แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธทาส : วันนี้ไม่ต้องมีปฐมนิเทศ ถามปัญหาได้เลย
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : ขอเรียนถามท่านอาจารย์เกี่ยวกับเหตุผลที่ท่านไม่จัดศาสนาเป็นเรื่องของปรัชญาทั้งในเรื่อง ในแง่ มโนนิยมและวัตถุนิยม แต่เป็นธรรมนิยมหรือบริสุทธิ์นิยม คือเรื่องนี้มีผู้ที่อ่านจากหนังสือ โยมที่อ่านจากหนังสือ บรมธรรม อ่านแล้วก็ไม่มีความเข้าใจเท่าไร ก็เลยฝากเรียนถาม
พุทธทาส : เอ้าถามใหม่ พูดให้ชัดหน่อย
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : อยากจะเรียนถามเหตุผลที่ท่านไม่จัดศาสนาเป็นเรื่องของปรัชญาทั้งในแง่มโนนิยมและวัตถุนิยม แต่เป็นธรรมนิยมหรือบริสุทธิ์นิยม
พุทธทาส : เอ้า, แล้วอะไรอีกล่ะ
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : ทั้งๆที่ปรัชญาก็เป็นแนวทางในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน เช่นเดียวกับศาสนา
พุทธทาส : นี่คงเอาสองปัญหามารวมกัน คือว่าพุทธศาสนาตัวแท้ ไม่, ไม่เป็นปรัชญา คือเป็นศาสนา นี่ก็ประเด็นหนึ่ง และถ้าพุทธศาสนาเป็นปรัชญา คือถ้าเราจะพูดให้เป็นปรัชญา ก็ไม่ควรจะจัดว่าเป็นวัตถุนิยม หรือมโนนิยม อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยส่วนเดียว แต่ให้เป็นความถูกต้องระหว่างวัตถุนิยมและมโนนิยม เลยเรียกว่าธรรมนิยม
ส่วนคำว่าบริสุทธิ หรือ บริสุทธนิยม นั้น นึกไม่ออกว่าเคยพูด แต่ถ้าจะพูดก็ได้เหมือนกัน มี, มีเงื่อนงำที่ทำให้พูดได้ว่า บริสุทธิ์นิยม ความบริสุทธิ์ ก็คือความถูกต้อง ซึ่งไม่อาจจะจัดเป็นวัตถุนิยมหรือมโนนิยมอย่างใดอย่างหนึ่งโดยส่วนเดียว เรื่องมันก็มีเท่านี้
ทีนี้ที่ถามนี้ ก็มีทางที่จะตอบว่า ศาสนาที่แท้จริง ทุกศาสนาเลยก็ได้ ไม่ใช่ปรัชญา เขาไม่ได้ตั้งศาสนาขึ้นมาเพื่อเป็นปรัชญา แต่บัญญัติให้เป็นระบอบสำหรับปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งลงไป เพื่อผลอย่างนั้นอย่างนี้โดยตรง ไม่ทำให้เป็นรูปปรัชญา ทีนี้ปัญหามันก็มีอยู่ว่า ปรัชญานั้นคืออะไร เรื่องนี้เคยพูดไว้ในที่บางแห่ง อย่างละเอียดแล้ว ว่ามันเกิดความยากลำบากขึ้นมา เพราะไปบัญญัติคำว่า ปรัชญา เพื่อใช้กับคำว่า Philosophy จนเดี๋ยวนี้มันก็ได้ใช้เป็นคำพูดที่รับ ถือกันทั่วๆไป คือ ใช้จนเป็น, เป็นธรรมดาไปซะแล้ว
คำว่า ปรัชญา กับคำว่า Philosophy นั้นน่ะ, มันเข้ากันไม่ได้ โดยเนื้อแท้มันเข้ากันไม่ได้ ปรัชญา เป็นปัญญาที่รู้แล้ว จริงแล้ว เด็ดขาดแล้ว อันนี้เขาเรียกว่าปัญญา ส่วนคำว่า Philosophy นั้น ไปศึกษาดูเอาเองก็แล้วกัน ว่าคำนี้ หรือชื่ออย่างนี้นั้นหมายถึงอะไร
สรุปความว่ามันหมายถึง ทัศนะหนึ่งๆ ซึ่งกำลังหาเหตุผลมาสนับสนุน ว่ามันจะจริงอย่างนั้นหรือไม่ เพราะฉะนั้น ไอ้, Philosophy นั้นน่ะ, ไม่ควรจะแปลว่า ปัญญาหรือปรัชญา ควรจะแปลว่าทัศนะเท่านั้น หรือทิฐิก็ได้ ทัศนะอันหนึ่ง ที่ตั้งขึ้นอย่างมีสมมติฐาน เพื่อให้เขา(นาทีที่ 7.02) .......ว่า มันคงจะเป็นอย่างดังนั้น แล้วก็หาเหตุผลมาแวดล้อมว่า มันถูกแน่ แล้วก็จะใช้ให้มันเป็นประโยชน์
คำว่า Philosophy จึงเป็นเพียงความอยากจะรู้ความจริง อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วกำลังพยายามที่จะหาความจริงนั้น ด้วยการใช้เหตุผล
ดังนั้นจึงมีมาก มากแขนง แม้จะตั้งคำถามขึ้นมาว่า ชีวิตนี้คืออะไร ก็หมายความว่า คนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าชีวิตนี้คืออะไร แล้วก็ตั้งสมมติฐานขึ้นมาว่า มันคงจะเป็นอะไร แล้วก็หาเหตุผลมาแวดล้อม ว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง แล้วจึงจะหาคำตอบว่า เราควรจะ, จะทำอย่างไร เกี่ยวกับชีวิตที่มันเป็นอย่างนั้น ดังนั้น มันจึงแตกแยกกันได้หลายสาขา ตามความรู้สึกคิดนึก หรือความพยายามของนักปรัชญาคนหนึ่งๆ ซึ่งจะมีปรัชญาของเขาว่า ไอ้ชีวิตนี้ มันคืออะไร แล้วจะต้องทำอย่างไร นั่นน่ะคือ Philosophy ซึ่งควรจะเรียกว่าทัศนะ เท่านั้น ไม่ควรจะเรียกว่าปรัชญา
แต่เดี๋ยวนี้ในภาษาไทย มันได้ใช้เสียแล้ว มันเปลี่ยนไม่ได้ คือมัน popular ไปแล้ว ไม่มีใครเปลี่ยนมันได้ ก็เลยใช้คำว่าปรัชญา สำหรับคำว่า Philosophy นั่นเอง นี่ขอให้คุณเข้าใจเสียทีหนึ่งก่อนว่า มันมีความผิดพลาดในเรื่องนี้ ที่คาราคาซังกันอยู่
พุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นปรัชญานั้น ก็มีสำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่า พุทธศาสนาคืออะไร หรือแม้จะได้ยินได้ฟัง คำที่เขาบัญญัติไว้แล้ว กล่าวไว้แล้ว ก็เอามาทำเป็นสมมติฐานว่า มันจะจริงหรือไม่ ก็สอบสวน ไต่สวน ค้นคว้าไป ตามรูปแบบของปรัชญา ดังนั้น คนจึงพบแง่ของปรัชญา ในพุทธศาสนาต่างๆกัน ไม่เหมือนกัน นักปรัชญาคนหนึ่งก็มองพุทธศาสนาไปในแง่หนึ่งหรือแนวหนึ่ง ซึ่งไม่สำเร็จประโยชน์ในการปฏิบัติ
เพราะฉะนั้น เราจึงปฏิเสธออกไปเลยว่า เราจะไม่แตะต้องพุทธศาสนาในฐานะที่มันเป็นปรัชญา เราจะแตะต้องหรือจับฉวยถือเอาพุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นศาสนา คือมีคำใช้ว่า Religion , Religion ที่แปลว่าศาสนา ให้รู้กันไว้เสียทีหนึ่งก่อนว่า Religion กับ Philosophy นั้น ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน มันมีรูปโครง มันมีอะไรของมันต่างกัน แต่เนื่องจากเอ่อ, สิ่งที่เรียกว่า Religion นี่ ทุกๆศาสนานี้ ก็เอาไปมองดูในรูปแบบของปรัชญาก็ได้ เมื่อเขาไม่เข้าใจ คือ ไปจับเอาในแง่ในมุม ที่มันไม่อาจจะเข้าใจได้ ก็เอาพุทธศาสนาหรือศาสนาใดก็ตาม เฉพาะแขนงใด แขนงหนึ่ง ไปดู ในรูปของปรัชญา ก็เลยไม่ใช่, ไม่ใช่เป็นศาสนา แล้วก็ไม่, ไม่ได้รับประโยชน์ตรงตามความมุ่งหมายของศาสนา
เพราะฉะนั้น ถ้าใครจะเอาพุทธศาสนาไปทำปรัชญา เขาก็ได้ สักว่าความรู้ทางปรัชญา ซึ่งในที่สุดก็เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ ยังไม่สามารถจะดับทุกข์ได้ ตามความมุ่งหมายของพุทธศาสนา เขาต้องเอาพุทธศาสนา ไปกระทำอย่างที่เป็นศาสนา หรือว่าเอาศาสนาคริสเตียนไปทำอย่างที่มันเป็นศาสนา เอาศาสนาอิสลามไปกระทำอย่างที่เป็นศาสนา เขาบัญญัติไว้อย่างไร ให้ประพฤติ ปฏิบัติตามนั้น แล้วก็ได้ผลตามนั้น ทีนี้มันช่วยไม่ได้ ที่ ที่สมัยนี้มันเมาปรัชญา มันไม่ยอมเชื่อตามที่บัญญัติไว้อย่างนั้น มันก็หาแง่มุมที่จะเอาไป ซักฟอกตามวิธีของปรัชญาอยู่นั่นเอง
