แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายครั้งนี้จะพูดถึงสิ่งที่เรียกกันว่า วิโมกข์ เอ่อ, วิเวก ต่อจากเรื่องของวิโมกข์ หรือโมกข์ คำว่า วิโมกข์ ก็ดี คำว่า วิเวก ก็ดี ที่ท่านทั้งหลายได้ยินกันมาก็ล้วนแต่เป็นเรื่องสูงสุด คือเรื่องหลุดพ้นของคนอยู่ป่าบรรลุมรรคผลนิพพานกันไปเสียทั้งนั้น ก็เลยไม่ ไม่ค่อยจะสนใจ ก็เลยไม่รู้เรื่องของพุทธศาสนา หรือไม่รู้เรื่องตัวจริงของพุทธศาสนา หรือที่เรียกว่าไม่สามารถจะเอาพุทธศาสนามาใช้ประยุกต์หรืออะไรก็ตามได้ในชีวิตประจำวัน ฉะนั้นจึงอยากจะทำความเข้าใจในเรื่องนี้มากกว่า เรื่องที่หาอ่านได้จากหนังสือทั่วๆ ไปก็ไม่จำเป็นจะต้องเอามาพูด แต่เรื่องของการทำความเข้าใจกันในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจหรือยังเข้าใจผิดอยู่ทั้งที่ได้อ่านกันอยู่ประจำนี่ จะพูด ซึ่งเชื่อว่าจะสำเร็จประโยชน์มากกว่าอย่างอื่น
เมื่อคืนเราก็ได้พูดถึงคำว่า โมกข์ ซึ่งเชื่อว่าคงจะเข้าใจเพิ่มขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย จนถึงกับมองเห็นว่าสิ่งที่เรียกว่าโมกข์นั้นจำเป็นสำหรับมนุษย์แม้พวกที่อยู่ในบ้านในเมือง การที่มีจิตใจเกลี้ยงนั่นแหละมีประโยชน์มากและจำเป็นมาก ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วเราก็จะเหมือนกับว่ามีชีวิตอยู่อย่างกับเผาลนหรือตกนรกทั้งเป็น ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ ก็จะเข้าใจพุทธศาสนาอย่างที่เรียกว่ามันมีประโยชน์ ไม่อย่างนั้นแล้วก็จะเข้าใจอย่างที่เรียกว่าไม่มีประโยชน์ เป็นเรื่องของการหอบฟางทั้งนั้น เป็นเรื่องของการที่ยิ่งรู้มากยิ่งยากนานก็มี หอบฟาง หมายถึงว่ามันไม่มีสาระอยู่ในนั้น คือไม่มีเม็ดข้าวสารอยู่ในฟาง ยิ่งรู้มากยิ่งยากนาน คือยิ่งทำให้หัวยุ่งจนไม่มีความสงบสุขลงไปได้ แล้วมนุษย์ในโลกนี้ก็มีอาการอย่างที่เรียกว่า ยิ่งรู้มากยิ่งยากนาน นี่มากขึ้น ในแง่ของการเมืองโดยเฉพาะละก็ อยู่ในสภาพที่เรียกว่ายิ่งรู้มากยิ่งยากนาน ยิ่งไม่แก้ปัญหาอะไรได้ ก็เนื่องมาจากการศึกษาชนิดที่มันไม่ตรงจุดแต่สักอย่างเดียว แล้วก็มีมากจนฟั่นเฝือกันยุ่งไปหมด ไม่แก้ปัญหาอะไรได้เลย นี่เราเรียกว่า ยิ่งรู้มากยิ่งยากนาน ฉะนั้นช่วยกันระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องพระธรรมหรือพระศาสนานั่นเอง
เมื่อคืนก็ได้พูดกันแล้วว่ามาสวนโมกข์ทำไม จะได้อะไร นี่ขอให้คิดดูให้ดีๆ เถิด เราจะได้อะไรที่เป็นเนื้อหาสาระคุ้มกันกับการมา อาตมาอยากจะพูดย้ำซ้ำไปอีกทีว่า เพื่อให้ได้ชิมสิ่งที่เรียกว่า โมกข์ แล้วก็ให้ได้ศึกษาพุทธศาสนาจากจิตใจโดยตรง ที่แล้วมามีแต่ศึกษาพุทธศาสนาจากหนังสือ อย่างนี้ลำบากมาก บางทีศึกษายิ่งไม่รู้ ยิ่งศึกษายิ่งไม่รู้ เพราะถ้าจะรู้พุทธศาสนามันต้องศึกษาจากจิตใจโดยตรง ศึกษาอย่างไรกันจากจิตใจโดยตรง ก็คือต้องได้รับสิ่งนั้น ได้รู้รสของสิ่งนั้นอยู่ แล้วก็รู้ต่อไปถึงว่ามันทำไมมันจึงเป็นอย่างนี้ หรือจะต้องทำอย่างไรต่อไป นั่นน่ะขอให้จำไว้เถิดว่าเรื่องของจิตเรื่องของวิญญาณนี่จะต้องศึกษาจากจิตใจโดยตรง เช่นเดียวกับเรื่องทางวัตถุก็ต้องศึกษาจากวัตถุโดยตรง เมื่อเป็นเรื่องของจิตก็ต้องศึกษาจากจิตโดยตรง ฉะนั้นถ้าเราไม่มีจิตที่ตรงตามคำที่เรียกนั้นเกิดขึ้นแล้ว เราก็ไม่รู้จักว่าไอ้จิตชนิดนั้นมันเป็นอย่างไร แม้เราจะศึกษาเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราก็ต้องศึกษาจากจิตโดยตรง คืออย่างน้อยต้องมีจิตเป็นจิตพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สักชั่วขณะหนึ่ง แม้สักแวบหนึ่งก็ยังดี ก็จะรู้ว่า อ้าว, พระพุทธเจ้ามีความหมายอย่างนี้
ถ้าเราจะศึกษาแต่เพียงว่าเป็นบุคคลเกิดในประเทศอินเดีย ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว มีประวัติเป็นอย่างนั้นๆ มันกลายเป็นเรื่องวัตถุไป คือเรื่องบุคคลที่เป็นเนื้อหนังไป ไม่รู้ถึงจิตใจ แม้เราจะได้อ่านประโยคที่ว่า พระพุทธเจ้ามีจิตใจสะอาด สว่าง สงบ มันก็รู้แต่หนังสือ ตัวหนังสือ ก็ไม่เข้าถึงพระพุทธเจ้าอันแท้จริง ต่อเมื่อใดเรามีจิตใจสะอาด สว่าง สงบบ้าง แม้สักระดับหนึ่งก็เถอะเราจะเข้าใจคำนี้ เราก็จะรู้จักพระพุทธเจ้าจริง องค์จริง ว่าคือบุคคลที่มีจิตใจอย่างนั้น แต่มันมากกว่านั้น หรือว่ามันขึ้นถึงระดับสูงสุดคือเต็มที่ ฉะนั้นถ้าจะรู้จักพระพุทธเจ้า ก็พยายามเถิด ให้รู้จักภาวะของจิตใจที่เป็นเหมือนอย่างของพระพุทธเจ้า โดยส่วนใหญ่คือ สะอาด สว่าง สงบ นี่ สะอาด หมายความว่า ไม่มีสกปรก คือไม่มีกิเลส สว่าง รู้แจ้ง สะอาด สว่าง แล้วก็ สงบ คือเยือกเย็นเป็นสุข เป็นจิตที่มีความสงบเย็นเป็นสุข บางคราวเราก็อาจจะมีได้บ้างเหมือนกันโดยบังเอิญ แต่มันเป็นส่วนน้อย ถึงแม้เป็นส่วนน้อยก็ยังดี คือทวีความหมายมากขึ้น คือคูณเข้า คูณด้วย ๓ คูณด้วย ๑๐ ฉะนั้นจงรู้จักพระพุทธเจ้า แล้วศึกษา รู้จักพระพุทธเจ้าด้วยการศึกษาด้วยจิต
เมื่อคืนก็พูดว่า นั่งกลางดินเป็นเหตุให้รู้รสของการเป็นอยู่อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านเป็นอยู่ ว่าท่านประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน นิพพานกลางดิน สอนกลางดิน กุฏิก็พื้นดิน นี่ ถ้าเรานั่งกลางดินเสียบ้าง ถ้าจิตใจมันไม่ฟุ้งซ่านเกินไปมันคงจะรู้รสว่าไอ้กลางดินนั้นมันเป็นอย่างไร มันเกลี้ยงไปอย่างไร มันง่ายอย่างไร โดยเฉพาะในสมัยปัจจุบันนี้ ยังจะได้รู้แปลกออกไปว่าที่เราหวังอะไรนั้นมันมากเกินไป เราวางมาตรฐานการเป็นอยู่ไว้มันสูงเกินไปจนทำให้ลำบากยุ่งยาก จนในที่สุดไม่พบกับความสงบสุขเลย จะเรียกว่าทั้งโลกก็ได้ วางมาตรฐานการเป็นอยู่ไว้สูง แล้วก็สูงอย่างที่ไม่มีลดลง สูงที่จะเพิ่มขึ้นไปจนเฟ้อ แล้วก็เลยไม่พบกับความสงบสุขด้วยกันทั้งโลก นี่ควรศึกษาว่าไอ้ที่มันจะสงบสุขได้น่ะมันอยู่ที่ไหน เป็นอย่างไร ไอ้เราทำจนจะสายตัวจะขาดอยู่แล้ว มันก็ยังไม่เคยพบกับความสงบสุข เพราะเราคงจะทำผิดเป็นแน่นอน ดังนั้นลองชิมดูบ้าง ว่าอยู่อย่างง่าย อยู่อย่างต่ำที่สุดนั่นน่ะมันเป็นอย่างไร แล้วมันจะได้อะไรเป็นพิเศษ ลองอยู่ต่ำๆ ดูบ้าง เรียกง่ายๆ ก็อยู่ด้วยความขาดแคลนดูบ้างโดยไม่ต้องถึงกับตาย จะได้รู้, รู้ รู้จักความขาดแคลนบ้างให้มันดี จะได้เอาไปปรับกันเข้ากับที่มันเกินหรือมันเฟ้อ แล้วก็จะพบความพอดี ถ้ามาที่นี่ มาอย่างธุดงค์ ก็จะต้อง ก็ควรจะได้พบความขาดแคลน อันนี้ก็ สิ่งที่เราเรียกความขาดแคลนนั้นบางทีมันก็ไม่ใช่ความขาดแคลนหรอก เพราะเราไปวางระดับกลางไว้มันสูงเกินไป เราจะรู้สึกว่าขาดแคลน ฉะนั้นลองเป็นอยู่อย่างพุทธบริษัท อย่างภิกษุ อย่างพระพุทธเจ้าเสียบ้างกัน ไม่ต้องมีฟูกเบาะเมาะหมอนมันก็นอนได้ ไม่ต้องมีอะไรที่หรูหราฟุ่มเฟือยงดงามมันก็ยังอยู่ได้ แล้วกลับสบายกว่า เดี๋ยวนี้เราไปเพิ่ม ไปหามาเพิ่มแต่สิ่งที่มันทำให้เราเป็นทาสของมัน ต้องมีนั่น ต้องมีนี่ ต้องมีโน่น การค้นคว้าทางนี้มันก้าวหน้าแล้วก็เลยไม่มีที่สิ้นสุด ที่ถูกที่พอดีก็เอาไว้ ที่เฟ้อที่เกินก็ควรจะรู้จักลดกันเสียบ้าง มาอยู่อย่างที่ไม่ค่อยมีอะไรมากนี่แหละจะช่วยให้รู้ มันจะลดอะไรได้สักเท่าไร นี่เรื่องที่เราจะศึกษาโดยตรงจากจิตใจในสถานที่อย่างนี้ ซึ่งได้พบกับความเกลี้ยงของจิตใจ แม้ว่าเราจะมีความขาดแคลนในการเป็นอยู่
