แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพุทธทาส: ใครสงสัยตั้งคำถามขึ้นมาเลย//
วิทยากร: ถามออกอากาศ สิครับ คือคนอื่นจะได้ฟังด้วยนะครับ คือมีปัญหาอะไร ถามอาจารย์ คือถามตรงนี้แหละครับ//
ท่านพุทธทาส: รวบรัดคำถามให้ฟังง่ายชัดเจน จะถามว่าอย่างไรก็ถามไปเลย//
คำถาม: เอ่อ, คำถามที่จะถาม ที่จะกราบเรียนถามท่านอาจารย์นี่ ความจริงมันอาจจะฟังยากสำหรับผู้ที่ไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์นะคะ แต่ที่พูดนี่ไม่ใช่ว่า เอ่อ, จะแยกตัวเองออกไปนะคะ แต่ว่าคือหลังจากที่ได้พูดไปแล้วก็ยังรู้สึกว่าไม่ค่อยเข้าใจกันนักแม้กระทั่งในหมู่พวกวงการเดียวกัน คำถามที่จะเรียนถามท่านอาจารย์ก็คือว่าที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงคำว่าธรรมสัจจะและคำว่าสัจจาภินิเวสนั้นน่ะ เราสามารถจะนำเอาคำ ๒ คำนี้ ไปแนะนำให้นักเรียนหรือนิสิตนักศึกษาที่เรียนวิชาวิทยาศาสตร์เข้าใจคำ ๒ คำนี้โดยยกตัวอย่างที่เกี่ยวกับเรื่องที่เขารู้อยู่ คือเกี่ยวกับภาษาวิทยาศาสตร์ได้ไหม คืออย่างดิฉันต้องการที่จะยกตัวอย่างว่า ถ้าพูดถึงว่าสัจจาภินิเวสนั้น อาจจะหมายถึงสิ่งที่ไม่ สิ่งที่เรา สิ่งที่ไม่จริง สิ่งที่ไม่จริงแต่ว่าเราคิดว่ามันเป็นจริง อย่างเช่นใบไม้สีเขียวที่ได้พูดไปแล้วเมื่อตะกี้นี้ว่า ใบไม้สีเขียวนั้น ที่ว่ามีสีเขียวเพราะว่ามันมีสารวัตถุที่เป็นสีเขียวอยู่ ซึ่งอันนี้นี่ เด็กนิสิตก็อาจจะเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ว่าโดยที่แท้จริงแล้วนี่ ใบไม้ที่เราเห็นว่ามีสีเขียวอยู่นั้นน่ะ มันไม่ใช่มีสารวัตถุที่เป็นสีเขียวอย่างเดียว แต่มันมีสารวัตถุที่เป็นสีแดง สีเหลือง และสีน้ำตาลรวมอยู่ด้วยในขณะที่มันแสดงว่ามีสีเขียวให้เราเห็นอยู่ แต่สารสีต่างๆ นั้นมันไม่แสดงออกมาให้เราเห็นจนกว่าสารสีเขียวนั้นจะเริ่มสลายตัวไป แล้วสารที่เหลืออยู่นั้น จึงจะแสดงปรากฏออกมา อันนี้นะคะที่ดิฉันข้องใจว่าเราจะยกตัวอย่างอันนี้ว่าเป็นสัจจาภินิเวสได้หรือเปล่าคะ มันอาจจะไม่ได้เลย มันอาจจะเป็นเพียงสิ่งที่เราสมมติขึ้นมา แต่ดิฉันสงสัยว่าเราจะเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นสัจจาภินิเวสได้หรือเปล่าคะ ขอบคุณคะ//
ท่านพุทธทาส: คือปัญหาเขาถามว่า จะเอาคำ ๒ คำ คือคำว่าธรรมสัจจะกับคำว่าสัจจาภินิเวส ไปสอนให้เด็กๆ เข้าใจได้อย่างไร ก็ยกตัวอย่างเหมือนกับว่าใบไม้เขียว ถ้าบอกว่าใบไม้มีแต่สีเขียว ก็กลัวว่าจะไม่ถูก เพราะว่าต่อมามันก็เป็นสีเหลือง สีน้ำตาล เราจะพูดว่าใบไม้มีสีอะไรจึงจะถูก การพูดแต่ว่า พูดว่าเป็นสีอะไรแต่เพียงสีเดียวลงไปนั้น มันจะเป็นสัจจาภินิเวสหรือไม่ นี่คำถามเขาถามว่าอย่างนี้ ตั้งยืดยาว สรุปความสั้นๆ
เรื่องที่ว่าจะสอนให้เด็กรู้จักความหมายของคำว่าธรรมสัจจะกับคำว่าสัจจาภินิเวส ได้อย่างไรนั้น มันยืดยาว แต่ใจความมันสรุปได้ดีมากว่า เมื่อเรากำลังพยายามจะค้นหาสัจจะอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ จุดสัจจะที่แท้จริงนั้นเป็นธรรมสัจจะ ทีนี้เมื่อเราค้นหาอยู่ เข้าไม่ถึง ไปติดตันอยู่ที่ความเข้าใจผิดอันใดอันหนึ่งและก็ยึดมั่นว่าอันนั้นถูก นั้นแหละคือ สัจจาภินิเวส นี่ฟังให้ดี เมื่อตะกี้ก็ได้พูดแล้วว่าสัจจาภินิเวสนั่นคือการฝังตัวเข้าไปในสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยละเมอไปว่าเป็นสัจจะ นั้นเรียกว่าสัจจาภินิเวส ไม่ใช่สัจจะ อย่าได้เข้าไปฝังตัวเข้าไปว่านี้เป็นสัจจะ ส่วนธรรมสัจจะนั้นคือจริง จริงแท้ตามธรรมชาติ รู้หรือไม่รู้ก็ตามใจ แต่มันเป็นความจริงแท้ตามธรรมชาติ ทีนี้การที่จะพูดว่าใบไม้เขียวหรือเหลือง ใบไม้มีสีอะไรแน่ ให้เป็นธรรมสัจจะกันว่าสีอะไรแน่ นี้มันไม่แน่ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันยังเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยมากหลายอย่าง บางทีเราจะต้องพูดถึงทฤษฎีเรื่องสีนี่กันเสียใหม่ก็ได้ เมื่ออย่างตะกี้นี้มันกำกวมเกินไป เราควรจะถือว่าสิ่งที่สะท้อนแสงออกมาเป็นสีต่างๆ นั่นน่ะ ซึ่งจะเรียกว่ารังควัตถุหรืออะไรก็สุดแท้ เป็นวัตถุอันหนึ่งซึ่งจะต้องสะท้อนแสงกลับออกมาเข้าตาคนเห็นเป็นสีนั้นสีนี้ต่างๆ กัน ตามคลื่นของแสงที่มันต่างกัน ฉะนั้นวัตถุที่มีอยู่ในใบไม้ตามปกตินั้น มันสะท้อนแสงที่มีคลื่นที่ทำให้ตาเห็นเป็นสีเขียว แต่ว่าในใบไม้นั้นมีรังควัตถุที่อาจสะท้อนแสงสีอื่นออกมาแต่ยังไม่ถึงโอกาส จะถึงโอกาสต่อเมื่อรังควัตถุสะท้อนแสงสีเขียวนั้นมันได้เปลี่ยนตัวไปด้วยเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็ตาม มันเปลี่ยนตัวเองมันสำหรับจะไปเป็นรังควัตถุสะท้อนคลื่นแสงขนาดอื่นออกมา มันก็เลยสะท้อนแสงชนิดที่สีเหลืองอ่อน สีเหลืองแก่ กระทั่งสีน้ำตาลออกมาเมื่อถึงโอกาสที่วัตถุที่จะสะท้อนคลื่นแสงนั้นมันได้เปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยอย่างไร ฉะนั้นเราไม่ควรจะพูดว่าใบไม้นี้สีเขียวหรือสีอะไรโดยตายตัว โดยธรรมสัจจะแล้ว ก็ต้องพูดถึงรังควัตถุที่กำลังสะท้อน สะท้อนแสงสีอะไร คลื่นแสงที่เป็นสีอะไรออกมานั้นน่ะมากกว่า อย่างนี้เป็นธรรมสัจจะ เราไม่พูดว่าใบไม้นี้สีเขียว เราพูดว่าใบไม้มันก็มีรังควัตถุที่จะสะท้อนแสงสีอะไรออกมาก็ได้ แล้วแต่เหตุปัจจัย แต่เดี๋ยวนี้มันยังมีเหตุปัจจัยเฉพาะ การสะท้อนแสงออกมาเป็นสีเขียวอย่างนี้มันก็เป็นธรรมสัจจะ การไปพูดว่าสะท้อนแสงสีใดออกมาโดยส่วนเดียวนั้นจะเป็นสัจจาภินิเวส คือไปติดตันอยู่ที่นั่น ฉะนั้นนักเรียนควรจะทะลุสัจจาภินิเวสนี้ออกไป คือไม่ถามว่าใบไม้สีอะไร ถามว่าใบไม้มันสะท้อนคลื่นแสงสีอะไรได้เมื่อไหร่ เมื่อไหร่ เมื่อโอกาสใด ในเหตุปัจจัยอย่างไร นี่คิดว่าวิธีนี้จะทำให้นักเรียนเข้าใจคำว่าธรรมสัจจะและคำว่าสัจจาภินิเวส พร้อมกันไปในตัว เอ้า,ถามอะไรอีกก็ถาม ถ้ายังไม่สิ้นกระแสความก็อย่าเพิ่งกลับไป ถามอีกๆ จนหมดคำถามของคนๆนั้น ไม่ต้อง, ไม่ต้อง ให้เขามาถามเอง ถ้าไม่มี เอาคนอื่นมา//
วิทยากร: เชิญครับ มีอีกไหมครับ ใครสงสัยอะไรขึ้นมาถามเลยนะครับ แล้วอยู่จนกระทั่งคนนั้นหมดข้อสงสัย เผื่อจะได้ซักกันตัวต่อตัว เรียกว่าอย่างนั้นดีกว่า นะครับ ขอเชิญครับ //
ท่านพุทธทาส: ตั้งปัญหารวบรัด//
คำถาม: คือผมยังข้องใจ ที่ท่าน...//
ท่านพุทธทาส: ไม่ต้องพูดคำว่าผมยังข้องใจ ถามออกมาว่าอย่างไรดีกว่า ตั้งปัญหารวบรัด//
คำถาม: ครับ คือเรื่องสงครามครับ ท่านอาจารย์บอกว่า ถ้าสงครามเพื่อสู่ภาวะปกติ คือเพื่อสู่ศีลธรรม ก็ทำได้ หมายถึงสงครามภาษาคน สงครามเนื้อหนังนะครับ ไม่ใช่สงครามกิเลส อันนี้แหละครับ ผมอยากให้ท่านอาจารย์ช่วยขยายอีกสักที เพราะว่าถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วก็รู้สึกว่าการทำสงครามบางครั้งก็เป็นสิ่งถูกต้อง ไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งที่เลวร้ายเสมอไป ครับ//
ท่านพุทธทาส: ปัญหามีว่า ที่พูดเมื่อตะกี้ว่าสงครามเป็น, การทำสงครามเป็นศีลธรรมนั้นหมายความว่าอย่างไร นี่ก็ขอเท้าความไปอีกทีหนึ่งว่า ไม่ว่าอะไรที่มนุษย์ควรจะทำเพื่อความปกติของมนุษย์แล้ว จะเรียกว่าศีลธรรมหมด นับตั้งแต่การทำไร่ ทำนา ค้าขายทำอะไรทุกอย่าง อุดมคติทางการเมืองหรืออะไรก็ตามที่จะต้องมี เศรษฐกิจอะไรก็ดี ถ้ามันเป็นของถูกต้องคือบริสุทธิ์แล้วมันจะเป็นศีลธรรมหมด แต่ว่าที่กำลังทำอยู่จริงนี้ไม่เป็นศีลธรรมเลย เศรษฐกิจ การเมืองการทหาร การสงคราม อะไรที่กำลังทำอยู่ในเวลานี้ เห็นได้ชัดว่าไม่เป็นศีลธรรมเลย แต่เนื้อแท้ของมัน โดยธรรมสัจจะของมันนั้น มันประสงค์อยู่ว่าเพื่อความสงบ ถ้าต้องทำเพื่อความสงบ ถ้าต้องทำ ต้องทำเพื่อความสงบหรือเพื่อความทนอยู่ได้โดยปกติสุขนั่นน่ะคือต้องทำ สงครามก็หมายถึงว่าเมื่อมันไม่มีทางออกอย่างอื่นที่จะทำให้เกิดปกติสุข มันก็ต้องทำสงคราม ด้วยจิตใจที่ปกติ ด้วยใจคอที่เป็นปกติ คือว่ามีความยุติธรรม มีความถูกต้อง มีความบริสุทธิ์ใจว่ามันต้องแก้ปัญหาด้วยข้อนี้ ทีนี้มาถึงคำว่าสงคราม สงครามไม่ได้หมายความว่าเอาปืนยิงใส่กันอย่างเดียว การประท้วง การโต้แย้ง การใช้เหตุผล การอะไรต่างๆ ก็เรียกว่าสงครามได้ มีเรื่องในพระบาลีว่าพวกเทวดากับพวกอสูร คือพวกอริยชน อริยกะ[1]ชั้นที่เจริญกับพวกมิลักขะ[2]คนดำนี่ เขาทำสงครามกันมา ขับเคี่ยวกันมาไม่รู้กี่สิบปีแล้ว เรียกว่าเทวาสุรสงคราม ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ไม่มีที่สิ้นสุด มันเรื่องแย่งสิทธิแผ่นดินที่ตรงนั้น