แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นครูบาอาจารย์ และที่จะกำลังจะเป็นครูบาอาจารย์ทั้งหลาย การบรรยายในครั้งที่ ๓ นี้ จะได้กล่าวในหัวข้อว่าศีลธรรมกับการศึกษาสมบูรณ์แบบ นี้นับเป็นครั้งที่ ๓ ของการบรรยายชุดที่ว่าด้วยการศึกษาที่สมบูรณ์แบบ ในครั้งแรกเราได้พูดกันถึงการศึกษาสมบูรณ์แบบในลักษณะที่เป็นวงกลมอันไม่มีที่สิ้นสุดเพื่อคุ้มครองโลกอย่างสูงสุด เป็นภาพพจน์แห่งบุคคลผู้ให้ สิ่งที่ให้ และผู้รับ เนื่องกันเป็นวงกลม แล้วก็ออกมาเป็นวงกลมอีกอย่างเดียวกันไม่มีที่สิ้นสุด คุ้มครองโลกอยู่ได้ในนามของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และเทียบกันได้กับสถาบันการศึกษา ที่จะต้องประกอบด้วยครู และการศึกษาและการสอน และก็ศิษย์ที่จะเป็นผู้รับ ซึ่งจะถ่ายทอดกันมาเป็นวงกลมอย่างเดียวกันแล้วก็ไม่มีที่สิ้นสุด และถ้าเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ มันก็จะคุ้มครองมนุษย์ เพื่อให้อยู่ด้วยความปราศจากปัญหา ปราศจากอันตราย ปราศจากทุกอย่างที่เราไม่ต้องการ และคงมีแต่สันติภาพหรือสันติสุข นี้ในครั้งต่อมาจะพูดกันถึง ปัญหาที่มันเกิดขึ้นหรือกำลังเกิดอยู่ในโลกนี้เนื่องจากการศึกษาไม่สมบูรณ์แบบ คือไม่เป็นไปอย่างถูกต้องและสมบูรณ์ตามที่มันควรจะเป็น และโดยไม่รู้สึกตัว เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาในหมู่มนุษย์ ซึ่งเต็มไปด้วยวิกฤตการณ์แล้วแก้ไขไม่ถูกต้อง หรือไปมัวแก้ไขแต่ที่ปลายเหตุ อย่างผิวๆเผินๆไม่แก้ไขที่ต้นเหตุคือศีลธรรม เอ้ย, คือการศึกษาที่ไม่สมบูรณ์แบบนั่นเอง ยังมีอาการปรากฏเป็นปัญหาอยู่ในทุกวันนี้และรุนแรงยิ่งขึ้น คือศีลธรรมมันแฟบ การศึกษามันเฟตไป ประชาธิปไตยมันเฟ้อ ยุวชนมันฟุ้ง การปกครองมันเฟือน การเมืองมันฟุบ สังคมมันเฟะ เศรษฐกิจมันคว่ำ ศาสนามันฟั่น วัฒนธรรมมันเฟิ้ยว ประเทศชาติมันฟอน รัฐธรรมนูญมันฟาง ความเป็นไทยก็เฟื้อย ล้วนแต่เป็นปัญหาที่สำคัญ ก็ต้องขอให้ช่วยกันพิจารณาดูให้ดี ไม่มีทางอื่นที่จะแก้ไขได้ นอกจากการจัดการศึกษาให้เป็นการศึกษาที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งเราก็ได้วิสัชนาวินิจฉัยแยกแยะกันดูแล้ว ว่ามันไม่สมบูรณ์อย่างไร แต่ในที่สุดก็จะมองเห็นได้ว่ามันสำคัญอยู่ที่สิ่งที่เรียกว่าศีลธรรม
ศีลธรรมกับการศึกษานี่มันเป็นเหตุปัจจัยให้แก่กันและกัน ถ้ามีการจัดการศึกษาไม่ถูกต้องศีลธรรมมันก็ไม่ถูกต้อง แล้วเมื่อศีลธรรมมันไม่ถูกต้องแล้ว มันก็ไม่อาจจะจัดการศึกษาที่ถูกต้อง นี่จะเป็นของที่พัวพันกันอยู่อย่างที่แยกกันไม่ออก แต่ความสำคัญนั้นมันอยู่ที่สิ่งที่เรียกว่าศีลธรรม ถ้าศีลธรรมมันดีก็เป็นอันว่าได้ ก็เป็นอันว่า ได้ผลตามที่เราควรจะได้คือความผาสุก ทีนี้ปัญหาที่ซ่อนเร้นอยู่ก็คือ เราไม่เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรมนั้นคืออะไรบ้าง ถ้าโดยเนื้อแท้ แล้วเราจะมองเห็นได้ว่าศีลธรรมนั้นคือทุกสิ่งที่เป็นหน้าที่ของมนุษย์ จะแตกออกเป็นกี่อย่างอีกกี่สิบอย่างกี่ร้อยอย่างก็ได้ ถ้ามันเป็นสิ่งที่มนุษย์จะต้องทำให้ถูกต้อง แล้วก็ต้องเรียกว่าศีลธรรมหมด แม้แต่สุดแต่การทำมาหากินนี่มันก็เป็นศีลธรรม กระทั่งว่าจะเปิปอาหารเข้าปากให้มันถูกต้องเรียกว่าเป็นศีลธรรม ที่ไกลออกไป ทำการค้าขายให้ถูกต้อง หรือจัดการปกครองการเป็นอยู่กันให้ถูกต้อง นั่นเป็นเรื่องการเมืองเรื่องเศรษฐกิจหรืออะไรต่างๆ ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องศีลธรรม ที่เราไม่เรียกสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นศีลธรรม ไปเรียกมันครึ่งท่อนว่าเป็นเศรษฐกิจ เป็นการเมืองเป็นเรื่องอะไรต่างๆ หลายสิบเรื่องไม่เคยเรียกว่าศีลธรรม ดูให้ลึกเถอะ สิ่งเหล่านั้นหนะ คือตัวสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรม ในฐานะที่เป็นเหตุ ที่เราจะต้องสร้างขึ้นหรือประพฤติให้มันมีขึ้นมา อย่างเรื่องการเมืองนี้มันเป็นปัญหาของคนมากทั้งบ้านทั้งเมือง ถ้าปฏิบัติต่อกันและกันไม่ถูกต้องมันก็วุ่นวายไม่มีความสุข ถ้าทุกคนปฏิบัติถูกต้องมันก็มีความสงบสุข มันก็คือศีลธรรมของทุกคนที่รวมกันอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง เรื่องเศรษฐกิจนั่นหนะเป็นเรื่องที่มนุษย์จะต้องจัดให้มันถูกต้องการมี การหา การใช้ การเนื่องกันด้วยทรัพย์สินอันนี้ มันเป็นศีลธรรมที่ต้องประพฤติให้ถูกต้อง เดี๋ยวนี้มันขี้ฉ้อมันคดโกง มันคอยแต่จะเอาเปรียบ มันก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา และมันเป็นสิ่งที่ทำลายมนุษย์ไปเสีย ขอให้เข้าใจโดยมองให้เห็นด้านลึก เพราะไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ศีลธรรม ก็เป็นหน้าที่ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติเพื่อความสงบสุข และสันติภาพแล้วก็ต้องเป็นศีลธรรม
ทีนี้ศีลธรรมมาจากการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง เราก็ต้องมีความรู้ที่จะรู้ให้ถูกต้องและสมบูรณ์ จึงถือว่าในปัจจุบันนี้ ถ้ามีการศึกษาที่สมบูรณ์แบบละก็ ศีลธรรมมันก็จะต้องดีขึ้น จึงอยากให้พิจรณากันโดยละเอียดเฉพาะคำว่าศีลธรรม และการศึกษาที่สมบูรณ์แบบนี่พร้อมกันไปในตัว เพราะมันคู่กัน เราจะถือว่าการศึกษาที่สมบูรณ์แบบ นี่มันเป็นรากฐานของศีลธรรมที่สมบูรณ์แบบอีกเหมือนกัน ถ้าพูดสั้นๆ ก็การศึกษาเป็นรากฐานของศีลธรรม ถ้าผิดก็ผิดด้วยกันถ้าถูกก็ถูกด้วยกัน สมบูรณ์ก็สมบูรณ์ด้วยกัน ไม่สมบูรณ์ก็ไม่สมบูรณ์ด้วยกัน ทีนี้คำว่าศีลธรรมนี่ยังทำความลำบากให้แก่การพูดจา และการจะแนะนำสั่งสอนเพราะว่าเรามีความหมายของคำๆนี้ยังไม่ตรงกัน ในภาษาไทยตามธรรมดามันไปอย่างหนึ่ง แต่ตัวหนังสือตัวพยัญชนะของคำนี้มันไปอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเอาตามความหมายของตัวหนังสือของภาษาบาลีคำนี้แล้วไปไกลลิบ ครอบงำหมดจนกระทั่งว่าไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ศีลธรรม นี้เราจะดูโดยตัวหนังสือ ไปดูตัวพยัญชนะกันก่อน สำหรับคำว่า ศีละคำหนึ่ง คำว่าธรรมะอีกคำหนึ่ง แล้วรวมกันว่า ศีลธรรมอีกคำหนึ่ง เป็น ๓ คำ คำว่าศีละ นี่ถ้าจะเอาความหมายที่เต็มที่ ที่กว้างขวางที่สุด เอาตามคำบาลีคือคำว่าปกติ คำว่าศีละนี้แปลว่าปกติ มีอยู่อย่างเป็นปกติ คำว่าธรรมนั่นหมายถึงสิ่งเฉยๆ ที่เป็นเหตุก็เรียกว่าธรรม ที่เป็นผลก็เรียกว่าธรรม ที่เป็นกิริยาอาการที่มันสัมพันธ์กันก็เรียกว่าธรรม ความที่มันมีอยู่ก็เรียกว่าธรรม นั้นคำว่าธรรมมีความหมายกว้างจนต้องแปลว่าสิ่งก็แล้วกัน นี้เมื่อรวมกันเป็นคำว่าศีลธรรม กลายเป็นรูปสมาสขึ้นมา
ศีลธรรมในความหมายแรกแปลว่าเหตุแห่งความปกติ ศีละ แปลว่าปกติ ธรรมะแปลว่าเหตุ ศีลธรรมแปลว่าเหตุแห่งความปกติ นี้ความหมายที่ ๒ ก็คำว่าธรรมแปลว่าผล ศีลธรรมก็แปลว่าผลที่เป็นความปกติ ถ้าคำว่าธรรมแปลว่าภาวะ ไอ้คำว่าศีลธรรมก็แปลว่าภาวะปกติที่มันมีอยู่ตามธรรมชาติ นี่เป็นภาษาชั้นลึก นี่เป็นภาษาบาลีที่ให้ความหมายได้ถึงขนาดนี้ เราเอาความหมายกันเพียง ๓ อย่าง อย่างที่กล่าวมานี้ก็พอแล้ว
ความหมายที่ ๑ ว่าเหตุแห่งความปกติ ก็ตกเป็นหน้าที่ที่ทุกคนจะพึงกระทำ แล้วก็ทำทุกอย่างที่มันเป็นไปเพื่อความปกติ หน้าที่ที่ทุกคนจะต้องพึงกระทำทุกอย่างเพื่อความปกติ นี่คือศีลธรรม สำหรับคำว่าปกตินั้นพอเข้าใจได้ คือไม่วุ่นวายไม่ระส่ำระสาย ไม่มีพิรุธก็แล้วกัน ทว่าพิรุธก็คือผิดปกติจากที่มันควรจะเป็น เมื่อเป็นอย่างนั้นมันก็ระส่ำระสายวุ่นวายหาความสงบไม่ได้ นี่นัยยะที่ ๑ ของคำว่าศีลธรรมก็คือเหตุแห่งความปกติที่เราจะต้องทำ ทีนี้นัยยะที่ ๒ ผลคือความปกติที่ได้รับมาจากการสร้างเหตุที่ถูกต้องแล้ว ฉะนั้นผลก็คือสิ่งที่ออกมาจากการกระทำที่ถูกต้องทุกอย่างทุกประการ ฉะนั้นคำว่าศีลธรรมในความหมายนี้เราเล็งถึงผล ถ้าบ้านเมืองสงบสุขดีเราก็มีศีลธรรมดี หรือทำอย่างนั้นหมายถึงผลที่ปรากฏอยู่ มาจากเหตุก็คือศีลธรรมที่เป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ นี้ในความหมายที่ ๓ ซึ่งไม่มีใช้กันนักในภาษาไทยหรือจะพูดกันตามธรรมดา แต่ภาษาธรรมมะชั้นลึกพูดได้และมีพูดอยู่ ภาวะแห่งความปกติ ศีลธรรมคือภาวะแห่งความปกติ เป็นอยู่ตามธรรมชาติ ต่อเมื่อมีอะไรเข้าไปแทรกแซงมันจึงจะสูญเสียภาวะปกติ พอสิ่งเหล่านั้นหาย สิ่งที่มาแทรกแซงหายไปมันก็สู่ความเป็นปกติ ทีนี้จิตแท้ๆอย่างนี้เราถือเป็นภาวะปกติ ถ้ากิเลสเข้ามาแทรกแซงมันก็สูญเสียภาวะปกติ ภาวะปกติตลอดกาลนิรันดรจะเรียกว่านิพพาน พระนิพพาน คือความเย็นเพราะไม่มีอะไรที่เป็นความร้อนมารบกวน ยอดสุดของภาวะปกติก็คือนิพพาน
ทีนี้ในภาษาไทยเขาไม่เรียกนิพพานว่าศีลธรรม เพราะเขาไม่เคยใช้ความหมายอันนี้ พวกฝรั่งซะอีกที่เขาขึ้นมาเรียนรู้บาลีเขากลับเอาไปใช้เสียก่อน ว่านิพพานเป็นยอดสุดของศีลธรรมคือภาวะปกติ ทบทวนให้ท่านฟังให้เข้าใจซักทีก่อนว่า ศีลธรรมนั้นมีความหมายเป็น ๓ นัยยะ เหตุแห่งความปกตินี่ก็เรียกว่าศีลธรรมเป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ ทีนี้ผลคือความปกติ นี้คือผลที่ได้รับ เป็นภาวะปกติสำเร็จมาจากเหตุ ทีนี้ภาวะปกติตามธรรมชาติมันเป็นอยู่ตามธรรมชาติ มองในแง่ว่าเป็นเองตามธรรมชาติ มันก็ปกติ เว้นไว้แต่อะไรมันจะมาแทรกแซงจึงจะผิดปกติ ภาวะปกติชนิดนี้น่าสนใจเพราะว่าเราแทบจะไม่ต้องทำอะไร เราเพียงระวังให้มันไปตามปกติของมัน ก็เลยได้กำไรได้เปรียบ ทีนี้ โดยตัวหนังสือคือตัวพยัญชนะว่า ศีละ ธรรมะ รวมกันเป็นศีลธรรมมันมีความหมายเป็น ๓ นัยยะอย่างนี้ ถ้าสนใจจะศึกษาให้สมบูรณ์ก็ต้องศึกษาทั้ง ๓ ความหมายนี้
ทีนี้ก็มาดูในภาษาไทยเรา คำว่าศีลธรรมในภาษาไทยที่ใช้อยู่ในภาษาชาวบ้านภาษากฎหมายภาษาอะไรก็ตามมันมีความหมายแคบนิดเดียว คือความมีความประพฤติทางสังคมที่ถูกต้องในระดับแรกๆเท่านั้นหนะ เรียกว่าศีลธรรม ถ้าขึ้นไปถึงชั้นสูงสุดก็ไม่เรียกว่าศีลธรรม เป็นศีลธรรมอันดีของประชาชาน ประชาชนอยู่กันอย่างมีถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณีระเบียบกฎหมายต่างๆเท่านั้นเอง หรือธรรมในภาษาไทยมันแคบอย่างนี้ ทีนี้ ศีลธรรมในภาษาหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ดูจะแคบน่าใจหายยิ่งขึ้นไปอีก คือเอาไปไว้เป็นแขนงน้อยๆของสังคมศึกษา ก็ไปมองดูสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรมเป็นของเล็กน้อย ถ้าเราดูตามความหมายที่กล่าวมาแล้ว ข้างต้นทีแรกนั้นหนะ ไอ้สิ่งที่เรียกว่าศีลธรรมนั้นมันกลับครอบงำสังคมศึกษาทุกแขนงเลย ครอบคลุมไอ้กิจกรรมการกระทำของมนุษย์ทุกแขนงเลย คำว่าศีลธรรม เดี๋ยวนี้เรามาใช้ในฐานะเป็นแขนงหนึ่งของสังคมศึกษา มันก็ถูกในแง่นั้นแหละ ว่าศีลธรรมเล็กๆในความหมายของภาษาไทยไปอยู่เป็นแขนงหนึ่งของการศึกษา ที่เกี่ยวกับสังคม แต่มันไม่ถูกในอีกแง่หนึ่ง ซึ่งเป็นแง่ที่สำคัญกว่า ที่จะให้ความหมายของศีลธรรมนี้อยู่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด ทีนี้ที่จะพูดไปต่อไปนี้ก็จะพูดถึงศีลธรรมในทุกความหมาย กระทั่งความหมายแคบๆของภาษาไทย ไปถึงความหมายที่กว้างขวางที่สุดของภาษาบาลีแล้วก็หลายนัยยะด้วยกัน
ศีลธรรมในฐานะที่เป็นเหตุนั่น แล้วก็หน้าที่ที่จะต้องประพฤติ ทุกสิ่งทุกอย่างนับไม่ไหว เพื่อให้เกิดความถูกต้อง สำเร็จรูปเป็นความปกติเป็นสันติสุขของบุคคล สันติภาพของโลกนี้ มันเรียกว่าศีลธรรมหมด ที่เป็นผลที่เกิดยังไม่ต้องพูดถึงนักก็ได้ ถ้าเรามีเหตุคือสร้างเหตุดีทำหน้าที่สมบูรณ์แล้วผลก็ตามมา แต่เรามองดูผลไว้ในฐานะเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง แล้วก็จะเกิดกำลังใจในการประพฤติศีลธรรมด้วยความอดกลั้นอดทน ถ้าเราหวังผลเป็นดีอย่างนี้ เราหวังผลให้สูงๆไว้ มันก็จะประพฤติยิ่งๆขึ้นไป ให้มีศีลธรรมอันดับสูงได้
ส่วนภาวะปกติของธรรมชาตินั้นมันลึกไปจนนอกเหนือหน้าที่ของมนุษย์ เว้นไว้แต่จะเป็นมนุษย์ที่ศึกษาค้นคว้าในด้านจิตในด้านวิญญาณ จึงจะใช้หลักเกณฑ์อันนี้ได้มาก ถือว่าทุกอย่างมีภาวะมีเป็นปกติ พอผิดปกติก็ถือว่าเป็นของใหม่ ก็รีบแก้ไขให้กลับสู่ภาวะปกติ เป็นหลักทั่วไปด้วยเหมือนกัน คือการแก้ไขอย่าให้กิเลสซึ่งเป็นแขกหรือเป็นคนหน้าใหม่เข้ามาสู่จิต คือเป็นของปกติอยู่ตามธรรมชาติตลอดกาล
ศีลธรรมในความหมายที่เราจะศึกษากันอย่างรีบร้อนและจำเป็นในปัจจุบันนี้ ก็คือความหมายทีแรกคือเหตุแห่งความปกติคือหน้าที่ที่มนุษย์จะต้องทำเพื่อความเป็นปกติ ก็จะดูกันว่าเกี่ยวข้องอะไรกันกับการศึกษาที่สมบูรณ์แบบ ทีนี้ก็จะพูดถึงกันว่าการศึกษาที่สมบูรณ์แบบ เรื่องนี้ก็ได้กล่าวกันละเอียดพอสมควรแล้วในการบรรยายครั้งที่ ๑ ทีนี้ก็จะหยิบเอามาเฉพาะแต่ใจความ ว่าการศึกษาที่สมบูรณ์แบบนั้น จะมองดูกันโดย ๓นัยยะอย่างเดียวกัน ก็จะมองดูใน ๓ ทิศทาง
อย่างแรกก็คือความสมบูรณ์ของสิ่งทั้ง ๓ คือครูผู้ให้หรือผู้สอนและการศึกษาที่ให้ที่สอน ลูกศิษย์ผู้รับการศึกษาหรือการสอน ชั้นสูงสุดคือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ชั้นธรรมดาสามัญก็คือการศึกษาของพวกเราในสถาบันการศึกษาแห่งยุคปัจจุบัน มีครู มีการสอน แล้วก็มีคำสั่งสอน แล้วก็มีศิษย์นักเรียนที่รับการสั่งสอน เดี๋ยวนี้มันไม่สมบูรณ์ เพราะว่าครูไม่ต้องรู้ อย่าเพิ่งโกรธ ก็ไปรู้เอาเองสมบูรณ์ไม่สมบูรณ์อย่างไรในการบรรยายครั้งที่ ๑ อย่าเป็นครูผีเสื้อผีสิง เป็นครูแบบครูแท้ๆ เป็นปูชนียบุคคลแท้ๆ ตามมากตามน้อยอย่างสุดความสามารถของเรานี้ครูมันก็สมบูรณ์
ทีนี้การสอนมันก็ต้องสมบูรณ์ สิ่งที่สอนก็ต้องสมบูรณ์ ข้อนี้ก็ไม่ ไม่ตกเป็นความรับผิดชอบของครูโดยบุคคลได้ เพราะว่ากระทรวงเขากำหนดให้ เขาบังคับมา สมบูรณ์ไม่สมบูรณ์มันก็อยู่ที่ผู้มีอำนาจ ที่ออกกฎออกระเบียบออกหลักสูตรทางการศึกษามา ครูก็พยายามทำให้สมบูรณ์ตามที่เขาออกมา แต่ถ้าเขาออกมาไม่สมบูรณ์มันก็ไม่สมบูรณ์มันไม่ต้องโทษใคร ที่ว่าไม่สมบูรณ์ที่เห็นกันได้ง่ายๆ ก็คือให้ไปเรียน ไอ้สิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องเรียนมากเกินไป ไอ้สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง.....อย่างยิ่งกลับไม่รู้จักเสียตรงนี้ หรือว่ามีน้อยไปเสีย เพราะหลักสูตรมันมุ่งไปแต่ทางวิชาไม่นึกถึงการปฏิบัติ อย่างนี้มันก็ไม่สมบูรณ์ เมื่อมีแต่ให้จดไว้ในสมุด ตอบคำถามสอบไล่ได้ก็ใช้ได้ ไอ้ตัวการปฏิบัติมันไม่ได้มันไม่มีมันทำไม่ได้ นี่ขอให้ดูความไม่สมบูรณ์ของไอ้ตัวการศึกษาโดยตรง
