แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้ผมจะพูดถึงความสำคัญของการบังคับความรู้สึก เราได้พูดกันมาแล้วถึงการบวชของผู้บวชชั่วคราว และจะได้รับประโยชน์สำหรับเอาไปใช้เมื่อลาสิกขาเป็นฆราวาส แล้วก็ระบุประโยชน์อย่างยิ่งนั้นว่าได้แก่การบังคับความรู้สึก และก็ได้พูดถึงหลักการหรือวิธีการของการบังคับความรู้สึกโดยคร่าวๆทั่วไปแล้ว ทีนี้วันนี้จะพูดถึงความสำคัญหรือความสำคัญอย่างยิ่งของการบังคับความรู้สึก เท่าที่ผมสังเกตเห็นไม่ใช่ว่าจะแกล้งดูหมิ่นดูถูกอะไรกัน รู้สึกว่าพวกคุณให้ความสำคัญแก่การบังคับความรู้สึกน้อยไป ไม่สนใจจะบังคับความรู้สึกถึงขนาดที่ว่าได้ขอร้องแล้วก็ยังไม่เอื้อเฟื้อ เช่นว่าอย่าสรวลเสเฮฮากันนัก อย่าจับกลุ่มคุยกัน อย่าไปสรวลเสเฮฮากันที่ ที่อาบน้ำ เป็นต้น ก็ไม่ค่อยได้ผล เพราะว่าคนเหล่านั้นไม่เห็นว่าความสำคัญของการบังคับความรู้สึกนั้นมีอยู่อย่างไร เห็นเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆไป หารู้ไม่ว่าไอ้เรื่องเล็กๆน้อยๆแหละมันสร้างเรื่องใหญ่ๆ การพังทลายภูเขาสักลูกหนึ่งเขาก็พังทีละนิดๆ ทีละนิดๆจนกว่ามันจะพังหมด หรือการจะสร้างอะไรขึ้นมามันก็สร้างทีละนิดๆ ทีละนิด เหมือนกับจอมปลวกมันสร้างทีละนิด นี่ก็เพราะเห็นความสำคัญน้อยไปไม่ค่อยสนใจ ฉะนั้นจึงพูดวันนี้สำหรับเรื่องนี้ เพราะเราต้องให้คุณค่าหรือความสำคัญแก่การบังคับความรู้สึกนั้นให้มากพอ เพราะมันเป็นพรหมจรรย์ทั้งหมด จนกระทั่งว่าจะต้องติดนิสัยไปจนตายนั่นจึงจะได้ จึงจะรอดตัว พูดเบื้องหน้าว่าถ้าจะไปมีลูกมีหลานมีอะไรก็ไปบังคับ เอ้ย, ไปอบรมสั่งสอนให้เขารู้จักบังคับความรู้สึก ไม่อย่างนั้นลูกหลานของคุณจะวินาศ จะทั้งที่ยังไม่มีก็ตามใจแหละหรือมีอยู่แล้วก็ตามใจ จะไป ออกไปมีก็ตามใจ ไอ้ลูกเด็กๆเหล่านั้นควรจะได้รับการอบรมให้บังคับความรู้สึก เดี๋ยวนี้โลกกำลังจะวินาศ เพราะคนในโลกไม่บังคับความรู้สึก พวกนักเรียนกำลังจะเป็นบ้ากันหมด นักศึกษากำลังจะเป็นบ้ากันหมด ก็เพราะมันไม่บังคับความรู้สึก อันธพาลนั่นเต็มไปทั้งบ้านทั้งเมือง สร้างเรื่องที่ไม่น่าจะสร้างจะทำ มันก็ขึ้นอยู่กับการที่ไม่บังคับความรู้สึกอย่างเดียว เหตุการณ์ที่พิษณุโลก ๓๐ คน ข่มขืนเด็กหญิงเอาไปวางให้รถไฟทับ ในหมู่พวกนั้นมีคนอายุ ๔๐ สี่สิบเศษรวมอยู่ด้วย มันเป็นผลของการไม่บังคับความรู้สึก และมีผลเป็นที่เสียหายหมดแก่เกียรติยศของความเป็นพุทธบริษัทของประเทศไทย ประเทศไทยเมืองพุทธนะและมี มีเหตุการณ์อย่างนั้นมันเสียชื่อเสียอะไรทุกๆอย่างหมดแหละ มันก็เป็นที่น่าละอายแก่ประเทศอื่นๆที่เขาเป็นพุทธบริษัท แล้วมันไม่มีเหตุการณ์อย่างนั้น แล้วบางทีประเทศที่ไม่ใช่พุทธบริษัทเขาก็ยังไม่มีเหตุการณ์อย่างนั้น นี่เหตุการณ์ที่ทำลายชื่อเสียงของไอ้พุทธบริษัทไทยอย่างใหญ่หลวงก็มีมูลมาจากการไม่บังคับความรู้สึก นิยมการไม่บังคับความรู้สึกเรื่อยๆมา แล้วก็ไปส่งเสริมให้ไม่บังคับความรู้สึก เช่นเรื่องกินเหล้าเมายาอะไรก็ตามนี่มันส่งเสริมการไม่บังคับความรู้สึกยิ่งขึ้นไปอีก เดี๋ยวนี้ก็น่ากลัวมากที่ว่าวัฒนธรรม อารยธรรมของสมัยใหม่นี่ไม่ส่งเสริมการบังคับความรู้สึก ทีไอ้คนก็จะเป็นคนที่ไม่บังคับความรู้สึกกันมากขึ้น ก็จะพลอยเดือดร้อนกันไปหมดแหละไม่ใช่เดือดร้อนแต่ตัวผู้นั้นผู้เดียว
