แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
(เสียงท่านพุทธทาส) ท่านที่เป็นราชภัฏผู้ลาบวชทั้งหลาย ในการบรรยายครั้งที่ ๖ นี้ ผมจะกล่าวโดยหัวข้อว่าการเก็บความโกรธใส่ยุ้งฉาง เรา ซ้อมความเข้าใจ (นาทีที่ 01:28) ตลอดเวลาว่าเรากำลังพูดกันถึงเรื่องที่ได้กล่าวเป็นหัวข้อย่อ ๆ มาแล้วในการบรรยายครั้งแรก เมื่อผู้ที่ได้ลาบวชชั่วขณะนี้ควรจะได้รับอะไรติดกลับออกไปให้มากเท่าที่จะมากได้ ถือเป็นประโยชน์ให้มากเท่าที่จะมากได้ โดยแก้ความเข้าใจที่ว่า เอ้อ, โดยแก้ความเข้าใจผิดที่ว่ามันต่างกันเป็นคนละเรื่อง คือเรื่องของผู้อยู่เป็นนักบวชกับเรื่องของผู้อยู่เป็นฆราวาส มันต่างกันเป็นคนละเรื่องเหมือนกับตรงกันข้าม นี่ผมก็พยายามพิสูจน์ให้เห็นว่าในระหว่างบวชนี่ ก็มาศึกษาหรือชิมลองเรื่องของบรรพชิตชนิดที่เอาไปใช้เป็นหลักทั่วไปได้สำหรับมนุษย์ ว่าตรงกับความมุ่งหมายของผู้ที่บวชเพียงชั่วคราว แต่ความรู้นั้นไม่ได้ไปตายด้านอยู่เพียงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในเพศฆราวาส ความรู้นั้นจะก้าวหน้าขึ้นไปถึงฆราวาสชั้นอุดมคติ กระทั่งเป็นฆราวาสผู้บรรลุมรรคผลในระดับของฆราวาสด้วย ดังนั้นขอให้สนใจที่จะจับเอาใจความในลักษณะอย่างนี้ให้ได้ให้มากที่สุด ตัวอย่างเช่นเรื่องปรทัตตูปชีวี เขาก็เห็นกันว่าเป็นเรื่องของเปรต ของพระในวัดอยู่อย่างแคบ ๆ แล้วก็แสดงให้เห็นว่า แม้อยู่ที่บ้านเป็นครอบครัว เป็นหมู่บ้าน เป็นบ้านเมือง เป็นประเทศ ถ้ามีหลักอันนั้นไปใช้ ก็ทำให้โลกนี้เป็นโลกที่มีสันติภาพได้ง่าย มีความรักพื้นฐานที่ว่าให้ทุกคนเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน นับว่าเราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ ซึ่งผมถือว่าอย่างนี้เป็นวิญญาณของสังคมนิยมอย่างแท้จริง อย่างสูงสุด นั้นขอให้สังเกตดูให้ดี ๆ
ข้อที่ว่าอยู่อย่างต่ำทำอย่างสูง คือให้มันไม่สะเพร่าในการที่จะลงทุนน้อยหรือต่ำ ได้ผลมากและสูงเดี๋ยวนี้มันอยู่ในลักษณะละลาย ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ฆ่าช้างเอางาเสียหมดทั้งโลก ทำลายโลกทั้งด้านวัตถุและจิตใจ หรือว่ามุนีนี้ มีได้ในเพศฆราวาสและผู้ครองเรือน โดยมีความหมายว่ามันเป็นผู้ ผู้รู้ พูดน้อย และผูกจิตอยู่กับสันติ และการเป็นเกลอกับธรรมชาติคือให้มันตามธรรมชาติ ให้มันมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นกิเลสของคนสมัยนี้ มันมากเกินไปที่จะทำให้คล้อยกับธรรมชาติ ไม่มีใครเชื่อคำพูดชนิดนี้ผมก็ทราบ อย่างที่ว่า มหาตมะ คานธี ก็พูดว่า อยู่กันอย่างหมู่บ้าน อยู่กันอย่างนครหรือมหานคร จะมีสันติภาพ กระทั่งว่าทอผ้าด้วยมือใช้เองกันทุกคนดีกว่าประดิษฐ์เครื่องจักรทอผ้าขึ้นมา ไม่มีใครเข้าใจ เพราะว่ามันละโมบอยู่ในเรื่องรวย ในเรื่องสวย ในเรื่องอร่อย ในเรื่องอะไรมากเกินไป และปัญหามันก็มีมากพอ ๆ กัน ก็อยู่กันอย่างธรรมชาติ เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ กระจัดกระจายทั่วไปหมด อย่าไปอยู่กันอย่างที่กรุงเทพฯ อย่างนั้น มันก็มีสันติภาพมากกว่า แต่ก็เรียกว่ามันไม่เจริญ ทอผ้าด้วยมือใช้อยู่อย่างเมื่อ ๑๐๐ ปีมาแล้วนี่ ก็หาว่าไม่เจริญ แต่มันทำให้คนอยู่อย่างสันติภาพ สันติสุข คือมันมีงานทำทั่วกัน ไม่ทะเยอทะยานมาก ดูอย่างประเทศทิเบต สมัยก่อนนี้มีสันติสุข สันติภาพมาก แต่เขาก็หาว่าล้าหลังที่สุดเลย มันพูดก็ไม่รู้เรื่องเดี๋ยวนี้ แต่ว่าเรายังพอจะมองเห็นในบางแง่บางมุม ขอให้กินอยู่ นุ่งห่มอะไรที่ให้มันยังเคารพต่อธรรมชาติให้มากเข้าไว้ ก็เป็นหัวใจพุทธศาสนาในการเป็นอยู่ พอเป็นอยู่ห่างไกลจากธรรมชาติ ค่อยห่างไกลจากหลักของพุทธศาสนา นี่ให้ชินสิ่งเหล่านี้เมื่อ เมื่อบวชก็จะได้มีโอกาสที่จะชินได้ง่าย นั้นก็คงจะเข้าใจหรือพอใจบ้าง แล้วเอาไปสานต่อหรือปรับปรุงเข้ากับเรื่องของมนุษย์แบบฆราวาส แล้วก็เป็นสังคมที่กว้างทั้งโลกด้วย
ที่วันนี้ก็จะพูดถึงเรื่องการสร้างยุ้งฉางใส่ความโกรธหรือว่าเก็บความโกรธใส่ยุ้งฉางไว้ให้มากเท่าที่จะทำได้ ระหว่างที่เราบวช ถ้าเป็นพระเณรที่ดี ก็โกรธไม่ได้ เพราะถือเป็นหลักตายตัวทั่วกันไปหมดไม่ว่านักบวชลัทธิไหนหรือศาสนาไหน ถือเอาความโกรธเป็นความเลวชั้นต่ำสุดสำหรับบรรพชิต อย่างในประเทศอินเดียนี้ก็มีหลักทั่วไปอย่างนี้สำหรับบรรพชิต นี้เมื่อเรามาอยู่อย่างที่ไม่มีความโกรธรบกวน รบกวนน้อย มันก็ได้ความเย็น ความโกรธก็เหมือนกับไฟ ถ้าไม่โกรธก็เหมือนกับน้ำ พูดโดยอุปมาเป็นอย่างนี้ ถ้าความโกรธมันก็ผิดธรรมชาติ ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ ทางร่างกายมันมีอะไรบ้าง ผู้ที่เป็นหมอ เป็นนักสรีรศาสตร์รู้ดี ว่าในขณะที่มีความโกรธจัด ร่างกายเป็นอย่างไร พอที่จะคำนวณได้ว่ามันผิดธรรมชาติหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ การไม่โกรธน่ะคือธรรมชาติ เช่นเดียวกับทะเล เมื่อไม่มีคลื่นก็เป็นธรรมชาติ เอ้อ, ปกติ พอมันมีพายุมีคลื่นดูมันต่างกันเท่าไร หลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นควรจะศึกษาเรื่องความโกรธนี้ให้มากเรื่องหนึ่ง
ที่พูดว่าสร้างยุ้งฉางใส่ความโกรธ หรือเก็บความโกรธใส่ยุ้งฉางไว้ นี้ไม่ใช่หมายความว่าเราจะเก็บไว้ให้ร่ำรวยด้วยความโกรธ หรือว่ากักตุนมันไว้ใช้คราวละมาก ๆ เราเก็บใส่ยุ้งฉางเพื่อไม่ให้มันออกมาอาละวาด และด้วยเหตุที่มันง่ายหรือมันมาก จึงต้องทำขนาดว่าเก็บใส่ยุ้งฉางไว้ทีเดียว เพราะว่าเดี๋ยวนี้มันยังละไม่ได้ มันยังมีกิเลส ก็อย่าได้ใช้กิเลสเลย เก็บไว้เสีย ถ้ามันหมดกิเลสเสียแล้วก็ไม่เป็นไร ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้ามันมีกิเลสอยู่ก็อย่าใช้กิเลสเลยดีกว่า นี่คนมันมีนิสัยสันดานตามใจตัว ไม่ว่าเรื่องอะไรมันก็ปล่อยไปตามความเคยชิน และโกรธนี่มันก็อร่อยเหมือนกัน ก็เลยชอบโกรธจนเป็นนิสัย โกรธเก่ง ต้องทำเหมือนกับว่าใส่ยุ้งฉางเก็บไว้ข้างในอย่าให้มันออกมา โดยเฉพาะคนพลัดถิ่น โบราณเขาสอนไว้มาก ในบาลี ในไตรปิฎกนี้ก็มี คนพลัดถิ่นไปเมืองนอกเมืองนา เมืองไหน สร้างยุ้งฉางใหญ่ ๆ สำหรับเก็บความโกรธไว้ ไปบันดาลโทสะในที่อย่างนั้น มันก็ยิ่งเท่ากับยิ่งทำลายตัวเอง แต่ถึงว่าเราอยู่กับที่ไม่ใช่เป็นแขกแปลกถิ่น ก็ควรจะคิดเก็บความโกรธไว้อยู่ในอำนาจ มันไม่มีประโยชน์อะไร มันมีโทษมหาศาล มันไม่มีความสงบสุข
