แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านทั้งหลายผู้เป็นนักศึกษา ผู้มีความสนใจในธรรม การบรรยายในชุด ประทีปพุทธศาสน์ เป็นครั้งที่ ๓ นี้ จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า การกลับมาแห่งศีลธรรม เพื่อโอกาสแห่งการใช้พุทธศาสน์พราหม์ ท่านทั้งหลายจะต้องทบทวนในข้อที่ว่า ในครั้งแรกที่สุด ก็ได้พูดถึงปริทัศน์ของพุทธศาสน์ มองดูสิ่งที่เรียกว่า พุทธศาสน์ ในทุกแง่ทุกมุม กระทั่งตามที่ตัวหนังสือจะอำนวยให้ได้อย่างไร และในครั้งที่ ๒ ก็ได้พูดถึงพุทธศาสนา ในฐานะที่เป็น พุทธศาสน์ ในความหมายที่เป็นศาสตราสำหรับตัดปัญหาต่างๆ และก็ได้พูดถึงปัญหาเฉพาะหน้าของมนุษย์เรา ได้พูดถึงข้อเท็จจริงที่ว่าเราตัดปัญหาที่สำคัญนั้นไม่ได้ เพราะมัวแต่ไปตัดปัญหาที่เป็นปลายเหตุ และก็เป็นเรื่องฝ่ายวัตถุอย่างเดียว ในเมื่อข้อเท็จจริงนั้น มนุษย์มันต้องมีความถูกต้อง ทั้งทางฝ่ายวัตถุและฝ่ายจิตใจ และยังเข้าใจผิดต่อศาสนา หรือต่อ พุทธศาสตรา จนถึงกับไม่เคยนึกเคยฝันที่จะเอามาใช้ โดยเฉพาะแก้ปัญหาในปัจจุบัน พวกนักการเมืองทั้งหลายยิ่งไม่ฝันถึงสิ่งเหล่านี้เพราะว่า การเมืองมันกำลังปิดหูปิดตา ปัญหาที่สำคัญของมนุษย์ โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ ขจัดได้ด้วยสิ่งๆ เดียวคือการกลับมาแห่งศีลธรรม แต่การพูดอย่างนี้ ก็เหมือนกับพูดให้เขาหัวเราะเยาะมากกว่า ก็เพราะว่าเขารู้จักสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรม ในลักษณะที่ไม่ใช่ศีลธรรมอันแท้จริง เพราะฉะนั้น เราจะพูดกันถึงสิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรม ตามความหมายที่สมบูรณ์ที่สุดของคำๆ นี้ เพื่อว่าเมื่อมนุษย์แห่งยุคปัจจุบันเข้าใจสิ่งนี้แล้ว ก็จะได้สำนึกตัวเสียใหม่ ให้มีการกลับมาแห่งศีลธรรม แล้วปัญหาก็จะหมดไป ซึ่งอาตมาก็ขอยืนยันอยู่ตลอดเวลา ว่าปัญหาทุกปัญหา มันเกิดขึ้นเพราะคนไม่มีศีลธรรม
ปัญหาทุกปัญหาที่กำลังมีอยู่ มันเกิดขึ้นเพราะคนไม่มีศีลธรรม ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาคนล้นโลก ปัญหาไม่มีอาหาร ถ้ามีศีลธรรม ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้น แต่มันก็มีรายละเอียดมาก พูดกันให้จบสิ้นในเวลาอันสั้นนี้มันไม่ได้ ทีนี้พูดกันแต่เพียง หัวข้อ เค้าโครง สำหรับข้อที่ว่า คนสมัยนี้ ยังไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรม ตามความหมายสมบูรณ์ของคำๆ นี้นั้น ก็เป็นปัญหาทางตัวหนังสืออยู่มากเหมือนกัน เมื่อเรียนมาผิดกัน มันก็ไม่ยอมรับฟังความเห็นอันนี้ ก็จะค้านกันเสียเรื่อยไป เดี๋ยวนี้ ในโลกนี้ ก็มีนักศึกษาฝ่ายศีลธรรมมากมาย ก็ถึงระดับที่เป็นวิชาการอันหนึ่ง ซึ่งที่สูงสุด ซึ่งเขาเรียกกันว่า จริยศาสตร์ หรือ Ethic นักจริยธรรม หรือพวก Ethichit (นาทีที่ ๗.๒๑) มันก็มีมากมายในโลกนี้ มีตำหรับตำราเกี่ยวกับเรื่องนี้ ปรากฎอยู่ในที่นั้นๆ สนใจก็ไปหาอ่านดู มันมากมายและก็น่าฟัง แต่แล้วในที่สุดมันก็มิใช่ตัวศีลธรรมที่เราต้องการ มันเป็นเพียงปรัชญาของศีลธรรม ที่มันถกเถียงกัน ค้นคว้ากันแต่แง่มุมต่างๆ ของสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรม แต่แล้วก็ไม่มีอะไรที่จะทำให้คนมีศีลธรรมได้ มันก็คงมีแต่เรื่องราวของศีลธรรมในทางฝ่ายปรัชญาอยู่นั่นเอง ฟังดูก็น่าหัว มันมีคำว่าศีลธรรมอยู่ที่นั่น มีปรัชญาแห่งศีลธรรม มันก็มีคำว่า ศีลธรรม อยู่ที่ตรงนั้น แต่แล้ว มันไม่ใช่ตัวศีลธรรมที่แท้จริงขึ้นมาได้ ยังคงมีแต่แนวคิดทางปรัชญาที่เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรมอยู่นั่นเอง แต่ก็ประหลาดที่ไม่มีอะไรมาจูงใจให้คนที่ศึกษาเรื่องนี้ เรื่องปรัชญาของศีลธรรมนี้ อยากจะมีศีลธรรมขึ้นมา ก็เลยเป็นหมันอยู่เท่านั้นเอง นี่ตัวศีลธรรมที่แท้จริง ยังไม่มีขึ้นในโลกเรา จึงไร้ศีลธรรมลงไปทุกที ทั้งที่มีความเจริญก้าวหน้าในเรื่องปรัชญาของศีลธรรมนั่นเอง ดังนั้นจึงหวังว่าเราจะไม่หลงไปตามนั้น นี่หมายถึงเฉพาะเรื่องที่เป็นอยู่จริงในโลกนี้ เท่าที่มันเกี่ยวกับศีลธรรม แต่แล้วมันก็ไม่ใช่ทั้งหมด ถ้าจะให้เป็นเรื่องศีลธรรมทั้งหมด ต้องมาตั้งหน้าตั้งตาศึกษาดูกันเสียใหม่ ตามความหมายของคำว่า ศีลธรรม ในภาษาไทย จะดีกว่า คำว่า Moral หรือ Moralist หรือ Morality ของฝรั่งนั้น มีความหมายแคบในวงจำกัด เป็นศีลธรรมที่มนุษย์รู้จักและต้องการอยู่ในวงแคบ ตามความคิดของผู้บัญญัติ คล้ายจะสมบูรณ์ ก็สมบูรณ์ ไปในแง่ของการวิเคราะห์วิจัย อะไรต่างๆ เดี๋ยวนี้ก็อยากจะให้มาดูกันเสียใหม่ โดยเอาคำภาษาไทยเป็นหลัก คือคำว่า ศีลธรรม
ทีนี้คำว่า ศีลธรรม นี้ก็ยืมมาจากภาษาบาลี หรือ สันสกฤต ซึ่งเป็นภาษาเดิม นั้นก็ดูที่คำว่าศีลธรรม ในภาษาบาลี ก็แล้วกัน จะได้ความหมายคำๆ นี้ สมบูรณ์ที่สุด แล้วก็จะเป็นความรู้รอบตัว และความรู้พิเศษกว้างออกไปที่เกี่ยวกับภาษาด้วย จะพิจารณากันถึงคำว่า ศีละ นี่ก่อน แล้วจึงคิดถึงคำว่าธรรม หรือ ธรรมะ ทีหลัง ศีละ หรือ ศีล ในโรงเรียนก็สอนลูกเด็กๆ ไม่รู้เรื่อง ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลอะไรก็ตามเรื่อง ถึงแม้ในวัดก็มักจะสอนแต่เพียงเท่านี้ ฉะนั้นเลยกลายเป็นข้อบัญญัติ ที่บัญญัติขึ้นมา ข้อหนึ่งๆ ให้คนปฏิบัติกันนี่ ก็เรียกว่า ศีล แล้วก็รู้เพียงเท่านั้นก็พอแล้ว ถ้าจะรู้ให้ถึงรากฐานของมัน คำว่า ศีละ มันแปลว่า ปกติ ปกติก็คือไม่วุ่นวาย ไม่มีปัญหา ไม่มีทุกข์ นี่เรียกว่าปกติ ที่รักษาศีล ๕ ศีล ๘ หรือ ศีลอะไรก็ตาม ก็เพื่อให้มันเกิดภาวะปกติขึ้นมา ในบุคคลนั้น หรือสังคมแห่งบุคคลนั้นๆ ถ้าเราไม่มีศีล จะเกิดความยุ่งยาก ความผิดพลาดอะไรขึ้นมา จนมีแต่ความเดือดร้อน แล้วจะอยู่ด้วยกันอย่างไม่เป็นปกติ แม้ที่เป็นภิกษุ สามเณร ถ้าไม่มีศีล