แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
(เสียงท่านพุทธทาส) จะได้กล่าวในหัวข้อว่า การรู้จักชิมรสของโลกอื่น ขอให้สังเกตดูว่าเราได้พยายามทำความเข้าใจกันในเรื่องที่คนเขามองข้าม หรือว่าในคำพูดบางคำที่มีความหมายชนิดที่คนอื่นเขามองข้าม และเรื่องเหล่านั้นก็เป็นเรื่องที่สำคัญ และบางเรื่องก็จะมีโอกาสทำความเข้าใจคือรู้จักได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในเวลาที่มาบวชอย่างนี้เป็นต้น อย่างน้อยที่สุดคงจะเห็นได้ว่าคำอธิบายนี้จะได้ช่วยให้เข้าใจเรื่องหรือคำบางคำที่เข้าใจอยู่แต่ก่อนอย่างไม่สมบูรณ์ หรือว่าอย่างที่ไม่อาจจะใช้ให้เป็นประโยชน์อะไรได้ ตัวอย่างเช่นคำว่าปรทัตตูปชีวี หมายถึงพวกเปรต พวกสุนัข อะไรไปเสีย ลืมนึกถึงคนโดยเฉพาะภิกษุ และเมื่อได้ออกไปจากความเป็นภิกษุก็ยังใช้ความหมายแห่งคำว่าปรทัตตูปชีวีนี้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างดี เพื่อสันติสุขในส่วนตนและยังมีประโยชน์แก่ส่วนสังคมหรือส่วนโลกทั้งโลก อย่างที่ได้กล่าวแล้วว่าถ้าโลกเรา ถือลัทธินี้กันบ้าง ก็จะรักใคร่เมตตาสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ยิ่งกว่าที่กำลังเป็นอยู่ในบัดนี้ ซึ่งดูจะไม่มีความรักความสามัคคีเสียเลยด้วยซ้ำไป แม้เรื่องการอยู่อย่างต่ำ ทำอย่างสูง นี่ก็ยังจะทำได้ดีมากยิ่งขึ้นไปกว่าที่เคยทำอยู่แล้ว หรือเคยได้ยินได้ฟังอยู่ก่อนแล้ว และให้มีความเป็นมุนีอยู่ในความเป็นมนุษย์ แม้อยู่ที่บ้านที่เรือน ให้มีความเป็นเกลอกับธรรมชาติ ทั้งโดยทางร่างกายและทางจิตทางวิญญาณ อยู่อย่างควบคุมความโกรธได้ อยู่อย่างลดหัวลดหางได้ จะเรียกอีกความหมายหนึ่งในบาลีก็มีคำเรียกว่าลดธงก็ได้ แต่จะพูดอย่างลดธงนี้เดี๋ยวมันจะเป็นพ่ายแพ้ ยอมแพ้ เหมือนว่าคนที่แพ้แล้วก็ยอมลดธง เดี๋ยวนี้มันเป็นการลดธงคือมานะ ทิฐิของตนเอง ซึ่งชอบยกอวดคนอื่นนั่น ให้ลดลงมาเสีย เรียกว่าอยู่อย่างลดธง คือไม่ยกธงขึ้นประกาศความเด่น ความอะไร นี่ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ หรือถ้าทำได้จะมีประโยชน์มากที่สุดสำหรับมนุษย์เรา จึงเอามาบรรยายถวายให้เป็นความรู้สำหรับราชภัฏผู้มาบวชแล้วก็จะต้องลาสิกขาออกไป
มาถึงตอนนี้แล้วผมเข้าใจว่าท่านทั้งหลายคงจะรู้จักเปรียบเทียบความต่างกันของการที่ได้บวชกับการที่ไม่ได้บวช เราได้พูดถึงเรื่องต่าง ๆ มาหลายเรื่องแล้ว เพียงพอแล้วที่จะให้มองเห็นความแตกต่างกัน หรืออย่างน้อยก็เป็นประโยชน์ที่มันแตกต่างกันระหว่างผู้ที่ได้บวชกับที่ไม่ได้บวช เช่นว่าจะมองเห็นได้ว่าวิชาชีพกับวิชาธรรมะนี่มันต่างกันอย่างไร เดี๋ยวนี้อาจจะเข้าใจได้แล้วกระมังว่าเรามีแต่วิชาชีพ จะไปเรียนกันมาจากไหนขนาดไหนแต่ไรจนจะตายอยู่แล้ว มันก็รู้แต่วิชาชีพ เพราะมันเป็นวิชาที่ไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนกัน ส่วนวิชาธรรม วิชาธรรมะ ซึ่งเป็นเรื่องทางจิตใจนี่ก็ยังเกือบจะไม่รู้ ถ้ารู้ก็รู้อย่างตามประเพณีได้ยินได้ฟังบ้างแล้วก็เอามาตีความเอาเองก็อย่างผิด ๆ นั้นในระหว่างที่บวชนี่คงจะทำให้ได้รู้วิชาธรรมะนั้นเพิ่มขึ้น เพราะเป็นคู่กันกับวิชาชีพ พร้อมกันนั้นก็จะทำให้เห็นได้ว่ามันเนื่องกันอย่างไร มันเนื่องกันถึงขนาดที่เรียกว่า แยกออกจากกันไม่ได้ ถ้ามีแต่วิชาชีพ สำเร็จประโยชน์ในทางวิชานั้น มันก็มีความเป็นมนุษย์ได้อย่างมากก็เพียงครึ่งคน มันคงจะเป็นคำด่าอย่างรุนแรงเหมือนกัน ว่าเป็นคนเพียงครึ่งคน เป็นมนุษย์เพียงครึ่งคน ต่อเมื่อมีความรู้อย่างถูกต้องในทางจิตทางวิญญาณสมบูรณ์ขึ้นมาอีกส่วนหนึ่ง ถึงจะมีความเป็นคนอย่างเต็มคน เต็มความเป็นมนุษย์
ทีนี้ก็มองดูต่อไปอีกว่า โลกสมัยนี้มีวิชาชีพก้าวหน้าคือเทคโนโลยีทั้งหลายทุกแขนง มันก้าวหน้า ทำให้ผลิตอะไรขึ้นมา ทำให้เกิดอะไรขึ้นมาอย่างไม่ ไม่คาดฝัน คืออย่างที่ไม่ได้เคยคิดหรือว่าเหลือที่จะคิดมาก่อน นี่วิชาชีพมันยิ่งก้าวหน้าอย่างนี้ ทีนี้วิชาธรรมะ มันควรจะเพิ่มขึ้นตามหรือว่าควรจะลดลงไป เดี๋ยวนี้ตามข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่วิชาธรรมะมันลด ลดลงไปเพราะคนไม่สนใจ มันเกือบจะลับหายไป วิชาธรรมะไม่ได้เจริญรุ่งเรืองเคียงบ่าเคียงไหล่กันขึ้นมากับวิชาชีพ นี่โลกมันจะเป็นโลกของอะไร ถ้าพูดกันตรง ๆ เป็นโลกของผีบ้าอะไรชนิดหนึ่งเท่านั้น ถึงมีการมัวเมาแต่ในเรื่องของวัตถุ ถ้าในโลกนี้มันมีวิชาธรรมะเคียงคู่กันขึ้นมาเคียงบ่าเคียงไหล่กันกับเรื่องทางวัตถุคือวิชาชีพ มันจะเป็นโลกที่น่าดู เป็นโลกพระศรีอาริย์ หรืออะไรทำนองนั้น ได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ นั้นเดี๋ยวนี้โลกมันก้าวหน้าแต่ทางวัตถุหรือวิชาชีพ ไปเสริมกิเลสของคนในโลก จนทำให้กิเลสมากขึ้น เขาเรียกว่ามี ซาตาน พญามาร หรืออะไรทำนองนั้นมันมากขึ้นในโลก ซึ่งเป็นพาให้เกิดวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ขอให้ลองคิดดูก็พอจะเห็นได้เองว่า วิชาชีพหรือเรื่องฝ่ายวัตถุก้าวหน้าเท่าไร วิชาธรรมะฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณก็ควรจะก้าวขึ้นมาในสัดส่วนที่สมกัน คิดดูว่าเดี๋ยวนี้มันก็ก้าวหน้าถึงขนาดว่าไปโลกพระจันทร์นี่จะเป็นของเด็กเล่นไปแล้ว ต่อไปมันก็ทำอย่างอื่นได้ยิ่งกว่านั้น แต่ทำไมในโลกนี้มันยังเต็มไปด้วยวิกฤตการณ์ ไม่มีสันติภาพ สงครามมากขึ้นโดยเฉพาะสงครามเย็น นี่เพราะว่าไอ้เรื่องธรรมะนี่มันไม่รู้ไม่ชี้กันเสียทีเดียว นั้นเราเข้ามาบวชในธรรมวินัยนี้ ทั้งที่ยังไม่มองเห็นประโยชน์อันแท้จริงของการบวช นั้นไม่เป็นไร แต่เมื่อเข้ามาแล้วจะต้องทำอย่างไร จะต้องทดลองอะไร จะต้องค้นคว้าอะไร จะต้องศึกษาอะไร นั้นผมจึงพูดไปในทำนองที่ว่าให้ลองชิมอะไรต่าง ๆ ให้รู้สึกความเป็นอย่างนั้นและก็ชิมรสของความเป็นอย่างนั้น เช่นอยู่อย่างนักบวชนี้ เป็นปรทัตตูปชีวี ก็ชิมรสของมันดู อยู่อย่างต่ำ นอนกับดิน กินกับทราย ก็ทำให้สูง ก็ชิมรสของมันดู อยู่ด้วยความเป็นมุนีมีสติสัมปชัญญะ ก็ชิมรสของมันดู อยู่อย่างเป็นเกลอธรรมชาติ ก็ชิมรสของมันดู อยู่อย่างไม่โกรธ ถ้าโกรธแล้วก็ไม่ใช่พระก็ลองชิมรสของมันดู อยู่อย่างไม่ยกหู ชูหาง มันจะเป็นอย่างไรบ้าง นั้นแม้ว่าเราจะบวชเข้ามาทั้งที่ยังไม่รู้จักประโยชน์หรือไม่มองเห็นประโยชน์ของการบวชแท้จริง มันก็ไม่เป็นไร ขอแต่ว่าเมื่อเข้ามาแล้วก็ขอให้ทำไปตามหลักเกณฑ์ที่เป็นความมุ่งหมายของการบวช มันก็รู้เองว่าจะได้ประโยชน์อะไร และไม่เพียงแต่รู้มันก็ได้ชิมลองด้วย ชิมรสตัวอย่างของสิ่งเหล่านี้ด้วย
