แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันแรก ที่สุดเราพูดกันถึงคำว่าวัตถุนิยม แล้วถัดมาก็มโนนิยม แล้วธรรมนิยม เทวนิยม วันนี้ก็จะพูดถึงคำว่าโลก(โล-กะ)นิยม ดูจะเป็นคำสุดท้ายด้วย เมื่อพูดมาถึง เอ้อ, สี่คำแล้ว ก็พอจะมองเห็นว่าคำว่านิยมนี้ มันหมายถึงอะไร นิยม หรือ ism ในภาษาสากลนั้น ถ้าเราจะสรุปความกันแล้ว ก็จะเห็นว่าส่วนใหญ่มันหมายถึงไอ้สถาบันของความคิด หรือความเชื่อ หรือความยึดถือ คือสถาบันในทางจิตใจ เป็นสถาบันของความคิด ความเชื่อ ความนิยม ความหมายมั่น ไอ้ส่วนที่เป็นวัตถุข้างนอกนั่น มันเป็นส่วนที่เดินออกมา หรือเป็นส่วนประกอบ เล็งถึงสถาบัน หรืออะไรต่างๆ เหล่านี้ มันก็พลอย พลอย เป็นเรื่องพลอย ที่จริงตัว ism หรือตัวนิยมในที่นี้ หมายถึง ไอ้ความ ความแน่นหนา ไอ้ความมั่นคงของความคิดความเชื่อ ความยึดถืออะไรต่างๆ เช่น วัตถุนิยม ก็เป็นลัทธิที่ยึดถือเอาวัตถุเป็นหลัก สำหรับ การคิด การนึก หรือการกระทำ หรือผลของการกระทำ ไอ้พวกจิตนิยมก็เอาจิตเป็นหลัก สำหรับจะคิดจะนึก จะศึกษา ค้นคว้า จะกระทำ หรือจะเป็นผลของการกระทำ นี่ธรรมนิยมก็เหมือนกันอีก เอาธรรมะเป็นหลัก แล้วก็ธรรมะนี่ ก็มีหลายความหมาย ความหมายที่ดีที่สุดก็คือ ความถูกต้องระหว่างสิ่งต่างๆ ที่จะต้องมี ในเมื่อเราเอาสิ่งต่างๆ มาสัมพันธ์กันเข้าเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง นี้เทวนิยม สรุปแล้วก็คือสิ่งสูงสุดตามความเชื่อของมนุษย์ คือพระเป็นเจ้า เป็นรูปธรรม เป็นวัตถุ เป็นบุคคลนี่ก็ยังมี ที่แท้แล้วต้องเป็น ไม่ใช่บุคคล เป็นอำนาจที่ศักดิ์สิทธิ์อะไรอย่างหนึ่งมากกว่า แต่มันเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก ดังนั้น เขาก็ต้องฝากไว้ที่บุคคล ให้คนเราถือที่บุคคลไปก่อน สำหรับพระเจ้า หรือพระเป็นเจ้าอย่างบุคคล อย่างเป็นบุคคลไปก่อน ทีนี้ก็ดูให้ดีจะเห็นว่า แม้เป็นเพียงลัทธิ ความคิด ความเชื่อ และบางอย่างก็ไม่มีรากฐานอันมั่นคง ปล่อยไปตามอำนาจของความเชื่อล้วนๆ กระทั่งเป็นความงมงายก็มี แต่ก็ได้บอกแล้วในครั้งสุดท้ายว่า อย่าทำเล่นกับไอ้สิ่งที่เรียกว่าความงมงาย มันเป็นอันตรายที่สุดก็ได้ แล้วมันก็เป็นผลดีที่สุดก็ได้ แล้วแต่จะใช้มัน เมื่อคนส่วนมากในโลกนี้มันยังมีความโง่ ก็ต้องใช้ความงมงายนั่นแหละ เป็นหลัก เป็นเครื่องมือ เป็นเครื่องดึง เป็นเครื่องจูง เป็นเครื่องพาไปหา ความไม่งมงาย หรือความ หรือว่าถ้าหาความไม่งมงายไม่ได้ ก็หาไปถึงความสงบเรียบร้อย ดังนั้น ก็ขอให้สังเกตดูตรงนี้ ให้ดีดีว่า ความสงบเรียบร้อยในบางระดับของคนส่วนมากนั้นอยู่ได้ ด้วยความงมงาย แม้จะเชื่ออย่างงมงาย แต่มันงมงายไปในทางที่ไม่ทำ บาป ไม่ทำชั่ว มันก็เอาตัวรอดได้ ไปในระดับหนึ่ง หรือในระดับที่เป็นสังคม อยู่กันมากๆ เขากลัวผี กลัวเทวดา กลัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วก็ไม่ทำความชั่ว ก็ใช้ได้ แม้นี่มันก็เป็นไอ้ ism อันหนึ่งเหมือนกัน ที่ยึดถือเอาความงมงายเป็นหลัก สำหรับควบคุมสังคมอะไรไว้ในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วอันนี้จะมาเป็นเงื่อนงำของสิ่งที่จะเรียกว่าโลก(โล-กะ)นิยม โลก(โล-กะ)นิยมก็คือนิยมโลก หรือความนิยมของชาวโลก นิยมตามที่ชาวโลกเขานิยมกัน เราก็เรียกว่าโลก(โล-กะ)นิยม แล้วก็ไม่พ้นจากความงมงายบางชนิด เข้าใจว่าทุกคน คงจะสังเกตเห็น หรือบางทีจะได้แก่ตัวเองด้วยซ้ำไป ที่โลกเขากำลังนิยมอะไรกัน เราก็พลอยนิยมสิ่งนั้นไปโดยไม่รู้สึกตัว นับตั้งแต่การกิน การอยู่ การแต่งเนื้อแต่งตัว คนก็เอาตามโลกนิยม ทีนี้ ที่สูงขึ้นไปคือลัทธิ ความเชื่อ ความคิด ความเห็น ก็เอาตามที่โลกเขานิยมกัน เป็นส่วนมาก เช่นเดี๋ยวนี้กำลังเห่อสังคมนิยมกันในหมู่ผู้ถาม เป็นต้น ดูให้ดีว่ามีส่วน ที่มันเป็นโลก(โล-กะ)นิยมอยู่มากไม่ใช่สติปัญญาล้วนๆ หรือไม่ใช่ ไม่ใช่สติปัญญาที่ เพียงพอ มันเป็นเพียงแต่เฮกันไป แนวใดแนวหนึ่งในเมื่อมันยังไม่พิสูจน์ ได้ ว่ามีอันอื่นที่ดีกว่า หรือถูกกว่า แล้วคนเราก็เป็นสัตว์ชนิดที่อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องคิด ต้องนึก ต้องเชื่อ ต้องขวนขวาย ต้องกระทำ มันมีกำลังงานอันหนึ่งผลักดันให้หยุดนิ่งไม่ได้ ในทางการกระทำ ในทางการคิด กระทั่งการ พูดจาออกมา ทีนี้ส่วนใหญ่มันก็ไปอย่างที่เรียกว่าเขาชอบกันเป็นส่วนมากอย่างไร ก็มักจะถูกดึงไปโดยไม่รู้สึกตัว ไอ้ที่เรียกกันว่าแฟชั่นนั่นแหละ ดูให้ดี มันก็เป็นเรื่องโลก(โล-กะ)นิยม ไม่ใช่เฉพาะไอ้แฟชั่นกินอยู่แต่งเนื้อแต่งตัว แฟชั่นทางคิด การคิดนึก มันก็เป็นลักษณะอย่างเดียวกัน เราชอบคำว่าทันสมัย ไม่ล้าหลัง นี่ก็เป็นเหตุให้ไปคว้าเอาไอ้สิ่งที่เรียกว่า โลก(โล-กะ)นิยมมา ไม่ทันรู้สึกตัวได้ ขอให้สังเกตดูให้ดีๆ ที่จริงมันก็น่าหวาดกลัว น่าระแวงอยู่ในตัวคำๆ นี้แล้ว ว่าโลก(โล-กะ)นิยม โลกนิยมหรือนิยมไปตามโลก ก็คำว่าโลกนี้ มันมีความหมายชนิดที่ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะไอ้คำๆ นี้ มันแปลว่าแตกได้ คำว่าโลกในภาษาบาลีนี่ มันแปลว่าสิ่งที่แตกได้ อาจจะแตก และแตกแน่ ทำนองนี้ นี่คือโลก แล้วจะเอาอะไรกับโลก แต่ในที่สุดมันก็มีอำนาจที่สุดแล้ว คำว่าโลกนี้ เพราะ มันไปตามความรู้สึก ตามความต้องการของคนในโลกทั้งหมด แล้วก็ในโลกทั้งหมดมันชอบอย่างไรขึ้นมา มันก็เกิดความมั่นคงขึ้นมา จนกระทั่งเป็นความศักดิ์สิทธิ์ แล้วคิดดูเถิดว่ามันจะสร้างปัญหาที่แสนจะยุ่งยาก ขึ้นมาได้อย่างไรบ้าง ที่พูดนี้ก็เพื่อจะให้ระวังไว้ให้ดีๆ ว่าไอ้คำว่าโลกไอ้โลก(โล-กะ)นิยม นี้ ให้ระวังไว้ดีๆ มันจะเป็นอันตรายขึ้นมาโดยไม่รู้สึกตัว ด้วยเหตุสองอย่าง ที่ว่าเรามักจะทนไม่ได้ จะต้องไปตามไอ้โลกนิยมลากไป นี่ แล้วโลกนิยม นั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ว่า ถูกต้องหรือถึงที่สุดอะไร ก็เป็นของที่เปลี่ยนไป เปลี่ยนไป เปลี่ยนไปตามความรู้สึกคิดนึกของคนในโลก นี่ความรู้สึกคิดนึกของคนในโลกนี้ต้อง เปลี่ยนแน่ คือว่าตามปกติไม่มีใครจะทนชอบหรือพอใจในสิ่งเดียวคงที่อยู่ได้ เพราะมีเหตุปัจจัยหลายอย่างทำให้เปลี่ยน ถ้าถือตามหลักธรรมะนั่นนะ พวกคุณช่วยกัน ระลึกไว้เสมอถึงสิ่งที่ได้พูดมาแล้ว ไม่ใช่เฉพาะที่นี่ ที่ไหนก็ตาม ว่าหลักพุทธศาสนานั้นถือว่า ทุกสิ่งมันมีเหตุ มีปัจจัยปรุงแต่ง มันต้องไปตามเหตุ ตามปัจจัย แล้วเหตุปัจจัยนั้นมันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนได้ ดังนั้น มันก็มีการเปลี่ยนทั้งตัวเหตุปัจจัยและผลของมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือสิ่งที่เรียกว่า เรา ชาวโลกนี้ ดังนั้น โลกจึงคือสิ่งที่ไหลไปด้วยความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะทางความคิดนึก ซึ่งเป็นต้นเหตุของทุกสิ่ง หมายความว่า ถ้าความคิดนึกคือทางจิตใจมันเปลี่ยนแปลง แล้วทางกาย ทางวาจามันก็เปลี่ยนแปลง แล้วมันมีการสร้าง การทำ การพูด อะไรมันก็ เปลี่ยนแปลงไปหมด นี่โลกนี้เป็นสิ่งที่มีเหตุปัจจัย แล้วก็เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยนั้น แล้วก็เหตุปัจจัยนั้นเอง ก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ มันจึงเปลี่ยนแปลงเรื่อย เราจึงไม่สามารถจะชอบอะไรอย่างเดียว ตั้งแต่ เกิดไปจนตาย มันก็ต้องเปลี่ยนแปลงกว่ามันจะถึงที่สุดจริงๆ คือไม่มีอะไร ดีกว่านั้น มันจึงจะไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าไม่อย่างนั้น มันยังจะต้องเปลี่ยน แปลงไปเรื่อยๆ แล้วก็เปลี่ยนแปลงชนิดกลับไปกลับมาก็มี นี่เรื่องในโลก เป็นอย่างนี้ ทีนี้สิ่งที่เรียกว่าเหตุปัจจัยนี้ มันก็ยังเนื่องกันมาถึงกาลเวลา หรือสิ่งแวดล้อม แล้วก็ไอ้องค์ประกอบของทางวัตถุ และทางจิต มันก็ยิ่งมีแง่มุมแห่งการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ทีนี้การศึกษาก็เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อศึกษาไม่เท่ากันมากน้อยกว่ากันมันก็ แตกต่างกัน ความเปลี่ยนแปลง อ้า, ความเปลี่ยนแปลงในหมู่คนที่มีการศึกษา กับไม่มีการศึกษา มันก็ต้องต่างกันเป็นธรรมดา ดังนั้น สิ่งที่เรียกว่าโลกนั้นจึงมีหลายระดับ เราจะไม่พูด เอ้อ, อย่างที่ พูดกันโดยมาก อย่างเช่นว่าโลกแผ่นดิน แผ่นดินโลกก็มี โลกพืชพันธุ์ พฤกษาชาตินั้นก็มี โลกสัตว์เดรัจฉานนั้นก็มี กว่าจะมาถึงโลกมนุษย์ หรือโลกเทวดาในที่สุด ที่เขาพูดกันอยู่ทั่วไป เราจะสรุปเอาตามหลักธรรมะ ที่ฟันหรือว่าแบ่งชั้นไว้เป็นสามชั้นหรือ สามโลก ก็เรียกว่ากามโลกที่หนึ่ง รูปโลกที่สอง อรูปโลกที่สาม กามโลก โลกที่หนึ่งก็คือว่าโลกของสัตว์ที่มีจิตใจ พอใจอยู่ในกาม มันอาจจะหมาย ถึงสัตว์เดรัจฉานก็ได้ หรือเทวดาก็ได้ สัตว์ที่มีจิตใจพอใจอยู่ในกาม หรือถ้าใครพิสูจน์ได้ว่าต้นไม้ก็มีความรู้สึกพอใจในการสืบพันธุ์ พอใจ อ้า, นั้นก็ต้องจัดไว้เป็นการพอใจในกาม แม้ในอย่างระดับที่ต่ำที่สุดจนเกือบจะมองไม่เห็น ทีนี้เอาสัตว์ที่เห็นกันง่ายๆ ก็เช่นมนุษย์ ที่มีจิตใจอยู่ในระดับที่ชอบ สิ่งที่เรียกว่ากาม เป็นสิ่ง อ้า, ปรารถนา นี่ก็เลยจัดไว้โลกหนึ่งเรียกว่ากามโลก โลก โลกแห่งบุคคลที่มีจิตใจพอใจอยู่ในกาม ทีนี้สูงขึ้นไปก็รูปโลก คือโลกแห่งบุคคล หรือแห่งมนุษย์ ที่มีจิตใจ พอใจในสิ่งที่เป็นรูปบริสุทธิ์ไม่เกี่ยวกับกาม ถ้ากล่าวตามภาษาวัดแล้วก็ เขาเรียกว่าพวกพรหม พวกพรหมไม่พอใจในกาม พอใจในวัตถุบริสุทธิ์ไม่เกี่ยวกับกาม ทีนี้ถ้าสูงขึ้นไปอีก ก็เรียกว่าอรูปโลก โลกแห่งอรูปนะ คือโลกแห่งสัตว์ที่มีจิตใจพอใจในสิ่งที่ไม่มีรูป มิใช่รูป แล้วก็มิใช่กามด้วย คือมันสูงไปจากกามเสียแล้ว พูดภาษาวัด หรือภาษาที่เชื่อกันมาแต่กาลก่อน พูดไว้ง่ายๆในภาษาคน พวกกามโลก หรือกามภพนี่ สัตว์ที่ยังมีจิตใจพอใจในกาม ในกามารมณ์ เป็นมนุษย์ก็มี เป็นเทวดาก็มี แล้วพวกที่พอใจสูงขึ้นไป พอใจในรูป สิ่งที่มีรูป หรือเป็นรูปบริสุทธิ์ไม่เกี่ยว กับกามเลย ก็เรียกว่าพวกพรหม ชนิดที่เป็นรูปพรหม เขาเรียกว่า พรหมโลก เป็นรูปพรหม ถ้าสูงไปกว่านั้นอีก ก็พวกอรูป เป็นพรหมที่สูงขึ้นไปอีก ไม่สนใจในสิ่งที่เป็นวัตถุ หรือเป็นรูป หรือเป็นกาม พอใจในสิ่งที่เป็นนาม หรืออรูป