แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาสืบต่อเป็นบุพาแต่ละลำดับ ต่อจากธรรมเทศนาที่วิสัชนาแล้วเมื่อตอนต้นแห่งราตรี เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ วิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายให้เจริญงอกงาม เนื่องในประกอบพิธีวิสาขบูชาในวันนี้สืบต่อไป ในเบื้องต้นนี้อยากจะปรับความเข้าใจกับท่านทั้งหลายในบางประการ ข้อนี้คือข้อที่เราทนอยู่ในลักษณะที่เห็นอยู่นี้ว่าได้ทนกันอย่างไร มีความอดทนเพื่อจะทำอะไร เวลานี้ก็ล่วงมาถึงสามนาฬิกาแห่งวันใหม่แล้ว การที่อดทนไม่ไปพักผ่อนหลับนอนนี้ เพื่อประโยชน์อะไรกัน สำหรับอาตมานั้นรู้สึกไปอีกทางหนึ่งว่า ถ้าการอดทนนี้ไม่ได้รับประโยชน์คุ้มกัน ก็จะต้องเรียกว่า ยมบาลเอาตาย คำว่า ยมบาลเอาตาย นี้ บางทีบางคนจะยังไม่ทราบ ที่เราได้ถือเป็นหลักว่า ถ้าได้ทำอะไร มีผลไม่คุ้มค่า ไม่คุ้มแรง ไม่คุ้มการเสียสละของผู้เสียสละแล้ว ก็สรุปความเอาว่า ยมบาลเอาตาย เช่นที่เราสร้างวัดขึ้นมาแล้ว ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่าของเงินที่ลงทุนไปมาก ๆนั้น ก็ยมบาลเอาตาย หรือว่าจะทำอะไรก็ได้ ที่เอาเงินของคนอื่นมาใช้ มาทำไปในลักษณะที่เรียกว่าทำประโยชน์ หรือแม้แต่สาธารณประโยชน์ ถ้าการกระทำนั้น ๆ มันไม่คุ้มค่ากัน ก็ต้องเรียกว่า ยมบาลเอาตาย คือจะไปเผชิญหน้ากันกับยมบาล แล้วก็จะซักถามกันถึงเรื่องนี้ ว่าสิ่งที่ทำนั้นมันได้รับประโยชน์อะไรคุ้มค่าเงินของประชาชน ถ้ามันพิสูจน์ไม่ได้ ยมบาลก็จะเอาตาย ถึงแม้อาตมานี้ก็ไม่ยกเว้น ถ้าได้ทำให้ท่านทั้งหลายต้องอดนอนมาตั้งค่อนคืนแล้วไม่ได้รับประโยชน์คุ้มกัน ยมบาลก็เอาตายเหมือนกัน นี้แหละเป็นข้อที่เป็นห่วงอยู่ว่า จะได้รับประโยชน์อะไรคุ้มกันในการที่อดหลับอดนอนมาตั้งค่อนคืนแล้ว ข้อนี้มันก็อยู่ที่ท่านทั้งหลายด้วยไม่อาจจะสำเร็จได้โดยลำพังอาตมาคนเดียว หมายความว่า จะต้องพยายามทำความเข้าใจในเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้วิสัชนาไป หรือที่ว่าผู้บรรยายบางคนได้บรรยายไป สิ่งนั้นได้ประโยชน์คุ้มค่ากัน ก็พอจะเอาตัวรอดได้ แต่ว่ายังมีอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งสำคัญกว่านั้น สิ่งนั้นก็คือว่า การที่พวกเราเห็นแก่นอนเกินไป มันก็เกิดนิสัยชนิดหนึ่งขึ้นมา คือจิตใจที่มัน ที่มักจะซึม ๆ ที่มักจะทื่อ ๆ ไม่เฉียบแหลม เพราะมันมีนิสัยชวนไปแต่ในทางที่จะหยุด เหมือนคนขี้นอน คนนั้นจะมีนิสัยอย่างไรขอให้ไปสังเกตดูให้ดี ๆ ถ้าเราจะสังเกตดูที่พระพุทธเจ้าในการที่ทรงกระทำความเพียรแล้ว จะพบข้อเท็จจริงอันหนึ่งว่า ฌานกริยานุโยค คือการประกอบความเพียรของบุคคลผู้ตื่นอยู่เสมอนั้น เป็นความลับในการที่พระองค์ประสบความสำเร็จ เพื่อตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ การที่พระองค์ทรงออกไปอยู่ในที่อันสงัด กระทำความเพียรเป็นเวลานาน ๆ นั้น มันต้องมีความอดกลั้นอดทนหรือมากกว่าที่พวกเราต้องอดกลั้นอดทนในที่นี้ในเวลานี้ คือเพิ่งจะอดทนวันนี้แล้วก็ยังไม่ถึงคืนหนึ่งสักที เรียกว่าถ้าจะถือธุดงค์เนสัชชิกังคะ ก็ยังไม่สำเร็จสักที หรือจะประกอบความเพียรที่เรียกว่า ฌานกริยานุโยค ก็ยังไม่กี่มากน้อย ก็ขอให้นึกข้อที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านทรงประกอบความเพียรเกี่ยวกับการไม่รู้จักหลับจักนอนนี่มันมากมายมหาศาล ถึงแม้พระศาสดาแห่งศาสนาอื่นก็คล้าย ๆ กัน เรื่องนอนนั้นเห็นเป็นเรื่องที่เป็นอุปสรรคนะทำให้มึนชา ทำให้ง่วงเหงา ก็ต้องสามารถที่จะนั่งด้วยจิตใจแจ่มใสตลอดวันตลอดคืนเนื่องกันไปหลาย ๆวัน หลาย ๆ คืน กว่าจะคิดอะไรออก หรือมองเห็นอะไรชัดเจนลงไป ชนิดที่เรียกว่าเป็นการตรัสรู้ ดังนั้นการที่หัดฝึกหัดกันไว้บ้าง ย่อมจะเป็นการดี การฝึกหัดบังคับจิตให้แจ่มใส ไม่งัวเงียเพราะการนอนไว้ให้เป็นระยะยาว ๆ ให้บ่อย ๆ ให้มาก ๆ นั้นเป็นการดี ดังนั้นเราจึงถือเอาโอกาสเช่นนี้ เช่นในวันที่ประกอบพิธีวิสาขบูชาเป็นต้นนี้ มาฝึกหัดบทเรียนอันนี้ ก็คือบังคับจิตได้ ตลอดถึงบังคับกายได้ ไม่ต้องนอนก็ได้ ให้มันอยู่อย่างสดชื่น แจ่มใส เป็นเวลานาน ๆ เป็นโอกาสที่จะเกิดความคิด ความเข้าใจลึกซึ้ง มองเห็นอย่างแจ่มแจ้ง พวกขี้นอนก็คงจะเถียงว่า ไปนอนเสียให้สบายตามที่มันควรจะนอนแล้วก็คิดอะไรออกเหมือนกัน เหมือนคนสมัยนี้เขาก็นอนตามสบายใจ เขาก็คิดอะไรออกเหมือนกัน ข้อนี้มันก็น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่มันก็ไม่ถูกทั้งหมด หมายความว่า ถ้าคิดอะไรออก มันก็ออกไปอีกแบบหนึ่งไม่ได้ออกอย่างเดียวกับบุคคลที่มีความเข้มแข็งในการบังคับจิตใจหรือบังคับระบบประสาทให้เข้มแข็ง เรื่องนอนนี้เรื่องหลับนี้ไม่มีความหมายอะไรไม่เป็นปัญหา ถ้าทำได้อย่างนี้ ในความคิดที่คิดออกนั้นมันก็เป็นไปในทางนี้ เป็นในทางที่ช่างข่มขี่กิเลส คนเห็นแก่นอนมัวเมาในการนอนก็คิดอะไรออกเหมือนกัน แต่ก็จะคิดเป็นไปในทางที่เป็นเหยื่อแก่กิเลส นี่คือความแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นจึงอยากจะแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นการแนะนำว่าควรจะฝึกฝนให้คุ้นเคยกันเสียบ้างในการที่บางคราวไม่ต้องนอน อย่าให้มันน้อยหน้า เป็นที่ละอายแก่บุคคลธรรมดา บางคนนั่งเล่นไพ่จนสว่างก็ได้ ไม่เห็นมันง่วงนอน นั่งเล่นหมากรุกจนสว่างก็ได้ ไม่เห็นมันง่วงนอน อย่างนี้ก็เคยมี ลองพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่า เล่นไพ่ เล่นหมากรุกได้ จนสว่างไม่ง่วงนอนนั้น มันอยู่ได้ด้วยอำนาจของอะไร มันก็อยู่ได้ด้วยอำนาจของจิตที่เพ่งจ้องอยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นอารมณ์ที่รุนแรง มันก็เลยไม่ง่วงนอน อย่างนี้ทำไมเราจึงไม่เพ่งจ้องในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ให้เป็นอารมณ์ที่รุนแรงถึงขนาดนั้นบ้าง มันจะได้ไม่รู้สึกง่วงนอน