว่า ไม่ บังคับไว้ได้ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ลดอนุสัยเพิ่มบารมีฝ่ายที่จะไม่เกิดกิเลสยิ่งขึ้นทุกที นี่คือ ตัวเรื่องที่เกี่ยวกับหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็น ก ข ก กาที่ควรจะตั้งต้นกันที่ตรงนี้ ที่แล้วมาไม่เคยสนใจที่จะเรียนกันอย่างนี้หรือจะตั้งต้นกันที่ตรงนี้ มันก็เป็นก็ไปกันเสียคนละทิศคนละทาง อาตมาเห็นว่า ครบรอบปีหนึ่ง มาดูกันที่ตรงนี้สักทีหนึ่ง มันน่าล้อหรือมันน่าปีติพอใจ ถ้าเห็นว่า มันยังไม่ดีขึ้นก็ควรจะล้อ ก็ช่างกระไรปีหนึ่งก็ไม่มีอะไรดีขึ้น หรือว่าปีหนึ่งมันกลับจะเลวลงไปอีกชั้นหนึ่ง ปีหนึ่งมันกลับจะเลวลงไปอีกชั้นหนึ่ง ก็เรียกว่า ยิ่งโตยิ่งอายุมากมันยิ่งเต็มไปด้วยกิเลสและอนุสัย ควรจะละอายแล้วก็ควรจะล้อกันอย่างยิ่ง
นี่คือหัวใจของพุทธศาสนา เป็นภาวะที่มันมีมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก คลอดออกมาจากท้องแม่ไม่มีกิเลส ไม่มีตัวกูของกู แล้วก็มาสร้างสม สะสมให้มากขึ้นๆ ทุกวันๆ จนเต็มไปด้วยอนุสัย จนเต็มไปด้วยอาสวะ คิดดูแล้วมันน่าสังเวชสักกี่มากน้อย ขอให้พยายามที่จะดึงกลับมา ภาวะที่ว่าไม่มีตัวกู ไม่มีของกูให้กลับมาๆ เหมือนตั้งแต่แรกเกิดเถิด อาตมาจึงยกเอาเรื่องแรกเกิดนี้มาเป็นเรื่องตั้งต้นกันใหม่ วันนั้นไม่ได้กินอาหารเลย มันก็อยู่ได้ มันก็เจริญขึ้นมาได้ เราก็ไม่กินอาหารหรือว่าอะไรๆ ที่มันเคยเป็นอยู่ได้ในวันแรกเกิดนั้น มันก็ควรจะเป็นอยู่ได้ในทางที่ถูกต้องยิ่งขึ้น อย่าให้มันหมุนไปในทางตรงกันข้าม คือเกิดกิเลสและเกิดความทุกข์ เดี๋ยวนี้ก็มาหยุดอยู่ที่ว่า มาหยุดเป็นเรื่องเป็นราวอยู่ที่ว่า หัวใจของพุทธศาสนา คือ ความว่างจากกิเลสว่า ตัวกูว่าของกู มีอยู่เป็นของเดิม เป็นของแท้ในจิตใจของเด็ก แล้วเราก็มา แล้วเด็กนั้นมันก็ได้เริ่มพอกพูนสิ่งใหม่ คือ ความมีตัวกู มีของกูมากขึ้นๆ แล้วก็หนาแน่นไปด้วยความรู้สึกอันนี้ได้แก่ พวกเราทุกคนที่มานั่งอยู่ที่นี่ มีอนุสัยแห่งตัวกูของกูเต็มปรี่อยู่ แล้วก็จะออกมาเป็นกิเลสแล้วก็จะทำลายตัวตน ทำลายตัวเอง ทำลายผู้อื่น ทำให้เดือดร้อนกันทั้งตนเองและผู้อื่น ควรเอามาพูดกันในวันนี้
ทีนี้เพื่อจะให้รู้เรื่องที่มันเป็นความลับเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้นไปอีกหน่อยหนึ่ง ก็คือ เรื่องว่าเรามีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณที่ธรรมชาติมอบให้มา เรียกว่า เป็นต้นทุนหรือเดิมพันที่ธรรมชาติมอบให้มา ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ นี้เป็นสิ่งที่ควรจะทำให้มีวิวัฒนาการไปในทางที่ถูกต้อง แต่แล้วเราจะด้วยเหตุอะไรก็ยากที่จะพูด มันก็ต้องพูดว่าด้วยเหตุที่ยังมีอยู่แต่อวิชชา ปัญญายังไม่เกิด มันก็พัฒนาการไปแต่ในทางที่จะให้เกิดกิเลสและความทุกข์ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ ๖ อย่างนี้ได้โอกาสเมื่อไรมันก็ทำหน้าที่ เมื่อทำหน้าที่เขาเรียกว่า มันเกิดในทางพระพุทธศาสนาชั้นสูงสุด ถือว่ามันเกิดและมันดับอยู่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ นี้มันเกิดดับๆๆ อยู่ ฉะนั้นท่านหมายความว่า เมื่อใดมันทำหน้าที่ เมื่อนั้นมันเกิด พอเสร็จหน้าที่มันก็ดับ ความรู้สึกของผู้ไม่รู้ก็คิดว่ามันมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณอยู่ตลอดเวลา พูดอย่างชาวบ้านพูดในภาษาคนมันก็จริงเหมือนกันมีอยู่ตลอดเวลา ในฐานะที่เป็นธาตุ แต่ถ้าธรรมะสูงสุดเขาไม่ได้ถือว่ามันเกิดอยู่ตลอดเวลา มันเกิดต่อเมื่อมันทำหน้าที่ ทำหน้าที่เสร็จแล้วมันก็ดับ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ ได้โอกาสเมื่อไรก็เกิดขึ้นทำหน้าที่เป็นความรู้สึกคิดนึก ในชั้นแรกเรียกว่า อายตนะ ก่อน ธาตุทั้ง ๖ นี้เมื่อลุกขึ้นมาทำหน้าที่ก็เป็นอายตนะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อทำหน้าที่ทางตาก็เรียกว่าอายตนะตาเกิดหรือตาเกิด เสร็จแล้วก็ตาก็ดับ เดี๋ยวหูก็เกิดแล้วหูก็ดับ จมูกเกิดจมูกดับ คือ เมื่อมันทำหน้าที่ เมื่อธาตุเหล่านั้นทำหน้าที่มันก็กลายตัวเป็นอายตนะ เป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอายตนะแล้วมันก็ทำหน้าที่อย่างอายตนะ มันรับอารมณ์ พอมันทำหน้าที่ตามที่มันจะทำแล้วมันก็เกิดสิ่งที่เรียกว่าเบญจขันธ์ รูปเมื่อทำหน้าที่ก็เป็นรูปขันธ์ โดยอาศัยอายตนะทำหน้าที่ได้ก็เป็นรูปขันธ์ เกิดความรู้สึกเวทนาก็เป็นเวทนาขันธ์ เกิดความรู้สึกเป็นสัญญาเรียกว่า สัญญาขันธ์ เกิดความรู้สึกเป็นสังขารเรียกว่าสังขารขันธ์ วิญญาณได้ทำหน้าที่อยู่ตลอดเวลาเป็นวิญญาณขันธ์ เดี๋ยวนี้มันก็มีขันธ์เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณขึ้นมา เป็นของมายาที่สุดเพราะมิได้มีอยู่จริง เพียงแต่ปรุงแต่งกันขึ้นชั่วขณะชั่วเรื่องชั่วราวเอาเฉพาะเรื่องเฉพาะราวแล้วก็ดับไป
ดังนั้นจึงถือว่าอายตนะก็เกิดและดับ ขันธ์ก็เกิดแล้วก็ดับ ก็เกิดแล้วก็ดับ รูปขันธ์เกิดแล้วเวทนาดับไป เวทนาขันธ์เกิดขึ้นเวทนาขันธ์เกิดขึ้นแล้วดับไป สัญญาขันธ์ก็เกิดขึ้น สัญญาขันธ์ปรุงแต่งสังขารขันธ์แล้วก็ดับไป สังขารขันธ์ก็เกิดขึ้น วิญญาณขันธ์ทำหน้าที่เสร็จแล้วมันก็ดับไป อยู่ในรูปของเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ แต่ละขันธ์มันก็เกิดขึ้นและดับไปอย่างนี้ จะเอาอะไรมาเป็นตัวกู จะเอาอะไรมาเป็นของกู ถ้ามองเห็นอย่างนี้แล้วความเข้าใจว่า ตัวกูของกูมันก็หายไป มิจฉาทิฐิก็หายไป อุปาทานก็หายไป
