แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ซึ่งมีใจความว่า ภิกษุทั้งหลายเมื่อเธอเห็นอยู่ซึ่ง.... (นาทีที่ 1:23) น่าจะเรียกตัวเองว่าพุทธบริษัท การมาที่สวนโมกข์นี้ก็ควรจะได้อะไรคุ้มค่า ขอให้สนใจ ตั้งใจฟังให้ดีแล้วจะได้ผลคุ้มค่าเอง อยากจะพูดโดยสรุปไว้ทีหนึ่งก่อนว่า สวนโมกข์นี้เป็นโรงพยาบาลและที่พักฟื้นของคนเจ็บไข้ทางวิญญาณ สังเกตดูให้ดีว่ามันมีคำว่า ทางวิญญาณ บ่งชัดอยู่ ก็คือไม่ใช่ทางธรรมดาที่คนเขารู้จักกัน ทีนี้ถ้าว่าบางคนไม่รู้เรื่องทางวิญญาณ ไม่รู้ว่ามันมีทางวิญญาณ มีอะไรที่ไหนกันอีก อย่างนี้มันก็ มันอีกปัญหาหนึ่ง ถ้าจะพูดอย่างให้เด็กๆ เขาฟังได้ เข้าใจได้ ก็ต้องพูดว่า แม้มันจะมีกินมีใช้ สะดวกสบาย มีเกียรติยศชื่อเสียง แล้วมันก็ยังกลุ้มใจที่อยากจะฆ่าตัวตายอยู่บ่อยๆ โดยที่เงินหรือชื่อเสียง อำนาจวาสนามันช่วยไม่ได้ นั่นแหละคือโรคทางวิญญาณหรือปัญหาทางวิญญาณมันแก้ไม่ได้ แม้ว่าจะแก้ปัญหาทางฝ่ายวัตถุหรือฝ่ายร่างกายได้หมดสิ้น มีกินมีใช้ มีกิน มีกาม มีเกียรติ อย่างนี้มีหมด แต่มันก็ยังกลุ้มใจ อยากจะฆ่าตัวตายอยู่บ่อยๆ เพราะว่าปัญหาทางวิญญาณมันเกิด เอ่อ, มันยังมีอยู่และมันเกิดอยู่บ่อยๆ เป็นโรคทางกายก็ไปที่โรงพยาบาลทางกาย ถ้าเป็นโรคทางวิญญาณก็ไปที่โรงพยาบาลของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีอยู่ในลักษณะที่จะช่วยแก้ไขปัญหาข้อนี้ เดี๋ยวนี้เราเรียกกันสั้นๆ ว่า ทางธรรม ทางธรรมนั่นแหละคือทางวิญญาณ แต่พูดว่า ทางวิญญาณ นี้จะเข้าใจได้ง่ายกว่า คือฝ่ายด้านจิต ด้านวิญญาณมีปัญหาอย่างหนึ่ง ทางฝ่ายวัตถุ ทางฝ่ายร่างกายนี้มันก็มีปัญหาอีกอย่างหนึ่ง อย่างว่าเกิดจากท้องมารดา ก็เรียกว่าเกิดทางร่างกาย ถ้าเกิดความรู้สึกขึ้นในใจ ว่าเรา ว่าของเรา ในครั้งหนึ่งนี่เรียกว่าเกิดเหมือนกัน เกิดทางวิญญาณ ปัญหาทางร่างกายมีน้อยมาก ปัญหาทางวิญญาณนี้รุนแรงมาก สุขหรือทุกข์ก็อยู่ที่เรื่องของวิญญาณ
สวนโมกข์นี้ต้องการจะแก้ปัญหาทางวิญญาณ เพื่อว่าจะมีความสมบูรณ์พร้อมทั้งทางฝ่ายร่างกายและฝ่ายวิญญาณคู่กันไป มนุษย์จึงจะมีความผาสุกได้ ถ้าไม่มีปัญหาทางวิญญาณแล้วพระพุทธเจ้าก็ไม่ต้องเกิดขึ้นในโลก ขอให้ช่วยฟังให้ดีๆ ว่า พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาในโลกเพื่อต้องการจะแก้ปัญหาทางวิญญาณของมนุษย์ ส่วนเรื่องทางร่างกายนั้นมนุษย์ทำเองได้ ฉะนั้นถ้าเรานับถือพระพุทธเจ้า สนใจในการเกิดของพระพุทธเจ้า ขอให้เข้าใจไว้เถิดว่ามันเป็นเรื่องทางฝ่ายวิญญาณ ทีนี้ก็จะพูดถึงความหมายของคำว่า โรงพยาบาลหรือที่พักฟื้นในทางฝ่ายวิญญาณต่อไป
ในข้อแรกก็จะต้องพูดกันถึงสถานที่อย่างที่ท่านทั้งหลายก็ได้มา แล้วก็ได้เห็น ก็ไปเที่ยวเดินดูทั่วๆ ถ้าว่าเกิดความรู้สึกทางจิตใจผิดแปลกออกไปเพราะมาเดินอยู่ที่นี่ ขอให้รู้เถิดว่านี่มันเป็นฝ่ายวิญญาณ เรามีเจตนาโดยเฉพาะที่จะจัดสถานที่นี้ให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่การแก้ปัญหาหรือดับทุกข์ในทางวิญญาณ จึงได้จัดอย่างนี้ นอกจากจัดสถานที่แล้ว ยังจัดระเบียบงาน จัดอะไรต่างๆ ไปในรูปของทางวิญญาณ ถ้าว่ากันที่แท้แล้ว ที่เป็นอยู่ตามธรรมชาตินั่นน่ะเป็นเรื่องเกื้อกูลกับทางวิญญาณมากที่สุด พอไกลไปจากธรรมชาติเท่าไรมันก็ยิ่งไกลจากความผาสุกทางวิญญาณมากขึ้นเท่านั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ ที่เรานั่งกันอยู่ที่นี่ เวลานี้ ขอได้สังเกตบางอย่าง แล้วก็ให้มีความรู้เพิ่มขึ้นบางอย่าง มานั่งบนดินบนทรายนี่ เรานั่งบนอาสนะของพระพุทธเจ้า ถ้าเขามีจิตใจที่มีความรู้ถูกต้อง ตั้งไว้ถูกต้อง จะรู้สึกพอใจอย่างยิ่งในการที่ได้นั่งบนทรายเพราะว่านั่งบนอาสนะของพระพุทธเจ้า ถ้าใครไม่ทราบ อาจจะมีบางคนไม่ทราบว่าทำไมจึงพูดอย่างนี้ คำตอบง่ายนิดเดียวว่าพระพุทธเจ้าท่านประสูติกลางดิน เมื่อท่านประสูติจากครรภ์มารดานั้นก็เรียกว่าประสูติกลางดิน ในสวนลุมพินี ไม่ได้ประสูติในพระราชวังหรืออะไรอย่างที่คนบางคนอาจจะคิด เมื่อท่านเป็นพระพุทธเจ้า คือตรัสรู้ นั่นก็ตรัสรู้กลางดิน ที่โคนต้นไม้ ที่ริมตลิ่งคนเดียวเงียบๆ แห่งหนึ่ง นี่ท่านตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็กลางดิน เมื่อนิพพานก็นิพพานกลางดินในสวนต้นสาละที่เที่ยวเล่นของพวกกษัตริย์นครหนึ่งเรียกว่า สาลวัน นิพพานกลางดิน นี่เป็นหลักใหญ่ๆ ประสูติ ตรัสรู้ นิพพานกลางดิน ทีนี้ท่านสอนก็สอนกลางดิน เป็นอยู่กันอย่างกลางดินตามแบบของนักบวช แล้วท่านก็ต้องอยู่กลางดินเพราะว่ากุฏิของท่านนั้น พื้นดิน ไปดูได้ เมื่อไรก็ได้ที่ประเทศอินเดีย ทุกแห่งที่เป็นซากกุฏิของพระพุทธเจ้าแล้วเป็นพื้นดิน เกือบจะพูดได้ว่าพระไตรปิฎก คือข้อความในพระไตรปิฎกที่เป็นคำสอนนั้นสอนกันกลางดินเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นถ้านั่งลงบนดินอย่างนี้ ก็ขอให้นึกว่าเรากำลังนั่งอยู่บนอาสนะของพระพุทธเจ้า มีความหมายสำคัญตรงที่มันเป็นไปตามธรรมชาติ เป็นธรรมชาติเท่าไรก็ยิ่งเป็นธรรมะมากเท่านั้น เพราะว่าธรรมะนั้นมันคือสัจจะของธรรมชาติ เป็นกฎเกณฑ์ เป็นอะไรต่างๆ ของธรรมชาติ เราเรียกว่า ธรรมะ ยิ่งเป็นธรรมชาติก็ยิ่งเป็นการแสดงธรรมะได้มาก ฉะนั้นเราอยู่ใกล้ธรรมชาติ มันก็พร้อมที่จะรู้ธรรมะได้โดยง่าย ดังนั้นเป็นอยู่ให้ใกล้ชิดธรรมชาติให้มากที่สุดก็จะรู้ธรรมะได้โดยง่าย เพราะมันเป็นหัวใจของธรรมชาติหรือกฎของธรรมชาติ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วพระศาสดาแห่งศาสนาทั้งหลายก็จะตรัสรู้กันบนปราสาทราชวังไปหมด ศาสดาทุกศาสนาตรัสรู้เป็นศาสดาในป่า และคนเดียว กลางดิน
นี่มันเป็นสิ่งที่ควรจะนำมาคิด ยิ่งใกล้ชิดธรรมชาติเท่าไร ยิ่งง่ายที่จะรู้จักกฎของธรรมชาติเท่านั้น ธรรมะเป็นกฎของธรรมชาติอย่างนี้ เราเห็นประโยชน์อันนี้ จึงจัดธรรมชาติที่นี่ให้สะดวกแก่การที่ผู้มา จะได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ แม้การที่บอกให้นั่งลงบนดินนี่ ก็เพื่อให้รู้ว่าได้นั่งใกล้ธรรมชาติที่สุด นี่ขอให้เข้าใจโดยทั่วๆ ไปไว้อย่างนี้ก่อน ยิ่งผิดธรรมชาติเท่าไรยิ่งมีความปั่นป่วนทางวิญญาณเท่านั้น นี่เราก็ไปขวนขวายสร้างความเจริญกันทางฝ่ายวัตถุ ฝ่ายอะไรที่ผิดธรรมชาติออกไปเท่าไร มันก็ยิ่งมีความปั่นป่วนทางจิตใจมากขึ้นเท่านั้น แม้เราจะสะดวกสบาย สนุกสนาน เอร็ดอร่อยทางวัตถุหรือทางรูปธรรม แต่ทางนามธรรมมัน ทางนามธรรมเราจะต้องปั่นป่วน ฉะนั้นเราจะต้องรู้จักแก้ปัญหาส่วนนี้ อย่าให้มันปั่นป่วน อย่าให้มีเจ็บไข้ทางวิญญาณ ก็จะเป็นผู้มีความสุขพร้อมทั้งสองสถาน คือทั้งฝ่ายรูปธรรมและนามธรรม ฉะนั้นกล่าวได้ว่า พุทธศาสนานี้ไม่ใช่เรื่องรูปธรรมหรือเรื่องนามธรรมโดยส่วนเดียว คือไม่ใช่วัตถุนิยมโดยส่วนเดียว ไม่ใช่จิตนิยมโดยส่วนเดียว แต่ว่ามันเป็นความถูกต้องระหว่างสิ่งทั้งสองนั้น สามารถจะมีความถูกต้องทั้งทางฝ่ายร่างกายและทั้งทางฝ่ายจิตใจ ก็ได้รับความสุขเต็มที่ที่มนุษย์ควรจะได้รับ ฉะนั้นการที่จะพัฒนาหรือแก้ปัญหากันแต่ในทางฝ่ายรูปธรรม ทางฝ่ายกายเป็นต้นนั้น มันไม่พอ มันจะเพียงครึ่งเดียวหรือไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ เพราะส่วนสำคัญมันอยู่ที่เรื่องของจิตใจ จิตใจมันก็ยัง ก็ต้องไปเกี่ยวข้องกับร่างกายด้วยอีกส่วนหนึ่ง ส่วนที่เป็นจิตใจล้วนๆ มันก็มี
