แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านทั้งหลายอุตส่าห์มากันจนถึงที่นี่ เพื่อหวังว่าจะศึกษาธัมมะในพุทธศาสนาให้ยิ่งขึ้นไป การบรรยายในสถานที่นี้มุ่งหมายจะไม่ให้เป็นการซ้ำกัน แม้ว่าจะเป็นพวกที่ยังไม่เคยมาและยังไม่เคยฟัง เรื่องในครั้งที่แล้วมา จะบรรยายให้ซ้ำกันให้เหมือนกันมันก็ทำไม่ได้ หรือไม่มีประโยชน์ ควรจะพูดถึงเรื่องที่ยังไม่เคยพูด เรื่องที่เคยพูดแล้ว ถ้ายังไม่ได้ฟังก็ควรจะขวนขวายไปหามาอ่านเอาเอง ในที่สุดก็รู้เรื่องได้ทั่วถึง จะเป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้บรรยายก็ไม่ต้องพูดเรื่องเดียวกันอย่างซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่บ่อย ๆ เรี่ยวแรงและเวลามันก็ได้ใช้ไปโดยไม่ซ้ำกัน เป็นไปอย่างกว้างขวาง และเมื่อทำอยู่อย่างนี้มันก็ใกล้ไปยังความสมบูรณ์มากขึ้น ถ้าเราจะมัวพูดกันอย่างซ้ำ ๆ ซาก ๆ โดยเฉพาะพวก มันก็ไปไม่เท่าไร คือ ไปไม่ได้ไกล ด้วยเหตุนี้ ถึงต้องทำความเข้าใจกันอย่างนี้ คือ พยายามที่จะไม่ให้ซ้ำกัน หรือไม่จำเป็นจะต้องซ้ำกัน จะซ้ำกันบ้างก็เป็นส่วนน้อย ซึ่งมันหลีกไม่ได้ แต่โดยเนื้อหาสาระที่เป็นใจความของเรื่องแล้วล่ะก็ อยากจะให้มันขยายตัวออกไป สำหรับในวันนี้ได้ใคร่ครวญดูแล้วเห็นว่าเราควรจะพูดกันในลักษณะพิเศษสักอย่างหนึ่งจะดีกว่า คือ จะไม่พูดเรื่องอะไรมากมาย จะพูดถึงเรื่องที่มันยังแฝงอยู่ในเรื่องทั้งหลายที่ได้เคยพูดมาแล้วนั่นเอง เนื่องจากมีความรู้สึกว่าท่านทั้งหลายก็เป็นนักศึกษา พยายามศึกษาพุทธศาสนา แล้วก็ทำไป ทำไป ตามโอกาส หรือว่าตามสิ่งแวดล้อมที่มันจะทำให้เป็นไปได้ ฉะนั้น จึงได้รับความรู้ทางพุทธศาสนา ผิดแปลกแตกต่างกันไป ทีละแง่ทีละมุม ไม่สามารถจะรู้ได้ว่าพุทธศาสนาโดยแท้จริงนั้นทั้งหมดทั้งสิ้นเป็นอย่างไร อาการอย่างนี้ ก็เหมือนกับอุปมาที่กล่าวไว้ในพระบาลีนั่นเองว่า “เป็นพวกตาบอดคลำช้าง” เรื่องตาบอดคลำช้างนี้มีใน พระไตรปิฏก ไม่ใช่เรื่องพูดกันเล่น พระราชาองค์หนึ่งก็อยากจะสนุกขี้นมาหรือไง ก็ให้ประชุมคนตาบอดทั้ง 10 พวกเห็นจะได้ และให้คนแสดงช้างแก่คนตาบอดเหล่านั้น ให้คนที่แสดงช้างแก่คนตาบอด และให้ คนตาบอดคนหนึ่ง คนหนึ่ง คลำที่ตรงนั้นตรงนี้ของช้าง พอเสร็จแล้ว พระราชาก็เรียกมาถามว่า ช้างมีรูปร่างอย่างไร คนตาบอดคนหนึ่งก็บอกว่าช้างมีรูปร่างอย่างที่เขาคลำถูก ซึ่งคลำถูกหู ก็ว่าช้างเหมือนกระด้ง คลำถูกงา ก็ว่าช้างเหมือนกับหลาวหรือว่าอะไรทำนองนี้ คลำถูกขาก็เหมือนกับเสา คลำถูกท้องก็ว่าเหมือนกับท้อง (6:05) คลำถูกหางก็ว่าเหมือนไม้กวาด เป็นต้น ตอบต่างกันได้ตั้ง ๑๐ อย่าง พอคนตาบอด คนหนึ่งตอบไปอย่างหนึ่งแล้ว คนตาบอดนอกนั้นก็เถียงว่าไม่ใช่ พอคนหนึ่งพูดอีก คนหนึ่งก็เถียงว่าไม่ใช่ พระราชา ก็เลยปล่อยให้เถียงกันหนักขึ้นหนักขึ้นจนเขาชกต่อยกันเป็นพัลวันในระหว่างคนตาบอด พระราชาก็ชอบใจใหญ่ นี่อาการอย่างนี้มีได้ทั่วไป มันมีได้ทุกยุคทุกสมัย ถึงแม้ในสมัยที่เรียกกันว่าเจริญด้วยการศึกษาวิชาความรู้ ไปลองคิดดู หรือว่าถ้ายังคิดไม่เห็น มองไม่เห็น ก็รอไว้ดูเรื่อย ๆ ไปก่อนก็ได้ เช่น เมื่อตั้งปัญหา ถามขึ้นมาว่าการศึกษาคืออะไร ก็ดูตอบกันอย่างไรบ้าง ที่ได้เคยตอบกันไว้ว่าการศึกษาคืออะไร จนบัดนี้ ก็มีต่าง ๆ ต่างกัน ถ้าเอาให้มาเถียงกันคงจะได้ชกต่อยกันเหมือนกับคนตาบอดนั่นเอง อย่าว่าแต่อะไรเลย แม้แต่เรื่องการศึกษาที่เป็นเรื่องของสติปัญญาก็ยังมีทางที่เป็นไปได้ถึงอย่างนี้ ทีนี้เรื่องของธัมมะหรือของพุทธศาสนาก็เหมือนกันแหละ เมื่อคนหนึ่งเรียนธัมมะหรือเรียนพุทธศาสนามาในรูปแบบหนึ่ง ส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด มันก็เข้าใจว่าพุทธศาสนาเป็นอย่างนั้น ในแง่ของปริยัติก็ยังเข้าใจกันคนละแง่ละมุม ในแง่ของปฏิบัติ ก็เข้าใจกันคนละแง่ละมุม ในแง่ของปฏิเวธ ฝึกฝนล่ะก็ ยิ่งเป็นคนละแง่คนละมุม ขอให้สังเกตดู แม้แต่ตัวเอง ไอ้เราคนหนึ่งคนหนึ่งนี่ก็กำลังเป็นอย่างนี้หรือไม่ ถ้าจะคิดว่ายังไม่เป็น หรือไม่เป็นก็ขอให้มองดูกันใหม่ว่าความรู้ทางธัมมะหรือทางพุทธศาสนาที่เรารู้แล้วนั้นมันสักกะผีกหนึ่ง ก็ไม่ได้ และแต่ละคนก็ยืนยันว่าฉันรู้พุทธศาสนา จึงมีทางเถียงกันได้ ทะเลาะกันได้ เข้าใจว่าฉันรู้ พุทธศาสนา แม้จะเป็นพระ เป็นเณร เป็นครูบาอาจารย์ในวัดนี้ มันก็ยังรู้เพียงกระผีกหนึ่งเท่านั้นน่ะ ไม่ใช่ทั้งหมด แล้วก็เถียงอย่างยกหูชูหางว่าฉันรู้พุทธศาสนา ซึ่งอาการแห่งตาบอดคลำช้างหรือชกต่อยกันอย่างตาบอดคลำช้างนั้นก็มีเป็นธรรมดา ไอ้เรื่องชกต่อยกันนั้นมันก็ยังไม่มากมายหรืออันตรายเท่ากับที่ไม่รู้พุทธศาสนา ยังไม่รู้พุทธศาสนา และยังไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากพุทธศาสนา นี่ มันเสียหายยิ่งกว่า ชกต่อยกันซะอีก เพราะการชกต่อยกันนั้นมันก็เจ็บปวดเดี๋ยวเดียวก็หายไป แล้วก็เลิกกันไป แต่การไม่รู้ พุทธศาสนานี่มันมีผลร้ายจนตลอดชีวิต หรือไม่ได้รับผลดีจนตลอดชีวิต ก็เท่ากับว่าได้เสียอะไรไป ถือเป็นความเสียหายอย่างมากที่ไม่ได้รู้พุทธศาสนาชนิดที่จะไปเป็นประโยชน์แก่ตนได้ นี่ธัมมะหรือพุทธศาสนามันใหญ่เกินไปเช่นเดียวกับช้าง ที่คนจะไปคลำทีเดียวหมดทั้งเนื้อทั้งตัวได้ สำหรับคนตาบอดยิ่งเป็นไปไม่ได้ นี่มันมนุษย์ทั้งหลายก็เหมือนคนตาบอด ในเมื่อเอาไปจัดกันเข้ากับธัมมะหรือสิ่งที่เรียกว่าพระธรรม มันใหญ่โตมโหฬารจนวัดไม่ได้ ใหญ่กว่าโลกนี้หรือใหญ่กว่าจักรวาลนี้ ใหญ่กว่าทั้งหมด แล้วคนคนหนึ่ง จะไปคลำพระธรรมนั้นทีเดียวให้ครบถ้วนอย่างไรได้ จึงมีอาการอย่างเดียวคลำถูกแต่บางส่วน คลำถูก ส่วนไหนก็เอาไปยึดมั่นถือมั่น ส่วนนั้นเท่านั้นจริง นอกนั้นไม่จริงอย่างนี้ แล้วจะมีวิธีอะไรที่จะทำให้รู้จัก พุทธศาสนา หรือที่ที่เรียกว่าพระธรรมในคราวเดียวทั่วถึง แม้โดยสังเขปโดยย่อก็ให้เรียกว่าทั่วถึงดีกว่า มันก็จะจับฉวยเอาอะไรได้ในทางที่จะเป็นประโยชน์ ขอให้ใคร่ครวญดูในส่วนนี้ให้มาก ยิ่งถ้าเป็นเยาวชน อนุชน ยังเพิ่งจะแรกศึกษาธัมมะด้วยแล้ว มันก็จะยิ่งน้อย แม้ว่าในบางครั้งผู้แสดงเขาพูดว่า เขาแสดงหัวใจของพุทธศาสนาก็ยังเป็นสิ่งที่น่าสงสารอยู่นั่นเอง ยิ่งหัวใจพุทธศาสนาแล้วยิ่งจะเร้นลับหรืออธิบายยาก คนพวกนั้นก็เอามาพูดให้ฟังแต่ตัวหนังสือสองสามคำ เช่นว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ (สัพ-พัพ-ปา-ปัส-สัส-อะ-กา-ระ-นัง) ไม่ทำบาปทั้งปวง กุสลสฺสูปสมฺปทา (กุ-สะ-ลัส-สู-ละ-ปะ-สัม-ปะ-ทา) ทำกุศลให้ถึงพร้อม สุจิตฺตปริโยทปนํ (สุ-จิต-ตะ-ปะ-ริ-โย-ทะ-ปะ-นัง) ทำจิตของตนให้ขาวผ่อง นี่คือพุทธศาสนา ก็ยังไม่รู้ว่าอะไรอยู่นั่นเอง ไม่รู้ว่าบาปคืออะไร ไม่รู้ว่ากุศลคืออะไร ไม่รู้ว่าจิตคืออะไร ขาวผ่องคืออะไร ยิ่งแสดงไปในบทว่า “ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” ยิ่งยังมองไม่เห็นว่าธรรมทั้งปวงนั้นคืออะไร แล้วก็ไม่รู้จักด้วยซ้ำไปว่าความยึดมั่นถือมั่นนั้นคืออะไร ข้อนี้อาตมารู้ดี เพราะว่าเมื่อจะอธิบาย หลักพระพุทธศาสนาแก่ชาวต่างประเทศแล้ว มันยุ่งทุกที ตรงที่คำว่ายึดมั่นถือมั่นนี่เอง พูดเป็นไทยก็ยัง ไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าความยึดมั่นถือมั่นคืออะไร แล้วไปพูดเป็นภาษาต่างประเทศ ยืมเอาคำนั้นมา มันก็ยิ่งไกลออกไป เพราะการถ่ายทอดภาษาตรง ๆ นั้นมันเป็นเรื่องของชาวบ้าน อย่างความหมายชั้นชาวบ้าน มันไม่ขึ้นมาถึงชั้นธัมมะหรือชั้นจิตใจ มันก็เลยถ่ายทอดด้วยคำตรง ๆ นั้นไม่ได้ เช่นว่าความยึดมั่นถือมั่น เป็นต้น มนุษย์เลยต้องเล่าเรื่องให้ฟังซะยืดยาวพักใหญ่ว่ามันเป็นอะไร แล้วเขาค่อยรู้เองว่าจะพูดเป็นภาษาต่างประเทศของเขา ภาษาอังกฤษก็ดี ฝรั่งเศสก็ดี อะไรก็ดี จะต้องใช้คำไหน ฉะนั้นปทานุกรมก็ไม่มีประโยชน์อะไร ในเมื่อพูดกันถึงเรื่องชนิดนี้ ในระดับนี้ นี่แหละมันเป็นการยากที่ว่าจะพูดว่าหัวใจพุทธศาสนาเป็นอย่างไร พูดนั้นพูดได้แน่ แต่แล้วมันก็ยังไม่สำเร็จประโยชน์อยู่นั่นเอง จึงได้พยายามกันไปทุกอย่างทุกทาง พูดหัวใจบ้าง พูดเนื้อตัวโดยรอบออกไปบ้าง เสร็จแล้วก็ไม่วายที่จะมีลักษณะเหมือนกับ ตาบอดคลำช้าง คือพูดกันได้แต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง นี่คือการพูด นี่ไม่ใช่การบรรลุธัมมะด้วยจิตใจนั่นเอง ฉะนั้นเรามาหาวิธีกันสักอย่างหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดความสำเร็จได้มากขึ้นสักหน่อย ในการที่จะรู้จัก สิ่งที่เรียกว่า “พุทธศาสนา” บางคนอาจจะค้านขึ้นมาว่าพุทธศาสนาส่วนที่ไม่ต้องรู้ก็มี นี่มันก็เป็นความจริงน่ะ แปลว่าที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนนั้นมันเท่าที่จำเป็น ก็หลักธัมมะทั่วไปนั้นที่ไม่จำเป็นก็ยังมี เราควรจะรู้กระทั่งว่าอย่างไรไม่จำเป็น อย่างไรจำเป็น จะดีขึ้นไปกว่าที่จะรู้แต่ที่ว่าจำเป็น เพียงแต่ที่จำเป็นก็รู้ให้มาก ให้ถึงที่สุด ให้พอใช้ ส่วนที่ไม่จำเป็นนั้น รู้ไว้แต่เพียงว่านี่ไม่จำเป็น อย่าเอาเข้ามา อย่าไปเสียเวลากับมัน อย่างนี้เป็นต้น เดี๋ยวนี้ คนเขาไปเสียเวลากับมันในส่วนที่ไม่จำเป็นนี่มากเกินไป เช่น พุทธศาสนาในแง่ของปรัชญา เป็นต้น ไม่ค่อยสนใจในพุทธศาสนาในแง่ของการปฏิบัติลงไปตรง ๆ ปรัชญามันเป็นเรื่องคิด เรื่องคำนวณของคนที่ชอบคิด มีความสนุกสนานในการคิด มีการคิดเป็นอาหารอันเอร็ดอร่อย อันนี้มันก็มุ่งแต่จะคิดเท่านั้นแหละ มันเป็นเรื่องปรัชญาไป แต่ถ้าว่าเป็นเรื่องของศาสนาตรง ๆ เป็นเรื่องของศีลธรรมแล้วก็มุ่งปฏิบัติ ก็ลงมือปฏิบัติโดยไม่ต้องพูดกันกี่คำ ตั้งหน้าตั้งตาจะควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าให้เดินไปในทางที่มันผิดจนเกิดความคิดหรือการกระทำก็ตามที่มันเป็นความทุกข์ แล้วมันรู้ได้เองว่าอย่างไรเป็น ความทุกข์ มันไม่ต้องคิด มันเพียงแต่ดู นี่ขอให้จำไว้สักอย่างหนึ่งว่าพระพุทธศาสนาดำเนินไปถูกทางของการปฏิบัติ นั้นน่ะมันจะกลายเป็นการดูให้เห็น ไม่ใช่การคิดให้รู้ แต่นี่ตัวหนังสือมันกำกวม บทธัมมะเหล่านั้นมันกล่าวไว้เป็นกลาง ๆ มันจะคิดก็ได้ หรือจะดูก็ได้ มันเคยสอนกันมาผิด ๆ ก็เข้าใจกันผิด ๆ อาตมาก็เคยเข้าใจผิด อย่าว่าแต่คนอื่นเลย ไปหลงในเรื่องคิดมันเสียยกใหญ่ ต่อมาจึงมาหลงใหลหรือว่าชอบในเรื่องดู คือไม่ยอมคิด เช่น เรื่องอานาปานสติ ๑๖ ขั้นอย่างนี้นะ เนื้อแท้มันเป็นเรื่องดูให้เห็น ไม่ใช่เรื่องคิดให้ออก ดูให้มากเข้า ดูให้มากเข้า แล้วก็เห็น มันจึงไม่มีแง่ของปรัชญาที่จะต้องถกเถียงกัน นี้คนชอบคิดคือ คนเหลวไหล มันไม่ชอบดู มันไม่สนุก มันก็คิดอย่างฟุ้งซ่าน ก็เลยเอาธรรมเป็นเรื่องคิดซะหมด ฉะนั้น พระ เณร ครูบาอาจารย์อะไรก็ตามยังเข้าใจผิดในเรื่องนี้ เห็นการปฏิบัติธัมมะเป็นเรื่องคิด มีคำที่กำกวม เช่น คำว่า พิจารณานี่ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ก็แปลผิด แปลคำบาลีผิด ถ้าแปลคำบาลีถูก ส่วนใหญ่จะมีลักษณะในทางดูทั้งนั้นแหละ เช่น ปะ-ติ-สัน-จิต-คติ (นาทีที่ 20:00) อย่างนี้น่ะ นั่นนะ ยิ่ง ดู ดู ดู ดู ไม่ใช่คิดล่ะ การทำกรรมฐานในลักษณะเป็น ปะ-ติ-สัน-จิต-คติ (นาทีที่ 20:09) ไอ้เรื่องดูนี่มันเจาะแทงให้ทะลุลงไป แต่ไม่ใช่คิด ถ้าคิดน่ะ ไอ้ความคิดมันนำออกไปทิศทางต่าง ๆ ไม่พบจุดที่แท้จริง ทีนี้ก็ดู ดูไม่เป็น ก็ดูให้เป็น ดู ดู จนเห็นว่าอะไรมันเป็นอย่างไร พระบาลีจะใช้คำว่า “เห็นในที่สุด” คือ ปสฺสติ ยถาภูตํ (ปะ-สัส-ติ-ยะ-ถา-ภู-ตัง) เห็นตามที่เป็นจริง นี่ก็คือเรื่องที่ว่ามันเป็นปัญหายุ่งยากขึ้นมาในการสั่งสอนพุทธศาสนาโดยเฉพาะที่ยังสงสัยอยู่ว่าในมหาวิทยาลัยทั้งหลายที่ท่านทั้งหลายเป็นนักศึกษาอยู่นี่ เขาต้องการอย่างไรกันแน่ เขาต้องการพุทธศาสนาอย่างปรัชญาหรือต้องการพุทธศาสนาอย่างที่เป็นศาสนา คือเป็นตัวศาสนา ใช้คำธรรมดา ปรัชญาก็คือคำว่า philosophy ให้มันเป็น philosophy ก็ไปตามเรื่องของการคิด จะให้มันเป็น religion มันก็เป็นเรื่องของศาสนา มันต้องปฏิบัติลงไปทั้งนั้น มันจะมัวคิดอยู่ไม่ได้ นี่พิจารณาให้เข้าใจ ข้อนี้กันไปก่อนว่าการคิดพิจารณาด้วยเหตุผลนั้นมันคนละอย่างกับการดูลงไป ดูลงไป ทำจิตใจให้สะอาด สว่าง สงบ ให้แหลม ให้คม ให้มีสมรรถภาพ แล้วก็ดูลงไป ดูลงไป จะเห็นและก็จะตามที่เป็นจริง ถ้าคิดแล้วความคิดมันก็จะพาออกไปทางนั้นที ทางโน้นที มันมีมากทิศทางนัก ในที่สุดก็เหมือนกับว่า แมลงที่ชักใย พันตัวเองจนหนาทึบออกไม่ได้ ฉะนั้นก็ร่ำรวยด้วยคำพูดในพุทธศาสนา เหมือนกับใยมันชักพันตัวเองจนแน่นหนาทึบไปหมด ไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง คือความดับทุกข์ได้ คนอย่างนี้อาจจะเรียนจบพระไตรปิฎก แล้วก็พูดเก่ง อะไร ๆ ก็เก่ง แต่ไม่ได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนาเลย ถ้ามองเห็นข้อนี้แล้วก็จะเห็นว่าพุทธศาสนามันมีอะไรหลายชั้นแล้วก็หลายรูปแบบ เราจะเอาอย่างไรกันแน่ ถ้าในมหาวิทยาลัยต้องการ พุทธศาสนาแบบปรัชญา ไม่ประสงค์จะเป็นการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์กันจริง ๆ แล้ว มันก็เรียนกันไปอีกแบบหนึ่ง