แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นักเรียนและนักศึกษา ผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย ท่านทั้งหลายมาที่นี่ ด้วยหวังว่าจะศึกษาในบางอย่าง ที่เป็นการศึกษาจากการได้ยินได้ฟังก็ดี ที่เป็นการศึกษาจากธรรมชาติต่างๆ ที่แวดล้อมตัวเราอยู่ก็ดี กระทั่งศึกษาจากความรู้สึกของตัวที่มีอยู่ที่เกิดขึ้นแปลกๆ ใหม่ๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน เพราะการได้มาใกล้ชิดธรรมชาติย่างนี้ก็ดี นี่มันเป็นการศึกษาด้วยกันทั้งนั้น ขอให้ถือเอาประโยชน์ให้มาก ให้ได้ หรือให้ครบทั้งสามอย่าง ที่อยากจะทำความเข้าใจเป็นอย่างยิ่งก็คือว่า เรื่องใกล้ชิดกันกับธรรมชาติ ให้เป็นอยู่ กินอยู่ อะไรก็ตาม ใกล้ชิดธรรมชาติที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่นเดี๋ยวนี้เรามานั่งอยู่กับพื้นดิน ท่ามกลางธรรมชาติ ใกล้ชิดธรรมชาติกว่าที่จะนั่งพูดกันในห้องเรียน ดังนั้น ธรรมชาติก็จะแวดล้อมให้เกิดความรู้สึก หรือเกิดความเข้าใจที่ลึกได้มากกว่า เพราะเหตุว่าเรื่องที่เราจะพูดกันนั้นมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ขอให้ไปสังเกต หรือไปศึกษาดูอย่างละเอียดนะ ก็จะพบว่า ไอ้หลักทางศาสนานั้น เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ หรือเนื่องอยู่ด้วยธรรมชาติ ให้เป็น หรือเป็นการบัญญัติขึ้น ชนิดที่จะใช้อำนาจของธรรมชาติ ทำให้บุคคลนั้นๆ ได้เข้าถึงสิ่งที่จะทำให้เขามีความสุข สรุปความสั้นๆ ว่ามันเป็น สัจจะของธรรมชาติ ถ้าเราทำตัวใกล้ชิดธรรมชาติเท่าไร ก็เข้าใจได้ง่ายเท่านั้น เพราะฉะนั้น การมาที่นี่คงจะไม่เสียหลาย เพราะว่ามีส่วนที่จะทำตนให้ใกล้ชิดธรรมชาติได้มากกว่า ทีนี้เมื่อพูดถึงการศึกษา เราก็มีการศึกษาจากธรรมชาติ ที่ธรรมชาติแวดล้อมให้เกิดความรู้สึก นี่ถือว่าเป็นการกระทำอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวนี้จะมาศึกษากันจากการพูดจา โดยการพูดจา ที่แล้วมาก็เคย ใช้การพูดในแบบบรรยาย ก็ทำเป็นชุดๆ สำหรับคราวนี้ หรือปีนี้ ทำไม่ได้ เพราะอาตมา เอ้อ, เพราะผมรู้สึกไม่ค่อยสบาย จึงทำเท่าที่จะทำได้ หรือจะตอบคำถาม ทีนี้คำ อ้า, คำว่าคำถาม หรือการถามในการตอบนั้น ก็เป็นวิธีการอันหนึ่งที่จะทำให้เกิดความรู้กันได้เหมือนกัน ถ้าทำเป็นก็จะมีประโยชน์ยิ่งกว่าการบรรยายไปเสียอีก ดังนั้น เราจะมีการถามและการตอบ อย่างที่ภาษาวัดเขาเรียกกันว่า ปุจฉา วิสัชนา ทีนี้ก็อยากจะให้ทราบเป็นพิเศษ ต่อไปอีกหน่อยหนึ่งว่า แม้ที่เรียกว่าคำถาม นั้นก็มีอยู่หลายชนิด คำถามจำเลย ซักไซ้จำเลยนั้นก็มี นี่เราไม่มีที่นี่ในเวลานี้ และคำถามให้ตอบเพื่อสอบไล่นั้นก็มี นี้เราก็ไม่มีที่นี่ เวลานี้ ทีนี้คำถามอีกชนิดหนึ่งก็ถามในที่ประชุม ที่เรียกว่าประชุมสังคายนา ถามและตอบกัน ให้ได้ยินทั่วๆ กัน ให้ซักไซ้จนหมดประเด็น เพื่อจะช่วยกันจำไว้ เป็นตัวพระศาสนาอย่างนี้ก็มี นี่คือคำถามที่เขาใช้ในการทำสังคายนาพระศาสนา เดี๋ยวนี้เราก็ยังไม่มี ทีนี้มีคำถามชนิดที่ว่า สงสัยแล้วก็ถาม เพื่อจะได้รับคำตอบ นี้ก็มีอยู่ทั่วๆไป อย่างที่เรียกว่าปุจฉา วิสัชนา ผมก็ไม่ค่อยชอบ นี้ก็ยังเหลือคำถามอีกประเภทหนึ่ง คือจะเป็นการแลกเปลี่ยน ความรู้ ความคิด ความเห็น แก่กันและกัน ซึ่งหมายความว่า จะต้องถามซึ่งกันและกันทั้งสองฝ่ายนี่ ไม่ใช่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้ถามโดยเฉพาะ ก็ทำไปในลักษณะที่ว่าเรามันจะแลกเปลี่ยนความรู้กันมากกว่า แม้ว่าฝ่ายหนึ่งจะมีความรู้ เอ้อ, มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งมาก นี่เป็นการสมมติ มันก็ยังเป็นการ อ้า, แลกเปลี่ยนวิชาความรู้ตามวิธีการของพุทธบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพุทธศาสนานี้ มีหลักว่า เป็นเพื่อนกัน ซึ่งเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นอย่างนี้เป็นต้น ถึงอย่างไรเขาก็มุ่งหมายความเป็นเพื่อนกัน อาจารย์กับศิษย์ เขาก็ยังเรียกว่าเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ถ้าเป็นเรื่องของธรรมะ หรือศาสนา มันเป็นอย่างนั้น ดังนั้น เราก็ถือเอาหลักอันนี้ ว่าจะถามหรือตอบ แก่กันและกันได้ทั้งสองฝ่าย แล้วแต่ว่าไอ้รูปเรื่องของการพูดจานั้น มันจะมีอยู่อย่างไร จะให้ไป อ้า, เป็นไปในทางให้ความรู้แก่ผู้ฟังแล้วก็เป็นอันว่าใช้ได้ ไอ้วิธีสอน เอ้อ, มีชื่อเสียงอันหนึ่งในสมัยพวกกรีซ ที่ Socrates เขาใช้ถาม ด้วยคำถามอย่างเดียว ทำให้ผู้ฟังได้ความรู้แจ่มแจ้งตลอดในเรื่องนั้นๆ เราก็ทำไม่ได้ ผมก็ยังทำไม่เป็นนะ พูดตรงๆ ดังนั้น ก็ยังเป็นเรื่องถามกันอย่างธรรมดา และก็มีการตอบตามความรู้สึก และก็เพื่อไม่ให้เสีย อ้า, เวลา เสียไอ้แรงงาน อะไรไปในทางที่มีประโยชน์น้อย เราก็จะบันทึกไว้ และเชื่อว่ามันมีประโยชน์ และก็จะพิมพ์ขึ้นเป็นหนังสือ ประเภทหนึ่งซึ่งเขาเรียกว่า catechism คือคำปุจฉา วิสัชนานั่นเอง มีอยู่ด้วยกันทุกศาสนา เพราะมันทำ มันทำให้อ่านง่าย จำง่าย เราจะใช้วิธีนี้ ทีนี้ในวันนี้เป็นวันแรก ก็อยากจะปรับความเข้าใจ เกี่ยวกับการถาม เพราะเรา เพราะว่าเราได้มีความหวังไว้ว่า คำถามและคำตอบนี้จะใช้เป็นประโยชน์ ยืดยาวออกไป ก็ขอให้เป็นการถามที่ดี เป็นการถามที่มีประโยชน์ ถ้าคำถามนั้นไม่ค่อยมีประโยชน์ ผมขอถือโอกาส ที่จะตะล่อมให้มันไปสู่จุดที่มีประโยชน์ ดังนั้น อย่าประหลาดใจ ทีนี้ไอ้เรื่องที่จะถามนะ คุณลองคิดดูสิว่าจะถามเรื่องอะไร มันมีมากมายนักนี่ มันไม่จำกัด ถามอะไรก็ได้ ถ้าต่างคนต่างถาม ดึงกันไปดึงกันมา มันจะได้ประโยชน์น้อย ดังนั้น จะต้องมีผู้ที่ถาม ด้วยคำถามที่สำคัญ มีประโยชน์ ช่วยกันซักไซ้ไล่เลียงให้ได้คำตอบที่สมบูรณ์ ทีนี้ก็มาถึงใจความที่จะถาม คุณจะต้องทำความรู้สึกในใจเสียก่อนว่า จะถามปัญหาอะไร ในฐานะที่เราเป็นอะไร เพราะฉะนั้น คุณก็เตรียมนึกได้พลางแล้ว ว่าจะถามปัญหานี้ในฐานะที่เราเป็นอะไร โดยส่วนใหญ่มันก็แยกออกได้เป็นสองประเภท คือปัญหาเพื่อประโยชน์แก่ตัวบุคคลนั้นก็อย่างหนึ่ง ทีนี้ปัญหาเพื่อประโยชน์แก่สังคม หรือแก่โลก ทั้งโลกนั้น มันก็อีกพวกหนึ่ง เราควรจะพูดกันถึงปัญหาส่วนบุคคลก่อนจะดีกว่า ปัญหาที่เกี่ยวกับสังคม เกี่ยวกับโลกนั้น ไว้ทีหลัง ทีนี้ปัญหาเกี่ยวกับบุคคลแท้ๆ มันก็ยังมีหลายแขนง คุณลองใคร่ครวญดู ในฐานะที่ คุณเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เป็นคนๆ หนึ่ง เป็นมนุษย์คนหนึ่งนี้ มันมีปัญหาอย่างไรก็ลองคิดดู มันคงจะมีมากเหมือนกัน มีหลายแง่ หลายมุมเหมือนกัน เพียงแต่เราเป็นมนุษย์คนหนึ่งจะมีปัญหาอย่างไร เดี๋ยวนี้ ถ้าเรามานึกถึงว่า เราเป็นคนไทยคนหนึ่งจะมีปัญหาอย่างไร หรือเราเป็นพุทธบริษัทคนหนึ่งจะมีปัญหาอย่างไร ในฐานะที่เราเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา เรามีปัญหาอย่างไร ในฐานะที่เราเป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ หรือว่าเราจะเป็นก็ตาม มันมีปัญหาอย่างไร กระทั่งเป็นเพื่อนที่ดี เป็นพลเมืองที่ดี เป็นสาวกที่ดี มันก็ล้วนแต่ มีแนวของความสงสัยที่จะต้องไต่ถาม นี่เป็นตัวอย่างที่ว่ามันมี ลักษณะ หรือฐานะที่ต่างๆ กัน อยู่ในตัวบุคคลที่จะถาม แม้ว่าจะถามในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง มันก็ยังมีเรื่องลึกๆ ที่เรียกว่าชั้นปรมัตถ์ และยังเป็นเรื่องตื้นๆ อย่างธรรมดาสามัญ เพราะมันเป็นปัญหาได้ด้วยกันทั้งนั้น ในฐานะที่ว่าจะดับทุกข์ในจิตใจอย่างไรนี้ ก็เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง แต่ถ้าจะถามว่าในฐานะที่เราจะเป็นมนุษย์ที่น่าดูสักคนหนึ่งในโลกนี้อย่างไรนี่ มันก็ไปอีกแนวหนึ่ง มันไม่เหมือนกับปัญหาที่จะดับกิเลสอย่างไร ดังนั้น ขอให้ผู้ถามที่เตรียมจะเป็นผู้ถาม นึกดูให้ดีๆ ว่าปัญหาอะไรที่เหมาะที่สุด ที่จำเป็นที่สุด หรือว่าที่จะมีประโยชน์ที่สุดก็ได้ ที่เราจะถาม แล้วก็ขอให้ถาม นี่คือการปรับความเข้าใจกันในเบื้องต้น ที่จะสร้างคำพูดขึ้นมาสักชุดหนึ่งเรียกว่า ปุจฉา วิสัชนา เป็นปัญหาสำหรับมนุษย์ และคำตอบก็เพื่อมนุษย์ และจะให้หนักไปในทาง เป็นธรรมชาติ หรือว่าจะหนักไปในทางเป็นพระธรรม ที่บัญญัติขึ้น ในรูปแบบของศาสนา เฉพาะกรณี อย่างนี้ก็มีอยู่ ที่พูดนี้ก็ไม่ใช่ว่าบังคับ จำกัด เอ้อ, ความต้องการที่จะถาม เพียงแต่ชี้แจงให้ทราบว่ามันมี เอ้อ, แนวหรือข้อแตกต่างอย่างไร ว่าควรจะถามอะไรก่อน ในที่สุดเราก็จะได้คำถาม คำตอบ ที่ดีที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ แล้วคุณกับผมก็จะเป็นผู้ได้บุญร่วมกัน เอาละเป็นอันว่า คำปรารภ เพื่อทำความเข้าใจในเบื้องต้นนี้ พอแล้ว ขอให้เริ่มการถามได้ ตามที่ตั้งใจจะถาม อ้าว, นิมนต์ได้เลย อย่าเสียเวลา
ผู้ถาม : เป็นปัญหาของพระภิกษุที่มาอยู่ด้วยกันว่า เกี่ยวกับการที่เราได้มาอยู่ในที่วิเวกอย่างนี้นี่ ซึ่งเป็นที่ๆ สงบ แต่ความสงบนี่ ถ้าเราไม่รู้ ไม่รู้ถึงคุณค่าของมันว่า เราจะทำอย่างไรกับความสงบนี่ ก็อยากจะให้ท่านอาจารย์แนะนำว่า เราจะทำตนอย่างไร เราจะศึกษาอย่างไร ในความสงบ ในที่วิเวก หรือที่ๆ มันเป็นธรรมชาติ