แต่เดี๋ยวนี้มันไม่เป็นอย่างนั้น มันเป็นไปเสียในทางตรงกันข้าม พอเกิดรูปขันธ์ก็เกิดความสำคัญผิดเป็นรูปของเรา รูปเป็นเราหรือรูปเป็นของเรา พอเกิดเวทนาขันธ์ก็เวทนาขันธ์เป็นของเรา หรือบางทีก็เอาเป็นเราเสียเอง สัญญาขันธ์ก็เหมือนกันถูกยึดถือเป็นตัวเรา เป็นของเรา สังขารขันธ์โดยเฉพาะความคิดนี่ถูกยึดถือเป็นตัวเราได้ง่ายที่สุด เพราะมันคิดได้ สัญญา สังขารขันธ์ก็ถูกยึดถือเป็นตัวเรา ก็มีตัวเราขึ้นมาในความยึดถือ เป็นมายาเท่านั้น ไม่ใช่มีจริง วิญญาณขันธ์ก็ถูกยึดเป็นตัวเราได้ง่ายที่สุดเพราะว่าเห็นได้ด้วยวิญญาณขันธ์ ได้ยินด้วยวิญญาณขันธ์ ได้กลิ่นด้วยวิญญาณขันธ์อย่างนี้ มันก็ยิ่งเห็นยิ่งสำคัญผิดเป็นตัวตนได้มากขึ้น มารู้เสียว่านี่เป็นเพียงกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทเท่านั้น มันเกิดขึ้นในฝ่ายนี้ก็เป็นความทุกข์ ถ้าดับลงก็เป็นฝ่ายดับทุกข์ มีสติสัมปชัญญะเมื่อเกิดอายตนะและกระทบรูปแล้วมันก็ดับความคิดที่เป็นตัณหาเป็นอุปาทานได้ความทุกข์ก็ไม่เกิด ความจริงข้อนี้มันก็ปรากฏออกมาแก่ผู้ที่มีปัญญามองเห็นว่า ความทุกข์เกิดไม่ได้เพราะเหตุอย่างนี้ๆ เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ เพราะสิ่งนี้ดับสิ่งนี้จึงดับ มันก็ไม่มีความทุกข์ นี่คือ ตัวหัวใจของพุทธศาสนาว่า ตัวกูของกูนี้เกิดขึ้นอย่างไร ตัวกูของกูนี้ไม่อาจจะเกิดโดยวิธีใด เข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาก็สามารถที่จะดับทุกข์ได้ สามารถที่จะทำให้จิตใจอยู่ในสภาพที่ว่างจากความเห็นแก่ตัว คือ ไม่มีความยึดถือเป็นตัวเรา เป็นของเราก็ไม่มีความทุกข์ กลับไปมีจิตใจเหมือนกับลูกเด็กอ่อนที่พึ่งคลอด ว่างจากความยึดถือว่า ตัวกูว่าของกู จิตใจของลูกเด็กๆ นั้นไม่มีอะไรควบคุมไว้ได้ มันก็เปลี่ยนไปในทางที่จะให้เกิดความรู้สึกเป็นตัวกูของกู เดี๋ยวนี้มันเป็นจิตใจของคนแก่หัวหงอกแล้วจะเข้าโลงแล้วมันก็ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น มันควรจะเป็นจิตใจที่รู้จัก รู้สึกสามารถควบคุมความรู้สึกป้องกันไม่ให้เกิดความรู้สึกประเภทตัวกูของกูขึ้นมาในจิตใจ มันก็เป็นจิตใจอันใหม่ เป็นจิตใจที่ว่างแล้วก็ว่างอยู่ได้จริง รักษาความเป็นประภัสสรไว้ได้ตลอดกาล กิเลสทั้งหลายไม่อาจจะครอบงำจิตใจชนิดนี้ได้อีก นี่มันต่างกับประภัสสรตามธรรมชาติ ซึ่งมันเปิดโอกาสให้กิเลสครอบงำได้ เดี๋ยวนี้ด้วยอำนาจของธรรมะที่ศึกษาและปฏิบัติจนถึงระดับสูงสุดแล้วก็ควบคุมความเป็นประภัสสรแห่งจิตใจไว้ได้ กิเลสไม่อาจจะครอบงำได้ ความเป็นประภัสสรนั้น มันก็ถาวร นี่เป็นการบรรลุมรรคผลนิพพานอย่างนี้ นี่คือ หัวใจของพุทธศาสนา มันมีเท่านี้ว่า อย่าให้ตัวกูของกูมันเกิดขึ้นมา ว่างหรือเดิมๆ อยู่อย่างก่อนแต่ที่มันจะเกิดกิเลสตัณหา นี่เรามันก็หลับตาตลอดเวลาไม่ได้รู้สึก ไม่รู้วิธีที่จะป้องกัน