แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
(เสียงท่านพุทธทาส) ท่านที่เป็นราชภัฏผู้ลาบวชทั้งหลาย ในการบรรยายครั้งที่ ๕ นี้ ผมจะได้กล่าวโดยหัวข้อว่าการเป็นเกลอกับธรรมชาติ ขอให้ทบทวนไปถึงการบรรยายครั้งที่ ๑ เสมอไป ที่ได้พูดกันถึงอานิสงส์ประโยชน์ที่จะได้รับจากการลองบวช การลองมาบวช และก็อยู่ในสถานที่อย่างนี้ เราได้พูดกันมาแล้วว่าเป็นการชิมลองอะไรหลาย ๆ อย่าง นับตั้งแต่ว่าทดลองมีชีวิตแบบปรทัตตูปชีวี มากกว่าที่อยู่ที่บ้าน ที่เมือง บรรพชิตมีหลายประเภท บางประเภทก็ไม่สู้จะเป็นปรทัตตูปชีวี คือหาเลี้ยงกันเองไปตามประสา แต่ภิกษุในพุทธศาสนาเรานี้อยู่ในประเภทที่เป็นปรทัตตูปชีวี ไม่ไปเก็บผลไม้กิน เก็บฝักบัวกิน เก็บรากไม้กินตามลำพัง เหมือนกับบรรพชิตบางพวก เป็นชีวิต เอ้อ, เป็นบรรพชิตประเภทสัน ยาสี (นาทีที่ 02:34) คือติดต่ออยู่กับชาวโลก เพื่อทำประโยชน์แก่ชาวโลก ดังนั้นจึง จึงรับประทานจากชาวโลก ก็ขอให้เข้าใจเรื่องนี้จนเอาไปใช้เป็นประโยชน์ได้ทั่วไปหมด แม้จะลาจากบรรพชิตไปแล้ว เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากลัทธิปรทัตตูปชีวี แม้ในครอบครัว ไม่ ยอมรับ (นาทีที่ 03:15) ข้อที่ว่าต่างฝ่ายต้องเลี้ยงซึ่งกันและกัน มันก็สมัครสมานสามัคคีกัน อย่างที่เรียกว่าเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ร่วมเกิด ร่วมเจ็บ ร่วมไข้ ร่วมตาย กันได้ง่าย นั้นขอให้ถือว่าทั้งโลกอาจจะถืออุดมคติอันนี้ และผมคิดว่าก็ได้รากฐานแห่งลัทธินิยมสังคมที่ดี เดี๋ยวนี้มีแต่สังคมนิยมหลอกลวง ก็ลองมีลัทธิปรทัตตูปชีวีอย่างแท้จริง ความหมายของสังคมนิยมจะบริสุทธิ์ มันจะเป็นสังคมนิยมขึ้นมาเอง คือเห็นแก่กันและกันอย่างยิ่ง นั้นขอให้เอาไปใช้กันอย่างกว้างขวางอย่างนี้ คือมองดูให้มันอย่างกว้างขวางถึงที่สุดก็ยังดี
ทีนี้อานิสงส์ที่ว่า ข้อที่ ๒ ที่ว่าจะเป็นชิม จะได้ชิมลองการเป็นอยู่อย่างต่ำและมีการกระทำอย่างสูง ก็มีความหมายกว้างขวางอย่างเดียวกันอีก แล้วก็เพ่งเล็งเอาที่ใจความสำคัญของมันในข้อที่ว่าเป็นอยู่อย่างต่ำมันลงทุนอย่างน้อย สะอาด เอ้อ, และก็กระทำอย่างสูงมันได้ผลมาก มากกว่ากันหลายเท่า มันก็เป็นหลักเศรษฐกิจทั่ว ๆ ไป นั้นถ้าใครมีลัทธิเป็นอยู่ต่ำ ๆ ก็ทำอย่างสูง ๆ ก็เป็นผู้ที่มีเศรษฐกิจทางวิญญาณอย่างสูง แล้วก็ทางวัตถุด้วย แล้วก็เป็นไปเพื่อสันติสุข สันติภาพของมนุษย์ หรือแม้แต่เรื่องธรรมดาสามัญนี้ ถ้าเรามีการลงทุนน้อยได้ผลมาก มันก็เป็นเรื่องใจความของเรื่องเศรษฐกิจ ส่วนไอ้เรื่องลงทุนน้อยเอาผลมาก เอากำไรมากเพื่อประโยชน์แก่ตัวเอง เพื่อประโยชน์แก่กิเลสนั้น ไม่ ไม่รวมอยู่ในข้อนี้ เรายอมรับว่าไอ้ลงทุนน้อย ได้ผลมากนี้เป็นหลักที่ดี แต่ต้องเป็นเรื่องที่บริสุทธิ์ที่ถูกต้อง นี้ก็มาทดลองเป็นอยู่อย่างต่ำ ๆ และทำอย่างสูง สุดจนตีราคาไม่ไหว ขอให้ทดลองชิมรสอย่างนี้อยู่ตลอดไปจนกว่าจะถึงวันลาสิขา และเอาไปใช้ในสัดส่วนที่พอสมควร
ในส่วนข้อที่ ๓ อยู่อย่าง อยู่อย่างมุนี ทดลองการเป็นอยู่อย่างมุนี มีรู้ มีความรู้ตลอดถึงความนิ่ง ตลอดถึงนิ่งอยู่กับความสะอาด สว่าง สงบ เป็นมุนี ตีความให้ถูกต้องให้สมบูรณ์เอาไปใช้ที่บ้านได้ เป็นมุนีในครอบครัว พ่อก็เป็นมุนี แม่ก็เป็นมุนี ลูกหลานก็เป็นมุนี คือมันฉลาด จะมีการกระทบกระทั่งเรียกว่ากัดกันแม้บนเตียงนอน มันก็เป็นเรื่องไม่ฉลาด คอยสนใจคำว่ามุนีที่ว่าผู้รู้ มันรู้ขนาดที่จะแก้ปัญหาได้ นี้ถือว่าไอ้ความเป็นมุนีนี้มันคู่กับความเป็นมนุษย์ รากศัพท์คำเดียวกัน ความเป็นมุนีอยู่ในความเป็นมนุษย์ และมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ก็ไม่ได้เป็นมุนี ถึงไม่เป็นมุนีก็ไม่เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ แต่มุนีมีหลายขั้น ขอให้เป็นมุนีก็แล้วกัน อย่าเป็นคนที่ปราศจากความเป็นมุนี ที่จะสามารถแก้ปัญหาของโลกทั้งมวลได้ คือปัญหาทุกปัญหา ปัญหาของทุกระดับของโลกด้วยความรู้ ความเป็นผู้รู้ ขอให้ฝึกฝนในความเป็นมุนี ชิมลองรสของความเป็นมุนี ในระหว่างที่บวชให้เต็มที่ ก่อนจะลาสิขาออกไปก็เอาไปใช้ให้มันเต็มที่ในจำนวนที่มันจะใช้ได้ อย่างที่ได้กล่าวกันมาแล้วอย่างละเอียด
ทีนี้ก็มาถึงข้อที่ ๔ การอยู่อย่างเป็นเกลอกับธรรมชาติ ก็ขอให้ทดลองให้มาก แล้วเราจะรู้อะไรมาก หันหลังให้ธรรมชาติก็รู้อะไรน้อย ในส่วนที่จะต้องรู้ ธรรมชาติทั้งทางฝ่ายวัตถุ ธรรมชาติของฝ่ายที่เป็นนามธรรม คือเป็นจิตใจ กระทั่งว่าทุกคนก็เป็นเกลอกับธรรมชาติ หรือว่าสังคมโลกของทั้งโลก คือมนุษย์ทั้งหมดก็ซื่อสัตย์ที่จะเป็นเกลอกับธรรมชาติ โลกก็จะดีกว่านี้ โลกนี้จะดีกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เดี๋ยวนี้มนุษย์ในโลกไม่ ไม่แยแสกับธรรมชาติ ไม่รู้ไม่ชี้กับธรรมชาติ จะเอาแต่ประโยชน์ของตน นั้นเราจะพิจารณาเรื่องการเป็นเกลอกับธรรมชาตินี้ให้ละเอียดต่อไปอีก ในชั้นแรกมันมีปัญหาอยู่ที่คำว่าธรรมชาติ ในภาษาไทย ภาษาธรรมดา ๆ นี้มันก็มีความหมายไม่ค่อยตรงกัน ยิ่งไปเทียบกับคำฝรั่งที่ว่า Nature