แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาส่งเสริมศรัทธาความเชื่อในวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้าตามทางแห่งพระพุทธศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสนาอันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายกว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษปรารภเหตุมาฆบูชาและยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือเป็นมาฆบูชาของพุทธบริษัทบางเหล่าซึ่งยังยึดถือการนับวันมาฆบูชาตามแบบที่เคยถือกันมาแต่กาลก่อน โดยไม่ต้องคำนึงถึงอธิกมาส ข้อนี้ก็ไม่มีการผิดพลาดหรือเสื่อมเสียอะไรเพราะว่าวันเวลาทั้งหลายเหล่านี้เป็นเรื่องสมมติและบัญญัติ เมื่อถือสมมติและบัญญัติอย่างไรก็ทำไปได้ตามสมมติบัญญัตินั้น ๆ นั่นไม่ใช่ใจความสำคัญ ใจความสำคัญมันอยู่ที่ว่าจะทำในใจให้ถูกต้องตามความหมายนั้น ๆ หรือเรื่องนั้น ๆ หรือไม่ต่างหาก จะทำในวันเพ็ญเดือนนี้หรือจะไปทำในวันเพ็ญเดือนหน้า แต่ถ้าไม่ทำใจให้ถูกต้องตามเรื่องของหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับวันนี้แล้วก็คงไม่สำเร็จประโยชน์อะไร ข้อที่ว่าพระจันทร์เพ็ญเสวยมาฆฤกษ์นั่นก็เป็นเรื่องของการสมมติบัญญัติอย่างหนึ่ง เมื่อเราถือว่าเอาวันไหนก็เป็นว่าวันนั้นแหละ บางพวกถือวันสุริยคติก็มี ก็กลายเป็นวันที่หรือเดือนตามสุริยคติไป บางพวกโดยเฉพาะพุทธบริษัทในประเทศไทยเรานี้ก็ถืออย่างจันทรคติ จึงตกลงกันว่าวันเพ็ญเดือน ๓ เดี๋ยวนี้วันอย่างนั้นก็มาถึงเข้าแล้วโดยสมมตินั้น ก็เป็นอันว่าทำมาฆบูชา นี้ถ้าว่าบางพวกจะทำอีกครั้งหนึ่งในกลางเดือน ๔ ก็ยังได้อีกนั่นแหละ ถ้าเขาทำให้มันถูกตรงตามความหมายและยังจะได้ประโยชน์เป็นพิเศษต่อไปอีก ว่าถ้ามีการทำ ๒ ครั้งอย่างนี้มันก็จะได้ทั่วถึงกันดี ครั้งนี้คนจำนวนหนึ่งในครอบครัวหนึ่งก็มาทำ พอถึงครั้งหลังก็คนอีกครึ่งจำนวนหนึ่งในครอบครัวนั้นก็จะได้ไปทำ ก็เลยเป็นอันว่าได้ทำกันหมดทั้งครอบครัวเพราะมีการทำ ๒ ครั้ง นี่เราก็ถือว่าไม่เสียหายอะไรแต่กลับจะได้ประโยชน์ แต่แล้วในที่สุดขอให้ระลึกไว้เสมอว่าทำมาฆบูชานี่มันอยู่ที่การกระทำโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ทำด้วยจิตใจ แต่ถึงอย่างไรก็ตามถ้าทำด้วยจิตใจแล้ว มันก็ออกมาทางกายทางวาจาด้วยเป็นธรรมดา ข้อสำคัญจะต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องในเรื่องนั้น ๆ เสียก่อน แล้วก็จะสำเร็จประโยชน์ ทีนี้ก็จะได้กล่าวถึงใจความสำคัญของมาฆบูชา วันนี้เป็นวันบูชาพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนาหรือจะเรียกว่าบูชาพระสงฆ์ทั้งหมดในพระพุทธศาสนาก็ได้ คือจะเป็นพระอรหันต์หรือไม่เป็นพระอรหันต์ก็ไม่สำคัญ ถือเสียว่าคณะสงฆ์ทั้งหมดในพระพุทธศาสนา เป็นสมมติสงฆ์ก็มี เป็นพระอริยสงฆ์ก็มี เป็นพระอริยสงฆ์ก็มี เป็นพวก ๆ ไปคือเป็นพระอรหันต์ก็มี ไม่เป็นพระอรหันต์ก็มี อย่างนี้เป็นต้น เราก็รวมความเสียว่าวันนี้เป็นวันพระสงฆ์ทั้งหมดในพระพุทธศาสนาก็ยังได้ แต่ว่าตามที่นิยมกันนั้นก็จะเล็งถึงพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ประชุมกันเป็นพิเศษด้วยเหตุหลาย ๆ อย่าง และพระพุทธเจ้าท่านได้ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์เหล่านั้น เป็นการประกาศลงไปอย่างแน่นอนว่าหลักคำสอนในพระพุทธศาสนานั้นเป็นอย่างไร ข้อความนั้นเมื่อสรุปเอาแต่ใจความสั้น ๆ แล้วก็ย่อมจะได้เป็น ๓ ประการด้วยกัน อย่างที่ได้ยกขึ้นมาเป็นหัวข้อใน เหภบท (นาทีที่ 14.17) แห่งพระธรรมเทศนานี้ว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่กระทำซึ่งบาปทั้งปวง กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม สจิตฺตปริโยทปนํ ทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาด เอตํ พุทฺธานสาสนํ ๓ อย่างนี้เรียกว่าพระพุทธศาสนา ซึ่งแปลว่าศาสนาของพระพุทธเจ้า ใจความสำคัญอยู่ที่นี่ จะต้องประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องและครบถ้วนตามนี้นั่นแหละจะได้ชื่อว่าเป็นการบำเพ็ญกุศลเนื่องด้วยมาฆบูชา หรือว่าตามหลักที่ตรัสไว้ในวันเพ็ญมาฆะนั่นเอง