หรือว่ามันมีการโกรธเคืองกันด้วยข้อใดข้อหนึ่งที่อ้างว่าตัวไม่ได้รับความเป็นธรรม นี่พวกอสูรกับพวกเทวดา ต่างชั้นกันเหลือเกินน่ะ ที่เขาถอดความหมายเป็นธรรมาธิษฐาน[3] ก็คือพวกมิลักขะกับพวกอารยัน มิลักขะนั่นอินเดีย ทีนี้ต่อมาหัวหน้ามันเกิดนึกกันขึ้นมาได้ว่ามัวแต่ฆ่ากันอยู่อย่างนี้ก็ไม่เห็นมีอะไรที่จะได้ผล ก็เปลี่ยนเป็นทำสงครามธรรมะนี่ คือประชุมกันเป็นสองฝ่าย มีหัวหน้าฝ่ายอสูร ฝ่ายเทวดา แล้วก็มาพูดจาข้อธรรมะกัน ถ้าใครพูดถูกต้องจนที่ประชุมเห็นว่าถูก ก็เป็นผู้ถูกและเป็นผู้ชนะ อันนี้เป็นต้นกำเนิดของหนังสือเรื่องเทวา เทวสงครามที่รัชกาลที่ 6 เอามาแต่ง เป็นคำฉันท์ที่ลูกเด็กๆ เขาสวดกันอยู่ทุกวันนั่นแหละ ในที่สุดที่ประชุมลงมติให้ท้าวสักกะ ที่เป็นหัวหน้าฝ่ายเทวดาเป็นผู้ชนะ ถึงขนาดที่เรียกว่าฝ่ายอสูร สมุน ลูกน้อง บริวารฝ่ายอสูรก็ยังยอมให้ฝ่ายเทวดาชนะ ซึ่งใจความสำคัญมันก็มีอยู่ว่าเราต้องชนะเขาด้วยธรรมะ อย่าชนะเขาด้วยอาวุธ พวกอสูรนี้เขาว่าต้องชนะด้วยอาวุธสิ มันจึงจะแน่ จะเด็ดขาดลงไป ถึงกับอ้างเหตุว่าไม่มีใครเอาทองตีเหล็ก มีแต่คนเอาเหล็กตีทอง ใครเอาทองตีเหล็กมันก็บ้าเลยนี่ มันก็มีเหตุผลที่น่าฟังเหมือนกัน แต่ในที่สุดพูดกันไปพูดกันมา ก็มองเห็นว่าไม่ไหว มันสู้ไม่ตีอะไรดีกว่า เกิดเอาชนะด้วยธรรมะ เอาชนะด้วยการทำความเข้าใจซึ่งกันและกันนี่ดีกว่า มนุษย์ควรจะถือหลักอย่างนี้ สงครามก็คือการตกลงกันได้ในข้อผิดถูกโดยไม่ต้องใช้ปืนยิงกันก็ได้ เอ้า,ทีนี้ถ้ามันพูดกันไม่รู้เรื่อง และมันมีความจำเป็นอย่างอื่น หรือว่าเพื่อป้องกันตัวอะไรก็ตาม เขารุกล้ำเข้ามา เราเสียความยุติธรรมไป ต่อสู้ป้องกันตัวหรือว่ามีเหตุผลอย่างอื่นที่ว่าต้องทำเพื่อความสงบสุขของคนทั้งโลก มันก็ใช้สงครามอาวุธ ถ้าในใจเขาบริสุทธิ์ เขาก็จะรู้สึกว่าเขาไม่ได้ทำสงครามหรือการฆ่าคน เขาทำการรักษาความเป็นธรรม ความยุติธรรมของธรรมสัจจะของสากลจักรวาล ฉะนั้นที่เขาทำไปมันเป็นศีลธรรม จะเรียกว่าเป็นการฆ่าคนหรือความไม่มีศีลธรรมนั้นไม่ได้ แต่มันขึ้นอยู่กับการบริสุทธิ์ใจ ความบริสุทธิ์ใจ แต่คงหายากนะที่ในโลกนี้ที่จะทำสงครามด้วยความบริสุทธิ์ใจอย่างนี้ นี้มันเป็นปัญหาที่เนื่องกันไปหลายแง่หลายมุม เช่นเราจะไม่ถือว่าเพชฌฆาตผู้ฟันคอนักโทษให้ตายไปนั้นเป็นผู้ฆ่าคน เขาทำหน้าที่เพื่อความยุติธรรมของโลกเป็นต้น ผู้พิพากษาเคยถามปัญหาอย่างนี้ เมื่อผู้พิพากษาตัดสินประหารชีวิตคนนั้นไม่ใช่ผู้ฆ่าคน ไม่ใช่ผู้แกล้งฆ่าคน ไม่ใช่มีเจตนาจะฆ่าคน เขาเป็นผู้ระบุความเป็นธรรม ความถูกต้องออกไป ไม่เป็นการฆ่าคน นี่เห็นได้ง่ายกว่า ทีนี้ก็เห็นไปตามลำดับ ลำดับเพชฌฆาตไปถึงการทำสงครามที่ถูกต้อง แต่ไม่ได้ยืนยันว่ามันมีอยู่ในโลกนี้นะ แต่ถ้าว่ามันทำอย่างถูกต้องอย่างบริสุทธิ์ใจนี้ การทำสงครามนั้นต้องเรียกว่าศีลธรรม
ทีนี้การยื้อแย่งของชนกรรมาชีพนี้ ไม่ใช่สงครามที่ประกอบด้วยธรรม ความบกพร่องของตัวทำให้ตนจนลงไป แล้วจะมาแก้ด้วยการใช้อำนาจมุทะลุ ยื้อแย่งเอามาด้วยกำลังอาวุธทำลายผู้อื่น เจตนาไม่บริสุทธิ์ ไม่เท่าไหร่ตัวเองก็เป็นนายทุนเสียเอง ดูเหมือนจะอย่างนั้นมากกว่า เพราะความน้อยใจ เพราะความแค้นใจในความบกพร่องของตนที่ตนไม่รู้สึก ตนไม่รู้จักความที่ตนจนนั้น เพราะความผิดของตน เพราะกรรมคือการกระทำของตนเอง แต่ก็ไม่รู้จัก นี้เป็นจุดใหญ่ที่ว่าไม่ยอมรับลัทธิกรรมของตนเอง เกิดความน้อยใจ เกิดความอาฆาตขึ้นมา เอาอาวุธขึ้นล้างผลาญผู้อื่นเพื่อเรียกหาความเป็นธรรมตามแบบของเขา ตามทัศนะของเขาที่ตีความหมายของคำว่าสันติภาพหรือยุติธรรมตามความหมายของเขา นี้มันไม่ถูก ฝ่ายนายทุนก็เหมือนกัน ถ้าทำไปตามอุดมคตินายทุนก็ไม่ถูก เพราะมันไม่มีความบริสุทธิ์ใจ ฉะนั้นเลิกทำสงครามชนิดนี้กันเสีย แล้วทำสงครามที่ถูกต้อง มีเหตุผล มีการทำความเข้าใจ หรือเมื่อมันมีเหตุผลที่ถูกต้องเพียงพอ จึงจะถึงสงครามที่ใช้อาวุธ ถ้ามนุษย์เป็นมนุษย์จริง เป็นมนุษย์สมความเป็นมนุษย์จริง ไม่ต้องใช้สงครามที่เป็นอาวุธ นี่มันยังมีมนุษย์สัตว์ป่าคือไม่ใช่มนุษย์ มนุษย์ป่าเถื่อน จึงต้องกัดกันเหมือนกับสัตว์ป่า นี่คือสงครามอาวุธ ไม่ประกอบไปด้วยศีลธรรมเลย ถ้าหากว่ามนุษย์เป็นมนุษย์ มันคงจะพูดกันรู้เรื่อง หรือว่าถ้าจะใช้อาวุธกันจริงๆ แล้วมันก็ต้องใช้อย่างเหมาะสมแหละ ไม่ใช่เป็นเรื่องละเลงเลือดกันเล่น ทีนี้เจตนารมณ์เดิมแท้ของคำว่าสงคราม มันก็คือการรักษาความเป็นธรรมของโลกนี้ไว้ นี่คือเจตนาอันแท้จริงของคำว่าสงคราม ทีนี้ต่อมามันเปลี่ยนเสียนี่ มันเปลี่ยนไปตามกิเลสของคนในโลกที่อยากจะ อยากจะได้ประโยชน์ของตัว เอามาเป็นของตัว เมื่อมีโอกาสจะใช้กำลังใช้อาวุธ มันก็ใช้อาวุธทั้งนั้น มันก็มีสงครามต่อต้านอะไรต่ออะไร เป็นสงครามที่ไร้ศีลธรรม ผู้ฟังอย่าได้เข้าใจว่าอาตมาได้กล่าวว่าสงครามแล้วเป็นศีลธรรมไปหมด สงครามที่เป็นศีลธรรมนี้จะหาทำยาหยอดตายาก อย่าว่าทำอะไรเลย มันมีแต่สงครามป่าเถื่อน สงครามไร้ศีลธรรม ที่กำลังมุ่งมาดกันอยู่ในเวลานี้ นี่เราจะต้องดูไปจากธรรมสัจจะของความไม่ปกติของธรรมชาติ ที่บางทีก็จำเป็นจะต้องใช้กำลังใช้อำนาจเพื่อกลับมาของความสงบตามธรรมชาติ จะต้องขุด จะต้องรื้อ จะต้องถอน จะต้องระเบิด จะต้องทำลายเพื่อความปกตินี้มันก็มีได้เหมือนกัน เมื่อพูดว่าสงครามเป็นศีลธรรม ก็หมายความว่าสงครามของมนุษย์ผู้มีศีลธรรม ทำหน้าที่ของตัวอย่างถูกต้องเท่านั้น เอ้า,จะถามอะไรอีกก็ถามได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เอ้า,ถามได้ซักได้ทุกแง่ทุกมุมของข้อนี้ หรือของข้ออื่น//
วิทยากร: เชิญเลยครับ ยิ่งได้มานั่งรอเข้าคิวแล้วสวย//
ท่านพุทธทาส: ถามคำถามเลย เอ่ยตัวปัญหาเลยไม่ต้องมีอารัมภบท//
วิทยากร: เชิญเลยครับ แล้วเดี๋ยวนั่งรอตรงนี้ได้เลยครับ เสร็จแล้วจะได้ถามไป ถามมา//
คำถาม: ขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ที่ท่านอาจารย์พูดในตอนเริ่มต้นว่าให้เข้าใจว่า ธรรมสัจจะไม่ใช่สัจจธรรมนั้น ขอความกรุณาท่านอาจารย์โปรดช่วยให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ด้วยเถอะค่ะ//
ท่านพุทธทาส: อ๋อ, ตอนที่ว่าธรรมสัจจะไม่ใช่สิ่งเดียวกับสัจธรรมนั้น โดยตัวหนังสือมันก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน โดยความมุ่งหมายหรือความหมายมันก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน คำว่าสัจธรรม ก็เป็นคำที่เพิ่งบัญญัติใช้กันขึ้นเหมือนกัน จะกล่าวว่าคำว่าธรรมสัจจะซึ่งเราเพิ่งพูดกันเมื่อไม่กี่วันนี้ ที่จริงเราจะไม่พูดคำศัพท์เหล่านี้ก็ได้ แต่คำบัญญัติเฉพาะอย่างนี้มันมีประโยชน์ที่จะประหยัดเวลา เพราะว่าเราจะต้องพูดเรื่องอื่นที่ยืดยาว ถ้าเราใช้คำบัญญัติเข้าไปแทนมันประหยัดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำบัญญัติเฉพาะที่เขารู้กันทั่วโลก ใช้ร่วมกันทั่วโลก เช่นคำว่าประชาธิปไตยหมายถึงอะไรนี้ คำว่าสัจธรรม กับคำว่าธรรมสัจจะ ตามภาษาบาลี ตามตัวหนังสือตามพยัญชนะกันก่อน สัจธรรม ก็ธรรมที่เป็นสัจจะ ตามตัวหนังสือแท้ๆ ธรรมที่เป็นสัจจะ ธรรมอย่างนี้ความหมายจำกัดแคบ คือหมายเฉพาะที่เป็นสัจจะ ให้มันชัดลงไปว่าธรรมที่เป็นสัจจะ สัจธรรมคือของจริงที่เป็นกฎ ที่เป็นของตายตัว อยู่ในรูปของสิ่งๆ หนึ่ง เป็นกฎ แต่คำว่าธรรมสัจจะนี้ แปลว่าสัจจะ คือตัวแท้หรือตัวจริงแห่งธรรม เราแยกออกมาว่าสิ่งที่เรียกว่าธรรม ธรรม ธรรม นั้นน่ะ มันมีตัวแท้ ตัวจริงอยู่ที่อะไร ที่ตรงไหน จะดึงออกมาใช้ในกรณีนี้อย่างไร นี้ตามตัวหนังสือเป็นอย่างนี้ ทีนี้ขอบอกไว้เสียเลยว่าไม่เอาเปรียบไม่หลอกลวงอะไร คำภาษาบาลีนี้ดิ้นได้ รูปสมาสทั้งหลายเปลี่ยนรูปได้หลายรูป แม้คำ ๒ คำนี้เราเปลี่ยนรูปสมาสเป็นอย่างอื่นก็ได้ เช่นว่าธรรมสัจจะนี้ สัจจะที่เป็นธรรม หรือสัจจะเพื่อธรรม สัจจะที่เป็นตัวธรรม ถ้าคำว่าธรรมหมายถึงธรรมชาติ ก็แปลว่าสัจจะของธรรมชาติ สัจจะนี่ก็คือกฎ สิ่งที่เรียกว่ากฎต้องเป็นอสังขตะ คือใครไปเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้ ทีนี้สัจธรรมก็เหมือนกันอีก ธรรมที่เป็นสัจจะ ธรรมมีมากมายหลายความหมาย อย่างน้อย ๔ ความหมาย และส่วนใดที่เป็นสัจจะหรือเป็นกฎ เราเอามาแต่สิ่งนั้น ก็เรียกสิ่งนั้นว่าสัจธรรม แต่เดี๋ยวนี้ดูจะลดความหมายที่ต่ำลงมาถึงขนาดว่าเป็นศีลธรรมเป็นอะไรไปก็มีแล้ว ที่พูดใช้พูดกันอยู่ ทีนี้เอาตามความมุ่งหมายที่อาตมามุ่งหมาย คำว่าสัจธรรมก็รู้กันดีอยู่แล้วตามเดิม ก็เอาไปตามเดิมก็แล้วกัน เราต้องการความหมายอันหนึ่งที่เข้มข้นมาก ว่าธรรมสัจจะ เป็นตัวแท้ตัวจริง เป็นเนื้อเป็นตัวที่จริงของสิ่งที่เรียกว่าธรรม มุ่งไปอย่างนี้ ถ้าเข้าไม่ถึงตัวจริงตัวแท้ของสิ่งที่เรียกว่าธรรม ก็ไม่มีโอกาสที่จะเห็นธรรม ฉะนั้นจึงเอามาเจาะจงเฉพาะที่เป็นเนื้อตัวแท้ จริง ตัวจริง ของสิ่งที่เรียกว่าธรรม ถ้าคำว่าธรรมหมายถึงธรรมชาติ มันก็ของธรรมชาติ ถ้าคำว่าธรรมหมายถึงการประพฤติปฏิบัติของคน มันก็หมายถึงการประพฤติปฏิบัติของคน ในที่นี้เราต้องการตัวจริงของกฎธรรมชาติ ที่มันเกี่ยวเนื่องกันอยู่กับคน ที่คนจะเข้าใจผิดไม่ได้ พอคนเข้าใจผิดแล้วก็จะเกิดเรื่องทันที ทีนี้คนมันมีต่างๆ กัน เพราะฉะนั้นคำว่าสัจจะ สำหรับคนๆหนึ่งก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีระดับเดียวกันหรือเหมือนกันกับคนอื่น จึงให้โอกาสที่ว่าเราจะมีธรรมสัจจะโดยเฉพาะ ถูกฝา ถูกตัว ถูกฝา ถูกตัวกันกับเรื่องนั้น กับเหตุการณ์นั้น กับบุคคลนั้น กับเวลานั้น กับยุคนั้น นี่คือตัวธรรมสัจจะที่จะต้องมี เช่นว่าเราสอบไล่ตก เราก็จะทำผิดในส่วนธรรมสัจจะที่เกี่ยวกับการเรียนและการสอบไล่ หรือแม้แต่เราทำการบริหารร่างกาย เราทำผิด วันสอบไล่เรามีร่างกายที่ไม่สมบูรณ์อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นธรรมสัจจะจึงเกี่ยวข้องอยู่ทุกแง่ทุกมุมที่มนุษย์จะต้องประพฤติปฏิบัติให้มันถูกต้อง ครอบครัวไม่เรียบร้อยก็เพราะมันมีธรรมสัจจะที่ใช้ไม่ได้คือไม่ถูกต้อง ครอบครัวนั้นมันจึงไม่เรียบร้อย ไม่ถูกต้องตามจิตใจนิสัยสันดานของพ่อบ้านของแม่บ้านของอะไรก็สุดแท้ นี้ธรรมสัจจะนี่จะเป็นสิ่งที่จะต้องรู้และจะแก้ปัญหาได้ เพื่อจะให้มันแบ่งแยกออกมาได้ถูกฝาถูกตัว ของบุคคลของสถานการณ์ของอะไรต่างๆ แม้ในกรณีเล็กน้อยที่สุดจนกระทั่งถึงกรณีที่ใหญ่โตที่สุด นี้เรียกว่าธรรมสัจจะ ถ้าเราไม่ใช้คำว่าธรรมสัจจะ เราต้องพูดด้วยประโยคที่ยาวหลายพยางค์ หลายคำพูดเกินไป ความถูกต้องความเหมาะสมความสมดุล ในระหว่างสิ่งที่จะต้องประพฤติปฏิบัติจะทำให้มันลำบาก จึงขอสร้างคำว่าธรรมสัจจะขึ้นมาใช้ หลังจากที่ได้พิจารณาดูหลายหน ทบทวนดูหลายครั้งหลายหนว่าคำนี้คงจะง่ายแก่การใช้ แล้วก็มีประโยชน์เต็มที่ สรุปความอีกทีว่า สัจธรรม เป็นคำที่ใช้กันอยู่แล้วทั่วไป หมายถึงธรรมะที่เป็นตัวจริง ใช้เป็นหลักเป็นระเบียบเป็นแบบแผนอย่างกว้างๆ อย่างทั่วไป เรียกว่าอย่างทั่วไปก็แล้วกัน ทีนี้ธรรมสัจจะนี้ เป็นกรณีเฉพาะๆ เฉพาะๆ เฉพาะเรื่องที่จะต้องพูด ให้มันแคบเข้ามาให้มันใกล้ตรงจุดเข้ามา นี่คือความต่างกันระหว่างสิ่งที่เรียกว่าสัจธรรมกับธรรมสัจจะ โดยตัวหนังสือก็ดี โดยความหมายก็ดี เป็นอยู่อย่างนี้ เอ้า,ถามอะไรอีกก็ได้ ถ้ามันยังไม่ชัดพอ//
คำถาม: ความเห็นอย่างนี้จะถูกตามที่ท่านอาจารย์ได้แสดงหรือไม่ ธรรมสัจจะคือการปฏิบัติให้อยู่ในศีลธรรม คือปกติทางกาย วาจา หรือปกติทางใจ หรือปกติทางปัญญา//
ท่านพุทธทาส: ขอตอบเสียก่อนเลยว่าไม่ถูกแล้วคำถามนี้ ธรรมสัจจะไม่ใช่การปฏิบัติ ไม่ใช่ตัวการปฏิบัติ แต่เป็นอะไรอันหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่ตัวการปฏิบัตินะ ธรรมสัจจะนี่//
คำถาม: เป็นภาวะปกติ? //
ท่านพุทธทาส: เป็นหลักหรือเป็นกฎ หรือเป็นข้อเท็จจริงความจริงเฉพาะเรื่อง เราต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามธรรมสัจจะ ตัวอย่างของประโยคที่มันจะช่วยประกันความฟั่นเฝือ เราจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามธรรมสัจจะของเรื่องนั้นๆ ฉะนั้นตัวธรรมสัจจะนั้น ไม่ใช่ตัวการปฏิบัติ แต่ว่าเป็นตัวหลักที่จะต้องยึดถือในการที่จะปฏิบัติ ขอให้เข้าใจว่านี่เป็นคำที่บัญญัติขึ้นใช้นะ ที่เราบัญญัติขึ้นใช้เพื่อประหยัดเวลา ไม่ใช่คำที่มีในตำรับตำราในพระบาลีหรืออรรถกถาอะไรนี่ ไม่ใช่ แต่เรื่องมันมี เรื่องอย่างนี้มันมี ทีนี้เราเอาเรื่องนั้นมาตั้งชื่อสั้นๆ ว่าธรรมสัจจะ ธรรมสัจจะมิใช่ตัวการปฏิบัติ แต่เป็นกฎเกณฑ์เฉพาะเรื่องเฉพาะกรณีอันหนึ่งซึ่งจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์นั้นๆ ธรรมสัจจะสำหรับความเป็นบิดา สำหรับความเป็นมารดา สำหรับความเป็นบุตรที่ดี มันมีอยู่เป็นเรื่องๆ ไป เราต้องเข้าถึงแล้วเราต้องปฏิบัติให้ได้ตามนั้น เอ้า, ทีนี้ตั้งปัญหาใหม่ ให้มัน ให้มันตรงกับที่ต้องการจะถาม//
คำถาม: คือมันยังไม่แจ่มแจ้ง ก็เลยยังข้ามไปไม่ได้//
ท่านพุทธทาส: เอ้า,ก็ว่าไปในส่วนนั้นน่ะ เอ้า,ว่าอีกสิ //
คำถาม: ถ้าเช่นนั้น ภาวะปกติที่เรียกว่าศีลธรรม ก็คือธรรมสัจจะ //
ท่านพุทธทาส: ธรรมสัจจะแห่งศีลธรรม ศีลธรรมมีสิ่งที่เรียกว่าธรรมสัจจะของมันเอง จะเอาตัวธรรมสัจจะไปเป็นศีลธรรมนั้นน่ะ มันพูดง่ายเกินไป เราจะมีศีลธรรมได้โดยการประพฤติให้ถูกต้องตามธรรมสัจจะของศีลธรรม นี่เป็นของ เป็นของหน้าใหม่แปลกเข้ามา เลยต้องทำความเข้าใจกันหน่อย คำว่าธรรมสัจจะ//
คำถาม: ถ้าเช่นนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา จะมีไหม //
ท่านพุทธทาส: มีเหตุต่างๆ ต่างอย่าง ต่างก็มีธรรมสัจจะของตน เข้าถึงธรรมสัจจะของศีลแล้ว ก็ประพฤติศีลได้ดีที่สุด เข้าถึงธรรมสัจจะของสมาธิแล้ว จะประพฤติสมาธิได้ดีที่สุด อย่างนี้เป็นต้น //
คำถาม: ศีล สมาธิ ปัญญาจะเป็นธรรมสัจจะไหม//
ท่านพุทธทาส: ไม่เป็นตัวธรรมสัจจะ เป็นตัวที่จะต้องประพฤติ กระทำให้ถูกต้องตามธรรมสัจจะโดยเฉพาะของมัน กฎเกณฑ์อะไรอันหนึ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติศีล จะต้องรู้แล้วก็ปฏิบัติศีลให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์อันนั้น ใช้คำว่ากฎเกณฑ์ก็ยังน้อยไป มันเป็นระบบอะไรอันหนึ่งครบบริบูรณ์อยู่ในตัวมันเอง เรียกว่าธรรมสัจจะ ต้องรู้และต้องทำให้ถูกต้องตามนั้นจึงจะมีศีลขึ้นมา มีสมาธิขึ้นมา มีปัญญาขึ้นมา เราทำอะไรไม่สำเร็จเพราะเราทำผิดธรรมสัจจะของสิ่งนั้นๆ นี่ย้ำแล้วย้ำอีกหลายครั้งหลายหน//
คำถาม: ครับ มันเป็นของใหม่ครับ แล้วก็รู้สึกว่าผมก็ตั้งใจเหลือเกินว่าเดี๋ยวจะไปใครถาม มันเลยอธิบายผิดกันไปอีก ก็ยังจะสงวนเอาไว้สำหรับคำนี้ ถ้าใครถาม ผมก็ต้องผลัดมาให้ถามอาจารย์ เพราะว่ายังไม่มีปัญญา ขอรับว่ายังไม่เข้าใจแท้ครับ แต่ว่า..//
ท่านพุทธทาส: ตัวแท้ของธรรม ตัวแท้ของสัจธรรม ตัวแท้ของสัจธรรม กฎเกณฑ์อันหนึ่ง//
วิทยากร: มีอีกไหมครับ หรือว่าใครจะขึ้นมาแสดงความหมาย หรือว่าอภิปราย//
ท่านพุทธทาส: ไม่ยอม, ขอให้ถามเท่านั้น //
วิทยากร: ตกลงอาจารย์จะให้ถามเท่านั้นนะครับ เข้าใจครับ //
ท่านพุทธทาส: ไม่มีอภิปราย ขอให้ถามเฉพาะข้อเท่านั้น //
วิทยากร: ตัวนี้ก็ได้ครับ ตัวธรรมสัจจะ หรือตัวอื่นปัญหาอื่น เชิญคุณวรรณครับ //
ท่านพุทธทาส: มาซักเรื่องที่ไม่เข้าใจ หรือลังเลหรือคลุมเครือหรืออะไร มาซัก //
คำถาม: เรื่องธรรมสัจจะนี่ ผมก็ไม่ถามเหมือนกันครับ เพราะว่าผมฟังแล้ว ฟังไปฟังมา ถ้าใครถามผม ผมก็อธิบายไม่ถูก ทีนี้ผมอยาก สมมติว่าสัจจาภินิเวส มันง่ายหน่อย สมมติว่าใครถามผมว่าสัจจาภินิเวสน่ะ อธิบายอย่างไร ผมจะอธิบายตามความเห็นของผมนี่ ผมจะถามอาจารย์ว่าถูกหรือเปล่า ผมจะอธิบายให้เขาฟังว่ามนุษย์เราเกิดมาแล้ว สมมติมนุษย์เรานี่ เวลานี้เป็นคน ตายแล้วนี่มันทำบาป ถ้าบาปหนัก วิญญาณออกจากร่างเลยเป็นตัว ไปเข้าสัตว์ มันเป็นสัตว์ พอมันตกนรก มันทำดี ขึ้นไปบนสวรรค์ไปเป็นเทวดา ถ้าผมจะตอบเขาอย่างนั้นน่ะ จะเป็นสัจจาภินิเวสหรือเปล่าครับ //
ท่านพุทธทาส: เดี๋ยวๆ จะกลับเดี๋ยวนี้แล้วหรอ เขียนจ่าหน้าห่อไว้หมดแล้ว คุณวิโรจน์ไปดูหนังสือของคุณเรียบให้ถูกต้องให้ครบนะ นี่จะให้ไว้หลายเล่ม หนังสือนี่ให้ไปสี่เล่ม ห้าเล่มต่อคน คิดว่ายังไม่ไป คิดว่าไม่มีใช่ไหม เอาให้อย่างละ เดี๋ยวก่อน คุณวิโรจน์ หนังสือมีมหิดลธรรมกับเทศนาให้คุณทวีศักดิ์ไปด้วย ให้แล้วเหรอ เอาละ, ไม่เป็นไร ไม่ต้องห่วง หรือไม่ต้องไปคิดอะไรมาก เอ้า, ตั้งต้นปัญหาใหม่ เมื่อตะกี้ไม่ได้ฟัง //
คำถาม: คือว่าธรรมสัจจะนี่ ผมก็ไม่ได้ติดใจอะไรนะครับ เพราะผมก็อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน ทีนี้ผมจะถามในปัญหาที่ว่าสัจจาปฏิเวทน่ะ ไม่ใช่สัจจาปฏิเวท //
ท่านพุทธทาส: สัจจาภินิเวส , สัจจาภินิเวส //
คำถาม: เอ่อ, สัจจาภินิเวส สมมติว่ามีใครถามผมนะ ผมจะตอบเขาว่า มนุษย์เราถ้าทำบาปแล้วน่ะ เวลาตาย ตกจากวิญญาณไปแล้วมันไปเกิดเป็นสัตว์ ถ้าทำบาปขนาดเป็นสัตว์ วิญญาณนั้นไปเกิดเป็นสัตว์ หรือตกนรกไปอยู่อเวจี ถ้าทำบุญ วิญญาณก็ออกจากร่างไปเป็นเทวดา เวลานี้เขามีความเชื่อกันอย่างนั้น แล้วอาจารย์อภิธรรมเขาก็สอนกันอย่างนั้น ที่จะถามว่า นี่เป็นสัจจาภินิเวส หรือเปล่าครับ //