ท่านพุทธทาส : คำถามนี้ มัน มัน มันควรจะตอบได้มาก่อนแล้ว อย่างน้อยก็รู้สึกว่าทำไมจึงเร่มาหาความสงบเล่า แต่เมื่อถามแล้ว ตอบก็ได้ ไอ้คำว่าความสงบนี่ มันก็เป็นคำ พิเศษสูงสุดอยู่คำหนึ่งแล้ว และเป็นไอ้คำที่มีความหมายครอบคลุมกว้างขวาง เพราะว่าไอ้จุดหมายปลายทางของเราก็ต้องการความสงบ อย่างยิ่งคือพระนิพพาน เมื่อพูดถึงที่สงบ สถานที่สงบ ก็เป็นความหมายในขั้นต้นๆ เพื่อให้มันเกิดความสงบได้โดยง่ายในทางร่างกาย และร่างกายสงบปกติแล้วมันก็เกิดจิตที่สงบได้โดยง่าย คือทำจิตให้สงบได้โดยง่าย เมื่อจิตมันสงบแล้วก็ทำให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง ประจักษ์ ในธรรมะส่วนลึก หรือปัญหาส่วนลึกได้ คนแต่โบราณกาลดึกดำบรรพ์มาแล้ว เขาก็ได้ใช้วิธีนี้ ดังนั้น เขาจึงออกไปหาที่สงบ เพื่อเตรียมความสงบทางกาย ทางจิตและทางฐานความคิด ความนึก จึงมีผลปรากฎขึ้นมาว่า พระศาสดาแห่งศาสนาทุกศาสนา ได้ตรัสรู้ธรรมะที่สำเร็จความเป็นพระศาสดานั้น ในที่สงบ ทั้งนั้นเลย ไม่มีพระศาสดาองค์ไหนได้ตรัสรู้ในที่ที่แออัดจอแจวุ่นวาย เพราะว่าไอ้ที่ สถานที่สงบช่วยให้กายสงบ กายสงบช่วยให้จิตสงบ จิตสงบช่วยให้เกิดความรู้แจ้งในเรื่องของความสงบจนถึงที่สุด มีของแถมพกอย่างหนึ่ง ก็อยากจะบอกซะเลยว่า ความสงบนี่ เป็นที่พักผ่อนของวิญญาณอันดิ้นรน ผมไปอ่านพบมาจากไหนก็ไม่รู้ ผมเห็นด้วยทันที ก็เลยจำไว้ ว่า a …. Is a resting place of …. soul ( นาที 22.11) ความสงบเป็นที่พักผ่อนแห่งวิญญาณอันดิ้นรน มันเป็นของมันโดยธรรมชาติ ไม่เชื่อก็ลองดู อย่างว่าที่นี่เป็นที่สงบ พอเข้ามานั่งตรงนี้ มันก็จะเป็นการพักผ่อน วิญญาณที่กำลังดิ้นรน ทุรนทุราย ระส่ำระสายเลยทีเดียว เพราะธรรมชาติอันสงบมันแวดล้อมไว้ มันไม่ยอมให้จิตปรุงแต่งไปในทางดิ้นรนวุ่นวาย นี้มันเป็นผลเสียแล้ว โดยไม่ต้องทำอะไร เห็นไหม ที่สงบมันเป็นที่ที่บังคับจิตให้หยุด ให้สงบโดยธรรมชาติ ดังนั้น ใครจะมาหาที่สงบเพียงเพื่อ หยุดความกระวนกระวายของวิญญาณนั้นก็ยังได้ ไปๆ มาๆ มันก็มาเข้ารูปเดียวกัน มาสู่ที่สงบก็ได้กายะวิเวก คือวิเวกทางกาย ก็ง่ายที่จะมีจิตวิเวก จิตวิเวก (จิต-ตะ-วิ-เวก) วิเวกทางจิต ดังนั้น ก็ง่ายที่จะได้ อุปธิวิเวก คือทำกิเลสให้มันหมดไป ให้มันสงบจากกิเลส ดังนั้น ถ้าพวกคุณรู้จักใช้ประโยชน์อันนี้ อย่างที่ว่านี้ก็ได้ผลเกินคาด แต่ที่แล้วๆ มา รู้สึกว่ายังไม่ได้ มันยัง มันยังมาเล่นหัวกันเสียโดยมาก นักเรียนนักศึกษา หนุ่มๆ สาวๆ ยังมาใช้สถานที่นี้กระจู๋กระจี๋กันเสีย มาสร้างความไม่สงบ อย่างนี้ก็เคยมี ซึ่งไม่ตรงกับความประสงค์อย่างยิ่ง เอาเป็นว่า พอมาสู่ที่อย่างนี้ก็ต้อง ทำตนให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติซึ่งมีความสงบ แล้วก็ใช้ความสงบให้เป็นประโยชน์ที่สุด ทั้งหมดนี้ก็จะพอแล้วกระมัง ที่จะมองเห็นว่า การมาสู่ที่สงบอย่างนี้จะได้รับประโยชน์อะไร ถ้ายังมีข้อข้องใจส่วนไหนก็ถามซักไซ้ได้ในประเด็นอันนี้แหละ ใครจะถามว่าอย่างไร
ผู้ถาม : ครับ ผมอยากจะถามต่อว่า ในเมื่อเราได้มาอยู่ที่นี่ช่วงระยะเวลาอันสั้น แน่นอนว่าเราได้พักผ่อนความดิ้นรนของวิญญาณ แต่เราก็อยู่ได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น และจะต้องหวนกลับไปสู่สังคมที่มีความร้อนระอุไปด้วยกิเลสนี่ เราจะมีวิธีการอย่างไรในการฝึกฝนตัวเองในช่วงที่เราอยู่ในที่สงบ เพื่อเป็นประโยชน์ แล้วก็เป็นเครื่องมือที่จะนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาเมื่อหวนกลับไปสู่สังคมที่วุ่นวาย
ท่านพุทธทาส : ปัญหานี้ก็เคยตอบมาหลายครั้งแล้วเหมือนกัน สรุปความว่า ในชั้นแรกที่สุดนั้น ขอให้เป็นที่แน่นอนว่าได้ชิม ชิมเท่านั้นนะ ชิมรสของความสงบ อย่าเหลวไหล คือทำให้ได้ชิมรสของความสงบให้จนได้ แล้วนั่นแหละ จิตจะน้อมไปเพื่อพระธรรม หรือพระศาสนา หรือเพื่อพระนิพพานโดยเฉพาะทีเดียว เมื่อคุณไม่เคยรู้เรื่องนิพพาน ชอบนิพพานกันแต่ปาก อย่างนกแก้วนกขุนทองนั้นนะ แล้วคุณพยายามทำให้มันเกิดความสงบ ขึ้นสักระยะหนึ่งเท่านั้น ครึ่งชั่วโมงก็ได้ สิบห้านาทีก็ได้ แม้แวบหนึ่งก็ยังได้ ว่าความสงบนั้นเป็นอย่างไร นี่เรากล้าเรียกว่าเป็นการชิมรสของพระนิพพาน แต่เราจะกินอย่างเป็นล่ำเป็นสันไม่ได้ เพราะไม่อยู่ในอำนาจของเรา แต่เราก็ได้ชิม ทีนี้มันจะเป็นการลงรากที่แน่นอน แน่นแฟ้นว่าคนนี้ จะชอบพระธรรม จะมีศรัทธามั่นคงลงไปในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หรือพระธรรม แล้วก็จะชอบพระสงฆ์ คือผู้ที่ปฏิบัติเพื่อความสงบและได้ความสงบแล้ว เพราะฉะนั้นเราพูดได้เลยว่ามันเป็นการลงรากฐานอย่างแน่นแฟ้นที่ให้เราชอบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี้เป็นไอ้ประโยชน์ทั่วๆ ไป ทีนี้ที่ว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์ ปลีกย่อยอย่างไร ก็จะ อ้า, ต้องแยกไปเป็นข้อๆ ว่าเราระหว่างพักอยู่ที่นี่ เพราะความสงบ ศึกษารู้ว่าไอ้ความสงบนี้เกิดจากเวลานั้น หรือขณะนั้นมันว่าง จากความคิดนึกประเภทตัวกู ประเภทของกู พูดเป็นไทยๆ ก็ต้องพูดอย่างนี้แหละ ว่าความคิด ประเภทที่เจืออยู่ด้วยความหมายแห่งตัวกูของกูนี่ ให้มันร้อนนะ ไม่เป็นการพักผ่อนทางจิต แต่พอไอ้ความคิดประเภทนี้มันว่างไปโดยเหตุอะไรก็ตาม ไอ้ความว่างจากกิเลสทั้งหลายมันก็ปรากฏขึ้น จิตนี้ก็พบกับความสงบ เราก็เลยรู้ว่า ไอ้ความสุขแท้จริงมันมีต่อเมื่อ ไม่มีความคิดประเภทนี้ เราจะเรียกสั้นๆ ว่า egoistic concept เผื่อว่าคุณจะไปพูดให้เพื่อนฝูงที่มันเป็นฝรั่งอะไรฟัง