ก็ไม่อาจอยู่อย่างปกติได้ เมื่อมีการกระทบกระทั่ง ก็เป็นโอกาสที่จะใช้กิเลสของตนเข้าฟาดฟันกัน ก็ไม่มีภาวะปกติ ทีนี้ภาวะปกติคือ เป็นตัวศีลธรรมแท้จริง มันก็มาจากศีลที่เราสมาทาน ปฏิบัติกันนั่นเอง เพราะฉะนั้นศีลธรรมความหมายหนึ่ง ก็เป็นเหตุที่ทำให้เกิดความปกติ ศีลธรรมในความหมายหนึ่ง มันเป็นผล คือตัวความปกติที่ได้รับมา คอยสังเกตดูให้ดี เข้าใจว่าศีลธรรมนั้นความหมายหนึ่ง มันเป็นตัวเหตุ เพื่อให้บุคคลสร้างขึ้นมา เพื่อให้มีผลเกิดขึ้นเป็นตัวภาวะปกติโดยตรง ทีนี้ มันเป็นเรื่องลำบากเพราะผู้ที่ไม่รู้ภาษาบาลี ถ้ารู้ภาษาบาลีแล้วง่ายนิดเดียว คำว่าศีลธรรม คำแรก ธรรมะ คำแรกนี้ แปลว่า เหตุ ศีลธรรมก็แปลว่าเหตุแห่งศีละ คือเหตุแห่งความปกติ ทีนี้คำว่า ธรรม ในภาษาบาลีแปลได้มากมายหลายสิบอย่าง คำหลังก็แปลว่า ภาวะ ธรรมะ แปลว่า ภาวะ ศีลธรรมก็แปลว่า ภาวะแห่งศีละ หรือภาวะแห่งความปกติ นี้มันก็คือผล เพราะฉะนั้น โดยคำๆ เดียวเท่านั้น เราจะได้ความหมายแยกออกไปเป็นสองอย่าง คืออะไรๆ ก็ตาม ที่ประพฤติกระทำแล้ว เป็นเหตุให้เกิดความปกติ นี้ก็เรียกว่าศีลธรรม แล้วผลที่เกิดขึ้นมาเป็นภาวะปกตินั้น ก็เรียกว่า ศีลธรรม ภาษาบาลีอำนวยให้ถึงอย่างนี้ ก็เลยเป็นของคู่กัน ศีลธรรมที่เป็นเหตุ กับศีลธรรมที่เป็นผล แล้วทั้งสองอย่างนี้ มันเกี่ยวข้องกับมนุษย์ อยู่ในวิสัยที่มนุษย์จะจับได้ จะทำได้ ที่เข้าไปเกี่ยวข้องได้ นี้ก็ฝ่ายหนึ่ง
ทีนี้อีกฝ่ายหนึ่ง คำว่า ศีลธรรม นี้ ยังไกลออกไปจนถึงกับว่า แม้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ คือเป็นของธรรมชาติล้วน ก็ยังคงเรียกว่า ศีลธรรม ได้อยู่นั่นเอง แต่ว่าต้องแปลคำว่า ธรรม นี้เสียใหม่ คำว่า ธรรม นี่ กรณีหลังนี่แปลว่า ธรรมดา เพราะฉะนั้น ศีลธรรม ในความหมายหลังนี้ก็แปลว่า มีความปกติเป็นธรรมดา หรือมีธรรมดาแห่งความเป็นปกติ ก็ได้เหมือนกัน มันก็เลยเนื่องไปถึงธรรมชาติทั้งหลาย ที่มีความปกติอยู่เป็นธรรมดา อะไรก็ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ที่มันมีความปกติ คือตามธรรมชาติ ธรรมดาของมันแล้ว ก็ใช้คำๆ นี้ได้ จะไม่เกี่ยวกับมนุษย์เลย มันเป็นภาวะปกติตามธรรมชาติ ทีนี้อยากจะสันนิษฐานเอาเองว่าทำไมคำว่า ศีละ นี่ มันไปเป็นคำพ้องกับคำว่า ศิลา ที่แปลว่าก้อนหิน ใครเห็นก้อนหินกระดุกกระดิกได้ ก็ไม่มี มันมีลักษณะแห่งความเป็นปกติ อยู่ที่ก้อนหินมาก ก็จะเรียกก้อนหินนี้ขึ้นมา ในคำพูดของมนุษย์ก่อน ในภาษาวัตถุ ตามธรรมดาที่คนพูดกัน ก็มีระบบศีลธรรมเกิดขึ้น เกี่ยวกับจิตใจ ก็ยืมคำนี้ไปใช้ เพราะจะตั้งคำใหม่ขึ้นมาแทน จะไปรู้เรื่อง นี่ขอบอกให้ทราบเสียเลย ในฐานะที่นักเรียน นักศึกษาเหล่านี้อาจยังไม่ทราบก็ได้ว่า ภาษาและคำพูด หรือคำบัญญัติที่ใช้ในทางฝ่ายศาสนาหรือฝ่ายธรรมะนั้น ทุกคำ ยืมมาจากภาษาชาวบ้าน ที่พูดอยู่ที่บ้านเรือน ตามถนนหนทางอะไรก็ตาม ก็ยืมมาใช้ แม้แต่สุดของคำว่านิพพาน ก็ยืมคำว่านิพพาน ที่บ้าน ที่ของที่ร้อนๆ มันเย็นลง ดับ เย็นลงไปนั้นคือ นิพพานของวัตถุ ของสิ่งของที่ใช้อยู่ตามบ้าน มาเป็นชื่อของนิพพาน ที่เป็นความดับเย็นของไฟ คือกิเลส นี่คือตัวอย่าง ทุกคำเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ก็สันนิษฐานว่า ก็น่าจะยืมคำว่าก้อนหิน หรือ ศิลา ศีละ นี่มาเป็นชื่อของ ศีล ที่เรารักษาและปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความปกติในความหมายเดียวกันกับก้อนหิน ดังนี้ก็ได้ เชื่อเหลือเกิน แล้วก็ไม่มีเหตุผลที่จะค้านด้วย
ฉะนั้นขอให้ทราบว่า สิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรม นั้นก็คือ เหตุ นั้นก็คือ คำที่มีความหมาย สามอย่าง หนึ่ง เหตุที่ให้เกิดความปกติ สอง ผลที่เป็นภาวะปกติ และก็สาม ธรรมดาแห่งความปกติ หรือสิ่งที่มีภาวะปกติอยู่ตามธรรมดา ธรรมชาติ เพราะฉะนั้นจึงมีศีลธรรม คือ ก้อนหิน เม็ด กรวด ทราย ต้นไม้ ต้นไร่ อะไรก็ตาม มันมีภาวะปกติตามธรรมชาติ ฟังแล้วก็น่าหัว ต้นไม้มีศีลธรรม ก้อนหินมีศีลธรรม และมีดีกว่าคนเสียด้วย และที่เกี่ยวกับคน มันก็มีเพียงว่า ธรรม ที่จะต้องประพฤติ เพื่อความปกติ ที่เรียกว่า ศีล และผลที่เกิดขึ้นเป็นความปกติ คือคนเราได้รับผลแห่งการรักษาศีล หรือมี ศีลธรรม ทีนี้เราจะพูดกันแต่ที่เกี่ยวกับมนุษย์ จะพูดกันสองความหมายแรก คือธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดความปกติ และผลที่ตามมา ทีนี้ถ้าประหยัด ไม่ต้องพูดทั้งสองคำ พูดคำเดียวก็พอ คือพูดถึงศีลธรรม ในความหมายแรก คือเหตุที่จะทำให้เกิดความปกติ ผลมันมาเอง ไม่ต้องพูดมันก็มา ไม่ต้องเรียกร้องมันก็มา ขอแต่ให้สร้างเหตุแห่งความปกติให้ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเราจึงพูดกันมาก แต่ในตัวระเบียบปฏิบัติเป็น ข้อ ข้อ ข้อ ข้อ ไป ว่าจะต้องปฏิบัติกันอย่างไร จึงจะเกิดความปกติขึ้นมา
ทีนี้เมื่อมนุษย์รู้จักเรื่องนี้พอแล้ว ก็เกิดการกระทำที่เป็นการบังคับให้ต้องกระทำสิ่งเหล่านี้ ในส่วนที่มันจำเป็น ที่ขาดไม่ได้ เกิดเป็นการบังคับให้ต้องทำ เช่น ต้องรักษาศีล ไม่ยอมให้เหลวไหล ไม่ยอมให้เว้น นี้ก็มีข้อบังคับมากขึ้นๆ กระทั่งไปอยู่ในรูปของสิ่งที่เราเรียกกันว่า กฎหมาย หรือ บทบัญญัติใดๆ ที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน สันนิษฐานว่า ทีแรกที่สุด ที่คนป่า ยังอยู่อย่างคนป่า มันไปนึกถึงก่อน ก็เป็นเรื่องของศีลธรรมในแง่ที่จะต้องบังคับ ตามเรื่องราวที่เราอ่านพบ พูดถึงคนสมัยโน้น ก็ว่า เมื่ออยู่กันมากคนขึ้น มันก็เกิดคนที่แหวกแนว เกิดขโมย หรือล่วงเกินสิทธิของผู้อื่นขึ้นมา ทีนี้คนทั้งหลายก็ทนไม่ได้ ก็เลยคิดค้นหาวิธีการที่จะแก้ไข ก็เลยสมมุติให้คนหนึ่งมีอำนาจในการควบคุม หรือปกครอง หรือแก้ไข คนนั้นก็มีการบัญญัติ บทบัญญัติ ขึ้นอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น ตามแต่ที่เห็นว่าจำเป็นหรือสมควร เพื่อให้ทุกคนถือปฏิบัติ ทีแรกมันก็เป็นเพียงความต้องการของคนที่อยากจะอยู่กันอย่างสงบ ความต้องการทางศีลธรรม มันก็เกิดขึ้น ต่อมา พูดกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ก็ต้องออกเป็นกฎหมาย บทบัญญัติ หรือบังคับขึ้นมา เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นการบังคับให้ต้องมี ให้ต้องปฏิบัติ ส่วนหนึ่งไม่ถึงอย่างนั้น คือปล่อยไปตามความพอใจ เดี๋ยวนี้เราก็เกิดคำว่า ธรรมะวินัย ขึ้นมาแล้วอย่างสมบูรณ์ ที่เป็นธรรมะ ก็ว่าปล่อยไปตามความพอใจ มันเป็นชั้นสูง แต่ส่วนที่เป็นวินัย แล้วก็ไม่ยอมบังคับให้ทุกคนหรือทุกองค์ จะต้องถือกันอย่างครบถ้วน หรือว่าอย่างเสนอหน้ากันหมด นี่จะเห็นได้ทันทีว่า ศีลธรรม ยังอยู่ในรูปของการบังคับก็มี สถานการณ์ที่ไม่ต้องบังคับก็มี ที่ต้องบังคับ ก็อยู่ในรูปของกฎหมาย เดี๋ยวนี้ประเทศไหนก็มีกฎหมาย ก็บังคับให้คนอยู่ในกรอบ เหตุของความถูกต้อง ทีนี้กฎหมายมันก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้าไม่มีคนรักษา ไม่มีคนทำหน้าที่ ที่จะรักษากฎหมาย ก็ยังได้ผลน้อยสู้การเกลี้ยกล่อมกันให้ประพฤติธรรมะในชั้นลึก ในทางจิตใจ ให้รู้จักดี รู้จักชั่ว ให้มี หิริ โอตัปปะ ที่เกลียดกลัวความชั่วต่างๆ แล้วก็มีศีลธรรมประเภทที่ไม่บังคับขึ้นมาในฐานะที่ ที่จะให้ประโยชน์ยิ่งกว่า คือให้คนบังคับตัวเองได้ ให้คนละอายแล้วก็บังคับตัวเองได้ นั้นเป็นศีลธรรมแท้ ศีลธรรมบริสุทธิ์ แต่ที่กฎหมายบังคับนั้น มันก็คอยเล่นตลกกันอยู่เรื่อยไป จับไม่ได้ ไล่ไม่ทันบ้าง ไม่มีพยานบ้าง จนกระทั่งผู้ที่มีหน้าที่รักษากฎหมายก็ไม่มีศีลธรรมซะเอง ซึ่งเราก็เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ เดี๋ยวนี้ จากหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย ก็ทำผิดกฎหมายซะเองบ้าง สมคบกับผู้ทำผิดกฎหมายบ้าง ก็ทำลายความถูกต้อง หรือศีลธรรมให้หมดไปอีก
ถ้าท่านทั้งหลายเข้าใจความหมายธรรม ที่พูดไปแล้วนี้ ก็พอจะเข้าใจได้เองว่า ศีลธรรม นั้นมีคุณค่าสักกี่มากน้อย หรือว่ามีคุณค่าทั้งหมดของสิ่งที่มีคุณค่า คือมันทำให้เกิดความปกติสุข ถ้าลองนึกดู ก็พอมองเห็นได้ว่า เรามีอะไรๆ ก็เพื่อความปกติสุขทั้งนั้นแหละ มีเงิน มีทอง มีอะไรก็ตาม ก็เพื่อความปกติสุข ถ้ามีอะไรมาทำให้เกิดความปกติสุขได้นั้นมันก็ควรจะพอแล้ว สิ่งที่จะทำความปกติสุขให้โดยแท้จริงนั้น ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าตัวสิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรม จะวัตถุ ข้าวของ เงินทอง อำนาจ วาสนา เกียรติยศ ชื่อเสียง นี่ มันไม่น่า
ทีนี้เราก็มาดูกันถึงสิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรม ในส่วนที่มันเกี่ยวข้องอยู่กับมนุษย์ ให้เข้าใจยิ่งขึ้นไปอีก คือ ศีลธรรม ในความหมายที่ว่าเหตุแห่งความปกติ ประพฤติไปแล้วจะเกิดความปกติ เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ ถ้าไม่มีอันนี้ มนุษย์ก็ไม่ดีไปกว่าสัตว์ ไม่มีความปกติยิ่งไปกว่าสัตว์ บางทียิ่งจะเลวไปกว่าสัตว์ก็ได้ เพราะมนุษย์มันมีวิวัฒนาการทางมันสมอง ยิ่งกว่าสัตว์ ถึงสัตว์ร้าย สัตว์ก็มีศีลธรรมไปตามธรรมชาติเดิมได้ มนุษย์ที่เจริญด้วยสติปัญญานี้ กิเลสมันครอบงำ มันก็เห็นแก่ตัวมาก ก็ทำสิ่งที่ผิดศีลธรรม มากขึ้นมากมายทีเดียว ศีลธรรมจึงจำเป็นสำหรับมนุษย์ ไม่จำเป็นสำหรับสัตว์ เพราะสัตว์มันไม่มีมันสมองที่จะทะลุศีลธรรม เขาเรีกทำลายศีลธรรม ขอให้มองเห็นกันในข้อนี้เสียก่อน คือความจำเป็นที่ยิ่งเป็นคนมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งต้องมีศีลธรรมมากขึ้นเท่านั้น ถ้าเป็นคนนี้ ดีขึ้นไปๆ จนถึงจะเป็นมนุษย์ มากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งต้องมีศีลธรรมสูงขึ้นไปอีกเท่านั้น เป็นคนที่เราหมายถึงตามธรรมดาที่เป็นคนกันอยู่ ถ้าเป็นมนุษย์ ก็เป็นมนุษย์ที่มีคุณธรรมสูงไปกว่านั้น คือมีจิตใจสูง ที่โรงเรียนนั้น สอนกันผิดๆ ทั้งนั้น ที่มนุษย์แปลว่าคน อาตมาจะบอกว่ามนุษย์ไม่ใช่คน คนไม่ใช่มนุษย์ คนมันเป็นธรรมดา เกิดมาแล้วเป็นคน แต่ถ้าเป็นมนุษย์ต้องมีจิตใจสูง สูงตามความหมายทางธรรมะ ต้องสูงด้วยศีลธรรม สูงด้วยธรรมทั้งหลาย มนุษย์นี่ถือกันว่า ตัวหนังสือ แปลว่าใจสูง มันมากสุดไปแล้ว อีกความหมายหนึ่ง มันเอามนุษย์มาเป็นบทตั้ง แต่ว่าเราก็ของพระมนู ทีนี่พระมนูก็ใจสูงอีก หลักการของพระมนูคือ คนใจสูงอยู่นั่นเอง ไปๆมาๆ มันก็ไม่พ้นจากความหมายว่าจิตใจมันสูง เต็มไปด้วยธรรมะ ไม่มีความต่ำไปด้วยกิเลส หรือความชั่ว ที่ธรรมดาเขามี ถ้าเราจะสอนกันอย่างนี้ก็จะมีประโยชน์มาตั้งแต่ทีแรก จะสอนว่ามนุษย์ก็คือคน คนก็คือมนุษย์ ก็เลยไม่เอาใจใส่ ก็เลยอยากจะสร้างความเป็นมนุษย์ขึ้นมาให้ถูกต้อง คนนี่มันก็เพียงเกิดมาก็เป็นคน มันต้องตรงกับคำว่าชน มากกว่า ชอ นอ ชะนะ อ่านว่า ชน แปลว่าเกิดมา ที่นี้เกิดมาก็เป็นคนแล้ว ทั้งคนชั่วก็เป็นคน คนดีก็เป็นคน คนอะไรก็เป็นคน แต่ถ้าจะจำกัดว่ามนุษย์ ต้องให้มีจิตใจสูง คือ ประกอบอยู่ด้วยศีลธรรมนั่นเอง
