แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เรื่องของธรรมะนั้นยังมีอีกมากมากกว่าที่เรารู้สึก เมื่อก่อนนี้อาตมาก็เคยคิดว่ามันมีไม่มาก ยิ่งไปเกี่ยวข้องไปศึกษาแล้วมันก็ยิ่งมาก ยิ่งมากออกไปอีก ก็เลยคิดว่าเราจะต้องเตรียมให้มากสำหรับศึกษา อย่าถือเป็นเรื่องอดิเรกเล็กๆ เรื่องทำเล่นๆ จะต้องศึกษาธรรมะถึงขนาดที่จะแก้ปัญหาของโลกได้ ในฐานะที่เราเป็นพลโลกก็แก้ปัญหาเพื่อโลก ในฐานะที่เป็นคนของประเทศแก้ปัญหาเพื่อเป็นคนของประเทศ แล้วยังจะเป็นครูอาจารย์ เป็นนักเรียน เป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน เป็นอะไรอีกหลายอย่าง ถ้าจะเป็นให้สำเร็จ จะเป็นให้ได้ดี ก็ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่าธรรมะทั้งนั้นแหละ อาจจะไม่เชื่อก็ได้ แต่ขอให้สังเกตดูต่อไปเถอะว่าจะต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่าธรรมะทั้งนั้น จะได้เป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศของโลก กระทั่งว่าเป็นมนุษย์ของมนุษย์ เป็นมนุษย์ของมนุษยชาติ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์
ขอให้ทุกๆ คนมองกว้างๆ อย่างนี้ ปัญหาอะไรเหลืออยู่ก็จะได้ซักถามกัน ไม่ใช่ปัญหามันมีอยู่แต่เรื่องซ้ายเรื่องขวา เรื่องซ้ายฆ่าขวา ขวาฆ่าซ้าย ไม่ใช่ปัญหามีอยู่เท่านั้น นั่นคือปัญหาที่มองด้วยสายตาแคบ และมองด้วยจิตใจที่ไม่ปรกติ ถ้าว่ามองถูกต้องตามเรื่องของธรรมะแล้ว จะไม่มีเรื่องที่ขวาจะต้องฆ่าซ้าย ซ้ายจะต้องฆ่าขวา ไม่มีซ้ายไม่มีขวา มีแต่ความถูกต้อง ทั้งสำหรับฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา เราจะเรียกว่าอยู่ตรงกลาง
ธรรมะจะอยู่ตรงกลาง เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าธรรมะคือความสมดุลย์ ถ้าไม่สมดุลย์แล้วก็ไม่ใช่ธรรมะ ซ้ายสุดก็ไม่สมดุลย์ ขวาสุดก็ไม่สมดุลย์ พอสมดุลย์ก็จะเกิดเป็นกลาง แล้วก็จะเป็นธรรมะ ปัญหามันก็ไม่มีที่จะกระทบกระทั่งกัน เรื่องซ้ายเรื่องขวานั้นเป็นเรื่องของประโยชน์ทั้งนั้นแหละ ไปดูให้ดีเถอะ มันเกิดขึ้นมาเพราะว่าเกี่ยวกับประโยชน์ เพราะประโยชน์มันขัดกันเท่านั้นเอง เรื่องประโยชน์นี้ต่างคนต่างก็มีสิทธิที่จะแสวง ต่างคนก็ต่างมีสติปัญญาสามารถที่จะแสวง ถ้าไม่เอาธรรมะเป็นหลักมันก็ได้ฆ่ากัน แล้วฆ่ากันก็ไม่ใช่จะสิ้นสุดของปัญหาได้ เรามีธรรมะสำหรับที่จะขจัดปัญหาโดยที่ไม่ต้องฆ่ากัน
การเมืองก็เป็นเรื่องทำให้คนอยู่กันเป็นผาสุกโดยไม่ต้องใช้อาวุธ ถ้าต้องใช้อาวุธเป็นการเมืองบ้า เป็นการเมืองของภูติผีปิศาจ อาวุธมันก็ใช้ ในเมื่อมันไม่มีทางอื่นที่จะรักษาความเป็นธรรม นี่ก็ถูกแล้ว แต่อย่าไปหวังใช้ ใช้ความเป็นธรรม ไปพูดกันรู้เรื่อง ปัญหาจะสิ้นสุดได้ ระหว่างนี้เขาก็ใช้อาวุธกันอยู่ เราก็อย่าไปเห็นด้วยในการใช้อาวุธ เตรียมสำหรับที่จะใช้ธรรมะ และอาวุธคือธรรมะ มีผลระยะยาว หวังผลระยะยาว คือเป็นไปเพื่อสันติ
นี่เป็นการพูดทั่วๆ ไปสำหรับคนที่มีปัญหาอยู่ในโลก นี้ปัญหาส่วนตัวบุคคลก็ยังมีอยู่ว่าเราทำอย่างไร จะคิดนึกอย่างไร จะตั้งจิตอย่างไรเราจึงจะมีความอยู่เป็นผาสุกส่วนบุคคล นี่มันแคบเข้ามาเป็นส่วนบุคคล ภายในบุคคล ปัญหาภายในบุคคล ไม่ออกไปข้างนอกเป็นสังคม ถ้าออกไปบุคคลที่สองที่สามแม้ในครอบครัวนั้นก็เรียกว่าสังคมเหมือนกัน มันเสร็จไปแล้ว มันพูดกันแล้ว นี้ส่วนเราคนเดียว ภายในบุคคลนี้ก็ยังมีปัญหา ที่เราควบคุมจิตของเราไม่ได้ เพราะเราตั้งจิตไว้ไม่ถูกต้อง แล้วก็ไม่ได้รับประโยชน์เป็นความผาสุกส่วนบุคคล เมื่อควบคุมไม่ได้ปัญหาก็จะลามออกไปถึงภายนอก คือไปหาสังคม คือมีผู้ที่จะขัดคอหรือทะเลาะวิวาทกัน หรือว่าจะมีการต่อสู้กัน ถ้าแก้ไขปัญหาภายในได้ละก็ ปัญหาภายนอกก็จะหมดไปเอง เพราะเขารู้จักจัดรู้จักทำไม่ให้ปัญหามันเกิดขึ้นมา
เดี๋ยวนี้โลกทั้งโลกคือการศึกษาของทั้งโลก ความนิยมของทั้งโลกไม่มองในด้านใน ไม่มองในส่วนภายในของแต่ละคน มองแต่ประโยชน์ภายนอก ก็เพิ่มปัญหา เราจะอยู่อย่างไรในโลกที่เต็มไปด้วยคนบ้ามากขึ้นทุกที ช่วยจำไว้ด้วย ปัญหาเราจะมีขึ้นมาว่า เราจะอยู่อย่างไรในโลกที่เต็มไปด้วยคนบ้ามากขึ้นทุกที แล้วในบางกรณีก็รวมทั้งตัวเราเองด้วย ก็บ้าเหมือนกัน ในโลกนี้มันมีแต่สิ่งที่จะยั่วให้เราคิดผิด พูดผิด ทำผิด มากขึ้นทุกที การศึกษาที่เจริญแบบใหม่นี่ มันจะให้ทำถูกเสียจะได้หมดปัญหา นี่ขอฝากไว้ ก็ท้าทายให้ไปลองสังเกตดู ความก้าวหน้าในโลกนี้มันเป็นไปเพื่อสร้างปัญหาเพราะมันมองกันแต่ด้านวัตถุ มองกันแต่ด้านประโยชน์ทางวัตถุ ทางเนื้อทางหนัง ก็สร้างปัญหา
อุตส่าห์มาถึงสวนโมกข์ ลำบาก เหนื่อย เปลืองเวลา ควรจะได้อะไรไปให้มันคุ้มๆ กัน ก็ลองคิดดู เพราะสำหรับอาตานี้รู้สึกว่าไม่มีอะไรนอกจากเรื่องที่เป็นความมุ่งหมายของสวนโมกข์ แต่แล้วคนเขาก็ไม่ค่อยจะสนใจเรื่องที่เรามีให้ เขาสนใจเรื่องของเขาที่เราไม่มีให้ ส่วนใหญ่ก็มักจะมาทัศนาจร ถ้ามาทัศนาจรแล้วไม่คุ้มแน่ ไม่คุ้มเวลา ไม่คุ้มอะไรแน่ ต้องได้อะไรอย่างหนึ่งที่เป็นความมุ่งหมายของสถานที่นี้ที่จะให้ สิ่งนั้นก็คือ ลูกตา ดูภาพที่ผนังตึกด้านนอกนั่น มีการแจกลูกตา แล้วไม่กี่คนยอมรับ นอกนั้นก็วิ่งหนีไปเสียเป็นฝูงๆ โดยที่หัวขาด คอขาด ไม่มีลูกตา ลูกตาในที่นี้หมายถึงแสงสว่าง คือความรู้ เกี่ยวกับว่าเราจะทำให้ชีวิตนี้มีประโยชน์ได้อย่างไร ขอให้ได้ ได้สิ่งนี้ไป ก็ไม่เสียทีที่มาที่นี้ แล้วทีนี้ปัญหาของใครมีอย่างไรก็นึกดู ก็จะได้คำตอบที่มันคงจะเป็นลูกตาหรือเป็นแสงสว่างได้บ้างเป็นแน่นอน
ในชั้นแรกนี้ขอให้เสนอปัญหาขึ้นมาจัดกันเอง ใครเป็นคนถามเป็นคนแรก เป็นคนต่อไป มีหัวหน้าทีมสักคน มีปัญหาอะไรถาม ถามดัง ๆ ให้ได้ยิน ถามที่ไมโครโฟน ไม่ต้องเกรงใจ ไม่ต้องกลัว เปิดโอกาสเต็มที่
คำถาม กระผมขออนุญาตถามก่อน พวกผมถึงแม้จะเป็นพุทธศาสนิกชน แต่ว่าก็มีความรู้เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของพระสงฆ์น้อยมาก อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า สังคมของพระสงฆ์ว่าเป็นอยู่กันอย่างไร ได้เป็นเครื่อง เสียงรบกวน.....(นาทีที่ 00:13:13)
ท่านพุทธทาส ไหนลองสรุปปัญหาใหม่ซิ สรุปปัญหาให้สั้นกว่านั้นหน่อย กระชับกว่านั้นหน่อย
คำถาม อยากเรียนถามว่าสังคมของพระสงฆ์เป็นอย่างไร
ท่านพุทธทาส เป็นอย่างไร ในแง่ไหน เป็นอย่างไรในแง่ไหน
คำถาม คือผมอาจจะยกตัวอย่างไม่ค่อยถูก อย่างที่ว่า เกี่ยวกับการตัดสินใจ การประชุมการจัดสรรผลประโยชน์ วงจรชีวิตของพระสงฆ์ในการดำเนินชีวิตเป็นอย่างไร
ท่านพุทธทาส คำว่าพระสงฆ์นี้หมายถึงพระสงฆ์แต่ละองค์ หรือว่าสงฆ์ทั้งหมด
คำถาม พระสงฆ์ในสังคม ...ทั้งหมดเลยครับ
ท่านพุทธทาส หมายถึงพระสงฆ์เดี๋ยวนี้หรือพระสงฆ์...(เสียงอื้ออึง)
คำถาม ผมมาถามถึงพระสงฆ์ที่ควรจะเป็นตามอุดมคติของพระพุทธศาสนาควรจะเป็นคือผมมีจุดประสงค์อย่างนี้อยากจะให้นักศึกษาเขาได้ศึกษาเกี่ยวกับพุทธศาสนามากขึ้น แล้วผมก็เคยเห็นแต่ท๊อปปิค ของที่ท่านอาจารย์เขียนไว้ว่า เอ่อ..ผมอาจจะจำหัวข้อไม่ได้ดีเท่าที่ควรว่าพุทธศาสนาก็เป็นสังคม.....(นาทีที่ 00:15:05) แทนที่จะไปดูถึงเนื้อหาหรือสาระของคำสอน ก็มาดูถึงสังคมของพระสงฆ์ซึ่งจะต้องอาศัยคำสอนนั้น มาจัดชีวิต มาจัดความเป็นอยู่ มาจัดรูปแบบของสังคม เพื่อที่จะให้บรรลุวัตถุประสงค์ของคำสอนได้ ผมพยายามจะถามตรงนั้น