ล้วนๆ จะเล่าให้ฟังนิดหน่อยก็ได้ กามารมณ์คือเรื่องระหว่างเพศ นี่ก็เป็นชั้นต้นของพวกกามโลก ทีนี้พวก เอ้อ, รูปโลก พวกพรหมนี่ เขาทำสมาธิ ได้รับความพอใจจากสิ่งที่มันเป็นรูปบริสุทธิ์ เหมือนกับที่ทำสมาธิทั่วๆ ไป แม้แต่จะเพ่งกสิณ เพ่งดวงสีต่างๆ เพ่งลมหายใจ เพ่งอะไรก็ตาม นั้นก็เป็นวัตถุธรรม เป็นรูปธรรม ได้รับความพอใจแล้วเขาก็ ไม่ย้อนมาพอใจในกามอีก ก็อยู่กันพวกหนึ่งระดับหนึ่ง เป็นพวกพรหม ทีนี้ถ้าสูงขึ้นไป เขาถือว่าไอ้รูปธรรมทั้งหลายนี่มันยังกระด้าง เปลี่ยนแปลงง่าย เอาไอ้พวกที่ไม่มีรูปดีกว่า เช่น อากาศ ที่ว่างนี่ เพ่งที่ว่างเป็นอารมณ์ หรือเพ่งความไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ ก็ได้รับ เอ้อ, เกิดสมาธิในอารมณ์นั้นๆ แล้วก็มีความพอใจที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก ก็มาเอาสิ่งที่ไม่ มีรูปมาเป็นอารมณ์ นี่เขาเรียกว่าพวกพรหม เป็นพรหมโลก เป็นอรูปพรหม นี่คิดดูเถอะว่า โลกนิยมนี่มันจะไปกันถึงไหน เราอยู่ที่นี่ ก็จะคิดแต่เพียงว่าที่เขานิยมกันอยู่ในโลกนี่ก็หมายถึงว่าพวกกามโลกทั้งนั้นแหละ ถ้าเขาจะเพ่งถึงชื่อเสียงอำนาจวาสนา ถึงเป็นตัวนามธรรมอยู่มาก เขาก็เอาไว้ เอาไปเป็นอุปกรณ์ของกามารมณ์ เช่นเขามีอำนาจ เขาก็จะใช้ อ้า, แสวงหากามารมณ์ เขาจึงชอบอำนาจ หรือว่าเขาชอบเกียรติยศชื่อเสียง นั้นก็เพื่อจะใช้เกียรติยศชื่อเสียงสำหรับหากามารมณ์ จิต จิตของคนชนิดนี้ แม้จะกำลังชอบชื่อเสียง ก็ยังอยู่ในพวกกามารมณ์ ดังนั้น คนในโลก อ้า, ปัจจุบันโดยเฉพาะนี้ มันจึงเป็นไปในวิสัยของกามโลก ดังนั้น ความนิยมของคนเหล่านี้ จึงเป็นไปในทางกาม คือสิ่งที่ให้ความรู้สึกเอร็ดอร่อย ความสุขทางวัตถุ ทางกาย ทางเนื้อ ทางหนัง ใจความสำคัญมันอยู่ที่นี่ ไอ้ข้อปลีกย่อยเขาอาจจะแบ่งเป็นหลายๆ แบบ หลายๆ รูป กินอย่างนั้น นอนอย่างนี้ แต่งอย่างนี้ แม้แต่แต่งผมนี่ยังแต่งกันหลายๆ แบบอย่างนี้ มันก็ไม่แปลกอะไร มันรวมอยู่ในเครือเดียวกันหมด คือเป็นวัตถุปัจจัยแห่งความหลงใหล ในทางกามารมณ์ นี่ก็เรียกว่าเป็นโลก(โล-กะ)นิยมชนิดหนึ่ง ซึ่งมีมากมายหลายสิบ หลายร้อย หลายพันสาขา ระวังให้ดี เพราะเราก็มักจะยอมรับว่าต้องไปตามโลกนิยม ระวังให้ดี อย่าให้มันไปในทางที่มันต่ำเกินไป หรือที่มันเป็นอันตรายเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลัทธิการเมือง หรืออุดมคติทางการเมือง เสรีประชาธิปไตยบ้าง คอมมิวนิสต์บ้าง สังคมนิยมตรงกลาง อ้า, อ่อนๆ บ้าง อย่างนี้มันก็ ล้วนแต่เป็นโลก(โล-กะ)นิยม ที่คนในโลกกำ กำลัง อ้า, กำลังนิยมกันอยู่ เป็นพวกเป็นสาย แล้วเราก็อดไม่ได้ที่จะไปเข้าพวกกับ เขา โดยไม่ได้ ไม่ได้ระวังให้ดี ดังนั้น วันนี้จึงพูดถึงคำว่าโลก(โล-กะ)นิยม หรือโลกนิยม จะต้องรู้จักกันไว้บ้าง อย่าไปทำให้ผิด หรืออันตราย ทีนี้คำว่าโลกนิยมนี้ อีกทางหนึ่งจะดึงมาเข้าคู่กันได้กับธรรมนิยมที่ได้ พูดมาแล้ววันก่อน ถ้าโลกนิยมก็ไปตามทางโลก ถ้าธรรมนิยมก็ไป ไปตามทางธรรม ถ้าจะหาความแตกต่างกัน อย่างง่ายๆ นี่ เพื่อจะศึกษาอย่างง่ายๆ ก็พอจะแบ่งได้ว่า ไอ้โลก(โล-กะ)นิยมนี่ มีลักษณะปล่อยไปตามความต้องการของกิเลส ถ้าเป็นธรรมนิยมแล้วมันตรงกันข้าม มันไม่ปล่อยไปตามความต้องการของกิเลส มันเอาในลักษณะที่ตรงกันข้าม คือตามทางธรรม อันไหนจะปลอดภัยกว่า ก็ขอให้ลองคิดดู ไอ้ที่เรียกว่าโลก(โล-กะ)นิยมทั้งหลายแล้วก็ จะต้องปล่อยไปตามอำนาจของกิเลส แม้ในชั้นที่เป็นรูปโลก หรืออรูปโลกนั้นมันเป็นกิเลสชั้นละเอียด อวิชชาชั้นละเอียด มันจึงไปหลงได้ แล้วถ้าเป็นโลก(โล-กะ)นิยมแล้ว ก็ต้องเรื่องหลงไปตามอำนาจกิเลส ซึ่งมีอวิชชานี่มันเป็นเค้าเงื่อน ถ้าเป็น โลก(โล-กะ)นิยมอย่างต่ำๆ ก็กิเลสอย่างต่ำๆ คือความสุข สนุกสนาน เอร็ดอร่อยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางผิวหนังนี้ นี่เป็นโลก(โล-กะ)นิยม ปล่อยไปตามอำนาจของกิเลส เมื่อพูดว่ากิเลสนะ ขอให้เข้าใจไว้เสียด้วยว่า มิได้หมาย ถึงกิเลสที่เลวร้าย เลวทราม ร้ายกาจอย่างที่เรามักจะพูดกัน กิเลสที่ละเอียด ที่ซ่อนตัวไว้ไม่ค่อยจะเห็น และเข้าใจยาก และอยู่ในรูปที่สวยสดงดงามก็มี ระวังให้ดีๆ เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าอวิชชา ความไม่รู้นั้น มันกินความกว้าง เราอาจจะไม่รู้ ว่าสิ่งสวยงาม หรือว่าเรียบร้อยอันนี้มันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ทำให้หลงใหลอยู่ในสิ่งนั้น แล้วก็ได้รับความทุกข์ เช่น ยึดถือในเกียรติยศชื่อเสียงอย่างนี้ ชาวบ้านก็ไม่เรียกว่ากิเลส แต่ทางธรรมนั้น ถือว่าเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง แม้ที่สุดแต่จะไปเกิด เป็นเทวดา เป็นพรหม รูปพรหม อรูปพรหมนี้ชาวบ้านเขาไม่ถือว่าเป็นกิเลส ในยุคหนึ่ง สมัยหนึ่ง หรือถิ่นหนึ่ง เขาเคยถือเป็นความถูกต้อง ให้บุคคลบำเพ็ญ เพียรเพื่อไปเกิดในพรหมโลกอย่างนี้ก็มี แม้เดี๋ยวนี้ก็ยังสอนให้ทำอะไรๆ เพื่อไปสวรรค์ นี้ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิด และบางคนจะไม่ถือว่าเป็นกิเลสด้วยซ้ำไป