เมื่อทราบความจริงอย่างนี้แล้วก็คงจะแก้ปัญหานี้ได้มาก คือ ขจัดการเห็นแก่นอนได้ ในเมื่อจะฝึกฝนการปฏิบัติเกี่ยวกับจิตใจ เช่น เกี่ยวกับสมาธิภาวนา เป็นต้น ในพระพุทธศาสนามีคนหลายคน มีพระหรือเณรหลายองค์ มาถามอาตมาว่า ทำไมพอลงมือทำสมาธิ มันก็ง่วงนอน ถ้าไม่ทำสมาธิมันก็อยู่ได้สบาย แต่พอลงมือทำสมาธิ มันก็ง่วงนอน นั่นแหละคือผลของการเป็นนักนอน ถ้าคนพวกนี้มาฝึกฝนบทเรียนอันนี้ อย่างที่กำลังทำอยู่นี้ ไม่เห็นแก่นอนกันเสียให้มากพอ นิสัยมันก็จะเปลี่ยนไป ร่างกายล้วน ๆ มันก็จะเปลี่ยนไป เป็นการบังคับได้ เข้มแข็งสดชื่นอยู่ได้ ไม่รู้สึกง่วงนอนในการที่จะทำสมาธิเป็นต้น เดี๋ยวนี้มันไม่นิยมการบังคับตัวเองในลักษณะอย่างนี้ อยากนอนก็นอนได้ตามใจ ไม่มีใครบังคับได้ แล้วมันก็นอน แล้วมันก็เกิดเป็นนิสัย พอถึงคราวที่ไม่ต้องการจะนอน ไม่อยากให้มันนอน มันก็นอนสิ ก็ทำไม่ได้ ก็สมน้ำหน้ามัน ที่มันอยากจะนิยมชมชอบในการนอน นี้คือข้อเท็จจริงอันหนึ่งซึ่งจะต้องพิจารณาและจะต้องพิจารณาให้เห็นว่ามันเกี่ยวข้องอะไรกันกับเรากี่มากน้อย ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายประสบความสำเร็จอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่มีค่ามากในการที่ทนอดนอนมาได้ตั้งค่อนคืนนี้แล้ว เราก็ไม่ถูกยมบาลเอาตาย เป็นอันว่ารอดตัวไปที นี้คือการปรารภในเบื้องต้นต่อการแสดงธรรมเทศนาตอนนี้
ทีนี้ก็จะได้กล่าวถึงเรื่องที่ตั้งใจว่าจะแสดงสืบต่อไป สิ่งหนึ่งซึ่งมีความสำคัญมาก นั่นก็คือเรื่องของคำพูดเกี่ยวกับถ้อยคำที่ใช้พูดกันอยู่ ถ้าเป็นถ้อยคำชั้นลึก เป็นภาษาธรรมะที่แสดงถึงธรรมชาติชั้นลึก อันมีความหมายอย่างอื่น ซึ่งคนธรรมดาสามัญไม่อาจจะเข้าใจได้ อันนี้เองเป็นเหตุให้ฟังกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ถ้าคนพูดพูดด้วยภาษาที่ลึกกว่าธรรมดา คนฟังก็ฟังด้วยความรู้ในภาษาระดับธรรมดา มันก็ฟังไม่รู้เรื่องแน่ อาตมาพยายามสังเกตข้อนี้อยู่ตลอดเวลา และก็ได้พยายามที่จะแก้ปัญหาข้อนี้ด้วย คือพยายามหาทางให้ทุกคนเข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำหรือภาษาที่ลึกซึ้ง ที่เรียกกันว่า ภาษาธรรม มีความหมายลึกซึ้งไปกว่าธรรมดา ก็ยังลึกซึ้งกันอยู่เป็นชั้น ๆ หลาย ๆ ชั้น ด้วย มันจึงเป็นการยากที่จะพูดกันเพียงคราวเดียว ครั้งเดียวแล้ว จะเป็นผู้เจนจัดในการพูดหรือการฟังภาษาชนิดนี้ซึ่งจะเรียกว่า ภาษาธรรม คู่กันกับ ภาษาคน ซึ่งเข้าใจกันได้ง่าย ก็พูดและฟังกันจนชินอยู่ตลอดเวลา ส่วนภาษาธรรมนั้นมันมีความหมายพิเศษไกลออกไปหรือลึกกว่าภาษาคนที่พูดกันอยู่ ขอให้สังเกตดูให้ดี จะยกตัวอย่างเช่นคำว่า ชีวิต ถ้าว่า ชีวิตนี้คืออะไร คนธรรมดาสามัญที่ศึกษามาอย่างลูกเด็ก ๆ มันก็ จะพูดไปอย่างตามที่เคยเล่าเรียนมาว่า ชีวิตนี้ก็คือความที่มันยังไม่ตาย มันยังมีชีวิตอยู่ มันยังไม่ตาย มันก็เท่านั้นเอง แต่ในภาษาธรรมะนั้นเขาไม่ได้หมายถึงความที่ยังไม่ตายอย่างนั้น แต่หมายถึงความหมายอันอื่น ที่เป็นความหมายของการอยู่ ด้วยความเป็นอยู่หรือด้วยความไม่ตายนั่นเอง ว่ามันคืออะไรกันแน่ เมื่อมันอยู่ด้วยความไม่ตาย มันอยู่อย่างไร อยู่เพื่อประโยชน์อะไร และมีความหมายอย่างไร นี่แหละคือภาษาที่ลึกลงไป เรียกว่า ภาษาธรรม แม้อย่างนั้นมันยังมีหลายชั้น เมื่อพูดขึ้นเป็นคำถามว่าชีวิตนี้คืออะไร ก็อยากจะตอบว่าชีวิตนี้เป็นความบ้าของธรรมชาติที่มัวแต่ปรุงแต่งธาตุรูป ธาตุนาม ให้เป็นนั่นเป็นนี่ เป็นควันเลยทีเดียว แล้วก็มีความรู้สึกหลงใหลในความเอร็ดอร่อย อยู่เป็นความรู้สึกตามธรรมดาที่เรียกว่าสัญชาตญาณ ขอทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อถามกันว่าชีวิตนี้คืออะไรก็ตอบว่า ชีวิตนี้เป็นความบ้าชนิดหนึ่งของธรรมชาติที่มัวแต่ปรุงแต่งธาตุนั้นธาตุนี้ ธาตุรูป ธาตุนาม ธาตุจิต ธาตุวิญญาณอะไรก็ตาม ให้เกิดความรู้สึกเป็นทาสของความเอร็ดอร่อยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจเอง แล้วก็เป็นนิสัย คือเป็นไปได้เองอย่างที่เรียกว่า สัญชาตญาณ ลองคิดดูเถอะว่านี่เป็นภาษาอะไรกัน ชีวิตนี้เป็นความบ้าตามธรรมชาติ ปรุงแต่งสังขารให้ไม่มีที่สิ้นสุด ทีนี้ถ้ามีปัญหาขึ้นมาอีกปัญหาหนึ่งว่า ชีวิตนี้มีทำไมกัน มีขึ้นมาทำไมกัน เมื่อมันเป็นความบ้าแล้วจะมีไปทำไมกัน ก็ตอบว่า ชีวิตนี้มันมีเพื่อให้ความบ้านั้นมันสิ้นสุดกันเสียที ถ้าไม่เคยบ้า มันก็ไม่สิ้นสุด ก็ให้มันบ้าขึ้นมาเสีย ให้มันบ้าจนมันสิ้นสุด สิ้นสุดการปรุงแต่งบ้า ๆ บอ ๆ นั้นกันเสียที แล้วก็จะสงบเย็น เป็นนิพพาน ไม่ต้องไหลไปเป็นวัฏสงสาร หรือเป็นการปรุงแต่งอีก ชีวิตมันมีเพื่ออย่างนี้ พวกเด็ก ๆ เขาว่ามีชีวิตเพื่อกินเพื่อเล่นให้เอร็ดอร่อย พวกวัยรุ่นหนุ่มสาวก็มีชีวิตเพื่อกามารมณ์ เขาว่าอย่างนั้น แล้วมันต่างกันถึงขนาดนี้ เราจะคิดว่าอย่างไรดี อย่างน้อยก็ต้องคิดว่า อย่างไหนมันถูก ทีนี้ก็เหมือนจะมีปัญหาต่อไปอีกสักปัญหาหนึ่งว่า ชีวิตมันเพื่อจะให้หยุดบ้าแล้วจะต้องทำอย่างไรต่อไป ก็ตอบว่าหยุดบ้าในความเอร็ดอร่อยนั้นเสีย แล้วปรับปรุงให้มันตั้งอยู่ตามหนทางหรือตามทำนองครองธรรมที่ถูกต้อง โดยสรุปแล้วก็คือตามครองของอริยมรรค มีองค์ ๘ ประการนั่นเอง เมื่อทำอยู่อย่างนี้ชีวิตมันก็จะหยุดบ้า มันจะไม่ปรุงแต่งอะไรให้วุ่นวาย ยุ่งยาก ลำบากอีกต่อไป ชีวิตมันมีความหมายอย่างนี้ ในเมื่อคนธรรมดาเขาพูดว่า ชีวิตเป็นแค่เพียงการเป็นอยู่ มันยังไม่ตายเท่านั้น แล้วเรากลับบอกว่าชีวิตนี้มันเป็นความบ้าของธรรมชาติ ปรุงแต่งให้มันไหลเป็นควันไฟ แล้วก็เอร็ดอร่อย ในเมื่อมีผัสสะชนิดที่ให้ความเอร็ดอร่อย คิดว่าเมื่อถามว่าชีวิตนี้ทำไมกันอีก ก็กลายเป็นว่าเพื่อหยุดบ้ากันเสียที ก็ถามว่าทำอย่างไรจึงหยุดบ้า ก็จัดชีวิตนี้มันอยู่ในครองของอริยมรรคมีองค์แปด ท่านทั้งหลายก็ลองชักโยงความหมายให้มันต่อเนื่องกัน ให้เป็นอย่างดี แล้วก็ลองคิดดูซิว่า ชีวิตนี้มันคืออะไร เมื่อพิจารณาใคร่ครวญอยู่อย่างนี้มันมีปฏิภาณเกิดขึ้น แจ่มใสพอสมควรที่จะเขียนเป็นคำกลอนได้ ก็เลยเขียนเป็นคำกลอนว่า
