แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผมจะได้กล่าวโดยหัวข้อว่าการอยู่อย่างลดหัวลดหาง ทั้งหมดนี้ก็จะเห็นได้ว่าเป็นการกล่าวไปตามลำดับหัวข้อย่อย ๆ ที่ได้กล่าวไปแล้วในการบรรยายครั้งที่หนึ่ง เราจะทำอย่างนี้กันไปก่อน จนกว่าจะเปลี่ยนเป็นแนวอื่นเมื่อถึงเวลาอันสมควร หัวข้อสำหรับบรรยายทุกครั้งจะเน้นถึงการที่มาบวชเป็นบรรพชิตหรือเป็นอนาคาริก แล้วก็ได้ชิมลองรสของธรรมะในแง่ต่าง ๆ กัน เพื่อให้รู้จักสิ่งนั้น ๆ ดี ให้รู้จักธรรมะนั้น ๆ ดี ที่ว่าดีถึงขนาดที่จะติดตัวเอาไปใช้ แม้ในเมื่อละจากเพศภิกษุแล้วไปอยู่ในครอบครัวหรืออย่างเพศฆราวาส ก็ยังเป็นประโยชน์ได้อย่างยิ่งอยู่นั่นเอง ที่จริงมันอาจจะเป็นเรื่องที่มีอยู่ก่อนแล้ว แต่ยังไม่เข้มงวดพอ ไม่ชัดเจนพอ หรือยิ่งกว่านั้นมันอาจจะมีอยู่ในแบบเรียนบทเรียนที่เราเคยเรียนกันมาแล้วในฐานะที่เป็นนักเรียนเล็ก ๆ ด้วยซ้ำไป แต่ก็ยังไม่ชัดเจนพอ เดี๋ยวนี้เราเรียนอย่างผู้ใหญ่ ก็เรียนพร้อมกันไปทั้งด้านร่างกายและด้านจิตใจตามแนวของพุทธศาสนาที่มีอยู่อย่างละเอียดลึกซึ้ง แต่ขอให้รู้ไว้ว่าไม่ใช่มีอยู่ในฐานะเป็นจิตวิทยาหรือแม้แต่ปรัชญา เป็นต้น แต่มันมีอยู่อย่างหลักของศีลธรรมในศาสนา แต่เมื่อปฏิบัติได้สูงขึ้นไปก็เป็นตัวศาสนาเสียเอง ทีนี้มันก็ควรประหลาดใจในข้อที่ว่าหลักธรรมะในพระศาสนาเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพานนั้น มันก็มาเป็นหลักธรรมะอันเดียวกันกับที่ฆราวาสจะมีในบ้านเรือน นี้อยากจะให้มองไปในแง่ที่ว่า แม้การเป็นฆราวาสครองเรือนมันก็เป็นการขยับเขยื้อนไปตามแนวทางของพระนิพพานด้วยเหมือนกัน แต่มันเนื่องจากคนเขาไม่รู้ บางคนเขาไม่อยากจะรู้ เพราะเขาเห็นว่ามันเป็นข้าศึกแก่กัน จะต้องเรียกว่าเป็นคนที่โง่มากไปสักหน่อย คือละทิ้งสิ่งที่ควรจะได้โดยไม่ต้องลงทุนอะไร สิ่งที่มันจะเป็นประโยชน์มากที่สุดกว่าที่ตัวปรารถนาก็หารู้ไม่ แล้วแล้วมันก็ไม่ต้องลงทุนอะไรหรือลำบากยากเย็นอะไรให้มากไปกว่ากระทำในสิ่งที่กระทำอยู่แล้วนั่นแหละให้มันดี ๆ แล้วก็ไล่ดูกันตามหัวข้อ ทบทวนความจำอีกเล็กน้อย ข้อที่ว่า ปรทัตตูปชีวี ทำไมไม่นึกถึงเมื่อเป็นลูกอ่อนนอนเบาะเล่า พ่อแม่เลี้ยง คลอดมา เลี้ยงมา อยู่กับการเลี้ยงของพ่อแม่ทั้งนั้น จึงรอดชีวิตมาได้ แต่เดี๋ยวนี้เรามาเล็งถึงเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น อยากให้มีความรู้สึก ความยึดถือ หลักธรรมะในข้อนี้ให้มันเป็นประโยชน์แก่สังคม คือกว้างออกไป ให้ทุกคนยอมรับว่าเราจะต้องอาศัยกันและกัน นี่ผมถือว่ามันเป็นรากฐานอันแท้จริงของอุดมคติที่เรียกกันว่าสังคมนิยม แต่ว่ามันเป็นสังคมนิยมที่ถูกต้องของธรรมชาติ หรือตามหลักของศาสนาจริง ๆ มันจริงมั่นคง และเป็นไปเพื่อสันติภาพได้จริง
ข้อต่อมาที่ว่าอยู่ต่ำ ๆ และทำสูง ๆ นี่มันก็เป็นเรื่องเศรษฐกิจทางวิญญาณ แม้เศรษฐกิจธรรมดาสามัญมันก็หลักอย่างนี้ ลงทุนน้อยก็ได้กำไรมาก ถ้าเรายึดถือว่าเป็นเศรษฐกิจของธรรมชาติมันก็ยิ่งดี เพราะมันจริงเหมือนกัน อย่างข้าวเปลือกเม็ดหนึ่งเพาะลงไปให้มันงอกเป็นต้นข้าวขึ้นมามันได้อีกกี่สิบเม็ด กี่ร้อยเม็ด มันเหมือนกับว่าไอ้ธรรมชาติมันทำการค้า ทำกำไร ลงทุนน้อยได้ผลมาก ไอ้การที่กินอยู่ต่ำ ๆ มันลงทุนน้อย แล้วมันก็ได้ผลมากหรือสูง ถ้าไปกินอยู่สูงมันก็บ้าเสียก่อน หรือมันกลายเป็นว่ามันเอาการกินอยู่น่ะมันเป็นผลที่พึงปรารถนาเสีย โดยไม่ได้คิดว่าที่เราอยู่นั้นมันอยู่เพื่อทำอะไรเสียอย่างหนึ่ง ฉะนั้นคนพวกนั้นมันก็เกิดมาเพื่อกินเท่านั้นเอง ก็ได้กิน เป็นยอดสุขความปรารถนา อีกคนนั่นมันกินแต่เพียงเพื่ออยู่แล้วมันจะทำอะไรอย่างต่างหาก นั่นจึงดีกว่าหรือสูงกว่า
นี้ข้อถัดไปว่าเป็นมุนี หรือมีความเป็นมณี เอ้อ, มุนี อยู่ในความเป็นมนุษย์ มุนีกับมนุษย์นี่มันเป็นรากเอ้อ, หลักอันเดียวกัน คือรู้ จนแก้ปัญหาได้ทุกปัญหา การครองเรือนนั้นมันมีปัญหามาก นับไม่ไหว โดยปลีกย่อย มันกระจายกันออกไป ฉะนั้นควรจะเป็นผู้มีความรู้ที่เรียกว่าพอตัว ในทุกแง่ทุกมุมในทุกระดับ หรือทุก ๆ ขนาดของปัญหา มันก็จะเป็นฆราวาสที่น่าดู แม้ในทางธรรมะด้านจิตใจก็ยังเป็นฆราวาสที่น่าดู มีคนรู้สึกและพูดกันอยู่บ่อย ๆ ว่า พระฆราวาสบางคนที่อยู่ที่บ้านเรือน ดู ๆ มันช่างมีลักษณะแห่งพระอริยเจ้ามากกว่าพระที่วัดบางองค์เสียอีก ผมก็ได้ยินมาเอง ก็ได้สังเกตเห็นเอง เพราะความรอบรู้ เพราะความดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้องตามหลักของมุนีที่มีความรู้ นั้นก็มีความงดงามอยู่ในบุคคลแบบนั้น ทั้งด้านวัตถุสิ่งของ ร่างกาย จิตใจ วิญญาณ อะไรต่าง ๆ ที่ว่าเป็นเกลอกับธรรมชาติต้องไปคิดดูให้ดี ถ้าเข้าใจคำว่า ธรรมชาติ ผิดหรือแคบแล้วก็จะไม่เข้าใจข้อนี้ ให้รู้ไว้เป็นหลักคร่าว ๆ ว่าถ้าทิ้งธรรมชาติไกลเท่าไรก็ยิ่งยุ่งยากมากเท่านั้น แล้วไม่ตรงตามไอ้ความจริงของธรรมชาติ ก็ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ เราจึงต้องรู้จักกันดี เสพคบกันอย่างใกล้ชิดสนิทสนมอย่างกับเป็นเกลอธรรมชาติ
นี่ก็มาถึงข้อสร้างยุ้งใส่ความโกรธความขัดใจ ใช้คำว่า ยุ้ง ก็เพราะว่ามันเป็นเรื่องมาก เรื่องใหญ่ การมีชีวิตอยู่ มันมีสิ่งที่ทำให้ขัดใจ คือไม่ได้อย่างใจมันมาก ขอให้สังเกตดูตนเองก็แล้วกัน การมีชีวิตอยู่มันจะพบกับความไม่ได้อย่างใจมากกว่าที่ได้อย่างใจ เพราะมันเป็นอย่างนั้นเอง ที่มันมากกว่านั้นก็คือว่าไอ้นั่นมัน เอ้อ, คนนั้นมันโง่เกินไปอีก คือจะเอาให้ได้อย่างใจไปเสียหมดทุกอย่าง เกินกว่าที่ควรจะเอา แต่อย่างนี้แล้วมันก็ยิ่งมีไอ้ความไม่ได้อย่างใจเพิ่มขึ้นอีก เพิ่มจำนวนปริมาณขึ้นอีก มันจึงเต็มไปด้วยความไม่ได้อย่างใจแล้วก็โกรธ มันจึงต้องสร้างยุ้งฉางใส่ความโกรธ เก็บความโกรธ เพราะว่าไอ้ความโกรธแสดงตัวออกมานั้นมันเป็นอันตราย