ใน concept หรือ conception คือความปรุงแต่งขึ้นมาในจิตเป็นรูปความคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง egoistic มันเจืออยู่ด้วยความหมายแห่งตัวกูของกู ถ้าคนเขารู้ความหมายของคำเหล่านี้แล้วพอพูดขึ้น เขาก็ฟังออกทันที ก็จะได้ความรู้ความเข้าใจได้ในเวลาอันเร็ว เวลาที่สงบอย่างยิ่งก็คือไอ้เวลาที่ความคิดนึก มันไม่ปรุงขึ้นมาในรูป ที่เจือด้วยความหมายว่าตัวตน ว่าของตน ว่าตัวกู ว่าของกู พอกลับไปถึงกรุงเทพฯ ก็ระลึกถึง เวลาหนึ่ง อ้า, เรามีความรู้สึกชนิดหนึ่ง ปราศจากความหมายแห่งตัวกูหรือของกู มีความสุขอย่างยิ่ง ก็สามารถที่จะเรียกร้องไอ้ ความรู้สึกอย่างนี้ ความคิดอย่างนี้ได้ แม้ที่กรุงเทพฯ เกิดมีจิตที่ว่างจากตัวกูของกู คิดจะทำอะไรก็ดีทั้งนั้น จะเล่าเรียนก็ดี จะทำการงาน หน้าที่การงาน ตามความรับผิดชอบก็ดี กระทั่งจะบังคับบัญชาผู้อื่นก็ทำได้ดี ดังนั้น คุณต้องดื่ม หรือชิมไอ้สิ่งชนิดนี้แหละ ให้รู้จักให้ชัดเจนเสียก่อน แล้วศึกษาให้รู้ว่ามัน มันเกิดขึ้นในขณะที่จิตมันว่างจากไอ้ความคิดประเภทตัวกูของกู ก็ทำได้ใหม่ ที่ไหนก็ได้ ที่กรุงเทพฯ ก็ได้ กล้าท้า กล้าท้าทายว่าได้ แต่ขอให้ได้ชิมหรือได้กินที่นี่ และเข้าใจมันดี ว่ามันเกิดขึ้นเพราะเหตุนี้ แต่เรื่องนี้คงจะไม่ง่ายนัก ดังนั้น คุณไปทำเข้าแล้วมันไม่ได้ แล้วก็จะเลิกเสีย อย่างนี้จะมาโทษกันไม่ได้ ดังนั้น ต้องต่อสู้ หรือต้องต่อต้าน ทำจนได้ ระหว่างอยู่ที่นี่ธรรมชาติมันช่วยแล้วมันทำง่าย แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องพยายาม พยายามชิมรสของไอ้ความสงบ หรือความว่าง จากตัวกูนี่ก็ชิมๆๆ ชิมให้มากๆ นี่วันหนึ่ง วันหนึ่ง อย่ามัวไปคุยกันไอ้เรื่องธรรมดาสามัญเสีย อย่าใช้เวลามันสุรุ่ยสุร่าย ใช้เวลาสงบให้มาก จนรู้รส แล้วก็ง่ายที่จะไปทำให้มันเกิดขึ้นมาอีก นี่เป็น เป็นคำที่ผมยืนยัน หรือท้าทายว่าต้องได้ เวลาอันสั้นอยู่ที่นี่ อย่างน้อยก็ต้อง ๕ วัน ๗ วัน ถ้ามันจริง กันบ้าง ก็คงจะพบสักครั้งหนึ่งนะ ไอ้ความสงบชนิดนี้ เพราะว่าแม้แต่ชาวบ้านธรรมดาที่มาเที่ยวทัศนาจรด้วยซ้ำไป พอเข้ามาถึงตรงนี้ มัน มันยังออกปากว่า แหม ทำไมมันสบายวะ มันมีความสุข บอกไม่ถูกโว้ย สบายใจบอกไม่ถูก แต่เขาไม่มีปัญญาคิดนึกอย่างที่เรากำลังพูด ทีนี้เราควรจะรู้สึกเหมือนกับเขาแหละ แล้วก็เรามีปัญญาเพื่อที่จะแยกแยะดูว่า อ้าว, จิตกำลังว่างจากความคิดประเภทที่ว่านั้นนะ egoistic concept ไม่อาจจะเกิด เพราะธรรมชาติมันบีบบังคับไว้เรื่อยไป ก็จำเอาไป อ้า, เป็นเพชรพลอยชนิดหนึ่ง คือเป็นเพชรพลอยทางวิญญาณ แม้จะเม็ดเล็กๆ ก็ยังดี หาพบได้จากสวนโมกข์ เอาติดตัวไปด้วย อ้าว, ใครมีปัญหาอะไร ถามต่อไปอีก จะซักไซ้ข้อนี้ก็ได้
ผู้ถาม : มีปัญหาอีกข้อหนึ่งของพระเพื่อนนักศึกษาที่ว่า เกี่ยวกับเรื่องการทำวัตรสวดมนต์นะครับ อยากจะให้ท่านอาจารย์อธิบายถึงประโยชน์ ของการทำวัตร ของการเป็นหมู่หรือทำแบบคนเดียว จะให้ผลดีอย่างไรบ้าง
ท่านพุทธทาส : ไปหาอ่านจากหนังสือทำวัตรสวดมนต์ ปัญหานี้ไม่คุ้มค่าที่เอามาถามที่นี่ ขอระงับ อ้าว, ปัญหาอื่น
ผู้ถาม : มีปัญหาอีกปัญหาหนึ่งที่ถามว่า การที่จะทำให้เกิดปัญญานี้ ก็เป็นผลมาจากการปรุงแต่งของความคิดใช่ไหมครับ
ท่านพุทธทาส : อ้าว, ถามอีกทีหนึ่ง ซ้ำ
ผู้ถาม : การที่คนเราจะเกิดปัญญาซึ่งเป็น เอ้อ, สิ่งสูงสุดที่พุทธศาสนาต้องการให้เป็นตัวนำนี่ เกิดจากการปรุงแต่งทางความคิดด้วยใช่ไหมครับ
ท่านพุทธทาส : อ้าว, ฟังถูกแล้ว ผู้ฟังคนอื่นก็ฟังกันดีๆ นะครับ เขาถามว่า เกิดจากการปรุงแต่งทางความคิดใช่ไหม นี่เข้าใจว่า คงสับสนกันมาก เพราะว่าโดยทั่วไป ไอ้พวกนัก นักธรรมะเขาจะจัดคำว่าปรุงแต่งนี่ไว้ ให้ฝ่ายเลว ฝ่ายผิด เพราะถ้ามีการปรุงแต่งก็เรียกว่าสังขาร ถ้าเป็นสังขาร ก็ต้องเป็นทุกข์ ทีนี้คนที่ไม่รู้เรื่องดี ก็จะ จะรังเกียจคำว่าปรุงแต่ง ถ้าว่าตามที่จริงแล้วในวงวัด ในภาษาวัดนี่ เขาเกลียดคำว่าปรุงแต่งกันทั้งนั้นแหละ ถ้าคุณไม่ทราบก็ทราบเสียเถิดว่า มันเป็นคำที่เขาเกลียด เพราะเขาจำกัดความหมายไว้อย่างหนึ่งแล้ว คือปรุงแต่งในลักษณะของสังขาร แล้วมันก็เป็นทุกข์แหละ แล้วก็ยังจำกัดชัดลงไปกว่านั้นอีกว่า ปรุงแต่งของกิเลสโน่น แม่ของกิเลสคืออวิชชา ปรุงแต่งกิเลสต่างๆ นาๆ ดังนั้น คำว่าปรุงแต่งนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าเกลียด แต่เดี๋ยวนี้ ผู้ถามคนนี้ เขา เขามี อ้า, ความรู้ของเขาอย่างอื่น หรือความหมายอย่างอื่นสำหรับคำว่าปรุงแต่งเป็นแน่ เขาถึงถามว่าปัญญาเกิดมาจากการปรุงแต่งใช่ไหม ก็ตอบได้เลยว่าใช่แน่ และถูกด้วย แต่มันเป็นการปรุงแต่งความหมายหนึ่งซึ่งไม่ใช่ในความหมายที่ใช้กันอยู่ทั่วๆ ไป คำว่าปรุงแต่ง ในความหมายทั่วๆ ไปในภาษาไทยเราก็หมายความว่าทำให้มันมีขึ้นมา สิ่งที่เรียกว่าปัญญา หรืออะไรก็ตาม มันต้องมาจากการที่เราทำให้มันมีขึ้นมา