แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผมจะพูดถึงอานิสงส์สูงสุดของการบังคับความรู้สึกต่อจากครั้งที่แล้วมา ซึ่งพูดไม่จบเพราะฝนตก ในครั้งที่แล้วมาได้พูดถึงการบังคับความรู้สึกในชั้นที่ละเอียดที่สุด หรือว่าแยบคายที่สุด ลึกซึ้งที่สุด คือการบังคับความรู้สึกเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า ขันธ์ทั้ง ๕
บางคนก็ไม่รู้ว่าขันธ์ทั้ง ๕ คืออะไร เกิดขึ้นมาอย่างไร ก็เลยต้องพูดกันบ้าง ว่าขันธ์ทั้ง ๕ นั้น มันเกิดพร้อมกันไม่ได้ คนๆ หนึ่งมันจะเกิดความรู้สึกที่เป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อะไรพร้อมกันคราวเดียวนี่มันไม่ได้ ฉะนั้นจึงมีเป็นขั้นตอน ขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ รูปขันธ์เกิดเมื่อรูปกายนี้ทำหน้าที่ เช่นเมื่อตาเห็นรูป ตานี่มันเป็นรูป เป็นรูปธรรมทำหน้าที่เห็นรูป ก็เรียกว่ารูปขันธ์เกิดทางตาหรือที่ตา หรือเมื่อหูมันทำหน้าที่ได้ยินเสียง รูปขันธ์ที่เกี่ยวกับหูหรือเป็นหู มันก็เกิด เมื่อจมูกมันได้กลิ่น ก็เรียกว่าจมูกนี่เป็นรูปขันธ์มันก็เกิด ลิ้นได้รส ลิ้นที่เป็นรูปขันธ์นี้มันก็เกิด กาย ผิวหนังได้สัมผัส มันก็เกิดรูปขันธ์ที่เป็นผิวกาย ผิวหนัง นี่ต้องรู้ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่มันก็ทำหน้าที่ตามเรื่องของมัน แต่ไม่อาจจะทำพร้อมกันได้ มันก็ทำทีละอย่าง ตาก็ทำไปตามแบบของตา หูก็ทำไปตามแบบของหู ต่อเมื่อมันทำหน้าที่จึงเรียกว่ารูปขันธ์เกิด ถ้ามันไม่ได้ทำหน้าที่เราก็มีร่างกายเฉยๆ เราก็เรียกได้ว่า ธาตุ มันมีแต่ธาตุ เช่นรูปธาตุ หรืออย่างดีก็ว่า จักษุธาตุ ก็มีอยู่ โสตธาตุ ก็มีอยู่ ฆานธาตุก็มีอยู่ ชิวหาธาตุก็มีอยู่ มันล้วนแต่สักว่าเป็นธาตุ ต่อเมื่อมันทำหน้าที่ทางตา เป็นต้น จึงเรียกว่ารูปขันธ์เกิด นี่ส่วนรูปขันธ์ ความรู้สึกในขณะนั้นก็ต้องได้รับการควบคุม การบังคับ เพราะเดี๋ยวมันก็จะไปเกิดหลงรัก หลงยึดถือเอาในรูปขันธ์ เช่นมีตาเป็นต้น ถ้าบังคับความรู้สึกไว้ได้ก็ไม่เกิดกิเลส เช่น ไม่หลงรักว่ารูปของเรา หรือเรามีรูป เราเป็นรูป เราอยู่ในรูป รูปอยู่ในเรา อะไรก็แล้วแต่ แล้วแต่มันจะโง่ไป
ทีนี้เมื่อรูปมันทำหน้าที่ เช่น ทางตาทำหน้าที่กับรูปภายนอกจนเกิดจักษุวิญญาณ สามประการนี้เรียกว่าผัสสะ พอผัสสะแล้วมันก็มีความรู้สึกที่เรียกว่า เวทนา ก่อนนี้เวทนาไม่ได้เกิด เวทนาขันธ์ยังไม่ได้เกิด เพิ่งเกิดเมื่ออายตนะภายใน-นอก กระทบกันเกิดจักษุวิญญาณ สามประการนี้ถึงกันเรียกว่าเวทนา นี่เวทนาขันธ์เกิด ในขณะนี้ก็ต้องบังคับความรู้สึก ต้องรู้จัก และรู้สึก และควบคุม มิฉะนั้นมันจะทำผิดเกี่ยวกับเวทนานั้น ยินดีในสุขเวทนา ยินร้ายในทุกขเวทนา เห็นเวทนาเป็นตน เห็นตนในเวทนา เห็นเวทนาในตน แล้วแต่มันจะโง่อีกเหมือนกัน เราจึงต้องบังคับความรู้สึกในขณะที่เกิดเวทนาขันธ์ อย่าให้มันยินดียินร้ายในเวทนานั้นๆ
เวทนาขันธ์เกิดแล้ว ทำหน้าที่ของมันเสร็จแล้ว มันก็เปลี่ยนรูปเป็นสัญญาขันธ์ คือความสำคัญมั่นหมายลงไปว่า นี่เป็นอย่างไร และถ้ามันซ้ำๆ กันกับคราวก่อนโน้น มันก็จำได้ว่าเป็นอะไร แล้วเดี๋ยวนี้มันก็สำคัญมั่นหมายลงไป เช่น สุขเวทนา มันก็สำคัญว่าสุขเวทนาของกู หรือสำคัญว่าทุกขเวทนาของกู นี่มันจะมีสัญญาคือความหมายมั่นอย่างนั้นอย่างนี้ไปตามความโง่อีกเหมือนกัน ความสำคัญว่าเป็นอะไรนั่น มันก็เป็นของที่หลอกให้เห็นว่าเป็นตัวตน คือมีผู้สำคัญ มีผู้สำคัญว่าเป็นอะไร ก็มีทางที่จะเอาสัญญานั้นเป็นตัวตนหรือมันจะเอาสัญญาเป็นของตนก็ได้ แล้วก็สำคัญมั่นหมายว่าสัญญาของกูนี้ดี กูมีสัญญาดี ก็ยังได้ มันไม่เหมือน มันไม่อาจจะกล่าว มันไม่อาจจะกล่าวตายตัวลงไปว่ามันมีอย่างไร มันมีเหตุมีปัจจัยก็ทำให้เกิดความหมายมั่นไปตามเหตุตามปัจจัยนั้น ซึ่งมันต่างๆ กัน แต่ให้รู้เถิดว่าถ้ามันมีสัญญาแล้วมันก็หมายมั่น ก็คือหมายมั่น พอหมายมั่นแล้วมันก็มีตัวมีตนที่เป็นทุกข์ ฉะนั้นในขณะที่เกิดสัญญาก็ต้องบังคับความรู้สึก มีการบังคับความรู้สึก ไม่เกิดเป็นตัวตนมันก็ไม่มีความทุกข์ มันก็ไม่หนัก
ทีนี้สัญญาขันธ์มันทำหน้าที่หมายมั่นอะไรของมันเสร็จไปแล้ว มันก็เป็นโอกาสหรือเป็นลำดับของสังขารขันธ์ ที่มันจะคิดต่อไปอีกตามอำนาจของสัญญานั้น เช่น สัญญาว่าสวย สัญญาว่าของกูสวย อะไรก็ตาม มันก็คิดต่อไปอีกว่าจะทำอย่างไร หรือของเขาสวย ของเขาไม่สวย มันก็คิดต่อไปอีกว่าจะทำอย่างไร ตอนนี้เป็นความคิดที่จะเป็นคิดดีก็ได้ คิดชั่วก็ได้ หรือไม่ถึงกับ ไม่บัญญัติว่าดีว่าชั่วก็ได้ เป็นความคิด ตอนที่เป็นความคิดนี่ก็เรียกว่าสัญญาขันธ์เกิด ขันธ์อื่นๆ มันก็หยุดระงับไป ทีนี้มันอาจจะหลง สำคัญ ไอ้ความคิดนั้นแหละว่าตัวกู หรือสำคัญเป็นมีตัวกูผู้คิด หรือว่าความคิดของกู หรือบางทีก็เอาตัวความคิดนั่นแหละเป็นตัวกูเสียเลย มันแล้วแต่ความโง่มันมากหรือน้อยของคนๆ นั้นมันศึกษามาผิดถูกอย่างไร ฉะนั้นท่านจึงจำแนกไว้หลายๆ อย่าง สังขาร ความคิดนั้นเป็นเรา เราเป็นเจ้าของสังขาร หรือว่าสังขารมีในเรา เรามีในสังขาร สังขารเป็นของเรา ก็แล้วแต่มันจะยึดถือไป ถ้ายึดถืออย่างนี้ บังคับความรู้สึกไว้ไม่ได้ มันก็ต้องเป็นทุกข์
ที่นี้อันสุดท้ายคือวิญญาณนี่ ทำไมมาอยู่ข้างหลัง สุดโต่ง เพราะมันทำหน้าที่ได้ตลอดเวลา ทำหน้าที่เมื่อตาแรกเห็นรูปก็ได้ ก็เรียกว่าจักษุวิญญาณ เกิดสุขเวทนาขึ้นมาแล้วก็สัมผัสในเวทนานั้น รู้สึกต่อเวทนานั้นก็ยังได้ นี่มันสัมผัสธรรมารมณ์ตอนไหนก็ได้ สัมผัสเอาสัญญาก็ได้ สังขารก็ได้ เพราะว่าคำว่าวิญญาณนี้มันมีขอบเขตกว้าง โดยเฉพาะมโนวิญญาณ มันสัมผัสอะไรที่ไหนก็ได้ ในขันธ์ ๕ หนึ่งชุดจะเกิดวิญญาณตั้งหลายๆ ตอน หลายๆ ระดับก็ได้ เอาไว้ข้างหลังก็ดีแล้ว ทีนี้เมื่อวิญญาณทำหน้าที่ทางตาก็ดี ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ดี