หนังสือหนังหาในแบบนี้ก็หาได้ง่าย แม้ที่เป็นภาษาไทยก็ยังเฟ้ออยู่ในรูปแบบนี้ ยิ่งในภาษาต่างประเทศที่ชาวต่างประเทศเขียนอยู่แล้วจะเป็นไปในรูปนี้มากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะว่า ชาวต่างประเทศคือพวกฝรั่งที่คงแก่เรียนนั้นน่ะเขาเมาปรัชญากัน จะมองอะไรในรูปของปรัชญา จะศึกษา จะเขียน จะบอกกล่าวกันในรูปของปรัชญาไปหมด อย่างนี้เป็นต้น ต้องรู้จักแยกให้ดี พุทธศาสนาในรูปแบบของปรัชญาก็มีมาก และยังอาจจะขยายแยกออกไปเป็นในรูปของตรรกวิทยาหรือจิตวิทยาก็ได้ อีกหลายหลายสาขา จะรวมเรียกว่าในรูปแบบของปรัชญาทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าในรูปแบบของปฏิบัตินั้นมาอยู่ที่ปฏิบัติจริงๆ ปฏิบัติอย่างค่อนข้างเรียกว่างมงายสักหน่อยก็ได้ เช่น ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อะไร ต่าง ๆ ซึ่งเราไม่ต้องคิดต้องนึกไม่ต้องพิสูจน์อะไรกันอีก ก็ทำไปตามนั้น ก็จะได้รับประโยชน์ของเขา เขาได้ทำก็ดีแล้ว สำหรับขนบธรรมเนียม ประเพณีนั้น ๆ แต่ถ้าแท้จริง ยิ่งกว่านั้นแล้วต้องเป็นการปฏิบัติชนิดที่ ลืมหูลืมตาเลยทีเดียว คือลืมตามองดูอยู่ทีเดียว กิเลสเป็นอย่างนี้ ความทุกข์เป็นอย่างนี้ ดับทุกข์ได้ต้องทำ อย่างนี้ และทุกข์ดับลงไป ลงไป มันเป็นอย่างนี้อย่างนี้ มันเห็นอยู่เหมือนกับสิ่งที่เรามองด้วยตา นี่เป็นตัวการปฏิบัติ ไม่มีการพูดที่เหลือเฟือ ไม่มีการพูดที่เกินความจำเป็นที่จะต้องพูด เท่าที่ปรารภมานี้ก็เป็นการบอก ให้ทราบถึงข้อเท็จจริงที่มันเป็นอยู่ในปัจจุบันอันเกี่ยวกับการศึกษาพระพุทธศาสนา เลยสรุปความสั้น ๆ ว่า มันมีอยู่หลายรูปแบบ แม้แต่ในรูปแบบหนึ่ง ๆ มันมีหลายชั้นหลายระดับ มันจึงเหมือนกับช้างที่ใหญ่เกินไป ที่ตัวมันใหญ่เกินไป ปุถุชนคนตาบอดนี่จะคลำทีเดียวไม่ได้ ต้องคว้าเอาส่วนนั้นส่วนนี้มาเถียงกัน ทีนี้ก็มาถึงความตั้งใจในวันนี้ว่าจะพูดเรื่องอะไรดี ก็เลยคิดขึ้นมาว่าเราควรจะพูดกันถึงเรื่องซึ่งไม่ทราบว่าจะเรียกว่าอะไรดีอยู่เหมือนกัน ถ้าจะพูดให้เข้าใจได้ก็จะพูดว่าการมองสิ่งที่เรียกว่าพระธรรมหรือพระพุทธศาสนา ตลอดถึงสิ่งที่มันเกี่ยวข้องกันอยู่ทุก ๆ อย่าง ดูในคราวเดียวกัน ให้เห็นว่าเป็นอย่างไร หัวข้อมันยาวเลยไม่รู้ว่าจะตัดให้สั้นลงไปว่าอย่างไร อย่างดีก็จะพูดว่า ดูพระพุทธศาสนาในลักษณะที่ดูคราวเดียวหมดทุกแง่ทุกมุม หรือจะให้สั้นเข้ามาอีกว่าดูพุทธศาสนาคราวเดียวหมด ก็เป็นหัวข้อที่น่าขัน แล้วก็ต้องขอฝากไว้อย่างนี้ ทีก่อนว่าวันนี้เราจะพูดเรื่องดูพุทธศาสนาคราวเดียวหมด เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นอีก ก็อยากจะใช้คำที่เขาพูดกันอยู่ในโลกเวลานี้ เช่น คำว่า Bird’s – eye view วิวที่เห็นโดยนก ไม่รู้จะแปลเป็นไทยว่าอะไร ใครทราบก็รู้ เอาเองก็แล้วกันว่า Bird’s – eye view นั้น แปลว่าอะไร เราจะพูดเรื่อง Bird’s – eye view ของพุทธศาสนาว่า นกมันบินอยู่สูงเกือบจะถึงเมฆน่ะ และมันดูมายังโลกนี้ มันก็เห็นโลกนี้หมด กว้างขวางมาก อย่างที่เรียกว่า พาโนรามิค (panoramic) อย่างน้อยก็เกือบครึ่งวงกลม ๑๔๐ องศาเห็นจะได้ ที่เห็นโดยตานกแบบพาโนรามิค มันก็เห็นมากกว่าพวกเรามาก คือเห็นไม่กี่องศา แล้วก็ดูในระยะใกล้ๆ สั้น ๆ นี่ก็เพราะว่าเป็นนก ขึ้นไปสูงสุดแล้วมองมายังโลก จะเห็นโลกได้มาก ฉะนั้น มันเป็นเรื่องทางวัตถุ มันมองด้วยตาหรือเรื่องทางวัตถุ เช่น หู จมูก ลิ้น กาย นี้ สัมผัส ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้ เป็นเรื่องวัตถุทั้งนั้นล่ะ ยังเอามาใช้กับพระพุทธศาสนาไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องทางจิตใจ ดังนั้น เราต้องใช้ตาอีกประเภทหนึ่งคือไม่ใช่ตาเนื้อ แต่เป็นตาใจ ทีนี้ใจ ธรรมดาก็มองไม่เห็นล่ะ มันต้องใจอีกความหมายหนึ่ง คือความหมายพิเศษ เพราะว่าใจ ในความหมายธรรมดาสามัญ มันก็มีไว้สำหรับทำความรู้สึกที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย นั่นเอง ใจชนิดนี้ ทำอะไรไม่ได้ ถ้าจะมามองดูพุทธศาสนาในลักษณะอย่างนี้ และยิ่งต้องมีใจในความหมายพิเศษอีกอย่างหนึ่ง และก็เป็นใจที่อบรมดีแล้วด้วย จึงจะมองเห็นวิวทั้งหมดของสิ่งที่เรียกว่า พุทธศาสนา คือ รวมถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับพุทธศานานั้นด้วย นี่เอาเป็นว่าเราขึ้นไปสูงสุด มองดูพุทธศาสนาด้วยจิตใจที่มีไว้สำหรับมองสิ่งที่เป็นนามธรรมเช่นนี้ อ่ะ ทีนี้ก็พิจารณาดูสักนิดนึงว่าจะมองลงไปที่อะไร ถ้าเป็นเรื่องทางวัตถุ อย่างนกขึ้นไปสูงสุดก็มองโลก มองวัตถุก็เห็น หรือเราจะมองพุทธศาสนาจะมองลงไปที่ไหน มันเป็นนามธรรม ก็เลยต้องกลายเป็นเรื่องของการศึกษาหรือบอกกล่าวกันอีกเป็นธรรมดาที่จำเป็นที่จะต้องบอกกล่าวกันให้รู้เค้าเงื่อนก่อนแล้วจึงจะมองเป็น เมื่อพูดว่ามองลงไปที่อะไรนี่ก็ยิ่งลำบาก อย่างมองพุทธศาสนาจะมองไปที่อะไร คนก็คิดว่าจะมองไปที่วัดวาอาราม โบสถ์ วิหาร พระเจดีย์ อย่างนี้ก็ได้ แต่มันคงไม่ใช่ Bird’s – eye view แน่ มันจะเป็นของนิดเดียว เล็กนิดเดียว ถ้ามองเท่าที่โบสถ์ วิหาร วัดวาอาราม นี้ถ้าจะมองที่พระไตรปิฎกพระคัมภีร์ทั้งหลายแหล่ ทั้งหมดทั้งสิ้น มันก็นิดเดียวอีกเหมือนกัน และยังไม่ใช่ตัว พุทธศาสนาที่แท้จริงด้วยกันทั้งนั้น ถ้ามองที่การปฏิบัติของพุทธบริษัททั้งหลายนี่มันค่อยใกล้พุทธศาสนา เข้าไปอีกหน่อย แต่แล้วมันไม่ค่อยจะมีให้มอง เพราะมันไม่ค่อยมีคนที่ตั้งใจปฏิบัติให้ถูกต้องสำหรับที่จะมองแล้วรู้จักว่าพุทธศาสนามันเป็นอย่างไร เป็นพระ เป็นเณรแล้วมันยังอวดดียกหูชูหางไปมองเข้าสิ มันก็พบอะไรก็ไม่รู้ซึ่งไม่ใช่พุทธศาสนาเลย เพราะจะมองการบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ไม่มีกิเลส อยู่ด้วย ความสงบนี่ก็ยิ่งมองยาก เพราะมันเป็นเรื่องทางจิตใจ แล้วตัวเองก็เต็มไปด้วยตัวกูของกูก็มองไม่เป็น มอง ไม่เห็นว่าใครมันจะหมดตัวกูของกูได้อย่างไร หลักพระพุทธศาสนามันละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพต- ปรามาส เหล่านี้ ก่อนละกามราคะ คนก็เข้าใจผิดว่าดูกันในคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับกาม อะไรเป็นต้น คนบ้า ก็เป็นได้ แล้วคนดีที่ถูกต้องละก็มันไม่มีสักกายทิฏฐิเป็นตัวกูของกู ถ้ามันมองได้เมื่อไร แต่ก็ยังอาจจะมอง ได้ง่ายและถูกต้องกว่าที่จะมองกันในแง่อื่น มุมอื่น ถ้าจะดู ถ้าจะมองดูพุทธศาสนาที่เนื้อที่ตัวของบุคคลล่ะก็ ไปดูที่มันแสดงออกมาในลักษณะที่มีตัวกูของกูน้อยนั่นแหละ จะถูกต้อง