แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านทั้งหลายผู้เป็นนักศึกษาและมีความสนใจในธรรม การบรรยายในชุดประทีปพุทธศาสตร์เป็นครั้งที่ ๔ นี้จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่าการใช้ พุทธศาสตรา สำเร็จด้วยสติ ท่านทั้งหลายจะต้องทบทวนหัวข้อที่กล่าวมาแล้ว ให้มีใจความสำคัญกัน ในครั้งแรกพูดถึง พุทธศาสตร์ปริทรรศน์ ดูคร่าวๆทั่วๆไป เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสตร์ในครั้งต่อมาก็ จะชี้ให้เห็นพุทธศาสนาในฐานะแห่ง พุทธศาสตราหรือพุทธศาสตร์ การกลับมาแห่งศีลธรรมจะสำเร็จได้ด้วยการใช้พุทธศาสตราในความหมายหนึ่ง ที่วันนี้จะพูดในส่วนที่ว่าการใช้พุทธศาสตรานั้นจะสำเร็จได้ด้วยสติ ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า สตินั่นเอง ปราศจากสติแล้ว พุทธศาสนาก็เป็นหมัน หรือพุทธศาสตราก็เป็นหมัน เพราะฉะนั้น ขอให้สนใจสิ่งที่เรียกว่า สติ เรื่องเกี่ยวกับสตินี่ แบ่งเป็นหัวข้อสัก ๓ หัวข้อว่า สิ่งที่เรียกว่า สติ คืออะไร การฝึกให้มีสติสมบูรณ์มันจะทำอย่างไร การใช้สติที่ฝึกดีแล้วจะใช้อย่างไร สำหรับสิ่งที่เรียกว่า สตินั้นเมื่อดูตามตัวพยัญชนะ คือ ตัวหนังสือ คำๆนี้มันแปลว่า แล่นไป โดยความหมายของมันก็คือ ระลึกได้ การที่เราจะระลึกอะไรได้นั้น เพราะการแล่นไปผ่านสิ่งที่เรียกว่าสติส่งไปยังสิ่งนั้น ตามรากศัพท์มันก็เป็นอย่างนี้ ทีนี้เราก็ดูสิ่งที่เรียกว่า สติโดยตรง สติที่เป็นอยู่โดยพื้นฐานของคนเรานั้น ก็คือสิ่งที่เรียกว่า สมปฤดี หรือ สฺมฺฤติ ถ้าไม่มี สมปฤดี ก็คือ คนหลับ คนเมา คนบ้า ตามธรรมดาก็ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า สติ ในระดับพื้นฐานนี้อยู่ตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นก็จะไม่รู้สึกอะไร จะทำอะไรไม่ได้ จะไม่รู้จักอะไร ขนาดเดินไปมันก็ยังสำเร็จประโยชน์ไม่ได้ เพราะเหตุที่เรามีสมปฤดีอยู่เราจึงทำอะไรได้ คอยรู้จักไอ้สิ่งนี้ให้ชัดเจนกันเสียก่อน สิ่งที่เป็นพื้นฐานอย่างนี้เราจะต้องพัฒนามัน นี้สติ สติที่พัฒนาแล้วเรียกว่า เรียกชื่อใหม่ว่า สติสัมปชัญญะ ถ้าเป็นเพียงสมปฤดี ก็คือ สติพื้นฐาน ซึ่งกล่าวได้ว่ามีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ในฐานะที่เป็นสัญชาตญาณอันหนึ่งก็ยังได้ เพียงแต่ว่าไม่ถึงระดับสูงสุดของมัน จึงเอามาฝึกหรืออาจจะมีการฝีกโดยไม่รู้ตัวก็ได้ คือมันดีขึ้นเองทุกวันๆนั้น เป็นการฝึกโดยอัตโนมัติจนกระทั่งเรียกว่ามี สติสัมปชัญญะอันพอเพียง นี่เรารู้จักสิ่งที่เรียกว่า สติในสองระดับกันอย่างนี้ นี้สำหรับชื่อเรียกนี่ มันก็มีแทนกันได้ ที่เรียกในภาษาพุทธศาสนา แทนคำว่าสติก็คือคำว่า อัปปมาทะ คือ ไม่ประมาท อัปปมาทะ คือความไม่ประมาท หรือ อสัมโมหะ ไม่หลงลืม และยังมีชื่ออื่นๆอีก เพียงแต่บอกให้ทราบไว้เท่านั้นว่ามันมีชื่ออื่นๆเรียกอีก เดี๋ยวไปได้ยินเข้าก็ไม่รู้จักว่าอะไร ก็ทำให้เข้าใจเป็นเรื่องอื่นไปก็ได้ ควรจะรู้จักไวพจน์ หรือคำแทนชื่อของทุกๆสิ่งคือมันมีด้วยกันทั้งนั้น ความสำคัญของคำว่า ความไม่ประมาท มันมีได้เพราะสิ่งที่เรียกว่าสตินั่นเอง เพราะถ้าไม่มีสติมันก็ลืมไปบ้าง หลงไปบ้าง มันก็ผิดไปเท่านั้นเอง ฉะนั้นเมื่อสติมันมีอยู่ มันไม่หลง ไม่ลืม มันรู้สึกตัวอยู่ มันก็คือไม่ประมาท ประมาท นี่แปลว่า เมา เมาเต็มที่ แต่มันเป็นเรื่องทางจิต ทางวิญญาณไม่ใช่เมาเหล้า แต่ความหมายก็คล้ายกัน ถ้าเมาเหล้าก็คือ เสียสติ แต่ว่าแม้ไม่เมาเหล้ามันก็มีความเมาอีกชนิดหนึ่ง คือเมาด้วยความไม่มีสติ เข้าใจผิดต่อสิ่งต่างๆได้ มัวเมาลุ่มหลงไปต่างๆไปในสิ่งนั้น ก็เรียกว่า ความประมาท ถ้ามีสติมันก็ตรงกันข้าม คือ ไม่ประมาท สิ่งที่ตรงข้ามของสติก็คือ ความไม่มีสติ เรียกว่า อสติ เรียกว่า มุฏฐสัจจะ มีสติที่หลงลืมไปแล้วก็คือ อสัมโมหะ ลุ่มหลงเต็มที่
นี่เราจะพูดกันถึงประโยชน์ของสติกันบ้างว่า ให้สนใจในสิ่งที่เรียกว่า สติ ประโยชน์ของสตินี้ ถ้าจะกล่าวได้ว่า เหลือที่จะพรรณนา พรรณนาโดยรายละเอียดไม่ได้ พรรณนากันเป็นคร่าวๆ เป็นประเภทๆไปดีกว่า ประโยชน์ของสติเป็นไปในทางกั้น หรือปิดกั้น การเกิดของสิ่งที่ไม่ควรจะเกิด เช่น อกุศล มันไม่ควรจะเกิด กิเลสที่ไม่ควรจะเกิด สติจะห้าม กันไม่ให้เกิด ถ้ามีสติมันก็เกิดไม่ได้ มันจึงมีความหมายเป็นทางห้ามกัน หรือปิดกั้น นี้ถ้าไปอีกมันก็มีประโยชน์ในทางที่จะปกป้องหรือรักษา นี่หมายถึงในสิ่งที่เราต้องการให้มีเช่น กุศล หรือ ความดี จะรักษามันไว้ได้ด้วยอะไร ก็ด้วย สติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิปัสสนาญาณ ขั้นเด็กๆขั้นลูกเล็กๆก็ยังไม่ทันแก่ตายตัว ถ้าไม่รักษาไว้ด้วยสติมันก็หายไปหมด ผู้ที่ทำกรรมฐาน ทำวิปัสสนามาถึงขั้นที่เริ่มมีปัญญาก็ตาม หรือวิปัสสนาต่างๆเกิดขึ้นในระดับอ่อนๆนี้ ต้องการสติมากที่สุด นี้เรียกว่า สติ เป็นไปในทางปกป้องรักษา ให้สิ่งที่ต้องการจะรักษาให้ดำรงมีอยู่ แม้แต่เรื่องธรรมดาสามัญ จะจำอะไรไว้ให้ได้ ก็จะรักษาความจำไว้ให้ได้ ก็ต้องใช้สติระลึกอยู่เสมอ มันจะจำอะไรได้ การศึกษาเล่าเรียนของลูกเด็กๆก็เหมือนกัน นี้ต่อไปอีก ประโยชน์ของสติก็คือ หยุดกระแสแห่งพฤติของจิตส่วนที่เราไม่ปรารถนา หมายความว่า จิตวิ่งไปในทางที่จะเป็นทุกข์ตามลำดับของเรื่องราวของจิตนั้น แม้ว่ามันจะเป็นไปตั้งครึ่งตั้งค่อน แล้วมันก็หยุดเสียได้กลางคันด้วยอำนาจของสิ่งที่เรียกว่า สตินั้นด้วยเหมือนกัน นี้เป็นเรื่องละเอียด ซึ่งจะต้องอธิบายด้วยลำดับของ ปฏิจจสมุปบาท โดยความแล้วท่านสั่งไว้ว่าสติกับ ผัสสะ ปฏิญาณ สตินั้นเป็นสิ่งที่ต้องปรารถนาในทุกกรณี ในที่ทุกแห่ง ในทุกระดับ จะต้องปรารถนาในทุกกรณี เพราะว่ามันทำให้ระลึกได้อย่างถูกต้อง ระลึกได้อย่างถูกต้องนั้นก็จะป้องกันแก้ไขได้ทุกทิศทุกทาง คนเราให้ความสำคัญแก่สติน้อย ไม่มีใครค่อยพูดถึง เห็นเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆไม่รู้ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้สิ่งต่างๆเป็นไปได้อย่างถูกต้อง ขอให้สังเกตดูตัวเอง ดูเพื่อนฝูง หรือดูคนทั้งหลาย ในยุคปัจจุบันนี้ เขาไม่สนใจกับสิ่งที่เรียกว่าสติ ไม่ได้มาพูดไม่ได้มาสอนลูกเด็กๆไม่มากเหมือนเรื่องทำมาหากิน แม้แต่เรื่องสนุกสนาน เรื่องที่ให้โทษก็ยังพูดกันมากกว่าเรื่องที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องสตินี้ จึงเป็นคนที่ไม่มีสติหรือไม่มีสติอย่างเพียงพอ และก็ไม่รู้ว่ามันเป็นเพราะอะไร จึงทำสิ่งต่างๆไม่ได้ตรงตามที่ปรารถนา