เอาละผมจะทบทวนอีกสักครั้งหนึ่งว่าไอ้พรหมจรรย์ทั้งหมดคือการบังคับความรู้สึก จะพูดกันมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาลเลยก็ได้ การบวชหรือบรรพชาหรือพรหมจรรย์ หรืออะไรก็ตามที่มีอยู่ก่อนพุทธกาลมันมีความหมายสำคัญอยู่ที่ตรงนี้เอง การบังคับความรู้สึกไม่ให้เป็นอย่างนั้นแต่ให้เป็นอย่างนี้ตามที่เราต้องการ ดูเหมือนเขาจะเรียกกันว่า สังยมะ สังยมะ ยอยักษ์ มอม้า นี่เป็นคำเก่าที่สุดมันใช้กันในทุกแขนงของไอ้การบำเพ็ญทางจิตทางใจ ใน ในคัมภีร์พุทธของเราไม่ค่อยพบคำว่า สังยมะ ก็จะพบคำว่า สังวร หรือไอ้ ทมะ อะไรนี่มากกว่า เขาไปเป็นนักบวช ไปเป็นฤาษี โยคี มุนีอะไรกันก็ตามตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ หรือว่ายกไอ้สังยมะนี้เป็นเรื่องง่ายคือบังคับจิตและบังคับความรู้สึกนั่นเอง บังคับความรู้สึกที่เป็นกิเลส เช่น ราคะ โทสะ โมหะ นี่เป็นหลักทั่วไป โดยรายละเอียดมันก็มีมากกว่านั้น การทำสมาธิภาวนามันตั้งต้นไปจากการบังคับตัวเองทางร่างกาย ก็คือบังคับลมหายใจ เราบังคับร่างกายโดยตรงไม่ได้เราบังคับโดยๆ โดยอ้อม คือบังคับลมหายใจได้มันก็มีผลไปยังการบังคับร่างกาย ดังนั้นแบบฝึกหัดในชั้นที่บังคับลมหายใจนี่เป็นสากลทั่วไปหมด ไม่ว่านักบวชแขนงไหนในอินเดียตั้งแต่ก่อนพุทธกาลมาจนกระทั่งพุทธกาลจนกระทั่งบัดนี้ การบังคับปราณ เขาเรียก ปราณายามะ ปราณะ อายามะ คือบังคับปราณ ปราณนี้คือลมหายใจในที่นี้ ฉะนั้นพอต้องบังคับกายโดยผ่านทางลมหายใจ ร่างกายก็เป็นไปอย่างถูกต้องตามที่ต้องการ แล้วก็บังคับจิตจนเป็นไอ้ความรู้สึกทางเวทนา ทางไอ้ความคิดนึกอะไรก็ตามมันต้องได้รับการบังคับควบคุม ถ้าจะให้จิตเป็นสมาธิมันต้องบังคับจิตได้ถึงบังคับความรู้สึกได้ แล้วก็ทำขึ้นมาตามลำดับ นับตั้งแต่บังคับให้มันอยู่ในการควบคุมของเราก่อน แล้วก็เอามันไปใช้ทำจิตที่ยิ่งๆขึ้นไป คือสามารถให้จิตนี่มันกำหนดอยู่แต่สิ่งที่เราต้องการให้กำหนด เช่น บังคับให้กำหนดอนิจจัง ความไม่เที่ยงของทุกสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่กับจิต ก็ทำได้ นี่เรียกว่ามันบังคับความรู้สึกได้ จึงสามารถทำจิตให้เป็นสมาธิ แล้วสามารถทำให้เป็นวิปัสสนา ให้มันมองดูลงไปที่สิ่งที่ต้องการให้มอง เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น นั่นเป็นขั้นสูง ทีนี้ลดมาดูถึงขั้นต่ำๆที่ว่านักบวชหรือบรรพชิตจะเป็นบรรพชิตอยู่ได้อย่างไร คำตอบมันก็อยู่ที่การบังคับความรู้สึก บังคับความรู้สึกให้ทำในส่วนที่ต้องทำ แล้วก็บังคับให้มันทนในส่วนที่มันต้องทน หรือบังคับให้มันรู้จักรักษาอุบายอันละเอียด ข้อปฏิบัติอันละเอียด ประกอบกันได้ มันก็สำเร็จประโยชน์ อย่างคุณจะถือสิกขาวินัยอะไรก็ตามถ้าไม่บังคับความรู้สึกมันก็อยู่ไม่ได้ มันจะถือศีลไว้สักข้อหนึ่งก็ไม่ได้นะ จะถือสิกขาบทไว้สักสิกขาบทหนึ่งก็ไม่ได้ถ้าเราไม่บังคับความรู้สึก ในส่วนธรรมะก็เหมือนกันถ้าไม่ ไม่บังคับความรู้สึกแล้วมันก็ไม่ทำอะไรใน ในทางที่ถูกหรอก เพราะว่าความรู้สึกตามธรรมดาหรือกิเลสนั้นมันไปในทางที่ไม่พึงปรารถนาทั้งนั้น แม้ที่สุดแต่จะบังคับให้ตื่นดึกๆ อย่านอนสายมันก็ทำไม่ได้ บังคับให้มาทำวัตรเช้าเย็นที่นี่ทุกวันอย่าให้ขาด มันก็ทำไม่ได้ ก็มันนอนสายกันจะมา มาอย่างไรได้ ดังนั้นขึ้นชื่อว่าบรรพชิตแล้วมันก็ต้องอยู่ด้วยการบังคับความรู้สึกมันเป็นรากฐานอันใหญ่หลวง นี่เราพูดเป็นไทยว่าบังคับความรู้สึก แต่ถ้าพูดเป็นภาษาบาลีมันก็มีชื่ออย่างอื่นอีกหลายอย่าง หลายๆอย่าง แม้แต่คำว่าอดทนอย่างนี้ ขันตี อย่างนี้ซึ่งเป็นกำลังของบรรพชิต มันก็คือการบังคับความรู้สึกเหมือนกัน บังคับให้ทน เพราะเมื่อต้องทำมันก็เหน็ดเหนื่อยหรือเจ็บปวด มันจะละทิ้งเสีย กระทั่งบังคับให้มันทน วิธีแรกมันไม่ทำ มันไม่ค่อยทำมันขี้เกียจก็ต้องบังคับให้มันทำให้จนได้ นี่เป็นหลักอย่างนี้ พวกฆราวาสหรือว่าคุณจะออกไปเป็นฆราวาสมันก็ต้องมีระเบียบวินัยของฆราวาส ซึ่งต้องการความ ความอดทน เหมือนการบังคับความรู้สึกนี่เท่ากันนะ เท่าๆกับพระแหละ ถึงแม้ว่าในมัน ในระดับที่มันต่ำกว่าแต่มันก็มีน้ำหนักไม่ใช่น้อย เพื่อจะให้มีศีล ๕ อยู่ได้ คือให้อดทน เรื่องของกิเลส จะไม่ไปกินเหล้า จะไม่ไป ไปดูหนังดูละคร จะไม่ไปทำอบายมุขทั้งหลาย จะบังคับความรู้สึก ได้ก็สำเร็จ ไม่ได้ก็ไม่สำเร็จ ในประเทศอินเดียสมัยโบราณ หรือที่มันเนื่องไปทางตะวันตกเรื่อยๆไป วัฒนธรรมเมโสโปตาเมียทางฝ่ายโน้นของพวกยิว มันก็บังคับความรู้สึกอย่างน่าเลื่อมใส เช่น ผัวเมียจะพบกันได้น้อยมากเพราะมันมีข้อกติกาอย่างนั้นอย่างนี้ ไอ้วันที่เรียกว่าวันพระนี่ผัวเมียพบ ไม่พบกัน และวันเกิดหรือวันไอ้อะไรที่มันมา เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นความสำคัญอย่างนั้นอย่างนี้มีมาก จนผัวเมียพบกันเดือนหนึ่งได้ไม่กี่วันหรอก มันไม่ต้องคุมกำเนิดแล้ว มัน มันเป็นการคุมอยู่ในตัว แต่มันจะรักษาพรหมจรรย์อย่างนั้นได้มันอยู่ที่การบังคับความรู้สึก เช่น วันนี้เป็นวันพระ วันนี้เป็นวันเกิด บางทีเป็นวันอะไรของพ่อแม่ มัน มันมียิบไปหมด แต่มันทำกันไปได้ด้วยการบังคับความรู้สึก เพราะฉะนั้นคนชนิดนั้นมีจิตใจเข้มแข็งมาก มีลักษณะเหมือนกับเป็นโยคีเป็นมุนีอะไรอยู่ทั้งที่เป็นฆราวาสครองเรือน พวกนี้จึงเก่งในหลายๆทาง ลังกาย กำลังกายก็ดี กำลังจิตก็ดี กำลังสมาธิปัญญามันมีมากเพราะมันบังคับความรู้สึก เป็นชนชาติที่สูงสุดในทางวัฒนธรรม ฉะนั้นจึงไม่ต้องพูดหรอกที่จะว่า จะมาเหลวไหลกันอย่างคนทุกวันนี้ อะไรนิดหนึ่งก็ตามใจตัวเองไปเสียหมด ขอให้ใช้บทเรียนที่จะต้องประพฤติกระทำเป็นประจำวันนี่เป็นเครื่องศึกษาฝึกฝน และศึกษาให้เข้าใจให้มองเห็น ถ้าคุณจะปัจจเวกฉันอาหาร ถ้าไม่บังคับความรู้สึก มันก็ไม่ๆ ไม่ๆปัจจเวก พอนั่งลงก็เปิบ ตักข้าวใส่ปากเลย มันไม่บังคับความรู้สึก ถ้าถืออย่างแบบเก่า กว่าจะลงมือฉันได้มันจะ กว่าจะตักใส่ปากได้มันต้องบังคับความรู้สึกด้วยบทปัจจเวกนี่เป็นเวลานานพอสมควร มันก็ทำได้ดี มันจึงฉันเรียบร้อย แล้วไม่ตะกละ หรือน่าดูหรือแช่มช้อยอะไรก็แล้วแต่ในการฉัน กิเลสมิอาจจะเกิดได้ อย่างจะถือไอ้บทฝึกหัดที่ว่าจะฉันไม่ให้อิ่ม จะขยักไว้ ๔, ๕ คำก่อนแต่จะอิ่ม แล้วจึงดื่มน้ำให้อิ่มแทนเสีย นี่เป็นหลักของผู้บำเพ็ญสมาธิทั้งในพุทธ พุทธศาสนาและนอกพุทธศาสนา คุณทำกันหรือเปล่า แล้วทำได้หรือไม่ได้นี่สิ ถ้าเราสังเกตดูจะเห็นเด็กๆมันกินเข้าไปจนอัดไม่ลงแล้วมันจึงจะกินน้ำ แต่นี่พระเขาต้องการจะให้เว้น ให้พร่องอยู่ ไม่อิ่มแล้วค่อยกินน้ำให้อิ่ม มันต้องบังคับความรู้สึก ไม่อย่างนั้นมันก็ไม่ทำ หรือมันลืมไปจนว่าอิ่มเมื่อไรก็ไม่รู้ ไม่ได้ควบคุมความรู้สึกไว้เลย นี่ยกตัวอย่างบทเรียนง่ายๆ ที่ว่าจะฉันอาหารอย่างกับว่าฉันเนื้อลูกกลางทะเลทราย หรือว่าจะฉันอย่างน้ำมันหยอดเตาเกวียนมันทำไม่ได้ เราก็เลยเป็นคนที่เอาชนะกิเลสไม่ได้ แม้ในชั้นที่ต่ำๆหยาบๆ อย่างว่าจะเอา จะตักอาหารส่วนของเราเอาไปฉันนี่ถ้าบังคับความรู้สึกไม่ได้มันก็ตักเกิน ดังนั้นการตักอาหารก็ดี การตักน้ำปานะดื่มก็ดี ถ้ามีคนไม่บังคับความรู้สึกอยู่สัก ๒-๓ คน เพื่อนก็ไม่พอฉันแน่ คง คนทีหลังไม่ได้ตักแหละไม่ได้ฉันหรอก ขออภัยที่ยกตัวอย่างมันตรงๆเกินไปเพราะมันเห็นง่ายดี เพราะคนตักทีแรกที่ไม่บังคับความรู้สึกมันตักมากเกินไป บางทีตักตั้ง ๒ รอบในเมื่อเพื่อนยังไม่ได้ตักเลย อย่างนี้ไอ้น้ำปานะมันก็ไม่พอ อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นมัน มันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่ตรงไม่บังคับความรู้สึก นี่ผมก็ยกตัวอย่างมามากแล้ว ไว้ ไว้ไปสังเกตดูเอาเองบ้าง แล้วก็จะได้ไปปรับปรุงเสียใหม่ให้เป็นผู้บังคับความรู้สึก และอะไรๆก็ถูกต้อง น่าดูน่าไหว้น่าเลื่อมใสไปหมด และคุณก็จะสามารถไปบังคับลูก หลาน เหลน เด็กนักเรียนหรือยุวชน แล้วแต่เรามีหน้าที่อย่างไร