แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นักศึกษาผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย ในการบรรยายครั้งที่ ๒ นี้ จะได้กล่าวในหัวข้อว่า พุทธศาสนาเท่าที่มีในตัวเรา ขอให้ท่านทั้งหลายทบทวนดูข้อความที่ได้บรรยายมาแล้วในตอนกลางวัน ว่าเราพูดกันถึงพุทธศาสนาทั้งหมดทั้งสิ้น รวมทั้งสิ่งที่มันเกี่ยวข้องกันอยู่กับพุทธศาสนาด้วย ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ส่วนวันนี้เราจะพูดกันเฉพาะเท่าที่มีอยู่ในตัวเรา ท่านก็พอจะมองเห็นภาพพจน์ของมันได้ว่านิดเดียว แต่ถ้ามองเป็นมันก็จะไม่นิดเดียว มันอาจจะใหญ่กว่าก็ได้ หรืออย่างน้อยก็เท่ากัน ขอให้คอยสังเกตดูต่อไป ท่านควรจะตั้งข้อสังเกตหรือข้อสงสัยขึ้นมาว่า พุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ได้ทรงนำมาสั่งสอนนั้น ท่านไปเก็บมาจากไหน ถ้าเข้าใจข้อนี้ก็จะนับว่ามีความกระจ่างมากทีเดียว สำหรับสิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนา ถ้าถามว่าท่านไปเก็บเอามาจากไหน ก็ต้องนึกถึงพระพุทธภาษิต ที่ได้ตรัสว่า ตถาคตทั้งหลายจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม ธรรมธาตุนั้นมีอยู่แล้ว ตั้งอยู่แล้ว ที่ตถาคตได้รู้ได้เข้าถึง เฉพาะซึ่งธรรมธาตุอันนั้น แล้วก็นำมาบอก มากล่าว มาบัญญัติ มาจำแนกแจกแจงให้สัตว์ทั้งหลายรู้ นี่มันก็แสดงอยู่แล้วว่าท่านไปเก็บเอามาจากที่แห่งใดแห่งหนึ่ง แล้วที่นั้นมันอยู่ที่ไหน เมื่อเช้าเราก็ได้พูดกันแล้วว่า มันมีกฎของธรรมชาติ ธรรมสัจจะของธรรมชาติ คือความจริงอันเด็ดขาดของธรรมชาติตามธรรมชาติ นี่อยู่อย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น มากมายเหลือที่จะประมาณได้ แต่ที่สำคัญๆ ที่เก็บเอามาสอนนี้มันก็เฉพาะที่เกี่ยวกับความดับทุกข์ หรือข้อเท็จจริงที่ควรทราบที่มันเกี่ยวกับความดับทุกข์ เช่นเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่ถ้าได้ทราบแล้วมันก็ทราบสิ่งที่ช่วยให้ดับทุกข์ได้ เรื่องปฏิจจสมุปบาท ความจริงเรื่องที่ว่าไม่มีอะไรเป็นตัวตน นอกจากธรรมชาติ มันเป็นเหตุปัจจัยปรุงแต่งกันและกัน แล้วก็มีนั่นมีนี่ออกมาเรื่อยไม่มีที่สิ้นสุดเหลือที่จะนับได้ แต่โดยเฉพาะความทุกข์ของมนุษย์เรานั้น เราควรจะทราบและพอจะทราบได้ พระพุทธเจ้าท่านไปเก็บเอามาจากที่นั่นมาสอนพวกเรา คำว่าที่นั่นมันอยู่ที่ไหน นี่แหละเป็นสิ่งที่ควรจะพิจารณาดูให้ดี คงจะเข้าใจกันว่าทั่วสากลจักรวาล ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็ยังไม่ถูกหรือยังไม่หมด มันมีอะไรที่ลึกซึ้งกว่านั้น ฉะนั้นมันอยู่ที่ไหน มันกลายเป็นอยู่ในจิตใจของมนุษย์ พุทธศาสนาของใครก็ไม่ทราบ ต้องพูดว่าของธรรมชาติ ที่พระพุทธเจ้าท่านไปเก็บเอามาสอนเรานั้น คือกฎของธรรมชาติ ซึ่งจะเรียกได้ว่ามีอายุไม่จำกัด คือมีอายุที่คำนวณไม่ได้ ไม่รู้ว่ามันมีกันมาตั้งแต่ครั้งไหน บางทีเป็นแสงสว่างเป็นความรู้หรือเป็นวิชชาที่ไม่มีขอบเขตจำกัด หรือคำนวณไม่ได้ นี่มันมีอยู่ตามธรรมชาติอย่างนี้ เราเรียกว่ากฎธรรมชาติ เพราะเราศึกษากันในแง่ของธรรมชาติ แต่ศาสนาอื่นเขาไม่อยากเรียกอย่างนั้น เขาอยากเรียกว่าพระเป็นเจ้า มาจากพระเป็นเจ้า พระเป็นเจ้านั้นเป็นปฐมเหตุของสิ่งทั้งปวง ก็ถือเป็นสิ่งสูงสุด ให้เชื่อ ให้เคารพ ให้ทำตามคำสั่งของพระเป็นเจ้า เราเรียกว่ากฎธรรมชาติที่ต้องรู้และต้องทำให้ถูกต้องกับกฎของธรรมชาติ แล้วแต่ว่าเราจะต้องการผลอะไร นี่มันเหมือนกันได้อย่างนี้ ตรงกันได้อย่างนี้ ก็ไม่ควรจะทะเลาะกัน มันมีกฎของธรรมชาติมันคำนวณไม่ได้ว่ามีเท่าไหร่ อย่างไร มากมายเหลือเกิน มีอยู่ตามธรรมชาติ เหมือนกับเป็นคลังของพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าท่านไปแบ่งเอามา เอามาสอนเฉพาะที่เห็นว่าจำเป็น ที่เราจะต้องทราบ คือดับทุกข์ได้ ดังนั้นพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นคลังใหญ่ของธรรมชาตินั้นมันมีอยู่อย่างหนึ่ง มีอยู่ประเภทหนึ่ง มีอยู่ส่วนหนึ่ง ก็ควรจะรู้ไว้ คือธรรมชาติมันมีให้อย่างมหาศาล ทีนี้พุทธศาสนาส่วนที่พระพุทธเจ้าท่านไปแบ่งเอามา เลือกคัดจัดสรรแบ่งเอามาฝากมนุษย์เป็นความจริงอย่างนั้นอย่างนี้ สำหรับปฏิบัติดับทุกข์ได้ นี้ก็เป็นพุทธศาสนาส่วนน้อยส่วนหนึ่งเท่านั้นนะ ท่านจึงตรัสว่าที่มีอยู่หรือที่อาจจะตรัสรู้ได้ มันมีเท่าๆ กับใบไม้ทั้งป่าทั้งดง ส่วนที่นำมาสอนพวกเธอนี่เท่ากับใบไม้กำมือเดียว เราทั้งหลายก็รวมอยู่ในคำว่าพวกเธอที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส เมื่อท่านเสนอให้เพียงว่ากำมือเดียว เมื่อเทียบกันกับใบไม้ทั้งป่าทั้งดง นี่พุทธศาสนาส่วนที่ท่านเอามาสอนให้เรา แต่เราก็รู้สึกว่ามากตั้ง ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ ๘๔,๐๐๐ เรื่องนั้นมันเข้าใจผิดไปเอง ดูมันมากถึง ๘๔,๐๐๐ เรื่อง ที่แท้ก็คือเรื่องดับทุกข์ เรื่องอริยสัจ ๔ คือเรื่องความทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดความทุกข์ เรื่องความไม่มีความทุกข์เป็นอย่างไร หนทางให้ถึงความไม่มีแห่งความทุกข์เป็นอย่างไร ฉะนั้นก็สอนละเอียดให้ทุกแง่ทุกมุม มันมีคำอธิบายมาก หัวข้อมันเพียง ๔ ข้อก็จริง แต่คำอธิบายมีมาก
ทีนี้พุทธศาสนาส่วนที่เรารับเอามาปฏิบัติ หรืออาจจะปฏิบัติ ควรปฏิบัตินั้น มันยังมีน้อยไปกว่าตัวหนังสือเหล่านั้นอีกมากมาย นี่ส่วนที่จะมีในเรา ที่จะเกี่ยวข้องกับเรา หรือเท่าที่เราจะปฏิบัติได้ มันก็ยิ่งมีน้อยลงไปอีก ในเมื่อไปเทียบกับทั้งหมดของธรรมชาติ เรื่องของธรรมชาติอันมหาศาลนี่เราก็พูดกันแล้วตอนกลางวัน ส่วนที่ท่านนำมาสอนก็มีอยู่ส่วนหนึ่ง ในส่วนที่รับเอามาปฏิบัตินี้ก็อีกส่วนหนึ่ง ตามสมควรแก่ฐานะของคน เฉพาะคนเฉพาะคน ที่เราเปรียบเหมือนว่า เปรียบอุปมาได้เหมือนกับว่า นก มองดูโลก ก็มองเห็นโลกมากกว่าที่คนธรรมดาเดินอยู่บนพื้นโลกนี่ จะเห็นว่านกตัวนี้มันมองดูทั่วๆ โลก เพราะเป็นจุดที่สำคัญ ที่พึงประสงค์หรือมีอะไรที่มีค่าอยู่ที่นั่น มันก็โผลงมาที่จุดนั้นแล้วขุดลงไปในแผ่นดิน ก็พบของที่มีค่าเป็นเพชรเป็นพลอยขึ้นมา นี่เหมือนกับการขอร้องให้ทุกคนมองดูพุทธศาสนาทั้งหมด แล้วทีนี้ก็มาแนะให้เลือกเอาเพียงจุดหนึ่ง เพื่อจะขุดค้นลงไปที่จุดนั้นให้มันพบ นี่จึงได้พูดเรื่องพุทธศาสนา เท่าที่จะมีได้ในตัวเรา หรือกำลังมีอยู่ในตัวเราแล้วก็ได้
นี้ข้อที่จะพูดกันต่อไปก็คือ ไอ้สิ่งที่เรียกว่าตัวเรา ไอ้คำว่าตัวเราหรือตัวตนนี่ เป็นสิ่งที่ทำความยุ่งยากลำบากที่สุด ในการพูดจา ในการสั่งสอน ในการศึกษาธรรมะ หรือในการปฏิบัติพุทธศาสนา เดี๋ยวนี้ท่านทั้งหลายก็ยังมีปัญหาว่ามีตัวเราหรือไม่มีตัวเราก็ยังเถียงกันอยู่ เพราะความรู้สึกจากภายในของคนธรรมดาสามัญนี้มันมันรู้สึกว่ามีตัวเราอยู่เสมอ มาเกณฑ์มาบังคับให้ไม่มีตัวเรานี้มันทำไม่ได้ คนที่เขาเป็นอิสระเขาก็ว่าไม่จริง เขาไม่ยอมเชื่อว่าไม่มีตัวเรา เขาเชื่อว่ามันมีตัวเรา กระทั่งบางทีก็เป็นตัวกู เป็นของกูขึ้นมาเสียด้วย นี้จึงควรจะทำความเข้าใจถึงคำว่าตัวเรานี้กันบ้างตามสมควร อยากจะอธิบายให้เห็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำว่าตัวเราที่มันมีอยู่ในในในโลก หรือในหมู่พวกเรานี้ว่ามันมีอะไรบ้าง ตัวเราหรือว่าเรียกสั้นๆ ว่าเรา จึงเป็นเพียงสักว่าภาษาพูด เป็นคำสมมติ เป็นภาษาพูด สอนให้พูดเป็นมาตั้งแต่แรกเกิด จนพูดกันอยู่ทั่วไปในหมู่มนุษย์ ไม่ว่าชาติไหนภาษาไหน ย่อมย่อมมีคำพูดซึ่งมีความหมายถึงตัวเรานี้ด้วยกันทั้งนั้นแหละ เพราะมันเป็นที่รวมแห่งความรู้สึก เกิดได้เองตามธรรมชาติ หรือตามสัญชาติญาณ ก็เลยเราใช้คำนี้กันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่มีใครบอกได้จนบัดนี้ก็ใช้กันอยู่ เป็นภาษาพูด ทุกคนก็ต้องพูดภาษานี้ ถ้าไม่พูดก็พูดกับใครไม่ได้ พูดกับใครไม่รู้เรื่อง พระพุทธเจ้าเองท่านก็ยอมรับว่า ท่านก็ต้องตรัสภาษานี้ โลกนิรุตติ ภาษาชาวโลก เป็นโลกียโวหาร เป็นโวหารยังฝ่ายโลกๆ ที่ใช้พูด ในพระพุทธภาษิตนั้นก็มีอยู่เสมอว่า เราตถาคตอย่างนั้น เราตถาคตอย่างนี้ แต่ท่านก็ตรัสอย่างนั้นตามภาษาชาวโลก ไม่ได้มีความหมายหรือความยึดถือว่ามีตัวเราอันแท้จริง สำหรับพระอรหันต์ หรือพระพุทธเจ้านั้น ไม่ได้มีอวิชชาที่จะทำให้เห็นว่ามีตัวเราอันแท้จริง แต่ท่านก็ต้องพูดตามภาษาชาวบ้านชาวโลก นี้เป็นตัวเราอย่างภาษาพูด ทีนี้ตัวเราถัดไปอีก ไม่ใช่ภาษาพูด คือตัวเราที่มันเกิดเป็นความรู้สึกที่พลุ่งขึ้นมา หรือว่าถูกปรุงให้มันเกิดขึ้นมาเป็นคราวๆ ตามธรรมดาใครจะมีความรู้สึกว่าเรา เรา เรา อย่างนี้ไม่ได้เป็นบ้าตาย เหมือนคนที่นั่งอยู่เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีใครรู้ ใครมีความรู้สึกพลุ่งขึ้นมาว่าเรา มันต้องมีเรื่อง มันต้องมีเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่รุนแรงพอที่จะให้เกิดความรู้สึกว่าเรา มันก็เกิดเป็นความรู้สึกว่าเราว่ากูนี้ ตามอำนาจของกิเลสนั้นๆ นั่นแหละ มีพักเดียวหรือมีขณะเดียว หรือมีเดี๋ยวเดียวมันก็หายไป บางทีสองสามนาทีก็หายไป นี่เรา แล้วก็เป็นผี โผล่มา จู่มา เป็นตัวกูบ้าง เป็นของกูบ้าง เป็นขณะๆ นี้เรียกว่าเราที่เป็นกิเลส หรือเป็นกิเลสสร้างขึ้น กิเลสนั้นคืออะไร มีตัวตนที่ไหน เป็นเพียงความรู้สึกของจิตที่ปรุงขึ้นมาด้วยอำนาจของความมืด ความไม่รู้อะไร หรืออวิชชาก็เรียก ถ้าขณะใดจิตมันได้รับสิ่งแวดล้อมปรุงแต่งความคิดชนิดนี้ขึ้นมา ก็มีตัวเราหรือตัวกูชั่วขณะหนึ่งขณะหนึ่ง ไอ้ตัวเราอย่างนี้มันไม่ใช่ภาษาพูดดูให้ดี ไม่ใช่ภาษาสำหรับพูด มันเป็นอะไรก็แล้วแต่จะเรียก จะเรียกว่าเป็นผีก็ได้ มาเป็นคราวๆ พลุ่งขึ้นมา ด้วยอำนาจการปรุงแต่งภายใน ด้วยอำนาจของอวิชชา เดี๋ยวนี้เราเรียกว่า เรากิเลส เราของกิเลส หรือกิเลสที่เข้ามาเป็นเรา สอดแทรกเข้ามาเป็นเราในความรู้สึกในจิตใจ
ทีนี้ดูต่อไปอีกถึงเรา ที่เป็นตัวธรรม ธรรมะ พระธรรม อะไรก็ได้ เป็นของดีเป็นของจริง ใน ในคำที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า มีตนเป็นที่พึ่งแก่ตน หรือมีเราเป็นที่พึ่งของเรา คำว่าเราในประโยคนั้นคือธรรมะ เราที่เป็นธรรมะ แล้วก็เอามาเป็นที่พึ่งของเรา ที่เป็นสัตว์เป็นคนนี่ ไม่มีที่พึ่งไหนจะยิ่งไปกว่าธรรมะ ที่ว่าพึ่งพระพุทธเจ้าก็คือพึ่งธรรมะ พึ่งพระธรรมก็คือพึ่งธรรมะ พึ่งพระสงฆ์ก็คือพึ่งธรรมะ มีธรรมะเป็นที่พึ่งของเรา แต่นิยมนิยมพูดกันว่า เราพึ่งเรา ตนพึ่งตน ตนที่เป็นที่พึ่งนั่นคือธรรมะ บางทีคนบางคนฉลาดถึงกับไปเอาธรรมะเป็นตัวตน ไปเอาธรรมะนั่นมาเป็นเรา เพราะมันยังตัดความมีเราไม่ได้ เราของกิเลสนี่ก็ไม่เอาแล้ว เราที่พูดกันด้วยปากกลางบ้านนั่นก็ไม่เอาแล้ว ก็ยังไปเอาธรรมะมาเป็นตัวเรา เป็นตัวตน เป็นที่พึ่งแก่เราก็มีอยู่พวกหนึ่ง ทีนี้ไหนๆ พูดแล้วก็พูดให้มันตลอดเสียก็ได้ ยังมีพวกที่คิดไกลกว่านั้น คิดละเอียดกว่านั้น ก็มองเห็นตัวเราชนิดที่ลึกซึ้ง เขาเรียกว่าตัวตนหรืออัตตา หรืออาตมันที่ชั้นลึกซึ้ง คือสิ่งที่เหนือสิ่งใดหมดนะ เรียกเป็นภาษาธรรมะก็เรียกว่า อสังคต คือไม่มีอะไรทำขึ้น ไม่มีใครได้ทำขึ้นมา มันเป็นของมันเอง มันอยู่เหนือเหตุผล มันอยู่เหนืออะไรทั้งหมดนี่ ก็เรียกว่าอาตมัน พวกที่ไปไกลลิบถึงขนาดเอาอาตมันเป็นเรานี้ก็มีอยู่พวกหนึ่ง ในประเทศอินเดียพ้องสมัยกับพระพุทธเจ้า ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านมีอะไรที่ที่ต้องนับว่าแปลก คล้ายๆ จะพูดว่า อ้าว, อยากมีเราก็มีสิ แต่แท้ที่จริงนั้นมันไม่ได้มีเรา ถ้าใครอยากจะมีเราก็มี เมื่อมันยังไม่ไม่อาจจะไม่มีเราได้ มันยังมีเราก็มีเราให้มันดีๆ มีเราให้เป็นที่พึ่งแก่เรา แต่ที่แท้นั้นมันไม่ใช่เรา ถ้าธรรมะก็เป็นเพียงธรรมชาติอย่างที่ว่ามาแล้ว มันจึงมีเราอีกชนิดหนึ่ง เป็นชนิดสุดท้าย คือเราที่มันดับความหมายเสียสนิทสิ้นเชิง เหลือแต่ซากเรา ฟังพูดแล้วมันก็น่าขัน หรือว่ามันประหลาดอยู่ แต่ว่าเราที่มันดับสนิทแล้ว คือไม่มีเรานั่นแหละ ถ้าเราจะไปเอาอะไรมาเป็นเราก็ได้ แต่ให้รู้ว่านั่นมันไม่ใช่เรา เป็นเพียงธรรมชาติตามธรรมชาติ จะเป็นได้อย่างนี้ก็ต่อเมื่อเห็นธรรมะชั้นสุญญตา ชั้นอนัตตาอย่างถูกต้อง จึงจะเห็นว่าโอ้มันไม่มีสิ่งที่ควรจะเรียกว่าเรา มันมีแต่ธรรมชาติอันเป็นธรรมชาติ และเป็นธรรมชาติแท้ๆ พวกหนึ่งเปลี่ยนแปลงปรุงแต่งกันไปก็เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง พวกหนึ่งไม่มีอะไรปรุงแต่งไม่มีเปลี่ยนแปลงเป็นอนันตกาล เป็นอนันตภาวะมันก็มีอยู่อีกพวกหนึ่ง ทั้ง ๒ พวกนี้ก็เป็นธรรมชาติ บางคนอาจจะไปเอามาเป็นเราชั่วคราวก็ได้ แต่ถ้ามองเห็นความจริงแล้วมันก็หยุด หยุดที่จะคิดว่ามันเป็นเรา นี่เรามีอยู่หลายความหมายอย่างนี้ ทีนี้เราพูดกันว่าเรา เรา ในที่นี้ ในเวลานี้ เราหมายถึงเราชนิดไหน ก็หมายถึงเราที่สมมุติ โมเมเอาอย่างที่ชาวบ้านพูด ชาวบ้านทั่วไปก็พูดว่ามีเรา อะไรก็มีเรา เรา อยากจะศึกษาพุทธศาสนา เพื่อจะดับความทุกข์ของเรานี่เราก็มาที่นี่ เราอย่างนี้มันคือเราชนิดที่สมมุติสำหรับพูดกัน แล้วมันเล็งถึงอะไร ก็เล็งถึงรูปโครงร่างอันหนึ่ง ที่มีชีวิต ยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ตาย เดินได้ มาที่นี่ได้ นี่คือเรา ซึ่งเราจะต้องเรียกว่าเรา ต่อเมื่อไปศึกษาเข้าใจแจ่มแจ้งแยกแยะออกไปหมด มันจึงจะไม่เป็นเรา มันจึงเป็นที่เพียงธรรมชาติ ที่เรียกชื่อว่าเป็นธาตุต่างๆ กัน เป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ รวมกันแล้วเป็นไอ้ ตัวอะไรนี่ที่เดินมา ไปไหนมาไหนได้ มีชีวิตอยู่ เรายังไม่ได้รับคำแนะนำสั่งสอนถึงอย่างนี้ เราก็ต้องเหมาเอาอันนี้เป็นตัวเรา อย่างที่พูดกันตามภาษาชาวบ้าน
ทีนี้ก็มาถึงคำว่าพุทธศาสนาเท่าที่มีในตัวเราคนหนึ่งๆ นี่ จะมีอะไรบ้างที่รับมาจากพระพุทธเจ้า เป็นคำสั่งสอนมันมีอะไรบ้าง หรือมันมีพุทธศาสนาเดิมแท้ของธรรมชาติ ที่เป็นไปตามธรรมชาติอย่างไรบ้าง ก็ควรจะดูกันเสียให้หมด ถ้าเป็นพุทธศาสนาที่จำเป็นสำหรับคนเราก็คือ คำสั่งสอนที่ปฏิบัติได้ แล้วก็ต้องปฏิบัติเพื่อดับเสียซึ่งความทุกข์นั่นเอง หมายความว่าพระพุทธเจ้าท่านส่งมอบให้เราเพียงเท่านี้ อย่างที่เรียกว่ากำมือเดียว ท่านไม่ทำความยุ่งยากลำบากให้แก่พวกเรา แล้วเราก็โง่เองไปโทษท่าน ว่าให้มากให้ลำบากให้ยุ่งยากอะไรก็ไม่รู้ เรียนกี่ปีกี่ปีก็ไม่รู้จักจบ นี่เราก็ต้องรู้ตัวเราเสียบ้าง ว่ามันเป็นอะไร แล้วพระพุทธเจ้าท่านมอบหมายให้อย่างรัดกุมที่สุด แต่เราก็ยังรับเอามาไม่ได้ ไม่ได้มาปฏิบัติให้มันมีอยู่ในตัวเรา จนถึงกับว่าแทบจะหาพุทธศาสนาที่แท้จริงในตัวเรานี้ไม่พบ หาไม่ได้ นี่ควรจะดูให้ดีๆ อย่าลืมว่าท่านก็ตรัสไว้ว่ามอบให้กำมือเดียว ถ้าเทียบกันกับใบไม้ทั้งป่า เป็นเพียงใบไม้กำมือเดียว เฉพาะที่จำเป็นแก่การปฏิบัติ เรียกชื่ออย่างไพเราะว่า อริยสัจ แปลว่าของจริง หรือธรรมสัจจะ คือของจริงตามธรรมชาติที่เป็นอริยะ คือประเสริฐที่สุด ประเสริฐตรงที่มันดับทุกข์ได้ แล้วคนที่ดับทุกข์ได้อย่างนี้ก็เรียกว่า อริยบุคคล มันก็เลยเป็นของจริงชั้นประเสริฐ เพื่อความเป็นอริยบุคคลหรือของอริยบุคคล คือกลุ่มของกายและจิตที่จะไม่ไม่รู้จักความทุกข์อีกต่อไป ชั้นสูงสุดมันอยู่ที่นั่น ทีนี้ก็เรียกว่าอริยสัจ ซึ่งเข้าใจว่าท่านทั้งหลายคงได้ยินได้ฟังคำนี้มาแล้ว เพราะบางท่านก็ได้ศึกษามาแล้วในโรงร่ำโรงเรียนว่าอริยสัจมันเป็นอย่างไร แต่ว่ามันเป็นเพียงอริยสัจตัวหนังสือ ที่ครูบอกให้ใส่จดใส่สมุดเก็บไว้ อริยสัจเท่านั้นเอง ไม่ได้มาเป็นอริยสัจอยู่ในเนื้อในตัว หรือในชีวิตของเรา มันเป็นอริยสัจอยู่ในสมุดที่เก็บไว้ นี่ที่จดๆ กันไปนี่ ก็เอาไปทำให้มันออกมาจากสมุดมาอยู่ที่เนื้อที่ตัวเราเสียบ้าง จึงจะตรงกับความมุ่งหมายอันนี้
นี่ทีนี้ก็จะพูดถึงเรื่องของอริยสัจ ในฐานะที่เป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องมีในตัวเรา ตามที่มันเป็นอยู่จริง มันไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น ไม่เป็นไปตามพระพุทธประสงค์ คือไปอยู่ในสมุดเสียบ้าง ไปอยู่ในคำพูดที่ถกกันอย่างไม่รู้จักจบบ้าง อริยสัจจึงมีเป็น ๒ ประเภท คืออริยสัจโดยหลักวิชา โดยทฤษฎี สำหรับพูดจา สำหรับศึกษา สำหรับคิด นั้นมันก็ประเภทหนึ่ง จะเรียกในที่นี้ว่า อริยสัจโดยทฤษฎี อยู่ในรูปของปรัชญาหรือตรรกวิทยา อะไรที่มันเกี่ยวข้องกัน คนที่เขาพูดเรื่องอริยสัจโดยตรรกวิทยานี้ ไม่รู้จบหรอก ไม่มีทางที่จะจบนะ มันมีแง่มุมที่จะดึงออกไป ดึงออกไป ดึงออกไป แล้วก็ให้เหตุผล อย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น จนกระทั่งไม่มีประโยชน์อะไร นอกจากพูดกันอย่างลึกซึ้งอย่างเดียว นี้อริยสัจโดยทฤษฎีเป็นอย่างนี้ อาจจะมีในพวกเราโดยมากก็ได้เหมือนกัน ถ้าเป็นคนชอบคิด ชอบพูด ชอบเถียง กระทั่งชอบอวด ก็เท่าที่เห็นอยู่ในประเทศเราก็ดี ประเทศอื่นก็ดี มันมีอริยสัจอย่างนี้เสียมาก ก็พิมพ์ออกมาเป็นเล่มหนังสือมากมายก่ายกอง ก็ยังเป็นอริยสัจในหนังสือ ในเล่มหนังสือ บางทีก็มาอยู่ที่ปากสำหรับพูด ทีนี้มันมีอริยสัจในรูปแบบของการปฏิบัติ ที่ปฏิบัติอยู่จริง นี่อริยสัจปฏิบัติ นี่คือตัวแท้ของพระพุทธศาสนา