แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในการทำบุญเกี่ยวกับล้ออายุทั้งหลาย อาตมาจะได้บรรยาย ข้อที่ควร ที่เห็นว่าควรจะบรรยาย ในโอกาสนี้ สืบต่อไปจากที่ได้บรรยายแล้วในตอนเช้า และตอนบ่าย ในตอนนี้ เป็นโอกาสที่ดีคือ มีความสงบเย็นพอสมควร ก็จะได้พูดถึงเรื่องที่ประณีต ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป แต่ก็เป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดเฉพาะเรื่อง เอ่อ, ตามเคยอยู่นั่นเอง ข้อที่จะต้องทำความเข้าใจกันอยู่เสมอ ก็คือ ความผิดพลาดในการที่แยก ธรรมะประเภทโลกียะออกไปเสียจากธรรมะประเภทโลกุตระ บางคนที่ยังใหม่ต่อการฟัง ก็อาจจะฟังไม่ถูก พูดเป็นภาษาธรรมดาหน่อยก็คือว่า เราแยกเรื่อง เอ่อ, ธรรมะออกจากเรื่องโลก หรือแยกโลกออกจากธรรมะ เอ่อ, กันในลักษณะที่ต้องเรียกว่า โง่เขลา เบาปัญญา อ้า, ธรรมะมีไว้สำหรับช่วยโลก แล้วก็ไปแยกโลกออกเสียจากธรรมะ มันจะได้ประโยชน์อะไร ขอให้สนใจในเรื่องนี้เป็นพิเศษ แม้ในยุคนี้คือ ยุคที่ถือกันว่ามีการศึกษาเจริญ ทั้งในทางโลก และทางธรรมะ ธรรมะมีไว้ช่วยโลก โลกต้องการ เอ่อ, ความช่วยเหลือจากธรรมะ แล้วไปแยกกันเสียเป็นคนละเรื่อง อย่างที่พูดเมื่อสักครู่นี้ว่า แยกเรื่องโลกียะออกไปเสียจากเรื่องโลกุตระ หรือแยกเรื่องโลกุตระออกไปเสียจากเรื่องโลกียะ ก็พูดได้ทั้งนั้น อ้า, คนพวกนั้นเขาเห็นว่าเรื่องโลกุตระนั้น มันสูงสุดตามตัวหนังสือที่ว่าอยู่เหนือโลก พ้นโลก ไม่เกี่ยวกับโลก นี่ระวังให้ดี ว่ามันจะทำความเข้าใจผิด ความสับสนให้เกิดขึ้นได้ จิตใจของคนเรามันก็มีความรู้สึก คิดนึก เพราะว่ามีร่างกาย ไม่มีร่างกาย อ้า, ก็ไม่มีอะไร ที่จะทำให้จิตใจมีที่ตั้ง ที่อาศัย ทำหน้าที่ได้ หรือถ้าไม่มีจิตใจ อ้า, ร่างกายก็ไม่มีความหมายอะไร กระทั่งว่าไม่อาจจะเคลื่อนไหวได้ เพราะฉะนั้นขอให้มองเห็นในข้อนี้กันก่อนว่าร่างกายกับจิตใจนั่นมันแยกกันไม่ได้ ในทางธรรมะเอามารวมกันเป็นคำๆ เดียวกันเรียกว่า นามรูป หรือ รูปนาม ก็แล้วแต่จะเรียก ทั้งสองอย่างเอามาผสมเป็นคำเดียวกัน เพราะว่ามันไม่อาจจะแยกกันได้ ทีนี้เรื่องรูปก็เป็นเรื่องของร่างกาย เรื่องนามก็เป็นเรื่องของจิตใจ มันต้องอาศัยกันไป ดังนั้น จึงมีธรรมะเป็นกฎเกณฑ์อันหนึ่งสำหรับร่างกาย และอีกอันหนึ่งสำหรับจิตใจนี่ ขอให้สังเกตดูให้ดีๆ ทีนี้ร่างกายมันก็ไปตามแบบ เอ่อ, ตามเรื่อง เอ่อ, ของร่างกาย ที่มีเนื้อหนังมังสา นี้เป็น อ้า, ความหมาย ที่สำคัญ จิตใจนั้นเป็นนาม ไม่มีเนื้อหนังมังสา แต่เป็นความรู้สึกที่อาศัยอยู่ที่เนื้อหนังมังสา ทีนี้เนื้อหนังนี่มันก็กินอาหารของมันอย่างหนึ่งตามแบบของเนื้อหนังหรือร่างกาย จิตใจก็ต้องการอาหารอีกแบบหนึ่งตามเรื่องของจิตใจ แล้วมันก็ไปด้วยกัน ก็เลยต้องกินอาหาร ๒ อย่าง พร้อมๆ กันไปในตัว นี่จะเป็นหลักสำคัญที่ว่า ไอ้ความถูกต้องทางร่างกายกับทางจิตใจนั้น จะต้องไปด้วยกัน หลักเกณฑ์ที่เรียกว่าโลกียธรรมสำหรับโลก หรือสำหรับอยู่ในโลกนี่ มันก็มีอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งมุ่งหมายเรื่องของร่างกาย อ้า, เป็นใหญ่ ไอ้โลกุตระนั้น มันก็เป็นเรื่องของจิตใจ มุ่งจิตใจเป็นใหญ่ เล็งถึงข้อที่ว่า จิตใจนี้มันจะไปได้ไกล ไปได้สูง ไปได้ถึงกับว่าหลุดพ้นออกไปจากร่างกายก็ได้ในที่สุด คือ ไม่ยึดถือ เอ่อ, ในร่างกาย หรือในสิ่งใดๆ แต่คิดดูเถิดว่า แม้จะไม่ ไม่ยึดถืออย่างไร มันก็ยังต้องเนื่องกันอยู่กับร่างกาย คล้ายๆ กับว่ามันมีอะไรเป็นใยนี่ อ้า, สายใยชัก ให้มันสัมพันธ์กันอยู่ นี่เรื่องโลกียะกับเรื่อง เอ่อ, โลกุตระ มันผูกพันกันอยู่ด้วยอะไรอย่างหนึ่ง เหมือนกับที่เราจะพูดได้ว่าเรื่องโลกกับเรื่องธรรม มันแยกออกกันโดย ออกจากกันโดยเด็ดขาดไม่ได้ เพราะมันมีอะไร ที่เป็น เอ่อ, สิ่งที่ทำให้ผูกพันกันอยู่ สรุปความว่า จะต้องทำให้มันถูกต้องทั้ง ๒ อย่างพร้อมกันไปจึงจะมีผลดี เรื่องอยู่ในโลกมันก็เป็นทุกข์ ถ้าจะให้อยู่เหนือทุกข์มันก็ต้องมีอะไรอีกอย่างหนึ่ง มาทำจิตใจที่มันอยู่ในโลก หรือเกี่ยวกับโลกนั่นแหละ ให้มันไม่มีทุกข์ ให้มันอยู่เหนือ เอ่อ, อิทธิพลของสิ่งที่เรียกว่าโลก ทีนี้ดูกันโดยภาพที่จะมองเห็นได้ด้วยตา คือ พระอรหันต์ก็ดี พระพุทธเจ้าก็ดี ท่านก็ยังมีชีวิตในทางร่างกายอยู่ในโลกนี้ ยังมีร่างกายที่ต้องการปัจจัยสี่ อย่างเดียวกับคนทั่วไป อาศัยอยู่ในแผ่นดินโลกนี้ เราก็ถือว่า ท่านอยู่เหนือโลกโดยทางจิตใจ โลกทำให้ท่านเป็นทุกข์ไม่ได้ แล้วก็ท่านมาตั้งปณิธานความปรารถนาของท่าน ในฐานะที่เป็นพระพุทธเจ้าคือ จะช่วยสัตว์โลกให้รอดพ้นไปจากความผูกพันของโลก ให้มีจิตใจอยู่เหนือโลก ทั้งที่มีร่างกายอยู่ในโลก เมื่อมองเห็น เอ่อ, ข้อเท็จจริงอันนี้แล้ว ก็คงจะหมดปัญหากันเสียทีว่า อย่าไป อ้า, แยกโลกออกจากธรรม อ้า, ธรรมะนะ จนมันช่วยเหลืออะไรกันไม่ได้นะ อย่าแยกเรื่องโลกียะออกไปจากเรื่องโลกุตระ จนไม่ได้รับประโยชน์อะไร จากกันและกัน อยู่ในโลก ต้องการจะอยู่อย่างชนะโลก เหนือโลก ก็คือมีโล มีโลกุตรธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ให้จิตใจมันอยู่เหนือโลก ทั้งที่มันยังต้องเกี่ยวข้องกันกับโลก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ยังต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลาย คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ แล้วต้องประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องต่อสิ่งเหล่านั้น อ้า, สำหรับปุถุชนคนธรรมดาทั่วไป นี้ถ้าเป็นพระอริยเจ้าชั้นสูงสุดแล้วก็ไม่มีปัญหา คงเกี่ยวข้องแต่ในทางที่จะช่วยเหลือสัตว์โลก ถ้าท่านทั้งหลาย เอ่อ, ยอมรับว่ามันเป็นอย่างนี้ เรื่องที่จะพูดต่อไป ก็จะง่ายเข้า ผู้พูดก็จะพูดง่าย อ้า, ผู้ฟังก็จะฟังง่าย จึงขอซ้อมความเข้าใจอันนี้ เป็นข้อแรกในการบรรยายภาคค่ำนี้ เรารู้จักประโยชน์ของธรรมะน้อยไป คือหลงไป เอ่อ, ถึงกับแยกธรรมะออกจากโลก ในปัจจุบันนี้ แม้ในเมืองไทยเราก็มีพูดกันหนาหูว่า มีความรู้เรื่องโลกียะก็พอแล้ว เอาตัวรอดอยู่ได้ในโลก แล้ว อย่าไปกล่าวถึงโลกุตระเลย อย่าไปกล่าวถึงเรื่องเหนือโลกเลย นี่เพราะความเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เรื่องโลกียะนั้น มันเป็นรื่องระคนอยู่ด้วยความทุกข์ ก็ต้องมีอะไรมาช่วยแก้ความทุกข์อันนั้น มีกินมีใช้ อ้า, แล้วก็ยังมีความทุกข์ เป็นมหาเศรษฐีก็ยังมีความทุกข์ เป็นเทวดาในเทวโลกแล้ว ก็ยังมีความทุกข์ ไอ้เรื่องที่จะแก้ความทุกข์ในส่วนนี้ ในระดับนี้ มันมีแต่เรื่องโลกุตระ เรื่องเดียวเท่านั้น ดังนั้น การที่กล่าวว่าเรามีความรู้เรื่องโลกียะนี่พอแล้ว ไม่ต้องพูดถึงโลกุตระเลยนี้ เป็นการพูดที่ไม่ถูกต้อง และไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายโลกียะ และทั้งฝ่ายโลกุตระ แล้วยังให้ ยังทำให้พระพุทธศาสนา หรือหลักธรรมะในพระพุทธศาสนานี้ เป็นหมันไป อ้า, ตั้งครึ่งตั้งค่อน แล้วก็จะทำให้มันด้อยค่าลงไป เมื่อไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ ฉะนั้น ขอให้สรุปความว่า แม้เราจะได้ประพฤติปฏิบัติถูกต้องในส่วนโลกียธรรมแล้ว ความทุกข์ก็ยังอยู่เต็มที่ตามแบบของโลกียธรรม ต้องเอาโลกุตระเข้ามาช่วยแก้ไข แม้ขณะที่ประพฤติโลกียธรรมอยู่ ก็ยิ่ง ยิ่ง ยิ่งมีปัญหามาก ยิ่งระคนอยู่ด้วยความทุกข์มาก ก็ต้องเอาโลกุตระธรรมมาช่วยแก้ไข เหมือนกับได้ยกตัวอย่างให้ฟังว่า ไอ้ลูกเด็กๆ มันก็ไม่ควรจะต้องร้องไห้ อ้า, มากเกินไป หรือ ในทุกกรณีไป เมื่ออะไรที่มันชอบใจแตกหักลงไปมันร้องไห้ หรือมันสอบไล่ตก มันร้องไห้ เดี๋ยวนี้ เอ่อ, เป็นบ้าในการศึกษาอย่างหลับหูหลับตา สอบไล่ตกมันถึงกับจะไปกระโดดน้ำตาย อย่างนี้ เป็นต้น เมื่อเรา เอ่อ, มองเห็นถึงขนาดนี้ ก็จะยอมรับว่า แม้เด็กๆ ก็จะต้องเรียนรู้เรื่องโลกุตระ ตามสมควร แต่ถ้าไปเรียกอย่างนี้ คนเขามักจะหัวเราะ ว่าเด็กๆ นี่รู้เรื่องโลกุตระด้วย ฉะนั้น ขอให้ เอ่อ, มองดูสิ่งเหล่านี้ให้ดีๆ ถ้าเข้าใจเรื่องนี้แล้ว พระพุทธศาสนาก็จะช่วยท่านทั้งหลายได้มากมาย ยิ่งกว่าที่เคยช่วยมาแล้ว ซึ่งอาตมารู้สึกว่ามันยังน้อยเกินไป พูดตรงๆ ก็ว่า พวกเราได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนายังน้อยอยู่ เพราะเข้าใจผิดในเรื่องนี้ อ้าว, ทีนี้ก็จะหาวิธีเปรียบเทียบกัน ให้เห็น ให้เข้าใจ อ้า, ชัดแจ้งยิ่งขึ้น ว่าเราทำผิดหรือทำถูกในกรณีนี้กันอย่างไร หรือเท่าไร แล้วไปทำให้มันสับสนกันเสียอย่างไร