มันก็ยิ่งทำให้เข้าใจกันยาก ยิ่งไปเทียบกับภาษาบาลีแล้วยิ่งมีความหมายกว้างแคบกว่ากัน หรือไปคนละทิศละทาง ในภาษาไทยเมื่อพูดถึงธรรมชาติ มันก็ดูจะเล็งถึงอาการหรือวัตถุสิ่งของที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ และก็นิยมรู้กันแต่เพียงเรื่องทางฝ่ายวัตถุ ภาษาบาลีใช้คำว่าธรรมชาติกว้างกว่านั้นมาก จนไม่มีอะไรที่มิใช่ธรรมชาติ แม้แต่พระนิพานอันสูงสุดก็เป็นธรรมชาติ ลองเมื่อเรียนบาลี เรียนธรรมะแล้ว จึงจะได้รู้ว่าพระนิพานก็เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง ถ้าเรียนอย่างที่เรียน ๆ กันอยู่อย่างปกตินี้ จะไม่ได้รับฟังอย่างนั้น และจะไม่เข้าใจอย่างนั้นได้ เป็นภาษาธรรมะชั้นปรมัตถ์แล้วก็ยิ่ง ยิ่งยืนยันในข้อนี้ชัดเจนที่สุดว่าไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ ๖ ธาตุนี้ก็เป็นธรรมชาติประกอบกันขึ้น เป็นสัตว์ เป็นคนก็เป็นธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมชาติ ยังคงเรียกว่าธรรมชาติอยู่นั้นเอง ถ้ามาประกอบกันขึ้นเป็นสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ ก็คือว่าธรรมชาติที่รวมกัน รวมกลุ่มกันเรียกว่าสังขาร มันก็คือธรรมชาติ แต่ภาษาไทยไม่ยอมใช้อย่างนั้น ไม่ยอมให้ความหมายอย่างนั้น เพราะผิดจากภาวะเดิมก็ไม่เรียกว่าธรรมชาติ พอจะพูดคำนี้กับพวก กับชาวต่างประเทศ เราก็ไม่มีคำอื่น เราไม่ทราบ ทราบแต่คำว่า Nature ทีนี้คำว่า Nature มันก็มีความหมายจำกัดบางสิ่งบางอย่าง ไม่อาจจะใช้คำว่าพระนิพพาน ไม่อาจจะใช้แก่สิ่งที่เราเรียกว่าพระนิพานได้เลย มันมีความหมายเฉไปทางอื่น แคบกว่าคำว่าธรรมชาติในภาษาไทยเสียอีก บางทีใช้คำว่า Nature เป็นเพียงลักษณะปกติธรรมดาของคน ของสัตว์ ของอะไรในทำนองนั้น ไม่ใช่ถึงทุกสิ่ง ไม่ใช่หมายถึงทุกสิ่ง มันไปหาคำพูดเอาเอง ผมเคยปรึกษากับชาวต่างประเทศบางคน เขาก็จนปัญญา เอาใช้คำอะไรมาแทน มาใช้คู่กับธรรมชาติ ในภาษาบาลี เป็นภาษาทางธรรม
ทีนี้เมื่อพูดถึงธรรมชาตินี้ เราก็หมายถึงความหมายอย่างในภาษาบาลี ที่ใช้เป็นหลักอยู่ในทางอธิบายธรรมะ ในทางพุทธศาสนาซึ่งไม่ขัดกับภาษาไทยด้วย และใช่ที่เคยใช้อธิบายมาแล้ว ยึดไว้เป็นหลักในการทำความเข้าใจกัน เรามีธรรมชาติที่แบ่งออกไปเป็น ๔ ประเภท หรือ ๔ รูปกาล รูปกาล รูปลักษณะ เพื่อให้เป็นความหมายสมบูรณ์ของคำว่าธรรมชาติ ซึ่งในภาษาบาลีสั้น ๆ ว่า ธรรม ธรรมะนะ เป็นคำเดียวกัน ก็เชื่อว่าคงจะเคยได้ยินได้ฟังกันมาแล้ว จากเรื่องที่บรรยายไปแล้วหรือเขียนไปแล้ว