แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธทาส : วันนี้ เอ่อ, วันนี้เข้าใจว่า คงจะพยายามถามปัญหาให้ใกล้เข้ามากับการปฏิบัติ หรือเรื่องที่เอามาประยุกต์เป็นประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น ถึงเวลาแล้ว ขอให้ถามตามความประสงค์
ภิกษุสงฆ์ : ตามที่พระพุทธองค์เคยกล่าวไว้ว่า เป็นอยู่โดยชอบแล้วไซร้ โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์นั้น เป็นอยู่อย่างไรครับ
พุทธทาส : ถามว่า ที่ว่า ที่ตรัสว่า เป็นอยู่โดยชอบ แล้วโลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ คำถามนี้เคยมีผู้ถาม เคยบรรยายไว้มากมายหลายครั้ง ตอบอีกสักครั้งหนึ่งอีกก็ได้ เหตุการณ์ในวันนั้น มีการสนทนากับปริพาชก ผู้เข้ามาบวชใหม่ ถึงเรื่องสมณะ ๔ คือ พระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และพระอรหันต์ ว่าจะมีอย่างไรในศาสนาไหน พระพุทธองค์ตรัสว่า ในศาสนาที่มีอริยมรรคมีองค์แปด และต่อมาได้ตรัสถึง เอ่อ, ประโยคนี้ที่ว่า ถ้าเป็นอยู่กันโดยชอบไซร้ โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ ข้อนี้ก็ทำให้เข้าใจว่า คำว่า เป็นอยู่โดยชอบนั้น ก็หมายถึง การเป็นอยู่โดยอริยมรรค มีองค์แปดนั่นเอง แม้เราจะไม่ถือเอาลำดับแห่งเหตุการณ์นี้ เป็นเครื่องประกอบการตัดสิน มันก็หนีไปไม่พ้นจากอริยมรรคมีองค์แปด โดยอาศัยคำว่า สัมมา สัมมา นั่นแหละเป็นหลัก
คือ พระบาลีนั้นตรัสว่า (นาทีที่ ๓.๔๔ ) หะเยเม สุคะตะ ภิกขู สัมมา วิหะเรยยุง อะสุญโญ โลโก อะระหันเตหิ อัสสะ ถ้าภิกษุเหล่านี้ สัมมาวิหะเรยยุง พึงอยู่อย่างสัมมา ซึ่งแปลว่า โดยชอบ นี้ก็ว่า โดยชอบนี้ คือสัมมา
หลักอัฏฐังคิกมรรค หรือ อริยมรรคมีองค์แปด ก็มีคำว่า สัมมา สัมมา แปดสัมมา
สัมมาทิฏฐิ
สัมมาสังกัปโป
สัมมาวาจา
สัมมากัมมันโต
สัมมาอาชีโว
สัมมาวายาโม
สัมมาสติ
สัมมาสมาธิ
ดังนั้น เราจึงถือว่า สัมมาวิหะเรยยุง ก็คือ สัมมาแปดอย่างเหล่านี้แหละ รวมกันเข้าทั้งแปดแล้วก็เป็น สัมมาวิหะเรยยุง นี้ตามตัวหนังสือ ก็ทำให้มองเห็นอย่างนี้ ทีนี้ถ้ากล่าวโดยใจความ โดยหลักเกณฑ์ของธรรมะ มันก็ไม่มีอะไรอื่นดีไปกว่านี้ ดีไป, ไม่มีอะไรอื่นดีไปกว่า สัมมาแปดประการนี้ และเมื่อพิจารณาดูสัมมาแปดประการนี้ ก็เห็นได้ว่า ทำบุคคลให้เป็นพระอรหันต์ในที่สุดได้จริงเหมือนกัน
ดังนั้น ผม โดยเฉพาะผม อธิบายคำว่า สัมมาวิหะเรยยุง นี้ว่า คือ การเป็นอยู่ โดยอริยมรรคมีองค์แปด เรียกว่าเป็นอยู่โดยชอบ คือ เป็นอยู่ในลักษณะที่มันผิดไม่ได้ เป็นอยู่ในลักษณะที่กิเลสเกิดไม่ได้ เมื่อกิเลสเกิดไม่ได้นานเข้า นานเข้า อนุสัยสังโยชน์ทั้งหลาย มันก็จาง มันก็ละลายหายไป ก็เป็นพระอรหันต์ได้ มันจึงเข้าใจว่าอย่างนี้ และขอตอบว่าอย่างนี้
เอ้า, มีปัญหาจะซัก ก็ซักได้ ให้มันเป็นเรื่องๆไป ให้มันเสร็จเป็นเรื่อง ๆไป มีความสงสัยจะซักอย่างไรก็ได้
ภิกษุสงฆ์ : องค์ทั้งแปดของอริยมรรคนี้ มุ่งเข้าสู่อริยสัจสี่ มุ่งตามแนวของอริยสัจสี่ตลอดเวลาใช่ไหมครับ ที่พิจารณาทุกข์เป็นอย่างนี้ อย่างนี้ เหตุเกิดทุกข์เป็นเช่นนี้ ความดับสนิทแห่งทุกข์เป็นเช่นนี้ เช่นนี้ จะต้องรอบอยู่ในจุดศูนย์กลางอันนี้ใช่ไหมครับ
พุทธทาส : เราไม่พูดอย่างนั้นหล่ะ และไม่อาจจะพูดอย่างนั้น คือว่า อริยมรรคมีองค์แปด นี้มุ่งไปสู่อริยสัจสี่นี้ พูดไม่ได้ อริยมรรคมีองค์แปดนี้ มันมุ่งไปสู่นิพพาน เขาใช้คำว่า มุ่ง แล้วก็ มุ่งไปสู่นิพพาน คือ เป็น เอ่อ, อริยสัจองค์ที่สาม ที่เรียกว่า นิโรธ หรือ ทุกขนิโรธ ดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อริยมรรคมีองค์แปดเป็นทางที่มุ่งไปสู่ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ คือ นิพพาน
แต่ถ้าจะมองให้ละเอียด ก็พูดได้ว่า เมื่อปฏิบัติอยู่ตามอริยมรรคมีองค์แปด นั้นก็คือ การศึกษาเรื่องอริยสัจทั้งสี่ ให้อยู่ในตัว โดยเฉพาะก็คือบทว่า สัมมาทิฏฐิ พยายามทำให้มี สัมมาทิฏฐิ ก็คือ พยายามให้เห็น โดยถูกต้อง โดยประจักษ์ ว่าทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ความดับทุกข์เป็นอย่างไร หนทางแห่งความดับทุกข์เป็นอย่างไร อย่างนี้พอพูดได้ แต่จะพูดไปในลักษณะที่ว่า ไอ้, หนทางนี้มุ่งไปสู่อริยสัจสี่นี้ มันไม่ถูกตามรูปของภาษา ต้องบอกว่า มุ่งไปนิพพาน แต่พูดได้ว่า เมื่อปฏิบัติอยู่ในมรรคมีองค์แปดนี่ จะเป็นการศึกษาอริยสัจทั้งสี่อยู่ในตัวมันเอง พูดได้
เอ้า, มีปัญหาอะไรต่อไปอีก
ภิกษุสงฆ์ : ในขณะที่เราศึกษาอริยสัจสี่ หรือ ดำเนินตามมรรคมีองค์แปดอันนี้ สาเหตุที่เราไปได้ไม่ตลอดสาย และก็ไปได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง เป็นเพราะเครื่องกั้นของจิต เครื่องกั้นของจิตเหล่านั้น ก็มีนิวรณ์ห้าเป็นต้น และยังมีสิ่งอื่นอะไรอีกหรือไม่ครับ หรือว่านิวรณ์ห้านี้ มีความสำคัญเพียงใด
พุทธทาส : ปัญหามันตั้งขึ้นว่า การที่เดิน ดำเนินไปตามอริยมรรคมีองค์แปดไม่ได้นั้น เพราะอุปสรรคอะไร และก็ยก นิวรณ์ห้าขึ้นมา เป็นอุปสรรคอันหนึ่ง มันก็พอจะพูดได้เหมือนกันว่า ถูกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนน้อย ส่วนหนึ่ง เมื่อมีนิวรณ์ห้า จิตก็ไม่ผ่องใส ไม่แจ่มใส ไม่เป็นสมาธิ มันก็ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ก็เป็นอุปสรรคได้
แต่ถ้าจะตอบให้ถูก ก็ต้องถือว่า ไอ้การที่เป็นอยู่อย่างตรงกันข้ามกับอริยมรรคทั้งแปดนั้นแหละ คืออุปสรรค
เช่น มิจฉาทิฏฐิ เป็นอุปสรรค กับ สัมมาทิฐิ
มิจฉาสังกัปโป เป็นอุปสรรค ของ สัมมาสังกัปโป เป็นต้น
จนตลอดสาย ควรจะเพ่งเล็งไปที่นั่น จึงต้องละในส่วนที่ผิดเสีย และก็ทำให้มากในส่วนที่ถูก ละฝ่ายมิจฉาเสีย ทำฝ่ายสัมมาให้เต็มขึ้นมา
ดังนั้น ถ้าถามว่า อะไรเป็นอุปสรรคในการเดินไปไม่ได้ ในอริยมรรคมีองค์แปด นี่ก็เพราะไอ้, ทำผิดแต่ละองค์ ละองค์ นี้คือ คำตอบที่สิ้นเชิงว่าอริยมรรคมีองค์แปดดำเนินไปไม่ได้ ถ้าตอบอย่างอื่นก็ได้เหมือนกัน มันมีทางที่จะตอบได้มาก แล้วแต่จะมองกัน เช่น จะตอบว่า อวิชชาอย่างเดียว ก็ได้เหมือนกัน ก็ไปไม่รอด ถ้ามีอวิชชาแล้ว ไม่มีอะไรจะไปรอด แต่ถ้าตอบอย่างนั้นเป็นคำถาม ที่ เอ่อ, เป็นคำตอบที่มัน, คลุมเครือนัก หรือว่ายัง, ยังไม่ชัดเจน ยังเหมือนกับไม่ได้ตอบ ให้มันแยกให้เป็นไอ้, เรื่อง เรื่อง เรื่อง เรื่อง ดีกว่า เอาไอ้ที่มันตรงกันข้ามนี้มาเป็นอุปสรรค และมันจะพบไอ้, อุปกิเลส หรือกิเลสน้อยใหญ่ทั้งหลาย ที่อยู่ในฝ่าย มิจฉามรรค นี้เป็นอุปสรรคโดยตรง
จึงขอตอบว่า มิจฉามรรค เป็นอุปสรรคของ (นาทีที่ 12.30) ...????.....