ทีนี้ก็มาถึงวันนี้ ที่ว่าอยู่อย่างลดหัวลดหางในการเป็นนักบวชนี่ ถ้าเป็นนักบวชที่แท้จริงมันก็อย่างนั้น มันก็อย่างนั้นจริงเหมือนกัน ไปศึกษาเรื่องของพระอรหันต์ดู ท่านจะอยู่อย่างไม่มีการยกหัวยกหาง ผมก็พยายามสังเกตดูว่าอยู่ในแง่หนึ่งเหมือนกันว่า เมื่อเราเป็นฝ่ายถูกแล้วเขามาหาว่าเป็นฝ่ายผิด จะยอมไหม สังเกตดูในเรื่องของพระอรหันต์ทั้งหลายมันไม่มี ไม่มีที่จะไม่ยอม มันยอมกระทั่งจะต้องเสียชีวิตไปก็ได้ เพื่อไม่ให้มันเกิดเรื่องขึ้นมา แล้วการที่ยอมมันมีขอบเขตกว้างขวางถึงกับว่าช่วย ช่วยเหลือผู้อื่น เป็นประโยชน์กับผู้อื่นอีกชั้นหนึ่งอีก เพียงแต่ไม่ให้เกิดเรื่องขึ้นมานี่มันก็ไม่เท่าไร ในภาษาไทยเรามันก็มีคำพูดสำหรับหลักธรรมะข้อนี้อยู่แล้วว่า ความอ่อนน้อมถ่อมตัว ทุกคนก็เคยได้ยินได้ฟัง แล้วก็สรรเสริญกันอยู่ทั่วไปหมด ทุกชาติทุกภาษา ทุกสาขาแห่งวัฒนธรรมทุกยุคทุกสมัย สรรเสริญความอ่อนน้อมถ่อมตัว ก็คือไม่ยกหูชูหาง นี่มันอยู่ในรูปของศีลธรรม ก็มีโดยเฉพาะที่เรากำลังกล่าวนี่ ก็หมายถึงรูปของศีลธรรม ถ้ามันถึงขนาดที่เป็นปรมัตถธรรม เพราะอำนาจของการสิ้นกิเลสแล้ว มันก็เกือบจะไม่ต้องพูด คือมันไม่ยกเสียเอง มันไม่ยกหูยกหางอะไรเสียเอง ที่ยังต้องพูดก็เพราะมันยังมีปัญหา คือสำหรับพวกที่มันยังมีกิเลสสำหรับจะยกหูยกหาง นี้คำที่เรียกว่าอ่อนน้อมถ่อมตัวนี่ มี ๒ ชั้น มีความหมาย ๒ ชั้นอย่างที่ว่า เป็นเรื่องของศีลธรรมที่ต้องประพฤติหรือบังคับให้ประพฤติ เป็นเรื่องของปรมัตถธรรม ทำลายกิเลสแล้วมันก็หมดไปเอง
ลองพิจารณาดูไอ้สิ่งที่เรียกว่ายก ยกหูชูหางก่อน ในบาลีก็มีเรียกว่ามานะ โดยทั่วไปเรียกว่ามานะ ในความหมายที่กว้างที่สุด ถึงในภาษาไทยก็ใช้คำว่า มานะทิฏฐิ นี่ แต่ที่แท้ก็คือ มานะ มันมีมานะ มันจึงยกหัวยกหาง แต่คำว่ามานะนี่ยังต้องพิจารณากันต่อไปอีก เพราะมันมีบางแง่ที่จะใช้เป็นประโยชน์ได้ บางแง่นั้นเป็นโทษหรือเป็นอันตรายในส่วนเดียว คำในภาษาธรรมะชั้นสูงหรือในภาษาปรัชญาของชาวอินเดียก็เรียกตรงกัน เรียกว่าอหังการ มมังการ อหังการ แปลว่า ทำความรู้สึกว่าตัวเรา มมังการ ทำความรู้สึกว่าของเรา โดยปกติ ๒ อย่างนี้แสดงออกมาเป็นรูปของมานะ มันเป็นนามธรรมมองไม่เห็น จะมองเห็นต่อเมื่อมันแสดงออกมาทางกาย ทางวาจา ทางรูปธรรมนี้ มันเป็นอหังการ มมังการ ที่เห็นชัดเป็นตัวกูเป็นของกู ตอนนั้นมันจึงจะมีกิเลสที่เนื่อง เนื่องกัน คือไม่ยอมหรืออะไรต่าง ๆ กระทั่งว่าเมื่อได้อย่างใจก็ยกหูชูหาง คำต่อไปอีกก็มีว่ามานานุสัย อนุสัยคือมานะ นี่คือความเคยชินแห่งมานะ เราแสดงมานะยกหูชูหางออกมาทีหนึ่ง นั่นก็เรียกว่ามานะ นี่ความเคยชินของความเป็นอย่างนั้นก็เรียกว่า มานะอนุสัย มานะอนุสัย เรียกต่อให้มันสนิทกันก็เรียกว่า มานานุสัย และส่วนลึกที่สุดนิยมเรียกว่า อัสมิมานะ อย่างพระพุทธภาษิตที่ว่า ละอัสมิมานะเสียได้นี่เป็นสุขอย่างยิ่ง ในบทสวดมนต์แปลก็มี ก็มี สวดอยู่ มานะ อหังการ มมังการ มานานุสัย อัสมิมานะ กิเลสที่เราได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ มักจะได้ยินแต่เพียง ๓ คือ ราคะ โทสะ โมหะ แต่ว่าในบาลีบางแห่งเอามานะเข้ามาใส่อย่างหนึ่ง ในชุด ๓ นี่กลายเป็น ๔ ราโค โทโส มาโน โมโห มันอาจจะแยกออกมาได้จริง เช่นลองพิจารณาดูว่า ราคะ มันรัก มันจะเอา โทสะ มันเกลียด มันโกรธ มันไม่เอา โมโห มันสงสัย มันหลง มันไม่รู้ว่าจะเอาหรือไม่เอา ส่วนตัวมานะนี่มันไม่เหมือน มีอาการไม่เหมือนกับราคะ โทสะ โมหะ เอามาใส่ได้ และก็คงจะใส่ในฐานะเป็นรากฐานของ ๓ อย่างนั้น เพราะมีมานะ มันจึงมีความสำคัญว่าตัวเรา ทั้งความโลภ ความโกรธความหลง ถึงเกิดได้ง่าย มันจึงเป็นคำใหม่ ซึ่งไม่ค่อยได้ยิน ได้ยินกันแต่ราคะ โทสะ โมหะ นี้ขอฝากคำว่า มานะ ไว้ด้วย ในบาลีก็มีเหมือนกัน ที่รวมมานะเข้าไว้ใน ๓ อย่างนี้ มีความสำคัญ ด้วยอำนาจของอวิชชา นี่ขอให้จำคำว่า สำคัญ ไว้ด้วย คือสำคัญมั่นหมาย ถ้าใช้คำว่า สำคัญ หรือ สำคัญมั่นหมาย แล้วไม่มีทางที่จะถูกต้อง คือมันก็ทำไปด้วยอำนาจของอวิชชา ถ้าเรารู้สึกหรือรู้จัก หรือว่าจัดมันไว้ในลักษณะอย่างไร อย่างนั้นเขาไม่เรียกว่าความสำคัญ เขาเรียกว่า ความรู้ ที่มาจากวิชชา การที่สำคัญเอาด้วยมานะน่ะ จะผิดทั้งนั้น สำคัญตัวว่าตน ว่าสุข ว่าทุกข์ ว่าดี ว่างาม ว่าสวย เป็นความสำคัญที่ผิดทั้งนั้น เป็นความรู้ผิด ผิดอย่างรุนแรง แต่ถ้าเรารู้ด้วยวิชชา มันก็รู้เหมือนกันน่ะ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เช่น สวยก็ว่าสวย บัญญัติว่าสวย ไม่สวยก็บัญญัติว่าไม่สวย สุขว่าสุข ทุกข์ว่าทุกข์ นี่มันก็รู้ออกมาในรูปที่มีความหมายเหมือน ๆ กัน แต่โดยอาการที่ต่างกัน ถ้ารู้ด้วยความมั่นหมาย นี่เรียกว่าความสำคัญในที่นี้ นี้คำว่า มานะ ก็ต้องเป็นการสำคัญรู้ด้วยความสำคัญผิดของอวิชชา ฉะนั้นจึงเกิดเป็นผลต่างกัน คือถ้ารู้ด้วยวิชชา ไม่มีการยกหูยกหาง ถ้ามันรู้ด้วยอวิชชา มันก็มีส่วนที่จะยกหูยกหาง แล้วมันคลอดอะไรอย่างอื่นตามมาเป็นอันมาก เช่น ความโอ้อวด เช่นความ ความพูดพล่าม อย่างนี้เป็นต้นตามมา เดี๋ยวนี้เราสมมติเรียกกันง่าย ๆ ในที่นี้ว่า ยกหูชูหาง จะยกด้วยวาจาหรือจะยกด้วยกิริยาหรือจะยกด้วยการแสดงอย่างอื่น มันก็เป็นผลของสิ่งที่เรียกว่า มานะนี้ทั้งนั้น