เพราะฉะนั้นศีลธรรม จึงจำเป็นสำหรับมนุษย์ ใครไม่ต้องการเป็นมนุษย์ ก็ไม่ต้องสนใจ ทีนี้จะดูในความหมายที่มันเกี่ยวข้องกัน ศีลธรรม ก็คือสิ่งที่ธรรมชาติบังคับให้ต้องมี หรือว่าที่พระเจ้าเรียกร้องต้องการให้มนุษย์มี สิ่งที่พระเจ้าเรียกร้องต้องการหรือธรรมชาติเรียกร้องต้องการให้มนุษย์ต้องมี ลองไม่มีมันจะอยู่ไม่ได้ เพราะว่าความหมายนี้มันลึกซึ้ง ถ้าเราพูดอย่างพุทธบริษัท เราก็ว่าธรรมชาติเรียกร้อง ถ้าพูดอย่างผู้ถือศาสนามีพระเจ้า ก็ว่าพระเจ้าเรียกร้อง แต่ถ้าเราจะญาติดีกัน คืออย่าให้ทะเลาะกัน ธรรมชาตินั้นเป็นพระเจ้า กฎของธรรมชาตินั้น เป็นพระเจ้า จะใช้คำว่าพระเจ้าก็ได้ ใช้คำว่าธรรมชาติก็ได้ มันเรียกร้องให้มนุษย์ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรม ที่ขอให้ท่านทั้งหลายสังเกตดูให้ดีว่ามันตั้งต้น ขึ้นมาจากที่ไหน เมื่อเราจะใช้คำว่าปกติ เป็นความหมายของคำว่า ศีละ ก็ต้องการให้มีภาวะปกติ หรือ ศีละ ก็ต้องตั้งต้นขึ้นมาจากนั้น คือมี ศีลธรรม ที่ตั้งต้นขึ้นมาจากไหน มันต้องตั้งต้นขึ้นมาจากระดับรากฐานที่สุด เช่นว่า จะต้องกิน อยู่ หรือเป็นอยู่ให้มันถูกต้อง ที่ว่าเป็นอยู่ให้ถูกต้องมันก็มีข้ออ้าง มีความหมายที่ขยายไปได้มาก จะต้องหากินให้ถูกต้อง จะต้องกินให้ถูกต้อง จะต้องอาบน้ำให้ถูกต้อง จะต้องถ่าย จะอาระให้ถูกต้อง จะทำอะไรให้ถูกต้องไปหมด นั้นอยู่ในความหมายของคำว่ากรอบ ของคำว่า ศีลธรรม ทั้งนั้น ก็จำแนกไม่ไหว มันมากมายหลายสิบข้อ หลายร้อยข้อ จะต้องนั่งให้ถูกต้อง เดินให้ถูกต้องยืนให้ถูกต้อง แม้จะหายใจก็ต้องหายใจให้ถูกต้อง นี่ ความถูกต้องพื้นฐาน ก็จะเกิดภาวะปกติแก่ร่างกายของเรา พอเราทำผิด มันก็เกิดความเจ็บไข้ขึ้นมาเท่านั้น นี่ คือไม่ปกติแล้ว ดังนั้น การปฏิบัติต่อร่างกายให้ถูกต้อง ต่อชีวิตให้ถูกต้องนี้ ก็เป็นรากฐานของศีลธรรม
ทีนี้ เนื่องจากคนเราไม่ได้มีเพียงร่างกาย ไม่ได้มีปัญหาเพียงวัตถุ ปัญหาจึงต้องต่อไปถึงเรื่องทางจิตใจด้วย ถึงจะมีบ้านเรือนเรียบร้อย ไม่เกะกะ ไม่ผิดปกติ มีร่างกายเรียบร้อย ไม่ปกติ มีเครื่องนุ่มห่ม ใช้ไป เรียบร้อยไปหมดแล้ว ศีลธรรมในขั้นมีชีวิตอยู่โดยปกตินั้น มันเสร็จไปแล้ว แล้วก็ยังเหลือในขั้นที่จะต้องเกี่ยวข้องกับผู้อื่น ก็ต้องมีระบบศีลธรรมที่จะต้องประพฤติ เกี่ยวข้องกันและกันระหว่างมนุษย์ จึงจะได้เกิดความยุ่งยาก ระส่ำระสายขึ้นมา ต้องมีศีลธรรมเกี่ยวกับผู้อื่นขึ้นมา ทีนี้ แม้ว่าอันนี้ก็หมดปัญหาไปแล้ว เราก็ยังมีการประพฤติ กระทำของเราในทางกาย วาจา หรือใจด้วยก็ได้ ที่ทำอันตรายเราอยู่บ่อยๆ แล้วก็เลยมีการศึกษาค้นคว้า ว่าจะต้องประพฤติอย่างไรเกี่ยวกับกาย วาจา หรือใจ อย่าให้มันเกิดผิดปกติขึ้นมาได้ คืออย่าให้มันเดือดร้อน อย่าให้มันเป็นทุกข์ มันก็มีศีลธรรมชั้นปราณีต ชั้นละเอียดสูงขึ้นมา จนกระทั่งว่าบรรลุมรรคผลนิพพาน เดี๋ยวนี้เราสอนกันว่าเรื่องของพระนิพพานไม่ได้อยู่ในขอบเขตของศีลธรรม นั้นเพราะไปจำกัดความของคำว่าศีลธรรม เอาตามชอบใจ ตามที่สอนๆ สืบๆ กันมา อย่างเถรส่องบาตร คือสอนกันมาอย่างไรก็ทำไปอย่างนั้น โดยไม่ต้องหาความหมาย หาเหตุผล ถ้าเรามีหลักของการตีความหมาย ศีละ คือปกติ ภาวะปกติ คือศีละ ไม่มีอะไรจะปกติเท่าพระนิพพาน สิ่งที่เรียกว่าพระนิพพานนั่นแหละ คือภาวะปกติอย่างชั้นสูงสุด เป็นปกติทางกายด้วย ทางจิตด้วย ทางวิญญาณ ทางสติปัญญา ความคิดเห็น อะไรต่างๆหมดเลย เป็นยอดสุดของศีลธรรม พวกฝรั่งเสียอีกไปอ่านหนังสือที่พวกเขาเขียน เขาใช้คำว่าศีลธรรมแก่พระนิพพาน ผรั่งที่มาศึกษาพุทธศาสนา ในเมืองไทยเรา ไม่กล้าสอน หรือไม่กล้าพูดกันอย่างนั้น ให้พระนิพพาน เป็นเรื่องธรรมชั้นสูง ศีลธรรมไปไว้ขั้น ปานาติปาตา กาเมสุมิจฉาจารา อยู่นี่เอง มันรู้ความหมายของศีลธรรมไม่สิ้นเชิง แล้วก็ไม่กล้าพูดให้ผิดไปจากที่พูดๆ กันอยู่ อาตมาจึงชี้ให้เห็นคำๆ นี้ ที่มีรากศัพท์อย่างไร มีความหมายอย่างไร ซึ่งสรุปความได้ว่า ภาวะปกติทั้งหลายก็เป็นศีลธรรม ทีนี้เหตุให้เกิดภาวะเช่นนั้นก็เรียกว่าศีลธรรม ในฐานะที่เป็นเหตุ ดังนั้นการปฏิบัติตั้งแต่ให้ทาน รักษาศีล เรื่อยขึ้นไปจนถึงบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็ล้วนแต่เพื่อศีลธรรม ได้พระนิพพานมา แล้วเป็นยอดสุดของศีลธรรม ในฐานะที่เป็นผล นี่คือธรรมชาติต้องการให้มนุษย์ อยู่ด้วยภาวะที่ปกติ ถ้าไม่อย่างนั้น กายต้องระส่ำระสาย เดือดร้อน หาความสุขไม่ได้ ทีนี้ความปกติ ถ้าไปไกลๆๆๆ เข้าไปถึงทางใจ ทางสติปัญญา จนกระทั่งว่าดับกิเลสที่เป็นเหตุให้วุ่นวายเสียได้หมด ก็จะเป็นการบรรลุผลนิพพาน พระเจ้า หรือกฎของธรรมชาติ เรียกร้องต้องการให้เป็นอย่างนี้ ถึงไม่ยอมให้หยุดอยู่ ลองมองดูให้ดีจะเห็นว่าจิตใจของเราจะไม่ยอมหยุดอยู่เพียงเท่านั้น ถ้ามันเกิดไปรู้ว่า มันยังมีอะไรที่ดีไปกว่านั้น หรือสูงกว่านั้น นี่เป็นความลับอันสำคัญที่ทำให้มนุษย์เราก้าวหน้าเรื่อย วิวัฒนาการเรื่อย อย่างน้อยที่สุดเมื่อเรารู้ว่านี่ มันเพียงเท่านี้ ไม่เท่าไรก็จืดชืดไป เราก็แสวงหาอันอื่นที่ดีกว่านี้ คืบหน้าไป วิวัฒนาการทางสติปัญญาของมนุษย์ ก็เกิดขึ้นๆ ในทางจิตใจก็ไปถึงพระนิพพาน เรื่องก็จะหมดพอดี สิ้นสุดได้ แต่ทางวัตถุนี่ ยังไปอีกไกลไม่รู้เท่าไร ไม่มีใครทายได้ว่าจะวิวัฒนาการทางวัตถุ ก้าวหน้าทางวัตถุนั้นไปถึงไหน อีกไม่กี่ปี การไปโลกพระจันทร์ได้ ก็เป็นของเด็กเล่นเป็นของเด็กอมมือ เพราะมันไปคิดค้นอะไรอื่นๆ ไปมากกว่านั้น มาก แต่ทางจิตใจมันไปหาความสงบ หยุดอยู่ที่พระนิพพาน ในทางกายนี้มันก้าวหน้าไปในทางยุ่งเหยิง ไม่ยินดีแต่เพียงความสงบ ยอมรับความตาย สร้างความยุ่งเหยิงไกลออกไปๆ ให้ทำสิ่งยุ่งเหยิงที่ไม่ต้อง มันไม่ต้องทำ มากขึ้น ตามความคิดอาตมารู้สึกว่าไปโลกพระจันทร์นี่ ไม่จำเป็น ถ้าเขาอนุญาตให้พูดไม่โกรธแล้วจะพูดว่ามันเป็นเรื่องบ้า ไปทำสิ่งที่ไม่ต้องทำ ถ้าพูดมากกว่านั้นอีกก็คือว่า มันเป็นกลโกงที่จะหาอุบายวิธีข่มขี่ปราบปรามผู้อื่น ซึ่งกันและกันมากกว่า พูดมากเดี๋ยวก็จะถูกด่า ถือว่าไม่พูดดีกว่า
ถ้าทางร่างกายจงดูแต่เพียงว่า เราจะมีร่างกายอย่างไรวัตถุสิ่งของ บ้านเรือน เครื่องใช้ไม้สอย กินอยู่อย่างไร ให้มันถูกต้อง เป็นไปด้วยความสงบ ให้สมกับที่ธรรมชาติเรียกร้อง ถ้าไม่ถึงที่สุด มันเรียกร้องเรื่อย มันคอยจะขึ้นเรื่อย ก็รีบทำให้ถึงที่สุดเสีย จะไม่ถูกธรรมชาติรบกวน ยังไม่ถึงพระนิพพานแต่เพียงใด ก็ยังต้องถูกรบกวนแต่เพียงนั้น ก็จะต้องเป็นทุกข์ด้วยกิเลส อยู่อย่างนั้น