ดังนั้น เราจึงเห็นหนังสือชื่อเดียวกันนี่เป็นอันมาก เช่นว่า ปรัชญาของพุทธศาสนา Buddhist Philosophy หรือ Philosophy of Buddhist ชื่ออย่างนี้ มากมายหลายเล่ม แล้วเขียนกันตั้งหลายๆคน นับวันแต่จะมาก แล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะมันใช้วิธีของเหตุผล ที่จะคำนึง คำนวณกันเรื่อยไป ส่วนวิธีของศาสนาเขา ไม่ใช้การใช้เหตุผลอย่างนั้น จะใช้วิธีที่ว่า จะดูลงไป ดูลงไป ดูลงไป แล้วเห็นอยู่ แล้วก็ดูซ้ำลงไปอีก แล้วก็เห็นอยู่ แล้วก็ดูซ้ำลงไปอีก
ดังนั้น วิธีการปฏิบัติของศาสนา มันจึงเป็นไปในรูปแบบของวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่รูปแบบของ Philosophy วิทยาศาสตร์ เดี๋ยวนี้ ก็หมายถึง วิทยาศาสตร์ทางวัตถุนี่, เราต้องมีวัตถุมา แล้วก็ดูลงไปที่วัตถุ แล้วค้นคว้า พลิกไปพลิกมาอยู่ที่วัตถุ ยิ่งดูยิ่งเห็น ยิ่งดูยิ่งเห็น ไม่ต้องคำนวณ พอคำนวณ ก็หมด ก็ไม่เป็น, ไม่เป็นวิธีของวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์มันต้องไม่ เอ่อ, ต้องไม่มีการคำนวณ คือ ต้องดู และเห็น เห็นไปตามลำดับ
ถ้าทีแรก มันยังไม่รู้ว่าอะไร มันจะตั้งสมมติฐานเพื่อการค้นก็ได้ แต่มันจะใช้วิธีการคำนวณไม่ได้ มันต้องใช้วิธี ดูแล้วเห็น ดูแล้วเห็น ดูแล้วเห็น จึงจะเป็นวิธีอย่างวิทยาศาสตร์ ดังนั้น เราจึงต้องมาแยก, แยกทางกันเสียว่า ศาสนานี่มัน, มัน, มัน, มันมีวิธีการอย่างวิทยาศาสตร์ ปรัชญา มันก็มีวิธีการอย่าง พวกใช้เหตุผลคำนึงคำนวณด้วยเหตุผล พวก Reasoning ทั้งหลายนั่น จะเป็น logic หรืออะไรก็สุดแท้
ดังนั้น ถ้าใครศึกษาศาสนาในรูปปรัชญา มันก็ได้แต่ความรู้ที่เพ้อเจ้อ ดับทุกข์อะไรไม่ได้ ฉะนั้น ต้องศึกษาศาสนาในแง่ของศาสนา ด้วยวิธีการอย่างวิทยาศาสตร์ ก็จะ, จะมีศาสนา แล้วก็ปฏิบัติได้ แล้วก็ได้รับผลของศาสนา นี่ถ้าเข้าใจที่พูดนี้ ก็จะพอมองเห็นได้ว่า พุทธศาสนาที่เป็นพุทธศาสนานั้น ต้องเป็นศาสนา ไม่เป็นปรัชญา ทีนี้ ก็จะเอามาทำให้เป็นปรัชญา นี่มันไม่ใช่เพื่อปฏิบัติ นี่มันเพื่อรู้ เพื่อรู้เท่านั้น เพื่อรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ก็เลยเอามา จัดเข้า, เข้ากับเอ่อ, โครงสร้างอันนั้นอันนี้ ตามวิธีทางปรัชญา เช่นว่า จะเป็นวัตถุนิยม หรือ เป็นมโนนิยม เป็นต้น
เดี๋ยวนี้ ก็มีไปถึงคำว่า Existentialism ศาสนาเป็น Existentialism คงเห็นว่าไม่ใช่ มันยังใช้การคำนวณอยู่มาก ก็เป็น, เป็นปรัชญาไปก็แล้วกัน เป็นการใช้เหตุผล พวกหนึ่งว่า เป็นมโนนิยม เป็นเรื่องเกี่ยวกับทางจิต ก็มันมองด้านเดียวเกินไป พวกหนึ่งว่า ไม่ใช่วัตถุนิยมเอาซะเลย อย่างนี้ก็ไม่ถูก พระพุทธศาสนาก็มีพูดถึง สิ่งที่เป็นวัตถุ มีแผนกหนึ่ง มีส่วนหนึ่ง ซึ่งก็ต้องพูดถึงวัตถุ หมายถึงร่างกายโดยเฉพาะนี้ พระพุทธศาสนาจะไม่แยก ร่างกาย กับ จิตใจ ออกจากกัน
คำว่า นาม และ รูป นี่เขาใช้คำว่า นามรูป คือ ไม่แยกออกจากกัน ไม่แยกออกเป็นสองอย่าง ถือเป็นอย่างเดียวที่แฝดกันไปเรื่อย เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นนามอย่างเดียวก็ไม่ได้ เป็นรูปอย่างเดียวก็ไม่ได้ มันเป็นนามรูป เพราะฉะนั้น เราจึงพูดว่า พุทธศาสนานี้ ไม่ใช่มโนนิยม ไม่ใช่วัตถุนิยม โดยส่วนเดียว ทีนี้จะเป็นอะไร ก็ดูไปทีหนึ่ง ก็พบว่า มันเป็นความจริงระหว่าง หรือว่าที่เนื่องกันอยู่ ความจริงที่เนื่องกันอยู่ ทั้งที่เกี่ยวกับวัตถุและที่เกี่ยวกับจิต คือจะมองดูเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ดังนั้น ก็เลยถือเอาไอ้, ความจริง ที่มันมีอยู่ หรือมันเกี่ยวข้องกันอยู่ ระหว่างไอ้, รูป คือวัตถุ กับ นาม คือจิต
ทีนี้มีคำที่เหมาะกว่า คือ คำว่าธรรม ธรรมะ ในที่นี้หมายถึงธรรมชาติ คำนี้ก็กว้างพอ ที่จะรวบเอาไว้ได้ ทั้งเรื่องของมโนนิยมและวัตถุนิยม ก็เลยพูดว่า เป็นธรรมนิยม เลย, เลยง่ายกว่าและถูกกว่า
สรุปว่า ถ้าเอาไปทำเป็นปรัชญา ก็จะไม่จัดเป็นฝ่ายวัตถุนิยมโดยส่วนเดียว หรือมโนนิยมโดยส่วนเดียว หรือแม้ที่สุด แต่จะพูดว่า มันเป็นของที่เป็นคู่ ที่เรียกว่า Dualism นั้น ก็ยังไม่ถูก เพราะไอ้พวกนั้นมันถือเป็นคู่ที่ตายตัว พระพุทธศาสนาไม่หยุดอยู่เพียงความเป็นคู่ เป็นรูปกับนาม กายกับใจ หรือว่า บุญกับบาป หรือ ดีกับชั่ว นี่ไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น พุทธศาสนาต้องการจะ, จะปีนขึ้นไป จนอยู่เหนือไอ้ความเป็นคู่ เหนือบุญเหนือบาป เหนือดีเหนือชั่ว เหนือสุขเหนือทุกข์ เหนือความเป็นรูป หรือ เหนือความเป็นนาม เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ถือว่า พุทธศาสนามีลักษณะของ Dualism ซึ่งเป็นปรัชญาสายหนึ่ง เราจึงเรียกว่า ธรรมนิยม ดีกว่า นิยมความจริงของธรรมชาติ
ส่วนคำว่า บริสุทธินิยม นั้นจะเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆน้อยๆอันหนึ่ง มาชี้ให้เห็นว่าเราต้องการ ความบริสุทธิ์ หรือความหลุดพ้น ตามแบบฉบับของสิ่งที่เรียกว่าศาสนา เรื่องมันก็มีเท่านี้แหละ
พุทธศาสนา หรือ ศาสนาไหนก็ตาม เดิมแท้ก็ตั้งขึ้นมา ในรูปแบบของศาสนา ไม่เป็น Philosophy คือไม่ฝากไว้ กับความสงสัยโดยสมมติฐาน แล้วก็ มีวิธีการคำนวณด้วยเหตุผล เขาจะสอนชัดลงไปเลยว่า ต้องทำอย่างนี้ ต้องทำอย่างนี้ ต้องทำอย่างนี้ แต่ต้นจนปลาย แล้วก็เห็นอยู่ เห็นอยู่ เห็นอยู่ โดยไม่ต้องคำนวณ ถ้าเขาเป็นคำนวณ ต้องใช้การคำนวณแล้ว ก็ไม่ใช่ศาสนา แล้วก็ได้ทำผิดในเรื่องนี้จนกระทั่งบัดนี้ สอนพุทธศาสนาในรูปแบบของการที่ต้องใช้วิธีคำนวณ มันก็เป็นปรัชญาโดยไม่รู้สึกตัว แล้วก็สอนกันอยู่ในโรงเรียนด้วย นี้เป็นการทำผิดมาก ยกตัวอย่างเช่น เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี่ มันมีหลักว่า มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ถ้าพยายามหาเหตุผลด้วยวิธีการคำนวณ คำนวณโดยการใช้เหตุผลว่า เพราะเหตุฉะนั้นมันจึงเป็นของไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่ามันเป็นทุกข์อย่างนี้ อย่างนี้ไม่ใช่พุทธศาสนา อย่างนี้เป็นรูปแบบของปรัชญา แล้วก็เผลอ ไม่รู้ตัว มาสอนแม้แต่ในโรงเรียนศาสนา หรือใช้คำว่า ศาสนา
เมื่อเป็นศาสนา หรือถ้าจะเป็นศาสนา ต้องดูเข้าไปที่สิ่งนั้นแหละ เราอยากจะรู้เกี่ยวกับสิ่งใด ต้องดูเข้าไปที่สิ่งนั้น เช่นว่า เอ่อ, สมมติว่าจะเรา, จะดู, เราจะดูร่างกายนี้ว่าไม่เที่ยง ร่างกายนี้เป็นอนิจจัง ก็ต้องดูที่ร่างกาย ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ด้วยจิตที่ปรับปรุงดีแล้ว มีสมาธิแล้ว แล้วก็ดูลงไปที่ร่างกายนี้ แล้วก็เห็นความไม่เที่ยง ไม่มีการคำนวณ ไม่ต้องคำนวณด้วยเหตุผล แล้วก็เห็นความทุกข์ แล้วก็เห็นเอ่อ, ความที่ไม่ใช่ตน จะใช้คำว่าเห็น ว่าดูแล้วเห็น ดูแล้วเห็น ตามดู ตามเห็น เห็นเรื่อยไป ไม่มีการคำนวณ