นั้นเป็นการพูดตามความหมายของคำว่า โมกข์ ซึ่งแปลว่าเกลี้ยง บางทีก็มีคำว่า วิ เติมเข้าไปข้างหน้าเรียกว่า วิโมกข์ เกลี้ยงอย่างยิ่งขึ้นไปอีก ทีนี้ถ้ามันโมกข์หรือวิโมกข์ คือเกลี้ยงแล้ว มันก็จะวิเวก วิเวก แปลว่า สงัด สงบ คำว่า สงัด ก็คือไม่มีอะไรกวน วิเวกนั้นแปลว่า เดี่ยวอย่างยิ่ง เอกะ มันแปลว่า เดี่ยวหรือหนึ่ง หนึ่งก็คือไม่มีอะไรมาเป็นที่สองที่จะมากวน นั้นก็คืออิสระ เป็นความเป็นอิสระ ปลอดจากสิ่งที่รบกวนเรียกว่า วิเวก โดยเฉพาะพูดกันแต่เรื่องของพระนิพพาน วิเวกก็หมายถึงพระนิพพานเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยรู้จักลดลงมาให้เป็นเรื่องของระดับธรรมดา ดังนั้นขอให้ตั้งใจฟังให้ดี ให้รู้จักคำว่า วิเวก ซึ่งหลายคนคงจะเกลียดนักเกลียดหนาว่าเป็นของครึคระ เป็นของวัดของวา ของฤาษีมุนี แต่หารู้ไม่ว่าเพราะขาดวิเวกนั่นแหละ ตนจึงเหมือนกับว่าตกนรกอยู่ทั้งเป็นๆ อยู่ในบ้านในเรือน ในออฟฟิศ ในที่ไหนก็ตาม เพราะไม่รู้จักทำให้มันวิเวก มันก็มีแต่สิ่งรบกวน
ในชั้นแรกนี้ก็จะให้จำหลักง่ายๆ ไว้ก่อน จะสะดวก คือว่าวิเวกนี่มีอยู่ ๓ กายวิเวก วิเวกทางกาย จิตวิเวก วิเวกทางจิต อุปธิวิเวก เป็นวิเวกทางสติปัญญา คือวิเวกจากความยึดมั่นถือมั่น ถ้าจะให้เข้าใจง่ายก็จะพูดใหม่ว่า กายวิเวก วิเวกจากสิ่งรบกวนทางกาย จิตวิเวก วิเวกจากสิ่งรบกวนทางจิต ทีนี้ อุปธิวิเวก วิเวกจากสิ่งรบกวนทางสติปัญญา อุปธิ แปลว่าการยึดมั่นถือมั่น คือมีความโง่ มีอวิชชา แล้วก็หมายมั่นนั่นนี่ว่าเป็นตัวตน เป็นของของตน มันหนักอยู่ ก็เรียกว่า อุปธิ ทีนี้ถ้าวิเวกจากสิ่งที่หนักอยู่เหล่านี้ละก็เรียกว่า อุปธิวิเวก ได้
ถ้าพูดอย่างคร่าวๆ วิเวกทางกาย ก็ไม่มีอะไรกระทบกระทั่งทางกาย นับตั้งแต่ว่าไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่มีความร้อนหนาวหรืออะไรต่างๆ ที่มันไม่สบายแก่กาย ไม่มีบุคคลที่จะทำอันตรายทางกาย มีความปลอดภัยทางร่างกาย ทางทรัพย์สมบัติเหล่านี้ อย่างนี้ก็เป็นวิเวกทางกาย ลองไปศึกษาดูจากบางครั้งบางคราวที่เราจะอยู่อย่างวิเวกในทางกาย ธรรมดานั้นไม่ค่อยได้อยู่ด้วยความวิเวกในทางกาย เพราะว่าเราเกิดมาแล้วก็ถูกอบรมให้ชอบความคลุกคลี คือการเป็นอยู่ชนิดที่ไม่วิเวกแหละ แล้วพอว่าต้องอยู่คนเดียวก็กลัว พูดว่า ว้าเหว่บ้าง เปลี่ยวบ้าง ไม่ชอบ ชอบให้คลุกคลีกันเป็นหมู่ในท่ามกลางสิ่งแวดล้อม มันก็เป็นนิสัยเพิ่มขึ้นๆ แต่ที่จะอยู่อย่างนั้น คิดดูเถิดว่ามันจะผิดหรือจะถูก จะดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่เดี๋ยวนี้ก็นิยมกันว่าดีนะ การอยู่ในท่ามกลางการแวดล้อมของบุคคล ของเครื่องใช้ไม้สอย ของอะไรต่างๆ ให้มันพร้อมหน้าสะพรั่งไปหมด แล้วโดยเฉพาะก็การบำรุงบำเรอจากเพศตรงกันข้าม ให้มันมีอย่าให้ขาดสายหรืออะไรทำนองนี้ หลงไปเข้าใจอย่างนั้นว่าเป็นของดี เป็นการได้ที่ดี หรือดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ มันก็เลยไม่รู้เรื่องกายวิเวก แต่ถ้าเผอิญจับพลัดจับผลู วันหนึ่งเวลาหนึ่งมันได้ไปสงบอารมณ์อยู่คนเดียว มันก็กลับพบว่ามันก็ดีเหมือนกันหรือบางทีมันจะดีกว่า ถ้ามันไม่หลงใหลเกินไปแล้วก็จะพบว่า ไอ้ไม่มีอะไรกวนนั่นแหละจะดีกว่า เดี๋ยวนี้มันมีอะไรมากวน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง ๕ อย่างนี้ก็พอ ที่เขาเรียกกันว่า กามคุณ ๕ ทางตามันก็เหมือนกับว่ามีอะไรมากระชากไป ให้ไปสนใจในสิ่งสวยๆ งามๆ ทางหูก็มีอะไรมากระชากไป ให้สนใจสิ่งไพเราะ หวานหู ทางจมูกก็ไปหาความหอม ทางลิ้นก็ไปหาความอร่อย ทางผิวหนังก็ไปหาความนิ่มนวล อย่างนี้เป็นต้น มันคอยแต่จะกระชาก ดึง ไปหาสิ่งเหล่านั้น สลับกันไปอย่างไม่มีสิ้นสุด จนกลายเป็นนิสัย แล้วก็ชอบให้เป็นอย่างนั้น เมื่อมันเกินไป ปัญหาอะไรจะเกิดขึ้นก็ลองคิดดู เห็นได้ง่ายที่สุด ไม่ ไม่รู้จักวิเวกทางกายเลย แล้วก็ไปหลงในความคลุกคลีที่ทำให้เกิดความยุ่งยากลำบาก หมดเปลือง ความโง่เขลาที่ไปหลงซื้อไอ้สิ่งเหล่านี้มาทำลายความสงบสุข ข้อนี้ต้องนึกไปถึงคำว่า เสรีภาพ หรือ อิสรภาพ คนทั่วไปในเวลานี้กำลังเมาเสรีภาพ เมาอิสรภาพ ต่อสู้กันอย่างหนัก อย่างเอาเป็นเอาตาย ไม่เห็นแก่ความหมดเปลืองเหน็ดเหนื่อยเพื่อเสรีภาพ แต่หารู้ไม่ว่าไอ้คนนั้นน่ะมันกลับไม่มีเสรีภาพหนักยิ่งขึ้นไปอีก ไม่มีเสรีภาพในทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันลุ่มหลงอะไรอยู่แล้วมันไม่รู้ว่ามันไม่มีเสรีภาพ แล้วก็ไปแย่ง ยื้อแย่งเสรีภาพระหว่างคนที่จะมีเสรีภาพทำอะไรตามชอบใจกับคนอื่นในสังคม ก็เป็นเรื่องที่น่าหัวเราะ ตัวเป็นทาสอย่างเต็มที่ แล้วก็ไปหาไอ้เสรีภาพชนิดที่หลอกๆ ฉะนั้นเรื่องการเมืองมันจึงยุ่ง โดยเฉพาะความฟุ้งซ่านของยุวชนแห่งยุคปัจจุบันน่ะมันเป็นอย่างนี้ มันไม่รู้จักเสรีภาพ มันไม่มีอิสรภาพ แล้วก็ยิ่งเป็นทาสของสิ่งต่างๆ มากขึ้น
สรุปความว่า วิเวกในทางกายนั้น ไม่มีอะไรรบกวนในทางกาย ในภายในก็ไม่รบกวน คือร่างกายสบายดี ในภายนอกก็ไม่มีอะไรมากระทบกระทั่ง ไปหาโอกาสชิมมันดูเอง คนโบราณก็มาอยู่วัดเสียบ้าง วันอุโบสถ วันพระ มาถือศีลอยู่ที่วัดเสียบ้าง อย่างน้อยเขาก็ได้รับวิเวกในทางกาย ได้ศึกษามันจากจิตใจโดยตรง ถ้าเราไม่อาจจะมาอยู่วัด วันพระ ๘ ค่ำนี่ ที่บ้านก็ได้ ลองจัดให้บางวันมันวิเวกดูบ้าง อย่าให้มันคลุกคลี ชุลมุน สับสนวุ่นวายยิ่งขึ้นไปเสียอีก พอมีเวลาว่างแล้วก็ยิ่งจัดให้มันคลุกคลี โกลาหลวุ่นวายเสียอีก มีความโง่มากจนไม่มีโอกาสที่จะพบความวิเวก อย่างวันเกิดอย่างนี้ แทนที่จะพบความวิเวกบ้าง ก็ยิ่งจัดให้มันยุ่งเสียไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อฉลองอะไร ก็ฉลองในทางยุ่ง ไม่ฉลองด้วยความเงียบ จนไม่มีวันไหนเวลาไหนเหลืออยู่สำหรับวิเวกแม้แต่ทางกาย