ถึงแม้ในหลักพุทธศาสนาก็ถือเป็นหลักสั้นๆ ว่า โยคา เวชา ยเต ภูริ (นาทีที่ 37.12) ปัญญาย่อมเกิดขึ้นจากโยคะ โยคา จากโยคะ คือการปรุงแต่ง การกระทำ การประกอบ การขวนขวาย การใช้ความเพียรในทุกๆ อย่าง จะใช้คำว่าภาวนาก็ได้ ภาวนามันก็คือทำให้มันมีขึ้นมา คำว่าภาวนาตรงกับคำว่า develop ที่เราพูดกันติดปาก ไอ้ develop คำนั้นนะ คือคำว่าภาวนา ดังนั้น ปัญญาก็มาจากภาวนา ซึ่งเป็นการปรุงแต่งชนิดหนึ่ง หรือว่ามันมาจากโยคะ คือการประกอบ การกระทำ ปลุกปล้ำกันจนให้มันมีขึ้นมาจนได้ ดังนั้น ปัญญา เกิดมาจากการปรุงแต่ง ที่กระทำถูกวิธีนะ คำว่าถูกวิธีนี้ คือตรงตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เราไม่อาจจะทำอะไร ผิดกฎธรรมชาติได้ ในทางถูกก็ดี ถ้าเราต้องการความถูก ก็ต้องถูกตามกฎของธรรมชาติ ถ้าต้องการความทุกข์ ก็ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่มันจะเป็นทุกข์ ถ้าทำผิดกฎของธรรมชาติก็ไม่ได้ผลตามที่ธรรมชาติกำหนดไว้ว่าจะต้องทำอย่างไร เดี๋ยวนี้ เรามีความรู้นี่ มีเทคนิคในการที่จะ ปรุงปัญญาขึ้นมา เมื่อคุณถามแต่เพียงว่าเกิดมาจากการปรุงแต่งใช่ไหม ก็ตอบว่าใช่ ก็หมดแล้วสำหรับคำตอบที่ ที่มันตรงกับคำถาม อ้าว, ถามอะไรต่อไปอีกละ
ผู้ถาม : อยากจะเรียนถามอาจารย์ว่า ปัญญาที่เกิดจากการคิด กับปัญญาที่เกิดจากการภาวนาเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส : อ้าว, ก็คุณไม่ได้ ไม่ได้เข้าใจว่าปัญญาเกิดจากการปรุงแต่งอย่างไรสักที ก็เลย ก็ ไม่ต้องรู้ว่าปัญญาเกิดจากการปรุงแต่งนั้นนะ คืออย่างไร อย่างนี้เรียกว่า ผู้ซักก็ไม่สนใจจะซักใช่ไหม มีความบกพร่องในกลุ่มของผู้ถามนะ ถามว่าเกิดจากการปรุงแต่งใช่ไหม ก็บอกว่าใช่ แล้วทำไมไม่ถามว่าเกิดอย่างไร ทำขึ้นมาอย่างไร ถ้ารู้ว่ามันเกิดขึ้นมาอย่างไร ทำขึ้นมาอย่างไร เดี๋ยวก็ตอบได้เอง ไม่ต้องตั้งคำถามข้อ ข้อ ข้อ ข้อที่ ข้อหลังนี้ คุณยัง อ้า, เข้าใจคำว่าปรุงแต่งไม่พอ ดังนั้น ผมก็จะพูดอีก ว่าปัญญาเกิดมาจากการปรุงแต่งแน่ ดังนั้น การศึกษา การอ่าน การฟังนี่ ก็เป็นการปรุงแต่งชนิดหนึ่ง ทีนี้การคิด การนึก ที่เรียกว่าจินตามยปัญญานั้น ไอ้จินตานั้น ก็เป็นการปรุงแต่งชนิดหนึ่งเหมือนกัน แล้วภาวนา ทำให้เกิด ให้มี ให้เจริญ ด้วยการไอ้ผ่านสิ่งนั้นไปจริงๆ นี้ ก็เป็นการปรุงแต่งชนิดละเอียดสุขุมสูงสุด ดังนั้น เราจึงพูดว่า การปรุงแต่งเป็นเหตุให้เกิดปัญญา หรือว่าปัญญาย่อมมาจากการปรุงแต่ง จะปรุงแต่งในชั้นสุตตามยปัญญา ศึกษาเล่าเรียนก็ได้ ในชั้นจินตามยปัญญา คิดนึกด้วยเหตุผลแม้อย่าง logic อย่างนี้ก็ได้ หรือว่าจะด้วยการปรุงแต่งด้วยการเจริญ ด้วยจิตใจโดยตรง ไม่เกี่ยวกับ logic นะ แต่เกี่ยวกับจิตสัมผัสความจริง อย่างนี้ก็เรียกว่าภาวนามยปัญญา อย่างนี้ก็ได้ ทั้งสามอย่างนี้ มาจากการปรุงแต่งทั้งนั้น ดังนั้น เราตอบได้ มันเหมือนกันในส่วนนี้ แต่ลักษณะของการปรุงแต่งนั้นมันต่างกัน คุณก็ไปศึกษาดูว่า ปรุงแต่งโดยการศึกษาเล่าเรียนนั้นเป็นอย่างไร ปรุงแต่งโดยการใช้ความคิดนึกไอ้พวก listening ทั้งหลายนั่น มันเป็นอย่างไร ปรุงแต่งด้วยภาวนาคือ ทำให้จิตสัมผัสกับไอ้ความจริงนั้นๆ ลงไปตรงๆ เกิดความเห็นแจ้งโดยประจักษ์ที่เรียกกันว่า enlighten ขึ้นมาในใจนั้นเป็นอย่างไร อย่างนี้มัน มันชัดเจนกว่า แล้วมัน มันหมดจดกว่า คุณ แล้วคุณก็มองเห็นได้เองด้วยว่ามันต่างกันอย่างไรใน ๓ อย่างนี้ แต่แล้วมันเหมือนกันตรงที่ว่าเราจะเรียกว่าการปรุงแต่งด้วยกันทั้งนั้น ศึกษาเล่าเรียนก็ปรุงแต่งไปตามแบบศึกษาเล่าเรียน ใช้ความคิดนึก ด้วยเหตุผลก็เป็นการปรุงแต่งไปตามแบบหนึ่ง นี้เอา อ้า, ทำจิตให้สัมผัสกับความจริง หรือสัจจะนั้นๆ โดยวิธีแห่งสมถะและวิปัสสนา นั้นก็เป็นการปรุงแต่งสูงสุด ปัญญานี้จะดับทุกข์ได้ อ้าว, มีคำถามอย่างไรอีก
ผู้ถาม : ครับ ในส่วนของคำถามนี้ ผมอยากจะย้ำความเข้าใจของตัวเองหน่อยว่า คือจากประสบการณ์ของตัวเองนี่ เมื่อ เมื่อ มักเกิดปัญหา แต่เนื่องจากที่ตัวเองเป็นคนช่างคิดนี่ ก็มักจะคิดออกไปหลายๆ แง่ หลายๆ แง่ เรื่อยๆ แล้วมันก็มีทางออกทางหนึ่งซึ่งเป็นทางออกซึ่งตัวเองปลอดภัย ปลอดภัยหรือว่าได้ทุกข์น้อยนี่ การที่หาทางออกได้ด้วยความคิด ซึ่งคิดมากทีเดียว คิดหลายๆทางนี่ มันเป็นปัญญาชนิดหนึ่ง แต่เป็นเพียง จินตามยปัญญา ใช่ไหมครับ และไอ้ตัวความคิดนี้นี่ ก็จะไปส่งเสริมให้เข้าใจถึงเรื่องไอ้ ภาวนามยปัญญาด้วย ใช่หรือเปล่าครับ