แล้วมันไม่มีความแน่นอนที่ว่าเราจะเอาจุดหมายปลายทางกันที่ไหน ถ้าเอาเพียงการรู้หนังสือหรือฉลาดในวิชาชีพอย่างนี้มันก็ไม่สมบูรณ์หรอก มันถูกไปได้ครึ่งหนึ่งสำหรับมนุษย์ที่จะรู้จักทำมาหากิน แต่มันไม่สามารถที่จะเป็นบุคคลที่ปลอดภัย มันยังเป็นคนอันตรายอยู่มันคือมีกิเลส ทำตนให้เดือดร้อนทำผู้อื่นให้เดือดร้อนยังเป็นมนุษย์อันตรายยังเป็นคนอันตราย เพราะการศึกษาไม่ได้มุ่งไปจนถึงส่วนโน้น ใช่ว่ากระทรวงเขาไม่รับผิดชอบไปถึงส่วนโน้น ก็ตกเป็นหน้าที่ของใครก็ไม่ทราบ จะเป็นของวัดของพระของศาสนามันก็ดูไม่มีการทำการตกลงอะไรกันที่ไหน
ทีนี้ แม้แต่ในระดับของยุวชนนี่ ยุวชนควรจะมีธรรมะ คือมันยากในด้านจิตใจ ไม่ใช่ด้านร่างกาย ไม่ใช่ด้านวาจา ต้องมีมารยาทในด้านจิตใจ ให้มันสูงเต็มที่ ที่ยุวชนควรจะมี อย่างนี้มันก็ยังไม่สมบูรณ์ ไม่ค่อยได้พูดถึงกันเท่าไหร่ จนกระทั่งมารยาททางกายทางวาจาก็พลอยไม่สมบูรณ์หนักขึ้นไปอีก เดี๋ยวนี้ ที่ได้เรียนจบแล้วทำไมถึงไปชอบไอ้ยาเสพติดได้ หรือทำตนเป็นคนอุตริวิตถารเข้าใจยากพูดกันไม่รู้เรื่อง หรือก่อการทะเลาะวิวาทกันเป็นเรื่องสนุกไปเลย นี่ก็เรียกว่าเพราะว่าไอ้การศึกษานั้นมันไม่สมบูรณ์ ที่เรียกว่าจิตหรือผู้เรียนไม่มีความเป็นศิษย์ที่สมบูรณ์ นี่ผู้ที่เป็นครูคงจะสังเกตได้เอง เพราะว่าเดี๋ยวนี้วัฒนธรรมไทยแท้มันเสื่อมไป เด็กๆไม่ได้รับการอบรมตามแบบวัฒนธรรมไทยแท้ ฉะนั้นเขาเกิดมาจึงไม่ได้หวังที่จะเป็น หรือไม่อาจที่จะเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน กระทั่งต่อไปจะเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ เป็นสาวกที่ดีของพระศาสดา มันเป็นไปไม่ได้ รากฐานมันถูกทำลายไปเสีย เป็นเรื่องปล่อยมาแต่เล็ก พะเน้าพะนอ เอาอกเอาใจกันมากเกินไป มีภาษาที่บ้าๆบอๆเกิดขึ้นมาคำหนึ่ง คือความอบอุ่น ซึ่งเด็กชอบอ้างเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่ได้รับความอบอุ่นจากบิดามารดาจากครอบครัว จึงชวนกันเหลวไหล ในชั้นครูบาอาจารย์ผู้ออกหลักสูตรออกการศึกษาก็พลอยเห็นอย่างนั้นไปด้วย หรือจะหลงใหลในไอ้คำว่าความอบอุ่นนี้กันมากทีเดียว อะไรๆก็ชอบเอาไปอ้าง
ทีนี้เราดูว่าบรรพบุรุษของเราเขาให้ความอบอุ่นกันด้วยไม้เรียว เอาไม้เรียวหวดลงไปเหมือนกับถูกไฟฟ้า อุ่นไปทั้งแข้งขา แล้วเด็กๆก็ไม่ออกนอกลู่นอกทางเป็นมาอย่างถูกต้อง เดี๋ยวนี้ความอบอุ่นคือความพะเน้าพะนอไปเสียแล้ว ทำให้เสียนิสัยกันมากกว่า คือเรียกร้องความอบอุ่นมากเกินไป อะไรนิดหนึ่งก็หนีไปจากบ้านทิ้งพ่อแม่ไป แม้เป็นเด็กหญิง ต้องออกโฆษณาหาตัวทางวิทยุกันแต่ละวันๆ ไม่รู้กี่รายกี่สิบราย มีเหตุผลของความไม่อบอุ่นเท่านั้นเอง ซึ่งแต่ก่อนนี้เขาไม่มีกัน นี่พื้นฐานของความเป็นศิษย์ที่สมบูรณ์มันก็หายไป คือวัฒนธรรมไทยแท้ที่รักพ่อแม่อย่างสุดชีวิตจิตใจ ทิ้งไปไม่ได้แม้จะต้องร้องไห้อยู่กับพ่อแม่มันก็ไม่หนีไป ไอ้ความอบอุ่นของไม้เรียวนี่มันดีกว่า มันสร้างความอดทน อดทนเข้มแข็งขึ้นมา เพราะตอนนี้มาขอรับรองหรือรับบาปแต่ผู้เดียว ไม่มีใครเห็นด้วยก็ตามใจ เขาคงไม่เห็นด้วย เรื่องความอบอุ่นด้วยไม้เรียว แต่ตัวเองยังยืนยันยังถืออยู่อย่างนี้ว่ามันต้องมาด้วยกันอย่างนี้ ความรักที่ให้ความอบอุ่นด้วยไม้เรียวนี่ดีที่สุด ไม่ใช่ความอบอุ่นของการพะเน้าพะนอ
ในการศึกษาที่สมบูรณ์ต้องมีครูที่มีความเป็นครูที่สมบูรณ์ มีการศึกษาที่เป็นการศึกษาที่สมบูรณ์ มีศิษย์ที่มีความเป็นศิษย์ที่สมบูรณ์ นี่นัยยะที่ ๑ คือวงกลมแห่งสิ่งทั้ง ๓ เนื่องกันอยู่ ๓ อย่างและก็ทยอยกันไปไม่ขาดสาย คือศิษย์กลายเป็นครูขึ้นมาแล้วก็เป็นครูที่ดีด้วย ให้การศึกษาที่สมบูรณ์มีศิษย์ที่สมบูรณ์เรื่อยไปอย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด การศึกษาสมบูรณ์ในส่วนวัตถุมันเป็นที่ตั้งแห่งการศึกษา นี้นัยยะที่ ๒ ความสมบูรณ์ ซึ่งจะแยกออกไปตามลักษณะของที่ตั้งแห่งผลที่เราประสงค์ คือสมบูรณ์ทางกายหรือทางวัตถุนี้อย่างหนึ่ง สมบูรณ์ในทางจิต สมบูรณ์ในทางวิญญาณนี้อย่างหนึ่ง รวม ๓ อย่างทางกายทางจิตทางวิญญาณ เรื่องทั้ง ๓ นี้เคยอธิบายมาซ้ำๆซากๆมามากมายแล้ว แต่จะทำอย่างไรได้เมื่อท่านทั้งหลายนั่งที่นี่ส่วนมากก็ยังไม่เคยได้ยิน และต้องพูดกันอีกบ้าง
ความถูกต้องและสมบูรณ์ทางกาย นั้นก็หมายความว่า มีร่างกายตลอดถึงวัตถุเครื่องใช้ไม้สอยอะไรก็ตาม อยู่ในสภาวะ เออ, อยู่ในภาวะที่มันถูกต้อง จึงจะสมบูรณ์ คือไม่เกิดปัญหาขึ้นมา แม้กระทั่งแต่งเนื้อแต่งตัวอะไรก็ตามมันรวมอยู่ในข้อนี้ ที่เนื่องกันอยู่กับร่างกาย การศึกษานั้นต้องให้ความถูกต้องและสมบูรณ์ทางร่างกาย ไม่มีปัญหาเกิดขึ้นในทางร่างกาย ส่วนทางจิตนั้น ไม่มีจิตที่มีสมรรถภาพ คนเราไม่ได้มีแต่กายไม่ได้มีแต่จิต มีทั้งกายทั้งจิต กายดีจิตไม่ดีก็ใช้ไม่ได้ นั้นต้องมีจิตที่ดีที่ถูกต้องและสมบูรณ์
ถือตามหลักธรรมะในพระศาสนา ก็กล่าวได้ว่า ไอ้จิตที่ดีที่ถูกต้องที่จะเรียกว่าสมบูรณ์นั้นคือจิตนั้นมีคุณสมบัติ ๓ ประการ คือมีความ ความบริสุทธิ์ดีกว่าไม่มีอะไรรบกวนจิต แล้วก็มีจิตที่มั่นคง มีกำลังจิตสูง แล้วก็มีจิตที่ว่องไวในหน้าที่ของจิตนั้น ถ้าคิดก็คิดเก่ง ถ้าจำก็จำเก่ง ตัดสินใจก็ตัดสินใจเก่ง หน้าที่อะไรของจิต ก็จิตมันว่องไวในหน้าที่นั้นๆ คือจิตสะอาด แล้วก็จิตมั่นคง แล้วก็จิตว่องไว เอาแต่ใจความสั้นๆเพียงเท่านี้ก็พอ จิตสะอาดก็หมายความว่ามันไม่มีอะไรรบกวนอยู่ เราสามารถจะมีจิตชนิดนี้อยู่คือสบายดี แล้วจิตเข้มแข็งมั่นคงมีกำลังใจสูง นี่เรียกว่ามั่นคง เพราะจิตไวเก่งในการทำงานของจิตนั่นเอง ในความสมบูรณ์และคุณสมบัติทางจิต เดี๋ยวนี้การศึกษาสามัญศึกษา นี้ดูจะไม่ให้พูดถึงเรื่องเหล่านี้กันเลยก็เป็นความบกพร่องอย่างยิ่ง ฉะนั้นควรจะพูดบ้างให้นักเรียนรู้จักบริหารจิต มีความสะอาด นี่คือมีจิตที่เกลี้ยงเกลาพอสมควร มีจิตที่มั่นคงเข้มเข็งพอสมควร จิตที่ว่องไวในการทำงานของจิตพอสมควร มันกลายเป็นเรื่องที่ต้องฝึกตามแบบที่เรียกว่าสมาธิภาวนา ทีนี้ไม่ต้องถึงอย่างนั้นก็ได้ ไม่ต้องฝึกอย่างพระ อย่างโยคีมุนี ฝึกตามแบบที่ว่านักเรียนเขาจะฝึกได้อย่างไรเท่าไร ในโรงเรียนพิเศษคงจะมี โรงเรียนธรรมดานี้ไม่มี เพราะไม่สนใจ ก็เรียกว่าไม่สมบูรณ์
ทีนี้อันที่ ๓ ทางวิญญาณ นี้ไม่ใช่ทางจิต ขอยืมคำว่าวิญญาณไปใช้หน่อยในความหมายพิเศษ คือความรู้แจ้ง หมายถึงสติปัญญา หมายถึงความเชื่อ ความคิดเห็น ต้องถูกต้องและสมบูรณ์ เช่นเราจะเชื่อว่าไอ้สนุกสนานเอร็ดอร่อยนี่ดีกว่า อย่ามานั่งบังคับตัวเองอยู่ในกรอบในกฎนี่ อย่างนี้ก็เรียกว่ามันผิดแล้วทางวิญญาณมันผิดเสียแล้ว ความเชื่อผิดแล้ว ความเห็นผิดแล้ว ความรู้ก็ผิดแล้ว ความรู้ ความเชื่อ ความคิด ความเห็น ความเข้าใจ จะต้องถูกต้องจึงจะมีความสมบูรณ์ในทางวิญญาณ