คือถูกตรงตามที่เป็นจริง ที่เป็นตัวธัมมะของพุทธศาสนา และเมื่อบุคคลนั้นมีคุณธรรมอย่างเดียวกัน ก็จะมองออกได้ง่าย ฉะนั้นคนที่จะมองคนที่เป็นพระอรหันต์ หรือบรรลุนิพพานนั้นก็ยิ่งมองยาก หาคนที่จะมองได้ยาก แต่มันก็ถูกเป้าหมายมากขึ้นทุกที คือตรงจุดหัวใจที่เป็นพุทธศาสนามากขึ้นทุกที ถ้ามองอย่างนี้มันจะมองลึก ลึกลงไป ลึกลงไป ชนิดที่ ตาธรรมดามองไม่เห็น มองไม่ได้ อยากจะขอเปรียบกับนกอีกทีหนึ่ง นกขึ้นไปสูงสุดและมองทีเดียว สมมติว่าสักครึ่งโลก มันก็ไม่มองลึกลงไปใต้ดินได้ หรือให้มองทะลุแผ่นดินโลกนี้ลงไปได้ว่ามันมีอะไรอยู่ในนั้น มันมองเห็นกว้างและมันไม่ลึกพอ มันก็เลยต้องมีวิธีที่ลึกพอ มองเห็นถึงหัวใจพุทธศาสนา ลึกพอ ถึงรู้จักในหัวใจพุทธศาสนาในชั้นที่เป็นผลของการปฏิบัติเป็นมรรค ผล นิพพาน เป็นต้น พอพูดอย่างนี้ นักศึกษาในมหาวิทยาลัยสักกี่คนจะสนใจ ดูจะสั่นหัวกันเสียมากกว่า หรือแม้ทั้งโลก นักศึกษาทั้งโลก ทั่วโลก ก็ดูจะ สั่นหัวเสียมากกว่า ถ้าเขาต้องการจะมองดูทั่ว ๆ ไปในชั้นผิวโลกให้ทั่วถึงมากกว่า หรือจะทำได้ เป็นสิ่งที่ ทำได้ จะมองลึกไปภายใต้โลกมันยังทำไม่ได้ ข้อนี้ก็อย่างเดียวกัน ที่เราควรจะมองพุทธศาสนาในชั้นแรกนี้ ก็เหมือนกับว่ามองผิวโลกทั่วไป คือมีผิวทั่วไปของพุทธศาสนาในส่วนใหญ่ที่มันเกี่ยวข้องกันอยู่กับสิ่งต่าง ๆ แล้วค่อยมองให้ลึกลงไปถึงเรื่องการปฏิบัติและผลของการปฏิบัติ เป็นอันว่าเราเข้าใจกันเสียทีนึงก่อนว่า เรากำลังจะทำเหมือนกับว่ามองดูพระพุทธศานาที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับสิ่งอื่น ๆ ถึงนับรวมกันเข้าไว้ใน พุทธศาสนาก็ได้อย่างไรบ้าง มันจะมีอะไรบ้าง ในตอนนี้ขอสารภาพเสียเลยว่าพูดสิ่งที่เกินจำเป็นไปบ้างเหมือนกัน คือพูดไปถึงสิ่งที่ไม่ต้องรู้ให้รู้ไว้ด้วย เผื่อว่าอย่าไปหลงใหลกับสิ่งที่ไม่ต้องรู้ให้จำกัดอยู่แต่ในสิ่งที่ต้องรู้ แต่ว่าต้องพูดถึงสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องรู้พร้อมกันไปด้วย เพราะมันเกี่ยวข้องกันอยู่ ทีนี้โครงร่างของรูปเรื่องที่จะเอาพูดนี้ก็ไม่อยากจะทิ้งในธรรมต่าง ๆ ที่ใช้พูดกันอยู่เป็นประจำ ขอแต่เพียงว่าให้มองเห็นสิ่งนั้นมันกว้างออกไปให้มากที่สุดที่จะมากได้ เช่น เราจะใช้คำว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่เอง เป็นวัตถุสำหรับมอง มองไปที่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็เห็นหมดที่เป็นตัวแท้ ตัวจริง ตัวแก่น กระทั่งสิ่งที่แวดล้อมอยู่โดยรอบ แต่ก็ไม่ให้เพ้อเจ้อจนถึงกับไม่มีประโยชน์อะไร จะอยู่ในขอบเขตที่ยังมีประโยชน์อยู่นั่นแหละ อันแรกว่าจะมองกันที่พระพุทธ คือ พุทธศาสนา โดยใช้คำว่า พุทธะ เป็นหลัก คำแรกจะขอใช้ คำที่ตั้งเอาเอง ใครจะด่าจะว่าตั้งคำเอาเองบ่อย ๆ ก็ตามใจ เพราะมันช่วยประหยัดเวลา คำแรกจะใช้คำว่า “พุทธศาส์น” ศาส์น นั้นเขียนอย่าง ศาสน แต่การันต์ที่ “ส” เสีย ให้ “น” มันฟรีอยู่ มันจะได้สะกด และอ่านว่า พุด – ทะ – สาน (พุทธศาส์น) ศาส์น ในที่นี้ หมายถึง สิ่งที่ใช้ติดต่อกัน ซึ่งส่งสารไปให้อย่างนี้น่ะ พุทธศาส์น ตัว “ศาส์น” คือสิ่งที่ส่งมาให้จากพระพุทธเจ้าหรือของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านี้ไกลออกไปจนถึงธรรมชาติ พูดแล้วก็อยากจะพูดเพื่อช่วยกันกำกับกันไว้ ในภาษาศาสนาอื่น ๆ รวมทั้งพุทธศาสนาด้วยก็ได้ แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศาสนาที่เขามีพระเป็นเจ้า เขาจะมีคำว่า ศาส์น นี่ แต่เขาไม่ได้ใช้ภาษาไทย เขาใช้คำว่า message message ภาษาธรรมดาก็คือข่าวสารที่บอกให้แก่กันและกันนี่ แต่ในภาษาศาสนา หมายถึง message ที่มาจากพระเป็นเจ้า นั่นแหละคือพระธรรมสากล เป็นกฎของธรรมชาติ เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยามตามชื่อเรียกในพุทธศาสนา ไม่มีใครรู้ มนุษย์ไม่รู้ พระเจ้าต้องส่งมาให้ นี้ใครจะเป็นคนพามา ก็คือพระศาสดาทั้งหลาย พระพุทธเจ้าในพุทธศาสนานี่ หรือพระ Jesus ในศาสนาคริสเตียน หรือ พระมูฮัมมัด ในศาสนาอิสลามอะไรก็ตามมีมากมายเหลือเกิน ผู้ที่เป็นพระศาสดา ผู้จะนำเอา message ซึ่งต้องใช้คำนั้นน่ะไม่รู้ว่าจะใช้คำว่าอะไรดี จะใช้คำว่าพระธรรมก็ได้ แต่เข้าใจเป็นอย่างอื่นเสียแล้ว มันก็แคบไป message หรือพระธรรมนั้น คือ กฎของธรรมชาติที่มันมีอยู่แล้วตลอดอนันตกาล จนถึงกับพระพุทธเจ้านี่ท่านก็ยังตรัสว่า ไอ้พวกตถาคตทั้งหลายจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม รวมกระทั่งพระองค์เองด้วย พระตถาคตคือพระศาสดาทั้งหลายจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม แต่สิ่งนั้นมันมีอยู่แล้ว มันตั้งอยู่แล้วในฐานะเป็นธรรมธาตุว่าอย่างฉะนั้น อย่างฉะนั้นไปเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ กฎอิทัปปัจจยตา เมื่อสิ่งนี้มีอยู่แล้ว จะเป็นปัจจัยสิ่งนั้นเกิดขึ้น สิ่งนั้นเป็นปัจจัย สิ่งโน้นเกิดขึ้น เป็นกฎของอิทัปปัจจยตา อย่างนี้ก็มี หรือบางทีก็ตรัสไปในรูปว่าทุกสิ่งเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเปลี่ยนแปลงเรื่อย ดูแล้วน่าเกลียด ไม่มีตัวตนที่ตรงไหน นี่ความจริงเหล่านี้เป็นกฎของธรรมชาติ เรียกว่า เป็นพระธรรม ในความหมายที่ลึกซึ้ง คือพระธรรม ธรรมชาติที่มีอยู่ตลอดกาลนิรันดร ตลอดอนันตกาล พระพุทธเจ้าหรือพระศาสดาจะเกิดหรือไม่เกิด มันก็ไม่รู้ไม่ชี้ สิ่งนี้มันมีอยู่อย่างนี้ ใครจะนำเอาความรู้อันนี้มาให้แก่มนุษย์ สิ่งนี้คือสิ่งที่เรียกว่า message หรือ ธรรมศาส์น ศาส์น อย่างที่ “น” สะกด และไปการันต์ตัว “ส” ข้างหน้าเสีย พุทธศาส์น ก็เรียก ธรรมศาส์น ก็เรียก มีอยู่ชั้นหนึ่งไม่เป็นของใคร ไม่เป็นของศาสนาไหน แต่เป็นของทุกศาสนาเลยมีอยู่ตลอดกาลนิรันดร ในบาลี บางทีก็มีว่าธัมมะเท่านั้นเกิดอยู่ก่อน คือธัมมะนี้น่ะ คริสเตียนเขาก็ว่า the word เกิดอยู่ก่อนสิ่งใดหมด เป็นอันเดียวกับพระเจ้า the word คือ คำพูด คำพูดนั้น คือ หลักของธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ หรือ พระธรรม เหมือนกัน เอาเป็นว่าเข้าใจกันได้ ทีแรกมันมีอะไรที่เป็นตัวมันเองอย่างประหลาดมหัศจรรย์ ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามใคร เป็นความจริงอยู่ในตัวมันเอง มนุษย์จะมี หรือมนุษย์จะไม่มีก็ตาม พระศาสดาจะเกิดขึ้นหรือ ไม่เกิดขึ้นก็ตาม สิ่งนี้มันมีอยู่ตลอดกาล ขอให้เราทุกคนรู้จักสิ่งนี้ไว้ทีก่อนว่าเพียงแต่มันมีอยู่ก็แล้วกัน