ที่นี้อยากจะให้พิจารณาต่อไปในทางที่มันเกี่ยวกับสัญชาตญาณ ตรงนี้ขอแทรกเป็นพิเศษว่า ไอ้เรื่องธรรมะที่นี่นี่ มันมีหลักที่พาดพิงไปถึงเรื่องสัญชาตญาณทั้งนั้น ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความโง่ ความหลง อะไรต่าง ๆ มันก็คืออาการแห่งสัญชาตญาณที่มันแสดงออกมา นี้สัญชาตญาณนั้นมันก็มีปัญหาในข้อที่ว่ามันเป็นของผิดหรือของถูก ควรละเสียหรือควรจะเอาไว้ หรือควรจะส่งเสริม นี้เมื่อเราสังเกตดูศึกษาดูตามหลักของพุทธศาสนา บางอย่างมันละไปเด็ดขาด บางอย่างมันก็ส่งเสริมโดยการเปลี่ยนกระแสไปในทางที่ถูกต้อง หรือควบคุมให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง แต่ว่าส่วนใหญ่ทั้งหมดมันจะต้องละ เพราะว่าสัญชาตญาณนี่มันเป็นมาด้วยอำนาจของสภาพที่ยังขาดความรู้อันแท้จริง ซึ่งจะเรียกว่าอวิชชาก็ได้ จะเป็นอวิชชาในอีกความหมายหนึ่ง คือการขาดความรู้ตามปกติธรรมดา ตามธรรมชาติ นี่ปราศจากความรู้อย่างนี้ เขาเรียกว่า อวิชชา จนเราจะพูดได้ว่า ในสิ่งที่ไม่มีความรู้สึก เช่น ก้อนหิน ก้อนดิน ท่อนไม้ ก็ต้องเรียกว่ามันไม่มีความรู้ มันมีอวิชชาอยู่ในนั้นได้เหมือนกัน ในเมื่อถือเอาความหมายของอวิชชาอย่างนี้ แต่ในทางพระพุทธศาสนา หรือในทางพระบาลีนั้นความไม่รู้ในที่นี้ เขาหมายถึงไม่รู้อันถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ โดยเฉพาะเรื่องความดับทุกข์ นี้โดยสัญชาตญาณมันก็เกิดความรู้สึกที่เป็นตัวเราอยู่เป็นพื้นฐาน ความรู้สึกว่าต้อง ต้องเรา ต้องเป็นเรานี่ เป็นสัญชาตญาณพื้นฐาน และมันจึงจะมีสัญชาตญาณที่อยากมีชีวิตอยู่ ทีนี้เมื่ออยากมีชีวิตอยู่ มันก็ต้องมีสัญชาตญาณที่จะหาอาหาร หรือจะสืบพันธุ์ หรือจะต่อสู้ จึงเกิดมีสัญชาตญาณอีกมากมาย ล้วนแต่เป็นความจำเป็นที่จะให้ชีวิตมันรอดอยู่ได้ทั้งนั้น นี้มันก็มีปัญหาอยู่ว่ามัน มันจะเกินไป หรือยังขาดอยู่ นี่เรามักจะส่งเสริมไปในทางผิด ๆ อยากจะมีชีวิตอยู่จนทั้งที่เห็นแก่ตัวกู ไม่เห็นแก่ผู้อื่นเลยอย่างนี้ มันก็ผิดแล้ว หรือว่าสัญชาตญาณแห่งการกินอาหารนี่ มันกินเลยอาหารไปเสียอีก กลายเป็นกิน ... (นาทีที่ 26:49) กินเหยื่อ กินอะไรไป อย่างสัญชาตญาณแห่งการต่อสู้ ก็ต่อสู้เพื่อชีวิตรอด เดี๋ยวนี้มันไม่ได้ต่อสู้เอาชีวิตรอด มันต่อสู้จะทำลายผู้อื่น จะเอาของผู้อื่นมาเป็นของตัว ตามลักษณะของผู้กอบโกยส่วนเกิน กลายเป็นผู้กอบโกยส่วนเกินมา ด้วยอำนาจของสัญชาตญาณนั้นเอง ดังนั้นสรุปความแล้วมันก็ต้องควบคุม เพื่อมาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ หรือบางอย่างในทางที่จะทำให้สูญสิ้นไปในที่สุด
สำหรับสิ่งที่เรียกว่า ตัวตน สำคัญว่าตัวตนนี่ เป็นสัญชาตญาณหลัก สัญชาตญาณพื้นฐาน มันก็มีมาแล้ว เราอย่า อย่าคิดอะไรมากเลย มันมีมาแล้ว มันมีอยู่แล้ว มันของธรรมชาติ ตามธรรมชาติ อยากจะแนะให้พิจารณาว่าไอ้สัญชาตญาณพื้นฐาน รู้สึกว่าตัวตนนี่ มันต้องมีคู่กันอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าชีวิต ในระดับมนุษย์มีชีวิต มีรู้สึกตัวตน เมื่อถึงคราวที่มันมีความรู้สึกโง่เขลาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือว่าได้ ได้ประสบความสำเร็จ มันก็ยกหูชูหาง นี่สัตว์เดรัจฉานมันก็มีสัญชาตญาณอันนี้ บางคราวมันก็ยกหูชูหาง แต่ไม่มากเท่ามนุษย์น่ะ เป็นเพียงเรื่องทาง Mechanism ธรรมดา ๆ ของสิ่งที่มีชีวิต วัว ควาย ช้าง ม้า เป็ด ไก่ บางทีมันก็ยกหูชูหาง ร่าเริงสบาย แต่ของมนุษย์น่ะมันเกินนั้น ด้วยอำนาจของกิเลสที่หนาแน่นมากขึ้น เพราะฉะนั้นจึงยกหูชูหางมากขึ้น นั้นผมจึงคิดว่า ไอ้สมัยคนป่า ไอ้ Ape ไอ้ Semi มนุษย์น่ะ (นาทีที่ 29:05 ) ครึ่ง ๆ มนุษย์นั่น มันคงไม่ยกหูชูหางมากเหมือนมนุษย์เดี๋ยวนี้เป็นแน่นอน สัตว์มันลดน้อยลงไป แต่มันก็ต้องมีความรู้สึกว่าตัวตน เราจะเห็นว่าไอ้ไก่ตัวที่มันชนะแล้วมันก็ตีปีกบินขึ้นที่สูงแล้วก็ขัน มันจะทำให้เหนื่อยไปทำไมก็ไม่รู้ ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องของสัญชาตญาณอย่างนั้นเอง มันเนื่องกันถึงสัญชาตญาณตัวกูของกูอย่างอื่น ๆ อีกด้วย ถ้าดูไปถึงต้นไม้ มันก็น่าจะกล่าวได้ว่ามันก็มีสัญชาตญาณตัวตนนี้ มันก็อ่อนลงไปอีก เพราะฉะนั้นการยกหูชูหางของต้นไม้นี่ มันก็อ่อนลงไปอีก จนเรามองไม่เห็น จนดูไม่ออก โดยการเทียบเคียงว่า มันก็มีเจตนาที่เกี่ยวกับตัวกูของกู ว่าเรายอมเห็นด้วยกับที่ไอ้นักชีววิทยาฝ่ายต้นไม้ ที่เขาอธิบายว่า การที่มันมีสีสวยมันมีกลีบสวยมีดอกมีเกสรมีอะไรต่าง ๆ นั้นเป็นส่วนหนึ่งซึ่งช่วยให้เกิดการสืบพันธุ์ มันเป็นความประสงค์อย่างยิ่งที่ต้องการจะสืบพันธุ์ สัญชาตญาณแห่งตัวกูมันก็มี ในเมื่อมันได้อย่างที่มันถูกใจ มันคงแสดงความร่าเริงอยู่ในนั้น เป็นตัวกูของกู ละเอียดอ่อนในการเบิกบานของดอกไม้หรือของการเป็นอย่างที่มีความสุข หรือได้อย่าง อย่างใจ ทีนี้ลงไปถึงหญ้า บอน หรือตะไคร้น้ำ มันก็ต้องมีอีกล่ะ ลดส่วนมันลงไปก็แล้วกัน สำหรับสิ่งที่ไม่มีชีวิต เราก็พูดไม่ได้ เพราะคำว่า ญาณ สัญชาตญาณนั้น หมายถึง ไอ้ความรู้ของสิ่งที่มีความรู้สึก ต้องมีความรู้สึก มันจึงจะเกิดญาณทั้งหลายเหล่านี้ได้ ก็เป็นอันว่า ไอ้การยกหูชูหางนี่เป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของสิ่งที่มีชีวิต แล้วสัญชาตญาณอันนี้วิวัฒนาการโดยสมสัดสมส่วนกันมากับวิวัฒนาการอื่น ๆ เราจึงได้เห็นการยกหูชูหางของสัตว์สูงสุดคือมนุษย์ นั้นจึงดูให้เห็นว่าสัญชาตญาณบางอย่างนี่ต้องควบคุมให้มาก แต่ในบางกรณีจะส่งเสริมให้ดีขึ้น ให้มีประโยชน์มากขึ้น และในบางกรณีจงทำลายให้หมดไป ยกตัวอย่างเช่น สัญชาตญาณของการอยากรู้ อยากรู้นี่ มันก็มี ก็ควรจะส่งเสริมให้มันได้รู้ แล้วก็รู้แต่ในทางที่ควรรู้ในปริมาณที่ควรจะรู้ แต่ถ้ามันเป็นสัญชาตญาณที่อยากจะทำลายผู้อื่นหรือการต่อสู้ ทีนี้ก็เปลี่ยนเป็นสัญชาตญาณ เอ้อ, เปลี่ยน กระแสของสัญชาตญาณการต่อสู้กับสิ่งที่ควรต่อสู้ (นาทีที่ 32:45) เราได้คำมาใหม่ว่าการต่อสู้กับกิเลสนั้นดีกว่าจะไปต่อสู้กับข้าศึกศัตรูอย่างอื่น นี่ ไปคิดกันเอง ไปศึกษาสังเกตกันเอง แล้วทีนี้จะพูดกันเฉพาะไอ้สัญชาตญาณแห่งการยกหูชูหางที่มาจากสัญชาตญาณแห่งตัวตนเป็นสิ่งที่ต้องควบคุม ถ้าว่ามันไม่อยากจะ จะดี หรือไม่อยากจะดีกว่าคนอื่นเสียเลย มันก็คง มันก็คงไม่อยากจะทำอะไรให้ดี งั้นส่วนที่มันอยากจะทำอะไรให้ดีก็สงวนเอาไว้ หรือว่าอยากให้ดีกว่าผู้อื่น มันก็ต้องควบคุมในทางที่มันถูกต้อง อย่าปล่อยให้มันดีกว่าผู้อื่นอย่างที่ไม่มีขอบเขตหรือไม่มีความถูกต้อง