ชีวิตนี้คืออะไรกัน ฉันคิดว่า เป็นความบ้าของธรรมชาติ ประหลาดผัน
ปรุงแต่งธาตุแห่งกายใจ ไหลเป็นควัน เป็นทาสความอร่อยชั้น สัญชาตญาณ
ชีวิตนี้มีทำไมกัน ฉันเห็นว่า เพื่อความบ้าถึงที่สุด สิ้นสงสาร
สงบกายใจเย็น เป็นนิพพาน อวสานแห่งความไหล ไม่มีควัน
ชีวิตนี้ทำอย่างไรกัน ฉันถือว่า ต้องหยุดบ้าในอร่อย คอยผ่อนผัน
ตามองค์มรรค แปดประการ ประสานกัน ทุกคืนวันให้ถูกต้องครองสัมมา
ฟังยากหรือฟังง่าย เข้าใจยากหรือเข้าใจง่าย บางคนคงเข้าใจไม่ได้เพราะได้ยินคุยกันกระหนุงกระหนิง ๆ ไม่ได้ฟังอาตมาพูดเลย เพราะว่ามันเข้าใจยาก มันฟังไม่เข้าใจ มันเลยจะไปคุยกันเสียเอง ดูความหมายในคำอธิบายของคำว่าชีวิตในลักษณะนี้ มันไม่มีอะไร นอกจากความยุ่งยากลำบากของภาษาที่มันลึกลงไป มีความหมายลึกลงไปๆ นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งแล้วว่า ภาษานี่มันไม่พอที่จะถ่ายทอดความรู้หรือความรู้สึกให้แก่กันได้ทันที ในเมื่ออธิบายในสิ่งที่เรียกว่าชีวิต ในลักษณะอย่างนี้ หลายคนฟังไม่รู้เรื่อง หลับไปแล้วก็มี คุยกันกระหนุงกระหนิงแข่งกันกับอาตมาก็มี นี่มันเป็นพยานเห็นชัดอยู่
อ้าว,ที่นี่ลองดูอีกเรื่องหนึ่ง คือคำว่า ตัวเอง ตัวเองมันคืออะไร ตัวเองนี่คือสิ่งที่มันรู้จักได้ยากที่สุด ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่าตัวเองมันต้องรู้จักตัวเอง แล้วตัวเองมันจะรู้จักตัวเองได้อย่างไร ฉะนั้นตัวเองจึงเป็นสิ่งที่รู้จักได้ยากที่สุด มันเหมือนกับคนบ้าที่รู้จักตัวเองซึ่งกำลังบ้า มันจึงรู้จักยากที่สุด รู้จักตัวเองนี่รู้จักได้ยากที่สุดกว่ารู้จักสิ่งใด ๆ ตัวเองที่คนโง่ ๆ ก็มักจะพูดว่า กูรู้จักมึงดี กูรู้จักตัวกูดี มันรู้จักผิด ๆ ทั้งนั้น มันรู้จักด้วยความโง่ มันเข้าใจว่าอย่างไร มันตรองว่ารู้จักถูกต้องแล้ว ฉะนั้นคนโง่เหล่านี้ก็ควรรู้ว่าเรารู้จักตัวเราดี ที่จริงมันไม่เป็นอย่างนั้น การที่ว่าจัดตัวเองให้ถูกต้อง ให้มีประโยชน์นั้น มันทำไม่ได้ มันทำได้ยาก ที่เราจึงได้เห็นคนจำนวนมากนี่ทำผิด ๆ แล้วใครสอนก็ไม่เชื่อ กลับดื้อเสียอีก เขาแนะนำในทางที่ถูกต้อง มันก็ไม่เชื่อ มันก็ยิ่งดื้อดึงเอาเสียอีก นี่เพราะว่ามันไม่รู้จักตัวเอง ที่มันรู้อยู่นั้น หรือที่มันอวดว่ารู้อยู่นั้น มันไม่ถูกทั้งนั้นแหละ ถ้าว่ารู้จักตัวเองอย่างถูกต้องแล้ว จะทำอะไร ๆ ถูกต้อง ก็เป็นไปราบรื่น ไม่มีเด็กหัวดื้อ เด็กหัวดื้อคือเด็กที่ไม่รู้จักตัวเอง แล้วก็ไม่เชื่อคนอื่นด้วย สรุปความว่า ไอ้ตัวกู ตัวฉัน ตัวอะไรที่รู้สึกนั้น นี้เป็นตัวที่ลวงที่หลอกลวง คือ รู้ไม่จริง รู้สึกไม่จริง ถ้ายังมีความรู้สึกว่าตัวตนตัวกูตัวผู้ตัวเราตัวเขาอยู่เมื่อไหร่ ก็ยังเรียกว่ายังโง่อยู่เพียงนั้น เพราะมันไม่อาจจะมีตัวตนได้ ตัวตนที่แท้จริงมีไม่ได้ นอกจากตัว ๆ เดียวเท่านั้น คือตัวธรรมะ ตัวสัจจะที่เป็นความจริงของธรรมชาติ นี่แหละตัวธรรมะ ไอ้ตัวนี่แหละจริง ไอ้ส่วนตัวตนตัวกูตัวเราตัวฉันตัวเขา ที่จิตมันรู้สึกคิดนึกได้ด้วยอำนาจของอวิชชานั้นไม่เป็นตัวจริง ไม่ใช่ตัวจริง มันเป็นตัวโง่ มันเป็นตัวมายา เมื่อมันเป็นตัวที่ไม่จริงแล้วจะให้มันรู้จักตัวเองได้อย่างไรกัน มันเหลือวิสัย ที่จะให้ตัวที่ปรุงขึ้นมาจากอวิชชานี้รู้จักตัวมันเอง มันเป็นไปไม่ได้ นี่คำว่า ตัวเอง จึงเป็นคำประหลาด แทนที่ทุกคนจะรู้จัก มันกลายเป็นไม่รู้จัก มันไปรู้จักอันอื่นเสียมากกว่า ความคิดเกิดขึ้นอย่างนี้แล้ว ก็เขียนเป็นคำกลอนไว้ว่า
สิ่งรู้จักยากที่สุด กว่าสิ่งใด ไม่มีสิ่งไหน ๆ ได้ยากเท่า
สิ่งนั้นคือตัวเอง หรือตัวเรา ที่คนเขลา หลงว่ากูรู้จักดี
ที่พระดื้อเณรดื้อและเด็กดื้อ ไม่มีรื้อมีส่าง อย่างหมุนจี๋
เพราะความรู้เรื่องตัวกู มันไม่มี หรือมีอย่างไม่มี ที่ถูกตรง
อันตัวกูของกู ที่รู้สึก เป็นตัวลวงเหลือลึก ให้คนหลง
ส่วนตัวธรรม เป็นตัวจริงที่ยิ่งยง หมดความหลง รู้ตัวธรรม ล้ำเลิศตน
ไม่มีตัวตนไหนที่จริงเท่าหรือว่าเลิศกว่าไอ้ตัวธรรม ฉะนั้นตัวเองนี่มันก็เป็นมายาเหลวคว้างไปหมด นี่ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่แสดงว่า ไอ้คำว่าตัวเองนี่มันเข้าใจยาก ถ้าเอาตัวเองที่เป็นความรู้สึก ตามความรู้สึกของกิเลส หรืออวิชชาแล้วมันก็ยิ่งเหลวแหลกหมด ควรจะหันไปหาตัวเอง หรือตัวจริงกันที่ตัวธรรม ตัวเองนั้นคือตัวสิ่งที่มันเป็นตัวของมันเองได้อย่างนี้ไม่มีอะไร นอกจากตัวธรรมที่แท้จริง ถึงขนาดที่ต้องเป็น อสังขตธรรม คือธรรมที่ไม่มีอะไรปรุงแต่งขึ้นมา ได้แก่กฏของธรรมชาติที่เป็นสัจจะ ที่เป็นอสังขตะ เรียกว่า ไม่หลอกลวงอะไร ไม่อาจจะผิดได้ นี่คือตัวเอง หรือสิ่งที่มันเป็นตัวเองในตัวมันเอง มันเป็นตัวเองได้โดยตัวเอง ไม่ต้องมีเหตุปัจจัยอะไรมาสร้างมาทำ หรือมาช่วยให้รู้สึกคิดนึก ท่านทั้งหลายลองคิดดูว่า ไอ้คำพูดนี้มันเล่นตลกกันถึงขนาดนี้
จะยกตัวอย่างต่อไปอีกสักเรื่องหนึ่ง ซึ่งมันจะยากขึ้นไปอีก คือคำพูดที่จะพูดว่า มองดินก็เห็นฟ้า พอมองฟ้าแล้วก็เห็นดิน มันบ้ากี่มากน้อย เมื่อพูดออกไปอย่างนี้ ใครเข้าใจว่าอย่างไร คงจะรู้สึกว่ามันเป็นคำพูดที่บ้าบอที่สุดแล้ว จะมองดินก็เห็นฟ้า จะมองฟ้าก็เห็นดิน มันเป็นได้อย่างไรกัน มองดินเห็นฟ้า นี่มันคนมีปัญญา มองเห็นแต่ของที่เป็นดุ้น เป็นก้อน เป็นของแข็งนี่ กลับเห็นเป็นของว่าง ว่างจากอัตตา ว่างจากอัตตนิยา ไม่มีอะไรที่เป็นตัวเป็นตน มองโลกทั้งโลกนี่กลับเห็นว่าง ว่างเหมือนกับฟ้า หรือมันยิ่งกว่าฟ้า เพราะมีแต่ความว่าง ถึงขนาดที่เรียกว่าสุญญตา อยู่ในดิน ในแผ่นดิน ในสิ่งที่เป็นธาตุดิน มองไปยังธาตุดิน กลับเห็นว่าง อย่างนี้ก็เรียกว่า มองดินแล้วเห็นฟ้า เห็นว่าง ที่นี้มองฟ้าก็เห็นดินนี่ว่าอย่างไร ก็คือมองดูที่ความว่าง หรือฟ้าที่ว่าง ที่ยิ่งขึ้นไปอีก กลับเห็นว่า ในความว่างหรือในสุญญตา ในมหาสุญญตานั้นแหละ กลับมีสิ่งที่เข้มแข็ง