ท่านพุทธทาส เสียงไม่ชัด (นาทีที่ 00:15:34) เราจะถือเอาประโยชน์จากการมีพระสงฆ์อยู่ในโลกนี้ได้อย่างไร มันจะกว้าง พระสงฆ์อย่างไร พระสงฆ์ที่ไหน ยังเป็นปัญหาอยู่ นั่นคือ เอาตามหลักที่มีที่มุ่งหมายก่อน
พระสงฆ์ของพระพุทธเจ้านั่นก็หมายถึง สาวกที่รับเอาหลักธรรมะของพระองค์ไปประพฤติปฏิบัติเป็นฆราวาสก็เรียกว่าพระสงฆ์ เป็นบรรพชิตก็เรียกว่าพระสงฆ์ ถ้าปฏิบัติสำเร็จข้อนี้ แต่เดี๋ยวนี้พระสงฆ์เรามักจะหมายแต่บรรพชิตอย่างเดียว ความหมายก็ถูก พระสงฆ์แท้จริงทั้งฆราวาส ทั้งบรรพชิต ปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นี่เป็นทั่วไป นี่บางส่วนบางองค์พยายามที่จะสอนคนอื่นให้.เสียงไม่ชัด (นาทีที่ 00:17:04) รู้ไปตามพุทธประสงค์ ฉะนั้นพระสงฆ์ที่แท้จริงก็ทำหน้าที่ปฏิบัติตัวของตัวให้ถูกต้องเรื่อยไป สิ่งใดปฏิบัติได้แล้ว สอนได้ สิ่งใดยังปฏิบัติไม่ได้ก็อย่าเพิ่งสอน ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็เรียกว่าปฏิบัติครบถ้วนถึงที่สุดแล้ว สอนได้ แต่ก็มี ท่านก็ไม่สามารถจะสอน เพราะท่านพูดไม่เป็นก็มี จึงสอนได้แต่ท่านที่สามารถจะพูดเป็น
ทีนี้กลับมาที่สมัยนี้ พระสงฆ์นี้ก็บวชขึ้นมา ซึ่งก็อยู่เป็นชาวป่า (นาทีที่17.52) บรรพชิตก็ยังไม่มีใครยอมรับฆราวาสว่าเป็นพระสงฆ์ ก่อนนี้เป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา บรรลุมรรคผลในพระพุทธศาสนา เขาก็เรียกว่าพระสงฆ์ เดี๋ยวนี้ก็เหลือแต่พระ บรรพชิต เรียกว่า พระสงฆ์ ก็ดูสิว่า ท่านศึกษาปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของท่านหรือไม่ ส่วนที่ท่านปฏิบัติได้แล้วท่านจะสอนหรือไม่ เราจะเกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ก็ด้วยอย่างนี้แหละ
ได้บอกกันไปแล้วว่า ถ้าท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ คือจะมีชีวิตที่อยู่ในโลก ให้ตำตาบุคคลอยู่ ก็คุ้มค่าข้าวสุกแล้ว ขอให้ใช้คำหยาบคายหน่อย เพื่อรวบรัดไม่ให้เปลืองเวลา แต่ถ้าว่าโดยที่จริงแล้ว เสียงไม่ชัด(นาทีที่ 00:19:05) เพราะสิ่งที่ท่านสอนให้ เป็นตัวอย่างที่ดีมันมีค่ามากแก่มนุษย์ แก้ปัญหาได้ ให้พ้นจากความทุกข์ได้ ถ้าเพียงแต่มีพระสงฆ์จริง ๆ มาอยู่ให้ดูก็พอแล้วสำหรับมนุษย์......เสียงไม่ชัด (นาทีที่ 00:19:19) ถ้าไม่มีพระสงฆ์ที่ถูกต้องชัดเจน... เสียงไม่ชัด (นาทีที่ 00:19:30) ...เป็นปัญหาที่ประชาชนจะต้องเลือกเอาเอง หรือว่าจะเอาอย่างไร จะปฏิบัติตามได้เท่าไร เชื่อฟังได้เท่าไร เดี๋ยวนี้พระสงฆ์ส่วนหนึ่ง ก็เป็นส่วนใหญ่ส่วนมาก พยายามจะทำให้ดีให้ถูกตามความมุ่งหมายของพระสงฆ์ พยายามศึกษา พยายามปฏิบัติ พยายามสอน เสร็จแล้วมันก็กระทบกระทั่งกัน ปัญหาของโลก ปัญหาของบ้านเมืองที่รุกล้ำเข้ามา แวดล้อมเข้ามา กระทบกระเทือนถึงวัดวาอาราม ถึงพระเจ้าพระสงฆ์จนท่านไม่สามารถจะศึกษาเล่าเรียนหรือสั่งสอนได้ตามอุดมคติแท้จริงของพระสงฆ์ ปัญหามีอย่างนี้
ฉะนั้น เราอย่าไปหวังอะไรอย่างที่ไม่ดูไม่แล ก็ศึกษาเรื่อยๆ ไป ให้รู้ว่าเรื่องของพระสงฆ์จะต้องเป็นอย่างไร เราก็รู้เพิ่มขึ้น ให้เป็นเพื่อนกัน ฆราวาสมีเรื่องมาก ก็ทำอะไรได้ยาก ได้ลำบาก ได้ช้า พระสงฆ์มีเรื่องน้อยก็ทำอะไรได้เร็ว คล่องแคล่วลึกซึ้งกว่า มาเป็นเพื่อนกันศึกษาหารือกัน คงจะดีสำหรับฆราวาส และก็ดีสำหรับพระสงฆ์ ท่านจะมีประโยชน์มากขึ้น
ขอให้ทุกคนพยายามทำอย่างนี้ในกรณีของพระสงฆ์ไม่ว่าที่ไหน ขอให้ช่วยกันทำให้พระสงฆ์อยู่ในขอบเขตของพระสงฆ์ที่ถูกต้อง แล้วเราก็ได้รับประโยชน์จากท่าน แต่ว่าไม่ถึงกับจำเป็นจะต้องไปทะเลาะกับท่าน ถ้าความเห็นไม่ตรงกันก็ปล่อยไว้ก่อนก็ได้ เดี๋ยวนี้มักจะมองในแง่ที่มันจะให้ทะเลาะวิวาทกัน แง่ที่จะไปด้วยกันได้ไม่ค่อยจะมอง เหตุการณ์มันเปลี่ยนไปมาก พระสงฆ์ที่ทำอะไรแปลกๆ ก็ต้องมี มีเพิ่มขึ้น
ทีนี้พูดถึงพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักการหรืออุดมคตินี้ดีกว่า เราจะลองช่วยกันให้ยังคงมีพระสงฆ์อยู่ในโลก แล้วก็ให้อยู่ในฐานะที่เป็นปูชนียบุคคล อย่าถือว่าเป็นเพียงเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แม้ว่ามีความหวังดีต่อกันอย่างที่ว่ามาแล้ว เพราะว่าถ้าเราทำตัวเสมอกัน ไม่เคารพ จิตใจของเราก็หยาบ ก็ดูพระสงฆ์ไม่ออก ฟังคำของท่านไม่เข้าใจ ถ้าเราทำกับพระสงฆ์อย่างในฐานะเป็นปูชนียบุคคล เราก็ระมัดระวังมาก ตั้งใจดีมาก แล้วก็ฟังดีมาก ปฏิบัติก็ดีมาก
ขอให้จัดพระสงฆ์ไว้ในระดับหนึ่ง อย่าทำเหมือนกับว่าเป็นเพื่อน เป็นเพื่อนเล่นกัน หรือว่าไม่มีความหมายอะไร บางคนจะเดินชนพระสงฆ์ จนพระสงฆ์ไม่มีที่จะยืนก็มี เป็นอย่างนี้ หรือว่ายืนค้ำหัวพระสงฆ์พูดก็มี แล้วไม่เพียงแต่ผู้ชาย ผู้หญิงก็มี ผู้หญิงฝรั่งก็มี ผู้หญิงไทยก็มี ข้อนี้เอาแน่ไม่ได้ ผู้หญิงฝรั่งรู้จักประพฤติต่อพระสงฆ์อย่างเคารพนบนอบก็มี ที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ภาษีภาษาอะไรเลย เพราะเขาไม่ได้รับคำแนะนำอะไรมา ผู้หญิงไทยก็เหมือนกัน รุ่นหลังนี้ไม่ค่อยรู้จักขนบธรรมเนียมประเพณี ที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับพระสงฆ์ ไม่เหมือนรุ่นบิดามารดา ปู่ย่าตายาย ฉะนั้นช่วยกันสังเกต ศึกษา ระวังไว้ด้วย ว่าทำอย่างไรมันจะมีประโยชน์มากที่สุด ทำอย่างไร มันก็จะเลอะเลือนหายไป ถ้าเราทำให้ถูกวิธีแล้วเราก็ยังจะได้รับประโยชน์อีกมากทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องของจิตใจ จะดำรงจิตใจไว้อย่างไรเราจึงจะไม่มีปัญหา หรือแก้ปัญหาได้
อยากจะบอกไอ้คำสั้นๆ แต่สำคัญที่สุด ซึ่งไม่ค่อยจะสนใจกันว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ไอ้ที่จะรอดหรือจะวินาศนี่ มันอยู่ที่ตั้งใจไว้ถูกต้อง หรือตั้งใจไว้จริง นี่คือการทำนี่ตั้งใจไว้ถูกต้อง ดำรงใจไว้ถูกต้อง ตั้งใจไว้ผิด ดำรงใจไว้ผิด มันเดินคนละทาง แต่ตั้งใจไว้ถูกต้องคืออย่างไรนี่ต้องศึกษา พระสงฆ์อาจจะเป็นตัวอย่างให้ดู สอนให้ได้ ให้ตั้งใจไว้อย่างถูกต้อง ก็จะไม่เกิดกิเลส จะไม่เกิดความทุกข์ อย่างน้อยที่สุดก็เกิดสติปัญญาได้ง่าย แล้วตั้งจิตไว้ถูกต้อง แต่ปัญญา หรือความรู้อันลึกซึ้ง จะค่อยๆ เกิดขึ้น เกิดขึ้น เรื่อยๆ ไปทุกวัน ทุกคืน ทุกเดือน ทุกปี ถ้าจิตที่ตั้งไว้ถูกต้องมันรู้จักคิดรู้จักนึก รู้จักสังเกต รู้จักตัดสิน รู้จักอะไรทุกอย่าง ระวังเรื่องตั้งจิตไว้ให้ถูกต้อง อย่าให้มัน เอ่อ...อย่าให้มันผิด นี่เป็นคำแรกที่จะพูด แต่ว่าอย่าให้มันผิด มันมีความหมายมากเหลือเกิน อย่าให้มันโลเล เหลาะแหละ เหลวไหล เบาหวิวไป