ทีนี้เราจะดูประเภทของไอ้ความรู้สึกที่เป็นมานะ ยกหูชูหาง ถ้าดูแล้วก็จะพบว่ามันก็ใช้หลักเกณฑ์อันเดียวกันได้ หลาย ๆ อย่างหลาย ๆ หมวด อย่างเรื่องตัณหา ๓ ประการที่เราเอามาเป็น ที่มาของความโกรธ อย่างนี้ก็เป็นที่มาของความถือตัว เรื่องตัณหา ๓ ประการ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา นี่ ขอให้นักศึกษารุ่นใหม่ ๆ ได้จำไว้ให้แม่นยำ เพราะมันจะแจกลูกเป็นอะไรได้อีกมากมาย ทีนี้มีหลักที่จะต้องยึดไว้เป็นหลักนะ สำหรับศึกษา เท่าไรต่อไปอีกก็ได้ว่า (นาทีที่ 34:53) ตัณหาต้องให้เกิดอุปาทาน อย่างที่ท่องปฏิจจสมุปบาท ก็ท่องกันอยู่ทุกวัน แล้วเดี๋ยวมันจะลืมเสีย มันจะเก็บไว้ในสมุด ให้จำไว้ว่าถ้ามันมีตัณหา คือความอยาก ก็จะต้องมีอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ถ้ามีอุปาทานแล้วมันก็ต้องมีมานะ ความสำคัญตนนี่ ที่เราเรียกว่าจะทำให้ยกหูชูหางนี้เป็นแน่นอน มันก็ดูว่ากามตัณหา มันอยากไปในทางอยากได้ของรักของใคร่ ถ้ามันได้กาม มันมีกามหรือมันได้กาม มันก็อยากอวด มันได้กามอะไรมา มันก็อยากอวด มันก็ยกหูชูหางว่ากูได้ไอ้อันนี้ มีอันนี้ อวดคนอื่น เหมือนกับเรื่องไอ้ตัวกังสฬกะ ไปหาอ่านดูในเรื่องขุมทรัพย์ นี่ถ้าภวตัณหามันได้เป็น มันได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามภวตัณหา มันก็อวดอีก ได้เป็นหัวหน้า ได้เป็นผู้มีเกียรติ ได้เป็นอะไรต่าง ๆ ทีนี้วิภวตัณหา คือไม่ได้อย่างที่ต้องการ หรืออยากไม่ให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็ยกหูชูหางไปอีกแบบหนึ่ง เป็นเรื่องแก้เก้อก็ได้ เมื่อไม่ได้ตามวิภวตัณหา มันก็หมายความว่ามันได้อย่างที่ไม่ตรงกับความประสงค์ มันก็ขัดใจ มันก็ยกหูชูหางไปตามแบบของคนขัดใจ รวมความแล้วมันมีตัวกูที่ขู่ฟ่อ ๆ อยู่เหมือนกัน กามตัณหาอยากได้ ภวตัณหาอยากเป็น วิภวตัณหาอยากไม่ให้มี อยากไม่ให้เป็น หลักง่าย ๆ มีอย่างนั้น กามตัณหาอยากได้ของรัก มันก็อวดว่าได้ของรัก หรือเมื่อยังไม่ได้ มันก็แสดงบทบาทแบบตัวกูของกูไปตามเรื่อง ภวตัณหานั้นอยากเป็น อยากเป็นนั่นเป็นนี่ ก็แสดงบทบาทแบบอยากเป็น ทีนี้วิภวตัณหาอยากไม่ให้เป็น มันก็มีบทบาทในทาง ทางที่ตรงกันข้ามวิภวตัณหา แต่แล้วไม่พ้นไปจากความเป็นตัวกูของกูที่ดิ้นเร่า ๆอยู่ นั้นตัณหาก็ให้เกิดอุปาทาน ใน ในอุปาทานนั้นมีลักษณะแห่งมานะ ความสำคัญว่าเราเป็นอย่างไร เราได้อะไร เราเป็นอย่างไร หรือเราไม่ได้เป็นอย่างไร เมื่อมีมานะสำคัญมั่นหมายแล้ว เมื่อมีมานะที่เป็นเหตุให้สำคัญมั่นหมายว่าเป็นอย่างไรแล้ว ก็แสดงอาการของมานะต่อไปอีกในทางที่เปรียบเทียบ นี้ความรู้สึกที่เปรียบเทียบก็ย่อมเป็นสัญชาตญาณอันหนึ่งเหมือนกัน เกิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ สังเกตดูไอ้สัตว์บางตัวพอมันเข้าใกล้สัตว์อีกตัวหนึ่งมันแสดงสัญชาตญาณเปรียบเทียบได้เสร็จเลย ไอ้ตัวนี้เล็กกว่าเรา หรือว่าอ่อนแอกว่าเรา เราจะกัดมัน นี่ตัวเล็กมันก็รู้ว่าตัวนี้มันใหญ่กว่าเรา เราสู้มันไม่ได้ นี่เป็นความรู้สึกเปรียบเทียบ แล้วก็รู้ผลของการเปรียบเทียบ นั้นเมื่อคนเรามันมีมานะ รู้ว่าเราเป็นอย่างไรในขั้นแรก แล้วมานะนั้นก็รู้ต่อไปในทำนองของการเปรียบเทียบ ซึ่งท่านแจกกันไว้เป็น ๓ อย่าง จน คือว่าเปรียบเทียบจนรู้สึกว่าเราดีกว่าเขา นี่อย่างหนึ่ง เปรียบเทียบจนรู้สึกว่าเราเสมอกันกับเขานี้อย่างหนึ่ง เปรียบเทียบจนรู้สึกว่าเราเลวกว่าเขา ต่ำกว่าเขาอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องที่รู้สึกได้ง่าย ไปสังเกตเอาเองก็แล้วกัน ความรู้สึกแห่งมานะนี่แจกไว้เป็น ๓ ชั้นอย่างนั้น ทีนี้ก็ดูต่อไปว่าเมื่อรู้สึกว่าเราดีกว่าเขา นี่ถ้าไม่ได้ควบคุมสัญชาตญาณมันก็ยกหูชูหางเป็นแน่นอน นั้นมานะอันที่หนึ่งนี่มันก็ต้องยกหูชูหางโดยปกติ เพราะว่ารู้สึกว่าดีกว่าเขา ทีนี้ถ้าเสมอกันกับเขา ก็ยังจะต้องยกขึ้นมาให้เห็นว่ามันดีกว่าเขาละ เท่า ๆ กันแท้ ๆ นี่มันก็ยังจะต้องแสดงบทบาทอะไรออกมาให้คนเขายอมรับว่าเราดีกว่าเขา ความรู้สึกว่าเสมอกันก็ยกหูชูหาง เพื่อให้คนเข้าใจว่าดีนี่มีอะไรดีกว่าเขา นี่ถ้ามันเลวกว่าเขา มันก็ยกหูชูหางเพื่อแก้เก้อ หรือเพื่อป้องกันตัว สังเกตดู ไอ้สุนัขไอ้ตัวที่เล็กที่แพ้ มันก็ต้องแสดงไอ้การต่อสู้ยกหูชูหางต่อสู้ขู่ไอ้ตัวใหญ่ ตัวที่ ที่เก่งกว่า ในที่เลี้ยงปลาไปมองดู เราก็จะเห็นว่าไอ้ปลาตัวเล็ก ปลาตัวที่มันจะต้องแพ้แน่ ๆ นั่นน่ะ แต่ในขั้นแรกมันก็ทำขึงขังไว้ก่อน มันเป็นสัญชาตญาณแก้เก้อ กลบปมด้อย มันก็แสดงปมเด่น นั้นความรู้สึกที่ว่าเลวกว่าเขา หรือต่ำกว่าเขา หรืออ่อนแอกว่าเขา มันก็ยังมีความรู้สึกสำหรับจะยกหูชูหาง จึงเห็นได้ว่ามันจะยกหูชูหางไปเสียหมดในทุกกรณีจนเป็นธรรมดาของสัตว์ เมื่อไอ้ความรู้สึก ๓ อย่างนี้มันตายตัวลงไปอย่างนี้ แน่นอนแล้ว ไอ้การปฏิบัติของเรามันก็ต้องทำให้เข้ารูป ครบถ้วนทั้ง ๓ อย่างนี้เหมือนกัน ซึ่งก็จะได้พิจารณากันต่อไป คำว่า หาง หรือ หู ยืมมาจากสัตว์ เพราะเห็นว่าเมื่อสัตว์มันจะเบ่งอะไรขึ้นมามันยกหูยกหาง คนมันมีหางเมื่อไร หูของคนยกยาก กระดิกมันยังกระดิกไม่ค่อยได้ แต่เราเอาอาการยกหูชูหางยืมมาจากสัตว์มาเป็นอาการของคน ชูหาง เหมือนกับวัวหรือช้าง ถ้ามันวิ่งชูหางมา ละก็ตอนนั้นมัน มันอวดที่สุดนะ มันแสดงไอ้บทบาทที่มันข่ม