ทีนี้ ก็จะดูในแง่อื่นต่อไปอีก แง่ที่ว่านี้ก็คือว่า ศีลธรรม นี้ ก็คือสิ่งที่เดี๋ยวนี้ มันออกมาอยู่ในรูปที่สะดวก แก่การ เป็นจุดแก่การที่จะเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ คือออกมาอยู่ในรูปของศาสนาในระดับสูงสุด แล้วก็อยู่ในวัฒธรรม ในขนบธรรมเนียมประเพณีอะไรก็ตาม แต่แล้วต้องรู้ว่าสิ่งเหล่านั้น มันอยู่ที่เนื้อที่ตัวของตน ศาสานาที่อยู่ในพระคัมภีร์ เก็บไว้ในตู้ไม่มีประโยชน์อะไร ศาสนาที่อยู่ในเนื้อในตัวของคนผู้ปฏิบัติยู่นั้นคือศาสนาจริง วัฒนธรรมก็เหมือนกัน อยู่ที่กระทรวงวัฒนธรรม ไม่มีประโยชน์อะไร แล้วก็ล้มลุกคลุกคลานไปกี่ครั้งกี่หนแล้ว มันต้องอยู่ที่เนื้อ ที่ตัว ของคนผู้ปฏิบัติ อยู่ที่กาย วาจา ใจ มีวัฒนธรรม ขนมธรรมเนียมประเพณีทั้งหลายก็เหมือนกันอีก ต้องอยู่ที่ผู้ปฏิบัติอยู่ เดี๋ยวนี้ไม่มีใครปฏิบัติ มันก็ไม่มีขนมธรรมเนียมประเพณีที่ดี ไม่มีวัฒนธรรม ไม่มีศาสนาที่แท้จริง มันมีแต่ชื่อ เพราะฉะนั้นที่คุณจดๆ กันนี่ ยังอยู่ในสมุด ให้มันออกมาอยู่ที่เนื้อ ที่ตัว ที่กาย ที่วาจา ที่ใจ อย่าไปหาศีลธรรมที่อื่น ให้หาที่กาย ที่วาจา ที่ใจ ของคนทุกคน ถ้าคนทุกคนมีศีลธรรม ในโลกนี้ก็เป็นโลกที่ เขาเรียกกันว่าโลกพระศรีอารย์ หรือว่าโลกอะไรก็ตาม ไม่มีปัญหาเลย ไม่มีความทุกข์เลย ถ้าว่าประเทศเรายังมีศาสนา มีวัฒนธรรม มี Religious จริง ก็ไม่มีปัญหากันอย่างที่มีอยู่อย่างนี้ เดือดร้อน ระส่ำระสายไปทั่วทุกหัวระแหง วิกฤตการณ์ทั้งหลายเพิ่มขึ้นทุกแง่ทุกมุม ก็เพราะว่าขาดศีลธรรมเพียงทำเดียว ขาดศีลธรรมในรูปของศาสนา ศีลธรรมในรูปของวัฒนธรรม ของประเพณี ของอะไรก็ตาม ศีลธรรมแท้จริงกลับมา ก็คือสิ่งเหล่านี้กลับมา ก็จะหมดปัญหาได้ ถึงแม้จะมีพระนิพพาน ก็อยู่ที่รู้สึกอยู่ที่จิต พระนิพพานที่อื่น จะมีประโยชน์อะไร คำสอนก็พูดกันไป ตามที่เคยๆ พูดกันมา จะไปหาพระนิพพานที่ไหนก็ไม่รู้ อีกกี่ร้อยชาติพันชาติก็ไม่รู้ ก็จะรู้ที่ถูกต้องจริงๆ มันอยู่ที่จิตใจ ที่กาย ที่วาจา ที่มันเนื่องกันอยู่ ทำให้เย็น จากไฟ คือกิเลสได้เมื่อไรก็เป็นพระนิพพานทันที ที่นั้นและเมื่อนั้นตามมาก ตามน้อย ทำได้เป็นครั้งคราว ก็มีเป็นครั้งคราว ถ้าทำได้ตลอดไปมันก็มีพระนิพพานอันแท้จริงและสมบูรณ์ตลอดไป เป็นยอดสุดของศีลธรรม
เพราะฉะนั้น จะพูดได้ว่า เมื่อใดมันร้อน ก็เรียกว่าไม่มีศีลธรรม ร้อนทางกาย มันก็ไม่มีศีลธรรม มันขี้เกียจอาบน้ำ มันร้อนทางปาก ทางวาจา เพราะมันไปพูดผิด ไปพูดผิดใจคนอื่นเขาแล้ว นี้ก็ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่า เวลาทำผิด ทางจิตมันก็เกิดความร้อน ขึ้นกับจิตใจ ว่านั้นเราไม่มีศีลธรรม เดี๋ยวเราจะไม่ยอมรับเสียอีก เมื่อมีร้อนอกร้อนใจขึ้นมาเมื่อนั้น เราไม่มีศีลธรรม อย่าสำคัญตัวมาก เมื่อได้ทำผิดศีลธรรมมันจึงร้อนใจ พอไม่มีร้อน คือมันทำถูกทำเย็น เมื่อนั้นเรามีศีลธรรม แล้วก็เรียนศีลธรรมที่จิตใจ ให้เอาฝ่ายศีลธรรมให้มันมากขึ้นๆ จะให้มันนานเข้าๆ ในช่วงที่มันจะไปร้อน อย่าให้มันมี ให้มีแต่เย็นเสมอ ให้มีศีลธรรมในความหมายที่ถูกต้อง ตามหลักของพวกเราพุทธบริษัท ซึ่งจะหาไม่พบในตำราของนักจริยธรรม พวกปรัญชาของศีลธรรมที่เขาเขียนไว้ของสากลโดยพวกฝรั่ง เขาไม่ได้เขียนอย่างนี้ เราจะถือตามวิธีการ หลักการอะไรของพุทธบริษัท อะไรๆ ก็ต้องรวมอยู่ที่คน ที่กาย ที่วาจา ที่ใจ ของคน เขาพูดว่าสวรรค์ในอก นรกในใจนี่ มันถูกต้องที่สุด ก็ศึกษาจากนั้น เมื่อใดร้อนขึ้นมาก็ดู ก็จะพบเลย อะไรเป็นเหตุให้ร้อน ร้อนมันคือผิดปกติแล้ว อะไรมันผิดปกติไป ก็พบกฎของศีลธรรมขึ้นมาได้เอง อย่างถูกต้องชัดเจน ไม่ต้องเชื่อคนอื่น เพราะมันเย็นก็รู้ เพราะเหตุใด เดี๋ยวก็พบต้นเหตุที่ทำให้เย็น เดี๋ยวนี้เราไม่ทำกันอย่างนี้ พอร้อนขึ้นมาก็เป็นบ้าไปเลย พอเย็นลงมาก็หัวระริกซิกซี้ไปเลย ไม่คิดไม่นึกไม่ดู ใช้เวลาไม่ถูก ทั้งฝ่ายที่มันได้หรือมันเสีย ก็ว่ามันร้อนหรือมันเย็น ใช้เวลาไม่ถูก ไม่เป็นการศึกษาที่ดี ศีลธรรมนี้มันประณีต มันละเอียดก็ต้องดูกันด้วยจิตใจ แล้วก็ที่จิตใจ ศึกษาจากภายใน ไม่เกี่ยวกับภายนอก เดี๋ยวนี้ศึกษาจากภายนอก ได้ยินได้ฟัง มันก็เป็นเรื่องภายนอก ไม่ใช่ส่วนจริง เป็นวิธีการที่จะไปศึกษาให้พบตัวจริง ที่มันเป็นภายใน เพราะฉะนั้นอยากฝากไว้กับหนังสือ หนังหา ตำรับ ตำรา บทร้อง ท่องบ่นอะไรนั่น ทำให้เลยนั่นไป มันก็ไปถึงตัวจริงที่ปรากฎอยู่ที่จิตใจ ทะลุออกมาทางกาย ทางวาจา
สรุปความในตอนนี้ อย่างหนึ่งว่า เกี่ยวกับภาษาที่ใช้ ทำให้เราไม่เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรม โดยถูกต้อง แม้แต่คำว่ามนุษย์ก็ดี ก็ยังแปลความหมายไม่ถูกต้อง คำว่าศีลธรรมก็ดี ก็ถือเอาความหมายไม่ถูกต้อง หรือไม่เพียงพอ หรือมันน้อยเกินไป ศีลธรรมหรือศีล บทบัญญัติต่างๆ มันต้องเล็งไปถึงความปกติระดับ ทุกระดับ ในทุกระดับ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติก็ต้องมีทุกระดับ ถ้ามีแล้ว จะไม่มีการกระทบกระทั่งในภายในของตนเอง หรือกระทบกระทั่งออกไปถึงบุคคลอื่น หรือสังคม