ทีนี้วิเวกที่ ๒ คือวิเวกทางจิต นี้จะไม่พูดถึงทางกาย จะพูดกันในฝ่ายจิตล้วนๆ คือไม่มีความรู้สึกอะไรมารบกวนจิต ที่เขาเรียกว่า นิวรณ์ นิวรณ์นั้น แปลว่า สิ่งรบกวนจิต ปิดกั้นจิต ไม่ให้พบกับความสงบ กามฉันทะ ความรู้สึกที่มันดิ่งลงไปในทางกาม พยาบาท ความโกรธแค้น ขัดเคือง หงุดหงิดนั่นนี่อยู่ ถีนมิทธะ การที่จิตเพลีย อ่อนเพลีย ละเหี่ยละห้อย อุทธัจจกุกกุจจะ ความที่จิตมันฟุ้งขึ้นไปอย่างคึกคะนอง และ วิจิกิจฉา ความที่ไม่แน่ใจในสิ่งที่ควรจะแน่ใจ ที่เรียกว่า กามฉันทะ พอใจในสิ่งที่เรียกว่า กาม นี่ก็เริ่มมีขึ้นมาตั้งแต่เมื่อเริ่มรู้สึกในเวทนาที่มีรสอร่อยทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย สูงขึ้นมาตามลำดับจนถึงวัยเต็มที่ของความเป็นหนุ่มสาว แล้วก็ยากที่จะเหือดหายไป ฉะนั้นจึงรบกวนจิตบ่อย ทีนี้ พยาบาท นี่ ใช้คำว่า พยาบาท คำเดียว แต่หมายถึง ความไม่ชอบพอ ความขัดใจ คับแค้น อะไรทุกอย่าง โกรธง่ายแล้วก็ลืมยาก แล้วก็เอามาทบทวนความโกรธอยู่ในรูปของความอาฆาตพยาบาท ริษยา เคียดแค้น มันก็มารบกวนใจอยู่เสมอ ทีนี้ที่มันรบกวนต่อไปก็คือ ถีนมิทธะ ความที่จิตมันซบเซา แม้ที่สุดแต่ง่วงนอน อ่อนเพลีย มันก็มารบกวนอยู่บ่อยๆ ไม่มีความกระปรี้กระเปร่าเลย ถ้าไอ้ตัวนี้มันมาก นี้ถ้าว่าตัว อุทธัจจะกุกกุจจะ มา มันก็ฟุ้งซ่านเกินกว่าเหตุ ฟุ้งซ่านขนาดนอนไม่หลับ ฟุ้งซ่านขนาดที่เรียกว่าเหมือนจะเป็นบ้า มันก็มารบกวน ทีนี้ วิจิกิจฉา นี่ขอให้สังเกตด้วย ตัวหนังสือแปลว่า ลังเล ไม่แน่ใจ ไม่เชื่อ ไม่เชื่อทุกอย่างที่ทำให้เกิดความรางเลือน ลังเล อ่อนแอ ไม่เชื่อว่าเราจะปลอดภัย ไม่เชื่อว่าเราจะทำได้ ไม่เชื่อแม้วิชาความรู้ของเรา ไม่เชื่อในสิ่งที่เราเคารพนับถือ ไม่เชื่อบิดามารดา ครูบาอาจารย์ ไม่เชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่เชื่อแม้แต่ตัวเอง ไม่เชื่อแม้แต่สมรรถภาพของตัวเอง มันไม่แน่ใจลงไปได้ มันทำให้เกิดความโลเล รวนเร ต้องไปสังเกตดูให้ดีว่ามันมี มีเมื่อไร มีที่ไหน มีอย่างไร ซึ่งเราก็เคยมีทั้งนั้นแหละแต่เราไม่สังเกต ยังแถมมีความทุกข์ด้วย ไอ้ความลังเลอย่างนี้
มันมีถึง ๕ อย่าง เป็นอย่างน้อยนะที่จะมารบกวนจิต พอสิ่งเหล่านี้มารบกวนจิต จิตก็ปราศจากความวิเวก คือความสงบสงัด ไม่ต้องมีอะไรมาโดยตรง มันคิดเอาก็ได้ คือจิตมันคิดย้อนหลังก็ได้ หรือจิตมันปล่อยไปอย่างไม่ควบคุม นี่มันก็มีความคิดความรู้สึกชนิดนี้เกิดขึ้นมารบกวนจิตเอง อย่าเห็นเป็นเรื่องในหนังสือหรือเป็นตัวหนังสือ ไปเห็นมันในชีวิตจริงๆ ตามธรรมดาประจำวันน่ะ มันมีสิ่งเหล่านี้รบกวนอยู่ เราก็ไม่รู้ไม่ชี้กับมัน ก็ปล่อยไปให้มันรบกวนโดยไม่คิดจะแก้ไข อย่างดีก็เพียงกลบเกลื่อน อันนี้เกิดขึ้นมาเหลือทนก็ไปกลบเกลื่อนอันโน้น อันโน้นเหลือทนก็ว่าไปกลบเกลื่อนอันอื่น แต่ที่ร้ายหรือเลวร้ายกว่านั้นก็คือว่า ยิ่งไปส่งเสริมมัน พอความรู้สึกทางกามารมณ์เกิดขึ้น แทนที่จะกลบเกลื่อนเสียหรือแก้ไขเสีย กลับไปส่งเสริมมันเข้า มันก็เลยงอกงามใหญ่ หรือพยาบาท ความอาฆาต ความริษยาอะไรเกิดขึ้น แทนที่จะกลบเกลื่อนมันเสีย ละมันเสีย กลับไปส่งเสริมมันเข้า ไปหาอะไรมาเตรียมพร้อมไว้สำหรับจะทำลายล้างกันอย่างนี้ อื่นๆ ก็เหมือนกันแหละ เช่น ง่วงนอนขึ้นมา แทนที่จะบังคับกันบ้าง ก็นอนมันเสีย ให้มันมากขึ้นไปอีก ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ก็ไม่รู้ไม่ชี้ ปล่อยให้มันหลงใหลในความฟุ้งซ่านมากยิ่งขึ้นไปอีก ความลังเลสงสัยนี่ก็ไม่เคยคิดแก้ไข อย่างเดียวกัน ความไม่แน่ใจมันก็มีเป็นนิสัยมากขึ้น จิตอย่างนี้ถูกรบกวนนานาประการ ก็เรียกว่ามันไม่มีวิเวกทางจิต จิตไม่ ไม่ ไม่สงัดจากสิ่งรบกวนทางจิต นี่ก็พอจะรู้ได้อีกเหมือนกันว่าเราจะเรียนจากหนังสือไม่ได้ เราต้องเรียนจากจิตใจจริงๆ จากที่มันเกิดขึ้นกับจิตใจจริงๆ จึงจะรู้จักมัน และจะไม่ชอบมัน แล้วก็ค่อยๆ อยากจะทำลาย หรือแก้ไข หรือล้างมันเสีย เดี๋ยวนี้เขาเรียนกันแต่ในหนังสือในกระดาษทั้งนั้น เรื่องอย่างที่กำลังพูดนี่ เรียนแต่ในกระดาษ ในหนังสือ ในคัมภีร์ รู้เรื่องความรบกวนทางจิตไว้ในลักษณะอย่างนี้ แล้วเปรียบเทียบดูว่ามันไม่ใช่เรื่องทางกาย อันโน้นมันกระทบกระทั่ง เบียดเบียน คลุกคลีในทางกาย อันนี้มันกระทบกระทั่งในระบบของจิต
ทีนี้มาถึงอันที่ ๓ ที่เรียกว่า อุปธิวิเวก สงบสงัดจากการแบกถือของหนัก นี้เป็นชั้นละเอียดเพราะว่าถ้าสลัดชั้นนี้ได้มันเป็นอริยบุคคล เป็นพระอรหันต์ไปเลย แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังเป็นเรื่องที่จำเป็นที่คนธรรมดาสามัญนี่จะต้องรู้จัก เพราะถ้ามันเป็นมากเกินไปมันก็เป็นบ้า ถ้าจะพูดอย่างคำพูดธรรมดาก็คือความหนักอกหนักใจหรืออะไรก็ไม่รู้ อุปธิ น่ะแปลว่า การเข้าไปแบกเอาไว้ คือไปอยู่ข้างใต้แล้วแบกมันไว้ แล้วมันก็หนัก ฉะนั้นเขาจึงแปลกันสั้นๆ ว่า ของหนัก นี่เราไม่ทำให้มันเบาได้ มันก็หนักอยู่เรื่อย พอหนักอยู่เรื่อยก็คือไม่สงัด ไม่วิเวกไปจากของหนัก ชีวิตเลยกลายเป็นของหนัก มันก็มีภาระหนักทับอยู่บนชีวิตนั้น
นี่พูดถึงของหนักกันให้เข้าใจสักหน่อย มันเป็นภาษาวัดมากไปก็จริง แต่ก็ควรจะรู้ คือว่าเมื่อเราหลง, หลง, หลง, หลงไปด้วย เราหลงไปด้วยอวิชชาคือความรู้ที่ไม่เพียงพอ ไม่ถูกต้อง มันก็จะเกิดความรู้สึกว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา และมันตั้งต้นตั้งแต่เราคลอดมาทีเดียว พอคลอดมาจากท้องแม่แล้ว พอมีความรู้สึกอะไรได้บ้าง ก็เป็นทารกอยู่นั่นแหละ ได้รู้สึกอะไรได้บ้าง ก็ถูกแวดล้อมให้เรารู้สึกเข้าใจไปในทางว่ามีตัวเราและมีของเรา เพราะเราจะได้รับการแวดล้อมว่า ของหนู ของลูก ของอะไรไปเรื่อย ตัวหนู ของหนู ตัวลูก หรือของลูก พ่อแม่ของลูก บ้านเรือนของลูก อย่างนี้เรื่อยมา เราไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้ใดโดยเจตนา มันเป็นเหมือนกับว่าขนบธรรมเนียมประเพณีที่มันจะต้องเป็นอย่างนั้น เราก็เลยรับเอาไว้ซึ่งนิสัยอันนี้ที่จะมีความรู้สึกว่า ตัวฉัน ของฉัน ตัวฉันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น ดีกว่า เลวกว่า สวยกว่า อะไรกว่า นั่นก็ของฉัน ทั้งหมดเลย พ่อก็ของฉัน แม่ก็ของฉัน บ้านเรือนของฉัน อะไรของฉัน ของฉันกว้างออกไป เป็นของฉัน เพราะมีความรู้สึกว่าตัวฉันน่ะของฉัน มันก็คือสิ่งที่เราต้องยึดถือ สิ่งที่มีการยึดถือแล้วก็หนักอยู่ แต่มันยังไม่หนักมากจนกว่ามันจะมีโอกาส มีความเข้าใจผิดมากจนเกิดเป็นตัวกูของกูเต็มที่ มันจึงจะมีความทุกข์อย่างชัดแจ้งออกมา ลองเปรียบเทียบดูว่า ร่างกายของเรานี่ สมมติว่าหนัก ๘๐ กิโลนี่ เราก็ต้องถือมันอยู่เรื่อย คือเราต้องคอน ต้องทรงมันไว้อยู่เรื่อยที่จะเดินไปอะไรไป เท่ากับเราแบกน้ำหนัก ๘๐ กิโลอยู่เรื่อย ก็เลยไม่รู้สึกว่าหนัก แล้วพอมาเพิ่มให้อีก ๒๐-๓๐ กิโล ก็หนัก เพิ่มอีก ๘๐ กิโล มันก็ล้ม ไปไม่รอด ความยึดถือที่ทุกคนมีอยู่เป็นพื้นฐาน ว่าเรา ว่าของเรา นั้นก็พอมีอยู่ แต่ไม่รู้สึกถึงกับเป็นทุกข์หนัก ต่อเมื่อไรมันมีเหตุพิเศษออกมาให้ยึดถือมากกว่านั้นจึงจะรู้สึกหนัก