ที่ได้รับมาจากพระพุทธเจ้าแล้วก็มาอยู่ที่เนื้อที่ตัวของเรา คือเป็นการปฏิบัติอยู่ อยากจะเปรียบเทียบให้เข้าใจยิ่งขึ้นไปอีกว่า หลักธรรมะ เช่นอริยสัจนี้เป็นต้นนี่ สำหรับพูดมันก็อยู่ในรูปของปรัชญา รวมเรียกว่าปรัชญาก็แล้วกัน ถ้าเป็นธรรมะหรืออริยสัจสำหรับปฏิบัติแล้ว มันมาอยู่ในรูปของวิทยาศาสตร์ ขอให้เปรียบเทียบเอาเองว่ามันต่างกันอย่างไร เพราะเราก็เรียนมามากพอที่จะรู้ว่าปรัชญาคืออะไร วิทยาศาสตร์คืออะไร อย่าเอาไปปนกัน เดี๋ยวนี้มันมีการปนกันจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แล้วก็ชอบพูดว่าปรัชญา ปรัชญา ทั้งที่ไม่รู้ว่าคืออะไร อะไรก็เป็นปรัชญาไปหมด ทีนี้เราจะเอาตามหลักที่เขาใช้กันอยู่ เช่นคำว่า ฟิลอสโซฟี ซึ่งหมายถึงปรัชญา นั้นมันเป็นเพียงการถกกันถึงสิ่งที่เรายังไม่รู้แต่เราอยากจะรู้ เราอยากจะใช้ความคิดความเห็น ไม่มีตัวจริงมาใส่ลงไปในถ้วยทดลอง หรือมาดูได้ในฝ่ามือ มันเป็นเรื่องคำนวณ คำนึง คำนวณ เลยเป็นความจริงแค่การคำนึง คำนวณ การใช้เหตุผลทางตรรกก็ดี ทางปรัชญาก็ดี นั่นแหละเป็นปรัชญา ถ้าจะค้นคว้าก็ค้นคว้าด้วยการคำนึงคำนวณ ทีนี้ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์ มันไม่ใช่อย่างนั้น มันต้องมีอะไรจริงๆ อย่างที่เราเรียนวิทยาศาสตร์ ต้องมีวิทย์วัตถุ อะไรจริงๆ มาใส่ลงไปในการศึกษา การทดลองก็ทำไป สิ่งที่มีอยู่จริง ก็เห็นอยู่จริง ลงบนสิ่งที่มีอยู่จริง ถ้าเป็นเรื่องพุทธศาสนา ก็ต้องเป็นเรื่องของความทุกข์ และมีตัวความทุกข์จริงๆ มาเป็นตัวเรื่องราว ถึงแม้ว่ามันอยู่ในใจ แต่มันเอามาใส่ฝ่ามือ หรือใส่ลงไปในถาดดูไม่ได้ แต่ก็ต้องเห็นได้ว่ามันผิดกันกับไอ้ที่มันไม่มีตัวจริงเพียงแต่เอามาพูด ที่นี้เรามันรู้สึกในใจอยู่จริง มันเป็นอย่างนั้น แล้วมันเปลี่ยนอย่างนั้น แล้วมันเป็นอย่างนั้น ก็เหมือนกับว่า มันมีตัววัตถุจริง มาศึกษา มาพิสูจน์ มาแยกแยะ มาอะไร ตามวิถี วิธีการ หรือวิถีทางทางวิทยาศาสตร์ ถ้าเข้าใจความแตกต่างระหว่างปรัชญากับวิทยาศาสตร์แล้วก็จะเข้าใจพุทธศาสนาได้ง่ายขึ้น เพราะว่าพุทธศาสนาโดยแท้จริงนั้นไม่เป็นปรัชญา ไม่ใช่ปรัชญา แต่เป็นวิทยาศาสตร์ คือมีเรื่องจริง มีของจริง มีอะไรทำลงไปจริงๆ แต่ทีนี้เรื่องทางพุทธศาสนานี้ เอาไปทำเป็นปรัชญาก็ได้ ไปพูด ไปกล่าว ไปบรรยาย ไปถก ไปเถียงกันในรูปแบบของปรัชญาก็ได้ มันก็เลยเกิดเป็นสองอย่างขึ้นมา ที่โลกปัจจุบันนี้มันเมาปรัชญา มันก็สนใจพุทธศาสนาในแง่ของปรัชญา จนไม่รู้จักพุทธศาสนา ในแง่ของศาสนาโดยตรงคือ ตามรูปแบบของวิทยาศาสตร์ มันจึงมีพูดเถียงกันว่าพุทธศาสนาเป็นปรัชญา หรือว่าเป็นศาสนา หรือว่าเป็นอะไร แม้ในกรุงเทพฯ หรือแม้ในวงนักศึกษาทั่วไปทั้งโลก เมื่อใดเขามองเห็นพุทธศาสนาโดยถูกต้องแล้ว เขาก็จะร้องเป็นเสียงเดียวกันว่ามันไม่ใช่ปรัชญา มันเป็นเรื่องวิธีการอย่างวิทยาศาสตร์ที่จะดับทุกข์กันลงไปตรงๆ แต่ถ้าเอาไปพูดเป็นปรัชญามันก็สนุกดี ก็มีเรื่องให้พูดมากรู้กันไว้อย่างนี้ ดังนั้นพวกเราที่เป็นนักศึกษานี้ จะศึกษาพุทธศาสนาในรูปแบบของปรัชญาบ้างก็ได้ไม่มีใครว่า แม้ว่ามันจะไม่ช่วยดับทุกข์โดยตรง มันก็ช่วยให้เป็นนักคิด นักค้น ที่จะเฉลียวฉลาดได้เหมือนกัน แต่ก็ไม่มีประโยชน์ในการดับทุกข์โดยตรง สู้มาสนใจกันในรูปแบบของศาสนาจริงๆ ไม่ได้ ต้องเป็นรูปแบบของวิทยาศาสตร์ ถ้าเป็นศาสนาจริงมันต้องเอาความทุกข์จริงๆ มาวางลง เป็นตัววัตถุสำหรับศึกษา แล้วก็ดูมันมาจากอะไร เมื่อเรามีความรู้สึกทางความทุกข์อยู่ในจิตใจ เห็นทุกข์ชัดๆ อยู่ แล้วเราดูมันมาจากอะไร ในครั้งแรกเราได้ยินได้ฟังก็คำนวณไปตามเรื่อง จนกว่าเราจะสังเกตเห็นว่า อ้าว, มันมาจากความอยากอย่างโง่เขลาโว้ย ที่เรียกว่าตัณหา คือความอยากอย่างโง่เขลา เป็นความอยากที่ปราศจากปัญญา วิชชา เป็นความอยากด้วยกิเลสตัณหาที่มาจากอวิชชา ก็เห็นชัดแล้ว ไม่ต้องเชื่อตามคนอื่น ถ้าจะดับทุกข์จะต้องทำอย่างไร ทีนี้มันก็ก็ดับความอยากนั้นเสีย ป้องกันอย่าให้เกิดขึ้น ทำอย่างไรจะดับไอ้ความอยากนี้ได้ ก็ทำให้มีความถูกต้องในทุกๆ ประการ ที่ไม่ให้มันเกิดความอยากขึ้นมาได้ นี่ก็คือรูปแบบของวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นตัวแท้ของศาสนา แม้ว่าพุทธศาสนาในชั้นหลังเขาจะเติมเรื่องราวเข้าไปมากเป็นรูปปรัชญาก็ตามใจ มันทำได้ไม่มีใครห้าม แต่ของเดิมแท้เป็นเพียงหลักเกณฑ์ สำหรับรู้และปฏิบัติลงไปตรงๆ ที่ตัวความทุกข์ ก็ดับมันเสียไปได้ นี่คืออริยสัจจริง อริยสัจแท้ ไม่ใช่อริยสัจลมปาก หรือพูดกันอย่างปรัชญา เราจะพูดถึงเรื่องอริยสัจอย่างวิธีของปรัชญา มันก็เป็นอริยสัจขึ้นมาไม่ได้ เป็นอริยสัจที่แท้จริงไม่ได้ มันก็เป็นอริยสัจของปรัชญาหรือลมปากพูด แต่ถ้าเราจับตัวความทุกข์คือความรู้สึกในจิตที่มีอยู่จริง เอามาศึกษาค้นคว้า แยกแยะดูจนรู้เหตุของมัน รู้การดับ วิธีดับของมันนี่จึงจะเป็นอริยสัจจริง พระพุทธเจ้าท่านทรงประสงค์อย่างนี้ ท่านสอนไว้อย่างนี้ จนถึงกับมีบทที่ตรัสไว้ยืนยันว่ามันอยู่ในร่างกายที่ยาววาหนึ่งนั่นนะ ร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งที่ยังมีชีวิตอยู่ ให้ไปดูอริยสัจที่นั่น ไม่สำเร็จด้วยการพูดจาหรือการอ่านหนังสือ ความทุกข์ก็อยู่ในร่างกายนั่นแหละ เหตุให้เกิดทุกข์ก็อยู่ในร่างกาย ความที่ทุกข์ดับไปก็อยู่ในร่างกาย การปฏิบัติให้ดับทุกข์ได้มันก็อยู่ที่ร่างกาย เอาร่างกายนี่เป็นเป็นห้องเรียน สำหรับเรียนลงไปให้พบของจริงที่ดับทุกข์ได้ อริยสัจมันเป็นอยู่ ๒ แบบอย่างนี้ เท่าที่มีในตัวเราก็คือเรื่องอริยสัจที่จะดับทุกข์ได้ มันหมายถึงความรู้และการปฏิบัติตามความรู้ โดยสำเร็จประโยชน์และดับทุกข์ได้จริง
ทีนี้จะมองกันโดยหัวข้อว่า จะศึกษากันที่ไหน เมื่อตะกี้ก็บอกแล้วว่าศึกษากันในร่างกาย ที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ที่ยังเป็นๆ นั้นมันหยาบเกินไป คือยังกว้างเกินไปจนไม่อาจจะรู้ได้ คำตอบที่รัดกุมหรือใกล้ชิดเข้ามาก็ว่า ศึกษากันที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรื่องราวต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ศึกษาที่ตรงนั้น ศึกษาอริยสัจทั้งที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นเหตุให้เกิดความคิดความรู้สึกอะไรเป็นลำดับอย่างลึกซึ้ง เรื่องนี้ได้ได้ชื่อขึ้นมาใหม่ว่าเรื่องปฎิจจสมุปบาท ที่แท้ก็เรื่องอริยสัจนั่นแหละ พระบาลีบางแห่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า เราจะแสดงอริยสัจแก่พวกเธอ แล้วท่านก็แสดงปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายที่ทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร นี่ฝ่ายหนึ่ง และฝ่ายที่ทุกข์ดับลงไปได้อย่างไร อีกฝ่ายหนึ่ง นี้ก็คืออริยสัจโดยละเอียด ในรูปแบบหรือวิธีการอย่างวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่คำนึงคำนวณพูดไปได้ การคำนึงคำนวณไม่รู้ที่ไหน แต่ระบุลงไปที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉะนั้นขอให้ตั้งใจฟังสักหน่อย เวลาของเรามีน้อย ดังนั้นจึงพูดแต่ใจความที่สำคัญ ที่เป็นเนื้อหาสาระอย่างยิ่ง คำว่าปฏิจจสมุปบาทนี้ ก็ควรจะจำไปด้วย ถ้าไม่เคยได้ฟัง คำนี้แปลว่าอาศัยกันและกันเกิดขึ้น ปฏิจจแปลว่าอาศัยกัน สมุปบาทแปลว่าเกิดขึ้น ปฏิจจสมุปบาทก็อาศัยกันและเกิดขึ้น อะไรก็ตามมันได้อาศัยเหตุปัจจัยอะไรแก่กันแล้ว มันเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมา อย่างนี้เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทได้ทั้งนั้นแหละ แต่เรื่องอื่นไม่สำคัญ มันเป็นเรื่องข้างนอกไม่สำคัญ ปฏิจจสมุปบาทข้างในสำคัญ เรื่องนี้มันจะอาศัยการเกิดขึ้น ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง ถ้าเป็นปฏิจจสมุปบาท ที่มีค่าเท่ากับพระพุทธเจ้า จนถึงกับพระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาทผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท แล้วมันก็ต่อกันกับพระพุทธภาษิตส่วนอื่นที่ว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ถ้าเห็นธรรมก็คือเห็นตถาคต เห็นตถาคตคือเห็นธรรม นี้ก็ตรัสเห็นธรรมคือเห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นปฏิจจสมุปบาทคือเห็นธรรม เพราะฉะนั้นการเห็นปฏิจจสมุปบาทก็คือเห็นพระพุทธเจ้านั่นเอง ทีนี้เรื่องของปฏิจจสมุปบาทนั้นไม่มีอะไร นอกจากความจริงที่เด็ดขาดลงไปว่า ความทุกข์มันจะเกิดขึ้นอย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้ ได้อาศัยอะไร มันก็เกิดขึ้น อะไรก็เกิดขึ้น อย่างนี้ อย่างนี้ แล้วความทุกข์ มันจะดับลง ดับลง ดับลง อย่างนี้ อย่างนี้ เพราะอาศัยการดับของสิ่งนี้ การดับของสิ่งนี้ก็มี การดับของสิ่งนี้ก็มี กระทั่งความทุกข์มันดับหมดสิ้น นั้นคือปฏิจจสมุปบาท เรียกว่าความจริง ที่ว่าความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไรและความทุกข์ดับลงไปได้อย่างไร นี้เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาทผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต ก็ควรจะศึกษาปฏิจจสมุปบาท คือจะได้เห็นพระพุทธเจ้าที่แท้จริง