ทีนี้ก็จะดูกันต่อไปว่า หลักพระพุทธศาสนาที่ตรัสในวันเพ็ญมาฆบูชานี้ก็ดี ที่ตรัสในวันอื่น ๆ นอกไปจากนี้ก็ดีมันขัดขวางกันอย่างไร หรือว่าลงกันได้เป็นอันเดียวกัน ถ้าผู้ใดได้ศึกษาอย่างทั่วถึงแล้วก็ย่อมจะเข้าใจได้ด้วยตนเองว่ามันลงเป็นอันเดียวกัน เพราะคำสอนทั้งหลายจะมีมากมายโดยปริมาณคือนับเป็นข้อ ๆ ไปนี้ก็ย่อมจะมาก ถึงกับท่านกล่าวว่าตั้ง ๘๔,๐๐๐ ข้อ หรือ ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์เอาทีเดียว แต่แล้วมันจะมากมายเท่าไร ก็จะมาสรุปรวมลงได้ใน ๓ ข้อนี้ หรือข้อว่าอย่าทำบาปทุกอย่างทุกประการ เรื่องบาปเรื่องกิเลสนี่ก็จำแจกจำแนกเอาไว้มากมายหลายอย่าง เดี๋ยวนี้รวมเรียกว่าบาปทั้งปวงก็แล้วกัน ก็ไม่ทำเสีย นี้ข้อว่ากุศล ข้อว่ากุศลก็คือความดี ความงาม ความถูกต้องที่มันตรงกันข้ามจากบาป มันก็ทำให้สมบูรณ์ เรื่องมันก็อย่างเดียวกันอีกคือว่ากุศลหรือว่าความดีนี้ถ้าจำแนกออกไปก็หลายสิบหลายร้อยหลายพัน หลายพันอย่าง แต่ถ้าสรุปแล้วก็เรียกสั้น ๆ ว่ากุศลคือมันจะตัดเสียได้เป็นความชั่ว เป็นความรู้ เป็นความฉลาด เป็นประโยชน์แก่คนทุกฝ่าย คนมีปัญญายอมรับว่านี้มีประโยชน์ แล้วก็สั่งสอนกันสืบ ๆ ไป เพราะฉะนั้นไม่มีทางที่จะแก้ตัวหรือปฏิเสธว่าเราไม่รู้จักว่าอะไรดีอะไรชั่ว เพราะว่าตัดสินกันได้ง่าย ๆ โดยหลักที่ว่าถ้าดีมีประโยชน์แก่คนทุกฝ่ายแล้วก็เรียกว่ากุศล มันเอาตรงที่มันมีประโยชน์นี่แหละมาเป็นความถูกต้อง แล้วมันตัดความชั่วหรือความไม่มีประโยชน์เสียได้ อะไรจะทำให้ประโยชน์เกิดขึ้นก็ต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ชั้นต่ำ ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ต้องทำ ขึ้นชื่อว่าบุญหรือกุศลแล้วก็ต้องทำ อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อถือหลักอย่างนี้ก็จะทำกุศลทั้งหลายให้ถึงพร้อมได้ คำว่าถึงพร้อมนั่นก็ไม่เหลือวิสัยคือเราอาจจะทำได้จริง ๆ ขอให้มีความอดกลั้นอดทนบังคับตัวเองให้ทำให้ได้ ให้ยึดถือว่าสิ่งนี้เป็นความถูกต้องเป็นกุศลแล้ว จงบังคับตัวเองให้ทำได้และนิยมในการกระทำว่านี่แหละเป็นความดีสำหรับมนุษย์ซึ่งมนุษย์จะต้องทำ ถ้าไม่ทำก็ไม่เป็นมนุษย์ มันจึงต้องมีไอ้ธรรมะข้อสำคัญข้อหนึ่งคือการบังคับตัวเองให้ทำแต่ในสิ่งที่ดี อย่ายอมให้ไปทำในสิ่งที่ไม่ดี จำเป็นจะต้องรู้จักบังคับจิตใจในข้อนี้ เรียกว่าเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันจะต้องรู้จัก จะต้องควบคุมให้ได้อย่าปล่อยไปตามอำนาจของสิ่งตรงกันข้ามคือบาป อกุศล หรือกิเลส ตัณหา เกี่ยวกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ก็จะพูดได้สั้น ๆ นิดเดียวว่า อย่าไปนิยมตามความรู้สึกที่เป็นกิเลสตัณหา กันคำว่ากิเลสตัณหาไว้ก็ได้ จิตที่ประกอบด้วยกิเลสตัณหา มันก็ชอบไอ้เรื่องของกิเลสตัณหา คือความเอร็ดอร่อยไปตามแบบของกิเลสตัณหา ถ้าจิตประกอบด้วยปัญญา ด้วยกุศล มันก็ชอบความเอร็ดอร่อยไปอีกแบบหนึ่งซึ่งมันตรงกันข้าม ไม่ใช่ความเอร็ดอร่อยไปตามอำนาจของกิเลสตัณหาแต่มีความเอร็ดอร่อยไปตามจิตใจที่ประกอบอยู่ด้วยบุญกุศลหรือสติปัญญา เราควรจะมองเห็นว่าไอ้ที่เรียกกันว่าความสุขสนุกสนานสุขสบายอะไรเหล่านี้ มันมีอยู่ ๒ ชนิดอย่างนี้ ว่าอย่างหนึ่งมันเป็นไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา ไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้อง อีกอย่างหนึ่งไปตามอำนาจของสติปัญญา หรือของพระธรรม หรือของความถูกต้อง อย่าเหมาเอาเสียว่ามันสนุกสนานเอร็ดอร่อยแล้วก็ถูกต้อง แล้วควรจะได้ควรจะมี ถ้าถืออย่างนี้แล้วไม่เท่าไรก็จะทำบาป จะไปแสวงหาความสุขสนุกสนานเอร็ดอร่อยตามวิธีของบาปหลายอย่างหลายประการ แล้วก็จะทำสิ่งที่มนุษย์ไม่ควรจะทำ ไม่ถือศีลเข้าวัดปฏิบัติอย่างที่มนุษย์ไม่ ไม่ถือ เหมือนอย่างที่ในโลกนี้เวลานี้ไม่ค่อยจะถือศีลข้อกาเม มีบุตร มีภรรยาสามี ก็ไม่ ไม่รักษาวัตรปฏิบัติอย่างภรรยาสามีที่บริสุทธิ์ ก็ชอบทำชู้ แล้วไม่เท่าไรก็จะไปทำชู้กับสัตว์เดรัจฉานเป็นแน่นอน เมื่อมันยับยั้งไว้ไม่ได้ บังคับตัวเองไว้ไม่ได้ มันก็จะเป็นมากถึงขนาดนี้ นี่เพราะว่าไม่มีการควบคุมบังคับตัวเอง ก็เลยไม่ต้องพูดถึงกันว่าจะทำกุศลให้ถึงพร้อมเพราะว่าแม้แต่บาปมันก็ละไม่ได้หรือไม่ละ ฉะนั้นเรื่องจะทำจิตให้บริสุทธิ์มันยังอยู่ไกลลิบ ทั้ง ๓ ข้อนี้มันผูกพันกันอย่างนี้ มันต้องเว้นจากบาปความชั่วทั้งปวงเสีย แล้วก็ทำกุศลหรือความดีให้ถึงพร้อม เท่านั้นยังไม่พอ ยังจะต้องทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาดเยือกเย็นเป็นสุขอยู่ได้ เพราะว่าถ้าลุ่มหลงในเรื่องของความดี ยึดมั่นในความดี มันก็นอนไม่หลับเหมือนกัน เป็นเครื่องทรมานจิตใจก็ได้ ฉะนั้นต้องละไอ้ความยึดถือทุกอย่างทุกประการออกไป จึงจะเรียกว่ามีจิตบริสุทธิ์ผ่องใสสะอาดเป็นข้อที่ ๓
ขอทบทวนใหม่ว่ามันต้องตั้งต้นนับแต่ข้อที่ไม่ทำบาปทุกประการ ไม่ทำบาปทำชั่วทุกประการก่อน มีการบังคับอย่างเต็มที่ เมื่อไม่ทำบาปแล้วก็มีโอกาสที่จะทำดีทำบุญทำกุศล ก็เกี่ยวกับการควบคุมอย่างเต็มที่ เมื่อมีดีมีกุศลแล้วก็ไม่ต้องยึดถือไว้ให้หนักอกหนักใจ ทำใจให้ปรกติเกลี้ยงเกลาจากความรู้สึกที่ว่ามีตัวกู มีของกู มีตัวกูเป็นผู้ได้ มีตัวกูเป็นผู้เสีย หรือแม้ที่สุดแต่ว่ากูจะตาย เป็นเรื่องรักที่จะอยู่ ไม่อยากที่จะตาย การรู้สึกอย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นเรื่องเศร้าหมองแห่งจิต เพราะฉะนั้นอย่าได้มีความรู้สึกอย่างนี้เลย ให้จิตปรกติ หรือถ้าจะเรียกให้ถูกกว่านั้นก็เรียกว่ามันว่างจากความปรุงแต่งหรือความยึดถือหรือความเศร้าหมองใด ๆ ก็ตาม ถ้ารวมใจความแล้วเขาก็เรียกว่าว่างจากความรู้สึกหมายมั่นเป็นตัวกูหรือเป็นของกู ถ้าเที่ยวหมายมั่นอะไรเป็นตัวกูเป็นของกู มันก็ไม่มีทางที่จะบริสุทธิ์ได้คือไม่สงบได้ ก็ต้องทนทุกข์ชนิดละเอียดประณีตที่สุด ไม่รู้ว่าทุกข์ตรงไหนทุกข์อย่างไร แต่มันก็รู้สึกว่าทุกข์อยู่ตลอดไป แม้แต่นอนหลับมันก็ฝันร้าย ฝันไปแต่ในทางที่จะเป็นทุกข์ หวาดเสียว สะดุ้งกลัว ถ้าทำจิตให้หมดไปเสียจากไอ้ความรู้สึกเหล่านี้มันก็ไม่ฝันร้าย หรือว่าตื่น ๆ อยู่นี่มันก็ยังฝันดีได้ นอนหลับก็ฝันดี ตื่นอยู่ก็ฝันดี ไอ้ฝันดีเมื่อตื่น ๆ อยู่นี่ มันฟังยากสักหน่อย หมายความว่าจิตที่มันใฝ่ฝันไอ้นั่นมันจะใฝ่ฝันไปแต่ในทางดี ฝันดีตื่น ๆ มันเป็นอย่างนี้ แล้วความชั่วมันก็เข้ามาไม่ได้ หรือว่าความใฝ่ฝันมันไม่น้อมไปในทางต่ำหรือทางชั่ว มันก็เลยไม่มีความทุกข์ ไม่มีความกลัว ไม่มีความเกลียด ไม่มีอะไรทุกอย่าง ความรู้สึกของจิตมันไหลไปแต่ในทางที่ไม่มีความทุกข์เลย ฉะนั้นตื่นอยู่ก็ไม่เป็นทุกข์ นอนหลับก็ไม่ฝันร้ายคือไม่ ไม่เป็นทุกข์ อย่างนี้ก็เรียกว่าจิตบริสุทธิ์สะอาดปราศจากสิ่งเศร้าหมอง นี้เป็นใจความสำคัญที่จะต้องเข้าใจไว้เป็นหลักพื้นฐานทั่วไปใน ในระดับแรก ก็ไม่ทำบาปทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อม ทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาด ๓ อย่างนี้เท่านั้น
ถ้าจะถามว่าทั้ง ๓ อย่างนี้อันไหนมันยากกว่ากัน คำตอบก็อาจจะตอบได้ว่ามันยากพอ ๆ กัน เพราะว่ามันยากคนละแบบ มันมีความยากไปคนละแบบ การที่จะเว้นความชั่วทุกอย่างเสียนั้นมันก็ไม่ใช่ง่าย มันก็ยากเต็ม เต็มขนาด เต็มมาตรฐาน เต็มอัตราของมันด้วยเหมือนกัน ถ้ามันง่ายก็คงไม่มีใครทำบาปในโลกนี้ในเวลานี้ในบ้านเมืองเราหรือบ้านเมืองไหนก็ตาม ถ้ามันง่ายแล้วก็คงไม่มีใครทำบาป ฉะนั้นไปนึกดู สังเกตดูเมื่อจะทำบาป เมื่อตนเองจะทำบาปหรือเมื่อเห็นผู้อื่นทำบาป มันก็จะรู้ว่ามันยากหรือง่าย ยิ่งเป็นคนปุถุชนธรรมดาสามัญเท่าไร มันก็ยิ่งง่ายที่จะทำบาปและมันก็ยากที่จะเว้นจากการทำบาป จึงมีแต่การทำบาป ทั้งที่เกิดมาก็สวยแล้วมันก็มีบาปมากเท่ากับความสวยของมัน หรือว่ามันรวยมันก็มีบาปมากเท่ากับความรวยของมัน หรือมันแต่งเนื้อแต่งตัวกินอยู่อย่างธรรมดาอย่างเป็นเทวดา มันก็มีบาปมีความชั่วมากเท่ากับไอ้ความเป็นอยู่ชนิดที่แข่งกับเทวดา มันมีบ้านมีเรือนมีรถยนต์มีอะไรต่าง ๆ อย่างที่เขาชอบกันนัก มันก็ยังมีบาปอยู่ที่นั่น และส่วนใหญ่ส่วนมากมันก็ได้มาเพราะการทำบาป มันโกงเขา รวยเร็ว ๆ เอามาสร้างตึก มาซื้อรถยนต์ อะไรก็สุดแท้ ไอ้โลกนี้มันกำลังเจริญในทางวัตถุอย่างนี้และเจริญเร็วมากที่สุดภายใน ๒๐ – ๓๐ ปีนี้ก็เจริญแทบจะจำกันไม่ได้ ๒๐ ปีไปกรุงเทพทีหนึ่งนี้แทบจะจำไม่ได้ว่าอะไรเป็นอะไรที่ไหน มันก็เกิดขึ้นมาก หรูหราสวยงามไปหมด แต่แล้วบาปมันก็เต็มไปทั้งไอ้ความเจริญหรูหราสวยงามนั่นแหละ ไอ้คนที่สวยงามหรูหรานั่นแหละระวังให้ดีเถิด มันสวยด้วยบาป มันไปทำบาปเอามาสวย ฉะนั้นความสวยของมันก็มีบาปเป็นเครื่องหนุนหลัง แต่งเนื้อแต่งตัวในลักษณะที่จะอวด พูดแล้วก็ไม่น่าจะพูดว่าผู้หญิงเดี๋ยวนี้เขาแต่งตัวสำหรับอวดบาป กางเกงผู้ชายยังไม่อวดบาปเท่ากางเกงผู้หญิง คุณไปดูเอาเองก็รู้ นี่ว่าจิตใจมันต่ำลงหรือว่าจิตใจมันสูงขึ้น ถ้าจิตใจมันต่ำมันก็ต้องทำบาป ทั้งที่บ้านเมืองมันหรูหราสวยงามสนุกสนานอะไรต่าง ๆ เมื่อเย็นนี้อาตมาก็ยังคุยกันกับอาจารย์ของพวกคุณ วัดสมอ ว่าเรื่องมันมีนิดเดียว ถ้าศีลธรรมกลับมาโลกนี้ก็เป็นโลกพระศรีอารย์ คงจะฟังกันถูกไม่ต้องอธิบายก็ได้ ถ้าศีลธรรมกลับมา ทุกคนมีศีลธรรม โลกนี้ก็เป็นโลกของพระศรีอารย์ทันทีเพราะว่าเรื่องวัตถุสิ่งของไอ้ที่จะอำนวยความสุขสะดวกสบายนั้นก็มีอยู่พร้อมแล้ว มีตึกมีวิมานอะไรอยู่พร้อมแล้ว มีเครื่องใช้ไม้สอยอย่างวิเศษวิโสเป็นของทิพย์ไปแล้ว มันเสียอยู่อย่างเดียวแต่ว่าคนมันยังมีบาป มันยังมีบาปเท่านั้นเอง โลกนี้จึงเป็นโลกของพระศรีอารย์ไม่ได้ ทั้งโลกนี่เขาทำความเจริญทางวัตถุไว้พร้อมแล้วสำหรับจะเป็นโลกของพระศรีอารย์ในทางของวัตถุแต่ว่าทางจิตใจนั้นมันไม่เป็น ฉะนั้นพอแก้ไขทางจิตใจได้ ไอ้โลกนี้ก็เป็นโลกของพระศรีอารย์ขึ้นมาได้ทันทีเหมือนกัน ขอให้ช่วยกันเว้นบาปเสียแล้วก็ทำกุศลหรือทำความดีขึ้นมา เรียกว่ามีศีลธรรมเท่านั้นแหละ โลกนี้ก็เป็นโลกของพระศรีอารย์ นี่เสร็จไปตอนหนึ่ง ทีนี้เหลืออยู่แต่ตอนที่ว่าจิตใจจะบริสุทธิ์สะอาดปราศจากกิเลส ปราศจากความเศร้าหมองหรือไม่ นั้นมันเป็นเรื่องของพระอรหันต์ ถึงแม้ว่าอยู่ในโลกของพระศรีอารย์แล้วก็ยังจะต้องประพฤติกระทำเพื่อความเป็นพระอรหันต์อีกส่วนหนึ่งด้วยต่างหาก ท่านไม่ได้กล่าวไว้ว่าในโลกของพระอรหันต์นั้น เอ้ย, ของพระศรีอารย์นั้นจะเต็มไปด้วยพระอรหันต์ ยังจะต้องประพฤติปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ พูดแต่เพียงว่าศีลธรรมมันดี ไม่มีการเบียดเบียนกัน รักใคร่เหมือนกันจนไม่รู้ว่าใครเป็นใคร คือข้อที่ได้กล่าวไว้ว่าคนในโลกพระศรีอารย์ ในศาสนาพระศรีอารย์นั้นเหมือนกันจนจำกันไม่ได้ นี่คนแก่ ๆ ที่ได้เคยฟังเรื่องนี้คงจะนึกออกว่ามีข้อความอย่างนั้นอยู่ เพราะคนในศาสนาพระศรีอารย์นั้นเหมือนกันจนจำกันไม่ได้ พอลงไปจากเรือนแล้วไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ไม่รู้ว่าสามีภรรยาอะไรของใคร มันเหมือนกันไปหมด ต่อเมื่อกลับมาถึงบ้านแล้วจึงค่อยรู้ว่าคนนี้เป็นภรรยาสามีอะไรของเรา เขาหมายความว่ามันมีศีลธรรมดีถึงที่สุด จนไม่มีใครเลวแม้แต่สักคนเดียวในทางศีลธรรม ก็ยังมีเรื่องต่าง ๆ อีกมากมายแสดงว่ามีความอยู่เย็นเป็นสุขในทางวัตถุ ในทางร่างกาย ในทางสังคม อยู่กันเป็นมนุษย์แท้ เหลือจากนั้นจะเป็นพระอรหันต์หรือไม่ ก็ไปประพฤติปฏิบัติได้ไม่ยากแล้วเพราะพื้นฐานมันดีแล้ว ความเห็นแก่ตัวมันเกือบจะไม่มีอยู่แล้ว ควรจะจดจำข้อนี้ไว้ด้วยว่าถ้าประพฤติศีลธรรมคือเว้นความชั่วได้และทำความดีได้ มีศีลธรรมอย่างนี้แล้วความเห็นแก่ตัวมันเกือบจะไม่มีเหลือแล้ว ความเห็นแก่ตัวที่ทำให้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติกาเมสุมิจฉา การพูดเท็จ ดื่มน้ำเมาอะไรต่าง ๆนั้นน่ะ มันทำเพราะความเห็นแก่ตัวนั่นเอง ถ้าความเห็นแก่ตัวมันเบาบางมันก็ทำไม่ได้ ฉะนั้นถ้ามีศีลธรรมดี ความเห็นแก่ตัวมันเบาบางแล้วมันเกือบจะหมดแล้ว ช่วยเอาไปบอกไปกล่าวกันให้เข้าใจข้อนี้ แล้วให้รักใคร่สามัคคีกันในการที่จะปฏิบัติตามนี้เป็นหมู่ไป เป็นคณะไป ไม่ใช่ว่าจะทำอย่างถือพวกแข่งขันกันเป็นพวก ระหว่างพวก เพียงแต่ว่าเรารับผิดชอบร่วมกันว่าพระพุทธศาสนานี้มันได้ตกเป็นภาระของเราทุกคน พวกที่อยู่ที่ไชยานี้ก็จะทำดีที่สุด ไม่มีข้อติเตียนได้ พวกที่อยู่ที่วัดสมอ ที่ลานสกา นครศรีธรรมราชอะไรก็จะทำให้ดีที่สุด ไม่ให้มีข้อติเตียนได้ มันก็เป็นอันว่ามันจะสมบูรณ์ไปหมด ทั่วไปทั้งประเทศหรือว่าทั้งโลกก็ได้ เดี๋ยวนี้การนับถือพระพุทธศาสนานั้นมันชักจะกว้างขวางมากจะทั่วโลกอยู่แล้ว และอีกทีหนึ่งจะต้องรู้ไว้ด้วยว่าแม้ในศาสนาอื่นเขาก็สอนเรื่องความไม่เห็นแก่ตัวด้วยเหมือนกัน ทุกศาสนามีหัวใจอยู่ที่นั่น คือมีหัวใจอยู่ที่ความไม่เห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นเหตุให้ทำบาป ถ้าศาสนาไหนสอนให้เห็นแก่ตัวแล้วก็เรียกว่าไม่ใช่ศาสนา แล้วมันมีไม่ได้ มันต้องสูญหายตายไปแล้ว ก็เหลืออยู่แต่ศาสนาที่ถูกต้องคือมีประโยชน์ ฉะนั้นจึงสอนให้เห็นแก่ตัวหรือไม่เห็นแก่ตัวดี ลองคิดดู สอนไม่ให้เห็นแก่ตัวก็คือห้ามกันการทำบาปทุกอย่างทุกประการเสีย สอนให้เห็นแก่ตัวคือสอนให้ทำบาปนั่นเอง ทีนี้บางคนอาจจะแย้งว่าเดี๋ยวนี้เราก็รักตัวเห็นแก่ตัวเราจึงทำบุญ นั่นดูให้ดี ๆ มันคนละความหมาย รักตัวเห็นแก่ตัวแล้วทำบุญ ทำบุญเพราะเห็นแก่ตัว ตัวจะได้มีบุญ อย่างนี้เขาไม่ได้เรียกว่าเห็นแก่ตัวแบบในความหมายทั่ว ๆ ไป ไม่ใช่คนเห็นแก่ตัวที่ควรจะถูกด่า ฉะนั้นเมื่อท่านบางคนจะด่าใครว่าเห็นแก่ตัว แล้วก็ลองคิดดู สังเกตดูว่าเขาเป็นอย่างไร เห็นแก่ตัวชนิดไหน ถ้าเขาเห็นแก่ตัวชนิดที่จะทำบุญให้มาก ๆ แล้ว คุณจะด่าเขาได้หรือไม่ คุณจะด่าเขาลงหรือไม่ แล้วคงไม่มีทางที่จะด่าเขาว่าเห็นแก่ตัว นี่คือภาษามันกำกวม ขอให้รู้ไว้ว่าบางทีภาษามันสับปลับ มันหลอกให้เข้าใจผิดได้ เช่น เห็นแก่ตัวนี้เขาใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง มันมีกิเลสที่เป็นเหตุให้เห็นแก่ตัว ทีนี้คนที่ทำดีทำบุญทำกุศลนั้นไม่ใช่เห็นแก่ตัว แต่ว่าเขาเห็นแก่พระธรรม เห็นแก่พระพุทธ เห็นแก่พระธรรม เห็นแก่พระสงฆ์ เขาจึงทำบุญทำกุศล ไม่ใช่เห็นแก่ตัว แต่ว่าความโง่มันยังติดมา มันยังเหลืออยู่ มันยังติดมา ตั้งแต่เห็นแก่ตัวอยู่ตามธรรมดานั่น มันเอาความเห็นแก่ตัวนั้นมาพูดอีก ว่าเรารักตัว เราจะทำอะไรให้แก่ตัว ความโง่ที่มันเหลือเศษอยู่ เพราะมันเคยเห็นแก่ตัวมาอย่างเต็มที่ในการทำบาป พอมาเห็นแก่บุญเห็นแก่กุศล จะทำความดีนี้มันก็ควรจะเรียกว่าเห็นแก่ธรรมะดีกว่า ดีกว่าเห็นแก่ตัว แต่ถ้าใครอยากจะพูดว่าเห็นแก่ตัวก็ได้เหมือนกัน แต่ขอให้ถือเสียว่าไอ้ตัวนั้นมันเปลี่ยนเสียแล้ว ไอ้ที่ว่าตัว ๆ นั้นมันเปลี่ยนเสียแล้ว มันไม่ใช่ตัวของกิเลส มันเป็นตัวของธรรมะ