ซึ่งเป็นโทษของการไม่มีสติ ควรจะนึกถึงโทษอันนี้ไว้ด้วย มันจะได้กลัวและจะได้สำรวมระวังตั้งสติกันเสียให้ดีๆ โทษของสติก็คือ ความผิดพลาดในทุกอย่าง จะไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่เราขาดสติ มีแต่เสียหายทั้งนั้น ในทุกกรณีในทุกระดับ ทั้งเรื่องโลกๆตามธรรมดา หรือเรื่องชั้นสูงทางธรรม ทางศาสนา เรื่องบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็ล้วนแต่เสียหายหมด เพราะขาดสติทั้งนั้น ถ้ามองเห็นข้อเท็จจริงอันนี้แล้วคงจะกลัวสิ่งที่ทำให้ขาดสติ ตลอดทั้งความขาดสตินั้นด้วย สิ่งที่ทำให้ขาดสติก็คือ สิ่งที่ทำให้เมา ของมึนเมาต่างๆ เช่น สุรา เป็นต้นนี้ พอเสพเข้ามันก็ทำให้ปราศจากสติ หรือสติฟั่นเฟือนไปหมด ก็มีผลเท่ากับขาดสติ ทีนี้สิ่งมึนเมาอย่างอื่น เรื่องกามารมณ์ เรื่องอะไรต่างๆก็ทำให้ขาดสติ แม้ความมึนเมาในทางนามธรรม หลงนั่น หลงนี่ หลงเกียรติ หลงอะไรต่างๆมันก็ขาดสติ นั่นเป็นยังไงบ้างก็ลองคิดดู มันเป็นฐานที่ตั้งแห่งความประมาท นำมาซึ่งความเสียหายยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป ไม่ใช่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น มันคงจะเห็นความสำคัญของศีลข้อ ๕ ที่ห้ามสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความประมาททุกชนิด คนที่ไม่รู้ก็คิดแต่ว่าห้ามกินเหล้าเท่านั้นเอง แต่ตัวหนังสือนั้นห้ามสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความประมาททุกชนิด ยกตัวอย่างเช่น สุราและเมรัย เป็นต้นนั้นเอง มีคำว่า ปมาทฏฺฐานา เว้นจากสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท อันไม่ใช่กล่าวเรื่องสุราและเมรัย ได้แก่สุราและเมรัย เป็นต้นต่างหาก นี่คือโทษของสติ โทษของขาดสติ
นี้ดูกันไปอีกถึงหน้าที่ของสติ คุณธรรมข้อนี้มีชื่อว่าสติมีหน้าที่อย่างไร บางคนอาจจะฟังแล้วงง คำว่าธรรมะนั้นมันมีหน้าที่ นี่คือภาษาที่เขาใช้อยู่ในวงของธรรมะ ธรรมะแต่ละชื่อแต่ละอย่างนั้นมีหน้าที่ๆอย่างนั้น สติมีหน้าที่ที่จะแล่นไป ทำการอารักขาให้ทันแก่เวลา พูดเหมือนอย่างกับคน สตินี่เป็นนามธรรมเป็นธรรมวิ่งไปที่ไหน ก็วิ่งไปในวิถีของจิตให้ถึงที่ตั้ง ที่มโนทวารที่มันจะคิดจะนึกจะรู้สึก มันแล่นไปทำการอารักขาทันแก่เวลาหรือกล่าวอย่างหนึ่งก็ว่ามันทำให้สำนึกได้ทันท่วงที สำนึกได้ทันท่วงทีในสิ่งที่จะต้องสำนึก นั้นคือสติมันแล่นไปทำการอารักขาทันแก่เวลา หน้าที่อย่างอื่นก็มันมีหน้าที่ควบคุมปัญญา ควบคุมสมาธิ ปัญญาถ้าไม่มีสติเข้ามาเกี่ยวข้องก็เป็นหมันเหมือนกัน มันเป็นปัญญาที่นอนขี้เกียจอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ไม่มาทำหน้าที่การงานของปัญญา นี้เมื่อสติมันไปลากคอมาอย่างรวดเร็ว ปัญญาก็มาทำหน้าที่แก้ปัญหาหรืออะไรต่างๆได้ทันท่วงที หรือทันควัน เราจะเห็นได้ว่า คนบางคนมันรู้มาก มีความรู้มากแต่ทำอะไรไม่สำเร็จ เพราะ มันไม่มีสติ มันต้องมีสติเป็นเครื่องดึงเอาปัญญามา และควบคุมปัญญาให้ทำหน้าที่ของปัญญาอยู่จนตลอดเวลา ในที่สุด สิ่งที่เรียกว่าสมาธินั้นก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีสติและมันก็สลายไปเสียอีก ต้องมีสติคุมความเป็นสมาธิให้อยู่อย่างสมบูรณ์ อยู่ตลอดเวลาที่ต้องทำหน้าที่ในกรณีนั้นๆด้วยสมาธิชนิดนั้น ถ้าว่าโดยที่จริงแล้ว สติก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดสมาธิขึ้นมา เพราะสติต้องกำหนดอารมณ์ ควบคุมอารมณ์ มันจึงเกิดเป็นสมาธิขึ้นมา เรียกว่าสติสร้างสมาธิขึ้นมาก็ได้เหมือนกัน มีสมาธิขึ้นมาแล้วมันยังทำหน้าที่ควบคุมไว้ ไม่ให้หนีไปหรือไม่ให้สลายไป ให้ทำหน้าที่ของสมาธิไปจนตลอดเวลา ดังนั้นเราควรจะถือว่า สติควบคุมสมาธิ สมาธิควบคุมปัญญา ถึงจะสำเร็จประโยชน์ ฉะนั้นถ้าจะถามว่าสตินี่มีกี่อย่าง กี่ชนิด ก็ดูเองก็แล้วกัน ดูที่ประโยชน์ หรืออานิสงส์ของมัน เราก็พอจะเข้าใจได้ สติสำหรับรักษา สติสำหรับควบคุม ทั้งหมดนี้จะช่วยให้เรารู้จักสิ่งที่เรียกว่า สติ มันคืออะไร เพื่อประโยชน์อะไร
ทีนี้ก็มาถึงหัวข้อที่ว่าการฝึกสตินั้นจะทำอย่างไร ที่จริงเรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ลึกลับยากแก่การเข้าใจ แต่มันอยู่ที่เราไม่สนใจอย่างที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น โดยเฉพาะคนสมัยนี้ยิ่งไม่สนใจกับสิ่งนี้ ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าสติที่มีอยู่ หรือที่จำเป็นที่จะต้องปรับปรุงก็เลยไม่ได้สนใจที่จะฝึกสติกัน แต่แล้วก็บ่น อู้ไปหมดด้วยผลร้ายที่เกิดขึ้น เพราะการปราศจากสตินั้น ถ้าจะให้ความยุติธรรมแก่ธรรมชาติบ้างก็ควรจะสนใจในเรื่องนี้ ฝึกสติกันตามความประสงค์ เรื่องฝึกสตินี้มันมีรายละเอียดมากยืดยาว มีเทคนิคมากพูดกันไม่ไหวในเวลาชั่วโมงสองชั่วโมง ก็เลยพูดได้แต่เขาโครง หรือแนวทางเท่านั้นเอง เมื่อกล่าวโดยใจความ การฝึกสตินี้มันก็คือ การพัฒนาสัญชาตญาณที่เรามีอยู่แล้วในชีวิต คำว่าสติหรือ สมปฤดีนั่นแหละ ให้มันเจริญขึ้นมาถึงขีดสุด มันเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วแต่ไม่ได้รับการฝึก มันก็มีสมรรถภาพเท่านั้นเอง เหมือนกับบุคคล หรือ สัตว์อะไรก็ตามเมื่อไม่ได้รับการฝึกมันก็ยังมีคุณสมบัติไม่สมบูรณ์ เมื่อได้รับการฝึกแล้วมันก็มีความสมบูรณ์และมีค่า คุณสมบัติของจิตที่เรียกว่าสตินี้ ถ้ามีตามธรรมชาติ อย่างที่สัตว์เดรัจฉานมันมีมันก็ไม่พอใช้สำหรับคนแน่ เพราะคนมีหน้าที่การงานมากมายหลายเท่า ยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานมันก็มีของมันพอให้มีชีวิตรอดอยู่ได้ หรือหากินได้ แต่คนเรามีเท่านั้นไม่พอ เพราะเราทำการงานที่ประณีตขึ้นไปอีก เราจึงจำเป็นที่จะต้องฝึกสติที่มีอยู่ตามธรรมชาติให้ถึงขีดสมบูรณ์ นี่คือใจความโดยย่อคือ ส่งเสริมหรือพัฒนาแล้วแต่จะเรียก สัญชาตญาณนี้ให้แกร่งกล้ายิ่งขึ้น จะด้วยวิธีอย่างไรก็ตอบได้โดยว่าเมื่อกล่าวโดยหลักทั่วไปสักอย่าง โดยเฉพาะเจาะจงเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็อีกอย่างหนึ่ง กล่าวได้โดยหลักทั่วไป หรืออย่างเป็นพื้นฐานอันได้แก่ทุกกรณีนั้นก็ หัด ฝึกหัดที่จะไม่ทำอะไร หรือเคลื่อนไหวอะไร ก่อน แต่จะรู้สึกตัวเสียก่อน ก่อนที่เราจะเคลื่อนไหวอิริยาบถ มือ เท้าอะไรก็ตาม นิดเดียวเท่านั้นมันก็ต้องรู้สึกตัวเสียก่อน แต่คนเราก็ไม่ทำ เห็นว่าไม่ใช่สิ่งสำคัญอะไร มันก็ไม่มีสติ เช่น ปิดประตูใส่กลอนแล้วหรือยัง มันก็ไม่สนใจ เมื่อจะเคลื่อนไหวมือไปใส่ลูกกลอนนั้น มันก็มานอนสงสัยอยู่ว่าปิดประตูแล้วหรือยัง ใส่กลอนหรือยัง หรือวางอะไรไว้ตรงไหน มันก็ไม่ทำสติเสียก่อนที่จะวางลงไป เสร็จแล้วก็ไม่รู้ว่าวางไว้ที่ตรงไหน นี่เป็นตัวอย่างที่ว่าถ้าเราจะทำอะไร หรือเคลื่อนไหวอะไรให้ทำสติ คือระลึกลงไปเสียก่อน ว่าเราวางตรงนี้ ทำอย่างนี้ให้มันติดตาอยู่ นี่เป็นการฝึกสติในชั้นทั่วไป คือเมื่อจะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมากกว่านั้น ก็ยิ่งต้องมีสติ จะวางแผนการอะไรใหญ่โตก็ต้องมีสติ ต้องทำไปด้วยอำนาจของสติ
สรุปความสั้นๆว่าไม่ทำอะไร ไม่เคลื่อนไหวอะไร ก่อนจะทำความรู้สึกให้ได้เสียก่อน เราจะเห็นเขาฝึกสติแต่เขามักจะเรียกว่าฝึกวิปัสสนา ที่จริงในระยะนี้เป็นเพียงการฝึกสติเท่านั้น ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนออะไรก็ตาม มันฝึกให้มันเต็มที่เข้าไว้ ยกเท้าขึ้นมา แล้วก็สอดไปข้างหน้า คือ เหยียดออกไปแล้วค่อยๆวางลงๆ ทำอย่างนี้เหมือนกับทำเล่นกับเด็กๆก็หัวเราะ แต่อย่าไปหัวเราะเขา ก็ฝึกอย่างละเอียดที่จะให้การเคลื่อนไหวทุกระเบียบนิ้วมันอยู่ในการควบคุมของสติ อย่างจะรับประทานอาหารนี้ ก็เอามือไปขยำข้าว หรือตักช้อนตักแล้วและก็ยกขึ้นมาด้วยความรู้สึก แล้วก็อ้าปากใส่ในปาก และก็เคี้ยวตลอดทุกขั้นตอนให้มีความรู้สึก จนต่อไปก็กลายเป็นนิสัยอันใหม่เกิดขึ้น คือ รู้สึกตัวอยู่ทุกอาการเคลื่อนไหวทุกขั้นตอน เมื่อฝึกอย่างนี้ได้แล้ว ต่อไปจะเอาไปใช้อะไรก็ได้ ไม่ใช่ต้องการให้ทำวนอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา เอาแต่เพียงว่าวางของตรงไหนให้มีสติวาง ปิดประตูให้มีสติปิด จะมีประโยชน์เหลือเกิน ทำให้ไม่ลืมทำให้ได้รับประโยชน์มาก ถ้าไม่เคลื่อนไหวอะไรก็ปราศจากความรู้สึก มาถึงขั้นที่สองก็คือว่า ให้รู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลาที่เคลื่อนไหว ถ้าการเคลื่อนไหวนั้นมันเป็นระยะยาว ให้มีความรู้สึกตัวอยู่ตลอดระยะที่มันเคลื่อนไหว จะเป็นเคลื่อนไหวทางกาย หรือเคลื่อนไหวทางจิตก็ตาม มันก็ไม่ใช่ทำง่าย แต่มันก็ไม่เหลือวิสัย เมื่อทำแล้วมันมีประโยชน์เหลือเกิน เคลื่อนไหวทางกายพอจะเข้าใจกันบ้าง ว่าจะทำอย่างไรให้มันถูกต้องให้มันเรียบร้อยที่สุด จะกินอาหาร จะอาบน้ำ จะถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ จะยืน เดิน นั่ง นอน ให้มันทำความรู้สึกอยู่ตลอดเวลามันก็ได้ผลดี แต่เรื่องที่สำคัญกว่านั้นคือการเคลื่อนไหวทางจิต หรือการเคลื่อนไหวของจิต ซึ่งจะพูดกันเฉพาะเรื่องนั้น ที่เรียกว่าเป็นหลักทั่วไปสรุปความสั้นๆว่าทำอะไรเคลื่อนไหวอะไร ไม่ทำลงไปก่อน แต่ที่จะระลึกได้เสียก่อน เมื่อกำลังทำอยู่ตลอดเวลาระยะเท่าไรก็มี รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ตลอดระยะนั้นๆ
ทีนี้พวกที่ฝึกโดยเฉพาะเรื่อง เจาะจงลงไปคือเรื่องใดมันก็มีวิธีเฉพาะเรื่องนั้นๆ ที่เป็นหลักของทางในพุทธศาสนา เขาเรียกว่า สติปัฏฐาน การตั้งสติ การกำหนดสติ หรือการฝึกสติ นิยมทำการฝึกในสิ่งทั้งสี่ คือในกาย ในเรื่องของกาย และในเรื่องของเวทนา คือความรู้สึก สบายหรือไม่สบายเป็นทุกข์ และในเรื่องของจิตเอง และในเรื่องของธรรมะ หรือปรัชญาของธรรมชาติ ที่เรียกว่า สติปัฏฐานสี่ การฝึกนั้น ฝึกด้วยสติ มีสติสมบูรณ์แล้ว มันก็จะเกิดปัญญา เกิดอะไรขึ้นมา กว้างขวางจนเป็นปัญญา เป็นวิปัสสนา เป็นการบรรลุมรรคผลนิพพานไปเลย นี่เป็นการฝึก สติปัฏฐาน เฉพาะเรื่อง ถ้าเราฝึกในกาย การฝึกที่เป็นไปกายก็มีหลายแบบหลายแขนง ที่เป็นหลักทั่วไปก็กำหนดเรื่องต่างๆที่มันเกี่ยวกับกาย ตัวกายเองบ้าง ลมหายใจที่เนื่องกับกายบ้าง รู้ว่ามันเป็นอย่างไร เฝ้าดูมันให้รู้จักธรรมชาติของมัน จนกระทั่งควบคุมมันได้ ที่มันกำเริบฟุ้งซ่าน ควบคุมให้มันสงบรำงับได้เดินหน้าเรื่องการฝึกสติที่เป็นไปในทางกาย ถ้าเราจะบังคับกายให้ระงับ เราจะบังคับลงบนร่างกายนั้นไม่ได้ ไม่ใช่วิสัย แต่เราบังคับทางลัด ทางลมหายใจ ก็ลมหายใจมันอยู่ในวิสัยที่เราจะบังคับได้ บังคับให้ยาวบังคับให้สั้น บังคับให้ละเอียด บังคับให้หยาบ บังคับให้มันหยาบ ให้มันละเอียด ลมหายใจมันก็รำงับ รำงับ กายมันก็พลอยรำงับตามไปด้วยก็มันเนื่องกัน อย่างนี้ก็เรียกว่า สติที่เป็นไปในกาย ตามแบบของสติปัฏฐาน เรารู้จักในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกายเนื้อ หรือกายลมหายใจก็ตามอย่างถูกต้อง คือ เราควบคุมมันได้ตามที่เราต้องการ ต้องการให้กายระงับเยือกเย็นเมื่อไรก็ทำได้อย่างนี้เป็นต้น
นี้พวกที่สองเรียกว่า เวทนา ความรู้สึก สุข ทุกข์ ส่วนใหญ่ก็มีทั้งนั้น รู้สึกสบายใจ หรือไม่สบายใจนั่นเรียกว่า ความสุข หรือความทุกข์ มันมีปัญหามากเกี่ยวกับเรื่องความรู้สึกสุข ทุกข์ เป็นที่ตั้งแห่งความหลงก็มี หรือว่ามันไม่มี เราก็ไม่สบายอย่างนี้ เราก็ต้องทำให้มันมี แต่มันมีขึ้นมาแล้ว ก็อย่ามา อย่าปล่อยให้มันเป็นที่ตั้งแห่งความหลงใหล หรือมันปรุงแต่งความคิดความนึกที่จะนำมาซึ่งกิเลส ก็จะมีความทุกข์อย่างอื่นต่อไปอีก ก็ต้องตั้งสติ กำหนดจิตใจที่มันรู้สึกเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ แต่จะกำหนดที่ความรู้สึกที่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์มากกว่าเท่าตัวจิตใจ ไอ้ตัวจิตใจนั้นเก็บไว้อีกทีหนึ่งบทเรียนหนึ่งต่างหาก ไอ้ความรู้สึกสุข หรือ ทุกข์ เกิดขึ้นอย่างไร มีลักษณะอย่างไร มีอำนาจปรุงแต่งจิตต่อไปอย่างไร ให้รู้จักมันดี ค่อยๆเข้าดูมันด้วยสติควบคุมมันได้ ให้มันจางหายไปได้
นี้เรียกว่าเรื่องที่สามเรียกว่าเฝ้าดูจิต จิตเป็นอย่างไรต่อ รู้จักจิต ว่าตอนนี้จิตกำลังเป็นอย่างไร กำลังหดหู่หรือกำลังฟุ้งซ่าน กำลังมึนชาหรือกำลังกล้าหาญ เป็นคู่ๆไปหลายๆคู่ ถ้าไม่มีสติ ที่พอเพียงแล้วมันกำหนดไม่ได้ว่าจิตกำลังเป็นอย่างไร ฉะนั้นเราไปสังเกตดูเองก็แล้วกัน ด้วยบทเรียนก็มีไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ จะสามารถทำให้เราบังคับจิตได้ ถ้าจิตมันหดหู่สามารถจะบังคับให้มันรื่นเริงกล้าหาญได้ ส่วนฟุ้งซ่านให้มันสงบได้ มันไม่ตั้งมั่นก็ให้มันตั้งมั่นได้ มันเกาะเกี่ยวกับนิวรณ์ กับอารมณ์ก็หลีกออกจากมันเสียได้อย่างนี้เป็นต้นด้วยอำนาจของสติ ด้วยอยู่ในวิชาความรู้