ถ้าไม่มีสติปัญญา ไม่รู้เท่าทัน ไม่บังคับความรู้สึกไว้ได้ มันก็อย่างเดียวกันอีก คือหลงยึดถือเอาเป็นตัวตน เป็นของตน เป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องไปศึกษา สังเกตต่อไปข้างหน้า วิญญาณนี่มันทำหน้าที่ ที่จะเห็น หรือจะได้ยิน หรือจะได้ดม หรือจะได้ลิ้มรส หรือจะได้สัมผัสผิวหนัง หรือจะได้คิด ได้นึก ถ้าปล่อยไปตามความรู้สึกของคนทั่วไปแล้ว มันจะรู้สึกว่าวิญญาณน่ะเป็นตัวตน คือจิตนี่แหละเป็นตัวตนมากกว่าอย่างอื่น แต่นั่นมันจะเป็นเฉพาะในขณะที่วิญญาณขันธ์ปรากฏอยู่ ทีนี้เมื่อวิญญาณขันธ์ไม่ได้ปรากฏอยู่ ขันธ์อื่นมันปรากฏอยู่ มันก็ไปเอาตัวตนในขันธ์อื่นได้ ดังนั้นจึงมีทางที่จะยึดรูปขันธ์เป็นตัวตนของตนก็ได้ ยึดเวทนาขันธ์เป็นตัวตนเป็นของตนก็ได้ ยึดสัญญาขันธ์เป็นตัวตนของตนก็ได้ ยึดสังขารขันธ์เป็นตัวตนของตนก็ได้ แม้กระทั่งยึดเอาวิญญาณขันธ์นั่นเองว่าเป็นตัวตนก็ได้ แล้วแต่ว่าขันธ์อันไหนมันกำลังเกิดขึ้นหรือดำรงอยู่ในขณะแห่งความรู้สึก
นี่ทำให้เรารู้จักสิ่งที่เรียกว่า เบญจขันธ์หรือขันธ์ทั้ง ๕ ได้ดี อย่างน้อยก็จะเข้าใจถูกเสียใหม่ว่า มันเกิดพร้อมกันทั้ง ๕ ไม่ได้ มีหลักที่จะแจกออกไปเป็น บางทีก็ยึดรูป บางทีก็ยึดเวทนา บางทีก็ยึดสัญญา บางทีก็ยึดสังขาร บางทีก็ยึดวิญญาณ นี่ที่จะยึดให้เป็นตัวตน ไปทบทวนเสียให้ดีว่า ขันธ์ ๕ คืออะไร ที่แล้วมามันยังไม่ถูกต้อง กล้าพูดอย่างนี้ และถ้าเป็นพุทธบริษัทแล้วไม่รู้จักขันธ์ ๕ นี่มันจะเรียกว่าอะไรดี ก็ไม่เป็นพุทธบริษัท ไม่ใช่ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แล้วมันก็จะเป็นบรมโง่ คือไม่รู้จักขันธ์ ๕ ทั้งที่เป็นพุทธบริษัท มันเกินไป เมื่อเขาไม่เรียกตัวเองว่าพุทธบริษัทก็ตามใจเขาสิ เขาไม่ต้องรู้จักสิ่งที่พุทธบริษัทจะต้องรู้ก็ได้เหมือนกัน เดี๋ยวนี้เราเป็นพุทธบริษัทแล้ว เรามันต้องรู้ รู้ให้ถูกต้องในสิ่งที่พุทธบริษัทจะต้องรู้อย่างยิ่งกว่าสิ่งใดหมด นั่นน่ะคือขันธ์ ๕ เราจะถือว่าเหมือนกับ ก ข กอ กา ของการศึกษา แต่เดี๋ยวนี้ศึกษาพระธรรม ก็เป็น ก ข กอ กา ของพระธรรม เหมือนกับเด็กๆ เขาเรียนหนังสือ เขาเรียน ก ข กอ กา กี่ปีไปตามเรื่องของเขาก่อน นั่นมันเรื่องของหนังสือ เดี๋ยวนี้ถ้าเราจะศึกษาพระธรรม ก็เรื่องขันธ์ ๕ นี่แหละคือ ก ข กอ กา เริ่มมาแต่ว่า ตาเห็นรูป เกิดจักษุวิญญาณ นี่รูปขันธ์เกิด สามประการนี่ถึงกันเข้าแล้วเรียกว่าผัสสะ เพราะผัสสะจึงมีเวทนา นี่เวทนาขันธ์เกิด เวทนาขันธ์เกิดแล้วก็หมายมั่นในเวทนาขันธ์นั้น นี่สัญญาขันธ์เกิด เมื่อหมายมั่นแล้วก็เกิดความคิดอย่างใดอย่างหนึ่งไปตามความหมายมั่นนั้น นี่เรียกว่าสังขารขันธ์มันเกิด ส่วนวิญญาณขันธ์นั้นคือความรู้แจ้ง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เดี๋ยวตรงนั้นบ้าง เดี๋ยวตรงนี้บ้าง เดี๋ยวตรงโน้นบ้าง ที่ซ้ำซากก็คือมโนวิญญาณ จะสัมผัสลงไปบนเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ ล้าพูดอย่างนี้งไม่ถูกต้องดสังขารรูป บางทีก็ยึดเวทนาสังขารขันธ์ ก็ยังได้ แล้วเป็นเหตุให้ยึดถือว่าเป็นตัวตนเป็นของตนได้ด้วยกันทุกขันธ์