คำว่าตัวของกิเลสนั่นคือความ คือตัวตามที่รู้สึกเป็นอยู่ทั่ว ๆ ไป นี่ถ้าว่าตัวของธรรมะเป็นตัวของธรรมะนั้นมันไม่ค่อยจะรู้จัก ไม่ค่อยจะรู้สึก ฉะนั้นท่านจึงสอนไว้ให้จำง่าย ๆ ทีหนึ่งว่า ถ้าจะมีตัวกันบ้างแล้ว ก็ขอให้เอาธรรมะเป็นตัว อย่าให้เอากิเลสเป็นตัว ที่มันเกิดรู้สึกเป็นตัวกู ของกูขึ้นมาอย่างนี้เรียกว่าตัวของกิเลส ถ้าไม่รู้สึกเป็นตัวกูของกู มันก็เป็นตัวของธรรมะ เป็นตัวของธรรมชาติ เป็นตัวของจิตที่มันมีความคิดที่ถูกต้อง ถ้าใครยังชอบมีตัวก็ให้เปลี่ยนตัวเสีย ทำเป็นตัวที่ถูกต้องซึ่งไม่อาจจะทำบาปทำกรรมทำชั่วอะไรได้เพราะเป็นตัวของพระธรรม ในพระบาลีเขามีว่า พึ่งตัวคือพึ่งธรรม อย่าพึ่งตัวกิเลส อตฺตทีปา อตฺตสรณา มีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะนั้นคือ ธมฺมทีปา ธมฺมสฺสรณา คือมีธรรมะเป็นที่พึ่ง มีธรรมะเป็นสรณะ คำว่าตัวในที่อย่างนี้หมายถึงถูกต้องแล้ว มีธรรมะเป็นตัวแล้ว เมื่อยึดถือธรรมะเป็นตัวก็ต้องปฏิบัติตามธรรมะอยู่ดี ดังนั้นจึงไม่มีทำชั่ว ดังนั้นจึงมีแต่ทำดีคือทำตามธรรมะ เพราะธรรมะเป็นเครื่องชักจูงให้ทำ ในที่สุดก็จะไปสู่ไอ้ชั้นที่เรียกว่ามีจิตบริสุทธิ์สะอาดปราศจากเครื่องเศร้าหมอง นี่จึงครบ ๓ ข้อ เหมือนตามหัวข้อของพระบาลีที่ตรัสในวันนี้ ในวันที่ตรง ที่เรียกกันว่าเพ็ญเดือน ๓ นี่ เรียกว่าเพ็ญเดือน ๓ ก็ได้ ได้ตรัสหัวข้อ ๓ อย่างนี้ ถ้าท่านทั้งหลายสังเกตดูสักหน่อยว่าถ้ามีการเทศน์ในวันมาฆบูชานี้ โดยมากหรือเกือบจะทุกหนทุกแห่งจะเทศน์ด้วยธรรมะ ๓ หัวข้อนี้เสมอไปเพราะมันเข้าเรื่องเข้าราวกันดี และก็ช่วยจำไว้ว่าเป็นหัวข้อสำหรับมาฆบูชา ทีนี้เราก็ประพฤติปฏิบัติให้ตรงตามนั้น ก็ได้ชื่อว่าไม่เสียทีที่ได้ทำมาฆบูชา พูดกันอย่างตรง ๆ ก็ว่าอุตส่าห์ถ่อร่างมาจากวัดสมอ หมู่บ้านวัดสมอแล้วก็มาทำมาฆบูชาที่สวนโมกข์นี้ เพราะฉะนั้นเหนื่อยบ้าง เปลืองบ้าง ลำบากบ้าง อะไรหลาย ๆ อย่าง แล้วก็ยังมานั่งกลางดิน ทำมาฆบูชา แล้วก็ยังเวียนประทักษิณบนก้อนกรวด บนรากไม้ที่มันตำเท้า ซึ่งไม่ค่อยจะเหมือนกับที่อื่น นี่ก็เพราะว่าเราอยากจะทำมาฆบูชาให้มีผลดีที่สุด ให้เป็นเครื่องบูชาแก่พระพุทธองค์ให้มากที่สุดนั่นเอง ฉะนั้นวันนี้ถ้ารู้สึกปวดเท้าก็มีปัญหาขึ้นมาทันทีว่าคนโง่นั้นมันจะโมโหหรือไม่ ไปเดินเวียนประทักษิณแล้วปวดเท้า ถ้าคนฉลาดก็จะนึกได้ว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ใช้รองเท้าโว้ย, ก็เลยดีใจพอใจว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ใช้รองเท้าเลย ท่านจะปวดหรือไม่ปวดก็ลองคิดดู เดี๋ยวนี้เราไม่ได้สวมรองเท้านิดหนึ่งแล้วก็ไปเดินชั่วขณะหนึ่งแล้วปวดเท้าแล้วก็โมโห มันก็อยู่ห่างไกลจากพระพุทธเจ้าเป็นฟ้าเป็นดินทีเดียว มันอยู่ห่างไกลเหมือนกับฟ้ากับดินทีเดียว ฉะนั้นมาทำมาฆบูชาเถื่อนแบบวัดป่าพระเถื่อนที่นี่มันก็มีผลแปลกออกไปไม่มากก็น้อยนะ ที่มันแปลกออกไปนี่มันจะเป็นไปในทางดีหรือชั่ว คือทางกำไรหรือขาดทุนก็ไปคิดเอาเอง
อย่างอาตมานี้อยากจะให้ทุกคนรู้สึกว่าเมื่อได้นั่งกลางดินแล้วก็ให้ได้คิดถึงพระพุทธเจ้า แล้วก็จะรู้สึกว่ามีเกียรติที่สุดที่ได้นั่งกลางดินซึ่งที่เป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน สั่งสอนกลางดิน กุฏิของท่านก็พื้นดินและในที่สุดท่านก็นิพพานที่กลางดิน บางคนก็ได้อ่านได้ฟังมามากแล้ว แต่มันก็มีจิตใจเลื่อนลอยไม่ได้คิดไม่ได้สังเกตว่าไอ้กลางดินนี่มันมีความสำคัญ พระพุทธเจ้าประสูติกลางดินที่โคนต้นสาละ และท่านก็นิพพานคือตายกลางดินที่โคนต้นสาละ แล้วพวกท่านที่มาที่นี่ เดินผ่านต้นสาละที่หน้าตึกนั้นได้สนใจกี่คน เห็นป้ายเขียนว่าต้นสาละแล้วสนใจหรือเปล่า นี่อยากจะพูดท้าทายนี่ว่าคงหลายคนทีเดียวไม่ได้สนใจ เห็นป้ายว่าต้นสาละแล้วก็ไม่ได้สนใจ หรือจะไม่ได้สนใจถึงว่ามีต้นสาละอยู่ที่นั่นก็คงจะมี นี่คือเรามันทำหยาบคายต่อพระพุทธเจ้ามากนัก ถ้าสนใจให้ละเอียดบ้างก็คงจะสะดุ้งเมื่อเห็นคำว่าต้นสาละ เพราะเราฝังใจอยู่เสมอว่าพระพุทธเจ้าท่านประสูติใต้ต้นสาละและนิพพานใต้ต้นสาละ แล้วท่านก็เกี่ยวข้องกับต้นสาละอยู่มากที่สุด และธรรมเทศนาที่ทรงนำมาแสดงนั้นอุปมาด้วยต้นสาละก็มีมาก นี่ขอให้ทดสอบตัวเองดูกันทุก ๆ คน เรื่องเกี่ยวกับต้นสาละที่ตรงหน้าตึกหลังนั้นแล้วว่า ว่าท่านประสูติกลางดิน นิพพานกลางดินแล้วทำไมเราจึงไม่ค่อยจะชอบนั่งกลางดิน อยากจะสร้างตึกสร้างวิมานอยู่ มันไกลพระพุทธเจ้าออกไปอีก ท่านประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน กุฏิก็พื้นดิน สอนภิกษุทั้งหลายก็พื้นดิน ในที่สุดนิพพานก็พื้นดิน เดี๋ยวนี้นั่งกลางดินสักหน่อยก็ไม่ค่อยจะพอใจ ทำให้คนบางคนต้องเป็นทาสไปลากเอาเสื่อมาปูให้จึงจะนั่งได้เพราะมันไม่ชอบนั่งกลางดิน มันก็คงจะโง่มากขึ้น ๆ เพราะไม่ได้คิดเลยว่าเราอยากจะนั่งกลางดินจะบูชาพระพุทธเจ้ากันเสียสักทีโดยเฉพาะวันนี้ชั่วโมงนี้ ผิดถูกอย่างไรก็เอาไปคิดกันเสียใหม่ กลับไปถึงบ้านแล้ว เข็ด ไม่มาทำมาฆบูชาที่นี่อีกก็ตามใจ จะทำที่ไหน ก็อุตส่าห์คิดอย่างที่กำลังพูดที่นี่แหละ ถ้าเข็ดแล้วก็ไม่ต้องมา ถ้ามามันก็จะเป็นอย่างนี้ จะเห็นอย่างนี้ จะได้ยินอย่างนี้ จะได้รับคำตักเตือนชี้แจงอย่างนี้ ว่าจะต้องทำให้เกิดความรู้สึกทุกอย่างทุกประการซึ่งเป็นที่ระลึกแก่พระพุทธเจ้า เช่น นั่งกลางดินนี้เป็นต้น หรือจะเดินเวียนประทักษิณด้วยเท้าเปล่า เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สวมรองเท้า