ข้อนี้ต้องขอให้ทำจิตใจให้ประณีตสักหน่อย โดยเฉพาะผู้ที่หลงในเรื่องโลกมากเกินไป คือ หลงในเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ นี่มันมากเกินไป คนๆ นี้จะเข้าใจไม่ได้ เพราะจะพูดว่า ชีวิตของเรา เอ่อ, มันต้องการอะไร มันมีชีวิตอยู่ในหลายรูปแบบ ในด้านจิต ด้านวิญญาณ ด้านความสงบของจิตนั่นนะ มันมีรูปแบบหนึ่ง เป็นชีวิตในรูปแบบนั้น นี้ชีวิตที่มันจะรอดชีวิตอยู่ได้เรื่องของร่างกาย นี้มันก็รูปแบบหนึ่ง เห็น อ้า, เราเห็นว่าอันไหนสำคัญ คือ การที่มีชีวิตอยู่ได้ ไม่ตาย กับการที่จะมีชีวิตอยู่อย่างสงบเย็น เป็นสุขนั้น อันไหนมันสำคัญกว่ากัน เราจะได้ศึกษาเล่าเรียนให้มันสมสัดสมส่วนกัน ว่าอันไหนสำคัญมากก็จะได้ศึกษามาก เดี๋ยวนี้การศึกษาในโลกเรานี้ที่เห็นอยู่ ก็มีอยู่ ๓ ระดับ คือ เรียนวิชา อ้า, ศิลปะศาสตร์พื้นฐานทั่วๆไป คือเรียนหนังสือ อ้า, นี้เรียกว่าเรียนหนังสือ นี้มันเรียนอย่างหนึ่ง แล้วสูงขึ้นไปก็คือวิชาชีพ เมื่อเรารู้หนังสือพอแล้วเราก็จะไปเรียนวิชาชีพ ให้รู้วิชาสำหรับเลี้ยงชีพ เลี้ยงชีวิตให้ทรงอยู่ได้ นี้ถ้ายังอยากจะเรียนต่อไปอีกจะมีอะไร ลองคิดดู มันก็เรียนเรื่องธรรมะ พระธรรม ที่ให้ชีวิตจิตใจ หรือวิญญาณนี้มีความสงบสุข อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า แม้จะมีกินมีใช้แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความทุกข์ ให้เป็น เป็นอยู่ อย่างเทวดามันก็ยังมีความทุกข์กันอย่างเทวดา ต้องมีอะไรเป็นวิชา ความรู้ที่สูงสุดมาช่วยแก้ปัญหาอันนี้ เมื่อเป็นดังนี้ก็ลองเปรียบเทียบกันดู จะเรียนหนังสือสักกี่เปอร์เซ็นต์ จะเรียนวิชาชีพสักกี่เปอร์เซ็นต์ จะเรียนเรื่องวิญญาณ จิตใจ ความสงบเย็นนั่นสักกี่เปอร์เซ็นต์ อาตมาว่าเอาเอง ว่ามนุษย์เรานี่ควรจะศึกษาเรื่องชีวิตในด้านวิญญาณอันสูงสุด คือ ทางธรรมะนั้นสัก ๘๐ % แล้วก็เรียนวิชาชีพสัก ๑๕ % แล้วก็เรียนวิชาหนังสือพื้นฐานทั่วไปสัก ๕ % ก็พอ รวมกันแล้วเป็นร้อยหนึ่ง พูดกลับอีกทีหนึ่งไปจากข้างล่าง ว่าเรียนหนังสือกันสัก ๕% ของ ไอ้ กำลังทั้งหมด เรียนวิชาชีพ ๑๕% เอ่อ, แล้วก็เรียนเรื่องของจิต ของวิญญาณ ของพระธรรม ให้มันเป็นสุขได้จริงนั้น ๘๐ % อ้าว, ทีนี้ก็มาดูว่า ที่เราทำกันอยู่จริงในเวลานี้ โดยเฉพาะการศึกษาแห่งสมัยปัจจุบันนี้ มันเป็นอย่างไร จะเห็นได้ทันทีว่าตัวเลขมันกลับกัน คือ เขาจะเรียนเรื่องจิต เรื่องวิญญาณ เรื่องพระธรรม พระศาสนากันสัก ๕ % ก็จะไม่ได้ เอาละ ยอมให้ว่า ๕ % แล้วก็เรียนวิชาชีพกันตั้ง ๘๐ % เรียนหนังสือพื้นฐาน ๑๕ % มันกลับกันอยู่อย่าง อย่างน่าตกใจ ทีนี้อันไหนละ มันจะตรงกับความจริง คือ ข้อเท็จจริงของธรรมชาติ ถ้าเราจะเอาความสงบ สุขเย็นที่แท้จริง เป็นหลักกันแล้ว มันก็ต้องเป็นอย่างที่ว่า คือ เรียนเรื่องพระธรรม ๘๐ % เรียน เรียนวิชาชีพให้เป็นอยู่ได้สะดวกนะ ๑๕ % เรียนหนังสือพื้นฐานในขั้นต้นกัน ๕ % เดี๋ยวนี้เราเรียนธรรมะ ๕ % เรียนหนังสือพื้นฐาน ๑๕ % และเรียนวิชาชีพกันเต็มที่ถึง ๘๐ % เราจึงมีอาการเหมือนกับว่า ผิดฝาผิดตัวกันกับธรรมชาติอันลึกซึ้ง อันเร้นลับ ที่เขาต้องการ อ้า, ธรรมชาติมันต้องการให้มนุษย์นี่ มีความเป็นอยู่ด้วยความสงบสุข แล้วมนุษย์ก็ไม่รู้ว่า ความสงบสุขอยู่ที่ไหน เข้าใจว่าอาชีพนั่นแหละเป็นตัวความสงบสุข เราจึงทำผิดในเรื่องนี้โดยไม่รู้สึกตัว แล้วเราก็ได้รับผล คือ เกิดปัญหาขึ้นมาชนิดที่เราเข้าใจไม่ได้ เราจึงดับทุกข์ไม่ได้ ชำระสะสางปัญหาเกี่ยวกับจิตใจไม่ได้ เพราะว่าเราศึกษามันเพียง ๕ % ของกำลังกาย กำลังจิต หรือทุกๆ อย่างที่เรามี มันน้อยเกินไปสำหรับจะสามารถ อ้า, แก้ไขอะไรได้ นี้เป็นสิ่งที่ต้องมอง แล้วยังจะต้อง เอ่อ, มองกันต่อไปอีก ว่าไอ้ลูกเด็กๆ ในอนาคตนั้นเขาจะทำอย่างไร เขาอาจจะละทิ้งไอ้การศึกษาในด้านจิต ด้านวิญญาณ เสียโดยสิ้นเชิงก็ได้ อ้า, ถ้าเขาไปหลงใหลในความรู้อะไรบางอย่าง เห็น เอ่อ, วัตถุ สำคัญกว่าจิตใจ ปัด ปัดความสำคัญทางจิตใจออกไปหมด เหลือแต่ความสำคัญทางวัตถุ มีเหตุผลมาแสดง อย่างที่ใครๆ ก็เคลิ้มไปตามนั้น ที่เรียกกันว่า Directic Materialism ซึ่งกำลังจะครองโลกอยู่ในปัจจุบันนี้ ถ้าลัทธินี้ครองโลกก็ไม่มีใครเรียนเรื่องจิตใจ ที่เป็นไปตามทางของพระศาสนา แล้วก็เอาไปรวมกันเข้ากับอาชีพ จะเรียน ศิลปศาสตร์พื้นฐาน ก็เรียนเพื่อส่งเสริมให้หลงไปว่ามีแต่วัตถุเท่านั้น นี่ลูกเด็กๆ ของเราในอนาคตกำลังจะเป็นอย่างนั้นขอให้ช่วยดูไว้ด้วย ไอ้เราในเวลานี้ก็ทำผิด หรือคุณจะเรียกว่า หรือว่าท่านทั้งหลาย จะเรียกว่าทำถูกก็ตามใจ อย่างที่มันกลับกันอยู่ เรียนธรรมะ ๕ % ไอ้ ๙๕ % ไปเรียนเรื่องอาชีพ หรือที่เกี่ยวกับอาชีพซึ่งพระอริยเจ้าต้องการให้เรียน เรื่องที่เกี่ยวกับธรรมะ หรือจิตใจนี่ตั้ง ๘๐ ๙๐ % เหลือนอกนั้นไว้เป็นเรื่องร่างกาย คือ อาชีพ เอ่อ, หรือสิ่งที่มันเนื่องกันอยู่กับอาชีพ แล้วอาตมาก็ยอมรับว่า เราเรียนหนังสือ เรียนศิลปศาสตร์ทั่วไปนั้น ก็อาจจะใช้เพื่อศึกษาไอ้ พระธรรม หรือพระศาสนา ด้วยก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้ เขาไม่เอากันอย่างนั้น เอาไปใช้เพื่อวิชาชีพกันทั้งหมด ทั้งสิ้น ไม่ได้ใช้สติปัญญาสามารถจากศิลปศาสตร์ทั่วไป ในการที่จะศึกษา อ้า, พระธรรม หรือพระศาสนาเลย เอาเป็นว่า นี้เป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องมองดูให้ดี แล้วก็ชำระสะสางกันเสียให้ถูกต้อง คนหนุ่ม คนสาว กระทั่ง ภิกษุ สามเณร สมัยนี้ ชอบเรียนวิชาโลกๆ เรียนวิชาภาษาศาสตร์ เป็นพระ เป็นเณรแล้ว ก็ยังบ้าคลั่งในวิชาภาษาศาสตร์ เรียนภาษาจีน เรียนภาษาทิเบต เรียนภาษาอะไรต่อไปอีกก็ไม่รู้ เพื่อว่าจะรู้พุทธศาสนา นี่ มัน เอ่อ, มันก็ ก็เป็นไปทางหนึ่ง คือ ไม่อาจจะรู้ธรรมะ หรือ พระศาสนาได้ด้วยการเรียนไอ้ภาษาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ อักษรศาสตร์ในแบบนั้น ถ้าจะเรียนพระธรรมต้องเรียนจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าจะมีสอนอยู่อย่างง่ายๆ ในภาษาไทย หรือภาษาบาลีอีกหน่อยก็ได้ มันก็เหลือเฟือ และจะต้องเรียกว่าเฟ้อ เพราะไม่เข้าใจ และไม่ได้เอามาประพฤติปฏิบัติ เกี่ยวกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ยังจะไปเรียนภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาทิเบต ภาษาจีน ภาษาอะไรต่างๆ อีกหลายภาษา มันก็คงจะตายเสียก่อนที่จะได้มาลูบคลำ เอ่อ, พระธรรม ทีนี้จะเอากันอย่างไร พระ พระเณร ที่เฉลียวฉลาดก็เป็นเสียอย่างนี้ ชาวบ้านก็เป็นเสียอย่างนี้ ชาวไร่ ชาวนา ก็เป็นอย่างนี้ นักศึกษาก็เป็นอย่างนี้ ขอฝากไว้ให้ไปคิดกันเสียใหม่ว่า คิดดูให้ดีๆ อะไรมีค่ามาก ก็ให้สนใจกับสิ่งเหล่านั้นให้มากที่สุด พวกฝรั่งก็ยังทำผิดในเรื่องนี้อยู่มาก เรียนพุทธศาสนาจนไม่รู้พุทธศาสนา ยิ่งเรียนพุทธศาสนายิ่งไม่รู้พุทธศาสนา เพราะว่าเขาไปเรียนอ้อมค้อม ในสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับภาษา เกี่ยวกับวัฒนธรรม เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เสียจนหมดเวลา ไม่ได้จับลงไปที่ตัวของพระธรรม ซึ่งอาตมาก็พยายามจะบอกเขาเสมอว่า ต้องเรียนลงไปที่ความทุกข์ เรียนลงไปที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นแหละคือ กอ ขอ กอ กา ของพุทธศาสนา อย่างนี้เป็นต้น แม้พระไตรปิฎกที่มีอยู่ปัจจุบันนี้มากมายเหลือเกิน เป็นของที่สะสมเพิ่มเติมเอาไว้เรื่อยจนมากมาย จนยิ่งเรียนพระไตรปิฎกแล้วจะยิ่งไม่รู้พุทธศาสนา ข้อนี้อาตมาถูกด่า ไม่ต้องระบุชื่อคนด่า อาตมาก็ได้พูดจริง ว่ายิ่งเรียนพระไตรปิฎก ยิ่งไม่รู้พุทธศาสนา มันต้องเรียนอะไรอื่น คือเรียนที่ตัวความทุกข์ แล้วเรียนจากในจิตใจ เอ่อ, ของตนเอง รู้เรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่สร้างความทุกข์ขึ้นมาอย่างไร แล้วจะรู้พระพุทธศาสนาทำนองเดียวกับที่พระพุทธเจ้ารู้ และความรู้นั้นนะ จะได้กลายเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริง เกิดขึ้นและตั้งอยู่ในจิตใจของตน นี้เรียกว่า เอ่อ, มันพูดกันคนละทางทีเดียว ขอให้เข้าใจถูกต้องว่า อาตมาไม่ได้ทำลายความหวังของผู้ที่จะศึกษาพระไตรปิฎก แม้ตัวเองก็ลูบคลำอยู่มากเหมือนกัน แต่แล้วก็ยิ่งรู้ เอ่อ, ชัดขึ้นไปทุกทีว่า ยิ่งเรียนพระไตรปิฎก ยิ่งไม่รู้พุทธศาสนาตัวจริง อ้า, ไม่รู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตัวจริง ต้องเปลี่ยนมาเรียนที่ตัวความทุกข์ ที่รู้สึกอยู่ในจิต ในใจ ทั้งวันทั้งคืน ทั้งหลับทั้งตื่น รู้อาการที่มันจะเกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างไร นี้เรียกว่าถูกตัวพุทธศาสนา เหมือนกับจับปู จับปลา จับกุ้ง ได้ตัวขึ้นมาทีเดียว นี้เรา เอ่อ, มองดูความผิดพลาด อ้า, ในข้อนี้กันบ้าง