ทีนี้จะพูดถึงลักษณะของความโกรธ พอเป็นเครื่องกำหนดจดจำ โกรธในอัตราน้อย ๆ เราจะเรียกว่า ขัดใจ หงุดหงิด กระทบกระทั่งแห่งจิต นี่มันเป็นความโกรธในอันดับน้อย อันดับต่ำ เรียกในบาลีว่า ปฏิฆะ ฆะ คอ ระฆัง ทีนี้อันดับสองขึ้นมาก็คือโกรธ โกรธเต็มความหมาย บันดาลโทสะงุ่นง่าน ก็จะเรียก ตามบาลีก็จะเรียกว่า โกธะ อันดับต่อไปอีกมันก็คือ ผูกโกรธ ผูกโกรธไว้ ความอาฆาต ความพยาบาทจองเวร อย่างนี้เรียกว่า อุปนาหะ อุปนาหะคือผูกโกรธไว้ หรือเวระ จองเวร ทั้ง ๓ อย่างนี้คือความโกรธในระดับ เอ้อ, ในลักษณะที่ต่าง ๆ กัน โกรธไม่สู้มากและโกรธสมบูรณ์ กระทั่งโกรธไปผูกไว้ รักษาไว้ คำว่าปฏิฆะหมายถึง หงุดหงิด ขัดใจ คำว่าโกธะ นี่โกรธโดยสมบูรณ์ คำว่าโทสะนั้นมันแปลว่าประทุษร้าย เมื่อโกรธแล้วไปประทุษร้าย ทีนี้เราจะเอาแต่ความโกรธไม่ประทุษร้ายผู้อื่น อุปนาหะก็ผูกอาฆาตไว้ นี้ดูในชีวิตประจำวัน ยิ่งอยู่ที่บ้าน ที่ออฟฟิศ ที่ที่ทำงาน เนื่องกันหลายคนมันจะมีสิ่งเหล่านี้ ไอ้หงุดหงิดกระทบกระทั่งเป็นปฏิฆะ นี่จะมีโดยมากที่สุด ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้อบรมในทางธรรมะหรือศาสนามาก่อน จะมีการศึกษาอย่างเลว ๆ อย่างสมัยปัจจุบันนี้ ทั้งโลกมันไม่มีไอ้ระบบไหนที่สอนให้กำจัดความโกรธ ระวังความโกรธในการศึกษาของพวกลูกเด็ก ๆ สมัยก่อนก็ยังค่อยยังชั่ว ทีนี้โกรธเต็มที่คงจะมีได้นาน ๆ ครั้ง ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็ฆ่ากันตายหมด นี้ผูกโกรธไว้ก็ไม่ใช่เล็กน้อย ก็มีอย่างที่เรียกว่าสุมเผาตัวเอง คนอื่นหรือคู่เวรกันไม่ ไม่รู้สึกอะไรก็ได้ แต่ผู้ที่อาฆาตหรือจองเวรนี้ มันเหมือนกับทำลายตัวเองอยู่เรื่อยไป นั้นไปสอบดูของใคร ๆ ใครก็ไปสอบดูว่า เรามีโรค โกรธ (นาทีที่ 16:59) มีมากน้อยแต่อย่างไรบ้าง นี่คือสิ่งที่เรียกว่าความโกรธ โดยเท้ าก็มีอยู่ ๓ ระดับอย่างนี้ (นาทีที่ 17:08)
ทีนี้จะดูถึงเหตุให้เกิดความโกรธ ถ้ากล่าวตามหลักพระบาลีพระพุทธวัจนะสั้น ๆ ท่านก็ได้กล่าวไว้ว่า มันมาจากตัณหา ความโกรธมาจากตัณหา ตัณหาคือความอยากด้วยอำนาจของอวิชชา เรื่องตัณหาคำนี้ต้องขอเตือนไว้บ่อย ๆ แปลว่าความอยากก็จริง แต่ในภาษาบาลีเขามีความหมายเฉพาะ หมายถึงมันอยากด้วยอำนาจของความโง่ ถ้ามันอยากหรือต้องการด้วยสติปัญญานี้ มันไม่ใช่ตัณหา ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีทำให้เราต้องการจะทำอะไรที่มันควรจะทำ ความต้องการอันนั้นมิใช่ตัณหา แต่ตัณหานี้มันอยากไปตามอำนาจของความโง่คืออวิชชา นั้นตอบได้เลยว่า เหตุให้เกิดความโกรธนั้นน่ะ คือ ตัณหา แล้วก็ดูให้ดีว่ามันเป็นอย่างไร
เรื่องตัณหานี้มี ๓ ซึ่งเป็นหลักทั่วไป ขอให้จำไว้เป็นหญ้าปากคอก ว่าตัณหามันมี ๓ ถ้ากามตัณหา มันก็อยากในทางกาม โดยเฉพาะเกี่ยวกับเพศตรงกันข้าม กามตัณหา มีความต้องการด้วยกามตัณหา มีความรักด้วยกามตัณหา มันมีความหึงหวงด้วยกามตัณหา ทีนี้มันไม่ได้ตามที่ตัณหาต้องการ ความโกรธก็เกิดขึ้น ไม่ได้ตามที่ตัณหามันต้องการ แต่ ก็พูดว่าเพราะตัณหา (นาทีที่ 19:10) ถ้าไม่มีตัณหา มันไม่ต้องการ มันก็ไม่อาจจะโกรธได้ ฟังดูให้ดี ๆ ถ้าเราไม่มีความอยากอย่างโง่ ๆ แล้วไม่มีทางจะเกิดความโกรธได้ ทีนี้มันมีกามตัณหา ความรัก ความหึงหวง ความต้องการ และมันไม่ได้ตามที่ตัณหานั้นต้องการ ความโกรธเกิดขึ้นเพราะกามตัณหา
นี้ถัดไปอีกความโกรธเกิดขึ้นเพราะ ภวตัณหา อยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ โดยมากก็อยากดีอยากเด่น เมื่อมันถูกเหยียดหยามหรือว่าถูกดูถูกดูหมิ่น มันไม่ได้ดี ไม่ได้เด่น ไม่ได้แสดงปมเขื่องไอ้ทำนองนี้แล้วก็ มันก็เกิดความโกรธขึ้นมา เมื่อใครมาดูถูกเรา เราโกรธ นั่นน่ะคือโกรธเพราะภวตัณหา ต้องการจะเป็นผู้ที่อยู่เหนือใคร ที่ใครดูถูกไม่ได้ หรือต้องการแสดงอะไรให้มันเป็นที่เด่น มีชื่อเสียง มันแสดงไม่ได้ ภวตัณหาก็เป็นเหตุให้โกรธ ขัดใจเมื่อไม่ได้โม้ เมื่อไม่ได้โม้ ขออภัยใช้คำธรรมดา ๆ กระโดก ๆ นี้เพื่อประหยัดเวลา เมื่อไม่ได้โม้ก็โกรธแล้ว ถามว่าโกรธนี้ด้วยอะไร ก็ด้วยภวตัณหา
ทีนี้โกรธด้วยวิภวตัณหา ความอยากที่จะไม่ให้มี ไม่ให้เป็น อะไรที่มัน เราไม่อยากเห็น ไม่อยากฟังไม่อยากดู ไม่อยากให้เป็น ปรากฏออกมา เราก็โกรธหรือขัดใจ เช่น ถูกขัดคอ หรือถูกยื้อแย่งอะไรที่เราอยากจะสงวน แม้กระทั่งว่าสังขารมันปรวนแปร ความชรา ความเจ็บไข้มารบกวน หรือว่าสังขารมันแสดงความไม่เชื่อฟัง และเราก็ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากไข้ ไม่อยากตาย ข้อนี้มาแสดงให้รู้สึก ก็โกรธ ก็ขัดใจ แล้วก็จะเลยไปถึงกลัว (นาทีที่ 21:45) ถึงเป็นทุกข์ต่อ ๆ ไป เราจึงโกรธได้แม้แต่โกรธสัตว์เดรัจฉาน โกรธวัตถุสิ่งของ ทุบตีวัตถุสิ่งของซึ่งไม่มีความผิดอะไรเลย นั้นศึกษาเรื่องความอยากที่เรียกว่า ตัณหา ก็จะมองเห็นว่า ไม่ได้ตามที่ตัณหาต้องการแล้วก็มีความโกรธ นี่เรามีเรื่องโกรธอะไรที่ไหนกี่อย่าง ๆ ก็มาแยกแยะดู จะพบว่ามันจะมีมูลมาจากไม่ได้ตามที่ความอยากมันต้องการ มันจึงขึ้นอยู่กับความโลภหรือความอยาก แต่นี่มันแยกตัวออกมา มีอาการเป็นไฟอยู่พักหนึ่งครู่หนึ่ง ที่พูดว่าราคะ โทสะ โมหะ หรือ โลภะ โกธะ โมหะ ไอ้โกธะ โทสะ นี้มันเป็นอันที่ ๒ รองมาจากราคะหรือโลภะ เมื่อมีอาการโลภมันก็เป็นอาการหนึ่ง เมื่อไม่ได้อย่างที่มันโลภ มันต้องการ มันก็โกรธขึ้นมาอีกอาการหนึ่ง แล้วมันก็มัวเมาหลงใหลสงสัยเกี่ยวเกาะอยู่ นั้นอีกอาการหนึ่ง นี่เรารู้จักความโกรธในฐานะเป็นไฟรบกวนเผาผลาญ