นี่ขอให้มองเห็นข้อนี้ก่อน แล้วก็จะเป็นการง่ายในการที่จะรู้จักพระพุทธศาสนาและได้รับประโยชน์จากพระศาสนา โดยเฉพาะในส่วนที่ทำให้ต้องมาถึงสวนโมกข์ อยากจะขอร้องว่าให้มาอย่างธุดงค์จึงจะถึงสวนโมกข์ ถ้ามาอย่างเศรษฐีอย่างนายทุนหรืออย่างอะไรทำนองนั้นแล้ว ไม่มีวันจะถึงสวนโมกข์แม้ว่ามานั่งอยู่ที่นี่แล้ว คือจิตใจมันไม่โมกข์ นี่จึงต้องพูดถึงคำว่า โมกข์ กันบ้าง การพูดในวันนี้มันเป็นเพียงการพูดนำเรื่องเท่านั้น ไม่ใช่ตัวเรื่องอะไรนัก จึงพูดถึงคำว่า โมกข์ ก่อน โมกข์แปลว่า เกลี้ยง ถ้าภาษาธรรมดา ภาษาชาวบ้าน ก็เกลี้ยงจากของสกปรกที่มาเปรอะเปื้อนหรือมารุมล้อม มาทำให้รำคาญ นี่ภาษาธรรมดา ทีนี้ถ้าเกลี้ยงในทางภาษาธรรมะก็คือจิตใจมันเกลี้ยงจากสิ่งรบกวนจิตใจ คำว่า เกลี้ยง นั้นเลยมีความหมายเป็นหลุดพ้นที่เรียกว่า วิมุตติ หลุดพ้นไปจากกิเลสและความทุกข์ มันกลายเป็นเกลี้ยงจากกิเลสและความทุกข์ ส่วน โมกข์ธรรมดา ภาษาชาวบ้านนั้น เกลี้ยงจากสิ่งที่เราไม่อยากจะให้มันมาแปดเปื้อนอยู่ เช่น ไปอาบน้ำเสียก็จะเกลี้ยงจากเหงื่อไคล ก็เลยเกลี้ยงทางฝ่ายร่างกาย ถ้าเกลี้ยงทางฝ่ายจิตใจก็ต้องไปอาบน้ำของพระธรรมหรือธรรมะ เมื่อเกลี้ยงทั้งทางกายและเกลี้ยงทั้งทางจิตใจแล้วก็สบายถึงที่สุด ซึ่งคนที่รู้จักแต่เพียงอาบน้ำอย่างเดียวนี่ จะรู้จักเกลี้ยงในทางจิตใจไม่ค่อยจะได้ แต่ถึงอย่างไรก็ดีก็มีทางสังเกต บางเวลาเรามีความสบายใจ สงบเย็นนั่นน่ะ เวลานั้นจิตของเรามันเกลี้ยงโดยบังเอิญ เราไม่มีปัญญาที่จะทำให้มันเกลี้ยง แต่บังเอิญประจวบเหมาะอย่างใดอย่างหนึ่งมันปล่อยเกลี้ยงไปเป็นบางขณะ เรารู้สึกสบายใจ เยือกเย็นใจ บอกไม่ถูก อย่างนี้เรียกว่าจิตมันเกลี้ยง ก็ควรจะเอาความรู้สึกอันนี้เป็นเครื่องเทียบเคียงเพื่อหาความรู้และทำให้มันเกลี้ยงยิ่งๆ ขึ้นไป ถ้าใครยังไม่รู้เรื่องนิพพานเอาเสียเลย ก็จงตั้งต้นศึกษาจากบางเวลาที่เรามีความสบายใจ เยือกเย็นใจ ไม่ประกอบด้วยกิเลสราคะอะไร ไม่หลงใหลอะไร นี่แหละเวลานั้นจะเป็นเวลาที่ควรจะศึกษาว่าพระนิพพานน่ะมันมีรสชาติอย่างไร เพราะมันมีรสตัวอย่างของพระนิพพานให้ชิมลอง เมื่อพอมีอายุมากขึ้นในโลกนี้ ก็ควรจะตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องจิตใจนี้ให้มากเข้าไว้ บางขณะบางเวลาโดยบังเอิญจะพบจิตที่มันสงบเย็นได้บ้าง แล้วจะได้ค้นคว้าต่อไปจนได้เต็มที่ นี่ความหมายของคำว่า โมกข์ แปลว่าเกลี้ยง ทางกายก็เกลี้ยงอย่างกาย ทางจิตก็เกลี้ยงอย่างจิต ทางวิญญาณก็เกลี้ยงอย่างวิญญาณ ทางกายก็ไม่มีโทษ ไม่มีความผิดพลาดทางกายแม้กระทั่งไม่มีการเจ็บไข้ได้ป่วย ทางจิตหรือทางระบบประสาทนี้ก็ปกติดี ใจคอปกติดี ส่วนทางวิญญาณนั้น มีความรู้ ความคิดนึก ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่โง่เขลางมงายเป็นมิจฉาทิฏฐิเลย นี่มีความถูกต้องทางกาย ทางจิต ทางวิญญาณ เป็นหลักที่จะต้องนำมาทดสอบตัวเองว่าเรามีอะไรแล้ว เรายังไม่มีอะไร เรายังจะต้องทำอย่างไรต่อไป
ในระหว่างที่นั่งอยู่ที่นี่ โดยเฉพาะในเวลาอย่างนี้ ท่ามกลางธรรมชาติอย่างนี้ ธรรมชาติอันนี้มันจะแวดล้อมเข้ามา คือจะเรียกว่าบีบจิตใจก็ได้ ให้หยุด ให้สงบ ให้เย็น ฟุ้งซ่านได้ยาก คุณลองคิดจะฟุ้งซ่านดูบ้างสิ มันฟุ้งซ่านได้ยาก เมื่อมันมาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอย่างนี้ ถ้าอยู่ที่บ้านน่ะมันฟุ้งซ่านได้ง่าย ไม่อยากจะฟุ้งซ่านมันก็คอยแต่จะฟุ้งซ่าน สิ่งแวดล้อมมันต่างกัน ถ้าอยู่ที่บ้านมันไกลธรรมชาติ อยู่ที่นี่มันใกล้ชิดธรรมชาติ แล้วธรรมชาตินี่มันเป็นสิ่งที่หยุด ที่เย็น หรือปกติ แล้วใกล้ชิดธรรมชาติเท่าไรมันก็มีความปกติมากขึ้นเท่านั้น ฉะนั้นรีบศึกษา รีบสังเกต ชิมรสของความปกติแห่งจิตใจนี้เข้าไว้ให้เพียงพอ มันจะเกิดความชอบใจ พอใจ แล้วมันจะติดกลับไปถึงบ้าน เมื่อกลับไปถึงบ้านแล้ว มันก็คงไม่เหมือนเดิมแท้ มันคงจะรู้จักอะไรขึ้นหลายๆ อย่าง เช่น ความไม่สงบเป็นอย่างไร ความสงบเป็นอย่างไร คนที่รู้จักความสงบแห่งจิตใจทำนองนี้เท่านั้นแหละ ที่จะรู้จักคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะฉะนั้นอย่าได้อวดดีไปเลย ว่ามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รู้จักคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั่นมันว่าแต่ปากเท่านั้นแหละ ถ้ารู้จักความเยือกเย็นโดยแท้จริงจากธรรมชาติเช่นว่านี้ นั่นแหละจะรู้ว่า เอ้า, พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี้มันประเสริฐเหลือประมาณ พระธรรมน่ะคือความสงบเย็นในฐานะที่เป็นผล การปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่อให้สงบเย็น พระพุทธเจ้าคือผู้ที่รู้ความสงบเย็น มีความสงบเย็น สอนผู้อื่นให้มีความสงบเย็น เราก็เลยรักพระพุทธเจ้า ขอบคุณพระพุทธเจ้า เลื่อมใสพระพุทธเจ้าขึ้นมาทันที ไม่ว่าแต่ปาก พระสงฆ์ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นพระสงฆ์ที่แท้จริง มันก็ต้องมีความสงบเย็น สอนความสงบเย็น เราก็จะรู้คุณของพระสงฆ์ แต่ถ้าเราไม่รู้ค่าของความสงบเย็นแล้ว เราก็จะไม่รู้คุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างนี้เป็นตัวอย่าง เราเรียนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แท้จริงออกไปจากความสงบเย็น หรือจะเรียนจากความทุกข์ความร้อนก็ได้ ถ้ามีความทุกข์ความร้อนแล้วขจัดออกไปได้เป็นความสงบเย็น นี่ก็จะต้องเนื่องกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ วิธีทำความสงบเย็นนั้นพระพุทธเจ้าท่านค้นพบและท่านสอน และพระธรรมนั่นคือความสงบเย็น พระสงฆ์คือผู้สืบวิธีการอันนี้ไว้จนมาถึงเรา ทำให้โลกนี้มีวิชาความรู้อันนี้เหลืออยู่ ฉะนั้นเราจึงขอบคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขอให้ลองคิดดูให้ดีๆ แล้วเราจะรู้จักพระศาสนา ก่อนหน้านี้ก็รู้จักพระศาสนาแต่ปาก ท่องได้ก็มี จดไว้ในสมุดก็มี ไม่ใช่ศาสนาตัวจริง ศาสนาตัวจริงนี่คือสิ่งที่ทำให้เกิดความสงบเย็นได้จริง ฉะนั้นรีบศึกษาวิธีที่ทำให้สงบเย็นและรู้จักตัวความสงบเย็น แล้วก็จะรู้จักสิ่งที่เรียกว่า ศาสนา สมบูรณ์ยิ่งขึ้นมา แล้วก็จะรู้โดยประจักษ์แก่จิตใจ ไม่ใช่รู้เพราะว่าคนอื่นบอก ไม่ใช่รู้เพราะอ่านหนังสือแล้วก็จำไว้ได้ แต่มันรู้จากความรู้สึก เราจะรู้จากความรู้สึกว่าพระศาสนานี้เป็นเหมือนกับโรงพยาบาล เป็นที่พักฟื้นทางวิญญาณของสัตว์ อย่างการจัดสวนโมกข์นี้ก็จัดเพื่อให้กิจกรรมอันนี้มันเกิดขึ้นได้โดยง่าย สะดวกแก่ทุกคน ให้มีการพักฟื้นทางวิญญาณกันเป็นอย่างน้อย หรือว่าจะเกิดการแก้ไข รักษาพยาบาลทางวิญญาณ เช่นว่ามานี่ถ้าใครมีโรคกลุ้มใจอย่างนี้ซึ่งเป็นโรคทางวิญญาณ นี่ก็จะพูดจากันจนพอจะรู้เรื่อง ว่าจะขจัดมันได้อย่างไร หรือขจัดได้บ้างแล้วก็จะมีการพักฟื้นต่อไปจนกว่ามันจะหายสนิท อย่างนี้ ฉะนั้นจึงอยากจะพูดว่า เราจงพูดกันเถิดเรื่องนี้ ให้เข้าใจข้อนี้ และให้ปฏิบัติในข้อนี้ได้ ก็จะได้รับประโยชน์จากการมาสวนโมกข์ซึ่งพยายามจะจัดไว้ให้เป็นที่ที่ให้ความสะดวกแก่การศึกษาและปฏิบัติพระพุทธศาสนานั่นเอง
ทีนี้ขอให้ดูว่าที่มันจะช่วยได้มากโดยไม่รู้สึก เช่น ธรรมชาติทั้งหลาย พอเข้ามา มันก็เกิดความเปลี่ยนแปลงในจิตใจไปในทางความสงบเย็น เหมือนกับทางฝ่ายวัตถุ ทางฝ่ายฟิสิกส์ เราไปในที่ที่มีอากาศดี มีออกซิเจนมาก มีอะไรมาก เราก็รู้สึกสบาย นั่นมันเรื่องทางวัตถุ ทีนี้ว่าทางจิตใจ เราไปที่ไหนมันเกิดความสงบรำงับในทางจิต มันก็จะรู้สึกสบายในทางจิต เราไม่พูดถึงออกซิเจนเพราะนั่นมันเป็นเรื่องทางวัตถุ จะพูดถึงอำนาจอันหนึ่งของธรรมชาติ เช่น ก้อนหิน ก้อนดิน ต้นไม้ อะไรก็ตาม ที่มันมีอยู่ในสถานที่อย่างนี้ มันคอยแต่จะดึงจิตให้หยุด ให้เย็น ให้สงบ มันก็ได้ผลในส่วนนี้แล้ว มันก็ให้อนามัยทางวิญญาณ หรือว่าการ อย่างน้อยก็พักผ่อนทางวิญญาณ มีคนพูดแต่ครั้งไหนก็ไม่ทราบว่า เคยอ่านพบว่า Solitude ความสงบ เงียบสงัดนี่ is the resting place เป็นที่พักผ่อน of struggle-soul ของวิญญาณที่ดิ้นรน ที่สงบสงัดหรือความสงบสงัด เป็นที่พักผ่อนของวิญญาณที่ดิ้นรน ฉะนั้นใครมีวิญญาณที่ดิ้นรนก็รีบไปหาที่สงบสงัด คำว่า สงบสงัด นี่หมายถึงทางวัตถุ ทางกายนี้ก็มี ทางจิตก็มี ทางวิญญาณก็มี แล้วมันใช้ได้ทั้งนั้นแหละ อย่างที่นี้มันสงบสงัด มันก็ให้พักผ่อนทางกาย รู้สึกเอาเองก็แล้วกัน ถ้ามาอยู่ในที่อย่างนี้ร่างกายยังไม่สงบรำงับหรือใจคอยังไม่สงบรำงับ ก็แปลว่ามันพิเศษมากแล้ว ผิดปกติมากแล้ว ทุกคนจะได้รับความรู้สึกว่า สงบ สบาย เย็นลงบ้าง นี่เป็นธรรมดาเพราะธรรมชาติมันช่วย ทีนี้อยากสงบทางจิต ให้วิเวกทางจิต ก็ทำสมาธิ ก็เกิดความสงบทางจิตเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่งจากความสงบทางกาย ทีนี้ไปศึกษาให้หมดกิเลสเมื่อเกิดความสงบทางวิญญาณ คือสติปัญญาไม่เจืออยู่ด้วยความผิดพลาด มีสติปัญญาที่ถูกต้อง เมื่อสงบลึกลงไปอีกเป็นชั้นที่สาม เป็นสงบทางวิญญาณ
ถ้าจะย้ำอีกทีหนึ่งก็ว่า มาในที่แห่งหนึ่ง สบายกาย เย็นกาย นี่สงบทางกาย และมีจิตเป็นสมาธิตามธรรมชาติก็ได้ นี้สงบทางจิต และได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามที่เป็นจริงของธรรมชาติ ก็ไม่มีความปั่นป่วนทางสติปัญญา ก็เป็นความสงบทางวิญญาณ เราเลยได้ทั้งความสงบทางกาย สงบทางจิต สงบทางวิญญาณ ถ้าการมาที่นี่ได้รับประโยชน์ในลักษณะอย่างนี้แม้แต่เพียงบางระดับเท่านั้น ก็นับว่าได้กำไรมหาศาลเหลือที่จะกล่าวได้ มันเป็นกำไรมหาศาล แต่น้อยคนจะสนใจ แม้ว่าเราจะพยายามอยู่เขาก็ไม่ค่อยสนใจ และส่วนมากก็ไม่ค่อยสนใจ เราจึงถือว่าส่วนมากที่มาที่นี่นั้นไม่ได้รับประโยชน์ตามที่เราต้องการจะให้เขาได้รับ ส่วนน้อยที่สุดได้รับ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับ มาเที่ยวอย่างสถานที่เที่ยวตามธรรมดากันเสียเป็นส่วนใหญ่ นี่ไม่ได้รับประโยชน์ทางวิญญาณ เหตุการณ์เป็นมาอย่างนี้ตั้ง ๒๐ กว่าปีแล้ว เรียกว่าตั้ง ๒๐ กว่าปีแล้วก็ได้ แล้วสวนโมกข์นี่มันก็มีมาตั้ง ๓๐ กว่าปีแล้ว และเพิ่งจะมีกิจกรรมนี้ก็ราว ๒๐ ปี ยังได้รับผลไม่มากเท่าที่หวัง ฉะนั้นจึงบันทึกข้อเท็จจริงอันนี้ไว้โดยรูปภาพที่ผนังตึกด้านนอก ด้านทิศใต้นั่นดูสิ ภาพแจกลูกตา ที่ตึกน่ะ ไม่มีกี่คนที่ยอมรับเอาลูกตา นอกนั้นก็วิ่งไปเป็นฝูงๆ โดยที่ไม่มีลูกตาติดไป กลับไปเสีย หนีไปเสีย ปฏิเสธอยู่ตลอดเวลา นั่นรูปภาพนั้นมีความหมาย นะ สรุปว่าน้อยคนที่จะสนใจและจะยอมรับเอาประโยชน์ในทางวิญญาณ นี่คือสิ่งที่ได้เป็นมาแล้ว เป็นข้อเท็จจริงอยู่ที่นี่ ฉะนั้นจะชอบอย่างไรก็ได้ อาตมาพูดด้วยความหวัง ด้วยความหวังดี เพราะถ้ามาที่นี่มันไม่มีอะไรให้นอกจากเรื่องอย่างนี้ ถ้าไม่ต้องการเรื่องอย่างนี้ ก็ไม่ทราบว่าจะช่วยเหลืออะไรได้ ก็ลองตัดสินใจเอาเอง
ทีนี้จะพูดถึงสิ่งที่จัดขึ้นไว้ ว่ามันจะช่วยเกื้อกูลกับทางวิญญาณอย่างไร ดูให้ดีๆ ว่าไอ้สิ่งที่เราจัดขึ้นไว้ในสวนโมกข์นี่มันมีอยู่ ๓ ชนิดนะ ชนิดหนึ่งเป็นไปตามธรรมชาติล้วนๆ ตามเดิม ไม่ค่อยได้แก้ไขอะไรนัก เรียกว่าตามธรรมชาติได้เลยแม้แต่ที่ตรงนี้ก็เรียกว่าตามธรรมชาติอยู่มาก จนท่านทั้งหลายต้องนั่งกลางดิน โดยเฉพาะบนภูเขา กลางวัดละก็ เรียกว่าตามธรรมชาติ ถ้าไปที่นั่นก็พบธรรมชาติ ถึงธรรมชาติได้โดยง่าย ทางฝ่ายวัตถุ ที่นี่อีกส่วนหนึ่งไม่ใช่ธรรมชาติ เป็นมนุษย์ทำขึ้นล้วนๆ เช่น ตึกหลังนั้นที่เรียกว่าโรงหนัง นี่ไม่ใช่ธรรมชาติ เราสร้างขึ้นล้วนๆ ภาพเขียน ภาพปั้น อะไรทั้งหลายก็เป็นสิ่งที่ทำขึ้น ไม่ใช่ธรรมชาติ แต่ก็เพื่อประโยชน์ให้รู้จักธรรมชาติคือพระธรรม ฉะนั้นไปดูภาพเขียน ภาพปั้น ศึกษาให้ดี จะรู้เรื่องธรรมชาติ นี่ก็มีอยู่หลายชิ้นที่ว่าได้สร้างขึ้น ที่มิใช่ธรรมชาติ ทีนี้อีกชนิดหนึ่งมันกึ่งกลางระหว่างธรรมชาติกับสิ่งก่อสร้าง นี้ได้แก่การดัดแปลงธรรมชาติให้มากลายเป็นสิ่งก่อสร้างเสียครึ่งหนึ่ง เช่น สระนาฬิเกร์นั่น ไปนั่งพิจารณาดู มีต้นมะพร้าวอยู่ ต้นที่ศูนย์กลางสระ นั่นแต่เดิมก็เป็นธรรมชาติ มีต้นมะพร้าวอยู่ตรงนั้น เอาออกเสียให้เหลือต้นเดียวแล้วก็ทำให้เป็นน้ำโดยรอบ เป็นสัญลักษณ์ของพระนิพพานอยู่ท่ามกลางวัฏสงสาร คือสิ่งที่เป็นคู่ๆ ดี-ชั่ว บุญ-บาป สุข-ทุกข์ เหมือนกับวัฏสงสาร ฉะนั้นไปดูที่นั่น