แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
สำหรับการบรรยายในครั้งที่แล้วมา คงจะจำกันอยู่ได้ทุกคนว่า ในวันแรกเราก็พูดถึงคำว่าวัตถุนิยม ในวันต่อมาก็คือ มโนนิยม ในวันถัดมาอีกก็คือ ธรรมนิยม เรียกว่า ๓ หัวข้อแล้ว ที่เกี่ยวเนื่องกัน ในวันนี้คิดว่าจะเป็นการเหมาะสม ถ้าเราจะพูดกันถึงคำว่า เทวนิยม ขอให้ระลึกถึง อ้า, ข้อแนะเป็นพิเศษ ที่เคยแนะไว้ แล้วๆ เล่าๆ เสมอ ว่าปัญหายุ่งยากนี้มันเกิดจากคำพูด ที่ไม่พอจะใช้พูด นี้อย่างหนึ่ง และคำพูดที่มีความหมายต่างกัน แม้ว่าเป็นคำๆ เดียวกัน นี้ก็อีกอย่างหนึ่ง และอย่างหลังนี่แหละ ทำให้มีปัญหามาก ดังนั้น จึงขอเตือนไว้เสมอไป แม้การที่จะพูดกันถึงคำว่าเทวนิยมในครั้งนี้ก็มีปัญหาอย่างนี้ คือคำว่าเทวนิยมนั่นแหละ ทำให้เกิดปัญหา เพราะเป็นคำใหม่เพิ่งตั้งขึ้นมา เพราะคำเก่ามันไม่มี ก็คนใหม่ๆ เมื่อเร็วๆ นี้ เกิดบัญญัติคำนี้ขึ้นมาใช้ เพราะไม่มีคำที่จะใช้ อ้า, สำหรับ โดยเฉพาะคำว่า Theism ของพวก Theology Theism ของฝรั่งนั้น ก็คือ ism เกี่ยวกับ theo theo คือ เทวะ เขาไปเอา เอ้อ, คนไทยเราไปเอาคำบาลีมาให้ เป็นเทวะแล้วก็นิยม เพราะมันขาดคำพูดอยู่คำหนึ่งที่จะใช้กับสิ่งนี้ก็ตั้งขึ้นใหม่เร็วๆ นี้ ว่าเทวนิยม ไม่ใช่คำโบราณ นี่ว่าเพราะคำมันไม่พอจึงต้องตั้งขึ้นใหม่ ทีนี้ก็เกิดปัญหาที่สอง ว่า เมื่อตั้งคำว่าเทวนิยมขึ้นมาแล้ว มันก็มีปัญหาทางความหมาย ในที่บางแห่ง ในบางสมัย คำว่าเทวะ มันก็หมายอย่างหนึ่ง ในปัจจุบันนี้ที่บัญญัติคำนี้ขึ้นใช้มันก็มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง เลยทำให้เข้าใจตรงกันไม่ได้ในทันทีที่ได้พูดถึง หรือเราจะพูดถึงกันด้วยสักว่าโดยชื่อนี่มันก็ฟังกันไม่ถูก ยิ่งต้องทำความเข้าใจในความหมาย และในที่สุด เราก็ต้องถือเอาความหมายที่เขาใช้กันอยู่ทั่วๆ ไป ในวงนักศึกษาที่ใช้คำๆ นี้ และใช้มากที่สุด ในฝ่ายศาสนาอื่น เพราะว่ามีศาสนาที่สำคัญๆ จำเป็นที่จะต้องใช้คำว่าเทวนิยม ในฝ่ายพุทธศาสนาเราก็ไม่จำเป็น แล้วคำว่า เทวนิยมนี้ จะทำความยุ่งยาก ลำบาก อย่างไร ก็อยากจะบอกให้ทราบไว้บ้าง เผื่อจะให้ต้องลำบากมากนัก เพราะคำชนิดนี้ คำว่าเทวนิยม ที่เราจะเห็นทั่วๆ ไปในหน้ากระดาษพิมพ์ หนังสือหนังหา ตำรับตำราทางปรัชญานี้ ก็หมายถึงลัทธิที่ถือพระเจ้า หรือพระเป็นเจ้า กระทั่งเทวดาเล็กๆ ที่รองลงมา แต่ในฝ่ายบาง เอ้อ, ฝ่ายศาสนาบางศาสนา เขาระบุเฉพาะพระเป็นเจ้าเท่านั้น คำว่าเทวะในที่นี้ คือว่าเทวนิยมนั้นก็ถือพระเทวะ พระเทพนั้นเป็นหลัก ก็หมายถึงพระเจ้าสูงสุด ในศาสนาคริสเตียนก็ดี ศาสนาพราหมณ์ก็ดี คำว่าเทวะในคำว่าเทวนิยมนั้นหมายถึงพระเป็นเจ้า ทีนี้ก็มี เอ้อ, บางพวกที่เขาไม่มีพระเป็นเจ้าสูงสุดแต่เพียงองค์เดียว คือเขามีแต่เทวดาหรือพระเจ้ามากๆ องค์ คำว่าเทวะนั้นก็ลดลงมาถึงพระเจ้ามากๆ องค์ลดหลั่นกันลงไป ทีนี้รู้ไว้ทีหนึ่งก่อนว่า ที่เขาใช้กันอยู่มากในหมู่คนที่ถือพระเจ้า คำว่าเทวะในที่นี้นั้นหมายถึงพระเจ้า แต่ในภาษาบาลี เราจะไม่หมายถึงพระเจ้าด้วยคำว่าเทวะ ที่เขาเรียกกันว่าพระเป็นเจ้า หรือ god หรือ อัลลอฮ์ หรือ ยะฮาเว อะไรก็ตามนี่ ในภาษาบาลีใช้คำว่า อิสระ หรือในภาษาสันสกฤตด้วย อิศวระ หรือ อิศวร นี้ก็ควรจะรู้กันไว้บ้างเหมือนกันว่าคำว่า อิศวร นี้ในภาษาไทยก็หมายถึงพระอิศวรเป็นเจ้า ซึ่งเรารู้เรื่องราวกันดีแล้วต่างๆ นาๆ ว่าเป็นพระเจ้าสูงสุดอย่างไร แต่คำว่า อิศวระ หรืออิศวรนั้น ในภาษาบาลีมันไม่มีใช้ มีคำๆ เดียวกันใช้คือคำว่า อิสระ อิสระ ทีนี้ใน อิสระ เอ้อ, คำว่า อิสระในภาษาไทยเราหมายถึงความเป็นอิสระ หรือบุคคลผู้เป็นอิสระ ไม่ต้องติดคุกติดตาราง อันนี้มันทำยุ่งเห็นไหม ในภาษาบาลีในพระไตรปิฏก คำว่า อิสระ นี้ หมายถึง อิศวร อิศวระ แล้วก็หมายถึงพระเป็นเจ้า เช่น พระอิศวระ เอ้อ, เพราะอิสระบันดาล นี่ก็คือพระเจ้าบันดาล ไม่ใช่อิสระชน หรือเจ้านายบันดาล แต่ในภาษาไทยเราก็ได้ใช้คำว่าอิศวรอย่างภาษาสันสกฤต ก็ค่อยง่ายหน่อย ทีนี้ถ้าไปเจอในภาษาบาลี จะพบคำว่า อิสระ แล้วก็จะนึกไม่ออกว่านี่หมายถึงอิศวร หรือพระเป็นเจ้า ในลัทธิที่เขาถือพระเป็นเจ้า นี่ก็เพื่อจะบอกให้ทราบว่าในภาษาบาลีไม่ได้ใช้คำว่าเทวะในเมื่อหมายถึงพระเป็นเจ้า คำว่าเทวะในภาษาบาลีนี้ หมายถึง เอ้อ, ที่ไม่ใช่มนุษย์ คือพวกเทวดาทุกๆ ชนิด แม้ไม่เป็นพระเป็นเจ้า แม้เทวดาตามต้นไม้ ตามแผ่นดินก็เรียกว่าเทวะไปทั้งนั้น กระทั่งว่าฝนนี่ก็เรียกว่าเทวะ ฝนที่ตกลงมานี่ก็เรียกว่าเทวะ กระทั่งพระเจ้าแผ่นดินโดยสมมติที่เป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้นก็เรียกว่าเทวะ นี่ยังมีเทวะอย่างในความหมายทั่วไป เรียกว่า เขาไม่ใช่มนุษย์ แล้วยังมีวิสุทธิเทวะซึ่งหมายถึงพระอรหันต์ พระอรหันต์ก็เป็นเทวะ นี่ถ้าเรากำหนดไว้ไม่ได้มันก็จะยุ่ง จะเอาตามหลักทั่วๆ ไป ในคัมภีร์ของพวกพุทธบริษัทก็จะได้เป็น ๓ อย่าง สมมติเทวะ คือพระเจ้าแผ่นดิน นี่สมมติเทวะ แล้วก็ อุปปัตติเทวะ หมายถึงเทวดาในความหมายทั่วๆ ไป คืออยู่ที่ไหนก็ไม่รู้นะ เรียกว่าอุปปัตติเทวะ แล้วก็มีสมมติเท เรียกว่า วิสุทธิเทวะ เทวะโดยความบริสุทธิ์นี่คือพระอรหันต์ หมายความได้ทั้ง ๓ อย่าง อันนี้ เทวะ ทีนี้พอเอาคำว่าเทวะนี้มาผูกกันเข้าเป็นคำว่าเทวนิยม ในภาษาไทยมันก็ไม่ได้หมายความถึง ๓ พวกนี้เลย อย่างมากก็จะหมายถึง เอ้อ, จะหมายถึงพวกที่สองที่ว่า อุปปัตติเทวะ แต่ก็ไม่เต็ม เพราะว่าที่เขาใช้กันอยู่ในหนังสือทางปรัชญานั้น เทวะนั้นหมายถึงพระเจ้าสูงสุด นี่ทบทวนอีกครั้งหนึ่ง ดูจะงงๆ หรือว่าจะฟั่นเฟือนกันอยู่ เพราะเทวะในภาษาบาลีโดยทั่วๆไป นั้น หมายถึง สมมติเทวะ พระเจ้าแผ่นดินนี้อย่างหนึ่ง หมายถึง อุปปัตติเทวะ หมายถึงเทวดาธรรมดาทั่วไปๆ นั้นอย่างหนึ่ง แล้วก็วิสุทธิเทวะหมายถึงพระอรหันต์ คือเทวะสูงสุดของพวกพุทธบริษัท ทีนี้ทำไมคำว่าฝน ฝนที่ตกลงมาก็เรียกว่าเทวะด้วย หรืออย่างอื่นๆ ก็มีเรียก นี่เพราะเขาถือว่าไอ้ฝนนี่ มันไม่ได้เป็นสักว่าน้ำฝน มันหมายถึงเทวดาองค์หนึ่งเป็นผู้จัดการหรือรับผิดชอบก็ได้ ซึ่งเขาเรียกกันในนิยายว่าวรุณะหรือวิรุณะ ในภาษาไทยเราเรียกว่าพิรุณหรือวรุณ อย่างนี้ ก็คือเป็นเทวดาฝน นี่คำว่าเทวะมันมีหลายความหมายอย่างนี้ ทีนี้คำว่าเทวนิยมที่ใช้กันอยู่นั้นหมายถึงพระเป็นเจ้าสูงสุดทั้งนั้น ทำไมเราจะต้องพูดถึงสิ่งนี้มาคู่กัน หรือว่าเรียงลำดับกันกับคำว่า วัตถุนิยม มโนนิยม ธรรมนิยม แล้วก็มาเทวนิยม นี่ก็เพราะเห็นว่า เป็นธรรมดา หรือหลีกไม่ได้ ที่พวกคุณทุกคนนี้จะต้องประสบกันเข้ากับคำว่าเทวนิยม ที่เขาใช้กันอยู่ในหนังสือทั่วๆ ไป เขาใช้สั้นๆ ห้วนๆ อย่างนั้น เราอาจจะเข้าใจไม่ถูก หรือเข้าใจผิด หรือถูกน้อยเกินไป ดังนั้น จึงเห็นว่า เป็นคำที่ควรจะเอามาพูด สำหรับทำความเข้าใจด้วยเหมือนกัน แล้วก็เฉพาะในบางแง่บางมุมที่จำเป็น ทีนี้ก็จะพูดถึงคำว่าเทวนิยม ในความหมายที่เป็นสากล ที่ใช้กันอยู่ระหว่างชาติระหว่างศาสนา คือขึ้นต้นคำว่า theism ก็จะควรรู้ไปถึงคำที่มันตรงกันข้าม แต่มาคู่กัน ก็คือว่า อเทวนิยม ซึ่งตรงกับคำว่า atheism ถ้า theism ก็มีพระเจ้า atheism ก็ไม่มีพระเจ้า ความคิด ความเชื่อ ความยึดถือหรืออะไรก็ตามทีเรียกว่ามีพระเจ้า ไม่มีพระเจ้า ทีนี้มันยังมี อ้า, ต่างกันออกไปอีกว่า พวก theism มีพระเจ้านี่มันยังมี polytheism monotheism นับถือพระเจ้าหลายองค์ นับถือพระเจ้าองค์เดียว อย่างนี้ไม่ยากสำหรับพวกคุณที่รู้ภาษาอังกฤษอยู่แล้ว poly ก็คือมาก mono ก็คือเดี่ยว พวกถือพระเจ้าก็ยังมีพระเจ้าหลายองค์ พระเจ้าองค์เดียว พวกที่ถือพระเจ้าองค์เดียวก็ดูถูกดูหมิ่นพวกที่ถือพระเจ้าหลายองค์ว่า ยังต่ำ ยังเขลาอยู่ ถ้าให้แท้จริงแล้วพระเจ้าจะต้องมีองค์เดียว นี่ก็ถูกของเขาเราพลอยเห็นด้วย ถ้าเรายกขึ้นมาเป็นพระเจ้าสูงสุดแล้วควรจะมีเพียงองค์เดียว พวกกรีกก็ถือพระเจ้ามากองค์ ชาวอินเดียบางพวกก็ถือพระเจ้าหลายองค์ แต่พวกคริสเตียน กระทั่งพระของศาสนาอิสลาม เป็นต้นนี้ก็มีพระเจ้าองค์เดียว ก็สูงสุด ทีนี้พวกที่ไม่มีพระเจ้า นั่นก็จะไม่ต้องพูดถึง แต่ก็ควรรู้คำนี้ไว้ว่า อเทวนิยม ไม่นิยมว่ามีพระเจ้า มันก็มีความหมายกำกวมที่จะทำความลำบากยุ่งยากให้แก่พวกคุณนี้ ก็คือคำถามที่ว่า พุทธศาสนานี้เป็นเทวนิยมหรือเป็นอเทวนิยม คำตอบที่ถูกต้องนั้นมันก็เกิดแบ่งแยกไปตามคำว่า เทวะ คือจะต้องถามว่าเทวะนั้นคืออะไร ถ้าเทวะหมายถึงพระเจ้าที่มีความรู้สึกอย่างคนเรา อย่างโกรธก็ได้ ไม่ ไม่โกรธก็ได้ ชอบก็ได้ รักก็ได้ เสกสรรสิ่งต่างๆ เหมือนกับคนที่มีเจตนา อย่างนี้ก็เรียกพระเจ้าอย่างบุคคล หรือที่เรียกกันว่า personal god ถ้าอย่างนี้แล้วในพุทธศาสนาเราไม่มี ไม่มีเทวะชนิดนั้น ไม่มีพระเจ้าอย่าง personal god มันก็เถียงกัน พวกคริสเตียนเขายอมรับ personal god เขาก็มีพระเจ้าที่มีความรู้สึกอย่างคน แต่เขาก็ พยายามที่จะอธิบายว่าไม่ใช่คน แต่ก็มีรายละเอียดอย่างคน ในคัมภีร์ของเขาก็ยังมีว่าเมื่อพระเจ้าจะสร้างมนุษย์ ก็ยังมีคำกล่าวว่า พระเจ้าจะสร้างมนุษย์ขึ้นมาให้มีรูปอย่างกับพระเจ้าเองอย่างนี้เป็นต้น นั้นเป็นเรื่องของฝ่ายคริสเตียนที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาเอง แต่สำหรับพุทธศาสนาเราไม่มีพระเจ้าอย่างบุคคลชนิดนั้น ถ้าจะให้พุทธศาสนามีพระเจ้าก็ต้องแปลงความหมาย เอาแต่ความหมายว่าพระเจ้านั้นคืออะไร ถ้าจะให้ความหมายว่าพระเจ้าคือสิ่งสูงสุด หรือพระเจ้าคือสิ่งที่บันดาลให้เกิดสิ่งทั้งปวง หรือพระเจ้าคือสิ่งที่มีอยู่ในที่ทั่วไป ควบคุมอยู่ในที่ทั่วไป สร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาควบคุมไว้แล้วก็ทำลายสิ่งต่างๆ เสีย อย่างนี้เรียกว่าพระเจ้า แต่ไม่ใช่บุคคล เราก็ยอมรับได้ ว่าเรามีสิ่งซึ่งมีอำนาจชนิดนั้น แต่เราเรียกว่ากฎของธรรมชาติ กฎของธรรมชาติสามารถทำหน้าที่ชนิดนั้นได้เหมือนกับที่พระเจ้าในศาสนาอื่นเขากล่าวไว้อย่างบุคคล แต่เราไม่กล่าวว่ามีบุคคลหรือเป็นบุคคล แต่มีสิ่งชนิดนั้น อำนาจซึ่งเราพิสูจน์ ยังพิสูจน์ไม่ได้ จนยังไม่รู้ว่าอะไร อำนาจนั้น สามารถที่จะบันดาลให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น และเป็นไป และดับลง กระทั่งว่า เมื่อควบคุมสิ่งต่างๆ อยู่ ก็ยุติธรรมที่สุด คือให้ดีได้ดี ชั่วได้ชั่ว ถ้าอย่างนี้เรามีพระเจ้าชนิดนี้ เป็น impersonal god หรือ non-personal god แต่ก็ให้รู้ไว้ว่ามันไม่มีปัญหาอย่างนี้มาก่อน เพราะฉะนั้นจึงไม่มีคำใช้ในพระคัมภีร์ทางพระศาสนา แต่ในคัมภีร์ทางศาสนามีสิ่งซึ่งตรงกับความหมายคำว่าพระเจ้า เช่น การสร้างขึ้นมาตามกฎเกณฑ์แห่งอิทัปปัจจยตา ไปหาเรื่องอิทัปปัจจยตาอ่านดู ก็จะพบว่ามีอำนาจอันหนึ่งซึ่งบันดาลให้สิ่งทุกสิ่งนั้นเป็นไปตามกฎเกณฑ์อันนั้น ดังนั้น กฎเกณฑ์ที่เรียกว่าอิทัปปัจจยตาก็เป็นพระเจ้าในความหมายหนึ่ง ทีนี้กฎเกณฑ์เกี่ยวกับกรรม กรรมอย่างนี้ให้บันดาลให้เป็นไป ดี ชั่ว ทำดี ดี ทำชั่ว ชั่ว แล้วกรรมอย่างนี้ไม่เกี่ยวกับดีหรือชั่ว ทำให้พ้นไปจากดีและชั่ว กฎแห่งกรรมอย่างนี้ เราก็คือพระเจ้าในความหมายหนึ่ง ทำไมถึงทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หรือว่าถ้าทำสูงขึ้นไปกว่านั้นก็อยู่เหนือดีเหนือชั่ว ดังนั้น กฎแห่งกรรมก็เป็นพระเจ้าหรือคุณสมบัติของพระเจ้า จะเป็นอย่างน้อยอีกองค์หนึ่ง ดังนั้น เราจึงมีพระเจ้าที่ให้เกิดขึ้น ที่ให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หรือพระเจ้าที่ควบคุมความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่ว ให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ แต่ไม่ใช่บุคคล ทีนี้ทุกคนพอจะมองเห็นได้แล้วว่าถ้าถามว่าพุทธศาสนามีพระเจ้าไหม คือมีเทวะในลักษณะพระเจ้าไหม เราก็ต้องขอทำความแน่นอนเสียก่อนว่าพระเจ้าในลักษณะไหนกัน ถ้าพระเจ้าหมายแต่เพียงสิ่งที่มีคุณสมบัติในการสร้าง ในการควบคุม ในการทำลาย อย่างนี้เราก็มี คือกฎต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งพวกนักวิทยาศาสตร์เขาคงจะเรียกมันว่ากฎธรรมชาติ แต่เขาให้ความหมายของคำว่าธรรมชาตินี้กินความไกลไปถึงสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุด้วย คือกฎธรรมชาติทุกชนิดก็แล้วกัน พวกนักวิทยาศาสตร์คงไม่ยอมเรียกว่าพระเจ้า แต่เขาต้องยอมรับแน่นอน หลีกเลี่ยงไม่ได้มันมีกฎอย่างนั้น ที่ทำให้สิ่งต่างๆ เป็นไปอย่างตรงตามกฎ กฎที่ควบคุมไอ้สุริยะจักรวาล ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวนี้จะเป็นของเด็กเล่น เป็นของเด็กอมมือด้วยซ้ำไป แต่มันก็เป็นกฎที่น่ากลัวอยู่ใช่ไหม ที่เราศึกษากันแล้วก็รู้สึกน่าอัศจรรย์ แต่กฎที่จะเรียกกันว่าพระเป็นเจ้านั้น มันต้องมากกว่านั้นมาก จะควบคุมทุกสิ่ง เอ้อ, ทุกจักรวาล หรือที่มิใช่จักรวาล หรืออะไรอื่น แม้กระ เอ้อ, แม้กระทั่งเรื่องที่เป็นนามธรรมล้วนๆ ดังนั้น เมื่อพูดว่ากฎธรรมชาติ ก็ต้องหมายความกันถึงขนาดนี้ และนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องยอมรับว่ามี ถ้าเปลี่ยนชื่อเสียหน่อยว่าพระเจ้า นักวิทยาศาสตร์ก็ยอมรับได้ ว่ามันมีสิ่งนี้ ยอมรับว่ามันมีสิ่งนี้ พุทธศาสนาเราก็ยอมรับว่ามีสิ่งนี้ คือสิ่งซึ่งอยู่เหนือ เอ้อ, เหตุเหนือปัจจัย เป็นอสังขตะ แล้วก็มีอำนาจบันดาลสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ให้เป็นไป อย่างนี้เราก็มี เราก็มีเทวะอย่างนี้ พุทธศาสนาก็มี ก็มีลักษณะเป็นเทวนิยม แต่ว่าเทวะต้องหมายความกันอย่างนี้ แต่ถ้าเขาไม่ยอม เขาว่าเทวนิยมต้องเป็นบุคคล รู้จักคิดนึก รู้สึกเหมือนคน รักโกรธเกลียดกลัวได้เหมือนคน โกรธขึ้นมาก็ลงโทษถ้าอย่างนั้นเราไม่มี เราไม่มี ในพุทธศาสนาไม่มีพระ พระเจ้า หรือเทวะชนิดนั้น แม้จะถือว่ามีเทวดา อ้า, ที่มีอำนาจชนิดนั้น แต่เราถือเป็นเทวดาธรรมดาสามัญเด็กๆ ไม่ใช่พระเจ้าสูงสุด เพียงเท่านี้ อ้า, คุณก็จะมองเห็นว่า คำว่าเทวนิยมนี่ ทำความยุ่งยากลำบาก ในการพูดจา ในการศึกษาพอดูทีเดียว แล้วก็ขอ อ้า, เตือนว่าจะต้องประสบปัญหานี้เป็นแน่นอน ถ้ายังไม่ตายเสีย ยังจะต้องอ่านหนังสือต่อๆ ไป จะต้องเกี่ยวข้องกับปรัชญา สาขาต่างๆ มันก็ต้องมีปัญหาที่เผชิญเข้ากับคำว่าเทวนิยม ดังนั้น ก็เตรียมรู้เอาไว้เสียบ้าง จะไม่เกิดปัญหา หรือว่า จะไม่ไปหลงงม เอาเพียงความหมายใด ความหมายหนึ่ง แล้วเข้าใจผิด แล้วก็เถียงกัน ทะเลาะกัน โกรธกัน ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าเรารู้ความหมายและวิธีใช้ของคำเหล่านี้อย่างถูกต้องแล้ว รับรองได้ว่าไม่ต้องเถียงกับใครในคำว่าเทวนิยม อย่างถามว่าพุทธศาสนาเป็นเทวนิยมไหม เราบอกว่าเทวะชนิดไหน คือ personal god หรือ impersonal god ถ้า personal god เราสั่นหัว ถ้า impersonal god ซึ่งหมายถึงนามธรรมอะไรก็ไม่รู้ มีอำนาจชนิดนั้น เราก็ยอมรับว่ามี คือพุทธศาสนาเป็นไอ้ เทวนิยมชนิด impersonal god คือธรรมนิยม นั่นเอง ธรรมในความหมายที่ลึกซึ้งกว่าธรรมดา แล้วสิ่งที่มีอำนาจ หรือเป็นกฎธรรมชาตินั้นในภาษาบาลีเราเรียกว่าธรรมเฉยๆ ดังนั้น คำว่า เทวนิยมนี้ มีความหมายบางส่วนไปพ้องกันกับคำว่าธรรมนิยม คือสิ่งที่มีอำนาจอย่างพระเจ้านั้น เราเรียกว่าธรรม ธรรมะในภาษาบาลีคือธรรมเฉยๆ อันนี้ก็เป็นธรรมนิยมได้ เป็นพระเจ้าอยู่ในคำว่าธรรม แล้วต่อไป ถ้าพวกคุณจะศึกษาไปเรื่อยๆ จะพบความหมายของคำว่าธรรมนี้แปลกออกไป กระทั่งสูงขึ้นไป ลึกซึ้งขึ้นไป จนจะเห็นว่าไม่มีอะไรที่มีอำนาจยิ่งไปกว่าธรรม เป็นพระเจ้าสูงสุดได้ สิ่งที่สร้างสรรสิ่งต่างๆ ควบคุมสิ่งต่างๆ ทำลายสิ่งต่างๆ เราก็ยังคงเรียกว่าธรรม อยู่นั่นเอง ธรรมที่เป็นเหตุก็มี ธรรมที่เป็นผลก็มี ธรรมที่เป็นกฎเกณฑ์ระหว่างเหตุและผล เพื่อให้เหตุผลนั้น เป็นไปตามกฎเกณฑ์นี้ก็มี ดังนั้น อะไรๆ ก็เรียกว่าธรรมไปเสียทั้งนั้น ธรรมในความหมายนี้ก็เป็นพระเจ้าได้ แต่พวกที่เขาพูดกันอยู่ในทุกวันนี้ เขาไม่ได้หมายความถึงขนาดนี้ ทั้งที่ความจริงมันเป็นอย่างนี้ เมื่อเขาพูดว่าเทวนิยม เขามีความหมายแคบๆ หมายถึงพระเจ้า เช่น พระอัลลาห์ของอิสลาม พระยาเวห์ ยะโฮวาอะไรของพวกยิว หรือพระเจ้าของคริสเตียน พระเจ้าในศาสนาพราหมณ์บางองค์ เขานั่นเอง เป็นพวก personal god คือพระเจ้าอย่างบุคคลทั้งนั้น นี่เราก็อย่าไปเถียงเขาเพราะเขามีบัญญัติอย่างนั้น เพราะเขา ถือพวกเหล่านั้น เขาจะไม่ยอมให้พุทธศาสนานี้เป็นเทวนิยม เขาถือว่าไม่มีพระเจ้า และโดยเฉพาะพวกคริสเตียน เขายังถือว่า พุทธศาสนานี้ไม่ใช่ศาสนาด้วยซ้ำไป เพราะว่าพุทธศาสนาไม่มีพระเจ้า นั้นมันเป็นความรู้อันแคบๆ ของเขาเอง เพราะเขาจำกัดความหมายของคำว่าพระเจ้าหรือเทวะไว้แคบนัก แคบนัก เมื่อได้ยินคำว่า theo หรือ dheo ในภาษาโบราณของพวกฝรั่งนั้น ก็ให้รู้ว่าตรงกับคำว่าเทวะ เดี๋ยวนี้ก็มีฝรั่งบางพวก เขาตั้งสมาคมใหม่ให้ความหมายแก่คำว่า theo นี้ มีความหมายกว้าง กว้างกว่าคำว่า อ้า, พระเป็นเจ้าที่ถือกันมาแต่โบราณอย่างนี้ก็มี นี้ก็เป็นพวกใหม่ๆ เช่นพวก theosophy อะไรที่อธิบายไม่ได้ด้วยเหตุผลอย่างมนุษย์ก็จัดเป็น theosophy ไปหมด คือเป็นความรู้ หรือความสามารถอะไรของเทวะ คือพระเจ้า นี้ก็อีกความหมายหนึ่ง ทีนี้มาถึงไอ้ปัญหาที่เป็น practical กันจริงๆ ดีกว่า ว่า เด็กๆ ไทยเราทุกคน มีคำว่าพระเจ้าใช้มาแล้ว ตั้งแต่เล็กๆ ถูกสอนให้มีพระเจ้า ถูกสอนให้อ้างคุณพระเจ้า ทั้งที่ไม่รู้ว่าพระเจ้าคืออะไร อยู่ที่ไหน นี่ก็เป็นเพราะเหตุว่า ชนชาติไทยเราได้รับวัฒนธรรมอินเดีย มานานเต็มทีแล้ว อาจจะถึงสองพันปี เอ้อ, หรือกว่านั้นก็ได้ ทีนี้พวกอินเดียนั้นเขาถือพระเจ้ามาก่อน เขาก็เอาวัฒนธรรมของเขามาให้เรา ดังนั้น พวกไทยเราคงจะได้รับวัฒนธรรมนี้ ซึ่งมีพระเจ้าเป็นหลัก ก่อนพุทธศาสนาก็ได้ เราไม่มีพยานหลักฐานที่แน่นอนว่า พระพุทธศาสนา อ้า, เข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทยนี้เมื่อไร บางพวกที่ไปได้ไกลที่สุดก็ว่า ถึงสมัยพระเจ้าอโศกโน้น คือพ.ศ. ๓๐๐ ราวนั้น พุทธศาสนามาถึงประเทศไทยแล้ว อันนี้มันก็ไม่ ไม่เป็นที่แน่นอน เป็น เป็น เป็นเพียงแต่สันนิษฐาน เอาละ แม้จะยอมให้ว่าพุทธศาสนามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. ๓๐๐ ก็ต้องให้รู้เถอะว่า ศาสนาฮินดูต้องมาก่อนนั้น เพราะว่าชาวอินเดียได้มาก่อน ก่อน ก่อนที่จะพาพุทธศาสนามา แล้วก็เป็นที่เชื่อได้แม้โดย logic ก็ว่า คนอินเดียเขาไปมากัน อ้า, ระหว่างอินเดียคือ ชมพูทวีปกับสุวรรณภูมิ หรือสุวรรณทวีปนี้ นมนานมาแล้วตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ทราบ ก็เรียกว่าพาพุทธศาสนามาก็โดยคนเหล่านี้ มันมีการติดต่อไปมากันอยู่แล้ว มันจึงมาได้ เช่นมันจะมีเรือมานี้ มันต้องมีการเดินเรืออยู่แล้ว แล้วพวกอินเดียเหล่านั้นนะ เป็นพวกที่อยู่ไปมาก่อนแล้ว เขาจึงพูดกันรู้เรื่อง ด้วยภาษาของชาวอินเดียกับคนที่อยู่ที่นี่ ดังนั้น ชาวไทยเรานี้ถูกสอนให้เป็นเทวนิยมมาตั้งสองพันปีแล้วก็ได้ มันจึงมีหัวว่าพระเจ้า อะไรก็อ้างพระเจ้า อะไรก็คุณพระเจ้า อะไรกันมาเรื่อย อย่างวัฒนธรรมที่ถือดิน ฟ้า พระภูมิ พระ ฝน อะไรก็สุดแท้ ก็ถือกันมาก่อนแล้ว ก่อนพุทธศาสนาเข้ามา ดังนั้น ในเลือด ในเนื้อของคนไทยนี้ มันเป็นเทวนิยมมาโดยไม่รู้สึก มาก่อนแล้ว กว่าจะได้รับพุทธศาสนานี้ จึงต้องหลังพระเจ้าอโศก พ.ศ. ๓๐๐ แต่ก็ไม่เชื่อได้ ถ้าจะเอาเป็นยุคทวาราวดีที่นครปฐมตามหลักฐานปรากฏนี่พ.ศ.ตั้ง ๑๐๐๐ แล้ว เพราะว่าโบราณวัตถุเหล่านั้น เป็นสมัยพ.ศ.ตั้ง ๑๐๐๐ แล้วทั้งนั้น ถ้าเป็นสมัยศรีวิชัยทางภาคใต้ นี้ ก็ พ.ศ.๑๒๐๐ – ๑๓๐๐ แล้ว ทั้งนั้น ที่พุทธศาสนามาถึงที่นี่ ที่จะมาล้างไอ้ความเชื่อที่ถือพระเจ้าอย่างงมงายมาเป็นถือธรรมะ ถือพุทธศาสนานี้ มันก็เมื่อสักพันปีมานี้เอง ดังนั้น เราก็เลยมีปัญหา อ้า, ยุ่ง คือ โดยเลือดเนื้อเชื้อไขมันก็สอนให้เชื่อพระเจ้ากันมาเป็นวัฒนธรรม บูชาบวงสรวงอ้อนวอนที่ยังเหลืออยู่กระทั่งทุกวันนี้ก็เช่น พระภูมิ เป็นต้น เชื่อเทวดาหลายองค์ต่อหลายองค์ นั้นนะเป็น อ้า, เทวนิยม มีอิทธิพลเหลืออยู่จนกระทั่งบัดนี้ เป็นเทวนิยม จนกว่าจะเปลี่ยนได้นี่ยากมาก เพราะว่าเราประกอบไปด้วยความไม่รู้ และความกลัว ช่วยจำไว้ด้วยสองคำนั้นนะสำคัญที่สุด เราไม่รู้จริงในเรื่องนั้น และเราเต็มไปด้วยความกลัว ดังนั้น สิ่งใดมาบรรเทาความกลัวของเราได้ ก็รับเอาทันที ทีนี้เรามันเป็นเด็ก มันโง่ มันก็ต้องรับเอาอย่างเด็กหรือง่ายๆ จึงเป็นเหตุให้มีไอ้เทวนิยมนี้ สิงอยู่ในจิตใจ ตลอดมาแต่บรรพบุรุษ ทีนี้พุทธศาสนาจะมาสอนธรรมนิยม ให้รู้จริงไปกว่าพระเจ้าที่เป็นคนๆ ให้รู้ธรรมะ ที่จะเลิกถอนความกลัวทั้งหลายเสีย เลิกถอนอวิชชา ความโง่ทั้งหลายเสีย เลิกถอนไอ้สีลัพพตปรามาส ที่ประพฤติกระทำกันมาอย่างงมงายเสีย