มันก็เกิดกิเลสและก็สะสมอนิสัย อนุสัย ความเคยชินแห่งกิเลส มีอาสวะพร้อมที่จะไหลออกมาเป็นกิเลสเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าทำลายอนุสัยเสียได้ มันก็ไม่มีอาสวะอันไหนจะออกมา มันก็หมดทั้งกิเลส หมดทั้งอาสวะเพราะเหตุนั้น นี่หัวใจของพระพุทธศาสนามีอยู่อย่างนี้ที่เอามาพูดในวันนี้ก็เอามาล้อเล่น เพราะที่จริงก็เกิดมาโดยไม่มีกิเลสตัณหาเลย แล้วทำไมจึงฉลาดไปในทางที่ให้เกิดกิเลสตัณหาสะสมมากขึ้น มันโง่หรือฉลาด ช่วยกันคิดดูให้ดี
ขอให้เราเรียนๆ ในทางที่จะให้รู้ความจริงข้อนี้ อย่าให้เรียนชนิดที่ยิ่งเรียนแล้วยิ่งโง่ ยิ่งเรียนแล้วยิ่งส่งเสริมการเกิดแห่งกิเลสตัณหา ขอให้มีการปฏิบัติชนิดที่ปฏิบัติแล้วมันก็ป้องกันการเกิดแห่งกิเลสตัณหา ให้เห็นแจ้งอยู่ในวิถีทางที่จะไม่ให้เกิดกิเลสตัณหา เรามาพูดถึงวิธีป้องกันการเกิดกิเลสตัณหาด้วยการเรียนกันอีกสักนิดหนึ่ง เรียนธรรมะนั้น มันเรียนเพื่อให้รู้ว่ากิเลสเกิดอย่างไร อนุสัยเกิดอย่างไร จะสร้างอุปนิสัยสร้างบารมีกันอย่างไร และก็ทำให้ได้ตามนั้น เดี๋ยวนี้เราไปเรียนโดยความมุ่งหมายอย่างอื่น ไม่ได้เรียนด้วยความมุ่งหมายที่จะควบคุมกิเลส ไม่ได้เรียนเพื่อจะควบคุมการเกิดแห่งกิเลส ตัณหา แต่มันเรียนด้วยกิเลส ตัณหา เรียนด้วยกิเลส ตัณหาแล้วมันจะได้อะไร มันก็จะได้เรื่องที่เป็นประโยชน์แก่กิเลส ตัณหาขึ้นมา อาตมาเขียนไว้ว่า
เรียนธรรมะอย่าตะกละให้เกินเหตุ จะเป็นเปรตหิวปราชญ์เกินคาดหวัง
อย่าเรียนอย่างปรัชญามัวบ้าดัง เรียนกระทั่งตายเปล่าไม่เข้ารอย
เรียนธรรมะต้องเรียนอย่างธรรมะ เรียนเพื่อละทุกข์ใหญ่ไม่ท้อถอย
เรียนที่ทุกข์ที่มีจริงยิ่งเข้ารอย ไม่เลื่อนลอยมองให้เห็นตามเป็นจริง
ต้องตั้งต้นการเรียนที่หูตา สัมผัสแล้วเกิดเวทนาตัณหาวิ่ง
ขึ้นมาอยากเกิดผู้อยากเป็นปากปลิง เรียนรู้ยิงตัณหาดับนับว่าพอ
นี่หมายความว่า เรียนธรรมะเดี๋ยวนี้ไม่ได้เรียนอย่างนี้ มันเรียนเพราะตะกละความเป็นนักปราชญ์ เรียนเพราะอยากจะดัง นี่ถ้าเรียนอย่างนี้เรียนจนตายก็ไม่เข้ารอยทางของธรรมะที่จะดับกิเลสได้ เรียนธรรมะอย่าเรียนอย่างปรัชญา เรียนธรรมะต้องเรียนอย่างธรรมะ มุ่งหมายจะละความทุกข์ตะพึดไป ถ้าเรียนอย่างนี้มันจะเข้ารอยของธรรมะ แล้วการเรียนอย่างนี้ต้องตั้งต้นการเรียนที่ของจริง เมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูฟังเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่น เป็นต้น แล้วมันเกิดเวทนาขึ้นมาอย่างไร เมื่อเกิดเวทนาขึ้นในความรู้สึกแล้วมันเกิดตัณหา คือ ความอยากโดยสมควรแก่เวทนานั้นอย่างไร ครั้นเกิดความอยากแล้วความรู้สึกถัดมา ก็คือ ความรู้สึกว่ากูอยาก กูต้องการ นี้เรียกว่า อุปาทาน เกิดมาทีหลังตัณหา เกิดแล้วก็ยึดติดแน่นยิ่งกว่าปากปลิง อุปมาว่ายิ่งกว่าปากปลิง