ใคร่ครวญดูก็พอจะเข้าใจได้ว่ากฎของธรรมชาตินั้นมันยังมีอยู่อย่างนี้ตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่มีใครรู้ได้ ขอเรียกว่า พุทธศาส์น วจีก่อน คือ ศาส์น หรือ message ที่พระพุทธเจ้าท่านจะนำมาให้ สำหรับเราที่เป็น พุทธบริษัท เราจะถือว่าผู้รู้ คือ พระพุทธเจ้าจะรู้ message หรือกฎธรรมชาติอันนั้นแล้วเอามาแจกจ่ายให้แก่คน ทีนี้พอท่านเอามาแจกจ่ายให้แก่คน ท่านก็แจกจ่ายให้ทั้งหมดไม่ไหว ท่านก็เลือกเอาแต่ที่จำเป็นสำหรับคน ก็เอามาสอนคน ทีนี้เราจะเรียกส่วนที่เจียดมาเพียงส่วนน้อยนี้ว่า “พุทธศาสน์” (พุด-ทะ-สาด) การันต์ที่ “น” เสีย เอาตัว “ส” ไว้ สะกดเข้าไปก็อ่านว่า “พุด-ทะ-สาด” ไม่ใช่ “พุด-ทะ-สาน” นะ พุทธศาสน์นี่คือคำสั่งสอนเรื่องความจริงทั้งหลาย คำที่พระศาสดาทั้งหลายเอามาสอนให้เท่าที่จำเป็นแก่มนุษย์ โดยเฉพาะเป็นเรื่อง ดับทุกข์นั่นแหละ พุทธศาส์นคำนี้มันก็ตรง ไม่ตรงกับคำว่า message ล่ะ มันเปลี่ยนความหมายเป็น คำสั่งสอน เป็น doctrine บ้าง เป็น Instruction บ้าง เป็นอะไรแล้วแต่จะเรียก เป็นโอวาทไป เป็น คำสั่งสอนไป ที่ถูกแล้วก็จะไม่เฟ้อ พระพุทธเจ้าจะไม่สอนส่วนที่เฟ้อ นี่ท่านตรัสไว้เองอย่างนี้ ถ้ามันมีส่วน ที่เฟ้อเจือเข้ามาในพระไตรปิฎก ก็ขอให้ถือว่าคนอื่นมันเติมเข้าไป หรือมิฉะนั้นก็เป็นเพราะว่าเราไม่เข้าใจ ใช้เป็นประโยชน์ไม่ได้ มันจึงดูคล้ายกับเฟ้อ ไม่มีประโยชน์อะไร มันมีอยู่ได้สองอย่างอย่างนี้ คือ คนชั้นหลังมันเติมเข้าไปในส่วนที่เห็นว่าเฟ้อนั้น หรือเพราะเราไม่เข้าใจของจริงนั้น เราก็จะมองเป็นเฟ้อไปก็ได้ ข้อนี้ ก็ไปสางปัญหาเอาเอง นี่ก็ได้สิ่งที่เรียกว่า “พุทธศาส์น” (พุด-ทะ-สาน) มาเป็น “พุทธศาสน์” (พุด-ทะ-สาด) สำหรับเราจะต้องศึกษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นน่ะจะอยู่ในรูปนี้ทั้งนั้น อย่างที่เราเรียกกันว่า พุทธศาสนา ถ้าเป็นศาสนาอื่นก็ให้ชื่อไปตามพระศาสดานั้น ๆ แล้วใช้คำว่า “ศาสตร์” หรือ “ศาสนา” พ่วงท้ายเข้าไป นี้เราได้มาเป็นรูปของพุทธศาสน์ คือ คำสั่งสอน แนะนำ ชี้แจงแล้ว ทีนี้มันก็ยังมาตายด้านอยู่อีก คือ จะมีพระไตรปิฏกให้เต็มไปทุกวัดทุกวา ทั้งโลกนี้มันก็ยังตายด้าน มันต้องมาทำให้เป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้ อีกทีหนึ่ง พอมาถึงตอนนี้จะเรียกมันเสียใหม่ว่า พุทธศาสตร์ แต่ “ตร” สะกด พุทธศาสตร์ แต่ไม่ใช่ พุทธศาสตร์อย่างที่พวกคุณเรียนกันอยู่ในมหาวิทยาลัย นั้นก็ยังเฟ้อเป็นรูปปรัชญา ถ้าพุทธศาสตร์ อย่างอาตมาว่านี้น่ะ หมายถึง การปฏิบัติ และพุทธศาสตร์ นี้ คือ ศาสตรา คือ ของมีคม ที่มีดที่คม ดาบที่คม นี่น่ะ เขาก็เรียกว่า “ศาสตรา” เอาคำนี้มาใช้เรียกว่า “พุทธศาสตร์” ศ-า-ต-ร สะกดนี่ มันกลายเป็น “ศาสตรา” ขึ้นมา มันจะฆ่ากิเลสที่จะเกิดออกมาทางกาย ทางวาจา ทางใจ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว พุทธศาส์น (พุด-ทะ-สาน) ก็ไม่เป็นหมัน พุทธศาสน์ (พุด-ทะ-สาด) .......(48:39) ก็ไม่เป็นหมัน มันมากลายเป็น “พุทธศาสตรา” ที่ฆ่าฟันมารร้ายหรือกิเลสได้ มนุษย์ก็ได้รับประโยชน์ คือความสุข เดี๋ยวนี้มันไปตายด้านอยู่แค่พุทธศาส์น หรือพุทธศาสนาในแง่ที่ว่าเป็นคำสั่งสอน ไม่ลงมาถึงพุทธศาสตรา คือ การปฏิบัติ ชนิดที่ตัดกิเลสและความทุกข์ได้ นี่ยังอยากจะยืนยันลงไปว่า ถ้าทั้งสามอย่างนี้มันยังไม่ครบถ้วน มันก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่ได้ผลและไม่สมบูรณ์ พุทธศาส์น (พุด-ทะ-สาน) ของธรรมชาติออกมาเป็นพุทธศาสตร์ที่มาสอน ๆ กันอยู่และกลายมาเป็นพุทธศาสตราที่ทำลายกิเลสและความทุกข์ได้ครบทั้งสามอย่างแล้วก็สำเร็จประโยชน์ในความหมายของคำว่า “พุทธะ” เมื่อใช้ศาสตราทำหน้าที่ลงไปแล้วก็เกิดผลขึ้น อันนั้นจะเรียกว่าอะไรก็สุดแท้ แต่ถ้าเกี่ยวกับคำว่า พุทธะ พุทธะ นี่ก็ควรจะพอกันที ทั้งในกรณีที่เกี่ยวกับพุทธะนี้ ขอให้จำไว้เพียงสามคำ ว่าพุทธศาส์น (พุด-ทะ-สาน) คำหนึ่ง พุทธศาสน์ (พุด-ทะ-สาด) ศาสน นี่คำหนึ่ง และพุทธศาสตร์ ศาสตร นี่คำหนึ่ง พุทธศาส์น พุทธศาสน์ พุทธศาสตร์ ครบชุดแล้วก็ใช้ได้ ที่ว่ามองดูอย่าง Bird’s – eye view ทีเดียวหมดนั่น ก็ต้องมองให้เห็นว่า พุทธศาส์นของธรรมชาตินั่นนะมีอยู่ตลอดเวลา มีอยู่ในที่ทั่วไป แล้วเกี่ยวกับเรื่องทุกเรื่องแม้ไม่เกี่ยวกับมนุษย์ที่เกี่ยวกับวัตถุล้วน ๆ ก็ยังได้ อะไรก็ได้ ไม่มีอะไรล่ะที่ไม่อยู่ในกฎเกณฑ์ของสิ่งนี้ที่เรียกว่า “กฎของธรรมชาติ” พร้อมกันนั้นก็จะเห็นว่าเราไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ทั้งหมด รู้เท่าที่มาเป็นพุทธศาสน์ที่พระเจ้าส่งมาทางพระศาสดานั้น ๆ ตามยุคตามสมัย ตามถิ่นประเทศที่มันมีปัญหาอย่างไร แตกต่างกันอยู่ ในประเทศอินเดียเมื่อ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว มีปัญหาอย่างไรในด้านจิตใจโดยเฉพาะ มันก็มีผู้ตรัสรู้พระธรรม หรือพุทธศาส์นนี้ขึ้นมาที่เหมาะสำหรับประเทศอินเดียในสมัยนั้น และในประเทศปาเลสไตน์ เมื่อ ๒,๐๐๐ ปีมานี้ ก็มีปัญหายังไง พระเยซูก็ได้เกิดขึ้นมา บอกแสงสว่างอันนั้น ในดินแดนอาหรับ เมื่อซัก ๑,๕๐๐ ปี ๑,๖๐๐ ปี มานี้ มันก็มีพระมูฮัมมัดเกิดขึ้น เพื่อบอกแสงสว่าง เพื่อจะแก้ปัญหาท้องถิ่นนั้น ในเวลานั้น นี่ยกตัวอย่างเท่านั้น ยังมีอย่างอื่นอีกมากมายที่มีพระศาสดานำพุทธศาสน์มาแจกจ่าย คือ ความรู้ตามกฎอันแท้จริงของธรรมชาติเท่าที่จำเป็นที่มนุษย์จะใช้แก้ปัญหานั้น ๆ ได้ในถิ่นนั้นและในยุคสมัยนั้น เดี๋ยวนี้สาวกทั้งหลายแห่งศาสนานั้น ๆ ได้ใช้สิ่งนั้นในฐานะที่เป็นศาสตราหรือเปล่า นี่ก็เป็นสิ่งที่ควรจะมองดู ถ้าเรามองอย่าง Bird’s – eye view ขึ้นไปอยู่สูงสุดและมองดู มันก็ ขออภัยเกือบที่จะต้องกล่าวว่ามันมันเกือบจะไม่มีใครใช้สิ่งเหล่านี้เป็นศาสตรา เพื่อทำลายกิเลสและความทุกข์ของตน มันยืนละเมอ ๆ เพ้อ ๆ ไปอย่างนั้นน่ะ ในมหาวิทยาลัยทั้งหลาย โดยฉพาะในสมัยปัจจุบันที่เห่อเรียนพุทธศาสนากันนักนี้ ก็เรียนเพียงว่ามันเป็นวิชาเท่านั้น บางทีเป็นวิชารอบตัว อ่านความรู้รอบตัวเท่านั้น มันก็ไม่เป็นพุทธศาสตร์ หรือเป็นศาสตราอะไรขึ้นมาได้ นี่ประชาชนทั้งหลายที่ถือศาสนานั้น ๆ ก็ไม่ได้ใช้ให้เป็นศาสตรา ใช้ทำพิธีรีตองเสียมากกว่า ก็ไม่มีศาสตราอะไรในโลกนี้ที่กำลังเป็นประโยชน์ในการขจัดความทุกข์ของมนุษย์ในโลก นี่มองดูอย่าง Bird’s – eye view พบอย่างนี้ และเมื่อพบปัญหาอย่างนี้แล้วก็ไปดูส่วนที่มันจำเป็นแก่พวกเราว่าเราจะศึกษาพุทธศาสน์ในส่วนไหน และทำให้เป็นพุทธศาสตราขึ้นมาได้เท่าไร