ท่านพุทธทาส: เป็นสัจจาภินิเวสหรือเปล่า ถามว่าอย่างนั้นเหรอ //
คำถาม: ครับ ตอบอย่างนั้นน่ะ ตอบอย่างนั้นถูกหรือเปล่า //
ท่านพุทธทาส: คุณวรรณมายืมปากเราไปด่าคนอื่น เราไม่เอาเว้ย (หัวเราะ)/ พูดกันใหม่ดีกว่านี่ เดี๋ยวก่อน ยังไม่เสร็จเรื่อง เดี๋ยวๆ ขอเดี๋ยว คุณวรรณควรจะฟังใหม่อีกครั้งหนึ่ง ว่าธรรมสัจจะนั้นคือของจริงที่จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องรู้ จะต้องมี จะต้องถึง แม้ว่ามนุษย์เราจะไม่รู้ของจริงอันนี้ แต่ก็มีความรู้สึกตามสัญชาตญาณหรืออะไรอย่างหนึ่งว่าเราจะต้องค้นหาของจริง จะต้องพบของจริงให้จนได้ ซึ่งมันก็คล้ายๆ กับเป็นวัฒนธรรมที่ว่าทุกคนจะต้องค้นหาความจริง เข้าถึงความจริง ฉะนั้นจึงเป็นการธรรมดาสามัญเหลือเกินที่คนเขาอยากจะพบความจริง เพราะมันได้รับการแวดล้อมมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกว่าความจริงเป็นของดี เราควรจะเข้าถึงความจริงเป็นต้น ก็เลยเป็นอันว่ามนุษย์นี้มันอยากจะเข้าถึงของจริง ทีนี้มันอยากจะเข้าถึงของจริง มันก็คิดค้นไปเพื่อจะเข้าถึงของจริงนั้น ถ้ามันไปติดตันอยู่ ก็เพราะคือมันไม่ถูกนั่นแหละ มันจึงติดตันอยู่ มันไปติดตันอยู่ที่ข้อไหน อันนั้นก็เป็นสัจจาภินิเวสขึ้นมา ที่นั่นหรือในรูปอย่างนั้น ในลักษณะต่างๆ กันอย่างนั้น นี้คือสัจจาภินิเวส ถ้าคุณเข้าใจคำว่าสัจจาภินิเวส คุณต้องเข้าใจคำว่าธรรมสัจจะ อย่าปฏิเสธไปอย่างนั้น
ทีนี้ถ้ามีคนเขาอยากจะเข้าถึงธรรมสัจจะที่เกี่ยวกับเกิด การเกิดการตาย เขาก็ค้นไปๆ ทีนี้เขาก็ค้นไปได้ผลมาว่าตายแล้วเกิดอีก หรือลงนรกหรือขึ้นสวรรค์อย่างนั้นๆ เป็นใจความอย่างนั้นๆ ถ้าอันนั้นมันยังไม่จริง ยังไม่ถึงความจริง นั้นมันก็เป็นสัจจาภินิเวสของเขา ต้องเป็นสัจจาภินิเวสแน่นอน เพราะว่าถ้าเข้าถึงธรรมสัจจะกันจริงๆ แล้วมันไม่มีคน ต่อเมื่อมองเห็นข้อเท็จจริงที่ว่าไม่มีคน ไม่มีใครเกิดไม่มีใครตายนู่น มันจึงจะเป็นธรรมสัจจะ ทีนี้ไปเข้าถึงความคิดที่ว่ามีคน นี้มันก็เป็นสัจจาภินิเวสเสียแล้ว แล้วยิ่งไปบัญญัติว่าอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้นด้วย ก็เป็นสัจจาภินิเวสปลีกย่อยมากขึ้นไปอีก มันก็เลยเป็นสัจจาภินิเวสฝูงเลยทีเดียว นี่อาตมาไม่ได้ด่าเขานะ คุณจะมายืมปากไปด่าคนอื่นไม่ได้นะ เพราะถ้าเข้าถึงธรรมสัจจะแล้วจะไม่รู้สึก ไม่เห็นว่ามีคน มีตัวมีตน มีเรามีเขา นี่มันเข้าไม่ถึง มันไปติดอยู่ที่อันใดอันหนึ่งว่ามีคนมีตัวมีตน แล้วมันยังมีปลีกย่อยว่าอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น ไปลงนรก ไปขึ้นสวรรค์ เป็นคนไทยก็มีนรกอย่างไทย เป็นคนจีนมีนรกอย่างจีน เป็นฝรั่งมีนรกอย่างฝรั่ง ดูมันน่าหัวเราะดี ที่มีนรกหลายๆ แบบ นี่เป็นสัจจาภินิเวสหรือไม่ คุณก็ไปนึกเอาเอง เอ้า,มีอะไร//
คำถาม: ความสัจจะนี่ คือฉันก็เป็นครู ก็ต้องซื่อสัตย์กับลูกศิษย์ทุกๆ คน การอบรมสันดานให้ซื่อสัตย์ ไม่ลำเอียง ดีชั่ว มีจนก็ให้ตรงต่อกันทุกๆ คน ทุกๆ ชั้น นั่นความสัจจะ การไม่เอาเปรียบ ตรงไปตรงมา นั่นเรียกว่าสัจจะ หรือว่าหมู่บ้านอยู่กันใกล้เคียง ดีชั่วก็ตรงต่อกัน เอื้อเฟื้อ ซึ่งตีความว่าสัจจะ ถูกต้องหรือไม่ //
ท่านพุทธทาส: ฟังยากหน่อยนะ คือว่า ที่เราจะต้องประพฤติปฏิบัติต่อกันให้ดีที่สุด//
คำถาม: ประพฤติปฏิบัติ, นั่นแหละความสัจจะ
ท่านพุทธทาส: นั่นแหละเป็นสัจจะ
คำถาม: ไม่ใช่ว่าจะอะไรๆ ไม่ใช่ เช่นมากันอีก ๑๐ คน ตรงต่อกัน ก็มีความว่าสัจจะ มึงว่าอย่างนั้น กูว่าอย่างนี้ ไม่ใช่สัจจะ//
ท่านพุทธทาส: ถ้ามันถูกต้องจริง มันจะตรงกันหมด ไม่ต้องเถียงกัน แล้วมันก็ให้ผลจริงๆ ด้วย//
คำถาม: เช่นว่าเราเดินกันมา ๓ คน ฉันว่าอย่างนี้ เธอก็ว่าอย่างนี้ ก็เรียกว่าสัจจะ ฉันว่าอย่างนี้ กูว่าอย่างโน้น ไม่ใช่สัจจะ//
ท่านพุทธทาส: อย่างนี้เขาเรียกว่า สัจจาภินิเวส //
คำถาม: นั่นแหละ สัจจาภินิเวสเหมือนท่านว่า ถูกแล้ว //
ท่านพุทธทาส: (หัวเราะ) อย่างที่คุณว่า ถ้ามันถูกต้องจริงมันก็เป็นธรรมสัจจะ ตัวน้อยๆ ตัวน้อยๆ แขนงหนึ่งๆ //
คำถาม: ค่ะ เมื่อวานนี้ เราเดินกันมา คนนี้พูดไม่ตรงกับคนนี้ ก็อบรมกันไปว่าอย่างนั้นอย่างนี้ เขาก็ดึงตามมา เขาก็เรียกว่าสัจจะกัน ก็ต้องตามกันไปละนิดๆ ซึ่งก็รู้//
ท่านพุทธทาส: สัจจะปลอม
คำถาม: ค่ะ ในหมู่บ้านหนึ่งๆ ไม่ต้องไปอยู่ ยังเอาเปรียบกัน เช่นเขาผิดพลาดน้อยๆ ก็ต้องให้อภัย วันหลังเขาก็รู้ว่า อ้อ, เราก็ไม่ เรียกว่าสัจจะ//
ท่านพุทธทาส: อืม, มันจะเป็นสัจจะ เป็นธรรมสัจจะ
คำถาม: อย่างนั้น นักเรียนทุกๆ คน ต้องรู้ว่าสัจจะอย่างนั้นไม่ตรงว่า เอ้อ, กูดีกว่าเธอ เธอดีกว่าฉัน อ้อ, วันนี้ฉันก็ไม่รู้อย่างนี้ ก็อธิบาย อ้อ, อย่างนั้น อย่างนี้ มันก็เรียกว่าสัจจะ นักเรียนทุกๆ คน มีบางคนก็ยึดเก่งกว่าเธอ เธอเก่งกว่าฉัน อ้อ, ยังเอาเปรียบกัน ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ไม่ใช่สัจจะอย่างนั้น //
ท่านพุทธทาส: นั่นสัจจะปลอมไง //
คำถาม: นั้นแหละ จะถามกันอย่างโน้นอย่างนี้ก็ไม่ถูก สัจจะมันมีนิดเดียวเท่านั้นแหละ เอ้า, สวัสดี ทุกๆ ท่าน//
คำถาม: ผมจะสอบอีกทีหนึ่งครับ ถ้าตก อาจารย์ก็บอกว่าตก ถ้าผ่านก็บอกว่าผ่าน ตกจะได้คิดใหม่ สัจธรรม ภาวะที่เป็นจริง เช่นว่านิพพานหมายถึงการดับอุปาทาน ดับความยึดมั่นว่าตัวกูของกู ภาวะนิพพานที่ถูกต้องคือสัจธรรม ส่วนธรรมสัจจะคือทางปฏิบัติไปสู่นิพพานที่แท้จริงคือการปฏิบัติเพื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวกูของกู ส่วนสัจจาภินิเวส คือแนวทางปฏิบัติที่ผิด ไม่ไปสู่การดับอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกู อาจารย์ว่าจะผ่านได้ไหมครับ//
ท่านพุทธทาส: คือว่าสัจธรรม หมายความว่าระเบียบของธรรมที่จัดไว้เป็นเรื่อง เป็นพวก เป็นตัวธรรมะ ระบบ ทีนี้ธรรมสัจจะนี้ เป็นความจริง เป็นอะไรอันหนึ่งเฉพาะเรื่องนั้นๆ เช่นว่าจะไป จะบรรลุนิพพาน ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามธรรมสัจจะของนิพพานหรือสำหรับนิพพาน เราต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามธรรมสัจจะของสิ่งนั้นๆ ฉะนั้นนิพพานนี้ก็มีธรรมสัจจะ จะบรรลุนิพพานได้ก็เฉพาะต่อเมื่อปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติธรรมที่สมควรแก่ธรรมนี่ คือธรรมสัจจะ เป็นเทคนิคอันหนึ่งมากกว่า เมื่อเรารู้ธรรมสัจจะของนิพพานแล้วก็ มันก็แน่นอนที่เราจะปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพานได้ นิพพานนี้จะจัดเป็นสัจธรรมก็ได้ในความหมายหนึ่ง เพื่อจะไปถึงจุดนั้น ต้องรู้ธรรมสัจจะของสิ่งนั้น แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องตามธรรมสัจจะนั้น ก็เป็นอันหวังได้ว่าจะบรรลุนิพพาน ทีนี้ผู้ที่เขาปฏิบัติอย่างถูกต้องเพื่อไปนิพพาน แต่ยังไม่ถึง ยังไปติดตันอยู่ที่อันใดอันหนึ่งนั้น จะเรียกเขาว่าสัจจาภินิเวสไม่ได้ ต่อเมื่อเขาเข้าใจผิดต่อพระนิพพาน บัญญัติว่าอย่างนี้เป็นนิพพาน อย่างนู้นเป็นนิพพานซึ่งผิดทั้งนั้น นี่จึงจะเป็นสัจจาภินิเวส ถ้าไปติดตันอยู่เพียงว่ามันเป็น ยังเป็นไปไม่ได้ แต่มันยังมีความถูกต้องอยู่ นี้ยังจะไม่เรียกว่าสัจจาภินิเวส ติดตันไปไม่ได้สำหรับพระนิพพานคืออะไร ที่ถูกมันคืออย่างนี้ แต่เขาไปเห็นว่าคืออย่างนี้เสีย อย่างนี้ก็ไปติดตันอยู่ที่นี่ มิจฉาทิฏฐินำออกไปข้างๆ คูๆ แล้วไปติดอยู่อย่างแน่นแฟ้น ถอยไม่ได้ นั่นน่ะเขาเรียกว่าสัจจาภินิเวส ถ้าเรายังปฏิบัติไม่ได้ เช่นว่าทำกรรมฐานยังไม่ได้ ยังไม่ก้าวหน้า นี่ยังไม่เป็นสัจจาภินิเวส ก็ไม่มีมิจฉาทิฏฐิอะไรมาฝังลงไปแน่นแฟ้น สัจจาภินิเวสคือว่าการเดินทางไปหาธรรมสัจจ์ แล้วไปติดอยู่ในข่ายของมิจฉาทิฏฐิอันใดอันหนึ่ง ยืนยันเป็นสิ่งนั้นเป็นความถูกต้องเอาเสียทีเดียว นี่เรียกว่าสัจจาภินิเวส เอ้า,ใครถามอีก //
วิทยากร: มีอีกไหมครับ เชิญครับ หรือว่าคุณไสวสอบได้แล้วพอใจหรือยัง หรือว่ายังกลัวตกอยู่อีก ขอเชิญครับ//
ท่านพุทธทาส: โอ้ย, กรรมการทั้งหมดนี่ เขาตัดสินว่าคุณไสวสอบได้หรือสอบตก คุณอย่าไปตัดสินสิ/
วิทยากร: ขอเชิญครับ คือผมว่าของผมเองไปหน่อย คุณไสวสบายใจครับ คือว่าได้แล้ว
เอ้า, อาจารย์ระวี มีปัญหาอะไรบ้างไหมครับ จะถามท่านอาจารย์ เชิญเลยครับ//
ท่านพุทธทาส: ถ้าอาจารย์ระวีจะซัก ก็ซักแทนในนามทุกคนที่อยู่ที่กรุงเทพฯ //
วิทยากร: เชิญครับ อาจารย์ คือตอนนี้...