การคาดคะเน การคำนวณ ด้วยวิธี logic ก็ดี ด้วยวิธี Philosophy ก็ดี มีการห้ามไว้ ในสูตรสูตรหนึ่งเรียกว่ากาลามสูตร พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่าเชื่อลงไป เพราะมัน, มันเห็น หรือมันเข้าใจ ด้วยวิธีการของนัยยะ หรือตรรกะ คือด้วยวิธีของปรัชญา หรือวิธีของตรรกะ ถ้าจะให้เข้าใจชัด ก็ไปทำอานาปาณสติ ๑๖ ขั้นให้ถูกวิธี แล้วก็จะพบได้เองว่า แต่ละขั้น ทุกขั้น เป็นการดูทั้งนั้น เป็นการดูแล้วเห็น ดูแล้วเห็น ดูแล้วเห็นทั้งนั้น ไม่มีการให้คำนวณ หรือคาดคะเน หรือว่าใช้เหตุผลทำนองที่เรียกว่า Reasoning Reasoning
พุทธศาสนา และทุกศาสนานั้นเป็น Religion ไม่ได้เป็น Philosophy แต่เอาไปทำเป็น Philosophy ศึกษากันสนุกๆก็ได้ และพุทธศาสนา โดยเฉพาะ มิใช่วัตถุนิยมหรือมโนนิยมแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสัจนิยมหรือธรรมนิยม ของทั้งสองสิ่ง คือทั้งสอง, เอ่อ ทั้งของวัตถุและทั้งของมโน นี่คำถามข้อนี้ตอบกันซะยืดยาวอย่างนี้ เพื่อประโยชน์แก่, แก่เวลาข้างหน้านะ
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : ผมขอนิมนต์ถามในข้อนี้ต่อไปนะครับ
พุทธทาส : เอ้าว่าไปซิ
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : คือเกี่ยวกับว่า เรื่องนี้ก็มีท่านผู้รู้หลายท่านแสดงให้เห็นเกี่ยวกับพุทธศาสนาว่า เป็นปรัชญาในแง่ของตะวันออก คือท่านสวามี สัตยานันทบุรี เพราะเป็นความรู้อันประเสริฐซึ่งต่างจาก Philosophy แต่ผมสงสัยครับ ท่านบอกว่า พุทธศาสนานี้เป็นความรู้อันเกิดจากความสิ้นสงสัยแล้ว ถ้าเป็นความรู้อันเกิดจากความสิ้นสงสัยแล้ว ก็คือ หมายถึงว่าต้องบรรลุอรหันต์หรือนิพพานก่อน จึงจะเป็น เข้าถึงตัวพุทธศาสนาอย่างแท้จริงใช่ไหมครับ
พุทธทาส : สวามี สัตยานันทบุรี นี่เป็นผู้คัดค้านโดยตรงว่า เอาคำว่าปรัชญาของสันสกฤตมาใช้ผิดๆ เพื่อเป็นคำแปลของ Philosophy
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : ท่านบอกว่าต่างกันครับ แต่ว่าท่านบอกว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนา เป็นแบบปรัชญาของตะวันออก
พุทธทาส : เค้าเอาไปทำให้เป็น Philosophy
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : แต่ไม่ใช่ Philosophy
พุทธทาส : หรือเป็นปรัชญา
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : เป็นปรัชญา แต่ว่าเป็นปรัชญาของความหมายของตะวันออก ไม่ใช่ตะวันตก
พุทธทาส : ถ้าอย่างนั้น ก็อย่างที่ว่าเมื่อตะกี้นี้ เอาไปทำให้มันเป็น Philosophy
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : แล้วก็ถ้า, แบบว่า สิ้นสงสัยแล้วนี่ ข้อนี้ผมสงสัยว่าพุทธศาสนา นี่ สิ้นสงสัยนี่ หมายถึงว่าต้องนิพพานก่อนหรือไงครับ
พุทธทาส : พุทธศาสนา ต้องเป็นปรัชญา เพราะว่าเป็นความรู้ ที่ปราศจากความสงสัยแล้ว ถ้าตามความรู้สึกของชาวอินเดีย อย่างสวามี สัตยานันท์นั้น จะมองเห็นว่า ศาสนาทุกศาสนาที่ยุติแล้วนั้น เป็นปัญญาหรือเป็นปรัชญา แล้วก็ไม่ใช่ Philosophy ดังนั้นเดี๋ยวนี้ มันเอาคำว่า Philosophy มา, เอามาใช้กับคำว่าปรัชญา ถ้าใครจะพูดว่า พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นปรัชญาของตะวันออกนั้น ต้องดูให้ดีเสียก่อน เพราะปรัชญาในที่นี้ก็หมายถึง Philosophy หรือหมายถึงปรัชญา ตามความหมายของภาษาสันสกฤต
แล้วคุณถามว่าอย่างไร
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : ถ้าสิ้นสงสัยแล้วนี่ หมายถึง ว่าต้องนิพพานก่อนใช่ไหมครับ ถึงจะเป็นตัวศาสนา
พุทธทาส : อ๋อ, ถ้าว่าจะเห็น เห็นธรรมะ จนหมดความสงสัยแล้ว จึงจะเรียกว่าปัญญา หรือปรัชญาก็ตามในภาษาสันสกฤตนั้นถูกที่สุด ถ้ายังไม่สงสัย, ถ้ายังไม่หมดความสงสัย ยังสงสัยอยู่ ก็ไม่เรียกว่าปัญญา ก็ไม่เรียกว่าปรัชญาในภาษาสันสกฤต
ดังนั้น จึงเป็น การดูและเห็นแล้ว เห็นความทุกข์ หรือเห็นความดับทุกข์ จึงจะเรียกว่าปัญญา หรือจะเรียกว่าปรัชญานั่นแหล่ะ โดยภาษาสันสกฤตก็ได้ แต่นี่ไม่ใช่ Philosophy แล้ว
Philosophy หมายความว่า ยังโง่อยู่ ยังสงสัยอยู่ ยังค้นคว้าอยู่ ยังอยากจะรู้อยู่ เพราะว่าคำว่า Philosophy ตามตัวหนังสือ มันแปลว่า ความอยากจะรู้ในความรู้ มันความอยากจะรู้ เรียกว่า Philosophy คือยังสงสัยอยู่ จึงอยากจะรู้อยู่ ถ้าหมดอยากรู้ หมดความสงสัย ก็เป็นปรัชญา แต่นี้มันบาปกรรมมันอยู่ที่ว่า เอาคำว่าปรัชญาไปใช้กับคำว่า Philosophy มันก็เลยเปะปะ เปะปะ กันอยู่เรื่อยไป ถ้า, ถ้าภาษาไทย ถ้าเขียนกันในภาษาไทย แล้วก็ใช้คำว่าปรัชญาแก่พุทธศาสนา อย่างนี้มันก็ได้สิ ถ้า ถ้า ถ้าอธิบายคำว่าปรัชญาในรูปของปัญญา เห็นชัด จนหมดความสงสัยแล้ว แต่พอไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ ไอ้คำนี้จะใช้อะไร จะใช้ ปรัชญาถอดรูปกันไปตรงๆ ฝรั่งมันก็ไม่รู้ ถ้าไปใช้ว่า Philosophy มันก็มีความหมายไปตามภาษาของฝรั่ง นี้ดีที่เราใช้กันในประเทศไทยว่า ปรัชญาตะวันออก ปรัชญาตะวันตกนั้นน่ะ สังเกตุดูแล้วเห็นว่าหมายถึง Philosophy กันทั้งนั้น ถ้าเขาพูดว่าพุทธศาสนาในฐานะเป็นปรัชญาตะวันออก เขาก็คงหมายถึง Philosophy นั่นเอง แล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไรกับพวกเราหัวโล้นๆอย่างนี้ มันมีแต่จะเป็นเรื่องยุ่ง ไกลออกไป ไกลออกไป ไกลออกไป ไม่ ไม่ ไม่ไปสู่จุดที่เป็นการปฏิบัติ
นี่คือ คือปัญหาที่กำลังมีอยู่ ระหว่างคำว่า Philosophy และคำว่าปรัชญา ถ้าจะหยิบหนังสือเล่มไหนขึ้นมาดู ในภาษาไทยเขียนว่าปรัชญาแล้วก็ มันเป็นรูป Philosophy ทั้งนั้น เป็นทัศนะหนึ่งๆ ในเรื่องเดียวกันก็มีได้หลายทัศนะ ดังนั้นพุทธปรัชญา ก็เลยไม่รู้จะไปทางไหนกัน เขียนกันได้หลายสาย หลายแง่ หลายมุม
แต่ถ้าเป็นพุทธศาสนาแล้ว ก็ต้องเป็นเรื่อง เป็นอยู่ให้ถูกต้อง มีจิตบริสุทธิ์ แล้วมองดูไปที่สิ่งทั้งปวง จนเห็นว่า ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวเรา ว่าของเรา ก็มีเท่านั้น รู้จักการกระทำของตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น เป็นต้น จนเกิดความรู้สึกที่ เป็นวิญญาณ เป็นผัสสะ เป็นเวทนา เป็นตัณหา เป็นอุปาทาน เป็นภพ เป็นชาติ และเป็นทุกข์
ถ้ามองเห็นชัด จึงจะมาในรูปของศาสนา ถ้าเกิดไม่, มองเห็นไม่ชัด และไม่เข้าใจคำใดคำหนึ่ง ก็ใช้วิธีคำนวณอย่างปรัชญา ดังนั้นเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี่ คนที่ไม่รู้มันก็ ก็ต้องทำไปตามรูปแบบของปรัชญา ถ้ารู้แล้ว เห็นแล้ว ก็เป็นศาสนา หรือเป็นความจริง หรือเป็นปรัชญาในความหมายของภาษาบาลีหรือสันสกฤต ไม่ใช่ Philosophy