นี้มันเป็นเรื่องขึ้นศักราชใหม่ ถ้าเรียกให้ถูกก็ไม่ใช่เทวนิยมตามแบบนั้น ถ้ายังชอบเทวนิยมอยู่ก็เปลี่ยนความหมายเสีย เอาพระธรรมนี่แหละเป็นเทวะ เป็นสิ่งสูงสุดเหมือนกับพระเจ้า จึงเกิดความกำกวมกันขึ้นว่าพุทธบริษัทเราเป็นเทวนิยมไหม เราเคยเป็นอย่างเต็มที่มาแล้ว แล้วก็มาถึงทางแยกนี้ ถ้าเรายัง ยังถืออยู่อย่างเดิม เราก็เป็นเทวนิยมอย่างเดิม บางคนหันมาหาเทวนิยมอย่าง อย่างหลัง คือเอาพระธรรมเป็นเทวะ ถ้าจะพูดให้มันตรงขึ้นไปอีก ถ้าเทวะไม่ยอมเปลี่ยนความหมาย ก็เราว่าเราไม่มีเทวนิยม เรามีธรรมนิยม ชั้นสูงสุด แต่ถ้าว่าคำว่าเทวะมันยืดหยุ่นได้ ถ้าให้เป็นสิ่งที่ไม่ใช่คนได้ คือเป็นอำนาจ สิ่งสูงสุดได้นั้นก็ เราก็ยอมรับได้ นี่ละเป็นเคล็ดลับที่สำคัญที่สุด ที่พุทธบริษัทจะไม่ทะเลาะกับใคร พุทธบริษัทเลว พุทธบริษัทโง่ พุทธบริษัทไม่จริง เท่านั้นที่จะมีการทะเลาะกับใครในระหว่างลัทธิ หรือเรื่องเกี่ยวกับลัทธิเช่นนี้ ถ้าเป็นพุทธบริษัทจริงจะรู้สิ่งเหล่านี้ และรู้เพียงพอจนไม่ต้องทะเลาะกับใคร ด้วยทฤษฏีเหล่านี้ หรือด้วยการปฏิบัติไปตามทฤษฏีเหล่านี้ ทบทวนให้ดีอีกทีหนึ่งนะว่า พุทธบริษัทนี้เป็นเทวนิยมไหม ถ้าตอบว่าพุทธบริษัทแต่โดยทะเบียน ก็โดยเป็นเทวนิยมติดมาในสายเลือดสายเนื้อตั้งพันกว่าปีสองพันปีมาแล้วเพราะรับมาจากฮินดู มาเปลี่ยนเป็นพุทธบริษัทแล้วก็ยังเหลืออยู่ ยังถืออย่างฮินดู อย่างศาสนาพราหมณ์อยู่ นี้คือยังเป็นพุทธบริษัทที่ไม่จริง เป็นแต่ปาก เป็นแต่ทะเบียน ทีนี้ต่อมา พวกที่เป็นจริงขึ้นมา ก็เลยเลิกล้างไอ้เทวนิยมชนิดนั้นออกไป มาเหลือเป็นธรรมนิยม แต่โดยเหตุที่พระธรรม มีอำนาจ มีคุณสมบัติเหมือนกับพระ พระเป็นเจ้า ก็เลยเอาคำว่าพระเป็นเจ้ามาใส่ให้ที่พระธรรม แล้วก็ถือพระธรรมเป็นพระเป็นเจ้า พูดโดยนัยยะนี้เราก็มีเทวนิยมอยู่ แต่เปลี่ยน เปลี่ยนองค์ เปลี่ยนองค์เทวะนั้นนะ มาเป็นสิ่งที่จริงกว่า เป็นเทวะที่จริงกว่า ถ้าถามว่าเทวะแปลว่าอะไรนี่ยุ่งกันไปหมด ถ้าเอาตามภาษาบาลีที่พระเขาเรียนกัน มันเป็นภาษาลูกเด็กๆ เทวะก็แปลว่าเทวดา หรือรากของศัพท์ ก็แปลว่า รุ่งเรืองบ้าง แปลว่าเล่นบ้าง ถ้าคำว่าเทวะจะแปลให้มันดีหน่อยก็เอามา เอามาจากภาคที่แปลว่ารุ่งเรือง คือมันรุ่งเรือง มันดี มันเด่น มันรุ่งเรือง แต่สองความหมายนี้ดูไม่ ไม่เป็นที่ยอมรับกันในหมู่พวกเทวนิยมอันสูงสุด เขาจะแปลคำว่าเทวะนี้ ยิ่งไปกว่ารุ่งเรือง คือเป็นผู้มีอะไรสูงสุดนั้นนะ มีอะไรที่มันไม่รู้จะพูดว่าอะไรตามแบบของพระเจ้า ที่แปลว่าเล่นนี้ เป็นความหมายที่เดิน เดินต่ออกมาจากความรุ่งเรือง ก็เป็นเทวดาเด็กๆ เป็นเทวดาของพวกเด็กๆ ในความรู้สึกของเด็กๆ เพราะได้ยินว่าไอ้พวกเทวดานี้ไม่มีทุกข์ ไม่มีร้อน ไม่ต้องทำมาหากิน ไม่ต้องออกเหงื่อ มีแต่เล่นหัวสนุกสนานจนกว่ามันจะดับ จะตายลงไป ก็แปลว่าผู้เล่น ผู้เล่นสนุก นี้ก็ถูกเหมือนกัน ความหมายอย่างพวกเด็กๆ จะมองเห็น ถ้าว่ารุ่งเรืองก็ต้องรุ่งเรืองด้วยสติปัญญา ด้วยอำนาจ ด้วยอะไรหลายๆ อย่าง ก็ ก็ค่อยยังชั่วหน่อย ถ้าสูงสุดไปกว่านั้นก็คือว่า มันเป็นผู้ที่เหนือ เหนือสิ่งอื่น อยู่เหนือสิ่งอื่น มีความรุ่งเรืองขนาดนั้นก็พอที่จะเป็นพระเจ้าได้ คือ เทวะ เป็นคำที่มีความหมายกำกวม ซับซ้อน ไปตามยุคตามสมัย ตามถิ่น ตามประเทศ และเดี๋ยวนี้ก็มามีปัญหา ที่จะเกิดขึ้นเพราะการศึกษาทางปรัชญา ซึ่งกำลังนิยมกันอยู่ กำลังหลงใหลศึกษาปรัชญากันอยู่ เป็นเทวนิยม เป็นอเทวนิยม เป็นเทวนิยมอย่างองค์เดียว เทวนิยมอย่างหลายองค์ ถ้ายังเป็นนักศึกษาอยู่ต่อไปในอนาคต ก็จะต้องเผชิญกับปัญหานี้ แล้วก็รู้ไว้ เพื่อจะได้ไม่ต้องเถียงกัน นี่คือคำว่าเทวนิยม เท่าที่นักศึกษาทุกคนจะต้องรู้ไว้บ้าง ที่จริงจะไม่ต้องใช้คำว่าบ้าง ที่จริงคำที่พูดนี้คือทั้งหมด หากแต่ว่ามันเป็นหัวข้อที่สั้นๆ สรุปความไว้สั้นๆ แต่มันหมดทุกแง่ทุกมุม ทีนี้ด้วยเหตุที่มันรู้แต่ละแง่ละมุมทุกแง่ทุกมุมแต่เพียงสั้นๆ จึงใช้คำว่าบ้าง คือความรู้เท่าที่พูดไปนี้ มันเป็นความรู้ที่รู้ไว้บ้าง แต่ก็ครบทุกแง่มุมที่จะไปเผชิญกับปัญหาทาง การศึกษาเกี่ยวกับคำว่าเทวนิยม ทั้งชนิดที่เป็นภาษาไทย และเป็นภาษาต่างประเทศ เดี๋ยวนี้คนเขานิยมปรัชญา จนเมาจนหลงใหลกัน แล้วก็ไปแตะต้องกับปรัชญา ก็จะมาถึงไอ้ คำๆ นี้ ซึ่งเขาถือว่าเป็นสิ่งที่จะต้องเนื่องกันกับปรัชญา หรือเป็นตัวปรัชญาอยู่เอง เขาเรียกกันว่าปรัชญาของเทวนิยม Philosophy of theology นี่จะเป็นคำที่ใช้ดื่นไปหมดในพวกนักปรัชญา เอาละเป็นอันว่าเราได้พูดกันถึงคำว่า เทวนิยม เป็นคำที่สี่ ต่อเนื่องมาจากคำว่าวัตถุนิยม มโนนิยม ธรรมนิยม สำหรับจะไป แก้ปัญหา ทางไอ้ นิรุกติศาสตร์ ทางภาษา กระทั่งทางศาสนา กระทั่งทางปรัชญาต่อไปข้างหน้า สำหรับการบรรยายครั้งนี้ก็ยุติไว้พียงเท่านี้ ทีนี้ใครมีปัญหาอย่างไร ก็ถามได้
ผู้ถาม : ผมอยากจะเรียนถามปัญหาท่านอาจารย์ว่า พระพุทธศาสนาไม่ใช่ปรัชญา แต่ว่าผมไม่ทราบว่าเหตุผลใดที่ว่า พระพุทธศาสนาไม่ใช่ปรัชญาครับ ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายให้แจ่มแจ้งด้วยครับ