เช่น เรายึดถือว่า เงินของเรา อย่างนี้ มันก็หนักด้วยการเป็นห่วง วิตกกังวลอะไรบ้าง ทีนี้พอมันหายไป ความยึดถือมันจะมาเพิ่มขึ้นอีก ไอ้ความหมายของคำว่า เงินของเรา นี่มีความหมายมากขึ้นไปอีก แล้วเราก็ร้อน ทุกข์ เพราะเงินมันหายไป เพราะยึดว่าเงินของเรา ทุกอย่างเป็นอย่างนี้ พอมีโอกาสที่จะทำให้มีความหมายมากขึ้นเท่าไรมันก็มีความยึดถือมากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นมันก็มีความทุกข์มากขึ้นเท่านั้น อย่างนี้เรียกว่ายึดถือของหนัก ยึดถือวัตถุ ทรัพย์สมบัติ ยึดถือเกียรติยศชื่อเสียง กระทั่งยึดถือบุญกุศล กระทั่งยึดถือสวรรค์วิมานที่สร้างไว้ในอนาคต สร้างวิมานไว้ในอนาคต ยึดถืออะไรก็ต้องหนักเพราะสิ่งนั้น แล้วก็จะเลยเถิดไปจนถึงกับว่าให้เกิดการเบียดเบียนแย่งชิงมาเรื่องของกูเพิ่มขึ้น ไอ้ ตัวกู นี่มันก็ร้ายกาจอยู่แล้ว ใครลบหลู่ก็ไม่ได้ เราไปโง่เอง ก็เข้าใจว่าเขาลบหลู่ทั้งที่เขาไม่ได้ลบหลู่ก็มี พอถึง ของกู นี่ก็ต้องอีกอันหนึ่ง อีกส่วนหนึ่ง ถ้าของ พวกกู มันก็เลยมากขึ้นไปอีก หรือว่าของค่ายของกู เหมือนกัน ก็เลยมีความหมายมากขึ้นไปอีกสำหรับจะได้รบราฆ่ากันระหว่างลัทธิ ระหว่างครึ่งโลก ความยึดถือมีมากเท่าไรก็มีปัญหามากขึ้นเท่านั้น เดี๋ยวนี้ปัญหาทั้งหลายที่กำลังวุ่นวายระส่ำระสายอยู่ทั่วไปในโลกก็เพราะว่าเขายึดถือไอ้ตัวกูและของกู
ที่ว่าสติปัญญามันถูกกระทบกระทั่ง ไม่สงบสงัด นี่เพราะอวิชชา ความโง่ มันทำให้เกิดความอยาก เกิดความยึดถือมาเบียดเบียน สติปัญญานั้นมันผิดไป เป็นสติปัญญาที่ผิดไป ความคิดความเห็นผิดไป ความเข้าใจผิดไป แล้วแต่จะเรียก เขาเรียกว่าความไม่สงัด ความไม่อิสระของสติปัญญาก็ได้ ของความคิดเห็นก็ได้ ในเมื่อกายวิเวกนั่นมันสงัดทางกาย ไม่รบกวนทางกาย ทีนี้จิตวิเวกก็สงัดทางจิต ไม่รบกวนทางจิต ทีนี้ทางอุปธิวิเวกนี่ไม่รบกวนทางสติปัญญา คือมันไม่โง่ แล้วก็ไม่มีอะไรมาทำให้ยึดถือเอาไว้ แล้วก็ไม่หนัก จะชี้ให้เห็นได้ง่ายๆ ก็คือ ห่วง ความห่วงใย ความวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ ทั้งหลายนั่นน่ะเรียกว่า อุปธิ ที่คนธรรมดามีอยู่เป็นประจำวัน ทุกวัน เหมือนกับแบกอยู่ทุกวัน ส่วนมากก็เป็นเรื่องอนาคต ความเป็นห่วง หนักอึ้ง ทั้งที่ยังไม่มาถึง ก็มาหนักอยู่ในใจแล้ว ที่เป็นอดีตก็อาลัยอาวรณ์ไม่ค่อยจะสิ้นสุด ในสิ่ง สังขารอันเป็นที่รักที่พอใจ แม้ตายไปแล้วมันก็ยังเอามาแบกมากดทับจิตใจอยู่ ก็เรียกว่าของหนัก และปัจจุบันก็ยิ่งมีมาก เราไปหลงในอะไร ไปหลงรักในสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นของหนัก ไปหลงเกลียดในสิ่งใด สิ่งนั้นมันก็เป็นของหนัก ไปมัวเมาในสิ่งใด สิ่งนั้นมันก็เป็นของหนัก มันหนักกันคนละรูปแบบก็จริง แต่มันหนักทั้งนั้น ฉะนั้นเราจึงมีของหนักแบกอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่างจากของหนัก ไม่วิเวกจากของหนัก นี่เอาไปคิดดูเองว่ามันสนุกไหม มันน่าสนุกไหม มันจะมีจิตใจอย่างไร ลองไปเอาของหนักๆ แบกดูก่อน แบกทางกายนี่ดูก่อน มันหนักแล้วมันเป็นอย่างไรบ้าง เดี๋ยวนี้เราไม่ได้แบกเกินประมาณ เพียงแต่แบกน้ำหนักร่างกายนี่มันไม่รู้สึก ลองเอาน้ำหนักเท่าๆ กับร่างกายขึ้นมาแบกไว้อีกทีหนึ่ง มาทูนไว้อีกทีก็จะรู้ จิตก็เหมือนกัน จิตที่มันไม่มีอะไรรบกวน กับจิตที่มันมีอะไรรบกวนเรื่อย โดยเฉพาะในวัยหนุ่มสาวนี้ก็มีปัญหาทางเพศ ความรู้สึกทางเพศรบกวนเรื่อย ไม่ว่าง ก็หนัก ก็คับแคบ กระทบกระทั่งในทางจิต นี่ตลอดเวลา ไม่ว่าเด็ก หนุ่มสาว หรือผู้ใหญ่ ก็มีการยึดถือของหนัก แบกของหนักไว้เรื่อยๆ มา แล้วก็มากขึ้นๆ สำหรับผู้ใหญ่หรือคนแก่ชรา คนแก่ชรารู้จักคิดไปในทางให้เป็นความยึดถือ ลึกซึ้งละเอียดกว่าคนหนุ่มๆ ฉะนั้นคนแก่จึงมีวิตกกังวลมาก เอาออกไปไม่ได้ก็ตายไปกับตัว ตายไปด้วยไอ้ของหนักนั้น อย่างนี้เราเรียกว่าวิเวก ถ้าไม่มี อ้า, เราเรียกว่าไม่วิเวก ถ้ามันไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็เรียกว่า วิเวก เอ้า, ลองคิดดูว่ามันน่าสนใจไหม หรือมันน่าจะมีไหม หรือว่าน่าเกลียดน่าชัง เป็นของครึคระ เหมือนกับที่เราได้ยินแต่คำว่าวิเวกนี่ มันของในป่าในดง ของคนที่จะไปนิพพาน คนพูดอย่างนั้นก็คือคนที่ไม่รู้จักนิพพาน ถ้าคนที่รู้จริง ก็จะรู้ว่านิพพานนี้ต้องมี ต้องมีนิพพานในระดับใดระดับหนึ่งแล้วจึงจะไม่ร้อน ไม่หนัก ไม่อะไรทุกอย่างแหละที่ไม่น่าปรารถนา ถ้ามันเข้าใจยากเกินไปก็ลองคำนวณดูแต่เรื่องว่ามันวิเวกก็แล้วกัน มันไม่ถูกเบียดเบียน ไม่ถูกกระทบกระทั่ง ไม่ถูกรบกวน อย่ามีอะไรรบกวนทางกาย อย่ามีอะไรรบกวนทางจิต อย่ามีอะไรมารบกวนทางสติปัญญา ความเชื่อ ความคิดเห็น ความเข้าใจอะไรก็ตาม อย่ามีอะไรมารบกวนจนทำให้มันผิดไปเสีย
ทีนี้ก็อยากจะให้มองดูต่อไปว่า ทำไมจึงต้องเอาเรื่องนี้มาพูดกัน ก็เพราะเหตุตั้งต้นแหละว่า เพราะว่ามันจะตายอยู่แล้ว ที่มันถูกกระทบกระทั่งน่ะ มันจะมีการตายทางกาย ทางจิต ทางวิญญาณอยู่แล้ว ถ้าจะย้อนหลังให้ลึกไปอีก ก็ทำไมคนอย่างพระพุทธเจ้าจึงได้สอนเรื่องนี้ หรือต้องมีความรู้เรื่องนี้เกิดขึ้นมาในหมู่มนุษย์เรา นั่นก็เพราะว่าท่านมองเห็น มองเห็นว่าคนเรามันอยู่ด้วยความไม่เป็นอิสระหรือไม่วิเวกนี่มันน่าเวทนา น่าสงสาร แล้วยังมองเห็นต่อไปว่า ในอนาคต คือสืบต่อ ในกาลสืบต่อมานี่จะยิ่งมีสิ่งที่ทำให้คนไม่วิเวกมากขึ้นๆ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้มันก็ยิ่งเพิ่มสิ่งที่ทำให้ไม่วิเวกนี่มากขึ้น และต่อไปในอนาคต ก็ต้องพูดได้ว่ามันจะมีสิ่งที่ทำให้มนุษย์ไม่วิเวกนี่มากขึ้น เพราะเหตุ เหตุผลง่ายๆ นิดเดียวคือมันก้าวหน้าทางวัตถุ ในลักษณะที่จะเป็นเหยื่อของกิเลส อวิชชา ตัณหา มันมากยิ่งขึ้น เพราะเราก้าวหน้าแต่ในทางที่จะส่งเสริมกิเลสตัณหาให้มากขึ้น พูดอย่างนี้มันก็เหมือนกับว่า ด่า ด่าคนสมัยนี้หรือว่าพูดเข้าข้างตัว ไปคิดดูเอง ว่าพูดเข้าข้างตัวหรือว่าด่าความก้าวหน้าสมัยนี้ ก็เราก็ยอมรับว่ามันก้าวหน้า มันน่าอัศจรรย์เหมือนกับเป็นของทิพย์ ของปาฏิหาริย์ไปแล้ว แต่ทำไมมันไม่ให้เกิดความสงบสุข ความก้าวหน้าเหลือประมาณน่ะเราก็วิ่งไป แต่ทำไมไม่มีสันติภาพขึ้นมาในโลก แม้ในกรุงเทพฯ นิดเดียว มันก็ยังหาสันติสุข สันติภาพได้ยากยิ่งขึ้นทุกที เทียบกับเมื่อ ๑๐ ปีก่อนมาแล้วมันยังผิดกันไกล ซึ่งยังมีความสงบสุขบ้าง ยิ่งเมื่อ ๕๐ ปีมาแล้วก็ยิ่งผิดกันมาก อาตมาเคยไปกรุงเทพฯ เมื่อยังก่อนบวชนี่ ๕๐-๖๐ ปีมาแล้ว มันก็รู้ว่า โอ้ย, มันยังสงบ สงัด น่าอยู่กว่าเดี๋ยวนี้มาก เดี๋ยวนี้เขาว่ามันเจริญมาก แล้วทำไมมัน มันยิ่งกลับเหมือนกับว่าอยู่กลางกองไฟมันมากขึ้น นี่มันก็พอจะพิสูจน์ได้ มันมีความไม่ถูกต้องอะไรอยู่ในนั้นอย่างหนึ่งแน่นอน