แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายครั้งที่ ๔ นี้ จะได้พูดกันโดยหัวข้อว่า “การจมอยู่ในโลก” ข้อนี้มันเกี่ยวกับภาษา ที่ใช้ทำให้สับสน ฉะนั้น ต้องสังเกตให้ดี ทำความเข้าใจกันให้ดี ๆ คำว่าจมอยู่ในโลกก็คือจมอยู่ในธรรมหรือธรรมชาติระดับโลก เราได้พูดกันมาตั้ง ๓ ครั้งแล้วว่าธัมมะในฐานะพื้นฐานสำหรับผู้แรกเรียนอย่างไร แล้วก็ปัญหาเกิดจากการเข้าใจผิดต่อธรรม จนเกลียดธรรม แล้วต่อมาก็เรื่องธัมมะระดับโลกและธัมมะระดับเหนือโลก นี่ธัมมะระดับโลกน่ะจะเรียกกันง่าย ๆ ว่าโลกเฉย ๆ ก็ได้เหมือนกัน ฉะนั้นการจมอยู่ในโลกก็คือจมอยู่ในธัมมะระดับโลก ถ้าเรามีธัมมะระดับเหนือโลกมันก็ช่วยไม่ให้จมอยู่ในโลก สมกับที่ธัมมะมันมีอยู่ ๒ ชนิด ๒ ชั้น หรือ ๒ ระดับ ธัมมะระดับโลกเป็นไปอย่างโลกๆ เพื่อผลอย่างที่ชาวโลกเขาต้องการ ถ้าทำไม่ดีหรือเผลอไป ก็จมอยู่ในนั้นได้ ซึ่งก็เป็นความทุกข์เหมือนกับจมน้ำ ต้องมีธัมมะระดับเหนือโลก ช่วยให้เข้าใจโลก มันก็อยู่ในโลกได้โดยที่ไม่ต้องจม เหมือนกับเราอยู่ในน้ำ ถ้าเราไม่จมน้ำมันก็ไม่มีอันตรายอะไร หรือว่าอยู่บนเรือแล่นไปบนผิวน้ำนี่ก็ดี ยิ่งได้รับประโยชน์ หรือแม้ที่สุดแต่เราว่ายน้ำอยู่ได้ไม่จมน้ำมันก็ยังดี ดีกว่าที่จะจมลงไปในน้ำ ทีนี้ขอให้รู้จักธัมมะหรือพระศาสนาก็ตาม มันเป็นคำสอนและการปฏิบัติเพื่อไม่ให้จมโลก ให้เจริญอยู่ในโลก ให้ชนะโลก แล้วก็ไม่จมโลก จะเปรียบเทียบดูดี ๆ ว่าเราอยู่บนผิวน้ำ ไม่จมน้ำ มันก็ดี มีประโยชน์ ถ้าจมน้ำมันก็ไม่ไหว อยู่ในโลกเหมือนกัน ถ้าจมโลกก็ไม่ไหว ต้องอยู่อย่างไม่จมโลก
ทีนี้ก็จะพูดกันให้เข้าใจสักหน่อยว่าที่ว่าจมโลกนั้นเป็นอย่างไร โลกทางวัตถุก็คือแผ่นดิน ไอ้โลกอย่างที่เรารู้จักกันอยู่ดี มันจมไม่ได้ มันเป็นดิน มันจมลงไปไม่ได้ ฉะนั้นคำว่าโลกหรือธัมมะระดับโลกนั้น มันหมายถึงอย่างอื่น คือความรู้สึกชนิดที่ชาวโลกเขาหลงใหลกันอยู่ในสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความหลงใหล ฉะนั้น เราเริ่มรู้จักไอ้สิ่งนี้กันเสียบ้าง คือสิ่งที่เรียกว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ๖ คู่ ตาคู่กับรูป หูคู่กับเสียง จมูกคู่กับกลิ่น ลิ้นคู่กับรส กายหรือผิวกายคู่กับสัมผัสที่มากระทบผิวหนัง ใจคู่กับความรู้สึกในใจ มันจึงรู้สึก เลยเป็น ๖ คู่ ถ้าอยากจะศึกษาพุทธศาสนาไปจริง ๆแล้วต้องจำไอ้ ๖ คู่นี้ไว้ให้ดี ๆ นะ มันยังมีเรื่องอีกมากมาย ทุกเรื่องมันจะขึ้นอยู่ที่ไอ้ ๖ คู่นี่ทั้งนั้น แต่วันนี้เราจะพูดกันเฉพาะในฐานะที่มันเป็นโลกสำหรับจม ตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ ตากับรูป หรือรูปเมื่อได้กระทบกับตานั่นแหละมันจะเป็นโลกทางตา เป็นโลกที่เรารู้สึกได้ทางตา หู ไอ้เสียงที่มากระทบหูนั่นน่ะ มันจะเป็นโลก เสียงนั้นเป็นโลกที่เราจะรู้สึกได้ทางหู ถ้าเราไม่มีหู เสียงก็ไม่มีในโลก ฉะนั้น จะต้องมีของ คู่กัน เสียงก็เป็นโลกชนิดหนึ่งสำหรับหูรู้สึก ทีนี้กลิ่นในโลกก็เป็นตัวโลกนั่นแหละ เรียกว่าโลก สำหรับจมูกรู้สึก นี้รสที่มีอยู่ก็เป็นตัวโลกที่จะรู้สึกได้ด้วยลิ้น นี้สัมผัสผิวหนังโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ที่นิ่มนวล ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึกทางกามารมณ์ นี่ก็เป็นสิ่งที่ร้ายแรง เป็นโลกสำหรับจะรู้สึกได้ด้วยผิวหนัง สัมผัสได้ด้วยผิวหนังทั่วทั้งตัว ผิวหนังบางแห่งก็รับความรู้สึกมาก ไว ก็มีปัญหามาก ทีนี้ความรู้สึกที่รู้สึกได้กับใจ ที่ใจ มันจะรู้สึกได้ก็เป็นโลกภายในอีกอันหนึ่ง แต่เขาก็เรียกว่าโลกเหมือนกัน เป็นโลกทางใจโดยตรง จะรู้จักได้ด้วยใจ เขาเอาไอ้โลกนี่คือสิ่งที่รู้สึกได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วบางทีก็เรียกอย่างอื่นก็มีนะ เดี๋ยวนี้วันนี้เราจะพูดกันเฉพาะเรียกมันว่า “โลก”
คำว่า “โลก” นี่แปลว่าแตก แตกแน่ แตกได้ หรือสิ่งที่ต้องแตกเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรที่เรียกว่าโลกแล้วจะไม่แตก คือมันค่อย ๆ แตกเรื่อย ๆ หรือว่าแตกโดยถึงกับแตกหมด เปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น แม้โลกแผ่นดินนี้มันก็ต้องแตก มันก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไอ้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ๖ อย่างนี้เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา แล้วมันก็จะต้องดับ เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับอยู่ตลอดเวลา เราเห็นรูปทีหนึ่งก็เรียกว่า รูปมันเกิดขึ้น พอการเห็นนั้นเสร็จสิ้นไปก็เรียกว่ารูปนั้นมันดับลง เสียงก็เหมือนกัน ถ้าได้ยินด้วยหูก็เรียกว่าเสียงมันเกิดขึ้น มีโลกที่เป็นเสียงเกิดขึ้น พอเสร็จสิ้นเรื่องเสียงมันก็ดับไป เสียงนั้นก็ดับไป นี่ก็เรียกว่ามันก็แตกลง กลิ่นทางจมูกก็เหมือนกัน รสทางลิ้นก็เหมือนกัน สัมผัส สัมผัสผิวหนังก็เหมือนกัน ความรู้สึกในใจ ก็เหมือนกัน มันก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างนี้ มันก็เกิดขึ้นแล้วก็แตกไป เกิดขึ้นแล้วก็แตกไป นี่ถ้าจะดูอุปมากันให้ดี ก็ดูเหมือนมีอุปมาด้วยฟองน้ำ เมื่อฝนตกลงมากระทบน้ำ ยังน้ำมันก็เป็นรูปเป็นฟองขึ้นมา แล้วก็ ดับไป เป็นรูปเป็นฟองขึ้นมา แล้วก็ดับไป นี่เรียกเป็นอุปมาที่ดีสำหรับสิ่งที่เรียกว่าโลกมันเป็นอย่างนี้ แม้แต่โลกแผ่นดินมันก็เป็นอย่างนี้ แต่มันช้าหน่อยจนเราไม่ค่อยสังเกตเห็น แต่ถ้าโลกเกี่ยวกับจิตใจนั้น มันจะเร็วขนาดพอ ๆ กันนะ ขอให้รู้จักโลกอย่างนี้ สำหรับผู้ที่จะศึกษาธัมมะเขาเรียกว่า “ปรมัติ” หรือ “ปรมัตถธรรม” มันเข้าใจยากหน่อยแล้วมันก็ชวนง่วงนอนด้วย นี่จะพูดพอให้เข้าใจได้ไม่ถึงกับต้องง่วงนอน แล้วก็พูดตามที่พระพุทธเจ้าท่านพูดท่านตรัสเอาไว้ว่าไอ้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นี้คือโลก เกิดขึ้นเมื่อไรก็มีเรื่องสำหรับทำให้เกิดความทุกข์ ก็เลยเรียกกันเป็นรวม ๆ กันไปว่าโลกก็คือความทุกข์ ความทุกข์ก็คือโลก คือมันมีปัญหา มันทำให้รักบ้าง ให้โกรธบ้าง ให้ยินดีบ้าง ให้ยินร้ายบ้าง ถ้าเรามาหลงอยู่ในเรื่องเดี๋ยวยินดีเดี๋ยวยินร้าย เดี๋ยวรักเดี๋ยวโกรธนี่ นี่ก็เรียกว่าจมโลก จมอยู่ในโลกชั้นละเอียด ไปคิดดูให้ดี ๆ สังเกตดูให้ดี ๆ ถ้าเรามัวแต่ยินดียินร้ายมันจะเป็นอย่างไรบ้าง ในภาษาธัมมะเขาเรียกว่าจมโลก ไอ้ที่จม มากหน่อยก็คือส่วนที่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดี หรือความรัก หรือเรื่องทางกามารมณ์ โดยเฉพาะไอ้เรื่องสูงสุดทางกามารมณ์คือเรื่องเพศตรงกันข้ามนี้ ถ้าไปหลงอยู่ในความรู้สึกประเภทนี้ก็เรียกว่าจมโลกหนักทีเดียว เรียกสั้น ๆ ว่า “กาม” เป็นความรู้สึกที่เป็นกาม คือความใคร่ ความติดอยู่ในสิ่งนั้น ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ๕ อย่างนี้ก็เรียกว่า “กามคุณ” คือสิ่งที่มีคุณสำหรับกาม กามคือความใคร่ในใจ แล้วก็จะมายึดเกาะอยู่ที่ ๕ อย่างนี้ ใจที่มายึดเกาะอยู่ที่ ๕ อย่างนี้คือจมโลก ในความหมายที่สมบูรณ์ จะให้เลยไปถึง ๖ ก็ได้ ถ้าความรู้สึกที่มันเป็นความยินดี หลงใหลก็จมอยู่ได้เหมือนกัน เดี๋ยวนี้เรากำลังหวังจะได้สิ่งสวยงาม เอร็ดอร่อย สนุกสนานกันอยู่ทุกคน ก็เลยอยากจะเตือนว่าให้ระวังให้ดี อย่าถึงกับจมลงไปในสิ่งเหล่านั้น ถ้าปล่อยไปตามไอ้ความรู้สึกธรรมดาสามัญแล้ว อาจจะจมได้โดยไม่ทันรู้ เหมือนกับเราเดินไปในโคลนแล้วจมโคลนหรือจมลงไปในน้ำโดยไม่ได้ระมัดระวังหรือไม่ได้รู้เรื่องนี้ ฉะนั้น คนที่มันไม่รู้จักน้ำ มันกระโดดลงไปในน้ำมันก็จมน้ำ อย่างนี้เป็นต้น เดี๋ยวนี้เราต้องรู้ไอ้สิ่งเหล่านี้ รู้จักสิ่งเหล่านี้ อย่าให้ถึงกับจมลงไป