อันนี้ ยิ่งเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ที่ทำผิดจนวินาศไปก็เพราะเหตุ เพราะข้อนี้ ที่ต้องร้องไห้อยู่บ่อยๆก็เพราะข้อนี้ สอบไล่ตกไปนั่งร้องไห้อยู่ก็เพราะขาดข้อนี้ มันไม่ร้องไห้ก็ได้ ก็เรียนใหม่ให้ดีกว่าเดิมก็แล้วกัน ถ้าฝึกอบรมมาผิด มันก็เสียใจมากร้องไห้มาก ไปฆ่าตัวตายมันก็ยังเคยมีเพราะสอบไล่ตก ในทางวิญญาณมันไม่ถูกต้องและไม่สมบูรณ์ การศึกษาให้ความสมบูรณ์ทางวิญญาณ ก็หมายความว่าให้เขามีความคิดความเห็นความเชื่อที่มันถูกต้องเป็นที่พึ่งได้ นี่ทางโรงเรียนก็ไม่ได้จัดให้เป็นพิเศษ หรือว่าเป็นที่แจ่มแจ้งชัดเจนแน่นอน ฝากไว้อย่างคลุมเครือในความรู้เบ็ดเตล็ดเล็กๆ น้อยๆ เพราะไม่เห็นว่าเป็นของสำคัญ ฉะนั้นจึงสรุปความว่า หลักสูตรที่ให้มาสำหรับการศึกษานั้นไม่สมบูรณ์ ในส่วนที่จะเกิดผลดีทางกายทางจิตและทางวิญญาณครบทั้ง ๓ ประการ ทางจิตทางวิญญาณก็จะไม่ต้องพูดถึง แต่ทางกายนี้ก็ยังบกพร่อง เอ้า, ก็ไปคิดกันเสียใหม่ว่าไอ้การศึกษาที่สมบูรณ์นั้นมันเป็นอย่างนี้
ทีนี้ก็ดูไปใน ดูต่อไปอีกเป็นนัยยะที่ ๓ ความสมบูรณ์นัยยะที่ ๓ เล็งถึงไอ้สิ่งที่มันเนื่องกัน ๓ อย่าง คือความรู้อย่างหนึ่ง การกระทำอย่างหนึ่ง แล้วผลที่ได้รับอย่างหนึ่ง นี้เป็นหลักของธรรมชาติไม่ใช่หลักของไอ้ใครโดยเฉพาะ ต้องมีความรู้ที่ถูกต้องและสมบูรณ์มันจึงจะมีการกระทำที่ถูกต้องและสมบูรณ์ แล้วผลมันจึงจะออกมาเป็นความถูกต้องและสมบูรณ์ เดี๋ยวนี้วิชาที่ให้เรียนให้รู้นี่ มันก็ไม่สมบูรณ์เสียแล้ว หรือแม้ว่าจะสมบูรณ์ก็สมบูรณ์อย่างเฟ้อไป ไม่ตรงตามเป้าหมายก็มี เอาละ, ยอมให้ว่ามันว่าสมบูรณ์ แล้วมันไม่มีการกระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาศีลธรรมนี่มันสอนกันแต่วิชาความรู้ ไม่มีการกระทำ มันจึงขาดการกระทำ แล้วมันจะมีผลได้อย่างไร เหมือนกับที่เราเรียน เรียนอะไรกันอย่างเดียวนี่ไม่มีการกระทำตามนั้นหรือทำไม่ได้ตามนั้น มันก็มีการติดตัน ติดตันตายด้านกันอยู่ที่นั่นแหละ อยู่ที่วิชาหรือความรู้นั้น บางอย่างอาจจะครบทั้ง ๓ เช่น วิชาที่เราต้องปฏิบัติจริงๆ เป็นวิชาเลข วิชาอะไรต่างๆก็อาจจะเรียนรู้แล้วก็ปฏิบัติจนชำนาญ ใช้ประโยชน์ได้ แต่ทีวิชาศีลธรรมนี้มันไม่เป็นอย่างนั้น เป็นวิชาตายด้าน ไม่มีการประพฤติกระทำให้เต็มตามนั้น แล้วผลมันก็ไม่เกิดขึ้น ไปสำรวจเอาเองก็แล้วกันว่าวิชาอะไรของเรามันมีแต่ความรู้ มันไม่มีการกระทำ มันมีแต่บอกว่าให้ทำอะไรบ้าง มีแต่บอกว่าให้ทำอะไรบ้าง เท่านั้นแหละ แล้วไม่ได้บอกว่าทำอย่างไร หรือจะต้องทำอย่างไรมันจึงจะสำเร็จ จะแก้ไขมันอย่างไรมันจึงจะสำเร็จ โดยมากที่สอนกันอยู่ในระดับในการศึกษาของเยาวชน นี้มันก็บอกว่าอะไรจะต้องกระทำ เผื่อจะทำอย่างไรจะแก้ไขอย่างไรสำเร็จ นี้ไม่ค่อยได้บอก หรือไม่บอกเอาเสียเลยก็มี ยิ่งทำตัวอย่างให้ดูก็ยิ่งหายาก มันจึงไม่มีความถูกต้องและสมบูรณ์ในส่วนที่เป็นความรู้และส่วนที่เป็นการกระทำ และส่วนที่เป็นผลของการกระทำ รวมกันแล้วเป็น ๓ นัยยะ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ว่ามันยังไม่สมบูรณ์ ความสมบูรณ์แห่งวงกลมผู้ให้ สิ่งที่ให้และผู้รับก็ไม่ค่อยจะสมบูรณ์ หลักเกณฑ์ทางกาย ทางวาจา ทางใจทางวิญญาณนี้ก็ไม่ค่อยสมบูรณ์ ในเรื่องของความรู้ การกระทำ และผลของการกระทำก็ไม่ค่อยสมบูรณ์ ทีนี้ถ้าสมบูรณ์มันก็ต้องตรงกันข้าม หรือเอาโดยนัยยะที่มันตรงกันข้าม แล้วก็สมบูรณ์
ทีนี้ก็จะดูถึงข้อที่ว่าการศึกษาที่สมบูรณ์นั้นเป็นรากฐานของศีลธรรมอย่างไร มันก็พอจะมองเห็นได้เองแล้ว ที่ว่าไอ้การศึกษาที่สมบูรณ์นี้มัน มันคือการรู้ถูก มันมีความรู้ถูกต้อง มีการกระทำถูกต้อง มีการได้รับผลอย่างถูกต้อง ถ้าเรารู้เรื่องศีลธรรมอย่างถูกต้อง ประพฤติอยู่อย่างถูกต้อง ได้รับผลอยู่อย่างถูกต้อง มันก็มีศีลธรรม พอความรู้อย่างถูกต้องมันก็รวมอยู่ในคำว่าความรู้อย่างถูกต้องแล้ว คล้ายว่า คำว่าการศึกษาอย่างถูกต้องแล้วมันก็คือความรู้อย่างถูกต้อง ขยายถึงการกระทำอย่างถูกต้องด้วยก็ได้ ถ้าคำว่าศึกษานี้มันเป็นคำที่มีความหมายทางศาสนา คือการทางศาสนานั้นคำว่า ศึกษานั้นก็หมายถึงว่าการปฏิบัติ โดยถือเอาว่าไอ้ความรู้นี้เป็นเพียงเบื้องต้นหรือขั้นเตรียมของการปฏิบัติ ไอ้ตัวจริงคือตัวการปฏิบัติ สิกขาศึกษานี้เป็นตัวการปฏิบัติ ไม่ใช่ตัวความรู้ซึ่งเป็นเพียงไอ้ ไอ้ ไอ้สิ่งกราบเรียนในเบื้องต้น เพื่อการปฏิบัติ และผลของการปฏิบัติมันก็มีมาตามสมควรแก่การปฏิบัติ การศึกษาที่สมบูรณ์มันก็ให้ความรู้ที่ถูกต้อง ให้การกระทำที่ถูกต้อง ให้ผลที่ถูกต้องตามที่เป็นจริง ก็จะเห็นได้ว่ามันเป็นของที่คู่กันและเข้ากัน
การศึกษาที่สมบูรณ์นำมาซึ่งความเป็นปกติที่สมบูรณ์ ศีลธรรม คือความปกติ อย่าลืมเสีย เดี๋ยวจะไม่ทราบว่าเล็งถึงอะไร ศีลธรรมคือความปกติ นั้นศีลธรรมที่สมบูรณ์ มันก็มาจากการศึกษาที่สมบูรณ์ การศึกษาที่สมบูรณ์ให้เกิดศีลธรรมที่สมบูรณ์ คำว่าสมบูรณ์ก็จำกัดความไว้ด้วย ว่าไม่ผ่าแล้วก็ไม่เฟ้อ คือเกิน แล้วก็ไม่วิปริตหรือพิรุธ ทีนี้เรามันมีกันไม่สมบูรณ์คือมันขาดไปบ้าง มันฟืนมันเฟ้อในทางไม่จำเป็นบ้าง แล้วมันวิปริตหรือพิรุธบ้าง อย่างนี้ล้วนแต่เรียกว่าไม่สมบูรณ์ทั้งนั้น ฉะนั้นถ้าจะพูดแล้วเดี๋ยวจะหาว่าเป็นการด่า ก็ไม่รู้ว่าจะหลีกเลี่ยงอย่างไรที่จะไม่ให้เป็นการด่า คือจะต้องระบุลงไปว่า การศึกษาที่ให้กันอยู่ในสมัยนี้ทั้งโลกนั่นหนะ แม้แต่ความรู้ก็ไม่สมบูรณ์ แม้แต่ด้านวิชาความรู้ก็ไม่สมบูรณ์ อย่าไปพูดถึงไอ้การปฏิบัติหรือการกระทำหรือผลของมันเลย ทั่วโลกมันกำลังให้การศึกษาที่ไม่สมบูรณ์ แม้ในส่วนความรู้ หลักวิชาความรู้นี่ มันไปรู้ในสิ่งที่ไม่ต้องรู้มากเกินไป นี้พูดกันไม่รู้เรื่อง พวกที่เป็นครูบาอาจารย์นี้อาจจะรู้สึกได้ไม่ยาก หลายคนบ่นว่านี่เราต้องสอนที่วิชานี้หรือลักษณะอย่างนี้ไม่รู้ว่ามันจะมีประโยชน์อะไร ก็มีอยู่มาก สิ่งที่จำเป็น กว่านี้ยังไม่ได้รู้เลย อาตมาเคยเปรียบเทียบยกตัวอย่างว่า ไอ้นักเรียนเล็กๆนี่ เขารู้ว่าที่ประเทศอเมริกามีแม่น้ำชื่ออะไร มีภูเขาชื่ออะไร แต่พอถามว่าพระพุทธเจ้าชื่ออะไรเขาก็ไม่รู้ นี่เราเป็นคนไทยพอถามว่าพระพุทธเจ้าชื่ออะไรก็ไม่รู้ แล้วยิ่งจะไปถามว่ามีบุตรภรรยามีอะไรอย่างไรก็ยิ่งไม่รู้ แต่ไปรู้ว่าประเทศอเมริกามีแม่น้ำอะไร มีภูเขาอะไร มีทุ่งอะไรมีอะไร อะไรจำเป็นก่อนอะไรจำเป็นหลัง มันคล้ายกับว่ามันเป็นการตาม ตามก้นเขาไปมากเกินไป จึงไปรู้ไอ้สิ่งที่เหมาะสำหรับพวกอื่น ไม่ได้เหมาะสำหรับตัวเองมากเกินไปเสียก็มี แม้ในเรื่องของเมืองไทยของประเทศไทยนี้ สิ่งที่จำเป็นจะต้องรู้ก่อน ก็มองเห็นเป็นไม่จำเป็นจะต้องรู้ก่อน ไปรู้ในสิ่งที่ไม่จำเป็นก่อน แล้วถ้ามันเป็นเรื่องลึกๆเช่นเรื่องศีลธรรมเรื่องวิชาสามัญนี้ อันไหนจะจำเป็นก่อน ยังเถียงกันไม่มีที่สิ้นสุด