เพราะฉะนั้นต้องเรียนให้รู้สำหรับที่จะทำลายตัณหา คือ ความอยาก ถ้าความอยากไม่เกิดแล้ว ตัวกูก็ไม่เกิดได้ ความอยากเกิดก่อนแล้วความรู้สึกว่าตัวผู้อยากนั้นจะเกิดทีหลัง นี่คือ ความเป็นมายาของสังขาร เรามันรู้แต่เพียงว่ามันต้องตัวผู้อยากเสียก่อนแล้วจึงจะมีความอยาก นั่นมันพูดอย่างมีตัวตน แต่ความจริงนั้นมันไม่เป็นอย่างนั้น กระแสในจิตนั้นมันปรุงแต่งเกิดความรู้สึกเวทนาก่อน ก็เกิดตัณหาคือ ความอยากตามสมควรแก่เวทนา แล้วความรู้สึกว่า ตัวกูผู้อยาก นี่มันเพิ่งเกิดหลังจากนั้น มันแปลกอยู่ที่ว่า ความอยากเกิดก่อนตัวผู้อยาก มันเป็นอย่างนั้นเพราะว่ามันเป็นเพียงมายา
ฉะนั้นอย่าให้ความอยากเกิดได้ ความรู้สึกยึดถือว่ากูผู้อยากมันก็ไม่เกิด อย่าให้เกิดตัณหา มันก็ไม่เกิดอุปาทาน ระวังเวทนาให้ดีๆ มันก็ไม่เกิดตัณหา ตอนที่ผัสสะนั้นสำคัญมากมีสติสัมปชัญญะให้พอ นี้เรียกว่า เรียนธรรมะชนิดที่จะรักษาหัวใจของพุทธศาสนาไว้ได้ในจิตใจ คือ ไม่เกิดผู้อยาก นี้เรียนธรรมะเรียนอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เขาไม่เรียนกันอย่างนี้ เขาเรียนอย่างปรัชญา อยากบ้าดัง อย่างพูดเก่ง อย่างนักปรัชญา ถ้าเรียนอย่างปรัชญา มันก็ไม่พบธรรมะ มันก็พบแต่ปรัชญาแล้วก็ได้เป็นคนบ้าดัง อาตมาเขียนไว้ว่า เกี่ยวกับเรียนปรัชญานั้นเขียนไว้ว่า
เรียนอะไรถ้าเรียนอย่างปรัชญา ที่เทียบกับคำว่าฟิโลโซฝี (Philosophy)
เรียนจนตายก็ไม่ได้พบวิธี ที่อาจขยี้ทุกข์ดับไปกับกร
เพราะมันเรียนเพื่อมิให้รู้อะไร ชัดลงไปตามที่ธรรมชาติสอน
มัวแต่โยกโย้ไปให้สั่นคลอน สร้างคำถามป้อนต้อนรอบรอบวง
ไม่อาจจะมีวิมุติเป็นจุดจบ ยิ่งเรียนยิ่งไม่ครบตามประสงค์
เป็นเฮโรอีนสำหรับปราชญ์ที่อาจอง อยู่ในกรงปรัชญาน่าเอ็นดู
สมัยนี้เขาเรียนอย่างปรัชญา เรียนอย่างนักปรัชญา เพื่อเป็นนักปรัชญา แล้วมันก็ได้ผลอย่างนี้ มันไม่เป็นธรรมะ มันไม่อาจจะดับทุกข์ มันก็ได้แต่เป็นนักปรัชญา ทำให้เรื่องมาก พูดได้มาก พูดจนตายก็ไม่จบ วนไปวนมาอยู่แต่ที่ตรงนี้ ไม่ตรงตามพระพุทธประสงค์ หนักเข้ามันก็เป็นยาเสพติดสำหรับนักปรัชญาเหล่านั้น ทีนี้จะเทียบ เปรียบเทียบกันดูว่ามันไม่เหมือนกันระหว่างเรียนธรรมะกับเรียนปรัชญา
เรียนอะไรถ้าเรียนอย่างปรัชญา ที่เทียบกับคำว่าฟิโลโซฝี
ยิ่งพลาดจากธรรมะที่ควรมี เพราะว่าเหตุที่ยิ่งเรียนไปยิ่งไม่ซึม
เพราะเรียนอย่างคำนวณสิ่งไม่มีตัว สมมติฐานเอาในหัวอย่างครึ้มครึ้ม
อุปมานอนุมานซ่านทึมทึม ผลออกมางึมงึมงับเอาไป
นี่มันเรียนปรัชญา
เรียนธรรมะมีวิถีวิทยาศาสตร์ มีตัวธรรมที่สามารถเห็นชัดใส
ไม่คำนวณหากแต่มองลงด้วยใจ ส่องลงได้ตามที่อาจฉลาดมอง
จะส่วนเหตุหรือส่วนผลยลประจักษ์ เห็นตระหนักว่าอะไรอย่างไรสนอง