เอ้า, มีปัญหาอะไรอีก
ภิกษุสงฆ์ : ที่อริยมรรคมีองค์แปดอันนี้ ในเมื่อมีความเข้าใจในเบื้องต้นเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ว่ามีอยู่แปดข้อนั้น และก็มีความหมายอย่างไร ก็เป็นสัมมาอยู่แล้ว แต่ทำไมกลับไปเป็นมิจฉาอีก เพราะการปฏิบัติที่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ปรารภความเพียร หรือด้วยสาเหตุใด
พุทธทาส : ถ้าเป็นสัมมา แล้วเป็นมิจฉาไม่ได้ เดี๋ยวนี้เรา หมายความว่า ที่มันเป็นสัมมาไม่ได้ เพราะมันเป็นมิจฉาอยู่ก่อน เราได้ยิน ได้ฟัง แต่ตัวหนังสือ ว่าอย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนี้มันจะเป็นสัมมายังไม่, เอ่อ, ยังไม่ทันจะเป็นสัมมา การปฏิบัติที่เป็นมิจฉายังมีอยู่ หรือมีมาแต่เดิม เช่น ได้ยินว่า สัมมาทิฏฐิอย่างนี้ มันก็ไม่เกิดสัมมาทิฏฐิทันทีได้ เพราะมิจฉาทิฏฐิมันมีอยู่ก่อนกว่า นี้พอจะปฏิบัติหรือเจริญให้เกิดสัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิมันดึงไว้ไม่ค่อยจะยอม มันก็ต้องต่อสู้ปลุกปล้ำกันไป ในระหว่างสิ่งที่เป็นคู่ตรงกันข้าม จนกว่าฝ่ายที่เป็น สัมมา มันจะชนะ
จะจำกัดความอีกทีหนึ่งว่า ถ้าเป็นสัมมาอยู่แล้ว จะกลับเป็นมิจฉาไม่ได้ ถ้าไปกลาย อย่างนั้นได้ ก็คือว่ายังไม่ใช่สัมมาที่แท้จริง
ภิกษุสงฆ์ : อันนี้ก็แสดงว่า จะต้องลงมือประพฤติปฏิบัติด้วยความที่มีศรัทธาเห็นในสิ่งนั้น และก็ทุ่มเทการประพฤติปฏิบัติลงไป เพื่อที่จะดูผลที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร
พุทธทาส : นั่นมันเป็นรายละเอียด ปลีกย่อย ของเทคนิคของการปฏิบัติ ก็ไปศึกษา เรื่องมีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ชื่อว่า อินทรีย์ทั้งห้า พละทั้งห้า นั้นแหละถูกแล้ว สำคัญมาก จะต้องทำให้ครบขึ้นมา ในการปฏิบัติมันอยู่ในรูปของ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ไม่ว่าปฏิบัติธรรมะข้อไหน หมวดไหน ก็ต้องใช้พวกเหล่านี้
ดังนั้น เมื่อปฏิบัติอริยมรรคมีองค์แปดอยู่
มันก็มีศรัทธา คือ ความเชื่อ รวมอยู่ใน สัมมาทิฏฐิ
มีวิริยะ อยู่ใน สัมมาวายามะ
มีสติ อยู่ใน สัมมาสติ
สมาธิ อยู่ใน สัมมาสมาธิ
มีปัญญา อยู่ใน สัมมาทิฏฐิ อย่างนี้เป็นต้น
การที่ เร่ง หรือ เบ่ง ไอ้, องค์ทั้งแปดของมรรคให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป คือการปฏิบัติ นี้ก็มองดูในรูปของ พละห้า อินทรีย์ห้า มันก็เห็นอยู่, อยู่ในนั้นแหละ ซ้อนอยู่ในนั้น มีอยู่ในนั้น อย่างนี้เราเรียกว่า รายละเอียด ข้อปลีกย่อยที่แยกออกไป โดยละเอียดของการปฏิบัติ ยกไปดูเอา ให้ครบถ้วน จะพูดสั้นๆ ดุ้นๆ อย่างนี้ มันก็ไม่, ไม่หมด ไม่ครบ พยายามศึกษาให้ครบ และก็พูดให้หมด ศรัทธา มันรวมอยู่ในคำว่าสัมมาทิฏฐิ ทำสัมมาทิฏฐิก็เท่ากับทำศรัทธา
เอ้า, มีปัญหาอะไรต่อ
ภิกษุสงฆ์ : เกี่ยวกับคำว่าศรัทธานี้ มีผู้ถามว่า การที่เรามีศรัทธาในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น พุทธศาสนา ถือว่าเป็นการยึดมั่นหรือไม่
พุทธทาส : มีศรัทธาอย่างไม่หวั่นไหวในสิ่งใด ชื่อว่า ความยึดมั่นหรือไม่ ความยึดมั่น คืออุปาทาน อุปาทานเกิดมาจากอะไร คุณตอบได้หรือไม่ อุปาทาน ความยึดมั่นน่ะ มันเกิดจากอะไร
ภิกษุสงฆ์ : เกิดจากตัณหาขอรับ
พุทธทาส : อุปาทานเกิดจากตัณหา แล้วศรัทธาที่เอามาเป็นปัญหา ถามกันนี้ ศรัทธานี้เกิดมาจากอะไร
ภิกษุสงฆ์ : มีสองกรณี คือ ปัญญา หรือ ว่าด้วยอวิชชา
พุทธทาส : ปัญญา หรือ ตัณหา ก็ได้ ก็เอาสิ คุณไปแยก ออกเป็นสองอย่าง ไอ้ศรัทธาที่มาจากปัญญานั้นมีที่มา แต่ศรัทธาที่มี, ที่มาจากตัณหานี้ยังไม่เคยพบที่มา แล้ว, แล้วอธิบายได้อย่างไรว่า ไอ้, ศรัทธาที่มาจากตัณหามีได้ หรือมีอย่างไร และถ้ามี แล้วจะเรียกว่า สัมมาศรัทธา ได้ไหม ศรัทธาที่มาจากตัณหา จะเรียกว่าสัมมาศรัทธาได้หรือไม่
ภิกษุสงฆ์ : ไม่ได้ครับ
พุทธทาส : ถ้าไม่ได้ อันนั้นก็ไม่ใช่ศรัทธา ไม่ใช่ศรัทธาแท้ ก็ปัดออกไปเสีย ฉะนั้น ศรัทธาที่มาจากตัณหา หรือ, หรือมาจากอุปาทานนี่ ตอนหนึ่ง ก็ไม่ใช่ศรัทธา ดังนั้น จึงมีคำพูดอีกคำหนึ่ง แม้จะใช้คำว่า ความยึดมั่น ด้วยอำนาจของปัญญา ยึดถือเอาเป็นหลักสำหรับปฏิบัติ อย่างนี้ก็ไม่ใช่อุปาทาน เช่นเดียวกับที่เคยพูดวางไว้ให้เป็นหลักใหญ่ ว่าคำพูดคำเดียวกันเป็นชื่อของธรรมะอย่างหนึ่งนั้น มันกำกวมอย่างนี้แหละ
เช่นว่า
ความอยาก ถ้ามาจากอวิชชา ก็เรียกว่า โลภะบ้าง ตัณหาบ้าง ถ้าความอยากนั้นมันมาจากอวิชชา
นี้ถ้าว่า ความอยากนั้น มิได้มาจากวิชชาแต่มา เอ่อ, มิได้มาจากอวิชชา แต่ว่ามาจาก วิชชาหรือจากปัญญา ความอยากนั้น เราไม่เรียกว่าความโลภ ไม่เรียกว่าตัณหา
นี้ให้, ให้จำหลักนี้ไว้เป็นเครื่องตัดสิน ถ้ามีอวิชชาเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แล้วก็เป็น, เป็นเรื่องผิด ไม่ใช่ธรรมะ ที่จะดับทุกข์ได้ ไม่ใช่ธรรมะที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ได้ ขอให้ใช้คำใหม่ คำอื่นที่ดีกว่า ยึดมั่นในพระพุทธ ยึดมั่นในพระธรรม ยึดมั่นในพระสงฆ์ นี้ ไม่, ไม่ได้ใช้พูดกัน มีศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี้มีใช้ ใช้อย่างยิ่ง หมายถึงศรัทธาที่มาจากปัญญา ไปจัดกันซะใหม่ให้ดี ก็จะไม่, ไม่ปนเปกันยุ่ง ไม่ตีกันยุ่ง ขอให้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ให้แต่ละคนไปมองดูให้ดี ไปจัด ไปปรับ ไปอะไรกันเสียให้ดี จะไม่มีปัญหาอย่างนี้เกิดขึ้น
เอ้า, ปัญหามีอะไรอีก
ภิกษุสงฆ์ : ท่านอาจารย์ครับ มีปัญหา ปัญหาที่ว่า ในการทำวิปัสสนานั้น ท่านอาจารย์กล่าวว่า เราจะต้องไปดูที่เวทนาที่เกิดขึ้นกับจิตใจของเขา ซึ่งเกิดขึ้นในขณะนั้น แต่ถ้าสมมติว่าเราทำสมาธิจนจิตใจสงบแล้ว แน่นอนว่าขณะนั้น ก็ไม่มีทุกขเวทนา แล้วเราจะเอาทุกขเวทนาที่ไหนมาพิจารณาล่ะครับ แล้วถ้าสมมุตว่าเราพิจารณาได้นี่ ไอ้ทุกขเวทนานั้น มันจะมาจากความคิดไม่ใช่หรือครับ
พุทธทาส : ถ้าทำวิปัสสนาที่ถูกต้องตามหลักนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว มันก็ดูที่ความไม่เที่ยง ถ้าจิตที่เป็นสมาธิแล้ว ดูที่ความไม่เที่ยง ของทุกสิ่ง ทุกสิ่ง ที่มีอยู่จริงในเวลานั้น และเมื่อเห็นความไม่เที่ยง แล้วก็จะเกิดความคลายกำหนัด แล้วก็ดับแห่งกิเลสและความทุกข์ไปเลย
ถ้าจะดูทุกข์ ก็ต้องดูที่เมื่อ, เมื่อมีความทุกข์ แต่นี้เราไม่ต้องไปดูที่มีความทุกข์ เราดูที่ความไม่เที่ยง เห็นความไม่เที่ยง ของสิ่งที่ปรากฎอยู่จริงในภายใน
ความไม่เที่ยงของลมหายใจยาว
ความไม่เที่ยงของลมหายใจสั้น
ความไม่เที่ยงของลมหายใจ ที่เป็นกายสังขารปรุงแต่งกาย
ความไม่เที่ยงของกายสังขารที่ระงับแล้ว
ความไม่เที่ยงของปีติ ที่รู้สึกอยู่ในขณะที่มีสมาธิ
ความไม่เที่ยงของความสุข ที่มีอยู่ในขณะที่จิตเป็นสมาธิ
ความไม่เที่ยงของสุข และปีติเอง
ความไม่เที่ยงของหน้าที่ ที่มันทำ คือทำหน้าที่เป็นจิตสังขาร
กระทั่งว่า จิตสังขารนั้นระงับอยู่ ก็เห็นความไม่เที่ยง
เห็นจิตทุกระดับ เป็นความไม่เที่ยง
เห็นจิตที่ทำให้ปราโมทย์บังเทิงได้ ก็ไม่เที่ยง
เห็นจิตที่ตั้งมั่นได้ ก็ไม่เที่ยง
เห็นจิตที่ทำให้ปล่อย ก็ไม่เที่ยง
พอเห็นไม่เที่ยง ทุกอย่างที่, ที่มีอยู่จริง ปรากฏอยู่จริง จิตก็คลายกำหนัดจากสิ่งที่เคยสิ่งยึดถือ เป็น วิราคะ เมื่อคลายกำหนัดเรื่อย ๆ ไป มันก็ถึง นิโรธะ คือดับแห่งความยึดถือ ก็ดับกิเลส ดับทุกข์ มีลักษณะเป็น ปฏินิสสัคคะ สลัดความยึดถือ เหวี่ยงออกไปโดยสิ้นเชิง ไม่ได้มีปัญหาอะไร
นี้, คุณอยากจะทำวิปัสสนาชนิดไหนที่อยากจะดูความทุกข์ ตอบได้ไหมที่ว่า ทำวิปัสสนาอย่างไร ชนิดไหน ที่ต้องการจะดูความทุกข์ มันคงจะได้ แต่เมื่อว่ามีความทุกข์เกิดขึ้นจริง และก็สำรวมสติ สำรวจจิต สำรวจกำลังจิต พิจารณาความทุกข์ ว่ามันทุกข์ หรือว่ามัน สักแต่ว่าทุกข์ หาไม่, เอ่อ, ไม่มีบุคคลผู้เป็นทุกข์ อย่างนี้เป็นต้น มันก็ทำได้ แต่ที่เรียกว่าระบบวิปัสสนาที่แท้จริงนั้นน่ะ ขอให้ถือเอา ไอ้, หลักอานาปานสติ สิบหกขั้น สี่กลุ่ม กลุ่มละสี่ขั้น นั้นน่ะ แล้วก็ไปดูเอาเอง
เอ้า, ถ้า ถ้ายังสงสัยตรงไหนก็ถามได้ เรื่องนี้แหละ ถามให้มันหมดจดไปเลย
ภิกษุสงฆ์ : อาจารย์ครับผม จากคำถามผมเข้าใจไปว่า อย่างเช่น เมื่อเรานั่งทำสมาธิ ในขณะที่เรานั่งไปสักชั่วโมงนึง ขามันก็จะเมื่อย แต่ถ้าเรานั่งต่อไป คนนั้นทำสมาธิได้ดี เขาก็จะสงบ หรือ ไม่ทราบว่าช่วงนี้ จะเป็นช่วงของฌาณสมาบัติหรือเปล่า ในเมื่อมันสงบแล้วนี่ ที่ ที่เขียนมานะว่า เมื่อทำสมาธิจนจิตใจสงบแล้ว ในเมื่อมันสงบแล้ว แล้วจะย้อนกลับไปพิจารณาได้อย่างไร และถ้าสมมุตย้อนกลับไปพิจารณานี่, การย้อนกลับไปนั้น คือการนึกคิด แต่ไม่ใช่เป็นการพิจารณาไม่ใช่หรือครับ
พุทธทาส : ผู้ถาม ไม่รู้เรื่องความหมายของ คำ แต่ละคำ เช่น คำว่า สมาธิ สมาบัติ เป็นต้น และเป็นคำถามที่ปนเป ฟั่นเฝือที่สุด
ตั้งต้นแต่ว่า ทำสมาธิ นั่งทำสมาธิแล้วเมื่อย แล้วเป็นเหน็บ แล้วเป็นทุกข์ ใช่ไหม คุณก็ถามว่าอย่างนั้น มันก็ต้องพูดให้ชัดเลยว่า เลิกลุกขึ้นไปเสีย หรือว่าทำต่อไป ถ้าทำต่อไปได้ มันหายไป ทำได้ ทำจนเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว ไม่ใช่ว่า จะต้องเข้าไปในสมาบัติ จิตเป็นสมาธิแล้ว ก็ใช้จิตชนิดนั้นพิจารณาอะไรต่อไปก็ได้ เช่น พิจารณาอนิจจัง นี้ก็ได้ ไม่ใช่สมาบัติ คำว่าสมา, สมาบัติ นั้นต้องไปฝึกกันอีกตอนหนึ่ง เพื่อจะหยุดอยู่ในสมาธินานเป็นเวลา ตามเวลาที่ตนต้องการ จะอยู่ในสมาธิที่ดื่มด่ำลงไป และก็นาน ตามที่ตัวต้องการหลายชั่วโมง หลายวัน อะไรก็ได้ มันคนละเรื่องกัน กับสมาธิ ทำสมาธิแล้วโดย, โดยทั่วไป ไม่มีใครดันเข้าไปในสมาบัติ เราก็จะใช้จิตที่เป็นสมาธินี้ ทำเป็นประโยชน์เพื่อความ, เอ่อ, เพื่อเกิดปัญญารู้แจ้ง นี้เป็นความมุ่งหมายโดยตรง แต่ถ้ามีใครเขาต้องการจะเดินไปทางสมาบัติก่อน ก็ได้เหมือนกัน ก็ต้องทำให้ถูกวิธีและมันก็ได้
แต่ไม่พบ ไม่มีหลักไหน ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนั้น จะไปเข้าสมาบัติในส่วน รูปฌาณก็ดี อรูปฌาณก็ดี มันก็ไม่ดับทุกข์ได้ เพียงแต่มันหยุด หรือว่าหลีกหนีไป จากความทุกข์ตลอดเวลาที่อยู่ในสมาบัติ ออกมามันก็เจอะกันอีก
ทีนี้ เมื่อจิตเป็นสมาธิพอสมควรแล้ว พอสมควรแก่สภาพ เอ่อ, สมรรถภาพของบุคคลนั้นแล้ว ก็พิจารณา อนิจจัง อนิจจานุปัสสี จนเกิด วิราคะ นันทวิราคานุปัสสี จนเกิด นิโรธะ เกิด ปฏินิสสัคคะ ดับทุกข์ได้ เรื่องมันก็จบกัน ไม่จำเป็นที่จะต้องผ่านสมาบัติก็ได้ แต่ถ้าใครจะชอบก็ได้เหมือนกัน ถือว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีเรื่องที่จะต้องทำอย่างนี้อีก จะใช้สมาบัติเป็นเครื่องหยุดพักผ่อนก็ได้ ก็เป็นเรื่องพิเศษของท่าน ไม่มาอยู่ในแนวปฏิบัติหรือ ในสายการปฏิบัติของคนที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์