ทีนี้จะมาพูดถึงเรื่องปฏิจจสมุปบาท ขอให้ช่วยฟังให้ดีหน่อย ก็ได้บอกแล้วข้างต้นว่า ต้องจับตัวเรื่องราวลงไปที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำไมจึงถือว่า ๖ อย่างนี้มันสำคัญนัก คงจะมองเห็นได้เองกระมังว่า ทำไม ๖ อย่างนี้มันสำคัญนัก เพราะว่าถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะเป็นอย่างไร ลองลองนึกดูแวบเดียวก็พอจะรู้ได้ เพราะถ้าเราไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วมันจะเป็นอย่างไร มันก็คือไม่มีอะไร มันคือไม่มีอะไร คือไม่มีโลก หรือไม่มีทุกอย่างในโลก หรือไม่มีอะไรทั้งหมด ก็ไม่รู้สึกอะไรได้ เดี๋ยวนี้มันไปมีตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ มันจึงทำให้รู้สึกอะไรได้ ทางนั้น ทางนี้ ทางโน้น มันจึงมีนั่น มีนี่ มีอะไรขึ้นมาหลายๆ จนคำจนคำนวณไม่ไหวคือเต็มไปทั้งโลกนั่น ถ้าสมมุติว่าเราไม่มีหูนี่ เราคงขาดสิ่งที่มีอยู่อย่างมากมายอย่างหนึ่ง คือเสียง เราไม่อาจจะสัมผัสเสียงในโลกนี้ได้ แล้วก็เสียงมันก็กลายเป็นไม่มี ถ้าไม่มีจมูกมันก็ไม่มีกลิ่น ถ้าไม่มีตามันก็จะไม่ได้เห็น ไม่ไม่มีภาพอะไรเลย หรือถ้าไม่มีจิตไม่มีจิต ไม่มีใจ ก็ไม่รู้สึกต่ออะไรได้เลย ก็เท่ากับไม่มีอะไรเหมือนกัน ฉะนั้นจึงถือว่าเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่เป็นเรื่องต้นตอของทุกสิ่งทุกอย่าง ที่มันจะเป็นไปในทางมีความทุกข์หรือที่จะดับทุกข์ได้ก็ตาม มันขึ้นไปทางไหนมันก็ลงไปทางนั้นแหละ ความทุกข์มันมาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อมันจะลงดับไปมันก็ลงไปทางนั้นแหละ ต้องศึกษาเรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เฉพาะในรูปแบบที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ไม่ใช่ศึกษาในแง่ของสรีระวิทยาหรือเรื่องแพทย์เรื่องวิทยาศาสตร์อย่างอื่น ศึกษาแต่ในรูปแบบของวิทยาศาสตร์ทางจิตใจและที่เกี่ยวกับดับทุกข์ หรือเกิดทุกข์และดับทุกข์
พูดกันเรื่องตาเป็นเรื่องแรก และเรื่องนอกมันก็จะแนวเดียวกันหมด คือทำนองเดียวกันหมด ปฏิจจสมุปบาทตั้งต้น เมื่อตาได้เห็นรูป ตา อย่างหนึ่งรูป คือภาพที่เห็นอย่างหนึ่ง ๒ อย่างนี้พอถึงกันเข้า มันก็เกิดการเห็นทางตา ก็เรียกว่าจักษุวิญญาณ การเห็นทางตา ทีนี้ ๓ อย่างนี้ คือ ตาด้วย รูปที่เห็นด้วย แล้วก็การเห็นทางตาคือวิญญาณนั้นด้วย ๓ อย่างนี้ทำหน้าที่ร่วมกัน มันถึงกันเข้าแล้วมันก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า ผัสสะหรือสัมผัส นี่คงจะแปลกจากที่เคยได้ยินได้ฟัง แต่นี่พูดตามพระบาลีโดยตรง ตามตัวอักษร ก็ตาด้วย รูปด้วย จักษุวิญญาณด้วย มาถึงกันเข้าแล้วนั้นเรียกว่าผัสสะ คือสัมผัสทางตา ทุกคนก็มีอาการอย่างนี้ทุกวันทุกวัน ก็มีสัมผัสทางตา รู้จักสัมผัสทางตาให้ดีเสียก่อน มาดูต่อไปว่า โดยมากคนเรามีสัมผัสทางตานั้น มันก็ยังโง่ด้วยเรื่องนั้นๆ อยู่ คือมีอวิชชา มีความไม่รู้จริงต่อสิ่งเหล่านั้น ฉะนั้นเหมือนการสัมผัสทางตานั้นมันก็สัมผัสลงไปด้วยความโง่ คือความไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เช่น เห็นรูปอะไรขึ้นมา มันก็ไม่รู้ว่าแท้จริงนั้นมันเป็นอย่างไร ฉะนั้นการสัมผัสนั้น เมื่อเป็นการสัมผัสด้วยความโง่ไว้ชั้นหนึ่งก่อน ถ้าว่าคนนั้นมันเป็นคนมีธรรมะ มีความรู้ทางธรรมะ มีสติสัมปชัญญะและไม่โง่ และการสัมผัสนี้มันจะต้องต่างกันลิบกันกับการสัมผัสของคนโง่คือคนไม่รู้อะไร จึงเกิดเป็นสัมผัสขึ้นมา ๒ ชนิดคือ สัมผัสของคนโง่ สัมผัสของคนไม่โง่ สัมผัสของคนไม่โง่คือคนรู้นั้นไม่เกิดทุกข์ได้ นั่นเอาไว้ไม่ต้องพูด จะพูดสัมผัสของคนโง่ ซึ่งส่วนมากคนเขายังไม่รู้ ดังนั้นสัมผัสในที่นี้แม้จะเรียกสั้นๆ ว่าสัมผัสก็จริง แต่มันเป็นการสัมผัสด้วยอวิชชา คือความไม่รู้ คือสัมผัสชนิดนี้ไม่เกิดความรู้สึกต่อไปอีก คืออาศัยสัมผัสอันนี้ มันก็จะเกิดความรู้สึกที่เรียกว่าเวทนา เช่นตาสัมผัสแล้วก็เกิดเวทนาทางตา ถ้ารูปนั้นสบายตาก็เป็นสุขแก่ตา ถ้ารูปนั้นไม่สบายแก่ตาไม่ถูกแก่ตามันก็เป็นทุกข์แก่ตา หรือถ้ามันเฉยๆมันยังไม่มีความหมายเป็นอะไร มันก็เป็นเป็นกลางๆ เป็นเฉยๆ อยู่ นี่ก็เรียกว่าความรู้สึกหรือเวทนา เวทนานี้มันมาจากสัมผัสของความโง่ เพราะในเวทนานั้นมันก็ยังเจืออยู่ด้วยความโง่ ดังนั้นเวทนาที่ออกมาจากสัมผัสโดยความโง่นี้มันก่อให้เกิดตัณหา คือความอยาก ไปตามความหมายของเวทนานั้น เช่นว่ารูปมันสวยมันสบายแก่ตา เป็นเวทนาที่เป็นสุขแก่ตา มันก็เกิดความอยากตามสมควรแก่ความสวยนั้น ทีนี้ถ้าว่ารูปนั้นมันไม่สวย มันไม่สบายแก่ตามันเป็นทุกข์แก่ตา มันก็เกิดความอยากอีกชนิดหนึ่งตรงกันข้ามต่อทุกขเวทนานั้น อยากโดยสุขเวทนา มันก็อยากได้อยากยึด อยากครอง อยากเอา อยากบริโภค อยากเสวย มันอยากไปทำนองนั้น ทีนี้ถ้ามันเป็นทุกขเวทนา มันก็อยากจะไปเสียให้พ้น หรือมันอยากจะฆ่าเสีย มันอยากจะทำลายเสีย ถ้ามันไม่ชอบแก่ตา มันขวางหูขวางตา มันอยากจะตีจะตบจะเตะไปในทำนองนั้น แต่มันมีความหมายเท่ากัน ตรงที่มันทำไปโดยความโง่ มันไม่ถูกทั้ง ๒ อย่าง ทีนี้มันเป็นความอยากในอำนาจของความโง่ มันก็เกิดความรู้สึกต่อไปจากความอยากนั้นนะ คือความหมายมั่น ที่เรียกว่ายึดมั่นถือมั่น หรือที่เรียกว่าอุปาทาน พอมีตัณหาแล้วก็เลยอาศัยตัณหานั้นแล้ว ก็ย่อมจะเกิดอุปาทานคือความหมายมั่นต่อไปจากความอยาก คือเป็นตัวกูผู้อยากขึ้นมา นี่ฟังดูให้ดีเดี๋ยวจะไม่เข้าใจ แล้วมันจะหัวเราะเยาะว่านี่พูดอะไรบ้าๆ บอๆ ก็เกิดความอยากก่อนแล้วจึงเกิดตัวผู้อยาก แต่ความจริงมันเป็นอย่างนั้น เราได้รับเวทนาทางตา มีความอยากไปตามเวทนานั้น และหลังนั้นถึงจะมีความรู้สึกที่เต็มรูปขึ้นมาเป็นตัวกู ผู้ได้เห็นของสวยงาม ผู้ได้พอใจในเวทนานั้น ความรู้สึกอันนี้ เป็นความหมายว่าเป็นผู้อยาก ที่จริงมันก็ไม่ได้มีตัวตนมาจากไหน มันลมๆ แล้งๆ ทั้งนั้นแหละ ความอยากมันก็ลมๆ แล้งๆ คือความโง่ทำให้รู้สึกอยาก หลังจากนั้นก็รู้สึกเป็นตัวกูผู้อยาก นี่เป็นความแปลกอย่างที่ว่า ผู้อยากมันเกิดทีหลังความอยาก มันผิดลอจิกของคนธรรมดา แต่ความจริงมันเป็นอย่างนั้น ตามหลักธรรมะในศาสนา พอเกิดตัณหาคือความอยาก แล้วก็จะเกิดความรู้สึกที่เป็นอุปาทาน ยึดมั่นเป็นตัวเรา ผู้อยาก ผู้ต้องการ ผู้ดิ้นรนขวนขวาย พอมาถึงอุปาทาน คือความยึดถืออย่างนี้แล้ว แน่นอนต้องมีความทุกข์แล้ว มันก็ทุกข์ทันที พอหมายมั่นยึดถือมันก็หนักยุ่งไปหมดเป็นความทุกข์ แต่ว่าเรื่องยังไม่จบ อุปาทานอย่างนั้นแล้วก็เกิดความรู้สึกเป็นเราอยู่ มีอยู่อย่างเต็มที่ ที่เรียกว่าภพ มีตัวเราผู้อยากอยู่อย่างเต็มที่ เขาเรียกว่าภพ ความเป็นขึ้นมาในภพ ความเกิดอยู่ในภพ พอมีภพอย่างนี้แล้วมันก็มีชาติ คือเกิดโดยสมบูรณ์แห่งคนๆ นั้น ในกรณีนั้น ในความหมายอย่างนั้น เป็นตัวกูที่ดิ้นเร่าๆ อยู่ด้วยความหมายอย่างนั้น นี้เขาเรียกว่าชาติ นี้เข้าใจเรื่องของพระพุทธเจ้าเสียทีที่ท่านตรัสว่าชาตินั่นนะ มันเกิดทุกทีที่มีภพ มีความรู้สึกที่เป็นภพ ภพมันเกิดทุกทีที่มีความรู้สึกเป็นอุปาทาน อุปาทานมันก็เกิดทุกทีที่มีความรู้สึก คือตัณหา คือความอยาก ทีนี้ความอยากมันเกิดได้ทุกทีที่มีเวทนา เวทนามันก็มีได้ทุกทีที่มีผัสสะ ทีนี้ผัสสะมันก็มีได้ทุกทีที่ว่าอวัยวะสำหรับความรู้สึกคือตา เป็นต้น มันได้รับคู่ของมัน คือรูป เข้ามาเป็นคู่กับมัน ทำให้เกิดการเห็นทางตา เป็นวิญญาณทางตาขึ้นมา ถ้าไล่ลง มันก็ไล่ว่า ตากับรูปเกิดการเห็นทางตา นี้เป็นผัสสะ ผัสสะให้เกิดเวทนา เวทนาให้เกิดตัณหา ตัณหาให้เกิดอุปาทาน อุปาทานให้เกิดภพ ภพให้เกิดชาติ คือเป็นตัวกูที่สมบูรณ์แล้ว มีความยึดถือเป็นตัวตนที่สมบูรณ์แล้ว ก็หนักในความรู้สึกอันนั้น สิ่งต่างๆ ก็เป็นปัญหาขึ้นมาทันที ถ้าเราอยากเกิดความรู้สึกเป็นตัวกูของกู มันก็ไม่รู้ว่าความตายอยู่ที่ไหน ความแก่อยู่ที่ไหน ความเจ็บอยู่ที่ไหน ไม่รู้ มันก็ไม่มีปัญหา ไม่มีความทุกข์ ที่มาจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่พอความรู้สึกมันโง่ไปมีตัวกูขึ้นมา ทีนี้สิ่งทั้งหลายก็กลุ้มรุมเข้ามาทีเดียว ปัญหาแห่งความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความได้ ความเสีย ความไม่ได้อย่างใจมันก็เข้ามา นี่เขาเรียกว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาท นี่อยู่ที่ไหน อยู่ที่คนทุกคนในการเป็นอยู่ประจำวันนะมันมีอย่างนี้ ปฏิจจสมุปบาททางตาเป็นอย่างนี้ ยกมาฟังเป็นตัวอย่าง ทางหูก็อย่างนั้น ทางจมูกก็อย่างนั้น ทางลิ้นก็อย่างนั้น ทางผิวหนังผิวกายก็อย่างนั้น ทางใจเองล้วนๆ ก็อย่างนั้น ทางตานั้นอธิบายละเอียดแล้ว ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง ก็เทียบเคียงกันดู ได้ยินเสียงทางหูมันก็เป็นผัสสะทางหู ก็เกิดเวทนา เสียงเพราะ เสียงไม่เพราะ ก็เกิดความอยากไปตามความหมายของเวทนานั้น ถ้าเกิดหมายมั่นเป็นเราผู้อยากผู้อะไรขึ้นมา มีภพมีชาติเป็นตัวกูในความรู้สึกสมบูรณ์ขึ้นมา ก็มีปัญหาเกี่ยวกับเสียงนั้นแหละ มันจะตายไปเสียไม่ได้ไม่ได้อยู่กับเสียงที่เพราะ หรือถ้าเสียงไม่เพราะมันก็อยากจะทำลาย กลิ่นหอมกลิ่นเหม็นก็อย่างเดียวกัน รสอร่อยไม่อร่อยทางลิ้นก็อย่างเดียวกันอีก สัมผัสทางผิวหนังที่นิ่มนวลหรือแข็งกระด้างมันก็อย่างเดียวกันอีก เหลืออยู่แต่ทางใจว่า ถ้าใจมันมีอยู่และมีความคิดเกิดขึ้นมากระทบกับใจ ความรู้สึกอันนั้นมันก็เป็นคู่กันกับใจ ถ้าเราเกิดความรู้สึกทางใจและเกิดผัสสะทางใจ เกิดเวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพชาติทางใจเหมือนกันหมด ฉะนั้นไปเทียบเคียงเอาเองก็ได้ นี่อยากจะให้เข้าใจชัดลงไป ก็ต้องเอาเรื่องเห็นทางตามาพูดกันใหม่ หรือจะรวมกันทุกเรื่องก็ได้ แต่ต้องยึดหลักที่ว่า อาสนะข้างในพบอาสนะข้างนอก ทำงานแล้วมันก็จะเกิดความรู้สึกทางอาสนะนั้นๆ เรียกว่าสัมผัส แล้วก็เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน จนกระทั่งไปถึงตัวกูของกูเต็มที่ เร่าร้อนอยู่ด้วยความรู้สึกนั้นๆ นั่นแหละคือตัวความทุกข์ ก็ลองถามดูสิว่าความทุกข์อยู่ที่ไหน และเมื่อไหร่ ก็มันมีอยู่ในใจของคนทุกคน ที่มันเกิดโง่ไป ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางไหนก็ได้ ในในประจำวัน ในชีวิตประจำวัน ในวันหนึ่งๆ ทุกข์มากทุกข์น้อยนั่นมันก็แล้วแต่เรื่อง ให้มันเป็นความทุกข์ก็แล้วกัน ทีนี้เราก็ไม่มองไม่ดู อันนี้เป็นความทุกข์ ไม่อยากจะรู้สึกว่าเป็นความทุกข์ก็กลบเกลื่อนกันไปเสีย ไม่อยากจะไปรู้สึกกับมัน ไม่อยากจะแก้ไขมัน อยากร้องไห้ก็ร้องไห้ อยากฆ่าตัวตายก็ฆ่าตัวตาย อย่างนี้ไม่มีวันที่จะมองเห็นความจริงข้อนี้ แต่ถ้าเราตั้งใจจะมอง แล้วเราจะพบความทุกข์ไม่มากก็น้อย ทุกข์เล็กทุกข์ใหญ่อะไรก็ตามตลอดเวลา คือทุกคราวที่มันมีความโง่ทางตา มีความโง่ทางหู มีความโง่ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางหู ทางใจด้วย พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ความทุกข์มีอยู่ในร่างกายยาวประมาณวาหนึ่งนี้ที่ยังเป็นเป็นอยู่ก็ถูกแล้ว
ทีนี้เหตุให้เกิดทุกข์ล่ะมันอยู่ที่ไหน มันก็คือตัวตัณหา ตัวอุปาทาน ที่ทยอยมาจากเวทนา ตัณหานั่นเอง นั่นแหละคือตัวเหตุให้เกิดทุกข์ มันก็อยู่ในคนนั้น ในเวลานั้น ในกรณีนั้น เมื่อโกรธใคร เมื่อรักใคร หรือเมื่ออยากอะไร หรือไม่ หรือเกลียดอะไร ก็แต่มันมีตัณหาอุปาทาน ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์อยู่ในนั้น ที่นั่น ที่บ้านก็ได้ ที่โรงเรียนก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ทีนี้ความดับทุกข์ลงไป มันอยู่ที่ไหน มันก็อยู่ที่เมื่อรู้สึกตัว หยุดความอยากหรือความต้องการนี้เสียได้ หรือไม่ให้เกิดขึ้นมาได้ มันก็อยู่ที่เวทนา ที่มีสติสัมปชัญญะมาทันแก่เวลา ไม่หลงใหลในเวทนา ไม่ยึดถือเวทนาที่น่ารัก หรือน่าเกลียดก็ตาม มันก็ดับอยู่ที่เวทนา ถ้าเก่งกว่านั้นอีก มันมีผัสสะเมื่อไหร่ มีสติทันท่วงทีในการกระทบทางตา ทางหู ก็ตาม ความฉลาดวิ่งมาทัน รู้สึกตัวเสียอย่างนี้แล้วก็เลยไม่ปรุงต่อไปเป็นเวทนา เป็นตัณหา นั่นแหละคือมนุษย์ชั้นเลิศ คือชั้นพระอริยะเจ้า ไม่กระทบทางตา ทางหู เป็นต้น มีสติสัมปชัญญะมาทันท่วงที รู้ว่าสิ่งนี้เป็นอย่างนี้ สิ่งนี้เป็นอย่างนี้ แล้วไม่ไปหลงรักสิ่งใด ไม่ไปหลงเกลียดสิ่งใด กลับมีความรู้สึกว่า เรื่องนี้มันคืออะไร เรื่องนี้จะต้องทำอย่างไรไหม หรือไม่ต้องทำอะไร ถ้าต้องทำก็ทำไปด้วยใจปกติ ถ้าไม่ต้องทำก็ไม่ทำ มันจึงจึงไม่มีความทุกข์ ไม่มีความร้อน ไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ ความหลงต่อสิ่งเหล่านั้น นี่คือตัวความดับทุกข์ ที่มันมีอยู่ในจิตใจของคนๆ นั้น ที่นั่น เมื่อนั้น เวลานั้นนะ ถ้าเขาทำได้ ถ้าเขาทำไม่ได้โง่มากเกินไป ปล่อยไปจนเกิดทุกข์ มันก็เกิดทุกข์ แต่สักครู่หนึ่งหรือประเดี๋ยวหนึ่ง เรื่องนี้มันก็เปลี่ยน ความทุกข์กรณีนี้มันก็จางไปหายสิ้นซากไปได้เหมือนกัน แต่อย่างนี้ไม่เก่ง เพราะมันเป็นทุกข์เสียเต็มที่แล้ว สู้มีสติปัญญา สติสัมปชัญญะ วิ่งมาทันท่วงที หยุดความคิดนึกเลวร้ายนี้เสีย ดับทุกข์ได้ที่นั่น
ทีนี้อันสุดท้ายอริยสัจอันสุดท้าย ก็ทำอย่างไรถึงจะเป็นอย่างนั้นได้ เขาเรียกว่ามรรค หนทางปฏิบัติ ก็เป็นอยู่ให้ดี เป็นอยู่ให้ถูกต้อง เป็นอยู่ด้วยความเฉลียวฉลาด อย่าเป็นอยู่อย่างโง่เขลา นี่เรียกว่าความดับทุกข์และทางถึงความดับทุกข์ มันก็อยู่ที่ในคนยาวประมาณวาหนึ่งนั้น ฉะนั้นดูเอาเอง ว่ามันเป็นทุกข์อยู่ที่ตรงไหน มันให้เกิดทุกข์ขึ้นมาที่ตรงไหน มันดับทุกข์ที่ตรงไหน แล้ววิธีที่จะให้เกิดความดับทุกข์นั้นอยู่ที่ตรงไหน อาตมาคิดว่าท่านผู้ฟังคงจะเข้าใจบ้าง มันเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก เพราะมันเป็นหัวใจพุทธศาสนา อาตมาเคยถูกด่าหลายครั้งหลายหนที่กรุงเทพฯ เมื่ออบรมผู้พิพากษา อะไรก็ดีตอนแรกๆ นั้นนะ พอพูดเรื่องอย่างนี้ถึงขนาดนี้ แล้วก็คนเขาเอาไปด่า ว่าบ้าบอ พูดนอกรีตนอกรอยลึกเกินไปไม่ถูกฝาถูกตัว ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะเอามาพูด ทีนี้มันหลายปีมาแล้ว เดี๋ยวนี้เชื่อว่าคงจะไม่ถูกด่ากระมัง เพราะคนเหล่านี้ก็ฟังมามากแล้ว ก็พอจะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้ นี่จึงเชื่อว่าคงจะไม่ถูกด่า จึงมาพูดอีกวันนี้ เรื่องที่ลึกที่สุดของพุทธศาสนาก็คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท มันลึกมากสำหรับคนโง่ที่ไม่ยอมฟัง ไม่ยอมคิดไปตาม มันก็เป็นเรื่องลึกมาก แต่สำหรับคนที่มันอยากจะรู้ ยอมคิดยอมพิจารณาไปตามนั้น ก็คงไม่ยากเกินไปมันก็คงจะเข้าใจได้จริงไหม ยกตัวอย่างเรื่องตา อย่างเมื่อกี้นี้ ก็คงจะเข้าใจได้ ว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาทให้เกิดทุกข์ทางตาเป็นอย่างนี้ มันมีมูลเหตุอยู่ที่เวทนา ตัณหา อุปาทาน เพราะถ้าดับอันนี้เสียมันก็ดับทุกข์ เราเป็นอยู่ให้ดีให้ถูกต้องมันก็ไม่เกิดขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นศึกษาให้ดี ปฏิบัติให้ดี อย่างที่เรียกว่า มรรคมีองค์ ๘ ประการ คงจะเคยได้ยินได้ฟังกันมาแล้ว บางคนอาจจะท่องได้แต่ไม่เคยปฏิบัติ ฉะนั้นไปทบทวนเสียใหม่เรื่องมรรค มีองค์ ๘ ประการ คือความถูกต้อง ๘ ประการ รวมกันเข้าเป็นมรรค ถูกต้อง ๘ ประการนั้นก็คือว่าความคิดเห็นหรือความเชื่อถูกต้อง แล้วก็ความปรารถนาก็ถูกต้อง การพูดจาถูกต้อง การกระทำทางกายก็ถูกต้อง การเลี้ยงชีวิตก็ถูกต้อง ความพยายามก็ถูกต้อง สติระลึกอยู่ก็ถูกต้อง สมาธิมีอยู่ก็ถูกต้อง นี่เขาเรียกว่าถูกต้อง ๘ ประการรวมกันเรียกว่ามรรค ถ้าใครอยู่ในวิธีอย่างนี้แล้วความทุกข์เกิดไม่ได้ ในการเห็นรูปก็ดี ฟังเสียงก็ดี ได้กลิ่นทางจมูกก็ดี อะไรก็ตามมันไม่เกิดความทุกข์ได้ ถ้าเขาอยู่อย่างถูกต้องอย่างนี้ ฉะนั้นก็ไปศึกษาความถูกต้องอันนี้เสีย