ก็ดูธรรมชาติด้วย ดูที่มิใช่ธรรมชาติด้วย แต่ความลึกซึ้งของความหมายมันอยู่ที่ธรรมชาติอันลึกซึ้งคือพระนิพพาน ไปดูพระนิพพานให้ออก จะได้รับความหมาย รู้ความหมายของพระนิพพาน ด้วยการไปดูต้นมะพร้าวต้นหนึ่งอยู่กลางน้ำ ไปอ่านหนังสือที่เขียนไว้หรือว่าถามกันดูเอง ทุกคนก็พอจะอธิบายได้ว่ามันหมายความว่าอะไร ส่วนนี้เราเรียกว่าส่วนที่ดัดแปลงธรรมชาติ คือเป็นครึ่งธรรมชาติและครึ่งมนุษย์สร้าง ในสวนโมกข์มีอยู่ ๓ อย่างอย่างนี้ อย่างหนึ่งมนุษย์สร้าง อย่างหนึ่งครึ่งมนุษย์สร้างและธรรมชาติสร้าง อย่างหนึ่งยังคงเป็นธรรมชาติล้วน ให้ผลต่างๆ กัน ธรรมชาติล้วนๆ นี่ให้ผลลึกมาก คือว่าทำจิตใจให้หยุด ให้เย็น สงบตามธรรมชาติ ไอ้ที่เราสร้างขึ้นนั้นเป็นเพียงอุปกรณ์นะ เช่น รูปภาพก็ดี ภาพปั้นก็ดี อะไรก็ดี แม้แต่การบรรยาย ปาฐกถา เทศนาอะไรก็ดี มันเป็นอุปกรณ์ให้เข้าถึงธรรมชาติ ก็ต้องมีเหมือนกัน ฉะนั้นขอให้ใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ให้มากที่สุดเท่าที่เวลาหรือสติปัญญาจะอำนวยในระหว่างที่พักอยู่ที่นี่ ๒-๓ วัน นี่ก็ยิ่งเป็นเรื่องธุดงค์หนักขึ้นไปอีก คือธุดงค์เข้าไปหาหัวใจของธรรมชาติ ไม่ใช่แค่เดินแบกกรดท่อมๆ ไม่รู้ว่าไปทำไมกัน ธุดงค์ที่แท้ ต้องเดินดุ่มเข้าไปในส่วนลึกของธรรมชาติ เข้าถึงหัวใจของธรรมชาติ รู้ความหมายของธรรมชาติ ซึ่งจะทำได้โดยสะดวกบ้างในสถานที่นี้ เพราะจัดขึ้นด้วยความมุ่งหวังอย่างนี้ เมื่อรู้จักสิ่งทั้ง ๓ ประเภทนี้แล้ว ก็ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ นี่แนะนำให้รู้จักสวนโมกข์ว่ามาแล้วจะได้อะไรบ้าง
ทีนี้เมื่อเข้าใจสิ่งเหล่านี้ตามสมควรแล้ว ก็จะเข้าใจได้ด้วยตนเองว่าทำไมอาตมาจึงกล่าวว่า เราพยายามจะจัดสถานที่นี้ให้เป็นโรงพยาบาลและสถานพักฟื้นทางวิญญาณของมนุษย์เรา ก็พอจะเข้าใจได้แล้ว พอมาที่นี่มันเย็นในทางจิตใจ ถ้ามีโรคกิเลสร้ายกาจติดมา มาพูดมาจา มาศึกษา หารือ ขจัดออกไปได้ นี่ก็เป็นการขจัดโรคทางวิญญาณ ทำหน้าที่โรงพยาบาลของพระพุทธเจ้า นี่คือความเป็นโรงพยาบาล ทีนี้ก็พัก พักผ่อน ต่อไปก็มันจะดีขึ้นๆ หรือหายสนิท ก็เป็นสถานที่พักฟื้นทางวิญญาณด้วยเหตุนี้ ถ้าท่านผู้ใดกล้าพูดหรือเชื่อว่าตัวเองไม่มีโรคทางวิญญาณ ก็ไม่มีปัญหาเหล่านี้ ไม่ต้องใช้อะไรอย่างนี้ก็ได้ แต่ถ้าใครรู้สึกตัวเองว่ามีโรคทางวิญญาณ รีบใช้ให้ตรงตามหลักการที่ได้มีอยู่ ไอ้โรคทางวิญญาณนี้บางทีจะลำบากในการที่จะรู้จักมัน เพราะโรคทางร่างกายมันแสดงเปิดเผยมาก เห็นได้ง่าย โรคทางระบบประสาทก็ยังแสดงเห็นได้ง่าย โรคทางจิต ทางวิญญาณ ไม่ค่อยแสดงให้เห็น โดยเฉพาะโรคทางวิญญาณแล้วยากที่จะแสดงให้เห็น เพราะอะไร ขออภัยที่ต้องพูดว่าทุกคนมันเป็นโรคทางวิญญาณเหมือนๆ กันไปเสียหมด แล้วมันจะไปรู้ว่าใครเป็นโรคทางวิญญาณได้อย่างไร เมื่อทุกคนมันเป็นโรคอย่างนั้นกันเสียหมด ก็คิดว่าเราไม่ได้เป็นโรคอะไรกันทุกคน นี่คือการที่มนุษย์ไม่รู้ว่าเรากำลังเป็นโรคทางวิญญาณ เพราะว่าเรามีกิเลสคือ ราคะ โลภะ โทสะ โกธะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ อย่างแรงกล้าเหมือนๆ กันไปทุกคน จนไม่มีใครจะช่วยดูให้ใคร ว่าใครเป็นโรคหรือใครไม่เป็น มันเป็นกันเสียอย่างนี้ทั้งหมด ต่อเมื่อได้สังเกตว่า เอ้า, สิ่งเหล่านี้นี่มันร้อน มันเป็นทุกข์ มันไม่เยือกเย็น เรียกว่ามันไม่สะอาด ไม่สว่าง ไม่สงบ ฉะนั้นจึงสกปรก มืดมัว เร่าร้อน นั่นเรารู้สึกว่ามันต้องมีโรคแน่ มีปัญหาที่ต้องแก้ ก็คือโรคทางวิญญาณนั่นเอง นี่เป็นเหตุให้คนในโลกนี้ไม่รู้จักว่าเรากำลังเป็นโรคทางวิญญาณ เพราะเป็นเหมือนๆ กันไปหมด ไม่มีใครจะแยกได้ เว้นไว้แต่เขาจะศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า จึงจะรู้จักแยก
ยิ่งกว่านั้นอีก คนส่วนมากเขาไม่ เขาไม่สนใจว่าเราจะต้องการเอาไอ้ความสุขหรือประโยชน์ในทางวิญญาณไปทำไม แล้วมีเงินให้มากๆ มีอำนาจวาสนา มีพวกพ้องบริวารมากๆ ก็พอแล้ว เขาเรียกว่า มีกิน มีกาม มีเกียรติ มันมากแค่นั้นก็พอแล้ว ไม่ต้องพูดถึงไอ้เรื่องทางวิญญาณ พอเกิดไปนิยมกันอย่างนี้เสียหมด มันก็ไม่มีใครสนใจเรื่องทางวิญญาณ นี่คือเป็นคนที่ทนทรมานเหมือนกับตกนรกอยู่ตลอดเวลา เป็นความร้อนที่แผดเผาแล้วก็ไม่แสดงความรู้สึกว่าแผดเผา เป็นความผูกพันที่ไม่แสดงการผูกพัน ไอ้คนนั้นก็ดิ้นรนกลิ้งเกลือกอยู่ในสิ่งเหล่านั้นเหมือนๆ กันไปทั้งโลก นี่ปัญหาที่มีอยู่ในเวลานี้ ฉะนั้นเราจึงมีการรบราฆ่าฟัน มีการเบียดเบียนกันหนักยิ่งๆ ขึ้นไปทุกที ขอให้ดูที่กรุงเทพฯ ปัญหาอาชญากรรมนี่ปีนี้เป็นอย่างไร ปีกลายเป็นอย่างไร ก่อนปีกลายโน้นเป็นอย่างไร มันจะเห็นได้ว่า ต่างๆ ต่างกันมากนะ เหมือนกับวิ่ง นี่คือความเป็นโรคทางวิญญาณหนักขึ้นๆ หนักขึ้นๆ ทั่วโลกก็เป็นอย่างนี้ แต่เรารับผิดชอบบ้านเราก่อน ประเทศไทยนี้ก่อน จึงได้ยกตัวอย่างที่กรุงเทพฯ อยู่ที่นี่ก็ได้ยิน อ่านทางข่าวทางหนังสือพิมพ์ มันก็รู้ว่าความไม่มีศีลธรรมนี่กำลังลุกลาม ระบาด กลางถนนหนทางทั่วไปทั้งเมือง ความไม่ปลอดภัยแก่ชีวิตร่างกาย ทรัพย์สมบัติ มันจึงมากขึ้นทุกที โรคทางวิญญาณเป็นภัยแก่กล้าถึงขนาดที่ไม่มีใครรู้ว่านี้เป็นโรคทางวิญญาณ แล้วไปมุ่งหมายแก้ไขกันแต่ในทางวัตถุ ทางเศรษฐกิจ ทางการเงิน ทางอะไร (นาทีที่ 40:08) หรือทางโน้น มันก็ไม่ดีขึ้น รัฐบาลไหนรัฐบาลนั้นแหละ มุ่งหมายแต่จะแก้ไขทางเศรษฐกิจ ทางวัตถุ ทางการเมืองได้ ก็ไม่เห็นมันมีอะไรดีขึ้น กลับตกหนักลงไปทางศีลธรรม ทางอาชญากรรม เพราะไอ้เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเมือง เรื่องอะไรก็ตาม มันเป็นเรื่องที่เพิ่มกิเลส มันไม่บรรเทากิเลส แม้จะทำให้มันมากขึ้น พัฒนามันได้ มันก็เพิ่มกิเลส แล้วก็มีปัญหามากขึ้น ทั้งโลกจะต้องรบราฆ่าฟันกันโดยตรงโดยอ้อม ไม่มีสันติสุข เพราะเขาเป็นโรคทางวิญญาณกันทั้งโลก แล้วคนเหล่านั้นเขาก็ถือว่าเขาไม่เป็น เขาก็เห็นว่าไอ้คนที่มาเกี่ยวข้องกับศาสนานี้ คนบ้าๆ บอๆ ทั้งนั้น ก็มีคนจำนวนใหญ่จำนวนหนึ่งจะพูดว่าไอ้คนมาสวนโมกข์นี่มันคนบ้าๆ บอๆ ทั้งนั้นแหละ ไม่จำเป็นอะไรที่จะต้องมา หาเรื่องให้มันมากเรื่องกันไปเปล่าๆ แต่ว่าขอให้ไปคิดดูว่ามันมีเรื่องหรือไม่มี มีปัญหาส่วนนี้หรือไม่มี รู้สึกว่าพวกฝรั่งก็สนใจกันมากขึ้นคือมาที่นี่มากขึ้น ล้วนแต่พูดว่ามันไม่ไหว, ไม่ไหว ไอ้ที่กำลังเป็นอยู่นั้นมันไม่ไหว, ไม่ไหว ใช้คำว่าอย่างนี้ อยากจะพบอะไรที่แปลกออกไป ที่ใหม่ออกไป ในการที่จะมีชีวิตอยู่วันหนึ่งๆ นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วเขาก็ขวนขวายที่นั่นที่นี่ คงไปทั่วไปหมดแหละ ไม่ใช่มาที่สวนโมกข์แห่งเดียว แต่เรารู้ได้ว่ามันมามากขึ้นและมีปัญหาอย่างเดียวกันนี้ นี่เรียกว่า วิญญาณมันดิ้นรนระส่ำระสายมากขึ้น จนไม่รู้จะแก้กันอย่างไร เพราะเขาเข้าใจผิด แยกออกไปเสียคนละเรื่อง แล้วเห็นว่าเรื่องหนึ่งไม่จำเป็นเลย นี่ขอให้ช่วยกันจำไว้ทุกๆ คนเถิดว่า ความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวง ว่าธรรมะไม่จำเป็น เรามีวัตถุสมบูรณ์แล้วปัญหาก็จะหมด นี่เป็นวัตถุนิยมจัดถึงขนาดนี้ ปัญหาไม่มี ถ้าเรามีวัตถุเจริญสมบูรณ์แล้ว แต่นี่เรายังยืนยันอยู่ตามเดิมว่าปัญหายังเหลืออยู่ ซึ่งทำให้มนุษย์ไม่มีความสุข แม้ว่าจะเจริญทางวัตถุสักเท่าไรก็ไม่มีความสงบสุขในทางจิตใจ ฉะนั้นจึงท้าทายว่า ให้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทุกแขนงในโลกนี้มันเป็นไปถึงที่สุดเถิด มนุษย์ก็ยังไม่มีความสุข เมื่อมันยังมีปัญหาทางวิญญาณเหลืออยู่
ตัวอย่างง่ายๆ ที่จะมองเห็น ว่าที่เราทำงานที่ออฟฟิศหรือเรียนหนังสือก็ตาม ทำงานที่ออฟฟิศก็ตาม ทำไมจะต้องกลัดกลุ้มเร่าร้อน มีจิตใจเหมือนกับตกนรกล่ะ ยังยากที่จะทำงานได้ดี งานนั้นก็ยากที่จะสำเร็จเพราะว่าใจของเรามันกลัดกลุ้ม ถ้าจิตใจของเราเยือกเย็นสบายดี เราก็คงทำงานได้ดีกว่านั้น ทำงานที่ออฟฟิศ ทำงานหาเงินนั่นแหละ ถ้าเรามีจิตใจที่ดี ที่เยือกเย็น เราจะทำได้ดีกว่านั้น เขาไม่ได้คิดกันถึงข้อนี้ก็เลยไม่สนใจธรรมะ ว่าธรรมะมันมีประโยชน์อย่างนี้ นักเรียนจะเรียนหนังสือนี่ ถ้าเรียนด้วยจิตใจที่เป็นโรคทางวิญญาณ เป็นเจ้าชู้ตั้งแต่เล็กหรืออะไรทำนองนี้ มันก็เรียนไม่ได้ ต้องเรียนด้วยจิตใจที่สงบก็จะเรียนได้ดี ถ้ามองเห็นข้อนี้แล้วจะเห็นว่าไอ้เรื่องทางวิญญาณนี้จำเป็นแล้ว จำเป็นแม้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก จำเป็นตั้งแต่ยังเล่าเรียน จำเป็นตั้งแต่เริ่มทำการงาน แล้วก็อยู่ไปจนทำประโยชน์ใหญ่หลวงกว่าจะตลอดชีวิตไปทีเดียว ฉะนั้นถ้าเราไม่หวังอะไรมากไปกว่านี้ ก็หวังแต่เพียงว่าเราจะเป็นคนที่มีชีวิตอยู่วันหนึ่งๆ ด้วยความเยือกเย็นก็แล้วกัน และสนุกสนานได้ในการงาน คำพูดนี้ไม่มีใครฟังและไม่มีใครยอมเชื่อ ว่าไอ้การทำงานนั่นแหละคือสนุก เป็นสุข เป็นการปฏิบัติธรรมะอยู่ในตัว เดี๋ยวนี้เรามีโรคทางวิญญาณอยู่เต็มที่ เราเลยไม่นึกสนุก ไม่รู้สึกสนุกในการทำงาน เราอยากจะเลิกงานเร็วๆ จะกลับไปเล่นไปหัว ไปกิน อะไรต่างๆ ไม่รู้สึกสนุกในการงานเพราะจิตใจมันเป็นโรคทางวิญญาณ ลองจิตใจเกลี้ยงเกลาจากโรคทางวิญญาณเถอะ การทำงานนั้นแหละจะสนุก ทำนาก็ได้ ทำอะไรก็ได้ ที่ว่าเหน็ดเหนื่อยเหงื่อไหลไคลย้อย หรือทำงานที่ออฟฟิศก็ได้ มันก็จะสนุกไปหมด ถ้าจิตปราศจากโรคทางวิญญาณแล้วก็จะรู้สึกสนุกในการทำงานที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น เดี๋ยวนี้มันมีโรคตัวกูของกู อยากแต่จะไปหาความสนุกสนานเอร็ดอร่อยทางเนื้อทางหนัง ไอ้งานมันก็เหมือนกับสิ่ง เหมือนกับยาขม หรือเหมือนกับตกนรกก็ได้ อยากจะถึงเวลาหยุดงานเร็วๆ กลับบ้านไปเล่นไปหัว ทีนี้อยากจะให้มองกันในทางที่ตรงกันข้ามว่า ไอ้งานนั่นแหละประเสริฐที่สุดเพราะมันทำให้เราฉลาดยิ่งขึ้นทุกที ถ้าเราทำงานดี งานอะไรก็ได้ งานออฟฟิศก็ได้ ทำนาก็ได้ ถ้าเราทำงานได้ดีเราจะต้องประกอบด้วยคุณธรรมมากมายหลายข้อทีเดียว เช่น ความอดทน เรียกว่าขันตี นี่ก็ต้องมี สติสัมปชัญญะก็ต้องมี ความเฉลียวฉลาดอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้นก็ต้องมี แล้วก็รู้ความจริงว่าอะไรเป็นอะไร ชีวิตคืออะไร เงินคืออะไร บุตร-ภรรยา-สามีคืออะไร ก็จะสอนให้รู้มากขึ้นๆ ในการที่ทำงาน ในที่สุดก็จะรู้ถูกต้องว่าควรทำอย่างไร ควรมีความรู้สึกอย่างไร นี่เขาเรียกว่าการทำงานนั่นแหละคือการปฏิบัติธรรม ถ้าไม่ทำอะไรลงไปสักอย่างหนึ่งแล้วไม่มีหวังที่จะมีธรรมะแม้แต่ข้อเดียว ธรรมะมีหลายสิบหลายร้อยข้อ จะมีมาเมื่อเราทำงาน คือมีธรรมะจริง นอกนั้นมีแต่ธรรมะตัวหนังสือ อยู่ในสมุด อยู่ในพระไตรปิฎก ไม่มีประโยชน์อะไร ต้องมาอยู่ที่เนื้อที่ตัวของคนที่ทำงาน สัจจะ ความจริงใจนี่ต้องมีต่อเมื่อทำงาน เหนื่อยเข้าก็ไม่ยอมทิ้ง ตั้งใจทำจนลุล่วงไป แล้วไม่คด ไม่โกง ไม่คอรัปชั่น นี่เรียกว่าทำงานจึงจะมีสัจจะขึ้นมา เหมือนกับมีธรรมะบังคับตัวเอง ธรรมะสูงสุด การบังคับตัวเอง ไม่พ่ายแพ้แก่กิเลส มันก็ต้องมีเมื่อทำงาน ถ้าไม่บังคับตัวเองเดี๋ยวมันก็ออกนอกลู่นอกทาง เดี๋ยวนี้มันคอรัปชั่นกันเต็มไปทั้งบ้านทั้งเมืองเพราะมันไม่บังคับตัวเอง ไม่บังคับความรู้สึก ขันตี อดทนนี้มันก็ต้องมี มันจึงจะทำงานได้ วิริยะ ความพากเพียรก็ต้องมี ความกล้าหาญก็ต้องมี การตัดสินใจอันถูกต้องรวดเร็วก็ต้องมี สติสัมปชัญญะในทุกระดับก็ต้องมี การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน สังคมที่ดีก็ต้องมี นับไม่ไหว ธรรมะแต่ละข้อๆ ที่มีอยู่ในการทำงาน ถ้ารู้สึกอย่างนี้ก็จะสนุกในการทำงานแม้ว่างานนั้นจะต้องเหงื่อไหลไคลย้อยอยู่กลางแดดกลางฝน นี่ก็เพราะว่าจิตนั้นมันไม่มีโรคทางวิญญาณ มันจึงสนุกในการงาน จึงเห็นว่าการทำงานนั้นคือการปฏิบัติธรรม ขอให้เอาไปคิดด้วยว่าจริงหรือเปล่า
เราพูดให้เขาจำง่าย แต่มันสั้นไปเขาก็ยิ่งฟังไม่ถูก เขาหาว่าบ้าเสียก็มี คือคำพูดที่เคยพูดมาเรื่อยๆ ว่า จิตว่างแล้วก็การงานเป็นสุข พอจิตมันวุ่นแล้วการงานเป็นทุกข์ ยังจะยืนยันอยู่จนเดี๋ยวนี้ ฉะนั้นขอให้ช่วยจำเอาไปด้วย เมื่อใดจิตวุ่น การงาน หน้าที่การงานก็ต้องเป็นทุกข์ พอเมื่อใดจิตว่าง การงาน หน้าที่การงานจะเป็นสุข ไม่ต้องไปกินไปดื่ม ไม่ต้องไปบ้ากาม บ้าอะไรกันที่ไหน มีความสุขได้อย่างยิ่งในการทำงานนั้นเอง แล้วมันจะมีอะไรเกิดขึ้นน่ะคิดดูเถิด มันไม่สุรุ่ยสุร่าย มันไม่มีการใช้จ่ายที่ทำให้รายรับไม่พอจ่าย มันไม่มีปัญหาเหล่านั้นเพราะมันหาความสุขได้จากการงาน หรือที่เขามันคิดกันว่าจะไปหาความสุขจากการเล่นหัว การพักผ่อน การกินให้วิเศษวิโส การบำรุงบำเรอที่ไม่มีขอบเขต มนุษย์ทั้งโลกกำลังเป็นอย่างนี้ รวบรวมเงินทองไว้มากเพื่อไปซื้อความสนุกสนานเอร็ดอร่อย โดยที่ไม่รู้ว่านั้นไปซื้อความเป็นทาสเอามา ความเป็นทาส เป็นบ่าว เป็นขี้ข้าของกิเลส เราหาเงินไว้มาก ก็ไปซื้อเอาความเป็นทาสมาสุมหัวตัวเอง ให้ต้องลำบากลำบนในเรื่องเอร็ดอร่อยสนุกสนาน แต่เขากลับว่านี้ไม่ใช่เป็นทาส นี้เป็นอิสระ นี้เป็นของดีของประเสริฐที่ลุ่มหลงกันอยู่ ไอ้ทางธรรมะนี้ เรามันมองไปในแง่ที่ว่าเป็นทาส