ตัวยิ่งเจริญมากแต่ยิ่งมีปัญหามาก มีความทุกข์มาก ใครๆพูด ก็พูดว่าเพราะมันก้าวหน้าแต่ทางวัตถุอย่างเดียว จนวัตถุที่มันหนาแน่นขึ้นมามันกระทบกระทั่งกาย กระทบกระทั่งจิต กระทบกระทั่งสติปัญญาของคนเราให้ระหกระเหินไปหมด มีสิ่งบำรุงบำเรอความสุขทางเนื้อทางหนังมากขึ้น ทางร่างกายนี้มันก็เหไปในท่ามกลางการกระทบกระทั่งนั้น บำรุงบำเรอ ปรนเปรอ แล้วเมื่อสิ่งเหล่านี้มีมาก มันก็มีผลเนื่องไปถึงทางจิตที่จะทำให้มีอาการรัก หรือโกรธ หรือเกลียด หรือกลัว หรือฟูขึ้นแฟบลงอะไรต่างๆ มันมากขึ้นเหมือนกัน แต่ก็กวนจิตเรามากขึ้น เหมือนกับการที่ต้องแบกถือเอาไว้ว่าตัวกูว่าของกูนี้มันก็มากขึ้น ฉะนั้นจึงหาความสงบสุขไม่ได้ ทั้งที่มันมีความเจริญจนเหลือที่จะกล่าวได้ เดี๋ยวนี้เรามีเครื่องใช้ไม้สอย ไอ้พวกหลังสุดนี่ เช่นว่ามีวิทยุ มีอะไร และกระทั่งไปโลกพระจันทร์ได้ กระทั่งมีพลังงานปรมาณูนี้ ก็เรียกว่ามันมหาศาล หลายร้อยเท่าหลายพันเท่า มากกว่าที่เคยมีมาแต่ก่อน แล้วทำไมมันไม่มีสันติภาพ หลายร้อยเท่าหลายพันเท่ายิ่งกว่าแต่ก่อน นี่เพราะว่าเรามันทำผิดอะไรอย่างแน่นอน ทีนี้ถ้าว่าเราจะเอาประโยชน์จากการเป็นมนุษย์ของเรา เราก็ควรจะได้รับสันติสุขหรือสงบสุขคุ้มกับที่เรียกว่ามันเจริญ เราจึงต้องรู้เรื่องนี้ คือเรื่องวิเวก ที่จะป้องกันไม่ให้อะไรมากระทบกระทั่ง มาเบียดเบียนทางกาย ทางจิต ทางวิญญาณ รู้จักป้องกันสิ่งที่จะมากระทบกระทั่ง เบียดเบียนทางกาย ทางจิต ทางวิญญาณ อย่าไปลุ่มหลงในเรื่องทางวัตถุ การเบียดเบียนทางกายมันก็จะน้อยเข้าหรือไม่มีเลย และอย่าปล่อยให้จิตปราศจาก ปราศจากการควบคุม ปราศจากสติสัมปชัญญะ ความวิเวกทางจิตมันก็จะมีขึ้น แล้วศึกษาหาความรู้ให้เข้าใจว่าโดยแท้จริงอะไรมันเป็นอย่างไร โดยธรรมชาติมันเป็นอย่างไร สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีอาการที่เรียกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างไร จิตมันก็ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น ไม่ไปแบกเอาไว้ว่าตัวกูว่าของกู วิญญาณนี้มันก็เบาสบายขึ้น
นี่ตามความรู้สึกของอาตมาที่ได้เอามาพูดนี่ ก็เพราะเห็นว่ามันจำเป็นสำหรับคนสมัยนี้ที่จะต้องมีวิเวกใน ๓ ประการนี้ตามสัดส่วนที่ตนจะพึงกระทำได้ ถ้าหากว่าอุปธิวิเวกมันลึกเกินไป สูงเกินไป ก็เอาแต่พอประมาณ ส่วนกายวิเวก จิตวิเวกนี่ควรทำให้เต็มที่เท่าที่จะทำได้ อย่าไปหลงเรื่องวัตถุ มันก็มีกายวิเวกมากขึ้น มีสติสัมปชัญญะให้มากเข้าไว้ จิตวิเวกมันก็พอจะมีบ้างหรือมีมากขึ้น นี่จึงขอฝากไว้ให้เอาไปศึกษาพินิจพิจารณา แล้วให้รู้จักระวัง มีไหวพริบ มีสติทันท่วงทีในการจะระวังหรือในการป้องกัน อย่าให้มันสูญเสียความวิเวกไปเสียหมด ให้มันอยู่บ้างพอสมควรก็ยังดี เพราะมันเป็นความสงบสุขอยู่ในตัว และถ้าไม่มี มันก็เป็นความทุกข์ทรมาน ถ้าเราจะคิดดูสักหน่อยหนึ่งว่า ถ้าเกิดมาทีหนึ่งไม่ได้พบความสงบสุขแล้วจะเกิดมาทำไมกัน ถูกแล้ว บางคนอาจจะชอบ ชอบความยุ่งเหยิง ขอให้มันได้ยุ่งเหยิง ไม่มีเวลาสร่างหรือสงบ ฉันพอใจแล้ว ตายก็ตายไปด้วยสิ่งนี้ มันก็อาจจะมีได้แก่บางพวกบางคน แต่ในทางพุทธศาสนาไม่ถือว่าอย่างนั้นมันถูกต้อง ถือว่าควรจะแยกออกมาได้ มีความสงบสุขอยู่ตามสมควรจึงจะเรียกว่าไม่เสียทีที่เกิดมา จะสรุปพูดกันสั้นๆ ก็ว่า เกิดมาเพื่อจะพบ เกิดมาทีก็เพื่อจะพบสิ่งสูงสุดที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้พบ คือความสงบสุขอันแท้จริง แล้วเราก็เรียกชื่อมันว่า กายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก อย่างที่กล่าวมาแล้ว
นี่เอามาชนกับเรื่องของสวนโมกข์ คำว่า โมกข์ มันแปลว่า เกลี้ยง พอหลังจากเกลี้ยงมันก็วิเวก มันไม่มีอะไรรบกวน มันไม่มีอะไรกระทบกระทั่ง ฉะนั้นเดี๋ยวนี้เราก็ไม่มีอะไร ชั่วขณะที่นั่งอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้นะ เราก็ไม่มีอะไรกระทบกระทั่งกาย มดก็ไม่กัด อย่างนี้เป็นต้น กระทั่งไม่มีอะไรมาทำให้เกิดความกระวนกระวายทางกาย แล้วทางจิตก็ยังไม่มีนิวรณ์ มันก็ยังวิเวกทางจิตอยู่บ้าง แล้วปัญหาคือเรื่องยึดมั่นถือมั่นมันก็ไม่มี คือไม่มีอะไรมายั่วทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้ยึดมั่นถือมั่นมากไปกว่าธรรมดา ก็เลยไม่มี ไม่มีความวุ่นวายทางกาย ทางจิต และทางสติปัญญา เราจึงรู้สึกสบาย มีค่าอย่างเดียวกับว่า โมกข์ เกลี้ยงแล้วก็สบาย เดี๋ยวนี้ก็วิเวกเพราะมันเกลี้ยง มันก็สบาย ฉะนั้นขอให้จำความรู้สึกอันนี้ไว้ ว่ากำลังรู้สึกอย่างไร ไม่มีความทุกข์อย่างไร กลับไปถึงบ้านก็ขอให้วิเวกนี้ติดไปด้วย ให้วิเวกติดไปบ้านด้วย มาที่นี่ได้ชิมอะไร รู้สึกรสแล้ว ขอให้รสอันนี้มันติดกลับไปบ้านด้วย รสของคำว่า โมกข์ ก็ดี รสของคำว่า วิเวก ก็ดี แม้จะเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ สำหรับชิมลอง ก็ขอให้ติดไปด้วย กลับไปบ้านเอาไปด้วย พอมันมีอะไรจะได้นึกถึง มันก็จะสลัดหรือว่าป้องกันอะไรได้มาก สลัดสิ่งที่จะมารบกวนให้เป็นทุกข์ มันจะสลัดได้มาก สลัดได้ง่าย เพราะเรานึกได้ถึงว่าครั้งหนึ่งเราเคยมีจิตใจอย่างนี้ มีจิตใจเย็นอย่างนี้ อย่าให้ลืมเสีย ครั้งหนึ่งเราเคยมีจิตใจเย็นอย่างนี้ มันก็จะปัดจิตใจที่ร้อนหรือกระวนกระวายนั้นออกไปได้ง่ายๆ นี่มันมีประโยชน์อย่างนี้ นี่เราจะเรียกว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์จะต้องมีไว้กำจัดความทุกข์ ซึ่งเราจะมองความทุกข์ทั้งหลายในแง่ของโรคทางวิญญาณ ว่าเราจะใช้ธรรมะนี้เป็นยาสำหรับป้องกันรักษาโรคทางวิญญาณเหล่านั้น เมื่อไรเรามีความทุกข์ก็ให้ถือว่าเราเป็นโรคทางวิญญาณเกิดขึ้น แล้วก็ธรรมะนี่เหมือนกับยาที่จะแก้ไขรักษาโรคเหล่านั้นให้มันหายไป