เดี๋ยวนี้ ถ้านักศึกษาในโลกนี้ ศึกษาพุทธศาสนา โดยเฉพาะ เรื่องปฏิจจสมุปบาท แล้วก็ศึกษาไปในรูปของ Philosophy ทั้งนั้น แล้วถ้าว่า คนไทยเราไปแปลคำนั้น มาเป็นปรัชญากันอีก แล้วก็จะยุ่งกันใหญ่ เข้าใจกันไม่ได้ เพราะมันเล่นตลกกันระหว่างคำสองคำนี้
มีอะไรถามอีกก็ได้
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : สิ้นความสงสัยนี่หมายถึงว่า ต้องบรรลุนิพพานก่อนใช่ไหมครับ
พุทธทาส : ถามใหม่ซิว่าไงนะ
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : ที่บอกว่าพระพุทธศาสนานี่ เป็นศาสนาแห่งความสิ้นความสงสัยนี่ หมายถึงว่าบุคคลนั้นจะต้องสำเร็จอรหันต์ บรรลุนิพพานก่อน หรืออย่างไร หรือเป็นขั้นต้นๆ ก็ถือว่าเป็นศาสนาแล้ว
พุทธทาส : บรรลุนิพพานของคุณนี่หมายความว่าอย่างไร ตายแล้วเหรอ
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : ไม่ใช่ครับ คือว่า เราต้องเข้าสู่ภาวะของนิพพานก่อน ถึงจะไม่มีความสงสัย แล้วก็มีความรู้เกิดขึ้น หรือว่าเราต้องมีความรู้ก่อนแล้วเราถึงจะไปนิพพานทำนองนี้
พุทธทาส : ไอ้นิพพานนี้เป็นผล เมื่อรู้ หรือเมื่อเห็น จนหมดความสงสัย หมดความสงสัย มันเป็นผลของ การรู้การเห็นจนถึงที่สุด เพราะฉะนั้น ต้องถือว่า ต้องเห็นหรือต้องรู้ก็ตาม จนถึงที่สุด คือไม่มีความสงสัยอะไรต่อไป จึงจะเรียกว่าเป็นพระอรหันต์ แล้วขอบเขตมันจำกัดอยู่เพียงว่า ไอ้สิ่งที่น่ารู้ น่าสงสัยนั้น คือเกี่ยวกับความทุกข์ แล้วดับมันได้ แล้วพระอรหันต์ก็ไม่อยากจะรู้เรื่องอะไรอีกต่อไป
ถ้ารู้ แล้วดับทุกข์ได้ ดับทุกข์เสร็จแล้ว ยังอยากรู้เรื่องอะไรต่อไปอีกก็คงจะแย่ คงจะไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะเมื่อได้รู้ไอ้ความดับทุกข์สิ้นเชิง มีแล้วโดยประจักษ์ มันก็ไม่ต้อง ไม่อยากรู้อะไรอีกต่อไป มันจึงเรียกว่าความสงสัยมันหมดไป ทั้งที่ท่านไม่รู้เรื่องโลก ไม่รู้เรื่องอะไรอีก ร้อยอย่าง พันอย่าง
สิ้นสงสัย หมดสงสัยสำหรับพระอรหันต์นั้น เกี่ยวกับเรื่องดับทุกข์สิ้นเชิงเท่านั้นเอง ถ้ารู้ความดับทุกข์จนเป็นที่พอใจ ไม่สงสัยอะไร ไม่, ไม่มีคำถามอะไรอีกต่อไป ก็เรียกว่าความรู้นั้นถึงที่สุด และความรู้ของพระอรหันต์จะเป็นอย่างนั้น ส่วนที่ต่ำลงมา เช่นสกิทา อนาคามิ สกิทาคามิ หรืออรหันต์นั้นยัง ยังไม่ถึงนั้น ท่านจึงมีความสงสัยเหลืออยู่ เท่าที่ยังจะต้องสงสัย เพราะหมดความสงสัย เพราะรู้จนหมดสง, สงสัย จึงจะบรรลุนิพพาน เรากล่าวถึงนิพพานในฐานะที่เป็นผล คือเย็นสนิท ไม่มีความทุกข์อีกต่อไป เพราะได้รู้จนหมดสงสัย ถ้าสงสัยยังเหลืออยู่ มันก็นิพพานไม่ได้ คือมันเย็นไม่ได้ เพราะความสงสัยนั้นเป็นของร้อน อย่าใช้คำว่านิพพานเสียก่อนจึงจะหมดความสงสัย มันไม่ถูกลำดับ รู้จนหมดความสงสัยแล้ว ก็จะเย็นเป็นนิพพาน
เอ้า, มีอะไรก็ถามได้ ไม่ต้องเกรงใจ
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : ขอเรียนถามท่านอาจารย์เพิ่มเติมนิดหน่อย เกี่ยวกับคำว่าวัตถุนิยม ที่ท่านอาจารย์ใช้นี้หมายความในทำนอง นิยมวัตถุ หรือไม่ มิได้หมายความถึง สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพล ต่อจิตใจ ต่อความคิด ใช่หรือไม่
พุทธทาส : คำว่า วัตถุนิยม จำกัดความไว้มาก ที่มันสำคัญ ที่มันเขย่าโลก นั่นน่ะก็คือ ความเชื่อที่ว่า มันไม่มีอะไรนอกจากวัตถุ ถือว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่า มโน หรือ จิต นั้นไม่มี ก็คือว่า มโน หรือ จิต นั้น เป็นเพียง Reaction ปฏิกิริยา ของวัตถุเท่านั้น นี่คือ, คือ ยอดสุดของไอ้, วัตถุนิยม พวก Directive materialism มันจะถืออย่างนี้ จิตจะมาพูด ไม่มี ไอ้ที่เราคิดนึก รู้สึก จิตนั้นเป็นปฏิกิริยาของวัตถุ คือร่างกาย หรือเซลล์สมอง หรืออะไรก็ตาม แม้วิทยาศาสตร์ เขาก็ยังพูดกันอย่างนั้น ความเปลี่ยนแปลงทางเคมีอันละ, อันละเอียดของระบบประสาทในสมองนั้น คือความคิด นักวิทยาศาสตร์พวกนี้ไม่ยอมให้มีสิ่งที่เรียกว่า, ว่า จิต หรือมโน หรือวิญญาณธาตุ ลองไปอ่านดูนะ มันก็น่าหัว และมันก็เป็นวัตถุนิยมเต็มตัว ความคิดเป็นเพียงปฏิกิริยาของการเปลี่ยนแปลงทางเคมี อันละเอียดในเซลล์ประสาทในสมอง นี่ก็คือวัตถุนิยม ไม่มีพูดถึงมโนนิยม
ดังนั้นพวก เอ่อ, วัตถุนิยมสุดเหวี่ยง มันก็บอกว่าไม่มีอะไร นอกจากวัตถุ นอกนั้นเป็นเพียงปฏิกิริยา ที่เกิดมาจากการกระทำทางวัตถุ ทีนี้วัตถุนิยมที่รองลงมา ก็คือพวกที่ถือว่า เราอย่าเอาอื่นเป็นหลัก เป็นเกณฑ์เลย เอาเรื่องทางวัตถุเป็นหลักเป็นเกณฑ์ เรื่องทางจิตไม่ต้อง ดังนั้นจึงศึกษาเล่ารียนและถือเป็นหลักหรือบันทึก ลงไปในไว้ประวัติศาสตร์ แต่เพียงเรื่องทางวัตถุ อย่างนี้ก็เรียกวัตถุนิยม
ทีนี้ ที่มันมาทำพิษร้ายกาจ ก็คือ พวกที่เขาว่า ไอ้รสของวัตถุ นี่ประเสริฐที่สุด วิเศษที่สุด เราอย่าไปหวังพึ่งไอ้, รสอะไร ทางจิต ทางมโนเลย เราจึงเอาไอ้เรื่องกามารมณ์ คือเนื้อหนังนี่ เป็นของสูงสุด ศาสนาบูชากัน แต่เรื่องเนื้อหนัง อย่างนี้เป็นวัตถุนิยม ที่กำลังทำลายโลกอยู่ เพราะฉะนั้น อย่างน้อยก็มีสาม, สามความหมาย วัตถุนิยม
ทีนี้พุทธศาสนา เป็น, ไม่เป็นวัตถุนิยม แม้แต่ประการใด ก็ยังยอมรับว่า มีสิ่งที่เรียกว่า มโน หรือ จิต จนถึงกับถือว่า มีธาตุอีกธาตุหนึ่ง เรียกว่า วิญญาณธาตุ หรือ มโนธาตุ อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ ไอ้, ดินน้ำลมไฟ ซึ่งเป็นวัตถุธาตุ หรืออุปธาตุ เพราะเหตุนั้น พุทธศาสนาจึงมิใช่วัตถุนิยม และพุทธศาสนาก็มิใช่มโนนิยมล้วนๆ เพราะยอมรับไอ้วัตถุธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นต้น และยิ่งกว่านั้น ก็คือ ไม่ยอมแยกกัน ระหว่างสิ่งทั้งสองนี้ ผูกพันเข้าด้วยกัน เรียกว่า นามรูป ใช้คำว่านามรูปเฉยๆ ไม่ใช้คำว่านามรูปทั้งหลาย เพราะเอาเข้าติดกันเสีย เป็น, เป็น เอ่อ, สำนวน เอกวจนะ เป็น Singular term มีหนึ่งนะ แต่อยู่กันสองส่วน คือ นามกับรูป
และก็ ความจริง หรือ ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับสิ่งทั้งสองนี้ เราเรียกว่าสัจจะ อันหนึ่งของธรรมชาติ มีอยู่มากมาย เราสนใจแต่ ไอ้, แต่ส่วนที่มันเป็นความทุกข์ และเป็นความดับทุกข์ ค้นพบข้อนี้และนิยมในส่วนนี้ เพื่อจะใช้ประโยชน์ในการดับทุกข์ จึงเรียกว่าสัจจะนิยมก็ได้ ธรรมนิยมก็ได้ ไม่ใช่วัตถุนิยมล้วนๆ ไม่ใช่มโนนิยมล้วนๆ
เอ้า, มีปัญหาอะไรอีกว่าไป ไม่ต้องเกรงใจ ถ้ายังสงสัยก็ถาม