ทีนี้ดูต่อไปถึงโทษของมัน เรื่องนี้ก็พอจะมองเห็นได้กันไม่ยาก แต่เราจะดูเห็นให้เป็นพวก ๆ หรือมันลึกซึ้งกว่าที่คนธรรมดาจะดูเองรู้สึกเห็นเองได้ ฉะนั้นเราพบในพระบาลีซึ่งแสดงไว้มากมาย ก็เอามาพิจารณากันดู ความโกรธเป็นสนิมของศัสตรา ของศัสตรา ศัสตระ โกโธ สตฺถมลํ โลเก (นาทีที่ 24:37) ในแบบเรียนเขาแปลไว้ว่า ความโกรธเป็นสนิมของศัสตรา เป็นดังสนิมของศัสตรา นักเรียนมักจะเข้าใจเหมือนกับศาสตราอาวุธมันขึ้นสนิมใช้อะไรไม่ได้ดี แต่ผมพิจารณาดูเห็นว่าคำนี้มันเล็งถึงให้ ศาสตร์ ศาสตระ นี้ (นาทีที่ 25:05) ในความหมายที่ ๒ ศาสตราอาวุธน่ะเป็นวัตถุที่สำหรับตัด ทีนี้ศาสตร์อย่างวิชาทั้งหลายที่เรียกว่าศัสตระ (นาทีที่ 25:14) เป็นศาสตรา เป็นอาวุธทางจิตทางวิญญาณ ฉะนั้นศาสตร์ก็คือ วิชาที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์ ไอ้ศาสตร์เหล่านี้ยืมความหมายมาจากคำว่าศาสตราอาวุธมีคมสำหรับตัด ทีนี้ความโกรธมันเป็นสนิมของศัสตรา มันหมายความว่าถ้าเกิดโกรธขึ้นมา แล้วสิ่งที่เรียกว่าศาสตร์นั้นจะเสียหายหมด จะใช้ไม่ได้ ถ้าในขณะที่เราจะต้องใช้ศาสตร์อะไรสักอย่างหนึ่ง วิทยาศาสตร์ อะไรศาสตร์ก็ตาม ถ้าเกิดโกรธมันจะใช้ เป็นสนิมของศาสตร์ ศาสตร์คือวิชา อย่างนี้สำคัญกว่า ความโกรธเป็นสนิมของอาวุธศาสตราวุธนั่นมันอีกความหมายหนึ่ง เราอยากจะให้ถือเอาความหมายนี้ที่สำคัญกว่า สรุปความว่า วิชาความรู้ทั้งหลายที่เรามีอยู่ กำลังเล่าเรียนอยู่ก็ดี กำลังจะใช้มันก็ดี พอความโกรธเกิดขึ้นแล้วก็เสียหมด ไม่เป็นศาสตร์ ไม่เป็นอะไรขึ้นมาได้ ฉะนั้นผู้ที่มีวิชาความรู้อย่าอวดดีว่ามันพอแล้ว ต้องระวังความโกรธที่เป็นอันตราย เป็นสนิมของวิชาความรู้นั้นด้วย ก็ไปพิจารณาดูเองว่ามีกี่ศาสตร์ ศาสตร์ทั้งหลายนี่ ถ้าเกิดความโกรธขึ้นมาแล้วมันก็จะขึ้นสนิม คือใช้อะไรไม่ได้
ทีนี้อีกแง่หนึ่งซึ่งกล่าวไว้ว่า ไอ้ความโกรธนี่เป็นเคราะห์ร้ายหรือเป็นกลีที่สุด ที่บาลีว่า นตฺถิ โทสสโม คโฆ นตฺถิ โทสสโม กลิ (นาทีที่ 27:34 ) ไม่มี ไม่มีคห (นาทีที่ 27:50) คือ เคราะห์ หมายถึงเคราะห์ร้ายทำให้คนวินาศฉิบหาย เคราะห์ ไม่มีเคราะห์ร้ายไหนจะเท่ากับโทสะ และไม่มีกลี คือความเลวร้ายชนิดไหนเท่ากับโทสะ รวมความว่าเมื่อมีโทสะก็คือ เอาเคราะห์ร้ายมา เอากลี เป็นภาษาบาลี เป็นภาษาอินเดียแต่โบราณเขาใช้อยู่มาก ถึงจะมาเป็นคำว่ากาลี แต่กาลีมีความหมายอย่างหนึ่ง กลิ ในภาษาบาลี ก็คือ กลี ที่ชาวบ้านเขาเรียกกันอยู่ เป็นกลี คือว่าปราศจากความดีความงาม เป็นเสนียดจัญไร เป็นโชคร้าย เป็นอะไร อยู่ที่ สิ่งที่เรียกว่า กลี ฉะนั้นพอใครมีโทสะ คนนั้นเต็มไปด้วยกลี เต็มไปด้วยเคราะห์ร้าย อย่าไปมองอย่างอื่น ไปว่าคนนั้นเคราะห์ร้ายคนนี้เคราะห์ร้าย มองดูตัวเองที่กำลังโกรธอยู่นั่นแหละเคราะห์ร้ายที่สุด เป็นกลีที่เลวที่สุด ภาษาประพันธ์ เรียกกลีบร (นาทีที่ 29:13) เป็นผี เป็นชื่อของผีที่ชั่วร้าย
นี้มองอีกแง่หนึ่ง ความโกรธเป็นเหตุให้สลัดความดี พระพุทธภาษิตหรือธรรมภาษิตว่า โกธาภิภูโต กุสลํ ชหาติ (นาทีที่ 29:43 ) ผู้ที่ถูกความโกรธครอบงำแล้วย่อมละกุศลเสีย พอถูกความโกรธครอบงำจิตแล้ว คนเราจะไม่คำนึงถึงความดี เพราะมันต้องการจะทำไปตามความโกรธ ทั้งที่รู้ว่านี้ดีก็ปัดทิ้งไป มันจะเอาตามที่มันโกรธ พวกเราสมัครใจว่าจะเอาข้างโกรธไม่เอาข้างดีหรือถูกแล้ว เพราะมันโกรธแล้ว ถ้าเรามีใจคอปกติเราก็ยึดอยู่ในความดีและกลัวความชั่ว แต่พอโกรธขึ้นมามันพร้อมจะสลัดความดี สลัดสิ่งที่เป็นกุศล นี่ก็น่าอันตรายมาก มันก็คือยอม ยอมเลว ยอมตาย ยอมวินาศฉิบหาย เพราะเห็นแก่ความโกรธ ไม่ยึดหลักที่ถูกต้อง ไม่ให้อภัย ไม่หยุดหรือไม่ยอมอะไรเลย นี่ก็เป็นอันตรายหนึ่งของความโกรธ จนกระทั่งท่านแสดงไว้ว่า คนโกรธย่อมฆ่ามารดาของตนเองได้ เอามารดาเป็นเครื่องเปรียบ เพราะว่าเด็ก ๆ เกิดมานี้ไม่มีอะไรที่จะใกล้ชิดหรือทำความอบอุ่นให้แก่ตนเท่ากับมารดาในโลกนี้ ถ้าโกรธขึ้นมามันยังฆ่ามารดาได้ หนฺติ กุทฺโธ สมาตรํ(นาทีที่ คนโกรธย่อมฆ่ามารดาของตน ข่าวหนังสือพิมพ์หรือข่าววิทยุก็ยังพบบ่อยครั้ง ฆ่า ฆ่ามารดาของตัว เมื่อคืนวานนี้ก็มีข่าววิทยุอีกรายฆ่ามารดาของตัว เพราะคนสมัยนี้มัน มันมีเหยื่อที่มาทำให้หลง ให้อะไรมาก เหยื่อของความโกรธมันรุนแรง ไม่ได้ตามที่เขาต้องการก็ฆ่ามารดาของเขาได้ ดูให้ดี
อีกหนึ่ง อีกอันหนึ่งแสดงไว้ว่า คนโกรธไม่เห็นอรรถ ไม่เห็นธรรม ไม่เห็นอรร ถะ (นาทีที่ 32:30) ไม่เห็นธรรมะ ผู้ที่โกรธเสียแล้วย่อมไม่เห็นอรรถะไม่เห็นธรรมะ คือไม่เห็นเหตุและผล คำว่า อรรถะ ธรรมะ ๒ คำนี้ในกรณีธรรมดาก็เล็งถึงเหตุผล ธรรมะหมายถึงเหตุ อรรถะหมายถึงผล แต่ยังมีความหมายในแบบอื่นก็ได้ เช่นไม่รู้ทั้งโดยความหมายและไม่รู้ทั้งโดยคำพูด อรรถะแปลว่าเนื้อความหรือความหมาย ซึ่งหมายถึงว่าลึกซึ้งออกไป ไอ้ธรรมะนี้หมายถึงหัวข้อ หัวข้อสรุป รวมความว่าถ้าโกรธแล้วจะไม่ จะไม่ ไม่มองเห็นเหตุผล ไม่มีการใช้เหตุผล จึงไม่รู้ทั้งอรรถะและไม่รู้ทั้งธรรมะ ก็สังเกตเอาเองว่าเมื่อ เมื่อใจ เมื่อเรามันโกรธแล้วใจมันเป็นอย่างไร มันใช้เหตุผลไม่ได้ มันไม่มีช่องที่จะให้เห็นแจ่มแจ้งในเหตุผล หรือความหมาย หรือความลึกซึ้งของเรื่องนั้น ๆ นี่คนโกรธมันก็ไม่ ไม่ ไม่รู้อรรถะไม่เห็นธรรมะ ต้องใช้คำว่ารู้และเห็น ไม่รู้อรรถะไม่รู้เนื้อความ ไม่เห็นธรรมะคือไม่เห็นหัวข้อ ไม่เห็นเหตุผลคือไม่รู้ ไม่เห็นเหตุก็ไม่รู้ผล นี้ไม่สำคัญ ต้องเข้าใจว่ามันเป็นคนไม่มีเหตุผลไปทันที
นี้ข้อ อีกข้อหนึ่ง ซึ่งน่าสนใจที่สุด จะทำให้ความชั่วกลายเป็นของทำง่ายขึ้น คือถ้าตามปกติธรรมดา เราก็รู้อะไรเป็นความชั่ว แล้วก็กลัวความชั่ว ก็ไม่ ไม่อยากจะทำความชั่ว นั้นความชั่วนั้นจึงเป็นสิ่งทำยาก ยกตัวอย่างเช่น เราจะฆ่าพ่อแม่ของตัวเองนี้ มันทำได้แสนยาก แล้วมันโกรธขึ้นมาแล้ว ไอ้ความยากนั้นจะกลายเป็นความง่าย ก็มีบาลีว่า ยํ กุทฺโธ อุปโรเธติ สุกรํ วิย ทุกฺกรํ สุกรํ วิย ทุกฺกรํ (นาทีที่ 35:43) ที่ทำยากจะกลายเป็นทำง่าย เมื่อคนโกรธเขาต้องการจะประทุษร้าย จะทำชั่ว สิ่งที่ทำยากก็จะกลายเป็นสิ่งที่ทำง่าย นี่อย่าเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย ถ้าความจริงข้อนี้มันกระจ่างแจ้งอยู่ในใจ แล้วคนเราจะ จะไม่อาจเกิดความโกรธหรือทำอะไรด้วยความโกรธ ฉะนั้นควรจะมองเห็นอันตรายของมันอยู่เสมอ นี่เป็นตัวอย่างที่เพียงพอแล้ว หรือว่าจะมีโทษอย่างอื่นกี่อย่างก็มาสรุปได้ในหัวข้ออย่างที่กล่าวมานี้ได้ทั้งนั้น ทบทวน ก็พอโกรธขึ้นมา ไอ้ศาสตร์ทั้งหลายก็กลายเป็นมิใช่ศาสตร์ ก็นำมาซึ่งเคราะห์ร้ายและกลี จนเกิด และก็สลัดความดีเอาความโกรธไว้ ไม่เห็นแก่ความดี กระทั่งฆ่ามารดาก็ได้ ไม่เห็นอรรถ ไม่เห็นธรรม ความเลวที่ทำยากจะกลายเป็นสิ่งที่ทำง่าย นี่อันตรายที่น่ากลัวของสิ่งที่เรียกว่า ความโกรธ
เอ้า, ทีนี้ดูต่อไปถึงเสน่ห์ เสน่ห์ของความโกรธ ผมพูดคำอย่างนี้ด้วยความมุ่งหมาย ๒ อย่าง คือให้รู้จักคำที่ท่านใช้ในภาษาธรรมะหรือภาษาบาลีว่าท่านใช้กันอย่างไร และให้รู้จักจำเอาไปใช้ เพิ่ม เพิ่มคำที่เรารู้ให้มันมากขึ้น ให้รู้ว่าท่านใช้คำที่มันมีความหมายลึก หรือรวบเอาความหมายไว้ได้ลึก จึงเรียกว่าเสน่ห์อัสสาทะ ในบาลีเรียกอัสสาทะ ทุกสิ่งมันมีอัสสาทะไม่มากก็น้อย นั่นคือเสน่ห์ที่จะดึงเราไปเป็นทาสเป็นบ่าว หรือว่าเป็นผู้กระทำ นี้ความโกรธมีเสน่ห์ก็เพราะว่ามันเป็นความอร่อยของคนโง่ เป็นของ ของอร่อย ชอบอกชอบใจของคนด้อยปัญญา มีบาลีว่า โกโธ ทุมฺเมธโคจโร (นาทีที่ 39:09) ความโกรธเป็นโคจรของคนด้อยปัญญา ทุมฺเมธ(นาทีที่ 39:09) หมายความว่ามีปัญญา ชั่วก็มีปัญญา ทรามก็มันด้อยปัญญา โคจรก็คือที่อร่อย ที่พอใจ ที่อยากไปหา อยากไปกิน อยากไปอยู่ เขาเรียกว่า โคจร เหมือนกับทุ่งนาเป็นที่พอใจของวัวของควาย เมื่อไปทุ่งนาแล้วมันได้กินหญ้าแล้วมันอร่อย นี้คำว่าโคจรมันมีความหมายอย่างนั้น ใช้ได้ในกรณีทั้งหลายที่ ที่ ที่ชอบไปหา ชอบไปกิน ชอบไป เสร็จครบ นี้ความโกรธเป็นโคจรของคนด้อยปัญญา ก็พูดได้อีกทีหนึ่งว่า คนโง่เท่านั้นที่จะชอบโกรธ ถ้าคนที่มีปัญญามันไม่ชอบโกรธ ชอบโกรธเพราะว่ามันอร่อย เหมือน เมื่อกำลังโกรธมันรู้สึกรสอร่อย อย่างนี้เรียกว่าอัสสาทะของความโกรธ คนเขาโกรธบ่อย ๆ เขาก็รู้สึกอร่อย ก็ติดในรสอร่อยของการได้โกรธ ได้ด่า ได้ตี นั้นคนจึงชอบด่าคน ชอบตีคน หรือในสมัยที่มันมีทาส มันก็ทำแก่ไอ้คนที่เป็นทาสได้ตามต้องการ มัน ตี มันธรรมดา (นาทีที่ 41:00) มันตี มันด่ากับพวกทาส มันอร่อยแก่จิตใจของนาย นี้ก็อัสสาทะของความโกรธ เสน่ห์ของความโกรธ
ทีนี้โกรธเสร็จแล้วมันจึงจะแผดเผา แม้ว่ามันโกรธอยู่ เหมือนกับน้ำตาลหวานอร่อย พอโกรธเสร็จแล้วมันกลายเป็นยาพิษ มันจึงมีอาการเหมือนกับอร่อยเบื้องต้น ขมขื่นทีหลัง ก็มีบาลีว่า ปัจฺ ฉาโส วิคเต โกเธ (นาทีที่ 41:55) ภายหลังเมื่อความโกรธหมดไปแล้ว อคฺคิทฑ โตว ตปฺปติ (นาทีที่ 42:04) เขาย่อมเดือดร้อนเหมือนถูกไฟไหม้ เมื่อโกรธนั้น สบาย สนุก อร่อย พอความโกรธไปหมดแล้วนึกขึ้นมาได้ ทีนี้เหมือนกับจะถูกไฟไหม้ไฟเผาทีเดียว นี้ความร้อนใจ นี้ก็แสดงว่าความโกรธนั้นมันมีของอร่อย มีรสอร่อยให้ในตอนต้น เป็นอัสสาทะนั่นเอง จำคำว่าเสน่ห์หรือคำว่าอัสสาทะไว้สำหรับศึกษาตลอดเวลา ระวังว่าทุกอย่างมันมีอัสสาทะ แม้แต่ความชั่วความเลวหรืออะไรก็ตาม มันมีอัสสาทะที่จะดึงคนไปหา ดึงคนไปทำ จึงเรียกว่าเหมือนกับเหยื่อ เหยื่อล่อ อัสสาทะนี้ทำหน้าที่เหมือนกับเหยื่อล่อ แต่ตัวมันแปลว่าความอร่อย ฉะนั้นจึงต้องระวัง เพราะว่าความโกรธมันก็มีเสน่ห์ พอเราไปหลงเสน่ห์มันเข้า ก็กลายเป็นคนชอบโกรธ พอไปโกรธเข้าบ่อย ๆ มันก็เป็นนิสัยที่โกรธง่ายและโกรธเร็ว แก้ยาก
นี้จะดูไอ้ความเร้นลับหรือข้อ ข้อเร้นลับของความโกรธอีกแง่หนึ่ง คือว่าถ้าพอโกรธแล้วมันก็มืด ธรรมดามันก็สว่าง เมื่อเรามีใจคอปกติอยู่อย่างนี้ มันก็เหมือนอยู่ในโลกที่สว่าง พอโกรธขึ้นมา ก็เหมือนไปอยู่ในโลกที่มันมืด และมันมืดยิ่งกว่ามืด มืดไม่มีแสงแดดแสงไฟ นี้ก็เป็น เป็นข้อเร้นลับของสิ่งที่เรียกว่าความโกรธที่เราไม่ค่อย ไม่ค่อยจะสังเกต คือไม่ดูให้ดี ถ้ามองเห็นแล้วก็จะสะดุ้ง โดยจะกลัวความโกรธ เพราะมันทำให้มืด พอมืดแล้วมันก็ทำอะไรได้ในทางผิด ไม่ยกเว้นอะไร มีบาลีว่า อนฺธตมํ ตทา โหนิ ยํ โกโธ สหเต นรํ (นาทีที่ 44:45) พุทธภาษิตเหล่านี้ไปหาดูได้จากแบบเรียนที่เรียนอยู่ในโรงเรียนนักธรรม ความโกรธย่อมครอบงำซึ่งบุคคลใด ความมืดเหมือนกับความบอดย่อมมีแก่บุคคลนั้นในเวลานั้น ใช้คำว่า อนฺธตมํ(นาทีที่ 45:16) คือมืดเหมือนกับตาบอด จึงมืดยิ่งกว่ากลางคืน คนตาบอดจะไม่เห็นอะไรได้เลยแม้กลางวันแม้กลางคืน ทีนี้ความมืดในกลางคืนถ้าคนตาดีมันยังพอมองเห็น ก็เราดู กลางคืนมันมืดก็ยังมีดาวมีอะไรบ้างก็ยังพอจะมองเห็น หรือมันไม่ได้มืดสนิท เพราะมันมีแสงสะท้อนของดวงอาทิตย์ของอะไรต่าง ๆ ไอ้เวลามืด ๆ ก็ยังไปได้ โดยเฉพาะสัตว์บางชนิดมันไปได้ ทีนี้ตาบอดมันยิ่งกว่านั้นน่ะ มันมืดจริง ๆ เลยเอาคำว่า มืดเหมือนตาบอดมาใช้สำหรับคนโกรธ ทีนี้อีกประโยคหนึ่งก็พูดกลับกันว่า คือไม่มีแสงสว่างสำหรับคนโกรธ โกเธน เอ้อ, โกเธน อภิภูตสฺส น ทีปํ โหติ กิญจนํ (นาทีที่ 46:33) ทีปํแปลว่าประทีป ดวงประทีป แม้แต่นิดหนึ่งก็ไม่มีสำหรับคนที่โกรธแล้ว ถูกความโกรธครอบงำ แต่ถ้าในแบบเรียนนักธรรม ไอ้ ทีปํคำนี้เขาแปลว่าที่พึ่ง ผมแปลตามที่ผมเห็นชอบ ก็ว่าที่พึ่งไม่มีสำหรับคนโกรธ คำว่าทีปะนี้จำไว้ด้วยมันแปลว่าที่พึ่งก็ได้ แปลว่าแสงสว่างก็ได้ ในที่นี้ผมแปลว่าแสงสว่าง แสงสว่างไม่มีแม้แต่นิดเดียวสำหรับคนโกรธ นี้ถือว่าเป็นข้อเร้นลับของสิ่งที่เรียกว่าความโกรธ ที่เราไม่ทำกับมันให้ดี ๆ เราจะไม่รู้ความลับอันนี้ของสิ่งที่เรียกว่าความโกรธ ก็เลยตกเป็นทาสของความโกรธได้โดยง่าย
ทีนี้ก็จะพูดถึงฉางสำหรับเก็บความโกรธ ยุ้งสำหรับใส่ความโกรธ สร้างฉางสร้างยุ้งให้มันใหญ่ ๆสำหรับใส่ความโกรธจะทำอย่างไร สิ่งแรกที่จะต้องนึกถึงในเรื่องนี้ก็คือธรรมะที่ชื่อว่า ขันติหรือขันตี แปลว่า ความอดกลั้น ขันตินี้แปลว่าความอดกลั้น ความอดได้ รอได้ คอยได้ ความอดกลั้น ถ้าดูอย่างชั้นผิวเผินก็เห็นได้เหมือนกันว่า เพราะอดกลั้นไม่ได้มันจึงโกรธ ถ้าอดกลั้นเสียได้มันก็ไม่โกรธหรอก ฉะนั้นความโกรธมันเกิดจากไม่อดกลั้น คือไม่ เกิดจากความไม่มีขันตี ฉะนั้นสิ่งที่จะมารบสู้กับความโกรธนี่ ข้อแรกที่ต้องนึกถึงก็คือ ขันตี ความอดกลั้น มีบาลีว่า ขนฺติ สาหสวารณา (นาทีที่ 49:26) ขันตีเป็นเครื่องห้ามความผลุนผลัน ในที่นี้ก็หมายถึงความโกรธ ฉะนั้นฝึกอดกลั้นไว้เป็นนิสัยมาก ๆ ขึ้น มากขึ้น ๆ มันก็ทำให้โกรธยากขึ้น นี้เราไม่ชอบอดกลั้น เราเห็นว่าเป็นเรื่องเสียเกียรติหรือขี้แพ้ เราก็ยิ่งไม่อดกลั้น มันก็ให้โอกาสแก่ความโกรธ ฉะนั้นไปฝึกหัดไอ้การอดกลั้นอดทนกันให้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยังบวชอยู่นี้ ถ้าเป็นนักบวชที่แท้จริงมีสิ่งที่เรียกว่าขันติ เป็นแกนกลางของการประพฤติพรหมจรรย์ ของผู้บำเพ็ญพรตทั้งหลาย ทีนี้ไม่มีใครชอบอดกลั้น สอนเท่าไรแนะนำเท่าไรก็ไม่อดกลั้น ก็ชอบจะโกรธ ชอบจะโกรธตอบ โกรธเฉย ๆมันโกรธทีแรก ทีนี้โกรธตอบก็คือ เมื่อมีผู้อื่นโกรธมาแล้ว ตัวเองก็โกรธตอบให้หนักขึ้นไปอีก เมื่อไม่มีขันติก็มีทั้งโกรธและโกรธตอบ คือนิสัยของความโกรธมันเคยชิน แล้วมันก็เลยไม่ต้องนึกถึงขันตี พอมีอะไรแตกออกมามันก็โกรธ มีอะไรแสบหูมันก็โกรธแล้ว บางทีมันก็คิดไว้สำหรับจะโกรธล่วงหน้าด้วยซ้ำไป กับบุคคลนี้ มันเตรียมพร้อมแล้วสำหรับคิดจะโกรธ ก็สักว่าเห็นหน้า สักว่าได้ยินเสียงก็จะโกรธแล้ว ถ้าในระหว่างบวชฝึกหัดเรื่องขันตีกันให้สุดความสามารถ จะมีประโยชน์มาก คือมันจะเปลี่ยนนิสัย แล้วก็จะติดไปใช้ที่บ้าน เป็นฆราวาสได้
ทีนี้ก็นึกต่อไปถึงทมะ การบังคับตัวเอง แล้วก็นึกถึงปัญญา คือความรู้อย่างพอตัวในกรณีนั้น ๆ มันมีบาลีที่กล่าวไว้ว่าตัดความโกรธด้วยทมะ ตัดความโกรธด้วยปัญญา ฟังไม่ดีก็จะฟังออกว่า ทมะ กับปัญญานี่เหมือนกันหรือทำหน้าที่อย่างเดียวกัน เพราะมันมีบาลีเหมือนกัน มีรูปประโยคเหมือนกัน โกธํ ทเมน อุจฺฉินฺเท (นาทีที่ 52:39) จงตัดความโกรธด้วยทมะ โกธํ ปญญาย อุจฺฉินฺเท (นาทีที่ 52:43) จงตัดความโกรธด้วยปัญญา อันไหนมันถูกกันแน่ ถ้าจะใช้ Logic มาจับเข้ามันต้องให้ผิดฝ่ายหนึ่ง เอาตามความจริง มันก็พอจะเข้าใจได้ว่าทมะตัดในระยะต้น แต่ปัญญาตัดในระยะถัดมาหรือตลอดกาล ทมะนี้คือบังคับตัวเอง ซึ่งเห็นได้ว่ามันตรงกับคำที่เขาพูดกันทั่วโลก Self-control Self-control คือควบคุมตัวเองไว้ได้ บังคับตัวเองไว้ได้ ในภาษาบาลีเรียก ทม เฉย ๆ ทอ ทหาร มอ ม้า คือการบังคับตัวเอง นี้จะตัดความโกรธในระยะต้น คือบังคับจิตไว้ได้ ไม่ให้ความโกรธพลุ่งออกมา ก็เป็นตัดในระยะต้น ทีนี้เรียกว่ามันตัดด้วยปัญญาคือตัดในระยะยาว ในลักษณะที่เรียกว่าขุดราก ขุดรากเหง้าไปทำลาย ฉะนั้นปัญญานี้มันจึงตัดได้ลึกซึ้งกว่าหรือตลอดกาลไปเลย แต่มันก็ยังต้องอาศัยอุปกรณ์อันอื่นที่จะนำเอาปัญญามาให้ทันแก่เวลา นั้นมันเลยเนื่องกันอยู่กับสติ มันเลยเนื่องไปถึงสติด้วย สติระลึกได้ทันท่วงที ทำให้เกิดบังคับตัวเอง ให้เกิดการบังคับตัวเอง วิชาความรู้ในการตัดความโกรธก็ทำงานของมันเต็มที่ ให้มันสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งทั้ง ๓ นี้ คือ ทมะ ปัญญา และสติ แต่ แต่ตัวที่มันมีค่ามากหรือน่าดูที่สุดก็คือตัวปัญญา ตัวรู้ รอบรู้ไปในสิ่งที่ควรจะรู้ ฉะนั้นปัญญาในกรณีนี้ ในกรณีของเรื่องความโกรธนี้ คือรู้เรื่องความโกรธนั่นอย่างครบถ้วน นี่คือปัญญา พอมีเรื่องให้กระทบทั่งหรือสะดุด สติก็มา ระลึกได้ว่าเดี๋ยวมันจะโกรธ นี้มันเรื่องโกรธ แล้วก็ทมะตามมาบังคับตัวเองไว้ แล้วก็ปัญญาใช้ความรู้ที่จะตัดเรื่องราวนั้นเสีย ตัดความโกรธได้ด้วยปัญญาอย่างแท้จริง ตัดในระยะเริ่มแรกด้วยทมะ โดยใช้สตินี่เป็นสื่อ แล้วต่อไปสติมันก็ทำหน้าที่อย่างอื่นอีก ที่คุ้มกันอย่างอื่นอีก จำคำว่าสติไว้ ว่าเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดในความหมายที่ว่าเป็นเครื่องคุ้มกัน ไม่มีอะไรจะเป็นเครื่องคุ้มกันมากเท่ากับสติ มันจะคุ้มกันความโกรธป้องกันความโกรธก็คือสติ หรือจะคุ้มกันอะไรก็ตามใจ กระแสแห่งกิเลสตัวไหนชื่อไหนก็ตามจะต้องป้องกันโดยสติทั้งนั้น เดี๋ยวนี้กิเลสก็เป็น เอ้อ, เดี๋ยวนี้ความโกรธนี้ก็เป็นกิเลสตัวหนึ่ง กระแสแห่งกิเลสตัวนี้จะกันไว้ได้ด้วยสติ จะกันไม่ให้มา หรือว่ามาแล้วก็จะกันไม่ให้ไปต่อไป มันก็เป็นเรื่องกันด้วยสติทั้งนั้น ฉะนั้นใช้ให้มันสัมพันธ์กันให้ดี เพราะธรรมะนี่ต้องการการสัมพันธ์กันอย่างเพียงพอ ทมะ ปัญญา สติ สติระลึกได้ ทมะบังคับตัวเองให้หยุดไว้ก่อน แล้วปัญญาก็ทำหน้าที่แผ้วถางไป
