แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้าตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติ ลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ปรารภเหตุการกระทำอาสาฬหบูชา ดังที่ท่านทั้งหลายก็ทราบอยู่เป็นอย่างดีแล้ว และยิ่งไปกว่านั้นก็คือการแสดงธรรมในกัณฑ์แรกนี้ เป็นเพียงการชี้แจงแนะนำให้ท่านทั้งหลายได้เตรียมเนื้อเตรียมตัว เตรียมจิตใจ สำหรับจะกระทำพิธี อาสาฬหบูชา ให้สำเร็จประโยชน์เต็มที่เท่านั้น ไม่ได้จะมุ่งหมายจะแสดงบทธรรมะโดยละเอียดพิสดาร สำหรับข้อที่ว่าเป็นการเตรียมกายเตรียมใจให้เหมาะสมแก่การทำอาสาฬหบูชาให้สำเร็จประโยชน์ถึงที่สุดนี้ ได้มีการตักเตือนกันทุกปี เท่าที่จำได้ ด้วยเกรงว่าบางคนยังไม่เคยได้ฟัง บางคนฟังแล้วก็ลืมเสีย แม้ยังไม่ลืมก็คงจะจำไว้ไม่ได้หมด จึงขอตักเตือนกันต่อไปอีกตามสมควร
วันนี้เราเรียกกันว่าวัน อาสาฬหบูชา เป็นที่ระลึกแก่พระธรรม คือเป็นวันที่พระองค์ทรงแสดงธรรม ที่พระองค์ได้ตรัสรู้ หรือที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นวันแรก เป็นเรื่องแรก การเป็นเรื่องแรกนี่ไม่ได้หมายความว่าเพียง ขั้นเดียวหรือตอนเดียว แต่ว่าเป็นเรื่องทั้งหมดที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ขอให้ไปพิจารณาดูให้ดี ใจความสั้นๆ ก็มีว่า อย่าได้ข้องแวะไปในทางสุดโต่ง ข้างซ้ายหรือข้างขวา ข้างซ้ายคือตามใจตัวเองหมกมุ่นในกาม ข้างขวาแกล้งทำตัวเองให้ลำบาก ฝืดเคือง คนโง่ทั้งสองพวกนี้ล้วนแต่คิดว่าด้วยการกระทำอย่างที่ตนทำนั้น จะเป็นเครื่องกำจัดความทุกข์เสียได้ ตามที่ตนมองเห็น แต่แล้วพระองค์ก็ตรัสชี้ว่าใช้ไม่ได้ทั้งสองทาง ต้องอยู่ตรงกลาง คือที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา บางทีก็เรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘
สรุปความแล้วก็เป็นความถูกต้อง ๘ ประการด้วยกัน เอามารวมเข้าด้วยกันเป็นสิ่งๆ เดียว เรียกว่า อริยมรรค นี่คือใจความสำคัญที่สุดเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในข้อที่ว่าไม่เหมือนใคร ท่านลองคิดดูให้ดีว่ามันไม่เหมือนใคร ไม่ไปซ้ายหรือไม่ไปขวา แต่อยู่ที่ตรงกลาง คือความถูกต้องที่พอเหมาะพอดี และทรงแสดงอริยสัจทั้ง ๔ เรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ และทางให้ถึงความดับทุกข์ เพื่อประกาศปฏิญาณพระองค์ว่าเป็นสัมมาสัมพุทธธะ เพราะได้รู้เรื่องอริยสัจ ๔ เพราะได้ทำหน้าที่เกี่ยวกับอริยสัจทั้ง ๔ และทำเสร็จแล้วสมบูรณ์แล้ว ลงความว่าท่านทรงทราบ ว่ามันเป็นอย่างไร และทรงทราบว่าคนเรามีหน้าที่จะต้องปฏิบัติกับสิ่งทั้ง ๔ นี้อย่างไร และจะต้องปฏิบัติให้ได้ พระองค์ทรงกระทำได้อย่างนั้น และก็ประกาศเป็นครั้งแรกแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ ในการประกาศครั้งแรกนี้ก็ไม่เป็นหมันเปล่า อย่างน้อยก็มีองค์หนึ่งได้เห็นธรรม นี่ก็มีธรรมจักษุเห็นธรรม ตามหลักแห่งพระพุทธศาสนาในลักษณะที่จะไม่ถอยหลังกลับอีกต่อไป และต่อมาก็ได้ทรงแสดงให้ทุกองค์เห็นธรรม และบรรลุอรหัตผลในที่สุด เหตุการณ์นี้เป็นใจความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า อาสาฬหบูชา คือเราจัดพิธีนี้ขึ้นเป็นการบูชา เป็นที่ระลึกแก่เหตุการณ์ที่สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงแสดงซึ่งธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร เป็นเหมือนกับการประกาศธรรมาณาจักรของพระองค์ และทรงท้าทายว่า ธรรมจักร ที่ทรงให้เป็นไปแล้วนี้ ไม่มีใครต้านทานได้ จะเป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เป็นมาร เป็นพรหม เป็นอะไรก็ตามแต่ ไม่มีใครสามารถจะต้านทานได้ คือไม่สามารถจะคัดค้านได้ ดังนั้นเราจึงถือว่าเป็นโอกาสสำคัญ โอกาสหนึ่งในบรรดาโอกาสสำคัญทั้งหลายที่เกี่ยวกับพระผู้มีพระภาคเจ้า และเราควรจะถือเอาโอกาสแห่งวันนี้ว่าเป็นวันของ พระธรรม เมื่อวันเพ็ญเดือนวิสาขที่แล้วมานั้นถือว่าเป็นวันของพระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ในวันนั้นเรียกว่าวันพระพุทธเจ้า ครั้นต่อมาถึงวันเพ็ญเดือนนี้ ก็เป็นวันของพระธรรม คือได้ทรงแสดงพระธรรมลงไปในโลกเป็นครั้งแรกก็มีผู้บรรลุพระธรรมตามที่พระองค์ทรงแสดง และก็ต่อไปอีกไม่กี่เดือนก็จะถึงวันเพ็ญมาฆบูชา เป็นวันที่พระสงฆ์ทั้งหลายบรรดาเป็นพระอรหันต์ประชุมกัน เป็นสังฆสันนิบาตใหญ่ในพระพุทธศาสนาซึ่งถือว่ามีแต่ครั้งเดียว