เดี๋ยวนี้หัวเราะกันมากนัก การหัวเราะทีไรมันก็กล้าทีนั้น การคิดนึกมันก็กล้า อย่างพูดให้เข้าใจดีแล้วเนี่ย เรามีอะไรฮากันใหญ่ มันก็เลือนไปทันที อยากจะแนะเลยไปถึงว่าในห้องเรียนน่ะ เดี๋ยวนี้มีฮากันมากนัก สมัยอาตมาเป็นเด็กนี่ไม่ได้หรอก น้อยครั้งที่จะมี เดี๋ยวนี้มีฮา ไปตามก้นพวกฝรั่ง ให้อิสระ เสรีภาพ ให้นักเรียนฮาในห้องเรียน เขาว่ามันประชาธิปไตย ประชาธิปไตยอย่างง่ายๆ นะ พูดไว้เป็นอนุสรณ์อีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อในหลวงท่านพบปะ ทั้งเมื่อวันเฉลิมพระชนม์พรรษา ท่านพูดให้โอวาท แล้วคนที่ไปฟังรวมกันนั้นฮา อย่างนี้ไม่ใช่ไทยแล้ว ไม่ใช่เป็นคนไทยแล้ว ไม่ใช่วัฒนธรรมไทยแล้ว ผู้มีเกียรติตั้ง ๒,๐๐๐ คนไปเฝ้าในหลวงวันเฉลิมพระชนม์ ท่านพูดถึงเรื่องฟันปลอมนะก็ฮา พูดเรื่องประชาธิปไตย ไอ้ไทยแลนด์ ไทยแลนด์เดี๋ยวนี้มันจะเป็นตายแลนด์แล้วก็ฮา ฮานานเสียด้วย อย่างนี้ไม่ใช่วัฒนธรรมไทยแล้ว จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในข้อนี้ก็ช่วยเอาไปคิดเถอะ พอฮามันก็เลือนไป การรู้สึกทั้งหลายมันก็เลือน เลือนไปไม่เหลือ แล้วความเคารพก็จะเลือนลง การศักดิ์สิทธิ์ก็จะเลือนลง ก็เป็นผลร้ายทั้งนั้นแหละ ไปบังคับไว้ไม่ฮานี่ จะเกิดจิตชนิดที่มั่นคงขึ้นมา จะรับอะไรไว้ได้ จะหนักแน่นจะเฉียบแหลมได้ ฉะนั้นอย่าฮา นอกจากว่ามันควรจะฮาเหลือเกิน ถ้าเป็นการศึกษาเล่าเรียนนั้นเราอย่าฮากันดีกว่า ยังดีอยู่ว่าที่นี่พระสงฆ์เทศน์ ยังไม่ค่อยมีใครฮา ถ้าเมื่อไรพระสงฆ์เทศน์บนธรรมาสน์ คนฟังฮา ฮาแล้วตบมือกราว ๆ จะเหลือน้อยที่สุด เรียกว่าเคารพพระสงฆ์ในฐานะเป็นปูชนียบุคคล ไม่ได้เล็งถึงคนนั้นคนนี้ ไม่ได้เล็งถึงอาตมาหรือใครคนใดคนหนึ่ง หมายถึงสถาบันของสงฆ์ที่รับหน้าที่จากพระพุทธเจ้ามา เกิดปฏิบัติตัวเองให้สำเร็จประโยชน์แล้วก็สั่งสอนผู้อื่น สิ่งนั้นมีค่ามากเกินกว่าสิ่งที่ชาวบ้านเขาเลี้ยงดู ท่านสอนอย่างไรก็มี มีเป็นเป็นหลักอยู่ เป็นตำรับตำรา ก็ถือว่าเป็นงานของพระสงฆ์เหมือนกันที่พิมพ์เป็นตำรับตำราขึ้น ก็ถือว่าเป็นงานของพระสงฆ์ แต่ถ้ายังไม่สำเร็จประโยชน์ก็ไปหาท่าน เพราะท่านได้ศึกษามากกว่าเรา มีเวลาศึกษามากกว่าเรา เข้าใจกว้างขวางกว่า ก็ไปหาท่าน ให้ท่านตอบ ถ้ามากกว่านั้นจะไปให้ท่านสอนให้ปฏิบัติอย่างไร หรือยิ่งไปกว่านั้นอีก ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติแล้วมีความสุข สงบเสงี่ยม เยือกเย็นอยู่ ปรากฏอยู่ เราก็ทำตามอย่าง แล้วมนุษย์ในโลกนี้ก็จะรู้จักความดับทุกข์ รู้จักความเป็นมนุษย์ที่ไม่มีความทุกข์ ก็ดีเท่านั้นเอง ได้เป็นดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ด้วยเหมือนกัน
ควรจะมองพระสงฆ์ในฐานะเป็นทายาทของพระพุทธเจ้า ถึงแม้ท่านนิพพานไปแล้ว แต่แล้วคำสอนในศาสนาของท่านไม่สูญหายไปก็ด้วยพระสงฆ์สืบมาจนกระทั่งบัดนี้ ที่ได้เขียนไว้เป็นพระคัมภีร์ ที่เรียกว่าพระไตรปิฎกนั้นก็เป็นงานของพระสงฆ์ อันนี้เป็นหลักมาก ถ้าหากว่าการปฏิบัติมันได้เสียไปเพราะเหตุฉุกเฉินในโลก ในบ้าน ในเมือง ในเมื่อพระไตรปิฎกยังอยู่แล้วก็ฟื้นขึ้นมาได้ใหม่ ฉะนั้นงานวรรณกรรมของพระสงฆ์มีประโยชน์สูงสุด ที่รักษาหลักอันนี้คงอยู่ในโลก เดี๋ยวนี้บางทีไปทั่วโลก มันไม่มีทางที่จะสูญหายได้ ไม่เหมือนสมัยโบราณ เขียนไว้ในใบลาน เขียน ๒-๓ ฉบับ ๒-๓ ชุด เดี๋ยวนี้เขาพิมพ์เป็นพัน ๆ ชุดอยู่ทั่วโลก ก็เป็นอันรับประกันได้ว่าวรรณกรรมนี้จะยังเหลืออยู่ ถ้าพระสงฆ์จะขาดสูญไปโดยบุคคล ไม่เท่าไรก็จะเกิดขึ้นอีก เกิดจากศึกษาปฏิบัติตามพระคัมภีร์ที่มันมีอยู่ ท่านสืบไว้โดยวรรณกรรม ทีนี้ท่านสืบไว้โดยการปฏิบัติ ยังบวช กันอยู่ ยังเรียนกันอยู่ ยังกระทำให้ดีที่สุดตามพระธรรมวินัยท่านอยู่ ยังมีอยู่ แล้วก็มีบุคคลที่รู้จักธรรมะจริง มีธรรมะจริง เราไปหาท่านได้ บางองค์จะรู้แต่ปริยัติ ก็ยังดี ก็จะตอบปัญหาทางปริยัติได้ บางองค์ปฏิบัติได้ด้วยก็ยิ่งดี ท่านจะพูดความจริงจากความรู้สึกจริงๆ ให้แก่เรา ก็ขอให้คบกับพระสงฆ์ในลักษณะที่ถูกต้องตามพระบาลีได้สอนไว้ สะมะนานังจะทะสะนัง (นาทีที่ 00.33.01) ดูพระสงฆ์ ดูพระสมณให้ออก ดูให้ออก ดูให้เข้าใจ แล้วก็จะเป็นมงคลอันสูงสุด แก่คนทั้งหลายเหล่านั้น
นี่ ขอให้มองพระสงฆ์ในลักษณะอย่างนี้ว่าท่านมีค่า มีคุณสมบัติอย่างนี้ จะเป็นประโยชน์แก่โลกอย่างนี้ จะช่วยได้มากในเรื่องให้มีศีลธรรมอยู่ในโลก แต่ถ้าจะขยับขยายออกไปว่า แม้เป็นฆราวาสครองเรือนก็พยายามปฏิบัติให้บรรลุคุณธรรมสูงสุดเท่าที่จะบรรลุได้ ขอบเขตของคำว่าพระสงฆ์ก็จะขยับลงมาอยู่แม้ในหมู่ผู้ครองเรือนตามแบบเดิมของพระพุทธเจ้าว่า ถ้าปฏิบัติละกิเลสได้ในอัตราระดับที่วางไว้เป็นเบื้องต้นนี้แล้วก็เรียกว่าเป็นพระสงฆ์ คือเป็นพระโสดาบัน มีหลักฐานปรากฏในพระบาลีว่า ฆราวาสเป็นพระโสดาบันกันจำนวนมากเหลือเกินทั้งหญิงทั้งชาย ทั้งผู้แก่ผู้หนุ่ม เพราะหวังให้พระสงฆ์ทำนองนี้กลับมาอีกในหมู่พุทธบริษัทเรา
เอา..ตอบย่อๆ เพียงแค่นี้ มีปัญหาอย่างไรอีก ว่าต่อไป
คำถาม ผมขอเรียนถามอาจารย์เกี่ยวกับวิทยาลัยของพระพุทธเจ้าว่าผู้ที่จะสังกัดอยู่ในวิทยาลัยนี้ จะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง ขอให้อาจารย์ช่วยยกตัวอย่างให้ดูด้วยครับ
ท่านพุทธทาส เอ๊ะ..ทำไมไม่ได้ยินน่ะ หืม พูดให้ดังหน่อยก็ได้ ให้ฟังพอรู้เรื่อง ดังอีกหน่อย
คำถาม ผมอยากจะถามอาจารย์เกี่ยวกับวิทยาลัยของพระพุทธเจ้าว่าผู้ที่จะสังกัดอยู่ในวิทยาลัยนี้ จะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง และขอให้อาจารย์ช่วยยกตัวอย่างให้ดูด้วยครับ
ท่านพุทธทาส อ๋อ...พูดถึงมหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้า คือยังไง คืออย่างไร จะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร คำพูดอย่างคำนี้ ก็เรียกว่าเป็นคำพูดแบบอุปมา แบบภาพพจน์ แบบอุปมา เหมือนกับว่าเป็นมหาวิทยาลัยอันหนึ่งด้วยเหมือนกัน เราได้ใช้คำว่ามหาวิทยาลัยจนเป็นที่เข้าใจอันดีแล้วว่า เป็นสถานศึกษาสูงสุด อย่างลูก ๆ ทั่วไปก็รู้จักกันอยู่แล้ว ไม่ต้องอธิบาย แต่นั่นเป็นเรื่องร่างกาย หรือเป็นเรื่องของวัตถุ เป็นปัญหาทางวัตถุ เป็นเรื่องชีวิตในด้านวัตถุ ทีนี้เป็นชีวิตในด้านธรรมะด้านจิตใจ เราจึงจะมีแบบหนึ่งเป็นคู่กัน เมื่อศึกษาขนาดหนักด้วยการปฏิบัติ ทดลองขนาดหนักด้วยกัน ก็เรียกว่าเป็นมหาวิทยาลัยได้
คำว่ามหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้านี้จะแบ่งออกเป็น ๒ ระดับ คือ ศึกษาธรรมะอย่างรุนแรง มีการค้นคว้าอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยชาวบ้าน แล้วก็ช่วยกันศึกษา ช่วยกันปฏิบัติ ให้มีการศึกษา การปฏิบัติ ได้รับผลการปฏิบัติเป็นปึกแผ่น เป็นมหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนาไปเลย อันนี้ก็พอจะสงเคราะห์เป็นมหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้าได้ เหมือนที่เขาเรียกกันว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์ ถ้าศึกษาถ้าได้จัดการศึกษาให้ถูกวิธี มันก็พอจะเรียกว่ามหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้าได้ คือแตกฉานในปริยัติ แล้วก็ปฏิบัติ
ในประเทศอินเดียเคยมีมหาวิทยาลัยแบบนี้ เมื่อสักพันกว่าปี พ.ศ. ๑๐๐๐ กว่าปี มีมหาวิทยาลัยนาลันทา มหาวิทยาลัยอะไรต่างๆ เพื่อที่จะทำกัน เสียงไม่ชัด...(นาทีที่ 00:37:37) จะทำเป็นรูปมหาวิทยาลัยจนฝรั่งก็ยอมรับว่ากิจการแบบมหาวิทยาลัยนั่นน่ะได้มีขึ้นแล้วในพระพุทธศาสนา ก่อนใคร ๆ ในโลก อย่างมหาวิทยาลัยนาลันทา ยกตัวอย่าง พ.ศ.ราว ๑๒๐๐ ก็คือราว ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว มีนักเรียนจากทุกประเทศไปเรียนที่นั่น มีครูบาอาจารย์ครบถ้วนทั้งในส่วนปริยัติ ปฏิบัติ ในส่วนศิลปะ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม พวกนี้เขามีสอนกันหมดเหมือนกัน ก็สอนพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ เขาเรียกว่ามีทวารบาล คือคนเฝ้าประตูสี่ทิศของมหาวิทยาลัย นั่นน่ะคือคนสอบเอ็นทรานซ์ แล้วก็ไปติดทวารบาล เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยนาลันทาไม่ได้ ก็มากจำนวนมากกว่าผู้ที่เข้าได้ เขาเรียกว่า คนเฝ้าประตู แต่ว่าเป็นคนสอบว่าควรจะเข้ามหาวิทยาลัยนี้ได้หรือไม่ ตามแขนงต่างๆ