ทีนี้ก็อยากจะพูดโดยหัวข้อต่อไป ที่ ที่ ที่เกี่ยวเนื่องกันไปนะ สิ่งที่จะต้องสนใจเพื่อศึกษาให้เข้าใจ ถ้าไม่ทำอย่างนั้น แล้วเป็นอันตรายที่สุด สิ่งนี้คืออะไร สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในที่นี้ก็คือ ไอ้สิ่งที่เรียกว่า ตัวกู ตัวกูนี่มันลมๆ แล้งๆ เพราะมันเป็นของ เอ่อ, ที่เกิดขึ้นจากความรู้สึก หรือเป็นความรู้สึกในอันดับหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้เป็นชิ้น เป็นอัน เป็นดุ้น เป็นก้อนอะไร แต่แม้ว่ามันจะเป็นเพียงความรู้สึก มันกลับทำอันตรายแก่จิตใจมาก ตัวกูเกิดขึ้นทีไรก็ต้องเป็นทุกข์ทันที และทุกที ความรู้สึกว่าตัวเรา ว่าของเรานั้น ถ้ามันรุนแรงนะ หนักเข้ามันจะมีความรู้สึกเป็นตัวกู เป็นของกู มันจะ จะดื้อ กระด้าง จองหอง มีมานะ ทิฐิ มันออกมาจากไหน ถ้าพูดโดยกิริยาอาการข้างนอก มันก็ออกมาจากการสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยอำนาจของอวิชชา เมื่อตาเห็นรูป เป็นต้น เกิดจักษุวิญญาณ ๓ ประการ นี้เรียกว่าผัสสะ ในขณะนั้นมีอวิชชามาครอบงำ ก็เป็นผัสสะโง่ เกิดเวทนาโง่ ก็เกิดความอยากโง่ ความอยากที่โง่ ซึ่งเรียกว่าตัณหา ตัณหาคือ ความอยากที่โง่ มันก็เกิดอุปาทาน คือตัวกู เดี๋ยวนี้ เราจะดูให้ชัด ให้ละเอียดลงไป ว่าอวิชชานี้มาจากไหน ที่มาทันเวลา อ้า, ในการสัมผัสทางตา ทางหู เป็นต้น ด้วยอำนาจของอวิชชา ทำให้เป็นสัมผัสโง่ เป็นเวทนาโง่ เป็นความอยากโง่ คือ เป็นตัณหา ความอยากที่โง่เขลา ไม่ใช่อยากโง่ ความอยากที่มันโง่เขลาอยู่ในตัวมันเอง นี่จะให้เกิดตัวกู ทำไมอวิชชามาเร็วนัก ทันเวลาทุกที เอ่อ, ยึดครองไอ้ผัสสะเสียโดยมาก ให้เป็นผัสสะโง่ ไม่ค่อยให้โอกาสที่จะเป็นผัสสะฉลาด คือ มีสติสัมปชัญญะ หรือปัญญา ในขณะนั้นอวิชชามาจากไหน เอ่อ, เร็ว คือ พร้อมอยู่เสมอถึงขนาดนี้พระพุทธเจ้าก็เคยตรัสว่าอวิชชามีอยู่ที่ทุกแห่ง จะตกลงไปในที่ทุกแห่ง คือในธรรมทั้งปวง นี้ยังฟังไม่เข้าใจก็ได้ อาตมาจะขออธิบายว่า อวิชชาที่มันพร้อมอยู่เสมอที่จะเกิดขึ้นในธรรมทั้งปวงอย่างนี้ คือ อวิชชานุสัย บางคนไม่เข้าใจก็ต้องพูดถึงเรื่องอนุสัยกันสักหน่อย เรามีความโลภ มีความกำหนัดครั้งหนึ่ง ก็จะเกิดราคานุสัยขึ้นในจิตใจครั้งหนึ่ง คือเพิ่มความคาย เอ่อ, เพิ่มความเคยชินที่จะโลภ หรือจะกำหนัด ครั้งหนึ่ง ความเคยชินอันนี้เรียกว่าราคานุสัย ก็แก่กล้าขึ้นในสันดาน คือชินมาก เร็วมาก ที่จะเกิดความกำหนัดในทางกามารมณ์ หรือจะเกิดความอยากได้ในความหมายทั่วไปก็ตาม ทำไมมันจึงอยากเร็วนัก เพียงแต่เห็น เพียงแต่ได้กลิ่นนิดหน่อย มันก็มีความกำหนัดได้ เพราะมันมีราคานุสัยเต็มปรี่อยู่ในสันดาน คือความเคยชินที่มาก และเร็วเกินไปในการที่จะกำหนัด นี้เป็นอนุสัย อ้า, ตัวที่หนึ่ง นี้ตัวที่สองเรียกว่าปฏิคานุสัย ทุกคราวที่เราโกรธ ทุกคราวที่เราเกลียด เอ่อ, ทุกคราวที่เรากระด้างด้วยมานะ ทุกคราวที่เราแดกดัน ประชดประชัน แม้แต่บิดามารดา ครูบาอาจารย์ นี้มันจะสร้างปฏิคานุสัยขึ้นทุกครั้งไป ก็เรียกว่าหนาอยู่ในสันดานนี่ ความเคยชินที่จะโกรธ จะเกลียด ทีนี้ไอ้อนุสัยที่สามคืออวิชชานุสัย เผลอสติเมื่อไร สะเพร่าเมื่อไร หรือโง่เมื่อไรก็ตาม มันจะเพิ่มความเคยชินสำหรับจะโง่ ที่เรียกว่าอวิชชานุสัย ทีนี้ คนมันมีอะไรแปลกอยู่อย่างหนึ่งคือว่า โง่แล้วมันก็ไม่ยอมโง่ มันก็ยิ่งโง่ให้มากขึ้นไปอีก มันประชดประชันตัวเองก็ได้ ผู้อื่นก็ได้ นี่ด้วยความโง่ ปราศจากสติ ปราศจากสัมปชัญญะ ทำอะไรหวัดๆ นี่คือการสะสมความเคยชินแห่งการเกิดของอวิชชา อวิชชามันดองอยู่ที่นี่ มัน มันตั้งรกรากอยู่ที่นี่ มันเกาะตัวกันอยู่ที่นี่ แต่ไม่ใช่เป็นวัตถุ อย่างดิน อย่างหิน อย่างทราย อย่างข้าวสาร เกลือ น้ำตาล อย่างนี้ไม่ใช่ มันเป็นนามธรรม เรียกได้แต่ว่าเป็นความเคยชินที่จะโง่ คืออวิชชา มันพร้อมอยู่เสมออย่างนี้ เพราะฉะนั้นเราจึงโง่ได้ง่าย คือพอตาเห็นรูปก็ดี หูฟังเสียงก็ดี เกิดวิญญาณ เกิดจักษุแล้ว มัน ไอ้ เกิดสัมผัสแล้ว ไอ้ความโง่นี่มันออกมายึดครองทุกทีไป เราจึงหลงผิดในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ จนได้เป็นทาสของอายตนะ เหมือนอย่างที่กล่าวแล้วในตอนกลางวัน นี่ตัวกูมันออกมาจากอวิชชานี้ ความโง่ที่สะสมไว้เป็นความเคยชินเกิดขึ้นครอบงำผสมกันไปในผัสสะ เป็นผัสสะโง่ เป็นเวทนาโง่ เป็นความอยากที่โง่ เพราะฉะนั้น อยากอย่างโง่เขลาออกไปแล้วมันก็เกิดความรู้สึกอันหนึ่ง คือตัวกู ผู้อยาก ผู้ต้องการ ผู้กระทำ นี่ นี่คือตัวกู ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุดในการที่จะทำให้เกิดความทุกข์ ถ้าศึกษาความทุกข์ก็ต้องศึกษาจนถึงนี่ คือจนถึงเรื่องการเกิดแห่งอุปาทานว่าตัวกู ว่าของกู หลังจากอุปาทานนี้ก็มีสิ่งที่เรียกว่า ภพ ว่า ชาติ ว่า ชรา มรณะ โสกะ อุเทวะ ซึ่งเป็น อ้า, ปัญหาที่จะตามมาทีหลัง ในพระบาลีทั่วไปจะระบุตัณหาว่าเป็นที่เกิดแห่งความทุกข์ แต่ก็มีพระบาลีไม่น้อยแห่งที่ทรงระบุว่าอุปาทานนั่นแหละเป็นตัวทุกข์นะ ปัญจุปาทานขันทา ทุกขา อย่างนี้มันชัดดี ถึงขนาดที่เป็นอุปาทานว่าตัวกู ของกูเมื่อไหร่ก็เป็นทุกข์ทันทีอยู่ในตัวมันเอง นี้เราเรียกว่าไอ้ตัวกูนี่มันออกมาจากอวิชชานุสัย หรือในกรณีอื่นก็จะเรียกว่ามาจากราคานุสัย ปฏิคานุสัยก็ได้ แต่ถ้าในกระแสจิตเกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาทแล้ว เราระบุอวิชชานุสัยดีกว่า เข้าใจได้ง่ายกว่า เพราะเกิดผัสสะแล้ว อวิชชานุสัยก็ส่งอวิชชาเข้ามาครอบงำ เอ่อ, เป็นอวิชชาสัมผัส นี่สัมผัสด้วยอวิชชา เรียกว่าสัมผัสโง่ ให้เกิดเวทนาโง่ ก็เกิดความอยากที่โง่ คือ ตัณหานั่นเอง แล้วเกิดตัวกู นี่ ตัวกูชนิดนี้เป็นตัวกูที่ร้าย ร้ายกาจยิ่งกว่ากรรมพันธุ์ หรืออะไรๆ ที่มันยังไม่ได้ทำอะไรใครมากนัก ร่างกายนี้ก็เกิดจากพ่อแม่ ก็ไม่ร้ายกาจอะไร ความรู้สึกอะไรบางอย่างที่เกิดมาจากกรรมพันธุ์ก็ไม่ค่อยทำอะไรให้มากนัก แต่ตัวกูที่เกิดมาจากอนุสัยนี้ เอ่อ, ร้ายกาจเหลือประมาณ ให้รู้จักสิ่งที่น่ากลัวอย่างลึกซึ้งนี้กันเสียก่อน มันสะสมไว้ ตั้งแต่แรกคลอดออกมาจากท้องแม่ แล้วมันก็สะสมมากขึ้น มากขึ้น ตลอดเวลาที่เป็นเด็ก เป็นหนุ่ม เป็นสาว เป็นผู้ใหญ่ กระทั่งแก่แล้ว มันก็ยังสะสมอยู่อย่างเหนียวแน่น สะสมอนุสัยนี่ คือ ความเคยชินที่จะเป็น เอ่อ,อย่างนั้นๆ อนุสัยแปลว่านอนตาม คือเข้าไป อ้า, เหมือนกับว่าเข้าไปนอนรออยู่อย่างนั้น คือเป็นการสะสมนั่นเอง จะเรียกว่าอุปนิสัยก็ถูกเหมือนกัน แปลว่าเข้าไปอาศัย เข้าไปนอนอยู่ เข้าไปนอนอยู่ คือเรารักทีหนึ่ง อนุสัยที่จะรักมันก็เข้าไปนอนอยู่ในสันดานทีหนึ่ง คือสะสมไว้ทีหนึ่ง ต่อมาก็สะสมเรื่อยไป หรือเราโกรธทีหนึ่ง มันก็สะสมอุปนิสัยโกรธนี่ไว้ทีหนึ่ง แล้วก็สะสมอยู่เรื่อยไปทุกทีที่โกรธ โง่ทีหนึ่งก็มีอุปนิสัยความโง่เข้าไปสะสมไว้ในสันดานทุกทีไปเหมือนกัน ผู้อื่นนะ หรือในที่อื่นเขาอาจจะอธิบายอย่างอื่น อาตมาเข้าใจว่าอย่างนี้ ก็ต้องอธิบายอย่างนี้ เพื่อให้รู้จักกันง่ายๆ ว่าอุปนิสัยนั้น คืออะไร อุปนิสัยนี้คือ สิ่งที่เราเริ่มสะสมมันมากขึ้น มากขึ้น คล้ายๆ กับว่ามันเข้าไปอยู่ในสันดานมากขึ้น ทุกทีที่รักก็สะสมอุปนิสัยแห่งความรัก ทุกทีที่โกรธนะก็สะสมอุปนิสัยแห่งความโกรธ ทุกทีที่มันโง่ ก็สะสมอุปนิสัยแห่งความโง่ ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งวันนี้มันจะสะสมไว้กี่มากน้อย ก็นับดูตามไอ้จำนวนแห่งการเกิดของกิเลสชื่อนั้นๆ ก็แล้วกัน ตั้งแต่เกิดมาจนบัดนี้ เกิดความรัก ความกำหนัด ความโลภนะกี่ครั้ง เกิดโทสะ ความโกรธประทุษร้ายกี่ครั้ง เกิดความโง่ ความสะเพร่า อะไรกี่ครั้ง มันก็จะนับไม่ไหวนะ นี่ คืออุปนิสัย สร้างไว้มาก สร้างไว้พอที่จะออกมา อ้า, แสดงบทบาทเป็นประจำวัน ในวันนี้ หรือวันต่อไป คือ ทุกคราวที่มีสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อุปนิสัยนั้น จะออกมาแสดงบทบาทของมันที่ผัสสะ จนกระทั่งเกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทานว่าเป็นตัวกู เก็บไว้ข้างในนี่ พูดอย่างอุปมาว่า เก็บไว้ข้างใน