เรื่องที่สี่ก็คือธรรม คือความจริงตามธรรมชาติ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าไม่มีสติกำหนดก็ไม่เห็นตาม ไม่ต้องไปเรียนมาจากไหน ขอให้ใช้สติเป็นเท่านั้น ดูลงไปจะรู้สึกเอง เห็นเอง มันเห็นเองอย่าไปคิด นามว่าอย่างนั้น เพราะเหตุอย่างนี้ ทำและก็ดูลงไปที่ความรู้สึก หรือลักษณะที่มันมีอยู่จริงๆในความรู้สึก เราก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงความเป็นอนัตตา มันไม่ใช่ตัวตนอะไรที่ไหน ในที่สุดมันก็ไม่หลงใหลในสิ่งเหล่านั้นก็เห็นว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สิ่งเหล่านั้นก็ไม่มาบีบบังคับจิตใจเรา เราก็ไม่มีความทุกข์ นี่คือการฝึกสติเฉพาะเรื่องโดยสมบูรณ์แบบ เฉพาะเรื่องนั้นๆมีอย่างนี้ไปศึกษาเอาเองโดยรายละเอียด ที่จะแนะนำก็คือ ฝึกตั้งแต่ธรรมดาสามัญ จนมีประโยชน์ในการที่จะจำเก่ง โดยถ้าเป็นนักเรียนก็ต้องเป็นเรื่องมีความจำเก่ง จึงจะสอบได้ง่าย จดจำเก่งนี้จะบันทึกลงไปในความจำ ในคลังของความจำจะทำได้เก่ง มันจะเอาออกมาใช้เมื่อไรก็เอาออกมาใช้ได้ทันที เก่งนี้เขาเรียกความจำมันดี ก็จำไว้ได้เอาออกมาใช้เมื่อไรก็ได้ อย่างนี้ถึงจะเรียกว่ามีความจำดี สิ่งเหล่านี้สำเร็จได้ด้วยสติ นับตั้งแต่ที่ว่าฝึกไม่ทำอะไรก่อน แต่ที่จะมีความรู้สึกมาเรื่อยๆ ที่พอจะจำอะไรมันก็จะตั้งในความรู้สึกลงไปในสิ่งที่จะจำอย่างชัดเจน อย่างลึกซึ้ง มันก็เก็บเข้าเอาไว้ในระบบความจำได้ดี พอจะเอาออกมาใช้ก็มาได้ดี มาเร็ว ทันแก่ความต้องการของเรา สตินั้นให้ผลเหลือประมาณอย่างนี้แม้ในขั้นต้นๆ ขั้นสำหรับนักเรียน ต่อไปอีกก็อย่างเดียวกันอีก ก็เลื่อนขึ้นไปตามเรื่องที่มันยากขึ้น เมื่อทำอะไรอยู่ให้มีสติอยู่ตลอดเวลา มันจะรักษาความเป็นระเบียบ หรือความเข้มแข็งแห่งจิตไว้ได้ตลอดเวลา เราก็สามารถที่จะทำบทเรียน หรือทำคำตอบสอบไล่ได้อย่างแจ่มใสได้อย่างสะดวกสบายตลอดเวลา ไม่เวียนหัวไม่มึนชาไม่อะไรเสียก่อน ไม่ท้อแท้เสียก่อน
ทีนี้ก็จะดูกันในข้อที่ว่า จะใช้สติที่ฝึกแล้วนั้นอย่างไร ที่จริงมันก็เป็นการฝึกอยู่ในตัว ฝึกให้มีสติก็เป็นการฝึกในตัว การจะใช้มันอย่างไรมันก็เป็นการฝึกอยู่ในตัว สติที่ฝึกแล้วจะใช้ไปในการประกอบการงาน ไม่ว่างานชนิดไหนด้วยสติสัมปชัญญะนั่นเอง ถ้าเราไม่มีสติสัมปชัญญะก็ไม่รู้ว่าเอามาจากไหน แต่เราฝึกไว้จนเป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะ แล้วก็เอามาใช้ในการประกอบการงานทั่วไป ของคนทุกชั้นทุกวัยทุกหน้าที่การงาน นับตั้งแต่ว่าเดินไม่เคยหกล้ม เดินไม่เคยตกร่อง หรือไม่ทำอะไรที่เหมือนลูกเด็กๆอมมือเขาทำ ไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นที่เกิดจากการขาดสติ แต่ว่าคนเขาไม่ค่อยจะสนใจกันนั่นเอง จึงทำอะไรที่ขาดสติอยู่เสมอ นี่เป็นการใช้ในความหมายทั่วๆไป ทีนี้ใช้ไปในการทำกิจที่มันยาก และสำคัญ นี่เป็นเรื่องเฉพาะ ยากและสำคัญนั่นคือเรื่องอะไร รู้สึกจะไม่มีเรื่องอะไรยิ่งไปกว่าเรื่องที่พูดเมื่อตอนบ่าย คือการควบคุมผัสสะ ศีลธรรมมีอยู่ได้ด้วยการควบคุมผัสสะ ถ้าควบคุมผัสสะไม่ได้ ก็ไม่มีหวังที่จะมีศีลธรรม นี้อะไรควบคุมผัสสะได้ ก็คือสติ ถ้าจะควบคุมผัสสะก็ต้องพูดเรื่องผัสสะ โดยเฉพาะในขณะแห่งกระแสปฏิจจสมุปบาท เดี๋ยวก็จะถอยหลังเพราะไม่รู้ว่าปฏิจจสมุปบาทนั้นคืออะไร ก็ต้องพูดกันเรื่องปฏิจจสมุปบาทบ้าง การที่หาญเอาเรื่องนี้มาพูด พวกเธอทั้งหลายที่เป็นนักเรียนนี่ คล้ายกับว่าแหวกแนว เพราะว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้นจัดว่าเป็นเรื่องยากที่สุด ของทุกเรื่องในพุทธศาสนา แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่าเป็นเรื่องยาก มาพูดกันในที่นี้ให้เป็นเรื่องง่ายนั้น ต้องพูดเท่าที่จะพูดได้ แล้วมันก็ไม่รู้จะเรียกโดยชื่อว่าอะไรอีก ถ้าไม่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ขอแรงช่วยจำด้วยหน่อย แม้มันจะจำยาก ปฏิจสมุปบาท คำนี้ แปลว่า อาศัยการเกิดขึ้น อาศัยการเกิดขึ้น แม้ว่าสักกี่ร้อยครั้ง พันครั้งก็ตาม มันมีอยู่แค่ว่า อาศัยการเกิดขึ้น อาศัยการเกิดขึ้น จะพูดอย่างครอบโลก ครอบจักรวาล ก็แปลว่า ทุกสิ่งในจักรวาลนี้ล้วนแต่มีอาการแห่งการอาศัยการเกิดขึ้น อาศัยการเกิดขึ้น เป็นทอดไปเป็นสายไป จะเกิดแผ่นดิน เกิดต้นไม้ เกิดก้อนหิน เกิดป่าเกิดคน แต่นั้นก็เป็นเรื่องข้างนอก เราจะไม่พูดถึง จะพูดถึงการเกิดขึ้นที่เป็นภายใน และเป็นตัวเรื่องที่ทำความทุกข์ให้เรา มันมีอยู่เป็นขั้นตอน เกี่ยวกับสิ่งที่มนุษย์เรามีคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หกอย่างนี้ ให้มองให้เห็นเสียก่อนว่า ถ้าเราไม่มี ตา หู จมูก ลิ่น กาย ใจ แล้วมันไม่มีอะไร มันไม่มีอะไรเลย มันเท่ากับไม่มีอะไรเลย มองดูก็เข้าใจได้ไม่ยาก ถ้าสมมติว่าเราไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่มีอะไรที่ปรากฏเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมา จนกระทั่งโลกนี้ไม่มี ที่เรามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ไม่ใช่มันมีแต่ตา หู จมูก ลิ้นกายใจ มันต้องมีคู่ของมันด้วย คือรูปจะเห็นได้ด้วยตา เสียงจะได้ยินได้ด้วยหู กลิ่นจะรู้ได้ด้วยจมูก รสจะรู้ได้ด้วยลิ้น สัมผัสทางผิวหนังที่จะรู้ได้ด้วยผิวหนัง แล้วก็ความรู้สึกที่จะรู้สึกได้ด้วยใจ ก็เป็นหกคู่ ถ้าศึกษาเรื่องคน ก็ศึกษาเรื่องนี้ประเสริฐที่สุดดีกว่าเรื่องทั้งหลาย แต่ก็ไม่มีใครสนใจจะศึกษา มีแต่ศึกษาเรื่องเขียวๆแดงๆ เรื่องสวยงามสนุกสนานไปในทางอื่น เลยไม่รู้จักเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็ไม่รู้เรื่อง รูป รส กลิ่น เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็ไม่รู้เรื่องเสียทีว่าในโลกนี้มันมีทางนี้ ถ้าไม่มีอันนี้และก็คือไม่มีอะไร ทุกอย่างในโลกนี้เราจะรู้สึกต่อมันได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ฉะนั้นทุกอย่างมันตั้งอยู่ในฐานะ เรื่อง รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ พอยกออกไปเสียไปไหนก็ได้ยกส่วนที่เป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจออกไปเสีย มันก็จบหมดเลยไม่มีเรื่องอะไรเหลือ หรือจะยกฝ่ายรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ออกไป ตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจก็เป็นหมันทำอะไรไม่ได้ ก็เท่ากันอีกนั่นแหละคือมันไม่มีอะไร ฉะนั้นจึงถือว่านี่เป็นตัวสำคัญที่ให้มีโลก กระทั่งมีตัวกูของกู เกิดขึ้นในความรู้สึก เรื่องปฏิจจสมุปบาทก็คือเรื่องนี้ ตั้งแต่ว่า คู่แรก ตากับรูป ตาก็คือเรามีตา และก็มีรูปข้างนอกที่ตาจะเห็น พอมันถึงกันเข้าก็เกิดการเห็นทางตา ตากับรูปถึงกันเข้า ก็เกิดการเห็นทางตา นี้เรียกว่า จักษุวิญญาณ การเห็นทางตา