ทีนี้ที่จะให้ดูต่อไป ก็ดูจากสายของปฏิจจสมุปบาทนั่นนะ ถ้าคนที่ไม่เข้าใจคงจะง่วงนอนแล้ว แล้วคงจะพาลโกรธเอาแล้ว คนที่ยังเข้าใจยังอยากจะฟังก็อยากจะพูดต่อไป ก็เรื่องปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละ เมื่อเรามีความรู้พอ ตาเห็นรูป มีสติสัมปชัญญะ สัมผัสรูปนั้นด้วยความรู้สึกตัว สติสัมปชัญญะ แม้จะเกิดเวทนาขึ้นมา เวทนาถูกใจ เอร็ดอร่อยก็ไม่ยินดียินร้าย เพียงแต่รู้ว่ามันอร่อยหรือสวยหรือเพราะ หรืออะไรเท่านั้นเอง ก็ไม่ยินดี ถ้าไม่ถูกใจ มันก็สักแต่เวทนานั้น ก็ไม่ยินร้าย ทีนี้ก็ไม่เกิดตัณหาคือความอยากอย่างโง่เขลา เมื่อไม่มีตัณหาแล้วอุปาทานก็เกิดไม่ได้ อุปาทานเป็นตัวกูของกูเกิดไม่ได้ ภพหรือชาติอย่างโง่เขลาก็เกิดขึ้นไม่ได้ ในกรณีนั้น ในเวลานั้น นี่ปฏิจจสมุปบาทเป็นอย่างนี้ อย่าลืม ไม่ควรจะขอร้องว่าอย่าลืม แต่ขอร้องควรจะขอร้องว่าจงสังเกตุไว้เสมอไป เพราะสิ่งนี้มันจะเกิดอยู่ทั้งกลางวันกลางคืนตลอดเวลาที่ตายังลืมอยู่ หูยังได้ยินอยู่ มันจะเกิดอยู่ตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นก็อย่างนี้ เราคอยดูมันก็แล้วกัน แล้วคอยมีสติสัมปชัญญะให้เพียงพอ อย่าให้มันเกิดไปในทางที่เกิดกิเลสตัณหา อุปาทานและมีความทุกข์ ความทุกข์มันก็ดับอยู่เพราะว่ามันไม่อาจจะเกิด ความทุกข์มันดับอยู่เพราะมันไม่อาจจะเกิด เพราะเรามีสติสัมปชัญญะ ปัญญาคอยควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่นี่ เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท คอยดับทุกข์มันมีอยู่
ทีนี้ก็จะถามด้วยคำถามว่า อะไรอยู่ที่ไหน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ที่ไหน แยกออกเป็นว่าอยู่ที่ไหนกันแน่ ที่แท้จริงอยู่ที่ไหนกันแน่ หรือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริงกันก่อน ที่ไม่แท้จริงเป็นเพียงรูปแบบ เป็นพิธีรีตอง คำว่าพระพุทธเจ้า นิพพานแล้ว ไม่มีแล้วเวลานี้ ถ้าจะให้เกณฑ์ให้มีแบบนี้ก็อยู่ในโบสถ์เป็นพระพุทธรูป พระธรรมก็อยู่ในตู้กระจกเป็นพระไตรปิฎก เป็นหนังสือหนังหา พระสงฆ์ก็คนหัวโล้นห่มเหลืองนุ่งเหลืองเดินไปเดินมา นี่มันก็ตอบอย่างนี้ นั้นมันไม่ถูกเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ข้างนอก ไม่จริง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริงนั้น เป็นเรื่องจิตใจและความรู้สึกที่เป็นภายใน เมื่อใดความทุกข์ไม่เกิด ความทุกข์ดับอยู่ในจิตใจของผู้ใด ผู้นั้นมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ที่นั่น คือจิตที่รู้เท่าทันเมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง เป็นต้น รู้เท่าทันการเกิดของกิเลส กิเลสเกิดไม่ได้ จัดการให้กิเลสเกิดไม่ได้ นั่นแหละคือพระพุทธ องค์พระพุทธ ธรรมะที่เป็นปัญญา รู้จักดับทุกข์ แล้วความที่มันดับทุกข์ได้ หรือความรู้ที่ดับทุกข์ได้ในขณะนั้นมันคือพระธรรม และจิตในขณะนั้นนั่นนะเป็นพระสงฆ์ คือจิตในขณะนั้นรู้แจ้งเห็นจริงปฏิบัติได้ ป้องกันความทุกข์ไว้ได้ จิตที่เรียกโดยสมมุติว่าของเรานั่นแหละ จิตนั้นนั่นมันเป็นพระสงฆ์ เมื่อใดเราควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไว้ได้ ความทุกข์ไม่เกิดขึ้นมา สติปัญญานั้นเรียกว่าพระพุทธ ความรู้นั้นเรียกว่าพระธรรม จิตที่เป็นได้อย่างนั้นเรียกว่าพระสงฆ์ นี่คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่แท้จริงที่พระพุทธเจ้าท่านต้องการ พระพุทธเจ้าจริงที่ท่านตรัสว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาทผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต ดังนั้นเราจะมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่แท้จริงในขณะที่เราดับกิเลสดับความทุกข์ลงไปได้ใน ในขณะแห่งปฏิจจสมุปบาท ฉะนั้นของให้ระวังให้ดี ให้มันมีการดับทุกข์อยู่เสมอ แล้วก็มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่เสมอ และแท้จริงด้วย ไม่ใช่อย่างเปลือก เรียกว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่แท้จริงที่อยู่ข้างใน ในจิตที่ประกอบอยู่ด้วยความถูกต้อง จนความทุกข์เกิดขึ้นมาไม่ได้ จะมีค่าสูงสุดยิ่งกว่าสิ่งใด ควรแก่การเรียกว่าพระรัตนตรัย สิ่งสูงสุด
ทีนี้จะถามว่าศีล สมาธิ ปัญญา อยู่ที่ไหน อย่าไปกล่าวว่าอยู่ในตัวหนังสือในพระคัมภีร์ เมื่อเราตั้งใจจะควบคุมกิเลสตัณหานี้ มันเป็นศีล ความที่จิตมันมั่น มันดำรงอยู่ได้ มันไม่เพลี่ยงพล้ำแก่กิเลสนี้ มันเป็นสมาธิ แล้วความรู้ที่แก้ไขป้องกันความทุกข์ออกไปได้นั่นแหละคือปัญญา เพราะฉะนั้นในขณะที่เราควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้ ไม่เกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมา ในขณะนั้นเรามีศีล สมาธิ ปัญญา จะเป็นลูกเด็กๆ นี้ก็ได้ ถ้าฉลาดพอที่จะควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ไม่ให้มันดำเนินไปจนถึงความทุกข์ได้ ความทุกข์มันสะดุดหยุดลง ด้วยความด้วยการกระทำของเรา ด้วยเจตนานี่ เมื่อนั้นเรามีศีล สมาธิ ปัญญาที่แท้จริง ยิ่งกว่าที่เขามีกันตามวัดตามวาพระเจ้าพระสงฆ์เสียอีก มันเป็นศีล สมาธิ ปัญญาท่องบ่น เป็นศีล สมาธิ ปัญญาพิธีรีตอง มันน่าสงสารน่าเวทนา สู้ลูกเด็กๆ สักคนหนึ่งก็ไม่ได้ ถ้าหากว่าเขาสามารถที่จะหยุดกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทนี้เสียได้ ที่โรงเรียนก็ได้ ที่ออฟฟิศก็ได้ ที่บ้านก็ได้ ที่ไหนก็ได้ นั่นแหละเขาคือคนที่มีศีล สมาธิ ปัญญา อันแท้จริง นี่ขอยืนยันอย่างนี้
ทีนี้จะถามอีกว่ามรรค ผล นิพพานอยู่ที่ไหน มันก็อยู่ที่นั่นนะ ที่เดียวกันอีกแหละ เมื่อใดดับทุกข์ลงไปได้เมื่อนั้นแหละเป็น มรรค ผล นิพพาน อย่างเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ อย่างชั่วคราวก็ได้ มันมีความหมายอย่างเดียวกัน เพราะคำว่า มรรค ผล นิพพาน หมายถึงว่ามันไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์ แต่ถ้าเต็มขั้น เต็มขนาดนั้นเขาเรียกว่า มรรค ผล นิพพานจริง เป็นพระโสดาบันก็มี เป็นพระสกิทาคาก็มี เป็นพระอนาคาก็มี เป็นพระอรหันต์ก็มี ทีนี้ถ้าเรายังทำไม่ได้จริง คือไม่เด็ดขาด มันก็มีอีกเหมือนกันนั่นแหละ แต่มันเป็นส่วนน้อย หรือมันยังไม่แน่นแฟ้น ยังไม่ถาวร ยังกลับกลายได้ อันนี้ยังไม่จริง แต่ก็ยังดีกว่าไม่มี เพราะมันดับทุกข์ได้ชั่วขณะหนึ่ง มรรค ผล นิพพาน ในชั้นน้อยๆ อย่างนี้ ที่เราควรจะมีได้ก็มี จำไว้ว่านิพพานนั้นแปลว่า เย็นลงแห่งความร้อน เมื่อความร้อนมันเย็นลงที่ไหนเมื่อไหร่นั้นก็คือความหมายของนิพพาน ถ่านไฟในเตาเย็นลงเป็นสีดำก็เรียกว่านิพพานของถ่านไฟ สัตว์ที่มันบ้า หมาบ้า แมวบ้า อะไรก็ที่มีพยศดุร้าย มันหายพยศ หายดุร้ายนั่น เขาเรียกว่านิพพานของสัตว์เดรัจฉาน ทีนี้ของคน ถ้าความร้อนเพราะกิเลสตัณหาหรืออะไรก็ตามเย็นลงๆ นั้น ก็เรียกว่านิพพานของคน ถ้าอย่างเด็ดขาดก็เป็นนิพพานแท้ ถ้าอย่างชั่วคราวก็ยังเป็นนิพพานที่ยังมีประโยชน์อยู่นั่นแหละ แต่ยังไม่ถึงที่สุดหรือยังไม่แท้ เพราะฉะนั้น มรรค ผล นิพพาน ในระดับใดระดับหนึ่ง ในความในความหมายหนึ่งมันมีอยู่ ในขณะที่เราควบคุมไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาได้ในจิตใจ ในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทที่หยุดลงเสียได้ ไม่เดินต่อไปถึงความทุกข์ นิพพานอยู่ที่นั่น มรรค ผล อยู่ที่นั่น ฉะนั้นขอให้ทุกๆ คนนี่ น่าจะอายุยังน้อยๆ อย่างนี้ จงตั้งความปรารถนาที่เราจะมีมรรค ผล นิพพาน ชนิดนี้ไปก่อน คือทุกขณะที่เราควบคุมบังคับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไว้ได้ ในขณะนั้นเรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่แท้จริง ในขณะนั้นเรามีศีล สมาธิ ปัญญา ที่แท้จริง ยิ่งกว่าของพระของเณรโดยมากเสียอีก ในขณะนั้นเรามีมรรค ผล นิพพานที่แท้จริง แต่ว่ายังไม่เด็ดขาด แต่ก็ยังแท้จริงเพราะว่ามันดับทุกข์ได้ นี้ถามว่าที่ไหนก็คือที่นี่ ที่เราควบคุมพฤติที่กำลังจะปรุงแต่ง เป็นไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ควบคุมไว้ได้ จะมีอยู่ที่นั่น
ทีนี้จะให้ดู มันลึกลงไปอีกก็ว่า มันควรจะรู้ไปถึงว่า ตัวธรรมชาติ ตัวกฎของธรรมชาติ มันก็อยู่ที่นั่น เพราะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่มันจะปรุงแต่งอย่างไร เป็นไปอย่างไรนั้น มันเป็นกฎของธรรมชาติ เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็เป็นธรรมชาติ นี้มันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ฉะนั้นเราศึกษาธรรมชาติและกฎของธรรมชาติที่นั่นในขณะนั้น ที่มันเกิดเรื่องที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่เรียกว่าได้ศึกษาสิ่งที่ลึกซึ้งที่สุด ที่เป็นคลังใหญ่ของพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าท่านไปเก็บเอามาสอนพวกเรา กฎของธรรมชาติอยู่ที่ไหนไปดูที่นั่น ศึกษาที่นั่น แล้วก็จะพูดได้ต่อไปว่า นั่นแหละพระเจ้า พระเจ้าอยู่ที่นั่น รู้จักพระเจ้าเสียที พระเจ้าที่สร้างโลก หรือพระเจ้าที่จะหยุดดับทำลายโลก พระเจ้าที่จะควบคุมโลกก็ตามมันอยู่ที่นั่น ที่กฎแห่งธรรมชาติ ที่กำลังแสดงบทบาทอยู่ที่นั่น