และในสังฆสันนิบาตนั้นได้ทรงประกาศหลักของพระพุทธศาสนาสำหรับใช้ทั่วๆ ไป เป็นหลักทั่วๆ ไปที่เรียกกันว่า โอวาทปาติโมกข์ ตั้งแต่ต้นจนถึงนิพพานจึงจัดเป็นวันพระสงฆ์หรือเป็นวันพระอรหันต์ ก็จึงมีวันเกิดขึ้นเป็น ๓ วันครบตามพระรัตนตรัย คือวันพระพุทธ วันพระธรรม และวันพระสงฆ์ วันนี้เป็นวันพระธรรมอย่างที่ได้กล่าวแล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายทำในใจให้สำเร็จประโยชน์สมตามที่เป็นวันแห่งพระธรรม เมื่อพูดถึงพระธรรมควรจะทราบไว้เสมอไปว่าเป็นสิ่งสูงสุด โดยที่พระพุทธองค์ก็ได้ทรงประกาศออกไปว่าแม้ ตถาคต ก็เคารพธรรม เป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็ยังเคารพธรรม หรือว่าธรรมนั่นแหละทำบุคคลให้เป็นพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายทุกพระองค์ทั้งใน อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ย่อมเคารพพระธรรม วันนี้เป็นวันพระธรรมจึงควรทำความสำคัญในใจให้สมกับที่เป็นวันพระธรรมดังที่กล่าวแล้ว ทีนี้ก็มาถึงการที่ว่าทำไมจะต้องมาทำกันที่นี่ ในสภาพอย่างนี้ ข้อนี้ก็ขอให้เข้าใจอย่างถูกต้องว่า มีความมุ่งหมายบางอย่างบางประการด้วยคิดว่าจะสำเร็จประโยชน์แปลกออกไปกว่าการทำอย่างที่ทำๆ กันอยู่ทั่วๆ ไป แม้จะไม่ดีกว่าก็ยังจะต้องแปลกกว่า เพราะว่ามาทำกันในป่า ในสภาพที่จะให้คล้ายครั้งพุทธกาล ให้ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ชนิดนั้น จึงมีการทำพิธีบูชาที่เคยเรียกกันมาว่า ทำวิสาขป่า ทำอาสาฬหบูชาแบบป่า ทำมาฆบูชาแบบป่าบนภูเขานี้ ซึ่งเรียกว่าภูเขาพุทธทอง แผ่นดินที่เรานั่งกันอยู่ตรงนี้เคยเป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่ แล้วพังทลายลงมาด้วยขโมย เขาขุดค้นหาทรัพย์ ก้อนอิฐเหล่านี้เป็นก้อนอิฐที่แสดงอายุพันกว่าปี คือมีลักษณะเหมือนกับก้อนอิฐแห่งสมัยศรีวิชัยทั้งปวง เราควรจะพูดได้ว่าแผ่นดินตรงนี้อย่างน้อยก็มีความศักดิ์สิทธิ์มาแล้วตั้งพันกว่าปี คงจะช่วยอะไรได้บ้าง อย่างเป็นแน่ บรรพบุรุษปู่ย่า ตายาย ที่ตายไปแล้วได้เคยใช้สถานที่นี้ตั้งเมื่อพันกว่าปีมาแล้ว และเคยเหยียบย่ำ นั่งนอน อยู่บนพื้นดินนี้ อาตมาเรียกว่ามันศักดิ์สิทธิ์ คือจะเป็นเครื่องให้ดลใจให้ลูกหลานชั้นหลังนี้เอาอย่างบ้าง ถ้าไม่รู้สึกไม่สำนึก ไม่เอาอย่างกันบ้าง ก็เป็นลูกหลานที่โง่เต็มที เพราะนั้นไม่ต้องพูดกันก็ได้ นี่บอกให้ทราบว่าควรจะระลึกนึกกันในลักษณะอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ ภิกษุปัญจวัคคีย์ ก็เป็นเรื่องแสดงในป่า มันมีความสงบสงัดตามแบบของป่า ความสงบสงัดนี้ช่วยได้มากในการที่จะให้เข้าใจธรรม ความสงบสงัดนั้นมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ท่านคิดดูให้ดี สังเกตดูให้ดีก็จะมองเห็น ว่าถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติก็จะมีลักษณะสงบสงัด ถ้ามันผิดธรรมชาติเมื่อไหร่ มันก็วุ่นวาย เมื่อเราทำจิตใจให้สงบได้ง่ายเมื่อมานั่งอยู่ใกล้ๆ กับธรรมชาติราวกับว่าเป็นเกลอกับธรรมชาติ ก็ทำให้เรานึกถึงพระพุทธเจ้าได้ง่าย เพราะว่าพระพุทธองค์นั้น ประสูติก็กลางดิน ตรัสรู้ก็กลางดิน นิพพานก็กลางดิน สอนสาวกทั้งหลายส่วนมากก็กลางดิน จนจะพูดได้ว่าพระไตรปิฎกของเราทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องที่พูดกันกลางดิน โรงฉันก็กลางดิน กุฏิของพระพุทธองค์ก็กลางดินไปดูได้ที่ประเทศอินเดียซึ่งเขายังแสดงซากไว้ให้ดู การนั่งกลางดินก็จะต้องมีอะไรพิเศษมากกว่าที่จะนั่งบนสิ่งก่อสร้าง แต่เดี๋ยวนี้ทายกทายิกาาทั้งหลายเขาชอบวิมาน ทำอะไรสักนิดหนึ่งก็อธิษฐานว่าให้ได้วิมาน จะเอาไปทำไมก็ไม่รู้ มันยิ่งไกลพระพุทธเจ้าออกไป พวกเทวดาก็ไม่อาจจะรู้ธรรมะไม่ใช่ว่าโลก ก็ลงมาศึกษากันในมนุษย์โลก มนุษย์โลกนี้ก็ดีแล้ว เหมาะแล้วสำหรับจะรู้ธรรมะ ก็ให้ ก็ได้ ก็ควรจะจัดหรือทำให้มันรู้ธรรมะได้ง่ายขึ้นด้วยการเสพพบกับเสนาสนะเช่นนี้ และจิตก็เจริญนึกถึงพระพุทธองค์ได้ง่าย ความรู้สึกต่อพระพุทธองค์ก็จะรู้สึกได้ง่าย ความเสียสละเพื่อพระพุทธองค์ก็มีขึ้นมาได้โดยง่าย อย่างว่าจะต้องมานั่งในที่แห่งนี้เจ็บเท้าเจ็บ แม้จะเดินเวียนในที่อย่างนี้ก็ยังเจ็บเท้า ไม่เหมือนกับเดินบนพื้นซีเมนต์ จะเป็นโอกาสให้นึกถึงข้อที่พระพุทธองค์ทรงอยู่อย่างนี้ ไม่มีรองเท้า ไม่มีฉลองพระบาท พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่มีรองเท้า ไม่มีร่ม ไม่มีอะไรต่างๆ เราไม่สนใจกันก็เลยมีจิตใจที่หยาบ กระด้าง ยากที่จะเข้าใจพระพุทธเจ้าได้ ถ้าจะลำบากบ้างเมื่อเดินเวียนประทักษิณบนที่ขรุขระอย่างนี้แล้วเกิดความเจ็บปวดขึ้นมา ก็ให้ถือเอาเป็นเครื่องบูชาแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เมื่อพูดถึงการประทักษิณก็เข้าใจกันอยู่แล้วเป็นส่วนมาก ถ้ายังไม่เข้าใจ ค่อยเข้าใจว่าเป็นการแสดงความเคารพสูงสุด คือการเดินเวียนไปรอบๆ โดยมีมือข้างขวาอยู่ไปทางบุคคลหรือวัตถุที่ เราจะแสดงความเคารพ โดยร่างกายเดินเวียนไปเป็น ทักษิณาวัตร โดยวาจาก็พร่ำสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ โดยจิตใจก็ระลึกอยู่ ซึมซาบอยู่ถึงพระคุณนั้นๆ ความยากลำบากก็คงจะอยู่ในเรื่องที่ ๓ นี่เอง คือการทำจิตใจในพระพุทธคุณนั้นๆ เรื่องที่ ๑ เดินไปด้วยกายนี้ก็ทำได้ไม่ยาก เรื่องที่ ๒ สวดไปด้วยวาจานี้ก็ทำได้ไม่ยาก แต่เรื่องจะทำในใจให้ซึมซาบถึงพระคุณจริงๆ นี่ค่อนข้างยากหรืออาจจะยากสำหรับบางคน ดังนั่นแหละจึงต้องทำความเข้าใจเฉพาะข้อนี้เป็นพิเศษ คือทำความเข้าใจถึงพระคุณของพระองค์เป็นพิเศษที่มีประโยชน์กับสัตว์โลก จงสั่งสอนสัตว์โลกให้รู้และปฏิบัติตาม มันมีความหมายอย่างไร มีความหมายที่ตรงไหน จึงมีคนโกนผมและบวชเป็นหมู่ๆ กระทั่งมานั่งประชุมกันที่นี่เป็นคนบ้าหรือเป็นคนดี มัคทายกทายิกาทั้งหลายที่เป็นอุบาสกอุบาสิกาก็เหมือนกัน มาประชุมกันในวันนี้ด้วยความเข้าใจว่าอย่างไร ดังนั้นอาจจะเป็นคนบ้าก็ได้ ถ้าเพียงแต่สักว่ามาๆ มาๆ สักว่ามาๆ หรือทำอะไรให้แปลกๆ ออกไป เป็นที่สนุกสนาน หรือบวชแล้วก็ไม่รู้ว่าบวชเพื่ออะไร ได้รับประโยชน์อะไร นี่เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ เมื่อจะทำความเข้าใจในคุณอันประเสริฐของพระพุทธเจ้าก็ต้องระลึกนึกถึงพระบาลี หรือพระพุทธภาษิตที่เกี่ยวกับธรรมจักรกัปปวัตตนสูตรอีกนั่นเอง ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ก็จะเข้าใจพระคุณของพระพุทธเจ้า และจะปฏิบัติจนได้รับประโยชน์นั้นๆ ก็เลยเป็นการได้ที่ดีที่ถูกต้องไม่ใช่ละเมอเพ้อฝัน พระธรรมนี้มีปริยายมาก คือมีแง่มุมสำหรับจะเรียนรู้หรือศึกษามาก เราก็เลือกเอาแง่มุมที่เหมาะแก่เรา หรือบางทีก็สามารถสรุปรวมทุกๆ แง่ทุกๆ มุมก็มาเหลืออยู่แต่เพียงแง่เดียวมุมเดียว และก็ถือเอาเป็นหลักปฏิบัติ จะอธิบายให้ฟังในข้อนี้ขอให้สังเกตและจดจำไว้เป็นอย่างดีด้วย ว่าเรื่องธรรมจักรกัปปวัตตนสูตรนั้น ได้กล่าวถึงการเว้นจากการคลุกคลีในกาม เว้นจากการทรมานตนให้ลำบาก เพราะว่าสองอย่างนั้นมันเป็นความโง่ ขออภัยพูดอะไรด้วยคำธรรมดาๆ ค่อนข้างจะหยาบคาย แต่เพื่อประหยัดเวลามันก็ต้องพูดอย่างนี้ การมัวเมาในกาม การทำตนให้ลำบาก มันเป็นความโง่ เมื่อต้องการความไม่โง่ ทีนี้ก็มาเว้นเสียจากทั้งสองอย่างนั้น มาตั้งตนอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทา หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ สัมมาวาจา การพูดจาชอบ สัมมากัมมันโต ทำการงานชอบ สัมมาอาชีโว ดำรงชีวิตชอบ สัมมาวายาโม พากเพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ กำหนดคร่าวๆ ก็ได้ว่ามันมีอยู่ถึง ๘ อย่างหรือ ๘ ชอบ แต่พอถึงทีปฏิบัตินั่น มันไปรวมอยู่ที่ สัมมาทิฏฐิ ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องแล้วที่เหลือนอกนั้น มันจะทำได้โดยง่าย นี้เรื่องปฏิบัตินี่ผิดกับเรื่องศึกษาเล่าเรียน ศึกษาเล่าเรียนนั้นมีมากเรื่อง แจกออกไปมากเรื่อง แล้วก็ยิ่งแจกออกไปไม่มีที่สิ้นสุด พอถึงทีปฏิบัติมันเหลือที่จะต้องปฏิบัติเพียงเรื่องเดียว โดยเฉพาะก็คือเรื่องของ สัมมาทิฏฐิ ดังที่กล่าวแล้ว มีสัมมาทิฏฐิคือรู้ว่าอะไรเป็นอะไร พูดอย่างนี้มันก็ถูกที่สุด แต่เรื่องสำคัญสำหรับจะให้รู้นั้น คือเรื่องความดับทุกข์ เมื่อเรารู้ความทุกข์และความดับทุกข์ก็เรียกว่าได้รู้เรื่องที่ดีที่สุดที่พระพุทธเจ้าท่านประทานให้ โดยถือว่าก่อนนี้มนุษย์ไม่รู้เรื่องนี้ ไปหลงในเรื่องกาม สุขัลลิกานุโยค อัตตกิละมัตถานุโยค และมิจฉาทิฏฐิ อีกนาๆ ประการ แยกออกเป็น ๖๒ ทิฏฐิ ก็มี ๒๘ ทิฏฐิ ก็มีมา ล้วนแต่ไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ พระพุทธองค์ทรงแสดงสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเมื่อบุคคลได้ฟังคำสั่งสอนของพระองค์แล้วก็จะลุกโพลงออกมาเป็นสัมมาทิฏฐิว่า ( บทบาลี นาทีที่ 32.54 น ) สิ่งใดมี ธรรมเหล่าใดมี ธรรมใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ธรรมนั้นมีความดับเป็นธรรมดา นั่นคือเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท คือเรื่องที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงทุกสิ่งต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์อันนี้ ถ้ารู้แล้วเราก็จะสามารถเลือกเอาแต่สิ่งที่ไม่เป็นทุกข์ ปฏิบัติขจัดสิ่งที่เป็นทุกข์ออกไปได้ ได้รับสิ่งที่ไม่เป็นทุกข์ สัมมาทิฏฐิสรุปรวมอยู่ที่ว่า สิ่งใดมีการเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมีความดับเป็นธรรมดา เป็นสัมมาทิฏฐิรอบด้านหรือจะเรียกกันว่ามันครอบจักรวาล สัมมาทิฏฐิเรื่องอะไรมันจะมารวมอยู่ที่เรื่องนี้ ขอให้ไปศึกษาให้ดีเป็นพิเศษ มันยืดยาว จะเอามาพูดเดี่ยวนี้ก็ไม่มีเวลาพอ แต่สรุปความว่าเรื่องสัมมาทิฏฐิสูงสุดแล้วมันก็จะอยู่ที่ เห็นความที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามปัจจัย ความที่ไม่เป็นไปตามปัจจัยนั้นเป็นความดับทุกข์ เพราะนั้นเราก็มีจิตใจอยู่เหนือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน เราไม่มีความทุกข์ก็แล้วกัน ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นไปตามเหตุปัจจัย เรามายึดถือเอามาเป็น ความเกิด แก่ เจ็บ ตายของเรา ของจิตนั้น จิตที่มันมีสัมมาทิฏฐินั้น จิตนั้นมันก็จะไม่เป็นทุกข์ นี่แปลว่าพระองค์ทรงแสดงให้ทราบถึงอุบาย วิธีที่จะทำไม่ให้เป็นทุกข์ด้วยประการทั้งปวง จึงถือว่าเป็นสิ่งสูงสุด ประเสริฐที่สุด ไม่มีสิ่งไหนจะดีไปกว่า ไม่มีทุกข์โดยประการทั้งปวงนั้น เราเรียกว่านิพพาน ก็ดับหมดหรือไปหมดแห่งความทุกข์ คือความร้อนจึงมีแต่ความไม่ร้อน เรียกสมมติอีกทีหนึ่งก็ว่ามีแต่ความเย็น มันเป็นความเย็นในทางจิตทางวิญญาณเพราะไม่มีความร้อนคือกิเลส คนที่รู้จักกิเลสแล้วก็จะรู้จักว่ามันเป็นของร้อน และบางเวลาเราว่างจากกิเลสไม่มีกิเลสเวลานั้นมันก็เย็น เรื่องมันก็มีเท่านี้ ที่ทำให้มันไม่มีกิเลสโดยสิ้นเชิง โดยเด็ดขาด อย่าให้กลับมาอีก แล้วก็เป็นนิพพานที่เต็มขนาด หรือสมบูรณ์ หรือนิพพานจริง เดี๋ยวนี้เราก็มีกันแต่นิพพานชั่วขณะ เป็น สามายิกนิพพาน หรือนิพพานชั่วสมัยชั่วขณะ แต่ก็ยังดีกว่าที่จะไม่มีเสียเลย ถ้าเราไม่มีความสงบอก สงบใจทำนองนี้เสียเลย วุ่นอยู่ตลอดเวลาแล้วก็ต้องเป็นบ้า เป็นโรคประสาทและเป็นบ้าและก็ตายไปแล้ว ไม่ได้มานั่งกันอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวนี้มันมีนิพพานแม้ชั่วขณะนั่นแหละ ช่วยประคับประคองเอาไว้พอให้ตั้งเนื้อตั้งตัวได้ เราอยู่มาสำหรับประพฤติปฏิบัติ ต่อไปอีกๆ ให้มันก้าวหน้าต่อไปอีก จนจะ จนกว่าจะชนะกิเลสโดยประการทั้งปวง กิเลสนี้มีเคล็ดอยู่อย่างหนึ่งว่า ถ้าทำอย่าให้มันเกิดได้แล้วมันจะค่อยสลายไปๆ คือมันไม่สะสมความเคยชินของกิเลส มันช่วยกันระวังไว้ ระวังให้ได้ทุกทีที่มันจะเกิด แล้วมันก็จะเกิดยากขึ้น เขาเรียกว่าไม่สะสมอนุสัย อนุสัย คือความเคยชินที่จะเกิดกิเลส ไปโลภก็ทีหนึ่ง ไปกำหนัดก็ทีหนึ่ง เพราะนั้นก็เก็บความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้นไว้ครั้งหนึ่ง หลายครั้งเข้ามันก็มีอนุสัย สำหรับจะโลภ หรือสำหรับจะกำหนัดให้มันมาก จนหนาแน่น เรื่องโกรธก็เหมือนกัน ไปโกรธเขาทีหนึ่งมันก็ชินที่จะโกรธเพิ่มเข้าไว้ทีหนึ่ง นี่ตั้งแต่เกิดมามันก็โกรธบ่อยๆ ไอ้ความชินที่จะโกรธนั้นมันก็มากจนเป็นอนุสัยฝ่ายข้างโกรธ นี้เรื่องโง่ เรื่องหลง เรื่องสะเพร่า พวกโมหะนี่ก็เหมือนกัน โง่บ่อยๆ เข้ามันก็มีเชื้อหรือความเคยชินสำหรับจะโง่นะมากเข้า เราจึงโง่ได้ง่ายที่สุด โง่ได้เร็วที่สุด นี้เรียกได้ว่ามีความโลภ ความโกรธ ความหลงได้ง่ายที่สุด เพราะสะสมในความเคยชินไว้ นี่ระวังอย่าให้มันเกิดได้ เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญแล้วก็ระวัง อย่าปล่อยชุ่ยๆ เหมือนที่ทำกันโดยมาก มันก็จะค่อยผ่อนคลายลง ไม่สะสมความเคยชินไว้ในจิตใจ แต่กลายเป็น ระบายออกๆ ๆ เขาเรียกว่ามีอนุสัยเบาบาง คือความเคยชินสะสมกิเลสนั้นเบาบางๆ อย่างนี้มีหวังว่าจะสิ้นกิเลสในวันข้างหน้า พระพุทธองค์ก็ได้ทรงแสดงข้อนี้ ให้มีสติปัญญามองเห็นความที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามปัจจัย เราไปสร้างปัจจัยฝ่ายข้างเกิด มันก็เกิดมาก ถ้าเราไปสร้างปัจจัยฝ่ายข้างดับ มันก็ต้องดับเป็นแน่นอน จึงหวังว่าท่านทั้งหลายจะถือเป็นหลักประจำตัว จนตลอดชีวิต ว่าจะระมัดระวังให้ดีที่สุดอย่าไปเผลอให้เกิดความโลภ หรือความโกรธ หรือความหลง พยายามต่อสู้ข้อนี้เป็นอย่างยิ่งกว่าสิ่งใดทั้งหมด