แก่คำถามแจ้งถนัดชัดทำนอง ตามที่ต้องปฏิบัติชัดลงไป
ถ้าเราอย่าเรียนอย่างปรัชญา เราเรียนอย่างธรรมะ เรียนอย่างศาสนา เราจะพบของจริง อย่างน้อยก็เป็นความจริงที่เป็นความรู้สำหรับการปฏิบัติที่จะดับความทุกข์ได้ เดี๋ยวนี้เรามันไม่เรียนอย่างเรียนธรรมะที่จะได้ความรู้ ที่จะปฏิบัติเพื่อจะดับทุกข์ได้ เราไปเรียนอย่างเรียนหนังสือ เรียนวรรณคดี เรียนภาษา อย่างที่เรียนคันถธุระนั่น ระวังให้ดี มันจะเหมือนกับว่าขุดหลุมฝังตัวเอง สำหรับเรียนคันถธุระ อาตมาเขียนไว้ตามความรู้สึกอย่างนี้
คันถธุระคือเรียนร่ำพระคัมภีร์ ถี่ร้อยกรองกันเต็มที่ยุคทีหลัง
เป็นมัดมัดตู้ตู้ดูมากจัง เรียนจนคลั่งเคลิ้มคล้ายไปก็มี (อาตมาเคย)
ภาวนาว่านางฟ้าปิฎกไตร จงผูกใจข้าไว้ให้ถนัดถนี่
จะตายไปกี่ชาติกี่ภพมี ขอสมรสด้วยวาณีตลอดไป
เป็นการสืบศาสนาปริยัติ จะได้มีปฏิบัติที่แจ่มใส
แต่ดูดูคล้ายจะมุดคุดอยู่ใน ไม่อยากได้พระนิพพานสักท่านเดียว
นี่เรียนคันถธุระอย่างมหาศาล เรียนเสร็จยิ่งเกลียดพระนิพพาน อยากจะไปหากินอย่างนักปราชญ์ ก็เลยเรียนคันถธุระที่ไม่เป็นประโยชน์แก่พระศาสนา ทีนี้เรียนอย่างไรจะเรียนให้ถูกตัวพระศาสนาที่เรียกว่า เรียนศาสนา
เรียนศาสนาคำนี้ฟังวนเวียน เรียนศาสนาไม่แน่ว่าเรียนอะไรทำไมหนอ
เรียนนักธรรมเรียนบาลียังมิพอ ก็เรียนต่อกัมมัฏฐานการปัสสนา
เรียนเรียนไปก็ได้แต่ว่าเรียน บ้างก็เปลี่ยนเป็นอาพาธบ้าศาสนา
มีหลายอย่างบ้าระห่ำเกินธรรมดา กระทั่งบ้าลาภยศอดนิพพาน
เรียนศาสนานั้นต้องมีที่ตาหู เมื่อให้เกิดทุกข์อยู่ทุกสถาน
เรียนให้รู้ตรงที่จะชักสะพาน อย่าให้เกิดอาการมารรบกวน
เรียนตรงตรงลงไปที่ตัวทุกข์ ดูให้ถูกกรรมวิธีที่กระสวน
สกัดกั้นการปรุงแต่งแห่งกระบวน จิตปั่นป่วนสงบได้ทุกข์หายไป
ที่เรียกว่าเรียนศาสนาต้องเรียนที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อความทุกข์เกิดขึ้น อย่ามัวเรียนในกระดาษเลย เรียนในกระดาษนั้นเป็นเพียงเรียนวิธีที่จะไปเรียนจากตัวธรรมชาติ คือ ตัวความทุกข์ เดี๋ยวนี้มันเรียนแต่เรื่องในกระดาษอย่างเดียว ไม่ไปเรียนที่ตัวธรรมชาติที่ตัวทุกข์ ฉะนั้นถ้าใครจะเรียนศาสนา มันไม่ใช่เรียนอย่างเรียนนักธรรมเรียนบาลี หรือเรียนกัมมัฏฐานชนิดที่ไม่เรียนลงไปที่ตัวความทุกข์ เมื่อมีความทุกข์เกิดขึ้น ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจต้องเรียนที่ตรงนั้น กัมมัฏฐาน ส่วนมากไม่เรียนกันที่ตรงนั้น มันก็ไม่เกิดผลตามที่ควรจะเกิด
ทีนี้จะพูดให้ชัดก็ต้องเรียกว่า เรียนที่ตัวชีวิตกันจะดีกว่า เพราะปัญหามันมีอยู่ว่าเรามีชีวิตเป็นเดิมพัน ถ้าเราเรียนไม่ถูกวิธี มันก็ไม่เป็นผลเกิดขึ้นตามที่ควรจะมีจะได้ ขอให้เรียนวิปัสสนานั้นที่ชีวิตโดยตรง เขียน ข้อนี้ได้เขียนไว้ว่า
เรียนชีวิตอย่าแสวงจากแหล่งนอก อย่าเข้าไปในคอกแห่งศาสตร์ไหน