เห็นว่ามีครูบาอาจารย์ตั้ง ๘,๐๐๐ ศิษย์เท่าไรไม่รู้ ศิษย์เป็นหมื่น ๆ แล้วครูก็เต็มที่ ฝรั่งถึงยอมรับว่าไอ้กิจการมหาวิทยาลัยในโลกนั้นน่ะ คือมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา เช่นมหาวิทยาลัยเป็นต้น มหาวิทยาลัยนาลันทานี้ เป็นต้น แล้วยังจะบอกแถมพกอีกอย่างหนึ่งว่า กิจกรรมมิชชันนาริ่ง (นาทีที่ 00:39:22) ที่ส่งคนออกไปเผยแผ่พุทธศาสนา ไปเผยแผ่ศาสนา ก็มีพุทธศาสนาเป็นคณะแรกในโลก คณะมิสชันนารีส่งคนไปสอนธรรมะ มีในพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกในโลก แล้วการศึกษาจัดแบบมหาวิทยาลัยก็มีในพุทธศาสนา ในครั้งแรกในโลก นี่ก็เรียกว่ามหาวิทยาลัยพุทธศาสนาได้โดยอนุโลม ไม่ตรงตามพุทธประสงค์นัก แต่ก็...ไม่ ก็ไม่...แต่ก็ได้ประโยชน์มากนะ ว่าอย่างนั้นเถอะ
ทีนี้มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าท่านต้องการ เขาเล็งถึงบุคคล ศึกษาธรรมะจากภายในของตน คือ กาย วาจา ใจ จิตใจความรู้สึกของตน ตรวจสอบอยู่ที่ร่างกาย ทั่วทั้งเนื้อทั้งตัว ฉะนั้นตัวคนนั่นแหละ ตัวคนคนหนึ่งๆ ที่เป็นห้องเรียน เป็นห้องศึกษาทดลองของมหาวิทยาลัย จนกว่าจะรู้เรื่องอนิจจฺง ทุกขฺง อนฺตตา เป็นต้น ก็มีสิทธิ์เปลี่ยนไปเป็นพระอริยบุคคลในที่สุด นี่คือมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาอย่างแท้จริง คือ ตัวคน ไม่ต้องมีห้องเรียน ไม่ต้องมีโรงเรียน ไม่ต้องมีอะไรก็ได้ ไปนั่งที่โคนไม้ก็ได้ แค่น้อมจิตเข้าไปข้างใน แล้วก็พิจารณาทุกสิ่งที่มันเกิดขึ้น เพื่อให้รู้เรื่องทุกเรื่อง อดีต อนาคต ปัจจุบัน มันก็ระบุอยู่ในตัวแล้วว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นอย่างไร เวียนไป เวียนไปจากภายใน คนเดียวนี้แหละ จนกระทั่งรู้ นี่ละที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาที่แท้จริง ที่เดินตามพระพุทธประสงค์
ฉะนั้นท่านผู้ถามจะเล็งถามถึงข้อไหนก็ลองไปคิดดู ไม่รู้ข้อไหนจะเป็นประโยชน์กว่าก็เอาข้อนั้นแหละ ถ้าสำหรับจะบรรลุวิชชา วิชชา ใช้คำว่าวิชชา ตามพระพุทธประสงค์ มหาวิทยาลัยอย่างทีหลังนี่ที่เรียกตัวคนเป็นตัวมหาวิทยาลัยในจิตในใจในความรู้สึกทั้งหลายเป็นบทเรียน ก็ทำไป คือเรียนพุทธศาสนาจากจิตใจ ถึงมันออกมาข้างนอก มันก็ต้องเข้าไปในจิตใจก่อน คือ ผ่านทางจิตใจก่อน จะเรียนรู้เรื่องความไม่เที่ยงของโลก ของเทวโลก มารโลก พรหมโลกอะไรก็ตาม โลกไหนก็ตาม ต้องผ่านเข้าไปในจิตใจ จะรู้จักสิ่งนั้นดี ตั้งจิตให้ฉลาด หลุดพ้น ปล่อยวาง
นี่คือผลของการศึกษาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยของพุทธศาสนาที่เป็นทริค (นาทีที่ 00:42.57) ของพระพุทธเจ้า เมื่อเรียนเองก็สอบไล่เอง เพราะมันเรียนเองมันก็ต้องสอบไล่เอง ถ้ามีความทุกข์เหลืออยู่ก็ตก หรือว่าได้น้อย ความทุกข์หมดไปนี่คือสอบไล่ได้โดยสมบูรณ์ เรารู้สึกตัวของเราเองได้ว่าเรายังโลภ โกรธ หลงอยู่หรือไม่ หรือว่าที่แน่นอนกว่านั้นเรายังมีความทุกข์ ความหม่นหมองอยู่หรือไม่ ถ้ายังมีความหม่นหมอง ยังมีความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความวิตกกังวล ไม่รู้อะไรเป็นอะไร อึดอัดขัดใจอยู่เรื่อย ๆ ก็ยังไม่ได้ ยังเรียนอะไรไม่สำเร็จ
ทีนี้ไม่เก็บค่าเล่าเรียน ให้เปล่า บรรลุนิพพานก็ให้เปล่า ไม่เก็บสตางค์ มหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้น ถ้าเราเรียนอย่างมหาวิทยาลัยชาวบ้าน เราก็ต้องเสียสตางค์ เราก็ต้องสอบไล่เอาประกาศนียบัตรที่คนอื่นวัดให้ แต่ถ้าเราเรียนมหาวิทยาลัยพระพุทธเจ้า เราก็ไม่เสียสตางค์ เราเรียนเอง สอบไล่เอง ก็ถูกต้องแน่นอนจริงกว่าเสมอ คิดดูอีกแง่หนึ่งดีกว่าว่า ทุกคนที่นั่งอยู่นี่สามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้าไหม ทุกคนที่นั่งอยู่นี่สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้าไหม ใครสามารถยกมือซิ ใครจะสามารถ เหลวหมด เราอธิบายเหนื่อยเปล่า คนที่ถามน่ะเอาไหม ถามเองน่ะ จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้าไหม มันได้ และมันก็จริงๆ ดูให้ดีเถอะ เมื่อเราสงสัยธรรมะ เราค้นคว้าธรรมะเมื่อไร เมื่อนั้นเรากำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้า จึงถือว่าคนที่นั่งอยู่ที่นี่เคยเข้ามหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้า ในบางโอกาส บางครั้งบางคราว ตามที่ว่าปัญหามันจะเกิดขึ้น
ขอให้เจียดเวลาสักส่วนหนึ่งในวันหนึ่ง สักครึ่งชั่วโมงก็ยังดี เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้าด้วยตนเอง ไปนั่งที่มุมสงบ มองดูเข้าไปข้างใน ใคร่ครวญถึงไอ้สิ่งที่มันได้ผ่านไปแล้วในชีวิต ว่าอย่างไรมันโง่ อย่างไรมันฉลาด อย่างไรเป็นความทุกข์ อย่างไรมันสบายดี นี่ก็คือเข้าเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์ วันหนึ่งแค่ครึ่งชั่วโมงก็ยังดี ขอให้ใช้ประโยชน์ในข้อนี้ด้วย
เอ้า...มีปัญหาอะไรอีก เวลามันล่วงไปเร็วนะ มีปัญหาอะไรถาม
คำถาม ขอเรียนถามท่าน ตามคำที่กล่าวในทั่วไปว่า ในชีวิตเราที่เกิดมาครั้งหนึ่งนี้ ควรจะแสวงหาความสุขให้แก่ชีวิต มูลเหตุสำคัญที่ถามขึ้นมาเพราะว่า ถึงแม้ว่าเราไม่ได้ตั้งใจที่จะทำเช่นนั้น แต่การกระทำของเราก็เป็นการที่กล่าวได้ว่า เป็นการแสวงหาความสุข
ท่านพุทธทาส ยังฟังไม่ค่อยถนัด ...ไปซะแล้ว คือเขามีปัญหาว่า ในชีวิตของเราต้องการความสุข จะจัดให้มันอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ ถือโอกาสพูดเสียเลยก็ได้
สำหรับคำว่า ชีวิต จะให้คำจำกัดความว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่า ชีวิต ชีวิต นั่นน่ะในแง่ลึกที่สุดแล้วมันก็คือความต่อสู้ ดิ้นรน จะไปถึงจุดหมายปลายทางอันหนึ่งซึ่งเรียกว่า เป็นนิรันดร เป็นอนันตะ เป็นอมตะ อมตะแปลว่าไม่ตาย นิรันดร แปลว่าไม่สิ้นสุด อนันตะก็เหมือนกัน ไอ้ตัวชีวิตจริงๆ มันมีความมุ่งหมายอย่างนั้น แต่มันมองเห็นยาก แล้วเราเองก็มีชีวิต เราก็ไม่รู้สึกอย่างนั้น ฉะนั้นต้องศึกษาให้มันมากพอ มันจะมองเห็นว่า ไอ้ตัวสิ่งที่เรียกว่าชีวิต มันต้องการจะยังอยู่ คือจะเป็นอยู่ แล้วก็จะดิ้นรนต่อสู้เรื่อยไปจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง ทั้งที่มันไม่รู้สึกตัวก็ได้ มันยังโง่อยู่ นี่ตามหลักของศาสนาจะมีหลักอย่างนี้ เพราะฉะนั้นชีวิตจะต้องมีสิ่งที่ดำรงชีวิตให้คงอยู่ เช่นปัจจัยสี่ อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม อะไรต่างๆ มันต้องมีปัจจัยชีวิตคงอยู่ ครั้นชีวิตคงอยู่แล้ว มันก็จะต้องมีการจัดทางการศึกษาให้ก้าวหน้าสูงขึ้นไป มีการศึกษาและการปฏิบัติ