ท่านพุทธทาส : อ้า, คำถามนี้ก็เป็นคำถาม ที่ควรจะเป็นคำถามอย่างยิ่ง คือว่าเป็นคำถามที่เป็น practical อย่างยิ่ง ที่เกิดปัญหาอย่างนี้ขึ้นมาก็เพราะว่า ที่แล้วๆ มาเราพูดกันไม่สิ้นกระแสความ ไม่ใช่จะอวดตัวหรือยกตัวเกี่ยวกับข้อนี้ แต่ยังอยากจะยืนยันต่อไปตามที่เคยยืนยัน ว่าทุกอย่างแต่ละอย่าง เอ้อ, สิ่ง ทุกสิ่งหรือแต่ละ แต่ละอย่างๆ นั้นนะ เรามองดูมันได้หลายแง่ หลายเหลี่ยม หลายมุม ถ้าเป็นเรื่องทางวิชาความรู้ทางนามธรรม ทางจิตใจ เช่น ศาสนา เป็นต้นนี้แล้ว มันก็ยิ่งมีความซับซ้อน เช่นว่า พุทธศาสนา ที่ อ้า, พวกฝรั่งเขาเคยมีปัญหากันจนถึงกับว่าพุทธศาสนาเป็นเพียงปรัชญา ไม่ใช่ศาสนา คือไม่ใช่ religion แต่เป็น philosophy อย่างนี้ก็มีอยู่ยุคหนึ่ง คุณอาจจะไม่เคยพบ หรือว่ามัน มันผ่านไปแล้ว นั่นมันเป็นพวกนักศาสนา หรือว่านักศึกษาศาสนาฝ่ายคริสเตียนแต่ด้านเดียว โดยจะเห็นว่า ว่าพระพุทธศาสนาไม่มีพระเจ้านี่แหละ เขาจึงถือว่าพระพุทธศาสนานี้ไม่ใช่ religion เป็นเพียง philosophy คือหลักคำสอนที่พาดพิงอยู่กับเหตุผล ถือเป็นปรัชญา นี่ขอให้รู้ว่ามันมีข้อเท็จจริงอย่างนี้อยู่ทีหนึ่ง ยุคหนึ่ง คราวหนึ่ง ทีนี้เราก็มา ตั้งข้อสังเกตว่า อ้าว, มันไม่ใช่อย่างนั้นเสียแล้ว คือระบบพุทธศาสนา หรือ system อันนี้ แล้ว เป็นสิ่งที่แล้วแต่เราจะมองดูในแง่ไหน คือเราจะมองดูพุทธศาสนา ในแง่ที่เป็นศีลธรรม หรือวัฒนธรรมก็ได้ หรือจะมองดูพุทธศาสนาคือหลัก system อันนี้นะ มันมีแง่ให้มอง มองดูอย่างว่าเป็นศาสนา เป็น religion ก็ได้ ถ้าถือเอาความหมายของคำว่าศาสนาหรือ religion ถูกต้อง คือแปลว่า หนทางรอด religion นั้นที่ถูกต้อง จะต้องแปลว่าการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรอด จะมีพระเจ้าก็ได้ไม่มีพระเจ้าก็ได้แล้วแต่ศาสนาไหนจะเป็นอย่างไร ทีนี้พวกฝรั่งโดยเฉพาะนะ ที่เขาเป็นถือกรรมสิทธิ์ศาสนาคริสเตียนของเขา เป็นศาสนาและมีพระเจ้า ถ้าใครไม่มีพระเจ้าก็ไม่ใช่ religion นี่ ข้อนี้เคยอธิบายไว้ละเอียดเกินกว่าละเอียดในคำบรรยายที่ โรงพยาบาลสงฆ์ ๒ ครั้งไปหาหนังสือเล่มนั้น อ่านดูได้ เขาต่อรองกันว่าให้ถือว่า คำว่า religion นั้น คือระเบียบปฏิบัติ ที่ให้เกิดการสัมพันธ์กันขึ้น ระหว่างมนุษย์กับสิ่งสูงสุด ทีนี้สิ่งสูงสุดนั้นเขาเอาพระเจ้า อย่างของเขา คือ personal god อย่างของเขา ทีนี้เรานี่จะเอาพระเจ้าในแบบธรรมาธิษฐานอย่างของเรา ดังนั้น พุทธศาสนาเป็น religion ได้ เพราะว่าการปฏิบัติที่ทำให้ถึงกันเข้าระหว่างมนุษย์กับสิ่งสูงสุด คือพระธรรม ที่เป็นเครื่องดับทุกข์ คือดับทุกข์ได้ ถ้าอย่างนี้พุทธศาสนาก็เป็น religion โดยตรง เป็นศาสนาโดยตรง แต่ทีนี้พุทธศาสนาระบบนี้ ยังมีแง่มุมอื่นที่มองดูตามกฎเกณฑ์แห่งปรัชญา คืออาศัยเหตุผล สำหรับ จับสาวไปหาสิ่งที่ไกลออกไป ไกลออกไป ไม่มีที่สิ้นสุด อย่างนี้พุทธศาสนาก็มี ส่วน มีโอกาสมีช่องทาง มี material อะไรต่างๆ ที่จะทำให้เป็นปรัชญา แล้ว ฝรั่งก็ชอบศึกษาพุทธศาสนากันแต่ในแง่นี้ ดังนั้น ศึกษาจนตายก็ไม่เข้าถึงตัวพุทธศาสนา คือตัวการปฏิบัติ ที่จะทำให้ดับทุกข์ได้ ดังนั้น พวกฝรั่งที่เป็น professor ทางพุทธศาสนาจนแก่ จนตายก็มีมาก เขาเข้าถึงพุทธศาสนาแต่ในแง่ของปรัชญาเท่านั้น ไม่เข้าถึงตัวพุทธศาสนาที่เป็นตัวศาสนาคือ religion นี่ก็พูดได้อีกทีหนึ่งว่าพุทธศาสนาก็มี real pole (นาทีที่ 47:19) ที่เป็นปรัชญาอยู่อีกส่วนหนึ่ง ทีนี้มันมีปลีกย่อยมากไปกว่านั้น หลักพุทธศาสนาเป็นจิตวิทยา เป็น psychology ก็ได้ เช่นไปเปิดดูในคัมภีร์อภิธรรมปิฎกนี้เป็นเรื่อง psychology ดีกว่าของใครในโลกก็ได้ คือสูงกว่า แล้วก็เป็น อ้า, ตรรกะ คือ เป็น logic อย่างคัมภีร์หลายคัมภีร์ในอภิธรรมปิฎก หรือแม้ในสุตตันตปิฎกก็มี นี้มันก็เป็นตรรกวิทยา ก็ได้ หรือถ้าจะดูเป็นในแง่วรรณคดี พระคัมภีร์ทางพุทธศาสนาก็เป็นแง่ เป็นวรรณคดีที่สุด เพราะความไพเราะของพระธรรม นั่นก็เป็นวรรณคดีทางนามธรรม ซึ่งไม่มีใครเรียก แต่เราก็อยากจะเรียกว่าวรรณคดีทางนามธรรม เป็นไอ้เรื่อง spiritual literature นี้ก็มี ยิ่งไปกว่า ไอ้วรรณคดีตัวหนังสือหนังหา กระทั่งตัวหนังสือในพระไตรปิฎก ข้อความเหล่านั้นก็เป็นวรรณคดีอย่างยิ่ง ดังนั้น จึงพูดได้ว่าพุทธศาสนานั้นนะ ที่เป็นตัวศาสนาแท้ ก็คือพระธรรม ได้แก่ ระเบียบปฏิบัติให้เกิดความถูกต้อง คือดับความทุกข์ได้ ในทุกขั้นทุกตอน แห่งวิวัฒนาการของคนเรา นี่พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา หรือ religion ทีนี้ถ้าว่าในแง่มุมสำหรับพูดคุยกันอย่างเพ้อเจ้อก็เป็น philosophy ถ้ามาอยู่ในรูปปฏิบัติบ้านเรือนก็เป็นวัฒนธรรม เป็นศีลธรรม เป็นอะไรได้ นอกไปจากนั้นก็เป็นได้อีกมากมาย ไม่น้อยกว่าสิบอย่าง ดังนั้น ก็เลิกพูดกันเสียทีว่าพุทธศาสนา อ้า, เป็นอะไรแต่เพียงอย่างเดียว เว้นไว้แต่จะจำกัดความว่า คำว่าศาสนาเราเล็งถึงศาสนา คือ religion ในภาษาฝรั่ง ถ้าว่าศาสนาในภาษาไทยเราที่แท้จริง คือมิใช่เป็นเพียงคำสั่งสอน แต่เป็นตัวการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ได้ อย่างนี้พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนานี่จะช่วยเราได้ ขอให้สนใจพุทธศาสนาในแง่นี้ ส่วนการที่จะไปสนใจพุทธศาสนา