แต่ถ้าไปเป็นฆราวาสแล้วก็ต้องมีลูกมีหลานแหละ แล้วขอให้ยึดเอาไอ้ ไอ้หลักธรรมข้อนี้เป็นหลักว่าลูกหลานของเรานั้นจะรอดตัวไปได้หรือจะมีความเจริญงอกงามในโลกนั่นเพราะการบังคับความรู้สึก ไม่อย่างนั้นมันจะดื้อแล้วมันจะด่าพ่อแม่เอง ของตัวเอง มันจะชกต่อยพ่อแม่ของตัวเอง มันจะไม่เชื่อฟังเลย เราก็บังคับเขาไม่ได้ เราก็ต้องสูญเสียไอ้ลูกหลานคนนั้นไป คือเขาไม่เชื่อฟัง เพราะเขาไม่บังคับความรู้สึก เดี๋ยวนี้โลกกำลังมีปัญหามากเกี่ยวกับกามารมณ์ ซึ่งมันไม่เคยมีในสมัยก่อนโน้น ผู้หญิงต้องทำแท้งนั้นมันเรื่องไม่บังคับความรู้สึกทั้งนั้นมันไม่ใช่มีเรื่องอื่นที่ยกมาแก้ตัว ถึงผู้ชายที่ไปทำอะไรไม่น่าดูมามันก็เป็นเรื่องเดียวกันคือไม่บังคับความรู้สึก เดี๋ยวนี้เกิดนิยมการไม่บังคับความรู้สึกกันจนเป็นแบบฉบับที่เขาเรียกว่าแฟชั่น มันชอบกันไปเสียทั้งหมด เลยพูดกันไม่รู้เรื่องที่จะให้บังคับความรู้สึกเพื่อการกลับมาแห่งศีลธรรม เดี๋ยวนี้มนุษย์กำลังไม่มีศีลธรรม กำลังจะวินาศ เพราะมูลเหตุอย่างเดียวคือไม่บังคับความรู้สึก ไม่บังคับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อบายมุขก็หนาแน่นขึ้นมา ดื่มน้ำเมามันยิ่งหนาแน่นขึ้นมาในๆ ในโลก มันก็ไม่บังคับไอ้ความรู้สึก ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านทำการงาน ไปดูเถอะข้อไหนก็ข้อนั้นแหละ มันอยู่ที่ไม่บังคับความรู้สึกจึงกระทำอย่างนั้น กระทั่งว่ายากจนลงไปแล้วก็ยังไม่ ไม่บังคับความรู้สึก กระทั่งว่าวินาศฉิบหาย ติดคุกติดตารางแล้วก็ยังไม่บังคับความรู้สึก พวกที่ละไอ้ยาเสพติดได้แล้วกลับไปเสพใหม่อีก มันอยู่ที่การไม่บังคับความรู้สึกเพียงข้อเดียว ฉะนั้นการละความชั่วอย่างอื่นๆก็เหมือนกัน ก็มีปัญหามากขึ้นๆ เดี๋ยวนี้ปัญหาทางอื่นมัน มันเพิ่มมากขึ้นนะที่จะทำให้เราต้องบังคับความรู้สึก ถ้าคุณไม่นิยมการบังคับความรู้สึกหรือไม่มีคุณสมบัติข้อนี้อย่า อย่าสึกออกไปเผชิญโลกเลย อย่าสึกออกไปเผชิญต่อโลก เพราะว่าโลกปัจจุบันนี้มันยิ่งมีอะไรแรง ร้ายแรงมากขึ้นที่คนที่อยู่ในโลกจะต้องบังคับความรู้สึก ถ้า ถ้าไม่สามารถแล้วอย่าสึกดีกว่า ถ้าใครอยากสึกก็ช่วยศึกษาไอ้บังคับความรู้สึกนี่ไปให้มากๆ แล้วออกไปก็จะสู้โลกได้ ไม่อย่างนั้นจะเสียชื่อพระพุทธเจ้า สอนอย่างไร ศาสนามีไว้อย่างไรคนออกไปมันก็ยังเลวอยู่อย่างนั้น มันเสียชื่อแก่พระพุทธเจ้าอย่างไม่ยุติธรรม พระพุทธเจ้าท่านสอนบังคับความรู้สึกทุกกระเบียดนิ้ว แล้วคนเหล่านั้นมันไม่ทำ ก็ออกไปประสบกับความวินาศ เรียกว่าโยนบาปให้ศาสนา มันไม่ถูกแหละ ผมอยากจะเน้นอีกทีว่าไอ้โลกนี้มันยิ่ง ยิ่งเต็มไปด้วยสิ่งที่ทำให้เราต้องต่อสู้ด้วยการบังคับความรู้สึกนี่ยิ่งขึ้น และยิ่งขึ้นๆอย่างรุนแรงอย่างรวดเร็ว คือความเจริญทางวัตถุ พอเราบังคับไม่ได้เราก็ต้องทำผิดแหละ ทำผิดตั้งแต่ขั้นแรกและขั้นต่อไป ต่อๆไปจนกระทั่งวินาศ บังคับความรู้สึกไม่ได้นั้นไม่เหมาะที่จะออกไปอยู่ในโลกในสมัยปัจจุบันนี้ เดี๋ยวก็ไปทำผิดในเรื่องรา ราคะ โลภะ เดี๋ยวก็ไปทำผิดในเรื่องโทสะ โกธะฆ่าเขาตาย อยากจะย้ำความหมายของรูปภาพใน ในตึกไอ้โรงหนังที่ว่าอยู่ในปากงูอย่าให้ถูกเขี้ยวงู คุณจำไปด้วยนะมันคงจะ จะรุนแรงหนักขึ้นแหละโลกสมัยปัจจุบัน ที่ว่าโลกมันจะเต็มไปด้วยอันตรายที่เหมือนกับเขี้ยวงูมากขึ้น ถ้าเราไม่อาจจะอยู่เหมือนกับว่าลิ้นงูอยู่ในปากงูเราก็ต้องวินาศแหละ ไปถูกกับไอ้ ไอ้เขี้ยวงู ซึ่งมันจะหนาแน่นขึ้นมาทุกทีในโลกนี้ แล้วเครื่องป้องกันที่ดีที่สุดก็คือการบังคับความรู้สึก ผู้ที่จะปฏิบัติฆราวาสธรรม ๔ ประการ ซึ่งเป็นธรรมที่สำคัญที่สุดต้องอาศัยบังคับความรู้สึกทั้งนั้นแหละ เพื่อให้มีสัจจะอยู่ได้ มีธรรมะอยู่ได้ มีขันติอยู่ได้ มีจาคะอยู่ได้ สัจจะ ธรรมะ ขันตี จาคะ มีอยู่ได้เพราะว่าผู้นั้นมันบังคับความรู้สึก มีสัจจะอยู่ได้เพราะบังคับความรู้สึกให้รักษาสัจจะไว้ แล้วมันจะเหลวไหล จะทิ้งก็มีธรรมะบังคับไม่ให้มันทิ้งคือขมขี่ มีความรู้สึกสูงมาบังคับขมขี่ความรู้สึกต่ำเอาไว้ได้ แล้วต่อสู้กันมากนักเจ็บปวดก็ต้องมีไอ้ขันตีหรือขันติ อดทนได้ ตอนนี้ยาก ตอนขันตินี้ยากมาก ดังนั้นการที่จะมีจาคะเป็นรูรั่วระบายสิ่งเลวทรามออกไปเรื่อยๆ เรื่อยๆนี่มันก็เป็นเรื่องของการบังคับความรู้สึกชนิดที่ละเอียดประณีต เป็นสายไปไม่ขาด ไม่ขาดสายอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นคนนั้นก็สามารถบังคับความรู้สึกได้ บังคับตัวเองได้ บังคับจิตได้ บังคับกิเลสได้ให้ตั้งตนอยู่ในธรรมะจนกระทั่งบรรลุถึงไอ้ความรอด ฟังดูแล้วมันคล้ายกับมันไกลกันมันไม่เกี่ยวกัน ที่จริงมันเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยสิ่งนี้แหละบังคับความรู้สึก ก็จะก้าวไปถึงไอ้เรื่องวิมุติ หลุดพ้น หรือเรื่องนิพพาน ดับเย็นสนิท ผลสุดท้ายของการบังคับความรู้สึกชั้นสูงสุดก็คือนิพพาน มันเย็น กิเลสมันร้อน บังคับได้ ดับหมดมันก็เย็นสนิท ผมก็พยายามที่จะให้คุณมองเห็นว่าไอ้การบังคับความรู้สึกนี่มันจำเป็นอย่างไร ส่วนวิธีที่จะบังคับ อุบายที่จะบังคับนั้นมันก็ยืดยาวเอาไว้พูดกันวันหลังดีกว่า วันนี้ทนฟังไอ้เรื่องความสำคัญหรือประโยชน์ หรืออานิสงส์ของการบังคับจิตให้มันแจ่มแจ้ง ให้มันฝังแน่นลงไปในความรู้สึกว่าเราจะต้องบังคับความรู้สึก มิฉะนั้นเราจะวินาศ
ดูเหมือนจะได้พูดแล้วแต่วันแรกว่าในโลกนี้ ทั้งโลกนี้มันไม่มีอะไรเลยนอกจากความรู้สึกของเรา ถ้าวันก่อนไม่เข้าใจวันนี้เข้าใจกันเสียทีว่าไอ้โลกที่ปรากฏแก่เราอยู่ในปัจจุบันนี้มันไม่มีอะไรนอกจากความรู้สึกของเรา ถ้าเราไม่มีความรู้สึกไอ้โลกนี้มันก็ไม่มี เดี๋ยวนี้เราอาจจะรู้สึกทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง ทางจิตใจ รู้สึกอย่างไรนั้นแหละคือโลกที่มันแวดล้อมเราอยู่ ห่อหุ้มเราอยู่ นี่ให้รู้พื้นฐานเสียทีว่ามันอยู่ด้วยความรู้สึก มันมีความรู้สึกแวดล้อมเราอยู่ตามที่เรารู้สึกได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ คือตัวแท้ๆมันก็คือความรู้สึก หรือจะพูดให้ชัดอีกทีหนึ่งว่าที่เราไม่ตาย มานั่งเป็นคนๆเป็นๆนี่เพราะมันมีความรู้สึกนะ ลองไม่มีความรู้สึกมันก็ตายแล้ว มันก็เห็นได้ว่าไอ้พื้นฐานมันคือตัวความรู้สึกหรือตั้งอยู่บนความรู้สึก ทีนี้ปัญหาถัดไปก็คือว่าเราจะจัดการกับความรู้สึกนั้นอย่างไรจึงจะไม่เกิดโทษ จึงจะมีแต่ประโยชน์ เราหลีกไม่ได้หรอก เราหลีกความรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่ได้ มัน มันมี มันมีอยู่เป็นพื้น พื้นฐาน มันมีอยู่เป็นตัวชีวิตของเราเสียเลย ช่วยไปมองข้อนี้กันให้มากๆไม่ใช่เรื่องพูดเล่นสนุกๆ จะได้เข้าใจเลยไปถึงว่าไอ้ตัวชีวิตอัน อันหวงแหนกันนักมัน มันไม่มีอะไร มันเป็นมายา มันเป็นเพียงความรู้สึก หรือรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่มันเป็นมายาอย่างนี้ ดังนั้นโลกนี้ก็คือมายา เพราะมันเป็นเพียงความรู้สึก รู้สึกไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่มีตัวจริงไม่มีของจริง ไม่มีเที่ยงแท้แน่นอนอะไร ความรู้สึกนั้นเป็นเพียงสังขารอันหนึ่ง ปรุงแต่งขึ้นมาในระหว่างการกระทบของอายตนะภายในอายตนะภายนอกตลอดเวลา แม้หลับมันก็ยังฝัน ความรู้สึกในความฝันมันก็ทำให้เรารู้สึกเป็นกิเลสก็ได้ เป็นไอ้ผลของความกลัวความสะดุ้ง เมื่อยังไม่ตื่นจากฝันนี่มันก็มีผลเท่ากันแหละ ถ้าฝันเป็นเรื่องน่ากลัวมันก็กลัวเหลือประมาณแหละ ถ้าฝันเป็นเรื่องน่ารักมันก็หลงรักเหลือประมาณ แม้แต่ในความฝันเมื่อหลับมันก็ยังเป็นได้ คือความรู้สึกมันแสดงบทบาท นี้เรียกว่ามันเป็น เป็นตัวชีวิต เป็นตัวพื้นฐานของชีวิต ถ้าเราจัดการกับมันไม่ได้ แค่ชีวิตนั้นอีกนั่นแหละจัดการกับมันไม่ได้ชีวิตนั้นก็วินาศ จึงเตรียมสำหรับที่จะรู้จักควบคุมความรู้สึก ใช้คำว่าควบคุมนี้มันเป็นกลางดี คือฝ่ายที่ต้องละก็ละเสีย ฝ่ายที่ต้องทำมันก็ทำไป เราควบคุมไม่ให้เกิดในฝ่ายที่เป็นอันตราย ควบคุมให้เกิดไปในฝ่ายที่มีประโยชน์ แล้วควบคุมให้มันพัฒนาเจริญงอกงามแต่ในฝั่งที่มันเป็นประโยชน์ ความรู้สึกฝ่ายที่เป็นประโยชน์หรือฝ่ายที่ถูกต้องมันก็เจริญไปๆ เราก็ต้องประสบสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้เพราะเหตุนั้นเอง นี่โดยหลักใหญ่มันเป็นอย่างนี้ แล้วคุณก็จะเห็นได้เองทันทีว่ามันสำคัญหรือไม่สำคัญ การบังคับควบคุมความรู้สึกนี่สำคัญหรือไม่สำคัญลองคิดดู ถ้ายอมรับว่าสำคัญก็ควรจะดูต่อไปอีกชั้นหนึ่งว่าสำคัญมากหรือสำคัญน้อยหรือสำคัญที่สุดกว่าสิ่งใด ผมถือว่าสำคัญที่สุด เพราะว่าบังคับไว้ได้นี่มันทำให้อยู่ในร่องรอยของความถูกต้อง อะไรๆมันก็ถูกต้องไปหมด มันก็ปลอดภัย แล้วมันก็เจริญรุ่งเรือง ถ้าเราจะนึกถึงพระพุทธภาษิตที่ว่าไม่มีอะไรจะทำความเสื่อมเสียมากเท่ากับจิตที่ตั้งไว้ผิด และไม่มีอะไรที่จะทำประโยชน์เกื้อกูลให้เรามากเท่ากับจิตที่ตั้งไว้ถูก แล้วก็ดูเถอะมันก็จะมาอยู่ที่นี่ ไอ้จิตที่ตั้งไว้ผิดนั่นมันเพราะบังคับความรู้สึกไม่ได้ หรือไม่ได้บังคับเลยเพราะมันไม่รู้เรื่อง ไอ้จิตที่มันตั้งไว้ถูกเพราะมันบังคับความรู้สึกได้และมันรู้เรื่องดี ฉะนั้นจิตนี้จึงดำรงอยู่ในลักษณะที่ถูก จะเรียกว่าชีวิตนี้มันดำรงอยู่ในลักษณะที่ถูกก็ได้ จะว่ากาย วาจา ใจ ๓ อย่างนี้มันดำรงอยู่ในลักษณะที่ถูก มีความถูกไปหมด มันก็เป็น เป็นการได้ที่สูงสุด เป็นการได้ที่ดี นี่ผลของการที่เรารู้จักจัด รู้จักทำ รู้จักบังคับ รู้จักควบคุมให้ความรู้สึกมันเป็นไปแต่ในทางที่ถูกต้อง ขอให้มองเห็นความสำคัญว่าไอ้ชีวิตนี้มันคือความรู้สึก ต้องจัดการกับมันให้ถูกต้อง แล้วคงจะสนใจไอ้ ไอ้ธรรมะทั้งหมดทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อการจัดการทำให้มันมีความถูกต้องนั้นเป็นที่สุดแหละ ธรรมะนอกนั้นเฟ้อทั้งนั้นแหละ เหลือเฟือทั้งนั้นแหละ ไม่ต้องก็ได้ ธรรมะที่จำเป็นที่ไม่เฟ้อไม่เหลือเฟือก็คือบังคับจิตหรือความรู้สึก หรือกาย วาจา ใจ ทุกอย่างที่ ที่เรา เรารู้จักมัน ซึ่งเรามักจะเรียกรวมๆกันว่าไอ้ชีวิตนี่ ไอ้ชีวิต ตัวชีวิตนี่ให้มันถูกต้องเถอะ พูดอย่างพระเยซูพูดว่าสละชีวิต แล้วจะได้ชีวิต มันพูดย่อเกินไป คนฟังไม่ถูกก็ไม่รู้ว่าอะไร ตัวโง่เองก็ไปหาว่าคนอื่นพูดผิด สละชีวิตชนิดที่ไม่รู้จักนั้นชนิดที่ผิดๆนี่เสีย แล้วก็ได้ชีวิตที่ถูกที่นิรันดร ที่ไม่มีความทุกข์เลย ถ้าพูดตรงไปตรงมาไม่เป็นปริศนาก็พูดว่าปรับปรุงชีวิตแหละ ไอ้จากที่มันเลวมันต่ำมัน ให้มันไปเป็นอย่างที่ดีที่สูงที่ประเสริฐ นั่นแหละคือตัวการบังคับความรู้สึก มีผลเพื่อจะให้ไปอยู่กับพระเจ้า คือความสุขสงบ นิรันดร เพื่อตัวเรามันก็เป็นอย่างนี้ เพื่อผู้อื่นทั้งหมดที่เป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกกันก็เป็นอย่างนี้นะ และอย่าลืมว่าไอ้ผู้ที่อยู่ในบังคับบัญชาของเรา หรือในความรับผิดชอบของเราก็มีอยู่นะคือลูกหลานเหลนของเรา จะต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ว่ารับผิดชอบแต่ตัวเอง คนนั้นมันมองไม่เห็น เห็น รู้จักแต่ตัวเอง แล้วก็ยังบังคับไม่ได้ คนชนิดนั้นก็บังคับควบคุมลูกหลานเหลนไม่ได้ ถึงเป็นครูบาอาจารย์ก็เหมือนกันถ้าบังคับตัวเองไม่ได้ก็บังคับลูกศิษย์ไม่ได้ บังคับความรู้สึกของตัวไม่ได้ก็จะบังคับความรู้สึกของผู้อื่นไม่ได้ มันมีอยู่อย่างนั้น ถ้าคุณจะคิดว่านี้ทำไมมาพูดยกเลิกเรื่องอื่นหมด เหลือเรื่องเดียวโดดๆแต่การบังคับความรู้สึก มันจะวิปริตไปเสียแล้วกระมัง ผมก็ยืนยันว่าไม่วิปริตหรอก มันเป็นอย่างนี้จริงๆ เพราะเรื่องนี้เรื่องเดียวมันขยายไปเป็นเท่าไรก็ได้ เป็นธรรมะชั้นต่ำต้อย ชั้นปานกลาง ชั้นสูงสุดก็ได้ สำหรับฆราวาสก็ได้ สำหรับบรรพชิตก็ได้ หรือพวกที่อยู่ครึ่งๆกลางๆก็ได้ เพื่ออยู่ในโลกก็ต้องบังคับความรู้สึก เพื่อจะขึ้นไปเหนือโลกยิ่งต้องบังคับความรู้สึกมากขึ้นไปอีก ลองอยู่ในโลกนี้โดยไม่บังคับความรู้สึกเลย มันก็จะเหมือนอย่างที่ว่าถูกเขี้ยวงูยอกตำเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา ไม่มีเวลาว่างเลย เขี้ยวงูในโลกคืออารมณ์ที่สัมผัสเข้ามาแล้วจัดการกับมันผิดๆ มันก็กลายเป็นงูพิษ มีเขี้ยวที่เป็นพิษยอกตำทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะเปรียบอย่างอื่นก็ได้ ไปว่า ไปคิดเอาเอง ไปเปรียบเอาเองก็ได้ ถ้าจะไม่เปรียบกับงูพิษก็เปรียบเป็นไฟเป็นอะไรก็แล้วแต่ที่มันเป็นอันตราย ผมจึงมาเน้นพิเศษตรงที่ว่าความสำคัญของการบังคับความรู้สึก ขอให้สนใจเป็นพิเศษด้วย
เวลาเหลืออยู่นิดหนึ่งจะพูดว่าไอ้ชาติโง่ที่สุดแหละคือคนที่ไม่รู้จักบังคับความรู้สึก ไอ้คนที่นั่งฟังเรื่องนี้ไม่ออกอยู่ตรงนี้ก็คือคนโง่ที่สุดนั่นแหละ นี่ทุกคนที่นั่งฟัง นั่งฟังอยู่ที่นี่ถ้าฟังเรื่องนี้ไม่ออกก็คือคนโง่ที่สุด คือมันเรื่องของตัวเองแท้ๆ ในเนื้อในตัวของตัวเองแท้ๆ แล้วเป็นอยู่ทุกวันแท้ๆมันยังฟัง มันยังฟังไม่ออก จะไม่ให้ว่าโง่ที่สุดอย่างไรกัน ดังนั้นจึงหวังว่าพวกคุณคงจะไม่ทำให้เสียเกียรติของผ้าเหลือง ทำให้เสียผ้าเหลืองเปล่าๆในการที่บวชเข้ามาแล้วไม่มีความรู้สึกในเรื่องนี้ ผ้าเหลืองทำไม นั่นแหละมันคือการบังคับความรู้สึกเหมือนสัญลักษณ์ของการบังคับความรู้สึก คุณก็รู้แล้วว่ามันเรียกว่าผ้ากาสายะ ผ้ากาสาวะ อิมัง กาสาวัง คะเหตวา ปัพพาเชถะ มัง ภันเต จงเอาผ้ากาสายะนี้บรรพชาให้ข้าพเจ้า ไอ้ผ้ากาสายะนี้มันคือผ้าย้อมฝาด ผ้าย้อมฝาดอย่างนี้เป็นสัญลักษณ์ของการที่ อะไร ที่ปล่อยตามความรู้สึกหรือว่าบังคับความรู้สึก เขาพูดกันไว้ แต่มันจะให้มาแล้วว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของพระอรหันต์ จะพูดอย่างนี้ก็ดูว่ามันจะไม่ ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยก็ได้ หรือมันได้ไม่ๆ ไม่ตรงจุดแหละ ขอให้ถือว่าไอ้ผ้ากาสายะนี่มันเป็นสัญลักษณ์ของผู้บำเพ็ญพรต หรือบำเพ็ญตบะ หรือว่าบำเพ็ญสิกขา หรือบำเพ็ญพรหมจรรย์หรือบำเพ็ญอะไรก็ตาม ผ้าเหลืองที่เราห่มอยู่มันเป็นสัญลักษณ์ของไอ้การบังคับความรู้สึก เมื่อ เมื่อชาวโลกเขารู้เรื่องดีเขาอ้าว, นี่ผู้บังคับความรู้สึกมาแล้วโว้ย, เป็นเนื้อนาบุญ เอาจตุปัจจัยเอาอะไรมาถวายบำรุงบำเรอบุคคลผู้เป็นเนื้อนาบุญเพราะว่าเขาบังคับความรู้สึก ถ้าเขารู้ว่าผู้นี้ไม่บังคับความรู้สึกแล้วเขาก็จะไม่ถือว่านี่ผู้นี้มีอะไรที่ว่าจะให้เกิดบุญเกิดกุศลได้ ถ้าเขาเรียกว่าผู้บำเพ็ญพรต มันก็บังคับความรู้สึก ถ้าเขาเรียกว่าผู้บำเพ็ญตบะ มันก็ยิ่งบังคับความรู้สึกหนักขึ้นไปอีก หรือบำเพ็ญพรหมจรรย์ก็เหมือนกัน ก็แล้วแต่จะเรียก ในอินเดียสังเกตเห็นว่าเขาใช้คำว่าสาธุกับพวกนักบวชทั้งหลาย นักบวชทั้งหลายชนิดไหน นิกายไหน พวกไหน ระดับไหนเขาเรียกว่าสาธุ ก็หมายถึงคนที่มันบังคับความรู้สึก มันทำตัวให้สะอาดและมันจะไปอยู่กับพระเจ้า มันจะขึ้นไปเบื้องบน ก็เรียกว่าสาธุ สาธุ เดี๋ยวนี้ใน ในประเทศไทยเราน่าหัวเยอะ คำว่าสาธุ สาธุ นี่แปลให้ไหว้ ให้ยกมือไหว้ แต่คำว่าสาธุนี่เขาๆ เขาแปลถึงผู้ที่ เขาหมายถึงผู้ที่บังคับตัวเองได้สำเร็จ เราก็ระวังเถอะ บวชทีหนึ่งก็ให้เป็นบวช แม้ไม่ถึงที่สุดก็ให้ได้พอสมควร ดังนั้นขอยินดีบังคับความรู้สึก แล้วเป็นอยู่ด้วยการบังคับความรู้สึกให้เข้ารูปกันกับที่ว่าเรามาอยู่ในป่าเพื่อพบกับไอ้บทเรียนที่จะต้องบังคับความรู้สึกแหละ คุณจะต้องพบกับเหลือบ ยุง ลม แดดอะไรนี่ที่มันจะมีในป่า ความยากลำบาก ความอัตคัดความอะไรที่มันมีอยู่ในป่า ก็มันเป็นไอ้เรื่องการบังคับความรู้สึก ถ้าจะพูดอีกทางหนึ่งก็ได้ว่าไอ้ ไอ้ระเบียบการเป็นอยู่ในสวนโมกข์นี่เราก็อยากจะให้มันเป็นเครื่องทดสอบที่ดี หรือการอบรบที่ดีในทางจิตใจเกี่ยวกับการบังคับความรู้สึก ผมได้ฟังคำว่า ได้ ได้ยินคำว่าไอ้ Public School ของพวกฝรั่งสมัยเก่าๆนั้นมันก็เลื่อมใส ไอ้โรงเรียนที่นี่มัน มันจะยัดเยียดให้เต็มไปด้วยการที่ต้องอดกลั้นอดทน บังคับความรู้สึกในการเรียนก็ดี ในการเป็นอยู่ก็ดี ในการกินก็ดีอะไรก็ดีมันต้องบังคับความรู้สึกกันทั้งนั้น มันผ่านโรงเรียนนี้ไปได้มันก็ดี มันเป็นคนดี เราก็ยังไม่ละทิ้งหลักการนี้ให้การเป็นอยู่ที่นี่ ให้มันบท ให้มันให้บทเรียนที่จะต้องบังคับความรู้สึกให้มากที่สุด อย่างที่คุณก็เห็นๆอยู่แล้วว่า ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ไม่ต้องมีใครพะเน้าพะนอใคร ไม่ต้องมีใครขอบใจขอบคุณใคร เพราะมันเป็นหน้าที่ของทุกคนจะต้องทำสิ่งที่เป็นการขูดเกลากิเลสของตน ฉะนั้นถ้าไม่ประมาท มันมีสติสัมปชัญญะ สอดส่องให้ละเอียดว่ามีอะไรบ้างที่เราจะต้องทำให้ดีที่สุด กี่สิบอย่างกี่ร้อยอย่างก็ทำไปเถอะให้มันดีที่สุด แล้วมันจะเป็นเรื่องของการบังคับความรู้สึกทั้งหมดเลย ดังนั้นกว่าคุณจะลาสิกขาออกไปนี่มันคงจะเปลี่ยนนิสัยสันดานได้บ้าง บังคับความรู้สึกได้ครั้งเดียวมันก็เปลี่ยนนิสัยสันดานนิดหนึ่งแล้ว บังคับได้อีกมันก็เปลี่ยนอีก บังคับอีกมันก็เปลี่ยนอีก แล้วเมื่อมากเข้าๆมันจะเปลี่ยนนิสัยสันดานให้สะอาดให้บริสุทธิ์ ให้ไม่ประกอบอยู่ด้วยโทษ ถ้ามันยังไปอย่างนั้นเรื่อยๆไปมันก็ถึงความเป็นพระอรหันต์แหละ วิสุทธิธัมมสันตาโน ผู้มีสันดานอันบริสุทธิ์เป็นธรรมดา คือพระอรหันต์นะ ถ้าสันดานบริสุทธิ์ชนิดที่กลับหลังไม่ได้อีกแล้วเป็นพระอรหันต์ เดี๋ยวนี้เราก็เอาให้มากๆเข้าไว้ เรื่องความ กิเลสประเภทความโลภ เรื่องราคะเรื่องโลภะนั่นผมเชื่อว่าคงจะบังคับกัน กันได้พอสมควร แต่ประเภทโทสะ โกธะนี่ดูยังไม่ค่อยน่าไว้ใจ ดูจะบังคับกันยังได้น้อย ส่วนเรื่องโมหะนั้นมัน มันมาก มันมากแขนง มันพร่า เพราะไอ้สิ่งที่เรียกว่าความโง่นั้นบางอย่างเราไม่รู้สึกว่าอยู่ที่ไหนก็มี บังคับไม่ได้หรอก เอาแต่ที่มันรู้สึกได้ เช่น ความสะเพร่า ความลวกๆ ความหุนหัน อะไรอีกที่เรียกว่าโมหะได้ เช่น ให้มันเป็นคนมีสติสัมปชัญญะ ไม่สะเพร่า อย่ามีสิ่งที่เรียกว่าสะเพร่า หรืออารมณ์มันพลุ่งโดยปราศจากสติสัมปชัญญะ ก็พอจะเรียกว่าบังคับโมหะได้ เอาละก็ไปทดสอบตัวเองว่าเราได้ ทำได้กี่มากน้อยระหว่างที่บวชครั้งหนึ่งนี้ สำหรับผู้ที่จะสึกออกไป หรือสำหรับผู้ที่ยัง จะยังอยู่ก็จะทดสอบให้รู้ว่ามันดีขึ้นกว่าปีกลายหรือไม่ สำหรับมันจะได้ดีต่อๆกันไปจนถึงดีที่สุด พอดีที่สุดแล้วคุณว่าไปไหน ตอบไม่ได้โง่ทันที ถ้ามันดีที่สุดแล้วมันไปไหน มันก็พ้นดีแหละ มันก็เหนือดี พ้นดี เลยไม่ต้องบังคับกันอีกต่อไป ดังนั้นละชั่วเสีย ทำดี ดีที่สุดแล้วมันก็พ้น พ้นทั้งชั่วทั้งดี หมด หมดเรื่อง หมดปัญหา เขาก็เรียกว่าจบพรหมจรรย์ พรหมจรรย์หยุดหมด หมด หมดกันตรงนี้ จิตที่จะต้องปฏิบัติเพื่อให้ดียิ่งขึ้นไปนี่มันไม่มีอีกแล้ว เพราะว่าบังคับความรู้สึกชั้นละเอียดสูงสุดประณีตได้แล้ว ทั้งในประเภทโลภะ โทสะ โมหะด้วยกัน ผมไม่พูดมากเรื่อง วันนี้พูดเรื่องเดียว ความสำคัญของการบังคับความรู้สึก แล้วมันก็หมดเวลา ก็ยุติ