พอไปเกี่ยวข้องกับมันแล้วก็อย่าให้จมลงไป เหมือนกับเกี่ยวข้องกับน้ำแล้วก็ไม่จมน้ำ หรืออยู่บนเรืออย่างนี้ เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกันอยู่ทุกคน ฉะนั้น ต้องรู้จักรักษาไอ้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ให้ดี ๆ อย่าทำให้มันถึงกับจมลงไปในสิ่งที่เหมือนกับน้ำ ที่เปรียบได้เหมือนกับน้ำ ไอ้รูปสวย ๆ มันก็เหมือนกับน้ำเย็นก็ได้ ไอ้รูปไม่สวยก็เหมือนกับน้ำร้อนก็ได้ นี่เป็นคู่ ๆ กันไปอย่างนี้ ล้วนแต่เป็นน้ำที่ทำให้จม เดี๋ยวนี้เราอาจจะ ไม่จม แต่วันหน้านั้นก็ขอให้ระมัดระวังกันหน่อย ให้รู้ว่าจะเริ่มจมลงไปบ้างแล้ว กลัวไปหลงใหล เริ่มหลงใหลเรื่องเสพติดในสิ่งเหล่านี้เข้าแล้ว ก็จะเรียกว่าไม่ปลอดภัยแล้ว คำว่าจมในภาษาธัมมะนี้ จมได้ทั้งสิ่งที่น่ารักและน่าเกลียด ถ้าไปมัวโกรธมันก็จมอยู่ในความโกรธ เหมือนกับจมอยู่ในน้ำร้อนนะ ถ้าเราไปรักมันก็เหมือนกับจมอยู่ในน้ำที่ไม่ร้อน จะเป็นน้ำเย็นหรือน้ำอะไรก็ตามที่ทำให้ไม่อยากจะขึ้นมา ถ้าไม่ต้องการความรู้ข้อนี้มันก็ดูเหมือนไม่ต้องการพุทธศาสนา ไม่จำเป็นจะต้องรู้ต้องเรียนพุทธศาสนา ฉะนั้น ถ้าเรามีความปรารถนาที่จะศึกษาเล่าเรียนพุทธศาสนาจริงอย่างที่ว่าอย่างที่บอกกันอยู่ แล้วก็ต้องการให้ถึง พุทธศาสนาที่เป็นตัวจริง เป็นแก่นเป็นสารแล้วก็ต้องเรื่องนี้แหละ ต้องรู้เรื่องนี้ไม่มีเรื่องอื่น คือเรื่องอย่าให้มันจมลงไปในโลกหรือในกองทุกข์ แล้วให้รู้ว่าไอ้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้เป็นตัวการ ตัวการใหญ่ที่จะทำให้เกิดเรื่อง แล้วรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นี่เป็นคู่ของมัน เป็นอารมณ์ของมัน ที่ทำให้ตา หู จมูกลิ้น กาย ใจมีเรื่องมีราวขึ้นมา ในเมื่อไม่รู้เรื่องนี้ เพราะฉะนั้น ไอ้หลักปฏิบัติมันจึงมีระบุชัดลงไปคือว่าควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจให้อยู่ในการควบคุม อย่าปล่อยไปโดยปราศจากการควบคุม มันจะจมลงไป ในนั้น เหมือนกับเราเดินไม่ดีมันตกร่อง สิ่งเหล่านี้มันจะเป็นอันตรายทันทีเมื่อเราไม่รู้จักและไม่ควบคุม เดี๋ยวนี้ปัญหามันคงจะมีอยู่ที่ว่าเรานี่ชอบสิ่งที่น่ารัก แล้วก็ชอบมีความรัก แล้วชอบสิ่งที่น่ายินดีน่าพอใจ ต้องการกันอยู่ทั้งนั้น นี่จะกลายเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกัน ก็เพราะทุกคนมันต้องการไอ้สิ่งที่น่ารักน่ายินดี อุตส่าห์ศึกษาเล่าเรียน ทำการทำงานก็เพื่อจะได้มีเงิน ได้มีอาชีพมีเงิน แล้วก็จะไปแสวงหาสิ่งที่น่ารัก น่ายินดี น่าพอใจ ทำไมจึงมาพูดว่าสิ่งเหล่านี้กลับเป็นสิ่งที่ต้องระวัง ก็ไปดูเอาเองบ้าง ที่ลุ่มหลงในเรื่องกามารมณ์เป็นอย่างไรบ้าง คนได้เสียชีวิตลงไปแล้วกี่มากน้อยเป็นประจำวัน เพราะปัญหาเรื่องกามารมณ์ คือเกี่ยวข้องกับกามารมณ์อย่างไม่ถูกต้อง จะเป็นคนหนุ่ม คนสาวที่ยังไม่เคยแต่งงานก็มีปัญหาเรื่องนี้ แม้แต่งงานเป็นสามีภรรยาแล้วก็ยังมีปัญหาเรื่องนี้ อย่างที่เราเห็นในข่าวประจำวันในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ต้องศึกษาอ่านดู แล้วก็จะเข้าใจว่าทำไมพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสเรื่องนี้ และยกเอาเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ในพระสูตร พระบาลีบางสูตรเรียกตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์จับคู่กันอยู่ นี่ว่าเป็นเหมือนกับมหาสมุทร ตกไปแล้วตกในมหาสมุทร คิดดูมันยากที่จะช่วยกัน มันไม่ใช่ตกในคลอง เล็ก ๆ ตื้น ๆ เพราะว่ารูปที่มาทางตา เสียงที่มาทางหูนี่ บางชนิดบางอย่างมันลึก ลึกมาก ไม่ทำให้เรารู้จักได้ แล้วก็หลงจนตกลึกจนถอนขึ้นมาไม่ได้ ก็ดูผู้ที่ได้รับอันตรายจากเรื่องกามารมณ์เป็นตัวอย่าง ดูคนเหล่านั้นเป็นตัวอย่าง แล้วก็จะเข้าใจคำว่ามันตกลึกลงไปในมหาสมุทรนี้ แล้วก็จริงตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้เรียกว่ามหาสมุทร ตกน้ำตกทะเลธรรมดานี่ยังไม่ร้ายเท่ากับตกไอ้ทะเลตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หลงใหลในเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์ทางเพศ ตรงกันข้าม ก็เป็นมหาสมุทรที่ลึกซึ้งยิ่งกว่ามหาสมุทร มหาสมุทรในโลกที่ว่าลึกซึ้งแล้วก็ยังไม่ลึกเท่ามหาสมุทรนี้ แล้วใจตกลงไปมันขึ้นมาไม่ได้ นี่คือคำว่าจมโลก ถ้าเราไปหลงรักในสิ่งใดก็เราจมลงไปในสิ่งนั้น นั่นก็เรียกว่าจมโลก เพราะสิ่งที่เราหลงรักมันไม่มีอะไรมากไปกว่าไอ้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่เป็นคู่กันกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันไม่มีอย่างอื่นนอกไปจากนี้ แต่เพราะเหตุที่ธรรมชาติมันได้สร้างให้เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำอย่างไรได้ ฉะนั้น ตามันรู้เรื่องของตา หูก็รู้เรื่องของหู เลยรู้กันครบหมดทั้ง ๖ รวมกันแล้วเป็นโลกโดยสมบูรณ์ ถ้าเราไม่มีตา มันก็ไม่มีไอ้เรื่องทางรูป ไม่มีปัญหาทางเรื่องรูป ถ้าไม่มีหูก็ไม่มีปัญหาทางเรื่องเสียง ไม่มีจมูก ก็ไม่มีปัญหาทางเรื่องกลิ่น อย่างนี้ทุกเรื่องไป เดี๋ยวนี้มันมีแล้ว มันมีอย่างตามธรรมชาติ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มีใจเป็นศูนย์กลางอีกทีหนึ่งของทั้ง ๖ นี้มันตรงไปที่ใจ ไอ้หน้าที่อันหนึ่ง ใจที่ทำหน้าที่อีกอันหนึ่งที่เป็นศูนย์กลางจะเรียกว่าใจเดียวกันก็ได้ เพราะมันผลัดทำหน้าที่คนละที มันจะรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นทางผิวหนัง ก็เพื่อส่งไปยังใจชนิดที่จะรับอารมณ์ แล้วก็มันจะส่งไปถึงความรู้สึกที่เป็นชั้นลึกกว่านั้นคือใจสำหรับคิด สำหรับนึก สำหรับอะไรต่อไปอีก รวมกันแล้วก็เรียกว่าใจด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้น ถ้าควบคุมใจได้ ก็จะควบคุมไอ้ข้างนอกทั้ง ๕ อย่างได้ แต่เขาก็สอนให้ควบคุมพร้อม ๆ กันไปหมดทั้ง ๖ อย่าง อย่าให้มันเกิดเผลอพลัดลงไปในสิ่งที่หลอกหรือยั่วของไอ้อารมณ์เหล่านี้ อย่าไปหลงในเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องโผฏฐัพพะ เรื่องธรรมารมณ์ เราจะพูดว่าโผฏฐัพพะแล้วคงจะไม่ค่อยได้ยินกันนัก ไม่เคยได้ยินแต่รู้ว่าเรื่องสัมผัสทางผิวหนัง ธรรมารมณ์คือเรื่องรู้สึกด้วยใจ จำไว้จะดี ถ้าตั้งใจจะศึกษาพุทธศาสนาจริง ๆต่อไปข้างหน้า ไม่มีขอบขีดจำกัดแล้วขอให้จำไอ้ 6 คำนี้ไว้ก่อน มันเป็นจุดตั้งต้นของทุกเรื่อง ตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจนี่ ถ้าพูดเป็นบาลีก็ว่าจักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาโย มโน จำได้ก็ดี จำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร จำได้แต่ว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าเห็นเป็นเรื่องเล็ก ๆ หรือเป็นเรื่องไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องรู้จัก แล้วก็เรื่องรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ สัมผัสนี่ยืมมาใช้สำหรับผิวกายจริง ๆ แหละ ทั้งหมดก็เรียกว่าสัมผัส สัมผัสทางตา สัมผัสทางหู สัมผัสทางจมูก สัมผัสทางลิ้น สัมผัสทางผิวหนัง สัมผัสทางใจ แต่ในภาษาไทยเอาคำว่าสัมผัสไปไว้สำหรับกาย พูดกันภาษาชาวบ้าน เราจึงใช้คำว่ารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ เพราะคำว่าโผฏฐัพพะนั้นมันแปลกหูเกินไปสำหรับชาวบ้าน ต่อไปจะรู้เรื่องอะไรอีกมาก เข้าใจเรื่องที่ยากกว่านี้ได้อีกมากถ้าพยายามเข้าใจคำว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ นี่ขอย้ำอยู่ ย้ำแล้วย้ำอีกว่าให้สนใจ ๖ คำนี้ ๖ คู่นี้แล้วก็จะศึกษาพุทธศาสนาได้ดีถึงขนาดที่ปฏิบัติได้ เมื่อเขาพูดกันอย่างวิชาความรู้หรือทฤษฎีก็ยังไม่ค่อยเกี่ยวกับไอ้ ๖ อย่างนี้ แต่พอพูดถึงการปฏิบัติเมื่อไรต้องเกี่ยวกับ ๖ อย่างนี้ ต้องควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อะไรมันตั้งต้นที่นี่ จนกระทั่งพูดได้ว่าไอ้โลกก็ตั้งต้นที่นี่ อย่าเห็นเป็นของแปลกหรือว่าเป็นของที่ไม่น่าเชื่อ ให้รู้ไว้ว่าโลกนี่มันตั้งต้นที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเรา ไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันไม่มีโลกนะ ขอให้พิจารณาดูให้ดี ถ้าสมมติเราไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โลกมันก็ไม่มี แล้วเราจะอยู่ได้อย่างไรถ้าเราไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่พูดอย่างภาษาธัมมะเขาพูดกัน อย่างนี้ ถ้าพูดอย่างภาษาชาวบ้านหรือเรื่องโลก ๆ ทางวัตถุก็พูดกันไปอีกแบบหนึ่ง โลกนี้มาจากดวงอาทิตย์หรือว่าดวงอาทิตย์มาจากอะไรหลาย ๆ อย่าง ไอ้พวก ..... (24:49) รวมกันเป็นจักรวาลเป็นอะไรอย่างนี้ ไม่ต้องพูดกัน นั้นมันเรื่องวัตถุ แต่ถ้าเรื่องไอ้ธัมมะที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับจิตใจ แล้วก็โลกนี้ตั้งต้นที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอเรารู้สึกทีหนึ่งมันก็มีโลกทีหนึ่ง พอหมดความรู้สึกทีหนึ่งก็โลกนั้นก็แตกไปทีหนึ่ง จะเป็นโลกทางตา หรือโลกทางหู หรือโลกทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอะไรก็ตาม พอรู้สึกมันทีหนึ่ง ทางไหนก็ตาม มันมีโลกทางนั้นขึ้นมาทีหนึ่ง แล้วมันก็ดับไป แล้วก็มีโลกทางอื่นขึ้นมาอีก ดับไป มีโลกทางอื่น ขึ้นมาอีก ดับไป ทยอยกันอยู่อย่างนี้ แต่มันติดกันเร็วมากจนเราเห็นเป็นว่าเหมือนกับมันเนื่องกันอยู่อย่างนั้น เดี๋ยวเรื่องรูป เดี๋ยวเรื่องเสียง เดี๋ยวเรื่องกลิ่น เดี๋ยวเรื่องรส ฟังดูแล้วก็คล้ายกับว่าเกณฑ์ให้ฟังเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ ไม่จำเป็นจะต้องรู้ แต่นี่อยากจะบอกว่าถ้าจะศึกษาพุทธศาสนาแล้วต้องรู้ ต้องตั้งต้นการศึกษาที่นี่ เพราะว่านี่คือโลก ถ้าไม่รู้แล้วก็จะพลัดตกหรือจะจมลงไปในโลก ติดอยู่ในโลกก็คือติดอยู่ในกองทุกข์ ในบางแห่งพระพุทธเจ้าท่านตรัสเรียกโลกกับทุกข์นี่รวมไว้ในสิ่งเดียวกันว่าทุกข์คือโลก โลกคือทุกข์ จนถึงกับตรัสว่าในร่างกายที่ยาวราววาหนึ่งยังเป็น ๆ อยู่นี่มันมีโลก มันมีเหตุให้เกิดโลก มันมีความดับสนิทของโลก มันมีทางให้ถึงความดับสนิทของโลก นี่คือเรื่องอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นหัวใจของพุทธศาสนาด้วยเหมือนกัน ที่ว่าในกายยาวสักวาหนึ่งเท่านี้แล้วยังเป็น ๆ อยู่ คือยังไม่ตาย ถ้าตายแล้วไม่มีนะ ไม่มีโลกไม่มีอะไร ไอ้กาย ที่ยังเป็น ๆ อยู่น่ะมีโลก ก็คือมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้จักนั่น รู้จักนี่ ในฐานะเป็นโลกอยู่เรื่อยไป นี่เรียกว่าโลกมีอยู่ในร่างกายที่ยาวสักวาหนึ่งนี่ทั้งนั้น แล้วจึงมีเหตุให้เกิดโลก แล้วก็มีไอ้ความรู้สึกคิดนึกโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ความต้องการ เพราะเราต้องการนี่เราจึงไปแสวงหาทางตา แสวงหาทางหู แสวงหาทางจมูก ทางลิ้นก็ตาม ความต้องการนั่นน่ะเป็นเหตุให้ตามันทำให้โลกทางตาเกิดขึ้นมา ทำให้โลกทางหูเกิดขึ้นมา ทำให้โลกทางจมูกเกิดขึ้นมา ฉะนั้น ในร่างกายนี้ก็มีเหตุให้เกิดโลกสิ่งที่ ๒ ทีนี้มีความดับของโลกก็คือว่าไอ้เห็นทางตาหรือได้ยินทางหูก็ตาม เดี๋ยวมันก็ดับไปในเรื่องนั้น เดี๋ยวเรื่องนั้นก็ดับไป เดี๋ยวเรื่องนั้นก็ดับไป เกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป แล้วมันก็มีความดับโลกกันอยู่ด้วยคือดับแห่งรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์เป็นคราว ๆไป
ทีนี้ที่ว่ามีทางปฏิบัติให้ถึงความดับสนิทแห่งโลกคือดับแห่งทุกข์ ก็คือประพฤติให้ดีให้ถูก ความประพฤติที่ถูกมันก็อาศัยร่างกายนี้ กาย วาจา ใจนี่มันก็มีการประพฤติที่จะดับความทุกข์เสียได้ อย่าให้ไอ้ความเกิดดับ เกิดดับ เกิดดับของโลกมันเกิดเป็นปัญหาหรือเกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมา ถ้าเราปฏิบัติถูกต้องตามทางธรรมแล้ว ไอ้โลกนี้ก็ไม่เป็นความทุกข์ หมายความว่าเรายังมีโลกโดยที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ เพราะตา ก็ยังอยู่ หูก็ยังอยู่ จมูกก็ยังอยู่ แล้วก็รู้จักรูป เสียง กลิ่น รสที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้นน่ะอยู่แต่ชนิดที่ไม่เป็นทุกข์ ถ้าเราทำผิดนิดเดียวสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นทุกข์ ถ้าเราทำถูกอยู่ สิ่งเหล่านี้จะไม่กลายเป็นทุกข์ ฉะนั้น จึงต้องรู้เรื่องโลกนี้ให้ดี ๆ อย่าได้จมลงไปในทางที่จะให้มันเป็นทุกข์ ให้มันอยู่ชนะอยู่เรื่อยไป ฉะนั้น ข้อที่สอนว่าอย่าไปหลงรัก อย่าไปหลงเกลียดนั่นน่ะเป็นหลักสำคัญ ถ้าไปหลงรักก็ทุกข์อย่างเพราะไปรักเข้า ถ้าไปเกลียดเข้าก็จะมีความทุกข์อย่างไปเกลียดเข้า จะให้อยู่อย่างใจคอปกติ มีสติปัญญา รู้ว่าจะต้องทำกับ สิ่งนี้อย่างไร จะทำกับสิ่งนั้นอย่างไร สิ่งไหนอย่างไร แล้วก็ไม่ต้องไปรักไปเกลียดมัน นี่พูดมันง่าย เราทำ มันยาก ขอให้เข้าใจไว้ด้วย ที่เราจะมีจิตใจที่ไม่ไปหลงรักอะไรไม่ไปหลงเกลียดอะไรน่ะมันพูดได้ง่าย แต่ทำได้ยาก เอ้าทีนี้ถ้าทำไม่ได้มันก็ต้องเป็นทุกข์สิ ถ้าทำไม่ได้มันก็ต้องเป็นทุกข์แหละ ก็จะต้องพยายาม ที่จะทำให้ได้ และจะศึกษาต่อไปเพื่อทำให้ได้ อย่าให้จิตใจพลัดลงไปในเรื่องของความรัก อย่าให้จิตใจ พลัดลงไปในเรื่องของความเกลียด ก็เลยตั้งอยู่อย่างปกติได้ นั่นน่ะคือความไม่มีทุกข์ บางคนจะไม่เอา อยากจะมีทุกข์ เพราะมันสนุก คืออยากจะเข้าไปในความรัก ทั้งที่รู้ว่าเป็นความทุกข์ หรือบางทีก็อยากจะโกรธอยากจะเกลียดในบางกรณีด้วยซ้ำไป มันสนุกดี ได้โกรธเขา ได้ด่าเขา ได้ตีเขา นี่มันก็สนุกดีเหมือนกัน ก็บังคับไว้ไม่ค่อยอยู่ ฉะนั้น เรื่องยินดียินร้ายนี่ก็เหมือนกับว่าเรื่องขึ้นเรื่องลง เรื่องขึ้นก็ไปแบบหนึ่ง เรื่องลงก็ไปแบบหนึ่ง มันโกลาหลวุ่นวาย ระส่ำระสายทั้งนั้น สู้อยู่กลาง ๆ สมดุลให้ได้ อยู่ตรงกลางที่สมดุลให้ได้ นี่แหละดี มันคือธัมมะที่ถูกต้อง จะให้เกิดความสมดุล เขาเรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” ไม่ว่าเรื่องอะไร ถ้ามันสมดุล มันอยู่ตรงกลางแล้วเป็นถูกต้องหมด ไม่มีเรื่องที่จะต้องเป็นทุกข์ พอมันเอียงไปฝ่ายโน้นหรือเอียงมาฝ่ายนี้แล้วจะต้องมีความทุกข์ ไม่แบบไหนก็แบบหนึ่ง เช่นว่ามีความรักก็จะต้องหนักอึ้งไปตามแบบของความรัก มีความเกลียดก็จะต้องหนักอึ้งไปตามแบบของความเกลียด ศึกษาอย่างนี้ไว้เสียแต่เดี๋ยวนี้ จะมีประโยชน์ในกาลข้างหน้า เพราะว่าเราจะต้องไปพบกับสิ่งเหล่านั้นมากขึ้น มากขึ้น