ทีนี้ถ้าเรารู้จักสิ่งเหล่านี้ สำรวมระวังดี บังคับความรู้สึกได้ในทุกๆ ขณะที่ขันธ์มันจะเกิด จะเป็นขันธ์ไหนก็ตาม ก็จะไม่มีทางเกิดอุปาทานขันธ์ คือไม่ยึดมั่นขันธ์นั่นเอง ขันธ์ก็สักว่าขันธ์ เมื่อไม่ถูกยึดมั่น มันก็ไม่ทำอะไร ต่อไปยึดมั่นมันเข้า มันจึงจะกัดเอา เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา โดยสรุปแล้ว ปัญจุปาทานขันธ์เป็นตัวทุกข์ เสยยะถีทัง อะไรบ้างเล่า รูปูปาทานักขันโธ ขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยความยึดมั่นคือรูป ขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยความยึดมั่นคือเวทนา ขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยความยึดมั่นคือสัญญา ขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยความยึดมั่นคือสังขาร ขันธ์ที่ประกอบด้วยความยึดมั่นคือวิญญาณ นี่ต้องสังเกตดูให้ดี และต้องระบุให้ชัดลงไปว่า ขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยความยึดมั่น คือมีความยึดมั่น คือมีจิตประกอบด้วยอวิชชาและไปยึดมั่นมันเข้า มันจึงจะเป็นทุกข์ ถ้าไม่ได้ยึดมั่นมันก็ยังไม่เป็นทุกข์ในความหมายที่ว่าเป็นทุกข์อย่างนี้ เป็นทุกข์ในความหมายอื่น ทุกข์ในความหมาย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นมันหมายความว่าดูแล้วมันก็เห็นลักษณะที่เป็นทุกข์ มันคือมีลักษณะแห่งความทุกข์ ไม่ใช่เป็นทุกข์ชนิดที่ขบกัดเหมือนกับว่าไปยึดมั่นถือมั่นเข้า ขันธ์ไหนที่ไปยึดมั่นเข้าแล้ว มันก็กลายเป็นสัตว์ร้ายขึ้นมาทันที ขบกัดเอา มีความทุกข์ จึงสรุปความว่าถ้าเก่งจริงถึงที่สุดกันแล้ว มันก็จะต้องควบคุมความรู้สึกไว้ได้ ไม่ว่าขันธ์ไหนจะเกิดขึ้น ไม่ว่าในขณะแห่งขันธ์ไหนกำลังเกิดขึ้น เราจะรู้จัก รู้สึก และควบคุมมันไว้ได้ นี่ไม่มีทางที่จะเป็นทุกข์เลย
ทีนี้เมื่อพวกคุณจะสึกไปเป็นฆราวาส แล้วผมพูดเรื่องอย่างนี้ให้ฟัง คนเป็นอันมากเขาก็ว่าผมบ้า หรือโง่ หรือบรมโง่ อะไรก็ตาม เมื่อไปพูดเรื่องอย่างนี้ให้ฆราวาสฟังหรือให้คนที่จะเป็นฆราวาสฟัง เขาเคยว่าผมอย่างนี้ แล้วก็ยังอาจจะว่าอยู่กระทั่งเดี๋ยวนี้ก็ได้ ก็ตามใจ ใครจะว่าอย่างไรได้ทั้งนั้น แต่ผมเห็นว่าไอ้เรื่องทั้งหมดมันสรุปอยู่ที่นี่ จะของฆราวาสก็ตาม ของบรรพชิตก็ตาม มันสรุปอยู่ที่นี่ คือข้อที่ว่า ยึดมั่นที่ไหนมีความทุกข์ที่นั่น ไม่ยึดมั่นที่ไหนก็ไม่มีความทุกข์ที่นั่น นี่เป็นฆราวาสแล้ว มีเรื่องยึดมั่นมาก ก็ควรจะรู้จักทำความไม่ยึดมั่น มันจะได้เป็นทุกข์น้อยหน่อยสมกับที่ได้บวช ไม่เสียผ้าเหลือง ไม่อย่างนั้นมันเสียเวลา เสียผ้าเหลือง เสียอะไรหลายๆ อย่าง ตรงที่ไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากการบวชของตน ทีนี้ก็ไปคิดดูให้ดี คนที่เขาว่าเราอย่างนั้นอย่างนี้ เขาว่าถูกหรือไม่ถูก หรือเขาหลับตาว่า ทั้งที่เขาไม่รู้ว่ามันว่าอะไร ไอ้คนนั้นคงไม่รู้จักขันธ์ ๕ แน่ แล้วก็ไม่รู้จักเรื่องความยึดมั่นถือมั่นด้วย มันเป็นคนบรมโง่ แล้วมันก็ว่าคนอื่นบรมโง่ ก็ไม่ต้องพูดกัน