ที่นี้ก็จะดู ให้ลึกซึ้งลงไปถึงรากฐานของความมีศีลธรรม ของความไม่มีศีลธรรม เพราะฉะนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่ลึกเกินไปสำหรับนักเรียน นักศึกษาก็ได้ อาตมาก็ไม่แน่ใจ แต่คิดว่ามันอาจจะพอดีก็ได้ แต่ถ้ารู้ไว้แล้วก็จะมีประโยชน์ที่สุดในการที่จะรู้พุทธศาสนาในแง่อื่น หรือส่วนอื่นให้ลึกซึ้ง ให้ถูกต้องต่อไปอีก เพราะว่ามันเป็นเรื่องเดียว เป็นเรื่องๆ เดียว ที่ใช้ได้แก่ทุกเรื่อง คือเรื่องของสิ่งที่เรียกว่าผัสสะ ความมีศีลธรรม หรือความไม่มีศีลธรรม มันก็อยู่ที่ผัสสะ กระทั่งความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่องศีลธรรมจะผิดหรือจะถูก จะมีบทบัญญัติว่าศีลธรรมผิดหรือถูก มันก็เกี่ยวอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าผัสสะ อยู่นั่นแหละ ชักจะลังเล ว่ามันจะสอนเลยไปในรูปของปรัชญาอะไรไปเสียแล้ว แต่จะคอยระวังไม่ให้เตลิดเปิดเปิงเป็นปรัชญา เพราะว่าจะแนะให้รู้จักสังเกตสิ่งที่มีอยู่จริง แล้วก็ไต่ไปตามนั้น ก็จะไม่เป็นปรัชญา เราอาจศึกษาเรื่องของผัสสะ ในแง่ของปรัญาเตลิดเปิดเปิงไปก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้เราจะไม่ทำอย่างนั้นนะ คอยเตือนด้วยนะ ถ้าเผลอ คือว่าให้ศึกษาเรื่องผัสสะในแง่ของศาสนาหรือศีลธรรม เพราะมนุษย์เรามีอวัยวะสำหรับทำการสัมผัส แล้วก็จะมีสิ่งที่มาสู่การสัมผัส แล้วก็มีการสัมผัสขึ้นมา เมื่อมีการสัมผัสขึ้นมาแล้วนี่ จะเกิดความรู้สึกแก่จิตใจ รูปใดรูปหนึ่ง ถ้าไม่มีการสัมผัส ความรู้สึกนี้ไม่มี เพราะฉะนั้นตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มา มนุษย์มีการสัมผัสแล้วก็ถือเอาความรู้สึกทางการสัมผัสนั้นเป็นข้อเท็จจริง แล้วก็จะคิด จะนึก จะศึกษา จะบัญญัติความผิดความถูก อะไรก็ถือเอาสัมผัสนี่เข้ามาเป็นหลักเรื่อยมา
เมื่อมีการสัมผัส ขณะตาเห็นรูป หูฟังเสียง เป็นต้นนี้ มันก็เกิดความรู้สึก ถ้าความรู้สึกนี้มันให้ความสุข ก็พอใจ ก็เกิดความคิดไปอย่างหนึ่ง ให้ความทุกข์ ไม่พอใจ ก็เกิดความคิดไปอย่างหนึ่ง อยู่เฉยๆ กลางๆอยู่ มันก็เกิดความสงสัย กังวล ลังเล ไปตามแบบของมัน แล้วเราก็จะค่อยๆ มีความคิด เป็นรูปเป็นร่างขึ้น คือมี Idea อะไรขึ้นมาตามความรู้สึกนั้นๆ จึงบัญญัติ นั่น นี่ ออกมา ถ้าว่ามันเป็นเรื่องที่พ่ายแพ้แก่กิเลส คือความรู้สึกใฝ่ต่ำมาดึงไป ความคิดในทางไม่มีศีลธรรม หรือทำลายศีลธรรม มันก็เกิดขึ้น แต่ไม่รู้สึกตัว มันก็บัญญัติออกไปว่าอย่างนั้น จำพวกหนึ่ง พวกอื่นก็อาจบัญญัติว่า ไปขโมยก็ดีแล้ว หรือฆ่าสัตว์ก็ดีแล้ว หรือประพฤติผิดในกามก็ดีแล้ว มันรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ตามความรู้สึกของเขา
ทีนี้คนอีกพวกหนึ่งที่ตรงกันข้าม ก็มีความรู้สึกไปในทางที่ว่า เราไม่ชอบ คนอื่นก็ไม่ชอบ ที่ให้ทำกันอย่างนั้น แล้วก็ผัสสะของเขามันมีวิชชา มีความรู้เข้าไปเกี่ยวข้อง ก็จึงมาในรูปของศีลธรรม อีกพวกหนึ่งนั้น อวิชา ความผิด ความโง่ ความหลงเข้าไปเกี่ยวข้อง มันก็ออกไปในรูปของ ความไร้ศีลธรรม ความไม่มีศีลธรรม เขาเรียกว่า ทุศีล ไม่มีศีลธรรม นี่เป็นหลักตายตัวของธรรมชาติ ถ้าเราจะมีศีลธรรมต้องระวังผัสสะให้มาก คือควบคุมผัสสะให้อยู่ในร่องรอยของความถูกต้อง หรือของศีลธรรม ถ้าไม่อยากมีศีลธรรมก็ปล่อยไปตามอำนาจของความรู้สึก ของกิเลส ของผัสสะ ผู้ที่จะมีศีลธรรมจะต้องควบคุมผัสสะ นี่เป็นบทบัญญัติที่สั้นที่สุดและตายตัว ถ้าใครจะมีศีลธรรม คนนั้นก็ควบคุมผัสสะ แล้วก็ไปแจกเอาเองว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีสิ่งที่สัมผัส เรียกว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพ ธัมมารมณ์ เป็นคู่ๆ กันไป วันหนึ่งๆ เรามีสัมผัสอะไรบ้างก็ดูให้ดี ถ้าควบคุมไว้ไม่ได้ อันนั้นจะชวนเหไปหาความไม่มีศีลธรรม เช่นเด็กๆ มันอร่อยเมื่อกินขนม ก็ขอสตางค์แม่ไปซื้อ ถ้าไม่ให้ก็ขโมย นี่ก็ไม่มีศีลธรรมเกิดขึ้นมา หรือว่าถ้ามันคิดไปอีกทางหนึ่ง แล้วก็อุตส่าห์ไปทำความดี ให้คนเขาสงสารให้สตางค์ไปซื้อขนมกิน โดยไม่มีผิดศีลธรรม มันก็มีศีลธรรมขึ้นมา มันตั้งต้นอยู่ที่ผัสสะที่บังคับได้หรือไม่ได้ ถ้าเรามีศีลธรรมก็ตรียมตัวสำหรับฝึกฝน การบังคับผัสสะ ให้อยู่แต่ในคลองของวิชชา ของความรู้ที่ถูกต้อง
ที่นี้ใครกี่คนในโลกนี้ ที่คอยบังคับผัสสะ มันมีแต่จะปล่อยตามอารมณ์และความรู้สึกใฝ่ต่ำด้วย ฉะนั้นจึงเหไปทางความไร้ศีลธรรม เป็นเรื่องลามก อนาจาร ก็ยังไม่รู้สึกตัว มันก็เป็นไปหนักขึ้นๆ ยิ่งกว่าลามกอนาจาร เมื่อเป็นกันเสียงอย่างนี้ทั้งหมด ก็ไม่มีใครว่าใคร นั่นละ ศีลธรรมมันก็เปลี่ยนแปลง คือ สิ่งที่ไม่ใช่ศีลธรรม ก็เข้ามาอยู่ในรูปของศีลธรรม สำหรับคนโง่ที่บังคับผัสสะไม่ได้ เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นก็ไปดูตามสถานที่เริงรมณ์ทั้งหลาย แม้ชั้นดี ชั้นยอด ชั้นเลิศอะไรก็ตาม มันเป็นเรื่องของคนโง่ ที่ไม่บังคับผัสสะทั้งนั้น สิ่งเหล่านั้นจึงเกิดขึ้น แม้จะต่างสถานที่ต่างอากาศ ถ้าดูให้ดีแล้ว มันก็เป็นเรื่องที่โง่เขลาเหมือนกัน มันไม่จำเป็นที่จะต้องให้หมดเรื่องหรือเสียเวลาไปกับมัน นั้นเป็นโดยอำนาจของอวิชชา หรือโมหะ แต่ถ้ามันเป็นไปตามอำนาจของราคะหรือโลภะแล้ว ก็รุนแรงกว่านั้นมาก จนถึงกับว่าไม่รู้จักสิ่งที่ลามก อนาจาร แก้ตัวว่าเป็นศิลปะบ้าง เป็นเรื่องที่ถูกต้องทันสมัยบ้าง
ปัญหาที่มันมีอยู่จริงๆ ก็คือ เดี๋ยวนี้มนุษย์ก้าวหน้าทางวัตถุ พร้อมจะดึงดูดจิตใจห้มันลุ่มหลงมากนัก วัตถุทั้งหลายที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อความสวยงาม สนุกสนาน เอร็ดอร่อยนี้ มันเป็นสิ่งที่มีอิทธิพล มากเกินไปกว่าที่คนสมัยนี้จะบังคับผัสสะไว้ได้ จะบังคับความรู้สึกทางผัสสะไว้ได้ ทนไม่ไหวก็คอยผสมโรงกับเขา อะไรออกมาใหม่ ก็ไปผสมเข้าด้วย มีแฟชั่นอะไรมาใหม่ ก็ไปผสมกับเขาด้วย มันก็ไปกันอย่างไม่มีขอบเขตเท่านั้นเอง ไม่มีการบังคับผัสสะแล้ว ศีลธรรมก็อยู่ไม่ได้ ระวังให้ดีๆ ที่แต่งตัวสวยๆ อาจเป็นความไร้ศีลธรรมก็ได้ จริงไม่จริงไปดูเองเถิด พูดๆ ไป เดี๋ยวจะเป็นการด่าใส่กันได้ ไปทำเกินจำเป็นในสิ่งที่ไม่เป็นการบังคับจิตใจ มันเป็นเรื่องไร้ศีลธรรมทั้งนั้น ทำแต่พอดี ด้วยวิชชาความรู้ที่ถูกต้อง ฉะนั้นจะทำได้ด้วยการบังคับผัสสะ เพราะฉะนั้น การบังคับผัสสะไว้ในร่องรอย ในขอบเขตของศีลธรรม เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับสมัยนี้ จะให้ผลเป็นความสงบสุขในขั้นต้นๆ ทางสังคม แล้วก็สูงขึ้นไป เป็นความสงบสุขส่วนบุคคลกระทั่งถึงบรรลุพระนิพพาน ด้วยการบังคับผัสสะอย่างเดียว