ชีวิตจะต้องมีสิ่งที่สามคือการสืบพันธุ์ เพราะมันไม่ทำสำเร็จได้ในชั่วอายุคนเดียว มันต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อมีทางเหลือยู่ ก็ทำต่อไปจนกว่าจะถึงจุดนั้น คือมันมีการเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้ เอาเหอะ...มันมีชีวิต มันมีการดำรงอยู่ด้วยอาหาร เป็นต้น แล้วมีการขวนขวายเพื่อเลื่อนชั้นอยู่ตลอดเวลา มันก็ต้องมีการฟื้นพันธุ์เข้าไว้ การสืบพันธุ์จึงเป็นจุดมุ่งหมาย จึงเป็นความมุ่งหมาย เป็นการกระทำอยู่โดยอัตโนมัติ ฉะนั้นคนเรานี้จึงมีการสืบพันธุ์ และก้าวหน้าขึ้นไปทุกชั่วอายุ ทุกชั่วทุกชั้น แล้วก็จะสูงขึ้นไปจนกว่าเมื่อไรมันจะถึงที่สุด ฉะนั้นชีวิตอย่างนี้จะมีประโยชน์มากในช่วงชีวิตคนเราชาตินี้ ถ้าไม่ดีที่สุด ชาติถัดไปมันก็จะดียิ่งขึ้นไป หรือว่าพืชพันธุ์ที่มาข้างหลังก็จะทำได้ดียิ่งขึ้นไป อย่างเมื่อตอน...แม้ว่าในโลกนี้ไม่มีคน จนกระทั่งมีคน แล้วคนคนแรกก็เหมือนกับคนป่าที่ไม่รู้อะไร แล้วมันค่อยรู้ แล้วมันก็ถ่ายสืบความรู้กันมา สืบพันธุ์กันมาจนเต็ม ไอ้คนที่นั่งอยู่ที่นี่รวมทั้งคนที่มันสามารถไปโลกพระจันทร์ได้ด้วย ชีวิตที่มันสืบกันไว้ในการเป็นอยู่ แล้วก็ถ่ายทอดอะไรให้กัน จนก้าวหน้าเรื่อยไป จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง
ทีนี้ความโง่มันมีอยู่ว่า ไม่รู้ว่าจุดหมายปลายทางอยู่ที่ไหน มันทำผิดทำถูกกันอย่างนี้ไปก่อน จนกว่าเมื่อไรมันจะรู้ ที่จะไปเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไรในที่สุด อย่างนี้ก็คิดไปโลกพระจันทร์ ต้องไปโลกอังคาร ไปอย่างอื่นบ้าง จนกระทั่งไปเป็นฮิปปี้ก็มี วนไปวนมาอยู่อย่างนี้ เราจะรู้สึกตัวหรือไม่รู้สึกตัวมันก็เป็นของมันอย่างนี้ สิ่งที่เรียกว่าชีวิตมันจะมีความสามารถ มีคุณสมบัติ มีอะไรของมันอย่างนี้ คือจะทนอยู่ จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง คือ ความไม่ตาย พบพระนิพพาน หรือไปอยู่กับพระเจ้า แล้วแต่จะเรียกกันในความหมายไหนในศาสนาไหน นี่มันยืดยาวจนคำนวณไม่ไหวแล้วว่ากี่ล้านปี
เดี๋ยวนี้เรามาคิด เอ่อ..คือ มารู้สึกเอาเองตามความรู้สึก ทางเนื้อทางหนัง เราเกิดมาไม่กี่ปีก็ตาย แล้วก็รีบกิน รีบดื่ม รีบมัวเมากามารมณ์ รีบ รีบ รีบ เพราะว่าเราอาจจะตายตอนนี้ก็ได้นี่ คนอย่างนี้ก็มองชีวิตในลักษณะอย่างนี้ ก็กลายเป็นชีวิตวัตถุนิยม เกิดมาเพื่อเป็นทาสของอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ชีวิตแบบนี้เป็นอย่างนี้ ตรงกันข้ามกับไอ้แบบแรก ที่ว่าเกิดมาเพื่อต้อง...เพื่อให้บรรลุอมตะธรรม เพื่อให้บรรลุอมตะธรรม ส่วนหนึ่งเอาเนื้อหนังร่างกายเป็นเกณฑ์รีบกิน รีบดื่ม รีบเร่ง รีบฉวย รีบอะไรต่างๆ ระวัง ไปถือหลักอย่างนั้นเข้า มันจะได้เพียงเท่านั้น มันน้อยเกินไป และเป็นสิ่งหลอกลวงด้วย ความเอร็ดอร่อยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ มันเป็นสิ่งหลอกลวง แต่ไม่มีใครเชื่อในชั้นแรก พูดเท่าไรก็ไม่เชื่อ เป็นของจริงเป็นของวิเศษสูงสุดกว่าสิ่งใด ลองดู ในที่สุดก็จะพบว่าเป็นสิ่งหลอกลวง
ฉะนั้นควรจะระวังชีวิตแบบนี้ อย่าให้มันหลอกลวงนานนัก ให้รีบกลับตัวเสียให้ทันแก่เวลา จากการศึกษาให้ถูกทาง ตามวิธีอย่างพระพุทธเจ้าสอนไว้ ชีวิตนี้จะวิวัฒนาการ เปลี่ยนไปได้เร็วมาก พอที่จะเป็นพระอรหันต์บรรลุอมตธรรมได้ในชีวิตนี้ สมมติว่ามีอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปี อาจจะเป็นพระอรหันต์ได้ทัน หรือจะดำเนินชีวิตแบบนี้ จะเป็นชีวิตที่ถึงปลายทางคืออมตะ หรือนิรันดรได้ ซึ่งไม่อย่างนั้น เราก็อาจจะต้องปล่อยไปเป็นล้านๆ ปี ก็ยังไม่แน่ว่าจะได้ เป็นอันว่า ไปเลือกเอาเองเถอะ จะเอาชีวิตแบบไหน ชีวิตที่มืดมน ชีวิตที่เร่าร้อน ชีวิตที่สนุกสนานจนเป็นคนบ้าไปเลย ชีวิตที่มันแห้งแล้งเหลือประมาณ มันจะแห้งเกรียมไปเลย หรือชีวิตที่พอดีๆ ตามแบบของพระพุทธเจ้า ที่ท่านเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา มีความสุข มีความพอใจไปทุกวัน ทุกวัน ทุกวัน ทำงานก็พอใจ พักผ่อนก็พอใจ กินอาหารก็พอใจ เล่าเรียนก็พอใจ อะไรๆ ก็พอใจ มีความสุขในการงานไปทุกวัน ทุกวัน ทุกวันอย่างมีความสุข
ให้พระพุทธเจ้าท่านให้พรแล้วสำเร็จอยู่ ไม่มีความทุกข์ ยังไงยังไงก็ไม่มีความทุกข์ จนแม้แต่ร่างกายนี้มันจะต้องตายลง ก็ไม่มีความทุกข์ ไม่ได้อยากอยู่ แล้วก็ไม่ได้อยากตาย แต่ว่าขอให้อยู่ด้วยความปกติสุข มีจิตใจที่อยู่ตรงกลาง สบาย เยือกเย็นตลอดเวลา ส่วนตัวไม่ต้องการอะไรแล้ว ก็ทำประโยชน์ผู้อื่น นี่คือชีวิตที่แท้จริง ที่ถูกต้อง ที่ถูกควรจะสนใจ จะปฏิบัติได้อย่างไร โดยรายละเอียดไว้ศึกษากันที่อื่น เอาเชิญ ไปเลือกเอาเอง จะใช้ชิวิตแบบนี้กันไหม แบบของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ จะเป็นพระอรหันต์ทันในเวลาชีวิตหนึ่งด้วย
เอ้า...ใครมีปัญหาอะไรอีก
คำถาม ผมมีปัญหาข้อหนึ่งอยากเรียนถามท่านอาจารย์ คือว่า ในทางโลกของเรา เมื่อเรากล่าวว่าเกิด กล่าวว่าดับ หรือตาย เรามีความหมายในทางโลกที่ทุกคนก็เข้าใจ ผมใคร่ถามท่านอาจารย์ว่า คำว่าเกิด ดับ ตาย นี้ ในความหมายของทางศาสนาพุทธของเรา มีความหมายมากไปกว่านี้ไหมครับ
ท่านพุทธทาส คำถามนี้ก็คือคำถามที่เราเรียกกันว่า ภาษาคนหรือภาษาธรรม ภาษาคนก็เห็นง่ายๆ จากชาวบ้านพูดกัน ภาษาธรรมนั้นก็ลึก ต้องศึกษาจึงจะเข้าใจ คำว่าเกิด ภาษาชาวบ้าน เกิดจากท้องแม่ คำว่าเกิดในภาษาธรรม หมายถึงเกิดแห่งความรู้สึกว่าตัวฉัน ว่าของฉันขึ้นมา ครั้งหนึ่ง ครั้งหนึ่ง วันหนึ่งจึงมีเกิดหลายครั้ง จนกว่าจะตายโดยร่างกายนี้ไม่รู้เกิดกี่หมื่นกี่แสนครั้ง
ถ้าเกิดภาษาคนภาษาชาวบ้าน คนคนหนึ่งเกิดครั้งเดียวแล้วก็อยู่ไป หลายสิบปีกว่าจะตาย เกิดครั้งเดียว เกิดภาษาคนภาษาวัตถุ คำว่าแก่ ชรา ก็เหมือนกัน แก่ชราแห่งจิตใจ แก่ชราแห่งร่างกาย คำว่าดับหรือตาย ก็เหมือนกันอีก ดับหรือตายแห่งร่างกาย ตายทีเดียว ว่างั้นเถอะ ในที่สุดก็ได้ใส่โลง แต่ถ้าตายทางภาษาธรรมนี่ เราตายได้หลายอย่าง แล้วก็หลายแบบ แล้ววันหนึ่งอาจจะตายมากครั้ง โดยเฉพาะเรื่องเป็นตัวกู ตัวฉัน ครั้งหนึ่ง เดี๋ยวมันก็ดับไป ก็เรียกว่าตายครั้งหนึ่ง เดี๋ยวมันก็เกิดอีก เดี๋ยวก็ดับไป เดี๋ยวเกิดอีกเดี๋ยวก็ดับไปอีก หลายๆ ตาย ตายในความหมายอื่น คือหมดความดี สูญเสียค่าความเป็นมนุษย์ อย่างนี้ก็เรียกว่าตายเหมือนกัน ภาษาธรรมเรียกเหมือนกัน อย่าทำให้สูญเสียความดีในความเป็นมนุษย์ ไปทำเข้าก็จะตาย ตายในความหมายที่น่ากลัวมาก
ส่วนตายภาษาธรรมแบบตัวกูของกูนี้ มันก็เกิดตายเกิดตายอยู่เองแล้ว หลายๆ ครั้งอยู่เองแล้ว เราช่วยไม่ได้ในส่วนนั้น แต่เราจะแก้ไขได้ ตรงที่ว่าเกิดครั้งหลังนี้ดีกว่าครั้งก่อนเรื่อยๆ ไป เกิดความที่เป็นตัวกู ตัวฉันครั้งหนึ่งครั้งแรกในวันนี้ เดี๋ยวมันตายไป เดี๋ยวมันเกิดอีก เดี๋ยวระวังมันเกิดดีกว่าที่แล้วมา ยิ่งขึ้นทุกที ยิ่งขึ้นทุกที ให้ถือหลักความผิดก็เป็นครู ความถูกก็เป็นครู เกิดครั้งนั้นเป็นทุกข์เป็นร้อน ก็เป็นครูสอนให้ครั้งหลังอย่าเป็นทุกข์เป็นร้อน เกิดมาครั้งนั้นไม่เป็นทุกข์ไม่เป็นร้อน เป็นสุขดี ก็จำไว้ ศึกษาไว้เป็นครู สำหรับเกิดได้ดีกว่านั้นอีก ฉะนั้นวันหนึ่งจะเกิดกี่ครั้งก็ตามใจ เดือนหนึ่งปีหนึ่งจะเกิดกี่ร้อยครั้งกี่พันครั้ง ก็ขอให้มันดียิ่ง ๆ ขึ้นไป เป็นวิวัฒนาการทางจิตใจ มีการเกิดดี ก็จะบรรลุจุดหมายปลายทางของชีวิตได้