ที่แท้มันก็ยังเป็นกิเลสชนิดละเอียด ชนิดสูง ชนิดเข้าใจยาก ที่ว่ากิเลสก็คือว่ามันเป็นสิ่งที่จะนำมาซึ่งทุกข์ เศร้าหมอง หรือนำมาซึ่งทุกข์ ที่เห็นได้ง่ายๆ ก็มี เห็นได้ไม่ง่ายก็มี แทบจะเห็นไม่ได้สำหรับคนทั่วไปก็มี ดังนั้น อย่าว่าแต่ อย่าว่าไปถึงกิเลสที่เห็นได้ยาก แม้แต่กิเลสที่เห็นได้ง่ายๆ นี่ คนเราก็ยังไม่เห็น ดังนั้น จึงไปเป็นอันธพาล ไปเป็นอาชญากร เป็นอะไรได้โดยง่าย ก็มัน มัน มันซ่อนเร้นอยู่อย่างที่เรียกว่า แสงสว่างบังลูกตา แสงสว่างที่มันจ้าจนบังไม่เห็นอะไรนี่ ก็ไม่เห็นอะไรเหมือนกัน แล้วเดี๋ยวนี้โลก(โล-กะ)นิยมจะอยู่ในลักษณะอย่างนี้ จึงไปหลงในแฟชั่นนั่นนี่ หลงในอุดมคติการเมืองนั่นนี่ จนกระทั่งทำสิ่งที่ไร้สาระ เสียชีวิตไปเปล่าๆ ก็มี จนตายไป เปล่าๆ ทั้งที่เขาเป็นคนฉลาดสามารถจะทำอะไรที่มีประโยชน์ ก็ต้องเสีย ชีวิตไปเปล่าๆ เพราะไปหลงผิดในเรื่องอย่างนี้ ก็เป็นโลก อ้า, โลก(โล-กะ)นิยม ที่เอาเรื่องนี้มาพูด ก็เพราะว่า มันก็เป็นเรื่องที่มีอยู่จริง แล้วเกี่ยวข้องกันอยู่จริง มันก็อยู่ในลักษณะที่น่าอันตรายที่สุด ต้องเอาคำว่าโลก(โล-กะ)นิยม แต่ก็มีคำสอน คำเตือนหรือภาษิตอะไรของคนอีกพวกหนึ่งว่า ให้ทำไปตามโลก ให้เข้ากันกับชาวโลกได้ จึงจะถูกต้อง อย่างนี้มันก็มี ก็เลยสับสนกันสำหรับคนที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะมันอยู่กันคนละชั้น ถ้าจะพูดว่าต้องทำให้เข้ากันกับชาวโลกได้นั้นนะมันหมายถึงชั้นนอกเกินไป ก็อย่าให้มันเกิดเรื่องขึ้น แต่ว่าในใจของเราจะนิยมก็ได้ ไม่นิยมก็ได้ เพียงแต่ป้องกันไว้อย่าให้ อันตรายมันเกิดขึ้น เพราะการสังคมอยู่กับไอ้คนทั่วๆไป นี่ บางทีก็อนุวัต ตามโลก เพื่อประโยชน์อย่างอื่น อย่าให้มันเกิดความเสียหาย เกิดอุปสรรคอย่างอื่นขึ้นมา แต่เราไม่ได้หลงไม่ต้องการไอ้ชนิดนั้น ในทางธรรม ในทางศาสนานี้ ก็เหมือนกัน มีผ่อนผันบางสิ่งบางอย่างให้อนุวัต ตามโลก อย่าไป กระทบกระทั่งกับมันเข้า อย่าไปน้ำ อ้า, เชี่ยวแล้วก็ขวางเรือ ทำนองนี้ นี้ก็รู้จักผ่อนผันไม่ให้มันขวางกันกับโลกนิยมจนตัวเองเป็นตราย เป็นอันตราย แต่ก็ไม่ได้ หมายความว่าเราชอบสิ่งนั้น เราอยากจะได้สิ่งนั้น ดังนั้น คำว่าโลก(โล-กะ)นิยมก็เลยเกิดเป็นสองทางขึ้นมา ทางหนึ่งระวัง เมื่อต้องคล้อยตามใน ในบางอย่าง ในบางสิ่ง ในบางระดับ ไม่ใช่ทั้งหมด ก็อย่าให้มันฝืนโลกนิยม แต่โดยทางส่วนใหญ่ใจความ อ้า, สำคัญแล้ว เราจะไม่โลกนิยมไปตามเขา เราจะเป็นธรรมนิยมมากกว่า หรือไม่ปล่อยตามกิเลส จะควบคุมกิเลส อะไรเกิดขึ้นมา ใหม่ๆในโลก ซึ่งเขานิยมกันเกือบทั้งโลกก็ว่าได้ ก็ลองคิดดูเถอะว่าเราจะทำอย่างไร เมื่อไม่นานมานี้ก็ไว้ผมยาว แบบที่เรียกว่าผมฮิปปี้ ก็ผู้ชายก็ไว้ ผมยาว มันก็เหมือนกับโรคห่าระบาด มาเต็มโลก นิยมไว้ผมยาว อ้าว, ก็ไปกับเขาพักหนึ่งแหละ บางทีมันก็ด้วยความโง่ บางทีก็ด้วยความลองดู เสร็จแล้วมันก็เปลี่ยนไปเอง ด้วยเหตุที่มันทนไม่ได้ หรือมันอยากรู้ หรือมันอยากลอง หรือมันไม่มีสติปัญญาอันเพียงพอของตน มันก็ปล่อยไปตามโลกนิยม หรือเดี๋ยวนี้อุดมคติการเมือง ไอ้สังคมนิยมรุนแรงนั้นนะ ก็กำลังระบาดกันในโลก มันก็รับกันแทบจะทั้งโลก กำลังจะพุ่งขึ้นมาก็ระวังให้ดี มันจะนำไปสู่อะไร มันต้องดูให้ดีว่า ไอ้ชื่อนั้นมันหลอกได้ง่าย เช่นคำว่าสังคมนิยม นี่ ตามตัวหนังสือนั้นมันดีก็ได้ มันเป็นในทางดีด้วยซ้ำไป แต่ถ้ามันมี รากฐานผิด เจตนาผิด อะไรผิด มันก็ร้ายกาจที่สุดก็ได้ ก็จะกลายเป็นเหมือนกับโลกนิยม แล้วสังคมนิยมก็คล้ายกับว่าโลกนิยม สังคมก็แปลว่า ทั้งหมดของคน ของหมู่ชน ก็คล้ายๆ กับโลกอยู่แล้ว เอาคนเหล่านั้น ทั้งหมดนั้น เป็นหลัก หรือเห็นประโยชน์ของคนเหล่านั้น เป็นสำคัญนี่ ถ้าคนเหล่านั้น เป็นคนเหลวไหล งอแง เกียจคร้านแล้วมันจะไหวเหรอ ที่ยังจะเอาประโยชน์ของคนเหล่านั้นเป็นหลัก มันก็ไม่ได้ แต่ถ้าคนเหล่านั้น มันได้รับการกดขี่ข่มเหงไม่เป็นธรรมจริงๆ มันก็ได้ ที่จะเอาประโยชน์จากคนเหล่านั้น เอ้อ, เอาประโยชน์ของคนเหล่านั้นเป็นหลัก เพื่อช่วยกันแก้ไข แต่ต้องระวังให้ดีๆ อย่าทำเล่นกับสิ่งที่เรียกว่าโลก(โลก-กะ)นิยม มันครอบงำเราโดยไม่ทันรู้ตัวก็มี แล้วก็ยากที่เราจะดึงตัวเองออกมาจากไอ้สิ่งที่เรียกว่าโลก(โลก-กะ)นิยม เป็นพระ เป็นเณรแล้ว ก็ยังทำเหมือนชาวบ้านนี่ เพราะมันไม่มีกำลังเพียงพอที่จะต่อต้านไอ้โลก(โลก-กะ)นิยม ดังนั้น ขอให้สนใจไว้ในฐานะเป็นสิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่ง มันเป็นอันตรายก็มี ถึงแม้ที่ ในทางที่ว่าจะไม่เอาเลย ไม่เอาโดยเด็ดขาดนี่ก็มี ก็ยัง ก็ลำบากอย่างยิ่งที่จะต่อต้าน หรือในบางทีต้องคล้อยตามไป พอให้มันไม่เกิดเรื่องขึ้นมา นี่ก็ยังมี นี่ก็ยากเหมือนกัน ที่จะไปเล่นกับไอ้สิ่งที่เป็นอันตราย ถอนตัวออกได้ยาก คำที่เขาพูดไว้ดี มีอยู่คำหนึ่งคือว่า จุดไฟบ้าน รับไฟป่า มันก็ไฟด้วยกันทั้งนั้นแหละ ไอ้ไฟป่ามันทำความวินาศ ไอ้ไฟบ้านนี่มันอยู่ในการควบคุม แล้วเอาเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ได้ ไอ้เล่นกับไฟนี่ ถ้าไม่ถูกวิธี มันก็อันตราย หรือวินาศไปเลย ถ้าถูกวิธีมันก็ เป็นประโยชน์ ที่จะใช้ทำอะไรได้ นี่ความ ความหมายของคำว่าโลก(โล-กะ)นิยมนี่มันเหมือนกับไฟ ถ้ามันมาอย่างไฟป่า จึงจะวินาศกันไปแล้วเราต้องจุดไฟบ้านให้ดี ป้องกันต้อนรับ จะเรียกว่าไฟรับหน้าไฟ นี่ก็คือการอนุวัตตามโลก ในแง่ที่จะป้องกันตัวเองให้มันรอดอยู่ได้ พอมาถึงตอนนี้ อ้า, ก็อยากจะพูด แทรกหลัก หลักเกณฑ์ อ้า, ถึงหลักเกณฑ์สักข้อหนึ่งว่า ในระเบียบของพระอริยะเจ้า หรือในพุทธศาสนานี้ เขามิได้นิยม การกล่าวสิ่งใดลงไปโดยส่วนเดียว เช่นว่า โลกแล้วมันก็ชั่วไปหมด มันมีข้อแม้ อ้า, ที่ว่า ถ้าอย่างนั้น ถ้าอย่างนี้ ถ้าอย่างโน้น อีกหลายๆ ถ้า อีกหลายๆ หลายๆ เงื่อนไข นี่เราต้องเอาสติปัญญา มาหาเงื่อนไขที่เหมาะสม ที่ว่าจะต่อรองกันอย่างไร จะผัดเพี้ยนกันอย่างไร จะหลบหลีกกันอย่างไร ต่อสิ่งที่กำลังเป็นอันตรายอยู่ในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ โลก(โล-กะ)นิยมที่กล่าวแล้ว เดี๋ยวนี้ โลกก็นิยมกันไปมากถึงขนาดไม่มีลามก อนาจาร การเปลือยกาย การอะไรที่เคยถือกันว่าลามกอนาจารบัดสีนี่มันไม่มี นี่มันก็เป็นโลกนิยมอันหนึ่งที่กำลังระบาด เราจะทำอย่างไร เราจะมีวิธี ป้องกันอย่างไรไม่ให้ไอ้เรื่องเหล่านี้มันทำอันตรายแก่เรา แล้วควรจะรู้ไว้ต่อไปด้วย ว่าในอนาคตข้างหน้านั้น ไอ้โลกนิยมนี่มันจะเป็นไปอย่างแรงกล้าหรือสุดเหวี่ยงยิ่งกว่าเวลานี้ไปเสียอีก พูดแล้วมันก็น่าหวาดเสียว สำหรับไอ้โลกนิยมของมนุษย์ในโลกที่กำลังจะเปลี่ยนไป เปลี่ยนไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด อย่างคาดคะเนไม่ถึงนะ ขอให้ทุกคน ศึกษาคำนี้ไว้ให้ดี ให้เข้าใจให้ดี จะได้เป็นความปลอดภัยในอนาคต เพราะอิทธิพลของโลกนิยมมันก็จะรุนแรงหนักขึ้น หนักขึ้น ทีนี้เราพูดกันมาแล้วว่าวัตถุนิยมนี่มันเป็นเรื่องโลกๆ มาก ถ้าจิตนิยมมันมาในเรื่องธรรมะมาก หรืออาจจะมากขึ้นไป ถ้าพูดว่าธรรมนิยมนี่มันจะตรงกันข้ามจากโลก หรือจะพูดว่าเทวนิยม ก็ยังแบ่งได้เป็นสองสามความหมาย ถ้าไอ้เทวะหรือพระเจ้า หรือสิ่งสูงสุดนั้น หมายถึงอำนาจของพระธรรมแล้วก็ยิ่งดี ก็จะช่วยคุ้มครองเราให้พ้นจากอิทธิพลของโลกได้ นี้หมายความว่า ถ้าเรายึดธรรมะเป็นหลัก เป็นธรรมนิยมอยู่ เราจะปลอดภัยจากไอ้สิ่งที่เรียกว่าโลก(โล-กะ)นิยม ชนิดที่เป็นอันตราย ทุกๆ อย่าง ทุกๆ ประการ สิ่งใดเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส ก่อให้เกิดกิเลสนำมาซึ่งกิเลสมาก มันก็มีอันตรายมาก ในระดับที่ยังไม่ ไม่มาก ก็ไม่ค่อยจะเป็นอันตราย หรือยังเป็นกลางๆ อยู่ ก็ยังไม่เป็นอันตราย นี่ว่าเราจะถือเอาผิด หรือถือเอาถูก ถ้าเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือถือเอาอย่างถูกต้องตามหลักธรรมนิยม ก็ไม่มีสิ่งใดที่เป็นอันตราย อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วในธรรมนิยม ว่าถ้าประพฤติเป็นธรรมไปหมดแล้ว แม้แต่สิ่งที่เรียกว่ากามารมณ์ก็ไม่มีความหมายเป็นอันตราย กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเกี่ยวข้องชั่วครู่ ชั่วพัก ผ่านพ้นไปตามวัย ตามอายุ ตามความเป็นไปของเหตุปัจจัยที่มันเปลี่ยนแปลง ดังนั้น จึงคิดว่า ให้ศึกษาธรรมนิยมนี่ไว้เป็นหลัก สูงสุด เพื่อจะป้องกันภัยจากวัตถุนิยม หรือโลก(โล-กะ)นิยมได้ ขอให้ทบทวนว่าเราพูดถึงวัตถุนิยม คือพวกที่นิยมวัตถุ เป็นหลักเกณฑ์ แล้วก็มโนนิยม หรือจิตนิยม ก็นิยมจิตเป็นหลักเกณฑ์ แล้วก็ธรรมนิยม นิยมความถูกต้องระหว่างสิ่งทั้งสองนั้น ระหว่างวัตถุกับจิตนั้นเป็นหลักเกณฑ์ แล้วเทวนิยม รู้จักนิยมสิ่งที่สูงสุด ให้มันถูกต้อง เพราะว่าสิ่งสูงสุดนั้นจะคุ้มครองได้จริง แม้จะเรียกว่าเทวะ เราก็มีความหมายเป็นพระเจ้าที่สูงสุด ที่ถูกต้อง ที่คุ้มครองได้จริงคือ ธรรมะ ทีนี้ในที่สุดนี้ก็บอกถึงอันตราย และตัวปัญหาก็คือโลก(โล-กะ)นิยม ได้แก่ วัตถุนิยมก็ดี มโนนิยมก็ดี อะไรก็ดี ที่มันมารวมกัน มารวมตัวกันอยู่ในเวลานี้ เกิดเป็นแฟชั่น เป็นความต้องการ เป็นอะไรของคนในโลก อยู่ในเวลานี้ ให้รู้จักไว้ให้เพียงพอ ให้เอาตัวรอดจากอิทธิพลของสิ่งเหล่านี้ได้ ขอแสดงความหวังไว้ว่าทุกคนที่เข้าใจเรื่องนี้จะปลอดภัย จากคลื่นของความนิยมอย่างโลกๆ หลายร้อย หลายพันอย่างที่จะกำลังมีอยู่ในโลกเวลานี้ นี่การบรรยาย เรื่องโลก(โล-กะ)นิยมก็พอกันที เวลาที่เหลือนี้ ก็ไว้สำหรับ ตอบปัญหา สำหรับผู้ที่ยังสงสัยส่วนไหนก็ขอให้ถามได้ กว่าจะหมดเวลา อ้าว,ใครมีปัญหาก็ถามได้
ผู้ถาม : ดิฉันอยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ ในประโยคที่ว่า แม้แต่การอยากไปสวรรค์ก็เป็นกิเลสชนิดสูงและเข้าใจยาก ดังนั้น การอยากไปสู่นิพพานจะเป็นกิเลสหรือไม่คะ