เกิดขึ้นมาเพราะสายตากับรูปมันถึงกันเข้า เป็นปฏิจจสมุปบาทขั้นตอนทีแรก นี้พอมีการเห็นทางตาของตาและรูปนี้ สามอย่างนี้ถึงกันเข้าแล้ว เรียกว่า ผัสสะ คือ การกระทบที่เราพูดถึงมาแล้วตอนกลางวัน ผัสสะการกระทบนี่ จำไว้ให้ดี เพราะมีผัสสะก็มี เวทนา คือ ความรู้สึกถูกใจ หรือไม่ถูกใจนี่ เรียกว่า เวทนา เพราะผัสสะจึงมีเวทนา นี้ ปฏิจจสมุปบาทขั้นต่อมา เพราะ มีเวทนา เมื่อเกิดตัณหา คือ ความอยากหรือความต้องการไปตามลักษณะของเวทนานั้น ถ้าเวทนาเป็นความถูกใจก็เกิดอยากได้ ถ้าเวทนานั้นไม่ถูกใจเป็นสิ่งที่ไม่รู้สึก รู้สึกไม่ถูกใจ เกิดอยากทำลาย นี่เราเกิดความอยาก เราเกิดความอยากในสองประการนี้ อยากได้ด้วยราคะ ด้วยโลภะ อยากทำลายด้วยโทสะด้วยโกรธะ แต่เราจะเรียกต่างกันด้วยความอยาก ความอยากอย่างโง่เขลานี้ก็เรียกว่า ตัณหา เพราะมันอยากอย่างโง่เขลา ไม่รู้ตามที่เป็นจริงว่านั้นมันคืออะไร นั้นก็อย่าเอาไปปนกับความอยาก หรือความประสงค์ที่มันเป็นไปตามทางของสติปัญญา นั่นก็อีกพวกหนึ่ง ความอยากอย่างนู้นไม่เรียกว่าตัณหา เรียกว่าตัณหาเพราะความอยากในแบบที่เป็นไปด้วยความไม่รู้อย่างที่ว่ามานี้ ที่เห็นได้ว่าเพราะ เวทนา จึงเกิดตัณหา ตัณหาอาศัยเวทนาจึงเกิดขึ้น อาศัยสิ่งนี้และจึงเกิดขึ้น อาศัยสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น มันมาหลายขั้นตอน มีความอยากอย่างนี้แล้วก็เกิดความรู้สึกโง่เขลาต่อไปอีก คือรู้สึกเป็นตัวกูผู้อยาก เรียกว่า อุปาทาน อุปาทานะ การยึดมั่นถือมั่น ว่ามีตัวกูผู้อยาก สิ่งที่กูอยากนั้นจะเอามาเป็นของกู มันเกิดความรู้สึกเป็นตัวกู และของกูขึ้นมาทีหลัง อันนี้มันแปลกหน่อยสำหรับคนที่เขาถือหลักLogic เขาก็ว่ามันไม่ถูกแล้ว ทำไมเกิดความอยากก่อนเกิดตัวผู้อยากเล่า Logicอย่างนั้นมันเป็นตัววัตถุที่เกิดตัวผู้อยากเสียก่อนแล้วจึงจะอยาก นั้นมันเป็นความเข้าใจผิดไอ้ความจริงนั้นมันไม่ได้มีอย่างมันมีความรู้สึกอยากเกิดขึ้นในจิตใจตามธรรมชาติของมัน และต่อมาจึงเกิดความรู้สึกคือเป็นผู้อยาก คืออยากเอามาเป็นของตน ตัณหาทำให้เกิดอุปาทาน ก็ถ้าเกิดก็ได้อาศัยตัณหานี้ก็เป็นปฏิจจสมุปบาทขั้นตอนหนึ่ง นี้ก็เกิดความรู้สึกต่อไปอีก รู้สึกมีตัวตน มีภพ มีชาติ มีตัวกู มีปัญหานานาชนิด นับตั้งแต่ปัญหาเกิดแก่ เจ็บ ตาย สรุปความแล้วก็ไม่ได้ตามที่ตัวต้องการ และก็เป็นทุกข์ หรือเพราะไปยึดถืออะไรเข้า มันก็ไม่ได้ตามต้องการ และมันก็เป็นทุกข์ ฉะนั้นความทุกข์เกิดขึ้นโดยลำดับอย่างนี้ มันตั้งต้นที่ผัสสะด้วยความโง่ ในขณะที่มันมีการกระทบสัมผัสนั้น ตอนนั้นมันไม่มีสติปัญญา สติก็ไม่มีมา ปัญญาก็ไม่มีมา มันก็ปล่อยไปตามกระแสของความโง่เขลาหรืออวิชชา ผัสสะนี้จะทำให้เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดกิเลส ถ้าเราควบคุมผัสสะนี้ได้ ก็ควบคุมการเกิดแห่งกิเลสได้ คือ ถ้าควบคุมผัสสะได้มันก็จะมีศีลธรรม คือ มันไม่เกิดกิเลสนั่นเองก็มีศีลธรรม
ทบทวนกันอีกทีหนึ่ง คอยระวังให้ดีว่า เพราะตากับรูปถึงกันเข้าก็เกิด จักษุวิญญาณ คือการเห็นทางตา นี่ทั้งสามอย่างนี้ คือตา ด้วยรูป ด้วยการเห็นทางตา ด้วยถึงกันเข้านี้ เขาเรียกว่า ผัสสะ ก็ถือว่าในขณะแห่งผัสสะนั้นคนนั้นไม่มีสติ ไม่มีปัญญา เป็นคนมีอวิชชา คือเพราะว่ามันไม่มีสติ อวิชชาก็เข้ามาทันที ผัสสะนั้นก็เป็นผัสสะของอวิชชา มันจึงเกิดเวทนาชนิดที่จะเป็นเหยื่อของกิเลส ถ้าถูกใจก็เป็นเหยื่อของราคะ โลภะ ถ้าไม่ถูกใจก็เป็นเหยื่อของโทสะ โกรธะ เป็นต้น เวทนาชนิดนี้ก็ให้เกิดความอยาก คือ ตัณหา ตัณหาเป็นความอยากของอวิชชา ก็เลยเกิด อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจอวิชชาอีกเหมือนกัน เป็นตัวกูผู้อยาก เป็นตัวกูผู้เป็นเจ้าของสิ่งที่กูอยากนี่ เรียกว่า อุปาทาน มีตัวกูอย่างนี้แล้วทุกอย่างจะมีปัญหาหมด มันหนักอกหนักใจมันสุมทับตามสมควรแก่เรื่องของมัน นี่คือ ปฏิจจสมุปบาท เพราะฉะนั้นที่กล่าวว่าให้รู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลาที่มีการเคลื่อนไหวทางจิตนี่คือ การเคลื่อนไหวทางจิต อายตนะกระทบกันเข้า เกิดผัสสะ เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ เกิดความทุกข์ นี่คือการเคลื่อนไหวทางจิต หรือพฤติทางจิต ถ้ามีสติรู้สึกตัวอยู่ในขณะที่มีการเคลื่อนไหวทางจิต ถ้ามีสติแล้วอวิชชาไม่มา อวิชชานั้นคล้ายกับว่ามันเป็นผีชนิดหนึ่งคอยอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่งไม่ว่าที่ไหน จะเดี๋ยวนี้สติมันตั้งไว้มันไม่ลงมา ในกรณีที่สติไม่มี ก็ไม่มีอะไรกั้นมันก็ลงมา คือ มาผสมเข้าไปในพฤติของจิตก็เลยเป็นไปจนกระทั่งเป็นทุกข์ เมื่อมีการเคลื่อนไหวทางจิตก็มีสติเสีย อวิชชาก็เกิดขึ้นในจิตไม่ได้ ก็ปลอดภัย อย่างนี้เรียกว่าควบคุมผัสสะ ควบคุมผัสสะ คือ ควบคุมอย่างนี้ ไม่เข้าใจไปทบทวนดูใหม่ ทางตาก็เป็นอย่างนี้ ทางหูก็เหมือนกันอีก หูกับเสียงถึงกันเข้าเกิดการได้ยินทางหูเรียกว่า โสตวิญญาณ แล้วมันก็เกิดผัสสะ เกิดเวทนา เกิดตัณหาอุปาทาน อย่างเดียวกันนี้ กลิ่นกับจมูกถึงกันเข้า ก็เกิดการได้รู้สึกกลิ่นทางจมูกก็เรียก ฆานวิญญาณ ก็เกิดผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทานอีก เรื่องลิ้นกับรสถึงกันเข้าก็เกิดความรู้รสทางลิ้น เรียกว่า ชิวหาวิญญาณ เกิดผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน สัมผัสที่มาถูกผิวหนังเมื่อมาถูกเข้ากับผิวหนังเกิดความรู้สึกทางผิวหนังก็เรียกว่า กายวิญญาณ ความรู้สึกในใจมันอาจได้มาจากสิ่งใดก็ตาม หรือเพิ่งเกิดขึ้นเดี๋ยวนั้นก็ตาม หรือเรื่องความจำแต่กาลก่อนก็ตาม เก็บมาทางความความรู้สึกคิดนึก อันนั้นเรียกว่าธรรมารมณ์ พอถึงเข้ากันกับมโนคือจิตใจ มันเกิดความรู้สึกทางมโนเขาเรียกว่ามโนวิญญาณ ก็เกิดผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน อย่างเดียวกันอีก นี่คือเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท แสดงสติของจิต ถ้าไม่มีสติควบคุมแล้ว มันแน่นนอนที่จะต้องเกิดความทุกข์ขึ้นมา เราจึงฝึกมีสติ ฝึกสติให้ทันแก่ความเร็วแห่งพฤติของจิต เราต้องใช้สติที่ฝึกแล้ว ทำกิจที่ยากที่สุดและสำคัญที่สุดก็คือควบคุมผัสสะนั้น ให้เป็นผัสสะที่มีสติเข้ามา ก็จะเป็นไปในทางดี คือรู้อะไรก็ได้ ศึกษาอะไรก็ได้ จะกินจะใช้จะเกี่ยวข้องอะไรก็ไม่มีความทุกข์ เกี่ยวกับสิ่งที่มากระทบตา หู จมูก ลิ่น กาย ใจ ถ้าผิดจากนี้แล้วมีแต่ความทุกข์ ใช้สติที่ฝึกแล้ว ทำกิจยากและสำคัญ คือควบคุมผัสสะ ในขณะแห่ง ปฏิจจสมุปบาท ควบคุมได้จิตก็ไม่เดินไปทางผิด กาย วาจาก็ไม่เดินไปในทางผิด คู่นั้นก็มีศีลธรรม เรื่องที่ยากที่สุดในพุทธศาสนา จะยากหรือไม่ยากก็ลองสังเกตดู เท่าที่เอามาพูด นักเรียนนักศึกษารุ่นนี้ก็จะต้องถูกหาว่า ฝืน เพราะเขาจัดไว้เป็นเรื่องยาก ถ้าว่าพวกคุณเข้าใจได้สักคนหนึ่งก็จะเป็นการดี เรื่องของคนเรามีปัญหาอยู่ที่นี่ คือพฤติของจิตไม่ได้รับการควบคุมเป็นไปในทางของกิเลสและก็ไม่มีศีลธรรม ไปลุ่มหลงในเรื่องสวยงาม โดยลักษณะหนึ่ง ไปหลงโกรธหลงชังในเรื่องที่ไม่สวยไม่งามน่าเกลียด น่าชังในลักษณะหนึ่ง เกิดความคิดต่างๆนานา เกิดการกระทำต่างๆนานาในโลกนี้จนยุ่งไปหมด มีสติใช้ในกรณีอย่างนี้ถูกต้อง เรื่องอย่างนี้ก็ไม่เกิดขึ้น