ผมพูดเป็นเรื่องสรุป ยอดสุด หรือหมด หรือครั้งสุดท้ายเลย เพราะว่าพรรษานี้มันหมดแล้ว วันนี้เลยเป็นการพูดครั้งสุดท้าย ก็พอดีมาจบลงตรงที่ว่า ประโยชน์หรืออานิสงส์สูงสุดของการบังคับความรู้สึก ถ้าคุณจะทบทวนความจำให้ดีตั้งแต่วันแรกที่พูด เราก็ได้พูดถึงการบังคับความรู้สึกหลายๆ รูปแบบ อย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น เรื่องกินเรื่องอยู่ เรื่องอาบเรื่องถ่าย เรื่อง ทุกอย่างแหละ จะเป็นกี่เรื่องหรือกี่แบบหรือกี่หมวดก็ตาม แต่ทั้งหมดนั้นมันมาสรุปอยู่ที่นี่ สรุปอยู่ที่มันไม่ยึดมั่นในเรื่องขันธ์ ๕ พูดให้คนทั่วไปฟัง ไม่เอ่ยถึงขันธ์ ๕ ก็ดีเหมือนกันเพราะเขาฟังไม่ถูก ก็พูดไปเรื่องยึดมั่นเรื่องเงิน เรื่องของเรื่องทอง เรื่องลูกเรื่องเมีย เรื่องเกียรติยศชื่อเสียง เรื่องกินเรื่องกามเรื่องเกียรติ ก็พูดไปเถอะ มันก็พูดได้ พอจะฟังถูก แต่แล้วใจความอันละเอียดแท้จริงของมัน มันอยู่ที่ยึดมั่นขันธ์ ๕ ถ้าเรามีเงิน มันก็มีจิตที่สัมผัสหรือรู้สึกในความมีเงิน ถึงกับมีเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์เกี่ยวกับการมีเงิน นี่รูปขันธ์มันก็เกิดได้ เช่น เห็นเงินด้วยตา หรือว่าได้ยินได้ฟังว่าเงินนี้มาเป็นของเราแล้ว อย่างนี้เป็นต้น หรือว่าทำด้วยหู เรื่องมีลูกมีเมีย มีอะไรก็เหมือนกันอีก มันจะมีเรื่องให้เกิดขันธ์ทั้ง ๕ ได้ทั้งนั้นแหละ แต่ถ้ามันละเอียดเกินไป ศึกษาไม่ไหวหรือไม่อยากจะศึกษาก็ตามใจ ก็ใช้คำสั้นๆ ว่า ยึดมั่นเรื่องเงินเรื่องทอง เรื่องข้าวเรื่องของ ไปตามเรื่อง แต่ในชั้นละเอียดที่สุดมันจะกระจายออกเป็นเรื่องของขันธ์ ๕ เหมือนกัน
ฉะนั้นเป็นอันว่าผมก็ได้พูดแล้วทั้งอย่างละเอียดและอย่างหยาบ ได้พูดแล้วทั้งอย่างธรรมดาสามัญ ในภาษาคน เช่นว่ายึดเรื่องเงิน เรื่องของ เรื่องลูกเรื่องเมีย นี่พูดในภาษาคน ถ้ายึดความรู้สึกที่เป็นขันธ์ทั้ง ๕ นี้ก็เรียกว่าภาษาธรรม ซึ่งมันละเอียดกว่ากันมาก ก็ควรจะจำไว้ด้วย พูดอย่างละเอียดอย่างไร พูดอย่างหยาบอย่างไร เพราะว่าจะต้องศึกษากันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตายหรือกว่าจะเป็นพระอรหันต์เสียก่อน ถ้ามันยังไม่เป็นพระอรหันต์เสียก่อน มันก็ต้องศึกษากันไปจนตาย ฉะนั้นจำไว้ดีกว่า เมื่อไม่มีความยึดมั่นในสิ่งใด ก็ไม่มีความทุกข์โดยประการใดในสิ่งทั้งปวง จะไม่ยึดมั่น ก็รู้เท่าทัน หรือบังคับความรู้สึกไว้ได้ด้วยสติด้วยปัญญา ซึ่งก็ได้เคยพูดแล้วในครั้งที่แล้วๆ มา แต่เดี๋ยวนี้เราพูดด้วยคำสรุปสั้นๆ ว่า บังคับความรู้สึก อย่าให้เกิดในรูปนั้น ถ้าเกิด ให้เกิดในรูปที่ไม่เป็นอันตราย เช่น เกิดในรูปของปัญญาเสีย มีเวทนาเกิดขึ้นแล้ว ทำให้ความรู้สึกมันรู้เท่าทัน เกิดปัญญาเสีย อย่าให้เวทนามันทำให้เกิดตัณหา นี่เรียกว่าควบคุมความรู้สึกไว้ได้ บังคับความรู้สึกไว้ได้ เมื่อมันจะไปตามสายของปฏิจจสมุปบาทที่เป็นความทุกข์ เรายึดไว้ได้ ควบคุมไว้ได้ ไม่ให้ไป ให้หยุดอยู่ในขอบเขตของปัญญา รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรหรือไม่ต้องทำอย่างไร แล้วก็ไม่เป็นทุกข์ คำว่า บังคับความรู้สึก มันมีความหมายอย่างนี้ จะเรียกว่าควบคุมความรู้สึกก็ได้ เอาสติมาควบคุมความรู้สึกไว้ ไม่ให้รู้สึกไปตามทางแห่งความทุกข์ ให้รู้สึกอยู่ในทางของความไม่มีทุกข์ แล้วก็ให้ทำอะไรได้ด้วย ให้ทำการทำงาน ทำอะไรที่เป็นความเจริญ เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นได้ด้วย ชีวิตมีเท่านี้พอ ไม่มีความทุกข์เลย และเคลื่อนไหวในลักษณะที่เป็นประโยชน์ตนและผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา ชีวิตมันมีเท่านี้พอ คิดมาก หวังมากไปกว่านี้ มันก็โง่ มันก็มีความทุกข์ หรือถ้ามันรู้จริงที่บัญญัติ มันก็ไม่คิด มันสนุกไปในการทำการงาน เมื่อได้ทำการงาน จิตใจมันพอใจด้วยสติปัญญา แล้วมันมีความสุขในการทำการงาน ไม่ต้องไปหากามารมณ์ที่ไหน ไม่ต้องไปทำอะไรที่เขาเรียกกันว่าความสุข เพราะมันมีความสุขอยู่แล้วในการทำงาน รู้สึกว่าได้มีการกระทำที่ถูกต้อง ก็คือการประพฤติธรรม ทำการงานเมื่อทำถูกต้อง ทำดี มีประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นนั้นเรียกว่า การประพฤติธรรม อันนี้ก็เรื่องหนึ่งที่คนเขาไม่ค่อยเชื่อผม เขาหาว่า ว่าเอาเอง ว่าการงานคือการปฏิบัติธรรม หรือว่าการปฏิบัติธรรมมันมีอยู่ในการทำงาน นี่เขาไม่ค่อยเชื่อ แต่ค่อยๆ ให้เขาคิด ให้เขาค่อยๆ เห็น แล้วค่อยๆ เชื่อ
เมื่อทำการงานเราต้องมีธรรมะมาก มีปัญญารู้จักการงานที่จะทำ มีสติ มีสัมปชัญญะ มีสัจจะ มีทมะ มีขันติ มีศรัทธา มีความกล้าหาญ มีความเหมาะสมทุกอย่างที่จะทำ มันก็มีธรรมะอยู่ในการทำการงาน แล้วสำคัญที่สุดก็คือทำด้วยสติ ไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวเราหรือเป็นของเรา จนกระทั่งว่าเหมือนกับทุกวันไม่ได้ทำการงานอะไร มีแต่ความสุข นี่มันลึกไป ทั้งวันฉันไม่ได้ทำอะไร เพราะฉันไม่มีตัวฉันที่จะทำ ฉันไม่ได้หมายมั่นว่าฉันทำ มีการเคลื่อนไหวไปด้วยสติปัญญาของกายและใจนี้ นามรูปมันทำ ด้วยสติปัญญา ก็ช่างหัวมันสิ อย่าเอานามรูปมาเป็นฉันและฉันก็ไม่ได้ทำ จิตใจนี้ก็ไม่มีความทุกข์ นี้ก็เรียกว่าไม่มีตัวตนที่ทำการงาน แต่มีการกระทำที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ใครบังคับความรู้สึกไว้ได้อย่างนี้ก็เรียกว่าประเสริฐที่สุดแล้ว