ถ้าเราไปหลงในความเอร็ดอร่อยสนุกสนาน นั่นคือเราไปหลงในความเป็นทาส เป็นทาสของตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นทาสของผิวหนัง นี่เป็นกันมาก อาตมาจึงต้องพูดว่า เมื่อเป็นโรคทางวิญญาณแล้วก็จะเห็นกงจักรเป็นดอกบัว คือเห็นความเป็นทาสของตา หู จมูก ลิ้น กาย แหละว่าดี พอเราหายโรคทางวิญญาณแล้วเราจะเห็นว่า โอ้, อย่างนั้นเป็นทาส เราไม่เอา เราต้องการความเป็นอิสระ ไม่เป็นทาสของความเอร็ดอร่อย ทีนี้คนทั้งโลกมันเป็นทาสของความเอร็ดอร่อย เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นทาสของเงินเพราะว่าเงินมันซื้อความเอร็ดอร่อยมาได้ มันก็เลยเป็นทาสของเงินหรือเป็นปัจจัยอะไรก็ตามที่ให้ได้มาซึ่งเงิน แล้วเงินนี้ก็เป็นปัจจัยที่ให้ได้ความเอร็ดอร่อย มันก็เป็นเรื่องเฟ้อ แล้วเป็นเรื่องหลงใหลอย่างยิ่งที่จะทำให้มนุษย์นี้ตกอยู่ในกองทุกข์ ถ้าทำให้ถูกต้องพอดีในระหว่างสิ่งทั้งสองแล้วจะไม่มีความทุกข์ แล้วจะไม่มีความยุ่งยากลำบาก จะไม่มีปัญหามาก คนเราในโลกนี้จะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมากเพราะเส้นประสาทมันดี เพราะจิตมันดี เพราะความรู้มันถูกต้อง เดี๋ยวนี้เราเป็นอยู่ผิดธรรมชาติ ไปจากธรรมชาติ ถูกทรมานด้วยจิตใจทั้งกลางวันกลางคืน เราจึงเป็นโรคภัยไข้เจ็บเหมือนที่กำลังเป็นอยู่ในโลกนี้ โรคมันก็พัฒนาตัวมันเองเหมือนกัน มีโรคใหม่ๆ เกิดขึ้นเรื่อย จนต้องทำยาใหม่ๆ เกิดขึ้นเรื่อย มันก็ไม่แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะโรคใหม่ๆ มันก็พัฒนาตัวเองขึ้นมาเรื่อยๆ เพราะความผิดพลาดของมนุษย์ในการพัฒนากาย หรือจิต หรือวิญญาณของตน ไม่ถูกต้อง มนุษย์ทำความฉิบหายให้แก่ตัวเอง แล้วก็ไปเรียกว่าทำพัฒนา ฉะนั้นมนุษย์ต่อไปถ้าขืนพัฒนากันอยู่อย่างนี้ก็จะมีแต่ความทุกข์มากขึ้น แม้ว่าทางวัตถุมันจะสวยงาม เขียวแดง หรูหรา สนุกสนาน สะดวกสบายอะไรก็ตาม แต่ความทุกข์มันยังจะมากขึ้นตามสัดส่วนนั้นๆ เดี๋ยวนี้ก็มีคนเริ่มมองเห็นกันบ้างแล้วจึงมาสนใจธรรมะ มีอะไรที่เข้ามาช่วยทำความสมดุลระหว่างวัตถุกับจิตใจนี้ให้มีการพัฒนาเคียงคู่กันไป มนุษย์ก็จะมีความสุขอย่างที่เรียกว่าเป็นโลกพระศรีอาริย์ได้ ไม่ใช่โลกพระศรีอาริย์อย่างที่พวกคอมมิวนิสต์เขาเอามาเป็นเครื่องมือโฆษณา แต่เราหมายถึงโลกของพระศรีอาริย์ตามหลักของพระพุทธศาสนา คือความสมบูรณ์เกี่ยวข้องกันอย่างถูกต้องระหว่างวัตถุกับจิตใจ ซึ่งมนุษย์มีความถูกต้องทั้งทางฝ่ายร่างกายและทางฝ่ายจิตใจ เลยสบายไปหมด พอใจไปหมด ยิ่งกว่าเกิดในสวรรค์เสียอีก เพราะคำว่าสวรรค์นั้นน่ะมันเป็นความมัวเมาชนิดหนึ่ง ฉะนั้นก็เลยเป็นเรื่องของนิพพานที่ไม่มัวเมา แล้วก็สงบเย็นโดยแท้จริง
นี่ความมุ่งหมายของพระศาสนาเป็นอย่างนี้ ความมุ่งหมายของพระธรรมเป็นอย่างนี้ สวนโมกข์จัดขึ้นก็เพื่อสนองความประสงค์อันนี้ ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่ามีความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน ตั้งใจไว้อย่างเดียวกัน เพื่อจะให้เป็นสถานพยาบาลหรือที่พักฟื้นทางวิญญาณของคนเราที่จะก้าวหน้าต่อไปในทางวัตถุ รู้จักป้องกันโรคทางวิญญาณไม่ให้เกิดขึ้น แล้ววัตถุก็จะรับใช้มนุษย์ให้ได้รับความสะดวกสบายชนิดที่ไม่เป็นทุกข์เป็นโทษ ไม่เป็นพิษไม่เป็นภัย ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วความเจริญทางวัตถุจะเป็นทุกข์เป็นโทษ เป็นพิษเป็นภัย อย่างแก้กันไม่ได้
ได้ทราบว่าหลายคนกำลังจะเป็นหมอเป็นแพทย์ต่อไปข้างหน้า ก็ขอให้สนใจเรื่องหมอหรือแพทย์ในทางฝ่ายวิญญาณไว้บ้างสักส่วนหนึ่ง โดยทราบไว้เถิดว่าพระพุทธเจ้าก็เป็นแพทย์ทางวิญญาณ มีคำกล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้าโดยพระอรหันต์บางองค์ว่า พระพุทธเจ้านี้เป็นแพทย์ของโลกทั้งปวง สัพพะโลกะ ติกิจฉะโก เป็นแพทย์ของโลกทั้งปวง ตรงนี้อยากจะให้ทราบคำพูดสักคำหนึ่งว่า เตกิจฉะโก นั่นแหละคือแปลว่า แพทย์สำหรับรักษาโรคโดยตรง แก้ไขโรคโดยตรง ถ้าคำว่า เวชโช ที่มาเป็นคำว่าแพทย์ในภาษาไทยนี่ ก็เป็นผู้มีความรู้ เป็นหมอความก็ได้ เป็นหมอเล่นกลก็ได้ เป็นอะไรก็ได้ เรียกว่า เวชชะ หรือ เวชโช หรือแพทย์นี่ได้ทั้งนั้น ที่มาเป็นแพทย์นี่ ถ้าการแก้ไขโรคจริงๆ ไม่ได้ใช้คำว่า เวชโช แม้จะใช้ก็เรียกว่าพลอยใช้อย่างกำกวม ใช้คำว่า เตกิจฉะโก ผู้แก้ไขซึ่งสิ่งที่ต้องแก้ไข ฉะนั้นขอให้เป็นแพทย์ชนิด เตกิจฉะโก คือแก้ไขโรคโดยตรง แต่เดี๋ยวนี้ในภาษาไทยเราใช้คำว่า แพทย์ ก็เอาเถิด ก็คือว่าแพทย์หรือเวชชะ แต่มันเป็นเวชที่มีความรู้อันบริสุทธิ์ มีการแก้ไขสิ่งที่ควรแก้ไขโดยตรง แก้ไขโรคทางกายด้วย ทางประสาทด้วย ทางจิตด้วย แล้วก็เลยถึงทางวิญญาณด้วย แล้วจะเป็นแพทย์ที่สมบูรณ์ที่สุดในฐานะเป็นพุทธบริษัท ก็จะเป็นแพทย์ที่สมบูรณ์กว่าแพทย์ทั้งหลายในโลกที่ไม่รู้เรื่องของพุทธบริษัท ซึ่งจะแก้ไขโรคทางวิญญาณด้วย เรื่องนี้ไม่ต้องลงทุนอะไร ไม่ต้องเหนื่อยยากลำบากอะไรมากไปกว่าธรรมดาเลย เพียงแต่ขอให้สนใจและสังเกตไปเรื่อยๆ เท่านั้น จะมีความรู้เพิ่มขึ้นๆ จะแก้ไขโรคทางวิญญาณได้มากขึ้น พร้อมกับที่เรามีอาชีพเป็นแพทย์ในทางรูปธรรม ทางร่างกาย นี้ก็เป็นสิ่งที่ควรคิด เพราะมนุษย์จะต้องทำสิ่งที่ดีที่สุดและมากที่สุดที่มนุษย์ควรจะทำได้ ดังนั้นถ้าเราจะเป็นแพทย์แล้วก็ขอให้เป็นแพทย์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางวิญญาณดีกว่า ไม่ได้ลงทุนอะไรเพิ่มขึ้น นอกจาก การสังเกต ศึกษา เข้าใจชีวิตมากขึ้นเท่านั้นแหละก็พอ ถ้าเป็นแพทย์ทางวิญญาณแล้วก็จะป้องกันโรคทางอื่น คือทางจิต ทางกายได้ด้วย ไม่มีการทำผิดทางสติปัญญาแล้วโรคทางกายก็เกิดขึ้นได้ยาก ทางวิญญาณนั้นคือทางสติปัญญา ถ้าเราไม่บกพร่องทางสติปัญญา ไม่มีโรคทางสติปัญญา แล้วโรคทางจิตหรือทางประสาทหรือทางกายนี้เกิดได้ยาก เกิดได้น้อยมาก เดี๋ยวนี้เราทำผิดในเรื่องโรคทางสติปัญญา เราก็เป็นโรคทุกทาง หนาแน่นไปหมด จนหาทุน หาเวลา หากำลัง จะมาแก้ไขกันไม่หวาดไหวในโลกนี้
ทีนี้เอาละเป็นอันว่า เราจะต้องนึกถึงโรงพยาบาลหรือสถานพักฟื้นทางวิญญาณขึ้นมาอีกส่วนหนึ่งด้วย ควบคู่กันไปกับโรงพยาบาลหรือสถานพักฟื้นโรคทางกายหรือทางประสาท ทางธรรมะนี่ ถ้าภาษาธรรมะนี่เขาจัดโรคทางประสาทนี่มาไว้ฝ่ายกาย เขาเอาคำว่า วิญญาณหรือจิต ไปไว้ทางฝ่ายสติปัญญา อย่าให้สติปัญญาเป็นโรคนั่นแหละคือไม่มีโรคทางจิตหรือทางวิญญาณ แต่ที่ถือกันอยู่ในโลกนี้ ไอ้โรคทางจิตหรือทางประสาทนั้นน่ะไปเรียกว่าโรคจิตเสียแล้ว คำว่า จิต เอาไปใช้เป็นโรคที่เนื่องกับกายเสียแล้ว อาตมาจึงต้องใช้คำว่า วิญญาณ เพื่อจะแยกตัวออกไปเป็นเรื่องของสติปัญญา