ท่านพุทธทาส: ให้โอกาสที่จะซักเท่านั้นนะ//
วิทยากร: ท่านอาจารย์รับตอบแล้วครับ ถ้าฉะนั้นใครอยากซักอะไร ซักครับ//
ท่านพุทธทาส: ไม่ใช่อภิปราย //
วิทยากร: คือถ้าใครรู้อะไร มีความคิดเห็นอะไร ไว้เวลาให้อภิปรายแล้วก็เชิญครับ ตอนนั้นพูดกันได้ ตามของแต่ความเห็นของแต่ละคน ตอนนี้ขอเชิญซักข้อสงสัยครับ เพื่อให้ท่านอาจารย์ตอบ//
ท่านพุทธทาส: ซักเป็นข้อๆ ประเด็นๆ ที่ชัดเจนๆ ให้ปัญหามันรวบรัด ตอบง่าย ฟังง่าย//
อาจารย์ระวี: กระผมออกมาซักก็ตามที่ท่านอาจารย์ว่าซักแทนผู้ที่อยู่ทางกรุงเทพฯ แล้วก็เรื่องที่คนทางกรุงเทพฯกำลังวิตกกังวลอยู่ ก็เป็นเรื่องของปัญหาเกี่ยวกับสังคม ซึ่งทุกคนก็บ่นว่ากำลังเสื่อมทราม แล้วก็ต้องการจะแก้ไขด้วยกันทั้งนั้น ก็มีผู้เสนอสัจจาภินิเวสต่างๆ กัน อย่างที่กระผมเข้าใจ เอ่อ, ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงให้เราได้รับทราบว่า สิ่งซึ่งจำเป็นจะต้องแก้ไขก็คือเรื่องของศีลธรรม ปัญหาของกระผมก็เป็นปัญหาที่ว่า เอ่อ,ตามความรู้สึกของกระผมนั้นน่ะ วิธีการที่จะแก้ไขปัญหาศีลธรรม ก็คือมีสถาบัน เช่นที่เรามาประชุมกันอยู่นี้เป็นจำนวนมากมายพอเป็นโรงเรียนใหม่ เป็นโรงเรียนใหม่ แล้วเราก็เป็นนักเรียนมาเรียนกันอย่างนี้ เอ่อ,แต่ในขณะเดียวกันกระผมได้รู้สึกว่าที่เราทำอย่างนี้กันที่นี้ได้ก็เพราะท่านอาจารย์ จะไม่ให้เราติดบุคคลก็ยากอยู่ เพราะบุคคลที่จะนำเราและคอยแก้ไขความผิดทางความคิดหรือทางความประพฤติของเราอย่างท่านอาจารย์นั้นก็มีอยู่น้อย ปัญหานั้นก็คือว่าทำอย่างไรเราจะได้ของเช่นนี้ให้มากพอในบ้านเมืองที่จะเป็นโรงเรียนใหม่ แล้วก็มากพอที่จะสู้ นี่คือปัญหาข้อแรก//
ท่านพุทธทาส: ปัญหานี้มันเป็นปัญหาทางปฏิบัติ ไม่ใช่ปัญหาหลัก ไม่ใช่ปัญหาหลักธรรมะ อาจารย์ระวีเกณฑ์อาตมาตอบปัญหาทางปฏิบัติ ทางการปฏิบัติ ก็ไม่ได้เคยคิดมาก่อน ว่าทำอย่างไรจึงจะเกิดกลุ่ม สังคม สโมสรอะไรที่มันจะคิดกันเฉพาะในเรื่องนี้ แล้วก็มีผู้นำผู้ควบคุมที่สามารถเหมาะสมให้การคิดค้นเป็นไปด้วยดี นี้เป็นปัญหาที่กว้างขวางมาก มันเนื่องกันอยู่ด้วยอุปสรรคหลายอย่างหลายประการเต็มที ถ้าถามว่าทำอย่างไรในเวลานี้ก็บอกว่า ช่วยกันพูดจาปรับความเข้าใจกันไปเรื่อยๆ ก่อน ให้มีผู้เข้าใจเรื่องนี้เพิ่มขึ้นๆ ในที่สุดมันก็จะจับกลุ่มกันขึ้นมาได้เอง
เดี๋ยวนี้ในวงการภายในของพระสงฆ์เราก็มีปัญหาอย่างนี้เหมือนกัน มันไม่พูดถึงฆราวาส เรารู้สึกว่ายังมีการศึกษาธรรมะที่ไม่ถูกต้อง หรือถึงกับผิดหรือว่าถูกไม่พอหรือว่าเป็นอุปสรรคเป็นอะไรอยู่มาก แม้แต่การปฏิบัติสมถวิปัสสนา มันก็ยังไม่เป็นที่พอใจ มันก็มีผิดหรือถูกน้อยอยู่มาก ไม่มีปัญญาไม่มีความสามารถอะไรที่จะไปแก้ไข ที่เรียกว่าสังคายนานี้ ให้มันกลับมาสู่ความถูกต้อง กำลังเป็นปัญหาอย่างเดียวกันอยู่ สังคมส่วนใหญ่ของฆราวาสก็มีปัญหาอย่างนี้ว่าทำไมจะเกิดกลุ่มนักศึกษา เรียกทำนองนั้น ที่มีความสามารถที่ทำความกระจ่างเกี่ยวกับปัญหาข้อนี้ แล้วให้ทุกคนเดินถูกทาง ถ้ามีปัญหาอย่างนี้ อาตมาควรจะถามอาจารย์ระวีมากกว่า ไม่ใช่อาจารย์ระวีมาถามอาตมา เพราะว่าอยู่ที่กรุงเทพฯ ย่อมรู้อะไรดีกว้างขวางในหมู่ฆราวาสด้วยกัน เพราะฉะนั้นเอาว่า มาออมชอมกันหน่อย ส่วนที่อาตมาทราบก็จะตอบ ส่วนที่อาตมาไม่ทราบก็ไม่ได้ตอบ ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายอาจารย์ระวีจะไปค้นเอาเองและตอบ คำตอบนี้ก็ว่าช่วยกันคนละไม้ละมือ นี้เป็นรากฐานเป็นหลักการทั่วไป ช่วยกันคนละไม้ละมือตามที่สามารถ ให้เกิดการศึกษาธรรมสัจจ์ ธรรมสัจจะของสิ่งที่จำเป็นสำหรับมนุษย์เราในทุกๆ แขนง เช่น ให้รู้เรื่องศีลธรรม ว่ามีความจริงหรือสัจจะน่ะ มันเป็นอย่างไรบ้าง เกี่ยวกับคำว่าศีลธรรม สรุปให้เข้มข้นเหลือแต่เป็นเจตนารมณ์ว่ามันมีธรรมสัจจะอย่างไร เข้าใจถึงข้อนี้แล้ว คงจะเกิดความนิยมชมชื่นหรือความพอใจกันขึ้นมาเอง เกิดความเสียสละอย่างเพียงพอกันขึ้นมาเอง ทีนี้กลุ่มก็จะติดเป็นบ่อนเล็กๆขึ้นมา ทีละบ่อนสองบ่อนไปเรื่อยๆ จนมากพอ แล้วก็คงจะจูงสังคมได้ อาตมาคิดว่า, ไม่ใช่คิดสิ มันเป็นรู้สึกขึ้นมาเองว่า ถ้ามันมีการเอาเรื่องหลักธรรมะชั้นธรรมสัจจะไปถก ไปวิจารณ์วิพากษ์กันอยู่บ่อยๆ เช่นที่นายดุ่ยเขาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองนั้นน่ะ คงจะมีผลเร็วมาก มีคนฟังมาก และฟังแล้วก็รู้สึกว่าเข้าทีในเรื่องทางฝ่ายการเมือง ถ้าทางฝ่ายธรรมะเราได้รับการกระทำอย่างนั้นบ้างก็น่าจะดี มีการพูดที่สนกุสนานแต่มีประโยชน์ อยู่ทั่วๆไป ในสื่อมวลชนที่มีอิทธิพลมาก เช่นวิทยุกระจายเสียงเป็นต้น ยังจะดีกว่าหนังสือพิมพ์ หรือจะดีกว่าหนังสือเล่ม หนังสือ booklet ที่เรามีๆ กันอยู่นี่ ช่วยก่อให้เกิดความสนใจเอาไปถก ไปเถียง ไปพิสูจน์ ไปอะไรกันให้มากขึ้นๆ พระธรรมนี้มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัวเอง ถ้าลงไปจับถูกตัวแล้วมันจะมีเสน่ห์เอง ดึงดูดคนเอง นั้นมันเป็นธรรมสัจจะอันหนึ่ง ในส่วนที่เป็นเสน่ห์ของสิ่งที่เรียกว่าพระธรรม ขอให้เข้าถึงเสน่ห์ของพระธรรมหรือธรรมสัจจะอันนี้ก่อน เดี๋ยวนี้พระธรรมเป็นสิ่งที่น่าเบื่อนี่ ทุกคนสั่นหัว พอพูดถึงว่าธรรมะ หรือธรรมหรือศาสนาหรืออะไร มันเบื่อ มันให้ความอยุติธรรม ไม่เป็นธรรมแก่พระธรรมอย่างยิ่ง ทั้งที่พระธรรมนี้อร่อยเหมือนมัณฑะ ยอดแห่งโครส ต่อเมื่อเข้าถึงความจริงแล้วเท่านั้น ช่วยกันในข้อนี้ เน้นในเหลี่ยมนี้ให้มาก ให้เห็นว่าพระธรรมนี้อร่อยเหมือนรสอร่อยที่สุดในโลก ธมฺมรโส รสแห่งธรรมนี้ ย่อมชนะซึ่งรสทั้งปวง นี่ก็มีบาลีอยู่อย่างนี้ ยังมีอีกหลายแห่ง พระพุทธเจ้าท่านตรัสในทำนองที่ว่าพระธรรมนี้อร่อย แต่ทำไมเราเห็น รู้สึกเป็นยาขม ช่วยกันแก้ข้อนี้ ช่วยกันจับจุดนี้ เป็นจุดสำหรับดำเนินงาน จะเป็นการโฆษณาหรือแม้แต่โฆษณาชวนเชื่อก็ยังดี อาตมาก็เคยทำการโฆษณาชวนเชื่อให้พระธรรมอยู่เสมอ ให้เขาเกิดนึกอร่อย อาตมามาแตะต้องเข้านิดหนึ่งก็อร่อย แล้วก็ทำให้อร่อยยิ่งขึ้นไปอีก อย่างนี้มันไม่ฝืนใจ ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องอะไรกันนักและไม่ต้องลงทุนมากด้วย ความจริงจะลงทุนน้อยกว่าการที่จะจัดระบบการศึกษาธรรมะเข้าไปในหลักสูตรบังคับเสียด้วยซ้ำไป ถ้าจัดหลักสูตรบังคับได้ด้วยมันก็ยิ่งดีนะ มันก็ยิ่งดีอีกทางหนึ่ง แต่ตามธรรมชาติแล้วดูเหมือนมันจะต้องการธรรมสัจจะตามธรรมชาติ คือตามที่มันเป็นจริงของมันเอง อย่างนี้แน่นอนกว่า ยั่งยืนกว่า ช่วยกันเปิดเผยพระธรรมในลักษณะที่ว่าได้ชิมรสอร่อยของพระธรรม ที่อาตมาเคยพูดอยู่เสมอว่า นิพพานชิมลอง นิพพานชิมลอง สักจิบหนึ่งก็ยังดี ขอให้ไปช่วยกันทำให้มีการได้ชิมลองพระนิพพาน ชิมลองนี้กันให้กว้างขวาง ทั่วๆ ไปนี่ นี่คำตอบที่อยู่ในรูปของการอุปมา มันเป็นอย่างนี้ ไปทำความสนใจให้เกิดขึ้นในสักทาง แล้วก็อร่อยเมื่อได้จิบเข้าไปแม้แต่เพียงนิดเดียว แล้วทุกคนก็จะเสียสละเพื่อการนี้เป็นแน่นอน สงสัยข้อปลีกย่อยตรงไหนก็ถามอีกก็ได้ เฉพาะเรื่องนี้ ถามเฉพาะเรื่องนี้ ให้มันทะลุออกไปเสียที//
อาจารย์ระวี: ในขณะนี้ โลกมีความทุกข์มาก อย่างที่เราก็ได้เห็นนะครับ ได้ทราบจากข่าวคราวทั้งหลายนี่ ทั้งโลกมีความทุกข์ แล้วก็เหตุการณ์ในบ้านเมืองเราคนก็กำลังมีความทุกข์มากขึ้น เพราะความวิตกกังวลของการเปลี่ยนแปลงรอบๆ บ้าน คนก็แสวงหาข้อไขปัญหาของชีวิต ของคนที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคม เป็นบ้านเมือง เป็นชาติบ้านเมืองนี้ แต่ว่าข้อเสนอต่างๆ นั้น ก็เป็นข้อเสนอที่ขัดแย้งกันเอง ซึ่งแสดงสภาพความเป็นสัจจาภินิเวส ของมติ ของทฤษฎี ของลัทธิต่างๆ แตกต่างกันขัดแย้งกัน