อ้อ, เดี๋ยวก่อนว่า ที่สนใจในฐานะที่เป็นศาสนานั้นสนใจในแง่นี้แล้วให้ตามลงมาถึงเรื่องวัฒนธรรม เรื่องศีลธรรม เรื่องอะไรทุกระดับด้วยนะ มาฝ่ายที่ปฏิบัติกันจริงๆ นับตั้งแต่ วัฒนธรรมต่ำๆ ศีลธรรมต่ำๆ สูงขึ้นไปจนปฏิบัติศีลสมาธิปัญญาบรรลุมรรคผลนิพพานทั้งหมดนี้เป็นตัวแท้ ของคำว่าศาสนาแห่งพระพุทธศาสนา ทีนี้มันเป็น เอ้อ, ไกลออกไปมันก็ผลพลอยได้ จะไปมองดูกันในแง่ปรัชญา ก็เป็นปรัชญาอย่างสูงสุด อย่างเอก อย่างกว้างขวางพิสดารลึกซึ้งที่สุด จะมองดูในแง่จิตวิทยาก็เหลือประมาณ เป็นได้เหลือประมาณ กระทั่งว่าเป็น อ้า, วรรณคดีก็เหลือประมาณ วิเศษไพเราะเหลือประมาณ พระพุทธเจ้าก็เป็นนักศิลปะใช้คำว่าพรหมจรรย์นี้ งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในเบื้องปลาย ที่คุณสวดกันอยู่ทุกวันนั่นนะ นั้นมันมองในแง่ของศิลปะ มันเป็นความงาม แม้จะสุดแต่เราจะมองดูในแง่ของอนามัย พุทธศาสนาก็เป็นอนา อ้า, เป็นอนามัยวิทยา ใครลองปฏิบัติตามนั้นนะ จะสบาย มีอนามัยทั้งทางกายและทางจิต ไม่เป็นโรคเส้นประสาท ไม่บ้าๆ บอๆ ไม่ต้องฆ่าตัวตาย อย่างนี้เป็นอนามัยวิทยา มีให้เลือก แล้วแต่จะเลือกเอาอะไร ถ้าที่ดีที่สุด คือเป็นศาสนา เป็นพระศาสนา คือการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ได้ เมื่อเป็นดังนี้แล้วคำถามที่ถามตะกี้เป็นอันว่าเลิกไป ถอนไปได้
ผู้ถาม : ท่านอาจารย์ครับ แล้วถ้าเผื่อว่ามีคนๆ หนึ่ง เขาศึกษาแต่พระพุทธศาสนาในแง่ปริยัติ แต่ว่าเขาไม่ได้ปฏิบัติด้วย แล้วก็ เขาจะว่าพระพุทธศาสนาเป็นปรัชญานี่ อันนี้เป็นความเห็นถูกของเขาไหมครับ
ท่านพุทธทาส : ก็ถูก คือว่าเขาศึกษาพุทธศาสนาแต่ในแง่ของปริยัติ แต่เขาอาจจะไม่ศึกษาใน อ้า, ไม่ศึกษาปริยัติในแง่ของปรัชญาก็ได้ คือเขาศึกษาปริยัติเพื่อให้รู้สำหรับปฏิบัติ และให้ เพื่อให้ได้ผลการปฏิบัติแต่เขาไม่ได้ปฏิบัติ อย่างนี้เราก็เรียกเขา ว่าเป็นอีกพวกหนึ่ง คือพวกที่อุ้มชูเปลือกของพุทธศาสนาไว้ อย่าให้มันสูญหายไป ปริยัติก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันเป็นสิ่งสืบต่อ อ้า, ในทางอายุ ถ้าคำสอนนั้นเป็นคัมภีร์พระไตรปิฎกที่เราเรียกว่าปริยัตินี้ยังอยู่ เราก็ยังชื่อ ชื่อว่ามีหลักของพระพุทธศาสนาอยู่ สำหรับศึกษาและปฏิบัติกันต่อไป ดังนั้น อย่าได้ไปรังเกียจปริยัติ แต่ก็อย่าได้ไปหลงเพียงว่าปริยัติ รู้มากๆ แล้วก็ไม่ทำอะไร ก็เรียกว่าเป็นผู้ได้ เอ้อ, รักษาปริยัติไว้ ก็เป็นการดีส่วนหนึ่ง เพื่อว่าปฏิบัติมันจะงอกออกมาจากปริยัติที่ได้รักษากันมาไว้ พวกเราสมัยนี้ก็เหมือนกัน อยากจะบอกให้ทราบไว้อย่างหนึ่งเกี่ยวกับพวกเราสมัยนี้ คือสมัยที่ สมัยหนึ่ง เอ้อ, การปฏิบัติมันหายไป ไอ้ที่เรียกกันว่ากรรมฐาน วิปัสสนาอะไร มันหายไป แต่โชคดีที่ว่าคัมภีร์ปริยัติของเรื่องนี้มันยังอยู่ มันจึงไปคว้ากันมาใหม่ มาขึ้นต้นกันใหม่ แม้ในยุคนี้ ที่ว่า ที่ ที่นี่เราจะมีสวนโมกข์ขึ้นมา ที่อื่นจะมีอะไรอื่นขึ้นมา เป็นการรื้อฟื้นกันใหม่นั้นนะ มัน มันทำได้ โดยโชคดีที่มีปริยัติเหลืออยู่ ดังนั้น จึงไปควักเอาไอ้เนื้อในของปริยัติออกมาใช้กันอีก ดังนั้น ถึงอย่างไรๆ ก็ภาวนากันไว้ว่าอย่าให้ปริยัติสูญหายไปเลย เพราะปฏิบัตินี่มันก็จะพลอยมีอยู่และฝากไว้ กับปริยัตินั้น เพราะว่าการทำสืบๆ กันมา โดยการปฏิบัติตามสืบๆ กันมานี้ มันเลือนได้มากกว่าที่จารึกอยู่เป็นตัวอักษรอย่างถูกต้อง ซึ่งมันเลือนได้ยากกว่า แม้มันจะปนกันยุ่งเพิ่มมากขึ้นทีหลัง ในเรื่องของปริยัติ แต่มัน มันต้องมีหลักเกณฑ์ที่ให้คัดเลือกได้ว่าอะไรแปลกปลอมเข้ามา อะไรคือของเดิม ดังนั้น อย่าเห็นว่าปริยัตินี้เป็นของไร้สาระ ทีนี้ปริยัตินั่นแหละที่พูดนี้เมื่อตะกี้ หมายถึง system พวกปริยัติทั้งหลายนี่ เราจะศึกษาในแง่วรรณคดีก็ได้ ภาษาศาสตร์ก็ได้ จิตวิทยาก็ได้ ปรัชญาก็ได้ ศิลปะก็ได้ อะไรก็ได้ ทำนองนี้ แม้ที่สุดแต่กวีนิพนธ์ ตัวหนังสือที่เป็นภาษาบาลีในพระไตรปิฎก ส่วนมากส่วนใหญ่นั้นเป็นกวีนิพนธ์ คือเป็นกาพย์กลอน มากเหลือเกิน
ผู้ถาม : ผมขอขอบพระคุณท่านอาจารย์มากครับ
ท่านพุทธทาส : ใครมีอะไรอีก ว่าไปเร็วๆ
ผู้ถาม : ดิฉันอยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ประโยชน์และโทษของเทวนิยมในด้านตีความหมายเทวนิยมเป็น personal god นี่ มีอะไรบ้างคะ
ท่านพุทธทาส : โอ้ย, อย่างนี้ต้องไปดูเอาเอง แล้วแต่เรื่องมันจะเกิดขึ้นอย่างไร ที่ไหน เมื่อไร ไอ้เรื่องอย่างนี้ อย่า ขออภัย ใช้คำว่าอย่าอวดดี ใช้คำหยาบๆ หน่อย คือว่าเราไม่อาจจะมองเห็น อ้า, สิ่งต่างๆหมดในคราวเดียวกัน ตัวเราเองเรายังไม่ค่อยรู้จัก ดังนั้น จึงอยากจะแนะว่า อย่าไปว่า อ้า, สิ่งใดใน อ้า, สิ่งเหล่านี้ ในพวกเหล่านี้ว่าผิด หรือว่าเลว หรือว่าให้โทษ จะพูดตัดบทเสียง่ายๆ ว่า แม้แต่ความงมงาย ก็ยังเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แก่บุคคลที่ยังอยู่ในระดับที่งมงาย เพราะมิ เพราะถ้ามิฉะนั้นแล้ว คนเหล่านั้นจะไม่มีที่ยึดเหนี่ยวเลย หรือว่าจะพูดกันให้ตรงๆ ก็ว่าลูกเด็กๆ ซึ่งเกิดมา มันยังไม่รู้อะไร แล้วมันก็รอดตัวมาได้ด้วยคำพูด หรือว่าหลักการอะไรก็ตามนะ ที่มันเป็นเรื่องงมงาย