แสดงอาการข่มผู้อื่น ที่อยากจะแนะให้สังเกตว่าไอ้ยกหางนี่มันมีได้ ทั้งหางข้างนอกและหางข้างใน หางข้างนอกมันยกใส่คนอื่น นี่เห็นชัด ยกเพื่อคนอื่นเห็น ไอ้ทีนี้หางข้างนอกน่ะมันยกใส่คนอื่น ให้คนอื่นเห็น ร่า อยู่ (นาทีที่ 44:14) หางข้างในนี่มันยกเพื่อจะกลัดกลุ้มของมันเอง ยกหางให้ผู้อื่นรู้ยกข้างนอก บางทีบนธรรมาสน์มันก็ยก ผมฟังดูไอ้เทศน์กลางคืนนั้นก็มีธรรมกถึกบางองค์ยก นี้ยกหางข้างใน มันก็รู้คนเดียวอึดอัดอยู่คนเดียว อะไรอยู่คนเดียว เป็นอันว่าทำไปตามอำนาจของสัญชาตญาณที่มิได้รับการควบคุม นี่ คือเรื่องทั้งหมดของมานะ ความสำคัญตัวว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ซึ่งเป็นเหตุให้ยกหูชูหางในทุกกรณี ไม่ว่าเป็นกรณีที่รู้สึกว่าดีกว่าเขา หรือกรณีนี้รู้สึกว่าเสมอกัน หรือในกรณีที่รู้สึกว่าต่ำกว่าเขา
เอ้า, ทีนี้เราก็จะดูไอ้สิ่งนี้ต่อไปตามลำดับของวิธีการศึกษา อย่างที่เคยบอกแล้วแต่วันก่อนว่าจะรู้อะไร จะศึกษาอะไรให้รู้ ก็ต้องดูว่ามันมีลักษณะอย่างไร มันมีเสน่ห์อย่างไร มันมีอันตรายอย่างไร มันเกิดมาจากอะไร มันดับไปด้วยอะไร หนทางที่เอาชนะมันมีอย่างไร สิ่งที่ควรจะสนใจเป็นพิเศษกว่าทั้งหมดก็คือเสน่ห์ เพราะมันทำให้เราหลง ถ้าอะไรมันไม่มีเสน่ห์แล้วมันก็หลงไม่ได้ เพราะมันต้องมีเสน่ห์ แม้แต่กิเลสมันก็ยังมีเสน่ห์ ความทุกข์มันก็ยังมีส่วนที่ทำให้เราหลง นี้การยกหูชูหางนี่มีเสน่ห์ คือมี อัสสาทะ รสอร่อย หรือเสน่ห์ ก็เห็นอยู่ง่าย ๆ รู้สึกได้ง่าย ๆ เมื่อความรู้สึกสัญชาตญาณอันนี้มันเกิดขึ้น คนมันรู้สึกอร่อย สบาย ไปตามแบบของไอ้กิเลส จึงยกหูชูหาง มันเป็นปมเด่นที่พอแสดงออกแล้วมันอร่อยแก่ผู้แสดง มันเป็นการกระตุ้นให้รู้สึกเอร็ดอร่อย ภูมิใจ พอใจ นี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ขอให้สังเกตดูว่าบาง บางที บางกรณี บางคนมันต้องการเพียงเท่านี้เอง ต้องการจะไอ้อวดสักครั้งหนึ่งก็พอ พอแล้ว แต่มันก็เป็น เป็นกำลังอันหนึ่งเหมือนกัน เป็นสิ่งกระตุ้นอันหนึ่งเหมือนกัน ความรู้สึกยกหูชูหางนี่มันมีทำให้เกิดกำลังที่ซ่อนอยู่ที่ออกมา เขาเรียกกำลังภายใน หรือกำลังอะไรผมก็เรียกไม่ค่อยถูก แต่ถ้ามันฮึดขึ้นมาด้วยอำนาจจะยกหูชูหางแล้ว มันมีกำลังเกินกว่าธรรมดา นั้นในการที่จะทำอะไรอย่าง อย่างอันธพาลก็แล้วกัน จะชกจะต่อยจะตีรันฟันแทงอะไรกันก็ตาม ถ้าเอาอันนี้มาปลุกเข้า มาปลุกใจเข้าด้วยแล้ว มันก็ทำได้มากกว่าธรรมดา นี่คนก็ชอบใช้นะ ชอบปลุกใจกันให้ ให้หลงในตัวกู ให้เขายอมสละชีวิตหรืออะไรต่าง ๆ ได้ นี้มันเป็นเสน่ห์อันหนึ่งที่จะให้มนุษย์ชอบ ชอบใช้มันให้เป็นเครื่องมือ จึงเป็นอันว่าเรายากที่จะ ที่จะควบคุมมัน มันก็มีไอ้ส่วนที่มันอร่อย หรือเป็นเสน่ห์ ที่ ที่ชวนให้คนยอมเป็นทาสมัน นี้เราก็ศึกษาให้รู้ด้วยปัญญา ว่าสิ่งเหล่านี้มันก็มีไอ้สิ่งที่หลอกเรา เป็นเหยื่อล่อเรา การที่ใครจะจับใครเชิดขึ้นไว้ให้มันโลดเต้นไปอย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย มันก็ต้องกระตุ้นสัญชาตญาณอันนี้
ทีนี้ดูต่อไปในข้อที่ว่ามันเป็นอันตราย ยกหูชูหางเป็นอันตรายอย่างไร ใครมันชอบคนยกหูชูหางบ้าง ดูไม่มี นั่นก็ถือว่าเป็นไอ้ความเลวของมัน คือทำให้คนเกลียด บาลีก็มีว่า อติติกฺโข จ เวรวา คนที่แข็งกระด้างเป็นคนสร้างเวร แสดงอาการกระด้างออกมาให้เขาเห็นนั้นน่ะ เขาก็เกลียดนะ เขาก็นึกเกลียดอยู่ในใจ ก็จำอยู่ในใจ นี่ก็เรียกว่าสร้างเวรโดยไม่จำเป็น สังเกตดูจากความรู้สึกของเราเอง เห็นไอ้คนอวดดีจองหองยกหูชูหาง มา เกลียดน้ำหน้า และจะจำติดอยู่ในใจด้วย แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นว่าถ้ามันมีไอ้ยกหูชูหางคือมานะ นี่มันจะไม่เป็นผู้งอกงามในธรรม ไม่งอกงามในธรรมน่ะเป็นภาษา ภาษาวัด ภาษาธรรมะ ภาษาในพระบาลี เขาเรียกว่าไม่งอกงามในธรรม คือธรรมะมันไม่เจริญแก่คนนั้น เรียกว่าคนนั้นไม่งอกงามในธรรม เพราะความกระด้างนั่นเอง ในข้อนี้มีบาลีว่า กุหา ถทฺธา ลปา สิงฺคี อุนฺนฬา จาสมาหิตา กุหา แปลว่า โกหกหรือหลอกลวง ถทฺธา นี่คือเกิดมานะ ตัวกระด้าง กระด้างด้วยมานะ คือตัวที่เรากำลังพูด ยกหูชูหาง ถทฺธา กระด้าง เป็นมานะ ลปา ขี้โม้ ขอ ใช้คำตัวกระโดกชาวบ้าน (นาทีที่ 51:39) ว่าโม้ มันเข้าใจกันง่าย คือว่าเป็นคนที่คุยอวดฟุ้งเฟ้อ จนเขาต้องให้สมัญญาว่าโม้ และ สิงฺคี นี่ อวด ขี้โอ่ มันหมายถึงท่าทาง นี้ อุนฺนฬา ยกตัว เหมือน เหมือนต้นอ้อ คงจะหมายถึงอาการที่ต้นอ้อพอถูกลมพัดนั่นไปแล้วเดี๋ยวมันก็กระดกยกหัวขึ้นมาอีก อย่างนี้ก็ได้ อุนฺนฬา ก็ยก ยก ยกนี่ ยกหัวยกหัวยกหางนี่ ถึงแปลว่ายกตัวมันก็คือยกหัวยกหาง และจาสมาหิตา มีจิตไม่ตั้งมั่น คือมีจิตไม่คงที่ ไม่ปกติ น เต ธมฺเม วิรูหนฺติ สมฺมาสมฺพุทฺธเทสิเต คนเหล่านี้จะไม่เจริญงอกงามในพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธะได้ทรงแสดงแล้ว แม้จะมีคำว่า กุหา โกหกหลอกลวงเข้ามา มันก็หมาย หมายถึงไอ้คนยกหูชูหางเองแหละ เพราะอาการยกหูชูหางมันโกหก มันไม่ได้มีมีจริง แล้วมันก็ยกขึ้นมา แสดงท่าขึ้นมา นั้นไอ้การโกหกก็อยู่ที่การยกหูชูหางขึ้นมา เพื่อให้คนอื่นเขาเข้าใจว่าตัวมันดีมันเด่น นี้ ถทฺธา แข็งกระด้าง นี่ก็เป็นอาการของไอ้ยกหูชูหาง ลปา มันก็ฟุ้งด้วยวาจา มันโม้ นี้ สิงฺคี มันอวดด้วยท่าทาง อุนฺนฬา ยก ยกขึ้น ยกขึ้นพ้น ก็คือยกหูชูหาง ในขณะนั้นจิตมันไม่มั่นคง คือไม่ปกติ ไม่สม่ำเสมอ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วจะไม่เจริญงอกงามในพระธรรมในพระศาสนานี้ นั้นควรจะเห็นว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เป็นความเลวทรามอย่างยิ่ง ทีนี้ข้อต่อไปมันมีว่า ละเอียดขึ้นไปถึงกับว่าจะไม่ก้าวพ้น