ท่านพุทธทาส : ไอ้ความคิดที่คนคิด ไปตามอำนาจของการศึกษาเล่าเรียน จนกระทั่ง อ้า, รู้จักใช้เหตุผลคิด นี้เราเรียกว่ามันอยู่ในกลุ่ม ที่ยังไม่ถึงตัวแท้ของสัจจะ สัจจะคือจริงแท้นะ คือจริงแท้ แต่เพียงศึกษาเล่าเรียนอย่างไร คิดนึกด้วยเหตุผลอย่างไร แต่ถ้าเรากระโดดขึ้นไปได้ถึงไอ้ภาวนามยปัญญา ใช้วิธีสมถวิปัสสนา จิตสัมผัสความจริงอย่างนี้แล้ว มันถึงตัว อ้า, จริงแท้ ตัวสัจจะแท้ เพราะฉะนั้น มันต่างกันมาก ดังนั้น ที่พูดว่าใช้วิธีคิดด้วย อ้า, สติปัญญา ความรู้ตามธรรมดาสามัญ อย่างนี้ อ้า, มันก็มีประโยชน์ บางทีก็มีประโยชน์อย่างยิ่ง เช่นเอาตัวรอดได้ จากความตาย หรือว่าหาเลี้ยงชีวิตได้ นี้ก็มีประโยชน์ เต็มตามลำดับชั้นของมันอยู่แล้ว แต่เราไม่เรียกว่า รู้แจ้งเห็นจริงถึงสัจจะนะ คุณ เอ้อ, ไปนึกถึงคำไอ้ที่มันมีเป็นคู่ๆ กัน ไอ้เราคิดนี่มันจะได้ผลเพียงว่าเข้าใจ แต่จะไม่ขึ้นไปจนถึงคำว่า อ้า, เห็นแจ้ง ไอ้ ไอ้ชุด ชุดแรกนะ ชุดแรกที่ว่าเรียนๆๆ ในโรงเรียนนี้ เราก็ได้กันแต่เพียงความรู้ จะเรียกว่า knowledge หรืออะไรก็ตาม แล้วสติปัญญาก็อยู่ในขั้นไม่สูงไปกว่า ที่เรียกว่า intellect intellect ตามสัญชาตญาณไอ้ที่มันพัฒนาการขึ้นมาบ้าง นี่ต่อมาเรารู้จักใช้เหตุผล พวก reasoning อ้า, หรือ logic ถึงระดับ deduction induction อะไร ผลมันก็เป็นเพียงไอ้ความเข้าใจ เรียกว่า understanding intellect ก็สูงขึ้นมา ทีนี้ทำต่อไปอีกถึงชั้น ภาวนามยปัญญา แล้วมันไปสูงประเภท อย่างน้อยก็ realization เป็น wisdom เป็น intuitive wisdom เป็น enlightenment คำเดียวกับที่เขาใช้กับคำว่าตรัสรู้ของพระศาสดา เรารู้อย่างรู้ เรารู้อย่างเข้าใจ เรารู้อย่างเห็นแจ้งแทงตลอด ดังนั้น ที่คุณพูดถึงว่าเคยใช้มาแล้วอย่างช่ำชองนั้นนะ มันก็เป็นความรู้ อย่างที่เรียนรู้ รู้อย่างคิดนึก เป็นสติปัญญาประเภท intellect แล้วก็เป็นภาพของเหตุผล คือถูกผูกพันอยู่โดยเหตุผล ไม่เคลื่อนตัวออกจากเหตุผลได้ ต้องไประดับภาวนาปัญญาสูงสุด จึงจะชนะเหตุผล หรือไม่ ไม่ต้องอาศัยเหตุผล อาศัยการสัมผัสความจริง ดังนั้น ควรจะถือว่า ไอ้วิธีการของเรานั้น ควรจะได้รับการขยับขยายให้มันสูงขึ้นไป จนถึงระดับที่มันจะเห็นจริงนะ รู้จริง เห็นแจ้ง โดยแทงตลอด ด้วยการสัมผัสความจริง เดี๋ยวนี้ มันอาจจะจริง หรือถูกเฉพาะเรื่องเฉพาะกรณีแก้ปัญหานั้นๆ ไปได้ สติปัญญาอย่างนี้ ยัง อ้า, บรรลุมรรคผลนิพพานไม่ได้ อ้าว, ถามว่าอะไรอีก
ผู้ถาม : อาจารย์ครับ มีเพื่อนถามว่าอยากให้ท่านอาจารย์ยกตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่อง ภาวนามยปัญญานะครับ
ท่านพุทธทาส : ไม่มีตัวอย่าง ทำเลย ทำสมาธิ อย่างทำอานาปานสติ ขั้นต้นๆ ก็เป็นสมาธิ ทำต่อไปก็เป็นปัญญามากขึ้น เป็นปัญญามากขึ้นก็เห็นไอ้สัจจะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จิตก็เบื่อหน่ายคลายกำหนัด ปล่อยวางไปเอง ไม่มีตัวอย่าง
ผู้ถาม : คืออย่างที่ ที่ ที่กระผมยังสงสัยอยู่ก็คือว่า อย่างในตัวอย่าง อย่างเช่น คนที่ ประสบกับความทุกข์อย่างรุนแรงนะครับ แล้วก็ เอ้อ, ได้รับความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน จากความทุกข์นั้น เช่น เป็นต้นว่า ลูกตายหรืออะไรๆ ก็ตาม จนกระทั่งเห็นว่า ความทุกข์นี่มันทำให้ เอ้อ, คนเรานี่ คือทุกข์ ทุกข์จนถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น เมื่อเกิดความทุกข์ขึ้นมาอีกนี่ หรือว่าไม่ได้เกิดความทุกข์ขึ้นมา พอประสบเหตุการณ์เช่นนั้น เช่นนั้นอีกนี่ ก็เลยไม่ ไม่ทุกข์ เพราะว่าเห็นว่า เอ้อ, ทุกข์ไปก็รังแต่จะทำให้ตัวเองนี่เจ็บปวดนะครับ ถ้าทางโลก เขาก็พูดว่าเป็นความชาชิน อย่างนี้นี่ถือว่า คนผู้นั้นนี่ได้ ได้สัมผัสกับไอ้รสของความทุกข์อย่างชนิดที่มันเต็มที่แล้ว แล้วก็เข้าใจมันแล้วและหลุดพ้นหรือเปล่าครับ
ท่านพุทธทาส : ไอ้นี่อย่างนี้มันเป็นตัวอย่าง ของคนที่มีความทุกข์ แล้วเขา เอ้อ, ชิน หรือด้านไป อย่างนี้ไม่ใช่ภาวนามยปัญญา ถ้าจะเป็นภาวนามยปัญญาเขาต้องรู้แจ้งลงไปว่า มันอย่างนี้เอง มันอย่างนี้เอง ชัดแจ้งยิ่งขึ้นทุกที จนเขาไม่เสียใจ หรือไม่ทุกข์ เราควรจะเรียกว่ามันเป็น อ้า, ความชินชาอย่างที่เรียกนั่นแหละ หรือว่าเป็นความด้านของจิต ไม่เกี่ยวกับไอ้ภาวนามยปัญญา แต่ในกรณีนั้นนะ บางคน เขามีโชคดีหรือมีสติปัญญาอะไรก็ตาม เขาคิดให้มันเป็นภาวนามยปัญญาก็ได้ โดยกำลังของเขาก็ได้ หรือว่ามีผู้ไปบังเอิญมาชี้แจงให้ก็ได้ มันก็ได้เหมือนกัน ตัวอย่างต้องคิด อ้า, ต้องระบุให้ชัด แต่ว่าภาวนาปัญญาแล้วไม่ใช่ความชินชาแน่ ยกคำว่าชินชาออกไปเสียได้ จากคำว่าภาวนามยปัญญา เขาจะต้องฝึกฝนอบรมให้มีปัญญา ขึ้นมา เพื่อป้องกันก็ได้ เพื่อแก้ไขก็ได้ ในกรณีอย่างนี้ก็อาจจะพอถูกเข้าทีหนึ่ง เขาก็ไปศึกษา เขาก็ไปคิดค้น ไปพิจารณา ปฏิบัติตามวิธีของภาวนามยปัญญา จนเรียนรู้เพียงพอที่จะขจัดความรู้สึกที่เป็นทุกข์นั้นเสียได้ เพราะฉะนั้น อย่าใช้คำว่าชินชากับคำว่าภาวนามยปัญญา อ้าว, มีปัญหาอะไรอีก