ฉะนั้นความรู้เรื่องคำว่า โมกข์ ก็ดี คำว่า วิเวก ก็ดี นี่มันจะเป็นเหมือนกับยาที่จะรักษาโรคที่จะมาเกิดขึ้นทางจิต ทางวิญญาณ ถึงจะมีมากขึ้นตามความเจริญของบ้านเมือง หรือตามที่เรามันมีอายุมากขึ้น ฉะนั้นเราก็ควรจะมีความรู้มากขึ้นให้มันทันกันสำหรับที่จะแก้ไขเยียวยาได้ ขอให้เป็นผู้ปราศจากโรคทั้งทางกาย ทั้งทางจิต และทางวิญญาณ ก็พอแล้ว ไม่ต้องมากกว่านั้น มันเป็นความสุขที่แท้จริงอยู่ในตัวมันเองแล้ว จึงเรียกว่าไม่มีโรคก็แล้วกัน ไม่มีทุกข์ก็แล้วกัน อย่าต้องพูดถึงความสุขเลย เดี๋ยวมันจะโง่ขึ้นมาอีก มันจะไปยึดถืออาลัยอาวรณ์ในสิ่งที่เรียกว่าความสุขขึ้นมาอีก เอาแต่ว่าไม่มีทุกข์ก็พอแล้ว นี่เรียกว่าพูดจริง พูดถูกต้อง พูดจริงตรงตามธรรมชาติแล้วก็จะพูดแต่เพียงว่าไม่มีทุกข์ก็พอแล้ว ไม่มีทุกข์เลยก็พอแล้ว อย่าเลยขึ้นไปถึงความสุขอย่างอื่นเลย สุขตรงที่ไม่มีทุกข์เลย พอแล้ว แล้วก็จะไม่ผิดได้อีก เพราะถ้าสุขเลยกว่านั้นอีก แล้วก็จะย้อนกลับไปหาความโง่อีก ก็มีความสุขอย่างความยึดมั่นถือมั่นอีก เดี๋ยวนี้ก็มีความสุขเพราะความไม่ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกูของกู ก็พอแล้ว ไม่ทุกข์เท่านั้นก็พอแล้ว แล้วก็เป็นสุขอยู่ในความที่ไม่มีทุกข์ ถ้าจะไปมีสุขที่สำหรับเป็นของกูขึ้นมาอีกแล้วมันก็จะย้อนกลับไปหาความทุกข์ ระวัง เชื่อพระพุทธเจ้า ก็ต้องเชื่อว่าท่านได้ตรัสไว้แต่เพียงว่า ที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ ไม่พูดว่าความสุข แต่ถ้าคนทั่วไปฟังไม่ถูก เอ้า, ท่านก็พูดเหมือนกันว่านั่นแหละคือความสุข แล้วก็สุขอย่างยิ่ง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง เมื่อทีท่านพูดจริง พูดถูกตามที่เป็นจริง ท่านจะพูดว่าเป็นที่สุดแห่งความทุกข์เท่านั้นแหละ นิพพานน่ะมันเป็นที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์เท่านั้น ไม่มีความทุกข์เหลืออยู่เลย บางคนไม่ชอบให้พูด ต้องการจะพูดอย่างคนธรรมดา ก็ว่านั่นแหละสุขอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นอย่าไปสับสน อย่าไปเข้าใจสับสนเรื่องนี้ ถ้าพูดว่าความสุข ก็ขอให้ถือว่ามันเป็นโวหารของคนที่ยึดมั่นถือมั่น พูดว่าไม่มีความทุกข์เลย นั่นน่ะคนรู้ความจริงและพูดจริง ฉะนั้นเราไม่มีความทุกข์ มันก็ไม่มีอะไรที่มาทำให้เกิดความยุ่งยากลำบาก ไม่มีปัญหา เป็นผู้วิเวกโดยประการทั้งปวง
อีกคำหนึ่งก็ใช้คำว่า เกษมจากโยคะ คงจะไม่ค่อยได้ยินได้ฟังกันนัก เว้นไว้แต่ว่าขยันอ่านหนังสือหรือบทสวดมนต์ มันมีคำว่า เกษมจากโยคะ โยคักเขมะ เกษมจากโยคะ คำว่า เกษม ในที่นี้หมายถึง วิเวก ถ้าไม่วิเวกแล้วเกษมไปไม่ได้ ถ้ามีอะไรใครแตะต้องรบกวน อย่างนี้จะเรียกว่าเกษมไม่ได้ ทีนี้ถ้าเกษมหรือวิเวกนี่ วิเวกจากอะไร ก็วิเวกจากโยคะ โยคะนั้นคือสิ่งที่ผูกมัดรัดรึง ไปยึดมั่นอะไรไว้สิ่งนั้นมันก็ผูกมัดรัดรึง ก็ต้องไม่มีสิ่งผูกมัดรัดรึงหรือโยคะเหล่านั้นจึงเรียกว่า เกษมจากโยคะ ดังนั้นขอให้ชีวิตนี้วันหนึ่งคืนหนึ่งมันล่วงไปด้วยความเกษม คือเป็นอิสระจากสิ่งที่ผูกมัดรัดรึงจิตใจ ไม่ใช่ว่าจะต้องเอาไปเผาไฟเสีย เอาไปโยนทะเลเสีย หรือไปฆ่ามันให้ตาย เพียงแต่ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยความโง่ว่ามันเป็นตัวกู ว่ามันเป็นของกูเท่านั้นแหละ ก็มีความเกษมจากโยคะได้ ฉะนั้นขอให้เอาไปคิด ชั่วเวลาเล็กน้อยนี่มันพูดกันได้แต่ใจความโดยย่อ แล้วก็เพื่อจำง่ายด้วย ก็พูดกันแต่ใจความหรือหัวข้อ จำหัวข้อนี้ได้แล้วก็ไปคิดต่อไป ก็จะเข้าใจโดยสมบูรณ์ได้สักวันหนึ่ง
วันนี้พูดเรื่องวิเวก คือสงบสงัด ปราศจากความรบกวน หลังจากที่ได้โมกข์หรือวิโมกข์ คือเกลี้ยงมาแล้ว จำคำไหนไว้ก็ได้ หรือจำได้ทั้ง ๒ คำก็ดี คำว่า โมกข์ หรือ วิโมกข์ มันก็เกลี้ยง พอเกลี้ยงแล้วมันก็ วิเวก คือสงบสงัด ปราศจากสิ่งแตะต้องรบกวน เราก็สบาย วิเวกธรรมดา ก็อย่างคนธรรมดาพอจะวิเวกกันอยู่ สูงขึ้นไปก็เป็นวิเวกของพระอริยเจ้าขั้นต้นๆ สูงสุดก็เป็นวิเวกของพระอรหันต์หรือนิพพาน นิพพานเป็นวิเวกสูงสุด ในเมื่อเรายังไม่ถึงนั่น ก็เอาอย่างนิพพานตามระดับของเรา คือไม่ร้อนตามระดับของชาวบ้าน เรียกว่านิพพานระดับของชาวบ้าน นิพพาน แปลว่า เย็นลงแห่งความร้อน นี่ไม่ใช่แกล้งว่าเอาเอง หรือไม่ใช่ว่าเอาเปรียบ แล้วเพื่อจะว่าให้มัน เรื่องของตัวเอง เหมือนกับตั้งลัทธิใหม่อะไรขึ้นมา ว่าตามแบบฉบับ ตามตัวหนังสือ นิพพานนั้นแปลว่าเย็น ไอ้ที่จะเย็นได้มันต้องเป็นของร้อน มันถึงจะเย็นได้ ฉะนั้นเย็นลงแห่งความร้อนนั่นน่ะคือนิพพาน ดังนั้นเราร้อนอยู่ด้วยอะไรเท่าไรก็ตามใจเถิด ถ้าเย็นลงแห่งสิ่งนั้นนั่นแหละคือนิพพาน ถ้าเราร้อนเพราะไม่มีสตางค์ใช้ ถ้ามันเกิดเย็นลงได้เพราะมีสตางค์ใช้ มันก็เป็นนิพพานในกรณีนั้น เพราะมันเย็นลงแห่งความร้อนเพราะว่าไม่มีสตางค์ใช้ นี่เป็นตัวอย่างสำหรับเด็กอมมือเต็มทีแล้ว แต่ตรงตามความหมายที่สุด มันร้อนด้วยราคะ ก็ให้มันเย็นลงเพราะไม่มีราคะหรือบรรเทาราคะเสีย ร้อนด้วยโทสะก็บรรเทาโทสะลง ร้อนด้วยโมหะก็บรรเทาโมหะลง มันก็เป็นนิพพานตามระดับๆ ของมัน พอสิ้นสุดลงเมื่อไรก็เป็นนิพพานสูงสุดเมื่อนั้น สิ้นไฟแห่งราคะ โทสะ โมหะ โดยสิ้นเชิง เรียกว่านิพพานที่สมบูรณ์ ทีนี้เราก็เอานิพพานตามระดับของเรา มีความเย็นตามระดับที่เราจะแสวงหาได้ นั่นก็คือวิเวกในระดับของเรา หรือวิโมกข์ตามระดับของเรา
ขอให้ได้รับเอาความรู้นี้ไปจากการที่มาสวนโมกข์และมานั่งพูดกันอยู่ที่นี่ เวลาสำหรับพูดนี่ สำหรับวันนี้ก็พอสมควรแก่เวลาแล้ว ก็ยุติการพูด ไว้เป็นโอกาสของการถามปัญหาอย่างเมื่อคืนนี้ ใครมีปัญหาอะไรก็ถามได้
ผู้ถาม : คือสงสัยว่า คนที่เขารวมกลุ่มกัน แทนที่จะอยู่เดี่ยวอย่างที่อาจารย์ว่า แต่รวมกลุ่มกันแล้วไม่ทำความชั่ว ทำความดีแทน จะถือว่า คือทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อผู้อื่นนี่ ถือว่าไม่มีกายวิเวกหรือเปล่า
พุทธทาสภิกขุ : ฟัง ฟัง ฟังถูกแล้ว ฟังถูกแล้วคือว่า รวมกลุ่มกันทำความดีจะเรียกว่าสูญเสียวิเวกไหม นี่เนื่องจากไอ้คำพูด ความหมายของคำที่เราพูดนั้นน่ะมันกำกวม มันไม่ชัด ถ้ารวมกลุ่มกันทำความดีมันไม่มีการกระทบ กระทั่ง มันก็ไม่สูญเสียวิเวก มันไม่ได้รวมกลุ่มชนิดที่ว่ากระทบกระทั่ง รบกวนอะไร ไม่มีการรบกวนซึ่งกันและกัน รวมกลุ่มกันกระทำความดี ที่ว่า ไม่วิเวก หมายความว่ามันมากระทบกระทั่งกายให้ปราศจากความสงบสุข มันมีความหมายอย่างอื่น เช่นว่า การคลุกคลีกันแล้วก็ไม่วิเวกนั้น หมายถึงว่าการคลุกคลีนั้นทำให้สูญเสียความสงบ ถ้าเรารวมกลุ่มกันทำความดี มันก็ได้ความดี มันก็ไม่สูญเสียความสงบอะไร เข้าใจความหมายของคำว่า วิเวก ให้ถูกต้อง ถ้าสามารถทำได้ ก็มันไม่มีอะไรมากระทบกระทั่งให้สูญเสียความวิเวกได้ แม้เขาจะมาตบตีเรา มาฆ่าฟันเรา ก็ยังไม่ทำให้สูญเสียวิเวกได้ ถ้าจิตมันตั้งไว้ถูกต้อง การที่เรารวมกันเป็นหมู่เป็นคณะทำความดีอะไร ไม่ได้สูญเสียกายวิเวกในความหมายธรรมดาทั่วไป แต่ถ้าเราต้องการจะเข้าสมาธิเป็นฤาษีมุนี แล้วจะไปทำอย่างนั้น มันก็ทำไม่ได้ มันก็จะสูญเสียวิเวกสำหรับพวกที่ต้องการจะสงัดแบบโน้น สำหรับคนธรรมดาสามัญเรา ก็ไม่สูญเสียวิเวกในระดับของเรา แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องระวังให้ดี เมื่อเราเรียนหนังสือกันอยู่เป็นหมู่, เป็นหมู่ อย่างนี้ ถ้าวิเวกได้ก็หมายความว่า มันไม่รบกวนกัน มันก็เรียนได้ แต่ถ้าเผลอให้มันรบกวนกันในหมู่นั้นมันก็เรียกว่า เสียวิเวก เสียการเรียน