อย่ามัวคิดยุ่งยากให้ผากใจ อย่าพิจารณาจาระไนให้นุงนัง
อย่ายึดมั่นนั่นนี่ที่เรียกกฎ มันตรงตรงคดคดอย่างหมดหวัง
จงมองตรงลงไปที่ชีวิตัง ดูแล้วหยั่งลึกลงไปในชีวิต
ให้รู้รสหมดทุกด้านที่ผ่านมา ให้ซึมซาบวิญญาอย่างวิสิทธิ์
ประจักษ์ทุกข์ทุกระดับกระชับทิศ ปัญหาชีวิตจะเผยออกบอกตัวเอง
เรียนวิปัสสนาจริงๆ ต้องเรียนที่ชีวิต และต้องใช้คำว่าดู ปัสสนา แปลว่า ดูแล้วเห็น ปัสสี นุปัสสีก็แปลว่า ดูแล้วเห็น ไม่ใช่คิดคำนวณตามเหตุผล คิดคำนวณตามเหตุผลโดยนัยยะ โดยตรรกะนั้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสห้ามไว้โดยบาลีกาลามสูตร เรื่องคิดตามเหตุผลใช้ไม่ได้ เป็นอุปสรรคพาออกไปลงเหวแห่งความคิด แห่งความเพ้อเจ้อ ต้องดูแล้วเห็นเป็นผลของการเห็น เรียกว่า ความเห็นแจ้ง ถ้าคิดคำนวณแล้วเห็น เห็นด้วยการคิดคำนวณไม่ได้เห็นตรงๆ ลงไปอย่างนี้ มันไม่ใช่ความรู้อย่างพระพุทธศาสนา เป็นความรู้ที่นำไปสู่ทิฐิอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นสัจจาภินิเวส เดี๋ยวนี้มันเรียนอย่างนี้กันเสียหมด ขอให้เรียนวิปัสสนาด้วยการกระทำที่ตรงตามความหมายของคำว่าวิปัสสนา คือ ดูแล้วเห็น อย่าใช้หลับตาคำนวณ ซึ่งเป็นการคำนึงคำนวณด้วยเหตุ ด้วยผล ด้วยวิธีอย่างนั้นอย่างนี้ มันไม่ใช่การดูแล้วเห็น พุทธศาสนานี้ต้องดูแล้วก็เห็น เดี๋ยวนี้คนไม่ใช้วิธีนี้แม้เป็นอาจารย์วิปัสสนา ก็มิใช่ ก็ไม่ใช้วิธีนี้ ใช้วิธีคิดวิธีคำนวณ มันก็เพ้อเจ้อ ขอให้เปลี่ยนใหม่
อย่าคิดเก่งจนดูไม่เป็น เดี๋ยวนี้มันเรียนกันไปแต่ในทางคิดเก่งและดูไม่เป็น คนโง่ คิดเก่งแต่ดูไม่เป็นและก็ไม่ได้ดูและก็ไม่ได้เห็น มันมีแต่คิด มีแต่คำนวณ ฉะนั้นขอให้ตั้งสำนักวิปัสสนากันเสียใหม่ให้ถูกต้อง คือ ดูและเห็น อย่าคิด อย่าคำนวณ อย่าจูงจมูกกันไปด้วยการคิดการคำนวณด้วยการเชื่อผู้อื่น เชื่ออาจารย์นั่นเอง มันก็ไม่มีโอกาสที่จะดูและเห็น จะพูดถึงวิปัสสนาอีกสักนิดหนึ่ง อาตมาเขียนไว้ว่า
เรียนวิปัสสนาเพิ่งมีมาต่อภายหลัง ไม่เคยฟังในบาลีที่ตถา
ไม่แยกเป็นคันถะวิปัสสนา มีแต่ว่าตั้งหน้าบำเพ็ญธรรม
เพราะทนอยู่ไม่ได้ในกองทุกข์ จึงได้ลุกจากเรือนอยู่สู่เนกขัม
จัดชีวิตเหมาะแท้แก่กิจกรรม เพื่อกระทำให้แจ้งแห่งนิพพาน
ในบัดนี้มีสำนักวิปัสสนา เกิดขึ้นมาเป็นพิเศษเขตสถาน
ดูเอาจริงยิ่งกว่าครั้งพุทธกาล ขอให้ท่านจริงดีมีปัสสนา