เราที่ได้มาฟังธรรมะที่ท่านอาจารย์ประกาศนี้ ก็รู้สึกว่าในพระพุทธศาสนา ในคำสอนของพระพุทธเจ้า เรามีคำตอบ เรามีคำตอบ แต่คำตอบอันนี้ไม่สามารถนำไปสู่ผู้ปฏิบัติได้ แล้วส่วนตัวกระผมมีความเชื่อว่าคำตอบที่เป็นคำตอบที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่าเป็นธรรมสัจจะนี้ จะเป็นสิ่งที่ ถ้าโลกจะช่วย ถ้าโลกนี้จะรอดได้ ก็เห็นจะเป็นด้วยสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นก็มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องประกาศเร็วกว้างขวางรุนแรง คำว่ารุนแรงของกระผม ไม่ใช่หมายความว่าใช้กำลังอะไร แต่ว่าหมายความถึงจะต้องแพร่ไปอย่างด้วยกำลังอันยิ่งใหญ่เหมือนกัน แล้วการที่จะเป็นเช่นนี้ได้นั้น ก็เห็นจำเป็นที่จะต้องมีความสามารถในการเผยแพร่บางประการ คือคนจะต้องมีความรู้สึกรุนแรงว่า นี่เท่านั้นที่เป็นของแท้ ของจำเป็น ของต้องประกาศ ของต้องเผยแพร่ ของต้องประพฤติ ถ้าคนมีความรู้สึกรุนแรงอย่างนี้ได้ กระผมก็คิดว่าไปได้ และช่วยได้ไม่ใช่แต่บ้านเมืองนี้ ข้อนี้กระผมก็ยังยืนยันว่าเป็นปัญหาว่า ท่านอาจารย์ว่าค่อยทำ ค่อยไป กระผมเห็นว่าถ้าสิ่งใดแน่แท้ ก็น่าที่จะผลักดันได้อย่างรุนแรง //
ท่านพุทธทาส: มีคำถามอย่างนั้นน่ะ นี่ก็ดีมาก ขอย้ำอีกทีหนึ่งให้ทุกคนนี่ จะต้องตั้งข้อสังเกตให้เห็นว่าคำที่ว่า ธรรมะในพระพุทธศาสนามีคำตอบให้ครบทุกข้อนี่ ขอให้สนใจเป็นพิเศษ มันเป็นข้อเท็จจริงอย่างยิ่ง เราจะรู้หรือเราจะไม่รู้ เราจะมองเห็นหรือไม่มองเห็น นี้ไม่สำคัญ แต่มันเป็นข้อเท็จจริงอย่างยิ่งที่มันเป็นอย่างนั้น ว่าคำตอบต่างๆ ที่จะแก้ สำหรับใช้แก้ปัญหานั้นมันมีอยู่ครบหมดในพุทธศาสนา ในธรรมะหรือในธรรมสัจจะของธรรมชาติ ซึ่งหลักพุทธศาสนาก็เดินตามนี้ ทีนี้บางอย่างเราไม่รู้นะ เราไม่รู้นะว่ามันแก้ได้หรือมันมีอยู่แล้วในตัวธรรมสัจจะของธรรมชาติ เราก็เลยไม่ได้เอามาใช้ และเดี๋ยวนี้บางคนยังอาจจะไม่ยอมรับด้วยซ้ำไปว่าคำตอบทั้งหมดมีอยู่แล้วในพระธรรม ไม่ว่าปัญหาอะไร นี่ขอย้ำส่วนนี้อีกทีหนึ่งก่อน ว่าปัญหาทั้งหมดที่เป็นคำถามก็ตอบได้ ที่เป็นความยุ่งยากก็แก้ไขได้ ด้วยสิ่งที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีชื่อสั้นๆ เพียงพยางค์เดียวว่า ธรรม ธรรมก็คือพระธรรมหรือคือธรรมสัจจ์ หรืออะไรนี่คือธรรมนี่ มีพร้อมหมดสำหรับแก้ปัญหาทุกข้อที่เป็นไปเพื่อสันติภาพ ฉะนั้นขอให้มีความเชื่อชั้นนี้ทีหนึ่งก่อน ถ้าไม่มีความเชื่อชั้นรากฐานนี้ก่อนแล้วมันเป็นไปไม่ได้ ให้มองให้เห็นจริงในข้อเท็จจริงอันนี้ก่อน แล้วก็ปล่อยหรือปลงศรัทธาความเชื่อลงไปให้หมดในชั้นนี้ ในชั้นรากฐานนี้เสียทีหนึ่งก่อน ว่าเราจะหาพบคำตอบของคำถามหรือของปัญหาทุกอย่างได้จากหลักธรรมะในพระพุทธศาสนา
ทีนี้ก็มาถึงปัญหาที่ว่าอะไร ปัญหาอะไร คำตอบอย่างไร ก็จะพบอีก ถึงจะค่อยปลงศรัทธาลงไปอีก อย่างที่อาจารย์ระวีใช้คำว่ารุนแรง อย่างรุนแรง อย่างหมดจิตหมดใจนี่ มันก็ถูกนะ ถ้าพบธรรมสัจจะนั้นถูกต้องแน่นอนแล้ว ก็ปลงลงไปหมดอย่างรุนแรง แต่นี่ยับยั้งไว้บ้าง เผื่อมันยังไม่ถูก มันยังเป็นสัจจาภินิเวสตัวน้อยๆ อยู่ มันยังต้องใคร่ครวญ อาตมาก็เลยระวังในข้อนี้มากไปหน่อย ถึงว่าค่อยทำค่อยไป ต่อเมื่อเรามีการศึกษาเพียงพอ คือมากขึ้นๆ จนยึดธรรมสัจจะได้ในข้อไหนแล้วก็ปล่อยลงไปให้สุดเหวี่ยงในข้อนั้นเถิด มันก็จะแก้ได้รวดเร็วเหมือนกัน เช่นธรรมสัจจะกำปั้นทุบดินที่ว่า ศีลธรรมนี่จะแก้ปัญหาได้หมด เดี๋ยวนี้เราไม่มีศีลธรรม เราย่อหย่อนทางศีลธรรม ระดมกันในข้อมีศีลธรรมเถิด อันนี้ยอมรับได้ว่าทุ่มลงไปได้หมดเลย มีเดิมพันเท่าไหร่ทุ่มลงไปได้หมดเลย แต่ข้อปลีกย่อยที่ว่าศีลธรรมอย่างไร เฉพาะข้อไหน กับปัญหาอะไร นี่ยังต้องระวังอยู่ ยังพลาดได้ เดี๋ยวมันจะไม่ถูกฝาถูกตัว ก็เลยแยกธรรมสัจจะออกเป็นส่วนๆ ว่าส่วนไหนคืออย่างไร มันก็เลยเป็นปัญหาที่ว่าทางการเมือง ทางอะไรก็ตาม พวกๆไปของลูกเด็กๆ ของหนุ่มสาว ของผู้ใหญ่ ของคนแก่ ของประเทศชาติหรือของบุคคล เอาไปแยกกันดู ถ้ามันพบว่าปัญหาทั้งหมดนี้ เกิดมาจากสิ่งๆ เดียวเท่านั้นคือความเห็นแก่ตัว ก็ระดมทุ่มเทกันลงไป ระเบิดความเห็นแก่ตัวนี้ให้มันแตกกระจายไปเสียให้หมด เพื่อปัญหาต่างๆ มันก็จะได้เบาลงไป พร้อมๆ กันไปในทันที ความเห็นแก่ตัวนี้มันไม่ใช่ธรรมสัจจะ มันเป็นพวกสัจจาภินิเวส คนแต่ละคนมีสัจจาภินิเวสและก็เห็นแก่ตัวด้วยอำนาจสัจจาภินิเวสเฉพาะของตน ฉะนั้นก็ทำลายปรากฏการณ์สัจจาภินิเวสคือความเห็นแก่ตัวนี่ให้มันแหลกไป ช่วยกันตั้งสโมสร สมาคมอะไรก็ตาม ที่ล้วนแต่เป็นไปเพื่อกำจัดความเห็นแก่ตัวโดยแท้จริง อย่าให้เป็นการทำเอาหน้า สมาคมที่ตั้งขึ้นมาในฐานะที่ว่าจะช่วยผู้อื่นอย่างไม่เห็นแก่ตัวนี้ มันกลายเป็นเพื่อเห็นแก่หน้า ทำเอาหน้า มันก็เลยกลายเป็นเห็นแก่ตัวสำหรับผู้ทำนั่นเอง ผู้จัดสมาคมนั่นเองกลายเป็นผู้เห็นแก่ตัว เพราะว่าทำเอาหน้า อย่างนี้แล้วมันยิ่งๆ จมลงไป จมลงไป จมลงไป ความเห็นแก่ตัวนั้น ก็ควรจะรู้จักกันได้ แต่การทำลายความเห็นแก่ตัวนี้ดูจะยังมืดมนอยู่ พูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง อาตมาบอกทุกครั้งที่เขามาทอดผ้าป่าที่นี้ว่าคุณอย่าทอดผ้าป่าเพื่อเอาวิมานไปนอนคนเดียว นั่นมันเห็นแก่ตัวนั่น ให้ทอดผ้าป่าเพื่อบำรุงพระศาสนาเอาไว้ ให้ศาสนามีอยู่ในโลกก็จะคุ้มครองโลก ให้คนทั้งโลกมันมีความสุข ฉะนั้นการเสียสละหยาดเหงื่อทุนรอนอะไรของเราออกไปนี่ ให้มันเป็นอย่างนี้ อย่างนี้มันทำลายความเห็นแก่ตัว ถ้าทอดผ้าป่ากองหนึ่ง แล้วไปได้วิมานหลังหนึ่งอย่างนี้แล้วมันก็เพิ่ม เพิ่มความเห็นแก่ตัว นี่มันมีปัญหาอย่างนี้ซ้อนอยู่อีกทีหนึ่ง ว่ากำลังมีความนิยมธรรมเนียมประเพณีที่มันผิดๆ อยู่ ที่สอนกันไว้อย่างผิดๆ อยู่ ถึงขนาดลงรกรากเป็นสัจจาภินิเวสได้เหมือนกัน ด้วยเหมือนกัน แล้วเราก็พบปะข้าศึกประจัญหน้าข้าศึกล้วนแต่เป็นสัจจาภินิเวสไปทั้งนั้น ทีนี้มันเหนียวแน่นมากนะ เขายอมสละได้ด้วยชีวิตนะ เพื่อจะรักษาทิฏฐิความคิดของเขา อย่าไปทำเล่นกับเขานะ เราจะต้องระวังให้ดี เดี๋ยวถูกต่อยปากแตกกลับมาโดยไม่ได้รับประโยชน์อะไร มาหาหนทางที่เรียกว่าราบรื่นเรียบร้อย อย่าให้ตึงตังโผงผาง แบบเรียกว่ามุทะลุดุดันถึงขนาดหักด้ามพร้าด้วยหัวเข่าอะไรทำนองนี้ มันไม่ได้แน่ๆ อย่าๆ ไปเอากับมัน ต้องผ่อนปรนให้เวลา ให้โอกาสให้เขาได้รู้ถึงธรรมสัจจะของปัญหาเฉพาะหน้าทีละเรื่องๆ เป็นลำดับไป ตามลำดับที่มันหน้าก่อนหลังกันอย่างไร ถ้าใช้รุนแรง ที่ภาษาธรรมะเขาเรียกว่าปลงศรัทธาลงไปทั้งหมดนี่ ก็ต่อเมื่อแน่ใจแล้ว มีธรรมสัจจะอันเพียงพอแล้วที่จะปลงศรัทธานั้นลงไปหมด ก็มีเหมือนกันในบางกรณี นี่เราก็ยังไม่ค่อยจะได้ทำ แม้ที่สุดแต่ในกรณีที่จะมีศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี้ก็ยังทำไม่ได้ และไม่ได้ทำ มันพูดแต่ปาก มันพูดแต่ปากอยู่อย่างนี้ ในหลักที่สำคัญที่สุดคือพระรัตนตรัยนี้ คนก็ยังไม่ได้ปลงศรัทธาลงไปอย่างที่ว่า แม้พวกอุบาสกอุบาสิกา ภิกษุสามเณรนี้มันก็ยังไม่ได้ปลง มันจะไปเอาอะไรกับชาวบ้านที่ไกลออกไป นี่ปัญหามันมีเนื่องๆ กันอยู่เป็นชั้นๆ จะต้องระวังให้ดี ในที่สุดก็มายึดหลักเดียวอันหนึ่งได้ว่าแก้ปัญหาได้หมดเพราะสัมมาทิฏฐิ ล่วงปัญหาไปได้หมด ล่วงความทุกข์ไปได้หมด เพราะยึดสัมมาทิฏฐิ มันก็มาติดอยู่ที่ว่าสัมมาทิฏฐิคืออะไรอย่างไรอีกแหละ นี่คือตัวธรรมสัจจะที่ต้องเข้าถึง เมื่อหยิบธรรมสัจจะ หรือสัมมาทิฏฐิ ขึ้นมาสอน มาอบรม มาบ่มกันไปให้เข้าใจถูกต้อง สมัยนี้คงจะไม่ยาก เพราะว่ามีความรู้ธรรมสัจจะของธรรมชาติที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานอยู่มากแล้ว คงจะใช้หลักอันนี้ช่วยได้มาก เพราะว่าคนมันถนัดในทางไหนก็ใช้วิธีการทางนั้นแหละทำความสว่างแก่ตัวเอง มันเร็ว อย่าว่าแต่วิทยาศาสตร์เลย แม้แต่ศิลปะนี้ก็ยังช่วยได้ จิตวิทยา ตรรกวิทยา ก็ยังมีส่วนช่วยได้เพราะว่าเราดึงมันมาให้ถูกทาง อย่าให้มันเพ้อเจ้อ ก็เตรียมแผนงานที่ว่าจะไปมอบหมายสัมมาทิฏฐิในพระพุทธศาสนาแก่กลุ่มชนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์อย่างไร