เพราะที่จริงก็คือพระอรหันต์เท่านั้นที่จะทำได้อย่างนี้ ทีนี้เรานี่ไม่ได้ทำได้เด็ดขาด แต่ว่าทำได้บ่อยๆ ก็ยังดี มีความสุข มีสติสัมปชัญญะ ควบคุมความรู้สึกให้เป็นอยู่อย่างนี้ ก็เรียกว่ามันเป็นการปฏิบัติธรรมสูงสุดอยู่ในตัวการทำงาน หรือจะพูดเอาเปรียบหน่อยก็ว่า ชีวิตทั้งหมดมันเป็นการปฏิบัติธรรมะไปเสียเลยก็ได้ เอาเพียงว่าทำสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่ เพราะว่าสึกออกไปนี้ ไปทำการทำงาน และการงานนั้นทำให้มันเป็นการปฏิบัติธรรม การงานนั้นมันเป็นประโยชน์แก่ตนเอง แก่ผู้อื่น แก่ประเทศชาติ แก่โลกก็ได้ เมื่อรู้สึกอยู่อย่างนี้ หรือเมื่อเราสามารถบังคับให้มันมีความรู้สึกอยู่แต่อย่างนี้ เราก็ไม่มีความทุกข์ ปัญหาก็ควรจะหมด ไม่มีความทุกข์ มีแต่การเคลื่อนไหวในหนทางที่เป็นประโยชน์ จะเรียกว่าความสุขก็ได้ ถ้าอยากจะมีความสุข แล้วก็ให้มีความปีติ พอใจ ว่านี้มันเป็นไปถูกต้องแล้ว ที่เป็นไปนี้มันถูกต้องแล้ว เพราะฉะนั้นมันก็มีธรรมปีติ คือมีปีติในธรรม คนนั้นก็มีความสุขทันที และก็มีตลอดเวลาด้วย ฉะนั้นเขาจึงมีความสุขในการทำงานอยู่ได้ คนหนุ่มๆ เหล่านี้ไม่ต้องไปอาบอบนวด ไม่ต้องไปสถานเริงรมย์ ไม่ต้องไปอบายมุขที่ไหน ก็มีความสุขอยู่ได้ด้วยอำนาจของธรรมปีตินั้น
ฉะนั้นการทำงานจึงเป็นการปฏิบัติธรรมและเป็นความสุขอยู่ในตัวมันเอง เงินเดือนไม่ต้องเอาก็ได้ เพราะมันเป็นความสุขอยู่ในตัวการทำงาน มันมีเรื่องนิดเดียว ที่จะต้องกินอาหารบ้าง อะไรบ้าง มันเป็นเรื่องนิดเดียว แต่ก็สู้ความสุขในการทำงานไม่ได้ จะมีความสุขตลอดเวลา เพราะว่าเราก็ทำงานอยู่ตลอดเวลา ทำงานโดยตรงที่ออฟฟิศ ที่อะไรก็ทำไป มันก็มีความสุข ทำงานทั่วๆ ไป แม้แต่จะกิน จะอาบ จะถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ก็ต้องเรียกว่าทำงานด้วยเหมือนกัน เพราะมันต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ มันก็ยังมีความสุข เพราะรู้สึกว่ามันไม่มีอะไรผิดพลาด มีแต่ความถูกต้องที่ทำอยู่, ทำอยู่, ทำอยู่, ทำอยู่ ก็พอจะมีปีติในตัวเองได้ ฉะนั้นจึงเป็นคนสบายเหมือนกับบ้า มันไม่รู้จักความทุกข์ มันก็สบายไปหมดเหมือนกับคนบ้า จะเรียกว่าสบายจนเป็นบ้ามันก็ถูกนะ มันไม่มีความทุกข์ในเมื่อมันตั้งจิตไว้ถูกต้องตามพระพุทธภาษิตนี้ มันไม่มีอะไรหรอกที่จะมีความสุขนอกจากการตั้งจิตไว้ถูกต้อง นี่ผมเรียกว่าอานิสงส์สูงสุดของการบังคับจิต ขอให้คุณสนใจ แล้วก็เป็นเรื่องปิดรายการเหมือนกับจบที่นี่ บังคับความรู้สึกได้ถึงขนาดนี้ คนนี้ก็ไม่มีปัญหาอีกต่อไป กิเลสที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์นี่เกิดไม่ได้ มันก็ไม่มีความทุกข์ จะไปเรียก ความสุข ก็ให้รู้สึกตัวไว้ว่านี่มันเรียกกันตามประสาที่เรียกเท่านั้น อย่าไปหลงว่ามันเป็นความสุขเข้าอีก มันจะกลับไปเป็นกิเลส ไม่ทันรู้ ถ้าไปชอบความสุข