จะไม่ก้าวล่วงสังสารวัฏได้ ที่บาลีว่า มานุเปตา อยํ ปชา มานคนฺถา มานวินิพฺพทฺธา ทิฏฺฐีสุ พฺยารมฺภกตา สํสาร นาติวตฺตติ ก็สัตว์นี้น่ะ อยํ ปชา สัตว์นี้ มานุเปตา เข้าถึงแล้วซึ่งมานะ คือมีมานะ มานคนฺถา ก็มีมานะเป็นไอ้เครื่องผูก มีมานะผูกพันจิตใจ มานวินิพฺพ มีมานะเป็นเครื่องเย็บร้อยรัดรึงรัด ทิฏฺฐีสุ พฺยารมฺภกตา มีอารัมภะที่กระทำไว้ผิดในทิฏฐิทั้งหลาย นี่พูดตามตัวบาลีฟังยากนะ พูดเป็นไอ้ไทย ๆ ก็ว่า เข้าถึงมานะก็คือมันเป็นคนมีมานะ เป็นอยู่ด้วยมานะ มานคนฺถา นี่มานะมันจับตัวไว้ หมายความว่า ว่าคนนั้นมันตกอยู่ภายใต้นิสัยแห่งความโอ้อวด ยกหูชูหาง มานวินิพฺพทฺธา มันก็เย็บรึงรัด ไม่ใช่เพียงแต่ผูกไว้เฉย ๆ มันเย็บรึงรัด เต็มไปหมดน่ะ เหมือนกับเอาตาข่ายมาคลุม ที่มีอารัมภะอันกระทำผิด กระทำไว้ผิดในทิฏฐิทั้งหลายคือว่า เขาถือทิฏฐิผิด อารัมภะนี่คือว่าการเข้าไปจับ เข้าไปถือเอา เข้าไปเริ่ม เรื่อง เข้าไปอะไรก็ตาม เป็นสิ่งที่เขากระทำผิด ทำผิดในทิฏฐิทั้งหลาย คือว่าไม่มีความเห็นที่ถูกต้อง ทิฏฐิที่เป็นสัมมาทิฏฐิมีอยู่อย่างไรเขาไปทำมันกลับตรงกันข้าม ก็เรียกว่าเป็นคนมีมิจฉาทิฏฐินั่นเอง มันก็บอกอยู่ในตัวแล้วว่าเมื่อมานะก็คือกำลังมีมิจฉาทิฏฐิ แม้แต่จะกำลังยกหูชูหางอยู่อย่างธรรมดาสามัญนี้ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ ด้วยอำนาจของมิจฉาทิฏฐิจึงได้กระทำอย่างนั้น สํ สาร นาติวตฺตติ (นาทีที่ 57:33) ยังไม่เป็นไปล่วงถึงสังสาระ วัฏสงสารนี่ภาษาศีลธรรมธรรมดาก็หมายถึง เวียนว่ายตายเกิด เช่น ภาษาปรมัตถ์ชั้นสูงก็อยู่ที่นี่ คือวนเวียนอยู่ที่ตรงนี้ มีกิเลสเป็นเหตุให้ทำผิด ทำผิดแล้วก็มีบาป มีบาปแล้วก็มีกิเลสอีก ก็เวียนกันอยู่ที่ตรงนี้ เป็นสังสารวัฏที่ใกล้ ใกล้ ๆ นี่เอง นี้จะเป็นสังสารวัฏไหนก็ตามใจไอ้คนที่ยกหูชูหางมันก็ไม่ล่วงพ้นไอ้สังสาระนี้ไปได้
ทีนี้มีอีกบทหนึ่งแสดงเลว ความเลวของไอ้มานะนี้ว่า การบังคับตัวเองจะไม่มีแก่คนที่มีมานะ เราต้องการการบังคับตัวเองให้อยู่ในร่องในรอยของความถูกต้อง คือการบังคับตัวเองนั้น นั้นมันมีไม่ได้สำหรับคนที่มีมานะ มันดื้อ มันกระด้าง คนอื่นจะมาช่วยบังคับก็ไม่ได้ ตัวมันเองก็บังคับไม่ได้ หรืออำนาจของมานะไอ้ความถือตัว ความยกหูชูหางนี้ มันไม่ยอมลดลงมา คือไม่ยอมลดลงมาเป็นการบังคับตัวเอง บาลีมีว่า น มานกามสฺส ทโม อิธตฺถิ (นาทีที่ 59:03) สำหรับคนที่รักมานะนั้นไม่มีการบังคับตัว ไม่มีธรรมะ พวกนั้นมันรักฝ่ายมานะ ทิฏฐิ ยกหูชูหาง มันรักที่จะยกหูชูหางมากเกินไป มันเลยมีการบังคับตัวให้อยู่ในร่องในรอยไม่ได้ นี่เป็นลักษณะธรรมดาที่เราเห็น ๆ กันอยู่ เมื่อใครคนหนึ่งมันยกหูชูหางแล้วมันจะอยู่ในร่องรอยของการบังคับตัวได้อย่างไร ทีนี้เขาเป็นคนรักบูชาการ บูชาการยกหูชูหาง ก็เลยไม่ต้องมีไอ้ทมะ คือ การบังคับตัวเอง ทีนี้พอไม่มีการบังคับตัวเอง สิ่งต่าง ๆ ก็ล้มละลายตามกันไปเป็นแถว ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของอาทีนวะ คือความเลวทรามของไอ้สิ่งที่เรียกว่ามานะนั้น
เอ้า, ทีนี้เวลาก็เหลือน้อย เท่าที่จะยกมาเป็นตัวอย่างสำหรับไอ้หนทางที่จะเอาชนะมัน ข้อสำคัญมันอยู่ที่แกนกลาง คือ ตัวตน สัญชาตญาณแห่งการมีตัวตนมันอยู่เป็นแกนกลาง มันยังเลิกไม่ได้ เป็นของประจำ จิตใจของสัตว์ที่ยังไม่สิ้นกิเลส ทีนี้มันมีปัญหาถึงเขายกตน อวดตน ก็เพราะเขาใช้ตนนั้นมันผิด ทีนี้ก็เปลี่ยนเสีย เปลี่ยนกระแสเสีย กำลังมีเท่าไรคงเอาไว้ แต่กระแสหน้าที่การงานเปลี่ยนเสีย ให้มันเป็นรักตน สงวนตนเสีย ไอ้ที่มันบ้าคลั่งในตนลดมาเป็น รักตน สงวนตน ถนอมตน นี่มันเอียงเข้ามาหาธรรมะแล้ว อย่าให้ตนมันไปตามอำนาจของกิเลสชั้นเลว ไอ้ที่เคยอวดโม้นั่น เปลี่ยนมาเป็นว่ามัน มันมีเรื่องที่ดีที่ควรจะอวด ถ้าใครอยากโม้ก็ขอให้ทำตนให้มีสิ่งที่ที่ควรจะโม้ คือมันเป็นสิ่งที่จริงกว่า ไอ้คนโม้นั้นมันโม้เรื่องเหลวไหลทั้งนั้นแหละ มันไม่ได้มีอยู่จริงน่ะมันไม่รู้จริง มันก็เรียกว่าโม้ ผมจำโคลงกลอนของผู้รู้ในประเทศไทยคนหนึ่ง คือ ครูเทพ โอ้, อันนั้นเมื่อเด็ก ๆ นะ อันนั้นเมื่อยังไม่ได้บวชนะ เขาเขียนไว้ว่า มีดีอวดอวดได้เป็นประกาศ มีดีอวด แล้วอวดได้เป็นประกาศ ดีไม่มีอวดดีเหลือหมั่นไส้ ท่องถูกหรือเปล่า มีดีอวดอวดเข้าไปได้ไม่เป็นอวดดี แต่เป็นการประกาศความดี อย่างพระพุทธเจ้าท่านมีความดี ท่านประกาศความดี ประกาศอะไรไป มันไม่เป็นอวดดี ทีนี้ดีไม่มี แล้วมันอวดดี ก็คือดีไม่มี แล้วไปอวด ก็มันเป็นอวดดี นี้ก็น่าเกลียด คือหมั่นไส้ ฉะนั้นเรื่องอวดดีน่ะ มันมีอยู่ ๒ ความหมาย คำว่าอวดดีมี ๒ ความหมาย ถ้าดีมีจริงก็กลายเป็นประกาศความดี ถ้าดีไม่มีจริงกลายเป็นอวดดี แล้วใคร ๆ เขาก็หมั่นไส้ นี้การยกหูชูหางนั้นมันมาเปลี่ยนมาจากความอวดดีมาเป็นการที่ประกาศความดี เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ยกหูชูหางอย่างที่คนโง่เขายก มันเป็นการพูดไปตามปกติธรรมดาสามัญ ไม่ต้องโม้ ไม่ต้องอะไร คงมีตัวตนเป็นแกนกลางอยู่ตามเดิม แล้วตัวตนมันมีความดี พูดอะไรออกไปมันก็เป็นการประกาศความดี นี่ก็คือเราเปลี่ยนกระแสแห่งการอวดดีชนิดเลวมาเป็นการอวดดีชนิดที่ดีหรือถูกต้อง