ฉะนั้นมาสวนโมกข์ ก็ขอให้มาเพื่อจะศึกษา สนใจ แก้ไขโรคทางสติปัญญา โรคที่จะเกิดขึ้นแก่สติปัญญาหรือที่เรียกว่าโรคทางวิญญาณ ก็จะได้รับผลคุ้มค่าของการมาสู่สถานที่นี้ซึ่งได้จัด ได้เตรียม ได้กระทำทุกอย่างทุกทางเพื่อให้ความสะดวกแก่กิจกรรมอันนี้ คือการรักษาโรคทางวิญญาณ นี่ที่ตั้งปัญหาขึ้นว่า มาสวนโมกข์แล้วจะได้อะไรบ้าง ก็ขอให้ได้สิ่งที่กำลังกล่าวอยู่นี้ ก็จะไม่เสียที จะได้ผลเกิดคาด เป็นอันว่าวันนี้เราพูดกันแต่เรื่องนำหรือนำเรื่อง ว่าจะใช้สวนโมกข์ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร ในฐานะที่มันเป็นอะไร สรุปคำพูดทั้งหมดไว้ว่ามันเป็นโรงพยาบาล เป็นสถานพักฟื้นทางวิญญาณสำหรับมนุษย์ทุกคน พอกันทีสำหรับการบรรยายในวันนี้ เวลาที่เหลืออยู่นี้เล็กน้อยนี้ เป็นเวลาสำหรับถามปัญหาหรือตอบปัญหา ฉะนั้นถ้าท่านผู้ใดมีปัญหา ก็ว่ามาได้เลย
อยู่ในโรงพยาบาลทางวิญญาณน่ะปัญหามันพลอยหมด มันน่าหัว หลายๆ คนเขาเตรียมปัญหามาแยะ หลายสิบข้อที่มาถึงแล้วจะถาม พอมาเจอหน้าเข้าจริง ไม่รู้ไปไหนหมด เขาบอกปัญหาเขาหายไปไหนหมดไม่รู้ เลยไม่ได้ถามแม้แต่ข้อเดียว เป็นมาอย่างนี้เรื่อยๆ นี่อานิสงส์ของที่พักฟื้นทางวิญญาณ ทำให้ปัญหาไม่ค่อยมี ลอง, ลอง, ลองว่ามาสิถ้าปัญหามี ไม่ต้องเกรงใจ
ผู้ถาม : อาจารย์ครับ คือว่าสติกับปัญญาใช่ไหมครับที่จะเป็นตัวทำให้เรารู้ว่าเรานี่กำลังมีโรคทางวิญญาณ หรือไม่ก็ไม่เผลอว่าเรานี่กำลังมีโรคทางวิญญาณอยู่ คือสติกับปัญญาใช่ไหมครับ
พุทธทาสภิกขุ : นี่มันเกี่ยวกับคำพูด ไอ้คำพูดนี่มันมีความหมายเฉพาะ แต่ละคำมันมีความหมายเฉพาะ ฉะนั้นเราต้องไปศึกษา ก็พอจะรวมความได้ว่า สติกับปัญญานี่จะแก้ปัญหาจะแก้โรคได้ แต่ที่เห็นอยู่ สตินี่เป็นเรื่องป้องกัน ปัญญาเป็นเรื่องแก้ไข ใช้สติเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา ปัญญาจะเป็นเครื่องแก้ไขปัญหา ฉะนั้นสติก็จะต้องป้องกันโรคทางวิญญาณได้ ปัญญาก็จะรักษาโรคทางวิญญาณได้ อย่างนี้เป็นหลักที่มีอยู่ทั่วๆ ไป ทีนี้ที่จะทำให้เรารู้ว่าเราเป็นโรคทางวิญญาณหรือไม่ มันก็รวมอยู่ในคำว่า ปัญญา รู้จักสังเกต รู้จักศึกษา จนกระทั่งรู้ว่าเรามันเป็นโรคทางวิญญาณ เอ้า, นี่ก็ปัญญาอีก จะค้นคว้าแก้ไขต่อไป เพราะคำว่าปัญญา มันกว้างขวางเหลือเกิน มันมีคำแปลว่า รู้รอบคอบ ปะ ตัวนั้นมันแปลว่า หมด หรือ สิ้น หรือ รอบคอบ ญา แปลว่า รู้ ปะ กับ ญา คือรู้รอบคอบ รู้หมดสิ้น แต่ออกเสียงออกเสียงเป็น ปัญญา แถมตัว ญ ให้อีกตัวหนึ่งเปล่าๆ มาสะกดกันเข้าเป็น ปัญญา ตัวศัพท์แท้ๆ มัน ปะ กับ ญา ญา แปลว่า รู้ ปะ แปลว่า ครบหมดหรือรอบคอบ ก็เลยรู้ทุกอย่าง รู้ความทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ทางให้ถึงความดับทุกข์ เป็นเรื่องของปัญญา ก็จะพอพูดได้ว่าสติปัญญาจะแก้ปัญหาได้หมด ส่วนหลักปฏิบัติอื่นๆ ตามสติปัญญานั้นมันก็ยังมีอยู่อีก เอ้า, มีปัญหาอะไรอีก ไม่ต้องเกรงใจ อยากจะถามก็ถาม
ผู้ถาม : ดิฉันขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า การทำสมาธินี่จะเป็นการทำให้หลุดพ้นซึ่งเกี่ยวกับโรคทางวิญญาณ ทำให้มันสงบและสบายขึ้นได้หรือไม่โดยทำสมาธิอย่างเดียว
พุทธทาสภิกขุ : ถามว่าโดยการทำสมาธิอย่างเดียวจะแก้ปัญหาโรคทางวิญญาณได้หรือไม่ นี่ก็เป็นเรื่องภาษาอีกแหละ เป็นคำที่ใช้พูด มันมีคำว่า สมาธิภาวนา แปลว่า ทำให้เจริญด้วยสมาธิหรือทำความเจริญด้วยสมาธิ ถ้าใช้คำนี้ คือคำว่าสมาธิภาวนาแล้วก็แก้โรคทางวิญญาณได้ หรือแก้ปัญหาได้ทุกกรณี แต่ถ้าสมาธิล้วนๆ ซึ่งหมายถึงความสงบแห่งจิต เป็นฌาน เป็นสมาบัติ อย่างนั้นยังไม่แก้โรคทางวิญญาณได้ แต่ต้องเอาสมาธินั่นแหละมาใช้เป็นเครื่องมือทำให้เกิดปัญญาอีกทีหนึ่ง ก็แก้โรคทางวิญญาณได้
มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า สมาธิภาวนามีอยู่ ๔ อย่าง คือ ทำให้มีความสุขทันตาเห็น ทำให้มีสมรรถภาพเหมือนกับเป็นทิพย์ ทำให้สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ ทำอาสวะให้สิ้น ๔ อย่างนี้ทำได้ด้วยอำนาจของสมาธิภาวนา คือการทำความเจริญด้วยอำนาจของสมาธิ ถ้าจะเกณฑ์ให้แก้โรคทางวิญญาณได้หมดต้องทำสมาธิภาวนาให้เต็มตามรูปของมัน นั่นคือทำให้สิ้นกิเลสหรือถ้าทำให้สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะก็ป้องกันได้ อย่างนั้นก็ป้องกันได้ ส่วนสมาธินั้นเป็นความสุขแม้ชั่วคราวชั่วขณะอยู่แล้ว ทันตาเห็น ทันในปัจจุบันนี้ แต่ไม่หายโรคทางวิญญาณโดยสิ้นเชิง ส่วนที่จะมีสมรรถภาพเป็นปาฏิหาริย์ หูทิพย์ ตาทิพย์ อันนี้ก็ไม่แก้โรคทางวิญญาณได้ ฉะนั้นเราจึงไม่สนใจ จะแก้โรคทางวิญญาณได้ก็เพราะการเจริญสมาธิภาวนาที่เป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะ คือสิ้นกิเลส ก็ต้องศึกษากันให้เข้าใจถูกต้อง และเพียงพอ และปฏิบัติด้วย
มีปัญหาอะไรอีก ไม่มี ปัญหาหมด อำนาจของก้อนหินทำให้ปัญหาหมด หินทุกก้อน ปกติ หยุด เย็น
ผู้ถาม : ผมอยากจะเรียนถามว่า คืออย่างโดยปกติแล้วนะครับ ถ้าเราปฏิบัติตามแค่ศีลคือข้อห้ามเพียง ๕ ข้อนี่ ก็จะไม่สามารถ คือจะไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้ได้รับทุกข์ แล้วก็ตัวเองก็ได้รับความสุขสบายพอสมควร แต่ทำไมพระพุทธเจ้าถึงได้บัญญัติศีลข้อห้ามขึ้นมากกว่า ๕ ข้อที่มีอยู่ ให้พวกเราพุทธศาสนิกชนและพระที่บวชประพฤติปฏิบัติตามครับ
พุทธทาสภิกขุ : ศีล ๕ ข้อ ที่ว่าศีล ๕ ข้อ แล้วก็มีศีลที่มากกว่า ๕ ข้อ ทำไมจึงต้องมีศีลที่มากกว่า ๕ ข้อ
ศีลแม่บทน่ะมี ๕ ข้อจริง ที่แยกออกไปเพื่อให้มันประกอบกันเข้าให้สมบูรณ์ จึงมีมากข้อ สำหรับพระนี่เขาต้องการจะทำเร็วๆ จะไปเร็วๆ ฉะนั้นจึงเพิ่มการปฏิบัติให้มันมากขึ้นไปอีก แต่โดยใจความแล้วมันก็เรื่องศีล ๕ ข้อนั่นแหละเป็นหลักสำคัญ มีมาตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าโน่น ฉะนั้นการที่จะมีศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลอะไรเพิ่มขึ้นนี้ เพื่อบุคคลบางคนหรือบางพวกที่ต้องการจะไปให้ดีกว่า เร็วกว่า อะไรกว่า จึงมีศีลขยายตัวออกไป คำว่า ศีล น่ะมีเพียงหนึ่งก็พอ คืออย่ากระทบกระทั่งใครรวมทั้งตัวเองด้วย นั่นน่ะคือศีล เจตนาที่ตั้งไว้ไม่ให้มีการกระทบกระทั่งใคร รวมทั้งตัวเองด้วย คำว่า ศีล แปลว่า ปกติ เพื่อช่วยให้จำง่าย เอาก้อนหินนี่ก็แล้วกัน ศิลา ศิลา ศีละ (นาทีที่ 1:10:27) นี่คือศีล แปลว่าปกติ ก้อนหินปกติ แต่นั่นมันวัตถุปกติ ทีนี้กาย วาจา ปกตินี่คือศิลา ก็คือศีล