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : กระผมมีปัญหาที่ใคร่จะเรียนถามท่านอาจารย์คือ ความเข้าใจของกระผมแต่แรกนั้น ผมคิดว่า จริงๆแล้วศาสนานั้นก็เป็นทั้งเกี่ยวข้องอยู่ทั้งสองส่วนนี้ อย่างที่เคยได้ฟัง หรือว่าเคยได้ศึกษามาว่า ศีลนี่เป็นรากฐานของสมาธิ สมาธิเป็นรากฐานของปัญญา และปัญญาที่ถูกที่ได้รับการอบรมจากศีลและสมาธิแล้วนี่ก็จะกลับมาพัฒนาศีลให้สูงยิ่งขึ้นอีก ให้สมาธิสูงยิ่งขึ้นอีก เพื่อยกระดับปัญญาให้สูงขึ้นอีก อันนี้ทำให้ผมเคยเปรียบเทียบว่า มันเปรียบก็เหมือนกับว่า ศีลหรือคือการปฏิบัติในชีวิตประจำวันนี่ เหมือนกับสภาพที่ศาสนายอมรับว่า วัตถุนี่มีผลต่อจิต แล้วก็วัตถุจะอบรมจิต แต่จิตก็จะมีผลสะท้อนกลับมาพัฒนาวัตถุได้ ทั้งสองอย่างนี้จะสัมพันธ์แนบแน่นกันไป อันนี้ไม่ทราบว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกหรือไม่
พุทธทาส : คุณเข้าใจว่าศีลนี่เป็นเรื่องวัตถุล้วนๆไม่เกี่ยวกับจิตสิ
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : คือผมเปรียบเทียบอย่างนี้ครับ คืออย่างเป็นต้นว่า การที่เราปฏิบัติในชีวิตประจำวันนี่ ผมถือว่าเป็นเรื่อง เป็นเรื่องปฏิบัติตามวัตถุ คือต้องอาศัย การที่ได้รับเหมือนกับถูกบังคับร่างกาย แล้วก็การที่บังคับ การที่ร่างกายถูกบังคับนี่ จะทำให้จิตได้รับบทเรียนจากการที่ถูกบังคับอันนี้ แล้วก็เจริญมากขึ้น ผมจึงมองเห็นว่า มันเป็นเรื่องที่ ไม่ทราบว่า วัตถุในความหมายของผมนี่มีความหมายตรงกับของอาจารย์รึเปล่าครับ คือผมเห็นว่า เป็นเรื่องที่ วัตถุนี่มีผล ส่งผล ดัดแปลงจิต ให้สูงมากขึ้น แล้วจิตก็จะส่งผลมาพัฒนาวัตถุ ซึ่งทำให้มองไปเหมือนกับว่า วัตถุเป็นรากฐานของการพัฒนาจิต และจิตก็จะส่งผลในการพัฒนาวัตถุด้วย
พุทธทาส : พูดอย่างนั้นไม่ได้นะ เพราะว่า ไอ้, ไอ้, ไอ้กายกับจิตนี่ มันทำงานด้วยกันเสมอ ลองเอาจิตออก กายก็ทำอะไรไม่ได้ เมื่อมีศีล มันก็มีทั้งกาย และทั้งจิต กายนี่ รวมทั้งวาจาด้วย วาจานี่ฝากไว้กับกายเพราะมันพูดด้วยปาก ถ้ามีศีล มันก็มีการกระทำที่ถูกต้อง เกี่ยวกับจิต เกี่ยวกับวาจา เกี่ยวกับกาย แต่ด้วยเหตุที่คำว่าศีลนี้จะมุ่งหมายเฉพาะ ส่วนวาจา กับส่วนกาย จึงไม่พูดถึงจิต เพราะว่า คำว่าศีลนี่ จะเล็งถึงส่วนที่มันปรากฎอยู่ภายนอก คือมรรยาททั้งหลายที่เกี่ยวกับ กาย และวาจา แต่อย่าลืมว่ามันมีจิตที่เป็นตัวเจตนา ที่เป็นเหตุให้ทำได้ เพราะฉะนั้นในศีลจะมีทั้ง กาย วาจา จิต หรือจะพูดให้ถูกกว่านั้นอีกว่า ในศีลนั้นน่ะ มีทั้งกาย ทั้งจิต และทั้งปัญญา เราจะไม่พูดถึงสมาธิหรือปัญญาก็ได้ เราพูดแต่เรื่องศีลนี่ ถ้าใครมีศีล รักษาศีลได้ และมีศีล คนนั้นจะมีทั้งศีล ทั้งสมาธิ และทั้งปัญญา อยู่ระดับหนึ่ง แต่โดยเหตุที่ปัญญามันยังน้อย มัน, และก็ไม่, ไม่, ไม่ถือเอาเป็นหลัก จะถือเอา, เอาภาพที่ปรากฎ ที่กาย ที่วาจาเป็นหลัก ฉะนั้นจึงเรียกว่าศีล ว่ากันเพียงความถูกต้อง ทางกายและวาจา
ทีนี้การเป็นอยู่ด้วยความถูกต้องในระดับนี้ ในระดับศีล ซึ่งมีทั้งศีล สมาธิ ปัญญาอยู่นะ แต่ว่ามันมีไอ้, ไอ้ทางกาย ทางวาจา นั้นออกหน้า เราสามารถจะทำสมาธิให้, ให้ยิ่ง ให้สูงขึ้นไป โดยที่มีความเป็นอยู่ อย่างมีศีล เราสามารถจะทำให้มีสมาธิที่สูงขึ้นไป จะเรียกว่า ศีลเป็น เอ่อ, เป็นรากฐานของสมาธิ เป็นผลของการกระทำทางจิตก็ได้นะ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เป็นความหมายที่ไม่ใช่ทั้งหมด เพียงแต่ว่า เราทำให้มันถูกต้อง ทางกาย ทางวาจาเท่าไร มันก็จะง่ายในการที่จะมีความถูกต้องทางจิต หรือสมาธิมากขึ้น
ทีนี้เมื่อ, เมื่อไม่มีจิต และเมื่อจิตมีสมาธิแล้ว ปัญญาก็งอกงามออกไปกว่าเดิม กว่าที่เคยมีอยู่แล้ว เพียงระดับหนึ่ง ก็เป็นปัญญาที่ก้าวหน้าออกไป แล้วปัญญาที่มันก้าวหน้าออกไปนี้ มันจะช่วยให้มีศีลดีขึ้นอีก มีสมาธิดีขึ้นอีก คล้ายๆกับวัฏฏะอันหนึ่ง เป็นวัฏฏะในทางธรรม ศีลดีเท่าไหร่ ก็ส่งเสริมสมาธิเท่านั้น สมาธิดีเท่าไหร่ก็ส่งเสริมปัญญาเท่านั้น ปัญญาดีเท่าไหร่ก็ส่งเสริมศีลให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ส่งเสริมสมาธิยิ่งขึ้นไปอีก ส่งเสริมปัญญาอีก มันก็เป็นวงกลมอยู่ที่นั่น
แต่ว่าในการปฏิบัติจริงๆโดย เอ่อ, พฤตินัยนั้น เขาไม่แยกออก พอลงมือทำแล้ว มันก็จะพร้อมทั้งศีล สมาธิ ปัญญาอยู่ ลงมือทำในส่วนปัญญา ศีล สมาธิ ก็จะเกิดขึ้นตามสัดส่วน เพื่อให้ปัญญามันดำเนินไปได้ ถ้าทำในส่วนศีล ปัญญา เค้า, ก็มันมี ปัญญาก็จะมีเท่าที่ศีลมันต้องการ เท่าที่การปฏิบัติศีลจะต้องการ ให้ปัญญามีเท่าไร ดังนั้นจึงมีแต่ปัญญาเพียงแต่รู้จักรักษาศีล พอไปทำสมาธิมันก็มีปัญญาเท่าที่จะให้สามารถทำสมาธิหรือรู้จักทำสมาธิ แต่พอเป็นสมาธิ แล้วก็ทำปัญญาโดยเฉพาะยิ่งขึ้นไป จนเห็นไอ้ความจริงนั้นๆตามที่ต้องการจะเห็น นี่มันจะงอกงามออกไป งอกงามออกไปกว่าที่แล้วมา
ในขณะแห่งปัญญามันก็ต้องมี ร่างกาย และจิต ครบทั้งสามอยู่เรื่อย ในขณะแห่งสมาธิก็มีทั้ง ร่างกาย และจิต และปัญญา ทำงานอยู่ด้วยกันทั้งสามอย่าง แปลว่าทั้ง, ทั้งสามอย่างนั้น จะต้องมีทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ทำงานอยู่ด้วยกัน แต่เราไม่เรียกว่ามันเป็นอันเดียว แยกเรียกเป็นสามอย่าง นั้นโดยนิตินัย โดยคำพูด มันก็พูดได้ แยกออกมาเป็นศีล ในเมื่อมันมีภาวะของศีลเป็นหลัก เป็นความมุ่งหมาย สำหรับจะดู หรือจะเห็น หรือจะพูด นี่เขาเรียกว่าสมาธิเมื่อมุ่งหมายภาวะของจิตนั้นเป็นหลัก เขาเรียกว่าปัญญาเมื่อมุ่งหมายภาวะของความรู้เป็นหลัก เลยเกิดมีเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา คล้ายๆกับว่าจะแยกออกจากกันได้เป็นคนละเรื่อง โดยพฤตินัยแล้วมันไม่อาจจะแยกกันได้ เพียงแต่ว่าระดับมันมากน้อย หรือสูงต่ำกว่ากัน ตั้งหน้าตั้งตารักษาศีลเถอะ เริ่มต้นมีปัญญาอยู่ คือความรู้ที่ว่าจะรักษาศีลอย่างไร แล้วก็ต้องมีกำลังจิต ความแน่วแน่ ความปักใจที่จะรักษาศีล มันก็มีเรื่องจิต เรื่องสมาธิ ทีนี้เรื่องกายเรื่องวาจาก็เป็นไปตามการปฏิบัตินั้นๆ เรียกว่ามีความสงบ ในส่วนกายและวาจา ส่งเสริมให้เกิดความสงบในส่วนจิต ส่งเสริมให้เกิดความสงบของกิเลสต่อไปอีก
ถ้ายังไม่เข้าใจละเอียดชัดเจน ก็ขอฝากไว้ทีก่อนว่า โดยหลักทั่วไปแล้ว มันไม่อาจจะแยกกันได้ เช่นนามรูป กายกับใจ ไม่อาจจะแยกกันได้ และศีล สมาธิ ปัญญา ก็ไม่อาจจะแยกกันได้ เพียงแต่ถ้าส่วนหนึ่งมันน้อยเกินไปก็ไม่เอามาพูด เอาส่วนที่ใหญ่ ที่เด่น ที่ปรากฎ มาพูด บางคราวก็พูดเป็นรูปของศีล บางคราวจึงพูดเป็นรูปของสมาธิ บางคราวจึง เอ่อ, เป็นรูปของปัญญา แต่แล้วมันก็ทำงานไปด้วยกันเรื่อย จนถึงขั้นสุดท้ายเท่านั้น ขั้นสุดท้ายที่จะบรรลุพระอรหันตร์