แต่มันไม่ใช่เก็บไว้เหมือนกับเก็บของอย่างนี้ มันเป็นนามธรรม สะสมความเคยชินที่จะเกิดเร็ว เกิดไว เกิดมากนี้ไว้ นี่เรียกว่าเก็บไว้ข้างใน เป็นอนุสัย เป็นอุปนิสัยก็ได้ พอถึงคราวที่มันจะออกมา มันก็ไหลออกมาเรียกว่า อาสวะ แปลว่าไหลออกมา เหมือนกับว่าเรากลัดหนองเป็นแผลอยู่ เอ่อ, ใต้หนัง มันกลัดหนอง มีหนองมาก แล้วสักวันหนึ่งมันก็จะปะทุ หรือระเบิดออกมาตามโอกาส อุปนิสัย อนุสัยที่เก็บไว้มันก็เหมือนกันอย่างนั้น สักวันหนึ่ง โอกาสหนึ่ง เวลาหนึ่ง มันก็ออกมาเป็นอาสวะ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะตามรูปแบบของอนุสัย หรืออุปนิสัยนั้นๆ นี่ตัวกูมันจึงเกิดได้ง่าย เป็นอาสวะอันหนึ่งไหลออกมาเป็นตัวกูในรูปแบบของไอ้ยึดมั่นในกาม ยึดมั่นในภพ หรือว่าโง่ แล้วแต่เรื่องของมัน เมื่อไม่มีการ เอ่อ, ควบคุม ไม่มีการกำจัด บั่นทอน มันก็มากขึ้น มากขึ้น นี่เป็นปุถุชนกันเต็มที่ ก็เพราะมีอนุสัยอาสวะอยู่ในสันดานเต็มที่ จนกว่าจะมีการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง เป็นที่สิ้นสุดแห่งอาสวะ และอนุสัย นี่คือการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา มีรายละเอียดยืดยาวซึ่งจะต้องว่ากันไปอีกเรื่องหนึ่ง เดี๋ยวนี้ ต้องการแต่จะให้มองเห็นไอ้สิ่งที่อันตรายที่สุด น่ากลัวที่สุด ลึกซึ้งที่สุด คือสิ่งที่เรียกว่าตัวกู เป็นเพียงความรู้สึก อ้า, ประเภทอุปาทาน เป็นกิเลสชนิดที่เรียกว่าอุปาทาน ออกมาจากไอ้คลังของอวิชชา ที่สะสมไว้เป็นอวิชชานุสัยในขันธสันดาน ถ้าใครรู้จักไอ้ตัวกูนี้แล้ว ง่ายที่สุด เร็วที่สุด ชัดเจนที่สุด ที่จะรู้ธรรมะ รู้พระพุทธศาสนา ยิ่งกว่าเรียนพระไตรปิฎกจนจบทุกเล่มไปเสียอีก เพราะมันคนละเรื่องกัน เรียนพระไตรปิฎกก็เหมือนกับเรียนหนังสือ เรียนอะไรไปตามแบบนั้น แต่เดี๋ยวนี้มันเรียนสิ่งที่เรียกว่า ตัวกู ซึ่งเป็นตัวความทุกข์ หรือเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ก็ได้ แล้วแต่จะมองกันในแง่ไหน แต่แล้วก็ไม่แยกออกไปจากความทุกข์ ขอให้ทุกคนตั้งใจเรียน อ้า, พระพุทธศาสนาโดยวิธีนี้กันบ้าง อย่าเรียนแต่เรื่องท่องบ่น คิดนึก ศึกษา ใช้เหตุผล ใช้สติปัญญา ไปตามแบบนั้น จะต้องเรียนด้วยวิธีอย่างนี้บ้าง ซึ่งสรุปความแล้ว ก็เรียนจากการดูลงไปตรงๆ ยังสิ่งนั้น อย่าไปคิด อย่าไปคำนวณ อย่าไปใช้เหตุผลชักนำมันไปทางโน้นทางนี้ จะไม่สำเร็จประโยชน์ ต้องดูที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เข้ามา ถึงกันแล้วเป็นวิญญาณ เกิดขึ้นเป็นผัสสะ เป็นเวทนา เป็นตัณหา แล้วก็เป็นตัวกู มันเป็นเรื่องจริงของธรรมชาติ ชัดเจนเด็ดขาดอยู่แล้ว ไม่ต้องไปคิด ไม่ต้องไปคำนวณ เอ่อ, เหลืออยู่แต่ที่จะดูลงไปตรงๆ หากแต่ว่าดูด้วยปัญญาจักษุ มองด้วยปัญญาจักษุ ไม่ใช่ไอ้ตาเนื้อๆ อย่างนี้ แล้วก็เห็นว่ามันเป็นอย่างนี้ นี่คือการที่จะศึกษาพระพุทธศาสนาให้ถึงตัวพระพุทธศาสนา มีเพียงเท่านี้ แล้วท่านก็สอนกันอยู่เพียงพอแล้ว ให้ดูลงไปที่ความทุกข์ ที่เหตุให้เกิดทุกข์ อย่าไปคิดเอาเองนะ ไปดูให้เห็นตัวธรรมชาติที่มันมีอยู่จริง เราจึงคิดกันเสียใหม่ ไปปรับปรุงกันเสียใหม่ อ้า, สำหรับการศึกษาที่มันผิดฝา ผิดตัว คลานต้วมเตี้ยม บ้าหลังทางไหนก็ไม่รู้ น่าจะเอามาล้ออย่างยิ่ง จึงเอามาล้อไว้ในวันนี้นะ คือการศึกษาของพวกเราที่มันไม่ถูกเรื่องกับของพระพุทธเจ้า ไม่ถูกเรื่องของธรรมชาติ ไม่ถูกเรื่องของความจริง เอาละเป็นอันว่า สรุปความว่า จะศึกษาพระพุทธศาสนา ต้องดูลงไปที่ตัวความทุกข์ ดูให้เห็นชัดจะเห็นว่า ไอ้ตัวกูนั่นเอง ออกมาจากอนุสัย คืออวิชชานุสัย ที่เคยชินมากเกินไปในขันธสันดาน
ทีนี้ก็จะพูดกันโดยหัวข้อต่อไปอีก เป็นเรื่องเน้น เพราะเรา ใช้คำว่า เรา ก็คือคำสมมติ หรือบัญญัติ เรียกร่างกาย ชีวิต จิตใจ นี้ว่าเรา แล้วเราก็มีปัญหาขึ้นมาทันที ว่าเรานี้มันเป็นกิเลส หรือว่าเรานี้มันควรจะเป็นความว่างจากกิเลส ตามที่พูดมาแล้วก็พอจะทำให้เข้าใจได้ว่า บางเวลามันเกิดกิเลสขึ้นมา บางเวลามันว่างจากกิเลสอยู่ ที่เรียกว่าอนุสัยนั้นไม่ใช่เป็นกิเลสที่นอน นอนคุดคู้อยู่ใน เอ่อ, สันดาน หรืออะไรไม่ใช่ มันเพิ่งเกิดเหมือนกัน มันเพียงแต่มีความเคยชิน ความเหมาะสมที่จะเกิดนั่นแหละสะสมเอาไว้มาก ดังนั้น เราก็ไม่ได้เกิดอนุสัย หรือเกิดกิเลสประเภท เอ่อ, ภายนอกนี่อยู่ตลอดเวลา เรามีเวลาที่ว่างจากกิเลส ขอให้ทำจิตใจให้เป็นธรรมหน่อย อย่าลำเอียง จะเห็นว่าบางเวลาเราก็ว่างจากกิเลส บางเวลาเราก็เกิดกิเลส นี้ถ้าจะมีตัวเรากันบ้าง จะเอาตรงไหนนะเป็นตัวเรา นี่สำหรับผู้ที่รู้แล้ว หรือมีจิตใจที่สว่างไสวแล้ว ก็คงจะตอบออกมาได้ว่าเราควรจะเอาไอ้ เวลาที่มัน เอ่อ, ระยะเวลาที่มันว่างจากกิเลสนั่นแหละว่ามันเป็นตัวเรา เพราะว่ามันน่าดูหน่อย คือไม่มีกิเลส แล้วเอาเป็นตัวเรา แต่แล้วความจริงมันไม่ ไม่เป็นอย่างนั้น ตามธรรมชาติมันไม่เป็นอย่างนั้น มันเอาตัวเราที่กิเลสทุกทีไป เกิดความรู้สึกว่าตัวเราทีไร นั่นคือความรู้สึกของกิเลส เราก็เอาตัวเราที่กิเลส เอากิเลสเป็นตัวเราทุกทีไป ไม่เคยเอาระยะเวลาที่ไอ้ นามรูปนี้มันว่างจากกิเลสนั้นว่า เป็นตัวเรา นี่โง่หรือฉลาด ลองคิดดู มันนำไปสู่ความผิดพลาดอย่างอื่นอีก อ้า, คือ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเรา นี่ มีกิเลสอยู่เป็นพื้นฐานตลอดเวลา ไม่ว่างจากกิเลสเลย นี่คนหนึ่งบอกว่าไม่เห็นด้วย เรามีความว่างจากกิเลสเป็นพื้นฐาน กิเลสเพิ่งเกิดเป็นครั้งเป็นคราว ประเดี๋ยวประด๋าว อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าจิตนี้ประภัสสร เพิ่งเศร้าหมองเมื่ออุปกิเลส หรือกิเลสนี่มันเป็นของใหม่ แทรกเข้ามา ดังนั้น จะต้องศึกษาข้อนี้ให้เข้าใจว่ามันอย่างไรกันแน่ อาตมาอยากจะให้มองอย่างที่อาตมามองนะ คือ มองกันไปในแง่ที่ว่า เรามีความว่างจากกิเลสอยู่เป็นพื้นฐาน แล้วกิเลสมันเพิ่งเกิด มันก็ง่ายนิดเดียวที่จะระวังอย่าให้มันเกิด เพราะมันจะมาเกิดเป็นครั้งเป็นคราว ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว มันก็ควรจะระวังได้ ถ้าเราฝึกฝนสติปัญญาให้มันเพียงพอ พอมีหลักการอย่างนี้ มันก็เกิดการง่าย หรือ สะดวกในการที่จะปฏิบัติ จะพูดได้เลยว่าเรามีนิพพานเป็นพื้นฐาน จิตของเราจะเย็นอยู่ตามธรรมชาติ ที่เป็นนิพพานน้อยๆ คือไม่ใช่ ไม่ใช่นิพพานจริง แต่เป็นนิพพานในความหมายอย่างเดียวกัน คือยังไม่ร้อน ยังไม่เป็นทุกข์ ยังเย็นอยู่ตามธรรมชาติ นี้เรียกว่ามีนิพพานเป็นพื้นฐาน ส่วนสังสารวัฏที่ปรุงเป็นกิเลสนั้นเพิ่งมีมาเป็นครั้งเป็นคราว ประเดี๋ยวประด๋าว เอาละ นี้ยอมรับว่าไม่เหมือนกับที่เขาสอนกันอยู่ทั่วๆ ไปนะ เขาสอนกันอยู่อย่างอื่น เรามีวัฏสงสารเสียยืดยาวไม่เคยขาดตอน มีเป็นพื้นฐาน อาตมาบอกว่าไม่จริง อ้า, มีพระนิพพานเป็นพื้นฐาน สังสารวัฏเพิ่งมีเพิ่งเกิด ทีนี้จะเอาฝ่าย อ้า, จะ จะ จะเล่นด้วย อ้า, ฝ่ายไหนก็เอาสิ แล้วเหมือน มันเหมือนกับเล่นการพนันมันจะไปรู้ผลกันข้างหน้าว่าอะไรจะเป็นอย่างไร จะพูดอีกทีหนึ่ง ก็จะพูดว่า เรามีความว่างแห่งจิตเป็นพื้นฐาน อ้า, ความวุ่นแห่งจิตนั้นเพิ่งเกิดเป็นครั้งเป็นคราว ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว ตามบทพระบาลีที่ว่าจิตนี้ประภัสสรนั่นแหละ ดังนั้น พูดไปเสียเลยว่า จิตนี้มีความว่างเป็นพื้นฐาน มีความวุ่นเป็นของมาเป็นครั้งคราว ประเดี๋ยวประด๋าว อ้าว, ทีนี้พูดให้มันน่าตกใจยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก ก็พูดว่า เรามีความไม่ยึดมั่นถือมั่นอยู่เป็นพื้นฐาน เราเพิ่งจะโง่ไปยึดมั่นถือมั่นอะไรเข้าบ้างนี่ เป็นครั้งเป็นคราว ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เราอยู่ด้วยความไม่ยึดมั่นนี่เป็นพื้นฐานทังวันทั้งคืน ทั้งหลับทั้งตื่นด้วยก็ได้ ต่อเมื่อกระทบอารมณ์ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นต้น ด้วยอำนาจไอ้ความโง่ หรืออวิชชา มันจึงเกิดเวทนา อ้า, ตัณหา อุปาทาน และยึดมั่นขึ้นมา นี่ไม่ใช่มีอยู่เป็นพื้นฐาน คือมันเพิ่งเกิด ทีนี้จะพูดให้ เอ่อ, น่าตกใจยิ่งขึ้นไปอีกว่า ฟังแล้วมันก็น่าตกใจว่า เรามีโลกุตระ คือความอยู่เหนือโลกนี่เป็นพื้นฐาน ไอ้โลกียะป็นกิเลสเกิดขึ้นนี่เพิ่งมา หลายคนคงไม่เห็นด้วย เพราะเข้าใจคำว่าโลกุตระ โลกียะนี่คนละแบบ คนละวิธีนะ คนละความหมาย อาตมานั้นถือว่าเมื่อไม่เกิดความยึดมั่นถือมั่น แล้วก็ยังไม่ติดอยู่ในโลก ก็เรียกว่าโลกุตระได้ พอเกิดความยึดมั่นถือมั่นติดอยู่ในโลกก็เป็นโลกียะ คือเป็นความทุกข์ นี่พูดตอนสุดท้ายว่า เรามีโพธิ ในระดับสัญชาตญาณเป็นพื้นฐาน นี้คงจะแปลกบ้าง ฟังแปลกหูบ้าง อ้า, สำหรับคนบางคนที่ไม่เคยได้ยินคำเหล่านี้ เป็นคำใหม่ๆ คำใหม่ การศึกษาปัจจุบันที่เรียกว่า สัญชาตญาณ เรามีสิ่งที่เรียกว่าโพธิ คือเป็นธาตุตามธรรมดาชนิดหนึ่ง ที่มันรู้อะไรได้ ที่มัน เอ่อ, มีหน้าที่ที่จะรู้ สามารถที่จะรู้ แต่ว่ามันยังอยู่ในระดับสัญชาตญาณ รู้ผิดก็ได้ รู้ถูกก็ได้ กิเลสทั้งหลายมันก็เป็นความรู้ คือรู้ผิด ไอ้โพธิในความหมายที่เขาปารถนากันนี่เป็นความรู้ที่ถูก ความรู้ที่ถูกไปตามธรรมชาติ หรือเพราะเป็นไปตามธรรมชาติ มันจึงเป็นความรู้ที่ถูก แต่มันถูกอยู่ในระดับตามธรรมชาติ หรือสัญชาติ สัญชาตญาณ นี้เป็นพื้นฐาน ไอ้ความรู้ที่ผิดๆ คือความรู้ประเภทกิเลสนั้น เพิ่งมา เพิ่งมาเป็นครั้งๆ คราวๆ ซึ่งมันผิดธรรมชาติ หรือมันฝืนธรรมชาติ ทุกคนควรจะพอใจ ภาคภูมิใจว่า เรามีเชื้อแห่งโพธิ เชื้อแห่งพุทธะก็ได้ เป็นพื้นฐานอยู่ในจิตใจ มันพร้อมที่จะดำเนินไปคือ จะก้าวหน้าไปตามทางของความรู้ จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางนี่ เรามีโพธินี่เป็นพื้นฐานอย่างนี้ เราก็รักษามันไว้ให้ดี หล่อเลี้ยงมันไว้ให้ดี มันก็จะเจริญไปถึงที่สุดได้ เชื้อแห่งความเป็นพุทธะ มีอยู่แล้วในสิ่งที่มีชีวิต อย่าว่าแต่คนเลย แม้แต่สัตว์มันก็มี แต่มัน ระดับมันต่ำมาก อย่าว่าแต่สัตว์เลย แม้ในต้นไม้มันก็มี เพราะมันมีชีวิต มันมีความรู้สึก แล้วมันมีความรู้ที่ว่าจะต้องทำอย่างไร ต้นไม้รู้จักต่อสู้ ต้นไม้รู้จักผลัดใบ รู้จัก เอ่อ, ทำทุกอย่างที่เป็นการต่อสู้ให้ชีวิตรอด นี้ก็เรียกว่าเชื้อแห่งโพธิได้เหมือนกัน แต่มันต่ำเกินไป ยิ่งต่ำลงไปอีกสำหรับต้นไม้ สูงขึ้นมาหน่อยหนึ่งสำหรับสัตว์เดรัจฉาน แล้วก็มาสูงมากกันที่คน ก็ควรจะถือว่าเป็นโชคดี โชคดีที่มันได้เป็นอย่างนี้ ดังนั้น ควรจะ อ้า, ถือโอกาส คือ จับฉวยไอ้โชคดีนี้เอาไว้ให้ได้ ให้มันเจริญไปตามลำดับ จนถึงที่สุด คือ โพธิจะเจริญไปในทางถูกต้องจนถึงที่สุด ก็จะเป็นโพธิที่สมบูรณ์ เราเรียกว่า สัมโพธิ หรือเรียกอภิสัมโพธิ ดีกว่า มันจะได้แยกออกไปเสียจากคำว่าโพธิ เฉยๆ ซึ่งมันเป็นเพียงเชื้อแห่งความรู้ตามธรรมดา และรู้ผิดก็ได้ กิเลสก็เป็นโพธิชนิดหนึ่ง มันยากที่จะแยกตัวออกมาจากกิเลส ความรู้มันก็เป็นกิเลสได้ มันรู้ผิด แต่ก็เป็นธรรมชาติเท่ากัน รู้อย่างถูก หรือรู้อย่างผิด เป็นโพธิเท่ากัน เพราะธรรมชาติมันไม่รู้ไม่ชี้ ไอ้เรื่องผิดเรื่องถูก ธรรมชาติมันไม่รู้ไม่ชี้กับเรา มันมีแต่ให้รู้ก็แล้วกัน รู้ผิดก็รู้ รู้ถูกก็รู้ ดังนั้น คำว่าโพธินี้ ยังไม่แน่นอน เป็นกิเลสก็ได้ ต่อเมื่อไรมันถูกกระทำให้เจริญนะ ที่เรียกว่าภาวนา ภาวิตา ทำให้เจริญ มันก็เป็นสัมโพธิ รู้พร้อม รู้จริง รู้ถูก รู้ต้อง อะไรขึ้นมา เป็นอสัมโพธิ เป็นอภิสัมโพธินะ ทั้งอภินะ อย่างยิ่ง แล้วสัม หรือสังคือรู้ นี้คือพร้อม ครบถ้วน ขอให้รู้ว่า มันมีโพธิเป็นพื้นฐาน แล้วก็อย่าประมาทเสีย เดี๋ยวจะเป็นโพธิโง่ เป็นโพธิกิเลส ถ้ารู้ว่าโพธิเป็นพื้นฐานก็ถือเอาให้ถูกต้อง ปรับปรุงให้ถูกต้องให้เป็นโพธิฝ่ายถูกต้องไว้เรื่อยไป จนกว่าจะเป็น อ้า, สัมโพธิ หรืออภิ อ้า, สัมโพธิ ทีนี้ก็จะ อ้า, พูดโดยหัวข้อที่เนื่องกันต่อไปอีกว่าเราทุกคนเป็นโพธิสัตว์ บางคนฟังแล้วไม่เชื่อ แล้วก็ไม่ยอมเชื่อ แล้วก็หาว่า พูดเอาเอง บ้าๆ บอๆ ถ้าเข้าใจคำว่าโพธิอย่างที่กล่าวมาแล้วแต่ต้น ถูกต้อง แล้วก็จะง่ายที่สุดที่จะเข้าใจคำว่า เราทุกคนเป็นโพธิสัตว์ อ้า, หรือกำลังเป็นโพธิสัตว์ โพธิเป็นกลางๆ รู้ผิดก็เป็นกิเลส รู้ถูกก็เป็นโพธิ ในความหมายที่ถูกต้อง โพธิเป็นเพียงพลังงานอันหนึ่งมีหน้าที่จะรู้ เป็นธาตุตามธรรมชาติอันหนึ่ง ซึ่งมีไอ้คุณสมบัติรู้ กิเลสก็เป็นความรู้ โพธิก็เป็นความรู้ มนุษย์บัญญัติเอาเอง ให้มันต่างกัน โดยที่ว่ามนุษย์ไม่ ไม่ต้องการที่ผิด หรือที่เป็นทุกข์ แต่ธรรมชาติยอมรับเสมอกันหมด โพธิที่เป็นสัญชาตญาณนะ มีอยู่ด้วยกันทุกคน ในขณะนี้ ยังไม่มีความรู้ว่าเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติเป็นอย่างไร เหมือนกับลูกเด็กๆ เพิ่งเกิดมาจากท้องแม่ มีเชื้อแห่งโพธิมาเสร็จ แต่ยังไม่เป็นไปถึงขนาดที่จะรู้ว่า อ้า, เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตตินั้นเป็นอย่างไร คำกล่าวนี้ก็เป็นพระพุทธภาษิตอยู่ในพระบาลีบางแห่ง จนกว่าเด็กคนนั้น มันจะเจริญเติบโต ก้าวหน้าศึกษาต่อไปจนมีความรู้พอที่จะรียกได้ว่า อ้า, เจโตวิมุตติ หรือปัญญาวิมุตติในระดับใดระดับหนึ่งก็ได้ กว่าจะสูงขึ้นไปจนถึงระดับสูงสุด และเป็นพระอรหันต์ ขอให้คิดดู เอ่อ, ให้ดีๆ ว่าทุกคนเป็นโพธิสัตว์ คือ เป็นสัตว์ที่กำลังพัฒนาโพธิ กำลังทำโพธิให้เจริญ อย่าเอาไปไว้เสียที่อื่น จนตัวเองไม่ได้อะไร นี้มันเป็นความโง่ของตัวเอง จะไปโทษใครไม่ได้ โพธิมีอยู่ตามธรรมชาติอย่างนี้ มีอยู่ใน เอ่อ, จิตใจของสัตว์ เป็นเชื้อสำหรับจะรู้อย่างนี้ ดังนั้น เราก็พัฒนาให้มันเจริญงอกงามไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ จนกระทั่งมีความรู้เป็นสัมโพธิ เป็นอภิสัมโพธิ เป็นต้น ทุกคนเป็นโพธิสัตว์ คือสัตว์ที่กำลัง อ้า, ทำให้โพธิเจริญ พัฒนาโพธิ ปลูกฝังโพธิ เหมือนกับว่าเพาะเม็ด อ่า, แล้วก็รดน้ำพรวนดินให้มันเจริญเติบโตเป็นดอก เป็นผล ท่านผู้ฟังจะคิดว่าอย่างไรนะ บางคนจะคิดว่าอาตมาประจบผู้ฟัง นี้เป็นไปไม่ได้ ไม่เคยประจบใคร หรือว่าจะเอาอะไรมาล่อมาหลอกกัน ให้หลงกันเล่น ก็ไม่เคยคิดที่จะทำอย่างนั้น มองเห็นอย่างไร เอ่อ, เข้าใจอย่างไร มีความเชื่ออย่างไร ก็จะพูดไปอย่างนั้น ดังนั้น จึงได้พูดออกมาว่า ทุกคนเป็นโพธิสัตว์ เอ่อ, ตามมากตามน้อยเพราะมีเชื้อแห่งโพธิ ติดมาแล้วในจิตใจสำหรับจะวิวัฒนาการต่อไป จนกว่าจะถึงที่สุด สักวันหนึ่งก็จะเป็น เอ่อ, โพธิที่สมบูรณ์ คือเป็นสัมโพธิ เป็นอภิสัมโพธิอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านเป็น ผิดกันแต่ว่าเราพัฒนาเองไม่เป็น เรารับคำแนะนำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาพัฒนาโพธิของเราให้เจริญถึงที่สุด เอ่อ, เป็นสัมโพธิ เป็นอภิสัมโพธิ จนถึงที่สุดที่มันจะเป็นได้ ทีนี้อาตมาจะเรียกร้องบ้างแล้วว่า ถ้ายอมรับข้อนี้ว่าทุกคนเป็นโพธิสัตว์แล้ว ก็ช่วย กันหน่อย รักษาเกียรติของโพธิสัตว์กันบ้าง อย่ามัวโง่งมงายอยู่เลย อย่าจองหองพอง พองขน ดื้อดึง ประชดประชัน แดกดัน แม้แต่บิดามารดา ครูบาอาจารย์อยู่เลย แยกโพธิชนิดกิเลส ออกมาเสียจากโพธิกลางๆ นะ แล้วโพธิกลางๆ นั้นก็จะเป็นปัญญายิ่งขึ้น ยัง เอ่อ, เป็นโพธิเฉยๆ โพธิกลางๆ นั้นยังไม่ปลอดภัย คือรู้ผิดก็ได้ จะดื้อเก่งที่สุดก็ได้ จองหองพองขน ประชดประชัน แดกดันอย่างลึกซึ้งที่สุดก็ได้ นั่นนะ เอากับโพธิกลางๆ สิ มันต้องแยกออกไปให้หมด ใน ใน ในชนิดนั้น ให้เหลือแต่โพธิชนิดที่จะเป็นไปเพื่อสัมโพธิ คือ หมดกิเลสนั่นเอง แยกกิเลสออกไปได้จากโพธิ กลายเป็นสัมโพธิ ก็จบเรื่องกัน นี้ไม่ใช่ เอ่อ, คำกล่าว ไม่ใช่อาตมาจะกล่าวเพื่อประจบผู้ฟัง หลอกผู้ฟัง อ้า, บอกให้รู้ตามเป็นจริงว่า เราเป็นโพธิสัตว์ คือสัตว์ที่กำลังพอกพูนโพธิให้เจริญงอกงามและช่วยกันรักษาเกียรติอันนี้ไว้ด้วย อย่าให้มันสูญเสียเกียรติของความเป็นโพธิสัตว์เลย ใครจะยกบาลีอรรถกถาข้อไหนมาคัดค้านก็เชิญ วันหลังก็ได้ อาตมายังยืนยันอย่างนี้ เพราะคำว่าโพธิสัตว์ที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ หรือตามหลักเกณฑ์ของพระพุทธศาสนานี้เป็นอย่างนี้ พวกอื่นอาจจะกล่าวอย่างอื่น เช่นพวกมหายานเป็นต้น เขาก็อธิบายคำว่าโพธิสัตว์ไปในรูปอื่น แต่เดี๋ยวนี้ เรานั่งกันอยู่ที่นี่ พูดจากันด้วยสติปัญญาของเรา ก็ยืนยันว่าทุกคนเป็นโพธิสัตว์ คือสัตว์ที่กำลังพัฒนาโพธิของตน ของตน ให้เจริญงอกงามไปให้ถึงที่สุด จนกว่าจะเป็นสัมมา อ้า, สัมโพธิดังกล่าวแล้ว การพัฒนาโพธิให้เป็นสัมโพธิ เป็นอภิสัมโพธิ นั้น เป็นหน้าที่ ถ้าใครไม่ถือว่าเป็นหน้าที่ก็แสดงว่าไอ้คนนั้นทำลายประโยชน์ของตัวเอง ปฏิเสธความจริง อ้า, ของธรรมชาติ ขอให้เป็นที่แน่นอนกันเสียทีว่าการพัฒนาโพธิในจิตของเราให้กลายเป็นสัมโพธิ เป็นอภิสัมโพธินั้นเป็นหน้าที่ คนที่ไม่ทำหน้าที่ใช้ไม่ได้ เสียชาติเกิด สิ่งนี้มีให้แล้ว มีอยู่แล้วในขันธสันดานนะ ติดมาแล้วในจิตในใจ อ้า, แล้วไม่รู้จักทำให้มันงอกงามไปจนเกิดดอกออกผล กลับไปทำให้มันตายด้านเสีย อ้า, เพราะฉะนั้น ต้องจัดไว้ว่ามันเป็นคนที่เสียชาติเกิด เป็นโพธิแต่ชื่อ ไม่แยกกิเลสออกไปจนเป็น อ้า,สัมโพธิ หรือเป็นอภิสัมโพธิ อ้าว, ทีนี้มันก็จะได้พูดเรื่องอื่นต่อไปอีกว่า ถ้าเราพัฒนาโพธิได้เต็มตามความจริง หรือข้อเท็จจริงของธรรมชาติแล้วมันจะมี เอ่อ, การได้รับประโยชน์อะไรอีกมากมาย มากมาย มากมายเหลือที่จะกล่าวได้ อะไรๆ มันจะสำเร็จประโยชน์ได้ด้วยโพธิที่พัฒนาแล้ว มีแต่ลักษณะของความถูกต้องโดยส่วนเดียว เป็นสัมโพธิขึ้นมาแล้ว นั้นก็คือ จะสามารถขจัดความทุกข์ให้หมดไปได้ อ้า, ปัญหาใหญ่ของเราก็คือความทุกข์ ขจัดออกไปได้ สิ่งที่ดีที่สุด ประเสริฐที่สุดสำหรับมนุษย์ก็คือ ความไม่มีทุกข์ เราก็ได้ความไม่มีทุกข์มา จะเรียกว่าหลุดพ้นจากกองทุกข์ก็ได้ เรียกว่าบรรลุ เอ่อ, คุณธรรมอันสูงสุดที่มนุษย์จะพึงบรรลุถึงก็ได้ นี่คือ ไอ้ผลของโพธิที่พัฒนากันถึงที่สุด แล้วก็จะเข้าใจได้ต่อไปว่า เราสามารถที่จะเอาชนะได้ เอาชนะความทุกข์ที่มันมีอยู่ ที่เกิดอยู่ เป็นไปอยู่ ตามธรรมดาสามัญได้ หรือว่า เราจะสร้างโลกใหม่ได้ ด้วยอำนาจของโพธินั่นเอง เราจะสร้าง อ้า, ปรโลก คือ โลกอื่นจากโลกที่มีความทุกข์นี้ได้ จะเรียกว่าโลกอุดร หรือโลกุตระก็ได้ ถ้าไม่ถึงนั้น ก็จะสร้างโลกอื่นที่ดีกว่านั้นได้ จะขอตัดตอนพูดใน เอ่อ, ขั้นแรกนี้ทีหนึ่งก่อนว่า ไอ้โลกนี้เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้น บางคนไม่เชื่อแน่นอนนะ แล้วพวกที่ถือลัทธิอื่นที่มีพระเป็นเจ้าเขาก็ไม่ยอมเชื่อ แล้วเขาก็จะด่าเราว่า เราพูดจ้วงจาบเขาว่าเราสร้างโลก เอ่อ, ของเราได้ ในเมื่อเขาจะถือว่าพระเจ้าเท่านั้นที่จะสร้างโลกได้ เราไม่เห็นอย่างนั้น เรามีความรู้ตามแบบของ พุทธบริษัท หรือโพธิที่พัฒนาดีแล้ว มาช่วยให้เรามองเห็นอะไรที่จริงยิ่งขึ้นไปกว่านั้น จนพูดได้ว่าโลกเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้น ขอให้ทนฟังอีกหน่อย โลกที่แท้จริงนั้นต้องเป็นโลกที่ปรากฏแก่จิตใจของเรา แล้วก็สำหรับคนหนึ่ง คนหนึ่ง โดยเฉพาะ โลกชนิดนี้มันเกิดขึ้นเพราะเราสร้างขึ้น ด้วยอวิชชาก็ได้ ด้วยวิชชาก็ได้แล้วแต่จะเล็งกันถึงโลกไหน ชนิดไหน สำหรับใคร ขอให้ทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ไอ้โลกที่แท้จริงนั้นนะ มันไม่ใช่โลกวัตถุ เช่น ก้อนดิน ก้อนหิน ต้นไม้ ต้นไร่ อย่างที่เป็นตัวโลก ได้ครบนี่ อย่างที่เราเรียกว่าโลกๆ แผ่นดินนี่ นี้ก็ยังไม่ใช่โลกตัวจริง หรือไม่มีความหมายอะไรกับเรา จนกว่ามันจะเข้าไปสัมผัสกับจิตใจนี้ ถึงแม้ว่าไอ้ร่างกายมนุษย์ จิตใจมนุษย์นี้ก็ยังไม่ควรถือว่ามันเป็นไอ้โลกที่สมบูรณ์แล้ว เพราะจะต้องสัมผัสกับจิตใจ อีกทีหนึ่ง จิตใจมันก็เป็นจิตใจ มันคิดนึกอะไรได้ ต้องมีอะไรมาสัมผัสกับมันอีกทีหนึ่ง เกิดความรู้สึกขึ้นมาที่ทำให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงได้นี้แหละ เป็นโลกที่แท้จริง หรือว่าเราเอาชนะมันได้เป็นนิพพานขึ้นมา ก็เรียกว่า อ้า, โลกที่แท้จริง โลกแผ่นดินนั้นนะ ยังไม่เป็นโลกหรอก จนกว่าจะมีการสัมผัสด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีความรู้สึกเข้าไปถึงจิต ขณะนั้น เราเรียกว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าโลกนั้นมันมีแล้วกับเรา เกิดขึ้นแล้วกับเรา เข้าไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่ต่อ เป็นที่กระทำให้เกิดขึ้น ดังนั้น ตัดไอ้โลกแผ่นดินนี้ทิ้งไปเสีย เอาความรู้สึกที่รู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ต่อสิ่ง ต่อโลกนั่นแหละ มาเป็นโลกอีกทีหนึ่ง นี้ก็เข้าไปถึงข้างใน เราจะพูดได้ทันทีว่า เอ่อ, พระเจ้าอิทัปปัจจยตา กฎแห่งอิทัปปัจจยตาที่เราได้ยิน ได้ฟังมามากแล้วนี้ มันจะได้สร้างโลกแผ่นดิน สัตว์ คนอะไรขึ้นมาแล้วก็ตาม ก็ยังไม่มีโลกอันแท้จริงแก่เรา มันอยู่ข้างนอก เป็นอิทัปปัจจยตาข้างนอกจนกว่าจะมีการสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วเกิดอิทัปปัจจยตาภายใน หรือข้างใน นี่จึงจะมีโลกที่แท้จริง ที่จะเป็นไปตามอำนาจของวิชชา หรือของอวิชชา ดังนั้น เรามีอวิชชา เราก็สร้างโลกขึ้นมาแบบหนึ่ง เรามีวิชชาก็จะสร้างโลกขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง ตามความรู้สึกของเราที่เกี่ยวอยู่กับวิชชา อ้า, หรืออวิชชา ดังนั้น โลกทุกชนิดเราสร้างขึ้นมาด้วยอวิชชาต่างๆ กัน ด้วยวิชชาต่างๆ กัน ตามความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหล่านั้น ขอให้คิดดูให้ดีว่า ไอ้ทุกคน คนหลายๆ คน เอ่อ, คนที่อยู่ในโลกนี้ด้วยกัน แต่มีความรู้สึกต่อโลกนี้ต่างๆ กัน เช่น บางคนเข้ามาในสวนโมกข์นี้ว่า เหงาตายโหง ไอ้คนบางคนว่า แหม มันสบายบอกไม่ถูก มันเป็นสวรรค์วิมาน นี่ว่ามันจิตใจของเขามันได้สร้างโลกขึ้นในภายใน ของเขา จากแผ่นดินที่เรียกว่าสวนโมกข์นี้ อยากจะให้สังเกตอีกทีหนึ่งว่า ในห้องนอนห้องเดียวกันที่เราเคยนอนนี่ บางวันเราตื่นนอนขึ้นมา รู้สึกว่าโลกนี้มันเป็นอย่างหนึ่ง บางวันเราตื่นนอนขึ้นมารู้สึกว่าโลกนี้มันเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือ บางวันเราตื่นนอนขึ้นมาด้วยความพอใจ เป็นสุขใจ แต่บางวันก็ตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกหงุดหงิด งัวเงีย ไม่มีอะไรเป็นที่น่าพอใจ ทั้งที่โลกนี้มันก็อย่างเดิม สิ่งแวดล้อมตัวเรามันก็อย่างเดิม แต่ว่าภายในจิตใจนั้นไม่ใช่อย่างเดิม บางวันตื่นขึ้นมาด้วยความ ความคิดปรุงแต่ง ด้วยจิตที่ปรุงแต่งในภายในนั้น เป็นอวิชชาอย่างแรง บางวันก็เป็นวิชชาบ้าง บางวันก็เป็นอวิชชาน้อย หรือเป็นวิชชาน้อย ฉะนั้น เราจึง เอ่อ, มีจิตใจที่ต่างกันแล้วก็สัมผัสสิ่งที่แวดล้อมอยู่รอบๆ ตัวเรา ในลักษณะที่ต่างกัน เราเลยมีโลกต่างๆ กัน นี่เรียกว่าโลกเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาในลักษณะที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น ถ้าว่าเรามีความรู้เรื่องจิตใจดีมากถึงที่สุดแล้ว เราอาจจะบังคับจิตใจของเราได้ แล้วให้มันสร้างโลกอะไรขึ้นมา ให้เป็นที่พอใจไป ไปหมดได้ เรียกว่า จะสร้างโลกที่งดงามเป็นที่พออกพอใจได้ทุกวัน ทุกคืน ๆ ทุกปีก็ได้ มันทำได้ถึงอย่างนี้ ตามธรรมชาติทำได้อย่างนี้ แต่เราทำไม่ได้ เพราะว่าเรา เอ่อ, ไม่เป็นอำนาจ เอ่อ, ไม่มีอำนาจเหนือจิตใจ บังคับจิตใจไม่ได้ ไอ้จิตใจมันก็สร้างโลกไปตามบุญตามกรรมของมัน ตามแต่ที่ว่าวันไหนมันมี อ้า, สถานะอย่างไร มีภาวะอย่างไร จิตใจมันก็สร้างโลกของมันไปตามแบบนั้น ดังนั้น เรา เอ่อ, จึงรู้สึกว่า ตื่นนอนขึ้นมาบางวันโลกเป็นอย่างหนึ่ง บางวันโลกเป็นอีกอย่างหนึ่ง เกือบจะไม่ซ้ำกันเลย ถ้าเป็นเอามากๆ อ้า, เราก็รู้สึกว่าในวันหนึ่งวันหนึ่งนี่โลกมันก็เปลี่ยนเป็นหลายแบบเสียแล้ว เช้าก็อย่างหนึ่ง เย็นก็อย่างหนึ่ง ค่ำก็อย่างหนึ่ง ในที่นอนที่เราเคยนอน ที่นอนเดียวกันนั่นแหละ อ้า, มันก็สร้างความรู้สึกในทางจิตใจได้ต่างๆ กัน เพราะฉะนั้นเราจึงรู้สึกต่อที่นอนของเรา ที่นอนเดียวกันนั้นแหละ ในความหมายที่ต่างกัน ในความ เอ่อ, รู้สึกเป็นเวทนาที่ต่างกัน เก้าอี้ตัวเดียวกันนั่นแหละ วันหนึ่งเรานั่งลงไปรู้สึกอย่างหนึ่ง วันอีกวันหนึ่งนั่งลงไปรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง มันแล้วแต่ว่าจิตใจในขณะนั้นมันกำลังเป็นอย่างไร ที่แท้ก็เป็นเรื่องของอนุสัย หรือกิเลส อุปาทาน เหล่านี้ทั้งนั้น โลกก็เปลี่ยนไปตามอำนาจของกิเลสเหล่านั้น โลกจึงต่างกันเพราะว่าเราสร้างมันขึ้นมาได้โดยไม่รู้สึกตัวตามอำนาจกิเลสนั่นเอง เราจงพยายาม เอ่อ, ศึกษาข้อนี้กันให้มาก คือ ชนะจิตใจ ควบคุมจิตใจให้ได้มาก แล้วเราก็จะบังคับจิตใจให้สร้างโลก อ้า, ที่น่าอยู่ น่าดูกว่าที่แล้วมา นี้เรียกว่า โลกเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้น ถ้าใครเห็นว่ามันละเอียด หยุมหยิม จู้จี้ เอ่อ, มากเกินไป ไม่อยากจะสนใจก็ตามใจ ถือว่าอาตมาไม่ได้พูดเรื่องนี้ก็ได้ แต่ถ้าใครรู้สึกว่ามันยังอยู่ในวิสัยที่จะเข้าใจได้ หรือทำได้ อบรมจิตใจให้ดีที่สุดที่จะทำได้ เหมือนกับที่ได้สอนไว้ในแบบวิธีต่างๆ ของการ เอ่อ, อบรมจิตใจ ฝึกฝนจิตใจนั่นแหละ เราจะสร้างไอ้ โลกได้ตามพอใจ สร้างกามโลก มีความรู้สึกที่ชุ่มไปด้วยความรู้สึกทางกามก็ได้หลาย หลายๆ ชั้นเสียด้วย สร้างรูปโลก หรือพรหมโลก ชนิดที่มีรูปขึ้นในจิตใจก็ได้ แล้วจิตใจก็ดื่มด่ำอยู่ในความรู้สึกชนิดที่มันเป็นไอ้รูปโลก