แก่กลุ่มชนที่เป็นศิลปินอย่างไร แก่กลุ่มชนที่เป็นนักจิตวิทยาเป็นต้นนี่อย่างไร นี่เราต้องมีการกระทำที่ถูกต้องรอบคอบและมันต้องอาศัยผู้มีวิชาผู้มีสติปัญญาอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ไปวางรูปโครงให้ว่าจะเผยแผ่ธรรมะออกไปในกลุ่มชนพวกไหน อย่างเหมาะสมแก่กลุ่มชนพวกนั้นอย่างไร พวกที่มีหวังก่อนพวกอื่นก็คือพวกครูบาอาจารย์ที่มีการศึกษา อย่างน้อยก็มีวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐาน หรือมีความเป็นผู้อยู่ในเหตุผลนี่ว่าเป็นพื้นฐาน ก็ลงมือจัดการกับพวกนี้ก่อน มันเข้ารูปกันกับพระธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีเหตุผลอย่างยิ่งอยู่แล้ว ใช้หลักเหตุผลอย่างโน้นไต่มาหาหลักเหตุผลอย่างนี้ เดี๋ยวก็รู้เรื่องอริยสัจบ้าง เรื่องปฏิจจสมุปบาทบ้าง เดี๋ยวก็ปลง ปลงความเชื่อลงไปได้มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น มันค่อยรุนแรงของเขาเอง เห็นปฏิจจสมุปบาทคือเห็นธรรม เห็นธรรมคือเห็นคถาคตคือเห็นพระพุทธเจ้า นี่เป็นหลักตายตัว ฉะนั้นรู้จักพระพุทธเจ้าโดยเห็นธรรม เห็นธรรมคือเห็นกฎธรรมสัจจะของธรรมชาติ เช่นหลักปฏิจจสมุปบาทเป็นต้น ต่อไปนี้เราควรจะพูดกันถึงเรื่องอิทัปปัจจยตาซึ่งเป็นปฏิจจสมุปบาทอย่างยิ่ง ให้เข้าใจกันยิ่งๆ ขึ้นไป มันเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นศิลปะงดงามอยู่ในตัวระบบธรรมะอันนั้น เดี๋ยวก็จะเกิดอร่อย มีรสอร่อยขึ้นมา ในเมื่อเข้าถึงความจริงเรื่องนี้ นี่พระพุทธเจ้าได้มาถึงแล้ว พระนิพพานชิมลองได้มาถึงแล้ว อะไรที่น่าชื่นใจมันได้มาถึงแล้ว เรื่องของเราก็คงจะตั้งตัวได้ มันเกิดติดและดำเนินต่อไป นี้หลักการคราวๆ ย่อๆ เท่าที่อาตมาคิดเห็นมันก็มีอยู่อย่างนี้ รายละเอียดมันมากจนพูดไม่ไหว ก็สรุปว่าจงทำให้คนได้ชิมลองรสของพระนิพพานหรือการโปรดปรานของพระพุทธเจ้า หรือพระธรรม รสของพระธรรม ได้ดื่มรสของพระธรรม เดี๋ยวนี้มีแต่พูด ถ้าในบาลีเขาเรียกว่ารับจ้างเลี้ยงวัว ไม่ได้กินนมวัว เรียนนักธรรม เรียนบาลีเพื่อจะออกไปเป็นอาจารย์สอนเอาเงินเดือน อย่างนี้ก็เรียกว่าพวกรับจ้างเลี้ยงวัว ไม่ได้ดื่มนมวัว เราจงทำให้มีคนได้ดื่มนมวัว ตามมากตามน้อย มันก็เป็นไปตามความถูกต้องทีละน้อยๆ ตามลำดับ ยังไม่ค่อยมองเห็นทางที่ว่าจะทุ่มเทลงไปได้พรวดพราด ก็ค่อยทำค่อยไป ต่อเมื่อมันแน่ใจแล้วก็ทุ่มกำลังทั้งหมดได้ ฉะนั้นเราจึงไม่ควรจะพูดลงไปว่าเราจะทำเอื่อยๆ หรือว่าเราจะทำพรวดพราดทุ่มเท ต้องดูกาลเทศะว่าอะไรควรจะทำอย่างไร นี่คือคำตอบในข้อนี้ อาตมาก็มีเท่านี้ ซักส่วนไหนก็ได้//
อาจารย์ระวี: กระผมขอโอกาสซักเรื่องการศึกษาอีกสักเล็กน้อย คือความพยายามที่จะได้มีการศึกษาอย่างถูกต้อง กระผมเคยได้อ่านติดตามเรื่องราวเรื่องหนึ่ง ซึ่งได้นำเอามาขบคิด ก็คือคนในประเทศอินเดีย ท่านรพินทรนาถ ฐะกอร์ (RABINDRANATH TAGORE) ท่านได้เคยครุ่นคิดในเรื่องการศึกษาสำหรับคนอินเดียในสมัยของท่านเหมือนกันว่าอารยรรมของตะวันตกเข้ามาครอบงำคนอินเดีย แล้วก็ทำให้สภาพของการศึกษาผิดจากสิ่งที่ท่านเห็นว่าเป็นธรรมสัจจะของท่านไป และท่านอาจจะไม่ได้ใช้คำนี้ ท่านก็นึกว่าในสมัยโบราณของอินเดีย ซึ่งเราก็ได้ทราบวัฒนธรรมมา ได้รับมานั้นน่ะ อันนี้คนหรือว่าคนรุ่นหนุ่มสาวได้รับการศึกษาในป่าจากโยคีหรือจากฤาษี ซึ่งฤาษีของท่านนั้น ท่านถือว่าเป็นผู้ที่ได้บรรลุอมตธรรม การที่พ่อแม่ส่งลูกหลานเข้าไปในป่า มีชีวิตอยู่อย่างง่ายๆ ในอาศรม หรือในที่ๆ จะต้องอยู่กับธรรมชาตินั้น ท่านเห็นว่าเป็นวิธีที่ถูกต้อง ท่านได้รับรางวัลโนเบลจากการที่ท่านประพันธ์หนังสือสำคัญๆ เช่นคีตาญชลี แล้วท่านก็ได้ทุ่มเทเงินทองที่ท่านได้รับมานั้นในการสร้างโรงเรียนขึ้นโรงเรียนหนึ่ง ที่ท่านให้ชื่อว่าศานตินิเกตัน หรือภายหลังมีชื่อว่าวิศวภารตี โรงเรียนนั้นท่านก็ได้อุตส่าห์หาครูผู้ที่คุ้นเคย และท่านเชื่อว่ามีความเข้าใจในธรรมะ แม้แต่ในแบบฉบับของฮินดูหรืออะไรก็ตาม แล้วท่านก็ไม่กีดกันคนในชาติภาษาใดที่จะมาร่วมกันในที่นั้น ชีวิตของนักเรียนในที่นั้นตามที่กระผมได้ติดตามศึกษาก็เป็นชีวิตอย่างที่เราพูดกัน คือชีวิตง่ายๆในป่า คลุกคลีกับธรรมชาติ อยู่ใกล้ธรรมชาติ และเข้าไปถึงธรรมชาติในด้านของธรรมสัจจะที่เรากล่าวถึงกัน โรงเรียนนี้มีชื่อเสียงไปมากมาย มีคนเดินทางมาจากไกลทั่วไปในโลกมาศึกษา ในชีวิตที่ท่านมีอยู่ ท่านก็คลุกคลีอยู่ ให้เวลากับโรงเรียนนี้อย่างมากมาย แต่ว่าภายหลังต่อมาเมื่อท่านได้สิ้นชีวิตไปแล้ว โรงเรียนนี้ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น การเปลี่ยนแปลงอันนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งกระผมคิดว่าท่านคงไม่พึงประสงค์ของท่าน คือได้เปลี่ยนแปลงมาไกล มาจนปัจจุบันกลายเป็นมหาวิทยาลัย แล้วก็ภาคภูมิใจที่ว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ท่านรพินทรนาถ ฐะกอร์สร้างขึ้น แล้วรัฐบาลก็ภาคภูมิใจ แต่กระผมได้สืบถามจากผู้ที่มาจากมหาวิทยาลัยนี้ และที่จริงคนไทยเราหลายท่านก็ได้เคยผ่านมานั้น กระผมได้สืบถามจากคนที่เขาเคยเป็นครูในสมัยของท่านรพินทรนาถ ฐะกอร์ ก็เขาก็ส่ายหน้าบอกว่าเดี๋ยวนี้มันเป็นมหาวิทยาลัยธรรมดาไปเสียแล้ว หมดวิญญาณหรือสูญวิญญาณส่วนใหญ่ที่ท่านรพินทรนาถ ฐะกอร์ ได้วางไว้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมนำมาครุ่นคิดและกังวลว่าอะไรหลายแห่ง เมื่อท่านผู้ที่เป็นวิญญาณ ได้ให้วิญญาณแก่//
ท่านพุทธทาส: เมื่อพูดถึงรพินทรนาถ ฐะกอร์ ก็ต้องให้รู้ไว้ว่ามีแง่มุมเป็นอันมากที่ควรจะสนใจ อันแรกที่ว่าท่านเป็นผู้เข้าถึงธรรมชาติหรือธรรมสัจจะของธรรมชาตินี้ นี้จริงแน่ จริงแท้ แต่ด้วยเหตุที่ท่านมีความเป็นศิลปินมาก ท่านก็เข้าถึงธรรมสัจจะในแง่ของศิลปะมากกว่าอย่างอื่น คล้ายๆ ว่าจิตใจวิญญาณเนื้อตัวของท่านมันถูกอาบย้อมไปด้วยความหมายแห่งศิลปะ ฉะนั้นคำสอนหรือบทประพันธ์ของท่านมันจึงเป็นในรูปนั้น ไม่เป็นการแปลกประหลาดที่ว่าคนที่ชอบธรรมชาติ เข้าถึงธรรมชาตินี้จะไม่เป็นศิลปิน หรือว่าศิลปินนี้จะไม่ชอบธรรมชาติ ตามธรรมชาตินี้อาตมาใช้คำว่าศิลปะเดิมแท้ ไม่ใช่ศิลปะที่มนุษย์ประดิษฐ์ทำขึ้น ที่มันเป็นอยู่ตามธรรมชาตินี้ มันเป็นศิลปะแท้ เป็นความงามแท้ เป็นบทประพันธ์ของธรรมชาติที่ไพเราะที่สุด นี่รพินทรนาถ ฐากูร ก็ได้เข้าถึงสิ่งนี้ เพราะว่าท่านเป็นศิลปินหรือว่าเพราะธรรมชาติมันได้ทำให้ท่านเป็นศิลปิน มันก็ได้ทั้งนั้น ทีนี้ผู้ที่มีวิญญาณสูงอย่างนี้ ได้หันมาจัดการเป็นอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ จัดโรงเรียนเรียนกลางดินนี้เรียกว่าใกล้ชิดธรรมชาติ ซึ่งมีระบบอะไรๆ ของมันเป็นการใกล้ชิดธรรมชาติ ส่วนนี้เราจะถือเป็นวิทยาศาสตร์อีกสักส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ศิลปินหรือว่าอะไร เพราะว่าสิ่งที่เราจะต้องรู้นั้น คือสัจธรรม ธรรมสัจจะอะไรก็ตามของธรรมชาติ ฉะนั้นถ้าเราไม่เป็นอยู่ให้ใกล้ธรรมชาติมันก็ยากที่จะรู้ นี่ พระศาสดาทุกพระองค์จึงตรัสรู้กลางดินใกล้ธรรมชาติ ฉะนั้นรพินทรนาถ ฐากูร จะให้ทุกคนยึดหลักธรรมชาติ ให้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ เช่นโรงเรียนกลางดิน กินอยู่กลางดิน ฟังเสียงจากแผ่นดิน นี่มันก็ถูกที่สุด นับว่าท่านได้ทำให้ถูกที่สุดตามความเห็นของอาตมา คือเห็นด้วย อย่างที่เดี๋ยวนี้เราก็ยืนยันว่าให้มันอยู่ชิดธรรมชาติแล้วจะเข้าใจธรรมชาติได้ง่าย พระพุทธเจ้าท่านอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติถึงขนาดว่าประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน นิพพานกลางดิน สอนกลางดิน กินกลางดิน กุฏิก็พื้นดินอยู่ทั้งนั้น นี่เราไม่มองกันในแง่นี้ ทีนี้เดี๋ยวนี้มันก็เป็นอย่างที่พูดอยู่แล้วว่า สิ่งยั่วยวนทางวัตถุนิยมมันก็เกิดขึ้น