หรือแม้ที่สุดแต่ว่ายุงมันกัด เดี๋ยวนี้ก็ได้ เมื่อไรก็ได้ ก็จะได้นึกถึงพระพุทธเจ้าว่าท่านไม่มีมุ้ง บางคนอาจจะหอบมุ้งมาแต่นครศรีธรรมราชก็ได้นะนี่ ไม่เชื่อลองไปค้นดูในกระเป๋า แต่ว่าพระพุทธเจ้าไม่มีมุ้งนะ ขอให้จำไว้ด้วย และท่านก็มียุง ที่เมืองอินเดียมันก็มียุงเหมือนกัน ฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนไว้ใน บทปัจจเวกสันตา (นาทีที่ 52.27) ว่าจีวรนี้เพื่อจะกันเหลือบกันยุงกันหนาวกันร้อน ถ้ายุงกัดขอให้นึกถึงพระพุทธเจ้าว่าท่านไม่มีมุ้ง เราก็เป็นเหมือนอย่างท่าน ก็จะได้บูชาพระคุณของท่านด้วยเหตุที่ยุงมันกัด นี่เป็นตัวอย่างหลายอย่างหลายประการว่าถ้ามาทำอะไรที่วัดนี้ ซึ่งเราจะเรียกกันว่าวัดป่าพระเถื่อนหรือวัดเถื่อนพระป่าแล้วแต่จะเรียก มันอยากจะให้เป็นเถื่อน ๆ ป่า ๆ ให้มากที่สุด มันจะทำให้ลืมพระพุทธเจ้าได้ยาก ถ้าเป็นบ้านเป็นเมืองมากขึ้นเท่าไร มันจะลืมพระพุทธเจ้ามากขึ้นเท่านั้น ถ้าไปอยู่บนสวรรค์วิมานกันแล้วก็ลืมเลย พวกที่ทำบุญอะไรสักนิดหนึ่งแล้วอุทิศให้ไปเกิดในวิมานนั้นนะควรจะระวังไว้บ้าง เพราะถ้าไปอยู่ในวิมานเสียแล้วมันจะลืมพระพุทธเจ้ามากเกินไปก็ได้ เดี๋ยวนี้ก็ยังมีคนกรวดน้ำอุทิศทำบุญให้ได้ไปเกิดในสวรรค์ในวิมานมีบริวารมีอะไรกันอยู่มาก นี้เป็นคนที่ว่ากิเลสหนาหรือกิเลสบาง คุณไปสังเกตดูเอาเอง แล้วถ้ากิเลสมันบางมันคงจะอธิษฐานอย่างไร และถ้ากิเลสมันหนามันคงจะอธิษฐานอย่างไร นี่ไปเลือกเอาเอง ไปคิดเอาเอง ไปฟังเอาเอง ใคร่ครวญเอาเอง มันคงจะถูกต้องมากขึ้น
เดี๋ยวนี้เราไม่ชอบคิด ถ้าคิดก็คิดไปตามอำนาจของกิเลสจนลุ่มหลงในเรื่องของกิเลส ปัญหามันก็มากขึ้นทุกที ความยากลำบากมันก็มากขึ้นทุกทีในการที่จะบรรเทากิเลส ในการที่จะประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนา เดี๋ยวนี้มันก็ยุติแล้วว่าไอ้หลักของพระพุทธศาสนาก็คือ พระบาลีพระพุทธภาษิตที่ได้ตรัสในวันนี้ ไม่ทำบาปทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อม ทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาด นี่คือหลักของพระพุทธศาสนา ไม่ยากไม่ลำบากที่จะเข้าใจ จะยากหรือลำบากที่จะทำ อย่างที่ได้พูดเมื่อตะกี้นี้ว่าไอ้ละความชั่วทั้งปวงมันก็ยาก ทำความดีให้ถึงพร้อมมันก็ยาก ทำจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเรื่องเศร้าหมองมันก็ยาก มันคงจะยากเท่า ๆ กันแหละเพียงแต่มันยากไปคนละแบบ ถ้าจะว่าทำจิตให้เศร้าหมองเป็นของยากเพราะละเอียดประณีต มันก็ยากไปตามแบบของละเอียดประณีต ไอ้ของหยาบมันก็ยาก ทำบาปนั้นทำเพราะจิตมันเศร้าหมอง ทำบุญทำกุศลทำเพราะจิตมันไม่เศร้าหมอง มันก็เกี่ยวข้องกันมาตั้งแต่ทีแรกแล้ว ถ้าละบาปมันก็ต้องมีจิตที่ไม่เศร้าหมองพอสมควรจึงจะละได้ เพราะฉะนั้นขออย่าได้ท้อถอย อย่าได้ท้อใจว่าทำยากบ้างหรือยังไกลนักบ้าง อาตมาอยากจะแนะไปทางว่าไอ้ ๓ อย่างนี้มันเกี่ยวพันกัน ทำพร้อม ๆ กันไปก็ได้ ถ้าไปสอนให้ทำเป็น ๓ ชั้นคงจะนานมากคงจะไกลมาก คงจะยังอีกไกลมาก ขออภัยที่อยากจะพูดว่าไอ้คิดอย่างนั้นมันคนโง่ ที่ไปแบ่งเป็น ๓ ชั้นแล้วอยู่กันไกล ๆ ๆ ไกลลิบมันจะเป็นคนโง่ ถ้าเอามาทำรวม ๆ กันเสีย บรรเทาพร้อม ๆ กันไปหรือว่าสร้างขึ้นมาพร้อม ๆ กันไป มันคงจะเร็วขึ้น มันจะฉลาดกว่ากระมัง เมื่อไม่ทำบาป ใจมันก็ต้องไม่เศร้าหมองพอสมควรเหมือนกัน เมื่อทำกุศล ใจมันก็ต้องไม่เศร้าหมองยิ่งขึ้นไปอีกเหมือนกัน ทีนี้เมื่อในส่วนเบื้องต้นมันละไปได้แล้ว มันเหลือแต่ส่วนละเอียด มันก็ยัง ก็จะไม่ยาก แต่มันจะหมดพร้อมกันไปดีกว่า เมื่อเราไม่ทำบาปมันก็มีบุญมีกุศลเกิดขึ้น จิตที่เศร้าหมองก็ค่อยละไป ๆ ในตัวมันเองพร้อม ๆ กันไป ไปคิดดูให้ดีว่าทำอย่างนี้คงจะได้กำไรกว่า แปลว่าปฏิบัติหลักทั้ง ๓ ข้อนี้อย่างสัมพันธ์กันไปเลย มันเป็นการทำจิตให้บริสุทธิ์อยู่ในการละบาปและทำกุศลให้ถึงพร้อมนั่นเอง จริงไม่จริงก็ไปคิดดู ถ้าไม่ละจิตที่เศร้าหมองเสีย มันก็ละบาปไม่ได้ มันจะทำบาปอยู่อย่างนั้นแหละ ฉะนั้นเราทำอย่างนี้จะได้ละพร้อม ๆ กันไปทั้ง ๓ อย่าง ที่พูดอยู่บ่อย ๆ ว่าละบาปเป็นขั้นที่ ๑ ทำกุศลความดีเป็นขั้นที่ ๒ และละความยึดถือในสิ่งทั้งปวงเสียเป็นขั้นที่ ๓ นี่มันเป็นเรื่องพูด มันก็พูดได้ แต่พอมาถึงการปฏิบัติเข้าจริงก็ลองดูสิ ถ้าไม่ละความเศร้าหมองของจิตเสียบ้างมันละบาปไม่ได้ มันเว้น เว้นชั่วไม่ได้ แล้วมันจะทำดีไม่ได้ด้วย นี้เรามาถือหลักว่าให้ทำ ๓ อย่างพร้อม ๆ กันไปโดยอัตโนมัติไม่ต้องตั้งใจ มันก็เป็นไปเองได้ พอ พอละบาป ใจก็บริสุทธิ์ขึ้นหน่อย พอทำความดีใจก็บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นไปอีก และเมื่อไม่ได้ทำบาป หรือว่าทำกุศลก็สนใจคิดนึกศึกษาไอ้เรื่องละความเศร้าหมองทั้งที่ละเอียดอยู่เป็นประจำ มีความทุกข์ก็ไม่ต้อง ไม่ต้องมานั่งร้องไห้อยู่ มันจะโง่มากขึ้นไปอีก ก็ละความเศร้าหมองแห่งจิตเสีย