ท่านพุทธทาส : คำว่า อ้า, ความอยากในที่นี้ ในกรณีอย่างนี้ ในภาษาที่ใช้กัน ในการสอนธรรมะนี่ ก็หมายถึงความอยากด้วยอำนาจของความไม่รู้ ไม่มีความรู้อย่างถูกต้องเพียงพอ นี่เขาเรียกว่าอวิชชา ถ้าอยากด้วยความไม่รู้ หรืออยากด้วยอวิชชาแล้ว เรียกว่าเป็นกิเลสทั้งนั้น เช่น อยากไปสวรรค์นั้น โดยธรรมดาสามัญทั่วไป มันก็อยากด้วยอวิชชา เพราะได้ยินว่าในสวรรค์ มีสิ่งสวยงาม มีสิ่งอำนวยความใคร่ มันก็อำนาจของกิเลส ทำให้อยากไปสวรรค์ สำหรับ อ้า, ดังนั้น จึงเป็นกิเลส ความอยากที่เป็นกิเลส สวรรค์ก็เป็นที่ตั้งแห่งกิเลสชนิดอัน อ้า, ชนิดที่ละเอียด ทีนี้สำหรับความอยากไปนิพพานนั้น มันก็ต้องแบ่งเป็นสองชนิดว่า เขาอยากด้วยความโง่ หรืออยากด้วยความรู้ที่ถูกต้อง การอยากไปนิพพาน ไปเห่อๆ ตามๆ กันไป ทั้งที่ไม่รู้ว่าอะไร อย่างนี้มันก็ต้องเป็นกิเลสแน่ แต่ดูยังเป็นกิเลสที่เป็นประโยชน์ เป็นกิเลสแน่ เป็นอวิชชาแน่ แต่ยังพอมีประโยชน์ที่ว่า หวังจะไปนิพพานคือที่จะดับความทุกข์ แต่ถ้าว่ากันที่แท้แล้ว ความอยากไปนิพพานนั้น ถ้าอยากถูกต้องแล้วก็ไม่เป็นกิเลส แล้วคนต้องเห็นความทุกข์เสียก่อน แล้วจึงจะอยากดับความทุกข์ นั้น นั่นเขาเรียกว่าอยากไปนิพพาน ดังนั้น การอยากไปนิพพานที่ถูกต้อง นั้นไม่เป็นกิเลส เพราะมันอยากโดยปัญญา ด้วยวิชชา ด้วยความรู้ที่ถูกต้อง แต่ถ้าอยากไปนิพพานโดยไม่เข้าใจ เป็นการอยากอย่างเห่อๆ ตามๆ กันไป หรืออย่างงมงาย อย่างนี้ก็ต้องจัดเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง ที่เป็นละเอียด อย่างละเอียดอยู่ นี่ขอให้เตือน อ้า, ขอเตือนให้นึกอีกครั้งหนึ่งว่า ในหมู่พุทธศาสนา ในวิ วิธีการของพุทธบริษัทนี้ เขาจะไม่พูดอะไรลงไปโดยส่วนเดียว เช่นถามว่า อยากไปนิพพานเป็นกิเลสไหม ก็ไม่พูดไปโดยส่วนเดียวว่า เป็น หรือ ไม่เป็น มันก็ต้องแยก อยากไปนิพพานด้วยอะไร ถ้าอยากไปนิพพานด้วยความรู้สึกอย่างนั้นก็เป็นกิเลส อยากไปนิพพานด้วยความรู้สึกอย่างนั้นก็ไม่เป็นกิเลส นี่ก็ควรจะจดจำไว้เป็นหลักใหญ่ไม่ว่าในการตอบคำถาม ทางไหน จะต้องแยกออกไป ให้มันถึงรากฐานของปัญหา แล้วเราก็จะตอบได้ถูกต้อง เขาเรียกว่าเป็นหลักเกณฑ์ใน ในพุทธศาสนาที่ว่าจะไม่กล่าวอะไรลงไปโดยส่วนเดียว จะต้องมีคำว่า อย่างนั้น หรืออย่างนั้น หรืออย่างนั้น จึงจะว่าอะไรลงไป เป็นเรื่องๆ ไป เอาละ มีอะไรอีก
ผู้ถาม : ในประโยคที่ว่า ถ้าโลก(โล-กะ)นิยม มาแบบไฟป่า ก็ให้จุดไฟบ้านที่ดีไว้ต้อนรับ ไฟบ้านในที่นี้ หมายถึงธรรมนิยมหรือเปล่าคะ
ท่านพุทธทาส : ก็แน่นอน ก็หมายถึงธรรมนิยม เป็นเหมือนกับการจุดไฟบ้านต้อนรับไฟป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งไอ้อุดมคติทางการเมือง ถ้ามันเป็นวัตถุนิยมจัด หลับหูหลับตา มันก็เหมือนกับไฟป่า เราก็ต้องมีไฟบ้าน คือที่มันดีกว่า อยู่ในการควบคุม คือจัดได้ เป็นระเบียบ ต้อนรับเอาไว้ แล้วก็เผาเชื้อที่ไฟป่ามันจะใช้ให้หมด ทีนี่ไฟป่ามันมาถึงมันไม่มีเชื้อจะใช้ มันก็ดับไปเอง
ผู้ถาม : แล้วการที่ท่านบอกว่าอย่าไปตามโลก(โล-กะ)นิยมในทางที่มันต่ำเกิน ไป แต่ถ้า การที่เราตามโลก(โล-กะ)นิยมในทางที่มันไม่สอดคล้องกับธรรมนิยม ถึงแม้จะไม่ต่ำเกินไป จะเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือ
ท่านพุทธทาส : ก็เอาความถูกต้องเป็นหลัก ต่ำเกินไปนี่มันพูดเป็นตัวอย่าง ว่าไอ้คนที่ไม่มีสติปัญญาเสียเลย หรือว่าทำหลับหูหลับตา ไปหลงใหลนี่ มันต่ำเกินไป อ้าว, ใครมีอะไร ก็ถามเสียให้เสร็จๆไป
ผู้ถาม : ที่ว่าถ้าประพฤติถูกต้องหมดแล้ว แม้แต่กามารมณ์ก็ไม่เป็นอันตราย หนูอยากทราบว่าประพฤติถูกต้อง ประพฤติอย่างไรคะ
ท่านพุทธทาส : อ้าว, เป็นคำที่มันยืดยาว ถูกต้องนั้นคือไม่อันตราย ถ้าไม่อันตรายนะ คือถูกต้อง คำว่าผิด หรือถูก ตามหลักของพุทธศาสนานั้น ไม่ยากนะ เขาบัญญัติไว้ให้ ถ้ามันเป็นประโยชน์เกื้อกูลไม่ทำอันตรายตัวเอง ไม่ทำอันตรายผู้อื่นนั้นก็เรียกว่าถูกต้อง คือถ้ามันทำอันตรายตัวเองและผู้อื่น ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลก็เรียกว่าผิด ทีนี้เรื่องเกี่ยวกับกามารมณ์นี้ ก็ต้องพูดสำหรับไอ้ชน มนุษย์ที่มันยังจำเป็นจะต้องเกี่ยวข้องหรือว่าจะต้องผ่านไป ก็จะต้องผ่านไปอย่างถูกต้อง ยังอยู่ในวัยเด็ก หรือว่าอยู่ในระดับกามโลกนี่ ก็ต้องผ่านโลกนี้ไปอย่างถูกต้อง คือไอ้สิ่งเหล่านั้น จะไม่เป็นอันตราย ถูกต้องคือไม่เป็นอันตราย ในเมื่อสิ่งนั้นมันต้องผ่านไป หรือมันหลีกไม่ได้ เช่นฆราวาสจะต้องเกี่ยวข้องกับบ้านเรือน เกี่ยวข้องกับเรื่องของชาวบ้านอย่างนี้ ระวังให้ดี ให้มันมีความถูกต้อง
ผู้ถาม : แต่มนุษย์เกิดมาแล้วทุกคนก็มีความทุกข์ เพราะฉะนั้น กามารมณ์เป็นสิ่งที่ทำให้มีมนุษย์เกิดขึ้นมาแล้ว ถึงแม้ว่าประพฤติอย่างไรก็ต้องมีความทุกข์เกิดขึ้นมานะคะ
ท่านพุทธทาส : เกิดขึ้นมาโดยไม่รู้อะไร มันก็เป็นความทุกข์ ดังนั้น ถ้ารู้อะไร แล้วทำไปอย่างถูกต้องมันก็ไม่เป็นความทุกข์ ดังนั้น ที่เขาเกิดมานี่ มันไปโทษเขาไม่ได้ ก็มันต้องเกิดมา หรือมีธรรมชาติที่ต้องเกิดมา ก็ต้องผ่าน ไอ้สิ่งต่างๆในโลกนี้ ถ้าทำไม่ถูกต้องกับสิ่งต่างๆในโลกนี้ เขาก็ต้องเป็นทุกข์ เพราะสิ่งที่หลอกลวงให้ทำผิดมากที่สุด ก็คือกามารมณ์ เป็นต้น ดังนั้น เขามีความรู้ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้ก็ทำอันตรายแก่เขาไม่ได้ ดังนั้น ถ้าหากว่ามันมีโชคดี ถึงกับว่า เรามีวัฒนธรรมดี มีประเพณีดี สามารถสอนให้เด็กๆ ตั้งอยู่ในความถูกต้อง มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก เรื่อยๆ ขึ้นมาตามลำดับ มันก็เป็นการดี มันเป็นการได้เกิดมาเพื่อ ได้มีประโยชน์ ได้รู้ได้เห็น นี่หมายความว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดมาโดยที่เรามันห้ามไม่ได้ แต่ถ้าคนที่เขามองเห็นแล้ว เขาไม่อยากเกิด นี่ก็ถูกเหมือนกัน ก็ไม่อยากเกิด แต่ถ้าว่าเกิดมาแล้ว มันก็ต้องทำให้มันถูกต้อง มันจะได้ไม่เป็นทุกข์