ธรรมชาติคือปรากฏการณ์โดยตรง ธรรมชาติคือกฎของธรรมชาติ ธรรมชาติที่เป็นหน้าที่ เป็นหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ และผลที่จะเกิดขึ้นตามหน้าที่ ตามกฎของธรรมชาติ อย่างนั้นเราเรียกว่าธรรมชาติ หรือเกี่ยวกับธรรมชาติไปหมด เพื่อให้เป็นถ้อยคำที่รวบรวมความหมายทั้งหมดนี้เอาไว้ เป็นใจความของพุทธศาสนาว่าพระพุทธศาสนาทั้งหมดระบุลงไปใน ๔ เรื่องนี้ ซึ่งล้วนแต่เป็นธรรมชาติ สิ่งทั้งหลายที่เป็นอยู่อย่างไร มีปรากฏการณ์อย่างไร เป็นรูปธรรม เป็นนามธรรม เรียกว่าตัวธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ ก็ตัวธรรมชาติ และในธรรมชาติก็มีกฎของธรรมชาติ เช่นกฎอิทัปปัจจยตา เช่นกฎไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้เรียกว่ากฎธรรมชาติ โดยเฉพาะกฎอิทัปปัจจยตานี้ ใช้ธรรมชาติปรุงแต่งกันเป็นนั้นเป็นนี้ขึ้นมาด้วย คล้าย ๆ ว่าตัวกฎนั้นเป็นพระเจ้าผู้สร้างสรรค์อะไรขึ้นมาไม่รู้สิ้นสุด
ทีนี้ในกฎของธรรมชาตินั้นน่ะ มันมีส่วนหนึ่งซึ่งทำให้เกิดหน้าที่แก่ทุกสิ่งที่ต้องการจะดำรงชีวิตอยู่เป็นต้น จึงต้องมีการทำหน้าที่ การหาอาหารเป็นข้อแรก การป้องกันตัวตามสัญชาตญาณ กระทั่งว่าจะต้องไม่เจ็บไม่ไข้ ไม่เป็นไม่ตาย ต้องทำให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ นั้นปฏิบัติธรรมเพื่อดับทุกข์ทั้งปวงก็เป็นหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ แต่เป็นระดับสูงสุด นี้ธรรมชาติส่วนสุดท้ายคือว่าอะไรคือผลที่ออกมาจากการทำหน้าที่ ซึ่งตรงตามกฎของธรรมชาติ จะฝืนไม่ได้ ก็เรียกว่าเป็นผลที่ได้รับตามกฎของธรรมชาติ พุทธศาสนาไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ ทุก ๆ อย่างมันจะรวมอยู่ในคำนี้คำเดียวแล้วกระจายออกไปเป็น ๔ ๔ รูปกาล ๔ รูปลักษณะ เมื่อเรารู้จักธรรมชาติและความหมายของธรรมชาติในลักษณะอย่างนี้ ก็คือสรุปใจความได้ว่า สิ่งที่มันเป็นไปเอง ในตัวมันเอง ตามกฎของมันเอง แล้วก็ถ้า ถ้าไปเล็งถึงลักษณะภาวะที่มันต้องเป็นอย่างนั้น เราก็เรียกกันว่าธรรมดา ไอ้ที่ว่ามันต้องเป็นไปเองอย่างไร ก็เรียกว่าธรรมชาติ ความที่มันต้องเป็นอย่างนั้นเราเรียกว่าธรรมดา ถ้าพูดอย่างภาษาบาลีก็พูดอย่างนี้ ภาษาไทยก็เพี้ยนไปบ้าง