ไปหลงความสุข ไปยึดถือเป็นความสุข ไอ้สัญญาโง่ๆ มันก็เกิดขึ้น ไม่ใช่ปัญญาที่แท้จริง หรือว่าความทุกข์ไม่มี ก็พอแล้ว เหตุให้เกิดความทุกข์มันไม่มี และความทุกข์มันก็ไม่มี รู้สึกอย่างนี้ก็พอแล้ว เรียกว่าอยู่ด้วยความว่างเหมือนกับที่พระอรหันต์ทั้งหลายท่านอยู่ มันว่างจากความทุกข์ ว่างจากปัญหา ว่างจากอะไรต่างๆ แต่ว่าอยู่ด้วยความว่างนี้มันมีรสประหลาด คือเป็นความสุขสูงสุดอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่มีใครเคยรู้จัก ความสุขอยู่ที่จิตใจของบุคคลที่อยู่ด้วยความว่างนั้น จะพูดว่าความว่างเป็นสุข มันก็ไม่ถูก แต่ว่าจิตใจถึงความว่างชนิดนี้ มันได้รับรสเป็นความรู้สึกชนิดที่เรียกว่าเป็นสุข อย่างที่เขาพูดกันว่าสุขหนอ, สุขหนอ ในนิพพาน ไม่ใช่นิพพานเป็นสุข มันเป็นจิตใจของคนที่ได้รับรสอันนี้ มันเป็นสุข ทีนี้พระอรหันต์ก็ไม่ยึดในเวทนาที่เรียกว่าเป็นสุข เรื่องมันก็เลิกกัน ถ้าไปยึดถือในเวทนาที่เป็นสุข มันก็ไม่เป็นพระอรหันต์แล้ว แต่เมื่อเรายังชอบความสุขอยู่ ก็ขอให้รู้จักทำให้เกิดความสุขชนิดนี้ ประเภทนี้ คือ ธมฺมปีติ สุขํ เสติ คือผู้มีธรรมปีติ ย่อมอยู่เป็นสุข
เป็นอันว่าตลอดพรรษานี้ ผมไม่ได้พูดเรื่องอะไรนอกจากเรื่องว่าการบังคับความรู้สึก แล้วก็พูดเพียงไม่กี่ครั้ง สรุปใจความว่า เราจะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ด้วยความรู้สึกที่เราควบคุมได้ ถ้าว่าไม่มีเรา มันก็คือจิต คือสติสัมปชัญญะ อะไรเหล่านี้มันควบคุมความรู้สึกได้ มันก็ควบคุมมันเองมากกว่า ถ้าพูดอย่างธรรมะแท้ๆ ไม่มีตัวเรา ไม่มีตัวตน ก็หมายความว่า นามรูปนี้ ร่างกายและจิตใจนี้ได้รับการฝึกฝนดีจนมันบังคับควบคุมกันเอง ไม่เกิดความรู้สึกชนิดที่เป็นความทุกข์ขึ้นมาได้ มันเป็นเรื่องหมดตัวหมดตน และมันยังเหลืออยู่แต่ความไม่ทุกข์ ผมจะถือว่ามันดีมีประโยชน์กว่าจะพูดกันสัก ๑๐๐ ชั่วโมง พูดสัก ๓ ชั่วโมง ยังจะมีประโยชน์ดีกว่าพูดตั้ง ๑๐๐ ชั่วโมง ซึ่งพูดเรื่องอะไรก็ไม่รู้ พูดบ้าน้ำลายบ้าง พูดอวดสำนวนโวหารบ้าง พูดละเมอเพ้อๆ แข่งขันกันบ้าง นี้มันก็พูดตั้ง ๑,๐๐๐ ชั่วโมงก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้เราจะพูดถึงเรื่องจริงที่ทุกคนจะต้องทราบ ถ้าใครไม่ทราบ มันก็เป็นกรรมของคนนั้นแหละ เป็นบาปกรรมของคนนั้นที่จะต้องทนทุกข์ไปจนตลอดชีวิต ถ้าใครทราบ มันก็จะมีบุญหรือโชคดีที่สุด ได้มาพบกันเข้ากับสิ่งที่ทำให้ไม่มีทุกข์ไปได้จนตลอดชีวิต ไม่ใช่เรื่องโฆษณาชวนเชื่อนะ แต่มันเป็นเรื่องจริง ที่ทำได้จริง มีอยู่จริง เอาไปคิดดู แล้วคุณก็จะได้รับประโยชน์คุ้มค่าที่บวชนี่ ไม่เสียผ้าเหลืองเป็นแน่นอน เอ้า, ผมก็ยุติการบรรยายครั้งสุดท้ายไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอให้ได้รับประโยชน์จากการบรรยายนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้