ถูกแล้วที่ถามนี่ดีมาก มันเป็นปัญหาจริงๆ ที่ควรจะถามปัญหาอย่างนี้ คือเป็นปัญหาจริงที่จะต้องเกิดขึ้นจริง ควรจะถามเสีย ควรจะทำความเข้าใจกันเสีย เมื่อจะต้องรวมหมู่กันทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็ทำได้ แต่อย่าให้เกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้น เป็นอันตรายต่อการงานที่จะกระทำนั้น นี่เรียกว่าเราเอาระดับต่ำ มีหมู่คณะที่จะต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง จะต้องทำเป็นหมู่เป็นคณะ แต่อย่าให้กระทบกระทั่งกันก็เรียกว่ายังเป็นวิเวกอยู่ดี การทำงานเป็นทีมเวิร์คนี้จะต้องมีมากขึ้นแหละในโลกนี้ต่อไป เมื่อไม่มีการกระทบกระทั่ง มันก็ยังเป็นสงบ สงัด คือว่าทำหน้าที่ของตัวไปได้ดี หลักที่ท่านตรัสไว้ จะไม่ผิด แล้วจะไม่ผิด แล้วจะไม่ขัดโดยลอจิกหรือโดยอะไรก็ตาม ถ้ามันรู้สึกว่าขัดขึ้นมาละก็ รีบพิจารณาเถิดว่าเราเข้าใจของเขาไม่ถูก เข้าใจของพระพุทธเจ้าไม่ถูก มันจึงเกิดความสงสัยขึ้นว่านี่มัน มันไม่น่าจะเป็นได้ ก็มันขัดกัน ก็ศึกษาให้ถูก หาคำตอบให้มันถูก จนกว่ามันจะถูก จะใช่ เอ้า, มีปัญหาอะไรอีก
ผู้ถาม : คือผมเข้าใจว่านะครับ ความวิเวกทั้งทางกาย ทางใจ และทางปัญญานี่ มันเกิดขึ้นได้ทั้งๆ ขณะที่เรากำลังทำงานอยู่ในชีวิตประจำวัน ทีนี้ไม่ทราบว่ามันเป็นความเข้าใจผิดหรือถูกนะครับ แต่ทีนี้ปัญหาก็คือว่า ผมรู้สึกว่าเมื่อเราชอบหรือต้องการความวิเวกนี่ไม่ว่าจะทางไหน มันทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายชีวิตปกติ การทำงานหรือการดิ้นรนอะไรปกติที่มีอยู่ในประจำวันนี่ ผมก็ไม่ทราบว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นอันนี้ มันถูกหรือมันผิด ถ้ามันผิด มันมีผิดที่ตรงไหน มันถึงทำให้เราหมดสนุกกับชีวิตการทำงานไป ซึ่งอาจารย์เคยกล่าวว่า การทำงานนี่มันน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า
พุทธทาสภิกขุ : ปัญหาตอนแรก ครึ่งแรกน่ะมีว่า เราอาจจะวิเวกได้ในที่ทุกแห่ง แม้ในการทำงาน ในออฟฟิศทำงาน นี้ก็ถูก จริงด้วย พยายามเข้าใจตอนนี้กันเสียก่อน ว่าวิเวกนี่เป็นสิ่งที่มีได้อย่างไม่น่าเชื่อถ้าเราสามารถจะทำมันขึ้น เราไปนั่งอยู่กลางตลาด ตลาดสด หรือว่าโรงหนังหรืออะไรก็ตาม ถ้าคนนั้นมันเก่งพอ มันก็สามารถจะทำวิเวกได้แม้ในทางกาย แม้แต่ใครจะมาชนหกคะเมนไป มันก็ยังไม่รู้สึกอะไร ก็ยังเรียกว่าวิเวกได้ หรือบังคับจิตไม่ให้รู้สึกต่อการกระทำเหล่านั้น ก็เรียกว่าวิเวกได้ แต่มันยากกว่าที่จะทำในป่าเท่านั้นเอง แต่ถ้าเขาทำได้ เขาเก่งกว่าไอ้พวกฤาษีที่วิเวกอยู่ในป่า เพราะว่าเราต้องทำประโยชน์นี่ อยู่ในโลกก็ต้องทำประโยชน์ ขอให้คิดดูให้ดีๆ ว่า มันอยู่ที่การปรับปรุงจิตใจนะ ให้วิเวกหรือไม่วิเวกนี่ ทีนี้ถ้าว่าเราสามารถบังคับควบคุมให้มันมีวิเวกทางกาย ทางจิต ทางสติปัญญาได้จริง มันก็จะประสบความสำเร็จในการงานที่ทำนั้น ประสบความสำเร็จในการงานที่ทำนั้นนะ ฟังดูให้ดีก่อนนะ แล้วมันจึงจะมาถึงปัญหาตอนที่ ๒ ว่าเราจะเบื่อการงานหรือไม่ นี่เป็นข้อเท็จจริงแล้ว ให้ไปดูเอาเอง ถ้าเราประสบความสำเร็จในการงานอยู่เสมอนี่ เราจะเบื่อการงานนั้นหรือไม่ เข้าใจว่ามันจะไม่เบื่อก่อน มันจะพอใจ สนุกในการงานเรื่อยๆ ไปก่อนจนกว่าจะถึงสุดยอดแห่งการงานทั้งหลาย ไม่มีทางไปแล้วมันจึงจะเบื่อ ฉะนั้นการเบื่อโลกมันจึงมีแก่คนที่ได้ผ่านโลกไปจนถึงที่สุดแล้ว อย่าเข้าใจว่าวิเวกนี่จะทำให้มันเบื่อกลางคัน มันจะทำให้ประสบความสำเร็จในการงาน แล้วสนุกในการงาน ร่างกายเข้มแข็ง จิตใจเข้มแข็ง สติปัญญาเข้มแข็ง คือ ๓ วิเวก มันก็สนุกในการทำงาน ประสบความสำเร็จ แล้วก็ทำได้มาก กว่าจะตายก็ทำได้มาก จนกว่าไม่มีอะไรจะทำน่ะมันจึงจะเบื่อ หรือว่ามันเห็นว่ามันพอกันที ไปหาวิเวกอย่างที่เรียกว่าไม่มีอะไรกับใครอีกระดับหนึ่งก็ได้ แต่เรากลับพบว่าพระพุทธเจ้าอยู่กับคนจนถึงวันสุดท้าย ท่านไม่ได้หนีไปอยู่องค์เดียวในป่า ทรงทำประโยชน์กับบุคคล คือกับสาวกทั้งหลาย ทั้งฆราวาส ทั้งบรรพชิต อยู่จนถึงวันสุดท้าย ถึงวันนิพพาน เป็นอย่างนี้ ฉะนั้นเอาเป็นว่า ถึงธรรมะขั้นนี้กันแล้วก็ไม่ได้ทำให้เบื่อจากการทำประโยชน์ เมื่อประโยชน์ตนมันเสร็จแล้ว มันไม่ต้องการแล้ว มันก็ทำประโยชน์ผู้อื่นอย่างสนุกสนานต่อไปอีกจนกว่าร่างกายมันจะหมดกำลัง คือมันจะดับลงไป ฉะนั้นขอให้ไปดูให้ดีๆ เข้าใจวิเวกให้ดีๆ จะสร้างความเข้มแข็งหรือพลังทางกาย ทางจิต ทางวิญญาณ ทำงานสนุกเรื่อยไป ไม่มีท้อแท้ จะซักอะไรอีกก็ได้นะ เรื่องนี้ถ้ายังไม่จบก็ซักอีกก็ได้ ความท้อแท้นั้นเป็นนิวรณ์ แล้วก็ไม่มีวิเวกทางจิตก็สู้นิวรณ์ไม่ได้ นิวรณ์ทำให้ท้อแท้ เอ้า, มีอะไรอีก มีอะไรอีก
ผู้ถาม : อยากเรียนถามพระอาจารย์ว่า ถ้าชีวิตของเราในบ้านมันกำลังวุ่นวายและยุ่งเหยิงอย่างนี้ วิธีการที่จะเข้าถึงความวิเวกในท่ามกลางสิ่งยุ่งเหยิงทั้งมวล พอจะสรุปเป็นข้อว่าควรจะปฏิบัติตนอย่างไรบ้างได้ไหมครับ
พุทธทาสภิกขุ : ท่ามกลางความยุ่งเหยิงของโลก จะหาวิเวกหรือความสงบสงัดได้อย่างไร ไปดูภาพต้นมะพร้าวกลางสระ มุ่งหมายจะตอบปัญหานี้ จะเล่าเรื่องต้นมะพร้าวนั้นทำขึ้นเป็นที่ระลึกแก่บทกล่อมลูกของคนเมืองนี้ว่า มะพร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียวโนเนกลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางทะเลขี้ผึ้ง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญเอย บทกล่อมลูกเขามีอย่างนั้น ทะเลขี้ผึ้งน่ะคือความยุ่งเหยิง คือ ดี-ชั่ว บุญ-บาป สุข-ทุกข์ แพ้-ชนะ ได้-เสีย กำไร-ขาดทุน อะไรไอ้พวกคู่ๆ คู่ๆ นี่ ทุกคู่ เขาเรียกว่าทะเลขี้ผึ้ง คือทะเลแห่งความยุ่งเหยิง ขี้ผึ้งนั่นความหมายของคำในกรณีนี้มันอยู่ที่ว่า ถ้าร้อนมันเหลว ถ้าเย็นมันแข็ง ถ้าเย็นมาก เย็นจัด มันอาจจะแข็งเป็นก้อนหินก็ได้ ก็เรียกว่าเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็น, เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็น ท่ามกลางแห่งความยุ่งเหยิง มันก็มีจุดที่ความยุ่งเหยิงนั้นเข้าไปไม่ถึง อยู่ที่ต้นมะพร้าวนั้นน่ะ ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง คงถึงอยู่แต่ที่ทะเลขี้ผึ้ง นี่เป็นภาพพจน์ที่เขาทำไว้ให้มันจำง่ายๆ เหมือนกับที่สมัยนี้เขามีคำพูดตามวิธีพูดอย่างพวกเซนเขาว่า จุดเย็นที่สุดอยู่กลางเตาหลอมเหล็ก กลางเตาหลอมเหล็กที่ร้อนจนเหล็กละลายนั่นน่ะ มันมีจุดเย็นอยู่ที่นั่น ก็ไปหาดูให้ดี ในชั้นแรกก็หมายความว่า เราอาจจะทำให้เย็นได้ในท่ามกลางร้อนนั่นแหละ คือในท่ามกลางความยุ่งเหยิง เราปรับจิตของเราให้มันไม่ยุ่งเหยิงได้ แล้วเราจะแก้ปัญหาของผู้อื่นได้ ก็หมายความว่า ต้องเก่ง ต้องเก่งในทางของธรรมะ คือมีจิตไม่หวั่นไหว มีอะไรมากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ไม่หวั่นไหว ปกติอยู่ได้ มีสติปัญญาอยู่ได้ มันไป