ที่เขาพูดว่าจิตว่างนี่หมายความว่ามันเป็นสมดุล มันไม่ไปข้างโน้น มันไม่ไปข้างนี้ คือไม่ไปรัก หรือว่าไม่ไปเกลียดเท่านั้นเอง ไม่ยินดีหรือไม่ยินร้าย มันอยู่กลาง ๆ ไม่อยากในสิ่งใด แต่รู้ว่าสิ่งใดจะต้องทำอย่างไร ถ้ามันมาถึงเข้าสำหรับจะต้องทำ ฉะนั้น ถ้าเราจะกินอาหารด้วยใจคอที่ปกติอย่างนี้มันก็อาจจะ ไม่อร่อยก็ได้ แต่มันก็ไม่ไปในทางที่ตรงกันข้าม ขอให้สังเกตตัวเองก็แล้วกัน เอาเรื่องคนอื่นมาพูด มันไม่รู้สึก เพราะว่ามันรู้สึกแทนกันไม่ได้ ใจของเรา เรารู้ ใจคนอื่น คนอื่นรู้ เราชอบให้มันอร่อย อย่างกินอาหารนี่ก็ชอบให้มันอร่อย ก็ไม่มีใครว่าอะไร แต่ถ้าความอร่อยมันทำให้ผิดปกติแล้วล่ะก็ คิดดูให้ดี ๆ มันก็เป็นไอ้การไม่ปกติแล้ว มันเสียความปกติ เสียสมดุล ถ้าไปหลงไอ้ความอร่อยแล้วมันก็จะมากขึ้นไปอีก มันจะมีเรื่องขยายตัวออกไปอีก การลำบาก ยุ่งยาก ทะเลาะวิวาท หรือไม่สงบอีกหลาย ๆ ทางน่ะ มันเนื่องมาจากความอร่อยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่เป็นสำคัญ ทุกคนก็ต้องการสิ่งเหล่านี้ แล้วก็แย่งชิงกัน ทะเลาะวิวาทกัน รบราฆ่าฟันกัน นี่เรียกว่าเกี่ยวกับคนอื่น ที่เกี่ยวกับตัวเองแท้ ๆ มันก็ทำให้ใจคอไม่พักผ่อน มันละเอียดมากนะ คำว่าใจคอไม่พักผ่อนมันละเอียดมาก เพราะไปหลงอยู่ในความรัก เมื่อใดเรากลัดกลุ้มอยู่ในความรักน่ะ ไปคิดดูบ้าง มันเป็นอย่างไร จิตใจมันเป็นอย่างไร เมื่อใดจิตใจมันกลุ้มอยู่ด้วยความโกรธความเกลียด จิตใจมันเป็นอย่างไร มาเปรียบเทียบกันดูแล้วจะพบว่าอยู่ตรงกลางดีกว่า นี่เรียกว่าไม่จมโลก จมอยู่ในฝ่ายความรักก็สำลักไปตามเรื่อง จมอยู่ในฝ่ายความเกลียดก็สำลักไปตามเรื่อง ไม่จมเท่านั้นแหละ ที่จะปกติอยู่ได้ ในทางพุทธศาสนาเขาสรุปความไว้ในข้อนี้ว่าปฏิบัติธัมมะทั้งหลายทั้งสิ้นนี่ เพื่อจะนำออกเสียซึ่งความยินดียินร้าย เรียกเป็นบาลีว่า “อภิชชา” ยินดี “โทมนัส” ยินร้าย การปฏิบัติศีล สมาธิ ภาวนา กรรมฐาน วิปัสสนาแบบไหนก็สุดแท้ มุ่งหมายอยู่ข้อที่ว่าจะนำออกเสียซึ่งอภิชชาและโทมนัส เป็นนำออกเสียซึ่งความยินดียินร้าย อย่าให้เรามันไปยินดียินร้ายกับอะไร ให้เรามันปกติอยู่เสมอ ถ้าเป็นได้อย่างนี้ ก็เรียกว่าอริยบุคคล ตามมากตามน้อยขึ้นไปจนถึงกับว่าหมดเลย สิ้นเชิงเลยก็เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ จะเอาหรือไม่เอาก็ตามใจ มันมีให้แต่อย่างนี้ ในพุทธศาสนามันมีให้แต่ข้อปฏิบัติอย่างนี้ ข้อปฏิบัติสำหรับ จะนำออกเสียซึ่งความยินดียินร้ายจากความเคยชินในจิตในใจของตน เราเคยชินแต่ยินดียินร้ายมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก แล้ว ต่อไปมันจะเป็นไปอย่างไรข้างหน้า ขึ้นลง ขึ้นลง ขึ้นลงอยู่ด้วยความยินดียินร้าย ธัมมะต้องการจะให้ล้างนิสัยนี้ออกให้หมด นำออกเสีย ล้างความรู้สึกอันนี้ไม่ให้มันมีเชื้อสำหรับจะยินดียินร้ายอีกต่อไป นี่เป็นพระอรหันต์ นี่ไม่ต้องเป็นพระอรหันต์มันก็ยังได้รับประโยชน์ที่ว่ามันระหกระเหินน้อย มันไม่ขึ้นลงมาก มันปกติอยู่ได้มาก นี่ดูเหมือนกับเป็นปัญหาอยู่ว่าใครจะชอบสักกี่คน พอบอกว่าไม่ให้ยินดียินร้าย มันชักจะสั่นหัว เพราะว่ายินดียินร้ายมันสนุกดี มันเป็นเสียอย่างนี้ ทำไมจะต้องไปดูหนังดูละคร เพราะมันสนุกไปชนิดที่บำรุงบำเรอ หรือว่าจะไปอบายมุขเรื่องไหนก็ตาม มันเพื่อความเอร็ดอร่อยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพื่อยินดีนั่นแหละ ส่วนใหญ่ก็เพื่อยินดีทั้งนั้น ส่วนยินร้ายนั้นเราไม่ค่อยอยากหรอก แต่มันก็หลีก ไม่พ้น เพราะว่าถ้าไปยินดีเสียแล้ว มันต้องเปลี่ยนเป็นยินร้าย คือว่าเมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการจะยินดีมันก็ต้องยินร้ายทั้งนั้นแหละ คือโกรธขึ้นมา ต้องเป็นของคู่กันอยู่เสมอ ยินดีกับยินร้าย ถ้ามีความรักแล้วก็จะต้องมีความทุกข์ เพราะว่ามันจะไม่สมประสงค์ ตามปกติมันจะไม่สมประสงค์ไปเสียทุกอย่าง ถ้าไปต้องการ อย่างนั้นอย่างนี้เข้ามากเกินไป มันก็ต้องยิ่งไม่สมประสงค์มากเกินไป เพราะว่าความรักเองมันก็เปลี่ยนแปลง บุคคลที่มีความรักมันก็เปลี่ยนแปลง มันคงที่ไม่ได้ ฉะนั้น ใจมันก็ต้องระหกระเหินไปตามความเปลี่ยนแปลง ทีนี้เราก็อย่าไปนั่นมัน อย่าไปยึดถือมัน เรื่องรักเรื่องเกลียดเรื่องยินดียินร้ายนี้ แล้วมันก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในทางจิตทางวิญญาณ มันก็มีจิตใจที่ปกติ นี่เป็นคนมีปกติ ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ที่เข้ามากระทบ เรียกว่าเป็นผู้ชนะโลก เป็นผู้ไม่มีปัญหาในโลก โลกจะทำคนนี้ให้ขึ้น ๆ ลง ๆ หรือยินดียินร้ายไม่ได้
ทีนี้ไอ้โลกที่มันจะเป็นน้ำสำหรับให้จมมันก็ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอย่างที่ว่ามาแล้ว แต่นี่จะระบุให้ชัดลงไปอีกที่มันเป็นอยู่จริง ๆ เนื่องกันอยู่กับไอ้สิ่งนี้ก็คือ “โลกธรรม” โลกธรรมแปลว่า สิ่งประจำโลก เขาเรียกว่า “โลกธรรม” คงจะเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วแหละ ถ้าเคยสนใจธัมมะแล้วก็จะเคย ได้ยินคำว่า “โลกธรรม” คือสิ่งที่มีประจำอยู่ในโลก มีอยู่ ๔ คู่ ๘ อย่าง ความได้ลาภและความเสื่อมลาภคู่หนึ่ง ความได้ยศได้เกียรติแล้วก็เสื่อมยศเสื่อมเกียรตินี่คู่หนึ่ง ความได้สุขความพอใจและความได้ทุกข์ที่ไม่พอใจ นี่อีกคู่หนึ่ง แล้วก็นินทาแล้วก็สรรเสริญอีกคู่หนึ่ง คิดดู สังเกตดู มันเต็มไปหมดทุกหนทุกแห่งไอ้ ๔ อย่างนี้ แล้วก็จะเกี่ยวข้องกับเราอยู่ด้วยเหมือนกันตลอดเวลา เราอยากจะได้ลาภ อยากจะได้อะไรนี่มันไม่ได้ แล้วบางทีมันก็ได้ บางทีมันก็ไม่ได้ ไอ้ได้แล้วมันกลับหายไป กลายเป็นไม่ได้ แล้วเราอยากมันมากเกินไปมันก็มีความไม่ได้มากขึ้น ฉะนั้น เราจึงได้ลาภหรือเสื่อมลาภสลับกันอยู่อย่างนี้ ได้เกียรติยศหรือว่า เสื่อมเกียรติยศ ได้ยศ เสื่อมยศนี่ก็เหมือนกันอีกแหละ เดี๋ยวมันก็ถูกกระทำให้ไปในทางได้เกียรติได้ยศชื่อเสียง เดี๋ยวมันก็เสียเกียรติเสียชื่อเสียง แล้วยิ่งในโลกนี้ด้วย แล้วมันยิ่งเอาแน่ไม่ได้ เพราะคนมันมีกิเลส ฉะนั้น ทำดีว่าไม่ดีก็มี ถึงแม้ทำดี มันก็ไม่สามารถจะทำไปได้ทุกอย่าง เหมือนกับมีอะไรมาแทรกแซง มาเป็นขัดขวางเป็นอุปสรรคแล้วทำให้เสียชื่อเสียงก็ได้ ฉะนั้น อย่าแปลก อย่าแปลกใจ การที่เขาจะนินทาอะไรบ้างนี่อย่าแปลกใจ หรือเขาจะไม่ให้เกียรติอย่าแปลกใจ เป็นธรรมดาในโลก ฉะนั้น จำไว้ให้ดีว่าไอ้ ๔ คู่ ๘ อย่างนี้เหมือนกับน้ำในโลก เป็นน้ำเย็นกับน้ำร้อน เดี๋ยวก็ตกน้ำเย็นเดี๋ยวก็ตกน้ำร้อน อย่าตกเลยดีกว่า ไม่จมโลก ไม่จมอยู่ในโลกธรรม พระอรหันต์ก็คือผู้ที่ไม่จมอยู่ในโลกธรรมอีกต่อไป ที่รอง ๆ ลงมาก็จมบ้างไม่มากนัก ถ้าปุถุชนคนธรรมดาก็จมอยู่เต็มที่ เราเป็นคนพวกไหนตัดสินเอาด้วยตนเอง ไม่ต้องให้มีใครมาช่วยตัดสิน เราเป็นเด็กกันมาแล้วทุกคน เมื่อเราเป็นเด็กเราชอบยอใช่ไหม เด็กคนไหนไม่ชอบยอ แทบจะหาไม่ได้ แล้วเคยเป็นเด็กกันมาทุกคนแล้วก็ชอบยอ แล้วเมื่อเราได้รับการยกยอ เราไม่ได้รู้สึกว่าเราตกน้ำหรือจมน้ำใช่ไหม นี่มันมองไม่เป็นหรือมองไม่เห็น มันคนละระดับ ฉะนั้น ถ้าเขาว่าเรา เขาด่าเรา เขากดขี่ดูหมิ่นเรา นี่มันเห็นง่าย เราไม่ชอบ แล้วก็จมลงไปในไอ้ความเป็นทุกข์ ท่าทีที่เขายกยอสรรเสริญ ประเล้าประโลมนี่เรากลับว่าเอ้อ!ดี เราไม่ได้เสียอะไร แต่เดี๋ยวนี้มาเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ต้องดูให้ดี ๆ เราก็กลายเป็นว่าไม่อยากให้ใครจับเราเชิด ถ้าเรารู้ว่าใครจะมาจับเราเชิดนี่เราก็โกรธ เราไม่อยากจะเป็นหุ่นให้แก่ใคร สิ่งเหล่านี้จะต้องรู้จักให้จริง ให้ถูกต้อง ให้ครบถ้วนยิ่งขึ้นทุกที จะเอาเด็ก ๆ เป็นประมาณอยู่นั้นมันไม่ได้ มันโตขึ้นมาทุกวันทุกวัน อย่างเด็ก ๆ เราเชิดเขาได้ เรายอให้เขาทำอะไรก็ได้ แต่พอโตขึ้นมาแล้วมันยอกันยาก เชิดกันยาก เพราะเราก็ไม่ชอบ เดี๋ยวนี้ในโลกนี้มันก็มีแต่สิ่งเหล่านี้แหละที่มันลึกซึ้ง เข้าใจยากมากขึ้นทุกที ในชนิดที่เข้าใจง่ายอย่างสมัยเด็ก ๆ นั้นมันก็หมดไปแล้ว ผ่านไปแล้ว ต่อไปข้างหน้านี่มันจะพบแต่สิ่งที่เข้าใจยาก แล้วเราไม่รู้สึกหรอกว่านี่คือสิ่งที่จะทำให้เราจมลงไปในกองทุกข์