ทีนี้ในทางปฏิบัติผมเคยพูดไว้นานแล้วว่า ถ้ารู้สึกว่าเขาดีกว่าเรา ก็เคารพนับถือเขา ถ้าเขาเสมอกันกับเขาก็สมาคม คบหาสมาคมกับเขา ถ้าเขาต่ำกว่าเราก็ช่วยเหลือเขา นี้เกี่ยวกับตัวตน ให้มีหลักอย่างนี้ ตัวตนละไม่ได้อยู่เพียงใด ก็ขอให้มีหลักปฏิบัติเกี่ยวกับตัวตนอย่างนี้ ถ้ารู้สึกว่าเขาดีกว่าเราก็จงเคารพนับถือเขา อย่าไปอวดดีแข่งดีหรือคิดทำลายเขาเลย ถ้ารู้สึกว่าเสมอกันก็เป็นเพื่อนกัน ร่วมมือกัน ทำสิ่งที่ควรจะทำ อย่าไปโกรธเขาเลย อย่าไปแกล้งอิจฉาริษยา กดเขายกตัวเองเลย นี้ว่าถ้ารู้สึกว่าเขาเลวหรือต่ำกว่าเรา ด้อยกว่าเรา ก็สงสารเขาเถิด นี้คือช่วยยกเขาขึ้นมา เลยไม่มีทางที่จะยกหูชูหางแก่ใคร นี่เป็นการปฏิบัติตามหลักของธรรมะหรือว่าที่บัณฑิตเขาปฏิบัติกัน ถ้าคนพาลปฏิบัติ มันก็ปฏิบัติอย่างยกหูชูหางใส่ ใส่กันเรื่อยไปทั้ง ๒ ฝ่าย เห็นเขาดีกว่า เราก็ยกหูชูหางของเราเพื่อจะกลบปมด้อยของเรา เสมอกันก็ยกหูชูหางของเราเพื่อว่าหวังว่าเราจะดีกว่าเขาบ้าง ถ้าว่ามันเลวกว่าเขา ก็ยกหูชูหางแก้เก้อไปอย่างนั้นเอง มัน มันผิดทั้ง ทั้ง ๓ ชั้น นี้ให้มันถูกทั้ง ๓ ชั้น ก็ถือหลักอย่างนี้
ทีนี้มันคงจะยาก เพราะว่าตลอดเวลานี่เรามันชินแต่จะยกหูชูหาง การปฏิบัติอยู่ในโลกนี้มันก็ต้องยอมรับว่ามันเกี่ยวข้องอยู่กับโลกธรรม ๘ ประการ ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ ได้สุข ได้ทุกข์ ได้นินทา ได้สรรเสริญ ที่เรียกกันว่า โลกธรรม ๘ ประการ แล้วมันยกหูชูหางไปเรื่อย พอได้ลาภมา เอ้า, ก็ยกหูชูหางอย่างคนได้ลาภ พอเสื่อมลาภมา ก็ยกหูชูหางอย่างคนแก้เก้อ ได้ยศมาก็ยิ่งหางสูง เสื่อมยศมันก็แก้เก้อไปตามแบบของคนไม่ยอม มีสุข มีทุกข์ ถ้ามีสุขก็พอจะยกหูชูหาง ถ้ามีทุกข์ มันก็แก้เก้ออีกเหมือนกัน มันไม่ถือเอาเป็นโอกาสสำหรับศึกษาความจริงของเรื่องนี้ นินทา เอ้อ, สรรเสริญ สรรเสริญก็ยก ได้รับคำสรรเสริญก็ตัวลอยไป ก็ยกหูชูหาง ถ้านินทาก็ลุกขึ้นมาด่ามันเลย มันก็เรื่องของการยกหูชูหางด้วย ก็เลยว่ามันชินอยู่แต่ที่จะยกหูชูหางในการอยู่ในโลกนี้ ซึ่งแวดล้อมอยู่โลกธรรม ๘ ประการ ก็เลยศึกษาตามวิธีที่ว่าจะเอาชนะโลกธรรมได้อย่างไร ถ้ามันชนะโลกธรรมได้ คือไม่ยินดียินร้ายในโลกธรรมทั้ง ๒ ฝ่ายนั้นแล้ว การยกหูชูหางมันก็สิ้นไปโดยอัตโนมัติ ฉะนั้นหลักที่ปฏิบัติต่อโลกธรรมนี่ จะเป็นหลักที่ควรนำมาใช้ตลอดเวลาอีก เพื่อละนิสัยของการยกหูชูหาง เท่ากับที่มันได้เคยทำมาแล้วจนเสียนิสัย อิฏฐารมณ์ก็ทำให้ยกหูชูหางมาก อนิฏฐารมณ์ก็ทำให้ยกหูชูหางแก้เก้อ ไม่ยอมแพ้ ยังมีปากแข็งอยู่เรื่อย อย่างที่เขาเรียกว่าไม่ยอมแพ้ มันแพ้แล้วมันก็ไม่ยอมแพ้
นี่คือเรื่องของการอยู่อย่างลดหัวลดหาง พยายามมีชีวิตอยู่อย่างลดหัวลดหาง ศึกษาไปปฏิบัติไปตั้งแต่เมื่อบวชอยู่นี่ก็ชิมรสของมันดูว่าเมื่อลดหัวลดหาง คือไม่มีหางหัวที่ชูขึ้นมาน่ะมันสบายยังไง แต่เมื่อมีหางหัวสูงขึ้นมา มันร้อนอย่างไร มันวุ่นวายอย่างไร มันสับสนอย่างไร เอาอย่างพระอรหันต์ทั้งหลายที่ท่านไม่มีทาง ไม่มีกิเลสให้ยกหูชูหาง แล้วท่านก็สบาย แม้ว่าเราจะต้องทำไปด้วยความอดกลั้นอดทน ก็ไปเพ่งไอ้ความดีของมัน อย่าไปอึดอัดขัดใจอยู่ หัวเราะอยู่คนเดียวก็ได้ ถ้าเรายกหูชูหางขึ้นมา ไอ้นั่นก็คือมัน อยากจะพูดคำหยาบว่า มันตีหัวมันเอง มันยกหัวชูหางขึ้นมา ก็ตีหัวมันเอง เลยอยู่อย่างลดหัวลดหาง ยอมแม้กระทั่งว่าเขาปรับให้เราเป็นฝ่ายผิดทั้งที่เราไม่ผิด ก็ยอม ก็ไม่ต้องมีเรื่องเถียงกันหรือทะเลาะกันหรืออะไรกัน นั้นมันได้ผลส่วนสังคมไปอย่างหนึ่งแล้ว มันไม่เกิดเรื่องในสังคมนี้ และโดยส่วนตัวแล้วมันได้ความเจริญงอกงามก้าวหน้า ที่เรียกว่า วิรูหนฺติ (นาทีที่ 01:11:07) มีความเจริญงอกงามก้าวหน้า สมฺมาสมฺพุทฺธเทสิเต ในธรรมะท่านพระสัมมาสัมพุทธะแสดงแล้ว นี่ทำให้ได้ในส่วนข้างในส่วนลึกของบุคคลนั้น ทีนี้คนมักจะชอบผิดเข้าใจผิดว่าอยู่ในโลก ชาวบ้านธรรมดาสามัญตามถนนตามตลาดนี้จะไปลดหัวลดหางอยู่อย่างไรได้ ก็ลองไปสังเกตดูผมว่าดีกว่า คือมันไม่สร้างเวรสร้างภัย ไม่ทำให้ร้อน ไม่ทำให้เสียเงิน ไม่ทำอะไรขึ้นมา อยู่ในสังคมโลกฆราวาส แม้ในสมัยนี้ก็ยังจะมีคนรักหรือนับถือมากกว่าที่คนมันจะยกเอากว่าคนยกหูชูหาง เก็บตัวกูใส่ยุ้งฉางเช่นเดียวกับที่เคยเก็บความโกรธใส่ยุ้งฉาง โดยลักษณะก็เป็นอย่างเดียวกัน ยกหูชูหางคือตัวกู ความโกรธก็คือตัวกูเหมือนกัน พิจารณาใคร่ครวญให้ดีตามที่กล่าวมานี้ จนในที่สุดนึกได้ขึ้นมาเองว่า สร้างยุ้งฉางเก็บตัวกูไว้ให้เสียให้มิดชิดนี่ก็ดีเหมือนกันนี่โว้ย ก็คงจะรอดตัวไปได้ หมดเวลาสำหรับการบรรยายนี้แล้ว ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ เวลามีเหลืออยู่นิดหนึ่ง สำหรับจะถามปัญหา
(เสียงผู้ชาย) กระผมขอถามคำถามครับ การเปลี่ยนกระแสของการยกหูชูหางมาเป็นการประกาศความดี การประกาศความดีที่อาจารย์บอกว่ามี ๒ อย่าง คือ ประกาศความดี การอวดดีที่ประกาศความดีประการหนึ่ง กับอีกประการหนึ่งคือการประกาศความดีโดยการโม้ อยากจะทราบว่าเรามีมาตรการอันใดที่จะรู้ว่าอันไหนคือการประกาศความดีและอันไหนเป็นการโม้ครับ
(เสียงท่านพุทธทาส) นี่ นี่เอาตามสามัญสำนึกที่รู้อยู่แก่ตัวแล้ว โม้ก็คือว่ามันไม่ได้มีอะไรดี แล้วมันก็โม้ คุยอวดอย่างนั้นอย่างนี้ราวกับว่ามันมีความดี อย่างนี้เป็นอวดดีหรือโม้ ใช้ไม่ได้ ทีนี้ไอ้ประกาศความดีนั้นน่ะคือต้องไปทำจนมันมีความดีอย่างนั้นจริง ๆ แล้วมาบอกให้ผู้อื่นทำบ้าง อย่างนี้จึงจะเป็นการประกาศความดี ดังนั้นคนที่เคยโม้นี่ ลดเสีย หันมาศึกษา มาทำให้มันมีความดี ให้มันเป็นการประกาศความดีแทนที่จะเป็นการโม้หรืออวดดี เพราะว่าเรามันยังสงวนกำลังแรงนี้เอาไว้ใช้ กำลังแห่งตัวตนยังมีอยู่ ยังสลัดไปไม่ได้ แล้วก็มาใช้เป็นประโยชน์ ให้มันมาเห็นแก่ตนในทางที่ดี อย่าเห็นแก่ตนในทางที่เป็นพาล จึงใช้คำใหม่ว่าสงวนตน หรือว่ารักตน สงวนตน เป็น แทนที่จะพูดว่า เห็นแก่ตนอย่างอันธพาล ไอ้รักตน สงวนตน อยากให้ตนดีนี้ก็เป็นการเห็นแก่ตน แต่มันอย่างดี เห็นแก่ตนอย่างเลว มันก็คือทำผิดทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น อย่างที่เห็น ๆ กันอยู่ก็คือเอาเปรียบ เห็นแก่ตนอย่างฝ่ายข้างดีตามวิธีที่ดีที่ถูกต้อง ก็ได้ตนดีขึ้นมา หรือมีประโยชน์ขึ้นมา