หรือพรหมโลกอย่างที่มีรูปก็ได้ ถ้าเก่งไปกว่านั้นอีก ก็ไปถึงอรูป มีอรูปฌาน ผลของอรูปสมาธิ มันก็สร้างอรูปโลกขึ้นมาในจิตใจได้ จิตใจจะรู้สึกแต่ในโลกอย่างนี้ ไม่รู้สึกในโลกอย่างอื่น เพราะว่าเราบังคับจิตใจอยู่ในอำนาจของเราอย่างเต็มที่ นี่ เรียกว่าสร้างโลกอื่นได้ เอ่อ, ตามที่เราต้องการ จนกระทั่งว่า อ้า, จะสร้างโลกุตระขึ้นมาได้ โลกุตระนั้นสร้างไม่ได้หรอก แต่เราทำให้ปรากฏได้ เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกว่าเราสร้างขึ้นมาได้ เพราะเราปรับปรุงจิตใจของเราให้สัมผัสกันได้กับภาวะที่เรียกว่าโลกุตระนั้น เดี๋ยวนี้ มาพูดถึงปรโลกกันดีกว่า เดี๋ยวนี้เรายัง เรายังไปไหนไม่ได้ เอ่อ, มากมายอะไรนัก มาพูดถึงคำว่าปรโลกกันดีกว่า แล้วก็จะสอนเด็กๆ ให้รู้จักปรโลกนี้ได้ด้วย ปรโลกที่รู้กันอยู่ทั่วไปเขาหมายถึงโลกอื่นหลังจากตายแล้ว นี้มันโง่กี่มากน้อย มันต้องตายแล้วมันถึงจะไปปรโลก หรือโลกอื่น มันจำกัดมากเกินไป แต่ความจริงมันไม่เป็นอย่างนั้น เราปรับปรุงจิตใจของเราได้อย่างไร โลกนี้ก็จะเป็นโลกอื่นไปทันที ตามความเปลี่ยนแปลงของจิตใจนั้น เพราะฉะนั้น เราสร้างปรโลกได้ที่นี่ เวลานี้ อ้า, ที่นี่หรือเวลานี้ หรือเดี๋ยวนี้ได้ ด้วยการกระทำในทางจิตใจให้มันเปลี่ยนไปอยู่ในภาวะอย่างอื่น นี้ก็เรียกว่าปรโลกได้เพราะ ปร (ออกเสียง ปะ-ระ) แปลว่าอื่น ปรโลกแปลว่าโลกอื่น อื่นคือไม่เหมือนกับที่เรากำลังรู้สึกอยู่ตามธรรมดา เราเกิดมามีความ เอ่อ, มีการศึกษา มีการเป็นอยู่ตามธรรมดาเหมือนอย่างที่เป็นอยู่อย่างซ้ำๆ ซากๆ แล้วเราก็เบื่อ เราอยากจะอยู่ในโลกอื่น จะชิมรสของโลกอื่น เราก็ปรับปรุงจิตใจให้มันสามารถที่จะมีความรู้สึกอย่างอื่น เอ่อ, เลื่อนชั้นไปเป็น กามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร ตามวิธีฝึกสมาธิภาวนานั่นเอง ดังนั้น เราอาจจะสร้างไอ้โลกชนิดไหนก็ได้ เทวโลก มารโลก พรหมโลก ชนิดไหนก็ได้ อ้า, ถ้าเราเก่งจริงในการที่จะฝึกฝนอบรมจิตใจ ทีนี้มันก็ดีสิ ที่ว่านั่งอยู่ที่นี่ เราเข้าไปสู่ปรโลกอื่นได้ คือไปพรหมโลกได้ในพริบตาเดียว เปลี่ยนภาวะของจิตใจไปอยู่ในลัก ในลักษณะของรูปฌาน อรูปฌาน มันก็ไปอยู่ในปรโลกแล้ว ในพริบตาเดียวนั้นแหละ ร่างกายจะอยู่ที่นี่ก็ไม่มีปัญหาอะไร คือยังเป็น อ้า, คนเดิม เป็นร่างกายเดิมนี่ แต่จิตใจมันไปอยู่โลกอื่นแล้ว นี่ปรโลกอย่างนี้มันน่าสนใจ ควรจะศึกษาดู แล้วพยายามทำให้ได้คือ ถ้าว่ามันเกิดไอ้ความร้อนเป็นไฟขึ้นมาในโลกนี้ เอ่อ, เราก็เปลี่ยนไปอยู่ในโลกอื่นซึ่งมันเย็นเป็นน้ำก็ได้ ผัวเมียทะเลาะกัน เหมือนกับอยู่ในกองไฟ ตกนรกทั้งเป็น คนหนึ่งมันเก่งมาก มันเปลี่ยนจิตใจชั่วครู่เดียว มันก็ไปอยู่โลกอื่นได้นี่มันจะดีหรือไม่ดี ลองคิดดูข้อนี้ ที่อาตมาอยากจะบอกก็บอกว่า เอ่อ, ทำงานอยู่ก็ได้ หรือทำไร่ทำนา ทำการทำงานอยู่ เรามีจิตใจอยู่ในโลกอื่นก็ได้นะ ล้างจาน อ้า, ถูบ้าน อะไรอยู่นี่ มีจิตใจอยู่ในพรหมโลกก็ได้ ถ้ามีสมาธิอยู่กับการงาน มีสติอยู่กับการงาน ไม่เกิดการปรุงแต่งเป็นผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทานอย่างอื่น จิตมีสมาธิแน่วแน่อยู่ในการกระทำนั้น จิตนั้นไปอยู่ในพรหมโลกก็ได้ ร่างกายก็ถูบ้านอยู่ ล้างจานอยู่ แต่ไม่มีใครทำอย่างนี้ เพราะเหตุว่า เอ่อ, เป็นแม่บ้านนี่มันไม่อยากล้างจาน ถ้าต้องล้างจานมันก็ฝืนใจทำอยู่ด้วยหงุดหงิดนะ ความหงุดหงิดมันก็ตกนรกทั้งเป็น มันล้างจานไปพลาง มันตกนรกไปพลาง นี่ก็สมน้ำหน้ามัน นี้ถ้าคนหนึ่งมันสามารถที่จะมีจิตใจปรกติ ล้างจานอยู่จิตใจมันไปอยู่พรหมโลกก็ได้ นี่เราอยู่ในโลกอื่นได้แม้ อ้า, ในขณะที่ทำ งานอยู่ อ้าว, จะให้มันดีกว่านั้นอีก เวลาที่เจ็บไข้อยู่ก็ไปอยู่ปรโลกได้ เจ็บไข้เป็นโรคอะไรก็ตามนะ ที่มันเจ็บไข้อยู่นั่นแหละ เอาจิตใจไปไว้ที่โลกอื่นเสียก็ได้ ไอ้ความเจ็บความไข้ อ้า, ก็ทำอะไรไม่ได้ นี่มันเก่งมากถึงขนาดนี้ เจ็บป่วยอยู่ด้วยโรคที่มีเวทนาแข็งกล้า แสบเผ็ด เขาก็ยังเอาจิตใจไปไว้ที่อื่นได้ อยู่ในโลกอื่นได้ ปล่อยให้ร่างกายนี้ อ้า, มันอยู่ของมันไปอย่างนั้นนะ กว่าโรคมันจะหาย หรือกว่ามันจะตายไปก็ได้ มันแล้วแต่เหตุปัจจัยในส่วนนั้น นี่เรื่องใหญ่ๆ มันเป็นอย่างนี้ ทำงานอยู่ก็มีปรโลกอื่นอยู่ได้ เจ็บไข้อยู่ก็มีปรโลกอื่นอยู่ได้ ทีนี้ไอ้เรื่อง เอ่อ, ที่มันเป็นปัญหาในชีวิตประจำวันนั้นนะ จะต้องเอามาคิดให้มาก เรา เอ่อ, ทำอะไรผิดอยู่ มีอะไรเกี่ยวพันกันอยู่ เป็นความกันอยู่ มีคดีกันอยู่ แพ้คดี แพ้ความ หรือว่าถูกตัดสินจำคุก ถูกตัดสินลงโทษอะไรก็ตาม เราก็ยังมี เอ่อ, โอกาสที่จะทำจิตใจให้ไปอยู่ในปรโลกอื่น ไม่หงุดหงิด วุ่นวาย เดือดร้อนไปตามอำนาจ อ้า, ของไอ้สิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ใน ทางร่างกาย หรือในทางโลก ใครมันจะรับประกันได้ ไอ้คนดีๆ ก็ติดคุกติดตารางได้ ไม่ได้ทำผิดอะไรเลย อย่างนี้มันก็บ่นกันว่าโชคร้าย เป็นทุกข์ เป็นอะไรไปตามเรื่อง อาตมาคิดว่า มันมีทางที่จะไปอยู่โลกอื่นเสียได้ ทั้งที่ไอ้ร่างกายมันขาติด อ้า, ตรวน อ้า, ขาติดตรวน กรุ๊งกริ๊งๆ อยู่ในเรือนจำนี่ อย่างนี้ยังไม่เอาเหรอ มันอยู่ปรโลกอื่นได้โดยจิตใจ ทีนี้ เอ่อ, จะดูให้ละเอียดลงไปอีก ที่นั่งอยู่ที่นี่ทุกคนนะ อาตมาคิดว่าอยู่ในโลกที่ต่างๆ กัน ไม่ได้เหมือนกันทุกคนนะ ไม่ได้ ไม่ได้ว่า มานั่งอยู่ที่แผ่นดินนี้ ในสวนโมกข์นี้ แล้วรู้สึกว่าเป็นโลกเหมือนกันหมด อย่างเดียวกันหมด นี้เราไม่มีอะไรมองจิตใจของผู้อื่นได้ อ่านจิตใจผู้อื่นไม่ออก เราก็เลยเหมาๆ เอาว่า มันเหมือนกันหมด ที่จริงมันไม่เป็นอย่างนั้น มันแล้วแต่ว่าไอ้ สถานะแห่งจิตใจของใครมันเป็นอย่างไร รู้สึกอะไรได้เท่าไร อย่างที่ได้บอกแล้วเมื่อสักครู่นี้ว่า บางคนมันมานั่งที่นี่มันว่าเหงาจะตาย เหมือนกับตกนรก แหมบางคนบอกว่า มันสบายบอกไม่ถูก เหมือนกับขึ้นสวรรค์ อ้าว, ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็อยากจะเปรียบเทียบต่อไปอีกว่า ไอ้ลูกเด็กๆ นะ มันอยู่กันคนละ ละโลกกับเรา อาตมาเห็นเด็กเล็กๆ มันวิ่งอยู่ในวัดนี้ แต่มันอยู่คนละโลกกับอาตมา เอ่อ, ที่อยู่ด้วยความรับผิดชอบ หน้าที่การงาน ภาระต่างๆ ที่มันอยากจะโง่ไปรับเอามาทำให้มันลำบาก ไม่ค่อยมีการพักผ่อนอะไร แต่ลูกเด็กๆ ตัวเล็กๆ นั้น เขาอยู่สบายมาก เขาไม่มีความรู้สึกอย่างนี้ เขาไม่มีโลกอย่างนี้ เขามีเรื่องเล่นหัวตามแบบของเขา มาเรียกหลวงตาๆ แหม ขอนั่นที ขอนี่ที มันก็สบายใจไปหมด ไอ้เด็กๆ นี้มันอยู่คนละโลกกับเรา เราอยู่โลกอีกโลกหนึ่ง ถ้าใครเข้าใจเรื่องนี้ก็จะเข้าใจได้ชัดยิ่งขึ้นไปอีกว่า เราอยู่โลกที่ต่างๆ กันได้ อ้า, เราอยู่ในโลกอื่นต่างหากจากกันได้ เด็กๆ เขาอยู่ในโลกที่งดงาม สดชื่น น่าอยู่มากกว่าเรา สังเกตดูเถิด พอจะอ่านออกว่าจิตใจของเด็กๆ นั้น มันเป็นอย่างไร มันเกือบจะไม่รู้จักความทุกข์เลย แม้จะถูกตีบ้างมันก็ไม่ได้มีความทุกข์ เหมือนกับว่า ไอ้คนผู้ใหญ่ที่ไม่ถูกตี แต่มีความทุกข์ทับถมอยู่เหมือนกับภูเขาเลากา เอาไปคิดดูว่า ไอ้ลูกเด็กๆ นี่มันอยู่กันคนละโลกกับเรา แล้วเด็กแต่ละคนๆ มันก็ไม่ได้อยู่ในโลกเดียวกัน มันมีจิตใจต่างกันตามมากตามน้อย ดังนั้น เด็กแต่ละคน มันก็ยังอยู่กันคนละโลก กว่ามันจะเป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นผู้ เอ่อ, พ่อบ้านแม่เรือน เป็นคนเฒ่าคนแก่ มันเปลี่ยนโลกมากมายเหลือเกิน ถ้าทำจิตให้เหมือนกับจิตของเด็กในท้องมารดาได้ มันก็เป็นอีกโลกหนึ่ง บางคนเขาก็แนะนำอย่างนั้น เอ่อ, พวกเซน พวกอะไรเขามีวิธีสอนแปลกๆ ไปให้ทำจิตเหมือนกับเด็กที่อยู่ในครรภ์ดูบ้าง มันอีกโลกหนึ่งต่างหาก มันยังไม่เคยรู้สึกอะไร ทางตา ทางหู ทางจมูก อ้า, ทางลิ้น ทางกาย อะไร มันอยู่ในโลกอีกชนิดหนึ่ง มันเป็นทุกข์ได้ยาก นี้เรียกว่าปรโลกทั้งนั้น เพราะฉะนั้น อยากจะขอพูดว่า ถ้ายังไม่อาจจะอยู่เหนือโลก ก็หัดอยู่ในปรโลก ที่น่าอยู่ยิ่งกว่าที่กำลังมีอยู่ก็แล้วกัน มีลูก เอ่อ, โลกอื่น หรือปรโลกอื่น ที่มันดีกว่าที่เรากำลังอยู่ แล้วเราก็จะหลบหลีกไอ้ ความทุกข์ได้มากทีเดียว อยากไปอยู่ในโลกนรกดูบ้างก็ได้ อ้า, ลองทำจิตให้มันผิด ผิดไปในทางของไอ้ ของธรรมะ ที่เป็นความถูกต้องนี่ เดี๋ยวมันก็จะร้อน มันจะวิตกกังวล มันจะอาลัยอาวรณ์ นั่งอยู่ที่นี่ลองทำความคิดให้ผิดๆ ไปถึงบ้านที่กรุงเทพฯ ดูเถิด เดี๋ยวมันก็จะได้อยู่ปรโลกชนิดที่นรกทันอกทันใจได้เหมือนกัน