เพราะเด็กมันอยู่ในระดับต่ำ จะฉลาดยังไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราจึงให้เด็กๆ กลัวอะไรอย่างงมงาย จนกระทั่งอยู่ในรูปไสยศาสตร์ แต่เด็กมันโตขึ้นมา มันก็รู้จักสลัดออกไปเอง แม้แต่เรื่องกรรม เรื่องบุญ เรื่องบาปนี้ เราก็ต้องให้เขารับเอาไว้ หรือมอบให้เขาอย่างงมงายเพราะเขาไม่อาจจะรู้ได้ ว่าทำดี ได้ดี ทำชั่ว ได้ชั่ว ก็ให้เขาถืออย่างงมงายไว้ก่อน แล้วค่อยๆ รู้ตามกันมาเอง ดังนั้น ในหมู่ชนที่ยังไม่อาจจะถือเอามรรคผลนิพพานได้ ก็ต้องถือไอ้สิ่งเหล่านี้แหละไปก่อน เพื่ออย่าได้ไปทำความชั่ว อย่าไปทำสิ่งที่ต่ำกว่า ดังนั้น การจะมีเทวดาในความหมายไหน ถือไปทีก่อน ในชั้นต้นก็ยังจะป้องกันโรคเส้นประสาทได้ มิฉะนั้นเขาจะหวาดผวา เต็มไปด้วยความกลัว ความไม่มีที่ยึดเหนี่ยว ดังนั้นเครื่องศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย มันก็มีประโยชน์แก่บุคคลในระดับหนึ่ง ชั้นหนึ่ง สมัยหนึ่ง แล้วมันก็เลื่อนๆๆ เลื่อนความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาหาพระธรรม มาหาพระธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น เทวนิยม มันจะได้ มันต้องได้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์มาแล้วทุกระดับ คนโง่ที่สุดก็ถือเทวนิยมอย่างต่ำที่สุด สูงขึ้นมาก็เทวนิยมสูงขึ้นมา กระทั่งสูงที่สุด เอาพระธรรมเป็นเทวะ เราก็มีเทวนิยมสูงสุด ทีนี้โทษที่มันจะเกิดขึ้นก็มันอยู่ตรงที่ว่ามันโง่ไม่รู้จักโต มันไม่เปลี่ยนชั้น มันไม่เลื่อนชั้นของไอ้เทวะนั้นเสียเลย หรือมัน หรือบางทีมันกลับย้อนไปหาไอ้โง่เข้าไปอีก เช่น เดี๋ยวนี้ศาลพระภูมิกลับมาอีก นี่อยากจะพูดว่ามันย้อนถอยหลังกลับ ลงไปหาที่มันเคยฉลาด กว่าที่เคยฉลาด อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้น ขอให้มองไอ้เทวนิยมนี่ ในฐานะที่ยังจำเป็นแก่มนุษย์อยู่ เพราะว่ามนุษย์ยังมีความกลัวสิ่งที่ไม่รู้จักอยู่เสมอไป พอเกิดมาจากท้องแม่ ก็ยังไม่รู้จักอะไรหลายๆ อย่าง ก็ต้องกลัวสิ่งที่ยังไม่รู้จัก ดังนั้น ก็จึงมีวัฒนธรรมให้เชื่อนั่นเชื่อนี่ ถือนั่นถือนี่ กลัวนั่นกลัวนี่ไปก่อน กระทั่งเรื่อง ไอ้ หน้าหัว เช่นว่าอย่าเอาไปขัน อ้า, เอาขันไปรองน้ำที่ปากรางนั้นนะฟ้าจะผ่า ที่จริงมันเรื่องทำขันแตกนะ เด็กๆ ก็คำนวณไม่ถูก เอาขันไปรองน้ำที่พุ่งลงมาโดยแรงมันหลุดมือแล้วมันตกแตก แต่ถ้าบอกว่าจะตกแตกนี้มันไม่ค่อยกลัว ก็ใช้ว่าฟ้าจะผ่ามันกลัว ดู นี่ประโยชน์ความงมงายมันก็มีอยู่อย่างนี้ เป็นตัวอย่าง และอื่นๆ อีกมากมายหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ ทั้งความงมงายสำหรับคนที่ยังต้องงมงาย แล้วมันก็เลื่อนขึ้นมา เลื่อนขึ้นมา เลื่อนขึ้นมาจนพ้นจากความงมงายทุกระดับขึ้นมาจนไม่งมงาย ทีนี้เรามันอวดดี อ้า, ไปประนามนั่น ประนามนี่ อย่างเป็นผู้รู้มันโง่เอง ดังนั้น ไปแยกแยะดูให้ดีว่ามันอยู่ในระดับไหน ในชั้นไหนจะต้องอาศัยหลักเกณฑ์อย่างไรอย่าทำให้ผิด แล้วจะต้องเจริญโดยแน่นอน คือพวกเรานี้ จะก้าวหน้ามาตามทางของความเจริญสูงขึ้นไปทางจิตใจโดยแน่นอน ไม่ต้องกลัว ใครมันจะงมงายซ้ำซากอยู่ได้ นอกจากคนที่มัน เหลือเกิน อ้าว, มีอะไรอีก มีปัญหาอะไรอีก
ผู้ถาม : ถ้าเช่นนั้นความงมงายก็ไม่หมดไปจากโลกใช่ไหมคะ
ท่านพุทธทาส : ไม่หมดไปจากโลก จริง แต่ว่าจะหมดไปจากบุคคลที่ก้าวหน้า ทีละคน ทีละคน เป็นคนๆ ไป แต่ยังจะต้องเหลืออยู่ในโลก อ้า, ของคนที่ยังไม่รู้อะไร เพราะความงมงายมันก็เปลี่ยนระดับได้ งมงายชั้นสูงก็มี เป็นสิ่งที่ยากที่จะทำให้ ไอ้สิ่งที่เรียกความงมงายนี้ มันหมดไป แต่ขอชี้สักอย่างหนึ่งว่าเดี๋ยวนี้มนุษย์ฉลาดในฝ่ายวัตถุ อย่างที่เราพูดกันแล้วในเรื่องวัตถุนิยม เจริญก้าวหน้าด้วยเครื่องมือ วัตถุ อุปกรณ์แสนจะวิเศษ แต่เราก็มิได้ใช้มันไป ใน ใน ในทางที่จะดับความทุกข์ในจิตใจ กลับใช้มันไปในทางส่งเสริมกามารมณ์ นี่คือแสนจะงมงาย คือใช้ของวิเศษนั้นให้เป็นภัยเป็นอันตรายแก่ตัวมนุษย์เองในโลกนี้ ในปัจจุบันนี้ ด้วยความก้าวหน้าสูงสุด มนุษย์ใช้ความก้าวหน้าสูงสุด เพิ่มความทุกข์ให้แก่ตน นี่คือมนุษย์ที่แสนจะงมงายในยุคอวกาศนี้ ไม่ต้องพูดถึงความงมงายกลัวผี กลัวเสือ กลัวอะไรต่างๆ ที่เขาหลอกกันมาตั้งแต่ เด็ก ๆ ทีนี้มนุษย์คนหนึ่งๆ มันจะเลื่อนชั้นได้ จากความงมงายอย่างต่ำ งมงายสูงขึ้นไปหรือน้อยลงไป จนรู้ธรรมะอันสูงสุดอันแท้จริงของธรรมชาติ ขอระบุว่าความเป็นพระอรหันต์ ซึ่งจะถึงที่สุดแห่งความงมงาย แม้เป็นพระโสดาบัน พระ อ้า, สกิทาคามี อะไรก็มีบางอย่าง ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของมัน หรือว่าเป็นอะไรของมันเหลืออยู่บ้าง เพราะมันยังมีตัวตนเหลืออยู่เพียงใดก็ต้องเรียกว่ายังมีความงมงายเหลืออยู่เพียงนั้น ดังนั้น การที่เริ่มทำลายตัวตนนั้น ก็ยังไม่หมดความงมงาย ต่อเมื่อหมดตัวตนโดยสิ้นเชิง เป็นพระอรหันต์แล้วก็เรียกว่าหมดความงมงายถึงที่สุด นี่หลุดไปได้คนหนึ่งแล้วเห็นไหม ดังนั้น ว่าจะพูดว่าความงมงายจะต้องมีอยู่ในโลกนี้จริงแน่ แต่สำหรับคนบางคนจะต้องหมดไปๆ จนไม่มีความงมงาย อ้าว, มีอะไรอีก
ผู้ถาม : ขอบพระคุณท่านอาจารย์มากค่ะ