ฉะนั้นจึงแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในวงการศึกษาไม่ได้ ไปรู้ในสิ่งที่ไม่ต้องรู้กันมากเกินไป การศึกษาสมัยนี้จึงไม่เป็นรากฐานแห่งศีลธรรม ไม่เป็นรากฐานที่ดีแห่งศีลธรรม เพราะให้การศึกษาที่ไม่จำเป็นแก่ความมีศีลธรรมมันมากเกินไป นี่เราพูดกันในส่วนนี้ ก็เพื่อชี้ให้เห็นสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรม กับการศึกษาที่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นรากฐานของศีลธรรม เป็นคู่แฝดที่ต้องไปด้วยกันด้วย เหมือนกับรถ ๒ ล้อ มันต้องไปด้วยกันด้วย
ทีนี้ก็ดูกันต่อไป โดยหัวข้อว่าการกลับมาแห่งศีลธรรม โดยการกลับมาแห่งการศึกษาที่สมบูรณ์ เมื่อพูดถึงข้อนี้ก็ต้องพูดกันเป็นที่เข้าใจกันแล้วว่าศีลธรรมจำเป็นอย่างไรสำหรับมนุษย์เรา ศีลธรรมจำเป็นอย่างไรสำหรับมนุษย์เรา ถ้าไม่มีศีลธรรมก็คือไม่มีเหตุแห่งความปกติ ไม่มีผลแห่งความปกติ ไม่มีภาวะแห่งปกติอยู่ตามธรรมชาติ มันไม่มีสิ่งเหล่านั้น มันจะถึงกับตายเอาทีเดียว ถึงกับวินาศเอาทีเดียว ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย
เดี๋ยวนี้แม้แต่เพียงศีลธรรม คือมรรยาทที่ดี ประพฤติต่อเพื่อนมนุษย์ที่ดี มันก็ยังหายาก มีแต่อาชญากร ที่คอยทำลายความสงบสุขของผู้อื่น ทำลายความยุติธรรมของผู้อื่นอย่างนี้ เพราะมันไม่มีศีลธรรม คือไม่มีความเป็นปกติ จะมองกันในแง่ไหนก็ตาม นั้นถึงต้องการกลับมาแห่งศีลธรรม ถ้ามีการกลับมาแห่งศีลธรรมแล้ว ก็จะไม่มีปัญหาอย่างที่เราพูดมาแล้ว คือไม่มีประชาธิปไตยเฟ้อ ไม่มียุวชนฟุ้ง ไม่มีการปกครองเฟือน หรือการเมืองฟุบ เป็นต้น ถ้าศีลธรรมกลับมาจะไม่มีสิ่งเหล่านั้น แต่จะมีสิ่งเหล่านั้นแต่ที่เป็นไปในทางตรงกันข้าม คือดีไปหมด ศีลธรรมดีการศึกษาดี ประชาธิปไตยก็จะดีตาม ยุวชนก็ดี การปกครองก็ดี การเมืองก็ดี อะไรก็ดี ดี คือพอเหมาะพอดีถูกต้องเหมาะสมไม่เฟ้อไม่ฟุ้งไม่เฟือนไม่เฟะ ถึงต้องการให้การกลับมาแห่งศีลธรรม นี้กลับมาได้ก็โดยการกลับมาแห่งการศึกษาที่สมบูรณ์
ดูที่การกลับมาแห่งศีลธรรมก่อน ให้เห็นว่า มันจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับยุคปัจจุบันที่หาความสงบสุขไม่ค่อยจะได้โดยพื้นฐาน แล้วไม่มีคนดีสำหรับปฏิบัติงาน มีแต่โครงการความคิดอะไรที่ดีพอจะดูได้ แล้วไม่มีคนดีที่จะปฏิบัติงาน ให้ประเทศชาติบ้านเมืองหรือโลกนี้มันมีความสงบสุข ได้ยินถึงนักการเมืองหรือนักปกครองเขาก็จะคิดว่าเราด่าเขา เราไม่ได้เจตนาจะด่าใคร แต่กำลังบอกว่าไอ้คนที่ดีมีไม่พอ ที่จะปฏิบัติงานตามโครงการที่ดี มันจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมีคนดีให้เพียงพอ ที่จะมาเป็นผู้บริหารทุกอย่างให้ประเทศชาติหรือในโลก ถ้างั้นเราต้องให้ศีลธรรมกลับมา ให้มีคนที่มีศีลธรรมมาบริหารงานเหล่านี้
แม้แต่ที่เป็นครูก็จะเป็นครูที่ดี แม้จะเป็นนักเรียนก็จะเป็นนักเรียนที่ดี ถ้าศีลธรรมมันกลับมา เดี๋ยวนี้เราดูสภาพปัจจุบันแล้วเราอาจจะพูดได้ว่า ปราศจากศีลธรรม ขนาดที่จะวินาศลงไป นึกตัวอย่างเช่นว่า กำลังเป็นทาสของวัตถุ เป็นทาสของกิเลสหรือเป็นธาตุของอายตนะ อย่างไร้ศีลธรรมที่สุด ไอ้คำเหล่านี้ขอให้ช่วยจำไว้ด้วย มันจะช่วยทำให้ง่ายขึ้นในการศึกษา เป็นทาสของวัตถุ คำแรก คือเรารู้จักแต่ความสุขหรือประโยชน์แต่ในทางวัตถุ ในทางจิตใจไม่รู้จัก เราจึงไปหลงไอ้เรื่องความสวยความงามความเอร็ดอร่อยความสนุกสนานความเพลิดเพลิน เป็นทาสของวัตถุอันสวยงาม คือรูป เสียง กลิ่น รส อันสวยงามนี้ พร้อมกันนั้นเราก็กลายเป็นทาสของกิเลส ถ้าเป็นทาสของวัตถุก็เป็นทาสของกิเลส คือความรู้สึกที่ต่ำทราม ที่มันผิดจากความเป็นจริง มาจากอวิชชาความไม่รู้ อย่างนี้เขาเรียกว่ากิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลงที่ได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ นั่นก็คือกิเลส ไอ้เราก็เป็นทาสของกิเลสเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือความโลภ หรือตัณหา ความอยากความต้องการด้วยอวิชชา มีคนเข้าใจผิด คิดว่าอยากแล้วก็เป็นทาสไปเสียหมด พอหมายถึงความอยากด้วยความโง่ด้วยอวิชชา จึงจะเรียกว่าเป็นกิเลสเป็นความอยากที่เป็นตัณหา อย่าไปเป็นทาสของกิเลสเหล่านั้น แต่เราจะเป็นทาสของความดีก็ได้ ถ้าเรียกว่าความดีความถูกต้อง เราอุทิศบูชา อย่างอาตมานี่ว่าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พวกคอมมิวนิสต์เขาเอาไปเขียนด่า ว่ายังสมัครเป็นทาสเป็นสังคมทาสเพราะเขาไม่รู้จักคำว่าทาสของความดี หรือของความถูกต้อง มันควรจะเป็น แต่ถ้าเป็นทาสของความผิดความชั่วหรือกิเลส มันไม่ควรจะเป็น
ทีนี้อีกคำก็เป็นทาสของอายตนะ คือเป็นทาสของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรามีอายตนะ ๖ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราต้องหาอะไรมาบำรุงบำเรอตา คือที่มันสวยๆ บำรุงบำเรอหูที่มันไพเราะ ทำการบ้านให้โรงเรียนก็ต้องเปิดวิทยุฟังไปพลาง คือว่ามันเป็นทาสของหูรวมทั้งอายตนะ แล้วต้องหาของหอมมาบำรุงบำเรอจมูก ของอร่อยมาบำรุงลิ้น เป็นเรื่องของคนขี้กิน มันก็เป็นทาสของลิ้น ผิวหนังเหมือนกัน แล้วจิตใจนี่ก็ลึกซึ้งมาก เป็นทาสได้อย่างไม่รู้สึก ความเป็นทาสนี้ก็ต้องเรียกว่ามันไร้ศีลธรรม ไม่มีทางที่เราจะเป็นทาสชนิดนี้แล้วเราจะมีศีลธรรมด้วย เพราะมันสูญเสียความเป็นปกติไปหมดแล้ว ตาหูจมูกลิ้นกายใจไม่เป็นไทแก่ตัวแล้ว นี่เรียกว่าอาการอันหนึ่งที่เราจะเห็นได้ง่ายว่า คนในโลกปัจจุบันนี่ กำลังเป็นทาสของสิ่งเหล่านี้ในลักษณะอย่างไร้ศีลธรรมที่สุด
ทีนี้ ดูอีกแง่หนึ่งต่อไปอีก มันมีตัวกูของกูจัดเกินไป ถ้ามันมีกิเลสมากมีสิ่งยั่วยวนมาก ไอ้ตัวกูของกูมันก็รุนแรง หรือว่าจัดเกินไป หรือมีความยึดถือเป็นตัวกูของกูด้วยมานะทิฐิมันมากเกินไป ยึดเป็นของกูด้วยความรัก ความหวง ความหึงมันมากเกินไป นี่เขาเรียกว่ามีตัวกูของกูมากเกินไป สำหรับโลกสมัยนี้ซึ่งมันไร้ศีลธรรม มันเลยเกิดเป็นนรกขึ้นมา คำว่านรกคือร้อนเหมือนกับถูกไฟเผา ตัวกูของกูมันเกิดเมื่อไร มันต้องร้อนเป็นนรกไม่มากก็น้อย ถึงกับรุนแรงเหมือนกับว่าเป็นบ้า เป็นเสียจริตไปเลย นี่มันเป็นนรกอย่างนี้ ตัวกูมาทีไรนั้นก็เป็นนรกเป็นความร้อนขึ้นมา มันเป็นเพียงความรู้สึกที่โง่เง่า ที่หลงใหลที่สุด หมายมั่นเป็นตัวกู หมายมั่นเป็นของกู ฝ่ายกิเลสทั้งนั้น ถ้าที่เป็นฝ่ายดีนั้นหนะ คือเป็นฝ่ายถูกต้องว่าเราจะต้องมีตัวเราเพื่อทำดี เพื่อให้ได้ดี อย่างนี้มันมีด้วยสติปัญญา ความเข้าใจถูกต้อง เป็นตัวกูของกูที่ไม่หยาบคาย จะไม่ให้เรียกว่าตัวกูของกูดีกว่า จะเรียกว่าตัวตนหรือของตนก็พอจะฟังได้ แต่มนุษย์ก็ไม่ได้มีเพียงตัวตนหรือของตนหรอก เพราะมีเลวมากถึงขนาดตัวกูและของกู เขาก็เลยเบียดเบียนกัน เบียดเบียนตัวเองด้วยเบียดเบียนผู้อื่นด้วย คือทำตัวเองให้เร่าร้อนเขาเรียกว่าเบียดเบียนตัวเอง ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนด้วยก็เรียกเบียดเบียนผู้อื่น ก็เป็นการเบียดเบียนพร้อมกันไปทั้ง ๒ ฝ่าย ไอ้ตัวกูของกูนี้มันเกิดขึ้นแล้วมันก็เป็นอย่างนี้ นั้นเรามีความยึดถือตัวตนเห็นแก่ตนกันบ้างก็อย่าให้ถึงขนาดเป็นตัวกูของกูเลย เป็นตัวเราของเรา เป็นตัวตนของตน ที่มันแนบเนียนนิ่มนวลอะไรไปตามเรื่องก่อน จนกว่ามันจะหมดความรู้สึกอันนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของพระอริยเจ้า ในโลกนี้มันมีความรู้สึกเป็นตัวกูของกูจัดเกินไปจนไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไร เราจึงตกลงกันไม่ได้เพื่อสันติภาพ ถ้าคุณอ่านหนังสือพิมพ์ หรือศึกษาไอ้เรื่องโลก เรื่องการเมืองของโลกแล้วก็จะพบว่า ต้นเหตุที่ทำให้ตกลงอะไรกันไม่ได้ นี่ก็เพราะว่าความเห็นแก่ตัวกูของกู มันไม่ยอมเสียประโยชน์มันก็ตกลงกันไม่ได้ มันมีมานะทิฐิ แม้ตัวเป็นฝ่ายผิดแล้วมันก็ยังไม่ยอม อย่างนี้มันก็คือตัวกูของกู