ทีนี้เรามีเรื่องให้ดูต่อไปอีกเกี่ยวกับเรื่องนี้ ใช้สติที่ฝึกแล้วควบคุมการเกิดแห่ง สัญญา ในการนำมาซึ่งปัญญา สัญญานี้มันมีอยู่สองความหมาย ถ้าเรามีสติ เราจะควบคุมการเกิดแห่งสัญญา คือสัญญาอย่างหนึ่ง สัญญาอย่างหนึ่งเป็นสัญญามั่นหมาย สัญญาย่างหนึ่งเป็นสัญญาจำหมาย บางคนก็พูดกันแต่เรื่องสัญญาจำหมายอย่างเดียว จำให้ดีมันมีอยู่สองชนิด สัญญามั่นหมายนี่ ร้ายกาจมาก สัญญาว่าตัวกูก็เรียกว่า อัตตสัญญา สัญญาว่าสุขเรียกว่า สุขสัญญา สัญญาว่าทุกข์เรียกว่า ทุกขสัญญา สัญญาว่าเที่ยง นิจจสัญญา นี่เป็นความมั่นหมาย หมายมั่นผิดๆทั้งนั้น มันจะมั่นหมายในทางที่กลับตรงกันข้ามเสมอ ทีนี้สัญญาจำหมายก็จำได้ว่าอะไรเป็นอะไร นี้ก็เป็นไปตามธรรมชาติได้ ถ้ายังปกติดีอยู่เราก็จำได้ มีก้อนหิน มีต้นไม้ มีคนนั้น นาย ก. นาย ข.นาย ง. พี่ป้าน้าอาอะไรจำได้หมดนี่เป็นสัญญาจำหมาย ลำบากหน่อยที่มันคำมันคำเดียวกัน สัญญานี่คำเดียวกัน เขียนเหมือนกัน ความหมายหนึ่งมันเป็นจำหมายจำอะไรได้ ทีนี้สัญญาอีกอันหนึ่งมันมั่นหมายลงไป สำคัญมั่นหมายด้วยอวิชชา ว่าอันนี้ของกู อันนี้ตัวกู ว่าอันนี้สวย ว่าอันนี้น่ารัก ว่าอันนี้อะไรก็ตาม ถ้าสัญญามั่นหมายอันนี้ไม่ถูกควบคุมมันความทุกข์ทั้งนั้น นั้นอย่าสัญญามั่นหมายผิดๆ ถึงแม้มันจะมั่นหมายไปทางที่ถูกแต่ถ้ามันเป็นไปในอำนาจสัญญานี้แล้วมันก็ผิดโดยอัตโนมัติ ที่มันจะหลอกลวงได้ก็เช่นว่า บ้านเรือนนี้ เราก็มีสัญญาว่าของเรา เพราะเป็นบ้านที่เราอยู่ ถ้าตามกฎหมายก็จริงอยู่ ตามกฎหมายก็ถือว่าบ้านเรือนหลังนั้นมันของคนนั้น แต่ตามธรรมชาติมันไม่ถูก บ้านเรือนนั้นมันไม่ใช่ของคนนั้นโดยธรรมชาติ ก็คนนั้นมันก็ไม่มีตัวมันเอง มันมีแต่ความรู้สึกผิดๆขึ้นมาในใจทั้งสำคัญมั่นหมายว่านี่บ้านเรือนของกู ที่จริงตัวกูมันก็ไม่ได้มี และบ้านเรือนของกูมันจะมีได้อย่างไร ธรรมะอันลึกเป็นอย่างนี้ แต่เราก็มีสัญญาอย่างนี้กันอยู่ตลอดไปจนกว่ามันจะหาย หายหลงจิต สัญญาอย่างนี้เกิดขึ้นเมื่อไรก็มีความทุกข์เมื่อนั้น เรามีสติเราจะควบคุมการเกิดแห่งสัญญาชนิดนี้ได้ ก็เลยมีประโยชน์ คือไม่เกิดทุกข์ ทีนี้ส่วนสัญญาจำหมายมันต้องการสติอีกทางหนึ่ง คือมีสติสำหรับจำ และจำหมายถูกต้องระลึกออกมาทันทีทันควันถูกต้อง มันก็มีประโยชน์ในการทำให้ถูกต้องว่านี้คืออะไร มีสติสัมปชัญญะรู้สึกตัวในการจำหมายด้วย ก็เลยรู้ว่านี้เป็นอาหาร นี้กินได้ นี้ก็ไม่เอาอุจจาระมากินเป็นอาหารเพราะมันจำได้ หรือมันไม่รับประทานทางจมูกก็เพราะมันมีสัญญาอย่างนี้อยู่ ก็ควรจะมีสัญญาอย่างนี้ด้วยอำนาจของสติ ถ้ากำจัดสัญญาอย่างโน้นเสียด้วยอำนาจของสติ สติมันจึงมีหน้าที่ควบคุมสัญญาไม่ว่าจะเป็นสัญญาในความหมายไหน แล้วมันชักจะลึกเข้าไปจนจะถูกหาว่าศึกษาผิดตัว เอาเรื่องยากเกินไปมาพูด นี้ก็อยากจะลอง ก็คงจะมีสักคนหนึ่งเข้าใจเรื่องนี้
รวมความว่าสติที่ฝึกแล้วเราใช้มันอย่างนี้ คือใช้ประกอบการงานทั่วไปด้วยสติสัมปชัญญะ ทั้งในการทำกิจที่ยากและสำคัญด้วยการควบคุมผัสสะ โดยเฉพาะในขณะแห่ง ปฏิจจสมุปบาท ใช้มันไปในการควบคุมสิ่งที่เรียกว่า สัญญา สัญญาจำหมายมันก็จำหมายที่ดี ถ้าสัญญามั่นหมายก็จะได้ขจัดมันเสีย อย่าให้มันเกิดขึ้นมาได้ นี้ก็คือเป็นการนำมาซึ่งปัญญา ทันแก่เวลานั่นเอง มีปัญญาท่วงทันแก่เวลา ทันแก่เหตุการณ์นี้ก็ได้ด้วยอำนาจของสติ พอรู้เรื่องสติดี แล้วก็ฝึกสติให้ดี แล้วก็ใช้สติให้เป็น ตามหลักที่กล่าวมานี้ นี่คือทั้งหมดของพระพุทธศาสนา ใครทำได้อย่างนี้ คนนั้นมีการประพฤติธรรม ประพฤติธรรมะหมดทั้งพระพุทธศาสนาในนั้นมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ด้วยกัน ในการที่ทำได้อย่างนั้นมันมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ตัวจริงอยู่เสร็จ มีความรู้เป็นพระพุทธเจ้า มีธรรมะเป็นพระธรรม มีความไม่ทุกข์เป็นผล มีทุกอย่างที่ควรจะมีในพุทธศาสนาอยู่ในการที่เราประพฤติได้อย่างนี้ จงมีสติในทุกกรณีเป็นทางลัดเหลือประมาณ ประพฤติอย่างเดียวทำให้มีหมดทั้ง พระพุทธศาสนา ตัดปัญหาได้หมด เป็นพุทธศาสตราอย่างยิ่ง การควบคุมผัสสะให้ได้นั้น เป็นสิ่งที่เรียกว่าเป็นการใช้ศาสตราอย่างยิ่ง ทำให้มีศีลธรรม มีศีลธรรมแล้วก็เป็นอันว่าหมดเรื่องของมนุษย์ คิดดูให้ดีจะเห็นว่า สตินั้นในความหมายหนึ่งมันเป็นตัวศาตรา และมีความหมายหนึ่งเป็นการใช้ศาสตราด้วยพร้อมกันไปในตัวเลย สติมันขจัดอุปสรรคทั้งหลายไปได้มันเป็นศาสตรา นั้นสติที่มันคอยระลึกได้ธรรมะมาใช้ได้ทันท่วงทีนั้นเป็นการใช้ศาสตรา หรือผู้ใช้ศาสตรา โดยเป็นหมดสมกับที่ท่านกล่าวว่า สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา สิ่งที่เรียกว่าสตินั้นมนุษย์จำเป็นที่จะต้องใช้ในทุกกรณี ทุกระดับ ถ้าไม่มีสติอย่างเดียวก็ พุทธศาสนาก็ไม่มี เท่ากับไม่มี คือ เป็นหมัน จะสอนกันไปทำไม จะรู้อะไรมากมายเท่าไรถ้ามันไม่มีสติ และก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไร ขอให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าสติ ในฐานะที่มีค่าสูงสุด ทำให้พุทธศาสนาไม่เป็นหมัน ทำให้ชีวิตนี้ไม่เป็นหมัน ทำให้อะไรทุกอย่างไม่เป็นหมัน ล้วนแต่มีคุณประโยชน์ทบทวนให้ดีๆ ถ้าต้องมีพุทธศาสน์ จะพุทธศาสนาหรือพุทธศาสตราก็ตามหรือหรือพุทธสาสน์ คือสิ่งที่พระเจ้าสูงสุดประทานมาให้ ทั้งหมดนี้มันสำเร็จอยู่ที่สติทั้งนั้น พุทธสาสน์มาจากพระเจ้า คนไม่มีสติโง่เขลารับเอาไม่ได้ พุทธศาสน์ พุทธศาสนานี้ถ้าไม่มีสติก็ไม่สำเร็จประโยชน์ พุทธศาสตร์ ตร สะกดพุทธศาสตรานี้ถ้าไม่มีสติมันก็ไม่เป็นศาตราขึ้นมาได้ ไม่มีการใช้ศาสตราขึ้นมาได้ มันจึงมารวมอยู่ที่สติอย่างเดียวที่จะทำให้ทุกอย่างสำเร็จประโยชน์