เอ้า, ถามอะไรก็ถาม
ภิกษุสงฆ์ : เมื่อมีอารมณ์ หรือความคิดที่ทำให้เกิดทุกข์ ที่ทำให้เกิดทุกข์เกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติควรจะใช้วิธีภาวนา เพื่อสลัดความคิดหรืออารมณ์นั้นเสีย หรือควรปล่อยให้ความคิดหรืออารมณ์นั้นดำเนินไป เพื่อจะได้ตามดู การตั้งอยู่ และการดับไป ของความคิด หรืออารมณ์นั้น ๆ
พุทธทาส : อ่านอีกที ฟังไม่ถนัด
ภิกษุสงฆ์ : เมื่อมีอารมณ์ หรือความคิดที่ทำให้เกิดทุกข์ขึ้น ผู้ปฏิบัติควรจะใช้วิธีภาวนา เพื่อสลัดความคิดหรืออารมณ์นั้นเสีย หรือควรปล่อยให้ความคิดหรืออารมณ์นั้น ดำเนินไปเพื่อจะได้ตามดู การตั้งอยู่ และการดับไปของความคิดหรืออารมณ์นั้นๆ
พุทธทาส : ตอบว่า ทำได้ทั้งสองอย่าง เมื่อความคิด หรืออารมณ์ หรือเหตุที่มันเป็นทุกข์เกิดขึ้น เราไม่อยากจะเป็นทุกข์ ก็ขจัดมันออกไปเสีย นี้ก็ทำได้ แต่ถ้าเราเป็นนักเลง เราอยากจะเผชิญกับความทุกข์ เพื่อการศึก, ศึกษาให้มันจริงจัง ก็ทำได้ เราเอาความทุกข์นั้นน่ะ เป็นอารมณ์ สำหรับศึกษา สำหรับพิจารณา จนกว่าจะเห็นแจ้งประจักษ์ว่า โอ้, มันสักแต่ว่า ความรู้สึกเท่านั้นหนอ ไม่ใช่ตัวตนอะไร ก็ดีเหมือนกัน
เลยตอบว่า แล้วแต่ใครจะชอบ อย่างไหนก็ได้
ภิกษุสงฆ์ : การทำตัวให้สอดคล้อง กับธรรมชาตินั้น จะปฏิบัติอย่างไร
พุทธทาส : การทำตัวให้สอดคล้อง กับธรรมชาติ คำพูดนี้เอามาแต่ไหน
ภิกษุสงฆ์ : เป็นคำถามของฆราวาสน่ะครับ
พุทธทาส : เขาเอาคำพูดนี้มาจากไหน
ภิกษุสงฆ์ : ผมเข้าใจ คงจะว่า ใช้ชีวิตเข้ากับธรรมชาติได้ ไม่ฝืนธรรมชาติ
พุทธทาส : มันเป็นคำพูดที่ยังไม่รัดกุม ก็, ก็พอจะเข้าใจได้ ไอ้, ไอ้คำที่พูดมานี้ คือ เราประสงค์จะให้เป็นอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ให้โอกาสแก่ธรรมชาติ ที่จะช่วยให้เกิดความรู้ ชนิดที่เป็นของธรรมชาติ เป็นความจริงของธรรมชาติ ก็คงจะหมายอย่างนั้น ใช้คำว่า ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ควรจะใช้คำว่า ให้มันสอดคล้อง กับการที่ธรรมชาติจะช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติได้โดยง่าย มันก็เป็นเรื่องที่จะต้องพูดกันยืดยาว แต่เราอย่าไป, ไปทำให้เป็นเรื่องยืดยาว
ใช้คำว่า เป็นอยู่ให้ใกล้ชิดธรรมชาติ ให้, ให้มันเป็นธรรมชาตินั่นแหละ มันมากเข้า การกิน การอยู่ การเป็นอยู่ ให้มันใกล้ชิดกับธรรมชาติ เช่น ไปอยู่ในที่สงัดตามธรรมชาติ ความคิดก็เกิดไปในทางที่จะเข้าใจธรรมชาติได้ง่ายขึ้น ถ้าไปอยู่ไกลธรรมชาติ อยู่ท่ามกลางไอ้สิ่งยั่วเย้า ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลส มันก็ไกลธรรมชาติ ก็ไม่อาจจะเกิดความคิด นึก รู้สึก ไปตามธรรมชาติ มันต้องไปต่อสู้กับกิเลส
รวมความว่า ให้เป็นอยู่ อย่างแบบของบรรพชิต โดยเฉพาะก็ตามที่ มีไว้สำหรับภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนาอยู่ อยู่โคนไม้ ซึ่งบอกให้แก่กันและกันตั้งแต่วันอุปสมบท ให้อยู่โคนไม้ ให้ใช้ยาแก้โรคตามธรรมชาติ ให้นุ่งห่มด้วยจีวรที่หาได้ง่าย ไม่ต้องขวนขวายให้มันยุ่งยากแก่การเป็นบรรพชิต ให้กินอาหารเหมือนกับคนขอทาน แสวงหาอย่างคนขอทาน นี้เรียกว่าใกล้ชิดธรรมชาติ โดยหลักใหญ่ เป็นอยู่อย่างพระเถื่อนก็ได้ใกล้ชิดธรรมชาติกว่าพระบ้าน
ภิกษุสงฆ์ : อันนี้จะสรุปลงไปว่า ทั้งบรรพชิตและฆราวาสนั้น ถ้าหากว่าจะให้ใกล้ชิดธรรมชาติแล้ว เพียงแค่มีปัจจัยสี่พอยังชีพได้ แล้วนอกนั้น ก็ทำประโยชน์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน พูดเช่นนั้นได้ไหมครับ
พุทธทาส : โดยหลักใหญ่ เราก็มองเห็นอยู่แล้วว่า เป็นอยู่อย่างฆราวาสนั้น มันก็, ก็ใกล้ธรรมชาติได้น้อยกว่าเป็นอยู่อย่างบรรพชิต เป็นอยู่บรรพชิตนี่มันจะใกล้ธรรมชาติได้ มากกว่าเป็นอยู่อย่างฆราวาส แต่ฆราวาสก็อาจจะเป็นอยู่ใกล้ธรรมชาติได้ ตามสมควร
นี้ คำถามนัยที่สองนั้น มันมีทางที่จะต้องแยกออกไปว่า ถ้าคนนั้นมันต้องการจะทำประโยชน์ผู้อื่นด้วย ฉะนั้นโอกาสที่จะอยู่ใกล้ธรรมชาติมันก็ต้องน้อยลงไปบ้าง ต้องมองกันอย่างนั้น ผู้ที่จะทำประโยชน์แก่มนุษย์ แก่โลกด้วย มันก็มีโอกาสที่จะใกล้ธรรมชาติน้อยกว่า ผู้ที่ไม่ประสงค์จะทำอย่างนั้น มันก็ทำไปตามที่ถูกที่ควร ก็ไม่มีปัญหาอะไร หรือว่าคน คนเดียวกันน่ะ บางเวลาเขาแสวงหาความสุขส่วนตัว หรือปฏิบัติส่วนตัว มันก็ใกล้ชิดธรรมชาติได้มาก บางเวลาเขาอยากจะทำประโยชน์ผู้อื่น เขาก็ต้องไปสู่สังคม ทำประโยชน์ผู้อื่น ไม่เห็นมีอะไรที่เป็นปัญหา ที่ทำให้ต้อง, ต้องสงสัย หรือคุณสงสัยอะไรก็ลองว่า
ภิกษุสงฆ์ : ท่านครับใน ในแง่ของความใกล้ชิดธรรมชาตินี้ คือ การซึมซาบชีวิต ตามความเป็นจริง ที่ไม่ ไม่ถูกความสมมุติของโลกหลอกลวงเอา
พุทธทาส : นั้น ที่เราพูดมาแล้ว เราหมายถึง ธรรมชาติภายนอก แต่ถ้าพูดอย่างหลังนี่ว่า มันจะกลายเป็นธรรมชาติภายใน คือเรื่องภายในจิตใจ แล้วต้องใกล้ชิดความจริงของธรรมชาติภายในทางจิตใจ มันก็ได้เหมือนกัน มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างนี้ไม่แน่ ฆราวาสหรือบรรพชิต จะทำได้มากกว่ากัน ใครจะทำได้มากกว่ากัน นี้ก็ไม่แน่ ก็แล้วแต่บุคคลนั้น