ทีนี้ดูกันอีกแง่หนึ่งว่า ปัจจุบันนี้การกระทำของมนุษย์ทั้งโลก มันกำลังผิดทาง มันออกไปนอกทางแห่งศีลธรรม ออกไปนอกทางแห่งความปกติหรือความสงบ มันออกไปนอกคลองแห่งศีลธรรม คือพอจะเข้าใจได้ เพราะได้พูดมาแล้วมันทำอย่างไร มันไม่มีศีลธรรมอย่างไร แล้วก็พอมองเห็น ก็สรุปได้ว่ากำลังออกไปนอกคลองแห่งศีลธรรม ด้วยเจตนา ไม่ใช่ว่ามันจะไม่รู้กันเสียเลยว่า นี้เลว นี้บาป นี้ชั่ว มันไม่ใช่มันจะไม่รู้ มันฝืนรู้มันเหยียบรู้ เพราะว่าประโยชน์ของมันบังคับ ความต้องการความเห็นแก่ประโยชน์อย่างมีกิเลสมันบังคับ ให้ออกไปนอกคลองของศีลธรรม แล้วต่างคนต่างก็แข่งกัน แข่งกันที่จะเป็นอย่างนั้น หวังจะเอาประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น มันก็แข่งกันไปหาความวินาศ เรียกว่ามันกำลังจะพลัดตกหน้าผาลงไปยังเหวแหลกละเอียด ถ้ายังขืนอยู่กันในรูปนี้เป็นไปในรูปนี้ มันจะต้องถอยหลัง พอถอยหลังคำนี้พิเศษ มีความหมายเป็นพิเศษ อย่าได้เกลียดอย่าได้โกรธ ถ้าทำผิดก็ถอยกลับมาทำเสียให้ถูก อย่าเห็นว่าเรื่องถอยหลังนี้เป็นเรื่องผิดไปเสียทั้งนั้น เขาสอนกันมาอย่างโง่เขลา ว่าทำอะไรอย่าให้ถอยหลัง อย่าให้ถอยหลังเข้าคลอง อันนี้มัน มันเป็นคำพูดอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งใช้ในกรณีนี้ไม่ได้ คือใช้ในกรณีสำหรับคนที่ทำผิดไปแล้วนี้มันใช้ไม่ได้ คนที่ทำผิดไปแล้วต้องยอมรับไอ้เรื่องถอยหลัง ถอยหลังเข้าคลอง มาสู่คลองของความถูกต้อง คลองของศีลธรรม ฉะนั้นถ้าใครได้ออกไปนอกคลองของศีลธรรม แล้วรีบถอยหลังมาเข้าคลอง พื้นเรือมันเกยตื้น มันต้องถอยหลังลงมาหาที่ลึกไปตามล่องน้ำต่อไปอีก หรือมันออกไปจะลัดหน้าผาตกเหวลงไปแล้ว มันก็ถอยหลังกลับมา มาหาทางที่ถูกต้องอย่าดันไปทางนั้น ถ้าว่า ถอยหลังเข้าคลองในความหมายนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด เพื่อการกลับมาแห่งศีลธรรมในยุคปัจจุบันนี้ จำไว้ว่าคลองแห่งศีลธรรมมีอยู่เราต้องเดินอยู่ในคลองนั้น นี่เรารู้ปัญหาที่มีอยู่จริง สถานการณ์ที่มีอยู่จริง คือความไม่มีศีลธรรมเพราะเหตุอย่างนี้ๆ ก็ช่วยกันแก้ไข ให้มีการกลับมาแห่งศีลธรรม เราช่วยกันทำให้มีศีลธรรมทีนี้ จะใช้คำว่าอะไรดี การช่วยทำให้มีศีลธรรม ซึ่งเป็นหน้าที่ของครูบาอาจารย์ทั้งหลายโดยตรง หรือทุกคนที่มีความรับผิดชอบเพื่อนมนุษย์ การทำให้มีศีลธรรม ประสิทธิ์ประสาทศีลธรรม การประสิทธิ์ประสาธน์ศีลธรรม ประสิทธิ์ คือทำให้มันสำเร็จทำให้มันมี ประสาธน์คือทำให้มันสวยงาม ใช้คำมันออกจะนั่นไปหน่อยแต่ก็ไม่เป็นไรช่วยจำไว้ก็แล้วกัน ช่วยกันประสิทธิ์ประสาธน์ศีลธรรม ประสิทธิ์ทำให้มันมี ประสาธน์ทำให้มันสวยงาม ก็แปลว่าทำให้มันมีอย่างสวยงาม ประสาธน์นี่ต้องเขียน ธอธง สะกด นอหนู การันต์ นะ ประสิทธิ์ประสาธน์ ประสาธน์สดับ ประสิทธิ์ประสาธน์ศีลธรรมให้แก่ยุวชน ให้แก่เด็กๆ ให้แก่คนทุกคนดีกว่า นี่เป็นสิ่งที่ต้องทำในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะที่เป็นครูเป็นหน้าที่โดยตรง ทำให้เขามีศีลธรรมอย่างสวยงามด้วย อย่าเอาอย่างธรรมดาหละ สวยงามนี่มันเป็นภาษาศิลปะที่พระพุทธเจ้าท่านก็ชอบ ท่านยืนยันด้วยว่าท่านมี แล้วก็ท่านสอนสาวกให้ธรรมด้วย ว่าจงประพฤติพรหมจรรย์ก็ดี จงประกาศธรรมะก็ดี ให้มีความงดงามในเบื้องต้น ให้มีความงดงามในท่ามกลาง ให้มีความงดงามในเบื้องปลาย แสดงว่าหลักในพระพุทธศาสนานี่ก็นิยมในสิ่งที่เรียกว่าความงาม แต่ไม่ใช่ความงามทางวัตถุสีสันเขียวแดง มันเป็นความงามทางวิญญาณ ในด้านวิญญาณ งามด้วยความถูกต้องด้วยความสมบูรณ์ ด้วยความไม่เศร้าหมองด้วยอะไรต่างๆ ที่ประพฤติพรหมจรรย์ก็ดี จะเผยแผ่พระศาสนาก็ดี จงทำไปให้มีความงดงามในเบื้องต้นคือแรกทำ เช่นมีเอ่อ.. เช่นมีความรู้ดี งามในท่ามกลางมีความประพฤติดี ปฏิบัติดี งามในท่ามกลางก็ได้ผลเต็มตามนั้นเลย มีความงามเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย หรือจะเรียกว่ามีศีล ทางกาย วาจาดี เบื้องต้น ท่ามกลางมีจิตใจดีอย่างที่ว่าเมื่อตะกี้ และเบื้องปลายก็มีวิญญาณดี ก็เรียกว่างดงาม ท่ามกลาง เบื้อง งดงาม เบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย
เดี๋ยวนี้เรามักจะสอนกันแต่เพียงให้จดไว้ในสมุด นั้นคุณอย่าเพียงแต่จดไว้ในสมุด เดี๋ยวนี้กำลังจดกันใหญ่ อย่าจดไว้แต่ในสมุด จะทำให้อาตมาเสียชื่อ เช่นเดียวกันกับบอกให้เด็กๆเขาจดไว้แต่ในสมุด ปิดสมุดท่องบ้างก็สอบไล่สอบถูก ได้คะแนนแล้วก็เลิกกัน อย่างนั้นมันไม่พอ มันเพียงแต่จดไว้แล้วก็สอบไล่ได้ มันไม่ได้ปฏิบัติเลย เป็นความงามในเบื้องต้นอย่างหลอกลวง ไม่ได้เก็บไว้ในใจ เก็บไว้ในสมุด นี้เรียกว่าหลอกลวง ชั้นความรู้หลอกลวงเสียแล้ว ชั้นการปฏิบัติมันก็ไม่มี ก็ยิ่งหลอกลวง ก็ไม่เป็นการการประสิทธิ์ประสาธน์ที่ดี จะแยกให้ชัดลงไปว่า เบื้องต้นที่จะให้ความรู้มันงดงาม คือทำให้เขาเข้าใจโดยประจักษ์ เช่นสอนศีลธรรมนี่ เหมือนสอนศีลธรรมแก่นักเรียนนี่ ให้เขามีความเข้าใจโดยประจักษ์ อย่าให้เข้าใจครึ่งๆกลางๆงูๆปลาๆ หรือคลุมเครือ ถ้าประจักษ์นี่เราอยากจะใช้หลักของพระพุทธเจ้า คือว่าเขาจะรู้อะไร อย่างน้อยก็รู้ว่า สิ่งนั้นคืออะไร สิ่งนั้นมาจากอะไร สิ่งนั้นเป็นไปเพื่ออะไร สิ่งนั้นได้โดยวิธีใด เป็นหลักของอริยสัจในพระพุทธศาสนา ใช้เป็นหลักทั่วไปแก่ทุกสิ่งได้ สิ่งนั้นคืออะไร ดูลักษณะ ดูประเภทดูอะไรของมันว่าคืออะไร แล้วสิ่งนั้นมันมาจากอะไร แล้วสิ่งนั้นมันจะเพื่อประโยชน์อะไรต่อไป แล้วสิ่งนั้นมันจะสำเร็จได้ตามที่เราต้องการนั้นอย่างไร
ลองใช้ ๔ ประการนี้แก่ทุกเรื่อง ที่เราจะสอนผู้อื่นหรือที่จะอธิบายแก่ผู้อื่น เช่นว่าศีลธรรมคืออะไรต้องตอบได้ ศีลธรรมมาจากอะไร อย่าพูดว่ามาจากกฎเกณฑ์ของธรรมชาติอันเด็ดขาดนะ ไม่มีใครยกเว้นให้ มันเป็นความเด็ดขาดของธรรมชาติหรือของพระธรรม หรือของพระเจ้า หรือว่ามันจะมาจากไอ้ความเหลวไหลของมนุษย์ ที่ต้องเกิดศีลธรรมขึ้นมาในโลก มาจากอะไร มันเป็นไปเพื่อประโยชน์อะไร ศีลธรรมนี้มันเพื่อประโยชน์แก่ความปกติสุขของคน ของไอ้สิ่งที่จะรู้สึกได้ รับผิดชอบได้ แล้วจะสำเร็จได้โดยวิธีใด