ทีนี้มันมีได้เปรียบอยู่หน่อยหนึ่งว่า ตั้งใจบำเพ็ญภาวนานี่ เช่น, เช่น อยากจะเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพ่งดูอยู่นี่ สมาธิก็จะเกิดตามสมควร ความปกติของร่างกายที่เป็นศีลก็จะตั้งอยู่พอสมควร คือเท่าที่มันจำเป็นจะ, จะต้องมี ท่านจึงมักพูดถึง ท่านจึงมักจะพูดถึงปัญญาเสียเป็นส่วนใหญ่ แล้วมันลากเอาศีล เอาสมาธิ ตามไปเอง
เรื่องของ, ของจิตนี้ เอ่อ, พิเศษมาก อัตโนมัติมาก เร็วมาก อะไรมาก เอ้าก็ถามได้อีก ถ้า, ถ้าไม่เข้าใจส่วนไหนก็ถามได้
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : คือผมอยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ต่อไปอีกสักนิดว่า แต่เท่าที่ฟัง เท่าที่ได้ฟังจากท่านอาจารย์ แล้วก็เท่าที่ได้ลองสรุปดู จากการที่มองเห็นอยู่ในชีวิตประจำวันนี่ ได้สังเกตุดูว่า จิตที่ดี หรือว่าปัญญาที่ดีนี่ จะเกิดขึ้นในร่างกายของผู้ที่มีกายวาจาที่เลวไม่ได้ แต่ว่าจิตที่ดีนี่ คือจิตที่ดีนี่จะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะผู้ที่มีกายวาจาดีเท่านั้น และจากที่ฟังจากที่ท่านอาจารย์สรุปนี่นะครับ ผมสรุปของผมเอานี่ไม่ทราบความเข้าใจจะตรงกันหรือไม่ คือผมเข้าใจว่า ทั้งสามส่วนนี้ คือศีลสมาธิและปัญญานี่ เป็นส่วนที่อยู่ด้วยกัน แล้วแสดงออกมาในลักษณะเด่น ในขณะที่บุคคลเจริญศีล ภาวนา ก็จะแสดงออกมาในลักษณะเด่น ที่เป็น เรื่องของกาย เรื่องของวาจา ที่ได้รับการอบรมดี อย่างยกตัวอย่างเป็นต้นว่า คนที่ถูกบังคับให้ประพฤติศีลนี่ โดยที่ไม่ได้ประพฤติเพราะปัญญา แต่ประพฤติเพราะว่าถูกบังคับนี่ ในขั้นแรกเขาก็จะไม่สามารถสรุปอะไรได้ แต่ถ้าหากเขาปฏิบัติไปนานๆซ้ำๆกันนานเข้าๆ ศีลอันนั้น ก็จะอบรมให้เขาเกิดปัญญาขึ้น ให้เขาเกิดมีคล้ายๆกับว่ามีสมาธิขึ้น
เพราะฉะนั้น ผมจึงแบ่งออกเป็นขั้นตอนว่า ในสามขั้นนี้ ขั้นที่กำลังมีศีลภาวนานี่ การอบรมร่างกายเป็นใหญ่ และในขั้นที่เป็นสมาธิภาวนานั้นน่ะ ก็เป็นขั้นที่เชื่อมต่อระหว่างขั้นที่ศีลกับปัญญาจะต่อกัน เป็นขั้นที่ว่าขั้นที่จิตได้รับการอบรมมากขึ้น แต่จิตที่ได้รับการอบรมนั้น ยังไม่เป็นปัญญาก็ได้ เมื่อกายและจิต ได้รับการอบรมอย่างดีแล้ว ปัญญาที่ดีจึงจะเกิดขึ้นมา แต่ว่าในทั้งสามส่วนนี้ ในทั้งสามขั้นตอนนี้ ทั้งสามส่วนก็จะมีประกอบกันอยู่ตลอดเวลา แต่อันไหนขึ้นมาเป็นหลักเท่านั้น
พุทธทาส : คุณถามอย่างไร คุณถามอย่างไร ช่วยถามที่เป็นตัวปัญหา ถามว่าอย่างไร
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : คืออยากจะถามอาจารย์ว่า ที่ผมสรุปนี่ถูกต้องตาม ไม่ทราบว่าความเข้าใจของผมถูกต้องตามที่อาจารย์อธิบายรึเปล่า
พุทธทาส : ไอ้เรื่องความถูกต้องนี่มันต้องเป็นความถูกต้องที่, ที่เรารู้สึกได้เองว่ามันถูกต้อง มันถึงจะใช้ได้ ที่คำพูดน่ะ มันทำให้กำกวม เช่นคำว่าดี ดีของคุณนี่ ผมจะลองถามดูหน่อยว่า เมื่อจิตมันดีแล้วกายกับวาจามันเลวได้เหรอ
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : คืออันนี้เป็นไปไม่ได้ครับ ทีนี้ผมถึงได้เรียนถามท่านอาจารย์ว่า จิตที่ดีนี่ไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้ในกายและวาจาที่เลว หมายถึงว่าคนที่บอกว่า ตัวเองมีคล้ายๆกับว่าตัวเองได้รู้แจ้งแล้ว ได้เห็นอะไรแล้วนี่ แต่ว่าที่ตัวเองปฏิบัตินี่ เป็นเรื่องการปฏิบัติที่คล้ายๆกับว่าแกล้งปฏิบัติไป ที่ผ่านมาในการปฏิบัติในชีวิตประจำวันที่แสดงออกอะไรอย่างนี้ ซึ่งผมเห็นว่ามันเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ คนที่จะมีจิตดี คนที่จะมี คนที่มีร่างกาย วาจา ดีเท่านั้น จึงจะมีจิตดี แต่คนที่มีจิตดีนั้น จะไม่มีร่างกายและวาจาที่เลวได้
พุทธทาส : ถึงแม้ปัญญาก็เหมือนกันแหละ ถ้าปัญญามันดี แล้วจิตมันก็ต้องดี แล้วกาย วาจา มันก็ต้องดี ทีนี้ปัญหามันอยู่ที่ตรงไหน
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : คือผมสรุปว่ามันเป็น มันเป็นขั้นตอนของกันและกัน คือว่า ขั้นของคนเรานี่ ในขั้นแรกก่อนที่ปัญญาจะเกิด คือปัญญาจะแจ่มชัดนี่ จะยังไม่เกิดในขณะที่ ร่างกายของคนเรายังไม่ได้รับการอบรมดีก่อน คือหมายความว่า ยังไงเสียก็ตาม คนที่จะบรรลุได้นี่ คนที่จะเข้าใจอะไรต่างๆได้นี่ จะต้องอบรมร่างกายและวาจาของตัวเองให้ดีก่อน จะไป ร่างกายและวาจานี่ยังไม่ดีเลย จะไปอบรม จะไปเจริญสมาธิภาวนา หรือจะไปเจริญปัญญาภาวนานี่ ยังไงก็ไม่ได้ผลเด็ดขาด
พุทธทาส : นั้นเอาความรู้ไหนมาอบรมกาย วาจา ให้ดี ในชั้นแรก ในขั้นแรก ในขั้นเริ่มแรกแล้วจะเอาความรู้ไหน มาอบรมกาย วาจาให้ดี
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : ความรู้อันนี้นี่ ผมมองเห็นว่า มันเกิดจากปัญญา แต่ว่าโดยทั่วๆปแล้วนี่ คือโดยทั่วๆไป คนที่จะมาอบรมร่างกายและวาจาให้ดีจะต้องมีปัญญา
พุทธทาส : คือ ต้องมีความรู้บ้าง ต้องมีความรู้บ้าง
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : ครับ แต่ว่าคนที่ถูกบังคับกะเกณฑ์ให้ปฏิบัติศีล โดยปราศจากปัญญานี่ ครั้นปฏิบัติไปนานๆเข้า ก็ย่อมจะทำให้ปัญญาเจริญขึ้นมาได้ แล้วเมื่อปัญญาเจริญขึ้นมาได้แล้ว ตัวเองถึงจะยกระดับขึ้นไป มองปัญหาอะไรต่างๆได้แจ่มชัดมากขึ้นได้
พุทธทาส : ก็ได้สิ มันก็เห็นอยู่ แต่ว่าศีลนี่จะมีโดยการแกล้งทำ ไม่ได้ สมาธิก็มีโดยการทำไม่ได้ หรือว่าการถูกบังคับให้ ให้ ให้ทำนี่มันยากนะ ที่ ที่จะมีได้ บังคับให้มีศีล แม้บังคับให้มีศีลนี้ก็ยังยากที่จะบังคับกันได้ ก็มันต้องเป็นเรื่อง แท้จริง บริสุทธิ์ ของ ของบุคคลนั้น จะบังคับให้มีสมาธิ บังคับให้มีปัญญายิ่งไม่ได้ใหญ่
แต่ว่าการที่จะบังคับคนให้มีศีลนี่ เพราะคำว่าศีล ก็หมายถึงเจตนาของบุคคลผู้นั้น ที่มันถูกต้อง มันมุ่งหมายจะทำอย่างนั้น เจตนานั้นเป็นศีลของบุคคลนั้น จะบังคับเจตนานี้ ก็บังคับกันยาก, นี้ เรียกว่า บังคับให้มีศีลนี้ มันฟังประหลาดๆอยู่ ก็ได้เหมือนกันถ้าบังคับในวิธีที่ถูกต้อง ชักจูง ยั่วให้, ยั่วหรือล่อ หรือหลอกให้มีศีลได้ ในอันดับแรกก็ได้ จนกว่าเขาจะพอใจ แล้วก็เขาสมัครทำเขาเอง
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : ครับ อย่างเช่น ตัวอย่างเช่น คนที่มาปฏิบัติธรรมนี่ โดยไม่รู้ว่าตัวเองปฏิบัติไปทำไมเพียงแต่ว่า มีปัญญาที่จะนึกรู้เพียงอยู่ว่าอาจจะได้อะไรบางอย่างซึ่งไม่เหมือนเดิม จึงพยายามปฏิบัติศีล อบรมตัวเองอย่างเต็มที่ ไม่ท้อถอย ทำไปมากเข้า มากเข้า จนกระทั่งนึกรู้ได้ว่าศีลข้อนี้ ข้อนี้นั้น ต้องการให้เกิดอะไรขึ้น ในตัวของตัวเอง ในตัวของตัวเอง ในขั้นนี้ได้เกิดปัญญาขึ้นแล้ว และก็จึงได้พยายามปฏิบัติศีลอันนั้น อย่างมีจิตสำนึก ซึ่งแต่เดิมปฏิบัติไปเหมือนกับไม่ได้มีจิตสำนึก อย่างงี้ถึงจะเป็น หมายความว่า ในความเข้าใจผมเข้าใจว่า ร่างกายที่ได้รับการอบรมดีขึ้น ดีขึ้นมากๆนี่ ก็จะทำให้เกิดปัญญาที่ดี มากขึ้นเรื่อยๆ