อ้าว, ทีนี้เวลาเหลืออยู่บ้างพูดกันเสียให้จบว่า จะศึกษาหรืออบรมกันอย่างไรต่อไป ศึกษาอบรมธรรมะ ก็ต่อไปจากที่เคยเรียนมาแล้ว เคยฟังมาแล้ว เคยรู้มาแล้วจะทำกันอย่างไรต่อไป นี่เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน จะว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ได้ ต่อไปนี้จะต้องทำอย่างไรต่อไป เขาก็คือศึกษาอบรมให้ดีให้ยิ่งขึ้นไป ข้อแรกที่สุด อยากจะพูดในฐานะเป็นของสำคัญเบื้องต้น ว่าหยุดหัวเราะกันเสียบ้าง คนสมัยนี้หัวเราะกันมากเกินไปทั้งหญิงทั้งชาย มาเที่ยวในวัดนี้แล้วก็ยังหัวเราะมากเกินไป ได้ยินอยู่ ที่บ้านที่โรงเรียนคงจะมากกว่านี้ หยุดหัวเราะกันเสียบ้างนี่ไม่ใช่เป็นคำที่ว่าพูดเล่น หรือว่าแกล้งว่าให้เจ็บใจ แต่มันเป็นความจำเป็น เมื่อไหร่หัวเราะเมื่อนั้นฟุ้งซ่าน เมื่อไหร่หัวเราะเมื่อนั้นฟุ้งซ่าน เมื่อไหร่บังคับหัวเราะไว้ได้เมื่อนั้นมีสมาธิ จริงไม่จริงไปคิดดู ไปสังเกตดู ไปจับมันได้ เมื่อไหร่หัวเราะเมื่อนั้นมันฟุ้งซ่าน พอฟุ้งซ่านก็จะเอาอะไรกับความรู้ มันก็ฟุ้งซ่านหมด มันไม่มีปัญญาที่เฉียบแหลมลึกซึ้งที่จะเข้าถึงความจริง มนุษย์สมัยนี้หัวเราะมากกว่าสมัยเมื่อยี่สิบสามสิบปีมาแล้ว หรือห้าหกสิบปีมาแล้ว ผู้หญิงหัวเราะน้อยที่สุด เพราะเขาถือว่าเป็นมรรยาทที่ใช้ไม่ได้ ยังปล่อยๆ ผู้ชายหัวเราะตามชอบใจบ้าง แต่ผู้หญิงจะหัวเราะได้ยากเพราะว่าเขาไม่ยอม แต่มาถึงเดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนแปลงหัวเราะกันมากเกินไปทั้งผู้หญิงผู้ชาย ก็เลยเสียสมาธิ มีความฟุ้งซ่าน ถ้าอยากจะมีธรรมะหรือรู้ธรรมะลึกซึ้งแล้วก็บังคับความรู้สึก ยังใช้คำว่าบังคับความรู้สึก หัวเราะก็ต้องบังคับ โศกเศร้าก็ต้องบังคับ ความตื่นเต้นอย่างโง่เขลาก็ต้องบังคับ บังคับความรู้สึกก็แล้วกัน นี่จะช่วยให้จิตใจเปลี่ยนไป อยู่ในลักษณะที่จะเข้าใจธรรมะได้ง่าย พูดกันให้หมด หมดอะไร ให้มันหมดที่จะควรยับยั้งไว้ว่าเดี๋ยวนี้หัวเราะมาก ขอแสดงความรู้สึกเรื่องนี้ว่า เมื่อในหลวงท่านปราศรัยกับแขกที่ไปเยี่ยมเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม เป็นวันก่อนหน้าวันเฉลิมวันหนึ่ง ท่านปราศรัยกับแขกเหล่านั้นตั้ง ๒,๐๐๐ คน ท่านพูดถึงคำว่าไทยแลนด์เดี๋ยวนี้ ถูกพวกข้างนอกเขาหาว่าเป็นตายแลนด์แล้ว ได้ยินเสียหัวเราะฮาทางวิทยุ ถ้าเป็นอย่างสมัยก่อนไม่มีนะทำไม่ได้ เมื่อท่านพูดถึงฟันปลอมถึงอะไรอีกสองสามครั้ง ซึ่งไม่น่าหัวเลย ก็มีหัวเราะได้ยินมาทางวิทยุ นี่แสดงว่าพวกคนที่ไปเข้าเฝ้าในหลวงวันนั้นไม่บังคับความรู้สึก ไม่มีวัฒนธรรมไทยเหลืออยู่ วัฒนธรรมไทยแท้โบราณก็ต้องบังคับความรู้สึก จะหัวเราะอย่างนั้นไม่ได้ และในหลวงคงจะไม่มีแม้แต่ยิ้มนะ ทั้งที่คนฟังเหล่านั้นฮานะ อาตมาเคยสังเกตในหลวงอย่างยิ่ง ในหลวงจะไม่มีแม้แต่ยิ้มเมื่อพูดอย่างนั้น ที่นี่ก็ตาม ที่ไหนก็ตาม แต่พวกนั้นฮาเลย นี่คือความเสื่อมของคนไทยในทางวัฒนธรรมที่เสียไป ไม่มีความรู้สึกมีแต่ความฟุ้งซ่าน พอหัวเราะมันก็เลือนเท่านั้น ท่านประสงค์จะพูดให้ติดใจเอาไปในความรู้สึกวิตกกังวล หรือต้องช่วยกันแก้ไข พอหัวเราะฮาก็เท่ากับสาดทิ้งไปแล้ว ความหมายอันนั้นถูกสาดทิ้งไปแล้ว นี่ยกตัวอย่างอย่างไม่กลัวใครโกรธ ว่าคนไทยเราเสื่อมทางวัฒนธรรม เกี่ยวกับการบังคับความรู้สึก ความรู้สึกจะหัวเราะก็ดี ความรู้สึกจะร้องไห้ก็ดี ความรู้สึกจะกลัวจะขลาดจะอะไรก็ดี ต้องบังคับความรู้สึก ตามหลักของพระพุทธศาสนา ดังนั้นคงจะเข้าใจได้แล้วว่า ที่ว่าอย่าหัวเราะกันนักนี่ ไม่ใช่เรื่องแกล้งตำหนิติเตียน มันเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง ที่ร้ายกาจ ที่จะล้มละลายก็ได้ เพราะไม่บังคับความรู้สึก นี้เป็นข้อแรกว่าเราเริ่มบังคับความรู้สึกกันเถอะ แล้วเรื่องของธรรมะจะเป็นไปอย่างดีที่สุด อย่างถูกต้องในตัวมันเองโดยอัตโนมัติ เมื่อบังคับความรู้สึกได้แล้วสิ่งต่างๆ จะเข้ารูปหมด คือไม่มีทางที่จะเกิดกิเลส เมื่ออยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้เราก็นั่งกลางดินใกล้ชิดธรรมชาติ และแถมพกรู้ต่อไปอีกว่าพระพุทธเจ้าประสูติกลางดิน พระพุทธเจ้าตรัสรู้กลางดิน พระพุทธเจ้านิพพานกลางดิน พระพุทธเจ้าท่านสอนสาวกกลางดิน ท่านอยู่กลางดิน เพราะว่ากุฏิของท่านพื้นดิน มันเดี๋ยวนี้นั่งกลางดินนี่ บูชาพระพุทธเจ้ากันเสียบ้าง คือให้นึกถึงพระพุทธเจ้าและบูชาพระพุทธเจ้า ประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน นิพพานกลางดิน อย่ารำคาญที่ต้องมานั่งกลางดิน นี่เมื่ออยู่ที่นี่ที่สวนโมกข์นี่มันสะดวกอย่างนี้ ที่จะใกล้ชิดกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นเจ้าของพุทธศาสนา เป็นคลังใหญ่ที่พระพุทธเจ้าท่านไปเก็บเอามาสอนพวกเรา เอามาจากคลังของธรรมชาติ นั่งกลางดินนี้มันใกล้ธรรมชาติมากกว่าที่จะนั่งบนเรือนบนวิมาน ใครอยากไปเกิดในสวรรค์วิมานก็คือคนที่จะทิ้งพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าท่านอยู่กลางดิน เกิดกลางดิน นิพพานกลางดิน นี่ทำบุญอะไรสักนิดนึงจะไปเกิดในสวรรค์วิมาน เพราะคนไม่รู้จักพระพุทธเจ้า ยังหันหลังให้พระพุทธเจ้า จะทิ้งพระพุทธเจ้าไปในที่สุด ฉะนั้นเมื่อมาในที่อย่างนี้ก็ถือโอกาสที่จะเข้าถึงธรรมชาติ ศึกษาธรรมชาติ เป็นเกลอกับธรรมชาติ ทีนี้ถ้าอยู่ในห้องเรียน ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัยก็ตาม รู้สึกตัวไว้เสมอว่านี้เรากำลังเรียนเรื่องธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่มันไม่ใช่ธรรมชาติ เรียนเลขก็ดี เรียนภาษาก็ดี เรียนประวัติศาสตร์อะไรก็ดี มันล้วนแต่เป็นเรื่องของธรรมชาติ ซึ่งเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ อย่ามองแต่ว่ามันเป็นเรื่องที่เราจะเรียนรู้สอบไล่ให้ได้ ไปทำงานได้เงินเดือนแพงๆ อย่าคิดไปอย่างนั้น มันจะไกลธรรมชาติ คิดอย่างนั้นมันก็ไม่ผิดอะไรหรอก แต่มันดูเหมือน ลูกเด็กๆ ไม่รู้อะไรมากเกินไป รู้เรื่องที่เขาให้เรียน ที่เขาสอนอยู่ในทั่วโลกนี่ ที่แท้มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติ ซึ่งเป็นเจ้าของคลังของความรู้ทั้งหลายที่มนุษย์จะเอามาศึกษาเล่าเรียนกัน กระทั่งที่พระพุทธเจ้าท่านไปเก็บเอามาสอนพวกเราล้วนแต่เป็นเรื่องของธรรมชาติทั้งนั้นแหละ กระทั่งวิชาความรู้ทุกอย่างทุกแขนง ทุกหน ทุกแห่ง มันเป็นเรื่องของธรรมชาติไปเสียหมด แล้วจะรู้จักธรรมะเร็วเข้า จะเห็นแจ้งในธรรมะได้เร็วเข้า เมื่ออยู่ที่บ้านไม่ไปโรงเรียนก็ยิ่งมีโอกาสที่จะฝึกฝน สติสัมปชัญญะ ทำอะไรอย่าให้มันผิดพลาด เราอยู่กับบ้านนั้นเรายังมีเวลาที่จะทำอะไรตามพอใจของเราได้มาก ควบคุมสติสัมปชัญญะได้ดี หรือปฏิบัติธรรมะได้ดี ทีนี้เมื่อเราไปเที่ยวตามที่ต่างๆ ก็อย่าไปโง่ถึงขนาดที่จะหลงใหลไปตามเรื่องของกิเลสตัณหา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ให้มองเห็นในแง่ของธรรมชาติไว้เสมอ จะไปเที่ยวที่สวยงามตามธรรมชาติ ก็ให้มันรู้ว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่สวยไม่งามมันก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ ไปเที่ยวเห็นคนบ้าๆ บอๆ คนไม่มีศีลธรรม มีแต่ลามกอนาจาร นั้นมันก็เป็นเรื่องธรรมชาติของคนที่ไม่รู้จักธรรมชาติ เขาจึงประพฤติเลวทรามอย่างนั้น แล้วเราก็จะได้ไม่ไปเอาอย่างเขา จะไม่ได้ไปนิยมชมชอบเขา ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ ดูให้ดี มันซ้อนกันอยู่ ธรรมชาติที่หลอกลวงกับธรรมชาติที่แท้จริง ถ้าเรามองไม่เห็นเราจะเห็นธรรมชาติหลอกลวง ถ้าเรามองเห็นเราจะมองเห็นธรรมชาติที่แท้จริง แม้คนที่เขาถูกธรรมชาติหลอกลวงให้หลงใหลในสิ่งลามกอนาจารเราก็รู้ได้ เพราะเขาไม่รู้จักธรรมชาติที่แท้จริง เขาไปคว้าเอาธรรมชาติที่หลอกลวง แล้วก็รู้ว่าอะไรเป็นธรรมชาติที่แท้จริง อะไรเป็นธรรมชาติที่หลอกลวง แล้วก็คงเอาไว้แต่ในธรรมชาติที่แท้จริง ทีนี้บางเวลาเรามีอิสระที่อยู่กับตัวเอง คือเวลาว่างที่อยู่กับตัวเอง เราก็อาจจะคิดนึกอะไรได้ลึกซึ้งตามที่เราเป็นอิสระ ก็มีโอกาสเที่ยวไปในตัวเองในจิตใจของตัวเองลึกซึ้งลงไป พิจารณาธรรมะลึกซึ้งลงไป ให้ใช้เวลาอย่างนี้ นี่ ที่นี่ก็ดี ที่โรงเรียนก็ดี ที่บ้านก็ดี ที่เที่ยวก็ดี หรือเวลาว่างเป็นตัวของตัวเองก็ดี ล้วนแต่ศึกษาธรรมชาติ จนรู้กฎของธรรมชาติ จนสามารถควบคุมให้ทุกอย่างเป็นไปถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ฝ่ายที่จะไม่ให้เกิดความทุกข์