ฉะนั้นถือศีลข้อเดียวก็พอ หมดทุกข้อได้ คือทำให้ทุกอย่างมันปกติ กาย วาจา ปกติ ไม่กระทบกระทั่งผู้ใด ตัวเองก็ไม่ถูกกระทบกระทั่งด้วยการกระทำของตัวเอง เรียกว่า ศีล เป็นธรรมชาติ คือธรรมชาตินี้มันไม่ต้องการจะทำลายใครหรือกระทบกระทั่งใคร การฆ่าฟันกันนั้นน่ะมันผิดธรรมชาติ กิเลสมันเกิดขึ้นมา ทำให้เห็นแก่ตัวแล้วฆ่าฟันกัน ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติแล้วมันไม่มีไอ้ความรู้สึกอย่างนี้ ดูต้นไม้สิมันไม่มีความคิดที่จะฆ่าฟันกัน พอมาถึงสัตว์ก็มีเพิ่มขึ้นบ้าง พอถึงมนุษย์ก็ยิ่งมากใหญ่ ที่จะกระทบกระทั่งเบียดเบียนผู้อื่น เอาประโยชน์ผู้อื่นมาเป็นของตัว มนุษย์ก็ต้องมีศีลมาก ฉะนั้นอย่าสงสัยว่าเป็นศีลที่มันแปลกออกไปตั้งเป็นร้อยๆ ถือไม่ไหว เพื่อช่วยให้มันเร็วขึ้น ให้มีศีลที่เป็นหัวใจเพียงข้อเดียว ปกติไม่กระทบกระทั่งใครได้เร็วขึ้น คือเพิ่มบทเรียนที่จะขูดเกลากิเลสที่เป็นเหตุให้กระทบกระทั่งให้มันมากขึ้น รวมทั้งให้เป็นอยู่ กินอยู่ สังคมอะไรก็ตาม ในลักษณะอย่างนี้ๆ เพื่อให้มันไม่มีการกระทบกระทั่งมากขึ้น นี่เลยจัดเป็นศีลไปหมด ดังนั้นศีลจึงมีตั้ง ๒๒๗ สำหรับภิกษุ และมีตั้ง ๓๓๐ อะไรสำหรับภิกษุณี คือเครื่องที่จะช่วยประคับประคอง อย่าให้เกิดความผิดพลาดขึ้นมาได้สำหรับผู้ที่จะไปเร็วๆ
เอ้า, มีอะไรอีก ก็ถามสิ อีก ๗ นาที จะหมดเวลาแล้ว
ผู้ถาม : อยากเรียนถามพระอาจารย์ว่า ที่หนังสือที่เขียนไว้ในปฏิจจสมุปบาทจากถิ่นธิเบต (นาทีที่ 1:12:54) ที่ว่า กาลเวลาย่อมกลืนกินสรรพสัตว์ .... (นาทีที่ 1:12:57) มีความหมายว่าอย่างไร
พุทธทาสภิกขุ : มีคำเขียนไว้ว่า กาลเวลาย่อมกินตัวเองพร้อมทั้งสรรพสัตว์ ที่ภาพปฏิจจสมุปบาทนั่นน่ะ เห็นที่ไหน (เห็น
ในแผ่นปฏิจจสมุปบาทที่เคยไปเห็นที่กรุงเทพฯ) ที่กรุงเทพฯ ที่นี่ไม่มีนะภาพปฏิจจสมุปบาทที่นี่
ปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องที่ว่าความทุกข์เกิดขึ้นเพราะเหตุอย่างนี้ๆๆ ทีนี้มีคนเอาไปพ่วงเข้ากับเรื่องกาลเวลา มันคนละเรื่อง แต่ว่าเอาไปผูกพันกันเข้าได้ เรียกวว่าให้เห็นว่ากาลเวลานี้มันล่วงไป มันไม่รอ แล้วก็รีบทำให้ทันเวลา รีบดับทุกข์ให้ทันเวลา ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นเรื่องของการแสดงให้เห็นว่าความทุกข์มันเกิดขึ้นอย่างไร ที่เราทำผิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นแหละมันจึงเกิดกิเลสและตันหาขึ้นมา ไปอ่านเรื่องนั้นโดยเฉพาะ ทีนี้เขาเปรียบเหมือนกับยักษ์ตัวใหญ่จับโลกไว้ กินโลกอยู่ คือทำให้โลกมีทุกข์อยู่ มันคล้ายๆ กาลเวลา กาลเวลากินสรรพสัตว์ ก็คือทำสัตว์ให้แก่ชราลงไป ตัวมันเองก็หมดไป สัตว์ทั้งหลายก็พลอยชราเสื่อมสิ้นไป กาลเวลากินตัวเองด้วย กินสรรพสัตว์ด้วย บอกเรื่องนี้ก็เพื่อไม่ให้ประมาท เมื่อไม่ประมาทแล้วก็รีบดับทุกข์ให้ถูกวิธีของปฏิจจสมุปบาท มีเท่านั้นเอง เป็น ๒ เรื่องดึงเข้ามาหากัน
ผู้ถาม : อาจารย์ครับ สติกับปัญญานี่เราจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงระดับมันจะแก้ปัญหาโรคทางวิญญาณได้โดยที่เราไม่ต้องใช้สมาธิภาวนา จะเป็นไปได้ไหม
พุทธทาสภิกขุ : สติปัญญาก็เป็นสมาธิภาวนาอยู่ในตัว จะมีสติปัญญาก็ต้องมีโดยสมาธิภาวนา สติก็มีความหมายแห่งสมาธิ อยู่ในนั้น แล้วปัญญามีไม่ได้โดยไม่มีสมาธิ สมาธิก็มีไม่ได้โดยไม่มีปัญญา แล้วสิ่งเหล่านี้จะมีไม่ได้โดยที่ไม่มีศีล หรือศีลก็จะมีขึ้นมาได้ก็ต้องอาศัยสติปัญญา ก็หมายความว่ามันแยกกันไม่ได้ ความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะทำอะไรลงไปเป็นศีลทั้งนั้นแหละ ตั้งใจจะเจริญสมาธิก็เป็นศีล ตั้งใจจะเจริญปัญญาก็เป็นศีล จะเจริญอะไรได้ก็ต้องด้วยปัญญา มันเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้ ถ้าแยกกันแล้วทำงานไม่ได้
ศีลคือการสำรวมระวัง ตั้งใจมั่น ปักใจมั่นลงไปว่าจะทำอะไร นั่นคือศีล เช่น เราเจริญสมาธิอยู่นี้มันต้องควบคุมจิตให้กำหนดอารมณ์อยู่ มีความตั้งใจอย่างนั้นอยู่ อันนั้นเป็นศีล ที่จิตกำหนดอารมณ์อะไรอยู่นั้นเป็นสมาธิ แล้วความรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะเป็นอย่างนั้นได้ หรือว่าในขณะที่กำหนดอยู่มันรู้อะไรขึ้นมา เหล่านี้มันเป็นปัญญา โดยแท้จริงมันเป็นอย่างนี้ ที่เราไปแยกเป็น ๓ เรื่องนั้นมันเป็นเรื่องทางทฤษฎีหรือทางตัวหนังสือ ถ้ามีปัญญาต้องมีสมาธิและศีลอยู่ด้วย อยู่ด้วยในระดับใดระดับหนึ่ง ที่เรียกว่ามีศีล มันก็มีสมาธิ ปัญญา อยู่ด้วยในระดับใดระดับหนึ่ง เราตั้งใจจะรักษาศีล มันตั้งใจแล้วก็เป็นศีล เมื่อรักษาไว้ได้ก็เป็นสมาธิ แล้วรู้ว่ารักษาอย่างไรมันก็เป็นปัญญา แต่ตัวหนังสือมาแยกให้เห็นเป็นอย่างๆ ไปก็เพื่อให้ศึกษาง่าย โดยนิตินัยแยกได้ โดยพฤตินัยมันไม่แยกกันได้ ฉะนั้นทำให้มีสติเถิด มันจะมีศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามีปัญญา มันจะมีศีล สมาธิ ปัญญา แต่โดยเหตุที่สิ่งใดมันมากออกหน้า เราเลยเรียกชื่อมันอย่างนั้น เรียกชื่ออย่างนั้น อันนั้นเป็นเจ้าของชื่อ ถ้าปฏิบัติปัญญามันก็ต้องมีสมาธิ การไตร่ตรอง การพิจารณาอะไร มันต้องมีสมาธิซ่อนอยู่ในนั้น แล้วการตั้งใจที่จะทำอย่างนั้นมันก็มีอยู่ในนั้นนั่นแหละคือศีล เมื่อใครลงมือปฏิบัติอานาปานสติภาวนา ปฏิบัติอยู่จะมีทั้งศีล สมาธิ ปัญญา แต่โดยเหตุที่ในตอนนี้มันยังเป็นสมาธิออกหน้า ก็เลยเรียกตอนนี้ว่าเป็นสมาธิ พอไปตอนท้ายเป็นปัญญาออกหน้า ก็เลยเรียกเป็นปัญญา ส่วนศีลนั้นซ่อนอยู่ตลอดเวลา คือความตั้งใจจะทำให้ได้
เอ้า, อีกนาทีเดียวนะ ถามอีกข้อหนึ่งสิ
ผู้ถาม : เวลาปฏิบัติอานาปานสติภาวนา ถ้าเกิดความง่วงนี่จะแก้ไขอย่างไร
พุทธทาสภิกขุ : ปฏิบัติอานาปานสติภาวนา เกิดความง่วงขึ้นมาจะทำอย่างไร
ถ้าปฏิบัติถูกเรื่องมันไม่ง่วง มันจะสนุกไป ไอ้ง่วงนี้เพราะว่ามันคงปฏิบัติไม่ถูกเรื่อง ไม่พอใจ มันก็ง่วง ฉะนั้นปรับปรุงให้มันถูกเรื่อง มันคงจะพอใจและหายง่วง ถ้ามันยังง่วงอยู่อีกก็ไปนอนเถิดเพราะมันเหนื่อยแล้ว มันต้องการจะพักผ่อน ไปนอนแล้วก็กลับมาทำใหม่ แต่มันก็มีวิธีเบ็ดเตล็ดด้วยเหมือนกัน เกี่ยวข้องกับความง่วง ไปนั่งในที่ที่มันไม่ชวนให้ง่วง หรือว่าลืมตา เพ่งดูอยู่ที่ปลายจมูก มันก็ไม่ค่อยจะง่วงเหมือนกับหลับตา คนส่วนมากเขาชอบหลับตาทำสมาธิ แต่นักเลงสมาธิแท้จริงเขาลืมตาทำสมาธิเพื่อไม่ให้มันง่วง มันยากสำหรับคนทั่วไป เอ้า, หมดเวลาแล้ว ปิดประชุม