เห็นแก่ตนอย่างเลวก็คือเห็นด้วยกิเลส ถึงเกิดเรื่องวุ่นวายทุกข์ยากลำบากกันไปหมด เพราะสิ่งที่เรียกว่าตนนี้ยังต้องเอาไว้ ยังละไม่ได้ ก็ยังเป็นอย่างธรรมดาอย่างนี้อยู่ มีความรู้สึกว่าตนที่ยังละไม่ได้ ก็ต้องจัด จัดการให้มันดี ๆ ให้มันเป็นตนที่ดี จนกว่ามันจะละได้หมดจึงจะว่าง ถึงระดับสูงสุดมันก็ว่างจากตัวตน คน พ้น พ้นดีพ้นชั่ว ไม่มีปัญหาที่จะพูดถึงยกหูชูหางละ มันไม่มีตนเสียแล้วมันยกไม่ได้ ที่จะพูดอย่างภาพพจน์ ให้เห็นติดตา ก่อนนี้มันยกตนเลว ๆ เดี๋ยวนี้มันยกตนดี ๆ ที่น่ารัก เช่นว่ายกตนนี่ ใช้คำคำนี้ แต่ไม่ได้ยกหูชูหางให้คนเกลียดชัง ทำความดีที่น่ารักน่าเอ็นดูน่าสงสารเรื่อยไป อย่างนี้เขาเรียกว่า อวดตนเหมือนกัน แต่มันอวดอย่าง อย่างถูกต้อง อย่างสุภาพ อย่างมีประโยชน์ การที่ทำให้เขารัก มันก็ต้องเรียกว่ามันเห็นแก่ตน แต่ไม่ แต่จะไม่เรียกว่ายกหูชูหาง ยกหูชูหางคือเรื่องของคนพาลทั้งนั้น แต่แล้วมันก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วไป ละได้ยาก ทำให้โลกนี้มันแคบ ไม่น่าอยู่ เพราะมันมีแต่การยกหูชูหาง มีอย่างอื่นจะ จะถามอีกก็ได้ ถ้าไม่เข้าใจส่วนไหน ถามอีกได้
(เสียงผู้ชาย) อาจารย์ครับ ผมมีปัญหาบางอย่างอยากจะกราบเรียนถามอาจารย์ คือว่าไอ้ความรู้สึกมีตัวตนนี่ มันก็มีหลายระดับ อย่างระดับต้น ๆ นี่ คนที่รู้ตัวก็พอจะแก้ไขหรืออะไรได้ แต่บางทีกระผมอยากจะเรียนกราบ อย่างการทำงานของเรานี่ บางทีเราอาจจะเจอกับบุคคลซึ่ง มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวเองนี่อย่างลึกซึ้ง หรือกระทั่งว่าเรื่องบางเรื่องซึ่งโดยมาตรการบางอย่างแล้วเราเห็นว่าถูกต้อง เราพยายามจะชี้แจงในสิ่งที่เห็นว่าถูกต้อง แต่ว่าผู้ที่มีความ จะโดยความยึดมั่นถือมั่นตัวเองอย่างลึกซึ้งก็ตาม หรือว่าจะโดยมีเหตุผลเป็นส่วนตัวว่าถ้าทำลงไปเป็นสิ่งที่ผิดก็ตาม ไม่เห็นด้วย คือไม่ยอมฟัง ผมอยากจะเรียนแนวทางปฏิบัติจากท่านอาจารย์
(เสียงท่านพุทธทาส) มันก็ต้องแยกออกไปดูว่าปัญหาของเราหรือปัญหาของเขา ถ้ามันเป็นปัญหาของเขา มันก็ยากที่จะไปแก้ไข ปัญหาของเรามันก็ง่ายหน่อย อยู่ในวิสัยที่จะแก้ได้ ตามข้อเท็จจริงในโลกนี้ที่มันมีอยู่จริงเป็นประจำวัน นี้มันก็คือการกระทบกระทั่งกันของบุคคลที่ต่างฝ่ายต่างมีตัวตน ถ้ามันไม่มีตัวตนสักฝ่ายหนึ่งแล้วมันกระทบกันไม่ได้ ทีนี้ที่เราออกไปรับเอาว่าเขากระทำแก่เรานั้นน่ะ มันทำให้เกิดขึ้น เกิดปัญหาขึ้น ถ้าเราหัวเราะเสียก็คงจะไม่เป็นไรมัง นั้นมันจะยกหรือไม่ยกก็มันไปสิ แล้วเราก็เฉยสิหรือหัวเราะอยู่ข้างใน อย่าไปหัวเราะใส่หน้ามันจะชกเอา เลยหัวเราะอยู่ข้างใน ก็คงจะหมดปัญหาไปได้ส่วนหนึ่งละ ทีนี้ถ้ามีปัญหาว่าเราจะแก้ไขตัวเราอย่างไรให้หัวเราะได้ ไปศึกษาธรรมะในส่วนหลักของการปฏิบัติที่มีอยู่อย่างอย่างเป็นรูปแบบที่ดีอยู่แล้ว ตามมีรูปโครงที่ดีอยู่แล้ว ก็ปฏิบัติตามนั้น ให้เห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่น และให้มีสติสำหรับจะไม่ยึดมั่นถือมั่น ทีนี้การที่จะไปแก้ไขฝ่ายนู้นมันก็ต้องดูให้ดี มันเป็นสิ่งที่ควรหรือไม่ควร จะมีช่องทางอย่างไรบ้าง และที่จะต้องเสียเวลามาก มันเป็นหน้าที่ของเราหรือเปล่า มันเป็นการสมควรแล้วหรือยังที่เราจะไปแก้ไขเขา ก็ต้องทำให้ถูกโอกาสถูกอะไรหลาย ๆ อย่าง ไม่ใช่ว่านิ่ง อยู่เฉย ๆ ก็จะตรงเข้าไปแก้ไขเขาอย่างนั้นไม่เคยสำเร็จนะ ถึงแม้วิธีการของพระพุทธเจ้าที่จะโปรดสัตว์ก็ไม่ได้ตรงไปทำทันที ถ้าดูตาม ตาม ตามพระบาลีนะ ท่านจะทำ ทำ ทำสิ่งที่เรียกกันว่า เล็งญาณส่องโลก ดูอยู่บ่อย ๆ บ่อย ๆ บ่อย ๆ คนนั้นเป็นอย่างไร ถึงเวลาที่จะโปรดได้หรือยัง คือมีแผนการ คือมีแผนการ ดูอยู่ทุกวัน มีแผนการ ว่าถึงเวลาที่เห็นว่าควรจะไปโปรดแล้วก็จะไปโปรด มันจึงสำเร็จได้ง่าย นี้ถ้าหากว่าเขาเป็นเพื่อนกับเรา มันก็มี มีความชอบธรรมหรือถูกต้องที่เราจะช่วยแก้ไขเขา ถ้าเขาเป็นศัตรูกับเราเฉยไว้ก่อนดีกว่า อย่าเข้าไป อย่าเพิ่งเข้าไปหาเรื่อง ถ้ามันเป็นอันธพาลมากเกินไป เฉยไว้ก่อนดีกว่า แต่ถ้าเขาเป็นเพื่อนของเรา เป็นมิตรสหายอยู่ในความหมายนี้ก็คิดหาลู่ทางที่จะแก้ไขไปตามเรื่อง โดยที่ไม่สามารถจะแก้ไขกันเดี๋ยวนั้น เราก็ไม่สามารถอย่างนั้น แม้พระพุทธเจ้าท่านก็ยังมีหลัก ดูโอกาสที่มันจะพูด ควรจะพูดหรือยัง ควรจะแก้ไขหรือยัง ถ้าเรามันมีตัวกูของกูเสียเอง ไม่ยอม ก็จะแก้ไขกันเดี๋ยวนั้น มันก็ต้องทะเลาะวิวาทน่ะ แม้แต่ผัวกับเมีย มันก็หลบหลีกไม่พ้น ถ้าไปแก้ไขกันเดี๋ยวนั้น มันก็เกิดเรื่อง ฉะนั้นเป็นรายละเอียดที่จะต้องไปศึกษาหาเอา ในนี้มันมีหลักอยู่แต่เพียงว่าเราจะแก้ไขหรือไม่ จะแก้ไขก็ทำถูกกาลเทศะถูกอะไรต่าง ๆ คนที่แก้ไขไม่ได้ อย่าไปแก้ไขมัน แล้วก็แก้ไขตัวเองก่อนเสมอ เราไม่รับเอาไอ้ ไอ้ ไอ้อะไรของมันนะมา คือเราไม่ถือ เราไม่ยอมรับเอา นี่แก้ไขตัวเองให้ได้เสียก่อนอย่างนี้ เมื่อโอกาสเหมาะเมื่อไรก็ค่อยแก้ไขเขา นั้น เพราะฉะนั้นมันสำคัญอยู่ที่เรานี้ เราอย่ายกหูชูหางออกรับ แล้วก็เมื่อเขาทำชนิดที่จะทำให้เราต้องยกหูชูหางออกรับ เราก็ชนะ ชนะตัวเองให้ได้เสียก่อน ที่พูดนี้ก็เห็นว่ามันเป็นเรื่องที่จำเป็น แม้ระหว่างบิดามารดากับลูกกับหลานก็เหมือนกัน ต้องทำถึงขนาดนั้น ไม่ใช่ว่าจะบังคับกันได้ทันควันตามต้องการ ยิ่งในสมัยประชาธิปไตยก็ยิ่งไม่ได้ใหญ่ เดี๋ยวนี้มันมึนเมาไอ้ประชาธิปไตย แม้แต่ลูกหลานมันก็ไม่เชื่อฟังบิดามารดา คำว่ายกหูชูหางนี่มันเป็นคำด่า แต่คนเขาชอบยกหูชูหาง ประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้ยกหูชูหาง
เอ้า, ใครมีปัญหาอะไรอีก
[T1]ฟังไม่ชัด
[T2]ฟังไม่ชัด
[T3]ฟังไม่ชัด
[T4]ฟังไม่ชัด
[T5]ฟังไม่ชัด
[T6]ฟังไม่ชัด
[T7]ฟังไม่ชัด
[T8]ไม่แน่ใจ
[T9]ไม่รู้ตัวสะกด