ก็จะเบาบางไปเอง จนในที่สุดก็สิ้นไปในวันหนึ่ง ความรู้ข้อนี้เราถือว่าไม่เคยมีมาแต่ก่อนหรือมีก็ไม่สมบูรณ์อย่างนี้ ต่อเมื่อพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้ และก็สอนความรู้นี้จึงสมบูรณ์ อย่างที่ปรากฏอยู่ในบาลีธรรมจักร ว่าอริยสัจ ๔ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และทางถึงความดับทุกข์ นั่นแหละคือข้อที่ทุกสิ่งมันเป็นไปตามปัจจัยของมัน มันมีปัจจัยสำหรับเกิดมันก็เกิด นั่นได้แก่ความทุกข์ทั้งปวง ที่ว่าเมื่อมันมีเกิดมันก็ต้องมีดับได้เป็นธรรมดา เพราะนั้นมันก็มีโอกาสที่จะดับ สำหรับเราจะได้ระมัดระวังไม่ให้เกิดอีก เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นครั้งหนึ่งก็ควรจะรู้จักเข็ดหลาบกันซะบ้าง เดี๋ยวนี้ไม่รู้จักละอายไม่รู้จักกลัวกันซะเลย ความทุกข์เกิดขึ้นก็ยิ่งสนุกกันใหญ่ มันก็เลยเดินกันคนละทางกับที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสั่งสอน เป็นอันว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการนั้น สาระสำคัญอยู่ที่สัมมาทิฏฐิ ทำสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้นและเจริญ มันก็จะดึงเอาองค์ที่เหลือ คือพูดถูก ทำถูก ดำรงชีวิตถูก อะไรถูกไปได้ในตัวมันเองจนถึงที่สุด โดยหลักปฏิบัติมันก็มักจะมีข้อเดียวอย่างนี้ แต่โดยรายละเอียดสำหรับศึกษาเล่าเรียนมันก็มีมาก เพราะนั่นขอให้พยายามพอกพูน สะสมพอกพูนสิ่งที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ พยายามทำจิตให้เหมาะสมที่จะเข้าใจธรรมะของพระพุทธองค์ อย่างที่เรามานั่งกันอยู่ที่ตรงนี้ อาตมาเชื่อว่าเหมาะสมที่จะเข้าใจธรรมะของพระองค์ ยิ่งกว่าที่จะนั่งกันอยู่บนตึกอย่างในบ้าน ในเมือง ขอให้ท่านทั้งหลายสังเกตดู มาจากกรุงเทพฯ กันก็มาก เมื่อเรานั่งอยู่ในสภาพอย่างนี้ จิตใจเป็นอย่างไร เมื่อเราอยู่ที่บ้านจิตใจเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเกี่ยวกับธรรมะแล้วมานั่งอยู่ในที่อย่างนี้ ก็ใช่ว่ามันจะตรัสรู้ขึ้นมาเองเหมือนพระพุทธเจ้า เพราะว่าธรรมชาติทั้งหลาย ต้นไม้ ก้อนหิน ก้อนดิน อะไรต่างๆ นี้มันมีลักษณะสงบ มีความหมายแห่งความสงบ เพียงแต่เรามานั่งอยู่ท่ามกลางสิ่งเหล่านี้ มันก็แวดล้อมจิตใจของเราให้สงบ มันง่ายอย่างนี้ เพราะนั้นจึงเชื่อว่า ครั้งที่มาทำอาสาฬหบูชาในป่าเช่นนี้คงจะไม่เสียหลาย คงจะได้ประโยชน์แปลกออกไป จากการที่จะทำกันอย่างในบ้านในเมือง เรียกว่าอาสาฬหบูชาป่า กับ อาสาฬหบูชาเมือง มันคงจะต่างกันมาก ก็ลองคิดดู ทีนี้เมื่อได้มาแล้วก็ขอให้ได้รับประโยชน์เต็มที่ ให้คุ้มค่ามา และนึกถึงข้อที่ว่า ไม่มีพระศาสดาองค์ไหนแห่งศาสนาไหนที่ตรัสรู้ในบ้านในเมือง โดยเฉพาะในพระพุทธศาสนานี้ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ตรัสรู้ในป่า พระอรหันต์ทุกองค์ก็บรรลุธรรมในป่า เพราะมันง่ายนั่นเอง เราก็ถือโอกาสนี้ทำอย่างนั้นบ้าง ตลอดเวลาที่อยู่ในที่สงบสงัดนี้ก็ง่ายที่จะมองเห็นธรรมะ และยังจะกล้าพูดอีกว่า แม้มานั่งในป่าสงบสงัดเพื่อรู้ธรรมะนี้ ถ้าเผอิญใครจะใช้ความคิดน้อมไปในทางทำมาค้าขายวางแผนการตั้งบริษัทอะไรก็ได้ ยิ่งจะคิดออกดีกว่าที่จะไปคิดในบ้านในเมืองด้วยซ้ำไป ขอให้ชอบใจในความสงบสงัดของธรรมชาติ ใช้เป็นโอกาสสำหรับคิดนึกศึกษาเรื่องที่ยากๆ ลึกๆ กันให้มาก มาถึงป่าแล้วก็อย่ามัวหัวเราะกันเลย ดำรงจิตใจให้สงบให้เข้าถึงธรรมชาติให้มากๆ แล้วจะคิดอะไรมันก็จะแจ่มแจ้งไปหมด เพียงเท่านี้มันก็คุ้มกันทีเดียวกับการอุตส่าห์มาจนถึงที่นี่ อาตมาไม่ได้มุ่งหมายว่าจะทำพิธีแบบสาธิต หรือสั่งสอนตัวอย่างอะไรให้ดู ไม่ได้คิดเพียงเท่านั้นเรื่องมันน้อยเกินไป แต่ต้องการให้มาชิมจริงๆ คือมาทำจิตใจให้ได้รับรสของธรรมชาติหรือของป่านี้จริงๆ ถ้าร่วมมือกันหน่อยก็คงจะได้ คือมีความสงบเงียบ ปล่อยให้จิตสัมผัสความสงบเงียบ ลึกลงไปๆๆ จะถึงสิ่งๆ หนึ่งซึ่งเข้าใจยาก คือมันเงียบเกินกว่าที่จะเงียบ เงียบจนไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง นี่ก็เป็นเรื่องที่ยืดยาวอธิบายไม่ไหว แต่อยากจะบอกไว้เป็นเรื่องคร่าวๆ เป็นหัวใจของเรื่องว่ามันมีอยู่สำหรับสิ่งนั้นที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ท่านเข้าถึง เมื่อพระพุทธเจ้าท่านเข้าถึงแล้วก็ท่านก็เรียกพระองค์เองว่าตถาคต ตถาคต แปลว่าผู้เข้าถึง ตถา ตถา นั้นแปลว่าความเป็นอย่างนั้นไม่อาจจะเป็นอย่างอื่น