ไปสรุปอยู่ที่คำว่า สามารถ สามารถหรือไม่สามารถ ก็ถ้าสมมติว่าเราจะเป็นผู้นำในกลุ่มที่ยุ่งเหยิง จะนำให้มันยุ่งเหยิงมากขึ้นก็ดีหรือจะนำให้มันสงบก็ดี เราต้องสามารถ ต้องสามารถมาก ความสามารถนั้นน่ะจะทำให้ทำอะไรที่ตรงกันข้าม อยู่ได้ในขณะนั้น เช่นเดียวกับพวกที่ทำสมาธิกลางโรงละครได้ อย่างนี้เขาก็ทำได้ถ้ามันสามารถ แล้วพวกโยคีที่มันสามารถ ที่จริงมันก็ทำได้เหมือนกัน ให้มันไปทำสมาธิกลางโรงละครหรือกลางตลาดสด มันก็ทำได้เพราะมันสามารถ มันอยู่ที่ความสามารถหรือไม่สามารถ เราฝึกเอา นี่ถ้าเราสามารถแล้วเราจะนำหมู่ที่ยุ่งเหยิงนั้นให้สงบได้ หรืออยากจะให้ยุ่งเหยิงยิ่งขึ้นไปอีกให้ถึงที่สุดก็ทำได้เหมือนกัน อยู่ที่ความสามารถ ไปฝึกกำลังจิตที่มันพิเศษกว่าธรรมดา ให้มันพอ แล้วพึงทราบไว้ด้วยว่าจิตนี้ยังฝึกได้อีกมากจนไม่จำกัด พุทธวิสัย ฌานวิสัย หรือว่า โลกจิน (นาทีที่ 1:17:37) กรรมวิบาก น่ะอยู่ในพวกที่ไม่มีขอบเขตจำกัด ฌานวิสัย น่ะ จิตนี่ฝึกได้ เป็นสมาธิแล้วทำอะไรได้อย่างที่คาดไม่ถึง เรียก อจินไตย ไม่มีใครรู้ถึงว่ามันจะทำอะไรได้สักกี่มากน้อย นี่คล้ายๆ กับสิ่งที่เรียกว่าจิตที่ฝึกดีแล้ว มันจะทำอะไรได้มากเกินกว่าที่คนธรรมดาจะรู้ว่ามันจะทำอะไรได้กี่มากน้อย มันรวมอยู่ในข้อนี้
ฉะนั้นเราก็ฝึกจิตให้มันถูกเรื่อง ให้มันตรงกับปัญหา แล้วจะแก้ปัญหาได้ อย่างพระพุทธเจ้าท่านก็เป็นผู้ที่เราต้องยอมรับหรือมองเห็นว่าท่านทำอย่างที่ว่านี้ ในโลกที่ยุ่งเหยิงเต็มไปด้วยความทุกข์นี่ พระพุทธเจ้าท่านสามารถทำให้มันพบกับความไม่มีทุกข์ แล้วมาสอนกันได้ นี่เราเล็งถึงความยุ่งเหยิงทางการเมืองในโลกนี้ เราจะระงับ หยุด ความยุ่งเหยิงนี้เราก็ต้องเก่งมาก เก่งกว่าพวกที่สร้างความยุ่งเหยิงมากทีเดียว เก่งขนาดที่เรียกว่าปาฏิหาริย์ไปเลย ก็จะหยุดความยุ่งเหยิงได้ เดี๋ยวนี้ผู้นำหมู่ที่ทำความยุ่งเหยิงน่ะมันไม่ได้เก่งกี่มากน้อยหรอก มันจึงหยุดความยุ่งเหยิงเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ได้ ไอ้โฆษณาชักชวนให้ทำสมาธิแบบที่มันกำลังแตกตื่นกันใหญ่ที่เรียกว่า Transcendental Meditation ที่พวกโยคีไปสอนทางอเมริกา เขาโฆษณาอยู่ข้อหนึ่งว่า ถ้ามีสมาธิข้อนี้แล้วจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีที่สุด เป็นประธานาธิบดีที่ดีที่สุด แม้แต่ขับรถยนต์ก็ดีที่สุด เล่นฟุตบอลก็ดีที่สุด ลองดูบ้าง ชนิดนี้เล่นฟุตบอลดีที่สุด ตีแบดมินตันดีที่สุด มีปัญหาอะไรอีก
ผู้ถาม : ท่านครับ ขออนุญาตต่อเรื่องเมื่อครู่นิดหนึ่ง คือคนที่มีความสามารถพอที่เขาจะสร้างความวิเวกให้กับกาย กับใจ กับปัญญาของเขาได้นี่ เขาควรจะทำงานในทุกๆ หน้าที่ได้ หรือว่าไอ้งานที่เขาทำนั้นน่ะมันควรจะต้องเป็นไปในทางที่ถูกกับอุปนิสัยของเขาด้วยหรือไม่ แล้วทีนี้อีกข้อหนึ่งก็คือว่า ถ้าสมมติว่าคนคนหนึ่งน่ะ สมมติผมชอบที่นี่ แต่ไม่ชอบกรุงเทพฯ อย่างนี้ หรือว่าไม่ชอบงานที่กรุงเทพฯ ชอบอยู่ที่นี่ แปลว่า ยังมีความสามารถที่จะสร้างความวิเวกได้ไม่เพียงพอ ใช่ไหมครับพุทธทาสภิกขุ : เดี๋ยว ช่วยรวบรัดให้มันฟังใจความชัดหน่อย ย้ำใหม่อีกที ให้ชัด
ผู้ถาม : ครับ คือข้อหนึ่งก็คือว่า คนที่มีความสามารถที่จะสร้างความวิเวกได้ ให้กับกาย กับใจ กับปัญญาของเขาน่ะ เขาควรจะทำงานในทุกๆ หน้าที่ได้โดยที่ไม่เลือกสถานที่ ไม่เลือกลักษณะของงาน เช่นว่า จะไปทำงานในที่ที่ยุ่งที่สุดก็ได้หรือทำงานในป่าก็ได้ ใช่ไหม และอีกข้อหนึ่งก็คือว่า คนที่เกิดความเบื่อหน่ายมากลางคันนี่ สมมติผม ยกตัวอย่างเช่นว่า นักบวชหรือบางคนอย่างเช่น แม้กระทั่งในพุทธประวัติ เช่นที่พระพุทธเจ้าท่านต้องทิ้งบ้านทิ้งเมืองออกไปสู่ป่า สู่อะไรนั่นน่ะ ก็แสดงว่าขณะนั้นน่ะ ความวิเวกยังเกิดขึ้นไม่พอที่จะอยู่ในเมืองหรืออยู่ในงานที่ยุ่งๆ อย่างนั้น ใช่ไหมครับ
พุทธทาสภิกขุ : เอ่อ, ไม่ ยังไม่ตรง คือว่าเราสามารถที่จะทำอะไรทางจิตใจนี่ ทางวิเวกทั้ง ๓ นี่ได้ ได้ทุกอย่าง ในเมืองก็ได้ ในป่าก็ได้ หรืออะไรก็ได้ มันก็ยังจะต้องปล่อยไปตามเสรีภาพ เมื่อเขาชอบจะทำอะไร ก็ควรจะได้ทำสิ่งนั้น ไม่มีอะไรต้องไปบังคับ ถ้าอยากจะเก็บตัวเลยก็ได้หรือเขาอยากจะมาทำประโยชน์แก่สังคมอย่างยิ่งก็ได้ มันทำได้ทั้งนั้นแหละ ก็เรียกว่าทำได้ แต่เมื่อเขาไม่ชอบจะทำ เขามีเสรีภาพที่จะไม่ทำ ฉะนั้นพระอรหันต์บางองค์จึงไปเก็บตัวอยู่คนเดียว ไม่เกี่ยวข้องกับใครเลยนี่ก็มี แต่เป็นส่วนน้อยที่สุด พระอรหันต์ส่วนมากท่านทำประโยชน์กับสังคมตามโอกาส แต่ไม่เสียความสงบสุขของท่าน อย่างพระพุทธเจ้านี่ต้องกล่าวตามที่แบบฉบับที่เขากล่าวไว้สำหรับบุคคลชั้นพระพุทธเจ้า ว่าพระพุทธเจ้านี่จะต้องมุ่งหมายที่จะทำประโยชน์แก่คนทั้งหมดตามแบบของโพธิสัตว์ก่อนเป็นพระพุทธเจ้า มันมีแบบฉบับหรือหลักการวางไว้อย่างนั้น ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่เรียกพระพุทธเจ้า ถ้าจะให้เรียกพระพุทธเจ้า มันต้องมีหลักการที่ว่าจะต้องทำงานอย่างกว้างขวางเพื่อคนทั้งโลก ฉะนั้นเดี๋ยวนี้ อย่าเอาครั้งพุทธกาล เดี๋ยวนี้ถ้าใครอยากจะทำ เขาควรจะได้ทำตามความคิดที่เป็นเสรีภาพ เราอยากจะเป็นคนของโลกขึ้นมา เราก็ควรมีเสรีภาพที่จะทำได้ มอบชีวิตจิตใจทั้งหมดทั้งสิ้น จะทำแต่งานที่มันเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่คนทั้งโลก แม้ในเวลานี้ ในปัจจุบันนี้ ผู้หญิงก็ได้ ผู้ชายก็ได้ ถ้าเขาเกิดต้องการขึ้นมา ทีนี้เมื่อเขามีสมรรถภาพพอ คือกำลังกาย กำลังจิต กำลังปัญญา มันพอ เขาก็ทำได้ แต่ถ้าเขาไม่อยากทำ อย่างเช่นคนส่วนมากเขาก็ไม่ทำ หรือว่าเขาทำไม่ไหว เขาก็ไม่ทำ หรือแม้เขาทำไหวแต่เขายังไม่อยากจะทำ เขาก็ไปเก็บตัวอยู่เงียบๆ ก็ได้ ไม่, ไม่ ไม่ได้หมายความว่า ถ้าสามารถทำแล้วต้องทำ เรื่องเสรีภาพนี่มันก็ยังมีอยู่ตามธรรมชาติ แต่ถ้าไปลงพูดว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าแล้วต้องทำแน่ ท่านผู้จะเป็นโพธิสัตว์แล้วต้องทำแน่ และต้องทำเต็มที่ของความหมายของคำนั้น จนถึงกับพูดว่า ถ้ายังมีคนที่มีความทุกข์เหลืออยู่สักคนหนึ่ง แล้วฉันจะยังไม่ยอมเข้านิพพาน อย่างนี้ก็เป็นศีลของโพธิสัตว์ เป็นอันว่าแล้วแต่ใครเขาจะชอบอย่างไร เมื่อมันไม่ผิดแล้วก็ใช้ได้ทั้งนั้น พระอรหันต์องค์หนึ่งจะไปเก็บตัวอยู่เสียที่ในป่า ไม่ทำอะไรเลย ก็ไม่ผิด ไม่ผิดอะไร ถ้าท่านคิดจะไปทำประโยชน์ทางสังคมตามที่สมควรแก่บรรพชิต ก็ไม่ผิดอะไรเหมือนกัน ถ้าจะมองในแง่ถูก ก็ถูกด้วยกันทั้งสองฝ่าย แม้ว่ามันต่างกันอย่างตรงกันข้าม ฉะนั้นเราจะเข้ากลุ่มไหนก็ไปเลือกเอาเอง ไปรู้จักตัวเองแล้วก็เข้ากลุ่ม เพื่อจะทำประโยชน์สังคม หรือว่าจะไม่ทำ หรือจะทำบ้าง แล้วแต่ความพอใจ
นี่ เวลาหมดแล้วนะ ปิดประชุมกันที