มันก็ดึงเอากิจการกิจกรรมที่ท่านได้จัดไว้ดีแล้วนั้นไปสู่วิถีทางของวัตถุนิยม อันนี้ก็แน่นอน เราควรจะเอาข้อนี้เป็นอุทาหรณ์ เป็นตัวอย่างที่ดีว่า แม้เราจะทำขึ้นในประเทศไทยอย่างนี้มันก็เป็นไปไม่ได้เพราะว่ามันอยู่ใต้อิทธิพลของวัตถุนิยม ถ้าจะทำให้ได้มันก็ต้องมีการต่อสู้ เรียกว่าต่อสู้ทางวัฒนธรรมหรือทางอะไรนี่กันอย่างมากทีเดียว อาตมาก็ชอบอย่างนั้น ที่ว่าตำหนิการศึกษาอย่างสมัยนี้ที่ทำให้คนไกลธรรมชาตินั้นก็อย่างหนึ่งด้วย แล้วมันก็ทำให้คนสำออยสำอาง เห็นแก่ตัว ให้นักเรียนเรียนกลางดินนั้นยังไม่พอ อยู่กับธรรมชาตินี้ยังไม่พอ ต้องให้นักเรียนเสียสละด้วย ให้เขาเรียนเพียงครึ่งเวลา นอกนั้นก็ต้องทำงานสร้างโรงเรียน สร้างพื้นที่ ขุดคูบ่อน้ำอะไรก็ตามใจในบริเวณนี้ ไม่ต้องเอาเงินรัฐบาลมาทำตึกเรียน นี้เป็นธรรมชาติกว่า การเสียสละความเห็นแก่ตัวนี้เป็นธรรมชาติกว่า กว่าที่ว่าเราจะมาอยู่กับธรรมชาติเฉยๆ แต่พอพูดขึ้นเขาก็ว่าบ้า มันพ้นสมัยแล้วที่จะให้นักเรียนทำงานครึ่งเวลาอย่างที่นักเรียนสมัยโบราณเขาต้องทำกันอยู่ ก็เป็นอย่างไร อุปสรรคสองซ้อน ที่ว่าเราจะอยู่ใกล้ธรรมชาติก็ไม่มีใครเห็นด้วยเสียแล้ว ที่เราจะให้ใกล้ธรรมชาติเข้าไปกว่านั้นอีก ถึงขนาดให้ทำการทำลายความเห็นแก่ตัวอยู่ตลอดเวลาที่เรียน อย่างน้อยครึ่งเวลาเรียนหนังสือเราต้องทำสิ่งที่เรียกว่าทำลายความเห็นแก่ตัว เขาก็ยิ่งสั่นหัว การศึกษาแผนใหม่ ทำให้เด็กๆ เสียนิสัยหมดแล้ว มันไม่ชอบลำบาก ไม่ชอบธรรมชาติชนิดที่เรียกว่าธรรมชาติบริสุทธิ์ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงมันไม่เปลี่ยนได้ มันเป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยไป ถ้าเรามีช่องทางอะไรที่จะดำเนินงานตามนี้ได้ อาตมาก็ขอแสดงความยินดี อนุโมทนา แล้วก็จะช่วยร่วมมือด้วยเท่าที่จะร่วมมือได้ แม้แต่เพียงความคิดเห็นก็ยังเอา นี่ท่านอาจารย์ระวี มีพรรคพวกมีอะไรก็ไปปรึกษากันดูเถิดว่า มนุษย์ยิ่งไกลธรรมชาติก็ยิ่งเน่า ยิ่งไกลธรรมชาติเข้าไปเท่าไหร่ก็ยิ่งบูดเน่า จะไม่สดชื่นจะไม่สดใสอย่างที่ว่ามันเป็นอยู่ตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับที่เราไปวัตถุนิยม ให้เรียนแบบมหาวิทยาลัยอย่างสมัยปัจจุบันนี้ ขอให้คิดดู ที่จริงก็ไม่ต้องคิดอะไรนัก ขอให้ดูก็แล้วกัน ความสำเร็จประโยชน์มันอยู่ที่ดู ถ้าไปคิดมันจะผิด เพราะมันจะนำไปสู่ความคิดที่ผิด เรายอมให้เสียอิสรภาพในการที่จะคิด เราไม่คิด แต่เราจะดู ตั้งตัวให้ปกติแล้วก็ดูๆ เดี๋ยวก็ออกมาเองโดยไม่ต้องคิด อย่างนี้มันจะถูกต้องตามกฎของธรรมชาติมากกว่าที่ว่าจะไปคิดมัน คิดมัน คิดมัน เดี๋ยวมันผิดน่ะ เดี๋ยวมันเฉออกนอกทางเป็นสัจจาภินิเวสหมด เพียงแต่ดูๆ ดูๆ การทำกรรมฐานวิปัสสนานี่ คือดูนะ ใครผู้สนใจเรื่องนี้อย่าเข้าใจผิดข้อนี้นะ อย่าใช้คำว่าคิดนะ อาตมาก็เคยใช้คำผิดๆ ใช้คำว่าคิดไปทีหนึ่งแล้ว เกี่ยวกับปฏิบัติกรรมฐานนี้ ต่อมาเห็นว่า เอ้า,ไม่ใช่คิดเว้ย ดูเท่านั้นแหละ ดูเท่านั้นแหละ เห็นเท่านั้นแหละ ดูแล้วเห็น ดูแล้วเห็น ที่ว่าดูอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ไม่ใช่คิดนะ อย่าไปเข้าใจว่าคิดนะ ถ้าคิดแล้วคิดในโรงเรียนนักธรรมนี้มันก็อยู่นั่นแหละ มันก็งมอยู่นั่นแหละ คิดอย่างนักธรรม สอนอย่างลอจิก (logic) เรียกอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นมันคิด มันใช้ไม่ได้ พอออกไปป่าแล้วมันก็ไม่คิดแหละ มันดูๆ ดูๆ นี่จะเห็น นี่สัจธรรมนี่ มันอยู่ในรูปที่ต้องดู ถ้าไปคิดมันเข้าแล้วมันจะเฉออกไปตามความคิดของคนที่มันยังไม่มีอะไร มันไปคิดตามความคิดเห็นของเขาเอง ชักชวนเพื่อนฝูงมาดู มาดูธรรมชาติอันสวยงาม มาดูสัจธรรมอันสวยงาม แล้วก็เข้าถึงสิ่งนี้ให้ได้ คงจะพูดกันรู้เรื่องกันในตอนท้าย แม้ว่าจะต้องนานสักหน่อย จัดการศึกษาในรูปใหม่ให้ใกล้ชิดธรรมชาติยิ่งกว่าที่รพินทรนาถ ฐากูรจัดเสียอีก ให้ใกล้ชิดกว่า ให้น่าดูกว่า ก็ยังได้ ยังมีทางทำได้ แต่แล้วข้อเท็จจริงมันมีอยู่อย่างนี้ เรามีแต่อุปสรรค ไม่มีใครเอาด้วย รพินทรนาถทำไว้ดีแล้วคนยังไปลบล้างเสียหมด ยังไปเปลี่ยนแปลงเสียหมดนี่ แล้วมันก็จะมามีในประเทศเราอย่างเดียวกัน ฉะนั้นเตรียมไว้เถิด เตรียมไว้สำหรับปัญหาอุปสรรคที่มากมายมหาศาล//
วิทยากร: ผมว่าตอนนี้คง พวกเราทานของว่างกันก่อนดีกว่านะ จะได้นิมนต์ท่านอาจารย์พักด้วย เวลาสามทุ่มท่านจะได้บรรยายต่อนะครับ
[1] ชนอริยกะเป็นคนขยันขันแข็งทำมาหากินมุ่งในทางเกษตรกรรมให้มากเท่าที่จะมาก ได้ โดยเฉพาะที่ราบของลุ่มแม่น้ำคงคาความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ตรงนี้ ทำให้ชนอริยกะมีฐานร่ำรวยมั่นคงถาวรมากยิ่งขึ้น มีการพัฒนาด้านการเมือง ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของหัวหน้าเผ่าโดยตรง ต่อมาระยะหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นนั้นคือได้เปลี่ยนแปลงลักษณะผู้นำ มีกษัตริย์เป็นหัวหน้ายังมีการขยายหน่วยงานมีลักษณะมั่นคงถาวรขึ้นหลายหน่วย ชุมชน แต่ละชุมชนจะต้องมีหัวหน้าเป็นผู้ปกครองดูแลในที่นั้น ในศตวรรษที่ ๖ ก่อนคริสตศักราช เกิดการเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงขึ้น สิ่งเหล่านี้มาจากปรัชญาแห่งความคิดและความเชื่อถือของเผ่าชนอริยกะนั่นเอง เท่าที่ทราบต่อๆ กันมา ชนอริยกะมีความเชื่อว่า ถ้าพวกเราบูชาแล้ว บรรดาเทพมักจะไม่ลงโทษแก่พวกเรา จึงมีพิธีกรรมอย่างนั้นตลอดมา มีความต้องปรับตัวเองเข้ากับชนเผ่าเดิมให้มากขึ้นจนมีลักษณะนับถืออย่างไร ตนเองจะต้องนับถือกับพวกชนเหล่านั้น มีการสมมติเรื่องเทพเจ้า จุดเริ่มแรกมุ่งนับถือธรรมชาตินิยมเพราะผู้นำนั้นถือธรรมชาติเป็นใหญ่ ใครผิดถือว่าพระเจ้าลงโทษต้องรีบไปแก้ เพื่อพระเจ้าจะไม่ลงโทษอีก ถ้าใครถูก ถือว่าพระเจ้าคุ้มครองรักษาให้พ้นจากอันตราย ความคิดเหล่านั้นถือว่าเป็นปรัชญาแบบหนึ่ง เพื่อดำเนินชีวิตโดยไม่ประมาท มีแต่มุ่งสร้างความดีต่อตนเองและสังคมปรัชญาอินเดีย (www.thaigoodview.com)
[2] ชนมิลักขะเป็นเผ่าดั้งเดิมของอินเดียที่นับถือพระเจ้าเป็นของตนเอง พวกเขายังนับถืออยู่นั้นแหละหาได้ถูกทำลาย ภายในสภาพจิตใจที่ฝังลึกเกี่ยวกับการนับถือพระเจ้าของตน พวกอริยกะยังบุกรุกเข้าศึกษาเรื่องคัมภีร์พระเวท อันประกอบด้วยบทสวดทางศาสนา มีข้อบัญญัติว่าทุกคนต้องการความสุข จะต้องทำพิธีกรรมต่างๆ นานา มีคำสวดอ้อนวอนถึงเทพเจ้า ทั้งกาพย์กลอนเพื่อให้มีความสัมพันธ์กับชีวิตในยุคนั้น เพราะว่าสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมในยุคนั้น ยังมีการยึดถือคัมภีร์พระเวทมากที่สุด จะถูกทำลายหมดเสียที่เดียวย่อมไม่ได้ คัมภีร์พระเวทคือคัมภีร์ที่ศักดิ์สิทธิ์มาก ใครจะไปทำลายเสียมิได้โดยเด็ดขาด พวกอริยกะเป็นชนที่มีสติปัญญาฉลาดเฉียบแหลมมากกว่าชนมิลักขะ ชนอริยกะต้องปรับสภาพตนเองเข้าผสมผสานกับชนเผ่าเดิมให้ได้ จากชีวิตเผ่าอริยกะที่มีการเร่ร่อนกับมีชีวิตเป็นหลักแหล่งมั่นคงถาวรยิ่ง ขึ้นในช่วงแรก ชนเหล่าอริยกะมีหลักฐานที่อยู่ในแคว้นปัญจาบโน้นแหละ ตามลุ่มแม่น้ำคงคาทางทิศตะวันตก มาระยะหลังได้ขยายตัวไปตามลุ่มแม่น้ำคงคาทางทิศตะวันออกแถวแคว้นพิหารและ เบ็งกอล การขยายตัวแต่ละครั้งใช้กลวิธีทางปรัชญาชีวิตเน้นหนักทางด้านพิธีกรรมตาม ลัทธิต่างๆ ตามความเชื่อถือผสมกลมกลืนเข้ากับเผ่าชนเดิมคือ "มิลักขะ" ถ้าชนเผ่าใดมีการต่อต้านก็จะถูกขับไล่ถอยไปอยู่ตามภูเขาและป่าดงถิ่น ทุรกันดาร เต็มไปด้วยความทุกข์ลำบากแทบทุกด้าน ผลสุดท้ายชนเหล่านี้ก็อยู่ไม่ได้ลดน้อยไปทุกเมื่อ ถ้าอยู่ได้ก็จะถือผสมกลมกลืน ไปตามแผนการณ์ของพวกอริยกะ (www.thaigoodview.com)
[3] [ทํามาทิดถาน, ทำมาทิดสะถาน] ว. มีธรรมเป็นที่ตั้ง ที่ยกหลักธรรมหรือสิ่งที่เป็นนามธรรมล้วน ๆ ขึ้นมาอ้างหรืออธิบาย (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน)