แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้ผมก็จะพูดเรื่องเกี่ยวกับการบังคับความรู้สึกต่อไปอีก โดยจะพูดในหัวข้อว่า อานิสงส์สูงสุดของการบังคับความรู้สึก ครั้งที่แล้วมาเราพูดถึงอุบายวิธีในการบังคับความรู้สึก ถ้าเรารู้จักอุบายวิธีอย่างเพียงพอ ก็คงจะบังคับความรู้สึกได้ทีนี้ก็จะพูดถึงอานิสงส์การบังคับความรู้สึก ซึ่งจะช่วยให้สนใจในการบังคับความรู้สึกนั้นมากขึ้น และก็อยากจะพูดถึงการบังคับความรู้สึกในระดับที่สูงขึ้นไป
ในครั้งที่แล้วมาเราได้พูดถึงสิ่งที่เรียกว่า ความหวัง ความหวังนั้นก็เป็นความรู้สึกชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกัน เป็นทั้งความรู้สึก และเป็นทั้งผลที่เกิดมาจากความรู้สึกอันอื่นที่มันทำให้เกิดความหวัง คนเรานี่ถูกทรมานอยู่ด้วยความหวัง อย่างหยาบๆ ก็ทรมานเหมือนกับอย่างตกอยู่ในนรก อย่างละเอียดก็ถูกทรมานอยู่อย่างละเอียดจนแทบว่าจะไม่รู้สึก เพราะขึ้นชื่อว่าความหวังแล้วก็ต้องเป็นเรื่องให้เกิดความทุกข์ทั้งนั้นแหละ แม้ความหวังประเภทที่เป็นบุญเป็นกุศล ถ้าไปหวังเป็นอย่างความรู้สึกที่โง่เขลา มันก็มีความทุกข์เหมือนกัน มันกลายเป็นความอยาก เป็นตัณหา เป็นอาสา แห่งความหวังกันไปเสีย ทีนี้มันมีแง่มุมที่อาจจะเข้าใจผิดได้เกี่ยวกับคำว่า ความหวัง นี่ผมจึงอยากจะพูดซ้ำถึงสิ่งที่เรียกว่า ความหวัง นี้อีกสักเล็กน้อย เพื่อว่าคุณจะได้เข้าใจถูกต้อง คือชัดเจนยิ่งขึ้นจนเอาไปใช้ปฏิบัติได้ ผมได้บอกว่า อย่าอยู่ด้วยความหวัง มันจะผิดหวังเรื่อยไป ถ้าเราไม่มีความหวังอะไร มันก็ไม่มีความผิดหวัง ยิ่งอยู่ด้วยความไม่ผิดหวังนี่มันสบาย ทีนี้บางคนก็ไม่เข้าใจว่าจะอยู่โดยไม่มีที่หวังอะไรนั้นมันจะอยู่กันได้อย่างไร ข้อนี้มันเกี่ยวกับคำที่พูดหรือคำที่เราใช้พูด ก็ควรจะทำความเข้าใจกันสักหน่อย ไอ้ความหวังในภาษาไทยธรรมดานี่มันก็เป็นความหมายธรรมดา หวังเพราะมีตัณหาคือความอยาก มันก็เลยหวัง มันก็เหมือนกับคนหิวอยู่เรื่อย ความหวังชนิดนี้ที่ว่าอย่าไปมีกับมันเลย อย่าไปเอากับมันเลย แต่ความหวังในอีกความหมายหนึ่ง คือหวังจะได้อะไรในระยะยาว เช่นว่าหวังจะบรรลุมรรคผลนิพพานอย่างนี้ มันเป็นความหวังที่จะต้องจัดการกันอีกชั้นหนึ่ง คือศึกษาให้รู้ว่าจะทำอย่างไร แล้วก็ทำไป โดยปราศจากความหวัง เพราะว่านิพพานนั้นมันเป็นที่ดับของความหวัง ถ้ามันยังหวังอยู่ มันดับ มันนิพพานไม่ได้ ถ้ามันจะใกล้นิพพานเข้าไป ไอ้ความหวังก็จะน้อยลงๆ แต่ถึงอย่างไรก็ดี เราควรจะแยกสิ่งที่เรียกว่า ความหวัง นี่ออกเป็น ๒ ประเภท คือความหวังด้วยความโง่หรืออวิชชา นี่ก็ประเภทหนึ่ง และความหวังด้วยสติปัญญานี้มันอีกประเภทหนึ่ง ไม่ใช่อย่างเดียวกัน หวังอย่างโง่เขลาด้วยอวิชชานั้นมันเป็นเอามาก ถึงขนาดไปหวังในสิ่งที่ไม่ควรหวัง แม้ในสิ่งที่มันควรจะหวัง มันก็หวังอย่างคนโง่หวัง มันหวังอยากจะได้อย่างจะขาดใจ มันหวังด้วยกิเลส มันก็เป็นอย่างนั้นเอง ถ้าหวังด้วยสติปัญญามันไม่ร้อน มันไม่พลุ่งพล่านอย่างนั้น คือสติปัญญามองเห็นอย่างละเอียดชัดเจนทีเดียวว่าอะไรเป็นอะไร, อะไรเป็นอะไร เราต้องการอย่างไร เราควรทำอย่างไร เราจะต้องทำเรื่อยๆ ไปอย่างไร ไอ้อย่างนี้มันเผาน้อย มันเผาผลาญน้อย และที่ดีที่สุดนั้น พอคิดออกแล้วว่าจะต้องทำอย่างไร ก็ทำอย่างนั้นไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องหวัง โดยไม่ต้องอยากให้มันแผดเผาหัวใจ นี่เราทำไปเรื่อยๆ ด้วยความหวังชนิดที่ไม่ต้องปรากฏตัวออกมาให้ร้อนใจ อย่างนี้มันจะกลายเป็นไม่ใช่ความหวัง เราจึงมีชื่อเรียกต่างๆ กัน ขอให้สังเกตดู อย่างที่ผมจะเปรียบเทียบให้ฟัง
ถ้ามันทำไปด้วยอวิชชา คือด้วยกิเลสแล้วมันก็อยาก มีความอยาก อยากด้วยกิเลส อยากด้วยอวิชชา คืออยากด้วยความโง่ มันเป็นความอยากโง่ มันเป็นความอยากที่โง่เขลา แล้วก็เป็นความหวัง หวังอย่างกิเลสหวัง แล้วมันก็เป็นทะเยอทะยานตามที่มันหวัง กระทั่งมันเต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น นี่ความหวังอย่างนี้มันจะขบจะกัด จะทิ่มจะแทง จะแผดจะเผา ให้บุคคลที่อยู่ด้วยความหวังชนิดนี้ เพราะมันเต็มอัดอยู่ด้วยอวิชชา คือโง่และก็อยากด้วยตัณหา แล้วมันก็ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน นี่เป็นเรื่องที่คุณจะต้องสังเกตให้เห็น คือมันเป็นเรื่องที่มีอยู่แล้ว แล้วก็เคยมีมาแล้ว แต่ไม่สังเกตเห็น แล้วไม่รู้จัก เดี๋ยวนี้ควรจะรู้จัก ออกไปนี้ก็จะต้องไปรู้จักให้มันดีกว่าเดิมเพื่อว่าชีวิตต่อไปนี้ มันจะไม่ร้อน
ทีนี้อีกฝ่ายหนึ่ง ที่ว่าเป็นวิชชา เป็นปัญญานั้น อยากจะเรียกว่า ความประสงค์ แต่ความประสงค์นี้ ก็ไม่ใช่ดีนัก ไม่ค่อยดีนัก ไม่ใช่ของดีนัก ประสงค์แล้วมันก็หนักอึ้งเหมือนกัน จะใช้คำว่า ประสงค์ จะไม่ใช่คำว่า ความหวัง แล้วก็ต้องประสงค์หรือต้องการด้วยปัญญาความรู้ที่แท้จริงว่ามันควรประสงค์ เพราะประสงค์ในที่นี้มันก็จะไม่ถึงกับจะให้มันเป็นความอยากหรือกิเลสที่เผาผลาญ ให้มันกลายเป็นปณิธาน เมื่อเราประสงค์อะไรด้วยสติปัญญาแล้ว ก็ให้มีปณิธาน ความตั้งใจไว้อย่างถูกต้อง อย่างประณีตละเอียด ปณิธานนี้อย่าเอาไปปนกับความหวัง เพราะความหวังมันเป็นกิเลสตัณหา ปณิธานนี้มันจะต้องด้วยปัญญา หรือว่าจะมีปณิธานอย่างเข้มข้น จะเรียกว่าอธิษฐานก็ได้ แต่ขออย่าอธิษฐานด้วยความโง่ ด้วยอวิชชา ให้อธิษฐานด้วยปัญญา ผู้มีปัญญาตั้งปณิธานอะไรก็ได้ ไม่ใช่หวังด้วยกิเลส แต่หวังด้วยปัญญา แล้วเพื่อจะทำให้จริงจังมากขึ้นก็เรียกว่าอธิษฐาน อย่างพระพุทธเจ้าท่านก็บำเพ็ญบารมีข้อหนึ่งด้วยเหมือนกันที่เรียกว่าอธิษฐานบารมี จิตมันตั้งใจหรือมันมุ่งมั่นก็ได้ แต่มันไม่ใช่ด้วยอวิชชา ด้วยกิเลสตัณหา มันด้วยปัญญา มันไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นตัวกูของกู มันมีปัญญา ทำไปๆ แล้วมันก็ละลายตัวกูของกูนั้นด้วยซ้ำไป นี้คือฝ่ายที่มันตรงกันข้าม คือฝ่ายแรกนั้นมันหวังด้วยอวิชชา ด้วยกิเลส ด้วยตัณหา ทีนี้อีกฝ่ายหนึ่งนี่มันประสงค์หรือว่าต้องการก็ได้ ด้วยอำนาจของปัญญา ของวิชชา เห็นชัดเจนแจ่มแจ้งถูกต้องอยู่ มันก็ทำไป ยิ่งรู้ว่าทำไปนี้มันถูกต้อง มันก็ยิ่งสบายใจ มันมีความสุขในการทำการงานได้ ถ้าเรียกเป็นบาลีมันมีคำของมันเฉพาะชัดเจน มันปนกันไม่ได้นะ ตัณหา ความอยากอย่างโง่เขลา อาสา คือความหวังด้วยอำนาจของอวิชชาแต่ถ้าหวังด้วยปัญญา มันกลายเป็นปณิธานหรือเป็นอธิษฐานไป เป็นต้น คุณไปทำความเข้าใจให้ดี จนแยกความรู้สึกที่เรียกว่าต้องการนี่ให้ดี แม้จะเป็นความต้องการอย่างติดต่อกันไปไม่ขาดตอน มันก็ยังเป็น ๒ พวกอยู่นั่นเอง พวกหนึ่งมันด้วยปัญญา พวกหนึ่งมันด้วยความโง่ หวังด้วยความโง่นี่คือหวังอย่างคนที่เขา คนคุกเขาหวังกัน แล้วก็ชอบพูดกันว่า เราอยู่ด้วยความหวัง เรามีที่หวัง ความหวังอย่างนี้มันจะผิดหวังอยู่ตลอดเวลานับตั้งแต่เริ่มหวัง ผู้หญิงหวังผู้ชาย ผู้ชายหวังผู้หญิง หรือจะหวังอะไรกันก็ตาม พอลงมือหวังด้วยความโง่อย่างนี้ แล้วมันก็ผิดหวังตั้งแต่ลงมือหวัง ไม่มีอะไรที่มันจะเป็นไปตามความต้องการ ของคน ของข้างนอกก็ดี ของข้างใน ความรู้สึกคิดนึกก็ดี มันไม่เป็นไปตามต้องการ ฉะนั้นอย่าไปหวังด้วยความโง่ แต่หวังด้วยสติปัญญา พอมีปัญญาแล้วจะจัดการกับมันอย่างไร ทำให้ถูกต้องมันก็จะเป็นไปตามที่ต้องการ แต่อย่าให้มันมากไปจนถึงกับ หวัง, หวัง, หวัง มันจะกัดเอาเหมือนกัน ถ้ามันเป็นเพียงปณิธานหรืออธิษฐานในระยะยาวด้วยสติปัญญา มันก็กัดไม่ได้หรอก แม้ว่าจะแสดงฤทธิ์เดชอะไรบ้าง มันก็เพียงแต่ว่าเหมือนกับเกานิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น ถ้าทำให้ดีแล้วมันก็จะไม่มีเลยที่จะกัด ที่จะเกา
ทีนี้ที่ผมกล้ายืนยัน บอกให้วันก่อนนั้นว่า ผมกลัวความหวัง ไม่, ไม่, ไม่, ไม่กล้าอยู่ด้วยความหวัง เพราะกลัวมันจะกัดเอา ไม่หวังว่าคนนั้นจะเป็นอย่างนี้ คนนี้จะเป็นอย่างนั้น สิ่งนั้นจะเป็นอย่างนี้ สิ่งนี้จะเป็นอย่างนั้น ไม่หวัง มีแต่ว่ามันจะต้องทำอย่างไร ก็บอกให้ทำหรือจัดให้ทำไปอย่างนั้นเพราะไม่หวัง เมื่อไม่หวังก็ไม่ผิดหวัง แล้วก็จะขอบอกแถมพกไปอีกหน่อยหนึ่งด้วยว่า จะไม่ต้องใช้คำว่า เรามันเป็นคนอาภัพ ทุกคนมันอกตัญญูต่อเรา ซึ่งได้ยินพูดมากเหลือเกิน ชาวบ้านก็ดี ชาววัดก็ดี ชอบพูดว่าเราเป็นคนโชคไม่ดี ไม่มีใครรู้บุญคุณของเรา เป็นคนอกตัญญูแก่เราตลอดเวลา นั้นมันไอ้ชาติโง่ มันไปหวัง แล้วหวังจะให้เขากตัญญูด้วย มันก็กัดเอา ไอ้ความหวังชนิดนี้มันก็จะกัดเอา แล้วมันจะผิดหวังอยู่เรื่อยไป ก็ไม่ต้องหวังอะไร ควรจะเป็นอย่างไร ควรจะทำอย่างไร ก็บอก ก็ทำ ก็จัดไป ฉะนั้นจึงไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะตัณหาคือความอยาก เพราะอาสาคือความหวัง เพราะมันเคยเข็ดมาแล้ว ไปหวังเข้ามันก็กัดเอา ทีนี้เราอายุก็มากแล้ว เราก็รู้ว่าอันนี้ไม่เอาแล้ว จะไม่อยู่ด้วยความหวัง คือจะไม่ไปหวังกับมัน ทำก็ทำ, ทำก็ทำ อย่างนี้เสียอีกมันมักจะเป็นไปตามที่ต้องการ ยิ่งไปหวังมาก ก็ยิ่งทำให้ผิดพลาดมาก แล้วก็ผิดหวังไปตั้งแต่ลงมือหวัง ฉะนั้นเป็นสิ่งที่เร้นลับอันหนึ่ง จะเรียกว่าเป็นเคล็ดก็ได้ จะเรียกว่าเป็นศิลปะก็ได้ มันเป็นศิลปะอันสูงสุดที่จะมีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องเดือดร้อนเพราะความหวัง
ที่ผมพูดอีกนี้ก็หมายความว่าพวกคุณจะออกไปในโลก จะกลับออกไปในโลก แล้วก็จะไปโง่ หวังอะไรอย่างนั้นอย่างนี้ให้เหมือนแต่ก่อน จึงบอกให้รู้ แล้วก็บอกให้รู้เลยไปถึงว่า ไอ้ความรู้สึกอันนั้นจะต้องบังคับให้ได้ ความหวัง ความรู้สึกที่เป็นความหวัง จะต้องบังคับมันให้ได้ เรียกว่าเอาชนะมันให้ได้ ฉะนั้นเราก็รู้ รู้จักกันเสียแต่เดี๋ยวนี้ แล้วออกไปก็จะได้ทำกับมันถูก ใครๆ ก็รู้ว่าพวกฆราวาสมันเรื่องมาก อะไรก็มาก ยุ่งไปหมด ทำให้ต้องมีความอยาก มีความหวัง มีอะไรพัวพันกันจนทำไม่ถูก แล้วก็หาความสงบสุขไม่ได้ ฉะนั้นถ้าเป็นฆราวาสที่ดี ก็จะมีความหวังที่ขจัดลงไปได้มากแม้ว่าจะไม่หมดสิ้น เพราะว่าหมดสิ้นกันจริงๆ นี่มันต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์ เดี๋ยวนี้ก็จะไปเป็นฆราวาส อย่างมากที่สุดก็จะเป็นแค่พระอนาคามี กระทั่งลงมาถึงพระโสดาบัน แต่อย่างไรก็ดีมันมีความอยากน้อย มีความต้องการน้อย มันก็มีความหวังน้อย เพราะมันเริ่มรู้จักในข้อที่ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น มันเริ่มรู้จักกันแล้ว
ถ้าไม่ได้ศึกษากันละเอียดลอออย่างนี้ ก็ตัดบทกันสั้นๆ ตรงๆ ไปว่า เราจะบังคับความรู้สึกที่เป็นความหวัง ไม่ให้เกิดขึ้นครอบงำจิตใจของเรา หรือว่าเราจะเชื่อพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่าไม่มีอะไรที่มันจะเป็นไปตามอำนาจของเรา หรือเป็นไปตามความประสงค์ของเรา แต่ละอย่างๆ นี่มันจะเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ฉะนั้นเราก็ไปศึกษาเรื่องเหตุเรื่องปัจจัย ถ้าต้องการอย่างไร ก็ทำให้ถูกกับเหตุกับปัจจัย ไม่ต้องหวัง มันก็ยังได้ตามที่ต้องการ นี่หมายความว่าทำให้มันถูกกับเหตุกับปัจจัยของเรื่องนั้น แล้วก็จะได้ผลอย่างนั้นๆ อย่าไปหวังให้มันเป็นทุกข์ไปเสียตั้งแต่ต้นเลย และถ้ามีหวังแล้ว พอสมหวังมันก็เป็นทุกข์ ไม่สมหวังมันก็เป็นทุกข์ เพราะมันไอ้ชาติโง่นี่ คุณไปจำคำนี้ว่า ไอ้พวกโง่นี่มันก็ไปหวัง ไม่ได้มามันก็เป็นทุกข์ พอได้มามันก็ยังเป็นทุกข์ เพราะมันยึดมั่นถือมั่นมากเกินไป ในการที่ได้ตามที่กิเลสของมันหวัง มันก็รักมาก ยึดถือมาก อะไรมาก มันก็ยังกัดเอาอยู่ดี ถ้าเรื่องหวังกันด้วยกิเลสตัณหานี่มันเป็นอย่างนี้ ขอให้บังคับความรู้สึกส่วนนี้ แล้วก็จะได้รับอานิสงส์อันสูงสุดของการบังคับความรู้สึก
นี่แยก แยกความหวังออกเป็น ๒ ฝ่าย ถ้าหวังด้วยกิเลสตัณหา แล้วก็ขบกัดตั้งแต่ทีแรก ไม่สมหวังก็ขบกัด สมหวังก็ขบกัด สมหวังก็หึงหวง อย่างนี้เป็นต้น ทีนี้ถ้าหวังในลักษณะที่เป็นความต้องการ ประสงค์ด้วยสติปัญญา เราจะไม่เรียกว่า ความหวัง มันเป็นคำที่เลว (นาทีที่ 27:04) เรียกว่าความปรารถนาก็ได้ แต่ต้องด้วยสติปัญญา อย่างนี้มันไม่ขบกัดตั้งแต่ทีแรก เมื่อได้ทำดีแล้ว สิ่งต่างๆ ยังไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ก็ไม่เป็นทุกข์เป็นร้อนอะไร หรือถ้ามันเป็นไปตามที่ต้องการ มันก็ไม่ดีใจอะไร ไม่โลดเต้น ไม่ลิงโลดอะไร ก็เลยไม่ต้องมีความทุกข์ อย่างนี้เป็นตัวอย่างหรือเป็นคำอธิบายสั้นๆ ของอานิสงส์ของการบังคับความรู้สึกในระดับที่สูงสุด