นี้พูดถึงความเป็นเกลอกับธรรมชาติ ในชั้นแรกที่สุดขอให้เข้าใจว่าเป็นหลักสำคัญในพระพุทธศาสนา คือการปฏิบัติให้ถูกต้อง ให้คล้อยตามหรือให้เป็นอันเดียวกันกับธรรมชาติ แล้วแต่กรณีนี้ เรียกว่าตัว ตัวพุทธศาสนาในวิธีการพูดแบบหนึ่ง ฝรั่งเขาจะไม่เข้าใจได้โดยการศึกษาอย่างแบบฝรั่งว่า หรือไม่เข้าใจได้ หรือไม่รู้ว่า การเป็นพุทธบริษัทนี่มันมีการศึกษาหรือการเป็น การประพฤติปฏิบัติ หรือการเป็นไปที่สมคล้อยกับธรรมชาติ แม้แต่พวกเราชาวไทย พุทธบริษัทไทย ก็ยังน้อยคนที่จะมองในแง่นี้ หรือได้ยินได้ฟังแล้วเข้าใจในแง่นี้ เพราะฉะนั้นขอให้จำไว้เสียด้วยเลยว่า ถ้าอยากเป็นพุทธบริษัทให้ถูกต้องตามครรลองของพุทธบริษัทแล้วก็ ให้ใช้หลักธรรมชาติ ให้เป็นไปอย่างสมคล้อยกับธรรมชาติ และจะมีความเป็นพุทธบริษัท นึกขึ้นมาตามมากตามน้อยตามที่เราจะคล้อยตามธรรมชาติได้อย่างไร ข้อนี้จะใช้ได้ตลอด ไปถึงเมื่อเราเกิดความสงสัยอะไรขึ้นมา เช่นจะสงสัยปฏิบัติผิดหรือปฏิบัติถูก ในการกินอยู่ ในการประพฤติกระทำ การนุ่งห่มอะไรก็ตาม เราเกิดสงสัยขึ้นมา นี้จะถูกหลักพระพุทธศาสนาหรือไม่ วิธีง่าย ๆ ที่สุดก็นึกถึงข้อนี้ก่อนก็ได้ ถ้ามันสมคล้อยไปด้วยกันกับธรรมชาติหรือกฎของธรรมชาติก็เป็นถูกแน่นอน เช่นว่ากินอยู่ดีเกินไป มันก็เป็นเรื่องที่ผิดธรรมชาติ หรือกินอยู่น้อยไป มันก็ไม่ถูกธรรมชาติ นั้นการที่จะนำมากินมาใช้ด้วยความหลงใหลในเรื่องสวยเรื่องงาม ด้วยเรื่องเอร็ดอร่อย มัวเมานี้ มันก็ไม่เป็นธรรมชาติ ไม่ถูกตามกฎของธรรมชาติ การนุ่งห่มก็เหมือนกัน กระทั่งว่าการบำบัดโรคที่ถูกต้องตามความมุ่งหมายของพุทธศาสนาแล้วจะต้องเป็นไปอย่างสมคล้อยกับกฎของธรรมชาติ ไม่ทำให้มันฝืนกฎธรรมชาติ แต่คำพูดมันอาจจะตีกันยุ่งไปหมดจนฟังยาก เช่นว่าการจะทำให้รักษาโรคภัยไข้เจ็บให้หายได้เป็นการฝืนธรรมชาติหรือเปล่า ถ้ามองในส่วนลึก มันก็ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติที่จะทำให้โรคภัยไข้เจ็บหายได้ แต่เราไม่ได้เล็งกันถึงขนาดนั้นน่ะ ถ้าสำหรับภิกษุหรือบรรพชิตแล้ว การรักษาโรคเยียวยาโรคจะเอาเท่าที่มันพอกลมกลืนกับธรรมชาติ ถ้ามันมากเกินไปจะสมัครตายมากกว่าได้รับการรักษาที่มันเกินธรรมชาติเกินไป อย่างจะเปลี่ยนหัวใจหรือว่าทำอย่างนี้มันเกินธรรมชาติเกินไป ดูความมุ่งหมายของพระวินัยแล้วไม่ต้องการให้ทำแบบนั้น นี้วินัยบัญญัติห้ามทำการผ่าตัดในที่แคบ ผ่าท้องผ่าอะไรก็ตามมันเป็นการผ่าตัดในที่แคบ คือมันเกินธรรมชาติ เกินระดับของบรรพชิตผู้เป็นอนาคาริก ตามหลักเกณฑ์อันนี้ แต่เดี๋ยวนี้เราก็ไม่ค่อยได้ถือกันแล้วที่มันละเอียดเกินไปอย่างนี้ แต่เราจะถือหรือไม่ถือไอ้หลักเกณฑ์มันก็ยังคงอยู่ ที่มันมากเกินกว่าธรรมชาติไปแล้ว มันก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรอย่างนี้เป็นต้น