เมื่อเป็นอย่างนั้นอย่างเดียวไม่อาจจะเป็นอย่างอื่น สิ่งนั้นก็ต้องไม่มีเกิด ไม่มีดับ หรือว่าเมื่อเป็นอย่างนั้นอย่างเดียวไม่มีอย่างอื่น มันก็ไม่มีอดีต อนาคตหรือปัจจุบัน มันมีสิ่งที่ไม่เป็นอดีตหรือปัจจุบัน หรืออนาคตได้ นี่ก็เรียกว่า ตถา ถ้าถึงสิ่งนี้เรียกว่า ตถาคต ลองพยายามเตรียมเนื้อ เตรียมตัว เตรียมใจไว้ทุกโอกาส มีแต่ความสงบเงียบเมื่อไหร่ก็คอยจ้องให้จิตมันแน่วแน่ ลึกซึ้งถึงสิ่งที่เรียกว่า ตถา นี่เป็นหลักที่ว่าจะพูดและก็เข้าใจยากก็จะต้องพยายามต่อไป โดยที่เชื่อแน่ว่ามันมีอยู่สิ่งหนึ่งซึ่งจิตเข้าถึงได้ เรียกโดยทั่วไปก็ว่า อสังขตะ บ้าง นิพพาน บ้าง ในที่นี้เรียกว่า ตถา ผู้ใดถึงแล้วผู้นั้นเรียกว่า ตถาคต พระพุทธเจ้าถึงซึ่ง ตถา เป็นสิ่งที่ไม่มีเกิด ไม่มีดับ ไม่มีอดีต อนาคต ปัจจุบัน ถ้าจะพูดว่าสิ่งนี้เป็นปัจจุบันก็ต้องเป็นความหมายพิเศษอีกความหมายหนึ่ง ไม่ใช่ความหมายว่าปัจจุบันตามธรรมดาที่เกี่ยวกันอยู่กับอดีตและอนาคต ปัจจุบันนี้ก็หลอกลวง คือแทบจะไม่มี พอเรารู้สึกมัน สัมผัสมัน มันก็เปลี่ยนเป็นอดีตไป ไม่มีโอกาสที่จะสัมผัสปัจจุบันได้ ทั้งอดีต ทั้งปัจจุบัน ทั้งอนาคต ในลักษณะนี้ล้วนแต่เป็นมายา เป็นหลอกลวง ถ้าถึง ตถา ก็ไม่มีความเป็นอย่างนี้ มีแต่ความเป็นอย่างนั้นอย่างเดียวโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง บางพวกเขาเรียกสิ่งนี้ว่าปัจจุบันก็มี คือเป็นปัจจุบันที่แท้จริงเพราะมันไม่มีเกิดไม่มีดับ เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าไอ้สิ่งนี้จะถึงได้ จะได้สัมผัส ได้ชิมก็เฉพาะต่อเมื่อจิต สงบ รำงับ ดิ่งลงไปถึงขนาดที่จะรู้สึกได้ อาศัยความสงบสงัดทั้งข้างนอกทั้งข้างใน ในป่านี้เรียกว่าสงบข้างนอกและก็ช่วยให้เกิดสงบข้างใน ในจิต ในความสงบธรรมชาตินี้มีแต่จะบีบคั้นจิตให้สงบ ถึงจิตสงบแล้วก็พอที่จะหยั่งถึงสิ่งที่เรียกว่า ตถา ถ้าใครไม่มีสติปัญญาอะไรมากมาย ก็ตั้งหน้าเพียงแต่ว่าเราจะเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า ตถา ไปทำจิตให้สงบๆๆๆๆ ลงไปตามที่จะทำได้แล้วมันก็จะดีกว่าที่ไม่เคยทำหรือไม่เคยสนใจ เดี๋ยวนี้คนยังโง่มาก ถ้าท่านทั้งหลายอนุญาตให้พูด อาตมาก็พูดว่าท่านทั้งหลายนั่นเองยังโง่มาก โง่มากในข้อที่ว่า อะไรๆ ก็จะถามซะเรื่อย จะถามผู้สอนเสียด้วยให้อธิบายไปทุกกระเบียดนิ้ว จนจำไม่ไหว จนเลิกกัน จนฟั้นเฟือ ธรรมะที่แท้จริงนั้นทำอย่างนั้นไม่ได้ ธรรมะที่แท้จริงเป็นสิ่งที่ต้องรู้เอง ให้การปฏิบัตินั่นแหละมันสอนเอง เข้าใจว่าที่นั่งกันอยู่ที่นี่แทบทุกคนนี่จะขี่รถจักรยานเป็น นี่ก็ขอให้นึกถึงสมัยที่ขี่รถจักรยาน และเอารถจักรยานมาจับสำหรับจะขี่ ไอ้คนที่สอนมันจะสอนได้เท่าไร นอกจากมาจับอย่างนี้ ประคองอย่างนี้ มันเท่ากับไม่สอน แต่พอเราทำตามนั้นเข้ามันก็หกล้ม แข้งขาถลอกปอกเปิกหลายครั้งหลายหนเข้า ไอ้หกล้มนะมันสอน สอนจนหกล้มน้อยเข้า จนไม่หกล้ม ขี่ไปได้ปัดๆ เป๋ๆ ปัดๆ เป๋ๆ หลายหนเข้ามันก็สอนได้เองจนขี่ได้แน่วแน่จนกระทั่งปล่อยมือก็ได้ ใครมันสอน มันต้องว่าไอ้รถจักรยานนั่นแหละมันสอน ไม่ใช่ครูคนไหนมาสอน ไอ้การล้มนะมันสอนให้ขี่รถจักยาน จิตนี้ก็เหมือนกัน ไอ้ล้มๆๆๆ อยู่เสมอนะมันสอนๆๆ จนไม่ล้ม คือจิตไม่สงบนะมันจะสอนให้จนมันสงบได้โดยมันสอนในตัวมันเอง เดี๋ยวนี้ถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ถี่ยิบจนขี้เกียจจะตอบเป็นปัญหาของคนโง่เลยไม่ตอบ ไปนึกดูเถอะว่ามันสอนของมันอยู่ในตัวเอง ไม่เฉพาะเรื่องนี้ อะไรๆ มันก็สอนของมันอยู่ในตัวเอง ทีแรกมันก็บอกกันได้แต่เพียงว่า ทำอย่างนั้นๆๆ พอไปทำเข้ามันก็ไม่ได้ แล้วไม่ได้มันจะสอนให้ๆ จนมันทำได้ เรื่องอย่างต่ำที่สุด เช่นว่าจะหุงข้าวกิน คนแก่สอนเด็กได้ก็เพียงว่าทำอย่างนั้น อย่างนั้น แล้วมันก็หุงเปียกไปบ้าง ดิบไปบ้าง อะไรไปบ้าง ก็สองสามครั้งแล้วมันก็ทำได้ นี่เรียกว่ามันสอนในตัวมันเอง แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เรื่องง่ายๆ เรื่องวัตถุแท้ๆ ยังก็ต้องปล่อยให้มันสอนเอง เรื่องจิตนี้ก็เป็นอย่างเดียวกัน อย่าหวังที่จะถามๆๆ ถามอย่างคนบ้า ถามนั่นนะจนไม่ควรจะถาม ถามจนมันก็ลืมเมื่อถาม ถามเสร็จมันก็ลืม เพราะมันถามมากนัก เพื่อจะให้ได้ประโยชน์ก็ ก็ลงมือทำดู แล้วมันก็ไม่ได้ ไม่ได้ก็ทำอีก แล้วมันก็สอนให้ ทำอีกก็สอนให้ อาตมาเชื่อว่าทุกคนจะสามารถทำจิต ทำจิตนี่ให้เป็นสมาธิได้ตามสมควรแก่อัตภาพแห่งตน ถ้าเรามานึกถึงพระพุทธเจ้าก็ต้องเข้าใจข้อนี้ว่าไม่มีใครสอนท่าน