คำพูดที่ว่า เกิด แก่ ตาย หรือดับ นี่ มันมีความหมายอย่างนี้ ในภาษาคนธรรมดาก็อย่างหนึ่ง ในภาษาธรรมะของผู้รู้ธรรมะก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ของใครจะจริงกว่า ก็ไปดูเอาเอง แต่นี่ก็ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่า คำพูดชนิดไหนมันจะทำให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่า เราสนใจคำพูดชนิดนั้น คือเราจะควบคุมความเกิดกับความตายได้ กว่าร่างกายมันจะตายจริงครั้งสุดท้ายนั้นเราก้าวหน้ามาก นี่เรียกว่าภาษาธรรม เขาพูดกันอย่างนี้ หรือที่จริงง่าย ๆ กว่านั้น คือวันนี้เราเป็นเด็ก เมื่อสมัยหนึ่งเราพ้นจากความเป็นเด็ก ตายจากความเป็นเด็กเป็นคนหนุ่มสาว ต่อมาเราก็ตายจากความเป็นคนหนุ่มสาว เป็นคุณพ่อบ้านแม่เรือน เป็นคนเฒ่าคนแก่ อย่างนี้ก็เรียกว่าตายได้ ในความหมายหนึ่ง มีอยู่หลายความหมาย เราใช้ได้ทุกความหมายในทางที่จะเป็นประโยชน์ ถ้าเรากลัวไอ้การเกิดทีเดียว ตายทีเดียว ทีนี้ก็รีบทำความดีเร็ว ๆ ถ้าเราเห็นว่ามันตายวันละหลาย ๆ ครั้งหลาย ๆ หน เกิดอีกครั้ง เราก็ทำให้มันดีกว่าที่เกิดมาแล้วยิ่งขึ้นไป หรือจะถือกันเป็นระยะยาว เป็นอายุ เป็นวัย ปฐมวัย ปัจฉิมวัย ขอให้ดีกว่าเรื่อยไป รู้จักใช้ไอ้ความหมายของคำว่าเกิดและตายนี้ให้มีประโยชน์ที่สุด เพื่อให้เกิดความไม่ประมาทนั่นเอง
เอ้า...มีปัญหาอะไรอีก
คำถาม มีผู้ส่งปัญหามาจากข้างหลัง ๒ ข้อ ผมขอนมัสการถามท่านอาจารย์แทนเจ้าของปัญหา ดังนี้
ท่านพุทธทาส อ่านดังๆ
คำถาม ข้อ ๑ ถ้ามีปัญหาในใจที่ไม่สามารถแก้ไขด้วยตนเองได้ ทำให้เกิดความทุกข์ จะมีหนทางที่จะระงับทุกข์นั้นด้วยการที่จะปฏิบัติตัวเช่นไร หมายถึงควรจะตั้งสติให้สงบได้อย่างไร
ท่านพุทธทาส เอาข้อเดียวก่อน เกิดถ้าเกิดปัญหาแล้วแก้ไม่ได้ จะทำอย่างไร ระดับใหญ่ๆ แก้กันเสียก่อนจะไปถามคนอื่นเพื่อจะแก้ตนเอง ถ้าไปคิดเป็นการถามคนอื่นละก็ แสดงว่าคนนั้นยังรู้ไม่หมด ยังรู้เพียงครึ่งเดียว เพราะปัญหามันจะแก้โดยคนอื่นไม่ได้ ปัญหาของใครคนนั้นจะต้องแก้ แต่ว่าเราไปถามวิธีแก้จากคนอื่นนี่ก็มีทางที่จะได้ มีทางที่จะทำได้ แต่ถ้ามันไม่แก้แล้ว จนกว่าเราจะมาแก้ของเราเอง ไอ้เป็นที่ยึดที่เยอะ (วินาทีที่ 01:03:44) ปัญหาแล้วก็ คนนั้นจะต้องแก้เอง ถ้ายังแก้ไม่ได้ เราก็ไปถามคนอื่นก็ได้ ถ้ามันจะมีที่คนที่จะช่วยแนะนำ แล้วไปรับมาแก้ด้วยตนเอง ให้ถือหลักอย่างนี้เสมอไป
ทีนี้เกี่ยวกับถามคนอื่นนั้น อยากจะบอกว่าไม่ค่อยดีนัก อย่าหัดถาม อย่าเป็นคนขี้ถาม เป็นคนมักคิดของตัวเองให้สุดความสามารถ ให้ถามแต่น้อย ให้ถามแต่ที่จำเป็น ให้ฝึกนิสัยอย่างนี้ไว้ จะได้เป็นคนคิดเก่งและจะฉลาดได้เร็วกว่า อะไรนิดก็ถาม อะไรนิดก็ถาม ไอ้ถามมากนี่มันก็จะทำให้โง่ก็ได้ เพราะไม่เคยคิดเลย ระวังนะ ถามมากเกินไปจะทำให้โง่ เพราะไม่เคยคิดเลย ไม่ยอมถามแต่คิดจนออก นี่มันจะเป็นการฝึกให้ฉลาดเร็ว แต่ไม่ได้ห้ามว่าอย่าถาม ควรจะถามก็ถาม เพราะว่าเรียน คิด ถาม จำ สุจิปุลิ วินิมุตโต ที่เคยเขียนอยู่ในประกาศนียบัตรสมัยโบราณ เดี๋ยวนี้คงจะไม่เขียนกันแล้ว สุ ฟัง คือเรียนนั่นแหละ จิ ก็คิด ปุ ก็ถาม ลิ ก็จำไว้จดไว้ สุจิปุลิ เรียน คิด ถาม จำ จะเป็นเหตุให้เป็นบัณฑิตได้ ทำให้พอดี แต่เดี๋ยวนี้เรามันขี้ถามนี่ ขี้เกียจคิด ถาม ตอบให้ฟังแล้วก็ไม่จำ จดใส่สมุดปิดเสียก็มี ลองคำนวณดูนี่ วันนี้เราพูดกันกี่ชั่วโมง จำได้เท่าไร เอากลับไปสงขลาได้กี่มากน้อย นี่เป็นข้อทดสอบแห่งความจำ หรือความจดไว้ในใจ ให้จำคือจดไว้ในใจ ถ้าจดในสมุดก็อยู่ในสมุด นี่เราไปเล็งถึงการถาม ทีนี้ถ้าเอาไปเป็นปัญหา (นาทีที่ 01.06.22) ด้านจิตใจจริงๆ แล้ว ก็ยากที่จะถาม มันจะถามกันได้ ก็เพียงเรื่องข้างนอก วิชาข้างนอก ปัญหาข้างนอก ถ้าเป็นเรื่องธรรมะแท้จริงเป็นสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตัง เวทิ ตัพโพ มันยากที่จะเกิดจากการถาม ซึ่งได้แต่เพียงว่า ไปบอก...ไปถามก็บอกวิธีที่จะมาคิดเอง อะไรเองต่อไป จึงขอให้มีหลักอย่างนี้ สำหรับผู้ที่ถามเมื่อตะกี้นี้ ว่าคิดเองไม่ออก ให้ไปถามคนอย่างไร จะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร
ปัญหาที่สองว่ายังไง
คำถาม ๒ จิตใจของมนุษย์นั้นหมายถึงส่วนใดของร่างกาย สมองกับจิตใจเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ เพราะความนึกคิดเกิดมาจากสมอง
ท่านพุทธทาส ถามเรื่องสมองกับจิตใจ แล้วร่างกายด้วย สมองเป็นเนื้อ..เป็นเนื้อเยื่อชนิดหนึ่งรวมอยู่กับร่างกาย ทีนี้จิตใจนี่เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นตัว เป็นปฏิกิริยาออกมา เป็นพลังงานออกมาจากสมอง.......(นาทีที่01:08:02) เราอย่าถามอย่างนี้เลยมั้ง เพราะเรามีจิตที่คิดได้อยู่แล้วนี่ มันคิดอย่างไรมีประโยชน์ ก็คิดอย่างนั้น แล้วอบรมการคิดอย่างนั้นเรื่อย ๆ ไป อย่าให้ไปชี้ว่าจิตที่ตรงไหน สมองที่ตรงไหน แล้วมันก็จะทะเลาะกันเปล่า ๆ ในคัมภีร์ทางบาลีว่าที่หัวใจ ไม่ใช่ที่สมอง หรือที่ .....(นาทีที่ 01:08:42)....ว่าการศึกษาใหม่ ๆ ว่าอยู่ที่สมองหรืออยู่ที่ระบบประสาททั้งหลาย อย่าเถียงกันเลย เอาเป็นว่า ที่มันคิดได้อยู่แล้วนั่นน่ะ อะไรก็ตามใจเถอะ ก็ดูแลควบคุมรักษาให้มันคิดไปในทางที่มีประโยชน์ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ให้มันมีวิวัฒนาการทางความคิด ไปศึกษาวิธีคิดดีกว่าที่จะไปจับที่ต้นตอตรงนี้ ถ้าไปศึกษาเรื่องสมอง ก็เป็นเรื่องร่างกาย เป็นระบบร่างกาย เรื่องการแพทย์การอะไรไป ถ้าไปศึกษาตัวจิต คนอย่างนี้ก็ไม่อาจจะจับตัวจิตได้ เราก็ไม่อาจจะจับตัวจิตได้ แต่เราสามารถที่จะฝึกจิตได้ โดยเรารู้สึกอยู่ จิตนั่นแหละ มันก็บังคับจิตได้ เพราะจิตมันมีความคิดนึก มีความรู้สึก มีหน้าที่ที่จะเสวยอารมณ์ จดจำได้ทุกอย่าง ทำหน้าที่เป็นแผนก ๆ คุณสมบัติตัวหนึ่งเขาเรียกว่า เจตสิก ไอ้ตัวจิตนั้นคือตัวที่จะทำหน้าที่หลักนั้นให้ศึกษาเรื่องจิตตามวิธีของพุทธศาสนา ได้เคยคิดอะไรมาแล้ว มันเกิดอะไรขึ้น ก็จำไว้ ถ้ามันมีประโยชน์ก็คิดอย่างนั้นยิ่งๆ ขึ้นไป ถ้ามันมีโทษก็เลิกเสีย เกิดโลภะขึ้นมา ศึกษาโลภะให้ดีว่ามันเผาลนยังไง แล้วก็บรรเทาเสียให้ได้ เลิกเสียให้ได้ โทสะ โมหะก็เหมือนกัน เรียกเป็นภาษาธรรมดาหน่อย ก็ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความเศร้า ความรู้สึกที่มีความทุกข์ทุกชนิด รู้จักให้ดี แล้วก็มีความฉลาดที่จะป้องกันทันท่วงที อย่าให้มันเกิดขึ้นในใจ ทีนี้ความโปร่ง ความสบาย ความเย็น ความบริสุทธิ์มันจะเกิดอย่างไร ทำให้มันเกิด ทำอย่างนี้พอแล้ว ไม่อาจจะตอบว่าสมองนี่ หัวใจนี่ หรืออะไรนี่ เป็นออฟฟิศของจิต พูดมันก็เป็นเรื่องเดาๆ คลุมๆ แล้วมันไม่ต้องพูดก็ได้
เอ้า...มีปัญหาอะไรอีก
คำถาม มีผู้ต้องการเรียนถามท่านอาจารย์ ข้อ ๑ ขอเรียนถามว่า วิธีการฝึกจิตใจให้เข้มแข็ง ไม่หวั่นไหวต่อเหตุร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา มีวิธีการอย่างไร
ท่านพุทธทาส คำถามนี้มีคำตอบยืดยาว เป็นเทคนิคเฉพาะทางจิตใจ พูดในเวลาสั้นนี่ทำไม่ได้แน่ แต่พูดโดยหลักได้ คือว่า ต้องศึกษาความอ่อนแอหรือความเข้มแข็งให้เห็นถนัดชัดเจน ให้มันมีจิตใจเกลียดกลัวไอ้ความอ่อนแอ ให้รักให้ชอบไปในทางความเข้มแข็ง มันจะค่อยน้อมไปในทางเข้มแข็ง รู้จักเข้มแข็ง พอใจเมื่อเข้มแข็งได้ครั้งหนึ่ง แล้วก็อยากจะเข้มแข็งยิ่งขึ้นไป นี่เป็นหลักทั่วไป ปฏิบัติกันอย่างนี้ก็พอ แต่ถ้าจะให้อธิบายเรื่องทำสมาธิ ทำอะไรทางจิตโดยตรงนั้นน่ะ ไม่ใช่เวลาที่จะพูดกัน มันมากนัก เรื่องมาก