นี้เราจะดูคำว่าความเป็นเกลอกับธรรมชาติ ยิ่งควรจะทำความเข้าใจให้ ให้ครบถ้วน ในทุกระดับจะดีกว่า เมื่อวางหลักกลาง ๆ ลงไปว่าเป็นเกลอกับธรรมชาติ ถือไว้เป็นหลักก่อน ถ้าท่านได้น้อยกว่านั้น ก็จะได้เรียกว่าอยู่อย่างสมคล้อยกับธรรมชาติ ถ้าทำดีกว่านั้น ดีไปที่สุดเสียเลย ก็จะเรียกว่า อยู่อย่างเป็นอันเดียวกันกับธรรมชาติ ก็เลยได้เป็น ๓ ระดับขึ้นมา อยู่อย่างสมคล้อยกับกฎของธรรมชาตินี้เป็นอัน อันแรกกว้าง ๆ แล้วก็อยู่อย่างเป็นเกลอกับธรรมชาติก็ชิดเข้าไปอีก อันที่ ๓ อยู่อย่างเป็นอันเดียวกันกลายเป็นตัวธรรมชาติไปเสียงเอง สูงที่สุด ถ้าจำกัดความอย่างนี้แล้วก็จะครบหมด เพราะในบางกรณีเราจะเป็น เราจะทำได้เพียงสมคล้อยกับกฎของธรรมชาติ แต่ในบางกรณีเราทำได้มากกว่านั้น ถึงขีด ข้อนี้เรียกว่า เป็นเกลอกับธรรมชาติ ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ถ้าทำไปได้มากกว่านั้นอีกโดยเฉพาะในทางด้านจิตใจเป็นอันเดียวกับธรรมชาติ หรือเป็นตัวธรรมชาติเสียเอง ก็ไม่ต้องมี ๒ คนเป็นเกลอกัน นี้ถ้าดูคราวเดียวหมดก็จะพบว่า อยู่อย่างสมคล้อยกับธรรมชาติจะช่วยให้เป็นเกลอกับธรรมชาติได้ง่ายขึ้น หรืออยู่อย่างเป็นเกลอกับธรรมชาติ มันจะช่วยให้เป็นอันเดียวกับธรรมชาติไปเสียเลย ขอให้สนใจความหมาย ๓ ข้อนี้ให้มาก แล้วจะเข้าใจพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งกว่าที่เข้าใจอยู่เวลานี้เป็นอันมาก มากมายหลายเท่า
ในหลักธรรมะทุก ๆ ข้อมันจะอธิบายได้ด้วยหลัก ๓ ประการนี้คือโดยทั่วไปก็อย่าลืมว่า ไอ้มนุษย์เรานี้ทั้งเนื้อทั้งตัวมันเป็นธรรมชาติ ไอ้แผ่นดินทั้งโลกมันก็เป็นธรรมชาติ ทั้งตัวของโลก ทั้งสากลโลกมันก็เป็นตัวธรรมชาติ นี้มนุษย์เราเนื้อหนัง ร่างกายทั้งหมดนี้ก็เป็นธรรมชาติ มีส่วนที่เป็นธรรมชาติอยู่ เป็นธรรมชาติโดยส่วนเดียว ธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่งไม่ได้ผสมกับอะไร ก็มีอยู่มาก ธรรมชาติที่ปรุงแต่งกัน มันก็มีอีก แต่ก็ไม่พ้นจากธรรมชาติ เช่นว่า ธาตุดินเป็นธรรมชาติ ธาตุไฟ ธาตุน้ำ ธาตุลม แต่ละธาตุเป็นธรรมชาติ ในขณะที่มันผสมปนกันหลาย ๆ ธาตุ มันก็ยังคงเป็นธรรมชาติ ในเนื้อตัวของเรามันยังเป็นธรรมชาติ มันควรจะรู้จักธรรมชาติในฐานะที่เป็นตัวธรรมชาติเอง แล้วก็เป็นกฎของธรรมชาติ แล้วก็เป็นหน้าที่ของมนุษย์ตามกฎของธรรมชาตินั้น ก็เป็นผลที่เราได้รับจากเนื้อตัวของเรานี้ ตามกฎของธรรมชาตินั้น จงอย่าลืมว่ามนุษย์ทั้งเนื้อทั้งตัวคือธรรมชาติ และจะเข้าใจอะไรได้มากว่าที่ตัวเองเคยเข้าใจมาแล้ว