การค้นคว้ามันสอนท่านก็คือความผิด ผิดๆ ถูกๆ ผิดๆ ถูกๆ นะมันสอนท่าน จนท่านรู้อย่างสมบูรณ์ในฝ่ายถูก จึงขอให้ยินดีต้อนรับความทุกข์หรือความผิดพลาด โดยเฉพาะความทุกข์นั่นแหละศึกษามันให้มาก มันจะสอนความดับทุกข์ให้ ไอ้ความสุขสนุกสนานนะมันทำให้โง่ โง่ลงๆๆ ในที่สุดก็ดีแต่นั่งร้องไห้ เกินกว่านั้นก็ไปกินยาตาย คนมุ่งหมายแต่จะสุขสนุกสนานไม่เรียนจากความทุกข์ พอเกิดความทุกข์ขึ้นมาก็มัวแต่นั่งร้องไห้ นี่เป็นหลักทั่วไปในการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานี้ เรียกว่าต้องให้มันสอน และก็ต้องอยู่ในที่ๆ เป็นธรรมชาติ หรือใกล้ชิดธรรมชาติ เช่นในสภาวะอย่างนี้ เรารู้เรื่องความสงบได้ง่ายกว่าในบ้านในเมือง นี่สิ่งแวดล้อมภายนอกมันช่วยแวดล้อม พอลึกเข้าไปในจิตใจ ไอ้ความรู้สึกคิดนึกมันก็สอนกันอีกทีหนึ่ง ความผิดหรือความไม่สำเร็จสอนให้พบความถูกต้องและความสำเร็จ อย่าได้ท้อถอยเลย ในที่สุดนี้ก็อยากจะให้คิดดูว่า การมานั่งที่นี่ได้เพิ่มอะไรให้แก่ท่านทั้งหลายบ้าง ในทางศรัทธา ข้อแรกก็เชื่อว่าคงจะทำให้ศรัทธาในพระพุทธองค์มากขึ้น ถ้าได้พบกับความสงบเราก็จะมีศรัทธาในพระองค์มากขึ้น พูดถึงปัญญาก็ได้รู้อะไรลึกกว่าแต่ก่อน ถึงคราวที่จะประพฤติปฏิบัติตามจะเสียสละ จะทำลายกิเลส คงจะมีความเข้มแข็งมากขึ้นกว่าแต่ก่อน และยังมีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อีกมาก เช่น ความอดทน เป็นต้น เพราะว่ามาที่นี่มันต้องมาด้วยความอดทนและก็ยังต้องมานึกนั่งคิด นึกมาก เข้าใจพระพุทธเจ้ามาก ก็มีศรัทธามาก ธรรมทั้งหลายย่อมอาศัยกัน ย่อมส่งเสริมซึ่งกันและกันอย่างนี้ และขอให้เก็บเอาไปให้ได้ มาจากที่ไกลมาจากจังหวัดตากก็มี มาจากนราธิวาสก็มี ก็เรียกว่ามาไกลโขอยู่ ถ้าไม่ได้อะไรที่คุ้มกันแล้วก็จะทำยังไง จะทำยังไงก็ไปคิดดู อาตมาเห็นว่ามัน มันไม่คุ้มกัน เพราะนั้นอย่าๆ ให้มันเป็นอย่างนั้น พยายามให้คุ้ม คือได้รับความรู้สึกในทางจิตใจถึงขนาดเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในระบบของจิตใจ มีศรัทธา มีความเพียร มีสติ มีสมาธิ มีปัญญามากขึ้นกว่าแต่ก่อนก็ใช้ได้
ข้อความทั้งหมดนี้ เป็นการชี้แจงให้เห็นพระคุณของพระองค์ ว่าพระพุทธองค์เป็นบุคคลอย่างไร และก็ได้ให้อะไรแก่เรา และสิ่งนั้นมีค่ากี่มากน้อย และสิ่งนั้นมันมีค่าสมกับที่เราอุตส่าห์ถ่อร่างกันมาจนถึงนี่ และขึ้นมาบนภูเขานี้ โดยตั้งใจว่าจะทำให้ดีที่สุด เพราะมันมีความง่ายที่จะทำ ที่จะทำให้ดีที่สุดอย่างที่ว่ามาแล้ว ก็ขอให้ทำให้ดีที่สุด ให้ได้อะไรมากกว่าที่ไม่ได้มาถึงที่นี่ นี่คือข้อตักเตือนให้เตรียมตัวสำหรับทำพิธี อาสาฬหบูชา ให้แปลกออกไปให้ยิ่งขึ้นไปทุกๆ ปี หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะรับหรือจะทำให้ตนเองได้รับประโยชน์ตามความมุ่งหมายนี้ เป็นแน่นอน
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องที่จะทำพิธีอาสาฬหบูชาอย่างที่กล่าวแล้ว จะเวียนประทักษิณ โดยถือเอาพระเจดีย์นี้เป็นวัตถุที่ตั้งแห่งความระลึกถึงพระพุทธเจ้ากระทั่งสัญลักษณ์ต่างๆ แทนพระพุทธรูปก็มีอยู่มาก แต่ที่ดีกว่านั้นก็คือจิตใจของตนที่กำลังสงบ กำลังสะอาด สว่าง สงบ โดยนัยยะที่กล่าวมาแล้ว มีอยู่ในหัวใจของเราที่เป็นศูนย์กลางสำหรับจะเวียนประทักษิณ เราจะละทิ้งขนบธรรมเนียมประเพณีเสียทุกอย่างก็ ก็ไม่ได้ มันจำเป็นที่จะต้องรักษาไว้สำหรับลูกเด็กๆ หรือลูกคนแรกเข้ามา เพราะนั้นจึงมีการเวียนเทียนทั้งข้างนอกและข้างใน เวียนด้วยร่างกาย เวียนด้วยจิตใจ พระสงฆ์นี่จะไม่ออกไปเวียน จะขอมีหุ้นส่วนโดยสวดพระพุทธคุณให้ ให้ทายกทายิกาทั้งหลายเป็นผู้เวียนพระธรรมในใจให้ดีที่สุด ให้มากที่สุดในการที่จะเข้าถึงพระพุทธองค์ ธรรมเทศนาที่เป็นการเตรียมตัวสำหรับทำพิธีอาสาฬหบูชาก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติธรรมเทศนานี้ไว้เพียงเท่านี้เพื่อเตรียมพิธีอาสาฬหบูชาต่อไป ให้พระสงฆ์ทั้ง (นาทีที่ 1.03.15 น)