และกำจัดความทุกข์ของเราได้อย่างไร นั่นแหละเป็นสิ่งที่ต้องดู ดูมากหรือดูทั้งหมดเท่าที่จะดูได้ แล้วก็เลือกเอามาเพียงกำมือเดียว ที่จำเป็นแก่การที่จะแก้ปัญหาหรือดับความทุกข์ของเรา นี่พระพุทธเจ้าคือบุคคลผู้จะนำเอา message จากธรรมชาติ จากพระเจ้าอย่างธรรมชาตินั่นมาแจกแก่เรา ให้เอามาใช้ในฐานะเป็นเครื่องมือสำหรับกำจัด ความทุกข์ของทุกคน พระพุทธเจ้าคือคนเช่นนี้ คือคนอย่างนี้ คือคนที่ทำหน้าที่เช่นนี้ เรานับถือท่านก็เพราะเหตุนี้ ไม่ใช่เพราะเหตุอื่นเลย อ่ะ ทีนี้ก็มองดูพระธรรมกันบ้างต่อไปอีก ขอบอกกล่าวล่วงหน้าว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี่ ถ้ามองถูกแล้วจะกลายเป็นของสิ่งเดียวกัน ถ้ามองไม่เป็นแล้วจะแยกกันอยู่เป็น หลาย ๆ อย่าง เป็นสามอย่างเป็นอย่างน้อย ถ้ามองเป็นแล้วจะกลมกลืนเป็นอันเดียวกันหมด ทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เดี๋ยวก็จะเห็นเอง สิ่งที่สองที่เรียกว่าพระธรรมนี่ ความหมายก็กว้างเหลือประมาณจนไม่มีอะไรที่ไม่ใช่พระธรรม ในพระเจ้านั่นก็คือ ธรรม กฎ กฎของธรรม ความจริงของธรรมชาติทั้งหมดก็เป็นพระธรรม เท่าที่เอามาสอนนี่ก็เป็นพระธรรม เท่าที่ปฏิบัติอยู่นี่ก็เป็นพระธรรม ที่เป็นผลออกมาก็เป็น พระธรรม เอาความหมายของพระธรรมอยู่ตรงที่ว่า สิ่งที่จะช่วยให้มนุษย์ไม่ต้องเป็นทุกข์นั่นเอง นี่ดูกันให้หมดอีก ดูแบบเดียวกับแบบที่ดูพระพุทธเจ้า พระธรรมในฐานะที่เป็นกฎของธรรมชาติตลอดอนันตกาลอย่างที่กล่าวมาแล้ว พระธรรมที่แท้จริงนั้นไม่เป็นศาสนาไหนได้เลย ไม่เป็นของศาสนาไหนโดยเฉพาะ คงเป็นพระธรรมในตัวพระธรรมเอง ของพระธรรมเอง ตลอดกาลนิรันดร นี่ก็เป็นพระธรรม ในความหมายหนึ่ง เป็นความหมายทีแรกที่จะต้องดูให้เห็น ถ้าจะขึ้นไปดูพระธรรม ขึ้นไปดู ขึ้นไปสูงสุดจนดูพระธรรมชนิดนี้เห็น มันก็จะยิ่งกว่านกจะบินขึ้นไปได้ล่ะ ต้องขึ้นปราสาทของปัญญา คำที่เคยใช้มันมีอยู่อย่างนั้น ปราสาทของปัญญา คือ ปัญญาที่ต่อยอดกันขึ้นไปเป็นชั้น ชั้น ชั้น ชั้น ชั้น จนถึงสูงสุด เป็นปราสาทของปัญญา สูงสุดจริง ๆ ถึงจะมองเห็นสิ่งทั้งหลาย รวมทั้งสิ่งที่ลึกลับเหลือประมาณนี้ด้วย นี้เราก็ไม่จำเป็น ถ้าจะว่าจริง ๆ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมองถึงขนาดนั้น แต่ถ้ามองเห็นก็ยิ่งมีประโยชน์ที่สุด ก็เราจะได้เชื่อว่ามันมีสิ่งนั้นอยู่จริงและเด็ดขาดหรือเฉียบขาดจริง และก็ไม่เป็นอะไรชนิดที่เป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย หรือเป็นที่ตั้งแห่งความขัดแย้ง ทุ่มเถียงกัน ไม่ต้องแบ่งแยกกันเป็นพวกนั้นพวกนี้ และไม่ใช่ของเฉพาะถิ่น ประเทศ และไม่ใช่ของเฉพาะกาลเวลา นี่ธัมมะในฐานะที่เป็นกฎของธรรมชาติ มีอย่างนี้ ถ้าเรียกโดยสมมติ เรียกว่า พระเจ้าก็ได้ หรือเรียกอย่างอื่นอีกก็ได้ นี่ ธัมมะในความหมายในที่ถัดลงมา ที่ที่รองลงมา ก็คือ ธัมมะที่เป็นคำสั่งสอน ที่มีผู้นำมาสั่งสอนเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะถิ่น เฉพาะยุค เฉพาะสมัย อย่างที่กล่าวมาแล้ว เช่น คำสอนของพระพุทธเจ้าก็ดี ของพระเยซูก็ดี ของพระมูฮัมมัดก็ดี อยู่ในรูปของคำสั่งสอน แล้วก็ส่วนใหญ่ก็ถือกันว่าเป็นพระคัมภีร์ คือบันทึกของสิ่งเหล่านี้อยู่ในรูปของสิ่งที่เรียกว่าพระคัมภีร์ของแต่ละศาสนานั่นเอง แต่ตัวพระคัมภีร์หรือตัวหนังสือนั้นเป็นเพียงเปลือกหรือภาชนะที่จะใส่ความรู้อันนี้ไว้เท่านั้นแหละ ให้เพ่งเล็ง ตัวความรู้อันนั้น อันนั้น ที่เขาบันทึกไว้ด้วยตัวอักษร เป็นต้น ไม่ใช่ตัวอักษรนั้นเป็นตัวกระทำ แต่เป็นความรู้ หรือความจริงที่บันทึกไว้ด้วยตัวอักษรนั้นเป็นกระทำ ก็เท่าที่พระศาสดาองค์หนึ่ง ๆ นำมาสอน เพื่อแก้ปัญหาอันแท้จริงที่มีอยู่อย่างแท้จริงในเวลานั้น ในยุคนั้น โดยสมควรแก่ยุคแก่สมัยด้วย ข้อนี้ก็ควรจะรับรองกันได้ว่า โลกในบางยุคบางสมัยไม่เหมาะที่จะรู้หรือเข้าใจธัมมะส่วนนี้ ส่วนนี้ แต่เหมาะที่จะเข้าใจธัมมะส่วนอื่น ระดับอื่น และโลกในบางยุค บางสมัย ก็เหมาะที่จะรู้ จะเข้าใจ จะปฏิบัติได้ในธัมมะนั้น นี้ ระดับนั้น ระดับนี้ เช่นว่าโลกในยุคพุทธกาล มนุษย์มีความเหมาะสมที่จะบรรลุธัมมะ รู้และบรรลุธัมมะชนิดนั้น ถึงขนาดนั้น แต่พอมาถึงยุคนี้ ปัจจุบันนี้ ก็ไม่เหมือนกันทีเดียว มันก็เปลี่ยนไปบ้าง อาจจะรู้ได้ง่ายหรือรู้ได้ยาก หรือรู้ได้น้อย หรือรู้ได้มาก ก็แล้วแต่เรื่อง แต่ถึงอย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงมันไม่เปลี่ยน เพราะกิเลสของมนุษย์ก็ยังเป็นอย่างนั้น ไอ้ความทุกข์ของมนุษย์ก็ยังเป็นอย่างนั้น ฉะนั้น จึงแก้ได้ด้วยธัมมะ อันนั้นเอง เพียงแต่ว่าสิ่งแวดล้อมหรือปัจจัยอื่นมันไม่อำนวย สมัยนี้มันจึงรู้ธัมมะยาก มันจึงปฏิบัติธัมมะยาก จนถึงกับว่าคนไม่ค่อยจะสนใจกัน ไม่เข้าใจธัมมะในแง่ที่จะดับทุกข์โดยตรง แต่อาจจะไปสนใจธัมมะในแง่ของสินค้า เอาไปขาย เช่น ไปรับจ้างสอน มันก็เป็นสินค้าไปก็ได้ ไม่สำเร็จประโยชน์แก่การดับทุกข์ ฉะนั้น พระธรรมในความหมายที่สอง เราเล็งถึงคำสั่งสอนที่จำเป็นแก่ยุคแก่สมัยตามที่พระศาสดานั้นๆ นำมา สั่งสอน ทีนี้ พระธรรมในความหมายที่สามที่ถัดออกไปจะเล็งถึงตัวการปฏิบัติโดยตรง หรือที่เรียกว่าพุทธศาสตรา หรือธรรมศาสตราก็ได้ เลยกลายเป็นสิ่งเดียวกัน ใช้พุทธศาสตรา คือ ศาสตราที่พระพุทธเจ้าท่านมอบให้ ถ้าเรียกว่า ธรรมศาสตราคือศาสตราที่พระธรรมนี้จะเป็นให้ จะช่วยเป็นให้สำหรับการตัดกิเลสและความทุกข์ ก็เรียกว่าธรรมศาสตราก็ได้อีกเหมือนกัน ถ้าจะดูตัวพระธรรมชนิดนี้แล้วต้องดูที่กาย ที่วาจา ที่ใจ ของคน นั่นเอง ว่ามีหรือไม่มี ความประพฤติ กระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ ของบุคคลเหล่านั้น มันเป็นการทำเพื่อทำลายกิเลสและความทุกข์หรือไม่ ถ้ามันเป็นไปเพื่อทำลายกิเลสและความทุกข์ มันก็เรียกว่า ธรรมศาสตราได้ทันที ทั่วไป ทุกหนทุกแห่ง เป็นมีด หรือ ดาบ เล่มเล็ก เล่มน้อย เล่มใหญ่ เล่มสั้น เล่มยาว เล่มอะไรก็ตามเถอะ พึงรู้แต่ว่าคนคนนึงมันใช้ตัดปัญหาของตนในชีวิตประจำวัน ต้องเป็นสิ่งที่ใช้อยู่จริงในชีวิตประจำวันด้วย คือ พระธรรมในความหมายที่สาม เรียกว่า ธรรมศาสตรา นี่เราจึงเห็นได้ทันทีว่ามันก็เรื่องเดียวกันกับพระพุทธ พระพุทธเจ้า พุทธศาส์น พุทธศาสน์ พุทธศาสตรา ธรรมศาส์น ธรรมศาสน์ ธรรมศาสตรา ไม่มีอะไรต่างกัน แต่สำหรับพระธรรมนี่มันเป็นนามธรรมที่มีความหมายกว้างขวาง ฉะนั้น อาจจะไปใช้แก่ผลของการปฏิบัติก็ได้ คือผลของการใช้ธรรมศาสตรานั่นเอง