การที่บุคคล เขาจะทำสำเร็จ ในการอบรมจิต ฝึกฝนจิต ชนะกิเลสได้แล้ว อย่างนี้มันก็หมดปัญหา ไม่ว่าธรรมชาติภายนอก หรือธรรมชาติภายใน มัน, มัน, มันหมดปัญหา มันก็มีความสุขได้ง่าย ทำประโยชน์แก่ใครก็ทำได้ง่าย เพราะว่ามันเป็นตัวธรรมชาติอันบริสุทธิ์เสียเอง ความหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ย่อมเป็นธรรมชาติอันบริสุทธิ์อยู่ในตัวมันเอง นั่น, มันไปถึงใน คำว่า ธรรมชาติในภายใน
เมื่อสักครู่ เราไม่ได้พูดกันอย่างนั้น เดี๋ยวนี้ก็พูดเสียใหม่ให้มันครบ ธรรมชาติภายนอก หรือธรรมชาติภายใน เราใกล้ชิดธรรมชาติ จนกระทั่งว่าเป็นธรรมชาติเสียเอง หมายถึง เป็นความสงบตามธรรมชาติ ไม่มีอะไรมาปรุงแต่งให้มันวุ่นวายหรือเป็นทุกข์ขึ้นมาได้ แม้แต่พระนิพพานเค้าก็ใช้คำว่า ธรรมชาติ ดังนั้น การเข้าถึงพระนิพพาน คือ การเข้าถึงธรรมชาติอันสูงสุด ก็ไปดูเอาเองว่าใครจะทำได้อย่างไร จะใช้คำพูดว่าอย่างไร
คำถามทีแรกเกิดสอดคล้องกับธรรมชาติ นั่นก็ ก็ให้ธรรมชาติช่วยให้มาก ตั้งแต่ภายนอก คือ ธรรมชาติภายนอก กระทั่งถึงธรรมชาติภายใน กระทั่งถึงธรรมชาติสูงสุด คือ พระนิพพาน กระทั่งถึงธรรมชาติอันสูงสุด คือ พระนิพพาน
เอ้า, ถาม มี มี มีข้อสงสัยอะไรก็ถาม
ภิกษุสงฆ์ : เรื่องของการปรุงแต่งทำให้ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ มีคนถามมาในเรื่องว่า ในขณะที่สติกำหนดอยู่ ในการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วมีความคิดปรุงแต่งเข้ามา เมื่อเรารู้สึกตัว เราจะหยุดความคิดปรุงแต่งเสีย เอาสติมากำหนดอยู่ที่งานต่อไป หรือจะพิจารณาความคิดที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ผู้ถามอยากให้ท่านอาจารย์ อธิบายในกรณีที่ว่า ในกรณีเช่นคำถามอันนี้ ซึ่งก็ไม่ชัดเจนนักว่า เอ่อ,
พุทธทาส : ถามว่าอย่างไร
ภิกษุสงฆ์ : ว่า ว่าจะเอาช่วงบน หรือจะเอาช่วงล่าง ขอให้ผู้ถามช่วยชี้แจงหน่อย
พุทธทาส : นั่นน่ะ เขียนคำถามมาไม่เป็นรูปเป็นร่าง คำถามควรจะเรียบเรียงให้กะทัดรัด อ่านแล้วฟังถูก ผู้ที่พลอยฟัง ก็จะฟังถูก นี้เห็นได้ชัดว่าผู้ถามนั้น มันยังไม่เข้าใจคำว่า ปรุงแต่ง คำว่า ปรุงแต่ง หรือคำว่า สังขาร มันเป็นคำที่มีความหมายกว้าง
ถ้ามีการคิด การนึก เรียกว่าเป็นการปรุงแต่งทั้งนั้น ไม่ว่าความคิดนึกชนิดไหน ถ้ามันปรุงแต่งจิตด้วยอำนาจกิเลส เอ่อ, ด้วยอำนาจอวิชชา นี่ ปรุงแต่งชนิดนั้นมันก็เกิดความทุกข์ แล้วก็เปลี่ยนมา ให้เป็นการปรุงแต่งด้วยปัญญา หรือโดยวิชชา ถ้าจะทำงานให้ดี ก็มีการปรุงแต่งด้วยปัญญา หรือด้วยวิชชา ในการคิด การนึก การคำนวณ การพิจารณา การตัดสินใจ อะไร อะไรก็ให้เป็นการปรุงแต่งด้วยวิชชา ด้วยปัญญา
ถ้าเมื่อใดความคิดปรุงแต่ง ด้วยอวิชชา ด้วยกิเลส ด้วยตัณหา มันเกิดขึ้นมา แทรกแซงเข้ามา ถ้ามีสติ รู้สึกตัว ทันท่วงที มันก็ขจัดออกไปได้โดยง่าย กลัวแต่ว่าจะไม่มีสติรู้ว่า นี่เป็นความคิดปรุงแต่ง ชนิดอวิชชา
ดังนั้น คนเหล่านั้นจะต้องฝึกฝน ความมีสติ ให้รวด, รวดเร็ว ให้ว่องไว มากกว่า นี่ก็ ฝึกฝน ศึกษา เรื่องของปัญญาให้รู้ว่า อย่างไรมันเป็นการปรุงแต่งของอวิชชา อย่างไรเป็นการปรุงแต่งของวิชชา ซึ่งมันตรงกันข้าม
ถ้าเป็นผู้ฉลาดในเรื่องของการปรุงแต่งทั้งสองฝ่ายนี้แล้ว ก็จะถือเอาไว้ได้ ในฝ่ายการปรุงแต่งที่มีประโยชน์ คือเป็นวิชชา แล้วจะเกิดความรู้ ความเข้าใจ เกิดการปฏิบัติที่ถูกต้อง และได้รับผลของการปฏิบัติอันนั้น
การที่บางคน บางพวก หรือบางเวลา เขาใช้คำว่า ปรุงแต่ง ให้มีความหมายแต่ในทางที่เป็นฝ่ายผิด ฝ่ายอวิชชา ฝ่ายมีความทุกข์อย่างเดียวนั้นก็มีเหมือนกัน คนที่ถือหลักอย่างนั้น เขาจะ, เขาก็จะเกลียดคำว่า ปรุงแต่ง เป็นอย่างยิ่ง คือเห็นเป็นฝ่ายผิด ฝ่ายร้าย แต่ถ้าคนอีกคนหนึ่ง เขาเข้าใจคำว่าปรุงแต่ง นี่ เป็นคำที่มีความหมายเป็นกลาง เขาก็สามารถที่ใช้ความปรุงแต่ง ฝ่ายวิชชา ฝ่ายปัญญาให้เป็นประโยชน์ อยู่ได้ตลอดเวลา สามารถขจัดความปรุงแต่งฝ่ายกิเลสตัณหาให้หมดไป ไม่ให้เข้ามาแทรกแซงได้ นี้, หลักมันมีอยู่อย่างนี้
ผู้ถามที่ถามเมื่อสักครู่นี้ เอาไปใคร่ครวญเอาเอง ก็จะพบคำตอบตามที่ตัวอยากจะทราบได้ไม่ยากเลย
เอ้า, มีปัญหาอะไรอีก
ภิกษุสงฆ์ : คำว่า ปรุงแต่ง คำนี้ คือคำว่า สังขาร ในขันธ์ห้าหรือเปล่าครับ ขันธ์ห้าอันนี้ ถ้าหากว่ามันเป็นธรรมชาติของมันแล้ว มันไม่ทุกข์ หรือไม่สุข แต่มัน, ถ้าหากว่า เห็นตามความเป็นจริงในขันธ์ห้า มันก็ไม่มีปัญหาอะไรใช่ไหมครับ แต่ถ้าหากว่าเต็มไปด้วยกิเลสตัณหา หรือว่าอวิชชาก็จะเป็นทุกข์
พุทธทาส : เฝือ จนไม่รู้ว่าถามว่าอย่างไร เอ้า, ตั้งคำถามใหม่ ให้มันชัดลงไปว่า ถามว่าอะไร
ภิกษุสงฆ์ : ธรรมชาติโดยแท้ของขันธ์ห้า ถ้าหากว่ามันเป็นอย่างนั้น โดยที่เราไม่ต้องมีอวิชชา คือ ไม่มีอวิชชา สภาพของขันธ์ห้า มันปรากฏอยู่แล้ว ถ้าหากเรารู้สภาพของขันธ์ห้า ที่มันมาตามทั้งห้าขันธ์นี่นะครับ ตามความเป็นจริง มันจะไม่เป็นทุกข์ใช่ไหมครับ เพราะว่าในบทสวดมนต์บอกว่า ขันธ์ห้ามันเป็นทุกข์
พุทธทาส : นี่ก็ คือไม่เข้าใจ คำว่า ขันธ์ห้า นั้นอีกอย่างหนึ่ง และไม่เข้าใจในเรื่องของความทุกข์เกี่ยวกับขันธ์ห้า คือว่า ขันธ์ห้าจะเป็นทุกข์ ต่อเมื่อมีความยึดมั่น หรือถูกยึดมั่นโดยอุปาทาน ขันธ์ห้านั้นก็จะเป็นทุกข์ มีชื่อแปลกออกไปว่าเป็น คือ อุปาทานขันธ์ ห้า อุปาทานขันธ์ห้า เป็นตัวทุกข์ ถ้าขันธ์, ขันธ์ล้วนๆไม่มีการยึดถือ นี้,ไม่ทุกข์ ไม่ทุกข์แน่ แต่โดย, โดยเหตุที่ตามปกติแล้ว มันเป็นการยึดถือกันทั้งนั้น หรือโดยมาก