นี้เราจะต้องมีหลักว่า เป็นอยู่อย่างสมคล้อยกับธรรมชาติ เป็นอยู่อย่างเป็นเกลอกับธรรมชาติ ก็เป็นอยู่อย่างเป็นอันเดียวกันเสียเลยกับธรรมชาติ บางคนอาจจะถามว่าทำไมจะต้องเป็นอย่างนั้น นี้ถ้า เขาไม่รู้เสียจริง ๆ ก็จะต้องถามว่าทำไมต้องเป็นอย่างนั้น ก็พอจะตอบได้ว่า เราไม่สามารถจะฝืนธรรมชาติ เราไม่สามารถจะฝืนกฎของธรรมชาติ เราไม่สามารถจะเลิกล้างกฎของธรรมชาติ พระพุทธเจ้าหรือใครก็ตามไม่สามารถจะฝืนกฎของธรรมชาติ จะเลิกล้างกฎของธรรมชาติแล้วตั้งเอาใหม่นี้มันไม่สามารถ การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก็คือรู้เรื่องธรรมชาติใน ๔ ความหมายนั้นและนำมาสอน มันเพิกถอนอะไรไม่ได้ นอกจากจะสอนให้มนุษย์รู้จักปฏิบัติตนให้ได้รับประโยชน์ที่ควรจะได้รับโดยคล้อยกันกับกฎของธรรมชาตินั้น หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็ว่า เพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งกับธรรมชาติ โดยเราอาจจะปรับตัวเข้ากันได้กับธรรมชาติ ได้เคยพูดมาบ่อย ๆ ว่าการขัดแย้งคือสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาที่สุด คือเป็นตัวความอุบาทว์ที่สุด ไม่ว่าจะขัดแย้งในทางไหน ทางกาย ทางใจ มันเป็นตัวทำลายที่สุด หรือจะไม่ขัดแย้งกับธรรมชาติ เราจึงต้องรู้เรื่องธรรมชาติ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็ว่า เพื่อใช้ธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด โดยที่ธรรมชาติต้องไม่เสียอะไรไปเลยก็ได้ เพราะว่าที่จริงแล้วเขาก็พูดกันอย่างนั้นอยู่แล้ว ในแง่ของวิทยาศาสตร์นี้ไม่มีสสารอันใดที่ต้องเสียไป เพียงแต่มันเปลี่ยนรูป เราจะใช้ธรรมชาติให้เป็นประโยชน์แก่เราอย่างไร ๆ โดยธรรมชาติมิได้เสียอะไรไป เพียงแต่มันเปลี่ยนรูป ทีนี้เราใช้ธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ ให้มากที่สุดในด้านชีวิตจิตใจเกี่ยวกับความไม่มีทุกข์ มีเพียงเท่านี้มันก็พอแล้วที่จะให้ ที่จะเป็นเหตุผลให้มองเห็นว่าเราจะต้องรู้เรื่องธรรมชาติ ทีนี้จะพูดให้เป็นเรื่องขลังศักดิสิทธ์ไป แต่ก็ยังพูดได้ว่า เพื่อจะเข้าถึงพระเจ้าไง พระเจ้าคือกฎของธรรมชาติที่ใครจะขัดแย้งไม่ได้ ไม่ได้ คงไปไม่รอด
(นาทีที่ 32:31 – 33:38 เสียงท่านพุทธทาสพูดปักษ์ใต้กับคนอื่น)
[T1]ไม่รู้ตัวสะกด
[T2]ฟังไม่เข้าใจ น่าจะหมายถึงว่า “ให้ยอมรับว่าต่างฝ่ายต้องเลี้ยงซึ่งกันและกัน” หรือเปล่าคะ