แน่นหนาถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง ก็คือ อมตะหรือว่านิพพาน ซึ่งเป็นของแข็งยิ่งกว่าสิ่งใด หาพบได้ในความว่าง คือ สุญญตา นี่มองว่าง มองฟ้ากลับปะดิน จึงพูดขึ้นมาว่า มองดินเห็นฟ้า พอมองฟ้าก็เห็นดิน แต่ดินในที่นี่มันมีความหมายอย่างอื่น มันดินในภาษาธรรม คือแผ่นดินที่เหยียบได้ อาศัยได้ ไม่หลอกลวง ในแผ่นดินในโลกนี่ อย่างที่เรากำลังนั่งอยู่นี้ นั่งอยู่บนแผ่นดินชนิดนี้ มันหลอกลวง มันไม่จริง ไอ้แผ่นดินที่อยู่ในสุญญตา หรือเรียกว่า โลกอุดร หรือเรียกว่านิพพาน หรือสมมุติเรียกกันว่า อมตะมหานคร เมืองแห่งอมฤต อย่างนี้ก็มี นี้กลับเป็นดินที่แท้จริง ทีนี้คนเรามันเห็นอย่างนี้หรือเปล่า มองดินเห็นฟ้า มองฟ้าเห็นดินหรือเปล่า หรือว่ามองดินเห็นดิน ก็ทำไปสิ ก็อยู่กับดิน เหมือนกับไส้เดือนนะ มันอยู่กับดิน มันเห็นดินเมื่อไหร่ กินดินดูดดิน กินเข้าไปถ่ายออกมา ดูดกินเข้าไปถ่ายออกมา นี่คนที่เห็นดินเป็นดิน สมน้ำหน้ามัน เห็นฟ้าเป็นฟ้า ก็สมน้ำหน้ามัน ไม่พบอะไรที่จะเป็นประโยชน์ได้ นี่คำว่าดิน คำว่าฟ้า มันก็มีความหมาย ได้หลายชั้น เป็นภาษาที่ลึก อย่างที่เอามาเรียกอย่างนี้ก็มี ฟ้าแทนที่จะเป็นฟ้าตามธรรมดา ก็กลายเป็นสุญญตา คือความว่าง ไอ้ดินแทนที่จะเป็นโลกแผ่นดิน ตามธรรมดา กลับหมายถึงนิพพาน ซึ่งเป็นของแข็งยิ่งกว่าอะไร เพราะไม่มีเหตุปัจจัยอะไรปรุงแต่ง แผ่นดินทั้งหลายที่มีเหตุปัจจัยอะไรปรุงแต่งนั้น มันแข็งไปไม่ได้ แม้ก้อนหินก้อนนี่มันเป็นสังขารมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง มันไหลอยู่เรื่อย มันแข็งไปไม่ได้ มันคือสิ่งที่ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งไปได้ นี่เราจึงได้ความหมายของคำเหล่านี้ผิดแผกแตกต่างกันไป จนพูดได้อย่างที่ไม่มีใครเชื่อ หรือว่าลูกเด็ก ๆ มักจะโห่กันว่านี่บ้าแล้วโว้ย มองดินเห็นฟ้า มองฟ้าเห็นดินอย่างนี่ เพราะความรู้สึกอันนี้เกิดขึ้น ก็เขียนเป็นกลอนไว้ว่า
เมื่อมองดินเห็นฟ้า อนิจจาเอ๋ย มองฟ้าเห็นดินใหญ่ กระไรเลย
ฉันจะเอ่ยฟังดูหนา บ้าหรือดี คือมองโลกเห็นว่าง จากอัตตา
ว่างจากอัตตนียา อย่างเต็มที่ มันว่างจริงยิ่งกว่าฟ้า เพราะว่ามี
สิ่งหนึ่งที่เรียก มหาสุญญตา ครั้นมองดูโลกว่าง อย่างแท้จริง
ก็เห็นสิ่งที่เรียกว่า มหา-อมฤตนครซ้อนอยู่นา นี้เรียกว่า มองฟ้าแล้วปะดิน
คิดดูเถิดบ้าหรือดี มีให้ดู ถ้าไม่เห็นอย่าเพลิดอยู่ มาติฉิน
ถ้าจะมั่วอยู่ที่เห็น ดินเป็นดิน ก็ดูดกินมันไป เป็นไส้เดือน
นี่กลอนนี้มันไม่ค่อยเรียบร้อย เพราะเป็นแค่เพียงร่าง ๆ มาเท่านั้นเอง แต่ก็พอจะได้ใจความว่า มองดินเห็นฟ้า มองฟ้าเห็นดิน หรือว่ามองดินกลับปะเอาฟ้า มองฟ้ากลับปะเอาดิน เป็นตัวอย่างภาษาที่ไม่ใช่ภาษาธรรมดา คือไม่ใช่ภาษาคน หรือภาษาโลก แต่เป็นภาษาธรรม ซึ่งจะต้องสนใจกันไว้บ้าง มันจะช่วยได้มาก เมื่อก่อนนี้เราไม่ได้มีการแบ่งแยกกันอย่างนี้ อาตมาก็ได้สังเกตพบว่า ไอ้ความยุ่งยาก ลำบาก เสียเวลา มันอยู่ที่ตรงนี้ ฉะนั้นจึงได้พยายามแยกภาษาให้เป็นสองภาษาเสีย เรียกว่า ภาษาคน กับ ภาษาธรรม พยายามชี้แจงมาหลายปีแล้ว เดี๋ยวนี้ก็รู้สึกว่ามีผลอยู่ มีผลมาก มาทำให้คนเข้าใจในธรรมะได้ง่าย ได้เร็ว เพราะว่ามองเห็นภาษาธรรม เรื่องภาษาคน ภาษาธรรมนี่แปลเป็นภาษาอังกฤษ ก็ปรากฏว่าพวกฝรั่งเขาชอบมาก ชอบหนังสือเรื่องภาษาคน ภาษาธรรมมาก ก็ช่วยให้เข้าใจคน เข้าใจศาสนา เข้าใจพระเจ้า เข้าใจอะไรต่าง ๆ ได้ดี จึงมาพูดให้ท่านทั้งหลายฟังว่า จงพยายามใช้ประโยชน์ของสิ่ง ๆ นี้ คือการรู้จักทำภาษาให้มันเป็นชั้น ๆ ตามความยากง่าย ตามความตื้นลึกของมัน อย่าให้ภาษามันหลอกลวงเราได้อีก ถ้าทำได้อย่างนี้แล้ว ธรรมะก็จะเป็นของง่าย นี่ก็ให้สังเกตดูกันให้ดี ๆ เป็นพิเศษ อาจจะเป็นของใหม่สำหรับท่านทั้งหลาย หรืออย่างน้อยก็บางคนให้เข้าใจไปได้ ว่าภาษานี่เป็นอุปสรรคที่ทำให้เราเข้าใจธรรมะอันลึกซื้งไม่ได้ ไอ้คำที่เข้าใจยากอย่างยิ่ง หรือว่าเป็นภาษาที่เล่นตลกอย่างยิ่ง ก็เช่นคำว่า ความว่าง เป็นต้น อาตมะพูดถึงเรื่องความว่าง แล้วก็ถูกด่า ถูกเขารุมกันด่า เกี่ยวกับเรื่องความว่างนี่มากมายทีเดียว นึกดูแล้วก็น่าหัว น่าหัวก็น่าหัว น่าสงสารตัวเองก็น่าสงสาร เพราะไปใช้ความหมายอันอื่นให้แก่คำใด คำหนึ่งที่เขารู้กันอยู่ก่อนแล้วว่ามันมีความหมายอย่างไร
ทีนี้ก็อยากจะสรุปไอ้ความยุ่งยากลำบากเกี่ยวกับความหมายชั้นลึกของคำว่า ว่าง ให้เห็นเป็นตัวอย่างอีกสักข้อนึง คือจะพูดขึ้นมาว่า เมื่อจิตได้รู้ถึงหรือได้สัมผัสสิ่งที่เรียกว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแท้จริงถึงที่สุดแล้ว จิตนั้นก็จะซึมซาบในความว่าง อย่างแจ่มแจ้งชัดเจนสว่างไสวที่สุด เราฟังดูให้ดีอีกทีว่า ถ้าเมื่อใดจิตเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่แท้จริงถึงที่สุดแล้ว เมื่อนั้นจิตจะรู้จักและซึมซาบต่อสุญญตา คือความว่าง อย่างยิ่งถึงที่สุด เลยกลายเป็นว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นความว่างไปเสีย หรือความว่างอยู่ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้เห็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่สุดจริง ๆ กลายเป็นเห็นความว่าง ไอ้คนที่เขาไม่เข้าใจ เขาก็ว่าบ้าที่สุดแล้ว ทำให้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่มีเหลืออยู่เลย ก็เขายังรักอยู่ เขายังยึดถึออยู่ ก็เขาสอนกันตามศาลาวัด ว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นของจริง เป็นของแน่นหนา เป็นของเกาะอาศัย เป็นที่พึ่งได้ แล้วเดี๋ยวนี้มาพูดว่าง ที่เป็นสุญญตาไป อธิบายว่าเมื่อจิตว่าง ไม่ได้ยึดถืออะไร เมื่อนั้นจะพบองค์จริงของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็เห็นว่า แม้ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ยิ่งว่าง ว่างจากอุปาทาน ว่างจากอุปาทานที่ว่าตัวตนหรือของตน