นี้ขอให้ทุกคนสนใจในเรื่องนี้ กระทำตนเป็นผู้มีสติ แล้วก็จะสำเร็จประโยชน์ คนที่หัวเราะร่วน มันรู้ว่ามันมีสติหรือเปล่า คนที่หัวเราะเหลาะแหละๆอยู่เรื่อยๆมันมีสติอยู่หรือเปล่า จงไปดูเอาเองวินิจฉัยเอาเองว่ามีสติหรือเปล่า ถ้าไม่มีสติมันมีอะไรมันก็มีสิ่งที่ตรงกันข้าม เป็นโมหะ เป็นอวิชชา ไม่มีประโยชน์อะไร ก็เข้าไปหลงในความรู้สึกสนุก ที่ได้หัวเราะและมันก็สนุก เป็นเวทนาที่หลอก จึงเกิดตัณหา เกิดอุปาทานอะไรต่อไปอีก ตัวอย่างง่ายๆในประจำวันทุกวันๆเราอยู่ด้วยการปราศจากสติ ที่เรายังต้องทำอีกหลายอย่าง เดี๋ยวต้องกินอาหารต้องทำการงาน ต้องศึกษาเล่าเรียนอีกมากมาย มันก็ล้วนแต่ต้องใช้สติทั้งนั้น ฉะนั้นหัด ฝึกหัดไปทางปิดรูรั่วคืออย่าให้สติมันหนีไปเสียหมด สรวลเสเฮฮาเหลาะแหละกันทีไร สติมันก็ไหลออกกันไปตามรูรั่ว เหลือน้อยเต็มที พระเณรก็ยังชอบทำอย่างนี้ อย่าเอาว่าแต่ลูกเด็กๆที่บ้าน จึงเป็นอันว่าทุกคน ทั้งฆราวาส ทั้งบรรพชิต ทั้งคนหนุ่มคนแก่ จำเป็นที่ต้องรู้เรื่องสติและฝึกฝนสติกันต่อไป เพื่อให้พุทธศาสนาไม่เป็นหมัน คือ มาใช้เป็นประโยชน์กับชีวิต และชีวิตก็ไม่เป็นหมันเกิดมาทีหนึ่ง มันก็จะได้อะไรดีที่สุดสำหรับการเกิดมา มันก็ได้สิ่งนั้นเป็นแน่นอนเพียงแต่รู้จักใช้สติให้เป็นเท่านั้น คนโบราณเขาพูดว่าสตินี้เหมือนกับหางเสือเรือ มันทำให้เรือเดินไปถูกทาง ชีวิตก็เหมือนกับเรือถ้ามีสติก็เดินไปถูกทาง มันรู้จักใช้อะไรให้สำเร็จประโยชน์เข้ามาในตัว เมื่อถึงฝั่งโน้น คือฝั่งแห่งความสำเร็จสมตามความปรารถนาทุกประการ เรื่องนี้มันก็มีความหมายอย่างนี้
ทีนี้ก็สรุปความว่า ทุกเรื่องที่เรากล่าวมาในสี่ครั้งนี้ มันเป็นเนื้อตัวแท้ของพุทธศาสนา แต่นำมาพูดจาในวิธีพูดจาในวิธีพูดจาอย่างอื่นจากที่เคยได้ยินได้ฟังมาเพราะฉะนั้นจึงดูแปลกไปบ้าง ที่จริงมันก็ไม่แปลกอะไรมันคือเรื่องพุทธศาสนาทั้งหมดทั้งสิ้น ที่รวบรวมเอามาแต่ใจความและพูดในลักษณะที่เข้าใจได้ง่ายๆทันแก่เวลาซึ่งเรามีอยู่สำหรับจะพูดกันเพียงสี่ครั้ง มันก็ต้องพูดอย่างนี้ เป็นอันว่าได้พูดทั้งหมดทุกเรื่องที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาในที่ๆลับที่สุดใช้ชื่อเรียกอย่างอื่น แต่ว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา เป็นทุกอย่างที่มีอยู่ในพุทธศาสนาในเรื่องนี้ มีสติสัมปชัญญะเมื่ออารมณ์มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คุมความรู้สึกไว้ให้ได้มีสติสัมปชัญญะให้ได้มันจะเป็นไปแต่ในทางที่มีประโยชน์ รู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร อะไรเป็นอย่างไรควรทำอย่างไรก็ทำไป ก็ได้ประโยชน์ ทีนี้ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะมันก็เป็นไปในทางตรงกันข้าม คือ เกิดกิเลสตัณหาแล้วก็ต้องเป็นทุกข์ เป็นผู้ไม่มีศีลธรรม ทำลายตัวเองให้เดือดร้อนก็พาลออกไปถึงผู้อื่น หรือสังคมพลอยเดือดร้อน แล้วก็มองเห็นกันแล้ว ว่าสังคมทั้งโลกกำลังเดือดร้อน เพราะความไม่มีศีลธรรมของคนในโลก ถ้าเอาศีลธรรมกลับมาได้ โลกนี้ก็เปลี่ยนสภาพเป็นโลกที่ไม่มีความเดือดร้อน จะอยู่กันอย่างผาสุกเยือกเย็นอย่างที่บอกไม่ถูกทีเดียว ขอให้ศีลธรรมกลับมา มันจะกลับมาด้วยอำนาจของสิ่งที่เรียกว่า สติ แก้ปัญหาหมดทุกปัญหาในโลกนี้ตามความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา ที่ได้มีไว้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตัวผู้นั้น และผู้อื่นที่มันเกี่ยวข้องกับคนผู้นั้น คือ ทั้งโลกนั่นเอง ไม่ว่าในระดับไหน ระดับมนุษย์ธรรมดา หรือระดับมนุษย์สูงสุดที่เรียกว่าเทวดา หรือระดับอะไรก็ตาม ถ้าทำผิดก็ลงไปอยู่ในอบาย ตกนรกหมกไหม้ ถ้าร้อนใจก็เป็นสัตว์นรก ถ้าโง่เป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าหิวทะเยอทะยานก็เป็นเปรต ถ้าขี้ขลาดก็เป็นอสูรกาย ในร่างกายนี้ก็ทำผิดเกี่ยวกับสติ ก็ไปตกนรกหมกไหม้เป็นอบาย ถ้าทำถูกก็เป็นมนุษย์พอดูได้ หรือเป็นเทวดา หรือเป็นพรหม ถ้ายังไม่ดับทุกข์ได้ หรือใช้สติที่สูงสุด อย่าให้ไปยึดถือว่าเราเป็นอะไรก็ไม่ต้องเป็นอะไร ไม่ต้องเป็นสัตว์ในอบาย ไม่ต้องเป็นมนุษย์ ไม่ต้องเป็นเทวดา ไม่ต้องเป็นมาร ไม่ต้องเป็นพรหม ไม่เป็นอะไรหมด นั่นแหละไม่ทุกข์ ที่สุด ไม่มีความทุกข์อย่างยิ่ง แต่คนคงไม่ต้องการกันนักเพราะชอบสนุกอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ไปพิจารณาเอาเองว่ามันควรจะทำอย่างไร อย่าให้เป็นทุกข์ก็แล้วกัน อย่าให้เป็นทุกข์เพราะการศึกษาเล่าเรียน อย่าให้เป็นทุกข์ เพราะการได้เงินมาเป็นผลจากการศึกษาเล่าเรียน อย่าต้องเป็นทุกข์เพราะการใช้เงินนั้นบำรุงบำเรอร่างกายตน ทั้งหมดนั้นสำเร็จได้ด้วยสติ
เป็นอันพอกันทีการบรรยายในครั้งสุดท้ายนี้ขอจบไว้เพียงเท่านี้ ถ้ายังไม่ง่วงจะถามปัญหาอะไรบ้างก็ได้ ใครจะถามอะไรก็ได้อีกสักครึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมง คำว่า สมาธิแปลว่าตั้งมั่น ตั้งมั่นของจิต ฉะนั้นจิตจะต้องมีอะไรเป็นที่เกาะอย่างแน่นแฟ้น การทำสมาธิจึงต้องมีอารมณ์ของสมาธิ จะใช้รูปภาพองค์ กสิณ ก็ได้ หรือว่าให้อะไรหลายๆอย่างที่จิตไปเกาะได้ แต่ที่ดีที่สุดนั้นเห็นว่าลมหายใจที่เรากำลังหายใจอยู่ดีที่สุด ก็เราไม่ต้องไปที่ไหน เราต้องหายใจ เราลืมตาก็หายใจหลับตาเสียก็หายใจ กลางวันก็หายใจ กลางคืนก็หายใจ นั้นมันสะดวกสุดที่ใช้ลมหายใจที่กำลังหายใจออกเข้าอยู่นี่เป็นอารมณ์ของสมาธิ นั่นเป็นอารมณ์ ทีนี้จิตหรือสตินี้จะไปกำหนดที่อารมณ์นั้น ท่องคำไว้สักสามสี่คำ วิ่งตาม คำแรก และคำที่สอง เฝ้าดู นี่คำที่สามก็สร้างมโนภาพขึ้นที่จุดนั้น และขั้นที่สี่ก็ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมโนภาพนั้นตามความประสงค์ ขั้นที่ห้า ก็สร้างความรู้สึกที่เป็นองค์ของสมาธิขึ้นมาโดยสมบูรณ์ วิ่งตาม เฝ้าดู สร้างมโนภาพที่จุดนั้น บังคับเปลี่ยนแปลงมโนภาพนั้นตามความประสงค์ สร้างความรู้สึกที่เป็นองค์ฌานขั้นมาอย่างครบถ้วน นี่อธิบายที่วิ่งตามนั้นถ้าเราวิ่งตามลม สติหรือจิตวิ่งตามลมหายใจออกก็ตาม หายใจเข้าก็ตาม เข้าไปหายใจออกก็วิ่งตามมา หายใจเข้าวิ่งตามเข้าไปอย่าให้ขาดระยะตอนนี้มันเป็นตอนแรกต้องระวังให้ดี ต้องหายใจมันแรงๆจะวิ่งตามง่าย ทำความรู้สึกว่าหายใจ ตั้งต้นตั้งแต่ตรงไหนและไปสิ้นสุดที่ตรงไหนถ้าเป็นหายใจออก สมมติว่าตั้งต้นที่ความรู้สึกที่ท้องที่สะดือและก็ออกมาๆหมดที่จมูก ก็เป็นทางวิ่งของลมหายใจตั้งแต่สะดือถึงจมูก จากจมูกถึงสะดือ จากสะดือถึงจมูก เราวิ่งตามด้วยสติ ด้วยใจด้วยจิตทำอย่างนี้ทำให้ได้เสียก่อน หายใจแรงให้ดังเข้าก็กำหนดได้ง่ายขึ้นและหูก็พลอยได้ยินด้วย