เอ้า..ขอเปลี่ยนปัญหาอื่น
คำถาม มีปัญหาอีกครับ คือ อยากจะทราบถึงการดำเนินชีวิตประจำวันของพระสงฆ์ เช่น เช้าต้องออกบิณฑบาต หลังบิณฑบาตแล้วทำอะไรบ้างตลอด...ในแต่ละวันหนึ่ง
ท่านพุทธทาส นี่ก็เห็นอยู่แล้วนี่ทำไมถึงมาถามล่ะ เคยบวชแล้วก็มี ก็เห็นอยู่ ทำไมจะต้องถาม ไม่รู้จะตอบยังไง มันก็ไม่เหมือนกันด้วย คนหนึ่งก็ทำอย่างหนึ่ง คนหนึ่งก็ทำอย่างหนึ่ง ตอบตามหลักของพระพุทธเจ้าดีกว่า
พระสงฆ์ทั้งหลายก็พยายามจะทำอย่างพระพุทธเจ้าท่านทำ คือว่าเมื่อท่านได้พักผ่อนในเวลากลางคืนพอสมควรแล้ว ตื่นตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนสว่าง ก็เรียกว่าท่านเล็งญาณส่องโลก......(นาทีที่ 01:14.12) ตรวจดูหมู่สัตว์ที่เป็นคนอาภัพ หรือว่าไม่อาภัพ ก็คือว่าจะไปทำประโยชน์แก่ใครได้บ้างในวันนี้ คนไหนเหมาะสมที่จะรับประโยชน์แล้ว มีจิตใจพอจะรับประโยชน์ได้ ก็เรียกว่าคนไม่...เออ คนที่สมควร คือคนเป็นทัพพบุคคล (นาทีที่ 01:14:39) ควรที่จะโปรด ทีนี้คนไหนมันยังไม่ไหว มันยังโปรดไม่ไหว ก็อย่าเพ่อ ก็ยังอาทัพพะบุคคล (นาทีที่ 01:14:45) เพราะฉะนั้นหน้าที่ของพระพุทธเจ้าว่าวันนี้จะไปทำประโยชน์ให้กับใครที่ไหน ทีนี้พอสว่างขึ้นท่านก็ไป ไปด้วยการบิณฑบาต ไปพบที่นั่น ไปทำประโยชน์ที่นั่นจนได้ นี่เป็นกิจประจำวันของท่าน ซึ่งพระสงฆ์เดี๋ยวนี้ก็ปฏิบัติได้นะ ถ้าต้องการจะปฏิบัติ วันนี้คิดดูว่าพรุ่งนี้จะไปทำประโยชน์แก่ใครที่ไหน คิดเสียก่อน ให้เสร็จเสียก่อน ก่อนสว่างท่านก็ไป ท่านไปบิณฑบาต กิจประจำวันของท่านไปบิณฑบาต ไปทำหน้าที่พระพุทธเจ้า แล้วตอนเที่ยงก็พักผ่อน ตอนบ่ายก็กลับไปวัด ก็สอน สอนภิกษุสงฆ์ สอนให้คนที่เขาจะฟัง ตอนค่ำ ตอนดึกก็แก้ปัญหาเทวดา ท่านพระราชา มหากษัตรย์ก็มักจะไปตอนดึก นี่หน้าที่ การงานที่ท่านทำให้แก่โลก พระสงฆ์ควรจะทำให้สำเร็จเสร็จตามนั้น แต่ไม่ใช่ตามนั้นทุกตัวอักษร แต่มีความหมายอย่างนั้น ทีนี้พระสงฆ์ที่ยังต้องเล่าเรียน ก็เล่าเรียนไป พระสงฆ์ที่เสร็จการเล่าเรียนก็ทำอย่างนั้น หรือว่าอาจจะทำสองอย่างพร้อมกันไปได้ก็ทำ ที่จริงการที่ไปโปรดคนอื่นมันก็เป็นการเล่าเรียนอยู่ในตัว มันเลื่อนชั้นได้
ทีนี้คำถามนี้จะมีประโยชน์อะไร คุณจะไปบังคับพระได้หรือ จะไปแก้ปัญหาในการบังคับพระทำอย่างนี้ได้หรือ ถ้าไม่ได้ ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็อย่าไปนินทาพระเข้าก็แล้วกัน ชาวบ้านช่วยกันเพียงว่าสนับสนุนภิกษุที่ปฏิบัติถูกต้อง ยังไม่เท่าไร ///(นาทีที่ 01:17:16) ภิกษุที่ปฏิบัติถูกต้องมากขึ้นอีก เป็นอันว่าเรารู้ ว่าพระภิกษุที่ควรจะทำนั้น ที่เรียนก็ขอให้บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ที่ได้แล้วก็ขอให้สอนคนอื่นอย่างสุดความสามารถจริง แล้วก็ร่วมมือในข้อนี้กับท่าน ก็คงจะทำให้เกิดพระภิกษุสงฆ์ที่จริง ๆ ขึ้นมา
เอาละ...ไม่มีถามเรื่องขวาเรื่องซ้ายนะ เสียงหัวเราะ..... /// (นาทีที่ 01:17:54)
คำถาม มีผู้ต้องการเรียนถามว่า การทำบุญตักบาตรที่มีการกรวดน้ำ ถ้าไม่มีการกรวดน้ำแล้วส่วนบุญส่วนกุศลจะไม่ถึงผู้ที่เราอุทิศส่วนกุศลไปให้จริงหรือไม่
ท่านพุทธทาส ข้อนี้ต้องขอชี้แจงถึงธรรมชาติของปัญหาก่อน โดยธรรมชาติของปัญหาแล้ว โยมเมื่อมีคำตอบคำตอบใดคำตอบหนึ่ง โยมจะสร้างปัญหาขึ้น ซ้ำซ้อนขึ้นมา---- (นาทีที่ 01.18.49) ด้วยเหตุนั้นขอให้เข้าใจว่า ปัญหาเกิดขึ้นที่ไหนย่อมเป็นหน้าที่ของคนนั้นเอง ความสงสัยที่รบกวนจิตใจ ทีนี้ถ้าดูให้กว้างกว่านั้น ปัญหาก็จะแบ่งเป็นกว้างๆ ได้ ๒ ชนิด คือปัญหาที่เราสนใจที่จะรู้ แต่มันไม่ได้รบกวนอะไรเรา ทีนี้อีกชนิดหนึ่งนั้นเป็นปัญหาเกิดขึ้นชนิดที่รบกวน ถ้าไม่รู้จะทำให้ชีวิตสับสน เพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องไอ้กรวดน้ำจะได้รับหรือไม่นี้ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะบางคน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในสังคมอดีต และเกิดกับนักศึกษาน้อยมาก อย่างไรก็ดีอาตมาภาพขอชี้แจงง่าย ๆ การกรวดน้ำไม่ได้หมายถึงการกระทำ เป็นเรื่องขลัง หรือศักดิ์สิทธิ์ หรือลึกลับอะไร จริงๆ เป็นเคล็ดชนิดหนึ่งที่ฝึกให้ผู้ที่กระทำในพิธีนั้นได้ฝึกสมาธิอย่างง่าย ๆ นั้นคือว่า เมื่อได้มีการทำบุญชนิดหนึ่งชนิดใดแล้ว จิตใจเกิดปีติขึ้น พอเกิดปีติยินดีขึ้นแล้ว เมื่อได้มากรวดน้ำให้ถูกต้องตามแบบแผน และกรวดน้ำชนิดถูกต้องแบบแผนนั้นก็คือว่า ต้องกรวดให้เส้นเรียวเล็ก ยิ่งกรวดเรียวเล็กและช้าเท่าไร จิตก็ถูกชะลอให้นิ่ม เนิบขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นได้ทำบุญทีหนึ่ง กรวดน้ำทีหนึ่ง ทำให้ปีติ หรือความพอใจที่เกิดจากการทำบุญนั้นแผ่ขยายขึ้น สำเร็จแก่ผู้นั้นนั่นเอง นี้ส่วนหนึ่งซึ่งผู้ทำนั้นเองจะได้
ทีนี้มาถึงส่วนที่เรียกว่า ปัญหาที่ว่าผู้รับ เช่นสวดอุทิศให้แก่พ่อแม่ หรือผู้ที่มีพระคุณผู้ล่วงลับไปแล้ว ว่าจะได้รับหรือไม่นั้น นี้ก็ยังถือว่าเป็นเคล็ดหรือเป็นอุบาย คำว่าอุบายในที่นี้หมายถึงว่าเทคนิคก็ได้ ไม่ได้หมายถึงขี้โกงอะไรทำนองนั้น บุคคลที่เรารัก ซึ่งคนบางคนในช่วงที่...คนที่เรารัก คือมีพระคุณต่อเรานั้น ในช่วงที่ท่านมีชีวิตเราไม่ได้ตอบแทนพระคุณ และก็เป็นธรรมชาติของคนหนุ่มสาว ที่จะพลาดโอกาสนี้แน่นอน ทีนี้เมื่อคนที่รักหรือคนที่มีพระคุณล่วงลับไปแล้ว คนเหล่านั้นย่อมเกิดตะขิดตะขวงใจอยู่ไม่ใช่น้อย เมื่อเกิดอุบายที่จะให้ทำบุญและอุทิศให้คนที่ล่วงลับไปแล้ว จะช่วยให้แก้ขวย แก้เขิน ที่ภาษาปักษ์ใต้เรียกว่า สาใจ (นาทีที่ 01:22:18) คือรู้สึกชอบกลที่พ่อแม่ตายไปแล้ว และตลอดเวลาที่ท่านมีชีวิตอยู่เราไม่ได้ตอบแทนพระคุณ ข้อนี้ไม่ได้หมายถึงว่าทำพิธีก็เป็นการตอบแทนพระคุณก็หาไม่ แต่ว่ามันเป็นการช่วยให้จิตใจนั้นได้กระทำสักอย่างหนึ่ง
แล้วก็ขอตอบเลย ที่ต้องไปทำกับบรรพชิตหรืออะไรทำนองนั้น ก็เพื่อให้การทำบุญนั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะพิธีแห่งการกรวดน้ำจะจบลงด้วยคำอนุโมทนาของพระภิกษุ แต่คำอนุโมทนาเหล่านั้นไม่หนีห่างจากเรื่องขอให้ทำใจให้สงบ เพราะบุญทั้งหลายจะเกิดขึ้นเมื่อจิตใจสงบระงับเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้เห็นการกรวดน้ำอุทิศแผ่ส่วนกุศลก็มักจะทำกันด้วยจิตใจที่สับสน เพราะพิธีกรรมเหล่านั้นไม่เอื้ออำนวย ไม่เป็นเครื่องประเทืองอารมณ์อีก ข้อนี้ขอชี้แจงว่า พิธีนั้นเป็นเครื่องประเทืองอารมณ์ ถ้าเกิดการทำพิธีที่ถูกต้องขึ้นแล้วเราจะรู้สึกชอบ รัก เพราะมันช่วยทำให้เกิดจิตที่มีส่วนร่วมด้วยกับผู้อื่น ว่าอยากจะชี้แจงให้ขยายไปนิดหนึ่งว่า ความหมายของชีวิตของมนุษย์เรานั้น ไม่ได้จำเพาะเฉพาะเรื่องส่วนตนหรือบุคคล ย่อมแผ่กว้างไปถึงเรื่องการดำรงอยู่ร่วมกันด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าพิธีนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และจำเป็นเอาด้วย ขอให้สังเกตดูดี ๆ เมื่อประชาชนพบกันเป็นจำนวนมากนี่ สิ่งแรกที่จะต้องทำคือการรวมขวัญ ทฤษฎีเรื่องขวัญนี้เป็นสิ่งที่พวกนักการศึกษาสมัยใหม่สนใจมาก และให้ความสำคัญไม่น้อย เพราะงานใหญ่ๆ มักจะพลาดเพราะไม่มีการรวมขวัญ สิ่งเรียกขวัญนั้นมันมีหลายชนิด พิธีกรรมจะเป็นอุบายที่จะทำให้ผู้มาชุมนุมกันเยอะๆ รวมกำลังใจ ตั้งแต่สวดมนต์ ไหว้พระ แล้วทำอะไรต่างๆ ที่เรียกพิธี แต่ตัวหนังสือแปลว่าวิธี เป็นอุบายที่จะช่วยให้เรื่องในวงกว้างนี้รวบเข้ามา ให้เกิดความละม้ายกันเป็นปฐม