จึงพูดขึ้นมาว่า เมื่อจิตลุถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สูงสุดแล้ว จิตก็ซึมซาบสิ่งที่เรียกว่า สุญญตา ที่นี้ในสุญญตาชนิดนี้ มีกรุณาอย่างแท้จริง ถึงที่สุด แต่ว่าผู้ให้กรุณา หรือผู้รับกรุณานั้น มันไม่มี ในจิตที่ว่าง ประกอบไปด้วยสุญญตา ในจิตนั้นแหละกลับมีกรุณาถึงที่สุด ความหมายมันก็ลึก มันเป็นกรุณาชั้นหนึ่ง เป็นกรุณาที่ไม่มีตัว ไม่มีตน ทั้งฝ่ายโน้นและฝ่ายนี้ ไอ้กรุณากันอย่างมีตัวมีตน คนนั้นกรุณาคนนี้ คนนี้รับกรุณาคนนั้นนั่นแหละ มันเป็นกรุณาของความยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวเป็นตน เป็นเขาเป็นเรา เป็นผู้ให้เป็นผู้ได้รับ มันยังเป็นกรุณาที่ปลอม ๆ อะไรอยู่ ที่มันไปรักเขา สงสารเขา มันหวังจะได้อะไรบางอย่างอยู่ เพราะว่ามันมีตัวของมันอยู่ เมื่อมีตัวของฝ่ายโน้นอยู่ เมื่อให้ก็จะได้รับแล้วก็จะได้ตอบแทน มันเมตตากรุณาที่มีรากฐานอยู่บนตัวตนนั้น ไม่จริงจังอะไรนัก สู้เมตตากรุณาที่ว่างจากตัวตนไม่ได้ พอว่างจากตัวตนเมื่อไร มันย่อมเป็นเมตตากรุณาที่แท้จริงโดยอัตโนมัติทันทีในตัวมันเอง โดยไม่ต้องเจตนา เหมือนเราพูดได้ว่าพอปราศจากความยึดถือว่าตัวว่าตนเท่านั้นแหละ มันก็ไม่มีขีดขั้น ไม่มีขอบเขตที่จะแบ่งแยกว่าใครเป็นใคร คนนั้นเป็นคนนี้ คนนี้เป็นคนนั้น มันเลิกหมด มันไม่มีขอบเขตที่จะแบ่งเป็นตน ๆ เป็นตัว ๆ มันก็เข้าถึงความเป็นอันเดียวกันหมด นี่แหละคือมหาเมตตากรุณาใหญ่หลวงที่แท้จริง ที่ไม่หลอกลวง ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ดังนั้นจึงถือว่า ในสุญญตานั้นมีกรุณาอันใหญ่หลวงอันแท้จริง แต่ว่า ผู้ให้หรือผู้รับเกลับไม่มี ไม่มีผู้ให้กรุณา ไม่มีผู้รับกรุณา เพราะมันเป็นอันเดียวกันเสียเองหมด นี่บ้าอีกชั้นหนึ่งแล้วเห็นไหม ทีนี่บ้าต่อไปอีก กรุณาที่เป็นตัวสุญญตา หรือในสุญญตาที่มีกรุณานั่นแหละ คือเป็นอุเบกขาอย่างยิ่ง กรุณาที่อยู่ในสุญญตานั้น เป็นอุเบกขาอย่างยิ่ง ไม่อาจจะมีความรู้สึกว่าชั่ว ว่าดี ว่าได้ ว่าเสีย ว่านั้นว่านี่ มันจึงเป็นอุเบกขาอย่างยิ่ง อยู่ในตัวความกรุณาที่มาจากสุญญตา ถ้าเห็นมหากรุณาใหญ่ยิ่งในมหาอุเบกขา เห็นมหาอุเบกขาอย่างยิ่งในความว่างนี้ นั้นแหละคือได้เห็นพุทธมณฑล หรือพุทธเกษตร เป็นประเทศ เป็นบ้านเมืองของพระพุทธเจ้า จะบ้าอีกทีแล้ว มีบ้านมีเมืองมีเกษตรมีมณฑลเป็นพุทธมณฑลของพระพุทธเจ้า แล้วก็อยู่ในความว่างอย่างยิ่ง ถึงขนาดเป็นมหาอุเบกขา เรื่องบ้าหรือเรื่องดี เมื่อเห็นว่ามหาอุเบกขาเป็นพุทธมณฑลอย่างยิ่งอย่างนี้ ก็พยายามประพฤติหรือกระทำให้เกิดความวิมุติหลุดพ้นด้วยประการทั้งปวง อุเบกขาถึงที่สุดแล้ว ก็ย่อมเป็นวิมุติหลุดพ้นอยู่โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องทำอะไรอีก นี่ปัญญาของมนุษย์เรา ถ้าเป็นปัญญาจริงจะไม่มีตัวตน เมื่อไม่มีตัวตน มันก็กลายเป็นมหากรุณาอย่างที่ว่ามาแล้ว เดี๋ยวนี้ปัญญาของคนมันมีแต่ปัญญาที่จะแสวงหาประโยชน์ตน ถึงแม้พวกที่พูดว่าจะแสวงหาพระนิพพานก็เถอะ ดูให้ดีเถอะว่ามีตัวตน มันเห็นแก่ตน มันยังไม่รู้จักพระนิพพาน ยังโง่อยู่ด้วยอวิชชา มันก็แสวงหานิพพานบ้า ปัญญาอย่างนี้มันยังมีตน แล้วมันก็ไม่เป็นมหากรุณาที่แท้จริงได้ นั้นเราถือเป็นหลักว่า ถ้ามันเป็นปัญญาที่แท้จริงแล้ว มันจะเต็มเปี่ยมอยู่ด้วยความหมายแห่งกรุณาที่มาจากสุญญตา แล้วกรุณานี้มันเป็นอุเบกขาอย่างยิ่ง อุเบกขาชนิดนี้ย่อมเป็นวิมุติคือความหลุดพ้นอยู่ในตัวมันเองโดยอัตโนมัติ คงจะฟังไม่ถูก หลายคนหลับไปแล้วอาตมากำลังพูดบ้า ๆ บอ ๆ อยู่คนเดียว แต่ขอยืนยันว่าเรื่องนี้มันถูกต้องที่สุดนะ เท่าที่คิดไปคิดมา ทบทวนไปทบทวนมาอยู่เป็นปี ๆ มันก็มองเห็นอย่างนี้ เมื่อไม่มองเห็นเป็นอย่างอื่นได้ ก็พอใจ ก็เขียนไว้เป็นคำกลอน ซึ่งดูจะบ้าบอที่สุด คือเขียนว่า
จิตลุถึงพุทธ ธรรม สงฆ์ อย่างแรงกล้า นั้นซึมซาบสุญญตา สว่างไสว
ในสุญญตามีกรุณาเต็มสุดใจ แต่ผู้ให้และผู้รับ กลับไม่มี
กรุณาที่เป็นตัว สุญญตา คือ มหาอุเบกขา วิสุทธิ์ศรี
ใครเห็นชัด เหลือจะจัดว่าชั่วหรือดี เขาเห็นพุทธมณฑลที่ ในกายตน
ดังนั้นจัดให้ มหาอุเบกขา นำวิญญาสู่วิมุติ วิสุทธิผล
ดวงประทีปแห่งปัญญา ถ้าเต็มคน ย่อมเต็มล้นด้วยมหากรุณา บ้า
เขียนคำว่า บ้า ไว้ต่อท้ายในตอนจบของคำกลอน นึกดูแล้วก็น่าหัว ด้วยตัวเองก็อดรู้สึกว่ามันบ้าไม่ได้ แต่แล้วมันมองเห็นอย่างนี้ มันมองเห็นความจริงอย่างนี้ ก็มันลึกลับกันอยู่อย่างนี้ ที่เอามาเล่าให้ฟังนี้ ก็ไม่ได้พยายามที่จะให้ท่านทั้งหลายเข้าใจ เพราะมันรู้สึกว่าคงเข้าใจไม่ได้ในครั้งแรก แต่ว่าพูดให้ฟังนี่ก็เพื่อที่จะให้ทราบไว้ว่า ไอ้ภาษานี้มันทำพิษ มันเป็นอย่างนี้เอง มันมีอยู่เป็นชั้น ๆ ๆ ๆ ชั้นลึกเข้าใจไม่ได้ เราก็พูดกันไม่รู้เรื่อง เมื่ออาตมาพูดภาษาอย่างนี้ ทุกคนก็ว่าบ้าแล้ว ก็เป็นอันว่า ต้องรอไว้ก่อน ต้องรอไว้ก่อน จนกว่าจะรู้ภาษาที่ตรงกัน เท่ากัน ทัดเทียมกัน เอาแหละเป็นอันว่า สรุปความได้เสียทีว่า ความยากลำบากในการศึกษาธรรมะนั้น มันอยู่ที่ภาษาเป็นอุปสรรค ก็ภาษาไม่พอ ที่จะใช้บรรยายอะไรลงไปให้ชัด ๆ เร็ว ๆ ได้ ภาษามันยังไม่พอ เพราะคนยังไม่ได้คิดคำไว้ใช้เรียกสิ่งนั้น ๆ ที่มันลึกเหลือประมาณ เราก็เอาภาษาธรรมดาไปใช้กับมัน ก็เลยฟังกันไม่ถูกในทันที ต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่เป็นชั้น ๆ ๆ ๆ ไป ที่เห็นได้ง่าย ๆ เช่น เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสว่าอนัตตานี่ คนทั้งหลายโดยมากก็สั่นหัว อนัตตา ฉันก็มีอยู่ ฉันก็คิดได้ ฉันก็พูดได้ ก็กินได้ ก็นอนได้ เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอย่างนี้ ที่เขาไม่ยอมเชื่อว่า ไอ้คนนี่มันเป็นอนัตตา อย่างนี้เป็นต้น แต่นั้นเป็นเรื่องลึกลับสับสนเพียงชั้นเดียว คงจะพูดกันได้เข้าใจในโอกาสหนึ่ง เดี๋ยวนี้ก็เข้าใจกันมากแล้ว ว่าอนัตตานั้นเป็นอย่างไร ทั้งที่มันเป็นกลุ่มสังขารที่มันคิดได้ นึกได้ พูดได้ ทำได้ แสวงหาได้ กินได้ อยู่ได้ เลยเตลิดเปิดเปิงไปถึงว่า จะตายแล้วไปเกิดอีก ก็ต้องหยุดไว้ทีก่อน ทีนี้ข้อที่จะพูดกันในวันนี้ ตั้งใจไว้โดยตรงก็คือว่า เรื่องสุญญตา เรื่องไม่มีตัวตน มันว่างจากตัวตน มันก็ไม่มีตัวตน ไอ้เรื่องไม่มีตัวตนของตน มันก็คือเรื่องสุญญตา คือความว่าง ไอ้เรื่องความว่าง มันก็คือไม่มีตัวตนเป็นของตน มันเป็นความว่างคำใหม่ สำหรับคนโง่ แต่เป็นคำเก่าแก่ที่สุด เข้าใจกันได้ง่ายที่สุดสำหรับบุคคลในระดับพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มาทีเดียว ไม่ใช่คำใหม่ แต่มันเป็นคำใหม่เอี่ยมที่สุดสำหรับพวกเราที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง ฉะนั้นขอให้ทราบเป็นข้อเท็จจริงอันนี้ ถ้าพูดถึงความว่าง หรือสุญญตา ในพุทธศาสนาแล้วมันก็ไม่ได้หมายความอย่างที่คนธรรมดาเขารู้กัน คือคนธรรมดาเขาถือว่า ถ้าว่างแล้วมันก็ไม่มีอะไร แต่ในภาษาธรรมนี่ ว่างทั้ง ๆ ที่มีอะไรอยู่เต็มไปหมด เพียงแต่มันว่างจากความหมายแห่งตัวตนและของตน ฉะนั้นคำว่า ว่าง กับความไม่ใช่ตนก็เป็นสิ่งเดียวกัน ทั้งว่างทั้งไม่ใช่ตน ก็มีอยู่ในทุกสิ่ง ที่เราเห็น ๆ กันอยู่ในโลกนี้ สัมผัสได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เต็มไปหมด เหลียวไปทางไหน มันก็เห็นเต็มไปหมด แต่เรากลับเป็นของว่าง ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของตน คือเรื่องมันก็มีต่อไปว่า ผู้ใดเห็นความว่าง คือ เห็นความไม่มีตน นี่จะเป็นคนที่หมดปัญหา เป็นมนุษย์ที่ไปได้ถึงปลายทาง มีจิตใจสูงสุดไปได้ถึงปลายทาง เห็นความว่างเห็นความไม่มีตัวตน ก็หมดปัญหา ก็ไม่มีความทุกข์ ที่จะเรียกโดยสมมุติว่าได้เข้านิพพาน ได้เข้าไปอยู่ในเมืองนิพพานแล้ว ถ้าพูดอย่างไม่สมมุติ พูดตามเป็นจริง ก็คือว่าดับความโง่ ว่าตัวตนนั้นเสีย เพราะเข้าถึงความว่าง ทีนี้ปัญหาก็มามีต่อไปว่า ทำอย่างไรจึงจะหายโง่ ทำอย่างไรจึงจะเห็นความว่าง แล้วทำอย่างไรจึงจะฆ่าตัวตนเสียให้หมด มันจึงเกิดมีในความว่างที่แท้จริง เป็นตัวแห่งความว่างอยู่แทน ได้นามชื่อสมมุติใหม่ว่า อมตะ อมตะ แปลว่า ไม่ตาย อมตภาพ แปลว่า ความไม่ตาย สมมุติเป็นบ้านเป็นเมือง เรียกว่า อมตะมหานคร นครแห่งความไม่ตาย อมตะมหานิพพาน อมตะมหานคร นี้เป็นคำพูดที่ไพเราะมาก ถ้าพูดถ้าเทศน์อย่างแต่ก่อน ถือใบลานเทศน์ จะได้ยินคำเหล่านี้มากที่สุด อาตมาก็เคยเทศน์มาแล้วในใบลาน เดี๋ยวก็พบคำว่า อมตะมหานคร อมตะมหานิพพานโลกอุดร อย่างนี้เป็นต้น เขาให้ความหมายใหม่ กลายเป็นโลกที่แท้จริง โลกที่ไม่แตกดับ โลกที่เป็นนิรันดร ถ้าจัดเป็นสภาวะ ก็เป็นสภาพนิรันดร หรือ อสังฆัสสะ(ไม่แน่ใจ นาทีที่ 1:07:30) เป็นอมตะ เป็นนิรันดร นครแห่งความไม่ตาย ทีนี้จะพูดอย่างสมมุติ สำหรับคนที่รู้จักแต่ภาษาโลก ๆ แต่เข้าใจได้ว่าทำอย่างไรจึงจะเข้าไปสู่สภาพชนิดนั้น เข้าไปสู่เมืองนคร จะได้ไม่ตาย ก็เลยสมมุติต่อไปอีกว่า มันมียาขนานหนึ่ง กินเข้าไปแล้วก็ไม่ตาย ที่หลายคนก็หูผึ่ง หรือบางทีก็หายง่วงนอน พูดวันก่อนค้างไว้ไม่ทันจะจบดี มีคนมาถามเรื่อย ถามเรื่อยว่าอะไร เป็นอะไร ได้จดได้ที เมื่อตะกี้นี่ก็ได้ยินคนหนึ่งเขาเอาเรื่องนี้มากล่าวอีก อาตมาก็บอกไว้ตั้งแต่หัวค่ำว่าจะพูดถึงเรื่องยาขนานนี้กันอีกที ให้มันละเอียดลออพอที่จะเข้าใจได้ ไม่ทิ้งไว้ห้วน ๆ สั้น ๆ เหมือนที่พูดไว้วันก่อน เอาแหละทีนี้เราก็จะพูดถึงเรื่องยาขนานนี้กันให้สิ้นสุดเสียที อย่ามาต้องเซ้าซี้ รบกวนถามกันอยู่อย่างไม่สิ้นสุด เมื่อจะพูดกันถึงเรื่องนี้ให้สมบูรณ์ ก็จะอ้างพระบาลีในเถรคาถามาประโยคหนึ่ง คือ ประโยคที่ว่า มหาการุณิโก สตถา สพพโลกติกิจฉโก คือ พระบาลีที่ยกขึ้นไว้เป็นนิเขภบท(ไม่แน่ใจ นาทีที่ 1:09:49)หัวข้ออันต้น เมื่อเริ่มนำเทศน์พระมหาการุณิโก สตถา สพพโลกติกิจฉโก เป็นคำของพระเถระองค์หนึ่งกล่าวยึดยาวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เพราะประโยคนี้มันมีความว่า พระศาสดาของข้าพเจ้าประกอบไปด้วยกรุณาอันใหญ่หลวง พระองค์ทรงเป็นแพทย์ผู้เยียวยาโรคของสัตว์โลกทั้งปวง หมายความว่า พระเถระองค์นี้มองเห็นยืนยันว่าพระพุทธองค์ทรงเป็นนายแพทย์ผู้เยียวยาโรคของสัตว์โลกทั้งปวง เมื่อถามกันว่า ไอ้สัตว์โลกทั้งปวงมันเป็นโรคอะไร คนทั่ว ๆ ไป หรือลูกเด็ก ๆ มันก็บอกว่าเป็นโรคหลายอย่าง เหมือนที่กำลังไปรักษากันอยู่อย่างวุ่นวายที่โรงพยาบาลนั้นโรงพยาบาลนี้ทั่วไปทั้งโลก แต่โรคอย่างนี้อย่างที่พูดนี้มันไม่ใช่โรคอย่างเดียวกันกับอย่างที่พระเถระองค์นั้นท่านหมายถึง พระเถระองค์นั้นท่านกล่าวว่าพระพุทธเจ้าเป็นนายแพทย์ผู้เยียวยาโรคของสัตว์โลกทั้งปวงนั้น หมายถึง โรคอีกอย่างหนึ่ง คือ โรคโง่ โรคอวิชชา โรคที่ทำให้เกิดความรู้สึกยึดถือเป็นตัวตน เป็นของตน แล้วอุปาทานนี้มันก็กัดเอา ๆ ๆ ดวงวิญญาณ ให้คนนั้นเป็นทุกข์ทรมานเหลือที่จะกล่าวได้ เป็นทุกข์ทรมานเหลือที่จะกล่าวได้ หมายความว่า มันจะสวย มันจะรวย มันจะอยู่กันอย่างพวกเทวดา มันก็ยังเป็นโรคนี้อยู่ คือเป็นโรคทางวิญญาณ อุปทานว่าตัวกู ว่าของกู มันกัด กัดเอา ๆ ๆ กัดในดวงวิญญาณทีเดียว นี่คือโรคที่พระเถระนี้หมายถึง ที่ว่าพระพุทธเจ้าท่านเป็นนายแพทย์ผู้เยียวยาโรคของสัตว์โลกทั้งปวงนั้น หมายถึง โรคอย่างนี้ แล้วก็เป็นแก่คนทุกคนด้วย ยิ่งกว่าโรคอะไรเสียอีก โรคมะเร็งก็ไม่เป็นแก่ทุกคน วัณโรคก็ไม่เป็นแก่ทุกคน โรคอะไรก็ไม่เป็นแก่ทุกคน แต่โรคนี้กลับเป็นแก่ทุกคน จึงว่าโรคแห่งสัตว์โลกทั้งปวง คือเป็นโรคตัวกู ของกู พอเป็นโรคตัวกู ของกู มันก็กัดเอา ๆ ให้เจ็บปวด หรือบางทีมันลึกซึ้งจนไม่แสดงความเจ็บปวด คนก็ยิ่งไม่รู้จัก เรียกกันว่าร้องไห้อยู่ตลอดเวลา ทั้งที่ไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร อย่างนี้เรียกว่าโรคทางวิญญาณ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านเป็นนายแพทย์ก็เป็นนายแพทย์รักษาโรคนี้โดยตรง