พุทธทาส : อบรมร่างกายให้ดี มันก็ยังไม่แน่ว่า จะทำจิตให้ดี มันต้องรู้จักการใช้ร่างกายที่ดี เพื่อทำสมาธิให้เกิดขึ้นได้โดยง่ายและแน่นอน ใช้คำพูดให้ถูกต้องว่า จิตเป็นสมาธิได้ง่าย ในร่างกายที่ดี และก็ปัญญาเกิดขึ้นได้ง่าย ในจิตที่อบรมไว้ดี แต่ทีนี้มันก็วกกลับมาว่า การที่จะอบรมร่างกายให้ดี มันก็ต้องมีปัญญาในปริมาณใดปริมาณหนึ่งเป็น, เป็นต้นทุนก่อน ดังนั้นยากที่เราจะพูดว่า จุดตั้งต้นนั้น คือ ศีล หรือ คือปัญ, เอ่อ คืออะไรกันแน่
แต่โดยหลักทั่วไปแล้ว ที่มันเห็น เอ่อ, ทุกคนจะต้องยอมรับว่า ต้องมีความรู้ ความรู้ที่เป็นประเภทปัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งมาก่อน เช่นว่า คุณอยากจะลองมาบวชเพื่อรักษาศีลดู ซึ่งเชื่อว่ามันคงจะดีแน่ อันนั้นก็เป็นปัญญานะที่ทำให้อยากมาลองบวชและรักษาศีลดู ทั้งที่ไม่รู้ว่าศีลคืออะไรแน่ หรือแม้แต่การบวชนี้ ก็ไม่รู้ว่ามันจะคืออย่างไรแน่ จะดีอย่างไรแน่ แต่มีปัญญาอยู่ส่วนหนึ่งมาบอกในเบื้องต้นว่า เป็นสิ่งที่น่าลอง แม้เท่านี้ก็ควรสงเคราะห์ไว้ในประเภทปัญญา ปัญญาพืช, ปัญญาเมล็ดพืช จะได้เพาะหว่านปลูกให้มันรุ่งเรืองขึ้นไป
โดยหลักใหญ่ๆ เขาจะใช้ เขาจะพุ่งไปยังปัญญา ว่าบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา เพราะในปัญญานั้น มันดึงเอาศีล เอาสมาธิ มาเสร็จ การที่มาแยก ศีล สมาธิ ปัญญาออกจากกันเด็ดขาด แล้วบัญญัติศีลให้เป็นที่หนึ่ง ปัญญาให้เป็นที่สอง เอ้ย, สมาธิเป็นที่สอง ปัญญาเป็นที่สามนี้ ดูจะเป็นการบัญญัติชั้นหลังมาก ถ้าเราดูพระพุทธภาษิตที่ปรากฎอยู่จริงๆแล้ว จะเล็งถึงไอ้, ปัญญาน่ะ เป็นจุดตั้งต้น คืออย่างน้อยก็ต้องไปด้วยกัน ไปพร้อมๆกัน เพราะมันไม่อาจจะแยกกันได้ สำหรับ สมาธิกับปัญญา ในตัวความรู้ก็มีสมาธิเจืออยู่แล้ว ไปดูให้ดีเถอะ จะเป็นความรู้ เอ่อ, ปัญญาชนิดไหน เท่าไร ระดับไหน มี, มีสมาธิเจืออยู่ด้วย ตามปกติของกายวาจา ก็มีเป็นเครื่องรองรับจิตใจชนิดนั้น อย่าไปแยกกันเด็ดขาด ให้มันเป็นวัฏจักรของศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา ให้มันรุ่งเรืองขึ้น รุ่งเรืองขึ้น
เราทำอะไรไม่ได้โดยปราศจาก ปัญญาระดับใด ระดับหนึ่ง ชนิดใด ชนิดหนึ่ง แม้แต่จะอาบน้ำ จะทำอะไร ก็ต้องประกอบอยู่ด้วยปัญญา ไอ้กิจกรรมนั้นก็ทำด้วยร่างกายไป
เอ้ามีอะไรอีกก็ถามมาอีก เวลามันแพงนะ
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : แล้วคนที่มีปัญญาแล้วนี่ ย่อมจะไม่สามารถ ละศีลเสียได้ ใช่ไหมครับ เป็นต้นว่า คนที่ครั้นได้เห็นรู้แล้วว่า ความทุกข์เป็นอย่างนี้ อะไรอย่างนี้แล้วนะครับ ได้เข้าใจในขั้นหนึ่งแล้วนี่ ยังไม่จำเป็นว่าจะต้องถึงขั้นสูงสุด แต่ถ้าหากว่าเขาละที่จะปฏิบัติศีลเสีย ปัญญาที่เขาได้นั้นมา ก็จะต้องเสียไปใช่ไหมครับ
พุทธทาส : ถ้าเป็นปัญญาจริง ถ้าได้มาเป็นปัญญาจริง ปัญญานั้น มันก็ดึงเอาศีลไว้ได้แหละไม่ต้องสงสัยหรอก คือมันจะทำผิด ในส่วนศีลโดยที่มีปัญญานั้นไม่ได้ แล้วในปัญญานั้นจะมีสมาธิอยู่พอสมสัดส่วนของมันเสมอไป ไปลองดูเองก็แล้วกันน่ะ, จะไม่มีปัญหาที่ต้องถามอย่างนี้ ไปลองทำปัญญา หรือทำศีลดู ก็แล้วกัน
เมื่อจะบรรลุธรรมแท้จริงยิ่งขึ้นไปตามลำดับ คุณก็จะต้องทราบไว้ หรือถือเป็นหลักซะเลยว่า ศีล สมาธิ ปัญญา สามอย่างนี้ ต้องฟั่นเกลียวกัน ฟังถูกไหมว่า ฟั่นเกลียวกันนี่ คือจะแยกกันอยู่ไม่ได้นะ จะต้องเหมือนไอ้เชือกสามเกลียว ฟั่นเกลียวกัน แยกกันไม่ได้ ทีนี้การบรรลุธรรมนี้ ไอ้ศีลในขณะนั้นน่ะ, ศีล สมาธิ ปัญญา กำลังฟั่นเกลียวกันอยู่เสมอ พูดกันภาษาวัดเขาเรียกว่า สมังคี แปลว่ามีองค์อันเสมอกัน คือมี factor อันเสมอกัน กี่ factor ก็ตาม แต่ต้องมารวมกันฟั่นเกลียวกัน แล้วก็เป็นแนวหนึ่งเท่านั้น จะแยกออกเป็นศีล สมาธิ ปัญญา มีเพียงสามก็ได้ จะแยกออกเป็นอริยอัฏฐังคิกมรรคทั้งแปดองค์ก็ได้ มันก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และเมื่อทำหน้าที่ต้องฟั่นเกลียวกันเสมอ จะดูเป็นแปดเกลียว หรือจะดูเป็นสามเกลียว ก็ได้แล้วแต่
ดังนั้นโดยพฤตินัยที่จะสำเร็จประโยชน์ได้จริงนั้น ไม่อาจจะแยกกันได้ การที่พูดว่าเราจะปฏิบัติศีลให้ดีเสียก่อน แล้วจึงปฏิบัติสมาธิ ปฏิบัติสมาธิให้ดีเสียก่อน แล้วจึงจะปฏิบัติปัญญา อันนี้ดูจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ต้องเอาปัญญาเข้าไปเกี่ยวไว้ทุก ทุก, ทุกขั้นตอน ในขั้นศีลก็ดี ขั้นสมาธิก็ดี ต้องทำด้วยปัญญาทั้งนั้น แล้วมันจะหล่อเลี้ยงกันเอง เรียกว่าทำพร้อมๆกันไปดีกว่า
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : อาจารย์ครับอย่างนี้มีคำถาม อีกสองคำถามสุดท้าย คือ อยากจะเรียนถามอาจารย์ว่า ประการแรก ผู้ที่แสดงตัวเองว่ารู้ แล้วบอกว่าตัวเองนี่ เข้าใจปัญหาต่างๆแล้ว เพราะฉะนั้นศีลต่างๆเหล่านี้เป็นเรื่องหยาบ ที่ตัวเองปฏิบัตินี่เป็นเรื่องละเอียด คืออย่างเช่นเป็นต้นว่า ต่อไปนี้ก็ไม่ต้อง เช่นเป็นต้นว่า ไม่ต้องสนใจเรื่อง เรื่องการประพฤติพรหมจรรย์หรืออะไรอย่างนี้ ปล่อยตัว อิสระเสรี ตามความต้องการ หรือไม่ใช่ตามความต้องการ คือปล่อยตามอิสระเสรีไปเรื่อยๆอย่างนี้นี่ ถือว่าเขาได้ละศีลหรือปล่าวครับ
พุทธทาส : เอ๊ะ, ใคร ใครจะเป็นคนปล่อยไปตามอิสระเสรี
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : อย่าง อย่าง อันนี้คงจะยกตัวอย่างไม่ได้ครับ เพียงแต่ว่าเคยอ่าน
พุทธทาส : เพียงแต่ว่าบุคคลชนิดไหน ลองว่าไป ไม่ต้อง, ไม่ต้องพูด
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : อย่างเช่นพระ นะครั พระ ที่เป็นผู้สอนผู้อื่นนี่ ครั้นพอสอนคนอื่น เห็นตามคำสอนของตัวเองแล้วก็บอกว่า เมื่อตัวเอง เมื่อมีปัญญามากๆขึ้นนี่ ไม่จำเป็นที่จะต้องยึดศีลแบบเดิมแล้ว ละเสียก็ได้
พุทธทาส : โอ๊ย, เป็นคำพูดที่ ที่ ที่ไม่มีความแน่นอน คือคนที่สอนผู้อื่นอยู่แล้วไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ปัญญา มันก็สอนได้ คือมันพูดได้ก็แล้วกัน มันสอนผิดๆก็ได้ หรือมันสอนถูกๆ เพราะไปจำเขามาสอนก็ได้ ไอ้คนนั้นมันก็ไม่ได้มีศีล สมาธิ ปัญญา ก็ได้ แล้วมันจะเอาอะไรมาอ้างว่า ทำไปตามความรู้สึกของเขา ตามความชอบใจของเขา แล้วมันก็จะถูกไปหมด