ผู้ถาม : คือเป็นปัญหาเดิมที่ว่า เมื่อ เมื่อสมมติว่าคนที่ประสบความทุกข์นั้นๆ แล้วนี่ ถ้าหากว่าไปปฎิบัติตามวิธีภาวนามยปัญญาก็สำเร็จ มองเห็นแจ้งได้นี่ แต่ถ้าหากว่า บุคคลนั้นนะครับ คือกลับไปตัวอย่างเดิมอีกเช่น เคยประสบความสุขมาแล้วนี่อย่างดี แล้วก็ตัวเองมาประสบความทุกข์ เมื่อประสบความทุกข์นี่ก็เจ็บปวด แล้วก็ทนทุกข์ทรมานกับความทุกข์นั้น จนกระทั่งความทุกข์นั้นหายไป แล้วก็กลับไปเสวยสุขอีก แล้วก็มาเจอทุกข์อีก สลับกันไป จนกระทั่งนานเข้า นานเข้า จนตัวเองก็นึกรู้ว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันไม่ มันไม่เที่ยง โดยไม่ได้ไปใช้วิธีเจริญภาวนาหรืออะไรเลย คือประสบด้วยตัวเองมามาก จนกระทั่งคิดเอาได้ว่า คือคิดอย่างที่ไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างที่ท่านอาจารย์ได้อธิบายเมื่อกี้นี้หรือเปล่าว่า คิดอย่างใช้เหตุผลอธิบายนะครับว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนี่ ตัวเองก็เคยประสบมาแล้ว ความสุขมันก็ไม่ อยู่ได้ไม่ยืด ความทุกข์นี่ก็อยู่ได้ไม่ยืด ดังนั้น ต่อมาอีกนี่ หลังจากที่ประสบความทุกข์ ความสุข มาหลายๆ ครั้งแล้ว จนกระทั่งมีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อเจอสุขอีกนี่ก็ไม่รู้สึกว่ามันจะเป็นความสุขอะไร เฉยๆ ไป หรือว่าครั้นมาเจอความทุกข์อีก ก็รู้สึกว่าเฉยๆ ไม่ ไม่ ไม่ คือ พอเห็นแล้วก็วางมันเสีย ไม่คิดอะไรมาก เห็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา อย่างนี้นี่จะเป็นไปได้ไหมครับ
ท่านพุทธทาส : คุณถามว่าอย่างไร ถามสรุปว่าอย่างไร
ผู้ถาม : ถามว่าคนที่ เอ้อ, เจอมากๆ นี่ เป็นไปได้ไหมที่จะรู้แจ้งถึงที่สุด
ท่านพุทธทาส : คำพูดมาก ใจความนิดเดียว ประการที่ได้ประสบอะไรซ้ำๆ ซากๆ อยู่เสมอนั้น มันก็เป็นธรรมดา ก็จะถือว่าเป็นสิ่งที่ธรรมดา ที่คุณจะประสบซ้ำๆ ซากๆ ซ้ำๆ ซากๆ แต่ในการซ้ำลงไปนะ มันคงจะไม่ ไม่ไม่เท่าเดิม มันต้องฉลาดขึ้นบ้าง ถ้าเกี่ยวกับความทุกข์ แล้วมันต้องสอน สอนอย่างอัตโนมัติ ที่คุณพูดนั้นนะ คุณจะต้องหยั่งให้ลึก มองให้ลึก ว่า มัน มันมีการสอนโดยธรรมชาติ โดยอัตโนมัติอยู่ในนั้น ทีละนิด ทีละนิด ทีละนิด ทุกคราวที่ประสบกับความทุกข์โดยเฉพาะ หรือแม้แต่ความสุขก็ได้ ไอ้ความเจนจัด มันมีเพิ่มขึ้น มันสอนโดยอัตโนมัติชนิดหนึ่งเสมอ ดังนั้น ในตอนท้าย มันเปลี่ยนไปในรูปของความเห็นแจ้ง ประเภทภาวนามยปัญญา ก็ได้เหมือนกัน ถ้าจะมีบางคนที่มันไม่ได้ มันก็เป็นกรรมของคนนั้นนะ ที่มันช่างโง่เง่า เสียเหลือเกิน แต่ถ้าเป็นไปตามธรรมชาติ อ้า, แท้ๆ แล้วมันจะฉลาด ขึ้นทีละนิด ทีละนิด เพราะธรรมชาติมันสอน ชีวิตมันสอน เวลามันสอน ความเจนจัดมันสอน คนที่ได้ผ่านชีวิตมาจนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างนี้ก็มี กระทั่งเป็นพระพุทธเจ้า ชนิดที่เรียกปัจเจกพุทธะอย่างนี้ก็มี ชีวิตมันสอน ทีนี้เรามันไม่ เอ้อ, มันไม่ถึงขนาดนั้น แต่ถึงอย่างนั้นชีวิตมันก็สอน แต่ไม่ใช่ในกรณีชินชา ต้องเป็นกรณีที่เรียกว่าฉลาดขึ้นโดยอัตโนมัติทีละนิด ทีละนิด ทีละนิด ขอให้สังเกตดู นับตั้งแต่สัตว์เดรัจฉานขึ้นไป อายุมันมากเข้า อายุมันมากเข้า มันก็ฉลาด ฉลาดโดยที่ธรรมชาติมันสอนโดยอัตโนมัติทีละนิด ทีละนิด ดังนั้น สุนัขที่อายุมาก ฉลาดกว่าสุนัขอายุน้อยเสมอ หมายถึงพันธุ์เดียวกัน อะไรเดียวกัน ดังนั้น ขอให้ทุกๆ ท่าน ทุกๆ องค์ ทุกๆ คน รู้จักใช้ประโยชน์อันนี้ ชีวิตหรือเวลานี่ จะสอนอยู่โดยอัตโนมัติ อย่างไม่รู้สึกตัวก็ได้ ทีละนิด ทีละนิด ทีละนิดเสมอ ดังนั้น คนบุคคลในตัวอย่างที่ว่านั้นนะ มันเป็นไปตามกฎเกณฑ์อันนี้ เขาจึงไปรับประโยชน์ เป็นที่พอใจ ได้เหมือนกัน แต่จะเอาระดับแตกฉานเต็มที่ ปราดเปรื่องเต็มที่นั่นมันไม่ได้ ดังนั้น แม้ว่าจะดับทุกข์ได้ ก็เป็นผู้ที่ดับทุกข์ได้ในระดับ ธรรมชาติ ธรรมดา ไม่ใช่ผู้แตกฉาน อ้าว, มีปัญหาอะไร ซักอีกก็ได้ ซักข้อนี้อีกก็ได้ ให้มัน มันสิ้นกระแสความ
ผู้ถาม : ไม่มี ก็จะถามปัญหาต่อไป
ท่านพุทธทาส : เปลี่ยนปัญหาหรือ อ้าว, ว่าไป
ผู้ถาม : คือมีพระเพื่อนสงสัยว่า ในวันเกิดของท่านอาจารย์นี่ เขาบอกว่าของขวัญที่ล้ำค่า ก็คือการอดอาหารทั้งวัน ซึ่งเป็นกรณีพิเศษ ในการอดอาหารนี้อยากจะทราบจุดประสงค์ว่าเพื่อประโยชน์อะไร
ท่านพุทธทาส : นี่ไม่ใช่ปัญหาธรรมะ และเป็นเรื่องส่วนตัว เพราะฉะนั้น ไม่ตอบ อ้าว, ถามอะไรอีก
ผู้ถาม : นี้ มีอีกปัญหาหนึ่งถามว่า ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเปล่า ถาม มีความข้องใจเกี่ยวกับเรื่องบุคคลที่บรรลุถึงนิพพานแล้วนี่ ในทางวัตถุมองไม่เห็น แล้วจะมีวิธีการสังเกตอย่างไร ถึงจะทราบว่า บุคคลนั้นบรรลุนิพพานแล้ว
ท่านพุทธทาส : ถามให้ฟังง่ายกว่านั้น ก็ถามว่า จะสังเกตอย่างไรว่าคนนี้เป็นพระอรหันต์แล้วหรือยัง ต้องขอตอบว่าไม่มีทางที่คนธรรมดาจะไปสังเกตให้รู้จักพระอรหันต์ได้ แม้แต่พระอรหันต์ด้วยกันก็ยังลำบากเหมือนกัน แต่ว่ามีทางที่จะรู้ได้ อ้าว, ปัญหาอื่น
ผู้ถาม : ปัญหาที่ว่า ระหว่างความรักกับความหลงนี่ มีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อให้เกิดความเข้าใจนี่ และมีความหมายในทางโลกและทางธรรมกว้างขวางแค่ไหน