นี้พูดถึงปัญญา ความรู้ กันอีกหน่อย ในทางพุทธศาสนา หลักธรรมะในพุทธศาสนาเราตามพุทธภาษิตที่แสดงปรากฏอยู่ ถ้าจะรู้อะไรในลักษณะที่เรียกว่าปัญญา จำกัดความหมายไว้อย่างเพียงพอ มีเหตุผลที่สุดเท่าที่ผมสังเกตมา แม้จะพูดกันทาง Logic ก็มีเหตุผลที่สุด จะพูดทางหลักวิชาอะไรก็เป็นเหตุผลที่สุด ถ้าจะรู้อะไรก็ต้องให้รู้โดยหัวข้อ ว่านี้ คือรู้ลักษณะของมัน หนึ่ง รู้ลักษณะของมัน นี้สอง ก็รู้อัสสาทะคือเสน่ห์ของมัน นี้สาม รู้อาทีนวะ คือความเลวร้ายของมัน ก็รู้สมุทัย คือที่เกิดที่มาของมัน แล้วก็รู้อัตถังคมะคือสิ่งที่จะทำให้มันตั้งอยู่ไม่ได้ คือความดับไปตั้งอยู่ไม่ได้ แล้วก็รู้นิสสรณะ ข้อสุดท้าย คือ คือทางออก หนทางออกหรืออุบายเป็นเครื่องออกไปให้พ้นจากสิ่งนั้น ในกรณีของความโกรธนี่ดูกันอีกทีก็ได้ ความโกรธมีลักษณะอย่างไร ก็พูดกันมามากแล้ว นี่ถ้าเราจะแบ่งความโกรธออกเป็นกี่ชนิด ประกอบด้วยอุปมาอุทาหรณ์อะไร มันก็อยู่ในข้อนี้ทั้งนั้นแหละ ถ้าใครจะไปเทศน์ ไปพูดไปบรรยายเรื่องความโกรธ ว่ามันมีลักษณะอย่างไร มันมีกี่อย่าง มันมีกี่ชนิด มันควรจะอุปมาด้วยอะไร มันก็เป็นดังลักษณะของความโกรธ ทีนี้อัสสาทะ คือเสน่ห์ของความโกรธ ก็อย่างที่ว่ามาแล้ว มันอร่อยแก่ผู้โกรธ นี้ อาทีนวะโทษความเลวร้ายของมัน ก็คืออันตรายอย่างที่ว่ามาแล้ว ทีนี้สมุทัย ที่เกิดของมันก็คือ ความอยากด้วยอำนาจของความโง่ ถ้าจะเลยไปถึงตัวความโง่มันไกลเกินไป ไปถึงอวิชชามันเป็นต้นเหตุที่ไกลเกินไป เอาที่ใกล้ ๆ ก็คือความอยากแล้วไม่ได้ตามที่อยาก อัตถังคมะ ในภาษาไทยเราก็เรียกว่า อัศดงคต อัศดงคต (นาทีที่ 01:00:00) คือลับลงดับลง อัตถังคมะ นี่ก็คือ ที่เรากำลังพูด ก็ตัดความอยากนั้นเสียถูกต้องที่สุด ดับความอยากด้วยความโง่นั้นเสีย นิสสรณะ อุบาย วิธี หนทางที่จะออกไปให้พ้นจากเรื่องนี้ที่เรากำลังพูด เราจะมีขันติ มีทมะ มีปัญญา มีสติ หรือจะสรุปรวมไปยังหมวดธรรมะสารพัดนึก คุณจำคำว่าสารพัดนึกไว้ด้วย คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ธรรมะสารพัดนึก ใช้แก้ปัญหาทุกอย่าง ถ้านึกอะไรไม่ออกในส่วนธรรมะที่จะดับทุกข์หรือแก้ปัญหา แล้วก็นึกอัฏฐังคิกมรรคก่อน มรรคมีองค์ ๘ นั้นก็เขาจะกำหนดไว้เป็นนิสสรณะทั่วไปในทุกกรณี ถ้าเราจะมาทำเฉพาะเรื่อง เช่นเรื่องความโกรธเป็นต้นนี้ เราก็เลือกธรรมะชื่ออื่น ๆ มาก็ได้ ให้มันตรง ตรงกับโรคโดยตรง แต่แล้วธรรมะเหล่านี้จะไปรวมอยู่ได้ในอัฏฐังคิกมรรค จะพูดว่าขันติ ทมะ ปัญญา สติ อะไรก็ตามเถิด มันจะไปรวมอยู่ได้ในอัฏฐังคิกมรรคทั้งนั้น นิสสรณะ อุบายเครื่องออกไปเสียจากความโกรธ ก็มีสติก่อน แล้วก็มีทมะบังคับตนให้ได้ แล้วก็มีปัญญามาฟาดฟันลงไปให้สูญ ให้สิ้นไป ให้สูญไป นี้คำว่านิสสรณะนี่กว้างมาก มันจะกินความไปถึงป้องกันปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรก็ได้ ก็มีธรมะชื่ออื่น ๆ โผล่ขึ้นมา
เราก็ได้พูดมาถึงคำว่าสติแล้ว สตินี่มีความหมายกว้าง และความหมายใหญ่ของสติคือป้องกัน แล้วก็มีคำที่คล้ายกัน แล้วก็มาช่วยสนับสนุนกัน เช่น คำว่า สังวร สังวะระ สังวร สังวรมีหลายชนิด สติสังวรนี้สำคัญที่สุด ให้ทุกคนมีการสังวรด้วยสติ มีสติเป็นเครื่องสังวร คำว่าสังวรนี้ก็มันมีความหมายคล้ายอีก คือป้องกัน สัง วะระ ป้องกันหรือแวดล้อมไว้อย่างดี สังวรด้วยอะไร ด้วยสติ เอาสติมาเป็นเครื่องแวดล้อมไว้ให้ดี ตลอดเวลาก็ให้มีการสังวรด้วยสติ คือมีสติ รู้สึกตัวอยู่ทุกอิริยาบถ ก็มีสติสังวร ทีนี้ถ้าจะให้มันเข้มข้น ก็มีธรรมะชื่อว่าสัจจะหรืออธิษฐานะ เรามารวมเรียกกันในภาษาไทยว่า สัจจาธิษฐาน สัตยาธิษฐาน หรือว่าสัจจาธิษฐาน แล้วแต่จะเขียนชนิดไหน สัจจาธิษฐานนี้จะสร้างความเข้มข้นของสติ ของธรรมะของอะไรก็ตามที่จำเป็น ให้มันเข้มข้นขึ้นมา คืออธิษฐานจิต มีสัจจะที่จะทำอย่างนั้น เป็นสัจจะตัวเดียวกับในฆราวาสธรรม สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ สัจจะตัวนั้น คือความจริงลงไปในสิ่งที่จะกระทำ อธิษฐานะแปลว่าตั้งมั่น มีสัจจาธิษฐาน ก็ตั้งจิตด้วยสัจจะมั่นลงไปในการที่จะทำ ในการที่จะประพฤติการละข้อนี้
ทีนี้ไปให้ไกลไปอีก ให้มันปลอดภัยอีก ก็จะต้องนึกถึงธรรมะอีกชื่อหนึ่งที่มีประโยชน์มาก เรียกว่า จาคะ จาคะนี้แปลว่าสละ ตัวหนังสือแปลว่าสละ แต่เรารู้จักจาคะกันแต่ในเรื่องการให้ทาน ที่จริงจาคะนี่ในชั้นสูงหมายถึงสละกิเลสออกไป กิเลสนี้เอาไปให้ใครใครจะเอา ไม่ใช่เงินทองข้าวของสละไปแล้วมีคนเอา ฉะนั้นจาคะในกรณีอย่างนี้หมายถึงสละกิเลสตามโอกาสที่ต้องสละ ถ้าปล่อยไว้มันก็กดดัน ๆ อัดตัวหนักเข้า ๆ มันก็ทำลาย แล้วก็ระเบิด จาคะก็เหมือนรูรั่วหรือลิ้นวาล์วที่เขาทำไว้สำหรับรั่วได้โดยอัตโนมัติ อย่าให้มันถึงขนาดกดดัน ก็ฝึกหัดสละนี่อยู่เสมอ อยู่เสมอ ให้อภัยอยู่เสมอหรือว่าจะสละด้วยวิธีใดก็ตาม ทำอยู่เสมอ แม้ที่สุดแต่จะให้มีสติ มีปัญญา รู้สึกตัวอยู่เสมอ มันก็เหมือนกับว่าสละอยู่เสมอ เปิดรูรั่วให้สิ่งเลวร้ายรั่วไหลออกไปเรื่อย ๆ อยู่เสมอ ตั้งขึ้นไม่ติดในสันดานของบุคคลนั้น นั้นเราทุกคนจะต้องมีจาคะในความหมายนี้ อยู่ยิ่งกว่าจาคะในความหมายที่ว่าให้ของให้อะไร กระทั่งอยู่ทุกเวลา รูรั่วที่ระบายกิเลสออกจะทำอยู่ทุกเวลา ถ้าฉลาดจริงจะทำได้ทุกเวลาจริงเหมือนกัน จะไปอ่านหนังสือพิมพ์มันก็เหมือนกับมีรูรั่วให้กิเลสไหลออกไป จะอ่านหนังสือเล่นก็จะมีเกิดรูรั่ว คือมันทำให้เกิดความรู้ชนิดที่ทำลายกิเลสนั้นนิดหนึ่งเสมอไป แล้วยิ่งไปนั่งภาวนากำหนดกรรมฐาน มันก็ยิ่งเป็นรูรั่วที่ใหญ่ยิ่งเข้าไปอีก ให้มันไหลรั่วไปเสียมาก ๆ ให้มันไม่เหลือค้างอยู่ได้ ให้มีชีวิตอยู่ด้วยการเปิดรูรั่วให้ความชั่วไหลออกไปจากสันดานอยู่ทั้งวันทั้งคืน