และจะมาเป็นประโยชน์แก่ไอ้โรคทางกายทางอะไรบ้างก็เป็นโดยอ้อม และไม่ใช่ความมุ่งหมาย เมื่อไม่ใช่ความมุ่งหมายก็ไม่พูด จะพูดถึงเหตุเรื่องที่เป็นความมุ่งหมายโดยตรง คือมีโรคทางวิญญาณ พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่เป็นนายแพทย์ต้นตำหรับ หรือ เจ้าตำหรับที่จะรักษาโรคนี้ได้ ภายหลังแต่ที่พระองค์ได้ทรงรักษาให้แก่พระองค์เองหายมาแล้วอย่างสิ้นเชิง ในวันที่ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือวันอย่างวันนี้ ที่เรียกกันว่าวิสาขบุญมี พระองค์ได้ทรงรักษาโรคนี้ของพระองค์หายเด็ดขาด แล้วก็ได้เผยแผ่ประกาศวิธีการรักษาโรคนี้แก่สัตว์ทั่วไป เดี๋ยวนี้เราก็มาประชุมกันเพื่อประโยชน์แก่การแสดงการเคารพแสดงความรู้สึกว่าบูชาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ ในเรื่องการหายจากโรคทางวิญญาณ แล้วก็มาสอนเรา แล้วเราก็เอาไอ้เรื่องโรคทางวิญญาณนี่ มาพูดกันใหม่อีกที ว่าจะรักษากันอย่างไร ด้วยยาอะไร อาตมาก็รวบรวมเอาข้อความเหล่านั้นมาแสดงให้เห็นว่า รักษาด้วยโรคอะไร ด้วยยาอะไร ดังนั้นจึงมาพูดกันถึงเรื่องยาอันประเสริฐที่สุด สำหรับมนุษย์ที่จะรักษาโรคตัวกู ของกู ให้มันหายไป เป็นโอสถอันประเสริฐ และเมื่อรวบรวมมาจากเรื่องต่าง ๆ ที่พระองค์ได้ตรัสไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็พอจะเอามาทำได้เป็นไอ้รูปโคลงของยาขนานนี้ ว่า ธรรมโอสถอันประเสริฐกินแล้วไม่ตายนี้ประกอบขึ้นด้วยเครื่องยาคือ ๑ เปลือกไม่รู้ไม่ชี้ ๑ ส่วนหรือหนัก ๑ ชั่งก็ได้ แล้วก็ ๒ แก่นชั่งหัวมัน ชั่งหัวมัน ไอ้แก่นนี้ก็หนัก ๑ ชั่งเหมือนกัน แล้วก็รากอย่างนั้นเอง อย่างนั้นเอง มันไม่เป็นอย่างอื่นได้ อย่างนั้นเอง หนัก ๑ ชั่ง แล้วก็ใบไม่มีตัวกู ไม่มีของกู ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู หนัก ๑ ชั่งด้วยเหมือนกัน แล้วก็ดอก ดอกไม่มีอะไรที่น่าเอา น่าเป็น ก็เรียกว่าดอกไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น นี่ก็หนัก ๑ ชั่งด้วยเหมือนกัน แล้วก็ลูก ลูกตายเสียก่อนตาย ตายเสียก่อนตาย นี่ก็หนัก ๑ ชั่ง ๖ อย่างมันก็ ๖ ชั่ง ทีนี้อันสุดท้ายนี้เอาต้องการมาก คือต้องเอามาก ต้องการมาก เรียกว่าเมล็ดดับไม่มีเหลือ ดับไม่มีเหลือ นี้เอาเท่ายาทั้งหลาย มันก็ได้ ๖ ชั่ง เอามารวมกันเลยเป็น ๑๒ ชั่ง เป็นเครื่องยาหนัก ๑๒ ชั่ง เลขนี้ศักดิ์สิทธิ์นะ ๑๒ นี่แต่ก็ไม่บอกหรอก แล้วก็เอามาละคนกันเข้า ก็เสกด้วยพระคาถาว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อะภินิเวสายะ ๑๐๘ คาบ ไอ้คำว่าคาบนี้ บางคนไม่รู้ เด็ก ๆ ไม่รู้ พระเณรสมัยใหม่นี้ก็อาจจะไม่รู้ว่า คาบหมายความว่าอะไร ๑๐๘ คาบ หมายความว่า ๑๐๘ อึดใจ อึดใจเต็มกลั้น เขาเรียกว่าคาบ ก็ว่าไปเต็มกลั้นเต็มอึดใจ อีกทีหนึ่งก็เรียกคาบหนึ่ง ก็แสดงเออ ก็เสกยานี้ด้วยคาถาคำว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อะภินิเวสายะ นี่ ๑๐๘ คาบนะถึงจะขลัง จะศักดิ์สิทธิ์ ให้มันหนัก ให้มันชิน ให้มันสนิท มีน้ำหนัก มีความหมาย แล้วก็เอาใส่หม้อ ใส่น้ำให้ท่วมเครื่องยาต้มเคี่ยวในภาษาชาวบ้าน เรียกว่า ๓ เอา ๑ ใส่น้ำไปเท่าไหร่ เคี้ยวให้มันเหลือเพียง ๑ ใน ๓ เขาเรียกว่าต้ม ๓ เอา ๑ กินวันละ ๓ ครั้งพอ ครั้งหนึ่ง ๑ ช้อนชาก็พอ เพราะว่ายามันมีฤทธิ์แรงมาก อย่ากินเข้าไปเป็นแก้ว ๆ เลยเดี๋ยวจะบ้าเลย กินทีละจิบนิด ๆ วันละ ๓ ครั้ง ๑ ช้อนชา ถ้ากินวันหนึ่งไม่หาย ก็กินสองวันก็หาย หรือว่าวันหนึ่งไม่หาย สัปดาห์หนึ่งก็หาย ถ้าสัปดาห์หนึ่งไม่หาย ก็กินต่อไปครบปี ถ้ากินปีหนึ่งแล้วไม่หาย อย่ากินเลย มันบ้าแล้วไอ้คนนั้นนะ ไอ้ยานี้มันช่วยไม่ได้ คือคนที่พระพุทธเจ้าก็ช่วยไม่ได้ ก็จัดไว้ในจำพวกนึง พระพุทธเจ้าก็โปรดไม่ได้ มันกินยานี้แล้วตั้งปียังไม่หายก็เลิกกัน มันเป็นคนบ้าที่ไม่อาจจะรักษาให้หายได้จริง ๆ หรือต้องรอกันเป็นกัปล์ เป็นกัลป์
เครื่องยาเหล่านี้ ๗ อย่าง ถ้าใครยังไม่อยู่เหนือบุญเหนือกุศลแล้วหาไม่พบ หาเองก็ไม่พบ จะไปหาซื้อที่ร้านขายยาร้านไหนก็ไม่พบ แต่ถ้าคนไหนมันอยู่เหนือบุญแล้วมันอยู่ข้าง ๆ ตัวเต็มไปหมด เกลื่อนไปหมดเลย ไม่ต้องซื้อที่ร้านก็ได้ กวาด ๆ ออกมา คำว่าเหนือบุญนี่ บางคนยังไม่ทราบว่ามันหมายถึงอะไร เป็นลูกหลานของตายายเมืองไชยานี่ถ้าไม่รู้จักคำว่าเหนือบุญมันก็โง่เหลือประมาณ เพราะเรามีบทกล่อมลูกเรื่องมะพร้าวนาฬิเก มะพร้าวนาฬิเกต้นเดียวโนเนกลางทะเล ที่พึ่งฝนตกไม่ตก ฟ้าร้องไม่ถึงกัน กลางทะเลที่พึ่งถึงได้แต่ผู้พ้นบุญ พ้นบาปแล้วมาถึงบุญ แล้วพ้นบุญอีกทีหนึ่ง มันจึงจะนิพพาน ต้องอยู่เหนือบุญ หมายความว่า เห็นบุญนี่เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เปลี่ยนแปลงหลอกลวง ไหลไปเป็นสังขารทั้งหลายเช่นเดียวกับบาปเหมือนกัน ผิดกันแต่ว่าบุญมันสวยงาม สนุกสนาน เอร็ดอร่อย ซึ่งผิดกับบาปตรงนี้เท่านั้นแหละ แล้วมันก็เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถึอ พอยึดถือว่าเป็นตัวกู ของกูแล้วมันก็กัดเอา ระวังให้ดี ถ้าไปยึดถึอเข้าแล้วก็กัดเอาเหมือนกัน กูมีบุญคุณของกู ยึดมั่นถือมั่น แล้วมันจะกัดเอา กัดดวงวิญญาณด้วย ไม่ใช่กัดที่เนื้อที่หนัง ฉะนั้นต้องมีจิตใจรู้ว่าบุญเป็นอะไร หยุดกันอยู่เหนือบุญ ตามความหมายในบทกล่อมลูกเรื่องมะพร้าวนาฬิเก ไปเอาคำนั้นแหละมาใช้ จึงพูดว่า ไอ้เครื่องยา ๗ อย่างนี้ คนธรรมดาหาไม่พบหรอก ต้องเป็นคนที่มีจิตใจอยู่เหนือบุญ ไม่บ้าบุญ ในทำนองนั้น มันก็จะหาพบในเครื่องยา ๗ อย่างนี้ ก็เอามาประกอบเป็นยาตามสัดส่วนตรงกินแล้วก็ไม่ตาย ไม่ตาย เพราะมันฆ่าตัวกูตายหมด ไม่มีตัวกูแล้วมันอะไรจะตายล่ะ คิดดูสิ ไอ้ตัวตนมันถูกทำลายหมดแล้วอะไรจะตาย ไอ้ตัวกูมันถูกฆ่าไปหมด ไม่มีอะไรจะตายได้ การตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้านั้น ก็คือการฆ่าเสียซึ่งตัวตนนั้นเอง ในวันตรัสรู้พระองค์ก็ได้ทำลายไอ้ตัวตนหมดสิ้นด้วยการทำลายอวิชชา