ที่เขาทำวิปัสสนา ทำกรรมฐาน ทำอะไรกันมากมายนั้น ท่านทั้งหลายอาจไม่รู้ก็ได้ว่าทำอะไรกัน มันเป็นเรื่องของการบังคับผัสสะทั้งนั้น ทำสมาธิ ภาวนา วิปัสสนา อะไรก็ตาม ที่ทำถูกต้องจะเป็นเพื่อให้รู้จักการบังคับผัสสะทั้งนั้น เอาเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มาสอนนี่ก็เพื่อให้มีอำนาจ มีกำลังที่จะยับยั้งกิเลส ที่ลุ่มหลงไปตามอำนาจของผัสสะที่หลอกลวง พุทธศาสนาทั้งหมดทั้งสิ้น ที่เป็นหลักปฏิบัติ มันเป็นเรื่องการบังคับผัสสะทั้งหมด อย่างเรามีศีล ถ้าเราไม่บังคับผัสสะ เดี๋ยวก็ไปขโมย เดี๋ยวก็ไปฆ่าเขา ประพฤติทางกาม ประพฤติผิดในของรักของใคร่ ลองไม่บังคับผัสสะดู ก็จะไม่มีศีลเหลือ พอบังคับผัสสะไว้ได้ ศีลก็จะอยู่ สูงขึ้นไป สมาธิก็จะมี เราทำสมาธิก็เพื่อบังคับผัสสะ เมื่อบังคับผัสสะได้ ทำสมาธิมันก็ง่ายขึ้นไปอีก ทีนี้ทำปัญญา ทำวิปัสสนาก็ยิ่งขุดรากเหง้าของกิเลส ยิ่งบังคับผัสสะได้ สะดวกดาย เพราะฉะนั้น คำที่พูดว่าพุทธศาสนา เป็นพุทธศาสตรา ก็หมายความอย่างนี้ ก็พุทธศาสนาสอนให้บังคับผัสสะให้ได้ เพื่อตัดทางมาแห่งกิเลสและความทุกข์ทั้งหลายได้ เป็นพุทธศาสตราก็ที่ตรงนี้ พุทธศาสตราที่ทำลายข้าศึก ตัดฟันข้าศึกให้ย่อยยับแหลกรานไป เราจะมีพุทศาสนาที่แท้จริงถือไว้ในมือ ก็ฟาดฟันปัญหาต่างๆ ได้ การบังคับผัสสะได้นั้น คือตัวศาสตราที่เรียกว่าพุทธศาสตรา พอมีแล้วก็จะนำมาซึ่งศีลธรรม สภาวะแห่งความเป็นปกติในทุกความหมายและทุกระดับ จึงเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งแล้วที่เราจะต้องมีธรรมศาสตรา เพื่อการกลับมาแห่งศีลธรรม หรือว่ามีการกลับมาแห่งศีลธรรม ก็เพื่อจะได้ใช้คำว่า ธรรมศาสตราหรือพุทธศาสตรานั่นเอง แล้วแต่จะมองกันในแง่ไหน เดี๋ยวนี้ไม่มีศีลธรรมก็เพราะคนไม่ใช้พุทธศาสตรา หรือพุทธศาสนา ถ้ามีศีลธรรม มันก็มีโอกาสได้ใช้ศาสตรานี้ทันที หรือผลแห่งการใช้ศาสตรานี้ ก็นำมาซึ่งศีลธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป
แล้วการกลับมาแห่งศีลธรรม จะมีได้อย่างไร ก็มีได้ด้วยการ รู้จักใช้พุทธศาสตรา ภาคปฏิบัติที่สรุปไว้เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ที่พูดกันแล้วในการบรรยายครั้งที่สอง การกลับมาแห่งศีลธรรมนี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสมัยนี้ ทั่วโลกกำลังไม่มีศีลธรรมอย่างไม่รู้สึกตัว ปัญหาทางเศรษฐกิจก็เพราะว่าขาดศีลธรรม ในรูปของเศรษฐกิจ ปัญหาทางการเมืองก็เพราะขาดศีลธรรมในรูปของการเมือง อะไรก็ตาม เพราะมันขาดศีลธรรมในรูปของสิ่งนั้น เดี๋ยวนี้คนก็ไม่ยอมฟัง หรือไม่ยอมรับการพูดชนิดนี้ ถ้าเราประพฤติถูกต้อง แล้วปัญหาทางเศรษฐกิจจะไม่เกิดขึ้น แล้วการประพฤติถูกต้องนั้นก็คือศีลธรรม ที่อยู่ในรูปของเศรษฐกิจที่ถูกต้อง การปกครองบ้านเมืองก็ดี การเมืองต่างประเทศ ระหว่างชาติ อะไรก็ดี ถ้ามันถูกต้อง มันจะเป็นศีลธรรมสำหรับมนุษย์ทันที พอมันผิด มันก็เป็นศัตรูขึ้นมาทันที เขาไม่มองว่าสิ่งเหล่านี้ ทุกๆ อย่างมันเป็นสิ่งที่จะต้องอยู่ในรูปของศีลธรรม เขาไปแยกออกไปเสีย เป็นเรื่องที่ผิดพลาด ต้องแก้ไขกันไปตามประสา ถ้าหันมาแก้ไขที่ต้นตอ หรือศีลธรรมแล้วมันจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น อย่างเศรษฐกิจนี่ มันจะพอกิน มันจะผลิตได้ หรือมันก็จะเป็นไปในทางที่ไม่ต้องยุ่งยากอย่างที่เป็นอยู่เวลานี้ เวลามันไม่พอที่จะจำแนกเป็นรายๆ ไป จึงต้องพูดโดยสรุปว่า วิกฤติการณ์เกิดขึ้นที่ไหน ที่นั่นมีความไร้ศีลธรรม อยากจะพูดซ้ำๆ ซากๆ ถึงปัญหาเฉพาะหน้า ที่เรียกว่าช่องว่างระหว่างคนมั่งมีกับคนยากจน นั่นเพราะความไม่มีศีลธรรมของทั้งสองฝ่าย
คนยากจนก็ไม่มีศีลธรรม เพราะไปหมกมุ่นอบายมุข หรือแม้แต่โง่เขลาไม่รู้จักทำมาหากิน นี่ก็เรียกว่าไม่มีศีลธรรมได้ ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านทางการงานนี่มันก็เป็นอบายมุข ไม่มีศีลธรรม มีความไม่รู้ มีความโง่เขลางมงาย ทำผิดๆ โดยอ้างศาสนาเป็นหลัก ก็ยังเป็นความผิดอยู่นั่นแหละ ทำเพื่อศาสนา แต่มันทำผิด มันก็ไม่มีผลอะไร อย่างทำบุญจนหมดเนื้อหมดตัวนี่ ก็เรียกว่าคนโง่เขลา ไร้ศีลธรรมอยู่นั่นเอง
ทางฝ่ายคนรวยก็เหมือนกัน อาจรวยขึ้นโดยไม่มีศีลธรรม ก็ได้ แม้แต่รวยโดยมีศีลธรรมก็ได้ ถ้ามันรวยโดยมีศีลธรรม มันก็ไม่เป็นผู้ที่ขูดรีด จะเป็นผู้เอื้อเฟื้อเจือจาน ถ้ามันรวยโดยไม่มีศีลธรรม มันก็ยิ่งเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้นคนมั่งมีที่มีศีลธรรมนั้น อย่าไปเรียกเขาว่านายทุน เรียกเขาว่าเศรษฐีใจบุญดีกว่า คนมั่งมีที่ไร้ศีลธรรมนั่น ควรจะไปเรียกเขาว่านายทุน นี่ถูกต้อง ถ้าคนยากจนเหมือนกัน ถ้าเขามีศีลธรรมแล้ว ก็เรียกเขาว่าเป็นพลเมืองที่ดี เป็นมนุษย์ที่ดี เป็นคนใจบุญ แต่ถ้าคนยากจนนั้นเต็มอยู่ด้วยอบายมุข จึงเรียกเขาว่า มันเป็นคนยากจนในความหมายที่จะยื้อแย่งนายทุน เป็นอันธพาล
จะตัดสินปัญหาอะไร ขอให้เอาหลักเกณฑ์ทางศีลธรรมมาเป็นเครื่องตัดสินด้วย เดี๋ยวนี้โลกทั้งโลกมันอยู่ในสภาพไร้ศีลธรรม เพราะฉะนั้น จึงมีคนมั่งมีไร้ศีลธรรม คนยากจนที่ไร้ศีลธรรม ช่องว่างก็ห่างกันออกไปสำหรับที่จะมารักใคร่กันได้ ก็เลยต้องทำลายกัน ถ้ามีศีลธรรมเข้ามา มันจะอุดตันของมันเอง โดยอำนาจของศีลธรรมนั้น การจะคิดว่าจะบีบรีดคนมั่งมีให้มาเจือจานคนจน ให้มันมั่งมีขึ้นไปบ้างนี้ ไม่มีทางจะสำเร็จได้ เพราะมันยิ่งเป็นความไม่มีศีลธรรมหนักขึ้นไปอีก ท่านจะต้องทำโดยวิธีที่ถูกต้องในวิธีของศีลธรรม มันมีศีลธรรมขึ้นมาทั้งสองฝ่ายขึ้นมาพร้อมๆ กัน คนมั่งมีกับคนยากจนก็จะเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันได้ ปัญหามันก็หมดไป ช่องว่างก็เต็ม ไม่ต้องอุด เพราะมันอุดของมันเอง