ถ้าจะมีศีลธรรมมันขึ้นอยู่กับการบังคับตัวเอง คือมันรู้แล้วมันเป็นอะไรอย่างไร มันก็ต้องบังคับตัวเองให้ทำให้ได้ตามนั้น ให้ประพฤติถูกต้อง นี่ เรียกว่าให้เขารู้ ให้เขาเข้าใจ โดยประจักษ์ความเป็นอย่างนี้ ไม่ว่าเรื่องอะไรหมดแหละ
ทีนี้ถ้าว่าจะให้ลึกไปกว่านี้อีกเป็นธรรมะชั้นสูงขึ้นไป พระพุทธเจ้าท่านมีหลักไว้อีกว่า สิ่งนั้นมันคืออะไร โดยปรากฏการณ์มันคืออะไร และสิ่งนั้นมันมีเสน่ห์อย่างไร ดูมันมีเสน่ห์หรือความหลอกลวงหรือพรางตาอย่างไร ก็ดูว่า สิ่งนั้นมันมีโทษมีอันตรายแท้จริงแฝงอยู่อย่างไร มันมีเสน่ห์หลอกลวงพรางตาอย่างแรก แล้วมันมีไอ้โทษความเลวทรามแฝงอยู่อย่างไร แล้วมันเกิดขึ้นมาด้วยลักษณะอะไรและลักษณะอย่างไร แล้วมันจะดับไปได้ด้วยลักษณะอย่างไร มันมัวแต่เกิดดับอยู่อย่างนี้ แล้วเราจะมีวิธีออกไปเสียให้พ้นเสียจากสิ่งเหล่านี้โดยวิธีใด รู้จักลักษณะของมันว่าเป็นอย่างไร รู้จักภาวะมัน รู้จักเสน่ห์ที่เรียกว่า อัสสาทะของมันเป็นอย่างไร รู้จักโทษเลวทรามของมันคือ อาทีนวะ ของมันเป็นอย่างไร รู้ที่เกิดของมันคือสมุทัยของมัน รู้ความดับของมันคือ อัฏฐังคมะ,อัสดง ,อัสดงคตของมันเป็นอย่างไร แล้วอุบายที่เราจะอยู่เหนือความบีบคั้นของสิ่งเหล่านี้ ทีละนิด ทีละน้อย ออกไปซะได้นี้อย่างไร นี้มันจะลึกไปแล้วมันจะเป็นธรรมะชั้นสูงไปแล้ว แต่ถ้าเข้าใจได้ก็ยิ่งดี ใช้ประโยชน์ได้ในทุกกรณีเหมือนกัน ถ้าเราจะรู้จักอะไรเราต้องรู้จักในแง่มุมเหล่านี้ เราจึงจะไม่หลงไหลพ่ายแพ้แก่มัน ใครมีปัญหาเรื่องกิเลสข้อไหนก็เอาไอ้หกประการนี้ไป พิสูจน์ดูเหอะ เพราะว่าจะแก้ไขได้ มีปัญหาเรื่องความรักก็ดี ความโกรธก็ดี ความเกลียดก็ดี ความกลัวก็ดี อะไรก็ดีเหอะ อาจจะทำลายได้ด้วยความรู้ในแง่มุมเหล่านี้ ถ้าว่าช่วยให้เข้าใจโดยประจักษ์ในเรื่องนั้นๆแล้ว ก็พอแล้ว สำหรับส่วนที่เป็นความรู้
ทีนี้ต่อมาก็เป็นเรื่องของการปฏิบัติ คือทำให้ได้ตามนั้น ถ้ารู้อะไรมาอย่างถูกต้องโดยประจักษ์ นี้ก็ทำให้ได้ตามนั้น มีการช่วยให้เข้าใจแล้ว ก็ต้องมีการช่วยให้ทำได้ตามนั้นด้วย ครูบาอาจารย์ช่วยให้ลูกศิษย์เข้าใจโดยประจักษ์แล้ว ต้องช่วยให้เขาทำได้ตามนั้นด้วย เดี๋ยวนี้เรามีแต่บอกให้เขาจดไว้เท่านั้น หรือบอกว่านี่ ทำนี่นะ ทำนี่นะ มีแต่เท่านั้นเอง ไม่มีบอกว่าทำอย่างไร ไม่มีการแสดงตัวอย่างให้ดูว่าทำอย่างไร ไม่มีการแก้ไขให้ดูว่าจนสำเร็จประโยชน์ได้อย่างไร แล้วไม่บอกว่าทำอย่างไร เราไม่แสดงตัวอย่างให้ดู เราไม่ได้ชี้วิธีแก้ไขช่วยแก้ไขอะไร เมื่อเราก็ต้องช่วยในข้อนี้ด้วย ช่วยให้เข้าใจแล้วก็ช่วยให้ทำได้ด้วย
ทีนี้เราจะช่วยชั้นหนึ่งอีกก็คือว่า ให้มันมีกำลังใจ นี้เป็นเรื่องที่ทุกๆคนพอจะฟังออก กำลังใจนี่สำคัญ ถ้ามันไม่มีแล้วทุกอย่างมันทำไม่ได้ หรือมันยากไปหมด มันเหลือวิสัยไปหมด ซึ่งก็ต้องมีกำลังใจ ทุกอย่างมันยังจะเอาชนะได้ ซึ่งมองเห็นว่าเอาชนะได้ นั้นครูบาอาจารย์จะต้องทำให้ ลูกเด็กๆหรือนักเรียนนักศึกษามันมีกำลังใจอีกทีหนึ่ง ให้เขาทำตลอดไปจนสำเร็จ ทำให้ดูดีที่สุด ให้กำลังใจมันเชื่อได้แน่ ว่าเอ้อ, นี่มันทำได้แน่ เพราะอาจารย์ก็ยังทำได้แล้วเราทำไมจะทำไม่ได้ หรืออาจารย์ทำไม่ได้แล้วไปบอกให้ลูกศิษย์ทำ มันก็ไม่มีกำลังใจที่จะทำ อย่างอาจารย์กินเหล้านี่ บอกลูกศิษย์อย่ากินเหล้ามันก็ไม่มีความหมายอะไร หรืออาจารย์สูบบุหรี่ เราก็บอกลูกศิษย์ว่าอย่าสูบบุหรี่ นี่มันก็ไม่มีความหมายอะไร แล้วต้องยกย่องสรรเสริญคนที่ทำได้ ให้เกียรติยศแก่คนที่ทำได้ อาจารย์จะต้องช่วยประคับประคองประสิทธ์ประสาธน์ความมีศีลธรรม แก่ลูกศิษย์ถึงอย่างนี้ ถ้าทำได้อย่างนี้ ศีลธรรมก็กลับมา สรุปความว่าอย่างนั้น
ถ้าเราประสิทธ์ประสาธน์ศีลธรรมแก่ลูกศิษย์ ในลักษณะอย่างนี้แล้ว ศีลธรรมก็กลับมา ช่วยให้เขาเข้าใจโดยประจักษ์ ช่วยให้เขาทำให้ได้ พร้อมกันนั้นก็ช่วยยกย่องให้กำลังใจ สรรเสริญให้เกียรติยศไปเรื่อยๆจนกว่าจะถึงที่สุด การกลับมาแห่งศีลธรรมกลับมาได้โดยการศึกษาที่สมบูรณ์ ทุกอย่างที่มันกล่าวมานี้มันเป็นการศึกษาที่สมบูรณ์ รู้จริง ทำจริง ได้ผลจริง ไอ้ความรู้นั้นก็เป็นความรู้จริงที่ใช้ปฏิบัติได้ การกระทำนั้นก็เป็นสิ่งที่อยู่ในวิสัยที่ทำได้ ผลมันก็เกิดขึ้น นี่โลกนี้กำลังต้องการการกลับมาแห่งศีลธรรม ไปพิจารณาดูเถอะ
ทีนี้ช่วงเวลาที่เหลืออยู่นี้อยากจะพูด อีกสักข้อหนึ่งเป็นข้อสุดท้ายว่า การจัดการศึกษาให้มันสมบูรณ์ เป็นหัวข้อที่ ๓ การจัดการศึกษาให้สมบูรณ์ ข้อนี้มันขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่างและทับซ้อนกันอยู่หลายชั้น พูดหมดก็คงจะไม่ไหว ก็พูดเท่าที่ควรจะเอามาพูดช่วงเวลานี้ องค์ประกอบมันลึกลับซ้อนกันอยู่หลายอย่าง ที่จะจัดการศึกษาให้สมบูรณ์ มีอุปสรรคมีอะไรอยู่หลายอย่าง ซึ่งเรายังไม่ทราบเสียเลยก็มี อย่าว่าดูถูกเลย อยากจะพูดบ้าง บางอย่างก็ยังไม่ทราบกันเลย ครูบาอาจารย์ยังไม่ทราบ และบางอย่าทราบแต่ไม่ชอบก็มี ไม่ชอบจะทำ มองข้ามไปเสียก็มี ถ้าเราไม่ชอบจะทำ โดยที่เราก็ไม่รู้ก็มองข้ามไปเสียก็มี นี่อุปสรรคหรือว่าสิ่งที่ขัดขวางไอ้การจัดการศึกษาให้สมบูรณ์นี่มัน มันมีอยู่ลึกลับอย่างนี้ มันก็จะแยกเป็น ๓ ชั้นอีกตามเคย
ในชั้นแรก ก็ต้องให้ความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์ทุกระดับ นี้ส่วนความรู้ ส่วนวิชาความรู้นั้น ใช้ความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงนี่ทุกๆระดับ เช่นว่ารู้ว่าเกิดมาทำไม ชีวิตนี่มันคืออะไร เกิดมาทำไม ที่นั่งกันอยู่ตรงนี้ รู้รึเปล่าว่าเกิดมาทำไม ก็พิสูจน์ได้เลยว่าคงจะไม่ตรงกันหละ ทั้งร้อยคนนี้ต้องตอบกันไปทั้งร้อยอย่าง เกิดมาทำไมนี้ มันตอบเท่าที่ตัวรู้สึก ความจริงมันมีอยู่เท่าที่บุคคลนั้นรู้สึก เกินว่านั้นก็ไม่รู้ ชีวิตนี้คืออะไร ก็ตอบว่าชีวิตนี้คือยังไม่ตาย เท่านี้มันไม่พอ มันเป็นระดับที่ไม่มีความหมายอะไรนัก ชีวิตที่แท้จริง มันก็ต้องความเป็นอยู่ที่มันไม่มีความทุกข์ เป็นชีวิตที่แท้จริงอย่างน้อย เกิดมาทำไม เกิดมามันมีประโยชน์ที่สุดคืออะไร มันได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ แล้วมันคืออะไรก็ยังไม่รู้ ชอบอะไรก็จะว่าอย่างนั้นแหละ เด็กๆก็ชอบไปอย่าง คนหนุ่มสาวก็ชอบไปอย่าง ผู้ใหญ่ชอบไปอย่าง คนแก่คนเฒ่าก็ชอบไปอย่าง นี่สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรจะได้คนละอย่างคนละอย่าง ก็ไม่ถูก
ถ้ามันจะรวมกันได้ มันก็ต้องว่า มันก็สภาพที่ว่าดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้เข้าถึง คือชีวิตที่สะอาด สว่าง สงบ เยือกเย็นไม่มีความทุกข์เลย เป็นที่พอใจอยู่ตลอดเวลา คำว่าพอใจในทีนี้คือมันไม่อยากอะไรอีกต่อไป ถ้ามีอะไรสำหรับพอใจอยู่ก็ยังไม่ค่อยพอใจ มันยังอยากอยู่ เมื่อมันไม่มีอะไรจะอยาก ใจมันหยุดนั่นแหละคือความพอใจ ความหมายของทางพระธรรมทางศาสนา หรือถ้าพูดให้ถูกกว่านั้นมันก็พูดว่า เฉยอยู่ได้ในทุกกรณี ถ้าพูดอย่างนี้ไม่มีใครอยากได้ เพราะไม่มีใครชอบเฉยอยู่อย่างยิ่ง ก็ชอบความสุขชอบความพอใจชอบอะไรต่างๆ ก็เลยต้องพูดออกมาในรูปของความพอใจอย่างยิ่งในทุกกรณี เกิดมาเพื่อให้ได้รับสิ่งสูงสุดอันนี้