อ้าว, ทีนี้ข้อสุดท้ายว่าเราจะทดสอบกันอย่างไร ว่าเราได้ประพฤติถูกต้องดำเนินไปดีแล้ว เครื่องวัดหรือเครื่องทดสอบนี้ มันก็ต้องดูที่ตัวเอง ดูที่ข้างในอีกนั่นแหละ ที่แน่นอนที่สุดก็คือว่าเดี๋ยวนี้เราบังคับความรู้สึกได้มากขึ้น ถ้าเรารู้สึกว่าเราบังคับความรู้สึกได้มากขึ้น นั่นแหละคือเครื่องทดสอบที่แน่นอนว่าเรามันก้าวหน้า หรือเจริญตามทางของธรรมะ ความรู้สึกรักก็ดี ความรู้สึกเกลียดก็ดี ความรู้สึกกลัวก็ดี ความรู้สึกเศร้าโศกก็ดี หรือความรู้สึกอะไรก็ตาม มันมันควบคุมไว้ได้ บังคับไว้ได้ คือบังคับอารมณ์ได้ นี้เป็นเครื่องทดสอบว่าเราปฏิบัติถูก ทำถูก และกำลังได้รับผล ทีนี้พูดอีกทีหนึ่งก็พูดว่ามันมีตัวกู ของกูน้อยลง ผอมลง หรือห่างออกไป ความคิดประเภทตัวกูของกูที่พลุ่งขึ้นมานะมันน้อยลง มันไม่ค่อยจะมีหรือมันห่างออกไป นี่ก็เป็นเครื่องที่ทดสอบที่แน่นอนเหมือนกัน ทีนี้เรารู้สึกเป็นสุขในการทำงานมากขึ้น ขอให้ทราบไว้ว่าการทำงานนั่นคือการประพฤติธรรม เป็นการปฏิบัติธรรมตามธรรมชาติ ต้องการให้สิ่งที่มีชีวิตนี้วิวัฒนาการไปในทางที่ถูกต้อง การทำงานมันช่วยให้รู้สิ่งนี้ ให้มันก้าวหน้าไปในสิ่งนี้ ฉะนั้นการทำงานคือการทำหน้าที่ที่สิ่งที่มีชีวิตจะต้องทำ ดังนั้นการทำงานนี่เป็นเรื่องประเสริฐที่สุด คือการประพฤติธรรม และเราก็รู้สึกเป็นสุขในการทำงาน ถ้าขึ้นมาถึงในระดับนี้ได้แล้ว นับว่ารับประกันได้ว่าไม่มีการตกนรก ไม่มีการทำผิด ทำชั่ว ไม่ต้องมีความทุกข์ เพราะมีความสุขในการงาน ไม่ต้องไปหาความสุขในเรื่องหลอกลวง ที่เป็นอบายมุข เมื่อความสุขในการงานมีแล้ว มันสูงสุดกว่าความสุขอย่างที่หลอกลวง ทีนี้คนเราไม่เข้าถึงความสุขอันนี้ มันก็ไปมัวเมาในความสุขที่หลอกลวง ดังนั้นเราจึงเห็นว่าอบายมุขทั้งหลายเป็นเรื่องโง่เง่าบ้าบอ อบายมุขนี้คงจะทราบกันแล้วว่าหมายถึงอะไรที่ระบุอยู่ในพระคัมภีร์ ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านทำการงาน นี่ ๖ ประการนี้ เรียกว่าอบายมุข คำพูดสั้นๆ ลุ่นๆ แต่ความหมายกว้างขวางเหลือเกิน เที่ยวดื่มน้ำเมานี่ ของมึนเมาทุกชนิดไม่ว่าอะไรที่ทำให้เสียสติสัมปชัญญะเราอย่าไปยุ่งกับมัน เที่ยวกลางคืนนั่นมันไม่บังคับความรู้สึกมันไปหาเรื่องของกิเลส ดูการเล่นนี่คือความโง่ที่ไปหลงใหลในเรื่องเล่น เรื่องศิลปะของคนที่เขามีสำหรับล้วงกระเป๋าคนอื่น คนโง่ก็ไปเป็นเหยื่อของคนเหล่านี้ ก็ไปติดพันในการเล่น เล่นอะไรก็ตาม จะดูหนังดูอะไรก็มันอยู่ในพวกนี้ ที่เล่นการพนันก็เป็นเรื่องของคนโง่ หวังจะรวยด้วยการพนัน เกียจคร้านทำการงาน นี่ไม่ต้องพูด คบคนชั่วเป็นมิตร เป็นสื่อที่จะนำความเสื่อมเสียทุกทางเข้ามา ถ้าเราเข้าถึงธรรมะแล้ว จะเห็นว่าอบายมุขนี้ เป็นของน่าขยะแขยงที่สุด น่าเกลียดน่าชังที่สุด ก็เป็นประตูแห่งอบาย จะพลัดตกลงไปในอบายก็โดยทางประตูเหล่านี้ เราก็ทดสอบตัวเราได้ว่าเดี๋ยวนี้เราขยะแขยงต่ออบายมุขเหล่านี้ ถ้ายังจำไม่ได้ว่าอะไรบ้างก็ไปเปิดหนังสือดูเสีย ว่าอบายมุข ๖ อย่างนั้นมีอะไรบ้าง นี้พอใจในธรรมะที่เป็นความสะอาด สว่าง สงบ เพราะมันขยะแขยงในสิ่งที่น่าเกลียดน่าชัง ที่เร่าร้อน ที่สกปรก ที่มืดมัว มันก็มารักในสิ่งที่เป็นความสะอาด สว่าง สงบ มันก็เลยอยู่อย่างเย็น เป็นนิพพาน ยากที่จะเกิดโลภะ ยากที่จะเกิดโทสะ ยากที่จะเกิดโมหะ นี่ทดสอบได้อย่างนี้ เป็นการแน่นอนที่สุด เป็นอันว่าเราได้พูดกันมาถึงธรรมะหรือพระพุทธศาสนา เท่าที่จะมีอยู่ในตัวเราหรือควรจะมีอยู่ในตัวเรา หรือว่าได้มีอยู่แล้วในตัวเรา ในลักษณะอย่างนี้ ทั้งโดยหลักวิชา ทั้งโดยหลักสำหรับที่จะปฏิบัติ การบรรยายหมดทั้ง ๒ ครั้งนี้ ก็เป็นการบอกให้รู้จัก สิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนาในแง่มุมที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป เป็นความจริงของสากลจักรวาล รู้จักสากลจักรวาล กระทั่งรู้จักว่าสากลจักรวาลนี้มันอยู่ในเรา หรือว่าเราอยู่ในสากลจักรวาล ถ้าเรายังไม่รู้อะไรเราจะรู้สึกว่าตัวเรานิดเดียว อยู่ในจักรวาล แต่ถ้าเรามีปัญญามากพอ เราจะรู้สึกว่าจักรวาลทั้งหมดอยู่ในใจของเรา ถ้าใครมีความรู้สึกถึงขนาดนี้ ก็เรียกว่ารู้จักหรือเข้าใจสิ่งที่ตั้งใจจะพูดจะบรรยายทั้ง ๒ ครั้งนี่ เมื่อตอนกลางวันและตอนนี้ ธรรมะทั้งหลายมันมีเท่าไร กี่แบบกี่อย่างเรามีกันอย่างไร เราควรจะมีกันอย่างไร เมื่อไหร่ที่ไหน ก็จะเลือกเก็บธรรมะอันมากมาย (น. 1.35.01) มากมายนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่เราได้ โดยวิธีใด มันก็อาศัยความเฉลียวฉลาด คนโง่มันก็เก็บไม่ได้ เข้าไปในสวนดอกไม้ที่เต็มไปด้วยดอกไม้นานาชนิด ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันอย่าง มันก็เก็บมาทำพวงมาลัยสวยไม่ได้ เพราะมันโง่ เรื่องธรรมะนี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราประมาทเสียแล้ว ก็ไม่สามารถจะเก็บเอาธรรมะในสากลจักรวาลนี่มาใช้ประโยชน์เป็นได้ แม้พระพุทธเจ้าท่านจะเพิ่มให้มากกว่านี้ มันก็ยังยังหาอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเราฉลาดแล้วแม้ใบไม้กำมือเดียว เราก็เอามาทำประโยชน์ถึงที่สุดได้ ก็จะพัฒนาสิ่งที่ควรพัฒนาได้ นั้นก็คือจิตใจนั่นเอง เราพัฒนามันก็สูงขึ้นสูงขึ้น ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา เรื่องที่เราพูดกันมันก็มีอย่างนี้ นี่เวลาก็สมควรแล้ว ก็ขอยุติการบรรยายไว้เพียงเท่านี้ก่อน.
(น. 1.36.10) สัมมาสมาธิเป็นจิตองค์หนึ่งใน ๘ องค์นั้น คือความที่มีจิตตั้งมั่นอยู่ในลักษณะที่ถูกต้อง เริ่มไปตั้งแต่ว่าจิตนี้ไม่เริบๆ ไปตามอารมณ์ที่เข้ามากระทบ ก็ต้องฝึก ฝึกตามแบบที่เขามีไว้ ฝึกสมาธิ ปฏิบัติกันมาอย่างไรก็ฝึกตามนั้น ทีนี้จิตก็จะอยู่ในอำนาจของผู้นั้นมากขึ้นมากขึ้น จะให้อยู่อย่างนี้ก็อยู่อย่างนี้ จะให้อยู่อย่างนั้นก็อยู่อย่างนั้น ในที่สุดพอจะใช้ได้ อย่าไปคิดอย่างนั้น อย่าไปรู้สึกอย่างนั้น อย่าไปยึดถืออย่างนั้น อย่ารู้สึกที่เป็นทุกข์ นี่ถ้ารู้สึกที่เป็นทุกข์ ให้ปล่อยเสีย ความรู้สึกที่เป็นทุกข์หรือกิเลสนี่ เขาเรียกว่าเป็นนายเหนือจิตโดยทุกประการ นั่นแหละคือสัมมาสมาธิ มีสมาธิถูกต้อง คือจิตที่ฝึกดีแล้ว ไม่มีความบกพร่องใดๆ ให้ศึกษาเรื่องหาทางเลือกที่ภาวนาก็จะเข้าใจได้ เรื่องมันยืดยาว พูดวันนี้คงไม่ไหว มันก็มี มีอยู่ในแบบแผน กรรมฐานที่ทำไปเพื่อจิตเป็นสมาธิ เรียกว่าสมถกรรมฐาน สมถแปลว่าจิตเฉลียวฉลาดรู้ รู้แจ้ง รอบรู้ในเรื่องความจริงของธรรมชาติ นี่ละวิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนาแปลว่าเห็นแจ้ง สมาธิจะสงบ สมาธิสงบระงับ สมาธิ ก็จะเห็นแจ้งเรียกว่าวิปัสสนา แต่ทั้ง ๒ อย่างมันจะชนกัน พอทำจิตให้สงบได้ ก็ทำให้เห็นแจ้งได้ ได้ง่าย คำอธิบายพื้นฐานวันนี้มีในหนังสือแบบเรียน สำหรับเรียนนักธรรม ควรจะมี (น. 1.38.38) ว่าต้องธรรมวิภาคให้ถูกต้อง อธิบายหลักพื้นฐานอย่างนี้ไว้ครบถ้วน ตะกี้ก็บอกว่า มองเห็นว่าไม่ว่าเรื่องอะไรที่เขาเอามาให้เรียนนะมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ มันเป็นเรื่องความจริงหรือกฎของธรรมชาติ แม้แต่เรียนเลขนี้ มันก็เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เมื่อบวกกัน เมื่อคูณกัน เมื่อหารกัน มันก็เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เพราะเรามันรู้จักธรรมชาติมากขึ้น โลกนี้มันไม่มีอะไรนอกจากธรรมชาติ สิ่งต่างๆ ที่เป็นไปในโลกนี้ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ การทำมาหากินก็จะต้องเป็นเรื่องถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ เมื่อได้อะไรมาเป็นกำไร เป็นสิ่งของถูกใจก็ระวังให้ดีขึ้น ก็ไปยินดีและเอาไปยินดี เรื่องอะไร มันก็ผิดกฎของธรรมชาติ เพราะมันเป็น (น. 1.40.10) ธรรมชาติ ใจคอมันก็ไม่ปกติ มันก็เสียสมดุล ถ้าเข้าถึงธรรมชาติอยู่ มันก็มีความสมดุลอยู่ตลอดเวลา ไม่ขึ้น ไม่ลง ไม่ฟู ไม่ชอบ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย พูดง่ายๆ ว่าศึกษาเรื่องนี้ไป ก็ไม่ต้องไปยินดียินร้ายอะไรมากมาย ให้ใจคอเป็นปกติ ถึงจะเห็นลึกซึ้ง จะเรียนได้ลึกซึ้ง จะสอบไล่ได้ดีกว่า ก็อย่าฟุ้งซ่านกันไป แล้วพูดกันไม่กี่คำ แต่การที่จะปฏิบัติให้ได้ตามนี้ คงจะมากมายทีเดียว เพราะฉะนั้นจำไปให้ดีๆ ต้องพยายามมากขึ้นอีก เพื่อให้มันเจริญก้าวหน้าทันแก่เวลา ทั้งชีวิต คือทันแก่ความตาย เราก็ก้าวหน้าไปทางธรรมะเสียให้มาก ก่อนที่ความตายจะมาถึง เราจะอยู่เหนือความตาย เหมือนความตายเป็นของธรรมชาติ ไม่มีความหมายอะไร จิตก็จะไม่มีความทุกข์เรื่องเกี่ยวกับความตาย ถ้าไม่มีใครถามก็ปิดประชุม