ความทุกข์ก็จะค่อย ๆ ละไป เราก็เอาชนะความทุกข์ได้ ก่อนตายนะถ้าทำอย่างนี้จะชนะความทุกข์ได้ ละความทุกข์ได้ก่อนตาย ถ้าไปถือผิด ๆ อย่างโง่เขลามันคงจะละอะไรไม่ได้ คงจะตายเสียก่อน แม้แต่ละความชั่วสักเล็กน้อยมันก็ละไม่ได้ และมันก็จะตายเสียก่อน ให้ไปคิดกันให้ดูในข้อนี้ว่าจะต้องละอะไรให้ได้ตามลำดับ ๆ ก่อนแต่ที่จะตายเสียก่อน นี่หมายถึงตายธรรมดาสามัญคือตายชนิดที่เอาใส่โลงไปเผาไปฝัง ก่อนแต่ที่จะเน่าเข้าโลงไปนั้น ให้ทำอะไรให้ได้พอสมควรในการที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา ส่วนตายอีกความหมายหนึ่งนั้นก็หมายถึงจิตดับไปในกระแสหนึ่งหรือตัวกู ๆ นี่ดับไปคราวหนึ่ง ๆ นี่ก็เรียกว่าตายเหมือนกัน เกิดเร็วตายเร็วอย่างนี้มันก็ดีมาก คือมันจะเปลี่ยนได้เร็ว พอเกิดทีหลังก็ดีกว่าทีเก่าเพราะว่าละอะไรได้มากกว่า นี่หมายความว่าถ้าทำผิดลงไปทีหนึ่งมันเกิดตัวกูทีหนึ่ง ทำผิดลงไปทีหนึ่งก็รีบแก้ไขเสีย เดี๋ยวมันดับไปคือมันตายไป แล้วเกิดทีหลังมันจะได้ดีกว่านั้น ความโง่จะน้อยลง ไอ้โลภะ โทสะ โมหะจะน้อยลง เกิดใหม่มันรู้จักเข็ดหลาบ ไปทำความผิดความชั่วหรือว่ามีความทุกข์ก็ตามเข้ามาครั้งหนึ่งนี่ ให้รู้จักว่ามันเป็นอะไร มันจะได้เข็ดหลาบ ก็เลิกกันไป เดี๋ยวก็เรื่องอื่นมาอีกทีนี้จะได้ดีกว่าจะได้ระวังได้ดีกว่า ถ้าเกิดทุกข์ทีจะได้ฉลาดขึ้นทุกที อย่าให้มันเกิดทุกข์ทีแล้วยิ่งเลวลงไปทุกที หรือว่าต้องเป็นทุกข์ทุกที เกิดตัวกูครั้งหนึ่งก็ให้ดีกว่าไอ้ตัวกูครั้งที่แล้ว ๆ มาหมายความว่าไอ้ตัวกูมันเบาบางลงไป มันเป็นธรรมะมากขึ้น นี่ก็เกิดทุกทีมันดีขึ้นทุกที แล้ววันหนึ่งเกิดได้หลาย ๆ หนมันก็ดีได้มากกว่าดีได้เร็วกว่า ดีกว่าที่ไปถือว่าเกิดมาจากท้องแม่ทีหนึ่งแล้วอยู่หลายสิบปีก็ตายเข้าโลงไป มันจะเปลี่ยนอะไรได้น้อยมาก ถ้าจะเปลี่ยนกันเร็ว ๆ แล้วก็ว่าทำผิดกันทีหนึ่งแล้วก็จะต้องถือว่าตายไปทีหนึ่ง พอเกิดใหม่แล้วก็ดีกว่านั้นทุกทีไป ฉะนั้นวันหนึ่ง ๆ มีการเกิดหลายหนนั้นก็ดีได้หลาย ๆ หน เข้าใจหรือไม่เข้าใจคือเอาไป ไปคิดดู แล้วเขาถือว่าไอ้คนเกิดมานี่ เชื่อว่าจิตเกิดเป็นตัวกูครั้งหนึ่งนี่ ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็ว่าง ๆ ไปเหมือนกับคนหลับ ก็คิดอะไรได้ครั้งหนึ่งก็คือเกิดครั้งหนึ่ง แล้วมันก็ว่างไปเหมือนหลับไปครั้งหนึ่ง เดี๋ยวมันก็เกิดคิดได้ครั้งหนึ่ง วันหนึ่งเป็นได้หลายหนหลายเกิด ฉะนั้นเกิดทุกทีแต่ต้องดีกว่าทุกที ถ้าถืออย่างนี้ ถือหลักอย่างนี้ไม่เท่าไรก็จะละไอ้บาปทั้งปวงได้ มันจะดีขึ้นทุกวัน วันละหลาย ๆ ระดับ จะเป็นศีล ๕ หรือศีลอุโบสถ หรือศีลอะไรก็สุดแท้ จะรักษาได้ดีขึ้น มากขึ้น ๆ การละกิเลสมันก็จะละได้มากขึ้นเร็วขึ้น การทำจิตให้ผ่องแผ้วมันก็ทำได้มากขึ้น นี่เพราะว่าเรามันเกิดดีตายดี เกิดดีตายดี เกิดดีตายดีอยู่ทุกวัน ทุกครั้งที่มันเกิดแต่ละครั้ง ๆ ให้มันดีขึ้น ถ้าว่าไม่เคยได้ยินได้ฟังอย่างนี้ก็อย่าเพิ่งหาว่าอาตมาโกหกมาหลอกพวกคุณ มาว่าเอาเอง ถ้าคุณไม่ได้เคยฟังอย่างนี้นะคุณอย่าเพิ่งคิดอย่างนั้น คิดว่าอาตมาก็พูดอย่างมีความรักเพื่อนมนุษย์ ซื่อตรงต่อพระพุทธเจ้า เป็นบ่าวเป็นทาสของพระพุทธเจ้าก็ไม่กบฏทรยศต่อพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นจะไม่พูดอะไรให้ผิดไปจากหลักของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องตายแล้วเกิด ๆ วันหนึ่งหลาย ๆ หนนี่ ถ้าคุณไม่เคยได้ยินได้ฟัง ขอให้เอาไปคิดดูก่อน ว่าเกิดอุปาทานเป็นตัวกูทีหนึ่งนั่นแหละคือเกิดทีหนึ่ง เป็นเรื่องโลภะ โทสะ โมหะ อะไรก็ได้ ทีหนึ่งแล้วก็คือเกิดทีหนึ่ง แม้แต่กลัวผีทีหนึ่งก็เกิดทีหนึ่งเหมือนกัน อิจฉาเขาทีหนึ่งก็เกิดทีหนึ่งเหมือนกัน โง่ทีหนึ่งก็เรียกว่าเกิดทีหนึ่งเหมือนกัน ตัวกูมันทำอะไรขึ้นมาครั้งหนึ่งก็เรียกว่าเกิดทีหนึ่ง ให้รู้เท่าทัน ให้รู้เท่าทันว่านี้เป็นกิเลส นี้เป็นตัวกู และอย่าให้มันเกิดอย่างนั้นได้อีก ให้มันเกิดดีกว่านั้น นี่เรียกว่าเราก้าวหน้า เราเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา ไม่เสียทีที่ว่าเราได้เกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนา ซึ่งเขาเตือนกันอยู่ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้ว ถ้าเป็นการแสดงธรรมอย่างสมัยโบราณเรื่อย ๆ มาก็จะเตือนกันอย่างนี้ ว่าอย่าให้เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา ถ้าจะให้พรก็ให้พรกันอย่างนี้ว่าอย่าให้เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา
เอ้า, ทีนี้จะจบแล้ว จะพูดสักนิดหนึ่งว่ามาสวนโมกข์นี่จะถือเอาประโยชน์อย่างไรให้มัน มัน มันดีที่สุด ให้มันแพงที่สุด ไป ๆ มา ๆ ก็เรื่องเดียวกันอีก คือว่าไอ้คำว่าโมกข์ โมกข์นี้ก็คือเกลี้ยงไปจากบาป อกุศล หลุดพ้นไปจากสิ่งที่ผูกมัดรัดรึงจิตใจให้ ให้เป็นทุกข์อยู่ ถ้ามาที่นี่แล้วใจมันเกลี้ยงก็เรียกว่านี่มาถึงสวนโมกข์ ถ้ามาแล้วใจมันยังรกหนาอยู่ด้วยความทุกข์ มันก็ไม่ถึงสวนโมกข์ ที่เราจะให้ต้นไม้ ก้อนหิน ก้อนดิน ธรรมชาติทั้งหลายในสวนโมกข์นี่ช่วยทำให้จิตใจเกลี้ยงไปจากความทุกข์ ตัวกูของกูหรือความทุกข์อะไรก็แล้วแต่ นี่เรียกว่าได้รับประโยชน์จากสวนโมกข์ จากธรรมชาติทั้งหลายที่มีอยู่ในสวนโมกข์พอเข้ามานั่งอยู่ในธรรมชาตินี้แล้วมัน มันบีบหรือมันบังคับ หรือมันแวดล้อม มันปรุงแต่งก็ได้ ให้เกิดแต่ความรู้สึกที่สะอาด สว่าง สงบ ให้มันว่างไปจากไอ้ความร้อนหรือนรกที่กำลังหมกไหม้อยู่ในจิตใจ เขาเรียกว่าเกลี้ยง แต่พูดให้ลึกก็ต้องพูดว่าเกลี้ยงจากตัวกูของกู มานั่งอยู่ที่นี่จิตใจเกลี้ยงจากความรู้สึกประเภทตัวกูของกู ก็เลยรู้สึกสบาย ความทุกข์ก็อยู่ที่บ้าน ถือเป็นอดีตไปแล้ว เดี๋ยวนี้มันก็กำลังสบายอยู่กับความที่จิตใจมันเกลี้ยงจากจากการที่ว่ามันไม่เกิดตัวกูของกู มันไม่ใช่สติปัญญาสามารถของคุณก็ได้ เพราะว่าธรรมชาติมันช่วย นี่ฟังดูให้ดี ๆ ว่าพอมานั่งตรงนี้ธรรมชาติมันช่วย มันเกิดความรู้สึกชนิดตัวกูของกูไม่ได้ มันเลยเป็นสุข มันไม่ใช่ฝีไม้ลายมือของคุณใช่ไหม มันธรรมชาติมันช่วยต่างหากล่ะ แต่ถึงอย่างนั้นมันก็มีประโยชน์ที่ทำให้เรารู้ได้ว่า เออ, ถ้าไม่มีตัวกูของกูนี่มันสบาย มันเป็นสุข มันเยือกเย็น มันเย็นอกเย็นใจ สวรรค์ก็อยู่ในอก นรกก็อยู่ในใจ แต่เดี๋ยวนี้นรกไม่เกิด มันเกิดแต่สวรรค์ หรือว่ามันสบายหรือเป็นสุข หรือจะเป็นโมกข์ เป็นโมกขะ เป็นนิพพานไป ฉะนั้นมาถึงสวนโมกข์ก็ต้องได้ชิมรสของจิตที่ว่างจากตัวกูของกูสักนิดหนึ่ง สักชั่วคราวหนึ่งก็ยังดี มันเหมือนกับว่าได้ชิมของตัวอย่างที่เราไม่เคยชิม ต่อไปเราก็จะชอบมากขึ้น ถ้าสมมติว่าเดี๋ยวนี้ชอบจิตใจที่เป็นอย่างนี้ ว่าง สงบ เยือกเย็นอย่างนี้ เกิดชอบขึ้นมา มันก็จะฝังติดอยู่ในจิตใจเป็นตัวอย่าง กลับไปถึงนครศรีธรรมราชแล้วก็คงจะระลึกนึกถึง แล้วมันก็จะระลึกนึกได้ว่านั่งอยู่กลางดินตรงนี้ทำไมมันจึงว่าง จึงโล่ง จึงสบาย เราจะเอาอย่างนั้นอีก เราจะพยายามทำจิตใจให้เป็นอย่างนั้นอีก นี่คือกำไรที่ได้รับจากการมาที่นี่ ไอ้เรื่องเสียเงินบ้าง เสียเวลาบ้าง เหน็ดเหนื่อยบ้างแล้วมันก็จะไม่ ไม่ขาดทุน มันกลายเป็นได้ผลได้กำไรที่มากกว่า ให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของพระนิพพานมาก ๆ ขึ้น เป็นการได้กำไรถ้าพูดอย่างภาษาชาวบ้าน คือลงทุนน้อยก็ได้กำไรมากคือรู้จักพระนิพพานได้เร็ว มีจิตใจน้อมไปสู่พระนิพพานโดยอัตโนมัติมากขึ้น ๆ นี่มันทำให้ใกล้ต่อพระนิพพานเหมือนที่เราชอบอธิษฐานว่าขอให้เป็นปัจจัยแก่พระนิพพานบ้าง หรือว่า อาสวกฺขยาวหํโหตุ จงเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะบ้าง นี่คือสิ้นอาสวะ มันเป็นอย่างนี้ คือไม่มีจิตใจที่ทำความทุกข์ทรมานหมักดองอยู่ในสันดานไม่รู้จักสร่างจักซานั้นน่ะ เขาเรียกว่ามันมีอาสวะ ทีนี้อาสวะมันก็จะค่อยเบาบางกระทั่งสิ้นไป เพราะเรามีจิตน้อมไปในพระนิพพาน เพราะเหตุว่าได้ชิมรสของพระนิพพานนิดหนึ่ง ช่วงมานั่งในที่อย่างนี้ ให้ธรรมชาติอย่างนี้มันแวดล้อมบีบบังคับจิตใจอย่าให้เกิดตัวกูของกู และมีความสุขให้ชิมดูเป็นตัวอย่าง แล้วก็เคยเตือนกันอยู่เสมอว่าเมื่อมานั่งอย่างนี้แล้วจิตใจมันยังไม่เย็นลงได้ แล้วไม่พบความเยือกเย็นเสียเลยนี่ไอ้คนนั้นมันบ้าแล้ว คนนั้นมันเป็นโรคประสาทแล้ว มันไปหาหมอเถอะ ที่สวนโมกข์ก็ช่วยอะไรไม่ได้ มันไปหาหมอเถิด มันกำลังเป็นโรคเส้นประสาท หรือว่ากิเลสมันครอบงำหนาเกินไปจนเป็นโรคจิต ไปหาหมอให้ช่วยแก้ไขในส่วนนั้นก่อน เมื่อเป็นคนปกติธรรมดาสามัญมานั่งที่นี่ ธรรมชาตินี้ก็จะช่วยแวดล้อมจิตใจให้เย็นได้ ให้เสียสลัดความทุกข์ สลัดออกไปเสียได้เหมือนกับถ่มน้ำลาย เอาไว้ทำไมไม่มีประโยชน์ นี่เรียกว่าสวนโมกข์ โมกข์แปลว่าเกลี้ยง เกลี้ยงแปลว่าไม่มีอะไรทำให้สกปรกเศร้าหมอง เพราะฉะนั้นก็เป็นความหมายอันเดียวกันกับคำว่า สจิตฺตปริโยทปนํ จงทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว ให้ขาวรอบ เป็นข้อที่ ๓ ของโอวาทปาฏิโมกข์แห่งวันมาฆปุณมี คือที่เราเรียกว่าวันมาฆบูชาในวันนี้ ฉะนั้นจะหวังว่าท่านทั้งหลายจะถือเอาสาระแห่งคำบรรยายเหล่านี้ได้บ้างไม่มากก็น้อย อย่าให้เปล่าเสียเลย ส่วนไหนถือเอาไปได้ พากลับไปบ้านได้นั้นนะจะไปมีประโยชน์ จะไปคุ้มครอง อย่าให้จิตใจมันจมลงไปในกองทุกข์มากเท่าเดิม ก็นับว่าเป็นการได้ที่ดีแล้วในการได้ทำมาฆบูชาในลักษณะอย่างนี้ และอาตมาก็ขออนุโมทนาด้วยเป็นอย่างยิ่ง และไม่ขออนุโมทนาเลยแก่คนที่มาที่นี่โดยคิดว่าจะได้ดูหนัง ไม่ขออนุโมทนาเลย แต่ขออนุโมทนาแก่ทุกคนที่ว่ามาแล้วจะได้รู้จักกับไอ้ความสะอาด สว่าง สงบที่จะได้มาจากธรรมะในพระพุทธศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย ตามความประสงค์มุ่งหมายนั้นทุก ๆ ประการเถิด ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้