ทีนี้เราก็จะพูดกันในข้อถัดไปโดยหัวข้อว่าการรู้จักชิมรสของโลกอื่น คืออยู่อย่างรู้จักโลกอื่นและก็ชิมรสในโลกนั้น ๆ ตามที่ควรจะชิม แล้วบางโลกก็ไม่ต้องชิม นี้เรียกว่ารู้ รู้จักโลกทั้งหลาย อยู่อย่างชิมรสของโลกอื่น ทีนี้คำว่าโลกอื่นนี่คำบาลีก็มีอยู่ว่าปรโลก พอพูดถึงว่าปรโลก มันก็ตกใจ เพราะว่าในภาษาไทยของคนธรรมดาสามัญ ปรโลกนั้นมันต้องตายแล้ว เข้าโลงไปแล้ว ถึงจะโผล่หัวขึ้นในปรโลกอื่น และใครมันจะสมัครล่ะ นั้นปรโลกชนิดที่เป็นของคนที่ไม่รู้ว่ามันอะไร ถ้าเราจะชิมรสปรโลก คนก็พูดบ้า ๆ บอ ๆ แล้วก็ไม่เอาด้วยก็สั่นหัว เขาไม่ยอม เขาไม่มองเห็นว่ามันจะเป็นไปได้ ที่เราจะชิมรสปรโลกนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นไปได้ ถ้าเผื่อว่าจะเป็นไปได้ เขาก็ไม่เอา เพราะมันต้องตายไปแล้ว นี่เพราะเขาไม่ทราบ เขาไม่ทราบความหมายของคำว่าปรโลกนั้นเอง นั้นขอให้สนใจคำ ๆ นี้เป็นพิเศษ จึงจะรู้ความจริงอันลึกซึ้งและทั่วถึง ปรโลกนั้นแปลว่าโลกอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องตายแล้ว ตายแล้วก็ได้ ไม่ตายแล้วก็ได้ ไอ้เรื่องตายแล้วนั้นมันเป็นเรื่องที่รู้ไม่ได้ นั้นไม่ต้องพูดถึงกันดีกว่า เดี๋ยวนี้ไอ้ที่รู้ได้ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ในชีวิตนี้มันมีมากมายก่ายกอง สำหรับสิ่งที่เรียกว่าปรโลก มันมีอยู่ในโลกนี้ ในชีวิตนี้ได้อย่างมากมาย ก่ายกอง และทำไมถึงเรียกว่าปรโลก เดี๋ยวก็จะเข้าใจได้ แค่ว่าอย่างน้อยก็กล่าวได้ว่าปรโลก มันแปลว่าโลกอื่นไม่ได้แปลว่าโลกที่ยิ่งกว่า คำว่า ปร นี่แปลว่ายิ่งกว่าก็ได้ แปลว่าอื่นก็ได้ ในกรณีอย่างนี้มันแปลว่า อื่น ก็แล้วกัน ปรโลกก็คือโลกอื่น ซึ่งมีอยู่มาก จะรู้จักปรโลกก็รู้จักคำว่าโลกนี้เสียก่อน คำว่าโลก ในภาษาบาลีก็มีหลายความหมาย ก็ต่างกัน แต่ความหมายในภาษาไทย ภาษาไทยธรรมดา ถ้าคำว่าโลกก็หมายถึงโลกนี้ไอ้โลก ก้อนใหญ่ๆ กลม ๆ นี้ ที่หมุนอยู่รอบดวงอาทิตย์นี้ ภาษาไทยไทยก็หมายอย่างนี้ แต่ในภาษาบาลีนั้นหมายถึงอย่างอื่นอีกมากมาย แต่ถ้าเราจะอาศัยไอ้ความหมายอย่างในภาษาไทยเป็นหลัก และดูให้ดีๆ ก็พอพบเงื่อนงำว่าในภาษาไทยเขาก็ใช้ในความหมายที่นอกออกไปจากโลกก้อนกลม ๆ โลกก้อนใหญ่นี้เหมือนกัน ถ้าผมจะพูดว่าไอ้โลกบางกอก ไอ้โลกบ้านนอกนี่ คุณก็ฟังถูกไม่ต้องอธิบายก็ได้ ถ้าพูดว่าโลกบางกอกก็อยู่กันอย่างที่กรุงเทพฯ ไอ้โลกบ้านนอกมันก็อยู่กันอย่างบ้านนอก ถ้าพูดว่าโลกสวนโมกข์ ก็จะเข้าใจได้เหมือนกัน เพราะมันมีคนบางคนพอผ่านมาถึงตรงนี้ เดินมาถึงตรงนั้น นั่งลง มันก็บ่นออกมาว่า มันคนละโลก คนละโลก นั่งอยู่ที่สวนโมกข์นี่มันคนละโลกกับที่นั่งอยู่ที่บ้านของเขา นี่แสดงว่ามันมีวี่แววหรือมีเงื่อนงำอยู่ในภาษาไทย ที่แสดงความหมายคำว่าโลกแปลกออกไปจากที่จะหมายถึงไอ้ตัวโลก อย่างภาษาอังกฤษนั่นเขาก็มีคำที่พอจะสังเกตได้ เช่น คำว่า The Globe นั่นก็หมายถึงตัวโลกก้อนกลม ๆ ถ้าเขาพูดว่า The World ก็หมายคือไอ้สภาพต่าง ๆ ที่มันเป็นอยู่ใน The Globe นั่นเอง นั้นไอ้คำว่า The World มันก็มีความหมายมากกว่า The Globe ภาษาไทยนี่ก็เหมือนกัน คำว่าโลกในบางครั้ง มันหมายถึง The World ในรูปแบบที่ต่าง ๆ กัน มาเป็นชีวิตที่เป็นอยู่ในแบบที่ต่าง ๆ กัน เพราะฉะนั้นความหมายของคำว่าโลกโดยทั่ว ๆ ไป หรือที่จะใช้ได้ในกรณีทั่วไปนั้น ขอให้จำกัดความว่า สภาพต่าง ๆ ที่แวดล้อมจิตใจของเราอยู่นั่นน่ะคือโลก เราเป็นมนุษย์มีจิตมีความรู้สึกอยู่อย่างนี้ อะไรเข้ามาแวดล้อมจิตใจเรา ในสภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง ในครั้งหนึ่ง ในแห่งหนึ่งที่หนึ่งนั้น ก็เรียกว่าโลกหนึ่ง ๆ ได้ นี่เป็นความหมายกว้าง เป็นบทนิยามที่กว้างสำหรับคำว่าโลก แล้วก็จะใช้ได้ทั้งภาษาบาลีและทั้งภาษาไทยด้วย จะใช้ได้ทั้งภาษาธรรมะและภาษาชาวบ้านด้วย เหมือนอย่างที่เราเรียกกันที่นี่ คือใช้ได้ทั้งอย่างภาษาคนและอย่างภาษาธรรม ดูกันให้ละเอียดอีกสักหน่อย คำว่าโลกนี้ ดูตามตัวหนังสือกันก่อน ตามพยัญชนะ คำว่าโลก โลกะ ภาษาบาลีนี่มันแปลว่าของที่แตกได้และแตกแน่ บทวิเคราะห์รูปบาลีว่า ลุชฺชตีติ โลโก (นาทีที่ 20:42) สิ่งใดย่อมแตก สิ่งนั้นคือโลก เพียงเท่านี้ก็พอจะมองเห็นได้เองแล้วมังว่า ทุกอย่างมันเป็นโลก เว้นเสียอย่างเดียวเท่านั้น ทุกอย่างเป็นโลก คือบรรดาสิ่งทั้งหลายที่แตกได้เป็นโลกทั้งนั้น ก็ยังเหลือสิ่งที่แตกไม่ได้ นั่นน่ะคือไม่ใช่โลกหรืออโลก ธรรมะเรื่องนี้ได้เรียนมามากแล้ว อธิบายมามากแล้ว หรือคงจะอ่านมามากแล้ว สิ่งที่แตกได้คือสิ่งที่มีการปรุงกันขึ้นมา สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมีความดับเป็นธรรมดา ทุกอย่างมันเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น นอกจากสิ่งสิ่งเดียวที่เราจะเรียกชื่อกันว่า อมตะ บ้าง อสังขตะ บ้าง นิพพาน บ้าง นั้นคำว่าโลกแปลว่าสิ่งที่แตกได้และแตกแน่ มันเป็นคำสอนที่ดีที่สุดอยู่ในคำพูดคำเดียวนั้นแล้ว ถ้าคนไม่รู้จัก ก็เลยไม่สนใจหรือไม่รับคำสอนอันนี้ ถ้าผู้ใดเข้าใจความหมายคำว่าโลก ก็ย่อมเข้าใจได้ว่ามันสอนอยู่อย่างเต็มที่แล้ว ว่าไอ้โลกทั้งหลายนี่คือของแตก นั้นก็อย่าโง่ ให้ถึงกับร้องไห้ ให้เหมือนเด็ก ๆ ที่ตุ๊กตาแตก เด็กที่ฉลาดบางคนมันก็ไม่ได้ร้องไห้เมื่อตุ๊กตาแตก มันคงจะเสียใจบ้าง นั้นเด็กบางคนมันก็อาจจะดีกว่านั้น มันก็เห็นเป็นธรรมดาก็ได้ แต่บางคนอาจจะโง่ถึงกับไม่แยแสอะไร เพราะว่าถูกอบรมมาไม่ดีอย่างนี้ก็มี นั้นเราถือว่าไอ้โลกนี่มันเหมือนตุ๊กตา เราก็เหมือนกับเด็ก ๆ ตุ๊กตามันแตกลงไปจะทำอย่างไร มันจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่าโลกดีขึ้น อย่าให้มันจมอยู่ในโลกมากเกินไปนั่นเอง ตามตัวพยัญชนะหรือตัวหนังสือ คำว่าโลกแปลว่าสิ่งที่แตกได้และแตกแน่ ทีนี้ความหมายของมันหรือความหมายแห่งตัวหนังสือนั้น มันก็หมายถึงสิ่งที่แตกแน่ ที่คู่กันอยู่กับสิ่งที่ไม่แตกแน่ ขึ้นชื่อว่าโลกแล้วมันต้องแตกแน่ จะเป็นรูปธรรมก็ดี นามธรรมก็ดี ก็จะต้องแตกแน่ และก็มีอยู่อีกอันหนึ่งซึ่งไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดี ถ้าจะเรียกให้ถูกต้องเรียกว่าอโลก คือมิใช่โลกนั่นมันไม่แตก จึงมีความหมายเฉพาะคำคำนี้ มันมีคำที่ทำให้เราเข้าใจผิดต่อความหมายนี้ได้ คือความหมายภาษาพูดตามธรรมดาของประชาชนทั่วไป ที่เขาชอบพูดกันเป็นคำคู่ โลกกับธรรม และก็ชอบอธิบายว่าโลกตรงกันข้ามจากธรรม ธรรมตรงข้ามจากโลก อย่างนี้มันถูกสำหรับชาวบ้านที่รู้อะไรเพียงเท่านั้น และคำว่าธรรมน่ะมันกำกวมเกินไป อะไร ๆ มันก็เป็นธรรมไปหมด ไอ้สิ่งที่แตกได้ก็เรียกว่าธรรม สิ่งที่แตกไม่ได้ก็เรียกว่าธรรม นั้นไปอ่านดูเรื่องสังขตธรรมหรืออสังขตธรรมดูก็แล้วกัน นั้นไอ้โลกนี่มันตรงกันกับธรรมบางประเภทและตรงกันข้ามจากธรรมบางประเภทนั้นมันจริง แต่จะมาพูดอย่างตัดบทว่าไอ้โลกตรงกันกับข้ามธรรมเสมอไปนี่มันไม่ได้ โดยแท้จริงหรือโดยทั้งหมดนั้นมันไม่ได้ ถ้าโดยเอกเทศ เฉพาะส่วนที่คนธรรมดาเขาพูดกันแล้วมันก็พอจะได้ ถ้าอย่างโลก ๆ ก็มันอย่างโง่ ๆ เขลา อย่างโง่เขลา ถ้าอย่างธรรมะ ก็อย่างฉลาด อย่างลึก อย่างนั่นขึ้นไป แต่ระวังให้ดี ถ้ามาธรรมแล้ว มันหมายหมด ทั้งที่เป็นโลกและมิใช่โลก นั้นจึงรู้ว่า ถ้ามันตรงกันข้ามจากโลกก็ต้องไม่แตก ไปศึกษาคำว่าอสังขตะหรืออมตะ จะรู้ว่าไม่มีปัจจัยปรุง ไม่มีการเกิด นั้นจึงไม่แตกและก็ไม่เปลี่ยนแปลงด้วย นี่บางทีจะเป็นที่ดับของโลกด้วย สิ่งนั้นทำหน้าที่เป็นที่ดับของโลกด้วย คำว่านิโรธธาตุก็ดี นิพพานธาตุก็ดี แปลว่าธาตุเป็นที่ดับ เป็นที่ดับของอะไร เป็นที่ดับของโลกนั่นเอง ถ้าโลกนี้มันมาถึงนิโรธะหรือนิพพานะ แล้วมันก็จะต้องดับ นั้นถ้าจะหาคู่ตรงกันข้ามกันจริง ๆ ถ้าจะหาคู่ตรงกันข้าม ตรงกันข้ามจากกันและกันจริง ๆ แล้ว มันต้องไปนึกถึงว่าในโลกกับเหนือโลก มันถึงจะตรงข้ามจริง ๆ เหนือโลก มันก็คือโลกกุตระ ไม่ใช่โลก คนที่เคยอ่านหนังสือวรรณคดีอะไรตามธรรมดา หรือพูดกันอยู่ตามธรรมดานี้ มันเข้าใจผิดได้ คือเข้าใจว่าโลกุตระก็เป็นโลกอันหนึ่ง เพราะบางทีถ้ามีคนที่ขี้เกียจระมัดระวัง พูดส่งเดช พูดหยาบคายส่งเดชไปว่า คือโลกอุดรนั่น ไอ้โลกุตระ ตัวหนังสือถอดออกมาได้เป็นโลกอุดรจริงเหมือนกัน แต่โลกะ อุตตะระนั้นแปลว่าเหนือโลก พ้นโลก ยิ่งกว่าโลก นี้พอมาเรียกว่าโลกอุดร ใคร ๆ ก็ต้องเข้าใจว่ามันเป็นโลกที่ชื่อว่าอุดร และไปพ้องกับคำว่าอุดร ทิศเหนือ เข้าด้วย พอดีเป็นว่าโลกทางทิศเหนือ เรียกว่าโลกอุดร โลกอยู่ทางทิศใต้ก็ไม่ใช่ ถ้าเหนือโลกก็มิใช่โลกแค่นั้นแหละ ว่านอกเหนือไปจากความหมายของคำว่าโลก ที่จริงจะใช้คำว่าอโลกนั่นแหละจะถูกต้องกว่า แต่ไม่เคยใช้ ไม่เห็นมีใช้ มีแต่โลกุตระ คือเหนือโลก พ้นจากโลก แต่ต้องเข้าใจไว้อีกทีหนึ่งว่า มันจะเป็นโลกหรือเหนือโลกก็ตาม ซึ่งตรงกันข้ามอย่างยิ่งนะ แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือข้อที่ว่าเป็นสิ่งที่จิตสัมผัสได้ จิตของมนุษย์สัมผัสได้ทั้ง ๒ อย่าง ทั้งอย่างโลกียะและทั้งอย่างโลกุตระ ซึ่งเราจะต้องพยายามอบรมฝึกฝนให้ดี เพื่อจะเข้าถึงได้ทั้ง ๒ อย่างหรือชิมได้ทั้ง ๒ อย่าง เมื่อใดจิตเป็นโลก เมื่อใดจิตไม่เป็นโลก ให้รู้รสได้ทั้ง ๒ อย่าง นี้คำว่าโลกนี่มีหลายชนิด เพราะฉะนั้นจึงมีโลกอื่นต่อกันและกัน โลกอื่นหรือหลาย ๆ ชนิดก็เป็นโลกอื่นต่อกันและกัน เรามีโลกตามธรรมดาของเราอย่างไร ถ้ามีโลกที่ผิดแปลกไปจากนั้นก็เรียกว่าโลกอื่นได้ นั่นก็ว่าโลกอื่นจึงมีมาก แต่มันจะอื่นไปอย่างไร กี่อย่าง กี่ร้อยอย่าง มันก็โลกอยู่นั่นเอง มันจะเป็นโลกนี้หรือจะเป็นโลกอื่นก็ตาม ก็คือโลกในความหมายเดียวกัน คือมันแตกได้ นั้นคำว่าโลกอื่นนี้ มันไม่ได้ออกไปถึงนอกโลก มันอยู่ในขอบเขตของความเป็นโลกคือยังมีการเกิด การดับ มีการปรุงแต่งและก็แตกดับไปตามเหตุ ตามปัจจัย นี้คือคำว่าโลกเป็นอย่างนี้ คำว่าโลกอื่นเป็นอย่างนี้ และคำว่าเหนือโลก นอกไปจากโลกเป็นอย่างนี้ ก็อย่างที่พูดมาให้เห็นเป็นคร่าว ๆ
ทีนี้การบรรยายวันนี้ของเรามีความมุ่งหมายแต่เพียงโลกอื่น ครั้นจึงไม่ต้องพูดถึงเรื่องเหนือโลก หรือโลกุตระ เราจะพูดกันแต่เรื่องโลกอื่น แล้วพยายามที่จะรู้จักมัน สัมผัสมัน หรือชิมมัน ให้มากไปกว่าที่รู้จักมาแต่ก่อน ก็แปลว่ามีความฉลาดในเรื่องของโลกมากขึ้นนั้นเอง และก็จะเว้นโลกที่ไม่ควรสัมผัสเสีย จะได้สัมผัสแต่โลกชนิดที่ควรจะสัมผัส อย่างไรก็ดีขอให้ระวังไว้อีกอย่างหนึ่งว่า ภาษานั้นน่ะเป็นเหตุที่ทำให้เราเข้าใจไม่ได้ เพราะภาษานี่มันไม่ใช่ใครมีอำนาจไปควบคุมมันได้นะ ถึงว่ามนุษย์จะบัญญัติขึ้นมาใช้ มันเป็นไปตามการลากจูงของสิ่งแวดล้อม นั้นกลุ่มหนึ่งก็บัญญัติอย่างหนึ่ง กลุ่มหนึ่งก็บัญญัติอย่างหนึ่ง หรือว่ามนุษย์ด้วยกันนี่มันอยู่ในสถานะที่สูงต่ำกว่ากัน มันก็บัญญัติต่างกัน ใช้คำคำเดียวกัน ก็เลยทำให้เข้าใจกันผิดได้ ยิ่งโลกสมัยนี้มันมีการติดต่อกันอย่างมากมายจนกลายเป็นโลกเล็ก ๆ ไปแล้ว ความปนเปทางภาษาก็ยิ่งเป็นไปมากและทำความลำบากให้มากขึ้นกว่าเดิมอีก ยกตัวอย่างคำว่าโลกอื่นอีกครั้งหนึ่ง ถ้าโลกอื่นในภาษาวัตถุ ภาษาฟิสิกส์หรือภาษาวิทยาศาสตร์ก็ตาม มันหมายถึงก้อนโลกอื่นหรือดวงดาวดวงอื่น ดาวนพเคราะห์ดวงอื่น นี่ในแบบเรียนของไอ้ลูกเด็ก ๆ มันจะเป็นแบบนี้ทั้งนั้น ถ้าพูดถึงโลกอื่น สเฟียร์อันอื่น ดวงดาวอันอื่น หรือชาวบ้านก็ใช้ความหมายในอย่างนั้นกันมาก นี้ถ้ามันเป็นภาษาศีลธรรม ภาษาวัดของพวกที่เคร่งศาสนา คำว่าโลกอื่นนั้นมันไม่ได้หมายความอย่างนั้นหรอก หมายความถึงโลกของเทวดา เป็นต้น โลกของมาร โลกของพรหมที่เป็นชั้นต่ำ ๆ ศีลธรรมชั้นต่ำ ๆ ก็ต้องตายแล้วเหมือนกัน จึงจะไปถึงโลกนั้นได้ ที่จะมีเทวดามาอุ้มพาไปเดี๋ยวนี้เป็นกรณีพิเศษ ไม่มีใครยอมรับ นั้นคำว่าโลกอื่นในภาษาวัด ภาษาศาสนา ภาษาศีลธรรม ก็หมายถึงโลกอื่นซึ่งอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แต่ก็ยืนยันว่ามันมี โลกนรกก็ทำบาปเข้าก็จะได้ไป โลกสวรรค์ก็ทำดีทำบุญทำกุศลเข้าก็จะได้ไป นั่นมันโลกอื่นอย่างนั้น นั่นเป็นภาษาศีลธรรม ภาษาวัดวา ซึ่งบัญญัติกันไว้ตายตัว ตรงกันหมดแทบจะทุกศาสนา ทีนี้ถ้าเป็นภาษาที่ลึกซึ้ง เป็นภาษาปรมัตถธรรม ไม่ใช่ศีลธรรม ปรมัตถธรรม แปลว่า มีอัตถะลึกซึ้ง นี้คำว่าโลกอื่นนั้นก็หมายถึง ภูมิของจิตที่กำลังเป็นต่าง ๆ กัน ไม่เหมือนกัน จิตที่อยู่ในภาวะที่ต่างกันก็เรียกว่า อยู่กันคนละโลก นี่จะเท่ากัน ก็รู้กันได้กับที่เราต้องการจะอธิบาย ว่าตามธรรมดา จิตของคนธรรมดา เรา ๆ นี่ มันมีอยู่ในภาวะอย่างไร ก็ถือว่านั่นน่ะเป็นโลกนี้ คือโลกประจำ พอจิตไปในภาวะอื่นอย่างอื่นผิดไปจากนี้ ก็เรียกว่าเป็นโลกอื่น ภาษาปรมัตถธรรม เขาหมายกันอย่างนี้ ไม่เอาไอ้แผ่นดินหรือแผ่นดินอย่างนี้เป็นหลัก ไม่เอาดวงดาวเป็นหลัก เอาไอ้จิตมีภาวะหนึ่ง ๆ เป็นไปตามอำนาจของสิ่งแวดล้อมหนึ่ง ๆ ชนิดหนึ่ง ๆ นั่นเรียกว่าโลกชนิดหนึ่งของคนนั้น ดังนั้นมันจึงเป็นโลกที่เปลี่ยนได้มาก เปลี่ยนได้เร็ว เปลี่ยนได้ลึก นั้นโลกอื่นมีอยู่ ๓ ความหมาย ภาษาวัตถุของนักวิทยาศาสตร์เป็นต้น ก็เป็นอย่างหนึ่งภาษาศีลธรรมของชาววัดชาววาก็เป็นอย่างหนึ่ง ภาษาปรมัตของนักธรรมะชั้นลึกชั้นปรมัตถธรรมก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง อย่างน้อยเป็น ๓ อย่างอย่างนี้ เข้าใจได้ง่าย ๆ ในความหมายลึก ก็เช่นว่า เมื่อร้อนใจด้วยเหตุใดก็ตาม มันเหมือนกับอยู่ในโลกนรก ไอ้สิ่งที่เข้ามาแวดล้อมจิตนั่นน่ะมันเป็นโลกนรก สมมุติชื่อเรียกว่าโลกนรก มันร้อนเป็นไฟ จะเป็นการเสวยผลแห่งกรรมก็ดี หรือแม้ที่สุดแต่มันถูกลงโทษ จับพลัดจับผลูเขาจับมาเฆี่ยนตีลงโทษ ขังคุกขังตารางก็ดี ไอ้สภาพที่ทนได้แสนยากอย่างนี้ มันเป็นโลกนรก เดี๋ยวก็หายขึ้นมาจากโลกนรก มาอยู่ในสภาพปกติตามเดิม เอ้า, มา มา มาสู่มนุษยโลกอีก เดี๋ยวมันบ้ากาม ถึงขนาดที่เรียกว่า Oversexed เหมือนอย่างที่เป็นกันนี้ เดี๋ยวมาก อย่างเดี๋ยวนี้ มาก ๆ มากมาย เป็นโลกสวรรค์ เป็นเทวโลกกันไปพักหนึ่ง เดี๋ยวมันก็ตาย จากโลกสวรรค์มาอยู่ในมนุษยโลกนี้อีก ถ้ามันเก่งกว่านั้น กลางวันมันอยู่ในเทวโลก กลางคืนมันอยู่ในนรกโลก โลกนรกก็ได้ พูดกันแต่ที่ดี ๆ ดีกว่า ถ้าจิตปกติตามที่จะเรียกกันว่าปกติอย่างไรก็เป็นมนุษย์ อยู่ในมนุษยโลก นี้ถ้ามันอยู่ในสมาธิหลาย ๆ แบบ ก็เรียกว่าอยู่ในพรหมโลกก็ได้ ภาษาชาวบ้านเขาเรียกพรหมโลก แต่ภาษาธรรมะก็เรียกว่า รูปโลก อยู่ในสมาธิประเภทที่มีรูปธรรมเป็นอารมณ์ ถ้าอยู่ในสมาธิที่มีอรูปธรรมเป็นอารมณ์ เรียกว่าอรูปโลก เวลานั้นอยู่ในอรูปโลก ถ้าอยู่ในเรื่องของกาม ก็เรียกว่ากามโลก และไม่จำเป็นจะต้องเล็งถึงชั้นสูงสุด เช่น โยคี มุนี ฤาษี ที่เข้าฌาน เข้าสมาบัติ รูปสมาบัติ อรูปสมาบัติ ตามแบบของท่านนั้น ๆ ท่านก็อย่างนั้นแหละ ท่านก็อยู่ในโลกก็อย่างนั้น ตามแบบนั้น แต่คนธรรมดาชั่วประเดี๋ยวประด๋าว มันเป็นไปได้เหมือนกัน จิตมันเกลียดกาม มาอยู่เฉย ๆ มันอีกโลกหนึ่งแล้ว ไปนั่งพักผ่อนอยู่อีกโลกหนึ่งแล้ว ถ้ามันไปเล่นกับของเล่นของอะไรที่ไม่ใช่กาม มันก็เป็นรูปโลกเล็ก ๆ ก็ได้ มันไปทำกับไอ้เรื่องที่ไม่มีรูป อะไรที่มันพอล่อใจให้มันไปหยุดอยู่ได้ จะเป็นเกียรติยศ เป็นอะไรก็สุดแท้ มันก็เป็นอรูปโลกเล็ก ๆ หนึ่งได้ นั้นเราถือเอาว่าไอ้สภาวะที่แวดล้อมจิตอย่างหนึ่ง ๆ เรียกว่าโลกหนึ่งๆ เป็นโลกอื่นต่อกันและกัน นั้นจึงพูดได้เลยว่าทุกโลกหรือโลกทุกชนิด มันเป็นโลกอื่นต่อกันและกันในระหว่างโลกนั่นเอง เช่น มนุษยโลกนี้ก็เป็นโลกอื่นต่อพรหมโลก ไอ้พรหมโลกก็เป็นโลกอื่นต่อมนุษยโลก หรืออบายโลก นิรย โลก (นาทีที่ 38:47) ก็เป็นโลกอื่นต่อมนุษยโลก มนุษยโลกก็เป็นโลกอื่นต่อนิรยโลก นั้นเดี๋ยวนี้เราเอามนุษย์เป็นหลัก เอาเราเป็นมาตรฐาน เอามนุษย์อย่างมนุษย์นี้เป็นหลัก ภาวะอย่างอื่นนอกไปจากมนุษย์นี้ก็เป็นโลกอื่นไปหมด นี่เราก็ชิมโลกอื่น ดูแปลก ๆ กัน บางโลกก็ไม่ ไม่อยู่ในลักษณะที่ควรจะไปชิม แต่ในลักษณะที่ควรจะชิมนั้นก็มีมาก ๆ มากชนิด เมื่อเรารู้จักโลก รู้จักโลกดีแล้ว ก็จะรู้จักเลือก รู้จักจัด ไอ้สิ่งที่แวดล้อมเรานี่ ให้มันอยู่ในสภาพที่น่าดู คืออยู่ในโลกที่งดงามน่าดู พอสมกับมนุษย์ที่ดีได้
เอ้า, ทีนี้ดูคำว่าโลกกันอีกที โดยจำแนกโลกต่าง ๆ ออกไปตามหลักเกณฑ์ที่เขาได้วางไว้แล้ว ไม่ใช่เราจะบัญญัติใหม่ บัญญัติใหม่ก็ไม่มีประโยชน์อะไร คนเขาฟังไม่ถูก และยิ่งกว่านั้น เราไม่อาจจะบัญญัติให้ดีกว่าที่เขาบัญญัติกันไว้แล้ว ๒,๐๐๐ กว่าปี มันป่วยการ ไอ้หลักธรรมะ หมวดธรรมะต่าง ๆ ไม่จำเป็นที่ต้องบัญญัติขึ้นมา มันทำไม่ได้หรือทำให้ดีกว่าไม่ได้ หรือจะทำได้ก็เพียงแต่เข้าใจถูกต้องที่เขาบัญญัติไว้แล้วอย่างไรนี้เราจะต้องเข้าใจเขาให้ถูกต้องและใช้เป็นประโยชน์ให้ได้ อย่างไรเรียกว่าถูกต้อง ก็คืออย่างที่ใช้เป็นประโยชน์ได้นั่นแหละคือถูกต้อง อย่าไปเอาแบบปรัชญา Philosophy อะไรมาทำให้มันยุ่ง เดี๋ยวเป็นบ้าเสียก่อนไม่รู้อะไรถูกต้อง อะไรดี เดี๋ยวนี้ทางศาสนาเขาจะถือว่า ที่มันใช้เป็นประโยชน์ได้น่ะแหละคือ ถูกต้องแล้ว ยุติไว้ที่นั่น ก็ทำไปให้มันเป็นประโยชน์ ไม่ต้องพิสูจน์ด้วยลอจิกส์หรือว่าวิธีปรัชญาอะไรพวกนี้ให้มันเสียเวลา เมื่อเรารู้จักโลกหลาย ๆ โลก ก็อาจจะเลือกที่เหมาะสม ก็อาจจะทำให้มันก้าวหน้า สูงขึ้นไปตามลำดับได้ การจำแนกโลกหรือโลกวิภาค โลกวิภาค จำแนกโลก นี่มันมีตามที่เขาได้บัญญัติกันไว้ แสดงไว้ โดยส่วนใหญ่ก็จะได้คู่แรกมาว่า โลกภายนอกกับโลกภายใน โลกภายนอกหมายถึงวัตถุต่าง ๆ หรือสิ่งที่มันจะเข้ามาสัมผัสกับโลกภายในคือจิตใจ เป็นโลกทางวัตถุกระทั่งมาเป็นทางร่างกายนี้ เรียกว่าโลกภายนอก นี้โลกภายนอกมีลักษณะอย่างไร ก็ทั้งที่มันอยู่ด้วยเหตุปัจจัยอย่างไร