โดยนัยของปฏิจสมุปบาทเป็นลำดับ ๆ มา ก็เรียกว่าฆ่าตัวตนเสียแล้วก็ไม่มีอะไรตาย ก็มีแต่สภาพที่ไม่รู้จักตาย เป็นนิรันดร เป็นนิพพาน เป็นอมตะ เป็นอสังฆสะแล้วแต่จะเรียก ยิ่งเรียกยิ่งยุ่ง เพราะการเรียกนี้ต้องอาศัยบัญญัติหรือสมมุติทั้งนั้น เราก็มาเอาคำพูดในภาษาธรรมที่เรียกว่า ความไม่ตาย ไม่มีตัวตนที่จะตาย เป็นความไม่ตาย กินยานี้แล้วก็ถึงความไม่ตาย ดังนั้นก็พูดกันใหม่ให้มันละเอียดลงไปว่า มันเป็นอะไร เครื่องยาที่ ๑ เรียกว่า เปลือกไม่รู้ไม่ชี้ ไอ้เครื่องยานี้เอาที่เป็นส่วนเปลือก ไม่รู้ไม่ชี้ มีความหมายลึกซึ้งมาก บุญหรือบาปกูก็ไม่รู้ไม่ชี้มัน มันเลยไม่มีอะไรที่กูจะต้องรู้ต้องชี้ ก็หมายความว่าไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ไม่หวังอะไรที่จะไปรู้ไปชี้ ไปอยากไปทะเยอทะยานอะไร ไม่อยากได้อะไร ไม่หวังอะไรนั่นแหละ มันจึงจะเกิดอาการ ที่เรียกว่า ไม่รู้ไม่ชี้ ไม่รู้ไม่ชี้ สั่นหัวไปหมดเลย นี่คือยาตัวหนึ่งที่เรียกว่า ไม่รู้ไม่ชี้ เอาเปลือกของต้นนี้มา อย่างที่ ๒ เรียกว่า แก่นชั่งหัวมัน ๆ ๆ ไอ้ชั่งหัวมันนี่มันมี ๒ ชนิด ต้องเลือกเอาชนิดที่ต้องการ คือที่ถูกที่จะเป็นยาได้ อีกชนิดหนึ่งใช้ไม่ได้ เป็นยาพิษอีกชนิดหนึ่งใช้ได้ ต้องเลือกเอาที่ชนิดที่ใช้ได้ เลือกเอาไอ้เปลือกชั่งหัวมัน เอาชนิดขาวนะ อย่าเอาชนิดแดงมา ไอ้ของที่มีอยู่ทั้ง ๒ ชนิดนี้เป็นขาวเป็นแดงนี่ ต้องเลือกให้ถูก ไม่งั้นจะเกิดเรื่อง คำพูดว่า ชั่งหัวมัน มันมีอยู่ ๒ ชนิด ชนิดหนึ่งมันขาวก็คือว่ามันมีแสงสว่าง มันมีวิชา มันตวาดออกมาว่า ชั่งหัวมัน นี่มันตวาดออกมาด้วยวิชา คือ ความรู้ อันนี้ใช้ได้ มีประโยชน์ มันรู้ดีว่าไม่มีความหมายอะไร อย่าไปยุ่ง อย่าไปเลย ชั่งหัวมัน แต่อีกชนิดหนึ่งชั่งหัวมันออกมาด้วยความโง่ ด้วยอวิชชา เหมือนที่คนโดยมาก จะรวมท่านทั้งหลายด้วยก็ได้ ที่มักจะชั่งหัวมัน คือไปชั่งหัวมันเอากับสิ่งที่ไม่ควรจะชั่งหัวมัน อย่างนี้ผิด อย่างเป็นสีแดงใช้ไม่ได้เพราะมันมาจากอวิชชา คือมันกลัวจะเป็นสีดำไปก็ได้ ต้องเอาอย่างสีขาว มาจากวิชา มาจากความรู้ที่ถูกต้อง ที่ว่าอะไร ๆ ที่มันเกิดขึ้นเป็นธรรมดาหยุมหยิมไปหมดในโลกนี้ ไอ้คนมันสลัดออกไปไม่ได้ เข้าไปเกี่ยวข้อง เข้าไปอาลัยอาวรณ์ เรื่องนั้นนิดเรื่องนี้หน่อย ก็เอามาทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่ แล้วก็เกิดความทุกข์ แต่ถ้ามีความรู้ มีวิชาแล้วก็สลัดปัดออกไปได้ว่า ชั่งหัวมัน มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวกู เกี่ยวกับของกู หยุมหยิมไปหมด วันหนึ่ง ๆ มันเกิดขึ้นมากเหมือนกัน แต่ถ้าไม่ไปรับเอาก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าไปรับเอาแล้วก็เกิดเรื่อง ฉะนั้นขยัน ชั่งหัวมัน ๆ อย่างนี้ให้มากเข้าหน่อย ในวันหนึ่ง ๆ นี่เป็นชั่งหัวมันที่ควรปัดออกไป ชั่งหัวมัน แต่ที่นี้ที่ตรงกันข้าม มันมีบางเรื่องที่ชั่งหัวมันไม่ได้หรอก ต้องสนใจต้องทำให้ดีเป็นพิเศษ เรื่องศีล สมาธิ ปัญญา เรื่องความถูกต้อง สัมมาทิฏฐิ อย่าชั่งหัวมันเป็นอันขาด แม้แต่สักนิดนึงก็ระวังให้ดี เอามาทำให้ดี นี่เรียกว่า ไอ้ต้นชั่งหัวมันมีอยู่ ๒ ชนิด เลือกเอาชนิดดีที่เป็นคุณ ชนิดที่ควรชั่งหัวมัน อันนี้เขียนไว้เป็น ๒ อย่างนะ ที่ว่า ชั่งหัวมัน จงพูดว่า ชั่งหัวมัน คือ ให้ถือเป็นคาถาว่าชั่งหัวมัน มีข้อความว่า
จงยืนกรานสลัดทั่ว ชั่ งหัวมัน ถ้าเรื่องนั้น ๆ เป็นเหตุแห่งทุกข์หนา
อย่าสำออยตบอยจัดไว้อัตตา ตัวกูกล้าขึ้นเรื่อยไป อัดใจตาย
เรื่องนั้นนิด เรื่องนี้หน่อย ลอยมาเอง ไปบวกเบ่ง ให้เห็นว่าจะฉิบหาย
เรื่องเล็กน้อย ตบอยเห็น เป็นมากมาย แต่ละรายรีบเขวี้ยงขว้าง ชั่งหัวมัน
เมื่อตัวกูลู่หลุด ลงเท่าไร จะเย็นเยือกลงไป ได้เท่านั้น
รอดตัวได้เพราะรู้ใช้ชั่งหัวมัน จงพากันหัดใช้ไว้ทุกคน
ชั่งหัวมันที่ต้องใช้ต้องมี ควรใช้ควรมี ใช้ในกรณีอย่างนี้ อย่าไปเอามาทำให้มันเป็นเรื่องขึ้นมาได้ ทีนี้อีกอันหนึ่งที่ว่า อย่าชั่งหัวมัน ชั่งหัวมันไม่ได้ มันจะเกิดเรื่องเสียหาย เขียนไว้เป็นคำกลอนว่า
อย่าบิ่นบ้ามัวแต่ว่าชั่งหัวมัน ถ้าเรื่องนั้นเกี่ยวกับเพื่อนมนุษย์หนา
ต้องเอื้อเฟื้อปฏิบัติ เต็มอัตรา โดยถือว่าเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย
การช่วยเพื่อนเหมือนช่วยตัวเราเอง เมื่อจิตเพ่งเล็งช่วยทวยสหาย
ย่อมลดความเห็นแก่ตัวลงมากมาย ทุก ๆ รายอย่าเขวี้ยงขว้างชั่งหัวมัน
เห็นแก่ตัวเบาบางลงเท่าไร ยิ่งเข้าใกล้พระนิพพานเห็นปานนั้น
รอดตัวได้เพราะไม่มัวชั่งหัวมัน จงพากันใคร่ครวญถ้วนทุกคน
ควรจะจับให้ได้ว่า ไอ้ชั่งหัวมันชนิดหนึ่งนี่ถ้าชั่งหัวมันแล้วก็จะใกล้นิพพาน ถ้าชั่งหัวมันอีกชนิดหนึ่ง เอาชั่งหัวมันก็จะยิ่งไกลนิพพาน ในสิ่งที่ควรจะปฏิบัติ ควรจะสนใจ นับตั้งต้นแต่ว่าเพื่อนมนุษย์เป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย อย่าชั่งหัวมันเป็นอันขาด ถ้าเป็นเรื่องจู้จี้เป็นเรื่องเหยื่อของกิเลสตัณหาอุปาทานนี้รีบชั่งหัวมัน ๆ ๆ ให้มันสูญหายไปหมดสิ้น นี้เรียกว่า ชั่งหัวมัน มีอยู่ ๒ ชนิด คือ ชนิดขาว ชนิดแดงหรือดำ ให้เอามาแต่ชนิดขาว ไอ้แก่นชั่งหัวมันชนิดขาว ๑ ชั่ง ทีนี้อย่างที่ ๓ รากอย่างนั้นเอง อย่างนั้นเอง เรียกโดยพระบาลีว่าตถตา ตถาตา แล้วแต่จะเรียก ตถาตา เป็นอย่างนั้น ความเป็นอย่างนั้น ความไม่เป็นอย่างอื่นจากนั้น คือกฏแห่งอิทัปปัจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท มันเป็นอย่างนั้นเอง มันเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันก็เป็นอย่างนั้นเอง หรือว่าอวิชชาให้เกิดสังขาร สังขารให้เกิดวิญญาณ วิญญาณให้เกิดนามรูป นามรูปให้เกิดอายตนะ อายตนะให้เกิดผัสสะ ผัสสะให้เกิดเวทนา เวทนาให้เกิดตัณหา ตัณหาให้เกิดอุปาทาน อุปาทานให้เกิดภพ ภพให้เกิดชาติ ชาติให้เกิดทุกข์ มันเป็นอย่างนั้นเอง มันเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้