เอาละ! ลองทบทวนดูใหม่สิคำว่าจมโลกอย่างนี้เราเคยได้ยินมาแล้วหรือไม่ หรือว่าเราเคยได้ยินมาบ้างแล้ว เราหมายความมันว่าอย่างไร เราถือเอาความหมายว่าอย่างไร บางคนจะรู้สึกไปแต่ในทางว่าจมในเรื่องสวยงาม เอร็ดอร่อย เรื่องกามารมณ์ จมแต่เรื่องกามารมณ์ นี่ก็ถูก แล้วถูกอย่างยิ่งนะถ้ารู้จักคำว่าจมในกามารมณ์ นี่ก็นับว่าฉลาดขึ้นมาตั้งครึ่งค่อนแล้ว แต่ถ้าจะฉลาดให้สมบูรณ์ต้องรู้ว่ามันยังมีการจมแม้ในสิ่งที่ไม่น่ารักไม่น่าพอใจ คือไปมัวหลงโกรธหลงเกลียดหลงอะไรกันอยู่ ถ้าเช่นถ้าเรามีศัตรู เขาก็ต้องลำบากใจหรือเรื่องเห็นหน้าศัตรู ได้ยินเสียงศัตรู คิดถึงศัตรูเมื่อไรก็เดือดร้อนใจเมื่อนั้น นี่ก็เป็นการจมอีกชนิดหนึ่ง ตรงกันข้ามกับว่าจมในเรื่องรัก ๆ เรื่องสวยเรื่องงาม ฉะนั้น จมโลกนี่คือจมทั้งฝ่ายยินดีและฝ่ายยินร้าย เราจงจดจำไว้สำหรับตั้งข้อสังเกตศึกษาต่อไป เพราะที่แล้วมาเราไม่เคยคิดว่าเราจม แม้ในสิ่งที่เรารัก จนหลงใหลไป เพราะเราไม่ได้คิดว่าเราจมอยู่ในสิ่งนั้น เว้นไว้แต่เราจะได้ยินได้ฟังบ้างอย่างนี้เราจึงจะรู้ว่ามันจม จมอยู่ในความรักของรัก ทีนี้ที่ว่าจมอยู่ในความโกรธความไอ้เกลียดนี่เรายังไม่ค่อยเคยคิด หรือมันจะเลยไปถึงว่าในความกลัวในความเศร้าโศกนี่ก็เรียกว่าจมเหมือนกัน ถ้าเราอยู่ด้วยความกลัว อย่างที่เขาพูดกันว่าอาณาจักรแห่งความกลัวตลอดเวลานี้ก็เรียกว่าจมโลกเหมือนกัน โลกที่น่าเกลียดน่ากลัวอีกแบบหนึ่ง หรือว่าเป็นคนเศร้าตลอดไปนี้ ไม่มีเหตุผล นี่มันก็จมอยู่ในโลกอีกแบบหนึ่งซึ่งน่ากลัวเหมือนกัน ล้วนแต่เป็นการจมทั้งนั้นน่ะ ถ้ามีการโง่เมื่อไรก็มีการจมเมื่อนั้น โง่ในของรักมันก็จมในของรัก โง่ในของเกลียดก็จม ของเกลียด โง่ในของน่ากลัวก็จมของความกลัว โง่ในเรื่องที่ทำให้เศร้าจนเศร้าไป มันก็จมในความเศร้า อย่าจมอะไรดีกว่า นี่เราพูดกันอย่างตามธรรมดาสามัญ เมื่อพูดตามหลักของพระศาสนาแล้วก็ต้องการไม่ให้จมอะไรเลย ไม่ให้จมในกองทุกข์ชนิดไหนหมด แต่เราจะไม่พูดถึงศาสนาก็ได้ ตามความรู้สึกธรรมดาของเราก็ไม่อยากจมอยู่ในไอ้กองทุกข์หรือความทรมานใจ แต่เดี๋ยวนี้เราไม่รู้จัก แล้วเราเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เรื่องกงจักรเป็นดอกบัว คนสมัยนี้ก็อาจจะไม่เคยได้ยินได้ฟังหรือไม่ค่อยสนใจจะเข้าใจ เป็นเรื่องโบราณอยู่สักหน่อย มันมีอยู่ในพระคัมภีร์ เขาว่าไอ้เปรตชนิดหนึ่งมันมีกงจักรพักอยู่บนศีรษะ เลือดไหลแดงฉานอยู่ตลอดเวลา นี่คนบาปคนโง่คนหนึ่งมันเห็นเข้า มันอยากได้ อยากได้กงจักรที่พักอยู่บนหัวนะ มันไปพยายามจนได้มาใส่หัว มันจะรู้ว่าเป็นกงจักร นี่เขาเรียกว่าเห็นกงจักรเป็นดอกบัว คำนี้ยังพูดอยู่ แต่เนื้อเรื่องหรือความหมายอาจจะไม่มีใครอธิบายก็ได้ จำไว้ก็แล้วกัน เขาไปเห็นไอ้สิ่งที่อันตรายกลายเป็นสิ่งที่น่ารัก น่าพอใจไป ฉะนั้น ภาพเขียนที่ผนังด้านนี้ก็มี เห็นงูเป็นปลา เห็นงูเป็นปลา มันก็ต้องการจับเอามาถือกอด พักเอาไว้ แล้วมันเป็นงู ขอให้เข้าใจว่าไอ้สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัวอะไรก็ตามนี่มันเป็นงู อย่าไปเห็นเป็นปลา ก็เป็นเห็นกงจักรเป็นดอกบัว ทีนี้มันยากอยู่ตรงที่ว่าแม้จะเห็นกงจักรเป็นดอกบัว มันก็ไม่รู้สึก ความที่ไม่รู้สึกอย่างนี้ เขาเรียกว่า “อวิชชา” ไม่รู้ตามที่เป็นจริง เขาเรียกว่า “อวิชชา” ฉะนั้น คำว่าอวิชชานี่ไม่ใช่คำครึคระงมงายไร้สาระอะไร มันเป็นคำที่ควรจะสนใจอย่างยิ่ง เพราะว่าเรามีอยู่เต็มที่ เรามีอวิชชาอยู่เต็มที่ คือไม่รู้ถูกต้องตามเป็นจริง แล้วก็ทำผิด พูดผิด คิดผิดนี่ เพราะอวิชชาทั้งนั้นแหละ ที่ได้ไปหลงกงจักรเป็นดอกบัวก็เพราะอวิชชา ที่ต้องจมโลกก็ด้วยอำนาจของอวิชชา มันไม่รู้จักโลก เหมือนกับคนที่เขาไม่รู้จักโคลน ก็เหยียบลงไปแล้วก็จมลงไปอย่างนี้ ฉะนั้น จะต้องทำให้มีความรู้เสียเรียกว่า “วิชชา” รู้ถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นอะไร ไอ้ที่เรียกว่าโลกนั่นคืออะไร อยู่ที่ไหน อย่างที่พูดมาแล้วมันอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วมันจมได้อย่างไร กลายเป็นรู้เสีย นี่แหละเป็นวิชชาขึ้นมา แล้วทำอย่างไรจึงจะไม่จม นั่นมันก็เป็นวิชชาสูงสุด วิชชาชนิดที่จะดับทุกข์ได้ในขั้นสุดท้าย ไปเรียนพุทธศาสนาแล้วปฏิบัติพุทธศาสนา มันก็ได้วิชชานี้มา การที่เราจะตั้งกลุ่มพุทธศาสตร์ขึ้นในมหาวิทยาลัย ในวิทยาลัย ในโรงเรียนอะไรก็ตาม เพื่อสร้างวิชชานี้ทั้งนั้น แต่แล้วก็ไม่ค่อยได้ทำกัน ให้มันถึงขนาด เพียงแต่ทำพอเป็นพิธี ในกลุ่มพุทธศาสตร์พอเป็นพิธีแล้วก็พูดกันเรื่องปลีกย่อย เรื่องฝอยอะไรทั้งนั้น ไม่พูดถึงเรื่องหัวใจของพุทธศาสนาเช่นที่กำลังพูดอยู่นี้ อย่าหาว่าอวดดีหรือยกตัวเลย ขอยืนยันว่านี่ ที่กำลังพูดอยู่นี่คือเรื่องหัวใจของพุทธศาสนา ให้รู้เรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ เรื่องทางให้ถึงความดับทุกข์ แล้วก็อย่าไปหลงยึดมั่นในสิ่งใดเข้า มันจะเป็นทุกข์ ก็มีเท่านี้เอง กระทั่งศึกษาให้รู้จริงจึงจะไม่ไปยึดมั่น ไม่ไปหลงยึดมั่น ฉะนั้น เราจงพยายามสังเกต คำว่าสังเกตนี่สำคัญมาก เป็นคำธรรมดา ๆ ในภาษาไทย แต่เป็นหลักธัมมะสูงสุด คือมีสติสัมปชัญญะ พิจารณาให้รู้จักเข้าใจแจ่มแจ้ง อยู่เสมอว่าอะไรเป็นอะไร แล้วถ้ามันเกิดขึ้นแก่เรา มันก็สังเกตได้ง่าย เข้าใจได้ง่าย เราจึงรู้เรื่องที่มันเกิดขึ้นแก่เรานี่เป็นพื้นฐานสำหรับรู้อะไรต่อไปต่อ ฉะนั้น ทบทวนดูก็แล้วกันตั้งแต่เกิดมามันมีอะไร เป็นอย่างไรมาเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ จนกระทั่งบัดนี้ ถ้าเป็นทุกข์ทีไหนคราวไร มันก็เพราะเหตุอะไร ทำไมไม่ย้อนไปคิดดู เป็นทุกข์ทีไหนคราวไรก็มันก็เพราะว่าไปหลงด้วยอวิชชา ไปอยากก็ด้วยอวิชชา ไปยึดถือก็ด้วยอวิชชา ก็พลัดลงไปในความทุกข์เหมือนกับจม จมน้ำ อ้าว!หมดเรื่องไป เดี๋ยวก็เรื่องนู้นอีก เดี๋ยวก็เรื่องนี้อีก สับเปลี่ยนกันเข้ามา เพราะว่ามีเรื่องทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจทั้ง ๖ ทาง แล้วมันยังมีอีก ในหนึ่งทางยังมีอีกมากมาย เราจึงมีปัญหามาก เราจึงเผลอไม่ได้ เขาเรียกว่าอย่าประมาทเลย
คำว่าประมาทนี่คือทางแห่งความที่จะพลัดจมลงไป สำหรับคำว่าประมาทนั้นอธิบายยากนะ เพราะว่าคำว่าประมาทนี่มันรวมไอ้ที่เลวร้ายเอาไว้หมดเลย จนไม่รู้จะใช้คำไหนมาแปลคำว่าประมาท แม้จะมัวเมานี่มันก็ยังไม่ถูก ยังไม่ครบหรอก มันหมายถึงไม่รู้ หมายถึงขี้เกียจ หมายถึงไม่มีสติสัมปชัญญะ หมายถึงไม่อดทน หมายทุกอย่างเลย ถ้ามันขาดไอ้เหล่านี้หมดแล้วก็เรียกว่าประมาทเต็มที่ ใจความมักจะรวมไว้ที่ว่าไม่มีสติสัมปชัญญะ คืออวดดี ทะนงตัว ไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่รู้เรื่องอะไร แล้วก็อวดดี ไปเรียกว่าประมาทในภาษาไทย ส่วนภาษาบาลีก็มีความหมายกว้างกว่านั้นมาก แล้วคำนี้ก็เป็นคำหนึ่งที่ไปแปลเป็นภาษาต่างประเทศยาก เช่นที่จะไปแปลเป็นภาษาอังกฤษอย่างนี้ ไม่รู้ว่าจะแปลว่าอะไร ไอ้คนแปลมันก็สั่นหัว มันก็ยอมรับว่ามันไม่เต็มตามความหมายของคำว่าประมาทในภาษาบาลี นี่เราก็เป็นคนไทย ใช้ภาษาบาลีอย่างกับภาษาของตัวอยู่แล้ว มันค่อยยังชั่วหน่อย จำคำว่าประมาทไว้ก็แล้วกัน แล้วก็อย่าประมาท ถ้าลงประมาทแล้วมันจะมาครบหมดเลย นับตั้งแต่ไม่เอาใจใส่ ไม่สังเกต ไม่พิจารณา ไม่มีสติสัมปะชัญญะ โลเล เหลวไหล เกียจคร้าน ไม่เอาถ่านหรืออะไรทุกอย่าง นี่คือประมาท ถ้าประมาทแล้ว ก็เป็นอันว่ามันจมแล้วแหละ พอประมาทเมื่อไรแล้วก็หมายความว่ามันจมแล้ว มันจมลงไปในไอ้ในน้ำนี่ ในน้ำแห่งความทุกข์นี่ หรือในทะเลแห่งความทุกข์ เรื่องรักก็มี เรื่องไม่รักก็มี คือเรื่องยินดียินร้ายจมลงไปแล้ว ฉะนั้น สรุปความกันเสียทีว่าอย่าจมโลก แม้ว่าเราจะประสบความสำเร็จอย่างโลก ๆ นะ ก็อย่าได้จมลงไปในโลก ถ้าสมมติว่าพวกเราเรียนเสร็จมีอาชีพดี มีเงินมาก มีทรัพย์สมบัติมาก มีเกียรติยศชื่อเสียงมาก มีอะไรอำนาจวาสนามาก ก็ระวังอย่าจมลงไปในนั้น อย่าจมลงไปในไอ้ความรวย หรือว่าความมีเกียรติ หรือไอ้ความมีอำนาจวาสนา ถ้าจมลงไปแล้วมันก็มีความทุกข์เหมือนกันนะ สมมติว่าเราจมลงไปในกองเงินกองทอง มันจะหายใจออกเหรอ ไม่ต้องจมน้ำหรอก นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่มันเป็นอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เข้ามาแล้วมันจมไม่ได้ ถ้าจมแล้วก็เหมือนกับจมน้ำหายใจไม่ออกคือมีความทุกข์ เรารู้กันไว้เสียเดี๋ยวนี้ เราไม่จมในฝ่ายผิด จนไปทำผิดหมด แล้วก็ไม่จมแม้ในฝ่ายถูก แม้ว่าเราทำถูก ได้ผลมาเป็นที่น่าพอใจก็อย่าไปหลงใหลกัน อย่าไปจมลงไปในผลของความถูก เลยไม่จมทั้งฝ่ายโน้นและฝ่ายนี้ ฝ่ายที่น่ายินดี ก็ไม่จม ฝ่ายที่น่ายินร้ายก็ไม่จม นี่คือผู้ชนะ ชนะทุกอย่าง ชนะโลกทั้งโลก เป็นสิ่งที่ทำได้ พูดแล้วไม่น่าเชื่อ ไอ้ที่เราจะชนะโลกอย่างไอ้รบราฆ่าฟันกันนั้นมันเป็นของหลอก ๆ ของเด็กอมมือ แล้วก็ไม่มีใครทำได้ แต่ว่าเราจะชนะโลกตามแบบของพระพุทธเจ้านี่น่ะได้ คือไม่จมลงไปในไอ้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ไม่มีอะไรในโลกมาทำให้เราเป็นทุกข์ได้ ถ้าเราอยู่เหนือเสมอ อย่างนี้เรียกว่าชนะโลก ชนะทุกโลก ไม่หลงใหลในโลกมนุษย์ โลกเทวดา โลกอะไรก็ตาม ไม่หลงใหลทั้งนั้น มีจิตใจเป็นอิสระ อยู่จนกว่าว่าไอ้ร่างกายนี้มันจะดับไป จิตใจนี้มันก็สิ้นสุดไป ก็หมดเรื่องไป ตลอดเวลา ตลอดชีวิตนี้ ไม่มีความทุกข์เลย นี่เรื่องไม่จมโลก เอ้า, ทีนี้ถึงเวลาถามปัญหา ใครมีปัญหาอะไร เมื่อคืนสั่งไว้แล้วให้หามาบ้าง มีปัญหาอะไรบ้าง
ถาม : ท่านอาจารย์ครับ คนเราเกิดมาทำไม
ตอบ : นี่ดูมาก่อนแว่ว ๆ ว่าจะถามสักทีใช่ไหม เขาถามว่าคนเราเกิดมาทำไม นี่คือปัญหาที่ถาม แหม! มันมาก ปัญหานี้มันมีไอ้แง่มุมมาก เพราะว่าธัมมะที่แท้จริงน่ะมันไปไกลกว่านั้นมาก กระทั่งไปมอง ไปสอนจนมองเห็นว่ามิได้มีคน มิได้มีสิ่งที่เรียกว่าคน มีแต่ไอ้ธรรมชาติ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ คือธาตุวัตถุและธาตุจิตใจครบหมดแล้ว มันปรุงกันขึ้นมามันก็เป็นไปอย่างนี้จนมาอย่าง เป็นอย่างที่เรากำลัง เหมือนที่เรากำลังเป็นและนั่งอยู่นี่ ในฝ่ายวิชานั้น ปรมัตินั้นน่ะ วิชาปรมัตินั้นน่ะเขาบอกว่าไม่มีคน มีแต่เป็นไปแห่งสังขารหรือธรรมชาติหรือธาตุทั้งหลายประชุมกันเข้าแล้วเป็นไป เมื่อความจริงมันมีอยู่อย่างนี้ ปัญหาที่ถามว่าคนเกิดมาทำไมมันก็ไม่มี มันไม่มีโอกาสจะถามได้ เพราะเขาว่าไม่มีคน พระอริยเจ้านั้นมีหลักสำหรับพูดจาอย่างนั้น พระอริยเจ้า พระอรหันต์ท่านมีหลักสำหรับพูดจา อย่างนั้น ไม่มีคนก็เลยไม่มีปัญหาที่จะต้องถามว่าคนเราเกิดมาทำไม แต่เดี๋ยวนี้เรายังไม่เป็นพระอรหันต์ ยังไม่เป็นพระอริยเจ้า เรายังมีความรู้สึกอย่างเป็นธรรมดาสามัญ ปุถุชนอย่างนี้ เรารู้สึกว่ามีคน คือตัวเรานี้ ก็เป็นคน ๆ หนึ่ง แล้วเพื่อนของเราทุกคนก็เป็นคน ๆ หนึ่งแต่ละคนละคนด้วยกันทั้งนั้น มันจึงเกิดปัญหาขึ้นมาว่าคนเราเกิดมาทำไม ก็เราตัดบทออกไปหมด ไอ้ที่ว่าไม่ใช่คน ไม่มีคนเกิดมานั้น ตัดทิ้งไปหมด เอามาเป็นคนอย่างที่เป็น ๆ กันอยู่นี้ เกิดมาทำไม ถ้าจะมองดูกันในระดับต่ำ ๆ เราก็เกิดมานี่สำหรับทำอย่างที่เราทำ ๆ กันอยู่ เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่ว่าคนมันจะได้ ได้เงินได้ของ ได้เกียรติยศชื่อเสียง ได้อำนาจวาสนาเต็มตามที่ต้องการ แล้วก็ดูเหมือนเขาว่าพอแล้ว อะไรที่เขาสอนกันในระดับชาวบ้าน ระดับชาวโลกทั่ว ๆ ไป ก็ได้เท่านั้นแหละ เพื่อให้ได้สิ่งที่คนเขานิยมกันว่าควรจะได้อะไร แต่ถ้าพูดกันอย่างศาสนา ภาษาศาสนาหรือหลักเกณฑ์ทางศาสนา เขาไม่ต้องการเพียงเท่านั้น กลายเป็นว่าต้องได้นิพพาน ในพุทธศาสนานี้เราต้องได้นิพพาน เราจึงจะเรียกว่าเราได้สิ่งที่เรามุ่งหมายในการเกิดมา หรือว่าพวกอื่นเขาก็จะพูดว่าเราต้องได้ไปอยู่กับ พระเป็นเจ้า ไม่รู้จักไปต่อไป เกิดมาเพื่อไปที่นั่น มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่นั่น นี่ก็เป็นเรื่องทางศาสนา ซึ่งสูงสุดสำหรับจะพูดกันในอย่างคนธรรมดาจะได้ยินได้ฟัง ทีนี้เราเอาตามความรู้สึกกันก่อนสิ เด็ก ๆ เขาจะรู้สึกว่าเกิดมาทำไม คนหนุ่มคนสาวเขารู้สึกว่าเกิดมาทำไม คุณพ่อคุณแม่รู้สึกว่าตัวเกิดมาทำไม คนเฒ่าคนแก่เขารู้สึกว่าเกิดมาทำไม มันเปลี่ยนเรื่อย เป็นอันว่าไม่ยุติ ในที่สุดคนเฒ่าคนแก่ก็ยังจะตอบไม่ได้ว่าเกิดมาทำไมกันแน่ เพราะความต้องการมันไม่เหมือนกัน ในเรื่องทางศาสนาเขาจึงตัดบทว่าเราเกิดมาเพื่อที่จะพบไอ้ที่ดีที่สุดคือไม่มีความทุกข์ เราจะพบอะไรล่ะจึงจะไม่มีความทุกข์ มันกลายเป็นว่าน่าหัวที่สุดแหละ ไปพบความจริงว่ามันมิได้มีคนที่เกิดมา มีแต่ธรรมชาติ มีแต่ไอ้ธาตุอะไรปรุงแต่งมาตามเรื่องตามราวของมัน แล้วก็เหมือนที่มานั่งอยู่นี้รู้สึกคิดนึกอะไรได้ แต่ที่แท้มิใช่คนตามที่เรามุ่งหมาย มั่นหมายน่ะ มันมิได้มีคนที่เกิดมา ก็เลยกลายเป็นต้องตอบว่าเราเกิดมาเพื่อศึกษาให้รู้ว่ามิได้มีคนที่เกิดมา มันเป็นตลกอย่างยิ่งใช่ไหม มันตลกเหลือประมาณ แต่นั่นมันจริงที่สุด จริงอย่างไม่มีอะไรจะจริงเท่า เกิดมาเพื่อให้ได้รู้ว่าเรามิได้มีคน ที่เกิดมา มิได้มีเราที่เป็นคนหรือเกิดมา คงจะยังอีกนานนะถ้าจะให้รู้ข้อนี้ แต่นี่เรามีคน แล้วก็ต้องการอะไรอยู่ ฉะนั้น ถ้าต้องการอะไรก็เป็นอันพูดได้เลยว่าเพื่อนั้นน่ะ เพื่ออันนั้นน่ะ เกิดมาเพื่ออันนั้นน่ะ แต่มันเปลี่ยนได้ มันเลื่อนไปเรื่อย เลื่อนไปเรื่อย จนกระทั่งไปพบว่ามิได้มีคนที่เกิดมา จะหยุดทันที ถ้ายังมีคนที่เกิดมา มันจะเปลี่ยนไปเรื่อย เด็ก ๆ ก็ต้องการอย่าง หนุ่มสาวก็ต้องการอย่าง พ่อบ้านแม่เรือนต้องการอย่าง คนแก่ต้องการอย่าง จนกว่าเขาจะไปพบอันแท้จริงคือปรมัตถธรรมว่าอ้าว!ไม่ได้มีเราโว้ย ไม่ได้มีคนที่เกิดมา มันหยุดทันทีเลยนั่นน่ะ จุดหยุดมันหยุดที่นั่น ฉะนั้น เกิดมาเพื่อจุดหยุดนั่นเอง รู้ว่ามิได้มีเราที่เกิดมา ถ้าไอ้อย่างนั้นมันยังสูงนักไกลนัก ไม่เอา สั่นหัว ก็เอาเท่านี้ ที่ว่าเกิดมาอย่างฆราวาสอย่างนี้ก็ต้องให้มีทรัพย์สมบัติ มีเกียรติยศชื่อเสียง มีอำนาจวาสนาที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ถูกต้องก็แล้วกัน หมายมั่นกันไว้แค่นี้ทีหนึ่งก่อนค่อยชิมดู ชิมดู จนกว่าจะสั่นหัวก็จึงค่อยเลื่อนไปถึงขนาดที่ว่าไม่มีใครที่เกิดมา ไม่มีฉันที่เกิดมา ควรจะตอบอย่างนี้ สรุปว่าตอบว่าใครต้องการอย่างไรในวัยไหนปูนไหนก็ต้องการทั้งนั้นแหละ อุตส่าห์ทำไปให้ดี ให้ถูกเถอะอย่าไปทำที่ผิดที่เลว เพราะไม่ได้เกิดมาเพื่อทำเลว เกิดมาเพื่อทำดี ดี ดี ดีจนสุดที่สุดจนไม่มีเรา ที่เกิดมา พ้นดี ดีที่สุดแล้วนะจึงจะพ้นดีได้ ถ้ายังไม่ดีที่สุดมันจะพ้นดีไม่ได้ พอพ้นดีแล้วจะพบว่าว่าง ไม่มีเราที่เกิดมา ความจริงมันมีอยู่เท่านี้ ฉะนั้น ใครจะตอบว่าอะไรก็ได้ ตอบได้ตามความชอบใจว่าเราเกิดมาทำไม ถ้าตอบอย่างพระอรหันต์ก็ต้องตอบว่าก็รู้ว่ามิได้มีเราที่เกิดมา ศึกษาปฏิบัติเป็นพระอรหันต์นะทำให้รู้ว่ามิได้มีเราที่เกิดมา แล้วเรื่องมันจบกัน เอ้า, ใครมีปัญหาอะไรอีก
ถาม : พระอาจารย์ครับ ในความหมายทางพุทธศาสนานั้นคนคืออะไรครับ