เราเรียกว่า สิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมมีอยู่อย่างไร ไอ้โลกอันนั้นมันก็เป็นอย่างนั้น อยู่ในสภาพอย่างนั้น แต่มันพอจะแบ่งให้เป็น ๒ ชนิดว่าที่น่าดูกับที่ไม่น่าดู ในโลกภายนอกจะมีอยู่ ๒ อย่างนี้ ที่น่าดูกับที่ไม่น่าดู เอารวม เอาที่ไม่มีความหมายอะไรไว้ในพวกที่ไม่น่าดู ก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะเราไม่ได้มุ่งหมายถึงโลกนี้ และมันขึ้นอยู่กับโลกภายในด้วย นี้พูดกันถึงโลกภายในจะดีกว่า แต่ว่าในการบัญญัติโลกนี้ เขาบัญญัติชนิดที่เอามาเนื่องกันทั้งโลกภายนอกและโลกภายใน คือจับมารวมกลุ่มกันเสีย อย่างในอรรถกถา อย่างในหนังสือที่แต่งขึ้น เช่น หนังสือสุทธิมรรค เป็นต้น ซึ่งจะเรียกว่า อรรถกถาหรือบาลีก็แล้วแต่ชอบ แต่ผมถือว่าเป็นคำอธิบายชั้นหลัง ก็บัญญัติโลกว่า สังขารโลก โอกาสโลก และสัตวโลก สังขารโลกนี้ โลกแห่งการปรุงแต่ง สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณฯ ที่ท่านพจนาหนังสือธรรม วิภาคนักธรรมโท (นาทีที่ 44:01) ท่านก็ไม่รู้อะไรแน่ ท่านฝากไว้ให้นักธรรมพิจารณาดูเองเถิด ว่าสังขารโลก มันคืออะไร ตามตัวหนังสือคือ การปรุงแต่ง หรือสิ่งที่ปรุงแต่ง สิ่งที่กำลังมีการปรุงแต่ง เป็นทางนามธรรม นี้โอกาสโลก นั่นคือโลกนี้ วัตถุ โลกแผ่นดิน โลกตามที่ภาษาธรรมดาเรียกว่าโลก โลกผ่นดิน ทีนี้สัตวโลก หมายถึงโลกแห่งหมู่สัตว์ แยก แยกออกมาเสียจากไอ้โลกแผ่นดิน การบัญญัติอย่างนี้มันก็ดี หรือถูก หรือลึกไปทางหนึ่ง เพราะเราเห็นได้ว่ามันไม่เหมือนกัน เรียงลำดับเสียใหม่เอา อย่าเอาอย่างที่ท่านแสดงไว้ ก็จะได้ลำดับมาว่าไอ้โลกวัตถุ โอกาสโลก เป็นที่ตั้ง เป็นที่ตั้งของสัตวโลก นั้นก็เป็นโลกแผ่นดิน โลก ไอ้ที่มันไม่ใช่สัตว์ก็แล้วกัน ที่มาถึงสัตว์ สัตว์เดรัจฉานก็ดี สัตว์มนุษย์ก็ดี นี้เรียกว่าสัตว์ นี้โลก โลกหนึ่งเรียกว่าสัตวโลก โลกคือหมู่สัตว์ ส่วนสังขารโลก ไม่ใช่แผ่นดิน หรือไม่ใช่หมู่สัตว์ ทั้งที่คำว่าสังขารคำนี้มันก็กว้าง ซึ่งจะหมายถึงอะไรก็ได้ แม้แผ่นดินนี้ก็เรียกว่าสังขารได้ แม้หมู่สัตว์ก็เรียกว่าสังขารได้ แต่คำว่าสังขารโลกในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ๒ อย่างนี้ มันหมายถึงภาวะหรือว่านามธรรมหรืออะไรอื่นที่กำลังเป็นการปรุงแต่ง อยู่อย่างละเอียด ถ้าให้อธิบายความตามความพอใจของผมก็คือ ไอ้พวก ขันธ์ ธาตุ อายตนะต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของไอ้สิ่งที่เรียกว่าโอกาสโลก หรือสัตวโลกนั่นเอง นั้นสังขารโลกนี้ก็เลยได้แก่ธรรมชาติส่วนย่อย ส่วนเล็ก ส่วนละเอียดที่กำลังปรุงกันอยู่ ในลักษณะหนึ่ง ๆ ไม่ถึงการที่ ไม่ถึงขนาดที่จะเรียกว่านั่นว่านี่ในภาษาสมมุติ แม้แต่ความทุกข์ซึ่งเป็นนามธรรม รู้สึกอยู่ในจิต นี่ก็เป็นสังขารโลกนี้เป็นต้น หรือแม้แต่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ก็เรียกว่าโลก โลกในความหมายนี้คือสังขารโลก เดี๋ยวก็ค่อยดูกันดีกว่า
ทีนี้ก็เห็นได้ชัดว่า เมื่อพูดว่าโอกาสโลกคือโลกภายนอกนั้น เมื่อพูดว่าสัตวโลกก็คือโลกภายนอก เมื่อพูดว่าสังขารโลกเท่านั้นน่ะคือโลกภายใน คือใน ใน ในตัวคน คือสังขารธรรมต่าง ๆ ภายในตัวคนจะเรียกว่าสังขารโลก เป็นโลกภายใน ไอ้โอกาสโลกก็ดี สัตวโลกก็ดี ยกไปไว้ข้างนอก เพราะเขาเล็งอย่างนั้น อ้าว, ทีนี้ดูกันแต่โลกภายในล้วน ๆ ดีกว่า โดยถือว่าไอ้ที่เรียกว่าโลกภายในน่ะคือโลกแท้จริง โลกที่ควรสนใจ ไอ้โลกที่พระพุทธเจ้าท่านชี้แนะ ดังนั้นเมื่อพูดถึงโลกภายในก็จะต้องถือเป็นหลักว่าเราถือเอาตามพระพุทธภาษิตที่ว่า ที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า ในกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งที่มีสัญญาและใจ ตถาคตได้บัญญัติโลก บัญญัติเหตุให้เกิดโลก บัญญัติความดับสนิทของโลก บัญญัติหนทางให้ถึงความดับสนิทของโลกไว้ พูดกลับอีกทีก็ว่าไอ้โลกก็ดี เหตุให้เกิดโลกก็ดี ความดับแห่งโลกก็ดี ทางให้ถึงความดับแห่งโลกก็ดี ตถาคตได้บัญญัติไว้ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งพร้อมทั้งสัญญาและใจ คำว่าพร้อมทั้งสัญญาและใจนั้นหมายความว่ายังเป็น ๆ ยังไม่ตาย ถ้าตายแล้วก็ไม่มีสัญญา แล้วไม่มีใจ นั้นในร่างกายที่ยังเป็น ๆ นั้นซึ่งยาวเพียงประมาณวาเดียวนั้น มีทั้งโลกและเหตุให้เกิดโลกและความดับของโลก หนทางถึงความดับของโลก นั้นคำว่าโลกในลักษณะอย่างนี้เป็นโลกภายในด้วย คือเป็น หมายถึงสภาวธรรมอันละเอียด จึงจะมาอยู่ในโลกที่ยาววาหนึ่งได้ เอ้อ, มาอยู่ในร่างกายที่ยาววาหนึ่งได้ นั้นเป็นว่าโลกภายในอาศัยพระพุทธภาษิตนี้ที่เป็นหลัก โดยเฉพาะเจาะจง พระองค์ทรงหมายถึงความทุกข์ คำว่าโลกนี้หมายถึงความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับสนิทแห่งความทุกข์ ทางให้ถึงการดับ เอ้อ, ทางให้ถึงการดับสนิทแห่งความทุกข์ นั่นคือสิ่งที่มีอยู่ในโลก เอ้อ, ในร่างกายที่ยาววาหนึ่ง เมื่อถือเอาแต่คำว่าโลก ก็หมายถึงความทุกข์ จึงได้แก่ นามธรรม ที่เรียกว่าสังขารโลก
ทีนี้โลกภายใน หมายถึงมันที่มาเกี่ยวข้องกับร่างกายและเป็นภายในเข้ามาในที่สุด แม้จะมาจากภายนอก ดังนั้นเราจึงสามารถบัญญัติไอ้สิ่งที่เรียกว่าโลกนี่ได้ต่าง ๆ กันหลายอย่าง หลายวิธี วิธีแรกที่สุดที่ควรสนใจ คือ การบัญญัติโลก โดยการแจกไปตามอายตนะภายนอก ซึ่งมีอยู่ ๖ อย่างคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นี้เป็นอายตนะภายนอก อย่า แต่อย่าเพิ่งเข้าใจว่ามันอยู่ข้างนอกล้วน ๆ ตามหลักของธรรมะนั้น ถ้าไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับจิตแล้ว ก็ไม่ถือว่ามันมีหรือมันมีอยู่ นั้นอายตนะข้างนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น ต้องเข้ามาสัมผัสกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นอายตนะภายใน จึงจะถึงความมีขึ้นมา นั้นโลกนอกที่เป็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เดี๋ยวนี้ก็เข้ามาถึงกันเข้ากันกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เกิดวิญญาณที่รู้จักไอ้สิ่งเหล่านั้นขึ้นภายใน