ทายกทายิกกาอย่าพึ่งจุด เดียวจะหมดเสียก่อนอย่าพึ่งจุด เดี๋ยวเทียนจะหมดเสียก่อน ให้พระทำพิธีก่อน อ้าว, ยืนขึ้นๆๆ คือว่าทำจิตใจให้เหมาะสมสำหรับจะบูชาพระพุทธองศ์ในโอกาสนี้ ขอให้อย่างน้อยช่วงเวลาที่กล่าวคำบูชานี้มีจิตใจเหมาะสม คือมีจิตใจปราศจากความหมายแห่ง ตัวกู ของกู ปราศจากความหมายที่เป็นแบบโลกๆ เพื่อให้มันทำได้ง่ายขึ้น ขอร้องให้หลับตาเสีย แล้วทำในใจเสียใหม่ ไม่มีทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ไม่มีข้างบน ไม่มีข้างล่าง ให้เป็นที่ว่างถึงกันหมด เพราะลักษณะของพระธรรมเป็นอย่างนั้นเอง แล้วก็มีจิตใจที่ถึงความว่างอย่างที่ว่า เมื่อข้างในมันถึงแล้วข้างนอกมันก็ถึง นี่ขอให้เตรียมจิตใจว่างสำหรับกล่าวคำบูชา ไม่มีประเทศไทย ไม่มีประเทศอินเดีย ไม่มีทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก มีแต่ความว่างของพระธรรมแล้วกล่าวคำบูชาเป็นภาษาบาลี ตามธรรมเนียม อ้าว, หันทำไมกัน (1.05.51 น-1.12.45 น. เป็นบทสวดมนต์ค่ะ)
นิมนต์นั่ง ทายกทายิกกาทั้งหลายจุดธูป จุดเทียน ถือเข้าในมือ จุดธูป จุดเทียน ถือไว้ในมือ แล้วไปยืนให้สะดวกที่จะเดินเวียน ( นาทีที่ 1.13.08 น) (ภาษาใต้ 1.13.40 น) อย่าเดินเร็วๆ มันหลอกๆ หัวใจมันหลอกๆ อย่าเดินเร็วๆ เดินช้าๆ หัวหน้า อย่าเดินเร็วๆ จุดธูป จุดเทียน ถือไว้ในมือแล้วหันหน้ามาทางนี้ก่อน หันหน้ามาทางนี้ก่อน จุดธูป จุดเทียน ถือในมือหันหน้ามาทางนี้ก่อน ยืนขึ้นเลย เอาละ ( นาทีที่ 1.14.37 น) มายืนตรงนี้ก่อน อ้าว,พร้อมหรือยังๆ การเดินเวียนประทักษิณเดินไปทางนี้ เดินตามหัวหน้า อย่าเดินเร็ว เดินเร็วใจมันหลอกๆ เดินช้าๆ ใจมันก็ปกติ (นาทีที่ 1.15.01 น)
เราทั้งหลายถึงซึ่งพระผู้มีพระภาคพระองค์ใดแล ว่าเป็นที่พึ่งพระผู้มีพระภาคพระองค์ใดแลเป็นพระศาสดาของเราทั้งหลาย อนึ่ง เราทั้งหลาย ชอบใจซึ่งพระธรรมของพระผู้มีพระภาค พระองค์ใดแล พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบเอง ทรงอาศัยความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย ทรงแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลทรงเอนดูแก่สัตว์ทั้งหลายได้ยังพระธรรมจักรอันสูงสุดให้เป็นไป ทรงประกาศอริยสัจ ๔ เป็นครั้งแรก แก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี ในวันอาสาฬหปุณณมี สมัยนั้นแล ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ หัวหน้าแห่งภิกษุปัญจวัคคีย์ ฟังธรรมของผู้มีพระภาคแล้วได้ธรรมจักษุอันบริสุทธิ์ปราศจากมลทิน ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาสิ่งทั้งปวงนั้นมีความดับเป็นธรรมดา ทูลขออุปสมบถกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เป็นพระสงฆ์อริยสาวกในธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นองค์แรก สมัยนั้นแล พระสังฆรัตนะ ได้บังเกิดขึ้น ดังนั้นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ ได้สมบูรณ์แล้วในโลก
บัดนี้ เราทั้งหลายมาประจวบสมัยอาสาฬหปุณณมี เป็นที่รู้พร้อมกันว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงประกาศพระธรรมจักร เป็นวันที่เกิดขึ้นแห่งพระธรรม จึงมาประชุมกันแล้ว ณ ที่นี้ ถือสักการะเหล่านี้ไว้ในมือทำร่างกายของตนให้เป็นเหมือนภาชนะรองรับเครื่องสักการะ ในใจระลึกถึงอยู่ซึ่งพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นตามที่เป็นจริง จะกระทำประทักษิณสิ้นวาระสามรอบซึ่งพระสถูปนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญขอพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เสด็จปรินิพพานนานแล้วโดยประกาย แต่ยังคงปรากฏอยู่ด้วยพระคุณ อันข้าพเจ้าทั้งหลายกระทำอยู่ในใจ ขอจงทรงรับซึ่งเครื่องสักการะอันข้าพเจ้าทั้งหลายถือไว้แล้วนี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญ (นาทีที่ 1.21.30 น)
( ภาษาใต้ ) เดินนำอย่าเดินเร็ว พระสงฆ์ทั้งหลายจะได้สวด พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ให้
ทายกทายิกการไม่ต้องสวด ไม่ต้องสวด ทำในใจนิ่งๆ ฟังแล้วเดินช้าๆ (บทสวดบาลี 1.22.01 น)
พิธีบนภูเขาเสร็จแล้ว พิธีบนภูเขานะเสร็จแล้ว อย่ามายืนข้างหลัง ทำวัตรก่อน นี่พระทำวัตร คือว่าพระทำ
วัตรหรือว่าชาวบ้านทำ ดีไหม มันต้องพิจารณาในความเหมาะสม ความเหมาะสม พิธีทำวัตรยืนก่อนขาเมื่อย ทำ
วัตรยืนก่อนขาเมื่อย แต่ลงไปนี่ก็จะพอดี อุบาสก อุบาสิกา ทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว พระทำวัตรเย็น แล้วก็ทำอะไรบ้างจนกว่าจะสามทุ่มจึงเสร็จ นั่นแหละความเหมาะสม ของเกียรติ ของพระ ของ (นาทีที่ 1.36.00 น) ระวังแดดมันจะเข้าในเลนส์ หลบตรงที่ไม่มีแดด ตรงนั้นไม่มีแดด ตรงนั้นแหละ แดดเข้าไปในเลนส์ เพียงแต่ว่าแดดไม่เข้าไปในเลนส์ พิธีบนภูเขาเสร็จแล้ว เชิญกลับลงไปได้ ลงไปทำวัตรเย็นกับหินโค้ง แล้วก็คุยกันแค่นั้นนะสนทนาธรรมที่นั้น แสดงธรรมไปเรื่อยๆ สลับกับสนทนาธรรม…