ทีนี้คำว่า ทำวิปัสสนา นี้มันเพิ่งมี เพิ่งพูดเพิ่งใช้ ครั้งพุทธกาลใช้คำอย่างอื่น แม้ว่าจะมีคำว่าวิปัสสนา ก็ท่านหมายถึง การดูแล้วเห็น เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดูแล้วเห็น ดูลงไปสิ่งที่เป็นอนิจจังทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่มาสอนด้วยวิธีคำนวณอย่างในโรงเรียนที่สอนกันอยู่อย่างนั้น เหตุผลอย่างนี้ เหตุผลอย่างนั้น เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นอนิจจัง เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นทุกขัง นี้มันเป็นเรื่องคำนวณ ไม่ใช่ดูแล้วเห็น เพราะฉะนั้นขอให้มีการเรียนวิปัสสนาชนิดที่ว่า ดูลงไปจริงๆ แล้วก็เห็นให้สมกับคำว่าวิปัสสนา
ทั้งหมดนี้มันก็เป็นเรื่องล้อตามเคย อาตมาไม่กลัวบาปที่จะไปล้อ เพราะว่าการล้อนี้มันเป็นการบอกให้ดูตามที่มันเป็นอยู่จริง ฉะนั้นการล้อนี้ไม่บาป การล้อนี้เป็นการล้ออย่างวิธีที่สหายผู้หวังดีจะล้อ ไม่ได้มุ่งจะประจานใครอย่างที่รัชกาลที่ ๖ ท่านได้เขียนไว้เป็นคำกลอนมีใจความว่าอย่างนั้น ล้ออย่างเพื่อนผู้หวังดี ไม่ได้ล้อจะประจานให้วินาศฉิบหายอะไร นี่การบำเพ็ญบุญเนื่องในการล้ออายุนี้มันเป็นอย่างนี้ มันคงไปล้อเอาท่านหลายๆ คนก็ด้วย หรือว่าไปล้อท่านทั้งหลายทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ด้วย อาตมาจึงชวนว่า ท่านทั้งหลายทุกคนก็หัดล้อกันเสียบ้าง อาตมามาทำบุญร่วมกันทำบุญล้ออายุแล้ว ทุกคนช่วยหัดเป็นนักล้อกันเสียบ้าง ถ้าไม่เหมาะที่จะไปล้อใครก็ล้อตัวเอง ล้อตัวเอง คือ ล้ออายุ ล้ออายุ คือ ล้อทุกๆ สิ่งที่มันเข้ามาเกี่ยวข้องกันกับอายุของเรา นับตั้งแต่อ้อนแต่ออก คลอดมาจากท้องแม่ มันดีๆ อยู่ มันก็มาทำให้เป็นบ้าเสีย เต็มไปด้วยตัวกู เต็มไปด้วยของกู เต็มไปด้วยกิเลสอนุสัย มีอาสวะไหลนอง เป็นการกระทำที่เป็นไปเพื่อความทุกข์ทั้งตัวเองและผู้อื่น
นี่ก็คือการบำเพ็ญบุญชนิดที่เรียกว่า ล้ออายุ เนื่องในการล้ออายุสำหรับอาตมาที่จะพูดจากันเป็นตอนแรกของวัน คือ ในตอนเช้านี้เรียกว่า บรรยายอย่างปราศรัย ไม่ใช่เทศนา ไม่ต้องพนมมือไหว้ก็ได้ ดูเถอะมันพูดบ้าๆ บอๆ ไปตามเรื่องที่จะล้อ ไม่ใช่เทศนา ไม่ต้องพนมมือไหว้ก็ได้ ถ้าไหว้ก็หมายความว่าเห็นด้วย จะเป็นนักล้อร่วมกับอาตมา คิดว่าอย่างนี้ ขอให้ทุกคนที่มานี้ได้รับประโยชน์จากการมานี้คุ้มค่ากัน อาตมาก็จะไม่ต้องเป็นผู้ที่ทำให้คนอื่นขาดทุน ทำอะไรแล้วได้ผลไม่คุ้มค่า แล้วยมบาลเขาก็จะโกรธ เขาก็จะไม่ให้ลูกสาว
การบรรยายในตอนเช้านี้ก็พอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติการบรรยาย สำหรับอาตมาสำหรับตอนเช้านี้ไว้สักทีหนึ่งก่อน แล้วค่อยพูดกันตอนบ่ายและตอนค่ำ ขอบอกท่านทั้งหลายว่าเป็นโชคดีที่สุดของท่านทั้งหลายที่ท่านปัญญานันทะได้มาทันเวลาของเราพอดี ท่านต้องพูดสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายเป็นแน่นอน เพราะฉะนั้นขอให้ท่านทั้งหลายเตรียมตัวฟังคำพูดของท่านอาจารย์ปัญญานันทะด้วย ขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยจัดที่ตรงนี้ให้ท่านปัญญาได้ปราศรัยกับญาติโยมทั้งหลายด้วย