แต่เราคงจะสอนลูกเด็กๆในอันดับนี้ไม่ได้ ก็ฝากไว้ก่อนแล้วกันว่า ให้ดูเอาเองก็แล้วกันให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ แต่อย่าเพื่อตัดสินลงไปผลุนผลัน ว่าอันนี้ดีที่สุดที่เขาควรจะได้ ให้ ให้ ให้ฝากไว้ก่อนเสมอไป เดี๋ยวนี้รู้สึกว่านี่ที่ดีที่สุดที่ควรจะได้ แต่อย่าเพิ่งคิดว่านี่มีเพียงเท่านี้ยังมีอีก เดี๋ยวค่อยๆเลื่อนชั้นขึ้นไป ถ้าเป็นกรณีที่ควรจะพูดให้ขึ้นเลยก็บอกได้ว่าเราจะต้องเกิดมาดีที่สุดตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ หรือที่พระเจ้าเขาต้องการ แล้วแต่ว่าเราจะถือศาสนาไหน นี่อาศัยความเชื่อ ก็เชื่อไปก่อนก็มีประโยชน์เหมือนกัน แต่คงจะลำบากสำหรับสมัยนี้ ที่เด็กๆเขาเป็นประชาธิปไตยมากเกินไป ไม่ยอมใช้ความเชื่อ ตัวชีวิตนี้คืออะไรนี่ ถ้าดูให้ประจักษ์ก็ดูอย่างที่ว่ามาเมื่อตะกี้นี้ ชีวิตนี้คืออะไร มากจากอะไร เพื่อประโยชน์อะไร และสำเร็จได้โดยวิธีใดเป็นต้น รวบรัดกับมันหน่อยก็ว่าเราเกิดมาทีนี่ ควรจะได้อะไร ได้อย่างไร ได้เท่าไร ที่เป็นมนุษย์เป็นคนเป็นอะไรอยู่นี้มันควรจะได้อะไร และควรจะได้นี่อย่างไร และควรจะได้เท่าไรด้วย ถ้ามันมากไปมันก็ มันก็เป็นเรื่องบ้าหลัง เท่าไรในความพอดีหรือถูกต้อง หรือเป็นกลาง กระทั่งดูออกไปไกลนอกตัวว่า ไอ้โลกและเพื่อนร่วมโลกของเรานี้มันคืออะไร จนกระทั่งรู้ว่า โอ้, มันเป็นสิ่งที่ต้องสัมพันธ์กัน จนกระทั่งรู้ตามหลักของพระพุทธศาสนา ที่ว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งโลกทั้งสิ้น มันก็ควรจะรู้อย่างนั้น โลกและเพื่อนร่วมโลกนะมันคืออะไร ถ้ารู้จริงก็จะไม่เห็นแก่ตัว ก็จะเห็นแก่ผู้อื่น ก็จะเห็นแก่ความถูกต้อง เห็นแก่สิทธิและความเป็นธรรมของผู้อื่น นี่ก็เรียกว่า มันมีความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่เพียงพอ
เอ้า, ทีนี้ก็มาดูที่การกระทำ เวลามันเหลือน้อยแล้ว การกระทำมันก็มีปัญหา แต่ว่าเราจะเอาหลักสำหรับการปฏิบัตินั้นมันก็พอพูดได้ว่า ไอ้การกระทำทั้งหมด นี้มันเกี่ยว มันขึ้นอยู่กับการบังคับตัวเองให้ได้ก่อน บังคับตัวเองคือกิเลส ตัวเองคือกิเลสก็ต้องบังคับให้ได้ ก็พัฒนาตัวเองให้ได้ด้วย ไอ้พัฒนาตัวเองนี้ไม่ใช่กิเลส เป็นตัวธรรมะ เรามีตัวอยู่ ๒ ตัว ไอ้ตัวที่มันบ้าขึ้นมามันคือตัวกิเลส ไอ้ตัวที่มันสงบปกติอยู่เป็นตัวธรรมะ ก็ทั้ง ๒ ตัวนั้นมีสลับกันอยู่ มันไม่ใช่ของจริงอะไร แต่มันมีอยู่ ๒ ตัวเสมอ พอมีกิเลสเข้าครอบงำ มันก็บ้าคลั่งขึ้นมาเป็นตัวกิเลส พอมันสงบอยู่ตามปกติมันก็เป็นตัวธรรมะของธรรมชาติ ไอ้ตัวกิเลสนี่ต้องบังคับ อย่าให้มันเห็นแก่ตัวส่วนตัวของธรรมะนี้จะต้องส่งเสริม มันทำให้เห็นแก่ธรรมให้เห็นแก่ธรรมะ ไม่เห็นแก่ตัวเอง แต่เห็นแก่ธรรมะการกระทำที่ถูกต้อง อย่าเห็นแก่กิเลสหรือไอ้ตัวของกิเลส ให้เห็นแก่ตัวของธรรมมะคือความถูกต้อง ให้มองเห็นว่าไอ้การทำหน้าที่ที่ถูกต้องนั้นคือการปฏิบัติสูงสุด คือการปฏิบัติธรรมะ การปฏิบัติหรือการกระทำที่สูงสุด ที่ประเสริฐที่สุดนั้นคือการทำหน้าที่ของตัวให้ถูกต้อง จะเป็นบุคคลชั้นไหนเป็นวัยไหนเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นอะไรก็ตาม ต้องทำหน้าที่ของตัวให้ถูกต้อง นั้นคือการปฏิบัติที่ถูกต้องคือการปฏิบัติธรรมะ แม้ที่สุดเราจะเป็นสัตว์เดรัจฉาน เขาก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามความเป็นสัตว์เดรัจฉาน มันจึงจะไม่มีเรื่องเกิดขึ้น นี่ถือว่า ปฏิบัติธรรมะคือปฏิบัติหน้าที่ การปฏิบัติหน้าที่คือการปฏิบัติธรรมะ อย่าต้องไปหวังว่าจะทำบุญทำทานอะไรที่ไหนให้มากนักเลย เป็นครูบาอาจารย์และทำหน้าที่ของครูบาอาจารย์ให้บริสุทธิ์และสมบูรณ์นั่นหนะ คือการปฏิบัติธรรมะ แล้วให้รู้สึกว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่าศึกษาๆนั้นคือการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่เพียงแต่การเรียน ไอ้เรียนอย่างเรียนหนังสือ การบังคับตัว ขูดเกลาตัวให้มันสะอาด และทำให้มันมีความเจริญก้าวหน้ามีสมรรถภาพ นั่นแหละคือการศึกษา ไม่ใช่เรียนหนังสือในกระดาษ มันเป็นอุปกรณ์เบื้องต้น การตระเตรียมในเบื้องต้นเพื่อการศึกษา ตัวการศึกษาจริงๆอยู่ที่การกระทำ การบังคับตัวเองได้นั่นแหละคือหัวใจของการศึกษาที่สมบูรณ์แบบ นี่ สรุปความเท่านี้เอง การบังคับตัวเองให้ได้ให้อยู่ในความถูกต้องนั้นแหละ คือการศึกษาที่สมบูรณ์แบบ คือหัวใจของการศึกษาที่สมบูรณ์แบบ นั้นอยู่ที่การบังคับตัวให้อยู่ในความถูกต้อง เมื่อเราประสิทธิ์ประสาธน์ให้นักเรียนนักศึกษาเขามีการกระทำในลักษณะอย่างนี้ หลังจากที่ได้มีความรู้ในลักษณะอย่างที่กล่าวมาแล้ว ทีนี้สิ่งสุดท้ายก็คือผลของการปฏิบัติ ทำให้เด็กๆเขารู้ว่าผลของการปฏิบัติที่ถูกต้องนั้นคืออะไร ผลของการปฏิบัติศีลธรรมปฏิบัติธรรม ปฏิบัติความถูกต้องนั้นผลของมันคืออะไร อย่าวัดผลมันด้วยวัตถุที่มันรกหนาขึ้นมา ครั้นเจริญด้วยวัตถุนั่นนี่โน่น ที่เป็นวัตถุสวยงามหรูหรา รกรกรกเป็นปมขึ้นมานี้อย่าไปวัด อย่าวัดผลงานอย่างนั้น เป็นโลกนี้มันมีอะไรขึ้นมารกไปหมด แต่วัดด้วยสันติภาพที่มันปรากฏอยู่ สันติภาพที่ปรากฏอยู่มีมากน้อยเท่าไหร่นั้นเป็นเครื่องวัดผลงานของการศึกษาที่สมบูรณ์ ไม่วัดด้วยอารยธรรมเนื้อหนัง แต่วัดด้วยมนุษยธรรมที่แท้จริง คำว่าอารยธรรม นี่เราจะใช้กับคำว่า Civilization ที่คนสมัยนี้เขาบูชากันนัก มันเป็นเรื่องเนื้อหนังทั้งนั้น เป็นเรื่องที่ตั้งของกิเลสทั้งนั้น อย่าไปเอาอารยธรรมเนื้อหนังชนิดนั้นมาเป็นเครื่องวัดผลของการศึกษาที่สมบูรณ์แบบเลย แต่วัดด้วยมนุษยธรรม มนุษยธรรมคือธรรมะที่ทำความเป็นมนุษย์มันมีอย่างไร มีจิตใจอย่างไร มีกายวาจาอย่างไร มีดวงวิญญาณอย่างไร แล้วก็ยอมรับว่า แม้ไม่รู้หนังสือสักตัว ก็ยังประกอบไปด้วยมนุษย์หรือความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงยิ่งกว่าผู้ที่มีปริญญายาวเป็นหาง
ขออภัยใช้คำมันค่อนข้างจะหยาบคาย ปริญญายาวเป็นหางมันรู้หนังสือมากรู้อะไรมากมีอะไรมาก อีกคนหนึ่งมันไม่รู้หนังสือสักตัว มันก็ยังอาจะมีความเป็นมนุษย์มากกว่า พวกที่มีปริญญายาวเป็นหาง เราวัดใน วัดผลของการศึกษาที่สมบูรณ์แบบวัดอย่างนี้ เอาไว้เป็นอันว่าเราได้พูดกันในวันนี้พอสมควรแก่เวลาแล้ว โดยหัวข้อว่า “ศีลธรรมกับการศึกษาที่สมบูรณ์แบบ” โดยชี้ให้เห็นว่า ศีลธรรมมีการศึกษาที่สมบูรณ์แบบเป็นรากฐาน เรากำลังต้องการการกลับมาแห่งศีลธรรมอย่างจำเป็นที่สุด ดังนั้นเราจะต้องจัดการศึกษาให้สมบูรณ์แบบ ศีลธรรมจึงจะกลับมา วัดผลด้วยสันติภาพของโลก ว่าการจัดนั้นได้เป็นไปอย่างถูกต้องแท้จริง นี่เรื่องการบรรยายก็ขอจบไว้เพียงเท่านี้ ต่อไปนี้ก็เป็นเรื่องของการถามปัญหา มีเวลาเหลืออยู่สัก ๓๐ นาที