สำหรับความโกรธนี้ เมื่อโกรธก็เรียกว่าความโกรธ แต่พอโกรธทีหนึ่ง มันสร้างอะไรขึ้นมาอีกชนิด ก็เรียกว่าอนุสัยแห่งความโกรธ ชื่อเพราะก็เรียก ปฏิฆานุสัย ปฏิฆานุสัย โกรธทีหนึ่งก็จะเพิ่มปฏิฆานุสัยให้ครั้งหนึ่ง ๆ พอโกรธบ่อยเข้า มันก็ชินในความโกรธมากเข้า ความชินนั้นเรียกว่าอนุสัย ก็พร้อมที่จะหลั่งออกมาเรียกว่าอาสวะ อย่าเข้าใจว่าโกรธทีหนึ่งแล้วก็แล้วไปนะ ถ้าอย่างนั้นจะโง่มากนะ โกรธทุกทีจะเพิ่มอนุสัยแห่งความโกรธ คือความเคยชินแห่งความโกรธนี้ให้เข้มข้นทุกที นั้นเราจะโกรธง่ายยิ่งขึ้นทุกที ฉะนั้นระวังอย่าให้โกรธ เพราะมันดีที่สุด เหมือนกับไม่ให้อาหารแก่กิเลสตัวนี้ ให้มันผอมเสียดีกว่า ถ้าชอบโกรธก็ปล่อยให้โกรธอย่างโง่ ๆ ไม่มีเหตุผลอยู่บ่อย ๆ ทุกวัน ๆ มันก็แน่นหนาอย่างที่จะไถ่ถอนได้ ไถ่ถอนไม่ได้ ยากที่จะไถ่ถอนได้ มันก็กลัวความโกรธ เพราะว่ามันจะสร้างความเคยชินแห่งความโกรธให้เป็นความยุ่งยากลำบากแก่เรา ถือโอกาสพูดไปเสียเลยก็ได้ว่าเรื่องความรักอะไรอีกก็เหมือนกัน พอไปทำมันเข้าครั้งหนึ่ง มันจะสร้างอนุสัยแห่งไอ้นั้นน่ะ แห่งสิ่งนั้นน่ะเพิ่มขึ้น ๆ เรียกว่าราคานุสัย หรือว่าโง่ก็ทีหนึ่ง มันก็จะเพิ่มอนุสัยแห่งความโง่ เรียกว่า อวิชชานุสัย นั้นสิ่งที่เรียกว่าอนุสัยนั่นเอง คือสิ่งที่ทำความลำบากให้แก่เรา เราไม่อยากจะโกรธ มันก็โกรธเสียแล้ว เป็นสายฟ้าแลบ เราไม่อยากจะไปรักมัน มันก็รักเสียแล้ว เป็นสายฟ้าแลบ เพราะสิ่งที่เรียกว่าอนุสัยนี่ เพราะฉะนั้นจะต้องนึกถึงข้อนี้ด้วย ว่าจาคะนี่จะช่วยสละรูรั่ว เป็นรูรั่ว ให้รั่วออกไปไม่สะสมเป็นอนุสัยขึ้นมา เราก็ฝึกที่จะไม่โกรธอยู่เป็นประจำ
ทีนี้เมื่อพูดแล้วก็พูดให้หมดเลย เพราะมันยังมีอุปกรณ์อันอื่นอีก ถ้ามีสติปัญญาที่จะดึงธรรมะมาใช้ได้หมด แต่นี้เราจะเอาเท่าที่ว่ามันเนื่อง ๆ กันอยู่ ธรรมะเหล่านี้ก็เช่น หิริและโอตตัปปะ หิริ ความละอายแก่ใจของตัวเอง โอตตัปปะ ความกลัวด้วยความรู้สึกผิดชอบของตัวเอง ถ้าหิริและโอตตัปปะมีในเรื่องนี้แล้วมันโกรธไม่ได้ แต่นี่พระเณรเรามันหน้าด้านเกินไป มันโกรธใครแล้วมันไม่ละอาย และมันไม่กลัวโทษของความโกรธ นั้นขออย่าได้เป็นพระเณรที่หน้าด้าน โดยฉพาะที่บวชใหม่ช่วง ๑ พรรษา ถ้าโกรธไปที จงเสียใจให้มาก จงละอายให้มาก จงกลัวให้มาก คือหิริและโอตตัปปะ อย่าเอาอย่างพระแก่ พระแก่มันจะโกรธก็ช่างหัวมัน พระใหม่อย่าเอาอย่าง และเสียใจให้มาก ละอายให้มาก ถ้าว่าโกรธเมื่อไร มันก็เป็นการสูญเสียความเป็นพระ คือไม่มีหิริและโอตตัปปะ ถ้ามีหิริและโอตตัปปะแล้วมันโกรธไม่ได้ ฉะนั้นจงสร้างฐานรากอันมั่นคง คือหิริและโอตตัปปะ จะมีประโยชน์ทั่วไปในทุกกรณี เรื่องมีศีล มีอะไรต่าง ๆ อีกมากมาย แต่มีรากฐานอยู่ที่หิริและโอตตัปปะ ละอายต่อความชั่วแก่ใจเอง กลัวต่อความชั่วโดยเหตุผลของตนเอง นึกถึงหิริโอตตัปปะในฐานะเป็นพื้นฐานเป็นรากฐานอยู่ตลอดเวลา ก็จะป้องกันความโกรธอย่างยิ่ง แล้วโกรธขึ้นมามันก็สะดุ้ง แล้วก็สลัดออกไปทันทีได้ นี้สิ่งที่ต้องนึกถึงต่อไปอีกก็คือธรรมะ เช่น กัมมัสสกตา กัมมัสสกตา ความที่สัตว์มีผลกรรมเป็นของตน ทำกรรมใดไว้จะได้รับผลแห่งกรรมนั้น เป็นบทอภิณณหปัจจ เวกขณ์ (นาทีที่ 72:56) ที่พวกคุณสวดเกือบทุกเย็น นั่นแหละกัมมัสสกตา ความจริงที่ว่าสัตว์จะต้องมีผลแห่งกรรมเป็นของตน พอเรานึกถึงข้อนี้ ก็จะนึกได้ต่อไปว่า ความโกรธก็เป็นกรรมอันหนึ่ง เราจะต้องได้รับผลแห่งกรรมนี้เป็นแน่นอน มันทำให้กลัว มันก็ช่วยหิริโอตตัปปะได้
ทีนี้จะต้องไปนึกถึงความตาย เรียกว่ามรณสติ มรณานุสติ แล้วแต่จะเรียก ทีนี้คนทั้งโลกมันลืมตาย มันไม่มีความหมายในความตาย คือมันลืมตาย แล้วมันจึงทำอะไรเลว ๆ ด้วยกันทั้งโลก ถ้ามันนึกถึงข้อที่ว่าไม่เท่าไรจะต้องตาย แล้วมันก็จะไม่ทำอย่างที่กำลังทำอยู่ในทางที่ผิด การระลึกถึงความตายนี้ มันช่วยในข้อที่ให้ ให้เสียสละบางอย่าง ให้ยินยอมบางอย่าง ให้อะไรบางอย่างได้ง่าย คนโง่เท่านั้นที่ว่านึกถึงความตาย แล้วก็ท้อแท้ แล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ผมเคย เคยสอบตัวเองอยู่เสมอ ว่าเมื่อนึกถึงความตายที่ใกล้เข้ามานี้ มันเป็นอย่างไร มันก็ไม่ได้ทำให้ท้อแท้ แล้วมันอยากจะทำอะไรให้เสร็จเสียเร็ว ๆ หรืออย่างดีที่สุด อย่างน้อยที่สุด มันก็จะปรับปรุงการงานที่ว่ามันยังอยู่มากให้มันเหลือน้อยให้พอดีกับความตาย ไม่ได้มีความท้อแท้ว่าอีกไม่กี่ปีจะตายแล้วก็ไม่ทำอะไร นอนสบายดีกว่า ฉะนั้นอาจจะบังคับให้เราทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ไปจนวินาทีสุดท้ายก็ได้ เมื่อมันมีความรู้สึกอย่างนี้ หรือปลงใจลงไปอย่างนี้ มันก็แสวงหาโอกาสหาลู่ทางที่จะทำประโยชน์แก่โลกแก่ส่วนรวมกระทั่งวินาทีสุดท้าย หรือกระทั่งคำพูดคำสุดท้ายที่พูดได้ หรือว่าโดยกิริยาอาการที่ดีที่สุด คือตายให้ดีที่สุดให้เขาดู แล้วก็มีประโยชน์แก่คนเหล่านั้นที่ได้เห็น นี้ก็เรียกว่าทำประโยชน์ถึงนาที วินาทีสุดท้ายก็ได้ นี้การระลึกถึงความตายมันต้องเป็นอย่างนี้จึงจะถูกต้องตามแบบฉบับ ถ้าระลึกถูกต้องอย่างนี้จะป้องกันความโกรธได้อย่างมหาศาล