ทีนี้การบังคับความรู้สึกที่พูดกันอย่างหยาบๆ ภาษาชาวบ้าน ก็ได้พูดมาแล้วตั้งแต่วันก่อนโน้น และวันนี้ก็ได้พูดอย่างนี้อีก ทีนี้ก็อยากจะพูดในระดับที่มันละเอียดประณีตกันอีกสักครั้งหนึ่ง ตามที่ว่ามันเป็นการสมควรที่ควรจะพูด คือเพื่อไม่ให้คุณเสียทีบวชเข้ามา อย่าให้เสียผ้าเหลือง มานั่งสวดมานั่งท่องอยู่ว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา คุณก็ว่าอยู่ทุกวัน ทำวัตรสวดมนต์ มันก็จะพบ สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา เสยยะถีทัง
รูปูปาทานักขันโธ เวทะนูปาทานักขันโธ สัญญูปาทานักขันโธ สังขารูปาทานักขันโธ วิญญาณูปาทานักขันโธ ก็ไม่รู้ว่าอะไรถึงจะมีคำแปล แปลว่าขันธ์เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น มันก็ยังไม่รู้ว่าอะไร มันเหมือนกับเปิดจานเสียง มันก็อย่างนั้น มันไม่รู้ว่าอะไร ได้ยินคนอื่นพูด มันก็ไม่รู้ว่าอะไร ตัวเองพูดก็ไม่รู้ว่าอะไร ฉะนั้นถ้าจะไม่ให้เสียทีที่มาบวชกันสักครั้งหนึ่ง ก็ขอให้เข้าใจคำนี้ หรือเข้าใจเรื่องนี้ติดกลับออกไป เอาไปไว้ตลอดชีวิตเลยว่า ไอ้รูปขันธ์ที่ยึดมั่น มันเป็นทุกข์ เวทนาขันธ์ ที่ยึดมั่น มันเป็นทุกข์ สัญญาขันธ์ที่ยึดมั่น เป็นทุกข์ สังขารขันธ์ ที่ยึดมั่น เป็นทุกข์ วิญญาณขันธ์ ที่ยึดมั่น เป็นทุกข์ แต่แล้วก็ไม่รู้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้เป็นอย่างไร ผมละอายแทนพุทธบริษัททั้งหลายทั้งหมดทั้งสิ้นทั่วไปว่า มันไม่รู้ว่าขันธ์ ๕ นี้คืออะไร ทั้งที่มันพูดเป็นกันทุกคน อย่างน้อยก็พูดคำว่า ขันธ์ ๕ อย่างนั้นอย่างนี้เป็น หรือบางคนก็เข้าใจผิดเรื่องขันธ์ ๕ จนไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนก็มี หรือว่าเรานี้ประกอบอยู่ด้วยขันธ์ ๕ ห้าส่วนตลอดเวลาอย่างนี้ก็มี ผมได้ยินคนชั้นเป็นนักปราชญ์บัณฑิตที่เขานับถือวิชาความรู้ ก็ยังพูดผิดๆ อย่างนี้ ว่าเราประกอบอยู่ด้วยขันธ์ ๕ ตลอดเวลา ฉะนั้นจึงอยากจะให้เข้าใจอย่างนี้เสียบ้างว่า มันไม่ได้มีพร้อมกันทั้ง ๕ ได้ตลอดเวลา แต่ว่าทั้ง ๕ นั้นแหละไปยึดเข้าแล้วก็จะเป็นทุกข์ ไม่ว่าอย่างไหน ฉะนั้นความรู้สึกที่ยึดมั่นถือมั่นนั้นอย่าได้เกิดมีขึ้นมาในขันธ์ทั้ง ๕ นั้นเลย และขันธ์ทั้ง ๕ นี้มันคือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน บางทีทั้งหลับทั้งตื่น