คิดว่าน่าจะพอแค่นี้ มีปัญหาอะไรจะถาม
คำถาม ขอถามปัญหานะครับ มนุษย์เราไม่ว่าชนชาติใดก็ตาม จะเป็นผิวขาวผิวเหลือง ในการดำรงชีวิตนี้ ขึ้นชื่อว่าคน จะต้องมีเครื่องยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ และเครื่องยึดเหนี่ยวนั้นก็คือศาสนา อยากจะถามถึงธาตุแท้อันแท้จริงของศาสนาว่าเป็นอย่างไรบ้าง
ท่านพุทธทาส เป็นปัญหาที่กว้างขวาง แต่อย่างไรก็ดี เป็นปัญหาที่นับว่าน่าสนใจ ยิ่งปัจจุบันนี้ คนหนุ่มสาวของเราห่างเหินในศาสนาด้วยแล้ว ก็ย่อมเป็นปัญหาที่ค่อนข้างใหญ่หลวง อาตมภาพเองตั้งต้นอาจจะยืดเยื้อสักนิด เพราะมันเป็นปัญหาที่กว้างขวาง
ก่อนที่เราจะสนใจหรือเข้าใจศาสนานั้น โปรดอย่าได้คิดว่าศาสนาเป็นเพียงพิธีกรรม และก็ประการสำคัญ อาตมาขอทบทวนพื้นความรู้ของนักศึกษาว่า ก็มักจะถูกทฤษฎีของนักการศึกษาต่างประเทศครอบงำอยู่ล่วงหน้าแล้ว สรุปว่ามักจะคิดว่าศาสนานั้นเกิดขึ้นด้วยอำนาจของความกลัว ที่อาตมาเชื่อแน่ว่าในมหาวิทยาลัยต้องมีการสอนเช่นนี้ เช่นก็มักจะตั้งสมมติฐานว่า แรกสุดมนุษย์นั้นกลัวฟ้าร้อง ฟ้าผ่า และเป็นเหตุให้เกิดการสวดอ้อนวอนสิ่งที่ไม่เห็นตัว ฉะนั้นเขาจึงสรุปง่าย ๆ ว่าศาสนาเกิดด้วยอำนาจของความกลัว ข้อนี้น่าจะมีความจริงอยู่บ้างในประวัติศาสตร์ แต่ว่าการลงความเห็นเช่นนี้เป็นบทสรุปที่ค่อนข้างจะคร่าวสักหน่อย ทำไมถึงกล่าวเช่นนั้น ถ้าหากเราตั้งวิเคราะห์ หรือตั้งญัตติว่ามนุษย์เกิดนับมีศาสนาขึ้นมานี้เพราะอำนาจความกลัวแล้วไซร้ เราก็สรุปได้ง่ายนิดเดียวว่า ปัจจุบันนี้วิทยาศาสตร์ทำให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ในธรรมชาติที่เราเคยกลัว เดี๋ยวนี้เราไม่กลัว เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องมีศาสนา แต่บทสรุปนี้เกิดขึ้นเช่นนี้ละก็ขอให้นักศึกษาเข้าใจว่าเป็นเรื่องเข้าใจศาสนาผิดเสียแล้ว แนวโน้มอันนี้เกิดขึ้นมากในต่างประเทศ เพราะการวิเคราะห์ที่เกิดของศาสนานั้นผิดพลาดอย่างร้ายกาจ
ศาสนาไม่ได้เกิดขึ้นด้วยอำนาจของความกลัว แต่ศาสนาเป็นเจตจำนงของชีวิต ข้อนี้มีความหมายอย่างไร อาจจะต้องวิเคราะห์กันให้กว้างขวางว่า ศาสนาในโลกนี้แบ่งเป็นสองชนิด ชนิดหนึ่งเรียกว่า ยืนพื้นอยู่บนเจตจำนงที่จะบรรลุถึงอิสรภาพ ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า free will (นาทีที่ 01:28:30 ) ทีนี้อีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่ากลุ่มที่ว่า ศาสนาที่มีโองการ ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Interminute (นาทีที่ 01:28:41) อะไรทำนองนั้น ศาสนาที่เป็นโองการนั้นจะต้องมีมูลกรณีคือพระผู้เป็นเจ้า ส่วนศาสนาที่ยืนพื้นอยู่บนวิลล์ของชีวิต คือความประสงค์ที่จะบรรลุถึงอิสรภาพนั้นมักจะไม่มีพระผู้เป็นเจ้า แต่ความสองประการนี้หาได้แตกต่างกันโดยเนื้อหาจริง ๆ ไม่ มันคือเหตุต้องการแรงผลักดันที่เรียกว่า motivation บางชนิดเท่านั้น คือศาสนาที่มีพระผู้เป็นเจ้านั้นต้องการศรัทธาอย่างแรงกล้า โดยไม่ต้องคิดอะไรมาก ส่วนศาสนาที่ไม่ตั้งมูลกรณีว่ามีพระผู้เป็นเจ้านั้น ต้องการปัญญาเป็นหลักในการวิเคราะห์วินิจฉัย
ทีนี้ต่อคำถามที่ว่าเนื้อหาของศาสนานั้นอยู่ที่ตรงไหน จริง ๆ ท่านผู้ถามก็ได้ตอบโดยตัวเองแล้วว่าจิตไม่มีที่พึ่งนี้ลำบากมาก กรณีนั้นพระพุทธองค์เองท่านก็ตรัสเช่นนั้น ท่านตรัสว่า เธอทั้งหลายต้องมีที่พึ่ง การไม่มีที่พึ่งนั้นย่อมไม่เป็นมงคลเลย ขอให้นักศึกษาสังเกตดูให้ดี การที่เราจะเข้าใจศาสนาได้อย่างลึกซึ้ง ซึมซาบจริงๆ ถึงไอ้หัวใจหรือแก่นของศาสนานั้น อาตมาขอตั้งต้นด้วยปัญหาแรกที่ว่า อิสรภาพคือสิ่งเดียวที่มนุษย์ประสงค์ อิสรภาพเป็นทรัพย์ประการเดียวที่มนุษย์หวงแหน และจะปกป้องถึงที่สุด การสูญเสียอิสรภาพก็คือสูญเสียทุกสิ่ง แต่ทีนี้มันเลยมีปัญหาว่าความเข้าใจเรื่องอิสรภาพนี้เรากว้างขวาง แคบแค่ไหน อิสรภาพจะต้องหมายถึงภาวะที่ไม่มีอะไรกดดันอยู่ภายใน และความหมายของอิสรภาพนั้นต้องปลีกออกจากคำว่าเสรีภาพเกือบจะสิ้นเชิง เพราะที่จริงนั้นเสรีภาพนั้นมันเป็นความ... มันเป็นผลพลอยได้ของอิสรภาพ ข้อนี้ก็ต้องถือตามตัวหนังสือ ก็คงจะให้ความกระจ่างขึ้น
อิสระ คำนี้ก็คือคำว่า อิศวร อิศวรที่เป็นพระผู้เป็นเจ้าของศาสนาฮินดูนั่นเอง ท่านก็รู้โดยวินิจฉัยว่าคำว่าอิศวร หรือ อิสระนี้น่าจะตรงกับคำภาษาละตินว่า absolute (นาทีที่ 01:31:28) ก็คือคำว่าสมบูรณ์แบบ ไม่ได้หมายถึงเสรีภาพ ฉะนั้นนักศึกษาทั้งหลายเข้าใจว่าเสรีภาพเป็นสิ่งสูงสุดแล้วก็ขอให้กำหนดรู้ให้ดีว่า โดยธรรมชาตินั้นมันไม่ยอมอำนวยให้เสรีภาพมีได้เท่าไร เช่นเราคิดว่าเราจะใช้ร่างกายนี้อย่างเสรีที่สุด เหมือนทฤษฎีปรัชญาของนักคิดรุ่นใหม่ที่เขาชอบพูดเรื่อง free will (นาทีที่ 01:32:01) ในความหมายนั้น คือเสรีภาพอย่างชนิดที่ไม่มีขอบเขต ร่างกายเราไม่....(นาทีที่ 01:32:07) อย่างเราใช้ร่างกายเรานี้บริโภคกามารมณ์หรืออาหารให้เต็มที่ ไม่เท่าไรต้องซูบซีดแล้วก็ผอม แล้วก็ตายไป เพราะเสรีภาพนั้นต้องมีขอบเขตของมัน มนุษย์จะบรรลุถึงซึ่งความรู้ข้อนี้ก็โดยประการเดียวเท่านั้น คือค้นพบสถานภาพของตัวที่สอดคล้องกับธรรมชาติรอบด้าน
การค้นพบสถานะของตัวที่สอดคล้องอยู่กับธรรมชาติรอบด้านนั้นก็คือการบรรลุถึงภูมิธรรมชนิดหนึ่ง ภูมิธรรมชนิดนี้ไม่อาจจัดอยู่ในเครือของความดีชั้นต่ำ ๆ ได้ จริงอยู่ ศาสนาในโลกนี้ย่อมต้องรับเอาสิ่งที่เรียกว่า ฐานหรือรากฐาน คือเรื่องดีและเรื่องชั่ว แต่ว่าการค้นพบกฎของธรรมชาตินี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องดีเรื่องชั่ว เพราะว่ามันเป็นการอธิบายการเกิดขึ้นของความดีและความชั่วเสียเอง เพราะฉะนั้นตัวมันเองจะเป็นความดีหรือชั่วไม่ได้ เราไม่อาจพูดได้เลยว่าต้นไม้ในป่า มีต้นหนึ่งต้นใดมันโตกว่าเพื่อน สูงกว่าเพื่อน เราจะวินิจฉัยว่า ไอ้, ต้นไม้ต้นนี้เห็นแก่ตัว ชิงคนอื่น แย่งอากาศ อย่างนี้ เป็นไปไม่ได้ และก็ชี้เพื่อสรุปลัดสั้น เพราะเวลาก็ล่วงเลยมามากแล้ว แล้วดูเหมือนจะมีปัญหาประการอื่น
สาระจริง ๆ ของศาสนานั้นก็คืออยู่ที่การค้นพบสถานภาพของตนที่สอดคล้องกับธรรมชาติ จะเป็นอันให้ผู้นั้นเริ่มสิ้นสุดความกดดัน ไม่ว่ากดดัน ผลักดันในแง่ที่ทำลายล้างผู้อื่น หรือทำลายล้างตนเอง คือ สรุปง่าย ๆ ว่า ผู้ที่ค้นพบกฎของธรรมชาติอย่างชัดเจนนั้นแล้ว ย่อมไม่โน้มไปสู่การเบียดเบียนตน และเบียดเบียนท่าน นี่โดยย่อที่สุด
เธอมีปัญหาอะไร
คำถาม เคยมีคำพังเพยกล่าวว่า ถ้ามีความพอดีจะเป็นเศรษฐีในเรือนยาจก ถ้าเป็นคนงกจะเป็นยาจกในเรือนเศรษฐี เพราะฉะนั้นชีวิตของคนเราย่อมต้องมีความพอดีอยู่จุดหนึ่ง อาจจะเป็นว่าเป็นจุดยืนของชีวิต เพราะฉะนั้น จุดยืนของชีวิตนี้มันอยู่ที่ไหนกันแน่ครับ
ท่านพุทธทาส คำถามแปลกดี จุดยืนของชีวิต คำนี้เป็นคำสมัยใหม่ เขามักจะใช้ในเรื่องของการเมือง หรือภาษาของนักวิชาการ ใช้คำว่าจุดยืน