ผู้ถาม : แล้วถ้าหากว่า พ่อแม่ดับกามารมณ์ไม่ได้แต่ว่า ไม่อยากให้เด็ก เกิดโดยการคุมกำเนิดนี่จะถือว่าพ่อแม่บาปไหมคะ
ท่านพุทธทาส : นั้นมันคนละเรื่อง ไอ้กามารมณ์กับการสืบพันธุ์นั่นมันคนละ เรื่อง กามารมณ์ไม่ต้องหมายถึงการสืบพันธุ์ก็ได้ การสืบพันธุ์ไม่มีความหมายกามารมณ์ก็ได้ ผู้ที่มีธรรมะ หรือว่าเป็นพระอริยะเจ้าบางระดับก็เป็น ฆราวาส มีครอบครัว มีการสืบพันธุ์ มีลูกมีหลาน แต่ไม่ตกอยู่ภายใต้ ไอ้สิ่งที่เรียกว่ากามารมณ์ นี้คนทั่วไป เขาเอาไอ้กามารมณ์เป็นเบื้องหน้า ไม่ได้คิดถึงการสืบพันธุ์ ไอ้การคุมกำเนิดนั้น มันเป็นเรื่องควบคุมการสืบพันธุ์ เพราะว่าเขาไปหลงในกามารมณ์กันเป็นส่วนมาก นี่พูดไปแล้วเดี๋ยวก็จะหาว่าด่าเขา ไอ้คนคุมกำเนิดนั่นเพราะอดกามารมณ์ไม่ได้ แต่ก็ไม่อยากสืบพันธุ์ มันจึงควบคุมในส่วนการสืบพันธุ์ เพื่อจะมีโอกาสในทางกามารมณ์ มันก็เป็นการหลอก หรือเล่นตลกกันอยู่แล้ว ก็ได้รับผล อ้า, ได้รับโทษบ้าง ตามสมควร ถ้าถามว่าบาปหรือไม่บาปนี่ มันเป็นปัญหาทางหนึ่ง จึงไม่ใช่ ทางธรรมะหรอก เพราะว่าเราก็ยังไม่รู้ว่า ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าคุมกำเนิดนั้น มันคุมไม่ให้เกิดชีวิต หรือว่าเป็นการทำลายชีวิตที่ได้ตั้งต้นขึ้นมาแล้ว ถ้าว่าคุมกันก่อนมีชีวิต ก่อนการตั้งต้นมีชีวิตก็ไม่มีบาปในทางศีลธรรม แต่ถ้าไปทำลาย สิ่งที่มันเป็นชีวิตแล้ว ก็เป็นบาปในทางศีลธรรม นี่ต้องไป ไปหาข้อเท็จจริง ไอ้จากเทคนิคนั้นๆ นี่เราพูดไม่ได้ เราพูดได้แต่เพียงว่า ถ้าฆ่าสัตว์ก็เป็นบาป ไม่ฆ่าสัตว์ก็ไม่เป็นบาป แต่ทางธรรมะนั้น ก็อย่างที่ว่าแล้ว ถ้าหลงใหลใน กามารมณ์ จะฆ่าสัตว์ หรือไม่ฆ่าสัตว์ มันก็โง่อยู่แล้ว มันก็ถือว่าเป็นไอ้ เป็นบาป หรือเป็นความผิด ในทางฝ่ายธรรมะ ไม่ใช่ฝ่ายศีลธรรม ยอมตัวเป็นทาสของอารมณ์ เพื่อทนทรมานต่างๆ นานา โดยไม่รู้ว่าไอ้ ไอ้ความสุขชนิดนั้นนะ คือความทรมาน ความโง่ ต้องแยกแยะกันอีกมากหลายแขนง พูดโดยส่วนเดียวก็ไม่ได้ ยิ่งพูดว่าถ้ามันทำลายชีวิตก็ต้องเป็นบาปทางศีลธรรม เรียกว่าการคุมกำเนิด หรือถ้าว่าไม่ทำลายชีวิต แต่มันส่งเสริมกิเลสทางกามารมณ์อย่างอื่น มันก็ต้องเรียกว่าเป็นอกุศล เป็นความไม่ถูกต้องในทางฝ่ายธรรมะ ซึ่งก็ไม่ควรกระทำ ต้องการความสงบ ความไม่มีทุกข์ ไม่มีทรมานใน ใน ในทุกๆประการนั้นนะ คือถูกต้อง ทีนี้มันจะสูงเกินไปจนทำไม่ได้ ก็ลดลงมาให้อยู่ในขอบเขตของศีลธรรม ไม่ ไม่ ไม่เป็นทาสของกามารมณ์ แม้จะเกี่ยวข้องกับกามารมณ์บ้าง ในกรณีที่มันต้องเกี่ยวข้อง หรือมันต้องสืบพันธุ์ ในกรณีที่ต้องสืบพันธุ์ ก็ไม่ได้หลงเป็นทาสของอะไร มันจะตอบอยู่ได้ในตัวแหละ ไปพิจารณาดู มันมีหลักเกณฑ์เพียงพอมัน ของมันในตัว ไปดูละเอียดด้วยตนเองก็พอจะเข้าใจได้
ผู้ถาม : เราจะถือว่าชีวิตนี่ตั้งต้นตั้งแต่เมื่อไหร่คะ
ท่านพุทธทาส : อ้าว, นั่นเป็นเรื่องเทคนิคทาง biology ไว้ไปถามผู้เชี่ยวชาญทาง biology
ผู้ถาม : ถ้าหากว่า คิดว่าชีวิตต้องมีจิตใจนี่ แล้วการตัดต้นไม้นี่บาป ไหมคะ
ท่านพุทธทาส : มันแล้วแต่บัญญัติ ไอ้เรื่องบาป เรื่องบุญนี่เป็นการบัญญัติ แล้วแต่จะบัญญัติไว้อย่างไร บางศาสนาเขาก็บัญญัติไว้ว่าบาป บางศาสนาก็ว่าไม่บาป บางศาสนา เช่นพุทธศาสนานี่ ถือว่าบาปหรือผิด สำหรับคนบางชั้น ไม่ผิดสำหรับคนบางชั้น เช่นฆราวาสตัดต้นไม้ไม่บาป บรรพชิตตัดต้นไม้บาป อย่างนี้ เป็นต้น มันแล้วแต่บัญญัตินะ ต้องไปศึกษาบทบัญญัติ
ผู้ถาม : ขอบพระคุณค่ะ
ผู้ถาม : ถ้าสมมติ เราจะดำเนินชีวิตตามแบบโลกนิยม เช่นขณะนี้กำลังนิยมลัทธิการเมืองใด เราก็นิยมตาม จะถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือเปล่า
ท่านพุทธทาส : เมื่อตะกี้ก็พูดมาแล้ว ว่าดูให้ดี ว่ามัน ถูกหรือผิดมันอยู่ที่ว่า มันเป็นประโยชน์หรือ ไม่เป็นประโยชน์ เราอย่าเห่อตามๆ เขา เร็วนัก ผิด เดี๋ยวไม่รู้ ต้องพิจารณาดูให้ดี แต่มันก็อาจจะยาก เพราะเรื่องนี้มันสลับซับซ้อน ขึ้นชื่อว่าอุดมคติการเมืองแล้วสลับซับซ้อน เพราะมันเป็น สิ่งที่เจืออยู่ด้วยความหลอกลวง ดังนั้น พูดไม่ได้นะ ที่เราจะไปเห่อตาม ไปเชื่อ ไปนิยมไอ้ที่เขากำลังนิยมกันอยู่ ว่าจะถูกหรือไม่ถูก มันแล้วแต่ว่า เรื่องนั้นมันถูกหรือไม่ถูก แล้วจะตอบได้อย่างไร ในเมื่อเดี๋ยวนี้ เวลานี้มันมีอุดมคติการเมืองหลายแบบที่ต่างฝ่ายต่างนิยม ต่างฝ่ายต่างนิยม ก็เลยตอบไม่ถูก ตอบได้แต่เป็นกลางๆ ว่า สิ่งไหนมันประกอบไปด้วยธรรม ระบอบนั้นแหละมันใช้ได้ หรือถูก