ขันธ์ที่ ๑ คือรูปขันธ์ ก็คือเมื่อร่างกายนี้กำลังทำหน้าที่ตามหน้าที่ของกายหรือของรูปอยู่ อันนี้เราเรียกว่า รูปขันธ์ ถ้ามันไม่ได้ทำหน้าที่ของร่างกาย มันก็ยังไม่เป็นรูปขันธ์อะไร จะเป็นรูปธาตุ เป็นอะไรไปก็ตามเรื่องของมันก็แล้วกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อตาเห็นรูปเกิดจักษุวิญญาณ นัยน์ตาที่ไปทำหน้าที่เห็นรูป ถ้าเป็นรูปภายในก็เห็นข้างในตัวเอง ถ้าเป็นรูปภายนอกก็เห็นของข้างนอก ตานั้นเป็นรูป นี่ก็เป็น เป็นการกระทำอันหนึ่งเกิดขึ้น คือตามันเห็นรูป นั่นเราเรียกว่าตามันเกิดขึ้น รูปขันธ์นี้ไปทำหน้าที่ทางตาคือได้เห็นรูป หรือว่าร่างกายที่เป็นที่ตั้งของตานี่มันก็ได้ทำหน้าที่เห็นรูป ทางหู ทางจมูกก็เหมือนกัน เมื่อมีการดมกลิ่นอย่างนี้ กายที่เป็นที่ตั้งของจมูกนี่มันทำหน้าที่ของรูป นี่เราก็เรียกว่า รูปเกิดขึ้น นี่เป็นรูปขันธ์
ฉะนั้นตาก็ดี หูก็ดี จมูกก็ดี ลิ้นก็ดี กายก็ดี แต่ละอย่างๆ นี้มันทำหน้าที่ของมันได้ ก็อย่าได้ไปรู้สึกว่ามันเป็นตัวกู มันเป็นของกู มันเป็นแต่สักว่ารูป แล้วก็ไม่เป็นไปตามอำนาจของผู้ใด นอกจากเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน เมื่อมันทำหน้าที่ของมันตรงความต้องการของเรา ก็อย่าไปหลงว่ารูปของเรา หรืออย่าไปรัก เมื่อร่างกายนี้มันทำอะไร หรือเป็นที่ตั้งของอะไรที่เป็นที่พอใจ หรือจะไปหลงรักไอ้รูปกายนี้ ต้องมีสติปัญญารู้สึกทันท่วงที บังคับความรู้สึกไว้ได้ อย่าไปหลงยึดมั่นในรูปกายส่วนใดก็ตาม ที่เป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่อย่าไปรักเข้า ว่าของกูหรือตัวกู มันเป็นสิ่งที่ต้องสังเกตละเอียด ศึกษาละเอียด บางทีเราจะเกิดรักอวัยวะที่เป็นเครื่องสัมผัสอะไรเข้าไป บางทีเราเกิดชอบตาของเราขึ้นมา ไปทำอะไรได้ตามที่เราพอใจ หรือหวังหรืออยาก หรือเกิดรักเนื้อหนังของเราขึ้นมา เพราะมันให้เกิดรสอร่อยทางโผฐฐัพพะ เป็นต้น อย่างนี้ก็เรียกว่าไม่ยึดมั่นในรูปขันธ์
ทีนี้ก็จะดูต่อไปถึง เวทนาขันธ์ เมื่อตากับรูปมาถึงกันเข้า เกิดจักษุวิญญาณ เกิดผัสสะแล้วก็เกิดเวทนา ตอนเวทนาเป็นความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจ สุขหรือทุกข์ อันนี้ก็คือเวทนา มันไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลานี่ ฉะนั้นเราจะมีขันธ์ทั้ง ๕ พร้อมกันไม่ได้ เวทนามันก็เพิ่งเกิดเมื่อถึงระยะของมัน ถึงตอนของมัน เกิดรู้สึกเป็นสุขขึ้นมา ก็อย่ายึดมั่นถือมั่น เพราะมันอร่อย มันถูกใจ หรือเวทนานั้นมันเป็นทุกข์ ก็อย่ายึดมั่นถือมั่น ไปโกรธไปแค้น ไปเป็นฟืนเป็นไฟกับมัน หรือว่าเป็นอทุกขมสุขเวทนา ก็อย่าได้ไปฉงนสนเท่ห์ อย่าไปสงสัย สนใจสงสัยอะไรเลย