นี่คือตัวอย่างหนึ่ง ในหลายๆ อย่างที่เราจะต้องสนใจเรื่องศีลธรรม โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันนี้ เดี๋ยวนี้โลกในปัจจุบันนี้ ยิ่งหันหลังให้ศีลธรรม เพียงสองชั่วอายุคนเท่านั้น ก็ไม่รู้ศีลธรรมคืออะไร ระวังให้ดี ถ้ารุ่นบิดา มารดา ไม่รู้จักศีลธรรมแล้ว รุ่นลูกจะรู้อย่างไร พอไปถึงรุ่นหลาน ก็เงียบหายไป ก็ตั้งศีลธรรมขึ้นมาใหม่ ตามความรู้สึกของกิเลส คือบุคคลที่ควบคุมผัสสะไม่ได้ เพราะเขาไม่เคยคิดถึงข้อนี้ แม้แต่เดี๋ยวนี้บางส่วนเรากำลังมองเห็นได้ว่าเขากำลังแก้ไขศีลธรรม ให้ไม่เป็นศีลธรรม ออกบทบัญญัติที่เป็นกฎหมายก็มี ต้องใช้คำว่า บ้าๆ บอๆ ที่จะทำให้ศีลธรรมหมดไป ไม่เป็นศีลธรรมอีกต่อไป แล้วไปเอาอะไรขึ้นมาแทน ขนมธรรมเนียมประเพณีที่ดีที่เกี่ยวกับเพศ เกี่ยวกับ.... (นาทีที่ ๑:๑๑:๑๕) ถูกแก้ไขมาก ที่เคยถือกันว่า เป็นภาวะไร้ศีลธรรมนี้ กลับยกย่องให้อภัยหรืออะไรกันไปตามเรื่อง จิตใจ เราก็ต่ำลงไปทุกทีๆ มันก็จะมากขึ้นไปโดยไม่รู้สึกตัว ทุกที มันมากอย่างไม่น่าเชื่อหนังสือพิมพ์เมื่อสอง สามวันนี้ มีข่าวว่าในกรุงเทพฯ มีการทำแท้งเฉพาที่ปรากฎเปิดเผยวันละ ๕๐ รายเป็นอย่างน้อย แล้ว่าถ้าทั้งประเทศ ก็คงเป็นหมื่นราย ก็ลองคิดดูว่านี่เป็นเรื่องศีลธรรม หรือว่าเป็นเรื่องไม่ใช่ศีลธรรม มันมีอะไรสนับสนุนให้ทางที่จะให้ศีลธรรมมีแต่เสื่อมไป ศีลธรรมมันก็ได้รับการแก้ไข จนไม่รู้ว่าศีลธรรมอยู่ที่ตรงไหน นี่ก็เป็นศีลธรรมที่ผิด ผิดความประสงค์ของพระเจ้า เป็นศีลธรรมของคนมีกิเลส ไม่ใช่ศีลธรรมของพระเจ้า หรือตรงตามความประสงค์ของธรรมชาติ คือมันไม่สงบนะ ถ้ามันสร้างความไม่สงบขึ้นมาได้แล้วจะไม่เป็นศีลธรรมที่ธรรมชาติต้องการหรือพระเจ้าต้องการ
ที่ก็พูดถึงควบคุมกิเลส ก็สั่นหัวแล้ว จะสอนธรรมะเพื่อการควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เขาก็สั่นหัว ก็ยิ่งเกียจคร้าน เกลียดวัด เกลียดศาสนา เกลียดอะไรมากขึ้น ถ้าไปชวนเขาให้ควบคุมความรู้สึกของกิเลส ก็เลยปล่อยกันไปตามเรื่อง ทีนี้ผู้ใดสนใจ ผู้ใดอยากจะมีศีลธรรม ก็มาสนใจได้ ก็ต้องสมัครควบคุมบังคับตัวเอง สมัยก่อนเมื่อสักร้อยปีมานี้ พูดถึงการบังคับตัวเองมาก บทสั่งสอนทั้งหลาย จะไปรวมอยู่ในคำว่าบังคับตัวเอง แล้วก็สอนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย สรุปผลเป็นสุภาพบุรุษเท่านั้นพอแล้ว สุภาพบุรุษ คือผู้ที่มีการบังคับตัวเองอยู่ในความถูกต้องทั้งหลาย มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, ออกซ์ฟอร์ด สมัยเด็กๆ ก็ได้ยินแต่เรื่องแบบนี้ สุดท้ายของเขาก็คือความเป็นสุภาพบุรุษ ไม่ใช่รู้หนังสือ รู้อะไรมากๆ แล้วไปตามใจกิเลส อะไรมากๆ เหมือนอย่างเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้มหาวิทยาลัยเหล่านั้นก็เปลี่ยนเหมือนกัน ทนต่อสิ่งก้าวหน้าทางวัตถุของโลกไม่ได้ มันก็เปลี่ยน เปลี่ยนกันหมด เมื่อชั้นหัวหน้าชั้นดีมันเปลี่ยน ชั้นลูกจ๊อกเที่ยวไปตามก้นเขา มันก็เปลี่ยนๆ หมด ในโรงเรียนก็มีแต่สอนให้รู้ ให้เก่ง ให้ฉลาด แล้วก็ไม่มีการบังคับตัวเอง นี่มันผิดความมุ่งหมายของการศึกษา แล้วก็แยกการศึกษาออกไปจากศาสนา หรือแยกศาสนาออกไปจากการศึกษายิ่งขึ้นๆ ประเทศไทยเราก็ไปตามก้นฝรั่ง ที่แยกศาสนาไปจากการศึกษา ก็เป็นการช่วยทำลายรากฐานของศีลธรรม ไปหมกหมุ่นอยู่แต่วัตถุนิยม มันก็ยิ่งเกลียดศีลธรรมเป็นธรรมดา มันเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง ถ้าจะกลับมาแห่งศีลธรรม การศึกษาต้องถูกต้อง เพื่อให้มีความรู้ ความฉลาด สามารถบังคับตัวเองได้ ให้อยู่ในรูปของธรรมชาติฝ่ายสูง อย่าตกไปอยู่ในรูปของธรรมชาติฝ่ายต่ำ แล้วปัญหาก็จะหมดไป จะไม่มีนักเรียน นักศึกษาอาละวาดอย่างไม่ฟังเสียงใคร มันก็ไม่มีปัญหาที่เป็นการทำลายชื่อเสียงของการศึกษา ทุกคนก็เป็นคนไทย เป็นคนที่เจ้าของประเทศไทย เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก เป็นหลาน เป็นเหลน แก่กันและกันทั้งนั้น แล้วทำไมจึงมาทะเลาวิวาทกันได้ มันน่าสลดใจๆ น่าขบขันๆ แต่ทั้งหมดนี้ มันมาจากความไม่มีศีลธรรม ถ้าศีลธรรมกลับมา สิ่งนี้ก็จะหายไป ศีลธรรมจะกลับมาได้ ก็ขอให้ทุกคนสมัครใจที่จะบังคับผัสสะ คือบังคับตัวเอง ที่เขาเรียกว่า Self Control พวกนั้นแหละ ที่ไปพูดถึงกันแต่ปากพักหนึ่ง เดี๋ยวนี้หายไปหมดแล้ว แต่เรายังมองเห็นความจริงอยู่ว่าถ้าอันนี้ไม่กลับมา ศีลธรรมก็ไม่กลับมา แล้วโลกนี้ก็จะยังไม่มีศีลธรรม ก็มีแต่ความวุ่นวาย
นี่คือเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญมาก คือเรื่องการกลับมาแห่งศีลธรรม ขอให้ทุกคนช่วยกัน ร่วมมือ คนละไม้ คนละมือตามแต่ถนัดในแง่ไหนมุมไหน เพื่อการกลับมาแห่งศีลธรรม เราก็เรียนเพื่อเรา เราก็เรียนเพื่อบอกคนอื่น เพื่อสอนคนอื่น เราก็ตั้งหน้าตั้งตาช่วย ทักท้วงมิตรสหายของเรา ถ้าเราจะเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ก็ช่วยให้เขาสำนึกในข้อนี้ หรือดึงเขากลับมาเสียจากการที่จะกระโจนลงไปในความไม่มีศีลธรรม ผู้ที่มีอำนาจ มีเงิน มีอะไร ก็ช่วยกันเผยแผ่ศีลธรรมให้มันถูกวิธี ให้มีความสนใจในศีลธรรม ให้ปฏิบัติศีลธรรม ให้มันกลับมา พุทธศาสนาก็จะได้ทำหน้าที่อย่างพุทธศาสตราเหมือนอย่างที่เคยทำมาแล้ว แล้วสัตว์ทั้งหลายก็จะได้รับประโยชน์และความสุขทั่วถึงกัน ทั้งโลกเลยทีเดียว นี่คือการกลับมาแห่งศีลธรรม
อาตมาก็ได้บรรยายมาให้เห็นว่า มันคืออะไร มันจำเป็นอย่างไร พอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติการบรรยายครั้งนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้