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : แล้วก็ มีปัญหาสุดท้าย คือ ถามว่า
พุทธทาส : ถ้าจะใช้คำแบบ, แบบ รูปแบบอย่างนี้ มันต้องใช้สำหรับคนที่ มันมีความบริสุทธิ์ใจและมีธรรมะจริงๆ เช่นจะพูดว่าถ้ามีปัญญาที่ถูกต้อง แท้จริง เป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว ก็เอาไปตามปัญญา หรือสัมมาทิฏฐินั้นก็ได้ สมาธิก็มีเอง แล้วศีลก็จะพลอยเป็นไปเอง แต่คนนั้นมันเป็นคนบริสุทธิ์ บริสุทธิ์ใจ บริสุทธิ์ในการกระทำ แล้วมีสัมมาทิฏฐิหรือปัญญาที่แท้จริงอยู่ ไม่ใช่เพียงแต่ว่าเป็นครูสอน ไอ้, บ้าน้ำลาย
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : อาจารย์ครับ มีปัญหาสุดท้าย คือผมอยากจะเรียนถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมาอีกเรื่องอีกครั้งหนึ่ง ก็คือว่ามีการได้ปัญญาให้พ้นทุกข์อย่างอื่นใดหรือไม่ ที่ไม่ ไม่เกี่ยวข้องกันเลย กับการอบรมศีลภาวนา สมาธิภาวนา และปัญญาภาวนา
พุทธทาส : แยกกันไม่ได้ ถ้าปัญญาที่จะดับทุกข์ได้ ก็คือปัญญาที่เราตั้งใจจะอบรมโดยผ่านทางศีล สมาธิ ปัญญานั่นแหละ ถ้าจะไม่พูดถึงศีล สมาธิ จะไปพูดถึงปัญญา ก็ต้องเป็นปัญญาที่เห็นชัดลงไป ว่าไม่มีอะไรที่ควรจะไปจับฉวย ยึดถือ ว่าเรา ว่าของเรา ถ้ามีปัญญาขนาดนี้แล้ว ก็ได้เป็นปัญญาที่, ที่ทำให้ดับทุกข์ได้ ที่เราจะอุตส่าห์ประพฤติปฏิบัติ ตั้งต้นมาตั้งแต่ศีล สมาธินั้น ก็คือปัญญาชนิดนี้
ดังนั้น มันจึงสำคัญอยู่ที่ว่า ขอให้มีปัญญาชนิดที่ ทำให้ไม่ไปยึดมั่นอะไร โดยความเป็นตัวเรา เป็นของเราก็ได้ ก็พอแล้ว ปัญญาชนิดนี้จะเอาออกมาได้จากไหน ก็ตามใจ เอาออกมาให้ได้ก็แล้วกัน ในที่สุดมันก็ไม่พ้นไปจากการอบรม อบรม อบรมให้เกิดปัญญา ถ้าพูดว่า อบรม อบรมให้เกิดปัญญาแล้ว มันหนีไม่พ้น ที่จะมีศีล หรือสมาธิ รวมอยู่ในนั้นด้วย รวมอยู่ในคำว่าอบรมนั่นแหละ มันจะมีศีล สมาธิ ปัญญา รวมอยู่ด้วย ดังนั้นขอให้ตั้งใจอบรมปัญญา ศีล และ สมาธิ จะมีอยู่ตามอัตราส่วนเท่าที่จำเป็น ไม่ล้น ไม่เฟ้อ ไม่เกิน ตั้งใจรักษาศีลอย่างเดียว ทำจนล้น จนเฟ้อก็ได้ แล้วไม่เกิดสมาธิก็ยังได้ ต้องทำพอเหมาะส่วนของ, ของธรรมะเหล่านั้น ศีลจึงจะช่วยให้เกิดสมาธิได้ง่าย สมาธิก็ต้องการ เอ่อ, เหตุปัจจัยเท่าที่มันต้องการ มันไม่ต้องการมากไปกว่านั้น ปัญญาก็เหมือนกัน ต้องการ ไอ้, สมาธิตามสัดส่วนที่ต้องการ ไม่ต้องการให้เลยไปกว่านั้น เช่นว่าไม่ต้องถึงกับ เป็นฌาณเป็นสมาบัติ อะไรก็ได้ ขอให้เป็นสมาธิพอสมควรที่จะใช้เป็น เอ่อ, ฐานที่ตั้ง รองรับของปัญญา ดังนั้น การที่ตั้งใจทำสมาธิ ตั้งหน้าทำสมาธิ ประพฤติไป เลยเถิดไป ไม่เกิดปัญญาก็ได้ เพราะมันเฟ้อไปในส่วนนั้น
ดังนั้นจึงต้องน้อมจิตไปเพื่อปัญญา เมื่อจิตมี, มีความเป็นสมาธิพอสมควรแล้ว ก็น้อมจิตไป เพื่อรู้ หรือ เพื่อเห็น คำว่า รู้ ในที่นี้ ไม่ได้รู้ด้วยการคำนวณ รู้เหมือนตาเห็น ถ้ามีการคำนวณเมื่อไร ก็จะเปลี่ยนรูปเป็น รูป ไอ้, Philosophy ไปทันที ไม่เรียกว่า ปัญญา
เอ้า มีปัญหาอะไรอีก
ผู้ฟัง (ผู้ชายคนที่2) : มีผู้ส่งคำถามมา ให้ถามเกี่ยวกับเรื่อง การเฝ้าดูจิตและการทำสมาธิครับ เขาถามว่า การเฝ้าดูจิตและการทำสมาธิทุกขณะ โดยที่ไม่ได้นั่งทำสมาธิ แบบที่ เซ็น เขาเรียกว่าต้องเป็นทุกวินาทีนี่ทำอย่างไร
พุทธทาส : ช่วยพูดให้ชัดหน่อย ฟัง, ฟังไม่ออกอยู่สองสามคำ ว่าใหม่ชัดๆ ช้าๆ
ผู้ฟัง (ผู้ชายคนที่2): การเฝ้าดูจิต
พุทธทาส : เฝ้าดูจิต
ผู้ฟัง (ผู้ชายคนที่2): การเฝ้าดูจิตทุกขณะครับ แบบปกติ แบบว่าที่ไม่ได้นั่งทำ ไม่ได้ทำสมาธิภาวนานี่ครับ แบบที่พวกเซ็น เขารียกว่า เซ็นทุกวินาที นี่ เขาทำกันอย่างไรครับ
พุทธทาส : พวกเซ็นว่าไงนะ
ผู้ฟัง (ผู้ชายคนที่2): ต้อง เซ็นทุกวินาที
พุทธทาส : ต้องอะไรนะ
ผู้ฟัง (ผู้ชายคนที่2): ต้อง เซ็น ครับ ต้องแบบ เซ็นทุกวินาที
พุทธทาส : ต้อง เซ็น
ผู้ฟัง (ผู้ชายคนที่2): ต้อง เซ็น เซ็น ครับ สระเอ - ซ.โซ่ – ไม้ไต่คู้ – น.หนู ครับ
พุทธทาส : เอ๊ะ, มัน มัน มัน ไม่ใช่เป็นคำกิริยานี่ คำนั้น เซ็น มันเป็นคำนาม
ผู้ฟัง (ผู้ชายคนที่2): แบบว่าตามชีวิตประจำวันของเรา เราไม่ได้ไปนั่ง นั่งทำแบบว่า นั่งอยู่ในที่สงบแล้วก็ขัดสมาธ ทำสมาธิอย่างนี้ แบบว่าอยู่ตามชีวิตปกตินี่ เราจะทำสมาธิเพื่อดูจิตอย่างไร
พุทธทาส : เมื่อ เมื่อ เมื่อจะทำกันดี อย่างดี อย่างเต็มที่แล้ว ก็ต้องนั่ง ต้องอะไร ให้เป็นกิจลักษณะนะ มีผลอย่างไร เกิดขึ้น ก็รักษาไว้ได้ แม้โดยอิริยาบทอื่น ยืน เดิน นอน แต่เมื่อจะลงมือทำ หรือว่าฝึกฝนกันจริงจัง ต้องมีอิริยาบทที่เหมาะสมที่สุด อิริยาบทนั้น คืออิริยาบทนั่ง แล้วก็เรียกว่า บำเพ็ญภาวนา บำเพ็ญภาวนา โดยอิริยาบทนั่ง ได้ผลแล้ว เป็นสมาธิแล้ว หรือว่าเห็นธรรมะอะไรก็ตาม ไอ้ความเห็น การเห็นอันแจ่มแจ้งนั้นคงรักษาไว้ แม้เปลี่ยนไปอิริยาบทอื่น ก็ขอให้มันยังเห็นหรือรู้สึกอย่างนั้นอยู่มันก็ได้ แต่ถ้าบางคนมันนั่งไม่ได้ มันคนพิการ มันก็ต้องนอนทำไปตามเรื่องของเขา หรือเขาเจ็บไข้ อิริยาบทนอนก็ใช้ได้ตามสัดส่วน แต่อิริยาบทที่ดีที่สุด ก็คือนั่ง
คำว่า เซ็น ก็คือคำว่า ฌาณ นั่นเอง แต่ความหมายมันกว้าง คำว่าฌาณ นี้แปลว่า เพ่ง เพ่งเพื่อให้จิตสงบเป็นสมาธิก็ได้ เพ่งให้รู้ความจริงก็ได้ เรียกว่ามันมีอยู่สองเพ่ง ทีนี้พวก, พวกนิกายเซ็นนี่ เขาเอามารวมกันเสียทั้งสองเพ่งนี้ เพ่งให้จิตเป็นสมาธิด้วย เพ่งให้เห็นความจริงโดยประจักษ์ด้วย เป็นสิ่งเดียวกันเสีย เขาใช้คำว่า เซ็น มาจากคำว่าฌาณ แล้วก็ส่งกระแสจิตไว้ในคราวเดียวกัน ทั้งเพื่อสมาธิ และเพื่อปัญญา ถึงพวกเซ็นก็นิยมอิริยาบทนั่งมากที่สุด แต่ว่าเมื่อได้บรรลุธรรมะอะไรแล้ว มันก็คงรักษาไว้ตลอดไป ทุกอิริยาบท
สรุปความว่า อิริยาบทนั่ง นั้นเหมาะสมที่สุด สะดวกที่สุด และทำได้นานที่สุด เหมาะสม คือมันไม่, มันไม่ชวนง่วง ถ้าไปนอนมันหลับเสีย ถ้านั่งมันหลับยากกว่า สะดวก เหมาะสม พอดี ดังนั้นจงพยายามที่จะใช้อิริยาบทนั่งให้เป็นประโยชน์ที่สุด
เอ้า, หมดเวลาแล้ว ก็ขอแนะนำว่า ปัญหาก็ยังไม่ค่อยจะเป็นรูปโครง ดังนั้น ไปช่วยกันคิดหาปัญหาใหม่ที่ให้มันเป็นรูปโครงเรื่องที่สมบูรณ์และกว้างขวาง อย่าให้เป็นปัญหาเบ็ดเตล็ดนัก แล้วเราก็เสียเวลาสำหรับถามและตอบ ในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติอยู่มากเหมือนกัน เช่น คำว่าเป็นปรัชญาหรือไม่เป็นปรัชญาอย่างนี้ นี่ก็ปัญหาที่ไม่จำเป็น พยายามน้อมนำ เข้าไปหา ไอ้ความเป็นศาสนา หรือเป็นธรรม ธรรมะในความหมายที่เป็นศาสนา ก็รีบถามให้มันลุล่วงไปเสียโดยเร็ว ให้มันหมดปัญหาเกี่ยวกับส่วนนี้ เอาล่ะ ขอปิดประชุม