ตอบ : อ้าวก็อย่างที่กำลังพูดนี่คนคืออะไร ตามหลักพุทธศาสนาว่าคนคืออะไร ก็ไม่ค่อยได้มีกล่าวไว้ชัดในพระคัมภีร์ เราจะกล่าวไปในทำนองที่ไม่มีคน แต่เมื่อถือตามไอ้หลักศีลธรรมทั่วไป ซึ่งพุทธ-ศาสนาก็ยอมรับ รับรอง มันก็เกี่ยวกับคำที่จะต้องพูดหรือใช้พูด พุทธศาสนาเกิดในประเทศอินเดียไม่ใช่ภาษาไทย ไม่ได้ใช้ภาษาไทย เพราะฉะนั้น คำว่าคนน่ะมันไม่มีในภาษาอินเดีย แต่เราจะเทียบกันได้ว่าคำว่าคนในภาษาไทยตรงกับคำอะไรในภาษาอินเดียในพุทธกาลน่ะ ในคนนี่มันมีคำว่า “นระ” บ้าง คำว่า “ชน” ชะนะ ชะนะ ชอนอ ชน ประชาชน มหาชนนี่จะคล้ายคำว่าคน มันมีคำอีกคำหนึ่งซึ่งมันมีความหมายแปลกไปคือ คำว่า “มนุษย์” ถ้าถามว่าคนคืออะไร มันก็ต้องรู้ว่าถามไปเพียงคนไม่ได้ถามถึงมนุษย์ ถ้าถามว่ามนุษย์คืออะไร นี่ปัญหามันเปลี่ยนไปแล้ว มันก็ต้องตอบคนละอย่าง ถ้าคำว่าคนมาจากชน แล้วก็คนคือสิ่งที่เกิดมา อะไร เกิดมาแล้วก็เรียกว่าคนได้ ทีนี้ถ้าเราเป็นมนุษย์ ไอ้ตัวหนังสือมันจำกัดอยู่ว่าต้องมีจิตใจสูงจึงจะเป็นมนุษย์ มนุษย์นี่แปลว่าจิตใจสูงหรือว่าเหล่ากอเชื้อสายของคนที่มีจิตใจสูง ถ้าถามว่ามนุษย์คืออะไรก็คน มีจิตใจสูง ถ้าถามว่าคนคืออะไรก็สักว่าเกิดมาก็เป็นคน เราจะเอาข้างไหน เราจะเรียกว่าเป็นคนหรือเรียกว่าเป็นมนุษย์ แต่ว่าไอ้คำพูดชนิดนี้ก็ไม่แน่หรอก บางทีในบางกรณีเราเอาความหมายของคำว่าคนเป็นมนุษย์ เอาความหมายของคำว่ามนุษย์เป็นคน มันก็ต้องดูไอ้เนื้อเรื่องอันอื่นประกอบว่าเขาหมายถึงอะไร ถ้าเขาด่าเราว่าไม่ใช่คน เราก็แย้งได้ทันทีว่าฉันเป็นคนแน่เพราะฉันต้องเกิดมา แต่ถ้าเขาด่าเราว่าไม่ใช่มนุษย์ นี่มันก็ ไม่แน่เหมือนกัน เราจะเป็นมนุษย์จริงหรือไม่มันอยู่ที่ว่าใจสูงหรือไม่สูง แต่ตามธรรมดาถ้าเขาด่าเราว่าไม่ใช่คน เราก็โกรธก็ได้ เพราะมันนั่นเกินไป คล้าย ๆ ว่าเราไม่ได้เกิดมาหรือว่าเราตายแล้ว ฉะนั้น ตอบให้แน่ไม่ได้ แล้วแต่จะเล็งถึงคำ ๆ ไหนในภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ และในกรณีนั้นเขาหมายถึงอะไร คนคืออะไร คือสัตว์ที่เกิดมา ถ้าใจสูงก็เรียกได้เต็มที่ว่าเป็นมนุษย์ ก็มีจิตใจที่จะอยู่เหนือความทุกข์ เหนือโลกอยู่เหมือนกัน แล้วมันก็ไม่จมโลกเหมือนกัน ถ้าเป็นมนุษย์ไม่จมโลก ถ้าเป็นคนนี่ไม่แน่ ต้องเอาความหมาย แต่เพียงว่าเกิดมาเป็นคน ก็คือสักว่าได้เกิดมาเป็นมนุษย์ก็ใจสูงด้วย มีปัญหาอะไรอีก
ถาม : อาจารย์ครับที่บอกว่าอะไรที่เกิดมานี่ต้องมีเหตุมีปัจจัย แล้วก็ที่บอกว่าคนที่เกิดมาที่ บอกว่าเกิดจากธาตุผสมกันแล้วไม่มีอะไร แล้วอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มันผสมกัน
ตอบ : โอ้! อย่างนี้คำถามมันขัดกันอยู่ในตัว ถามว่าการเกิดมาต้องมีเหตุมีปัจจัย แล้วคนเกิดมา ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยนี่ไม่ได้ เหตุปัจจัยมีทั้งนั้นแหละ ไม่มีอะไรแหละ ไอ้ที่จริงเป็นสิ่งธรรมดาสามัญที่จะไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย สิ่งธรรมดาสามัญต้องมีเหตุมีปัจจัยทั้งนั้นแหละ ยกเว้นสิ่งพิเศษอย่างเดียวคือนิพพาน ซึ่งไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย ไอ้นอกจากว่านิพพานแล้วจะเป็นอะไรก็ตาม จะเป็นอย่างวัตถุหรือว่าจะเป็นอย่างชีวิต หรือว่าจะเป็นอย่างจิตใจอะไรก็ตาม มันมีเหตุมีปัจจัย การเกิดมาก็มีปัจจัยแห่งการเกิด ถ้าเอาคนเป็นคำถามมันก็มีบิดามารดาเป็นแดนที่จะให้เกิด แล้วก็มันตั้งขึ้นมา ประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ แล้ว มันก็เจริญเติบโตขึ้นในครรภ์ของมารดา จนกว่าจะคลอดออกมาได้ มีเหตุปัจจัยอยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่ว่า ความต้องการและความปรารถนาของบิดามารดา การอยู่ร่วมกันของบิดามารดา การตั้งครรภ์ขึ้นมา การเติบโตขึ้นมา การคลอดออกมาเหล่านี้เป็นปัจจัยทั้งนั้น กระทั่งต้องกินนมแม่ ต้องกินปลากินข้าว จะต้องได้รับการประคบประหงมเลี้ยงดูอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นเหตุเป็นปัจจัยหมดนับไม่ค่อยไหว แต่ว่า เหตุอันสำคัญน่ะคือความต้องการของบิดามารดา แล้วปัจจัยก็เช่นว่าไอ้ทุกอย่างที่มันจะมาช่วยกระทำ ให้สำเร็จคือธาตุทั้งนั้น ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟบ้างอะไรบ้างทุกอย่าง หลาย ๆ อย่างนี่เป็นปัจจัยเกื้อกูลให้ ความต้องการของบิดามารดาสำเร็จเป็นลูกขึ้นมา นี่ถ้าจะไม่ให้เกี่ยวกับบิดามารดา จะเอาเราเอง เราก็จะเอาไอ้ผลกรรมหรืออะไรของเราแต่ชาติก่อนนั้นเป็นเหตุก็ได้ และอาศัยท้องแม่ บิดามารดาเป็นแดนที่เกิดออกมานี้ก็เป็นปัจจัยไป เหตุโดยตรงคือไอ้ปฏิสนธิวิญญาณปรุงมาด้วยกรรมเก่านี้ก็ได้ แล้วแต่จะพูดวิธีไหน แต่รวมความแล้วต้องมีเหตุมีปัจจัย แล้วก็มีมากด้วย หลายรายการทีเดียว ไม่มีอะไรที่เป็นตัวมันเองล้วน ๆแล้วจะเป็นไปได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งอื่น นี่คือสิ่งที่เขาเรียกกันว่า “สังขาร” สังขาร คำว่าสังขาร แปลว่าหลายอย่างกระทำรวมกัน ฉะนั้น อะไรที่มันเป็นไปในตัวเองล้วน ๆ ไม่ได้ ต้องมีอะไรเกี่ยวข้องอยู่ด้วย หลายอย่าง เขาเรียกว่า “สังขาร” ทั้งนั้นแหละ เรียกอีกทีว่าของปรุงแต่ง ฉะนั้น การเกิดมาคือการปรุงแต่งของหลาย ๆ อย่าง มีปัจจัยอันสำคัญก็คือความอยากเกิดหรืออยากให้เกิดนั้นก็แล้วแต่จะพูด ถ้าทางวัตถุก็บิดามารดาเขาอยากให้เกิด ถ้านามธรรมอันลึกซึ้งก็ว่ากิเลส ไอ้ผลกรรมแต่กาลก่อน ตกแต่งเป็นพื้นที่วิญญาณ ให้มาเกิด เป็นความอยากของคน ๆ นั้นเองมันอยากเกิด แล้วแต่เราจะเพ่งเล็งไปในระดับไหน อย่างธัมมะ ชั้นลึกก็ว่าตัณหาความอยากเกิดของคนนั้นเองเป็นเหตุให้แสวงหาที่เกิด ได้บิดามารดามาเกิด แต่ถ้าพูดอย่างธรรมดาสามัญหน่อยก็เรียกว่าความอยากของบิดามารดาอยากจะให้มีบุตรก็พอ จึงได้มีบุตรขึ้นมา เหล่านี้ เป็นเหตุเป็นปัจจัยหลายซับหลายซ้อน มันเกิดมาก็ต้องมีเหตุมีปัจจัย เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็เปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ดับลงเพราะเหตุปัจจัยมันเปลี่ยนแปลง แล้วมันก็เกิดใหม่ได้อีก ถ้าเหตุปัจจัยมันยังเหลืออยู่ มันจะเกิดอีกเรื่อยไปถ้าว่าเหตุปัจจัยมันยังเหลืออยู่ ใครถาม มีปัญหาอะไรอีก
ถาม : คนทั่ว ๆ ไปที่อาจารย์ตอบเมื่อกี้นี้ว่าไม่ยินดียินร้าย คืออย่างคนเราจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งจะทำความดี เราต้องยินดีกับมันก่อนว่ามันเป็นความดี อย่างที่สอนไม่ให้ทำความชั่วต้องยินร้ายกับมันก่อนว่ามันเป็นสิ่งไม่ดี เราถึงไม่ทำ ทีนี้ถ้าทุกคนเป็นคนไม่ยินดียินร้ายแล้วมันก็ไม่ต้องทำอะไรเลยสิครับ
ตอบ : นี่ปัญหาที่กำลังถามกันอยู่ทั่ว ๆ ไปก็ใช้คำพูดน่ะมันไม่ถูก แล้วก็เอาไปปนกันเสีย แม้ว่าเราทำถูกต้อง ได้ผลมา เราจะยินดีก็ไม่มีใครว่า แต่ถ้าเราไปหลงรักแล้วมันก็จะทำอันตรายเรา ทำให้เกิดความหนักอกหนักใจขึ้นมาเพราะความรักความหวังความอะไร ไม่อยากให้มันสูญหายไป ไม่อยากให้มันเปลี่ยนแปลงไป ไอ้ส่วนที่เราอยากหรือต้องการจะทำงานอย่างนี้เขาไม่ได้เรียกว่าความยินดีเหรอ ความประสงค์จะทำงานแล้วก็ทำไปด้วยสติปัญญา อย่าทำด้วยกิเลสตัณหา อย่างนี้ไม่ห้าม ถ้าเราจะอยากทำด้วยกิเลสตัณหา มันร้อนตั้งแต่เมื่ออยากทำ มันจะปวดหัวตั้งแต่เมื่ออยากทำนะ แต่เราไม่ต้องมีกิเลสตัณหา เรามีสติปัญญาที่เป็นอิสระตามปกติ คือไม่ยินดียินร้าย ใช้คำอย่างนี้ แล้วก็รู้ว่าอะไรควรจะทำก็ทำ แล้วก็ทำอย่างปกติที่สุด มันจะไม่มีเรื่องหนักอกหนักใจอะไรเลย เราก็ควรจะพอใจ แต่ไม่ใช่พอใจด้วยกิเลส หรือยินดีก็ไม่ยินดีด้วยกิเลส ว่าเราต้องทำงานนี้ เช่นการศึกษาอย่างนี้เราต้องพอใจ เราต้องยินดี แต่ไม่ใช่ยินดีอย่างที่เรียกว่ายินดีอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างนี้ไม่ใช่ เราพอใจในการศึกษาเพราะเห็นอยู่ว่าจะช่วยให้เราสามารถ เราก็ทำอะไรได้ มีประโยชน์ เราก็ยินดีที่จะศึกษา แต่ถ้าว่ามันมีกิเลสเข้ามา เรามันก็หลงในการศึกษา จนกระทั่งศึกษาไม่ได้ จนปวดหัว จนต้องไม่สบายเพราะว่ามันทะเยอทะยานในการศึกษาผิดวิธี นี่ก็มีอยู่บ่อย ๆ อย่างนั้นมันยินดีเกินไปแล้ว ยินดีด้วยอำนาจของกิเลสแล้ว ยินดีด้วยการศึกษา ซึ่งทำให้ คนนั้นเป็นอันตรายก็เพราะว่ามันไปบุกบั่นในการศึกษาจนเจ็บไข้จนตายไปก็มี ฉะนั้น พอใจหรือยินดีด้วยสติสัมปชัญญะนะ อย่างที่พูดว่าอยู่ตรงกลางนั่นแหละ แล้วก็ทำการศึกษาจะศึกษาได้ดี จะเยือกเย็นจะปกติไปตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด พอใจหรือยินดีหรือต้องการได้ แต่ต้องด้วยสติปัญญา ด้วยความรู้ที่ถูกต้อง ถ้าพอใจยินดีต้องการด้วยกิเลสตัณหามันก็กลายเป็นกิเลสไปหมด อย่างนี้มันก็เผาตั้งแต่ทีแรก แล้วก็จะทำให้เผาต่อไปจนกระทั่งเป็นอันตราย ตายไปก็ได้ เพราะความที่กิเลสตัณหามันออกฤทธิ์ออกเดชของมัน ฉะนั้น อย่าหลงรัก หลงต้องการ หลงพอใจด้วยกิเลสตัณหา นี่จำไว้ให้แม่น แต่ต้องการพอใจยินดีด้วยสติปัญญา แม้จะมุมานะในการเล่าเรียนนี่ทำด้วยสติปัญญา มันจะพอดี ถูกต้อง ถ้ามุด้วยกิเลสตัณหาแล้วระวังเถอะ มันจะต้องมีอันตราย เป็นโรคเส้นประสาทก็ได้ เป็นบ้าก็ได้ เป็นอะไรก็ได้ ฉะนั้น เรามุมานะด้วยสติปัญญาไม่เป็นไร อย่าไปมุมานะด้วยกิเลสตัณหา ทีนี้ศึกษาแล้ว สำเร็จแล้ว ได้ผลมาแล้วก็ใจคอปกติดีกว่า แม้มันจะหลงไปบ้าง ยินดีเพลิดเพลินไปบ้าง ปิติปราโมทย์ไปบ้างก็บางครั้งบางคราวก็ไม่เป็นไรเหมือนกัน เป็นเพียงความคิดนึก แต่ถ้าหลงยินดีจนลืมตัวจนนอนไม่หลับแล้วก็วิกลจริตแน่ อย่างมีเงินมากแล้วก็หลงกับมัน มันก็ต้องวิกลจริต แต่ถ้ามีไว้ด้วยสติปัญญามากเท่าไรก็ได้ไม่เป็นไร ฉะนั้นแยก ๆ ออกจากกันเสียให้เด็ดขาดว่าด้วยสติปัญญาหรือว่าด้วยกิเลสตัณหาซึ่งตรงกันข้าม ทุกคนทำอะไรไปด้วยสติปัญญา อย่าทำด้วยกิเลสตัณหา มันจะประมาท แล้วมันจะพลั้งพลาด แล้วมันก็จะแย่ มันไม่ขัดข้องกันหรอกไอ้คำพูดเหล่านี้ ถ้าใช้ ให้มันถูกต้องแล้วจะไม่เกิดปัญหาอย่างที่ว่า เรายินดีในสิ่งที่ควรจะยินดีด้วยสติปัญญา เกิดกำลังใจสำหรับ จะทำสิ่งนั้นให้ลุล่วงไปโดยง่ายดาย อย่าไปยินดีด้วยกิเลสตัณหาซึ่งมันจะทำให้กลุ้ม ให้มืด ให้กระวนกระวาย ทะเยอทะยานแล้วก็ผิดหมด ยินดียินร้ายนั่นเขาหมายเฉพาะด้วยกิเลสตัณหาทั้งนั้น ถ้าด้วยสติปัญญารู้สึกตัวอยู่แล้วมันจะไม่หลงยินดีจะไม่หลงยินร้าย มันจะเฉยได้ ยินดีพอประมาณก็ยังอยู่ด้วยสติปัญญา ถ้าเกินพอดีเกินประมาณแล้วก็เป็นกิเลสตัณหาหมด เอ้า, มีปัญหาอะไรอีก อีก ๑ ปัญหาหรือ ๒ ปัญหาก็หมดเวลาแล้ว
ถาม : อาจารย์ครับ อย่างสมมติว่าท่านหม่อมคึกฤทธิ์เขาพูดปรึกษาว่า จะทำอย่างไร ให้ประชาชนกินดีอยู่ดีจนกินไม่ได้นอนไม่หลับนี่อะไรพวกนี้ จะถือว่าเป็นยังไง
ตอบ : อย่า อย่าใส่ชื่อ บอกว่าหม่อมคึกฤทธิ์นะ บอกว่านายกรัฐมนตรีคนไหนก็ได้นะ เขาเป็นห่วงประชาชนจนกินไม่ได้นอนไม่หลับใช่ไหม คุณว่าอย่างนั้นใช่ไหม นายกรัฐมนตรีคนหนึ่งเขาเป็นห่วงประชาชนจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ แล้วถามว่ายังไง เอ่อ เป็นทุกข์ กินไม่ได้นอนไม่หลับก็เป็นทุกข์ ก็ถูกแล้ว ถ้าเขาเป็นทุกข์แล้วมันผิดแหละ ทำไมจะต้องเป็นห่วงจนกินไม่ได้นอนไม่หลับล่ะ มันก็ทำอะไรไม่ได้สิ ถ้าเราลองกินไม่ได้นอนไม่หลับแล้วมันก็จะช่วยใครไม่ได้ เราก็เป็นห่วงขนาดที่ว่าช่วยเขาได้ แล้วก็เป็นห่วงด้วยสติปัญญา ถ้าเป็นห่วงด้วยสติปัญญาแล้วไม่มีที่จะกินไม่ได้นอนไม่หลับไม่มี ถ้าเป็นห่วงด้วยกิเลสตัณหาอาจจะเป็นได้ถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ ถ้าเรามีเมตตา กรุณา เห็นแก่ผู้อื่นอย่างนี้ มันเป็นสติปัญญา ถ้าเมตตามันก็มาจากปัญญา ถ้ามันถึงกับว่ากินไม่ได้นอนไม่หลับแล้วมันเป็นเมตตาที่เกินเสียแล้ว คือไม่ใช่เมตตาแล้ว ฉะนั้น ถ้าเขาเป็นทุกข์ มันก็ทำอะไรไม่ได้ ก็เลยไม่มีประโยชน์อะไร มันต้องตั้งตนอยู่ในธัมมะ ก็เป็นห่วงเพราะว่ามีเมตตากรุณาหรือเพราะว่ามีหน้าที่ แล้วก็มีใจคอปกติ ค้นคว้าหาวิธีแก้ไขไป เรื่อย ๆ ก็ประสบความสำเร็จได้ จะเป็นไปได้ที่ว่ากินไม่ได้นอนไม่หลับเสียเลย มันจะมากไปแล้ว พ่อแม่ รักลูกมาก อยากจะให้ลูกดี จนถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับนี่มีไหม มีได้ไหม ถ้ามีได้มันก็ไม่รู้ว่าที่ไหน ถ้าสมมติว่ามีได้ก็มันก็ผิดปกติ แล้วก็จะเป็นพ่อแม่ที่ช่วยลูกไม่ได้ มันก็ต้องยังสบายอยู่ ยังปกติอยู่ แข็งแรงอยู่ ได้ช่วยลูกให้ได้ดิบได้ดีตามที่ต้องการได้ มันอยู่ในระดับที่พอดีของสติปัญญา ถ้าเราไปทำจนกินไม่ได้ นอนไม่หลับแล้วมันก็จะเอาสติปัญญาไหนมาช่วยลูกล่ะ เดี๋ยวนี้พวกเราจะช่วยประเทศชาติกันนี่จนถึงกับ กินไม่ได้นอนไม่หลับไหม มีใครที่ไหนบ้าง ลองแนะให้ดูสักคน ตั้งใจจะช่วยประเทศชาติจนถึงกับกินไม่ได้ นอนไม่หลับ แล้วก็เลยไม่มีแรงจะช่วย เอ้า, ปัญหาสุดท้าย ปัญหาสุดท้ายใครว่ายังไง
ถาม : พระอาจารย์ครับ เรือในนี้ ๒ ลำนี้อาจารย์สร้างไว้มีความหมายยังไงครับ
ตอบ : อ๋อเรือ ๒ ลำ ถังน้ำ ถังน้ำฝน จะทำถังน้ำฝน แล้วก็ไม่ทราบว่าจะทำเป็นรูปร่างอะไรดี ก็เลยทำเป็นรูปเรือเล่น ลำหนึ่งหันหัวศีรษะไปตะวันออก ลำหนึ่งไปตะวันตก ไปทั่วโลก น้ำคือพระธรรม ในอุปมาทั่วไปตามธรรมดาสามัญนี่น้ำอุปมาด้วยพระธรรม ไม่ใช่น้ำในทะเลนะ น้ำคือพระธรรม สำหรับ ทำคนให้เย็นจากความร้อนของกิเลส นี่ให้น้ำฝนในลำเรือนั้นน่ะเป็นอุปมาของพระธรรม แล้วก็พาไปทางตะวันตกลำหนึ่ง ทางตะวันออกลำ ไปทำให้โลกนี่มันเย็น นี่เป็นอุปมาเครื่องเตือนใจ ฉะนั้น พวกเราทุกคนช่วยกันทำให้สำเร็จตามความประสงค์ เพื่อให้ธัมมะนี่มันแผ่ออกไปทั้งทิศตะวันตกทั้งทิศตะวันออก ทำให้โลกนี้มันเย็น อ้าว!พอดี ๙ แล้ว ปิดประชุม หมดเวลา
ตั้งแต่ (1:27:30 - 1:28:26) เสียงเงียบ
เป็นเรื่องลาใช่ไหม วันนี้ไม่จะพูดอะไร แต่ก็อยากจะพูดสองสามคำ คือว่าโดยส่วนตัวนั้นก็คือขอบคุณ ทีนี้มันยิ่งกว่านั้น มันมากกว่านั้นก็คือว่าเป็นการทำเพื่อส่วนรวม ฉะนั้น ก็ขออนุโมทนา ในส่วนตัวน่ะขอบคุณ และในส่วนรวมขออนุโมทนาในการกระทำของท่านทั้งหลาย นี่ขอให้ทุกท่านตั้งใจให้ถูกต้องว่าไอ้การกระทำนี้ถ้าทำให้แก่กันน่ะมันก็เป็นพระคุณ เป็นบุญคุณแก่กัน ถ้าทำแก่ส่วนรวมก็เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ถ้าคิดว่าทำลงไปในโลกแก่มนุษย์ทั้งหมดมันก็เป็นเรื่องทำโลกนี้ให้งดงามให้เจริญ คิดให้ไกลไปอย่างนั้น นี่ถ้ามากไปกว่านั้นอีกก็คือเราทำเพื่อธัมมะ เพื่อขูดเกลาความเห็นแก่ตัว ฉะนั้น ขอให้เพ่งเล็งในส่วนสูงนี่ คือความทำลายความเห็นแก่ตัว ฉะนั้น เมื่อทำต้องมีความรู้สึกอย่างนั้น ตั้งเจตนา อย่างนั้น ทำลายกิเลสที่เป็นเหตุให้เห็นแก่ตัว ไม่ว่าเราจะไปทำอะไรที่ไหนซึ่งเป็นการเสียสละแล้ว ถ้าจะให้ได้บุญมากหรือสูงสุดก็ขอให้ทำลายความเห็นแก่ตัวโดยไม่ต้องนึกถึงอะไรก็ได้ นี่มันสูงกว่าที่ทำเพื่อคน ทั้งโลก มันสูงกว่าเพื่อทำให้ใครคนใดคนหนึ่ง ก็เป็นอันว่าได้หมด ส่วนที่มันจะได้กันให้ระหว่างบุคคลก็ให้ ให้โลกก็ให้ แต่ว่าให้ทำลายกิเลสตามความประสงค์ของพระพุทธเจ้า นี่คือสำคัญที่สุด นี่มีเรื่องพูดอย่างนี้ ขอให้มองเห็นข้อนี้แล้วให้ประโยชน์ที่ได้รับนั้นสูงตามลำดับอย่างนี้ ทีนี้พูดถึงหนังสือนี้ก็เป็นเรื่องวัตถุ ที่ระลึก ไม่มีอะไรจะให้ นอกจากคำสอน หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เป็นต้นเป็นกลางเป็นปลายตลอดสายของการศึกษาและการปฏิบัติธัมมะ ถ้าผู้ใดสนใจจะรู้ จะแตกฉาน จะเข้าใจในธัมมะในการปฏิบัติแล้วขอให้พยายามอ่าน กี่เดือนกี่ปีก็ขอให้อ่านทบทวนจนเข้าใจ แล้วก็ปฏิบัติได้อยู่ในตัวเอง มันเป็นเรื่องที่ดีที่สุดแล้ว ที่คัดเลือกมา ขอให้เอาไปในฐานะเป็นที่ระลึกด้วย ในฐานะเป็นธัมมะที่มอบหมายให้ไปสำหรับศึกษาและปฏิบัติด้วย อยากจะยืนยันว่ามันพอ แม้เพียงเล่มเดียวนี้มันพอ นี่เรื่องมันมีเท่านี้ แล้วเวลาก็ว่ามีเท่านี้ เพราะฉะนั้นในที่สุดนี้ก็ขออวยพรให้ทุกคนจงมีความก้าวหน้าในทางของพระธรรม ตามหลักแห่งพระธรรม มีความก้าวหน้าในการงาน ได้รับความผาสุกยิ่ง ๆ ขึ้นไปตลอดทุกทิพาราตรีกาลเทอญ ก็เป็นอันว่าลา เป็นอันว่าส่ง