ก็เลยไม่ต้องรู้สึกกับสิ่งอื่นรู้สึกแต่วิ่งตามสิ่งที่หายใจออกเข้าๆอยู่ ขั้นที่หนึ่งคือวิ่งตาม จะทำได้สำเร็จในกี่วันไม่รับรอง ทีนี้เมื่อทำอย่างนี้ได้และก็เลื่อนขึ้นไปบทเรียนที่สองคือ เฝ้าดู ไม่วิ่งตามแล้ว จะหยุดเฝ้าดูอยู่ที่ช่องจมูก แต่ก็ได้ผลอย่างเดียวกันคือจิตไม่หนีไปทางไหนได้สติกำหนดที่ช่องจมูกที่ลมมันผ่านอกไปกว่าจะสิ้นสุด ทีนี้ลมมันเข้าไปๆกว่าจะสิ้นสุด เราไม่วิ่งตามแต่เราเฝ้าดูที่ช่องปากช่องจมูก สมมติเอาตรงที่ลมมันกระทบที่ปลายจมูกนั้นเป็นจุดที่เฝ้าดู เฝ้าดูอย่างนี้ได้ตลอดเวลาจิตไม่ลืมหนีไปไหน คือไม่เสียสติ ทำอย่างนี้จนสำเร็จอีกบทหนึ่ง อีกเวลากี่วันก็ไม่รับรอง ทีนี้ก็เลื่อนมาบทเรียนที่สามตรงที่นั่งเฝ้าดูตรงนั้นแหละ เอามโนภาพคือ เป็นภาพที่สร้างขึ้นด้วยใจมาใส่เข้าไว้แทนเพราะก่อนนี้เราเพียงความรู้สึกที่ลมมากระทบเนื้อตรงนั้นก็เกิดความรู้สึกโดยตรง นี้ก็ทำให้มันเกิดเป็นมโนภาพมันก็เป็นเรื่องชักจะชัดขึ้นมาแล้ว สมมติว่าตรงนั้นมันมีจุดขาว หรือจุดเขียว หรือจุดแดงหรือว่าอะไรก็ตามล้วนแต่เป็นมโนภาพ ถ้าเราชอบเพ่งดวงไฟหลอดไฟฟ้าหรือจนติดตาแล้วจะใส่ไว้ที่ตรงนั้นแทนก็ได้ ตรงที่ลงกระทบแต่การความรู้สึกต่อการหายใจออกเข้านี้ยังมีอยู่ตลอดเวลา จึงรู้สึกหายใจออกเข้าอยู่ด้วย และก็มองเห็นมโนภาพนั้นด้วย นี้กว่าจะทำได้นี่บทเรียนที่สามอีกกี่วันก็ไม่รับรอง นี้บทเรียนที่สี่ก็ การน้อมจิตไปเพื่อให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นที่มโนภาพนั้น สมมติว่าเรามองเห็นมโนภาพในขั้นที่สามเป็นเหมือนกับปุยนุ่น หรือปุยฝ้ายก้อนเล็กๆติดอยู่ที่นั่นนิ่งอยู่ พอมาถึงขั้นนี้เราก็บังคับมันให้มันเปลี่ยนขนาด เปลี่ยนรูปร่าง เปลี่ยนสี เปลี่ยนอิริยาบถที่มันไกลออกไปให้มันกลับเข้ามา นี้เพื่อจะบังคับจิตตามต้องการก็คงจะสนุกดี นี้เรียกว่าเรามีสติมากมีอำนาจเหนือจิตมาก จนบังคับจิตให้สร้างอะไรก็ได้อย่างนี้ ทีนี้ก็เลือกเอาที่มันเหมาะสม ภาพ มโนภาพนั้นที่เหมาะสม ที่เราชอบ เพราะบางเวลามันเห็นมโนภาพอย่างอื่น อันไหนชอบก็เอาอย่างนั้น รายละเอียดบัญชีหางว่าวของไอ้มโนภาพอย่างนี้ ก็ว่าเป็นเห็นเป็นดวงอาทิตย์เล็กๆอยู่ที่นั่นก็มี เห็นดวงจันทร์ดวงเล็กๆอยู่ที่นั่นก็มี เห็นเหมือนดวงแก้วมณีอยู่ที่ตรงนั้นก็มี ปุยนุ่นก็มี กลุ่มเมฆก็มี แต่น้อยๆเท่านั้นอยู่ที่ปลายจมูกเท่านั้น เหมือนหยาดน้ำค้างที่บนใบไม้ต้อนเช้าก็มี หรือความวาวของใยแมงมุมกลางแสงแดดก็มี บัญชีหางว่าวก็มีมาก อันไหนมันปรากฏเข้าก็เอาอันนั้นก็แล้วกัน ไม่ใช่ของจริง ใช้เพียงวัตถุสำหรับจิตกำหนด เดี๋ยวนี้เราก็ขยายส่วนเปลี่ยนแปลงควบคุมมันได้ตามชอบใจแล้วในที่สุด ก็เลือกเอาอันหนึ่งที่หยุดนิ่ง ก็ง่าย บังคับยังได้ หยุดนิ่งนี้มันง่าย ทำความรู้สึกว่าจิตมันแน่วแน่อยู่ที่นั่น ถ้าความแน่วแน่นั้นมันมากพอจนถึงขนาดของมัน มันจะรู้สึกว่ากำหนดอยู่ที่อารมณ์นั้นด้วยความซึมซาบรู้สึกต่ออารมณ์นั้นด้วย นี้เขาเรียกว่าวิตกและวิจารณ์ นั้นก็มีปีติหรือพอใจ ทำได้สำเร็จเกิดความรู้สึกปีติด้วย สบายและเป็นสุขด้วย แล้วก็ภาวะที่จิตยังกำหนดอยู่ที่นั่นเพียงอย่างเดียวก็ยังมีอยู่นี้ก็เรียกว่า เอกัคคตา นี้ก็เลยให้องค์ประกอบของสมาธิขั้นสมบูรณ์ที่สุดในระยะแรกนั้นเรียกว่าประกอบอยู่ด้วยองค์ ๕ คือวิตก วิจารณ์ ปีติ สุข และเอกัคคตา รู้สึกกำหนดอารมณ์นั้นอยู่และก็รู้สึกซึมซาบก็ลักษณะหรืออะไรของมันก็ตามแห่งอารมณ์นั้น ความรู้สึกที่พอใจเป็นปีติก็มี ความรู้สึกที่เป็นสุขนี้ก็มี กระทั่งรู้ว่าเป็นสมาธิแน่วแน่นนี้ก็ นี้ความสำเร็จในการทำสมาธิในครั้งแรก เรียกว่าสมาธิที่หนึ่งหรือว่าฌานที่หนึ่ง ก็พอแล้วจะเกินไปแล้ว ถ้ายังจะไปต่อไปอีกก็ทำเป็นฌานที่สองที่สามไป โดยปลดองค์ฌานออกไปเสียทีละสององค์ทีละองค์ จนเหลือน้อยเหลือแต่เพียงว่า อุเบกขากับเอกัคคตา ถ้าอยากรู้ก็ไปหารายละเอียดอ่านเอาเองดีกว่า ทีนี้ก็จะบอกว่าเราไม่ต้องมาถึงขั้นนี้ก็ได้ เพียงแต่กำหนดจิตให้เป็นสมาธิอย่างขั้นที่เรียกว่า วิ่งตามก็เรียกว่า เก่งแล้ว ลองไปทำดูสิ และก็เป็นขั้นเฝ้าดูนี้มันยากกว่านั้นอีก ลองทำดู แต่ถ้ามาถึงขั้นสร้างมโนภาพควบคุมมโนภาพอะไรก็ไปรู้เอาเอง นี่เรื่องสมาธิโดยสังเขปมันมีอยู่อย่างนี้
นี้จิตก็เป็นสมาธิด้วยอำนาจของสติที่เป็นเหมือนกับเชือกผูกอารมณ์กับจิตติดอยู่ด้วยกัน บางทีก็เรียกว่า โยคะ โยคะแปลว่า เทียมแอก เอาวัวมาผูกเข้ากับแอก นี้เอาจิตที่เหมือนกับวัวผูกเข้ากับอารมณ์ก็เลยทำโยคะ ผลที่ได้ก็คือว่า ต่อไปนี้เราก็มีกำลังจิตเพียงพอ คือ ดีขึ้นกว่าเดิม มีจิตเข้มแข็งเพียงพอ มีจิตสะอาดเพียงพอ มีจิตว่องไวที่จะทำงานด้วยจิต ว่องไวมากขึ้นเป็นอานิสงค์ จิตบริสุทธิ์ จิตตั้งมั่น จิตว่องไวพอแล้ว ไม่ต้องหาอะไรอีก มันเป็นเรื่องในพระคัมภีร์เขียนไว้อย่างเป็นลักษณะอุปมา หรือว่าเป็นมาตรฐานให้เราคำนวณเอาเอง โลกที่ไม่มีความทุกข์นั่นแหละ เรียกว่า โลกพระศรีอาริย์ แต่เดี๋ยวนี้เขามาทำเป็นลักษณะชวนเชื่อ โฆษณาชวนเชื่อมากกว่า ว่าในโลกพระศรีอาริย์นั้นมีสิ่งประหลาดศักดิ์สิทธิ์ ใครต้องการอะไรก็ได้ทั้งนั้น ในโลกก็ดี อันว่ามีต้นไม้หรืออะไรทำนองนั้น ไปขออะไรก็ได้ทั้งนั้น ใครปรารถนาอะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่นั้นก็ไม่น่าสนใจ น่าสนใจที่ว่าคน ไอ้ความสะดวกสบายนั้นมันไม่น่าสนใจ มันน่าสนใจที่ว่าคนมันเหมือนกันหมด จนจำกันไม่ได้ คือคนดีมันเหมือนกันหมดจนจำกันไม่ได้ว่าใครเป็นใคร นี่น่าปรารถนาอย่างนี้ คือ มีคุณธรรมเสมอเหมือนกันไปหมด จนจำกันไม่ได้ว่าใครเป็นใคร นี้พูดอย่างสมมติอย่างโฆษณาชวนเชื่อไปแบบหนึ่ง ถ้าพูดอย่างตรงๆก็คือว่า มันสมบูรณ์ไปด้วยศีลธรรม ด้วยธรรมะ ไม่มีปัญหาไม่มีอุปสรรค ไม่มีความทุกข์ ไม่มีอะไรๆที่เราเกลียดชังกันมาก เอาไว้เป็นเป้าหมายสำหรับคนที่อยากจะทำดี หรือคนที่มันไม่ชอบทำดีตามปกติ แต่เอาสิ่งนี้มาจูงใจให้ทำดีก็ได้เหมือนกัน เป็นการดึงไปๆโดยวิธีต่างๆให้ไปหา หาความพอใจในการทำความดี ไปผูกพัทธสีมาครบกี่วัดก็ลืมกันแล้ว ห้าสิบวัดหรือร้อยวัดก็ไปโลกพระศรีอาริย์ ฟังคาถาพันบูชาด้วยดอกไม้ตั้งพันก็ไปโลกพระศรีอาริย์ มีหลายนั้นที่จะไปโลกพระศรีอาริย์ นี้เป็นเรื่องของความเชื่อ ที่แน่นอนก็คือว่าทำความดีให้ถูกตามแบบวิธีที่จะละกิเลสได้เป็นโลกศรีอาริย์ที่แท้จริง ศรีอาริยะ อาริยะแปลว่าประเสริฐ ศรีก็ประเสริฐ เมตตรัยยะ นี้ เมตตา ความมุ่งหมายให้คนเมตตามันเป็นเพื่อนกันไปหมด ไม่มีศัตรู เอ้า! ก็มีปัญหาอะไรอีก