มันจึงมาเป็นผัสสะ เป็นเวทนา เพราะนั้นโลกนั้นมันอาจเป็นโลกภายใน ก็จำแนกตามชื่อของอายตนะนั้น ๆ เราจึงได้คำว่า โลกรูปที่รู้ได้ทางตา โลกเสียงที่รู้ได้ทางหู โลกกลิ่นที่รู้ได้ทางจมูก โลกรสที่รู้ได้ทางลิ้น โลกโผฏฐัพพะที่รู้ได้ทางผิวหนัง สัมผัสผิวหนัง และก็โลกธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยใจ เรียกเป็นบาลีมันก็ยุ่งว่า รูปโลก สัทโลก พันธโลก รสโลก โผฏฐัพพโลก ธรรมโลก มันยุ่งเปล่า ๆ แต่โลกคือรูปเห็นด้วยตา โลกคือเสียงได้ยินด้วยหู โลกคือกลิ่นที่ได้ด้วยจมูกนั่นน่ะ เข้ามาเป็นโลก จะมองดูในแง่ที่มันเป็นภายนอกก็ได้ ตามปกติมันก็อยู่ตรงนั้น แต่เราไม่ถือว่ามี ทางธรรมจะไม่ถือว่ามีอยู่ จนกว่ามันจะมาสัมผัสกับอายตนะข้างในรู้สึกได้ จึงจะถือว่ามีอยู่ นั้นโลกคือรูป โลกคือสียง จะมีต่อเมื่อเข้ามาสัมผัสกับจิต ฉะนั้นเราจึงมี ๖โลกนะ ไอ้ชั้นพื้นฐานหรือองค์ประกอบเบื้องต้นเรามีกัน ๖ โลก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่เนื่องกันอยู่กับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในขณะที่ทำหน้าที่นั้น ๆ ก็ได้ ๖ โลกในหมวดที่ ๑
นี้วิธีแจกอย่างที่ ๒ จะแจกตามจำนวนหรือตามวิภาคของสิ่งที่เรียกว่าตัณหา ตัณหามี ๓ อย่าง กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ซึ่งควรจะรู้จักเป็นอย่างดีอยู่แล้ว กามตัณหาก็ต้องการโลกที่เป็นกาม มีกามโลกสำหรับกามตัณหา ภวตัณหาก็ต้องการโลกสำหรับความมีความเป็น ก็เป็นโลกสำหรับภวตัณหา วิภวตัณหาก็ต้องการความไม่มีไม่เป็น คือความไม่มีไม่เป็นชนิดที่ตัณหามันไม่ต้องการ มันก็อยู่อย่างหนึ่งเป็นภาวะอันหนึ่ง นั่นคือโลกของวิภวตัณหา ภาษาธรรมะบางทีก็เรียกว่าอารมณ์ และความหมายก็คือโลกนั่นเอง เพราะโลกเป็นที่เกี่ยวก่อของจิต ในการเกี่ยวก่อนั้นเรียกว่าอารมณ์ มีโลกสำหรับกามตัณหา มีโลกสำหรับภวตัณหา โลกสำหรับวิภวตัณหา เราอยากจะบริโภคกามอย่างไร กามนั้นก็เป็นกามโลก อยากจะเป็นอะไรอย่างไรตามภวตัณหา ก็ไอ้ ความได้เป็นอย่างนั้น มันก็เป็นอย่างนั้น โลกของภวตัณหา นี้ความไม่ให้เป็นอย่างไร กระทั่งความตายอย่างนี้ ก็มีความหมายเป็นโลกของวิภวตัณหา แล้วก็ได้มา ๓ ชนิดในหมวดนี้
นี้อย่างอื่นต่อไปอีก ก็แจกไปตามภูมิของจิตที่สูงต่ำ ไปสัมผัสอะไรวุ่นอยู่ ง่วนอยู่ที่นั่น ก็เรียกว่าภูมิของจิตชนิดนั้น นี่เขาก็แบ่งเป็น ๓ อีก เรียกว่ากามาวจรภูมิ ภาวะที่มันจะตกลงไปสู่กาม นั้นกามนั้นก็เป็นภพหรือเป็นโลกสำหรับจิตชนิดนั้น อย่างที่ ๒ เรียกว่ารูปาวจรภูมิ คือภาวะที่มันจะตกลงไปสู่รูปธรรมที่บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวกับกาม ภาวะอันนั้นก็เรียกว่ารูปาวจรภพ หรือรูปาวจรโลก โลกแห่งการท่องเที่ยวไป คือรูป เมื่อจิตมันไปไกลกว่านั้น มันไปหาสิ่งที่ไม่มีรูปและก็ไม่เกี่ยวกับกามด้วยเหมือนกัน อันนี้ก็เรียกว่าอรูปาวจรภูมิ อารมณ์นั้นก็เรียกว่าอรูปาวจรภพหรืออรูปาวจรโลก ข้อนี้เข้าใจได้ง่ายเหมือนคำอธิบายที่เคยพูดกันหลายครั้งหลายหนแล้ว บางทีจิตมันตกไปสู่กาม บางทีจิตมันเบื่อกาม หยุดกามชั่วขณะ มันก็อยู่ในสิ่งที่บริสุทธิ์ ไม่เกี่ยวกับกาม บางทีมันก็เป็นอย่างนั้นไปเลือกเอาสิ่งที่ไม่มีรูป นั้นโลกจึงจำแนกไปตามลักษณะของจิตที่มันไปติดอยู่กับอะไร ถ้าติดอยู่กับอะไรมากเราก็เรียกภูมินั้นแหละ เป็นภูมิประจำของสัตว์นั้น เช่น มนุษย์อย่างธรรมดาสามัญในโลกปัจจุบันนี้ก็ต้องสมมุติว่าอยู่ในกามาวจรภูมิ เพราะตามปกติมันจะน้อมไปหาสิ่งที่เรียกว่ากามเสมอ นั้นกามาวจรภูมิก็หมายถึงภูมิของสัตว์ที่ยังบูชากาม เป็นคนนี่ก็ได้ เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้ หรือเป็นสัตว์นรกก็ได้ สัตว์นรกมักจะทนทรมานอยู่ในนรก ในกองทุกข์ แต่จิตของมันก็บูชากาม นั้นพวกในอบายภูมิทั้งหลาย นรกเดรัจฉาน เปรต อสูรกายเหล่านี้ก็อยู่ในกามาวจรภูมิทั้งนั้น เพราะมันไม่มีจิตสูงไปกว่านั้นได้ มันบูชากาม แม้ว่ามันกำลังไม่ได้บริโภคกาม ก็ต้องเรียกมันเป็นพวกบูชากามอยู่ดี นั่นแหละจึงเรียกว่าโลกของสัตว์ที่มีจิตจมอยู่ในกาม แยกออกเป็นมนุษยโลกนี่ก็ได้ แยกออกไปยังนรก โลกนรกก็ได้ โลกสัตว์เดรัจฉานก็ได้ โลกเปรตก็ได้ โลกอสุรกายก็ได้ พูดอย่างภาษาปุคคลาธิษฐาน เขาก็พูดกันอย่างนั้น และก็หมายถึงไอ้ตัวโลกทางวัตถุอย่างนั้น ๆ ตามที่เขาบัญญัติหรือสอนกันไว้อย่างไร เช่นว่ามนุษยโลกอยู่ที่นี่ แต่โลกนรก มันอยู่ใต้ดิน ใต้บาดาล ใต้อะไรลงไปเป็นชั้นๆ ชั้นและก็หลายๆ หลายชนิด โลกสัตว์เดรัจฉานก็ตามทุ่งนา โลกเปรตก็อยู่ในโลกนี้ แต่ว่ามันจำกัดอยู่ที่ไหนผมก็จำไม่ได้ ไอ้โลกอสุรกายนี่ก็ไม่เห็นตัว ซ่อน เป็นสิ่งที่ไม่เห็นตัว มันก็อยู่ทั่ว ๆ ไปได้ นี่เป็นคำอธิบายอย่างภาษาธรรมดา ภาษาที่เรียกว่า บุคคลาธิษฐาน เอาวัตถุบุคคลเป็นที่ตั้ง หรือภาษาศีลธรรม เพื่อจะสอนศีลธรรมมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาลโน้น คำพูดเหล่านี้มีมาแต่ก่อนพุทธกาล ก็จะสอนศีลธรรม เขาเรียกว่าภาษาศีลธรรม แต่ถ้าพูดกันทางจิตใจแล้วไม่ได้อยู่ที่นั่น มันอยู่ที่ในจิตของมนุษย์ที่กำลังเป็น เป็นอย่างไร เช่นที่เราเคยอธิบายว่านรก โลกนรกก็คือร้อนใจ เมื่อใดร้อนใจ เมื่อนั้นตกลงไปในโลกนรก เมื่อใดโง่ เมื่อนั้นอยู่ในโลกสัตว์เดรัจฉาน เมื่อใดหิวอยาก ทะเยอทะยานไม่มีเหตุผล เมื่อนั้นอยู่ในโลกเปรต เมื่อใดขี้ขลาด ไม่มีเหตุผลมันก็อยู่ในโลกอสุรกาย เมื่อใดอยู่อย่างธรรมดาสามัญอาบเหงื่อต่างน้ำอยู่ที่นี่ ก็เรียกว่าอยู่ในโลกมนุษย์ เมื่อใดได้อิ่มเอิบทางกามารมณ์แม้ชั่วขณะหนึ่งก็ดี ก็เรียกว่าอยู่ในโลกเทวดาหรือเทวโลก เมื่อใดหมดจดสะอาดเกลี้ยงเกลาไปจากกาม ก็อยู่ในพรหมโลก ชนิดรูปพรหมบ้าง อรูปพรหมบ้าง มันอยู่ที่จิตทั้งนั้น กำลังเป็นอยู่ในสภาพอย่างไรก็เรียกว่าโลกนั้น ๆ นี่เรียกว่าภาษาธรรมาธิษฐานหรือภาษาปรมัตถธรรม โดยภาษาปรมัตถธรรมนี้ มนุษย์คนหนึ่งอาจจะชิมลองโลกทุกโลกได้ ด้วยนั่งอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ก็ยังได้ ลองคิดไปให้เป็น เกิดความร้อนใจอะไรขึ้นมา ก็ตกนรก ใครมีความผิด มีอาบัติที่ปกปิดไว้ ไม่แสดงเสีย นี่ไปคิดถึง มันก็ตกนรกทันที ได้อยู่ในโลกนรก มันโง่ขึ้นมาอย่างไม่น่าโง่ มันก็เป็นโลกเดรัจฉาน (นาทีที่ 01:01:16) มันหิวไปตามอำนาจของกิเลส ก็เรียกว่าอยู่ในโลกเปรต มันขี้ขลาด เพราะไม่มีปัญญา ไม่มีวิชา ก็อยู่ในโลกอสุรกาย นี้ก็มาอยู่อย่างระดับธรรมดาเป็นมนุษย์ หลงใหลในกามารมณ์อยู่ก็เป็น และได้ตามที่ต้องการ ก็อยู่ในเทวโลก อยู่ในสมาธิ อยู่ในฌาน ก็อยู่ในพรหมโลก กว่าจะออกมาจากสมาธิ นี้สมาธิมีหลายแบบ ไอ้พรหมโลกนั้นก็มีหลาย ๆ แบบ จริงมาเรานั่งอยู่ที่นี่โดยร่างกายนี้ จิตไปอยู่ในโลกไหนก็ได้ นี่เรียกว่าปรโลกทั้งนั้น ซึ่งอาจจะชิมได้และก็เลือกดูว่าควรจะอยู่กับโลกไหน