ท่านพุทธทาส : นี่เป็นปัญหาทางภาษา ถ้าถามเพียงแค่นี้เป็นปัญหาทางภาษา มันควรจะไปถกกันในแง่ของภาษา แต่ถ้าจะเอามา อ้า, ให้เป็นเรื่องของธรรมะ เป็นภาษาของธรรมะ มันก็จะต้องบัญญัติความหมายไปตามแบบของธรรมะ ซึ่งไม่เหมือนภาษาชาวบ้าน แล้วก็ต้องให้รู้ไว้ด้วยว่า เอ้อ, ระหว่างภาษาแต่ละภาษาก็ใช้คำไม่เหมือนกัน ใช้ความหมายของคำไม่เหมือนกัน บางทีความรักในบางภาษาหมายถึงเมตตา หมายถึงความรักที่ประกอบด้วยธรรมก็มี ในภาษาไทยนี่ดูจะหมายถึงความรักอย่างธรรมดาสามัญ คือความรักอย่างกิเลสเสียมากกว่า ถ้าจะสูงขึ้นไปถึงความรักของพ่อแม่ ความรักตัวเอง มันก็มีความหมายคนละอย่างกับคำว่าเมตตา ดังนั้น จึงจะต้องเอามาปรับกันเข้าว่า รักด้วยความรู้สึกที่เป็นสติปัญญา คือไม่หลง หรือเปล่า รักด้วยความหลงนั้นอีกอย่างหนึ่ง รักด้วยสติปัญญาคือปราศจากความหลงนี่อีกอย่างหนึ่ง อย่างแรกมันก็เป็นความทุกข์ เผลอเข้าก็บ้าเลย อย่างหลังก็มีประโยชน์ คือรักด้วยสติปัญญา รัก อ้า, ผู้อื่น รักบิดามารดา กระทั่งรักตัวเอง รักด้วยสติปัญญา อย่ารักด้วยความหลง คำว่าความหลงเป็นชื่อของกิเลส คือคำว่าโมหะ แปลว่าความหลง เป็นของตรงกันข้าม เป็นคู่ปรับกันกับปัญญา ดังนั้น เมื่อพูดถึงกรณีของความรัก ก็แยกได้ รักด้วยโมหะ คืออวิชชา ความหลงหรือว่ารักด้วยสติปัญญา วิชชา ที่ถูกต้อง อย่างนี้จะกัน จะป้องกันไอ้ความกำกวม ความกำกวมแห่งถ้อยคำที่มาพูดแล้ว พูดกันไม่เรื่อง เอ้อ, ไม่ได้ ไม่รู้เรื่อง จนต้องเถียงกัน จนต้องทะเลาะกัน นั่นขอให้สังเกตไว้ อ้าว, มีปัญหาอะไรอีก
ผู้ถาม : ครับ เป็นการสืบเนื่องจากปัญหาที่ถามไปเกี่ยวกับเรื่องปัญญา คือก็เกิดปัญหา เกิดความคิดขึ้นมาว่า เพราะฉะนั้น ไอ้ตัวปัญญาซึ่งเป็นภาวนามยปัญญานี่ ก็ไม่ต้องอาศัยความคิดเลยใช่ไหมครับ
ท่านพุทธทาส : อยากจะพูดให้ชัดว่าไม่อาศัยความคิดเลย อาศัยการดูอย่างเดียว แต่ว่าดูด้วย ด้วยจิต ด้วยภายใน ถ้าเป็นเรื่องของวิปัสสนาชั้นปัญญา แล้วไม่มีการคิด ไม่มีการใช้เหตุผลใคร่ครวญคำนวณ จะเป็นเรื่องดูลงไปอย่างเดียว แต่ว่าดูด้วยจิต ที่ฝึกดีแล้ว สอนกันอยู่ผิดๆ ผมก็เคยสอนผิด เมื่อแรกๆ บวช สอนนักเรียน สอน ก็เคยสอนผิดๆ ว่าเป็นเรื่องการคิด วิปัสสนาเป็นเรื่องการคิด แต่พอมารู้จักมันเข้า จึงเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องคิด เป็นเรื่องดู ถ้าเรื่องคิด เรื่องคำนวณ เรื่องเทียบเคียง เรื่องนี้จะเป็นพวกจินตามยปัญญา แม้จะคิดเรื่องสังขารร่างกาย เรื่องทุกข์ เรื่องอะไรก็ตาม มันเป็นจินตามยปัญญา ทั้งนั้น ถ้าเป็นเรื่อง ภาวนามยปัญญา หรือวิปัสสนาแล้วเป็นเรื่องดูๆๆ ดูอย่างเดียว ดูจนเห็น ถ้าคิดก็ไปการปรุงแต่ง ก็ตามเหตุผล วิ แปลว่าแจ้ง ปัสสนาก็แปลว่าเห็น อย่างนี้ มันไม่ได้คิด จึงเป็นผลของการดูจนเห็น ไม่ได้คิดคำนวณ ถ้าคิดคำนวณเป็นจินตามยปัญญา เป็นเรื่องภาวนามยปัญญา แล้ว เป็นเรื่องดู ตามดู เฝ้าดู หรือมี หรือมีความรู้สึกลงไปในสิ่งนั้น สิ่งที่เรียกว่า อ้า, experience ซึ่งไม่รู้จะแปลเป็นไทยกันว่าอะไร อันนั้นไม่ใช่คิดนะ คุณไปสังเกตดู ไปศึกษาดู คือมันรู้สึก มันรู้สึก ที่ไม่ต้องคิด ดังนั้น เรามีความรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ อยู่ทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี อันนี้ไม่ใช่ความคิดมันเป็น experience คือเห็นมาแล้ว รู้สึกมาแล้ว สัมผัสสัจจะมาแล้ว เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น ให้ใช้ experience นี่ เป็นรากฐาน และเป็นที่ตั้งของภาวนามยปัญญา แล้วเราจะได้มองดูลงไปยังไอ้ ไอ้ experience ต่างๆ ที่เคยมีแต่กาลก่อน แต่อย่าไปคิดมันนะ อย่าไปใช้อย่างวิธีคิดอย่างเทียบเคียง ดึงเข้าดึงออก ให้ดูๆๆ ดูจนเห็นความทุกข์ ดูจนเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในระดับที่แท้จริง ที่เป็นการบรรลุมรรคผลนั้น เป็นผลของการดู ไม่ใช่การคิด ถ้าไปคิดเพื่อให้เข้าใจเพื่อให้เกิดความเชื่อว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้นมันเป็นจินตามยปัญญา ก็ทำได้ อันนี้ไม่มีใครห้าม ผลของการคิดก็จะเป็นจินตามยปัญญา ผลของการดู เห็น ก็จะเป็นภาวนามยปัญญา อ้าว, มีอะไรอีก
ผู้ถาม : คืออยากจะให้ท่านอาจารย์อธิบายความหมายของคำว่านิพพานที่แปลว่า สภาพที่หาเครื่องเสียดแทงมิได้
ท่านพุทธทาส : นิพพานก็แปลว่าเย็น ถ้าเย็นชั่วคราวก็เป็นนิพพาน อ้า, ชั่วคราว ถ้าเย็นเด็ดขาดไปเลยก็เป็นนิพพานจริง ก็ไม่มีความทุกข์ความร้อน นี่คือความไม่มีอะไรเสียดแทง ไม่มีความทุกข์ ก็คือไม่มีอะไรเสียดแทง อ้าว, พอดีหมดเวลา สำหรับวันนี้ปิดการประชุม พรุ่งนี้ขอให้เตรียมปัญหามาให้เป็นระเบียบและลำดับหน่อย อย่าเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาอย่างวันนี้ เอาละปิดประชุม