อันสุดท้ายที่ควรจะพูดถึงอีกอย่างหนึ่งก็คือ เรียกว่า คือธรรมะที่เรียกชื่อว่า อัปปมัญญาเมตตา เมตตา แปลว่าเมตตา คือความเป็นมิตร ความหวังดี อัปปมัญญา ไม่มีประมาณ ไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ ความรักความเมตตาที่ไม่มีขอบเขตไม่มีประมาณ คำนี้เป็นคำเก่าก่อนพระพุทธเจ้า ก่อนพุทธกาล เป็นใจความสำคัญของนักบวชทั้งหลายที่ออกจากบ้านเรือนไปบวช จะมีธรรมะข้อนี้เป็นทั้งหมด แม้ว่าเขาจะไม่รู้เรื่องมรรคผลนิพพานอะไรกันก่อนในสมัยโน้นนะ ก็มีอันนี้ ที่ว่าตายแล้วจะไปพรหมโลก ออกจากบ้านเรือนไปอยู่ในป่าในดง พิจารณาอยู่แต่ความที่สัตว์ทั้งหลายควรจะเมตตาต่อกัน ก็ตั้งจิตเมตตาต่อสัตว์ทั้งหลาย แล้วกระทำด้วย จึงไม่เบียดเบียนสิ่งที่มีชีวิต ตั้งจิตเมตตาอยู่ตลอดเวลา ตายแล้วไปพรหมโลก ถือว่าที่นั่นเป็นนิพพานสำหรับคนที่ถือลัทธิอย่างนั้น ทีนี้บัดนี้เราก็ศึกษาทุก ๆ อย่างมากพอแล้ว มันควรจะสรุปได้กันเองสักทีหนึ่งว่า มันไม่มีอะไรดีกว่าที่เราจะรักกัน คือดีกว่าที่จะเกลียดกัน ดีกว่าที่จะไม่รักกัน หรือเฉย ๆ ต่อกัน ในโลกนี้กำลังขาดเมตตาอย่างยิ่ง เท่ากับดูถูกเรื่องของเมตตา การศึกษาแผนใหม่ที่เขาก้าวหน้าเรื่องทางวัตถุ ก็หลงวัตถุ เป็นทาสวัตถุ ยากที่จะเกิดความรู้สึกเมตตาตามแบบโบราณดึกดำบรรพ์ ซึ่งเมตตาไม่มีขอบเขต มีบทเรียนสำหรับฝึกเมตตา ไปตั้งแต่ว่าไม่ตบยุง ไม่ฆ่ามด ไม่อะไรทำนองนี้ นี่เป็นรากฐานของเมตตา ก็เรื่อย ๆ ถ้ามันฆ่ายุงไม่ได้ ก็ฆ่าคนไม่ได้เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้มันฆ่ามด ฆ่ายุง ฆ่าปลา ฆ่าปูกันอย่างไม่มีความหมาย มันก็ฆ่าคนได้โดยไม่สู้ยาก หรือฆ่าคนได้โดยง่ายยิ่งขึ้นไปตามลำดับ แล้วมันจะทิ้งลูกระเบิดชนิดที่ลงมาแล้วฆ่าคนทีเดียวเป็นแสน ๆได้โดยไม่มีความหมายอะไร แล้วก็หวังพึ่งสิ่งเหล่านี้ เพื่อสร้างสมกันแต่สิ่งเหล่านี้ สิ่งที่เรียกว่าเมตตามันก็ไม่มีอยู่ในโลกปัจจุบันนี้ ทีนี้เรามาพูดถึงเมตตา เขาก็จะหัวเราะ ยิ่งพูดว่าไม่มีขอบเขตเสียแล้ว เขาก็ยิ่งหัวเราะใส่หน้าเรา แต่เมื่อพูดถึงธรรมะแล้ว มันก็เป็นอย่างอื่นไม่ได้ ธรรมะที่จะช่วยให้โลกรอดได้คือ เมตตา ไม่ใช่ความเห็นแก่ตัวและทำลายผู้อื่นโดยไม่รับผิดชอบอะไร
นี่มันพอกันทีสำหรับไอ้เรื่องสร้างยุ้งฉางสำหรับเก็บความโกรธด้วยธรรมะเหล่านี้ เริ่มมาแต่ ขันตี แล้วก็ ทมะ ปัญญา สติ สังวร สัจจาธิษฐาน จาคะ หิริ โอตตัปปะ กัมมัสสกตา มรณสติ อัปปมัญญาเมตตา อยู่รั้งท้าย ธรรมะกลุ่มนี้ผมจัดขึ้นเอง จะไปหาไม่พบในตำราเรียนอะไรที่ไหน จัดขึ้นเองก็มันก็ไม่ทิ้งหลักที่มีอยู่ จะมาทำให้มันเห็นง่ายขึ้น จัดเป็นกลุ่มขึ้นมาอย่างนี้ สำหรับจะเก็บความโกรธไม่ให้ออกมาอาละวาด ทำอันตรายตนเองและผู้อื่น และก็ไม่ให้อาหารมันกิน และมันก็ค่อย ๆ เน่า สูญสิ้นไป เรียกว่า เก็บความโกรธไว้ในยุ้งฉาง เพราะว่าความโกรธมันยังมี ที่ไม่ให้มันออกมาจนกว่ามันจะหมดสิ้นไปโดยการหมดเหตุหมดปัจจัยของมัน ขอให้พยายามชิมชีวิตที่เย็นในขณะที่บวชเพราะไม่มีความโกรธให้มาก มันจะชอบความเย็น ชอบรสของความเย็นเพราะไม่มีไฟคือความโกรธ ก็เป็นการสร้างนิสัยใหม่ที่ตรงกันข้าม เพื่อจะไม่ให้โกรธ ออกไปเป็นฆราวาสทีก็คงจะมีความโกรธน้อยหรือโกรธยากกว่าที่เป็นมาแล้ว ถ้าบวชจริงมันก็คือการเก็บความโกรธไว้ในยุ้งฉางหมดจริงเหมือนกัน พร้อมกันนั้นก็ได้ชิมรสแห่งธรรมะของการที่เก็บความโกรธใส่ยุ้งเสียหมด พาติดตัวไปในที่ทุกหนทุกแห่ง เป็นพรหมโลกอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่โกรธอยู่เวลาใด เราก็เป็นพรหมอยู่ตลอดเวลานั้น ไปเป็นพ่อบ้านที่ดี สมตามคำที่กล่าวไว้ในพระบาลีว่า พรหมาติมาตาปิตโร บิดามารดาเป็นพรหมในบ้านเรือน จะสำเร็จได้ด้วยการที่ไม่โกรธ ฉะนั้นจะทำให้คนในครอบครัวไม่โกรธ โกรธน้อยลง ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาก็จะโกรธน้อยลง ก็มีประโยชน์สุขแก่กันและกันโดยตรงบ้างโดยอ้อมบ้าง ทุกคนที่เป็นมนุษย์ และยังจะมีประโยชน์ลงไปถึงสัตว์เดรัจฉาน สุนัขและแมวก็ไม่ค่อยถูกตี ถ้วยโถโอชามแก้วน้ำก็จะไม่ถูกฟาดถูกฟัดให้แตกกระจายโดยที่มันไม่มีความผิด แต่คนบ้าด้วยความโกรธมันก็ทำได้ ถ้ามันไม่มีความโกรธแล้วมันจะร่มเย็นไป ลงไปถึงแม้แต่สิ่งของที่ไม่มีชีวิตวิญญาณ พูดเป็นอุปมาไว้อย่างนี้ ทว่ามันไม่มีความโกรธจริงตามหลักของธรรมะที่กล่าวแล้ว มันก็มีกิเลสอื่น ๆ ลดน้อยลงไปตาม ตามสัดตามส่วน เพราะมันเนื่องกัน กิเลสทั้งหลายมันเนื่องกัน เราบังคับกิเลสตัวนี้ มันสะเทือนถึงกิเลสตัวโน้น ก็ตั้งหน้าตั้งตาบังคับความโกรธให้ได้จริงอย่างนี้ มันก็เป็นพระอนาคามีได้แม้ในบ้านเรือนในเพศฆราวาส ถ้ายังไม่ทราบก็ทราบเสียเลยว่าเขาบัญญัติอริยบุคคล ชั้นพระอนาคามีมีได้แม้ในบ้านเรือนที่เป็นฆราวาส แต่ไม่มีความมักมากในกามหรือความโกรธอะไร หรือมันตัดเรื่องโกรธเรื่องกามได้ แต่ยังอยู่ในเพศฆราวาสบ้านเรือน เลี้ยงบิดามารดาอะไรก็ได้ ฉะนั้นมีผลให้เป็นอนาคามีได้ในบ้านเรือน ความไม่โกรธมันดีอย่างนี้ ก็เป็นบ้านเรือนที่สงบเย็นเหลือที่จะพรรณนา ถ้าบ้านเรือนใดครอบครัวใด พ่อบ้านเป็นอนาคามี มันเป็นครอบครัวที่เยือกเย็นเหลือที่จะกล่าวได้ ฉะนั้นขอให้สนใจในเรื่องควบคุมความโกรธ เก็บความโกรธ ทำลายความโกรธ ในระหว่างที่บวชให้มาก ๆ ถ้าสึกออกไปขอให้ได้รับประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ การบรรยายในวันนี้ก็เกินเวลาแล้ว ขอยุติไว้เท่านี้
[T1]ฟังไม่ชัด
[T2]ฟังไม่ชัด
[T3]ฟังไม่เข้าใจ
[T4]ฟังไม่ชัด ท่านพูดไปหัวเราะไป
[T5]ฟังไม่ชัด
[T6]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T7]ย่อหน้าตรงนี้ไม่แน่ใจว่าควรจะสะกดคำว่า “ศาสตร์” อย่างไรบ้างค่ะ
[T8]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T9]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T10]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T11]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T12]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T13]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T14]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T15]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T16]ฟังไม่ชัด
[T17]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T19]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T20]ไม่แน่ใจตัวสะกด
[T21]ไม่แน่ใจตัวสะกด