อย่างนี้เรียกว่าไม่ยึดมั่นเวทนา พูดภาษาธรรมดาชาวบ้านหน่อยก็ว่า ต้องบังคับความรู้สึกไว้อย่าให้ไปหลงในเวทนา อย่าให้ไปรู้สึกยึดมั่นถือมั่นในเวทนา เวทนาอร่อยก็ยึดมั่นอย่าง เวทนาไม่อร่อยก็ยึดมั่นอีกอย่าง เวทนาที่ยังไม่รู้ว่าอะไรแน่ ก็ยึดมั่นอีกอย่างหนึ่ง นี่บังคับความรู้สึกไว้ อย่าให้ไปเกิดความยึดมั่นในเวทนา เมื่อเห็นรูปสวยๆ ก็ดี เมื่อฟังเสียงไพเราะก็ดี เมื่อได้กลิ่นอันถูกใจก็ดี เมื่อได้กินอาหารอันอร่อยก็ดี คุณก็เคยรู้อยู่แล้วว่าเมื่อมันมีอร่อยขึ้นมาแล้วความรู้สึกมันเป็นอย่างไร หรือเมื่อได้สัมผัสทางผิวหนังอันสบาย ได้นั่งนอนบนที่นอนอันสบาย ได้ห่มผ้าห่มนอนอันให้อารมณ์ เอ่อ,ให้สัมผัสอันสบาย อันละเอียด มันก็อดนึกพอใจไม่ได้ นี่เมื่อก่อนเราเคยโง่เคยพอใจ ก็ตามใจ เดี๋ยวนี้หยุดกันที มีสติรู้สึก แล้วก็บังคับไว้ไม่ให้ไปหลงพอใจหรือหลงเกลียดชังหรือหลงอะไรเข้าเกี่ยวกับเวทนา ทีนี้เวทนานี้เกิดขึ้นได้เรื่อยในวันหนึ่งๆ เดี๋ยวทางนั้นเดี๋ยวทางนี้ เดี๋ยวอย่างนั้นเดี๋ยวอย่างนี้ เดี๋ยวระดับอย่างนั้น เดี๋ยวระดับอย่างนี้ ยิ่งอยู่ในโลกที่มีสิ่งยั่วยวนมาก ก็ต้องมีเวทนามาก ฉะนั้นขอให้จำไว้ด้วยว่ารู้สึกทางเวทนาแล้วก็ต้องบังคับไว้
เอ้า, ทีนี้ก็ถัดไปถึงสัญญา หลังจากเวทนาอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว ก็จะหมายมั่นลงไปบนเวทนานั้น สัญญาว่าความสุขสัญญาว่าความทุกข์ สัญญาว่าความได้ สัญญาว่าความเสีย สัญญาว่าตัวกูว่าของกูซึ่งเป็นเจ้าของไอ้สิ่งเหล่านั้นอย่างนี้ มันเกิดขึ้นได้ตามสมควรแก่ไอ้สิ่งที่มันได้ปรุงกันขึ้นมา ฉะนั้นความรู้สึกอันนั้น ก็อย่าได้ไปหลงรัก หลงพอใจ หลงชอบใจ ว่าตัวเรา ว่าของเรา มันเป็นเพียงสัญญาที่เกิดขึ้นว่าตัวกู สัญญาที่เกิดขึ้นว่าของกู มันเป็นสักว่าสัญญา ไปศึกษาหน่อยให้รู้ รู้ รู้อย่างถูกต้องว่าสัญญานั้นคืออะไร คือสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นในทางจิตใจตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เช่น กฎอิทัปปัจจยตา เป็นต้น ไปศึกษาเอาเอง ดูมาให้ดี นี่มันจะต้องพูดแข่งกับฝนแล้วนี่ ไม่ใช่สัญญาเพียงสักว่าจำหมาย จำอะไรได้ อันนั้นก็สัญญาเหมือนกัน แต่ไม่ร้ายกาจเท่าที่สัญญาลงไปด้วยความหมายมั่นว่าอะไรเป็นอะไร, อะไรเป็นอะไร สัญญานี่มันขบมาก ถึงแม้สัญญาที่จำอะไรได้ ว่านั่นเป็นนี่ นี่เป็นนั่น ก็อย่าไปรักกับมัน อย่าไปรักมันว่า สัญญาของกูดี เอ้า, ปิด ค้างเติ่งไว้ รีบหนีไป