เมื่อใช้ธรรมศาสตราได้เสร็จแล้ว มีอะไรเกิดขึ้น อันนั้นก็เป็นพระธรรมในอีกความหมายหนึ่ง ซึ่งความหมายอันนี้ไม่มีแก่พระพุทธเจ้า เพราะเราเล็งถึงบุคคล ผู้สอน ผู้ให้ ส่วนธัมมะนี่เล็งถึงสิ่งที่สอนที่ให้มา และในที่สุดมันเกิดเป็นผลสำเร็จแท้จริงขึ้นมา คือ เป็นการดับทุกข์ได้ ถ้าจะดูพระธรรมในความหมายนี้แล้วก็ดูที่อานิสงส์ หรือ ผลานิสงส์ ที่ผู้ปฏิบัติได้รับอยู่ในที่นั้น ๆ ในยุคสมัยนั้น ๆ คือผลของการปฏิบัติที่ผู้ปฏิบัติเขาได้รับอยู่อย่างถูกต้อง ตามความหมายของพระธรรมแห่งยุคนั้น ๆ แห่งสมัยนั้นๆ ตามที่จะอำนวยให้ มีได้เท่าไร แล้วก็ดูได้ที่กาย วาจา ใจ ของบุคคลผู้ปฏิบัติอยู่อย่างซื่อตรงและถูกต้อง นี่เรียกว่า Bird’s – eye view ของสิ่งที่เรียกว่า “พระธรรม” ที่ทุกคนก็เคยพูดถึงสิ่งนี้ เคยอวดอ้างว่ารู้สิ่งนี้ เคยศึกษาสิ่งนี้ ก็ไปพิจารณาดูเอาเองว่าได้รู้จัก สิ่งนี้ในทุกความหมายอย่างนี้หรือเปล่า ว่าได้เป็นนกที่บินขึ้นไปถึงจุดสูงสุด แล้วมองดูโลกของพระธรรม เห็นพระธรรมในทุกความหมายอย่างนี้หรือเปล่า ไปคิดดูเอาเอง นกในที่นี้มันไม่ใช่นกอย่างที่สองปีกบินได้เสียแล้ว มันเป็นสติปัญญาของมนุษย์ที่จะขึ้นไปเหนือปัญญาปราสาท แล้วก็มองดูสิ่งที่มีอยู่จริง คือสิ่งที่เรียกว่า ธรรม หรือ ธัมมะ หรือ พระธรรม ในแง่ต่าง ๆ จนกระทั่งรู้จักพระธรรมในทุกประการ แล้วก็เลือกเอามากำมือนึง สำหรับแก้ปัญหาของตัว มันก็พอแล้ว ทีนี้มาดูสิ่งที่สาม คือ พระสงฆ์ คำว่า “พระสงฆ์” นี้ อย่างน้อยที่สุดเราต้องดูกันในสองแง่ เพราะว่าที่เป็นตัวบุคคลนั้นเป็นเปลือกเท่านั้น นี่มันอย่างหนึ่ง ที่เป็นคุณธรรม ที่มีอยู่ในใจของบุคคลนั่นแหละ คือ เป็นอีกอย่างหนึ่งต่างหาก ฉะนั้นเขาจึงมีสงฆ์สมมติ หรืออริยสงฆ์ สงฆ์สมมติมันก็ดูที่เปลือกข้างนอก ฉะนั้นจึงดูพระสงฆ์ในแง่นอก ด้านนอก ชั้นนอกที่สุด ก็คือว่าพระสงฆ์นั้นก็สักว่าอยู่กันเป็นหมู่ ๆ เพราะคำว่า สงฆ์ หรือ สังฆะ นี้ แปลว่า หมู่ หรือ ฝูง ใช้กับฝูงวัว ฝูงควายก็ได้ คำว่า สงฆ์ สังฆะ ในที่นี้หมายถึงหมู่มนุษย์และเป็นนักบวชด้วย เพราะพระสงฆ์ในแง่แรกที่สุดก็คือสักว่าอยู่กันเป็นหมู่ ๆ ตามแบบของบรรพชิต จะดีหรือชั่วหรืออะไรก็ไม่ได้คำนึงถึง เอาแต่ลักษณะภายนอกที่ว่าอยู่กันเป็นหมู่ ๆ ก็เรียกว่าพระสงฆ์ไปทีนึงก่อน เป็นฆราวาสก็ได้ เป็นบรรพชิตก็ได้ อยู่กันเป็นหมู่ ๆ ด้วยวัตถุประสงค์หรืออุดมคติเดียวกัน แล้วก็เรียกว่าพระสงฆ์ได้ เป็นความหมายที่หยาบที่สุด ต่ำที่สุด ทั่วไปที่สุด ทีนี้ความหมายที่สอง พระสงฆ์ คือ ผู้ที่ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเข้าใจแล้วนำมาพยายามปฏิบัติอยู่ ไปเน้นตรงคำว่าพยายามปฏิบัติอยู่ เมื่อได้ฟังแล้วได้เข้าใจ ซึ่งจำเป็นอยู่เองที่จะต้องพอใจ แล้วจึงได้นำมาพยายามปฏิบัติอยู่ พระสงฆ์ในความหมายนี้ก็คือผู้ที่พยายามปฏิบัติอยู่อย่างตัวเป็นเกลียว ที่จะทำลายกิเลสและความทุกข์จนสุดกำลังสติปัญญาของตน นี่ก็คือพระสงฆ์ที่นัยยะที่สองที่ยิ่งกว่าพระสงฆ์ทีแรก ก็คือ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติจริง อยู่อย่างตัวเป็นเกลียว เพื่อจะทำลายกิเลสและความทุกข์ นี้พระสงฆ์ในความหมายที่สาม คือ ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัตินั้น นี่ความสำเร็จอาจจะแบ่งได้เป็นขั้นตอน อย่างที่แบ่งในหลักพระพุทธศาสนานี้ว่าเป็นพระโสดาบันบ้าง พระสกิทาคามีบ้าง อนาคามีบ้าง สูงสุดไปตามลำดับ จนถึงพระอรหันต์ ทั้งหมดนี้เรียกว่าผู้ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติ เป็นพระสงฆ์ที่สมบูรณ์แบบ ก็เลยเรียกกันเป็นพิเศษหน่อยว่า “พระอริยสงฆ์” นอกนั้นให้เป็นสมมติสงฆ์ไปก่อน พระอริยสงฆ์ คือ พระสงฆ์ที่แท้จริงตามความหมายของพระสงฆ์ ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติและดับทุกข์ได้ นี่ก็เหมือนกับว่า โผขึ้นไปถึงจุดสูงสุดแล้วมองดูลงมายังพระสงฆ์ที่มีอยู่ในแบบรูปต่าง ๆ กันในโลกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพระพุทธศาสนานี้ เราไม่ควรจะลืมที่จะมองดูตัวเองด้วยว่าเป็นพระสงฆ์กับเขาด้วยหรือเปล่า แม้ที่เป็นฆราวาส ถ้ารู้อยู่ เข้าใจอยู่ พยายามปฏิบัติอยู่ ก็ถูกนับเนื่องในหมู่พระสงฆ์นี่ด้วยเหมือนกัน และถ้าฆราวาส ผู้นั้นถึงกับประสบความสำเร็จ บรรลุ มรรค ผล แม้แต่ขั้นโสดาบัน ก็ยิ่งเป็นพระสงฆ์เต็มที่ อยู่ที่บ้านที่เรือน อยู่ในเพศที่เรียกกันว่าเพศฆราวาส ก็เป็นพระอริยสงฆ์ได้ นี่ผลของการมองดูกันอย่างละเอียดละออทั่วถึง มันจะทำให้เห็นภาพวิวในลักษณะอย่างนี้ เห็นพร้อมกันหมดทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เพราะว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ค้นพบในสิ่งลึกลับที่สุดคือพระธรรม ถ้าไม่ค้นพบพระธรรม ก็ไม่เป็นพระพุทธเจ้า เรียกว่าพระธรรมทำให้คนเป็นพระพุทธเจ้า ท่านพบแล้วก็บอกกล่าว สั่งสอน จำแนก แจกแจง เปิดเผยแก่ผู้อื่น คือพระสงฆ์นั่นเอง ฉะนั้นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จึงมีความสัมพันธ์กันอย่างที่ไม่แยกจากกันได้ จนถึงกับมีผู้กล่าวว่าเหมือนกับไม้สามอัน อาศัยกันให้เหมาะเจาะแล้วก็อิงพิงกันอยู่ได้ไม่ล้ม พอดึงออก เสียอันหนึ่งก็จะล้มหมด ไม่มีอะไรเหลือ ถ้าเรามองดูอย่างที่ว่า คือมองดูอย่าง Bird’s – eye view นั่นน่ะ ก็จะพบความเป็นอย่างนี้ แต่ต้องเป็นอย่างด้านจิตหรือด้านวิญญาณ ไม่ใช่ด้านวัตถุ นั้นจึงขึ้นเรือบินมองก็ไม่เห็น ขึ้นจรวดชนิดไหนมองก็ไม่เห็น แต่เรานั่งอยู่ที่ดินนี่ ถ้าอบรมจิตให้เหมาะเจาะ ให้เป็นจิตที่อบรมดีแล้ว แล้วก็จะมองเห็น เพราะว่าจิตชนิดนี้เท่านั้นที่จะสามารถขึ้นไปสู่ปราสาทของปัญญาอย่างที่ว่ามาแล้ว แล้วก็มองดูสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้อย่างวิธีที่ว่าให้นกมันขึ้นไปสูงสุดแล้วก็มองดูแผ่นดินทั้งสิ้นในคราวเดียวกัน นี่เป็นอันว่าได้พูดกันถึงเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในฐานะเป็นวัตถุสามอย่างที่นักศึกษาที่เป็น พุทธบริษัทจะต้องมองให้เห็น ถ้าเก่งมากก็มองอย่างที่เรียกว่าขึ้นไปข้างบนสูงสุดแล้วมองลงมา เมื่อยังไม่สามารถจะขึ้นไปได้ด้วยตนเอง ก็ต้องอาศัยคำบอกเล่ากันไปก่อนอย่างนี้ ต่อไปก็จะสามารถมองเห็นได้ด้วยตนเองมากขึ้นมากขึ้น จนเข้าใจแจ่มแจ้ง จนเห็นอย่างแจ่มแจ้ง อย่าไปคิดนึกให้มันนอกรีตนอกรอย นอกลู่-นอกทาง ไม่สำเร็จประโยชน์ เพราะมันเป็นเรื่องที่ต้องดู ดูให้เห็น ไม่ใช่คิดให้ออก ไอ้เรื่องคิดให้ออกนั้นเอาไปไว้ในกิจกรรมอย่างอื่น หรือว่าเพื่อจะศึกษาสิ่งต่าง ๆ ในแบบของปรัชญา แต่ถ้าจะศึกษากันในแบบของ พระศาสนาแล้วไม่จำเป็นจะต้องใช้ นอกจากดูอย่างเดียว ดู ดู ดู จนดูให้เห็น ถ้าดูไม่เห็นก็อบรมจิตใจให้ดีขึ้น ดีขึ้น แล้วมันก็จะดูเห็น นี่เรื่องที่ตั้งใจจะพูดในวันนี้ก็มีอยู่เพียงเท่านี้ ฟังดูก็ไม่ค่อยมีสาระอะไร คือไม่ค่อยได้พูดถึงอะไรเจาะจงลงไป เผอิญบอกให้ดูทีเดียวหมด สำหรับจะได้เลือกเอามาสักกำมือหนึ่ง เพื่อทำประโยชน์ให้ได้โดยแท้จริง ส่วนตัวบุคคลนั้น ๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องหลักสูตรของการศึกษาที่เขาวางไว้สำหรับการศึกษา ที่นั่นที่นี่ก็สุดแท้ แต่ว่าจะไป จะรวบรวมเอาไปได้สักเท่าไร ซึ่งมันก็จะต้องเกินจำเป็นสำหรับผู้ที่จะปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ แต่เดี๋ยวนี้เรายังไม่ต้องการจะปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ ก็เรียนให้มาก ให้สมกับที่ว่าเราอยากจะรู้ เมื่อรู้แล้วก็จะได้เลือกมาเท่าที่จำเป็น ในที่สุดก็คงจะประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ นี้คำพูดทั้งหมดนี้ก็พูด ด้วยความมุ่งหมายว่าจะเป็นความเข้าใจได้ง่าย เข้าใจได้โดยสามัญสำนึกว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้นคืออะไร ไม่ต้องฝากไว้กับคำกล่าวของใครอะไรนัก จะได้บอกวิธีที่จะดูด้วยตนเอง ดูด้วยตนเองอย่างนี้ แล้วก็จะเห็นสิ่งเหล่านั้น นี่เป็นการง่ายที่จะเข้าใจพระพุทธศาสนา อีกอย่างหนึ่งก็เป็นทางที่จะให้เข้าใจ โดยกว้างขวาง ยิ่งไปกว่าง่ายก็คือให้มันเข้าใจได้กว้างขวาง คือเข้าใจไปถึงตัวธรรมชาติอันแท้จริงอันสูงสุด จนกระทั่งไม่มีพุทธศาสนา ไม่มีศาสนาไหนเลย มีแต่สัจจะของธรรมชาติ กฎอันแท้จริงของธรรมชาติ มีตัวธรรมชาติ มีตัวกฎของธรรมชาติ ซึ่งมันไม่เป็นศาสนาไหนได้ และมันสมบูรณ์ที่สุด ทีนี้มีผู้แบ่งแยกออกมาเฉพาะส่วนเฉพาะเวลา มาทำเป็นศาสนานั้น มาทำเป็นศาสนานี้ จนมีหลาย ๆ ศาสนา จนเมื่อไม่เข้าใจศาสนาของตนของตนแล้วก็ไม่ได้รับประโยชน์ แล้วก็ยังเถียงกันในระหว่างศาสนาเหมือนกับที่ได้เล่าให้ฟังเรื่องตาบอดคลำช้าง ในศาสนาหนึ่ง ๆ ก็มีคนไปเข้าใจในแง่มุมของศาสนานั้น ๆ ต่าง ๆ กัน จนต้องเถียงกัน เหมือนพวกตาบอดคลำช้าง ทีนี้เราก็เข้าใจได้กว้างขวางพอที่จะไม่เป็นตาบอดคลำช้าง เข้าใจถึงธรรมชาติ เดิมแท้ ซึ่งเป็นที่รวมกันทั้งหมดของสิ่งที่เรียกว่าพระพุทธ หรือพระธรรม หรือพระสงฆ์ด้วยก็ได้ เพราะเป็นของเนื่องกัน ดังที่อาตมาก็ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่าจะพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าพระพุทธศาสนา และสิ่งอีกหลาย ๆ สิ่งที่มันเนื่องกันอยู่ ซึ่งจะต้องลากเอามารวมเอากันมาเข้าไว้ด้วยกัน แล้วก็ดูคราวเดียวกัน แต่ถ้าพูดว่าธัมมะแล้วมันอาจจะพอ เพราะว่าธัมมะมันกว้าง สิ่งที่เราตั้งใจจะรู้และสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่หรือสิ่งที่จะเป็นผลตามมา อะไรก็ตาม มันใช้คำว่าธัมมะคำเดียวได้ แต่นี่เราไปรับใช้คำว่าพระพุทธศาสนา ก็เลยต้องพูดกันให้สิ้นกระแสความ ว่าต้องรวมถึงสิ่งที่มันเกี่ยวข้องหรือเนื่องกันอยู่กับพระพุทธศาสนานั้นด้วย นี้ข้อดีต่อไปอีกก็คือว่า พูดอย่างนี้มันจำง่าย มันไม่ต้องมีอะไรมากมาย มันมีธรรมชาติ มีกฎของธรรมชาติ มีคนรู้ในส่วนที่จำเป็น แล้วมาสอนให้ประพฤติปฏิบัติ การพูดอย่างนี้มันจำง่าย ประโยชน์ของมันยังมีอยู่ในข้อนี้ มันจำได้ง่าย โดยสามัญสำนึก ไม่ต้องเป็นนักปราชญ์อะไรที่ไหนมา จากนั้นมันก็ยังเนื่องไปถึงกับว่ามันศึกษาได้โดยง่าย มันผิดทางได้ยาก มันศึกษาได้โดยง่าย ก็ขอให้จำ ให้กำหนดจดจำหลักเกณฑ์อย่างที่กล่าวนี้ไว้เถิด ก็จะทำให้เกิดการศึกษาง่าย แล้วต่อไปจากนั้นอีกก็จะทำให้เกิดการปฏิบัติง่าย จะเห็นว่าไม่หนักอกหนักใจอะไร ไม่เหลือวิสัยอะไร มันจะง่ายดายในเมื่อรู้ทั่วถึงในสิ่งที่ตัวจะต้องปฏิบัติ มีอยู่เท่านั้น ปฏิบัติเพียงเท่านั้น เพื่อประโยชน์อย่างนั้น ยังจะปฏิบัติง่ายจนถึงกับบรรลุในธัมมะชั้นสูงที่เราเคยขลาดเคยกลัว ไม่กล้าคิด ไม่กล้าหวัง จะทำให้กล้าคิดและกล้าหวัง แล้วข้อดีต่อไปอีกก็คือว่ามันมีหลักที่มั่นคงและแน่นอน หลักเกณฑ์อันนี้มันเหมือนกับแผ่นดินที่หนาแน่น ที่จะไม่รวนเรอีกต่อไป ที่จะเหยียบลงไปได้อย่างไม่มีการสั่นคลอน หรือทรุดหรือจมอะไร มันเป็นความรู้ที่แท้จริงอย่างถึงที่สุด นี่ขอให้เข้าใจรูปโครงทั้งหลายอย่างที่ได้กล่าวมาให้ฟังนั้น และข้อดีอันสุดท้ายก็คือว่าจะสามารถทำความเข้าใจกันได้ในระหว่างศาสนาทุกศาสนา เดี๋ยวนี้ เสนียด จัญไรที่เลวร้ายที่สุดที่มีอยู่ในโลกอย่างหนึ่งก็คือความเข้าใจกันไม่ได้ในระหว่างศาสนา ศาสนาทะเลาะกันเสียเอง แล้วมนุษย์จะเอาอะไรเป็นที่พึ่ง ฉะนั้นต้องถือว่าอันนี้เป็นเสนียด จัญไรที่เลวร้ายที่สุดในโลก คือความเข้าใจกันไม่ได้ในระหว่างศาสนา แต่ถ้ารู้ข้อเท็จจริงดังที่ได้กล่าวมาแล้วแต่ต้นนี่ จะมองเห็นได้ทันทีว่าจะทำความเข้าใจกันได้ในระหว่างศาสนาทุกศาสนาจนเหลือแต่ศาสนาแห่งกฎของธรรมชาติ อันแท้จริงโดยเด็ดขาด ฉะนั้นเสนียด จัญไรในโลกก็จะหายไป ไม่เกิดมาจากการทะเลาะวิวาทกันในระหว่างศาสนา ชิงดีชิงเด่นกันในระหว่างศาสนา หรือพยายามทำลายล้างกันอยู่ใต้ดินต่อศาสนาอื่น เพียงเท่านี้ก็คิดว่าจะพอแล้วสำหรับประโยชน์ที่เราจะได้รับจากความรู้ข้อนี้ ฉะนั้นขอให้สนใจให้ตรงจุดหมายที่ได้ว่ามาแล้วนั้น แล้วอันสุดท้ายก็คือว่าจะขจัดไอ้ความสับสนจนเวียนหัว อาตมาว่าเอาเองนะ แต่เชื่อว่าจริง ฉะนั้น จึงยืนยันว่า นักศึกษาทั้งหลายเหล่านี้หรือเหล่าอื่นที่ไม่ได้มาที่นี่ คงจะกำลังสับสน ฟั่นเฟือน เวียนหัว เนื่องจากการศึกษาหลักพระธรรมในแง่มุมต่าง ๆ กัน เดี๋ยวอย่างนั้นเดี๋ยวอย่างโน้น เดี๋ยวอย่างนี้ คนนั้นสอนอย่างนั้น คนนั้นสอนอย่างนี้ หนังสือเล่มนั้นก็ไปอย่าง หนังสือเล่มนี้ก็ไปอย่างนึง จนเวียนหัว จนจำอะไร ไม่ค่อยจะได้ ปัญหานี้จะหมดไปถ้าเข้าใจหลักเกณฑ์อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้น ฉะนั้นขอให้สนใจเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้ความฟั่นเฝือ สับสนจนเวียนหัวในการศึกษาพระพุทธศาสนานั่นเอง ต่อไปมันก็จะไม่ต้องมีเรื่องเวียนหัว เพราะการศึกษาพุทธศาสนาวนเวียนจนไม่รู้จะเอาอย่างไรกันแน่ นี่ความมุ่งหมายของการบรรยายในวันนี้ก็มีอยู่อย่างนี้ และเดี๋ยวนี้ก็เป็นการสมควรแก่เวลาแล้ว ก็ขอยุติการบรรยายไว้เพียงเท่านี้ก่อน