เพราะฉะนั้น มันจึงพูดกันสั้นๆ ว่าขันธ์ห้าเป็นทุกข์ก็มี แม้ในพระพุทธภาษิตเอง บางทีก็ใช้คำว่า ขันธ์เป็นทุกข์ นี้ก็มี แต่ขอให้เข้าใจไว้ว่า ในคำพูดว่า ขันธ์ นั้นน่ะ มันมี หมายถึง เอ่อ, มีความหมายเล็งถึง อุปาทานขันธ์
ขันธ์ทั้งห้าเป็นทุกข์ ก็ต่อเมื่อ มีความยึดมั่นด้วยอุปาทานในขันธ์นั้น บางทีภาษาบาลีตรงนั้น มันเป็นคำกาพย์ กลอน ที่เรียกว่า คาถา หรือ คำฉันท์ เขาเว้นบางคำ เว้นคำบางคำเสีย ทำให้เข้าใจผิดก็มี เช่นว่า ขันธ์เป็นทุกข์ ไม่ได้, ไม่ได้ใช้คำว่าอุปาทาน เข้าไปด้วย อย่างนี้ก็มี ผมก็เคยพบและก็เคยฉงน แต่เมื่อสังเกตดูโดยทั่วๆไปแล้ว ก็เห็นว่า มันเข้าใจกันได้ ถ้าได้ศึกษามาพอสมควรแล้ว จะเข้าใจกันได้ ว่า ขันธ์ที่เป็นทุกข์ ในความหมายว่า เจ็บปวด ทนยาก นี้คือ อุปาทานขันธ์ ทั้งนั้น
ทีนี้มันมีอีกกรณีหนึ่ง ถ้าท่านเล็งถึงความทุกข์ที่ สักว่า ดูแล้วมันน่าเกลียด โดยบทว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์อย่างนี้ ขันธ์ชนิดไหนก็เป็นทุกข์ ขันธ์ห้าล้วนๆ ไม่มีอุปาทานก็เป็นทุกข์ คือดูน่าเกลียด ขันธ์ที่มีอุปาทาน เป็นอุปาทานขันธ์ ก็ยิ่งดูน่าเกลียด ก็ยิ่งเป็นทุกข์ เพราะคำว่าขันธ์นี้มันใช้ความหมายกว้าง จนถึงกับว่ามันเป็น รูปขันธ์ ได้ แม้ที่มันอยู่นอกตัวเรา
อย่างก้อนหินนี่ ถ้าเรามองไปเป็นสิ่งๆหนึ่ง เป็นอารมณ์สิ่งหนึ่งของจิต แล้วมันก็เป็นรูปขันธ์ได้ ไม่มีความหมายเป็นทุกข์ ว่ามันเจ็บปวดอะไร แต่มีความหมายเป็นทุกข์ว่า มันดูแล้ว มันน่าเกลียด คือความที่มันไม่เที่ยง เปลี่ยนอยู่เรื่อย
คำว่า ทุกข์ นี้ เลยมีอยู่ สองความหมาย
ทุกข์ โดยเหตุว่า สักว่าไม่เที่ยง แล้วก็เรียกว่า เป็นทุกข์ คือ ดูน่าเกลียด และ
ทุกข์ เพราะ ไปยึดมั่นเข้า โดยความเป็นส่วนหนึ่งของตน เลยหนักและเป็นทุกข์ เฉพาะที่ยึดมั่น เท่านั้นแหล่ะ จึงจะเป็นทุกข์ คือ ทนทรมานและเจ็บปวด
เราไม่ค่อยจะอธิบายกันให้ชัดอย่างนี้ ทิ้งไว้อย่างกำกวม ผู้ศึกษาเล่าเรียน ก็เลยฉงน เพราะมันไปปนกัน ยุ่ง
ความทุกข์ที่ มีที่มาในสามัญลักษณะ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความทุกข์คำนั้นมีความหมายอย่างหนึ่ง แล้วความหมายของคำว่า, คำว่า ความทุกข์ ที่เป็นถึง อุปาทานขันธ์ ความทุกข์นี้มีความหมายอย่างหนึ่ง คือ หมายถึง เจ็บปวด ทนทรมานแก่คนนั้น
ส่วนทุกข์ต่างๆ นั้นเพียงแต่ว่า ดูแล้วมันน่าเกลียด เหมือนกับว่า มันมีความทุกข์อยู่ในนั้น เพราะมันไม่เที่ยง เพราะมันเปลี่ยนแปลง ถ้าจะพูดให้มันรวบยอดว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่ควรยึดถือว่าตน พูดกลางๆนี้ แล้วมันกินความหมด ไม่ว่าขันธ์ชนิดไหน ไม่ว่าจะเป็นขันธ์ล้วนๆ หรือว่าเป็นขันธ์ที่ถูกยึดมั่นด้วยอุปาทาน มันไม่เที่ยง เมื่อไม่เที่ยงก็เป็นทุกข์ เมื่อไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ ก็คือ เป็นอนัตตา นี้คือหลักธรรมะที่จะต้องพิจารณากันใหม่ สอนกันเสียใหม่ให้ชัดเจน อย่าให้กำกวมเหมือนที่กำลังสอนๆ กันอยู่ มันไม่, มันไม่ชัดเจน
ภิกษุสงฆ์ : คำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คำว่า ทุกขัง อันนี้ ท่านอาจารย์ว่า มันเป็นของน่าเกลียด คำนี้ ถ้าหากว่าพระอริยเจ้ายังมีความรู้สึกที่น่าเกลียดต่อสิ่งใดอยู่ ก็คงจะไม่ใช่พระอริยเจ้า แต่พระอริยเจ้าจะเห็นในลักษณะที่มัน ทนอยู่ได้ยาก ในความหมายอันนั้น หรือเปล่าครับ
พุทธทาส : เขาเห็นว่า น่าเกลียด แล้วจึงเป็นพระอริยเจ้าชั้นสูงสุด คือพระอรหันต์ ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วมันก็ไม่มีปัญหาอย่างที่ว่านี้ คือ ไม่มามัวเกลียด หรือ มัวรัก อะไรอยู่อีก ที่ว่าน่าเกลียด นั้นคือคำพูดกลางๆ เพราะมันไม่เที่ยง คือ มันหลอกลวงอยู่เสมอ มีความไม่เที่ยง จึงถือว่าน่าเกลียด หรือแสดงลักษณะแห่งความทุกข์มีอยู่ในตัวมันเอง คนธรรมดาสามัญควรจะมองเห็นอย่างนั้น และก็อย่าเกิดความยึดมั่น ถือมั่น ที่จะเอามาเป็นตัวตน หรือของตน ก็แล้วกัน
ทำไมจะไปบังคับพระอรหันต์ ให้มาเห็นน่าเกลียด และมัวรำคาญใจอยู่ ใครทำได้ ไม่มีใครทำได้ พระอรหันต์ท่านก็ไม่ทำ
ภิกษุสงฆ์ : มันเป็นความน่าเกลียดในสิ่งนั้นเอง
พุทธทาส : เป็นลักษณะที่ว่า พูดตามความรู้สึกสามัญธรรมดา มันน่าเกลียด เพราะมันไม่จริง เพราะมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตรงกันข้ามกับคำว่า น่ารัก หรือน่าเอา ทีนี้เมื่อทุกสิ่ง สังขารทั้งหลาย ทั้งปวง มันไม่เที่ยง แล้วก็ไม่มีสังขารอะไร ที่น่ารัก หรือน่าเอา มันก็พอแล้วสำหรับจิตที่มันจะไม่ยึดถือ
ภิกษุสงฆ์ : เกี่ยวกับปัญหานี้ ไม่ทราบว่าจะมีความสัมพันธ์กันไหม ที่บอกว่า มนุษย์เกิดมามีความทุกข์ มากกว่าความสุข ชีวิตต้องทนทุกข์ทรมาน กับสภาพความเป็นอยู่ทั้งทางกายและทางใจ แต่เหตุใดมนุษย์เราจึงไม่อยากตายเพราะอะไร
พุทธทาส : สรุปความว่าอย่างไร ผมหมายถึง คุณสรุปความว่าอย่างไร
ภิกษุสงฆ์ : กลัวตาย ทั้งๆที่ชีวิตนี้ มีแต่ความทนทุกข์ทรมาน แต่มนุษย์เราก็ยังไม่อยากตาย
พุทธทาส : คนโง่นั้น มันไม่อาจจะเห็นว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์ทรมาน ยังมีส่วนที่น่ารัก น่ายึดถือ น่าพอใจ อยู่เสมอ เพราะฉะนั้น มันจึงไม่อยากตาย คนปุถุชนธรรมดานั้นไม่อาจจะเห็นว่า ชีวิตนี้เป็นทุกข์ทรมาน ดังนั้นก็ไม่อยากตาย เพราะยังมีส่วนที่น่ารัก น่าพอใจ น่ายึดครอง น่าเป็นอยู่
ถ้าเป็นพระอริยเจ้า มองเห็นความทุกข์ ท่านก็ต่อสู้ ดิ้นรน เพื่อจะออกจากทุกข์ ถ้าเป็นพระอรหันต์ชั้นสูงสุดเสีย มันก็พ้นทุกข์แล้ว ก็ไม่มีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์ พระอรหันต์ก็ไม่อยากตายเหมือนกันน่ะ และก็ไม่ได้อยากอยู่ ไม่มีตัวตนที่จะตาย หรือจะอยู่ ความเห็นของพระอรหันต์
แต่ปุถุชน มีตัวตน มีส่วนที่น่ารัก น่าพอใจ น่ายึดครองอยู่ จึงไม่อยากตาย อยากจะอยู่ เพื่อจะยึดครองสิ่งที่น่ารัก น่าพอใจ จะเป็นร่างกาย ชีวิตนี้ก็ดี หรือเป็นสิ่งภายนอกกายก็ดี ยังมีสิ่งที่น่ารัก น่าพอใจ น่ายึดถืออยู่ ทีนี้สมมุติว่า เขามองเห็น ว่ามีสิ่งที่ไม่น่ารัก ไม่น่าพอใจ เขาก็ไม่ได้คิดว่า ถ้าเราตายเสียมันจะหมดเรื่อง มันก็เลยไม่อยาก, ยังไม่อยากตายเหมือนกัน ดีแต่คิดไปตายเอาดาบหน้า ไปหาไอ้สิ่งที่น่ารัก น่าพอใจ ที่อื่น อย่างอื่น หรือว่า ถ้าเชื่อแน่ว่า คงจะได้แน่หลังจากตายแล้ว มันก็คงจะอยากตาย แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีใครคิดอย่างนั้น ยังไม่อยากตายอย่างนั้นเอง เพราะความกลัวตาย มันมี, มีมาก มีความอยากอยู่มันมาก
ไอ้พวกที่ทำบุญไว้มากๆ เชื่อว่าตายแล้วไปอยู่สวรรค์ วิมาน มันก็ยังไม่อยากตาย มีอวิชชา เล่นตลกกลับไปกลับมาอยู่ที่นี่ อวิชชา ทำให้เกิด ภวตัณหา เกิด วิภวตัณหา สลับกันไป สลับกันไป อยากตายนั้นอาจจะเป็นเรื่องบังเอิญนิดหน่อยและก็รีบหายไปโดยเร็ว อยากอยู่ นี่ อยู่เป็นเจ้าเรือน ยิ่งเดี๋ยวนี้แล้วเขาคงไม่อยากตายกัน ก็มีอะไรมากสำหรับที่จะยั่ว ให้อยากอยู่
เอ้า, ถามปัญหาที่มันมีประโยชน์ และจะปฏิบัติได้เพื่อกำจัดกิเลสและความทุกข์กันบ้าง
ภิกษุสงฆ์ : สำหรับปัญหานี้ ถ้าหากว่า เป็นความอยากตาย คือ ตายไปจากความทนทุกข์ทรมาน ในกรณีนี้ก็ ทุกคนคงอยากจะตายจากความทนทุกข์ทรมาน ตามสภาพจิตเช่นนั้น
พุทธทาส : ตามข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างไร ที่มีอยู่ในโลกนี้ ถ้าอยากตายเพื่อพ้นจากความทนทุกข์ทรมาน มันก็มี นอกจากว่า ความกลัดกลุ้ม อวิชชา ไอ้ความโง่ หรือโทสะ หรืออะไร มัน, มันรุนแรงขึ้นมา มันก็ฆ่าตัวตายด้วยความโง่ ไม่ค่อยจะมีไปถึงว่า ฆ่าตัวตายเพื่อจะพ้นไปจากความทุกข์ทรมาน ที่เขาฆ่าตัวตายกันอยู่บ่อยๆ เป็นความโง่ขนาดหนัก เป็นความกลัดกลุ้ม เป็นการบันดาลโทสะ ไม่ได้มองเป็นรูปว่าการ, การฆ่าตัวตาย นี้จะเป็นการสิ้นทุกข์ทรมาน ตามความหมายที่ถูกต้อง เป็นเรื่องหุนหัน พลันแล่น ด้วยอำนาจของอวิชชา ของตัณหา อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่าเอามาวินิจฉัยเลย ยอมรับโดยหลักว่าจะมีสติ สัมปชัญญะ มีปัญญา เพื่อทำชีวิตนี้ ให้มันมีประโยชน์ก็แล้วกัน
เอ้า, มีปัญหาอะไรอีก
ภิกษุสงฆ์ : ช่วงเวลาที่ออกเดินบิณฑบาต มีวิธีฝึกสติอย่างไรครับ
พุทธทาส : ปัญหาปลีกย่อย ปัญหาที่ตอบโดยส่วนเดียวไม่ได้ ต้องตอบว่า แล้วแต่ว่าบุคคลนั้น กำลังฝึกฝนหรือปฏิบัติธรรมะข้อไหนอยู่ ก็ควรจะรักษาการปฏิบัติหรือความรู้เกี่ยวกับธรรมะข้อนั้นไว้นั่นแหละมากกว่า แต่ถ้าเขาไม่มีปัญหาอย่างนั้น ก็ปฏิบัติโดยหลักทั่วไป ที่เกี่ยวกับ อนัตตา, อนัตตา หรือ สุญญตา อยู่ตลอดเวลา
ว่าคนที่กำลังเดินไปบิณฑบาตนี้ ไม่ใช่คน ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล สักว่าธาตุ เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย คือ เป็นรูป ร่างกาย มีจิตใจ เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย เคลื่อนไหวไปแสวงหาอาหาร อย่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลเลย นี้เป็นหลักทั่วไป แต่ถ้าเขากำลังปฏิบัติธรรมะอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่โดยเฉพาะที่เขาจะต้องรักษา ไอ้ความเห็นแจ้งหรือวิปัสสนาอันนั้นไว้ เขาก็ยังรักษาไว้แม้ในขณะที่ไปบิณฑบาต ถ้ามันต้องไปบิณฑบาต
เอ้า, อะไรอีก
ภิกษุสงฆ์ : มีปัญหาอีกปัญหาหนึ่งถามว่า ความว่างชนิดหนึ่ง คือความว่างในทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเป็นอย่างไร จะพิจารณาให้รู้ได้อย่างไร และจะช่วยให้บุคคลมีจิตว่างได้อย่างไร
พุทธทาส : นี่มันขี้เกียจอ่านเรื่องความว่าง แล้วมาถามเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา มันมาจากหลักที่ใหญ่ที่สุด ก็คือว่า โลก หรือสังขาร หรืออะไรก็ตามทั้งปวง นี่มัน ว่าง จากความหมายแห่งตัวตน
ถ้าพูดว่าสิ่งทั้งปวงว่าง จะเป็นรูปธรรมก็ดี นามธรรมก็ดี จะเป็นสังขารก็ดี เป็นวิสังขารก็ดี
มันว่าง
ว่าง เพราะไม่มีความหมายแห่งตัวตน
ว่าง จากความหมายแห่งตัวตน
ว่าง จากความเป็นตัวเป็นตน สักแต่ว่าเป็นธาตุ ตามธรรมชาติ
ถ้ามองเห็นข้อนี้ ก็คือ เห็นความว่างของสิ่งทั้งปวงในสิ่งทั้งปวง เขาเรียก เห็นความว่าง เมื่อเห็นความว่างนี้ จิตมันก็ไม่รู้จะจับฉวยเอาที่ตรงไหน ถ้าจิตมันมีปัญญาเห็นจริงว่า ทุกอย่างมันว่าง จิตจะไปจับฉวยเอาที่ไหนได้ ฉะนั้น จิตมันก็ปล่อยว่าง จากการจับฉวย
ทีนี้ จิตที่เห็นความว่างชนิดนี้ มันก็จะน้อมไปสู่ความดับไม่เหลือ คือ นิพพาน มองเห็นความว่าง จากตัวตน จากของตนแล้ว จิตก็จะยินดีหรือจะน้อมไป เพื่ออายตนะ อันนั้น คือนิพพาน อายตนะ นั้นหมายถึงนิพพาน ใจความมันมีสั้นๆ เท่านี้เอง ให้เห็นว่าไอ้ทุกอย่าง ทุกอย่างนี้ มันว่างจากตัวตนก่อน พอจิตเห็นข้อเท็จจริงอันนี้ จิตก็ไม่รู้จะฉวยอะไร จิตก็ว่าง ไม่รู้จะฉวยอะไร แล้วมันก็น้อมหาไอ้ความดับไม่เหลือ