ผู้ถาม : แล้วถ้าเราจะดำเนินชีวิตตามโลกนิยมอย่างถูกต้องนี่ จะทำอย่างไรคะ
ท่านพุทธทาส : เป็นคำตอบที่ตอบยากนะ เพราะมันอยู่ที่ว่าโลกนิยมชนิดไหน เป็นหน้าที่ที่ผู้นั้นจะต้องดูเอาเอง เพราะโลกนิยมก็มีหลายระดับอย่างที่ว่ามาแล้ว แล้วในระดับหนึ่งก็มีหลายแขนง หลายสาขา ดังนั้น เราจะต้องรู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น โลก(โลก-กะ)นิยมอันไหน แม้แต่ในระดับการกิน การอยู่ แต่งเนื้อแต่งตัว เล่นหัวนี่มันก็อย่างหนึ่ง นี้มันก็เป็นโลกนิยม การศึกษา การงาน การอะไรต่างๆ ตามที่เขานิยม ก็เป็นโลกนิยม อุดมคติทางการเมืองที่ลึกซึ้งนั้น มันก็เป็นโลกนิยม ก็หมายความว่าอะไรถ้าเขานิยมกันมากๆ เราก็เรียกว่าโลกนิยม จนถึงว่ามีความมั่นคงในความนิยมนั้นๆ มีอำนาจ มีอิทธิพล ครอบงำจิตใจของคน ก็เรียกว่าโลกนิยม ดังนั้น ตอบไม่ถูกหรอกว่าอันไหนจะถูกหรือจะผิด ต้องดูเอาเอง โดยอาศัยหลักธรรมนิยมเข้ามาจับดูว่ามันเป็นธรรม เป็นความถูกต้อง เช่นว่ามันเป็นการบังคับกิเลส บังคับตัวเอง เป็นการยอมรับสิทธิของผู้อื่น สงสารผู้อื่น ด้วยความเมตตา กรุณา เหล่านี้ เป็นต้น แล้วมันก็ถูก คือมันเป็นธรรมนิยม เอาไว้ เอ้อ, ฟอกหรือสอบสวนไอ้พวกโลก(โลก-กะ)นิยม ว่าโลกนิยมอันนี้ จะไปไหวไหม ควรจะ อ้า, เกี่ยวข้องไหม ถ้าว่ากันที่จริง แล้วหลีกให้มาก เท่าที่จะหลีกได้นะดี ต่อเมื่อหลีกไม่ได้นะ จึงจะบ่ายเบี่ยงไปพอไม่ให้มันเกิดเรื่อง แล้วมาอยู่ในธรรมนิยมเสียไม่ดีกว่าหรือ
ผู้ถาม : ถ้าสมมติเราจะดำเนินชีวิตตามธรรมนิยม โดยไม่เกี่ยวข้องกับโลกนิยมเลย จะเป็นไปได้หรือเปล่าคะ
ท่านพุทธทาส : สิ่งนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าธรรมนิยมมันก็ ก็อยู่ที่โลก มันอาศัยอยู่บนโลก ในโลก คือคนนี่ คนนี่จะเป็นผิด หรือเป็นถูก หรือเป็นดี เป็นชั่ว เป็นที่ตั้งแห่งโลก เป็นที่ตั้งแห่งธรรม โดยพฤตินัยแท้จริงมันก็ไม่แยกกัน เรามีชีวิตอยู่โดยธรรมนิยม ทีนี้เผอิญว่าไอ้โลก(โลก-กะ)นิยมบางอย่างมันประกอบไปด้วยธรรมก็มี ไอ้ที่บางแห่ง บางยุค บางสมัย เขานิยมกันถูกต้อง เป็นความนิยมของคนทั้งบ้าน ทั้งเมือง ทั้งโลกคือแห่กันมาในทางธรรมอย่างนี้มันก็มี อย่างนี้ก็มองดูทางหนึ่งก็เห็นได้เป็นโลก(โลก-กะ)นิยม หรือทั้งโลกมันก็ นิยมธรรมะ นิยมศาสนา นิยมพระเจ้า อันนั้นก็เป็นธรรมนิยมอยู่ในตัว นี่คือ แยกกันไม่ได้อย่างนี้ เพราะมันตั้งรากฐาน ตั้งอยู่บนรากฐานเดียวกัน จะแยกกันไปทางผิด หรือทางถูก รากฐานนี่ก็คือจิตใจของมนุษย์ เป็นที่ตั้ง แห่งความผิด ความถูก ความชั่ว ความดี เป็นโลกหรือเป็นธรรม สูงหรือต่ำ ขอให้ศึกษาจิตใจ อ้า, ของตนเองไว้ให้ดี ถ้ามันเกิดร้อนขึ้นมา ก็คือความทุกข์ ก็คือผิด แล้วมันสงบอยู่ได้ ก็คือความถูก ตอบโดยเฉพาะก็ ก็ไม่ได้ ต้องตอบว่า มันเป็น ถูกหรือผิดโลกนิยมนี่มันถูกหรือผิด แล้วคำว่าถูกนี้ถูกทั้งหมด หรือถูกแต่บางส่วน หรือว่าถูกแต่เพียงบางยุค บางสมัย พอพ้นสมัยแล้วมันก็ไม่ถูก มันก็มี เช่นเรื่องที่ถูกต้องสำหรับเด็กๆ นี่ ก็ไม่ถูกต้องสำหรับคน ผู้ใหญ่อย่างนี้ก็มี หรือว่ายังถูกต้องตลอดไปมันก็มี ดังนั้น ไปแยกออกเป็น เรื่องๆ รายๆ ไป แล้วไปวินิจฉัยเอาเอง
ผู้ถาม : ขอบพระคุณท่านอาจารย์มากค่ะ
ท่านพุทธทาส : อ้าว, พอดีหมดเวลาแล้ว หรือใครยังมีอีก อ้าว, อีกคนหนึ่งได้ อ้าว,
ผู้ถาม : ที่ท่านอาจารย์บอกว่า บางอย่างให้เราอนุโลมตามโลกนิยม แต่ ไม่ใช่หมายความว่าเราหวัง สิ่งนั้นหรืออยากได้สิ่งนั้น เพื่อเอาตัวรอด ดิฉัน มีความสงสัยในคำว่าเอาตัวรอดค่ะ เพราะว่ามัน มันจะผิดว่าเราไม่ยึดสัจจะ หรือเปล่าคะ
ท่านพุทธทาส : เราก็มีสัจจะส่วนใหญ่ที่ว่าเราจะเอาตัวรอด จากความทุกข์ ตามวิธีที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่ารอดแล้วก็จะเป็นใช้ได้ไปหมด เอาตัวรอดเป็นยอดดีนี่ ก็หมายถึงว่าเอาตัวรอดอย่างถูกต้อง นั่นถือเป็นหลักใหญ่ ทีนี้ บางคราว เป็นเรื่องเล็กน้อยหรอก ที่ว่าคนเขาจะต้องการอย่างนั้น ต้องการอย่างนี้ ระเบียบวินัยเล็กๆ น้อยๆ อนุโลมตามได้ เช่น เราจะไป ไปเมืองฝรั่ง อย่างนี้ บางอย่างมันก็ต้องเปลี่ยนบ้าง ให้ไปทางความนิยมซึ่งจะเข้ากันได้ หรือว่าอยู่ ในยุคที่มันมีความนิยมอะไรเปลี่ยนไปบ้างนะไม่ใช่ส่วนใหญ่หรอก โดย มากมันเป็นส่วนเล็กๆ น้อยๆ ที่จะอนุวัตตามโลกบ้าง รู้ได้เองนะ ไม่ต้องกลัว คือมันไม่ ไม่ ไม่มีผิด ต้องไม่ผิด แม้อนุวัตตามนี้แล้วก็ไม่ผิด ความถูกนั้นมันเป็นธรรม นี่ไอ้โลกนี้ อ้า, บางทีมันก็ผิด บางทีมันก็ถูก แต่ส่วนใหญ่ที่เราได้เรียก ว่าโลกนิยม นั่นก็คือคนส่วนมากนั้น มักจะไปตามอำนาจของกิเลส คือว่า นิยมอยู่ในขั้นต่ำๆ ทำให้เลื่อนชั้นไปไม่ได้ เมื่อกิเลสมันครอบงำหนักเข้า เขาก็เป็นโรคแรงขึ้น จนไม่มีธรรมะเหลือ ต้องระวัง เช่น เขาก็ต้องการความ เรียบร้อย เราก็ต้องแต่งเนื้อแต่งตัวให้เรียบร้อย นี่เขาเรียกว่าอนุวัตตามโลกนิยมบ้างเหมือนกัน ถ้าพวกธรรมนิยมแท้ๆ แล้ว ก็ไม่ต้องแต่งตัวถึงขนาดนั้นก็ได้ รู้ได้เองไม่ต้องกลัว
ผู้ถาม : ขอบพระคุณท่านอาจารย์มากค่ะ
ท่านพุทธทาส : อ้าว, ปิดประชุม กลับกัน