นี้อยากจะพูดให้มันง่ายขึ้นไปอีก พวกคุณไม่ค่อยชอบถามปัญหา ผมเอาเวลาไว้พูดให้มากหน่อยดีกว่า หรือจะพูดให้มากเกินไปอีก ก็จะแจกโลกนี้โดยอาศัยวัย วัยคือวัยแห่งอายุ ระยะแห่งอายุนี่เรียกว่าวัย มีอยู่ ปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย นี้ก็อาจเอา นี่ก็อาจจะเอามาเป็นหลักสำหรับแจก จำแนกโลกได้เหมือนกัน โลกของคนที่อยู่ในปฐมวัย เด็ก ๆ หรือหนุ่มสาวนี้ และก็โลกของคนที่อยู่ในมัชฌิมวัย พ่อบ้านแม่เรือนกลางคนเข้าไปแล้ว และโลกของคนในปัจฉิมวัย วัยสุดท้าย คนเฒ่า คนแก่ชราหง่อมตายไปนี่ มีอยู่ ๓ วัยโดย โดย โดยหลักที่รู้กันอยู่ จิตมันไม่เหมือนกัน ก็ต้องการสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน นั้นวัยรุ่นมันก็อยู่โลกของมัน มันก็ไม่เชื่อใคร หลับหูหลับตา มันก็ทำผิด ทำถูกไปตามเรื่องของวัยรุ่น นี้มัชฌิมวัยมันจะอยู่อย่างนั้นไปได้ มันโตขึ้นมา มีลูกมีหลานมีครอบครัว มันก็อยู่อย่างนั้นไปได้ พอปัจฉิมวัย ร่างกายมันไม่อยู่ในอำนาจ มันก็เปลี่ยนไปมาก แต่ถ้าเราจะมองให้ลึกไปทางนามธรรมหรือทาง ทางจิตให้มากขึ้น เราก็จะพบว่าไอ้พวกที่อยู่ในปฐมวัยหรือมัชฌิมวัยนี้ มันก็หนักไปทางกามาวจร คือพอใจในกาม พวกปฐมวัย มัชฌิมวัยนี้ มันยังหมกมุ่นอยู่ในกาม เป็นชุดกามาวจรหรือกามาวจรโลก นี่มัชฌิมวัยกับปัจฉิมวัยนี่ คือมัชฌิมวัยแยกไปฝ่ายโน้น แยกไปฝ่ายนี้ มัชฌิมวัยตอนปลาย ปัจฉิมวัยนี้มันก็หนักมาใช้ทางรูปาวจรหรืออรูปวจร เป็นส่วนใหญ่ นั้นคนแก่ ๆ อวัยวะทางเพศทางอะไรมันไม่ ไม่ ไม่เอาด้วยแล้ว มันก็เปลี่ยนไปเอง มันก็มาทางรูปที่ไม่เกี่ยวกับกาม นี่โดยส่วนใหญ่นะ ไม่ได้หมายความว่าทุกคนนะ หรือยิ่งไปกว่านั้นมันก็ขี้ไม่ มีรูป (นาทีที่ 01:05:00) คือเป็นนามธรรม เป็นเกียรติยศ ชื่อเสียง เป็นบุญ เป็นกุศลอะไรก็สุดแท้ มันมาอยู่ในโลกนี้ ก็อยู่ในรูปโลกหรือในอรูปโลกมากขึ้น นั้นดูโลกของคนอยู่ในปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัยก็รู้ได้เอง แต่ข้อที่สำคัญก็คือว่าดูให้ดี ๆ มันพูดกันไม่รู้เรื่องนะ ถ้าหากคนที่อยู่ในปฐมวัยนี่ โดยเฉพาะวัยรุ่น มันหลับหูหลับตาจมดิ่งไปในทางกามเสียมาก มันจึงพูดกันไม่รู้เรื่อง ปกครองกันไม่ได้ แล้วก็ยกเอาสิ่งนั้นเป็นพระเจ้าไปเสียเลย มันก็มีการทำผิดเป็นส่วนใหญ่ เพราะเขาไม่รู้จักไอ้สิ่งเหล่านี้ ไม่รู้จักควบคุมจิตต่อสิ่งเหล่านี้ นั้นปัญหาวัยรุ่นก็มีอย่างมากมายในโลกนี้ ซึ่งล้วนแต่ทำลายศีลธรรม และทำลายความสงบสุขของมนุษย์นั่นเอง ถ้าศีลธรรมไม่ดี วัฒนธรรมไม่ดี สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นอันตรายมากขึ้น นั้นโลกสมัยปัจจุบันนี้ก็มีแต่สิ่งที่ทำลายศีลธรรม ทำลายวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นเป็นบาปกรรมของไอ้พวกวัยรุ่นทั้งหลาย เราก็รู้ไว้สำหรับช่วยตัวเองหรือว่าป้องกันไอ้ลูกหลาน
เอ้า, ทีนี้ชนิดที่ ๕ ที่อยากจะแจกให้มันละเอียด ก็อย่างฉลาดหรือว่าอย่างลึกซึ้ง ก็แจกไปตามลักษณะแห่งภพ ในสายแห่งปฏิจจสมุปบาท ซึ่งมันขึ้นกันอยู่กับอารมณ์ทั้ง ๖ คือโลกทั้ง ๖ นั้นน่ะ แล้วมันไปปรุงแต่งเป็นเวทนา ตัณหา เป็นภพ จะเป็นในรูปกามภพ รูปภพ อรูปภพ ก็ได้ แต่จุดตั้งต้นมันอยู่ที่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ นั้นไปศึกษาเรื่อง ปฏิจจสมุปบาทเอาเองเป็นพิเศษ ซึ่งมีสูตรตายตัวอยู่ว่า อาศัยตาด้วย รูปด้วย ย่อมเกิดจักษุวิญญาณ การถึงด้วยกันแห่งธรรม ๓ ประการ เรียกว่า ผัสสะ เพราะมีผัสสะ จึงมีเวทนา เพราะมีเวทนา จึงมีตัณหา เพราะมีตัณหาจึงมีอุปาทาน คือที่จะเกิดความรู้สึกว่าเราเป็นอะไร เพราะมีอุปาทาน จึงมีภพ ถ้าเป็นในทางกาม เรียกว่า กามภพ เป็นไปในทางรูป ก็เรียกรูปภพ เป็นไปในทางอรูป ก็เรียกอรูปภพ นี่มัน ๓ อย่างแล้ว ทีนี้จุดตั้งต้นของมันไอ้หมวดหนึ่งของมันมาจากรูปกับตา ไอ้หมวดอื่นมีมาจากหูกับเสียง หมวดหนึ่งมันมาจากจมูกกับกลิ่น ไอ้หมวดอื่นมาจากลิ้นกับรส ไอ้หมวดอื่นมีมาจากโผฏฐัพพะกับผิวหนัง หมวดอื่นมาจากจิตกับธรรมารมณ์ มันก็เลยมี ๖ ทาง ที่จะเข้ามาปรุงเป็นกระแสแห่ง ปฏิจจสมุปบาท พอมาถึงขั้นที่เป็นภพ มันยังแจกออกไปได้ เป็นกามภพ รูปภพ อรูปภพ แล้วแต่กรณี นั้นอย่างน้อยมันจึงมีจำนวนของภพ คือ ๓ คูณกับ ๖ คือ ๑๘ ใน ๓ ภพแต่ละภพมาได้จากโลกทั้ง ๖ คือ ตา หู เอ้อ, รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันก็เลยได้ตั้ง ๑๘ โลกในกรณีอย่างนี้ หรือ ๑๘ ภพมากออกไป ที่จริงมันก็เรื่องเดียวกันกับไอ้พวกที่กล่าวมาแล้ว แต่เดี๋ยวนี้แจกให้เห็นชัด ว่ามันเข้ามาทางไหน กี่ทาง และมันออกลูกออกดอกมาเป็นกี่ชนิด มันเลยเป็น ๑๘ โลกขึ้นมาเพราะเหตุนี้ นี้ผมเห็นว่ามันพอแล้วที่ไอ้ตัวอย่างที่จะแจกโลกให้เป็นโลกต่าง ๆ ต่าง ๆ กัน จะแจกให้เป็นตั้งร้อยตั้งพันก็ได้ แต่ไม่จำเป็น ฉะนั้นเอาที่จำเป็นมันก็ไอ้หมวด ๓ ที่ว่าเป็นกามบ้าง เป็นรูปบ้าง เป็นอรูปบ้าง ถ้ากามมันก็เปียกแฉะไปด้วยกาม ถ้าเป็นรูปมันก็แห้งเสียจากกาม ก็อยู่มาในรูปที่บริสุทธิ์ จิตอันนั้นมันไม่เป็นกาม บริสุทธิ์อยู่ด้วยไอ้รูปธรรมที่บริสุทธิ์ ถ้าดีกว่านั้นมันก็เป็นอรูปธรรมอันละเอียดที่บริสุทธิ์ ถ้าเราปล่อยไปตามเรื่องของกิเลส