ทีนี้ ปัญหาปลีกย่อยจะเกิดอะไรขึ้น ก็คงจะตอบได้เอง ถ้าเป็นเรื่องโลกๆ เรื่องอยู่ในโลกแห่งการทำงานอย่างนี้ ก็เราหมายถึงว่า จิตมันว่าง เพราะไม่วุ่นวาย ไม่กระสับกระส่าย ก็เป็นจิตทำงานได้ดี
แต่ถ้าเป็นจิตที่เห็นว่าง จนถึงกับลืมตัวเอง ว่ามีชีวิตอยู่ มีตัวตนอยู่ จิตเป็นสมาธิเต็มที่ เป็นปัญญาเต็มที่ มันก็ทำงานได้ดีเหมือนกัน ทำงานในโลกนี้ แม้แต่จะแต่งกลอนสักบทหนึ่ง ถ้าจิตมันว่างแล้ว มันจะแต่งได้ดี ได้ดีทุกอย่าง คือ มีความหมายดี ไพเราะดี อะไรดี จิตว่างนี้สามารถทำงานได้ดี เพราะมันมีความเป็นอิสระ มันแจ่มใส มันเข้มแข็ง มันเยือกเย็น นี่, คือการใช้ประโยชน์จากจิตว่าง แม้ในเรื่องของโลกๆ ของชาวโลก
เอ้า, ปัญหาอะไรอีก
ภิกษุสงฆ์ : ผมคิดว่าคงจะเป็นปัญหาสุดท้าย คือ มีปัญหาว่า ผู้ที่เข้ามาบวชในพุทธศาสนา ก่อนที่เขาจะเข้ามาบวช หรือเป็นการบวชช่วงชั่วคราว แต่บางรูป เมื่อเข้ามาบวชแล้วก็ประทับใจในคำสอน และก็ไม่ยอมสึก ในส่วนนี้ผมคิดว่าเขาละเลยหน้าที่ต่อครอบครัว และก็หันมาสนใจพุทธศาสนานี้ ผมจึงอยากจะถามว่า หน้าที่อันไหนมันสำคัญกว่า หน้าที่ในการที่จะดับทุกข์ของตัวเอง กับ หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อครอบครัว เช่น พ่อแม่อาจจะแก่เฒ่าแล้ว ไม่มีคนดูแล ครอบครัวนั้นเป็นครอบครัวที่ยุ่งเหยิง แต่พอเขา เข้ามาบวชแล้ว เขาก็พบทางที่จะดับทุกข์ของเขาได้ แล้วเขาก็ไปเลย ในส่วนนี้ซึ่งเป็นการปฏิบัติสองอย่าง อยากจะให้ท่านอาจารย์แสดงความคิดเห็นครับ
พุทธทาส : คุณถามว่าอย่างไร
ภิกษุสงฆ์ : ถามว่า ผู้ที่เข้ามาบวชแล้วไม่ยอมสึก เขาผิดหรือเปล่า ในเมื่อครอบครัวเขาก็ยังไม่เรียบร้อย
พุทธทาส : มันพร่า ไอ้ตอนแรกที่เข้ามาบวชแท้ๆ มันผิดหรือเปล่า ทางโลกเขาถือว่าผิดหรือเปล่า ก่อนจะรู้อะไร ยังไม่ทันจะรู้อะไร ยังไม่ทันมาบวช มันก็ทิ้งแม่ ทิ้งพ่อ ทิ้งลูก มันมาบวชนั้น มันผิดหรือเปล่า
ภิกษุสงฆ์ : คือ ไม่ผิด เป็นเพราะว่า พ่อแม่เขาคิดว่า บวชชั่วคราวอะไรอย่างนี้
พุทธทาส : มี บวชชั่วคราว ทีนี้มาบวชเข้า เข้าถึงธรรมะเข้า ไม่อยากสึกออกไปตามสัญญา แล้วจะให้ผมตัดสินว่าผิดหรือถูก มันควรจะเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นความรู้สึกในจิตใจมากกว่า เพราะเขาอาจจะหาทางแก้ไข ตกลงกันได้ อย่างอื่นก็ได้ โดยที่ไม่ต้องสึกก็ได้ มันเว้นไว้แต่ พ่อ แม่ ลูก เมีย ที่เห็นแก่ตัวจัดเท่านั้นแหล่ะ ที่จะมาดึงให้สึกออกไป (นาทีที่ 1.11.22) …………….
ขอให้ถือเป็นปัญหาเฉพาะคน เฉพาะเหตุการณ์ เฉพาะกรณีดีกว่า อย่าให้ตอบรวมๆเลย มันอยู่ที่ความรู้ธรรมะ รู้จักธรรมะของคนเหล่านั้น มารวมกัน และก็ตัดสินเอาเอง วินิจฉัยเอาเอง ควรจะยุติลงไปว่าอย่างไร มันยังมีปัญหาอื่นที่ ที่รุนแรงและชัดเจนกว่านั้น คือ คนที่, คนที่เขาแกล้งทิ้งไปบวชโดยตรง เห็นแก่ตัว ทิ้งลูก ทิ้งเมีย ให้ลำบากอยู่ข้างหลัง คุณเห็นว่าผิดหรือถูก
ภิกษุสงฆ์ : ผิดครับ
พุทธทาส : ยังไม่นึกออก ก็ไปหาความหมายของ คำว่าผิด หรือคำว่าถูก ดูว่ามันมีอยู่หลายชั้น ในภาษาไหนกันแน่ ภาษาธรรมะหรือภาษาชาวบ้าน คำว่า ผิด กับ คำว่า ถูก มันก็ไม่เหมือนกัน
ภาษาบัญญัติขึ้นในโลกตามทางของศีลธรรมนั้นก็อย่างนึง ตกลงกันอย่างไร บัญญัติกันอย่างไร ก็ต้องทำอย่างนั้น ถ้าทำผิดอย่าง, ไปจากนั้นก็ถือว่า มันผิด อย่างนี้ก็มี เช่น เขาบัญญัติกันว่าอย่างนี้ แกล้งทิ้งลูกเมียให้ลำบากไปบวชเสีย เขาบัญญัติว่าผิด ถือว่าผิด ตามความหมายของศีลธรรมของชาวบ้านทั่วๆไป แต่ถ้าตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ มันก็ควรจะมีสิทธิ เสรีภาพ ความรู้สึกของบุคคล เขาก็ถือว่า ไม่ผิด เขาไม่ยอมรับบัญญัติ เขาถือเอาตามธรรมชาติ เพราะมองเห็นว่า เขาไปทำประโยชน์ที่ยิ่งกว่า ที่จะมาทำประโยชน์เพียงแต่ว่า ช่วยลูก ช่วยเมีย ช่วยครอบครัว เขาก็เลยมีเหตุผลกลายเป็นว่า ไม่ผิด ไป เขาถือเอาความจริงของธรรมชาติเป็นหลัก ไม่ถือเอาการบัญญัติตามที่มนุษย์บัญญัติขึ้นมา
มันตอบยาก ปัญหาทำนองนี้น่ะ มันตอบยาก มันจะต้องซักกันลงไปอีกว่า มันจะพูดกันไหนระดับไหน ในภาษาไหน ในชั้นสมมุติบัญญัติ หรือว่าในชั้นปรมัตถ์ ยังไม่เกิดแก่เรา ก็อย่าเพิ่งเอามาเป็นปัญหาของเรา ระงับปัญหาอย่างนี้ไว้ซะก่อน
เอาหล่ะ เป็นอันว่า หมดเวลาพอดี คือ มันสามทุ่มตามที่เรากำหนดไว้ ขอซ้อมความเข้าใจ ขอให้เตรียมปัญหาที่มันเป็นปัญหาที่มีประโยชน์ จะได้, จะได้คุ้มค่าของเวลา อย่าให้มันแกว่งไป แกว่งมา ให้มันเป็นคราวเดียว มันตลอดเรื่อง ตลอดสาย ให้เป็นปัญหาที่มันเป็นปัญหาอยู่จริงๆ สำหรับคนเราที่จะหวังจะได้สิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้ และมันไม่ได้ มีอะไรมันเป็นอุปสรรค และอะไรมันเป็นวิธีดำเนินไปโดยเรียบร้อย ให้ช่วยถามปัญหาอย่างนั้น และก็ถามให้เกลี้ยงเกลา สิ้นเชิงเป็นเรื่องๆ ไปทีเดียว ถ้าถามปัญหาเบ็ดเตล็ดอย่างนี้อยู่เรื่อยไป น่ากลัวว่าจะไม่ได้รับประโยชน์ เป็นที่พอใจก็ได้ และเราก็ไม่มีเวลามากมาย จึงหวังว่า คงจะเตรียมปัญหาให้ดีกว่านี้ ที่ปฏิบัติได้ หรือประยุกต์ได้มากกว่านี้ เอาล่ะ, วันนี้พอกันที ปิดประชุม