นี่เราสร้างโลกของเราได้ในลักษณะอย่างนี้ อ้า, สร้างโลกอื่นให้มันแปลกประหลาดออกไป ในลักษณะที่ไม่น่าเชื่อ ดังนั้น ก็ขอให้เลือกเอาว่าจะชอบอย่างไหน อาตมาขอยืนยันว่า ปรโลกในความหมายอย่างนี้แหละมันจริง เอ่อ, มันจริงกว่ามันเห็นได้ชัด ชัดกว่าปรโลกที่เขาพูดกันมากๆ ว่า เข้าโลงไปแล้วโน่น ก็เลยจะไปได้ปรโลก ไม่มีเหตุผล ไม่น่าเชื่อถือ ไม่ยอมเชื่อ เพราะมันไม่เห็น เอ่อ, ไม่รู้สึกได้โดยประจักษ์ เหมือนกับปรโลกอย่างที่กำลังว่า เอ่อ, ให้ฟัง ฉะนั้น เราสร้างปรโลกที่น่าพอใจ น่าอยู่ ให้ทันท่วงทีกับปัญหาที่มันเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา เราไม่ต้องร้องไห้ อ้า, เหมือนคนบางคนที่ร้องไห้เก่ง เราก็ไม่ต้องหัวเราะ เหมือนบางคนที่มันหัวเราะเก่ง เหมือนกับคนบ้า เราก็สร้างโลกที่มันปรกติๆ อยู่ มันอยู่ในวิสัยที่ทำได้อย่างนี้เอง นี่คือ อ้า, สิ่งที่น่าเอามาพิจารณากัน ถึงกับที่ว่าเอามาล้อกันเล่นก็ได้คือ กล้าพูดว่า เราสร้างโลกได้ ไอ้โลกนี้เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาได้ตามความพอใจของเรา เราอาจจะสร้าง อ้า, โลกอื่นอยู่ได้ ทั้งที่ไอ้ร่างกายนี้มันกำลังอยู่ใสภาพอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเราไม่ปรารถนา แยกจิตใจออกไปอยู่เสียที่โลกอื่น ทีนี้ก็พูดเรื่องต่อกันไปอีก ที่จะสร้างโลกใหม่ สร้างโลกอื่น อ้า, สร้างโลกที่น่าพอใจอยู่ ในขณะที่ไอ้ ร่างกายนี่มันเผชิญกันกับเหตุการณ์ในบ้านในเรือน ในโลก ในบ้านเมือง ชนิดที่เลวร้ายที่สุด ไอ้ร่างกายมันเผชิญกันอยู่กับไอ้สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด แต่จิตใจหนีไปอยู่เสียที่ปรโลกอื่น ที่เยือกเย็นที่สุด จะทำได้อย่างไร ก็คือทำได้ด้วยการ ไอ้ เปลี่ยนจิตใจใหม่ สร้างจิตใจใหม่ ฝึกฝนจิตใจชนิดที่เราจะต้องการให้เป็นอย่างไร มันก็เป็นอย่างนั้นได้ นี่คือวิธีที่เรียกกันว่ากรรมฐาน หรือภาวนา เจริญสมาธิ วิปัสสนา อ้า, ทำ อ้า, ทำ เอ่อ, ทำสมาธินะ พูดกันให้มันเป็นธรรมดาสามัญหน่อย ก็ทำสมาธิ คือ ทำจิตใจให้อยู่ในอำนาจตามที่ต้องการ ว่าจะให้มันอยู่อย่างไร จะให้มันสงบเสีย ให้เป็นพรหมโลกเสียก็ได้ หรือประณีตยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นพรหมโลกชั้นสูงสุดต่อไปอีกก็ถึงกับว่าเป็นพรหมโลก อ้า, ที่ไม่มีรูป อย่างนี้ก็ได้ เดี๋ยวนี้จะทำอย่างไร ก็ฝึกจิต ปัญหาก็เกิดขึ้น คือฝึกไม่ได้ นี้มันเป็นความโง่ของคน เอาละ เป็นอันว่า เดือนหนึ่งก็ได้ ถูกถามปัญหาเรื่องนี้ ของคนโง่ชนิดนี้ เขาทำอย่างไรมันจึงทำไม่ได้ พอลงมือทำ มันก็เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ กำหนดลมหายใจก็ไม่ได้ กำหนดอะไรก็ไม่ได้ มันถามกันแต่อย่างนี้ ในที่สุดก็พบได้ว่า มันเป็นคนเหลวไหล เป็นคนไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าจิต ไม่รู้จักไอ้ระบบของการฝึกจิต ว่าจะต้องทำอย่างไร นี่ก็จะเล่าให้ฟัง คนเหล่านี้ เอ่อ, พอไปลงมือทำสมาธิกำหนดลมหายใจ หรือกำหนดอะไร ใน ในนาทีแรก ใน ๒ – ๓ นาทีแรก ใน ๕ นาทีแรก นั้นนะ มันก็พ่ายแพ้แล้ว มันก็ยอมแพ้ เพราะทำไม่ได้ มีแต่ทำไม่ได้ มีแต่หนีไปทางนั้น หนีไปทางนี้ เปลี่ยนไปทางนั้น เปลี่ยนไปทางนี้ บางคนก็เห็นอะไรแปลกๆ ไม่เข้ารูปเข้ารอยได้ แล้วก็เลิกเสีย แล้วให้อาต อาต อาตมามาช่วยแก้ปัญหา ให้ตอบคำถาม ให้อธิบาย ก็ไม่รู้จะตอบอย่างไร ที่เป็นโดยมากนั้น สรุปความได้ว่า มันเป็นคนโง่ มันต้องการจะขี่รถจักรยานให้เป็นโดยไม่ต้องหกล้ม เราบอกกับเขาว่า มันเหมือนกับไอ้ขี่รถจักรยานจิต เอาจิตมาเป็นรถ รถจักรยาน แล้วก็ขี่ มันก็ต้องหกล้มหลายหนแหละ เช่นเดียวกับไอ้ขี่รถจักรยานธรรมดา กว่าจะเป็นนี่ มันต้องหกล้ม ถามดู มันก็หกล้มกันทุกคนแหละ เคยหกล้มหลายหนนะ กว่าจะขี่รถจักรยานได้ แต่พอทีมาขี่ ไอ้รถจักรยานจิตนี่ มันไม่ต้องการให้เป็นอย่างนั้น หรือมันไม่ยอมให้เป็นอย่างนั้น มันไม่เข้าใจว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้น เราขี่รถจักรยานจิต นี่มันก็จะต้องหกล้ม คือ ฟุ้งซ่าน หนีไปเสีย ไม่กำหนดอารมณ์ นิมิตอะไรได้ นี่ก็ต้องลุกขึ้นมาขี่มันอีกแหละ เหมือนกับขี่รถจักรยานนะ การหกล้มมันสอนให้ อย่าโง่ไปนัก ว่าเราขี่รถจักรยานเป็นนั้น ไม่ใช่ใครมาสอนได้ ไอ้การหกล้มนั่นแหละมันสอนให้ สอนให้ทุกที จนประคองได้ ไม่ล้ม ขี่คดไปคดมา คดไปคดมา แล้วมันก็สอนให้อีก จนขี่ไม่คดไปคดมา แล้วมันก็สอนให้อีก จนขี่ปล่อยมือก็ได้ ใครมันสอน ใครมันสอนได้ นี้การฝึกจิต หรือขี่รถจักรยานจิตนี่ก็เหมือนกัน ไม่มีอาจารย์ไหนมาสอนให้ได้ ขืนพูดมันก็โง่ อาจารย์คนไหนว่าสอนได้ มันก็อวดดี มันเพียงแต่บอกให้รู้ว่า ทำอย่างไร เหมือนกับจับรถจักรยานแล้วขี่อย่างไร ต่อนั้นไปไอ้การล้ม มันสอนให้ ขี่รถจักรยานจิตนี่ก็เหมือนกัน ต่อนี้ไป การทำไม่สำเร็จนั่นแหละมันสอนให้ จิตมันฟุ้งซ่าน จิตมันหนีไป จิตมันไม่กำหนดอารมณ์ตามที่เรา เอ่อ, ต้องการ นั่นคือ การหกล้ม มันหกล้มทีไรมันจะสอนให้ทุกที แต่คนโง่มัน ไม่ยอมรับ มันไม่คอยสังเกตที่จะรับ ในเมื่อมันสอนให้ มันก็เลยทำไม่ได้ แล้วก็เลยเลิกกัน ยอมแพ้ แล้วทิ้ง ไม่ฝึกจิตนี้อีกต่อไปเพราะเขาโง่มาก จนไม่อาจจะถือเอาไอ้ การสั่งสอนของจิตนะ ที่มันดิ้นรน มันกวัดแกว่ง มันไม่เป็นสมาธิ พอจะทำให้เป็นสมาธิมันไม่เป็น มันล้มละลายทุกที คนก็ถือว่าล้มละลายไปหมด ไม่ถือว่าเป็นการสอน แต่ถ้าใครสักคนหนึ่งมันตั้งปณิธานใหม่ มันต่อสู้เรื่อยไป อย่างกับขี่รถจักรยาน ล้มก็ขี่อีก ล้มก็ขี่อีก ล้มก็ขี่อีก หลายหนเข้ามันก็ขี่ได้ ไอ้ทำจิตให้เป็นสมาธิก็อย่างนั้นแหละ ต้องทำใจดีสู้เสือ ไม่ยอมแพ้ มันก็ลุกขึ้นมาทำต่อไปอีก ไม่เท่าไหร่มันก็จะได้ นี่ความโง่ของเรา ทำให้เราพลาดจากประโยชน์ที่ควรจะได้ ความไม่พยายามให้เต็มที่ของเราหลอกให้เราเข้าใจว่า เราไม่มีอุปนิสัย เราไม่มีบุญ เราไม่มีวาสนาที่จะทำสมาธิได้ ก็เลยเลิกกัน ตลอดชาติมันไม่มีทางจะทำได้ ก็ต้องเรียกว่าคนนี้มันเสียชาติเกิด ในการที่จะทำสมาธินะ จะเอากันอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่าไอ้ความพากเพียรพยายามนะ เธอทำเอง อ้า, พระตถาคตนี่เพียงแต่เป็นผู้ชี้ทางแนะแนว แล้วก็เดินเอง แล้วก็ทำเอง ล้มลุกคลุกคลานก็ต่อสู้กันเรื่อยไป มันก็ประสบความสำเร็จ เดี๋ยวนี้เราไม่ประสบความสำเร็จในการบังคับจิต เราจึงสร้างปรโลกไม่ได้ อยู่ที่นี่เวลานี้สร้างปรโลกอันอื่นให้จิตอยู่ไม่ได้ เพราะเราไม่ฉลาดในการฝึกฝนจิต อาตมาจึงถือว่า มันเนื่องกันมันเกี่ยวข้องกัน อุตส่าห์ฝึกฝนขี่รถจักรยานจิตให้ได้ เอาชนะจิตให้ได้ ควบคุมจิตให้ได้ ก็จะสร้าง อ้า, ปรโลกนี้ได้ ตามที่ตัวต้องการ และเหมือนว่าเล่น ขอให้ทุกคนพิจารณาดู สังเกตดู ว่าอันนี้มันมีข้อเท็จจริงอย่างที่อาตมากำลังกล่าวหรือไม่ ถ้ามันจริงอย่างที่ว่านี้ ก็ไปตั้งต้นกันเสียใหม่ ไปหัดขี่ เอ่อ, รถจักรยานจิตกันเสียให้ได้ทุกคน แล้วก็จะสร้าง อ้า, ปรโลกได้ ตามที่ตัวต้องการ ในที่สุดก็จะสร้างไอ้โลกุตระ หรือโลกอุดรได้ คืออยู่เหนือโลกโดยประการทั้งปวง ตัดความยึดมั่นถือมั่นได้ คือหลุดออกไปจากโลกได้ อยู่เหนือโลกได้เพราะการบังคับจิตได้ ฝึกฝนจิตได้
ทีนี้ก็จะมาถึงเรื่องติด เรื่องหลุด กันอีกซักเรื่องหนึ่ง เรื่องติด เรื่องหลุดนี้ก็พูดกันมามากแล้ว อาตมาจำได้ แต่ผู้ฟังจะจำได้หรือไม่นั้นมันอีก อีกเรื่องหนึ่ง เรื่องติด เรื่องหลุด ก็ควรจะนึกถึงข้อที่ว่าตามธรรมดามันไม่ได้ติด หรือจะเรียกว่ามันหลุดอยู่เป็นปรกติ เป็นพื้นฐานก็ได้ แต่เมื่อควบคุมจิตไม่ได้ มีสติไม่พอ ป้องกันไว้ไม่ได้ มันก็เกิดอาการ เอ่อ, ที่เรียกว่าติดขึ้นมาทันที อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เกิดขึ้นแล้ว ไม่มีสติเพียงพอ ไม่มีปัญญาเพียงพอ มันก็เผลอไปในทางที่อวิชชาเข้ามายึดครองสัมผัส เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน มันก็ติด ทุกคราวที่ติดมันก็เป็นทุกข์ตลอดเวลาที่มันติดกว่ามันจะหลุด ถ้าเราฝึกฝนจิตดีอย่างที่เรียกว่าขี่รถจักรยานจิตได้นี่ ก็บังคับจิตให้ลัด เลาะเลี้ยวไปเสียในทางที่มันจะไม่ติด มีสติเพียงพอ นั่นนะเป็นข้อที่สำคัญกว่าสิ่งใดหมด เดี๋ยวนี้ เราไม่มีสติเพียงพอ แล้วเราก็ไม่ได้ฝึก เอ่อ, สติให้เพียงพอ เอ่อ, รู้จักสติปัฏฐานกันแต่ชื่อ ขออภัยที่จะพูดว่า ยังสอนสติปัฏฐานกันไม่ถูกต้อง ไม่สมบูรณ์ ถ้ามีการสอน เอ่อ, เรื่องสติปัฏฐานอย่างถูกต้องและสมบูรณ์แล้ว ก็จะมีสติที่เพียงพอ