มันก็ตกไปหาไอ้กามชนิดที่เลวร้าย เป็นอบาย เป็นอะไรฝ่ายต่ำ ไม่หยุดอยู่เพียงแค่มนุษย์ ถ้าควบคุมได้มันก็อยู่แค่มนุษย์ ถ้าเป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ที่ดีกันไว้ก่อน ก็อยู่ในโลกมนุษย์ เมื่อไม่ได้มาบวช ก่อนมาบวชอยู่เป็นชาวบ้านนั้นน่ะ มันไปดูเสียก่อน คิดถอยหลังเสียก่อน มันอยู่ในโลกมนุษย์ที่ถูกต้องหรือเปล่า มันอยู่ในโลกมนุษย์ที่พอจะนับถือตัวเองได้หรือเปล่า แล้วก็มาบวช มันเปลี่ยนไปเท่าไรหรือไม่เปลี่ยนเสียเลย ก็ผ่านความรู้สึกของจิตมาทั้งนั้น นี้ถ้ามาทำสมาธิ ก็กลายเป็นพวกรูปโลก อรูปโลกไปได้ ถ้าทำไกลไปถึงปัญญา ถึงวิชชา ตัดกิเลสได้ มันก็พ้นโลกหรือเหนือโลก เป็นโลกุตตระได้ คนเขาไปอุตริเรียกว่าโลกของพระอริยเจ้า มันก็ไม่ถูก มันควรจะเรียกว่าโลกุตตระ จะเป็นโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ อะไรก็ตาม มันไม่ได้อยู่ในโลก ไม่ควรจะเรียกว่า โลกของพระอริยเจ้า แต่เราก็จำเป็นต้องเรียกตามภาษาธรรมดาสามัญให้คนธรรมดาสามัญฟังรู้เรื่อง พอมาถึงชั้นนั้น มันจัดเป็นฝ่ายนู้นเสียแล้ว เป็นฝักฝ่ายของฝ่ายเหนือโลกเสียแล้ว ก็ถึงได้บ้าง ชิมได้บ้าง ก็ขณะที่จิตมันไม่ต้องการทั้งกามโลก รูปโลก และอรูปโลกนั่นเอง ถ้าจิตมันว่างไปเสียจากโลกทั้ง ๓ นี้แล้ว มันก็เข้าไปสู่ไอ้เหนือโลก แต่มันเล็กน้อยเกินไป มันชั่วขณะเล็กน้อยเกินไป บางทีก็เป็นไปเองโดยไม่รู้สึกตัว ก็เลยไม่ได้สนใจไม่ได้หยิบขึ้นมาดู ก็ไม่เลย เลยไม่ค่อยจะรู้เรื่องเรื่องโลกกุตตระ นั้นถ้าเชื่อฟังคำสั่งสอนหรือหลักพระธรรมวินัยที่ดี ปฏิบัติอยู่ตามธรรมวินัยที่มีอยู่ โอกาสที่จะมีจิตเหนือโลกทั้ง ๓ นี้ มันก็มีขึ้นมาได้ ไม่มากก็น้อย ไม่ยาวก็สั้น ก็เป็นเรื่องการชิมชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกัน นั้นภิกษุสามเณรที่อยู่ในธรรมวินัยที่ดี ก็อยู่ในการชิม แม้แต่รสของ โลกุตตระ ชนิดที่เป็นตัวอย่างชั่วขณะ แต่ว่าอย่างน้อยมันก็ควรที่จะรู้จักเรื่องของ มนุษย์โลก เทวโลก มารโลก พรหมโลกให้ถูกต้อง มนุษย์โลก เอามนุษย์มาตรฐานธรรมดาสามัญเป็นหลัก อเทวโลกก็อิ่มเอิบด้วยกามคุณ เป็นบางเวลาบางครั้ง มันก็ไม่มีใครต่อให้เป็นเศรษฐี เป็นราชามหากษัตริย์ มันก็จะมีจิตชุ่มอยู่ในกามคุณตลอดเวลา มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะมันต้องมีระยะกาลที่หยุดอยู่พัก ถึงเทวดาในสวรรค์ที่เขาเขียนไว้ บรรยายกันไว้อย่างประหลาดมหัศจรรย์ มันก็คงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้มันไปชุ่มอยู่ในกามารมณ์ตลอดเวลา นั้นจึงถือว่าขณะใดจิตเป็นอย่างไร นั่นคือเป็นอย่างนั้น อยู่ในกามโลก อยู่ในเทวโลก เป็นอย่างนั้น อยู่ในมารโลกก็คือว่ากามารมณ์ชั้นสูงสุด นี่พูดตามหลักที่เขาบัญญัติไว้ในคัมภีร์นะ ไอ้มารโลก โลกพญามารนั่นแหละคือโลกชั้นกามารมณ์สูงสุด ปรนิมมิตวสวัตดี นี้พอพรหมโลกก็พ้นจากกาม มีหลายระดับ เพราะว่าไอ้รูปฌาน รูปสมาธินี่มีหลายระดับ นี่ เอ๊ะ, (นาทีที่ 01:14:35) มันยังหยาบ ยังเกาะอยู่กับสิ่งที่มีรูป มีอะไร เตลิดไปยังสิ่งที่ไม่มีรูป ก็เป็นอรูป ก็มีอยู่หลายระดับ นั้นการบวชทีหนึ่ง จิตมันเป็นไปอย่างไรด้วยการเป็นไปเองก็ดี ด้วยการที่เราพยายามฝึกฝนพยายามกระทำบังคับมันก็ดี ก็ต้องได้รับอารมณ์ที่แปลก ๆ กัน สำหรับมาชิมลอง ให้รู้ว่าโลกอะไรเป็นอย่างไร ทั้งหมดนี้เรียกว่าปรโลกทั้งนั้น ฉะนั้นการรู้จักชิมรสของปรโลก จะมีประโยชน์ให้รู้จักเลือก เว้นปรโลกชั้นเลวหรือปรโลกที่เป็นอันตรายเสีย ดำรงตนอยู่แต่ในโลกที่ปกติหรือว่า ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ฉะนั้นเราถือว่าระหว่างที่บวชอยู่นี้ มีโอกาสชิมรสของปรโลกได้มากกว่าที่ยังไม่ได้บวช เพราะเมื่อยังไม่ได้บวชทำอย่างไรบ้าง พวกคุณก็รู้ดีอยู่แล้วนี่ วันหนึ่ง ๆ มันยุ่งอยู่ด้วยอะไร นี้พอมาเป็นอย่างนี้วันหนึ่ง ๆ เราจะจัดให้เป็นอย่างไรมันก็ยังพอจะทำได้ อย่างน้อยที่สุดก็ว่าไอ้โลกของคนที่กินข้าววันหลายมื้อ กลับมากินข้าววันมื้อเดียวนี้มันต่างกันมาก ความรู้สึกในจิตใจมันก็ต้องต่างกันบ้าง หรือว่าโลกของคนที่ตามใจตัวเสียตะพึดเมื่ออยู่ที่บ้าน พอมาบวชแล้วมันก็ต้องบังคับตัวเอง ไม่ตามใจตัว โลกมันก็เปลี่ยนไปเป็นโลกอีกแบบหนึ่ง นั้นเราก็ต้องได้ชิมกันแน่นอน นี้การเป็นอยู่อย่างต่ำ ๆ มุ่งกระทำอย่างสูงอย่างที่เราถือเป็นมาตรฐานในการอยู่ที่สวนโมกข์ กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคูก็ดี นั่งกลางดิน อะไรกลางดินอย่างนี้ก็ดี นี้มันก็ต้องให้ความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง คือเป็นโลกอีกแบบหนึ่ง นั้นไปคิดเอาเอง มัน มันมีกี่แบบ แต่ละแบบมันเป็นโลกอื่นต่อกันและกัน นั้นขอให้รู้จักชิม ชิมก็เพื่อให้รู้จัก แต่มันก็ต้องรู้จักชิม พอชิมแล้วมันก็จะรู้จัก พอรู้จักแล้วก็จะรู้จักเลือก ระหว่างที่เป็นพระอยู่ ก็อยู่ในโลกของพระ อย่าไปอยู่ในโลกของฆราวาส ถ้าอยู่ในโลกของพระนี้ก็มีหลายระดับ เดี๋ยวก็พลัดตกลงไปในโลกของอะไรก็ไม่รู้ ไม่ใช่โลกของพระก็ยังมี ก็เป็นการชิมด้วยเหมือนกัน นั้นโอกาสที่จะชิมปรโลกหลาย ๆ ชนิดนี่มันมีมากในระหว่างที่เรามีชีวิตเป็นนักบวชอย่างนี้ ชิมแล้วก็เข้าใจก็รู้จักเลือก นั้นสึกออกไปก็จะต้องรู้จักเลือก ดำรงตนให้อยู่ในโลกที่งดงาม เพียงแต่เท่านี้ก็พอแล้วสำหรับอานิสงส์ของการที่มาบวชสักคราวหนึ่ง เป็นราชภัฎลามาบวช ได้เข้าถึงสิ่งนี้ รู้จักใช้สิ่งนี้ให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ก็เป็นเรื่องที่คุ้มค่า ผมก็ตั้งใจจะพูดอย่างนี้ในวันนี้ในการรู้จักชิมรสของโลกอื่นในอัตภาพนี้ นั้นการบรรยายก็สมควรแก่เวลา ยุติไว้ที ถ้ามีปัญหาก็ถามได้ แต่เวลาเหลือน้อย ก็คุณไม่ค่อยถามผมก็เลยพูดเสียเอง มันมากไป
[T1]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T2]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T3]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T4]ฟังไม่ชัด
[T5]ฟังไม่ชัด
[T6]ฟังไม่ชัด